โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ข่าวสารประชาชนรอบสัปดาห์ (18-24 เมษายน 2554)

Posted: 24 Apr 2011 12:08 PM PDT

 "สุวิทย์"สัมมนาผู้ใช้น้ำวางระบบน้ำอีสาน
23 เม.ย.54 นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานประชุมสัมมนา การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วม โดยมี นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด และเครือข่าย องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวนกว่า 1,000 คน จาก 4 จังหวัด คือร้อยเอ็ด,นครพนม,ยะโสธรละกาฬสินธุ์ ให้การต้อนรับและร่วมประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อรองรับการบริหารจัดการน้ำในแต่ละชุมชน หมู่บ้านและท้องถิ่น ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่อย่างถูกต้อง และให้ความร่วมมือตามโครงการน้ำถึ่งไร่นา และมีระบบประปาทุกบ้าน เพื่อยุติปัญหาการขาดแคลนและลดการแย่งชิงน้ำระหว่างภาคการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม อุปโภคบริโภค และอื่นๆ อันจะส่งผลถึงการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ แก้ไขปัญหาหนี้สินและแก้ไขปัญหาหนี้สินและความยากจนในที่สุด โดยเน้นที่การมีน้ำสามารถแก้ปัญหาความยากจนให้กับประชาชนและเกษตรกรได้
 
นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า จ.ร้อยเอ็ด นั้นมีปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ดินที่ใช้ประกอบอาชีพขาดการฟื้นฟูปรับปรุงดิน ลำน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ประกอบด้วย ลำน้ำมูล ลำน้ำชี ลำน้ำยัง ลำน้ำเสียว ยังขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพก่อให้เกิดปัญหา น้ำท่วม ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เกิดการแห้งแล้งซ้ำซาก เพราะขาดการบริหารจัดการที่ดี ให้เพียงพอใช้ได้ตามฤดูกาล ส่งผลถึงวิถีชีวิตประชาชนเป็นอย่างมากเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร
 
ชาวระยองทิ้งใบปลิวค้านตั้งนิคมฯบ้านค่าย

22 เม.ย.54 ที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) ได้จัดทำการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการนิคมอุตสาหกรรมระยอง(บ้านค่าย) ตั้งอยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 59 -60 แยกเข้าไปประมาณ 6 กิโลเมตร บนพื้นที่ กว่า 2,000 ไร่ พร้อมแจกแบบประเมินผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านตำบลบางบุตรและตำบลหนองบัว
       
โดยบริษัท เอิร์ธ แอนด์ ซัน จำกัด บริษัทที่ปรึกษาเป็นผู้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีชาวบ้านค่ายกว่า 600 คนเข้าร่วมรับฟังการชี้แจง โดยมีนายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ระยอง นายวิเชียร สุขเกิด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)บางบุตร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน)และพนักงานคอยต้อนรับประชาชนที่มาลงทะเบียน

ขณะที่ผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาฯได้ดำเนินการชี้แจงให้ประชาชนได้รับฟัง นายเศรษฐา ปิตุเตชะ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ระยอง และเป็นส.จ.เขตอ.บ้านค่าย แกนนำ”กลุ่มคนรักบ้านเกิด” พร้อมด้วยชาวบ้านค่ายตั้งโต๊ะล่ารายชื่อชาวบ้านที่คัดค้านการตั้งนิคมอุตสาหกรรมไออาร์พีซี (บ้านค่าย) พร้อมตั้งเวทีกางเต็นท์ชูป้าย”ชาวบางบุตร -หนองบัว ไม่เอาโรงงาน IRPC “ “เราไม่ต้องการ นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มอีกแล้ว รวมพลัง 22 เม.ย. 54 (กลุ่มคนรักบ้านเกิด) “
       
จากนั้นนายเศรษฐา ขึ้นกล่าวบนเวทีว่าวันนี้ที่มาคือไม่เอานิคมอุตสาหกรรมระยอง(บ้านค่าย)หรือไออาร์พีซี หากพี่น้องประชาชนคิดเห็นว่าไม่เอานิคมอุตสาหกรรมให้ลุกขึ้นออกมารวมตัวที่เวทีแห่งนี้ เพราะเวทีของบริษัทที่มาชี้แจงประชาชนเป็นเวทีมอมเมาประชาชนไม่ใช่เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ใครที่คัดค้านให้มาที่เวทีแห่งนี้จะได้ทราบว่า คนที่เห็นด้วยให้ตั้งนิคมอุตสาหกรรมมีจำนวนเท่าไหร่ คนที่ไม่เห็นด้วยจำนวนเท่าไหร่ จะบันทึกภาพทั้งหมดเพื่อที่จะนำไปร้องเรียนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คนบ้านค่ายไม่เอานิคมอุตสาหกรรมระยอง(บ้านค่าย)
       
ทำให้ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย ทยอยลุกออกจากที่ประชุมเข้ามารวมตัวกันที่เวทีจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านที่มาร่วมรับฟังการประชุมเหลือจำนวนน้อย ทำให้หอประชุมอบต.บางบุตรแบ่งออกเป็น 2 เวที
              

อ่านเพิ่มเติมที่  http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000049730  
 
พบคนแม่เมาะยังป่วยอีกร่วมพัน-ชี้ทยอยสิ้นลมแล้วกว่า 20 ราย
กรรมการสิทธิฯลงพื้นที่ดูเหยื่อสารพิษแม่เมาะ ยังมีเพียบ นายก อบต.เผย 981 ชีวิตเสี่ยง วอนหน่วยงานที่รับผิดชอบลงช่วยเหลือด่วน ขณะที่มีผู้ป่วยบางส่วนทยอยสิ้นลมไปแล้วกว่า 20 ราย
       
รายงานข่าวจากจังหวัดลำปาง แจ้งว่า ระหว่างที่ นายแพทย์ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมกับคณะ ลงพื้นที่จังหวัดลำปาง เพื่อตรวจสอบปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องโครงการทำเหมืองบ้านแหง อ.งาว เมื่อ 21 เม.ย.54 แล้ว ได้เดินทางลงพื้นที่ดูปัญาผลกระทบของชาวบ้านรอบเหมืองแม่เมาะ ของ กฟผ.ด้วย โดยพบว่าการขยายแอ่งเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ ของ กฟผ.ยังคงสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง
       
โดยข้อเท็จจริง ปรากฏว่า ยังคงมีเด็ก คนชรา ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจบกพร่อง และจากการเข้าพบผู้ป่วยอย่างน้อย 3 ราย มีผลกระทบจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นจากการทำเหมืองลิกไนต์
       
นพ.นิรันดร์ บอกว่า จากการลงพื้นที่พบว่าชาวบ้านยังคงเผชิญปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะชาวบ้านล้มป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ หากจะดูการระบาดวิทยาแล้วยังน่าวิตก ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นที่ทราบกันมานาน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไชให้ตรงประเด็น แม้ว่า กฟผ.จะออกมาบอกว่าดูแลชาวบ้านเป็นอย่างดีก็ตาม แต่ปัญหายังคงมีอย่างต่อเนื่องแสดงว่ามาตรฐานหรือเกณฑ์มาตรฐานที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นของ กฟผ.หรือของกรมควบคุมมวลพิษ หรือ สผ.ดูเหมือนว่าจะใช้ไม่ได้แล้ว เมื่อมีคนป่วยมากขึ้น และในจำนวนนี้พบว่าตายไปแล้วหลายราย
       
“เมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็มีคนตายด้วยโรคระบบทางเดินหายใจไปอีก 1 ราย ถึงเวลาแล้วที่ กฟผ.และรัฐบาลต้องลงมาแก้ไขปัญหาโดยด่วน”
       
นายแพทย์ นิรันดร์ เปิดเผยอีกว่า กฟผ.ต้องออกมาแสดงความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเสียที ไม่ใช่เดินหน้าแก้ไขปัญหาด้วยการนำเงินไปให้ชาวบ้าน หรือการอพยพเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่พอ หรือยังคงยึดเกณฑ์มาตรฐานที่รัฐกำหนดเช่นนี้ ไม่เป็นธรรมสำหรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและยังละเมิดสิทธิชาวบ้านอยู่อย่างนี้ ปัญหาไม่จบ และไม่ควรปล่อยปัญหานี้ด้วยการซื้อเวลาหรือบิดเบือนความเป็นจริง ชาวบ้านก็ตกอยู่ในสภาพอันตรายต่อไป
       
ด้าน นายศุกณ์ ไทยธนศุการณ์ กองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง กล่าวว่า ทาง อบต.ได้รับข้อมูลจากการสำรวจโดย อสม.ในพี้นที่ ล่าสุดพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจที่อยู่ในพื้นที่ อบต.บ้านดง มากถึง 981 ราย ที่ต้องการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ
       
 
อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000049429 
 
กมธ.พัฒนาการเมืองสภาจี้ “มาร์ค”ค้านสร้างเขื่อนไซยะบุรี

ที่รัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.กรุงเทพ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุม กมธ. ว่า ที่ประชุมมีมติคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ที่ส.ป.ป.ลาว ซึ่งมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนไทยและประชาชนประเทศต่างๆที่อยู่ริมแม่น้ำโขง รวมถึงกระถึงกระทบต่อระบบนิเวศน์ ซึ่งในการประชุมเอ็มอาร์ซี ของ4ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะมีเพียงประเทศลาวเท่านั้นที่ยืนยันให้เดินหน้าก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ในขณะที่อีก 3 ประเทศต้องการให้ศึกษาอย่างละเอียดรอบครอบ นอกจากนี้ กมธ.ยังตั้งข้อสังเกตว่าในการลงนามซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว จะเข้าข่าย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 190ที่ไม่ได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา
นายวัชระ กล่าวต่อว่า กมธ.จะยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ต่อนายกรัฐทนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ในฐานะผู้ทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากลาว บริษัท ช. การช่าง ในฐานะผู้ก่อสร้างเขื่อน รวมถึงจะทำการตรวจสอบ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็น1ใน4 ธนาคารของประเทศไทยที่ปล่อยกู้เงินในการก่อสร้างเขื่อน ทั้งนี้เขื่อนดังกล่าวแม้จะอยู่ที่ประเทศลาว แต่ก็อยู่เหนือ จ.หนองคาย 80-90 กิโลเมตร
ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตประธานอนุกรรมาธิการศึกษาคุณค่าการพัฒนาและผลกระทบในลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า เท่าที่ดูภาพถ่ายจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายเตรียมการก่อสร้างในพื้นที่ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนมีการประชุม เอ็มอาร์ซี ในวันที่19 เม.ย. ทั้งๆที่ยังไม่ทราบผลการประชุม นอกจากนี้ผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมพบว่าการสร้างเขื่อนจะกระทบต่อสายพันธ์ปลา และแหล่งอาหารบริเวณโดยรอบ ซึ่งหากเขื่อนนี้สร้างได้สำเร็จ ก็จะมีการสร้างเขื่อนอื่นๆตามมาอีก 11เขื่อน และที่ผ่านมาประเทศจีนได้สร้างเขื่อนไปแล้ว 4เขื่อน หากยังปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนนี้ก็จะทำให้กระทบต่อสภาพแวดล้อมของทุกประเทศริมแม่น้ำโขง
 
ลุ้นพ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ปราชญ์ชาวบ้านเชื่อเป็นความหวังแก้วิกฤตสังคมไทย!!
นางสาวทัศนีย์ วีระกันต์   ผู้จัดการฝ่ายปฎิบัติการ สำนักงานส่งเสริมการปฎิรูปเพื่อคุณภาพชีวิต เกษตรกร ชุมชนและสังคม (สปกช.)  กล่าวว่า  ขณะนี้ ร่างพ.ร.บ. เกษตรกรรมยั่งยืนฯ อยู่ในกระบวนการเดินหน้ารับฟังความคิดจากทุกภาคส่วน   โดยการตระเวนไปในแต่ละภาคเพื่อให้เกิดสมัชชาคุณภาพชีวิตเกษตรกร  สะท้อนออกมาว่าตัว พ.ร.บ.ควรจะเป็นอย่างไร และมีรูปแบบอย่างไร  ทั้งนี้ เพื่อร่วมกัน ออกแบบ –ส่งเสริม- พัฒนา เกษตรกรรมอย่างยั่งยืน และมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง  ซึ่งภายใน 2-3 ปี นี้ก็จะเห็น พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืนเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
 
ในขณะที่ นายบุญส่ง มาตข่าว ประธานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก  จ.ยโสธร กล่าวว่า  มีความจำเป็นเป็นอย่างมากที่เกษตรกรไทยจะต้องมีตัวบทกฎหมายออกมาขับเคลื่อนควบคู่ไปกับการทำเกษตร ทั้งนี้การมี พ.ร.บ.เป็นการทำงานส่งเสริมการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนในภาพรวมทั่วทั้งประเทศ  เป็น เครื่องมือสำคัญการทำงานควบคู่ไปกับการปฎิรูปการเกษตรที่ต้องเดินคู่กันไป เนื่องจาก สถานการณ์ปัจจุบันคือการปล่อยให้เกษตรกรรมย่อยๆ ค่อยๆ ตายไป แล้วไปไม่มีการส่งเสริมให้เท่าเทียมกับ เกษตรกรรมพันธะสัญญา หรือคอนแทคฟาร์มมิ่ง 
 
นายบุญส่ง ระบุว่า การปฎิรูปประเทศ จะต้องคำนึงถึง เกษตรกรที่เป็นกำลังหลัก เพราะเป็นกระดูกสันหลังของชาติ  การพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม จึงมีความจำเป็นต้องโยงคู่กับกฎหมาย
  
ในอดีต เรามีวิถีเกษตรกรรม แบบยังชีพ พึ่งพาตนเอง ใช้แรงงานสัตว์ ผูกความไถนา  แต่วันนี้เทคโนโลยีเข้ามา  ผมอยู่จังหวัดยโสธร ซึ่งมีพื้นที่ทำนาเป็นหลัก  อำเภอกุดชุมเราส่งออกข้าวหอมมะลิ โดยใช้เกษตรแบบอินทรีย์ แต่  กว่า ที่เราจะปรับเปลี่ยนมาเป็นการเกษตรอินทรีย์ มันผ่านประสบการณ์ ที่แลกมาสุขภาพและชีวิต ที่ได้รับผลกระทบ จากวิถีการเกษตรที่เปลี่ยนแปลงไป
 
“การ เกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อมีการปฎิวัติเขียว เป็นการเปลี่ยนแปลง การตลาดเป็นการขาย เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน เป็นเมล็ดพันธุ์ลูกผสม เมื่อเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์วิถีชีวิตก็เปลี่ยน กลายเป็นเพื่อการค้า แข่งขัน ข้าวพันธุ์ใหม่ ก็สามารถส่งเสริมการตลาด ปลูกแล้วขาย  ไม่มีการหยิบยื่นกันกิน อาศัยการตลาดเป็นวิถี วิถีชีวิตในชุมชนการช่วยเหลือแบ่งปันก็หายไป”  
 
ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบ  ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรรมอย่างยั่งยืน พ.ศ.... และอนุมัติในกรอบวงเงินงบประมาณประจำปี 2555-2556 ในวงเงิน 180 ล้านบาท เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปจัดตั้งงบประมาณประจำปีการสนับสนุนการดำเนินงาน
 
 
กลุ่มคนไทยฯ เปิดเวทีเสวนาบทเรียนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะถึงอุบลราชธานี
นักวิชาการญี่ปุ่น ระบุดินแดนซามูไร มีเป้าหมายสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 38 แห่ง แต่สร้างจริงได้เพียง 17 แห่ง เพราะคนญี่ปุ่นก็ต่อต้านไม่เอานิวเคลียร์เช่นกัน ด้านแกนนำคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังยืนหยัดต้านจนกว่ารัฐบาลจะถอนโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกจากแผนสำรองพลังงาน 2010 ระหว่างปี 2553-2573 อย่างเป็นทางการ
       
21 เม.ย. ที่ห้องดอกจาน 3 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กลุ่มเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ร่วมกับมูลนิธินโยบายสุขภาวะ จัดเสวนา “โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะถึงอุบลราชธานี บทเรียนนิวเคลียร์กับพลังงานทางเลือก” โดยเชิญนักวิชาการชาวญี่ปุ่นที่ศึกษาเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาเล่าถึงผลดีผลเสียที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่นในขณะนี้ โดยมีตัวแทนนักวิชาการ ภาคประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเข้าฟังกว่า 100 คน
       
นายฮิเดยูกิ บัน นักวิชาการชาวญี่ปุ่นจากศูนย์ข้อมูลนิวเคลียร์เพื่อประชาชน ระบุว่า เดิมรัฐบาลญี่ปุ่นมีเป้าหมายสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศถึง 38 แห่ง แต่สร้างได้จริงเพียง 17 แห่ง เพราะโรงไฟฟ้าที่เหลือคนญี่ปุ่นต่อต้าน
       
ดังนั้น จึงไม่เป็นความจริงที่มีการกล่าวว่า คนญี่ปุ่นไม่ต่อต้านการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ และที่สำคัญ รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็เหมือนกับรัฐบาลอื่นในหลายประเทศของโลกนี้ ซึ่งจะให้ข้อมูลด้านดีของการมีพลังงานนิวเคลียร์เพียงด้านเดียว
       
สำหรับผลกระทบหลังเกิดการระเบิดขึ้นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ทำให้ชาวโลกรับรู้ถึงมหัตภัยที่เกิดขึ้น และรัฐบาลญี่ปุ่นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากการแผ่กระจายของสารกัมมันตรังสี ทั้งในอากาศและน้ำ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมอาหารที่พบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี จึงต้องใช้เวลาอีกนานในการฟื้นฟูให้ทุกอย่างกลับมาอยู่ในสภาพเดิม
       
 
อ่านรายละเอียดที่ http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000049043   
 
่าเรือแหลมฉบังเดินหน้าศึกษาท่าเรือฯเฟส 3 คู่ประชาพิจารณ์แม้ถูกชาวบ้านต้าน
ท่าเรือแหลมฉบัง ทุ่มงบกว่า 140 ล้านบาท จ้างบริษัทที่ปรึกษาเดินหน้าศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงรายละเอียดในการก่อสร้างโครงการท่าเทียบเรือเฟส 3 ที่มีงบลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ควบคู่การจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อสอบถามความเห็นจากชาวบ้าน ชี้แม้ถูกต่อต้านหลังไม่สามารถปฏิบัติตามที่รับปากได้ แต่ก็ต้องเดินหน้าทำความเข้าใจ
       
เจ้าหน้าที่จากการท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ว่า แม้การทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านมาจะถูกต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างหนัก ทั้งในเรื่องที่ท่าเรือแหลมฉบัง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในหลายส่วนตามที่ได้รับปากกับชาวบ้าน และชุมชนที่อยู่โดยรอบได้ รวมถึงการดูแลความเป็นอยู่ต่างๆ ที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการท่าเรือแหลมฉบังจะต้องหาแนวทางแก้ไขต่อไป
       
ในส่วนของการพัฒนาโครงการก็ยังคงต้องกระทำควบคู่กับการทำประชาพิจารณ์ ที่คาดว่าอาจจะต้องมีอีกประมาณ 2-3 ครั้ง ซึ่งขณะนี้ท่าเรือแหลมฉบัง ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมของการจัดทำโครงการ โดยใช้งบประมาณในส่วนนี้ถึง 141 ล้านบาท
       
ทั้งนี้ ยังหมายรวมถึงการออกแบบแปลนท่าเรือในเฟส 3 ให้เป็นท่าเรือน้ำลึกขนาด 18 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยจะมีท่าเทียบเรือทั้งสิ้น 9 ท่า แบ่งเป็นท่าเทียบเรือตู้คอนเทนเนอร์ 7 ท่า ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไปและตู้คอนเทนเนอร์ 1 ท่า และท่าเทียบเรือเพื่อขนส่งรถยนต์อีก 1 ท่า โดยมีแผนให้ท่าเทียบเรือแรกสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2560 และจะทยอยเปิดท่าอื่นๆ จนครบทั้ง 9 ท่าในปีต่อๆ ไป

“งบลงทุนในโครงการนี้อยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ภายใต้เนื้อที่ดำเนินงาน 1.6 พันไร่ โดยจะเป็นท่าเทียบเรือที่มีแอ่งจอดเรือยาวถึง 4,500 เมตร ซึ่งหากโครงการนี้เปิดดำเนินการพร้อมกันจะสามารถรองรับตู้สินค้าได้มากถึง 8 ล้านทีอียูต่อปี และจะสามารถรองรับรถยนต์ส่งออกได้ถึง 1 ล้านคันต่อปี และยังจะทำให้ศักยภาพโดยรวมของท่าเรือแหลมฉบังในการรองรับตู้สินค้าจากท่าเทียบเรือที่มีทั้ง 3 เฟส ได้มีมากถึง 18 ล้านทีอียูต่อปี” เจ้าหน้าที่กล่าว
อ่านเพิ่มเติมที่  http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000048956   

ค้านร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จวกรวบรัดพิจารณา-เป็นเครื่องมือรัฐคุมคนเห็นต่าง
20 เม.ย.54 เวลาประมาณ 10.30 น. ประชาชนกว่า 60 คนจากศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน และองค์กรร่วมอีก 38 องค์กร ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรประชาชน องค์กรแรงงาน องค์กรเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรนิสิตนักศึกษา และองค์กรเยาวชน ได้รวมตัวยื่นหนังสือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ เพราะเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะของประชาชน และปราศจากกระบวนการพิจารณารับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
 
แถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ 
หยุด!!!คุกคามเสรีภาพประชาชน 
วันที่ 20 เมษายน 2554
 
ตามที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ…. ในวันที่ 10 มีนาคม 2554 และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... โดยมีนายนิพนธ์ พร้อมพันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานนั้น บัดนี้คณะกรรมาธิการได้พิจารณาแล้วเสร็จ และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ในวันพุธที่ 20 เมษายน 2554
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรประชาชน องค์กรแรงงาน องค์กรเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรนิสิตนักศึกษา และองค์กรเยาวชน ได้ติดตามการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะมาโดยตลอด มีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญที่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน หลักสิทธิเสรีภาพ หลักสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ดังนี้
 
ประการแรก การคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน 
ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ…. มีเนื้อหาสาระสำคัญอันเป็นการคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพประชาชนและประชาธิปไตย กล่าวคือ การชุมนุมสาธารณะที่จะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าต่อผู้รับแจ้ง ซึ่งหมายถึงหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง ก่อนเริ่มการชุมนุม หากแจ้งการจัดการชุมนุมน้อยกว่าระยะเวลาดังกล่าวจะต้องขออนุญาตจากบุคคลดังกล่าวเสียก่อน การชุมนุมจะต้องแจ้งสถานที่ จำนวนผู้ร่วมชุมนุม ห้ามตั้งเวทีบนถนน บนพื้นที่จราจร ห้ามชุมนุมกีดขวางทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา ศาล สนามบิน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานี ขนส่ง สถานทูตสถานกงสุล โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ราชการ ห้ามเคลื่อนย้ายการชุมนุมก่อนได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืนจัดชุมนุมจะมีความผิดในข้อหาเจตนาฝ่าฝืนการชุมนุม หรือข้อหาชักชวนผู้อื่นร่วมชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีโทษจำคุกข้อหาละ 6 เดือน
 
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชนเห็นว่า การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมเป็นเครื่องมือของประชาชนในการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ และความเรียกร้องต้องการทางเศรษฐกิจการเมืองสังคม อันมีสาเหตุมาจากความพิกลพิการของระบอบรัฐราชการ และระบอบประชาธิปไตยตัวแทนที่มองไม่เห็นหัวคนจน การละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนจึงไม่เพียงเป็นการสร้างแนวพื้นที่กันชนทางอำนาจให้กับรัฐบาล เพื่อขัดขวางไม่ให้เกิดการชุมนุมเท่านั้น ยังจะเป็นการสั่งสมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้เกิดมากขึ้นไปอีก เนื่องจากการปฏิเสธวิถีประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน
 
ประการที่สอง ขาดการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ…. เป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองที่ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยพึงจะมี ดังนั้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในร่างกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ จึงเป็นข้อตระหนักสำคัญของรัฐบาล รัฐสภา และพรรคการเมือง ในการระดมความคิดเห็นเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและทั่วถึง เมื่อพิจารณากระบวนการร่างกฎหมายฉบับนี้เห็นได้ชัดว่าขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประชาชนและเครือข่ายประชาชนที่เข้าไม่ถึงการกำหนดนโยบายสาธารณะ และการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่มีตัวแทนคณะกรรมาธิการจากพรรคฝ่ายค้าน ร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาอีกด้วย 
 
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน จึงขอแสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ในการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะของประชาชน และคัดค้านกระบวนการพิจารณาโดยปราศจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
 
อ่านรายละเอียดที่ http://www.prachatai3.info/journal/2011/04/34143     

ประชาชนริมโขงร้อง “รัฐบาลลาว” ยุติความขัดแย้งประเทศลุ่มน้ำโขง ยุติเขื่อนไซยะบุรี
20 เม.ย.54 เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลลาวยุติการก่อสร้าง โครงการเขื่อนไซยะบุรี ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง ยุติความขัดแย้งประเทศลุ่มน้ำโขง หลังจากที่การประชุมคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ วานนี้ (19 เม.ย.54) ที่กรุงเวียงจันทน์ เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการเขื่อนไซยะบุรี มีมติที่ประชุมมีผลว่ากัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนามได้เห็นพ้องร่วมกันว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการไซยะบุรีควรจะยกให้ระดับรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจ เนื่องจากคณะกรรมการร่วมไม่สามารถจะบรรลุข้อสรุปร่วมกันได้ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรกับโครงการ
 
“พวกเรา เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ขอเรียกร้องให้ รัฐบาลลาว และบริษัท ช.การช่าง ยุติการดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรีทันที และขอให้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ และเพื่อดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ชีวิต และธรรมชาติของภูมิภาคที่มีแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรร่วมกัน” แถลงการณ์ระบุ
 
อ่านรายละเอียดที่ http://www.prachatai3.info/journal/2011/04/34147   

ชาวพะเยายันค้านโรงไฟฟ้าแกลบห้ามผุดในพื้นที่-ผวาซ้ำรอยแม่เมาะ-ญี่ปุ่น
 
ชาวบ้าน “อ่างทอง” ไม่เอาโรงไฟฟ้าพลังแกลบ ผวาซ้ำรอย “โรงไฟฟ้าแม่เมาะ และญี่ปุ่น” นายก และสภา ยันทำตามมติชาวบ้าน ด้านอุตสาหกรรมจังหวัด ร่อนเอกสารให้ชาวบ้านเซ็น ย้ำ เจตนารมณ์ “ไม่เอาโรงไฟฟ้า”

นายอนุชา กาติ๊บ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อ่างทอง อ.เชียงคำ จ.พะเยา กล่าวว่า ได้มีบริษัทเอกชนรายหนึ่งเข้ามาติดต่อกับทาง อบต.เพื่อขอก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังชีวมวล ในท้องที่หมู่ 10 ต.อ่างทอง หลังจากที่ได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นจากทางบริษัทแล้ว ตนจึงแนะนำให้บริษัทดำเนินการจัดทำการประชุมประชาคมกับประชาชนในพื้นที่ หมู่ 10 ด้วยตัวเอง เพราะอำนาจการตัดสินใจจะให้สร้างหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมติของประชาชนหมู่ที่ 10 ต่อมาบริษัทได้ทำประชาคมเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า ประชาคมไม่ผ่าน มติประชาชนหมู่ 10 ไม่ยอมให้สร้าง

ทั้งนี้ ประชาชนให้เหตุผลว่ากลัวจะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง และล่าสุด จากเหตุการณ์การระเบิดของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่น ในขณะนี้ ยิ่งทำให้ประชาชนกลัวมากขึ้น ตอกย้ำประชาชนยิ่งไม่ให้มีการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่

นายก อบต.อ่างทอง กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพะเยา ได้มีแบบสอบถามมาถึงประชาชนในพื้นที่ ต.อ่างทอง กรอกเพื่อยืนยันว่าไม่ต้องการโรงงานไฟฟ้า ส่งเป็นเอกสารหลักฐานกลับให้ สนง.อุตสาหกรรม อีกครั้งหนึ่ง
       
 
 
ชาวไทยภูเขาฮือประท้วงป่าไม้ยื้อตัดถนนดอยช้าง
20 เม.ย.54 ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาใน อ.แม่สรวย และ อ.เมือง จ.เชียงราย จำนวนกว่า 1,000 คน เดินทางโดยรถยนต์กว่า 200 คันไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงราย เรียกร้องให้ รมว.คมนาคมช่วยเหลือการก่อสร้างถนนจากบ้านห้วยส้านลีซอ ต.ห้วยชมภู อ.เมือง กับบ้านดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณ 50 ล้านบาท ก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2553 มีกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 ที่จะถึงนี้ แต่ปรากฏว่าก่อสร้างไปเพียง 2 กิโลเมตรก็หยุดโครงการ เนื่องจากทางสำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 15 ออกมาคัดค้านอ้างว่าอยู่ในเขตป่า ทำให้กลายเป็นปัญหายืดเยื้อ เกรงว่าหากหมดระยะเวลาโครงการงบประมาณจะถูกโยกไปยังพื้นที่อื่น ทั้งที่ชาวบ้านต้องทนทุกข์กับการใช้ถนนดินแดงมานานกว่า 100 ปี การขนส่งพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านกว่า 50,000 คนไม่สามารถทำได้ ต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นที่ไกลกว่า 70 กิโลเมตร
 
ต่อมา พ.อ.พรชัย ดุริยพันธ์ รอง ผอ.รมน.จ.เชียงราย เป็นตัวแทนของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เดินทางมาเจรจาโดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาเจรจาร่วมกับตัวแทนชาวบ้าน ได้ข้อสรุปให้ดำเนินการก่อสร้างถนนได้ โดยมีข้อแม้ว่าต้องให้เป็นถนนเพื่อความมั่นคง โดยทางทหารจะเข้ามาควบคุมการก่อสร้าง รวมถึงการใช้เส้นทาง ชาวบ้านต่างพอใจจึงยอมสลายตัวในที่สุด
 
 
เครือข่ายอปท.เสนอ 10 ข้อปฏิรูปองค์กร
ที่โรงแรมรามาการ์เด้น 8 เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้นำเสนอข้อเสนอการปฏิรูประบบการปกครองท้องถิ่นต่อตัวแทนพรรคการเมือง มีนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ , นายวิทยา บุรณศิริ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย , พ.ต.อ.ธนบดี ภู่สุวรรณ พรรคประชากรไทย , นายประเสริฐ เลิศยะโส พรรคการเมืองใหม่ เข้าร่วมรับฟังข้อเสนอ
 
นายชาตรี อยู่ประเสริฐ เป็นตัวแทนนำข้อเสนอในการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น 10 ข้อ มีประเด็นหลักคือ 1.จัดตั้ง “ สภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ” ให้เป็นกลไกกลางในการประสานให้เกิดการพัฒนาระบบการปกครองท้องถิ่น และพัฒนาระบบที่มีความยืดหยุ่นตามพื้นฐานทางวัฒนธรรม 2.จัดสรรงบประมาณแก่ อปท. ในระดับที่พอเพียงต่อการดูแลประชาชน โดยเบื้องต้นให้ใช้สัดส่วนงบประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของรายได้ของรัฐบาล ภายใน 5 ปี
 
3 .ใช้มาตรการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวของประชากรในสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ 4 .ตรากฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นขึ้นใหม่ และแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เป็นไปโดยกลไกภาคประชาชน
 
5. จัดตั้ง “กองทุนการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ให้เป็นกลไกการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนในชุมชนท้องถิ่น 6. ใช้มาตรการสมทบงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่นที่พัฒนาระบบการจัดการตนเองและมีระบบการเงินการคลังของชุมชนด้วยการจัดตั้งเป็นกองทุนที่มีระบบบริหารจัดการที่ได้รับการยอมรับของชุมชน
 
7.จัดตั้ง “กองทุนสวัสดิการสำหรับบุคลากรของท้องถิ่น” ให้มีความเสมอภาคกับสวัสดิการที่รัฐให้กับข้าราชการพลเรือน
8. ผลักดันข้อเสนอปฏิรูปโครงสร้างอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะการยุบราชการส่วนภูมิภาค 9.ผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับท้องถิ่นที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้สามารถมีผลบังคับใช้ได้โดยเร็ว และ 10.จัดตั้ง “สถาบันพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่เป็นอิสระ
 
 
สคจ.เปิดบันทึกเจรจากับรัฐบาล ทวงสัญญาแก้ปัญหาปากมูล หลังผ่านมา 40 วัน ไม่คืบหน้า

20 เม.ย 54 มีรายงานว่า สมัชชาคนจน ส่งบันทึกการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับชาวบ้านปากมูนในวันที่ 21 ก.พ.54 ที่ผ่านมาให้สื่อมวลชนและสาธารณธชนได้รับทราบ หลังจากได้ตกลงกับรัฐบาล จะครบ 45 วันในวันที่ 22 เมษายน นี้ แต่จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีการดำเนินการอะไรเลย
โดยบันทึกระบุว่า นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เห็นชอบที่จะให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการศึกษาข้อมูลวิจัยและรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนข้างจึงให้มีการประชุมรวมกันอีกครั้งระหว่าง ขปส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อ่านรายละเอียดที่ http://prachatham.com/detail.htm?code=n2_20042011_01  
 
