ประชาไท | Prachatai3.info |
- คนงานลำพูน “ทุบกระปุก” เงินออม “งดเหล้าเข้าพรรษา”
- ศอฉ. จ่อดำเนินคดีวิทยุชุมชน 95 แห่งไม่ได้จดทะเบียน ระบุบางแห่งหมิ่นฯ สร้างความแตกแยก
- กวีประชาไท : ราษฎรจักแปรสร้าง ระบอบ รัฐเวย!
- ส.ส.รัฐบาลรับปากหนุน ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับขบวนการแรงงาน
- สัมภาษณ์ จรรยา ยิ้มประเสริฐ: จากวิกฤติการเมือง-วิกฤติภัยธรรมชาติ อะไรคือทางออก?
- สุรพศ ทวีศักดิ์ : กษัตริย์ตามทัศนะของพุทธศาสนา
- เรื่องน่ารู้ : คำถามและคำตอบเกี่ยวกับเครื่องดื่มให้พลังงานและสุขภาพ
- กองปราบเตรียมออกหมายจับผู้เผยแพร่คลิปยุบพรรค ปชป.
- 'อดิศร' แจงผ่านเฟสบุ๊ค ถูกระงับพาสปอร์ตเพราะคดีหมิ่นประมาท 'ชวน'
- จุฬาฯ เดินหน้าจัดระเบียบแผงลอยสยามสแควร์ ตั้งรั้วกั้น-วางกำลังชายฉกรรจ์ตลอดแนว
คนงานลำพูน “ทุบกระปุก” เงินออม “งดเหล้าเข้าพรรษา” Posted: 28 Oct 2010 08:48 AM PDT “ภาครัฐ-เอกชน-คนงาน” ลำพูน แถลงสรุปโครงการ “ชวนเพื่อนเลิกเหล้าเข้าพรรษา” สัมฤทธิ์ผล สร้างนิสัยการออม – ลดอุบัติเหตุจากการเมาสุราในคนทำงาน 28 ต.ค. 53 – เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ได้มีการจัดงานแถลงผลการดำเนินงานโครงการ “ชวนเพื่อนเลิกเหล้าเข้าพรรษา” โดยมูลนิธิเพื่อนหญิง, สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน, สำนักงานพระพุทธศาสนา จ.ลำพูน, เครือข่ายประชาคมงดเหล้า จ.ลำพูน กลุ่มบริษัทและคนงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมลำพูน โดยในเวลา 14.30 น. ได้มีการสรุปผลการดำเนินงานของโครงการ และนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนได้กล่าวเปิดงาน มอบเกียรติบัตรให้กับสถานประกอบการและคนงานที่เข้าร่วมกิจกรรม พิธีทุบกระปุกแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในการงดเหล้าช่วงเข้าพรรษา รวมถึงมีพิธีลงนามร่วม (MOU) ระหว่างผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนสถานประกอบการ ผู้แทนลูกจ้างและองค์กรพัฒนาเอกชน ในการทำกิจกรรมนี้ต่อไปในอนาคต โดยนายเฉลิมชัย กล่าวว่าอยากให้มีกิจกรรมการงดเหล้านี้ไม่ใช่แค่ช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น ให้มีการสร้างวาระการเลิกเหล้าไปเลย รวมถึงมีการขยายความร่วมมือการจัดกิจกรรมออกนอกรั่วโรงงาน ไปสู่ชุมชน และสถานศึกษา โดยเป็นการประสานกันของทุกภาคส่วนใน จ.ลำพูน ทั้งนี้ผลที่เป็นรูปธรรมของการจัดกิจกรรมที่ผ่านมา ผู้ร่วมจัดได้ระบุว่า ได้ทำให้พนักงานในสถานประกอบการมีความเข้าใจ ถึงผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และมีความมั่นคงในการทำงาน ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น รวมถึงสถิติการขาดงาน ลากิจ ลาป่วย ของพนักงานลดลง พนักงานทำงานมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นเนื่องจากอาการเมาค้างลดลง ทำให้ผลิตของโรงงานดีขึ้น ในส่วนของครอบครัวคนงานพบว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น และยังสามารถสร้างนิสัยการออมให้แก่พนักงาน เพื่อไว้ใช้ในยามจำเป็นอีกด้วย อนึ่งกิจกรรม “ชวนเพื่อนเลิกเหล้าเข้าพรรษา” นี้มีสถานประกอบการณ์เข้าร่วมทั้งหมด 14 แห่ง โดยมีพนักงานเข้าร่วมปวารณาตนทั้งหมด 1,428 คน โดยนอกจากที่คนงานที่เข้าร่วมกิจกรรมจะละเว้นการดื่มสุราในช่วงเข้าพรรษาแล้ว ทางสถานประกอบการยังได้มอบกระปุกออมสินให้พนักงานได้แบ่งเงินส่วนหนึ่งจากรายได้เพื่อนำไปออมแทนที่จะนำไปซื้อเหล้า รวมถึงกิจกรรมกล่อมเกลาจิตใจโดยใช้หลักศาสนา และให้คนงานทำกิจกรรมสันทนาการต่างๆ เป็นต้น
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ศอฉ. จ่อดำเนินคดีวิทยุชุมชน 95 แห่งไม่ได้จดทะเบียน ระบุบางแห่งหมิ่นฯ สร้างความแตกแยก Posted: 28 Oct 2010 08:28 AM PDT 28 ต.ค. 2553 - เนชั่นทันข่าว รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นประธานในการประชุมศอฉ. โดยมีพล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้แทนผบ.เหล่าทัพเข้าร่วมประชุม โดยใช้เวลาในการประชุมเพียง 20 นาที จากนั้นพ.อ.สรรเสริญ กล่าวถึงผลการประชุมศอฉ.ว่า ที่ประชุมหน่วยงานด้านการข่าวได้มีการรายงานสรุปความเคลื่อนไหวของกลุ่มการ เมืองต่างๆ ในช่วงนี้ นอกจากนี้ฝ่ายยุทธการยังมีรายงานการเตรียมแผนการรักษาความปลอดภัยในการ ประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา(จีบีซี) ครั้งที่ 7 ที่พัทยา จ.ชลบุรี ระหว่าง วันที่ 29 - 30 ตุลาคม เบื้องต้นภารกิจหลักเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนทหารได้มีการจัดเตรียมพร้อมกองร้อยรักษาความสงบไว้ในที่ตั้ง หากมีสถานการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้น พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รายงานว่า จากการไปตรวจสอบสถานีวิทยุชุมชนทั้งหมด พบว่า มีวิทยุชุมชนจำนวน 95 สถานีที่ไม่ได้ยื่นหลักฐานขออนุญาตจัดตั้งวิทยุชุมชนให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งสถานีวิทยุที่สร้างสรรค์ สถานีเพลง สถานีที่เข้าข่ายหมิ่นเหม่สร้างความแตกแยกให้สังคม และสถานีที่มีการจาบจ้วงสถาบัน อย่างไรก็ตามในการดำเนินการตามกฎหมายจะใช้มาตรฐานเดียวกันหมด ซึ่งหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะลงไปตรวจสอบ และดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุม พล.อ.ประวิตร ยังได้สอบถามถึงความคืบหน้าในการติดตั้งกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) เพิ่มเติมในพื้นที่เสี่ยงทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งทางกรุงเทพและตำรวจนครบาลระบุว่า จะกลับไปตรวจสอบอีกครั้งก่อนนำรายงานต่อที่ประชุม สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กวีประชาไท : ราษฎรจักแปรสร้าง ระบอบ รัฐเวย! Posted: 28 Oct 2010 08:13 AM PDT บ่สูญแสงสูรย์ผ่าว อาบพื้น พิภพเอย บ่สิ้นดาราพราย พรากฟ้า ความหวังยังอาจคืน มิคลาด ย่อมจักเผยมิช้า จนชัด ถนัดเห็น
ฟ้าบ่ครองฟากฟ้า อยู่ผืน เดิมเดียว คนแหละคนที่ยืน หยัดนิ่ง จักปลิดฟ้าหากฝืน จักฟาด ย่อยแหละยับดับทิ้ง ทาบพื้น สามัญ
คราวนี้คนบ่ค้อม ยอมทน แล้วเวย! คนจักยืนผงาดงึม อกท้า เพราะคนย่อมเป็นคน ใช่ทาส มืออันไกรฉกาจคว้า หักคว่ำ แอกคน
เมื่อนั้นแล! จักล้าง โลกทราม ลงราฯ สุริย์รอนรัศมีแดง จักฟื้น ฟ้าใหม่ค่อยเผยงาม พิลาศ ฝนจักพรายฝากพื้น พร่ำน้ำ คืนดิน
