โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

"สนธิ" ยัน “โหวตโน” เป็นสิทธิของผู้เลือกตั้งที่เขาไม่พอใจจะเลือกใคร

Posted: 20 Apr 2011 10:00 AM PDT

สนธิลั่นพันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมืองใหม่ ถ้าส่งคนลงเลือกตั้งจะตัดหางปล่อยวัด ถาม "สุริยะใส" เสียหายตรงไหนถ้าไม่ลงเลือกตั้ง หันมารณรงค์โหวตโนเพื่อให้มีปฏิรูปการเมือง ให้พรรคการเมืองใหม่มีอนาคตที่ดีกว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปไม่ดีกว่าหรือ ชี้โหวตโนไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหน ในเมื่อเป็นแสดงความไม่พอใจต่อการเมืองแบบเก่า

วันนี้ (20 เม.ย.) เวลา 21.05 น. นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขึ้นกล่าวปราศรัยที่เวทีสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยระบุว่า ขณะนี้มีขบวนการทำลายชื่อเสียงของพันธมิตรฯ ด้วยวิธีการต่างๆ นานา โดยวันนี้มีจดหมายของผู้ที่ใช้ชื่อว่า “เตี้ยบางลำพู” ไปลงหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ แต่งนิยายเป็นเรื่องเป็นราวว่า ได้เห็นคำนายของสมณรูปหนึ่งว่า ตนกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จะแตกแยกกัน และในที่สุดคำทำนายนั้นใกล้จะเป็นจริงแล้ว เพราะตนเดินทางไปรับเงินทักษิณ ชินวัตรที่คูเวต และไปพบกับคุณหญิงอ้อบนเครื่องบินระหว่างไปฮ่องกง ซึ่งไม่เป็นเรื่อง แต่หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ก็เอามาลงหมด

หลังจากนั้น นายสนธิได้กล่าวถึงพรรคการเมืองใหม่ว่า มีหลายคนที่เคยเป็นเพื่อนเราบอกว่าการที่แกนนำพันธมิตรฯ ทำตัวเป็นเจ้าของพรรคการเมืองใหม่ก็ไม่ต่างจากพรรคการเมืองอื่นที่มีนายทุน เป็นเจ้าของพรรค ซึ่งคนที่พูดแบบนี้ไม่เข้าใจ ทุกพรรคการเมืองต้องมีเจ้าของอยู่แล้ว แต่พรรคการเมืองใหม่มีเจ้าของคือมวลชนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยที่พี่น้องได้มอบหมายให้แกนนำพันธมิตรฯ ไปรับผิดชอบดูแลพรรคการเมืองใหม่

“ถ้าความจำยังไม่เสื่อม ใครก็ตามที่พูดเรื่องนี้ ให้ไปดูวันที่เราตั้งพรรค เราพูดชัดเจนว่าพรรคการเมืองใหม่เป็นเครื่องมือของพันธมิตรฯ เราไม่เคยพูดเลยว่าพรรคการเมืองใหม่เป็นอิสระ และเราเคยพูดว่าถ้าพรรคการเมืองใหม่ไม่อยู่ในร่องรอยที่พันธมิตรฯ เห็นชอบ พันธมิตรฯ ก็มีสิทธิคว่ำพรรคการเมืองใหม่ เพราะฉะนั้นอย่าได้เข้าใจผิด จุดยืนตรงนี้ของเราไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย

“วันแรกที่ผมยอมเป็นหัวหน้าพรรค เบื้องหลังจริงๆ ก็คือ มีแต่คนอยากเป็นหัวหน้าพรรค พากันวิ่งเต้น สายตะวันออกก็วิ่งเต้น สายเหนือก็วิ่งเต้น สายอีสานก็วิ่งเต้น สายใต้ก็วิ่งเต้น ทุกคนวิ่งเต้นไม่มีใครยอมใคร แต่ถ้าเสนอผม ทุกคนยอมหมด ผมเลยเข้าไปเป็นหัวหน้าพรรคให้ แต่ผมได้ประกาศไว้เป็นสัจวาจาแล้วว่าจะเป็นให้แค่ชั่วคราว แล้วเมื่อครบกำหนดเวลาที่ต้องไป ผมก็ลาออก เมื่อผมลาออก็มีคนอยากเป็นหลายคน รวมทั้งพี่สมศักดิ์ โกศัยสุข ผมก็ถามว่า พื่อยากเป็นหรือ พี่สมศักดิ์ก็บอกว่าอยากเป็น ก็เอาหละเมื่อพี่สมศักดิ์อยากเป็น ก็ส่งไปในฐานะแกนนำพันธมิตรฯ แล้วก็มีสัญญาว่าจะเป็นชั่วคราว เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วก็ลาออก แล้วหาคนอื่นมา พี่สมศักดิ์ก็รับปาก

“ไปๆ มาๆ วันนี้ กลายเป็นมาหาว่าเราไปบีบพรรคการเมืองใหม่ ทำให้พรรคการเมืองใหม่ตัดสินใจไม่ได้ด้วยตัวเอง ลืมไปเลยว่าพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นเพราะใคร ถึงเราไม่บอกว่าพรรคการเมืองใหม่เป็นของพันธมิตร แต่ในข้อเท็จจริงมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น เพื่อความเข้าใจทุกประการ เราต้องอธิบายเสียก่อน”

นายสนธิ กล่าวต่อว่า หลายคนไปใช้ทฤษฎีการเมืองบ้าบอ บอกว่า “โหวตโน” ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำลายพรรคการเมือง จะทำลายได้อย่างไร มันเป็นสิทธิของผู้เลือกตั้งที่เขาไม่พอใจจะเลือกใคร จะเป็นเผด็จการได้อย่างไร เหมือนในวงกินข้าวที่เราได้รับเชิญไป เราไม่ชอบเจ้าภาพก็เป็นสิทธิของเราที่จะไม่กิน แต่เราไปนั่งตามคำเชิญแค่นั้น การโหวตโนไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหนก็ในเมื่อมันคือการแสดงความไม่พอใจต่อการเมืองแบบเก่า ถ้าเราไม่โหวตโน จะให้โหวตให้พรรคการเมืองใหม่หรือ พรรคประชาธิปัตย์หรือ เพราะวัตถุประสงค์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และประชาชนผู้รักชาติวันนี้ คือให้ปฏิรูปการเมืองเสียใหม่ ไม่ต้องการอัปรีย์ไปจัญไรมา มันเป็นช่องทางเดียวที่จะแสดงออก

นายสนธิ กล่าวถึงการประชุมพรรคการเมืองใหม่ในวันที่ 24 เม.ย.นี้ว่า ที่ประชุมมีมากมายหลายที่ ทำไมเลือกประชุมในที่ที่ไปยาก แต่ไม่เป็นไร ตนอยากเตือนสติผู้บริหารพรรคและประธานสาขาพรรคที่กระสันต์จะลงเลือกตั้ง จริงอยู่คุณมีสิทธิตามกฎหมายที่จะส่งคนลงเลือกตั้ง แต่เมื่อถึงวันนั้นจะมาว่าพวกเราไม่ได้ ถ้าเราจะตัดหางปล่อยวัดให้เด็ดขาด แล้วให้มันรู้ไปว่าจะมีพันธมิตรฯ กี่คนที่ลงคะแนนให้ ต้องขอบคุณนายสำราญ รอดเพชร นายสุริยะใส กตะศิลา ที่บอกว่าเจ็บปวดทั้งสองอย่าง แต่จริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรต้องเจ็บปวด จะเสียหายตรงไหนถ้าไม่ลงเลือกตั้ง แล้วมารณรงค์โหวตโน เพื่อให้มีการปฏิรูปการเมือง ให้พรรคการเมืองใหม่มีอนาคตที่ดีกว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปไม่ดีกว่าหรือ

“กระสันอยากเป็น ส.ส.นักเหรอ ลาภยศมันไม่เข้าใครออกใครจริงๆ แม้แต่ตำแหน่ง ส.ส.ระยำก็ยังอยากเป็น จนลืมอุดมการณ์ทุกอย่าง เป็นไปได้ยังไง ไม่น่าจะเป็นไปได้สำหรับคนที่เคยยืนอยู่บนเวทีพันธมิตรฯ”

นายสนธิ กล่าวต่อว่า ทำไมถึงเดือดร้อนเรื่องโหวตโนกันนัก พรรคประชาธิปัตย์ถึงกับให้สุนัขรับใช้ออกรายการวิทยุ เขียนลงหนังสือพิมพ์ ต่อต้านโหวตโน ถ้าคุณมีคนรักพรรคคุณมากมายจริงๆ จะเดือดร้อนอะไรกับโหวตโน แสดงว่าคุณห้อยโหนเรามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ตอนที่พรรคประชาธิปัตย์สู้กับไทยรักไทย จะเห็นว่าประชาธิปัตย์มีคนลงคะแนนให้ 5 ล้านกว่าคน แต่พอหลังจากพันธมิตรฯ ออกมาต่อสู้ การเลือกตั้งครั้งต่อมา ประชาธิปัตย์ได้ 10 กว่าล้านคน เพราะฉะนั้นถ้าตัด 5 ล้านเสียงที่ประชาธิปัตย์เคยได้ออกไป 6-7 ล้านคนที่เพิ่มขึ้นมาก็คือเสียงของพวกเรานั่นเอง

ก็ถ้าอยากได้เสียงพวกเรา ก็ไม่อยากอะไรนี่ ก็ทำตัวเป็นมนุษย์ เลิกโกหก เลิกตอแหลลงตับเสียที รักษาชาติรักษาแผ่นดินอย่างจริงจังเสียที เลิกตอแหลรายวันได้แล้ว ถูกไม่ถูกพี่น้อง แล้วก็ขจัดคอร์รัปชั่น จัดการกระบวนการล้มเจ้าอย่างจริงจัง ก็ไม่เห็นยากตรงไหน สิ่งที่เราขอมันเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว ใช่ไม่ใช่ เอ้ายกเว้นให้ก็ได้ เอ็งไม่ต้องจับคนยิงกูก็ไม่เป็นไร แต่ให้เอาแผ่นดินไทยคืนมา มันไม่เห็นยากอะไรเลยใช่ไม่ใช่ ก็ในเมื่อเรื่องง่ายๆ พวกคุณทำให้มันอยาก แล้วคุณมาเดือดร้อนอะไรกับโหวตโน โหวตโนมันหนักกบาลอะไรคุณเล่าถึงเดือดร้อนเหลือเกิน ถึงต้องเอาสุนัขรับใช้ ออกวิทยุ ออกทีวี เขียนคอลัมน์ประจำ บอกว่าโหวตโนไม่ดี เป็นการทำลายพรรคการเมือง อ๋อแสดงว่าโหวตโนทำลายพรรคการเมือง พรรคการเมืองอะไรที่คุณต้องการ คุณต้องการพรรคชั่วๆ ต่อไปหรือ ก็กูไม่อยากให้พวกมึง ก็เลยโหวตโน แค่นี้ก็ยังไม่เข้าใจอีกหรือ ทำไมเราต้องเข้าห้องน้ำ ก็เราปวดท้องใช่ไหมเล่า แค่นี้เอ็งยังไม่เข้าใจ เข้าใจหรือยังพี่น้อง พูดสั้นๆ แต่เหนื่อยอิบอ๋ายเลยพี่น้อง โอเคแล้วพี่น้อง ขอบคุณมากครับ

ที่มา: เรียบเรียงจากวิทยุ 97.75 MHz

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แนะทบทวนทิศทาง “พลังงานนิวเคลียร์” หลังวิกฤติญี่ปุ่น

Posted: 20 Apr 2011 09:59 AM PDT

นักเคลื่อนไหวญี่ปุ่นแนะประเทศไทยเรียนรู้เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากวิกฤติญี่ปุ่น ปิดโรงไฟฟ้าสูญงบกว่า 1 ล้านล้านเยน ด้านรอง ผอ.สำนักนโยบายและแผนพลังงาน ชี้พลังงานทางเลือกมีต้นทุนสูง ต้องถาม ปชช.ยินดีจ่ายค่าไฟแพงหรือไม่
 
 
วันนี้ (20 เม.ย.54) กลุ่มจับกระแสเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม สถาบันวิจัยพลังงาน และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ทบทวนความมั่นคงของมนุษย์และพลังงานทางเลือกของเอเชียหลังวิกฤตินิวเคลียร์ญี่ปุ่น” ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
นายบัน ฮิเดยูกิ (Mr.BAN Hideyuki) จากศูนย์ข่าวนิวเคลียร์ภาคพลเมืองของญี่ปุ่น กล่าวให้ข้อมูลว่า เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิชิ ส่งผลให้ต้องอพยพประชาชนเกือบ 4 แสนคนออกจากพื้นที่รัศมี 40 กิโลเมตร ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ประสบภัยรวมไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านเยน และคาดว่าการปิดโรงไฟฟ้า 4 แห่งทำให้สูญเสียงบประมาณ 1 ล้านล้านเยน ไม่รวมปัญหาอาหารปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีและผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งขณะนี้มีกระแสต่อต้านและให้ทบทวนแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จึงอยากให้ประเทศไทยเรียนรู้จากวิกฤติครั้งนี้
 
ด้านนักวิชาการและภาคประชาชนระบุว่าจำเป็นต้องมีการทบทวนว่าพลังงานนิวเคลียร์เป็นทางออกของปัญหาขาดแคลนพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามที่เคยเข้าใจกันหรือไม่ โดยนายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขงระบุว่า พลังงานนิวเคลียร์มีราคาแพงและเป็นอันตราย สามารถส่งผลกระทบข้ามประเทศข้ามทวีปได้ ซึ่งไทยก็เผชิญความเสี่ยงจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองเซินเจิ้นของจีนซึ่งอยู่ใกล้ไทยที่สุด
 
ดร.สิวินีย์ สวัสดิอารีย์ นักฟิสิกส์สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติเสนอให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียร่วมกันสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการบริหารจัดการพลังงานทางเลือก เช่น แสงอาทิตย์ ลม
 
นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า ไทยยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาพลังงานนิวเคลียร์ ส่วนประเด็นพลังงานทางเลือกนั้นมีต้นทุนสูง ซึ่งต้องถามประชาชนว่ายินดีจ่ายค่าไฟฟ้าแพงหรือไม่
 
 
เรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สร.ไทยอินดัสเตรียลแก๊ส เผยบรรลุข้อตกลงที่ยื่นให้กับนายจ้าง

Posted: 20 Apr 2011 09:52 AM PDT

20 เม.ย. 54 - สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส เปิดเผยว่าหลังจากที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) รวม 16 ข้อเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา และได้มีการเจรจากันระหว่างผู้แทนสหภาพฯ กับผู้แทนบริษัทฯ นั้น มาวันนี้ (20 เม.ย. 54) ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถตกลงกันได้ จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. บริษัทฯ ตกลงขยายระยะเวลาการใช้สิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับพนักงานที่เกษียณอายุ โดยให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้นับตั้งแต่เกษียณอายุไปจนถึงสิ้นปีปฏิทินในปีที่เกษียณอายุนั้น ซึ่งสิทธิดังกล่าวจะครอบคลุมเฉพาะพนักงานเท่านั้นไม่รวมครอบครัว เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทฯ มีการเปลี่ยนไปใช้ระบบประกันสุขภาพ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของบริษัทประกันสุขภาพ โดยหากเงื่อนไขของบริษัทประกันสุขภาพด้อยกว่าการเบิกรักษาพยาบาลขั้นต้น บริษัทฯ จะหารือกับสหภาพแรงงานฯ เพื่อหาแนวทางร่วมกันต่อไป

2. บริษัทฯ ตกลงขยายเงื่อนไขการลาพิเศษ ตามระเบียบบริษัทฯ ให้ครอบคลุมถึงการลาเพื่อดูแลภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายในการคลอดบุตร โดยการลาพิเศษสามารถลาได้ไม่เกินปีละ 3 วันทำงานโดยได้รับค่าจ้าง

3. บริษัทฯ ตกลงเพิ่มวันหยุดพักผ่อนประจำปี สำหรับพนักงานระดับ 0 ถึง 6 ดังนี้
อายุงาน 20-24 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ 14 วัน
อายุงาน 25 ปีขึ้นไป มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ 15 วัน

4. บริษัทฯ ตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในส่วนของบริษัทฯ ดังนี้
อายุงาน 1-2 ปี จ่ายในอัตรา 50%
อายุงาน 2 ปีขึ้นไป จ่ายในอัตรา 100%

5. บริษัทฯ ตกลงให้กรรมการ อนุกรรมการและสมาชิกของสหภาพแรงงานฯ ลาโดยได้รับค่าจ้างเพื่อร่วมกิจกรรม หรือการประชุมหรืออบรมสัมมนาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ที่เกี่ยวข้องด้านแรงงาน จำนวนรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 30 วันต่อปี โดยลาติดต่อกันได้ไม่เกินครั้งละ 2 วัน โดยบริษัทฯ จะกำหนดรูปแบบใบลางานขึ้นมาโดยเฉพาะและประธานสหภาพแรงงานฯ หรือกรรมการสหภาพแรงงานเป็นผู้รวบรวมข้อมูลการลาและเสนอต่อหัวหน้าและฝ่ายทรัพยากรบุคคลอนุมัติล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 4 วันทำงาน

6. บริษัทฯ ตกลงให้สภาพการจ้างอื่นใดที่ใช้อยู่แล้วและมิได้มีการปรับปรงแก้ไข และมิได้ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงสภาพการจ้างแบับนี้ให้ใช้ต่อไปอย่างเดิม และข้อตกลงนี้มีผลใช้ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2554 ถึงวันที่ 20 เมษายน 2557

ทั้งนี้ทางสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ระบุว่าส่วนข้อเรียกร้องของบริษัทฯ ยื่นสวนมายังสหภาพแรงงานฯ นั้นยังเจรจากันไม่จบ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัญญาประชาคม และพลวัตรของมวลชนประชาธิปไตย

Posted: 20 Apr 2011 09:24 AM PDT

สังคมไทยขณะนี้เต็มไปด้วยคำถามมากมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง คนส่วนใหญ่ระแวงสงสัยว่าสุดท้ายจะได้มีการเลือกตั้งหรือเปล่า คนส่วนน้อยออกมาตั้งคำถาม (เชิงปฏิเสธ) ว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว สังคมไทยจะสงบจริงหรือ (ดูตัวอย่างความเชื่อว่าประเทศไทยจะยิ่งยุ่งวุ่นวายหลังการเลือกตั้งได้ในบท สัมภาษณ์ของอาจารย์ลิขิต ธีรเวคิน http://matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1302958456&grpid=01&catid&subcatid) บทความนี้เขียนขึ้นมาเพื่อโต้แย้งความคิดดังกล่าว

แนวทางสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง ที่หลายคนมองว่าจะเต็มไปด้วยความโกลาหล คือประชาชนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ถ้ามวลชนสีหนึ่งได้รัฐบาลที่ตัวเองพอใจ รัฐบาลนั้นก็จะไม่เป็นที่ถูกใจของอีกสี ซึ่งก็จะตามมาด้วยข้อกล่าวหาว่ามีการโกงเลือกตั้ง (ไม่ว่าจะมีจริง พิสูจน์ได้หรือไม่ได้) บ้านเมืองเต็มไปด้วยการประท้วง จนรัฐบาลบริหารงานไม่ได้ หรือแม้แต่จะตั้งรัฐบาล ก็อาจตั้งไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

แนวทางสถานการณ์แบบนี้ ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า หลังการเลือกตั้งแล้ว สังคมไทยจะเหมือนเดิมทุกประการ ถ้าจะเปลี่ยน ก็เปลี่ยนแค่ใบหน้าของผู้บริหารประเทศ แต่สมมติฐานนี้เป็นจริงหรือ คนที่ปฏิเสธการเลือกตั้งมั่นใจได้อย่างไรว่า ภายหลังการเลือกตั้ง สังคมไทยจะแบ่งสีแบ่งฝ่าย ในรูปลักษณะเดียวกับที่เรากำลังเผชิญอยู่

มีแนวคิดหนึ่งเรียกว่าสัญญาประชาคม (social contract) จอห์น ล็อกสงสัยว่า เหตุใดคนส่วนใหญ่ถึงได้ยอมอยู่ใต้อาณัติบัญชาของผู้ปกครอง ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นเพียงชนกลุ่มน้อยในประเทศ สัญญาประชาคมคือการยอมสละเสรีภาพบางอย่าง เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ แลกกับประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ ที่ไม่สามารถหาได้จากการอยู่ตัวคนเดียว แม้ว่าสัญญาประชาคม จะเกี่ยวเนื่อง สัมพันธ์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่แนวคิดนี้ถูกนำมาปรับใช้กับการปกครองได้ทุกรูปแบบ ภายใต้กษัตริย์เทวราชา ประชาชนเชื่อว่าผู้ปกครองเป็นร่างสมมติของเทพเจ้าที่พวกเขากราบไหว้ ภายใต้ระบอบเผด็จการ ประชาชนยอมสยบใต้ผู้ปกครอง เพราะอีกฝ่ายเข้มแข็งกว่า มีอาวุธ มีกำลังมากกว่าตัวเอง

สัญญาประชาคมคือแก่นสำคัญในการเคลื่อนไหวของมวลชนทุกสีทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ต้องการระบบการปกครองภายใต้ธรรมราชา ยอมสละเสรีภาพแก่ผู้ปกครองที่มีคุณธรรม (หรือประชาชนเชื่อว่ามีคุณธรรม) เท่านั้น หรือฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตย ยอมสละเสรีภาพแก่ผู้ปกครองที่คนส่วนใหญ่เลือกเข้าไป โดยมั่นใจว่าผู้ปกครองคนนั้น จะสามารถจัดสรรผลประโยชน์ได้อย่างยุติธรรม ลงตัวที่สุด

ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมามีการขยับเคลื่อนตัวของมวลชนทั้งสองสี โดยอ้างอิงอยู่กับสัญญาประชาคม คนเสื้อเหลืองเรีียกร้องผู้ปกครองที่มีคุณธรรมตั้งแต่ปี 2548 เมื่อมาสมประสงค์กับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ส่วนใหญ่ก็ค่อยๆ สลายตัวไปเอง (ส่วนที่ยังเหลืออยู่หรือถูกปลุกขึ้นมาใหม่ เพราะพวกเขาเชื่อว่านายกอภิสิทธิ์ไม่ใช่ผู้ปกครองที่มีคุณธรรมแบบที่พวกเขา โหยหา) คนเสื้อแดงเริ่มต้นจากการเรียกร้องประชาธิปไตย ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ แรกสุดเป็นเพียงการเคลื่อนไหวของคนต่างจังหวัดที่คะแนนเสียงของพวกเขา ถูกกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ลิดรอนไป แต่ภายหลังการสังหารโหดเดือนเมษายน-พฤษภาคมปี 2553 คุณธรรมก็เริ่มกลายเป็นอีกประเด็นหลักของการเคลื่อนไหว ขณะเดียวกันมวลชนเสื้อแดงก็เริ่มดึงดูดคนชั้นกลางในเมืองมากขึ้นด้วย

การเลือกตั้งในทางหนึ่งก็คือการสถาปนาสัญญาประชาคมขึ้นมาใหม่ เป็นไปไม่ได้เลยที่ปรากฏการณ์ทางการเมืองขนาดนี้จะไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อมวลชนทั้งสองสี ไม่ว่าจะเข้มแข็งขึ้นหรืออ่อนแรงลง ผู้เขียนไม่ได้พยายามจะบอกว่าการเลือกตั้งจะแก้ทุกปัญหาความขัดแย้ง หรือหลังการเลือกตั้งจะมีแต่ความสงบสุข เพียงแต่สมมติฐานที่ว่า "เลือกตั้งมันก็แค่กระบวนการอันหนึ่งที่มันผ่านไปเพื่อตั้งรัฐบาล" โดยสังคมหยุดนิ่งแช่แข็ง ไม่สอดคล้องกับทฤษฎีและหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ผ่านมาในช่วงสี่ห้าปีนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สืบพยานเผาศาลากลางนัด 6: พยานรับดูจากวิดีโอไม่อยู่ในเหตุการณ์จำวันที่ไม่ได้

Posted: 20 Apr 2011 08:56 AM PDT

คดีเสื้อแดงเผาศาลากลางมุกดาหารสืบพยานโจทก์นัด 6 พนักงานสอบสวนขึ้นให้การเพียงปากเดียว บอกไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เพียงแต่ดูภาพและคลิป แล้วประเมินว่าจำเลยแต่ละคนน่าจะมีส่วนร่วมในการเผา

18 เมษายน 2554 ศาลจังหวัดมุกดาหารสืบพยานโจทก์คดีเผาศาลากลางมุกดาหารเป็นนัดที่ 6 โดยมีจำเลยซึ่งได้รับการประกันตัวออกมาแล้วทั้งหมด 29 คน และทนายจำเลยจากสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์และพรรคเพื่อไทยรวม 5 คน มาถึงศาลโดยพร้อมเพรียงกัน  ทั้งนี้ก่อนหน้าที่พยานโจทก์จะขึ้นเบิกความ  ทนายจำเลยได้แถลงคัดค้านพนักงานอัยการคนใหม่ที่เข้ามารับผิดชอบคดีแทนอัยการคนเก่า ซึ่งย้ายไปแล้วนั้น เนื่องจากพนักงานอัยการคนใหม่เป็นคณะกรรมการที่ร่วมสอบสวนจำเลยมาตั้งแต่ต้น  ศาลให้ทนายจำเลยทำคำแถลงเป็นทางการมา

จากนั้น พ.ต.ท.สนธศักดิ์ สร้อยผาบ จากสถานีตำรวจภูธรเมืองมุกดาหารขึ้นเบิกความเป็นพยานโจทก์ในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวนร่วมกับดีเอสไอ  พ.ต.ท.สนธศักดิ์ให้การว่าในวันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2553 จำวันที่ไม่ได้  ในตอนเช้าได้รับแจ้งเหตุจากวิทยุสื่อสารว่า มีกลุ่มคนเสื้อแดงเผายางรถยนต์อยู่ที่ถนนแก้วกินรี ข้างศาลากลางจังหวัด  พยานไม่ได้ออกมาดูเหตุการณ์ แต่ติดตามฟังข่าวอยู่ตลอด  ประมาณบ่ายโมง พยานซึ่งยังประจำอยู่ที่โรงพักได้เห็นควันไฟลอยขึ้นบนท้องฟ้าตรงบริเวณศาลากลาง  ต่อมา ประมาณ 16.30 น. พยานขับรถกลับบ้านได้ผ่านบริเวณสี่แยกเห็นศาลากลางหลังเก่าถูกไฟไหม้แล้ว แต่พยานไม่ได้เข้าไปดูเหตุการณ์ใกล้ชิด  หลังจากนั้น ทราบว่ามีการจับกุมคนร้ายได้ในที่เกิดเหตุ ประมาณ 15-16 คน

วันต่อมา พยานได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพนักงานสอบสวนร่วมในคดีนี้ และได้สอบปากคำผู้ต้องหา 3-4 คน โดยแจ้งข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์  เบื้องต้นทั้งหมดให้การปฏิเสธ จากนั้น พยานได้รับมอบหมายให้สกรีนและดึงภาพของแต่ละคนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม จากภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวที่ได้จากกล้องของนักข่าว ตำรวจ อส. และประชาสัมพันธ์จังหวัด 

