โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ชาวชุมชนพระราม 6 บุก "ประชาธิปัตย์" ทวงถามการแก้ปัญหาไล่รื้อที่

Posted: 01 Apr 2011 12:47 PM PDT

ผบก.น.1ขนเครื่องแอลแรด คุมม็อบคนจนเมือง หลังเจรจาร่วมได้ข้อสรุปส่งรถสุขา-น้ำ-ไฟ ช่วยเหลือชาวชุมชน ส่วนวันจันทร์นัดเอาเอกสารเสนอจัดพื้นที่ใหม่รองรับชุมชนที่ถูกไล่รื้อมอบ “ผู้การแต้ม” ในฐานะบอร์ด ร.ฟ.ท.

 
 
 
 
 
 
 
 
เช้าวานนี้ (1 เม.ย.54) ชาวบ้านชุมชนพระราม 6 ร่วมกับชาวบ้านสมาชิกของสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) กว่า 300 คน เดินเท้าจากที่ตั้งชุมชนพระราม 6 ถนนประชาราษฎร์สาย 1 แขวง-เขตบางซื่อ โดยมีจุดมุ่งหมายที่กระทรวงคมนาคม เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการจัดสรรที่อยู่ใหม่ให้กับชาวชุมชนที่ถูกไล่รื้อแล้วจากการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยใช้เส้นทางถนนพระราม 6 เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางถนนสวรรคโลก อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น.ชาวบ้านได้เปลี่ยนเป้าหมายเดินขบวนไปที่พรรคประชาธิปัตย์แทน
 
นางเบญจวรรณ ชาวชุมชนโชติวัฒน์ ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชันกล่าวว่า ชาวบ้านได้ทราบว่านายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่ได้อยู่รอรับเรื่องของชาวบ้าน มีแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนายที่รออยู่ จึงตัดสินใจที่จะไม่ไปที่นั่น ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์นั้นที่ผ่านมาชาวบ้านได้เดินทางไปยื่นหนังสือมาแล้วหลายครั้งแต่ก็ไม่ได้รับการแก้ปัญหาเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องการไปทวงถามถึงหนังสือต่างๆ ที่ได้ยื่นไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อชาวบ้านเดินทางมาถึงบริเวณถนนทางเข้าพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการผลักดันกับตำรวจปราบจลาจลราว 100 นาย จนกระทั้งชาวบ้านสามารถนำรถเครื่องเสียงเข้าไปยืดพื้นที่ถนนบริเวณหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดย พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ได้นำเครื่องแอลแรด (LRAD: Long Range Acoustic Device) ออกมาใช้ควบคุมผู้ชุมนุม โดยได้มีการเจรจาให้ชาวบ้านเปิดเส้นทางการจรจรให้กับผู้ที่สัญจรไปมา ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมก็ปฏิบัติตาม โดยเปิดพื้นที่ถนนครึ่งหนึ่งให้รถสัญจรได้
 
จากนั้น พล.ต.ต.วิชัย เสนอให้ชาวบ้านส่งตัวแทน 10 คน ร่วมพูดคุยกับผู้แทนจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อนำเสนอปัญหาและข้อเรียกร้อง ซึ่งหลังการพูดคุยโดยใช้เวลาราว 30 นาที ได้ข้อสรุปว่าในกรณีเรื่องเร่งด่วนคือรถสุขาจะมีการจัดรถไปให้บริการชาวชุมชนภายในวันเดียวกันนี้ ส่วนเรื่องไฟฟ้าและน้ำประปาจะมีการดำเนินการให้ในวันจันทร์ สำหรับข้อเรียกร้องหลักของชาวบ้านที่ต้องการทำสัญญาเช่าที่อยู่อาศัยทดแทนพื้นที่ที่ถูกรื้อถอนไปแล้ว จะมีการมารวบรวมเอกสารที่เคยมีการเจรจาที่ผ่านมานำมามอบให้ พล.ต.ต.วิชัย เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือในฐานะบอร์ด การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในวันจันทร์ที่ 4 เม.ย.นี้อีกครั้ง  
 
ด้านนายวิมล แดงสะอาด ผู้ประสานงานชุมชนป้อมมหากาฬ และสมาชิก สอช.กล่าวปราสัยต่อผู้ชุมนุมว่า จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงมีชุมชนหลายชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และยังมีโครงการก่อสร้างอีก 12 สาย ซึ่งปัญหาเดิมๆ ก็จะเกิดขึ้นให้ต้องแก้กันไม่จบสิ้น ที่ผ่านมา สอช.มีข้อเสนอในนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้ขัดแย้งกับการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ แต่การพัฒนานั้นต้องทำเรื่องสังคมควบคู่กันไปด้วย ปัญหาต่างๆ จะได้ไม่เกิดขึ้น
 
หลังการเจรจาได้ผลเป็นที่น่าพอใจ กลุ่มชาวบ้านได้รวมตัวกันเดินขบวนกลับไปที่ชุมชนพระราม 6 อย่างไรก็ตามผู้ปราศรัยบนรถเครื่องเสียงได้กล่าวย้ำว่าหากไม่มีการดำเนินการตามที่ได้เจราจาตกลงกัน ชาวบ้านจะกลับมาอีกครั้งในขบวนที่ใหญ่กว่านี้   

ทั้งนี้ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน และถูกดำเนินการบังคับคดีให้รื้อย้ายตามคำพิพากษามี10 ชุมชน อาทิ ชุมชนพระราม 6, ชุมชนแพริมน้ำ, ชุมชนสีน้ำเงิน 3, ชุมชนสะพานดำ, ชุมชนยิ้มประยูร, ชุมชนสมถวิล, ชุมชนสุขสันต์, ชุมชนโชติวัฒน์, ชุมชนพร้อมใจ โดยก่อนหน้านี้ชาวชุมชนได้เสนอให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการแบ่งปันพื้นที่ของการรถไฟฯ ได้แก่ ชุมชนโรงถ่าน และพร้อมใจพัฒนา ให้เช่าเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย แต่ที่ผ่านมาการทำสัญญาเช่าพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับผู้ที่จะถูกไล่รื้อยังไม่มีความคืบหน้า

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'มองอนาคตการเมืองไทยผ่านสายตาคนนอก' โดย เบน แอนเดอร์สัน

Posted: 01 Apr 2011 07:54 AM PDT

ภัควดี ไม่มีนามสกุล แปลจากปาฐกถา เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 54 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และสาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เบเนดิก แอนเดอร์สัน

 
ผมได้รับเชิญให้มาเสนอทัศนะของ “คนนอก” เกี่ยวกับการเมืองไทยให้เพื่อนๆ ทั้งหลายฟัง ผมจะพยายาม แต่ไม่แน่ใจว่า ความหมายของ “คนนอก” จริงๆ แล้วคืออะไรกันแน่ มันเป็นแค่คำสุภาพที่ใช้แทนคำว่า “ฝรั่ง” ซึ่งหมายถึงชาวตะวันตกที่ไม่ใช่พลเมืองไทย พอรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการเมืองไทยและได้เปรียบที่มีระยะห่าง แต่เสียเปรียบที่ไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้งและสม่ำเสมอ นัยยะที่แฝงอยู่ก็คือ ฝรั่งที่เขียนเกี่ยวกับสยามย่อมมีมุมมองที่แตกต่างอย่างมากจากชาวไทยที่มีการศึกษา แต่ผมกลับคิดตรงกันข้าม 
 
ผมรู้สึกว่า จริงๆ แล้ว นักหนังสือพิมพ์และนักวิชาการฝรั่งต้องพึ่งข้อมูลและความคิดเห็นจากนักหนังสือพิมพ์และนักวิชาการไทยอย่างมาก ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีนักวิชาการอย่างคริส เบเกอร์ ซึ่งมีความเป็นอังกฤษมาก พำนักอาศัยในสยามมายาวนาน มีความรู้ภาษาไทยดี และเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับการเมืองไทยได้อย่างโดดเด่นยอดเยี่ยม คริส เบเกอร์ กับ อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ร่วมกันเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเมืองไทยสมัยใหม่ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง นอกจากนี้ยังร่วมกันแปลวรรณคดีไทยเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ซึ่งเป็นวรรณคดีเอกของไทยด้วย เราควรเรียกคริส เบเกอร์ว่า “คนนอก” หรือเปล่า?
แต่จริงหรือไม่ว่ามีชาวสยามหลายล้านคนที่อาจถือเป็น “คนนอก” เช่นกัน? 
 
ผมจะเล่าเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจให้ฟัง ไม่กี่เดือนก่อน ผมได้คุยกับคนขับรถแท็กซี่ที่ขับพาผมไปสนามบินหนองงูเห่า เขาอายุกว่า 50 ปี และมีพื้นเพมาจากย่านเยาวราช ผมถามว่าเขาคิดอย่างไรกับทักษิณ คำตอบของเขาทำให้ผมแปลกใจ“ทักษิณสุดยอด ผมสนับสนุนเขา 100%” พอผมถามว่าทำไม เขาตอบว่า “เพราะทักษิณเป็นจีนแคะเหมือนผม จีนแคะเป็นคนจีนที่ดีที่สุด กล้าหาญ เข้มแข็ง ซื่อสัตย์และขยัน จีนแคะเป็นผู้นำกบฏไต้ผิงที่เคยยึดภาคใต้ของจีนไว้ได้และเกือบโค่นล้มราชวงศ์ชิงของแมนจูเรีย ศัตรูของทักษิณในเมืองไทยเป็นจีนฮกเกี้ยน ไหหลำ และแต้จิ๋ว ต้นตระกูลของอภิสิทธิ์เป็นฮกเกี้ยนผสมเวียดนาม สนธิ ลิ้มทองกุลเป็นไหหลำ และคนในวังส่วนใหญ่เป็นแต้จิ๋ว จีนฮกเกี้ยนเป็นพวกขี้ประจบ ขี้เกียจ ขี้โกหก ไหหลำสกปรกและฉวยโอกาส ส่วนคนแต้จิ๋วเป็นพวกเจ้าเล่ห์และไม่ซื่อสัตย์” ผมถามว่า แล้วคนไทยล่ะ เขาตอบว่า คนไทยเป็นคนง่ายๆ เอาแต่สบาย ไม่ค่อยรับผิดชอบ คิดแต่เรื่องกินกับเรื่องเซ็กส์ ลงท้ายผมเลยพูดขึ้นมาว่า ถ้าอย่างนั้น การเมืองสยามก็เหมือนการเมืองในสามก๊กสิใช่ไหม? คนขับแท็กซี่ก็หัวเราะเห็นด้วย
 
คนมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คิดอย่างไรต่อการเมืองไทย? ชาวเลหรือชาวขแมร์ในอีสานตอนใต้หรือคนธรรมดาในต่างจังหวัดคิดอย่างไรต่อการเมืองไทย? แน่นอน มีการสำรวจความคิดเห็นอยู่บ้าง แต่ประชาชนที่ตอบแบบสำรวจก็ต้องตอบตามกรอบความคิดที่เป็นที่นิยมในหมู่นักสำรวจ ผมยังไม่เคยเจอใครที่พยายามมองการเมืองไทยผ่านสายตาของชนกลุ่มน้อย ประชาชนในเมืองเล็กๆ หรือในชนบท เพื่อนๆ ลองคิดดูก็ได้ว่า ประชาชนเหล่านั้นอาจเป็น“คนนอก” ยิ่งกว่านักข่าวฝรั่งหรือนักวิชาการฝรั่งเสียอีก โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงทัศนะแบบภูมิภาคนิยมที่เริ่มปรากฏให้เห็นในช่วง 15 ปีหลังมานี้ รวมทั้งความไม่พอใจและไม่ไว้ใจใน “กรุงเทพ” ที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย คราวนี้ผมจะขอแสดงทัศนะของตัวเองบางอย่าง ซึ่งอาจจะผิดก็ได้
 
อ.เกษียร เตชะพีระ หนึ่งในนักศึกษาที่ดีที่สุดคนหนึ่งที่ผมเคยสอน เขาบรรยายถึงระบบการเมืองไทยในปัจจุบันว่าเป็น“กึ่งประชาธิปไตย” นี่คือคำนิยามที่พบมากที่สุดที่คนนอกมักใช้อธิบายระบบการเมืองในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย แต่ในทัศนะของผม ประเทศเหล่านี้ รวมทั้งสยามด้วย จริงๆ แล้วอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มคณาธิปไตย มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป กลุ่มคณาธิปไตยเหล่านี้มักเป็นกลุ่มเครือญาติ ลูกหลานไปโรงเรียนเดียวกัน มีธุรกิจเกี่ยวโยงกัน แต่งงานเกี่ยวดองกันเอง รวมทั้งมีค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาไม่แข่งขันกันเอง พวกเขามีการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน บางครั้งอย่างดุเดือดด้วย แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาตัดขาดจากคนกลุ่มอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง พวกเขามีความยืดหยุ่นพอที่จะดูดคนอื่นที่เป็นกึ่งคนนอกจากกลุ่มต่างๆ เข้ามา แต่ต้องวางอยู่บนเงื่อนไขที่พวกเขาตั้งขึ้นเท่านั้น พวกเขามีหลักจรรยาบรรณบางอย่างด้วยซ้ำ เช่น ไม่ใช้เรื่องอื้อฉาวทางเพศมาโจมตีกันเอง เป็นต้น สัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นคณาธิปไตยอย่างชัดเจนก็คือการไม่มีฝ่ายค้านเป็นกลุ่มก้อนที่มีระบบจัดการที่ดี อีกสัญญาณหนึ่งคือการที่ ส.ส. ย้ายพรรคกันง่ายๆ และรวดเร็วเวลามีการจัดตั้งรัฐบาลผสม เนวินเคยเป็นมือขวาของทักษิณ แล้วจู่ๆ ก็ย้ายมาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ซึ่งต่อต้านทักษิณ 
 
สิ่งที่สำคัญมากที่จะทำให้ระบอบคณาธิปไตยตั้งมั่นอยู่ได้ก็คือความเชี่ยวชาญในการควบคุมระบบการเลือกตั้ง เมื่ออินโดนีเซียจัด “การเลือกตั้งเสรี” ขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากโค่นล้มซูฮาร์โตลงได้ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่สื่อตะวันตกโหมประโคมว่าเป็นการวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย ผมบังเอิญได้พบกับเพื่อนร่วมงานอาวุโสชาวอเมริกันคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง และอันที่จริงก็เป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลอินโดนีเซีย เมื่อผมถามความคิดเห็นของเขา เขาส่ายหน้าและบอกว่า “อินโดนีเซียมีระบบการเลือกตั้งที่แย่ที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมา นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุหรือสัญญาณของความโง่เขลา ผู้นำทางการเมืองที่นั่นรู้ดีว่าตัวเองกำลังทำอะไรในระหว่างที่ร่างกฎหมายการเลือกตั้ง”
 
ลักษณะของคณาธิปไตยอีกประการหนึ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้ก็คือ ภาษาแบบลำดับชั้นที่ชนชั้นนำใช้เพื่อสร้างความชอบธรรม คำที่เป็นกุญแจสำคัญคือคำว่า “ให้” ระบอบคุณพ่อใจดีจะ “ให้”การศึกษาเกือบฟรีแก่ลูกหลานของชาติ เงินอุดหนุนแก่เกษตรกร อุปกรณ์เตือนภัยสึนามิ เงินกู้ดอกเบี้ยถูก คอมพิวเตอร์สำหรับโรงเรียนประถม ผ้าห่มและเมล็ดพันธุ์แก่ชนกลุ่มน้อย “ล้าหลัง” ฯลฯ ผมเองไม่ได้ชื่นชมระบบการเมืองของสหรัฐฯ หรือสหราชอาณาจักร แต่ประชาชนในสองประเทศนี้คงรู้สึกแปลกหรือกระทั่งรู้สึกเหมือนถูกดูถูก หากประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีในประเทศของพวกเขาพูดอะไรอย่างเช่น “ให้” งานใหม่หนึ่งล้านตำแหน่ง ผมเกรงว่าแม้แต่นักวิชาการระดับแนวหน้าของไทยก็ไม่ได้ใส่ใจต่อภาษาแบบคณาธิปไตยในประเทศไทยมากพอ ในอินโดนีเซียวันนี้ เราจะพบบ่อยๆ ว่า กลุ่มคณาธิปไตยมักบ่นว่า rakyat masih bodoh หมายความว่า มวลชนยังโง่/ไม่รู้เรื่อง สำนวนประโยคนี้เกิดขึ้นในยุคหลังประกาศเอกราชเมื่อ 60 ปีก่อน เมื่อคนอินโดนีเซียคิดว่าความโง่เขลาของประชาชนที่เกิดจากลัทธิอาณานิคมจะหายไปในเร็ววัน จนถึงทุกวันนี้ พวกคณาธิปไตยก็ยังใช้ภาษาแบบเดิมอย่างไม่ละอายแก่ใจ โดยส่อความหมายชัดเจนว่า มวลชนจะโง่แบบนี้ตลอดไป และเพราะเหตุนี้เอง ระบอบคณาธิปไตยแบบคุณพ่อใจดีจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อประเทศ
 
ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดที่ความหลงใหลในความเจ้ายศเจ้าอย่างแบบศักดินาจอมปลอมเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดในหมู่ชนชั้นกลางที่หวังไต่เต้า แต่สำหรับชนชั้นนี้ไม่มีคำว่า “ให้” ใน ค.ศ. 1910 เกือบหนึ่งในสามของประชากรผู้ใหญ่ในนิวยอร์กทำงานเป็นแม่บ้าน พี่เลี้ยงเด็ก คนขับรถ ยาม ฯลฯ ยี่สิบปีต่อมา เมื่อมีการผลิตเครื่องมือในการทำความสะอาดและดูแลบ้านจนกลายเป็นสินค้าของคนหมู่มากไปแล้ว ประชากรที่ทำงานประเภทนี้ก็ค่อยๆ สาบสูญไป แต่ไม่ใช่เช่นนั้นสำหรับชนชั้นกลางในประเทศคณาธิปไตยแห่งอุษาคเนย์ ทั้งๆ ที่ทุกบ้านก็มีเครื่องมือพวกนี้อยู่แล้ว แต่คนรับใช้กลายเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะอย่างหนึ่ง และมักถูกแม่หรือย่ายายในครอบครัวกระฎุมพีกดขี่รังแกทั้งทางร่างกาย จิตใจและการเงิน นี่บอกอะไรเราได้ไม่น้อยเกี่ยวกับทัศนคติของเฟมินิสต์ชนชั้นกลางบางคนที่จ้างคนรับใช้เอาไว้ ในสมัยก่อน ผู้ดีศักดินาถือว่าคนรับใช้เป็นบริวาร และมักรักษาความสัมพันธ์กันแบบระยะยาว ชนชั้นกลางไม่ได้มองว่าคนรับใช้เป็น“บริวาร” จึงจ่ายค่าจ้างให้อย่างขี้ตืดและไล่คนรับใช้ออกเป็นนิจสิน คนรับใช้มักถูกมองว่าเป็นคนไว้ใจไม่ได้ ขี้โกหก ขี้ขโมยและขี้เกียจ ไม่ใช่คนที่น่าไว้ใจ ตลอดเวลากว่า 10 ปี ผมมอบโบนัสปีใหม่ให้แก่ยาม แม่บ้านและพนักงานในออฟฟิศที่ทำงานในคอนโดระดับชนชั้นกลางที่ผมอาศัยอยู่ ผมทึกทักมาตลอดว่าผู้อาศัยอื่นๆ อีก 250 รายในคอนโดนั้นคงทำอย่างเดียวกัน เพิ่งปีนี้เองที่ผมพบว่า มีเพียงอาจารย์ชาญวิทย์กับผมเท่านั้นที่ทำแบบนี้ ผู้อยู่อาศัยในคอนโดมองว่าคนทำงานเหล่านี้เป็นแค่ “คนรับใช้” ชื่ออะไรยังไม่สนใจอยากรู้จักและไม่ควร “ตามใจ” ให้เสียคน การตามใจมีไว้สำหรับลูกๆ ของพวกเขาที่มักเสียเด็กอยู่แล้ว เวลาไปภัตตาคารและห้างสรรพสินค้า เราจะเห็นชนชั้นกลางวัยกลางคนเรียกบริกรและพนักงานขายว่า “น้อง” ฟังดูก็เหมือนมีอัธยาศัยดี แต่คนพวกนี้ไม่เคยสนใจอยากรู้ชื่อของ “น้อง” พนักงาน และจะโกรธด้วยถ้าหากน้องพวกนี้บังอาจเรียกเขาว่า “พี่” คนในแวดวงมหาวิทยาลัยมักแสดงปาฐกถาโดยเรียกผู้ฟังด้วยคำยุคศักดินาว่า“ท่าน” มากกว่าคำอย่าง “สหาย” หรือ “เพื่อน” ประเทศนี้ยังมีคุณหญิงและท่านผู้หญิงเยอะแยะ ซึ่งในความรู้สึกของผม มันเป็นสิ่งที่น่าขันมากสำหรับยุคสมัยใหม่ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “brothers” เพื่อแสดงถึงความเท่าเทียมและความสมานฉันท์ แต่คำนี้แปลเป็นไทยไม่ได้ คนไทยต้องใช้คำที่มีลำดับชั้นคือ พี่ หรือ น้อง ซึ่งมีนัยยะซ่อนเร้นถึงความไม่เท่าเทียมและการยอมอยู่ใต้อำนาจ เราสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยซ้ำไปว่า มีลำดับชั้นแบบกึ่งศักดินาฝังรากลึกอยู่ในภาษาไทย
 
คราวนี้ผมขอกล่าวถึงแง่มุมอื่นๆ ที่สำคัญอีกสองประการในการเมืองยุคปัจจุบัน ก่อนที่จะสรุปความคิดเห็นง่ายๆ สองสามประการเกี่ยวกับอนาคตที่อาจเป็นไปได้ ซึ่งโดยทั่วไปไม่ค่อยมีการพูดหรือเขียนถึง
 
ประการแรกคือภูมิภาคนิยม ใครก็ตามที่ไปร่วมการชุมนุมขนาดใหญ่ของกลุ่มเสื้อแดงในช่วงต้นๆ เมื่อหน้าร้อนปีที่แล้ว คงจะสังเกตเห็นว่า ป้ายผ้าส่วนใหญ่บ่งบอกว่าผู้ประท้วงมีพื้นเพมาจากภาคอีสาน แต่เรื่องที่สะดุดใจผมคือ ผู้ชุมนุมชาวอีสานส่วนใหญ่ไม่ใช่คนหนุ่มสาว ไม่ใช่วัยรุ่น ไม่ใช่นักศึกษา แต่เป็นประชาชนอายุราว 50 ปีขึ้นไป ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ผมสงสัยว่าเคยมีปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในสยามมาก่อนหรือเปล่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? โดยเฉพาะในเมื่อภาคอีสานขึ้นชื่อในเรื่องการซื้อเสียงและอิทธิพลของเจ้าพ่อด้วย 
 
ในทัศนะของผม การจะอธิบายปรากฏการณ์นี้ต้องอาศัยประวัติศาสตร์สมัยใหม่เท่านั้น จวบจนกระทั่งปลายทศวรรษ 1970 กล่าวในทางการเมืองแล้ว อีสานเป็นพื้นที่ของฝ่ายซ้าย ซึ่งเป็นผลลัพธ์มาจากความยากจนและการดูถูกดูหมิ่นจากกรุงเทพและภาคกลาง พคท. มีฐานสนับสนุนเข้มแข็งที่สุดในภาคอีสาน ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงครั้งหนึ่งในสยาม อีสานเป็นภาคเดียวที่เลือก ส.ส. จากพรรคสังคมนิยมและพรรคพลังใหม่ อีสานเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการกดขี่ทางการทหารภายใต้ยุคเผด็จการสฤษดิ์และหลังจากนั้น และเป็นภาคที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการล่มสลายของ พคท.ที่เจ็บปวดที่สุด หลังจาก พ.ศ. 2519 สยามไม่เหลือพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่มีความสำคัญบ้างอีกเลย 
 
ดังนั้นเอง การที่ชาวอีสานหันไปหาการขายเสียง จึงเป็นหนทางเดียวในการได้รับประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ จากระบบการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบคณาธิปไตย คนหนุ่มสาวที่เติบโตขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1970 ตอนนี้อยู่ในช่วงวัย 50 หรือ 60 ปี และทักษิณเปิดโอกาสให้พวกเขากลับเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองอีกครั้ง ซึ่งมากกว่าการขายเสียงง่ายๆ และการยอมจำนนต่อเจ้าพ่อ ชาวอีสานหลายแสนคนอพยพเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และที่อื่นๆ นอกภาคอีสาน (แม้แต่ในย่านเยาวราชเดี๋ยวนี้ก็มีชาวอีสานมากกว่าชาวจีนเสียอีก) สื่อมวลชนที่มีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ก็สะท้อนสถานะของชาวอีสานในสังคมไทยเป็นอย่างดี คุณเคยเห็นความงามผิวคล้ำแบบชาวอีสานในหนังหรือละครทีวีครั้งสุดท้ายเมื่อไร? ผู้บริโภคชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็น “ลูกจีน” ดังนั้น จินตภาพของความงามในทีวีจึงห่างไกลจากความเป็นอีสานมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ “หน้าตา” ที่ชวนใฝ่ฝันต้องเป็นแบบลูกจีนหรือลูกครึ่ง ชาวอีสานถูกกดให้อยู่แต่ในบริบทของละครตลก ตลกคาเฟ่และตัวตลกทะลึ่งตึงตังในบทของคนรับใช้เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่แนวคิดภูมิภาคนิยมของอีสานยังมีประเด็นอื่นมากกว่านั้น 
 
ระหว่างการชุมนุมของเสื้อแดง ผมสังเกตว่านักปราศรัยที่เจนเวทีอย่างณัฐวุฒิและจตุพรแทบไม่เคยเอ่ยถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย ทั้งๆ ที่ประชาชนในสามจังหวัดนั้นถูกกดขี่ร้ายแรงยิ่งกว่าชาวอีสานเสียอีก ยอดผู้ถูกสังหารในกรุงเทพฯ ซึ่งมีบ้างที่เสียชีวิตจากน้ำมือเสื้อแดง แต่ส่วนใหญ่ตายเพราะกองทัพมากกว่า เป็นสิ่งที่คนเสื้อแดงและสื่อในกรุงเทพฯ กล่าวขวัญถึงว่าเป็นโศกนาฏกรรมระดับชาติ ไม่มีใครเอ่ยขึ้นมาเลยว่า การฆาตกรรมที่ตากใบแห่งเดียวก็มีจำนวนมากกว่าคนตายที่กรุงเทพฯ นี่ยังไม่นับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากสงครามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา ความเป็นภูมิภาคนิยมของอีสานทำให้ทุกอย่างโฟกัสอยู่ที่ปัญหาของตัวเองเท่านั้น ส่วนชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ยิ่งไม่แยแสปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแค่ความรู้สึกว่า ตราบที่อาณาเขตนี้ยังเป็นของ “ไทย” ชาวมลายูมุสลิมในท้องถิ่นนั้นจะล้มหายตายจากไปอย่างไรก็ไม่สำคัญ
 
ประการที่สองคือ การเมืองของชนชั้นกลางหรือกระฎุมพีในกรุงเทพฯ ทั้งกระฎุมพีใหญ่และกระฎุมพีน้อย ความเชื่อส่วนหนึ่งเกี่ยวกับความก้าวหน้าและประชาธิปไตยในโลกตะวันตกมักยกย่องให้ชนชั้นกลางหรือกระฎุมพีมีบทบาทสำคัญมาก ความเชื่อนี้ไม่ได้ผิดไปเสียทั้งหมด (แม้มักจะลืมกันไปง่ายๆ ว่า มีประชาชนถูกประหารในช่วงเวลาแค่สองสัปดาห์ที่ชนชั้นกลางทำลายปารีสคอมมูนใน ค.ศ.1871 ในจำนวนที่มากกว่าตลอดช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสด้วยซ้ำ) ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความเบ่งบานของนักเขียนนวนิยาย จิตรกร กวี นักเขียนบทละคร สถาปนิก นักคิดทางสังคมและนักปรัชญาจำนวนมากในสมัยศตวรรษที่ 19 เป็นผลมาจากการที่ชนชั้นกลางก้าวขึ้นมามีอิทธิพลทางวัฒนธรรม ส่วนสยามช่างแตกต่างตรงกันข้ามจนไม่มีอะไรจะชัดไปกว่านี้ 
 
เท่าที่ผมรู้ กรุงเทพฯ ยังไม่เคยให้กำเนิดนักเขียนนวนิยาย กวี นักเขียนบทละคร นักปรัชญา สถาปนิกหรือนักคิดทางสังคมที่ยิ่งใหญ่แม้แต่คนเดียว แต่กลับกลายเป็นขอนแก่น ไม่ใช่กรุงเทพฯ ที่ให้กำเนิดแก่อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งอายุยังไม่ถึง 40 ปี ก็ได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติแล้วว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ระดับแนวหน้าของโลก และปีนี้ก็ได้รับรางวัลปาล์มทองคำที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เพื่อนๆ คงคาดหวังว่า ศิลปินที่มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องขนาดนี้น่าจะเป็นความภาคภูมิใจของกระฎุมพีชาวสยามที่กระหายหาการได้โอ้อวดความสำเร็จของคนไทยในระดับสากล แต่เปล่าเลย กระฎุมพีสยามก็ยังหลับหูหลับตาบริโภคหนังขยะฮอลลีวู้ด หนังขยะกังฟูจีนที่แสนซ้ำซาก นำเข้าวิดีโอเกมกับละครงี่เง่าต่อไป ถ้าเราดูจากโฆษณาทั้งหลาย ก็จะเห็นว่าชนชั้นกลางกรุงเทพฯ สนใจแต่อาหารดีๆ แฟชั่นจากต่างประเทศ รีสอร์ตหรูๆ และการไปเที่ยวช้อปปิ้งในเอเชียตะวันออกกับยุโรป การจะหาตึกอาคารสาธารณะสักแห่งที่สวยจริงๆ ในเมืองหลวงไทยเป็นเรื่องยากมาก และไม่มีวัดไทยวัดไหนเลยที่พอจะประชันกับวัดเชียงทองในหลวงพระบาง 
การปลุกระดมอย่างหน้าด้านๆ ในเรื่องปราสาทพระวิหารนั้นเป็นแค่วิธีการหนึ่งในการปกปิดเรื่องที่ทุกคนควรรู้แก่ใจดี นั่นคือ ไม่มีโบราณสถานไทยๆ แห่งไหนเลยที่เทียบได้กับนครวัดของกัมพูชา บุโรพุทโธของชวาหรือพุกามของพม่า ใครๆ ก็อาจนึกสงสัยว่า กรุงเทพฯ มีปมด้อยซ่อนอยู่ลึกๆ ในเรื่องนี้ ใครก็ตามไปยืนชมปราสาทพระวิหารสักสองนาที ถ้าเขาพอมีสมองอยู่บ้างก็ต้องรู้ทันทีว่า โบราณสถานอันงามสง่านี้เป็นของเขมร ไม่ใช่ของไทย ชาวไทยบางคนก็เลยทนไม่ได้ มันจึงต้องเป็น “ของเรา”
 
คงยากที่จะคาดหวังอะไรจากชนชั้นกลางเมืองหลวงเหล่านี้ พวกเขาเคยสนับสนุนการชุมนุมในเดือนตุลา 2516 อย่างกล้าๆ กลัวๆ แต่แล้วก็หันหลังให้นักศึกษาใน พ.ศ.2519 พวกเขาสนับสนุนนโยบายสังคมในยุคต้นของทักษิณอยู่บ้าง แต่ไม่นานก็หันหลังให้ทักษิณ พอตอนนี้ก็แสดงตัวสนับสนุนสถาบันกษัตริย์กับเสื้อเหลืองกันอย่างอึงมี่ ผมอยากกล่าวว่า ในลักษณะนี้ กระฎุมพีชาวกรุงเทพฯ ก็ไม่ต่างจากกระฎุมพีชาวมะนิลา กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ และจาการ์ตาสักเท่าไร ขี้ขลาด เห็นแก่ตัว ไร้วัฒนธรรม คลั่งบริโภคและไม่เคยมีภาพอนาคตของประเทศอยู่ในหัว ทำไมเป็นเช่นนี้ นี่เป็นเรื่องที่นักวิชาการเพิ่งเริ่มต้นค้นคว้าสำรวจ ผมนึกถึงคำพูดของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสคลีมงโซที่เคยทำนายอนาคตสหรัฐอเมริกาไว้ในทางร้าย เขาบอกว่า สหรัฐฯ จะก้าวข้ามจากความป่าเถื่อนไปสู่ความเสื่อมทรามโดยไม่มียุคศิวิไลซ์คั่นกลาง
 
ท้ายที่สุด ผมขอพูดถึงอนาคตแบบกล้าๆ กลัวๆ บ้าง กรัมชี มาร์กซิสต์ชาวอิตาเลียนผู้ยิ่งใหญ่เคยเขียนวรรคทองอันโด่งดังว่า “เมื่อสิ่งที่เก่าแก่ไม่ยอมตาย และสิ่งใหม่ดิ้นรนที่จะเกิด ย่อมเกิดอสุรกายขึ้น” ตอนที่เขียนประโยคนี้ กรัมชีคิดถึงการขึ้นสู่อำนาจของมุสโสลินี อดีตนักสังคมนิยมที่กลายเป็นจอมเผด็จการประชานิยมปีกขวา ผู้สร้างคำว่า “ลัทธิฟาสซิสต์”และจับกรัมชีไปคุมขังหลายปี ผมอยากให้เพื่อนๆ ลองพิจารณาความคิดนี้ที่อาจจะขยายความเกินจริงไปบ้าง
 
ความรู้สึกของผมก็คือ สิ่งเก่าๆ แก่ๆ กำลังจะตายแต่ไม่ยอมตาย อะไรคือตัวชี้วัดให้คิดเช่นนี้? ปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ รายงานข่าวสั้นๆ ว่า สิบปีที่แล้ว มีชายไทยถึง 6 ล้านคนห่มผ้าเหลือง ทั้งในฐานะพระหรือเณร ทุกวันนี้ ตัวเลขลดฮวบลงมาเหลือแค่ 1.5 ล้านคน หรือหายไปถึง 75% ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การลดลงอย่างฮวบฮวบนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากปฏิกิริยาต่อต้านความเป็นพาณิชย์นิยมของวัด เรื่องฉาวโฉ่ทั้งการเงินและเพศที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ฯลฯ ซึ่งสะท้อนออกมาอ้อมๆ ในหนังเรื่อง นาคปรก ที่ถูกห้ามฉาย แต่อีกส่วนหนึ่งย่อมมาจากความรู้สึกของชนชั้นกลางด้วยว่า การส่งลูกชายเข้าวัด ถึงแม้ระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม แต่มันก็เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ผมรู้จักผู้ชายวัยผู้ใหญ่จำนวนมากที่ไม่เคยบวชและไม่คิดที่จะบวชเลยแม้เพียงไม่กี่สัปดาห์ก็ตาม ไม่กี่เดือนก่อน อาจารย์นิธิเขียนแสดงทัศนะที่น่าสนใจในคอลัมน์ของเขา เกี่ยวกับการที่เด็กหญิงและวัยรุ่นหญิงในเมืองชอบใช้ภาษาหยาบคาย อาจารย์นิธิให้เหตุผลว่า เด็กสาวเหล่านี้ใช้ภาษาหยาบของผู้ชายและวัยรุ่นผู้ชายเพื่อยืนยันถึงสิทธิในความเท่าเทียมและปฏิเสธลำดับชั้นทางเพศ ผมไม่สงสัยเลยว่า เหตุผลของอาจารย์นิธิมีส่วนถูกต้อง ถึงแม้การสังเกตที่มีข้อจำกัดมากของผมพบว่า ภาษาหยาบมักแพร่หลายในหมู่เด็กผู้หญิงล้วนๆ มากกว่าในกลุ่มที่คละกันทั้งสองเพศ แต่ประเด็นนี้อาจตีความได้ซับซ้อนกว่านั้น ละครทีวีตะวันตกที่เด็กสาวมักใช้คำหยาบแบบเดียวกับเด็กผู้ชายอาจมีอิทธิพลก็ได้ ละครน้ำเน่าในทีวีกรุงเทพฯ มักวนเวียนอยู่ที่เด็กสาวนิสัยเสียที่ชอบร้องกรี๊ดๆ และพูดจาน่าตกใจหรือน่าถูกลงโทษ ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจสะท้อนทั้งความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหรือการทำให้ภาษาสาธารณะมีความหยาบคายมากขึ้น 
 
