ประชาไท | Prachatai3.info |
- เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง จี้ กพช.ระงับซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี
- 'ดีเอสไอ' ลั่นพร้อมรับคดีวิทยุชุมชน 13 สถานีหากเข้าข่ายหมิ่นสถาบัน
- จดหมายเปิดผนึกขอให้ยกเลิกพลังงานนิวเคลียร์ออกจากแผนผลิตไฟฟ้าไทย
- 1 พฤษภาคม “วันกรรมกรสากล” : “สามัคคีคนเสื้อแดงสร้างประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ”
- เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง: อย่าผลักไสใส่ความให้ผมเป็นคนเลวเลยครับ
- ความรักของ ‘รอ.’
- สรส.-สาวิทย์-สมศักดิ์ ประกาศถอนตัวจากกลุ่มพันธมิตรฯ
- รายงานบีบีซี เปิดโปงประมงไทย ค้าทาสชาวพม่า
- กองปราบฯ แกะรอยกว่า 50 รายชื่อผู้เล่นเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน เรียก บ.ก.ฟ้าเดียวกันให้ปากคำ
- พิจารณาคดีลับ ทหารอากาศโพสต์เฟซบุ๊คเข้าข่ายหมิ่น สืบพยานโจทก์ 14 ก.ค.
- ข้อเสนอต่อปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการปกป้อง-ส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ
- TDRI: มาตรการฝีมือแรงงาน กลไกแก้ค่าจ้างเหลื่อมล้ำ
- 25 ปีเชอร์โนบิล สำรวจอนาคตพลังงานผ่านวิกฤตฟูกูชิมะ
- สภาฯผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะแล้ว
เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง จี้ กพช.ระงับซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี Posted: 27 Apr 2011 11:56 AM PDT 27 เม.ย. 54 เว็บไซต์ประชาธรรม รายงานว่า เนื่องในโอกาสที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะมีการประชุมนัดสุดท้าย ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ ตัวแทนเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง และตัวแทนจากเครือข่ายพลเมืองไทยปฎิรูปพลังงาน จะเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. ทั้งนี้ โดยผ่านนายสาธิต วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี และหนึ่งในกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เวลา 12.30 น. ณ ห้องโถงกลาง อาคารรัฐสภา ทางด้านเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง ยื่นหนังสือเพื่อให้ระงับการซื้อไฟฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งได้รับการคัดค้านอย่างรุนแรง จากทั้งภาคประชาชนทั้งในระดับภูมิภาคแม่น้ำโขง และนานาชาติ และจากรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน ดังที่ล่าสุด มีการหยิบยกเพื่อแสดงความเป็นห่วงร่วมกัน โดยนายกรัฐมนตรีเวียดนามและกัมพูชาเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา และเครือข่ายพลเมืองไทยปฎิรูปพลังงาน มีจุดยืนคัดค้านการดำเนินการเพื่อการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย โดยทั้งสองเครือข่าย มีจุดยืนร่วมกันว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ควรต้องทบทวนแนวทางการแสวงหาพลังงานที่ยั่งยืน ที่ไม่ขึ้นอยู่กับตัวเลขการประเมินความต้องการไฟฟ้าที่ล้นเกินมาโดยตลอด โดยเชื่อว่า หากตัดจำนวนตัวเลขความต้องการไฟฟ้าที่มากกว่าความเป็นจริงในขณะนี้ออกไป ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากทั้งโครงการเขื่อนแม่น้ำโขง และจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
'ดีเอสไอ' ลั่นพร้อมรับคดีวิทยุชุมชน 13 สถานีหากเข้าข่ายหมิ่นสถาบัน Posted: 27 Apr 2011 11:43 AM PDT 27 เม.ย.54 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอกล่าวถึงกรณีตำรวจกองปราบปรามเข้าจับกุมวิทยุชุมชน 13 สถานีในกรุงเทพฯและปริมณฑล ว่า ดีเอสไอยังไม่ได้รับการประสานข้อมูลการจับกุมดังกล่าว เบื้องต้นทราบเพียงว่ามีการแจ้งข้อหาตั้งวิทยุชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ ตามมาตรา 112 และ 116 เพราะมีการนำคำปราศรัยหมิ่นสถาบันไปเผยแพร่ซ้ำหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะพิจารณาพยานหลักฐานอย่างละเอียด หากพบว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดดีเอสไอก็พร้อมรับไปดำเนินการต่อ ส่วนความคืบหน้ากรณียื่นคำร้องขอถอนประกันตัวแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ที่ขึ้นเวทีปราศรัยเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมานั้น ได้มอบหมายให้พ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง พนักงานสอบสวนคดีก่อการร้าย ประชุมร่วมกับพนักงานอัยการเพื่อชี้แจงข้อมูลและหลักฐานเพิ่มเติมตามที่อัยการร้องขอ โดยคาดว่าอัยการจะยื่นคำร้องขอถอนประกันได้ภายในวันที่ 29 เม.ย. ตามที่ออกมาระบุไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนกรณีที่ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล บุตรสาวพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ทำหนังสือสอบถามความคืบหน้าคดีการเสียชีวิตของเสธ.แดง ไปยังรัฐบาลนั้น นายธาริต กล่าวว่า น.ส.ขัตติยาไม่ได้ติดต่อสอบถามเรื่องดังกล่าวกับดีเอสไอ ส่วนกรณีที่ใกล้จะครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์กระชับพื้นที่ 19 พ.ค. 2553 ดีเอสไอจะแถลงข่าวความคืบหน้าคดีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนจำนวน 89 ศพหรือไม่ นั้น ตนขอตรวจสอบก่อนหากเนื้อหาคดีมีความคืบหน้าก็พร้อมแถลงข่าวให้ประชาชนรับทราบ ด้านพ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง หัวหน้าชุดปฏิบัติการคดีก่อการร้าย กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ตนได้ตรวจสอบข้อความถอดเทปคำปราศรัย ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มนปช.ร่วมกับพนักงานอัยการแล้ว ซึ่งพนักงานอัยการ เห็นว่ามีข้อความบางช่วง บางตอนที่เป็นสาระสำคัญ ขาดหายไป จึงได้ให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอหาเทปคำปราศรัยที่มีเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์มากกว่านี้ มาทำการถอดเทปเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังได้ส่งเอกสารหลักฐาน เป็นคำให้การของพนักงานสืบสวนดีเอสไอ ที่ได้ไปทำหน้าที่บันทึกเทปคำปราศรัยของนายจตุพร ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมาด้วย โดยเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมดังกล่าว ตนจะนำไปยื่นให้พนักงานอัยการก่อนเที่ยงวันที่ 29 เม.ย. ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, เว็บไซต์แนวหน้า สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
จดหมายเปิดผนึกขอให้ยกเลิกพลังงานนิวเคลียร์ออกจากแผนผลิตไฟฟ้าไทย Posted: 27 Apr 2011 11:01 AM PDT เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทำจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ยกเลิกพลังงานนิวเคลียร์ออกจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 0 0 0 0 0 0 จดหมายเปิดผนึกเครือข่ายประชาชนคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์ เรื่อง ขอให้ยกเลิกพลังงานนิวเคลียร์ออกจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศไทย สืบเนื่องจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2553-2573(แผนพีดีพี 2010) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อเดือนมีนาคม 2553 โดยมีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในแผน 5,000 เมกะวัตต์ รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติอีกกว่า 30 โรงในระยะ 20 ปีจากนี้ไปนั้น ทราบว่าขณะนี้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำลังพิจารณาที่จะทบทวนปรับปรุงแผนฯ ใหม่ โดยการปรับเลื่อนโครงการพลังงานนิวเคลียร์ออกไปจากแผนเดิม 3 ปี พวกเราซึ่งลงชื่อมาในจดหมายฉบับนี้ มีความเห็นและข้อเสนอต่อการทบทวนแผนพีดีพีในครั้งนี้ ดังนี้
ดังนั้น เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งเครือข่ายประชาชนต่างๆ ที่ลงชื่อในท้ายจดหมายนี้ จึงขอเรียกร้อง ดังนี้
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ขอแสดงความนับถืออย่างสูง เครือข่ายพลเมืองไทยปฏิรูปพลังงาน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
1 พฤษภาคม “วันกรรมกรสากล” : “สามัคคีคนเสื้อแดงสร้างประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ” Posted: 27 Apr 2011 10:56 AM PDT 1. “วันกรรมกรสากล” มิใช่ “วันแรงงานแห่งชาติ” “วันกรรมกรสากล”กำเนิดขึ้น เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2433 เพื่อรำลึกถึงจิตใจกล้าสู้กล้าเสียสละแม้กระทั่งชีวิตของชนชั้นแรงงานทั่วโลก เป็นการรำลึกถึงและสืบทอดเจตนารมณ์ประวัติศาสตร์การต่อสู้ เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานเป็น “ระบบสามแปด” หมายถึงทำงานวันละ 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง อันเป็นการสะท้อนถึงชีวิตมนุษย์ที่ต้องการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับความยุติธรรม มีเวลาพักผ่อนร่างกายจิตใจ และพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์ “วันกรรมกรสากล” ถูกชนชั้นปกครองอำมาตย์ไทยบิดเบือนให้กลายเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” เพื่อให้ผู้ใช้แรงงาน ถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์ “พระเดชพระคุณ” เหนือกว่า อุดมการณ์ “ชนชั้น” เพื่อบิดเบือนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก และเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสยบยอมจำนนต่ออำนาจที่เหนือกว่า มากกว่าการตระหนักถึงการกดขี่และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกลดทอนให้เป็นเพียง “หุ่นยนต์” หรือ “สินค้า” ในระบบทุนนิยม ยุทธศาสตร์การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานไทย(ทั้งแรงงานภาคอุตสาหกรรม แรงงานภาคบริการ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานภาคเกษตรกรรม) ในขั้นตอนเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่เป็นจริงดำรงอยู่ในสังคมไทยทางภววิสัย ผู้ใช้แรงงานจึงต้องเข้าร่วมต่อสู้สามัคคีกับชนชั้นต่างๆในการสร้าง”ประชาธิปไตย” เพื่อลดทอนอำนาจของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ปลดปล่อยสิทธิเสรีภาพ “ประชาธิปไตย” เป็นการปกครองที่ประชาชนทุกคนเลือกผู้ปกครองผู้บริหารประเทศได้ด้วยตนเอง