โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

รายงาน:พรบ.คอมพ์ฯ คุ้มครองหรือละเมิดสิทธิ์...???

Posted: 25 Apr 2011 01:20 PM PDT

ผู้ร่วมร่างฉบับแก้ไข แจงไม่มีธงต้องผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในรัฐบาลนี้ ชี้เทรนด์ภัยคุกคามทางไซเบอร์กำลังมา ต้องรีบรับมือ นักกฎหมายค้าน อังกฤษ-อเมริกา ภัยเยอะกว่ายังไม่ให้อำนาจเท่านี้ ผู้ก่อตั้งเว็บดังมอง คกก.ชุดใหม่อำนาจมากกว่า ศอฉ.  ด้านผู้ประกอบการโฮสติ้ง หวั่นประกาศใช้เมื่อไหร่ติดคุกสถานเดียว

รายการ คม-ชัด-ลึก เนชั่นชาแนล เมื่อวันที่ 21 เม.ย.54 มีการเชิญ สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ และรักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ อดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณายกร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และอาจารย์พิเศษวิชากฎหมายเทคโนโลยี จุฬาฯ ปรเมศวร์ มินศิริ เว็บมาสเตอร์ kapook.com และอุปนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย  และ ภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้ง ร่วมพูดคุยในประเด็น "พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่" แก้ปัญหาหรือละเมิดสิทธิ?  ดำเนินรายการโดยจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์

สุรางคณา วายุภาพ ในฐานะผู้มีส่วนร่างกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่า หัวเรือในการแก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ครั้งนี้คือ กระทรวงไอซีที โดยมีตัวแทนจากศาลยุติธรรมและสำนักงานกฤษฎีกาเข้าร่วม ส่วนตัวแทนจากหน่วยงานความมั่นคงนั้น มาในขั้นรับฟังความเห็น ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นการเปิดรับฟังความเห็นอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยเปิดให้ตัวแทนจากสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าแสดงความคิดเห็น

สำหรับสาระสำคัญที่มีการแก้ไขให้ชัดเจนขึ้น มี 4 ส่วน ได้แก่ เรื่องนิยาม ฐานความผิด โครงสร้างคณะกรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่ และอำนาจเจ้าหน้าที่และพยานหลักฐาน

ในส่วน "นิยาม" สุรางคณาขยายความว่า แก้ไขเพื่อให้สามารถรองรับพัฒนาการของเทคโนโลยีที่กว้างมากขึ้น เพราะในอนาคต จะเข้าสู่ยุคที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชิ้นจะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ทำให้เชื่อมต่อออนไลน์ได้ โดยแนวโน้มของการเขียนกฎหมายของโลก จะขยายความ "คอมพิวเตอร์" ให้ครอบคลุมการทำงานในหน้าที่อื่นๆ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตด้วย

ขณะที่ "ฐานความผิด" เช่น การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ เดิม กฎหมายเอาผิดกับบุคคลซึ่งเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยมิชอบ แต่โดยธรรมชาติของคนไทย ยังขาดความตระหนักและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงไม่ค่อยมีมาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของตัวเอง ทำให้เอาผิดกับผู้กระทำความผิดไม่ได้ หรือกรณีการทำสำเนา หากมีการนำคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กไปซ่อมที่ร้าน แล้วถูกนำข้อมูลในคอมพิวเตอร์ไป บางกรณีอาจเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ แต่บางกรณีไม่ใช่ ส่วนที่แก้ไขนี้ก็จะเข้ามาเสริม ทั้งนี้กรณีที่มีความกังวลว่าเพียงการทำสำเนาข้อมูลอย่างการ cache ก็อาจกลายเป็นความผิดนั้น ผู้ร่างไม่ได้ตั้งใจให้กลายเป็นความผิด อย่างไรก็ตาม รับว่าจำเป็นต้องเขียนให้ชัดขึ้

การครอบครองภาพลามกเด็กและเยาวชน ปัจจุบัน เทรนด์ของเทคโนโลยีมาเร็ว เยาวชนอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก ทั้งนี้ที่น่าเป็นห่วงคือ หากคนผิดไม่อยู่ในประเทศไทย หากจะขอความร่วมมือจากประเทศอื่น แต่ถ้าเราไม่กำหนดฐานความผิดแบบเดียวกันกับเขา ก็ขอให้ส่งมาไม่ได้

สุรางคณา ระบุว่า ด้วยเทรนด์เทคโนโลยีที่มาแรง ทุกอย่างจะสะดวก รวดเร็ว พร้อมด้วยอันตรายที่มากขึ้น โดยหลายประเทศมองไปถึงเทรนด์การจู่โจมประเทศทางออนไลน์ หรือก่อการร้ายรูปแบบใหม่ ยกตัวอย่าง แฮกเกอร์มือดีอาจเจาะระบบของกรมการปกครอง เพื่อทำลายข้อมูลของประชาชนทั้งประเทศ หรืออาจมีการแฮก เข้าไปควบคุมการผสมคลอรีนในน้ำประปา ซึ่งอาจส่งผลถึงตายได้ ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการป้องปรามภัยที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

มาตรา 6 “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์” ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร เป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผู้ อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยระบุตัวบุคคลจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านกฎหมาย วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การเงินการธนาคาร หรือสังคมศาสตร์จำนวนสามคน โดยให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี

ผู้ดำเนินรายการถามถึงจุดประสงค์ของการมีคณะกรรมการชุดดังกล่าว สุรางคณาชี้แจงว่า โดยเจตนารมณ์ ไม่ได้ต้องการให้เป็นผู้ชี้ถูกชี้ผิด ศาลยังคงเป็นผู้ตัดสิน เพียงแต่คณะกรรมการนี้ จะดูเชิงนโยบายของประเทศโดยเน้นที่ความสงบสุขของประชาชนที่เป็นเหยื่อเป็นหลัก รวมถึงทำหน้าที่ประสานงานส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน

กรณีที่มีผู้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายนั้น สุรางคณาระบุว่า ไม่ต้องกังวล เพราะต้องดูเรื่องของเจตนาประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าที่มีผู้กังวลกันคือกลัวว่าถ้าเขียนไม่ชัดจะถูกตีความให้เป็นแพะรับบาปได้ง่าย และเป็นภาระของผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนนี้คิดว่าจะน้อมรับความคิดเห็นทุกกรณี เพื่อนำไปปรับให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น 

สุรางคณาย้ำว่า รมว.ไอซีทีไม่ได้ตั้งเป้าว่ากฎหมายจะต้องผ่านในรัฐบาลนี้ คาดว่าต้องใช้เวลา 3-5 ปีกว่าจะเสร็จสิ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะมีการรับฟังความเห็นทุกขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม สุรางคณา ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ต้องตระหนักร่วมกันคือการสร้างสมดุลระหว่างสังคมส่วนใหญ่ของประเทศ กับสิทธิบางอย่างของประชาชนในลักษณะส่วนตัว รวมถึงการรับมือภัยทางอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังจะมาแน่ๆ และประเทศไทยยังอ่อนแอด้านนี้

ด้านไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ กล่าวว่า ปัญหาของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ผ่านมา ไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย แต่อยู่ที่ผู้บังคับใช้ ส่วนตัวมองว่า 3 ปีที่ผ่านมา มีความเสียหายจากการบังคับใช้กฎหมายผิดคิดเป็น 98% เพราะมีปัญหาทางเทคนิคเยอะ โดยเดิมถูกนำไปใช้กับเนื้อหาอย่างเว็บลามก หมิ่นสถาบัน กระทบความมั่นคง มากกว่าอยู่แล้ว ฉบับร่างแก้ไขนี้กลับเปลี่ยนจากโทษอาญาที่เกี่ยวข้องกับการใช้คอมพิวเตอร์ ให้กลายเป็นเรื่องความมั่นคง สถาบัน ความปลอดภัยมากขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่าเขาจะเห็นด้วยกับการมีคณะกรรมการใหม่เพิ่มขึ้นมา แต่กังวลเรื่องอำนาจของคณะกรรมการซึ่งมีที่มาจากหน่วยงานด้านความมั่นคงถึง 90% และการให้อำนาจกับคณะกรรมการนี้แทนจากเดิมที่ไอซีทีดูแล รวมถึงเนื้อหาที่กลายเป็นด้านความมั่นคง

ไพบูลย์กล่าวว่า ร่างฉบับใหม่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่และเพิ่ม โทษมากกว่าเดิมเยอะ อาทิ การทำสำเนาโดยมิชอบ ทั้งที่การทำสำเนา หรือที่เรียกว่า cache หรือ temporary file นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว หากต้องการเข้าถึงข้อมูลหรือติดต่อระหว่างกันผ่านอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ นอกจากนี้ยังตั้งคำถามกรณีการใช้ภาพข่าวจากสื่อต่างๆ ว่า ตามกฎหมายลิขสิทธิ์บอกว่าไม่ผิดเพราะ เป็นการใช้อย่างเป็นธรรม หรือ fair use แต่มาตราที่แก้ไขไม่มีเรื่องนี้ เท่ากับระบุว่าแม้จะใช้อย่าง fair use ก็อาจจะผิดกฎหมายหรือไม่  ทั้งนี้ เขาเปรียบเทียบกับโทษปรับอื่นๆ ด้วยว่า ทำร้ายร่างกาย ชกหน้ากัน ปรับ 500 บาท แต่หากทำสำเนา ต้องจำคุก 3 ปี นอกจากนี้ นิยามของผู้ดูแลระบบตามร่างกฎหมายใหม่ user หรือผู้ใช้ ก็เป็นผู้ดูแลระบบด้วย เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ถือว่ามีสิทธิเข้าถึงเฟซบุ๊กของตัวเองที่ทำให้คนติดต่อกันได้ อาจเสี่ยงต่อการถูกตีความว่ากระทำความผิดได้

ไพบูลย์กล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายอาญาด้วยว่า โดยทั่วไป ตุลาการจะเป็นผู้ตีความใช้กฎหมาย จะไม่มีฝ่ายบริหารเข้ามากำหนดว่าอะไรเป็นความผิด ยกเว้นในสถานการณ์พิเศษ เช่น การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในอังกฤษและอเมริกาที่มีปัญหาอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์มากกว่าไทย ก็ยังแบ่งเป็นสองระดับ โดยฝ่ายบริหารของอังกฤษและอเมริกาจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายความมั่นคงจริง ฝ่ายบริหารของอังกฤษจะมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ต่อต้านการก่อการร้าย ขณะที่อเมริกา มีกฎหมายจลาจล

ทั้งนี้ เขามองว่า ในสถานการณ์ขณะนี้ ไม่จำเป็นต้องมีในกฎหมายลักษณะนี้ (ฉบับร่างแก้ไข) และว่าใช้เป็นไกด์ไลน์น่าจะดีกว่า

ไพบูลย์เสริมว่า สังคมอินเทอร์เน็ตไม่สามารถปิดกั้นได้ ต่อให้เพิ่มกฎหมายมา คนที่จะทำผิดก็จะย้ายไปใช้เซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศ ทำให้กฎหมายเป็นหมัน ทั้งนี้ เสนอให้ใช้การบล็อคและการดูแลกันเองโดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) หรือสมาคมต่างๆ

ปรเมศวร์ ในฐานะกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับปี 2550 ตั้งคำถามว่าถ้าจะขอประชาพิจารณ์เพื่อแก้ไขร่างกฎหมายนี้ ทำไมผู้ร่วมร่างฉบับแรกจึงไม่เห็น พร้อมบอกว่า ตนเองเพิ่งเห็นร่างกฎหมายนี้หลังจากมีการแก้ไขและเป็นข่าวแล้ว

เขากล่าวว่า เข้าใจว่าการร่างกฎหมายฉบับนี้มีเจตนาดี แต่มองว่า เหมือนจะจับหนู แต่ฉีดยาจนทำให้ข้าวตายไปด้วย โดยอ้างถึงมาตรา 7(4) ที่ให้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ "ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นตาม พ.ร.บ.นี้หรือกฎหมายอื่น" ซึ่งเขามองว่า การให้อำนาจเช่นนี้ เท่ากับให้คณะกรรมการนี้ทำ อะไรก็ได้ ฟังดูใหญ่กว่า ศอฉ. เสียอีก นอกจากนี้สัดส่วนของคณะกรรมการฯ 90% ล้วนอยู่ในตำแหน่งใหญ่ๆ เรียกว่า กระบองใหญ่ขึ้น แค่เรียกไปก็กลัวแล้ว

ปรเมศวร์กล่าวถึงการทำสำเนาว่าอาจจะส่งผลให้การใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศช้าไปด้วย โดยอธิบายว่า ทุกวันนี้ที่อินเทอร์เน็ตเร็วเพราะไอเอสพีทำสำเนาข้อมูลไว้เพื่ออำนวยความสะดวก เช่น วิดีโอคลิปจากต่างประเทศที่มีคนเรียกดูเยอะๆ ก็จะมีการทำสำเนาไว้ที่ไอเอสพี ทำให้ไม่ต้องเรียกดูจากต่างประเทศ ซึ่งวิธีนี้ในต่างประเทศก็ทำกัน ทั้งนี้ หากไม่ให้สำเนา เท่ากับต้องเรียกข้อมูลจากต่างประเทศโดยตรง ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม แปลว่าหากอยากให้บริการเร็วขึ้น ก็ต้องเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ปลายทางเพิ่มด้วย ขณะที่ "หนู" ที่ต้องการจะจัดการ สุดท้ายก็จับไม่ได้ คำถามคือจะแก้ไขเพื่อไปจัดการ "หนู" หรือทำให้ส่วนที่จะเป็นไปตามปกติมันไปไม่ได้


มาตรา 14 เพิ่มนิยามคำว่า "ผู้ดูแลระบบ" หมายความว่า ผู้มีสิทธิเข้าถึงระบบคอมพิ
วเตอร์ที่ให้บริการแก่ผู้อื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อกันโดยประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของบุคคลอื่น

ในส่วนผู้ให้บริการ ฉบับร่างแก้ไข เพิ่มคำว่า "ผู้ดูแลระบบ" ตนเข้าใจว่าพยายามล้อกับผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ซึ่งน่ากลัวมาก เพราะผู้ให้บริการเปรียบเทียบกับสำนักข่าวหรือสำนักพิมพ์ แต่ผู้ดูแลระบบดูจะเน้นไปที่ตัวบุคคล เหมือนกับกฎหมายสิ่งพิมพ์ ซึ่งผู้พิมพ์ผู้โฆษณาเป็นตำแหน่งไว้ขึ้นศาล แต่การพูดถึงผู้ดูแลระบบในที่นี้ เขากลัวว่าจะกลายเป็นการจับยามกับภารโรงไปด้วย เพราะผู้ดูแลระบบนั้นเป็นฝ่ายเทคนิคที่ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาเลย ขณะที่ผู้ที่มีเจตนาทำเว็บผิดกฎหมายอาจไม่ถูกจับ