หลักปฏิบัติของพวกคณาธิปไตยที่จะไม่ปริปากเรื่องเพศถูกละเมิดเป็นครั้งแรกโดย “ไอ้เหลิม” ซึ่งกดดันพลเอกเปรมจนยอมลงจากเก้าอี้ด้วยการขู่จะเรียกนายพลชราผู้นี้ว่า “ตุ๊ด” ในการอภิปรายในรัฐสภา แต่จริงๆ แล้วต้องนับที่ณัฐวุฒิด้วย ณัฐวุฒิเป็นนักปราศรัยที่ปราดเปรื่องคนแรกในสยามยุคสมัยใหม่ เขาเป็นคนโจมตีเปรมอย่างเปิดเผย (จะให้เขาไปโจมตีใครอื่นอีกล่ะ?) ว่าเป็นตุ๊ด ถึงแม้ชีวิตทางเพศของเปรมไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการแทรกแซงการเมืองของเขาเลยก็ตาม การที่ณัฐวุฒิละเมิดหลักปฏิบัตินี้ แต่ไม่มีอะไรมากกว่านั้นหรือน้อยกว่านั้น สะท้อนออกมาให้เห็นในเหตุการณ์ที่เขาต้อนรับกระเทยวัยรุ่นหน้าตาดีคนหนึ่งบนเวทีราชประสงค์ กระเทยคนนี้เพิ่งกลายเป็นเสื้อแดงได้ไม่นาน ถึงแม้เด็กหนุ่มจะสารภาพอย่างเขินอายว่า ผัวแสนดีของเธอเป็นทหาร ณัฐวุฒิเป็นผู้นำในการตบมือต้อนรับเกรียวกราวต่อหนุ่มตุ๊ดคนนั้น ในยุโรปตะวันตกมีตัวอย่างมากมายเกี่ยวกับการโจมตีชนชั้นปกครองด้วยเรื่องเพศตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เราแน่ใจได้เลยว่า แนวโน้มเหล่านี้จะไม่รีบร้อนหายไปไหน การสร้างความเป็นประชาธิปไตยหมายถึงทั้งสิทธิของไพร่ที่จะเรียกร้องแทนที่จะคอยรับการ “ให้” รวมทั้งภาษาหยาบคายอีกมากมายที่จะใช้ด่าพวกคณาธิปไตย (ถ้าไม่เชื่อ ก็ลองดูภาษาหยาบคายน่าเกลียดที่พวกฝ่ายขวาอเมริกันใช้ด่าโอบามาสิ)
 
อีกด้านหนึ่งของพัฒนาการนี้ ซึ่งยิ่งย้ำให้เห็นชัดจากวัฒนธรรมใหม่ของการเขียนบล็อก ใช้มือถือ ยูทิวบ์ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ กันตลอดเวลา ก็คือ วิกฤตการณ์ของพวกคณาธิปไตยที่พยายามจะเปลี่ยนโฉมใหม่ นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในสยามเท่านั้น นับแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ระบอบกษัตริย์ในยุโรปตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมาก พร้อมๆ กับการขยายตัวของการอ่านออกเขียนได้ของประชาชนทั่วไป หนังสือแทบลอยด์ ฯลฯ ฯลฯ สาเหตุพื้นฐานประการหนึ่งก็คือชัยชนะที่แน่ชัดของวัฒนธรรมฆราวาส (secular culture) เดิมทีนั้น กษัตริย์ถูกยกให้เป็นคนพิเศษที่พระเจ้าโปรดปราน กษัตริย์มีแม้กระทั่งพลังอำนาจที่จะรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้ข้าราษฎรด้วยการวางมือกษัตริย์สัมผัสเท่านั้น อำนาจนี้ยุติลงในอังกฤษเมื่อต้นศตวรรษที่ 18 และในฝรั่งเศสอีกสองสามทศวรรษให้หลัง จากนั้นจึงเกิดแนวความคิดเกี่ยวกับระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นมา และเป็นการสิ้นสุดประเพณีดั้งเดิมที่เชื่อว่าความเป็นกษัตริย์มีบารมีปาฏิหาริย์ สถาบันกษัตริย์ต้องปรับตัวกับการเกิดขึ้นของลัทธิชาตินิยมภายในจักรวรรดิโบราณที่มีประชากรหลายเชื้อชาติ โดยที่กษัตริย์จำต้องผูกพันตัวเองเข้ากับขบวนการชาตินิยมอันใดอันหนึ่ง สถาบันกษัตริย์ยังต้องรับมือกับความคาดหวังของกระฎุมพีที่มีอำนาจมากขึ้นด้วย ยุคที่ในวังเต็มไปด้วยความสำส่อนทางเพศต้องถึงกาลสิ้นสุดลง การแพร่หลายของหนังสือพิมพ์ก็มีส่วนในเรื่องนี้ไม่น้อยทีเดียว ในแง่นี้ ระบอบกษัตริย์แบบกระฎุมพีจึงต้องเกิดขึ้นแทนที่ระบอบกษัตริย์แบบศักดินา ความคิดเก่าๆ เดิมๆ ว่า การล่มสลายของราชวงศ์หนึ่งหมายถึงการเกิดขึ้นของราชวงศ์ใหม่ ค่อยๆ หายไปจนหมดสิ้น กษัตริย์ทั่วทั้งยุโรปเริ่มตระหนักว่า ถ้าราชวงศ์ของตนล่มสลาย จะไม่มีราชวงศ์อื่นมาแทนที่อีกแล้ว 
 
ความกลัวนี้ปรากฏกลายเป็นจริงระหว่าง ค.ศ. 1911-1920 เมื่อราชวงศ์ในจีน รัสเซีย ออสโตร-ฮังการี จักรวรรดิออตโตมันและเยอรมนี ล่มสลายลงพร้อมๆ กับการก่อตั้งสันนิบาตชาติ เหลืออยู่แต่ในสหราชอาณาจักรกับเครือจักรภพที่ชนะสงครามเท่านั้นที่ระบอบกษัตริย์เกรดเอยังอยู่รอดมาได้ และระบอบกษัตริย์อังกฤษก็ต้องประพฤติตัวเป็นกระฎุมพีที่ดีเท่าที่จะทำได้ (แต่สถาบันกษัตริย์ที่ไร้บารมีปาฏิหาริย์ย่อมประสบความลำบากไม่น้อย เนื่องจากความชอบธรรมตามประเพณีได้มาจากบารมีปาฏิหาริย์) ในสหราชอาณาจักร สถาบันกษัตริย์แบบนี้อยู่รอดมาได้ค่อนข้างดีจนกระทั่งการสมรสของฟ้าชายชาร์ลส์และเจ้าหญิงไดอาน่าจบลงอย่างไร้ความสุข การที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษแปรสภาพเป็นแบบฆราวาสไปแล้ว หมายความว่าหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ รวมทั้งความช่วยเหลือจากนักเจาะข้อมูลคอมพิวเตอร์ ช่วยกันเปิดโปงว่า ทั้งสามีและภรรยาต่างก็มีชู้ ในตอนนั้น ไดอาน่าค้นพบวิถีทางใหม่ที่ง่อนแง่นในการสร้างรัศมีบารมีขึ้นมา เนื่องจากเธอเป็นคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง เธอจึงค้นพบวิถีทางนี้ในสื่อมวลชน นั่นคือการสร้างสถานะซูเปอร์เซเลบขึ้นมา เมื่ออยู่ท่ามกลางดาราภาพยนตร์และร็อคสตาร์ ซึ่งล้วนแล้วแต่สวยกว่า เก่งกว่าและฉลาดกว่าเธอ แต่เธอถือไพ่ไม้ตายไว้ใบหนึ่ง นั่นคือ เธอมีสถานะราชนิกูลที่นักร้องหรือดาราหนังไม่มีทางมีได้ แต่เธอไม่เข้าใจว่า ในขณะที่เซเลบคนดังทั้งหลายสามารถสร้างชื่อเสียงได้จากเรื่องอื้อฉาวทางเพศและเรื่องอื้อฉาวอื่นๆ ราชนิกูลทำแบบเดียวกันไม่ได้ เธอไม่ได้ตระหนักด้วยว่า การเป็นเซเลบนั้นมันไม่ยั่งยืน มันช่วยสร้างรัศมีบารมีได้แค่ช่วงสั้นๆ เหมือนดาราหนังทุกคน ไดอาน่าจึงสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ซึ่งพยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาสถาบันกษัตริย์แบบกระฎุมพีเอาไว้ โชคดีที่ไดอาน่ามีชีวิตอยู่แค่เป็นเจ้าหญิงเท่านั้น ถ้าหากเธอมีชีวิตอยู่ต่อไปจนได้เป็นราชินีและยังใฝ่ฝันจะเป็นเซเลบ เธออาจนำพาสถาบันกษัตริย์ในสหราชอาณาจักรถึงซึ่งกาลอวสานก็ได้ เราสามารถเรียนรู้อะไรมากมายจากเรื่องนี้
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กูเกิลเล่นมุข "วันเอพริลส์ฟูลส์" ใช้ "ท่าทาง" สั่งงานอีเมล

Posted: 01 Apr 2011 07:34 AM PDT

 

เนื่องในวันเอพริลฟูลส์ หรือวันเมษาหน้าโง่ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี กูเกิล บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลก เล่นมุขเช่นที่เคยปฏิบัติมาทุกปี โดยปีนี้ กูเกิลออกมาเปิดเผยบริการใหม่ชื่อ จีเมลโมชั่น (Gmail Motion) ซึ่งจะช่วยให้สามารถใช้งานจีเมลผ่านท่าทางของผู้ใช้ แทนการใช้เมาส์และคีย์บอร์ด อาทิ เมื่อต้องการเปิดเมลให้ทำท่าเปิดจดหมาย เมื่อต้องการส่งข้อความ ทำท่าเลียแสตมป์และแปะลงไป ส่ายศีรษะเมื่อต้องการลบข้อความ

ที่มา https://mail.google.com/mail/help/motion.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิดีโอคลิปหลังเหตุแผ่นดินไหวที่รัฐฉาน: เผยความช่วยเหลือยังเข้าไปไม่ถึง

Posted: 01 Apr 2011 06:41 AM PDT

สำนักข่าวฉานเผยภาพวิดีโอความเสียหายหลังแผ่นดินไหวเมื่อ 24 มี.ค. จากหมู่บ้านจากูหนี่ ซึ่งเป็นจุดที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 ราย และความช่วยเหลือเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากตั้งอยู่ห่างไกล นอกจากนี้ยังมีผู้ร้องเรียนว่าต้องรอนายทหารพม่ามาแจกสิ่งของแต่เช้า กระทั่งบ่ายสามโมงจึงได้รับแจกเพียงน้ำดื่มและบะหมี่สองห่อ 

ที่มาของคลิป: สำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.)

 

ตามที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริคเตอร์ ที่รัฐฉาน ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา และทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายร้อยราย และมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยจำนวนมากนั้น ล่าสุด เมื่อวานนี้ (31 มี.ค.) สำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.) เผยแพร่ภาพวิดีโอ “Shan State earthquake: Aid not reaching those in need”

โดยวิดีโอความยาว 3 นาที ดังกล่าว นำเสนอเป็นภาพความเสียหายจากหมู่บ้านจากูหนี่ หมู่บ้านชาวละหู่ ในรัฐฉาน ใกล้กับเมืองท่าเดือ ซึ่งอยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว โดยโบสถ์คริสต์ ซึ่งหนึ่งในสองสิ่งก่อสร้างในหมู่บ้านที่เป็นคอนกรีตได้พังลง ที่หมู่บ้านแห่งนี้มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 และมีผู้บาดเจ็บเกือบ 50 คน ทั้งนี้ ที่หมู่บ้านจากูหนี่ มีที่ตั้งอยู่ห่างจากถนนสายหลัก ทำให้การช่วยเหลือเข้าไปถึงจำกัด นอกจากนี้ในคลิปยังมีการนำเสนอภาพความเสียหายที่เมืองท่าเดื่อด้วย

ในคลิป ยังรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2 วันหลังเหตุแผ่นดินไหว มีชาวบ้านมารอรับความช่วยเหลือจากทางการ โดยรอตั้งแต่เช้าจนกระทั่งบ่ายสามโมง เนื่องจากต้องรอจนกว่านายทหารพม่าจะมาแจกสิ่งของ โดยชาวบ้านกล่าวกับผู้สื่อข่าวในคลิปว่าได้รับเพียงน้ำดื่มสองขวด และบะหมี่สองห่อ

ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวส่วนใหญ่ ได้รับความช่วยเหลือโดยชุมชนในพื้นที่ และหน่วยงานที่อยู่ชายแดนไทย-พม่ามากกว่าความช่วยเหลือจากทางการ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หลายฝ่ายไม่เชื่อ รบ.พม่าชุดใหม่สามารถแก้วิกฤตประเทศ

Posted: 01 Apr 2011 05:58 AM PDT

สมาชิกพรรคฝ่ายค้านและผู้นำชนกลุ่มน้อยเห็นตรงกันว่า รัฐบาลทหารพม่าชุดใหม่ในเครื่องแบบพลเรือน จะไม่สามารถทำให้เกิดสันติภาพและประชาธิปไตยในพม่าได้

แม้พลเอกเต็งเส่งจะเข้ารับการสาบานตนเป็นประธานาธิบดีพร้อมกับคณะรัฐมนตรีพม่าชุดใหม่เมื่อวันพุธ (30 มีนาคม) ที่ผ่านมา และประกาศจะให้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนในพม่า อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ สมาชิกพรรคฝ่ายค้านและผู้นำชนกลุ่มน้อยต่างเห็นตรงกันว่า รัฐบาลทหารพม่าชุดใหม่ในเครื่องแบบพลเรือน จะไม่สามารถทำให้เกิดสันติภาพและประชาธิปไตยในพม่าได้

ทั้งนี้ ในระหว่างการสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง พลเอกเต็งเส่งได้เรียกร้องให้คณะรัฐมนตีชุดใหม่ช่วยกันปกป้องรัฐธรรมนูญปี 2008 (2551)และประชาธิปไตยในประเทศ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ประเทศช่วยกันสร้างกองทัพที่แข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพและทันสมัย ด้านนายวินติน สมาชิกอาวุโสของพรรคเอ็นแอลดีกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า รัฐธรรมนูญปี 2008 ที่ทหารเป็นผู้ร่างขึ้นนั้น ไม่ได้เป็นที่ต้องการของประชาชน

ผมรับไม่ได้ที่ทางกองทัพจะยังคงมีบทบาทในการเมืองพม่าต่อไป ผมกับพลเอกเต็งเส่ง เราแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะผมไม่มีความคิดอยากจะปกป้องรัฐธรรมนูญปี 2008” นายวินตินกล่าว

นายวินตินยังกล่าวถึงเรื่องที่พลเอกเต็งเส่งกล่าวว่า จะปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในพม่าว่าเป็นเพียงวาทศิลป์ของพลเอกเต็งเส่งเท่านั้น ขณะที่นายญาณวิน โฆษกของพรรคเอ็นแอลดีกล่าวว่า พรรคเอ็นแอลดีสามารถยอมรับการดำเนินการจัดตั้งรับบาลชุดใหม่ และหวังว่า ทางพรรคจะสามารถมีส่วนร่วมกับรัฐบาลในแผนปรองดองแห่งชาติ

ด้าน ส.ส.ใหม่หลายคนเปิดเผยว่า ทางการไม่ได้แจ้งล่วงหน้าเกี่ยวกับพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของพลเอกเต็งเส่ง โดยเพิ่งทราบหลังจากที่เข้าร่วมประชุมรัฐสภา ส่วนจายหลาวแสง โฆษกของกองทัพรัฐฉานใต้ (Shan State Army-South) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สภาใหม่พม่าได้ปฏิเสธข้อเสนอการเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ

สงครามการเมืองจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป มันเป็นเรื่องที่ยากสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2008 และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนและมีผลประโยชน์ต่อชนกลุ่มน้อยแต่อย่างใด” จายหลาวแสงกล่าว

เช่นเดียวกับนางซิปโปรา เส่ง เลขาธิการเคเอ็นยูก็แสดงความคิดเห็นสอดคล้องตรงกันว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้นในพม่า และที่ผ่านมา เคเอ็นยูไม่เคยสนับสนุนรัฐธรรมนูญปี 2008 หรือการเลือกตั้งเมื่อปีทีแล้ว และจะไม่สนับสนุนรัฐบาลชุดใหม่ เช่นเดียวกับผู้คนส่วนใหญ่ในพม่าต่างก็มีความเห็นว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้น แม้รัฐบาลทหารจะประกาศถ่ายโอนอำนาจให้กับรัฐบาลชุดใหม่

ผมได้ยินข่าวว่า เต็งเส่งได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่ผมไม่ได้สนใจในเรื่องนี้ ใครจะสนเรื่องการเมือง ในเมื่อยังไม่มีเงินซื้อข้าวกินด้วยซ้ำ” แท็กซี่รายหนึ่งในย่างกุ้งกล่าว เช่นเดียวกับนักธุรกิจคนหนึ่งที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า

เราถูกหลอกอีกครั้ง เพราะคนที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะรัฐบาลชุดใหม่ ล้วนแล้วแต่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารแทบทั้งสิ้น” เขากล่าว

(ที่มา: Irrawaddy 1 มีนาคม 54)

 

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อธิการบดี มธ. ทำ จม. ขอโทษประชาชนลาว หลังเกิดข้อถกเถียงกรณีคลิปวิจัย นศ.