พยานได้ให้การถึงพฤติการณ์ของจำเลยแต่ละคนทั้งที่ถูกจับในที่เกิดเหตุ และถูกออกหมายจับในเวลาต่อมา ซึ่งมีทั้งคนที่ไม่ปรากฏภาพอยู่ในศาลากลางเลย  คนที่ปีนรั้วเข้าศาลากลาง คนที่ยืนดูใกล้ๆ หรือเดินไปเดินมาในศาลากลางโดยไม่มีพฤติการณ์ร่วมเผา คนที่ช่วยเพื่อนกลิ้งยางไปกองไว้หน้าศาลากลาง หรือสามล้อรับจ้างขนยางเข้ามาในรั้วศาลากลาง ในขณะยังไม่เกิดเหตุไฟไหม้ คนที่เปิดน้ำและปล่อยลมยางรถดับเพลิง ทั้งก่อนเกิดและขณะไฟไหม้ คนที่จุดไฟใส่กองยางนอกศาลากลาง คนที่โยนยางยังไม่ติดไฟเข้าไปในศาลากลาง ขณะที่มีไฟลุกไหม้  คนถือขวด คนถือไม้จะไปกระทุ้งกระจกหน้าต่าง ตลอดจนคนที่มีลักษณะเป็นแกนนำเจรจากับรองผู้ว่าฯ แกนนำที่ไปในทุกที่ที่มีการลำเลียงยาง และแกนนำที่มีนกหวีดคอยสั่งการให้ลำเลียงยาง   ซึ่งภาพถ่ายประกอบที่นำส่งศาลในวันนี้ปรากฏอยู่ใน VCD ที่อัยการนำส่งต่อศาลในวันตรวจหลักฐานเพียงบางส่วนเท่านั้น

ต่อมา ทนายจำเลยได้ทำการซักค้าน  พยานยอมรับว่า คำให้การในวันนี้พยานได้ประมวลจากการดูภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว และประเมินพฤติการณ์ของจำเลยเอง ว่าอยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์และน่าจะมีส่วนร่วมในการก่อเหตุ โดยพยานไม่ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ และไม่ได้สอบถามประจักษ์พยาน อีกทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวก็ไม่ได้ระบุวันเวลาที่ถ่าย  พยานเองทราบว่าในตอนเช้าที่มีการเผายางที่ถนนไม่มีทรัพย์สินเสียหาย เป็นการเผาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ไม่ให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงกับประชาชน   และทราบจากคำให้การของจำเลยและพยานบางคนว่า ในวันเกิดเหตุมีทั้งการกลิ้งยางเข้าและออกจากหน้าศาลากลาง มีทั้งกลุ่มคนที่พยายามห้ามปรามไม่ให้เกิดการเผายาง  แต่ตามภาพที่นำส่งศาล  จำเลยกำลังกลิ้งยางเข้าหรือออก จำเลยกำลังห้ามปรามหรือไม่  จำเลยจะช่วยเผาหรือช่วยดับ ขวดที่จำเลยถือจะเป็นขวดน้ำหรือน้ำมัน  พยานไม่ทราบ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลอุทธรณ์รับฟ้อง ปชป.-เทพไท หมิ่นทักษิณเป็นผีปอบกลับเข้าร่างไม่ได้

Posted: 20 Apr 2011 08:46 AM PDT

ศาลอุทธรณ์ทีคำสั่งแก้ศาลชั้นต้น ให้รับฟ้องคดีที่ทักษิณฟ้องหมิ่นประมาท ปชป.-เทพไท หลังเทพไทแถลงข่าวเมื่อปี 49 เปรียบทักษิณเหมือนผีปอบที่กลับเข้าร่างไม่ได้จึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อกลับเข้าร่างเดิม ขณะเดียวกันมีคำสั่งไม่รับฟ้อง บก.มติชน ข่าวสด เดลินิวส์

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (20 เม.ย.) มีการอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์มีคำสั่งแก้ศาลชั้นต้นให้รับฟ้องคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบอำนาจนายนพดล มีวรรณะ ทนายความ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พรรคประชาธิปัตย์, นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 83, 84, 91 และพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 4 และ 48

กรณีเมื่อวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันแถลงข่าว ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรียุครัฐบาลทักษิณลาออก โดยกล่าวอ้างทำนองว่าบริหารประเทศแบบซีอีโอ มีรัฐมนตรีเป็นเพียงผู้ช่วยทำงาน และยังได้กล่าวเปรียบเทียบ พ.ต.ท.ทักษิณ เหมือนผีปอบที่ออกจากร่างแล้วกลับเข้าร่างไม่ได้ซึ่งพยายามทุกวิถีทางเพื่อกลับเข้าสู่ร่างเดิม

โดยศาลอุทธรณ์ประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่าคดีมีมูล โดยศาลชั้นต้นจะได้นัดโจทก์และจำเลยที่ 1 -2 เพื่อกำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องต่อไป และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องจำเลยที่ 3-5 คือ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์มติชน, ข่าวสด และเดลินิวส์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดนมสงกรานต์ มุมมองของหญิงรักหญิง

Posted: 20 Apr 2011 08:34 AM PDT

ตอนเช้าตื่นมาเช็คเมล์ก็พบบทความของอาจารย์ใจ (อึ๊งภากรณ์) เกี่ยวกับสาวเปิดนมเล่นสงกรานต์ เข้าไปเล่นเฟซฯ ยังได้เห็นรูปประกอบที่มีคนตัดต่อเทียบเข้ากับรูปนางฟ้าของไทยที่เปิดนมลอยล่องโปรยดอกไม้ของกระทรวงวัฒนธรรม

นมของผู้หญิง มองได้หลายอย่างจริงๆ

สำหรับเด็ก มองเห็นว่าเป็นของกินได้ มุมมองของผู้ชายรักต่างเพศ (hetero) ก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งยั่วยวน มุมมองทั้งสองถูกเข้ารหัสไว้และแสดงออกในระเบียบค่านิยมของสังคมในประเด็นอื่นๆ เช่นกฎหมาย มองว่าการเปิดให้เห็นหัวนม เป็นเรื่องอนาจาร ที่ผู้กระทำเป็นคนผิด ทางสายอนุรักษ์เห็นว่าประเพณีอันดีงามของไทยนั้น ไม่นิยมให้ผู้หญิงเปิดนม ฝ่ายศาสนานั้นยิ่งมองเห็นว่า ร่างกายเนื้อตัวของผู้หญิงเป็นสิ่งยั่วยวน ไม่เพียงแค่หัวนม

ทั้งสามตัวอย่างนี้แสดงถึงว่า เรามองเห็นว่าหัวนมเป็นสิ่งยั่วยวน ดังนั้นจึงไม่ควรแสดงออกในที่สาธารณะ

หัวนมผู้ชายไม่ถูกมองว่ายั่วยวนเพราะเปิดเผยตลอดเวลา หัวนมกะเทยเมื่อเสริมเต้าแล้วก็อาจจะถูกมองว่ายั่วยวนได้เท่ากับร่างกายผู้หญิง เพราะจะถูกอ่านเข้ารหัสอย่างเดียวกัน

มีข่าวว่ากะเทยถูกจับเพราะเปิดหัวนม และกะเทยจำนวนมากก็อาจจะไม่ได้รู้สึกสะดวกเปิดหัวนมตัวเองได้ตลอดเวลาเหมือนหัวนมผู้ชายอีกต่อไป นั่นไง ความยั่วยวนมันเกี่ยวกับการเปิดนิดปิดหน่อยด้วยใช่ไหม ถ้าอย่างนั้น กฎหมาย หรือประเพณีที่บอกว่าควรจะปิดหัวนม ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ตอกย้ำ ช่วยเสริมความยั่วยวน

เลยยิ่งงงกันไปใหญ่ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหนกันแน่

หัวนมผู้หญิงผิดตรงไหน เจ้าของหัวนมผิดตรงไหน??? ความยั่วยวนมันเป็นอำนาจใช่ไหม ถูกเข้ารหัสไว้ว่าให้เป็นสิ่งที่มีอำนาจ ผู้หญิงจึงไม่ควรแสดงออกถึงอำนาจนั้น กฎหมาย ประเพณี และศาสนา จึงรุมกันกำหนดกฎเกณฑ์ อย่างนี้เรียกว่า สถาบันเหล่านี้กำหนดกฎเกณฑ์เหนือร่างกายผู้หญิงไหม ??

ถ้าผู้หญิงจะแสดงหัวนมมันจะมีความหมายว่าอะไร สำหรับผู้ชาย hetero หลายคนอ่านตรงนี้ว่า เป็นการแสดงถึงการยั่วยวนที่แสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะมีเพศสัมพันธ์ จริงๆ แล้วใครกันแน่ที่พร้อมจะมีเพศสัมพันธ์เมื่อผู้หญิงเปิดหัวนม ??? ผู้ชายหรือผู้หญิงกันแน่ ??

การรู้สึกอยากมีเพศสัมพันธ์ของผู้ชายทำให้ตีความการเปิดหัวนมของผู้หญิงว่าอย่างนั้นหรือเป็นความต้องการของผู้หญิงที่บอกว่าอย่างนั้นจริงๆ ?? เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งอยากมีเพศสัมพันธ์ เธออาจจะทำหลายๆ อย่าง ซึ่งอาจรวมถึงเปิดหัวนมด้วย แต่เมื่อผู้หญิงเปิดหัวนม ผู้ชายอาจจะตีความได้เป็นอย่างเดียว ดังนั้นการตีความเพียงอย่างเดียวของการเปิดหัวนมนั้นเป็นการยึดความหมายที่ผู้ชายให้เป็นหลักใช่ไหม ??

หัวนมเป็นสิ่งปกปิด หัวนมถูกตีความว่ายั่วยวน เจ้าของหัวนมที่มองเห็นความหมายทั้งสองอย่างนี้ วันหนึ่งจะรู้สึกอยากเปิดหัวนม เพื่อบอกว่าฉันอยากจะยั่วยวน ฉันอยากจะโชว์ โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องอยากมีเพศสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งว่าผู้หญิงอยากมีเพศสัมพันธ์ แล้วมันผิดไหม ???

การให้ความหมายเรื่องเพศของผู้หญิงมักถูกยึดโยงอยู่กับความคิดของผู้ชายเป็นหลัก สะท้อนออกมาในรูปแบบกฎระเบียบของสังคม คำวิพากษ์วิจารณ์ในอินเตอร์เน็ตเป็นทำนองว่า “งามหน้ามั้ยล่ะ” ความจริงก็เป็นเพียงเสียงสะท้อนกลับไปกลับมาระหว่างร่างกาย ผู้หญิงคือสิ่งยั่วยวน เราต้องการเห็นร่างกายผู้หญิงที่ปกปิดวับๆแวมๆ เราต้องการเสพเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง แต่ทั้งหมดนี้ ต้องเป็นในรูปแบบ สถานที่ และเวลาที่เราต้องการนะ

ถ้าผู้หญิงลุกขึ้นมาโชว์ แสดง ยั่วยวน โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต เช่น โชว์อยู่นอกร้าน แทนที่จะโชว์ในร้านหรือในบ้าน, โชว์เพื่อตอบสนองความสนุกสนานของตัวเอง ไม่ได้ตอบสนองความสุขของแฟน หรือของผัว, โชว์ในยุคปัจจุบันเมื่อดื่มเหล้าทำไม่ได้ แต่ควรจะโชว์เมื่ออยู่ในชุดไทย เป็นภาพวาดเท่านั้น, โชว์อยู่บนเวทีแคทวอล์คประกวดนางสาวอะไรต่างๆ ได้ แต่อย่าโชว์เวลาอื่นๆ...ถ้าโชว์ก็ควรจะต้องอายหน่อย เช่น เวลาไปใส่ชุดบิกินี่ชายหาดอะไรอย่างนี้ อย่าทำเป็นกร้านนัก ทั้งหมดนี้มันแปลว่าอะไร

ก็แปลว่าโชว์ได้ เวลาที่สังคมบอกให้โชว์ …

โดยเฉพาะ อย่าโชว์ เพราะอยากโชว์เอง แต่โชว์ เมื่อมีสถาบันต่างๆ เข้ามาร่วมจัดการด้วย ไม่ว่าจะเป็นเวทีนางแบบ นางสาวไทย ละคร หรือแม้กระทรวงวัฒนธรรม…

ผู้หญิงอยากเป็นเจ้าของเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง

ผู้หญิงอยากมีความสุข และภาคภูมิใจ ให้ความหมายในร่างกายของตัวเองโดยไม่ต้องมีใครมาคอยให้ความหมาย และคอยบอกว่าร่างกายของเราเป็นสิ่งสกปรก ควรปกปิด

ทุกวันนี้เราเห็นผู้หญิงจำนวนมากลุกขึ้นมาใส่เสื้อผ้าใซส์ ss ใส่กางเกงสั้นขึ้นถึงแก้มก้น มีลูกโดยไม่มีผัว ล่าแต้ม ทั้งหมดนี้ ไม่จำเป็นต้องมองว่าเป็นความเสื่อมเสียของวัฒนธรรม แต่เป็นการ explore อัตตลักษณ์ต่างๆ ของผู้หญิงที่ผู้หญิงควรทำได้อย่างปลอดภัย การใส่เสื้อผ้าแบบใดๆ ก็ตาม เป็นสิทธิที่คนคนนั้นจะทำได้ การต้องการมีเพศสัมพันธ์ ทดลอง มีจริง สนุกสนานกับการมีเพศสัมพันธ์ เป็นเรื่องที่ผู้หญิงควรจะทำได้อย่างปลอดภัย เช่นปราศจากการบังคับ ปราศจากการประณาม และได้รับข้อมูลและเครื่องมือในการคุมกำเนิดและป้องกันเอชไอวีอย่างเพียงพอ เหมือนกับที่เมื่อผู้หญิงต้องการมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงและพบว่ามีความสุข ในเพศสัมพันธ์และความรัก ก็เป็นสิ่งที่เธอจะกระทำได้

ผู้หญิงถูกควบคุมอยู่ภายใต้การให้ความหมายของสังคมนิยมชาย ดังนั้นการมีชีวิตแบบเลสเบี้ยน หรือเมื่อผู้หญิงลุกขึ้นมาชอบผู้หญิงด้วยกันจะถูกมองว่าทำตามใจตัวเองมากเกินไป เป็นเจ้าของชีวิตของตัวเองมากเกินไป ไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ของสังคมมากเกินไป และ… ก็เลย...ให้ความหมายว่าผิดปกติ

