โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

คุยเรื่องสื่อออนไลน์: การเข้าถึง เสรีภาพ บทบาท และการบันทึก

Posted: 09 Oct 2010 12:47 PM PDT

 

วงเสวนาเรื่องสื่อใหม่ มองรัฐขยับคุมสื่อใหม่ สร้างเครือข่ายจับตาประชาชนกันเองมากขึ้น ทำให้คนที่เห็นไม่ตรงกันกลายเป็นศัตรูของชาติ ระบุสื่อใหม่ไม่ได้มาแทนที่สื่อเก่า แต่ทำหน้าที่ลดทอนการครอบงำ เสนอจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ในฐานะประวัติบอกเล่าจากคนธรรมดา

เว็บไซต์ประชาไท ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยความสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ จัดการเสวนาเรื่อง นิวมีเดีย (สื่อออนไลน์) ในวิกฤติทางการเมือง ณ ห้องประชุม ศศนิเวศ ชั้น 1 จุฬาฯ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

สื่อใหม่จัดการได้ (?) ผ่านรัฐและเครือข่าย
ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่น ตั้งประเด็นว่า ข้อถกเถียงเรื่องโลกออนไลน์อาจจะอยู่ที่วัฒนธรรมการใช้อินเทอร์เน็ตหรือการแลกเปลี่ยนออนไลน์ว่าจะมีภูมิต้านทาน ก่อนที่รัฐจะสร้างวัฒนธรรมแบบในจีนหรือสิงคโปร์ได้หรือไม่ โดยเขามองว่า เหตุผลหนึ่งที่รัฐห่วงเรื่องออนไลน์มาก เพราะเป็นที่ที่ไม่ได้มีศูนย์กลางเดียว ทุกอย่างคาดการณ์ลำบาก เพราะการเคลื่อนไหวของข้อมูล-ความเห็นเกิดขึ้นเร็วมาก รัฐมอนิเตอร์ลำบาก อย่างไรก็ตาม คิดว่ารัฐยังคอยมอนิเตอร์อยู่ เห็นได้จากบันทึกของ "ปรวยฯ" ที่เล่าถึงการที่ดีเอสไอจับตาการใช้งานเว็บบอร์ดของเขา  

อย่างไรก็ตาม ประวิตรมองว่า การต่อต้านความพยายามควบคุมสื่อของรัฐในโลกออนไลน์ดูเหมือนจะยังมีความหวัง เพราะมีการต่อสู้อย่างดุเดือด ขณะที่การแทรกแซงฟรีทีวีของรัฐนั้นน่าเป็นห่วงกว่า เพราะรัฐทำอย่างแนบเนียบ และคนทำสื่อเองก็ดูจะไม่มีปัญหาอะไร ทั้งนี้ สังเกตจากการรายงานข่าวที่ค่อนข้าง “ปกติ” เมื่อ 10 เม.ย. หรือการแทรกแซงช่วง 19 พ.ค.53

สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา เห็นความพยายามของรัฐในการจำกัดและกำจัดสื่อค่อนข้างมาก ผ่านการใช้กฎหมายต่างๆ ทั้ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ โดยมองว่ารัฐมีวิธีแทรกแซงฟรีทีวีต่างจากนิวมีเดียอย่างอินเทอร์เน็ตและวิทยุชุมชน เพราะหากใช้วิธีการรุนแรงกับฟรีทีวี จะโดนสังคมโดยรวมโจมตี ขณะที่เมื่อจัดการกับนิวมีเดีย ซึ่งเป็นสื่อใหม่และมีขนาดเล็ก สื่อเหล่านี้ก็ทำได้เพียงแต่ร้องกันในกลุ่ม รัฐจึงไม่ลังเลการจัดการกับนิวมีเดีย อย่างไรก็ตาม มองว่ารัฐเริ่มรู้ข้อจำกัดแล้วว่าทำเองไม่ได้ทั้งหมด จึงพยายามตั้งกองกำลังประชาชนขึ้นมาในรูปแบบของการล่าแม่มด หรือลูกเสือออนไลน์ ให้ประชาชนตรวจสอบประชาชนด้วยกันเองซึ่งควบคุมได้ดีและกว้างขวางกว่า

ทั้งนี้ สาวตรี ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การล่าแม่มด ที่เกิดขึ้นเมื่อ 4-5 เดือนก่อน รุนแรงกว่าการแซงก์ชั่นในทางสังคม โดยหลายกรณีถึงขั้นมีการโทรศัพท์ขู่ฆ่า พอกระบวนการพวกนี้กระเด็นออกไปสู่โลกจริงทำให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งส่วนตัวรู้สึกการล่าแม่มดที่รุนแรงนี้ ทำให้กระบวนการโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ให้เปิดรับเพื่อนใหม่ๆ ขยายเครือข่ายออกไป ทำไม่ได้จริง เพราะต้องคอยระวังว่าคนที่ขอเป็นเพื่อนมาเป็นใคร 