Posted: 01 Apr 2011 05:33 AM PDT

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” นำ จม.อธิการบดี มธ. มอบต่อทูตลาว ระบุคลิปที่ นศ.จัดทำขึ้นเป็นรายงานในชั้นเรียน หวังนำเสนอปัญหาคนไทยใช้คำว่าลาวโดยไม่เหมาะสมและขาดความเคารพต่อประชาชนลาว แต่วิธีนำเสนอขาดความระมัดระวัง ม.ธรรมศาสตร์จึงขออภัยประชาชนลาว ด้านทูตกล่าวถึงความสัมพันธ์สองชาติอยู่ร่วมกันต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การกล่าวสิ่งไม่ดีต่อกันจะไม่เกิดประโยชน์อันใด

ที่มาของภาพ: ข่าวสานปะเทดลาว (KPL)

 

เว็บไซต์ข่าวสานปะเทดลาว (KPL) รายงานเมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า เมื่อเช้าวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่สถานเอกอัครราชทูตลาว ประจำกรุงเทพฯ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำจดหมายของ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มามอบให้กับ นายอ้วน พมมะจัก เอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศไทย เพื่อแสดงความขอโทษประชาชนลาวในกรณีที่มีนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งจัดทำคลิปวิดีโอ

ข่าวสานปะเทดลาวรายงานว่า “ในคลิปวิดีโอที่นักศึกษาจัดทำดังกล่าว มีความยาว 11.55 นาที เริ่มต้นด้วยเสียงผู้หญิงหยอกไยกันเป็นภาษาไท และเขียนว่า [,,,] พร้อมทั้งนำเอาการสัมภาษณ์สาวหนุ่มนักศึกษาหลายคนที่เคยใช้คำว่า ลาว เป็นคำเอิ้นเฉพาะต่อผู้ที่มีความด้อยพัฒนาล้าหลังต่างๆ ... ซึ่งทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นว่าเป็นคำเว้าที่บ่เหมาะสม และ ขาดความเคารพต่อประชาชนลาว พร้อมทั้งเสนอให้คนไทยุติการกระทำอันบ่เหมาะสมดังกล่าว”

ข่าวสานปะเทดลาว รายงานว่าในจดหมายขออภัยโทษระบุว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ ที่มีเนื้อในและวิธีการนำเสนอกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนลาว ของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอสร้างโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าคลิปวิดีโอดังกล่าวสร้างขึ้นโดยนักศึกษากลุ่มหนึ่งเพื่อส่งให้อาจารย์ในวิชาเรียนวิชาหนึ่ง (วิชาสหวิทยาการมนุษยศาสตร์) โดยมีเจตนานำเสนอปัญหาที่คนไทยจำนวนหนึ่ง ใช้คำว่าลาวโดยไม่เหมาะสม และขาดความเคารพต่อประชาชนลาว ในฐานะที่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ก็เพื่อกระตุ้นเตือนให้คนไทยที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ยุติการกระทำอันไม่เหมาะสมนี้ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเจตนาของนักศึกษากลุ่มนี้จะเป็นความตั้งใจดี แต่วิธีการที่ใช้เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม และขาดความระมัดระวังในการนำเสนอ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงขออภัยประชาชนลาว ที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้กระทำในสิ่งที่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนลาว และจะได้ดำเนินการตักเตือนนักศึกษา โดยจะไม่ให้เกิดปัญหานี้อีกในอนาคต

ในเวลาพบปะหารือกับรองอธิการบดีนั้น เอกอัครราชทูต อ้วน พมมะจัก ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศลาว-ไทย และความสัมพันธ์ต่อกันเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะสองประเทศมีชายแดนร่วมกัน มีความร่วมมือและเชื่อมโยงกันหลายด้าน การอยู่ร่วมกันต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน กรกล่าวในสิ่งที่ไม่ดีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง จะไม่เกิดประโยชน์อันใด ในตอนท้าย เอกอัครราชทูตได้ย้ำขอให้ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอาใจใส่ ดูแลนักศึกษาลาวและขอมิให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ข่าวสานปะเทดลาว รายงาน

 

ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก

ข่าวสานปะเทดลาว, 30.3.2011

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แห่ศพ ‘เทิดศักดิ์’ เหยื่อกระสุน 10 เมษาฯ พรุ่งนี้ ก่อนฌาปนกิจ 3 เม.ย.

Posted: 01 Apr 2011 05:33 AM PDT

 
 
บรรเจิด ฟุ้งกลิ่นจันทร์ พ่อของเทิดศักดิ์ นำภาพศพลูกชายไปร่วมงานรำลึกเหตุการณ์เมื่อ พ.ค.ปีก่อน
 
1 เม.ย.54 นางสุวิมล ฟุ้งกลิ่นจันทร์ แม่ของนายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ หรือ โบ้ท วัย 29 ปี ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 10 เม.ย.53 เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (2 เม.ย.) จะมีการเคลื่อนศพลูกชายที่เก็บไว้จนเกือบครบ 1 ปีจากวัดพลับพลาไชย ไปยังสี่แยกคอกวัว สถานที่ที่เขาถูกยิงเสียชีวิตขณะทหารเข้าปฏิบัติหน้าที่ “ขอคืนพื้นที่” เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ปีก่อน จากนั้นจะนำศพไปยังวัดสีกัน ย่านดอนเมือง เพื่อสวดอภิธรรมเป็นเวลา 1 คืน ก่อนจะทำพิธีฌาปนกิจศพในวันอาทิตย์ที่ 3 เม.ย.นี้ เวลา 17.00 น.
 
ทั้งนี้ เทิดศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2523 เป็นบุตรคนโตของครอบครัวฟุ้งกลิ่นจันทร์ มีอาชีพเป็นพนักงานบริษัท จบปริญญาตรีจากมหวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งแต่ปี 2552 พร้อมครอบครัว จนกระทั่งเสียชีวิตที่ในวันที่ 10 เม.ย.53 บริเวณสี่แยกคอกวัว เวลาประมาณ 20.00 น.เศษ ในใบรายงานการตรวจศพจากโรงพยาบาลรามาธิบดีระบุสาเหตุตายว่าเ สียชีวิตจากบาดแผลบริเวณทรวงอกทะลุหัวใจและปอด บาดแผลฉีกขาดรูปร่างรีขอบค่อนข้างเรียบทะลุทรวงอกซ้าย-ขวา รวม 5 จุด
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความทุกข์โดย (ไม่ต้อง) สังเกต

Posted: 01 Apr 2011 05:11 AM PDT

        วันก่อน ผมได้อ่านคอลัมน์หนึ่งในมติชนสุดสัปดาห์ เป็นคอลัมน์ของคุณ “นิ้วกลม” ที่เขียนขึ้นเพื่อแนะนำหนังสือใหม่ตัวเอง
        "ความสุขโดยสังเกต" คือชื่อหนังสือเล่มนั้นครับ
        จริงๆ ผมไม่ได้คาดหวังหรือใส่ใจอะไรกับเนื้อหาสาระที่คุณนิ้วกลมเขียนเท่าไหร่
        หลายครั้งที่ผมอ่านไปได้ครึ่งหนึ่ง แล้วก็เปิดเลยผ่านไป
        ไม่ใช่ว่าคุณนิ้วกลมเขียนได้ไม่ดีไม่เข้าท่านะครับ เพียงแต่เนื้อหาที่เต็มไปด้วยโลกสดใส ความสุข ความรัก คิดบวก มองโลกในแง่ดี โดยส่วนตัว...มันอาจไม่ค่อยถูกจริตของผม
        คุณนิ้วกลมเป็นนักเขียนหน้าใหม่ไฟแรงที่มีผลงานสม่ำเสมอและกำลังโด่งดัง มีแฟนนานุแฟนติดตามผลงานอยู่เป็นจำนวนมาก ข้อเขียนเล็กๆ นี้ ก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะโจมตีอะไรคุณนิ้วกลมเป็นการส่วนตัว ผมแค่คิดว่าทัศนะการมองโลกแบบ “สุขนิยม” สุดขั้วมันค่อนข้างอันตรายต่อสังคม
        ถ้าสุขคนเดียว..มันก็คงไม่เป็นไร..เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล
        แต่สำหรับงานเขียนที่มีอิทธิพลต่อการกล่อมเกลาสำนึกของสังคมแบบนี้ ทัศนะแบบสุขนิยม มันทำให้อะไรบางอย่างในสังคมเราถูกพร่าเลือนไป และอาจโอเวอร์ไปหน่อยคือ ผมคิดว่านี่มันเป็นปัญหาในระดับจิตสำนึกเลยทีเดียว
        พูดไปก็ยาว..ถ้างั้น เราลองมาเดินตามรอยความสุขคุณนิ้วกลมกันครับ..

        เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมลองเดินทางไปตามทางที่คุณนิ้วกลมเดินไป
        ลองดูว่าวันนี้จะออกไปเก็บ "ความสุข" กลับบ้านได้มากมายเหมือนที่คุณนิ้วกลมเจอไหม
        ระหว่างที่เดินอยู่บนทางเท้าในวันที่หนาวเย็น จากการที่กรมอุตุของไทยพยากรณ์อากาศผิดพลาด ผมเลยไม่ได้เอาเสื้อกันหนาวออกมาด้วย ผมก็เหลือบไปเห็นเจ้าหมาน้อยสองตัวกำลังคุ้ยกองขยะ ขณะที่อีกตัวกำลังวิ่งข้ามถนนมา รถเมล์ก็พุ่งเข้าชนกระเด็นหมาตัวนั้น เนื้อตัวแหลกเหลว

        เอ...ผมไม่แน่ใจว่ามันจะทุกข์หรือสุขที่ได้ตายไปก่อนเพื่อน แต่ที่แน่ๆ คือ กรุงเทพมหานครไม่เคยแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดได้อย่างถูกทิศถูกทางซักที
        พอเดินลงเรือเพื่อล่องแม่น้ำเจ้าพระยา กะว่าจะไปลงที่ท่าเตียน ก็ได้เห็นพี่ชายคนหนึ่งกำลังนอนฟุบอยู่บนเรือ ในขณะที่ป้าแก่ๆ คนหนึ่งจูงเด็กน้อยและหิ้วของพะรุงพะรังมายืนอยู่ข้างๆ ผมไม่รู้ว่าป้าเค้าจะทุกข์ไม๊ที่คนในสังคมไร้น้ำใจ..แต่ที่แน่ ๆ ป้าเค้าต้องหนักและเหนื่อยอย่างมาก
        พอเรือเริ่มเดินเครื่อง เสียงเครื่องยนต์ดังขึ้น พี่ชายคนเดียวกันตื่นขึ้นมา เขาจัดแจงเอาผ้าปิดจมูกมาคาดไว้บนหน้าของเขา พร้อม ๆ กับที่เครื่องยนต์ส่งควันและไอน้ำมันเห็นคละคลุ้มไปทั่วท้ายเรือ
        อันนี้ก็เป็นความทุกข์ของคนโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยา ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
        หลังจากนั้น ไปอีกสองท่าเรือ มีพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นอุ้มลูกน้อยตัวเล็กๆ ขึ้นมานั่งตรงข้ามกับผม ผมเห็นคุณพ่ออุ้มลูกตัวน้อยไปนั่งบนตักของเขา แล้วชี้ชวนให้ดูเศษขยะที่ลอยฟ่องในแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งคู่ทำหน้าตาแปลก ๆ
        "ความทุกข์" อาจหมายถึงการอยู่ในสังคมละเลยความรับผิดชอบต่อสังคม แม้กระทั่งเรื่องของความสะอาด

        ระหว่างกำลังจ้องมองสองพ่อลูกด้วยความละอาย ทันใดนั้นผมก็ได้ยินเสียงหัวเราะดังขึ้นมาจากตรงกลางเรือ กลุ่มชายหนุ่มชาวอินเดียกำลังหัวเราะร่า เพราะเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มโดนน้ำโสโครกในแม่น้ำสาดเข้าใส่เต็มหน้าจากแรงกระแทกของท้องเรือ เสื้อขาว ๆ ของเขาเป็นจุดลายดำๆ พร้อยไปทั้งตัว
        "ความสุข" บนความทุกข์ของคนอื่น ผมว่ามันไม่น่าพิศมัยนัก

        เมื่อลองมองเฉไปนิดเดียว ก็ได้พบกับคุณป้าคนเดิม ก็ยังไม่มีใครลุกให้ป้าแกนั่ง เด็กน้อยคงเมื่อยมากจึงทรุดตัวนั่งลงบนบันไดเรือ ทันใด คนเก็บตั๋วก็แผดเสียงตวาดออกมาว่า “นั่งตรงนี้ไม่ได้นะ เกะกะทางเดิน”
        เด็กน้อยร้องไห้ตกใจ คุณป้าผวาเข้ามาหา ข้าวของที่หิ้วมาหลุดจากมือกระจายไปบนพื้นเรือ
        "ความทุกข์" เกิดขึ้นเสมอในสังคมที่ไร้น้ำใจต่อผู้ที่อ่อนแอและด้อยโอกาสกว่า

        ผมลงจากเรือขึ้นไปที่ท่าเตียน เห็นสาวแหม่มสองคนทำหน้าเศร้าๆ ยกกล้องถ่ายรูปวิวทิวทัศน์ “สลัม” ฟากตรงข้ามของแม่น้ำ
        "ความทุกข์" อาจเกิดจากการได้เดินทางไปเห็นสิ่งใหม่ๆ จริง ๆ

        พอเดินออกมาจากท่าเรือ ผมเหลือบไปเห็นคุณพี่คนหนึ่งกำลังปอกสับปะรดอยู่อย่างเชี่ยวชาญ ใบหน้าเขากร้านไปด้วยแดดที่เผา สองแขนเกร็งเพราะต้องเข็นรถผลไม้หนีเทศกิจที่คอยถือคันไถ
        "ความทุกข์" เกิดทั้งจากการฉวยโอกาสและจากการไม่เคยได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน

        พอเดินผ่านสวนสาธารณะเล็กๆ ริมแม่น้ำ ผมหยุดนั่งมองคนไร้บ้านนอนคู่หนึ่งนอนตัวสั่นอยู่ริมถนนโดยไร้เครื่องป้องกันความหนาว ผมเดาว่า พวกเขาน่าจะทนทุกข์อยู่เป็นเวลาไม่น้อย สาวน้อยกลุ่มคนหนึ่งเดินผ่านไปพร้อมส่งสายตารังเกียจ พูดกันแว่วๆ มาว่า “ไอ้พวกจรจัดพวกนี้ น่าจับให้ประชาสงเคราะห์พาไปปล่อย”
        "ความทุกข์" เกิดขึ้นได้เสมอจากการผลักให้คนอื่นไปอยู่ชายขอบของสังคมทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

        แถวท่าเตียน ท่าพระจันทร์ สิ่งที่พบเห็นได้เป็นประจำคือ เซียนพระ พวกเขาหยิบแว่นขยายขึ้นส่องพระและแลกเปลี่ยนคำพูดกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ปาฏิหารย์และการรีบไปควานหาพระเครื่องรุ่นที่ราคากำลังพุ่งกระฉูด เพื่อเอามาปล่อยให้เช่า
        "ความทุกข์" อาจเกิดจากการงมงายในศรัทธาและการล่อลวงของมายาคติ

        ใกล้ๆ แผงพระ ยังมีแผงขาย "ความทุกข์" ชนิดอื่นอีกมากมาย อาทิ หนังสือเก่า ของเก่า ของเล่น อาหาร น้ำดื่ม นาฬิกาเก่า สร้อย แหวน กำไล ฯลฯ แผงขายของแบกะดินเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน จะขายให้ใคร ในยุคที่ 7/11 กำลังเปิดอยู่ทั่วทุกปากซอย
        ผมเหลือบไปมองคอนโดมิเนียมหรูริมแม่น้ำที่กำลังก่อสร้างและชาวบ้านที่ตั้งรกรากมาเก่าแก่กำลังถูกนายทุนไล่รื้อเพื่อเอาที่ดินมาทำโครงการสุดหรู
        "ความทุกข์" ของคนจนมันไม่มีราคาเลย..ไม่มีแม้แต่หมาจะมาสนใจ
        เมื่อหันกลับมาก็ได้เห็นรถเข็นขายซาลาเปา ขนมจีบ ที่มีตัวหนังสือเขียนด้วยหมึกสีแดงไว้บนสังกะสีของตัวรถว่า "รีบยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน” “ใครสั่งฆ่าประชาชน”
        "ความทุกข์" อาจเกิดจากการถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการเมืองขั้นพื้นฐาน

        เมื่อเดินไปถึงท่าพระจันทร์ ก็เห็นหญิงสาวคนหนึ่งกำลังนั่งให้หมอดูดูลายมือ แล้วไถ่ถามถึงอนาคตของตัวเอง
        บางที "ความทุกข์" อาจมีอยู่ทั้งในปัจจุบันและกำลังรอเธออยู่ในอนาคต
        เหลือบมองไปอีกนิดหนึ่ง เห็นชายคนหนึ่งกำลังนั่งดมเศษกาวแห้งๆ ในถุงพลาสติกหน้าตาจริงจังอย่างยิ่ง ท่ามกลางอากาศร้อนระอุ นัยตาของเขาเพ้อฝันไปถึงชีวิตดีดีที่อาจมาไม่เคยและไม่มีวันจะมาถึง
        การหนี "ความทุกข์" อาจพาไปสู่ทางออกที่มันเลวร้ายยิ่งกว่า

        ที่ท่าเรือตอนขากลับ ผมเห็นศิลปินหนุ่มผมยาว แต่งตัวเซอร์ๆ สวมเสื้อสีแดง ยืนพิงเสารอเรือออกจากท่า พร้อมกับใช้นิ้วสางผมหยิกๆ ของเขาเป็นระยะ กำลังคิดถึงงานเพลงที่ถูกแบนจากค่ายใหญ่เพราะเขาเลือกไปร้องเพลงบนสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน และคิดถึงเพื่อนบางคนที่ถูกจับขังคุกอยู่ในโดยไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม
        บางคนอาจมี "ความทุกข์" จากการถูกกฎระเบียบมาตรฐานบางอย่างจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยไร้ซึ่งความเป็นธรรม

        ที่ท่าเรือเดียวกันนั้นเอง มีสติ๊กเกอร์เล็กๆ แปะไว้ที่เสาศาลาพักผู้โดยสาร มีเพียงตัวเลข 112 ในวงกลมที่ คาดสีแดงทับอยู่
        “ความทุกข์” เกิดจากการห้ามพูด ห้ามเข้าใจ ห้ามสงสัย ห้ามถาม ในเรื่องบางเรื่อง
        เมื่อเรือมาจอดเทียบท่า เราทุกคนก็เดินขึ้นเรือลำเดียวกัน ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปตามเส้นทางของแต่ละคน
        ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ในหนึ่งวัน ที่ผมลองเดินตามรอยคุณนิ้วกลมไปหา "ความสุข" ของผู้คน ซึ่งผมขอบอกตรงๆ ว่า ผมไม่ค่อยจะเจอกับมันซักเท่าไหร่
        ที่น่าแปลกก็คือ ขณะที่จ้องมองผู้คนเหล่านั้น ตัวผมเองก็มีความทุกข์ไปด้วย
        ทุกข์ที่ได้เรียนรู้ "ความทุกข์" จากคนอื่น
        ผมคิดว่า วิถีทางหนึ่งที่อาจทำให้เรามีความสุขมากขึ้น คือการทำความเข้าใจว่า อะไรทำให้เรามีความทุกข์
        เมื่อเราพอจะรู้ว่า อะไรทำให้เรามีความทุกข์ สถานการณ์แบบไหน ภาวะแบบไหน การทำอะไร ผู้คนแบบไหนกำลังมีความทุกข์ เราก็น่าจะพอจัดสรรชีวิตของตัวเองให้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น ใกล้ผู้คนแบบนั้น หรือสิ่งๆ นั้น เพื่อที่จะใส่ใจที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาและความทุกข์เหล่านั้นให้ดีขึ้นได้เช่นกัน

        การที่จะทำแบบนั้นได้ เราคงต้องเริ่มจากการ "สังเกต" ความทุกข์ของตัวเองและคนอื่น
        แน่นอน..ไม่ใช่ว่าเราจะต้องมองโลกในแง่ร้ายซะทั้งหมดทุกเรื่อง
        คนเรามีความสุขกันได้ แต่ปัญหาสังคมมันอยู่รอบตัว..เราก็จะละเลยมันไปไม่ได้เช่นกัน
        ผมถึงบอกว่า นี่คือความน่ากลัวของทัศนะ “สุขนิยม” แบบสุดขั้ว โดยเฉพาะในสังคมที่ปราศจากการรู้เท่าทันและเคลือบแฝงแต่ความรู้แบบฉาบฉวย
        เราอาจพบขอทานดีดพิณอยู่ข้างถนน แล้วเข้าไปร้องรำทำเพลงกับเขา จากนั้นก็ใส่เหรียญสิบบาทลงในขัน
        คิดอยู่ในใจว่าฉันนี้ช่างมีใจศิลปิน..มีจิตเสียสละ เดินกลับไปบ้านด้วยจิตใจเปี่ยมสุข และปล่อยปัญหาต่างๆ ทั้งหลายไว้ให้เป็นอนุสาวรีย์ประจานความตกต่ำของสังคม
        นี่คือทัศนะการมองโลกที่ถูกต้องแล้ว ดีงามแล้วหรือ?

