ประชาไท | Prachatai3.info |
- 'ใบต้องแห้ง' Voice TV: 2475 ของแดง 2490 ของเหลือง
- รากฐานประชาธิปไตยและพื้นที่ทางการเมืองของประชาชน: ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
- องค์กรผู้บริโภคชวนบอยคอต 'แกรมมี่' ประท้วง 'จอดำ'
- หลากทัศนะ ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2555 เวลาย่ำรุ่ง ครบรอบ 80 ปีแห่งการอภิวัฒน์
- รายงาน:"100 ปี กบฏประชาธิปไตย ร.ศ.130 - 80 ปี ปฏิวัติประชาธิปไตย พ.ศ.2475"[1]
- ประกาศหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่ 2
- ประชาธิปัตย์ ตั้งคณะทำงานจับตาการชุมนุมคนเสื้อแดง 24 มิ.ย.
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 17 - 23 มิ.ย. 2555
- อัลจาซีร่าตีแผ่ชีวิตแรงงานพม่าตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ที่โรงงานในกาญจนบุรี
- แพทย์ชนบทเผยขบวนการเขมือบงบเครื่องมือแพทย์ 502.6 ล้านบาท บางรายการสาธารณสุขอัพราคาสูงกว่าปกติ 100 %
- เผยเด็กมุสลิม 250,000 เรียนตาดีกา ศอ.บต.ทุ่ม 100 ล้านตั้งศูนย์กลางเรียนรู้
- กวี จงกิจถาวร: มองอาเซียนผ่านมุม‘ข่าว’(จบ) สื่อยังไม่เสรี-นักข่าวมองแค่ตัวเอง
- ซีเรียตั้งคณะรมต. ชุดใหม่ แม้ยังเกิดความรุนแรงในประเทศ
- จะ PR ผลงานรัฐบาล 1 ปีอย่างไรให้ได้ใจประชาชน
- "บุญเลิศ" ชนะเลือกตั้ง อบจ.เชียงใหม่
'ใบต้องแห้ง' Voice TV: 2475 ของแดง 2490 ของเหลือง Posted: 24 Jun 2012 09:09 AM PDT ถ้ามีใครไปบอก “พี่เนาว์” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ว่า “พี่กลายเป็นพวกหนับหนุนรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ไปแล้ว รู้ตัวหรือเปล่า” พี่เนาว์คงโกรธแบบไม่เผาผี ไม่คบหากันชั่วชีวิตนี้ ทำนองเดียวกับพี่พิภพ ธงไชย, สุริยะใส กตะศิลา, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สมศักดิ์ โกศัยสุข, รสนา โตสิตระกูล, สันติสุข โสภณศิริ, หมอพลเดช ปิ่นประทีป ฯลฯ พวกที่เคยอยู่ใน “ภาคประชาสังคม” มาก่อน พวกที่เคยทำมูลนิธิ องค์กรพัฒนาเอกชน ไม่ว่าจะอยู่ในเครือข่ายหมอประเวศ เครือข่าย ส.ศิวรักษ์ (ซึ่งมักทับซ้อนกัน) หรือผู้นำยุค 14 ตุลา อย่างธีรยุทธ บุญมี, จีรนันท์ พิตรปรีชา (ไม่อยากนับสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์) คนเหล่านี้ล้วนเคยยกย่องเชิดชู อ.ปรีดี พนมยงค์ คณะราษฎร และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาทั้งสิ้น แต่ผ่านความขัดแย้งทางการเมืองมา 6 ปี ตั้งแต่เรียกร้อง ม.7 มาจนสนับสนุนรัฐประหาร ยืนอยู่ข้างพวกที่ใช้วาทกรรม “พระราชอำนาจ” และ “ผังล้มเจ้า” ปราบปรามผู้มีความเห็นต่าง (ท่านทั้งหลายอาจไม่ได้พูดเอง แต่ยืนข้างๆ และไม่คัดค้านผู้ที่ใช้เครื่องมือเหล่านี้) กระทั่งต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112 จะทันรู้ตัวหรือไม่รู้ พวกท่านก็กลายเป็นทายาททางอุดมการณ์ของคณะรัฐประหาร 2490 ผู้ล้มล้าง อ.ปรีดีไปเสียแล้ว ขณะที่เสื้อแดงแย่งยึดเอา 24 มิถุนายน 2475 ไปครอบครอง โดยพวกท่านไม่สามารถร้องแรกแหกปากได้ เพราะพูดอะไรออกมา ก็ไม่ตรงกับอุดมการณ์ของคณะราษฎร เช่น สนับสนุนศาลรัฐธรรมนูญให้เข้ามาก้าวก่ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือหาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แบบนี้ ดวงวิญญาณ อ.ปรีดีถ้ามีจริงคงส่ายหน้าด้วยความเศร้าใจ (ส่วนเปรตบรรพบุรุษของนักการเมืองที่ให้ร้าย อ.ปรีดี ก็ร้องกรี๊ดสะใจในโรงหนัง) มีรายเดียว ที่บังเอิ๊ญ เป็นทายาทรัฐประหารทางสายเลือดมาแต่ต้น อุตส่าห์หนีไปเป็นฝ่ายซ้ายหลายสิบปียังหนีไม่พ้น ต้องวนกลับมาย่ำรอยบรรพบุรุษตัวเอง คืออาจารย์โต้ง (ฮาไม่ออก) ทางแยกที่เด่นชัด “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” พระราชหัตถเลขาจึงกลายเป็น “เอกสารสำหรับใช้โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาล” แต่ต่อมากลับกลายเป็น “วรรคทอง” ที่เอาไปใช้สร้างความซาบซึ้งตื้นตันเวลาจะด่าเผด็จการหรือนักการเมือง กระทั่งเอาไปสลักไว้ที่ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์หน้ารัฐสภา จากนั้น เราก็มั่วนิ่มทำซึ้งกันมาตลอด ทั้งที่ ร.7 ไม่ได้ “เต็มใจสละอำนาจ” ซักหน่อย ท่านถูกคณะราษฎรยึดอำนาจต่างหาก ที่พูดนี่ไม่ใช่จะประณามว่าธีรยุทธกับเพื่อนพ้องผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญเป็นพวกกษัตริย์นิยมมาแต่ต้น เพราะโดยบริบทของสังคมในปี 2516 คงไม่ค่อยจะได้แยกแยะกันซักเท่าไหร่ อะไรที่ฉวยมาต่อต้านเผด็จการได้ก็คงเอา คือถ้าเราเอามาใช้โดยไม่รู้ปูมหลังแต่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยอันสูงส่งก็ไม่เป็นไร ซึ่งปรากฏว่าได้ใช้กันอย่างมั่วนิ่มมาตลอด เช่นที่สมศักดิ์เล่าว่าในเดือนพฤษภาคม 2543 ระหว่างงานฉลอง 100 ปีปรีดี พนมยงค์ ที่ธรรมศาสตร์ พี่เนาว์อ่านบทกวีสดุดีปรีดี โดยมีสไลด์ประกอบ หนึ่งในภาพสไลด์ก็คือข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม….” ที่เขียนขึ้นเพื่อต่อต้านปรีดีและคณะราษฎรนั่นเอง มานึกย้อนดู สมัยที่ผมอยู่ในขบวนการนักศึกษาหลัง 14 ตุลา ก็เป็นพวกที่ไม่ค่อยศึกษาทฤษฎี ไม่ค่อยศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวอะไรกับเขาหรอก สมัยนั้นยังมองชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นพวกก้าวหน้าอยู่เลย ไม่ยักรู้ว่าชัยอนันต์เป็นพวกนิยมเจ้าแอนตี้คณะราษฎร อ้างว่า ร.7 พยายามสถาปนาประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่คณะราษฎรชิงลงมือทำ “รัฐประหาร” ก่อน และว่า 2475 เป็นการกระทำของ “ชนชั้นนำ” โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม สรุปว่าชัยอนันต์ ซึ่งเขียนเรื่อง “ราชประชาสมาสัย” ไว้ตั้งแต่ 40 ปีก่อน เป็นคนที่ไม่ได้เปลี่ยนจุดยืน น่านับถือ น่านับถือ ผมมาลำดับประวัติศาสตร์ที่ตัวเองมีส่วนร่วม ดูย้อนหลังแล้วก็ทั้งแปลกใจและไม่แปลกใจ ที่พบว่าอุดมการณ์กษัตริย์นิยมเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการเรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลา และพฤษภา 35 คือเราอยู่ในส่วนของเรา ยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่ได้สนใจอุดมการณ์กษัตริย์นิยม โดยเฉพาะเมื่ออุดมการณ์นี้ ถูกใช้เป็นเครื่องมือเข่นฆ่าปราบปรามผมและเพื่อนๆ เมื่อ 6 ตุลา 2519 แต่เมื่อฟังธงชัย วินิจจะกูล วิเคราะห์ย้อนหลังว่า “ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์” เกิดขึ้นพร้อม 14 ตุลา ก็ไม่แปลกใจและเห็นด้วย การเรียกร้องประชาธิปไตยได้ทำลายอำนาจเผด็จการของกองทัพ ที่ปกครองประเทศมายาวนาน แม้กองทัพ โดยเฉพาะยุคสฤษดิ์ จะเชิดชูอุดมการณ์กษัตริย์นิยม แต่ก็ยังมีอำนาจนำในการเมืองการปกครอง จนกระทั่งกองทัพถูกโค่นไปเมื่อ 14 ตุลา 2516 แม้อุดมการณ์กษัตริย์นิยมจะถูกฝ่ายขวาจัดนำมาใช้ปราบปรามเข่นฆ่าในเหตุการณ์ 6 ตุลา พร้อมกับสถาปนาระบอบเผด็จการ "รัฐบาลหอย" แต่เมื่อเห็นว่าความสุดขั้วไปไม่รอด พวกอุดมการณ์กษัตริย์นิยมสายกลาง ก็ทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลหอย นำไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ 8 ปีของพลเอกเปรม ซึ่งกล่าวได้ว่า 8 ปีนั้นเป็นการวางรากฐานของระบอบที่ก้ำกึ่งระหว่างประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง กับอำนาจที่แท้จริงของอำมาตย์ ซึ่งชูอุดมการณ์กษัตริย์นิยม จากทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา อุดมการณ์กษัตริย์นิยมเติบโตเข้มแข็ง ด้านหนึ่งก็เป็นผลจากการเพิ่มโทษมาตรา 112 ของคณะปฏิรูป 6 ตุลา 2519 เรื่องน่าประหลาดใจคือ ในเวลาต่อมา แม้ความจริงเรื่อง 6 ตุลา 2519 จะได้รับการตีแผ่ แต่ก็ไม่กระทบอุดมการณ์กษัตริย์นิยมแม้แต่น้อย และแม้ในช่วงทศวรรษ 2520 นี้เองที่แวดวงวิชาการเริ่มกลับมายกย่องเชิดชู อ.ปรีดีและคณะราษฎร แต่ก็ไม่กระทบอุดมการณ์กษัตริย์นิยมเช่นกัน เราจึงไม่ต้องแปลกใจที่เห็นคนรุ่นอายุ 40-45 (ซึ่งเริ่มเรียนหนังสือสมัยที่เรื่องราวของ 6 ตุลาถูกลบไปเรียบร้อยแล้ว มิพักต้องพูดถึงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคณะราษฎร) เติบโตมาเป็นอย่างคุณหมอตุลย์ มีส่วนน้อยคือพวกทำกิจกรรม พวกที่อยู่ในวงวิชาการ ภาคประชาสังคม ที่ชื่นชม อ.ปรีดี (เน้นว่า อ.ปรีดี ไม่ใช่คณะราษฎรทั้งหมด) แต่คนที่พูดอย่างจริงจังถึงการที่ อ.