โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

คดีเสื้อแดงมุกดาหารเลื่อนสืบพยาน-ลุ้นความเห็นอัยการสูงสุด

Posted: 22 Apr 2011 01:10 PM PDT

อัยการขอเลื่อนสืบพยานโจทก์คดีเผาศาลากลางมุกดาหาร เนื่องจากหลักฐานประกอบยังอยู่ที่อัยการสูงสุด พร้อมเผยอาจต้องเลื่อนสืบพยานออกไปยาว เผยอัยการสั่งไม่ฟ้องบางราย DSI ค้านพร้อมเพิ่มข้อหา สุดท้ายรอความเห็นอัยการสูงสุด

 22 เมษายน 2554 ที่ศาลจังหวัดมุกดาหาร ศาลมีการนัดสืบพยานโจทก์ในคดีเผาศาลากลางมุกดาหารเป็นครั้งที่ 7 โดยโจทก์คือพนักงานอัยการ แถลงต่อศาลว่า หลักฐานประกอบการสืบพยานโจทก์ทั้ง 4 ปากในวันนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้เรียกไปเพื่อพิจารณาในเรื่องการสั่งฟ้อง/ไม่ฟ้องในคดีดังกล่าว โจทก์ได้ทำเรื่องขอรับเอกสารคืนไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับ จึงขอเลื่อนการสืบพยานโจทก์ทั้ง 4 ไปเป็นวันจันทร์ที่ 25 เมษายน นี้

ทั้งนี้ อัยการได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำนวนของคดีนี้ซึ่งส่งดีเอสไอไป อันประกอบด้วยคดีร่วมกันบุกรุก และร่วมกันวางเพลิงเผาศาลากลาง อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลยบางคนทั้งในคดีบุกรุกและคดีเผาฯ เนื่องจากพยานหลักฐานมีไม่เพียงพอ  แต่ดีเอสไอมีความเห็นคัดค้านการสั่งไม่ฟ้องจำเลยบางราย และมีการเพิ่มคดีแก่จำเลยบางรายด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งปัจจุบันสำนักงานอัยการสูงสุดยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ การสืบพยานอาจจะต้องเลื่อนออกไป เพื่อฟังความเห็นจากอัยการสูงสุดก่อน แต่เนื่องจากในวันนี้ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนไม่อยู่ การ ปรึกษาเรื่องการเลื่อนสืบพยานออกไปจึงต้องรอไปปรึกษาในวันที่ศาลนัดสืบพยานโจทก์ครั้งหน้า

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รบ.มาเลย์เริ่มโครงการอีเมลประจำตัว โดนค้านเปลืองงบ-ห่วงความเป็นส่วนตัว

Posted: 22 Apr 2011 11:49 AM PDT

รัฐบาลมาเลเซียเผยประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปได้อีเมลส่วนตัวใช้ติดต่อภาครัฐคนละ 1 เมล แจงวุ่นเป็นโครงการเอกชน ไม่ได้ใช้เงินรัฐ ด้านชาวมาเลเซียค้านอื้อในโลกออนไลน์ เชื่อรัฐใช้ภาษีประชาชนลงทุน-ห่วงความเป็นส่วนตัว


กลุ่มไม่เห็นด้วยกับโครงการอีเมลส่วนตัวของรัฐบาลมาเลเซีย ในเฟซบุ๊ก

 

นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ระบุว่า ชาวมาเลเซียที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จะได้บัญชีอีเมล (email account) เพื่อใช้ในราชการคนละ 1 บัญชี โดยอีเมลดังกล่าวจะทำให้ประชาชนและรัฐบาลสามารถสื่อสารถึงกันได้โดยตรงและปลอดภัย ทั้งนี้ อีเมลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเว็บท่าสำหรับรับบริการของรัฐบาลแบบครบวงจรด้วย

โครงการนี้ดำเนินการโดยบริษัท Tricubes Berhad โดยพัฒนาภายใต้ความร่วมมือกับไมโครซอฟต์ และในอนาคตจะให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ การตรวจสอบใบแจ้งหนี้และชำระเงินออนไลน์ด้วย

ด้านไครัน ไซนัล มอกตาร์ ซีอีโอของ Tricubes Berhad กล่าวว่า บริการอีเมลดังกล่าวตั้งเป้าว่าจะเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ โดยจะเป็นเหมือนอีเมลส่วนบุคคลเพื่อรับบริการจากรัฐบาล ประกาศต่างๆ และใบแจ้งหนี้จากรัฐบาลจะถูกส่งเข้าอินบ็อกซ์ของประชาชนโดยตรง

ทั้งนี้ หลังจากข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ปรากฎว่ามีกระแสต่อต้านจากประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่พอใจที่มีการใช้เงินในโครงการนี้ถึง 50 ล้านริงกิต หรือประมาณ 500 ล้านบาท รวมถึงกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวว่ารัฐบาลอาจเข้ามาสอดส่องพฤติกรรมของประชาชนเจ้าของอีเมลในอนาคตด้วย ในเว็บไซต์ทวิตเตอร์ hashtag #1malaysiaemail ติดอันดับสองของหัวข้อยอดนิยมในมาเลเซียในวันที่มีการออกข่าว ในเฟซบุ๊กมีการตั้งกลุ่มเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวด้วย เช่น กลุ่ม 1M Malaysians who don't want Najib's 1 Malaysia email (ชาวมาเลเซียหนึ่งล้านคน ไม่ต้องการโครงการอีเมลของนาจิบ) โดยตัวเลขของผู้กด like ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด (23 เม.ย. 01.40น.) อยู่ที่ 45,786 รายแล้ว

ด้านนายกฯ มาเลเซียได้ออกมาย้ำว่า ความคิดริเริ่มดังกล่าวเป็นของภาคเอกชน และไม่ใช้งบประมาณของรัฐแต่อย่างใด พร้อมยืนยันว่า การสมัครใช้อีเมลดังกล่าวขึ้นอยู่กับความสมัครใจ

ขณะที่มีการรายงานว่า เว็บไซต์ The Performance Management and Delivery Unit (Pemandu) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลมาเลเซีย มีการแก้ไขรายละเอียดของโครงการดังกล่าวจากโครงการโดยรัฐเป็นโดยเอกชน ซึ่งคือ Tricubes ด้วย

ด้านบริษัท Tricubes ซึ่งมีข่าวว่าอาจถูกคัดชื่อออกจากตลาดหลักทรัพย์เบอร์ซา มาเลเซีย เนื่องจากข้อผิดพลาดในงบการเงิน ก็ออกมายืนยันไปในทางเดียวกันว่า รัฐบาลไม่ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณโครงการนี้หรือร่วมลงนามแต่อย่างใด

 

แปลและเรียบเรียงจาก

http://www.themalaysianinsider.com/malaysia/article/all-malaysians-to-get-official-1malaysia-email-ac

http://www.themalaysianinsider.com/malaysia/article/1-malaysia-e-mail-sparks-online-protests/

http://thestar.com.my/news/story.asp?file=/2011/4/20/nation/20110420155327&sec=nation

http://malaysia-today.net/low-bandwidth/index.php#1%20Malaysia%20email%20page%20changed%20on%20Pemandu%20website

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เวียงแหง: การคืบคลานของสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ ‘เหมืองแร่’ (ตอน 2)

