ประชาไท | Prachatai3.info |
- ซีรีส์ สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอนที่ 5: จะชอบหรือไม่ชอบ อนาคตสื่อกระแสหลักก็ต้องมุ่งสู่นิวมีเดีย
- คนเสื้อแดงเตรียมพาเหรดรณรงค์ปล่อยนักโทษการเมืองอาทิตย์นี้
- มุกดาหารระดมสหวิชาชีพ ถกปัญหาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ
- ข่าวพม่ารอบสัปดาห์ 2 - 8 ต.ค.53
- ข่าวรัฐฉาน 5-8 ต.ค.
- จากผู้อ่าน: ‘วิพากษ์เชิงสร้างสรรค์ หรือวิจารณ์เพื่อทำลาย’
- วิภา ดาวมณี: ความหมายของการตาย อนุสรณ์สถาน และการรำลึก 34 ปี 6 ตุลา 2519
- ปฏิวัติจิตสำนึกใหม่ไม่ได้ถ้าไม่ปฏิวัติเสรีภาพในการพูดความจริง
Posted: 08 Oct 2010 10:36 AM PDT
นิธินันท์ ยอแสงรัตน์: จะชอบหรือไม่ชอบ อนาคตสื่อกระแสหลักก็ต้องมุ่งสู่ นิว มีเดีย นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ บรรณาธิการอาวุโสฝ่ายบริหาร บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตอบสิบคำถามว่าด้วยสื่อใหม่กับสื่อเก่า ซึ่งเธอบอกว่า “คนทำสื่อกระแสหลักหลายคนไม่เข้าใจธรรมชาติ นิว มีเดีย ไม่เข้าใจธรรมชาติมนุษย์ ไม่เข้าใจว่าถึงที่สุดแล้ว แม้แต่ตัวคุณเองก็ต้องการความจริง และ เสรีภาพ” นิธินันท์ เป็นนักกิจกรรมมาตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษา ในรุ่นที่มีชื่อเรียกว่า “คนเดือนตุลา” เป็นอดีตสมาชิกวงดนตรี “ต้นกล้า” และเคยเป็นสมาชิกสภาองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2517 เริ่มงานในฐานะผู้สื่อข่าวที่ค่ายมติชน จากนั้นย้ายมาสู่ชายคาเครือเนชั่น ในโมงยามปัจจุบัน แม้โดยตำแหน่งหน้าที่การงานแล้ว เธอคือผู้บริหารในสื่อกระแสหลัก แต่ปลอดจากเวลาทำงาน เราพบเจอเธอได้ในเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ (บ่อยครั้งเล่นผ่านอุปกรณ์สื่อสารอินเทรนด์ที่เรียกกันเล่นๆ ว่า BB) และบทสนทนาที่เกิดขึ้นในหน้าวอลล์ของเธอนั้นหลากหลาย ทั้งประเด็นศิลปวัฒนธรรม สังคมการเมือง เรื่อยไปจนกระทั่งเกมออนไลน์ เพื่อนๆ ของเธอจึงมีวัยที่หลากหลายทั้งเด็กวัยรุ่นเรื่อยไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ถ้ามองด้วยสายตาของนักข่าว ก็ดูเหมือนเธอบริหารการสื่อสารกับแหล่งข่าวได้หลากหลายอย่างยิ่ง มองด้วยสายตาของผู้อ่อนวัยกว่า เธอคือผู้ใหญ่ที่ไม่ตกยุคและเปิดใจกว้าง ประชาไทขอสัมภาษณ์เธอในฐานะที่เป็นคนทำงานในสื่อกระแสหลัก (เจ้าตัวเรียกว่า “โอลด์มีเดีย” ) ซึ่งกำลังเผชิญกับความท้าทายของกระแสนิวมีเดียอย่างรุนแรงในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้บรรยากาศการเมืองที่แบ่งขั้วแบ่งข้างที่ลุกลามไปถึงสื่อมวลชนผู้ทำหน้าที่เสนอข้อเท็จจริงด้วยแล้ว มีบ่อยครั้งที่เธอเองวิพากษ์การทำหน้าที่สื่อด้วยกันอย่างรุนแรง ผ่านบทความของเธอ (หลายชิ้นหาอ่านได้ในประชาไท) และหลายครั้งที่เป้าหมายแห่งการวิพากษ์นั้นพุ่งตรงกลับไปที่สถาบันสื่อที่เธอสังกัดนั่นเอง นิธินันท์ ขอตอบคำถามผ่านตัวหนังสือ ซึ่งเป็นวิธีที่เธอเชื่อว่าจะสื่อสารได้ดีกว่า การสัมภาษณ์และถอดเทป และด้านล่างคือ คำถามทั้ง 10 ข้อ พร้อมคำตอบของเธอ
1.คำจำกัดความของ นิวมีเดีย สำหรับคุณคืออะไร อันที่จริงไม่เพียงคนทั่วไป แต่ดูเหมือนหลายคนในวงการสื่อเอง ก็ยังไม่แจ่มชัดว่าอะไรควรเป็นคำจำกัดความของ “นิว มีเดีย” หรือ “สื่อใหม่” ซึ่งมีความหมายมากกว่าการใช้คอมพิวเตอร์ การใช้สมาร์ท โฟน การสื่อสารออนไลน์ แต่มันยังรวมถึงเกมคอมพิวเตอร์ ซีดี ดีวีดี เทคโนโลยีทรีดี และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากระบบดิจิทัล และยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นิว มีเดีย ก็เลยยังคงความเป็น “นิว มีเดีย” เพราะยังไม่เก่า ถ้าพิจารณาจากพัฒนาการของเครื่องมือสื่อสารในช่วงปลายศตวรรษที่ยี่สิบจนถึงยุคต้นสหัสวรรษใหม่ หรือยุคปัจจุบัน เราอาจบอกว่า นิวมีเดีย คือ สื่อดิจิทัล ที่ทำให้ผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารสนองตอบความต้องการรับและส่งข้อมูลข่าวสารของตนได้ทันที สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ทันทีผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ในเวลา และ สถานที่ใดก็ได้ ตามที่ผู้รับสารและผู้ส่งสารต้องการ อีกทั้งยังสามารถสื่อสารไปมาพร้อมๆ กันระหว่างผู้คนจำนวนมากกับผู้คนจำนวนมากทั้งในแง่ปัจเจกต่อปัจเจก ปัจเจกต่อชุมชน และชุมชนต่อชุมชน หัวใจสำคัญของนิวมีเดียคือความรวดเร็ว ความสดใหม่ และความเสมอภาคกันในการส่ง, รับและ เผยแพร่ข่าวสารของผู้คนร่วมชุมชนออนไลน์ ซึ่งนำความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างมาสู่สังคม โดยเฉพาะในด้านชีวิตวัฒนธรรม ทั้งการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมใหม่ และการเรียนรู้ใหม่จากวัฒนธรรมเก่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก โลกของผู้คนในชุมชนออนไลน์นั้น ด้านหนึ่งเหมือนโลกแคบ ไกลเหมือนใกล้ ติดต่อกันได้รวดเร็วชั่วลัดนิ้วมือเดียว แต่อีกด้านก็กว้างใหญ่ไพศาลมาก มีเรื่องราวและข้อมูลให้ติดตามค้นหามากมายไม่สิ้นสุด ซึ่งถ้าจัดระบบความคิดไม่ดี ไม่เข้าใจธรรมชาติการทำงานของสมอง ก็อาจเครียดกับกองข้อมูลข่าวสารที่มีขยะปะปนอยู่มากมายได้ 2.การที่สื่อหลักหันมาใช้พื้นที่ออนไลน์ อยู่ภายใต้คำจำกัดความของ นิว มีเดีย หรือไม่ อยู่ภายใต้คำจำกัดความระดับหนึ่ง เวลานี้คนทำสื่อจำนวนมากเหมือนกำลังพยายามใช้นิวมีเดียในฐานะเครื่องมือใหม่ทางการสื่อสารที่จำเป็นต้องใช้ ไม่เช่นนั้นจะตามไม่ทันคนอื่น จะตกขบวนรถไฟ ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง แต่อย่างที่หลายคนว่าไว้ว่า สิ่งสำคัญกว่าเครื่องมือคือเนื้อหา มีความเห็นว่าสื่อหลักและคนทำสื่อหลักหลายคน ยังคงเชื่อว่าฉันแต่ผู้เดียวคือผู้ควบคุมประตูข่าวสาร จึงมีแต่ฉันเท่านั้นคือ “สื่อแท้” ซึ่งนำความจริงและความถูกต้อง ไปบอกกับสังคม (อุดมคติดั้งเดิมของสื่อที่ฟังใหญ่โตอย่างนั้น ทำให้คนทำสื่อหลายคนตัวพองว่าฉันช่างดีเลิศประเสริฐศรี ทั่วปฐพีไม่มีใครเทียบ) ส่วนคนทั่วไปหรือสื่อเล็กๆ อย่าง “ประชาไท” ที่ใช้แต่ “ นิว มีเดีย” เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร เป็น “สื่อเทียม” เพราะฉะนั้นประชาไทซึ่งเป็นสื่อเทียมจะถูกปิด ถูกบล็อกเว็บ ก็ไม่เป็นไร ผู้จัดการเว็บถูกจับแบบมีเงื่อนงำก็ไม่เป็นไร ไม่เกี่ยวกับเราชาวสื่อแท้ คล้ายกับคนทำสื่อหลักมองว่าแบรนด์ดั้งเดิมของสื่อและความใหญ่โตของธุรกิจสื่อคือตัวตัดสินความเป็นสื่อแท้และสื่อเทียม ยิ่งเป็นเรื่องการเมืองเหลืองแดงยิ่งไปกันใหญ่ ในช่วงที่สื่อบ้าคลั่งเลือกข้าง สื่อกระแสหลักยี่ห้อดังๆ เลือกข้างไม่เป็นไร ประกาศเสียงดังฟังชัดว่าพวกเราเลือกข้างความถูกต้องดีงาม แต่พอสื่อเล็กๆ ออนไลน์เลือกข้างบ้าง กลับถูกแปะป้ายโดยสื่อกระแสหลักว่าเป็นพวกสื่อเทียม หิวเงิน รับจ้างนักการเมืองมาทำกองเชียร์ สื่อกระแสหลักตามไม่ทันผู้บริโภคสื่อว่า เขาไม่ต้องการถูกยัดเยียดข่าวสารด้านเดียวที่เขาไม่เชื่อ เขาอยากฟังทุกด้าน แต่เมื่อสื่อกระแสหลักเลือกข้างไปแล้ว และไม่ให้พื้นที่อีกข้าง ถ้ามีให้ก็เป็นพื้นที่สำหรับการดูหมิ่นเหยียดหยาม จิกหัวกล่าวหา ด่าทอ แต่เมื่อประชาชนผู้บริโภคสื่อที่เป็นฝ่ายถูกกล่าวหา รู้อยู่แก่ใจว่าไม่ใช่ สื่อพูดผิด ชี้นำผิด เขาก็หันไปทำสื่อของเขาเอง เสพสื่อของพวกเดียวกันเอง กลายเป็นข่าวเลือกข้างอีกข้าง แล้วใครจะทำไม ตรงนี้จึงย้อนกลับมาว่า คนทำสื่อกระแสหลักหลายคนไม่เข้าใจธรรมชาติ นิว มีเดีย ไม่เข้าใจธรรมชาติมนุษย์ ไม่เข้าใจว่าถึงที่สุดแล้ว แม้แต่ตัวคุณเองก็ต้องการความจริง และ เสรีภาพ สื่อหลายคนยังทำสื่อแบบเดิมๆ ชินกับการเป็นผู้ส่งสารทางเดียว คิดเองเออเองว่าฉันนี่แหละรู้เยอะกว่า เพราะมีแต่สื่อหลักอย่างฉันนะที่ได้สัมภาษณ์คนสำคัญๆ ของประเทศมา ข้อมูลจากฉันจึงถูกต้องกว่า ลึกกว่า จริงกว่าใครๆ ในโลก แต่สังคมโลกยุคใหม่ไม่ใช่สังคมแนวดิ่ง วัฒนธรรมออนไลน์สร้างสังคมแนวนอน ไม่จำเป็นว่าข่าวจากคนระดับผู้นำประเทศเท่านั้นจึงมีความหมาย ข่าวจากประชาชนทั่วไปก็มีความหมายไม่ต่างกัน จริงอยู่ว่าคนระดับนำกุมนโยบายประเทศ และนั่นเป็นเรื่องสำคัญ แต่เสียงประชาชนที่ร่วมเป็นเจ้าของประเทศ ที่ใช้หยาดเหงื่อแรงงานทำนุบำรุงประเทศไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่า และเมื่อวัฒนธรรมออนไลน์เกื้อหนุนให้สังคมหรือชุมชนแนวนอนแผ่ขยายไพศาลมากขึ้น เสียงประชาชนก็อาจจะกลายเป็นเสียงสำคัญที่สุดได้ในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ อนาคตสื่อกระแสหลักก็ต้องมุ่งสู่ นิว มีเดีย เชื่อว่าแม้สื่อเก่าหรือ โอลด์ มีเดีย โดยเฉพาะบนแผ่นกระดาษจะไม่หมดไปโดยสิ้นเชิง เพราะยังมีพื้นที่ที่เข้าไม่ถึงนิว มีเดีย แต่ไม่เห็นแนวโน้มว่าสื่อเก่าจะเติบโตไปกว่านี้ งานศึกษาเรื่องสื่อทั่วโลกให้ข้อมูลตรงกันว่าผู้บริโภคสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก ส่วนยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ตกอย่างรวดเร็วมาก แค่ปีที่แล้วกับปีนี้ก็ตกวูบ คือยังไม่ต้องเทียบกับนิว มีเดียก็ได้ แค่เทียบสื่อเก่าด้วยกัน คือทีวีกับหนังสือพิมพ์ คนก็ดูทีวีมากกว่าหนังสือพิมพ์ รู้ข่าวจากทีวีเร็วกว่าหนังสือพิมพ์ มองในแง่ธุรกิจ เวลานี้บริษัทสื่อใหญ่ๆ ทั่วโลกที่เคยทำแต่หนังสือพิมพ์อย่างเดียวอยู่ไม่ได้ ต้องหันไปหาสื่อใหม่ ต้องมีความเป็นมัลติมีเดีย นอกจากนั้น ก็ยังต้องหารายได้จากทางอื่น เช่น การจัดกิจกรรมต่างๆ หรือการจัดสัมนา โดยร่วมมือกับสปอนเซอร์ซึ่งก็ต้องการใช้สื่อเป็นเครื่องมือเผยแพร่งานในลักษณะ CSR หรือ Corporate Social Responsibility ขององค์กรของตน กิจกรรมลักษณะนี้มีมากขึ้นทุกวัน จนคิดว่าในที่สุด สื่ออาจไม่ต้องทำเนียนแบบเก่า คือไม่ต้องโฆษณากิจกรรมนั้นๆ ในลักษณะข่าวซึ่งมีตัวอักษรเล็กๆ เขียนแอบไว้ด้านข้างหรือด้านล่างว่า “พื้นที่โฆษณา” หรือไม่ต้องขออาศัยพื้นที่ข่าวทำเป็นเขียนข่าวเนียนๆ ด้วยเหตุผลที่ฝ่ายโฆษณาอาจอ้างว่า ถ้าไม่เขียนข่าวให้ หนังสือพิมพ์จะไม่มีสปอนเซอร์แล้วจะอยู่ไม่ได้ เพราะต่อไป ทั้งคนทำสื่อและผู้บริโภคสื่อก็อาจเห็นตรงกันว่า ข้อมูลเหล่านี้ก็มีอะไรให้อ่านเหมือนกัน อ่านในเชิงโฆษณา คือรับรู้ว่ากำลังอ่าน ฟัง ดู โฆษณาด้านดีขององค์กรต่างๆ เหล่านั้น เป็นต้น ซึ่งสามารถอ่านได้จากหนังสือเฉพาะกิจ รูปเล่มสีสรรสวยงาม เป็นหนังสือแจก แถม ไปกับหนังสือพิมพ์ หรือตามสถานที่สาธารณะต่างๆ เป็นการ “ขายสินค้าเพื่อการบริโภค” อย่างตรงไปตรงมาในสังคมบริโภค แต่ในกรณีนี้ ทั้งบริษัทสื่อที่เผยแพร่โฆษณาและองค์กรที่จ่ายเงินเพื่อโฆษณาตัวเอง จะต้องรับผิดชอบร่วมกันว่า ข้อมูลที่ให้ไปแม้จะมีการตกแต่งให้งดงาม ก็ต้องไม่ใช่หลอกลวงผู้บริโภค อย่าตกแต่งจนเกินจริง เหมือนคุณแสดงภาพคุณที่แต่งหน้าทำผมสวยงามให้เราดู และเราก็รู้ว่าคุณไม่ได้แต่งหน้าทำผมอย่างนี้ทุกวัน แต่มันจะเป็นเรื่องโกหก ถ้าในชีวิตปกติของคุณไม่ล้างหน้าแปรงฟัน ไม่ดูแลผมของคุณเลย ปล่อยหัวเน่าเหม็นเป็นเดือนไม่ยอมสระ ทำนองนั้น หนังสือพิมพ์กระดาษ และสื่อเก่าอื่นๆ เช่นทีวี วิทยุ แบบเดิม คงยังไม่ตายในเวลาอันรวดเร็ว แต่มันจะค่อยๆเปลี่ยนไป เพราะถึงอย่างไรเทคโนโลยีใหม่ก็ต้องมาแทนที่เทคโนโลยีเก่า และจะผสานผสมกลมกลืนเข้ากันเองโดยธรรมชาติ ในอนาคตอีกหลายๆ ปีมากข้างหน้า ถ้าทุกพื้นที่เข้าถึงเทคโนโลยีนิวมีเดีย บางทีหนังสือพิมพ์กระดาษยุคใหม่อาจเปลี่ยนรูปแบบเป็นขนาดแทบลอยด์เพื่อนำเสนอข่าวเฉพาะชุมชน หรือโฆษณากิจกรรมต่างๆ ในชุมชนก็ได้ แล้วคนก็หันไปดู-ฟังข่าวทั่วไปของประเทศและโลกทางมือถือ ทีวี คอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นข่าวสั้นทันสถานการณ์หรือข่าววิเคราะห์เจาะลึก ซึ่งถ้าอยาก “อ่าน” ตัวหนังสือ ก็สามารถตามไป “อ่าน” ข้อความที่ได้ฟังแล้วจากเว็บไซต์ หรือจากบล็อกเป็นต้น ในเวลาใดก็ได้ที่อยากอ่าน แต่ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ก็ยังเชื่อว่าสื่อเก่าในรูปแบบ “หนังสือ” ไม่มีวันตาย ผู้คนน่าจะยังอ่านหนังสือเล่มที่มีเรื่องราวเฉพาะเจาะจง หนังสือที่มีรูปสวยงาม หนังสือเชิงศิลปะ หรือหนังสือแนววิชาการ ซึ่งอาจถูกเครื่องมือสื่อสารอย่างไอแพดแย่งตลาดไปบ้าง แต่คงแย่งได้ไม่หมด คนเราใช้สายตา “อ่าน” บนเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่นานๆ ก็มีปัญหาเหมือนกัน ประเด็นสำคัญสำหรับคนทำสื่อในเวลานี้ก็คือ คนทำสื่อต้องทำความเข้าใจ นิว มีเดีย ให้มากขึ้น ต้องเข้าใจว่า นิว มีเดีย ไม่ใช่แค่เครื่องมือและช่องทางสื่อสารที่แสดงรสนิยมทันสมัยไม่ตกยุค คนทำสื่อมืออาชีพไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือสื่อสารใหม่ล่าสุดทุกชนิดที่วางจำหน่ายในตลาด ไม่จำเป็นว่าตลาดออก บีบี ไอโฟน ไอแพด กล้องใหม่ไฮเทค อะไรต่อมิอะไร คนทำสื่อจะต้องซื้อมาครอบครองก่อนคนอื่น และต้องครอบครองทุกสิ่งซึ่งเป็นของเล่นใหม่ของคนมีสตางค์ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนนิวมีเดีย แต่คนทำสื่อต้องมองให้ออกว่านิว มีเดีย มีส่วนเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์อย่างไร เปลี่ยนโลกอย่างไร แล้วเราจะสื่อสารอะไรและอย่างไรกับผู้คนในโลกที่เปลี่ยนไป ซึ่งสื่อสารกลับมาถึงสื่อตลอดเวลา 3. การรุกคืบของนิวมีเดียส่งผลอย่างไรต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและส่งผลอย่างไรต่อแนวทางของวารสารศาสตร์ ส่วนแรกของคำถาม สรุปสั้นๆ ว่าเปลี่ยนไป คือ หนึ่ง เปลี่ยนจากการส่งและรับทางเดียวเป็นปฏิสัมพันธ์สองทาง สอง มีข้อมูลข่าวสารให้รับรู้มากขึ้น ทั้งแบบเฉพาะทางตามความสนใจพิเศษ และแบบกว้างๆ ปนกันไปทุกเรื่อง ส่วนข้อที่น่าเป็นห่วง คือ ถ้ารับข้อมูลมากไปและเร็วไป สมองอาจสับสนว่าจะเลือกรับและรู้อะไร ซึ่งในที่สุดสมองอาจทิ้งหมดทุกอย่าง หรือถ้าเลือกรับแต่ข้อมูลที่สนใจ ไม่เปิดรับข้อมูลอื่นเลย สมองก็ทำงานได้ไม่เต็มความสามารถ ส่วนหลังของคำถามเกี่ยวกับการรุกคืบของนิวมีเดียส่งผลอย่างไรต่อแนวทางของวารสารศาสตร์ อยากฟังข้อมูล ความเห็น และคำอธิบาย ของนักวิชาการสายวารสารศาสตร์ค่ะ สำหรับนักวิชาชีพที่เรียนศาสตร์อื่นมาเห็นว่า หลักการสื่อสารเบื้องต้น และหลักการเสนอข่าวเบื้องต้นประเภทใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อใด ทำไม อย่างใด คงไม่มีอะไรเปลี่ยน แต่ความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่เกิดจากรูปแบบการสื่อสารเปลี่ยน พฤติกรรมคนเปลี่ยน การรับรู้เปลี่ยน ก็คงต้องมีคำอธิบายชุดใหม่ หรือคำอธิบายเพิ่มเติม อย่างน้อยก็ในเรื่องความน่าเชื่อถือของสื่อ จริยธรรมสื่อ และเสรีภาพสื่อ เป็นต้น มีความเห็นว่าหลักจริยธรรมสื่อขั้นพื้นฐานที่ว่าด้วย truthfulness, accuracy, objectivity, impartiality, fairness และ public accountability มีความสำคัญมากสำหรับผู้ที่เรียกตัวเองว่า “สื่อ” ไม่ว่าจะสื่อเก่าหรือสื่อใหม่ นอกจากนั้น ทั้งสื่อเก่าสื่อใหม่ก็ต้องการ freedom of speech ซึ่งไม่ได้หมายถึงเสรีภาพในการใส่ความคนอื่นให้เสียหายเดือดร้อน แต่หมายถึงเสรีภาพในการพูด แสดงความเห็น ตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกตอย่างอิสระ โดยไม่ถูกบีบบังคับให้พูดตามใจผู้มีอำนาจหรือผู้ถือกฎหมาย 4. มีความวิตกกังวลในผู้ประกอบวิชาชีพสื่อว่า นิวมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอข้อมูลผ่านเว็บบอร์ด ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค ทำให้พฤติกรรมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารแย่ลง รวมถึงผู้ใช้สื่อออนไลน์ปราศจากความรับผิดชอบ และขาดจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่สื่อ ส่งผลให้เกิดข่าวที่ไม่ได้รับการตรวจสอบก่อนการเผยแพร่ ขาดกระบวนการคัดกรองข้อมูล เกิดข่าวลือ และทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างขึ้น มีความเห็นอย่างไร 1. ต่อให้ไม่มีการนำเสนอข้อมูลผ่านเว็บบอร์ด ทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ค พฤติกรรมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้คนก็อาจแย่ลงเพราะข้อมูลข่าวสารที่ได้จากสื่อกระแสหลักเหมือนกัน ปัญหาของสื่อกระแสหลักทุกวันนี้ก็คือ ขาดการทำข่าวเชิงวิเคราะห์เจาะลึก ไม่เกาะติดข่าว มีแต่ข่าวเขาพูดเธอพูดตามกระแสไปวันหนึ่งๆ ทั้งข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม บันเทิง โดยเฉพาะข่าวบันเทิงเลวร้ายที่สุด เน้นแต่ข่าวซุบซิบนินทา 2. ความรับผิดชอบของผู้ใช้สื่อออนไลน์เป็นประเด็นสำคัญ แต่อาจจะเข้าใจง่ายกว่า ถ้าพิจารณาว่า คนใช้สื่อออนไลน์ที่เป็นคนทั่วไปที่อยากแสดงความเห็น กับคนใช้สื่อออนไลน์ที่แสดงตัวว่าเป็นสื่อออนไลน์ หรือคนทำสื่อกระแสหลักที่ใช้สื่อออนไลน์เป็นสื่อเสริมสื่อกระแสหลัก ไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกัน ประเด็นมีอยู่ว่า ใครก็ตามที่ประกาศตัวว่าจะทำหน้าที่ “สื่อ” ไม่ว่าจะสื่อเก่าสื่อใหม่ ต้องยึดกุมหลักการของการสื่อสาร ยึดกุมหลักจริยธรรมสื่อขั้นพื้นฐาน ส่วนคนทั่วไปก็เป็นเรื่องของคนทั่วไป 3. ข่าวลือมีอยู่ทุกวัน ถ้าเราเชื่อทุกข่าวลือ คงไม่เป็นอันทำอะไร และมันก็ผิดหลักจริยธรรมสื่อชัดๆ ถ้าสื่อมักง่ายสร้างข่าวลือเป็นข่าวใหญ่โต ทำเสมือนเป็นข่าวจริง หรือไม่มักง่าย แต่สร้างข่าวเพื่อหวังผลบางอย่าง 5. แนวทางการนำเสนอของสื่อใหม่และวิธีบริโภคข้อมูลข่าวสารแบบใหม่ คือการเลือกเชื่อหรือเลือกรับข่าวสารเฉพาะเจาะจงตามความสนใจหรือตามสังกัดความเชื่อ เป็นปัญหาอย่างไรหรือไม่ สื่อใหม่ทำให้พฤติกรรมการเสพข่าวสารแบบนี้มีมากขึ้นหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องทั่วไป ไม่เห็นว่าเป็นปัญหา คนชอบถ่ายรูปก็บริโภคเว็บไซต์เกี่ยวกับภาพถ่าย คนชอบเพลงก็เข้าเว็บเพลง คนชอบการเมืองก็เข้าเว็บการเมือง วัยรุ่นก็เข้าเว็บวัยรุ่น เป็นเรื่องปกติมากๆ ถึงไม่มีสื่อใหม่ คนที่คิดเหมือนกัน ชอบเหมือนกันก็รวมกลุ่มกันอยู่แล้ว สื่อใหม่ออนไลน์ เพียงแต่ทำให้รวมง่ายกว่าเดิม ไม่ต้องออกจากบ้านมาเจอกันก็ได้ แต่ถ้าพูดเรื่องความขัดแย้งเหลืองแดงในประเทศ อาจเป็นปัญหาเพราะเรื่องยังไม่จบ ความรู้สึกขัดแย้งยังไม่จบ ยังคาใจกันอยู่หลายประเด็น จะปรองดองกันอย่างไรเมื่อคุณมองไม่เห็นคนตาย บ้างก็ว่า มาเผาห้างฉันแล้วจะให้เชื่อได้ไงว่าเธอมาดี แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปบอกว่า คุณจากฝั่งโน้นฝั่งนี้ออกมาจากฝั่งของคุณเถอะ มาปรองดองกันเถอะ ลืมไปเถอะ สังคมไทยชอบพูดอะไรง่ายๆ แบบนี้ แต่ความจริงคือไม่ง่าย และอีกด้านหนึ่งการรวมกลุ่ม รวมสังกัด มันก็เป็นเสมือนกรุ๊ปเทอราปี เป็นกลุ่มบำบัดความทุกข์ ความเศร้าโศกของคนที่ประสบภัยพิบัติมาแบบเดียวกัน รวมถึงในบางกรณีก็เป็นกลุ่มบำบัดคนอ่อนไหวที่มีจริตแบบเดียวกัน สรุปว่า สำหรับคนทั่วไป การเลือกเชื่อเป็นปกติ ไม่มีปัญหา ยกเว้นว่าถ้าคนเชื่อเหมือนกันรวมกลุ่มกันแล้วบอกว่าเราไปฆ่าพวกมันที่ไม่ใช่พวกเรา ที่ “เป็นคนไทยหรือเปล่า” กันเถอะ แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น จะมีสัญญานบอก ก็ต้องต่อต้านแก้ไขกันไป ส่วนสื่อนั้น ถ้าอยากจะเลือกข้างก็ไม่ผิด แต่ต้องบอกให้ชัดเจนว่าฉันเลือกข้างและเลือกเพราะอะไร แนวคิดอย่างไร ซึ่งก็ควรจะมีหลักการชัดเจนทางแนวนโยบายเศรษฐกิจสังคมอะไรก็ว่าไป ไม่ใช่เลือกข้างคนดืมีคุณธรรมแบบฉันขอผูกขาดความดีมีคุณธรรม เพราะใครๆ ก็อ้างตัวเป็นคนดีได้ และคนที่อ้างตัวว่าดีมีคุณธรรม มีศีลธรรมบางคน ก็บอกว่าฆ่าคนเห็นต่างได้ไม่ผิด ซึ่งเป็นคุณธรรมหรือศีลธรรมประเภทไหนก็ไม่ทราบ นอกจากนั้น สื่อเลือกข้าง ก็ต้องไม่ยุให้คนเกลียดกันจนถึงขั้นฆ่ากันเพราะความคิดต่างกัน ซึ่งน่ารังเกียจที่สุด ถึงที่สุดแล้ว ถ้าสังคมมีแต่สื่อเลือกข้าง โดยเฉพาะประเภทเชียร์แต่พวกเดียวกันทุกเรื่องไป ก็เชื่อว่าจะมีผู้บริโภคสื่อถามหาสื่อที่เสนอข่าวตามหลักจริยธรรมสื่อดั้งเดิม คือทำหน้าที่สื่ออย่างเที่ยงธรรม ทำความจริงหรือสิ่งที่ใกล้เคียงความจริงที่สุดให้ปรากฎอยู่ดี แต่สื่อนั้นก็อาจกลายเป็นสื่อเลือกข้างในทัศนะของคนที่คิดไม่ตรงกันก็ได้ การไม่ตั้งใจเลือกข้าง แต่ตั้งใจทำหน้าที่สื่อตามหลักการสื่อจึงดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสื่อเก่าหรือสื่อใหม่ 6. ข้อจำกัดหรือสิ่งพึงระวังสำหรับการใช้สื่อใหม่คืออะไร ข้อจำกัดของสื่อกระแสหลักคืออะไร ทั้งสองสิ่งนี้สามารถไปด้วยกันหรือว่าสื่อกระแสหลักกำลังจะถูกลดบทบาท ข้อจำกัดของสื่อกระแสหลักในโลกดิจิทัลคือทั้งทัศนคติและรูปแบบงุ่มง่าม เชื่องช้า สื่อเก่าหรือสื่อกระแสหลักกับสื่อใหม่ไปด้วยกันอยู่แล้ว และแน่นอนว่าสื่อกระแสหลักแบบเดิมๆ กำลังจะถูกลดบทบาท ข้อพึงระวังสำหรับการใช้สื่อใหม่ก็คือ คนทำสื่อต้องเข้าใจสื่อใหม่ให้มากกว่าแง่มุมของเครื่องมือสื่อสารใหม่ๆ และอย่าลืมตัวสนใจความเร็วมากกว่าความถูกต้องของข้อมูล ทวิตเตอร์ที่ฮิตกันเวลานี้ ควรใช้เป็นช่องทางบอกประเด็นข่าว เหมือนการ”โฆษณา ตีฆ้องร้องป่าว” ให้คนติดตาม แต่ต้องระวังประเด็นข่าวลือ ระวังว่าต้องไม่ทวีตหรือรีทวีตข่าวลือ เช่นดียวกัน ความเร็วและเนื้อหาในเฟสบุ๊ค ที่พูดได้ยาวกว่าทวิตเตอร์ก็ควรมีไว้บอกเนื้อความข่าวเป็นการ “ประชาสัมพันธ์” ข่าวให้ไปอ่านต่อในเว็บไซต์ หรือ ทางมือถือ ทางทีวี ทางสื่อสิ่งพิมพ์ หรือใช้เป็นพื้นที่ถกเถียงสนทนาต่อเนื่องเพื่อแตกประเด็นความคิด ที่สำคัญคือ คนทำสื่อต้องไม่หมกมุ่นกับการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์จนลืมความแข็งแรงของเนื้อหาข่าวสารที่ยังจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์เจาะลึก จำเป็นต้องติดตามข่าวสารจากหลายแหล่งข้อมูล ทั้งระดับผู้นำประเทศและระดับประชาชน 7. พลเมืองผู้ใช้เน็ต นักข่าวพลเมือง นักข่าวอาชีพ เส้นแบ่งที่พร่าเลือนเหล่ามีผลต่อการนำเสนอข่าวาสารและการรับรู้ข่าวสารไหม? โดยส่วนตัว ไม่คิดเรียกร้องจริยธรรมสื่อจากพลเมืองผู้ใช้เน็ตและนักข่าวพลเมืองที่รายงานข่าวของตัวเองโดยไม่อิงกับสื่อหลัก เพราะแต่ละคนต้องรับผิดชอบกฎหมายหมิ่นประมาทเอง