โยนความคิดแบบอนุรักษ์นิยมทิ้งไปเสีย และยอมรับให้ผู้หญิงเป็นเจ้าของตัวเองเสียที

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธีร์ อันมัย:ฝากถามด้วยความงึดง้อ

Posted: 20 Apr 2011 08:33 AM PDT

โดยไม่แจ้งข้อหา ตำรวจนอกเครื่องแบบจับกุมแล้วใส่กุญแจมือไขว้หลัง ขณะที่เขากำลังทำหน้าที่พนักงานท่ารถที่ตลาดวารินชำราบ…

“มึง อย่าฟ้าวโทร.มาตอนนี้ กูกำลังซ่อยคนถืกยิง – เขาตะโกนบอกฉันที่โทรไปถามว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไรบ้าง” เธอทวนความทรงจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่พี่ชายของเธอไปอยู่ในนั้น 

“เขา ไม่หนี เพราะเขาไม่ได้เป็นคนเผา เขาไปอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น เพราะอยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น” ภรรยาของเขาเล่าว่า ปกติสามีของเธอจะไปตกปลาหลังจากเลิกงาน แต่วันนั้นได้ข่าวว่า มีการเผาศาลากลางก็เลยแวะไปดูก่อน 

เพื่อนบ้านและคนรู้จักต่างบอกเตือนว่า มีรูปของเขาในประกาศของทางการว่า เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี หลายคนในภาพหลบลี้หนีไป แต่เขายืนยันมั่นใจไม่หลบ ไม่หนี เพราะไม่ได้เผา เขาเพียงไปดูและช่วยเหลือคงที่ถูกยิง…
 

เขาก็กลับมาทำงานแลก เงินวันละ 300 บาท ยังทำหน้าที่ลูกชายของแม่วัย 71 ปี พ่อของลูก 2 คน สามีของภรรยาร่วมชะตากรรม เป็นพี่ชายของน้องสาวและเป็นลุงของหลาน จนวันที่ 9 มิถุนายน 2553 เขาก็ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบจับโดยไม่ได้แจ้งข้อหาและจับเขาใส่กุญแจมือไขว้ หลัง ก่อนที่เขาจะขอให้เอาแขนเขาไว้ข้างหน้าแล้วค่อยใส่กุญแจ จากนั้นเขาถูกนำตัวส่งสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี….

“มึงเป็นคนเผา นี่เป็นภาพของมึง” 

เขาเล่าผ่านกรงขังให้เราฟังว่า เมื่อถูกควบคุมตัวไปยังโรงพัก เขาถูกข่มขู่ด้วยวาจาและบังคับให้รับสารภาพว่า เผาศาลากลางจังหวัด 

“มึงชี้มือสั่งการใช่ไหม ?” 

ตำรวจใช้ภาพถ่ายยืนยัน แต่เขาให้การปฏิเสธ เพราะเขาไปที่นั่นเพื่อดูว่า ถ้ามีการเผาศาลากลาง รถประจำทางสายที่เขาทำงานอยู่จะวิ่งผ่านเส้นทางนั้นได้ไหม แล้วก็พบกับตำรวจนอกเครื่องแบบและทหารสายข่าวนอกเครื่องแบบขอร้องให้เขาไป ช่วยห้ามมิให้กลุ่มผู้ชุมนุมไปเผาอาคารธนารักษ์ 

“ผมก็เข้าไปห้ามได้และยังช่วยดับไฟด้วย” 

แต่นั่นเป็นเหตุให้เขาถูก ร.ต.อ.คนหนึ่งถ่ายภาพไว้และใช้มันเป็นหลักฐานมัดตัวเขา และต่อมา ร.ต.อ.คนนั้นให้การว่า “ได้ยินตำรวจแต่งกายครึ่งท่อนเจรจากับนายสนองว่า ให้ไปช่วยห้ามไม่ให้เผาอาคาร”

 

การณ์กลับพลิกผัน เมื่อตำรวจที่พิมพ์คำร้องจากคำให้การของเขาที่ว่า “อย่าเผาอาคารธนารักษ์ เผายงเผายางอะไรก็เผาไป”ที่เขาปรามผู้ชุมนุม แต่กลับพิมพ์เป็น “ให้ไปเผาศาลากลาง”…

“แต่ก่อนฉันกะมักไปฟังการ ปราศรัยของคนเสื้อแดง เพราะฉันบ่มักบักอภิสิทธิ์ บ่มักรัฐบาลที่บ่ได้มาจากการเลือกตั้ง มันบ่ถืกต้อง ฉันซังมันแฮง” และยิ่งสามีของเธอถูกจับกุมด้วยข้อหาที่เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ยิ่งทำให้เธอเกลียดรัฐบาลที่ตั้งขึ้นในค่ายทหารมากขึ้น 

เมื่อรายได้วันละ 300 บาทหายไปพร้อมอิสรภาพของคนเป็นสามี หนี้สินในครัวเรือน ค่าเช่าบ้าน ดอกเบี้ยรายวัน ดอกเบี้ยลอยตัวที่สูงท่วมเงินต้น เป็นภาระที่หญิง 3 คน ในวัย 72 ปีผู้เป็นแม่ กับเมีย 43 ปี และน้องสาววัย 42 ปีต้องแบกรับร่วมกัน การงานที่ทำให้พวกเธอยังพอต่อชีวิตได้ก็คือ ขายกล้วยแขก ขนมครก ขนมไข่หงส์ ข้าวเม่าทอด 

“วันนั้นฝนตก เป็นวันที่กลุ่มผู้ช่วยเหลือเขานัดจะไปรับเงินเยียวยา เวลาผ่านไปเห็นเมียของเขากับน้องสาวของเขาขี่มอเตอร์ไซค์ตากฝนกลับมา พร้อมความช่วยเหลือเยียวยายังมาไม่ถึง แล้วสองคนก็นั่งร้องไห้ คนเป็นแม่อย่างฉันก็ร้องไห้ตามไปด้วย” ผู้เป็นแม่ตัดพ้อว่า หลังจากลูกชายถูกจับแล้วครอบครัวได้รับผลกระทบไปหมด อยากให้มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือเยียวยา 

“ถ้าลูกชายฉันถูกปล่อยออกมาเป็นอิสระ ฉันจะไม่ขอความช่วยเหลืออะไรจากใครเลย” 

ฝ่ายเมียเคยถอดใจว่า ต่อไปจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือการชุมนุมใด ๆ ทั้งสิ้น ครั้นพอเวลาทอดออกไปยาวนานเกินกว่าจะหาคำตอบเรื่องความเป็นธรรมในกระบวนการ ยุติธรรมได้ เธอก็พบว่า น้ำใจในกลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มคนที่มองออกว่า อะไรคือความเที่ยงธรรม อะไรคือความอยุติธรรมและพวกเขาได้แสดงน้ำใจต่อเธอ ทำให้เธอเชื่อมั่นว่า “ฉันจะต้อง “แดง” ต่อไป”

“ตั้งแต่เขาถูกจับ ฉันไปทุกที่ที่มีเวทีของคนเสื้อแดง เพื่อแสดงให้เห็นว่า คนเสื้อแดงยังไม่ตาย คุณยิ่งฆ่า คนเสื้อแดงยิ่งเพิ่ม คุณยิ่งจับกุม คนเสื้อแดงยิ่งเพิ่ม”  

ขณะที่เธอบอกเล่าความคิดสีแดงของเธอนั้น เราก็พบว่า ตัวเลขหนี้สินของครอบครัวก็พอกพูนท่วมเงินต้น คนเป็นน้องสามีซึ่งเป็นกำลังหลักของครอบครัวและร้านขนมทอดบอกว่า อยากให้กลางคืนมันยาวนาน ไม่ต้องมีกลางวันก็ได้

“ไม่รู้ว่าทำไมเราต้องตื่นขึ้นมาทำงานทั้งวันเพื่อใช้หนี้ดอกเบี้ยรายวัน ดอก(เบี้ย)ลอยทุกวัน ๆ และไม่รู้ว่า ทำไม ขณะที่เวลาผ่านไปเนิ่นนาน คำตอบเรื่องอิสรภาพของพี่ชายเราจึงถูกยืดออกไปไม่รู้จบสิ้น” 

“บักอภิสิทธิ์ มันสิขังคนเสื้อแดงไว้เฮ็ดหยัง?”

ผู้เป็นแม่วัย 72 ฝากถามด้วยความงึดง้อ

.....................................................................................................................................

หมายเหตุ 1 – ผมเขียนเรื่องนี้ เพื่อต้องการสะท้อนชะตากรรมของคนเสื้อแดงในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะคนที่ถูกคุมขังยาวนานด้วยข้อหาทางการเมืองและต้องการสะท้อนผลกระทบ นอกจากจะเกิดขึ้นกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลแล้ว ก็ยังพบว่า ครอบครัวของเขาต่างได้รับชะตากรรมสาหัสสากรรจ์ยิ่งนัก 

หมายเหตุ 2 – ขณะที่ผู้ที่ได้ประกันตัวไปก่อนหน้านี้ ก็มีชะตากรรมไม่ต่างกัน เพราะการตั้งวงเงินหรือหลักทรัพย์สำหรับการประกันตัวไว้สูง ทำให้บางรายมีหนี้สินล้นพ้นตัว เกินกว่าคนจน คนสามัญที่มีสำนึกทางการเมือง (ต่างจากรัฐบาลที่มาจากค่ายทหาร) จะแบกรับไหว 

หมายเหตุ 3 – จากหมายเหตุ 1 และ 2 นั่นคือ คำตอบของการปฏิรูป ปรองดอง สมานฉันท์ สามัคคี รักชาติ ขอความสงบสุขคืนมา และ นอกเหนือจากคนที่ถูกจองจำและคนที่ถูกประกันตัวแล้ว คนที่ถูกตามล่า ตามคุกคามอีกจำนวนมาก ล้วนทำให้คำตอบถึงความจริงใจในหมายเหตุ 3 ชัดเจนมากขึ้น

หมายเหตุ 4 ผม ได้หารือเพื่อนบางคนจากศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุม เมษายน – พฤษภาคม 2553 (ศปช.) ว่า เราจะหาทางนำเสนอเรื่องราวของคนเสื้อแดงและหาทางช่วยเหลือทั้งในเชิงหลักการ ในภาพรวมและลงในรายละเอียดเป็นรายกรณี 

ดังนั้น การที่ผมเขียนบันทึกเรื่องราวของพวกเธอและเขา ผมนึกถึง หมอลำขอข้าว ศิลปินเปิดหมวก กวีแลกข้าว บทความแลกข้าว หรืออะไรก็แล้วแต่ที่จะนำไปสู่การเยียวยาเหยื่อคดีทางการเมืองของแผ่นดินนี้เท่าที่ความสามารถและพลังงานผมจะเอื้ออำนวย 

หมายเหตุ 5 - เพื่อให้ความช่วยเหลือจากท่านผู้อ่านได้เดินทางไปถึงครอบครัวของผู้ต้องคดี ทางการเมืองในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบรุนแรง ดังนั้น ผมจึงขออนุญาตระบุหมายเลขบัญชีธนาคารของพวกเขาไว้ตอนท้ายบันทึก เพื่อให้การช่วยเหลือจากท่านไปถึงพวกเขาโดยตรง

 

กรณีนี้ หากท่านต้องการช่วยเหลือ สามารถโอนเงินเข้าบัญชี ออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาวารินชำราบ ชื่อบัญชี น.ส.สมพัน มีมวล (เธอเป็นภรรยาของผู้ต้องขัง) เลขที่บัญชี 314 – 0 – 37494 – 1

…………………………………………………………………………………………………


ส่วนกรณีก่อนหน้านี้
ท่านสามารถสืบค้นเรื่องย้อนหลังตามลิงค์ข้างล่างนี้

1)      อยุติธรรมซึ่งหน้า http://www.prachatai.com/journal/2011/04/33991

2)      ฅนนอกคุก http://www.prachatai.com/journal/2011/04/33882

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีศรีประชา: หลับเถิดสหาย

Posted: 20 Apr 2011 08:30 AM PDT

หลับเถิดสหาย....
ผู้ข้ามพ้นความตายอย่างเข้มข้น
ตาย แต่ว่า ไม่ตาย ตรึงใจคน
ก่ออิฐบนกำแพงอันแกร่งไกร
อิฐทุกก้อนคือหลักฐานประวัติศาสตร์
สำคัญชาติกัลปาวสานสมัย
อิฐชีวิตเลือดเนื้อและเหงื่อไคล
ไหลเป็นลำน้ำใหญ่อันชื่นเย็น

หลับเถิดสหาย....
เย็นสายลมโปรยปราย แสงดาวเด่น
แม้คืนนี้ร้างเพื่อน ไร้เดือนเพ็ญ
ยังมองเห็นผู้ท้าทวงเข้าช่วงชิง

หลับเถิดสหาย....
จารึก ความตาย อันใหญ่ยิ่ง
น้อมคาระวาลัยจากใจจริง
กราบนักสู้ใจสิงห์ทุกวิญญาณ
สถิตสัมปรายภพ สงบสมัย
สวรรค์ชั้นประชาธิปไตยอันกล้าหาญ
เหนือรุ้งฟ้านิรันดร์อนันตกาล
ทิพยประชาชาญชัยชโย
มรณะเพื่อประโยชน์ประชาราษฎร์
ปลดอำนาจ อำมาตย์ พ้นห่วงโซ่
ถมร่างนองเลือดเนื้อเหงื่อเสโท
โอม.. นโม สดุดี วีรชน.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: ‘ดาบมิจฉาทิฐิ’

Posted: 20 Apr 2011 08:25 AM PDT

จำได้ว่าสมัยผมเป็นสามเณร ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟังว่า ยุคแรกๆ ที่บ้านเราเริ่มจัดการศึกษาแบบตะวันตก คณะสงฆ์มีกฎเหล็กห้ามพระเณรไปเรียนภาษาอังกฤษ ด้วยข้ออ้างที่ว่าเป็น “เดรัจฉานวิชา” (วิชาชั้นต่ำ,วิชาสัตว์เดรัจฉาน)