Posted: 22 Apr 2011 08:15 AM PDT

จากข้อมูลพื้นฐาน ระบุไว้ว่า อำเภอเวียงแหงมีพื้นที่ทั้งหมด 705 ตารางกิโลเมตร โดยประมาณ 92 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดเป็นภูเขาและผืนป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอุทยานแห่งชาติ ขณะที่มีพื้นที่อยู่อาศัย 52 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 32,500 ไร่

ในพื้นที่ของอำเภอเวียงแหงนั้น จัดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตง จึงมีลักษณะเด่นทางธรรมชาติ กล่าวคือ เป็นแหล่งรวมความหลากหลายของทรัพยากรทางชีวภาพ ทั้งพืชและสัตว์ จากสภาพป่าที่มีลักษณะของระบบนิเวศน์เฉพาะถิ่นตั้งแต่พื้นที่ป่าสองฝั่งลำน้ำแตง ลำห้วยสายต่างๆ และในพื้นที่หุบเขาและบนภูเขาสูงชัน

ป่าคือคุณค่า ลมหายใจของความหลากหลาย

เมื่อดูสภาพพื้นที่ป่าในเขตลุ่มน้ำแม่แตงโดยรวม เราจะรู้ว่าสภาพพื้นที่ป่าในแถบนี้มีความหลากหลาย ซึ่งพอแบ่งประเภทได้ ดังนี้

‘ป่าดิบเขา’ ขึ้นอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 800 เมตร ประกอบด้วยพรรณพืชในตระกูลก่อ เช่น ก่อตาหมู่น้อย ก่อเดือย ก่อเลือก ก่อแป้น เป็นต้น นอกจากนี้ในตระกูลก่อ ยังมีพืชชนิดอื่นอีก เช่น ยมหิน และทะโล้ เป็นต้น

‘ป่าสนเขา’ เป็นสังคมพืชที่ขึ้นอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกกลาง 700 เมตร ประกอบด้วยพรรณพืชชนิดต่าง ๆ เช่น สนสองใบ สนสามใบ และไม้ในวงศ์ก่อ เช่น ก่อแอม ก่อสีแสด เป็นต้น

‘ป่าดิบแล้ง’ ขึ้นอยู่สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 750 เมตร ประกอบด้วยพรรณพืชชนิดต่าง ๆ เช่น ตะเคียงหิน ยางขาว และพลอง เป็นต้น

‘ป่าเบญจพรรณ’ ขึ้นอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 700 – 1,000 เมตร ประกอบ ด้วย พรรณพืชชนิดต่างๆ เช่น เต็งรัง และเหียง เป็นต้น

‘ป่าบนเขาหินปูน’ ขึ้นอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางมากว่า 1,000 เมตร ขึ้นไป ประกอบด้วยพรรณพืชจำพวกไม้เตี้ยหรือไม้แคระ เป็นต้น

นอกจากความสำคัญของพรรณพืชชนิดต่าง ๆ แล้ว ยังมีการสำรวจพบว่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตง มีทรัพยากรสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งบางชนิดจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น ช้างป่าอย่างน้อย 60 ตัว ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง กวางผา ไก่ฟ้าหางลายขวาง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว และสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ทั้งที่เป็นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ได้แก่ กระทิง วัวแดง เลียงผา เก้ง กวาง หมี เสือโคร่ง เสือปลา เสือดาว เสือลายเมฆ ชะนี ลิง ค่าง หมูป่า หมาหริ่ง นิ่ม (ลิ่น) นกยูง ไก่ฟ้า นกเงือก เต่าปูลู และสัตว์ชนิดอื่น ๆ ทั้งที่เป็นสัตว์ เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีกนกชนิดต่างๆ สัตว์เลื้อยคลาน งู ตะกวด สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก เขียดแลว(กบภูเขา) และสัตว์น้ำรวมทั้งปลาชนิดต่างๆ

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ได้ชี้ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าที่มีกระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตง

แม่น้ำแตง คือสายเลือดของคนลุ่มน้ำแม่แตง-เวียงแหง

ลุ่มน้ำแม่แตง จัดเป็นลุ่มน้ำย่อยส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำแม่ปิง มีขนานกลางมีพื้นที่ 1,978 ต.ร.ม.หรือ1,236,250 ไร่ ทางด้านทิศเหนือของลุ่มน้ำติดกับชายแดนไทย–พม่า ทางด้านทิศใต้ติดกับลุ่มน้ำปาย ทางด้านทิศตะวันออกติดกับลุ่มน้ำปิง และทางด้านทิศตะวันตกติดกับลุ่มน้ำปาย ลุ่มน้ำแม่แตง

หากเดินขึ้นไปถึงต้นกำเนิดของสายน้ำแม่แตง ก็จะพบว่า ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาแดนลาว บริเวณรอยต่อระหว่างชายแดนไทยกับประเทศพม่า ไหลจากทิศเหนือลงสู่ด้านล่างทางทิศใต้ ไหลผ่านมาตามแนวเทือกเขา ซอกเขา ผ่านมายังเขตพื้นที่ตำบลเปียงหลวง ตำบลแสนไห และตำบลเมืองแหง ของอำเภอเวียงแหง ก่อนไหลลงผ่านตำบลเมืองคอง ของอำเภอเชียงดาว แล้วไหลต่ำลงไปยังพื้นที่ตำบลกึ้ดช้าง ตำบลอินทขิล ของอำเภอแม่แตง ก่อนจะไหลมาบรรจบกับลำน้ำแม่ปิงที่บริเวณตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

แม่น้ำแตง มีความยาวจากต้นธารถึงปลายน้ำ ประมาณ 180 กิโลเมตร
ความยาวของลำน้ำแม่แตงเพียง 180 กิโลเมตร ทว่ากลับมีคุณค่ามหาศาล

เพราะเพียงแค่ปริมาณน้ำดิบ ซึ่งโครงการชลประทานแม่แตง ได้มีการเก็บกักน้ำไว้และปล่อยไหลเป็นน้ำประปาสายหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คนอำเภอเมืองเชียงใหม่ ก็ถือว่าคุ้มค่ามากมายแล้ว

แต่เมื่อมองภาพโดยรวมแล้ว แม่น้ำแตง นั้นได้มอบประโยชน์อเนกอนันต์ให้กับสรรพสิ่งตลอดของสองฟากฝั่ง โดยเฉพาะการมีส่วนสร้างระบบนิเวศน์ เช่น สังคมของพืชและสัตว์ที่เกิดขึ้นตามสองฝั่งลำน้ำแล้ว แม่น้ำแตงยังเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงการดำรงชีวิตอยู่ของชุมชนสองฝั่งมาเป็นเวลายาวนาน โดยได้ให้ประโยชน์กับผู้คนใช้ในการอุปโภค บริโภค การเกษตร และการอุตสาหกรรม ตลอดถึงการเป็นแหล่งทรัพยากรเพื่อรองรับกิจกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น

เมื่อหันมามองภาพเฉพาะในเขตพื้นที่ของอำเภอเวียงแหง เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ระบบนิเวศน์มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก โดยดูได้จากการก่อให้เกิดลำน้ำ ลำห้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาย่อยของลำน้ำแม่แตงมากมาย เช่น ลุ่มน้ำแม่แตะ ลุ่มน้ำแม่แพม ลุ่มน้ำแม่หาด ลุ่มน้ำแม่หาด ลุ่มน้ำฮ้องจุ๊ ลุ่มน้ำห้วยไคร้ ลุ่มน้ำห้วยนายาว