ปรีดีถูกโค่นล้มโดยอุดมการณ์กษัตริย์นิยม ก็มีจำนวนน้อยนิด จนกระทั่งมาถึงทางแยกของอุดมการณ์ ในการขับไล่ทักษิณ ซึ่งคนในภาคประชาสังคมแห่เข้าไปร่วมกับพวกจารีตนิยม พอจนปัญญาที่จะโค่นล้มทักษิณ ผู้มาจากการเลือกตั้ง ก็หันไปอ้างอุดมการณ์กษัตริย์นิม อุดมการณ์ราชาชาตินิยม ปลุกมวลชนให้คลั่งชาติ คลั่งเจ้า ตั้งแต่ขอ ม.7 นายกพระราชทาน สนับสนุนรัฐประหาร บิดเบือนเรื่องปราสาทพระวิหาร จนกระทั่ง “ผังล้มเจ้า” ที่ใช้ประกอบการฆาตกรรมมวลชนเสื้อแดง ถึงวันนี้ จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว พวกเขาก็กลายเป็น “ฝ่ายขวา” ไปเรียบร้อยแล้ว (โดยไม่ต้องมาเขียนบทกวีด่าฝ่ายซ้าย) อุดมการณ์ 2475 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ชัดเจนตั้งแต่คำปรารภว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยมาตราต่อไปนี้” ชัดเจนนะครับ คณะราษฎรไม่ได้ล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์มี 2 สถานะคือ หนึ่ง เป็นองค์พระประมุข และสอง เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ให้เหลือแต่สถานะความเป็นองค์ประมุขแต่อย่างเดียว ไม่ต้องมีอำนาจสั่งการบริหารราชการแผ่นดินอีก ไม่ต้องใช้อำนาจที่ทำให้เกิดความพอใจ ไม่พอใจ ถูกวิจารณ์ ถูกต่อต้าน ถูกติฉินนินทา และลงมาอยู่ “ใต้รัฐธรรมนูญ” เช่นเดียวกับประเทศที่เป็นราชอาณาจักรที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยทั้งหลายในโลก ประเด็นนี้ที่คนรุ่นหมอตุลย์ไม่เข้าใจ เพราะการศึกษาตามหลักสูตรไม่เคยสอนให้รู้ว่า ก่อน 2475 รัชกาลที่ 7 และพระบรมวงศานุวงศ์ที่เข้ามามีอำนาจบริหารราชการ ถูกวิจารณ์ถูกต่อต้านเพียงไร โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ แล้วรัฐบาลแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะความเทอะทะ ไร้ประสิทธิภาพ และเหลื่อมล้ำในระบบ คณะราษฎรอาจจะชิงสุกก่อนห่าม แต่ไม่ทราบเหมือนกันว่าถ้าปล่อยให้สุก แล้วจะเกิดอะไรขึ้น มองอีกมุมหนึ่ง คณะราษฎรต่างหากที่เทิดพระมหากษัตริย์ให้พ้นไปจากความรับผิดชอบ ให้เป็นที่เคารพยกย่องเพียงอย่างเดียว รัฐธรรมนูญ 2475 ประกาศอุดมการณ์ประชาธิปไตย ตั้งแต่มาตรา 1 ว่า“อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาไม่เคยใช้ถ้อยคำอย่างนี้อีก ขณะเดียวกัน มาตรา 3 ก็บัญญัติชัดเจนว่าเราจะมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข “กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่นๆ ซึ่งจะมีบทกฎหมายระบุไว้โดยฉะเพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์” โดยมีมาตรา 7 กำกับไว้ว่า “การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ” ก็คือนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ตามมติคณะรัฐมนตรีนั่นแหละครับ เช่นเดียวกับระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษ แต่มาตรานี้ต่อมาก็หายสาบสูญไปเช่นกัน รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 มีการ “ปรองดอง” ระหว่าง ร.7 กับคณะราษฎร โดยเทิดพระเกียรติเป็นการ “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” (เฉพาะคำปรารภก็เป็นถ้อยคำสดุดียาวเหยียด 4-5 ย่อหน้า) คำว่า “อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” หายไป คำว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” หายไป มีมาตรา 3 “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” รวมถึงใช้คำว่า “พระราชอำนาจ” ในที่ต่างๆ (และเปลี่ยนจากคำว่า “กษัตริย์” เป็น “พระมหากษัตริย์”) แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันว่านั่นคือการยกย่องเชิงสัญลักษณ์ เพราะคณะราษฎรก็ต้องการ “ปรองดอง” แต่สุดท้าย ฝ่ายกษัตริย์นิยมไม่ยอมปรองดองด้วย พระยามโนฯ ทำรัฐประหารเงียบ งดใช้รัฐธรรมนูญ พระยาพหลฯ ต้องทำรัฐประหารเพื่อเอารัฐธรรมนูญกลับมา แล้วก็เกิดกบฎบวรเดช พาทหารต่างจังหวัดมาตายอย่างน่าสงสาร พวกหัวโจกกบฎถูกประหารบ้าง ถูกจับเข้าคุก ส่งไปอยู่เกาะตะรุเตา แล้วก็โอดครวญว่าพวกที่ต่อต้านคณะราษฎฏรถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ทั้งที่พวกตัวก่อกบฎเพื่อล้มระบอบประชาธิปไตย แต่สมัย 14 ตุลาที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน เรื่องพวกนี้ก็มั่วกันหมดนะครับ ตอนนั้นหนังสือ “เมืองนิมิตร” ของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน ก็ตีพิมพ์ใหม่เผยแพร่กันกว้างขวาง ที่จริงความคิดของท่านก็เป็นเชิงอุดมคติ แบบว่าประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุดเสมอไป พูดอีกก็ถูกอีก ในเชิงปรัชญา ในเชิงแสวงหา ไม่ผิดหรอกครับ แต่ตอนนั้นมันคือการต่อสู้ระหว่างจะเป็นประชาธิปไตยหรือกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะเลือกอะไรที่ก้าวหน้ากว่า เข้าใจว่าพี่เนาว์แกคงอ่านเมืองนิมิตรและได้รับอิทธิพลความคิดเพ้อฝันอยู่เหมือนกัน อุดมการณ์ 2490 แต่พวกนิยมเจ้าตอนนั้นไม่พอใจ เพราะ 2475 ล้างบางอำนาจของพระบรมวงศานุวงศ์ จึงก่อกบฎบวรเดช จนถูกปราบปรามราบคาบ หลัง ร.7 สละราชสมบัติ ก็ยิ่งชัดเจนว่าคณะราษฎรยังต้องการให้มีพระมหากษัตริย์ จึงอัญเชิญในหลวงรัชกาลที่ 8 กลับมาครองราชย์ ทั้งที่ตอนนั้น คณะราษฎรจะเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นสาธารณรัฐก็ทำได้ เพราะปราบพวกเชื้อพระวงศ์ราบคาบไปแล้ว แต่ความขัดแย้งระหว่าง อ.ปรีดีกับจอมพล ป.ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ อ.ปรีดีก่อตั้งเสรีไทย หันไปร่วมมือกับพวกกษัตริย์นิยม โดยให้คำมั่นว่าจะปลดปล่อยพวกที่ถูกจำคุกอยู่ออกจากคุก ซึ่งก็มาปล่อยในสมัยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ที่ อ.ปรีดีหนุนหลังในปี 2488 อ.ปรีดีไม่คาดคิดว่าพวกเขาจะแว้งกลับมาเล่นงาน เมื่อเกิดกรณีสวรรคต ที่ท่านถูกตะโกนกล่าวหาในโรงหนัง (ยิ่งกว่าผังล้มเจ้า) พวกกษัตริย์นิยม พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมมือกับทหาร นำโดยปู่และพ่ออาจารย์โต้ง ทำรัฐประหาร 2490 ฉีกรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่สุด แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับใต้ตุ่ม 2490 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กลับมามี “อภิรัฐมนตรี” เป็นผู้ถวายคำปรึกษาแก่พระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญฉบับนั้นให้พระมหากษัตริย์ “เลือกตั้ง” วุฒิสมาชิก (ใช้คำแปลกดี) และให้ประธานคณะอภิรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี นี่คือการดึงพระมหากษัตริย์กลับเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งยังคงอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2492 ฉบับถาวร เพียงเปลี่ยนจากคำว่าอภิรัฐมนตรีมาเป็นองคมนตรี โดยพระมหากษัตริย์ยังทรงแต่งตั้งวุฒิสมาชิก โดยประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา (พูดให้ชัดหน่อยนะครับว่า ตอนนั้นในหลวงยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร รังสิต ซึ่งตอนกบฎบวรเดชโดนจับติดคุกอยู่สิบกว่าปี) รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก่อปัญหาให้กับอำนาจบริหาร รัฐบาลจอมพล ป.ถูกวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรที่มีพรรคประชาธิปัตย์อยู่ครึ่งหนึ่ง ขัดแข้งขัดขาจนทำงานไม่ได้ จอมพล ป.จึงทำรัฐประหารตัวเองเมื่อปี 2494 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2495 ซี่งเอา 2475 มาผสมกับ 2492 แม้ยังมีองคมนตรี แต่ก็ตัดพระราชอำนาจแต่งตั้งวุฒิสมาชิกออกไป กระนั้นรัฐธรรมนูญ 2492 ก็กลายเป็นแม่แบบให้รัฐธรรมนูญฉบับหลังๆ คือยังมีองคมนตรี และสร้างความคลุมเครือในการอ้าง “พระราชอำนาจ” รัฐธรรมนูญ 2492 ยังเป็นฉบับแรกที่มีมาตรา 2 ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งก็ใช้ต่อกันมาเรื่อยๆ จนปี 2534 จึงกำเนิดคำว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ถามว่ารัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้นของคณะราษฎร ไม่เอาพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือ ก็ไม่ใช่นะครับ เพราะอย่างที่ยกให้เห็นแล้ว มาตรา 3 ของ 2475 ฉบับแรก “กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ” หรือ 2475 ฉบับ 10 ธันวาคม ก็บัญญัติตั้งแต่มาตรา 1 “สยามประเทศเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” มาตรา 2 “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” แค่ 2 มาตรานี้ก็ชัดเจนแล้ว เป็นราชอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉะนั้น คำว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” จึงเป็นมาตราฟุ่มเฟือยไม่จำเป็น แล้วรัฐธรรมนูญ 2534 ก็มาประดิษฐ์คำใหม่จากคำที่ไม่จำเป็น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งต่อมาก็มีคนเอาไปตีความพิลึกพิกล ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนใครในโลก และกลายเป็นชื่ออันไพเราะของคณะรัฐประหาร “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” คุณเลือกข้างแล้ว ความจริงคือรัฐธรรมนูญของ ร.7 เป็นเพียงการออกแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่ อำนาจสูงสุดยังเป็นของพระมหากษัตริย์ แต่จะทรงตั้งนายกรัฐมนตรีขึ้นบริหารประเทศแทน ตลกนะครับ 