ทุกคนเท่ากัน หมายถึงทุกคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง ไม่ว่าเป็นเศรษฐีหรือยาจก เป็นนายทุนหรือผู้ใช้แรงงาน เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เป็นชาติกำเนิดผู้ดีหรือไพร่ผู้ยากไร้ อำนาจสูงสุดในการปกครองบริหารประเทศ หรืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน มาจากประชาชน ประชาธิปไตยจักควบคู่กับสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น ในการพูด การเขียน ในการรวมกลุ่มจัดตั้ง จึงสำคัญสำหรับผู้ใช้แรงงานที่มีสิทธิจัดตั้งองค์กรตนเองได้อย่างเสรี ถ้ามีการปกครองแบบอำนาจนิยมเผด็จการ ปกครองแบบอำมาตยาธิปไตย ผู้ใช้แรงงานมักจักถูกริดรอนสิทธิ์ เช่น ยุคสมัยการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ที่มีการจับกุมคุมขังนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ยุคหลังรัฐประหาร 23 กุมพาพันธ์ 2534 ที่มีการออกกฎหมายทำลายสหภาพแรงงานโดยแยกแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากแรงงานภาคเอกชน ยุคสมัยรัฐบาลอำมาตย์สุรยุทธ์-รัฐบาลอภิสิทธิ์ชนปัจจุบัน ก็เคยใช้พระราชบัญญัติฉุกเฉินกำจัดขอบเขตการชุมนุม ตลอดทั้งมีการใช้อุปกรณ์ทำลายโสตประสาทริดรอนสิทธิการชุมนุมของผู้ใช้แรงงานและประชาชน ดังนั้น ผู้ใช้แรงงานจึงต้องอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย กรรมาชีพจึงต้อง “สีแดง” เท่านั้น 2. รัฐสวัสดิการคืออะไร? สำคัญต่อผู้ใช้แรงงานและสังคมไทยอย่างไร? มนุษย์ทุกคนที่อยู่ในรัฐๆหนึ่ง ไม่ว่ามีอาชีพ ฐานะ ชนชั้นใดๆก็ตาม ล้วนเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมสร้างบ้านแปลงเมือง รัฐในฐานะผู้เก็บภาษีและเกณฑ์ทหาร จึงต้องมีหน้าที่สร้างหลักประกันพื้นฐานให้พลเมืองทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน หลักประกันพื้นฐาน ตั้งแต่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนที่รัฐต้องมีหน้าที่ เช่น ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน การรักษาพยาบาล รายได้ สาธารณูปโภค เป็นต้น โดยการเก็บภาษีที่ก้าวหน้า เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีรายได้ มิใช่เก็บจากภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างที่เป็นอยู่ และต้องลดการใช้จ่ายงบประมาณกองทัพที่เกินตัว งบประมาณที่ไม่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม งบความมั่นคงที่เอามาใช้ทำลายฝ่ายประชาธิปไตย งบประมาณที่ฟุ่มเฟือยทั้งหลาย หลักประกันพื้นฐานนี้มิใช่ “ประกันสังคม” ที่ผู้ใช้แรงงานต้องจ่ายเงินสมทบ มิใช่ “สวัสดิการชุมชน” ตามแนวทางขุนนางเอ็นจีโอ หลักประกันพื้นฐานนี้ เรียกว่า “รัฐสวัสดิการ” หลักประกันพื้นฐานนี้มิใช่ “ประชานิยม” ที่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของรัฐสวัสดิการ แต่ “รัฐสวัสดิการ” เป็นหลักประกันพื้นฐานที่เป็นระบอบเดียว ครบวงจร เท่าเทียม และเสมอภาคสำหรับทุกคน 3. รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น? ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนที่มีผู้ใช้แรงงานเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้เกิด “รัฐสวัสดิการ” นั้น เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าในประเทศอังกฤษ อเมริกา สแกนดิเนเวีย สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และในยุคปัจจุบันที่เกิดขึ้นในประเทศเวเนซูเอล่า การเมืองการปกครองในประเทศนั้นๆ ล้วนปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ทำให้พรรคการเมืองได้แข่งขันนโยบายหาเสียง หรือทำให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิเสรีภาพรวมกลุ่มเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการต่อพรรคการเมือง หรือผู้ใช้แรงงานจัดตั้งพรรคแข่งขันลงเลือกตั้งเอง ดังนั้น รัฐสวัสดิการจึงเกิดขึ้นได้ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น มิอาจเกิดขึ้นได้ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมเผด็จการและระบอบอำมายาธิปไตย 4. ยกระดับการต่อสู้ จาก “ลัทธิสหภาพ” สู่ “จิตสำนึกทางการเมืองทางชนชั้น” สภาพการดำรงอยู่ที่เป็นจริงของขบวนการแรงงานไทย มีความโน้มเอียงที่ต่อสู้เพียงการต่อสู้ในชีวิตประจำวันและในทางเศรษฐกิจ ระดับโรงงาน หรือตกอยู่ภายใต้การครอบงำของ ”ลัทธิสหภาพ” ซึ่งแม้ว่าจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของขบวนการแรงงาน แต่ก็มิเพียงพอในการต่อสู้ที่ก้าวหน้าและต่อสู้ทางชนชั้น เพื่อรัฐสวัสดิการ เพื่ออนาคตชีวิตที่ของผู้ใช้แรงงานที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกับชนชั้นอื่นๆ ขณะที่ขบวนการแรงงานส่วนหนึ่งก็ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของ ”ผู้นำขุนนาง” ที่ชักชวนคนงานให้นิยมชมชอบสนับสนุนฝ่ายอนุรักษ์นิยมและระบอบอำมาตยาธิปไตย ทั้งๆที่เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงในการสร้างขบวนการแรงงานให้ก้าวหน้า และคัดงง้างกงล้อประวัติศาสตร์ที่หมุนไปข้างหน้า รวมทั้งผู้ใช้แรงงานที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของผู้นำแสวงหาประโยชน์ส่วนตน โดยการเอาผู้ใช้แรงงานเป็นเพียงฐานสมาชิกเพื่อการไต่เต้าตำแหน่งในรูปแบบต่างๆ โดยเป็นผู้รับใช้รัฐมาโดยตลอด ขณะเดียวกัน ผู้นำแรงงานบางคนบางส่วนภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากเอ็นจีโอขุนนาง เช่น สสส. ก็เป็นเพียงการสร้างภาพ ใช้การต่อสู้แบบล๊อบบี้ ประนีประนอมในประเด็นข้อเรียกร้องที่ผู้ใช้แรงงานมักจะเสียเปรียบ มากกว่าการคิดการสร้างขบวนการแรงงานให้เป็นองค์กรนำรวมหมู่ มีประชาธิปไตยขององค์กร และมีพลังอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น ขบวนการแรงงานสายก้าวหน้า จักสืบทอดเจตนารมณ์ของ “วันกรรมกรสากล” จึงต้องจัดองค์กร จัดตั้ง จัดศึกษา ขยายสมาชิก ช่วงชิงมวลชนพื้นฐานที่ถูกกรรมกรผู้นำกรรมกรขุนนางครอบงำอยู่ เปิดโปงธาตุแท้ผู้นำกรรมกรขุนนางเหล่านั้น ช่วงชิงมวลชนพื้นฐานองค์กรแรงงานที่ขุนนางเอ็นจีโอฉวยใช้อยู่ ขยายมวลชนผู้ใช้แรงงานให้เติบใหญ่ทั้งปริมาณและคุณภาพ ยกระดับสู่ “จิตสำนึกทางการเมืองทางชนชั้น” แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างกับฝ่ายประชาธิปไตย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง: อย่าผลักไสใส่ความให้ผมเป็นคนเลวเลยครับ Posted: 27 Apr 2011 10:48 AM PDT ได้รับทราบว่าคุณบรรจบ เจริญชลวานิช พันธมิตรจากสหรัฐอเมริกา เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงผม แล้วมีผู้นำไปอ่านขยายความบนเวทีสะพานมัฆวาน ถ่ายทอดสดออกทาง ASTV และลงในเว็บไซต์ผู้จัดการ ตอนแรกก็ไม่คิดจะชี้แจงอะไร เพราะคิดว่าผมเองก็เป็นคนธรรมดา ไม่ได้กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน หากคนเข้าใจผิดบ้างคงไม่มีอะไรเสียหายต่อส่วนรวม แต่เมื่อ ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ กรุณาส่งบทความมาให้ผมทางอีเมล์อีกต่อ แถมเขียนข้อความสั้นๆ มาด้วยว่า "เดี๋ยวนี้มีคนเขาเปลี่ยนชื่อให้เป็น GermSag แล้ว ผมว่า cute ดีจัง แต่เจิมศักดิ์คงไม่ชอบแน่ๆ ยกเว้นจะเอามาพิจารณาเห็นว่ามันน่าจะมีประโยชน์" เมื่อพิจารณาว่าคนอย่างอาจารย์ปราโมทย์ที่ผมเคารพรัก และเป็นคนระดับที่ผมหมายมั่นว่าอยากจะให้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ หากบ้านเมืองถึงทางตัน เกิดสูญญากาศทางการเมือง ท่านยังมีท่าทีเห็นด้วยกับความเข้าใจคลาดเคลื่อนเออออไปกับผู้ปราศรัยบนเวทีที่เต็มไปด้วยอคติ ปลุกเร้าความเกลียดชัง และเมื่อพิจารณาว่าจดหมายฉบับนี้ยังได้ถูกตีพิมพ์ในเว็บไซต์ผู้จัดการ และ ASTV ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่กระจายออกสู่วงกว้างไปถึงทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่เวทีมัฆวานในครั้งนี้ ผมจึงจำเป็นต้องขออนุญาตชี้แจงความจริงทางสื่อ ดังนี้
1) ยอมรับครับว่า ผมไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์โจมตีคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน มากหรือรุนแรงเท่ากับที่เคยทำกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ทั้งนี้ ก็ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะผมไม่ได้คิดว่าคุณอภิสิทธิ์จะเลวทรามต่ำช้าเท่ากับคุณทักษิณ แต่อะไรที่ผมไม่เห็นด้วยก็ยังวิจารณ์ติติงเป็นเรื่องๆ ไป ยกตัวอย่าง เรื่อง "เช็คช่วยชาติ 2,000 บาท" - "รถเมล์ รถไฟ ไฟฟ้าฟรี" - "การตรึงราคาแก๊ซหุงต้ม น้ำมันดีเซล" - "รถเมล์ 4,000 คัน" ฯลฯ ผมวิจารณ์ออกสื่อสาธารณะไปแล้วทั้งหมด และเมื่อวิจารณ์ไปแล้ว คุณอภิสิทธิ์และ/หรือรัฐบาลยังมีความเห็นต่างจากผม ผมก็ต้องเคารพคนที่ทำหน้าที่และรับผิดชอบในฐานะนายกรัฐมนตรี โดยให้เขาลองดำเนินการไป เราทำหน้าที่สื่อก็ติดตามเฝ้าดูผลที่ตามมา อย่างรถเมล์ 4,000 คัน เขาก็เลื่อนไปเรื่อยๆ จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการ เป็นต้น จะให้ผมไปประณามคนที่คิดต่างจากผมว่าเป็นคนโง่ คนเลว คนชั่ว ต้องออกมาขับไล่ใหญ่โต สร้างเรื่องขยายความไปให้โตเกินจริง ทั้งๆที่ ผมไม่ได้คิดอย่างนั้นด้วย ผมคงไม่ทำและเมื่อมีคนทำ ผมก็ไม่เข้าร่วม และถึงวันนี้ ผมก็ยังไม่ทำ "รู้ทันอภิสิทธิ์" เหมือนที่เคยทำ "รู้ทันทักษิณ" ก็เพราะผมดูกันตามเนื้อผ้า ยังไม่ถึงเวลาเงื่อนไขยังไม่ใช่ และไม่เคยคิดจะทำลายใครโดยไม่เป็นธรรม ส่วนถ้าหากมีคนอื่นคิดอยากจะทำหนังสือ "รู้ทัน..." ผมก็ไม่มีสิทธิที่จะไปห้ามอยู่แล้ว ถ้าต่อไปในอนาคต คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ที่เลวทรามต่ำช้าเหมือนคนอย่างทักษิณจริงๆ หาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเองและพวกพ้อง เป็นเผด็จการรัฐสภา ฯลฯ ผมก็ต้องลุกขึ้นมาโจมตี ขับไล่ เหมือนที่ทำกับคุณทักษิณแน่นอน ผมอยากจะเรียนด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า ผมรับระบอบทักษิณไม่ได้ และยอมให้ระบอบทักษิณกลับมายึดครองดูแลชาติบ้านเมืองอีกไม่ได้ ขณะเดียวกัน ผมไม่คิดว่าวิธีการพิเศษเพื่อเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองโดยรัฐประหารหรือขอพระราชทานรัฐบาลเฉพาะกิจเฉพาะกาล หรืองดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา (สุดแต่จะเรียก) จะเป็นทางออกของประเทศ (ซึ่งผมอาจผิดก็ได้ครับ แต่ผมก็เคารพความคิดที่คิดโดยบริสุทธิ์ใจของผมเอง) ผมจึงไม่มีทางเลือกมากนักที่ยังคงต้องยึดระบอบรัฐสภาในการบริหารประเทศ เอาใจช่วยการเมืองอีกข้างของรัฐสภา ยึดถือการเลือกตั้ง แม้จะเห็นข้อจำกัดข้ออ่อนหลายอย่าง แต่ผมเลือกที่จะร่วมพัฒนาระบอบรัฐสภาแก้ไขข้ออ่อนข้อด้อยต่อไป จนกว่าจะได้ทางเลือกอื่นที่คิดว่าดีกว่า แต่ขณะนี้ ใครสร้างเงื่อนไข ปั่นกระแส สร้างข้อกล่าวหาใส่ร้ายโจมตีเกินความจริง ประชาชนส่วนมากเขาก็มีวิจารณญานและไม่เข้าร่วมมากเหมือนในอดีต แถมยังทำให้คนตั้งข้อสังเกตไปต่างๆ นานากับผู้นำปราศรัย ผู้นำการชุมนุม และผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมซึ่งไม่เป็นผลดีกับใครเลยครับ บางคนบนเวทีที่สะพานมัฆวานพยายามกล่าวหาว่า ผมได้ผลประโยชน์จากรัฐบาล โดยได้ทำรายการทาง สทท.11 (NBT) ก็ต้องเรียนว่า ผมทำรายการที่ช่อง 11 มา 20 ปีแล้วครับ จะหยุดไปก็ตอนสมัยทักษิณเป็นนายกฯ (ตั้งแต่สิงหาคม 2544 -กันยายน 2549) รายการที่เคยทำหากจำกันได้ เช่น เวทีชาวบ้าน ตามดูผู้แทน มองต่างมุม ตามหาแก่นธรรม เหรียญสองด้าน ฯลฯ และก็ไม่ใช่ว่าพอรายการหลุดผังแล้วจึงออกมาวิจารณ์ทักษิณ ตรงกันข้ามครับ ผมวิจารณ์ทักษิณออกสื่อที่ทำอยู่ จนเป็นเหตุให้พวกเขาถอดรายการออก ปัจจุบัน ผมทำอยู่สองรายการ คือ "คลายปม" กับ "ลงเอยอย่างไร" เป็นรายการสาระประโยชน์ที่มีคนดู Rating สูงสุดของ สทท.11 และจ่ายค่าเช่าเวลาตามข้อตกลงครบถ้วน อย่างนี้ผู้บริหารสถานีควรให้ทำรายการได้ใช่ไหมครับ