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมา การแซงค์ชั่นหรือจัดการกันเองในอินเทอร์เน็ตมีพัฒนาการอยู่แล้ว เช่น สังเกตว่าคำหยาบคายน้อยลง แต่เมื่อรัฐเข้ามายุ่งในกระบวนการนี้ เช่น ดีเอสไอส่งฟ้อง บริษัทกดดันพนักงาน ทำให้เราไม่ได้เป็นแค่ศัตรูที่คิดต่างกับเพื่อน แต่กลายเป็นศัตรูของชาติไป ผ่านการสร้างวาทกรรมต่างๆ ของรัฐ 

ขณะที่พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เปรียบเทียบอินเทอร์เน็ตว่าเป็นป่า เป็น digital jungle ที่รัฐพยายามจะเปลี่ยนให้เป็น digital forest โดยเขามองว่า รัฐไม่ได้ต้องการปราบปรามทั้งหมด แต่ต้องการจัดระเบียบบางอย่างและหาประโยชน์จากมัน อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างอินเทอร์เน็ตและพลเมืองเน็ต เพราะที่ผ่านมา จะเห็นว่ารัฐพยายามสร้างเครือข่ายช่วยจับตาการโพสต์ข้อความในอินเทอร์เน็ตด้วย ดังนั้น คำถามใหญ่จึงคือการหากติการ่วมกัน เอาพื้นที่ประชาธิปไตยกลับมาก่อนเพื่อให้ทุกฝ่ายคุยกันได้

ทั้งนี้ พิชญ์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เวลาพูดถึงสื่อออนไลน์ในสถานการณ์วิกฤตการเมือง เราจะให้ความสำคัญกับเรื่องเสรีภาพค่อนข้างมาก ขณะที่ในเวลาปกติ ในโลกออนไลน์ก็พูดกันถึงเรื่องการจัดการ-กระบวนการควบคุมเนื้อหาอยู่บ้าง โดยหยิบยกโมเดลจากประเทศต่างๆ มีจินตนาการ อย่างไรก็ตาม ระบุว่า ทุกเว็บที่ไม่ใช่เว็บใต้ดินแต่อาจมีความเปราะบาง ก็มีเงื่อนไขกติกาบางอย่างของชุมชนนั้นๆ อยู่แล้ว ไม่ใช่ใครจะทำอะไรก็ได้

ประเด็นเรื่องการเข้าถึงสื่อใหม่นั้น สุภิญญา กลางณงค์ เครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้ยกตัวอย่างเรื่องเทคโนโลยี 3 จีว่า จะทำให้เกิดความเท่าเทียมในสิทธิที่จะเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งการเข้าถึงนี้มีความสำคัญและยากพอๆ กับเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก และหากมีปัจจัยพื้นฐานที่นำไปสู่การขยายการเข้าถึงสื่อใหม่ได้มากขึ้น ก็ย่อมหมายถึงการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร

ขณะที่จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท เสริมว่า เข้าถึงอย่างเดียวแก้ไม่ได้ ถ้าเราไม่ได้มีส่วนร่วมกำกับดูแล เฝ้าระวัง พื้นที่ที่มีอาจไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่มีจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูง แต่ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเธอตั้งคำถามว่า หากพื้นที่ที่มีแห้งแล้ง จะมีไปทำไม
 

"สื่อใหม่" การเคลื่อนไหว และการลดทอนการครอบงำ
สมบัติ บุญงามอนงค์ เห็นว่า สื่อใหม่นั้นมีศักยภาพสูงมาก ตัวอย่างของเฟซบุ๊กที่เขาใช้อยู่นั้นสามารถเป็นเครื่องมือสื่อสารแลกเปลี่ยนและกระจายข้อมูลข่าวสารในหมู่คนที่สนใจเรื่องเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว กระนั้นก็ตาม เขาเชื่อว่าหลักใหญ่ใจความของขีดความสามารถในการกำหนดวาระข่าวสารทางสังคมนั้นอยู่ที่ “ไอเดีย” ถ้ามันใช่ ณ เวลานั้นจริงๆ มันก็จะขยายตัวเร็วมากยกกำลังแบบทวีคูณ โดยสมบัติหยิบยกเทรนด์การตลาดใหม่ของโลก คือ Viral Marketing มาจากคำว่า virus + oral เป็นการตลาดที่คนธรรมดาก็ทำได้ หากมี “ไอเดียที่ใช่” 

“เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ทำได้แน่นอน ผมเชื่อ” สมบัติกล่าว

ขณะที่มุมมองจากสุภิญญา กลางรณรงค์ เห็นว่า สื่อหลักยังคงเป็นตัวหลักในการกำหนดวาระทางสังคม เพราะมีนักข่าวที่สามารถเข้าถึงแหล่งข่าวระดับนโยบายได้ ดังนั้นสื่อใหม่ จึงเป็นได้แค่สื่อกระแสรอง อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าสื่อหลักเหล่านั้นก็ยังคงไม่สามารถกำหนดวาระที่มีประโยชน์อย่างแท้จริงให้กับสังคมได้มากพอ