แต่จำเป็นต้องเรียกร้องจริยธรรมสื่อ และคุณภาพการวิเคราะห์เจาะลึกที่เข้มข้นกว่าจาก “มืออาชีพ” 8. อินเทอร์เน็ต เป็นแค่ของเล่นของคนชั้นกลางหรือพื้นที่เปิดของคนด้อยสิทธิ ดูภาพรวมเหมือนเป็นของเล่นคนชั้นกลางและชั้นสูง แต่เชื่อว่า ข้อมูลข่าวสารจากอินเทอร์เน็ตกระจายถึงคนด้อยสิทธิด้วย และคนชั้นกลางบางกลุ่มก็นำเรื่องคนด้อยสิทธิมาเปิดพื้นที่ใหม่ให้คนชั้นกลางอื่นๆ ได้รับรู้เพิ่มเติมด้วย 9. ประเด็นเรื่องการยึดกุมความจริงเป็นเรื่องที่เริ่มถูกนำมาอภิปรายเมื่อพูดถึงบทบาทของสื่อทั้งสื่อหลักและสื่อนิวมีเดีย ในอีกด้านหนึ่งในฐานะสื่อหลัก คุณคิดไหมว่า อำนาจในการยึดกุมความจริงของสื่อหลักกำลังสั่นคลอน ในทางปรัชญา อาจมีคำถามว่า ความจริงมีหรือไม่ ความจริงของใคร หรือไม่มีความจริง มีแต่คำอธิบายถึงสิ่งที่ใกล้เคียงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมากที่สุด ความเห็นแตกต่างหลากหลายเป็นธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติ และเป็นสิทธิอันชอบธรรมของคนที่คิดแตกต่างหลากหลาย สิ่งสำคัญคือ เสรีภาพที่เราแต่ละคนสามารถคิดอย่างแตกต่างหลากหลายและอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ฆ่ากัน 10. พลังของสื่อใหม่สามารถ set agenda ทางสังคมระดับมหภาคได้หรือไม่ มันเป็นไปไม่ได้ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียวจะเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับมหภาค “สื่อใหม่” เป็นหนึ่งในเครื่องมือและช่องทางที่ผู้ใช้สามารถใช้เพื่อ set agenda ร่วมกับเครื่องมือและช่องทางอื่น การเปลี่ยนแปลงสังคมซึ่งมีมนุษย์เป็นผู้ขับเคลื่อนนั้น ไม่สามารถเกิดได้จากการ “สั่ง” ของใครคนใดคนหนึ่งให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ มนุษย์ที่จะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงต้องมีความรู้สึกร่วมเองว่าอยากจะเปลี่ยนแปลง และความรู้สึกนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นจาก “คำสั่ง” แต่เกิดขึ้นจากประสบการณ์สะสมของแต่ละคน ที่ทำให้สมองของแต่ละคนมีความรับรู้ ความจำ ความเชื่อ ความเข้าใจ จนถึงตัดสินใจกระทำการในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
คนเสื้อแดงเตรียมพาเหรดรณรงค์ปล่อยนักโทษการเมืองอาทิตย์นี้ Posted: 08 Oct 2010 07:12 AM PDT นักกิจกรรมเสื้อแดงเตรียมพาเหรดเรียกร้องปล่อยนักโทษการเมืองวันอาทิตย์นี้ ภายใต้ชื่อ "รณรงค์ให้ปล่อยนักโทษการเมือง พวกเขาต้องไม่ถูกขังลืม" ด้านผบ.ตร.สั่งเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1,900 นายรองรับสถานการณ์ ห้ามใช้เครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ โดยกิจกรรมของคนเสื้อแดงในวันอาทิตย์มีรายละเอียดตามเวลาและสถานที่ต่างๆ ดังนี้ 10:00 – 12:00 น. กลุ่มเสื้อแดงต่างๆ จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ตายบริเวณด่านศาลาแดง หลังจากนั้น มวลชนจะไปร่วมขบวนพาเหรดฯ 12:00 – 14:00 น. จอดรถรวมพล บนถนนราชดำริ ในเลนเดินรถฝั่งรพ. ตำรวจ ยาวไปถึงสี่แยกถนนสารสินไว้ให้สำหรับจอดเพื่อตั้งขบวน (พื้นที่ที่ตำรวจกันไว้ให้จอดเป็นแนวยาวขนานไปกับถนน) โดยหัวขบวนจะอยู่บริเวณหัวมุมถนนราชดำริ ตรงรพ.ตำรวจ และท้ายขบวนจะอยู่บริเวณสี่แยกถนนสารสิน หรืออาจยาวกว่านั้น ขึ้นกับจำนวนคนที่จะเข้าร่วมกิจกรรม 14:00 – 17:00 น. 1.เคลื่อนขบวนออกจากสี่แยกราชประสงค์ ผ่านสี่แยกราชประสงค์ เซ็นทรัลเวิลด์ จนถึงด่านประตูน้ำ ตรงสี่แยกประตูน้ำ 2. ผ่านสี่แยกประตูน้ำเข้าถนนราชปรารภ ผ่านโรงแรมอินทรา ตรงไปจนถึงแยกสามเหลี่ยมดินแดง ให้เลี้ยวขวาไปทางดินแดง และขับรถชิดซ้ายก่อนถึงอุโมงค์ใต้ทางด่วนดินแดง เพื่อเลี้ยวซ้ายไปบนถนนวิภาวดี ขับตรงไปแล้วชิดขวาเพื่อยูเทิร์นกลับรถมาลอดใต้ทางด่วนสามเหลี่ยมดินแดง (ด่านดินแดง) ก่อนขับรถตรงไปทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ใช้เส้นทางข้างล่าง อย่าขับขึ้นสะพานลอย เพราะจะชิดซ้ายไม่ได้เมื่อลงจากสะพานลอยแล้ว) ให้ขับรถชิดซ้ายก่อนถึงหัวมุมถนนบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของห้างเซ็นเตอร์วัน (ที่ถูกเผาไป) 3. เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพญาไท ขับตรงไปจนถึงแยกปทุมวัน แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนพระราม 1 ขับตรงไปจนถึงทางแยกให้เลี้ยวขวาเข้าถนนอุรุพงษ์ หลังจากนั้น ขับตรงไปจนถึงทางแยกถนนเพชรบุรี แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนหลานหลวง มาถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ให้หยุดไว้อาลัยประมาณ 10 นาที ก่อนเคลื่อนขบวนเข้าถนนราชดำเนิน 4. จากสะพานผ่านฟ้าฯ มุ่งหน้าไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แวะวางดอกไม้/ไว้อาลัยตรงจุดที่มีการปะทะกันหน้าโรงเรียนบนมุมถนนดินสอ หลังจากนั้นเคลื่อนขบวนไปยัง 4 แยกคอกวัว ถนนตะนาว จุดที่มีการปะทะหนักในวันที่ 10 เมษายน 2553 และเป็นจุดนัดพบเพื่อทำกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดงร่วมกับนายสมบัติ บุญงามอนงค์
โดย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.มีคำสั่งด่วนที่สุดถึง ผบช.น. ลง 6 ต.ค. แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับสถานการณ์การชุมนุมต่างๆในเดือน ต.ค. ดังนี้ 1.ให้หัวหน้า สน.ในพื้นที่ บช.น.ทั้ง 88 สน. เพิ่มความเข้มในการปฏิบัติหน้าที่ให้มากขึ้นและประสานงานและร่วมมือกับผู้ อำนวยการเขตในพื้นที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม หรือหากได้ติดตั้งแล้วให้ปรับทิศทางไปยังพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยง และพื้นที่ล่อแหลม เพื่อเป็นการป้องกันและใช้ประโยชน์หากมีเหตุเกิดขึ้นได้ 2.ให้ประสานกับแกนนำหรือหัวหน้าผู้จัดทำกิจกรรมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ โดยให้ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย ห้ามมิให้ใช้เครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่และรถยนต์ที่ติดเครื่องขยายเสียง รวมไปถึงการห้ามตั้งเต้นท์หรือเวทีเพื่อทำกิจกรรมที่จะทำให้กีดขวางการจราจร หรือกีดขวางทางสาธารณะโดยเด็ดขาด 3.เพิ่มความเข้มในการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด เพื่อตรวจค้นอาวุธและวัตถุระเบิดหรือสิ่งผิดกฎหมาย เพื่อเป็นการระงับยับยั้งหรือป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายแรงขึ้นได้ หมายเหตุ ที่มาของข่าวบางส่วนจากเว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
มุกดาหารระดมสหวิชาชีพ ถกปัญหาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ Posted: 08 Oct 2010 06:56 AM PDT ถกปัญหาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ เจ้าหน้าที่รัฐชี้แรงงานเวียดนามเคลื่อนย้ายมาขายแรงงานในไทยมากขึ้น ด้านองค์กรพัฒนาเอกชนชี้มีเด็กเกินกว่าครึ่งในพื้นที่ไม่มีหนังสือรับรองการเกิด ย้ำทุกฝ่ายต้องเตรียมแผนรับมือเขตการค้าเสรี สร้างพื้นที่การอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นในอาเซียน เมื่อเร็วๆนี้ ณ ห้องประชุมศาลาขาวตลาดอินโดจีน อ.เมือง จ.มุกดาหาร มูลนิธิเพื่อนหญิง และเครือข่ายสหวิชาชีพมุกดาหาร ร่วมกับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (สสส.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “สหวิชาชีพมุกดาหารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล” นายวิชชากร วงศ์จริยะกรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหาเรื้อรังในประเทศมายาวนาน ตนรับผิดชอบในส่วนของงานทางด้านการศึกษาให้เด็กในวัยเรียนได้รับการศึกษา โดยทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีระเบียบไว้ชัดเจนว่า เด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะต้องได้รับสิทธิทางการศึกษาภาคบังคับอย่างทั่วถึง ซึ่งจังหวัดมุกดาหารมีเด็กต่างชาติและเด็กที่ไม่มีสถานะเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมามีการอพยพของแรงงานข้ามชาติบ่อยครั้งทำให้แหล่งพักพิงของแรงงานไม่ต่อเนื่องจึงทำให้สถานศึกษาบางแห่งไม่รับลงทะเบียนเด็ก รวมถึงไม่เอาชื่อเด็กเข้าระบบสารสนเทศของโรงเรียนทำให้เด็กไม่ได้รับสิทธิต่างๆที่พึงจะได้รับ ซึ่งความเป็นจริงถ้าโรงเรียนไหนรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนไปเข้าเรียน ทางโรงเรียนก็จะออกเลขประจำตัว 13 หลักแก่นักเรียนเพื่อของบประมาณก็จะได้รับสิทธิต่างๆได้ “ในส่วนของแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ก็ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เข้าถึงสิทธิต่างๆได้ การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ภาครัฐและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องมาระดมความคิดและความร่วมมือ ว่าจะร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติอย่างไร ตนสัมผัสได้ว่าการทำงานของทุกภาคส่วนต่างมีแนวคิดให้คนที่อยู่ในจังหวัดมุกดาหารมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่สำคัญเรายังมีองค์กรพัฒนาเอกชนหลายองค์กรเป็นที่พึ่งแก่ประชาชนแก่คนที่ไม่กล้าเข้าไปติดต่อในส่วนราชการ ในปัจจุบันมีแรงงานกลุ่มใหม่ที่เป็นแรงงานข้ามชาติชาวเวียดนามมาขายแรงงานในจังหวัดมุกดาหารเป็นจำนวนมาก อีกทั้งแรงงานข้ามชาติบางครอบครัวมีการอพยพมาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแต่ไม่ได้หลักฐานทางทะเบียนราษฎร ซึ่งเรื่องนี้ทางกระทรวงมหาดไทยให้คณะรัฐมนตรีขึ้นทะเบียนรับรองสถานะบุคคลแล้ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญถ้าใครไม่มีสถานะบุคคลจะถือว่าไม่มีสิทธิ เมื่อไม่มีสิทธิก็ถือว่าไม่มีค่า ความเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็แล้วแต่มีค่าเท่ากัน” นายวิชชากร กล่าว วิเศษ คำไพ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานจัดหางานจังหวัดมุกดาหาร ระบุว่า ตนดูแลเรื่องแรงงานข้ามชาติมา 8 ปี ในจังหวัดมุกดาหาร เรื่องแรงงานข้ามชาติเป็นวัฎจักของโลก เป็นการแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าของมนุษย์ทั่วไป เนื่องจากแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงทำให้งานบางประเภทในประเทศขาดแรงงานอาทิ งานด้านเกษตร งานที่ใช้แรงงานหนัก งานภาคบริการ ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องใช้แรงงานข้ามชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อก่อนแรงงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานอะไรก็สามารถทำได้เลย เพราะเรามีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นในความรู้สึกและความเป็นพี่น้องและเครือญาติที่ไม่แตกต่างกันทางชาติพันธุ์ และความสัมพันธ์แบบนี้ก็ควรจะเป็นเช่นนี้ต่อไป จึงต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ ที่ผ่านมามีแรงงานข้ามชาติเคลื่อนย้ายเข้ามาในจังหวัดมุกดาหารเป็นจำนวนมาก ราชการเองก็เลยจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการจัดระบบตรวจสอบว่า แรงงานมีการกระจายตัวอาศัยอยู่ที่ไหนบ้าง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการออกเอกสารประจำตัวของแรงงานข้ามชาติ ก็จะได้รับสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรแต่เป็นการอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพื่อรอการส่งกลับและอนุญาตให้ทำงานได้ แต่ก็ต้องมีเกณฑ์ว่าเป็นคนที่สมบูรณ์ไม่มีโรคร้ายแรงหรือโรคติดต่อ ในส่วนกรมการจัดหางานเป็นหน่วยงานหลักในการจดทะเบียน เพราะเมื่อมีการจัดระบบผ่อนผันก็มีการทำข้อตกลงกับ 3 ประเทศต้นทางในเรื่องการดำเนินการว่า จะทำอย่างไรให้ได้รับสิทธิเป็นคนเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย เนื่องจาก ทร.38 เป็นเพียงแค่เอกสารสมมติเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมามีแรงงานข้ามชาติชาวพม่าล้านกว่าคนที่อาศัยทำงานอยู่ในประเทศไทยแต่ได้มาพิสูจน์สัญชาติแค่หลักแสนเท่านั้น พอผ่านการพิสูจน์สัญชาติก็จะมีการออกหนังสือเดินทางชั่วคราวให้ เมื่อผ่านการพิสูจน์สัญชาติเอกสารประจำตัวคือ หนังสือเดินทางเท่านั้น และโอกาสที่จะมีการเปิดจดทะเบียนพิสูจน์สัญชาติใหม่ก็ยังไม่มีจากทางการ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะต้องมีการจดทะเบียนใหม่แก่แรงงานข้ามชาติอย่างแน่นอน นายสิทธา สุขกันต์ ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิศุภนิมิตจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ของโครงการในเขตเทศบาล พบว่า แรงงานที่ไร้สถานะจะมี 2 กลุ่มหลัก คือ คนที่เข้ามานานบางคนเข้าประเทศมาตั้งแต่ปี 2518 กับแรงงานที่พึ่งเข้ามา ปัญหาที่พบ คือ แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทยนานแล้วมีหลักฐานทางทะเบียนไม่ครบ เช่น ทร.38 เด็กที่เกิดในพื้นที่ยังมีเด็กเกินกว่าครึ่งที่ยังไม่มีหนังสือรับรองการเกิด ซึ่งความจริงแล้วการจัดการสถานะบุคคลจะต้องมีสามขั้นตอนด้วยกัน คือ หนังสือรับรองการเกิด สูติบัตร และทะเบียนประวัติ ซึ่งคาดว่าในปี 2015 สิบประเทศในอาเซียนจะมีการเปิดเสรีในหลายด้านการค้า การลงทุน บริการ ประชากรจะสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกขึ้น อนาคตการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศจะมีมากขึ้น เราจะต้องมาป้องกันปัญหาต่างๆเพื่อให้คนกลุ่มนี้อยู่ได้อย่างสะดวกขึ้น สำหรับบรรยากาศในงานอบรมสัมมนาในครั้งนี้ มีตัวแทนจากสำนักงานจัดหางาน สำนักงานประกันสังคม สำนักงานปกครอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา งานสวัสดิการสังคม งานด่านตรวจคนเข้าเมือง ผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชจังหวัดมุกดาหารเข้าร่วมจำนวนมาก ทั้งนี้ในช่วงเช้าจะเป็นการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือ เพื่อการเข้าถึงสิทธิบริการด้านสุขภาพและอาชีวอนามัยของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ จ.มุกดาหาร นอกจากนี้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการ การประสานความร่วมมือ เพื่อการเข้าถึงสิทธิต่างๆของแรงงานข้ามชาติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ข่าวพม่ารอบสัปดาห์ 2 - 8 ต.ค.53 Posted: 08 Oct 2010 06:51 AM PDT วัยรุ่นชาวชินหนีเข้าอินเดียต่อเนื่อง เหตุไม่อยากเลือกตั้ง, สื่อพม่าออกแถลงการณ์ประณามการโจมตีทางโลกไซเบอร์, กองทัพพม่าฝึกทหารให้แรงงานพม่าในรัฐคะฉิ่น, บันคีมูนร้องพม่าจัดการเลือกตั้งน่าเชื่อถือ, เจ้าหน้าที่เรือนจำเรียกเก็บค่าพื้นที่ใช้หลับนอนจากนักโทษ 2 ต.ค.53 วัยรุ่นชาวชินหนีเข้าอินเดียต่อเนื่อง เหตุไม่อยากเลือกตั้ง หนุ่มสาวชาวชินจำนวนมาก ทั้งจากในรัฐชินและจากภาคสะกายทยอยเดินทางเข้าไปยังรัฐมิโซรัม ของอินเดียอย่างต่อเนื่อง โดยอ้าง ไม่อยากถูกบังคับให้ไปเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ย. ที่จะถึงนี้ และไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งน่าอายครั้งนี้ วัยรุ่นส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า รัฐบาลพม่าจะให้พรรคสหภาพและการพัฒนา (The Union Solidarity and Development Party - USDP) ของรัฐบาลชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย มีรายงานว่า ในแต่ละวันจะมีหนุ่มสาวราว 5 – 10 คนข้ามไปยังฝั่งอินเดีย อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในพื้นที่ต่างแสดงความกังวลกับวัยรุ่นที่เดินทางเข้าไปในรัฐมิโซรัมในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่ทางการอินเดียกำลังปราบปรามคนเข้าเมืองผิดกฎหมายอย่างหนัก (Khonumthung News) 5 ต.ค.53 สื่อพม่าออกแถลงการณ์ประณามการโจมตีทางโลกไซเบอร์ สื่อพม่านอกประเทศออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทั่วโลกหันมาสนับสนุนสื่อพม่านอกประเทศในการต่อต้านการโจมตีทางโลกไซเบอร์ พร้อมกันนี้ยังประณามการโจมตีเว็บไซต์ของสำนักข่าวอิรวดี(www.irrawaddy.org) และสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma) อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ โดยใช้ระบบ DDoS ในการโจมตี ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า เป็นฝีมือของรัฐบาลพม่า ด้านนายเอชานหน่าย ผู้อำนวยการระดับสูงของสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่ากล่าวว่า “พวกเราจะปกป้องสิทธิของเรา ในการบอกความจริงให้คนข้างนอกได้รู้ ไม่ว่ารัฐบาลพม่าจะใช้วิธีไหนเพื่อปิดปากเรา และเราเชื่อว่า รัฐบาลจะทำไม่สำเร็จ” นายเอชานหน่ายกล่าว อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเชื่อว่า ในช่วงการเลือกตั้ง รัฐบาลพม่าจะโจมตีเว็บไซต์ของสื่อพม่านอกประเทศอีกครั้งและรุนแรงมากขึ้น เพราะไม่ต้องการให้นำเสนอข่าวการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมสู่สายตาชาวโลก (DVB) 6 ต.ค.53 กองทัพพม่าฝึกทหารให้แรงงานพม่าในรัฐคะฉิ่น แรงงานพม่าจำนวนกว่า 500 คน จากบริษัทยูซานาร์ที่ตั้งอยู่ในหุบเขาฮูกวาง รัฐคะฉิ่นของนายเทมิ้น นักธุรกิจผู้ที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลพม่า กำลังได้รับการฝึกทหารจากกองทัพพม่า ด้านผู้สังเกตการณ์เชื่อ การฝึกอบรมให้กับแรงงานชาวพม่าครั้งนี้ น่าจะเป็นการเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army) ซึ่งปฏิเสธวางอาวุธให้กับรัฐบาลพม่า ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังคงเกิดกระแสความตึงเครียดจากทั้งสองฝ่าย (Irrawaddy) 7 ต.ค.53 บันคีมูนร้องพม่าจัดการเลือกตั้งน่าเชื่อถือ นายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติหรือยูเอ็นเรียกร้องรัฐบาลพม่าจัดตั้งการเลือกตั้งที่โปร่งใสและน่าเชื่อถือ พร้อมปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ย.นี้ ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นายพีเจ โครวลีย์กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่า การเลือกตั้งพม่าที่จะมาถึงมีความชอบธรรมและให้เสรีภาพ ทั้งยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การเลือกตั้งที่รัฐบาลพม่าจัดขึ้นยังขาดความน่าเชื่อถือในสายตาของนานาชาติ (Irrawaddy) 8 ต.ค.53 เจ้าหน้าที่เรือนจำเรียกเก็บค่าพื้นที่ใช้หลับนอนจากนักโทษ หญิงวัย 60 ปีรายหนึ่งออกมาเปิดเผยหลังจากเดินทางไปเยี่ยมสามีของเธอในเรือนจำทอด่วย ทางตอนใต้ของรัฐอาระกันว่า ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ในเรือนจำทอด่วยได้เรียกเก็บค่าพื้นที่สำหรับใช้หลับนอนในห้องขังจากนักโทษ หากนักโทษรายใดไม่มีเงินจ่ายค่าที่ให้กับเจ้าหน้าที่ ก็จะต้องย้ายที่นอนไปอยู่ในบริเวณที่สกปรกกว่า เช่นเดียวกับสามีของหญิงรายนี้ ที่ต้องย้ายที่นอนไปนอนใกล้กับห้องน้ำ เพราะไม่มีเงินจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งขณะนี้มีนักโทษหลายคนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าที่ให้กับเจ้าหน้าที่ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ มีรายงานว่า นักโทษที่ต้องการพื้นที่สำหรับใช้หลับนอนที่ดีกว่านักโทษคนอื่นๆ ต้องยอมจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ในเรือนจำในราคา 4 หมื่น – 8 หมื่นจั๊ตต่อปี (ราว1,338 – 2,675 บาท ) ส่วนสาเหตุที่ออกมาเปิดเผยในครั้งนี้ หญิงรายนี้ระบุว่า สามีของเธอต้องการให้เรื่องนี้แพร่สะพัดทราบไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลพม่าและองค์กรสากล เพื่อที่จะได้เข้ามาช่วยเหลือและแก้ปัญหา สอดคล้องกับนักการเมืองในเมืองทอด่วยที่ระบุว่า ขณะนี้ สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำทอด่วยกำลังเลวร้าย แม้เรือนจำจะรองรับนักโทษได้ 500 คนเท่านั้น แต่ขณะนี้กลับพบมีนักโทษสูงถึง 800 คนแล้ว (Narinjara) แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
Posted: 08 Oct 2010 06:43 AM PDT ชาวรัฐฉานภาคเหนือ ถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นพม่ากดดันสนับสนุนพรรคฝ่ายรัฐบาล USDP พร้อมข่มขู่ผู้ลงคะแนนให้พรรคอื่นถึงขั้นต้องโทษจำคุก, ทัพพม่าฝึกหน่วยอาสาสมัครปราบกลุ่มหยุดยิงในรัฐฉาน อ้างดูแลความสงบเลือกตั้ง ขณะที่หลายฝ่ายเชื่อเป็นแผนปราบกลุ่มติดอาวุธ