นักวิชาการ-เอ็นจีโอ จวก ครม.ทำ ‘ร่างสถาบันฯ ธนาคารที่ดิน’ เพี้ยน หวั่นกระทบถึงธนาคารที่ดิน
19 เม.ย.54 เมื่อเวลา 9.00 น.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่น และศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการ “สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน กับการแก้ไขปัญหาคนจนไร้ที่ทำกิน” เพื่อทำความเข้าใจในสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว พร้อมกำหนดทิศทางการทำงานและขับเคลื่อนให้การจัดตั้ง สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการกระจายการถือครองที่ดิน
 
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 8 เม.ย.54 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ เมื่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้องยืนยันเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวด้วยแล้ว ตามจุดมุ่งหมายของคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) เพื่อให้เป็นสถาบันแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้เกษตรกรและคนจนไร้ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพระหว่างรอการจัดตั้งธนาคารที่ดิน
 
นักวิชาการเสนอ 3 แนวทางกระจายการถือครองที่ดิน
 
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแสดงความเห็นต่อร่างกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินว่า ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของกลไกของรัฐในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน ซึ่งมีอีก 2 กลไกหลักในการแก้ปัญหาดังกล่าว คือ กลไกตลาดโดยการใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และกลไกฐานชุมชน โดยการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการและถือครองที่ดิน เช่น การจัดทำโฉนดชุมชน      
 
อย่างไรก็ตาม ร่างกฤษฎีกาที่ผ่าน ครม.มานั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนจากร่างแรก โดยได้ตัดส่วนที่พูดถึงการคุ้มครองพื้นที่เกษตรออกไป อีกทั้งในส่วนที่มาของงบประมาณสนับสนุนก็เปลี่ยนจากเดิมที่เขียนเอาไว้ว่าเป็นงบประมาณประจำปีจากงบประมาณแผ่นดิน ก็ถูกกำหนดให้เป็นเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามสมควร หมายความได้ว่าหากรัฐบาลจะให้หรือไม่ให้ก็ได้ ทั้งที่ในส่วนนี้ควรต้องมีหลักประกันที่มาที่แน่นอนของแหล่งเงินทุน นอกเหนือจากเงินประเดิม จึงจะทำให้มั่นใจได้ว่าธนาคารที่ดินจะเดินไปได้
 
อ่านรายละเอียดที่ http://www.prachatai3.info/journal/2011/04/34137  
 
เครือข่ายประชาชน ตอ.ยื่นหนังสือถึงนายกฯ จัดการเด็ดขาดโรงงานปล่อยน้ำเสีย
เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ สำเนาถึงนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม จัดการเฉียบขาด กรณีโรงงานปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนน้ำประปาส่งกลิ่นเหม็นทั้งเมือง
       
19 เม.ย.ที่ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก นำสมาชิกเครือข่ายจำนวน 50 คน เข้ายื่นหนังสือถึง นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และสำเนาถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ารับฟังด้วย
       
นายสุทธิ กล่าวว่า จากเหตุการณ์โรงงาน สยามเอทานอล เอ็กซปอร์ต หมู่ 8 ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง อ้างว่า ผนังกั้นดินบ่อบำบัดน้ำเสียแตก ทำให้น้ำกลิ่นคล้ายส่าเหล้าไหลลงคลองใหญ่ลงสู่ฝายต้นน้ำแม่น้ำระยอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภคของชาวระยองส่งกลิ่นเหม็น
       
ทำให้ชาวบ้านต้องเปิดน้ำประปาทิ้ง โรงงานผลิตน้ำดื่มที่ใช้น้ำประปาเป็นวัตถุดิบได้รับความเสียหายหนัก ต้องระบายน้ำทิ้งจำนวนหลายหมื่นลิตร อุปกรณ์เครื่องกรองน้ำต้องเปลี่ยนใหม่หมด และน้ำเสียดังกล่าวไหลลงแม่น้ำระยองออกสู่ปากน้ำระยอง หวั่นมีผลกระทบต่อป่าชายเลนปากน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยขอให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเฉียบขาดกับโรงงานแห่งนี้ เพราะเกิดปัญหาซ้ำซาก รวมทั้งให้จังหวัดมีมาตรการจัดการกับโรงงานที่ตั้งอยู่เหนือแหล่งน้ำผลิตน้ำประปา
       
นายธวัชชัย กล่าวว่า ได้เชิญอัยการจังหวัดระยองมาเป็นที่ปรึกษาข้อกฎหมาย ในการฟ้องคดีทั้งอาญาและแพ่ง และให้ชลประทาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประมง อุตสาหกรรม ประปาภูมิภาค รวบรวมข้อมูลในการฟ้องเรียกค่าเสียหาย ส่วนการแก้ไขปัญหาโรงงานที่ตั้งอยู่เหนือต้นน้ำแหล่งผลิตน้ำประปา ซึ่งขณะนี้ได้กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบโดยละเอียดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นอีก
       
จากการตรวจสอบ พบว่า ชลประทานได้วางท่อส่งน้ำขนาดใหญ่จากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ.นิคมพัฒนา เขตติดต่อ อ.บ้านค่าย ซึ่งอยู่ระหว่างขอรับการสนับสนุนจากชลประทาน วางท่อส่งน้ำขนาดใหญ่เชื่อมต่อมายังแหล่งผลิตน้ำประปา อ.บ้านค่าย เพื่อแก้ปัญหาโรงงานลักลอบปล่อยน้ำเสียลงคลอง ส่งผลกระทบปนเปื้อนน้ำประปา โดยจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลมาผลิตน้ำประปาแทน ซึ่งต้องใช้งบประมาณเกือบ 200 ล้านบาท แต่กรมชลประทานแย้งว่า เป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคไม่เกี่ยวกับชลประทาน
       
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้การประปาส่วนภูมิภาคเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำประปาในอนาคตของ จังหวัดระยอง ด้วยการติดตั้งโรงกรองน้ำผลิตน้ำประปาเพิ่มอีกแห่งหนึ่ง ที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งจะใช้งบประมาณ 720 ล้านบาท ส่งน้ำมาตามแนวชายทะเลมายังพื้นที่ตัวเมืองระยอง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำประปาให้แก่ชาวระยองอย่างทั่วถึง
 
ศาลปกครองสูงสุดสั่งระงับแล้ว-โรงงานขยะ 700 ล้าน อบจ.ลำปาง
นายบุญสม ชมพูมิ่ง ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (18 เม.ย.) ตนพร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้านในเขตตำบลบ้านเป้า ตำบลต้นธงชัย รวม 8 คน ได้เข้ารับฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่ชาวบ้านในตำบลบ้านเป้า ตำบลต้นธงชัยได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง เมื่อปี 2553 ให้ระงับโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ของ อบจ.ลำปาง ที่ว่าจ้างเอกชนเข้าทำการก่อสร้างด้วยวงเงินงบประมาณเกือบ 700 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มปรับพื้นที่และก่อสร้างไปบางส่วน ในพื้นที่ตำบลต้นธงชัย

แต่ทาง อบจ.ลำปาง ต้องชะลอการก่อสร้าง เนื่องจากคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นได้กำหนดมาตรการหรือวิธีคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยให้ระงับโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
       
ล่าสุด 18 เม.ย. ศาลปกครองชั้นต้น ได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ให้ยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ที่ระบุว่า แม้ อบจ.ลำปาง จะมีหน้าที่ในการจัดเก็บขยะ โดยโครงการก่อสร้างขยะมูลฝอยมีมูลค่า 695,800,000 บาท เป็นเงินภาษีของประชาชน หากโครงการดังกล่าวยังดำเนินต่อไปจนแล้วเสร็จ แล้วต่อมาศาลมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายที่มากกว่า ประกอบกับขณะนี้โครงการก่อสร้างดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น การระงับโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย จึงย่อมไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของผู้ถูกฟ้องคดีแต่อย่างใด ศาลปกครองสูงสุด จึงเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น
       
นายบุญสม กล่าวว่า การตัดสินของศาลปกครองครั้งนี้ ถือว่ายุติธรรมกับชาวบ้านมาก เพราะหากยังให้ อบจ.ลำปาง ดำเนินการต่อ ชาวบ้านก็คงได้รับผลกระทบ และที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชาวบ้านสามารถเข้าใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ อบจ.ลำปาง ได้ดำเนินการอย่างไม่ถูกต้องมาตั้งแต่แรก ซึ่งชาวบ้านรอคำสั่งของศาลปกครองมานานแล้ว และวันนี้ก็พอใจกับการตัดสิน
       
และต่อไปชาวบ้านก็คงต้องคอยดูแลเพื่อไม่ให้ อบจ.ลำปาง เข้าไปดำเนินการก่อสร้างบ่อกำจัดต่ออีก จนกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นของส่วนกลางได้เรียบร้อยก่อน ชาวบ้านจึงจะได้ประชุมกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรกับพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันก็ไม่เหลือป่าไม้อีกแล้ว
 
ชาวบ้านชลบุรีค้านหวั่นนายทุนรุกที่สาธารณะ
ชาวบ้านค้านนายทุนชลบุรีพานายช่างที่ดินมารางวัดที่สาธารณะน้ำทะเลท่วมถึงกว่า 500 ไร่ มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท แถมบางแปลงยังใช้ชื่อสค. 1 ซ้ำซ้อนกะสวมสิทธิ์ ขณะที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดยืนยันแนวเขตหากรุกล้ำอุทยานพร้อมคัดค้านเช่นกัน
 
นายบัญชา เสือเหลือง นายก อบต.เขาแดง ,นายนคร สายฟ้า กำนัน ต.เขาแดง พร้อมด้วยชาวบ้านเขาแดงอีกประมาณ 20 คน เดินทางไปยังชายทะเลหมู่ที่ 2 ต.เขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังทราบข่าวว่า นายทุนจาก จ.ชลบุรี ได้พานายช่างรางวัดที่ดิน จากสำนักงานที่ดิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาทำการระวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดิน นอกจากนี้ยังมี นายนพวงษ์ พฤษชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ,นายจรัส คำแพง ผช. หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ซึ่งได้รับหนังสือจากทางสำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ไปชี้แนวเขตของอุทยานฯด้วยเนื่องจากที่ดินที่จะทำการรางวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินมีบางส่วนติดกับอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดด้วย ทั้งนี้ที่ดินที่จะดำเนินการระวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดินในครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 16 แปลง เนื้อที่รวมกันกว่า 500 ไร่ มูลค่าเบื้องต้นประมาณ 500 ล้านบาท แต่หากซื้อขายต่อเพื่อปลูกสร้างโรงแรมรีสอร์ท มูลค่าที่ดินจะขยับขึ้นไปอีก 2-3 เท่าตัว โดยพบว่านายทุนได้ดำเนินการปักไม้ไผ่ผูกถุงพสาสติกเป็นแนวเขตเบื้องต้นแล้ว โดยที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินตะกาดน้ำทะเลท่วมถึง และหน้าที่ดินติดกับชายทะเลสามร้อยยอดที่สวยงามเกือบทั้งหมด
 
ทั้งนี้พบว่าในขั้นตอนของการชี้แนวเขต มีชาวบ้านบางส่วนได้มายืนยันชื่อใน สค. 1 ที่พบว่า มีการซ้ำซ้อนกับ สค. 1 ที่นายทุนได้นำมายื่นเพื่อขอออกโฉนดด้วย โดย สค. 1 ที่ซ้ำซ้อนมิได้อยู่ในจุดที่จะทำการออกโฉนด คล้ายการนำมาสวมสิทธิ์ อีกทั้งการวางวัดที่ยังพบว่านายทุนไม่สามารถชี้แนวเขตของตัวเองที่ถูกต้องได้ เพราะเพื่อชี้ไปตรงจุดใดก็พบว่าเป็นจุดที่ดินของอุทยานฯบ้าง เป็นจุดที่เป็นที่ดินของชาวบ้านบ้าง สุดท้ายการชี้แนวเขตต้องยุติลง โดยระบุว่าในวันที่ 19 เมษายน 2554  นายทุนจะพาเจ้าหน้าที่ที่ดินมาชี้แนวเขตเพื่อรางวัดที่ดินใหม่อีกครั้ง โดยมีการอวดอ้างกับเจ้าหน้าที่ด้วยว่าหากไม่สามารถรางวัดที่ดินเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ได้นายทุนจะร้องเรียนเรื่องดังกล่าวไปยังอธิบดีกรมที่ดินเลยทีเดียว
 
อย่างไรก็ตามในส่วนของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ได้ยืนยันแนวเขตที่ดินของอุทยานกับสื่อมวลชน พร้อมระบุด้วยว่า ที่ดินที่นายทุนขอออกโฉนดนั้น มีการทับซ้อนกับที่ดินของอุทยานแน่นอน โดยขอให้มีการตรวจสอบให้ถูกต้องอีกครั้งจากภาพถ่ายทางอากาศหรือเทียบเคียงกับ สค. 1 ของชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง โดยทางอุทยานมีความจำเป็นต้องคัดค้านหากพบว่ามีการรุกล้ำที่ดินของอุทยาน ส่วนที่ดินแปลงอื่นยังพบว่า เป็นที่ดินตะกาด หรือที่ดินที่น้ำทะเลท่วมถึง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยปกติจะเป็นที่สาธารณประโยชน์ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ใดๆได้
 
 
ชาวบ้านริมโขงยื่นหมื่นรายชื่อถึงสถานทูตลาว – นายกไทย ค้านเขื่อนไซยะบุรี
18 เม.ย.54 เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น.เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ราว 100 คน จากจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เดินทางไปถึงหน้าสถานทูตลาวประจำประเทศไทย เพื่อยื่นจดหมายถึงนายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีลาว แจ้งความกังวลใจและขอให้ทบทวนโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี พร้อมมอบสำเนารายชื่อชาวบ้านริมน้ำโขงที่ร่วมคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีราว 10,000 รายชื่อ
 
สืบเนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ เอ็มอาร์ซี (Mekong River Commission: MRC) จะจัดการประชุมวาระพิเศษของคณะกรรมการร่วม (Joint Committee Special Session) 4 ประเทศ (กัมพูชา, ลาว, ไทย และเวียดนาม) ที่สำนักงานในนครหลวงเวียงจันทน์เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ในวันที่ 19 เม.ย.นี้
                        
ตามจดหมายที่ส่งถึง นายกรัฐมนตรีของลาว ระบุถึงการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จำนวน 5 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.54 ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย และสิ้นสุดที่จังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ 8 เม.ย.54 เพื่อปรึกษาหารือและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี โดยความเห็นส่วนใหญ่มองว่า ที่ผ่านมาโครงการเขื่อนไซยะบุรีไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้ ในขณะที่การก่อสร้างโครงการกลับมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว สร้างความกังวลใจต่อผลกระทบข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
 
พร้อมเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีของลาวเลื่อนการตัดสินใจในการให้ความเห็นชอบต่อการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ของคณะกรรมการร่วม MRC ในการประชุมวันที่ 19 เม.ย.นี้ ออกไป เพื่อให้มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและชัดเจน พร้อมกับการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง
 
ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า การเดินทางองชาวบ้านมาที่สถานทูตลาวในวันนี้เป็นการแสดงออกซึ่งสัญลักษณ์ในการไม่ต้องการเขื่อนของประชาชนริมน้ำโขง โดยประชาชนผู้ได้รับผลกระทบตัวจริงได้ออกมาพูดด้วยตัวเอง และประชาชนควรเป็นผู้มีสิทธิในการกำหนดอนาคตที่อยู่ร่วมกับแม่น้ำโขง ไม่ใช่รัฐบาลหรือนายทุน อีกทั้งที่ผ่านมาการศึกษาของ MRC ก็ได้ชี้ชัดแล้วว่าการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขง และได้มีข้อเสนอให้ชะลอการตัดสินใจสร้างเขื่อนออกไปอีก 10 ปี เพื่อทำการศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนก่อน
 
นายนิวัฒน์ กล่าวให้ข้อมูลด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีการเสนอข่าวของสื่อมวลชนว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาวได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาราว 5 เดือนแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างอย่างเป็นทางการ ในขณะที่ท่าทีของประเทศสมาชิก MRC ทั้งเวียดนาม กัมพูชา และไทยเองก็ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวเพราะต่างหวั่นเกรงผลกระทบ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลลาวแล้วว่าจะเคารพการตัดสินใจของประเทศสมาชิกอื่นๆ หรือไม่ อย่างไรก็ตามการเดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้นั้นต้องการยุติกระบวนการในฝั่งของรัฐบาลไทย บริษัทเอกชน รวมทั้งการสนับสนุนในด้านต่างๆ ของไทย เพราะการก่อสร้างโครงการดังกล่าวไม่สามารถกล่าวโทษรัฐบาลลาวแต่เพียงฝ่ายเดียวได้     
 
สำหรับการไปยื่นจดหมาย พร้อมมอบสำเนารายชื่อชาวบ้านริมน้ำโขงที่ร่วมคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี 10,000 รายชื่อต่อ ดร.ศรีประภา เพชรมีสี ผู้แทนไทยในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน เพื่อขอให้ร่วมตรวจสอบการดำเนินการโครงการดังกล่าวเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ นายนิวัฒน์ กล่าวว่า ดร.ศรีประภาได้รับปากจะนำเรื่องนี้เขาหารือในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียนภายในเดือนพฤษภาคม เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบด้านสิทธิของประชาชน และมีผลกระทบข้ามพรมแดนซึ่งควรถูกยกระดับไปสู่การพูดคุยในวงอาเซียน
  
อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.prachatai3.info/journal/2011/04/34109  
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วันนี้! นัดสืบพยานคดี ‘จอน อึ๊งภากรณ์’และพวกปีนสภาค้าน สนช.ผ่านกฎหมาย

Posted: 24 Apr 2011 11:15 AM PDT

25 เม.ย.54 เวลา 9.00 น. ณ ศาลอาญา ห้องพิจารณาคดีที่ 804 ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีหมายเลขดำที่ อ.4383/2553 ระหว่างพนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 โจทก์ กับนายจอน อึ๊งภากรณ์ ที่ 1 กับพวกรวม 10 คน จำเลย เนื่องจากเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล และได้มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่เสมือนสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาตรากฎหมายต่างๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาชนจำนวนมาก จนนำไปสู่การใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญเพื่อยับยั้งกฎหมายที่มีเนื้อหาและกระบวนการตรากฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งมีการเข้าไปชุมนุมบริเวณด้านหน้าห้องประชุมรัฐสภาเพื่อขอให้ สนช. ยุติการพิจารณากฎหมายหลายฉบับและเคารพเสียงของประชาชน เนื่องจากได้มีการกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว จึงควรให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้พิจารณากฎหมายตามหลักการประชาธิปไตยต่อไป การเข้าไปภายในรัฐสภาดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยทั้ง 10 ถูกฟ้องเป็นคดีนี้ 

 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: การปิดถนน คุก และคดีความนับสิบ! เสียงสะท้อนชาวบ้านสระบุรี

Posted: 24 Apr 2011 09:36 AM PDT

 
เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา แกนนำกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี และกลุ่มต่อต้านบ่อขยะ ต.ห้วยแห้ง จ.สระบุรี รวม 5 คน ขึ้นศาลสืบพยานโจทก์นัดแรกคดีที่ชาวบ้านปิดถนนพหลโยธิน กม.98-99 บริเวณช่องทางด่วนขาเข้าและขาออกเมื่อเดือนกันยายนปี 2552
 
ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์หนองแซงนั้นรวมกลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท บริษัทเพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด  โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ขนาดกำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงมาตั้งแต่โครงการยังไม่ผ่านการประมูล เพราะพื้นที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่อนุรักษ์เกษตรกรรม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นท้องไร่ท้องนา ชาวบ้านจึงเกรงปัญหาด้านมลพิษ การแย่งใช้น้ำในหน้าแล้ง การระบายน้ำเสียลงคลอง ฯลฯ อีกทั้งโรงไฟฟ้ายังตั้งห่างจากชุมชนเพียงประมาณ 500 เมตร ปัจจุบันรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการผ่านแล้ว และกำลังดำเนินปรับพื้นที่มาตั้งแต่เดือนมกราคม 54
 
ก่อนหน้านี้ถ้ายังจำกันได้ในเดือนกรกฎาคม 2552 ชาวบ้านเชียงราย 3 คนก็ถูกศาลเชียงรายสั่งจำคุกคนละ 1 ปี หลังถูกกล่าวหาว่านำประชาชนไปปิดถนนพหลโยธินสายเชียงราย-พาน พื้นที่ อ.พาน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีการช่วยเหลือเรื่องราคาข้าวนาปรังที่ตกต่ำ ส่วนความผิดฐานร่วมกันโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้รับอนุญาตปรับคนละ 200 บาท แต่จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิพากษา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 100 บาท

การปิดถนนกลายมาเป็นเครื่องมือการต่อสู้ของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ที่เดือดร้อนด้วยประเด็นต่างๆ แม้การชุมนุม การต่อสู้เพื่อชุมชนท้องถิ่นจะเป็นสิทธิที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่วิธีการเช่นนี้อาจทำให้ทำให้เกิดคำถามตัวใหญ่สำหรับสังคมว่าเป็นเรื่องที่ทำได้แค่ไหน อย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ที่การชุมนุมทางการเมืองเข้มข้น และรัฐเองก็พยายามจะจัดระเบียบการชุมนุมของทุกกลุ่มผ่านการผลักดัน พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ  
 

ตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี
 
 
 
‘ตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี’ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์หนองแซง กล่าวถึงเหตุของการตัดสินใจปิดถนนว่า เขารู้อยู่แล้วว่าการปิดถนนนั้นจะเกิดผลกระทบด้านลบต่อขบวนชาวบ้าน รวมถึงคดีความที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและแกนนำ แต่เขาก็ไม่อาจทัดทานความต้องการของชาวบ้านในกลุ่มได้ หลังจากพวกเขาพยายามทุกวิถีทางในการเรียกร้องหน่วยงานต่างๆ แล้ว แต่ไม่เป็นผล จนกระทั่งถึงภาวะหลังพิงฝา
 
มันเกิดจากการคัดค้านในพื้นที่บ่อยมาก เป็นสิบๆ ครั้ง ชาวบ้านรู้สึกว่าไปทางไนก็ไม่มีทางออก ไปหาผู้ว่าฯ กระทรวงทรัพฯ กรมโยธา หน้าทำเนียบฯ ไปมาทุกที่แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันเหมือนไม่มีทางออก แล้ววันก่อนเกิดหตุ ตำรวจเหมือนเป็นตัวกระตุ้น ช่วงนั้นโรงไฟฟ้าซึ่งอีไอเอยังไม่ผ่านได้เข้ามาขุดเจาะดิน โดยมีกลุ่มอันธพาลวัยรุ่น มีอาวุธ มาคอยคุ้มกันการดำเนินงาน ตำรวจอยู่ไกลๆ ทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่สนใจลงพื้นที่ ชาวบ้านเขาก็รู้สึกกดดันจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ แจ้งความก็ไม่อยากจะรับแจ้ง เขาก็ไม่รู้จะไปยังไงแล้ว จริงๆ ชาวบ้านหลายคนก็ชวนปิดถนนมาเป็นปีแล้ว เราก็ค้านไว้ ถึงตอนนั้นชาวบ้านก็ยืนยันว่าไม่มีทางออกแล้ว เราบอกว่าปิดถนนต้องคิดให้ดี เพราะมันจะมาลงที่ผม แต่ถ้าพร้อมก็ไปไม่ได้ว่าอะไร ปรากฏเขาก็ไปกัน”
 
ตี๋เล่าถึงเหตุผลของการปิดถนนของชาวบ้าน
 
“ถ้าสถานการณ์มันไม่ย่ำแย่จริงๆ คงไม่ทำกัน มันเป็นอะไรที่หนักและเหนื่อยมากๆ ตอนปิดถนนทุกคนจะเครียด กลางคืนดูแลความเรียบร้อยลำบาก ตำรวจบางทีปล่อยทิ้งเลย มีรถมาป่วนบ้างอะไรบ้าง ต้องคอยดูแลกันเอง” ตี๋กล่าว
 
ขณะที่นายนพพล น้อยบ้านโง้ง ชาวบ้านกลุ่มต้านบ่อขยะกล่าวถึงคัดค้านการดำเนินการของบ่อกำจัดขยะสารเคมี บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด ในพื้นที่หมู่ 8 ต.หนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี ว่า ชาวบ้านได้ร่วมกันคัดค้านบ่อกำจัดขยะดังกล่าวเนื่องจากส่งผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบราว 20,000 คนอันที่จริงเมื่อ 5 เม.ย.52 นายธนเษก อัศวานุวัตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้สั่งปิดชั่วคราวบ่อขยะแล้วเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่จากนั้นก็มีคำสั่งแก้ไขคำสั่งปิดชั่วคราว ให้เป็นเพียงการสั่งปรับปรุงตามอำนาจที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 เม.ย.52 พนักงานจากบริษัทผู้ประกอบการขนส่งกับโรงงานกำจัดขยะนำรถบรรทุกมาปิดถนนพหลโยธินฝั่งขาเข้าสระบุรี พร้อมกับมีพนักงานกลุ่มหนึ่งเดินทางไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเรียกร้องรัฐมนตรีสั่งเปิดโรงงานกำจัดขยะดังกล่าว โดยระบุว่าหากโรงงานปิดตัวลงจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่พนักงาน และมีการทักท้วงจากกระทรวงอุตสาหกรรมว่าการสั่งปิดดังกล่าวอาจผิดหลักการที่ต้องเปิดโอกาสให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องก่อน อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้บ่อกำจัดขยะยังคงเปิดดำเนินการได้และยังไม่เห็นกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม
 
 
 
 
สำหรับการร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้านั้น นายนพพลกล่าวว่า เป็นการร่วมกันในฐานะผู้เดือดร้อนเช่นเดียวกัน ซึ่งก็จะมีการปรึกษา และเปลี่ยนประสบการณ์กัน เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาต่างไม่สามารถพึงพาหน่วยราชการหรือหน่วยอื่นๆ นอกพื้นที่ได้ ที่ผ่านมากลุ่มชาวบ้านซึ่งคัดค้านเรื่องบ่อกำจัดขยะได้ชุมนุมกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดเป็นเวลากว่า 1 เดือน ก็มีตัวแทนชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าหนองแซงมาร่วมขึ้นเวทีด้วย ส่วนการชุมนุมปิดถนนเมื่อเดือนกันยายน 52ของชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้านั้น นพพลบอกว่าพอทราบข่าวก็ได้แวะไปร่วมพูดคุยกับชาวบ้านเท่านั้น แต่ก็ถูกดำเนินคดีด้วย
 
อย่างไรก็ดี การปิดถนนของชาวบ้านห้วยแห้งเพื่อเรียกร้องให้แก้ปัญหาบ่อขยะ รวมถึงการปิดถนนของพนักงานบ่อขยะที่เรียกร้องให้เปิดบ่อขยะนั้นเกิดขึ้นบริเวณใกล้เคียงกับที่ชาวบ้านหนองแซงปิดถนนประท้วงโรงไฟฟ้า แต่ทั้งสองกรณีไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านและพนักงาน
 
นพพลจึงมองว่าการฟ้องคดีครั้งนี้กิดขึ้นเพราะต้องการหยุดผู้ต่อต้านโครงการทั้งสองแห่งที่เริ่มรวมตัวกัน ไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหว
 
ไม่เพียงแต่คดีปิดถนนเท่านั้น ภายใน 2-3 ปีนี้ชาวบ้านหนองแซงที่คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้ายังถูกดำเนินคดีอีกถึง 15คดี ในจำนวนนั้นมี 10 คดีที่อยู่ในชั้นศาล (ดูรายละเอียดในไฟล์แนบ) บางคดีมีจำเลยร่วมนับยี่สิบคน เฉพาะนายตี๋ก็เหมาคนเดียว 7 คดี โดยส่วนมากจะเป็นคดีอันเกิดจากเหตุการผลักดันกันในพื้นที่
 
“ผมโดนหลายคดี กักขังหน่วงเหนี่ยวข่มขืนใจ ฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อการประทุษร้ายโดยอาวุธ 22 มี.ค. วันเดียวกันนี้ก็โดนอีกคดีตอนเย็นพยายามฆ่าผู้อื่น ล่าสุดคดีปิดถนน และหมิ่นประมาท อยู่ชั้นอัยการ ส่วนที่อยู่ชั้นตำรวจ มีหมายเรียกเป็นคดีทำร้ายร่างกาย ไม่รู้ไปทำร้ายร่างกายคนงาน หรือพยายามฆ่าตอนไหน เพราะมันก็เป็นเหตุการณ์การผลักดันกันในพื้นที่ เหตุเกิดเพราะเวลาเขามาเขาปิดกั้นทางสาธารณะ ก็ดันกัน ทะเลาะกัน สองฝ่ายเจ็บทั้งคู่” ตี๋กล่าว
 
“ปัญหามันเกิดเพราะหน่วยงานรัฐพยายามปิดกั้นฝ่ายชาวบ้าน เช่น การขอข้อมูลระวาง ขอดูโฉนดจากที่ดินอำเภอหรือจังหวัด เขาก็มักอ้างว่าต้องเป็นหน่วยงานราชการถึงจะดูได้ ข้อเท็จจริงปรากฏทางสาธารณะ 3 เส้นในแผนผัง แต่ไม่ปรากฏในโฉนด หน่วยราชการก็บอกไม่มี ชาวบ้านไปร้อง เขาแก้ปัญหาด้วยการทำรั้วตาข่ายให้มองเห็นได้ ทั้งที่จริงๆ มันต้องให้คนเดินได้” ตี๋ยกตัวอย่างเรื่องทางสาธารณะ
                                          
พื้นที่หนองแซงเป็นพื้นที่ใหม่ในการต่อสู้เรื่องนี้ ชาวบ้านเริ่มตื่นตัวและรวมตัวกันเมื่อมีโครงการขนาดใหญ่อย่างโรงไฟฟ้าเข้ามา แต่เมื่อหลายคนโดนคดีหลายคดีเช่นนี้ ทำให้ขบวนชาวบ้านอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด
 
“เขาพยายามหาคดีเล็กๆ น้อยๆ อะไรก็แล้วแต่ เอาหมด แจ้งความหมด พอถูกคดีเยอะๆ ก็มีปัญหาการขับเคลื่อน มีข่าวปล่อย ข่าวลือสารพัด อย่าออกจากบ้านนะ จะถูกตำรวจอุ้ม อย่าไปไหนมาไหนมันอันตราย มีข่าวลือว่าเขาจะเก็บ ส่วนที่เหลือก็ยังไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง ไปไหนมาไหนก็อยากมีแกนนำไปด้วย พวกที่พอนำได้พอติดคดี มันก็จะทำให้การเคลื่อนไหวไม่ค่อยแรงเหมือนเมื่อก่อน แม้กระทั่งงานส่วนตัวก็เสียหายแทบไม่ได้ทำมาหากิน ขึ้นศาลนี่ไปแทบทุกวันในช่วงนี้ คดีคนอื่นเราก็ต้องไป เพราะเขาอยากให้ไปด้วย จนตอนนี้การขึ้นศาลกลายเป็นอาชีพหลัก”
 
“กระบวนการยุติธรรมบ้านเราปัญหาเยอะ ตั้งแต่ระบบกล่าวหา คำสั่งศาลผู้พิพากษาก็มักจะเขียนปิดประตูฟ้องกลับ เราก็ถูกกระทำแบบนี้เยอะมาก บริษัทเขามีทีมทนายประจำ คดีอะไรก็แล้วแต่ที่เขาสามารถเป็นโจทก์ร่วมได้เขาจะเข้าเป็นโจทก์ร่วม ของเรานั้นค่าใช้จ่ายก็ต้องควักกันเอง”
 
 
กระนั้นก็ตาม ตี๋และสมาชิกในกลุ่มอนุรักษ์ที่ยังเหลือยังคงตรวจสอบโครงการโรงไฟฟ้าต่อไป แม้จะได้รับการอนุมัติอีไอเอ เหลือเพียงการขอใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า และขณะนี้กำลังดำเนินการถมที่อยู่ ซึ่งตี๋ระบุว่าในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครมาตรวจสอบ บังคับให้เป็นไปตามอีไอเอ
 
“เขาไม่สนอีไอเอ การปรับพื้นที่เริ่มทำตั้งแต่ตีสี่ถึงดึก มีเสียงดังรบกวนชาวบ้าน นั่งห่าง 300 เมตร เสียงเครื่องจักร รถบด รถเทรคเตอร์ ดังมากรบกวนตลอด ที่ว่าจะทำรั้วเหล็ก 1.3 ม.ม. ตรวจสอบแล้วก็พบว่ารั้วหนาไม่เกิน 0.4 ม.ม. หรือเมื่อเดือนเม.ย.มีฝนตก ตามอีไอเอบอกต้องมีบ่อน้ำกักเก็บ เขาไม่ทำ เขาสูบออกขางนอก”
 