2) คุณบรรจบต่อว่าผมในจดหมายเปิดผนึกว่า "...วันหนึ่งผมได้เห็นความพยายามชี้นำเพื่อปกป้องนโยบายชั่งไข่ของนายกอภิสิทธิ์ อาจารย์ถึงกลับฉีกเอาผ้าอนามัยขึ้นซับเหงื่อ ทั้งยังคะยั้นคะยอให้อาจารย์วันชัย สอนศิริ ทำตาม จน อ.วันชัย รับมุขไม่ทัน หน้าตากระอักกระอ่วน..." เรื่องที่นายกฯ อภิสิทธิ์เสนอให้ผู้ค้าขายและผู้ซื้อไข่ ค้าขายเป็นกิโล แทนการคัดเกรดขายเป็นฟอง ผมคิดไตร่ตรองโดยบริสุทธิ์ใจว่าเป็นข้อเสนอทางเลือกที่น่าสนใจ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องการจะปกป้องใครเลยครับ ในอดีต เราเคยซื้อขายข้าวเป็นถัง เป็นเกวียน (ตามปริมาตร) ต่อมาก็ซื้อขายกันโดยชั่งเป็นกิโล (น้ำหนัก) ส้ม มะม่วง ผลไม้ต่างๆ แต่ก่อนเขาก็ขายกันเป็นลูก ต่อมาก็ชั่งกิโลขาย โดยไม่ต้องเสียต้นทุนการคัดเกรด โดยที่ต้นทุนเหล่านี้ ถ้ายังมีก็จะถูกผลักไปให้ผู้บริโภคคือราคาที่สูงขึ้น ผมร่ำเรียนเศรษฐศาสตร์ด้านการตลาดสินค้าเกษตรจาก Stanford University สหรัฐอเมริกา กลับมาก็สอนเศรษฐศาสตร์ วิชาการตลาดสินค้าเกษตรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่หลายสิบปี เห็นว่าเป็นความคิดที่ดีไม่ว่าตลาดจะดำเนินการขายไข่ชั่งกิโลตามคำเสนอแนะช่วงนายกฯ คนไหนก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เรานำประเด็นนี้ไป "คลายปม" กับอาจารย์วันชัย สอนศิริ ว่า "ต้นทุนการตลาด" หรือ marketing cost มันส่งผลต่อราคาและกำไรของผู้ซื้อผู้ขายอย่างไร แล้วก็นำเอาต้นทุนการตลาดและกำไรของสินค้าอื่นๆ มาวิเคราะห์ประกอบด้วย คือ นม เครื่องดื่มชาเขียว แชมพูสระผม และผ้าอนามัย ที่เลือกสินค้าพวกนี้ก็เพราะกระทรวงพาณิชย์เขามีตัวเลขต้นทุนแต่ละประเภทในรายละเอียด (สินค้าชนิดอื่นไม่พบการแจกแจงข้อมูลต้นทุนละเอียดอย่างนี้) ทั้งหมดก็มีเจตนาเพื่อชี้ให้ผู้ชมเห็นว่า สินค้ายิ่งผ่านการปรุงแต่งแปรรูปมาก ก็จะยิ่งมีต้นทุนการตลาดสูง ตัวสินค้าที่เราบริโภคจริงๆ ที่อยู่ในขวดในหีบห่อบรรจุภัณฑ์มีอยู่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือค่าการตลาดที่ผู้บริโภคต้องเสียไปโดยไม่จำเป็น ในรายการ "คลายปม" จึงหยิบสินค้าทีละตัวขึ้นวิเคราะห์ มาถึง "ผ้าอนามัย" เป็นสินค้าตัวสุดท้าย อาจารย์วันชัย ผู้ร่วมรายการทำท่าไม่อยากจะฉีกห่อพลาสติกและคลี่ผ้าอนามัยที่บรรจุอยู่ ผมก็เลยบอกว่าผ้าอนามัยในห่อเป็นของใหม่ ซึ่งก็คือสำลีและผ้าก็อตที่สะอาด ผ่านการสเตอร์ไลซ์ด้วยซ้ำ ก็เลยนึกไปถึงเรื่องที่เคยได้ยินว่าในศึกสงคราม เวลาเขาขาดแคลนผ้าสะอาดและสำลี เขายังเอาผ้าอนามัยที่สะอาดและยังไม่ได้ใช้มาใช้แทน แต่ที่คนรังเกียจ ไม่กล้าจับ คงเป็นเพราะอิทธิพลความเชื่อของฮินดูหรือพราหมณ์ ที่ว่าประจำเดือนของผู้หญิงเป็นของต่ำ ในรายการ "คลายปม" ผมก็เลยแกะซองพลาสติก เอาผ้าอนามัยที่ยังไม่ได้ใช้ออกมาซับเหงื่อโชว์ หวังจะให้คนได้คิดว่าผู้หญิงหรือประจำเดือนของผู้หญิงไม่ควรทำให้ผู้หญิงต่ำต้อยหรือแปดเปื้อน คล้ายกับที่คุณมีชัย วีระไวทยะ เคยนำถุงยางอนามัยมาเป่า เอาน้ำมันหล่อลื่นของถุงยางอนามัยมาทาหน้าแทน after shave ถ้าจะไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่า ผ้าอนามัยที่ยังไม่ได้ใช้ (คือสำลีและผ้าก็อต) เป็นของที่ผู้ชายไม่ควรแตะต้อง หากจะวิจารณ์ด่าว่าผมตรงๆ ก็ยังดี และตรงประเด็น เพราะจะได้ถกเถียงกันในอีกหลายประเด็น อันจะเป็นประโยชน์แก่การยกระดับสิทธิสตรี แต่การนำเรื่องนี้ไปปราศรัยโจมตีแบบพูดจริงครึ่ง ตีไข่ใส่สีอีกครึ่ง มุ่งทำลายความน่าเชื่อถือของตัวคนมากกว่าจะถกเถียงในประเด็นสาระสำคัญ เป็นวิธีการที่วิญญูชนเขาไม่ทำกันครับ ผู้สนใจความจริงแบบไม่ต้องรอให้ใครปลุกระดมมาป้อน สามารถดูรายการ "คลายปม" ย้อนหลังได้ที่ www.watchdog.co.th วันที่ 23 ม.ค.2554
3) จดหมายเปิดผนึกยังต่อว่าผมด้วยว่า "...เมื่ออาจารย์พยายามลดการโจมตีนายกรัฐมนตรีในเรื่องคุณราตรีและคุณวีระ อาจารย์ใช้ความชาญฉลาด เชิญ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ มาออกรายการ และถามนำให้คนสมถะเช่น ร.ต.แซมดิน เพื่อชี้นำให้เห็นว่าการติดคุกเปรย์ซอร์ ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย..." เรื่องนี้ ผมไม่ได้ฉลาดเชิญ ร.ต.แซมดิน และไม่ได้ถามนำอะไรดอกครับ ข้อเท็จจริงคือ ผมได้นำคลิปวีดีโอนั้น มาจาก "สันติอโศก" ที่ถ่ายจากการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อครั้งคุณแซมดินและสุภาพสตรีของสันติอโศกอีกท่านหนึ่งได้พ้นออกจากคุกเขมร คนดำเนินรายการ คนเชิญ คนถ่ายทำ ล้วนไม่ใช่ผม และในรายการยังมีพ่อท่านโพธิรักษ์ สมณะอีกรูปหนึ่ง และคุณอำพา สันติเมธนีดล จาก ASTV ร่วมรายการที่ชุมนุมหน้าทำเนียบ ซึ่งผมไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมด้วย ผมก็แค่นำคลิปที่ได้รับมอบจากสันติอโศกไปออกอากาศเท่านั้นเอง ผมไม่ฉลาดเชิญใครมาเป็นเครื่องมือได้ขนาดนั้นหรอกครับ หากยังสงสัย ไม่เชื่อผม แต่เชื่อผู้ปราศรัยบนเวที ASTV ก็สอบถามทางสันติอโศกดู หรือจะเข้าดูรายการ "คลายปม" ด้วยตัวท่านเองก็ได้ ที่ www.watchdog.co.th วันที่ 30 ม.ค.2554 ใจจริงผมอยากจะบอกว่า ก่อนจะกล่าวหาใครหรือเชื่อใคร เราควรพิจารณาข้อมูลข่าวสารให้รอบด้านนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราอยู่ห่างไกลจากจุดเกิดเหตุ อยู่ต่างแดน ก็ยิ่งควรจะแสวงหาข้อมูลจากแหล่งที่มาต่างๆ ไม่ใช่ซึมซับรับทราบแต่เฉพาะข้อมูลใส่สีตีไข่จากผู้นำปราศรับบนเวทีบางคนเพียงอย่างเดียว
4) ทั้งหมดนี้ ผมไม่ได้ปรารถนาจะต่อความยาวสาวความยืด หรือตอบโต้ใครทั้งสิ้น ที่ผ่านมา เมื่อมีการกล่าวหาผม ผมก็ขอออกมาชี้แจงบ้าง แต่กลับมีการบิดเบือนอีก โดยไพล่ไปบอกว่าผมออกมาโต้พันธมิตรแทนรัฐบาล ปกป้องรัฐบาล ทำแบบนี้ไม่งดงามเลยครับ ภรรยาผมกำลังจะเกษียณอยู่แล้ว ยังนำมากล่าวหาใส่ร้ายว่าอยากเป็นปลัดกระทรวง ทำให้ผมต้องเอาใจรัฐบาล ผมเคยทำหนังสือ "ร้อยฝันวันฟ้าใหม่" - "การเมืองไทยหลังรัฐประหาร" - "เขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรไม่ให้ถูกฉีก" ของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็นำมาโยงใยเพื่อกล่าวหา โดยไม่ดูว่าตอนที่ผมทำ "ร้อยฝันวันฟ้าใหม่" และหนังสือของคุณอภิสิทธิ์เหล่านี้ เขายังเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ยังต่อสู้กับทักษิณและหุ่นเชิดอยู่เลย สำนักพิมพ์ฃอคิดด้วยฅน ทำหนังสือ "ประเทศไทยของเราอย่าให้ใครเผาอีก" ของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็นำมาโยงใยกล่าวหาว่าผมปกป้องรัฐบาลโดยไม่ดูเนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนั้นว่านำเสนอข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติส่วนรวมอย่างไร และประชาชนเขาอยากจะซื้ออ่านหรือไม่ อันที่จริง สำนักพิมพ์ฃอคิดด้วยฅน เคยทำหนังสือกับอีกหลายคนครับ โดยเฉพาะในชุด "รู้ทันทักษิณ" คนเขียนมีตั้งแต่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี อาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ท่านประเสริฐ นาสกุล เรื่อยไปจนถึงคุณเสนาะ เทียนทอง อาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์พิภพ ธงไชย อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณิน บุญสุวรรณ อาจารย์สุขุม นวลสกุล อาจารย์โคทม อารียา หรือแม้แต่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล และ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ฯลฯ (ขออภัยท่านที่ไม่ได้เอ่ยชื่อ) ถึงวันนี้ แม้หลายท่านที่เอ่ยถึงข้างต้น บางคนจะมีจุดยืนต่อระบอบทักษิณเปลี่ยนไปแล้วหรือไม่อย่างไร แต่ผมยืนยันได้ว่า ข้อเขียนที่ท่านเหล่านั้นร่วมตีพิมพ์ในหนังสือชุด "รู้ทันทักษิณ" ณ วันนั้น ล้วนเป็นมุมมองที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งสิ้น และถึงวันนี้ จนถึงนาทีนี้ โดยส่วนตัวของผมเอง จุดยืนก็ยังคงอยู่ที่เดิมไม่เปลี่ยนแปลง สุดท้าย... กรุณาอย่ากล่าวหา ด่าว่า หรือเชื่อว่า เพียงเพราะได้ยินเขาว่ามาเลยครับ หากมันไม่สะท้อนความไม่ใส่ใจติดตามวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารด้วยตนเอง มันก็จะสะท้อนเจตนาที่ต้องการกระพือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้อื่น ขอยืนยันกับคุณบรรจบและอาจารย์ปราโมทย์ครับ ผมไม่ได้เป็นคนชั่ว หรือผู้ไม่ประสงค์ดีต่อพันธมิตรและสังคมไทย เพียงเพราะผมไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมกับ ASTV ในครั้งนี้ กรุณาอย่ายัดเยียด ผลักไสให้ผมเป็นคนเลวหรือป้ายสีให้ผมเป็นคู่ต่อสู้ทางการเมืองของพวกท่านเลย ผมยังมีความรู้สึกดีกับพี่น้อง "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ในอดีต เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง (ผมเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกเช่นนี้) หากผมจะมีความสงสัยอยู่บ้างก็ตรงที่ว่า ใครกันหนอที่พยายามปลุกปั่นยัดเยียดความเกลียดชังใครต่อใครให้เกิดขึ้นในการชุมนุมของ ASTV รอบนี้? และเขาทำอย่างนั้นไปทำไม?