จากข้อมูล พบว่า ในลุ่มน้ำดังกล่าวมีการใช้ประโยชน์จากเหมืองฝายทั้งหมดมากถึง 20 ฝาย ครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตร จำนวน 16,659 ไร่ ที่ผ่านมาชาวบ้านและกลุ่มผู้ใช้น้ำจำนวน 1,828 ราย ได้ใช้ประสบการณ์ องค์ความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ในเรื่องระบบเหมืองฝายมาปรับใช้ในการจัดระบบชลประทานได้สอดคล้องกับระบบภูมิเวศน์เป็นอย่างดี ซึ่งภูมิปัญญาความรู้ของชาวบ้านมีการปรับเปลี่ยนมาตลอด ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งแวดล้อม และมีการถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง

ระบบเศรษฐกิจเกษตรแบบดั้งเดิม พึ่งพาและสันติสุข

เมื่อพูดถึงอาชีพของคนเวียงแหง ส่วนใหญ่จะยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก จากการสำรวจพบว่า ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเวียงแหงนั้นผูกพันกับระบบเศรษฐกิจ โดยการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม พืชผลิตที่สำคัญ ได้แก่ การทำนาข้าวเป็นข้าวนาปี และข้าวไร่ กระเทียม หอมแดง ข้าวโพด ขิง ท้อ บ๊วย มะม่วง เผือก พริก กะหล่ำปลี รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย สุกร ไก่ เป็ด และปลา เป็นต้น นอกจากนั้น เมื่อว่างจากการทำการเกษตร ชาวบ้านบางกลุ่มยังหาเวลาว่างด้วยการ การทอผ้าและทำย่าม เป็นอาชีพเสริมอีกทางหนึ่งด้วย

แต่พืชเกษตรที่ขึ้นชื่อและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในอำเภอเวียงแหงมากที่สุด ก็คือ ‘กระเทียม’ และเป็นพื้นที่แหล่งปลูกกระเทียมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่

พระ ดร.ฐานี ฐิตวิริโย จากสำนักปฏิบัติธรรมปลีกวิเวก วัดกองลม อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ได้ยกตัวอย่าง เฉพาะพื้นที่ปลูกกระเทียมบ้านม่วงป๊อก ซึ่งถือว่าเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีศักยภาพในการปลูกกระเทียมสูงมาก

“มีการทำสำรวจวิจัยเรื่องการปลูกระเทียมกันเล่น ๆ ว่าปีหนึ่ง บ้านม่วงป๊อกทำไร่กระเทียมกันมากน้อยเท่าไร ปรากฏว่า บ้านม่วงป๊อก พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกกระเทียมได้ 8 ถัง ขายผลผลิตได้ 4,000 กิโลกรัม เมื่อผลผลิตออกมา ขายกิโลกรัมละ 10 บาท จะขายได้ประมาณ 40,000 บาท ฉะนั้น รวมปลูกกระเทียมเฉพาะบ้านม่วงป๊อก ประมาณ 500 ไร่ ดังนั้น จะขายกระเทียมได้ทั้งหมู่บ้าน ประมาณ 20 ล้านบาท นี่เฉพาะบ้านม่วงป๊อก ที่ปลูกกระเทียม โดยใช้เวลาเพียง 1 ปี 5 เดือน มีรายได้เข้าหมู่บ้านได้ถึง 20 ล้านบาท ฉะนั้นลองคำนวณต่อไปสิว่า ถ้า10 ปีกี่ล้านบาท แล้วถ้าเรารวมพื้นที่ปลูกกระเทียมทั้งหมด ทั้งอำเภอเวียงแหง ชาวบ้านจะมีรายได้ทั้งหมดกี่พันล้านบาท” พระ ดร.ฐานี บอกเล่า

เป็นการบอกเล่า ให้เห็นภาพของอาชีพเกษตรกรรมของคนเวียงแหง ว่าผูกพันกับดิน น้ำ ป่า และการเกษตรอย่างเห็นได้ชัดเป็นการบอกเล่า ให้เห็นภาพว่าคนเวียงแหงนั้น มีวิถีชีวิตที่ปกติสุข สันติสุข ไม่ได้เดือดร้อนหรือทุกข์ใจในเรื่องวิถีชีวิตและการดำรงอยู่

สมกับที่หลายคนบอกไว้หลายคำหลายนิยามว่า เวียงแหง คือเมืองในหุบเขา เมืองแห่งวัฒนธรรม เมืองแห่งการเกษตรกรรม เมืองแห่งชีวิต!

แต่แล้วชาวบ้านต้องเผชิญกับความแปลกแยกแปลกเปลี่ยน เมื่อจู่ๆ มีโครงการเหมืองแร่คืบคลานเข้ามา

ว่ากันว่า โครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง ได้เริ่มมานานแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 มีการเข้ามาทำการสำรวจแหล่งถ่านหินเวียงแหงเป็นครั้งแรก และเข้าทำการสำรวจขั้นรายละเอียดอีกครั้งในปี 2530 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2531 ให้กันพื้นที่แอ่งเวียงแหงให้กับ กฟผ. เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

หลังผลการศึกษาทางธรณีวิทยา พบว่า มีปริมาณถ่านหินสำรองประมาณ 139 ล้านตัน แต่เมื่อวิเคราะห์ความต้องการของตลาดในห้วงเวลานั้น มีการสรุปว่า ยังไม่มีความจำเป็นในการพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหง เนื่องจากไม่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน จึงส่งคืนแหล่งเวียงแหงตามประสงค์ของกรมทรัพยากรธรณี เพื่อนำไปเปิดประมูล ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2535

เรื่องการเปิดเหมืองเงียบไปนานหลายปี พอถึงเดือนตุลาคม 2542 ทาง กฟผ. ได้เสนอเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อขอทบทวนมติ ครม. 10 มี.ค.2535 จึงมีการประชุมร่วมกันระหว่าง สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(ศสช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(สพช.) และกฟผ. ซึ่งได้มีมติให้ทาง กฟผ. เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหง และดำเนินการในรูปของบริษัทร่วมทุน ทั้งนี้ ให้ กฟผ. ดำเนินการขอประทานบัตรควบคู่ไปกับการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ซึ่งจะต้องสอดคล้องตามโครงสร้างการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต

เดือนมิถุนายน 2543 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ขอความเห็นจากหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม สศช. และคณะกรรมการกำกับงานนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ

เดือนกันยายน 2544 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(สพช.) ได้อนุมัติให้ กฟผ. เข้าไปใช้โดยไม่ต้องมีการประมูล โดยมีเงื่อนไขกำหนดให้ กฟผ. จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ในการพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหง หากรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว ให้ กฟผ. นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

นี่คือที่มาที่ไป... ของโครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยรัฐอย่างเงียบๆ โดยที่ชาวบ้านคนในพื้นที่ไม่เคยรับรู้มาก่อนล่วงหน้าว่าจะเกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนหรือไม่!?