        ผมได้ยินเสียงเพลงในค่ายอาสา สมัยที่ผมยังเรียนมหาวิทยาลัยแว่วมาแต่ไกล
        “มองดูรอบกาย มองดูสังคม..เธอสุขอยู่ได้อย่างไร เมื่อผองชนทุกข์ยากลำเค็ญ”
        ผมไม่หวังจะมีคำโต้แย้ง ถกเถียง หรืออธิบายใดหรอกครับ
        ผมหวังแต่ว่าคุณนิ้วกลมได้อ่านข้อเขียนเล็กๆ นี้
        และหวังว่ามันคงจะทำให้คุณนิ้วกลมไม่มีความสุขขึ้นมาได้บ้างซักนิดหน่อย

 

ดูข้อเขียนฉบับเต็มของคุณนิ้วกลมได้ที่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1301298422&grpid=no&catid=&subcatid=

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: เสียงครวญจาก “ลุ่มน้ำโขง” บอกเล่าปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ (ตอนจบ)

Posted: 01 Apr 2011 04:55 AM PDT

หมายเหตุจากประชาไท: ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency) ฉบับที่ 104 (28 มีนาคม 2554) รายงาน เนื้อหาจากเวทีเสวนาเรื่อง เสียงครวญจาก “ลุ่มน้ำโขง” บอกเล่าปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติที่เป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนา ประเทศ และการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายแรงงานข้ามชาติในลุ่มน้ำโขง “ประชาไท” แบ่งนำเสนอเป็น 2 ตอน

 

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 เวลา 09.00-13.00 น. โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) ร่วมกับหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย (SDSU-CCT) เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG) เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrants-ANM) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง เสียงครวญจาก “ลุ่มน้ำโขง” บอกเล่าปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติที่เป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศ และการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายแรงงานข้ามชาติในลุ่มน้ำโขง ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน สะพานหัวช้าง ราชเทวี กรุงเทพฯ

ช่วงแรก เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกของช่างภาพในนิทรรศการ (อ่านที่นี่) ส่วนช่วงที่สอง เป็นการเปิดเวทีเสวนาเรื่อง เสียงครวญจาก “ลุ่มน้ำโขง” บอกเล่าปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ ที่เป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ดำเนินรายการโดย เจนจินดา ภาวะดี

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบัน องค์กรภูมิภาคหรือในระดับอาเซียนยังมีบทบาทน้อย เเม้จะมีการรวมตัวเพื่อกลายเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2015 แต่การมีบทบาทมีส่วนรับรู้ปัญหาของคนยากจนคนด้อยโอกาสยังมีไม่มากนัก แม้ว่าเรื่องนโยบาย โครงสร้างอาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่มองว่าปัญหาเเรงงานเเก้ไม่ได้ด้วยการสังคมสงเคราะห์ ต้องเเก้ปัญหาเชิงนโยบาย โครงสร้าง กลไกอำนาจรัฐที่มีผลต่อเเรงงาน มิฉะนั้นจะกลายเป็นเรื่องการยอมจำนน อยู่ในวังวนปัญหาที่ซ้ำซาก ทั้งนี้ มองว่าประเด็นปัญหาแรงงานข้ามชาติมี 4 มิติ กล่าวคือ

  1. เรื่องเขตเเดน ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย รัฐ ชนชั้นนำ ชนชั้นปกครองมองเขตเเดนต่างกับประชาชน มองเป็นเรื่องการได้-เสีย เป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ ประวัติศาสตร์ สังคม เราต้องถามว่าวิชาประวัติศาสตร์สอนเราเรื่องภูมิศาสตร์ สอนเรื่องเขตเเดนในฐานะการได้หรือเสียดินเเดน เป็นการกระตุ้นแนวคิดชาตินิยม ไม่มองความมั่นคงของคนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ผมเคยทำงานที่ศรีสะเกษ ที่นั่นมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เป็นญาติพี่น้องกัน ข้ามไปมาหาสู่กัน เรื่องของเขตเเดนมาทีหลัง หรือกรณีของคนไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่ได้รับการเเก้ไข นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มาจากเรื่องเขตแดน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วคนชายเเดนไม่ได้มองรัฐในเรื่องความมั่นคง ดังนั้นเมื่อมองเป็นเรื่องความมั่นคงจึงส่งผลกระทบต่อเรื่องการจัดการติดตามมา เช่น ที่จังหวัดระนอง เเรงงานข้ามชาติที่หลบหนีเข้าเมืองถูกทหารตั้งด่านไล่ยิงสกัด เสียชีวิตถึง 8-9 ศพ ทั้งๆ ที่ในกลุ่มแรงงานนั้นมีทั้งผู้หญิงและเด็ก หรือกรณีที่เเม่สอด มีแรงงานถูกยิงตายหลายศพ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถหาคนผิดมาลงโทษได้จริง กรณีเหล่านี้ชี้ให้เห็นชัดว่าเป็นการเเก้ปัญหาที่มองเเต่เรื่องเขตเเดนเป็นสำคัญ รวมถึงยังเป็นการใช้อำนาจรัฐมาเป็นเครื่องมือสังหาร ทำร้าย ทำลายประชาชน เเละชุมชนท้องถิ่น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนมิติการมองเขตเเดนไปไกลกว่าเรื่องอธิปไตย ดินเเดน แต่จำเป็นต้องมองไปที่มิติของความเป็นคน ความเป็นพี่น้อง หรือเรื่องของคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น
  2. เรื่องการเมืองการปกครอง ในเเต่ละประเทศการเมืองการปกครองเป็นตัวกำหนดทิศทางการอพยพของคนในประเทศ อย่างกรณีเมื่อปลายปีที่แล้วมีการเลือกตั้งในประเทศพม่า มีการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยจำนวนมาก การเลือกตั้งกลับกลายเป็นการเพิ่มความขัดเเย้งให้มากขึ้น มีการอพยพของคนจำนวนมากมายหลายหมื่นคนมาที่ประเทศไทย หลายคนก็ถูกผลักดันกลับ โดยการส่งกลับไม่รู้จะไปเจออันตรายหรือไม่ เสี่ยงต่อกับระเบิดหรือไม่ หรือจะมีภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นอย่างไรต่อผู้อพยพบ้าง ดังนั้นหลายคนก็จะมาอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยแทน หลายคนก็มาเป็นแรงงานข้ามชาติ เราเห็นชัดว่าบริเวณพื้นที่ชายแดนดูแลโดยทหาร ทำให้คนอพยพมาบางกลุ่มที่คิดว่าถ้าอยู่ในพื้นที่ที่ทหารจัดให้จะถูกบังคับส่งกลับจึงทำให้ผู้อพยพต้องหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ตามป่าเขา หรือหลบไปเป็นเเรงงานตามชายเเดนหรืออยู่กับญาติ ทีนี้จะอยู่ให้ได้ก็ต้องขายเเรงงานเพื่อดำรงชีวิตต่อไป
  3. เรื่องนโยบายระหว่างประเทศ ที่พบว่าประชาชนมักจะเป็นเบี้ยตัวสุดท้ายที่ถูกทำร้าย ท่ามกลางการเปิดเสรีทางการค้า กลไกอาเซียนด้านการค้าเสรี มีคำถามว่าเป็นเสรีของประชาชน หรือนายทุนนักธุรกิจ เพราะถ้ามองนักลงทุนเป็นตัวตั้ง ภาคประชาชาชนก็ต้องการการเปิดเสรีด้านเคลื่อนย้ายประชากร ปัญหาสถานะบุคคล การได้รับสิทธิเเละการดูเเลตามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วประชาชนกลับตกเป็นเหยื่อของนายหน้าค้ามนุษย์ที่เอารัดเอาเปรียบเเรงงานข้ามชาติ เมื่อเกิดการค้าเสรี หลักสิทธิมนุษยชนจะดูเเลคนข้ามชาติได้อย่างไร นี้เป็นคำถามที่สำคัญมาก เพราะการดูเเลต้องเป็นธรรม เสมอภาค เท่าเทียม ที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นความเสมอภาคของประชาชน เเต่ในกลุ่มนายทุนมีความเสมอภาคเสมอ นี้คือความไม่เป็นธรรมในการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ที่หมู่บ้านวาเล่ย์ อ.พบพระ จ. ตาก เมื่อเดือนธันวาคม 2553 ที่ชาวบ้านอพยพหนีภัยการสู้รบเข้ามา ชาวบ้านบางคนไม่อยากกลับ เเต่สุดท้ายชาวบ้านบอกว่าต้องกลับเพราะต้องไปเก็บเกี่ยวผลิตผลการเกษตรมาขาย เป็นต้น หรือกรณีชายแดนไทยกัมพูชาก็เช่นกัน เช่น ที่เกาะกง นักธุรกิจไทยไปลงทุนที่นั่น เกิดระบบการค้าเสรีที่ไม่เป็นธรรมละเมิดสิทธิเเรงงานจำนวนมาก
  4. เรื่องการทุจริต คอร์รัปชั่น ที่มีการใช้เเรงงานผ่านกระบวนการค้ามนุษย์ มองมนุษย์เป็นเหยื่อที่สามารถค้าขายได้ ดังเช่นกรณี 54 ศพในตู้คอนเทนเนอร์ที่ จ.ระนอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นต่างเป็นผลมาจากอำนาจรัฐที่เชื่อมโยงกับนักการเมืองเเละอิทธิพลในพื้นที่

ดังนั้นโดยสรุปทั้งเเรงงานไทยเเละเเรงงานข้ามชาติต้องมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน มีความจำเป็นที่ต้องมีการแก้ไขในระดับนโยบายและเชิงโครงสร้างร่วมด้วย เราต้องทำให้คนจนทั้งผองในอาเซียนที่มีความหลากหลายต้องรวมตัวกันในการต่อสู้ สร้างสิทธิเเรงงานที่เป็นธรรม มีการผลักดันกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผ่านการยึดหลักสิทธิมนุษยชน ต้องไม่มองว่าเเรงงานผิดกฎหมาย เป็นคนเถื่อน แต่ให้มองว่าเขาคือคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น มาหาชีวิตที่ดีกว่า อย่ามองว่ามาแย่งอาชีพคนไทย เพราะอย่างไรก็ตามภาคธุรกิจไทยก็ต้องการเเรงงานราคาถูกอยู่แล้ว เขามาทำงานในงานที่คนไทยไม่อยากทำ อย่ามองว่าเขามาเอารัดเอาเปรียบในด้านสิทธิต่างๆ อย่ามองว่าดูเเลดีกว่าคนไทย เพราะนั่นคือสิทธิพื้นฐานของความเป็นคนที่เขาพึงได้รับ เขาเป็นเพื่อนร่วมโลก ภูมิภาค เขามาทำงาน เสียภาษี เราเก็บเงินภาษีจากเขาเเล้ว ก็สมควรให้ความเป็นธรรมเเละการดูเเลเขา อย่ามองว่าเขาเอาเชื้อโรคมาแพร่

ในฐานะที่ผมเป็นหมอเห็นว่าการดูเเลสิทธิสุขภาพ ต้องทำให้เกิดในทุกคนเพื่อที่ทุกคนจะมีสุขภาพดีร่วมกัน แต่ปัญหาในทางปฏิบัติคืองบ สปสช. ยังไม่สามารถกระจายลงอำเภอ จังหวัด ชุมชน มีจึงผลต่อการเข้าถึงสิทธิในสุขภาพ เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยโดยรวม

สุดท้ายขอให้คิดว่า กสม. เป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ถ้าทำงานร่วมกัน เสียงครวญที่ดังขึ้นจะแปรเปลี่ยนเป็นพลังในการต่อสู้ เพื่อประโยชน์และความถูกต้องของมนุษยชาติทุกคนต่อไป

สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อย้อนถามตัวเองถึงกลุ่มเเรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ก็พบว่าเหมือนกับเเรงงานที่ต้องทำงานในต่างถิ่น เมื่อก่อนคนไทยในชนบทก็เป็นเเรงงานย้ายถิ่นมาทำงานในกรุงเทพฯ ดังนั้นเเรงงานไทยก็ถือเป็นเเรงงานย้ายถิ่นในลุ่มแม่น้ำโขงด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องเคารพเเรงงานข้ามชาติในฐานะผู้ที่มีส่วนร่วมสร้างเศรษฐกิจไทย ในขณะที่เเรงงานไทยก็ย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ แต่ทั้งคู่ต่างตกอยู่ในสภาพที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดนหลอก เเรงงานไทยจ่ายเงินไปทำงานต่างประเทศ สามเเสน ห้าเเสน เเล้วไม่ได้งานทำ เเสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเเละสังคมไทยเองก็ยังจัดการเรื่องเเรงงานย้ายถิ่นไม่ดีพอ

วันนี้เราเห็นแล้วว่าชะตากรรมร่วมกันของเเรงงานย้ายถิ่นในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มเเม่น้ำโขง คือ ปัญหาระดับนโยบายที่เป็นผลมาจากการพัฒนาประเทศ ดังเช่นกรณีการสร้างเขื่อนในประเทศจีน ที่ทุกคนมองว่าเขื่อนสร้างในจีน ไม่น่าจะกระทบมาถึงประเทศไทย หรือกรณีที่ประเทศไทยเองก็ไปลงทุนสร้างเขื่อนในประเทศพม่า ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุนเคลื่อนย้ายได้เสรี การบริโภคทรัพยากรเสรี พื้นที่ลุ่มน้ำโขงกลายเป็นฐานการเเย่งชิงทรัพยากรผ่านนโยบายการพัฒนา ทำให้ประชาชนจากประเทศต้นทางประสบความยากลำบากเเละไม่สามารถดำรงชีวิตได้ ต้องเดินทางมาเป็นเเรงงานข้ามชาติในประเทศใกล้เคียง ทุนต่างๆ ได้เข้าไปกอบโกยทรัพยากร เช่น การสร้างเขื่อนในประเทศพม่า ที่ส่งผลต่อน้ำท่วมที่ดินทำกินของประชาชนในพม่า ทำให้พวกเขาไม่มีที่ทำกิน หรือการเข้ามาของทุนเเอบแฝง เช่น กรณีนายทุนต่างชาติเข้าไปเช่าหรือซื้อที่ดินเพื่อทำเกษตรพันธสัญญา เหล่านี้เห็นชัดว่าเเรงงานไม่ได้รับการคุ้มครองแน่นอน

รัฐบาลไทยเเละรัฐบาลประเทศในเเถบนี้มีปัญหาในการกำหนดนโยบาย เพราะไปเน้นการทำงานที่ขาดการมีส่วนร่วม นโยบายเน้นเฉพาะการเอื้อการลงทุนของทุนของต่างชาติที่ต้องการเเรงงานราคาถูก จึงย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศลุ่มเเม่น้ำโขง ทำให้นโยบายรัฐเปิดช่องให้เกิดการจ้างเเรงงานราคาถูก ถ้าไม่ได้ กลุ่มทุนก็จะขู่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น กรณีนี้หลายประเทศก็จะโดนเหมือนกัน คือต้องเปิดให้มีเเรงงานราคาถูกเพื่อสนองต่อทุนต่างชาติ ให้สิทธิพิเศษในด้านต่างๆจนส่งผลต่อการเอารัดเอาเปรียบ เช่น การลงนามในสัญญา FTA ที่ทุนเสรีเข้ามาเอาเปรียบเเย่งชิงฐานทรัพยากรจำนวนมาก

พบว่ากติการะหว่างประเทศของ ILO หรือ UN เเละรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ดี เเต่ในทางปฏิบัติยังไม่เกิดผลให้มีความเท่าเทียม เสมอภาคเเละได้รับการคุ้มครองเท่ากันจริง เเรงงานไทยพยายามสู้ให้ได้ค่าเเรงเสมอกัน ปัญหาคือนายจ้างมักจ้างเเรงงานข้ามชาติโดยค่าแรงที่ถูกกว่า เพราะเห็นว่าแรงงานมีข้อจำกัดในเรื่องการเรียกร้องสิทธิ สามารถส่งกลับง่าย สำหรับเเรงงานในวันนี้เห็นว่ากำลังสู้อยู่สองประเด็นคือเรื่องเเรงงานที่ทำงานบ้าน ที่ทำงานหนัก เเละเสี่ยงต่อการขูดรีดทางเพศ กับระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมดีพอ เเละให้เหมาะสมกับการเข้ามาทำงานระยะสั้นของเเรงงานข้ามชาติด้วย โดยให้เก็บเงินในอัตราที่เหมาะสม