ราษฎรจักแปรสร้าง ระบอบ รัฐเวย! คนต้องเทียมค่าคน ‘เสมอภาค’ ‘เสรีภาพ’ย่อมทรง คงศักดิ์ แล ‘ภราดรภาพ’เกื้อ ประกอบคู่ สยามสมัยฯ
อติเทพ ไชยสิทธิ์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ส.ส.รัฐบาลรับปากหนุน ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับขบวนการแรงงาน Posted: 28 Oct 2010 06:21 AM PDT ส.ส.รัฐบาลรับปากแรงงาน ร่วมลงครบ 20 ชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับบูรณาการแรงงานผู้แทนแรงงานชี้ถึงเวลาปฏิรูป สปส. ระบุต้องเป็นองค์กรอิสระหลัง 20 ปีกองทุนประกันสังคม ผู้ประกันตนพบข้อจำกัดการเข้าถึงสิทธิระดม 2 หมื่นรายชื่อเสนอกฎหมาย 28 ต.ค. 53 - ที่โรงแรมบางกอกพาเลซ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยร่วมกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานจัดสัมมนา “สร้างการเรียนรู้เพื่อมีส่วนร่วมในการผลักดัน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ... (ฉบับบูรณาการแรงงาน)” เพื่อรับฟังทัศนะของฝ่ายการเมืองต่อการเป็นองค์กรอิสระของกองทุนประกันสังคม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมจากตัวแทนผู้ใช้แรงงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่มาข่าว: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-10-2553 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สัมภาษณ์ จรรยา ยิ้มประเสริฐ: จากวิกฤติการเมือง-วิกฤติภัยธรรมชาติ อะไรคือทางออก? Posted: 28 Oct 2010 05:18 AM PDT ท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง และวิกฤตภัยธรรมชาติที่ถาโถมประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ การเปิดพื้นที่ให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยนถกเถียง ถึงสภาพการณ์ปัจจุบัน แนวทางแก้ไขและทางออกในสังคมเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในครั้งนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ จรรยา ยิ้มประเสริฐ นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวที่คลุกคลีและทำงานในขบวนการเรียกร้องสิทธิเพื่อแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ และต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศมานานกว่า 20 ปี อีกทั้งเป็นเจ้าของงานเขียน เรื่อง “ไพร่สู้: บนเส้นทาง 78 ปี ประชาธิปไตย (2475-2553) หรือ Voter’s Uprising” และผู้จัดทำการลงรายชื่อเรียกร้องสหประชาชาติในช่วงการปราบปรามเมื่อเดือนพฤษภาคม รวมถึงเจ้าของเว็บบล็อกและเว็บไซต์ Time Up Thailand การทำงานและงานเขียนของเธอ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเผยแพร่ งานวิเคราะห์ วิจัย และวิพากษ์การเมือง สังคมและเศรษฐกิจไทย ที่เชื่อมโยงกับประเทศในอาเซียน และสังคมโลก อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยด้วย ผู้เขียนจึงขอนำเสนอบทสัมภาษณ์ตามนี้
ตอบ: มองสถานการณ์ตอนนี้ว่า ความตื่นตัวของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงถือเป็นจุดแข็ง แต่ท้ายที่สุดแล้ว เสื้อแดงเองก็ไม่ใช่คำตอบ แต่คำตอบคือการขยายวงกว้างมากขึ้นของประชาชนที่รู้จัก ตระหนักเรื่องสิทธิ และลุกขึ้นมาจัดตั้งกระบวนการต่อรอง เข้าไปมีส่วนร่วมในกลไกต่างๆ ในสังคม และทำหน้าที่การตรวจสอบจัดการกับรัฐ ไม่ใช่แค่การจัดการกับการคอรัปชั่นเพียงเท่านั้น แต่รวมไปถึงการจัดการกับระบอบอุปถัมภ์ที่ปลูกฝังในสังคมไทยมาอย่างยาวนานอีกด้วย คิดว่าการแก้วิกฤตการเมืองในขณะนี้ อาจต้องมองในภาพที่กว้างและไกล โดยการขยายและเพิ่มพื้นที่ให้ประชาชนสามารถลุกขึ้นมาทำงานได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้นเพื่อสังคม นั่นหมายถึงทุกๆ ภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกันแก้ไขวิกฤตที่ประเทศเผชิญอยู่ร่วมกัน จะบอกว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะที่กฎหมายไม่เที่ยงธรรม แต่การแก้วิกฤตการเมืองจะมองแต่กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเราจะเห็นว่ามีผู้เล่นอยู่หลายตัว ทั้งพรรคการเมือง ข้าราชการ สถาบันต่างๆ ในสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชน กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม และสื่อ ทุกส่วนต่างมีบทบาทที่สำคัญ สื่อออนไลน์กลับกลายเป็นความหวังอย่างหนึ่ง เพราะว่าภายใต้ระบอบการเมืองการปกครองของไทยไม่สามารถปราบลงได้ทั้งหมด สภาวะทางการเมืองในปัจจุบันจึงคิดว่ายังมีทางออก ส่วนหนึ่งก็ด้วยสื่อออนไลน์และช่องทางการสื่อสารผ่านในโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา ที่สื่อทางเลือกนั้นยังไม่เข้มแข็งพอ ปัจจุบันสื่อทางเลือกเข้มแข็งมาพอ ฟื้นตัวเร็ว และด้วยธรรมชาติของสื่อ ทำให้มันเติบโต หาช่องทางออกได้ [ภายใต้การบีบคั้น กดดันจากระบอบที่มีเสรีภาพจำกัดได้ -ผู้สัมภาษณ์] อีกทั้งด้วยศักยภาพ และคุณภาพของคนที่สูงขึ้นด้วย ฉะนั้น “ประชาชนที่มีคุณภาพก็จะเรียกร้องให้เกิดสื่อคุณภาพสูงขึ้นด้วย” หากรัฐและสถาบันต่างๆ ในสังคมไทยเข้าใจในสิ่งนี้ เข้าใจโลกาภิวัตน์ เข้าใจมวลชน ก็ต้องปรับตัวไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะมิเช่นนั้นก็จะดำรงอยู่ในสังคมยากลำบากมากขึ้น ถาม: จากปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเวลานี้ และการแก้ไขปัญหาของรัฐที่ถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพ และล่าช้า สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางการเมืองที่เรื้อรังของไทยหรือไม่ อย่างไร ตอบ: เมื่อมองวิกฤติภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ นั่นเป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมต้องการจัดการที่ชาญฉลาด ซึ่งการจัดการที่ชาญฉลาดนี้ก็ต้องมาจากคนทำงานบริหารที่ชาญฉลาดด้วยเช่นกัน “ที่สำคัญคือการจัดการทางการเมืองที่ฉลาดนั้นจำเป็นมาก” การป้องกันน้ำท่วมน้ำแล้ง ต้องเกิดจากการจัดการวางแผนมาอย่างยาวนาน ประเทศไทย นับแต่การรัฐประหารปี 2549 จนถึงปี 2553 นี้ มีรัฐบาล 6 ชุดในช่วง 5 ปี กลไกทางการเมือง-รัฐบาลไม่สามารถวางแผน สร้างกลไก หรือมีโครงการใดๆ เพื่อจัดการกับปัญหาต่างๆ ให้ประชาชนและสังคมอย่างต่อเนื่องได้เลย นอกจากการเล่นเกมทางการเมือง บัดนี้จึงถึงเวลาแล้ว ที่ประชาชนลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับสภาวะความขัดแย้งในสังคม วิกฤตการเมือง ความอยุติธรรมในสังคม