80 ปีผ่านไป ยังมีคนกลับไปเรียกร้อง “นายกพระราชทาน” ถ้าเราดูแกนความคิดของพวกพันธมิตร ผ่านชัยอนันต์ สมุทวณิช กับปราโมทย์ นาครทรรพ จะเห็นได้ชัดเจนจากหนังสือ “ราชประชาสมาสัย” ของปราโมทย์ ที่ชัยอนันต์เขียนตอนหนึ่งว่า “อาจารย์ปราโมทย์เป็นผู้ซึ่งมีความเข้าใจการเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง และเสนอความคิดเห็นในการปฏิรูปการเมืองโดยคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของสังคมไทย อาจารย์เห็นว่าการมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะต้องให้ประชาชนกับพระมหากษัตริย์มีส่วนร่วมกันสร้างประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของพระมหากษัตริย์ในชีวิตการเมืองของประเทศเป็นสิ่งที่เหมาะสม โดยใช้พระราชอำนาจต่างๆ อย่างเป็นระบบตามลัทธิรัฐธรรมนูญ” นี่คือความพยายามจะดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างชัดเจน และเป็นอุดมการณ์ 2 แนวทางที่ต่อสู้กันอยู่ขณะนี้ ระหว่างอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ยึดแนวทางคณะราษฎร เทิดพระมหากษัตริย์ไว้เป็นที่เคารพสักการะ พ้นไปจากการต่อสู้ทางการเมือง หรือการกำหนดแนวบริหาร การพัฒนาประเทศ ทั้งปวง กับอุดมการณ์ที่เห็นว่านักการเมืองเลว ประชาชนยังโง่อยู่ ต้องดึงพระมหากษัตริย์มา “มีส่วนร่วม” 80 ปียังต่อสู้กันไม่จบ แต่ตอนนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าใครเลือกข้างไหน ไม่ว่าในอดีตจะเป็นพวกที่เคยยกย่องเชิดชู อ.ปรีดีและคณะราษฎรมาอย่างไร เมื่อถึงทางแยก พวกท่านก็เลือกแล้ว จะปากแข็งไม่ยอมรับกันอย่างไรก็ได้ จะด่าว่านักการเมือง แกนนำ นปช.ว่าใช้คณะราษฎรเป็นเครื่องมือ ก็ตามสบาย แต่ที่แน่ๆ คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ทำให้มวลชนเสื้อแดงจำนวนมากได้รู้จักและกลับมายกย่องคณะราษฎร ขณะที่มวลชนเสื้อเหลืองของพิภพ สุริยะใส เที่ยวด่าคณะราษฎรกันอึงมี่ ว่ากำเริบเสิบสาน ชิงสุกก่อนห่าม ประชาชนไม่พร้อม ประเทศชาติเลยลำบาก เพราะนักการเมืองโกง ซื้อเสียง ฯลฯ แน่จริงลองจัดงานชุมนุมเสื้อเหลืองและสลิ่มรำลึกคณะราษฎรดูสิครับ พวกเขาจะมายกย่องหรือมาด่า
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
รากฐานประชาธิปไตยและพื้นที่ทางการเมืองของประชาชน: ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) Posted: 24 Jun 2012 06:17 AM PDT
(เนื่องใน ‘วันชาติ’/2555)
1 เนื่องในวัน ‘ชาติ’ ‘วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง’ (24 มิถุนายน) ที่ทำให้ ‘ไพร่’ กลายเป็น ‘ประชาชน’ ที่มีโอกาสกำหนดชีวิตตนเองได้ และท่ามกลางปัญหาและอุปสรรคนานัปการ เราได้สร้าง ‘โลก’ ของเราที่อาจไม่ราบเรียบ ง่ายดาย แต่ก็มีเกิดสิทธิและเสรีภาพ มากกว่าที่เราอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และ ‘โลก’ ที่เรา ‘เท่าเทียม’ และ ‘เล่นได้’ คือ ‘โลกที่เรากำหนดเอง’ ในที่นี้ผู้เขียนจะพูดถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ที่เป็น ‘พื้นที่ทางการเมืองของประชาชน’ ในฐานะประชาธิปไตยรากฐานที่ประชาชนในท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนด ‘เล่น’ ในหลากหลายมิติ โดยจะให้ความสำคัญกับการเข้าไปจัดการ และเล่นผ่านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า ที่เป็นปัญหาร่วมของประชาชน โดยการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยแม้ว่าจะมีมาอย่างยาวนานตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ได้ทดลองจัดตั้งสุขาภิบาล ในปี พ.ศ.2440 หน่วยการปกครองแบบใหม่ในระดับท้องถิ่น เรียกว่า ‘สุขาภิบาลกรุงเทพฯ’และในปี พ.ศ. 2448 ได้จัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม ที่เป็นสุขาภิบาลในหัวเมือง รักษาความสะอาดในท้องที่ มีหน้าที่ป้องกันและรักษาความเจ็บไข้ในท้องที่บำรุงรักษาทางไปมาในท้องที่การศึกษาชั้นต้นของราษฎร และแบ่งสุขาภิบาลออกเป็นสุขาภิบาลเมืองมีกรรมการ 11 คน ส่วนสุขาภิบาลตำบลมีกรรมการ 5 คน คณะกรรมการทั้งหมดล้วนเป็นข้าราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ผู้ว่าราชการเมือง ปลัดเมือง นายอำเภอ ครู และกำนันผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการสุขาภิบาลทำหน้าที่ทั้งด้านนิติบัญญัติและบริหาร [2] ในเวลาต่อมารัฐบาลของคณะราษฎรมีนโยบายที่จะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ใน พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้ผ่าน พ.ร.บ. จัดระเบียบเทศบาล ให้มีเทศบาล 3 แบบคือ เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล เริ่มต้นที่ยกฐานะสุขาภิบาล 35 แห่งที่มีอยู่ขึ้นเป็นเทศบาล ในการจัดตั้งเทศบาล รัฐบาลของคณะราษฎรมุ่งหมายที่จะพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงรูปแบบเดียวคือ เทศบาล และขณะนั้นมีตำบลทั่วประเทศรวม 4,800 ตำบล รัฐบาลต้องการที่จะยกฐานะทุกตำบลให้เป็นเทศบาลเทศบาลตามกฎหมายในปี พ.ศ. 2476 แบ่งออกเป็น 2 องค์กร คือ สภาเทศบาลและคณะเทศมนตรี สภาเทศบาลทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในเขตเทศบาลนั้น เทศบาลนครมีสมาชิก 24 คน เทศบาลเมืองมีสมาชิก 18 คน และเทศบาลตำบลมีสมาชิก 12 คนนอกจากนี้ เทศบาลมีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นองค์การที่มีงบประมาณทรัพย์สิน มีเจ้าหน้าที่ของตนเอง และมีอำนาจอิสระในการปฏิบัติงานในเขตท้องถิ่นนั้นตามกฎหมายรัฐบาลได้พยายามแก้ไขอุปสรรคต่าง เพื่อให้เทศบาลเจริญขึ้น โดยได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายถึง 4 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2481 พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2486 และพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 (ชูวงศ์ ฉายะบุตร2539: 93) ขึ้นบังคับใช้ ซึ่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ยังคงใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน (นันทวัฒน์บรมานันท์ 2552 : 32) อย่างไรก็ตามตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลก็ไม่สามารถที่จะเปิดเทศบาลได้เกินกว่า 117 แห่ง เหตุผลที่สำคัญคือเทศบาลมีบทบาทจำกัดและขยายตัวช้า มีงบประมาณที่จำกัด อำนาจที่จำกัด และการปกครองท้องถิ่นระบบเทศบาลไม่เหมาะสมกับสังคมที่ประชาชนขาดความรู้และความสนใจในเรื่องการปกครองท้องถิ่น(ธเนศวร์เจริญเมือง 2550 ,2539: 92-93)รัฐบาลจึงได้กลับมากระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นในแบบสุขาภิบาลอีกครั้ง แต่การเปิดสุขาภิบาลทำได้เฉพาะในตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ส่วนตำบลที่ห่างออกไป การปกครองแบบสุขาภิบาลไม่สะดวก รัฐบาลจึงได้เพิ่มวิธีการต่อไปอีก 2 แบบ คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้น โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้พิจารณาเห็นว่าการปกครองท้องถิ่นของไทยมีอยู่เพียงในเขตเมืองและกึ่งเมือง (เทศบาลและสุขาภิบาล) การที่ “ประชาชนอยู่กันกระจัดกระจาย (ในเขตชนบท) รายได้มีน้อยไม่เป็นการเพียงพอที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินการปกครองท้องถิ่นในรูปเทศบาลหรือสุขาภิบาล ส่วนท้องถิ่นที่อยู่นอกเขตการปกครองท้องถิ่นรูปเทศบาล สุขาภิบาล ทางราชการก็มิได้ทอดทิ้งหรือปล่อยปละละเลย หากแต่จัดให้อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การปกครองท้องถิ่น รูปองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล แยกห่างจากจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาค” (ธเนศวร์ เจริญเมือง 2550 : 94) เพื่อเป็นเป็นตัวเร่งให้ท้องถิ่นพัฒนาขึ้นเพื่อยกฐานะท้องถิ่นที่เจริญให้เป็นเทศบาลให้มากขึ้น จึงมีการจัดตั้งสุขาภิบาลขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2495 ตาม พ.ร.บ.สุขาภิบาล พ.ศ. 2495 หลักเกณฑ์ของท้องถิ่นจะเป็นสุขาภิบาลมีดังนี้ (1) ที่ตั้งที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอจัดตั้งเป็นสุขาภิบาลได้เลย (2) ชุมชนที่มีการค้าอย่างน้อย 100 ห้อง มีราษฎรอย่างน้อย 1500 คน และพื้นที่ของเขตสุขาภิบาลมีขนาด 1-4 ตารางกิโลเมตร ส่วนกรรมการบริหารสุขาภิบาลประกอบด้วยบุคคลถึง 3 ประเภท คือ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการโดยการแต่งตั้ง และกรรมการที่ประชาชนเลือกตั้ง ให้นายอำเภอในท้องที่นั้นเป็นประธานคณะกรรมการสุขาภิบาล และให้ปลัดอำเภอคนหนึ่งเป็นปลัดสุขาภิบาล ในปี พ.ศ. 2498 จึงได้ออก พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด จัดตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในท้องที่ที่มีความเจริญรองลงไปจากท้องที่ที่เป็นเทศบาลหรือสุขาภิบาลจัดให้อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การปกครองท้องถิ่นในรูปองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล แยกต่างหากจากจังหวัดมีหน้าที่ที่กฎหมายเรียกว่า ‘กิจการส่วนจังหวัด’ ที่จะต้องรับผิดชอบปฏิบัติ (ชูวงศ์ฉายะบุตร 2539: 96) ในปี พ.