ในทางนโยบาย มีความพยายามที่ทำให้เเรงงานไทยกับเเรงงานข้ามชาติไม่ให้เข้าใจกัน เช่น กรณีแม็กซิส ที่เเรงงานข้ามชาติกัมพูชาถูกใช้เป็นข้อต่อรอง หากเเรงงานไทยพยายามเคลื่อนไหวเพื่อสวัสดิภาพที่ดีในการทำงาน นายจ้างจะปลดเเล้วจ้างเเรงงานข้ามชาติเเทนเเรงงานที่เป็นสมาชิกสหภาพอยู่แล้ว ดังนั้นมีความจำเป็นที่รัฐต้องออกนโยบายที่สมดุล ต้องตระหนักว่าเเรงงานข้ามชาติมีคุณค่ามหาศาล เเต่ก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่าบางครั้งการจ้างเเรงงานข้ามชาติก็กระทบกับเเรงงานไทยโดยไม่ได้ตั้งใจ ขณะนี้ BOI ให้จ้างเเรงงานข้ามชาติในโครงการที่ส่งเสริมการลงทุนได้ เช่น ยานยนต์ อิเลคโทรนิกส์ สิ่งทอ ซึ่งเป็นงานที่คนงานไทยทำอยู่แล้ว ประเด็นนี้ไม่ได้กีดกัน รังเกียจ เเต่เป็นการต่อสู้ทางนโยบายที่การจ้างเเรงงานข้ามชาติจะต้องมีข้อจำกัดบ้าง เพราะหลายครั้งถูกนำมาใช้ในการทำลายสหภาพ ต้องต่อสู้ให้รัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 89 และ 97 เพื่อให้เเรงงานข้ามชาติสามารถตั้งสหภาพได้ เพราะกฎหมายไทยบอกว่ากรรมการสหภาพต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น ถ้ารัฐบาลอนุมัติผ่าน เเรงงานข้ามชาติก็จะสามารถตั้งสหภาพได้

ดังนั้นเเรงงานไทยเเละเเรงงานข้ามชาติต้องร่วมกันต่อสู้ เหมือนคนไทยในชนบทต่อสู้เรื่องการสร้างเขื่อนในต่างประเทศเป็นต้น ฉะนั้นทั้งคนชนบท เเรงงานไทยในเมือง และเเรงงานข้ามชาติต้องผนึกกำลังกันต่อสู้ในความไม่เป็นธรรมทั้งปวงร่วมกัน

รศ.สุรีย์พร พันพึ่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การย้ายถิ่นกับการพัฒนานี้เป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะมนุษย์อยากเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ อยากมีความก้าวหน้าด้านอาชีพ มีความต้องการเงินส่งกลับบ้าน พ่อเเม่ก็ต้องการให้ลูกเรียนหนังสือ เหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา กล่าวได้ว่าการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน เป็นความต้องการของระบบทุนนิยม เเรงงานข้ามชาติจึงมีความสำคัญอย่างขาดไม่ได้ ดังนั้นต้องมีการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับเรื่องต่างๆที่จะตามมา โดยเฉพาะการจัดการเรื่องคน เพราะคนทุกคนมีสิทธิของความเป็นคนอยู่แล้ว

เวลามองนโยบายแรงงานข้ามชาติที่เหมาะสมกับประเทศไทยนั้น จะเห็นว่านโยบายการจดทะเบียนเเรงงานได้ดำเนินการมาตั้งเเต่ พ.ศ.2539 อย่างเป็นรูปธรรม เเต่วันนี้ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายการจัดการระยะยาวมากกว่า มีการเปลี่ยนนโยบายการจัดการทุกสองปี ทั้งๆที่มีการพูดมาตลอดว่านโยบายเเรงงานไม่มีความเเน่นอน จะไม่ดำเนินการต่ออายุ เเต่ก็ต่อมาเรื่อยๆ ถึง15 ปี เเละนโยบายที่ผ่านมาก็สะท้อนความต้องการของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ ที่ผ่านมามีการใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของประเทศเป็นเเกนในการกำหนดนโยบาย จึงส่งผลต่อการปฏิบัติที่มีปัญหาตลอดมา ผนวกกับช่องโหว่ของกฎหมาย มาตรการที่เคร่งครัดเกินไป ดังนั้นเเม้เปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติเเล้วก็ตาม แต่แรงงานก็ยังโดนตำรวจข่มขู่รีดไถตลอดมา เหล่านี้จะแก้ปัญหาได้อย่างไร หรือในกรณีของนโยบายการพิสูจน์สัญชาติก็ยังมีปัญหา แรงงานยังต้องไปรายงานตัวกับ ตม. เพื่อขออนุญาตเดินทางออกนอกจังหวัด หรือขณะเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติก็เสียเงิน เสียค่านายหน้า ถูกเอารัดเอาเปรียบตลอดเวลา

จึงเห็นชัดว่านโยบายด้านเเรงงานข้ามชาติของรัฐจึงมีความไม่สอดคล้องกัน เเม้อยู่ในกระทรวงเดียวกัน มีหลายรูปแบบ เมื่อต้องประสานงานต่างกระทรวงกันก็คุยกันไม่รู้เรื่อง กฎหมายเละมาตรการต่างๆ ก็ดำเนินการในลักษณะต่างคนต่างปฏิบัติ แม้รัฐบาลจะเเก้ปัญหาโดยให้มี กบร.เป็นหน่วยงานจัดการกลาง เเต่ก็ยังเป็นการทำงานในลักษณะต่างคนต่างทำ กบร.มีกรรมการ 10 กว่าชุด มีอนุกรรมการ 8 ชุด แต่พบว่ากลับไม่มีเจ้าภาพหลักคอยดำเนินการ

เห็นว่านโยบายเเรงงานข้ามชาติที่เหมาะสม ต้องสามารถครอบคลุมทั้งเเรงงานในประเทศเเละในระดับภูมิภาค ต้องเป็นนโยบายที่ตอบสนองต่อปัญหาความต้องการเเรงงาน เเละความต้องการบุคลากรในเเต่ละภาคส่วนว่าทิศทางของอุตสาหกรรมระดับประเทศจะมีทิศทางไปทางใด เพื่อกำหนดทิศทางของเเรงงานที่ต้องการได้อย่างชัดเจน ตลอดจนต้องผลักดันเเรงงานที่เข้ามาทำงานให้เป็นเเรงงานเหมือนกันเเละอยู่ภายใต้โครงสร้างเดียวกัน รวมทั้งต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ได้เเก่ การทำงานที่ถูกสุขลักษณะเเละปลอดภัย ที่อยู่อาศัย อนามัย การศึกษา สิ่งเเวดล้อม สิทธิการเป็นพลเมือง เด็กที่เกิดในประเทศไทยได้รับการนับเป็นพลเมือง ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่อง global citizen ขอเเค่เป็น Thai citizen ก่อน เป็นต้น

การดำเนินนโยบายต้องมีลักษณะเชิงรุก มิใช่ดำเนินนโยบายเเบบตั้งรับปีต่อปี นโยบายควรกำหนดระยะเวลา 3-5 ปี เปิดให้มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการกำหนดนโยบาย มิใช่เเค่มารับฟังเเละปฏิบัติตาม รวมทั้งสื่อต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างความเข้าใจซึ่งกันเเละกันร่วมด้วย นโยบายต้องใช้ประโยชน์จากการกระจายอำนาจเเละการทำงานกับท้องถิ่น ทำงานผนึกกำลังในพื้นที่ชุมชน ไม่ว่ากับคนไทย หรือไม่ไทย ให้มีความเป็นเจ้าของร่วมกันในชุมชน มีการใช้ประโยชน์จากการกระจายงบประมาณจากการจดทะเบียนเพื่อดูเเลเเรงงานข้ามชาติ เป็นนโยบายที่ยอมรับความหลากหลายในสังคม ไม่เคร่งครัด เน้นการเดินสายกลาง ทำความเข้าใจทั้งสองฝ่าย สื่อสารสองทาง จะนำมาซึ่งความเข้าใจซึ่งกันเเละกันในสังคม

สำหรับในตัวแรงงานข้ามชาติเองก็ต้องมีการให้ความรู้ ความเข้าใจ เปิดพื้นที่ เรียนรู้บริบทต่างๆ ของคนในชุมชนที่ตนเองเข้าไปอยู่ร่วม ต่างฝ่ายต่างต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกันไม่มองว่าเเรงงานข้ามชาติมาเพื่อรับความช่วยเหลือ เเต่เขาเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนเเปลงในชีวิตตนเอง ไม่ได้มารับการสังคมสงเคราะห์ ต้องพยายามมองภาพรวม ต้องเข้าใจร่วมกันว่าทุกคนต้องการเเสวงหาโอกาสที่ดีในชีวิตเหมือนกับเรา

ประเวศน์ คิดอ่าน อดีตเลขาธิการสภาคริสเตียนแห่งเอเชีย กล่าวว่า ในพระคัมภีร์ กล่าวว่า เมื่อคนต่างด้าวมาอยู่ในเเผ่นดินของเจ้า จงอย่างข่มเหงเขา จงรักเขาเหมือนกับรักตนเอง เพราะเจ้าเคยเป็นคนต่างด้าวมาก่อนเช่นกัน ที่ผ่านมาโบสถ์มีบทบาทการดำเนินการกับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานมานาน ดังนั้นจึงขอเเบ่งปันประสบการณ์ขององค์กรศาสนาว่าคริสเตียนมีมุมมอง ประสบการณ์ บทบาท เเละวิสัยทัศน์ต่อการทำงานอย่างไร

ประเด็นเเรกว่าด้วยเสียงครวญจากลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำโขงมีหกประเทศ เสียงครวญจากลุ่มเเม่โขงก็คือเสียงครวญจากเรา ณ ที่นี้ด้วย เพราะที่นี่มีคนต่างจังหวัดที่อพยพเข้ามาในกรุงเทพฯ กว่า 60% ดังนั้นเสียงครวญก็คือเสียงของเราด้วยเหมือนกัน เเม้จะไม่ได้ข้ามชาติเเต่ก็ข้ามจังหวัด

ในมุมมองของศาสนาคริสต์ การอพยพเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษยชาติ เพราะเรามีเท้าเพื่อเดินมีมือเพื่อทำงาน เเละมีสมองเพื่อคิดหาหนทางสู่ชีวิตที่ดีขึ้น เป็นธรรมชาติที่เราจะต้องดิ้นรนเพื่อความมั่นคงเเละสันติสุขในชีวิต ในพระคัมภีร์มีเรื่องของการอพยพมากมายเเม้กระทั่งพระเยซูเเละบิดามารดาของท่านก็อพยพมาก่อน เมื่อมีเเผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับเเรกเมื่อ พ.ศ. 2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลอง นั่นก็เป็นการเริ่มต้นการอพยพสองรูปแบบ คือ จากชนบทสู่เมืองเเละจากไทยไปต่างประเทศ ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกเเรงงาน เเละเป็นจุดรองรับเเรงงานจากประชาชนไทยที่อพยพจากชนบท ต่อมาเราเป็นจุดรองรับเเรงงานข้ามชาติที่ 90% เป็นพม่า 10% เป็นกัมพูชา ลาวอีกประมาณ 8%

ประสบการณ์ขององค์กรคริสเตียนในสภาคริสตจักร เรามีความสนใจด้านเเรงงานย้ายถิ่นเเละเเรงงานข้ามชาติมาตลอด ตั้งเเต่ก่อนพ.ศ. 2504 ก่อนหน้านั้นได้มีมิชชันนารี ชื่อ ดร.ซิมเมอร์เเมน ทำการวิจัยเศรษฐกิจไทยเเละภาวะความเป็นอยู่ในชนบท เมื่อพ.ศ.2492 หรือ 12 ปีก่อนมีเเผนพัฒนาเศรษฐกิจ ในช่วงนั้นสภาคริสตจักรในประเทศไทยได้มีการจัดตั้งฟาร์มชื่อว่า ฟาร์มสัมพันธกิจ ที่ จ.เชียงราย มีการเชิญพี่น้องประมาณ 50 ครอบครัว โดยการนำของศาสนาจารย์เข้ามาตั้งชุมชนใหม่ มีการจัดสรรที่ดิน 10 ไร่เพื่อเลี้ยงชีพ หลังจากนั้น 7 ปีต่อมา สภาคริสตจักรฯได้ตั้งเเผนกชูชีพชนบทเพื่อพัฒนาเกษตรกรในชนบท ปี 2510 ตั้งโครงการประชาคมเเรงงานในกรุงเทพฯ ทำงานกับกลุ่มที่อยู่กองขยะบริเวณอ่อนนุชเเละพระประเเดง

นอกจากนั้นยังมีงานดังต่อไปนี้ คือ วาระเร่งด่วนในการทำงานของสภาคริสตจักร ได้เเก่ การเเก้ปัญหาเฉพาะหน้า การจัดศูนย์พักพิง (Shelter) ช่วยเหลือชั่วคราวบริเวณชายแดนด่านเจดีย์สามองค์ เเละแม่สอด เป็นต้น งานระยะปานกลาง คือ การอำนวยความสะดวกให้กลุ่มเพื่อนชาวพม่าใช้ สนค. เป็นพื้นที่การเเลกเปลี่ยนประสบการณ์เเละแบ่งปันปัญหา งานระยะยาว คือ ความร่วมมือในการทำงานระหว่างคริสตจักรกับองค์กรที่แก้ไขปัญหาเชิงนโยบายเพื่อหารือการเเก้ไขปัญหาระยะยาวร่วมกัน เช่น ความร่วมมือกับ คพรส. สสส. เครือข่ายแรงงานข้ามชาติเเละองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยังมีงานภายนอกประเทศ คือ คริสตจักรได้ประสานงานกับพี่น้องเเรงงานไทยในต่างประเทศ โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปทำงานกับพี่น้องเเรงงานไทยในไต้หวัน ฮ่องกง สิงค์โปร์ ดังนั้นจึงเห็นชัดว่าบทบาทของคริสตจักรจึงช่วยเหลือทั้งเเรงงานไทยและเเรงงานต่างชาติควบคู่ทั้งสองส่วน

มีคำถามว่าทำไมองค์กรศาสนาต้องทำงานด้านนี้ ประการเเรก คริสตศาสนามองมนุษย์ในฐานะสิ่งที่ได้รับการทรงสร้างจากพระฉายาของพระเจ้า ทุกคนเสมอกันหมด ในฐานะความเป็นคน ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ตามความเชื่อทางศาสนา ประการที่สอง ทุกคนต้องได้รับการปกป้องสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ข้อนี้อาจจะขัดหลักปกครอง หลักกฎหมาย เเต่ต้องมีหลักความยุติธรรมอยู่ในตัวประการที่สาม มนุษย์ต้องมีชีวิตที่สมบูรณ์ตามความเชื่อ ทั้งด้านร่างกาย จิตวิญญาณ จิตใจ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ประการที่สี่ พระคัมภีร์สอนเรื่องการต้อนรับคนแปลกหน้าจากต่างถิ่น เหมือนรักตนเอง คริสตจักรจึงเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของประชาชน

ดังนั้นในการทำงานเช่นนี้ เราต้องรู้เขารู้เรา เข้าใจชีวิตผู้ใช้เเรงงาน ยึดหลักความเสมอภาค ทำงานอย่างเสมอภาค ส่งเสริมความเท่าเทียมกัน เเละส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการทำงานร่วมกัน ขาดซึ่งกันเเละกันไม่ได้ หากจะต้องการเเก้ปัญหาให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น รวมถึงต้องมองว่าการอพยพไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจเเต่เป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนร่วมด้วย การอพยพหยุดไม่ได้ด้วยองค์กรเเต่ต้องหาวิธีทำให้ประชาชนมั่นใจในประเทศต้นทางของตนเเละประเทศปลายทาง เเก้ไขด้วยการร่วมมือทุกภาคส่วน เเละขจัดหรือลดปัญหาการละเมิดต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สหวิริยา” มหาอำนาจทุนเหล็กไทยบุกอังกฤษแล้ว

Posted: 01 Apr 2011 04:54 AM PDT

 
เรื่องการลงทุนอุตสาหกรรมยังคงเป็นเรื่องที่มีการถกเถียง เพราะมีทั้งกลุ่มหนุนกลุ่มต้านเกือบจะในทุกที่ วันนี้เราจะมาพูดถึงทุนไทยอย่าง “สหวิริยา” ที่สถานการณ์ในบ้านเรานั้น ในวงการการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเมื่อเอ่ยชื่อนี้อาจจะมีแต่คน “ยี้” แต่ที่อังกฤษ “สหวิริยา” กลับมีกลุ่มเชียร์ นั่นก็คือกลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มผลประโยชน์ของคนงาน
 
เมื่อปลายเดือนกุมพาพันธ์ที่ผ่านมากลุ่ม GMB (Britain's General Union) ซึ่งเป็นขบวนการสหภาพแรงงานทั่วไปของอังกฤษ ได้ออกมาสนับสนุนให้มีการฟื้นฟูกิจการโรงงานเหล็กที่ Teesside ที่ทุนเหล็กไทยอย่าง บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ได้เจรจาเพื่อซื้อทรัพย์สินโรงงานถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้านี้ไว้ (และสามารถบรรลุข้อตกลงกันเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 54 ที่ผ่านมา)
 
โดย GMB คาดหวังว่าการเข้ามาของสหวิยาจะทำให้คนไม่ต้องตกงานและมีการจ้างงานเพิ่ม หลังจากที่อุตสาหกรรมเหล็กใน Teesside มีปัญหาด้านการบริหารจนต้องปลดคนงานออกถึง 1,700 คนเมื่อปี ค.ศ. 2009 และได้ส่งผลกระทบต่อคนงานและครอบครัวของคนงานในด้านเศรษฐกิจ
 
(อนึ่ง GMB นั้นมีสมาชิกกว่า 610,000 คน ว่ากันว่าทุกๆ 32 คนที่ทำงานอยู่บนเกาะอังกฤษ จะต้องมี 1 คนที่เป็นสมาชิก GMB และสมาชิกจัดตั้งของ GMB มีอยู่ใน 34 บรรษัทจาก 50 บรรษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ)
 
เพิ่มการผลิต - สร้างงาน
 
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 นายมารวย ผดุงสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 SSI UK ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้ชำระค่าซื้อสินทรัพย์โรงงานถลุงเหล็ก Teesside Cast Products (TCP) ให้แก่บริษัท Tata Steel UK Limited (TSUK) และได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์โรงงานถลุงเหล็ก Teesside Cast Products อย่างสมบูรณ์ อันเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการในการเข้าซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวและมีผลทำให้ SSI UK พร้อมที่จะเริ่มเดินการผลิตเหล็กแท่งแบนได้ ตามแผนงานที่วางไว้
 
โดยการชำระค่าซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวนั้น เงินส่วนหนึ่งได้จากการที่บริษัทฯได้ชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับ SSI UK เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2554 ซึ่งภายหลังการชำระเงินค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าว SSI UK มีทุนชำระแล้วรวมทั้งสิ้นประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 12,105 ล้านบาท (คิดตามอัตราแลกเปลี่ยน 30.262  บาทต่อ 1.0 เหรียญสหรัฐ) และบริษัทฯ ยังคงถือหุ้นทั้งหมด (ร้อยละ 100)ใน SSI  UK
 
