โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ชำนาญ จันทร์เรือง: มองญี่ปุ่น มองไทย

Posted: 18 Apr 2011 02:01 PM PDT

ในฐานะที่เคยศึกษาหาความรู้และใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นระยะหนึ่ง ผมมองการกู้ภัยของญี่ปุ่นภายหลังจากการประสบภัยแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับการกู้ภัยจากน้ำท่วมภาคใต้ของไทยแล้วให้ห่อเหี่ยวใจเป็นยิ่งนัก แน่นอนว่านอกจากความเป็นเลือดบูชิโดที่ทรหดอดทน และมีความเป็นระเบียบวินัยแล้ว อย่างอื่นญี่ปุ่นแทบจะไม่มีอะไรเหนือกว่าไทยเลย นอกจากการมีการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็งโดยไม่มีราชการส่วนภูมิภาค อีกทั้งการเปิดประเทศของญี่ปุ่นยังเปิดทีหลังไทยเสียอีก รถไฟก็เข้ามาพร้อมๆกัน มิหนำซ้ำญี่ปุ่นยังตกเป็นประเทศแพ้สงครามโลกโดนระเบิดปรมาณูถล่มที่ฮิโรชิมาและนางาซากิเสียหายอย่างยับเยิน

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่อยู่ในทวีปเอเชีย มีรูปแบบของรัฐเป็นรัฐเดี่ยว และปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีองค์พระจักรพรรดิหรือกษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำในการบริหารประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทย

ญี่ปุ่นจัดโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 2 ส่วน คือ การบริหารราชการส่วนกลาง และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างจากไทยที่มีการบริหารราชการส่วนภูมิภาครวมอยู่ด้วย

การบริหารราชการส่วนกลาง
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบรัฐสภา มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำในการบริหารประเทศ รัฐสภาเป็นระบบ 2 สภา ประกอบด้วยวุฒิสภา (House of Councilor) และสภาผู้แทนราษฎร (House of Representative) สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 480 คน โดยมาจากการเลือกตั้งแบบเขตละ 1 คน จำนวน 300 คน อีก 180 คน มาจากการเลือกตั้งในระบบสัดส่วน มีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี

ฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า ซึ่งมาจากหัวหน้าพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารประเทศร่วมกับคณะรัฐมนตรี ดูแลรับผิดชอบกระทรวงและหน่วยงานต่างๆที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวงทั้งหมด 11 กระทรวง

การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
การปกครองท้องถิ่นของญี่ปุ่นได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 1947 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยคณะผู้ยึดครองของสหรัฐฯ ที่เข้ามาจัดระเบียบทางการเมือง การบริหาร และระบบเศรษฐกิจ หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติให้การปกครองท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของระบบการปกครองของรัฐ และยังมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นเป็นการเฉพาะอีกด้วย คือกฎหมายปกครองตนเองของท้องถิ่น (Local Autonomy Law) ซึ่งประกาศใช้ในปีเดียวกับรัฐธรรมนูญ

กฎหมายปกครองตนเองส่วนท้องถิ่น จัดระดับชั้นการปกครองท้องถิ่นของญี่ปุ่นออกเป็น 2 ชั้น (Two-Teir System) คือ ระดับบน (Upper Tier) ได้แก่ จังหวัด (Prefecture) และ ระดับล่าง (Lower Tier) ได้แก่ เทศบาล (Municipal) จึงมีผลทำให้จังหวัดมีพื้นที่ในการดำเนินงานครอบคลุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาลทั้งหมดที่ขึ้นตรงต่อจังหวัด

อย่างไรก็ตาม จังหวัดและเทศบาลมีสถานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เท่าเทียมกัน ไม่ได้หมายความว่าเทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้สังกัดจังหวัดเพียงแต่แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกัน ดังนั้น จังหวัดจึงมีอำนาจเพียงให้คำแนะนำและแนวทางแก่เทศบาลเท่านั้น ไม่สามารถใช้อำนาจสั่งการเทศบาลได้

อำนาจหน้าที่ของจังหวัด มีในเรื่องที่เกี่ยวกับ กิจการตำรวจซึ่งบริหารงานโดยคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ / การควบคุมดูแลโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การวางผังเมือง ถนนทางหลวง แม่น้ำ เคหะชุมชน ฯลฯ ซึ่งผังเมืองเชียงใหม่หมดอายุไปตั้ง 5 ปีแล้วยังประกาศใช้ใหม่ไม่ได้เลยเพราะติดอยู่ที่กรมโยธาธิการและ ผังเมืองที่นั่งเขียนอยู่ที่กรุงเทพ/ บริหารจัดการโรงเรียนมัธยมปลาย การจัดสรรเงินเดือนและสวัสดิการของครู/ สวัสดิการสังคม ได้แก่ สวัสดิการเด็ก สวัสดิการผู้สูงอายุ/ การสาธารณสุขและอนามัย / การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม เช่น การสร้างศูนย์อุตสาหกรรมเพื่อดึงดูดการลงทุน ฯลฯ

หัวหน้าฝ่ายบริหารของจังหวัด คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด (Governor) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี สามารถแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติงานได้ โดยต้องให้สภาจังหวัดให้การรับรองก่อนเข้ารับตำแหน่ง

อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด มีในเรื่องที่เกี่ยวกับการเสนอร่างกฎหมายต่างๆเพื่อให้สภาจังหวัดพิจารณา/การเสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อให้สภาจังหวัดอนุมัติและบริหารงบประมาณตามที่ได้รับการอนุมัติ/ จัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม และค่าปรับต่างๆแล้วส่งส่วนกลาง 40.3 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ 59.7 เปอร์เซ็นต์เก็บไว้บริหารจังหวัด ซึ่งตรงกันข้ามกับของไทยที่กรมสรรพากรเป็นผู้เก็บแล้วส่งกลับมาตามแต่ใครจะมีฝีมือในการล็อบบี โดยเหลือภาษีเล็กๆน้อยๆให้ท้องถิ่นไว้แทะกระดูก เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือน ฯลฯ แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 40 จะเคยบัญญัติให้ตั้งงบประมาณแผ่นดินให้ท้องถิ่นร้อยละ 35 แต่ รัฐธรรมนูญปี 50 ก็แกล้งลืมไปเสีย ปัจจุบันงบประมาณที่ให้ท้องถิ่นของไทยเราอยู่ที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น น่าอายจีนที่ถึงแม้นว่าจะเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ยังคืนให้ท้องถิ่นถึง 69 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลางเอาไปเพียง 31 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดยังมีอำนาจในการอนุมัติสัญญา จัดตั้ง บริหารกิจการสาธารณะและยุบเลิกกิจการสาธารณะ/ แต่งตั้งและปลดรองผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งไทยเราทำไม่ได้ อย่าว่าแต่แต่งตั้งหรือปลดรองผู้ว่าฯเลย ย้ายยังทำไม่ได้เลย ที่เชียงใหม่สมัย 10 กว่าปีมาแล้ว ผู้ว่ากับรองผู้ว่าไม่ถูกกัน ต่างคนต่างเส้นใหญ่ทั้งคู่ ย้ายก็ไม่ได้ ผู้ว่าเลยไม่มอบงานให้ทำเสียอย่างนั้น รองผู้ว่าก็เลยกินเงินเดือนฟรีโดยไม่มีงานทำ/ แต่งตั้งและบริหารเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่น/ อำนาจในการยุบสภาจังหวัด ซึ่งบ้านเราต้องรายงานกระทรวงมหาดไทย

ที่สำคัญที่ข้าราชการภูมิภาคทั้งหลายในปัจจุบันที่กังวลว่าเมื่อมีการรณรงค์ให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคก็คือจะเอาข้าราชการส่วนภูมิภาคไปไว้ไหน ซึ่งในเรื่องนี้อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดของญี่ปุ่นจะดูแลข้าราชการที่สังกัดส่วนกลาง(ซึ่งน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นหน่วยงานด้านวิชาการ)ที่ทำงานอยู่ในจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะเป็นตัวแทนรัฐบาลกลางเพื่อดำเนินกิจการแทนให้สำเร็จลุล่วงตามกฎระเบียบและแนวทางที่รัฐบาลกลางวางไว้เพราะจังหวัดมิใช่รัฐอิสระแต่อย่างใด ส่วนข้าราชการที่เหลือทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นข้าราชการที่สังกัดจังหวัดขึ้นการบังคับบัญชากับผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะถูกกลั่นแกล้งโยกย้ายข้ามประเทศเหมือนไทยเรา

จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นเป็นรัฐเดี่ยวเหมือนกับเรา มีสถาบันกษัตริย์เช่นเดียวกับเรา ใช้ระบบรัฐสภาเช่นเดียวกับเรา แต่ที่แตกต่างจากของเราคือ ญี่ปุ่นไม่มีการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเช่นเรา การแก้ไขปัญหาต่างๆสามารถแก้ไขได้อย่างฉับไว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับของไทยเราแล้วจะเห็นได้ว่าประธานคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) คือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งรวบอำนาจการช่วยเหลือและงบประมาณอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งต้องพึ่งพาการรายงานข้อมูลของข้าราชการ เช่น มีผู้เข้าเกณฑ์ได้รับการช่วยเหลือกี่ครัวเรือนในแต่ละพื้นที่ ฯลฯ ที่แย่กว่านั้นผู้ประสบภัยปีที่แล้วยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเลย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของการรวมศูนย์อำนาจที่แตกต่างจากญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิงที่ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้ในระดับที่เป็นที่น่าพอใจ มิใช่รอ การสั่งการส่วนกลางโดยผ่านราชการส่วนภูมิภาคเช่นนี้

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยเราจะต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าแทนที่จะรวมศูนย์อำนาจอยู่แต่ในส่วนกลาง เพราะการรวมศูนย์อำนาจก็คือการรวมปัญหาเข้ามา หากเราแก้ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจนี้ได้ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งก็คือการป้องกันการรัฐประหารได้อย่างชะงัด เพราะไทยเราที่ผ่านมาหากสามารถเคลื่อนรถถังเก่าๆไม่กี่คันยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์ ก็สามารถยึดอำนาจได้แล้วเพราะอำนาจมันรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง แต่หากเราให้อำนาจไปอยู่ที่ท้องถิ่นทั่วประเทศดังที่ว่าแล้ว ย่อมไม่สามารถที่จะยึดอำนาจได้โดยง่าย ดังตัวอย่างของญี่ปุ่นที่ผมยกขึ้นมาให้เห็นว่าตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายให้อำนาจแก่ท้องถิ่น ญี่ปุ่นไม่เคยมีการยึดอำนาจเลย เพราะอำนาจไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่เมืองหลวงที่เดียวเหมือนของไทย

ขณะนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่โดยเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นกับโครงการจังหวัดจัดการตนเองร่วมกับอีก 25 จังหวัดเป็น 26 จังหวัดประกอบไปด้วย 8 จังหวัดภาคเหนือ 8 จังหวัดภาคอีสาน 5 จังหวัดภาคกลางและ 5 จังหวัดภาคใต้พร้อมแล้วในการขับเคลื่อนเสนอร่างกฎหมายในปี 2555 เพื่อยกเลิกการบริหาราชการส่วนภูมิภาคโดยให้มีเฉพาะราชการส่วนกลางกับราชการส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่จังหวัดโดยใช้ญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ คือมีทั้งจังหวัดและเทศบาลที่เป็นท้องถิ่นอยู่ด้วยกัน ซึ่งแตกต่างจาก กทม.ที่มีท้องถิ่นเพียงระดับเดียวคือระดับจังหวัดเท่านั้น

แล้วจังหวัดคุณล่ะพร้อมหรือยัง

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิก น็อสติทซ์: การชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจ วันที่เสื้อแดงฟ้องประยุทธ์

Posted: 18 Apr 2011 11:12 AM PDT

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เม.ย. 2554 กลุ่มเสื้อแดงได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจสำราญราษฎร์ แถบลานคนเมือง เพื่อสนับสนุนแกนนำในการฟ้องดำเนินคดีกลับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยฟ้องร้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแกนนำเสื้อแดงหลายราย จากการปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ผมไปถึงที่นั่นก่อนเวลาอาหารเที่ยง

เสื้อแดงหลายคนอยู่ที่นั่นก่อนแล้ว แต่ถูกตำรวจสกัดกั้นไม่ให้เข้าไปในซอย ภายในซอยนั้น หน้าสถานีตำรวจมีกลุ่ม "อาสาสมัครปกป้องสถาบัน" ราว 200-300 คน กำลังชุมนุมอยู่ส่วนใหญ่ใส่ชุดสีชมพู พวกเขาถือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์และพระราชินี พร้อมทั้งร้องเพลงสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ ไม่นานนักกลุ่มอาสาฯ ก็พากันไปรวมตัวอยู่ที่ลานคนเมืองเปิดทางให้คนเสื้อแดง กลุ่มอาสาสมัครปกป้องสถาบันประกาศข้อเรียกร้องคือต้องการปกป้องระบอบกษัตริย์ สนับสนุนประชาธิปไตย และต้องการให้มีการคงไว้ซึ่งกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เรียกร้องให้ประชาชนออกมาปกป้องระบอบกษัตริย์และเรียกร้องให้นักข่าวและคนอื่นๆ ร่วมปกป้องด้วย ชื่อเต็มของกลุ่มนี้คือ "สหพันธ์คนไทยปกป้องสถาบัน" ราเชน ตระกูลเวียง แกนนำของกลุ่มอ้างว่าพวกเขามาจากกลุ่มอาสาสมัครปกป้องสถาบันจากหลายเขต

ทางด้านกลุ่มเสื้อแดงก็ยืนรอแกนนำของพวกเขาอยู่ที่หน้าสถานีตำรวจ มีเสื้อแดงไม่กี่คนยืนอยู่ตรงข้ามกับกลุ่มอาสาสมัครฯ กับตำรวจอีกเล็กน้อย ในสถานีตำรวจสมาชิกจำนวนหนึ่งของกลุ่ม "หมอตุลย์" ทำการฟ้องร้องดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับแกนนำเสื้อแดง

พวกเขาบอกว่าพวกเขาได้ยินแผนการของกลุ่มอาสาสมัครปกป้องสถาบันและตัดสินใจเข้าร่วม เพื่อแกนนำเสื้อแดง จตุพร พรมพันธ์, แรมโบ้ อีสาน, นายแพทย์ เหวง โตจิราการ และ ส.ส. อุดรธานี พรรคเพื่อไทย วิเชียร ขาวขำ มาถึง พวกเราผู้สื่อข่าวก็เข้าไปอัดกันในห้องเล็กๆ ในสถานีตำรวจ พล.ต.ต. อำนวย นิ่มมะโน ทักทายกลุ่มเสื้อแดงจากนั้นจตุพรจึงอ่านแถลงการณ์ของเขาให้ทั้งตำรวจและสื่อฟัง มีการกล่าวถึงเว็บไซต์วิกิลีกส์ และเตือนให้ระวังการสร้างสถานการณ์แบบช่วง 6 ต.ค. 2519 สื่อถูกขอร้องให้ออกไปขณะที่มีการฟ้องดำเนินคดี และมีนักข่าวเสื้อแดงคนหนึ่งบอกผมว่ามีเหตุความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างเสื้อแดงกับกลุ่มอาสาสมัครปกป้องสถาบันขึ้นบนท้องถนน