ทัพพม่าฝึกหน่วยอาสาสมัครปราบกลุ่มหยุดยิงในรัฐฉาน 8 ตุลาคม 2553 กองทัพพม่าเปิดอบรมหลักสูตรทหารให้หน่วยอาสาสมัครในรัฐฉาน อ้างดูแลความสงบเลือกตั้ง ขณะที่หลายฝ่ายเชื่อเป็นแผนปราบกลุ่มติดอาวุธ มีรายงานจากแหล่งข่าวในรัฐฉานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทหารพม่าได้เปิดอบรมหลักสูตรการทหารให้แก่กองกำลังอาสาสมัครในพื้นที่รัฐฉานภาคเหนือ โดยสถานที่อบรมจัดขึ้นที่ตำบลแสงไค่ ใกล้กับสถานีรถไฟของเมืองล่าเสี้ยว มีทหารกองกำลังอาสาสมัครซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและชาวเขาเข้ารับการฝึกรวม 220 นาย และมีกำหนดการฝึกนาน 1 เดือน โดยการฝึกอบรมหน่วยอาสาสมัครของทหารพม่าครั้งนี้ ดำเนินไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่ 8 เป็นแผนการยุทธศาสตร์สงครามอาสาสมัคร ของกองทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีบก.อยู่ที่เมืองล่าเสี้ยว ซึ่งแผนยุทธศาสตร์นี้เรียกเป็นภาษาพม่าว่า "ปิตูจี้ต มะห่าปิ่วห่า จี่หม่านแชต" ใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 – 1998 โดยทหารพม่าได้อ้างเหตุผลของการฝึกครั้งนี้ว่า เพื่อใช้เป็นหน่วยรักษาความสงบการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ย. นี้ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายฝ่ายกลับเชื่อกันว่า แผนการฝึกอบรมหน่วยทหารอาสาสมัครของทหารพม่า อาจไม่ได้มีเป้าประสงค์เพียงเพื่อดูแลรักษาความสงบในการเลือกตั้ง แต่อาจใช้เป็นเครื่องมือร่วมปราบกองกำลังหยุดยิง ที่ปฏิเสธข้อเสนอจัดตั้งเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF (Border Guard Force ) โดยคาดว่าปฏิบัติการต่อกลุ่มหยุดยิงน่าจะมีขึ้นภายหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ตามแผนกองทัพพม่ามีกำหนดจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครในพื้นที่ล่อแหลมครบทุกตำบล ที่ผ่านมาได้มีคำสั่งเกณฑ์กำลังพลเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทหารพม่าได้มีคำสั่งให้กองกำลังอาสาสมัครเมืองต้างยาน รัฐฉานภาคเหนือ เกณฑ์กำลังพลเพิ่มพร้อมกับได้มีการมอบอาวุธปืนให้ โดยคำสั่งเกณฑ์กำลังพลเริ่มมีขึ้นหลังกลุ่มหยุดยิงในรัฐฉานปฏิเสธจัดตั้ง เป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF นอกจากนี้ เมื่อกลางปี 2552 ทหารพม่าจากกองพันทหารราบเบาที่ 360 กับกองพันทหารราบที่ 43 ประจำเมืองเป็ง (ภาคตะวันออกรัฐฉาน) ได้ร่วมกับกองกำลังอาสาสมัครลาหู่ ตระเวนเกณฑ์เด็กชายอายุระหว่าง 12 – 15 ปี เข้าเป็นทหาร มีการสั่งบังคับให้แต่ละหมู่บ้านส่งเยาวชนชายให้อย่างน้อย 5 คน โดยอ้างว่าจะส่งเข้ารับการฝึกเป็นนักเรียนตำรวจ ส่งผลให้เด็กเยาวชนชายจำนวนมากพากันหลบหนีออกพื้นที่ ขณะที่บางคนได้ไปบวชเป็นสามเณรอยู่ตามวัดเพื่อหนีการถูกเกณฑ์ ชาวรัฐฉานถูกเจ้าหน้าที่พม่าบีบหนุนพรรคข้างรัฐบาล 5 ตุลาคม 2553 ชาวเมืองหมู่แจ้ รัฐฉานภาคเหนือ ถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นพม่าและเจ้าหน้าที่กองกำลังอาสาสมัครกดดันสนับสนุน พรรคข้างรัฐบาล USDP โดยมีการข่มขู่ผู้ลงคะแนนให้พรรคอื่นถึงขั้นต้องโทษจำคุก.... แหล่งข่าวจากเมืองหมู่แจ้ รัฐฉานภาคเหนือ ตรงข้ามมณฑลยูนนานของจีน รายงานว่า ประชาชนเมืองหมู่แจ้กำลังถูกกดดันและคุกคามจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของพม่า เพื่อให้การสนับสนุนพรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา USDP (Union Solidarity and Development Party) ซึ่งเป็นพรรคข้างรัฐบาลทหารพม่า ชาวเมืองหมู่แจ้คนหนึ่งเผยว่า พรรค USDP ใช้กองกำลังทหารอาสาสมัครท้องถิ่นเดินตามนโยบาย "ต้องชนะ" ของพรรค โดยให้ช่วยผลักดันประชาชนในพื้นที่ควบคุมลงคะแนนให้ผู้สมัครพรรค USDP และมีการข่มขู่ประชาชนว่า หากลงคะแนนสนับสนุนพรรคอื่นจะถูกลงโทษ โดยเมื่อวันที่ 27 ก.ย. นายอูเก๋งใหม่ อายุ 50 ปี หัวหน้ากองกำลังอาสาสมัครเมืองป้อ ได้กล่าวชักชวนชาวบ้านในพื้นที่ควบคุมลงคะแนนให้พรรค USDP ทั้งข่มขู่ว่า หากใครออกนอกลู่นอกทางชีวิตอาจไม่ได้รับความปลอดภัย สำหรับ นายอูเก๋งใหม่ เป็นที่รู้จักในหมู่คนท้องถิ่นว่าเป็นเจ้าพ่อยาเสพติดรายใหญ่ ยาเสพติดที่ออกในพื้นที่เมืองหมู่แจ้ และ เมืองก๊ดขาย ส่วนใหญ่ผลิตจากโรงงานของเขา นอกจากนี้ เขายังได้ร่วมมือกับ อูมิ้นลวิน อายุ 60 ปี หัวหน้ากองกำลังอาสาสมัครตำบลเมืองแงน เจ้าพ่อยาเสพติดชื่อดังอีกคน ในเมืองก๊ดขาย ส่งออกยาเสพติดไปยังจีน ซึ่งทั้ง อูเก๋งใหม่ และ อูมิ้นลวิน ถูกทาบทามจากพรรค USDP เข้าเป็นสมาชิกเพื่อลงชิงการเลือกตั้ง โดย อูเก๋งใหม่ มีกำหนดลงแข่งเป็นสมาชิกสภารัฐพื้นที่เมืองน้ำคำ เขต 2 ขณะที่ อูมิ้นลวิน เตรียมลงแข่งเป็นสมาชิกสภาชาติพันธุ์ ทางด้านนักการเมืองหลายคนในพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ SNDP (Shan National Democracy Party) บอกว่า พรรค USDP กำลังมีการละเมิดกฎหมายเลือกตั้งอย่างชัดเจน แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกลับไม่สนใจ ซึ่งแทนที่จะเอาผิดแต่กลับช่วยพวกเขาเพื่อหวังเอาชนะพรรคเล็ก ทั้งนี้ คณะกรรมการเลือกตั้งสหภาพ UEC (Union Election Commission) ระบุก่อนหน้านี้ว่า การร้องเรียนเอาผิดผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ต้องมีข้อมูลหลักฐานชัดเจน เช่น เอกสาร เทปบันทึกเสียง สถานที่ วันเวลา และ ชื่อผู้กระทำผิด หากขาดเอกสารหรือหลักฐานดังกล่าว ถือเป็นการร้องเรียนไม่มีมูลความจริง ในพื้นที่รัฐฉานภาคเหนือมีพรรคการเมืองใหญ่ส่งสมาชิกลงแข่งขัน 2 พรรค ได้แก่ พรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา USDP และ พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ SNDP ตามประกาศคณะกรรมการเลือกตั้ง UEC เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ระบุ ในพื้นที่เมืองหมู่แจ้ รัฐฉานภาคเหนือ มีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนราว 85,000 คน
หมายเหตุ ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
จากผู้อ่าน: ‘วิพากษ์เชิงสร้างสรรค์ หรือวิจารณ์เพื่อทำลาย’ Posted: 08 Oct 2010 04:32 AM PDT ชื่อบทความเดิม: ‘วิจารณ์ซ้อนวิจารณ์’ ข้อกังขาว่าด้วย ‘วิพากษ์เชิงสร้างสรรค์ หรือวิจารณ์เพื่อทำลาย’ “เป็นบทความใฝ่ต่ำของประชาไท” เป็นประโยคที่ผู้อ่านท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นผ่านกระดานความคิดเห็นในบทความเรื่อง “ความเห็นในห้องน้ำ” ซึ่งลงประชาไทออนไลน์ในวันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม นี้เอง ดิฉันเปิดเข้าไปอ่านเรื่องนี้ด้วยความสนใจในเบื้องต้น คือการพาดหัวที่ดึงความสนใจ และเมื่อได้อ่านทุกตัวอักษรแล้วยิ่งชอบทั้งภาษาที่ใช้ และประเด็นที่สำเสนอ ผู้เขียนบทความมีกลวิธีนำเสนอสาระที่กลมกลืมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ ผอ.ประชาไทถูกจับได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนบทความดังกล่าวไม่ได้ระบุชื่อเสียงเรียงนามชัดเจน ประเด็นที่จับได้สำหรับบทความที่โดนใจคือ สภาวการณ์การเมืองไทยเราตอนนี้เรา (ประชาชนทั่วไป) ไม่มีพื้นที่สำหรับแสดงความคิด ไม่มีเสรีภาพในการแสดงคิดเห็นอีกแล้ว จึงได้พากันเขียนความอัดอั้นตันใจต่างๆ ในส้วมสาธารณะ Theme หลักในบทความ “ความเห็นในห้องน้ำ” ที่ดิฉันพอจะจับได้ คือ การเปรียบเทียบเชิงคู่ขนานกันประเด็นที่ ผอ.เว็บประชาไทถูกจับที่สุวรรณภูมิ พร้อมข้อกล่าวหามากมายตั้งแต่ ม.112 (ข้อหาหมิ่นฯ) เป็นการเปรียบเทียบในเชิงสัญลักษณ์ว่า เสรีภาพในการคิดการเขียนมันหมดไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสื่อออนไลน์อย่างประชาไท ผู้คนถึงต้องมาระบายความอัดอั้นตันใจด้วยการเขียนข้อความในส้วมสาธารณะ แล้วอย่างนี้เจ้าของส้วมสาธารณะจะถูกตำรวจจับฐานเป็นตัวกลางเผยแพร่ข้อมูล (ลับๆ ระหว่างปลดทุกข์) หรือเปล่านี้ เป็นการล้อเลียนและเทียบเคียงที่สมูธมาก ดิฉันอ่าน comment ที่มีต่อบทความดังกล่าว (ที่ว่าบทความใฝ่ต่ำของประชาไท) แล้วถึงกลับส่ายหน้าเจือกับความฉงนสนเท่ห์ และออกจะตกใจในการใช้คำว่า “ใฝ่ต่ำ” ของผู้วิจารณ์ท่านนี้ การใช้คำพูดลักษณะนี้พบเห็นบ่อยมากเท่าที่ติดตามประชาไทมา แต่ในมุมมองของดิฉันนั้น การวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้เป็นการประเมินงานผู้อื่นด้วยอีโก้และอารมณ์ล้วนๆ ไม่มีทางออกที่สร้างสรรค์ ไม่พูดแม้กระทั่งข้อดีหรือสิ่งที่ควรปรับปรุงเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้เขียน หรือเพื่อ “วิทยาทาน” ยังดีเสียกว่า ในมุมมองของดิฉัน ข่าวและบทความที่ลงในประชาไทนั้นน่าสนใจและมีความหลากหลายในทางความคิดมาก ดิฉันจึงติดตามอ่านเรื่อยมา เพราะเป็นสื่อทางเลือกที่กล้าหาญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดบทความจากประชาชนทั่วไปที่ส่งเรื่องเข้ามาแล้วพิจารณาโดยไม่สนว่าคุณจะเป็นคนสังกัดใด สีไหน ถ้าประเด็นดีก็ได้ลง ดังนั้นข่าวและบทความในประชาไทจึงมีจุดเด่น ขณะเดียวกันก็เป็น “เป้า” ให้ฝ่ายเผด็จการจ้องจะทำลายล้างเพราะอยู่ในฝ่ายที่ก้าวหน้ากว่า ประชาไทจึงเป็นเสมือนเวทีสาธารณะแห่งความคิดเห็นที่หลากมุมมอง หลายประเด็น โดยเปิดโอกาสให้คนที่เข้าไปอ่านสามารถแสดงความคิดเห็นในส่วนท้ายของบทความนั้นๆ ได้ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีรีแอคชั่นเป็นสื่อที่มีความก้าวหน้ามาก เป็นการเคารพในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งในโลกประชาธิปไตยเขาก็มีสื่อในลักษณะนี้กันทั้งนั้น ทั้งนี้ความคิดเห็นต่างที่ว่า พึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในสิทธิและเสรีภาพของความคิดเห็นที่แตกต่าง ใครจะไปละเมิดผู้อื่นก็ไม่ได้ ซึ่งกฎหมายไทยก็ระบุชัดทุกรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะรัฐธรรมนูญปี40 หรือปี 50 เองก็เถอะ ส่วนภาคปฏิบัติเป็นอีกเรื่องหนึ่งว่าจะกระทำเช่นไร ด้วยความที่อยากแลกเปลี่ยนมุมมอง และอยากรู้ว่าผู้อื่นจะมีความคิดเห็นไปในทางใดได้บ้าง ดังนั้นพื้นที่ให้ผู้อ่านได้แสดงความคิดเห็น(comment ) ต่อจากบทความนั้นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดิฉันชอบอ่านและวิเคราะห์เป็นที่สุด เพราะเป็นเวทีให้ถกและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน แม้จะไม่ถึงตัวเท่าการสื่อสารระหว่างบุคคลหรือการสื่อสารสองทางก็ตาม (two way communication)แต่มีเว็บประชาไทเป็นสื่อกลาง ของความคิดเห็นต่างๆ ที่ผู้อ่านสามารถเข้าไป และเสนอความคิดเห็นในกรณีที่เห็นในแง่มุมบางประการที่ต่างออกไปและโต้ตอบกันอย่างปัญญาชน บางความคิดเห็นพออ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มเติม ได้แง่มุมใหม่ๆ ในประเด็นเดิมได้ดีทีเดียว เช่นในข้อกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหมิ่น พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นเรื่องที่ดิฉันสนใจ แต่ยังรู้น้อยมาก บางคนก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ในหลักการ หลักทฤษฎีที่น่าเชื่อถือเพื่อถกหาทางออกให้กับปัญหาบ้านเมือง บางความเห็นอิงหลักศาสนา ก็เป็นอีกเรื่องที่ดิฉันสนใจ แต่หลายครั้งในบทคอมเมนต์บนกระดานความคิดบนเว็บ มักปรากฏถ้อยคำหยาบคาย ดูถูกเหยียดหยามความเห็นของผู้อื่นโดยอิงตัวตน (Ego) ที่ใหญ่โตมหาศาล ในบางบทวิจารณ์ก็ใส่สีตีไข่ ใส่อารมณ์เก็บกดชิงชังต่างๆ มากมาย หลายคนอาจมองเป็นเรื่องปกติวิสัยของสื่อประเภทออนไลน์ แต่ดิฉันกลับไม่คิดอย่างนั้น และไม่อยากจะให้ปล่อยเลยตามเลย กลับเกิดความกังขา และอยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับความเห็นซ้อนความเห็นขึ้นมา เริ่มจากดิฉันมักสะดุดกับข้อความที่ comment ด้วยตัวตนแรงๆ (Ego) หรือ วิจารณ์โดยพื้นฐานที่ผ่านการจัดตั้งทางความคิดมาเบ็ดเสร็จเด็ดขาด บทความหรือความเห็นไหนคิดต่างก็ใส่สีให้บ้าง เหน็บแนมด้วยผรุสวาทก็มี (ดิฉันไม่ขอยกตัวอย่าง เพราะผู้อ่านที่เข้ามาอ่านในประชาไทออนไลน์คงจะเคยเห็นอยู่แล้ว) แม้ในท้ายของบทความจะเป็นโอกาสให้ ผู้แสดงความคิดเห็นจะสามารถเขียนอะไรได้มากมายกว่าการพูดต่อหน้าสาธารณะก็ตาม แต่ดิฉันกลับรู้สึกว่า บางความเห็นนั้นหยาบคาย หยาบโลนในคำที่ใช้ อวดรู้ในการแสดงความคิดเห็นต่างที่ออกจะเป็นการข่มเจ้าของบทความหรือดูถูกความคิดเห็นในบทความนั้นๆ อย่างออกนอกหน้า ที่ร้ายแรงที่สุดเห็นจะเป็นการด่าทอที่ตัวบุคคลด้วยคำพูดที่คนมีการศึกษาแล้วเขาไม่น่าทำกัน เหมือนเก็บกดกับอะไรมาสักอย่าง