ด้านนิธินันท์ ยอแสงรัตน์ บรรณาธิการอาวุโสฝ่ายบริหารของเนชั่นบรอดแคสติ้งฯ เห็นว่า แม้คนเข้าถึงสื่ออนไลน์ไม่มาก แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่สำคัญ เพราะคนที่เข้าถึง “สาร” ในออนไลน์ไม่จำเป็นต้องเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพราะมันมีการแจกจ่ายกระจายข้อมูลกันในหลายรูปแบบ ดังนั้น การที่สื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหาทางเลือกถูกปิดจึงเป็นสิ่งที่กระทบต่อผู้คนในวงกว้าง

ในเรื่องการเข้าถึงแหล่งข่าวสำคัญระดับนโยบายนั้น มีผู้เห็นแย้งและยกตัวอย่าง โดยอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ นักวิจัยจาก Siam Intelligence Unit ยกตัวอย่างว่า ทวิตเตอร์ในแง่มุมหนึ่งก็สามารถเปิดให้คนธรรมดาถาม public figure ได้ด้วยตนเอง และคนเหล่านั้นตอบโดยตรง แต่ก็มีผู้ตั้งคำถามต่อไปว่า คนที่ว่านั้น ตอบเองหรือที่จริงสื่อใหม่ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์อย่างหนึ่งเท่านั้น

ขณะที่ชูวัส อธิบายบทบาทของสื่อใหม่ว่า อันที่จริงแล้ว การแย่งกันกำหนดวาระทางสังคมอาจไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะสื่อใหม่ไม่ได้มีภาระในการกำหนดวาระทางสังคม แต่มันเป็นสื่อที่จะตรวจสอบการกำหนดวาระทางสังคม ส่งผลทำให้น้ำหนักการครอบงำของผู้กำหนดวาระทางสังคมถูกลดทอนลงต่างหาก

"สื่อใหม่ไม่ได้มาแทนสื่อเก่าในการชี้นำสังคม (agenda setting) แต่เป็นการทำลายกำแพง ไม่ให้สื่อเก่าเป็นสิ่งเดียวที่สามารถชี้นำสังคมได้" ชูวัสกล่าว

ด้านปราบต์ บุนปาน บรรณาธิการเว็บไซต์มติชนออนไลน์ ตั้งข้อสังเกตว่า อันที่จริงสื่อออนไลน์ ออฟไลน์ ก็สวิงไปมากันอยู่ ยกตัวอย่างเหตุการณ์วันที่ 19 กันยาที่สี่แยกราชประสงค์ที่มีข้อความบางส่วนรอบเซ็นทรัลเวิลด์ คนร่วมถ่ายภาพข้อความเหล่านั้นเยอะมาก เป็นกระแสทางเฟซบุ๊กที่ใหญ่มากจนประจักษ์ ก้องกีรติ ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันการต่อสู้ในเมืองไทยเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์แล้วเหมือนนิยายของแดน บราวน์ ปรากฏว่า กลายเป็นสื่อออนไลน์เสียอีกที่ไม่สามารถนำเสนอข่าวตรงนั้นได้ อาจเพราะถูกจำกัดโดยศักยภาพของตัวเอง เพราะคนอาจคาดว่าจะได้เห็นภาพเคลื่อนไหวด้วย ซึ่งหมิ่มเหม่ต่อกฎหมาย แต่ในสื่อสิ่งพิมพ์มีบทความหรือข้อเขียนจำนวนหนึ่งเลยที่พูดถึงเหตุการณ์นี้ มันทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างนิวมีเดียวกับสื่อเก่าที่ทำงานร่วมกันได้ หรือมีแทคติกบางอย่างที่สนทนาหรือโต้ตอบอะไรกับรัฐได้เหมือนกัน

สุชาดา จักรพิสุทธิ์ นักวิจัยอิสระ กลับมายังจุดเริ่มต้นของคำถามว่า แล้วสื่อใหม่มีพลังถึงขนาดผลักดันให้เกิดมวลชนออกมารวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวต่อสู้ในประเด็นต่างๆ ได้เลยหรือไม่ ซึ่งนิธินันท์ เห็นว่า ที่เห็นอยู่นี้ (การต่อสู้ทางการเมืองในโลกออนไลน์) มันเป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่ได้ผ่านการ set แต่หากมองในฐานะเครื่องมือการเป็นไปโดยธรรมชาตินี่เองที่เป็นคำตอบว่า มันใช้ได้ ถ้ามีการ set ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม น่าจะส่งผลได้จริง แต่อาจกินระยะเวลานานสำหรับ viral effect

อย่างไรก็ตาม สุภิญญา ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า การใช้สื่อออนไลน์กันอย่างแพร่หลาย อาจไม่ใช่คำตอบในการกระตุ้นให้คนออกมาบนท้องถนน แต่อาจเป็นเหมือนพื้นที่ระบายอารมณ์ ความคิดของผู้คน ซึ่งเธอเห็นว่า ในยุคนี้การต่อสู้กันในเชิงวาทกรรมเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าการต่อสู้บนท้องถนน ขณะที่อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต เห็นว่า ต้องแยกกันระหว่าง publicize กับ mobilize ซึ่งกรณีสมบัติทำให้เห็นว่าสื่อใหม่ mobilize ได้จริง
 