พื้นที่ตั้งโครงการเหมือง ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งอำเภอ ทั้ง 3 ตำบล

พื้นที่ตั้งของโครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง อยู่ห่างจากตัวอำเภอเวียงแหงเพียง 7 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 8 หมู่บ้าน ในเขตพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ บ้านกองลม ต.เมืองแหง บ้านปางป๋อ บ้านม่วงป๊อก บ้านมหาธาตุ บ้านสามปู ต.แสนไห บ้านจอง บ้านม่วงเครือ บ้านห้วยไคร้ ต.เปียงหลวง โดยพื้นที่ของโครงการบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ บางส่วนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและป่าลุ่มน้ำฝาง และเส้นทางขนส่งหน้าดินและถ่านหินลิกไนต์บางช่วงอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์

ที่สำคัญก็คือ พื้นที่ตั้งโครงการเหมืองถ่านหิน อยู่ห่างจากตัวอำเภอเวียงแหงเพียง 7 กิโลเมตร และมีชุมชนที่ผู้คนอาศัยอยู่ล้อมรอบ ซึ่งเป็นจุดเปราะบางมาก เมื่อชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงทราบข่าว จึงเกิดการตื่นตระหนกตกใจกับความแปลกเปลี่ยนที่จะเข้ามาในวิถีชีวิต

มีข้อมูลบอกว่า การดำเนินการทำเหมืองแร่ถ่านหินเวียงแหง จะใช้วิธีทำเหมืองเปิด โดยการขุดเปิดเปลือกดิน แล้วขนไปยังที่ทิ้งดินที่กำหนดไว้ แล้วจึงขุดตักถ่านหินไปใช้ประโยชน์ ซึ่งผลการศึกษาทางธรณีพบว่า แหล่งถ่านหินที่เวียงแหง มีปริมาณสำรองรวมกันทั้งสิ้น ประมาณ 139 ล้านตัน มีปริมาณสำรองที่คุ้มทุนประมาณ 15 ล้านตัน

ว่ากันว่า...พื้นที่เขตบ้านปางป๋อ มีศักยภาพมากที่สุดในการเปิดเหมืองแร่เวียงแหง และถ่านหินที่เวียงแหงมีคุณภาพดีกว่าที่เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง คือเป็นถ่านหินประเภท Lignite และ Subbituminous

และมีการกล่าวถึงเอกสารลับของ กฟผ. ที่รายงานอีกว่า ในพื้นที่เปิดเหมืองถ่านหินเวียงแหงนั้น เมื่อมีการเจาะลึกลงไปประมาณ 800- 2,400 เมตร มีก๊าซธรรมชาติอยู่ใต้ชั้นฐานลึกอยู่จำนวนหลายล้านลูกบาศก์ฟุต และในโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเหนือตอนบน ระบุว่า มีแผนการจะจัดตั้งโรงงานผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากลิกไนต์เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมและใช้ในครัวเรือน

นั่นคือเหตุผลที่ทาง กฟผ. และรัฐพยายามดึงดันให้มีเหมืองถ่านหินลิกไนต์ที่เวียงแหง และก็ทำให้คนเวียงแหงต้องออกมาคัดค้านกันอย่างหนักและต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นมา...

"เฮาบ่อยากล้มป่วยล้มตายเหมือนชาวบ้านที่แม่เมาะ หากใครไปเห็นชาวบ้านที่นั่น พวกเขาทรมาน และน่าสงสารมาก…" หญิงวัยกลางคน พูดออกมาด้วยสีหน้าเคร่งเครียด

"ขนาดชาวบ้านได้สำรวจความคิดเห็นกันแล้วว่า 95% ชาวบ้านคัดค้านไม่เห็นด้วย ไม่ให้สร้างเหมืองที่เวียงแหง แล้วทำไมถึงต้องดึงดันจะสร้างอยู่ต่อไป ทำไมไม่ฟังเสียงของชาวบ้านกันบ้าง…" ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา ตัวแทนคนเวียงแหง เอ่ยออกมาด้วยความรู้สึกไม่เข้าใจในกระบวนการของรัฐ

หากใครมีโอกาสมาเยือนเวียงแหง ก็จะพบว่า เวียงแหง เป็นอำเภอเล็กๆ ตั้งอยู่ในหุบเขาคล้ายแอ่งกระทะ โดยมีภูเขาสูงโอบล้อมรอบ อากาศจึงหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี หน้าหนาว-หมอกขาวปกคลุมเมืองทั้งเมืองจนถึงเที่ยงวัน อากาศปิดเช่นนี้ทำให้กระแสลมหมุนวนอยู่ที่เดิมอยู่อย่างนั้น...

แน่นอน ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตและสงสัยกันว่า หากเกิดเหมืองลิกไนต์ขึ้นที่นั่น วิถีชีวิตของคนเวียงแหงจะเป็นเช่นไร!? ไม่แน่ หมอกขาวนวลตามธรรมชาติของเมืองในหุบเขานั้น อาจถูกปกคลุมด้วยหมอกควันที่เต็มไปด้วยมลพิษของเหมืองแร่ลิกไนต์แทนก็เป็นได้.

(โปรดติดตามอ่าน ตอนหน้า)

ข้อมูลประกอบ:

  • โครงการสิทธิชุมชนศึกษา กรณีลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน
  • เอกสารประกอบโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์เวียงแหง กฟผ.
  • สำนักข่าวประชาไท,สำนักข่าวประชาธรรม

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จาตุรนต์ ฉายแสง: พลังประชาธิปไตยกับการเลือกตั้ง

Posted: 22 Apr 2011 06:43 AM PDT

“ในหลายเดือนมานี้เห็นได้ชัดว่ามีความพยายามที่จะขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ทั้งโดยการเรียกร้องให้มีการรัฐประหาร ซึ่งก็มีการเตรียมการทำรัฐประหารอย่างเอาจริงเอาจังเกิดขึ้นจริงๆ และยังมีการเรียกร้องให้มีการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 อยู่จนทุกวันนี้ แม้เมื่อเร็วๆ นี้ผู้นำเหล่าทัพจะได้ออกมายืนยันว่าจะไม่ทำรัฐประหาร แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองพัฒนาต่อไปจะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น การอ้างเหตุต่างๆ นานาดังที่เกิดขึ้นในอดีตก็ยังอาจเกิดขึ้นได้เสมอ จึงจำเป็นต้องมีการอธิบายให้เป็นที่เข้าใจว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรที่ร้ายแรงเพียงใดก็ตามย่อมไม่มีความชอบธรรมสำหรับการรัฐประหาร เพราะการรัฐประหารย่อมมีแต่ทำให้บ้านเมืองเลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่เสมอ…”

สิ่งที่ควรเสนอต่อฝ่ายต่างๆ ในสังคมไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้เขียนบทความเรื่อง “การเลือกตั้งยังมีความหมายอะไร” เผยแพร่ในเว็บไซท์ต่างๆ ซึ่งขณะนี้ก็ยังหาอ่านได้ในบล็อกของผม ในบทความนั้นได้ให้ความเห็นไว้ว่าแม้การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นอาจไม่มีความหมายอย่างการเลือกตั้งในอารยประเทศทั่วไปเพราะเป็นการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นธรรม แต่ผู้ที่ต้องการให้บ้านเมืองพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นก็ไม่สามารถละเลยหรือมองข้ามการเลือกตั้งครั้งนี้ไปได้ หากแต่ควรหาทางช่วยกันทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองให้มากที่สุด ซึ่งผมก็ได้เสนอไปบ้างแล้วว่าควรจะทำอะไรกันบ้าง

มาวันนี้ผมขอเสนอให้ชัดเจนมากขึ้นว่าสิ่งที่ควรทำนั้นน่าจะมีอะไรบ้าง ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอต่อทั้งผู้สนใจปัญหาบ้านเมืองเป็นการทั่วไปและโดยเฉพาะองค์กรหรือกลุ่มพลังประชาธิปไตยทั้งหลายที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้ ข้อเสนอเหล่านี้เกิดจากการมองพัฒนาการของสถานการณ์ทางการเมืองในระยะหลังๆ มาจนถึงปัจจุบัน