 
มาตรา 25 “ผู้ใดครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งมีลักษณะอันลามกที่เกี่ยวข้องกับเด็กหรือเยาวชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
 

แม้ว่าเขาจะเห็นด้วยกับเรื่องการครอบครองสื่อลามกเด็ก เพราะในต่างประเทศ การกระทำความผิดเกี่ยวกับเด็ก พัฒนามาจากการเป็นผู้ดูไปสู่ผู้กระทำเสียเอง แต่อาจต้องเขียนให้รัดกุมกว่านี้ ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นยาแรงที่ถูกใช้กลั่นแกล้งกันทางการเมืองได้ โดยยกตัวอย่างว่า หากเขาเขียนอีเมลโดยแนบรูปลามกเด็ก ทันทีที่อีเมลนั้นส่งเข้าไปใน inbox เท่ากับผู้รับมีความผิดทันที เพราะถือว่าครอบครอง


มาตรา 16 เพิ่ม “ผู้ใดสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

สหรัฐอเมริกามีกฎหมาย Digital Millenium Copyright Act 1998 ซึ่งเอาไว้ดูแล การทำสำเนาโดยเฉพาะ แต่ของไทยมี 2 บรรทัด และโทษจำคุก 3 ปี ซึ่งเป็นยาแรง อยากให้แยกออกมาต่างหากจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และลงรายละเอียดให้ชัดเจน
ขณะที่ภูมิจิต กล่าวว่า ในฐานะผู้ทำธุรกิจโฮสติ้ง หากดูตามร่างกฎหมายใหม่ คงต้องเลิกอาชีพนี้หรือไม่ทำธุรกิจในเมืองไทย เพราะเสี่ยงต่อการติดคุกอย่างยิ่ง โดยอธิบายผู้ที่ประกอบธุรกิจนี้ต้องเก็บไฟล์ทุกแบบ ไม่ว่าตัวหนังสือ รูป เสียง ภาพ เป็นไปได้ยากที่จะสแกนทุกข้อความในเครื่อง เพราะละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกค้า การจะตรวจภาพลามก แปลว่าต้องสุ่มเปิดเมลลูกค้า ว่ามีไฟล์ไหม ซึ่งลูกค้าคงไม่ต้องการให้เปิด หรือบางทีเขาก็ไม่รู้ว่าใครส่งมา ทั้งนี้ ภูมิจิต บอกว่า การทำสำเนา อาจเป็นระบบทำเอง หรือโดยอัตโนมัติ เดิม เนื้อหาอาจเข้าข่ายผิด แต่ฉบับร่างใหม่นี้กลายเป็นผิดที่วิธีการด้วย

ในฐานะผู้ให้บริการ ยากจะบอกว่าผู้ใช้ทำอะไรจนกว่าเหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว เพราะไม่สามารถเฝ้าได้ตลอด พร้อมยกตัวอย่างว่า การมีผู้เอาภาพละเมิดลิขสิทธิ์มาโพสต์ ก็เหมือนมีคนเช่าห้องแล้วเอาถ้วยกาแฟคนอื่นมาไว้ในห้องตัวเอง ถามว่าในฐานะเจ้าของบ้านเช่าจะรู้ได้อย่างไรว่ามีการนำแก้วกาแฟของใครเข้ามาเมื่อใด สิ่งที่อยากให้เป็นคือ เมื่อเกิดความผิดบนเครื่องให้แจ้งผู้ให้บริการตามหลักเกณฑ์

นอกจากนี้ ภูมิจิต วิจารณ์ด้วยว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ยากมากที่ผู้ให้บริการจะบอกว่าเราไม่ยินยอมให้ใช้ เธอมองว่าผู้ใช้กฎหมายไม่เข้าใจไอทีดีพอ ตีความตามใจฉัน ถ้าใช้ตาม พ.ร.บ.ฉบับร่างแก้ไขนี้คงติดคุกแน่ๆ

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'เครือข่ายประชาธิปไตย' รณรงค์ล่าหมื่นชื่อ ยกเลิก 112

Posted: 25 Apr 2011 12:52 PM PDT

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. เครือข่ายประชาธิปไตย (คปต.) แถลงเรียกร้อง "หยุด 112 หยุดคุกคามประชาชน เราต้องการเสรีภาพ" ที่สำนักงาน Red Power ชั้น 5 อิมพีเรียล ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข ระบุว่า เครือข่ายประชาธิปไตย (คปต.) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มอิสระ เสรีชน ปัญญาชนในโลกไซเบอร์และกลุ่มอิสระต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแนวร่วมของ นปช. มองว่าการใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นเป็นปัญหา ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงจะมีการรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว

สมยศ กล่าวว่า ผลจากวันที่ 10 เม.ย. ซึ่งจตุพรและคณะได้ปราศรัย วันถัดมา พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกมาให้สัมภาษณ์และให้ทหารรัฐธรรมนูญเอาผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามด้วยการตบเท้าของทหารเหล่าทัพต่างๆ รายวัน สถานการณ์นี้ส่งสัญญาณที่รุนแรง เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ท้าทายต่อคนเสื้อแดง และทำให้บรรยากาศการปรองดอง โดยเฉพาะการไปสู่การเลือกตั้ง เสียหาย

สมยศ กล่าวว่า กระแสการต่อสู้ครั้งนี้จะรุนแรงมากขึ้น โดยมีการคุกคามนักวิชาการที่วิจารณ์สถานภาพของสถาบันกษัตริย์ อย่างนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และกรณีที่อัยการและดีเอสไอจะถอนประกันแกนนำและให้ไปรับทราบการถอนประกันในวันที่ 19 พ.ค. มองว่าเป็นความพยายามไม่ให้เกิดการชุมนุมในวันครบรอบสังหารหมู่ประชาชน ทั้งนี้ เครือข่ายจะจัดพิธีสาปแช่งผู้อยู่ เบื้องหลัง ผู้ออกคำสั่ง และผู้ลั่นไกสังหารประชาชน ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. ที่วงเวียนใหญ่ กทม. ไปตามจังหวัดต่างๆ จนวันที่ 19 พ.ค. ณ ลานบริเวณอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี

นอกจากนี้ จะมีการรณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112 ด้วย โดยสมยศระบุว่า พวกตนไม่มีอาวุธหรือกองกำลัง จึงไม่สามารถตบเท้าออกมาเผชิญหน้าได้ แต่จะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเข้าชื่อ 10,000 ชื่อตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกมาตรา 112 ผ่านทางรัฐสภา

ประเวศ ประภานุกูล ทนายความของ ดา ตอร์ปิโด ชี้แจงว่าการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นเป็นเรื่องที่ทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเสนอกฎหมายให้ยกเลิกกฎหมายได้

ประเวศ กล่าวว่า มาตรา 112 เป็นต้นตอของการกล่าวหา ก่อให้เกิดการขยายความไปได้ไม่รู้ จบ โดยตนเองได้ฟังคลิปที่จตุพรพูด มีเนื้อหาด่าว่าทหาร แต่ถูกโยงเพราะคำว่า "รักษาพระองค์" เท่านั้น โดยคนที่เดือดร้อนคือทหารที่ถูกด่า เขาตั้งคำถามว่า ทำไมจึงไม่แก้ข่าวว่าทหารยิงประชาชนจริงหรือไม่ กลับเอาเรื่องคนที่พูดว่าทหารยิงประชาชนมาแจ้งความด้วยข้อหานี้ นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ข้อหานี้นำไปสู่การใช้วิธีนอกระบบ โดยเห็นได้จากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่มีการใช้ข้อหานี้ แต่งภาพ ปลุกระดม และเกิดการเข่นฆ่าคนความเห็นต่างทางการเมือง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทบาทกองทัพต่อการเมืองและความขัดแย้งภายใน

Posted: 25 Apr 2011 09:37 AM PDT

บทบาทของทหารที่แท้จริงในยุคโลกาภิวัตน์ 
และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เมื่อเกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติ

 

นับจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 เราหวังว่าทหารการเมืองจะกลับไปสู่กรมกองและกลับใจเป็นทหารอาชีพที่สมเกียรติ แต่ทหารก็เข้าแทรกแซงการเมืองการปกครองอีกครั้งด้วยการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549, ในยุค รสช. นั้น เรามี จปร.5 ที่ผนึกอำนาจกันแน่นเหนียวจนอาจเปรียบได้ว่าตาข่ายฟ้าไม่มีรอยทะลุ และบัดนี้ก็เช่นกัน ผลพวงต่อเนื่องการรัฐประหาร เราได้เครือข่ายบูรพาพยัคฆ์ที่เข้มแข็งและอำนาจที่แน่นเหนียวที่สุดของกองทัพภายใต้อำนาจนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเป็นยุคที่ทหารนำการเมืองมากที่สุดยุคหนึ่งในยุคหลังประชาธิปไตยครึ่งใบ ทหารอาชีพชั้นผู้น้อยจึงกระอักกระอ่วนใจมากที่สุดเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ กองทัพยังมีกฎหมายที่อวยเอื้อในการสถาปนา Military Monarchy อีกด้วย คือ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก จนลืมไปว่า เราปกครองด้วยระบบ constitutional monarchy หรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยใช้ระบบรัฐสภา

เราจะยอมรับกันได้ หากทหารในกองทัพท่านใดจะใช้สิทธิพลเมืองเมื่อเกษียณหรือลาออกมาเล่นการเมืองในระบบรัฐสภา หรือตั้งพรรคการเมือง ซึ่งปัจจุบันก็มีพรรคมาตุภูมิ ที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าพรรค เป็นตัวอย่าง ทหารท่านใดอยากเล่นการเมืองก็สมัครเข้าพรรคนี้ได้ ทหารมีสิทธิในระบอบประชาธิปไตย มีสิทธิเลือกตั้ง และเราได้ทหารจำนวนมากจากจังหวัดลพบุรี, กาญจนบุรี ที่มีกำลังพลจำนวนมากตั้งอยู่ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน กองทัพได้ปรับตัวจากรัฐทหารที่ชัดเจนในอดีต พยายามสร้าง “พรรคทหาร” ขึ้นในปัจจุบันในลักษณะเป็นอำนาจรัฐเงา เพื่อเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยไม่ได้ลงเลือกตั้ง โดยไม่สนใจระบบรัฐสภาและฐานะของ 3 อธิปไตยที่ต้องยึดโยงประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

ในระบอบประชาธิปไตย กองทัพต้องฟังคำสั่งรัฐบาลขึ้นต่อฝ่ายบริหาร ไม่ใช่หน่วยงานเร้นรัฐหรือรัฐบาลเงา แต่ปัจจุบัน กองทัพได้แทรกแซงทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้ง

อาณาจักรของกองทัพซึ่งไม่เคยมีองค์กรใดก้าวล่วงหรือถูกตรวจสอบ ที่ผ่านมาอาจมีปัญหาการคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นเรื่องภายในเท่านั้น บัดนี้ กลายเป็นการคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ และอย่างโจ่งแจ้งต่อสาธารณะ โดยไม่เกรงใจใครหน้าไหน เช่น กรณี เรือเหาะ, จีที200, เครื่องบินกริพเพรน ฯลฯ

ท่านผู้นำทั้งหลาย ได้ใช้กองทัพเป็นพรรคทหาร เล่นการเมืองอย่างเต็มตัว โดยไม่สนใจคำสั่งหรือนโยบายรัฐบาลอย่างเคร่งครัด โดยหลายครั้งเราจะเห็นนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นเป็นฝ่ายตาม, และแสดงความเห็นด้วยกับกองทัพ เช่น กรณีการตรวจแถวตบเท้าให้กำลังใจ ผบ.ทบ. โดยที่พลเมืองส่วนหนึ่งเห็นว่า กองทัพแสดงการข่มขู่ประชาชน นอกจากนี้ ดูเหมือนกองทัพยังใช้ศักยภาพและภาษีของประชาชน โดยใช้กลไกทั้งหมดของกองทัพที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดองค์กรหนึ่งในประเทศไทยในการเชื่อมพรรคร่วมรัฐบาลระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยอย่างชัดเจน ภายใต้แนวทางที่กองทัพต้องการ เหมือนตนเองเป็นพรรคทหาร เป็นพรรคร่วมรัฐบาลไปด้วย นอกจากกองทัพได้รับงบประมาณจำนวนมหาศาลแล้ว ยังเป็นยุคที่มี “ทหารการเมือง” มากที่สุดอีกด้วย

ทางออกของประเทศไทยในขณะนี้ กองทัพต้องยุติบทบาทการทหารนำการเมือง และถอยกลับมาสู่ทหารอาชีพซึ่งเป็นตำแหน่งแห่งที่ที่ทหารควรยืนอยู่ ก่อนบ้านเมืองจะเสียหายมากไปกว่านี้ ปัญหาการเมืองและความขัดแย้งภายในไม่ใช่เรื่องของกองทัพแต่อย่างใด จริงๆ แล้ว การช่วยเหลือประชาชนในเหตุการณ์ที่เราเห็นกรณีเหตุการณ์สึนามิ หรือ “ฟูคุชิมา” ที่ญี่ปุ่น และกรณีน้ำท่วมภาคใต้คือบทบาทที่แท้จริงของกองทัพในยุคโลกาภิวัตน์ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เมื่อเกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติ และตอนนี้ภารกิจของกองทัพอยู่ที่ชายแดน!