แล้วเข้ามาละเลงอารมณ์ตัวเองผ่านงานหรือความคิดเห็นผู้อื่นโดยขาดซึ่งความความรับผิดชอบต่อขอบเขตสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นอย่างร้ายกาจ สำหรับคอมเมนต์ที่ว่า “เป็นบทความใฝ่ต่ำของประชาไท” เป็นความหยาบคายอย่างร้ายแรงสำหรับดิฉัน เพราะเป็นการประเมินที่เอาอีโก้ตัวเองมาทำลายงาน ทำลายสื่อที่เลือกลง เป็นการดิสเครดิตกันอย่างไม่เกรงใจ ดูถูกคนอื่น แสดงความสะใจประเภทซาดิสต์ ซึ่งดิฉันตีความว่าน่าจะเป็นการทำงานของฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือผ่านการจัดตั้งทางความคิดชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปไตยเป็นแน่ ดิฉันก็พอจะวิเคราะห์และเดาคร่าวๆ ได้ว่าเจ้าของความเห็นมีบุคลิกภาพเช่นไร หรืออยู่ในวุฒิภาวะทางอารมณ์อย่างใด แม้ไม่เคยเห็นหน้าค่าตากัน ช่องโหว่ของสื่อออนไลน์คือ เราไม่เห็นตัวผู้ที่เราสนทนา ดังได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น และนี่เองคือที่มาแห่งความก้าวร้าวทางความคิดที่แสดงตนผ่านสันดาน “ดิบ” และ “เถื่อน” เช่นนี้ ดิฉันขบคิดอยู่นานมากเป็นปีๆ สำหรับประเด็นการเขียนคอมเมนต์ในลักษณะนี้ และถึงเวลาที่ต้องพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาเสียที แม้ใครๆ จะอ้างเรื่อง “สิทธิในการแสดงความคิดเห็น” ก็ตามเถอะ มันต้องมีลิมิทคะ ถูกคะที่เรามีสิทธินั้น ตราบใดที่การพูดการเขียนของเราไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่นในที่สาธารณะ (ในที่นี้คือสื่อออนไลน์) หรือทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียเกียรติ เสื่อมเสียชื่อเสียง อาจ...เป็นเพราะในโลกออนไลน์หรือโลกเสมือนจริงเรามองไม่เห็นหน้ากันและกัน ไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าผู้เขียนเป็นใครมาจากไหน การแสดงความคิดเห็นจึงออกมาในรูปแบบที่ไม่คำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของใคร ไม่ว่าจะด้วยการขุดภาษาสมัยพ่อขุนรามคำแหง มาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไม่ต้องเคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ความสะใจ หรือการทำให้ได้อายชนิดขุดรากถอนโคนกันไปข้างหนึ่ง ด้วยคำพูดที่ไร้วัฒนธรรมเช่นนี้มันออกจะเผด็จการทางความคิดโดยใช้อาวุธที่แสบคัน เผ็ดร้อนทางภาษาที่หยาบกระด้าง ดิฉันอยากย้อนถามกลับว่า หากคุณต้องเผชิญหน้ากันโดยตรงกับผู้เขียนบทความคุณจะกล้าใช้คำพูดกักขฬะหยาบคายหรือไม่ เวลาประชุมในที่ทำงานช่วงที่หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมองค์กรขอความคิดเห็นคุณแสดงไปเช่นไร นั่งใบ้อยู่ หรือด่าทอออกมาทันทีในเรื่องที่ไม่เห็นด้วย ดิฉันฟันธงว่าเป็นทางเลือกแรกคะ เพราะการเห็นหน้าค่าตากันมันแสดงสถานะและวุฒิภาวะทางอามรณ์และสติปัญหา ตลอดจนสามารถสร้างศัตรูที่ชัดเจนโจ่งแจ้งเกินไป คุณไม่กล้าแน่นอนดิฉันมั่นใจ แม้กระทั่งความคิดเห็นดีๆ ที่จะเสนอกับองค์กรคุณก็ยังไม่กล้าพูดในที่สาธารณะเลย เรื่องคับข้องใจคงไม่ต้องพูดถึง คงเก็บกดไว้เช่นเดิม รอเวลาระเบิด สังคมไทยควรเปิดโอกาสสำหรับการแสดงความคิดเห็นจากแหล่งอันหลากหลายที่กว้างกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะความคิดเห็นที่แสดงต่อคนส่วนมาก เพราะหากเราได้รับความยินยอมให้ทำเช่นนี้บ่อยๆ มันจะกลายเป็นค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์เลยทีเดียว ความอัดอั้นตันใจก็คงน้อยลง แล้วคงไม่ต้องไปลงอารมณ์แย่ๆ ใส่คนหรืองานเขียนของผู้อื่น คล้ายกับการตีหัวคนอื่นแล้วปิดประตูหนีไปเข้าบ้านไปเสียอย่างนั้น ไร้ซึ่งเหตุผล ไร้ถ้อยความที่จะอธิบาย ไร้ซึ่งความเคารพต่องานเขียนของผู้อื่นชนิดที่ดิฉันไม่สามารถให้อภัยได้อีกต่อไป การไม่เห็นหน้าค่าตากันไม่ได้หมายความว่าคุณจะด่าทอเจ้าของบทความหรือเจ้าของความคิดเห็นที่คุณไม่เห็นด้วยโดยไม่แคร์ความรู้สึกนึกคิด เช่นนี้ แม้กระทั่งความรู้สึกของคนที่เข้าไปอ่านก็ตามที มันก็ต้องกระทบบ้างละ เพราะเหล่านักอ่านกลายเป็นมือที่สองในการรับอารมณ์แย่ๆ ของคุณ การเขียนหรือวิจารณ์งานผู้อื่นด้วยถ้อยความที่หยาบโลน ด่าทอเจ้าของบทความอย่างเสียๆ หายๆ หรือขุดคุ้ยถึงพ่อแม่โคตรเหง้าศักราช มันแรงและเกินเหตุหรือไม่ เป็นสิ่งที่สังคมออนไลน์ต้องคบคิดกันให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ดิฉันเป็นประชาชนคนหนึ่งที่เคยส่งบทความเข้ามาแล้วได้ลงประชาไทอยู่บ้าง ดิฉันเข้าใจความรู้สึกและสัมผัสได้คะว่า คนเขียนหนังสือจะรู้สึกเช่นไร บางคนอาจแข็งแกร่งไม่สนใจ แต่สำหรับดิฉันบางครั้งมันทำให้เสียความรู้สึกเอามากๆ กระนั้นก็ตามมันก็กลับกลายเป็นแรงผลักดันให้ดิฉันสร้างงานเขียนชิ้นใหม่ๆ ต่อไป “สำหรับประชาไท บทความนี้ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน กอง บก.ควรใส่ใจ และทำการบ้านมากกว่านี้ บทความโปรเสื้อแดง เชียร์ทักษิณ ไม่ว่ากัน แต่ขอให้ลุ่มลึกและรักษาคุณภาพกันหน่อย ไม่ใช่ข้อเขียนด้วยอารมณ์หงุดหงิด และหาเรื่องอย่างไร้เหตุผล คล้ายๆ หญิงที่กำลังมีปะจำเดือน อิ อิ (อันนี้เทียบเคียงจากคนใกล้ตัวเลยนะ)ที่” เป็นคอมเมนต์ที่ดิฉันไปสบโดยตรงในงานของตัวเองตอนเขียนเรื่อง “ชาตินิยม” ยุทโธปกรณ์ชั้นเลิศ มุ่งทำลายฝ่ายตรงข้าม...หรือเพื่อใคร? (ลงในประชาไทออนไลน์เมื่อวันที่10 พฤศจิกายน 2552) ดิฉันเกิดข้อสงสัยในทันทีว่า “มาตรฐาน” ที่ว่าของ “คุณงานกร่อย”(visitor)เอาอะไรมาวัด แล้วไม้บรรทัดวัดคุณค่าของงานของคุณมันเที่ยงตรงเพียงไร มันคืออะไร ถ้าเป็นอีโก้ เป็นความสะใจที่ได้ด่า ดิฉันว่าเจ้าของความคิดควรกลับไปทบทวนความเป็นมนุษย์ของตัวเองเสียใหม่ การทำลายใครให้เจ็บปวดแล้วรู้สึกชอบใจ สังเกตว่า ตอนท้ายลงด้วยคำว่า (อิ อิ) ดูจะเป็นสิ่งหอมหวานของคุณและกลายเป็นเรื่องปกติชาชินเสียแล้ว เมื่ออ่านความเห็นนี้ ดิฉันสัมผัสได้ว่าเขาอยู่ข้างไหน ซึ่งไม่แปลก แต่เป็นการดูถูกและเหยียดหยามงานเขียนและตัวผู้เขียนตลอดจนกองบรรณาธิการแบบใช้อารมณ์ตัดสิน แต่ไร้ซึ่งเหตุผลหรือติเพื่อสร้างสรรค์ใดๆ คุณประเมินได้อย่างไรว่า สิ่งที่คุณคิดนั้นถูกต้อง หรือเพราะไม่ถูกใจจึงใช้ข้อความเช่นนี้ การนำเสนอผลงานเขียนเป็นสไตล์เฉพาะตัวคะ ขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่าทุกๆ งานดิฉันบรรจงและตั้งใจเขียนด้วยสติครบบริบูรณ์ ไร้ซึ่งอารมณ์ ตลอดจนก็ได้ทำการบ้านมาพอสมควรไม่ว่าจะค้นคว้า หรือปรึกษาผู้รู้ อ่านหนังสือเพิ่มเติม จนถึงขุดความรู้สมัยเรียนในมหาวิทยาลัยมาทบทวนใหม่ ชิ้นงานหรือผลงานของนักเขียนเปรียบเสมือนภาพสะท้อนตัวตนของเจ้าของเรื่องต้องการแสดงทัศนะ ความคิดเห็นต่างๆ แสดงความเป็นอัตลักษณ์ในประเด็นขัดแย้งในสังคมและการเมืองไทยในขณะนี้ สไตล์ใครก็สไตล์มัน ก็อบปี้กันยากคะ ในหัวข้อเดียวกันมุมมองของคนแต่ละคนก็ตีความต่างกันไปตามความรู้ที่มี ตามข้อมูลที่เก็บบันทึก รวมทั้งจากทัศนคติของผู้เขียนต่างๆ ตลอดจนมีวิธีนำเสนอในการสร้างจุดเด่นในงานที่แตกต่างกัน ใครจะวิจารณ์เช่นไรก็แล้วแต่วิจารณญาณหรือจริตแต่ละคน อันนี้ไม่ว่ากัน ประการสำคัญ สิ่งที่ฉันอยากเห็นในการวิจารณ์ที่สุดคือ การเข้าถึงเนื้อหาสาระที่ผู้เขียนกำลังจะสื่อคะ ไม่ใช่ประเด็นอื่น โดยเฉาะการมุ่งที่ “ตัวบุคล” มากกว่า “สาระ” ที่เขาต้องการสื่อ ดิฉันอยากให้นักวิจารณ์ทั้งหลายๆ จับให้ได้ถึง “แก่น” ที่นำเสนอระหว่างบรรทัดโดยละเอียดของผู้เขียน อ่านจบแล้วจะคิดเห็นเสนอแนะประการใดก็อิงสาระหรือประเด็นเป็นหลักการและเหตุผลข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ (มีอารมณ์ของความคิดที่ถูกจัดตั้งมาเบ็ดเสร็จ) ไม่ต้องไปวิจารณ์ถึงพ่อแม่วงศ์ตระกูล เช่นว่าเป็นลูกนักเขียนคนนั้น ต้องเขียนให้ดีเหมือนพ่อซิ หรือเขียนไม่ถูกใจในงานลูก กลับไปด่างานของพ่อ ซึ่งมันไม่เกี่ยวกัน และมันก็ไม่แฟร์สำหรับผู้ถูกวิจารณ์ ลองอ่านคอมเมนต์จาก visitorที่วิจารณ์คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ในบทคาม “ปากซอยนะ พวกเราขอเลือกสิทธิที่จะไปเองได้ไหม: บทวิพากษ์ถึงวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ด้วยความปรารถนาดี ผู้วิจารณ์ท่านนี้กล่าวว่าว่า “เคยอ่านงานเขียนของเสกสรรค์ แต่ตอนนี้เลิกอ่านแล้ว ใช้เวลาไปอ่านอะไรที่มันไม่ fake ดีกว่า ตอนนี้มาถึงวรรณสิงห์ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เขียนเหมือนอยากเป็นพระเอก แต่กลับไม่ใช่ เพราะบทที่เขียนนั้นขอโทษทีมันคือผู้ช่วยผู้ร้าย (เล่นบทเดียวกับพ่อเลย)” แม้ดิฉันจะเห็นต่างทางการเมืองต่อ “วรรณสิงห์” ที่แสดงผ่านสื่อก็ตาม และได้แสดงความเห็นและวิจารณ์ไปด้วยเช่นกัน สาระคือคือแก่นที่เขานำเสนอ และเสนอแนะแนวทางตอบโต้ ไม่ได้ก้าวล้ำด่าทอไปถึงบุพการี ซึ่งก็คือ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกิจ ซึ่งแม้จะเป็นพ่อ แต่มันก็ไม่ใช่บทสรุปว่า ลูกต้องคิดหรือต้องเขียนเหมือนพ่อ เพราะประสบการณ์ของวรรณสิงห์ กับอาจารย์เสกสรรค์มันเป็นประวัติศาสตร์คนละยุคกันเปรียบเทียบกันไม่ได้คะ เพราะคนแต่ละยุคแต่ละสมัยอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองและฐานะทางสังคมต่างกันไป ทัศนะวรรณสิงห์ก็แค่ความคิดของเขา ทำไมต้องหลอกด่าถึงตัวพ่อด้วย ถ้าคุณไม่ชอบก็พูดถึงเนื้อหาสาระที่อยากให้เป็นไปสิ จะเสนอแนะอะไรก็ว่าไป ดิฉันมองว่าเป็นความเห็นที่บ่งบอกถึงวุฒิภาวะทางอารมณ์และสติปัญญาที่มีอยู่ของคนที่วิจารณ์นั่นแหละคะว่ามีมากน้อยเพียงไร การมุ่งโจมตีที่ตัวบุคคลด้วยถ้อยคำที่ควรเซ็นเซอร์ (คงไม่ต้องย้ำอีกครั้งว่าเป็นคำชนิดใดสามัญสำนึกของคนรู้อยู่แล้ว) ทั้งหลายมันไม่ใช่ศิลปะในการวิจารณ์งานเขียนหรืองานศิลปะไม่ว่าจะเป็นในแขนงใดก็ตาม ดิฉันอยากเห็นการวิพากษ์วิจารณ์งานเขียนในสื่อออนไลน์ที่เป็นอารยะกว่าที่เป็นอยู่ (สำหรับบางคอมเมนต์) หรือเป็นเพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่เก็บกด พอมีช่องทางให้ระบายก็ละเลงกันชนิดที่ไม่ไว้หน้าใคร ไร้หลักการ ไร้เหตุผล ไร้ซึ่งความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ซึ่งตามหลักกฎหมายก็บัญญัติไว้ว่ามีเท่ากัน จรรยาบรรณของสื่อมวลชนกระแสหลักที่ว่าตกต่ำอย่างถึงที่สุดแล้วในยุคเผด็จการเรืองอำนาจเช่นเวลานี้ จรรยาบรรณของนักวิจารณ์ประเภทจิตนิยมยิ่งดิ่งลงเหวเสียยิ่งกว่า การแสดงความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมามีเหตุมีผลมีข้อเสนอแนะและเลือกสรรคำพูดที่เหมาะสมแล้วเท่านั้นคะที่ดิฉันอยากเห็นในกระดานความคิดเห็น ชอบไม่ชอบเอาสาระมานำเสนอ ไม่ใช่ข้อความที่เกลื่อนไปด้วยอคติส่วนตัวอย่างที่นักรบไซเบอร์ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายก้าวหน้าหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมกระทำอยู่ขณะนี้...มันสุดจะทน และมันห่างไกลของจินตภาพว่าด้วยการวิจารณ์อย่างไม่มีวันมาพบกันหรือปรองดองกันได้ นี่คือการเริ่มต้นแห่งประชาธิปไตยที่ใกล้ตัวคุณที่สุด อย่าใฝ่ถึงประชาธิปไตยแต่เพียงปาก แต่ตากลับขยิบรับกับกิเลศแห่งเผด็จการ.....