ในหลายเดือนมานี้เห็นได้ชัดว่ามีความพยายามที่จะขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นทั้งโดยการเรียกร้องให้มีการรัฐประหาร ซึ่งก็มีการเตรียมการทำรัฐประหารอย่างเอาจริงเอาจังเกิดขึ้นจริงๆและยังมีการเรียกร้องให้มีการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 อยู่จนทุกวันนี้ แม้เมื่อเร็วๆนี้ผู้นำเหล่าทัพจะได้ออกมายืนยันว่าจะไม่ทำรัฐประหารแต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองพัฒนาต่อไป จะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น การอ้างเหตุต่างๆนานาดังที่เกิดขึ้นในอดีตก็ยังอาจเกิดขึ้นได้เสมอ จึงจำเป็นต้องมีการอธิบายให้เป็นที่เข้าใจว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรที่ร้ายแรงเพียงใดก็ตามย่อมไม่มีความชอบธรรมสำหรับการรัฐประหารเพราะการรัฐประหารย่อมมีแต่ทำให้บ้านเมืองเลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่เสมอ

การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับความขัดแย้งที่รุนแรงของสังคม มีการแบ่งขั้วแบ่งข้างกันอย่างหนักจนทำให้เป็นการเลือกตั้งที่มีเดิมพันสูงมาก ในขณะที่กรรมการไม่เป็นกลางและกลไกของรัฐก็อาจถูกใช้หรือไม่ก็เต็มใจเสียเองที่จะเป็นเครื่องมือให้กับผู้มีอำนาจ ขณะที่ก็เป็นที่ที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นกันอย่างเอิกเกริกเพื่อความพร้อมในการเลือกตั้ง การรณรงค์ป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้งอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญจำเป็นอย่างยิ่ง

การเลือกตั้งเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ด้วยการรวบรวมความเรียกร้องต้องการของตนและพัฒนาความคิดเหล่านั้นให้เป็นนโยบาย ตลอดจนผลักดันให้นโยบายเหล่านั้นกลายเป็นสัญญาประชาคมที่พรรคการเมืองจะต้องสร้าง พัฒนานโยบายขึ้น และเมื่อพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมาแล้วก็จะมีความชอบธรรมที่จะนำนโยบายเหล่านั้นไปปฏิบัติ

ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองที่พูดถึงนี้นอกจากจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาหรือพัฒนาประเทศที่ต้องเสนอกันเป็นปรกติทั่วไปแล้ว สำหรับประเทศไทยในขณะนี้ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องครอบคลุมถึงเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งก็คือทางออกจากวิกฤตทางการเมืองของประเทศ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและการปฏิรูประบบยุติธรรม ซึ่งน่าจะมีการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์มาอย่างเป็นระบบว่าจะแก้หรือปฏิรูปด้วยวิธีใด อย่างไร แล้วมานำเสนอเพื่อให้เป็นที่รับรู้และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวางด้วย

ในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและให้เกิดความยุติธรรมนี้ ผมเคยเสนอความเห็นมาก่อนหน้านี้แล้วว่าทางออกควรเป็นการตั้ง สสร.ชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เป็นหลัก ซึ่งควรจัดให้มีการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศตัดสิน

รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และสภาพการทางการเมืองที่ผ่านมาได้ทำให้ประชาชนได้เรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของระบบพรรคการเมือง การเลือกตั้ง และระบบรัฐสภาอย่างมาก จนกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของพลังประชาธิปไตยในปัจจุบัน การเข้าร่วมในการเลือกตั้ง การสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งด้วยความนิยมในนโยบายและบุคคลากรของพรรคย่อมจะยิ่งเพิ่มพูนประสบการณ์และพัฒนาความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของการที่ประชาชนมีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองด้วยมือตนเองมากยิ่งขึ้น

การตัดสินของประชาชนทั่วประเทศในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาถูกหักล้างไปด้วยกลไกตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ประกอบด้วยคนเพียงไม่กี่คนที่ไม่มีความยึดโยงใดๆ กับประชาชนเลย ระบบ กติกาและกลไกเหล่านี้ก็ยังอยู่ ทำให้มองกันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนหวยล็อค แต่การร่วมกันยืนยันว่า การกำหนดว่าใครควรเป็นผู้บริหารประเทศเป็นอำนาจของประชาชน ย่อมทำให้การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ อีก และถ้าหากเกิดขึ้นอีก ประชาชนก็จะเห็นต้นตอของปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ยุติธรรมของประเทศชัดเจนยิ่งขึ้น

วิกฤตการเมืองของประเทศในขณะนี้เป็นปัญหายืดเยื้อที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขกันอีกนานทีเดียว การเลือกตั้งเป็นจุดผ่านจุดหนึ่งที่สามารถทำให้มีความหมายสำคัญได้ แต่ก็จะยังไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานของประเทศได้ในทันที ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นผลดีต่อการสร้างและพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาวให้มากที่สุดได้อย่างไรนั่นเอง

จากสภาพการณ์ทางการเมืองดังกล่าวมานี้ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายและเป็นประโยชน์มากที่สุด ผมจึงมีข้อเสนอให้ผู้ที่ต้องการเห็นบ้านเมืองพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะองค์กรและบุคคลผู้ที่ต้องการประชาธิปไตยทั้งหลายช่วยกันพิจารณาดังต่อไปนี้

1. ควรส่งเสริมผลักดันให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นให้ได้ ด้วยการแสดงความไม่เห็นด้วยกระทั่งคัดค้านต่อต้านความคิดความพยายามที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้งไม่ว่าจะโดยการทำรัฐประหารหรือการบิดเบือนตีความกฎหมายอย่างเช่นการอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ก็ตาม

2. รณรงค์ส่งเสริมให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม ช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในการเลือกตั้งไม่ว่าจะเกิดจากการใช้อำนาจรัฐหรือการซื้อสิทธิขายเสียง

3. เสนอข้อเรียกร้องต่อพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้พรรคการเมืองจัดทำนโยบายในการแก้ปัญหาของประเทศที่รวมถึงทางออกของวิกฤต การแก้ไขกฎกติกาให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรม แล้วนำเสนอนโยบายนั้นต่อสาธารณชน เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมกันตัดสินว่าจะให้ใครเป็นรัฐบาลบริหารประเทศรวมทั้งจะแก้ปัญหาต่างๆของประเทศกันอย่างไร

4. สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายและบุคคลากรที่สามารถแก้ปัญหาของประเทศทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

5. ส่งเสริมให้ทุกฝ่ายยอมรับการตัดสินของประชาชน ยอมรับผลการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม ให้มีการจัดตั้งรัฐบาลตามวิถีทางในระบบรัฐสภาโดยปราศจากการก้าวก่ายแทรกแซงทั้งจากอำนาจอื่นใด และเปิดโอกาสให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้บริหารประเทศไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ ภายใต้การตรวจสอบของประชาชน

6. รณรงค์ต่อเนื่องทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งเพื่อให้มีการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมืองของประเทศอันได้แก่ความไม่เป็นประชาธิปไตยและความไม่ยุติธรรม