การใช้กองทัพเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายใน เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และนำมาสู่ความขัดแย้งของพลเมืองในปัจจุบัน จากการที่รัฐบาลใช้กองทัพซึ่งมีบทบาทปกป้องพลเมืองจากศัตรูภายนอกของรัฐมาจัดการกับพลเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ภายใน จริงๆ แล้ว คณะกรรมาธิการการทหาร วุฒิสภา ก็เคยได้สรุปปัญหาและแนวทางปรับโครงสร้างกองทัพมาตั้งแต่ปี 2546 แล้วว่า สาเหตุหลักของการปรับโครงสร้างกองทัพ เพราะว่าการสิ้นสุดของสงครามเย็น การสิ้นสุดของสงครามภายใน และการสิ้นสุดของอำนาจทหารในการเมืองไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่–ระเบียบบริหารราชการใหม่ แต่ดูเหมือนว่ากองทัพบกจะไม่ยอมรับเรื่องดังกล่าว

หมดเวลาของทหารการเมือง, กองทัพจะชักใยอำนาจรัฐแล้ว

ความฝันปิดเทอมประเทศ เป็นไปไม่ได้ในยุคโลกาภิวัตน์ การถอยหลังไปสู่อนารยะธรรมเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ของกองทัพไทยไปแล้วหลังจากเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549

ดังนั้น 2 เรื่อง ที่นักการเมืองบางกลุ่ม กลุ่มคนบางคน และผู้นำกองทัพบางคนพยายามทำอยู่ในขณะนี้ คือ 1)ปลุกกระแสความขัดแย้งเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ 2)สงครามชายแดน  เพื่อเป็นเงื่อนไขในการเว้นวรรค, รัฐประหาร, ปิดเทอมประเทศ หรือกระชับอำนาจอย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ยุทธการที่ดีที่จะสร้างความยั่งยืนให้ประชาธิปไตยและสันติภาพในภูมิภาค ในขณะที่จีนและอเมริกาขนาบข้างประเทศไทยอยู่

ทิศทางประเทศไทยในขณะนี้ คือการเลือกตั้ง และหลังจากนั้นต้องมีการพัฒนาประชาธิปไตย ทั้งในส่วนของรูปแบบและเนื้อหา กลไก, รัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อเปิดพื้นที่ของประชาชนทุกกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองในระบบรัฐสภา

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น กองทัพไม่ควรมีโครงการใดๆ เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะรูปแบบใด, การเลือกตั้งครั้งที่แล้วสีเทา เพราะมีการประกาศกฎอัยการศึกระหว่างการเลือกตั้งในหลายพื้นที่ ครั้งนี้ อย่าให้เป็นการเลือกตั้งสีดำ!!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯเวียดนาม ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 8 แห่ง

Posted: 25 Apr 2011 09:26 AM PDT

 

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

 

เรื่อง    ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 8 แห่ง ในประเทศเวียดนาม

วันที่    26  เมษายน  2554

เรียน    นายกรัฐมนตรี ฟาน วัน ไค แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

จาก      ประชาชนไทยที่วิตกทุกข์ร้อนใจทุกคน

พวกเราคนไทยทุกคนรู้สึกเป็นทุกข์และกังวลใจอย่างยิ่งที่รัฐบาลเวียดนามมีทีท่าไม่ให้ความสำคัญแก่สถานการณ์ที่ถือเป็นวิกฤตินิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นและกำลังดำเนินอยู่ในจังหวัดฟูกูชิมา ประเทศญี่ปุ่นในขณะนี้และประกาศยืนยันที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 8 แห่งในประเทศเวียดนามต่อไปในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศรวมทั้งเยอรมัน ได้พิจารณาที่จะยกเลิกแผนพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของตน ความวิตกกังวลและทุกข์ร้อนใจของพวกเราเป็นที่มาของการเรียกร้องในครั้งนี้

1. ความเป็นมา
1.1 ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังประสบกับความยากลำบากในการจัดการกับหายนะที่ยังระบุไม่ได้ทั้งในเรื่องการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์และด้านเศรษฐกิจนั้น ประเทศเวียดนามกลับยืนยันที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกในจังหวัดนินห์ทวน ในปี พ.ศ. 2557 และคาดว่าจะเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2563 แท้ที่จริงแล้วเวียดนามวางแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นทั่วประเทศถึง 8 แห่ง

1.2 แม้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเวียดนามจะอ้างว่า เตาปฏิกรณ์ที่จะสร้างขึ้นในจังหวัดนินห์ทวนหรือในจังหวัดอื่น ๆ นั้นมีความทันสมัยมากกว่าเตาปฏิกรณ์ในเชอร์โนบิลและในฟูกูชิมาก็ตาม แต่อุบัติเหตุเช่นที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฟูกูชิมาที่ชาวโลกทุกคนได้เห็นกับตาอยู่ในขณะนี้ก็สามารถจะเกิดขึ้นกับประเทศเวียดนามซึ่งอยู่ใกล้กับประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีเพียงระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตรได้เช่นกัน ผลกระทบที่เป็นอันตรายก็เป็นอย่างที่พวกเราทุกคนได้ประจักษ์แก่ตาที่แม้แต่ประเทศเวียดนามเองก็ได้รับผลกระทบนั้นเช่นกัน ดังเช่นที่เวียดนามสามารถตรวจวัดกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 ซีเซียม-134 และ ซีเซียม-137 ได้ที่ลองซันในทางตอนเหนือ ดาลัด (จังหวัดลามดอง) และนินห์ทวนในภาคกลาง และในโฮจิมินส์ซิตี้ ทั้งในป่าสนและในน้ำฝนที่ตกในเวียดนาม ดังนั้นการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศเวียดนามจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเทศเวียดนามเพียงประเทศเดียวหรือเป็นความรับผิดชอบของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องหรือประเด็นระหว่างประเทศที่มีความเสี่ยงสูงยิ่งเพราะโอกาสที่กัมมันตรังสีจะแพร่กระจายส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกนั้นมีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน

2. ข้อเรียกร้อง
พวกเราชาวไทยทุกคนที่มีความวิตกทุกข์ร้อนใจขอเรียกร้องให้รัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและประชาชนชาวเวียดนามทั้งประเทศได้โปรดพิจารณายกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 8 แห่งในเวียดนามทันที

ตามจริงแล้วจากการศึกษาวิจัยของธนาคารโลก พบว่า เวียดนามนั้นเป็นประเทศที่โชคดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้รวมทั้งประเทศไทยด้วย เพราะเวียดนามมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้มากกว่า โดยสามารถผลิตได้ถึง 513,360   เมกกะวัตต์ หรือ 200 เท่าของพลังงานที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำซันลาที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม หรือเป็น 10 เท่าของพลังงานที่ผลิตได้ทั้งประเทศตามการพยากรณ์สำหรับปี พ.ศ. 2563 นอกจากนี้ผลของการศึกษายังพบด้วยว่า ในพื้นที่เช่นจังหวัดนินห์ทวน บินห์ทวน ตราวินห์ และซ็อกตรัง การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมมีขีดความสามารถที่จะผลิตได้ถึง 800 เมกกะวัตต์

จากการที่เวียดนามมีทรัพยากรด้านพลังงานทางเลือกที่อุดมสมบูรณ์เช่นนี้ การเลือกพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นพลังงานลมเหมือนกับที่ประเทศเยอรมันกำลังพิจารณาจะปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงานของประเทศยุคหลังวิกฤตินิวเคลียร์ฟูกูชิมาจะส่งผลให้ประเทศเวียดนามและประชาชนชาวเวียดนามได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญจากชาวโลกและจะกลายเป็นหนึ่งในผู้นำที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และกล้าหาญแห่งประชาคมอาเซียน


ข้อมูลอ้างอิง
1.       The determination of Vietnamese government to head to the construction of eight nuclear power plants: http://www.vnnnews.net/vietnam-to-proceed-with-nuclear-power-plants

2.       The radiation detected in Vietnam: http://en.www.info.vn/science-and-education/environment/23395-japan-raises-nuke-accident-severity-vietnam-still-safe-.html

3.       The wind power capability of Vietnam:                http://www.vfej.vn/en/detail/16970/wind_power_industry_in_vietnam

4.        “Japan’s Energy Policy Shift” meeting held in the Diet Offices on April 19, 2011 : http://vimeo.com/22671075;

http://www.ustream.tv/recorded/14132452; http://www.ustream.tv/recorded/14132859

5.       Germany’s energy shift: http://www.huffingtonpost.com/2011/03/14/germany-nuclear-power-extension-suspended_n_835457.html

 

รายนามผู้ให้การเห็นชอบจดหมาย

  1. คณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

  2. คณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

  3. สภาองค์กรประชาชน

  4. กลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา  

  5. เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบลฯ (คป.สม.)

  6. เครือข่ายคนฮักน้ำของ 

  7. กลุ่มสมัชชาคนจน  กรณีเขื่อนปากมูล

  8. กลุ่มสมัชชาคนจน  กรณีเขื่อนสิรินธร

  9. กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลกลางหมู่บ้านคำสร้างไซย อ.สว่างวีระวงศ์ อุบลราชธานี

  10. ชมรมข้าราชการบำนาญและผู้สูงอายุ

  11. พ่อค้าประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี

  12. มูลนิธิประชาสังคมอุบลราชธานี

  13. มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต

  14. ผู้บริหารโรงเรียนสังกัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

  15. เครือข่ายเฟซบุค ‘มั่นใจว่าคนอุบลราชธานีเกิน 1 ล้านคนคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ (หรือ antinukeubon@group.facebook.com)

  16. เครือข่ายคนอุบลไม่เอานิวเคลียร์

  17. สมาคมไทย-เวียดนามในจังหวัดอุบลราชธานี

  18. สมาคมไทย-อเมริกันในสหรัฐอเมริกา

  19. เครือข่ายปะทิวรักถิ่นแห่งจังหวัดชุมพร

  20. เครือข่ายรักลุ่มน้ำตาปีแห่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี

  21. เครือข่ายประชาชนผู้คัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดตราด

  22. เครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งจังหวัดนครสวรรค์

 

ยื่น ณ สถานทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 
กรุงเทพมหานคร

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สภากลาโหมเห็นชอบซื้อเรือดำน้ำเก่า 6 ลำ 7 พันกว่าล้าน ทร.แจงรักษาสมดุลทางทหาร

Posted: 25 Apr 2011 09:19 AM PDT

สภากลาโหมเห็นชอบซื้อเรือดำน้ำเก่า 6 ลำกว่า 7 พันล้าน กองทัพเรือแจงเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางทะเล-ประโยชน์ชาติ และรักษาความสมดุลทางทหาร เร่งเสนอ ครม. คาดประจำการ ก.ย.56

(25 เม.ย.54) พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหม ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่า การประชุมครั้งนี้น่าจะใช้เวลามากที่สุด เพราะทางกองทัพเรือได้มีการชี้แจงเรื่องเรือดำน้ำให้ที่ประชุมได้รับทราบโดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง 40 นาที จากนั้นจะทำโครงการสรุปผ่านไปยังสภากลาโหมอีกครั้งหนึ่ง โดยกองทัพเรือมีการชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นในการรักษาผลประโยชน์ทางทะเลและรักษาผลประโยชน์ของชาติ รวมถึงเรื่องการเสริมสร้างขีดความสามารถของเรือดำน้ำในประเทศอาเซียน ที่สำคัญเป็นการรักษาความสมดุลทางทหาร เพราะในทุกประเทศในแถบอาเซียนมีเรือดำน้ำใช้งานอยู่แล้ว และประเทศกัมพูชาก็กำลังจะมีเรือดำน้ำ

"เรือดำน้ำน่าจะใช้เวลาในการจัดหาน้อยกว่าปกติที่ตั้งไว้จากเดิม 10 ปี น่าจะเหลือสักประมาณ 5 ปี ส่วนการเข้าประจำการก็น่าจะเร็วขึ้นสักประมาณ 2 ปี คาดว่าประมาณกันยายน 2556 น่าจะเข้าประจำการได้ คิดว่า กองทัพเรือดำเนินการจัดโครงการดังกล่าว และนำเสนอเข้าสู่สภากลาโหม โดยอาจมีการเชิญสื่อมวลชนเข้ามาร่วมรับฟังทั้งหมดในทุกประเด็นที่เป็นปัญหา อย่างเหตุใดที่เราซื้อเรือเก่า เพราะเรือเก่าใช้งบประมาณไม่ถึงที่ตั้งเป้าไว้ จากเดิมที่เคยตั้งเป้าไว้ 4 หมื่นกว่าล้าน ซื้อเพียงได้ 2 ลำ แต่ครั้งนี้เราใช้งบประมาณ 7 พันกว่าล้าน ได้เรือ 6 ลำ และยังมีเรื่องระบบการส่งกำลัง ซึ่งจะพยายามนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร็วที่สุด"

ที่มา: มติชนออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: ‘คอตัม อัลกุรอ่าน’งานใหญ่ที่หนองจิก ทบทวนคำสอนแรก ชีวิตมุสลิมชายแดนใต้

Posted: 25 Apr 2011 09:15 AM PDT

 

 

คำภีร์อัลกุรอ่าน
คำภีร์อัลกุรอ่าน

 

“บิสมิลลาฮี้รเราะมานี้รรอหีม..........”