(รูปประกอบจากเว็บไซต์ wikipedia.org) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
Posted: 27 Apr 2011 10:37 AM PDT สิ่งที่ดูเหมือนเป็นข่าวการเมืองมาตลอด 2-3ปี จนกระทั่งร้อนแรงด้วยเท้ากันพรึ่บพรั่บในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น คือปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์...สำหรับนักเสรีนิยมมันเป็นปัญหาสิทธิเสรีภาพ...แต่สำหรับเหล่ามวลชนรอยัลลิสต์...ถึงที่สุดแล้วเป็นปัญหาความรัก-ความสัมพันธ์... คำว่ามวลชนรอยัลลิสต์ในที่นี้ผู้เขียนขอระบุหมายถึงบุคคลหลากหลายวิชาชีพของประเทศที่มีอาการรักเจ้า ทั้งโดยกำเนิดหรือถูกปลุกกระแสให้ติดไฟในช่วงปีที่ผ่านมา คนเหล่านี้หลายคนเป็นเพื่อนและคนใกล้ตัวผู้เขียนเอง ส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่ได้มีผลประโยชน์ทางตรงเกี่ยวกับกลุ่มเจ้าใดๆ แต่มี (หรือถูกกระตุ้นให้มี) ความรักอย่างเปี่ยมล้น บางคนมีมาก (เป็นพักๆ ) เสียยิ่งกว่าคนที่ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของฝ่ายเจ้าเสียอีก ผู้เขียนเชื่อว่ามีคนแบบนี้ไม่น้อยในประเทศไทย แต่การมีจำนวนมากก็ไม่อาจหมายความไปทั้งในทางบวกหรือลบ เช่น คนส่วนใหญ่รักคือประชามติ หรือคนส่วนใหญ่รักจนคลั่งกลายเป็นชาตินาซีออกมาฆ่าคนเป็นล้านก็มีมาแล้ว การมีรักอย่างรุนแรงและมีจำนวนมากของมัน ทำให้ผู้เขียนอยากจะพูดเรื่องความรักของผู้คนเหล่านี้...ซึ่งต่อไปจะขอเรียกอย่างย่อๆ ว่า ”รอ." [1] ยิ่งเข้าใกล้กัน ยิ่งอธิบายกัน ทำไมกลายเป็นแต่การคุกคามซึ่งกันและกัน? ในทัศนะนักเสรีนิยม เขาไม่ได้คุกคามอะไรเหล่า รอ. แต่ที่ รอ.ปวดร้าวใจก็จากทัศนะการมองประเด็นสถาบันกษัตริย์แบบเหตุผลและสัจจนิยมที่ไม่เจือปนคำรักที่เหล่าเสรีนิยมกล่าวต่างหาก หรือการไม่พูดคำรักเคารพชื่นชมบุคคลปนอยู่ในมุมมองแบบสถาบันของนักเสรีนิยม นั่นไม่ใช่แบบแผนที่เหล่า รอ.เคยได้ยินมาก่อน แม้ท่านมิได้เอ่ยว่าเกลียด แต่การไม่บอกรักนั้นเทียบเคียงเท่ากับการไม่รัก...เช่นการโพสต์ link รักเจ้าถามทางเป็นระยะๆ ใน facebook แล้วดูว่าใครมาลงชื่อหรือกดไลค์บ้าง ใครไม่มาเช็คชื่อ รอ.ก็จะถือเอาว่าเข้าใจนัยยะปิดเทอมความสัมพันธ์กันไป ...นักเสรีนิยมจึงกลายเป็นผู้คุกคามจิตใจอันบอบบางอ่อนไหวราวขนนกของ รอ.เหลือจะทน... รอ.เหมือนคนที่รักบูชาพ่อดังที่เขาเปรียบเทียบตัวเองอยู่เสมอ แล้ว รอ.ก็มักจะหลงทางอยู่ในบริบทเปรียบเทียบที่สร้างขึ้น เหมาเอาว่าทุกคนในประเทศไทยย่อมตกอยู่ในภาวะเสมือนจริงนี้เช่นกัน การตีโพยตีพายของเขาต่อเหล่านักเสรีนิยมไม่ต่างกับคนอกหัก ที่ไม่ยอมเข้าใจว่า เหตุใดเธอจึงไม่บอกรักบ่อยๆ เท่าที่เขาทำ หรือทำทีเฉยชาทั้งๆ ที่ดีแสนดี คนที่ไม่มีใจให้นั้นใจบอด และเจ็บแค้นที่เราไม่อาจรักในสิ่งเดียวกัน ดังเช่นที่ยังมีการเปรียบเทียบ ”เขา” ที่ไม่รัก (หรือเฉยๆ ) ว่าเป็น ”พี่น้อง” หรือยังสร้างภาวะเสมือนมาผูกพัน ”เรา” เข้ากับ ”เขา” อยู่นั่นเอง เขียนๆ ไปผู้เขียนก็นึกถึงหนังเรื่อง ”ชั่วฟ้าดินสลาย” เข้าไปทุกที (ลูกนั้นไม่ได้เกลียดพ่อ แต่ห้ามใจไม่ให้รักแม่เลี้ยงไม่ได้เท่านั้นเอง ส่วนพ่อทั้งๆ ที่รักลูกและเมีย แต่ก็ห้ามใจไม่ให้แค้นและลงมือทำอะไรเถื่อนๆ ไม่ได้เหมือนกัน แล้วจบเห่ที่บ้านไฟไหม้วอดวาย) ในแง่นี้มันเป็นปมความรักที่ดึงดูดใจรสนิยมคนชั้นกลางแบบรอยัลลิสต์เป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อใดที่ท้องอิ่มเสียแล้ว มนุษย์ก็มักจะสอดส่ายสายตาหาเรื่องซับซ้อนมาครุ่นคิดให้สมองได้บริโภคกันในลำดับถัดไป มันเป็นปมแบบรักที่พบอุปสรรคศัตรูที่เราทั้งรักทั้งเกลียด มีเหตุผลทั้งในการรักและการเกลียดในเวลาเดียวกันอย่างที่ยากจะชั่งใจไปในทางใดทางหนึ่ง พร้อมๆ กับความจริง-ลวงที่มาบั่นทอนความมั่นใจในรักต่างๆ นานาให้ต้องเข้าปกป้อง ประกอบกับมันมิใช่การรักตัวเองแต่อย่างใด แต่สูงส่งกว่าเพราะเป็นการรักผู้อื่นอย่างเปี่ยมล้น เหมือนๆ กับเรื่องราวรักส่วนตัวที่ได้วนเวียนเข้ามาในชีวิตเพื่อนคนชั้นกลางรอบๆ ตัวผู้เขียน ที่ฟังกันมาจนกว่ามันจะมีผัวเมียกันไปข้างนึง หากแต่กรณีนี้ มันยิ่งใหญ่ทางอุดมการณ์เสียยิ่งกว่า เมื่อเราสามารถใส่อารมณ์ความรู้สึก ทัศนะส่วนตัวและที่สำคัญคือความรักเข้าไปไว้ในอุดมการณ์ระดับชาติ มันก็ช่างเหมือนการยกระดับความรักความโรแมนติคที่เดิมเป็นแค่ประสบการณ์ส่วนตัว เข้าไปบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งและสามารถมีประสบการณ์ร่วมทางอารมณ์ทางสังคมกับคนอื่นๆ ในจำนวนที่มากพอที่จะรู้สึกขนลุก หรือการสามารถมีอารมณ์ความรู้สึกเปี่ยมล้นแบบรวมหมู่...นี่อาจเป็นรสชาดหอมหวานที่ รอ.เสพมาแต่กำเนิด ที่หากใครบังอาจมาพรากจากเขาไป...เขาจึงต้องปกปักรักษามันไว้ยิ่งชีพ ดังนี้แล้วคำว่า “รักษาสถาบัน” ที่ รอ.กล่าวกันอยู่เสมอนั้น...เอาเข้าจริงมันอาจหมายถึงการปกป้องที่จะรักษารสชาดรวมหมู่ที่ตนได้สัมผัสและรักที่จะเสพมันรวมหมู่ไปตลอดกาลตะหาก... ทัศนะแบบเสรีนิยมที่มาบอกว่าความรักที่ รอ.มีนั้นมันเจือปนไปด้วยเรื่องแต่ง อันที่จริงเป็นตรรกะที่ รอ.เข้าใจได้ไม่ยากหากเพียงเป็นแค่การพูดคุยซุบซิบกันแบบปัจเจกที่เพื่อน รอ.หลายคนเองก็ทำกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่การประกาศมันออกมาเป็นอุดมการณ์สาธารณะ มันคือการออกมาทำลายความเชื่ออันหอมหวานนี้ลงเสีย เพราะเมื่อใดที่มวลชนคลายความซาบซึ้ง ความโรแมนติคเปี่ยมล้นรวมหมู่ก็ยากที่จะดำเนินต่อไปและนั่นก็อาจถึงกับเป็นการพังทลายทางอารมณ์ความรู้สึกของเหล่า รอ.จากการขาดเอ็นดอร์ฟินโดยกระทันหัน แน่นอนที่ว่าความซาบซึ้งตรึงใจเป็นสมบัติส่วนตัวตราบใดที่ยังไม่ถึงขั้นเมารักแล้วออกระรานผู้อื่น เพราะนั่นคือการคุกคามมนุษย์ที่ต่อให้ไม่ได้เป็นเสรีนิยมเป็นใครก็ต้องโวย ในสถานการณ์ปัจจุบัน รอ.ทำตัวราวกับคนที่ตกอยู่ในห้วงรักที่นิยายรักขมวดปมมาถึงห้วงยามของความขัดแย้งไม่มั่นใจ และผิดหวังในรัก...ตบเท้า?... รอ.กำลังแปรอารมณ์รักออกมาเป็นอำนาจในการฟาดงวงฟาดงาใส่ผู้อื่นใดๆ ก็ตามที่ตนคิดว่าเป็นเหตุแห่งการไม่รัก รอ.ทำให้ตัวเองดูเหมือนเด็กที่ไม่ได้รักดังใจจึงต้องออกมากระทืบเท้าเสียงดังๆ หรือหากใครบางคนสั่งให้ รอ.ทำเช่นนั้นเพื่อบอกอะไรบางอย่าง ใครบางคนนั้นออกมาพูดภาษาคนแทนภาษาเท้าจะไม่เป็นการดีกว่าหรือ? เหตุใด รอ.จึงใช้เท้าปกป้องสถาบันกันทุกครั้งไป? ลองฝึกใช้อวัยวะอื่นจะดูสุภาพกว่าไหม? รอ.จึงเป็นแค่...คนที่รักไม่เป็น...และต้องการโซ่ตรวนในการแก้ปัญหาอยู่ร่ำไป...และเป็นมวลชนผู้น่าสงสารที่เล่นบทคนมีรักที่จะอกหักไปตลอดกาล เฉกเช่นอดีต รอ.รุ่นพี่-ลูกเสือชาวบ้านที่ป่านนี้คงมีอายุ60-70ปี... รอ.