ถึงที่สุด ชาวบ้านหนองแซงรู้ดีว่าเขาไม่อาจปฏิเสธการพัฒนาได้ และไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดโรงไฟฟ้า แต่พวกเขายังคงต้องทำหน้าที่เป็นผู้คัดค้าน ตรวจสอบต่อไป เพราะกฎ กติกา ของบ้านเราไม่เคยเกิดผลขึ้นจริง
 
“หัวใจคือ ถ้าหน่วยงานรัฐตรวจสอบ เคร่งครัดให้เป็นไปตามอีไอเอ เข้มงวด มันก็จะไม่เป็นปัญหา แต่อีไอเอมันใช้อะไรไม่ได้เลย ที่บอกจะทำ ไม่ทำเลย นี่คือสิ่งที่เป็นมลพิษใหญ่”
 
 
“ถึงที่สุด ผมยังเห็นว่าการชุมนุมของประชาชนเป็นสิทธิ การออก พ.ร.บ.ชุมนุม เป็นการจำกัดสิทธิของชาวบ้าน ในกรณีที่เกิดปัญหา มันไม่มีใครดูแล ปัญหาที่เกิดมันเริ่มต้นที่กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่มันไปจบด้วยกฎหมายอาญาทุกที และพวกเราชาวบ้านก็เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ลำบากแสนเข็ญ”

 

 

 

AttachmentSize
สรุปคดีกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี.doc66.5 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

ใบตองแห้งออนไลน์: ปิดปากสมศักดิ์ จะผลักคนไปทางไหน

Posted: 24 Apr 2011 08:36 AM PDT

 
 
ชะรอยพวกอุลตรารอแยลลิสต์จะสำคัญผิด เมื่อเห็นกระแสเห่อเคท มิดเดิลตัน กระทั่งมีการถ่ายทอดสดพิธีอภิเษกสมรสไปทั่วโลก มีคนดูหลายพันล้านคน
 
พวกนี้เลยออกมาไล่ล่า ตบเท้าตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจตุพร แกนนำ นปช. จนมาคุกคามสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จนสมศักดิ์ต้องปิดเฟซบุคและเปิดแถลงข่าว
 
ซึ่งทำให้ผมวิตกจริตอยู่ไม่น้อย เพราะกลัวสมศักดิ์แถลงข่าวแล้วยังเจอดาบสอง ถูกหาว่ามีข้อความหมิ่นสถาบันอีก คราวนี้แหละ ทั้ง อ.วรเจตน์ กลุ่มนิติราษฎร์ กลุ่มสันติประชาธรรม จะเจอข้อหาใช้ “ภาษากาย” พลอยเข้าปิ้งไปด้วยกันทั้งยวง
 
กระนั้น ในข่าวร้ายก็มีข่าวดี เมื่อ “หัวโต” ย้อมผมเปลี่ยนจาก “หัวขาว” มาเป็น “หัวดำ” (ผมว่าหล่อกว่าเดิม ฮิฮิ)
 
การคุกคามสมศักดิ์ มีทั้งด้านที่ผมเซอร์ไพรส์และไม่เซอร์ไพรส์ ที่ไม่เซอร์ไพรส์คือผมกลัวสมศักดิ์จะโดนมานานแล้ว กลัวโดนหมายจับด้วยซ้ำ แต่ก็เคยมีคำอธิบายจากสายทหารว่า ในพวกเขาก็มีทั้งสายเหยี่ยวสายพิราบ มีคนทัดทานอยู่ เพราะเห็นว่าสมศักดิ์พูดเป็นวิชาการ จึงปล่อยให้พูดมาหลายปี
 
ฉะนั้นด้านกลับกัน จึงเป็นเซอร์ไพรส์ว่า ทำไมสมศักดิ์มาโดนตอนนี้ (ที่พูดเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ก็เป็นเวลา 4 เดือนกว่าแล้ว) หรือว่า “สายเหยี่ยว” กำลังผงาด กำลังคลุ้มคลั่ง และต้องการกวาดล้างในครั้งเดียวกัน
 
นี่เป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตา แม้ผมไม่เชื่อว่าทหารจะกล้าทำรัฐประหาร อาจเป็นได้ว่า กระแสยกเลิก (แก้ไข) มาตรา 112 ร้อนแรง จุดติด ตลอดจนข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน 8 ข้อของสมศักดิ์ ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ พวกอุลตรารอแยลลิสต์จึงดิ้นพล่าน
 
ณ เวลานี้ คงไม่มีประโยชน์ที่จะไปพูดเหตุพูดผลกับพวกอุลตรารอแยลลิสต์ ซึ่งเวลาพูดเรื่องอื่นทำเหมือนมีเหตุผล แต่เวลาพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์แล้วทำเหมือนสมองเท่าเม็ดงา วิพากษ์วิจารณ์ท้วงติงแนะนำ แตะต้องอะไรไม่ได้แม้แต่น้อย
 
คอยดูสิ พรุ่งนี้หนังสือพิมพ์ปฏิกิริยาจะต้องพาดหัวว่า สมศักดิ์ร้อนท้อง หรือสมศักดิ์ย้อมผมหนีตาย
 
คนที่ควรคิดไตร่ตรองให้ดีคือพวกรอแยลลิสต์ที่มีสติ ผู้จงรักภักดีที่มีเหตุผล ซึ่งต้องฟังคำพูดของสมศักดิ์ ที่บอกว่าให้มองความเป็นจริงของสังคมไทย มองความเป็นจริงของโลกบ้าง ความเป็นจริงคือคนเหยียบล้านที่คิดไม่ตรงกัน ความพยายามปิดกั้นเอากฎหมายมาเล่นงาน แก้ไขอย่างไรก็ไม่มีที่สิ้นสุด จะสิ้นสุดได้คือต้องมาพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ถ้าไม่มีเหตุไม่มีผล ที่สุดแล้วจะนำไปสู่การปะทะ นำไปสู่ความรุนแรง และการเสียชีวิตอีก เพราะการใช้กำลังกดดันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา มีแต่จะทำให้คนที่ไม่พอใจอยู่แล้วยิ่งไม่พอใจยิ่งขึ้น
 
อย่างน้อยๆ ตอนนี้ก็มีคนที่ไม่พอใจยิ่งขึ้นไม่ต่ำกว่า 4-5 พันคน ที่เป็นแฟนคลับในเฟซบุคสมศักดิ์ ซึ่งโทษที คนพวกนี้ไม่ใช่มวลชนเสื้อแดงแท็กซี่สามล้ออย่างที่พวกท่านดูถูกนะครับ เป็นปัญญาชนทั้งนั้น เผลอๆ จะมีมากกว่าพวกอุลตราที่ด่าสมศักดิ์ในเฟซบุคหลายเท่า
 
“ประเทศไทยไม่มีทางกลับถึงยุคที่คนพูดเป็นเสียงเดียวกันหมด” (ซึ่งมีจริงหรือเปล่าไม่รู้) ขอขยายความหน่อยเหอะว่า “คนที่คิดไม่ตรงกัน” (ซึ่งผมคิดว่ามากกว่าเหยียบล้านด้วยซ้ำ) ไม่ได้มีกลุ่มเดียวหรือระดับเดียว “คนที่คิดไม่ตรงกัน” ก็ไม่ต่างจากพวกรอแยลลิสต์ คือมีทั้งคนที่มีเหตุผล และคนที่ไม่มีเหตุผล คนที่โกรธเคือง คนที่พร้อมจะรับฟังข่าวลือต่างๆ นานา และมองในแง่ร้ายยิ่งกว่าที่คาดคิด
 
เวลาพูดเรื่องนี้มันลำบากว่าพูดในที่สาธารณะไม่ได้ ทั้งที่เราอยากสะท้อนปัญหา เอาเป็นว่าเท่าที่ผมได้ยินมา มวลชนบางส่วนก็เชื่ออะไรที่เหลวไหลเสียจนฟังแล้วต้องหัวเราะ เหลวไหลเสียจนผมคิดไม่ถึงว่าจะไปขนาดนั้นได้ แต่มันเป็นธรรมดาของคนที่ถูกปิดกั้นมานาน พอเขาตื่นขึ้น เขาก็จะพลิกไปอีกอย่าง พร้อมจะเชื่อข้อมูลอีกด้าน ข้อมูลที่ไม่เคยคิดไม่เคยฟัง ที่มันหลั่งไหลเข้ามาท่วมท้น
 
ก็ไม่ต่างจากพวกพันธมิตรที่เกลียดทักษิณแล้วเห็นว่าทักษิณทำอะไรต้องผิดหมด
 
ประเด็นคือ คุณต้องแยกแยะระหว่างคนที่มีเหตุผล กับคนที่ไม่มีเหตุผล คนที่มีเหตุผลจะเรียกร้องอยู่ในกรอบของการปฏิรูปสถาบัน อย่างที่สมศักดิ์เรียกร้อง แต่ถ้าคุณปิดกั้นคุกคามเล่นงานคนที่คิดต่างอย่างมีเหตุผล คุณก็จะผลักผู้คนไปอยู่สุดขอบ ไปไกลกว่ากรอบของการปฏิรูปสถาบัน
 
รูปธรรมง่ายๆ ถ้าคุณปิดปากสมศักดิ์ มวลชนฮาร์ดคอร์เขาไม่เดือดร้อนหรอก เขาฟังชูพงษ์ บรรพต อยู่แล้ว แต่ถ้าเขาฟังสมศักดิ์ เขายังได้ความคิดที่มีระบบมีเหตุผลมากกว่า
 
แต่ถ้าคุณยังคิดว่าจะสามารถปิดกั้น ยังคิดจะไม่ให้มีการปฏิรูปเลย ก็แล้วไป ก็คอยดูกันว่าจะทำได้หรือไม่
 
แต่ถ้าทำไม่ได้ ระวังนะครับ เพราะคุณผลักคนที่ไม่พอใจไปสู่ความไม่มีเหตุผลแล้ว
 
สิ่งที่สมศักดิ์พูดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม แท้จริงแล้วเป็นการพูดด้วยความปรารถนาดีต่อประเทศ กระตุ้นเตือนให้มีการปรับเปลี่ยน ปรับตัว อย่างที่สมศักดิ์ยกตัวอย่างว่าทำได้สำเร็จมาตั้งแต่ 14 ตุลา หลัง 6 ตุลา พฤษภา 35 เพียงแต่สมศักดิ์กล้าพูดแรง พูดตรง ไม่มีอ้อมค้อมหลบเลี่ยง ไม่ต้องใช้สัญลักษณ์ ในเหตุการณ์รูปธรรมที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้าพูด ผู้ที่อยู่ฝ่ายจงรักภักดีฟังแล้วอาจระคายเคือง
 
แต่ถ้าทบทวนให้ดีๆ ถามว่าวิกฤตบ้านเมืองที่ผ่านมา 5 ปี แก้ไขไม่ได้เพราะอะไร สถานการณ์ที่พวกคุณวิตกกังวลอยู่ทุกวันนี้ ถ้าไม่เป็นเพราะอย่างที่สมศักดิ์พูด ความไม่พอใจจะลุกลามไปถึงขนาดนี้ไหม แล้วทำไมไม่แก้ปัญหาที่สาเหตุอย่างแท้จริง กลับมาแก้ด้วยการปราบปรามคนไม่พอใจ
 
อย่าเอาแต่โกรธหรือระคายเคืองสิ่งที่สมศักดิ์พูด ต้องฟังแล้วเก็บไปคิด เห็นด้วยไม่เห็นด้วยโต้แย้งกันได้ แต่อย่าตั้งแง่มองทางร้าย คิดเสียว่าคำวิจารณ์ยิ่งหนักหน่วง ยิ่งมีประโยชน์ให้เอาไปคิดได้เยอะ
 
ไหนว่าเมืองไทยเมืองพุทธไงครับ ผู้ที่แวดล้อมสถาบันล้วนอ้างหลักธรรม ไม่เคยฟังพุดตานกถาหรือ
 
“คนที่ติเรานั้น อาจเป็นมิตร คนที่ป้อยอเรานั้น อาจเป็นศัตรู การขัดสีของตะไบทำให้พระพุทธรูปสวยงาม คำจริงใจระคายหู คำปลิ้นปล้อนฟังไพเราะ คนที่หวังดีแก่เราที่สุด อาจพูดไม่ไพเราะ อย่าทำลายตนเองด้วยการเอาใจหู”
 
คนที่แซ่ซ้องไม่ขาดปาก อาจไม่หวังดีก็ได้ เช่นพวกที่ “แปลงสถาบันเป็นอาวุธ” คำนี้เถ้าแก่เปลวของผมใช้เป็นคนแรกเมื่อปี 48 ตอนสนธิ ลิ้ม ปลุกม็อบสวนลุม (ก่อนที่แกจะเป็นไปกับเขาด้วย) เป็นคำที่มีความหมายคมชัดลึก คืออาวุธมีไว้ใช้สู้รบกัน เขาจึงไม่ห่วงใยไม่กลัวอาวุธจะเสียหาย
 
คนที่แซ่ซ้องไม่ขาดปาก อาจแอบอิงเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง เช่นนักการเมืองสวาปาล์ม ชูคำขวัญ “ปกป้องสถาบัน” แจกพระบรมฉายาลักษณ์ จ่ายเงินชาวบ้านหัวละ 100 บาท มาถ่ายภาพอบรมอาสาสมัครปกป้องสถาบัน ฯลฯ คุณต้องการเห็นแค่นั้นหรือ
 
ไม่อยากยกพระราชดำรัสในหลวงมาทุ่มหัวพวกอุลตรารอแยลลิสต์ ไปหาอ่านเองอีกหลายๆ รอบ เรื่อง The King can do no wrong “ถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน ไม่วิจารณ์เราก็กลัวเหมือนกัน...”
 
จากนั้นก็กลับไปฟังคำพูดสมศักดิ์วันที่ 10 ธันวาคม อีกหลายๆ รอบ จะมองเห็นวิธีแก้วิกฤตบ้านเมือง
 
                                                                        ใบตองแห้ง
                                                                        24 เม.ย.54
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โมเดลใหม่‘คณะลูกขุนพลเมือง’ ตั้งมณฑลชายแดนใต้-เลือกตั้งผู้ว่าฯ

Posted: 24 Apr 2011 07:16 AM PDT

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 24 เมษายน 2554 ที่โรงแรมลี การ์เด้น พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้(CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการแถลงข่าว เรื่องผลการดาเนินงาน โครงการการศึกษาพัฒนาต้นแบบการบริหารรัฐกิจและการปกครองแบบพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ พร้อมคณะเป็นผู้แถลงข่าว

การแถลงข่าวครั้งนี้ เป็นการเปิดเผยผลงานวิจัยที่บุกเบิกการใช้กระบวนการ “ลูกขุนพลเมือง” (Citizens Jury) เพื่อพิจารณาต้นแบบการบริหารรัฐกิจและการปกครองแบบพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้

ชี้รูปแบบใหม่ประชาธิปไตยแบบหารือ

ผศ.ดร.ศรีสมภพ แถลงว่า โครงการนี้ใช้รูปแบบ “คณะลูกขุนพลเมือง” หรือ Citizens Jury ในการศึกษารูปแบบการปกครองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการศึกษาเพื่อหาทางออกของปัญหาโดยใช้รูปแบบใหม่ในการจัดการ โดยการปรึกษาหารือกับประชาชน โดยมีข้อพิจารณาว่า มีหลายรูปแบบ (โมเดล) การปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการเสนอมา ในรอบ 2 -3 ปี ที่ผ่านมา

ผศ.ดร.ศรีสมภพ แถลงต่อไปว่า ด้วยเหตุนี้ จึงน่าจะต่อยอดและทบทวนผลการศึกษาของหลายๆ ฝ่ายที่แตกออกเป็นโมเดลต่างๆ ว่าจะทำอย่างไรที่จะหาทางออกอีกทางหนึ่งร่วมกัน โดยอาศัยวิธีการจัดการแบบมีส่วนร่วม โดยอาศัยรูปแบบการวิจัยใหม่ มีชื่อว่า คณะลูกขุนพลเมือง หรือ Citizens Jury ซึ่งเป็นกระบวนการของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) รูปแบบหนึ่งซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นโดย Jefferson Center ประเทศสหรัฐอเมริกา

กลั่นจาก 8 โมเดล “หะยีสุหลง – บิ๊กจิ๋ว – หมอประเวศฯ”

อาจารย์ศศิวรรณ จริงจิตร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี หัวคณะวิจัยโครงการวิจัยศึกษาพัฒนาต้นแบบการบริหารรัฐกิจและการปกครองแบบพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงว่า สำหรับโมลเดล ที่นำมาให้คณะลูกขุนพลเมืองมาพิจารณา มี 8 โมเดล ได้แก่ โมเดลการปฏิรูปมวลชนของหมอประเวศ วะสี โมเดลมหานครปัตตานีของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ข้อเสนอของหะยีสุหลง โมเดลสามนครของอาจารย์อำนาจ ศรีบูรณ์สุข โมเดลนครทั้งสามของนายอุดม ปัตนวงศ์ โมเดลปัตตานีมหานคร ของนายอัคคชา พรหมสูตร โมเดลทบวงชายแดนชายของผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และอาจารย์สุกรี หลังปูเต๊ะ จากมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และโมเดลการปกครองปกติทั่วไปในปัจจุบัน

อาจารย์ศศิวรรณ แถลงต่อไปว่า ทั้ง 8 โมเดลนำมาเป็นทางเลือกให้คณะลูกขุนพลเมืองเลือกว่าแบบไหนสามารถตอบโจทย์สร้างความยุติธรรมในพื้นที่ได้ดีที่สุด โดยให้พยาน คือ ผู้ที่มาอธิบายโมเดลของตัวเองมาอธิบายกับขณะลูกขุนพลเมือง

“ก่อนอื่นเราได้ให้ข้อมูลกับคณะลูกขุนพลเมืองเกี่ยวกับการปกครองโดยทั่วๆ ไป และในเรื่องการปกครองพิเศษ โดยเชิญผู้ที่มีความรู้มาอธิบาย หลังจากรับฟังทุกโมเดลแล้ว ก็ได้เปิดโอกาสให้คณะลูกขุนพลเมือง ถามรายละเอียดได้อย่างอิสระจากพยาน ซึ่งส่วนมากจะถามว่า ในแต่ละโมเดลจะทำได้หรือไม่ในความเป็นจริง” อาจารย์ศศิวรรณ กล่าว

อาจารย์ศศิวรรณ แถลงอีกว่า นอกจากนี้ ยังถามในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องนโยบาย การแบ่งแยกอำนาจ การกระจายอำนาจ และอาจจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บ้าง ซึ่งคณะลูกขุนพลเมืองค่อนข้างจะมีอิสระพอสมควรในการแสดงความคิดเห็น และในการหาข้อมูลให้ได้มากที่สุดในแต่ละตัวแบบ

อาจารย์ศศิวรรณ แถลงว่า หลังจากนำเสนอแต่ละโมเดลเรียบร้อยแล้ว ก็ให้เวลาคณะลูกขุนพลเมืองประชุมพิจารณา โดยใช้เหตุผล เพื่อนำมาเป็นข้อสรุปที่เป็นมติเอกฉันท์ในการตัดสินว่า โมเดลไหนที่เหมาะสมที่สุด หรือว่าถ้าไม่มีโมเดลที่เหมาะสม จะมีโมเดลที่คณะลูกขุนพลเมืองพึงประสงค์ควรจะมีอะไรบ้าง

อาจารย์ศศิวรรณ แถลงด้วยว่า หลังจากสรุปเสร็จแล้วคณะลูกขุนพลเมือง ก็จะเขียนแถลงการณ์ด้วยตัวเอง เป็นบทสรุปที่ได้มาจากคณะลูกขุนเอง ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่มีความน่าสนใจมาก เพราะมีคณะลูกขุนพลเมืองมีความหลากหลาย ทั้งในด้าน อาชีพ รายได้ ศาสนา เพศ ที่อยู่อาศัย

ยุบปกครองส่วนภูมิภาค-ตั้งมณฑลชายแดนใต้-เลือกตั้งผู้ว่าฯ

อาจารย์สุทธิศักดิ์ ดือเระ อาจารย์วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แลงว่า การปรึกษาหารือของคณะลูกขุน จะใช้วิธีอาศัยหลักฉันทามติ โดยทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน ไม่ได้ใช้เสียงข้างมากเป็นหลัก และจะไม่มีการวางธง ส่วนนักวิจัยจะให้ข้อมูลความรู้เท่านั้นเอง สิ่งที่คณะลูกขุนพลเมืองได้นำเสนอผ่านแถลงการณ์ ทั้ง 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก อะไรคือคุณค่าสำคัญในการสร้างความยุติธรรมและสันติสุขในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่ประชุมโดยฉันทามติ ตอบว่าเรื่องของการให้ความยุติธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด อันนำมาสู่ความสงบสุขและนำไปสู่การพัฒนาและความเจริญทางเศรษฐกิจ การศึกษา และคุณภาพชีวิต ผมย้อนนิดหนึ่งว่า การตัดสินของคณะลุกขุนต้องใช้วิธีการฉันทามติโดยที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน จะไม่ใช้เสียงข้างมากเป็นหลัก

ประเด็นที่ 2 รูปแบบการปกครองในปัจจุบันมีสามารถสร้างความยุติธรรมและสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ได้มากน้อยเพียงใด คณะลูกขุนมีความเห็นว่า โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบัน ไม่มีประสิทธิภาพ มีช่องโหว่ทางการปฏิบัติมาก และทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้น

ความหย่อนประสิทธิภาพต่างๆ ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมต่างๆ และปัญหาถูกละเลย เพราะมีสายการบังคับบัญชายาวเกินไป ทำให้ข้าราชการในพื้นที่ไม่สนองตอบต่อความต้องการของประชาชน ในทางกลับกัน กลับไปสนองตอบต่อความต้องการของผู้บังคับบัญชาจากส่วนกลาง นี่คือจุดที่ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นในพื้นที่

ประเด็นที่ 3 การปกครองรูปแบบใดจะนำมาซึ่งความยุติธรรมและสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้? ซึ่งเป็นโจทย์ที่สำคัญ

หลังจากที่ได้ฟังทั้ง 8 โมเดลแล้ว ขณะเดียวกันคณะลูกขุนพลเมืองข้อค้นพบของเครือข่ายประชาสังคมมาประกอบในการพิจารณาด้วย เช่น ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรเดียว แบ่งแยกมิได้

กระบวนการที่ได้จากการพูดคุยปรึกษาหารือกันในประเด็นที่ 3 คณะลูกขุนได้แตกออกเป็น 4 ข้อ ดังนี้

1.การปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยผ่าการคัดกรองจากคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนองค์กรทุกภาคส่วน ผู้สมัครที่ผ่านการคัดกรองแล้วให้นำมาเสนอประชาชน ให้ประชาชนเลือกอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อคัดกรองผู้ที่ไม่เหมาะสมออกจากกระบวนการเลือกตั้ง เช่นคนที่มีประวัติไม่ดี ซึ่งในทางกฎหมายแม้จะไม่เอาผิด แต่ในทางปฏิบัติ ทุกคนอาจจะเห็นว่าคนนี้ ยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการที่ไม่โปร่งใส มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ก็สามารถที่จะคัดออกไปก่อนได้

2.การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น มี 2 ระดับ

ระดับแรก คือ การเลือกตั้งระดับมณฑล โดยให้มีผู้ว่าราชการมณฑล 1 คน ซึ่งมณฑลนี้ประกอบด้วย ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา

ระดับที่ 2 คือ การเลือกตั้งระดับจังหวัด คือ เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โดยยกระดับ 4 อำเภอของสงขลา เป็นจังหวัด เพราะฉะนั้น ในมณฑลนี้มีทั้งหมด 4 จังหวัด แต่ในประเด็นนี้ คณะลูกขุนยังไม่ได้ให้รายละเอียด ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการต่อไป

3.คณะลูกขุนมีข้อเสนอให้ยุบการปกครองส่วนภูมิภาค ยกเว้นด้านความมั่นคง (ทหาร) การต่างประเทศ และนโยบายด้านการเงิน ทั้งนี้ให้คงเหลือไว้เพียงการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคมาขึ้นกับส่วนท้องถิ่นแทน สุดท้ายองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กให้คงไว้ แต่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นั้นคือสิ่งที่ค้นพบจากคณะลูกขุน ที่มีการพูดคุย ซักถาม ทั้ง 8 โมเดล แต่ไม่ได้เลือกแบบหนึ่งแบบใด

อาจารย์ฮาฟิส สาและ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี แถลงว่า กระบวนการของงานวิจัยแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก เป็นการออกแบบกระบวนการทั้งหมดภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมการที่ปรึกษา และสุ่มคัดเลือกคณะลูกขุนพลเมืองหรือตัวแทนภาคประชาชนที่จะพิจารณาโมเดลการปกครอง

“ในระยะแรกกำหนดไว้ 5 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 เป็นการประชุมกับคณะกรรมที่ปรึกษาที่มาจากหลายภาคส่วน ทั้งสายการปกครอง ทหาร หรือผู้นำศาสนา เป็นต้น เพื่อพิจารณาการคัดเลือกคณะลูกขุนพลเมือง การคัดเลือกพยานที่จะมานำเสนอโมเดลการปกครอง ซึ่งก่อนหน้านี้มีมากกว่า 8 โมเดล สุดท้ายคัดมาแค่ 8 โมเดล” อาจารย์ฮาฟิส กล่าว

อาจารย์ฮาฟิส แถลงต่อไปว่า สำหรับคณะลูกขุนเดิมตั้งเป้าไว้ 40 คน แต่เนื่องจากอยู่ในช่วงที่มีปัญหาน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2553 จึงทำให้มีคณะลูกขุนพลเมืองที่มาร่วมประชุมเพียง 29 คน มีทั้งพุทธและมุสลิม

“ในเรื่องการคัดเลือกลูกขุนเราพลเมือง ได้รับคำแนะนำจากคณะที่ปรึกษาว่า ถ้าเอาคณะลูกขุนพลเมืองที่เป็นพี่น้องประชาชนทั่วไปก็อาจจะไม่เข้าใจเรื่องการเมืองการปกครอง ควรเอามาจากภาคประชาสังคมด้วย” อาจารย์ฮาฟิส กล่าว

อาจารย์ฮาฟิส แถลงอีกว่า ระยะที่สอง เป็นกระบวนการรับฟังและปรึกษาหารือ โดยคณะลูกขุนพลเมืองรับฟังและซักถามข้อมูลเกี่ยวกับการปกครองรูปแบบต่างๆ จากพยาน ก่อนจะอภิปรายอย่างอิสระ กระทั่งหารือร่วมกันสู่ข้อสรุปเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

“เราได้ศึกษาเรื่องการตั้งประเด็นที่จะให้คณะลูกขุนพลเมืองอภิปราย และซักถามข้อมูลที่พยานพูดไม่ชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจที่จะเสนอรูปแบบการปกครองที่เหมาะสม ซึ่งพยานก็จะพยายามโน้มน้าวให้คณะลูกขุนพลเมืองเลือกโมเดลของตัวเอง” อาจารย์ฮาฟิส กล่าว

อาจารย์ฮาฟิส แถลงว่า คณะวิจัยได้ตั้งไว้ 3 ประเด็นคือ คุณค่าที่สำคัญที่นำไปสู่การสร้างความยุติธรรมและสันติสุขในพื้นที่ มองในภาพรวมว่า คนในพื้นที่ต้องการอะไรมากที่สุด ประเด็นที่ 2 คือรูปแบบการปกครองที่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันสามารถตอบโจทย์ ตอบคุณค่าตรงนั้นได้หรือไม่ และประเด็นที่ 3 เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ รูปแบบการปกครองรูปแบบใดที่เหมาะสมกับพื้นที่ นำมาซึ่งความยุติธรรมและสันติสุขสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้

“นี่คือสิ่งที่ลูกขุนพลเมืองต้องตอบให้ได้ ซึ่งคณะลูกขุนพลเมือง สามารถเลือกเอาโมเดลใดโมเดลหนึ่งมาเป็นคำตอบก็ได้ หรือจะผสมผสานระหว่างโมเดลต่างๆ โดยการดึงองค์ประกอบที่เด่นออกมาของแต่ละโมเดลมานำเสนอ” อาจารย์ฮาฟิส กล่าว

อาจารย์ฮาฟิส แถลงด้วยว่า การประชุมปรึกษาหารือและการรับฟังการนำเสนอโมดลการปกครองของคณะลูกขุนพลเมือง มีขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 13 มกราคม 2554 ที่ผ่านมาที่จังหวัดตรัง

ผลการศึกษาส่วนหนึ่งมาจากระยะที่ 2 ซึ่งมาจากกระบวนการการรับฟังและปรึกษาหารือของคณะลูกขุนพลเมืองเป็นหลัก มีข้อค้นพบ 2 ข้อ คือ ข้อเสนอของคณะลูกขุนพลเมืองผ่านแถลงการณ์และข้อค้นพบที่เกิดจากการสังเกต

ชี้เป็นกระบวนใหม่มีประโยชน์ในการเรียนรู้ประชาธิปไตย

นายอับดุลอาซิส ตาเดอินทร์ หนึ่งในคณะลูกขุนพลเมือง ให้สัมภาษณ์ว่า การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ตนได้เรียนรู้กระบวนการใหม่และผู้คนใหม่ๆและหลากหลาย เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ทุกคนที่แม้จะมีที่มาแตกต่างหลากหลายได้แสดงความคิดเห็นและฝึกรับฟังความเห็นกันและกัน

“เขตการปกครองพิเศษอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับลูกขุนพลเมืองบางคน แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะได้เรียนรู้ ตนเองคิดว่ากระบวนการลูกขุนพลเมืองสามารถนำไปใช้ในอนาคตเพื่อบูรณาการความคิดของทุกภาคส่วนได้ดี เป็นกระบวนการที่มีความเป็นกลาง มีทั้งผู้ให้ข้อมูล ผู้ซักถาม การคัดค้านและสนับสนุนอย่างเป็นอิสระ” นายอับดุลอาซิส กล่าว

ผศ.ดร.ศรีสมภพ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า โครงการลูกขุนพลเมืองเป็นแนวคิดใหม่ในการตัดสินนโยบายและเรื่องทางการเมือง ที่ให้ความสนใจกับการตัดสินใจของสามัญชน คนธรรมดาที่มีความเข้าใจและเหตุผล มีข้อมูลประกอบการคิดการตัดสินใจเรื่องนโยบายสาธารณะและช่วยกันคิดหาทางเลือกให้สังคมในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

“จุดเริ่มมาจากแนวคิดแบบที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือของประชาชน หรือประชาธิปไตยทางตรงที่เน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรงในเรื่องนโยบายสาธารณะ เพราะเราเชื่อในประชาชนเราถึงมีระบบนี้ได้ เมื่อนำแนวคิดนี้มาใช้กับทางเลือกสาธารณะ เช่น นโยบายโครงการสาธารณะ หรือการเลือกรูปแบบการเมืองการปกครองแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจึงต้องมีระบบคณะลูกขุนมาตัดสินในร่วมกันว่าสังคมคิดอย่างไร เชื่ออย่างไรและตัดสินใจอย่างไรในเรื่องการปกครองแบบธรรมาภิบาลในการแก้ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

“ประชาชนเขาคิดอย่างไรก็ต้องเคารพการตัดสินใจแบบนี้ การปกครองแบบประชาธิปไตยจึงต้องอาศัยระบบคณะลูกขุนพลเมืองมาแก้ปัญหาความขัด แย้งทางการเมือง โดยระบบลูกขุนจะเป็นตัวเสริมให้กับประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เรามีอยู่แล้ว เช่นระบบรัฐสภาเพื่อให้มันมีความสมบูรณ์ขึ้น แต่ไม่ใช่มาแทนระบบตัวแทนทางการเมืองแบบเดิมที่มีอยู่แล้ว ควรเพิ่มทางเลือกใหม่ในการตัดสินใจโดยประชาชน เพื่อประชาชนและโดยประชาชนแบบนี้” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผบ.กองกำลังนเรศวรกร้าวใครหมิ่นสถาบันดำเนินการตาม กม.ทันที ขนปืน ค. 120 โชว์

Posted: 24 Apr 2011 05:03 AM PDT

ผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวรเดินทางตรวจเยี่ยมกำลังพลทหารกองพลทหารราบที่ 4 แสดงพลังปกป้องสถาบัน ขนปืน ค. 120 โชว์

24 เม.ย. 54 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าที่กองบังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 อ.แม่สอด จ.ตาก พลตรีเกษม ธนาภรณ์ ผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวร ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม และให้นโยบายต่อกำลังในสายการบังคับบัญชาทั้งหมด โดยมีทหารสังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 อ.แม่สอด, ทหารพรายจากหน่วยเฉพาะกรมทหารพรานที่ 35 อ.แม่สอด และกำลังจากตำรวจจากหน่วยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 34 อ.แม่สอดทั้งหมด ราว 500 นาย พร้อมด้วยอาวุธครบมือ ตั้งแถวให้การต้อนรับ โดยมี พ.อ.สุภโชค ธวัชพีระชัย ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 อ.แม่สอด และคณะให้การต้อนรับ ซึ่งทาง พล.ต.เกษมได้กล่าวชื่นชมทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนทุกคน และยังให้นโยบายเกี่ยวกับการปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
      
ผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวรกล่าวว่า การตรวจเยี่ยมครั้งนี้ถือว่าเป็นวงรอบที่ต้องมาตรวจเยี่ยม และต้องการให้หน่วยเข้าใจว่ามีกลุ่มบุคคลกล่าวอ้างและจาบจ้วงในเชิงหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการเป็นทหารนั้นนอกจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในการป้องกันประเทศชาติแล้วยังต้องปกป้องสถาบัน แม้จะสละชีวิตเพื่อพระองค์ท่านก็ตาม ทหารก็พร้อมที่จะยอมพลีชีพทันที ขณะนี้ยังไม่พบการเคลื่อนไหวใดๆ ในพื้นที่รับผิดของกองกำลังนเรศวร แต่ได้สั่งการให้ทหารชี้แจงประชาชนให้เข้าใจ และช่วยกันสอดส่อง หากมีเหตุการณ์ดังกล่าวจะให้ทหารเข้าไปดำเนินการตามกฎหมายทันที
      
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทหารในพื้นที่ได้ตั้งเวที และนำอาวุธปืน ค.120 มาตั้งโชว์ 2 กระบอก และรถฮัมวีติดปืนกล จำนวน 2 คันข้างเวที

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไบโอไทยเตรียมเคลื่อนไหวหนุนมาตรการขึ้นทะเบียนสารเคมีกรมวิชาการเกษตร

Posted: 24 Apr 2011 04:48 AM PDT

ไบโอไทยจับมือเครือข่ายเกษตรกรและผู้บริโภคหนุนกรมวิชาการเกษตรขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชภายในระยะเวลาที่กำหนด ชี้ธุรกิจเคมีเกษตรหวังผลประโยชน์เพื่อตนเองโดยไม่รับผิดชอบผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภค เตรียมแถลงข่าววันที่ 27 เมษายน นี้

24 เม.ย. 54 - ตามที่กลุ่มธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้เคลื่อนไหวให้มีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายวัตถุอันตรายโดยให้เลื่อนการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชออกไปอีก 2 ปี และกดดันให้กรมวิชาการเกษตรผ่อนผันการจัดจำหน่ายสารเคมีการเกษตร โดยอ้างผลกระทบต่อเกษตรกรที่อาจจะไม่สามารถซื้อสารเคมีเกษตรมาใช้ และส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรนั้น

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทยได้แจ้งว่า ไบโอไทยร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรและองค์กรผู้บริโภคจะเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของกรมวิชาการเกษตร เพื่อเร่งรัดให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เพราะทางราชการได้ให้เวลาแก่บริษัทสารเคมีการเกษตรดังกล่าวมาแล้วถึง 3 ปี โดยในระหว่างระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวก็มีการหารืออย่างใกล้ชิดกับธุรกิจสารเคมีมาตลอด “หากนับเวลาตั้งแต่มีประกาศของกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 บริษัทสารเคมีการเกษตรมีเวลาถึง 1 ปีกับ 9 เดือนครึ่งที่จะขึ้นทะเบียน ในขณะที่ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนใช้เวลาเพียง 6-8 เดือนเท่านั้น แต่บริษัทเหล่านี้ก็ละเลยที่จะดำเนินการ เพราะเชื่อว่าจะสามารถเคลื่อนไหวกดดันให้มีการผ่อนผันการขึ้นทะเบียนออกไปได้” นายวิฑูรย์กล่าว

ผู้อำนวยการไบโอไทยยังระบุด้วยว่า ประเทศเวียดนามได้ดำเนินการเช่นเดียวกับรัฐบาลไทย โดยได้ดำเนินการเพื่อควบคุมการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจนแล้วเสร็จก่อนหน้านี้ โดยค่าใช้จ่ายต่อการขึ้นทะเบียนต่อสารเคมีอยู่ที่ 3,000 -5,000 เหรียญ หรือ 100,000-150,0000 บาทต่อทะเบียนเท่านั้น มิได้สูงถึง 1-1.5 ล้านบาทตามที่สมาคมธุรกิจสารเคมีกล่าวอ้าง ธุรกิจสารเคมีการเกษตรควรนำค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขายสารเคมี เช่น ให้การสนับสนุนเอเย่นต์ ร้านค้าซึ่งเป็นลูกค้าไปท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือให้รางวัลจูงใจในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นจำนวนเงินนับร้อยล้านบาทมาใช้สำหรับการขึ้นทะเบียนสารเคมีให้ถูกต้องจะดีกว่า เพราะการส่งเสริมการขายในรูปแบบดังกล่าวขัดกับ “จรรยาบรรณระหว่างประเทศว่าด้วยการจำหน่ายและการใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ” อย่างชัดเจน

“เท่าที่ผ่านมานโยบายของประเทศได้เอื้ออำนวยต่อบริษัทธุรกิจสารเคมีการเกษตรมาโดยตลอด เช่น ยกเว้นภาษีการนำเข้าสารเคมีการเกษตรมานานเกือบ 20 ปี อีกทั้งได้ปล่อยปละละเลยให้บริษัทสารเคมีการเกษตรสามารถขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีเป็นจำนวนมากกว่า 27,000 รายการ ซึ่งมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเพียงประมาณ 1,000 - 2,000 ชนิดเท่านั้น การปล่อยปละละเลยดังกล่าวทำให้มีการใช้สารเคมีการเกษตรอย่างเกินความจำเป็น เช่น จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในปี 2550 มีเกษตรกรมากกว่า 38.52% ได้รับสารเคมีการเกษตรสะสมในกระแสเลือดที่อยู่ในขั้นเสี่ยงและไม่ปลอดภัยซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี สารเคมีดังกล่าวยังตกค้างในอาหารและทำให้เกิดปัญหาการส่งออกผักและผลไม้ไปยุโรป เพราะจากตัวเลขพบว่าผักและผลไม้ของประเทศไทยพบปริมาณการตกค้างของสารเคมีการเกษตรมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในบรรดา 70 กว่าประเทศที่ส่งออกไปยังยุโรป และระหว่างนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงมาตรฐานการส่งออกให้เข้มงวดขึ้น”

“ปัญหาหลักของการใช้สารเคมีคือการใช้สารเคมีการเกษตรมากเกินไป คุณภาพต่ำ และไม่มีการคุ้มครองผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภคที่ได้รับสารพิษ ซึ่งบริษัทสารเคมีการเกษตรในประเทศไทยต้องมีจิตสำนึกในการร่วมรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย ” นายวิฑูรย์สรุป

อนึ่งการจัดประชุมและแถลงข่าวของเครือข่ายเกษตรกร องค์กรสิ่งแวดล้อม และองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคจะมีขึ้นในวันที่ 27 เมษายนนี้ ที่เคยูโฮม ม.เกษตรศาสตร์ เวลา 13.30 น.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: เยาวชนอุบลฯ สรุปบทเรียนสงกรานต์ปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์

Posted: 24 Apr 2011 04:43 AM PDT

กลุ่มเยาวชนนักรณรงค์เฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์จัดประชุม “สรุปบทเรียนสงกรานต์ปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์” เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้หาแนวทางพัฒนาในโอกาสต่อไป การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสำนักบริการวิชาการชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

การประชุมสรุปบทเรียนสงกรานต์ปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์ครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หาข้อสรุปในการทำงานว่ามีบทเรียนจากการทำงาน ปัญหาอุปสรรค สิ่งที่ต้องปรับปรุง เพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกันพร้อมกับจะได้เห็นศักยภาพในด้านการทำงานของเครือข่ายว่ามีทักษะในการทำงานเพิ่มขึ้นมากแค่ไหนเพื่อพัฒนาการรณรงค์ปลอดเหล้าในโอกาสอื่นๆ การเฝ้าระวังการกระทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และทักษะด้านอื่นๆ เช่นการจัดรายการวิทยุ การเฝ้าระวังพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ

นายศุกวสันต์  วงศ์ธนู ผู้ประสานงานเครือข่ายพลังเยาวชนรักรณรงค์เฝ้าระวังภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือที่เรียกกันว่า “มือปราบหน้าใสหัวใจไร้แอลกอฮอล์” กล่าวว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานครั้งนี้ก็คือ กลุ่มเยาวชนได้มีประสบการณ์ในการทำงานผ่านบทบาทการเป็นอาสาสมัครการรณรงค์และเฝ้าระวังภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีทักษะการทำงานเป็นทีมและมีจิตอาสาเพิ่มมากขึ้น มีความต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงให้ช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นโอกาสที่ทุกคนมีความสุขตามวัฒนธรรมดั้งเดิมไม่อยากให้เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่เกิดขี้นจนถูกนำเสนอผ่านสื่อเหมือนปีก่อนๆ ที่ผ่านมา ส่วนที่เป็นผลกระทบคือพบว่าความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ เพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นกระแสไปทั่วพื้นที่ทั้งจังหวัดอุบลราชธานี สื่อมวลชนได้ให้ความสนใจไปนำเสนอมากยิ่งขึ้น ผลที่เกิดจากทำงานคือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวมลดลงโดยเฉพาะในพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย “ถนนดอกไม้และสายน้ำ” แต่จากการจับตาเฝ้าระวังยังพบว่ายังมีบุคคลฝ่าฝืนนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใส่มาในบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่น และพบผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานซุกซ่อนหลบการตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ มีกลุ่มคนที่แอบอ้างว่ารู้จักกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในบริเวณงานดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เสียเอง ขณะที่พฤติกรรมอื่นๆ พบว่าเยาวชนผู้หญิงและสาวประเภทสองแต่งกายไม่เหมาะสมออกไปในแนวโป๊หวาบหวิวและมีท่าเต๊นที่ยั่วยวน ส่วนเยาวชนชายก็มีการรวมกลุ่มทะเลาะวิวาทกันซึ่งนับว่าเป็นปัญหาหลักที่พบเจอในสถานการณ์จริงที่ต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขต่อไป

นอกจากนี้สิ่งที่กลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังเห็นพ้องต้องกันก็คือ อยากให้ตัวแทนของเยาวชนและหน่วยงานต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นและอยากให้มีการจัดโครงการดีๆ แบบนี้ไปในแต่ละอำเภออย่างทั่วถึงเพื่อให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์อย่างแท้จริง

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มนุษย์ถ้ำ

Posted: 24 Apr 2011 04:30 AM PDT

แด่ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และคณาจารย์นิติราษฏร์
ผู้เสียสละเพื่อให้ประชาชนได้ออกมาพูด “ความจริง” นอกถ้ำ

เพลโตเปรียบเราทุกคนเป็นเสมือน “มนุษย์ถ้ำ” ที่ไม่มีทางจะรู้ได้ว่า โลกแห่งความเป็นจริงภายนอกถ้ำนั้นเป็นอย่างไร เนื่องจากมนุษย์ถ้ำถูกมัดตรึงให้หันหลังมาทางปากถ้ำ และหันหน้าไปทางผนังถ้ำด้านใน เขาเห็นเพียงแสงสว่างที่ส่องเข้ามาจากปากถ้ำและเห็นเงาของสัตว์ต่างๆ ที่เดินผ่านปากถ้ำเคลื่อนไหวไปมาที่ผนังถ้ำเท่านั้น เขาจึงทึกทักเอาว่าเงาที่เห็นนั้นคือ “ความจริง”

ในทัศนะของเพลโต เราเป็นเหมือนมนุษย์ถ้ำในความหมายว่า เราสามารถเห็นได้เพียง “เงาของความจริง” เพราะโลกที่ปรากฏต่อการรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้งห้าของเรา ไม่ใช่โลกของความจริงแท้ ส่วนโลกของความจริงแท้คือ “โลกแห่งแบบ” (Forms) นั้นเป็นโลกที่เราไม่มีทางจับต้องมองเห็นได้ ทุกสิ่งที่เราจับต้องมองเห็นได้ไม่ใช่ความจริงแท้ เป็นเพียงภาพสะท้อนหรือ “เงาของความจริงแท้” เท่านั้นเอง

ผมคิดว่าเราทุกคนเวลานี้ก็เป็นคล้ายๆ มนุษย์ถ้ำ ที่ว่า “คล้ายๆ” หมายความว่า ไม่เหมือนเป๊ะๆ เลย แต่อาจเทียบเคียงในบางด้านได้

“มนุษย์ถ้ำ” อย่างเราไม่ถึงขนาดว่าไม่มีทางรู้ความจริงที่แท้จริงได้เหมือนมนุษย์ถ้ำของเพลโต เรารู้ความจริงได้ แต่สามารถพูดความจริงได้ภายในถ้ำเท่านั้น จึงทำให้สังคมของมนุษย์ถ้ำอย่างพวกเราเป็น “สังคมลับๆ ล่อๆ” เพราะในภาวการณ์ปัจจุบันนี้ เรา (ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน ปัญญาชน นักวิชาการ สื่อ รัฐบาล ทหาร พระสงฆ์ ฯลฯ) ต่างโผล่หน้าออกมาจากถ้ำเพื่อที่จะพูด “ความเสมือนจริง” แล้วก็กลับเข้าไปพูด “ความจริง” กันในถ้ำของใครของมัน (ใกล้เลือกตั้งครั้งนี้คอยดูพวก “นักวิชาการดารา” จะแข่งกันจ้อ “ความเสมือนจริง” ออกทีวี)

เมื่อเราต่างออกมาพูดกันได้บนเวทีสาธารณะแค่เพียง “ความเสมือนจริง” ปัญหาความขัดแย้งที่เราสามารถหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันได้อย่างตรงไปตรงมา จึงเป็นเพียง “ปัญหาเทียม” และแนวทางแก้ไขต่างๆ ที่เราระดมต้นทุนจำนวนมากทั้งสมอง งบประมาณ เวลา ฯลฯ เพื่อให้ได้มา มันจึงเป็นเพียงแค่แนวทางแก้ “ปัญหาเทียมๆ” เท่านั้น

ทุกแนวทางแก้ปัญหาที่ได้มา ไม่มีแนวทางใดๆ ที่สามารถตอบได้ว่า ประเทศนี้จะไม่มีรัฐประหารและการนองเลือดของประชาชนเกิดขึ้นอีก ไม่มีคำตอบว่าประเทศนี้ทหารจะไม่อ้างสถาบันทำรัฐประหารอีก ไม่มีคำตอบว่าจะสิ้นสุดการอ้างสถาบันเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองทั้งในเชิงหาเสียง และในเชิงทำลายคู่แข่งทางการเมือง ฯลฯ

ที่ไม่สามารถมีคำตอบเช่นนั้นได้ เพราะเราไม่สามารถหาทางแก้ปัญหาพื้นฐานของประชาธิปไตยได้ว่า ทำอย่างไรหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาคจึงจะถูกนำมาใช้แก่ทุกคนที่เป็นสมาชิกแห่งรัฐอย่างเท่าเทียมกัน

โดยเฉพาะเมื่อไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 8 และกฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112 หลักเสรีภาพและความเท่าเทียมในความเป็นคนตามระบอบประชาธิปไตยไม่มีทางเป็นจริงได้ เราจะตกอยู่ในสภาพเป็น “มนุษย์ถ้ำ” คือมนุษย์ที่สามารถพูดความจริงทุกด้านเกี่ยวกับประมุขของรัฐได้ภายในถ้ำใครถ้ำมันเท่านั้น

แต่ปัญหาคือ “มนุษย์ถ้ำ” ไม่ใช่มนุษย์ที่ได้มาตรฐานขั้นต่ำของความเป็นมนุษย์ เพราะ “มาตรฐานขั้นต่ำสุด” ของความเป็นมนุษย์ในสังคมประชาธิปไตยคือ เราต้องมีเสรีภาพที่จะคิด พูด ทำ เชื่อ เลือกแนวทางการดำเนินชีวิตเป็นต้น ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น

และในฐานะ “ประชาชน” เราต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง การวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ “ทุกอำนาจสาธารณะ” ที่ดำรงอยู่และใช้อำนาจนั้นด้วยอาศัยเงินภาษีของเรา

ฉะนั้น สิ่งที่พิสูจน์ว่าเราผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของ “ความเป็นมนุษย์” เราต้องพูดความจริงได้ทั้งในถ้ำและนอกถ้ำ และในฐานะ “ประชาชน” ผู้ชุบเลี้ยงชนชั้นปกครอง เราต้องวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบและเรียกร้องความรับผิดชอบกับทุกอำนาจสาธารณะที่ใช้เงินภาษีของเราได้

แต่เหตุใดในประเทศนี้ เมื่อประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง “มาตรฐานขั้นต่ำสุด” ของความเป็นมนุษย์ และเพื่อให้ได้มาซึ่ง “อำนาจของตนเอง” พวกเขาจึงต้องถูกจับ ถูกฆ่าตายและบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจครั้งแล้วครั้งเล่า

ณ ปี พ.ศ.นี้แล้ว มีเหตุผลอะไรบ้างครับที่ประเทศนี้ไม่สมควรจะมีประชาธิปไตยที่ทำให้เราทุกคนสามารถมี “มาตรฐานขั้นต่ำสุด” ของความเป็นมนุษย์ และสามารถเป็นประชาชนที่มีอำนาจปกครองตนเองอย่างแท้จริง พร้อมๆ กันกับมีประมุขแห่งรัฐที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้บนพื้นฐานของหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาคในความเป็นคน

ผมมองไม่เห็นเหตุผลใดๆ เลย การใช้อำนาจและความรุนแรงปราบปรามประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า ก็เพราะสู้กับข้อเรียกร้องที่มีเหตุผลบนพื้นฐานประชาธิปไตยของประชาชนไม่ได้ !

แต่เมื่อใช้อำนาจและความรุนแรงแล้ว จะมั่นใจได้อย่างไรว่า “ความจริง” จะไม่ทะลักออกจากถ้ำ และหากความจริงมันทะลักออกจากถ้ำ อำนาจและความรุนแรงจะหยุดยั้งได้หรือไม่ การใช้อำนาจและความรุนแรงต้นทุนแรกสุดคือภาษีประชาชน จะใช้ภาษีประชาชนเพื่อกดขี่ประชาชนผู้มีบุญคุณชุบเลี้ยงตลอดไปได้อย่างไร

สิ่งที่อาจารย์สมศักดิ์ และคณาจารย์นิติราษฎร์พยายามทำ คือการพยายาม “สร้างระบบ”ให้เราทุกคนผ่าน “เกณฑ์ขั้นต่ำสุด” ของความเป็นคน และเป็นประชาชนที่มีอำนาจเป็นของตนเอง และเป็นการปกป้องสถาบันให้อยู่ได้ควบคู่กับความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

อันเป็นวิธีการรักษาสถาบันอย่างถูกต้อง ด้วยวาระการต่อสู้ที่มีความหมายสำคัญว่า “เราจะสู้เพื่อประชาชน” เพื่อให้ “ในหลวง” เป็นของประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง ไม่ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งผูกขาดความจงรักภักดีและอ้างสถาบันเป็นเครื่องมือทางการเมือง และเป็นเครื่องมือทำรัฐประหารได้อีกต่อไป

ถึงเวลาที่เราต้องออกมานอกถ้ำ เพื่อทวงความเป็นมนุษย์ตาม “เกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ” และทวงความเป็น “ประชาชน” ในระบอบประชาธิปไตยที่เราจำเป็นต้องมี!

                                            
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปราโมทย์ แสนสวาสดิ์: บาดแผลแห่งค่ำคืน

Posted: 24 Apr 2011 04:26 AM PDT

ในความเมามายปลายเดือน

เขาพบตัวเองในซ่องชั้นต่ำสกปรก

มันอำพรางในหลืบมุมของเมืองใหญ่

กลางวันจึงแทบไม่มีใครรู้เลยว่าที่นี่คือซ่อง

ก่อนจะเผยโฉมเมื่อราตรีมาถึงอย่างไม่น่าเชื่อ

ภายในอวลด้วยกลิ่นเหม็นอับและคาวน้ำกาม

แสงไฟสลัวสาดส่องใบหน้าพวกหล่อนมัวๆๆ

เหมือนภาพเขียนอิมเพรสชั่นนิสไร้ราคา

มุมสุดของร้านสามล้อคนนั้นคงเมาเหล้าขาวมาได้ที่

แม้สั่งเบียร์มาถึงสามขวดแต่มันไม่พร่องเลย…

เพราะตะแกมัวสาละวนกับนมของกะหรี่คราวลูก

โต๊ะถัดไปแมงดาหน้าบากกำลังนั่งคุยบางอย่างกับแม่เล้า

ขณะที่พวกหล่อนส่วนใหญ่ยังรอคอยประตูแรกค่ำคืนนี้

เขาไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับสถานที่เยี่ยงนี้

เขาคือคนโสดวัยกลางคนหัวใจกรุ่นด้วยไฟราคะ

เขาสั่งเบียร์พร้อมกับชี้ไปที่หญิงอวบอัดดวงตาเศร้าคนนั้น

เขาและหล่อนพูดคุยกันแทบไม่รู้เรื่องเนื่องเพราะตู้เพลงระยำนั่น

มันระเบิดเสียงเหมือนซาตานผุดจากนรก!

หลังจากเบียร์ขวดที่แปดผ่านไปเขาจึงรู้ว่าหล่อนมาจากอุบล

หล่อนเป็นแม่ลูกสามเพิ่งเข้าวงการกามไม่กี่เดือน

ในความเป็นจริงเขาไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าหล่อนจะมาจากนรกขุมไหน

ตัวหล่อนต่างหากที่เขาต้องการ  แม้หล่อนอายุคราวป้า

แต่บุคลิกบางอย่างของหล่อนทำให้สัญชาตญาณดิบเขาพวยพุ่ง

ใบหน้าแดงซ่านซูบซีดไปด้วยกามราคะ

ใช่ !เขาไม่ได้นอนกับผู้หญิงมาร่วมปีแล้ว

ในจิตนาการ..เขาอยากล่อหล่อนข้างตู้เพลงหรือกระแทกบั้นท้ายหล่อนริมฟุตบาทให้มันรู้แล้วรู้รอดไป…
เขาเฝ้ารอเวลา..บทสวาทราคะที่กำลังเริ่มต้น
“ ผัวหล่อนโดนทหารยิงตายที่บ่อนไก่  เมื่อเดือนพฤษภาปีที่แล้ว”  แมงดาหน้าบากบอกกับเขาขณะไปจ่ายเงินค่าตัว

ข้างป้ายรถเมล์คืนนั้นมีคนพบเห็น
เขานั่งฟูมฟายร้องไห้เหมือนคนเสียสตินานแสนนาน!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลนัดไต่สวนคำร้องคดีไต่สวนการตายของนายสุไลมาน แนซา 25 เม.ย. นี้

Posted: 24 Apr 2011 04:17 AM PDT

ศาลนัดไต่สวนคำร้องคดีไต่สวนการตายของนายสุไลมาน แนซา กรณีตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ โดยศพอยู่ในสภาพแขวนคอในห้องควบคุมที่ศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี

24 เม.ย. 54 - โครงการการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งข่าวว่าในวันที่ 25 เมษายน 2554 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดปัตตานี จะมีการนัดไต่สวนคำร้องคดีไต่สวนการตายของนายสุไลมาน แนซา ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ช.14/2553 ที่พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายสุไลมาน แนซา (ผู้ตาย) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ เนื่องจากความตายของนายสุไลมาน แนซา เป็นกรณีตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฎิบัติราชการตามหน้าที่

เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีแล้วที่สังคมยังคงสงสัยและเคลือบแคลงใจต่อสาเหตุการเสียชีวิตของนายลุไลมาน แนซา ผู้ถูกควบคุมตัวในศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ ค่ายอิงยุทธบริหาร ตำบลหนองจิก อำเภอบ่อทอง จังหวัดปัตตานี โดยในวันนัดไต่สวนดังกล่าวนายเจะแว แนซา บิดาของผู้เสียชีวิต เป็นผู้ยื่นคำร้องคัดค้านในคดีนี้ เนื่องจากไม่เชื่อว่าสาเหตุการเสียชีวิตของ นายสุไลมานจะมาจากการฆ่าตัวตาย จึงมีความประสงค์ที่จะแต่งตั้งทนายความเข้ามาซักถามพยานของผู้ร้อง และนำพยานอื่นเข้ามาไต่สวนในคดีด้วย โดยได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมที่ได้มอบหมายให้ทนายความของทั้งสององค์กรเป็นทนายความให้แก่ผู้ร้องคัดค้าน

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 นายสุไลมาน แนซา ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังเข้าควบคุมตัวขณะอยู่ที่บ้าน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และถูกควบคุมต่อภายใต้อำนาจพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร รวมเป็นเวลา 8 วัน ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว มีหลายวันที่ญาติขอเข้าเยี่ยมนายสุไลมานแต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้เลย บางวันที่ญาติได้เข้าเยี่ยมแต่ก็ไม่สามารถที่จะเยี่ยมนายสุไลมานได้อย่างใกล้ชิด ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2553 หนึ่งวันก่อนที่นายสุไลมานจะเสียชีวิต ญาติที่ไปเยี่ยมแต่ไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้อย่างใกล้ชิด ได้สังเกตเห็นว่านายสุไลมานมีอาการผิดปกติหลายประการเช่น มีท่าทางอิดโรยอ่อนเพลียมาก ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะเดิน และเดินเซไปเซมา เป็นต้น ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 นายสุไลมานได้เสียชีวิตโดยสภาพศพอยู่ในลักษณะแขวนคอกับเหล็กดัดภายในห้องควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ได้แจ้งว่านายสุไลมานทำอัตตวินิบาตกรรมโดยการผูกคอตาย แต่ญาติของนายสุไลมานไม่เชื่อว่านายสุไลมานจะเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย การไต่สวนการตายครั้งนี้ ผู้ร้องคัดค้านและญาติ ๆ หวังที่จะพึ่งกระบวนการยุติธรรมในการพิสูจน์สาเหตุการตายที่แท้จริงของนายสุไลมาน
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนาและถาม-ตอบ หลังการแถลงข่าวของ ‘สมศักดิ์’

Posted: 24 Apr 2011 03:17 AM PDT

 
24 เม.ย.54 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ภายหลังการแถลงข่าวของกลุ่มนิติราษฎร์ และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถึงผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ: กรณีการอภิปรายเรื่อง สถาบันกษัตริย์-รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย ซึ่งสมศักดิ์ได้อภิปรายเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553 ได้มีการเสวนาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว พร้อมเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถาม
นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า สิ่งที่นักวิชาการถูกคุกคามเมื่อเทียบกับคนที่ติดคุก ก็ถือว่าเรื่องมันนิดเดียว ดังนั้นในฐานะนักวิชาการ เขาไม่เรียกร้องให้ตัวเอง เขาเรียกร้องแทนผู้ที่สูญเสีย พร้อมกล่าวต่อไปว่าปัจจุบันมีการใช้มาตรา 112 เยอะมาก เทียบกับสมัยก่อนที่มีคดีน้อยและใช้อย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ตามการใช้มาตรานี้อย่างพร่ำเพรื่อ เกิดผลทางลบต่อผู้ใช้กฎหมายนี้เอง
“เราเอาประเด็นนี้มาพูดบนโต๊ะ เพราะเราไม่อยากให้พูดเรื่องนี้กันเงียบๆ จนก่อให้เกิดความเสียหาย เราพูดเรื่องนี้เพื่อผลประโยชน์ของสถาบัน ไอ้วิธีการเอาคนมาวนมอเตอร์ไซค์ เลิกเสียทีได้ไหม สงสัยก็เรียกไปคุย ไม่หนีไม่ไปไหนทั้งนั้น ไม่มีน้ำยาอะไรหรอก มีแต่สติปัญญากับปริญญาใบสองใบ มีปัญหาก็พูดคุยกัน แต่อย่าใช้วิธีการไม่ถูกต้อง อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นครูบาอาจารย์ ไม่ใช่นักเลงหัวไม้ ขอให้ปฏิบัติกันเยี่ยงวิญญูชน” นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวพร้อมสรุปว่า
“มันเป็นผลดีหรือไม่ต่อการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ ถ้าความขัดแย้งนั้นไม่ได้เอามาพูดกันอย่างเปิดเผย ขอลอกเอาคำอาจารย์สมศักดิ์ ว่าอย่าประเมินความสามารถของตัวเองในจัดการปัญหานี้สูงเกินไป และอย่าประเมินความไม่พอใจของประชาชนต่ำเกินไป"
กฤตยา อาชวนิชกุล จากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขอคารวะจิตใจของกลุ่มนิติราษฎร์ นายสมศักดิ์ เจียมธรสกุล และประชาชนที่พูดจาเปิดเผยตรงไปตรงมา กล้าหาญในการให้ความเห็นต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งดิฉันเข้าใจว่าเป้าหมายจริงๆ แล้วต้องการสร้างความมั่นคงให้สถาบันกษัตริย์ไปอีกยาวนานถ้ามีการเปลี่ยนแปลง และน่าจะเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าจงรักภักดีต่อสถาบันกษัติรย์
“ดิฉันดูพาดหัวนิตยสารรายสัปดาห์ พาดหัวเรื่องล้มเจ้าหมด ทำให้ดิฉันมองว่าประเด็นนี้ถูกนำมาทำให้อ่อนไหว แต่สื่อกระแสหลักหรือสื่อทั่วไปพร้อมจะเล่นประเด็นนี้ แต่เหตุการณ์วันนี้ เรามากันเยอะอย่างนี้ เข้าใจว่าไม่มีทีวีสักช่องที่จะรายงาน”
“เมื่อดิฉันเห็นที่เขาพาดหัวนิตสารการเมืองรายสัปดาห์ ดิฉันคิดถึงผังล้มเจ้า และมีรายชื่อบุคคลจำนวนมากขณะนี้ยังไม่สามารถไปหาหลักฐานที่ยืนยันว่ามีขบวนการล้มเจ้า ขอถามคนที่ทำผังล้มเจ้าว่า มีวัตถุประสงค์อะไรถึงเอาผังล้มเจ้าออกมา โดยที่เหตุการณ์ผ่านมาเนิ่นนานแล้วยังไม่มีหลักฐานอะไรทั้งสิ้นที่ว่ามีขบวนการล้มเจ้าอยู่จริงในประเทศไทย”
ดร. กฤตยากล่าวว่า ไทยได้เลือกแล้วที่จะเป็นประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยม ปีหน้าเราครบ 80 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แม้มีรัฐประหารเป็นครั้งคราว แต่คนที่ทำรัฐประหารเองก็ไม่กล้าปิดประเทศ หมุนย้อนกลับไปเหมือนที่คนไทย ทหารไทยที่ชี้หน้าด่าประเทศเพื่อนบ้านว่าล้าหลัง
“ดิฉันเข้าใจว่าคนเหล่านี้ไม่กล้าที่จะพาประเทศไปสู่ภาวะล้าหลังเช่นนั้น การเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาในกรอบของกฎหมายเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี เป็นการสร้างสติปัญญา เมื่อมีสติปัญญาแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลในทางที่เป็นคุณภาพ”
ดร. กฤตยากล่าวว่า ความขัดแย้งใน 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ไม่มีพระ-มาร ไม่มีพระเอก-ผู้ร้าย เป็นความขัดแย้งเชิงคุณภาพ เพราะเป็นความขัดแย้งที่แสดงให้เห็นว่าบางสิ่งบางอย่างไม่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ปีนี้และอีกหลายๆ ปีจะเป็นปีแห่งมหาภัยพิบัติ ขณะเดียวกันก็เป็นปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลทางจิตใจของประชาชนในแอฟริกาและตะวันออกกกลาง
“ลักษณะจิตใจแบบนี้ก็อยู่ในพื้นฐานจิตใจของประชาชนในประเทศไทยด้วย และนี่เป็นจิตใจที่เราต้องการ และเป็นจิตใจที่นำพาประเทศไทยไป มีแต่การเปิดพื้นที่เท่านั้น ที่จะทำใหสถาบันพระมหากษัตริย์ยั่งยืนมั่นคง เป็นการเปลี่ยนแปลที่มีคุณภาพมากขึ้น”
คำ ผกา นักเขียนอิสระ กล่าวว่า เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่คนในสังคมไทยถูกจับเข้าไปอยู่ในห้องมืด และเต็มไปด้วยความกลัวเพราะในความมืดเต็มไปด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับภูตผีปีศาจ พวกเราจึงไม่กล้าพูดอะไรดังๆ ถ้าอยากพูดก็จะซุบซิบ เราไม่กล้าขยับตัว ไม่กล้าเคลื่อนไหว เรากลัวว่าถ้าเราพูดเสียงดังผีจะได้ยิน ถ้าเราขยับตัวอาจจะไปโดนปีศาจ
“พวกเราเป็นคล้ายๆ คนโรคจิต สิ่งที่อาจารย์สมศักดิ์ทำ และนักวิชาการอีกหลายๆ ท่านได้ทำมาตลอดหลายสิบปี ก็เหมือนเป็นการนำแสงสว่างมาสู่ห้องมืด แต่แสงสว่างนั้นไม่เพียงพอเพราะเรื่องเล่าที่น่าหวาดกลัวอยู่กับเรามานานเกินไป แต่สิ่งที่อาจารย์สมศักดิ์ทำเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา คือการไปเปิดหน้าต่าง ให้แสงสว่างเข้ามา ถ้าจะมีผีหรือปีศาจอยู่ในห้องนี้ ขอให้เราได้เห็นผีตนนั้นโดยไม่มีภาพลวงตา ไม่มีเรื่องเล่า”
“สุดท้ายงานของอาจารย์สมศักดิ์ และนักวิชาการฝ่ายเสรีนิยมทุกคนเป็นแต่เพียงต้องการให้สถาบันกษัตริย์ได้พิจารณาปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่ เพราเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ในสังคมไทยและสังคมโลกอย่างสง่างาม”
ในช่วงท้ายของการสัมมนา ผู้สื่อข่าวจากเดอะเนชั่นถามว่า อาจารย์สมศักดิ์คิดหรือไม่ว่าจะเกิดเหตุเหล่านี้ต่อตนเอง จากนั้นสมศักดิ์ตอบว่า เขายอมรับว่า ที่ผ่านมาคิดว่าประเทศไทยจะศิวิไลซ์กว่านี้ ไม่คิดว่ามีคนจำนวนหนึ่งพร้อมที่จะใช้วิธีการแบบนี้จัดการกับคนที่คิดไม่เหมือนกัน
ผู้สื่อข่าวประชาไทถามว่า อาจารย์สมศักดิ์ประเมินความกลัวของชนชั้นนำต่ำเกินไปหรือเปล่า และคาดการณ์ได้ไหมว่าจะเกิดอะไรต่อไป
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ตัวอย่างจดหมายเปิดผนึกถึงฟ้าหญิงในทางกฎหมาย ไม่ผิดกฎหมายเลย และเขียนอย่างระมัดระวัง แต่ยอมรับว่าเขาอาจจะมองโลกในแง่ดีหรือพาซื่อเกินไปหรือเปล่า แต่พอจดหมายที่ออกมาปั๊บ ก็โกรธชนิดเอาเลือดเอาเนื้อเกินไป ผมอาจจะพาซื่อเกินไป ไม่ว่าต่อชนชั้นนำเอง หรือคนที่จงรักภักดี เราอาจจะมองความศิวิไลซ์ของประเทศไทยสูงกว่าที่จะเป็นจริงก็ได้ ที่ผ่านมาเราอาจจะประเมินสูงเกินไป
ผู้สื่อข่าวประชาไทถามต่อไปว่าระหว่างคนที่จงรักภักดีสุดโต่งกับกลไกรัฐ อะไรที่เป็นปัญหามากกว่ากัน
สมศักดิ์ตอบว่า เรื่องรัฐต้องมาก่อนอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐสัมภาษณ์รายวันต่อกันเกินสิบวัน รัฐบาลพลเรือนอย่างอภิสิทธิ์ควรออกมาบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันเกินกว่าสิ่งที่ทหารควรจะทำ แต่รัฐบาลกลับโหนกระแส ถ้าคนระดับนำพวกนี้ไม่ทำแบบนี้ ลำพังคนที่จงรักภักดีสุดโต่งก็คงมีส่วนหนึ่ง แต่การเกิดกระแสแบบนี้ได้ก็เพราะกลไกของรัฐ เห็นได้ชัดว่าสถานการณ์ขณะนี้เห็นได้ชัดว่ามันเข้าไปสู่การหวังผลทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของตนเอง ลำพังรัฐไม่ทำแบบนี้ แค่เฉพาะคนที่จงรักภักดีคงไม่ตึงเครียดขนาดนี้
ผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามว่า มีการขู่ ถึงขั้นขู่ฆ่าเลยไหม ถ้ามีการขู่ฆ่า ระบุรายละเอียดเพิ่มเติมได้ไหม การโดนตั้งข้อหา จะทำให้พ้นสภาพนักวิชาการหรือเปล่า และการที่มีเวทีพูดคุยแบบนี้ทำไมใช้เวลานานกว่าจะเกิดขึ้น เพราะรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อปี 2549
สมศักดิ์ ตอบว่าการถูกขู่ฆ่ามีอยู่ตลอด “แต่ผมไม่อยากให้ความสำคัญ แต่ถ้าพูดตรงๆ ในหลายวันที่ผ่านมา มันอยู่ในบริบทของบรรยากาศที่ทหารตบเท้าติดต่อกันสิบกว่าวัน แล้วสร้างบรรยากาศความกลัว ผมก็คุยเล่นๆ กับเพื่อนว่าผมจะถึงฆาตไหม โดยส่วนตัวผมคิดว่าไม่ แต่อย่างน้อยมันมีผลสะเทือนต่อภรรยาผม ต่อญาติมิตรที่ล้อมรอบ”
“ที่ได้ข้อมูลมาว่ามีหน่วยทหาร 80 คน ที่ดูแลผมตลอด 24 ชม. ซึ่งข่าวนี้อาจจะเป็นการขู่ก็ได้ อาจจะหวังดีก็ได้ แต่สำหรับภรรยาผม มัน.......อื้อหือ แล้วมันมีการตบเท้ากันตลอด แล้วโดยส่วนตัว ผมพยายามจะพูดถึงน้อยมาก เพราะคนอื่นก็โดนมากกว่าผมเยอะ”
“เรื่องเสียตำแหน่งหรือไม่ มีการเสนอให้มหาวิทยาลัยทำโทษทางวินัย แต่ที่ผ่านมา ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้หลายคนจะไม่ชอบผู้บริหาร แต่ธรรมศาสตร์มีวัฒนธรรมในการให้เสรีภาพต่อนักวิชาการเยอะ”
“ตั้งแต่ 10 ธ.ค. ก็มีการกดดันมาที่กลุ่มนักวิชาการนิติราษฎร์ ผมเคยเห็นจดหมายที่ร้องเรียนผมมาที่อธิการ เขาก็ยังถือว่านี่คือเสรีภาพทางวิชาการในการแสดงความคิดเห็น”
นักศึกษาจากคณะนิศาสตร์ถามว่า มีข้อถกเถียงว่าถ้าไม่ได้ทำผิดจะกลัวกฎหมายทำไม
นายวรเจตน์ตอบประเด็นนี้ว่า ที่เราพูดอยู่นี้ก็เพราะเราเห็นกฎหมายนี้เป็นปัญหา และยืนยันว่าที่เราจัดงานวันนี้เพราะนี่คือฐานที่มั่นสุดท้ายซึ่งเราต้องรักษาไว้ให้ได้
ประชาชนที่เข้าร่วมฟังการแถลงข่าวกล่าวว่า ต้องให้ควาเมป็นธรรมกับกษัตริย์ของไทยด้วยว่า พระองค์ไม่เคยพูดว่าไม่ให้วิจารณ์ ฉะนั้น ทหารที่ออกมาตบเท้าต้องบอกหรืออธิบายมาด้วยว่า พระองค์ไม่ยินยอมให้วิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ผู้ร่วมฟังการแถลงข่าวอีกรายกล่าวเสริมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชดำรัสแล้วว่าให้วิพากษ์วิจารณ์ได้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิชาการไทย-เทศ ตบเท้าให้กำลังใจ ‘สมศักดิ์’ จี้รัฐยุติคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน

Posted: 24 Apr 2011 02:41 AM PDT

24 เม.ย.54 - นักวิชาการจากกลุ่มสันติประชาธรรม และกลุ่มต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ออกแถลงการณ์กรณีการคุกคาม สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ผู้วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นบทบาทของสถาบันกษัตริย์ โดยเรียกร้องให้รัฐยุติการคุกคามเสรีภาพของประชาชน หยุดการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาป้ายสีบุคคลต่างๆ

หยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 ประชาชนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากผู้ยึดกุมอำนาจรัฐ ก็ต้องเผชิญกับการคุกคามสิทธิและเสรีภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะนี้ เงาทะมึนของการคุกคามได้ลุกลามเข้าสู่ผู้คนในวงวิชาการด้วยเช่นกัน ล่าสุดคือการคุกคามที่เกิดขึ้นกับอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ด้วยสาเหตุที่อาจารย์ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยในเวทีวิชาการต่าง ๆ หลายครั้งหลายครา 

พวกเราในฐานะนักวิชาการเครือข่ายสันติประชาธรรม และประชาชนที่เห็นด้วยกับแถลงการณ์นี้ เชื่อว่าการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผยของอาจารย์สมศักดิ์ วางอยู่บนเจตจำนงที่ต้องการเห็นสถาบันกษัตริย์ดำรงควบคู่อย่างสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อความมั่นคงของทั้งสถาบันกษัตริย์และต่อสังคมไทยโดยรวม แต่เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งที่การแสดงความคิดเห็นของอาจารย์สมศักดิ์ ที่มุ่งเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจได้ตระหนักถึงปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่นี้ ได้ถูกโจมตีว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มุ่งล้มล้างสถาบันกษัตริย์ และอาจถึงขั้นถูกนำไปเป็นข้ออ้างสำหรับการรัฐประหารครั้งต่อไปก็ได้ นอกจากนี้ อาจารย์สมศักดิ์ไม่ใช่คนแรกและคนสุดท้ายที่จะแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวอย่างแน่นอน คำถามคืออำนาจรัฐจะติดตามคุกคามประชาชนด้วยประเด็นปัญหานี้อีกกว้างขวางแค่ไหน

พวกเราจึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยุติการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการของอาจารย์สมศักดิ์ และต่อประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ที่มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง  โปรดตระหนักว่าในสังคมประชาธิปไตย ทุกสถาบันควรได้รับการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นประโยชน์กับสังคมประการสำคัญ การเปิดกว้างยินยอมให้มีการแสดงความคิดที่แตกต่างได้อย่างเปิดเผย โดยปราศจากภัยคุกคามและความกลัวต่างหาก ที่จะช่วยนำสังคมไทยฝ่าออกไปจากวิกฤติในขณะนี้ได้

ด้วยความเคารพต่อสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรม
เครือข่ายสันติประชาธรรม

  1. กฤตยา อาชวนิจกุล          สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. ศรีประภา เพชรมีศรี          ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ          วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  4. ธงชัย วินิจจะกูล          ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน
  5. พวงทอง ภวัครพันธุ์          คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  6. เวียงรัฐ เนติโพธิ์          คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  7. จักรกริช สังขมณี          คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  8. เกษม เพ็ญภินันท์          คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  9. นฤมล ทับจุมพล          คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  10. ภูมิอินทร์ สิงห์ชวาลา          คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  11. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี          คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  12. เสาวนีย์ อเล๊กซานเดอร์          คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบล
  13. ลักขณา ปันวิชัย          นักเขียน
  14. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์          คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  15. จีรพล เกตุจุมพล          คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  16. ธนาพล อิ๋วสกุล          สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
  17. กานต์ ทัศนภักดิ์          นักเขียน ช่างภาพ และคนทำงานศิลปะ
  18. นภัทร สาเศียร          นิสิตปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  19. วันรัก สุวรรณวัฒนา          คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  20. อภิชาต สถิตนิรมัย          คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  21. ไอดา อรุณวงศ์          สำนักพิมพ์อ่าน
  22. เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว          ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
  23. วิภา ดาวมณี          คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
  24. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์          คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  25. เชษฐา พวงหัตถ์          ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  26. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์          คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  27. อาดาดล อิงคะวณิช          มหาวิทยาลัยเว็สต์มินสเตอร์
  28. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ          คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  29. อรอนงค์ ทิพย์พิมล          คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  30. นวลน้อย ตรีรัตน์          คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  31. ดาริน อินทร์เหมือน          สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
  32. ชาตรี ประกิตนนทการ          คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาศิลปากร
  33. มุกหอม วงษ์เทศ          นักเขียน
  34. รักนิรันดร์ วรรณวีรพงษ์
  35. ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
  36. อัจฉรา รักยุติธรรม          คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  37. นิรมล ยุวนบุณย์
  38. นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ
  39. เยาวลักษ์ อนุพันธุ์          ทนายความ
  40. ชญานิน เตียงพิทยากร
  41. อุเชนทร์ เชียงเสน
  42. ชาตรี สมนึก
  43. วิทยา พันธ์พานิชย์
  44. พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
  45. รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช          International Crisis Group
  46. กิตติศักดิ์ สฤษดิสุข
  47. ธนศักดิ์ สายจำปา
  48. จอน อึ๊งภากรณ์
  49. ประจักษ์ ก้องกีรติ          คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  50. ยุกติ มุกดาวิจิตร          คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

000000

จดหมายเปิดผนึก
(จากนักวิชาการด้านไทยศึกษาในต่างประเทศ)

ในนามของนักวิชาด้านไทยศึกษาซึ่งพำนักอยู่นอกประเทศไทย เราได้เฝ้าสังเกตการลิดรอนพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนทางความคิดที่เกิดขึ้นเรื่อยมานับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และมีความกังวลใจอย่างถึงที่สุด ทั้งนี้การคุกคามเสรีภาพของการคิดและการแสดงออกนี้ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ดังตัวอย่างที่สำคัญ เช่น การจับกุมกักขัง ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์อำนวยการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนเมษายน 2553 การตั้งข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อนายใจ อึ๊งภากรณ์ และการดำเนินคดีต่อนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไท

ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งถูกคุกคาม อันเนื่องมาจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์และความสัมพันธ์ระหว่างสองสถาบันนี้ เราจึงต้องการที่จะแสดงออกซึ่งความห่วงใยอย่างที่สุดต่อกรณีนี้

การคุกคามที่มีต่อ ดร.สุธาชัย นายใจ นางสาวจีรนุช และ ดร.สมศักดิ์ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นต่อประชาชนชาวไทยอีกจำนวนนับไม่ถ้วนนั้น เป็นลักษณะบ่งชี้ถึงการปฏิบัติอย่างกว้างขวางและหลายรูปแบบของรัฐ ซึ่งการกระทำเหล่านี้คุกคามต่อสิทธิเสรีภาพและอนาคตของประชาธิปไตยไทยอย่างรุนแรง สิ่งที่ชัดเจนในขณะนี้คือ ความขัดแย้งจะไม่มีทางหมดไปจากระบบการปกครองของไทย ไม่ว่ารัฐไทยจะเลือกใช้มาตรการจัดการที่รุนแรงเพียงใด ผู้ซึ่งอยู่ในอำนาจควรจะตระหนักได้แล้วว่าการอภิปรายและการวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อกระบวนการทางประชาธิปไตย ไม่ใช่ความจงรักภักดีอย่างไม่ลืมหูลืมตา

เราซึ่งมีชื่อด้านล่างนี้ขอแสดงจุดยืนเคียงข้างเพื่อนร่วมวิชาชีพจากเครือข่ายสันติประชาธรรม ขอเรียกร้องให้หยุดการข่มขู่คุกคามต่อดร.สมศักดิ์ และหยุดการปฏิบัติใดๆอันเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

  1. Dr.Michael K. Connors, La Trobe University
  2. Dr.Nancy Eberhardt, Knox College
  3. Dr.Nicholas Farrelly, Australian National University
  4. Dr.Arnika Fuhrmann, Hong Kong University
  5. Dr.Jim Glassman, University of British Columbia
  6. Dr.Tyrell Haberkorn, Australian National University
  7. Dr.Kevin Hewison, University of North Carolina-Chapel Hill
  8. Dr.CJ Hinke, Freedom Against Censorship Thailand
  9. Dr.Soren Ivarsson, University of Copenhagen
  10. Dr.Andrew Johnson, Sogang University
  11. Dr.Tomas Larsson, Cambridge University
  12. Dr.Charles Keyes, University of Washington
  13. Mr.Samson Lim, Cornell University
  14. Dr.Tamara Loos, Cornell University
  15. Dr.Mary Beth Mills, Colby College
  16. Ms.Nattakant Akarapongpisak, Australian National University
  17. Dr.Craig Reynolds, Australian National University
  18. Mr.Andrew Spooner, Nottingham Trent University
  19. Mr.Sing Suwannakij, University of Copenhagen
  20. Dr.Michelle Tan, Independent Scholar, USA
  21. Mr.Giles Ji Ungpakorn, Independent Scholar, UK
  22. Dr.Andrew Walker, Australian National University
  23. Dr.Thongchai Winichakul, University of Wisconsin-Madison
  24. Mr.Kritdikorn Wongswangpanich, Aberystwyth University
  25. Dr.Adadol Ingawanij, University of Wesminster, UK.
  26. Dr.Rachel V Harrison, University of London

000000

ขออย่าทวีความร้าวฉานในสังคม

ความขัดแย้งของสังคมไทยในช่วง 5-6 ปีมานี้ มีลักษณะที่แตกต่างไปจากช่วงอื่นๆอย่างชัดเจน กล่าวคือ เป็นความขัดแย้งที่ขยายวงไปยังทุกภาคส่วนและสังคมหน่วยต่างๆ ตั้งแต่ภายในครอบครัว กลุ่มอาชีพ หน่วยงาน ไปจนถึงสถาบันต่างๆ เช่น สถาบันยุติธรรม พรรคการเมือง การบริหารราชการ การบัญญัติกฎหมาย ฯลฯ ทั้งยังเป็นปฏิปักษ์ต่อกันโดยไม่มีแนวโน้มว่าจะลดราลง ความขัดแย้งในลักษณะเช่นนี้อาจเป็นเหตุก่อให้เกิดผลได้ทั้งทางบวกและทางลบ ทั้งนี้ขึ้นกับวิธีการแก้ไขความขัดแย้งนี้ในระยะสั้นและระยะยาว

กรณีการออกหมายจับ ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในวันเวลานี้นั้น เป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นถึง มรรควิธีในการจัดการความขัดแย้งอย่างไม่คำนึงถึงหลักวิชา ไม่ว่าจะในเชิงนิติศาสตร์ และสังคมศาสตร์สาขาต่างๆ ทั้งยังไม่เป็นไปตามหลักที่ถือปฏิบัติกันของประชาคมโลกสมัยปัจจุบัน ตั้งแต่ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงเสรีภาพในทางวิชาการ การแสดงความคิดเห็นโดยไม่ได้มีเจตนาให้ก่อการจลาจล หรือ มุ่งร้ายหมายชีวิตบุคคลหรือกลุ่มคนใดๆ

เป็นที่หวั่นเกรงว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการใช้อำนาจและกำลังที่ละเมิดศีลธรรมและนิติธรรมซึ่งสังคมไทยควรยึดถือโดยน้ำมือเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลบางกลุ่มบางฝ่ายที่อาจจะกำหนดอยู่เบื้องหลังนี้นั้นส่อถึงเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์และไร้ความปรารถนาดีต่อการคลี่คลายความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ อันจะยิ่งทำให้ปัญหาที่สั่งสมอยู่แล้วทวีความรุนแรงขึ้น

ผู้มีรายนามท้ายนี้ ขอเสนอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและฝ่ายอื่นๆที่พยายามดำเนินการใส่ร้าย กล่าวหา ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ล้มเลิกการคุกคามและความประสงค์ที่จะทำร้ายไม่ว่าจะทางกายภาพและทางจิตใจทั้งในกรณีนี้และอื่นๆที่อาจจะตามมา เช่น การถอดถอนประกันที่สาธารณชนรู้จักกันในนาม ‘แกนนำนปช.’ การออกหมายจับบุคคลต่างๆที่อาจมีการเตรียมการไว้ และการกระทำต่างๆนานาที่มิได้เอื้อต่อการประคับประคองการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยหลักสันติธรรม

วันที่ 24 เมษายน 2554

  1. ไชยันต์ รัชชกูล สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ
  2. สุชาติ เศรษฐมาลินี สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ
  3. ชาญชัย ชัยสุขโกศล ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. เอกรินทร์ ต่วนศิริ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  5. งามศุกร์ รัตนเสถียร ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. ประทับจิต นีละไพจิตร นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  7. ใจสิริ วรธรรมเนียม ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
  8. อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
  9. เอกพันธ์ ปิณฑวณิช ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล  

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แถลงกรณีถูกคุกคามจากการอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์

Posted: 24 Apr 2011 01:26 AM PDT

24 เม.ย. 2554 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แถลงข่าวถึงผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ: กรณีการอภิปรายเรื่อง สถาบันกษัตริย์-รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย ซึ่งเขาได้อภิปรายเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553

 

ก่อนเริ่มการเสวนา ประชาชนผู้เข้าร่วมการแถลงข่าว มอบดอกกุหลาบสีแดงให้กำลังใจนายสมศักดิ์ โดยนายสมศักดิ์ ปรากฏตัวด้วยผมที่ย้อมเป็นสีดำ

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ หนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวถึงที่มาของการจัดอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญปีที่แล้วซึ่งเป็นที่มาของการแถลงข่าววันนี้ว่า เป็นเรื่องที่กลุ่มนิติราษฎร์ทำขึ้น โดยกลุ่มฯ มีความมุ่งหมายที่จะแสดงทัศนะทางกฎหมายในประเด็นที่เป็นสาธารณะ โดยเริ่มจากเรื่องตุลาการ มโนธรรมสำนึก, สถาบันกษัตริย์ รัฐธรรมนูญ ถัดจากนั้นคือ กองทัพกับประชาธิปไตย และล่าสุดคือกฎหมายว่าด้วยหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยเป็นการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและตั้งใจจะทำต่อไปอีก

หลังจากจัดงานในวันที่ 10 ธ.ค.53 ก็เกิดผลพวง โดยบุคคลกลุ่มหนึ่งร้องเรียนไปยังมหาวิทยาลัยให้ดำเนินการกับกลุ่มอาจารย์ที่จัดงาน และอาจารย์สมศักดิ์ และมีคนต้องการให้ดำเนินการทางวินัยกับสมศักดิ์ด้วย แต่ประเด็นเหล่านี้เราเห็นว่ายังไม่มีน้ำหนักมากเพียงพอ และเห็นว่ากลุ่มฯ ทำกิจกรรมทั้งหมดด้วยความสุจริตใจ

ในตอนท้ายของการอภิปรายวันนั้น ผมได้บอกแล้วว่าไม่มีใครบอกให้เปลี่ยนรูปการปกครองเป็นสาธารณรัฐ การเสนอวันนั้นอยู่ในกรอบประชาธิปไตย ราชอาณาจักร อยู่ในกรอบกฎหมาย เมื่อเกิดสภาพแบบนี้ เราจึงต้องคิดว่าแล้วเราจะเดินต่อไปข้างหน้า ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้แล้วทุกคนเงียบหมด กิจกรรมแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกไม่ได้

กลุ่มนิติราษฎร์เห็นว่าเป็นภาระหน้าที่ทางวิชาการที่ต้องทำเรื่องเหล่านี้เพื่อให้เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นสาธารณะ อภิปรายกันได้อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อภิปรายกัน สิ่งที่เกิดขึ้นถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ยังคงนิ่งเฉย ที่สุดแล้ว พื้นที่น้อยนิดที่มีในสังคมไทยก็จะหดหายไป

“หลายคนอาจจะแปลกใจว่าคนที่ถูกดำเนินคดี 112 มีหลายคน ทำไมไม่ออกมาแถลงข่าวแบบวันนี้ ผมเรียนว่าการอภิปรายทั้งหมดทางวิชาการที่เราทำมาแล้ว และจะทำต่อไปนี่คือการช่วยเหลือบุคคลทั้งหลายทั้งปวงที่ถูกดำเนินคดีเหล่านี้อยู่ เราเรียกร้องให้เกิดการดำเนินกระบวนการตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม แต่กรณีอาจารย์สมศักดิ์ เป็นพื้นที่ทางวิชาการ เนื้อหาทางวิชาการทำอย่างเปิดเผย เปิดโอกาสให้โต้แย้งกันด้วยเหตุด้วยผล แล้วยังเกิดสิ่งที่เล่าให้ฟังไป ปัญหาคือเราไม่สามารถขยับเขยื้อนต่อไปได้อีก สังคมไทยจะตกอยู่ในภาวะเงียบงัน ไม่มีใครกล้าพูดในประเด็นเหล่านี้ซึ่งทุกคนมีความชอบธรรมที่จะพูดได้” นายวรเจตน์กล่าว

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวของอาจารย์สมศักดิ์ แล้วปล่อยให้ไปเผชิญปัญหาไปโดยลำพัง นิติราษฎร์ในฐานะผู้จัดงานต้องร่วมรับผิดชอบ และเรายืนยันว่าเราทำในกรอบของกฎหมาย สิ่งที่เราทำในวันนี้เป็นการยืนยันความบริสุทธิ์ใจของเราทั้งหมด และการกระทำทางวิชาการของเราเป็นเรื่องที่จะมาข่มขู่กันไม่ได้

"การแถลงข่าววันนี้ไม่ได้มีเฉพาะนิติราษฎร์เท่านั้น เราไม่ได้มีกำลังทรัพย์สิน ไม่ได้มีอาวุธ เรามีเพียงกำลังสติปัญญาตอบแทนกับสังคม การที่บุคคลที่ไม่มีอะไรเลยอย่างพวกเรา ถูกกระทำในลักษณะที่ล่วงละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพอย่างนี้ เราต้องทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องฉุกละหุกเมื่อวานนี้ และเราได้รับกำลังใจจากนักวิชาการหลายท่านที่มาร่วมกับเราในวันนี้ กลุ่มสันติประชาธรรม ที่ให้การสนับสนุนอย่างดี นักวิชาการอื่นๆ และอีกหลายท่านที่ไม่สามารถมาได้ ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็กำลังจะแถลงท่าทีเหมือนกัน” นายวรเจตน์กล่าวและว่ายังอุ่นใจว่าวันนี้เพื่อนนักวิชาการอื่นๆ ยังร่วมกับกลุ่มฯ ที่จะเดินต่อไปบนหนทางวิชาการที่จะทำให้ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นสาธารณะ

“ไม่ว่าเราจะมีแรงกดดันแรงเสียดทานอย่างไรเราจะพยายามทำต่อไปอีก” นายวรเจตน์กล่าวในที่สุด
 

นายสมศักดิ์ ซึ่งปรากฏตัวในภาพลักษณ์ใหม่ เรียกเสียงปรบมือจากผู้ฟัง เนื่องจากเขาย้อมผมเป็นสีดำ กล่าวว่า บรรยากาศทางการเมืองช่วงที่ผ่านมาชวนให้อึมครึมและเซ็ง ทั้งแม่ทั้งภรรยายุให้ย้อมผมหลายปี ที่ผ่านมาเลยลองย้อมดู แต่พอย้อมแล้วรู้สึกว่าหล่อสู้ของเก่าไม่ได้

เขากล่าวขอบคุณ กลุ่มนิติราษฎร์และนักวิชาการรวมถึงผู้ให้การสนับสนุนและให้กำลังใจแม้ที่ผ่านมาจะมีการถกเถียง ทะเลาะเบาะแว้งกัน ซึ่งเขารู้สึกขอบคุณอย่างจริงใจที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือ จากนั้นจึงกล่าวแถลงดังนี้

ผมรู้สึกว่าถ้าเป็นอะไรไปหลังจากนี้ก็รู้สึกคุ้มกับชีวิต

ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาผมได้เขียนบทความทางวิชาการและข้อเขียนอื่นๆ และพูดอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยที่ไม่เคยเสนอให้ล้มเจ้าหรือล้มเลิกสถาบันกษัตริย์สิ่งที่ผมพูดอยู่ในกรอบของการมีสถาบันกษัตริย์ทั้งสิ้น ขณะเดียวกันผมก็ไม่ปิดบังความคิดที่ว่า สถาบันฯ ต้องปรับปรุง ซึ่งไม่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และอาญา ผมจึงเขียนโดยใช้ชื่อจริงและเปิดเผยโดยตลอด เมื่อปีกลาย 2553 ได้รวบรวมข้อเสนอ 8 ข้อ สว. คำนูณ (สิทธิสมาน) ยังเอาไปเผยแพร่มาแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าเป็นความผิด ผมก็ยินดีจะชี้แจงและไม่เคยคิดหลบเลี่ยง แต่ระยะสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของรัฐได้สร้างบรรยากาศความเครียดกดดัน มีการให้สัมภาษณ์พาดพิง เช่น นักวิชาการโรคจิตที่จ้องทำลายสถาบัน หลังจากนั้น การออกมาให้สัมภาษณ์และการตบเท้าของทหาร แม้ไม่เกี่ยวข้องหรือพาดพิงถึงผม ก็ได้สร้างความหวาดกลัวกับสังคมไทย

“เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาบุคคลระดับนำของรัฐบาล แจ้งให้ผมทราบว่าทหารได้กดดันให้ดำเนินการกับผมเป็นการเฉพาะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นกับผมโดยตรง เช่น ชายสองคนขี่มอเตอร์ไซค์เข้าไปเวียนในหมู่บ้านผม โดยบอกกับยามว่า มารับอาจารย์ มีโทรศัพท์ไปที่บ้านผม ว่ามีกำลังเจ้าหน้าที่หลายสิบนายติดตามอย่างใกล้ชิด ผมขอยืนยันว่าผมทำการวิพากษ์วิจารณ์ภายใต้กรอบกฎหมายเสมอมา

“ภายใต้บรรยากาศแปลกๆ ผมต้องชี้แจงต่อสื่อมวลชนและสาธารณชน สิ่งที่ผมทำเป็นสิทธิที่ชอบธรรม ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และตามกฎหมายของไทยเองก็ตาม และหากจะดำเนินการกับผมก็ควรดำเนินการไปตามแนวทางกฎหมายปกติ หยุดสร้างบรรยากาศหวาดกลัวที่เอื้อกับอำนาจนอกระบบไม่ว่ากับผมหรือผู้ต้องหาอื่นๆ การออกมาแสดงพลังของทหารในหลายวันที่ผ่านมาไม่ใช่ครรลองของกฎหมาย ผมขอย้ำว่าผมมีความบริสุทธิ์ใจและเปิดเผยในสิ่งที่ผมทำมาโดยตลอด หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าผมมีปัญหาก็สามารถขอพบเพื่อชี้แจง และหากมีการตั้งข้อหาดำเนินคดีผมก็พร้อมจะสู้คดีตามครรลองของกฎหมาย

นายสมศักดิ์กล่าวว่าเรื่องที่ผ่านมาไม่ได้กระทบกันตนเองมากเท่ากับภรรยา

“หลังจากนั้นมีข่าวกระซิบเขียนด่า แต่สัปดาห์ที่ผ่านมามีการพูดชัดเจน มีตัวตนชัดเจน เช่น คุณประยุทธ (จันทร์โอชา) มีโทรศัพท์ไปถึงบ้าน ภรรยาก็ตกใจ เพื่อนฝูงก็บอกให้ผมเผ่นไป ผมก็คิดอยู่ บางคนก็กลัวว่าผมจะโดนดักตีหัว ในที่สุดผมก็คิดว่าไม่ เพราะสิ่งที่ผมพยายามจะทำคือการพยายามจะเปิดพื้นที่พิสูจน์ให้เห็นว่าสังคมไทย ไม่ใช่ทุกคนมีความเห็นเหมือนกันหมดเกี่ยวกับสถานะของสถาบันกษัตริย์ มีคนที่เห็นต่างจากการโฆษณาชวนเชื่อ เผลอๆ เกือบจะเหยียบล้านคนด้วย

“บรรดาผู้พิทักษ์สถาบันทั้งหลายควรจะตั้งสติให้ดีว่าคนเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านที่เขาไม่ได้คิดเหมือนกัน คุณจะทำอย่างไร จะไล่ออกไปนอกประเทศหรือ ปัญหาคือมันไม่ใช่อย่างนั้น มันมีคนจำนวนมากที่เห็นว่าสถานะปัจจุบันของสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่..อย่างน้อยที่สุดคือการอภิปรายกันอย่างตรงไปตรงมา

“และผมยอมรับว่าการอภิปรายเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. มันส่งผลที่ผมคาดไม่ถึง แม้แต่พาหมาไปหาหมอ หรือขึ้นลิฟท์ในมหาวิทยาลัยก็มีเด็กมาจ้องหน้าผม ว่านี่คือคนที่อยู่ในวิดีโอใช่ไหม นี่คือความเป็นจริงที่ว่า มีคนเห็นอย่างหลากหลายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ สิ่งที่ผมทำไม่มีอะไรมากไปกว่าการเปิดพื้นที่และบอกว่า เราสามารถอภิปรายเรื่องสถาบันได้ และพิสูจน์ได้ว่าผมไม่เคยบอกให้เลิก สิ่งที่ผมพยายามจะทำคือเอาประเด็นพวกนี้มาเปิดการอภิปรายและชี้ให้เห็นว่าถ้าพูดโดยหลักสามัญสำนึก ผมเถียงจนคนที่มาเชียร์ผมเขาเหนื่อยกันไปเองแต่ผมก็ยังไม่หยุด และการถกเถียงมันหยุดไป เช่น บอร์ดเสรีไทย เพราะใช้วิธีแบนผม

“ผมไม่คิดจะหนีไปไหน สิ่งที่ผมอยากจะสื่อสารไปถึงคนเหล่านี้ว่า ให้มองความเป็นจริงของสังคมไทยบ้าง ความเป็นจริงของโลกบ้าง ถึงคุณจะไม่เห็นด้วยโกรธหรือเกลียดมากอย่างไรก็ตาม แต่ความเป็นจริงคือคนเหยียบล้านที่คิดไม่ตรงกัน แล้วการพยายามจะปิดโน่นปิดนี่ เอากฎหมาย 112 มาเล่นงานคนเป็นร้อยๆ แล้วตอนนี้ จะแก้ไขอย่างไร มันไม่มีที่สิ้นสุด ที่จะสิ้นสุดได้คือการมาพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ภายใต้หลักการประชาธิปไตย ต่อให้ความเห็นไม่ตรงกันอย่างไรก็มานั่งเถียงกัน การจับคนนั้นคนนี้เข้าคุก แม้แต่อากง (ชายที่ถูกกล่าหาว่าส่งSMSหมิ่นเบื้องสูงไปยังโทรศัพท์มือถือของนายอภิสิทธิ์ฯ) ก็ไม่ปล่อย หรือคุณสุรชัย (แซ่ด่าน) ถึงปล่อยมาแกก็คงไม่ไปไหนหรอก เพราะถ้าจะไปแกคงไปก่อนหน้านี้แล้ว นั่นไม่มีเหตุมีผล และที่สุดแล้วมันก็จะนำไปสู่การปะทะใหม่ นำไปสู่ความรุนแรง นำไปสู่การเสียชีวิตอีก

