ประชาไท | Prachatai3.info |
- “บุญจง” ยันนายอำเภอสมเด็จแค่ป้องกันตัว หากมองแง่ดีถือว่าเป็นคนเกาะติดพื้นที่
- “ประพันธ์” วอน “การเมืองใหม่” เลิกหาเสียง มันขายหน้าพรรคอื่น
- เครือข่ายนักศึกษาร่วมคนเมืองเลยค้านเหมืองแร่ทองแดง
- ศปช.แถลง 1 ปีความรุนแรง พ.ร.ก.ฉุกเฉินต้นเหตุ ยอดคนตายเพิ่มเป็น 93 ยังถูกขัง 133 คน
- ศาลไม่ให้ประกันตัว “สุรชัย แซ่ด่าน” คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
- ปณิธานโต้ไทยไม่ได้ใช้ระเบิดดาวกระจาย เพราะเราเรียกว่าวัตถุทำลายล้างทางอากาศ
- ได้ คณิต-สุนี-สมชาย-ไพโรจน์ ฯลฯ เป็น กก.ปฏิรูปกฎหมาย
- แรงงานข้ามชาติวอน ดูแล-ชดเชย คนงานพม่าที่บาดเจ็บ-เสียชีวิต จากเหตุรถโดยสารคว่ำ
- 'ปริศนาชายชุดดำที่แยกคอกวัว' คว้าข่าวยอดเยี่ยม รางวัลแสงชัยฯ
- "ชินวรณ์" สนับสนุนตำราเรียนฉบับ "เผาบ้านเผาเมือง" เด็กจะได้คิดเป็น
- “บริจาคหนังสือเสรี” ประเทศชาติจะฉิบหายจริงหรือ
- พุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีที่ ‘พุทธปรัชญา’ หายไป
- กองทัพรัฐฉานเหนือโจมตีทหารพม่า - การสู้รบยึดเยื้อ
- ตำรวจชุมพรถูกกล่าวหา กดขี่แรงงานข้ามชาติจากพม่า
- รายงาน: ศาลปกครองนัดไต่สวน ทุเลาคำสั่งคดี Insects (ฉบับเต็ม)
“บุญจง” ยันนายอำเภอสมเด็จแค่ป้องกันตัว หากมองแง่ดีถือว่าเป็นคนเกาะติดพื้นที่ Posted: 07 Apr 2011 02:08 PM PDT “รักษ์ ลี้ทรงศักดิ์” นายอำเภอซึ่งปรากฏในคลิปฮือฮาแจง ไม่คิดทำร้ายประชาชน แต่เป็นการเดินเข้าไปดึงหน้ากากออกเพื่อให้รู้ว่าคนที่ถ่ายรูปเป็นใคร ชี้ถ้าตนทำร้ายผู้ชุมนุมจริงคงถูกยำไปแล้ว ด้านแกนนำชาวบ้านไปแจ้งความข้อหาทำร้ายร่างกายแล้ว ลั่นนัดชุมนุมฟังคำตอบเงินเรื่องช่วยเหลือผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยอีกรอบ 11 เม.ย. หากไม่ได้รับคำตอบจะปิดทุกไฟแดง คลิปการชุมนุมของกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยสี่ภาค ที่ อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ เมื่อ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยนายรักษ์ ลี้ทรงศักดิ์ นายอำเภอสมเด็จซึ่งปรากฏในคลิปยืนยันว่าไม่คิดทำร้ายประชาชน แต่เป็นการเดินเข้าไปดึงหน้ากากออกเพื่อให้รู้ว่าคนที่ถ่ายรูปเป็นใคร ขณะที่แกนนำชาวบ้านไปแจ้งความข้อหาทำร้ายร่างกายแล้ว ตามที่ “ไทยอีนิวส์” รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยสี่ภาค จากพื้นที่ จ.สกลนคร กาฬสินธุ์ และ นครพนม กว่า 500 คน มาชุมนุมปิดถนนบริเวณสี่แยกอำเภอสมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อประท้วงและปราศรัยแสดงความไม่พอใจกรณีที่รัฐบาลไม่จ่ายเงินชดเชยค่าประกอบอาชีพให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ที่ตกค้างนั้น และเกิดเหตุ นายรักษ์ ลี้ทรงศักดิ์ นายอำเภอสมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ บีบแตรและขับฝ่าผู้ชุมนุม พร้อมลงมาจากรถประจำตำแหน่งไปไล่ชกต่อยผู้ชุมนุม จนเจ้าหน้าที่ อส. และตำรวจต้องช่วยกันแยกตัวออกมานั้น ด้านนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเมื่อวันที่ 6 เมษายนว่า ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งก่อน เพราะดูจากภาพข่าวที่เผยแพร่ เหมือนนายอำเภอจะไม่ได้ตั้งใจทำร้ายผู้ชุมนุม และอาจจะเป็นการป้องกันตัวมากกว่า เนื่องจากบริเวณนั้นมีชายใส่หมวกไหมพรมล้อมรอบตัวอยู่จึงอยากเปิดหมวกออกดูว่าเป็นใคร ซึ่งก็ต้องให้โอกาสนายอำเภอชี้แจงด้วย และไม่ควรปรักปรำฝ่ายเดียว แต่ถ้าตรวจสอบแล้วเป็นอย่างไรก็ต้องว่าไปตามนั้น อย่างไรก็ดี หากมองแง่ดีถือว่า นายอำเภอเกาะติดพื้นที่ ไม่ได้ทิ้งพื้นที่ไปไหน ล่าสุด มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อ 7 เม.ย. โดยนายรักษ์ ลี้ทรงศักดิ์ นายอำเภอสมเด็จได้ชี้แจงว่า ไม่เคยคิดทำร้ายประชาชน โดยก่อนเกิดเหตุรับแจ้งว่า ผรท.ชุมนุมปิดถนน จึงขับรถเข้าไปเพื่อขอเจรจา แต่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งใช้ผ้าปิดหน้าปิดตาขวางรถเอาไว้ จากนั้นได้บีบแตรแล้วตะโกนบอกกลุ่มผู้ชุมนุมว่านายอำเภอมาแล้วมีอะไรค่อยพูด จากัน "ผู้ชุมนุมบางคนตะโกนด่าว่าผมอย่างรุนแรง ผมจึงตัดสินใจเปิดประตูรถลงไป แต่เจอคนที่โพกผ้าปิดหน้า ยืนขวางแล้วใช้กล้องวิดีโอถ่ายรูป เมื่อเห็นเช่นนั้นผมจึงพยายามเดินเข้าไปดึงหน้ากากออกเพื่อให้รู้ว่าคนที่ ถ่ายรูปเป็นใคร ระหว่างนั้นมีคนที่อยู่ล้อมรอบตัวผม ผลักด้านหลังไปมาทำให้ผมเกือบจะล้ม ผมขอยืนยันว่าไม่คิดจะทำร้ายใคร เพราะไปคนเดียว เดินลงรถไปคนเดียวถ้าเกิดทำจริง คงจะถูกกลุ่มผู้ชุมนุมรุมยำไปแล้ว" นายรักษ์กล่าว ด้านนายบุญใส ก้อนดินจี่ แกนนำกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยสี่ภาค พร้อมผู้สนับสนุนนับร้อย ได้เข้าแจ้งความที่ สภ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ แล้ว เพื่อให้ดำเนินคดีข้อหาทำร้ายร่างกายกับนายรักษ์ ลี้ทรงศักดิ์ นายอำเภอสมเด็จ โดยนายบุญใสกล่าวว่าในวันที่ 11 เมษายนนี้ ต้องมีคำตอบจากรัฐบาลถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือกลุ่ม ผรท. หากไม่ได้รับคำตอบ ต่อไปจะปิดถนนนำมวลชนกว่า 3,000 คน ปิดทุกไฟแดงอย่างแน่นอน” สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
“ประพันธ์” วอน “การเมืองใหม่” เลิกหาเสียง มันขายหน้าพรรคอื่น Posted: 07 Apr 2011 12:18 PM PDT ลงเลือกตั้ง ส.ส. คนเดียวจะได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ชี้พวกสัมภเวสีแฝงในพรรคเยอะ ลั่นถ้าพรรคเป็นของประชาชนจริงต้อง “โหวตโน” ไม่สนองพวกอยากเลือกตั้ง หวังยุบสภาไม่มีเลือกตั้งจะดีใหญ่ พธม.จะร่วมกับรัฐบาลใหม่ปฏิรูปสังคม พร้อมอัด“เจิมศักดิ์” ปั๊มขายซีดี “7 ตุลา 51” เอเอสทีวีไม่ได้แม้บาทเดียว “ประพันธ์” อัด “เจิมศักดิ์” เอา “7 ตุลา 51” ไปปั๊มซีดี เอเอสทีวีไม่ได้แม้บาทเดียว เมื่อคืนวานนี้ (7 เม.ย.) เวลาประมาณ 21.30 น. นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักร ซึ่งตั้งขึ้นโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวปราศรัยที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยวันนี้นายประพันธ์ปราศรัยพาดพิงนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้บริหารบริษัทวอชด็อก และนายโรจน์ งามแม้น เจ้าของนามปากกา “เปลว สีเงิน” ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยเจอร์นัลกรุ๊ป จำกัด เจ้าของหนังสือพิมพ์ “ไทยโพสต์” โดยนายประพันธ์ปราศรัยว่า ขณะที่พันธมิตรชุมนุมช่วง 193 วัน สื่อมวลชนที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่คือ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และเปลวสีเงิน แต่ตอนนี้นายเจิมศักดิ์ รวยไปแล้ว เพราะได้เอาเหตุการณ์ 7 ตุลา ที่พี่น้องบาดเจ็บล้มตายไปทำซีดี ทำพ็อกเก็ตบุ๊กขาย และโฆษณาทางเอเอสทีวี โดยที่เอเอสทีวีไม่ได้เก็บเงินแม้แต่บาทเดียว
แขวะน่าจะเป็นหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ให้อภิสิทธิ์ พอประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล นายเจิมศักดิ์ก็ได้เป็นขาใหญ่ช่องที่ 11 ได้รายการคลื่น 92.25 คลื่น 105 คลื่นกรมประชาสัมพันธ์บางทีก็พ่วงรายการของคลื่น 92.25 มาด้วย ยึดหนังสือพิมพ์แนวหน้าเขียนคอลัมน์ เพราะเอาการที่มาร่วมกับพันธมิตรฯ ไม่เป็นเครื่องต่อรองหาผลประโยชน์กับ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ตอนนี้น่าจะกลายเป็นหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ไปแล้ว และจะบอกให้ความจริงนายเจิมศักดิ์แอบเป็นที่ปรึกษานายอภิสิทธิ์ เป็นที่ปรึกษาฝ่ายประชาสัมพันธ์ตั้งแต่รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งแล้ว จึงเขียนหนังสือร้อยฝันวันฟ้าใหม่ออกมา เอาทีมงานไปร่วมกับฝ่ายประชาสัมพันธ์ โดยทำงานร่วมกับภรรยานายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ที่ชื่ออานิก อัมระนันท์ ถึงได้เชียร์นายอภิสิทธิ์แบบไม่ลืมหูลืมตา
เย้ยทำหนังสือให้ “สุเทพ” แบบข้อมูลด้านเดียว เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น วันนี้สำนักพิมพ์ขอคิดด้วยคน ของนายเจิมศักดิ์ ยังได้ทำหนังสือให้นายสุเทพ ชื่อใครเผาประเทศไทย แต่เสือกไม่เขียนว่าแล้วใครปล่อยให้เผาประเทศไทย ตอแหลเหมือนหนังสือร้อยฝันวันฟ้าใหม่ เขียนข้อมูลด้านเดียว เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น นี่ไงวิธีทำงานหาเงินแบบหน้าด้านๆ รับเขียนหนังสือ ได้ไปเท่าไหร่ เหมือนหนังสือร้อยฝันวันฟ้าใหม่ เขียนซะนายอภิสิทธิ์เป็นเทวดาแต่ทำไม่ได้สักเรื่อง
ส่วน “เปลว” ต้องปล่อยไป เขียนดีไม่ดีแล้วแต่อารมณ์ ชี้มิตร-ศัตรูสถานการณ์จะบอกเราเอง แต่เปลวสีเงินต้องปล่อยไป เดี๋ยวก็เขียนดีเขียนไม่ดี แล้วแต่อารมณ์ แต่ไม่เป็นไรแม้เราเสียมิตรบางคนไป แต่เราก็มีมิตรใหม่เพิ่มขึ้นเยอะ อย่างมติชนมีหลายคนสนับสนุนเรา ไทยรัฐที่ไม่เคยมีจุดยืนร่วมกับพันธมิตรฯเลย วันนี้ก็เห็นด้วยกับเราในหลายเรื่อง ดีกว่านายเจิมศักดิ์ ที่ไม่เห็นประโยชน์ของบ้านเมืองเลย นายประพันธ์กล่าวว่า ขณะนี้ใครเป็นมิตร เป็นศัตรู มันจะแสดงด้วยเหตุการณ์ของการต่อสู้ เหตุการณ์สถานการณ์มันจะบอกเราเอง การยืนหยัดต่อสู้ของพันธมิตรฯได้ผลพวงที่ไม่ได้คาดคิด นั่นก็คือ เราต้องการการเมืองใหม่ การเมืองใหม่นี่ไม่ใช่พรรค แต่หมายถึง การเมืองที่โปร่งใส สะอาด ซื่อสัตย์ นี่คือสิ่งที่ต้องการ เพราะพบแล้วว่าถ้าระบอบการเมืองยังเป็นแบบเดิมก็ต้องกลับมาไล่นายกฯกันอีก แบบไม่สิ้นสุด เชื่อมีถ้า “การเมืองใหม่” ได้ ส.ส. 50 คน จะกลายเป็นพรรคการเมืองน้ำเน่าร่วมหาแดก ปัญหาคือแล้วจะได้การเมืองใหม่มาได้อย่างไร บางส่วนเห็นว่าไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ แต่ต้องพูดกันอย่างเปิดอก การเลือกตั้งจะทำให้ได้อย่างที่ต้องการหรือเปล่า ไม่มีทาง ต่อให้พรรคการเมืองใหม่เลือกตั้งได้สัก 5-10 คน ต่อให้ได้ 50 คนเลย ดีไม่ดีอาจกลายเป็นการเมืองน้ำเน่าหาแดกร่วมกับเขาไปด้วย หรือถูกซื้อตัว นี่ไม่ได้ดูถูกแต่เพราะประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมรัฐบาล รอซื้อนักการเมืองจากการเมืองใหม่อยู่ เพราะถ้าซื้อได้ก็จะอ้างว่าเห็นหรือไม่พวกมึงก็เหมือนพวกกู เชื่อเถอะพวกแฝงตัวอยากเลือกตั้ง มีสัมภเวสีจรจัดทางการเมือง แฝงเข้ามาเยอะ ดีไม่ดีพรรคร่วมอาจส่งคนเข้ามาให้ลงสมัครรับเลือกตั้งกับพรรคการเมืองใหม่ เพื่อตัดคะแนนก็ได้ พอได้เสร็จก็ไปยกมือสนับสนุนกันแล้วอ้างว่าปรองดอง
ลั่นถ้าพรรคเป็นของประชาชนจริง ต้องฟังเรื่องโนโหวต ไม่ใช่สนองพวกอยากลงเลือกตั้ง นายประพันธ์ ยังกล่าวอีกว่า วันนี้มีความคิดต่างกัน เราเสนอโหวตโนไม่ลงคะแนนให้พรรคใด คนใด เพื่อให้เกิดการกดดันไปยังนักการเมืองเพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง นักการเมือง และการเลือกตั้งที่สกปรก ถ้าพรรคการเมืองใหม่ลงเลือกตั้ง ก็เผชิญชะตากรรมเอาเอง จะเป็นตัวประกอบยอดเยี่ยม ทำให้การเลือกตั้งมีความชอบธรรมขึ้นมาก็เชิญ แต่ประชาชนเดินแนวนี้เพราะต้องการการเมืองใหม่ เป็นอย่างนี้แล้วควรรับฟังความต้องการของประชาชน ถ้าเป็นพรรคของประชาชนจริง ไม่ใช่สนองตัณหาพวกตัวเองที่กระสันอยากเลือกตั้ง