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
วิภา ดาวมณี: ความหมายของการตาย อนุสรณ์สถาน และการรำลึก 34 ปี 6 ตุลา 2519 Posted: 08 Oct 2010 02:24 AM PDT วันที่ 6 ตุลาคม ปี2553 นอกจากเป็นวันครบรอบ 34 ปี ของเหตุการณ์นองเลือดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเกิดจากอาชญากรรมรัฐ เมื่อปี พ.ศ.2519 แล้ว ยังเป็นวันครบรอบ 10 ปี ของชิ้นงานประติมานุสรณ์ 6 ตุลาด้วย ประติมากรรมชิ้นนี้สร้างขึ้นมาด้วยน้ำพัก น้ำแรง น้ำใจ และการระดมทุนจากบรรดาผู้ผ่านเหตุการณ์ และมีประสบการณ์ร่วมกัน ภายใต้คำขวัญของการจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลา ว่า “ขบวนการนักศึกษาประชาชนเดือนตุลา..กล้าต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีงาม” โดยมติเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2539 สร้างเสร็จและเปิดก่อนหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาถึง 2 ปี นั่นหมายความว่าพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ในรูปของอนุสรณ์สถานนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างได้ง่ายๆในสังคมไทย หากเป็นเพียงอนุสาวรีย์ของสามัญชน ประติมากรรมกลางแจ้ง 6 ตุลา มีลักษณะเหมือนเขื่อนกั้นสายธารที่น้ำเคยใสให้กลับกลายเป็นสีแดงของเลือด มีโลหะฝังลงบนหินสีแดง ขนาดยาว 6 เมตร กว้าง 3 เมตร หมายถึงสายธารประชาธิปไตยถูกสะกัดกั้น ด้านหลังมีรายชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ และบันทึกของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นอธิการบดีในขณะนั้น หากเดินจากมุมด้านซ้ายประติมากรรม แล้วค้อมหัวลงอ่านที่พื้นหินอ่อนสีดำ เวียนไปทางซ้ายทวนเข็มนาฬิกาจนมาบรรจบที่เดิม ก็จะคารวะต่อวิญญาณวีรชน ณ ที่นั้นในเวลาเดียวกัน อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สรุปเรื่องราวไว้อย่างไร ด้วย“ข้อความสั้นๆ” แต่มีความหมายลึกล้ำว่า “ข้อที่น่าเสียดายสำหรับคนรุ่นหนุ่มสาวที่ใฝ่ในเสรีภาพก็คือ เหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่เปิดโอกาสให้เขามีทางเลือกที่ 3 เสียแล้ว ถ้าไม่ทำตัวสงบเสงี่ยมคล้อยตามอำนาจเป็นธรรม ก็ต้องเข้าป่าไปทำงานร่วมกับคอมมิวนิสต์ใครที่สนใจในเรื่องสันติวิธี ประชาธิปไตย และเสรีภาพ จะต้องเริ่มต้นใหม่ เบิกทางให้แก่หนุ่มสาวรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป”ในบันทึกอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฉบับเต็มนั้นชื่อว่า “ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519” มีความยาวถึงสิบหน้ากระดาษซึ่งถ่ายทอดทุกสิ่งที่สังคมไทยตั้งคำถามกับเหตุการณ์นี้ มีการแจกแจงถึงเจตนาตลอดจนวิธีการของพวกที่รวมตัวกันวางแผนก่ออาชญากรรมรัฐดังนี้
“......... เจตนาที่จะทำลายล้างพลังนักศึกษา และประชาชนที่ใฝ่เสรีภาพนั้นมีอยู่นานแล้ว ในเดือนตุลาคม 2516 เมื่อ มีเหตุทำให้เปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นรูปประชาธิปไตยนั้น ได้มีผู้กล่าวว่า ถ้าฆ่านักศึกษาประชาชนได้สักหมื่นสองหมื่นคนบ้านเมืองจะสงบราบคาบ และได้สืบเจตนานี้ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ในการเลือกตั้งเมษายน 2519 ได้มีการปิดประกาศและโฆษณาจากพรรคการเมืองบางพรรคว่า “สังคมนิยมทุกชนิดเป็นคอมมิวนิสต์” และกิตติวุฒโฑภิกขุ ยังได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า “การฆ่าคอมมิวนิสต์นั้นไม่เป็นบาป” ถึงแม้ในกันยายน–ตุลาคม 2519 เอง ก็ยังมีผู้กล่าวว่าการฆ่าคนที่มาชุมนุมประท้วงจอมพลถนอม กิตติขจร สัก 30,000 คน ก็เป็นการลงทุนที่ถูก ผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองในเดือนตุลาคม 2516 ได้แก่ทหารและตำรวจบางกลุ่ม ผู้ที่เกรงว่าในระบบประชาธิปไตยจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไป ได้แก่ พวกนายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม และผู้ที่ไม่ประสงค์จะเห็นระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย กลุ่มเหล่านี้ได้พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะทำลายล้างพลังต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์แก่ตนเองด้วยวิธีต่างๆ ทางวิทยุและโทรทัศน์ ทางหนังสือพิมพ์ ทางใบปลิวโฆษณา ทางลมปากลือกัน ทางบัตรสนเท่ห์ ทางจดหมายซึ่งเป็นบัตรสนเท่ห์ขู่เข็ญต่างๆ และได้ก่อตั้งหน่วยต่างๆ เป็นเครื่องมือซึ่งจะได้กล่าวถึงในข้อ 20 และข้อต่อๆ ไป
วิธีการของบุคคลกลุ่มเหล่านี้คือ ใช้การปลุกผีคอมมิวนิสต์โดยทั่วไป ถ้าไม่ชอบใครก็ป้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แม้ แต่นายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ หรือเสนีย์ หรือพระราชาคณะบางรูปก็ไม่เว้นจากการถูกป้ายสี อีกวิธีหนึ่งคือการอ้างถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมือในการป้ายสี ถ้าใครเป็นปรปักษ์ก็แปลว่าไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ….” ( จากเว็บไซต์ www.2519.net )
ความขัดแย้งทางการเมืองในระหว่างกลุ่มพลังก้าวหน้า ที่มุ่งให้มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างกับพลังอนุรักษ์นิยมทางการเมือง ลงเอยด้วยการก่ออาชญากรรมรัฐ ในวันที่ 6 ตุลา 2519 เพียง 3 ปี จากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เมื่อนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ชุมนุมโดยสงบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกันเรียกร้องให้ขับไล่อดีตจอมพลถนอม กิตติขจรผู้หวนกลับเข้ามาในประเทศไทยออกไป จนเช้ามืดวันที่ 6 ตุลา การสังหมู่ก็เริ่มต้น จากกลางสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยลามไปจนทั่วบริเวณ จากริมฝั่งเจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ การเข่นฆ่าแผ่เป็นวงกว้าง ผ่ารั้วมหาวิทยาลัยไปถึงต้นมะขามสนามหลวง ฝ่ายการเมืองอนุรักษ์นิยมสร้างสถานการณ์ก่อนหน้าการรัฐประหาร เพื่อสลายกลุ่มองค์กรพลังก้าวหน้าและพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม ผลักดันให้นักศึกษากว่า 3000 คน เดินทางสู่ป่าเขาเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ........ตัวอักษรคำว่า ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เป็นตัวเลขไทย และอักษรไทยแกะสลักบนหินแกรนิตสีแดง แสดงความหมายในตัวอย่างชัดเจน สีแดงหมายถึงเลือดที่ตกสะเก็ด ตัวอักษรหยาบๆ ความนูนไม่เท่ากันบ่งบอก ถึงความหยาบกระด้างของการถูกกระทำ ถูกเข่นฆ่า ถูกจับกุม ภาพวีรชนที่จำลองจากภาพถ่ายจริง จากเหตุการณ์จริงๆในวันนั้น มีวีรชนวิชิตชัย อมรกุล ถูกแขวนคอ เขาเป็นนักศึกษาปี 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นนักกีฬาทีมรักบี้ที่เอาการเอางานและมาทำหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยในที่ชุมนุม วีรชนจารุพงษ์ ทองสินธุ์ อุปนายกฝ่ายกิจการภายนอก องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกลากคอไปตามสนามฟุตบอลโดยผ้าขาวม้าของตัวเองที่พาดบ่าอยู่เป็นประจำ ภาพนักศึกษาหญิง ชาย และอีกหลายภาพอันทารุณดูน่าสลด มีภาพปั้นนูนต่ำของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สะท้อนภาพความพยายามของชนชั้นปกครองที่จะทำลายการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และกดกระแสการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามของคนหนุ่มสาวที่มีผลพวงมาจากยุคประชาธิปไตยเบ่งบานลงไป ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ องค์ปาฐกในงานรำลึก 34 ปี 6 ตุลาปีนี้ เสนอไว้ในปาฐกถาพิเศษ “พฤษภาเลือด-อีกหนึ่งบท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย” ในงานสัมมนาเรื่อง “จาก 14 ถึง 6 ตุลา และพฤษภาเลือดประวัติศาสตร์บาดแผล กับบท (ไม่) เรียนของเรา” เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า “ ถ้าถือว่า 6 ตุลา เป็นการฆ่าหมู่นักศึกษาประชาชนที่ครั้งหนึ่งเคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า “สังคมไทยไม่มีวันลืม 6 ตุลา เพราะสังคมไทยไม่ได้จดจำ 6 ตุลา มาตั้งแต่ต้น” หรืออย่างดีก็คือทำได้แค่จำเหตุการณ์นั้นแบบอ้อมๆ แอ้มๆ แกมตะขิดตะขวงใจในความเจ็บปวดและโหดร้ายที่เกิดขึ้นในวันนั้น ........6 ตุลามีความรุนแรงกว่าพฤษภา (2535) มีการเผาทั้งเป็น ทำร้ายศพ แขวนคอ ทรมานก่อนเสียชีวิต ฯลฯ ปัญหาทางอภิปรัชญาที่โหดเหี้ยมขึ้นไปอีกก็คือเราจะเปรียบเทียบได้อย่างไรว่า “ความตาย” และ “คนตาย” ในกรณีไหนโหดร้ายกว่ากัน.....หกตุลาถูกขุดคุ้ยและรื้อฟื้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าจะเพื่อพิสูจน์ความจริง ซ้ำการรื้อฟื้นหกตุลาก็ยังวนเวียนกับการชี้แจงซ้ำๆ ซากๆ ว่าคนตายไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เป็นผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นผู้รักความเป็นธรรมในความหมายทั่วไป เป็นนักศึกษาที่ไม่รู้เรื่อง เป็นผู้บริสุทธิ์ทางการเมือง ไม่ใช่ฝ่ายซ้าย ไม่ใช่นักสังคมนิยม ฯลฯ พูดในเชิงเปรียบเปรยก็คือในจินตนาการของสังคมทุกวันนี้ ภาพของคนที่ตายในเหตุการณ์หกตุลาและผู้ชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ในวันนั้นอาจไม่ แตกต่างจากนักศึกษาที่ไปค่ายพัฒนาชนบทในปัจจุบัน การตอบแบบนี้ดีทางการเมืองกับผู้ตอบ ดีต่อการต่อสู้เพื่อให้หกตุลามี “ที่ทางในประวัติศาสตร์ไทย” แต่แฟร์กับคนที่ตายในวันที่หกตุลาจริงหรือ? ถ้าแม้แต่นักศึกษาประชาชนที่ตายไปในวันนั้นเพียงคนเดียวที่เชื่อเรื่องสังคมนิยม เขาจะรู้สึกอย่างไรที่ในนามของการต่อสู้ทางการเมืองทุกวันนี้ เราบอกว่าเขาเป็นอย่างที่เราคิดว่าเขาควรจะเป็น พูดอีกอย่างคือคำตอบแบบนี้แสดงความผูกพันกับคนตาย หรือแสดงความพยายามสร้างความผูกพันระหว่างผู้ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันกับเหตุการณ์ในอดีตที่ล่วงไปแล้วกันแน่? อันที่จริงอาจตั้งคำถามต่อไปได้อีกว่า อะไรคือความหมายทางการเมืองของปริศนาทางอุดมการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2519 ที่การฆ่านักศึกษาฝ่ายซ้ายเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจยิ่งชีวิต จนถึงปี 2551 ที่การฆ่านักศึกษากลายเป็นความรู้สึกน่าอับอายในระดับสังคม คำถามนี้ไม่เกี่ยวกับหกตุลาแต่เกี่ยวกับการประเมินอะไรต่อมิอะไรที่เกี่ยวกับรัฐประหาร 2549 และสถานการณ์การเมืองหลังจากนั้นจนปัจจุบันและไปสู่อนาคต……” ความทรงจำที่พร่ามัว บวกกับความหมายของการตายที่ถูกบิดเบือนไปทำให้บันทึกประวัติศาสตร์ 6 ตุลา และเจตนารมณ์ 6 ตุลา ต้องผิดเพี้ยนไปจากความจริง ในช่วง 10 ปี ที่ชิ้นงานประติมากรรมที่ได้สร้างไว้ให้สังคมไทยจดจำจึงไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์เคยกล่าวไว้ว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็น “ ดินแดนแห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ” อาจจะเป็นบทพิสูจน์ส่วนหนึ่งว่าอย่างน้อยก็ยังมีที่มีทางสำหรับอนุสรณ์ของสามัญชน วีรชนที่ถูกกระทำโดยอำนาจรัฐ ด้วยการถ่ายทอดด้านที่อัปลักษณ์ให้เป็นที่จดจำ ….แต่นั่นยังไม่พอ การเตือนสติดูจะไม่มีผลมากนัก วันนี้สังคมไทยยังคงซึมซับกับประสบการณ์เดิมๆ เรื่องราวเดิมๆ การคุกคาม ปราบปราม เข่นฆ่า และอาชญากรรมของรัฐ ซึ่งดูรุนแรงยิ่งกว่า แต่ขณะเดียวกันมวลชนกลับเข้มแข็งยิ่งขึ้น มีการกระจายตัวอยู่ในทุกจังหวัด ไม่ได้รวมศูนย์เฉพาะในกรุงเทพฯ การสื่อสารต่างๆก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงฝ่ายกุมอำนาจ แม้จะมีความพยายามปิดสื่อทุกทาง ทั้งโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ เหลือไว้แต่เครือข่ายเอเอสทีวีที่ทำงานเช่นเดียวกับวิทยุยานเกราะ ใจ อึ๊งภากรณ์ อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และประธานจัดงานรำลึก 23 ปี 6 ตุลา ที่ผลักดันให้การสร้างประติมานุสรณ์ 6 ตุลาสำเร็จเสร็จลงในปีถัดมา ได้สรุปถึงจุดเด่นของการต่อสู้ของคนเสื้อแดงตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึง 10 พฤษภาคมปีนี้คือ
“……..1. คนเสื้อแดงได้พิสูจน์ว่าเป็นขบวนการของประชาชนชั้นล่างในการต่อสู้ทางชนชั้น เพื่อเรื่องปากท้องและเพื่อประชาธิปไตยพร้อมกัน ซึ่งรวมคนชนบทและคนในกรุงเทพฯ จำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ยิ่งใหญ่กว่าการต่อสู้ 14 ตุลา การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและการต่อสู้ในเดือนพฤษภาปี 2535 2. การต่อสู้ที่ยาวนาน ท่ามกลางกระสุนปืน หมอกควัน และข่าวที่ถูกบิดเบือนปิดกั้นโดยรัฐบาล เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับประชาชนจำนวนมาก มวลชนเสื้อแดงได้เรียนรู้วิธีจัดตั้งตนเอง วิธีเข้าถึงข้อมูล และวิธีกระจายข่าว ยิ่งกว่านั้นการต่อสู้ทำให้เขากลายเป็นผู้นำเอง มีความมั่นใจในการท้าทายอำนาจอำมาตย์ที่กดทับชีวิตของพวกเขามานาน เราอาจพูดได้ว่าเกือบจะไม่มีใครในขบวนการเสื้อแดงที่ยังคิดแบบเดิม ไม่มีใครเป็นทาสทางความคิดของลัทธิอำมาตย์ 3. การต่อสู้ที่เข้มแข็งของคนเสื้อแดงนี้ บังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐระดับล่าง เช่น ตำรวจและทหารเกณฑ์ เริ่มคิดหนัก หลายคนไม่ยอมทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และอาจมีหลายคนที่คิดกบฏ นี่คืออาการของวิกฤตในการปกครองของรัฐอำมาตย์ เราอาจพูดได้ว่ารัฐอำมาตย์อยู่ได้ก็ด้วยการปราบปราม ขู่เข็ญ และการปิดกั้นข้อมูลเท่านั้น ไม่มีความชอบธรรมเลยในสายตาประชาชนนับล้าน และในสายตาสื่อต่างประเทศและชาวโลกที่สนใจประเทศไทย......”