เสียงประสานของเหล่าเด็กๆและเยาวชนกว่า 400 คน ที่กล่าวตามครูอาวุโส ผู้สอนการอ่านคำภีร์อัลกุรอ่าน ดังกระหึ่มไปทั่วหอประชุมอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

นั่นเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเชิดชูเกียรติ “คอตัมอัลกุรอานิลการีม” หรือ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2554 จัดโดยสำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) อำเภอหนองจิก เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา

“คอตัมอัลกุรอานิลการีม” แปลได้ว่า เป็นกิจกรรมการอ่านทบทวนการอ่านคำภีร์อัลกุรอ่านอันประเสริฐ ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญสำหรับชาวมุสลิมที่เรียนการอ่านคำภีร์อัลกุรอ่านได้จบเล่มแล้ว

กิจกรรมในช่วงปิดเทอมนี้ จัดขึ้น เพื่อลดช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ โดยยึดหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ฟื้นฟูจารีตที่เข้มแข็ง เพื่อฟื้นฟูสังคมมุสลิมสามจังหวัดชายแดนใต้ให้เข้มแข็งและให้เยาวชนมีจิตสำนึกในทางที่ดี ตามหลักศาสนาอิสลาม

ในขณะที่ทั้ง 400 ชีวิต นั่งรออยู่ในหอประชุมอย่างเรียบร้อย โดยแต่งกายถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามทั้งชายและหญิง ในมือถือคำภีร์อัลกุรอ่านเล่มเล็ก (ยุซ หรือ ภาคสุดท้ายของคำภีร์อัลกุรอ่านจากทั้งหมด 30 ยุซ) อยู่นั้น พิธีก็เริ่มขึ้น

โดยนายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล ผู้ว่าราชการชาวมุสลิมของจังหวัดปัตตานี เดินนำขบวนในชุดมุสลิมอาหรับ พร้อมกับกล่าวสรรเสริญพระองค์อัลลอฮฺและศาสดามุฮัมมัดดังกระหึ่มตลอดขบวน มุ่งหน้ามายังอาคารที่ประกอบพิธี เพื่อเป็นประธานเปิดงาน

จากนั้นจึงเริ่มพิธีคอตัม โดยครูผู้สอนการอ่านคำภีร์อัลกุรอ่านอาวุโส อ่านนำในซูเราะห์หรือบทในอัลกุรอานเล่มเล็กทีละโองการ แล้วให้เด็กอ่านตามจนจบเล่ม

จากนั้นมีการอ่านดุอา คือ การขอพรต่อพระองค์อัลลอฮฺให้ประทานความบารอกัตหรือความเป็นสิริมงคลแก่ผู้เข้าร่วมทั้งหมด

พิธีคอตัม เป็นวิถีปฏิบัติของชาวมุสลิม โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนใต้มายาวนาน เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับคำภีร์อัลกุรอ่าน เนื่องจากคำภีร์อัลกุรอ่าน ถือเป็นธรรมนูญแห่งชีวิตของชาวมุสลิม เป็นที่มาของคำสอนต่างๆ

แหล่งเรียนรู้คำภีร์อัลกุรอ่านในพื้นที่มีหลายแห่ง เริ่มตั้งแต่เรียนรู้กับผู้ปกครองของตัวเองภายในบ้าน เรียนจากเพื่อนบ้านที่รับสอนเด็กๆในหมู่บ้าน เรียนที่มัสยิด ที่โรงเรียนตาดีกา รวมทั้งปอเนาะ อันเป็นสถาบันการศึกษาทางด้านศาสนาอิสลาม และสอนฟรี

นอกจากนี้ยังมีสถาบันสอนการอ่านคำภีร์อัลกุรอ่าน หลักสูตรกีรออาตีซึ่งเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนอัลกุรอานแบบใหม่ที่ได้รับมาจากประเทศอินโดนีเซีย โดยมีวิธีการสอนที่ทำให้เด็กสามารถอ่านคำภีร์อัลกุรอ่านได้เร็วขึ้น

สำหรับชาวมุสลิมแล้ว การเรียนการสอนทางด้านศาสนาอิสลาม มักเริ่มด้วยการสอนให้อ่านคำภีร์อัลกุรอ่าน โดยเริ่มจากการท่องจำ และการออกเสียงตัวอักษรภาษาอาหรับก่อน เนื่องจากคำภีร์อัลกุรอ่านเป็นภาษาอาหรับ

จากนั้นจึงต่อด้วยการสอนหลักการอ่าน การสะกด การผัน เป็นต้น ซึ่งมักเริ่มต้นเรียนจากพ่อแม่ก่อน จากนั้นจึงส่งไปเรียนกับครูที่มีความชำนาญมากขึ้น

ส่วนมากเวลาในการเรียนการสอน มักเป็นช่วงเวลาหลังละหมาดมัฆริบ หรือช่วงตะวันตกดินจนถึงช่วงเวลาละหมาดอีซา หรือช่วงที่แสงตะวันหมดไปจากท้องฟ้าแล้ว ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ยกเว้นบางแห่งที่กำหนดเวลาสอนชัดเจน เช่น ช่วงเช้ามืดหลังละหมาด หรือช่วงเย็น หรือแทรกในตารางเรียนของนักเรียน

เมื่อเรียนคำภีร์อัลกุรอ่านจนจบเล่มหรือพออ่านออกได้ด้วยตัวเองและท่องจำ โดยเฉพาะในยุซที่ 30 แล้ว ก็จะมีการทำพิธีคอตัมอัลกุรอ่าน ส่วนมากจะทำทีละคนระหว่างครูผู้สอนกับลูกศิษย์ โดยผู้ปกครองเด็กจะมอบสิ่งของตอบแทน

แต่พิธีคอตัมอัลกุรอ่าน ก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องทำตอนเรียนจบใหม่หรือสำหรับเด็กและเยาวชนเท่านั้น บางคนทำตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว เช่น ตอนก่อนจะเข้าพิธีแต่งงาน หรือแม้แต่คนเฒ่าคนแก่ที่เรียนอัลกุรอ่านกับโต๊ะครูก็มักจะนัดกันคอตัมเป็นประจำ

เกือบทุกหมู่บ้านของชาวมุสลิมมักมีการรวมกลุ่มกันของผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพื่อเรียนอัลกุรอ่าน หรือจากหลายหมู่บ้านรวมกัน เช่นเดียวกับการฟังโต๊ะครูมาสอนศาสนาประจำสัปดาห์ในหมู่บ้าน

ด้วยความเด็กมุสลิมเริ่มเรียนรู้อัลกุรอ่าน ตั้งแต่เล็กๆ ในเป็นช่วงวัยที่มีความสามารถในการจดจำสูง จึงทำให้ชาวมุสลิมเติบโตมาด้วยเสียงอัลกุรอ่าน และมีความผูกพันเป็นอย่างมาก

แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้วิถีเหล่านี้ถูกละเลยไป บางคนเรียนอัลกุรอ่านยังไม่ทันจบเล่ม หรือ ไม่ทันได้พออ่านได้ด้วยตัวเองและท่องจำบางบทที่สำคัญๆ ได้ ก็หยุดเรียนเสียแล้ว ทั้งที่ในชีวิตประจำวันของชาวมุสลิม จำเป็นต้องอ่านอัลกุรอ่าน ทั้งในการละหมาด และพิธีกรรมอื่นๆ

นายนิฟูอัด บาสาลาฮา นักวิชาการอิสลามศึกษา สำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอหนองจิก ผู้เสนอโครงการนี้บอกว่า ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้วันนี้ ทำให้เยาวชนในพื้นที่อ่อนแอลง ผู้ปกครองไม่เห็นความสำคัญและไม่ส่งเสริมกิจกรรมด้านศาสนา
“สิ่งที่เราเห็นชัดเจนวันนี้ คือ เมื่อลูกเรียนจบระดับปริญญาตรี พ่อแม่จะเห็นความสำคัญอย่างมาก ยอมเสียเงินสำหรับการจัดงานแสดงความยินดี แต่เมื่อลูกหลานเรียนอัลกุรอ่านจบเล่มแล้ว กลับไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่นัก” นายนิฟูอัด กล่าว

นายซานูซี ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอหนองจิก บอกว่า กิจกรรมในวันนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน กับภาคประชาชน พยายามทำให้เห็นว่า ภาครัฐพร้อมที่จะทำงานร่วมกับประชาชนและภาคเอกชน

“เราเข้าถึง เพราะเราเข้าใจ เราพยายามส่งเสริมสิ่งที่เขาทำอยู่ เราไม่ได้เปลี่ยนบริบทอะไรของเขา ในขณะเดียวกันเราก็พยายามพัฒนา โดยพยายามปรับในสิ่งที่มีอยู่ให้เข้าสู่มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป” นายซานูซี กล่าว

ด้านตัวแทนผู้เข้าร่วมพิธีอย่างนางสาวอาซีซะห์ มาตัคสา นักเรียนโรงเรียนศาสน์สามัคคี อำเภอหนองจิก เล่าว่า ตัวเองเริ่มเรียนอัลกุรอานตั้งแต่อายุห้าขวบกับโต๊ะครูข้างบ้าน การเข้าร่วมพิธีครั้งนี้ รู้สึกเป็นเกียรติมาก เพราะเป็นงานใหญ่ และเป็นครั้งแรกของตนเองตั้งแต่เรียนจบเมื่อสองปีที่แล้ว

“อัลกุรอ่านเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเมื่อได้เปิดอ่านสักพักแล้ว รู้สึกว่าความสับสนวุ่นวายใจและความเครียดก็จะคลายลง” นั่นคือความรู้สึกนางสาวอาซีซะห์ ที่มีต่อการอ่านคำภีร์อัลกุรอ่าน

นายอับดุลซอมะ เย็มมัน นักเรียนโรงเรียนศาสน์สามัคคี เล่าว่า “แรกๆรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ต้องเรียนอัลกุรอ่าน เริ่มจากสะกดทีละคำจนเริ่มอ่านคล่อง จากนั้นก็รู้สึกง่ายและรู้สึกชอบ เวลาที่อ่านอัลกุรอ่านรู้สึกโปร่ง”

และนายอับดุลซอมะ ยังเล่าอีกว่า งานวันนี้ยิ่งใหญ่มาก ทำให้รู้สึกเห็นคุณค่าของอัลกุรอ่าน ยิ่งทุกวันนี้เยาวชนในพื้นที่ละเลยการการเรียนและการอ่านอัลกุรอานมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่มัวแต่ตามวัฒนธรรมตะวันตก ให้คุณค่ากับอัลกุรอานน้อยลง

“ถ้าเยาวชนมุสลิมไม่สนใจอัลกุรอ่าน วันข้างหน้าสังคมมุสลิมจะเสื่อมเสียไปมากกว่านี้ครับ” นายอับดุลซอมะ ยืนยัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมช.ฟังความเห็นนโยบายดับไฟใต้ ภาคประชาชนย้ำต้องการเขตปกครองพิเศษ

Posted: 25 Apr 2011 09:06 AM PDT

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2554 ที่ห้องน้ำพราว 2 โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จัดโครงการประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ โดยมีนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธานพร้อมรับฟังความคิดเห็นจาก ตัวแทนภาคประชาชน สื่อมวลชน ผู้บริหารสถานศึกษา มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน

นายถวิล กล่าวในที่ประชุมว่า นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้มีกำหนดให้มีการปรับปรุงทุก 3 ปี โดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้ยกร่างขึ้นมา ครอบคลุมทั้งในเรื่องการพัฒนาและความมั่นคง ที่มาจากความต้องการของประชาชน และมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการอำนวยการนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอต.) พิจารณา โดยยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้กำกับดูแล ส่วนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)เป็นผู้กำกับดูแล

นายถวิล กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติยังต้องรับฟังความเห็นจาก สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของศอ.บต. ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ด้วย จากนั้นจึงเสนอให้สภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี และที่ประชุมรัฐสภาต่อไป

นายมันโซร์ สาและ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวในที่ประชุมว่า จากการลงไปทำงานในพื้นที่ของเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ พบว่า ประชาชนในพื้นที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ โดยต้องการให้มีการลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการเขตปกครองพิเศษ แต่ไม่ใช่ในรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบกรุงเทพมหานคร หรือเมืองพัทยา แต่ต้องการรูปแบบที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมในท้องถิ่น

“ทำอย่างไรที่จะให้คนในพื้นที่มีอำนาจมากขึ้นในการตัดสินใจ ไม่ใช่แค่การมีส่วนร่วม แต่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงการทางการเมืองการปกครองในพื้นที่ วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้ผลักดันพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ได้สำเร็จและถือเป็นผลงานชิ้นโบร์แดง ส่วนพรรคเพื่อไทย กำลังเสนอนโยบายเรื่องมหานครปัตตานี ส่วนภาคประชาชนก็กำลังเสนอเรื่องปัตตานีมหานคร ทั้งหมดนั้นแสดงให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครอง” นายมันโซร์ กล่าว

“สายตาของหน่วยงานในส่วนกลางมองคนในพื้นที่อย่างไม่ค่อยจริงใจถ้าไว้ใจจริงรัฐควรกระจายอำนาจให้คนในท้องถิ่นได้บริหารจัดการการปกครองด้วยตัวของตัวเอง” นายมันโซร์ กล่าว

นายสุริยะ สะนิวา อาจารย์มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา กล่าวว่า จากการสอบถามความเห็นของชาวบ้านในพื้นที่รวมกว่า 2,200 กลุ่ม ในเรื่องเขตปกครองพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ร้อยละ 80 เห็นด้วย แต่สิ่งที่ชาวบ้านยังตอบไม่ได้คือ เมื่อเป็นเขตปกครองพิเศษแล้ว จะป้องกันความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆในพื้นที่ได้อย่างไร

“ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดเขตปกครองตนเองทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ที่กลุ่ม MNLF ที่ขึ้นมาบริหารเขตปกครองตนเองดังกล่าว ก็ยังมีความขัดแย้งกับกลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ ยังพบว่า รัฐบาลส่วนกลางไม่ให้งบประมาณแก่เขตปกครองตนเอง” นายสุริยะ กล่าว

นายดือราแม ดาราแม ชาวบ้านจากตำบลปะลูกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า มติเสียงข้างมากของสภากาแฟในหมู่บ้าน แต่ไม่มีการบันทึกไว้ เพราะถ้ามีการจดบันทึกไว้ สภาก็จะล่มทันที บอกว่า คำพูดของรัฐกับการปฏิบัติของรัฐนั้นช่างแตกต่างกันมาก พูดอีกอย่างทำอีกอย่าง การที่เจ้าหน้าที่รัฐได้นำสื่อมวลชนมาใช้เป็นเครื่องมือในการพิพากษาตัดสินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง เป็นคดีความมั่นคง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่รัฐจะปัดความรับผิดชอบในการสืบสวนสอบสวนค้นหาความจริง เพราะหากตัดสินว่า เป็นคดีความมั่นคง ก็จะปิดคดีได้เร็วขึ้น

นายดือราแม กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา โครงการเศรษฐกิจพอเพียงที่หน่วยงานภาครัฐได้ทุ่มลงไปยังชุมชนกลับเป็นการสร้างภาระให้กับชาวบ้านมากขึ้น เช่น โครงการแจกลูกไก่ ลูกเป็นและลูกปลา แถมแจกอาหารลูกไก่ ลูกเป็ด และลูกปลาด้วย คนละ 5 –10 กิโลกรัม เมื่ออาหารที่แจกให้หมดลง แต่ลูกไก่ ลูกเป็ด และลูกปลายังไม่ทันได้โต ชาวบ้านก็ต้องออกเงินไปซื้ออาหารเอง ต้องแบ่งเงินจากลูกของตัวเองที่จะพาไปโรงเรียนไปซื้ออาหารลูกไก่ ลูกเป็ดและลูกปลาแทน

นายอาไซน่า อับดุลเลาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจะแนะ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส เล่าว่า ตนสอนหนังสือมาตั้งแต่ปี 2520 การสอนหนังสือในอดีตค่อนข้างลำบาก เพราะเจอกับกลุ่มก่อการร้ายในอดีตที่สร้างอิทธิพลด้วยการเรียกเก็บค่าคุ้มครอง ถ้าไม่ให้ก็ไปสอนหนังสือไม่ได้ เพราะจะให้รัฐดูแลก็ไม่ได้ ต้องจำยอมเสียเงินเพื่อแลกกับความปลอดภัยในการทำงาน นานหลายปีกว่าเรื่องราวแบบนี้จะจบ