ชี้ ส.ส. คนเดียวจะได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ วอนขอให้เลิกหาเสียง มันขายหน้าพรรคอื่น ตนไม่อยากปรามาส แต่เชื่อว่าถ้าลงเลือกตั้ง 2 คนจะได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ คนเดียวก็ไม่รู้จะได้หรือเปล่า หันมาร่วมมือกับประชาชน เดินไปทางเดียวกัน สถานการณ์เอื้ออำนวยค่อยเข้าสู่เวทีการต่อสู้ทางการเมือง ไปด้วยกันมันถึงจะมีพลัง หากไม่ฟังประชาชนการเมืองใหม่ก็จะฆ่าตัวตาย "วันนี้แอบไปรณรงค์ถ้าไม่เลือกคนไม่เป็นไร แต่ขอให้เลือกพรรค อย่าทำเลย เลิกเถอะ มันขายหน้าพรรคอื่นเขา ผมจำเป็นต้องพูดเพราะโตขนาดนี้มองสถานการณ์บ้านเมืองไม่ออก แล้วจะเป็นผู้นำประชาชนได้อย่างไร ผมขอประกาศไว้เลย จะลาออกจากการเมืองใหม่ทันทีถ้าไปลงสมัครรับเลือกตั้ง และจริงๆอยากจะออกนานแล้วแต่ไว้หน้าและให้เกียรติพรรคพวกเพื่อนฝูงที่ยัง อยู่ในพรรค" นายประพันธ์ กล่าว ลั่นถ้าพันธมิตรฯ เลิกจะเลิกอย่างผู้ชนะ เพราะเราด่าอย่างเดียวไม่มีขาดทุน นายประพันธ์ กล่าวว่า จุดสุดท้ายของการต่อสู้ของพันธมิตรฯ หลายคนอยากรู้ว่าทางลงจะเป็นอย่างไร คนที่รอดูอยู่คงคิดว่าถ้าเลิกชุมนุมแสดงว่าพันธมิตรฯแพ้ ทั้งๆที่คู่ต่อสู้ของเราตาปิด ฟันหลุด สะบักสะบอมไปแล้ว พูดตรงๆ เราจะเลิกเมื่อไหร่ก็เลิกอย่างผู้ชนะ เพราะประชาธิปัตย์ไม่เคยได้รับบทเรียนเจ็บแสบแบบนี้มาก่อน เวลานี้อยากให้ประเมินว่าใครแพ้ใครชนะ มองรูปไหนรัฐบาลก็ไม่มีชนะเลย พวกเราด่าอย่างเดียวไม่มีขาดทุนเลย แต่นายอภิสิทธิ์ คะแนนตกเอา ตกเอา
ชี้ถ้ายุบสภาไม่มีเลือกตั้งจะยิ่งดีเข้าไปใหญ่ จะร่วมปฏิรูปสังคมไทยกับรัฐบาลใหม่ นายประพันธ์กล่าวถึงทิศทางว่าจะมีดังนี้ หนึ่ง อาจจะมีการยุบสภา และมีเลือกตั้ง เราก็เปลี่ยนกระบวนท่าเป็นรณรงค์ไม่เลือกใคร แล้วถ้าเราทำให้ประชาธิปัตย์ ไม่สามารถกลับมาเป็นรัฐบาลได้ยิ่งชนะขาดลอย ยิ่งทำให้นายอภิสิทธิ์ไม่เป็นนายกฯได้ยิ่งชนะขาดลอย สองอาจจะยุบสภา แต่ไม่มีเลือกตั้ง ก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ เราจะร่วมเปลี่ยนแปลงปฏิรูปสังคมไทยกับรัฐบาลใหม่ที่มา แต่ถ้ารัฐบาลใหม่หน่อมแน้มแบบสุรยุทธ์ ก็ไปไกลๆเลย ที่สำคัญการรณรงค์ก็เพื่อให้เกิดการเมืองใหม่ เราไม่ได้หาทางลง แต่กำลังฉลองชัยชนะต่างหาก ยุบสภานี้ก็จะตามล้างตามเช็ดด้วยการโหวตโน ยุทธการโหวตโนนี้ถ้าพรรคการเมืองใหม่ดวงตาเห็นธรรม มาจังหวะสองคะแนนถล่มทลายแน่นอน เชื่อตนอดเปรี้ยวไว้กินหวานดีกว่า อย่าไปเล่นตามเกมที่เขาบังคับให้เดิน
ที่มา: เรียบเรียงจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เครือข่ายนักศึกษาร่วมคนเมืองเลยค้านเหมืองแร่ทองแดง Posted: 07 Apr 2011 11:02 AM PDT เครือข่ายนักศึกษาติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศไทย ร่วมค้านเหมืองแร่ทองแดง จ.เลย จี้ยุติการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ไม่มีความชอบธรรม พร้อมร้องให้ประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์โครงการเหมืองแร่ทั้งประเทศ ก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการเหมืองแร่ วานนี้ (7 เม.ย.54) เครือข่ายนักศึกษาติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศไทย ได้เดินทางไปเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) โครงการเหมืองแร่ทองแดงภูเทพ ณ โรงแรมเลยพาเลซ จ.เลย และได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวที่จัดโดยบริษัทผู้ประกอบการเหมืองแร่ โดยระบุว่าเป็นเวทีที่ไม่มีความชอบธรรมในการดำเนินการตามกระบวนการขอประทานบัตรเหมืองแร่ และจะนำสู่การเกิดขึ้นของโครงการเหมืองแร่ทองแดงที่มีผลกระทบต่อชุมชน อีกทั้งยังเรียกร้องร้องให้หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องต้องหยุดการดำเนินงานใดๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการประทานบัตรในพื้นที่ และต้องมีการประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ (SEA) โครงการเหมืองแร่ทั้งหมดในประเทศไทย ก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการเหมืองแร่ แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ศปช.แถลง 1 ปีความรุนแรง พ.ร.ก.ฉุกเฉินต้นเหตุ ยอดคนตายเพิ่มเป็น 93 ยังถูกขัง 133 คน Posted: 07 Apr 2011 10:34 AM PDT 7 เม.ย.54 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดแถลงข่าว “1 ปีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน: ภาพรวมการละเมิดสิทธิจากการสลายชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553” โดยศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ศปช.เก็บรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้ต้องขัง รวมถึงผู้สูญหายตั้งแต่เดือน ก.ค.53 จัดแถลงข่าวข้อมูล รวมถึงการสัมมนาไปแล้วหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ศปช.จะมีการจัดทำรายงานข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ ฉบับเต็มเผยแพร่ภายในกลางเดือนเมษายนนี้ ติดตามได้ในเว็บไซต์ http://www.peaceandjusticenetwork.org/ ขวัญระวี วังอุดม ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และอาสาสมัคร ศปช. กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของความรุนแรงเริ่มต้นจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อ 7 เม.ย.53 ซึ่งไม่มีความชอบธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากการบุกรุกรัฐสภาเป็นเหตุโกลาหลเพียงชั่วครู่โดยผู้ชุมนุมเพียงจำนวนหนึ่ง ไม่ได้ทำให้กลไกของรัฐทำงานไม่ได้ หรือกระทบความอยู่รอดของชาติ และขณะนั้นมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงตั้งแต่ก่อนเสื้อแดงจะเริ่มชุมนุม และเริ่มมีการปิดสื่อเสื้อแดงถึง 9,000 URL ก่อนจะปิดสื่อต่างๆ อีกจำนวนมากทันทีหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างสูง โดยไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายอาญาและประชาชนไม่สามารถจะฟ้องร้องได้ การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังนำไปสู่ “การกระทำเกินกว่าเหตุ” กรณีการใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 ซึ่งมีหลักฐานว่าทหารมีการใช้กระสุนจริงตั้งแต่ตอนกลางวันจนมีผู้เสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บหลายรายโดยที่รัฐบาลไม่เคยมีคำตอบชัดเจนในเรื่องนี้ จากนั้นยังกระทำการสลายการชุมนุมในเวลากลางคืนด้วย ขวัญระวีกล่าวว่า แม้รัฐบาลจะอ้างว่าปฏิบัติตามกฎการใช้กำลังตามหลักสากล แต่ความเป็นจริงนั้นตรงกันข้าม โดยแบ่งปฏิบัติการได้เป็น 4 ลักษณะ คือ ยิงไม่เลือกเป้า ไม่ใช่การป้องกันตนเอง, กระทำการไม่ได้สัดส่วนกับสถานการณ์ ใช้กระสุนความเร็วสูงใส่ผู้ชุมนุมมือเปล่า นักข่าวรายหนึ่งยืนยันว่าทหารเล็งยิงที่นักข่าว, มีการสั่งการสลายการชุมนุมตอนกลางคืน, ขาดการใช้อาวุธอย่างระมัดระวัง เข้มงวด โดยหน่วยกู้ภัยให้ข้อมูลว่าทหารมีอารมณ์โกรธ รู้ว่าตนเป็นหน่วยกู้ภัยเข้าปฏิบัติหน้าที่แต่ก็ยังยิง ส่วนการแสวงหาข้อเท็จจริงก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก รัฐบาลตั้งหน่วยงานอิสระ เช่น คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แต่ก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังไม่มีการเปิดเผยรายงานทั้งที่เกินระยะเวลาที่กำหนดในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาแล้ว สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม ตัวเลขทางการระบุเพียง 91 ราย ขณะที่ ศปช.ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตรวม 93 ราย โดยมีการเสียชีวิตเพิ่มในต่างจังหวัด 2 ราย หนึ่งในนั้นเป็นผู้ชุมนุมชาวขอนแก่นซึ่งโดนแก๊สน้ำตาในวันที่ 10 เม.ย. จนต้องนำส่งโรงพยาบาล จากนั้นถูกส่งไปรักษาตัวที่บ้านเกิดด้วยอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจจนเสียชีวิตในเดือนกันยายน 53 จึงสรุปในเบื้องต้นว่าการเสียชีวิตน่าจะมีความเชื่อมโยงกับการสลายการชุมนุม ส่วนกรณีของผู้ต้องขังนั้น ข้อมูลของ ศปช. ณ วันที่ 1 เม.ย.54 พบว่ายังมีผู้ต้องขังไม่ได้รับการประกันตัวทั่วประเทศ 133 คน เป็นชาย 121 คน หญิง 12 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวพม่าและลาว 3 คน ซึ่งอ่านภาษาไทยไม่ได้และเซ็นรับสารภาพด้วยความกลัว ข้อหาส่วนใหญ่ที่ผู้ต้องขังได้รับ คือ ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมวางเพลิงสถานที่ราชการ และก่อการร้าย ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลผู้ต้องขังนั้นยากและไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงความช่วยเหลือของกองทุนยุติธรรมก็ไม่เพียงพอ และไม่มีข้อมูลที่เป็นระบบ นอกจากนี้ การควบคุมตัวผู้ต้องหายังมีการนำผู้ต้องหาเอาไปไว้ที่ที่ไม่เหมาะสม มี 16 รายถูกจับอยู่บนรถตำรวจถึง 2 วัน ปัสสาวะก็ต้องทำบนรถ จะถ่ายหนักก็ต้องให้ตำรวจพาไป ผู้ต้องหาหลายรายถูกทำร้ายในช่วงจับกุม จึงตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่ขังไว้หลายวัน เพราะต้องการปิดรอยแผล หรือไม่มีมาตรการเพียงพอที่รองรับผู้ถูกจับกุมซึ่งมีจำนวนมาก ส่วนผู้สูญหายนั้น ศปช.ได้รับข้อมูลจากมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งล่าสุด สามารถยืนยันได้ว่ายังมีอีก 7 รายที่ยังไม่ทราบชะตากรรม นอกจากนี้จากข้อมูลในพื้นที่ยังเชื่อได้ว่ามีการบังคับให้สูญหายโดยรัฐ 1 ราย โดยผู้เป็นแม่เห็นลูกชายถูกยิงและเห็นทหารนำตัวขึ้นรถหายไปจนปัจจุบัน เหตุเกิดที่จังหวัดอุดรธานีในวันที่ 19 พ.ค.53 พฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกล่าวถึงการเก็บข้อมูลในจังหวัดอุบลฯ ในฐานะอาสาสมัคร ศปช.