โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ศาสนากับ “หน้ากาก”

Posted: 26 Apr 2011 12:05 PM PDT

“ฉันไม่ใช่พุทธศาสนิก ฉันเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง
และธรรมะมีไว้เพื่อปกป้องศักดิ์ศรี
และจิตวิญญาณอันลึกซึ้งในความเป็นมนุษย์ธรรมดา
ไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้องรูปแบบทางวัฒนธรรม
หรือทางศาสนาใดๆ โดยเฉพาะ”

- เชอเกียม ตรุงปะ –

ผม “ถูกใจ” ข้อความข้างบนจากหนังสือ “ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ” ของ เชอเกียม ตรุงปะ คุรุทางจิตวิญญาณแห่งโลกสมัยใหม่ในสายธารทางปัญญาของวัชรญาณแบบธิเบต-อเมริกัน หนังสือเล่มดังกล่าว แปลโดย วิจักขณ์ พานิช ชาวพุทธรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองในบทบาทของการพยายามเสนอความไปด้วยกันได้ระหว่างมิติทางจิตวิญญาณและมิติทางสังคมของพุทธศาสนา

สิ่งที่ เชอเกียม ตรุงปะ เรียกว่า “จิตวิญญาณ” ไม่ได้หมายถึงของสูงส่ง ของวิเศษสุดเอื้อม ที่เป็นคุณสมบัติเฉพาะของ “อภิมนุษย์” เช่น พระอริยะเจ้า พระอรหันต์ หรือคนที่มุ่งสละชีวิตทางโลก หันหลังให้กับความเป็นไปของสังคม มุ่งปลีกวิเวกหรือปลีกตัวออกไปจากความวุ่นวายทางโลกไปอยู่ในป่าโดยลำพัง

หากแต่จิตวิญญาณคือ ธรรมชาติหรือเนื้อแท้ของคนธรรมดาทุกคน และธรรมะก็ไม่ใช่มีไว้เพื่อการอื่นที่นอกเหนือไปจากการปกป้องศักดิ์ศรีและจิตวิญญาณอันลึกซึ้งในความเป็นมนุษย์ธรรมดา

ท่านพุทธทาสเคยบอกว่า “ภาษาธรรม” ในพุทธศาสนานั้น เดิมทีเป็นภาษาชาวบ้านธรรมดาๆ เช่น คำว่า “นิพพาน” เป็นภาษาที่คนอินเดียโบราณใช้กันอย่างปกติในชีวิตประจำวัน นิพพานแปลว่า ดับ หรือเย็น เวลาไฟดับชาวบ้านก็ว่าไฟนิพพาน หรือคนๆ นี้ดูอัธยาศัยดีใครอยู่ใกล้ชิดแล้วสบายใจ เย็นใจ อย่างที่มีคนพูดถึงบุคลิกภาพของเจ้าชายสิทธิธัตถะว่า พ่อแม่ที่มีลูกเช่นนี้ก็นิพพาน (เย็นใจ) ภรรยาที่มีสามีเช่นนี้ก็นิพพาน (เย็นใจ) เป็นต้น

และเมื่อนิพพานถูกนำมาใช้ในทางศาสนาก็หมายถึง “ความดับทุกข์” หากดับทุกข์ชั่วคราวหรือดับทุกข์เฉพาะเรื่องๆ ไป ก็เรียกว่านิพพานชั่วขณะ หากดับทุกข์ถาวรก็เรียกว่าดับทุกสิ้นเชิง แต่นิพพานไม่ได้มีความหมายว่า เป็นของสูงส่ง หรือของศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้คนเป็นผู้วิเศษ หรือเป็นอภิมนุษย์ที่มีสถานะเหนือมนุษย์มนาธรรมดาทั่วๆ ไป

ทว่าต่อมาเมื่อคำว่านิพพานหรือแม้แต่คำว่า “ธรรมะ” ถูกใช้ในศาสนาแบบจารีตประเพณี คำที่เคยใช้กันธรรมดาๆ ก็กลายเป็น “คำศักดิ์สิทธิ์” ขึ้นมา และแทนที่จะใช้กันเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีและจิตวิญญาณในความเป็นมนุษย์ธรรมดา กลับเป็นคำที่สร้าง “มายาคติ” อย่างสลับซับซ้อน

พูดภาษาบ้านๆ คือคำว่า “ธรรมะ” กลายเป็นคำที่ใช้สร้าง “หน้ากาก” หลายชั้นมาก จนทุกวันนี้เวลาเราพบบุคคลที่บรรดาสาวกยกย่องว่าเป็นคนปฏิบัติธรรมหรือมีธรรมะสูงส่ง เราไม่แน่ใจว่าเขาสวมหน้ากากอยู่กี่ชั้น หรือจะถอดหน้ากากออกกี่ชั้นถึงจะพบความเป็น “คนธรรมดา” ของเขา

ที่แย่ที่สุดคือ พระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ธรรมดาเหมือนเรา แต่พุทธศาสนาแบบจารีตก็ไปสวมหน้ากากให้กับพระองค์จนกลายเป็นอภิมนุษย์ เป็นผู้วิเศษ เป็นสัพพัญญูที่รู้เจนจบจักรวาล รู้โลกนี้ รู้โลกหน้า เป็นสุดยอดนักเศรษฐศาสตร์ สุดยอดนักการเมือง เป็นสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ รู้โลกกลม รู้ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ประมาณว่าไอสไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ ไอสไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น ดาร์วินขยายความ พระพุทธเจ้ารู้แจ้ง ฯลฯ

ไปๆ มาๆ เราเลยแยกไม่ออกว่า พระพุทธเจ้ากับ God ต่างกันยังไง !

“พุทธะ” ที่แปลว่าผู้รู้ทุกข์กับความดับทุกข์ และธรรมะซึ่งหมายถึงความจริงเกี่ยวกับทุกข์และความดับทุกข์ของมนุษย์ธรรมดาๆ นั้น ได้ “ถูกปรุงแต่ง” ให้กลายเป็นของวิเศษ และถูกนำมาสร้างมายาคติว่าผู้มีธรรมะคือผู้วิเศษ ตั้งแต่วิเศษระดับธรรมดาๆ คือดีกว่าคนแบบโลกย์ๆ ทั่วไป มีภาพลักษณ์อันน่านิยมในแวดวงดารา ในสังคมชนชั้นกลาง เป็นภาพอุดมคติของนักการเมือง กระทั่งเป็นสิ่งที่ทำให้คนกลายเป็นเทพ ฯลฯ

ธรรมะที่เคยมีความหมายอย่างเรียบง่ายอย่างที่ ติช นัท ฮันห์ นิยามว่า “ธรรมะคือมรรควิถีแห่งความเข้าใจและความรัก” ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ธรรมหรือการปฏิบัติธรรมคือการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจความทุกข์ของตนเองและเพื่อนมนุษย์ เพื่ออยู่ร่วมกันในฐานะ “เพื่อนร่วมทุกข์” ที่เข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันและกันนั้น ได้กลายมาเป็นดาบสำหรับฟาดฟันเพื่อนมนุษย์ เป็นสิ่งแบ่งแยกความแตกต่างในความเป็นคน กระทั่งสนับสนุนความศักดิ์สิทธิ์ของระบบชนชั้น

สังเกตไหมครับ การประกาศใช้ “ธรรมนำหน้า” นั้น ธรรมะที่พูดถึงมีความหมายเป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” และเป็นเครื่องมือส่งเสริมความศักดิ์สิทธิ์ของอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ธรรมะในความหมายนี้จึงไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้อง “ศักดิ์ศรีและจิตวิญญาณอันลึกซึ้งในความเป็นมนุษย์ธรรมดา” หรือไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้อง “ความเป็นคน” ของประชาชนแต่อย่างใด

ดังนั้น ภายใต้วาทกรรม “ธรรมนำหน้า” จึงไม่มี “คน” หรือ “ประชาชน” อยู่ในนั้นเลย ฝ่ายที่เห็นต่างจึงกลายเป็นพวกเฬวราก พวกถ่อย สมุนโจร และหัวหน้าโจรคือ “ปีศาจชาติชั่ว” ที่ไม่มีความเป็นคนเหลืออยู่เลย

ตัวอย่างดังกล่าวไม่ใช่ผมพูดเสียดสีนะครับ แต่เป็น “ข้อเท็จจริง” ที่เห็นได้ชัดมาก และอีกด้านหนึ่งเราก็เห็นอยู่ทุกวันว่า ธรรมะถูกใช้สนับสนุนสถานะของ “ผู้วิเศษ” ต่างๆ ตั้งแต่ผู้วิเศษที่สแกนกรรมออกทีวีทุกวัน เจ้าอาวาสวัดใหญ่เคยทำซีดีอธิบายภพภูมิของพญานาคใต้แม่น้ำโขงเพื่อยืนยันที่มาของบั้งไฟพญานาค ฯลฯ

สรุปแล้วศาสนาจารีตประเพณีได้ “แปรรูปธรรมะ” ซึ่งเป็นภาษาชาวบ้านธรรมดาๆ ให้กลายเป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” และนำมาสร้าง “มายาคติ” หรือ “ยากล่อมประสาท” สร้างหน้ากากแก่พระพุทธเจ้า หน้ากากของ “ผู้วิเศษ” สร้างความศักดิ์สิทธิ์ทางชนชั้น เป็นต้น

จนยากเหลือเกินที่เราจะถอดหน้ากากที่สลับซับซ้อนต่างๆ เหล่านั้น เพื่อให้พบ “ธรรมะธรรมดา” ที่มีความหมายต่อการสร้างมรรควิถีแห่งความเข้าใจทุกข์ของตนเองและของกันและกัน หรือที่มีความหมายส่งเสริมให้เราอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจ และเคารพกันและกันในฐานะที่ทุกคนเป็นคนธรรมดาครือๆ กัน !

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดูเลือกตั้งฟินแลนด์ มองเลือกตั้งประเทศไทย

Posted: 26 Apr 2011 12:00 PM PDT

25 มีนาคม 2554

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้เรื่องฟินแลนด์ และไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับฟินแลนด์ แต่ด้วยการเดินทางมาฟินแลนด์หลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2548 และได้อยู่ฟินแลนด์ในระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา จนได้ร่วมสัมผัสบรรยากาศการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของฟินแลนด์ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2554 เป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าลุกขึ้นมาทำความเข้าใจและศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองและวิถีประชาธิปไตยของประเทศฟินแลนด์ โดยหวังว่าข้อแลกเปลี่ยนเหล่านี้ อาจจะมีประโยชน์บ้างต่อประเทศไทยที่อำนาจนอกรัฐธรรมนูญปล้นประชาธิปไตยกว่า 20 ครั้ง และทำให้การเมืองไทยล้มลุกคลุกคลานมาตลอดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475

 


Jyrki Katainen (อายุ 39 ปี) ประธานพรรคร่วมแห่งชาติ ว่าที่นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์

 

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 17 เมษายน 2554

การเลือกตั้งของฟินแลนด์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา เป็นการเลือกตั้งที่สร้างการตื่นตัวทางการเมืองเป็นอย่างมาก ทั้งสีสันและการพลิกล็อคของพรรคการเมืองหลายพรรค โดยเฉพาะพรรครัฐบาลที่เป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ ได้แก่พรรคกลาง (Central Party) ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2449 และที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง (51 ส.ส.) จนได้รับสิทธิจัดตั้งรัฐบาลในสมัยเลือกตั้งปี 2550 แต่การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคกลางพ่ายแพ้อย่างหนัก ได้รับเลือกเข้ามาเป็นอันดับสี่ ด้วยจำนวน ส.ส. เพียง 35 ที่นั่ง ทั้งนี้ได้สูญเสียพื้นที่ให้กับพรรคการเมืองหน้าใหม่สุด พรรคฟินน์แท้ (True Finns) ที่ก่อตั้งพรรคในปี 2538 ที่มี ส.ส. เพียง 5 ที่นั่ง ในสมัยเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่กลับชนะการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างถล่มทลายด้วยจำนวน ส.ส. ถึง 39 คน ในครั้งนี้

รัฐสภาฟินแลนด์มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 200 คน

 


Timo Soini (48) หัวหน้าพรรคฟินน์แท้

 

พรรคฟินน์แท้ พรรคลำดับสาม เข้ามาพร้อมทั้งกระแสยี้และกระแสฮิ้ว เกี่ยวกับนโยบายชาตินิยม และการประกาศไม่เห็นด้วยกับการนโยบายอุ้มประเทศล้มละลายทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป นักวิจารณ์โปรสหภาพยุโรปจะเรียกพรรคฟินน์แท้ว่าพรรคชาตินิยมขวาจัด โดยเฉพาะท่าทีของ Timo Soini หัวหน้าพรรค ที่คัดค้านการอุ้มประเทศโปรตุเกสจากวิกฤติเศรษฐกิจ

แต่ด้วยการเป็นพรรคที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส.ส. ของพรรคฟินน์แท้ จึงเป็นเลือดผสม ที่มีหลากหลายทางความคิด ทั้งขวาจัดชาตินิยมหัวรุนแรง เหยียดผิว และต่อต้านคนต่างชาติ จนถึงซ้ายจัดเพื่อสวัสดิการประชาชนและคนจน

สำหรับฟินแลนด์ การได้รับเลือกตั้งเข้ามาของพรรคฟินน์แท้ ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นดังแรงพลักให้พรรคต่างๆ ต้องวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและทิศทางการเมืองของพรรคตัวเองกันมากขึ้นเช่นกัน มันจึงเป็นดังคำเตือนให้พรรคการเมืองฟินแลนด์ต้องหันมามองปัญหาในประเทศกันมากขึ้นทั้งในด้านบวกและด้านลบ ทั้งปัญหาการเปิดสู่โลก ปัญหาการว่างงาน ปัญหาการจัดการทรัพยากร พลังงานนิวเคลียร์ ระบบสวัสดิการประชาชน เป็นต้น

การพ่ายแพ้ของพรรคสันนิบาตสีเขียวหรือพรรคกรีน ก็ถูกตั้งคำถามกันอย่างมากเช่นกัน ทั้งนี้พรรคกรีน ที่มีจุดเริ่มต้นจากนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ในกลางทศวรรษ 2520 เป็นอีกหนึ่งพรรคที่เสียคะแนนนิยมไปถึง 33% จากจำนวน ส.ส. 15 คน ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เหลือเพียง 10 คน ประธานพรรค Anni Sinnemäki กล่าวว่า “เหตุผลที่คะแนนนิยมตกเนื่องจากการที่พรรคเข้าร่วมรัฐบาลที่สนับสนุนนิวเคลียร์ ในขณะที่การก่อกำเนิดของพรรคคือการต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์” และกล่าวว่า “พรรคขอมุ่งหน้าสู่การเป็นฝ่ายค้าน”

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าประทับใจมากที่สุด จากการได้ศึกษาเรื่องการเลือกตั้งฟินแลนด์ โดยเฉพาะสำหรับคนที่มาจากการเมืองที่มีการคอรัปชั่น โกงการเลือกตั้ง และถูกปล้นอำนาจได้อย่างง่ายดายจากทหารและชนชั้นสูงเช่นประเทศไทย คือการเห็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม ตระหนักชัดว่า ความสำคัญว่าประชาธิปไตยต้องใช้เวลาสร้างและจะต้องไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ

 


หัวหน้าพรรคการเมืองฟินแลนด์จากซ้ายไปขวา: Jutta Urpilainen (พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย), Mari Kiviniemi (พรรคกลาง), Jyrki Katainen (พรรคแนวร่วมแห่งชาติ), และ Timo Soini (พรรยคฟินน์แท้). ภาพ: Finnish State broadcaster YLE

 

ระบบเลือกตั้งฟินแลนด์ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมากว่า 100 ปี และมีสัดส่วนผู้หญิงในสภาสูงมากเป็นอันดับต้นของโลก เป็นการเมืองที่ที่เคารพกติกาและหลักการ ไม่มีการสาดโคลนกันอย่างโจ่งแจ้ง นักการเมืองมีมารยาททางการเมืองกันมากจริงๆ แม้จะแพ้การเลือกตั้งก็ออกมาพูดให้เกียรติพรรคที่ชนะ ยอมรับผลการเลือกตั้ง มีน้ำใจนักกีฬาและเคารพคู่ต่อสู้ ที่สำคัญข้าพเจ้าไม่ได้ยินข่าวการซื้อเสียงเลยแม้แต่น้อย ส.ส. แต่ละคนใช้เงินหาเสียงกันหลักแสนบาทถึงล้านต้นๆ เท่านั้น (ไม่ใช่ระดับพันล้าน หมื่นล้านบาทเช่นที่ประเทศไทย)

ทั้งนี้ ส.ส. จะต้องรายงานการใช้เงินหาเสียงภายในสองเดือน แต่ผ่านไปอาทิตย์เดียว มี ส.ส. รายงานค่าใช้จ่ายกันกว่า 30% แล้ว และตัวเลขเงินที่ใช้ก็น้อยมาก

หนังสือพิมพ์สัมภาษณ์ ส.ส. หญิงสองท่าน ที่ได้รับเลือกตั้ง โดยเธอทั้งคู่บอกว่าใช้เงินไม่ถึง 10,000 ยูโร (ไม่ถึง 400,000 บาท) ไปกับการรณรงค์หาเสียงครั้งนี้ โดยบอกว่าส่วนใหญ่เป็นการใช้กำลังขาเสียมากกว่า

หัวหน้าพรรคส่วนใหญ่แจ้งการใช้เงินในการหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้เพียงคนละ 40-50,000 ยูโรเท่านั้น ( ล้าน - สองล้านบาท) เมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่น่ีที่สูงกว่าเมืองไทยร่วม 10 เท่า การใช้เงินจำนวนแค่นี้ถือว่าน้อยมาก

เมื่อถามเพื่อนว่า คนฟินน์จะว่าอย่างไรถ้ามีผู้สมัครให้เงินให้เลือกตัวเอง “ผมคงชกปากผู้สมัครคนนั้นแน่ๆ ที่มาดูถูกกันเช่นนี้” เพื่อนตอบอย่างรวดเร็ว

 

ผลการเลือกตั้งปี 2554 เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งปี 2550

 

พรรคการเมือง

2554

2550

 