เมื่อผมไปยังลานคนเมืองห่างออกไป 200 เมตร ทั้งสองฝ่ายก็แยกจากกันแล้ว ตำรวจเล่าว่ามีแค่การด่าทอ ขว้างปาขวดน้ำไม่กี่ขวด แต่ก็ไม่มีเหตุร้ายแรงใดๆ กลุ่มอาสาสมัครปกป้องสถาบันถอยร่นไปตามถนนและสลายการชุมนุมไปในที่สุด ผมรู้สึกเป็นห่วงอย่างมากเมื่อจู่ๆ ก็มีกลุ่มคนสวมเสื้อสีชมพูและสีเหลืองออกมาจากวัดฝั่งตรงข้าม พวกเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และผมกลัวว่าบรรยากาศร้อนระอุของเสื้อแดงอาจทำให้พวกเขาเข้าใจผิดคิดว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวกับอาสาสมัครฯ เนื่องจากสัเสื้อของพวกเขา แต่กลุ่มนี้ก็ขึ้นรถเมล์ออกไปอย่างรวดเร็ว

กลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างอาสาสมัครปกป้องสถาบันนั้นไม่ควรเรียกว่าเป็นกลุ่มเดียวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ/หรือ กลุ่มย่อยของพันธมิตรฯ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ใช่กลุ่มที่แยกตัวออกมา เว้นแต่กลุ่มของหมอตุลย์ ที่มาเข้าร่วมในภายหลัง ไม่เห็นว่ามีสีหรือ 'เจ้าสำนัก' ของพันธมิตรฯ ในการชุมนุมครั้งนี้ และไม่เห็นขาประจำของพันธมิตรในที่นี้ด้วย ตั้งแต่เมื่อพันธมิตรฯ ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลครั้งหลังสุด ทั้งพันธมิตรฯ และเสื้อแดงก็พยายามอยู่กันแบบทางใครทางมัน ผู้จัดตั้งกลุ่มอาสาฯ นี้ผมคุ้นๆ ว่าเขาจะผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทยในการจัดชุมนุมก่อนหน้านี้ นอกจากนี้แล้วผู้ชุมนุมหลายคนอาจจะเป็นทหารนอกเครื่องแบบก็ได้

สถานการณ์ตอนนี้ดูจะร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง และอาจยกไปอีกระดับ สิ่งที่ทำให้ผมเป็นห่วงคือการมีอยู่ของกลุ่มที่อาศัยเสื้ออีกสีหนึ่งซึ่งคนใส่สีนั้นอาจจะเป็นคนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเลยก็ได้ ทำให้เป็นการยากที่จะแยกแยะว่าใครอยู่ในกลุ่มนี้ ใครเป็นแค่ประชาชนธรรมดาที่เพียงแค่แสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวเนื่องใดๆ ทางการเมือง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิติราษฎร์ฉบับ 19: โต้ข้ออ้างในการสนับสนุนมาตรา 112

Posted: 18 Apr 2011 10:37 AM PDT

“แม้ผู้ประเสริฐที่สุด ภายหลังจากที่เขาตายแล้ว เขาก็ยังไม่อาจได้รับการสรรเสริญเกียรติคุณได้ จนกว่าทุกเรื่องราวที่บรรดาปีศาจได้กล่าวโจมตีเขานั้นจะเป็นที่รับรู้โดย ทั่วกัน และได้รับการพิจารณาวินิจฉัยเสียก่อน”

John Stuart Mill, On Liberty, 1859. 

- 1 -

ท่ามกลางข้อเสนอให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความ ผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เรามักพบเห็นข้ออ้างของฝ่ายที่สนับสนุนให้คงมาตรา 112 ไว้ดังเดิม ข้าพเจ้าพอจะรวบรวมข้ออ้างเหล่านั้นได้ 9 ประการ และขออนุญาตโต้ข้ออ้างทั้ง 9 ดังนี้

ข้ออ้างที่ 1
มาตรา 112 ไม่ใช่เรื่องแปลก ประเทศอื่นๆที่เป็นประชาธิปไตยก็มีกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้

กฎหมายว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของ รัฐมีอยู่จริงในหลายประเทศ สำหรับประเทศที่เป็นสาธารณรัฐ ก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทประธานาธิบดี สำหรับประเทศที่มีประมุขเป็นกษัตริย์ ก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่กฎหมายของประเทศเหล่านั้นแตกต่างจากมาตรา 112 อย่างสิ้นเชิง บางประเทศมีกฎหมายความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่ไม่เคยนำมาใช้หรือไม่นำมาใช้นานแล้ว บางประเทศอาจนำมาใช้เป็นครั้งคราว แต่ก็เพียงลงโทษปรับ และทุกประเทศที่มีกฎหมายลักษณะนี้ล้วนแล้วแต่กำหนดโทษต่ำกว่ามาตรา 112 มาก1

ข้ออ้างที่ 2
นำมาตรา 112 ไปเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศไม่ได้ เพราะสถาบันกษัตริย์ของเรามีบารมีและลักษณะพิเศษ

คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้อาจเห็นกันว่า สถาบันกษัตริย์ไทยได้รับความเคารพอย่างสูง เปี่ยมด้วยบารมี เมตตาและคุณธรรม มีพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรที่ดีงาม และพสกนิกรชาวไทยล้วนแล้วแต่จงรักภักดี คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้จึงยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์ไทยมีลักษณะพิเศษ ไม่อาจนำไปเปรียบเทียบกับสถาบันกษัตริย์ของประเทศอื่นได้ ต่อให้เรายอมรับว่าจริง แต่ความพิเศษเช่นว่าก็ไม่อาจนำมาเป็นเหตุให้กำหนดโทษสูงในความผิดฐานหมิ่น ประมาทกษัตริย์ หรือนำกฎหมายนี้มาใช้เพื่อทำลายล้างกัน นอกจากนี้ ในเมื่อยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์ไทยได้รับความเคารพอย่างสูง และคนไทยจงรักภักดีอย่างถึงที่สุดจนยากจะหาที่ใดมาเสมอเหมือนแล้วล่ะก็ กฎหมายแบบมาตรา 112 ยิ่งไม่มีความจำเป็น

ข้ออ้างที่ 3
บุคคลทั่วไปมีกฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทคุ้มครองเกียรติยศและชื่อเสียง แล้วจะไม่ให้กษัตริย์มีกฎหมายคุ้มครองเช่นนี้บ้างหรือ?

ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ดำรงตำแหน่งใด ย่อมมีสิทธิในการปกป้องรักษาเกียรติยศและชื่อเสียงของตน แน่นอนว่าต้องมีกฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทเพื่อคุ้มครองเกียรติยศและชื่อ เสียงของกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ แต่กฎหมายเช่นว่านั้นต้องไม่มีความพิเศษหรือแตกต่างจากกฎหมายความผิดฐาน หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา หรือหากจะแตกต่างก็ต้องไม่แตกต่างมากจนเกินไป แต่กรณีมาตรา 112 นั้น ลักษณะของความผิด (พูดทำให้ผู้อื่นเสียหาย) ไม่ได้สัดส่วนกับโทษ (จำคุก 3 ปี ถึง 15 ปี) อยู่ในลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ไม่มีเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษ

ข้ออ้างที่ 4
ต่อให้มีบุคคลใดถูกลงโทษตาม 112 แต่ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษอยู่ดี

มีหลายคดีที่จำเลยรับโทษจำคุก ต่อมาได้ขอพระราชทานอภัยโทษและในท้ายที่สุดก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่ก็มีอีกหลายคดีที่จำเลยไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือได้รับพระราช ทานอภัยโทษเมื่อเวลาล่วงผ่านไปนานแล้ว เคยมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นชาวต่างชาติและขอพระราชทานอภัยโทษ เวลาผ่านไปไม่นานนัก ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ (เช่น กรณีนายโอลิเวอร์ จูเฟอร์และนายแฮร์รี่ นิโคไลดส์) แต่กรณีอื่นๆ ต้องใช้เวลานานพอสมควรถึงจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ (เช่นกรณีนายสุวิชา ท่าค้อ)  ซึ่งอาจให้เหตุผลได้ว่าแต่ละกรณีมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันไป แต่ถึงกระนั้น นั่นก็หมายความว่า จำเลยจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องแน่นอนและเสมอกันทุกกรณี ยิ่งไปกว่านั้น การที่จำเลยถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด, การที่จำเลยถูกตัดสินว่าผิด ต้องโทษจำคุก แต่รอลงอาญา, การที่จำเลยถูกตัดสินว่าผิดและต้องโทษจำคุก ต่อมาได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ทั้ง 3 กรณีนี้มีผลทางกฎหมายไม่เหมือนกัน

นอกจากนี้ นักวิชาการยังได้หยิบยกสถิติจำนวนคดีแล้วสรุปว่าจำนวนคดีเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 มีน้อยว่า “ตั้งแต่ มีกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.2451 มาจนถึงการใช้ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับปัจจุบัน ตลอดเวลากว่า 100 ปี มีคำพิพากษาศาลฎีกาเพียง 4 เรื่อง...”2 ข้อสรุปนี้ก็ไม่ถูกต้อง เพราะตัวเลขนั้นเป็นจำนวนคดีที่ศาลฎีกาตัดสิน ต้องเข้าใจว่า คดีเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 นี้ ในหลายกรณี จำเลยไม่ต้องการต่อสู้คดี เพราะประเมินว่าสู้ไปจนถึงชั้นศาลฎีกา ผลของคดีคงไม่ต่างกัน จำเลยจึงตัดสินใจยอมรับโทษตั้งแต่คำพิพากษาศาลชั้นต้น เพื่อให้คำพิพากษาถึงที่สุด และขอพระราชทานอภัยโทษต่อไป ด้วยเหตุนี้จำนวนคดีเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาจึงมีจำนวนน้อย แต่หากลงไปตรวจสอบจำนวนคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ หรือจำนวนคดีที่อยู่ในชั้นตำรวจหรืออัยการ หรือจำนวนผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยถูกจับกุมคุมขังเพื่อรอการพิพากษาของศาล แล้ว จะเห็นได้ว่ามีจำนวนมาก และมีมากขึ้นนับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ข้ออ้างที่ 5
ความผิดตามมาตรา 112 เกี่ยวพันกับความมั่นคงของรัฐ

โดยลักษณะของความผิดตามมาตรา 112 ไม่มีสภาพร้ายแรงถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ ต่อบูรณภาพ และต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดตามมาตรา 112 เป็นกรณีที่เกิดจากการพูดแล้วทำให้กษัตริย์เสียหาย ไม่ได้กระทบกระเทือนถึงการดำรงอยู่ของกษัตริย์ ไม่ใช่กรณีประทุษร้ายหรือปลงพระชนม์กษัตริย์ และไม่ใช่การเปลี่ยนรูปแบบของราชอาณาจักร ความผิดตามมาตรา 112 จึงไม่เกี่ยวพันกับความมั่นคงของรัฐ

ข้ออ้างที่ 6
ในเมื่อรู้ผลร้ายของการกระทำความผิดตามมาตรา 112 แล้ว ก็จงหลีกเลี่ยงไม่ทำความผิดหรือไม่เสี่ยงไปพูดถึงกษัตริย์เสียก็สิ้นเรื่อง

เมื่อกฎหมายเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 นี้เป็นกฎหมายที่มีปัญหาในตัวมันเอง ทั้งในทางตัวบทและทั้งในการบังคับใช้ เป็นกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างยิ่ง ก็ต้องยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ไม่ใช่เห็นว่ามาตรา 112 มีโทษร้ายแรง ก็จงอย่าไปเสี่ยง เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง ข้ออ้างแบบนี้ ไม่ต่างอะไรกับการบอกว่า ไฟนั้นร้อน อาจลวกมือได้ ก็จงอย่าใช้ไฟนั้น 

ข้ออ้างที่ 7
ในทุกประเทศล้วนแล้วแต่มีเรื่องต้อง ห้าม เรื่องอ่อนไหวที่ห้ามพูดถึงหรือไม่ควรพูดถึง ซึ่งเรื่องต้องห้ามนั้นก็แตกต่างกันไป ของไทยก็คือเรื่องสถาบันกษัตริย์

จริงอยู่ที่แต่ละประเทศก็มีเรื่องต้องห้าม แต่หากสำรวจเรื่องต้องห้ามในประเทศเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายแล้ว จะเห็นได้ว่าเรื่องต้องห้ามเหล่านั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็น มนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ เช่น กรณีในเยอรมนีและหลายประเทศในยุโรป บุคคลไม่อาจพูดหรือแสดงความเห็นไปในทิศทางสนับสนุนฮิตเลอร์หรือนาซี หรือให้ความชอบธรรมแก่การกระทำของนาซีได้มากนัก กรณีหลายประเทศ บุคคลไม่อาจพูดหรือแสดงความเห็นไปในทางเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ เหยียดศาสนาได้ แต่กรณีของไทย เรื่องห้ามพูด คือ กรณีสถาบันกษัตริย์ วิญญูชนโปรดพิจารณาว่าเป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่  

ข้ออ้างที่ 8
ความผิดตามมาตรา 112 เป็นเรื่องอ่อนไหว กระทบจิตใจของคนไทยทั้งชาติ สมควรให้กระบวนการยุติธรรมจัดการดีกว่า หากไม่มีกระบวนการยุติธรรมจัดการแล้ว อาจส่งผลให้คนในสังคมลงโทษกันเอง

หากจะมีการประชาทัณฑ์หรือสังคมลงโทษอย่าง รุนแรง ก็เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องเข้าไปป้องกันและจัดการให้เป็น ระเบียบเรียบร้อย ไม่ใช่เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 จะโดนรุมประชาทัณฑ์ เลยช่วยเอาผู้ถูกกล่าวหาไปขังคุกแทน

ข้ออ้างที่ 9
มาตรา 112 สัมพันธ์กับมาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

มาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” บทบัญญัติในลักษณะดังกล่าวปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญหลายประเทศ เป็นบทบัญญัติในลักษณะประกาศ (declarative)  เพื่อให้สอดรับกับหลัก The King can do no wrongไม่ใช่เป็นบทบัญญัติในลักษณะวางกฎเกณฑ์ปทัสฐาน (normative) การอ่านมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ต้องอ่านแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่อ่านแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากอ่านแบบประชาธิปไตย จะเข้าใจได้ทันทีว่า มาตรา 8 มีเพื่อเทิดกษัตริย์ไว้เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งไม่ทำอะไรผิด เพราะไม่ได้ทำอะไรเลย เมื่อไม่ได้ทำผิด และไม่ได้ทำอะไรเลย จึงไม่มีใครมาละเมิดได้ คำว่า “เคารพสักการะ” ก็เป็นการเขียนเชิงประกาศเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลทางกฎหมายในลักษณะมีโทษแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ในระบอบประชาธิปไตย เอกสิทธิ์และความคุ้มกันต่างๆที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆมอบให้แก่กษัตริย์ ก็เป็นการมอบให้แก่กษัตริย์ในฐานะตำแหน่งกษัตริย์ที่เป็นประมุขของรัฐ ไม่ได้มอบให้แก่บุคคลที่มาเป็นกษัตริย์ หากกษัตริย์ปฏิบัติหน้าที่นอกกรอบของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย เอกสิทธิ์และความคุ้มกันต่างๆก็ต้องหมดไป

การแก้ไขมาตรา 112 ให้โทษต่ำลงก็ดี การกำหนดเหตุยกเว้นความผิดตามมาตรา 112 ก็ดี การกำหนดเหตุยกเว้นโทษตามมาตรา 112 ก็ดี ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ การแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้ทำให้กษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพสักการะ กฎหมายแบบมาตรา 112 ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ปรับปรุงให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น และหากสมมติว่ามีการยกเลิกมาตรา 112 จริง หากมีผู้ใดหมิ่นประมาทกษัตริย์ ก็ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาให้ใช้ได้   

ณ เวลานี้ มีความเข้าใจผิดกันในหมู่ผู้สนับสนุนมาตรา 112 และผู้เลื่อมใสอุดมการณ์กษัตริย์นิยมว่า การรณรงค์เสนอให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 เป็นการกระทำที่มีความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และเป็นพวก “ล้มเจ้า” ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า การรณรงค์เช่นว่าไม่มีความผิดใดเลย เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 ไม่ต่างอะไรกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐ ธรรมนูญ กฎหมายความมั่นคง กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎหมายอื่นใด มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มิใช่สถาบันกษัตริย์ สมมติว่ามาตรา 112 ถูกแก้ไขหรือยกเลิกจริง สถาบันกษัตริย์ก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป ไม่ได้ถูกยกเลิกตามมาตรา 112 ไปด้วย

หากความเห็นของข้าพเจ้าไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ข้าพเจ้าขอยกเอาความเห็นของข้าราชการผู้หนึ่ง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เขาผู้นี้เคยให้ความเห็นไว้ ณ ห้องแอลที 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2552 ในการเสวนาหัวข้อ “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับความมั่นคงของรัฐ” ว่า “ใน เรื่องการแสดงความเห็นหรือรณรงค์อะไร ผมคิดว่าทำได้นะ แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบที่จะไม่ไปผิดกฎหมายด้วย คงขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอและรายละเอียดของการรณรงค์ว่ามีความเห็นให้เลิก มาตรา 112 เพราะอะไร ถ้าเป็นความเห็นที่ไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา 112 เสียอีก ก็ทำได้”3 นอกจากนี้นายธาริตฯคนเดียวกันนี้ยังอภิปรายในงานเดียวกันว่า "...ขณะ นี้มาตรา 112 ได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งขอเสนอต่อจาก อ.วรเจตน์ ว่า ต้องจัดการพวกที่เยินยอเกินเหตุนั้น ซึ่งต้องต่อท้ายด้วยว่า หาประโยชน์จากการเยินยอโดยการไปใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม ผมไม่ทราบว่าจะตั้งบทบัญญัติอย่างไร แต่เรารับรู้และรู้สึกได้ว่า  พวกนี้แอบอ้างสถาบันฯ แล้วใช้เป็นเครื่องมือหรือเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในการจัดการฝ่ายตรงข้าม พวกนี้จะต้องรับผิดเพราะโดยเจตนาส่วนลึกแล้วก็คือการทำลายสถาบันฯ นั่นเอง..."4

                                                                        อ่านฉบับเต็ม (ช่วงที่ 2 และ 3) ได้ที่เว็บไซต์ติราษฏร์ คลิก! ที่นี่ 

 

............................................................

 

1. ในส่วนของกฎหมายต่างประเทศเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ โปรดดู ปิยบุตร แสงกนกกุล, “ความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ขัดกับเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น : กรณีหมิ่นประมาทกษัตริย์สเปน”, http://www.enlightened-jurists.com/page/193 และสามารถฟังคลิปบันทึกเสวนาเรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จัดโดยคณะนิติราษฎร์ วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔ ในส่วนการอภิปรายของปิยบุตร แสงกนกกุล และบางส่วนจากการอภิปรายในหัวข้อ "บทวิพากษ์ขบวนการล้มเจ้า ฉบับ ศอฉ." เนื่องในโอกาสเปิดตัวหนังสือหลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อวันที่๖เมษายน๒๕๕๓คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ที่  http://archive.voicetv.co.th/content/12710

2. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ “ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ : เอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทยในกระแสประชาธิปไตยโลก” และ “วัฒนธรรมไทยกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ :  เอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทยในกระแสประชาธิปไตยโลก” , มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๖ และ ๗ เมษายน ๒๕๕๒ ตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งใน จันทจิรา เอี่ยมมยุรา (บรรณาธิการ), หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล , ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๓, หน้า  หน้า ๒๑๐

3. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา (บรรณาธิการ), หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล , ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๓, หน้า ๑๐๑.

4. เพิ่งอ้าง, หน้า  ๙๒.

 

 

ที่มา: นิติราษฎร์ฉบับที่ 19 (ปิยบุตร แสงกนกกุล)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา: ทำไมต้องต้าน พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่

Posted: 18 Apr 2011 09:47 AM PDT

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) http://ilaw.or.th ซึ่งดำเนินการรณรงค์ให้เกิดการเสนอกฎหมายใหม่ หรือแก้ไขกฎหมายโดยประชาชนมีส่วนร่วม กำลังรณรงค์เรียกร้องและเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตให้ร่วมกันแสดงออกเพื่อหยุดการนำร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ความพยายามนี้อาจจะล่าช้าเกินไป เมื่อมีกระแสข่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาหลักการโดยคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นในวันพุธที่จะถึงนี้

ประชาไทสัมภาษณ์ อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา ผู้จัดการไอลอว์ ถึงสิ่งที่ไอลอว์จะดำเนินการต่อ และเหตุผลที่ต้องออกมาคัดค้านการนำ ร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่เข้าสู่การพิจารณา โดยเธออธิบายเหตุผลหลักๆ คือ กฎหมายนี้จะกระทบกับเสรีภาพของประชาชนทั่วไป และเป็นกฎหมายที่ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน


อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา ผู้จัดการ iLaw

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นี้มีความสำคัญอย่างไร ถึงได้มีการรณรงค์ต่อต้านเกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ต?

ตอนนี้เรามีร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับหนึ่งใช้อยู่ คือ ฉบับปี พ.ศ. 2550 ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ หลายๆฝ่ายต่างพูดว่ามีปัญหามาก ทั้งในแง่ของโทษที่เอาผิดได้อย่างกว้างขวาง การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ที่มากล้น หลายฝ่ายเล็งเห็นว่าจะต้องมีการแก้ไข รวมทั้งกระทรวงไอซีทีเองด้วย และโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย มีข่าวออกมาว่าไอซีทีได้จัดทำร่างฉบับใหม่ออกมาแล้ว และเมื่อเราไปดูรายละเอียดในร่าง พบว่าเนื้อหาที่เป็นปัญหาทุกอย่างที่อยู่ในฉบับเก่าไม่ได้หายไป แสดงว่ายังไม่ได้เกิดการแก้ไข ร่างฉบับใหม่เพียงแต่เพิ่มจำนวนมาตราขึ้นเท่านั้น ของเดิมน่ากลัวอยู่แล้ว ก็มีการเพิ่มความน่ากลัวเข้าไปอีก ล้วนเป็นการกระทบพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วๆไป

อะไรบ้างที่น่ากลัว?

มีมาตราที่พูดถึงการสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระบุว่าการสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์มีความผิด ในกฎหมายใช้คำว่าการสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยประการที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหาย ถือว่ามีความผิด แล้วมันแปลว่าอะไร? ถ้าเราอ่านเราคงจะตีความว่าเป็นมาตราที่จะจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ มีคนพูดๆกันว่า ที่มาของมาตรานี้มาจากการผลักดันจากค่ายเพลงใหญ่ค่ายหนึ่ง

อีกมาตราหนึ่งก็คือ มาตราที่พูดถึงการแฮก (Hack-การเข้าสู่ระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต) บอกว่าถ้าคุณครอบครองโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพที่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้ คุณก็มีความผิดในทันที แม้ว่าเราจะยังไม่ได้แฮกก็ตาม ถ้าเปรียบเทียบในโลกความจริง ถ้าคุณมีมีดแต่ยังไม่ได้อะไร คุณก็มีความผิดแล้ว นี่มันเกินไปหรือเปล่า?

มองจากตัวกฎหมายแล้วเราสามารถตีความได้กว้างมาก การใช้พร็อกซี (Proxy) ก็อาจจะเข้าข่ายนิยามตามกฎหมายก็ได้อีกข้อหนึ่งที่น่าจะผิดก็คือ การมีโปรแกรมบิตทอร์เรนต์ (BitTorrent) คุณจะโหลดหรือยังไม่รู้ แต่คุณมีโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพในการสำเนาข้อมูลคุณก็ผิดแล้ว ทำไมแค่การครอบครองก็มีความผิดได้ในเมื่อคุณยังไม่ได้ลงมือกระทำ? กฎหมายอาญาน่าจะดูเจตนากับการกระทำไม่ใช่หรือ?

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องคณะกรรมการ ที่ผ่านมาอำนาจต่างๆจะอยู่ที่กระทรวงไอซีที จะมีตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ ค้นหาข้อมูล ขอสำเนาไฟล์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ แต่ในร่างกฎหมายใหม่นี้เพิ่มกลไกหนึ่งขึ้นมา ให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ มีหน้าที่แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และมีอำนาจหน้าที่ในการขอสำเนาข้อมูลทางคอมฯ มันอาจจะดีก็ได้ที่มีคณะกรรมการชุดนี้ที่อาจจะมีช่องทางที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้มากกว่าเดิม แต่ว่าที่มาของคณะกรรมการฯ ก็ไม่มีสัดส่วนใดที่เชื่อมโยงกับประชาชนเลย

ที่ผ่านมาจะเป็นกระทรวงไอซีที สำนักกำกับเทคโนโลยี ที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ เรามีความเชื่อว่าการมี ป.ป.ค.อาจจะดีขึ้น แต่อาจจะต้องเพิ่มสัดส่วนที่มาจากประชาชน และตั้งคำถามถึงที่มาของคณะกรรมการฯ ด้วย

อีกประเด็นหนึ่งคือ พ.ร.บ. คอมฯ ไม่ควรพูดถึงการเอาผิดในเชิงเนื้อหา นี่เป็นข้อเสนอของเราตั้งแต่ พ.ร.บ.ฉบับเดิม เพราะกฎหมายอาญาก็ครอบคลุมอยู่แล้ว มีข้อหนึ่งที่เราคิดว่าน่าเกลียดกว่า พ.ร.บ. ฉบับเดิมคือ การใช้คำที่ว่า การนำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ถือว่าเป็นความผิด ซึ่งเรารู้สึกว่ามันฟังดูการเมืองมากๆ สมมติว่า มีคนพูดว่า “ทหารยิงประชาชน” ใครจะเป็นคนพูดว่าอะไรคือความจริง และที่ผ่านมารัฐก็อาศัยการบล็อกเว็บตลอด รัฐเป็นผู้ครอบครองความจริง การแสดงความคิดเห็นไม่ควรจะต้องถูกควบคุม ทำไมจะต้องอยู่ในกรอบที่เขากำหนด? ถ้าอย่างนั้นเราไม่สามารถพูดอะไรได้เลย เราคงพูดได้แค่ว่า “พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก”

ถ้าอย่างนั้น หากมีโปรแกรมเวิร์ดก็เป็นความผิดได้สิ?

(หัวเราะ) เราไม่สามารถตีความแทนศาลหรือผู้ร่างกฎหมายได้ เห็นไหม มันกว้างมาก เกิดคำถามอย่างมากมายในอินเทอร์เน็ต มีโปปรแกรมมากมายที่เป็นโปรแกรมพื้นฐานที่เราสามารถทำอะไรก็ได้ มีคนพูดว่า ถ้าอย่างนั้นไปดูที่เจตนาสิ หากไม่ตั้งใจให้เกิดความเสียหายหรอก คำถามคือ แล้วทำไมไม่เขียนกฎหมายให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น?

คนกลุ่มไหนที่จะได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.นี้?

ทุกคน แม้แต่คนที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ต เพราะการสร้างบรรยากาศให้ประชาชนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การเมืองก็ไม่สามารถพัฒนาได้ “อุ๊ย พูดอย่างนี้ก็กลายเป็นเรื่องการเมืองทันที” และยังกระทบไปถึงวงการอื่นๆ ด้วย เช่น วงการการศึกษา การค้นหาข้อมูล การเสพสื่อศิลปะทางอินเทอร์เน็ต ก็คงต้องเปลี่ยนไปแน่ๆ

หากเรายับยั้งร่างนี้ไม่ได้ เราอาจจะต้องทำร่างคู่ขนาน ซึ่งเมื่อสภาพิจารณาก็จะได้พิจารณาหลายๆร่างไปพร้อมๆกัน คือ ล่ารายชื่อ 10,000 ชื่อ เพื่อทำร่างแก้ไขจากฉบับปี พ.ศ. 2550

ในต่างประเทศ กฎหมายการป้องกันการสำเนาข้อมูลเข้มงวดแบบนี้ไหม?

กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้เขียนเข้มแบบนี้ แต่เต็มไปด้วยข้อยกเว้น เช่น หากนำไปใช้ในการสร้างสรรค์ ก็ไม่มีความผิด หรือว่านำข้อมูลนี้ไปใช้กี่เปอร์เซ็นจากข้อมูลทั้งหมด ก็ไม่มีความผิด แต่ว่ามาตราใน พ.ร.บ.คอมฯ นี้ มันตีขลุมมากๆ

เวลาที่มีการต่อต้านกฎหมายฉบับใดๆ ก็ตาม คำถามที่มักจะถูกถามก็คือ คนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านกฎหมายนั้นเดือดร้อนอะไร?