ขณะที่เสรีภาพของประชาชนถูกกระชับพื้นทีจนแทบไม่มีที่จะยืน อดีตเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ผ่านเหตุการณ์มาด้วยกันหลายต่อหลายคนเมื่อ 6 ตุลา ก็กลับเป็นปฏิปักษ์กัน ไม่เพียงแต่อดีตนักศึกษาที่เคยเข้าป่าเป็นสหาย หลายคนแปรตัวไปเป็นนักการเมืองพรรคอนุรักษ์นิยม หลายคนไปรับใช้นายทุนสื่อ หรือแม้แต่อดีต 18 ผู้ต้องหา 6 ตุลาบางคนก็ถึงกับทำหน้าที่ปลุกระดมผ่านสื่อเสื้อเหลืองให้ใช้กำลังความรุนแรงจัดการกับมวลชนคนเสื้อแดงเมื่อเมษา-พฤษภา อย่างเด็ดขาด ร่วมกันประกาศว่าต้องช่วยกันปกป้องสถาบัน พร้อมกับกล่าวหามวลชนเสื้อแดงว่าเป็น “พวกทำลายชาติ ศาสน์ กษัตริย์” คนที่เคยร่วมขบวนการรณรงค์ “เปิดประตูคุกให้เพื่อน” ทั้งในป่า ทั้งในเมือง และในหมู่คนไทยในต่างประเทศ เพื่อปลดปล่อยเพื่อนๆที่ถูกจับไป คงนึกในใจว่าไม่น่าปล่อยพวกทรยศต่อประชาชน พวกคลั่งชาติ พวกกระหายเลือดเหล่านี้ออกมาเลย ความหมายของการรำลึก 34 ปี 6 ตุลา 2519 ปีนี้เราคงจะไม่ต้องถามหาว่า “...ใครฆ่าเขา หรือเราเห็นคนตาย ” อีกแล้ว ความจริงคำถามเหล่านี้เราตอบได้เพราะฆาตกรในเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 กับ เมษา-พฤษภามหาโหด 2553 ก็ไม่ได้ต่างกันเลย มวลมหาประชาชนต้องสรุปบทเรียน เช็ดรอยเลือด เช็ดคราบน้ำตา ลุกขึ้นมาสู้กับพวกอมาตยาธิปไตยต่อไป สู้ทุกรูปแบบ สู้ทุกแนวรบ หากเราท้อแท้หรือยอมสยบพ่ายแพ้กับพวกมัน การตายของวีรชนก็จะเป็นการตายที่สูญเปล่า! ประติมากรรม ประติมานุสรณ์ หรือถาวรวัตถุใดๆ ก็คงไร้ประโยชน์ และไม่รู้จะต้องสร้างกันอีกกี่อนุสาวรีย์ กี่อนุสรณ์สถาน????
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ปฏิวัติจิตสำนึกใหม่ไม่ได้ถ้าไม่ปฏิวัติเสรีภาพในการพูดความจริง Posted: 08 Oct 2010 02:03 AM PDT คุณหมอประเวศ วะสี เขียนและพูดเรื่อง “ปฏิวัติจิตสำนึก” และการแก้ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” มานานกว่าทศวรรษแล้ว ล่าสุดเขียนเรื่องปฏิรูปจิตสำนึกลงมติชน (9 ต.ค.53) อีก อ้างคำพูดของไอสไตน์ที่ว่า “ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้ ต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง” อ้างลาสโล โกรฟ และรัสเซลล์ที่ว่า “มีทางเดียวเท่านั้นที่โลกจะหลุดพ้นจากวิกฤตคือปฏิวัติจิตสำนึก (Consciousness Revolution)” และคุณหมอก็พูดถึง “จิตเล็ก” แคบมองอะไรแบบแยกส่วน เป็นเขา เป็นเรา ทำให้เห็นแก่ตัว มีอคติ ไม่เห็นความจริงทั้งหมด จึงเป็นสาเหตุของวิกฤตในชีวิตและโลก ทางแก้จึงต้องปฏิวัติจิตสำนึกใหม่ให้มี “จิตใหญ่” ที่มองเห็นองค์รวม ไม่แยกส่วน เห็นสัจธรรมตามธรรมชาติที่ว่าหนึ่งเดียวคือทั้งหมด ทั้งหมดคือหนึ่งเดียว จะทำให้เราลดความเห็นแก่ตัว รักเพื่อนมนุษย์ รักธรรมชาติ และแก้วิกฤตต่างๆได้ ซึ่งเป็นการพูดซ้ำๆ กับที่ผ่านๆ มา ผมเห็นว่าข้อเสนอของคุณหมอประเวศนั้นสวยงาม และเมื่อนำมาโยงกับข้อเสนอเรื่องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างก็ยิ่งน่าสนใจ แต่ในเรื่องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างผมติดใจอยู่ตรงที่ว่า ในช่วงต่อสู้ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 คุณหมอสามารถผลักดันได้สำเร็จ เนื่องจากตอนนั้นคุณหมออยู่ฝ่ายประชาชนที่ปฏิเสธรัฐประหาร และรับไม่ได้กับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แต่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในนาม “ปฏิรูปประเทศ” ในปีนี้ คุณหมอพูดถึงเรื่องความเป็นธรรมว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของสังคมไทย แต่ภาพของคุณหมอกลับอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับประชาชนผู้เสียเปรียบทั้งด้านอำนาจต่อรองทางการเมือง เศรษฐกิจ และอื่นๆ ฉะนั้น ต้นทุนทางสังคมของคุณหมอที่มีอยู่บวกกับต้นทุนทางสังคมของ คุณอานันท์ ปันยารชุน นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และปัญญาชนอื่นๆแล้วก็แทบจะไม่มีพลังโน้มน้าวมโนธรรมของสังคมให้คล้อยตาม แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับตอนที่สู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ส่วนประเด็น “ปฏิวัติจิตสำนึกใหม่” มันไม่มีทางเป็นไปได้หรอกครับ ถ้าเราไม่ “ปฏิวัติเสรีภาพในการพูดความจริง” ต่อให้คนมี “จิตใหญ่” เห็นความจริงทั้งหมด แต่ว่าพูดความจริงทั้งหมดไม่ได้แล้วมันจะมีความหมายอะไรครับ เช่น เราเห็นความจริงทั้งหมดว่าปัญหาวิกฤต 4-5 ปีมานี้มันเกิดจากอำนาจในระบบ อำนาจนอกระบบ แต่เราก็พูดถึงอำนาจนอกระบบได้แค่เลียบๆเคียงๆ หรือพูดถึงได้แค่เพียงผิวเผินไม่สามารถพูดได้ตรงไปตรงมาอย่างเต็มที่เหมือนที่พูดถึงอำนาจในระบบ อย่างนี้ต่อให้ปัจเจกบุคคลมี “จิตใหญ่” กันทั้งประเทศมันจะแก้ปัญหาได้อย่างไรครับ คือ ถ้าคุณหมอประเวศเสนอเรื่องปฏิวัติจิตสำนึกใหม่ควบคู่ไปกับการเรียกร้องเสรีภาพในการพูดความจริง เช่น เสนอให้ปรับปรุงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ให้ใครก็ได้เอามาใช้ทำลายกันทางการเมือง หรือที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน เป็นต้น ผมว่าข้อเสนอของคุณหมอจะมีน้ำหนักน่ารับฟัง ที่ผมแปลกใจมากอีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องปฏิวัติจิตสำนึกหรือ “จิตใหญ่” ของคุณหมอนี่ เห็นพูดถึงแต่เรื่องเห็นความจริงทั้งหมด แยกส่วน ไม่แยกส่วน เป็นต้น แต่ไม่เห็นพูดถึง “จิตสำนึกรักเสรีภาพ” เลย เวลาพูดเรื่องเสรีภาพคุณหมอออกจะมองในเชิงลบด้วยซ้ำ เช่นที่วิจารณ์บ่อยๆว่า ปัจจุบันผู้คนบูชาลัทธิปัจเจกชนนิยมเสรี ที่ชอบมีเสรีภาพแบบเห็นแก่ตัว ตามอำเภอใจ ตามใจกิเลส อะไรทำนองนั้น ซึ่งผมก็ยิ่งแปลกใจมากขึ้นไปอีกเมื่อเห็นคุณหมอชอบอ้างพุทธศาสนาอยู่เสมอๆเลย แต่ให้คุณค่าน้อยกับ “จิตสำนึกรักเสรีภาพ” เพราะตามความเข้าใจของผมหลักกาลามสูตรคือสิ่งที่แสดงว่าพุทธศาสนาให้ความสำคัญสูงสุดในจิตสำนึกรักเสรีภาพ ทั้งเสรีภาพในการแสวงหาความจริง และเสรีภาพทางศีลธรรม คือให้เรามีเสรีภาพในเรื่องดังกล่าวนี้โดยไม่สยบยอมต่ออำนาจใดๆ แต่วิธีคิดของปัญญาชนในปัจจุบันก็มีปัญหามาก ลองสังเกตข้อความต่อไปนี้นะครับ เป็นความเห็นของ เสกสรร ประเสริฐกุล ที่ตอบคำถามว่า โลกทัศน์เรื่อง "ประชาธิปไตย" ของคุณทักษิณเป็นอย่างไร ”ผมคิดว่าคงไม่ต่างจากนักการเมืองในระบบเลือกตั้งมากนัก คือมองประชาธิปไตยเป็นแค่กระบวนการสรรหาผู้กุมอำนาจ แล้วก็ถือว่าเรื่องจบลงแค่ตรงนั้น ก็คือถ้ามีการเลือกตั้ง แล้วมีการแพ้ชนะในการเลือกตั้ง ก็ถือว่า มีประชาธิปไตย ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะจริง ๆ แล้วในระหว่าง 4 ปีที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง ผู้คนในสังคมที่ซับซ้อนอย่างสังคมไทยย่อมมีเรื่องที่อยากจะแสดงความคิด ความเห็น มีเรื่องที่จะต้องโต้แย้งกับรัฐบาล หรือแม้แต่คนที่เลือกรัฐบาลเข้ามาก็อาจจะไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาลในระหว่าง 4 ปีนี้ก็ได้ แต่ดังที่เรารู้ ๆ กัน คุณทักษิณไม่ค่อยชอบให้ใครมาโต้เถียง แล้วก็ถือว่าตัวเองได้รับความชอบธรรมมาจากการเลือกตั้ง จึงเที่ยวไปทะเลาะกับคนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือวิจารณ์นายกรัฐมนตรี ดังเราจะเห็นว่าในระยะนั้นคุณทักษิณได้ออกมาโต้กับนักวิชาการแทบจะทุกคน ไม่มีใครเหลือรอด กระทั่งถูกนายกฯว่ากล่าวเสีย ๆ หาย ๆ ตรงจุดนี้ ผมคิดว่าคุณทักษิณพลาด และมันเท่ากับ ไปลดพื้นที่ทางการเมืองของคนอื่นให้ เหลือน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น แม้เราอาจจะยอมรับว่า คุณทักษิณเป็นนักการเมืองที่เก่ง เป็นนักบริหารธุรกิจที่มีความสามารถ แต่ก็พบว่าคุณทักษิณไม่เข้าใจศาสตร์ของการปกครอง ศาสตร์ของการปกครองนั้นมันลึกซึ้ง และต้องการความเข้าใจมนุษย์มากกว่าการใช้อำนาจตรง ๆ” (มติชนออนไลน์, 7 ต.ค.53) ผมไม่ต้องการจะปกป้องคุณทักษิณจากข้อวิจารณ์นี้นะครับ แต่ความจริงมันไม่น่าจะ Extreme ถึงขนาดว่าเลือกตั้งจบ ชนะเลือกตั้งก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว มันยังมีการนำนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชนมาปฏิบัติด้วย และนั่นจึงทำให้มีคนรักทักษิณมาจนทุกวันนี้ ส่วนที่ว่าคุณทักษิณไม่ชอบให้ใครมาโต้เถียงหรือด่าใครต่อใครที่เห็นต่างนั้น มันก็ไม่ถึงกับจับใครต่อใครที่วิพากษ์วิจารณ์หรือด่าคุณทักษิณไปติดคุก ไม่ปิดสื่อ ไม่คุกคามเสรีภาพประชาชนทุกรูปแบบเหมือนทุกวันนี้ และที่บอกว่าคุณทักษิณไป“ลดพื้นที่ทางการเมืองของคนอื่นให้เหลือน้อยลงเรื่อย ๆ” ถ้าเทียบกับตอนนี้แล้วมันก็ต่างกันมาก แล้วที่ว่า”ศาสตร์ของการปกครองนั้นมันลึกซึ้ง และต้องการความเข้าใจมนุษย์มากกว่าการใช้อำนาจตรง ๆ” นั้น มันก็ไม่มียุคไหนที่การปกครองมันไปทำลายความเป็นมนุษย์ (เสรีภาพ) และใช้อำนาจตรงๆ กับมนุษย์มากเท่ากับยุคนี้ ใช้อำนาจตรงๆถึงขนาดประชาชนตาย 91 ศพ ก็ยังไม่จริงจังกับการทำความจริงให้ปรากฏและแสดงความรับผิดชอบใดๆ จึงน่าแปลกใจว่า อาจารย์เสกสรรค์มองเห็นปัญหาการใช้อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของทักษิณ แต่ทำไมมองไม่เห็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยยิ่งกว่าในยุคนี้ แล้วทำไมเมื่อมองย้อนไปก่อน 19 กันยา 49 จึงมองเห็นแต่ “ทักษิณ” แต่ไม่มองเห็น “ประชาชน” เลย แม้จนบัดนี้ก็ดูจะไม่เชื่อในเรื่อง “การเลือกตั้ง” คือถ้านักวิชาการอย่างคุณหมอประเวศ สายปฏิรูปประเทศ เสื้อเหลือง จะซื่อสัตย์ต่อตัวเอง เขาควรจะยอมรับตรงๆ ว่า เขาไม่เชื่อถือการตัดสินใจของประชน ไม่ยอมรับเสรีภาพทางศีลธรรมของประชาชน ฉะนั้น เขาจึงควรคิดแทน ตัดสินถูก-ผิด แทน และไม่แคร์กับอำนาจที่ปิดกั้นเสรีภาพในการพูดความจริงและผูกขาดการตัดสินถูก-ผิดทางศีลธรรมเชิงบรรทัดฐานต่างๆ ของสังคมนี้ แล้วอย่างนี้จะปฏิวัติจิตสำนึกใหม่อย่างไร จะมีจิตใหญ่อย่างไร ในเมื่อไม่ส่งเสริม “จิตสำนึกรักเสรีภาพ” ซ้ำยังมี “สองมาตรฐาน” ในการตัดสินอำนาจรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอีกด้วย!
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น