ศ. 2499 ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2499 ขึ้นใช้บังคับ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดเพิ่มการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นอีกรูปแบบหนึ่ง เกิดการปกครองในรูปแบบ ‘สภาตำบล’ โดยมีแนวคิดมาจากการที่การปกครองท้องที่ตำบล หมู่บ้าน ยังไม่มีลักษณะเป็นชุมชนที่มีความเจริญพอจะยกระดับขึ้นเป็นการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาลหรือสุขาภิบาลได้ (นันทวัฒน์บรมานันท์2552 : 56) สภาตำบลจึงเปรียบเสมือนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีโอกาสร่วมฝึกปฏิบัติการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น อบต. แบ่งองค์ออกเป็น 2 ส่วนคือ ใน พ.ศ.2537 รัฐบาลภายใต้การนำของ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอนที่ 53 ก. ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2537) ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2538 โดยเหตุผลหลักในการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้เนื่องมาจากสภาตำบลตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 326 ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงไม่สามารถบริหารและดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฉบับปี 2537 มีสาระสำคัญคือ มีการแบ่งตำบลออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือสภาตำบลที่มีอยู่ในทุกตำบลประกอบด้วยสมาชิกคือกำนันและผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งหมู่บ้านละ 1 คน ส่วนเลขานุการได้แก่ข้าราชการที่ทำงานในตำบลนั้นแต่งตั้งโดยนายอำเภอ ส่วนประเภทที่สองคือ สภาตำบลที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกัน 3 ปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 1.5 แสนบาท ให้ตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ในประเภทที่สองนี้มีการแบ่งงานเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายนิติบัญญัติเรียกว่าสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (สภาองค์การฯ) กรรมการได้แก่กำนันและผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งหมู่บ้านละ 2 คน ส่วนฝ่ายบริหารเรียกว่าคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 2 คน และสมาชิกสภาองค์การฯ 4 คน ซึ่ง 6 คนนี้มาจากการเลือกตั้งของสภาองค์การฯ (ธเนศวร์เจริญเมือง 2550 : 96-98) แต่อย่างไรก็ตามอาจกล่าวได้ว่าการปกครองท้องถิ่นในระยะเริ่มต้นมีลักษณะการดำเนินการที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1. เป็นองค์กรที่ข้าราชการคิดและจัดตั้ง ข้าราชการจึงเป็นผู้ควบคุมเทศบาลนั้น 2. ประชาชนเป็นผู้รับเอา จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจไม่สำคัญ เพราะข้าราชการเป็นผู้หยิบยื่นให้ (Devolution) โดยหวังที่จะเห็นประชาธิปไตยมีขึ้นในบ้านเมือง การควบคุมโดยประชาชนก็เกือบจะไม่ปรากฏร่างขึ้น คงมีแต่การเลือกตั้งสมาชิกเทศบาลเป็นครั้งคราว นอกจากนั้นก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของเทศบาล คือนายกเทศมนตรีและคณะรัฐมนตรีกับสมาชิก โดยมีพนักงานเป็นผู้รับนโยบายไปดำเนินการ (ประหยัด หงส์ทองคำ, 2520 : 29)หรือพูดได้ว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นในระยะเริ่มต้นเป็นแต่เพียงการขยายอำนาจของราชการส่วนกลางเพราะว่าองค์กรที่ตั้งมานั้นข้าราชการส่วนภูมิภาคเป็นคณะกรรมการและผู้บริหาร หรือมีอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งสิ้นหรือพูดได้ว่า “ท้องถิ่นเป็นแขนขา หรือกิ่ง แขนงของรัฐส่วนกลาง” มิได้มีเจตนาในการให้มีการกระจายอำนาจในการปกครองอย่างแท้จริง แต่อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมีมาอย่างต่อเนื่องก่อนทศวรรษที่ 2540 ทั้ง นอกจากนี้การขับเคลื่อนของภาคประชาชน เช่น สมัชชาคนจน สมาพันธ์เกษตรกรรายย่อยภาคเหนือ กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติชนิดต่างๆ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในการสะท้อนปัญหา และหาหนทางในการแก้ไขปัญหา ทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง และมีสำนึกของความเป็นพลเมืองมากขึ้น(ประภาสปิ่นตบแต่ง : 2541 และ เสกสรรค์ประเสริฐกุล : 2552) มีความต้องการปกครองตนเอง จัดการแก้ไขปัญหาของตนเองในระดับท้องถิ่น เพื่อให้คนในท้องถิ่นที่เข้าใจปัญหาเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารและกำหนดทิศทางของท้องถิ่น ทำให้ในการเลือกตั้งทั่วไปเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2535 มีพรรคการเมืองถึง 5 พรรคเสนอนโยบายหาเสียงว่าจะกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น และมี 4 พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด สังคมไทยเกิดการตื่นตัวในนโยบายการปรับปรุงการปกครองท้องถิ่นอย่างไม่เคยมีมาก่อนแม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ได้ทำตามนโยบายดังกล่าว โดยอ้างว่าประชาชนในท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อม ขาดความรู้ความเข้าใจในการปกครองท้องถิ่นอยู่ และเพื่อเป็นการลดกระแสการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุง อบจ. ด้วยการให้นายก อบจ. มาจาก สจ. ไม่ให้ผู้ว่าฯเป็นนายก อบจ. อีกต่อไป และเสนอร่าง พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ผ่านสภาฯในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2537 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2538 นอกจากนี้การที่ “รัฐสภาได้พิจารณาผ่านกฎหมายท้องถิ่นแก้ไขเพิ่มเติม 3 ฉบับ ได้แก่พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ฉบับที่ 3 พ.ศ.2546, พระราชบัญญัติเทศบาลฉบับที่ 12 พ.ศ. 2546, และพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2546 ทั้งสามฉบับมีผลบังคับใช้ในปลายปี พ.ศ. 2546 สาระสำคัญของกฎหมายข้างต้นคือการกำหนดให้ฝ่ายบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในท้องถิ่น ทำให้ทุกตำแหน่งขององค์กรปกครองระดับท้องถิ่นในทุกระดับมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2546 [3] ก่อนปี พ.ศ. 2546 การแบ่งแยกอำนาจของอบต.มีลักษณะที่เป็นระบบรัฐสภาเช่นเดียวกับโครงสร้างในระดับชาติ กล่าวคือฝ่ายบริหารมาจากการแต่งตั้งของสมาชิกสภาอบต. และสภาอบต.มีอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจ ฝ่ายบริหาร ในขณะที่ฝ่ายบริหารก็มีอำนาจยุบสภาอบต.ได้ โครงสร้างเช่นนี้ก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพของฝ่ายบริหาร ทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง ปัญหาเช่นนี้จึงทำไปสู่การเคลื่อนไหว [4] เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างของอบต. (รวมทั้งอบจ.) ให้มีรูปแบบประธานาธิบดีในปัจจุบัน ที่มีสาระหลักแตกต่างจากระบบรัฐสภาคือ ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ดังนั้นฝ่ายบริหารจึงไม่มีอำนาจยุบสภา และฝ่ายสภาก็ไม่มีอำนาจลงมติไว้วางใจนายกอบต.”(อภิชาตสถิตนิรามัย : 2554 ) ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยประสบความสำเร็จ ในการผลักดันการแก้ไขกฎหมายเทศบาลให้เทศบาลมีฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เหตุผลที่ใช้ในการเคลื่อนไหวคือ หนึ่ง. โครงสร้างที่นายกเทศมนตรีมาจากมติของสภาเทศบาลทำให้นายกเทศมนตรีต้องพึ่งพาหรือต้องหาเสียงสนับสนุนข้างมากจากสภาเทศบาลฉะนั้นหากนายกเทศมนตรีไม่สามารถควบคุม-เสียงข้างมากในสภาเทศบาลได้ฝ่ายสภาเทศบาลก็สามารถโค่นนายกเทศมนตรีออกจากตำแหน่งได้ส่งผลให้ในสมัยหนึ่ง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารท้องถิ่นบ่อยครั้ง สองการเปลี่ยนแปลงนายกเทศมนตรีบ่อยครั้งก่อให้เกิดผลเสียต่อการบริหารงานในเทศบาลเพราะทำให้นโยบายขาดความต่อเนื่อง และยากที่จะผลักดันนโยบายต่าง ๆเป็นรูปธรรมได้ สามโครงสร้างที่นายกเทศมนตรีมาจากมติของสภาเทศบาลเป็นโครงสร้างที่นายกเทศมนตรีต้องเอาใจสมาชิกสภาโดยให้ผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างกันในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรักษาเสียงข้างมากเอาไว้ทำให้นายกเทศมนตรีต้องคอยเอาใจสมาชิกสภาเทศบาลมากกว่าเอาใจประชาชนในส่วนของอบต.