%

ที่นั่ง

%

ที่นั่ง

พรรคความร่วมมือแห่งชาติ National Coalition

20.4

44

22.3

50

พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย Social Democrats

19.1

42

21.4

45

 พรรคฟินน์แท้ True Finns

19

39

4.1

5

พรรคกลาง Centre Party

15.8

35

23.1

51

พรรคเครือข่ายฝ่ายซ้าย Left Alliance

8.1

14

8.8

17

พรรคสันนิบาตเขียว Green Party

7.2

10

8.5

15

พรรคคนเชื้อสายสวีดิช Swedish People's Party

4.3

9

4.6

9

พรรคคริสเตียนประชาธิปไตย Christian Democrats

4.0

6

4.9

7

ที่มา: รอยเตอร์ 18 เมษายน 2554

 


สรุปผลการเลือกตั้งฟินแลนด์ 17 เมษายน 2554, ผู้มาใช้สิทธิ์ 2.77 ล้านคน
คิดเป็น 70.4% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ผู้ได้รับเลือกตั้งเพศหญิง 42.5% เพศชาย 57.5%
ที่มา: Iltalehti, 18 เมษายน 2011

 

สรุปประเด็นที่โดดเด่นของการเลือกตั้งฟินแลนด์ครั้งนี้

  • มีจำนวน ส.ส.หญิงได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และ ส.ส. 9 คน อายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในปี 2550 มีเพียง 7 คน
  • การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 เมษายน มี ส.ส. หน้าใหม่ถึง 84 คน ในจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 200 คน (40%) เพิ่มขึ้นมา 12 คน จากการเลือกตั้งปี 2550
  • ส.ส. หญิง มีจำนวน 86 คน ( 42%)
  • อายุเฉลี่ยของ ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งคือ 47.8 ปี โดย ส.ส. อายุเกิน 60 ปี มีจำนวนลดลงกว่าครั้งที่ผ่านมา 6 คน และ ส.ส. ในวัยสามสิบกว่า กับห้าสิบกว่าปี ก็มีจำนวนลดลง แต่ ส.ส. วัยยี่สิบกว่าปีและสี่สิบกว่าปีี มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น
  • ส.ส. อายุน้อยที่สุดคือ 25 ปี อายุสูงสุดคือ 70 ปี

ชาวฟินน์สนใจวิเคราะห์การเมืองกันมาก แม้ว่ากระแสการวิเคราะห์วิจารณ์ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ พุ่งไปที่การสูญเสียคะแนนของพรรคกลาง ให้กับพรรคชาตินิยมฟินน์แท้ แต่ในภาพรวมมันถูกวิเคราะห์ว่าเป็นการแพ้ของการเมืองของขั้วฝ่ายขวาให้กับขั้วเอียงซ้ายชาตินิยม

แนนอนแล้วว่า พรรคแนวร่วมแห่งชาติที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2461 จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมโดยคาดว่าจะร่วมด้วย
พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ที่เป็นฝ่ายค้านในสมัยที่ผ่านมา พรรคฟินน์แท้ และอาจจะพ่วงพรรคสวีดีช เข้ามาด้วย จะเป็นรัฐบาลผสมระหว่างแดง+น้ำเงิน (สังคมนิยม+อนุรักษ์นิยม และ +ชาตินิยม)

รอยเตอร์รายงานว่า Jyrki Katainen (39) ประธานพรรคร่วมแห่งชาติ อดีตรัฐมนตรีคลัง จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของฟินแลนด์ โดยมีความท้าทายต่อแนวนโยบายโปรยุโรป เขากล่าวว่า “จะพยายามเคลื่อนพรรคเอียงขวาของเขา ให้เข้ามาสู่ตรงกลางมากขึ้น และครั้งนี้ถือว่าพรรคได้รับโอกาสจะได้ดำรงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองของประเทศเป็นครั้งแรกในรอบยี่สิบปี”
การเมืองฟินแลนด์จะเป็นการเมืองหลายพรรคมาโดยตลอด ในการเมืองยุคหลังสงครามโลก ไม่มีพรรคใดเลยที่ได้คะแนนเสียงจนสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ส่วนมากจะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค

 

ทำความรู้จักพรรคการเมืองฟินแลนด์พอสังเขป

ฟินแลนด์มีการเลือกตั้งตัวแทน 4 ประเภท เลือกตั้งประธานาธิบดีทุก 6 ปี เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุก 4 ปี เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนกลุ่มสหาภาพยุโรปทุก 5 ปี และเลือกตั้งในระดับเทศบาลทุก 4 ปี

อนึ่ง พรรคการเมืองเหล่านี้ของฟินแลนด์มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีพรรคการเมืองหลักที่อยู่ต่อเนื่องมากว่า 100 ปี สามพรรคได้แก่ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ที่เริ่มจัดตั้งในนามพรรคแรงงานในปี 1899 (พ.ศ. 2442 สมัยรัชกาลที่ 5) แล้วมาเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในปี 1903 (พ.ศ. 2446) พรรคกลาง (Center Party) ก่อตั้งในปี 2449 และพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (National Coalition Party) ที่ก่อตั้งในปี 2461

พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) เติบโตมาจากการเป็นพรรคแรงงานและเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมสูงมามาโดยตลอดในอดีต แต่ก็ได้รับความนิยมลดลงเรื่อยๆ ตามการเข้มแข็งมากขึ้นของค่ายเสรีนิยมใหม่ กระนั้นก็ตามก็ยังได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับหนึ่งถึงสามมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

พรรคแนวร่วมแห่งชาติ (National Coalition Party) เป็นพรรคอนุรักษ์นิยม เสรีนิยม เป็นพรรคเอียงขวา ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2461

พรรคกลาง (Center Party) ก่อตั้งปี 1906 - พ.ศ. 2449 อยู่ตรงกลางระหว่างอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา เป็นพรรคอุดมการณ์เพื่อเกษตรกรรม เสรีนิยม และท้องถิ่นนิยม (Centre Party) ที่ได้รับความนิยมสูงมากขึ้นโดยเฉพาะหลังฟินแลนด์ประกาศอิสรภาพ

พรรคประชาชนเชื้อสายสวีดิช (Swedish People’s Party) เป็นพรรคเก่าแก่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1906 (พ.ศ. 2449) เป็นพรรคฝ่ายขวา พรรคของคนสวีเดนในฟินแลนด์ ในปัจจุบันได้รับความนิยมลดน้อยลงเรื่อยๆ

พรรคสันนิบาตเขียว (Green League) ก่อตั้งเป็นทางการปี 1987 (พ.ศ. 2530) แต่ได้เริ่มกิจกรรมทางการเมืองนับตั้งแต่ปี 2526 อุดมการณ์การเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม ต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ และส่งเสริมการรวมยุโรป

พรรคเครือข่ายฝ่ายซ้าย (Left Alliance) เป็นพรรคการเมืองของฝ่ายซ้ายที่มีอุดมการณ์สังคมนิยม และตั้งอยู่บ้นพื้นฐานประชาธิปไตยประชาชนและพรรคคอมมิวนิสต์ฟินแลนด์ ก่อตั้งในปี 2533

พรรคฟินน์แท้ 1995 (พรรคชาตินิยมประชานิยม) (True Finns) 19.0% จำนวน ส.ส. 35 คน

 

ประวัติศาสตร์ฟินแลนด์อย่างคร่าวๆ

ฟินแลนด์ประเทศเล็กๆ มีประชากรเพียง 5.5 ล้านคน มีชื่อเรื่องไม้สนคุณภาพสูง ทะเลสาบ โดยมี กลุ่มธุรกิจที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักทั่วโลกคือ Nokia

ประเทศฟินแลนด์คือชายแดนยุโรปกับรัสเซีย อยู่ตรงกลางระหว่างมหาอำนาจสวีเดนและรัสเซีย

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ฟินแลนด์อยู่ภายใต้อาณานิคมของสวีเดน จนถูกรัสเซียยึดอำนาจในศตวรรษที่ 18 เมื่อเกิดการปฏิวัติรัสเซียเพื่อโค่นพระเจ้าซาร์ในปี 2460 ฟินแลนด์ประกาศอิสรภาพจากรัสเซีย

แต่สถานการณ์การเมือง ก็ไม่ได้ราบรื่นเพราะในปีต่อมา ปี 2461 ฟินแลนด์ ต้องผ่านการสู้รบสงครามในประเทศระหว่างชนชั้นล่างกับ ชนชั้นสูงที่สร้างความเจ็บปวดให้กับชาวฟินแลนด์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีประชาชนเสียชีวิตในสงครามกลางเมืองร่วมสี่หมื่นคน

ในสงครามกับค่ายรัสเซียที่รุกรานฟินแลนด์ในปี พ.ศ. 2482 ตามมาด้วยการบุกขึ้นมาของกองทัพนาซีเยอรมัน จนสิ้นสุดลงพร้อมกับสงครามโลกในปี 2488 ในการต่อสู้เพื่อป้องกันเป็นเวลาร่วมสิบปีนี้ ทหารฟินแลนด์เสียชีวิต 93,000 คน ถือเป็นสัดส่วนการเสียชีวิตของทหารจากสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรสูงเป็นอันดับสามของโลก

บ้านเรือนทางตอนเหนือของฟินแลนด์ ถูกทหารนาซีเยอรมันเผาราบตลอดเส้นทางการล่าถอยเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ทำให้มีประชาชนกว่าแสนคนไร้ที่อยู่อาศัย

ฟินแลนด์ต้องทำข้อตกลงสันติภาพกับรัสเซียในปี 2490 โดยยอมสูญเสียพื้นที่ 10% ให้กับรัสเซีย และอพยพผู้คนกว่าสี่แสนคนออกจากพื้นที่เหล่านั้น

นับตั้งแต่ปี 2449 ที่มีการเลือกตั้งครั้งแรกในฟินแลนด์ ผู้หญิงได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียง ทั้งนี้ฟินแลนด์เป็นชาติแรกในโลก ที่มีผู้หญิงได้รับเลือกเข้าไปนั่งในสภา ในการเลือกตั้งล่าสุดสัดส่วน ส.ส. หญิงในฟินแลนด์ 42%

 


ประธานาธิบดีคนปัจจุบันทาเรีย ฮาโลเนน (Tarja Halonen)อายุ 68 ปี
ดำรงตำแหน่ง 2543 - ปัจุจุบัน (สมัยที่สอง)

 

เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรป และในโลกนี้ รัฐบาลฟินแลนด์เผชิญกับการตัองจัดการกับงบประมาณติดลบกว่าสามแสนล้านบาทจำเป็นจะต้องพิจารณาตัดลดงบประมาณ ในขณะที่งบทหารประเทศมหาอำนาจและประเทศเผด็จการเพิ่มขึ้นทั่วโลก ฟินแลนด์เป็นตัวอย่างประเทศที่เลือกที่จะตัดลดงบทางทหาร

ทั้งนี้กระทรวงกลาโหม เสนอแผนระยะยาวเพื่อการปรับโครงสร้างการทหารทั้งหมดทั้งด้านงบประมาณและกำลังพล
เป้าหมายคือการปรับโครงสร้างกำลังพลของฟินแลนด์ภายในปี 2559 (2016) พลโท Arto Räty, ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า “คาดว่าเราจะสามารถออมเงินประเทศได้มากขึ้นหลังจากการลดกำลังพล ไม่ว่าจะด้วยในนามเพื่อการสร้างความเข้มแข็งแห่งสันติภาพหรือกองกำลังลงไปได้”

รัฐบาลอภิสิทธิ์แก้ปัญหางบขาดดุลด้วยการกู้ เพิ่มงบทหาร และงบปกป้องสถาบัน อนุมัติงบประมาณซื้ออาวุธสงครามหลายพัน หลายหมื่นล้านอย่างง่ายดาย

รัฐบาลฟินแลนด์เป็นประเทศสาธารณรัฐสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนถึงเชิงตะกอน ทั้งนี้ มีระบบการสงเคราะห์บุตรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 ออก พ.ร.บ. เงินบำนาญแห่งชาติ ในปี 2459 พ.ร.บ. ประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2506 กฎหมายประกันการว่างงานในปี 2510 พ.ร.บ. การศึกษาที่ครอบคลุมทั้งระบบในปี 2511 และ พ.ร.บ.การดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานในปี 2513 ฯลฯ

 

สรุป

แน่นอนว่าทุกประเทศมีปัญหา ความสัมพันธ์ของฟินแลนด์กับไทยกำลังถูกท้าทายด้วยการแก้ปัญหาการหลอกลวงแรงงานไทยไปเก็บเบอรรี่ที่ฟินแลนด์

ในขณะเดียวกันที่ประเทศฟินแลนด์ ขบวนการต่อต้านนิวเคลียร์ยังคงประท้วงการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ของรัฐบาลจนถึงปััจจุบัน ก็กำลังเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ และเช่นเดียวกับหลาประเทศ ฟินแลนด์เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจถดทอย และการหาเงินมาจ่ายด้านสวัสดิการสังคมและการดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น

แต่เมื่อมองดูบริบทการเลือกตั้งในฟินแลนด์ แล้วมาดูการเมืองไทย ก็ต้องบอกว่าอดชื่นชมไม่ได้ โดยเฉพาะฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีครรลองการเลือกตั้งต่อเนื่องยาวนาน นับตังแต่ปี 2449
ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร ตั้งแต่ปี 2475 โดยมีนักคิดด้านนโยบายคนสำคัญได้แก่ปรีดี พนมยงค์ ที่นำเสนอแนวนโยบายการพัฒนาประเทศที่ก้าวหน้าและสอดรับกับแนวนโยบายการพัฒนาของกลุ่มประเทศตะวันตก และประเทศปลดแอกอาณานิคมในยามนั้นจำนวนไม่น้อย โดยมุ่งหน้าเพื่อการสร้างอธิปไตยของประเทศ ปลดล๊อคข้อตกลงทางการค้าที่เอาเปรียบประเทศไทย อันเนื่องมาจากสนธิสัญญาเบาริงห์ วางเค้าโครงทางเศรษฐกิจที่มุ่งเรื่องการสร้างงาน สร้างความเข้มแข็งของระบบเกษตรกรรม รวมทั้งระบบประกันสังคมให้กับคนทั้งประเทศ เป็นแนวนโยบายที่ก้าวหน้ามาก

แต่น่าอดสูและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านเค้าโครงเศรษฐกิจและแนวนโยบายการบริหารประเทศของปรีดีและคณะราษฎรถูกขัดขวางอย่างหนักจากพวกรอยัลลิสต์และทหาร ทั้งโจมตีเขาด้วยข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่เคารพราชบัลลังก์ จนปรีดีและคณะราษฎร รวมทั้ง ส.ส. ก้าวหน้าในยามนั้นถูกโค่นในระยะเวลาเพียง 15 ปี ด้วยรัฐประหาร พ.ศ. 2490 โดยทหารและชนชั้นสูงที่ไร้วิสัยทัศน์ และไม่ได้คำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชน

ถ้าแผนของปรีดีได้ปฏิบัติใช้จริง มิแน่ว่า ไทยอาจจะพัฒนาทัดหน้าเทียมตายุโรปไปแล้วก็ได้ยามนี้ ไม่ใช่ตกต่ำลงเรื่อยๆ จนถูกจัดเข้ากลุ่มประเทศเผด็จการเช่นเดียวกับพม่าเช่นนี้

เมื่อมองฟินแลนด์แล้วมองดูการเมืองไทยในปัจจุบัน ก็จะเห็นได้ว่าแนวนโยบายประชานิยมของทั้งทักษิณและประชาธิปัตย์ ไม่ได้ถือเป็นแนวนโยบายที่ก้าวหน้า และก็ไม่ได้มุ่งเรื่องการสร้างความมั่นคงที่รากฐานของประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นแนวนโยบายทุนนิยมเมกาโปรเจค เป็นการพัฒนาประเทศด้วยซีเมนต์และคอนกรีต มากกว่าการสร้างพื้นที่สีเขียวและจัดการกับปัญหาบ้านเมืองด้วยการสร้างความสมดุลของระบบนิเวศน์ เป็นการเมืองเรื่องค่าพรีเมี่ยม ค่าหัวคิว ธุรกิจทับซ้อน สัมปทานโครงการลงทุนของรัฐ ของกลุ่มตระกูลนักการเมืองและกลุ่มทุนพวกพ้อง เป็นแนวการพัฒนาประเทศที่ไม่ได้มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงสร้างพื้นฐานทางวิถีชีวิตแห่งความมั่นคงทางอาหาร สมดังเป็นประเทศเกษตรกรรมชั้นนำของโลก การเมืองที่ตั้งอยู่บนการสร้าวความมั่งคั่งให้กับนักการเมืองและกลุ่มทุน และพวกพ้อง บนการแสวงประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐ และการคอรัปชั่น ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาจนถึงปัจจุบัน

บทเรียนฟินแลนด์ ไม่มากก็น้อย อาจจะเป็นหนึ่งในบทเรียนหลายบทที่ย้ำเตือนพวกเราอีกครั้งว่า การวางรากฐานและเคารพกติกาประชาธิปไตยโดยประชาชน ต้องมาก่อนการสร้างเศรษฐกิจตามวิถีเผด็จการรัฐสภา การเมืองหลายพรรคก็เป็นสิ่งสำคัญเพื่อสน่ส
อำนาจถ่วงดุลกันและกันในสภา และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพประชาชน

การเปิดเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง การต่อรองร่วม และนำเสนอความคิดเห็นได้อย่างเสรี และการสร้างหลักประกันพื้นฐานแห่งการดูแลชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงเชิงตะกอนให้กับประชาชน

อ้างอิง:

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เวียงแหง: การคืบคลานของสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ ‘เหมืองแร่’ (ตอน 3)

Posted: 26 Apr 2011 10:28 AM PDT

ชื่อบทความเดิม: เวียงแหง เมืองชายแดน ประวัติศาสตร์ตำนาน กับการคืบคลานของสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ เหมือง ... แร่ (ตอน 3)

เวียงแหง : การคืบคลานของสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ 'เหมืองแร่' (ตอน 3)

เวียงแหง : การคืบคลานของสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ 'เหมืองแร่' (ตอน 3)

“ทรัพยากรมีไว้เพื่อความจำเป็น
แต่ไม่เพียงพอสำหรับความโลภของมนุษย์”

ถ้อยคำของท่านมหาตมะ คานธี นั้นถูกบันทึกไว้บนเอกสารของการจัดตั้ง ‘เครือข่าย ทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่’ ได้สะกิดให้หลายคนฉุกคิดเตือนย้ำเพื่อหาหนทางเรียนรู้ เกาะกลุ่ม ปกป้องฐานทรัพยากรท้องถิ่น ร่วมกันต่อไป