พึงถามเขาเถิดว่า...35ปีที่ผ่านมาสิ่งใดบันดาลให้เขาปลีกตัวหายไปจากสังคม? เราสามารถจัดการกับปัญหาความรักได้โดยกฎหมาย? ดังนี้แล้ว มันจึงเข้าใจได้ว่า รอ.ไม่มีทางนึกออกว่าการพูดประเด็นม.112จะแก้ปัญหาความรักให้เขาได้อย่างไร นึกไม่ออกว่าการเลือกตั้งจะเกี่ยวอะไรกับการบรรเทาอาการอกหัก เขาจึงได้แต่ส่ายหน้าเซย์ “โน “เพราะไม่ว่าทางไหนก็ไม่มีทางได้ดั่งใจ เราสามารถรักชาติหรือศาสนาในแบบที่มนุษย์รักสิ่งนามธรรม(เท่าที่เคยได้รับฟังคนที่เขาบอกว่ารักมา เพราะผู้เขียนก็ไม่เคยมีประสบการณ์รู้สึกรักอย่างลึกซึ้งต่อสองสิ่งนี้ด้วยตนเองเหมือนกัน) เช่นรักเสรีภาพ(อันนี้ยังพอนึกออก) รักความยุติธรรมเป็นต้น แต่พอมาถึงสถาบันกษัตริย์ รอ.กลับไม่ได้มีนิยามความรักแบบเดียวกับสองสิ่งนั้น มันเป็นความรักในตัวบุคคลที่กฎหมายใดๆ ก็เอาเข้ามาจัดการบังคับขืนใจไม่ได้ แต่กาลกลับตาลปัตรไปว่า...กฏหมายหมิ่นม.112และรัฐธรรมนูญกลับยังกล่าวถึงกษัตริย์ในฐานะที่เป็นบุคคลมิใช่สถาบัน....ทำให้ความรักของ รอ.ถูกต้องตามกฏหมายโดยไม่รู้ตัว ว่า รอ.รักก่อนหรือ รอ.ปฏิบัติตัวตามกฏหมายก่อน? ถ้า รอ.รักสถาบันในฐานะที่เป็นตัวบุคคล เป็นบุคคลาธิษฐานที่บริสุทธิ์ไร้ที่ติ ก็ต้องแยกความรู้สึกและความเชื่อส่วนตัวนี้ให้ออกจากความหมายของกษัตริย์ที่เป็นสถาบัน แยกให้ออกว่ายังมีคนอื่นที่อยู่ร่วมสังคมกับ รอ. ที่มีทั้งคนที่ไม่ได้เชื่ออีกแล้วว่ากษัตริย์เป็นเทพเจ้าที่ไม่มีวันทำผิด มีทั้งคนที่รักชอบกษัตริย์และราชวงศ์ในแบบสามัญชนหรือcelebสักคน มีทั้งคนที่เฉยๆ ไม่ได้ชอบหรือเกลียดแค่ไม่เชื่อว่าโลกนี้มีเทพเจ้าอีกแล้ว และก็มีทั้งคนที่แค่ชอบเมาท์ซุบซิบเรื่องราชวงศ์เหมือนที่ผู้ดีอังกฤษทำ แม้แต่กับ รอ.ที่เปลี่ยนนามสกุลตามแฟชั่นเมื่อปีที่ผ่านมาก็ตาม หลายคนเป็นเพื่อนที่ผู้เขียนรู้จักกันมานาน จนรู้ว่าการเมาท์เรื่องพวกนี้เป็นแค่หนึ่งในบทสนทนาที่เราหามาคุยทำลายความเงียบกันเพื่อฆ่าเวลา (ที่ปัจจุบันนี้บาปและมีโทษจำคุก3-15ปีมากกว่าการไปฆ่าคนที่ราชประสงค์เสียอีก) โดยแทบไม่ได้มีใครสนใจจริงจังกับความจริงหรือเท็จของมัน นั่นก็เป็นสิ่งที่ รอ.หลายล้านคนน่าจะยอมรับกันตรงๆ เถิดว่าท่านเองก็เคยทำกันมาสักครั้งหนึ่งในชีวิตอย่างเป็นปกติมาหลายสิบปีแล้ว มันจึงน่าสมเพชมากที่ประเทศนี้เราทำการฆ่าคนได้ แต่คนที่ตำรวจต้องระดมกำลังรอไว้เพื่อควานหาเหตุมาใส่ตัวเขา เพื่อเอาเขามาใส่คุกอีกทีให้ได้อย่างถูกกฏหมาย คือคนที่คิดอะไรก็พูดออกมาตรงๆ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ และทั้งๆ ที่โดยถูกต้องตามสิทธิขั้นพื้นฐานและไม่ผิดม.112ก็ตาม...และนั่นก็คือการคุกคามมนุษย์อย่างรุนแรง... - รอ.สับสนเอาประเด็นความรักในบุคคลเข้ามาพัวพันกับสถาบันทางการเมืองที่เป็นสมบัติสาธารณะเช่นสถาบันกษัตริย์ ที่มนุษย์พึงมิได้มิความรู้สึกใดๆ เพื่อมาเปรียบเทียบแข่งขันกัน เช่น คงไม่มีใครคิดอยากทำสติกเกอร์ “ฉันรักศาสนาพุทธ “มาแปะรถเพื่อท้าทายเพื่อนบ้านที่นับถืออิสลาม? - รอ.เอาทัศนคติส่วนตัวทางความรักที่ผิดพลาดมาเรียกร้องคนอื่น เช่นอกหักที่เขาไม่รักคนที่ตนรัก รอ.ก็ต้องทำใจรักษาตัวเองตะหาก มิใช่กระทืบเท้าเรียกร้องความสนใจ - รอ.ใช้ความรักอ้างเป็นอำนาจ ถึงขั้นจะใช้อำนาจล่ามโซ่เขาแบบพะตีให้ได้ เพื่อลงโทษคนอื่นที่ไม่เลือกการรัก-ชังตามแบบของ รอ. ...ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นปัญหาในใจ รอ.ก็คือการหมกมุ่นในความรักและมีทัศนะความรักที่ไม่รู้จักโตของ รอ.เอง แปรปัญหาส่วนตัวแบบรวมหมู่นี้ออกมาเป็นมีผลกระทบต่อผู้อื่น เมื่อ รอ.ไม่รู้จักจัดการกับความรู้สึกนี้ให้สัมพันธ์ต่อคนแวดล้อมอย่างสงบสุขในกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป...หรือมีปัญหาในการจัดการความสัมพันธ์กับผู้คน
“Street is a room of agreement" [2] ในทางสถาปัตยกรรมมันมีการแก้ปัญหาการอยู่ร่วมของคนที่ไม่ได้ต้องการปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลาในดีกรีต่างๆ ได้ทั้งอย่างละมุนละไมไปจนถึงเย็นชาเป็นอย่างยิ่ง... เช่น คุณลองนึกถึงคอนโดหรูห้องละร้อยตารางเมตร 2-4 ห้องที่หันหลังชนกันสิ เพื่อความเป็นส่วนตัวอันแสน exclusive แล้ว...แต่ละห้องสามารถถูกจัดให้ต่างมีชีวิตแบบอยู่ฝาติดกันโดยที่ไม่ต้องเจอกันเลยทั้งปีก็ยังได้ โดยการจัดเส้นทางสัญจรของแต่ละยูนิตไม่ให้มีทางมาเจอกัน...ถ้ามันเป็นโจทย์ของการออกแบบจริงๆ ละก้อ....หรือเรายังอยากมีห้องมากินข้าวด้วยกัน หรือว่าแค่เจอกันบ้างแบบบังเอิญที่ทางเข้าบ้านแค่นั้นพอ ไม่ว่าเราอยากอยู่ในการเมืองแบบคอนโดหรือแบบบ้านเดี่ยว โจทย์คือเราพึงยอมรับแรงเสียดสีซึ่งกันและกันได้เพียงใด ดังที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้สักแห่งว่า มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่คนทั้งประเทศจะรักกันมากพอที่จะกอดกันได้ แต่สังคมที่จัดวางระยะห่างที่พอดีๆ เพื่อเราจะมีชีวิตอยู่ในนั้นด้วยกันตะหากที่เราต้องมาเถียงกัน แลกเปลี่ยนกัน เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดก่อความรำคาญไปจนถึงเข้าไปคุกคามอีกฝ่าย นี่เป็นใจความสำคัญที่ไม่แม้แต่เพียงต่อประเด็นสถาบันกษัตริย์แต่มันควรต้องapplyกับเรื่องอื่นๆ ในสังคมด้วยเช่นกัน และเพื่อที่จะยอมรับผู้คนอันมีจิตใจและความคิดอันหลากหลายไม่ว่าจะสัจจนิยมหรือโรแมนติคต่อประเด็นนี้ดังที่กล่าวไปแล้ว การมีข้อตกลงร่วมกันที่จะมีระยะห่างที่ไม่รบกวนกันคือทางแก้ไข การเรียกร้องให้มารักและรักกัน หรือการถกเถียงว่าคำพูดแบบใดคือไม่รัก เกือบจะเกลียด หมิ่นเหม่ที่จะไม่รัก ล้วนคือการหลงทางอยู่แต่ในเรื่องที่เอาประเด็นความรักมาใช้แก้ปัญหาไม่ได้ และหนักเข้าไปอีกเมื่อมีทัศนะความรักที่ไม่เข้าใจความเป็นมนุษย์อีกตะหาก กฏหมายก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างข้อตกลงและระยะห่าง เช่นเดียวกับกำแพงและทางสัญจรที่ถูกออกแบบให้คนไม่ต้องมาเผชิญหน้ากันในสภาวะแวดล้อมที่อาจทำให้มีการทะเลาะจนทำร้ายกัน หรือบังคับกันจนเกินไปให้ปัจเจกเดินไปในทางหรือตกอยู่ในพื้นที่ที่ตนไม่ได้ประสงค์จะต้องผ่าน และยอมให้ผู้คนมาเจอกันในบางเวลาและสถานที่ที่เราอาจมาร่วมมือกัน หรือหาประโยชน์ร่วมกันมาแบ่งกันได้ในบางเรื่อง...เท่านั้นมิใช่หรือ...คือการอยู่ร่วมกันของคนที่มันถึงจะสงบสุขกันได้ ยังไม่นับว่าข้อตกลงเหล่านี้เรายังจะต้องทำกันไปตลอดชีวิตทางสังคม...แต่... ....เรื่องเหล่านี้จะไม่มีวันยุติ ถ้าหากแม้แต่การเรียกร้องให้มาออกแบบกฏหมาย กำแพง และทางสัญจรที่พอดีแก่การดำรงชีวิตรักของใครของมันโดยไม่ให้เอื้อมมือมาฟาดหัวกันไปมาอยู่เรื่อยๆ นั้น...ก็ยังฟูมฟายไม่ยอมรับกัน ...ยกเลิกม.112 แล้วมีรักเท่าที่มนุษย์ปุถุชนเป็นกันเถิด...