ว่า ได้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่เรือนจำจังหวัดอุบลฯ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่ายังมีผู้ต้องขังอยู่อีก 21 คน ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ ซึ่งมีโทษสูงมากและยังมีข้อหาอื่นๆ ตามมาอีกหลายข้อหา โดยกระบวนการจับกุม สั่งฟ้องนั้นเกิดขึ้นอย่างรวบรัดในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่มีการแสดงหมายจับ บางรายตำรวจเพียงแจ้งว่าให้มาคุยที่โรงพัก ไม่มีอะไรมาก บางรายตำรวจใช้เพียงหลักฐานภาพถ่ายซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าถ่ายที่ไหน เมื่อไร ขณะที่ผู้ต้องขังหญิงรายหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่นับสิบบุกชาร์จในที่สาธารณะกดหน้าให้หมอบกับพื้นและเอาปืนจี้ศีรษะ ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ถูกข่มขู่ด้วยวาจาให้เซ็นรับสารภาพ ไม่มีทนาย ขณะที่อัยการก็สั่งฟ้องทันที รุ่งขึ้นศาลให้รับฟังข้อกล่าวหาและถูกนำตัวไปไว้เรือนจำ พฤกษ์ กล่าวอีกว่า มีผู้ต้องขังอย่างน้อย 4 รายที่ยืนยันว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ โดยมีพยานหลักฐาน อย่างไรก็ตาม การที่ตำรวจตั้งข้อหาร้ายแรงทำให้การสืบพยานเป็นไปอย่างล่าช้า ผ่านมาหนึ่งปีเพิ่งสืบพยานฝั่งโจทก์เสร็จ โดยที่ระหว่างนี้ผู้ต้องขังไม่สามารถประกันตัวได้ ทำให้ผู้ต้องขังมีความกดดันทางจิตใจ จนหลายคนเริ่มมีอาการทางจิต ทั้งแบบซึมเศร้าและก้าวร้าว นอกจากนี้การเรียกหลักทรัพย์ประกันตัวของศาลยังสูงเกินกว่าความสามารถของจำเลย ตั้งแต่หลักหลายแสนบาทจนถึง 1.3 ล้านบาท “การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เหมือนมีการตั้งธงข้อกล่าวหาไว้ก่อน การจับจึงมีลักษณะแบบเหวี่ยงแห เหมือนพยายามให้ได้ตัวเลขระดับหนึ่งเพื่อตอบสนองนโยบายบางอย่างของรัฐ” พฤกษ์ตั้งข้อสังเกต ทั้งนี้ ศปช.นำเสนอข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย ดังนี้ 1.ให้เปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมและนำผู้มีส่วนเกี่ยวของเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย 2.ต้องไม่นิรโทษกรรมให้ตนเอง กองทัพและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 3.ให้มีการชดเชย/เยียวยาแก่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง 4.ต้องเปิดเผยข้อมูลการออกหมายจับทั้งหมดต่อสาธารณะ 5.เร่งรัดให้มีการประกันตัวผู้ต้องขังทั้หมด 6.แก้ไข พ.ร.บ.ฉุกเฉินโดยนิยาม “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ให้รัดกุม, ให้รัฐสภามีบทบาทในการประกาศใช้, ปรับมาตรา 17 ที่ยกเว้นโทษอาญาให้เจ้าหน้าที่โดยให้ศาลชี้ขาดว่าปฏิบัติการมีความผิดอาญาหรือไม่ 7.ยกเลิกกฎหมายละเมิดสิทธิอื่นๆ เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 8. อนุญาตให้ผู้รายงานพิเศษสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ของสหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบ ที่ผ่านมามีการขอเข้ามาแต่รัฐไม่อนุญาต 9. อนุญาตให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ที่ผ่านมา กาชาดสากลเคยขอหลายครั้งแต่รัฐบาลไทยปฏิเสธ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ศาลไม่ให้ประกันตัว “สุรชัย แซ่ด่าน” คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ Posted: 07 Apr 2011 09:47 AM PDT เพราะศาลเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีทำความเสื่อมเสียสู่สถาบันกษัตริย์ พนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัวเพราะหากปล่อยชั่วคราวจะหลบหนี ด้าน “หนุ่ม เมืองนนท์” ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวเช่นกัน โดยศาลส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (7 เม.ย.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายคารม พลทะกลาง ทนายความ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 1.2 ล้านบาท ขอปล่อยตัวชั่วคราว นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ แซ่ด่าน อายุ 68 ปี ผู้ต้องหาคดีที่อยู่ระหว่างฝากขังข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากการปราศรัยของนายสุรชัย เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 53 เวลา 18.30 น. ถึงเวลา 21.00 น. ในงาน “เสวนาตาสว่างครั้งที่ 2 โดย 4 ส.” ที่ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ ชั้น 6 ห้างอิมพิเรียลลาดพร้าว โดยเจ้าพนักงานอ้างว่ามีการใช้เครื่องกระจายเสียงปราศรัยพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางเสียหาย ซึ่งได้บันทึกภาพเคลื่อนไหว และภาพนิ่งไว้เป็นหลักฐาน ก่อนขออนุมัติหมายจับและนำตัวผู้ต้องหามาฝากขัง โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูง ซึ่งตามพฤติการณ์แห่งคดี และลักษณะการทำนำมา ซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันกษัตริย์ อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ ประกอบกับพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัว จึงเชื่อว่าหากอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาจะหลบหนี จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง นอกจากนี้นายสุรชัย แซ่ด่าน นั้นยังถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีที่ อ.3444/2553 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยต่อผู้ชุมนุมที่ ท้องสนามหลวง โดยมีถ้อยคำใส่ความหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ของศาลอาญา
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ปณิธานโต้ไทยไม่ได้ใช้ระเบิดดาวกระจาย เพราะเราเรียกว่าวัตถุทำลายล้างทางอากาศ Posted: 07 Apr 2011 08:13 AM PDT หลังถูกองค์กรต่อต้านการใช้ระเบิดดาวกระจายการประณามกรณีไทยใช้ระเบิดดาวกระจายในพื้นที่กัมพูชาช่วงปะทะเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ปณิธาน วัฒนายากร หน้าที่รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้อธิบายว่า ไทยไม่ได้ใช้สิ่งที่เรียกว่าระเบิดดาวกระจาย แต่ใช้วัตถุทำลายล้างทางอากาศซึ่งมุ่งประสงค์จะทำลายขีปนาวุธ
(แฟ้มภาพ) รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระหว่างการประชุมเตรียมการเยือนสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการ ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ.2554 (ที่มา: Flickr.com/thaigov)
หลังจากที่วานนี้ องค์กรต่อต้านการใช้ระเบิดดาวกระจายการประณามประเทศไทยกรณีใช้ระเบิดดาวกระจายในพื้นที่กัมพูชาในช่วงที่มีความขัดแย้งเรื่องเขตแดนในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอธิบายว่า ไทยไม่ได้ใช้สิ่งที่เรียกว่าระเบิดดาวกระจาย แต่ใช่วัตถุทำลายล้างทางอากาศซึ่งมุ่งประสงค์จะทำลายขีปนาวุธ (อ่านข่าวย้อนหลัง) เว็บไซต์บางกอกโพสต์รายงานวันนี้ว่า นายปณิธานอธิบายว่าอาวุธที่ทางฝ่ายไทยใช้โจมตีทหารกัมพูชานั้นไม่ถือว่าเป็นอาวุธชนิดเดียวกับที่เรียกว่าระเบิดดาวกระจายตามความหมายที่องค์กรต่อต้านระเบิดดาวกระจายกล่าวถึง นายปณิธานกล่าวว่าในความเป็นจริงแล้วระเบิดดาวกระจายหลากหลายชนิดก็ยังคงถูกใช้อยู่ในหลายประเทศ เพียงแต่ขึ้นอยู่กับว่ากองทัพของแต่ละประเทศจะจัดประเภทมันอย่างไร เขากล่าวด้วยว่า กองทัพไทยใช้วัตถุทำลายแบบทวิประสงค์ (หมายถึงอาวุธที่ใช้ได้ทั้งจากทางอากาศและทางภาคพื้นดิน) ซึ่งเป็นปืนใหญ่ที่ถูกออกแบบไว้สำหรับโจมตีขีปนาวุธโดยที่ทางการไทยไม่ถือว่ามันเป็นอาวุธชนิดเดียวกับระเบิดดาวกระจาย อนึ่ง คำว่าระเบิดดาวกระจาย หรือ Cluster Bomb นั้นเว็บไซต์ http://www.landmines.org อธิบายว่าหมายถึงอาวุธขนาดใหญ่ที่เคลื่อนที่ในอากาศโดยอากาศยาน หมายรวมถึงเครื่องบินขับไล่ เครื่องบินทิ้งระเบิด และเฮลิคอปเตอร์ โดยระเบิดชนิดนี้จะแตกตัวกลางอากาศและกระจายเป็นระเบิดลูกเล็กจำนวนหลักสิบถึงหลักร้อย ชนิดที่ทิ้งจากอากาศยานมักเรียกว่า “Bomblet” ชนิดที่ถูกใช้จากภาคพื้นดินเรียกว่า “Granade” สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ได้ คณิต-สุนี-สมชาย-ไพโรจน์ ฯลฯ เป็น กก.ปฏิรูปกฎหมาย Posted: 07 Apr 2011 07:53 AM PDT 7 เม.ย. 54 นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานกรรมการสรรหากรรมการปฏิรูปกฎหมาย แถลงผลการสรรหากรรมการปฏิรูปกฎหมายจำนวน 11 คน เพื่อทำหน้าที่ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยมีกรรมการปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา 6 คน ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือก ประกอบด้วย นายคณิต ณ นคร นางสุนี ไชยรส นายสมชาย หอมลออ ศ.ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ และนายไพโรจน์ พลเพชร ส่วนกรรมการที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลา 5 คน มีผู้ได้รับคัดเลือก ประกอบด้วย นายบรรเจิด สิงคะเนติ นายกำชัย จงจักรพันธ์ นางวิระดา สมสวัสดิ์ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ และนายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ซึ่งคณะกรรมการทั้งหมดที่ได้รับการคัดเลือกมาจากทุกสาขา นักกฎหมายก็เป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชน นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านสถานการณ์แรงงานและสื่อสารมวลชน โดยขั้นตอนต่อจากนี้ คณะกรรมการที่ได้รับการคัดเลือก จะได้คัดเลือกประธานและรองประธาน ซึ่งมาจากคณะกรรมการเต็มเวลา ทั้งนี้คณะกรรมการเต็มเวลาจะต้องไม่ปฏิบัติงานในตำแหน่งหรือประกอบอาชีพอื่นในลักษณะงานประจำ หลังจากนั้นประธานกรรมการสรรหาจะเสนอรายชื่อพร้อมประวัติและหลักฐานการยินยอมเสนอต่อนายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป นายกิตติพงษ์ เปิดเผยถึงหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปว่า จะทำหน้าที่พิจารณาภาพรวมของกฎหมายอย่างเป็นระบบ แต่ไม่ใช่การพิจารณากฎหมายเป็นรายฉบับหรือยกร่างกฎหมายตามที่หน่วยงานรัฐเสนอ และจะดำเนินการขับเคลื่อนทางวิชาการให้ความรู้ที่ได้จากการศึกษา วิจัย เสนอแนะกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม รวมทั้งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญได้ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
แรงงานข้ามชาติวอน ดูแล-ชดเชย คนงานพม่าที่บาดเจ็บ-เสียชีวิต จากเหตุรถโดยสารคว่ำ Posted: 07 Apr 2011 07:45 AM PDT
จากกรณีอุบัติเหตุรถบรรทุกที่โดยสารแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ชนกับรถบรรทุกอีกคันหนึ่ง ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 16 ราย บาดเจ็บอีกราว 50 ราย ล่าสุด (7 เม.ย.54) เครือข่ายผู้ย้ายถิ่นในลุ่มน้ำโขง (MMN) และเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) ออกแถลงการณ์เรื่อง แรงงานท่ามกลางความเสี่ยง ความโลภ ความแออัดยัดเยียด และการขาดระบบขนส่งมวลชน โดยเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ให้รับรองว่า ครอบครัวของแรงงานทุกคนที่เสียชีวิตจะได้รับค่าชดเชย แรงงานที่บาดเจ็บจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และได้รับค่าชดเชยจากการสูญเสียช่วงเวลาทำงาน มีการบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับเรื่องความปลอดภัยสำหรับระบบการขนส่งทุกประเภทอย่างเข้มงวด โดยมีการพิจารณาอย่างระมัดระวังต่อความปลอดภัยของแรงงานในกระบวนการปฏิบัติตามกฏหมาย รวมถึงมีการปรับปรุงระบบการขนส่งมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองซึ่งมีการเติบโตในด้านต่างๆ อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรแรงงานข้ามชาติ