‘เครือข่าย ทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่’ ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2545 การจัดตั้งเครือข่ายนี้ อาศัยอำนาจกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ตามมาตรา 45 ที่ระบุไว้ว่า ‘บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การ เอกชน หรือหมู่คณะอื่น การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองประโยชน์ ส่วนร่วมของประชาชน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดตัดตอนในทางเศรษฐกิจ’

คำ ตุ่นหล้า บอกว่า แนวคิดเรื่องการจัดตั้งเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบนอำเภอเวียงแหง ได้ริเริ่มเมื่อปี 2544 หลังจากได้ร่วมทำโครงการวิจัยเข้ามาทำในเรื่องของการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า รวมถึงการเข้าร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ในการขับเคลื่อนเรื่องของการคัดค้านเหมือง นักต่อสู้เรื่องสิทธิ ทรัพยากร เช่น เรื่องของการรุกพื้นที่ป่าเวียงด้ง อ.ฝาง และกรณีการมรณกรรมของพระสุพจน์ สุวโจ พระนักอนุรักษ์ เป็นต้น

“หลังจากมีโครงการสิทธิชุมชนศึกษา ให้องค์กรชาวบ้าน นักวิชาการ เข้ามาทำงานร่วมกัน เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องขององค์กรชุมชน หมายถึง การเอาผู้นำชุมชน ชาวบ้าน มาเรียนรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ สิทธิชุมชน ป่าไม้ ทรัพยากร หนี้สิน รวมไปถึงการเรียนรู้ ดูงาน เช่น แม่เมาะ บ่อนอกหินกรูด พอเริ่มเรียนรู้ ก็เกิดความตระหนักในเรื่องของการพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการรวมตัวกัน” ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา บอกเล่าถึงที่มาของเครือข่ายฯ

และที่สำคัญ ภารกิจเร่งด่วนของเครือข่ายฯ ก็คือปกป้องฐานทรัพยากรท้องถิ่นโดยคัดค้านการสร้างเหมืองแร่ลิกไนต์ในเขตพื้นที่อำเภอเวียงแหง

การจัดตั้งเครือข่ายฯ จึงเกิดขึ้นภายหลังการเข้ามาของ กฟผ.เพื่อสำรวจพื้นที่โครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหงอีกรอบหนึ่ง ในปี 2544

การขับเคลื่อนของเครือข่ายฯ ช่วงนั้น จึงเน้นการรวมพลังคัดค้าน ต่อต้านการเข้ามาในพื้นที่ของทีมโครงการเหมืองแร่ เรียกร้อง ปกป้อง ต่อสู้ เคลื่อนไหว อย่างต่อเนื่องและเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น ชาวบ้านม่วงป๊อกได้ร่วมกันประชุมใหญ่ ก่อนลงมติไม่รับ โครงการเจาะบ่อบาดาลจากโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง โดยชาวบ้านหวั่นเกรงว่าอาจจะเป็นการแอบสำรวจดินและน้ำ

หลังจากนั้น ได้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายองค์กรชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองถ่านหินหลายพื้นที่ร่วมประชุมกับ NGO ณ ตึก IC มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมการคัดค้านประชุมเหมืองถ่านหินโลกจังหวัดลำปาง

และในขณะที่แกนนำและสมาชิกเครือข่ายฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมการคัดค้านประชุมเหมืองถ่านหินโลก ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.ลำปาง อยู่นั้น ได้มีทีมคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้ามาทำการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA ) ในพื้นที่เวียงแหง และได้มีการติดตั้งหน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศออกจากพื้นที่ บริเวณโรงเรียนบ้านห้วยไคร้ โดยชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลรายละเอียดมาก่อน กระทั่ง เกิดการรวมพลังของเครือข่ายฯ และชาวบ้านนับ 1,000 คน มีการเจรจา ต่อรอง และกดดัน ให้คณะ EIA หน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศออกจากพื้นที่ ในช่วงขณะนั้น ได้มีตำรวจนายหนึ่งได้ชักปืนข่มขู่ชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ และเข้าแจ้งความดำเนินคดี แต่ร้อยเวรไม่รับแจ้งความ จึงสร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้าน จึงพาเดินขบวนขับไล่ ส.ต.ท.สมชาย ออกจากพื้นที่อำเภอเวียงแหง สถานการณ์จนเกือบจะรุนแรง กระทั่งนายอำเภอเวียงแหง และผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเวียงแหงต้องออกมารับเรื่องและจะสอบสวนลงโทษทางวินัย พร้อมเข้ายื่นหนังสือต่อนายอำเภอเวียงแหงให้ทีมคณะวิจัยชุดดังกล่าว ยุติและออกจากพื้นที่โดยทันที ซึ่งในที่สุดทีมวิจัยชุดดังกล่าว ยอมยุติบทบาทและยกเลิกการติดตั้งเครื่องตรวจวัดอากาศในพื้นที่แต่โดยดี

ครั้นเมื่อหันไปยัง ทีมงานโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง ของ กฟผ. ก็ยังคงเดินหน้า จัดกิจกรรม ดำเนินการ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้เหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ให้ดูดีในสายตาคนทั่วไปอยู่อย่างต่อเนื่อง

ยกตัวอย่าง เช่น การเสนองบประมาณในการสร้างบ่อบาดาลให้กับชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่เกือบครึ่งล้านบาท แต่ชาวบ้านก็เรียนรู้ ตั้งรับ ไหวทันและคัดค้านไม่รับผลประโยชน์ที่ทาง กฟผ.หยิบยื่นให้ ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา ประธานประชาคมเปียงหลวง และหนึ่งในผู้นำกลุ่มคัดค้านการทำเหมืองแร่ลิกไนต์เวียงแหงในขณะนั้น ได้บอกผ่านสื่อมวลชนว่า หลังจากที่ชาวบ้านอำเภอเวียงแหงได้ทำการขับไล่คณะศึกษาอีไอเอจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะไม่เชื่อทีมศึกษาอีไอเอ ชี้รับจ้างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) สุดท้ายผลการศึกษาก็เข้าข้าง กฟผ.อยู่ดี เรื่องก็เงียบหายไปนาน แต่ดูเหมือนทาง กฟผ.จะยังไม่ยอมหยุดเคลื่อนไหว

“ทางกฟผ.ได้พยายามเข้ามาในพื้นที่เวียงแหงอีกครั้ง โดยใช้กลวิธีด้วยการเสนองบสร้างบ่อบาดาลให้กับชาวบ้าน 8 หมู่บ้าน จำนวนงบประมาณกว่า 3 แสนกว่า อีกทั้งยังได้เสนอให้กับวัดและโรงเรียนด้วย หลังจากชาวบ้านยินข่าว ได้มีการประชุมร่วมกัน และลงมติว่า จะไม่รับข้อเสนอดังกล่าว เพราะทุกคนหวั่นเกรงว่า เป็นความหวังดีที่แอบแฝงประโยชน์ หวังเพียงหาเล่ห์กลวิธีจะเข้าไปทำอีไอเอ สำรวจวัดคุณภาพของน้ำผิวดิน และใต้ดิน ก่อนจะนำมาสรุปเสนอให้มีการเปิดเหมืองในขั้นต่อไป" หรือแม้กระทั่ง การดำเนินการ โดยผ่านทาง ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ให้ทำการสุ่มสำรวจ ความเห็นของชาวบ้าน ผู้ที่มีอายุตั้งแต่18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ 3 ตำบล จำนวน 14 หมู่บ้าน(จากทั้งหมด 22 หมู่บ้าน) ซึ่งเป็นที่รู้ๆ กันว่าเป็นแนวคิดของ กฟผ.โดยอนุกรรมการชุดหนึ่งที่แต่งตั้งขึ้นมา เพื่อนำผลการสุ่มสำรวจครั้งนี้ เสนอให้คณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน ต่อไป ในรายงานชิ้นนี้ ได้มีการกล่าวอ้างว่า ประชาชนในพื้นที่อำเภอเวียงแหงจำนวนมากได้มีความเห็น ที่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาเหมือง ซึ่งทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในข้อมูลและขัดต่อข้อเท็จจริง เพราะว่าทางเครือข่ายฯ ได้มีการสำรวจความเห็นประชาชน 14 หมู่บ้าน 3 ตำบล โดยพบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 94.66 มีความเห็นคัดค้าน มีประชาชนเพียงร้อยละ 5.34 เท่านั้นที่มีความเห็นเป็นกลาง และเห็นด้วย

แน่นอนว่า ผลการสำรวจอย่างเป็นธรรมและเป็นจริงที่ออกมานั้น ตรงกันข้ามกับข้อมูลที่ทาง กฟผ.ได้นำเสนออย่างสิ้นเชิง

หรือแม้กระทั่ง มีความพยายามเสนอข้อมูลด้านดีของโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง ผ่านทางสื่อมวลชน เช่น ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2546 ที่ผ่านมา ได้มีดำเนินการถ่ายทอดสดรายการ “หมายเหตุประเทศไทย” และรายการ”กรองสถานการณ์” ของสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ในพื้นที่อำเภอเวียงแหง

ซึ่งแน่นอน ทางเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบนอำเภอเวียงแหง ก็ได้ออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงว่า ทาง กฟผ.ได้เป็นผู้สนับสนุนออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ช่อง 11 เพื่อดำเนินการถ่ายทอดสดรายการ “หมายเหตุประเทศไทย” และ รายการ”กรองสถานการณ์” โดยทาง กฟผ.จะดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าร่วมรายการ ซึ่งก็จะเป็นกลุ่มคนที่เห็นด้วยและสนับสนุน แต่ในด้านของผู้เข้าชมส่วนหนึ่ง ถูกคัดเลือกจากหมู่บ้านที่เห็นด้วยกับโครงการ โดยได้รับค่าเดินทางหัวละ 200 บาท

นั่นเป็นเพียงภาพตัวอย่างของการขับเคลื่อนของ กฟผ.ที่ชาวบ้านเวียงแหงที่คัดค้านโครงการพัฒนาเหมืองแร่ มองว่า ในแต่ละกิจกรรมที่ดำเนินอยู่นั้น ล้วนซ่อนแฝงและมีเงื่อนงำทั้งสิ้น!

เวียงแหง : การคืบคลานของสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ 'เหมืองแร่' (ตอน 3)

เวียงแหง : การคืบคลานของสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ 'เหมืองแร่' (ตอน 3)

เวียงแหง : การคืบคลานของสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ 'เหมืองแร่' (ตอน 3)

กลยุทธ์ในการเคลื่อนไหว เรียกร้อง ต่อสู้
จากชุมชนท้องถิ่น ขยายเครือข่าย ไปสู่นานาชาติ

จากการเคลื่อนไหวรุกคืบของโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง ทำให้เรามองเห็นการขับเคลื่อนของเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบนอำเภอเวียงแหง อย่างมีพลังและมีทิศทาง

และยังได้ก่อให้เกิดพัฒนาการในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะพัฒนาการการเรียนรู้ข้อมูลความจริง ข้อเท็จจริง รวมไปถึงพัฒนาการการขับเคลื่อนขององค์กรชาวบ้าน การเชื่อมร้อยประสาน การพัฒนาเครือข่าย แนวร่วมในการทำงาน ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ในหลายๆ รูปแบบ

จากชุมชนท้องถิ่น ขยายไประดับประเทศและนานาชาติ โดยดูได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมในหลายพื้นที่ หลายเวที เช่น เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2547 ที่สถานวิชาการนานาชาติ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้เข้าร่วมเวทีชุมชนท้องท้องถิ่นไทยและฟิลิปปินส์ร่วมต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและเรียกร้องให้ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หยุดสนับสนุนโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยระบุเป็นต้นตอทำลายวิถีชีวิต สังคมและยังเกิดสภาวะเรือนกระจกและโลกร้อน จนทำให้หลายล้านคนต้องตกอยู่ภาวะเสี่ยงต่อผลกระทบหลายๆด้าน

สมชาย ชิงะ ตัวแทนชาวบ้านจาก อ.เวียงแหงหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เปิดเผยว่า ชุมชนของตนอยู่ในพื้นที่โครงการสร้างเหมืองถ่านหิน เราจำต้องมีการคัดค้าน เพราะที่ผ่านมา กฟผ.ไม่มีความโปร่งใส ไม่มีความยุติธรรม เนื่องจากคนในชุมชนไม่ส่วนร่วมในการดำเนินการต่างๆ และเมื่อเราได้ลงไปศึกษากรณีตัวอย่างจากชุมชนแม่เมาะ จึงรู้ว่า ชุมชนได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

"เราไม่อยากให้เกิดโศกนาฏกรรมแม่เมาะ มาเกิดขึ้นกับคนเวียงแหง และเราไม่เชื่อว่า กฟผ. จะแก้ไขปัญหานั้นได้ จึงของคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และของเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาใช้พลังงานทดแทน"ตัวแทนชาวบ้านอำเภอเวียงแหง บอกย้ำเช่นนั้น

นอกจากนั้น ทางเครือข่ายฯ ยังได้จัดประชุม สัมมนาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น กระบวนการนโยบายสาธารณะในภาคพลังงานและปฏิบัติการสร้างสุขภาวะของภาคประชาชน ผลกระทบจากการสร้างเหมืองถ่านหิน โรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงโม่หิน สาธารณสุข สิทธิชุมชน นอกจากนั้น ยังได้สร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่าย มีการจัดค่ายเยาวชน และจัดตั้งกลุ่มเยาวชนศิลปวัฒนธรรมสายรุ้ง

ในขณะเดียวกัน กลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเวียงแหง ยังได้ขับเคลื่อนในการเรียกร้องสิทธิ โดยการยื่นหนังสือร้องเรียนถึง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และได้ยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเหมืองถ่านหินเวียงแหง กับนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด มหาวิทยาลัย และรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มกรีนพีชและเครือข่ายคนไม่เอาถ่านหินแห่งประเทศไทย อันประกอบด้วยเครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง,เครือข่ายฯ เวียงแหง จ.เชียงใหม่, ชุมชนบ่อนอก ชุมชนทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อคัดค้านแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย และเป็นการพัฒนายุทธศาสตร์การต่อสู้กับถ่านหิน ซึ่งรวมถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้านี้ด้วย โดยมีเป้าหมายสู่พลังงานหมุนเวียน มาตรการประสิทธิภาพทางพลังงาน การวางแผนทรัพยากรแบบบูรณาการ และการจัดการในด้านความต้องการที่จะก่อให้เกิดอนาคตทางพลังงานที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย

ผลของพลังแห่งการขับเคลื่อนเรียกร้อง
กับรางวัลความภูมิใจของเครือข่ายฯเวียงแหง

จากพลังของการขับเคลื่อน เรียกร้องสิทธิชุมชน และร่วมกันปกป้องรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ชาวบ้านเวียงแหงได้รับรางวัลของความภูมิใจ

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2547 เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบนอำเภอเวียงแหงฯ ได้รับรางวัล Leaders For a Living Planet Award จัดขึ้นโดย WWF ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลก ที่จัดขึ้นเพื่อมอบให้กลุ่มองค์กรระดับท้องถิ่นจากหลายๆ ประเทศทั่วโลก ที่ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยมีนายบุญยืน กาใจ เป็นประธานเครือข่ายฯ มี น.ส.ชวิศา อุตตะมัง เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อ.เวียงแหงในขณะนั้น

น.ส.ชวิศา อุตตะมัง ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อ.เวียงแหง ในขณะนั้น เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจ ที่องค์กรระดับโลก ได้มองเห็นความสำคัญของการทำงานของกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเวียงแหง ซึ่งอาจจะมีผลในแง่ที่ว่า การต่อสู้คัดค้านการเปิดเหมืองถ่านหินลิกไนต์ของคนเวียงแหงนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงภารกิจเพียงแค่ชุมชนเวียงแหงจะเรียกร้องเพียงกลุ่มเดียว แต่มันจะมีผลกระทบต่อทุกส่วนของสังคม ของประเทศ และทั่วโลก

“ทุกคนจะต้องตระหนักว่า มันจะส่งผลต่อการวิถีชีวิต มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังร้อน ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องหันมาคิดทบทวนเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายด้านพลังงาน ว่าสมควรหรือไม่ ที่จะหันมาใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนแทน” น.สชวิศา กล่าว

"ผลกระทบจากถ่านหินนั้นชัดเจนมาก โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น คนในชุมชนของเราที่เวียงแหงนี้ จะต้องไม่ถูกบังคับให้ยอมรับชะตากรรมนี้ เราทุกคนจะเรียกร้องให้หยุดโครงการถ่านหินในพื้นที่ และจะเรียกร้องสิทธิของเราในการเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนและกระบวนการตัดสินใจโครงการพัฒนาต่างๆ ที่จะมีขึ้นในพื้นที่ของเรา เพื่อให้เรามั่นใจว่าคุณภาพชีวิตที่เราเป็นอยู่จะไม่ถูกคุกคาม และทรัพยากรต่างๆ ยังคงมีถึงลูกหลานของเราต่อไปในอนาคต…" นั่นเป็นเสียง ของกลุ่มเครือข่าย ที่ประกาศก้องให้หลายๆ คนได้รับรู้เสียงเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเวียงแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ประกาศก้องในวันรับรางวัล Leaders For a Living Planet

ทั้งนี้ องค์กร WWF เป็นองค์กรที่หลายๆ ประเทศรวมตัวกัน โดยมีภารกิจเป้าหมายหลัก คือ เพื่อหยุดยั้งการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก พร้อมไปกับการสร้างอนาคตใหม่ให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน ด้วยการอนุรักษ์ไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของโลก สร้างหลักประกันให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และร่วมผลักดันให้เกิดการลดมลภาวะและลดการบริโภคอย่างสิ้นเปลือง

ดังนั้น รางวัล Leaders For a Living Planet Award จึงเป็นรางวัลที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความชื่นชม ให้กำลังใจ ในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มองค์กรและบุคคลที่ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยความเสียสละ ความตั้งใจจริง ความมุ่งมั่น และความเป็นผู้นำ เพื่อที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายด้านพลังงานของประเทศ และหันมาสนับสนุนและใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนแทนในอนาคตอันใกล้นี้

โดยในปีดังกล่าว ประเทศไทยได้รับรางวัลนี้ จำนวน 4 องค์กร คือ เครือข่ายสิทธิ์ฯ ผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปาง, เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่, กลุ่มพลังงานทดแทนกระบี่ จ.กระบี่, และสำนักงานเทศบาลกระบี่ จ.กระบี่