อ้างอิง:
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สรส.-สาวิทย์-สมศักดิ์ ประกาศถอนตัวจากกลุ่มพันธมิตรฯ Posted: 27 Apr 2011 10:27 AM PDT 26 เมษายน 2554 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ประกาศถอนตัวออกจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแล้ว หลังจากเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯมากว่า 5 ปี โดยที่ประชุม สรส. ยังมีมติให้นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ปรึกษา สรส. ถอนตัวจากแกนนารุ่นที่ 1 และ นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สรส. ถอนตัวจากแกนนารุ่นที่ 2 ทั้งนี้หนังสือ สรส. ที่ส่งถึง 4 แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ลงนามโดยนายสาวิทย์ แก้วหวานระบุเหตุผลว่า การนำของแกนนำและผู้ปราศรัยบนเวที เป็นไปในลักษณะที่ไม่รักษาจุดยืนเดิม และกล่าวโจมตีต่อบุคคลต่างๆ ที่เคยร่วมต่อสู้อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ในลักษณะที่รุนแรงฝ่ายเดียว โดยที่ผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสได้ชี้แจง รวมทั้งสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองที่เป็นไปในลักษณะที่ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งขัดต่อจุดยืน อุดมการณ์ และธรรมนูญของ สรส. ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า การถอนตัวออกจากกลุ่มพันธมิตรครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งมีนายสมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นหัวหน้าพรรค มีมติไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งตามคำเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คลิกอ่านรายละเอียด ภาพขนาดใหญ่) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
รายงานบีบีซี เปิดโปงประมงไทย ค้าทาสชาวพม่า Posted: 27 Apr 2011 10:11 AM PDT 25 เมษายน บีบีซีได้เปิดโปงธุรกิจการลักลอบนำเข้าแรงงานพม่าผิดกฎหมายเข้าประเทศ และบังคับใช้แรงงานเหล่านี้เยี่ยงทาสในอุตสาหกรรมประมงไทย จากการสืบสวนของบีบีซีพบว่า มีชาวพม่าหลายพันคนถูกหลอกลวงจากประเทศพม่าอย่างผิดกฎหมายเพื่อมาทำงาน บนเรือและในโรงงานต่างๆ บางคนถูกกักตัวเยี่ยงทาสอยู่ในทะเลเป็นเวลาหลายปีโดยไม่มีโอกาสได้ขึ้นฝั่ง ถูกบังคับให้ทำงานเป็นเวลายาวนานหลายชั่วโมงติดต่อกันโดยได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้เลย หรือถูกกักขังอยู่บนฝั่งระหว่างรอเดินทางไปกับเรือครั้งต่อไป บางคนที่หลบหนีออกมาได้เล่าถึงการต้องเผชิญกับการทรมานหรือถูกฆ่าโดยกัปตันชาวไทย ดังที่รายงานโดยเอแลสแตร์ ไลท์เฮด ดังนี้
0 0 0 0 0 0
ลูกเรือประมง“เยี่ยงทาส”ชาวพม่า โดย เอแลสแตร์ ไลท์เฮด (บีบีซี นิวส์, กรุงเทพฯ)
ปัจจุบัน ซอ ซอ อาศัยและทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ อีกทั้งยังช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่พยายามจะหลบหนีด้วย เรื่องราวของ ซอ ซอ เกี่ยวกับการเป็นคนงานชาวพม่าที่ถูกกักไว้เยี่ยงทาสบนเรือประมงของไทยนั้นร้ายแรงสุดจะบรรยายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดธรรมดาเลย เขาเป็นหนึ่งในจำนวนชายหนุ่มพม่าหลายพันคนที่ถูกหลอกมาขายให้กับอุตสาหกรรมประมงในประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกปลารายใหญ่ที่สุดไปยังประเทศสหราชอาณาจักร ชายหนุ่มอายุ 26 ปีผู้นี้ใช้เวลาอยู่บนเรือเพียงสามเดือนก่อนที่จะหลบหนีออกมาได้ ในระหว่างนั้นเขาได้เห็นชายสามคนถูกฆ่า ต้องทนดูกัปตันผสมยาลงในน้ำดื่ม และถูกบังคับให้ทำงานทั้งวันทั้งคืน เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อเขาร่วมกลุ่มกับคนอื่นๆ ที่ถูกลักลอบพาออกจากบ้านเกิดอย่างผิดกฎหมายและเดินทางผ่านป่าเขาเข้าสู่ประเทศไทย พร้อมกับคำสัญญาว่าจะมีงานให้ทำในตลาดหรือโรงงาน “ในระหว่างเดินทาง หญิงพม่าสองคนถูกข่มขืนโดยนายหน้าชาวไทย จากนั้นนายหน้าก็เริ่มทุบตีพวกเรา” ซอ ซอ กล่าว พวกเขาถูกส่งต่อไปยังนายหน้ารายอื่นและถูกกักขังไว้ก่อนจะถูกขายให้กับเจ้าของเรือประมง - ในขณะนั้นเขาไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น แต่พวกเขากำลังเข้าไปสู่สิ่งที่นักสิทธิมนุษยชนเรียกกันว่า การตกเป็นทาส เริ่มคำพูด ซอ ซอ ลูกเรือประมงที่ถูกหลอกมาขาย เมื่อใดที่ลูกเรือเจ็บป่วยก็จะถูกทุบตี พวกเขาไม่เคยได้หลับนอนเกินสองสามชั่วโมงในแต่ละครั้ง อีกทั้งยังต้องอยู่ภายใต้การขู่ทำร้ายหรือขู่ฆ่า ซอ ซอ เล่าถึงวิธีการอันน่าเศร้าใจที่ลูกเรือบางคนใช้เพื่อให้หลุดพ้นจากสภาพดังกล่าว “ชายสามคนพยายามหลบหนีตอนตีสองโดยคว้าอวนลอยจับปลาแล้วกระโดดลงทะเล แต่มีพายุรุนแรงมากและสองคนจมน้ำตายเพราะว่ายน้ำไม่เป็น ส่วนอีกคนถูกจับตัวได้หลังจากว่ายขึ้นฝั่ง” “พวกเขานำตัวชายคนนั้นกลับมาที่เรือ – ใบหน้าของเขาบวมเป่งจากการทุบตีและทรมาน พวกเขาเรียกเราทั้งหมดไปที่ดาดฟ้า แล้วกัปตันคนไทยบอกกับเราว่า นี่คือสิ่งที่จะเกิดกับคนที่พยายามหลบหนี” “ชายคนนั้นถูกทรมานด้วยการใช้ไฟฟ้าช็อตและหลังจากนั้นเขาถูกยิงต่อหน้าพวกเราและถูกโยนทิ้งลงทะเล” การผสมยาในน้ำ คาดว่ามีคนงานพม่าหลายพันคนทำงานบนเรือของไทย จากการเห็นชายสามคนถูกฆ่าตาย ซอ ซอ คิดว่ามันอาจจะเกิดขึ้นกับเขาได้เช่นกัน ดังนั้น เขาตัดสินใจที่จะหลบหนี แม้ว่าจะต้องเสี่ยงก็ตาม “เมื่อเรือประมงทอดสมอใกล้ฝั่ง ผมจับทุ่นลอยแล้วกระโดดลงทะเลตอนตีหนึ่งและมาถึงฝั่งตอนหกโมงเช้า ทะเลมีพายุแรงมาก” “ผมเดินไปตามสันทรายแล้วหลบซ่อนตัวในพุ่มไม้ พวกเขาค้นหาผมและเดินผ่านหน้าผมไปแต่ไม่เห็นผม ซึ่งผมต้องขอบคุณพระเจ้าจริงๆ” หลังจากเดินทางด้วยเท้าเป็นเวลาสี่วัน เขามาถึงเมืองพัทยาและได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มที่ทำงานกับโบสถ์ ปัจจุบันเขาพำนักอาศัยและทำงานอย่างถูกกฎหมายในกรุงเทพฯ และให้ความช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่ต้องการจะหลบหนี เขาทำเช่นนี้โดยไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ เลย ปัญหาที่แพร่ขยาย คนงานผิดกฎหมายถูกนำเข้าสู่โรงงานบรรจุและผลิตเช่นกัน มหาชัยเป็นหนึ่งในเมืองประมงใหญ่ของไทยซึ่งเรือประมงจะเข้ามาเทียบท่าในยามเช้าตรู่ทุกวัน เจ้าหน้าที่ท่าเรือผู้ไม่ประสงค์จะถูกเอ่ยนามกล่าวว่า เรือเหล่านี้ต่างก็ถูกควบคุมโดยกัปตันและวิศวกรคนไทย โดยมีคนงานผิดกฎหมายชาวพม่ามากที่สุดในจำนวนลูกเรือ 20 คน และนี่ไม่ใช่เพียงแต่งานบนเรือเท่านั้น – คนงานผิดกฎหมายก็ถูกขายให้กับโรงงานบรรจุและผลิตเช่นกัน กา อู อายุ 18 ปีเมื่อเดินทางมาประเทศไทย: “ผมไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงงานเป็นเวลาสี่ปี และต้องทำงานวันละ 15 – 20 ชั่วโมง มันเหมือนกับการติดคุกเลย” ในที่สุด เขาหลบหนีได้โดยใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งถูกห้ามใช้ในโรงงานติดต่อเพื่อนให้เตรียมมารับเขา จากนั้นเขาปีนกำแพงอันหนาทึบเพื่อหลบหนี ผู้ซื้อควรระวัง กลุ่มสิทธิมนุษยชนต้องการให้ผู้บริโภคกดดันรัฐบาลไทยให้ควบคุมดูแลอุตสาหกรรมดังกล่าว “คนจำนวนมากกำลังถูกหลอกให้ทำงานในอุตสาหกรรมประมง ดังนั้น คนเหล่านี้จึงตกเป็นทาสและถูกกักตัวไว้บนเรือ” เขากล่าว เขามีความเชื่อว่า ประชาชนในประเทศอังกฤษและทั่วโลกควรได้รับรู้เกี่ยวกับสินค้าที่พวกเขากำลังซื้อ “สิ่งที่พวกเราอยากบอกคือ เมื่อใดที่คุณซื้อปลาและปลานั้นมาจากประเทศไทย นั่นคือปลาที่มาจากอุตสาหกรรมที่มีการเอารัดเอาเปรียบอย่างร้ายแรงต่อคนที่ถูกหลอกมาขายให้กับอุตสาหกรรมนี้ผู้ซึ่งกำลังทำงานยาวนานหลายชั่วโมงในสภาพแวดล้อมอันไร้มนุษยธรรม” “ประชาชนผู้ได้รับปลาเหล่านี้ควรเรียกร้องให้รัฐบาลไทยควบคุมดูแลอุตสาหกรรมประมง รวมทั้งให้หลักประกันว่า การเอารัดเอาเปรียบจะลดน้อยลงเพราะปัจจุบันมันเป็นปัญหาที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง”
อ่านต้นฉบับฉบับภาษาอังกฤษได้ที่...