และอบจ. ก็มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน เหตุผลเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการแก้กฎหมายให้ฝ่ายบริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรง(อภิชาต สถิตนิรามัย : 2554)ทำให้การปฏิบัติงานของ อปท. ต่อเนื่องและเป็นองค์กรของประชาชนในสาระมากขึ้น เพราะทั้งสมาชิกและผู้บริหาร อปท. ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรง ซึ่งเป็นความก้าวหน้าของ อปท. อีกขั้นหนึ่ง นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2550 ได้กระจายอำนาจให้ อปท.เพิ่มมากขึ้นโดยกำหนดให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยอปท. ต้องจัดให้มีวิธีการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและในกรณีที่การกระทำของอปท. จะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นในสาระสำคัญ อปท. ต้องแจ้งข้อมูลรายละเอียดให้ประชาชนทราบก่อนกระทำการเป็นเวลาพอสมควร และในกรณีที่เห็นสมควร หรือได้รับการร้องขอจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอปท. ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนการกระทำนั้น หรืออาจจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติเพื่อตัดสินใจก็ได้ พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินงานในรอบปีให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อประชาชนจะได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 287) (อภิชาต สถิตนิรามัย 2554: 7-8) เป็นต้น แม้ว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยจะล้มลุกคลุกคลานมาหลายครั้ง ความเปลี่ยนแปลงของสังคม และการปรับโครงสร้างของ อปท. ในระดับต่างๆ ทำให้ อปท. เป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดประชาชน และผลการกระทำของ อปท. ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม และทำให้ประชาชนเข้าต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับ อปท. ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในที่นี้ประชาชนจึงเข้าไปกำหนดทิศทางของ อปท. ได้มากขึ้นเป็นลำดับ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2540 ได้ให้ความสำคัญแก่การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้บัญญัติเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในหมวดที่ 9 ถึง 10 มาตรา ได้ทำให้เกิดกฎหมายสำคัญหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มีการเริ่มใช้แผนในปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2545ตามลำดับ โดยปัจจุบันใช้แผนฯฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 และรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ได้รักษาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมถึงเพิ่มบทบัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น มีการบัญญัติเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในหมวด 14 ในมาตรา 281-290 โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินนโยบาย การบริหาร การจัดการบริหารสาธารณะ การบริหารบุคคล การเงินและการคลังได้ และเป็นที่มาของการออก พระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 4 และฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 ได้ระบุถึงบทบาทหน้าที่ขององค์บริหารส่วนตำบล (อบต.) ในมาตรา 16 พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดการบริการสาธารณะโดย อปท. มีหน้าที่ถึง 31 ด้าน เพื่อบริการแก่ประชาชน อย่างเช่น การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง, การจัดให้มี และบำรุงรักษาทางบกทางน้ำ และทางระบายน้ำ คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, การส่งเสริมการท่องเที่ยว, การกำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสีย, การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, การดูแลรักษาที่สาธารณะ เป็นต้นจะเห็นว่า อปท. มีบทบาท และหน้าที่อย่างกว้างขวาง เช่น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ขยะ การท่องเที่ยว รวมถึงสวัสดิการผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพผู้พิการ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นถือว่าเป็นภาระหน้าที่ที่กว้างขวางภายใต้ข้อจำกัดในด้านงบประมาณ และบุคคลากร การที่ อปท. เป็นองค์กรที่ถูกกฎหมาย และมีอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจนทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่ชาวบ้านที่มีปัญหาในเรื่องต่างๆ เช่น ไม่มีที่ทำกิน ถูกคุกคามจากคนภายนอกชุมชนเข้ามาทำลายทรัพยากรในท้องถิ่น เช่น ป่าไม้ แม่น้ำ เป็นต้น ได้เข้ามามีบทบาทใน อปท. และใช้ อปท. เป็นเครื่องมือในการต่อรอง และปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่น รวมถึง อปท. เป็นองค์กรที่มีงบประมาณ บุคลากร ซึ่งในอดีตมีการใช้งบประมาณในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ประปา ท่อระบายน้ำฯลฯ แต่ปัจจุบัน อปท. ที่ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนในการบริหารได้เปลี่ยนแปลงการใช้งบนั้นอย่างสำคัญ เช่น เน้นการสร้างคุณภาพของคน วัฒนธรรม สวัสดิการชุมชน การรับเรื่องราวร้องทุกข์ การสร้างอาชีพ การเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งเป็นการขยายบทบาทหน้าที่ของ อปท. ให้กว้างและลึกมากกว่าการบริการสาธารณะ รวมถึงการให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้บริหาร สมาชิก อปท. และคนในชุมชนท้องถิ่นนั้นๆสร้างตำแหน่งแห่งที่ของตนภายใต้พื้นที่ทางการเมืองใหม่นี้ ในการต่อรองขับเคลื่อนและเล่นการเมืองของชาวบ้านในหลายมิติ เช่น เป็นตัวกลางระหว่างชาวบ้านกับรัฐสนับสนุนงบประมาณ เป็นเวทีในการขับเคลื่อนปัญหาต่างๆ ฯลฯ ถึงแม้ว่า อปท. จะมีหน้าที่ให้บริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน แต่ด้วย อปท. เป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดประชาชน รวมถึงผู้บริหาร และสมาชิก อปท. เป็นคนในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงได้ง่ายกว่าข้าราชการส่วนกลาง อปท. ในหลายๆพื้นที่จึงขยายขอบเขตหน้าที่ และความรับผิดชอบของตนอย่างกว้างขวางกว่าที่กฎหมายกำหนด ชาวบ้านจึงมี ‘ความรู้สึก’ ว่าเป็นเจ้าของ อปท. นอกจากนี้ อปท.ยังมีจุดเด่นที่เหนือกว่าองค์กรที่เป็นทางการอื่นๆ คือ เป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดชาวบ้าน ทำให้มีส่วนอย่างสำคัญที่ อปท. จะขับเคลื่อน และสนองตอบความต้องการของประชาชน และในหลายปีผ่านมานี้ตัวแทนที่เข้าไปมีบทบาทใน อปท. ซึ่งมีความหลากหลาย และเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การเลือกใช้คนของชาวบ้านและควบคุมตัวแทนเข้าไปทำงานของชาวบ้าน มีความสลับซับซ้อนอยู่ภายใต้เงื่อนไขความสัมพันธ์ในหลายๆมิติ เช่น ความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ พวกพ้องเพื่อนฝูง ลูกน้อง-นาย เป็นต้น การเลือกตัวแทนของชาวบ้านสามารถกำหนด และควบคุมคนเหล่านั้นได้ในระดับหนึ่ง การเข้าใจการเมืองของชาวบ้านจะเป็นการทำลายมายาคติ ที่ว่า “ชาวบ้านถูกซื้อ หรือ โง่ จน เจ็บ เลือกคนไม่เป็น” ซึ่งการเมืองของชาวบ้านในที่นี้จะเป็นเครื่องชี้วัดว่า อปท. จะสามารถพัฒนาเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่ในอนาคตต่อไปข้างหน้า ความเปลี่ยนแปลงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาการเมืองในระดับประเทศเกิดวิกฤตครั้งใหญ่หลายครั้ง และทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานของรัฐบาลส่วนกลางไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า อปท. เป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงสามารถสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งน่าเชื่อว่า อปท. จะเป็นหน่วยงานที่สำคัญต่อไปในอนาคต ในการขับเคลื่อนสังคมไทย น่าสนใจว่า ประชาชนในท้องถิ่น และ อปท. จะเปลี่ยนแปลงสายใยแห่งอำนาจ และสร้างสัมพันธภาพเชิงอำนาจจากศูนย์กลางเป็นผู้กำหนดนโยบายมาเป็น ‘ท้องถิ่นเคลื่อนสังคม’ 3 การปกครองส่วนท้องถิ่นมีวิวัฒนาการที่ยาวนาน และในช่วงเวลาต่างๆก็มีความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกัน โดยการปกครองส่วนท้องถิ่นในเบื้องแรกเป็นการขยายอำนาจของรัฐส่วนกลางเพื่อควบคุมท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นบริการด้านสาธารณสุข ความสะอาด การเก็บขยะมูลฝอยและส่งข้าราชการมาเป็นผู้บริหาร ต่อมาภายหลังรัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติหลายฉบับเพื่อให้อำนาจท้องถิ่นมากขึ้น กอปรกับบริบทของสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงไปในหลายๆด้าน เช่น จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ประชาชนมีการศึกษามากขึ้น เศรษฐกิจเติบโตขยายตัวมากขึ้น