“บรรดาที่ออกมาตบเท้าลองถามตัวเองดีๆ ว่าคุณต้องการให้มันเป็นอย่างไร คุณปิดปากเขา เขาพูดตรงๆ ไม่ได้เขาก็ใช้สัญลักษณ์พูด นี่คือความจริง คุณประยุทธ์เองก็ตาม ไม่มีประโยชน์นะครับท่าทีแบบนี้ไม่มีทางที่จะทำให้คนไม่คิดไม่พูดไม่อภิปรายกัน ประเทศไทยไม่มีทางกลับถึงยุคที่คนพูดเป็นเสียงเดียวกันหมด ซึ่งมียุคนั้นจริงหรือเปล่าไม่รู้ นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ และวิธีแก้ปัญหาแทนที่จะใช้กำลังกดดัน จับคนแก่ไม่ให้ประกัน ผู้หญิง ศาลยกเลิกคำตัดสินไปแล้วก็ยังไม่ให้ประกัน วิธีแบบนี้มีแต่ทำให้คนไม่พอใจอยู่แล้วก็ไม่พอใจยิ่งขึ้น คนที่สงสัยก็ยิ่งสงสัยมากขึ้นและนำไปสู่การปะทะ

“ใครที่เคยอ่านเคยฟังผม ผมก็พูดแบบนี้มาตลอด แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่ผมพยายามยืนยันคือการเสนอให้แก้ให้ปรับปรุงสถาบันกษัตริย์ และถ้าทำตามที่ผมว่า สถาบันกษัตริย์จะมั่นคงมาก ผมยังคิดเล่นๆ ว่า ในอนาคตพวกรอยัลลิสม์จะต้องมาขอบคุณผม ประเด็นคือในระยะยาวมันเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ที่คุณให้ข้อมูลด้านเดียวตลอดเวลา ตบเท้า ทำให้ทุกคนต้องเงียบ มันทำไม่ได้หรอก และทำให้ประเทศนี้ไม่น่าอยู่มากๆ เลย

“ผมรักประเทศนี้ แต่เราต้องการประเทศหรือบ้านที่มีสภาพแวดล้อมที่น่ารักกว่านี้ ที่คนมีเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ ถ้ามีเรื่องไม่เห็นด้วยก็แสดงความไม่เห็นด้วยออกมา ไม่ใช่ว่าพอเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แล้วต้องเงียบ ฐานคิดของผมคือทำให้เราทุกคนมีความเป็นคนปกติในเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เหมือนเรื่องอื่นๆ องค์กรสาธารณะอื่นๆ เมื่อไม่เห็นด้วยก็เถียงกันออกมา นี่คือความเป็นคนปกติธรรมดา แต่สถานะของสถาบันกษัตริย์มาถึงจุดที่ว่า เมื่อคุณจงรักภักดีมาก แล้วพอมีคนไม่เห็นด้วยแล้วคุณต้องการให้คนที่ไม่เห็นด้วยเป็นอะไรล่ะ สังคมแบบนี้ประเทศแบบนี้มันไม่น่าอยู่เอามากๆ” 

000000

000000

ใบแถลงข่าว

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผมได้เขียนบทความทางวิชาการและข้อเขียนอื่นๆ และได้พูดอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยที่ในการกระทำต่างๆเหล่านี้ ไม่เคยเลยแม้แต่ครั้งเดียวที่ผมจะเสนอให้ “ล้มเจ้า” หรือ “ล้มเลิกสถาบันกษัตริย์” สิ่งที่พูดและเขียนทั้งหมดล้วนอยู่ในกรอบของการมีสถาบันกษัตริย์ทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน ผมก็ไม่ปิดบังทัศนะที่ว่า สถาบันกษัตริย์ควรต้องมีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการปกครองในแบบประชาธิปไตย, หลักนิติธรรม และพัฒนาการของโลกสมัยใหม่ ซึ่งทัศนะหรือการเสนอให้เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงสถาบันกษัตริย์เช่นนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา ผมจึงได้พูดและเขียนโดยใช้ชื่อจริงอย่างเปิดเผยมาโดยตลอด เมื่อต้นปีกลาย (2553) ผมได้รวบรวมความเห็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ออกมาเป็นข้อเสนอ 8 ข้อ เสนอต่อสาธารณชนโดยเปิดเผย และเป็นที่รู้จักกันดีพอสมควร ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน ยังได้เคยนำข้อเสนอ 8 ข้อนี้ ไปตีความเผยแพร่และอภิปรายในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ฉบับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 มาแล้ว

การอภิปรายของผมเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553 และการพูดหรือเขียนในโอกาสต่อๆมา ก็ล้วนแต่ทำขึ้นภายใต้กรอบข้อเสนอที่ไม่ผิดกฎหมาย เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่มีรูปธรรม 8 ข้อนี้ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพลเรือนหรือทหาร เห็นว่า การกระทำของผมเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผมก็ยินดีจะชี้แจงโต้แย้งข้อกล่าวหาดังกล่าวตามกระบวนการทางกฎหมายทุกประการ ไม่เคยคิดที่จะหลบเลี่ยงแต่อย่างใด และดังที่ทราบกันดี ในส่วนของประชาชนอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับผม ผมก็พร้อมและก็ได้เคยทำการโต้แย้งแลกเปลี่ยนด้วยโดยเปิดเผยเสมอ

แต่ในระยะ 2 สัปดาห์เศษที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีการสร้างบรรยากาศตึงเครียด กดดันในข้อหาที่เรียกกันว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ผู้บัญชาการทหารบกได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา โจมตี “นักวิชาการโรคจิต” ที่ “จ้องทำลายสถาบัน” หลังจากนั้น การออกมาให้สัมภาษณ์รายวัน และตบเท้าแสดงกำลังของทหาร ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน เป็นต้นมา ในเรื่องข้อกล่าวหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” แม้จะไม่เกี่ยวข้องพาดพิงถึงผม ก็ได้สร้างบรรยากาศแห่งความน่าหวาดกลัวให้กับสังคมไทยในเรื่องนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวผมเองนั้น เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มีบุคคลระดับนำของรัฐบาล เปิดเผยเป็นส่วนตัวว่า มีแรงกดดันจากทหารให้ดำเนินการกับผมเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ก็ยังมีการเปิดเผยจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนถึงการเตรียมที่จะจัดการทางกฎหมายกับผม

ดังที่ได้กล่าวในตอนต้นว่า สิ่งที่ผมได้ทำไปในเรื่องนี้ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมาคือ ภายใต้การแสดงกำลังรายวันของทหารที่ทำให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัวในเรื่องนี้ ได้มีปรากฏการณ์แปลกๆเกิดขึ้นที่เกี่ยวกับผมโดยตรง เช่น เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีชาย 2 คนขี่มอเตอร์ไซต์ 2 คัน เข้าไปวนเวียนในหมู่บ้านผม 2 ครั้ง เมื่อยามหมู่บ้านถาม ก็ได้รับคำตอบแต่เพียงว่า “มารับตัวอาจารย์” โดยไม่มีการแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่หรือมีเอกสารราชการมาแสดงแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังมีโทรศัพท์ลึกลับไปยังบ้านผมเตือนให้ระมัดระวังตัวว่า ขณะนี้หน่วยงานด้านความมั่นคงบางหน่วย ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่หลายสิบนายคอยเฝ้าติดตามผมอยู่ตลอดเวลาโดยใกล้ชิด พร้อมจะดำเนินการจับกุมผมได้ทันทีที่ได้รับคำสั่ง

ผมขอย้ำว่า ผมกระทำการวิพากษ์วิจารณ์และเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โดยเปิดเผยและภายใต้กรอบของกฎหมายเสมอมา แต่ขณะเดียวกันภายใต้บรรยากาศและสิ่งแปลกๆที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น ผมรู้สึกจำเป็นที่จะต้องเรียนสื่อมวลชนและสาธารณชนและฝากผ่านไปยังเจ้าหน้าที่รัฐว่า สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถานะของสถาบันกษัตริย์นั้น เป็นสิทธิที่ชอบธรรมและได้รับการรับรองตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และแม้แต่ในหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยเอง ในส่วนที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เรียกว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” นั้น หากจะมีการดำเนินการอย่างใด ไม่ว่าในกรณีผมเองหรือกรณีอื่นๆ ก็ควรดำเนินการไปตามแนวทางของกฎหมายโดยปรกติ ควรหยุดการสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวที่เอื้ออำนวยให้กับการใช้อำนาจนอกระบบไม่ว่ารูปแบบใดๆ ไม่ว่าจะต่อผมเองหรือผู้ถูกกล่าวหาอื่นๆ การออกมาแสดงกำลังรายวันของทหารเป็นเวลาถึง 10 กว่าวันติดต่อกัน ภายใต้ข้ออ้างเรื่อง “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ไม่ใช่การปฏิบัติในลักษณะที่เป็นไปตามครรลองของกฎหมาย และมีแต่จะส่งเสริมให้เกิดการกระทำที่นอกเหนือจากครรลองของกฎหมายตามมาได้

ผมขอย้ำว่า ผมมีความบริสุทธิ์ใจและเปิดเผยในสิ่งที่ตัวเองทำมาตลอด หากทางเจ้าหน้าที่มีปัญหาก็สามารถเรียกให้ผมเข้าพบ ซึ่งผมก็พร้อมเสมอที่จะเข้าพบชี้แจง ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องออกหมายจับตัว หรือส่งคนคอยควบคุมการเคลื่อนไหวใดๆ หรือใช้วิธีการกดดันตลอดจนวิธีการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และหากถึงขั้นมีการตั้งข้อหาดำเนินคดี ผมก็พร้อมใช้สิทธิต่อสู้คดีและขอประกันตัว เพราะผมเองมีงานราชการสอนหนังสือและวิจัยทางวิชาการที่จะต้องทำอยู่ตลอดเวลา และไม่เคยคิดที่จะหลีกเลี่ยงหรือหลบหนีใดๆ ผมเชื่อว่า การปฏิบัติเช่นนี้ จึงจะเป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องไม่เพียงแต่ในกรณีตัวผมเอง แต่รวมทั้งกรณีอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย

จึงเรียนมาเพื่อให้ทุกท่านพิจารณา

อ.ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
24 เมษายน 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยโพสต์แทบลอยด์ สัมภาษณ์ 'วรเจตน์': แก้ 112 รักษาสถาบัน

Posted: 23 Apr 2011 10:11 PM PDT

“เหตุที่ฝ่ายหนึ่งดึงเอาสถาบันมาใช้ในทางการเมือง เป็นเพราะตัวระบบตัวกลไกกฎหมายระดับหนึ่งมันเอื้อให้เป็นอย่างนั้น มันเอื้อให้ทำแบบนั้นได้ด้วย ฉะนั้นเพื่อที่จะทำให้เข้าสู่ระบบตามหลักจริงๆ จึงต้องมีการปฏิรูปกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ของรัฐตลอดไป เป็นการปฏิรูปเพื่อรักษาสถาบันให้สอดรับกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย...ข้อเสนออันนี้ในที่สุดแล้วหากทำให้เกิดการปฏิรูปรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์อย่างจริงจังจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่พ้นจากการเมืองอย่างแท้จริง และจะไม่มีใครเอามากล่าวอ้างได้ อย่างที่กำลังต้องการกันอยู่”

ปรากฏการณ์ทหารตบเท้าปกป้องสถาบัน มาจนถึง กกต.เตรียมออกระเบียบห้ามนำมาเป็นประเด็นหาเสียง มิฉะนั้นมีสิทธิ์ถูกตัดสินยุบพรรค และอ้างว่าทั้งหมดนี้คือการปกป้องสถาบัน แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแต่ละฝ่ายต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่ากำลังดึงสถาบันมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองของตัวเองอยู่หรือเปล่า 

ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ที่เสนอประเด็นปฏิรูปมาตรา  112 ยังคงยืนยันว่านี่คือกระบวนการแก้ไขกฎหมายให้สอดรับกับระบอบประชาธิปไตย เพื่อดำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแอบอิงใช้เป็นแต้มต่อได้อีกต่อไป 

หนักกว่ายุค ร.5
อ.วรเจตน์ลำดับความเป็นมาของตัวบทกฎหมาย และการใช้บังคับที่มีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ โดยให้ข้อสังเกตว่าก่อน พ.ศ.2475 ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โทษยังไม่รุนแรงเท่าทุกวันนี้ และไม่ค่อยมีการใช้

"ครั้งแรกสุดที่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 5 คือ พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.๑๑๘ เป็นเรื่องหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี ประมุขของรัฐหรือผู้ครองรัฐต่างประเทศ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์สมัยนั้นเขาใช้คำว่าหมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑล ตอนนั้นกำหนดโทษโดยไม่มีโทษขั้นต่ำ คือกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 1,500 บาท ต่อมาพอมีกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ซึ่งถือว่าเป็นประมวลกฎหมายสมัยใหม่ฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งออกมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นกัน ก็มีการเพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกินกว่า 5000 บาท แต่ไม่มีโทษขั้นต่ำ”

“ตอนทำประมวลกฎหมายอาญาฉบับปัจจุบัน ซึ่งเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่  1 มกราคม 2500 ก็มีการกำหนดโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีเช่นกัน สังเกตได้ว่าไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ หมายความว่าศาลจะลงโทษน้อยเพียงใดก็ได้”

“แต่พอเกิดเหตุการณ์ตุลา 2519 หลังจากยึดอำนาจ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก็ออกคำสั่งมาแก้กฎหมายมาตรานี้ กำหนดโทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ฉะนั้นโทษ 3-15 ปี จึงเริ่มเกิดขึ้นในปี 2519 ไม่ได้มีมาแต่แรก  และก็เป็นครั้งแรกที่เริ่มกำหนดโทษขั้นต่ำ หมายความว่าถ้ากระทำความผิดจริง  ศาลจะลงโทษต่ำกว่า 3 ปีไม่ได้ อย่างน้อยคือต้อง 3 ปีขึ้นไป เป็นโทษต่ำสุดที่ศาลจะลงได้ตามกฎหมาย ไม่เหมือนก่อนปี 2519 ที่ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำ ศาลจะลงโทษเท่าไหร่ก็ได้ 1 เดือนก็ได้"

"ประเด็นเรื่องโทษมันมีวิวัฒนาการ เราจึงบอกว่าโทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยกลับรุนแรงกว่าในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก ซึ่งไม่สมเหตุสมผล วิวัฒนาการของโทษเป็นอย่างนี้”

แล้วตอนที่เริ่มใช้โทษใหม่มีคดีไหม

“หลัง 2519 ออกกฎหมายนี้มาก็เกิดคดี จริงๆ คดีอาจจะเกิดขึ้นก่อน แต่ตัดสินปี 2521 ผมก็ไม่แน่ใจว่าโทษเท่าไหร่ แต่คล้ายๆ กับว่ามีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี เขาไม่ยืนและบอกว่าเพลงอะไรฟังไม่รู้เรื่อง ศาลพิพากษาว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งความจริงเป็นการกระทำต่อสัญลักษณ์  ไม่ได้เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ดังนั้นในการตีความของศาล ผมเห็นว่าศาลขยายความถ้อยคำออกไปมากๆ จนเกินขอบเขตของพลังแห่งถ้อยคำ และก้าวเข้าสู่แดนของการใช้กฎหมายแบบเทียบเคียง ซึ่งต้องห้ามในกฎหมายอาญา คือการทำต่อสัญลักษณ์ อาจจะเป็นเรื่องไม่เคารพสัญลักษณ์ แต่ก็ถูกตีความว่าเข้ามาตรา 112" 

เมื่อก่อนไม่ได้ตีความถึงขนาดนี้หรือ

"มันไม่ค่อยมีตัวอย่างคดีขึ้นสู่ศาล แต่ผมเห็นว่ากรณีนี้ไม่ได้เป็นการพูดตรงๆ เป็นการกระทำต่อสัญลักษณ์หรือมีลักษณะไม่เคารพ มากกว่าที่จะเป็นหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย"

อ.วรเจตน์บอกว่ากฎหมายเดิมยังแยกโทษหมิ่นประมาทกับดูหมิ่นออกจากกัน ไม่ได้กำหนดโทษเท่ากัน

"ตัวบทเรื่องหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายลักษณะอาญา  ร.ศ.๑๒๗ ที่ใช้มาจนถึงสิ้นปี พ.ศ.2499 อยู่ในมาตรา 98 กำหนดความผิดฐาน  “ทะนงองอาจแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...” ไว้ฐานหนึ่ง และความผิดฐาน “ทำให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายเพื่อจะให้ขาดความจงรักภักดีหรือดูหมิ่นต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...” ในมาตรา ๑๐๔ อีกฐานหนึ่ง คือเรื่องแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือหมิ่นประมาท กับดูหมิ่น แยกออกจากกัน โดยกรณีดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี่ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 1,000 บาท”

หลังปี 2475 กฎหมายยังเปิดช่องให้วิจารณ์ได้ ถ้าเป็นประโยชน์สาธารณะ

“หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการยกเลิกมาตรา 104 และบัญญัติมาตรา 104 ขึ้นใหม่ว่าถ้ากระทำให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ รัฐบาล หรือข้าราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชน ก็ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่ถ้าการกระทำนั้นทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตหรือติชมตามปกติวิสัยในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือราชการแผ่นดิน ก็ไม่ให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำความผิด”

“ประมาณว่ามีตัวบทอีกอันหนึ่งเพิ่มขึ้นมาและกำหนดเหตุยกเว้นความผิดเอาไว้ ซึ่งเท่ากับว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง อุดมการณ์ประชาธิปไตยเข้ามาและเปิดให้วิจารณ์ได้ แต่เรื่องนี้ก็ตีความได้เหมือนกันว่าเขาไม่ได้เว้นการวิจารณ์พระมหากษัตริย์เอาไว้ตรงๆ แต่ถ้าเป็นการวิจารณ์เรื่องราชการแผ่นดินที่มันเกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์ ก็เข้าเหตุที่ไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นนี้ได้"

"ตัวบทนี้เริ่มในปี 2477 ผู้ใดวิพากษ์วิจารณ์ติชมภายใต้ความมุ่งหมายรัฐธรรมนูญถือว่าไม่มีความผิด เพียงแต่ข้อยกเว้นความผิดไม่ได้เขียนถึงตัวพระมหากษัตริย์โดยตรง ต้องตีความในแง่ที่เป็นราชการแผ่นดิน เพราะต้องถือหลักว่า The King can do no wrong พระมหากษัตริย์ไม่ได้เกี่ยวพันอะไรอยู่แล้ว  เว้นว่ามีเรื่องเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ซึ่งอาจจะไปกระทบกับพระมหากษัตริย์ก็ต้องถือว่าไม่ได้เป็นความผิดฐานดูหมิ่นด้วย ต้องถือว่าวิจารณ์ได้"

จากนั้นไม่นานตัวบทนี้ก็ถูกยกเลิก  

"ประมวลกฎหมายอาญาของเราทำครั้งใหญ่ 2 ครั้ง ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ร.ศ.๑๒๗ ใช้บังคับตั้งแต่ พ.ศ.2451 ใช้มาจนถึงสิ้นปี พ.ศ.2499 ครั้งที่ 2 ก็คือประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้บังคับในปัจจุบัน ประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2499 ใช้บังคับตั้งแต่ พ.ศ.2500 จนถึงปัจจุบันนี้ ตั้งแต่ปี 2500 ตัวบทที่ยกเว้นความผิดนี้ก็ไม่มีแล้ว”

“เรื่องยกเว้นความผิดมันมีในกรณีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา คือ ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลย่อมกระทำ หรือเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือส่วนได้เสียตามทำนองคลองธรรม พวกนี้ไม่เป็นความผิด แล้วก็ยังมีกรณียกเว้นโทษอีก ถ้าพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง”

“แต่ถ้าการพูดความจริงที่หมิ่นประมาทนั้นเป็นการพูดถึงเรื่องส่วนตัวและการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์กับประชาขน เขาห้ามพิสูจน์ อันนี้คือการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา กฎหมายกำหนดทั้งเหตุยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษเอาไว้ แล้วหมิ่นประมาทกับดูหมิ่นก็แยกกัน ดูหมิ่นเป็นลหุโทษ หมิ่นประมาทเป็นความผิดที่ไม่ใช่ลหุโทษ"

แต่มาตรา 112 รวมทุกอย่างไว้ด้วยกัน ทั้งหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย 

"การแสดงความอาฆาตมาดร้ายหากเป็นกรณีบุคคลธรรมดาก็คือการข่มขู่ให้เกิดความตกใจกลัว ซึ่งเป็นความผิดเหมือนกัน แต่โทษไม่เยอะ แต่มาตรา  112 เอาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย มาไว้ด้วยกัน และศาลไม่ยอมให้พิสูจน์เหตุยกเว้นความผิด คือศาลบอกว่าวิพากษ์วิจารณ์ติชมก็ไม่ได้  เหตุยกเว้นความผิดที่ใช้ในความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาเอามาใช้เป็นเหตุยกเว้นความผิดในมาตรา 112 ไม่ได้ เพราะฉะนั้นโดยการที่มาตรา 112  โทษมันสูง รวมเอาองค์ประกอบหลายอย่างไว้ในมาตราเดียวกัน ไม่ยอมให้มีเหตุยกเว้นความผิด ไม่ยอมให้มีเหตุยกเว้นโทษ พร้อมๆ กับเป็นความผิดอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ ซึ่งใครๆ ก็สามารถไปแจ้งความดำเนินคดีได้ มันจึงทำให้ลักษณะของมาตรา 112 เป็นอะไรที่พิเศษมากๆ ในระบบของเรา”

ย้อนไปสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กฎหมายตัวนี้ก็ดูเหมือนแทบไม่ได้ใช้  เพราะเคยอ่านเจอว่าก่อน 2475 หนังสือพิมพ์ก็วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งก็คือรัฐบาลของรัชกาลที่ 7

"วิจารณ์รัฐบาลก็วิจารณ์พระมหากษัตริย์นั่นแหละ สมัย ร.5 ร.6 ร.7  เพราะตอนนั้นรัฐกับกษัตริย์เป็นอันเดียวกัน"

ก็ยังมีคนเขียนวิจารณ์ เช่น ก.ศ.ร.กุหลาบ

"สมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงเขียนตอบข้อวิจารณ์ต่างๆ ด้วยซ้ำไป มันมาอ่อนไหวมากในช่วงหลังนี่แหละ ตอนปี 2519”

วิธีคิดในการตีความ
“เดิมทีมันก็อาจจะไม่ค่อยมีปัญหามากนัก หรือไม่ค่อยมีการใช้กันเท่าไหร่ มีการใช้ในบางช่วงบางเวลา อย่างกรณีคุณวีระ มุสิกพงศ์ ซึ่งกรณีนั้นผมก็ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาล เพราะเป็นการพูดทั่วๆ ไปเปรียบเทียบชีวิตคน ไม่ได้มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายอะไร เรื่องนี้ก็อยู่ที่ศาลตีความตัวบท ผมถึงบอกว่าปัญหาเรื่องมาตรา 112 มันไม่ใช่เป็นปัญหาแค่ตัวบท แต่เป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ในการตีความ วิธีคิด ความรู้ความเข้าใจในระบอบการปกครองของผู้พิพากษา ส่งผลอย่างยิ่งต่อการให้ความหมายหรือการตีความถ้อยคำ อันนี้ต้องแก้วิธีคิด ทำให้เข้าใจว่านี่เป็นตัวบทกฎหมายในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ตัวบทกฎหมายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฉะนั้นการให้ความหมาย การดูบริบทของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายจะต่างกัน"  

"สภาพของปัญหามาตรา 112 มันเป็นแบบนี้ หนึ่งคือโทษสูง สองคือไม่มีการแยกแยะระหว่างพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการ ออกจากกัน ขณะที่โทษปลงพระชนม์ หรือพยายามปลงพระชนม์ จะแยกกัน ถ้าเป็นพระมหากษัตริย์จะอยู่ในมาตราหนึ่ง ถ้าเป็นพระราชินี รัชทายาท จะอยู่อีกมาตราหนึ่ง แต่พอถึงหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย ทั้ง 4  ตำแหน่งนี้อยู่ในมาตราเดียวกัน"

"มันมีปัญหาเรื่องของการตีความการดูหมิ่นด้วยว่าจะตีแค่ไหน และอย่างไรเรียกว่าดูหมิ่น ซึ่งความจริงถ้าตีความเรื่องนี้เหมือนกับตัวบทเรื่องหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลธรรมดาก็จบ เพราะมันเป็นคำในกฎหมายอาญาเหมือนกัน แล้วกฎหมายใช้คำเดียวกัน คนธรรมดาถ้าเราไปพูดในทางทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียงเป็นหมิ่นประมาท กรณีพระมหากษัตริย์ก็ต้องเป็นแบบนั้น ดูหมิ่นคนธรรมดาเป็นแบบไหน ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ก็ต้องเป็นแบบนั้น แต่ถ้าเราไปอ่านคำพิพากษาจะเห็นว่าในเชิงการตีความในศาลคล้ายๆ กับว่าจะให้ความหมายเฉพาะลงไป ในคำว่าดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์”

“ในทางตำราก็มีความพยายามอธิบายให้มันพิเศษ โดยเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ที่ว่าองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งการอธิบายแบบนี้มีข้อบกพร่อง 2 ประการ คือ  หนึ่ง มาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญกำหนดเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น ไม่รวมพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การให้ความหมายดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายตามมาตรา 112 โดยโยงไปหารัฐธรรมนูญมาตรา 8 กับทุกตำแหน่ง จึงไม่ถูกต้อง”

“และสำคัญกว่านั้นอีก คือ สอง บทบัญญัติมาตรา 8 มีขึ้นเพื่อแสดงว่าพระมหากษัตริย์ต้องอยู่พ้นไปจากการเมือง จึงเป็นที่เคารพสักการะ ไม่อาจนำใช้ขยายความความหมายคำว่าหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายได้ เพราะถ้อยคำดังกล่าวเป็นถ้อยคำเดียวกับกรณีหมิ่นประมาท ดูหมิ่นบุคคลธรรมดา มาตรา 112 ไม่ได้กำหนดถ้อยคำเฉพาะขึ้น”

“คือการแก้ไขปัญหานี้ ถ้าในระดับการตีความทำให้เป็นธรรมดา มันก็จบในระดับหนึ่ง ถ้าเรายอมรับกันก็โอเค ไม่ควรมีคนมาดูหมิ่นเหยียดหยามเรา พระมหากษัตริย์ก็ควรได้รับการคุ้มครองเช่นกัน ส่วนโทษจะสูงขึ้นบ้าง เพราะพระองค์ดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของรัฐ อันนี้ก็คุยกันได้ แต่นี่มันเป็นปัญหาว่า เมื่อตัวบทถูกใช้โดยคนซึ่งมีอำนาจในการตีความ การตีความตรงนี้มันมีความไม่แน่นอนสูง เวลาพูดถึงพระมหากษัตริย์ทุกคนจึงเกร็งหมด ไม่รู้ว่าพูดได้แค่ไหนอย่างไร แต่ถ้ามันชัดก็โอเค ถ้าลักษณะการให้ความหมาย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท ตีความเป็นแบบเดียวกับคนธรรมดา มันก็จะลดทอนบรรเทาปัญหานี้ลง”

ปัญหาการตีความก็คล้ายๆ กรณีจักรภพ เพ็ญแข แม้คดีนี้ศาลยังไม่ตัดสิน แต่เป็นคำพูดที่ไม่มีอะไรเลย นักวิชาการก็ใช้คำนี้กันทั่ว แต่จักรภพก็ถูกกล่าวหา

"หรือแม้แต่กรณีเสื้อแดง กรณีชุมนุมวันที่ 10 เมษา แล้วมีการพูดปราศรัยบนเวที ก็ยังมีความพยายามบอกว่านี่มันเข้ามาตรา 112 ผมไปดูคลิปบางคนที่ถูกกล่าวหา ดูแล้ว ผมก็ยังงงๆ ว่ามันเข้าองค์ประกอบมาตรา 112 ตรงไหน ปัญหาคือถ้าตีความแบบนี้ข้างหน้า ผมจะบอกให้นะว่ามันจะถูกใช้แบบสุดๆ และมันจะยิ่งบีบ ในทางกลับกันมันจะเป็นผลลบอย่างรุนแรง มันจะทำให้ต่อไปคนจะใช้สัญลักษณ์มากขึ้นเวลาพูดถึงสถาบัน ถามว่าคุณจะคุมการใช้สัญลักษณ์ได้เหรอ ก็เขาประดิษฐ์คำขึ้นมา ต่อให้คุณเขียนกฎหมายห้ามว่าถ้าพูดคำคำนี้หมายถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี ดังนั้นห้ามพูด สมมติเป็นอย่างนี้นะ ถามว่าจะห้ามอย่างไรถ้าเขาเปลี่ยนคำไปเรื่อย เปลี่ยนภาษาไปเรื่อย ถ้าเขาใช้สัญลักษณ์แบบกระพริบตากัน อย่างนี้คุณจะทำอย่างไร พอวันหนึ่งถ้าคุณไปกดแบบนี้กฎหมายมันเอาไม่อยู่หรอก และถ้าเป็นอย่างนั้นจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความกดขี่ทันทีเลย มันจะเข้าสู่ความเป็นรูปของรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จไปเลย เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาเรื่องนี้มันจึงไม่ใช่แก้ปัญหาในทางกฎหมายโดยคงโทษที่สูงๆ แบบนี้เอาไว้ หรือว่าเพิ่มโทษอีก มีบางคนเสนอไอเดียเพิ่มโทษเป็น 20 ปีก็มี ถามว่าแก้ปัญหาได้หรือ"

มาตรา 112 ยังมีปัญหาที่ใครก็แจ้งความได้

“ปัญหาที่มันหนักขึ้นก็คือกรณีบุคคลธรรมดา คนที่ถูกหมิ่นประมาทเขาเป็นคนแจ้งความ แต่กรณีพระมหากษัตริย์ ใครๆ ก็แจ้งความได้ แจ้งที่ไหนก็ได้ ทำผิดที่หนึ่งหากทำโดยการโฆษณาไปแจ้งอีกจังหวัดหนึ่งยังได้เลย”

“ฉะนั้น ถ้าจะมาบอกว่ามาตรา 112 ไม่มีปัญหาหรอก มันไม่จริง มันมีทั้งในทางหลักการและทางปฏิบัติ เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นว่ามีปัญหาก็ต้องมาคิดแก้ คนที่มองว่าแก้หรือไปแตะแล้วเป็นเรื่องกระทบถึงสถาบัน ถ้ายังไม่ได้ฟังข้อเสนอ แล้วด่วนสรุปเช่นนั้น มันไม่มีเหตุผล"

ไม่ได้เลิกแค่ปรับปรุง
อ.วรเจตน์ย้ำว่า แนวทางที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอคือยังคงมาตรา 112 แต่ต้องแก้ไขปรับปรุง  

"เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมเราเสนอแบบนี้ก่อนคือ หนึ่ง ให้เลิก 112 ก่อนหรือเอา 112 ออกจากความผิดในหมวดความมั่นคงของรัฐก่อน นี่เป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหญ่ เพราะเราเห็นว่าความผิดเรื่องหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ไม่ใช่เรื่องความมั่นคง เรื่องความมั่นคงคือเรื่องที่กระทบต่อการดำรงอยู่ของราชอาณาจักร โอเคถ้าเป็นเรื่องการปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ ประมุขของรัฐ อย่างนี้พอบอกได้ว่าเป็นเรื่องกระทบความมั่นคง แต่กรณีของการดูหมิ่น คือการพูดจาไปทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ กำหนดเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ มันไกลไป เพราะเราต้องเข้าใจว่าสมัยใหม่เราแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐออกจากกัน”

“นี่คือประเด็นแรกก่อนในทางหลักการ เมื่อสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รัฐก็คือกษัตริย์ กษัตริย์ก็คือรัฐ เรียกว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่รัฐในสมัยใหม่มีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง เพราะตัวรัฐนั้นมีความเป็นตัวตนในทางกฎหมายแยกออกจากองค์พระมหากษัตริย์ องค์พระมหากษัตริย์พูดง่ายๆ ว่าเป็นองค์กรของรัฐ เป็นประมุขของรัฐ เป็นคนซึ่งกระทำการแทนรัฐ ในด้านต่างๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกับรัฐแล้ว เพราะฉะนั้นการกระทำต่อตัวองค์กรของรัฐอย่างตำแหน่งประมุขของรัฐ จึงไม่ใช่ทุกกรณีที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคง ในหลายๆ ประเทศในโลกนี้การหมิ่นประมาทประธานาธิบดีซึ่งเป็นประมุขของรัฐเหมือนกันหรือแม้แต่หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เขาก็ไม่ถือเป็นความมั่นคงของรัฐ เพราะฉะนั้นการเอาความผิดเรื่องนี้มาไว้ในหมวดความมั่นคงของรัฐจึงไม่ถูกต้องตามระบบ หรือหลักคิดในแง่ของการแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐออกจากกันตามแนวคิดของรัฐสมัยใหม่" 