ก่อนหน้านั้นราวสมัย ร.4 ขึ้นไป เมื่อความรู้แบบวิทยาศาสตร์ตะวันตกเข้ามาในสยามประเทศใหม่ๆ ชาวพุทธก็มองว่าวิทยาศาสตร์คือ “มิจฉาทิฐิ” ไม่สมควรเรียนรู้ และเป็นเรื่องที่ประหลาดมากในยุคโลกไร้พรมแดนเช่นนี้ คำว่า “มิจฉาทิฐิ” ยังเป็นอุปสรรคอย่างสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการสร้าง “วัฒนธรรมการใช้เหตุผล” ในการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ หากมองในมิติวัฒนธรรมทางความคิดความเชื่อของคนไทยจะพบว่ามีรากมาจากวัฒนธรรมพุทธเถรวาท (แบบไทย) และหากไปดูในคัมภีร์ของพุทธศาสนาจะพบว่า พุทธศาสนามี “ท่าที” ต่อความเห็นต่างว่าเป็น “มิจฉาทิฐิ” มาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในคัมภีร์พุทธศาสนามีการจัดความเห็นต่างที่พุทธศาสนามองว่าเป็นมิจฉาทิฐิไว้อย่างน้อย 62 ความเห็น หรือ 62 ลัทธิความเชื่อ ใน 62 ลัทธิความเชื่อนั้น บางลัทธิความเชื่อก็เป็นศาสนา และปรัชญาสำคัญที่คนสมัยนั้นเชื่อถือกันเป็นจำนวนมาก เช่น ศาสนาเชน ปรัชญาของครูทั้ง 6 ความเชื่อเรื่องอัตตาของพราหมณ์ ฯลฯ

คำว่า “มิจฉาทิฐิ” มีความหมายสองอย่าง ความหมายแรกมิจฉาทิฐิคือความเห็นไม่ตรงตามเป็นจริง ความหมายที่สองคือเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ถ้าพูดในระดับจิตใจคือเห็นตามอำนาจอวิชชาตัณหา หรือมีอคติต่างๆ เป็นตัวกำหนดหรือเป็นกรอบในการมอง การตีความ การคิดปรุงแต่งให้เกิดทุกข์

แต่ที่จริงความเห็นต่าง เช่น ในอินเดียสมัยพุทธกาลอย่างน้อย 62 ความเห็นนั้น ก็มีคนอินเดียจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเป็นความเห็นที่ตรงตามเป็นจริง ถูกทำนองคลองธรรม หรือเป็นความเห็นที่มีเหตุผลยากที่จะถูกหักล้างได้ ซึ่งหมายความว่าคนที่เชื่อต่างออกไป ศาสนาอื่น ปรัชญาอื่นๆ เขาก็ยืนยันว่าความเห็น ความเชื่อของเขาไม่ใช่ความเห็นที่ผิดบาปหรือชั่วร้ายใดๆ

ซึ่งก็เท่ากับว่าแต่ละฝ่ายต่างยืนยันว่าความเชื่อหรือความเห็นตามหลักศาสนาและปรัชญาของตนเองเป็นสัจธรรม และต่างก็โจมตีว่าความเชื่ออื่นๆ เป็นมิจฉาทิฐิ (เทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้าก็เริ่มด้วยการวิพากษ์ว่า กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยคเป็นความเชื่อที่ผิด)

อย่างไรก็ตาม การตัดสินว่าความเห็นใดเห็นหนึ่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือในกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นมิจฉาทิฐิ หรือทั้งระบบของความเชื่อใดความเห็นหนึ่งเป็นมิจฉาทิฐิ ก็ย่อมสามารตัดสินได้หากพิสูจน์ได้หรือมีหลักฐานมีเหตุผลเพียงพอว่าความเห็นนั้นๆ ในเรื่องนั้นๆ หรือทั้งระบบของความเชื่อนั้นๆ เป็นสิ่งที่ผิด และหากเป็นการตัดสินเพื่อชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างความเห็นที่ผิดกับความเห็นที่ถูก หรือเพื่อชี้ข้อเสียของความเห็นที่ผิด ชี้ข้อดีของความเห็นที่ถูก

แต่ปัญหาคือ คำว่า “มิจฉาทิฐิ” ที่ใช้กันมาอย่างเป็นจารีตนั้น มันมีความหมายในเชิงคุณค่าแฝงอยู่อย่างมีนัยสำคัญว่า 1) มิจฉาทิฐิเป็นความเห็นที่ผิด ที่ชั่ว คนที่มีมิจฉาทิฐิจึงเป็นคนผิดคนชั่ว เป็นคนไม่น่าเสวนาด้วย ไม่น่าคบหาสมาคม (เป็นต้น) ไปด้วย และ 2) มักมีการใช้คำว่า “มิจฉาทิฐิ” ไปตัดสินความเห็น ความเชื่อ ความรู้ ภูมิปัญญาอื่น ฯลฯ อย่างมีอคติ เช่น ในอดีตที่ตัดสินกันว่าวิทยาศาสตร์เป็นมิจฉาทิฐิ ความรู้แบบตะวันตกเป็นมิจฉาทิฐิ ภาษาอังกฤษเป็นเดรัจฉานวิชา ฯลฯ

ผลของการใช้มิจฉาทิฐิในความหมายดังกล่าว ทำให้ประณามความเห็นต่าง คนที่เห็นต่าง ศาสนา ปรัชญา ความเชื่อ อุดมการณ์ที่ต่างจากเราว่าไม่ถูก ไม่ดี ชั่วช้า ฯลฯ ทำให้หลงตัวเองว่าดี ถูก อยู่ฝ่ายเดียว มีท่าทีเป็นศัตรูกับมุมองที่แตกต่าง เป็นอุปสรรคต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การใช้เหตุผลในการอยู่ร่วมกัน ไปๆ มาๆ ความจริงความเท็จ ความถูก ความผิด ก็ขึ้นอยู่กับว่ามันเป็นความเชื่อของคนที่มีสถานะใด (ผู้ใหญ่ ผู้น้อย พระ หรือคนธรรมดา ฯลฯ) ศาสนาของฝ่ายใด อุดมการณ์ของฝ่ายใด หรือหนักเข้าก็แค่ว่าเป็นใคร พวกใคร สีไหน ฯลฯ (ไม่ต้องสนใจเนื้อหาความคิด เหตุผล หลักฐาน เจตนาจริงๆ ของเขาคืออะไร)

เช่น ในอดีตเมื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ วิจารณ์การมอมเมาชาวบ้านด้วยศาสนาแบบจารีตที่เอาบุญกุศลมาเป็นสินค้า เขาต้องถูกประณามว่าเป็นมิจฉาทิฐิและถูกจับติดคุก ดังจิตรได้กล่าวถึงความเรียง ผีตองเหลือง ไว้ในคำแถลงการณ์ปิดท้ายของจำเลย ก่อนที่ศาลทหารกรุงเทพฯ จะพิพากษาคดีของตน ไว้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2507 ซึ่งกล่าวพาดพิงไปถึงกรณีการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ 23 ตุลาฯ ปี 2496 อันเป็นการบ่อนทำลายพุทธศาสนาว่า

"จำเลย จึงขอศาลได้โปรดพิจารณาเหตุผล ข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริง แล้วพิพากษาชี้ขาดให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ซึ่งได้ถูกกักขังทรมานมาเป็นเวลา 6 ปีเศษแล้ว ให้ได้รับอิสรภาพอันมีเกียรติ ขอศาลได้ชี้ว่า การกระทำโดยสุจริตเพื่อสร้างสรรค์ เพื่อความดีงาม เพื่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระศาสนา อันเป็นสิ่งที่แม้พระศาสนา พระภิกษุ และชาวพุทธที่แท้ทั้งหลายย่อมกระทำกันนี้ เป็นความผิดและต้องรับโทษหรือ และจำเลยเองในฐานะที่เป็นสาราณียกร ซึ่งเชื่อโดยสุจริตว่า บทความนี้เป็นบทความเพื่อพิทักษ์พุทธศาสนา และกำจัดสิ่งโสโครกสิ่งปฏิกูลทั้งหลายบรรดาที่เข้ามาแอบแฝงอาศัยศาสนาหากิน ซึ่งพระศาสดาพระพุทธสาวกที่แท้ทั้งหลายได้ต่อสู้เพื่อทำลายให้หมดไปนี้ พึงต้องได้รับโทษ หรือคำพิพากษาของศาลย่อมจักเป็นประวัติศาสตร์อยู่ตลอดไปชั่วกาลนาน" (http://www.reocities.com/thaifreeman/jit/yonbok/yonbok.html)

หากพิจารณาอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ข้อวิจารณ์ของจิตร ใน “ผีตองเหลือง” เป็นการพูดถึงความจริงอีกด้านหนึ่งของศาสนาที่เอาเปรียบสังคม มอมเมาผู้คนให้อยู่ในโลกของมายาคติ ความเพ้อฝัน ความเชื่อที่หวังพึ่งพาการดลบันดาลความสุขในชีวิต หรือการใช้ศาสนาเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์แก่ผู้มีอำนาจรัฐ ศาสนาในความหมายที่สอนให้คนสยบยอมต่อชะตากรรม มุ่งความสุขสบายส่วนตัว อยู่ในโลกของความเชื่อ ไม่สนใจโลกที่เป็นจริง ไม่สนใจปัญหาสังคม ฯลฯ

ที่สำคัญคือไม่ได้สนใจความเป็นธรรม หรือการเปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคมให้ดีขึ้นด้วยการใช้สติปัญญาของตนเอง และการมีส่วนร่วมทางสังคม ฉะนั้น หากพิจารณาในแง่สาระ คนที่วิจารณ์ความจริงในด้านมืดของศาสนา และใส่ใจอย่างลึกซึ้งต่อปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม หรืออุทิศตัวต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมอย่างจิตรต่างหาก ที่น่าจะถือว่าเป็นคนมีศาสนาในความหมายที่ถูกต้องมากกว่า

ศาสนาที่ถูกต้องคือศาสนาที่เป็นชีวิตหรือวิถีชีวิต หรือศาสนาที่มีอยู่ในตัวคนที่แสดงออกเป็นมโนธรรมสำนึก ความเชื่อมั่นในคุณค่าของมนุษย์ ความรักความปรารถนาความดีงาม ความเป็นธรรม เสรีภาพอิสรภาพ สันติภาพ โดยไม่แยกความดีงามส่วนตนออกจากความสัมพันธ์เชิงสนับสนุนกันกับความดีงามหรือความเป็นธรรมทางสังคม มองจากแง่นี้ จิตรอาจเป็นคนมีศาสนาในความหมายนี้มากกว่าฝ่ายที่โจมตีว่าเขาเป็นมิจฉาทิฐิ

จะเห็นว่าจารีตของการใช้ “มิจฉาทิฐิ” ในทางศาสนานั้น เป็นการใช้เป็นเครื่องมือปกป้องศาสนาเชิงสถาบัน สังเกตว่าเวลาคนพูดถึงความมั่นคงของศาสนาเขาไม่ได้พูดถึงศาสนาในชีวิตคน เขาพูดถึงศาสนาเชิงสถาบัน แต่ศาสนาเชิงสถาบันนั้นแข็งทื่อเต็มไปด้วยเปลือก รูปแบบพิธีกรรมการปลูกฝังทัศนคติเพื่อปกป้องตัวสถาบันนั้นเอง ศาสนาที่นำไปสู่สงคราม การเข่นฆ่า ความแตกร้าวที่เป็นมาในอดีตจนถึงปัจจุบันไม่ใช่ศาสนาในชีวิตคนแต่เป็นศาสนาเชิงสถาบัน

โลกตะวันตกมีประสบการณ์เกี่ยวกับอันตรายของศาสนาเชิงสถาบัน จึงเกิดการวิพากษ์พิษภัยของศาสนาเชิงสถาบันจนตกผลึกและได้ข้อสรุปว่า ต้องแยกศาสนาเชิงสถาบันออกจากการเมือง ไม่ให้สถาบันทางศาสนามีอำนาจทางการเมืองอีกต่อไป อย่างที่เรียกว่าแยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน ให้รัฐเป็นเรื่องของส่วนรวม แต่ศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล

แต่ว่าศาสนาในชีวิตคนก็ยังอยู่กับคน ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นนักกฎหมาย นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ ศาสนาในชีวิตเขาอาจเป็นพลังหรือแรงบันดาลใจบางอย่างให้เขาทำชีวิตตนเองให้มีคุณค่า ความสุขภายใน แต่เขาก็แยกแยะความเชื่อทางศาสนาส่วนตัวของเขากับบทบาทหน้าที่ซึ่งมีลักษณะเฉพาะอีกต่างหาก

เช่น เมื่อนิวตันคิดสืบค้นความจริงทางวิทยาศาสตร์ เขาก็ไม่เอาความเชื่อทางศาสนามาตัดสิน เมื่อเข้าโบสถ์ก็ไม่เอาความจริงทางวิทยาศาสตร์ไปตัดสินความเชื่อทางศาสนา เช่นเดียวกันก็เป็นไปได้ที่นักต่อสู้ทางการเมืองบางคนจะมีความเชื่อทางศาสนาอย่างลึกซึ้ง มีศาสนาเป็นแรงบันดาลใจในการอุทิศตนเสียสละ การเผชิญกับความทุกข์ส่วนตนและทุกข์ทางสังคมอย่างมีสติ

แต่เขาก็จะแยกแยะออกระหว่างศาสนากับการเมือง เขาจะไม่เอาความเชื่อทางศาสนาของตนเองไปกำหนดอุดมการณ์หรือจุดประสงค์ทางการเมือง ไม่เอาวาระทางศาสนาที่ตนเชื่อไปเป็นวาระทางการเมือง แม้กระทั่งเคลื่อนไหวทางการเมืองเพียงเพื่อประชาสัมพันธ์ศาสนาที่ตนนับถือ โดยถือว่าความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางศาสนาที่ตนนับถือคือสิ่งสำคัญกว่าระบบหรืออุดมการณ์ทางการเมือง เป็นต้น