นายอาไซน่า กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันก็ยังมีอุปสรรคที่เกิดจากภาครัฐเสียเอง อย่างกรณีการเปิดหลักสูตรศาสนาอิสลามแบบเข้มข้นในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา ซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างดี แต่ในปัจจุบันรัฐกลับไม่สนับสนุน โดยตัดงบประมาณปี 2554 ตรงส่วนนี้ออกไป ทำให้การแก้ปัญหาด้านความเข้าใจเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะการจะซื้อใจคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นต้องซื้อด้วยศาสนา

นายอับดุลลาเตฟ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่มี 3 กระทรวงที่กำกับดูแลอยู่ คือกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรม ทำให้การทำงานบางครั้งค่อนข้างมีปัญหาในการรับคำสั่ง เสนอว่า หากเป็นไปได้อยากให้มีเพียงกระทรวงเดียวที่คอยกำกับดูแล เพื่อง่ายต่อการทำงาน

นายอับดุลลาเตฟ กล่าวว่า โครงการวิทยาลัยอีหม่ามที่ได้ดำเนินงานมาระยะหนึ่ง รูปแบบคือการนำผู้นำศาสนาหรืออีหม่ามจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปศึกษาดูงานต่างภาค ไปดูวิถีการดำรงชีวิตของชาวมุสลิมต่างภาค แต่มาปีหลังๆก็เริ่มเงียบเหงาทั้งๆ ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นี่คือการพัฒนาแบบขาดความต่อเนื่อง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

26 เม.ย.54 - ตรวจรายชื่อนักวิชาการปกป้องเสรีภาพทางวิชาการต้านการคุกคาม สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

Posted: 25 Apr 2011 07:16 AM PDT

26 เมษายน 2554 ปัญญาชน นักศึกษา นักวิชาการอาทิ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ฉลอง สุนทราวาณิชย์ อานันท์ กาญจนพันธ์ คริส เบเกอร์ อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ทยอยร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการกรณีการคุกคาม สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ผู้วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นบทบาทของ สถาบันกษัตริย์ โดยเรียกร้องให้รัฐยุติการคุกคามเสรีภาพของประชาชน หยุดการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาป้ายสีบุคคลต่างๆ

หยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นนับตั้งแต่การ รัฐประหารปี 2549 ประชาชนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากผู้ยึดกุม อำนาจรัฐ ก็ต้องเผชิญกับการคุกคามสิทธิและเสรีภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะ นี้ เงาทะมึนของการคุกคามได้ลุกลามเข้าสู่ผู้คนในวงวิชาการด้วยเช่นกัน ล่า สุดคือการคุกคามที่เกิดขึ้นกับอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ด้วยสาเหตุ ที่อาจารย์ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ใน สังคมไทยในเวทีวิชาการต่าง ๆ หลายครั้งหลายครา

พวกเราในฐานะนักวิชาการเครือข่ายสันติประชาธรรม และประชาชนที่เห็นด้วย กับแถลงการณ์นี้ เชื่อว่าการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผยของอาจารย์สมศักดิ์ วางอยู่บนเจตจำนงที่ต้องการเห็นสถาบันกษัตริย์ดำรงควบคู่อย่างสอด คล้องกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อความมั่นคงของทั้ง สถาบันกษัตริย์และต่อสังคมไทยโดยรวม แต่เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งที่การ แสดงความคิดเห็นของอาจารย์สมศักดิ์ ที่มุ่งเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจได้ ตระหนักถึงปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่นี้ ได้ถูกโจมตีว่าเป็นการหมิ่น พระบรมเดชานุภาพ มุ่งล้มล้างสถาบันกษัตริย์ และอาจถึงขั้นถูกนำไปเป็นข้อ อ้างสำหรับการรัฐประหารครั้งต่อไปก็ได้ นอกจากนี้ อาจารย์สมศักดิ์ไม่ใช่คน แรกและคนสุดท้ายที่จะแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวอย่างแน่นอน คำถามคือ อำนาจรัฐจะติดตามคุกคามประชาชนด้วยประเด็นปัญหานี้อีกกว้างขวางแค่ไหน

พวกเราจึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยุติการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ ของอาจารย์สมศักดิ์ และต่อประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ที่มีความคิดทางการเมืองที่ แตกต่าง โปรดตระหนักว่าในสังคมประชาธิปไตย ทุกสถาบันควรได้รับการตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์ได้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นประโยชน์กับสังคม ประการสำคัญ การเปิดกว้างยินยอมให้มีการแสดงความคิดที่แตกต่างได้อย่างเปิด เผย โดยปราศจากภัยคุกคามและความกลัวต่างหาก ที่จะช่วยนำสังคมไทยฝ่าออกไปจาก วิกฤติในขณะนี้ได้

ด้วยความเคารพต่อสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรม
เครือข่ายสันติประชาธรรม

 

  1. กฤตยา อาชวนิจกุล         สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. ศรีประภา เพชรมีศรี         ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ         วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  4. ธงชัย วินิจจะกูล         ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน
  5. พวงทอง ภวัครพันธุ์         คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  6. เวียงรัฐ เนติโพธิ์         คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  7. จักรกริช สังขมณี         คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  8. เกษม เพ็ญภินันท์         คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  9. นฤมล ทับจุมพล         คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  10. ภูมิอินทร์ สิงห์ชวาลา         คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  11. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี         คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  12. เสาวนีย์ อเล๊กซานเดอร์         คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบล
  13. ลักขณา ปันวิชัย         นักเขียน
  14. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์         คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  15. จีรพล เกตุจุมพล         คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  16. ธนาพล อิ๋วสกุล         สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
  17. กานต์ ทัศนภักดิ์         นักเขียน ช่างภาพ และคนทำงานศิลปะ
  18. นภัทร สาเศียร         นิสิตปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  19. วันรัก สุวรรณวัฒนา         คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  20. อภิชาต สถิตนิรมัย         คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  21. ไอดา อรุณวงศ์         สำนักพิมพ์อ่าน
  22. เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว         ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
  23. วิภา ดาวมณี         คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
  24. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์         คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  25. เชษฐา พวงหัตถ์         ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  26. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์         คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  27. อาดาดล อิงคะวณิช         มหาวิทยาลัยเว็สต์มินสเตอร์
  28. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ         คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  29. อรอนงค์ ทิพย์พิมล         คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  30. นวลน้อย ตรีรัตน์         คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  31. ดาริน อินทร์เหมือน         สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
  32. ชาตรี ประกิตนนทการ         คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาศิลปากร
  33. มุกหอม วงษ์เทศ         นักเขียน
  34. รักนิรันดร์ วรรณวีรพงษ์
  35. ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
  36. อัจฉรา รักยุติธรรม         คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  37. นิรมล ยุวนบุณย์
  38. นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ
  39. เยาวลักษ์ อนุพันธุ์         ทนายความ
  40. ชญานิน เตียงพิทยากร
  41. อุเชนทร์ เชียงเสน
  42. ชาตรี สมนึก
  43. วิทยา พันธ์พานิชย์
  44. พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
  45. รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช         International Crisis Group
  46. กิตติศักดิ์ สฤษดิสุข
  47. ธนศักดิ์ สายจำปา
  48. จอน อึ๊งภากรณ์
  49. ประจักษ์ ก้องกีรติ         คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  50. ยุกติ มุกดาวิจิตร         คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  51. วรวิทย์ ไชยทอง         นิสิตภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  52. นันทา เบญจศิลารักษ์
  53. สุขุม ชีวาเกียรติยิ่งยง
  54. ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ         นักสิทธิมนุษยชน
  55. ธร ปีติดล         คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  56. กรรณิกา เพชรแก้ว
  57. วิโรจน์ อาลี         รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  58. วีระ หวังสัจจะโชค
  59. นิภาพร รัชตพัฒนากุล         คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  60. นิธิ เอียวศรีวงศ์         นักวิชาการ
  61. ภัควดี วีระภาสพงษ์         นักเขียน-นักแปล
  62. อานันท์ กาญจนพันธ์         สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  63. คริส เบเกอร์         นักวิชาการ
  64. โกวิท แก้วสุวรรณ         คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  65. ชาญณรงค์ บุญหนุน         ศิลปากร
  66. กฤษณะ มณฑาทิพย์         มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์
  67. คมลักษณ์ ไชยยะ         มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
  68. บุญยืน สุขใหม่
  69. โกวิท แก้วสุวรรณ
  70. ทองทัช เทพารักษ์
  71. ศรีสมร กิจภู่สวัสดิ์
  72. วสันติ ลิมป์เฉลิม         มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
  73. ณัฐนพ พลาหาญ         นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  74. ดิน บัวแดง         กลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน
  75. ฉลอง สุนทราวาณิชย์         นักวิชาการ
  76. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ         นักวิชาการ
  77. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์         นักวิชาการ
  78. จริยา ยางน้อย
  79. อิสรา ดวงไสว
  80. จิราพร เหล่าเจริญวงศ์         คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  81. สายสัมพันธ์ รัตนปรีดากร         นักศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน
  82. ศิริภาส ยมจินดา         นักศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน
  83. เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย         คนทำหนังสืออิสระ
  84. ปิยวรรณ อัศวราชันย์         คณะมนุษยศาสตร์ พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  85. ศรายุธ ตั้งประเสริฐ
  86. นีรนุช  เนียมทรัพย์
  87. พิชิต   พิทักษ์
  88. นายสิบสกุล กิจนุกร
  89. อัญชลี มณีโรจน์
  90. กิตติภูมิ จุฑาสมิต     แพทย์ชนบท
  91. อดิศร   เกิดมงคล
  92. ภูวิน บุณยะเวชชีวิน University of Hull
  93. พุฒิพงศ์ นวกิจบำรุง วิจักขณ์ พานิช นักวิชาการ
  94. ยงยุทธ เรือนทา
  95. กังวาฬ ฟองแก้ว คณะสังคมศาสตร์ มช.
  96. ทพ.ธีรวัฒน์ ทัศนภิรมย์  คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล
  97. ชัชวาล ปุญปัน
  98. ทวีศักดิ์ เผือกสม
  99. ใจ อึ๊งภากรณ์
  100. นิธินันท์ ยอแสงรัตน์
  101. วีร์ อินทรกระทึก
  102. ไพโรจน์ จันทร์นิมิ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ได้รายชื่อชิง กสทช. จากบัญชีสรรหา 22 คน

Posted: 25 Apr 2011 05:13 AM PDT

25 เมษายน 2554 คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ลงมติเลือกผู้สมควรได้รับเลือกเป็น กสทช. จำนวน 22 คน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ประกอบด้วย 

ด้านกิจการกระจายเสียง 2 คน คือ พล.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ(องค์การมหาชน) และ น.ส.ลักษมี ศรีเพ็ชร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสมเพ็ชร (2533) ด้านกิจการโทรทัศน์ 2 คน คือ นายพนา ทองมีอาคม กรรมการกิจารโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อสมท

ด้านกิจการโทรคมนาคม 4คน ได้แก่ นายชัชวลิต สรวารี  กรรมการบริหาร สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกทช. นายรอม หิรัญพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัท วิทยาการตลาดทุนเพื่อสังคม  นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม ด้านกฎหมาย 4 คน คือ  น.ส.จันทิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  นายทวี เส้งแก้ว ทนายความสำนักงานกฎหมายนิติธาดา นายทวี เส้งแก้ว ทนายความสำนักงานกฎหมายนิติธาดา  นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ด้านเศรษฐศาสตร์ 4 คน นางจันทิมา สิริแสงทักษิณ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพสามิต นายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท ข้าราชการบำนาญ ที่ปรึกษาธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย นายพิษณุ เหรียญมหาสาร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ นายวิชัย โถสุวรรณจินดา อดีตสมาชิกวุฒิสภา ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือด้านกิจการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นประโยชน์ต่อกิจการโทรคมนาคม 2คน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ นางสุวรรณา จิตประภัสสร์ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอันเป็นประโยชน์ต่อกิจการโทรคมนาคม 2คน คือ นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) และด้านการศึกษา ด้านวัฒนธรรมหรือการพัฒนาสังคม 2 คนคือ นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราช การประจำ และนางศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียนกระทรวงศึกษาธิการ

สำหรับขั้นต่อจากนี้จะต้องรอบัญชีรายชื่ออีกจำนวน 22 คนที่มาจากการคัดเลือกกันเองของผู้ได้รับการเสนอชื่อ จากนั้นจะมีการส่งรายชื่อทั้ง 2บัญชีจำนวน 44คน เพื่อให้วุฒิสภาคัดเลือกให้เหลืออีก 11 คนเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นกสทช.ต่อไป

 

 

..........................
ที่มา: โพสต์ทูเดย์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใจ อึ๊งภากรณ์: วิพากษ์ 'ทักษิณ' กับ 'เพื่อไทย' “ไปไม่ถึงนโยบายสำหรับอนาคต"

Posted: 25 Apr 2011 04:47 AM PDT

ชื่อบทความเดิม: ทักษิณกับเพื่อไทย “ไปไม่ถึง” ในเรื่องนโยบายสำหรับอนาคต
จาก http://www.facebook.com/notes/giles-ji-ungpakorn

 

ปาฐกถาอดีตนายกทักษิณ น่าผิดหวังมาก แต่ผมก็ไม่เคยตั้งความหวังอะไรกับคุณทักษิณอยู่แล้ว... ทักษิณใช้เวลาพูดมากมายเรื่องความ “จงรักภักดี” พูดถึงตัวเองมากไป ไม่พูดถึงปัญหากฏหมาย 112 ที่ลามทั่วสังคมและเป็นเครื่องมือของทหารเผด็จการ ทักษิณพูดเหมือนกับว่ารัฐประหาร 19 กันยาและวิกฤตการเมืองที่ตามมาไม่ได้เกิดขึ้น เพราะพูดทำนองว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง เราจะกลับไปยุคก่อนการทำรัฐประหารได้ง่าย โดยไม่ต้องแก้ไขโครงสร้างอำนาจนอกระบบ และโดยไม่คำนึงถึงการพัฒนาก้าวหน้าทางการเมืองของคนเสื้อแดง ทักษิณพูดแต่ว่า มั่นใจว่าเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง ในขณะที่ทหารและประชาธิปัตย์กำลังค่อยๆ โกงการเลือกตั้ง และในขณะที่พวกที่ทำรัฐประหาร 19 กันยา และทำลายรัฐบาลพรรคพลังประชาชนในภายหลังยังอยู่