ว่าใครบ้างที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้งในครั้งนี้ และสถาบันใดก็ตามที่อ้างว่าไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้เอง ก็ต้องถูกตั้งคำถามด้วยว่าจริงหรือไม่ ในยามที่ประชาชนเรือนแสนลุกขึ้นมาเรียกร้องถือว่าประเทศตกอยู่ในสภาวการณ์ที่ไม่ปกติ ทุกสถาบันในสังคมไทยต้องถูกตั้งคำถามต่อบทบาทหน้าที่ และความจำเป็นของการมีอยู่ของสถาบันตนในสังคมไทย และสังคมโลก เพราะท่ามกลางวิกฤตการเมืองเช่นนี้ ทุกภาคส่วนในสังคมต้องออกมารับผิดชอบร่วมกัน ทุกๆ ฝ่ายต้องช่วยกันหาทางออกและแก้วิกฤต นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมานี้ การที่สถาบันกษัตริย์อ้างว่าอยู่เหนือกฎหมาย แต่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือทหารเข้ามามีบทบาทแทรกแซงทางการเมืองนั้นย่อมทำไม่ได้ ทหารถือว่าเป็นคู่อริ มีกรณีกับประชาชนมาโดยตลอด สถาบันฯ และทหารต้องปรับตัว และเข้าใจโลกาภิวัตน์ หรือสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ควรลุกขึ้นมาจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างชาญฉลาด และแสดงท่าทีจุดยืนที่สนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศอย่างจริงจังและจริงใจ แม้ว่าในอดีตมีการพึ่งพิงทหารในการจัดการกับคอมมิวนิสต์ แต่เงื่อนไขแบบนี้ไม่มีอีกต่อไปแล้ว กลุ่มคนเสื้อแดงไม่ใช่คอมมิวนิสต์ชัดเจน แน่นอน และกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนที่ชอบทักษิณเท่านั้นอีกต่อไป แต่คนที่เข้ามาร่วมคือคนที่เข้าใจประชาธิปไตย เข้าใจสังคม และต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางสังคม การเมือง ซึ่งนับวันจะยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคนเหล่านี้ต้องการให้ประเทศก้าวข้ามพ้นการเมืองน้ำเน่า ระบบอุปถัมภ์ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และกลุ่มคนเหล่านี้ รัฐบาลจะปรามได้ก็ต่อเมื่อมีการจัดการให้มีระบบกติกาที่เป็นประชาธิปไตยที่ยอมรับได้เพียงเท่านั้น ถาม: นอกจากการตั้งคำถามกับสถาบันต่างๆ ในสังคม รัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆ ในภาคขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ในระยะหลังมานี้ก็ถูกตั้งคำถามอย่างมากเช่นเดียวกัน ต่อประเด็นเรื่องการทำงานเพื่อประชาชนท่ามกลางความขัดแย้งทางเมืองที่เข้มข้นนี้ ในฐานะคนทำงานเคลื่อนไหวคิดอย่างไรต่อเรื่องนี้ ตอบ: ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ กลับไม่เน้นประเด็นเรื่องประชาธิปไตยเลย ทั้งๆ ที่ประเด็นนี้เป็นสิ่งสำคัญ ประชาชนกระหายประชาธิปไตย แต่องค์กรที่ทำงานกับประชาชน และอ้างว่าทำเพื่อประชาชน เป็นตัวแทนของประชาชน กลับไม่ออกมาเรียกร้อง เคลื่อนไหวเพื่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศเลย แม้ว่านักพัฒนาเอกชนหลายคน คัดค้านนโยบายลัทธิเสรีนิยมใหม่ เสรีทางการค้า และการแปรรูปในช่วงการบริหารงานของรัฐบาลทักษิณเป็นอย่างมาก แต่คำถามในวันนี้คือ รัฐบาลอภิสิทธิ์มีความต่างอย่างไรบ้าง รัฐบาลชุดนี้ก็เดินตามรอยทักษิณเช่นกัน อภิสิทธิ์เข้าสู่อำนาจได้ไม่นาน ก็กู้เงินธนาคารโลก เดินหน้าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ทำค้างไว้ตั้งแต่ปี 40 ในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย จึงน่าสงสัยว่า เหตุใดองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ที่เคยคัดค้านเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ได้ออกมาต่อต้านการกระทำของรัฐบาลอภิสิทธิ์เลย ไม่เพียงเท่านั้น หากประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย สุดท้ายแล้วการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนทั้งไทย และต่างประเทศ องค์กรระดับภูมิภาคและนานาชาติ ก็จะทำได้ลำบากมากขึ้น ไร้เสรีภาพ และองค์กรเหล่านี้จะทำงานภายใต้เงื่อนไขแบบนี้ได้อย่างไร การต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหาที่เกิดจากการพัฒนา ปัญหาความยากจนภายในประเทศ และในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่นพม่า จะทำได้อย่างไร หากสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทย และหน่วยงานที่ทำงานในประเทศไทยยังถูกริดลอน ถูกจำกัดอยู่เช่นนี้
ตอบ: ใช่ ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์ นับแต่กันยายน 2549 วิกฤติการเมืองซ้ำวิกฤตเศรษฐกิจ เกิดความขัดแย้งและความเดือดร้อนไปทั่วทุกภาค บุคคลหรือฝ่ายที่มีอำนาจ มีบทบาททางการเมือง ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ลดความขัดแย้ง แต่กลับเป็นตัวเพิ่มความขัดแย้งในสังคมให้มากยิ่งขึ้น จะเห็นว่า ปัจจุบันมีคดีเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพจำนวนกว่า 2,000 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ อีกทั้งจำนวนเว็บบล็อกและเว็บไซต์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งคำถามต่อสถาบันระดับสูงในสังคมไทย เป็นเว็บไซต์ที่กระทรวงไอซีทีต้องจับตามองและต้องปิดไปเนื่องจากเข้าข่ายกระทำความผิดตามกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ หากมองในมุมกลับแล้ว “ประเด็นที่สำคัญคือ อะไรกำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะเหตุใดจึงมีประชาชนเริ่มตั้งคำถามกับสถาบันฯ เพิ่มมากขึ้น” ไม่ใช่มองเพียงแต่ว่าเป็นเว็บไซต์หมิ่นต้องปิดให้หมด เพราะการปิดกั้นสื่อ การปกป้องสถาบันโดยไม่วิเคราะห์สถานการณ์ หรือเท่าทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม การปิดกั้นพื้นที่ในการถกเถียง แลกเปลี่ยนในสังคม โดยไม่พยายามสร้างความเข้าใจ และหากทางออก การปรับเปลี่ยนร่วมกัน ยิ่งจะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว การไม่มองให้เห็นถึงภาพรวมว่า มีกลุ่มคนจำนวนมาก ทหาร ข้าราชการ นักการเมือง กลุ่มธุรกิจ กำลังได้รับผลประโยชน์จากความขัดแย้งทางการเมือง และได้รับประโยชน์จากการใช้ และการคุ้มครองกฎหมายหมิ่นฯ นี้อย่างเข้มแข็งอยู่นั้น นั่นก็ไม่ช่วยให้เราแก้ไขปัญหา หรือหาทางออกทางการเมืองได้ หากไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบหักมุมอย่างรุนแรง เช่นที่เกิดขึ้นในรัสเซีย เนปาล และฝรั่งเศส การเปิดพื้นที่ให้มีถกเถียง พูดคุยแลกเปลี่ยนในสังคม เกี่ยวกับการดำรงอยู่ บทบาทหน้าที่ของสถาบันต่างๆ ในสังคม ร่วมกันจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องปรับตัว จึงขอย้ำว่าการยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ และการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง คนที่คิดต่างแล้วถูกจับกุม นักโทษคดีหมิ่นกว่าหนึ่งพันคน จะช่วยลดความขัดแย้ง และถือเป็นทางออกทางการเมืองที่ทำได้ในเวลานี้ ถาม: การมองถึงเชื่อมโยงปัญหาที่เกิดจากความไม่มั่นคงของการเมืองไทย ปัญหาการละเมิดสิทธิ ในช่วงเวลากึ่งทศวรรษมานี้ กับปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติที่เราเผชิญอยู่ ในระยะยาว จริงๆ แล้ว รัฐบาลชุดใดก็ตามที่เข้ามาบริหาร ควรมีบทบาทหน้าที่อย่างไร ตอบ: ปัญหานำ้ท่วมนำ้แล้งไม่ใช่วิกฤตที่แก้ไม่ได้ แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราไม่มีกลไกระบบรัฐสภาที่ทำงานได้อย่างจริงจัง ต่อเนื่องเลย ไม่ได้มีการพูดคุย เตรียมแผนแก้ปัญหาวิกฤติใดได้ อีกทั้งวิกฤติเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยโครงการ 2 แสนล้าน อย่างโขง-ชี-มูล หรือการสร้างเขื่อนแก่งเสื้อเต้นได้ การฟื้นคืนความชุ่มชื้นให้ภาคอีสาน ต้องคืนพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายมาตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่าน่มา ต้องฟื้นฟูระบบเกษตรผสมผสาน เกษตรที่ปลูกพืชหลากหลายให้กับประชาชน ไม่ใช่การส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการส่งออกเท่านั้น หากเรามีสภาพทางการเมืองที่ินิ่งพอ มีนโยบายที่ช่วยแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องพิ่งพิงเงินหลายแสนล้านบาท กอปรกับเศรษฐกิจโลกขาลง จำนวนคนตกงานที่เพิ่มมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา และทั่วยุโรป ประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนย่อมได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต่างก็ผลิตส่งออกสินค้าประเภทเดียวกัน หากกำลังซื้อในตลาดสหรัฐและยุโรปลดหายไป แรงงานไทยย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องเริ่มใช้หนี้ที่กู้มาในปีหน้า จำนวนเงินกว่า 8 แสนล้านบาท รัฐบาลจะนำเงินมาจากไหน วิกฤติการเมือง เศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติ รวมถึงปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (climate change) สิ่งต่างๆ เหล่านี้ประเทศต้องการรัฐบาล พรรคการเมือง และสถาบันต่างๆ ในสังคม ที่เข้มแข้งเข้ามาทำงานจัดการกับปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลที่เข้าใจโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงของโลก นอกจากนี้ ขอยำ้ว่า การเข้ามาแทรกแซงของทหาร ที่พยายามบอกว่าจะลุกขึ้นมาปฏิวัติเพื่อความมั่นคงของประเทศชาตินั้น ทหารไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะทหารเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และเป็นตัวคุกคามความมั่นคงของชาติ และความเป็นอยู่ของประชาธิปไตยของชาติมาโดยตลอด และ “รัฐบาลที่เป็นคนดีไม่ได้ช่วยอะไร รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจากคนดีก็ไม่ได้ช่วยอะไร” สิ่งที่ประชาชนต้องการในเวลานี้คือ “Democracy First, Election Now!” การเลือกตั้งที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สุรพศ ทวีศักดิ์ : กษัตริย์ตามทัศนะของพุทธศาสนา Posted: 28 Oct 2010 04:13 AM PDT
1. พุทธศาสนามอง “กษัตริย์” ในมิติของชนชั้นทางสังคมอย่างไร?
เท่าที่ผมอ่านพบในพระไตรปิฎก (ที่ไม่พบไม่รู้) ความคิดของพุทธศาสนาเกี่ยวกับกษัตริย์ที่ชัดเจนเลย ปรากฏในอัคคัญสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ 11) เนื้อหาสำคัญเป็นเรื่องที่พระพุทธองค์โต้แย้งความคิดแบบ “เทวสิทธิ์” ของพราหมณ์ที่สอนว่า พระพรหมสร้างโลก สร้างมนุษย์ แล้วก็แบ่งสถานะของมนุษย์ออกเป็น 4 ชนชั้น คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร กษัตริย์เป็นชนชั้นปกครอง พราหมณ์เป็นชนชั้นปัญญาชน ผู้นำทางศาสนา แพศย์คือสามัญชนทั่วไป ศูทรคือพวกทาส กรรมกร สถานะทางชนชั้นดังกล่าวนี้นอกจากถูกกำหนดตายตัวโดยชาติกำเนิด (คือต้องได้มาโดยการเกิดเท่านั้น) แล้ว ยังมีความหมายที่สำคัญคือเป็นสถานะทางชนชั้นที่กำหนดความสูง-ต่ำทางศีลธรรมของมนุษย์ด้วย ซึ่งหมายความว่า คนมีความเป็นคนไม่เท่ากันเพราะมีชาติกำเนิดที่ต่างกัน พระพุทธองค์ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อนี้ จึงเสนอว่า คนไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดอย่างไร แต่มีความเป็นคนเท่ากันตามกฎธรรมชาติ คือ “กฎแห่งกรรม” ในความหมายที่ว่าทุกคนคือผู้เลือกการกระทำ และต้องรับผิดชอบต่อผลที่ตามมา ถ้าคุณทำความดีคุณก็เป็นคนดี ถ้าคุณทำชั่วคุณก็เป็นคนชั่ว ไม่ว่าคุณจะมีชาติกำเนิดอย่างไรก็ตาม 2. “ความเป็นคนที่เท่ากัน” มีอยู่จริงหรือ? พุทธศาสนามองความจริงสองความหมาย คือความจริงที่มนุษย์สร้างขึ้น กับความจริงที่เป็นข้อเท็จจริงตามกฎธรรมชาติ สถานะทางชนชั้นเป็นความจริงที่มนุษย์สร้างหรือสมมติกันขึ้น ส่วนมนุษย์จริงๆ หรือมนุษย์ที่เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งในระบบของธรรมชาตินั้นไม่ได้มีสถานะสูง-ต่ำที่จะต้องได้รับอภิสิทธิ์ หรือถูกเลือกปฏิบัติต่างกันภายใต้กฎแห่งกรรม คือจะเป็นมนุษย์คนไหนก็ตามถ้ากระทำสิ่งเดียวกันจากเจตนาหรือคุณภาพจิตแบบเดียวกันย่อมได้รับผลแบบเดียวกัน ประเด็นคือ ตามวิธีคิดของพุทธศาสนาสิ่งที่มนุษย์สมมติหรือสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบจริยธรรมหรืออะไรก็ตามที่ควรจะยอมรับว่าถูกต้อง หรือควรยึดถือปฏิบัติก็ต่อเมือมันตอบสนองต่อความเป็นมนุษย์จริงๆ ตามกฎธรรมชาติ พุทธศาสนาแยกธรรมเป็นสองส่วนคือ “สัจธรรม” กับ "จริยธรรม” สัจธรรมคือข้อเท็จจริงตามกฎธรรมชาติ จริยธรรมคือระบบคุณค่าหรือแนวทางของชีวิตและสังคมที่เป็นทางบรรลุสัจธรรม เช่น พุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับการแบ่งคุณค่าของคนตามระบบชนชั้น เพราะเห็นว่าเป็นระบบที่ขัดต่อสัจธรรมหรือความจริงตามกฎธรรมชาติที่ว่า “คนเท่าเทียมกัน” ฉะนั้น ระบบคุณค่าหรือระบบจริยธรรมที่เป็นทางบรรลุสัจธรรมที่ว่า “คนเท่าเทียมกัน” คือ ระบบจริยธรรมที่ส่งเสริมให้แต่ละคนเป็นผู้กำหนดคุณค่าของตนเอง ไม่ใช่ให้ระบบชนชั้นหรือระบบอื่นใดเป็นตัวกำหนด 3. แต่ละคนกำหนดคุณค่าของตนเองอย่างไร? ด้วยการเลือกกระทำอย่างอิสระ ที่จริงพุทธศาสนาคิดคล้ายกับคานท์นะที่ว่า มนุษย์มีอิสระที่จะเลือกกระทำตามเหตุผลหรืออารมณ์ ถ้าเลือกทำตามเหตุผลการกระทำของเขาก็เป็นการกระทำที่ดี พุทธศาสนาก็มองว่าถ้าเราทำตามการชี้นำของกิเลส การกระทำของเราก็ไม่มีค่าเป็นการกระทำที่ดี ถ้าทำตามการชี้นำของปัญญา การกระทำของเราก็มีค่าเป็นการกระทำที่ดี ประเด็นสำคัญคือ ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเลือก ฉะนั้น ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อการเลือกของตนเอง ซึ่งประเด็นนี้พุทธศาสนาคิดคล้ายกับซาร์ตร์ที่ว่า “เสรีภาพต้องมาคู่กับความรับผิดชอบ” ฉะนั้น ระบบจริยธรรม ระบบคุณค่าหรือระบบสังคมการเมืองใดๆ ก็ตามที่เอื้อต่อความเป็นมนุษย์ หรือเป็นระบบซึ่งไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ลงไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ระบบนั้นจะต้องปกป้องความเท่าเทียมในความเป็นคน และการมีเสรีภาพของมนุษย์ ระบบชนชั้นแบบพราหมณ์ ขัดแย้งกับสัจธรรมที่ว่า “มนุษย์เท่าเทียมกัน และมนุษย์มีเสรีภาพที่จะเลือกและรับผิดชอบ” พุทธศาสนาจึงปฏิเสธ เพราะพุทธศาสนาเห็นว่าคนเราไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดอย่าไร มีสถานะทางสังคมแบบไหน จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองเสมอ เป็นเรื่องไร้เหตุผลที่ใครก็ตามจะอ้างความสูงส่งทางชนชั้นเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ชั่วของตนเอง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า กษัตริย์ทำชั่วก็เป็นกษัตริย์ที่ชั่ว พราหมณ์ทำชั่วก็เป็นพราหมณ์ที่ชั่ว แพศย์ ศูทร ทำชั่วก็ชั่วเช่นกัน 4. พุทธศาสนาถือว่ากษัตริย์เป็น “สมมติเทพ” หรือ “เทวดาบนแผ่นดิน” มิใช่หรือ? เท่าที่ผมรู้เวลาพุทธศาสนาพูดถึงเทวดา สาระสำคัญจริงๆ หมายถึงผู้มีคุณธรรมที่เรียกว่า “หิริ โอตตัปปะ” ใครก็ได้ที่มีคุณธรรมนี้ คือมีความละอายที่จะทำชั่ว รังเกียจที่จะทำชั่วก็ถือว่าเป็นเทวดาได้ ส่วนการเจาะจงว่า กษัตริย์คือ “สมมติเทพ” นั้น ผมเข้าใจว่า (อาจผิดก็ได้) น่าจะเป็นการใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อรับรองสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้ปกครองในสมัยราชาธิปไตย ไม่น่าจะใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ เหตุผลก็อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า พุทธศาสนาปฏิเสธระบบชนชั้นที่ถือว่าคนดี-เลว โดยชาติกำเนิด นี่คือหลักสำคัญ ฉะนั้น ความคิดความเชื่ออะไรก็ตามที่แม้จะอ้างว่าเป็นคำสอนของพุทธศาสนาแต่ถ้าขัดแย้งกับหลักสำคัญดังกล่าว เราย่อมสันนิษฐานได้ว่าไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ 5. แล้วที่พุทธศาสนาสอน “ทศพิธราชธรรม” หมายถึงว่า พระราชาต้องมีสถานะความเป็นคนเหนือกว่ามนุษย์ทั่วไปไหม? ที่พระราชามีสถานะเหนือว่าคนทั่วไป เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นโดย “ระบบราชาธิปไตย” ไม่ใช่ถูกกำหนดโดยคำสอนเรื่องทศพิธราชธรรม ที่จริงทศพิธราชธรรม คือคุณธรรมของราชา หรือผู้ปกครอง (พระพุทธองค์สอนคุณธรรมนี้ในยุคราชาธิปไตย ศัพท์ “ราช” จึงตกทอดมา) สาระสำคัญของคุณธรรมดังกล่าวนี้ไม่ใช่การเชิดชูความเหนือกว่ามนุษย์ของราชา แต่เป็นข้อเรียกร้องต่อคนที่เป็นราชาหรือผู้ปกครองว่า ความชอบธรรมในการเป็นผู้ปกครองขึ้นอยู่กับการมีคุณธรรม 10 ข้อ หรือทศพิธราชธรรม ที่จริงทศพิธราชธรรมเป็นข้อเรียกร้องที่เข้มงวดมาก ยากจะปฏิบัติได้สมบูรณ์ เช่น ราชาต้องเสียสละ ซื่อตรง ถ่อมตัว เที่ยงธรรม ไม่โกรธ ฯลฯ จึงมีความชอบธรรมในการปกครอง หรือสมควรได้รับการยอมรับจากประชาชน ทศพิธราชธรรมไม่ได้มีความหมายใดๆ ว่าเป็นพระราชาต้องสูงส่งกว่าสามัญมนุษย์ แตะต้อง หรือวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แต่ทศพิศราชธรรมคือคุณธรรมของผู้ที่รับใช้เพื่อนมนุษย์ 6. แนวคิดเรื่อง “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” ล่ะ คือแนวคิดประชาธิปไตยในมุมมองของพุทธศาสนาใช่ไหม? ปัญญาชนพุทธบางคนมองเช่นนั้นนะ แต่ผมคิดว่า ถ้าแนวคิดเรื่อง “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” หมายถึงแนวคิดทางการเมืองที่ว่า ประชาชนเป็นผู้เลือกกษัตริย์ให้เป็นประมุขของประเทศ โดยมีคณะรัฐบาลปกครองประเทศ แล้วกำหนดว่ากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ประชาชนวิจารณ์ตรวจสอบรัฐบาลได้ แต่ทำเช่นนั้นกับกษัตริย์ไม่ได้ ผมว่าแนวคิดเช่นนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยต้องไม่มีอำนาจใดๆ ที่มีความชอบธรรมที่จะอยู่พ้นไปจากการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจ ในวัฒนธรรมพุทธจริงๆ ก็ไม่มีใครอยู่เหนือการตรวจสอบ แม้แต่ผู้ที่หลุดพ้นแล้ว เช่น พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้อยู่เหนือการตรวจสอบของสังฆะ หรือชุมชนชาวพุทธ และตามหลักกาลามสูตรพุทธศาสนาก็ให้เสรีภาพอย่างเต็มที่แก่ปัจเจกบุคคลในการแสวงหาความจริง และการตัดสินทางศีลธรรม ซึ่งแนวคิดเรื่อง “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” ขัดแย้งโดยตรงต่อหลักกาลามสูตร! ผมจึงค่อนข้างแน่ใจว่าแนวคิดนี้ถูกดัดแปลงมาอย่างบิดเบือนจากที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอัคคัญญสูตรที่กล่าวแล้วตั้งแต่แรก 7. พุทธศาสนามองเรื่อง “คนดี” กับ “หลักการ” อย่างไร? พุทธศาสนาถือว่าคนดีคือคนที่ทำตามหลักการ ไม่ปรากฏว่าพุทธศาสนาสนับสนุนการอ้าง “ความเป็นคนดี” เพื่อละเมิดหรือล้มหลักการ พระพุทธองค์ตรัสว่า คนเราไม่ควรมีชีวิตอยู่อย่างปราศจากที่พึ่ง ทุกคนควรมีธรรมเป็นที่พึ่ง แม้แต่พระองค์เองก็เคารพธรรมซึ่งหมายถึงเคารพหลักการที่ถูกต้อง ก่อนสิ้นชีวิตพระพุทธองค์ก็ไม่แต่งตั้งตัวบุคคลให้เป็นศาสดาแทน แต่ให้หลักการ คือ “พระธรรมวินัย” เป็นศาสดาของชาวพุทธ แต่บ้านเรามันแปลกที่มีการอ้าง “ความเป็นคนดี” เหนือ “หลักการ” มันจึงมีรัฐประหารโดย “คนดีมีคุณธรรม” มีม็อบของคนดีมีคุณธรรมออกมาเรียกร้องให้ทหารล้มหลักการเพื่อ “ขจัดคนชั่ว” มันจึงวุ่นวายไม่จบ! ถ้าเราเข้าใจพุทธศาสนาจริง ทั้งคนดีคนชั่วต้องอยู่ภายใต้หลักการ ถูกให้คุณให้โทษ หรือถูกจัดการไปตามหลักการที่เที่ยงธรรมเสมอกัน การอ้างความเป็นคนดีเพื่อล้มหลักการ หรือแม้แต่เพื่อทำลายคนชั่วย่อมเป็นเรื่องไร้เหตุผล (คือถ้าจะล้มหลักการใดๆ ต้องล้มด้วยหลักการใหม่ที่ดีกว่า) เป็น “อัตตาธิปไตย” หรือเป็นการยก “ตัวกู” เหนือทุกสิ่ง ซึ่งพุทธศาสนามองว่า เป็นการกระทำด้วยความ “ทรามปัญญา” (ทุปปัญญา) แท้ๆ เลย!