ข้อมูลประกอบ:

  • โครงการสิทธิชุมชนศึกษา กรณีลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน
  • เอกสารประกอบโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์เวียงแหง กฟผ.
  • สำนักข่าวประชาไท,สำนักข่าวประชาธรรม
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ครม.เห็นชอบมาตรการแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ

Posted: 26 Apr 2011 08:32 AM PDT

(26 เม.ย.54) ในการประชุมคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้

1. มาตรการการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ลักลอบทำงานอยู่ในประเทศไทย ดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งมีผู้ประสงค์จะจ้างงาน รวมทั้งผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรอายุไม่เกิน 15 ปี โดยใช้มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับไม่เกิน 1 ปี และไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และใช้มาตรา 5 และมาตรา 8/2 แห่งพระราชบัญญัติการจดทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 จัดทำทะเบียนประวัติราษฎรคนต่างด้าว รวมทั้งใช้มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 อนุญาตให้ทำงานชั่วคราวในระหว่างการรอการส่งกลับ ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณากำหนดรายละเอียดก่อนเริ่มดำเนินการ

2. มาตรการป้องกันสกัดกั้น และการปราบปราม จับกุม ดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเน้นดำเนินการในการสกัดกั้นและป้องกันการเข้ามาใหม่อย่างเด็ดขาด จริงจังและต่อเนื่องทั้งก่อนการจดทะเบียน ระหว่างการจดทะเบียน และหลังสิ้นสุดการจดทะเบียนและเน้นการปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดจริงจังทั้งนายจ้าง ผู้ให้ที่พักพิง ผู้ที่เกี่ยวข้อง และแรงงานต่างด้าวที่ไม่มาเข้าระบบ รวมทั้งเน้นการดำเนินการมิให้มีการลักลอบกลับเข้ามาใหม่อีกหากพบว่าแรงงานต่างด้าวลักลอบกลับเข้ามาซ้ำอีกต้องถูกดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และพร้อมจะทำบัญชีรายชื่อห้ามมิให้เข้าประเทศ

3. มาตรการนำเข้าแรงงานต่างด้าวรายใหม่อย่างถูกกฎหมายดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2548 โดยเร่งรัดดำเนินการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายจากประเทศพม่า ลาวและกัมพูชาให้สามารถตอบสนองความต้องการของนายจ้างผู้ประกอบการได้อย่างทันท่วงที

4. มาตรการปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) โดยการปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง พ.ศ. 2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 ให้ครอบคลุมการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบรวมทั้งปรับโครงสร้าง กบร. ให้มีคณะอนุกรรมการทั้งในส่วนกลาง และในระดับจังหวัด

5. มาตรการยกระดับหน่วยงานเลขานุการ กบร. เพื่อให้สามารถดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จทั้งระบบโดยการยกระดับสถานะสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวขึ้นเป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดกระทรวงแรงงาน ให้มีหน่วยงานทั้งในส่วนกลาง และระดับจังหวัด โดยให้กระทรวงแรงงาน และสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินการดังกล่าวต่อไป

กบร.มีมติขึ้นทะเบียนต่างด้าวครั้งใหม่

ก่อนหน้านี้ กบร.มีมติขึ้นทะเบียนต่างด้าวครั้งใหม่ เก็บลายนิ้วมือ-โครงหน้า หวังดึงแรงงานใต้ดินเข้าระบบ เฉลิมชัยเชื่อได้แน่ร้อยละ90 เอื้อแรงงานประมงย้ายเรือได้

เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่กระทรวงแรงงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) โดยมี พล.ต.สนั่น ขจรประสาสน์ เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม 22 หน่วยงานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการเปิดจดทะเบียนต่างด้าวที่ไม่มีใบ ทร.38/1 รอบใหม่ โดยจะสามารถดำเนินการได้หลังจากที่ พล.ต.สนั่น นำเรื่องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาเพื่อให้มีการอนุมัติ จึงจะดำเนินการประชาสัมพันธ์แก่ผู้ประกอบการและลูกจ้างทั่วประเทศ ทั้งนี้การจดทะเบียนดังกล่าว ทางกรมจัดหางานจะจัดให้มีหน่วยงานในการรับจดทะเบียนในแต่ละจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการเป็นหัวหน้าศูนย์ประจำจังหวัด อย่างไรก็ตามระบบการรับจดทะเบียนจะมีการจัดเก็บข้อมูลโดยการทำไบโอดาต้า จัดเก็บลายนิ้วมือทั้ง 10 นิ้ว และโครงสร้างใบหน้า จากนั้นจึงจะออกใบอนุญาตทำงาน (เวิร์คเพอร์มิต) เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้

นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า ในส่วนของการจดทะเบียนครั้งนี้ มั่นใจว่าจะมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาจดทะเบียนประมาณร้อยละ 90 ซึ่งช่วงเวลาในการลงทะเบียนเปิดครั้งนี้แค่ครั้งเดียว หากผู้ประกอบการไม่นำลูกจ้างมาจดทะเบียนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ในส่วนแรงงานต่างด้าวที่ประกอบอาชีพประมงจะขยายเวลาให้เป็นพิเศษ ซึ่งใช้วิธีจัดเก็บข้อมูลต่างจากแรงงานปกติ เนื่องจากแรงงานส่วนนี้ทำงานในทะเลเป็นส่วนใหญ่ และอยู่ไม่เป็นที่ โดยจะจัดทำเป็นรูปแบบสมาคม เพื่อแก้ปัญหาการย้ายข้ามเรือที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

“การจดทะเบียนครั้งนี้มีมาตรการที่ชัดเจนและเป็นหัวใจคือการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งผู้ประกอบการที่ไม่มาจดทะเบียนหรือละเมิดก็จะถูกดำเนินคดี ซึ่งโทษที่รุนแรงที่สุดคือข้อหาการค้ามนุษย์ ที่สำคัญการเปิดโอกาสให้จดทะเบียนในครั้งนี้ถือเป็นมาตรการจูงใจที่ดีที่สุด เพราะปัจจุบันแรงงานส่วนนี้ก็ทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว” นายเฉลิมชัยกล่าว

 

ที่มา: คมชัดลึก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ณัฐวุฒิ ประกาศต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประชาชนไทยต้องการเลือกตั้ง

Posted: 26 Apr 2011 08:30 AM PDT

แกนนำ นปช. ร่วมแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย ย้ำสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เตรียมสู้ยืดเยื้อ เชื่อ “เวลาอยู่ข้างเรา”

แกนนำ นปช. ร่วมแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย ย้ำ นปช. สู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง สู้ยืดเยื้อ ประกาศ “เวลาอยู่ข้างเรา”

เวลา 20.00 น. แกนนำ นปช. ประกอบด้วย ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และจตุพร พรหมพันธุ์ ร่วมแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย ตึกมณียา ซึ่งมีผู้สื่อข่าว นักวิชาการ ตัวแทนสถานทูตและผู้สนใจชาวต่างประเทศเข้าร่วมรับฟังประมาณ 100 คน

แกนนำ ระบุมีความพยายามทำรัฐประหารอีกครั้ง พร้อมใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือ ระบุประชาชนจะเป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านการรัฐประหารครั้งใหม่ ณัฐวุฒิ วอนสื่อต่างประเทศเป็นกระบอกเสียง ย้ำคนไทยต้องการเลือกตั้ง

 

ถาม-ตอบ ระหว่าง แกนนำ นปช. กับ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ

ถาม: สถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้ รวมถึงการปะทะกันที่ชายแดนไทย-กัมพูชาอาจเป็นสัญญาณว่าจะไม่มีการยุบสภาใช่หรือไม่

ณัฐวุฒิ: ผมมาพูดครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม แต่ละครั้งชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นลำดับ ครั้งแรกเป็นโฆษกรัฐบาล ครั้งที่สองแกนนำเสื้อแดง ปัจจุบัน ผมเป็นผู้ก่อการร้ายแล้วครับ

สำหรับคำถามนั้นต้องบอกว่าเวลานี้ยังไม่มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งจริงๆ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองอธิบายว่า กลุ่มผู้คุมอำนาจไม่ประสงค์จะยอมรับผลการเลือกตั้งหากพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ชนะ

มีการสำรวจข้อมูลการตัดสินใจของประชาชนหากมีการเลือกตั้งของหน่วยงานความมั่นคงหลายหน่วยงาน ผมได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ว่าก่อนเทศกาลสงกรานต์มีการพบปะกันของนายทหารกองทัพบกกับกลุ่มชนชั้นนำสามสี่ท่าน ในระหว่างการสนทนามีการเอาผลสำรวจหรือโพลล์ฝ่ายความมั่นคงมาดู ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับการเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 250 ที่นั่ง มีการถามกันในเวลานั้นว่าตรวจสอบเรียบร้อยหรือยัง ผู้ที่นำผลสำรวจมาให้ก็คือนายทหารคนดังที่ทำหน้าที่แถลงข่าวให้กองทัพตลอดระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมายืนยันว่าตรวจสอบแล้วสองสามรอบ

ถ้าไปถามนักการเมืองที่เป็นแกนนำตัวจริงของพรรคการเมืองหลายพรรคที่ร่วมรัฐบาลอยู่ ท่าทีล่าสุดของคนเหล่านั้นก็มีความเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าอาจจะไม่มีการเลือกตั้ง นี่เป็นข้อมูลที่ผมเพิ่งจะได้ฟังมา จากอดีตรัฐมนตรีของรัฐบาลทักษิณเล่าว่าไปพบอดีตรัฐมนตรีที่เคยร่วมรัฐบาลกัน

เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพูดออกมาจึงเป็นเรื่องที่ต้องรับฟังและติดตามความเคลื่อนไหวนี้อย่างใกล้ชิด ผมภาวนาว่าอย่าให้เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างไทยกัมพูชาถูกอธิบายเป็นเหตุผลที่จะเลื่อนการยุบสภาออกไป เพราะหากเป็นเช่นนั้นมันจะกลายเป็นว่าเหตุปะทะรอบนี้มีเป้าหมายทางการเมืองของประเทศหนึ่งประเทศใดแอบแฝงอยู่

แต่ความเชื่อเดิมทั้งของผมที่พูดไว้ที่อุดรธานีและแกนนำบังเอิญตรงกันว่าสัญญาณที่จะไม่มีการเลือกตั้งจะปรากฏชัดเจนหลังนายอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภา

แต่ถ้ามองจากท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ เขาอยากจะเลือกตั้งทันทีเลยถ้าทำได้ เพราะประชาธิปัตย์ประเมินได้ว่าการอยู่ในอำนาจต่อไปภายใต้สถานการณ์ขณะนี้จะไม่เป็นผลดีต่อพวกเขา จึงคิดว่าการตัดสินใจยุบสภาจะทำให้โอกาสในการกลับมาเป็นรัฐบาลของ ปชป. จะมีมากขึ้น แม้จะไม่มั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้ง แต่เป็นหน้าที่ของอำนาจนอกระบบที่จะทำอย่างไรก็ได้ให้เขากลับมาเป็นรัฐบาล มีความเชื่อที่พูดกันตลอดเวลาใน ปชป. ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือนายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้ ไม่ใช่ดีที่สุดของประชาชน แต่ดีที่สุดของระบอบอำมาตยาธิปไตย นี่คือปัญหาใหญ่ของประเทศไทย

ผมจึงอยากประกาศต่อทุกท่านและยืนยันต่อสังคมโลกว่าคนไทยต้องการการเลือกตั้ง และวิกฤตความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารจะมีโอกาสนับหนึ่งในการคลี่คลายก็ต่อเมื่อมีการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ตรงกันข้ามหากไม่มีการเลือกตั้งก็จะทำให้สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ทวีความเข้มข้น มีสภาพขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น จนมองไม่เห็นทางออกใดๆ เราไม่อยากเดินเข้าสู่กับดักของวิกฤต เราอยากเดินไปที่จุดเริ่มต้นของสันติภาพ และเราคาดหวังว่าบทบาทของสื่อมวลชนในทุกๆ ประเทศจะมีส่วนช่วยอย่างสำคัญต่อสิ่งนี้

ถาม: ใครคือผู้รับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในตอนท้ายของการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

จตุพร: ความรุนแรงและการเผาเซ็นทรัลเวิลด์ และศาลากลางต่างๆ เป็นความพยายามของฝ่ายรัฐที่จะเผา เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นความตาย ความตายในวัดปทุมวนารามเป็นความตายก่อนที่จะมีการเผาเกิดขึ้นทั้งสิ้น ต้องมีการเผาเซ็นทรัลเวิลด์เพราะต้องการสร้างสถานการณ์ว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง เพื่อให้คนลืมความตาย

กรณีเซ็นทรัลเวิลด์ ผมและได้คุยกับหัวหน้าชุดปฏิบัติการดูแลเซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีภาพถ่าย ทีวีวงจรปิดและภาพนิ่ง ว่าพวกเขามาดูแลอยู่เป็นเวลาสองเดือน เป็นห้างเดียวที่ไม่ได้ใช้ชุดบรรเทาสาธารณภัย เป็นการล็อกเป้าจงใจที่จะมีการเผา หัวหน้าชุดปฏิบัติการเซ็นทรัลเวิลด์นั้นเพราะเขาเห็นชะตากรรมคนเสื้อแดง ว่านอกจากความตายแล้วยังถูกกล่าวหา

อย่างช้าสัปดาห์หน้าจะมีหนังสือที่เป็นรายละเอียดทั้งหมดเรื่องการเผาเซ็นทรัลเวิลด์ เวลานี้ภาพถ่ายจากวงจรปิดจะถูกเปิดเผย

ในกรณีเซ็นทรัลเวิลด์ มีภาพถ่ายชายชุดดำ แต่ไม่แนบเนียบเพราะรองเท้าตรงกับทหาร เหตุการณ์การเผาเซ็นทรัลเวิลด์ กับการยิงที่วัดปทุมเป็นเวลาที่สอดคล้องกัน แต่ผมเองก็ถูกนำตัวไปสอบสวน

เวลานั้นทหารได้คุมสภาพเบ็ดเสร็จ รักษาการผู้บังคับการกองปราบฯ ก็ยังถูกทหารค้นตัว

เวลาเก้าเดือนที่ผ่านมา ถ้าชุดผจญเพลิงของเซ็นทรัลเขาเห็นว่าคนเสื้อแดงเผา เขาต้องฟ้องคนเสื้อแดง แต่ด้วยความเป็นมนุษย์ของเขา เขาเอาวิดีโอมาให้คนเสื้อแดง และตำรวจชุดเดียวที่มาดูแลห้างเซ็นทรัลคือชุดของวังสระปทุม ต่อมาล่าถอยออกไป และกำลังที่มาผลักให้ตำรวจออกไปนั้นเป็นทหาร

กรณีศาลากลางอุลราชธานี มีการจับกุมตัวคน 22 คน และยังไม่มีการปล่อยตัว ผู้ว่าฯ อุบลราชธานีบอกว่าขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่ 80 คนทำงานอยู่ ไม่มีอาวุธ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่า เวลานั้นมีตำรวจและอาวุธครบมือ 800 คน โดยตำรวจที่ทำสำนวนมาสารภาพกับผมว่า พฤติการณ์ที่ศาลากลางนั้น เป็นการเทน้ำมันจากชั้นบนลงสู่ชั้นล่าง นี่คือตัวอย่างของข้อมูลที่ให้การไม่ตรงกัน

ที่ศาลากลางอุดรธานี ข้าราชการที่ควบคุมอำนวยการดูแลศาลากลางฯ ได้สารภาพกับ ส.ส. วิเชียร ขาวขำ โดยที่วันเกิดเหตุมีกำลัง อส. แต่ก่อนเกิดเหตุมีกำลังทหารติดอาวุธเข้าไปเผาศาลากลาง แต่ประชาชนที่อุดรธานี มีการนัดหมายว่าหากมีการสลายการชุมนุมจะไปรวมตัวกันที่ศาลากลาง

นี่คือการสวมรอย เหมือนการเผารถเมล์ 52 คัน คนขับรถเมล์ให้ปากคำว่าคนที่มาปล้นรถเมล์ไปนั้นเป็นทหาร เมื่อมีการสอบสวนแล้ว กมธ. สภาฯ ไม่กล้าเปิดเผย

ถาม: การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนไม่แน่นอน ถ้าเราตั้งสมมติฐานว่าเราไม่รู้ว่าใครจะชนะหรือแพ้ ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ชนะพร้อมที่จะยอมรับรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งหรือไม่และในสถานการณ์ไหนที่ยอมรับและในสถานกาณณ์ไหนที่จะออกมาประท้วง

ณัฐวุฒิ: หากการเลือกตั้งโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ว่าพรรคการเมืองใดชนะ เรายินดียอมรับผลการเลือกตั้ง ถ้าประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง เรายินดีที่จะยอมรับโดยไม่มีการคัดค้านใดๆ ผมเรียนว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยออกมาต่อสู้เพราะแพ้เลือกตั้ง เราเป็นประชาชนส่วนมากในประเทศที่เลือกพรรคการเมืองที่เราสนับสนุนและได้เป็นรัฐบาลแล้วรัฐบาลของเราถูกทำลายครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยวิธีของผู้เผด็จการ เราจึงต้องออกมาต่อสู้

ผมอยากจะฝากคำถามเดียวกันนี้ว่า ถ้าเจออภิสิทธิ์ หรือทหารใหญ่ ว่าถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยชนะ เขาจะยอมรับและปล่อยให้จัดตั้งรัฐบาลตามเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เขาต่างหากที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งจนเป็นปัญหาจนทุกวันนี้

สถานการณ์ที่เราจะออกมาต่อสู้ ก็คือ ถ้าผลการเลือกตั้งปรากฎว่าพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงป็นอันดับหนึ่งแล้วไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ มีการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เราจำเป็นต้องต่อสู้

ผมเข้าใจแนวปฏิบัติทั่วโลกว่า หากพรรคอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคอันดับรองลงไปสามารถเป็นแกนนำ แต่ความจริงของประเทศไทยคือ มีพรรคการเมืองเดียวเท่านั้นที่ชนะการเลือกตั้งได้แล้วไม่ได้เป็นรัฐบาล นั่นคือพรรคเพื่อไทย