ด้านนายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ SSI เปิดเผยว่าได้มีการจัดพิธีส่งมอบทรัพย์สินในเช้าตรู่วันที่ 25 มี.ค. 54 ที่ผ่านมาท่ามกลางบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียง ผู้มีส่วนได้เสีย ผู้คนในชุมชน Teesside ซึ่งผูกพันลึกซึ้งกับอุตสาหกรรมและ สื่อมวลชนร่วมเฉลิมฉลอง และร่วมแสดงความยินดีมากมาย
 
ทั้งนี้วินกล่าวว่าความสำเร็จในการเข้าซื้อสินทรัพย์นี้เกิดขึ้นได้ เพราะความรักความผูกพันของชุมชนท้องถิ่น ที่มีต่ออุตสาหกรรมเหล็ก และความช่วยเหลือที่ดียิ่งจากรัฐบาลอังกฤษ นับแต่นี้ต่อไปสินทรัพย์ดังกล่าวจะดำเนินการ โดยบริษัทย่อยของ SSI คือ SSI UK ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งช่วงระหว่างเจรจาซื้อขายได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า และดำเนินการได้ทันทีหลังการส่งมอบทั้งในส่วนของกิจกรรมยืดอายุเตา ถลุง กิจกรรมเพื่อรองรับการกลับมาผลิตใหม่ กิจกรรมงานซ่อมบำรุง และงานซ่อมบำรุงประจำปี
 
"เป้าหมายของบริษัท จะเร่งกลับมาดำเนินการผลิตเหล็กแท่งแบนที่มีคุณภาพสูงสุดอย่างเต็ม รูปแบบให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน หรือเดือนตุลาคมนี้ โรงถลุงเหล็กแห่งนี้จะเริ่มผลิตน้ำเหล็กได้ ดังนั้น SSI UK จึงต้องรับสมัครพนักงานเหล่านี้ทำงาน และเร่งสรรหาบรรจุพนักงานเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าการจ้างงานที่อังกฤษจะเกิดขึ้นสูงสุดเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 800 อัตรา เพิ่มขึ้นจากพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบัน 700 กว่าคนในโรงงานถลุงเหล็ก TCP" นายสิน กล่าว
 
Phil Dryden กรรมการผู้จัดการ บริษัท SSI UK กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการหารือกับผู้บริหารคนไทยอย่างใกล้ชิดในการกำหนดกรอบ กลยุทธที่มีความชัดเจน เหมาะสม สำหรับการดำเนินการให้โรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าที่ทันสมัยระดับ โลกแห่งนี้กลับมาผลิตให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่บริษัททั้งที่ประเทศไทยและอังกฤษ “เมื่อเห็นผู้คนที่ Teesside มาร่วมเฉลิมฉลองและให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอันเป็นหัวใจของเมือง นี้ผมยิ่งต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”
 
 
ประเด็นสิ่งแวดล้อม vs ประเด็นแรงงาน = ประสบการณ์ของชุมชน
 
ชุมชน Teeside ที่ตั้งของโรงงานแห่งนี้ มีประวัติศาสตร์ผูกพันกับอุตสาหกรรมเหล็กมาอย่างยาวนาน โดยเริ่มอุตสาหกรรมนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1917 มีผลงานผลิตเหล็กแท่งแบนเพื่อก่อสร้างสะพานสำคัญๆ มาหลายแห่ง เช่น สะพานอ่าวซิดนีย์ (Sydney Harbour Bridge), สะพานอ่าวโอ๊คแลนด์ (Auckland Harbour Bridge) เป็นต้น
 
TCP นั้นเป็นผู้ผลิตเหล็กครบวงจร มีเตาหลอมเหล็กใหญ่เป็นอันดับสองในยุโรป กำลังการผลิต 3.5 ล้านตันต่อปี โดยสหวิริยาได้ซื้อสินทรัพย์ของ TCP นี้ต่อมาจากทุนเหล็กระดับโลกจากอินเดียอย่าง Tata Steel ซึ่งการบริหารงานภายใต้ร่มเงา Tata Steel นี้เอง ได้ทำการปลดคนงานไปถึง 1,700 คนเมื่อปี ค.ศ. 2009
 
สื่อของอังกฤษรายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่าสหวิริยาได้เจรจาขอซื้อสินทรัพย์ของ TCP ในราคา 469 ล้านดอลลาร์ และมีแผนการลงทุนอีก 1,000 ล้านดอลลาร์ในด้านกระบวนการผลิต โดยใช้เงินจำนวน 150 ล้านดอลลาร์ปรับปรุงเรื่องมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม
 
ทั้งนี้เราไม่อาจสามารถนำกรณี Teeside มาเปรียบเทียบกับกรณีบางสะพานได้ เนื่องจากประวัติศาสตร์ ประสบการณ์ และสภาพแวดล้อมของแต่ในละพื้นที่ย่อมมีความแตกต่างกัน ที่ Teeside ซึ่งเป็นชุมชนที่มีประสบการณ์ ความผูกพัน และการพึ่งพิงอุตสาหกรรมเหล็กนี้มาอย่างยาวนาน ประเด็นจึงเป็นเรื่องมิติเศรษฐกิจและการสร้างงานในชุมชน ซึ่งอาจจะเป็นคนละประเด็นกับขบวนการด้านสิ่งแวดล้อมในบ้านเรา
 
 
ที่มา:
 
 
Recar Steel Reopens (gmb.org.uk, 24-2-2011)
 
Teesside Cast Products saved by Thailand's Sahaviriya Steel Industries (Telegraph, 24-2-2011)
 
SSI ​เผย​เสร็จสิ้นกระบวน​การซื้อรง.ถลุง​เหล็ก Teesside Cast Products ​แล้ว (สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 25-3-2554) http://www.ryt9.com/s/iq10/1115910
 
สหวิริยาสตีลฯเผยจ่ายเงินซื้อโรงถลุงเหล็กที่อังกฤษเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเดินเครื่องผลิตตามแผน (มติชนออนไลน์, 25-3-2554)
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันผู้ต้องหาส่ง SMS หมิ่นฯ วัย 61 ปี เกรงหลบหนี

Posted: 01 Apr 2011 04:24 AM PDT

 
1 เม.ย.54  นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความของนายอำพล ตั้งนพกุล ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ จากกรณีส่ง sms ที่มีข้อความเข้าข่ายดังกล่าวไปยังมือถือของเลขานุการ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้อง ไม่ปล่อยชั่วคราวนายอำพล และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ให้ยกคำร้องอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง และคดียังอยู่ในระหว่างนัดสืบพยานโจทก์ หากข้อเท็จจริงจากการสืบพยานหลักฐานของโจทก์มีหลักฐานมั่นคง จำเลยอาจหลบหนี เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาล ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาแล้ว ทั้งไม่ปรากฏเหตุใหม่ที่จะให้ปล่อยชั่วคราว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างการพิจารณา คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง แจ้งเหตุผลการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวให้จำเลยและผู้ร้องขอประกันทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว
                     
ทั้งนี้ คดีนี้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ฝ่ายคดีอาญาพิเศษ 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอำพล ตั้งนพกุล วัย 61 ปี เป็นจำเลยในฐานความผิดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท (มาตรา 112 ประมวลกฏหมายอาญา) และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความั่นคงแห่งราชอาณาจักร (มาตรา 14 (2),(3) พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550) โดยศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 23 ,27 - 28 กันยายน 2554 และนัดสืบพยานจำเลยวันที่  29-30 กันยายน 2554
 
นายอำพล ตั้งนพกุล ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 ส.ค.53 และคุมขังที่เรือนจำจนได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 4 ต.ค.53 กระทั่งเมื่ออัยการส่งฟ้อง จึงถูกคุมตัวยังเรือนจำอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 ม.ค.54 จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังถูกขังอยู่ระหว่างการรอพิจารณาโดยมีอาการป่วยเป็นโรคมะเร็งช่องปาก
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใจ อึ๊งภากรณ์: ขบวนการเสื้อแดงกับปัญหาการเลือกตั้ง

Posted: 01 Apr 2011 04:18 AM PDT

คนเสื้อแดงรู้ดีว่าอำมาตย์กำลังจะโกงการเลือกตั้งด้วยวิธีหลากหลาย ... ตั้งแต่การทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา การยุบพรรค การตัดสิทธิ์นักการเมือง การร่างรัฐธรรมนูญทหาร การใช้ กกต. เป็นเครื่องมือ การติดสินบนและการข่มขู่ให้นักการเมืองเปลี่ยนข้าง และการคุมสื่อด้วยกฏหมายเผด็จการ นอกจากนี้เราเริ่มมองออกว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีความกระตือรือร้นที่จะเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย หวังแต่จะพึ่งบุญเก่าและไม่คิดค้นนโยบายใหม่ๆ ที่จะครองใจประชาชน ซึ่งอาจยิ่งทำให้ฝ่ายตรงข้ามโกงการเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น

แต่คนที่เสนอว่า “การเลือกตั้งไม่สำคัญ” โดยอ้างว่าต้องการโค่นอำมาตย์อย่างเดียวแทน เป็นคนที่ไม่เข้าใจพลวัตของการต่อสู้และความเชื่อมโยงระหว่างการต่อสู้ประจำวันกับการปฏิวัติ และที่แย่กว่านั้น บ่อยครั้งคนที่เสนอว่าเราต้องหันหลังกับการเลือกตั้ง เป็นคนที่ไม่มีข้อเสนออะไรเลยที่เป็นรูปธรรมนอกจากการด่าเบื้องบนหรือคนที่มองต่างมุมกับตนเอง

นักปฏิวัติมาร์คซิสต์อย่าง อันโตนีโอ กรัมชี่ อธิบายมานานแล้วว่าในการปฏิวัติล้มอำมาตย์หรือเผด็จการทุนนิยม เราต้องให้ความสำคัญกับการต่อสู้เพื่อครองใจประชาชนด้วย ไม่เช่นนั้นเราจะเคลื่อนต่อไปเพื่อล้มระบบไม่ได้ เพราะเราจะขาดมวลชน การต่อสู้เพื่อครองใจคนจำนวนมากคือการต่อสู้เพื่อช่วงชิงความชอบธรรมในสังคม และในสังคมไทย ความชอบธรรมทางการเมืองที่มีพลังมหาศาล มาจากการชนะการเลือกตั้งและประชาธิปไตย นี่คือสาเหตุที่เราหันหลังให้การเลือกตั้งไม่ได้ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะหลงคิดว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้เป็นจุดจบของการต่อสู้ หรือจะแก้ปัญหาอะไรได้ และเราไม่ควรหลงคิดว่าถ้าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง เราจะมีอำนาจรัฐ และเราจะสามารถสร้างประชาธิปไตยแท้ได้ ประสบการณ์จากความอ่อนแอของรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่เผชิญหน้ากับม็อบมีเส้นและทหารที่ไม่ทำตามคำสั่งรัฐบาลน่าจะเป็นบทเรียนสำหรับเรา แต่ในมุมกลับ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคแนวร่วมชนะการเลือกตั้งผ่านการโกงเล็กๆน้อยที่ทำมาตลอด เขาจะได้เปรียบมากในเชิงความชอบธรรมถ้าเราไม่เตรียมตัวโต้ตอบล่วงหน้า

การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ไม่ใช่การกลับไปสู่สภาพเดิมของการเมืองไทยก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยา การเสนอนโยบายจิ๊บจ๊อยเรื่องราคาน้ำมันปาล์มหรือเรื่องช่างไข่เป็นกิโล ไม่เหมาะสมกับสภาพการเมืองปัจจุบัน เพราะสังคมไทยผ่านวิกฤตการเมืองมาหลายปี ผ่านการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง ผ่านการสูญเสียทั้งสิทธิ์และเลือดเนื้อโดยอันธพาลพันธมิตรฯ และทหารมือเปื้อนเลือด ตอนนี้ประชาชนไทยจำนวนมากต้องการแก้ปัญหาใหญ่ๆ ในสังคมไทย เช่นปัญหานักโทษการเมือง ปัญหากฏหมายเผด็จการ 112 ปัญหาระบบศาลที่ไม่มีมาตรฐานความยุติธรรม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เรื้อรังและเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารแต่แรก สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ๆ ทั้งสิ้นที่ท้าทายอำนาจอำมาตย์ และขบวนการเสื้อแดงต้องชูประเด็นเหล่านี้และตั้งคำถามยากๆ กับนักการเมืองทุกพรรครวมถึงพรรคเพื่อไทยด้วย เราต้องมีส่วนสำคัญในการกำหนดวาระทางการเมืองของการเลือกตั้ง และข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องของเราต้องแหลมคมพอที่จะทนทานต่อการแพ้การเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย คือต้องเป็นข้อเรียกร้องที่เราใช้เคลื่อนไหวต่อไปได้ ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง

ในช่วงนี้มีหลายคนในขบวนการเสื้อแดง เช่นหนูหริ่งบก.ลายจุด พูดว่า “คนเสื้อแดงเข้าใจว่าทำไมต้องต้านอำมาตย์ แต่ยังไม่เข้าใจประชาธิปไตย” ผมคิดว่าเขาไม่ได้ใช้ประโยคนี้ในลักษณะเดียวกับที่ทหารเผด็จการหรือพวกเสื้อเหลืองใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร แต่ผมคิดว่าเราควรมีการขยายความและเปลี่ยนคำ เพราะประชาธิปไตยเป็นแค่พื้นที่อิสระเสรีสำหรับการกำหนดลักษณะสังคม นโยบายสาธารณะ และรูปแบบการปกครองโดยพลเมือง ตรงนี้ผมมั่นใจว่าคนเสื้อแดงเข้าใจชัดเจน แต่ประเด็นว่าเราจะนำพื้นที่อิสระเสรีนี้มาใช้สร้างสังคมแบบไหน นั้นเป็นข้อถกเถียงแน่นอน บางคนต้องการแค่หมุนนาฬิกากลับสู่รัฐบาลทักษิณ บางคนต้องการสิทธิเสรีภาพมากกว่านั้น บางคนต้องการระบบสาธารณรัฐ บางคนต้องการรัฐสวัสดิการและในที่สุดสังคมนิยม การที่เราชาวเสื้อแดงไม่มีจุดร่วมตรงนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่มันไม่ใช่ว่าเราไม่เข้าใจประชาธิปไตย และตราบใดที่เราไม่มีประชาธิปไตย เราก็ไม่สามารถลงมือถกเถียงและลองผิดลองถูกอย่างเป็นรูปธรรมในการใช้พื้นที่อิสระเสรีของประชาธิปไตยได้

ข้อเรียกร้องที่จะท้าทายอำมาตย์

  1. ต้องปล่อยนักโทษการเมืองเสื้อแดงทุกคนและยกเลิกคดี
  2. ต้องยกเลิกกฏหมายหมิ่นและกฏหมายคอมพิวเตอร์ที่ใช้ปิดปากประชาชนไทย
  3. ต้องนำนักการเมืองและนายพลที่มีส่วนในการสั่งฆ่าประชาชนมาลงโทษ
  4. ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยชุมชนคนเสื้อแดงต้องมีส่วนสำคัญในทุกขั้นตอนของกระบวนการ
  5. ต้องมีการปฏิรูปกองทัพ และระบบศาล แบบถอนรากถอนโคน
  6. ต้องสร้างสันติภาพในภาคใต้และที่ชายแดนเขมรด้วยมาตรการทางการเมืองที่แทนวิธีทหาร
  7. ประเทศไทยต้องเริ่มสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าและครบวงจร ผ่านการเก็บภาษีจากคนรวย
  8. สหภาพแรงงาน และกลุ่มชุมชน ต้องมีสิทธิเสรีภาพในการต่อรองตามมาตรฐานสากล

 

อ่านบทความของใจ อึ๊งภากรณ์ได้ที่ http://redthaisocialist.com

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จากแม่คนซ่อมรองเท้า สู่ แม่นักโทษคดีหมิ่นฯ

Posted: 01 Apr 2011 01:59 AM PDT

 

หมายเหตุ : สุริยันต์ กกเปือย หรือ หมี ถูกฟ้องว่ากล่าวถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 3 ปี 15 วัน ขณะนี้คดีถึงที่สุดแล้ว อยู่ในขั้นตอนการขออภัยโทษ

 
 
…ลมหนาวค่อยโรยแรงลง ไรฝุ่นเริ่มทะยอยก่อตัวที่กองรองเท้าเก่าๆ ตั้งแต่บักหำโดนจับก็ไม่มีใครช่วยพ่อเขาทำงาน ทั้งยังอาการป่วยด้วยโรคเบาหวาน จะทนซ่อมรองเท้าไปได้อีกสักกี่วัน…
 