ข้อเสนอดังกล่าวนี้เป็นข้อเสนอสำหรับการหาทางออกจากวิกฤตของสังคมไทยทั้งในปัจจุบันและต่อเนื่องต่อไปในระยะยาว ในขณะที่เหตุการณ์ทางการเมืองกำลังชุลมุนกันอยู่นี้ หากจะมาช่วยกันคิดตั้งหลักกันด้วยความมีสติ การทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยก็คงจะเป็นไปได้มากขึ้น สำหรับสภาพเหตุการณ์ที่กำลังชุลมุนกันอยู่ในขณะนี้นั้น คงต้องขอแสดงความเห็นในโอกาสต่อไป

 

.................
หมายเหตุ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง เขียนบทความลงในบล็อก  http://chaturon.posterous.com/50291517

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธนบัตรขาดแคลนในรัฐอาระกัน

Posted: 22 Apr 2011 06:30 AM PDT

ชาวบ้านในรัฐอาระกันกำลังเดือดร้อนจากการขาดแคลนธนบัตรมูลค่าต่ำกว่า 200 จั๊ต เนื่องจากรัฐไม่ยอมสั่งพิมพ์เพิ่ม ขณะที่แบงก์ที่ใช้อยู่ทั่วไป มีสภาพเก่าและเปื่อยยุ่ย เพราะทางธนาคารของรัฐไม่ยอมแลกแบงก์เก่าให้กับชาวบ้าน

บางครั้งเราไม่สามารถขายของให้กับคนซื้อ เพราะเราไม่มีเงินทอนในร้าน แม้บางครั้งเราพอมีเงินเหลืออยู่บ้าง แต่แบงก์เหล่านั้นก็ใช้ไม่ได้ เพราะมีสภาพเปื่อยยุ่ย เราไม่สามารถให้ลูกค้าได้ เราต้องการแลกแบงก์ใหม่กับทางธนาคารรัฐ แต่เราก็ทำไม่ได้” แม่ค้าคนหนึ่งกล่าว

มีรายงานด้วยว่า เมื่อไม่มีเงินทอนให้ลูกค้า แม่ค้ามักจะนำลูกอมใช้ทอนแทนเงิน ทั้งนี้ ธนบัตรราคา 50 จั๊ต(ประมาณ 1 บาท 75 สตางค์) 100 จั๊ต (3 บาท 50 สตางค์)และ 200 จั๊ต(7 บาท) กำลังขาดแคลนอย่างหนัก

 “นี่กำลังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนในรัฐอาระกัน ทุกคนเจอปัญหาเหมือนกันหมดตอนที่ไปซื้อของที่ตลาด ผมเห็นการโต้เถียงกันบ่อยครั้งระหว่างคนซื้อกับคนขาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากเงิน พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ไม่สามารถทอนเงินลูกค้า เพราะขาดแคลนธนบัตรมูลค่าต่ำ” ชาวบ้านในเมืองมงดอว์ รัฐอาระกันกล่าว

ขณะที่ชาวบ้านเมืองมงดอว์เปิดเผยอีกว่า “รัฐบาลประกาศให้ชาวบ้านสามารถนำแบงก์เก่าไปแลกแบงก์ใหม่ แต่ยังไม่มีการแลกแบงก์เก่าในรัฐอาระกัน ซึ่งคำสั่งนี้ใช้ได้ในเมืองใหญ่อย่างในกรุงย่างกุ้งและในจังหวัดมัณฑะเลย์เท่านั้น”

ด้านนักธุรกิจในพื้นที่ระบุว่า เหตุที่ไม่มีการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเป็นเวลาหลายปีมาแล้วนั้น เป็นเพราะค่าพิมพ์ธนบัตรนั้นสูงกว่ามูลค่าเงินที่จะสั่งพิมพ์ จึงทำให้ ธนบัตรมูลค่าต่ำกว่า 200 จั๊ต เริ่มหายากในพม่า สอดคล้องกับดอว์ลามิ้น ชาวบ้านในเมืองชิตต่วยที่ระบุว่า ตัวเขาเองไม่เคยพบเห็นธนบัตร 20 - 200 จั๊ตมานานกว่า 20 ปีแล้ว

เราจำเป็นต้องใช้แบงก์เก่าๆเหล่านี้ ถึงแม้ว่า เราจะมองไม่เห็นจำนวนตัวเลขที่อยู่บนธนบัตรแล้วก็ตาม” ดอว์ลามิ้นกล่าว

(เรียบเรียงจากเว็บไซต์ www.narinjara.com 22 เมษายน 54)

 

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอมเนสตีมาเลเซียยกเลิกจัดเสวนา “โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม”

Posted: 22 Apr 2011 04:56 AM PDT

“โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม” เตรียมแถลงข่าวที่มาเลเซียถึงเรื่องการเตรียมสำนวนฟ้องนายอภิสิทธิ์ ต่อศาลอาชญากรระหว่างประเทศ หลังเอไอ มาเลเซียแจ้งยกเลิกการเป็นผู้จัดเสวนา ด้านประธานเอไอ มาเลเซียให้เหตุผลว่านโยบายแอมเนสตีจะไม่ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง

(22 เม.ย. 54) ตามที่มีรายงานข่าวว่า แอมเนสตีอินเตอร์เนชั่นแนล มาเลเซีย หรือเอไอ มาเลเซีย และคณะกรรมการสภาทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งมาเลเซีย (the Malaysian Bar Council Human Rights Committee) ร่วมกันจัดงานเสวนากับนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม (Robert Amsterdam) แห่งสำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัม แอนด์ เปรอฟ ทนายความของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ คนเสื้อแดง ในวันเสาร์ที่ 23 เม.ย. เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม สำนักงานแอมเนสตี มาเลเซีย เมืองเปตาลิง จายา รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย

ล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมา (21 เม.ย.) มีรายงานว่าไอเอ มาเลเซียได้ยกเลิกการเป็นผู้จัดงานดังกล่าวแล้ว ทำให้นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม เตรียมจัดงานแถลงข่าวเองในวันและเวลาเดิม แต่เปลี่ยนสถานที่เป็นโรงแรมแมนดาริน โอเรียลเต็ล กัวลาลัมเปอร์ ใกล้กับอาคารเปโตรนาส ในกรุงกัวลาลัมเปอร์แทน

ต่อเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้สอบถามนายโจเซฟ พอล (Joseph Paul) ประธานเอไอ มาเลเซียถึงสาเหตุการยกเลิกการจัดงาน ซึ่งนายพอลกล่าวถึงสาเหตุที่ต้องยกเลิกการจัดงาน โดยปฏิเสธว่าไม่ได้มีสาเหตุมาจากการกดดันของทางการมาเลเซีย แต่การยกเลิกการจัดงานเป็นการปรึกษากันของคณะกรรมการแอมเนสตีในระดับระหว่างประเทศ และยังเป็นนโยบายของแอมเนสตี อินเตอร์เนชั่นแนล ที่จะไม่ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เป็นเรื่องการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับกำหนดการเสวนากับนายอัมสเตอร์ดัมก่อนหน้านี้ จะเป็นการเสวนาในเรื่องที่ทนายความผู้นี้ได้ทำการเตรียมสำนวนฟ้องต่อศาลอาชญากรระหว่างประเทศ หรือ ICC ให้สอบสวนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฐานการกระทำที่เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ที่กระทำโดยกองทัพที่รับหน้าที่มาจากนายกรัฐมนตรีคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงสลายการชุมนุมเดือนเมษายน – พฤษภาคม ปี 2553 โดยกำหนดการเดิมระบุว่า การเสวนาดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปยังความสัมพันธ์ระหว่างสำนวนฟ้อง และกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งความรับผิดของรัฐต่อการชุมนุมโดยสันติ