สังคมประชาธิปไตย คือ สังคมที่มีความขัดแย้ง ถูกไหม? สิ่งที่ดีที่สุด คือ เราจะต้องอยู่บนความขัดแย้งได้ อยู่กับความคิดเห็นที่หลากหลายได้ แต่ก่อนที่เราจะมีโลกแบบนั้นได้ เราจะต้องมีเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและแสดงความคิดเห็นก่อน

ที่ต่อต้าน พ.ร.บ.นี้ เพราะมองมันเป็นเรื่องการเมืองหรือเปล่า?

เพราะเราเห็นประสบการณ์จาก พ.ร.บ. ฉบับเก่า ที่ชัดเจนว่าถูกนำมาใช้ในการเมือง เราไม่ได้เริ่มต้นต่อต้านจากจุดยืนทางการเมืองของเรา แต่เราเห็นว่ามีคนที่ถูกละเมิดจากฉบับเก่า และเห็นว่าการแก้ครั้งใหม่ ทำให้ทุกอย่างมันหนักข้อไปกว่าเดิม เราไม่รู้ว่าจะปล่อยให้ประวัติศาสตร์มันซ้ำซากทำไม

คิดว่าร่างใหม่ที่ออกมามีเป้าประสงค์ทางการเมือง?

หนีไม่พ้นที่เราจะต้องสงสัย เพราะไม่มีเหตุจำเป็นอะไรที่จะต้องรีบผลักดันร่างกฎหมายนี้อย่างเร่งด่วนและเงียบเชียบ เรามีกลไกหนึ่งใช้อยู่แล้ว ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.ฉบับเดิม แทนที่เราจะค่อยๆศึกษา แก้ปัญหา และพัฒนาจากฉบับเดิม ทำไมถึงต้องรีบร้อนอะไรขนาดนั้น

iLaw ทำอะไร หลังจากมีข่าวว่า พ.ร.บ.นี้ กำลังถูกผลักดันเข้าสู่กระบวนการครม.?

เรารู้ว่ามันกำลังเข้าสู่กระบวนการแล้ว และถ้าผ่านการรับหลักการไปแล้ว การจะแก้ไขอะไรจะทำได้ยากขึ้น คนในภาครัฐจะพูดว่า ไม่ต้องห่วง สบายใจได้ ยังมีอีกหลายขั้นตอน คุณไปแก้ในชั้นสภาก็ได้ หาคนมาเป็นตัวแทนกรรมาธิการก็ได้ แต่คำถามคือทำไมเราต้องรอไปถึงขั้นนั้น? ในเมื่อถ้าเราเอาประชาชนคนไทยที่เล่นอินเตอร์เน็ตมาช่วยกันร่างกฎหมาย อาจจะร่างได้ดีกว่านั้นก็ได้

เราพยายามหาทางยื่นหนังสือที่สำนักนายกฯ เนื้อหาคือ หยุด อย่าเพิ่งพิจารณา ใจเย็นๆ ให้ประชาชนได้ร่วมกันคิด และหวังว่าจะมีการพิจารณาสิ่งที่เรานำเสนอ และเลื่อนการเสนอร่างนี้ออกไปด้วย

มีอะไรทีประชาชนที่ใช้อินเทอร์เน็ตควรทำ?

เรื่องนี้ไม่ควรเงียบหลังจากที่รู้ว่า ครม.จะพิจารณาหรือไม่พิจารณา ถ้าครม.จะพิจารณาต่อก็จะเป็นประเด็นที่ลากยาว หากนายกฯประกาศยุบสภา หลังจากนี้ก็จะมีการเลือกตั้ง สภาจะปิด มีการหาเสียงเลือกตั้ง เราคงต้องทวงถามนักการเมืองที่จะเข้าสู่สนามเลือกตั้ง คุณจะทำให้กฎหมายฉบับนี้สนองประโยชน์ต่อประชาชนหรือเปล่า?

จากที่ไอลอว์ได้ศึกษารวบรวมข้อมูลคดีตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตราที่ใช้บ่อยมาที่สุด คือมาตราไหน?

มาตรา 14 มาตรา 15 และมาตรา 20

มาตรา 14 คือ มาตราที่เป็นการเอาผิดกับเนื้อหา เช่น การกล่าวข้อมูลอันเป็นเท็จ การละเมิดความมั่นคง การมีภาพโป๊

มาตรา 15 คือ มาตราเกี่ยวกับผู้ให้บริการ ผู้ดูแลระบบ ในแง่ของจำนวนคดีมีไม่มาก แต่มีผลกระทบในแง่ของสังคมแน่ๆ เพราะทุกคนต้องปรับตัว

มาตรา 20 คือ มาตราเป็นเรื่องการบล็อกเว็บ มีการยื่นต่อศาลทุกเดือน เดือนละหลายๆครั้ง ครั้งหนึ่งก็ 400-500 url

โดยสรุปแล้ว พ.ร.บ.คอมฯ เน้นไปที่ตัวเนื้อหา ทั้งๆที่น่าจะเป็นกฎหมายที่มุ่งประเด็นไปที่เทคนิค เพราะว่านั่นเป็นอาชญากรรมที่น่ากลัวกว่าจริงๆ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวบ้านริมโขงยื่นหมื่นรายชื่อถึงสถานทูตลาว – นายกไทย ค้านเขื่อนไซยะบุรี

Posted: 18 Apr 2011 06:30 AM PDT

ชาวบ้านริมโขง 8 จังหวัด จี้รัฐบาลลาว-ไทย เลื่อนตัดสินใจให้ความเห็นชอบโครงการเขื่อนไซยะบุรี ในการประชุม MRC 19 เม.ย.นี้ ชี้โครงการเดินหน้าทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุญาต ด้าน คกก.สิทธิฯ อาเซียน รับลูกนำเข้าหารือ พ.ค.นี้

 
 
 
วันนี้ (18 เม.ย.54) เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น.เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ราว 100 คน จากจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เดินทางไปถึงหน้าสถานทูตลาวประจำประเทศไทย เพื่อยื่นจดหมายถึงนายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีลาว แจ้งความกังวลใจและขอให้ทบทวนโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี พร้อมมอบสำเนารายชื่อชาวบ้านริมน้ำโขงที่ร่วมคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีราว 10,000 รายชื่อ
 
สืบเนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ เอ็มอาร์ซี (Mekong River Commission: MRC) จะจัดการประชุมวาระพิเศษของคณะกรรมการร่วม (Joint Committee Special Session) 4 ประเทศ (กัมพูชา, ลาว, ไทย และเวียดนาม) ที่สำนักงานในนครหลวงเวียงจันทน์เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ในวันที่ 19 เม.ย.นี้
                        
ตามจดหมายที่ส่งถึง นายกรัฐมนตรีของลาว ระบุถึงการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จำนวน 5 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.54 ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย และสิ้นสุดที่จังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ 8 เม.ย.54 เพื่อปรึกษาหารือและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี โดยความเห็นส่วนใหญ่มองว่า ที่ผ่านมาโครงการเขื่อนไซยะบุรีไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้ ในขณะที่การก่อสร้างโครงการกลับมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว สร้างความกังวลใจต่อผลกระทบข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
 
พร้อมเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีของลาวเลื่อนการตัดสินใจในการให้ความเห็นชอบต่อการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ของคณะกรรมการร่วม MRC ในการประชุมวันที่ 19 เม.ย.นี้ ออกไป เพื่อให้มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและชัดเจน พร้อมกับการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง
 
ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า การเดินทางองชาวบ้านมาที่สถานทูตลาวในวันนี้เป็นการแสดงออกซึ่งสัญลักษณ์ในการไม่ต้องการเขื่อนของประชาชนริมน้ำโขง โดยประชาชนผู้ได้รับผลกระทบตัวจริงได้ออกมาพูดด้วยตัวเอง และประชาชนควรเป็นผู้มีสิทธิในการกำหนดอนาคตที่อยู่ร่วมกับแม่น้ำโขง ไม่ใช่รัฐบาลหรือนายทุน อีกทั้งที่ผ่านมาการศึกษาของ MRC ก็ได้ชี้ชัดแล้วว่าการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขง และได้มีข้อเสนอให้ชะลอการตัดสินใจสร้างเขื่อนออกไปอีก 10 ปี เพื่อทำการศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนก่อน
 
นายนิวัฒน์ กล่าวให้ข้อมูลด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีการเสนอข่าวของสื่อมวลชนว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาวได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาราว 5 เดือนแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างอย่างเป็นทางการ ในขณะที่ท่าทีของประเทศสมาชิก MRC ทั้งเวียดนาม กัมพูชา และไทยเองก็ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวเพราะต่างหวั่นเกรงผลกระทบ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลลาวแล้วว่าจะเคารพการตัดสินใจของประเทศสมาชิกอื่นๆ หรือไม่ อย่างไรก็ตามการเดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้นั้นต้องการยุติกระบวนการในฝั่งของรัฐบาลไทย บริษัทเอกชน รวมทั้งการสนับสนุนในด้านต่างๆ ของไทย เพราะการก่อสร้างโครงการดังกล่าวไม่สามารถกล่าวโทษรัฐบาลลาวแต่เพียงฝ่ายเดียวได้     
 
สำหรับการไปยื่นจดหมาย พร้อมมอบสำเนารายชื่อชาวบ้านริมน้ำโขงที่ร่วมคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี 10,000 รายชื่อต่อ ดร.ศรีประภา เพชรมีสี ผู้แทนไทยในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน เพื่อขอให้ร่วมตรวจสอบการดำเนินการโครงการดังกล่าวเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ นายนิวัฒน์ กล่าวว่า ดร.ศรีประภาได้รับปากจะนำเรื่องนี้เขาหารือในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียนภายในเดือนพฤษภาคม เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบด้านสิทธิของประชาชน และมีผลกระทบข้ามพรมแดนซึ่งควรถูกยกระดับไปสู่การพูดคุยในวงอาเซียน
 
 
ชาวบ้านหวั่นพื้นที่โครงการเขื่อน อยู่ในเขตรอยเลื่อนเสี่ยงแผ่นดินไหว
 
ส่วนนายสุรชัย แองดี ชาวบ้านจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งอยูห่างจากพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนไชยะบุรีเพียง 200 กิโลเมตร กล่าวว่า ชาวบ้านหวั่นเกรงถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ทั้งเรื่องวิถีชีวิต ระบบนิเวศน์ และการสูญเสียพื้นที่เกษตรริมฝั่งโขง ซึ่งที่ผ่านมาจากการสร้างเขื่องกั้นลำน้ำโขงในประเทศจีนก็เป็นบทเรียนของผลกระทบต่อชาวบ้าน เนื่องจากเกิดระดับน้ำขึ้นน้ำลงไม่ปกติ นอกจากนั้น กรณีการเกิดแผนดินไหว 5.4 ริคเตอร์ ในประเทศลาวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ทำให้เกิดความหวั่นวิตก เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีมีลอยเลื่อนของเปลือกโลกอยู่ซึ่งมีความเสี่ยงหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้น
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มชาวบ้านใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง ในการปราศรัยบริเวณหน้าสถานทูตลาวถึงความหวั่นเกรงต่อผลกระทบด้านต่างๆ รวมทั้งเรียกร้องให้ยับยังการก่อสร้างโครงการ โดยให้มีการรับฝังความเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบอย่างรอบด้านก่อน อย่างไรก็ตาม ไม่มีตัวแทนสถานทูตออกมารับจดหมายของกลุ่มชาวบ้าน โดยมีการแจ้งก่อนหน้านี้ว่าเอกอัครราชทูตได้ไม่อยู่ในสถานทูต ชาวบ้านจึงทำได้เพียงยื่นจดหมายให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำการในบริเวณดังกล่าวเป็นตัวแทนรับมอบ
 
ทั้งนี้ ในช่วงเช้าวันเดียวกัน ชาวบ้านทั้งหมดได้เดินทางไปร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) โดยมีคนทำงานภาคประชาสังคมร่วมสังเกตการณ์ อาทิ นายประสาร มฤคพิทักษ์, นางเตือนใจ ดีเทศน์, อดีตสมาชิกวุฒิสภา, นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน และได้ยื่นหนังสือต่อ ดร.ศรีประภา เพชรมีสี ผู้แทนไทยในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน
 
จากนั้นในช่วงบ่ายจะเดินทางต่อไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และต่อไปที่รัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือต่อนายสุรจิต ชิรเวช ส.ว.สมุทรสงคราม ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ
 
ส่วนข้อเรียกร้องที่กลุ่มชาวบ้านมีต่อนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายยกรัฐมนตรี คือการให้ยกเลิกแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรีโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยปกป้องความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย รวมทั้งปกป้องทรัพยากรลุ่มแม่น้ำโขงและวัฒนธรรมของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง และให้เลื่อนการตัดสินใจการให้ความเห็นชอบต่อการสร้างเขื่อนดังกล่าวของคณะกรรมการ่วม MRC ในการประชุมวันที่ 19 เม.ย.54 นี้ออกไป 
 
 
สื่อเผย ช.การช่างเข้าไปปรับพื้นที่แล้ว แถมชาวบ้านได้ค่าชดเชยแค่ 450 บาท
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วานนี้ (17 เม.ย.54) เว็บไซต์บางกอก โพสต์ รายงานข่าวความคืบหน้าโครงการเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ในแขวงไซยะบุรี ประเทศลาว จากการลงพื้นที่โดยนักข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า บริเวณโดยรอบโครงการได้มีการเดินหน้าการก่อสร้างแล้ว ทั้งที่โครงการยังไม่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มมีการขุดดินปรับพื้นที่ตามแผนการก่อสร้างในพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างจากท่าเรือท่าเดื่อราว 20 กิโลเมตร และมีการเริ่มดำเนินการมาได้ประมาณ 5 เดือนแล้ว ด้วยรถบรรทุกและรถแบคโฮของบริษัท ช.การช่าง ซึ่งเป็นบริษัทไทยที่ร่วมโครงการกับรัฐบาลลาว ขณะที่มีชาวบ้านเตรียมจะย้ายออกจากพื้นที่ โดยได้รับค่าชดเชยเพียงรายละ 450 บาท
 
ในส่วนท่าที่ของประเทศสมาชิก MRC นั้น หลังจาก รัฐบาลลาวได้ร้องขอต่อ MRC เมื่อเดือนกันยายน 2553 เพื่อเริ่มต้นกระบวนการอย่างเป็นทางการในการอนุมัติก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นโครงการแรกใน 11 โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ตามข้อตกลงในการจัดทำโครงการพัฒนาที่อาจมีผลกระทบข้ามแดน ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาและให้คำปรึกษาก่อนดำเนินการ โดยตัวแทนของเวียดนามและกัมพูชามีท่าทีไม่เห็นด้วยต่อโครงการเขื่อน เนื่องจากยังมีความกังวลในหมู่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและนักกิจกรรมเรื่องรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามการตัดสินใจในการประชุมจะไม่ผูกพันใดๆ กับประเทศสมาชิก หากต้องการที่จะเดินหน้าโครงการต่อไป
 