ถาม: เคยสัมภาษณ์เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่สูญเสียดวงตาเพราะเขาร่วมชุมนุม เขาบอกว่า การต่อสู้นั้นขึ้นกับแกนนำ

จตุพร: มีการพยายามสร้างสถานการณ์ ขณะที่มีกระสุนปืนจำนวนมากถูกใช้กับคนเสื้อแดง อย่างไรก็ตาม หากถามว่า จะเจรจากันได้หรือไม่นั้น ต้องตอบว่าการเจรจาเกิดได้ทุกวัน แต่คำถามคือความยุติธรรมจะเกิดได้หรือเปล่า สิ่งที่สำคัญคือการสร้างความเสมอภาค ความเป็นภราดรภาพ ความเป็นพี่เป็นน้องกัน

ถาม: ถามคุณธิดา ว่าเมื่อประมาณ 1 เดือน หลังเหตุการณ์ ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์ว่าเป็นห่วงคนเสื้อแดงและความปลอดภัยของสามี เข้าใจว่ามีการไล่สมาชิกของ นปช. บางคนออกเพราะสนับสนุนความรุนแรง แต่ขณะนี้คนเหล่านั้นยังมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง

ธิดา: ประการแรก ถ้าคุณอ่าน โพสต์ทูเดย์ คุณต้องเช็คก่อนว่าข้อมูลที่นำเสนอนั้นถูกต้องหรือเปล่า เพราะปัญหาของสื่อเมืองไทยนั้นคือการแบ่งข้างชัดเจนทั้งเรื่องผลประโยชน์และชนชั้น

ด้วยเหตุนี้การต่อสู้ของคนเสื้อแดงจึงไม่ค่อยได้รับการนำเสนอต่อสังคมภายนอก หากสังคมภายนอกอ่านเฉพาะสื่อที่เป็นของประเทศไทย

ประการที่สอง สิ่งที่โพสต์ทูเดย์ เขียนนั้น อาจจะเป็นปัญหาเรื่องข้อมูลและการถ่ายทอดข้อมูลด้วย จึงอยากได้คำถามจากท่านโดยตรงมากกว่าโดยไม่ต้องอ้างโพสต์ทูเดย์

ผู้สื่อข่าวคนเดิม ถาม: บทความในโพสต์ทูเดย์เป็นคำสัมภาษณ์คำต่อคำ จึงเชื่อว่าน่าเชื่อถือ แต่อยากถามโดยตรง ว่าเป็นห่วงหรือไม่ ว่าสามีจะเป็นอันตรายจากคนเสื้อแดง

ธิดา: ในความเป็นจริง ไม่มีคำถามและคำตอบเรื่องนี้เลย แต่ตอบได้ว่า การเข้ามาเกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดงไม่ใช่เข้ามาในฐานะของภรรยาของ น.พ. เหวง โตจิราการ แต่ในฐานะนักต่อสู้ นี่เป็นเหตุผลประการแรกที่ท่านต้องทราบก่อน

การห่วงคือห่วงการต่อสู้ของประชาชนไม่ใช่ น.พ.เหวง โตจิราการ คือห่วงทุกคนไม่ใช่เฉพาะแกนนำ แต่เป็นการเป็นห่วงคนเสื้อแดงทุกคนที่ถูกจับกุมคุมขังและถูกไล่ล่า นี่เป็นประเด็นสำคัญว่านักต่อสู้นั้นเอาเรื่องส่วนตัวตั้งต้น หรือเพื่อส่วนรวม ดังนั้นคำถามนี้ ขอปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว และเหตุผลที่เข้ามารับเป็นประธานการต่อสู้ของคนเสื้อแดงคือความเป็นห่วงขบวนการ ต้องขอโทษหมอเหวงในฐานะสามีด้วยว่าไม่ได้ห่วงเขามากกว่าคนอื่น

ถาม: ถ้าผลการเลือกตั้งเพื่อไทยได้เสียงมากที่สุด แต่ไมได้เสียงส่วนใหญ่ แล้วในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์สามารถตั้งรัฐบาล ท่านจะยอมรับหรือไม่

ณัฐวุฒิ: นี่แหละที่เป็นปัญหา คือ พรรคการเมืองใดก็ตามที่ได้เสียงอันดับหนึ่งจะได้เป็นรัฐบาลได้ทั้งหมด ยกเว้นพรรคเพื่อไทย เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะสื่อสารมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศรายงานตรงกันว่ามีอำนาจนอกระบบจะไม่ยินยอมให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะมีการจัดการทุกวิถีทางแม้พรรคเพื่อไทยจะเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง ผมคิดว่าท่านคงไม่หวังว่าจะให้เรายอมรับสิ่งนี้ เพราะถ้าการยอมรับสิ่งนี้ นี่ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ถาม: เมื่อมีการเจรจาก่อนที่จะสลายการชุมนุม ทางรัฐบาลเสนอว่าควรจะมีการเลือกตั้งเดือน พ.ย. แล้วทางเสื้อแดงมีความเห็นแตกต่างกัน บางคนเห็นด้วย บางคนไม่เห็นด้วย รัฐบาลอ้างว่าเพราะทางเสื้อแดงไม่ยอมรับข้อเสนอเพราะนายกฯทักษิณต้องการการนิรโทษและอนุญาตให้กลับบ้าน จริงหรือไม่ บทบาทของทักษิณในเรื่องนี้เป็นอย่างไร และถ้าพรรคเพื่อไทยสามารถที่จะนำรัฐบาลต่อไปจะให้ทักษิณกลับมาหรือไม่

จตุพร: การเสนอยุบสภาของอภิสิทธิ์เวลานั้นมี 2 ช่วง ช่วงแรกที่มีการเจรจากันนั้นคุณอภิสิทธิ์ ของ 9 เดือน แต่เราเสนอ 15 วัน รวมรักษาการสองเดือนเป็นสองเดือนครึ่ง แต่คุณอภิสิทธิ์ไม่ยอมรับ มีการอ้างว่าคุณทักษิณโทรหาผม แต่ผมอยากให้ไอซีทีตรวจสอบได้ เพราะคนที่โทรหาผมคือณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ

ช่วงที่สองหลังวันที่ 10 เม.ย. ซึ่งถ้าไม่มีความตายและผู้บาดเจ็บ ผมในฐานะนักเลือกตั้ง หากเราได้วันเลือกตั้ง โดยไม่สนใจคนที่บาดเจ็บและสูญเสีย มันชี้ความเห็นแก่ตัวของนักเลือกตั้ง เพราะคุณเอาความตายไปแลกกับวันเลือกตั้งไม่ได้

ไม่มีใครปฏิเสธการเลือกตั้งว่าคนเสื้อแดงขอต่อสู้ทุกคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีผู้ก่อการร้าย หรือล้มสถาบัน โดยไม่ขอนิรโทษกรรม แต่เมื่อมีการฟ้องร้องคดีต่อนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์ที่สั่งการทำร้ายประชาชน นายอภิสิทธิ์นั้นได้รับเอกสิทธิ์ ส.ส. เหมือนกับผม แต่นายสุเทพนั้นไม่มีเอกสิทธิ์ กลับเดินทางไปดีเอสไอ เพื่อรับฟังว่ามีข้อกล่าวหาเท่านั้น ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ไม่เคยเกิดขึ้น

ณัฐวุฒิ: ขอเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ว่า ผมไม่สนใจว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะได้กลับเมืองไทยเมื่อไหร่ จะได้รับทรัพย์สินที่ถูกยึดไปคืนหรือไม่ แต่สิ่งที่ผมเรียกร้องก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณต้องได้รับความยุติธรรมจากทุกกระบวนการในประเทศไทย

ถ้าหากจะมีคำอธิบายว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับพ.ต.ท. ทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นการยึดทรัพย์ หรือคดีของ หากถูกอธิบายว่าเป็นการกระทำที่ยุติธรรมเป็นสิ่งที่ผมยอมรับไม่ได้

หากคนที่ได้รับการเลือกตั้งยังไม่ได้รับความยุติธรรม ก็ไม่มีความหวังว่าประชาชนจะได้รับสิ่งนี้ และประเทศที่ไร้ซึ่งความยุติธรรม หรือมีความยุติธรรมเป็นสองมาตรฐาน ประเทศนั้นจะมีความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร เราจึงต้องต่อสู้ ผมไม่ยอมให้สื่อมวลชนที่นี่อยู่ในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

คำถาม: ทั้ง 18 คนที่เป็นผู้นำถูกกล่าวหาด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ท่านคิดว่าต้องต่อต้านมาตรา 112 หรือไม่

จตุพร: ในประเทศไทยตลอดระยะเวลา 70 กว่าปีที่ผ่านมา ประเด็นที่เกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์ ได้ถูกทหารและนักการเมืองหยิบใช้ ทหารหยิบใช้เพื่อทำการรัฐประหาร นักการเมืองใช้เพื่อประโยชน์ของฝ่ายตัวเองและทำลายฝ่ายตรงข้าม เพราะฉะนั้นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องทรงอยู่เหนือการเมือง แต่เนื่องจากการรัฐประหารทุกครั้งที่เกิดขึ้น แม้แต่วันที่ 19 ก.ย. 49 ก็มีการกล่าวอ้างสถาบัน

การดำเนินคดีกับพวกเรา 18 คน บางคนถูกคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะยืนอยู่ข้างผมขณะปราศรัย บางคนไม่ได้พูดสักคำ แต่ยืนอยู่ข้างผม ปรากฏว่าดีเอสไอระบุว่า ต้องดำเนินคดีเพราะไม่ห้ามปรามผม ท่านทั้งหลายที่ฟังผมก็อาจจะถูกดำเนินคดีเพราะไม่ห้ามปรามผม

ธิดา: ดิฉันถูกมาตรา 112 ด้วย แม้ว่าขณะนั้นไม่ได้ยืนอยู่ด้วย แต่ยืนอยู่ข้างล่างเวที แต่ไม่ได้วิ่งขึ้นมาห้ามปราม

ณัฐวุฒิ: จุดยืนของ นปช. คือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยอำนาจอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เราไม่มีปัญหาใดๆ กับการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์และไม่คิดว่าการต่อสู้ของเราจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถาบัน เพียงแต่ มีการใช้ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับสถาบันพยายามที่จะทำลายการต่อสู้ของเราตลอดเวลา

คำถามเรื่องมาตรา 112 ผมมีคำอธิบายว่ามีนักวิชาการและประชาชนกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ มีข้อเสนอทางวิชาการจากนักวิชาการกลุ่มดังกล่าว ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สังคมไทยรับฟังสิ่งนี้ได้ ปัญหาที่ผ่านมาก็คือ สังคมไทยมีแต่ทุกฝ่ายที่พูด ไม่มีใครฟังใคร เพราะฉะนั้นการรับฟังก็จะทำให้เกิดความเข้าใจกันและกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นปช. แดงทั้งแผ่นดิน ไม่ได้มีแนวทางหรือไม่ได้มีมติที่จะเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ แต่สิ่งที่เราเจ็บปวดที่สุดเวลานี้ก็คือมีการใช้ข้อกล่าวหาจากมาตรา 112 กับคนในประเทศอย่างไม่เท่าเทียมกัน มีการแจ้งความดำเนินคดีกับคุณจตุพรและพวกเราอย่างรวดเร็วด้วยท่าทีที่ดุดันของกองทัพ แต่กลับจงใจเพิกเฉยต่อกรณีที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายอานันท์ ปันยารชุน และพลเอกสิทธิ เศวตศิลา สนทนากับนายอิริค จอน เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย โดยมีการแสดงความเห็นอย่างรุนแรงซึ่งเนื้อหาปรากฏในเดอะการ์เดียน ปรากฏในวิกิลีกส์ มีการไปแจ้งความดำเนินคดี แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ

ถาม: กรณีชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนไทย-กัมพูชา กว่าห้าหมื่นคน คิดว่าพรรคเพื่อไทยจะจัดการปัญหานี้ได้ไหม

จตุพร: ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเราจะไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเหมือนนายกษิต ภิรมย์ และเราจะแสวงหามิตรประเทศ ไทยกับกัมพูชานั้นผูกพันกัน กัมพูชาซื้อของไทยถึงแปดหมื่นกว่าล้านบาท ไทยซื้อกัมพูชาแปดพันล้านบาท เราไม่มีเหตุผลที่จะขัดแย้งกัน

เพราะฉะนั้น ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะไม่มีสงคราม ประชาชนสองชาติจะไม่เดือดร้อน มีแต่สัมพันธภาพของควาเมป็นพี่เป็นน้อง เสียงปืนของมิตรประเทศจะไม่เกิดในรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย

ธิดา: ในฐานะที่ขณะนี้ระบอบอำมาตยาธิปไตยมีอิทธิพลครอบงำ เราสามารถเข้าใจวิธีคิดก็คือ การที่เราสามารถทำนายได้แต่ต้นแล้วว่าน่าจะเกิดสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านเพราะวิธีคิดของพวกสุดโต่งอนุรักษ์นิยมจะมีลักษณะที่นิยมก่อสงครามภายนอกเพื่อกลบเกลื่อนความขัดแย้งภายใน

จตุพร: ผมเพิ่มประเด็นว่า ท้ายสุดของสงครามไทยกัมพูชานั้นที่สุดจะนำไปสู่การรัฐประหารหรือไม่ มีการสัมภาษณ์กับภรรยาของทหารที่เสียชีวิตกล่าวว่า สามีโทรมาแจ้งว่าหลังจากนี้ไม่กี่ชั่วโมง จะมีการปะทะ แปลว่ารู้ล่วงหน้า แต่ผมไม่ได้อยากจะกล่าวหา หน้าที่ของเราคือหยุดสงคราม แต่ถ้าการทำสงครามนำไปสู่การปฏิวัติ เพราะขณะที่มีการทำสงครามไทยกัมพูชา ก็มีการปิดวิทยุชุมชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ฉะนั้น การทำสงครามและตัดการสื่อสารวิทยุชุมชนด้วยนั้น ทำให้คิดได้ว่าน่าจะนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร

ธิดา: ขอเพิ่มเติมว่า กลุ่มของเรามุ่งชูสโลแกน ต่อต้านรัฐประหาร คัดค้านสงคราม ทวงความยุติธรรม มาแต่ต้นปีแล้วเพราะเราคาดไว้แล้วว่าแนวคิดล้าหลังของพวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่งจะก่อให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้

และขอทำนายว่า จะมีการรัฐประหารมากกว่าการเลือกตั้ง วิธีคิดของเขาน่าจะปิดประเทศและก่อสงคราม รวมถึงมีแนวคิดปิดประเทศ 5 ปี เพราะกลัวการเลือกตั้ง ไม่ทราบว่าสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศจะยังอยู่หรือไม่

ถาม: เมื่อวานบางกอกโพสต์ลงบทสัมภาษณ์วีระกานต์ ซึ่งมีการวิพากษ์ว่าแกนนำแตกแยก และบางส่วนไม่หวังดีต่อสถาบัน และมีบางส่วนตามความต้องการของประชาชนมากเกินไป

ณัฐวุฒิ: ไม่มีความแตกแยกในกลุ่มแกนนำ แต่ยอมรับว่าความแตกต่างทางความคิดมีอยู่ ความแตกแยกหมายความว่ามิได้อยู่ด้วยกันฉันมิตร แต่สำหรับเราความเป็นพี่น้อง ความผูกพันทุกอย่างยังคงเดิม เพียงแต่มิติทางความคิดบางอย่างเท่านั้นที่แตกต่างกัน แต่ถ้าทุกคนยังหันหน้าไปในทิศทางเดียวกันคือประชาธิปไตย ก็สามารถร่วมทางได้ตามแนวความคิดของแต่ละคน ส่วนประเด็นเกี่ยวกับสถาบันนั้นผมยืนยันว่ามีความเป็นเอกภาพมีความเป็นหนึ่งเดียว คือจุดยืนตามที่ผมอธิบายไปแล้ว

จตุพร: ความเห็นของคุณวีระ เป็นความแตกต่าง ซึ่งถือเป็นความงดงามตามระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยก็คือการมีความแตกต่างแต่เส้นทางที่เดินคือเสียงส่วนใหญ่ที่เป็นฝ่ายกำหนด

ประเด็นต่อมาก็คือ ในกระบวนการที่มีประชาชนที่มีความหลากหลาย คนที่เป็นผู้นำต้องมีความรับผิดชอบ ผมจึงเห็นว่าไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรที่เห็นว่ามีอันตรายก็ต้องแก้ไข ทั้งหมดนั้นผมยืนยันว่าแนวทางของ นปช. เป็นไปตามที่ นปช. ประกาศไว้ทุกประการ

ธิดา: ขอตอบเรื่องสถาบันและปัญหาการนำ คือสองเรื่องนี้สัมพันธ์กัน อยากจะเรียนว่าเรานำด้วยหลักการ

ในการนำโดยหลักการ เราจึงต้องมีหลักนโยบาย ซึ่งเรามีหลักเกี่ยวกับกับการเมืองการปกครองคือเราต้องการระบอบการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง นี่คือหลักการที่เราเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร

ประการต่อมา เราใช้การนำรวมหมู่ เราจึงต้องใช้วิถีทางประชาธิปไตยในแกนนำ เพราะเป้าหมายของเราคือประชาธิปไตย ต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ในการตัดสินเรื่องสำคัญๆ

ถาม: การชุมนุมครั้งต่อไปจะมีหรือไม่

จตุพร: กฎหมายเลือกตั้งระบุแล้วว่านักการเมืองทำอะไรได้บ้าง แล้วประชาชนทำอะไรได้บ้าง เช่น การรำลึก 19 พ.ค. จะทำอะไรได้บ้าง

สำหรับคำถามว่าจะมีการชุมนุมอีกหรือไม่ ต้องบอกว่าการชุมนุมนั้นเป็นการระดมความคิด และจริงๆ แล้วมีทุกวัน เช่นวันนี้ก็มีที่สระบุรี

ถาม: หลังการสลายการชุมนุม มีแกนนำบางคนบอกว่าจะลงใต้ดิน จะหนีและต่อสู้โดยใช้อาวุธ แม้ว่าที่ผ่านมาไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แต่ถ้าหากยังยืดเยื้อไม่มีประชาธิปไตย เป็นไปได้ไหมว่าจะมีการใช้อาวุธและความรุนแรง