แถลงการณ์ ในวันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554 ประเทศไทยได้รับรู้ถึงอุบัติเหตุทางถนนที่ร้ายแรงอีกครั้งหนึ่ง ที่ทำให้แรงงานข้ามชาติชาวพม่าเสียชีวิต 16 คนและมีผู้บาดเจ็บอีกราว 50 คน เมื่อรถบรรทุกคันที่แรงงานเหล่านี้กำลังเดินทางมาด้วยได้ชนกับรถบรรทุกอีกคันหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรสาคร ในขณะที่แรงงานฯ อยู่ระหว่างการเดินทางไปทำงานที่โรงงานแปรรูปอาหารในมหาชัย แรงงานหลายคนในกลุ่มนี้ได้ปฏิบัติตามกฏกระทรวงและนโยบายใหม่ด้วยการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติและได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราวเรียบร้อยแล้ว ในตอนเช้าและตอนเย็นของทุกวันทั่วประเทศไทยมีรถบรรทุกที่แน่นไปด้วยแรงงานทั้งชาวไทย ชาวพม่า ชาวกัมพูชา และชาวลาว ทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่มุ่งหน้าไปและกลับจากการทำงาน ในบางกรณี รถบรรทุกเหล่านี้ถูกจัดการโดยนายหน้าซึ่งจะมายังจุดนัดพบทุกๆ วัน เพื่อรับแรงงานและพาพวกเขาไปส่งยังสถานที่ทำงานต่างๆ ขณะที่กรณีอื่นๆ นั้น ทางโรงงานจะจัดรถบรรทุกไปรับแรงงานมาทำงานโดยที่พวกเขาไม่ต้องหลบซ่อน การเดินทางเพื่อการทำงานของแรงงานข้ามชาติซึ่งอยู่ในสายตาของทุกคนนั้น รถบรรทุกแรงงานฯ มักจะเร่งความเร็วไปตามท้องถนนในเมืองต่างๆ ทำให้แรงงานที่พยายามหาที่ยึดเกาะถูกแกว่งไปแกว่งมาในรถประหนึ่งว่าชีวิตครึ่งหนึ่งได้ถูกโดยออกไปนอกรถแล้ว เมื่อสิ้นสุดวันอันเหนื่อยล้าจากงานในสถานที่ก่อสร้าง แรงงานก็แทบจะไม่สามารถยืนขึ้นได้ แต่โดยส่วนมากพวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายามที่จะยืน เนื่องจากรถบรรทุกที่อัดแน่นนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะนั่งลงพักให้สบาย แต่ก็โชคไม่ดีที่เป็นไปไม่ได้ที่จะออกไปจากรถ กฏหมายซึ่งบังคับให้คาดเข็มขัดนิรภัยและสวมหมวกกันน็อกดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์ เมื่อมีความเป็นไปได้ที่จะยัดแรงงานไว้บนด้านหลังของรถบรรทุกแต่ละคันโดยปราศจากเครื่องป้องกันความปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ ทั้งนี้ยานพาหนะทุกประเภทในประเทศไทยจะต้องทำประกันภัยและในการทำประกันภัยจะระบุจำนวนผู้โดยสารที่สามารถบรรทุกได้สำหรับยานพาหนะแต่ละคัน แต่รถบรรทุกแรงงานฯ เหล่านี้แทบจะไม่ได้ถูกให้หยุดตรวจโดยตำรวจเลย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก็ได้ดำเนินการเช่นเดียวกันด้วยการอัดแน่นรถบรรทุกของพวกเขาเมื่อส่งกลับแรงงานข้ามชาติ [1]
การขนส่งแรงงานในลักษณะนี้ได้กลายเป็นแบบแผนปกติ เนื่องจาก: 2. การไม่มีระบบอื่นๆ ในที่ทำงาน ทำให้นายหน้าให้บริการรถขนส่งแรงงานไปยังสถานที่ทำงานที่มีงานรองรับในแต่ละวัน ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่แรงงานจะได้งานทำและสามารถเดินทางไปทำงาน นายหน้ามีรายได้จากการเป็นคนกลางระหว่างนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ และหวังจะได้ผลประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จึงยัดแรงงานฯเข้าไปในรถให้ได้มากที่สุดแล้วส่งแรงงานไปตามสถานที่ทำงานต่างๆ พร้อมเก็บค่าโดยสารจากแต่ละคน 3. ในเมืองส่วนใหญ่ของประเทศไทย นอกจากกรุงเทพฯแล้ว ระบบขนส่งมวลชนมีค่อนข้างจำกัด ส่วนระบบขนส่งทางเลือกคือ รถสองแถว (รถแดง) ก็มีราคาแพงเกินไปสำหรับแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 4. แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญกับการจำกัดควบคุมในการได้รับใบอนุญาตขับขี่ และไม่สามารถขับรถจักรยานยนต์ไปทำงานเหมือนแรงงานทั่วไป เครือข่ายผู้ย้ายถิ่นในลุ่มน้ำโขง(MMN) และเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ(ANM)รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อสิ่งเหล่านี้ที่จะนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของแรงงานรุ่นเยาว์ในอนาคต การกระทำที่อันตรายนี้จะต้องยุติลงก่อนที่จะมีแรงงานต้องสูญเสียชีวิตหรือพิการถาวรมากกว่านี้ พวกเราร้องขอต่อรัฐบาลไทย เพื่อให้การรับรองว่า: -แรงงานที่ได้รับบาดเจ็บจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และได้รับค่าชดเชยจากการสูญเสียช่วงเวลาทำงาน -มีการบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับเรื่องความปลอดภัยสำหรับระบบการขนส่งทุกประเภทอย่างเข้มงวด โดยมีการพิจารณาอย่างระมัดระวังต่อความปลอดภัยของแรงงานในกระบวนการปฏิบัติตามกฏหมาย -มีการปรับปรุงระบบการขนส่งมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองซึ่งมีการเติบโตในด้านต่างๆอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรแรงงานข้ามชาติ -ลดการพึ่งพานายหน้า โดยให้บริการจัดหางานให้แรงงานข้ามชาติสามารถหางานด้วยตนเอง -ยกเลิกการจำกัดควบคุมการเดินทางของแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนทั้งหมด -อนุญาตให้แรงงานที่จดทะเบียนแล้วทุกคนเข้าทดสอบการขับขี่และมีรถจักรยานยนต์เป็นของตนเอง โดยเครือข่ายผู้ย้ายถิ่นในลุ่มน้ำโขง(Mekong Migration Network: MMN) และ
อ้างอิง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
'ปริศนาชายชุดดำที่แยกคอกวัว' คว้าข่าวยอดเยี่ยม รางวัลแสงชัยฯ Posted: 07 Apr 2011 07:38 AM PDT 7 เม.ย.- มูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มอบรางวัลการประกวดข่าว-สารคดีวิทยุและโทรทัศน์ รางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ประจำปี 2553 ที่สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ บมจ.อสมท โดยมี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี สำหรับรางวัลประเภทโทรทัศน์ด้านข่าวเหตุการณ์ยอดเยี่ยม คือข่าว "ปริศนาชายชุดดำที่แยกคอกวัว" จากสำนักข่าวไทย อสมท. รางวัลชมเชย คือ ข่าว "ค้ายาบ้ายิงตำรวจ 2 ศพ" จากช่อง 7 และข่าว "ล้อมจับ RKK" จากช่อง 3 นายสมคิด แซ่เฮ้ง ช่างภาพสำนักข่าวไทย ผู้บันทึกภาพชายชุดดำกำลังซุ่มยิงปืนระหว่างเหตุการณ์รุนแรงที่แยกคอกวัวเมื่อวันที่ 10 เมษายนปีที่แล้ว กล่าวว่ารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้นำเสนอความจริงจากในพื้นที่สู่ประชาชน และภาพข่าวถูกใช้อ้างอิงหลายครั้ง ยอมรับว่ามีความกลัวอันตราย อีกทั้งเป็นครั้งแรกที่น้ำตาไหลตลอด ขณะที่ถ่ายภาพเพราะถูกแก๊สน้ำตา แต่ก็ตัดสินใจว่าต้องทำหน้าที่ต่อจนลุล่วง พร้อมกันนี้ยังมีผลงานสารคดีวิทยุ เรื่อง "เยาวชนรักษ์พลับพลึงธาร" จากสำนักข่าวไทย ได้รับรางวัลชมเชย ซึ่ง นายนิพนธ์ ตั้งแสงประทีป เจ้าของผลงาน กล่าวว่า เป็นเรื่องราวของเยาวชนที่รวมกลุ่มกันเพื่ออนุรักษ์พืช "พลับพลึงธาร" ซึ่งมีเพียงแหล่งเดียวบริเวณจังหวัดพังงาและระนอง และกำลังจะขึ้นบัญชีอนุรักษ์ขององค์กรไซเตส ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของกลุ่มเยาวชน และเป็นข้อคิดว่าผู้ใหญ่ควรคำนึงถึงการสืบทอดแนวคิดให้ถึงเด็กๆ ได้รับช่วงต่อ เพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ด้านผลงานโทรทัศน์และวิทยุส่วนกลางและสื่อท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ในปีนี้ รวมทั้งสิ้น 9 รางวัล จากผู้ส่งผลงานเข้าประกวด 164 ผลงาน โดยด้านสารคดีเชิงข่าว รางวัลยอดเยี่ยม คือ "เซน 2010 จากสวนโมกข์สู่หมู่บ้านพลัม" จากเนชั่นแชนแนล รางวัลชมเชย คือ "กองทุนสุขภาพคนไร้สถานี (ร.พ.ชายแดน)" จากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ด้านข่าวสืบสวนสอบสวน รางวัลยอดเยี่ยม คือ "ขบวนการบุกรุกที่ราชพัสดุ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี" จากไทยพีบีเอส รางวัลชมเชย คือ"ทุจริตบัตรเลขศูนย์" จากไทยพีบีเอส สำหรับผลงานรางวัลประเภทวิทยุ ด้านข่าวประกอบเสียง ไม่มีผู้ได้รับรางวัลทั้งยอดเยี่ยมและชมเชย การมอบรางวัลนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 14 เพื่อเป็นการระลึกถึงการจากไปของนายแสงชัย สุนทรวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) .....................
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
"ชินวรณ์" สนับสนุนตำราเรียนฉบับ "เผาบ้านเผาเมือง" เด็กจะได้คิดเป็น Posted: 07 Apr 2011 06:42 AM PDT รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาการเผยสนับสนุนตำราเรียนฉบับที่ระบุว่าเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง เพราะนักเรียนจะได้คิดเป็น ไม่หลงโฆษณาชวนเชื่อ ชี้ "หมอเหวง" ควรเปิดใจกว้าง เพราะจะเปิดโรงเรียนเสื้อแดงอยู่แล้ว มติชนออนไลน์ รายงานวันนี้ (7 เม.ย.) ว่านายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาประณามกรณีมีการบรรจุเนื้อหาว่ากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตย (นปช.) เผาบ้านเผาเมือง ไว้ในหนังสือเสริมการพัฒนาผู้เรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 ว่า นพ.เหวงคงไม่ได้ดูข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะระบบการเรียนการสอนในปัจจุบัน แต่ละโรงเรียนสามารถนำสถานการณ์จริงมาสอนนักเรียนให้วิเคราะห์สถานการณ์ ตามหลักสูตรใหม่ที่ให้ร้อยละ 30 ของเวลาเรียน ส่วนตัวสนับสนุนแบบเรียนดังกล่าว เพราะทำให้นักเรียนได้นำข้อเท็จจริงมาวิเคราะห์สถานการณ์ ดีใจเพราะทำให้นักเรียนคิดเป็น จะได้ไม่ไปหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อ หรือถูกใครปลุกปั่นได้ นพ.เหวงจะเปิดโรงเรียนคนเสื้อแดงอยู่แล้ว ก็ควรจะเปิดใจให้กว้างด้วย ผู้สื่อข่าวถาม แบบเรียนดังกล่าวเป็นตำราเรียนภาคบังคับหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า ไม่ใช่ตำราเรียนภาคบังคับ แต่เรื่องของแต่ละโรงเรียนดำเนินการ ส่วนจำเป็นต้องให้โรงเรียนดังกล่าวทบทวนเนื้อหาหรือไม่นั้น นายชินวรณ์กล่าวว่า ผมสนับสนุนการสอนให้คิดวิเคราะห์เป็น สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