เสนอเก็บบันทึก "สื่อใหม่" ในฐานะ "ประวัติศาสตร์บอกเล่า"
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เสนอว่า ควรมีศึกษาทำความเข้าใจสภาพทางจิตวิทยาและสังคมของอินเทอร์เน็ตมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะที่ผ่านมา เรามักจะอยู่ในกรอบของกฎหมายและเชื่อว่า อินเทอร์เน็ตเป็นโลกที่เข้าใจแล้ว เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบ ทั้งที่ตามทฤษฎีสื่อ สื่อโดยตัวเองก็เป็นเนื้อหา ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องเสรีภาพหรือการเข้าถึงที่สำคัญ แต่การจัดเก็บเอกสารย้อนหลังก็ควรทำด้วย โดยยกตัวอย่างยุคที่ บก.ลายจุดเป็นมือปราบคุณธรรมในอินเทอร์เน็ต จนตอนนี้กลายเป็นคนที่พูดเรื่องเสรีภาพที่สำคัญที่สุดคนหนึ่ง ตรงนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีใครบันทึกเอาไว้ 

อาทิตย์ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress) ได้ร่วมกับทวิตเตอร์ จัดเก็บข้อความที่ผู้ใช้ทวีตแล้ว ซึ่งเขามองว่า นี่คือการดึงประวัติศาสตร์แบบบอกเล่า (Oral history) กลับเข้ามาในการศึกษาประวัติศาสตร์อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ประวัติศาสตร์แบบทางการถูกท้าทาย เพราะที่ผ่านมา ปัญหาที่มีมาตลอดในการศึกษาประวัติศาสตร์คือ ผู้ที่บันทึกประวัติศาสตร์ คือคนที่มีความสามารถในการเขียน สื่อใหม่จึงดึงตรงนี้กลับมา นี่จะเป็นมิติของนิวมีเดีย ที่จะดึงตรงนี้กลับมา

ปราบต์ บุนปาน แสดงความเห็นด้วยกับการจัดเก็บบันทึก และกล่าวเสริมว่า เดิม เมื่อพูดถึงการจัดเก็บจะนึกถึงเอกสารที่ถูกจัดเก็บโดยรัฐไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ แต่ในอินเทอร์เน็ต หลักฐานหรือประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลจำนวนมากเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเสียง ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจ และทำให้การจัดเก็บมีความหมายเปลี่ยนไป แต่ก็ขึ้นกับว่าที่ผ่านมามีการจัดเก็บแค่ไหนอย่างไร

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แถลงการณ์สำนักพระราชวัง 'ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์' เสด็จมาประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

Posted: 09 Oct 2010 05:39 AM PDT

'ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์' ทรงรับการผ่าตัดพระโรคต่อมไทรอยด์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พระอาการดี ทรงฟื้นพระองค์ได้ดีเป็นปรกติ

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2553 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ เรื่อง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จมาประทับณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จฯมาประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของคณะแพทย์เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เพื่อรับการรักษาพระโรคต่อมไทรอยด์ คณะแพทย์ได้ถวายการตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์เมื่อวัน ศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2553 ผลการผ่าตัดเป็นที่พอใจของคณะแพทย์ ทรงฟื้นพระองค์ได้ดีเป็นปรกติ

จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

สำนักพระราชวัง 9 ตุลาคม พ.ศ.2553

 

ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หลิว เสี่ยวโป: ปัญญาชน – นักวิจารณ์วรรณกรรม – กวีผู้ท้าทายอำนาจรัฐเพื่อพิทักษ์เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

Posted: 09 Oct 2010 05:13 AM PDT

 

สำหรับปัญญาชนผู้โหยหาเสรีภาพในประเทศที่ปกครองโดยเผด็จการนั้น คุกคือจุดเริ่มต้น ตอนนี้ผมกำลังก้าวเข้าสู่จุดเริ่มต้น และเสรีภาพนั้นอยู่แค่เอื้อม”

-หลิว เสี่ยวโป-

 

หลิว เสี่ยวโป (Liu Xiaobo) ได้รับการประกาศชื่อให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของปีนี้ไปตามความคาดหมายและท่ามกลางความโกรธเกรี้ยวของรัฐบาลจีนที่กำลังควบคุมตัวเขาไว้ในฐานะ “นักโทษ”

แต่ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบลฯ แถลงว่า หลิว เสี่ยวโป วัย 54 ปี เป็น “สัญลักษณ์ที่สำคัญยิ่ง” ของการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน

แวดวงสิทธิมนุษยชนนานาชาติรู้จักและชื่นชม หลิว เสี่ยวโป จากบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา ขณะที่แวดวงวรรณกรรมทั้งในประเทศและระดับนานาชาติยกย่องชื่นชมหลิว เสี่ยวโป ในผลงานการเขียนของเขา ทั้งงานเขียนเชิงวิชาการ และงานวรรณกรรม

บทกวีหลายชิ้นของหลิว เสี่ยวโป ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ อาทิ “One Letter is Enough”, “Longing to Escape”, “A Small Rat in Prison”, และ “Daybreak” เป็นต้น