ธิดา: เราไม่ใช้อาวุธ เราเคลื่อนไหวอย่างสงบและสันติ นี่คือหลักการของ นปช. คำถามว่าหากการต่อสู้ยืดเยื้อจะมีอนาคตเช่นไร ที่ผ่านมาเราก็ต่อสู้ยืดเยื้อมาห้าปี ทำจากการไม่มีการจัดการองค์กร จนกระทั่งรวมตัวเป็นองค์กรได้ เราหวังว่าเราจะต่อสู้ได้ยืดเยื้อและมีระบบมากขึ้น แม้แต่หนังสือที่เรามีก็คือส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะจัดโรงเรียนเพื่อยกระดับแกนนำของเรา

เราเลือกสันติวิธีเพราะเราต้องการชัยชนะที่แท้จริง นปช. ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเรา และเข้มแข็งมากขึ้นทุกวันๆ เพราะเราเลือกสันติวิธี

แต่แน่นอนว่าอาจจะมีบางส่วนที่ไม่เชื่อในหนทางสันติวิธี ซึ่งเขามีสิทธิคิดต่างและนั่นเป็นเรื่องในอนาคตที่มีปัจจัยหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจรัฐ แต่เรา นปช. เราจะทำตามพันธสัญญาที่ตกลงกัน ไว้ เราจะทำให้ดีที่สุด เพื่อให้ได้ชัยชนะ ให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยและประชาชนมีความสุขอย่างแท้จริง

ณัฐวุฒิ: พวกเรามีความเชื่อตรงกันว่าการต่อสู้ของเราเป็นการต่อสู้ระยะยาว ดังนั้น หากการต่อสู้นี้จะยืดเยื้อออกไปย่อมไม่เป็นเหตุผลให้เราเปลี่ยนแนวทางจากสันติวิธีไปจับอาวุธ ใช้ความรุนแรง เพราะผมเชื่อว่า เวลาอยู่ข้างเรา ท่านทั้งหลายเชื่อเหมือนผมไหมครับ (เสียงปรบมือ)

จตุพร: การชุมนุมของ นปช. ทั้งหมดที่เป็นมติ คือสันติวิธี เราเชื่อว่ามือเปล่าจะชนะกองทัพ เพราะเราจะไม่มีทางเอาอาวุธมาสู้ให้ชนะกองทัพ

ธิดา: สนามการต่อสู้ของเราคือความชอบธรรม ไม่ใช่สนามรบ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลปัตตานีเลื่อนนัดไต่สวน สุไลมาน แนซาผูกคอตายในค่ายอิงคยุทธฯ

Posted: 26 Apr 2011 08:02 AM PDT

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 25 เมษายน 2554 ศาลจังหวัดปัตตานี ได้นัดไต่สวนคำร้องคดีไต่สวนการตายของ นายสุไลมาน แนซา ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ช.14/2553 ที่พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพ นายสุไลมาน แนซา (ผู้ตาย) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย

เนื่องจาก นายสุไลมาน แนซา ได้เสียชีวิต (ผูกคอตาย) ขณะถูกควบคุมตัวในศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ ค่ายอิงยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 ปรากฏว่า นายเจะแว แนซา บิดาของผู้เสียชีวิตและครอบครัว พร้อมด้วยทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จ. ปัตตานี และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ยื่นคำร้องคัดค้านในการไต่สวนคดีนี้ เนื่องจากไม่เชื่อว่าสาเหตุการเสียชีวิตของลูกชายเกิดจากการฆ่าตัวตาย จึงไม่มีการนัดไต่สวนศาลจึงกำหนดวันนัดไต่สวนพยานเป็นวันที่ 17 สิงหาคม 2554

นายอนุกูล อาแวปูเต๊ะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมปัตตานี ทนายผู้รับผิดชอบคดี กล่าวว่า เมื่อบิดาของผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องคัดค้าน เพราะไม่เชื่อว่าลูกชายเสียชีวิต เพราะฆ่าตัวตาย และได้มาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมปัตตานี ซึ่งตนก็ทำตามหน้าที่ วันนี้ศาลจึงได้มีการกำหนดให้มีการนัดไต่สวนพยานอีกครั้งในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ โดยจะมีการนัดสอบปากคำพยานในส่วนของฝ่ายอัยการ จำนวน 13 ปาก และสอบปากคำพยานในส่วนของผู้เสียหาย จำนวน 11 ปาก

“การที่จะต้องมาทำคดีนี้ไม่ได้รู้สึกกดดัน และเราก็ทำตามหน้าที่ ประเด็นสำคัญ คือว่า การตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานของหมอจากค่ายอิงคยุทธบริหาร รวมทั้งหมอของเราที่ได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุครั้งแรก รวมทั้งการพิสูจน์ศพของหมอจากโรงพยาบาลสายบุรี ที่ได้ตรวจสภาพศพเมื่อครั้งเอาศพกลับไปที่บ้านแล้ว ผลการสอบปากพยานจะเป็นอย่างไรให้เป็นอำนาจของศาล” นายอนุกูล กล่าว

ทั้งนี้ นายสุไลมาน แนซา ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังเข้าควบคุมตัวขณะอยู่ที่บ้านที่ อ.สายบุรี โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 และถูกควบคุมต่อภายใต้อำนาจพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร รวมเป็นเวลา 8 วัน

ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว มีหลายวันที่ญาติขอเข้าเยี่ยมนายสุไลมาน แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้เลย บางวันที่ญาติได้เข้าเยี่ยมแต่ก็ไม่สามารถที่จะเยี่ยมนายสุไลมานได้อย่างใกล้ชิด ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2553 หนึ่งวันก่อนที่นายสุไลมาน จะเสียชีวิต ญาติที่ไปเยี่ยมแต่ไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้อย่างใกล้ชิดได้สังเกตเห็นว่า นายสุไลมาน มีอาการผิดปกติหลายประการ เช่น มีท่าทางอิดโรยอ่อนเพลียมาก ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะเดิน และเดินเซไปเซมา เป็นต้น

ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 นายสุไลมาน ได้เสียชีวิตโดยสภาพศพอยู่ในลักษณะแขวนคอกับเหล็กดัดภายในห้องควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ ได้แจ้งว่า นายสุไลมาน ทำอัตวินิบาตกรรมโดยการผูกคอตาย แต่ญาติไม่เชื่อว่านายสุไลมาน จะเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย การไต่สวนการตายครั้งนี้ ผู้ร้องคัดค้านและญาติๆ หวังที่จะพึ่งกระบวนการยุติธรรมในการพิสูจน์สาเหตุการตายที่แท้จริงของนายสุไลมานต่อไป

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใต้บึ้มรถยนต์หุ้มเกราะผู้ว่าฯ ปัตตานี รอดหวุดหวิด

Posted: 26 Apr 2011 07:58 AM PDT

เมื่อเวลาประมาณ 11.40 น. วันที่ 26 เมษายน 2554 พ.ต.ท.ไพสิฐ แก้วจรัส รองผกก.ป.สภ.ปะนาเระ จังหวัดปัตตานี รับแจ้งเกิดเหตุระเบิดถนนสายปะนาเระ-สายบุรี จึงนำกำลังไปที่เกิดเหตุ พร้อมชุดเก็บกู้ระเบิดและพิสูจน์หลักฐาน พบชิ้นส่วนรถจักรยายนต์ถูกแรงระเบิดจนกลายเป็นเศษเหล็ก และมีไฟลุกไหม้ข้างพงหญ้าข้างทาง

เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการดับเพลิง พบว่า เป็นยี่ห้อฮอนด้า เวฟ ทะเบียน กบว 423 ปัตตานี โดยรถยนต์ที่ประสบเหตุ เป็นรถเก๋งโตโยต้า คัมรี่ สีดำ ทะเบียน กข 2525 ปัตตานี ซึ่งเป็นรถประจำตำแหน่งของ นายนิพนธ์ นราธิทักษ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี สภาพด้านซ้ายของรถเสียหาย ทั้งกระจกหน้า ด้านข้าง ตัวถัง ล้อยาง แตกเป็นรูพรุน

จากการสอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุได้ นายนิพนธ์ ได้เดินทางกลับจากการไปเป็นประธานเปิดโครงการค่ายภาษาอังกฤษเสริมสร้างจริยธรรม ที่โรงเรียนอาลียามีอะห์อัลอิสมามียะห์ ต.บ้านกลาง และกำลังเดินทางเพื่อเป็นประธานพิธีเปิดงานผู้สูงอายุ อ.มายอ จ.ปัตตานี โดยมีรถ อส.นำขบวน แต่เมื่อถึงที่เกิดเหตุคนร้ายได้นำรถจักรยานยนต์ซุกระเบิดน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัมจอดริมถนน และจุดชนวนด้วยวิทยุสื่อสารเมื่อรถเก๋งดังกล่าวมาถึง

เหตุระเบิด ทำให้นายนิพนธ์ ซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังคนขับรถได้รับบาดเจ็บจากเศษกระจกกระเด็นบาดเจ็บเล็กน้อย ส่วนผู้ติดตามได้แก่ นายเอกสิทธิ์ สองเมือง ปลัดอำเภอ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขาผู้ว่าฯ และนายบดินทร์ เบญจสมัย เจ้าพนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปัตตานี ที่นั่งเบาะหน้าและเบาะหลังมีอาการแน่นหน้าอก และหลังเกิดเหตุคนขับรถได้เร่งเครื่องหนีออกจากที่เกิดเหตุมายัง สภ.ปะนาเระ ทันที

อย่างไรก็ตาม จากเหตุครั้งนี้ ทั้งนายอำเภอ และประชาชนที่ทราบข่าวการถูกลอบทำร้ายด้วยการวางระเบิดรถยนต์ของผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้เดินทางมาให้กำลังใจผู้ที่เพิ่งประสบเหตุเป็นจำนวนมาก และรถจักรยานยนต์ที่ใช้ก่อเหตุทราบว่าเพิ่งถูกขโมยมาจากตลาดนัดปาลัส อ.ปะนาเระ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นปช. แถลงที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ

Posted: 26 Apr 2011 06:27 AM PDT

เวลา 20.00 น. แกนนำนปช. ประกอบด้วย ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และจตุพร พรหมพันธุ์ ร่วมแถลงข่าวที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย ระบุมีความพยายามทำรัฐประหารอีกครั้ง พร้อมใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือ ระบุประชาชนจะเป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านการรัฐประหารครั้งใหม่

ธิดา ถาวรเศรษฐ์ กล่าวขอบคุณสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ให้โอกาสมาพูดคุย พร้อมกล่าวต่อไปว่า แม้ว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะปกติ และก้าวไปสู่การเลือกตั้ง ครบรอบ 1 ปี ของการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก มีผู้ถูกจับกุมคุมขังกว่าร้อยคน ยังไม่มีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รวมถึงกระบวนการสืบสวนสอบสวนการบาเจ็บเสียชีวิตองประชาชนที่ไม่มีการดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงช่างภาพ ผู้สื่อข่าว พยาบาล และผู้ที่ตายในวัดปทุม วนาราม ทำให้นปช. แดงทั้งแผ่นดินต้องทวงถามความยุติธรรม และจัดชุมนุมทุกเดือนในวันที่ 10 และ 19 และมีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากขึ้นเป็นลำดับ

ที่สำคัญคือประชาชนไทยและคนเสื้อแดงมองเห็นความไม่เสมอภาคทางการเมืองและการใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างประชาชนต่างสีเสื้อ ระหว่างพรรคการเมืองที่สนับสนุนอำมาตยาธิปไตย กับพรรคที่สนับสนุนประชาชน
ความป่าเถื่อนเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในยุคนี้ที่โลกมีความเจริญก้าวหน้า มีความเจริญทางวิทยาศาสตร์ นี่ไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแกนนำในระบอบอำมาตยาธิปไตยกับทักศษิณ และเป็นความขัดแย้งระหว่างเครือข่ายของคนที่ผลประโยชน์กับระบอบอำมาย์ กับกลุ่มประชาธิปไตย

และแม้จะมีการประกาศยุบสภา เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง แต่ก็มีความพยายามที่จะก่อการรัฐประหารครั้งใหม่ โดยที่ภาระและผลผลิตของการรัฐประหารชุดเก่ายังอยู่ และมีการใช้เครื่องมือคือข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยให้กองพลต่างๆ ออกมาตบเท้าทุกวัน

การพยายามรัฐประหารเป็นความล้าหลังซ้ำซากของรัฐที่ไม่ยอมให้ประชาชนเลือกผู้นำด้วยตนเอง โดยกลัวว่าจะได้พรรคและผู้นำที่ไม่พึงประสงค์ โดยไม่ต้องการให้เปิดเผยความขริงของการพยายามเข่นฆ่าประชาชน และประการต่อมาคือ การเกิดของนปช. แดงทั้งแผ่นดิน ทั้งที่ปรากฏตัว และไม่ปรากฏตัวจะเป็นผู้เลือกพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

ทั้งนี้ การเติบโตของคนเสื้อแดงทั้งคุณภาพปริมาณจะมีผลสำคัฐต่อการต่อต้านการรัฐประหาร น่าเป็นห่วงการรัฐประหารโดยกองทัพไทยจะต้องถูกต่อต้านจากประชาชนไทย และนี่เป็นการทวนกระแสสังคมโลก

“จะมีอะไรเกิดขึ้นอีกกับสังคมไทย และจะมีคนบาดเจ็บล้มตายอีกเท่าไหร่ ทั้งนี้คนบาดเจ็บล้มตายไม่ใช่ดัชนีความรุนแรงแต่อย่างเดียว แต่ยังมีความล้าหลังที่เป็นดัชนีความเลวร้ายป่าเถื่อน ไม่เคารพความเท่าเทียมของสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือต้องรอให้คนตายอีกนับหมื่นคนจึงตระหนัก” นางธิดากล่าวในท้ายที่สุด

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดีเอสไอยันไม่ได้ส่ง จนท.ตรวจค้นวิทยุเสื้อแดง

Posted: 26 Apr 2011 03:27 AM PDT

อธิบดีดีเอสไอยันไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจค้นและยึดอุปกรณ์สถานีวิทยุของคนเสื้อแดง พร้อมนำหลักฐานการถอนประกันแกนนำ นปช. หากอัยการต้องการเพิ่ม

26 เม.ย. 54 - เวลา 16:44 น. สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่านายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เปิดเผย เกี่ยวกับกรณีที่มีข่าวออกมาว่า ทางเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ บุกเข้าตรวจค้นสถานีวิทยุชุมชนเสื้อแดง จำนวน 13 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล พร้อมหมายศาล และตรวจอุปกรณ์เครื่องส่งสัญญาณ อาทิ ไมโครโฟน คอมพิวเตอร์ มิตเตอร์ ตัวแปลงสัญญาณของสถานีไว้ ว่าทางดีเอสไอนั้น ไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจยึดสิ่งของต่างๆ ตามที่เป็นข่าว แต่อย่างใด ส่วนหน่วยงานใดเข้าไปตรวจค้นนั้น ตนเองยังไม่รับทราบเรื่องดังกล่าว แต่ยืนยันว่า ทางดีเอสไอยังไม่ส่งเจ้าหน้าที่ไปไม่ว่าสำนักใดก็ตาม

สำหรับกรณีที่ทางพนักงานอัยการ ติดต่อให้ทางพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ส่งเนื้อหาบางส่วนที่ขาดหายไป ซึ่งเหลืออีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ การถอนประกันตัวแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ทั้ง 9 คน เป็นเนื้อหาในช่วงที่แกนนำ นปช. ขึ้นเวทีปราศรัยเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยว่า ในเรื่องดังกล่าวนั้น ตนเองยังไม่ได้รับการติดต่อเข้ามาจากทางพนักงานอัยการแต่หากมีการติดต่อเข้ามา ก็พร้อมจะดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนแกนนำที่มีการติดต่อเข้ามา เพื่อเข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ดีเอสไอก่อนกำหนดนั้น ล่าสุดได้มีรายงานว่าจะเข้ามารายงานตัววันเวลาที่กำหนด

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สหายเก่าอีสาน" ตบเท้าหนุน "ผบ.ทบ." ต้านพวกจาบจ้วงสถาบัน

Posted: 26 Apr 2011 02:56 AM PDT

กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยจากภาคอีสาน 7 จังหวัด จำนวน 750 คน ได้เดินทางมามอบกระเช้าดอกไม้เพื่อให้กำลังใจกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้านพวกจาบจ้วงสถาบัน

26 เม.ย. 54 - มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 12.00 น. กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยจากภาคอีสาน 7 จังหวัด จำนวน 750 คน ได้เดินทางมามอบกระเช้าดอกไม้เพื่อให้กำลังใจกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และกำลังพลทุกหมู่เหล่า ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการร่วมกันออกมาปกป้องเทิดทูนสถาบันอันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย ซึ่งมีนายใบ สีใส ตัวแทนกลุ่มเป็นผู้กล่าวให้แสดงเจตนารมณ์และกล่าวให้กำลังใจแก่กองทัพ โดยมี พล.ท.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายกิจการพลเรือน เป็นผู้แทนมารับทราบ

นายใบกล่าวว่า ในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทย รู้สึกว่าพวกที่ออกมาพูดจาบจ้วงและพาดพิงสถาบันนั้นทำไม่ถูกต้อง ดังนั้น จึงได้รวมตัวกันเพื่อแสดงพลังว่าเราไม่เห็นด้วยกับการกระทำของคนเหล่านั้น รวมทั้งเป็นการให้กำลังใจแก่ พล.อ.ประยุทธ์ และกำลังของพลของกองทัพทุกคน ที่ได้แสดงบทบาทเพื่อปกป้องสถาบัน ซึ่งพวกเราพร้อมที่จะร่วมเดินหน้าในการปกป้องสถาบันร่วมกับทหาร

"จากบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกที่พวกเราได้เห็น ท่านเป็นคนที่ค่อนข้างมีความรักชาติรักบ้านเมืองและรักในหลวง รวมทั้งมีความสามารถหลายด้านและทำงานเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ผู้ใต้บังคับบัญชาและคนไทยส่วนใหญ่รักท่าน เราจึงได้เดินทางมาเพื่อให้กำลังใจ รวมทั้งแสดงออกถึงพลังที่จะปกป้องรักษาพระมหากษัตริย์ เราพร้อมที่จะรักษาชาติบ้านเมือง" นายใบกล่าว