“บริจาคหนังสือเสรี” ประเทศชาติจะฉิบหายจริงหรือ Posted: 07 Apr 2011 05:49 AM PDT (1) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรยากาศของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติอัดแน่นไปด้วยปริมาณผู้คนนับแสนที่เบียดเสียดกันอยู่ตามบู้ธของสำนักพิมพ์ต่างๆ บนพื้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในขณะเดียวกัน วงการหนังสือของไทยก็มีความเคลื่อนไหวของ ‘โครงการเฝ้าระวังการบริจาคหนังสือเสรี’ นำโดยมกุฎ อรดี ผู้ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่คนในวงการหนังสือรู้จักกันเป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็มีทั้งผู้ที่เห็นต่างจากคุณมกุฎ และผู้ที่อยู่ในวงการหนังสือบริจาคต่างก็คอยติดตามความเคลื่อนไหวอยู่เช่นกัน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2554 ร่างประมวลรัษฎากรฉบับหนึ่ง ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และถูกประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย รายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ระบุถึงการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สำหรับผู้ที่บริจาคหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ส่งเสริมการอ่าน ให้แก่สถานศึกษาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ที่บริจาคจะได้รับการงดเว้นภาษีถึง 200 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่ใช้ไปกับการบริจาค ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. บริจาคหนังสือให้แก่ห้องสมุดไปเป็นมูลค่า 10,000 บาท นาย ก. ก็จะได้รับการหักภาษีที่ตนต้องเสียได้ถึง 20,000 บาท กฎหมายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริมการอ่านจากภาครัฐ ที่ต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการอ่านให้แก่เยาวชนและสังคม หลายคนเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้หนังสือกระจายมายังห้องสมุดได้อย่างทั่วถึง ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกกลุ่มที่เห็นต่างกับกฎหมายฉบับนี้ (2) “บริจาคหนังสือเสรี ประเทศจะฉิบหาย” นั่นคือคำจำกัดความสั้นๆ ต่อนโยบายบริจาคหนังสือเสรีในมุมมองของมกุฎ อรดี ผู้ขับเคลื่อนโครงการเฝ้าระวังหนังสือบริจาค มกุฎเห็นว่าการบริจาคหนังสือเสรีจะนำมาสู่ความเสียหายของชาติอย่างใหญ่หลวง กล่าวคือจะเกิดการเหมาหนังสือราคาถูกและไร้คุณภาพเข้ามายังห้องสมุดต่างๆ และจะนำมาสู่ปัญหาการคอรัปชั่น มกุฎเห็นว่ากฎหมายนี้สร้างประโยชน์ให้แก่เฉพาะกลุ่มพ่อค้าและนักการเมือง กล่าวโดยสรุปคือ ประเด็นแรก จะเกิดการเหมาซื้อหนังสือลดราคาหรือหนังสือมือสองราคาถูกไปบริจาค แต่เมื่อนำไปยื่นเรื่องหักภาษีก็จะยื่นใบเสร็จซึ่งเป็นตัวเลขตามราคาตามปก และจะนำมาสู่ปัญหาคอรัปชั่น ประเด็นที่สอง กลุ่มนักการเมืองจะฉวยโอกาสจากการบริจาคหนังสือ โดยการพิมพ์หนังสือที่เขียนถึงประวัติของตนเอง แล้วให้เครือข่ายซื้อไปบริจาคตามห้องสมุด เท่ากับว่านักการเมืองคนนั้นได้ประโยชน์ทั้งการโฆษณาตนเอง และได้ประโยชน์จากการหักภาษี ประเด็นที่สาม หนังสือที่ถูกซื้อไปบริจาคนั้น อาจเป็นหนังสือที่ไร้คุณภาพ ทั้งนี้ทางห้องสมุดที่รับบริจาคก็ไม่สามารถทำลายหรือจัดการกับหนังสือเหล่านั้นได้ เพราะเป็นหนังสือที่นำมาบริจาคโดยมีภาระผูกพันในแง่ที่ว่าเป็นหลักฐานเพื่ออ้างอิงการหักภาษีของผู้ที่ซื้อบริจาค ประเด็นที่สี่ หนังสือที่เข้ามายังห้องสมุดยังขาดคนที่มีความรู้ในเรื่องของการคัดเลือกหนังสือให้เหมาะสมกับห้องสมุด เพราะประเทศไทยยังมีจำนวนบรรณารักษ์ไม่เพียงพอ และยังขาดผู้ที่มีความรู้ในเรื่องหนังสืออย่างแท้จริง ปัจจุบัน มกุฎ มรดี กำลังเดินหน้าทำโครงการเฝ้าระวังการบริจาคหนังสือเสรี โดยพยายามชี้ให้เห็นถึงผลเสีย และเฝ้าระวังผลกระทบที่จะตามมากับกฎหมายบริจาคหนังสือเสรีฉบับนี้ในอนาคต ในขณะเดียวกันก็มีผู้ที่คิดเห็นในประเด็นนี้ต่างจากความคิดเห็นของมกุฎ
(3) ปัญหาคอรัปชั่นเป็นคนละเรื่องกับการสรุปว่าหนังสือเก่าเป็นหนังสือไม่ดี ธนาพล อิ๋วสกุล กองบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกันเป็นผู้หนึ่งที่เห็นแย้งกับมกุฎ โดยเห็นว่าปัญหาเรื่องคอรัปชั่นที่มากับการบริจาคหนังสือเสรีตามที่มกุฎได้กล่าวถึงนั้น ตนเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่แท้จริง ธนาพลกล่าวว่า “คุณมกุฎบอกว่าการบริจาคหนังสือเป็นช่องทางหนึ่งของการคอรัปชั่น เช่น ไปซื้อหนังสือราคาถูกๆ แล้วเอามาหักภาษีเต็มๆ กับราคาปกหนังสือ มันก็เป็นธรรมดาของประเทศไทยอยู่แล้วที่จะมีการคอรัปชั่น” ธนาพลเห็นว่าปัญหาคอรัปชั่นเป็นปัญหาที่สามารถพบได้กับทุกเรื่องอยู่แล้ว ตนจึงไม่เห็นว่าการคอรัปชั่นที่จะมากับการบริจาคหนังสือนั้นเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอะไร ธนาพลเห็นด้วยกับกฎหมายบริจาคหนังสือเสรีฉบับนี้ โดยกล่าวว่า “การที่จะให้หนังสือโดยมาตรการภาษีแบบนี้ สำหรับผม ผมว่ามันควรจะมี ส่วนมีแล้วจะเกิดปัญหาใดบ้างก็ต้องมาแก้ที่ปัญหาของมัน ไม่ใช่จะมาบอกว่า การบริจาคหนังสือเก่าเป็นการคอรัปชั่น มันไม่ใช่ตรรกะแบบนั้น” ธนาพลเห็นว่าหนังสือที่เก่าไม่ได้หมายความว่าเป็นหนังสือที่ไม่ดี พร้อมทั้งเห็นว่าหนังสือเก่าที่ดีก็มีมากมาย สำหรับหนังสือเก่าที่ผ่านไปหลายปีแล้วราคาเปอร์เซ็นต์ตามปกต้องลดลงนั้น ธนาพลเห็นว่าเป็นสิ่งที่สามารถจัดการได้ ส่วนเรื่องความเหมาะสมของหนังสือบริจาคที่เข้าไปยังห้องสมุดนั้น ธนาพลกล่าวว่าปัจจุบันก็ไม่เห็นห้องสมุดแห่งไหนจะมีหนังสือที่เหมาะสมอย่างแท้จริงทั้งนั้น
(4) “การครอบงำ”ไม่ใช่ว่าแค่ส่งหนังสือบริจาคไปห้องสมุดก็ครอบงำได้เบ็ดเสร็จ นักเขียนหนุ่มผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม แสดงความเห็นต่างจากมกุฎ โดยกล่าวถึงประเด็นที่มกุฎเห็นว่าจะเป็นช่องทางให้คนพิมพ์หนังสือครอบงำความคิดของผู้อ่าน เขาเห็นว่าปกติแล้ว ภาพยนตร์ หนังสือ เว็บไซต์ และสื่อต่างๆ ก็มีการใส่ “อุดมการณ์” อย่างใดอย่างหนึ่งของผู้เขียนหรือผู้สร้างอยู่แล้ว นอกจากนี้หากนักการเมืองจะใช้การพิมพ์หนังสือหาเสียง ก็ยังมีวิธีอื่นที่สะดวกกว่า ใช้เงินน้อยกว่า เห็นผลตรงจุดกว่าการลงทุนพิมพ์หนังสือหาเสียงไปบริจาคห้องสมุด ส่วนเรื่องลัทธิสอดไส้แฝงไปกับหนังสือบริจาคนั้น เขาเห็นว่าสมัยนี้ใช้เว็บไซต์น่าจะเห็นผลกว่า “ปัญหาคือเราเอาอะไรไปวัดว่า ‘ข้อมูล’ หรือ ‘อุดมการณ์ใด’ เป็นอุดมการณ์ที่ ‘ดี’ ที่ ‘ถูก’ และอุดมการณ์หรือข้อมูลใด ‘ผิด’ หรือเป็น ‘อันตรายต่อความมั่นคงของชาติ’ ? ถ้าเราใช้เหตุผลเช่นนั้นในการ ‘เฝ้าระวัง’ หนังสือ เท่ากับเราก็ยอมรับในแนวคิด ‘พี่ใหญ่’ หรือ ‘คุณพ่อรู้ดี’ เราก็จะไม่มีเหตุผลใดที่จะไปเรียกร้องต่อสู้เวลาที่เขาบล็อกเว็บหรือเซนเซอร์หนัง เพราะนั่นเขาก็อ้างว่าทำเพื่อ ‘ความมั่นคง’ ของชาติ (ประกอบศีลธรรมอันดีด้วย) เช่นกัน” เขาชี้ว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าเราจะยอมให้มีอุดมการณ์หลัก (แห่งชาติ) เพียงอุดมการณ์เดียวที่ ‘ได้รับอนุญาต’ ให้ครอบงำลงสู่ผู้อ่านเท่านั้นหรือ เขาเสนอว่าห้องสมุดควรจะมีโอกาสให้หนังสือได้ “ปะทะ” กันบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าวางหนังสืออย่าง “พระราชอำนาจ” ของ ประมวล รุจนเสรี หรือหนังสือของ ธงทอง จันทรางศุ ได้ เราก็ควรวางหนังสือของ ปิยบุตร แสงกนกกุล หรือ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ลงไปข้างๆ ได้เช่นกัน หรือถ้ามี “ความสุขของกะทิ” ก็ควรจะมี “ก็ไพร่นี่คะ” ให้เลือกอ่านได้ในห้องสมุดเดียวกัน “เราเคยเชื่อหนังสือบางเล่มอย่างหัวปักหัวปำ แต่พออ่านหนังสืออีกเล่ม มันล้างความคิดของหนังสือเล่มก่อนหน้านั้นไปเลย ไม่มีหนังสือเล่มใดหรอกที่จะครอบงำเราได้ตลอดไป และมันมีหนังสือใหม่ๆ รอมาครอบงำเราตลบหลังได้เรื่อยๆ” เขาขยายความ สำหรับสาเหตุที่สนับสนุนนโยบายบริจาคหนังสือเสรีนั้น ท่านผู้นี้เห็นว่าจะเป็นการสร้างความหลากหลายให้กับหนังสือในห้องสมุด กล่าวคือ หนังสือที่กว่าจะไปปรากฏในห้องสมุดนั้นต้องผ่านด่านหลายด่าน คือ รสนิยมและอุดมการณ์ของบรรณารักษ์ ความจำเป็นและความต้องการของผู้อ่าน และทุนในการจัดหาหนังสือ เขายกตัวอย่างให้เห็นว่า “ต่อให้บรรณารักษ์มีแนวคิดที่ดี ส่งเสริมการอ่านวรรณกรรม แต่สมมติมีงบเหลือซื้อหนังสือได้ 350 บาท ระหว่างช่อการะเกดกับคู่มือ Windows 7 (ซึ่งอาจจะได้สองเล่มด้วยซ้ำ) แน่นอนว่าบรรณารักษ์คงต้องเลือกรายการหลัง เพราะเป็นรายการที่อยู่ในความจำเป็นมากกว่า แม้เขาเองจะคิดว่า น่าจะมีวรรณกรรมไว้บริการก็ตาม หรือถ้ากรณีหนังสือวรรณกรรมด้วยกันระหว่างช่อการะเกดกับแฮร์รี่พอตเตอร์ แน่นอนว่า เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้หนังสือที่มีคนอยากอ่าน บรรณรักษ์ก็คงต้องเลือกเล่มหลังเช่นกัน” เขาเห็นว่าอย่างน้อยมาตรการภาษีนี้ก็ช่วยลดข้อจำกัดเรื่องทุนลงไปได้บ้าง และเป็นการสร้างโอกาสให้กับหนังสือใหม่ๆ แปลกๆ ที่ปกติห้องสมุดอาจไม่คิดจะซื้อ หรืออยากจะซื้อ แต่มีเล่มอื่นเร่งด่วนหรือเป็นประโยชน์ จำต้องจัดซื้อก่อน จึงเห็นว่าหนังสือบริจาคอาจลงไปช่วยอุดช่องว่างตรงนี้ได้ แม้ว่าเขาจะเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนการบริจาคหนังสือเสรี แต่เขาก็คิดว่าอาจจะต้องหาวิธีให้กระชับรัดกุมเพื่อป้องกันการใช้เป็นช่องทางทุจริตหรือเลี่ยงภาษี สำหรับแนวทางแก้ปัญหาในขั้นต้นที่บุคคลท่านนี้เห็นว่าจัดการได้ คือการกำหนด “เพดานสูงสุดของการลดหย่อนภาษี” และการใช้หลักคล้ายๆ “อนุโมทนาบัตร” หรือการรับหนังสือโดยออกหนังสือรับรองให้ จากนั้นค่อยนำหนังสือรับรองนั้นแนบใบเสร็จรับเงินเอามาใช้ลดหย่อนภาษี เพื่อจะช่วยป้องกันหนังสือขยะที่อาจหลั่งไหลเข้ามายังห้องสมุด นโยบายส่งเสริมการอ่านที่ท่านนี้เห็นว่ารัฐควรทำคือ รัฐควรสนับสนุนการ “แปล” หนังสือต่างประเทศดีๆ ทั้งวิชาการและวรรณกรรมมาเป็นภาษาไทยบ้าง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ รัฐควรสนับสนุนให้มีหนังสือ Edition ราคาปกติ กับ Edition ราคาถูก เป็นลักษณะเช่นเดียวกับหนังสือของต่างประเทศ คือพอกเก็ตบุ๊คถูก พิมพ์ด้วยกระดาษบางๆ ที่เนื้อกระดาษอาจจะไม่ค่อยดีนัก แค่พออ่านได้ อ่านแล้วทิ้งไว้ตามสนามบินให้คนอื่นอ่านต่อ ส่วนผู้ที่เป็นนักสะสมหนังสือนั้นก็ซื้อฉบับราคาปกติไป “หนังสือก็แค่หนังสือ ก็เหมือนเสื้อผ้า เราเลือกอย่างที่เราชอบ ใส่ได้พอดีตัวเรา เราใส่มันจนเราพอใจ แล้วก็ถอด ใส่ตัวใหม่กันไป ตัวไหนชอบมากหน่อย ก็ใส่นานใส่ซ้ำ ส่วนตัวไม่คิดว่าหนังสือเป็นของดีวิเศษกว่าสิ่งไหนใดอื่น - ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ห้ามบริจาคกันมั่วซั่ว เพราะทุกอย่างแหละครับ ไม่ว่าจะปลากระป๋อง รองเท้าแตะ เสื้อกันหนาว มันก็ไม่ควรบริจาคมั่วซั่วทั้งนั้น” เขากล่าวทิ้งท้าย
(5) ผู้บริจาคได้ประโยชน์จากการหักภาษี แต่ผู้รับอาจได้สิ่งที่ไม่สมควรจะได้ จิรัชฌา อ่อนโอภาส นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ซึ่งเคยทำกิจกรรมค่ายอาสาโดยใช้โครงการบริจาคหนังสือให้แก่เยาวชนในพื้นที่ต่างจังหวัด จิรัชณาเล่าว่า “หนังสือที่คนในมหาวิทยาลัยเอามาบริจาค ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือเรียนที่ใช้แล้ว หรือเป็นหนังสือที่มีเยอะแต่ไม่ได้ใช้” จิรัชณาเห็นว่าคนที่มาบริจาคหนังสือนั้น นำหนังสือจำนวนมากมาบริจาค ซึ่งตนก็เห็นว่าหนังสือเหล่านั้นเป็นหนังสือที่ดี เช่น หนังสือธรรมะที่ได้รับบริจาคมาเป็นจำนวนมาก แต่ผู้บริจาคก็ควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ หรือผู้ที่จะได้รับหนังสือตามเป้าหมายที่แท้จริง สำหรับในเรื่องการบริจาคหนังสือเสรีนั้น เธอกล่าวว่า “เขาได้หักภาษี แต่พอหักภาษีไปแล้ว สิ่งที่เด็กได้ก็อาจไม่สมควรที่จะได้” เธอเล่าว่า ตอนที่เธอทำค่ายอาสานั้น เธอต้องทำเรื่องขอไปที่ทางสำนักพิมพ์เพื่อขอรับบริจาคหนังสือ สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งมอบหนังสือมาให้เป็นนิตยสารชื่อดังประจำสำนักพิมพ์ตน เธอเห็นว่าหากตนขอรับบริจาคหนังสือในตอนที่กฎหมายฉบับนี้ออก อาจมีคนจำนวนมากยินดีที่จะให้การบริจาคก็เป็นได้