ที่สำคัญคนมีศาสนาในชีวิตจริงๆ ย่อมเปิดใจเคารพสิทธิที่จะเห็นต่าง และพร้อมเผชิญการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผล โดยไม่ใช้ “ดาบมิจฉาทิฐิ” ไปฟาดฟันใครง่ายๆ มองการวิจารณ์เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อก้าวไปสู่เหตุผลที่ดีกว่า ไม่ปิดกั้นตัวเอง ไม่แม้แต่เรียกร้องให้ใครมาเห็นด้วยกับตนเอง และไม่ปรามาสคนที่วิจารณ์ “ความคิด” ของตัวเองว่า คือคนที่มากดดันหรือพยายามเปลี่ยนความคิดของตนเองให้คิดเหมือนเขา หรือให้ไปเป็นพวกเดียวกับเขา

เพราะโลกสมัยใหม่ไม่ใช่โลกของการเทศนาอยู่ฝ่ายเดียว แต่เป็นโลกของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย และเราอาจค้นพบปัญญาได้ด้วยการออกจาก “ถ้ำ” มาอยู่ในโลกของความเป็นจริงที่เป็นโลกของการสร้างวัฒนธรรมเสรีภาพและความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ไอซีที" ยันร่าง พ.ร.บ.คอมฯเข้าสภาไม่ทันสมัยนี้-ชี้เพิ่มโทษเว็บมาสเตอร์สูงหวังให้ดูแลกันเอง

Posted: 20 Apr 2011 08:06 AM PDT

รมว.ไอซีที ยันร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ไม่สามารถนำเข้าที่ประชุมรัฐสภาได้ทันในสมัยนี้ ชี้กว่ากฎหมายจะผ่าน ยังต้องรับฟังความเห็นประชาชนอีกหลายรอบ ระบุบทลงโทษในร่างใหม่ไม่ได้สูงไปกว่ากฎหมายประเทศอื่นๆ แจงบทลงโทษเว็บมาสเตอร์สูงขึ้น เพราะต้องการให้ควบคุมดูแลกันเอง

เว็บไซต์ไทยรัฐ สัมภาษณ์นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ถึงกรณีที่มีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อไม่ให้นำร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ พ.ศ.... เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เนื่องจากเห็นว่าเป็นการลิดรอนสิทธิประชาชนมากเกินไป โดยนายจุติกล่าวว่า ตัวร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่กลุ่มผู้ชุมนุมนำมายื่นนายกฯ เป็นร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ พ.ศ....ฉบับเก่า ที่อยู่บนเว็บไซต์ ซึ่งเป็นร่างก่อนประชาพิจารณ์ ขณะที่ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ พ.ศ....ซึ่งแก้ไขแล้วหลังรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ คือ ตัวร่างพ.ร.บ.ที่จะนำ เข้าที่ประชุมครม.

รมว.ไอซีที กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ พ.ศ....ทำขึ้นเพื่อปกป้องประโยชน์ของประชาชน ขณะที่ ปัจจุบันมีผู้อินเทอร์เน็ต 16.7 ล้านคน มีผู้กระทำความผิดและละเมิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เพียง 5 พันกว่าคนเท่านั้น

“อย่าไปตกใจกับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ พ.ศ.... เพราะเมื่อนำเข้า ครม. แล้วก็ใช่ว่าจะประกาศใช้ได้ทันที เนื่องจากยังต้องนำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ พ.ศ....เข้าสู่กฤษฎีกา แล้วเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกหลายรอบ” นายจุติ กล่าว

รมว.ไอซีที กล่าวอีกว่า เนื้อความของร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ พ.ศ....ที่แก้ไข ซึ่งมีบทลงโทษผู้กระความผิดที่สูงขึ้นนั้น ความจริงแล้วไม่ได้มีบทลงโทษสูงไปกว่ากฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดของประเทศอื่นๆ แต่อย่างใด ประเด็นที่ว่าร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับ ใหม่ พ.ศ....มีบทลงโทษเว็บมาสเตอร์ที่สูงขึ้นอาจทำให้เกิดการคัดค้านจากกลุ่มเว็บมาสเตอร์ นายจุติ ระบุว่า การที่ต้องมีบทลงโทษเว็บมาสเตอร์ที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากต้องการให้เกิด การควบคุมดูแลกันเอง และทำให้เกิดการแทรกแซงของหน่วยงานราชการน้อยกว่าขณะนี้

นายจุติ กล่าวด้วยว่า ที่สุดแล้ว พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ พ.ศ....ไม่สามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาได้ทันในรัฐบาลสมัยนี้ ขอให้ประชาชนอย่าแตกตื่นกับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ พ.ศ....อย่างไรก็ตาม ส.ส.ทุกคน หวั่นไหวมากกับเรื่องความเห็นของประชาชน แต่กว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ พ.ศ....จะเสร็จก็ต้องรับฟังความคิดเห็นอีกหลายรอบ โดยที่สุดแล้วต้องแก้ตามความเห็นของประชาชนทั้งนั้น

 

 

ที่มา: http://www.thairath.co.th/content/tech/165144

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาชนริมโขงร้อง “รัฐบาลลาว” ยุติความขัดแย้งประเทศลุ่มน้ำโขง ยุติเขื่อนไซยะบุรี

Posted: 20 Apr 2011 05:09 AM PDT

เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เรียกร้องรัฐบาลลาว - ช.การช่าง ยุติโครงการเขื่อนไซยะบุรี ชี้ให้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้ง 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง

 
 
วันนี้ (20 เม.ย.54) เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลลาวยุติการก่อสร้าง โครงการเขื่อนไซยะบุรี ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง ยุติความขัดแย้งประเทศลุ่มน้ำโขง หลังจากที่การประชุมคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ วานนี้ (19 เม.ย.54) ที่กรุงเวียงจันทน์ เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการเขื่อนไซยะบุรี มีมติที่ประชุมมีผลว่ากัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนามได้เห็นพ้องร่วมกันว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการไซยะบุรีควรจะยกให้ระดับรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจ เนื่องจากคณะกรรมการร่วมไม่สามารถจะบรรลุข้อสรุปร่วมกันได้ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรกับโครงการ
 
“พวกเรา เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ขอเรียกร้องให้ รัฐบาลลาว และบริษัท ช.การช่าง ยุติการดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรีทันที และขอให้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ และเพื่อดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ชีวิต และธรรมชาติของภูมิภาคที่มีแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรร่วมกัน” แถลงการณ์ระบุ
 
แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
 
 
 
แถลงการณ์
20 เมษายน 2554
เรียกร้องให้รัฐบาลลาวยุติการก่อสร้าง โครงการเขื่อนไซยะบุรี
ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง
ยุติความขัดแย้งประเทศลุ่มน้ำโขง
 
ตามที่เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ติดตามและรณรงค์เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีมาโดยตลอด ด้วยความกังวลใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทางระบบนิเวศและวิถีชีวิต ของชุมชนกว่า 60 ล้านคนในลุ่มน้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ  โดย ได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นซึ่งจัดโดยคณะกรรมการแม่น้ำโขง แห่งชาติไทย  มีการจัดเวทีของภาคประชาชนในเขตลุ่มน้ำ
 
โขงทั้ง 8 จังหวัด จำนวน 5 ครั้ง ในภาคอีสาน และมีการยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีไทย นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งภาคประชาชนเรียกร้องให้มีการชะลอการ ตัดสินใจโครงการออกไปก่อน จนกว่าจะได้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายงานการศึกษาผลกระทบ ทั้งหมด ตลอดจนขอให้มีการจัดกระบวนการรับฟังความเห็นที่เปิดกว้างและมีผู้เข้าร่วม ที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงความผาสุกของประชาชนในลุ่มน้ำ
 
เมื่อวัน ที่ 19 เมษายน มีการประชุมคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ ที่กรุงเวียงจันทน์ เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการเขื่อนไซยะบุรีแห่งนี้ ซึ่งมติที่ประชุมมีผลว่ากัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนามได้เห็นพ้องร่วมกันว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการไซยะบุรีควรจะ ยกให้ระดับรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจ เนื่องจากคณะกรรมการร่วม ไม่สามารถจะบรรลุข้อสรุปร่วมกันได้ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรกับโครงการ
 
ในขณะที่ ประเทศสมาชิกอีก 3 ประเทศ แสดงความกังวลถึงผลกระทบ ข้อมูลทางเทคนิค และมาตรการบรรเทาผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดน แต่ทางรัฐบาลลาวกลับยืนกรานว่ากระบวนการสมบูรณ์ และยืนยันว่าไม่จำเป็นจะต้องยืดกระบวนการต่อไปอีกเนื่องจากผลกระทบข้าม พรมแดนนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น หากมีการศึกษาเพิ่มเติมจะต้องการเวลามากกว่าหกเดือน และจะไม่สามารถสร้างความพอใจให้เกิดแก่ทุกฝ่ายได้อยู่ดี นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวว่าได้มีการเริ่มก่อสร้างโครงการ เขื่อนไซยะบุรี และเตรียมอพยพประชาชนออกจากพื้นที่แล้ว
 
ดังนั้น เท่ากับว่ารัฐบาลลาวได้แสดงออกอย่างดึงดันแล้วว่า จะไม่ยอมรับฟังเสียงของประเทศอื่นๆ ที่ใช้ทรัพยากรแม่น้ำโขงร่วมกัน  
 
พวกเรา เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ขอเรียกร้องให้ รัฐบาลลาว และบริษัท ช.การช่าง ยุติการดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรีทันที และขอให้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ และเพื่อดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ชีวิต และธรรมชาติของภูมิภาคที่มีแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรร่วมกัน
 
พวกเรา เครือข่ายขอประกาศว่า จะติดตามและรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการทำลายแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของพวกเราตลอดไป
 
เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
ประเทศไทย
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จักรวรรดินิยมใหม่ หนทางสู่ความรุ่งเรืองหรือความล้มเหลวทางสังคม

Posted: 20 Apr 2011 02:50 AM PDT

มีประเทศจักรวรรดินิยมหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย ที่ต่างเดินเข้ามาตามคำเชื้อเชิญของรัฐบาลไทย แต่เมื่อมาลงทุนในประเทศไทย หรือในต่างประเทศเขาก็คือ “ปีศาจร้ายตัวหนึ่ง” ที่เหี้ยมโหดหาญกล้าท้าทายละเมิดกฎหมายของทุกประเทศที่เขาเข้าไปลงทุนอย่างไม่แยแส
 
มีนักคิดท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ในอดีตว่า เขาไม่ได้มีชีวิตอยู่ด้วยเงิน แต่เขามีชีวิตอยู่ด้วยกำลังกายต่างหาก เงินทองไม่มีค่าสำหรับเขาบนเกาะร้าง ทองกองเท่าภูเขากับเหรียญเงินเท่าภูเขาอีกสามกองก็ไม่มีประโยชน์สำหรับเขา...ฯ หากปราศจากแรงงานมนุษย์แล้ว ไม่มีสิ่งใดอีกแล้วที่มีค่า ในผืนดิน ใต้เท้าของเรา มีอะไรมากมายให้ค้นหา ทองคำ เงิน ทองแดง เหล็ก ถ่านหิน เกลือ ก๊าซ ฯลฯ ความมั่งคั่งมากกว่าจินตนาการได้ แต่มันย่อมไร้ค่าถ้าปราศจากแรงงานมนุษย์ ไร้ค่าจนกว่า จะมีคนขุดมันขึ้นมาจากครรภ์ของพระแม่ธรณี และเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์
 
จักรวรรดินิยมในอดีตมาในรูปแบบการล่าอาณานิคมเอามาเป็นเมืองขึ้น โดยการใช้กำลังกดขี่คนลงเป็นทาส ทั้งทางความคิดและมีการค้ามนุษย์ มีการกดขี่ทางชนชั้น แต่ปัจจุบันการล่าอาณานิคมนั้นไม่ต้องยกกองกำลังทหารและไม่ต้องขนอาวุธไปต่อสู้หรือใช้กำลังเข่นฆ่ากันเช่นในอดีตแล้ว การล่าอาณานิคมสมัยใหม่นายทุนเพียงแค่ส่งเงินมาลงทุน และสร้างกฎเกณฑ์รวมถึงเงื่อนไขได้ตามความพอใจ เอาความได้เปรียบทางกฎหมายและร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อฉลบางคน ก็สามารถล่าเมืองขึ้นได้แล้ว หลายคนเคยบอกว่าโชคดีที่ประเทศไทยไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของใครในอดีต แต่ทุกวันนี้เริ่มรู้สึกไม่แน่ใจเสียแล้วว่าการที่เราไม่ตกเป็นเมืองขึ้นในอดีต มันแตกต่างกันอย่างไรกับสภาพปัญหาในปัจจุบัน ณ วันนี้เราก็ไม่ได้แตกต่างจากการตกเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดินิยมอื่นเลยหรือเรียกแบบสวยหรูว่า ทุนข้ามชาติ ทุกเดือนเราต้องส่งส่วยในรูปแบบการนำเข้าวัตถุดิบ การนำเข้าเครื่องจักร ทางด้านอุตสาหกรรมมากมาย เราต้องสูญเสีย เงินมหาศาลจากการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย และหลังจากนั้นประเทศที่ส่งออกทุนก็มาอาศัยฐานทรัพยากรธรรมชาติของเราในการผลิต และมากอบโกยเอาพลังงานธรรมชาติและพลังความเป็นหนุ่มสาวของประชาชนของเรา ประชาชนคนวัยหนุ่มสาวเคยคาดหวังว่าหลังจากจบการศึกษา ทุกคนต้องการทำงานที่ตนเองใฝ่ฝัน มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามที่รัฐบาลของนายทุนเคยประกาศให้สัญญาไว้ แต่หนุ่มสาวเหล่านั้นก็ต้องสูญสิ้นความหวังไปกับวันเวลาที่เคลื่อนไปอย่างไม่หยุดนิ่ง หลังเรียนจบออกมาทุกคนต่างออกมาเป็นผู้ขายแรงงานราคาถูกที่ไม่สามารถแม้แต่จะกำหนดราคาค่าแรงของตนเองได้ มีประเทศจักรวรรดินิยมหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย ที่ต่างเดินเข้ามาตามคำเชื้อเชิญของรัฐบาลไทย เช่น Japanese Imperialism, Europe Imperialism และอีกมากมายแม้กระทั้ง American Imperialism ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ให้การปกป้องด้านสิทธิมนุษยชนมากที่สุด แต่เมื่อเขามาลงทุนในประเทศไทย หรือในต่างประเทศเขาก็คือ ปีศาจร้ายตัวหนึ่ง ที่เหี้ยมโหดหาญกล้าท้าทายละเมิดกฎหมายของทุกประเทศที่เขาเข้าไปลงทุนอย่างไม่แยแส
 