"อีกอย่างหนึ่งก็คือตัวบท 112 ที่ใช้ในปัจจุบัน มันมีฐานมาจากคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ในเชิงสัญลักษณ์ 112 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมันย้อนกลับไปหาการรัฐประหารในปี 2519 มันเป็นผลพวงเกิดขึ้นตามมาจากเหตุการณ์ล้อมฆ่านักศึกษาในปี 2519 ที่มาของตัวบท 112 มาในลักษณะแบบนั้น เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นต้องเอาอันนี้ออกจากหมวดความมั่นคงก่อน เพื่อสร้างอุดมการณ์ใหม่ในแง่ของการตีความ 112 ขึ้นมา ว่า 112 อันใหม่ที่เราจะทำขึ้นต่อไปจะต้องสอดรับกับหลักประชาธิปไตย”

“อันนี้คือข้อเสนอเบื้องต้น คือเลิกเพื่อบัญญัติใหม่ เราไม่ได้เลิกไปเลย คนเข้าใจผิดว่าเลิกไปเลย เราเลิกเพื่อบัญญัติใหม่ มีบางคนเสนอให้เลิกไปเลยไม่มีความผิดฐานนี้ เพราะถือว่าถ้าใครไปหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ก็ได้รับโทษเหมือนกัน โทษเท่ากับบุคลธรรมดา มันก็เป็นไอเดียอันหนึ่งแต่ถ้าจะทำแบบนั้นต้องไปปรับเรื่องการดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นผู้พิพากษา ดูหมิ่นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะถ้าไปเลิกเฉยๆ แต่ฐานความผิดเหล่านั้นยังมีอยู่ ก็จะไม่สมเหตุสมผลในเชิงตรรกโครงสร้างของกฎหมาย เพราะเราถือว่ากฎหมายนี้คุ้มครองบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรของรัฐอยู่ เหมือนกับเราคุ้มครองศาล ผู้พิพากษา เจ้าพนักงาน ใครดูหมิ่นได้รับโทษที่มากกว่าบุคคลธรรมดา เพราะฉะนั้นผมจึงเห็นว่าการเลิกเป็นการเลิกเพื่อไปเขียนใหม่ให้ถูกต้องตามหลักการ"

"อันที่สองก็คือว่าถ้าเราเลิก 112 เพื่อไปบัญญัติใหม่ในอีกหมวดหนึ่งซึ่งอยู่นอกเรื่องความมั่นคง เป็นหมวดว่าด้วยการคุ้มครองพระเกียรติพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไปอยู่ในอีกหมวดหนึ่งแล้ว เราก็เห็นว่าเพื่อให้รับกับโครงสร้าง จึงควรแยกตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับตำแหน่งอื่นออกจากกัน คือแยกตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ออกจากกัน ถ้าจะมีการคุ้มครอง 4 ตำแหน่งนี้ ต้องคุ้มครองแยกกัน”

“เราก็เลยเสนออย่างนี้ว่าถ้าเป็นกรณีพระมหากษัตริย์โทษก็ควรจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท แต่ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำ หมายความว่าในกรณีที่เป็นความผิดจริงก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลในการลงโทษว่าจำคุกหรือไม่ก็ได้ หรืออาจจะลงโทษแค่ปรับก็ได้ ถ้าจำคุกจะจำคุกให้น้อยแค่ไหนก็ได้ ซึ่งเป็นการหันกลับไปหาตัวบทที่เคยมีมาแต่เดิมสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นแหละ ในขณะที่การหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เราก็เสนอว่าควรลงโทษไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท ก็แยกกัน”

“ข้อเสนออันนี้ผมเรียนว่าเป็นเรื่องซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ดีเบตกันได้แน่ๆ เพราะตอนที่ทำเรื่องนี้ในกลุ่มเราก็ถกเถียงกัน รวมถึงเรื่องโทษด้วย บางคนก็มีความรู้สึกว่าโทษจำคุก 3 ปียังแรงไป เรายังถกเถียงกันว่าควรจะคุ้มครองตำแหน่งราชินี รัชทายาท เป็นพิเศษหรือไม่ หรือว่าให้เป็นเหมือนกรณีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา แต่ที่สุดเราก็เห็นว่าเนื่องจากตำแหน่งเหล่านี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ และในความผิดอาญาก็มีการกำหนดแยกออกเป็นสองส่วน เราก็เลยเสนอมาเป็นตุ๊กตาเพื่อดีเบทกัน"

ขัดรัฐธรรมนูญ?
“เรื่องโทษเราเห็นว่าต้องกำหนดให้พอสมควรแก่เหตุ ในส่วนตัวผมเห็นอย่างนี้นะ ผมเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปัจจุบันถ้าว่ากันถึงที่สุดในทางหลักรัฐธรรมนูญน่าจะขัดรัฐธรรมนูญ ทำไมผมถึงเห็นว่าขัด ประเด็น 112 ที่ผมเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญยังไม่มีการหยิบเรื่องนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลเลยนะ ทนายความของคนที่สู้คดี 112 ไม่เคยหยิบประเด็นว่า 112 ขัดรัฐธรรมนูญขึ้นสู้ในศาล"

“ผมเห็นว่าที่ขัดรัฐธรรมนูญมองได้สองอย่างทั้งอัตราโทษและที่มาของกฎหมาย ประเด็นที่ขัดอยู่ตรงที่ว่า โทษที่กำหนดใน 112 มันไม่สอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งเป็นหลักรัฐธรรมนูญ หลักนี้เริ่มอยู่ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญ 2540 มีการนำเอาหลักกฎหมายต่างประเทศเข้ามาบรรจุอยู่ในมาตรา 29 เรื่องการตรากฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลจะกระทำให้เกินสมควรกว่าเหตุไม่ได้ ฉะนั้น การกำหนดโทษในทางอาญาก็ต้องอยู่ภายใต้หลักการแบบนี้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น สมมติเรากำหนดโทษฝ่าฝืนกฎจราจรหรือโทษอื่นๆ ที่เป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ  ใครทำความผิดฐานลักทรัพย์เล็กๆ น้อยๆ ลงโทษประหารชีวิต แล้วสภาดันผ่านกฎหมายนี้ เป็นกฎหมายอาญา ถามว่าโทษที่กำหนดแบบนี้สอดรับกับรัฐธรรมนูญไหม ผมเห็นว่ามันขัดรัฐธรรมนูญ"

"คำถามที่จะต้องคิดจะต้องถามกันก็คือ ในการออกกฎหมายสภาจะกำหนดโทษอย่างไรก็ได้ใช่หรือไม่ อย่างเช่นหมิ่นประมาทแล้วมีโทษจำคุก 50 ปี 100 ปี เขาไม่มี limit เลยหรือในการกำหนดโทษ ดุลยพินิจการตรากฎหมายของเขาไม่มี limit หรือ คำตอบคือมันต้องมี limit  เพราะถ้ามันไม่มี limit มันขัดหลักความพอสมควรแก่เหตุ เพราะฉะนั้นโดยไอเดียเรื่องหลักความพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งก็เถียงกันว่าแค่ไหนล่ะคุณถึงจะไม่พอสมควรแก่เหตุ ผมบอกว่ามันก็ดูไม่ยากหรอก ก็ดูเปรียบเทียบกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา และก็ดูอัตราโทษ วันนี้ความผิดฐานหมิ่นประมาทคนธรรมดาโทษจำคุกปีเดียว หรือปรับไม่เกิน 20000 บาท ไม่มีโทษขั้นต่ำ  หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์โทษสูงสุด 15 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลธรรมดา แล้วถ้าไปเปรียบเทียบกับดูหมิ่นบุคคลธรรมดาหรือทำให้ผู้อื่นตกใจกลัว ยิ่งหนักใหญ่ เพราะโทษดูหมิ่นบุคคลธรรมดาหรือทำให้ผู้อื่นตกใจกลัว คือ จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท ลองเทียบดูว่ามันต่างกันกี่สิบเท่า ถามว่ามันพอสมควรแก่เหตุไหมล่ะ ถ้าเราเห็นว่านี่ไม่พอสมควรแก่เหตุ ก็แปลว่าตัวโทษที่กำหนดเอาไว้มันไม่ถูก มันขัดรัฐธรรมนูญแน่ๆ ไม่ต้องพูดถึงว่าโทษที่กำหนดอย่างนี้เกิดขึ้นจากรัฐประหารปี 2519"

บทลงโทษยังสูงกว่าคดีอาญาร้ายแรง 

“โทษทำร้ายร่างกายจนผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส คือจำคุก 6 เดือนถึง 10 ปี โทษกรรโชกทรัพย์ จำคุก 5 ปี วางเพลิงเผาทรัพย์ จำคุก 6 เดือน ถึง 7 ปี เป็นต้น ปัญหาการดำรงไว้ซึ่งพระเกียรติพระมหากษัตริย์จะใช้โทษอย่างนี้หรือ พูดง่ายๆ การดำรงไว้ซึ่งพระเกียรติของพระมหากษัตริย์จะใช้พระเดชในทางกฎหมายยิ่งกว่าพระคุณในทางสังคมหรือ เพราะฉะนั้นในแง่นี้ผมจึงบอกว่ามันควรจะมีการหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาในคดีได้แล้ว ทนายความที่สู้คดีนี้ต้องสู้เลยว่า 112 ในแง่ของตัวโทษมันขัดรัฐธรรมนูญ มันอาจจะไม่ขัดรัฐธรรมนูญปี 2534 ปี 2521 ที่ย้อนกลับไปนั้นเพราะหลักเรื่องความพอสมควรแก่เหตุไม่ปรากฏชัด แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มันมีหลักการนี้ปรากฏอยู่แล้ว และรัฐธรรมนูญ 2550 ยังเขียนเรื่องหลักนิติธรรมด้วย หรือความเป็นนิติรัฐในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหลักทั่วไป”

“ตัวกฎหมายต้องอนุวัตรตามหลักนี้เพราะหลักนี้เป็นหลักมูลฐานในการปกครองบ้านเมือง มันเป็นหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติที่ลงไปอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนความคิดที่ว่าออกกฎหมายอย่างไรก็ได้ และผู้พิพากษาหรือศาลต้องเปลี่ยนความคิดที่ว่าถ้าออกกฎหมายอะไรมาต้องทำตามแบบนั้นหมด มันต้องดูกฎหมายนั้นด้วยว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ซึ่งประเด็นนี้คนที่จะชี้คือศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องวินิจฉัย แต่แน่นอนว่าระบบอย่างนี้ถ้า function มันจะทำงาน การประกันสิทธิต่างๆ มันจะดำเนินไป มันจะสมเหตุสมผล ก็ขึ้นอยู่กับองค์กรศาลรัฐธรรมนูญด้วย ว่าเราไว้เนื้อเชื่อใจศาลรัฐธรรมนูญได้แค่ไหน  ศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันเราจะไว้เนื้อเชื่อใจได้แค่ไหน ก็ต้องไปดูงานที่เขาทำมา ก็ลองประเมินดู ผมพูดมาเยอะแล้ว ศาลจะบอกว่าขัดหรือไม่ขัดก็ต้องให้เหตุผล ถ้าศาลบอกว่าไม่ขัดก็แปลว่าศาลบอกว่าจำคุก 15 ปีได้ หรือศาลอาจจะบอกว่าเท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งผมก็มีสิทธิที่จะบอกว่ามันไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่อันนี้เป็นการสู้ในทางกฎหมาย"

"เวลาเราพูดเรื่องเหตุผลมันมีอยู่สองเรื่อง อีกเรื่องก็คือที่มามันมาจากรัฐประหาร เรายังยอมรับคำสั่งของรัฐประหารที่เป็นกฎหมายใช้บังคับต่อเนื่องมาหลายสิบปีแล้ว กับสองมันเกินสมควรแก่เหตุ บทบัญญัติ 112 ไม่ได้มาจากสภาฯที่มาจากการเลือกตั้งแล้วมาแก้ คือถ้าเป็นสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและมีการเสนอแก้ตอนนั้น จากจำคุกไม่เกิน 7 ปี เป็นลงโทษจำคุก 3 ปีถึง 15 ปี มันก็ยังพอบอกได้ว่ามีฐานความชอบธรรมผ่านการเลือกตั้งมาจากประชาชน แม้ผมเห็นว่าถ้าสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งออกกฎหมายอย่างนี้ก็ขัดรัฐธรรมนูญ แต่มันก็มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนจะตรวจสอบเอง แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็จะตรวจสอบ แต่นี่มันยิ่งหนักเป็นสองเท่าคือนอกจากตัวบทจะผิดอย่างรุนแรงแล้วคนที่ออกกฎหมายยังไม่มีฐานความชอบธรรมด้วย เรื่องโทษเราจึงเสนอกำหนดโทษให้สมควรแก่เหตุ เพราะฉะนั้นที่ใครบอกว่านิติราษฎร์ ให้เลิก 112 ไปเลยจึงเป็นการกล่าวหาที่ไม่เข้าใจหรือไม่ดูให้ดีว่าเราเสนออะไรกันแน่"

ยกเว้นติชมสุจริต
"อันถัดไปที่เราเสนอก็คือเราเห็นว่าควรจะมีเหตุยกเว้นความผิด ถ้าการกระทำนั้นเข้าองค์ประกอบว่าเป็นเรื่องหมิ่นประมาททำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นการดูหมิ่น ถ้าเขาติชมแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ไม่มีความผิด”

“อันนี้ก็เขียนล้อมาจากหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดานั่นแหละ ว่าถ้าทำไปด้วยวัตถุประสงค์อย่างนี้ก็ไม่ควรมีความผิด ทำอย่างนี้เพื่อที่จะทำให้ในหลายกรณีสามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์ติชมได้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นการตอบสนองกระแสพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งพระองค์มีกระแสพระราชดำรัสว่าก็วิพากษ์วิจารณ์ได้" 

"การมีตัวบทอันนี้ก็คือวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความสุจริต การวิพากษ์วิจารณ์นั้นทำไปเพื่อธำรงระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ   เขาพิสูจน์ได้ว่าเป็นอย่างนั้นจริงเขาก็ไม่ควรจะมีความผิด”

“นี่ผมเสนอคำใหม่ขึ้นมาคำหนึ่งด้วย ผมเสนอให้พูดถึงเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ผมเพิ่มคำว่าภายใต้รัฐธรรมนูญลงไป เพราะเดี๋ยวเราจะพูดถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และก็มีเสียงว่าพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์แค่ไหนอย่างไร ก็เอาให้ชัดว่าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ให้ชัดไปเลย ไม่ใช่เป็นประมุขเฉยๆ ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ"

"อีกประเด็นคือเรื่องเหตุยกเว้นโทษ หมายความว่าถ้าเข้าตามข้อเสนอของเรา การกระทำอันนั้นจะไม่เป็นความผิดเลยนะ แต่ถ้ามันไม่เข้าเหตุเพราะติชมเพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และมีความผิด เราก็เสนอต่อไปว่าให้มาดูว่ามีเหตุยกเว้นโทษหรือเปล่า เหตุยกเว้นโทษก็คือความผิดที่เขาทำมา ถ้าเขาพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริงเขาไม่ต้องรับโทษ ที่เขาพูดมาที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น  ถ้ามันเป็นความจริงเขาไม่ต้องรับโทษ แม้เป็นความผิดเพราะมันไม่เข้าเหตุยกเว้นความผิด แต่เขาไม่ต้องรับโทษเพราะเข้าเหตุยกเว้นโทษ อันนี้ก็เลียนมาจากหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาเหมือนกัน”

“แต่เราก็บอกว่าถ้าข้อที่ถูกกล่าวหาเป็นความผิดนั้น เป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของผู้สำเร็จราชการ เป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการ และไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน อันนี้ห้ามพิสูจน์ และคนพูดต้องรับโทษ"

เช่นเดียวกับกับบุคคลทั่วไป

"เหมือนกับกรณีบุคคลทั่วไป ลักษณะแบบเดียวกัน ถ้าเรื่องที่เขาพูดมามันจริง ถ้าเขาพิสูจน์ว่าจริง เขาไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าข้อที่เขาจะพิสูจน์นั้นเป็นเรื่องส่วนพระองค์อย่างนี้เราไม่ควรให้พิสูจน์ ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวแท้ๆ มันไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน ก็ไม่ให้พิสูจน์ แต่ถ้าเรื่องความเป็นอยู่ส่วนตัวและการพิสูจน์นั้นมันเป็นประโยชน์กับประชาชน พิสูจน์ได้"

ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าใครจะไปยืนวิพากษ์วิจารณ์ตะโกนด่าได้

"ไม่ได้อยู่ดี เพราะฉะนั้นคนที่บอกว่าพวกที่จะเลิก 112 เป็นพวกล้มเจ้า ก็มีพวกที่ dramatize อย่างนี้ เขาต้องคิดให้ดี เขาต้องศึกษาและเขาต้องดูเหตุผล เวลาจะแย้งมันต้องแย้งด้วยเหตุผลไม่ใช่ว่าเอาอารมณ์ความรู้สึก"

แก้ไขเพื่อรักษาสถาบัน
ปัญหาปัจจุบันมันไม่ใช่อยู่ๆ ใครอยากจะไปวิจารณ์สถาบัน แต่มันเป็นเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง แล้วบางเรื่องอาจไปพาดพิง สาเหตุเพราะฝ่ายหนึ่งดึงสถาบันลงมา อ้างสถาบัน แล้วอีกฝ่ายก็ตอบโต้ ซึ่งเสี่ยงจะพาดพิง

"ถูกต้อง มันไม่เสมอกัน พูดง่ายๆ คือทุกวันนี้เวลามีการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ บนเวทีที่มีการดีเบตสาธารณะ มันเป็นการอภิปรายบนพื้นฐานความไม่เท่าเทียมกัน ฝ่ายที่พูดจาเฉลิมพระเกียรติพูดได้เต็มที่ แต่ฝ่ายที่จะพูดในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ภายในกรอบรัฐธรรมนูญ และก็ไม่ได้เป็นเรื่องหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายอะไรเลย เขามีความสุ่มเสี่ยงที่เขาจะถูกตีความว่าอันนี้เป็นการหมิ่นสถาบัน การมีกฎหมายแบบนี้ ลักษณะการตีความกฎหมายแบบนี้ของศาล มันจึงกระทบกระเทือนกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นแก่นของระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นข้อเสนอนี้ก็เป็นข้อเสนอซึ่งถึงที่สุดแล้วรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้”

“และผมเห็นอย่างนี้ด้วยว่าข้อเสนออันนี้ในที่สุดแล้วถ้าปรากฏเป็นจริง มันจะมีผลส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์อย่างจริงจัง ว่าทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่พ้นจากการเมืองอย่างแท้จริง และจะไม่มีใครเอามากล่าวอ้างได้ อย่างที่กำลังต้องการกันอยู่ เช่นเวลาที่มีคนเสนอเรื่องนายกพระราชทาน มาตรา 7 ฝ่ายที่เขาไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เขาต้องสามารถพูดได้เต็มที่ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกกล่าวหาว่าพูดอย่างนี้เข้า 112 แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูด เหมือนกับหลายปีก่อน ไม่มีใครพูดเลย นักกฎหมายตอนนั้นมีผมพูดอยู่คนเดียวมั้งเรื่องมาตรา 7 ว่ามันใช้ไม่ได้ เพราะทุกคนกลัวว่าถ้าพูดแล้วจะไม่จงรักภักดี พูดแล้วจะถูกกล่าวหาว่าแตะพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์" 

"นี่คือความมุ่งหมายว่าให้สามารถพูดในประเด็นเหล่านี้ได้ อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องกังวล และเป็นสิ่งที่สมควรทำ และการทำอย่างนี้คือการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ให้ยั่งยืนด้วย เพราะว่าที่สุดคนที่จะเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้หรือมาแอบอิง ก็ต้องคิดว่าแน่นอนตัวเขาจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วย โดยที่ไม่มีแต้มต่อ และในที่สุดจะทำให้ไม่มีใครอ้างอิง สถาบันพระมหากษัตริย์จะพ้นไปจากการเมือง เป็นศูนย์รวมใจ เป็นมิ่งขวัญของชาติอย่างแท้จริง เหมือนกับที่ในหลายประเทศเป็น"

ที่มีปัญหาเรื่อยมาก็เพราะสถาบันถูกยกมาอ้างตั้งแต่ปี 2548  กระทั่งการรัฐประหาร 19 กันยา 

"อ้างมาเรื่อย รวมถึงการตบเท้าเที่ยวล่าสุด มีคนถามว่าทำไมเราพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น ผมถามว่าจุดเริ่มมาจากไหน มันไม่ได้มาจากปี 2548 หรือ ที่คุณกำลังสู้กันทางการเมืองแล้วพูดง่ายๆ ว่าคุณสู้ทักษิณไม่ได้ เพราะเวลาไปสู้กันในสนามเลือกตั้งประชาชนเขาเลือก ไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งติดกัน 2544, 2548 และรวมถึงพลังประชาชนในปี 2550 วิธีที่คุณจะสู้ก็ไปใช้วิธีแบบนี้ แทนที่จะอดทนสู้ตามระบบ พยายามใช้เหตุผลโน้มน้าวประชาชนเสียงข้างมากให้เห็นด้วยกับคุณ กลับไปใช้วิธีขอพระราชทานนายกฯ โดยใช้ข้ออ้างทางกฎหมาย การตีความมาตรา 7 ซึ่งมาตรา 7 ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อใช้แบบนี้เลย ถามว่าใครกันแน่ที่ดึง ตั้งคำถามนี้ก็ต้องค่อยๆ คิด ถ้าเรามองเรื่องนี้เป็นภาวะวิสัยไม่เข้าข้างใคร มองแบบวางอุเบกขา เวลาที่เราจะวิเคราะห์ปัญหาแบบนี้เราก็จะเห็นว่าใครเริ่มเอาตรงนี้มาใช้ก่อน"

ก่อนปี 2548 เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรเลย

"พอเริ่ม 2548 มันเริ่มมาตามลำดับและองค์กรอื่นๆ ในทางกฎหมายก็ขยับเข้าดำเนินการอย่างเราเห็นในรอบหลายปีที่ผ่านมา นี่คือจุดเริ่ม ฉะนั้นถ้าเราจะแก้ก็ต้องไปแก้ที่สาเหตุของปัญหา ใครดึงก็อย่าดึง วิธีจะไม่ดึงก็ต้องอย่างนี้แหละ คือจะต้องมีการปฏิรูปอะไรต่างๆ ในหลายส่วน มาตรา 112 เป็นเพียงประเด็นหนึ่งในหลายๆ ประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่อย่างที่ผมบอกว่าเราควรจะพูดเรื่องนี้กันอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเรารักสถาบันและอยากเห็นสถาบันดำรงคงอยู่ไปตลอด มันไม่มีทางอื่น ตอนนี้ฝ่ายซึ่งค้านคนที่จะเลิก 112 ต้องใช้ความคิดให้เยอะๆ และเขาต้องดูให้ดีๆ ว่าวิธีการแบบไหนคือวิธีการที่รักษาสถาบัน"

แต่ก็มีคนชั้นกลางส่วนหนึ่งมองว่าสถาบันสามารถช่วยคานนักการเมืองที่พวกเขาเห็นว่าเลวร้าย  

"นี่คือแก่นของปัญหา อยู่ตรงนี้ คุณคิดว่าสถาบันช่วยคานนักการเมือง ก็แสดงว่าคุณเอาสถาบันเข้ามาเกี่ยวพันกับการเมือง มันก็ขัดกับหลักพื้นฐานรัฐธรรมนูญสิ รัฐธรรมนูญ มาตรา 8 บอกว่าองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ การอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ต้องอ่านให้สอดคล้องกับมาตรา 3 ที่บอกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ต้องอ่านให้สอดคล้องกับมาตรา 2 ที่เราปกครองในระบอบประชาธิปไตย การอ่านมาตรา 8 จะอ่านโดดๆ ไม่ได้ ต้องอ่านอย่างนี้ และต้องเข้าใจว่าเพื่อให้พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะละเมิดไม่ได้ พระองค์จึงต้องอยู่พ้นไปจากการเมือง ใครก็ตามที่ดึงพระมหากษัตริย์ลงมาในทางการเมืองก็เท่ากับทำให้สถานะพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 8 กระทบกระเทือนแล้ว เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่พระมหากษัตริย์ถูกดึงลงมาในทางการเมือง เข้ามาตัดสินพระทัยในทางการเมือง ก็จะเกิดเป็นฝ่ายในทางการเมืองทันที คนที่คิดต้องคิดต่อไปอีก ที่คิดว่าดึงสถาบันมาคานนักการเมืองที่คุณเห็นว่าเลว แต่ลืมนึกถึงตัวระบบรัฐธรรมนูญของเรา ว่าเราออกแบบรัฐธรรมนูญไว้อย่างไร และสถานะสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบของเราเป็นอย่างไร เพราะเวลาที่บอกว่าจะจัดการนักการเมืองคุณต้องคิดกลไกคิดระบบ ไม่ได้คิดไปที่ตัวคน และกลไกระบบที่คิดต้องให้สอดคล้องกัน เพราะที่คุณคิดคุณดึงลงมา มันผิดระบบ ที่ทำกันอยู่มันผิดระบบ ถามว่าดูได้อย่างไรว่าผิดระบบ ก็ลองดูสิตั้งแต่ปี 2548 มาจนปัจจุบันเกิดอะไรขึ้น ทำไมสถิติคดีหมิ่นฯ ถึงสูงขึ้นแบบมีนัยสำคัญ เพราะอะไร มันไม่ใช่เกิดขึ้นลอยๆ แต่มันเป็นผลพวง และที่เราเถียงกันด้วยเหตุผลมันเป็นแบบนี้"

หากมองย้อนไปก็เป็นเพราะเอาความเคารพเทิดทูนสถาบันมาชนกับความนิยมทักษิณและความรู้สึกเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

"ช่วงหนึ่งมันอาจจะใช้ได้ แต่พอเวลาผ่านไปคนเขาเห็นนี่ว่ามีอะไรขึ้นมาเป็นลำดับ 4-5 ปีมานี่เสียจนไม่รู้จะเสียยังไงแล้ว องค์กรที่บังคับใช้กฎหมายทั้งปวง เว้นแต่ว่าคุณหลับหูหลับตาไม่รับรู้อะไรเลยและไม่พูดเหตุผล เพราะถ้าพูดด้วยเหตุผลก็จะจำนนด้วยเหตุผลแบบนี้ อยากจะบอกว่าเหตุที่ฝ่ายหนึ่งดึงเอาสถาบันมาใช้ในทางการเมือง เป็นเพราะตัวระบบตัวกลไกทางกฎหมายระดับหนึ่งมันเอื้อให้เป็นอย่างนั้น  มันเอื้อให้ทำแบบนั้นได้ด้วย ฉะนั้นเพื่อที่จะทำให้เข้าสู่ระบบตามหลักจริงๆ จึงต้องมีการปฏิรูปกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ของรัฐไปตลอด เป็นการปฏิรูปเพื่อรักษาสถาบันให้สอดรับกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย"

สนธิเอามาพูดได้โครมๆ พันธมิตรฯ เอามาอ้างได้ แต่คนที่คิดจะโต้มีสิทธิเข้าคุก

"คุณเอาสีเหลืองมาอ้างเป็นสีของตัว พอเริ่มไปไม่ได้ก็เปลี่ยนเป็นสีชมพู แล้วก็เปลี่ยนเป็นหลากสี ไม่ใช่เพราะพวกท่านทั้งหลายหรือที่เอาตรงนี้มาใช้ นี่เป็นรูปธรรมใช่ไหมในการดึงสถาบันลงมา แล้วถามว่าใครล่ะใช้ โอเคคุณอาจจะบอกว่าคุณหวังดีอยากจัดการกับนักการเมือง แต่วิธีที่คุณใช้นอกจากมันไม่รับกับระบบแล้ว มันจะส่งผลกระทบ ผมพูดมาตั้งแต่ปี 2548 แล้วประเด็นพวกนี้ และวันนี้พอเกิดปัญหาขึ้นผมแปลกใจมากนะ คือแทนที่จะย้อนกลับไปหาสมมติฐานของโรคแล้วจะได้หาวิธีแก้ไข กลับไปใช้อีกวิธีหนึ่งคือไปใช้ยาอีกแบบหนึ่ง กกต.บอกจะออกระเบียบจะยุบพรรค มันยิ่งหนักไปอีก"

ถ้าคนค้านมากก็จะยิ่งถูกมองว่ามีแรงต่อต้านสถาบันหนักขึ้น

"ยกตัวอย่างคนอย่างผมง่ายๆ ก็จะถูกมองว่าต่อต้านสถาบัน ทั้งๆ ที่ความจริงที่ผมทำที่นิติราษฎร์ทำ คือวิธีการรักษาไว้ซึ่งสถาบัน พวกที่ฮาร์ดคอร์มากๆ เขาไม่ได้ชอบนะที่เสนอแบบนี้ เพราะเป็นข้อเสนอที่รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ การเสนออย่างนี้เราโดนสองทาง เรารักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ในกรอบประชาธิปไตย อยู่ในกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญและเป็นสิ่งที่ยุติแล้วเมื่อปี 2475 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเรายุติในระบบแบบนี้ นี่ก็คือทำให้ถูกต้องตามระบอบการปกครอง เพราะฉะนั้นที่สู้กันตอนนี้อย่าเถียงเลยว่าล้ม-ไม่ล้มสถาบัน มาเถียงกันดีกว่าการกระทำของใครที่พูดถึง 112 ทำได้สอดคล้องกับระบอบ และรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ แน่นอนการพูดประเด็นนี้สุ่มเสี่ยงต่อการเข้าใจผิด เพราะสังคมไทยเราไปสร้างอารมณ์ความรู้สึกขึ้นมายาวนานนับเป็นสิบๆ ปี จนทุกคนหวาดกลัวหมด ไม่กล้าพูดอะไรทั้งสิ้น แต่ผมพูดในทางหลักการนะ ผมบอกว่าถ้าหลักการเป็นอย่างนี้ ที่สุดก็ต้องถามกัน"

ราชเลขากล่าวโทษ
"อีกประเด็นที่เราเสนอและมีคนโจมตีเหมือนกันก็คือผู้มีอำนาจกล่าวโทษ เรื่องนี้ความจริงพูดกันมานานแล้วว่า 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกล่าวหากันในทางการเมือง ใครที่ถูกคดี 112 เข้าไป แค่โดนแจ้งความสายตาของคนที่เขามอง นี่ยังไม่พูดถึงผลในทางกฎหมายนะ ผลทางสังคมที่เกิดขึ้นกับคนเหล่านั้นเป็นอย่างไร มันรุนแรง ชีวิตเปลี่ยนนะ เพราะ112 ใครก็กล่าวโทษได้ แจ้งความกันเปรอะ"

หลายคนยังไม่ได้ตัดสินเลยก็หนีไปแล้ว อย่าง อ.ใจ หรือจักรภพ

"แล้วเดี๋ยวนี้เราทำให้กลายเป็นคดีพิเศษของดีเอสไออีก นิติราษฎร์เราเสนอว่าเอาอย่างนี้ได้ไหม เนื่องจากเรากำหนดให้ยังมีความผิดฐานนี้อยู่ ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการ แต่คนที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษไม่ควรจะเป็นใครก็ได้ ควรจะเป็นองค์กรหรือเป็นหน่วยซึ่งเขาได้ดูแลว่าเรื่องแบบไหนที่เข้าข่ายเป็นเรื่องหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และสมควรดำเนินการ เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าเวลามีคนไปแจ้งความ บุคคลที่ได้รับผลกระทบจริงเขามีความประสงค์หรือเปล่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชดำรัสเมื่อ 4 ธันวาคม 2548 ว่าพระองค์ท่านทรงเดือดร้อน”

"บางทีก็ไม่ได้เป็นความประสงค์ คนอื่นไปทำหมด และไปทำแทนที่จะดีกลายเป็นปัญหา เพราะสถิติมันเพิ่มมากขึ้น ถามว่าต่างชาติเขาไม่มองหรือ ทุกวันนี้เราไม่ได้อยู่ประเทศเดียวในโลกแล้ว เขาจะไม่ตั้งคำถามหรือว่าทำไมเกิดคดีแบบนี้มากมายขึ้นในประเทศไทย เขาถามในทางกลับกันนะ แล้วตกลงใครเสียในที่สุด ปัญญาชนฝ่ายเจ้าต้องคิดถึงประเด็นเหล่านี้ให้ดีๆ แล้วละว่าจะเอาอย่างไร”