ทักษิณไม่พูดถึงความจำเป็นที่จะปฏิรูปทหารและระบบศาลอย่างถอนรากถอนโคนโดยปลดนายพลและผู้พิพากษาเลวออกให้หมด ไม่พูดถึงความจำเป็นที่จะนำ อภิสิทธิ์  สุเทพ อนุพงษ์ ประยุทธ์ มาลงโทษในเหตุการณ์ฆ่าประชาชนมือเปล่า ไม่พูดถึงนักโทษการเมืองเสื้อแดงที่ยังติดคุกหรือได้ประกันแต่ยังติดคดี ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ในใจคนเสื้อแดงที่เจ็บปวดมานาน มีแต่การพูดถึงความฝันลอยๆ ว่าถ้าชนะการเลือกตั้ง “ทุกฝ่ายต้อง” เคารพเสียงประชาชน ไม่มีการอธิบายว่า ขบวนการเสื้อแดงมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวคู่ขนานนอกรัฐสภา เพื่อผลักดันการปฏิรูปให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยแท้จริงที่มีความเสมอภาค เพราะมวลชนคนเสื้อแดงกดดันทหารและอำนาจนอกระบบได้ ทักษิณเกือบจะไม่พูดถึงมวลชนเสื้อแดงเลย พูดถึงแต่พรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ถ้าขบวนการเสื้อแดงจะเคลื่อนไหวได้คล่อง ต้องมีเสรีภาพในการรวมตัวกันและการชุมนุม ซึ่งต้องขยายไปสู่เสรีภาพแท้ในการตั้งสหภาพแรงงานและการนัดหยุดงานอีกด้วย เรื่องแบบนี้ที่เกี่ยวกับการเพิ่มอำนาจและพลังให้ประชาชนทักษิณไม่พูดถึง และต้องถือว่าเป็นจุดอ่อน

ที่เป็นรูปธรรมใหม่มีแค่ข้อเสนอ “เมกกาโปรเจก” เรื่องการทำเขื่อนในทะเลเพื่อปกป้องกรุงเทพฯและสร้างเมืองใหม่ การพัฒนาลุ่มแม่น้ำต่างๆ การสร้างรถไฟไฟฟ้าและรถไฟสมัยใหม่ การสร้างทางผ่านระหว่างสองฝั่งทะเลภาคใต้ และโครงการพลังงานทางเลือกจากลมฯลฯ

ในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน มีแต่การเสนอนโยบายเก่าๆ เรื่อง “กองทุนหมู่บ้าน” โดยเพิ่มทุน การพักหนี้ การพัฒนาคุณภาพสามสิบบาทรักษาทุกโรค การพัฒนา OTOP  แต่ไม่มีข้อเสนออะไรใหม่ แบบ “คิดใหม่ทำใหม่” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เช่นการพัฒนาไปสู่รัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบที่มีสวัสดิการบำเหน็จบำนาญเกษียณ สวัสดิการว่างงาน สวัสดิการลาคลอด สวัสดิการเลี้ยงดูบุตร และสวัสดิการเพิ่มรายได้สำหรับคนที่มีรายได้ต่ำแต่มีงานทำ ฯลฯ ไม่มีการเสนอการเก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างงบประมาณของรัฐ และข้อเสนอให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำยังไม่พอ ต้องให้ถึงระดับ 400 บาทต่อวันถึงจะพอเหมาะ

แต่ปัญหาใหญ่คือการพัฒนาเศรษฐกิจไทยเพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ จะทำไม่ได้ภายใต้โครงสร้างการเมืองที่อำมาตย์คุมสังคม เราต้องปฏิวัติโครงสร้างอำนาจนี้ และต้องสร้างบรรยากาศเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเท่าเทียม แค่ชนะการเลือกตั้งในสภาจะไม่พอ

ที่แย่คือไม่มีการเรียนรู้ทบทวนนโยบายผิดๆ เกี่ยวกับยาเสพติด ที่ไม่เคยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่เน้นนโยบายเก่าๆ ที่ใช้ความรุนแรงและการฆ่าวิสามัญโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งพวกนี้ก็เคยฆ่าประชาชนเสื้อแดงมือเปล่าอีกด้วย

ในกรณีสงครามในภาคใต้ อย่างน้อยมีการยอมรับข้อผิดพลาดว่าเดิมเคย “แรงไปหน่อย” แต่เราต้องดูว่ามีรายละเอียดรูปธรรมอะไรเพื่อสร้างความเคารพต่อวิถีชีวิตของคนในพื้นที่

สรุปแล้ว ในความเห็นของผม คุณทักษิณหมดสภาพในการเป็นผู้นำทางความคิดสำหรับคนเสื้อแดง และในรอบสี่กว่าปีที่ผ่านมาคนเสื้อแดงพัฒนาความคิดของตนเองไปไกล ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่มีนโยบายใหม่พอที่จะครองใจประชาชนเสื้อแดงและประชาชนคนอื่นอย่างจริงจัง

แต่แน่นอนพรรคประชาธิปัตย์และเหล่าพรรคงูเห่าทั้งหลายยิ่งเลวกว่าอย่างมหาศาล และเป็นพวกเดียวกับอำมาตย์มือเปื้อนเลือดอีกด้วย เราต้องต่อต้านพวกนี้

คนเสื้อแดงคงต้องกัดฟันเลือกพรรคเพื่อไทยในปีนี้ แต่ในขณะเดียวกันเราต้องคิดหนักต่อไปว่าเราจะพัฒนาการเคลื่อนไหวของขบวนการเสื้อแดงอย่างไร ในรูปแบบที่อิสระจากพรรคเพื่อไทย และเราจะต้องคิดต่อว่าเราจะสร้างพรรคการเมืองของคนเสื้อแดงเองอย่างไรอีกด้วย ที่สำคัญเราจะต้องไม่ลืมว่า ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่สิ่งอัตโนมัติ เราต้องมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนและมีความหมาย เพื่อข้ามพ้นแค่ขั้นตอนการเลือกตั้ง ไม่ว่าฝ่ายอำมาตย์จะโกงได้หรือไม่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม้หนึ่ง ก.กุนที: ‘สหายวิชัย หินแก้ว’ ความตายดั่งขุนเขา

Posted: 25 Apr 2011 04:46 AM PDT

 
ชื่อบทกวีเดิม: ความตายดั่งขุนเขา

 
หมายเหตุ -ไม้หนึ่ง ก.กุนที เขียนบทกวีรำลึก วิชัย หินแก้วผู้นำขบวนเสื้อแดงภาคอิสาน เป็นนักปฏิวัติร่วมรุ่นกับบุญเย็น วอทอง  เป็นผู้นำนักศึกษาครูเมื่อครั้ง 14 ตุลา 16 และออกจากป่าในปี 2535 เขาเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ ถูกรถยนต์ชนขณะขับมอเตอร์ไซด์ ซึ่งยังเป็นเรื่องกังขากันในหมู่คนเสื้อแดงทางครอบครัวจัดพิธีเผาศพในวันนี้ (25 เม.ย.) ที่วัดสำราญนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ

ดาวแดงพราย ส่องสหายอาวุโส
ผกโผไปโดยปีกนกจักพราก
เหนือทางเถื่อนเคยขับเคลื่อนเข้าถางถาก
งานหน่วงหนักโถมแบกรับทั้งชีวิต

ห่มธงแดงของชาวสังคมนิยม
ฝากอุดมการณ์แข็งคมสืบสถิตย์
สู่ลูกหลานของเราชาวคอมมิวนิสต์
มุ่งอุทิศเพื่อชนชั้นกรรมาชน

คือ วิชัย หินแก้ว ผู้แกล้วกล้า
คือแก้วแห่งหินผา ตั้งแต่ต้น
คือธงชัย ที่ไม่เคยคิดจำนน
คือตัวย่างชีวิตคนปฏิวัติ

เป็นทั้งครู และเป็นทั้งสื่อการสอน
ส่งเสริมให้นักเรียนน้อยได้ฝึกหัด
ตั้งเข็มมุ่ง มั่นคง ขึ้นแจ่มชัด
ย้ำยืนหยัดปฏิวัติประชาชน !!!

 

ไม้หนึ่ง ก.กุนที 25 /4 / 2011
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิพากษ์การเมืองแบบ "หลิ่มๆ"

Posted: 25 Apr 2011 04:31 AM PDT

ประเทศกำลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง แต่เหมือนมีความพยายามให้เกิดสถานการณ์พิเศษเพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง

อะไรกันค๊าาาาาาาาา โอ้ยยยยยยยย จะมีเลือกตั้งอีกแล้วหรอ ..โอ้ย ไม่ไหวแล้วนะคะ เลือกอะไรกันมากมาย เข้าใจหน่อยสิคะ ..การไปเลือกตั้งเนี่ย มันเป็นอะไรที่เสียเวลามากๆ เสียเวลาสุดๆ ไอ่คูหาเลือกตั้งก็ชอบไปอยู่ในที่ที่ชุมชนแออัด สกปรก ร้อนก็ร้อน เดินไปก็ร้อน ขับรถไปก็ไม่มีที่จอดรถ แล้วก็อะไรก็ไม่รู้ คนเต็มไปหมด แอร์ก็ไม่มี พัดลมก็ไม่มี น่าเบื่อ เสียเวลา ที่แย่ไปกว่านั้น วันก่อนเลือกตั้ง ห้ามขายเหล้าห้ามกินเหล้า ผับปิด เธคปิด โอ้ย น่าเบื่อ ข่าวร้ายจริงๆเลย

หลิ่มหลีเหนื่อยนะคะ

ไอ่ความพยายามพิเศษที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้ง ก็ไม่ยากหรอกค่ะ เด๋วพวกหลิ่มๆอย่างเราจะตั้งเพจในเฟสบุ๊คให้คลิกไลค์ “เหล่าสลิ่มขอปฎิเสธการไปเลือกตั้ง” เหมือนเวลาปลูกต้นไม้ให้พ่อ เราก็แค่คลิกไลค์

พวกเราจะคลิกไลค์เยอะๆ แล้วเอาสถิติการคลิกไลค์ไปให้ท่านนายกฯ ท่านจะได้ไม่ยุบสภา หลิ่มๆไม่อยากลำบาก ไม่อยากร้อน ไม่อยากเรื่องมาก ไม่อยากใช้สมองคิดเลือกผู้แทน เบื่อมากค่ะ เบื่อการเมือง เบื่อนักการเมือง รักแต่ดารา นักร้องค่ะ

บางฝ่ายอ้างว่าเกิดทางตัน จึงโยนข้อเสนอให้ใช้มาตรา 7 ตั้งรัฐบาลบ้าง เสนอปิดเทอมประเทศบ้าง

อะไรตัน รูใครตันคะ

มาตราเจ็ดคืออะไรค่ะ เกี่ยวอะไรกับตั้งรัฐบาลคะ หลิ่มหลีไม่รู้จัก รัฐบาลไม่ได้มาจากในค่ายทหารหรอคะ มาจากกฎหมายหรอคะ งั้น คนตั้งรัฐบาลเป็นหัวหน้านักกฎหมายหรอคะ หลิ่มหลี งง กับกระบวนการการได้มาของรัฐบาลจังเลยค่ะ

แล้ว แล้ว...

หลิ่มหลีไม่เข้าใจว่าปิดเทอมประเทศเป็นยังไง เหมือนปิดเทอมเรียนหนังสือหรือเปล่าคะ แต่ยังไงก็แล้วแต่ ถ้าจะปิดอะไรก็ปิดไปเถอะค่ะ ปิดเทอมก็ดีค่ะ ปิดเทอมแล้ว ปิดโรงเรียน ปิดมหาลัย ปิดบริษัทด้วยก็ได้ แต่เงินเดือนขอเท่าเดิมก็พอแล้ว ดีซะอีก จะได้ไปนั่งๆนอนๆดูซีรีย์เกาหลีทั้งวัน

ปิดอะไรก็ปิดไป แต่ห้ามปิดห้างพารากอน เอ็มโพเรียม เซ็นทรัลทุกสาขานะคะ หลิ่มหลีต้องช๊อปปิ้ง หลิ่มหลีต้องไปดูหนัง ทานอาหาร ปิดไม่ได้เลยนะคะ ขอร้อง

คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะช่วยบรรเทาความตึงเครียดทางการเมือง หรือทำให้ปัญหาหมักหมมกว่าเดิม

บ้านเมืองมีเรื่องตึงเครียดอยู่หรอคะ หลิ่มหลีไม่เห็นรู้สึกอะไรเลย หลิ่มหลีก็ยังคิดแต่จะหาผัวอยู่เลย เนี่ย

หลิ่มหลียังยุ่งวุ่นวายกับเรื่องในมุ้ง เรื่องบ้านเมือง หลิ่มหลียังไม่รู้เรื่องหรอกค่ะ ขอxxx ไว้ก่อนนะคะ ส่วนเรื่องหน้าที่การงาน จะชิบหายเท่าไรก็ไม่เป็นไรค่ะ พ่อแม่มีสะสมไว้ให้เยอะแล้ว หลิ่มหลีไม่เดือดร้อน

แม้การเลือกตั้งจะช่วยขจัดปัญหากลุ่มต่อต้านรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แต่ถ้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ชนะการเลือกตั้ง ก็จะเกิดปัญหาเดิมๆ คือมีอีกกลุ่มออกมาต่อต้านรัฐบาลเหมือนกัน

หลิ่มหลีรักพรรคประชาธิปปัตย์ค่ะ ท่านนายกฯ ที่เป็นหัวหน้าพรรค ช่างรูปหล่อ หน้าตาดี พูดจาดูผู้ดีมีสกุล มารยาทงาม การศึกษาสูง นักเรียนนอก นามสกุลไฮโซ ส่วนลูกพรรคอย่างท่านกรณ์ หรืออีกหลายๆคน ก็มีสกุลรุนชาติสูงส่ง รูปหล่อ หลิ่มหลีว่า ใครจะต่อต้านพรรค ปชป ข้ามศพหลิ่มหลีไปก่อนดีกว่า ชิริ

อร๊ายยยยยยยย พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง ..เอ่อ ..พรรคเพื่อไทย ชื่อคุ้นๆนะคะ หลิ่มหลีดูฟรีทีวี ไม่เคยได้ยินชื่อพรรคนี้มานานแล้ว เป็นปีแล้วมั้ง ยัังมีพรรคนี้อยู่ในโลกใบนี้ด้วยหรอคะ หลิ่มหลี งง งง