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เรื่องน่ารู้ : คำถามและคำตอบเกี่ยวกับเครื่องดื่มให้พลังงานและสุขภาพ Posted: 28 Oct 2010 03:33 AM PDT เครื่องดื่มให้พลังงาน(energy drinks) กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กๆ และวัยรุ่น ทำให้หลายๆ บทความในสื่อพูดถึงผลด้านลบต่อสุขภาพของผู้บริโภคเครื่องดื่มให้พลังงานในปริมาณที่มากเกินไป จึงทำให้ผู้ปกครองบางท่านและบุคลากรโรงเรียนบางแห่งเริ่มวิตกกังวลว่า ความนิยมนี้อาจมีผลต่อเด็กและวัยรุ่น อย่างไรก็ดี ถึงแม้คาเฟอีนจะเป็นส่วนผสมพื้นฐานในเครื่องดื่มให้พลังงานส่วนมาก และมักถูกมองในแง่ร้ายอยู่บ่อยๆ ว่าเป็นสาเหตุให้เกิดผลด้านลบต่อสุขภาพ แต่หากเราตระหนักว่าปริมาณคาเฟอีนที่กำลังบริโภคอยู่นั้นมีมากน้อยเพียงใด ผู้คนทุกช่วงอายุและผู้รักษาสุขภาพส่วนใหญ่ก็สามารถเพลิดเพลินกับเครื่องดื่มให้พลังงานนี้ได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ประสบกับอาการไม่พึงประสงค์ เพื่อช่วยให้การบริโภคคาเฟอีนอยู่ในระดับที่เหมาะสมและปลอดภัย การกะปริมาณคาเฟอีนในแต่ละวันจึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะมาจากเครื่องดื่มให้พลังงาน ชา กาแฟ น้ำอัดลม อาหารเสริม และยา นอกจากนี้ คุณควรเรียนรู้ถึงวิธีการประเมินปริมาณคาเฟอีนในอาหารแต่ละชนิด และการคาดคะเนจํานวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ (number of serving per container) เพื่อการบริโภคอย่างพอเหมาะพอดี และควรนำความรู้ไปอธิบายให้เด็กๆ และวัยรุ่นเข้าใจ พวกเขาจะได้รื่นรมย์กับเครื่องดื่มให้พลังงานหรือโซดาอย่างปลอดภัยโดยปราศจากความเสี่ยงต่ออาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ต่อไปนี้คือคำถามที่ได้ยินบ่อยๆ เกี่ยวกับเครื่องดื่มให้พลังงานว่า มีการทำงานที่ช่วยเพิ่มความรู้สึกมีพลังได้อย่างไร และอะไรบ้างที่คุณสามารถทำได้ เพื่อช่วยให้เด็กๆ และวัยรุ่นสามารถบริโภคเครื่องดื่มชนิดนี้ได้อย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย คำถาม : เครื่องดื่มให้พลังงานคืออะไร คำถาม : ส่วนผสมอะไรใช้กันมากที่สุดในเครื่องดื่มให้พลังงาน และทำหน้าที่อย่างไร
คำถาม : คาเฟอีนในเครื่องดื่มให้พลังงานเพิ่มความรู้สึกมีพลังได้อย่างไร เนื่องจากในกลุ่มเครื่องดื่มให้พลังงานแต่ละชนิดมีปริมาณคาเฟอีนแตกต่างกัน ดังนั้นคุณจึงควรตรวจดูปริมาณคาเฟอีนเมื่อลองสินค้าใหม่ๆ ผู้ผลิตเครื่องดื่มให้พลังงานส่วนมากแสดงปริมาณคาเฟอีนบนฉลากผลิตภัณฑ์ หรือบนเว็บไซต์สินค้าอย่างเป็นทางการ อย่าลืมตรวจสอบขนาดหน่วยบริโภค(serving size) ที่เหมาะสมบนฉลากด้วย – เครื่องดื่มให้พลังงาน 1 ขวดอาจให้คาเฟอีนมากกว่าหนึ่งหน่วยบริโภค และคุณอาจสามารถได้รับคาเฟอีน 2 หรือแม้กระทั่ง 3 เท่าได้หากคุณบริโภคหมดภาชนะบรรจุ คำถาม : ควรวิตกกังวลกับปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มให้พลังงานหรือไม่ อย่างไรตาม ยังมีกลุ่มผู้ไวต่อคาเฟอีนมากกว่าคนอื่นๆ บางคนอาจรู้สึกถึงผลกระทบได้จากเพียงหน่วยบริโภคเดียว ขณะที่คนอื่นๆอาจไวน้อยกว่า โดยมีประสบการณ์ของอาการต่อไปนี้ ตื่นเต้น, กระสับกระส่าย และกระวนกระวาย คนส่วนใหญ่จะปรับคาเฟอีนตามปริมาณที่สามารถบริโภคได้โดยไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ถึงแม้ว่างานค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากจะแสดงผลให้เห็นว่า การบริโภคคาเฟอีน 200-300 มิลลิกรัมต่อวันไม่มีผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ แต่หญิงมีครรภ์ควรเฝ้าสังเกตการบริโภคคาเฟอีนของตนและปรึกษากับสูติ-นรีเวช (OB/GYN) หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ คุณสามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับประทานเพื่อสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์จากโบร์ชัวร์ของมูลนิธิ IFIC ได้ที่ ‘Healthy Eating During Pregnancy’ และแม้จะไม่พบว่าคาเฟอีนเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังหรือเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ แต่ผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงและ/หรือมีประวัติอาการหัวใจวายเฉียบพลันและโรคลมปัจจุบัน ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแล แม้งานศึกษาจะให้ข้อมูลเรื่องการโทรศัพท์ไปยังศูนย์พิษวิทยาว่า สาเหตุส่วนมากโดยแท้จริงไม่ได้มาจากการบริโภคเครื่องดื่มให้พลังงาน แต่หากคุณมีเด็กๆ ควรพูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับการสร้างนิสัยเรื่องความพอดีในทุกๆแง่มุมของการรับประทานอาหาร, การดำเนินชีวิต รวมถึงการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มมีคาเฟอีน เครื่องดื่มเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดพลังงานมากกว่าปกติ ซึ่งอาจไม่จำเป็นสำหรับเด็กและวัยรุ่นหลายๆคน เนื่องจากยังอ่อนเยาว์และมีพลังตามธรรมชาติ การดื่มเครื่องดื่มให้พลังงานเพื่อความรื่นรมย์นานๆสักครั้งหนึ่งก็ไม่เป็นอันตรายต่อผู้มีสุขภาพดี หากคุณมีความวิตกกังวลหรือมีอาการที่สังเกตได้จากการบริโภคคาเฟอีนแม้ในปริมาณเล็กน้อย คุณควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เพื่อขอคำแนะนำก่อนจะบริโภคเครื่องดื่มให้พลังงานและ/หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอื่นๆ ต่อไป นอกจากนี้ ควรบริโภคเครื่องดื่มให้พลังงานอย่างรับผิดชอบและไม่ควรนำไปผสมกับแอลกอฮอล์ ถึงแม้ว่าเด็กๆ สามารถบริโภคคาเฟอีนได้อย่างปลอดภัย แต่เครื่องดื่มให้พลังงานจำนวนมากก็มีฉลากเตือนซึ่งระบุว่า ‘เด็กไม่ควรดื่ม’ หลักการจัดการในทุกๆ กรณีคือ ใช้สามัญสำนึกเมื่อต้องยื่นเครื่องดื่มให้พลังงานกับเด็กๆ – การให้เด็กได้เพลิดเพลินกับปริมาณเล็กน้อยถึงปานกลางเป็นบางครั้งคราวก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพโดยรวมเช่นกัน วิธีหนึ่งที่ทำได้คือ เทปริมาณ(ระบุไว้บนฉลาก) ที่ถูกต้องลงในแก้วเล็กๆ แล้วแบ่งกันรับประทานกับเด็กๆ ของคุณ ของเหลวสำหรับเด็กช่วงอายุต้นๆ ส่วนมากควรเป็นเครื่องดื่มที่มีสารอาหารสำคัญๆ เช่น แคลเซียมและวิตามินดี ตัวอย่างคือ นมไขมันต่ำและน้ำผลไม้ 100% ควรพูดคุยกับเด็กๆเกี่ยวกับความพอดีของอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด และสอนให้อ่านปริมาณคาเฟอีนและวิตามินเกลือแร่อื่นๆบนฉลากอาหาร สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยให้พวกเขาตัดสินใจได้อย่างฉลาดเมื่อเติบโตขึ้น คำถาม : คาเฟอีนเป็นสาเหตุทำให้เด็กเกิดภาวะไม่อยู่เฉย (hyperactive) จริงหรือ สิ่งสำคัญที่สุด แหล่งข้อมูล: www.foodinsight.org สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กองปราบเตรียมออกหมายจับผู้เผยแพร่คลิปยุบพรรค ปชป. Posted: 28 Oct 2010 01:32 AM PDT 28 ต.ค. 2553 - เนชั่นทันข่าว รายงานว่า พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รอง ผบช.ก. กล่าวถึงความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนกรณีการเผยแพร่คลิปยุบพรรคประชาธิปัิตย์ของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน พนักงานสอบสวนกองปราบกำลังดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเตรียมออกหมายจับ ผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิด ซึ่งจะมีการนำพยานหลักฐานที่ได้มาประชุมกันในวันจันทร์ที่ 1 เวลา 10.00 น.ที่กองปราบปราม เบื้องต้นนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ เลขาศาลรัฐธรรมนูญ อาจเข้าข่ายความผิด กฎหมายอาญามาตรา 198 ฐานดูหมิ่น ขัดขวางการพิจารณาของศาล ซึ่งขณะนี้ทราบว่าได้หลบหนีไปแล้ว ทำให้มีเหตุให้สอบสวนหลายอย่าง เราก็ต้องทำการสอบสวนว่านายพสิษฐ์ เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไร และมีใครที่เกี่ยวข้องกับนายพสิษฐ์อีกบ้าง พล.ต.ต. ปัญญา กล่าวต่อว่า ตอนนี้เราต้องไปดูเรื่องเนื้อหาของคลิปทั้ง 5 คลิป ซึ่งได้ส่งให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบว่ามีการดัดแปลงตัดต่อหรือไม่อย่างไร ซึ่งเบื้องต้นพบคำบรรยายมีการดัดแปลงซึ่งเป็นเท็จ โดยเฉพาะคลิปของประธานองคมนตรีนั้น เป็นการไปมอบรางวัล ไม่ได้ไปทำอย่างอื่น นอกจากนั้นเราก็ต้องสืบหาไปถึงคนทำคลิปทั้ง 5 คลิป คนเผยแพร่ คนไปถ่าย ซึ่งบุคคลที่ร่วมขบวนการเหล่านี้จะผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความผิดต่อเจ้าพนักงานฐานเปิดเผยความลับทางราชการตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ส่วนคนที่นำไปโพสต์ต่อเนื่องก็ได้มอบหมายให้ทางกองบังคับการปราบปรามการ กระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) ไปสืบสวนสอบสวน และได้ทำหนังสือถึงกระทรวงไอซีทีเพื่อร้องต่อศาลให้บล๊อคคลิปดังกล่าวแล้ว ผู้สื่อข่าวถามลำบากใจในการทำงานหรือไม่ เพราะดูเหมือนการเมืองจะมีธงมาแล้วว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร พล.ต.ต.ปัญญา กล่าวว่า ไม่ลำบากใจอะไร ก็ทำไปตามข้อเท็จจริง สามารถอธิบายทุกฝ่ายได้ อยากฝากเตือนประชาชนว่าคลิปทั้ง 5 คลิปมีเป้าหมายดีสเครดิสสถาบันต่างๆ ซึ่งเป็นเท็จ และเตือนประชาชนอย่านำไปทำเป็นซีดีเผยแพร่เพราะจะเข้าข่ายความผิดด้วย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
'อดิศร' แจงผ่านเฟสบุ๊ค ถูกระงับพาสปอร์ตเพราะคดีหมิ่นประมาท 'ชวน' Posted: 28 Oct 2010 12:33 AM PDT อดิศร เพียงเกษ แจงผ่านข้อความในเฟสบุ๊ค เหตุกรณีถูกระงับหนังสือเดินทางเพราะมีหมายจากคดี "หมิ่นประมาท" ชวน หลีกภัย ไม่เกี่ยวกับเรื่องผู้ก่อการร้ายตามที่อ้างในหน้าสื่อ
จากกรณีที่ นสพ. ไทยโพสต์ รายงานข่าวว่า กองบัญชาการตำรวจสันติบาล (บช.ส.) และดีเอสไอ ได้ยื่นเรื่องเสนอให้กระทรวงการต่างประเทศเพิกถอนหนังสือเดินทางของผู้ต้อง หาคดีก่อการร้าย 9 ราย ที่มีข้อมูลว่าหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ โดยล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศมีคำสั่งให้ยกเลิกหนังสือเดินทางของนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง, นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน, พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์, นายพายัพ ปั้นเกตุ, นายอดิศร เพียงเกษ, นายอารี ไกรนรา, นายชินวัฒน์ หาบุญพาด, นายสำเริง ประจำเรือ สมาชิกสภาจังหวัดจันทบุรี และนางกัญญภัค มณีจักร หรือดีเจอ้อมแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2553 นายอดิศร เพียงเกษ ได้เขียนโน็ตในเฟสบุ๊คผ่านทะเบียนชื่อ Adisorn Piengkes ชี้แจงว่าตนเคยมีทั้งพาสปอร์ตธรรมดา พาสปอร์ตข้าราชการ และพาสปอร์ตแดง ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรี แต่ต่อมาพาสปอร์ตได้หายไป จากนั้นในช่วงที่มีการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าฯ เขาได้ไปขอพาสปอร์ตใหม่ แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศก็บอกว่ไม่สามารถออกได้เนื่องจากมีหมายจับจากที่ชวน หลีกภัย แจ้งความดำเนินคดีอยู่ ซึ่งเป็นการแจ้งความคดี "หมิ่นประมาท" ที่สน. ชนะสงคราม ดังนั้นการที่กระทรวงการต่างประเทศ สั่งงดออกพาสปอร์ต ให้แก่อดิศร เพียงเกษ จึงเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณี ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ในปัจจุบัน เนื้อความต้นฉบับทั้งหมดมีดังนี้