ประชาชนมีสำนึกความเป็นพลเมืองมากขึ้น ฯลฯ นอกจากนี้จากขยายตัวของแนวคิดการเมืองภาคพลเมืองก็มีผลอย่างสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่น ซึ่งการปกครองท้องถิ่น คือ การปกครองที่รัฐกลางได้กระจายอำนาจไปให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นองค์กรที่มีสิทธิตามกฎหมาย มีพื้นที่และประชากรเป็นของตนเอง ประการสำคัญองค์กรดังกล่าวจะต้องมีอิสระ (Autonomy) ในการปฏิบัติอย่างเหมาะสม การมอบอำนาจจากส่วนกลางมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามีส่วนร่วมในการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมในการเสนอปัญหา ตัดสินใจ การตรวจสอบการทำงานและร่วมรับบริการสาธารณะต่างๆ แม้ว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีอิสระในการดำเนินงาน แต่ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลกลาง เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ในการฝึกฝน ให้การศึกษาเกี่ยวกับการเมืองแก่ประชาชน โดยทำให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง เกิดสำนึกและเห็นความสำคัญ คุ้นเคยกับการใช้สิทธิทางการเมือง หน้าที่พลเมือง อันจะนำไปสู่ความศรัทธาและความเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย ดูได้จาการที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีประชาชนมาใช้สิทธิจำนวนมาก อยู่ระหว่าง 50 – 80%เพราะว่าการดำเนินงานของท้องถิ่นส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนในหลากหลายด้าน รวมถึงการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการเมืองที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เป็นตัวแทนของประชาชน จึงสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้ดี รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งในอนาคตบทบาทของราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต้องเปลี่ยนจากผู้ปฏิบัติมาเป็นผู้ทำหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(ดูเพิ่ม,วุฒิสาร ตันไชย 2547: 2) แต่อย่างไรก็ตามการปกครองส่วนท้องถิ่นในระยะเริ่มต้นเป็นการขยายอำนาจของรัฐส่วนกลาง โดยท้องถิ่นเป็นแต่เพียง ‘ส่วนย่อย’ ‘ส่วนย่อ’ ของการบริหารส่วนภูมิภาค โดยมีการส่งข้าราชการ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ปลัดจังหวัด เข้ามาเป็นผู้บริหาร เป็นการกระชับอำนาจของส่วนกลางโดยประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมน้อยมาก การปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องจากหลายปัจจัย เช่น เศรษฐกิจของประเทศเติบโต ประชาชนมีการศึกษามากขึ้น เกิดคนหลากหลายกลุ่มในสังคม และการขยายตัวของระบบราชการจนไม่อาจสนองต่อความหลากหลายของท้องถิ่นต่างๆ นำมาสู่การแก้ไขกฎหมายของ อปท. เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง โดยจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่ร่างโดยประชาชน ได้เพิ่มสิทธิ เสรีภาพของประชาชนให้กว้างขวางอย่างไม่เคยมีมา และได้กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น ทำให้เกิดความตื่นตัวของประชาชนในการปกครองตนเอง จะเห็นว่า อปท. ได้กลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่ประชาชนเข้าไปช่วงใช้ และกำหนดทิศทางได้มากกว่าองค์กรอื่น ที่ผมคิดได้มีเหตุผลด้วยกัน 5 - 6 ข้อ[5] คือ (1) อปท. สามารถตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของคนในท้องถิ่นได้ เราจะเห็นว่า (2) สมาชิก ผู้บริหารของ อปท.ล้วนเป็นคนในพื้นที่ หรือไม่ก็มีความผูกพันกับคนในพื้นที่อย่าง (3) การเล่นการเมืองของชาวบ้าน ที่สามารถกำหนดผู้บริหาร และสมาชิก อปท. ผ่านการ (4) การเมืองระดับชาติไม่อาจกำหนดทิศทางการเมืองท้องถิ่นได้ เพราะการเลือกตัวแทน (5) อปท. เป็นองค์กรทางการที่กึ่งทางการ คือ เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย มีอำนาจ (6) เป็น ‘พื้นที่ใหม่’ ให้ประชาชนในท้องถิ่นในการสร้างตำแหน่งแห่งที่ และกำหนดทิศทาง เราพบว่าคนที่มาเล่นการเมืองท้องถิ่นมีความหลากหลาย ทั้งผู้นำตามประเพณี นายทุนน้อย กลุ่มอาชีพอิสระ ข้าราชการเกษียณ ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนต้องรักษา ‘พันธะสัญญา’กับประชาชนในท้องถิ่นที่เลือกตนเข้ามาทำงาน เพื่อที่จะได้กลับเข้ามาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งคนกลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นว่าชนบทไทยไม่ได้มีแต่เกษตรกรอย่างที่ใครๆ เข้าใจ แต่มีคนหลากหลายกลุ่มผ่านนักการเมืองท้องถิ่นที่สะท้อนให้เห็นกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย นอกจากนี้ความเปลี่ยนแปลงใน อปท. ยังสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของชนบทไทยที่ไม่เหมือนในอดีตภายใต้มายาคติ ‘โง่ จน เจ็บ’ ได้อีกแล้ว ‘ชนบทไทย’ เปลี่ยนไปอย่างมากมายทั้งการประกอบอาชีพ วัฒนธรรม สำนึก ความทรงจำ ฯลฯ ประชาชนในท้องถิ่น ‘เล่นการเมือง’ เป็นมากกว่าคนในเมืองที่ตามกระแส แต่ชาวบ้าน ‘เลือก’ ‘เล่น’ คนที่สนองประโยชน์ของตนทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว และหลากหลายภายใต้ความสัมพันธ์หลายหลายระบบ หรือพูดได้ว่าการเมืองผ่าน อปท. เป็น ‘การเมืองที่ยืดหยุ่น’ 4 ความเปลี่ยนแปลงของชนบทไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยสังคมไทยไม่ได้เป็นสังคมเกษตรกรรมอีกต่อไปแล้ว เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยรายได้หลักจากการเกษตรอย่างเดียว แต่อาศัยรายได้จากภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น อยู่ในภาคบริการ อุตสาหกรรม พาณิชย์ เป็นต้น ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาภายใต้ ‘วาทกรรมการพัฒนา’ ได้ทำให้เกิดช่องว่างของชนบทกับเมืองมากขึ้น ซึ่งเมืองกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในทุกๆด้าน ส่วนชนบทเป็นแหล่งรองรับการพัฒนาของเมือ มีการ ‘ดูด’ ทรัพยากร เช่น ดิน น้ำ ป่า คน ฯลฯ จากชนบทสู่เมือง ทำให้ชนบทหลุดลอยจากการพัฒนา ที่สำคัญของการกระจายของทรัพยากรที่เมืองได้มากกว่าเมืองชายขอบหรือชนบท รวมถึงเมืองมีแรงดึงดูดด้านแรงงานทำให้มีการอพยพผู้คนจากชนบทเข้าสู่เมืองเป็นจำนวนมาก ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ถือว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของการทำเกษตรกรรม และส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมามีการแย่งชิงทรัพยากรข้างต้นจากรัฐ และกลุ่มทุน ได้ทำให้ทรัพยากรจำนวนมากหลุดลอยจากชาวบ้าน ชาวบ้านกลายเป็นชาวนาไร่ที่ดิน หรือมีน้อยจนไม่สามารถทำกินให้คุ้มทุนได้ รวมถึงทรัพยากร ‘ส่วนร่วม’(Common property) เช่น ป่าไม้ ได้ถูกรัฐยึดครอง และสงวนหวงห้ามไม่ให้ประชาชนได้เข้าไปเป็นเจ้าของ(ดูเพิ่มใน, อานันท์ และมิ่งสรรพ์: 2538) และเกิดปัญหาคนกับป่าเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและมีแนวโน้มการแย่งชิงทรัพยากรในปัจจุบันยิ่งมีความรุ่นแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของทุน รัฐ และประชากร อปท. ในหลายพื้นที่เข้าไปมีส่วนอย่างสำคัญในการจัดการปัญหาเหล่านั้นซึ่งนำมาสู่ความเข้มแข็งของ อปท. เพราะการที่ชาวบ้านมีปัญหาร่วมกันในการเข้าถึงทรัพยากร ทำให้ อปท. กลายเป็นองค์กรกลางในการขับเคลื่อน เคลื่อนไหวในการเรียกร้อง แก้ไขปัญหาให้แก่ชาวบ้าน และทำให้ อปท. เข้มแข็งตามไปด้วย เพราะปัญหาทรัพยากรเป็น ‘ปัญหาร่วม’ ของชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้ อปท. และชาวบ้านเป็นเนื้อเดียวกันและสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่าง เช่น เทศบาลตำบลศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ที่สมาชิก และผู้บริหารมาจากกลุ่มประชาชนที่มีปัญหาที่ดิน ได้เข้ามาบริหารเทศบาล และใช้สถานะความเป็นผู้บริหาร สมาชิกเทศบาล ในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาที่ดินของชาวบ้านในหลากหลายรูปแบบ เช่น การทำหนังสือถึงนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้แก้ไขปัญหาการได้มาของโฉนดโดยมิชอบของนายทุน หรือการชุมนุมเรียกร้องร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน การประสานงานกับภาควิชาการเพื่อสะท้อนปัญหา และเสนอให้มีการจัดทำโฉนดชุมชนในพื้นที่ ซึ่งการเคลื่อนไหวของสมาชิก และผู้บริหารเทศบาลอาศัยทั้งหมวกที่อยู่ในภาคที่เป็นทางการ(สมาชิก ผู้บริหารเทศบาล) และรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ(การชุมนุมร่วมกับเครือข่าย) ซึ่งเราจะเห็นปรากฎการณ์ที่ชาวบ้านที่มีปัญหาเรื่องทรัพยากร และ ฯลฯ เข้าไป ‘ยึด’ อปท. เพื่อขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหา เพราะว่าการเคลื่อนไหวในภาคประชาชน หรือในภาคที่ไม่เป็นทางการ บางครั้งไม่สนองตอบจากทางราชการหน่วยอื่นๆ และสร้างผลกระเทือนได้ไม่มากนัก การที่ ‘ยึด’ อปท.