หลิว เสี่ยวโป เป็นทั้งนักวิชาการ นักวิจารณ์วรรณกรรม นักเขียนที่มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาเป็นศาสตราจารย์ประจำที่ Beijing Normal University และในช่วงปี พ.ศ.2546-2550 หลิวดำรงตำแหน่งเป็นประธานสมาคมนักเขียนอิสระของจีน (The Independent Chinese PEN Center) และเป็นกรรมการบริหารชุดปัจจุบันของสมาคมฯ 

ตอนที่เกิดเหตุการณ์ประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมินนั้น หลิว เสี่ยวโปมีอายุเพียง 33 ปี กำลังรุ่งเรืองในหน้าที่การงานในฐานะนักวิชาการหนุ่มที่เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรม งานเขียนที่มีชื่อเสียงมากของหลิว เสี่ยวโป คืองานวิจารณ์ปรัชญาของ Li Zehou นักคิดคนสำคัญของประเทศจีน เขาได้รับเชิญไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในต่างประเทศ รวมทั้ง มหาวิทยาลัยแห่งออสโล (University of Oslo) มหาวิทยาลัยแห่งฮาวาย (University of Hawaii) และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University)

หลิว เสี่ยวโป เกิดในครอบครัวปัญญาชน ระหว่างปี พ.ศ. 2512 – 2516 ในช่วงที่ประเทศจีนมีนโยบายให้เยาวชนออกไปเรียนรู้จากชนบท บิดาของหลิว เสี่ยวโป ได้พาเขาไปเรียนรู้ชีวิตของชาวชนบทในเขตพื้นที่มองโกเลียชั้นใน

เมื่ออายุได้ 19 ปี หลิว เสี่ยวโป ถูกส่งไปทำงานในหมู่บ้านชนบทในจังหวัด Jilin และที่ไซด์งานก่อสร้างในเวลาต่อมา

ปี พ.ศ. 2519 เขาเข้าศึกษาที่ Jilin University เขาได้รับปริญญาตรีสาขาวรรณคดี ในปี 2525 และได้รับปริญญาโทจาก Beijing Normal University ในปี 2527

หลังจบปริญญาโท เขาเข้าสอนที่มหาวิทยาลัยนี้ พร้อมศึกษาต่อระดับปริญญาเอก และได้รับดุษฎีบัณฑิตจากที่นี่ในปี 2531

สิทธิมนุษยชน” ที่นักวิชาการหนุ่มอนาคตไกลตัดสินใจเอาอนาคตทางวิชาการและเสรีภาพของตัวเองเข้าแลกโดยไม่ลังเลเลย คือ “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ในประเทศจีน

ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี พ.ศ.2532 เมื่อเกิดเหตุการณ์ประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมิน

หลิว เสี่ยวโป ตัดสินใจทิ้งอนาคตทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และเดินทางกลับมากรุงปักกิ่งเพื่อสนับสนุนการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและขบวนการประชาธิปไตย เขาอดอาหารประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อสนับสนุนนักศึกษา และเรียกร้องฝ่ายนักศึกษาให้ใช้สันติวิธีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือดมากขึ้น

บทบาทดังกล่าวทำให้เขาต้องถูกจำคุก 2 ปี

และในปี พ.ศ. 2539 เขาถูกลงโทษโดยให้“ทบทวนการศึกษาผ่านการใช้แรงงาน” อีก 3 ปี จากงานเขียนที่เขาตั้งคำถามต่อบทบาทของระบบนำแบบพรรคเดียวและเรียกร้องให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลจีนกับองค์ทะไลลามะแห่งทิเบต บทความดังกล่าวนี้เป็นข้อเขียนที่มีการตีพิมพ์ในต่างประเทศ

ปี พ.ศ.2547 หลิวถูกตัดสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารโดยไม่ให้มีการติดต่อทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตได้หลังจากที่เขาได้เผยแพร่ข้อเขียนที่วิพากษ์วิจารณ์การใช้ข้อหา “ล้มล้าง”อำนาจรัฐ ในการปิดปากสื่อมวลชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และเขาได้กลายเป็นเป้าหมายขาประจำในการตรวจค้นของตำรวจและการคุกคามนับแต่นั้น

หลิว เสี่ยวโป ริเริ่มและร่วมร่างกฎบัตร 08 ซึ่งเป็นคำประกาศเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมือง ให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น และให้ยุติการปกครองโดยพรรคเดียวในประเทศจีน มีผู้ร่วมลงนามในคำประกาศนี้จำนวนหลายร้อยคนจากทั่วประเทศ เขากำหนดที่จะแถลงคำประกาศนี้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 60 ปีของการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ระหว่างที่ร่างคำประกาศฯนี้ หลิว เสี่ยวโป เคยถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในกรุงปักกิ่งจับกุมและตั้งข้อหา “ปลุกปั่นให้ล้มล้างอำนาจรัฐ” ต่อมาคดีนี้ได้ถูกย้ายให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายสอบสวน

วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2551 ก่อนถึงกำหนดเวลาที่จะมีการแถลงคำประกาศ กฎบัตร 08 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกมาที่บ้านพักในกรุงปักกิ่งของหลิว และเพื่อนนักวิชาการของเขา ชื่อ จาง จูหัว (Zhang Zuhua) ตำรวจตรวจค้นบ้านของทั้งสองคน และนำตัวพวกเขาไปพร้อมกับยึดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆไปด้วย การจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีการจัดรำลึกครบรอบเหตุการณ์ซึ่งมีความอ่อนไหวทางการเมืองหลายเหตุการณ์ รวมทั้ง วาระครบรอบ 100 ปีของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของจีนและวาระครบรอบ 30 ปีของขบวนการ “กำแพงประชาธิปไตย” แห่งปักกิ่ง (Beijing’s “Democracy Wall” movement)

จาง จูหัว ได้รับการปล่อยตัวในเช้าวันรุ่งขึ้น แต่ หลิว เสี่ยวโป ยังถูกควบคุมตัวไว้ เขาไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อสื่อสารกับคนอื่น

จนกระทั่งวันที่ 31 ธันวาคม ภรรยาของเขาจึงได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้ และเนื่องในเทศกาลปีใหม่ รัฐบาลอนุญาตให้เขาได้รับประทานอาหารมื้อกลางวันร่วมกับภรรยาพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 2 นาย

หลังหลิว เสี่ยวโป ถูกจับกุม บุคคลเกือบ 300 คนที่ร่วมเซ็นชื่อในกฎบัตร 08 ถูกสอบสวนเพื่อนำมาเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับหลิวและการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศจีน

วันที่ 23 ธันวาคม 2552 หลิว เสี่ยวโป ถูกพิจารณาความผิดโดยการไต่สวนฉุกเฉินของศาลประชาชน หลิวต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำผิดตามคำฟ้องที่ระบุว่าเขา “ปลุกปั่นให้ล้มล้างอำนาจรัฐ” ในการพิจารณาคดี ทนายจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงหลักฐาน

วันที่ 25 ธันวาคม หลิว เสี่ยวโป ถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 11 ปี และถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลสูงกรุงปักกิ่งได้พิจารณายกคำอุทธรณ์ของเขา

สมาคมนักเขียนอเมริกัน (PEN American Center) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมแสดงความยินดีกับ หลิว เสี่ยวโป โดยประธานสมาคม – ศาสตราจารย์ Kwame Anthony Appiah แห่งมหาวิทยาลัยพรินส์ตัน (Princeton University) กล่าวว่า

"เรามีความยินดีเป็นอย่างที่สุดที่ หลิว เสี่ยวโป เพื่อนนักเขียนของเรา และผู้ได้รับการเสนอชื่อซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสมาคมนักเขียนในหลายประเทศ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ.. เราหวังว่ารัฐบาลจีนจะยอมรับการตัดสินใจของคณะกรรมการรางวัลโนเบลเช่นเดียวกับที่โลกยอมรับในฐานะที่เป็นการรับรองอำนาจของพลเมืองในการที่จะชี้นำและกำหนดอนาคตตัวเองโดยแนวทางสันติวิธี เราขอวอนให้ประชาชนและผู้นำประเทศทุกประเทศร่วมกับเราในการเรียกร้องให้รัฐบาลจีนให้เกียรติกับเจตนารมณ์ของรางวัลนี้โดยการให้อิสรภาพกับหลิว เสี่ยวโป และเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเขา"

แถลงการณ์ของสมาคมนักเขียนอเมริกันระบุว่า มีนักเขียนจีนจำนวนไม่ต่ำกว่า 45 คนรวมทั้ง หลิว เสี่ยวโป ที่ยังถูกจองจำในประเทศจีนอันเนื่องมาจากงานเขียนของพวกเขา

 

เรียบเรียงจาก

http://www.pen.org/viewmedia.php/prmMID/5352/prmID/172

http://en.wikipedia.org/wiki/Liu_Xiaobo#Charter_08.2C_arrest_and_trial

หมายเหตุ: บทความแปลและเรียบเรียงชิ้นนี้...มอบแด่ปัญญาชน, นักเขียน, กวีประชาไทผู้ท้าทายอำนาจไม่ชอบธรรม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“คำนูณ” ระบุการต่อสู้ของ “สมบัติ บุญงามอนงค์” อันตรายกว่าใช้ความรุนแรง

Posted: 09 Oct 2010 12:32 AM PDT

คำนูณ สิทธิสมานระบุในคอลัมน์ นสพ.เอเอสทีวีผู้จัดการ ชี้การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของ “สมบัติ บุญงามอนงค์” อันตรายกว่าการต่อสู้แบบใช้ความรุนแรง โอดใช้กฎหมายเล่นงานไม่ได้ ชี้น่ากลัวหากรัฐบาลไม่เป็นมวย หรือคิดซื้อเวลา

วันนี้ (9 ต.ค. 53) ในหนังสือพิมพ์ เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน คำนูณ สิทธิสมาน วุฒิสมาชิกระบบสรรหา ผู้ปราศรัยบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เขียนบทความลงใน “หน้ากระดานเรียงห้า” ซึ่งเป็นคอลัมน์ประจำของเขา ชื่อตอนว่า “ความรุนแรง และการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์!” โดยตีพิมพ์ในเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ด้วย