ปัจจุบันเราต้องส่งส่วยบรรณาการในรูปแบบใหม่ไม่ต้องส่งใส่เรือสำเภาเหมือนเช่นในอดีต วันนี้เขาซื้อขายทาสกันในตลาดหลักทรัพย์  ประชาชนทั่วไปก็จะกลายเป็นผู้ส่งส่วยอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ผ่อนส่งรถยนต์ ผ่อนส่งสินค้าที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต ประชาชนคนหนุ่มสาวก็ถูกบังคับให้เป็นหนี้ตั้งแต่ยังไม่จบการศึกษาโดยการกู้ยืมเงินเพื่อศึกษา และผ่อนชำระเงินที่กู้ยืมคืนหลังเรียนจบไม่ว่าคนเหล่านั้นจะสามารถหางานทำได้หรือไม่? เงินเดือนเกินกว่าครึ่งถูกใช้จ่ายไปเพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตหรือหนี้ที่ต้องการให้ตนเองดูดีมีหน้าตาทางสังคม วิถีการดำรงชีวิตวนเวียนอยู่ภายในวังวนของการเป็นหนี้
 
หนีออกนอกเมืองคืนสู่ชนบท สถานที่ที่เคยเป็นถิ่นอาศัยของกรรมกรหนุ่มสาว พบแต่ชายชราที่หลังของเขางองุ้มแสดงให้เห็นว่าเขาได้ผ่านการตรากตรำงานหนักมามากเกือบทั้งชีวิต ยืนเคียงคู่อยู่กับเด็กน้อยวัยกำลังซนซึ่งเป็นหลานชาย ที่ลูกที่ทำงานอยู่ในเมืองเอามาฝากไว้ให้เลี้ยงดูตั้งแต่สมัยเรียนยังไม่จบ แต่ริรักระหว่างเรียนจึงทำให้เกิดเด็กน้อยขึ้นมา ท่ามกลางความสับสนของเด็กว่าใครคือ พ่อ และใครคือ แม่ ที่แท้จริงของตน แต่ไม่เป็นไรมันไม่ใช่เรื่องสำคัญมากนักเพราะหนุ่มสาวเหล่านั้นไม่เคยสนใจมันอยู่แล้ว อย่างมากเขาเหล่านั้นอาจจะส่งเงินทองกลับมาให้ได้ใช้บ้างในบางโอกาส และเด็กน้อยเองก็ไม่เคยเอ่ยปากถามหาพ่อหรือแม่แต่อย่างไร เด็กน้อยสามารถเขียนสะกดคำว่า “ความรัก” ได้ถูกต้อง แต่เด็กน้อยไม่สามารถอธิบายให้กับใครได้เข้าใจว่ามันเป็นเช่นใด หรือมันมีความรู้สึกเป็นอย่างไรเพราะเขาเองไม่เคยสัมผัสมันได้ในความเป็นจริง เขาเคยได้ยินแต่ปู่กับย่าบอกว่า “พ่อแกชื่อ.......แม่แกชื่อ........” เขาทราบข้อมูลของพ่อและแม่ไม่มากไปกว่านี้เลย
 
มองเข้าไปในดวงตาของชายชราพบแต่ความว่างเปล่าไร้ซึ่งความหวังใดๆ ชายชราเล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟังว่าเคยมีที่นาไม่น้อยกว่าสิบไร่ไว้ปลูกข้าวกินเลี้ยงคนในครอบครัวได้ตลอดทั้งปีและบางปีที่ฝนฟ้าดีก็ได้พอแบ่งขาย และมีที่ดินอีกกว่าสิบไร่ไว้ปลูกพืชผลทางการเกษตรเพื่อเป็นแหล่งรายได้ของครอบครัว แต่เดี๋ยวนี้ที่ดินที่เคยมีเป็นของตนเองต้องตกไปอยู่ในมือนายทุนโดยที่เราไม่มีโอกาสแม้แต่จะขัดขืนหรือปกป้องสมบัติชิ้นสุดท้ายที่มีอยู่แต่อย่างใด เพราะเขาไม่มีเงินจะใช้หนี้สินที่เกิดจากการทำเกษตรกรรมที่ล้มเหลว เพราะกลไกการตลาดทั้งหมดถูกควบคุมโดยกลุ่มทุนผูกขาดเพียงไม่กี่กลุ่ม
 
ในนามของการพัฒนาตามที่รัฐบาลกำลังประกาศ วันนี้เรากำลังเดินทางไปสู่จุดหมายใด ขณะที่ระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้ตอบสนองการพัฒนาท้องถิ่นในชนบท แต่กลับสนับสนุนและส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาที่จบการศึกษาออกไปรับใช้ระบบทุนซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ากว่า ๘๐ เปอร์เซ็น เป็นทุนข้ามชาติ หนุ่มสาวในวัยแสวงหาทั้งหลายก็หมดเวลาของชีวิตทั้งชีวิตเพื่อรับใช้ทุนต่างชาติ เขาเหล่านั้นได้รับเพียงค่าแรงถูกๆ แค่พอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ และเหลือบ้างนิดหน่อยเพื่อที่จะส่งไปให้กับลูกในชนบท พอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้และเติบโตขึ้นมาเป็นกรรมกรรุ่นใหม่รับใช้นายทุนข้ามชาติแทนเขาในรุ่นต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TDRI เสนอผลวิจัย ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

Posted: 20 Apr 2011 01:53 AM PDT

 

 

ทุกๆ ปี ศาลยุติธรรมจะต้องรับคดีเข้าสู่การระบบมากเกินกว่าที่จะสามารถพิจารณาให้เสร็จสิ้นลงได้ จึงมีคดีคั่งค้างในศาลและระบบยุติธรรมทางอาญาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมไทยใช้ทรัพยากรทั้งงบประมาณและบุคลากรมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ ปัญหาดังกล่าวข้างต้นนอกจากจะก่อให้เกิดต้นทุนอย่างมหาศาลต่อระบบยุติธรรมของประเทศแล้วยังทำให้เกิดคำถามต่อระบบยุติธรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพต่ำ อาจไม่ทำให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริง

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง “ทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ภายใต้โครงการการวิเคราะห์กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยเศรษฐศาสตร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมร่วมกันแสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย นำเสนอผลการศึกษาโดยสรุปว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการออกแบบกฎกติกาต่างๆ ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสมหลายประการ โดยเฉพาะการใช้กระบวนการทางอาญาเป็นหลักในการระงับข้อพิพาท ข้อเสนอแนะหลักในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ หนึ่ง การยกเลิกโทษทางอาญาในกฎหมายบางฉบับ โดยเฉพาะในคดีเช็คและคดีหมิ่นประมาท สอง การสนับสนุนการไกล่เกลี่ยในคดีที่ยอมความกันได้ และสาม การใช้โทษปรับแทนการจำคุกในคดีอาญาที่ไม่ร้ายแรง โดยเฉพาะการนำโทษปรับตามรายได้ (day fines) มาใช้ ทั้งนี้ ลำพังแนวทางการปฏิรูปทั้ง 3 แนวทางจะช่วยลดต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมได้รวมกันกว่าปีละ 2 พันล้านบาท โดยจะช่วยลดจำนวนคดีในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ศาลและกระบวนการยุติธรรมมีทรัพยากรเพียงพอในการพิจารณาคดีอื่นๆ ที่สำคัญกว่าได้

นักวิชาการในสถาบันการศึกษาให้ความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดย ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นเนื่องจากข้อพิพาทบางอย่างนั้น ผู้เสียหายมีทางเลือกในการดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ได้ เช่น คดีเช็ค และคดีหมิ่นประมาท ในประเทศไทยนั้น ต้นทุนในการดำเนินคดีอาญากับคดีแพ่งต่างกัน ผู้เสียหายส่วนใหญ่จึงเลือกดำเนินคดีอาญาเนื่องจากต้นทุนดำเนินการอิงกับงบประมาณของรัฐ ต่างจากคดีแพ่งที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ผลของการกระทำนี้ทำให้รัฐต้องแบกรับภาระต้นทุนในการดำเนินคดีแทนเอกชน ทั้ง ๆ ที่รัฐควรจะเอาต้นทุนเหล่านี้ไปดำเนินคดีที่เป็นความสงบของสังคม เช่น คดีฆาตกรรม คดีทำร้ายร่างกาย คดียาเสพติด ฯลฯ มากกว่า

ขณะที่ ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับกรอบแนวคิดของกระบวนการยุติธรรมทางเลือกของสหประชาชาติ โดยทางเลือกในการลงโทษที่น่าสนใจในงานศึกษานี้ คือ การทำงานบริการสังคมแทนการกักขังแทนค่าปรับซึ่งเป็นกลไกที่มีอยู่แล้ว หากจะนำมาใช้ควรเน้นประชาสัมพันธ์ให้มาก ส่วนการใช้โทษปรับตามรายได้อาจทำเป็นโครงการทดลองระยะสั้นก่อนเพื่อศึกษาอัตราโทษและการบังคับใช้ที่เหมาะสม นอกจากนี้ ดร.จุฬารัตน์ ยังเสนอแนะให้มีการใช้ข้อมูลที่ต้นทางโดยระบุว่า ข้อมูลคดีในงานศึกษานี้มาจากข้อมูลคดีอย่างเป็นทางการ แต่หากดูจากข้อมูลสถิติอาชญากรรมทั่วประเทศ ในรอบปี พ.ศ.2550 จะพบว่า ข้อมูลอาชญากรรมที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการผ่านพนักงานสอบสวนมีเพียง 34.8% เท่านั้น ที่เหลืออีก 65.2% เป็นอาชญากรรมที่ไม่มีการรายงาน ซึ่งเราอาจเรียกว่า “ตัวเลขมืด” (dark figure) ที่มีต้นทุนอีกมหาศาล

ส่วนความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมนั้น นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า มุมมองที่ได้จากงานวิจัยทำให้เห็นภาพชัดเจน 2 ประการ คือ ประการแรก กฎหมายของไทยมีโทษทางอาญามากเกินไป และผลักภาระให้ประชาชน เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ความลับทางการค้า รวมถึงเรื่องวิดีทัศน์ ซึ่งไม่ควรเป็นคดีอาญา เพราะเป็นเรื่องของปัจเจกที่ต้องดูแลสิทธิประโยชน์ส่วนตน ประการที่สอง ระบบกล่าวหาที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมสร้างภาระให้แก่ผู้ต้องหาและจำเลยมากเกินไป รวมถึงการปล่อยตัวชั่วคราวชั้นสอบสวนที่เคร่งครัดมากในเรื่องหลักประกัน ทั้งที่รัฐธรรมนูญให้การปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลัก แต่กลับใช้การควบคุมตัวเป็นหลักปล่อยตัวชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น ทั้งนี้ นายสัก เสนอเพิ่มเติมว่า การลดต้นทุนกระบวนการยุติธรรมเป็นวิธีที่ดี แต่ยังต้องมีการลงทุนเสริมอื่นๆ ด้วย เช่น ในชั้นพนักงานสอบสวน หากสามารถมีพนักงานสอบสวนที่มีคุณภาพ จะทำให้ได้สำนวนคุณภาพที่ต้นทาง ซึ่งจะส่งผลดีต่อกระบวนการทั้งหมดได้

ในส่วนของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีความเห็นเกี่ยวกับการนำโทษปรับมาใช้แทนจำคุกต่างๆ กันไป โดย นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการศาลยุติธรรม เห็นว่า แม้การเพิ่มโทษปรับทางอาญา และการนำ “ค่าปรับตามรายได้” มาใช้จะสามารถทำได้ แต่การที่มีกฎหมายที่มีโทษทางอาญาจำนวนมาก แต่ไม่มีสภาพบังคับ จะทำให้กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนไม่เกรงกลัว และไม่เคารพกฎหมาย นอกจากนี้ ปัญหาเกี่ยวกับการที่ประชาชนมักใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นเพราะกระบวนการทางแพ่งไม่ได้ผลดีหรือมีประสิทธิภาพเท่ากระบวนการทางอาญา จึงต้องทำให้มาตรการทางแพ่งมีประสิทธิภาพและบังคับใช้ได้จริง

ขณะที่ นายวุฒิชัย หรูจิตตวิวัฒน์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ความเห็นว่า หลักการทดแทนการใช้โทษจำคุกที่ยอมรับกันในปัจจุบันคือ กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ ซึ่งมิใช่การใช้โทษปรับเพียงอย่างเดียว โทษจำคุกจะใช้เป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อไม่สามารถใช้โทษอย่างอื่นได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ปัญหาของประเทศไทย คือ ความไม่สมดุลของโทษปรับและโทษจำคุก เช่น ความผิดฐานบุกรุกมีโทษจำคุก 1 ปีแต่โทษปรับเพียง 2,000 บาท หากเปลี่ยนโทษปรับเป็นโทษกักขังแทนค่าปรับ คือ ศาลจึงถูกบีบบังคับให้ใช้โทษจำคุก