(6) ยิ่งหลากหลายความคิดเห็น ก็ยิ่งเป็นสัญญาณทีดีที่ต่างก็มีการตรวจสอบกัน มูลนิธิกระจกเงาเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำโครงการรับบริจาคหนังสือโดยตรง ภายใต้ชื่อว่า “โครงการอ่านสร้างชาติ” จรัญ มาลัยกุล ผู้เป็นหัวหน้าโครงการเล่าว่า มูลนิธิทำโครงการนี้มานานกว่า 3 ปีแล้ว โดยดำเนินการภายใต้ความเชื่อที่ว่า “หนังสือมีอยู่จำนวนมาก แต่อยู่ในมือของคนที่มีโอกาส มีเงิน มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี” และเห็นว่าหนังสือกระจุกอยู่เฉพาะในเขตเมืองเท่านั้น จรัญเล่าว่า แต่ละปีทางมูลนิธิจะได้รับหนังสือบริจาคเข้ามาเป็นแสนเล่ม หนังสือที่ได้รับบริจาคมาเป็นหนังสือที่สภาพสมบูรณ์และใหม่ก็จริง แต่มักจะเป็นหนังสือที่ผู้บริจาคไม่ชอบ จรัญชี้ว่า “มันเป็นทัศนคติที่มีปัญหา สังคมยังไม่ค่อยตระหนักว่า หนังสือดีที่มีประโยชน์ก็สามารถเปลี่ยนแปลงเจ้าของได้ พัฒนาคนอื่นได้ แต่คนยังไม่ค่อยนึกถึงตรงนี้กันเท่าไหร่ ยังเป็นข้อจำกัดในเรื่องวิธีคิด” ส่วนหนังสือที่ได้รับบริจาคมาจากทางสำนักพิมพ์โดยตรงนั้น จรัญเล่าว่าที่ผ่านมามีเพียงจำนวน 2 รายเท่านั้น และหนังสือที่ได้มาก็เป็นหนังสือที่ขายไม่ออกแล้ว หนังสือที่ได้มานั้นต้องมีการคัดแยกอีกที สุดท้ายแล้วเหลือที่ใช้ได้จริงมีแค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนที่ใช้ไม่ได้ ทางโครงการก็จะนำไปขายเพื่อนำเงินสมทบเข้ากองทุนพิมพ์หนังสือเด็กต่อไป ส่วนหนังสือเล่มไหนที่เข้ามาซ้ำกันเป็นจำนวนมาก ก็จะเอามาลงขายทางเว็บไซต์ในราคา 20 เปอร์เซ็นต์จากปก แล้วนำเงินสมทบเข้ายังกองทุนเช่นกัน เพื่อนำเงินไปจัดพิมพ์หนังสือนิทานท้องถิ่นต่อไป โดยจรัญกล่าวว่า “อยากได้แนวความคิดที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและเอามาใช้ประโยชน์ได้ เช่น นิทานมาจากเรื่องเล่าปราชญ์ชาวบ้าน คิดว่าทำแบบนี้จะตอบโจทย์ได้ และจะช่วยเพิ่มความหลากหลายของหนังสือด้วย” เมื่อถามถึงนโยบายบริจาคหนังสือเสรีในมุมมองของมกุฎ จรัญมองว่าเป็นการกลัวและเกรงกันไปก่อนว่าจะเกิดปัญหาแบบนั้นแบบนี้ โดยเห็นว่าเรื่องนี้ต้องมีการยืดหยุ่นบ้าง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าคนที่ทำหนังสือดีจะกลายเป็นผู้ผูกขาดบางอย่างจนเกินไป ในเรื่องปัญหานักการเมืองที่มกุฎกังวลนั้น จรัญเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่นักการเมืองทำผิดแล้วจะไม่มีนักการเมืองอีกฝ่ายมาคอยตรวจสอบ จรัญเปรียบเทียบประเด็นนี้ว่าเป็นเสมือนงานศิลปะอย่างหนึ่ง และคงสุดโต่งเกินไปที่จะมองมุมเดียว “สังคมมีหลายระดับ คนที่อยากช่วยก็มี แต่คนมีตังค์ก็อาจไม่มีความรู้ว่าจะซื้อหนังสืออะไร มันเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก” จรัญกล่าวว่า สำหรับเรื่องคอรัปชั่น ก็เห็นด้วยเช่นกันว่ามีอยู่จริง แต่การปิดกั้นตั้งแต่แรกโดยพูดถึงแต่เรื่องของคอรัปชั่นนั้น มันไม่ใช่ทางแก้ที่ถูกต้อง แต่ท่ามกลางความคิดเห็นที่หลากหลายแบบนี้เป็นบรรยากาศที่ดี แต่ละฝ่ายจะได้มีการตรวจสอบกัน จรัญชี้ว่าเมื่อมีการขับเคลื่อนกันหลายๆ ฝ่าย ทุกอย่างก็จะเกิดความพร้อมกันไปเอง “สังคมต้องมีคนเห็นต่างแล้วมาตรวจสอบกัน ไม่งั้นจะบอกตัวเองได้อย่างไรว่าเป็นประชาธิปไตย ทุกอย่างต้องมีมารฐานของมัน หนังสือดีมันก็มีมาตรฐานอยู่แล้ว แต่อย่าพยายามเอาแต่ผูกขาดว่ากลุ่มของตนเองที่ทำหนังสือดีที่สุดเท่านั้น...มันไม่ใช่ทั้งหมด”
(7) ต้องบริจาคเป็นหนังสือที่สามารถใช้ได้ และบรรณารักษ์ต้องรู้ว่าอะไรที่เหมาะกับห้องสมุด ห้องสมุดสิกขาเอเชีย เป็นห้องสมุดเด็กแห่งหนึ่งในชุมชนคลองเตย ห้องสมุดแห่งนี้เป็นเสมือนแหล่งการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โดยเปิดบริการให้แก่ชาวคลองเตยในชุมชน 70 ไร่มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว อลิสา อุปศรี ผู้ซึ่งนำหน้าที่ผู้ช่วยประสานงานและเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ของห้องสมุดเล่าว่า หนังสือบริจาคที่เข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือเรียนที่ใช้แล้ว รับมาก็เอาไปใช้ไม่ได้ จึงต้องเอาไปขาย แล้วเอาเงินสมทบกล่องบริจาค “หลังๆ เราก็ต้องบอกเขาว่า เราไม่รับ เพราะรับมาแล้ว ถ้าเขาเห็นเราเอาไปขาย เขาจะมองแล้วรู้สึกไม่ดีก็ได้” นั่นคือคำพูดของผู้ที่ต้องจัดการกับกองหนังสือที่ถูกขนเข้ามาบริจาคยังห้องสมุด เมื่อถามเธอว่าหากเลือกได้ระหว่างเงินบริจาคกับหนังสือบริจาค? เธอตอบว่า “อยากเลือกเป็นเงินมากกว่า เพราะเรารู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเราต้องการอ่านอะไร ชอบแนวไหน ถ้าเขาอยากซื้อหนังสือแล้วคิดว่าให้เป็นตัวเงินแล้วดูไม่ดี ก็อยากให้มาคุยกับห้องสมุดก่อนว่าอยากได้หนังสือแนวไหนยังไง” เธอยกตัวอย่างว่า เงินสองร้อย ตนเห็นว่าสามารถซื้อหนังสือปกอ่อนได้ถึงสองเล่ม ก็อยากบอกว่าขอเป็นเล่มนี้ได้ไหม เพราะเด็กชอบอ่านเล่มนี้มาก อลิสาคิดว่าควรจะเป็นแบบนี้ ดีกว่าการไปคิดเองว่าต้องเป็นหนังสือเล่มนั้นดีเล่มนี้ดี แต่จริงๆแล้วเด็กไม่ชอบ “วรรณกรรมบางเล่มอ่านให้เด็ก แต่เด็กก็ไม่เข้าใจ เช่น โต๊ะโตะจังเป็นใคร คืออะไร แฮรี่พอตเตอร์คืออะไร คือมันต้องใช้จินตนาการและเวลา บางที่มันอาจยังไม่เหมาะกับเด็กในช่วงวัยนี้” อลิสาขยายความให้เห็นภาพชัดขึ้น ถามถึงความคิดเห็นเรื่องนโยบายบริจาคหนังสือเสรี อลิสาเล่าว่า ก่อนหน้านี้เธอเคยไปร่วมประชุมกับ กทม. และเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่พอมาอ่านความคิดเห็นของมกุฎและกลุ่มเอ็นจีโอที่ต่อต้านนโยบายดังกล่าว ทำให้เธอคิดว่าหากเป็นอย่างนั้นจริง ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวเหมือนกัน อลิสาเห็นว่าบรรณารักษ์เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ เธอกล่าวว่า “บรรณารักษ์ต้องเข้มแข็งพอ ต้องเลือกได้ว่าอะไรที่จะรับหรือไม่รับ ไม่ใช่ว่าเค้าบริจาคมาก็รับ อย่าคิดว่าไม่มีหนังสือแล้วต้องรับหนังสืออะไรเข้ามาก็ได้ เลือกเอาหนังสือที่ใช้ได้ดีกว่า ดีกว่าการที่มีหนังสือเยอะๆเข้ามาเต็มตู้แล้วใช้ไม่ได้” เมื่อถามเธอถึงปัญหาบรรณารักษ์ของประเทศที่ยังมีจำนวนไม่เพียงพอดังความคิดเห็นของมกุฎ เธอตอบว่า “จริง” อลิสาเล่าว่า เธอทำงานที่ห้องสมุดแห่งนี้มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว แต่ทางห้องสมุดสิกขาเอเชียเองก็ต้องเปิดรับสมัครบรรณารักษ์มาใหม่ทุกปี เพราะหน้าที่ของบรรณารักษ์ห้องสมุดเด็กไม่ใช่มีเพียงแค่นั่งลงทะเบียนเท่านั้น เธอเล่าต่อไปว่า เคยคุยกับอาจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง สาขาบรรณารักษ์ของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นต้องเปลี่ยนชื่อสาขาวิชาให้ฟังดูทันสมัยขึ้น เพราะไม่มีคนเรียน ทั้งหมดนี้คือคำบอกเล่าและความคิดเห็นของบุคคลผู้ที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของวงการงานหนังสือ และวงการหนังสือบริจาค ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีข้อคิดเห็นและมองเห็นข้อดีข้อเสียกันคนละมุม แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่สำคัญเท่ากับมุมมองของ “ผู้บริจาค” ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้เล่นที่แท้จริง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
พุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีที่ ‘พุทธปรัชญา’ หายไป Posted: 07 Apr 2011 05:26 AM PDT ในขณะที่นักคิดตะวันตกมองว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ Religion แต่เป็น philosophy of life แต่ชาวพุทธบ้านเราปฏิเสธว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญา โดยให้เหตุผลว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่การเก็งความจริงด้วยเหตุผล หรือการอ้างเหตุผลโต้แย้งเพื่อแสวงหาความรู้เพื่อความรู้ที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติเหมือนปรัชญา แต่ที่จริงแล้วคำว่า “ปรัชญา” นั้นมีหลายนิยาม และที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ปรัชญาหมายถึงโลกทัศน์ ชีวทัศน์ หรือกรอบความคิดที่มนุษย์เราใช้ในการมองโลกและชีวิต หรือให้ความหมายของโลกและชีวิตที่เป็นพื้นฐานของการกำหนดเป้าหมายและวิถีของสังคมและวิถีการดำเนินชีวิตของปัจเจกบุคคล ส่วนอีกความหมายหนึ่ง ปรัชญาหมายถึง “กิจกรรมทางปรัชญา” ได้แก่ การใช้เหตุผลโต้แย้งหรือซักไซ้ไล่เรียงอย่างถึงที่สุดเพื่อทำความเข้าใจปัญหาพื้นฐานต่างๆ เช่น ปัญหาว่าอะไรคือความจริง ความรู้ การมีชีวิตที่ดี สังคมการเมืองที่พึงประสงค์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม คืออะไร เป็นต้น จากนิยามดังกล่าว ปรัชญาจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการมีชีวิตและสังคมที่ดี เพราะการมีชีวิตที่ดีและสังคมที่ดีจะเป็นไปได้ เมื่อเราเข้าใจความหมายของการมีชีวิตและสังคมที่ดีในระดับที่สามารถนำมาใช้เป็นโลกทัศน์ ชีวทัศน์ที่กำหนดทิศทางของการการดำเนินชีวิตและการสร้างสรรค์สังคมของเรา ส่วนปรัชญาในความหมายของ “กิจกรรมทางปรัชญา” ก็เป็นเรื่องของกระบวนการปฏิบัติเพื่อสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ การใช้เหตุผล วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย ฉะนั้น การปฏิเสธปรัชญาว่าไม่ใช่เรื่องของการปฏิบัติจึงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว ความจริงแล้วการปฏิบัติธรรม หรือการดำเนินชีวิตในทางพุทธศาสนาก็ย่อมเป็นไปตามกรอบโลกทัศน์ ชีวทัศน์แบบพุทธ หรือ “พุทธปรัชญา” นั่นเอง เช่น กรอบโลกทัศน์ ชีวทัศน์ตามหลักอริยสัจ ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น ปัญหาของพุทธศาสนาในบ้านเราจึงยู่ที่ว่าพุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีเชิงพาณิชย์กำลังทำให้ “พุทธปรัชญา” หายไปหรือไม่? พูดให้ตรงคือเราเหลือแต่รูปแบบพิธีกรรมที่ปลูกฝังความเชื่อที่ไม่ได้เชื่อมโยง หรือก่อให้เกิดโลกทัศน์ ชีวทัศน์แบบพุทธอีกแล้วหรือไม่? เมื่อเราเข้าไปที่สวนโมกข์ เราย่อมสัมผัสได้ถึงโลกทัศน์ชีวิทัศน์แบบพุทธตั้งแต่ความเรียบง่าย ร่มรื่น สงบเย็น บรรยากาศของการท้าทายทางปัญญาจากบุคลิกภาพของท่านพุทธทาส และผลง่านต่างๆ ของท่าน เช่น โรงมหรศพทางวิญญาณ และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดสรุปความหมายสำคัญได้ว่า วัดและกิจกรรมทางศาสนาบรรดามีล้วนแต่สะท้อนถึงหรือเป็นสิ่งแสดงออกซึ่ง “พุทธปรัชญา” หรือโลกทัศน์ ชีวิทัศน์แบบพุทธแทบทั้งสิ้น แต่พุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน เช่น การทอดกฐินที่เน้นยอด 10 ล้าน 20 ล้าน การสร้างวัตถุที่ใหญ่โตอลังการ รูปแบบการปฏิบัติธรรมที่ผูกติดกับการปลูกฝังความเชื่อเรื่องการทำความดีที่หมายถึงการทำบุญซึ่งเน้นวัตถุประสงค์จำเพาะเพื่อการ “มีชีวิตที่สุขสบาย” ในโลกนี้และโลกหน้า เป็นต้น กลับเป็นสิ่งสะท้อนหรือเป็นที่แสดงออกซึ่งโลกทัศน์ชีวทัศน์แบบสุขนิยม หรือบริโภคนิยมสุดโต่ง (เน้นคุณค่าของชีวิตที่ขึ้นอยู่กับความสุขสบายพรั่งพร้อมในโลกนี้ และแถมความสุขสบายในโลกหน้าแบบไม่อั้น ถ้าคุณบริจาคทำบุญแบบไม่อั้น) กลายเป็นว่าพุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีเชิงพาณิชย์ในปัจจุบันทำให้ “พุทธปรัชญา” หายไปแล้ว และถูกแทนที่ด้วยปรัชญาสุขนิยมและบริโภคนิยมสุดโต่ง ! พูดอีกอย่างคือ “ความดี” ที่ปลูกฝังกันในพุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีเชิงพาณิชย์ไม่ใช่ความดีตามกรอบโลกทัศน์ ชีวทัศน์แบบพุทธ หรือตามกรอบพุทธปรัชญา ที่หมายถึงความดีที่สนับสนุนการดับทุกข์ในชีวิตของปัจเจกบุคคลและทุกข์ทางสังคม หากแต่เป็นความดีที่มีความหมายในเชิง “สั่งสมบุญกุศลเพื่อดลบันดาล” ให้เกิดสิ่งดีๆ เกิดสิริมงคลในชีวิตซึ่งมีเป้าหมายรวบยอดอยู่ที่ “ความสุขสบายส่วนตัว” ส่วน “คนดี” ที่พุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีเชิงพาณิชย์สร้างขึ้น ไม่ใช่ “คนดีเชิงสังคม” ที่มีจิตสำนึกเรียนรู้ปัญหาและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น หากแต่เป็น “คนดีเชิงศาสนา” ที่มีความหมายจำเพาะว่าเป็นผู้ศรัทธาต่อแนวทางของวัด รับใช้วัด ขยายความดีในแนวทางของวัดออกไปสู่มหาชนกระทั่งสู่โลกตามแนวทางการสร้าง “เครือข่ายบุญ” แบบกรรมการกฐิน ผ้าป่า จนกระทั่งพัฒนามาเป็น “เครือข่ายบุญแบบขายตรง” เป็นต้น นอกจากนี้ “พุทธศาสนาจารีตประเพณีแบบทางการ” ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมความศักดิ์สิทธิ์ของ “ระบบอำนาจนิยม” สร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจนิยมดังที่ปลูกฝังกันว่าราษฎรต้องเคารพยำเกรงเชื่อฟัง “ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่” เป็นต้น จนแม้เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยมา 79 ปี รูปการจิตสำนึกดังกล่าวยังยากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง จะว่าไปแล้ว เพราะพุทธปรัชญา หรือกรอบโลกทัศน์ ชีวทัศน์แบบพุทธหายไปแล้วจากพุทธศาสนาแบบจารีตประเพณี (ทั้งเชิงพาณิชย์ ทางการ และแม้แต่รูปแบบสมถะเคร่งครัด?) ฉะนั้น พุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีที่เป็นอยู่จึงไม่เคยมีบทบาทแก้วิกฤตความรุนแรงใดๆ เลยในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในสังคมไทยที่ผ่านมา ซ้ำร้ายกลับปรากฏว่า มีชาวพุทธที่เป็นปัจเจกบุคคลทั้งที่เป็นปราชญ์และพระสงฆ์ ออกมาแสดงบทบาทสนับสนุนระบบอำนาจนิยม เช่น หลวงวิจิตรวาทการ ที่ตีความพุทธศาสนารับใช้เผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กิตติวุฑฺโฒภิกขุ เจ้าของวาทะ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป” ล่าสุดคือจำลอง ศรีเมือง (ผู้กินมังสวิรัติ) ที่เรียกร้องให้ใช้ “กฎอัยการศึก” จัดการกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ในปีที่ผ่านมา และกำลังเรียกร้อง “ระบอบอะไรก็ได้ (?)” ขอให้ได้ “คนดีมีศีลธรรม(?)” มาปกครองบ้านเมือง อันที่จริงคนที่เข้าใจความหมายของ “ความเป็นมนุษย์” ตามกรอบคิดเรื่อง “เสรีภาพ” และ “ความเสมอภาค” ยังแสดงออกถึงความเคารพคุณค่าของมนุษย์ แสดงออกถึงการมี “หัวใจ” เจ็บปวดกับการเข่นฆ่าประชาชนมากกว่าชาวพุทธที่เคร่งครัดด้วยซ้ำ เช่น คนไม่มีศาสนาอย่าง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ออกมาเตือนแกนนำเสื้อแดงตรงๆ ว่า “แม้จะได้การเลือกตั้งมาด้วยการแลกชีวิตประชาชนเพียง 1 คน ก็ไม่คุ้มค่าเลย” แต่พระสงฆ์และชาวพุทธส่วนใหญ่กลับ “วางเฉย” ต่อการเข่นฆ่าประชาชน ที่น่าเศร้าคือ ระหว่างเก็บข้อมูลวิจัย ผมได้พูดคุยกับผู้ปฏิบัติธรรมและพระสงฆ์ที่มีการศึกษาระดับปริญญาเอกบางรูปกลับมองว่า ปรากฏการณ์ความรุนแรงและการเข่นฆ่าประชาชนที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่อง “กรรมของสัตว์โลก!” นี่คือบางตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า มิติทางจิตวิญญาณ และมิติทางสังคมตามกรอบ “พุทธปรัชญา” หายไปแล้วจากพุทธศาสนาแบบจารีตประเพณี ไม่ว่าจะเป็นพุทธจารีตประเพณีแบบทางการ พุทธจารีตประเพณีเชิงพาณิชย์ และแม้แต่พุทธจารีตประเพณีแบบสมถะเคร่งครัด! สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
กองทัพรัฐฉานเหนือโจมตีทหารพม่า - การสู้รบยึดเยื้อ Posted: 07 Apr 2011 04:56 AM PDT การสู้รบระหว่างกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA/SSPP กับทหารกองทัพพม่าเกิดขึ้นอย่ แฟ้มภาพกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA/SSPP (ที่มา: S.H.A.N.) มีรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 6.00 น. วานนี้ (6 เม.ย.) กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" Shan State Army 'North' ภายใต้องค์การการเมืองพรรคก้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. เป็นต้นมา ทหารกองทัพรัฐบาลทหารพม่าได้เปิ การสู้รบทั้งสองฝ่ายตลอดช่ ต่อมาวันที่ 4 เม.ย. เวลาประมาณ 13.30 – 14.00 น. ทหารกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" สังกัดกองพัน 196 กองพลน้อยที่ 74 ได้ซุ่มโจมตีทหารพม่าบริ และเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา ทหารกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA/SSPP ได้ซุ่มโจมตีทหารพม่าสังกั จากเหตุการสู้รบของทั้งสองฝ่ มีรายงานด้วยว่า กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA/SSPP ซึ่งเดิมมีพื้นที่เคลื่อนไหวใน 4 เมือง รัฐฉานภาคเหนือ คือ เมืองเกซี เมืองสู้ เมืองไหย๋ และเมืองต้างยาน แต่หลังถูกกองทัพพม่าเข้าโจมตี ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ http://www.khonkhurtai.org/ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ตำรวจชุมพรถูกกล่าวหา กดขี่แรงงานข้ามชาติจากพม่า Posted: 07 Apr 2011 04:49 AM PDT สำนักข่าวอิรวดีรายงานการสัมภาษณ์แรงงานประมงชาวพม่าว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใน จ.ชุมพร มีพฤติกรรมมิชอบ ใช้อำนาจในเครื่องแบบกดขี่ข่มและรีดไถแรงงานชาวพม่าในพื้นที่อยู่เป็นประจำ “เจ้าหน้าที่มักอ้างว่า พวกเขามาตรวจหาแรงงานผิดกฎหมาย แต่พวกเขามักจะหยิบเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินของแรงงานที่พวกเขาต้องการไปด้วยเป็นประจำ” นายอ่องอ่อง แรงงานชาวพม่าที่ทำงานในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลใน ต.ปากน้ำ จ.ชุมพรกล่าว ด้านนายเอหม่อง แรงงานชาวพม่าอีกคนเปิดเผยว่า ในชุมชนที่เขาอยู่นั้น แรงงานจากพม่าที่ถูกและผิดกฎหมายถูกห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ รถจักรยานและรถจักรยานยนต์ รวมทั้งยังถูกห้ามใส่นาฬิกาข้อมือและรองเท้ายี่ห้อดัง ซึ่งหากแรงงานฝ่าฝืนก็จะต้องจ่ายค่าปรับให้กับเจ้าหน้าที่ “หากถูกจับว่าใช้โทรศัพท์เครื่องราคาแพงๆ และอยากได้คืนจากเจ้าหน้าที่ จะต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 500 บาท แต่หากเป็นโทรศัพท์เครื่องราคาถูกก็ต้องจ่าย 200 บาท นอกจากนี้ จะถูกปรับ 500 บาท หากสวมนาฬิกาข้อมือและรองเท้ายี่ห้อ All Star” นายเอหม่องกล่าว และหากแรงงานต้องการรวมตัวจัดงานใดๆ ไม่ว่าจะเป็นแต่งงานหรืองานศพ แรงงานต้องจ่ายเงินอีกจำนวน 5,000 บาทให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งอ้างว่าเป็นค่ารักษาความปลอดภัย ทั้งนี้ ในจังหวัดชุมพรเพียงแห่งเดียว มีแรงงานจากพม่ากว่า 3 หมื่นคน มีรายงานอีกด้วยว่า แรงงานทาสเหล่านี้จะได้รับการปล่อยตัวก็ต่อเมื่อทำงานให้กับเจ้าของเรือ ประมงชาวไทยเป็นเวลา 8 – 9 เดือนที่ออกทะเลหาปลา ซึ่งพวกเขาจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ แต่ที่โชคร้ายกว่านั้นก็คือ แรงงานบางคนที่ถูกขายให้เป็นแรงงานทาสไม่เคยได้กลับคืนฝั่งอีก ตามคำบอกเล่าของแรงงานประมงชาวพม่าเปิดเผยว่า เมื่อปี 2552 ก็เคยมีแรงงานชายหนุ่มจากเมืองเค้าก์ทอและเมืองมีบวา รัฐอาระกันจำนวน 5 คน ถูกจับในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่หลังจากนั้นพบว่า ทั้งหมดถูกขายให้กับเรือประมงไทย ซึ่งต่อมา มีรายงานว่า แรงงาน 1 ใน 5 ถูกเจ้าของเรือยิงตายและทิ้งศพลงกลางทะเล เนื่องจากไม่พอใจที่แรงงานคนนี้ทำงานไม่ดี โดยหลังจากนั้น แรงงานที่เหลืออีก 4 คนรู้สึกหวาดกลัวและตัดสินใจที่จะหนี ซึ่งทั้ง 4 คนได้เอาเชือกมัดแขนผูกติดกันไว้และกระโดดลงทะเลเพื่อที่จะหนี “พวกเขาเอาเชือกมัดแขนไว้ด้วยกัน เผื่อว่า หากตายก็จะตายด้วยกัน และหากรอดชีวิตก็จะรอดด้วยกัน แต่สุดท้ายพวกเขาทั้งหมดก็ตาย” นายเอหม่องกล่าว มีรายงานเช่นกันว่า ในปีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจในชุมชนบ้านนางย่อน อ.คุระบุรี จ.พังงา ได้บังคับให้แรงงานชาวพม่าทุกคนในพื้นที่ต้องสวมเสื้อกั๊กสีส้มเมื่อออกไปข้างนอกหรือเดินตามท้องถนน โดยหากฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว แรงงานที่ถูกกฎหมายจะต้องเสียค่าปรับหลายร้อยบาทให้กับเจ้าหน้าที่ แต่หากเป็นแรงงานผิดกฎหมายจะต้องเสียค่าปรับราว 3,000 บาท “คุณอาจถูกปรับ หากเจ้าหน้าที่พบว่า คุณติดกระดุมผิดที่หรือเสื้อของคุณสกปรก” นายอาลี แรงงานในพื้นที่กล่าว ด้านทูชิต ผู้อำนวยการองค์กรคณะกรรมการเพื่อมนุษยชนและการศึกษาสำหรับคนรากหญ้า (Grassroots Human Rights Education and development) กล่าวว่า มาตรการใหม่ที่เจ้าหน้าที่ใช้เพื่อจัดการกับจำนวนประชากรของแรงงานนั้นถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงต่อแรงข้ามชาติจากพม่า “การกระทำเช่นนี้ เรามักจะทำกับสัตว์เท่านั้น” นายทูชิตกล่าว ............................................. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