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
กองปราบฯ แกะรอยกว่า 50 รายชื่อผู้เล่นเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน เรียก บ.ก.ฟ้าเดียวกันให้ปากคำ Posted: 27 Apr 2011 07:37 AM PDT ตำรวจกองปราบฯ เรียกธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการนิตยสารฟ้าเดียวกัน เข้าให้ปากคำในฐานะพยาน กรณีมีผู้ฟ้องว่าข้อความในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน พบ 50 กว่ารายชื่อ 46 ยูอาร์แอล อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน วันนี้ เวลา 09.00น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบฯ เรียกนายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการนิตยสารฟ้าเดียวกัน เข้าให้ปากคำในฐานะพยาน กรณีมีผู้ฟ้องว่าข้อความในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน (ปัจจุบันปิดไปแล้ว) จำนวน 46 ยูอาร์แอล อาจเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เบื้องต้นนายธนาพลให้การว่า ไม่ทราบว่ามีข้อความดังกล่าวในเว็บบอร์ด และไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากเว็บถูกปิดไปแล้ว จากเอกสารของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบนามแฝงที่ใช้ล็อกอินเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันกว่า 50 รายชื่อ ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ นามแฝงของผู้โพสต์ข้อความหมิ่นเหม่ และกลุ่มที่สองคือนามแฝงของเจ้าของกระทู้และผู้แสดงความเห็นในกระทู้ที่มีข้อความหมิ่นเหม่ โดยบุคคลทั้งสองกลุ่มมีรายชื่อดังนี้ (อนึ่ง มีบางรายชื่อที่ประชาไทไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากการตั้งชื่อผู้ใช้อาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 112) อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่า เจ้าหน้าที่จะดำเนินการกับคนเหล่านี้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะบางรายชื่อเป็นเพียงเจ้าของกระทู้ซึ่งมีผู้เล่นเว็บบอร์ดรายอื่นเข้ามาตอบโดยอาจมีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดอาญามาตรา 112
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
พิจารณาคดีลับ ทหารอากาศโพสต์เฟซบุ๊คเข้าข่ายหมิ่น สืบพยานโจทก์ 14 ก.ค. Posted: 27 Apr 2011 06:16 AM PDT 27 เม.ย.54 ที่ศาลทหาร กรุงเทพฯ มีการนัดพร้อมคดีที่นายทหารอากาศนายหนึ่ง ยศนาวาอากาศตรี ถูกกองทัพอากาศแจ้งความดำเนินคดีเมื่อวันที่ 4 พ.ย.53 กรณีที่มีการร้องเรียนจากนายทหารเรือนายหนึ่งว่าทหารอากาศผู้นี้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คของตนเองที่อาจเข้าข่ายหมิ่นสถาบัน โดยตุลาการพระธรรมนูญสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ซึ่งอนุญาตเพียงจำเลยและทนายความเข้าฟังการพิจารณาคดี และมีการนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 14 ก.ค.นี้ ทั้งนี้ จำเลยเข้ามอบตัวเมื่อวันที่ 17 พ.ย.53 และได้รับการประกันตัวในวันเดียวกัน ขณะที่ศาลทหารได้รับฟ้องคดีในวันที่ 8 ก.พ.54 โดยอัยการศาลทหารเป็นโจทก์ยื่นฟ้องโดยระบุถึงข้อความในเฟซบุ๊ค 24 ข้อความ หรือ 24 กรรม ซึ่งโจทก์ถือว่าเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 91 พระราชบัญญัติแก้ไข้เพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ฉบับที่ 41) ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ข้อเสนอต่อปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการปกป้อง-ส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ Posted: 27 Apr 2011 04:13 AM PDT ชื่อบทความเดิม: การดำเนินงานของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียนเรื่องการปกป้องและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ (ACMW) บทวิเคราะห์และข้อเสนอ [1]
อาเซียนร่วมกันกำหนดปฏิญญาว่า ด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการพัฒนากลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ และได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานตามปฏิญญาดังกล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 คณะกรรมการชุดนี้ดำเนินงานอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐมนตรีอาเซียนด้านแรงงาน หลังจากที่ทุกประเทศได้แต่งตั้งผู้แทนในคณะกรรมการชุดดังกล่าวในปี 2551 ในเดือนเมษายน 2552 มีการประชุมครั้งแรกของคณะทำงานเพื่อร่างกรอบตราสารอาเซียนในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ ในการประชุมครั้งนี้มีการแต่งตั้งให้ประเทศที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากอาศัยและทำงานอยู่ ได้แก่ประเทศมาเลเซียและประเทศไทย ดำเนินการร่างกรอบตราสารดังกล่าวร่วมกันกับประเทศที่มีแรงงานย้ายถิ่นไปทำงานในประเทศอื่นในภูมิภาคจำนวนมากคือ ประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ แต่กระบวนการร่างและเจรจามิได้มีความคืบหน้ามากนักเนื่องจากความสนใจที่แตกต่างกันของสี่ประเทศสมาชิก จนกระทั่งในปีนี้ 2554 การประชุมของเจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนในเมืองย็อกยาการ์ตาเมื่อเดือนที่แล้วยังคงประสบความล้มเหลวในการทำข้อตกลงเพื่อการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติทุกคนในภูมิภาค เนื่องจากมีการรายงานว่า สี่ประเทศหลัก คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และบรูไน ปฏิเสธที่จะให้การคุ้มครองแรงงานทั้งที่มีเอกสารทางกฎหมายและไม่มีเอกสารทางกฎหมาย ปฏิเสธการคุ้มครองที่ต้องรวมไปถึงครอบครัวของแรงงานย้ายถิ่น สิงคโปร์เองปฏิเสธอย่างเปิดเผยต่อแนวคิดของการย้ายถิ่นโดยเสรีในภูมิภาค เนื่องจากเกรงว่าจะมีคนมากเกินไปที่จะเข้าไปในประเทศเล็กๆ(แต่ร่ำรวย [2]) อย่างสิงคโปร์ ในขณะที่ประชาชาติอื่นๆ เช่นเวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า ก็ล้มเหลวในการผลักดันให้มีการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศของตน อีกประเด็นซึ่งมีการถกเถียงกันคือประเทศอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียต้องการให้กรอบตราสารนี้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย แต่ถูกต้านจากประเทศอื่นๆ เช่นสิงคโปร์และมาเลเซีย และการถกเถียงยังรวมไปถึงกรอบตราสารนี้จะขยายการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้มาจากประเทศในอาเซียนหรือไม่
การประชุมครั้งต่อไปมีดังนี้คือ การประชุมของ ACMW ครั้งที่สี่ในเมืองบาลี อินโดนีเซีย วันที่ 3 พฤษภาคม 2554 การประชุมของรัฐมนตรีอาเซียนด้านแรงงานครั้งที่ 7 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย วันที่ 16 พฤษภาคม 2554 อย่างไรก็ตามผู้เขียนมีโอกาสได้ทำการวิเคราะห์ร่างกรอบตราสารว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติชุดของคณะกรรมการของสี่ประเทศที่กำลังร่างและมีประเด็นที่จะนำเสนออย่างสังเขปดังนี้คือ
สิ่งที่เราควรจะเรียกร้องให้มีในตราสารกรอบการคุ้มครองนี้คือ
หมายเหตุ: การวิเคราะห์และข้อเสนอนี้ จัดทำโดย ปรานม สมวงศ์ ผู้ประสานงานศูนย์แรงงานเพื่อการเปลี่ยนแปลง (WH4C) ผู้เขียนเป็นที่ปรึกษาของเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) และสมาคมผู้หญิงเพื่อกฎหมาย การพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิค (APWLD)
อ้างอิง: สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
TDRI: มาตรการฝีมือแรงงาน กลไกแก้ค่าจ้างเหลื่อมล้ำ Posted: 27 Apr 2011 02:59 AM PDT ผอ.วิจัยฯทีดีอาร์ไอเสนอกลไกแก้ปัญหาค่าจ้างแรงงานระยะยาว ต้องกำหนดให้สถานประกอบการมีโครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจน จูงใจลูกจ้างทำงาน และสามารถเข้ารับการทดสอบเพิ่มค่าจ้างได้ตามระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานที่เพิ่มขึ้น ส่วนแรงงานฐานล่างการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำควรปรับเป็นเปอร์เซ็นต์โดยยึดค่าจ้างตามกลุ่มคลัสเตอร์จังหวัด ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึง ทางออกแก้ปัญหาเรียกร้องปรับค่าจ้างแรงงานที่เกิดขึ้นเสมอ โดยโครงสร้างค่าจ้างภาพรวมยังจำเป็นต้องปรับให้กับแรงงานระดับฐานล่างแต่ควรใช้การปรับเป็นเปอร์เซ็นต์และกำหนดระยะเวลาในการปรับที่ชัดเจน ช่วยลดผลกระทบโครงสร้างค่าจ้างและศักยภาพการจ่ายของนายจ้าง เมื่อมีการเตรียมตัวล่วงหน้า โดยเฉพาะในนายจ้างในธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งมีสัดส่วนรองรับแรงงานจำนวนมาก แต่มีศักยภาพในการจ่ายได้น้อย และเพื่อไม่ให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำไปกระทบกับโครงสร้างจ้างในส่วนของแรงงานที่ทำงานอยู่เดิม ก็ควรมีการแก้ปัญหาในระยะยาว อาทิ การเพิ่มกลไกให้นายจ้างที่มีแรงงานจำนวนพอสมควร ต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง รวมทั้งใช้มาตรฐานวิชาชีพกำกับ ให้ลูกจ้างสามารถทดสอบเพิ่มระดับมาตรฐานฝีมือ ว่ามีความเชี่ยวชาญอยู่ในระดับใด(แต่ละระดับมีอัตราค่าจ้างกำกับไว้) เช่น ระดับ 1 2 3 ก็จะได้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามความเชี่ยวชาญและสามารถ เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย นายจ้างได้แรงงานคุณภาพ ลูกจ้างได้เพิ่มศักยภาพตนเอง และวางแผนอนาคตได้ ทั้งนี้กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามนำเรื่องสมรรถนะแรงงานหรือมาตรฐานฝีมือแรงงานมาใช้เป็นกลไกเพิ่มเติมในการแก้ปัญหาและกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานโดยเฉพาะกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานก็ได้มีการเริ่มในส่วนของวิชาชีพช่างต่าง ๆ คาดว่าจะมีการประกาศอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงาน 11 สาขาอาชีพในเร็ว ๆ นี้ ใน 3 กลุ่มสาขาอาชีพ คือ อาชีพช่างกล อาชีพภาคบริการ และอาชีพช่างไฟฟ้า โดยกำหนดเป็นมาตรฐานวิชาชีพแห่งชาติระดับ 1 2 3 และคุณสมบัติฝีมือแรงงานในแต่ละระดับ พร้อมทั้งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่พึงได้ไว้ด้วย เช่น ช่างสีรถยนต์ ระดับ 1 2 3 จะมีอัตราค่าจ้างที่ได้รับไม่น้อยกว่า 315,380,445 ตามลำดับ เป็นต้น ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาไม่ใช่การปรับที่สะท้อนความเป็นจริง การปรับฐานค่าจ้างแรงงานควรปรับเป็นเปอร์เซ็นต์จะดีกว่าการปรับเป็นตัวเงินเท่ากันหมด เพราะการปรับเป็นเปอร์เซ็นต์จะทำให้แรงงานทั้งประเทศได้รับการปรับเพิ่มค่าจ้างเท่ากันแต่จำนวนเงินที่ได้รับมากน้อยต่างกันตามฐานรายจ่ายและค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้รับแต่ละคน ซึ่งแตกต่างกันไปตามมาตรฐานค่าครองชีพของแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์จังหวัด เช่น กรุงเทพฯกับภาคอีสาน เป็นต้น และยังทำให้ผู้ประกอบการ นักลงทุนมีข้อมูลตัดสินใจได้ว่าเขาจะไปลงทุนที่ไหน อย่างไร การแก้ปัญหาต้องให้แหล่งจ้างงานย้ายไปหาคน(แรงงาน)ไม่ใช่คนย้ายไปหาแหล่งจ้างงาน ซึ่งหลายอุตสาหกรรมสามารถทำได้โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงทรัพยากรจากท้องถิ่น ตรงนี้ก็จะช่วยทำให้ต้นทุนทางสังคมของแรงงานไม่ได้รับผลกระทบมากนัก การปรับเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อโครงสร้างค่าจ้างไม่มาก และหากกำหนดได้ว่าจะปรับในอัตราเท่าใดในช่วงระยะเวลาใดที่จัดเจน ก็จะทำให้นายจ้างมีการเตรียมตัว เพราะสิ่งสำคัญต้องคำนึงถึง ศักยภาพการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างซึ่งไม่เท่ากัน โดยเฉพาะนายจ้างในกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งมีศักยภาพการจ่ายได้ไม่มาก แต่เป็นตลาดแรงงานที่ดูดซับแรงงานจำนวนมากกว่าครึ่งของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ อีกทั้งยังเป็นนายจ้างกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและภัยพิบัติต่าง ๆ ดร.