ด้าน พล.ท.สุรศักดิ์กล่าวว่า ในนามของผู้บัญชาการทหารบก รู้สึกยินดีและขอขอบคุณที่ได้ร่วมแสดงออกในการปกป้องสถาบัน ซึ่งการเดินทางมาของทุกคนในวันนี้ ถือเป็นกำลังใจให้กับทหารและประชาชนทุกคน ที่จะเดินหน้าต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ดีไม่งามในบ้านเมืองทั้งหลาย ทั้งนี้ คิดว่าหากบ้านเมืองเรามีอะไรไม่ดี เราคงต้องร่วมมือกันพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญต่อไป

"พล.อ.ประยุทธ์ฝากบอกกับทุกคนว่า ประเทศไทยของเราจะอยู่ได้ก็ด้วยประชาชนคนไทยมีความรักความสามัคคี และคนไทยคนต้องร่วมกันปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นหลักชัยของบ้านเมืองเรา" พล.ท.สุรศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนทั้งหมดได้สวมใส่เสื้อสีชมพู ซึ่งแสดงถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเดินทางมาจาก 7 จังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน คือ จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร หนองบัวลำพู และสกลนคร โดยเดินทางด้วยรถบัสโดยสารขนาดใหญ่จำนวน 15 คัน ขณะที่กองทัพบกได้เตรียมน้ำและผลไม้ไว้รองรับกลุ่มที่เดินทางมาให้กำลังใจด้วย โดยทั้งหมดได้กล่าวให้กำลังใจอยู่บริเวณด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ไม่ได้เข้าไปภายในแต่อย่างใด

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตร.ไซเบอร์ ควานหามือปล่อยคลิปสาวเปลือยอกสงกรานต์

Posted: 26 Apr 2011 02:25 AM PDT

ปอท.รุด ”ซีเอสล็อคอินโฟ” ขอข้อมูลคนแพร่คลิปสาวเปลือยอกสีลมช่วงสงกรานต์ ด้านบริษัทยันไม่สนับสนุนให้มีการกระทำผิดผ่านระบบ ให้ความร่วมมือ-ระงับให้บริการเซิร์ฟเวอร์ดังกล่าวทันที

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 25 เม.ย. พ.ต.อ.สมพร แดงดี ผกก. 3 บก.ปอท.(กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) พร้อมกำลัง เดินทางเข้าขอความร่วมมือกับทางบริษัทซีเอสล็อคอินโฟ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการระบบฐานข้อมูลและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรายใหญ่ เพื่อเข้าตรวจสอบเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต [Internet data center (IDC)] อยู่ที่ชั้น 4 ของอาคารไซเบอร์เวิลด์ ถนนรัชดาภิเษก แขวงและเขตห้วยขวาง หลังพบว่ามีมือดีนำคลิปสามสาวเปลือยอกย่านสีลมมาเผยแพร่บนเว็บไซต์บิททอเร้นท์ชื่อดัง ผ่านระบบโคโล(Co-Location) ซึ่งเป็นผู้เช่าพื้นที่เข้าวางเซิร์ฟเวอร์ผ่านผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของบริษัทดังกล่าว

พ.ต.อ.สมพร เปิดเผยว่า หลังจากเมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาได้มีคลิปสามสาวเปลือยอกขณะเล่นสงกรานต์ย่านสีลมเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย จนเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมอย่างกว้างขวาง ทางบก.ปอท.จึงได้ทำการไล่ปิดเว็บไซต์ที่พบว่ามีการเผยแพร่คลิปดังกล่าว พร้อมทั้งสืบสวนหาตัวผู้ที่นำคลิปไปเผยแพร่ โดยได้ประสานขอความร่วมมือไปยังนายอัครเดช วัชระภูพงษ์ อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้ช่วยตรวจสอบหาต้นตอของแหล่งเผยแพร่คลิปดังกล่าว จากการตรวจสอบพบว่ามีมือดีนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ www.2bbit.com เว็บบิททอเร้นท์ชื่อดัง ซึ่งเว็บไซต์ดังกล่าวได้มีการเช่าพื้นที่ในการวางเซิร์ฟเวอร์ผ่านผู้ให้บริการระบบฐานข้อมูลและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของทางบริษัทซีเอสล็อกอินโฟจึงได้เดินทางเข้าขอข้อมูล

ผกก. 3 บก.ปอท.กล่าวอีกว่า จากข้อมูลขอทางบริษัทซีเอสฯระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวได้มีผู้เช่าพื้นที่การให้บริการอย่างถูกต้อง แต่หลังทำสัญญาอาจมีการนำไปให้เช่าต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งในทางกฎหมายทางบริษัทซีเอสฯไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด เนื่องจากเป็นเพียงบริษัทที่รับฝากเครื่องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ภายในศูนย์ข้อมูลฯ หรือ IDC (Internet data center) และให้บริการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของบริษัทเท่านั้น  ในวันนี้จึงมาขอความร่วมมือกับทางบริษัทซีเอสฯเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับระบบโคโล (Co-Location)เพื่อสาวไปถึงตัวบุคคลที่กระทำความผิด ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนตัวเซิร์ฟเวอร์นั้นจะมีการขอหมายค้นจากศาลเพื่อเข้าตรวจสอบต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถจับกุมบุคคลที่เป็นต้นตอในการเผยแพร่คลิปมาดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้ และทั้งนี้สำหรับผู้ที่ดาวน์โหลดคลิปดังกล่าวไปแล้วมีการนำไปเผยแพร่ต่อก็ถือว่ามีความผิดเช่นกัน

ด้านนายอัครเดช เปิดเผยว่า ตนได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ ปอท.ให้ช่วยตรวจสอบหาที่มาที่ไปของการเผยแพร่คลิป3สาวเต้นเปลือยอกที่สีลม เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเผยแพร่ต่อไปเป็นวงกว้าง โดยทางเทคนิคแล้วสามารถตรวจสอบไปถึงบุคคลต้นตอที่เผยแพร่ได้ แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตและเจ้าของเซิร์ฟเวอร์

ส่วนตัวแทนของบริษัทซีเอสล็อกอินโฟ กล่าวว่า ทั้งนี้นโยบายของบริษัทไม่สนับสนุนให้มีการกระทำความผิดใดๆ ผ่านระบบการให้บริการทางอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว หลังการประสานมาของเจ้าหน้าที่ ปอท. ทางบริษัทฯก็ยินดีให้ความร่วมมือ รวมถึงได้มีการระงับการให้บริการของเซิร์ฟเวอร์ดังกล่าวทันที

ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พีมูฟชุมนุมหน้าศาลากลางเชียงใหม่ เรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหาความเดือดร้อน

Posted: 26 Apr 2011 02:12 AM PDT

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมภาคเหนือ ชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเดือดร้อนหลังจากไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา

26 เม.ย. 54 - ตัวแทนประชาชนจากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ภาคเหนือ (ขปส.) นำโดยนายธนา ยะโสภา สมาชิกสภาเทศบาลตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน พร้อมตัวแทนจากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน รวมตัวที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ประชาชนเคยร้องขอและยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น กรณีโฉนดชุมชน ซึ่งประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติให้เป็นชุมชนนำร่องตามนโยบายโฉนดชุมชน ยังไม่ได้รับความคุ้มครองและยังถูกดำเนินคดี กรณีโครงการบ้านมั่นคงคนไร้บ้าน ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องที่ดินจากกระทรวงการคลังทำให้ไม่สามารถนำงบประมาณมาใช้แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยได้ กรณีกองทุนธนาคารที่ดินนำร่อง 5 พื้นที่ภาคเหนือ ยังไม่สามารถตั้งสถาบันได้ ทำให้ยังไม่สามารถนำงบประมาณ 167 ล้านบาทมาใช้แก้ปัญหาที่ดินของพื้นที่ภาคเหนือได้ รวมทั้งกรณีเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบบ้านสันตับเต่า อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูนและการตรวจสอบแนวป่าสงวนแห่งชาติบ้านโป่ง ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทรายจังหวัดเชียงใหม่และอื่น ๆ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวพร้อม ๆ กับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมทั่วประเทศ เพื่อให้รัฐบาลเร่งรัด หาทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน

สำหรับเรื่องดังกล่าว หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ลงมารับเรื่องและกล่าวว่าจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีตามขั้นตอน ผู้ชุมนุมพอใจจึงสลายตัวไปในเวลาต่อมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เจ้าหน้าที่บุกค้น-ยึด วิทยุชุมชนเสื้อแดงหลายแห่ง (อัพเดท 22.00)

Posted: 26 Apr 2011 12:48 AM PDT

กอ.รมน.- กสทช. - กองบังคับการปราบปรามและตำรวจท้องที่ สนธิกำลังนำหมายศาลกระจายเข้าตรวจค้นสถานีวิทยุชุมชนที่เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสถานีวิทยุที่กระจายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต รวม 13 แห่ง ในพื้นที่  กทม. 7 แห่ง

เผย กอ.รมน. แม่งานสนธิกำลังหลายหน่วยค้นวิทยุชุมชน 13 แห่ง กทม.และปริมณฑล

เมื่อเวลา 19.06 น. โพสต์ทูเดย์รายงานว่าชุดปฏิบัติการร่วมซึ่งประกอบกำลังจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) และตำรวจท้องที่ ได้นำหมายศาล กระจายกำลังกันเข้าตรวจค้นสถานีวิทยุชุมชนที่เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสถานีวิทยุที่กระจายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต รวม 13 แห่ง ในพื้นที่  กทม. 7 แห่ง

ประกอบด้วย 1.หมู่บ้านเฟรนชิพ ซอย 13 ถนนประเสริฐมนูกิจ ซอย 29 แยก 2 แขวงและเขตลาดพร้าว กทม. 2.ร้านค้าสมุนไพรชัยมงคล เลขที่ 69/31 ซอยรามอินทรา 30 แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กทม.ท้องที่ สน.โคกคราม

3.ตลาดวงศกร ถนนสายไหม ซอย 19 ล็อก อี 9-10 แขวงและเขตสายไหม กทม.ท้องที่ สน.สายไหม 4.อาคาพาณิชย์โรงภาพยนตร์เก่า เลขที่ 15/285 ซอยโชคชัย 4 แยก 3 ถนนลาดพร้าว ซอย 47 แขวงและเขตลาดพร้าว กทม. 5.อาคารวังหินเพลส ซอยลาดพร้าว-วังหิน 79 แขวงและเขตลาดพร้าว กทม.

6.บริษัท ไทยทรัพย์เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด เลขที่ 16/149 ถนนลาดพร้าว-วังหิน ซอย 8 แขวงและเขตลาดพร้าว กทม.ท้องที่ สน.โชคชัย โดยจุดนี้เป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุชุมชน “รวมใจไทย” FM.105.75 เมกะเฮิร์ต และสามารถจับกุมตัว “เล็ก สุพรรณ” ผู้ดำเนินรายการ (ดีเจ) ไว้ได้ และ 7.วัดวิมุตยาราม ถนนจรัญสนิทวงศ์ ซอย 98 แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กทม.พื้นที่ สน.บางพลัด ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ยึดอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการกระจายเสียงไว้ดำเนินคดีในข้อหา มี ใช้ และตั้งเครื่องส่งวิทยุโดยไม่ได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ กำลังเจ้าหน้าที่ยังเข้าตรวจค้นสถานีวิทยุชุมชน ในพื้นที่ปริมณฑลอีก 6 แห่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบอย่างละเอียด และหากพบการกระทำผิดก็จะยึดอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับนำตัวผู้รับผิดชอบส่งพนักงานสอบสวนแต่ละท้องที่ดำเนินคดีต่อไป

สำหรับการเข้าตรวจค้นครั้งนี้ สืบเนื่องจาก กอ.รมน.ตรวจสอบพบว่ามีสถานีวิทยุชุมชนต่างๆ หลายแห่งที่ดำเนินการเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย จึงนำข้อมูลประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยทาง สตช.ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบช.ก. เป็นผู้รับผิดชอบ อย่างไรก็ดี ภายหลังการตรวจค้นเสร็จสิ้นชุดปฏิบัติการจะประมวลเรื่อง เพื่อรายงาน สตช.ทราบผลอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่เว็บไซต์มติชน ระบุว่า พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ( ตร.) กล่าวถึงกรณีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกับวิทยุชุมชน 12 คลื่นความถี่ ที่นำเทปการปราศรัยเข้าข่ายผิดกฎหมายของนายจุตพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไปเผยแพร่ว่า หลังจากรับเรื่องจาก กอ.รมน. พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.สั่งหน่วยที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบและติดตามจับกุมดำเนินคดีแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

ตร.สภ.คูคต เผย สั่งปิด วิทยุชุมชนคนเสื้อแดงแล้ว 1 แห่ง หลัง เจ้าหน้าที่ กสทช. แจ้งความ ไม่มีใบอนุญาต ตามกฎหมาย

เมื่อเวลา 17.15 น. สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงาน ว่า พ.ต.ท.อุดม สุขประเสริฐ สารวัตรสืบสวนสอบสวน สภ.คูคต จ.ปทุมธานี เปิดเผยว่า เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ กสทช. เข้าแจ้งความเรื่อง วิทยุของกลุ่มคนเสื้อแดง เผยแพร่ โดยไม่มีใบอนุญาตตามกฎหมายจึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ จึงได้นำกำลังเข้าตรวจค้นสถานีวิทยุชมุชน 105.40 ย่านลำลูกกา ก็พบว่า คลื่นวิทยุดังกล่าว ไม่มีใบอนุญาตตามกฎหมาย จึงดำเนินการยึดเครื่องออกอากาศ และสั่งงดอากาศ ตั้งแต่ขณะนี้เป็นต้นไป รวมทั้งดำเนินคดีกับเจ้าของสถานีวิทยุด้วย ส่วนความผิดในข้อหาอื่นนั้น อยู่ในระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้กระจายกำลังตรวจค้น สถานีวิทยุชุมชนของกลุ่มคนเสื้อแดงใน กทม.และปริมณฑลอีกหลายแห่ง เนื่องจากเปิดเผยแพร่ข้อมูล แต่ไม่มีใบอนุญาตตามกฎหมาย โดยมีเจ้าหน้าที่ กสทช. เข้าแจ้งความแต่ละพื้นที่

ตร.ระบุแค่ตรวจค้น สถานีสำโรงโวยโดนจับกุม 1 คน สถานลาดพร้าววุ่นเจอมวลชนสกัด

เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. ช่องเอเชียอัพเดตรายงานเหตุการณ์การบุกค้นสถานีวิทยุชุมชนเสื้อแดงเมื่อช่วงบ่ายว่า พ.ต.อ.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒน์เศรษฐ์ ผกก.สภ.สำโรงเหนือ ได้เดินทางมาที่ตึกโจนาทาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุชุมชนเพื่อประชาธิปไตย คลื่น 97.25 โดยระบุว่า มาตามที่ได้รับมอบหมาย เนื่องจากสถานีเปิดโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. ทั้งนี้ ยังไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ยึดเครื่องใดๆ ก่อนจะเดินทางกลับไปโดยไม่มีเหตุปะทะ ขณะที่ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงจำนวนมากได้เดินทางไปที่สถานีดังกล่าว
 
ขณะที่นางอัมพร (สงวนนามสกุล) จากสถานีวิทยุชุมชนสำโรง สมุทรปรากร “สถานีวิทยุเพื่อประชาชน 97.25 MHz” ให้ข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองปราบฯ และจากสน.สำโรงเหนือ ได้นำหมายศาลเข้าบุกค้นสถานีเพื่อตรวจดูใบอนุญาต ซึ่งสถานีมีใบอนุญาตให้ทดลองออกอากาศชั่วคราว (สีเหลือง) เพราะหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้อนุญาตล้วนแต่ระบุว่าต้องรอ กสทช. และขณะนี้ทางสถานีอยู่ระหว่างการดำเนินการย้ายสถานีจากที่เดิมมายังที่ใหม่ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน  แต่ยังไม่เรียบร้อย ทางสถานีได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วว่าจะหยุดออกกากาศจนกว่าเอกสารจะเรียบร้อย แต่เจ้าหน้าบุกเข้ามาพอดี และได้จับกุมเจ้าหน้าที่สถานีไป 1 คน มีการแจ้งข้อกล่าวหาซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าข้อหาใด แต่ทราบว่าได้รับการประกันตัวแล้ว
 
ทั้งนี้ สถานีวิทยุเพื่อประชาชนที่สำโรงนั้นเปิดทำการมาจนกระทั่งปิดตัวไปหลังการสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตขต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว (2553) และเพิ่งมาเปิดทำการอีกครั้งเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2554
 


ภาพเจ้าหน้าที่ขณะกำลังยึดอุปกรณ์ที่สถานีวิทยุชุมชนรวมใจไทย

 
ขณะที่สถานี “รวมใจไทย FM 105.75 MHz” ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนลาดพร้าว-วังหิน ซอย 8 ดำเนินการโดย “เล็ก สุพรรณ”  เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกค้น และยึดเครื่องส่งสัญญาณ คอมพิวเตอร์ไปด้วย ขณะที่สื่อมวลชนระบุมีการจับกุม “เล็ก สุพรรณ” เจ้าของสถานีด้วย
 
รายงานข่าวแจ้งว่า ในละแวกเดียวกันบริเวณซอย ซอยลาดพร้าว-วังหิน 79 ในเวลาประมาณ 17.00 น. สถานี “คนไทยหัวใจเดียวกัน” FM 102.75 MHz เจ้าหน้าที่ตำรวจราว 20 นาย พร้อมหมายค้นเข้าตรวจค้นที่ทำการสถานีดังกล่าว แต่สถานทีปิดและไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ ขณะเดียวกันชาวบ้านที่อยู่ในละแวกดังกล่าวหลายสิบคนทราบข่าวได้เข้ามามาปิดกั้นเจ้าหน้าที่ จนต้องมีการเจรจากันอยู่ราว 1 ชม. เจ้าหน้าที่จึงลงบันทึกว่าเข้ามายังสถานีแล้วแต่ไม่สามารถเข้าตรวจค้นได้


มวลชนหน้าสถานีวิทยุุคนไทยหัวใจเดียวกัน


ห้องส่งสถานีวิทยุปิด เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าได้

 
 