ถ้าดูแนวทางการเคลื่อนไหวของ พท. และกลุ่มคนเสื้อแดงบางปีก ก็ชูธงเอา พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน

เอาทักษิณกลับบ้าน เอ.. แล้วทำไมทักษิณถึงกลับบ้านไม่ได้ล่ะค่ะ แต่ถามหลิ่มหลี หลิ่มหลีก็ว่า อย่าให้กลับมาดีกว่าค่ะ

เด๋วคนจนฉลาด แล้วรวยขึ้นมา สลิ่มกรุงเทพฯอย่างเรา จะเอาคนใช้ที่ไหนมารับใช้เรา จะเอาคนอีสานที่ไหนมาขนขยะ ขายส้มตำปลาร้าให้เรากินละค่ะ

อร๊ายยยยย หลิ่มหลีอายจังเลย เลยรู้กันหมดเลย ว่าไฮโซอย่างหลิ่มหลี ชอบแดกส้มตำปลาร้า แหม ไฮโซใฝ่ต่ำเยอะแยะออกค่ะ หลิ่มหลีก็ใฝ่ต่ำแบบนี้แหละค่ะ คิกๆๆๆๆ

แม้ พ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นจุดอ่อนที่ถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตี แต่ถือเป็นจุดขายทางการเมืองหรือไม่ เพราะมีมวลชนสนับสนุนชัดเจน

โอ้ย ถามอะไรมากมาย หลิ่มหลีเบื่อแล้วนะคะ เห็นไหม ตอบน้อยลงไปทุกที เพราะเบื่อคนถามพวกนี้แหละค่ะ ทักษิณนะมันโกง โกง โกง จะให้กลับมาทำไม

ส่วนพวกเสื้อแดงที่มาหาเรื่องในกทม. ไล่กลับไปสิคะ โน่น เปิดทีวีเยอะๆสิคะ ว่าเข้า กทม. มาปิดห้างของคนกทม แล้วชีวิตจะเป็นไง ชีวิตจะหาไม่แค่ไหน

พวกนั้นเขาจะได้กลัวๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

เป็นไงละ แค่ทำเคเบิลไทยคมให้จอดำหน่อยเดียว เต้นกันทั้งประเทศ โด่ แค่ฝึกให้คุ้นกับจอดำๆ หรืออะไรดำๆ ไม่ชอบหรอยะ

โด่ เอ้ย

ถ้า พท.ชนะเลือกตั้ง แต่ได้คะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง แล้วพรรคอันดับ 2 ชิงรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลแข่ง จะเกิดข้อโต้แย้งหรือไม่ว่ามีอะไรมาล็อค

หลิ่มหลีบอกแล้วไง จำไม่ได้แล้วว่ามีพรรค พท. อยู่ในโลกนี้ ไม่ต้องห่วงหรอก เด๋วก็โดนยุบพรรค ดูสิ ทำผิดเหมือนกัน แต่พรรคบ้านนอกโดนยุบหมดเลยอีก คิกๆๆๆๆๆ

พวกหลิ่มๆ คนกรุงเทพฯ อย่างเรา ทำอะไรก็ไม่น่าเกลียดหรอก เพราะเราดูรวยๆ แต่งตัวสวยๆ ดูไฮโซ

ไฮโซ ทำอะไรก็ดูดี แหกแค่ไหนก็ดูดี ดอกทองแค่ไหนก็ดูดี เพราะงั้น ทำเ..แค่ไหน ก็ดูดี เชอะๆๆๆๆๆๆๆ

ถ้า เกิดรัฐประหาร เราทำยังไงดี
ถ้าคุณเป็นสลิ่ม ...ก็อยู่บ้าน กิน ขี้ ปี้ นอน อย่างที่เคยทำนั่นแหละค่ะ ไม่เป็นอะไรหรอก อย่างมากก็ไปกดเงินสดไว้ในมือ แล้วจะได้มีเงินช๊อปปิ้ง ดินเนอร์ เผื่อเงินสดไว้หน่อย เผื่ออินเตอร์เนตโดนตัดแล้วจะรูดการ์ดไม่ผ่าน

แต่ถ้าคุณเป็นเสรีชน เอ่อ หลิ่มหลีตอบไม่ได้หง่ะค่ะ ไม่เคยเป็นเสรีชน เลยไม่รู้ว่าต้องทำยังไง

หลิ่มหลีแนะนำว่า พวกเสรีชนลองไปชายแดนดีไหมคะไปปอยเปต ไปเล่นการพนัน แก้เซ็ง เล่นวันละพันบาท เงินยังเหลือเลย

คิกๆๆๆๆๆๆ

แต่ถ้าถามหลิ่มหลี คิกๆๆๆๆๆ หลิ่มหลีจะ...มีเพศสัมพันธ์กับตัวเอง หน้าทีวีตอนที่เขาประกาศ

“โปรดฟังอีกครั้ง...”

คิกกๆๆๆๆๆๆๆๆ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Think Global Act Local: เครือข่ายต้านนิวเคลียร์อุบลฯ รำลึก 25 ปีเชอร์โนบิล

Posted: 25 Apr 2011 04:22 AM PDT

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อุบลราชธานี จัดงานรำลึกวาระโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดครบรอบ 25 ปี เตรียมยื่นหนังสือต่อรัฐบาลเวียดนามหยุดสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

กิจกรรมเริ่มขึ้นด้วยการร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล สหภาพโซเวียต ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของประเทศยูเครน เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2529 ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบตัวโรงไฟฟ้าเสียชีวิตทันที 56 คน และอีกกว่า 4,000 คน เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจากการสัมผัสสารกัมมันตรังสี โดยมีประชากรต้องอพยพกว่า 336,000 คน ส่งผลกระทบไปถึงทวีปยุโรปเหนือ ยุโรปตะวันออก และยุโรปตะวันตก ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบกว่า 600,000 คน โดยการระเบิดของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ได้รับการจัดอันดับว่ามีความรุนแรงที่สุดของเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ที่เคยเกิดขึ้นในโลก 

ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แถลงว่าคัดค้านแผนการที่รัฐบาลไทยจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศรวม 5 แห่ง และประกาศจะรณรงค์ให้ข้อมูลกับประชาชน โดยระบุด้วยว่า ภาครัฐพยายามปกปิดข้อมูลและมีการดำเนินการตามแผนการสร้างโรงไฟฟ้าในทางลับอย่างต่อเนื่อง

เครือข่ายยังเปิดเผยด้วยว่า ในวันที่ 26 เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบ 25 ปี การระเบิดโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล จะเดินทางไปยื่นหนังสือที่สถานทูตเวียดนามถึงนายกรัฐมนตรีฟาม วันไค ของเวียดนามให้ทบทวนโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศเวียดนามจำนวน 8 แห่ง โดยแห่งแรกคือโรงไฟฟ้าที่จังหวัดนินท์ทวน มีกำหนดเปิดใช้งานในปี 2563 เนื่องจากเกรงว่าจะสร้างผลกระทบมาถึงภูมิภาครวมทั้งประเทศไทย

Think Global Act Local

Think Global Act Local

Think Global Act Local

Think Global Act Local

Think Global Act Local

Think Global Act Local

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

O'Reilly Radar: ความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นของวารสารศาสตร์ข้อมูล

Posted: 25 Apr 2011 04:22 AM PDT

อะไรคือวารสารศาสตร์ข้อมูล

ข้อมูล ข้อมูล ข้อมูล!

ส.ส. คนไหนโดดประชุมบ่อย? งบประมาณกองทัพคิดเป็นกี่เท่าของงบประมาณสาธารณสุข? การชุมนุมประท้วงแต่ละครั้งมีคนเข้าร่วมมากน้อยเท่าใด? จังหวัดไหนมีอัตราว่างงานสูงที่สุด? แต่ละเดือนมีเว็บไซต์ถูกปิดกั้นเท่าไร? ในหนึ่งปีนายกรัฐมนตรีเดินทางไปที่ไหนบ้าง? มหาวิทยาลัยไหนเก็บค่าเรียนแพงที่สุด?

เราสามารถตอบบางคำถามข้างต้นได้ด้วยการค้นข้อมูลที่ถูกเผยแพร่อยู่แล้ว แต่มันอาจจะหมายถึงการนั่งเปิดไฟล์เอกสาร PDF เป็นร้อยหน้า นั่งไล่ดูตารางข้อมูลที่ไม่เป็นระเบียบหลายพันแถว หรือนั่งจ้องตัวเลขยาวยืดและนึกเปรียบเทียบสัดส่วนเอาเองในหัว

กฎหมายกำหนดให้ข้อมูลจำนวนมากถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ แต่น้อยคนนักที่จะใช้ประโยชน์จากมันได้ เพราะมันไม่อยู่ในสภาพที่เข้าใจง่ายหรือเอาไปใช้ต่อได้สะดวก

วารสารศาสตร์ข้อมูล (Data Journalism) ว่าง่าย ๆ ก็คือการเปลี่ยน “ข้อมูล” ให้เป็น “ข่าว”

 

การวิเคราะห์จำแนกความก้าวหน้าของข้อมูลภาครัฐ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือใหม่ ๆ และแหล่งข้อมูลที่ไว้ใจได้

หนึ่งในประเด็นหลักจากงาน News Foo ที่ยังคงดังก้องอยู่ในหัวผมก็คือ ความสำคัญของวารสารศาสตร์ข้อมูล ความชำนิชำนาญในเรื่องดังกล่าวได้รับความสนใจอีกครั้งในฤดูหนาวนี้ เมื่อ ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี [ผู้คิดค้นเวิลด์ไวด์เว็บ] ระบุว่าความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลคืออนาคตของวารสารศาสตร์

เมื่อคุณมองไปที่วารสารศาสตร์ข้อมูลและภาพกว้าง เหมือนกับที่ แอนโธนี เดอบาร์รอส แห่งหนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์ ได้ทำและเขียนในบล็อกของเขาเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มันชัดเจนว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ ในขณะนี้ เป็นพัฒนาการของการเล่าเรื่องที่ถูกยกระดับขึ้นด้วยเทคโนโลยี ซึ่งสืบย้อนไปได้ถึงการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการรายงานข่าว (computer-assisted reporting – CAR).

เหมือนกับที่เดอบาร์รอสชี้ให้เราเห็น สิ่งที่ CAR ต้องการจะบอก “นั้นเกี่ยวกับการค้นหาเรื่องราว และใช้เครื่องมือง่าย ๆ เพื่อทำมัน: ตารางคำนวณ, ฐานข้อมูล, แผนที่, สถิติ” เช่น ไมโครซอฟท์แอคเซส, เอกซ์เซล, SPSS, และเอสคิวแอล เซิร์ฟเวอร์
สิ่งเหล่านั้นยังคงเป็นจริงอยู่ในปัจจุบัน แม้นักวารสารข้อมูลในตอนนี้จะมีเครื่องมือใหม่ ๆ ที่ทรงพลังสำหรับการเก็บเล็กผสมน้อยข้อมูลจากเว็บ ด้วยเครื่องมืออย่าง ScraperWiki และ Needlebase, เขียนโปรแกรมสคริปต์ด้วย Perl, หรือ Ruby, Python, MySQL และ Django

การทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ของการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการรายงาน ข่าว เป็นกุญแจสำคัญที่จะวางเครื่องมือใหม่ ๆ เหล่านี้ ลงไปในบริบทที่เหมาะสม “เราใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อค้นหาและเล่าเรื่อง” เดอบาร์รอสเขียน “เราใช้มันเหมือนที่เราใช้โทรศัพท์ เรื่องราวยังคงเป็นสิ่งสำคัญสิ่งเดียว”

การประชุมเรื่องวารสารศาสตร์ข้อมูลที่งาน News Foo นั้น มีขึ้นในวันเดียวกับที่นักพัฒนาพลเมืองได้เข้าร่วมในมหกรรม “open data hackathon” ซึ่งมีขึ้นทั่วโลก [รวมถึงประเทศไทย] และหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน Times Open Hack Day นักพัฒนาจำนวนมากในการประกวดลักษณะนี้ มีความสนใจที่จะทำงานกับข้อมูลแบบเปิด แต่บทสนทนาที่ News Foo ก็ได้แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานรัฐบาลยังคงต้องทำงานอีกมากแค่ไหน เพื่อที่จะทำสัญญาที่จะเปิดเผยข้อมูลที่รัฐบาลเก็บเอาไว้เพื่ออนาคตของวารสารศาสตร์ ให้กลายเป็นจริง

ประเด็นปัญหาที่พบนั้นสำคัญอย่างมาก ข้อมูลภาครัฐนั้นมักจะ “สกปรก” ไปด้วยช่องข้อมูลที่ผิดพลาดหรือไม่มีเมตาดาตา
นักข่าวจำเป็นต้องตรวจเช็คความถูกต้องและทำความสะอาดชุดข้อมูล ด้วยเครื่องมือเช่น Google Refine โครงการ Recovery Tracker ของเว็บไซต์ข่าว ProPublica ซึ่งช่วยติดตามข้อมูลงบประมาณและแผนกระตุ้นเศรษฐกิของสหรัฐ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดของการปฏิบัติการดังกล่าวในชีวิตจริง [ProPublica ดึงข้อมูลมาจากเว็บไซต์ Recovery.gov ของรัฐบาล ทำความสะอาดข้อมูล และเพิ่มเติมข้อมูลที่ขาดหายไป เพื่อให้ชุดข้อมูลนำไปใช้ได้จริง]

มาตรฐานอันสูงสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้สำหรับวารสารศาสตร์ข้อมูล ก็คือโครงการ Toxic Waters จากนิวยอร์กไทมส์ ซึ่งชนะรางวัลพูลิตเซอร์ ขนาดของโครงการดังกล่าวทำให้มันยากที่จะติดตาม อย่างไรก็ตามนักพัฒนาของไทมส์ก็ยังทำงานอย่างหนักกับโครงการเจ๋ง ๆ อย่าง Inside Congress

คุณสามารถดูการสร้างภาพข้อมูลจากโครงการ Toxic Waters และตัวอย่างอื่น ๆ ของวารสารศาสตร์ข้อมูล ได้จากการนำเสนอในแบบ Ignite จากงาน News Foo