ยงยุทธ เสนอว่า เพื่อไม่ให้ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นไปจนชนเพดานของโครงสร้างค่าจ้าง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อแรงงานที่ทำงานอยู่เดิม ควรมีการกำหนดกฎหรือระเบียบให้สถานประกอบการที่มีแรงงานจำนวนหนึ่ง (อาจเป็น 200 คน) ต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง เพื่อสร้างความชัดเจน สร้างแรงจูงใจ ทำให้แรงงานมีเป้าหมายในการทำงาน สามารถวางแผนอนาคตของตนเองได้ ว่าสามารถเติบโตในหน้าที่การงานได้แค่ไหน ตำแหน่งอะไร รายได้เท่าไหร่ ซึ่งสถานประกอบการเอสเอ็มอียังไม่มีเรื่องเหล่านี้ การแก้ปัญหาค่าจ้างแรงงานในระยะยาว นอกจากการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ยังต้องคงไว้เพราะเป็นฐานของแรงงานใหม่ที่อยู่ในฐานล่างของโครงสร้างค่าจ้าง แต่สำหรับแรงงานเก่าก็ต้องได้ควรการคุ้มครองและสามารถมีค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นตามความรู้ ทักษะ ความสามารถ ดังนั้นการนำกลไก ที่กำหนดให้สถานประกอบการควรมีโครงสร้างค่าจ้าง และการนำกลไกทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติมาใช้ จะช่วยทำให้ลูกจ้างและนายจ้างพึงพอใจกันทั้งสองฝ่าย อีกทั้ง หากกฎระเบียบนี้ประกาศใช้ซึ่งอยู่ในอำนาจของกระทรวงแรงงานดำเนินการได้นั้น ลูกจ้างก็มีสิทธิที่จะได้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานที่เขาสอบได้ มาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นกลไปในการปรับค่าจ้าง ในระยะยาวก็จะไม่ต้องมาเรียกร้องการปรับขึ้นค่าจ้างของแรงงาน อีกทั้งการแก้ปัญหาโดยใช้โครงสร้างค่าจ้างตามวิชาชีพนี้ ยังสะท้อนว่า พื้นที่ไม่ใช่ข้อจำกัดเรื่องค่าจ้างอีกต่อไป คนต่างจังหวัดไม่ต้องวิ่งเข้าไปทำงานนอกพื้นที่ และย่อมส่งผลช่วยลดผลกระทบทางสังคมต่อตัวเขาและครอบครัวที่จะเกิดขึ้นได้ไปในตัว อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวยังจำกัดให้เป็นเรื่องสมัครใจของนายจ้าง จึงต้องมีการศึกษาผลกระทบให้รอบคอบอีกครั้ง เพราะสังคมมาตรฐานต้องเกิดขึ้นจากแรงงานมาตรฐาน.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
25 ปีเชอร์โนบิล สำรวจอนาคตพลังงานผ่านวิกฤตฟูกูชิมะ Posted: 27 Apr 2011 12:42 AM PDT 25 ปีหายนะภัย "เชอร์โนบิล" สำรวจอนาคตพลังงานผ่านวิกฤตฟูกูชิมะ เอ็นจีโอพลังงานถามสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คาดการณ์การใช้ไฟฟ้าผิด หรือคาดการณ์เกินจริง
26 เม.ย. 2554 เนื่องในวันครบรอบ 25 ปี หายนะภัยนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิลในปี 2554 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรีนพีซ จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกและเตือนสติสังคมไทยให้พิจารณาอดีตภาพและมองอนาคตพลังงานด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ ในเวทีสาธารณะ “วิกฤตฟูกูชิมะและอนาคตพลังงานที่ยั่งยืนในสังคมไทย ในวาระครบรอบ 25 ปี หายนะภัยเชอร์โนบิล”
สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิปรายในหัวข้อ มองญี่ปุ่นผ่านวิกฤตฟูกูชิมะ ว่าจากเหตุการณ์หายนะภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ทำให้เรามองญี่ปุ่นได้ 3 แบบ 1.ทำให้เห็นว่าคนญี่ปุ่นมีวินัย อดทน ไม่มีความวุ่นวาย มีการจัดองค์กรต่างๆ ดี มีความรู้เรื่องนิวเคลียร์ดี เรียกได้ว่าญี่ปุ่นมี ‘Safety Culture’ แม้ว่าสถานการณ์โดยรวมจะมีความโกลาหลอยู่บ้าง แต่ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา 2.เป็นโอกาสให้หลายฝ่ายๆ ได้รีบปรับตัวใหม่ เช่น นายกรัฐมนตรีจูเลีย กิลลาร์ ของออสเตรเลียลงไปดูถึงพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย แล้วประกาศทันทีว่าแผนการสร้างโรงฟ้านิวเคลียร์ของออสเตรเลียคงต้องหยุด 3.สิ่งที่เราเรียนรู้จากเหตุการณ์ฟูกูชิมะคือ วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้เหนือองค์ความรู้ใดๆ ที่ญี่ปุ่นมี เพราะเราถูกทำให้เชื่อว่าความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลย เมื่อความเสี่ยงเกิดขึ้นจริงจึงไม่มีองค์ความรู้ที่จะรับมือกับผลกระทบที่ตามมา สุริชัย เพิ่มเติมว่า ญี่ปุ่นมีกฎหมายเกี่ยวกับความเสียหายจากนิวเคลียร์ แต่ไทยไม่มีแม้แต่กฎกระทรวง เราควรใช้โอกาสนี้ร่วมกันคิดถึงสิ่งที่ท้าทายสังคมทั้งสังคม ไม่ใช่แค่กลุ่มการเมืองหยิบมาใช้หาเสียงแบบฉาบฉวย ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิพากษ์ “องค์ความรู้เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กระทรวงพลังงาน” ว่า โดยหลักการเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มีหน้าที่ทำน้ำให้เดือดเป็นไอน้ำไปปั่นกังหันผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งมันดูงี่เง่าเมื่อคิดว่าวิทยาการเทคโนโลยีของมนุษย์ก้าวมาถึงจุดสูงส่ง แต่มาสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อทำให้น้ำเดือด จากนั้นธาราได้เปิดเผยข้อมูลที่สำคัญ เช่น ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฯ (PDP 99-01) มีการใช้งบประมาณด้านการสื่อสารสาธารณะและการมีส่วนร่วมของประชาชนเมื่อปี 2552 มากที่สุด โดยใช้ไปกับการโฆษณา ประชาสัมพันธ์และซื้อสื่อ ด้านมหาวิทยาลัยหาดใหญ่สำรวจเมื่อปี 2552 พบประชาชนภาคใต้ส่วนใหญ่ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้ว่า กฟผ. ได้สำรวจตามมาพบประชาชนทั่วประเทศ 64% เห็นด้วยให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ 66% ไม่เห็นด้วยที่จะให้สร้างในจังหวัดของตัวเอง และได้เปิดเผยข้อมูลเปรียบเทียบผลกระทบจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลกับฟูกูชิมะในหลายด้านเช่น เขตกักกันรังสี ได้ข้อสรุปว่าในที่สุดแล้วความเสียหายไม่ได้แตกต่างกันเลย “ไปอ่านรายงานดู แล้วเราจะพบว่าเราไม่รู้อะไรเลย มันอาจไม่ใช่องค์ความรู้อะไร เป็นแค่รายงานการทำงานขององค์กรรัฐ..” ธารา บัวคำศรี กล่าว วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง วิเคราะห์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเวียดนาม ในฐานะที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้ประเทศไทยที่สุดว่า จริงๆ แล้วเวียดนามไม่ได้ขาดกำลังการผลิตติดตั้งที่สูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) ของประเทศแต่อย่างใด แต่ขาดกำลังการผลิตที่พึ่งพิงได้ ซึ่งหมายถึงพลังงานน้ำในเขื่อนที่อาจขึ้นๆ ลงๆ แต่นี่เป็นเพียงปัญหาจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอเท่านั้นเอง ถ้าบริหารจัดการกำลังการผลิตที่มีอยู่ให้ดี ก็จะเป็นกำลังการผลิตที่พึ่งพิงได้โดยไม่จำเป็นต้องหันไปอ้างพลังงานนิวเคลียร์ว่ามั่นคงกว่า วิฑูรย์ ยังฟันธงว่า ในปี ค.ศ.2025 ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของเวียดนามจะไม่เกิน 40,000 เมกะวัตต์อย่างแน่นอน แต่ปัจจุบันเวียดนามคาดการณ์ไว้ถึง 80,000 เมกะวัตต์ แสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลอะไรบางอย่าง และเชื่อมโยงมาถึงประเทศไทยว่า การคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยในแผน PDP 2010 ก็สูงเกินจริงเช่นกัน พร้อมแนะแนวทางที่ไม่ต้องเดินไปสู่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยหันมามุ่งมั่นในแนวทางประหยัดพลังงาน เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟฟ้ามาใช้หลอดแบบประหยัด รวมถึงการใช้พลังงานทางเลือกอื่น และว่าลึกๆ แล้วจะไม่มีการปล่อยให้ประเทศใดประเทศหนึ่งสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยที่มหาอำนาจ (สหรัฐอเมริกา) ไม่ใส่ใจ อเมริกาจึงพยายามผลักดันให้ไทยหรือสิงคโปร์ให้ดึงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของเวียดนามเข้ามาอยู่ในเวทีอาเซียนให้ได้ และเมื่อดูแนวโน้มโดยรวมปัจจุบันและอนาคตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะถูกสร้างที่เอเชียมากขึ้น ขณะที่ยุโรปนั้นจะไม่เพิ่มเลย สุริชัย ได้เพิ่มเติมในประเด็นนี้ด้วยว่า “หลายคนพูดกันมาก เดี๋ยวเวียดนามแซงเราบ้าง เดี๋ยวเวียดนามล้ำหน้าบ้าง ผมถามว่าล้ำหน้าไปสวรรค์หรือไปนรก...” ขณะที่วิฑูรย์ย้ำปิดท้ายว่า ความจำเป็นของนิวเคลียร์ไม่มีเลย มันเป็นเรื่องของอุตสาหกรรม ในอนาคตเราทุกคนจะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคด้วย ไม่ได้บริโภคไฟฟ้าเช่นปัจจุบันอีกต่อไป เช่น ถ้าเราติดแผงโซล่าร์เซลล์เอง เราก็เป็นผู้ผลิตแล้ว ความพยายามที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของการคาดการณ์พลังการใช้ไฟฟ้าผิด หรือคาดการณ์เกินจริง. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
สภาฯผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะแล้ว Posted: 27 Apr 2011 12:12 AM PDT สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมติเสียงส่วนใหญ่ด้วยคะแนน 217 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 272 คน ผ่านความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ แล้ว (27 เม.ย. 54) เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาลงมติ ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 54 ทั้งนี้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบด้วยคะแนน 217 เสียง ไม่เห็นชอบ 8 เสียง งดออกเสียง 41 เสียง ไม่ลงคะแนน 6 เสียง โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าร่วมประชุมจำนวนทั้งสิ้น 272 คน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น