30 มีนาคม 2554 ติดค้างมานานสำหรับสัญญาที่ให้ไว้กับพี่หมี แกอยากให้ไปเยี่ยมพ่อกับแม่ นี่คงเป็นสิ่งที่เราทำได้ตอนนี้ คือการไปให้กำลังใจ ดูแล และส่งข่าวจากแดนตาราง… ตั้งใจจะไปหาที่ร้านรับซ่อมรองเท้าเลย แต่ว่ารถติดไปไม่ทันต้องตามไปเจอที่บ้าน ไปถึงพ่อกับแม่ปูเสื่อนั่งรอด้วยความฉงนสงสัยว่าเราเป็นใครนะ ต้องแนะนำตัวกันอยู่พักใหญ่ พอบอกว่ามาจากสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ ทีมทนายความของทนายอานนท์ก็ถึงบางอ้อ ยิ่งสื่อสารกันแบบ “โสเหล่” ตามประสาคนบ้านเดียวกันแล้ว ยิ่งเหมือนเป็นญาติสนิทเลยทีเดียว…
เราบอกเจตนาของเราที่มาวันนี้ว่า ได้รับปากกับพี่หมีไว้ว่าจะมาหาพ่อกับแม่และทนายอานนท์ฝากมาเรื่องจดหมายขออภัยโทษ ทีแรกพ่อกับแม่กังวลใจว่าเขาจะเขียนอย่างไรทำยังไง ใช้ราชาศัพท์ไม่เป็นซะด้วย
“ จักสิเขียนจั่งได๋แล้ว เรียนก็เรียนมาน้อย เผิ่นสิบ่ว่าให้ติทนาย”
ทนายอานนท์เลยคุยโทรศัพท์บอกว่า ไม่เป็นไร ให้เขียนในความรู้สึกของพ่อและแม่ ขอให้ในหลวงอภัยให้สำหรับการทำผิดของลูก พ่อกับแม่ทำหน้างง แต่ทุกอย่างก็จบลงตรงคำว่า “จ้าๆๆ สิลองเขียนเบิ่ง ทนายซอยเบิ่งให้แน่เด้อ”
เรารับฝากคำพูดของพี่หมีมาเล่าสู่พ่อและแม่ฟังว่า “ พี่หมีเป็นห่วงพ่อเพราะพ่อเป็นโรคเบาหวานอาการกำริบบ่อย อยากให้พ่อกับแม่พักบ้าง เพราะหลังจากพี่หมีมาอยู่ข้างในเรือนจำ แม่ต้องหยุดงานอื่นหมดมาช่วยพ่อรับซ่อมรองเท้าแทน หากให้พ่อทำคนเดียวจะเหนื่อยและไม่ทัน ทั้งยังไม่มีใครดูแล ตัวเองอยู่ข้างในเรือนจำ อยู่ได้ ไม่ห่วงอะไรเลยนอกจากพ่อกับแม่เท่านั้น”
พ่อกับแม่เล่าเรื่องราวของพี่หมีให้ฟังว่า พี่หมีเป็นคนที่ไม่ค่อยพูด พูดน้อย ตั้งแต่เด็กไม่เคยจากพ่อและแม่เลยอยู่ด้วยกันมาตลอด หมีเกิดกรุงเทพฯ แต่ย้ายไปอย่กันที่ยโสธร ต่อมาก็มาหารายได้ที่กรุงเทพด้วยการรับจ้างซ่อมทำรองเท้า อาชีพนี้พ่อทำมาก่อนแล้วจนหมีโตขึ้นก็มาช่วยและไม่เคยไปไหนอีกเลย
พ่อพี่หมีเล่าต่อไปว่า พ่อเคยไล่ให้ไปหาอาชีพอื่น ที่มันดีกว่าอาชีพซ่อมรองเท้า ซึ่งคนอื่นเขามองว่ามันต่ำต้อย อยากให้ลูกทำอาชีพอื่นที่ดีกว่า แต่หมีไม่เคยไป ไล่เท่าไหร่ก็ไม่ไปเลย ลับหลังพอเพื่อนถาม หมีมักบอกเพื่อนว่า ที่ไม่ไปทำงานอื่นเพราะรู้ว่าพ่อทำงานหนักและรักอาชีพนี้จะให้ไปทำงานอื่นคงไม่ได้ เป็นห่วงพ่อ…..
หลังจากพี่หมีถูกจับลูกค้าที่ร้านซ่อมรองเท้า ก็มีถามพ่อกับแม่บ้างว่า
“อ้าวลูกชายไปใหนหรอ” พ่อก็บอกตรงๆว่า
“ถูกจับครับ” แล้วลูกค้าเขาก็เงียบไป
แม่พี่หมีเล่าว่าช่วงแรกๆที่ไปเยี่ยมที่เรือนจำเห็นว่าพี่หมี “ตาแดง” และมีผู้คุมคอยยืนคุม แม่ถามหมีว่าโดนซ้อมหรือเปล่า หมีก็บอกว่า “ไม่” แต่มีคนมาเล่าให้แม่ฟังว่าข้างในใครโดนคดีนี้เข้าไป ต้องโดนทุกคน (แม่เริ่มปาดน้ำตาร้องให้ เราทุกคนนั่งเงียบ ปล่อยเสียงของผู้เป็นแม่ได้ระบายต่อ)
แม่เลยไม่สบายใจ เราไปเยี่ยมบ่อยๆ ก็ไม่ได้เพราะต้องทำงานอย่างมากก็เดือนละครั้งเท่านั้น อยากให้ลูกออกมาเร็วๆ ทุกวันนี้ได้แต่รอให้ลูกออกมา
“หากไปหาหมี ฝากบอกด้วยว่าไม่ต้องห่วง…”
เราลาคุณพ่อคุณแม่พี่หมีกลับสำนักงาน ในมือกำจดหมายขอพระราชทานอภัยโทษ ทุกข้อความ ทุกบรรทัด นั่นคือหยดน้ำตาของ… แม่
ภาพของบักหำน้อย ที่ทุกวันต้องไปเปิดร้านซ่อมรองเท้าคงไม่มีให้เห็นอีกแล้ว ความหวังสุดท้ายคือการขอรับพระราชทานอภัยโทษเท่านั้น เท่านั้นจริงๆ
 
 
ที่มา: http://rli.in.th/2011/04/01/จากแม่คนซ่อมรองเท้า-สู่/
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: นิทรรศการ “คุณ...จะเอาพวกเขาไปไว้ที่ไหน?” ศิลปะและคำถามจากพื้นที่ชายขอบ

Posted: 01 Apr 2011 01:21 AM PDT

 
 
31 มี.ค. 54 เวลา 18.30 น. หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, Community Arts Activity Group และ Local Inter Links Group จัดพิธีเปิดนิทรรศการศิลปะ “คุณ...จะเอาพวกเขาไปไว้ที่ไหน?” (Where Would You Place Them?) ณ ห้องนิทรรศการชั้น 7 โดยมี ดร. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นประธานพิธีและกล่าวเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการ
 
 “สภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ผู้คนโดยเฉพาะคนกลุ่มน้อย คนชายขอบกำลังถูกขับต้อนให้ไม่มีที่อยู่ทั้งทางกายภาพคือวิถีชีวิต และทางจิตวิญญาณ พวกเราเองก็ต้องตระหนักเหมือนกันว่าโลกที่สวยงามนั้นกำลังจะหายไป เมื่อทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากถูกสูบใช้อยู่ทุกวัน และในวันนี้เราก็เห็นแล้วว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติยิ่งเข้มข้น ซึ่งนั่นฟ้องว่าเราอยู่อย่างปราศจากการเคารพธรรมชาติ เราเบียดเบียนธรรมชาติมากเกินไปแล้ว ครั้นพออยากจะกลับไปอยู่กับธรรมชาติ ก็ไม่รู้วิธีที่จะอยู่เสียแล้ว นิทรรศการนี้เกิดขึ้นจากการที่ศิลปินได้ไปคลุกคลีอยู่กับผู้คนที่รู้วิธีที่จะอยู่กับธรรมชาติ การอยู่รอดของผู้คนในท้องถิ่นเหล่านั้นคือกุญแจไขความอยู่รอดของมนุษย์ทั้งมวลในอนาคต   แต่ทว่าพวกเขาเหล่านั้นถูกพวกเรารุกไล่ งานศิลปะครั้งนี้จะเชื่อมเราให้เข้าใจพวกเขามากขึ้น เพราะศิลปะคือภาษาของหัวใจจากใจหนึ่งถึงใจหนึ่ง ที่จะทำให้ตระหนักว่า คุณ...จะเอาพวกเขา และพวกเรา ไปไว้ที่ไหน?” เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กล่าว
 
 
นิทรรศการ “คุณ...จะเอาพวกเขาไปไว้ที่ไหน?” ตั้งคำถามผ่านงานศิลปะสร้างสรรค์หลากรูปแบบของศิลปินทั้งไทยและเอเชีย 18 ท่าน ประกอบด้วยผลงานติดตั้งจัดวางในพื้นที่ งานแสดงสด ภาพถ่าย วิดีทัศน์ ข้อเขียน บทกวี และบทเพลง โดยศิลปินได้ลงพื้นที่ใช้เวลาคลุกคลีกับชาวบ้านศึกษาข้อมูลทุกแง่มุม ก่อนจะสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชุมชนสู่สาธารณชน    โดยเลือกพื้นที่ซึ่งกำลังมีประเด็นปัญหาจากโครงการพัฒนา อันจะทำให้ผู้คนซึ่งอาศัยอยู่กับทรัพยากรเหล่านี้มายาวนานหลายชั่วคนต้องกระเด็นไปจากพื้นที่ หรืออยู่อย่างแปลกหน้าในถิ่นที่กำเนิดของตัวเอง ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่ว่าพวกคุณจะรับผิดชอบชีวิตผู้คนเหล่านั้นอย่างไร พวกคุณจะหยิบพวกเขาเหล่านั้นไปวางไว้ที่ไหนอย่างอยู่เย็นเป็นสุข เท่าเทียมกับพวกคุณ???
           
สำหรับพื้นที่สร้างสรรค์งานนั้นแบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ได้แก่
Ø แม่น้ำสาละวิน กับโครงการสร้างเขื่อนในพรมแดนไทย - พม่า
Ø เผ่าชน คน ทะเล วิถีกลุ่มชาติพันธุ์ทางทะเลฝั่งอันดามัน ชาวมอแกน มอแกล็น อูรักลาโว้ย ผู้บุกเบิกที่กลายเป็นผู้บุกรุก เมื่อกระแสการท่องเที่ยวและพัฒนาโถมใส่อย่างไม่ทันตั้งตัว
Ø แม่น้ำโขง ปัจจุบันตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงจากโครงการสร้างเขื่อนที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตผู้คนตลอดสายน้ำ
 
ศิลปินที่ร่วมนำเสนอผลงานในนิทรรศการนี้ได้แก่ 1)จิตติมา ผลเสวก, 2)ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง, 3)มานะ ภู่พิชิต, 4)สุธน สุขพิทักษ์, 5)สุรัตน์ สุวนิช (เสียชีวิต), 6)จามิกร แสงศิริ, 7)วิชชุกร ตั้งไพบูลย์, 8)มณฑลี วิจินธนสาร, 9)มงคล เปลี่ยนบางช้าง, 10)จักรกริช ฉิมนอก, 11)ภัทรี ฉิมนอก, 12)อุกฤษฏ์    จอมยิ้ม, 13)Nyo Win Maung (พม่า), 14)Jeremy Hiah (สิงคโปร์), 15)Kai Lam (สิงคโปร์), 16)Zai Kuning (สิงคโปร์), 17)Yuzuru Maeda (ญี่ปุ่น) และ 18)Guang Feng Cheng (จีน)
 
นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง 12 มิถุนายน 2554 ณ ห้องนิทรรศการชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไล่รื้อชุมชนพระราม 6 ชาวบ้านเดินหน้าขอความชัดเจนสัญญาที่อยู่ใหม่

Posted: 31 Mar 2011 10:30 PM PDT

ชาวบ้านยันไม่ต้องการขวางแต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รับความชัดเจนเรื่องที่อยู่ใหม่ วันนี้เริ่มเคลื่อนขบวนร้องการแก้ปัญหาที่ ก.คมนาคมฯ หลังโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เร่งรัดรื้อถอนบ้านเรือน 2 วันแล้วเสร็จเกือบหมด

 
วันนี้ (1 เม.ย.54) 10.30 น.มีรายงานข่าวว่ากลุ่มชาวบ้านชุมชนพระราม 6 และชุมชนใกล้เคียงที่อีก 9 ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน พร้อมกับกลุ่มคนจนเมืองในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศภายใต้เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวนหลายร้อยคนได้รวมตัวเดินทางจากที่ตั้งชุมชนโดยมีเป้าหมายจะเดินทางไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
 
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่จากกรมบังคับคดีเข้ารื้อถอนบ้านเรือนในชุมชนพระราม 6 ถนนประชาราษฎร์สาย 1 แขวง-เขตบางซื่อ ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ฐานะโจทก์ยื่นฟ้องผู้อาศัยอยู่ภายในชุมชนประมาณ 40 หลัง ฐานะจำเลย และศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้รื้อถอนเมื่อวันที่ 19 ก.ค.53 แต่ชาวบ้านภายในชุมชนกว่า 100 คน ได้รวมตัวประท้วง กระทั่งเกิดเหตุปะทะกันทำให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยการไล่รื้อดังกล่าวเป็นไปตามการเร่งรัดก่อสร้างโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน
 
วานนี้ (31 มี.ค.54) แม้จะมีการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่และตัวแทนบริษัทฯ ซึ่งเข้ามาควบคุมการรื้อถอน เพื่อให้เวลากับชาวบ้านอีกระยะหนึ่งในการหาที่อยู่ใหม่ และมีการระดมกำลังชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงเพื่อมาร่วมผลักดันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่การรื้อถอนยังคงดำเนินต่อเนื่องถึงช่วงเย็นจนแล้วเสร็จเกือบทั้งหมด โดยเจ้าหน้าที่จากกรมบังคับคดีชี้แจงว่าการรื้อถอนเริ่มต้นจากบ้านที่เจ้าของเซ็นรับทราบแล้ว อย่างไรก็ตาม ตามคำสั่งศาลเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บังคับคดีในการรื้อถอน ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอข้อสรุปในส่วนการจ่ายค่าชดเชยเรื่องค่าขนย้าย ค่าที่อยู่อาศัยหลังคาเรือน ที่ชาวบ้านต้องเจรจากับทางบริษัทฯ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการรื้อถอน กลุ่มชาวบ้านเฝ้าดูการทำงานของเจ้าหน้าที่และคนงานรื้อถอนอย่างใกล้ชิด บ้างก็นั่งน้ำตาซึม บ้างก็บ่นว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพยามยามเข้าไปปกป้องบ้านหนึ่งหนึ่งจากการรื้อถอน โดยยืนประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพยายามร้องเพลงปลอบขวัญและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน แต่เมื่อบ้านหลังอื่นๆ ถูกรื้อถอนจนเกือบหมด กลุ่มชาวบ้านจึงถอนตัวออกมา เพราะไม่สามารถผลักดันเจ้าหน้าที่ต่อไปได้เนื่องจากกำลังคนน้อยกว่า
 
อย่างไรก็ตามในวันเดียวกันนั้น ได้มีชาวบ้านเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จากพื้นที่จังหวัดต่างๆ อาทิ ราชบุรี นครปฐม ขอนแก่น อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี ฯลฯ ทยอยเดินทางเข้ามาร่วมชุมนุมกับชาวบ้านชุมชนพระราม 6 ด้วย  
 
“ทีนี้คนจนก็ไม่มีที่ไป ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้จะช่วยกันอย่างไร แต่ก็ต้องต่อสู้กันเอง” นายโรติ อายุ 51 ปี ชาวชุมชนโชติวัต ซึ่งเป็นชุมชนในเขตโครงการรถไฟสายสีแดงที่ถูกรื้อถอนก่อนหน้านี้ กล่าวหลังมาเฝ้าสังเกตการณ์
 
นายสุเทพ โตเจิม ประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เขตบางซื่อ และเป็นหนึ่งในผู้ถูกไล่รื้อในครั้งนี้ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายน 2553 ชาวชุมชนได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ ร.ฟ.ท.จัดหาพื้นที่ใหม่ให้ชาวบ้านจาก 10 ชุมชนในพื้นที่เขตบางซื่อ ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ ซึ่งตรงนี้ชาวบ้านยินยอมออกจากพื้นที่ ไม่ได้ขัดขืน แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านรอคอยสัญญาเช่าที่แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากปัญหาการจัดหาพื้นที่
 
นายสุเทพ กล่าวต่อมาว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านพูดตลอดเรื่องข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือ 1.เรื่องที่ดิน โดยชาวบ้านเสนอให้แบ่งปันพื้นที่ส่วนที่เหลือจากการก่อสร้างมาจัดสรรให้ชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านยินยอมที่จะเช่าอยู่ไม่ใช่การอยู่ฟรีเหมือนที่ผ่านมา 2.เรื่องค่าชดเชย ซึ่งเงินยังไม่มีการจ่าย แต่ใช้วิธีฟ้องบังคับให้ชาวบ้านต้องออกจากพื้นที่ หากไม่ยอมก็จะถูกจับ หรือถูกปรับ ทั้งที่ทางบริษัทฯ ได้รับงบประมาณรื้อย้ายถึง 300 ล้านบาท ซึ่งส่วนตัวคิดว่าน่าจะต้องเอางบในส่วนนี้มาบริหารจัดการเป็นค่าชดเชยให้แก่ชาวบ้านที่ต้องไร้ที่อยู่อาศัย
 
นายสุเทพให้ข้อมูลด้วยว่า ขณะนี้ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งจ้างกลุ่มยูนิค-ซุนวู จอยท์เวนเจอร์ ให้ก่อสร้างโครงการรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เนื่องจากการประมูลไม่โปร่งใส โดยขณะนี้ ทาง ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างทำเรื่องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และยังคงให้บริษัทฯ ดำเนินการโครงการต่อ
 
“โครงการของรัฐสร้างและทำลายไปพร้อมๆ กัน โดยทำให้คนฝั่งหนึ่งมีความเจริญ แต่อีกฝั่งหนึ่งกลับถูกทำลายที่อยู่ ต้องย้ายออกจากพื้นที่โดยการฟ้องขับไล่ ราชการและรัฐมองคนจนเป็นเศษขยะที่ต้องกวาดออกให้พ้นทางเพื่อคนรวย แล้วอย่างนี้สังคมจะปรองดองได้อย่างไร” นายสุเทพกล่าว
 
นายสุเทพกล่าวถึงสถานการณ์เฉพาะหน้าว่า จะต้องมีการพูดคุยกันเรื่องการจัดที่พักในคืนนี้ให้กับชาวบ้านนับร้อยคน หลังจากที่คืนก่อนหน้านี้ชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องนอนรวมกันในเต็นท์ของเครือข่าย และยังมีเรื่องของน้ำ-ไฟที่โดนตัดแล้ว ส่วนเรื่องพื้นที่รองรับที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ก็ต้องมีการพูดคุยถึงความชัดเจน
 
ด้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. กล่าวว่า จะไม่ยกเลิกการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันแน่นอน เพราะขณะนี้การก่อสร้างได้คืบหน้าไปแล้วกว่า 50% แม้ว่าการก่อสร้างจะล่าช้ากว่าแผนไป 20% ก็ตาม เนื่องจากติดปัญหาการเวนคืนพื้นที่ก่อสร้างบริเวณชุมชนพระราม 6 ชุมชนวัดเสาหิน และชุมชนสีน้ำเงิน โดยมีประชาชนบางส่วนไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่เขตก่อสร้าง จะได้เร่งรัดให้ผู้รับเหมาก่อสร้างไปเจรจา รวมทั้งขอใช้อำนาจของศาลเข้าไปบังคับคดีเพื่อให้แล้วเสร็จตามกำหนด โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในปี 2555
 
ทั้งนี้ โครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ- ตลิ่งชัน เป็นโครงการการก่อสร้างรถไฟทั้งระบบราง และระบบรถไฟฟ้ามีระยะทางตลอดโครงการความยาว 15.2 กิโลเมตร มีวงเงิน 8,748 ล้านบาท เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.51 ผู้รับจ้างเริ่มปฏิบัติงานตามสัญญา ลงวันที่ 15 ม.ค.52 ต่อมาสำนักงบประมาณเห็นชอบเมื่อวันที่ 11 ส.ค.52 ให้เพิ่มวงเงินเพิ่มขึ้นจากจากเดิมเป็น 9,087 ล้านบาท
 
 
 
 
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น