นอกจากนี้ นายมาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานพิเศษ ฝ่ายพัฒนากฎหมาย ยังเสนอความเห็นเกี่ยวกับการลดต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมเพิ่มเติมว่า การที่พนักงานอัยการที่ต้องฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัวจำนวนมาก เป็นการนำบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมาใช้ดำเนินคดีให้เอกชน ในประเทศญี่ปุ่นนั้น หากอัยการพิจารณาพยานหลักฐานในคดีความผิดต่อส่วนตัวแล้ว ผู้เสียหายจะต้องจ้างทนายเพื่อฟ้องคดีเอง ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนคดีประเภทดังกล่าวได้.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ค้านร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จวกรวบรัดพิจารณา-เป็นเครื่องมือรัฐคุมคนเห็นต่าง

Posted: 20 Apr 2011 01:45 AM PDT

นักกิจกรรม-แรงงาน-ประชาชน รวมตัวค้านร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ชี้การพิจารณากฎหมายขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ไม่มีตัวแทน ส.ส.ฝ่ายค้านในกรรมาธิการ ย้ำการชุมนุมเป็นช่องทางส่งเสียงความเดือดร้อน รัฐต้องอำนวยความสะดวก ไม่ใช่ควบคุม

 
วันนี้ (20 เม.ย.54) เวลาประมาณ 10.30 น. ประชาชนกว่า 60 คนจากศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน และองค์กรร่วมอีก 38 องค์กร ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรประชาชน องค์กรแรงงาน องค์กรเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรนิสิตนักศึกษา และองค์กรเยาวชน ได้รวมตัวยื่นหนังสือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ เพราะเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะของประชาชน และปราศจากกระบวนการพิจารณารับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง

โดยมี ไพจิตร ศรีวรขาน รองประธานวิปฝ่ายค้านออกมารับหนังสือ พร้อมทั้งกล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.ฉบับนี้ และจะพยายามคัดค้านในสภาให้ถึงที่สุด

ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.ชุมนุมนี้ เพราะเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขัดกับรัฐธรรมนูญ พร้อมตั้งคำถามว่า ถ้าเช่นนี้ คนยากคนจน คนเล็กคนน้อยที่ไม่มีอำนาจต่อรองจะทำอย่างไร การชุมนุมคือทางเดียว ที่จะทำให้รัฐบาลสนใจมาแก้ไขปัญหาของเขา

“ในอนาคตจะมีการเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องนี้ เพราะมันส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะในส่วนของขบวนการแรงงาน ถ้านายจ้างหยุดจ้างงานเราก็ทำอะไรไม่ได้เลย” ชาลี กล่าว

เทวฤทธิ์ มณีฉาย กลุ่มประกายไฟ กล่าวว่า การชุมนุมในที่สาธารณะโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิที่พลเมืองทุกคนสามารถกระทำได้ และรัฐต้องให้หลักประกัน รวมถึงส่งเสริมและอำนวยความสะดวกเพื่อให้พลเมืองได้ใช้สิทธิดังกล่าว

แน่นอนมันไม่ใช่ผลประโยชน์แก่ตัวพลเมืองเอง แต่ยังเป็นประโยชน์แก่รัฐที่จะอ้างความชอบธรรมว่าเป็นรัฐในระบอบประชาธิปไตยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการที่ระบอบนี้ให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนถือเป็นเสียงที่รัฐต้องฟังและต้องส่งเสริมให้ประชาชนได้มีเสียง และประชาชนทั่วไปคงไม่สามารถไปลากปืนหรือเอาเงินไปซื้อช่องทางในการโฆษณา เพื่อให้รัฐบาลหรือสังคมหันมาฟังเสียง การชุมนุมจึงเป็นช่องทางที่สำคัญเพื่อที่จะให้ผู้มีอำนาจหันมาฟังหรือได้ยินเสียงเหล่านั้น

ยิ่งในไทยระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนของเราก็มักถูกแทรกแซงด้วยอำนาจนอกระบบโดยตลอด ทั้งจากปืน จากเงิน จากบารมี ทำให้ระบอบรัฐสภาเองก็ไม่เป็นสถาบัน แทนที่จะฟังเสียงประชาชนกลับต้องให้ความสำคัญกับอำนาจนอกระบบที่พยายามเข้ามามีบทบาทแทรกแซงระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนเหล่านั้น ในฐานะที่เป็นประชาชนหรือพลเมืองที่ไม่สามารถเข้าถึงกลไกนอกระบบเหล่านั้น ผมคิดว่าเครื่องมือเดียวที่เราต้องรักษาไว้หรืออย่างน้อยต้องปกป้องไม่ให้ถูกแทรกแซงหรือควบคุมจากรัฐคือ "สิทธิในการชุมนุมในที่สาธารณะ"

“วันนี้เราอาจบ่นรำคาญเพื่อนประชาชนคนอื่นที่มาชุมนุม แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่าวันข้างหน้าถ้าเรายังเป็นประชาชนธรรมดาแบบนี้ ในระบอบประชาธิปไตยที่มีการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบแบบนี้ เราจะไม่ออกมาชุมนุมแบบเขาบ้าง” เทวฤทธิ์ กล่าว

เทวฤทธิ์ยังเสริมอีกว่า สำหรับ พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะที่อยู่ในสภาตอนนี้ อย่างที่บอกไปข้างต้น นอกจากการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธจะเป็นสิทธิซึ่งหมายถึงต้องไม่มีอำนาจอื่นมาแทรกแซงหรืออนุมัติว่าอนุญาตหรือไม่แล้ว รัฐมีหน้าที่ต้องมีหน้าที่ "อำนวยความสะดวก" ในการใช้สิทธิดังกล่าวด้วย

แต่จากหลายมาตราของ พ.ร.บ.นี้ เช่น การห้ามชุมนุมบริเวณสถานทีราชการ หรือองค์กรต่างประเทศ หรือการต้องแจ้งถึง 3 วัน หากไม่ทำอาจเข้าข่ายติดทัณฑ์บน คืออาจถูกพิจารณาว่าการชุมนุมนี้ไม่ชอบ และอาจนำไปสู่การเข้าควบคุมโดยรัฐต่อไป เป็นต้น เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามเข้าจำกัดและควบคุมการใช้สิทธิดังกล่าวมากกว่า

แน่นอนในต่างประเทศเขามีกฏหมายแบบนี้ แม้ในประเทศที่มีประชาธิปไตยที่มั่นคง อย่างในยุโรป แต่เขามีบนเจตนารมณ์ว่ารัฐต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้สิทธิอย่างไร ไม่ใช่เพื่อควบคุมแบบร่างฉบับนี้ ดังนั้นถ้าเจตนาไม่ดี สู้ไม่มีไปเลยดีกว่า

“ส่วนตัวแล้ว คิดว่าเราควรมีกฏหมายเกี่ยวกับการชุมนุมในที่สาธารณะ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐจะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการใช้สิทธิอย่างไร เพราะที่เป็นอยู่มันคลุมเครือทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไปหยิบกฏหมายอื่นมาใช้ควบคุมประชาชน เช่น พ.ร.บ.จราจร ฯลฯ ทำให้ประชาชนเองก็ไม่รู้ว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ด้วยซ้ำ มันมั่วอะ”

เทวฤทธิ์ กล่าวถึงการที่รัฐพยายามอ้างเรื่องสิทธิของประชาชนว่าถูกละเมิดโดยผู้ชุมนุมว่า เป็นเรื่องที่ระยำมากสำหรับรัฐ รัฐในฐานะคู่ขัดแย้งกับผู้ชุมนุมโดยตรงกลับพยายามเบี่ยงเบนให้ประชาชนมาขัดแย้งกันเอง ทำให้รัฐลอยตัวทั้งไม่ต้องแก้ปัญหาหรือทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมแล้วยังทำลายประชาชนและทำให้ประชาชนขัดแย้งกันเองอีก เช่น เรื่องการชุมนุมบนถนนกีดขวางการจราจร ทำให้การจราจาไม่สะดวก อันนี้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนยังไงไม่ให้ละเมิดสิทธิการชุมนุม ถ้ารถยังติดตัวปัญหาไม่ใช่ประชาชนแต่เป็นความสามารถของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า
 

แถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ 

หยุด!!!คุกคามเสรีภาพประชาชน 

วันที่ 20 เมษายน 2554

 

ตามที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ…. ในวันที่ 10 มีนาคม 2554 และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... โดยมีนายนิพนธ์ พร้อมพันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานนั้น บัดนี้คณะกรรมาธิการได้พิจารณาแล้วเสร็จ และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ในวันพุธที่ 20 เมษายน 2554

ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรประชาชน องค์กรแรงงาน องค์กรเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรนิสิตนักศึกษา และองค์กรเยาวชน ได้ติดตามการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะมาโดยตลอด มีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญที่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน หลักสิทธิเสรีภาพ หลักสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ดังนี้

ประการแรก การคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ…. มีเนื้อหาสาระสำคัญอันเป็นการคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพประชาชนและประชาธิปไตย กล่าวคือ การชุมนุมสาธารณะที่จะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าต่อผู้รับแจ้ง ซึ่งหมายถึงหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง ก่อนเริ่มการชุมนุม หากแจ้งการจัดการชุมนุมน้อยกว่าระยะเวลาดังกล่าวจะต้องขออนุญาตจากบุคคลดังกล่าวเสียก่อน การชุมนุมจะต้องแจ้งสถานที่ จำนวนผู้ร่วมชุมนุม ห้ามตั้งเวทีบนถนน บนพื้นที่จราจร ห้ามชุมนุมกีดขวางทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา ศาล สนามบิน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานี ขนส่ง สถานทูตสถานกงสุล โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ราชการ ห้ามเคลื่อนย้ายการชุมนุมก่อนได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืนจัดชุมนุมจะมีความผิดในข้อหาเจตนาฝ่าฝืนการชุมนุม หรือข้อหาชักชวนผู้อื่นร่วมชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีโทษจำคุกข้อหาละ 6 เดือน

ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชนเห็นว่า การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมเป็นเครื่องมือของประชาชนในการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ และความเรียกร้องต้องการทางเศรษฐกิจการเมืองสังคม อันมีสาเหตุมาจากความพิกลพิการของระบอบรัฐราชการ และระบอบประชาธิปไตยตัวแทนที่มองไม่เห็นหัวคนจน การละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนจึงไม่เพียงเป็นการสร้างแนวพื้นที่กันชนทางอำนาจให้กับรัฐบาล เพื่อขัดขวางไม่ให้เกิดการชุมนุมเท่านั้น ยังจะเป็นการสั่งสมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้เกิดมากขึ้นไปอีก เนื่องจากการปฏิเสธวิถีประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน

ประการที่สอง ขาดการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและทั่วถึง

ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ…. เป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองที่ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยพึงจะมี ดังนั้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในร่างกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ จึงเป็นข้อตระหนักสำคัญของรัฐบาล รัฐสภา และพรรคการเมือง ในการระดมความคิดเห็นเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและทั่วถึง เมื่อพิจารณากระบวนการร่างกฎหมายฉบับนี้เห็นได้ชัดว่าขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประชาชนและเครือข่ายประชาชนที่เข้าไม่ถึงการกำหนดนโยบายสาธารณะ และการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่มีตัวแทนคณะกรรมาธิการจากพรรคฝ่ายค้าน ร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาอีกด้วย 

ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน จึงขอแสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ในการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะของประชาชน และคัดค้านกระบวนการพิจารณาโดยปราศจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง

ประการที่สาม การฉวยโอกาสควบคุมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและเครือข่ายประชาชน

รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ รวบรัดในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ เพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมและจัดการกับกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมทางการเมือง โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น 

ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชนเห็นว่า การออกกฎหมายฉบับนี้มีรากฐานจากแนวคิดอำนาจนิยมของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ในกรณีพรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการคัดค้านในช่วงรัฐบาลพรรคพลังประชาชน แต่ครั้นเมื่อได้เป็นรัฐบาลก็ฉวยกระแสความไม่พอใจของมวลชนที่สนับสนุนตนเองจัดการกับมวลชนกลุ่มต่อต้านตนเอง รวมไปถึงการจัดการกับกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องโดยสงบปราศจากอาวุธ ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ เศรษฐกิจ ทรัพยากร ค่าแรง การเลิกจ้าง สวัสดิการสังคม ฯลฯ การร่างกฎหมายเพื่อควบคุมกลุ่มประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาล เป็นการกระทำที่ไม่เพียงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรงเท่านั้น ยังเป็นการกระทำที่เสื่อมทรามในจิตวิญญาณประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง 

ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชนจึงขอเรียนเชิญนิสิตนักศึกษา เยาวชน พี่น้องประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกกลุ่มกิจกรรม ทุกองค์กร เข้าร่วมการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นกฎหมายและเครื่องมือของเผด็จการ และช่วยกันออกแถลงการณ์ในนามองค์กรและเผยแพร่ในเครือข่ายทางสังคมทุกรูปแบบ 

ด้วยจิตคารวะ

ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน
1. กลุ่มนิเวสวัฒนธรรมศึกษา
2. กลุ่มประกายไฟ
3. กลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน (CCP)
4. กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก
5. กลุ่มเพื่อนประชาชน
6. กลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรรมเมืองเพชร
7. กลุ่มยังเติร์กคอนเนคชั่น (Young Turks Connection)
8. กลุ่มสื่อเสียงคนอีสาน
9. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
10. คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535
11. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
12. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
13. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
14. เครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล
15. เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
16. เครือข่านนิสิตนักศึกษาเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย
17. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
18. เครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ประเทศไทย
19. เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ (คพสช.)
20. เครือข่ายเยาวชนเพื่อการศึกษาไทย
21. เครือข่ายสิ่งแวดล้อมชายฝั่งภาคตะวันออก (ระยอง)
22. เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม (สระบุรี)
23. โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
24. โคครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
25. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
26. มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
27. ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (อีสาน)
28. ศูนย์ปฏิบัติการร่วมแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.)
29. ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD)
30. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
31. ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา
32. สถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social Democracy Think Tank)
33. สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.)
34. สมัชชาคนจน
35. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
36. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
37. สหพันธ์แรงงานปิโตเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย
38. สหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชา ITF

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น