“เราบอกว่าเอาอย่างนี้ได้ไหม ก็ให้สำนักราชเลขาฯ เป็นคนพิจารณา มูลเหตุที่เสนอสำนักราชเลขาฯ มีที่มาจากว่าเคยมีกรณีคนทำพระเครื่องและเอาสัญลักษณ์มาใช้ แล้วสำนักราชเลขาฯ ร้องเรียนไปสำนักงานผู้บริโภคให้ดำเนินการ ก็เห็นว่าคดีอย่างนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว สำนักราชเลขาฯ ก็น่าจะเป็นหน่วยที่ทำเรื่องนี้ แต่ถ้าใครเห็นว่าหน่วยนี้ไม่เหมาะ อาจมองว่าใกล้ชิดกับพระราชวงศ์มากเกินไป จะเสนอหน่วยอื่นมาก็ไม่เป็นไร ก็คุยกัน อันนี้เป็นตุ๊กตา เราไม่ได้เสนอโดยจู่ๆ จินตนาการขึ้นมาแล้วเสนอ แต่เสนอจากเรื่องที่มันเคยเกิดขึ้น และเคยทำมาแล้ว ข้อเสนอจึงสมเหตุสมผลด้วยเหตุนี้ และก็จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ถ้าเรื่องนี้เป็นจริงมันจะลดเรื่องการแจ้งความคดีหมิ่นฯ ทันที เห็นผลทันทีเลย เฉพาะแค่ประเด็นเรื่องผู้อำนาจกล่าวโทษก็ส่งผลทันที"

 จริงๆ แล้วคนที่โดนคดีหมิ่น ส่วนใหญ่ก็จะได้พระราชทานอภัยโทษ 

"ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไม่มีคดีขึ้นศาลฎีกาเยอะ คดี 112 คำพิพากษาศาลฎีกามีน้อยมาก เข้าใจว่า 4-5 เรื่อง น้อยมาก เพราะขั้นตอนคดีมันยาว ฉะนั้นคนที่ถูกดำเนินคดีเขาจะไม่อุทธรณ์ พอศาลพิพากษาลงโทษปุ๊บเขาก็ไม่อุทธรณ์หรอก เขาให้คดีถึงที่สุดแล้วขอพระราชทานอภัยโทษ มันก็เลยมีคนบอกว่าคดีหมิ่นไม่เห็นเป็นปัญหาเลย คำพิพากษาศาลฎีกามีอยู่ไม่กี่คดีเอง คุณไปดูสถิติของศาลฎีกาไม่ได้ มันต้องดูสถิติที่เกิดขึ้นในชั้นตำรวจ อัยการ และศาลชั้นต้น  ไปดูสิว่าตอนนี้คดีมันเท่าไหร่ มันเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ในช่วง 3-4 ปีมานี้"

การได้พระราชทานอภัยโทษ ด้านหนึ่งก็มีคนตีความว่าสถาบันอาจไม่ต้องการให้มีคดีเกิดขึ้นเยอะ ส่วนอีกด้านก็ตีความว่าเห็นไหม ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย ส่วนใหญ่ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่ปัญหาคือทุกวันนี้คนที่ถูกแจ้งความไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว 

"ถ้าเป็นอย่างนั้นทำไมต้องให้เขาติดคุก เพราะอย่างที่ผมบอก มันเป็นปัญหาที่การตีความของศาลด้วย อย่างกรณีคุณวีระผมเห็นว่าไม่เข้า 112 เป็นการพูดเปรียบเทียบหาเสียง แต่ศาลตีความว่าเข้า มันจึงเป็นประเด็นว่าที่สุดคุณเอาคนไปขังแล้ว และผลกระทบที่มีต่อชีวิตของเขาล่ะ ถ้าสมมติว่าเราออกกฎหมายว่าถ้าใครถูกแจ้งความขอพระราชทานอภัยโทษเลยได้ไหมล่ะ ก็ไม่ได้อีก แต่ถ้าเราบอกว่าการพระราชทานอภัยโทษเพราะองค์พระมหากษัตริย์ไม่ต้องการให้เกิดการลงโทษแบบนี้ จึงพระราชทานอภัยโทษตามที่เสนอ ก็ไม่ต้องดำเนินคดีตั้งแต่แรกไม่ดีกว่าหรือ"

0 0 0

ทหาร-รัฐบาล-กกต. 
อย่าให้เป็นเนื้อเดียวกัน

ถ้าเขาหาเสียงแล้วเขาขยิบตา กกต.จะทำอย่างไร การตีความมันจะปวดหัว ผมเห็นแต่ความวุ่นวาย การออกระเบียบแบบนี้ทำให้ประเด็นเรื่องสถาบันกลายเป็นใจกลางของปัญหา โอเคในมุมหนึ่งอาจจะดีนะ แต่ว่าปัญหาคือคุณจะรับแรงกดดันในแง่ของการตีความกฎหมายไหวเหรอ  มันทำให้ปัญหาตรงนี้จะไม่ถูกพูดอย่างเป็นเหตุเป็นผล เรื่องนี้มันจะพูดออกนอกกรอบของเหตุผลไปอีก เพราะจะไปเถียงกันในทางเทคนิคของกฎหมาย ถึงที่สุดอาจจะไม่พูดหลัก และจะทำให้การแก้ปัญหาเรื่องนี้ห่างออกไปจากสิ่งที่มันควรจะเป็น

มีประโยคหนึ่งที่ อ.วรเจตน์พูดวันนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นทรรศนะตรงข้ามกับทหารที่ออกมาตบเท้าอยู่ ณ เวลานี้อย่างสิ้นเชิง ประโยคนั้นก็คือ "การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ" 

"ทรรศนะของทหารเรื่องการปกป้องสถาบันมันก็โอเค แต่เขาต้องเข้าใจลักษณะของสถาบันพระมหากษัตริย์ คือทหารต้องคิดมีเหตุมีผลในแง่ที่ว่า  ปัญหาที่มันเกิดขึ้นมันคืออะไร ไม่ใช่ว่ามีคนพูดจาวิพากษ์วิจารณ์ประธานองคมนตรี ซึ่งบังเอิญเคยเป็นอดีตทหารด้วย และทหารเขารู้สึก แต่เขายังไม่ได้แยกแยะเลยว่าทำไมถึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ เกิดอะไรขึ้น มันก็สร้างอารมณ์ความรู้สึกกันขึ้นมาล่ะว่าเป็นการจาบจ้วง เป็นการก้าวล่วงองคมนตรีและกระทบสถาบันด้วย มันก็เลยกลายเป็นเรื่องอารมณ์ออกมาหมด ผมคิดว่าถ้าคุณบอกว่าคุณรักษาสถาบันปกป้องสถาบัน ในลักษณะซึ่งเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ให้พ้นไปจากการเมืองระบอบประชาธิปไตย ไม่มีใครเขาว่าอะไรคุณหรอก และถ้าเป็นอย่างนั้นทหารจะต้องมาดูด้วยว่าคนแวดล้อมสถาบันกระทำการอันเป็นปัญหากับหลักในทางกฎหมาย ทหารก็ต้องวิจารณ์คนเหล่านั้นใช่ไหม ถ้าคิดตามหลักแบบนี้ การตบเท้าของทหารควรจะเป็นการตบเท้าเพื่อวิจารณ์บุคคลเหล่านั้นมากกว่าใช่ไหม นี่มันขึ้นอยู่กับวิธีคิดว่าคิดอย่างไร"

ถ้าคิดแบบทหารสิ่งที่จตุพรพูดก็เข้าข่ายหมิ่นแน่ๆ 

"ปัญหาคือทหารมี conflict of interest ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ไม่ใครชี้เลย ทหารมีประโยชน์ทับซ้อนในประเด็นนี้อยู่ เพราะว่าคนเสื้อแดงเขากล่าวหาว่าทหารเป็นคนฆ่าเขาในเหตุการณ์สลายการชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ราชประสงค์ พอคุณจตุพรพูดประเด็นแบบนี้ ตัวทหารในฐานะที่ถูกกล่าวหา และคนในกองทัพที่อยู่ใน ศอฉ.ก็มีบทบาทอยู่ในเวลานี้ทั้งสิ้น เขาจึงเอาประเด็นนี้มาขยับ เพราะคำพูดจตุพรมันกระทบกับเขาด้วย ถ้ามองแบบอีกมิติทหารกำลังใช้สถาบัน protect ตัวเองหรือเปล่าด้วยนะ ในทางกลับกัน การที่ทหารตบเท้าแบบนี้ในมุมกลับกำลังใช้สถาบันมา protect ข้อกล่าวหา ซึ่งฝ่ายคนเสื้อแดงเขากล่าวหาด้วยหรือเปล่า อันนี้ผมตั้งคำถาม เพราะว่าคุณมีประโยชน์ทับซ้อนกันในเรื่องนี้อยู่แล้ว คุณกลายเป็นคู่กรณีกับกลุ่มคนเสื้อแดง มันก็ต้องคิดในมุมนี้ด้วย"

มีแนวโน้มว่าจะมีการใช้มาตรา 112 มากขึ้นอีก เวลานี้ทั้งทหาร ดีเอสไอ  ประชาธิปัตย์พยายามจะใช้เป็นเครื่องมือดิสเครดิตพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง  แต่คำถามก็คือถ้าพรรคเพื่อไทยยังชนะขาดล่ะ

"นี่แหละอันตรายอยู่ตรงนี้ นี่คืออันตรายของการใช้ขบวนการนี้ คิดให้ดีๆ  นะ คุณจะตีความว่าอย่างไรต่อ ไหวไหม ผมถึงบอกว่าอย่าเอามาเลย สถาบันพระมหากษัตริย์ยกไว้เถอะ คือเขาต้องใช้ความคิดเยอะๆ ในแง่นี้พรรคการเมืองซึ่งเขากำลังจะลงสนามเลือกตั้งประเด็นไหนที่มันช่วงชิงความได้เปรียบเขาใช้หมด เขาไปวัดกันที่สนามเลือกตั้ง ชะตากรรมพรรคการเมืองอยู่ในมือของประชาชนว่าเขาจะกากบาทเลือกใคร เพราะฉะนั้นทหารก็ต้องระวังให้ดี ถ้าไปเป็นเนื้อเดียวกับพรรคการเมืองที่กำลังจะแข่งขันในสนามเลือกตั้ง ที่สุดทหารก็จะกลายเป็นผู้ร้ายนะ หรือคุณจะบอกว่ายกประเด็นนี้ขึ้นมาแล้วกลายเป็นเนื้อเดียวกันและก็ลงเลือกตั้ง ถ้าเสียงข้างมากมันเทไปอีกข้างหนึ่งคุณจะทำไงล่ะทีนี้ ไม่ต้องเป็นเสียงข้างมากก็ได้ แต่ว่าเป็นหลัก 10 ล้าน แล้วจะอธิบายอย่างไร"

หรือว่าสิบล้านนั้นไม่จงรักภักดี

"ในสายตาของทหาร ทหารกำลังบีบให้ประเด็นมันเรียวแคบและแหลมคมขึ้น ไปสู่การตั้งคำถามแบบนี้ซึ่งไม่ถูก"

ที่สำคัญปัญหาจะยิ่งหนักขึ้น เมื่อ กกต.บ้าจี้เตรียมออกระเบียบห้ามเอาสถาบันไปหาเสียง ทั้งที่มันเป็นข้อเสนอของคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากระเบียบนี้

"เขาไม่น่าเอาไปใช้ ถ้าเป็นอย่างนั้นภูมิใจไทยก็จะโดนยุบนะ แต่ผมเห็นว่าตอนนี้มันช้าไปแล้ว อย่างประเด็นของภูมิใจไทยเป็นประเด็นซึ่ง กกต.ไม่สามารถ react ได้ในทางกฎหมายอย่างเดียว ผมกำลังจะบอกว่าเรื่องสถาบันที่จะใช้มันต้องให้เป็นเรื่องการสร้างวัฒนธรรมในทางการเมืองขึ้นมาด้วย จะมากันอย่างนี้มันเป็นเรื่องปลายเหตุ จะต้องสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองขึ้นมาว่าพรรคการเมืองไหนที่เอาตรงนี้มาใช้ต้องถูกแอนตี้ ถือว่าคุณเอาเปรียบคนอื่น  และในแง่นี้ชนชั้นนำทั้งหมดต้องประสานกัน เป็นเรื่องในทางการเมืองที่เขาตกลงกันมากกว่าเรื่องของการออกกฎ เพราะมันจะเป็นปัญหาเรื่องการตีความ  มันจะเป็นปัญหาอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติมีพรรคการเมืองหนึ่งฟังไอเดียผมปุ๊บ เออที่ผมพูดนี่คือวิธีการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ เขานำเสนอประเด็นนี้ในการเลือกตั้งบอกจะแก้ 112 เปลี่ยนเรื่องผู้มีอำนาจกล่าวโทษทันที เขาเอาประเด็นนี้หาเสียง และมันเป็นประเด็นที่เขาควรจะหาเสียงได้ เพราะมันเป็นเรื่องกฎหมายและเป็นเรื่องในทางนโยบาย แต่เขาจะทำไม่ได้นะ ทั้งที่ความจริงเขาควรจะต้องทำได้ กลายเป็นว่าวันนี้การเลือกตั้งในประเทศเรา เรื่องสำคัญที่เป็นเรื่องในทางนโยบายจะถูกกันไม่ให้พูดถึงเลย เพียงเพราะต้องกันการกระทำอย่างภูมิใจไทยหรือการตอบโต้กัน มันไม่คุ้มหรอก ในทางหลักการก็ไม่ได้ด้วย"

ถ้าเข้าข่ายหมิ่นก็ควรปล่อยให้เป็นเรื่องตัวบุคคลไป และการอ้างอย่างที่พรรคภูมิใจไทยทำ ประชาธิปัตย์เองก็เคยอ้างเช่นกัน

"ก็ทำมาก่อนไม่ใช่เหรอ ส่วนเรื่องเอาพระบรมฉายาลักษณ์มาแจกก็เป็นเรื่องที่สำนักราชเลขาฯ จะต้องดำเนินการ มันต้องแก้ปัญหาไปทางนั้น แล้วเดี๋ยว กกต.จะปวดหัวคอยดู เพราะว่าเวลามีการหาเสียงมันจะคาบเคี่ยวไปถึงเรื่องการสลายการชุมนุม ซึ่งก็จะต้องพูดถึงอะไรหลายอย่าง และมันเป็นไปได้ที่จะถูกตีความเหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้ อาจจะไม่ได้พูดอะไรเลยนะ แต่ว่ามันเป็นการพูดในลักษณะเป็นสัญลักษณ์จะทำอย่างไร"

ก็ไม่แน่ว่าถ้าขยิบตาบนเวทีเมื่อไหร่ กกต.อาจจะตัดสินให้ยุบพรรคเลย 

"ที่เขาใหญ่คุณณัฐวุฒิก็ทำไม่ใช่เหรอ แล้วถ้าเขาหาเสียงแล้วเขาขยิบตา  คุณจะทำไง คุณจะตีความการขยิบตาว่ายังไง การตีความมันจะปวดหัวนะ ผมเห็นแต่ความวุ่นวาย การที่มีระเบียบแบบนี้เท่ากับ กกต.ทำให้ประเด็นเรื่องสถาบันกลายเป็นใจกลางของปัญหา คือโอเคในมุมหนึ่งอาจจะดีนะ ถ้าหากพูดกันด้วยเหตุผล แต่ว่าปัญหาคือคุณจะรับแรงกดดันในแง่ของการตีความกฎหมายไหวเหรอ มันทำให้ปัญหาตรงนี้จะไม่ถูกพูดอย่างเป็นเหตุเป็นผล เรื่องนี้มันจะพูดออกนอกกรอบของเหตุผลไปอีก เพราะจะไปเถียงกันในทางเทคนิคของกฎหมาย ถึงที่สุดอาจจะไม่พูดหลัก มันจะทำให้การแก้ปัญหาเรื่องนี้มันห่างออกไปจากสิ่งที่มันควรจะเป็น"

เท่ากับว่าเอาสถาบันมาเป็นเครื่องมือยุบพรรค

"อันตรายอยู่ตรงนี้เลย ลองคิดดูว่าเกิดมีคนในพรรคไปหาเสียงพูดอะไรขึ้นมา คนมันจะสนใจทันทีว่าพูดอะไร และมันถึงขนาดยุบพรรคนี่มันถูกไหม  ยุบแล้วมันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นมันกลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต   และคราวนี้มันจะดึงความสนใจจากต่างประเทศเข้ามา ผมกลัวแบบนี้ว่าพอถึงจุดหนึ่ง กกต.ฝ่อหมด ลาออกหมด ถ้ามันมีการร้องเรียนมาเยอะ กกต.ต้องตีความ และรับแรงกดดันไม่ไหวแล้ว"

ในทางกฎหมายตีความถึงขั้นยุบพรรคได้เลยเชียวหรือ 

"มันมี 237 อยู่นี่ มันจะโยงแบบนี้ 237 ทำผิดนิดๆ หน่อยๆ ก็ยุบได้เลย  ถ้ามีระเบียบกำหนดมัน non sense มากๆ มาตรา 237 บอกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการหรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาของวุฒิสภา หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เพิกถอนผลเลือกตั้งของการดังกล่าว เพราะฉะนั้น กกต.ก็จะออกระเบียบ"

แปลว่าออกระเบียบเรื่องอื่นก็ได้ ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องนี้

"มันสุดๆ แล้ว 237 แต่มันจะต้องตีความว่าเป็นผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งเขาตีความได้อยู่แล้ว ว่าเอาประเด็นเรื่องสถาบันไปหาเสียง ส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริต มันไหวไหมล่ะ กกต.ต้องคิดให้ดีว่าจะรับแรงเสียดทานตรงนี้ไหวไหม และสมมติออกระเบียบไปแล้ว มีคนมาร้องเรียนแล้ว กกต.ไม่ทำอะไร อันนี้ยิ่งเป็นปัญหาอีก ผมยังนึกไม่ออกว่า กกต.จะเขียนระเบียบกว้างแคบอย่างไร และมันเป็นปัญหาเรื่องการตีความ เราต้องไม่ลืมว่าคุณเป็นคนเขียนและเป็นคนตีความกฎหมาย แรงกดดันมันอยู่ที่คุณนะ  เพราะว่ามันมี 2 ฝ่ายแล้ว และวันหนึ่งคุณก็จะสำนึกเสียใจ แล้วจะประกาศผลการเลือกตั้งได้ไหม ผมสังหรณ์ว่าจะมันจะยุ่งตอนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้ามีการเลือกตั้งนะ"

ก่อนหน้านี้ยังมองในแง่ดีว่าหลังเลือกตั้งความขัดแย้งน่าจะค่อยๆ ลดดีกรีลง แต่วันนี้ดูจากสถานการณ์หลายๆ อย่าง คงไม่ใช่แล้ว

"ถ้าจะจบมีอย่างเดียว อยากจะจบแบบว่าผ่านไปแบบสันติ ผมนึก  scene ถ้าจะเป็นไปได้มันจะเป็นไปได้อย่างเดียว ซึ่งอันนี้ก็ไม่แน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วย เพราะปัญหามันรุนแรง เนื่องจากมีคนตายมาก แต่ถ้าจะลองดูก็คือพรรคใหญ่ตั้งรัฐบาลที่เหมือนกับเป็นรัฐบาลแห่งชาติ มีการปฏิรูปกฎเกณฑ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหมด นิรโทษกรรมทุกคนกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้นะ กลับไปสู่สถานะเดิมหมด ใช้เวลาอาจจะสัก 3  ปี 4 ปี ทำในสิ่งพวกนี้ แล้วปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทุกฝ่ายไม่ผิดที่ผ่านมาเลิก นิรโทษกรรมอย่างเดียวก็ไม่พอนะ มันต้อง set ตัวระบบกันใหม่ วางกติกากันใหม่ รวมทั้งประเด็นพวกนี้ด้วย ทางเดียวอันนั้นจะจบ ซึ่งมันจะไม่เกิดหรอก" ไม่เกิดหรอก ประชาธิปัตย์ทำก็ไม่ได้ เพื่อไทยทำก็ไม่ได้ ทหารไม่ยอม  ชนชั้นนำก็ไม่ยอม

0 0 0

องคมนตรี
ปมที่น่าคิด

“ต้องยอมรับว่าหากจะปฏิรูปรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์นั้นเป็นไปไม่เลยที่จะไม่พูดถึงบทบาทสถาบันองคมนตรี เพราะ 4-5ปีที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ประธานองคมนตรี แต่มักจะถูกคนแวดล้อมพยายามโยงว่าคำวิจารณ์เหล่านั้นเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง”

"เรื่องการวิจารณ์ต้องเข้าใจว่าจู่ๆ จะมีการวิจารณ์ขึ้นมา มันต้องมีการกระทำถึงมีการวิจารณ์ คนที่มีใจเป็นธรรมต้องถามก่อนว่าเขาทำอะไร สิ่งที่เขาทำถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง มันถูกต้องหรือไม่ถูกต้องกับตำแหน่งหน้าที่บทบาทของเขา ถ้าสิ่งที่เขาทำถูกต้องเหมาะสมในหน้าที่บทบาทของเขา แปลว่าข้อวิจารณ์เป็นการวิจารณ์ที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม เป็นข้อวิจารณ์ที่ไม่มีคุณค่าแก่การรับฟัง แต่ถ้าการกระของเขามันไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่เขาเป็นแล้วมีคนวิจารณ์ ก็แปลว่าคนที่วิจารณ์มีความชอบธรรมที่จะวิพากษ์วิจารณ์ใช่ไหม มันต้องเริ่มต้นตรงนี้ก่อน มันต้องถามกลับไปว่าถ้า พล.อ.เปรม ไม่ได้ทำอะไรเลยจะมีคนวิจารณ์ไหม 

ฉะนั้นเวลาที่จะบอกว่าทำไมถึงมีคนวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.เปรม ก็ต้องถามในเบื้องต้นก่อนว่าประธานองคมนตรีท่านทำอะไร  ต้องถามตรงนี้ก่อนถึงจะคุยกันได้ แต่ถ้ามีคนบอกว่าท่านไม่ได้ทำอะไรเลยสักอย่างเดียวทำไมไปวิจารณ์ท่านอันนี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ก็เถียงกันในข้อเท็จจริงก่อนว่าทำหรือไม่ทำ ถ้าข้อเท็จจริงคือไม่ได้ทำอะไรเลยแล้วมีการวิจารณ์ท่านแปลว่าคนวิจารณ์ก็ไม่แฟร์ แต่ถ้าข้อเท็จจริงว่าท่านทำ เรายังบอกไม่ได้หรอกว่าที่ท่านทำควรจะวิจารณ์ตำหนิไหม ก็ต้องดูว่าท่านทำอะไรก่อน แล้วถึงจะบอกได้ว่าควรตำหนิหรือไม่ตำหนิ ผมไม่อยากวิจารณ์หลายเรื่องแต่เรื่องหนึ่งที่ผมค่อนข้างติดใจและเป็นปัญหาคือการที่ท่านแสดงความเห็นในสื่อสาธารณะสนับสนุนคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งประธานองคมนตรีบอกว่าประเทศไทยโชคดีที่ได้คุณอภิสิทธิ์เป็นายกรัฐมนตรี"

"อันนี้ก็คือการแสดงความคิดเห็น ถ้าเป็นคนธรรมดาทั่วๆ ไปแสดงความคิดเห็นพวกนี้ไม่เป็นไรหรอก แต่พออยู่ในสถานะหนึ่งตำแหน่งหนึ่งบางทีมันไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้องคมนตรีต้องเป็นกลางทางการเมือง ก็จะมีปัญหาทันทีเลยว่าอย่างนี้ถือว่าเป็นกลางทางการเมืองไหม เขาก็มีสิทธิจะถามว่าอย่างนี้เป็นกลางทางการเมืองไหม พล.อ.เปรมท่านก็บอกว่าท่านพูดถึงเรื่องชาติ เป็นประโยชน์ของชาติ ไม่ได้พูดเรื่องการเมืองนะ ท่านไม่ได้พูดเรื่องการเมืองท่านพูดเรื่องบ้านเมือง คำถามก็คือที่ท่านบอกว่าท่านพูดเรื่องบ้านเมืองมันเป็นเรื่องบ้านเมืองหรือเป็นเรื่องการเมือง หรือจริงๆ มันก็เป็นทั้งเรื่องการเมืองเรื่องบ้านเมืองเพราะแยกกันไม่ออก และถ้าท่านต้องการพูดเรื่องบ้านเมืองแบบนี้ท่านต้องพูดอีกสถานะหนึ่งแล้ว บ้านเมืองที่มีสภาพเป็นการเมืองแบบนี้ท่านพูดในสถานะเป็นองคมนตรีไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่า พล.อ.เปรม ท่านพูดอะไรไม่ได้นะ ท่านพูดได้แต่ว่าในฐานะเป็นประธานองคมนตรีท่านจะพูดบางอย่างไม่ได้ นี่คือประเด็นที่เป็นปัญหา"

ประเด็นองคมนตรีมีโอกาสสูงที่การวิจารณ์จะไปกระทบสถาบัน เช่นคนวิจารณ์พล.อ.สุรยุทธ์ลาออกจากองคมนตรีมาเป็นนายกฯ แล้วกลับไปอีก คนวิจารณ์ก็เสี่ยงที่จะถูกกล่าวหา

"ปัญหาเรื่องพวกนี้จะแก้ได้จะต้องพูดถึงเรื่องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์อย่างที่ผมบอก วันนี้เรามีปัญหาเรื่องสถาบันเกิดขึ้นเยอะ เห็นได้ชัดเจนทหารก็ออกมาตบเท้าแสดงพลังปกป้องสถาบัน คำถามคือเราจะแก้อย่างไร เพราะองคมนตรีก็ถูกบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวดพระมหากษัตริย์ และถ้ามีปัญหาแบบนี้มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะแก้ปัญหาโดยที่ไม่แตะรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับหมวดนี้ มันเป็นไปไม่ได้ ถึงต้องมีการเสนอให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ คำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงรวมทั้งที่แวดล้อม ในความหมายที่กว้าง เพราะองคมนตรีก็เป็นส่วนหนึ่งไปแล้วตอนนี้ ผมถึงบอกว่า 112 อยู่เดี่ยวๆ ไม่ได้หรอกมันจะต้องเป็นประเด็นอันหนึ่งในประเด็นใหญ่ เรื่องของการหมิ่นที่เกิดขึ้นต้องแก้ปัญหาใหญ่ มันไม่สามารถแก้ได้โดยที่คุณบอกว่าคุณจะออกระเบียบหรือคุณจะเพิ่มโทษ หรือคุณจะบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น คุณจะออกกฎหมายคอมพิวเตอร์ ปิดเว็บไซต์ มันไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งสิ้น การแก้ปัญหาที่ถูกต้องและยั่งยืนคุณจะต้องไปดูภาพใหญ่และถ้าคุณแก้ตรงนั้นได้ปัญหาพวกนี้ก็หมดไปเอง สมมติคุณบอกว่าเลิกตำแหน่งองคมนตรี จบไปเลยนะ ปัญหานี้ก็จะไม่เกิดขึ้นตามเลยใช่ไหม อย่างนี้

“องคมนตรีไม่ได้มีมาตั้งแต่แรกนะ เริ่มมีตั้งแต่ปี 2492 พูดง่ายๆ คือตำแหน่งองคมนตรีในระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน ผมกำลังจะบอกอะไร เรากำลังจะเผชิญกับปัญหาเรื่องสถาบันองคมนตรีข้างหน้า เพราะว่าช่วงรัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 8 ไม่มีองคมนตรี คือ จากรัชกาลที่ 7 มายังรัชกาลที่ 8 ไม่มีองคมนตรี จากรัชกาลที่ 8 มายังรัชกาลที่ 9 ไม่มีองคมนตรี ที่เหลือผมไม่ต้องพูดแล้ว คิดกันต่อได้”

“นี่คือปัญหาที่มันอีรุงตุงนัง อันนี้ก็เป็นอันหนึ่ง ผมถึงบอกว่าถ้าคุณจะแก้ให้ได้คุณไม่มีทางเลี่ยง ต้องพูดประเด็นตรงนี้ทั้งหมด ภายใต้หลักที่ว่ายังมีสถาบันพระมหากษัตริย์ หลักอยู่ตรงนี้ แต่ว่ารอบๆ อะไรทั้งหลายทั้งปวง องคมนตรี กฏมณเฑียรบาลเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ ประเด็นเรื่อง 112 ประเด็นเรื่องสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โครงการในพระราชดำริ อะไรพวกนี้ต้องมาพูดกันหมด พูดง่ายๆ คือข้อเสนอของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 8 ข้อที่เสนอเอาไว้ เป็นข้อเสนอที่ควรนำมาพิเคราะห์พิจารณาอย่างจริงจัง เห็นด้วยตรงไหน ไม่เห็นด้วยตรงไหน ก็อภิปรายกันด้วยเหตุด้วยผล"

องคมนตรีมีขึ้นหลังปี 2490

"องคมนตรีเกิดในปี 2492  เริ่มจากอภิรัฐมนตรีในปี 2490 แล้วมาเป็นองคมนตรีในปี 2492 กฎหมายสำนักงานทรัพย์สินก็แก้แถวๆ ปี 2490 เพียงแต่เรื่องพวกนี้ในอดีตปัญหามันไม่ปะทุขึ้น"

 เรื่องสืบสันตติวงศ์มาแก้ไขในปี 2534     

"ที่แก้สำคัญคือแก้ 2517 ครั้งหนึ่งที่ให้พระราชธิดาขึ้นครองราชย์ได้ อันนั้นไม่ได้แก้กฎมณเฑียรบาลแต่ทำรัฐธรรมนูญ แต่ว่าที่แก้หลักใหญ่คือปี 2534 เดิมทีการแก้กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ทำได้โดยวิธีเช่นเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญปี 2534 รสช.ยึดอำนาจแล้วก็ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญถาวร ปี 2534 กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเป็นพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการขึ้นครองราชย์ ก่อนปี 2534 การขึ้นครองราชย์แม้จะตั้งรัชทายาทเอาไว้ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่รัฐธรรมนูญ 2534 กำหนดให้การขึ้นครองราชย์เป็นไปโดยอัตโนมัติ ถ้ามีการตั้งรัชทายาทเอาไว้ก็คือรัฐสภารับทราบ และองคมนตรีจะมีบทบาทในแง่ถ้าไม่มีการตั้งองค์รัชทายาทไว้ ประธานองคมนตรีจะมีบทบาทในช่วงที่พระมหากษัตริย์ทรงเสด็จสวรรคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาทหรือองค์ผู้สืบสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ประธานองคมนตรีจะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราว ในขณะที่รัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะให้มาจากพฤฒสภา ซึ่งเป็นสภาสูงปัจจุบันก็เทียบกับวุฒิสภา แต่มาจากการเลือกตั้ง"

"ในแง่ของการคิดระบบก่อน 2490 ก็คือรัฐธรรมนูญปี 2489 เป็นตัวอย่างจะคิดรับกับหลักการในทางประชาธิปไตยตลอด พอ 2490 มาจะเป็นปัญหาแบบนี้  ก็มีคนถามว่าแล้วทำไมมันไม่เกิดเป็นปัญหาขึ้น เพราะว่าตอนนั้นมันไม่ได้เป็นประเด็นที่คนสนใจเท่าไหร่ และอีกอย่างการขึ้นมาในทางการเมือง การผงาดขึ้นของคุณทักษิณซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่ทรงอำนาจมากในช่วงเวลาหนึ่งมันก็มีผลเหมือนกัน ที่ทำให้ประเด็นพวกนี้ได้รับความสนใจ เพราะกลุ่มบุคคลที่อยู่ในสถาบันลักษณะเป็นเรื่องจารีต ชนชั้น ได้นำเอาประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อสู้ในทางการเมือง ก็เลยเกิดสภาพแบบนี้ขึ้นมา พอเกิดขึ้นแล้วก็ต้องมาคิดแก้กัน จะแก้อย่างไรผมกลัวว่าถึงที่สุดแล้วมันจะไม่เถียงกันเรื่องเหตุผล อย่างที่ผมพูดวันนี้ ผมก็รู้ว่าถึงวันหนึ่งบรรยากาศอีกจุดหนึ่งอาจจะพูดกันไม่ได้แล้ว มันไม่พูดเหตุผลกันแล้ว วัดกันด้วยกำลังแล้วกัน ข้างไหนล่ะ มันมีอยู่สองทางเลือกเอา ผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น"

การแต่งตั้งองคมนตรีนั้น อ.วรเจตน์เห็นว่าควรจะเป็นเรื่องส่วนพระองค์ ไม่ใช่เป็นตำแหน่งอย่างเป็นทางการในทางกฎหมาย เพราะพระมหากษัตริย์อาจจะทรงปรึกษาคณะรัฐมนตรีได้อยู่แล้ว 

"เราใช้หลัก The King can do no wrong เพราะพระองค์ไม่ทำอะไรด้วยพระองค์เอง การมีองคมนตรีก็จะเป็นปัญหาว่าพระองค์ทรงทำด้วยพระองค์เองไหม เพราะพระมหากษัตริย์ทรงตั้งองคมนตรีตามพระราชอัธยาศัย ปัญหาคือถ้ามีแล้วบทบาทขององคมนตรีถ้าอยู่ในกรอบตรงนี้ก็ไม่เป็นไร แต่พอออกนอกกรอบตรงนี้จะเป็นปัญหาทันที องคมนตรีพูดง่ายๆ ก็คือถ้าจะมี มันไม่ควรมีในรัฐธรรมนูญหรอก ในอดีตอาจจะไม่ค่อยมีปัญหาเพราะองคมนตรีก็อยู่ในกรอบมาก"

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น