ทั้งนี้ โครงการเขื่อนไซยะบุรีมีแผนจะเริ่มขายไฟฟ้าในเดือนมกราคม 2562 และเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติของไทยได้รับการอนุมัติข้อตกลงให้ กฟผ.ลงนามในสัญญาการซื้อไฟฟ้า กับ บริษัทไฟฟ้าไซยะบุรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ช.การช่าง ประมาณ 95% ของโครงการซึ่งมีกำลังการผลิต 1,260 เมกะวัตต์ ในอัตรา 2.15 บาทต่อหน่วย
 
 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรสิทธิเผย “ลูกคนลาวอพยพ” ถูกคุมตัว ตม. ทั้งที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว

Posted: 18 Apr 2011 05:34 AM PDT

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2554 เวลาประมาณ 23.00 น. ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)ได้รับแจ้งจากนายสมาน สาทวีสุข ลูกของคนลาวอพยพอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชานี ว่าถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกำลังจะถูกส่งตัวไปยังสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง ทางสถาบันฯ โดยดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล นักกฎหมาย จึงโทรประสานงานพยายามทำความเข้าใจกับ จนท.ตำรวจ ถึงสถานะบุคคลตามกฎหมายของนายสมาน ว่าไม่มีความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย เนื่องจากนายสมานได้รับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (แบบ 89) ในเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่า ไม่มีอำนาจตัดสินใจ และส่งตัวไปยัง สน.พระโขนง

จากนั้น เวลาประมาณเที่ยงคืนเศษของวันเดียวกัน ทางสถาบันฯได้พยายามติดต่อกับพนักงานสอบสวน สน.พระโขนง แต่พนักงานสอบสวน แจ้งว่าไม่สะดวกคุยทางโทรศัพท์เนื่องจากอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนอีกกรณีหนึ่ง

จนกระทั่งเช้าของวันที่ 17 เมษายน ทางสถาบันฯจึงได้แจ้งประสานงานกับ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเครือข่ายที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขอข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เกี่ยวกับนายสมาน และแจ้งให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับนายสมานไปยัง สน.พระโขนง

โดยนายสมาน สาทวีสุข ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสารแสดงตนว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับอนุญาตให้อาศัยในราชอาณาจักร ทั้งนี้จากการประสานงานทำความเข้าใจในเบื้องต้นโดยสถาบันฯร่วมกับเจ้าหน้าที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ได้รับแจ้งจาก จนท.ตำรวจ พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนว่าขอหารือผู้บังคับบัญชาก่อนในช่วงเย็นของวันที่ 17 เมษายน และไม่ได้รับแจ้งความคืบหน้าใดๆ กระทั่งต่อมาในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 18 เมษายน 2554 จึงได้รับทราบข้อมูลจากเครือข่ายที่จังหวัดอุบลราชธานีว่า สถานีตำรวจนครบาลพระโขนงได้ส่งตัวนายสมาน ไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) และอาจถูกส่งตัวออกนอกราชอาณาจักรไทยต่อไป

ก่อนหน้านี้ประมาณปลายปี 2553 นายสมานได้เคยถูกจับกุมโดยสน.คลองเตย และทางสถาบันฯได้ประสานงานทำความเข้าใจต่อสถานะบุคคลของนายสมาน และได้รับการปล่อยตัวในที่สุด

ตำรวจปัดทำความเข้าใจสถานะบุคคล ซ้ำรอยสน.คลองตัน

ทั้งนี้กรณีการถูกจับกุมตัวของนายสมาน และตำรวจไม่ทำความเข้าใจต่อสถานะบุคคลและส่งตัวไปควบคุมตัวที่ ตม.(สวนพลู) เหมือนกับกรณีของนายภูธร ชัยชนะ ซึ่งเป็นลูกคนลาวอพยพ พื้นที่อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมาทำงานรับจ้างที่กรุงเทพฯ ถูกจับกุมตัว ในช่วงวันที่ 31 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา มีข้อเท็จจริงลักษณะเดียวกับนายสมาน และได้รับการสำรวจได้รับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน(แบบ 89) โดยผู้ใหญ่บ้านหาดทรายคุณ หมู่ 1 ตำบลบ้านแมด อำเภอบุณฑริก แล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการส่งรายชื่อพร้อมด้วยบุคคลอื่นๆ ที่มีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันกับครอบครัวชัยชนะ ไปยังอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับและควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจคลองตัน โดยตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสารแสดงตนว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับอนุญาตให้อาศัยในราชอาณาจักร

โดยทางสถาบันฯได้พยายามประสานงานทำความเข้าใจต่อสถานะบุคคลในชั้นตำรวจแต่ไม่ได้รับความร่วมมือในการทำความเข้าใจ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าว ต่อมานายภูธรถูกส่งตัวมายังตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) ในคืนวันเดียวกัน

และถูกควบคุมตัวอยู่ที่ตม.สวนพลู จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 6 เมษายน 2554 หลังจากมีการประสานงานทำความเข้าใจและส่งหนังสือจากคณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพและชนพื้นเมือง ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ,หนังสือจากคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ และหนังสือความเห็นทางกฎหมายจากสถาบันฯ ร่วมกับมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและการพัฒนาและเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, SWITและองค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ส่งจดหมายถึงสน.พระโขนงและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สวนพลู) ควบคุมตัวมิชอบ ส่งผลกระทบต่อผู้ทรงสิทธิอาศัยในราชอาณาจักร และสิทธิในการพัฒนาสถานะเป็นผู้มีสัญชาติไทย ขอให้ปล่อยตัวทันที

สถาบันฯ และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่านายสมาน มิได้เป็นบุคคลซึ่งเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แต่เป็นผู้มีสิทธิอาศัยในราชอาณาจักรไทยโดยถูกต้อง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 การที่สถานีตำรวจนครบาลพระโขนง และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) ควบคุมตัวนายสมาน ไว้ ย่อมเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยนายสมาน ได้รับการสำรวจ (แบบ 89) และการจัดทำทะเบียนประวัติ ประเภท “ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร” โดยผู้ใหญ่บ้าน โดยได้รับเอกสารตอบรับการสำรวจจากปลัดอำเภอโขงเจียม (แบบ 89/1) เลขที่สำรวจ 220 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเอกสารแสดงตนประเภทหนึ่ง และได้ส่งให้กับทางสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน 2554

นอกจากนี้ การที่นายสมาน เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2535 จากบิดามารดาที่เข้าเมืองในลักษณะไม่ถาวร ทำให้นายสมานเป็นบุคคลเป้าหมายของมาตรา 23 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 หรือเป็น “คนไทยตามมาตรา 23” ดังนั้น นายสมาน จึงมีคุณสมบัติ หรือมีสิทธิในสัญชาติไทย” เพียงแต่นายสมานจะสามารถใช้สิทธิในสัญชาติไทย ได้ต่อเมื่อนายสมานผ่านกระบวนการยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยต่ออำเภอโขงเจียม

ดังนั้น การควบคุมตัวนายสมาน โดยสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) จึงเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากมีการส่งตัวนายสมานออกไปนอกราชอาณาจักรไทย ย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิอาศัยในราชอาณาจักรไทย, สิทธิในสถานะบุคล รวมถึงละเมิดต่อผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยและกำลังเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเพื่อจะใช้สิทธิในความเป็นคนไทยของนายสมาน หรือกล่าวได้ว่านายสมานเป็น ผู้เสียหายในคดีอาญาตามมาตรา 2 (4) ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ ผู้อาจได้รับเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตามมาตรา 42 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตาม มาตรา 9 วรรค 1(1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ประการสำคัญ เสรีภาพของบุคคลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งของบุคคล ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้การรับรองและคุ้มครอง ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ (มาตรา 32 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550) และเป็นพันธกรณีที่ประเทศไทยผูกพันต้องเคารพในฐานะรัฐภาคีแห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR)
เวลา 15.30 น. วันนี้ (18 เม.ย.) ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) และเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงส่งจดหมายและความเห็นทางกฎหมาย และข้อหารือถึงแนวทางในการจัดการเพื่อคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สิทธิอาศัยในราชอาณาจักรตามมาตรา 17 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และสิทธิในการพัฒนาสถานะของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล จากการควบคุมตัวโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) กรณีนายสมาน สารทวีสุข ถึงตม. (สวนพลู) เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการปรับใช้กฎหมาย และเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ทางตม.(สวนพลู) ดำเนินการพิจารณาทบทวนข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้มีปัญหาสถานะบุคคล และมีคำสั่งปล่อยตัวนายสมาน สาทวีสุข โดยทันที

ด้านคณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพและชนพื้นเมือง ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ส่ง จม.ถึง ตม.(สวนพลู) เรื่องสิทธิของบุคคล กรณีนายสมาน สารทวีสุข เพื่อให้ได้รับการเคารพในสิทธิของบุคคล ได้รับเสรีภาพโดยรวดเร็วและไม่มีการละเมิดสิทธิ

 

หมายเหตุ: Stateless Watch Review เป็นงานสื่อสารสาธารณะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ข้อมูลเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch Information Center) ภายใต้สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ หรือ Stateless Watch for Research and Development Institute of Thailand (SWIT)

AttachmentSize
ความเห็นทางกฎหมาย จากดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล นักกฎหมาย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (PDF)123.7 KB
จดหมายถึง ตม. (PDF)106.06 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

อัยการออกหมายเรียก 18 นปช. ฐาน ม. 112 พ่วง 116

Posted: 18 Apr 2011 05:18 AM PDT

ธาริตเผย อัยการออกหมายเรียก 18 นปช. ฐานผิดมาตรา 112 พ่วง 116 ระบุ ความผิดของผู้ต้องหาทั้ง 18 ราย เป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ไม่ใช่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือหมิ่นสถาบันเหมือนที่หลายฝ่ายพยายามนำเสนอ

18 เม.ย.53 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานเมื่อเวลา 15.42 น.ว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับนายการุณ บุณยอุดมศักดิ์ อัยการพิเศษฝ่ายสำนักคดีศาลแขวง และนายคมคะเน หงส์ธนนันท์ อัยการประจำกรม เพื่อพิจารณาหลักฐานในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ ว่าด้วยการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 ว่า ขณะนี้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และพวกรวม 18 คน จากกรณีที่มีการปราศรัยล่วงละเมิดสถาบันในการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้คณะพนักงานสอบสวนร่วมระหว่างดีเอสไอกับอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดี จึงให้ออกหมายเรียกนายจตุพร กับพวกรวม 18 คน มารับทราบข้อกล่าวหา โดยในวันที่ 19 เม.ย. ตนจะออกหมายเรียกส่งไปรษณีย์ในระบบลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 18 คน 

นายธาริต กล่าวอีกว่า ดีเอสไอจะให้ระยะเวลาผู้ถูกกล่าวหาเตรียมหลักฐานเข้าชี้แจงต่อพนักงานสอบสวน โดยจะทำตารางนัดหมายเป็นรายบุคคล เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาระหว่างวันที่ 2-6 พ.ค. ซึ่งในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาและให้ปากคำจะมีพนักงานอัยการเข้าร่วมรับฟัง เพื่อความถูกต้องของการสอบสวนและถือเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาด้วย ในส่วนของสื่อมวลชนที่นำเสนอถ้อยคำการปราศรัยของแกนนำนปช.ในวันที่ 10 เม.ย. ดีเอสไอจะตรวจสอบหลักฐานอย่างละเอียดอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากแกนนำนปช.นำมวลชนคนเสื้อแดงมากดดันดีเอสไอจะดำเนินการอย่างไร นายธาริต กล่าวว่า ดีเอสไอเรียกตัวแกนนำนปช.มารับทราบข้อกล่าวหาและสอบคำให้การ ไม่ได้เรียกกลุ่มมวลชนมาให้การ ดังนั้นการปลุกระดมมวลชนจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของพนักงานสอบสวน อย่างไรก็ตาม ขอชี้แจงว่า ความผิดของผู้ต้องหาทั้ง 18 ราย เป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ไม่ใช่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือหมิ่นสถาบันเหมือนที่หลายฝ่ายพยายามนำเสนอ

สำหรับแกนนำนปช.ทั้ง 18 ราย ที่ถูกออกหมายเรียกให้มาพบพนักงานสอบสวนในคดีการกระทำผิดล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้ง 18 คน ได้แก่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ น.พ.เหวง โตจิราการ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายก่อแก้ว พิกุลทอง นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ นายการุณ โหสกุล นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท นายวีระ หรือวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายชินวัฒน์ หาบุญพาด นายวิเชียร ขาวขำ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน นายขวัญชัย สาราคำ หรือไพรพนา นายนิสิต สินธุไพร จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ นางลัดดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ และนายสมชาย ไพบูลย์

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ระบุว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี"

ส่วนมาตรา 116 ระบุ "ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

 

 

เรียบเรียงจาก: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมื่อคนลาหู่กับคนเมือง ลุกขึ้นมาจัดการความขัดแย้งในการอยู่ร่วมกัน

Posted: 18 Apr 2011 04:58 AM PDT

เมื่อคนลาหู่กับคนเมือง ลุกขึ้นมาจัดการความขัดแย้งในการอยู่ร่วมกัน[1]

 

สถานการณ์ปัญหาการพัฒนาสังคมไทยกว่า 50 ปีผ่านมา นับตั้งแต่ประเทศไทยได้ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ เริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504 - 2509) จนถึงฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน สถานการณ์การพัฒนาในช่วงที่ผ่านมากล่าวได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่สมดุลและไม่ยั่งยืน เนื่องจากประเทศไทยได้ใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมหรือเศรษฐกิจทุนนิยมที่มุ่งพัฒนาเพื่อสร้างความมั่งคั่งและรายได้มาสู่ประเทศเป็นหลัก และใช้การเติบโตของรายได้ต่อหัวเป็นเครื่องมือวัดผลสำเร็จของการพัฒนา ด้วยความคาดหวังว่าการเพิ่มปริมาณสินค้าและบริการ การเพิ่มการจ้างงาน รวมทั้งประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ในที่สุดแล้วย่อมจะสามารถกระจายไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศทำให้ปัญหา ความยากจนหมดไปได้ในที่สุด

การมุ่งเน้นไปที่การนำทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และความได้เปรียบด้านแรงงานราคาถูกมาใช้สนับสนุนการพัฒนาและขยายฐานการผลิต ซึ่งนำไปสู่การผลิตเพื่อส่งออกและอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวในอัตราสูง  แต่เป็นการเติบโตที่ต้องพึ่งพาทุน เทคโนโลยีและตลาดต่างประเทศ  จึงส่งผลต่อความไม่สมดุลของโครงสร้างการพัฒนาประเทศ นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในเรื่องการกระจายรายได้ ปัญหาความยากจนเพิ่มสูงขึ้น  คนจนขาดศักยภาพในการดำรงชีวิต การว่างงานเพิ่มขึ้นและมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนไทยมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมอันเกิดจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น

การพัฒนาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อประชากรทุกกลุ่ม ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงห่างไกลในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินและอำนาจในการจัดการป่าไม้ โดยผ่านกระบวนการทางกฎหมาย เช่น การประกาศเป็นเขตป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ทับที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน เมื่อมีการประกาศกฎหมายเหล่านี้กลุ่มชาติพันธุ์ได้กลายเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในป่าอย่างผิดกฎหมายทั้งๆที่เคยอยู่อาศัยและตั้งถิ่นฐานทำมาหากินมาก่อนที่รัฐจะประกาศกฎหมาย

ผลกระทบที่ตามมา คือ การอพยพย้ายถิ่นจากพื้นที่สูงลงมาพื้นที่ราบหรือในเมืองใหญ่เพื่อดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจให้อยู่รอด หรือถ้ายังดำรงชีวิตในพื้นที่ต่อไปก็จะถูกจำกัดการพัฒนา ถูกข่มขู่จากทางเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น ชุมชนบนพื้นที่สูงต้องแปรสภาพจากผู้อาศัยกลายเป็นผู้บุกรุกพื้นที่ ตกอยู่ในสภาพของความกลัว และท้ายที่สุดก็จบลงด้วยการถูกบังคับอพยพโยกย้ายมาเป็นแรงงานระดับล่างไร้ฝีมือในเมือง โดยปราศจากทางเลือกในการตั้งถิ่นฐานแต่อย่างใด ภายหลังจากที่กลุ่มชาติพันธุ์ในชุมชนได้อพยพออกจากที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยแล้ว ที่ดินเหล่านั้นก็ตกอยู่ในการครอบครองของนายทุนและผู้มีอำนาจอย่างถูกต้องทางกฎหมายต่อไป

ปรากฏการณ์เหล่านี้มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ผลของการอพยพย้ายถิ่นจากพื้นที่สูงสู่พื้นที่ราบทำให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าไร้ที่อยู่อาศัยไร้ที่ดินทำกิน กลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือเข้าสู่อาชีพบริการทางเพศ ถูกจำกัดสิทธิถูกคุกคามในฐานะการเป็น “คนอื่นของชุมชน” สูญเสียวิถีชีวิตดั้งเดิม ทั้งประเพณีและวัฒนธรรมความเป็นเผ่าพันธุ์และระบบสังคมดั้งเดิมถูกทำลาย ทำให้ศักยภาพของชุมชนอ่อนแอลงจนไม่สามารถดูแลพึ่งพาตนเองได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆติดตามมามากมาย อาทิ การอพยพโยกย้ายแรงงานจากชุมชนที่สูงเข้าสู่เมืองอันเป็นที่มาของปัญหาสังคม เกิดผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศโดยรวม การติดยาเสพติด โรคเอดส์ เด็กเล็ก เยาวชนและผู้หญิงไร้ที่อยู่อาศัย ขาดอาหาร ขาดคนดูแลเนื่องจากผู้นำครอบครัวถูกจับกุมติดคุก เยาวชนชนเผ่าจำนวนมากถูกระบบใหญ่กลืนกินหลงลืมวิถีชีวิตดั้งเดิมจนไม่สามารถสืบทอดเจตนารมณ์บรรพบุรุษได้ ถือได้ว่าเป็นการสูญเสียเอกลักษณ์เผ่าพันธุ์

นอกจากนั้นแล้วปัญหาในเรื่องอคติทางชาติพันธุ์ยังถือได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญมากสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์  เห็นได้จากที่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าส่วนใหญ่มักจะถูกดูถูก ถูกกล่าวหาอยู่เสมอว่า สกปรก ป่าเถื่อน ไร้การศึกษา ตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำลำธาร ค้ายาเสพติด และเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติ ถูกจัดเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่มีสิทธิเท่าเทียมคนไทยทั่วไป ถูกกล่าวหา ถูกกดขี่ข่มเหงตลอดเวลา

ชุมชนบ้านแม่ดอกแดง ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีอาณาบริเวณกว้างขวาง ลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าไม้ ภูเขา ลำห้วย เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และยังอยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่ จึงทำให้มีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากหลายกลุ่มมาอาศัยอยู่ แต่ส่วนมากเป็นกลุ่มชนเผ่าลาหู่เป็นสำคัญ

ประชากรส่วนใหญ่ในบ้านแม่ดอกแดงเป็นประชากรดั้งเดิมของหมู่บ้าน เป็นคนพื้นราบที่อาศัยอยู่ในชุมชนมายาวนาน ชุมชนโดยรอบหมู่บ้านแม่ดอกแดงมีอยู่หลายชุมชน ทั้งอยู่ใกล้กับชุมชนหลักในหมู่บ้านและอยู่ห่างไกลจากชุมชนหลักมากพอสมควร มีชุมชนจำนวนหลายชุมชนที่ยังไม่ได้มีการพัฒนาในด้านต่างๆโดยเฉพาะในด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน จึงสร้างความยากลำบากให้กับประชากรในพื้นที่เป็นอย่างมาก ประกอบกับงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของชุมชน เพราะมีพื้นที่รับผิดชอบจำนวนมากหลายหมู่บ้าน

สำหรับการอพยพของกลุ่มชนเผ่าลาหู่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่นั้น เริ่มต้นจากการที่มีกลุ่มชนเผ่าลาหู่จากหลายอำเภอในเขตจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ทั้งกลุ่มที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทยได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชน ผ่านการช่วยเหลือของมูลนิธิที่ทำงานด้านคริสตศาสนา เมื่อปี พ.ศ.2539 โดยการซื้อที่ดินและจัดตั้งโบสถ์พร้อมทั้งตั้งเป็นกลุ่มชุมชนชาติพันธุ์เล็กๆในชุมชน ผนวกรวมกับการที่ในปัจจุบันได้มีชนเผ่าอื่นๆได้อพยพเข้ามาและซื้อที่ดินของคนในชุมชนบ้านแม่ดอกแดง เพื่ออยู่อาศัยเป็นจำนวนมากหลายครอบครัว ยิ่งสร้างความยากลำบาก ความเดือดร้อนให้กับชุมชนที่เป็นประชากรพื้นราบเป็นอย่างมาก

การอาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านแม่ดอกแดงของประชากร 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนลาหู่บนพื้นที่สูง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนชนบทที่อพยพเข้ามารับจ้าง โดยอาศัยการเป็นแรงงานเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ และกลุ่มคนพื้นที่ราบ ได้ก่อให้เกิดปัญหาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ การเข้ามาแย่งอาชีพของประชากรดั้งเดิม การทำมาหากิน เช่น หาของป่า รับจ้างทั่วไป การใช้ประโยชน์จากทรัพยากร หรือแม้กระทั่งการทะเลาะวิวาทกันภายในชุมชน ความไม่ปลอดภัยในด้านทรัพย์สิน ยาเสพติด ศาสนาวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การไม่ให้ความร่วมมือกับชุมชน การทวงถามสิทธิด้านต่างๆที่พึงได้รับในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภค น้ำประปา ไฟฟ้า รวมไปถึงระบบสวัสดิการ การศึกษาสำหรับกลุ่มเยาวชน การย้ายเข้าย้ายออกในแต่ละครอบครัว เป็นต้น เหล่านี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับชนเผ่าลาหู่ที่เข้ามาอยู่กับชุมชนบ้านแม่ดอกแดง 

อย่างไรก็ตามมีความพยายามแก้ปัญหาในระดับชุมชนด้วยตนเอง พบว่าในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนเมษายน - กันยายน พ.ศ.2553

[2]

ทางกลุ่มผู้นำชาวบ้านในระดับท้องถิ่นได้มีการพูดคุยและวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวในข้างต้นบ่อยครั้ง มีการหารือร่วมกันกับสมาชิกเทศบาลตำบลเชิงดอยโดยเฉพาะทางนายกเทศบาลตำบลได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นโดยตรง มีการนำเสนอในวาระการประชุมในระดับตำบลของสภาเทศบาลเพื่อหาแนวทางแก้ไข ซึ่งในปัจจุบันวางเป้าหมายไปที่การพัฒนาปัญหาดังกล่าวเป็นวาระตำบล เพื่อที่จะพัฒนาเป็นเทศบัญญัติในการกำหนดนโยบายในอนาคต

นอกจากนั้นแล้วยังมีการประชุมในระดับคณะกรรมการหมู่บ้าน เปิดเวทีให้ผู้นำชุมชนหลายฝ่ายทั้งกลุ่มคนเมืองและชนเผ่าลาหู่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อหาแนวทางในการป้องกัน โดยการออกกฎระเบียบของชุมชนเพื่อกำหนดแนวทางการอยู่ร่วมกัน ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้นำชนเผ่าก็มองว่าจำเป็นที่ต้องมาหารือร่วมกัน เพราะถูกมองว่าเป็นจำเลยและเป็นที่มาของปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน

กล่าวได้ว่าการพยายามแก้ไขปัญหาของชุมชนบ้านแม่ดอกแดงได้ยกระดับไปสู่การทำงานร่วมในระดับตำบล ซึ่งมีกลุ่มผู้นำหลายหมู่บ้านในเขตเทศบาลตำบลเชิงดอย ได้หาแนวทางการแก้ไขปัญหา มุ่งเป้าหมายไปที่การสร้างความร่วมมือในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เพราะที่ผ่านมาเป็นลักษณะของต่างคนต่างอยู่ ไม่มีพื้นที่การหารืออย่างเป็นขั้นเป็นตอน เนื่องด้วยนัยทางวัฒนธรรมและความหลากหลายของกลุ่มคน ผนวกกับภาษาในการสื่อสารระหว่างกันที่เป็นอุปสรรค

จากสถานการณ์ดังที่กล่าวมาทั้งหมด จึงชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์ของปัญหาความไม่สมดุลของการจัดการชุมชน ที่เป็นผลมาจากการอพยพย้ายถิ่นของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงเข้ามาอยู่ในชุมชนที่มีประชากรพื้นที่ราบแห่งนี้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการแสวงหารูปแบบการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันของคนสองกลุ่มที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในพื้นที่บ้านแม่ดอกแดง เพื่อให้ได้รูปแบบการจัดการเรื่องอยู่ร่วมกันของคนสองกลุ่มในมิติต่างๆ อันจะนำไปสู่การเป็นตัวอย่างเพื่อปรับใช้สำหรับพื้นที่อื่นๆในสังคมไทยต่อไป

 


[1]

ผู้เขียนได้รับทุนวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า เมื่อพฤศจิกายน 2553  เพื่อดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “แนวทางการพัฒนาความร่วมมือในการอยู่ร่วมกันของคนบนพื้นที่สูงกับคนพื้นราบ ในชุมชนบ้านแม่ดอกแดง หมู่ที่ 1 ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่” บทความเรื่องนี้เป็นตอนที่ 1 ของงานวิจัย ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

[2]

การจัดเวทีหารือในช่วงเดือนเมษายน – กันยายน 2553 ชุมชนบ้านแม่ดอกแดงได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“บิ๊กจิ๋ว” ลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย

Posted: 18 Apr 2011 03:35 AM PDT

เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์รายงานเมื่อเวลา 17.09 ว่า “พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ” ทำหนังสือขอลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย ระบุขอให้มีผลนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

วันนี้ (18เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ได้ทำหนังสือขอลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนเป็นหลักฐาน ถึงนายทะเบียนพรรคเพื่อไทยแล้ว โดยขอให้มีผลนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ที่มา: เดลินิวส์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานฟรีดอมเฮาส์เผยภัยคุกคามต่อเสรีภาพเน็ตพุ่งทะยาน

Posted: 18 Apr 2011 02:15 AM PDT

เผยรายงานประจำปีฟรีดอมเฮาส์ เสรีภาพไทยดิ่ง เหตุถูกรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงคุมหนัก ระบุผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในเมืองไทยมีบทบาทสำคัญในการท้าทายชนชั้นนำทางการเมืองและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา

media freedom map

media freedom
ตารางเปรียบเทียบเสรีภาพสื่อในประเทศที่มีการสำรวจ
แถบสีเขียวคือกลุ่มประเทศที่มีเสรีภาพ แถบสีเหลืองคือกลุ่มประเทศที่มีเสรีภาพบางส่วน และสีม่วงคือกลุ่มประเทศที่ไม่มีเสรีภาพ-ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศ "ไม่มีเสรีภาพ"

 

วอชิงตัน ดีซี 18 กุมภาพันธ์ 2554 - ฟรีดอม เฮาส์ได้เปิดเผยรายงานศึกษาฉบับล่าสุด Freedom on the Net 2011: A Global Assessment of Internet and Digital Media ว่าด้วยสถานภาพของอินเตอร์เน็ตและสื่อดิจิตอลทั่วโลก พบว่าการโจมตีทางไซเบอร์ (cyber attacks) การปิดกั้นเนื้อหาทางการเมือง และการที่รัฐควบคุมโครงสร้างระบบอินเตอร์เน็ต เป็นภัยอันตรายที่สูงขึ้นเรื่อยๆต่อเสรีภาพอินเตอร์เน็ต

การคุกคามเสรีภาพอินเตอร์เน็ตดังกล่าว เกิดขึ้นพอดีกับจังหวะเวลาที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกสูงขึ้นอย่างทวีคูณในระหว่างห้าปีที่ผ่านมา และรัฐบาลได้มีมาตรการการจัดการกับอิทธิพลที่สูงขึ้นของสื่อชนิดใหม่ๆเหล่านี้โดยการเข้าไปควบคุมกิจกรรมต่างๆออนไลน์ การปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงการจำกัดสิทธิของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอีกด้วย

“การศึกษานี้ ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าปัญหาของเสรีภาพอินเตอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องเล็กๆ” เดวิด เจ เครเมอร์ ผู้อำนวยการฟรีดอมเฮาส์กล่าว รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย นับวันจะยิ่งเทความตั้งใจและทรัพยากรที่มากขึ้นเพื่อไปปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและแทรกแซงเสรีภาพในการแสดงออกทางออนไลน์

รายงาน Freedom on the Net 2011 (2554) ฉบับนี้ เป็นฉบับที่สองที่ตีพิมพ์ออกมาหลังจากที่รายงานนำร่องฉบับแรกได้ตีพิมพ์ออกมาแล้วในปี 2552 รายงานของฟรีดอมเฮาส์ฉบับล่าสุดนี้ได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเสรีภาพอินเตอร์เน็ตใน 37 ประเทศ โดยมีหลักเกณฑ์ประเมิน คือ อุปสรรคต่อการเข้าถึงข้อมูล ข้อจำกัดทางเนื้อหา และการละเมิดสิทธิผู้ใช้

จากรายงานพบว่า เอสโตเนียเป็นประเทศที่มีเสรีภาพอินเตอร์เน็ตสูงสุดในจำนวนประเทศที่ได้รับการสำรวจ สหรัฐอเมริกาเป็นอันดับที่สองรองลงมา และอิหร่านเป็นประเทศที่ได้คะแนนน้อยที่สุด นอกจากนี้ยังมี 11 ประเทศที่ได้รับการถูกจัดลำดับว่า “ไม่เสรี” (Not Free) เช่น เบลารุส พม่า จีน คิวบา ซาอุดิอาระเบีย และไทย จำนวน 9 ประเทศจากจำนวน 15 ประเทศที่ศึกษาไปในรายงานนำร่อง พบว่าเสรีภาพอินเตอร์เน็ตได้ถดถอยลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา และประเทศอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจากการศึกษาครั้งใหม่ พบว่าล้วนแต่มีแนวโน้มไปในทางด้านลบ การคุกคามและจับกุมบล็อกเกอร์ การเซ็นเซอร์ที่มากขึ้น รวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ มักเกิดขึ้นเมื่อประเทศนั้นๆ ประสบกับความผันผวนการเมืองขนาดใหญ่ เช่น ในช่วงการเลือกตั้งที่มีปัญหา

ประเทศที่ตกอยู่ในความเสี่ยง: จากการวิเคราะห์ข้อมูล ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าประเทศที่เสรีภาพอินเตอร์เน็ตเสี่ยงต่อการเสื่อมถอยในระยะเวลา 12 เดือนนี้ คือ จอร์แดน รัสเซีย ไทย เวเนซูเอลา และซิมบับเว


ทิศทางและแนวโน้มของเสรีภาพเน็ต 

สื่อSocial Media ปะทะการเซ็นเซอร์: เนื่องด้วยแอพพลิเคชั่นบนอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือทวิตเตอร์ ได้ความนิยมสูงขึ้นมาก รัฐบาลหลายประเทศจึงขยายยุทธศาสตร์การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารโดยมุ่งเป้าไปที่การปิดกั้นสื่อใหม่ๆเหล่านี้ด้วย โดย 12 ประเทศจาก 37 ประเทศที่ได้รับการสำรวจ พบว่ารัฐบาลได้ใช้อำนาจสั่งปิดการให้บริการของแอพพลิเคชั่นประเภทนี้อย่างเด็ดขาด ทั้งชั่วคราวและถาวร

บล็อกเกอร์และผู้ใช้เน็ตทั่วไปถูกจับกุมเพิ่มขึ้น: มีจำนวนบล็อกเกอร์ นักข่าวออนไลน์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงบุคคลทั่วไป ถูกจับกุมและตัดสินจำคุกเนื่องมาจากงานเขียนที่ตีพิมพ์ในอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น โดยใน 23 ประเทศจาก 37 ประเทศที่สำรวจ มีบล็อกเกอร์หรือผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอย่างน้อยหนึ่งคนถูกจำคุกเนื่องจากการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต ในจำนวนนี้รวมถึงประเทศที่เป็นประชาธิปไตยด้วย

การโจมตีทางไซเบอร์ต่อกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐบาลรุนแรงขึ้น: รัฐบาลและกลุ่มแนวร่วมได้ใช้การโจมตีทางเทคนิคเพื่อก่อกวนเครือข่ายออนไลน์ของนักเคลื่อนไหว ดักฟังการสื่อสาร และทำให้เว็บไซต์เป็นอัมพาต การโจมตีดังกล่าวปรากฏในอย่างน้อย 12 ประเทศจากประเทศที่ได้ศึกษาทั้งหมด 37 ประเทศ

การเซ็นเซอร์ทางการเมืองและการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร: 15 ประเทศจาก 37 ประเทศที่ศึกษาพบว่า รัฐบาลได้เซ็นเซอร์เนื้อหาในอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ในประเทศเหล่านี้ การปิดกั้นเว็บไซต์เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐที่ต้องการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากเว็บไซต์ของสื่ออิสระหรือกลุ่มด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

การจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากโครงสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่รวมศูนย์ที่รัฐบาล:  การที่รัฐบาลได้ควบคุมการเชื่อมต่อเครือข่ายในประเทศกับต่างประเทศ นับว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อเสรีภาพในการสื่อสารออนไลน์ โดยเฉพาะในยามที่เหตุการณ์ทางการเมืองไม่สงบ ใน 12 ประเทศจาก 37 ประเทศที่สำรวจ พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้การควบคุมโครงสร้างของเครือข่ายเพื่อจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม และในบางกรณี อาจรุนแรงไปถึงตัดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่างสิ้นเชิง

ซานย่า เคลลี่ บรรณาธิการอำนวยการของรายงานฉบับนี้กล่าวว่า ความสามารถในการสื่อสารประเด็นทางการเมือง รวมไปถึงการจัดตั้ง การพูดคุยถกเถียง และการเข้าถึงข้อมูลในโลกออนไลน์นั้นสำคัญมากพอๆกันกับในโลกออฟไลน์ มาตรการที่เร่งด่วนเพื่อป้องกันบล็อกเกอร์และผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจากสิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก เนื่องจากการคุกคามสื่อเช่นนี้ยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลใช้กับสื่อกระแสหลักอยู่แล้วอีกด้วย


สถานะเสรีภาพเน็ตในประเทศต่างๆที่น่าสนใจ

จีน: รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของระบบควบคุมอินเตอร์เน็ตที่ล้ำหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และยิ่งนับวันจะยิ่งกดทับเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เฟซบุคและทวิตเตอร์ได้ถูกบล็อคอย่างถาวรในขณะที่แอพพลิเคชั่นทางเลือกภายในประเทศได้รับความนิยมมากขึ้น แม้ว่าจะถูกบังคับให้เซ็นเซอร์ก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐได้ปิดกั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นเวลานานนับเดือนทางด้านตะวันตกของเขตปกครองตนเองซินเจียง และมีอย่างน้อย 70 คนที่ถูกจำคุกด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการใช้อินเตอร์เน็ตในปี 2553

อิหร่าน: นับตั้งแต่การประท้วงหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2552 เจ้าหน้าที่รัฐของอิหร่านก็ได้เริ่มมาตรการที่ไม่ปราณีต่อเสรีภาพอินเตอร์เน็ต เช่น ตั้งใจถ่วงความเร็วอินเตอร์เน็ตให้ช้าลงมากในช่วงเวลาวิกฤติ และเจาะระบบข้อมูลเพื่อทำลายเว็บไซต์ของกลุ่มฝ่ายค้าน มีบล็อกเกอร์จำนวนมากถูกข่มขู่ จับกุม ทรมานหรือคุมขังเดี่ยว และมีอย่างน้อยหนึ่งคนที่เสียชีวิตในคุก

ปากีสถาน: ในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งภายใต้รัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเมืองที่ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่รัฐบาลปากีสถานได้ใช้มาตรการหลายชนิดเพื่อควบคุมอินเตอร์เน็ตและการไหลเวียนของข้อมูลออนไลน์ ในช่วงกลางปี 2553 คณะกรรมการเพื่อความร่วมมือระหว่างกระทรวงเพื่อการตรวจสอบและติดตามเว็บไซต์ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ระบุและบล็อคเว็บไซต์ที่เข้าข่ายเป็นอันตรายหรือดูหมิ่นต่อรัฐและศาสนา

สหรัฐอเมริกา : การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในสหรัฐอเมริกายังคงจัดว่ามีเสรีภาพและเปิดเผยพอสมควรหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประสบข้อจำกัดน้อยมากในการเข้าถึงข้อมูลและการตีพิมพ์ข้อมูลข่าวสารออนไลน์ ทั้งนี้ศาลยังห้ามไม่ให้รัฐบาลใช้ข้อกำหนดว่าด้วยการแสดงออกกับเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ตด้วย อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาก็ยังล่าช้ากว่าประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆในแง่ของตัวเลขสัดส่วนของผู้ใช้บรอดแบนด์ต่อประชากรและความเร็วในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต นอกจากนี้อำนาจในการสอดส่องและควบคุมของรัฐบาลก็ยังคงเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง

จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการศึกษา 37 ประเทศนี้ ฟรีดอม เฮาส์ได้ระบุห้าประเทศที่ถือว่าเสี่ยงต่อการถดถอยของเสรีภาพอินเตอร์เน็ตในปี 2554 และ 2555 มากเป็นพิเศษ ทั้งนี้ มีประเทศอื่นๆจำนวนหนึ่งที่มีการถดถอยของเสรีภาพอินเตอร์เน็ตในช่วงสองปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป อย่างไรก็ตาม การควบคุมอินเตอร์เน็ตในประเทศเหล่านี้มีค่อนข้างมากและมีมาเป็นระยะเวลาหนึ่งอยู่แล้ว เช่นในบาห์เรน จีน และอิหร่าน ส่วนห้าประเทศที่ได้ระบุไปนั้น อินเตอร์เน็ตยังคงถือว่าเป็นพื้นที่ที่ผู้ใช้สามารถแสดงออกได้ค่อนข้างเป็นอิสระถึงแม้ว่ามีข้อจำกัดบ้าง นอกจากนี้ประเทศเหล่านี้ยังมีลักษณะของการที่สื่อกระแสหลักถูกควบคุมโดยรัฐบาล และมีอัตราของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตคิดเป็นอย่างน้อยร้อยละ 25 ซึ่งหมายความว่าอินเตอร์เน็ตอยู่ในสถานะที่สำคัญและเสี่ยงต่อการกดทับมากพอๆกัน

รายงานฟรีดอมเฮาส์ฉบับนี้ยังได้เปิดเผยว่า ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในเมืองไทยได้มีบทบาทสำคัญในการท้าทายชนชั้นนำทางการเมืองและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงได้พยายามควบคุมการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นบนอินเตอร์เน็ต ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะได้ทำการปิดกั้นข้อมูลบางส่วนบนอินเตอร์เน็ตมาตั้งแต่ปี 2546 แต่ในระยะสองปีที่ผ่านมา การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารบนอินเตอร์เน็ตหนักขึ้นมากทั้งในด้านปริมาณและเนื้อหา ส่งผลให้ในปี 2553 เว็บไซต์นับหมื่นเว็บไซต์ รวมไปถึงสื่ออิสระและกลุ่มด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว

การปิดกั้นนี้ยังเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นในระหว่างเดือนเมษายนถึงธันวาคม 2553 เมื่อพระราชกำหนดบริหารประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉินถูกประกาศใช้ และได้ให้อำนาจสูงสุดแก่เจ้าหน้าที่ในการสั่งปิดเว็บไซต์ใดๆ ก็ได้ที่เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ประชาชนจำนวนมากถูกตั้งข้อหาเนื่องจากแสดงความคิดเห็นออนไลน์โดยเฉพาะความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ และจากที่ความผันผวนทางการเมืองของประเทศไทยยังคงดำรงอยู่ อีกทั้งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามกำหนดในเดือนธันวาคม 2554 นั้น คาดได้ว่าแนวโน้มของประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกจะยิ่งถดถอยลงไปอีก จะเห็นจากกรณีล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศาลตัดสินให้ผู้ทำเว็บไซต์ถูกจำคุกเป็นเวลา 13 ปี เนื่องมาจากการโพสต์ความคิดเห็นออนไลน์ และการปฏิเสธไม่ลบความคิดเห็นของผู้อื่นบนเว็บไซต์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิทิต เป็นประธานสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไอวอรี่โคสต์

Posted: 18 Apr 2011 01:37 AM PDT

ประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แต่งตั้ง วิทิต มันตาภรณ์เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในโกดติวัวร์ (ไอวอรี่ โคสต์) เพื่อสอบสวนข้อกล่าวหาที่ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงจากศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

16 เมษายน 2554 ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแนวหน้าของไทย ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในโกดติวัวร์ โดยประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อสอบสวนข้อกล่าวหาที่ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในประเทศโกตดิวัวร์ ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2553


ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์

เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน โดยระบุว่า

1. คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีเอกอัครราชทูตสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีฯ ได้แต่งตั้งศาสตราจารย์วิทิตฯ ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสืบสวนฯ ในเรื่องดังกล่าวข้างต้น ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากประชาคมระหว่างประเทศ

2. คณะกรรมการสืบสวนดังกล่าวมีหน้าที่ในการสืบสวนข้อเท็จจริงและสถานการณ์ทั่วไปที่มีการกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุยชนอย่างรุนแรงในประเทศโกดติวัวร์ ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน 2554 เพื่อสืบหาผู้รับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวและนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ คณะกรรมการสืบสวนฯ จะนำเสนอรายงานต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ในเดือนมิถุนายน ศกนี้ เพื่อให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติพิจารณาต่อไป

3. ศาสตราจารย์วิทิต เป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติตามอนุสัญญาและข้อแนะขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ศาสตราจารย์วิทิตฯ เคยดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งในสหประชาชาติ รวมถึงตำแหน่งผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยการค้าเด็ก การค้าประเวณีเด็ก และสื่ออนาจารที่เกี่ยวกับเด็ก ระหว่างปี 2533-2537 และตำแหน่งผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ ระหว่างปี 2547-2553นอกจากนี้ ศาสตราจารย์วิทิตฯ ยังได้รับรางวัลจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติด้านการศึกษาสิทธิมนุษยชนในปี 2547

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนอีก 2 คนที่ได้รับการแต่งตั้งในคณะกรรมการสืบสวนฯ ได้แก่นาย Suliman Baldo จากซูดาน และนาง Reine Alapini Gansou จากเบนิน

ไอวอรี่ โคสต์ เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา มีพรมแดนทิศตะวันตกติดกับประเทศกินี และประเทศไลบีเรีย ทิศเหนือติดกับประเทศมาลี และประเทศบูร์กินาฟาโซ ทิศตะวันออกติดกับประเทศกานา ทิศใต้ติดกับอ่าวกินี และเคยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในระหว่างปี ค.ศ. 1889-1944

ความรุนแรงทางการเมืองของไอวอรี่ โคสต์ซึ่งดำเนินมาเกือบปีเกิดขึ้นเนื่องจาก นายโรลองต์ บากโบอดีตประธานาธิบดีไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งซึ่งเขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งนายอลัสซาน อูอัตทารา และใช้กำลังกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิตไปหลายร้อยคน

องค์การสหประชาชาติระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามโดยใช้กองกำลังทหารไปจำนวนมากกว่า 500 คน และประชาชนอีกราว 1 ล้านคนต้องละทิ้งบ้านเรือน