โดยบทความตอนนี้เขาวิเคราะห์เหตุการณ์ระเบิดที่ จ.นนบุรี และวิเคราะห์กิจกรรมของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ริเริ่มกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดง โดยตอนหนึ่งคำนูณ วิเคราะห์ว่า “ผมเคยเปรียบเทียบว่าสมัยสงครามเย็น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีวิทยุคลื่นสั้นคลื่นเดียว ฟังก็ยาก แต่ก็ยังก่อให้เกิดสงครามประชาชนบาดเจ็บล้มตายปีละเป็นร้อยเป็นพันต่อเนื่อง เป็นสิบๆ ปี มาสมัยนี้มีทั้งวิทยุ วิทยุชุมชน โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เว็บไซต์ หนังสือพิมพ์รายวัน หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ใครกล้ารับประกันเล่าครับว่าจะไม่ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นอีกครั้ง หนึ่ง อย่าพูดว่าเขาล้มเหลวไปในการชุมนุมใหญ่ครั้งล่าสุดนะ”

เสมือนว่าความล้มเหลวในการชุมนุมใหญ่มีนาคม – พฤษภาคม 2553 จะเป็นความพ่ายแพ้ แต่ก็เป็นเพียงความพ่ายแพ้จากรูปแบบการชุมนุมใหญ่เท่านั้น ตรงกันข้ามการต่อสู้นอกระบบ นอกกฎหมาย ไร้รูปแบบ ไร้การรวมศูนย์บัญชาการ กลับเริ่มกระจายไปทั่ว เชื่อว่าแม้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะสั่งหยุดก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้จะสั่งใคร จะบอกว่าคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งก้าวข้ามเขาไปแล้วก็ไม่ถึงกับผิดนัก” คำนูณวิเคราะห์

ใครเคยอ่านนิยายกำลังภายในของโก้วเล้งเรื่อง “ซาเสี่ยวเอี้ย” ลองเปรียบเทียบกับ “กระบี่ที่สิบห้าของอี้จับซา” ดูเองก็แล้วกัน แต่นี่ก็ยังไม่เท่าไร! เพราะการใช้ความรุนแรงจะไม่นำพามาสู่ชัยชนะอย่างแน่นอน มีแต่จะส่งผลเสียหายให้ขบวนการคนเสื้อแดงโดยรวม”

การต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์ของสมบัติ บุญงามอนงค์อันตรายกว่า!” คำนูณระบุในบทความ และอธิบายต่อว่า “การต่อสู้ด้วยความรุนแรงคือการทำผิดกฎหมาย หากรัฐบาลเป็นมวย ย่อมฉกฉวยเป็นประโยชน์ในการปราบปรามได้ แต่การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของสมบัติ บุญงามอนงค์เอาผิดตามกฎหมายใด ๆ ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือมาตราอื่น ๆ อันนี้น่ากลัวหากรัฐบาลไม่เป็นมวย หรือยังคิดแต่จะซื้อเวลาไปเรื่อย ๆ กลัวโน่นกลัวนี่”

โดยตอนท้ายของบทความคำนูณสรุปการต่อสู้ของคนเสื้อแดงว่า “ด้านหนึ่งมีความรุนแรงกระจายไปทั่ว ชนิดไร้รูปแบบ ไร้การจัดตั้งรวมศูนย์ อีกด้านหนึ่งมีการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่ยากจะเอาผิดตามกฎหมาย สถานการณ์อย่างนี้ 5 กรอบของรัฐบาลที่ทำ ๆ อยู่นี่ไม่ได้ช่วยอะไรในระยะยาว”

มิพักตั้งพูดว่ากรอบ 1 ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน และกรอบ 5 เรื่องการปฏิรูปสื่อก็กลายเป็นเพียงแค่ลดโทนลง เปิดให้ฝ่ายค้านมาออกช่อง 11 มากขึ้น แต่แทบไม่มีการแก้เกมผลแห่งการปลุกระดมโดยเสรีของขบวนรัฐไทยใหม่ผ่านสารพัด สื่อมาเป็นปี ๆ แม้วันนี้จะไม่มีสื่อเสื้อแดงในรูปแบบตรงไปตรงมา แต่หนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์เครือเดียวที่ไม่เคยละเว้นการแสดงสัญลักษณ์ในทุกรูปแบบก็เพียงพอแล้วครับ”

คำนูณระบุท้ายบทความว่า ขับเคลื่อนประเทศไปแบบนี้พอมองเห็นอนาคต เป็นอนาคตที่น่ากลัว!”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มาร์คเตรียมเยือนพม่าจันทร์นี้

Posted: 08 Oct 2010 11:41 PM PDT

มาร์ค-กษิต-ประยุทธ์ เตรียมเยือน “เนปิดอว์-ย่างกุ้ง” จันทร์นี้แบบเช้าไปเย็นกลับ กำหนดพบ “เต็งเส่ง” หารือทวิภาตี เข้าเยี่ยมคารวะ “ตานฉ่วย” และมอบนโยบายแก่ทีมประเทศไทยที่สถานทูตไทยในย่างกุ้งก่อนบินกลับ

มีรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางไปเยือนสหภาพอย่าเป็นทางการในวันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม โดยมีนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฯลฯ

โดยการเยือนสหภาพพม่าของนายอภิสิทธิ์ครั้งนี้ มีการให้เหตุผลจากรัฐบาลว่าเป็นการเยือนประเทศในอาเซียน ตามธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อรับตำแหน่งใหม่ของนายกรัฐมนตรี และจะใช้โอกาสนี้กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทย-พม่า ในกรอบความร่วมมือทวิภาคีที่สำคัญ อาทิ การสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ความร่วมมือด้านแรงงาน และ การค้าขายระหว่างชายแดน รวมทั้ง ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาชายแดนในประเด็นต่างๆ โดยการเยือนครั้งนี้ นับเป็นการเยือนสหภาพพม่าระดับผู้นำ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าที่จะจัดให้มีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่จะได้แสดงแรงสนับสนุนของไทยที่มีต่อพม่าในการจัดการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการดังนี้ วันที่ 11 ต.ค. เวลา 07.55 น. นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร (กองบิน 6) โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศ (C-130) เที่ยวบินพิเศษที่ RTAF 111 ไปยังนครเนปิดอว์ สหภาพพม่า

เวลา 09.30 น. เดินทางถึงท่าอากาศยานนครเนปิดอว์ โดยมีคณะทางการฝ่ายพม่าและฝ่ายไทยรอให้การต้อนรับ

จากนั้น เวลา 09.50 น. นายกรัฐมนตรี จะเดินทางออกจากท่าอากาศยานเนปิดอว์ไปยังเรือนรับรอง Zeyarthiri Beikman เพื่อเข้าร่วมในพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ โดย พลเอกเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่ารอให้การต้อนรับ ซึ่งจะมีพิธีการตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ และ การแนะนำคณะทางการระหว่างสองฝ่าย

หลังเสร็จพิธีดังกล่าว เวลา 11.10 น. จะมีการหารือทวิภาคระหว่าง นายกรัฐมนตรี กับ พลเอกเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่า ณ ห้องหารือทวิภาคี เรือนรับรอง Zeyarthiri Beikman

เวลา 12.15 น. นายกรัฐมนตรีจะเข้าเยี่ยมคารวะ พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development of the Union of Myanmar – SPDC) ณ ห้องรับรองใหญ่ เรือนรับรอง Zeyarthiri Beikman และ จะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน โดยมี พลเอก เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่า เป็นเจ้าภาพ ณ ห้องจัดเลี้ยง เรือนรับรอง Zeyarthiri Beikman โดยจะมีการบรรเลงเพลงชาติไทยและเพลงชาติพม่า และการดื่มอวยพรของนายกรัฐมนตรีแก่นายกรัฐมนตรีไทย ทั้งนี้ จะมีการแสดงทางวัฒนธรรมระหว่างการรับประทานอาหาร และในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีจะมอบเงินรางวัล และ ถ่ายรูปร่วมกับนักแสดง

เวลา 14.35 น. นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปถึงที่สักการะเจดีย์อุปปตะสันติ โดยจะมีการลงนามในสมุดเยี่ยม และ มอบเงินบริจาคให้แก่คณะกรรมการของเจดีย์ จากนั้น จะเดินทางไปเยี่ยมชมสวนช้างเผือก เวลา 15.05 น. ซึ่งอยู่ภายในบริเวณเจดีย์ฯ และจะเดินทางโดยรถยนต์เพื่อแวะเยี่ยมชมต้นศรีมหาโพธิ์ในบริเวณสวนช้างเผือก ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกไว้

จากนั้น เวลา 15.35 น. นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางออกจากเจดีย์อุปปตะสันติไปยังท่าอากาศยานนครเนปิดอว์ เพื่อเดินทางไปยังท่าอากาศยานนานาชาติกรุงย่างกุ้ง โดยจะออกเดินทางเวลา 16.00 น. ด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศ (C-130) เที่ยวบินพิเศษที่ RTAF 111และเดินทางถึงกรุงย่างกุ้งเวลา 16.50 น. (ใช้เวลา 50 นาที)

ในช่วงเย็น นายกรัฐมนตรีเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติกรุงย่างกุ้งไปยังสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง โดยจะเดินทางถึงสถานเอกอัครราชทูตฯ เวลา 17.20 น. และมีกำหนดการพบปะและมอบนโยบายแก่ทีมประเทศไทยในสหภาพพม่า เวลา 17.30 น.

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี และเวลา 19.00 น. นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางออกจากทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ไปสักการะพระมหาเจดีย์ชเวดากอง เวลา 19.10 น. ก่อนจะออกเดินทางจากพระเจดีย์ชเวดากอง เวลา 19.50 น. และเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติกรุงย่างกุ้ง เวลา 20.30 น. โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศ (C-130) เที่ยวบินพิเศษที่ RTAF 111 ถึงประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานทหาร (กองบิน 6) เวลา 22.45 น.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น