ที่ ProPublica ทีมวารสารศาสตร์ข้อมูลนั้นตระหนักถึงการเชื่อมโยงระดับลึกลงไปสู่แอพพลิเค ชั่นข่าว ด้วยทัศนะที่ว่าภาพข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นจากแอพพลิเคชั่นเหล่านั้น ในตัวของพวกมันเองก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการเสนอข่าวแบบพรรณนา ด้วยการวาดภาพข้อมูลที่เยี่ยมยอด ผู้อ่านสามารถค้นพบหนทางและซักไซ้ไล่เรียงข้อมูลดังกล่าวได้ด้วยตัวของพวก เขาเอง มากไปกว่านั้น ความแตกต่างระหว่าง “เรื่อง” ข่าว และ “แอพ” ข่าว ก็จะค่อย ๆ สลายไป เมื่อผู้อ่านรับข่าวสารมากขึ้น ๆ จากอุปกรณ์เคลื่อนที่และแท็บเล็ต

วิธีหนึ่งในการมอบบริบทที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน ก็คือรูปแบบ “ไอออน” (ion) ที่เว็บไซต์ข่าว ProPublica.org ทำอยู่ โครงการอย่าง “Eye on the Stimulus” เป็นลูกผสมระหว่างบล็อกและแอพพลิเคชั่น ในด้านหนึ่งของหน้าเว็บดังกล่าว มันเป็นสายธารของข่าวที่ไหลอยู่ตลอดเวลา ในอีกด้านหนึ่ง มันมีจุดเข้าไปสู่ข้อมูลต่าง ๆ ความท้าทายของวิธีการนี้ก็คือ ช่องทางเสนอสื่อจะต้องมีการจัดขบวนระหว่างทีมงานและเรื่องราว นักข่าวจำเป็นต้องปรับข้อมูลทุกวัน สำหรับข่าวที่กำลังมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดซึ่งอ่อนไหวต่อข้อมูล

อัปเกรด Data.gov

ช่วงการประชุมวารสารศาสตร์ข้อมูลในงาน News Foo มีองค์ประกอบที่เป็นแก่นอย่างหนึ่งคือ มันได้นำผู้ก่อตั้ง City Camp เควิน เคอร์รี่, ผู้เผยแพร่แนวคิด Data.gov จีน โฮล์ม, และผู้ได้รับทุนมูลนิธิเรย์โนลด์ส เดวิด แฮร์ซอก พร้อมกับผู้เข้าร่วมงาน News Foo ให้ได้พูดคุยเกี่ยวกับการให้คุณค่าของ ข้อมูลภาครัฐแบบเปิด และ วารสารศาสตร์ข้อมูล

ดังที่รายงานการศึกษาข้อมูลแบบเปิดฉบับ ล่าสุดได้แสดง นักพัฒนานั้นไม่พบข้อมูลภาครัฐที่ตัวเองจำเป็นต้องใช้หรือต้องการจะใช้ ถ้ามีผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ต้องการเดินตามรอยของ BrightScope ชุดข้อมูลแบบเปิดของภาครัฐจะต้องเชื่อมโยงเกี่ยวข้องให้มากขึ้นกับธุรกิจ เสียงตอบรับสำหรับ Data.gov และคลังข้อมูลภาครัฐอื่น ๆ นั้นชัดเจน: ข้อมูลที่มากขึ้น ข้อมูลที่ดีขึ้น และข้อมูลที่สะอาดขึ้น กรุณาด้วย

การพัฒนาให้สื่อเข้าถึงข้อมูลได้ดีขึ้น ในระดับรัฐบาลเขตหรือรัฐบาลมลรัฐ นั้นมีอุปสรรคเชิงโครงสร้าง เนื่องจากวิกฤตงบประมาณที่ขยายตัวมากขึ้นในหน่วยงานรัฐทั่วสหรัฐอเมริกา ดังเช่นที่ จีน โฮล์ม ได้สังเกตเห็นระหว่างการประชุม News Foo โครงการริเริ่มด้านรัฐบาลเปิดนั้นมีแนวโน้มจะถูกดำเนินการในสภาพแวดล้อมที่ ใช้งบประมาณแบบผลรวมเป็นศูนย์ในปี 2554 เจ้าหน้าที่รัฐต่าง ๆ จำเป็นต้องทำให้โครงการของตัวเองยั่งยืนและเลี้ยงตัวเองได้

มันมีบางเรื่องที่รัฐบาลสหพันธ์สามารถจะช่วยได้ โฮล์มบอกว่า Data.gov ได้สร้างโฮสต์คอมพิวเตอร์แบบกลุ่มเมฆ (cloud) ซึ่งสามารถจะแบ่งใช้กับรัฐบาลมลรัฐ รัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลชุมชน Data.gov ยังได้ออกชุดเครื่องมือที่จะช่วยในการแปลงข้อมูล แปลงภาพอักษรเป็นข้อความ (โอซีอาร์) และในอนาคตจะมีเครื่องมือที่ดีขึ้นสำหรับข้อมูลแบบมีโครงสร้าง

ทรัพยากรดังกล่าวเหล่านั้น จะสามารถทำให้ข้อมูลภาครัฐมีพร้อมใช้มากขึ้นและเข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับสื่อ เควิน เคอร์รี่ กล่าวว่าบัญชีข้อมูลนั้นเกิดขึ้นใหม่ในทุกที่ [ของประเทศไทย] เขาชี้ไปที่ CivicApps ในพอร์ตแลนด์ โอเรกอน ที่ซึ่งงานที่ แมกซ์ อ็อกเดน ได้ทำกับการเขียนโค้ดซอฟต์แวร์มิดเดิลแวร์สำหรับรัฐบาลแบบเปิด ได้นำไปสู่การแปลงข้อมูลภาครัฐไปสู่รูปแบบที่เป็นประโยชน์มากกว่าสำหรับนักพัฒนา

นักวารสารข้อมูลยังประสบกับความท้าทายทางวัฒนธรรมของภาครัฐ มันเป็นเรื่องยากที่จะพบเจ้าหน้าที่สารสนเทศภาครัฐที่มีความปราถนาหรือมี ความสามารถที่จะถามคำถามสำคัญ ๆ เกี่ยวกับข้อมูล โฮล์มบอกว่า Data.gov อาจจะประกาศข้อมูลติดต่อให้มากขึ้นออนไลน์ และสร้างบทสนทนาให้มากขึ้นรอบ ๆ ชุดข้อมูลแต่ละชุด ข้อมูลลักษณะดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการค้นหาข้อกังวลเกี่ยวกับ ข้อมูลในระดับสหพันธ์ อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ระหว่างนักข่าวและข้อมูลยังต้องการ ความพยายามและการพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีก

ที่มา: O’Reilly Radar: ความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นของวารสารศาสตร์ข้อมูล

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วงเสวนาญาติวีรชนพฤษภา ชี้ทางรอดการเมืองไทย ต้องปฏิรูปกองทัพ

Posted: 25 Apr 2011 03:59 AM PDT

 

 

24 เม.ย. 2554 คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเวทีอภิปรายสาธารณะ “คอร์รัปชั่นอำนาจ : บทบาทนัก (เลือกตั้ง) การเมืองไทยภายใต้อ้อมกอดทหาร” (แนวทางปฏิรูปกองทัพ บทบาทกองทัพต่อการเมืองและความขัดแย้งภายใน) ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรำลึก 19 ปี เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม 2535 ซึ่งมีหัวใจหลักคือนำการให้อภัย และสันติวิธี มาเป็นบทเรียนสำหรับสังคมปัจจุบัน

สมชาย หอมลออ กรรมการอิสระค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เปิดการอภิปรายด้วยการตั้งคำถามสำคัญว่า “เราจะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบไหนกันแน่?” เนื่องจากมีความเข้าใจที่แตกต่างกันจากกลุ่มคนหลายกลุ่ม ดังนั้นเราจึงควรมานิยามกันเสียให้ชัดว่า ทหาร และนักการเมืองควรมีบทบาทแค่ไหน อย่างไร 

เขากล่าวว่า ยุคหลัง 14 ตุลา 16 ทหารมีบทบาทหน้าที่ป้องกันประเทศจากศัตรูภายนอก การรักษาความมั่นคงภายใน และการพัฒนาประเทศ ยุคพล.อ.เปรม ทหารมีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศอย่างมาก และมีการทุจริตน้อย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับยุคพล.อ.ชาติชาย มีการทุจริตมากกว่า และทหารก็มีบทบาทอย่างมากเช่นกัน จึงเกิดเหตุการณ์พฤษภา 35 หลังจากนั้นทหารก็กลับเข้ากรมกอง 

ยุคทักษิณ นักการเมืองมีบทบาทมาก ทำให้มีความก้าวหน้าในบางด้าน แต่ก็เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางจากการปราบปรามยาเสพติด สื่อมวลชนถูกปิดกั้น ประชาชนออกมาคัดค้าน แล้วทหารก็ออกมาทำรัฐประหาร 

ที่ผ่านมาประชาชนจึงตกอยู่ในสภาพ “หนีเสือปะจระเข้” คือในสภาพปกติต้องเจอกับนักการเมืองแย่ ๆ แล้วก็มาเจอกับทหารที่ออกมายึดอำนาจ ซึ่งก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน ที่ผ่านมาคิดว่าทหารมีบทเรียนมากพอแล้ว ไม่ควรออกมาก้าวก่ายการเมืองอีก เพราะทหารไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและการเมืองในปัจจุบัน ถ้าออกมาคนจะต่อต้านมากขึ้น 

“ทหารหมดหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว” นายสมชายกล่าว 

นอกจากนี้นายสมชายยังสรุปรวบยอดต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันว่า เกิดจากการที่กลุ่มพลังทางการเมืองหลายกลุ่มถูกจำกัดพื้นที่ ควรเปิดพื้นที่ให้มีกลุ่มการเมืองที่มีความหลากหลาย อาจจะมีกลุ่มนิยมเจ้า นิยมทหารก็ได้ แต่ต้องอยู่ในกระบวนการเลือกตั้ง มิฉะนั้นระบบรัฐสภาจะไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนหรือคนหลากหลายกลุ่ม

พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ อนุกรรมาธิการ ในกรรมาธิการทหาร รัฐสภา กล่าวว่า สังคมเป็นประชาธิปไตยแค่รูปแบบ ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่เนื้อหาสาระ การเมืองจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ โครงสร้างอำนาจต้องกระจายตัวจากขั้วอำนาจการเมือง 3 ฝ่ายที่ครอบครองการเมืองไทยอยู่ คือ 1.bureaucrat คือ กลุ่มอำนาจเก่า ข้าราชการ นักวิชาการ พวกนี้ไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่จะได้เข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง 2.Military คือ ทหาร และ 3. Capital คือกลุ่มทุน

เขากล่าวต่อว่า สมัยทักษิณคือกลุ่มทุนคลื่นลูกที่สามได้อำนาจบริหารประเทศ กลุ่มทุนเก่าสู้ไม่ได้จึงไปจับมือกับชนชั้นนำ นำมาสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งได้อำนาจมาแล้วก็ไม่ได้แก้โครงสร้างอะไร กลับเชื่อว่าคุณธรรมของมนุษย์สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดจึงตั้งรัฐบาลขิงแก่ ซึ่งการเลือกตั้งต่อมาได้พิสูจน์แล้วว่ากลุ่มอำนาจเก่าไม่มีทางชนะ

ในส่วนของทหาร พล.ท.พีระพงษ์ มองว่าต้องมีการปฏิรูปกองทัพ ทั้งในเชิงโครงสร้างและเชิงอุดมการณ์ ปัจจุบันทหารมีโครงสร้างที่เป็นเอกเทศเกินไป ต่างคนต่างซื้อ ต่างคนต่างใช้ โยนงบประมาณลงไปเท่าไหร่จึงไม่เคยพอ ควรยุบรวมกันบ้างให้เล็กลง

ส่วนด้านอุดมการณ์ทหารควรจะเปลี่ยนแนวคิดเสียใหม่ว่า ทหารต้อง “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ถ้ารักษารัฐธรรมนูญรอด ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ก็จะรอด เพราะทั้งหมดนั้นต่างก็อยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ปี 49 ทหารพิทักษ์อะไร? ทหารไทยคิดว่าตัวเองใหญ่ครอบจักรวาลมาก อะไร ๆ ก็กระทบความมั่นคงหมด และตีความคำว่า “อริราชศัตรู” กว้างเกินไป แม้แต่คนที่มาชุมนุมก็ถูกมองว่าเป็นผู้ก่อการร้ายไปได้ อย่างนี้มีแต่จะเสียหาย

อติเทพ ไชยสิทธิ์ กรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กล่าวว่า เราไม่อาจพิจารณาการเมืองไทยเพียงแค่จากนักการเมืองและทหาร แต่ต้องยอมรับว่า เราต้องนำสถาบันกษัตริย์เข้ามาพิจารณาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อเสนอต่อการปฏิรูปกองทัพก็คือ ทหารต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่า ตัวเองเป็นพลเมืองในเครื่องแบบที่มีหน้าที่เป็นทหารอาชีพเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจบาตรใหญ่เหนือประชาชนและเหนือการเมือง อีกทั้งทหารต้องเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ต้องเป็นกลาง ไม่อ้างสถาบัน

“การอ้างสถาบันกษัตริย์ของทหารเป็นการวางสถานะตัวเองให้ไม่เป็นกลาง” อติเทพกล่าว

เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา กล่าวว่า วันนี้เป็นยุคที่ทหารนำการเมืองมากที่สุดภายใต้อำนาจนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกองทัพได้ปรับตัวจากรัฐทหารที่ชัดเจนในอดีต พยายามสร้าง “พรรคทหาร” ขึ้นในลักษณะเป็นอำนาจรัฐเงาเพื่อเป็นพรรคร่วมรัฐบาลโดยไม่ได้ลงเลือกตั้ง กองทัพมีสภาพเป็นพรรคทหาร เล่นการเมืองอย่างเต็มตัว เช่น กรณีการตรวจแถวตบเท้ากลางสายฝนให้กำลังใจ ผบ.ทบ. เสมือนกองทัพแสดงการข่มขู่ประชาชน

เมธากล่าวว่า การใช้กองทัพเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และนำมาสู่ความขัดแย้งของพลเมือง ขอเรียกร้องให้กองทัพยุติบทบาททหารนำการเมือง และหันมาเน้นการช่วยเหลือประชาชนในเหตุการณ์ภัยพิบัติเช่นน้ำท่วม นี่น่าจะเป็นบทบาทที่แท้จริงของกองทัพในยุคโลกาภิวัตน์.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น