ชี้แจง กรณีกระทรวงการต่างประเทศ ยกเลิกพาสปอร์ต ของนายอดิศร เพียงเกษ ตาม ที่หนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ ได้ลงข่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้ยกเลิกพาสปอร์ตของแกนนำเสื้อแดง ๙ คน มีผม(นายอดิศร เพียงเกษ) รวมอยู่ด้วยนั้น กรณีพาสปอร์ต ของผม เดิมผมเคยมีพาสปอร์ตทั้งพาสปอร์ตธรรมดาและพาสปอร์ตของข้าราชการและพาสปอร์ต แดง ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรี แต่ต่อมา พาสปอร์ตหายไป จึงไปแจ้งความ เพื่อนำไปขอออกพาสปอร์ต ใหม่ (ในช่วงที่มีการชุมนุมทีีผ่านฟ้า) แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ที่มีหน้าที่ออกพาสปอร์ต ได้เชิญผมเข้าไปที่ห้องทำงาน บอกว่า ไม่สามารถออกพาสปอร์ตใหม่ ให้ได้ในขณะนี้ เพราะ ผมมีหมายจับ กรณีนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี แจ้งความดำเนินดคีผมอยู่ มีระเบียบบอกว่า หากผู้ใดมีหมายจับ ก็ไม่สามารถออกพาสปอร์ตให้ได้ เรื่องที่นายชวน หลีกภัย แจ้งความผม เป็นเรื่อง "หมิ่นประมาท" ที่สถานีตำรวจชนะสงคราม ผมยังไม่ได้ไปประกันตัว หมายจับยังคงค้างอยู่ การที่กระทรวงการต่างประเทศ สั่งงดออกพาสปอร์ต ให้แก่ผม จึงเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณี ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ในปัจจุบัน จึงเรียนมาเพื่อทุกฝ่ายได้รับทราบและพิจารณาต่อไป
รองศาสตราจารย์พิเศษดร.อดิศร เพียงเกษ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๓
ต้นฉบับ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
จุฬาฯ เดินหน้าจัดระเบียบแผงลอยสยามสแควร์ ตั้งรั้วกั้น-วางกำลังชายฉกรรจ์ตลอดแนว Posted: 28 Oct 2010 12:02 AM PDT จากกรณีที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับสำนักงานเขตปทุมวัน และ สน.ปทุมวัน เริ่มวางแผนจัดระเบียบพื้นที่บริเวณทางเท้ารอบสยามสแควร์ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีการต่อต้านจากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าแผงลอยที่ได้รับผลกระทบ โดยเมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 28 ต.ค. ที่สยามแควร์ ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ รายงานว่า มีกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 30 คนพร้อมเจ้าหน้าที่จัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งได้เข้ามาควบคุมพื้นที่และตั้งแผงรั้วเป็นแนวยาวตลอด ทางเท้าบริเวณสยามสแควร์โดยเจาะเชื่อมเหล็กยึดติดฐานของแผงกั้นกับพื้น ป้องกันการรื้อถอน และวางกำลังชายฉกรรจ์ตลอดแนวทางเท้าฝั่งสยามตั้งแต่หน้าโรงหนังสยามไปจนถึง สุดถนนสี่แยกปทุมวัน ก่อนหน้านี้ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานเขตปทุมวัน และ สน.ปทุมวัน รวม 3 ฝ่าย ได้เลื่อนเวลาดีเดย์เริ่มมาตรการควบคุมแผงลอยรอบพื้นที่สยามสแควร์ โดยให้ผู้ค้าแผงลอยรอบพื้นที่สยามสแควร์ย้ายออกนอกพื้นที่และผ่อนผันให้ผู้ ค้าเก็บสิ่งของและหาพื้นที่ขายใหม่ เมื่อครบกำหนดดีเดย์แล้วทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินจึงเริ่มมาตรการควบคุม โดยตั้งแผงรั้วตลอดแนวพร้อมกับนำกลุ่มชายฉกรรจ์และเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งเข้า ควบคุมพื้นที่ดังที่กล่าวข้างต้น ตัวแทนของเจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้มีการวางรั้วเอาไว้เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา แต่บรรดาผู้ค้าก็ได้มารื้อถอนไป จนต้องดำเนินการควบคุมพื้นที่โดยการนำรั้วมาตั้งและนำเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแล ตลอดแนวบริเวณเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิด เจ้าหน้าที่ยังกล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาผู้ค้าได้เข้ามาตั้งแผงลอยทำให้กีดขวางทางเดินจนกระทบต่อผู้สัญจร ในบริเวณ นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อร้านค้าในพื้นที่บริเวณสยามแสควร์ ทำให้ขายสินค้าได้น้อยลง ทางจุฬาฯจึงต้องดำเนินการตามมาตรการเพื่อจัดระเบียบพื้นที่ ทั้งนี้ จุฬาฯ เน้นย้ำว่าการดำเนินการต่างๆจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงแต่หากผู้ค้ายัง ฝ่าฝืนอีกคงต้องแจ้งความดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ด้านผู้ค้าอาหารบนรถเข็นในบริเวณสยามสแควร์นั้นก็ได้รับผลกระทบจาก การกั้นรั้วดังกล่าว บางรายต้องย้ายพื้นที่จากซอย 4 มาตั้งรถเอาไว้ที่เขตผ่อนผันที่ซอย 1 และ ซอย 6 โดยพ่อค้ารายหนึ่งเผยว่า การควบคุมบริเวณนี้ส่งผลต่อหลายฝ่าย นอกจากจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการค้าของเหล่าพ่อค้าแล้ว ยังทำให้หลายฝ่ายได้รับผลกระทบอย่างเช่นกลุ่มพ่อค้ารถเข็น ขณะที่โพสท์ทูเดย์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ได้เกิดเหตุ กลุ่มวัยรุ่นจำนวนหนึ่งได้เข้าไปไล่พ่อค้าแม่ค้าที่ตั้งแผงลอยบริเวณทางเท้า สยามสแควร์ใกล้บันไดสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสให้ย้ายออกจากพื้นที่ โดยกลุ่มวัยรุ่นชุดนี้ได้สั่งห้ามไม่ให้พ่อค้าตั้งแผงในช่วงค่ำ จึงมีปากเสียงกันกับพ่อค้าแม่ค้า ขณะที่พ่อค้าบางส่วนได้ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อบันทึกภาพ จึงเกิดการแย่งโทรศัพท์กันไปมา แต่ในที่สุดทั้งสิงฝ่ายต่างก็ล่าถอยกันไปเอง โดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ พ่อค้า รายหนึ่งกล่าวว่า กลุ่มวัยรุ่นที่มาไล่ที่ห้ามตั้งแผงค้ามีลักษณะเหมือนเด็กติดยา ที่อาจถูกว่าจ้างมาจากเจ้าหน้าจุฬาฯ
ที่มา - มติชนออนไลน์, โพสท์ทูเดย์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น