ความขัดแย้งมีทีท่ายุติลงเมื่อนายบากโบถูกจับกุมที่บ้านพักของเขาเองโดยกองกำลังร่วมระหว่างฝรั่งเศสและกองกำลังของนายอลัสซาน อูอัตทารา ผู้ซึ่งได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ชอบธรรม เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผยผลวิจัย ป.ตรี สมัครงานมากที่สุด แต่ ม.ต้น กลับได้บรรจุงานอัตราส่วนสูงที่สุด

Posted: 18 Apr 2011 01:17 AM PDT

ผลงานวิจัยของกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เรื่อง “วุฒิการศึกษากับระยะเวลาการบรรจุงาน : ศึกษาเฉพาะกรณีผู้สมัครงานในระบบบริการจัดหางานของกรมการจัดหางาน ปี 2548 - 2552” พบว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีมีผู้สมัครงานสูงที่สุดแต่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับ มัธยมศึกษาตอนต้นมีจำนวนผู้ได้รับการบรรจุงานในอัตราที่สูงกว่าวุฒิการศึกษาอื่น

จากการศึกษาพบว่า ในระหว่างปี 2548 - 2552 มีผู้ที่ได้รับการบรรจุงานภายในระยะเวลา 12 สัปดาห์จำนวน 475,398 คน จากผู้สมัครงานทั้งหมด จำนวน 2,534,948 คน ในจำนวนผู้ที่ได้รับการบรรจุงานดังกล่าวมากกว่าครึ่งเป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 57.78 และเป็นเพศชายคิดเป็นร้อยละ 42.22 โดยมีการบรรจุงานในภาคกลางมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 35.30 รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 22.67

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาผู้สมัครงานตามระดับการศึกษา ภายในระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีมีผู้สมัครงานสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 25.14 รองลงมา คือ ประถมศึกษา (ร้อยละ 20.01) มัธยมศึกษาตอนต้น (ร้อยละ 18.85) มัธยมศึกษาตอนปลาย (ร้อยละ 16.78) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) (ร้อยละ 10.99) ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) (ร้อยละ 7.08) อนุปริญญา (ร้อยละ 0.58) และปริญญาโทและสูงกว่า (ร้อยละ 0.57) ตามลำดับ

และจากการศึกษาผู้ได้รับการบรรจุงานภายในระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับ มัธยมศึกษาตอนต้นมีจำนวนผู้ได้รับการบรรจุงานในอัตราที่สูงกว่าวุฒิการศึกษาอื่น โดยได้รับการบรรจุงานคิดเป็น ร้อยละ 25.67 รองลงมาคือ ระดับประถมศึกษา ร้อยละ 19.89 มัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 18.87 ปริญญาตรี ร้อยละ 17.95 ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ร้อยละ 10.32 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ร้อยละ 6.77 อนุปริญญา ร้อยละ 0.44 และปริญญาโทและสูงกว่า ร้อยละ 0.08
 

 

ทั้งนี้โดยในแต่ละระดับการศึกษามีผู้ได้บรรจุงานจำแนกตามระดับการศึกษาและสาขาวิชา (ปวช. – ป.ตรี ) มีดังนี้

ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาที่มีจำนวนผู้ได้บรรจุงาน 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) การบัญชี 2) การตลาดและการขาย 3) ช่างยนต์ 4) พาณิชยกรรม/บริหารธุรกิจ 5) ช่างไฟฟ้ากำลัง 6) ช่างกลโรงงาน 7) คอมพิวเตอร์ 8) ช่างอิเล็กทรอนิกส์ 9) คหกรรมศาสตร์ทั่วไป 10) การเลขานุการ

ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาที่มีจำนวนผู้ได้บรรจุงาน 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) การบัญชี 2) คอมพิวเตอร์ธุรกิจ 3) การตลาดและการขาย 4) ช่างไฟฟ้ากำลัง 5) ช่างยนต์ 6) พาณิชยกรรม/บริหารธุรกิจ 7) ช่างอิเล็กทรอนิกส์ 8) ช่างเทคนิคอุตสาหกรรม 9) ช่างเครื่องกล 10) ช่างก่อสร้าง

ระดับอนุปริญญา สาขาวิชาที่มีจำนวนผู้ได้บรรจุงาน 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) การสอนมัธยมศึกษา 2) ปก.ศ.สูง 3) คอมพิวเตอร์ 4) การจัดการทั่วไป 5) พัฒนาชุมชน 6) ศิลปศาสตร์ 7) บริหารธุรกิจ 8) ธุรกิจการท่องเที่ยว 9) การศึกษาประถมวัย 10) เทคโนโลยีการเกษตร

ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาที่มีจำนวนผู้ได้บรรจุงาน 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) การจัดการ/ การบริหารทั่วไป 2) การบัญชี 3) บริหารธุรกิจ 4) การตลาด 5) คอมพิวเตอร์ธุรกิจ 6) รัฐศาสตร์ 7) ภาษาศาสตร์ 8) วิศวกรรมอุตสาหการ 9) ระบบสารสนเทศ 10) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร

ทั้งนี้ในผลการวิจัยได้ระบุว่าการบรรจุงานที่ใช้เวลามากขึ้น อาจเกิดจากปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างความต้องการของนายจ้างและคุณสมบัติของผู้สมัครงาน โดยประเด็นที่นายจ้างให้ความสำคัญมากที่สุดคือ วิชาความรู้เฉพาะสาขาการศึกษาที่ตรงกับตำแหน่งงานนั้น จะต้องสามารถนำมาใช้ปฏิบัติงานได้ นอกจากสาเหตุการไม่บรรจุงานของนายจ้างแล้ว ยังมีสาเหตุจากความไม่พึงพอใจของผู้สมัครงานด้วย เช่น เรื่องสภาพการทำงานที่ไม่สะดวกสบาย ค่าตอบแทน หรือสวัสดิการอื่นๆไม่จูงใจ และปัญหาการเดินทาง เป็นต้น และมีข้อเสนอแนะว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะมีมาตรการส่งเสริมหรือจูงใจให้นักเรียนหันมาศึกษา ในสายวิชาชีพให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการบรรจุงาน และลดปัญหาความไม่สอดคล้อง อีกทั้งยังช่วยลด ปัญหาการว่างงานด้วย รวมถึงกรณีผู้ที่ได้รับการบรรจุงานช้าหรือไม่ได้รับการบรรจุงาน ควรได้รับการแนะแนวอาชีพ การฝึกอาชีพหรือพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการบรรจุงานให้มากขึ้น
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: บ.นิเด็ค อยุธยา ประกาศปิดกิจการลอยแพสหภาพ

Posted: 17 Apr 2011 11:50 PM PDT

บริษัทนิเด็ค อีเล็คโทรนิคส์ อยุธยา เรียนแบบ NTN นิเด็ค ระยอง ประกาศปิดลอยแพสหภาพแรงงาน บอกหางานที่เหมาะสมให้ทำไม่ได้กว่า 200 คน ประธานกลุ่มตั้งคำถามบริษัทมีปัญหาหรือไม่ต้องการพนักงานส่วนนี้กันแน่

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานนิเด็ดประเทศไทย ได้ประชุมร่วมกับประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและใกล้เคียง  นาย  อุดม  ไกรราช  และนาย สมเกียติ  ลอยโต รองประธานกลุ่มฯ ณ.ที่ทำการกลุ่มผู้ใช้แรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อหาทางช่วยเหลือพนักงานประมาณ 600 คน ของบริษัท นิเด็ค อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด วังน้อย อยุธยา เนื่องจากบริษัทประกาศจะปิดกิจการทั้งหมด และได้มีการโยกย้ายพนักงานบางส่วนไปยังโรงงานต่าง  ๆ ของเช่นบริษัท นิเด็ค อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) สาขาโรจนะและบริษัท นิเด็คอีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด. รังสิต ปทุมธานี  แต่ยังมีพนักงานอีกประมาณ 200คนที่ทางบริษัท บอกว่าไม่สามารถหาส่วนงานที่เหมาะสมได้

นางสาว  ดวงใจ   โพธิ์พิฑูรย์  ประธานสหภาพแรงงานฯ  เล่าว่า “พนักงานที่เหลือส่วนใหญ่เป็นกรรมการ และสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งหมด ซึ่งทางบริษัทของกลุ่มนิเด็คไม่อ้างว่ายังหางานที่เหมาะสมให้ ทำไม่ได้ โดยเห็นผลนี้ตนมองว่าอาจเป็นเพราะทางบริษัทไม่ต้องการให้มีสหภาพแรงงานมากกว่า เพราะเหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นกับบริษัท นิเด็คแบริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ระยอง มาแล้ว ในการประกาศเปิดรับสมัครใจลาออกจ่ายค่าชดเชยให้มากกว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงาน พอออกยังไม่หมดประกาศปิดกิจการ ส่วนกรรมการสหภาพแรงงานก็ฟ้องขออำนาจศาลเลิกจ้าง ซึ่งไม่ทราบว่าปิดกิจการเพราะเจ๊ง หรือต้องการจัดการกับอะไรกันแน่”

นายอุดม ไกรราช ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาฯ กล่าวว่า “ทางกลุ่มฯได้ทำหนังสือไปยังกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อให้ภาครัฐเข้าไปตรวจดูเจตนาการกระทำของบริษัท นิเด็คอิเล็คโทรนิคว่า พนักงานที่เหลือส่วนใหญ่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานและสมาชิกสหภาพแรงงานทำไมถึงไม่มีส่วนงานที่เหมาะสมหรือเป็นการตั้งใจที่จะไม่ต้องการพนักงานส่วนนี้กันแน่”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กกต.เล็งออกระเบียบห้ามพรรคการเมืองกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในการหาเสียง โทษหนักถึงยุบพรรค

Posted: 17 Apr 2011 11:37 PM PDT

กกต.เผยสำนักนายกฯ ขอให้ กกต. ออกข้อกำหนดการเลือกตั้งห้ามพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ว่ากรณีใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการปกป้องหรืออื่นๆ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในคะแนนเสียงหรือทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต หากผู้กระทำผิดเป็นกรรมการบริหารพรรคโทษถึงขั้นยุบพรรค

มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวเมื่อวันที่ 17 เมษายน ถึงกรณีนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำหนังสือถึง กกต.ขอให้ออกข้อกำหนดที่เกี่ยวกับกับเรื่องการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองว่า

สำนักบริหารงานเลือกตั้งได้ดำเนินการยกร่างระเบียบว่าด้วยวิธีการหาเสียง ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนที่นายกฯ จะให้ สลค. มาประสานงาน เนื่องจากเคยมีการร้องเรียนเรื่องในการเลือกตั้งท้องถิ่นกรณีคู่แข่งหาเสียง โดยอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ผ่านมา กกต. ไม่เคยมีระเบียบเช่นนี้มาก่อน คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ กกต.พิจารณาได้ภายในเดือนเมษายน เพื่อที่จะนำมาใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ได้ทัน

สำหรับระเบียบดังกล่าวจะมีหลักการคล้ายข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทน ราษฎร ที่ห้ามไม่ให้กล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ว่ากรณีใดๆ โดยระเบียบดังกล่าวจะเริ่มใช้ภายหลังยุบสภา หากผู้สมัคร ส.ส.รายใดฝ่าฝืน โดยกล่าวอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องหรือกรณีอื่นๆ หากทำให้เข้าใจผิดในคะแนนเสียงหรือทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต นอกจากมีโทษถึงขั้นให้จัดการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) หรือตัดสิทธิทางการเมือง (ใบแดง) แล้วยังอาจมีโทษถึงขั้นถูกดำเนินคดีอาญา และหากผู้ที่ทำผิดระเบียบดังกล่าวเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใด ก็จะนำไปสู่การยุบพรรคเช่นเดียวกับการซื้อเสียง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสองด้วยŽ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศปถ. สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนน รวมสะสม 7 วัน

Posted: 17 Apr 2011 10:56 PM PDT

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนน รวม 7 วัน (11 – 17 เม.ย.54) เกิดอุบัติเหตุทางถนนรวม 3,215 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 271 คน ผู้บาดเจ็บรวม 3,476 คน

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เป็นประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2554 ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์” เกิดอุบัติเหตุ 283 ครั้ง เทียบกับวันเดียวกันของการรณรงค์ปี 2553 (298 ครั้ง) ลดลง 15 ครั้ง หรือ ร้อยละ 5.03 ผู้เสียชีวิต 42 คน เทียบกับวันเดียวกันของการรณรงค์ปี 2553 (55 คน) ลดลง 13 คน หรือ ร้อยละ 23.64 ผู้บาดเจ็บ 304 คน เทียบกับวันเดียวกันของการรณรงค์ปี 2553 (300 คน) เพิ่มขึ้น 4 คน หรือ ร้อยละ 1.33 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี รองลงมา จังหวัดจันทบุรี นอกจากนี้ได้สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน ระหว่างวันที่ 11 – 17 เม.ย. ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุรวม 3,215 ครั้ง ลดลงจากปี 2553 (3,516 ครั้ง) 301 ครั้ง หรือ ร้อยละ 8.56 ผู้เสียชีวิตรวม 271 คน ลดลงจากปี 2553 (361 คน) 90 คน หรือ ร้อยละ 24.93 ผู้บาดเจ็บรวม 3,476 คน ลดลงจากปี 2553 (3,802 คน) 326 คน หรือ ร้อยละ 8.57 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูด ได้แก่ นครศรีธรรมราช รองลงมา จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา รองลงมา จังหวัดนครสวรรค์ และกรุงเทพฯ จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช รองลงมา จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดเชียงราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 38.76 พฤติกรรมเสี่ยงของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเกิดจากการไม่สวมหมวกนิรภัยสูงถึง ร้อยละ 32.59 โดยมีรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ร้อยละ 81.12 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 57.73 บนถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.18 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน (อายุ 20 – 49 ปี) ร้อยละ 53.77 และกลุ่มเด็กเยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 28.08 นอกจากนี้ นายชวรัตน์ ยังกล่าวด้วยว่า แม้ความพยายามของทุกฝ่ายในการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 จะสามารถลดความสูญเสียลงได้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ในภาพรวมตลอดทั้งปี อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยมีปัจจัยหลักสำคัญจากการเมาแล้วขับ

ทั้งนี้ นายชวรัตน์ ยังได้กำชับให้จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้นในทุกระดับ เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนน นอกจากนี้ ควรเร่งสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยในกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนบรรลุเป้าหมายอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์สอดคล้องกับสถานการณ์และส่งผลถึงการป้องกันและลดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง จะได้นำผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
   
ด้าน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินงานลดและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนในระยะต่อไปประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืนทั่งระบบ ศปถ. จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศให้ปี 2554 – 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลดภัยทางถนน และปี พ.ศ.2554 เป็นปีแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์

ที่มาข่าว: สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น