บุกค้น-ยึด วิทยุชุมชนเสื้อแดง หลายแห่ง

เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ช่องเอเชียอัพเดท เผยแพร่ตัววิ่ง ระบุว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าตรวจค้นสถานีวิทยุชุมชนเสื้อแดง 13 แห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาทิ วิทยุชุมชนสื่อบ้านเรือนไทย ลำลูกกา คลอง3 คลื่น 105.40 วิทยุชุมชนคนลำลูกกา คลอง4 คลื่น 96.35 คลื่นวิทยุชุมชนเพื่อประชาธิปไตย สำโรง คลื่น 97.25 โดยระบุว่า ขอกำลังไปช่วยปกป้องวิทยุชุมชนดังกล่าว

จากการโทรศัพท์สัมภาษณ์ นายพลท เฉลิมแสน หนึ่งในทีมดูแลสถานีวิทยุชุมชนย่านลำลูกกา คลื่น 105.40 ระบุว่า มีกำลังเจ้าหน้าที่ประมาณ 20-30 นายจากดีเอสไอ กสทช. กองปราบฯ สน.คูคต เข้ามาที่สำนักงานเมื่อเวลาประมาณ 12.00น. พร้อมหมายศาล โดยเข้ายึดเครื่องส่ง ไมโครโฟน คอมพิวเตอร์ มิกเซอร์และตัวแปลงสัญญาณของสถานี ไปไว้ที่ สน.คูคต

นายพลท กล่าวว่า สำหรับสถานีวิทยุชุมชน 105.40 เคยเปิดทำการมาช่วงหนึ่ง และปิดซ่อมไป ก่อนจะกลับมาเปิดอีกครั้งเมื่อประมาณหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ไม่มีผังรายการที่ชัดเจน

นายพลท แสดงความกังวลว่า การบุกสถานีวิทยุชุมชนเสื้อแดง 13 แห่งในครั้งนี้ อาจเป็นสัญญาณการยึดอำนาจ โดยเริ่มจากการปิดสื่อเสื้อแดงก่อน

ทั้งนี้  เบื้องต้นทราบว่ามีการแจ้งข้อหา มีเครื่องมือสื่อสารและตั้งสถานีโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

 

 

อัพเดทข่าวเมื่อเวลา 22.20 น.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ม.เที่ยงคืน: การคุกคามเสรีภาพในการแสดงความเห็นคือการคุกคามประชาธิปไตย

Posted: 25 Apr 2011 11:27 PM PDT

26 เม.ย. 54 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนออกแถลงการณ์เรื่อง การคุกคามเสรีภาพในการแสดงความเห็นคือการคุกคามประชาธิปไตย เรียกร้องให้สังคมไทยร่วมกันปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็น และร่วมกันแสดงการคัดค้านต่อบุคคล, สถาบัน, การกระทำ หรือกฎหมายใดๆ ก็ตาม ที่คุกคามต่อเสรีภาพดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่มาจากฝ่ายใดก็ตาม เพื่อให้สังคมไทยสามารถจะก้าวเดินต่อไปบนพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยเฉกเช่น นานาอารยประเทศได้อย่างสันติและเสมอภาคกัน

 

แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เรื่อง การคุกคามเสรีภาพในการแสดงความเห็นคือการคุกคามประชาธิปไตย

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมไทย เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งสำหรับการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรง เพราะช่วยให้สามารถแลกเปลี่ยน ถกเถียง โต้แย้ง ระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่มีความคิดเห็นแตกต่างเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกร่วมกัน รวมทั้งการหาข้อตกลงในการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติในระยะยาวด้วย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสมอภาคและปราศจากการคุกคามเท่านั้น ที่จะนำมาสู่การต่อรองและการสร้างกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน ส่วนการใช้อำนาจเพื่อให้บางฝ่ายมีโอกาสพูดและสื่อสารกับสังคมในขณะที่บางฝ่ายถูกปิดกั้น มีแต่จะนำไปสู่ความแค้นเคืองและขยายความขัดแย้งให้สูงขึ้น เพราะตอกย้ำความไม่เป็นธรรมที่มีอยู่แล้วให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อส่วนรวมแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นจากฝ่ายผู้ถืออำนาจรัฐกลับทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน ทั้งโดยการใช้อำนาจนอกกฎหมายและอำนาจตามกฎหมาย ทั้งที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดแจ้งและอย่างแฝงเร้น ทำให้มีคนจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับการคุกคามหรือแม้แต่การจับกุมคุมขังเมื่อมีการแสดงความเห็นของตนออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการดำเนินการหลายรูปแบบเพื่อปิดปากประชาชนภายใต้ข้อกล่าวอ้างเรื่องความจงรักภักดีและการปกป้องสถาบัน รวมทั้งกรณีการเคลื่อนไหวของนายทหารบางกลุ่มในระยะนี้

สังคมไทยพึงตระหนักว่า กฎหมายของไทยมิได้เปิดให้มีการใส่ร้ายป้ายสีต่อบุคคลหรือสถาบันใดๆ ได้อย่างเสรี ตรงกันข้าม มีกฎเกณฑ์และบทลงโทษอย่างรุนแรงอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่ทหารจะต้องออกมาสำแดงกำลังแม้แต่น้อย อนึ่ง ในฐานะหน่วยราชการหน้าที่หลักขององค์กรทหารย่อมอยู่ที่การปกป้องอธิปไตยของชาติ สถาบันทหารควรหลีกเลี่ยงจากการกระทำใดๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงบทบาทในทางการเมือง เพื่อป้องกันการนำสถาบันทหารเข้ามาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ของบุคคลหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

ในสังคมประชาธิปไตย บุคคลและสถาบันใดก็ตามที่เข้ามามีบทบาทและใช้อำนาจในทางการเมืองย่อมไม่อาจพ้นไปจากการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสังคมได้ เพราะในสังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลายซับซ้อน การใช้อำนาจไม่ว่าจะเป็นไปด้วยเจตนาดีเพียงใด ก็ย่อมมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ หรือย่อมส่งผลดีในบางด้านและส่งผลเสียในบางด้าน การวิพากษ์วิจารณ์เพื่อต่อรองหรือเพื่อตรวจสอบตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง การใช้อำนาจโดยไม่ต้องการถูกวิพากษ์วิจารณ์ แตะต้อง หรือถูกตรวจสอบจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในโลกปัจจุบัน ความพยายามในการปิดปากผู้คนต่อการแสดงความเห็นตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม จึงไม่เพียงแต่เป็นการคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นของบุคคลเท่านั้น หากยังหมายความถึงการคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างสำคัญ

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอเรียกร้องให้สังคมไทยร่วมกันปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็น และร่วมกันแสดงการคัดค้านต่อบุคคล, สถาบัน, การกระทำ หรือกฎหมายใดๆ ก็ตาม ที่คุกคามต่อเสรีภาพดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่มาจากฝ่ายใดก็ตาม เพื่อให้สังคมไทยสามารถจะก้าวเดินต่อไปบนพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยเฉกเช่นนานาอารยประเทศได้อย่างสันติและเสมอภาคกัน


มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
26 เมษายน 2554

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทบาทตุลาการในการใช้อำนาจบริหารตามร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

Posted: 25 Apr 2011 08:42 PM PDT

 
ชื่อบทความเดิม: บทบาทตุลาการในการใช้อำนาจบริหารตามร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... [1]
 
ในช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำลังจะประกาศยุบสภา [2] สภาผู้แทนราษฎรได้เร่งดำเนินการออกกฎหมายซึ่งสำคัญๆหลายฉบับ รวมถึงร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และอาจจะผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2554 ที่ผ่านมาหากวันดังกล่าวสภาผู้แทนราษฎรครบองค์ประชุม อย่างไรก็ตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังมีประเด็นที่ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และสังคมมีความคิดเห็นที่แตกต่างและยังขัดแย้งกันหลายประการ
 
ประเด็นหนึ่งซึ่งทางเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบการปกครองของประเทศ หากรัฐยังพยายามผ่านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ. ... ฉบับดังกล่าวออกมา คือ การที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้สถาบันตุลาการเข้ามามีบทบาทหลักในการใช้อำนาจทางบริหาร เกี่ยวกับการควบคุมการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน ซึ่งเป็นการบัญญัติกฎหมายที่ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักนิติรัฐ ส่งผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยร่างพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้สถาบันตุลาการเข้ามาใช้อำนาจทางบริหารในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้
 
กรณีที่หนึ่ง อำนาจในการสั่งห้ามการชุมนุม ก่อนที่จะมีการชุมนุมสาธารณะหากเห็นว่าการชุมนุมนั้นขัดต่อมาตรา 8 (มาตรา 13)
 
เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... นี้ได้กำหนดหน้าที่ให้กับผู้ซึ่งประสงค์จะจัดการชุมนุมแจ้งการชุมนุมก่อนมีการชุมนุม 48 ชั่วโมง ซึ่งผู้รับแจ้งการชุมนุม (หัวหน้าสถานีตำรวจหรือบุคคลตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด) จะต้องพิจารณาว่าการชุมนุมดังกล่าวนั้นขัดต่อมาตรา 8 ซึ่งกำหนดให้ห้ามการชุมนุมสาธารณะเข้าไปหรือกีดขวางทางเข้าออก สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท สถานที่พักของผู้สำเร็จราชการ พระราชอาคันตุกะ หน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน สถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา ศาสนสถาน สถานฑูต สถานกงสุล องค์การระหว่างประเทศ หรือไม่
 
หากผู้รับแจ้งการชุมนุมเห็นว่าการชุมนุมนั้นขัดต่อมาตรา 8 ผู้รับแจ้งการชุมนุมต้องยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งห้ามการชุมนุม เมื่อศาลรับคำขอให้สั่งห้ามการชุมนุมแล้วต้องรีบพิจารณาเป็นการด่วน คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ถือเป็นที่สุด กล่าวคือผู้ชุมนุมไม่สามารถอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อไปยังศาลสูงได้
 
กรณีที่สอง อำนาจในการพิจารณาทบทวนคำสั่งของผู้รับแจ้งในการขอผ่อนผันการแจ้งจากชุมนุม (มาตรา 14)
 
แม้ร่างกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดให้แจ้งการชุมนุม 48 ชั่วโมงก่อนมีการชุมนุม แต่ในกรณีที่ประชาชนต้องการชุมนุมก่อนระยะเวลาดังกล่าวร่างกฎหมายฉบับนี้ก็เปิดช่องให้มีการขออนุญาตผ่อนผันระยะเวลาในการแจ้งการชุมนุมได้ ซึ่งเมื่อผู้รับแจ้งพิจารณาคำขอผ่อนผันการแจ้งการชุมนุมแล้วมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งไป หากผู้ชุมนุมไม่เห็นด้วยกับคำสั่งคำขอผ่อนผันการแจ้งการชุมนุมดังกล่าว ผู้ชุมนุมสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขอผ่อนผันการชุมนุมนั้นได้ โดยคำสั่งศาลในการพิจารณาคำขอผ่อนผันการชุมนุมนั้นเป็นที่สุด
 
กรณีที่สาม อำนาจในการออกคำสั่งบังคับให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมหรือยุติการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย(มาตรา 24 และมาตรา 25)
 
ในกรณีที่มีการชุมนุมสาธารณะซึ่งศาลได้สั่งห้ามการชุมนุมหลังจากเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ผ่อนผันการแจ้งการชุมนุม หรือการชุมนุมที่จัดขึ้นระหว่างการรอคำสั่งศาลตามกรณีที่หนึ่ง และกรณีที่สองดังกล่าวข้างต้นถือเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย [3] หรือในกรณีที่ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามมาตรา 8 เข้าไปในสถานที่ต่างๆ ซึ่งห้ามไว้เจ้าหน้าที่สามารถประกาศให้ผู้ชุมนุมแก้ไขการกระทำหรือให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมได้
 
หากผู้ชุมนุมไม่ยอมทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่สามารถร้องขอให้ศาลสั่งเลิกการชุมนุมได้ หรือหากมีผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการชุมนุมสาธารณะนั้น ผู้ซึ่งได้รับความเดือดร้อนสามารถร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมได้เช่นกัน และหากศาลมีคำสั่งเป็นอย่างไรแล้วคำสั่งนั้นเป็นที่สุด
 
กรณีที่สี่ อำนาจพิจารณาคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการกระทำใดๆ (มาตรา 28)
 
กรณีที่ผู้ชุมนุมกระทำการใดที่อาจมีลักษณะรุนแรง และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือ ทรัพย์สินของผู้อื่นจนเกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง เจ้าหน้าที่สามารถสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการกระทำนั้นได้ และในกรณีที่ผู้ชุมนุมไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว ผู้ชุมนุมสามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลให้ศาลพิจารณาได้ และคำสั่งศาลตามมาตรานี้ถือเป็นที่สุด
 
การกำหนดให้ศาลใช้อำนาจหน้าที่สั่งห้ามการชุมนุม หรือสั่งเลิกการชุมนุมดังที่กล่าวมาข้างต้นจึงขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ ทั้งนี้เนื่องจากฝ่ายตุลาการมีหน้าที่ในการชี้ขาดข้อพิพาท ต้องรักษาความเป็นอิสระและเป็นกลาง จึงไม่สามารถทำหน้าที่ในการบริหารบ้านเมือง รวมถึงการทำหน้าที่ในการควบคุมการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนดังกล่าวได้ และโดยหลักการแล้วฝ่ายบริหารจำเป็นต้องใช้อำนาจหน้าที่ของตนในการจัดการการชุมนุมตามที่ฝ่ายบริหารเห็นสมควรไปก่อน จากนั้นฝ่ายตุลาการจึงเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารว่าการกระทำของฝ่ายบริหารนั้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อีกชั้นหนึ่ง และในฝ่ายตุลาการเองก็ยังจำเป็นต้องมีการตรวจสอบโดยศาลสูงขึ้นไป จึงจะถือได้ว่ารัฐนั้นปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจและหลักนิติรัฐในการปกครองประเทศอย่างแท้จริง แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวกลับกำหนดให้คำสั่งศาลในกรณีที่กล่าวมานั้นเป็นที่สุด ไม่สามารถถูกตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวได้อีก อันจะส่งผลให้ศาลที่ควรเป็นองค์กรชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายบริหารกับประชาชน เปลี่ยนสถานะมาเป็นคู่พิพาทหรือคู่ขัดแย้งกับประชาชนเสียเอง เช่นนี้แล้วสถาบันตุลาการจะยังคงความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชนได้อยู่หรือไม่
 
ทั้งนี้ แม้เจตนาผู้ร่างกฎหมายจะต้องการให้องค์กรตุลาการเข้ามาตรวจสอบการกระทำของฝ่ายบริหารเพื่อเป็นการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่การเข้ามาใช้อำนาจทางบริหารของฝ่ายตุลาการจะทำให้ฝ่ายตุลาการมีอำนาจทั้งทางบริหารและตุลาการเบ็ดเสร็จภายในองค์กรเดียว ซึ่งเป็นการทำลายสมดุลของอำนาจการปกครองของประเทศ เพราะหลักการแย่งแยกอำนาจได้แยกอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ออกจากกันเพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไปและมีการตรวจสอบอำนาจซึ่งกันและกัน เนื่องจากโดยธรรมชาติการมีอำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบนั้นย่อมทำให้การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้
 
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นขอยกตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันเปรียบเทียบกับร่างกฎหมายฉบับนี้ สมมติว่ามีกลุ่มประชาชนกลุ่มหนึ่งมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกเนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้ รัฐบาลเห็นว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากมาชุมนุมในสถานที่ราชการจึงทำการสลายการชุมนุมผู้ที่มาเรียกร้องตามข้อเสนอดังกล่าว
 
หากเป็นช่วงเวลาปัจจุบันนี้ รัฐจะเป็นผู้พิจารณาเองว่าจะทำการสลายการชุมนุมหรือไม่และหากมีการสลายการชุมนุม ประชาชนก็มีสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งปัจจุบันศาลปกครองจะทำหน้าที่ในการพิจารณา และศาลปกครองสูงสุดจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบศาลปกครองอีกชั้นหนึ่ง โดยช่วงเวลาที่ศาลพิจารณาคดีดังกล่าวจะผ่านช่วงเวลาที่เหตุการณ์เกิดขึ้นมาแล้ว ศาลจะมีข้อเท็จจริง มีระยะเวลาที่เพียงพอและปราศจากแรงกดดันของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่หากร่างพระราชบัญญัติฯฉบับนี้ออกมาบังคับใช้แล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องร้องขอต่อศาลให้สั่งเลิกการชุมนุมสาธารณะนั้น ซึ่งศาลต้องพิจารณาว่าจะสั่งให้เลิกการชุมนุม ให้ยุติการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือสั่งยกคำขอ ภายในช่วงเวลากระชั้นชิด อาจทำให้ได้ข้อมูลไม่รอบด้าน รวมถึงมีแรงกดดันของสถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว และเมื่อศาลมีคำสั่งศาลอย่างใดไปในเวลานั้นแล้ว จะไม่มีฝ่ายใดสามารถตรวจสอบสั่งนั้นได้อีก เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะถูกลิดรอนมากยิ่งขึ้น
 
โดยสรุป ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... สร้างกลไกในการจัดการการชุมนุมโดยให้ฝ่ายตุลาการมาใช้อำนาจหน้าที่ในทางบริหาร ซึ่งเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจอันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของหลักนิติรัฐ และหลักประชาธิปไตย ซึ่งนิติรัฐย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยในระบบการปกครองที่ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจ ไม่มีการควบคุมตรวจสอบซึ่งกันและกันระหว่างอำนาจ
 
ร่างกฎหมายที่มีสาระสำคัญเช่นนี้จึงเป็นร่างกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันตุลาการ ลิดรอนเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนโดยปราศจากระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจที่เพียงพอ และการผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอาจถือได้ว่าเป็นการทำลายหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย
 
           
อ้างอิง:
 
[1] อ้างอิงตามร่างของคณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อนมีการพิจารณาวาระที่สอง อย่างไรก็ตามในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 21 เมษายน 2554 มีการแก้ไขรายละเอียดบางประการ เช่น ระยะเวลาในการแจ้งการชุมนุมแก้ไขเป็น 24 ชั่วโมง                ตัดข้อยกเว้นในการอนุญาตให้เข้าไปชุมนุมในสถานที่ตามมาตรา 8 ฯลฯ แต่การประชุมในวันดังกล่าวองค์ประชุมไม่ครบตามกฎหมาย
[2] บทความนี้เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2554
[3] มาตรา 15 ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ....
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น