โดยก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. ได้มีการเผยแพร่กำหนดการดังกล่าวในอีเมล์ลิสต์ของสมาชิกเอไอ มาเลเซีย และอีเมล์ลิสต์ของสื่อมวลชนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ก่อนที่ในคืนต่อมาจะมีการแจ้งยกเลิกการจัดเสวนา ทำให้นายอัมสเตอร์ดัมต้องจัดงานในสถานที่อื่นดังกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คอป.เสนอนายกฯ 8 ข้อ ค้านนิรโทษกรรม-มุ่งเลือกตั้ง-ระวังการใช้ ม.112

Posted: 22 Apr 2011 04:01 AM PDT

 
เมื่อวันที่ 21 เม.ย.54 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ส่งรายงานความคืบหน้าคอป.ครั้งที่ 1 เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล 8 ข้อ ประกอบด้วย
1. คอป. เห็นว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตระหนักว่า วิกกฤติความขัดแย้งรุนแรงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 ที่ดูเสมือนหนึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ในความเป็นจริงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีรากเหง้าของปัญหาที่หยั่งลึกถึงระดับโครงสร้างทางสังคมและโครงสร้างทางการเมืองของประเทศ ด้วยเหตุนี้ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญในการร่วมกันแสวงหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหารากเหง้าอย่างจริงจัง
2. คอป.เรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญสูงสุดกับการทำให้การเลือกตั้งปราศจากความรุนแรงและเป็นกลางอย่างแท้จริง และขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคประกาศจุดยืนที่ชัดเจนก่อนการเลือกตั้ง ถึงกระบวนการและแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการนำบ้านเมืองก้าวข้ามปัญหาความขัดแย้งภายหลังจากการเลือกตั้ง
3. คอป.เห็นว่าการเสนอให้มีการนิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ความรุนแรงทั้งๆที่เกิดความเสียหายอย่างมากต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐ การดำเนินการกับผู้ชุมนุมโดยใช้กระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างเคร่งครัดโดยไม่คำนึงถึงความคัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่ปัญหาการชุมนุม ล้วนมิใช่แนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คอป.เห็นว่าแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาคือ การที่สังคมรับทราบความจริงถึงสภาพปัญหาที่ทำให้ประเทศไทยก้าวมาถึงจุดนี้ และเรียนรู้ที่จะแสวงหาทางออกในปัญหาร่วมกัน
4. คอป. เห็นว่ารัฐบาลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับควบคุมการใช้อำนาจรัฐทุกฝ่ายพึงใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยความระมัดระวัง ไม่ตังข้อหาผู้ที่เกี่ยวข้องในการชุมนุมรุนแรงเกินสมควร ให้โอกาสในการต่อสู้คดีและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ต้องหา  ที่สำคัญที่สุด คือรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะหน่วยงานในสังกัดของฝ่ายบริหารสามารถทำหน้าที่อย่างอิสระและเป็นกลางโดยไม่ถูกแทรกแซง
5. คอป.เห็นว่าภายใต้สภาวะที่มีความละเอียดอ่อนเช่นนี้หน่วยงานทุกหน่วยในกระบวนการยุติธรรม ต้องมีความระมัดระวังที่จะแสดงให้เห็นถึงการวางตัวโดยไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างเคร่งครัด
6. คอป.เห็นว่าในห่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองเช่นนี้ ทุกฝ่ายควรแสดงเจตนารมณ์ ร่วมกันที่จะยกย่องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นสถาบันที่อยู่เหนือจากความขัดแย้งทางการเมือง นอกจากนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องในการกำกับการใช้อำนาจรัฐ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมควรระมัดระวังการนำเอากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาใช้ในห้วงเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสูงเช่นในขณะนี้ โดยควรมีการวางแนวทางการบังคับใช้ที่เหมาะสมเพื่อลดทอนเงื่อนไขที่แต่ละฝ่ายจะนำไปกล่าวอ้าง
7. คอป.เห็นว่าสภาวะความขัดแย้งที่เป็นอยู่ อยู่ทุกแขนงต้องมีความระมัดระวังและมีความรับผิดชอบในการเสนอข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชน
8. คอป.เห็นว่ารัฐบาลควรให้การสนับสนุนและส่งเสริมการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง ทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน โดยให้ความช่วยเหลือที่ครอบคลุมทั้งการรักษาด้าน ร่างกาย จิตใจ การประกอบอาชีพ

นอกจากนี้

รายงานความคืบหน้าการทำงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาของ คอป.ยังมีให้กับสาระสำคัญ คือ การตรวจสอบกรณีการเสียชีวิตจากเหตุปะทะจากการชุมนุมทางการเมือง พบยอดผู้เสียชีวิตจำนวน 92 ราย เสียชีวิตในพื้นที่กรุงเทพฯ 89 ราย อุบลราชธานี 2 ราย และขอนแก่น 1 ราย มียอดผู้บาดเจ็บ 1,885 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 542 ราย ประชาชน 1,343 รายและมีการดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้ชุมนุมโดยแบ่งตามประเภทความผิดออกเป็น 4 กลุ่มคือ การก่อการร้าย 45 คดี ขู่บังคับให้รัฐกระทำการใด ๆ 21 คดี และการทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ 86 คดี การกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ 20 คดี ทั้งนี้คณะทำงานของคอป.ได้พยายามวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาพบว่า ต้นตอที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งมาจากประเด็นกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ประวัติศาสตร์ การเมือง สื่อมวลชน สังคม และวัฒนธรรม

“คอป.ไม่มีอำนาจตามกฎหมายจึงทำให้มีข้อจำกัดทั้งด้านสถานภาพ ไม่มีอำนาจตามกฎหมายจึงไม่สามารถให้ความคุ้มครองผู้ที่เข้าให้ข้อมูลได้ จากปัญหาที่เกิดขึ้นคอป.จึงต้องการให้ทุกฝ่ายแก้ปัญหาที่รากเหง้าและอยู่บนพื้นฐานของการค้นหาความจริงซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้ง ลดทัศนคติการเอาชนะ และการมองปัญหาอยู่ในมุมตนเองฝ่ายเดียว พร้อมกันนี้อยากให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่ากลุ่มหรือส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าวิกฤติความขัดแย้งช่วงเม.ย.-พ.ค. 2553 แม้จะดูเหมือนเป็นความขัดแย้งของกลุ่มบุคคลแต่อันที่จริงปัญหาได้หยั่งลึกถึงระดับโครงสร้างทางสังคมและการเมืองของประเทศ ประกอบกับความอ่อนแอของกลไก และกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ความชอบธรรมในกลไกของรัฐ หลังการเปลี่ยนประเทศด้วยการรัฐประหารเมืองปี 2549 ซึ่งทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้น ” นายคณิตกล่าว

นายคณิต กล่าวว่า นอกจากนี้คอป.เห็นว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนแต่แนวทางที่ดีที่สุดคือการทำให้สังคมรับทราบความ  พร้อมกันนี้ยังอยากให้รัฐบาลและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำกับการใช้อำนาจของรัฐใช้กฎหมายและกระบวนการยุติรรมทางอาญาอย่างยุติธรรม ไม่ตั้งข้อหากับผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเกินสมควร ให้โอกาสต่อสู้คดีและรัฐบาลและผู้บังคับใช้กฎหมายต้องให้ความเชื่อมั่นว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในสังกัดฝ่ายบริหารจะทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระโดยไม่ถูกแทรกแซง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และขอให้ทุกฝ่ายแสดงเจตนารมณ์ให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้ง และให้ระมัดระวังการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาใช้ในห้วงเวลาแห่งความขัดแย้ง เช่นปัจจุบันนี้ 
 