รายงาน: ศาลปกครองนัดไต่สวน ทุเลาคำสั่งคดี Insects (ฉบับเต็ม) Posted: 07 Apr 2011 04:38 AM PDT หลังจาก ธัญญ์วาริน สุขพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard (แมลงในสวนหลังบ้าน) และเครือข่ายคนดูหนัง ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เพราะอ้างว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวขัดต่อศีลธรรมอันดี เป็นคดีดำเลขที่ 671 / 2554 เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 54 ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 54 เวลา 13.00 น. ศาลปกครองนัดไต่สวนคำร้องในกรณีที่ธัญญ์วาริน ผู้กำกับภาพยนตร์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการทุเลาคำสั่งชั่วคราว ให้สามารถฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในงานวิชาการและงานเพื่อการศึกษาได้ ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง โดยยืนยันว่าจะมีมาตรการควบคุมให้ผู้ชมเฉพาะที่อายุเกิน 20 ปีเข้าชมด้วย ตุลาการศาลปกครองอธิบายถึงกระบวนพิจารณาในวันนี้ว่า การไต่สวนคำร้องที่ขอให้ทุเลาคำสั่ง เป็นกระบวนการที่ศาลปกครองให้ความสำคัญ เพราะถือเป็นการพิจารณาในวัตถุแห่งคดี โดยจะต้องตรวจสอบในสามประเด็นสำคัญ คือ หนึ่ง คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายในกรณีนี้น่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ สอง หากไม่มีการทุเลาคำสั่งจะก่อให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาอย่างไร และสาม หากมีการอนุญาตหรือทุเลาคำสั่ง จะเกิดอุปสรคคต่อการดำเนินงานทางปกครองในหน่วยงานนั้นหรือไม่ ธัญญ์วาริน ผู้กำกับภาพยนตร์ชี้แจงต่อศาลว่า ได้ยื่นภาพยนตร์เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาสองครั้ง ครั้งแรกยื่นโดยบริษัท ป็อบ พิคเจอร์ส ขอเรต 18+ เมื่อไม่ผ่านก็ยื่นเป็นครั้งที่สองยื่นในนามตัวเอง โดยขอเรต ฉ 20 แต่ทั้งสองครั้งทีมงานผู้สร้างไม่เคยได้เข้าชี้แจงในกระบวนการพิจารณา จนในชั้นอุทธรณ์ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาและให้ความเห็นได้เรียกธัญญ์วาริน เข้าไปพบ แต่การพูดคุยครั้งนั้นมีอนุกรรมการเพียงท่านเดียวเท่านั้นที่สอบถามในราย ละเอียดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ขณะที่อนุกรรมการส่วนใหญ่สอบถามเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นในภาพยนตร์ เช่น ทำไมจึงมีบัตรประชาชนสองใบ ทำไมถึงเลือกเสนอเรื่องราวเชิงลบ (Negative) แทนที่จะเสนอภาพเชิงบวก (Positive) แบบภาพยนตร์เรื่องสตรีเหล็ก ธัญญ์วารินเห็นว่า คำสั่งที่ได้รับนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคณะกรรมการควรชี้แจงเหตุผลให้เข้าใจได้มากกว่านี้ ไม่ใช่บอกเพียงว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ขัดต่อศีลธรรมอันดี ผู้ทำภาพยนตร์ก็ไม่เคยมีโอกาสได้ชี้แจงเหตุผล การได้เข้าไปพูดคุย ก็ไม่ได้คุยในรายละเอียดเกี่ยวกับภาพยนตร์ คณะกรรมการที่ลงมติก็มิได้ดูภาพยนตร์ครบทุกคน เจตนาของภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการสะท้อนปัญหาสังคม ไม่ใช่ภาพยนตร์ลามกอนาจารดังที่คณะกรรมการให้ความเห็น นอกจากนี้ ธัญญ์วารินกล่าวเสริมเหตุผลที่รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมว่า คนทุกคนมีสิทธิเลือกเพศ เมื่อผู้มีอำนาจตัดสินเป็นผู้ที่มีอคติไม่อาจเรียกเป็นความยุติธรรมได้ ดังที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวในงานเสวนาครั้งหนึ่งว่า เป็นเรื่องผิดเพศ เป็นเรื่องอนาจาร
ประเด็นการขอทุเลาชั่วคราว ขอฉายในงานวิชาการ ทั้งนี้ คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ส่งผลต่อชื่อเสียงและหน้าที่การงานของธัญญ์วา ริน เพราะเมื่อไปยื่นโครงการทำภาพยนตร์ก็จะมีคำถามว่า จะทำหนังโป๊หรือ ทำแล้วจะได้ฉายหรือไม่ นอกจากนี้ ในแง่ผลกระทบต่อสังคมแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้มุ่งหวังจะสร้างความเข้าใจในสังคม ให้เห็นมิติความหลากหลายทางเพศในแง่มุมที่แตกต่างแทนการนำเสนอภาพคนรักเพศ เดียวกันด้วยภาพลักษณ์แบบเดียวดังที่ปรากฏอยู่ในสื่อทุกวันนี้ และอยากให้เห็นถึงปัญหาครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากความเข้าใจผิด ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงจะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ การศึกษา และให้เกิดความเข้าใจในสิทธิความหลากหลายทางเพศ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ทนายความจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนกล่าวเสริมว่า เหตุที่ต้องขอการทุเลาคำสั่งให้สามารถฉายภาพยนตร์ในวงจำกัดคือในวงวิชาการ และการศึกษาได้ เพราะหลังจากมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งวงการภาพยนตร์และวงการนิติศาสตร์ต่างมีความเห็นทั้งสนับสนุนและเห็นแย้ง อีกทั้งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ก็เป็นกฎหมายที่ทุกฝ่ายแม้กระทั่ง กระทรวงวัฒนธรรมเองก็ยอมรับว่ามีปัญหาและเห็นตรงกันว่าควรแก้ไข และจากคดีนี้ได้จุดประเด็นให้สังคมสนใจการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สังคมต้องช่วยกันคิด ถกเถียงแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางเดินไปด้วยกัน ดังนั้น หากจะให้การแลกเปลี่ยนในทางวิชาการเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ก็จำเป็นต้องมีวัตถุ แห่งคดี คือควรได้ดูภาพยนตร์ก่อน ธัญญ์วารินตอบคำถามตุลาการศาลปกครองว่า การขอให้ทุเลาคำสั่งนี้ มุ่งหวังให้สามารถฉายภาพยนตร์ในกิจกรรมวิชาการ เช่น ในสถานศึกษา การฉายภาพยนตร์จะมีการเสวนาวิชาการประกอบทุกครั้ง โดยจะต้องมีการตรวจบัตรประชาชนเพื่อกำหนดอายุผู้ชุมให้เกิน 20 ปีขึ้นไป และหากจะเป็นการขออนุญาตต่อศาลเป็นครั้งคราวไปก็อาจเป็นได้
กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ชี้แจงหรือตัดทอนก่อน นายวิภาส สระรักษ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 5 ซึ่งเป็นคณะกรรมการชั้นต้นที่พิจารณาภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวว่า คณะกรรมการดำเนินงานตามกรอบที่กฎหมายกำหนด คือเมื่อมีผู้เสนอภาพยนตร์มา ก็จะตรวจเอกสารหลักฐานให้ครบ เมื่อครบแล้วคณะกรรมการก็จะชมภาพยนตร์ จากนั้นก็จะประชุมเพื่อให้เรทติ้งตามมาตรา 26 (1) - (7) กรณีได้เรท (7) คือห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ก็จบ แต่หากได้รับเรท (1)-(6) คือ เรทส่งเสริม - เรทอายุ 20+ ก็จะพิจารณาในลำดับต่อไปว่า ภาพยนตร์เรื่องนั้นมีลักษณะเข้าข่ายมาตรา 29 ซึ่งจะพิจารณาว่ามีเนื้อหาบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้แก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาตหรือสั่งไม่อนุญาต เลย โดยไม่ต้องสั่งให้ตัดทอนก่อนก็ได้ นายวิภาสกล่าวว่า คณะกรรมการไม่ได้เรียกให้แก้ไขดัดแปลง เพราะเป็นการสั่งไม่อนุญาตตามมาตรา 29 ซึ่งไม่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการต้องเรียกให้มาชี้แจง เพราะขั้นตอนนี้ไม่มีในกฎหมาย แต่หากเป็นกรณีที่ภาพยนตร์ถูกให้เรทห้ามฉายตามมาตรา 26 (7) คณะกรรมการถึงจะมีหน้าที่ต้องแจ้งคนทำภาพยนตร์ว่าให้ตัดทอน คณะกรรมการยันหากไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขก็ไม่อนุญาตให้ฉาย กรณีภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ส่งเข้าสู่การพิจารณาครั้งแรกโดยบริษัท ป็อบ พิคเจอร์ส คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ ว่าให้เรท (6) แต่ขัดต่อมาตรา 29 มิใช่เรทห้ามฉายตามมาตรา 26(7) ดังที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ จากนั้นมีการยื่นภาพยนตร์เรื่องนี้เข้ามาให้พิจารณาอีกครั้ง โดยเปลี่ยนชื่อผู้ยื่นมาเป็นในนามของตัวผู้กำกับเอง พร้อมทั้งเพิ่มข้อความกำกับว่า "ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นจากจินตนาการของผู้สร้าง พฤติกรรมต่างๆ ของตัวละครเป็นเพียงเรื่องสมมติ" คณะกรรมการเห็นว่าเนื้อหาส่วนอื่นๆ ไม่มีการแก้ไขใดๆ เลย จึงมีมติไม่อนุญาตให้ฉายตามมาตรา 29 ดังเดิม คณะกรรมการอุทธรณ์แจงกรรมการทุกคนมีมติชอบแล้ว เชลียง เทียมสนิท ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนจากกรมศาสนา กล่าวว่า ในชั้นของการอุทธรณ์ คณะกรรมการใช้ดุลพินิจดูภาพยนตร์เรื่องนี้โดยชอบด้วยเหตุผล โดยหลักของวิญญูชน คณะกรรมการประกอบได้ด้วยคณะกรรมการผู้ใหญ่และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยว ชาญ โดยในวันที่ชมภาพยนตร์นั้นมีผู้เข้าชมทั้งหมด 15 คน ในวันที่ลงมติ มีผู้ร่วมลงมติทั้งสิ้น 22 คน แต่ไม่ได้บันทึกไว้ในรายงานการประชุมว่าผลโดยละเอียดเป็นอย่างไร ซึ่งทางคณะอนุกรรมการจะถอดเทปการประชุมรายงานต่อศาลในภายหลัง ไม่ใช่หนังห้ามฉายเรื่องแรกดังเป็นข่าว แต่เป็นเรื่องที่ 6 เชลียง เทียมสนิท เสริมข้อมูลว่า ที่ธัญญ์วาริน ผู้ฟ้องกล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the backyard เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายนั้นไม่เป็นความจริง เพราะก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์ทั้งสิ้น 5 เรื่องที่สั่งไม่อนุญาตให้ฉายตามมาตรา 29 ได้แก่ 1) Zack and Miri Make a Porno 2) ถ้ำมองชอตเด็ด 3) ราคะสาบเสือ 4) เหมยฮัว หญิงร้อยรัก และ 5) รสสวาทสาบภูเขา รวมฉากขัดศีลธรรม เห็นอวัยวะเพศ เซ็กส์จัด ระบุมหาลัย ฆ่าพ่อ ขายบริการ ตุลาการ ศาลปกครองถามคณะกรรมการว่า คณะกรรมการเห็นว่าเนื้อหาใดที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาในชุดนี้ด้วย กล่าวว่า มีหลายฉากที่ขัดต่อศีลธรรม ได้แก่ ฉากเห็นอวัยวะเพศขณะร่วมเพศซึ่งผิดกฎหมายอยู่แล้ว มีฉากฆ่าบิดามารดาที่แม้จะเป็นความคิดของตัวละครแต่เป็นเรื่องที่ขัดต่อ ศีลธรรม มีฉากเพศสัมพันธ์ในชุดนักเรียน ขายบริการในชุดนักเรียน มีฉากที่ระบุชื่อสถาบันการศึกษา มีฉากที่ตัวละครชายพูดกับแฟนสาวว่าขอโทษที่ต้องทำให้ไปขายตัวซึ่งตัวละคร หญิงตอบว่า "ไม่เป็นไร มันเป็นความคิดของฉัน คนอื่นไม่มีสิทธิมาตัดสิน" รักศานต์กล่าวว่า ในฐานะอาจารย์เห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้ทำทำเอง เขียนบทเอง แสดงเอง จึงสะท้อนสิ่งที่อยู่ลึกๆ ในใจตัวผู้กำกับ ไม่ใช่การสะท้อนสังคม เพราะเรื่องรักร่วมเพศสังคมรับได้อยู่แล้ว กรรมการทุกท่านไม่เคยกีดกัน เพียงแต่ประเด็นใหญ่ๆ ที่เป็นเรื่องผิดกฎหมายที่ให้เห็นอวัยวะเพศประมาณ 5 วินาที อีกทั้งฉากร่วมเพศทั้งชายกับชาย หญิงกับหญิง รวมถึงชายกับหญิง ซึ่งเน้นเนื้อหาเรื่องเพศมากเกินไปซึ่งไม่เหมาะกับสังคมไทย ต้องสั่งไม่อนุญาต เพราะให้เรทไปก็คุมเด็กไม่ได้ นอกจากนี้รักศานต์เห็นว่า หากอนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้จะเป็นเรทอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ก็ไม่สามารถควบคุมคนดูตามอายุได้ตามที่กำหนด เพราะการกำหนดเรทติ้ง คนที่ดูภาพยนตร์ไม่มีความผิด เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนเอาผิดผู้ชมไว้ ดังนั้นอาจมีผู้ชมที่อายุต่ำกว่ากำหนดเข้าชมได้ การไต่สวนเสร็จสิ้นเวลา 17.55 น. ตุลาการศาลปกครองคาดว่าใช้เวลาราว 2 สัปดาห์จะสามารถแจ้งผลการขอทุเลาคำสั่งว่าให้ฉายในงานวิชาการได้หรือไม่ ใน วันดังกล่าว มีสื่อมวลชนสนใจไปติดตามจำนวนหนึ่ง ธัญญ์วารินจึงจัดแถลงข่าวบริเวณโถงชั้นล่างของศาลปกครอง และมีนักกิจกรรมกลุ่มบางกอกเรนโบว์ไปร่วมให้กำลังใจโดยเตรียมป้ายเพื่อ แสดงออกถึงความคิดเห็นไปด้วย แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลปกครองไม่อนุญาตให้ชูป้ายในบริเวณ เพื่อให้ถ่ายรูป จึงต้องใช้วิธีวางป้ายไว้กับพื้นซึ่งสามารถทำได้
ที่มา: iLaw.or.th สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น