ที่มา: เว็บไซต์แนวหน้า , เว็บไซต์เนชั่น, เว็บไซต์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA ยอมถอนกำลังฐานแนวหน้า หลังถูกพม่ากดดัน

Posted: 21 Apr 2011 06:07 PM PDT

กลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA สั่งถอนกำลังทหารแนวหน้าพื้นที่เมืองยอง รัฐฉานภาคตะวันออก หลังถูกกองทัพพม่ากดดัน เผยทหารพม่าต้องการยึดจุดยุทธศาสตร์ และหวังปราบกองกำลังไทใหญ่ SSA

แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดเจ้าหน้าที่กองกำลังอาสาสมัครเมืองยอง รัฐฉานภาคตะวันออก เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา กองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA (์National Democratic Alliance Army) ที่มีกองบัญชาการใหญ่อยู่ที่เมืองลา รัฐฉานภาคตะวันออก ติดชายแดนจีน ได้ยอมถอนกำลังพลที่ประจำอยู่ที่ฐานบ้านโค ในเขตพื้นที่เมืองยอง อยู่ใกล้กับแม่น้ำโขง ตรงข้ามฝั่งประเทศลาว ซึ่งเป็นฐานแนวหน้าของ NDAA ออกจากฐานที่ตั้ง ตามคำร้องขอของกองทัพพม่า

ทั้งนี้ ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กองบัญชาการกองทัพภาคสามเหลี่ยมพม่า มีบก.อยู่ที่เมืองเชียงตุง ได้ร้องขอกดดันกลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA ถอนกำลังทหารหลายฐาน ที่ประจำอยู่ในพื้นที่แนวหน้าตรงข้ามเมืองยอง ประกอบด้วยฐานดอยปางหนาว (อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือเมืองยอง) ฐานเมืองผัน อยู่ใกล้กับแม่น้ำโขง และฐานเมืองโค อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองยอง ซึ่งกองทัพพม่าอ้างว่าล้ำออกนอกเขตพื้นที่ที่กำหนดเขตปกครองพิเศษ และเกรงจะเกิดปัญหากระทบกระทั่งของทหารทั้งสองฝ่าย 

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเปิดเผยถึงสาเหตุที่กองทัพพม่ากดดันให้ NDAA ถอนกำลังทหารบริเวณดังกล่าว ว่า อาจเป็นเพราะกองทัพพม่าต้องการควบคุมพื้นที่ยุทธศาสตร์ในพื้นที่ดังกล่าว และเพื่อต้องการปราบปรามกองกำลังไทใหญ่ SSA เนื่องจากในพื้นที่เมืองยอง โดยเฉพาะบริเวณที่กลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA ตั้งฐานอยู่ มีทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA จากหน่วยภาคพื้นเชียงตุง เคลื่อนไหวอยู่ด้วย

สำหรับกองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย NDAA (National Democratic Alliance Army) หรือ กลุ่มหยุดยิงเมืองลา เป็นอดีตแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์พม่า CPB – (Communist Party of Burma) หลังแยกตัวจาก CPB ในปี 2532 ได้เจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า และได้รับสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ในภาคตะวันออกของรัฐฉานติดกับชายแดนจีน เรียกเขตปกครองพิเศษที่ 4 ปัจจุบันกองกำลัง NDAA มีกำลังพลราว 4,500 นาย มีนายจายลืน หรือ หลินหมิ่งเสียน เป็นผู้นำสูงสุด ซึ่งตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา กองกำลัง NDAA ได้ถูกรัฐบาลทหารพม่ากดดันแปรสภาพเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF เช่นเดียวกับกลุ่มหยุดยิงอื่นๆ

 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารไทย-กัมพูชาปะทะกันที่ปราสาทตาควาย

Posted: 21 Apr 2011 06:02 PM PDT

โฆษกกองทัพบกแถลงทหารไทย-กัมพูชาปะทะกันเช้านี้ที่ชายแดนด้าน จ.สุรินทร์ บริเวณปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาควาย โดยขณะนี้มีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ปะทะแล้ว ล่าสุดเมื่อ 11.00 น. มีการหยุดยิงแล้วทหารไทยเสียชีวิตอย่างน้อย 4 นาย เจ็บ 13

เมื่อเวลา 06.00 น.วันนี้ (22 เม.ย.) ที่ชายแดน จ.สุรินทร์ เกิดการประทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา ที่ปราสาทตาเมือน ปราสาทตาควาย บ้านไทยสันติสุข อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ โดยบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของกองร้อยทหารพรานที่ 23 โดยมีรายงานการระดมยิงใส่กันด้อย่างต่อเนื่อง และถึงขณะนี้ (07.30 น.) ก็ยังมีการปะทะกันอยู่ เบื้องต้นยังไม่ทราบความเสียหาย

ล่าสุดในเว็บไซต์เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ได้รายงานเมื่อเวลา 07.46 น. ว่า พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ได้แถลงยอมรับว่ามีการปะทะเกิดขึ้นจริงบริเวณใกล้ปราสาทตาควาย ปราสาทตาเมือนธม มีกระสุนปืนเล็ก และกระสุนปืนใหญ่ ยิงเข้ามาตกใกล้ปราสาทตาควาย ปราสาทตาเมือน

ทั้งนี้เสียงปืนใหญ่ดังติดต่อเป็นระยะ ได้ยินไปถึงอำเภอ และจังหวัดใกล้เคียง มีการอพยพชาวบ้าน หมู่บ้านไทยสันติสุข ต.บักได อ.พนมดงรัก ไปยังบ้านตาลวก อำเภอเดียวกัน ขณะที่ชาวบ้านระบุว่า เห็นเจ้าหน้าที่ทหารบาดเจ็บ 3-4 นาย

นอกจากนี้เมื่อเวลา 07.49 น. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้รายงานสถานการณ์ปะทะดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย โดยรายงานว่าทาง อบต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ได้ประกาศเสียงตามสายให้ประชาชนเตรียมพร้อมอพยพถ้าจำเป็น

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดนั้น เมื่อเวลา 11.00 น. เสียงปืนใหญ่ที่ยิงโต้ตอบจากฝ่ายไทยเข้าไปยัง ฝ่ายกัมพูชาได้เงียบลง ขณะที่มีทหารไทยได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบครั้งนี้จำนวน 13 นาย และเสียชีวิต 4 นาย โดยรายชื่อทหารไทยที่เสียชีวิต ประกอบด้วย 1.จ.ส.อ.วิทยะ สวนชูผล สังกัด กองร้อยทหารพรานจู่โจม ที่ 960 ฐานปฏิบัติการปราสาทตาเมือนธม บ้านหนองคันนา ต.เมียง อ.พนมดงรัก 2.จ.ส.อ.บุญรัตน์ สุขจิตร กองร้อยทหารพราน ที่ 2606 ชุดเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ 26 กรมทหารราบที่ 23 พัน 4 3.พลทหาร บุญฤทธิ์ ชางาม กองร้อยทหารพราน 2606 และ 4.ส.อ.ประเวช หาราช กองร้อยทหารพราน ที่ 2606 ชุดเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ 26 กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น