ไม่ว่ารูปแบบใดได้ และใช้ทั้งการเมืองที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในหลายพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันก็มีไม่น้อยที่ประชาชนเข้า ‘ยึด’ อปท. เช่น ที่ อบต.เปร็ดใน จ.ตราด อบต.แม่ทา จ.เชียงใหม่ อบต.หนามแท่ง จ.อุบลราชธานี อบต.บ่อหิน จ.ตรัง เป็นต้น แม้ว่าท้องถิ่นในเวลานี้จะเข้มแข็งขึ้น และก้าวหน้าอย่างไม่เคยเป็นมาแม้จะมีอุปสรรคและปัญหาในหลายด้านก็ตาม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า ของอปท. ก็พบว่ามีรูปแบบที่หลากหลายแล้วแต่บริบทของพื้นที่ โดยสามารถพบได้2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ 1. การจัดการโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ บุคลากร และงบประมาณของ อปท. ซึ่งการจัดการในรูปแบบนี้พบว่า อปท. แก้ปัญหาได้ไม่มากนัก ส่วนใหญ่อยู่ในฐานะตัวกลาง คือ ผู้ไกล่เกลี่ย หรือไม่ก็ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ทำให้การจัดการไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก แต่การจัดการโดย อปท. ที่พบว่ามีประสิทธิภาพพอสมควร คือ การเก็บภาษีที่ดินในท้องที่ พบว่า อปท. สามารถจัดการภารกิจนี้ได้ดีพอสมควร 2. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชาวบ้าน หรือภาคประชาชน โดย อปท. มีบทบาทในฐานะผู้ให้การสนับสนุน การจัดการในลักษณะนี้พบว่าประสบความสำเร็จมากไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ชาวบ้าน หรือภาคประชาชนจัดการได้เป็นอย่างดี ไม่ว่ากรณีป่าทุ่งยาว ป่าศิลาแลง กลุ่มฮักเมือน่าน เป็นต้น แม้ว่าการจัดการโดยประชาชนในที่นี้ อปท. ก็มีบทมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะอาศัยความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการก็ตามที อย่างไรก็ตามเราจะพบว่าการเข้าไปจัดการแก้ไขทรัพยากรธรรมชาติของ อปท. ปัจจุบันพบว่ามีน้อย อปท. ที่เข้าไปมีส่วน แต่พบว่าการที่ อปท. เข้าไปแก้ไขปัญหาสามารถแก้ไขปัญหา และสร้างผลกระเทือนต่อปัญหานั้นๆ มาก เพราะ อปท. เป็นองค์กรที่เป็นทางการ ที่ขับเคลื่อนโดย ‘คนที่ไม่เป็นทางการ’ คือ ชาวบ้านในพื้นที่ที่เข้าไปเป็นสมาชิก และผู้บริหาร ที่อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงปัญหาของท้องถิ่น และที่สำคัญ ‘เขา’ และ ‘เธอ’ เหล่านั้นต้องคำนึงถึงฐานเสียง เพื่อพ้อง เครือญาติในพื้นที่ที่เลือก’เขา’ และ ‘เธอ’ เข้า และที่สำคัญถ้าไม่ต้องสนอง หรือไม่เป็นที่พอใจชาวบ้านในพื้นที่ก็พร้อมที่จะเปลี่ยน ‘ตัวผู้เล่น’ ได้ในอีก 4 ปีข้างหน้า ในอนาคตอันใกล้นี้ อปท. ในฐานะผู้มีอำนาจโดยตรง รวมถึงความพร้อมของงบประมาณ บุคลากร อปท. จะต้องเข้าไปมีส่วนอย่างสำคัญในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และต้องศึกษาต่อไปว่ารูปแบบการจัดการอย่างไร จะเป็นการจัดการที่สมดุลระหว่าง อปท. รัฐ(ส่วนกลาง) และประชาชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5 จากรูปแบบข้างต้นเราจะพบว่าความสามารถในการจัดการและแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ อปท. ยังจำกัด และน้อย(จำนวน)อยู่ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายประการ คือ 1. ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของ อปท. ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมยังต่ำอยู่ อปท. ไม่ค่อยให้ความสนใจในบทบาทหน้าที่นี้ ดังจะพบว่า อปท. จัดอันดับความสำคัญของภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมไว้ในอันดับท้ายสุดของภารกิจทั้งหมด รวมถึงไม่จัดสรรงบประมาณในการจัดการด้านนี้ ถึงจะมีแต่ก็น้อยมากรวมถึงคอยแต่อาศัยหน่วยงานอื่น ทำให้ภารกิจด้านนี้ของ อปท. มีประสิทธิภาพต่ำ 2. อปท. ได้รับโอนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมาจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นภารกิจที่ใหญ่มาก แต่ไม่มีกฎหมายเฉพาะที่จะให้ อปท. ดำเนินการในเรื่องนี้ ทำให้ อปท. ส่วนใหญ่ไม่กล้าดำเนินการ รวมถึงไม่แน่ใจในอำนาจหน้าที่ของตน รวมถึงพื้นที่ที่ อปท. ต้องเข้าไปจัดการ อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น เช่น ป่า อยู่ในอำนาจของกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ที่ดินอยู่ในการดูแลของกรมที่ดิน กรมศาสนา กรมธนารักษ์ การรถไฟ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่มีกฎหมายเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน ทำให้ความไม่ชัดเจน ความไม่แน่นอน และไม่มีกฎหมายเฉพาะทำให้ อปท. ไม่สามารถจัดการทรัพยากรข้างต้นได้(ดูรายละเอียดในการวิจัยของมิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด และคณะ : 2555 และ กอบกุล รายะนาคร : 2555 ที่ชี้ให้เห็นอุปสรรคและปัญหาของ อปท. อย่างมหาศาล แต่ อปท. ก็มีนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาที่หลากหลายในการจัดการแก้ไขปัญหา ชี้ให้เห็นว่าการกระจายอำนาจสามารถสร้าง ‘สุข’ ‘พื้นที่’ ‘การมีส่วนร่วมของประชาชน’ ได้อย่างมาก) 3. อปท.ขาดงบประมาณ หรือมีงบประมาณไม่เพียงพอต่อการจัดการภารกิจนี้ การถ่ายโอนภารกิจให้ อปท. หลายด้านแต่ไม่ถ่ายโอนงบประมาณมาให้ งบประมาณส่วนใหญ่ยังอยู่ในหน่วยงานส่วนกลาง ทำให้การแก้ปัญหาล่าช้า หรือไม่มีศักยภาพในการจัดการ (ดู, ดิเรกปัทมสิริวัฒน์: 2553) เช่น การจัดการย้าย หรือปรับภูมิทัศน์ชุมชนแออัด ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทำให้ปัญหาการบุกรุกที่ดินสาธารณะไม่สามารถดำเนินการได้เป็นปัญหามาจนถึงปัจจุบัน 4. บุคลากรของ อปท. มีจำนวนน้อย และยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในภารกิจ อปท. ส่วนใหญ่ยกเว้นเทศบาลเมือง และเทศบาลนครเท่านั้นที่มีผู้ที่จบมาด้านสิ่งแวดล้อม หรือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ แต่หน่วยงานในระดับ อบต. หรือเทศบาลตำบล ไม่มีผู้ที่มีความรู้ด้านนี้โดยตรง แม้แต่เจ้าหน้าที่เกษตรที่มีความจำเป็นในพื้นที่ อปท. ที่ประชาชนส่วนใหญ่ทำการเกษตรอยู่ก็ไม่มี ทำให้การจัดการไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร รวมถึงสมาชิก อบต. สมาชิกสภาเทศบาล หรือผู้บริหารหน่วยงาน อปท. ระดับต่างๆ ให้ความสนใจน้อยทำให้ภารกิจด้านนี้ยังถูกละเลยในหลายพื้นที่ 5. ประชาชนในพื้นที่ไม่เข้าใจบทบาท หน้าที่ และอำนาจของ อปท. ในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ประชาชนในบางท้องที่ไม่ให้ความร่วมมือ หรือบางครั้งเกิดจากทัศนคติที่ว่า อปท. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำเสีย การบุกรุกป่า การรุกที่สาธารณะได้อย่างแท้จริง ทำให้ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ เป็นต้น 6. การที่ผู้บริหารของ อปท. มาจากการเลือกตั้งต้องคำนึงถึงฐานคะแนนเสียงที่เลือกเข้ามา หรือการสมัครรับเลือกตั้งในครั้งต่อไป ทำให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีผู้ได้ประโยชน์ และผู้เสียประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง ทำให้ผู้บริหารและสมาชิก อปท. ไม่ดำเนินการจัดการหรือแก้ปัญหาด้านนี้อย่างจริงจังและมีปัญหาความทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมและผลประโยชน์ส่วนตน 7. ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายของผู้บริหาร อปท. แต่ละชุด บางชุดความสนใจในปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บางชุดขาดความสนใจ (โชติมา เพชรเอม, 2550 : 67) ทำให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ต่อเนื่อง ท้ายสุดทำให้การแก้ปัญหาไม่เป็นไปอย่างยั่งยืน จากปัญหาข้างต้นจึงทำให้ อปท. ยังไม่สามารถจัดการดูแลรักษา อนุรักษ์ และแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประสิทธิภาพได้เต็มที่ ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขต่อไปเพื่อให้เกิดผลสำเร็จสูงสุด เพราะ อปท. แต่ละพื้นที่อยู่ใกล้ปัญหา และเป็นที่คาดหวังของประชาชนในท้องถิ่นรวมถึงมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย(แม้ในขณะนี้จะยังไม่ชัดเจนต้องมีการปรับปรุงต่อไป) งบประมาณ และบุคลากร ที่มีความพร้อมมากกว่าภาคประชาชน ถ้าสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างชาวบ้านและ อปท. ได้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็น่าจะเป็นภารกิจหนึ่งที่ อปท. สามารถทำได้ดีในอนาคตอันใกล้นี้ แนวทางที่สามารถทำให้ อปท. เกิดความเข้มแข็ง และเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการและแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ 1. ต้องมีการแก้กฎหมายเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงานของ อปท. รวมถึงการออกกฎหมายเฉพาะที่ระบุอำนาจหน้าที่ของ อปท. เพื่อให้การดำเนินการของ อปท. ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ต้องมีการแก้กฎหมายของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่ซ้อนทับกันอยู่ว่าหน่วยงานใดรับผิดชอบด้านไหน อปท. อยู่ในสถานะอะไรตามกฎหมายนั้นๆ ซึ่งจะทำให้ อปท. เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตน และดำเนินการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ(ดูรายละเอียดในการวิจัยของมิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด และคณะ : 2555 และ กอบกุล รายะนาคร : 2555) กฎหมายที่เป็นอุปสรรค เช่น พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติพ.ศ. 2504 พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และ พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 ฯลฯซึ่งกฎหมายเฉพาะเหล่านี้ส่วนใหญ่ อปท. ไม่ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของ อปท. ไว้ ซึ่งก็หมายความว่าไม่ระบุก็ทำไม่ได้ 2. หน่วยงานของรัฐส่วนกลางจะต้องถ่ายโอนงบประมาณด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาให้ อปท. มิใช่ถ่ายโอนแต่ภารกิจแต่ไม่ให้งบประมาณ การถ่ายโอนงบประมาณมาสู่ อปท. จะทำให้ อปท. เกิดความคล่องตัวในการจัดการมากขึ้น 3. ใน อปท. แต่ละแห่งต้องบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่สามารถทำได้อย่างน้อยขอให้มีบุคลากรด้านการเกษตร เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องตามหลักวิชาการ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 4. อปท. ต้องให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มากกว่านี้ มิใช่ถือว่าเป็นภารกิจสุดท้ายเช่นปัจจุบัน เพราะปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างมากในอนาคต 5. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ อปท. ต้องแสวงหาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ และที่สำคัญ คือ ภาคประชาชน เพื่อให้การจัดการด้านนี้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงเรียนรู้การจัดการภาคประชาชนในการอนุรักษ์ดิน น้ำป่า ที่ประสบความสำเร็จเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป 6. อปท. ต้องจัดการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนในท้องถิ่นเกิดความตระหนัก และรู้คุณค่า ร่วมกันอนุรักษ์ และรักษาให้ยั่งยืนต่อไป การจัดการและแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ อปท. ยังมีข้อจำกัดจากเงื่อนไขข้างต้น แม้ว่าจะมีอำนาจหน้าที่โดยตรง แต่ด้วยความไม่ชัดเจนของกฎหมาย ขาดงบประมาณ บุคลากรน้อย และประชาชนไม่เข้าใจ เป็นต้น แต่ก็มี อปท. หลายแห่งที่ทลายกรอบคิด และสร้างนวัตกรรมในการจัดการแก้ไขปัญหาทรัพยากรดิน น้ำป่า เช่น ที่ อบต.แม่ทา และ อบต.ทาเหนือ ที่ออกข้อบัญญัติป่าชุมชน ทำให้สามารถรักษาพื้นที่ป่า และกำหนดเขตที่ทำกิน เขตอนุรักษ์ ทำให้ไม่มีการรุกป่าเพิ่ม และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้ หรือ อบต.บ่อหิน จังหวัดตรัง ก็ออกข้อปัญญัติในการรักษาทรัพยากรชายฝั่ง ทำให้พื้นที่เกิดความอุดมสมบูรณ์ ส่วนเทศบาลศรีเตี้ย ที่มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของประชาชน นำมาสู่ยุทธศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนในการใช้เทศบาลเป็นเครื่องมือ(พื้นที่)ในเคลื่อนไหว ส่วนเทศบาลม่วงน้อยค่อนข้างอยู่ในเขตเมืองจึงมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และการสร้างสวัสดิการชุมชน แต่อย่างไรก็ตามยังมี อปท. บางแห่งที่ประสบผลสำเร็จ หรือเข้าไปมีส่วนในการจัดการแก้ไขปัญหา ต้องพยายามเพิ่มบทบาทในส่วนนี้ต่อไป และต้องเรียนรู้การจัดการจากภาคประชาชนที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการของ อปท. เพราะปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเป็นปัญหาสำคัญอย่างมากในอนาคต ที่ อปท. ต้องเข้าไปมีส่วนในการจัดการ แก้ปัญหา แม้ว่าจะมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะมีอุปสรรคปัญหาอยู่ แต่ด้วยเวลาเพียง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นการต่อสู้ดิ้นรนของท้องถิ่นเพื่อสร้าง ‘ตำแหน่งแห่งที่’ ของ อปท. ในการเป็นพื้นที่ทางการเมืองของประชาชนในหลากหลายรูปแบบ ภายใต้เงื่อนไขและบริบทที่ต่างกันเพื่อสร้างพื้นที่ทางการเมืองของตน ในที่นี้อาจสรุปได้ว่า ‘องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น’ ในรูปแบบต่างๆ เป็นประชาธิปไตยในระดับรากฐานของสังคมไทยและสมเจตนาของคณะราฎรที่ต้องการให้ประชาชนปกครองตนเอง และกระจายอำนาจให้มากที่สุด และในอนาคตอันใกล้นี้ ‘องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น’ จะเป็นพื้นที่ทางการที่ประชาชนที่สามารถ ‘เล่น’ เลือก ‘คนเล่น’ ‘เปลี่ยนคนเล่น’ และ ‘กำหนดประเด็นที่จะเล่น’ ได้ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย และทำลายมายาคติที่ว่า ‘คนชนบทซื้อได้ โง่ จน เจ็บ’ เพราะคนชนบทเล่นการเมืองเป็น และสร้างพื้นที่ทางการเมืองที่ตอบสนองผลประโยชน์ทั้งระสั้นและระยะยาวของ ‘เขา’ และ ‘เธอ’ ผ่านองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นได้อย่างที่ ‘คนในเมือง’ ที่ตามกระแสไม่อาจเข้าใจได้ครับ
เอกสารอ้างอิง ______. โครงการปฏิรูปกฎหมายเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและนวัตกรรมของการบริหารจัดการ จามะรี เชียงทอง และคณะ. ชนบทไทย : เกษตรกรระดับกลางและแรงงานไร้ที่ดิน. เชียงใหม่ : ชัยพงษ์ สำเนียง. โครงการวิจัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของภาคประชาชน และการขยายพื้นที่ทาง การเมืองของประชาชน (รายงานความก้าวหน้าครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.). 2555. ชูวงศ์ ฉายะบุตร. การปกครองท้องถิ่นไทย. กรุงเทพฯ : สมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539. ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์. นโยบายการคลังสาธารณะ. เชียงใหม่ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้าง ธเนศวร์ เจริญเมือง. 100 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2440-2540.กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์ นครินทร์เมฆไตรรัตน์. การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : ______. รายงานผลการศึกษาความก้าวหน้าของการกระจายอำนาจในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัย นันทวัฒน์ บรมานันท์. การปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (2540) ______.การปกครองท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. พิมพ์ครั้งที่ 5, 2552. นิธิ เอียวศรีวงศ์. วัฒนธรรมความจน. กรุงเทพฯ : แพรว, 2541. ______. เชิงอรรถสังคมไทยในสายตานักวิเคราะห์. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2532. ______. บนหนทางสู่อนาคต : รายงานประกอบการประชุม. เชียงใหม่ : คณะมนุษยศาสตร์ ประหยัด หงส์ทองคำ.การปกครองท้องถิ่นไทย. กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2520. มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด และคณะ. โครงการสำรวจและการศึกษาระดับพื้นที่เกี่ยวกับข้อจำกัดของการบริหาร อภิชาติ สถิตนิรามัย. รัฐธรรมนูญ การกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วมของประชาชน. กรุงเทพฯ : สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554. อานันท์ กาญจนพันธุ์ และมิ่งสรรพ์ ขาวสอาด. วิวัฒนาการของการบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่า : กรณีศึกษา [1] ในที่นี้ผมขอขอบคุณ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล ครูผู้กรุณาในทุกวาระทุกโอกาส ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด รศ.ดร.กอบกุล รายะนาคร ที่ให้โอกาสในการทำงาน ขอบคุณชัยนุวัฒน์ ปูนคำปีน เกรียงไกร จินะโกฏิ ตรีสกุล กิตนวตระกูล ผู้ช่วยวิจัย ที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ ขอบคุณที่ทำงานและเพื่อนร่วมงานในสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่ ที่ให้เวลา และโอกาสในการคิดการเขียนของผู้เขียน ที่อาจทำให้ผู้อื่นยุ่งยากอยู่บ้าง [2] ชัยพงษ์ สำเนียง. ร่างรายงานความก้าวหน้า โครงการวิจัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของภาคประชาชน แลการขยายพื้นที่ทางการเมืองของประชาชน. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.). 2555. [3] ดูรายละเอียดประวัติความเป็นมาคร่าวๆ ของอบต.ได้ใน “กำเนิดและพัฒนาการองค์การบริหารส่วนตำบล” ที่ http://thaipoliticsgovernment.org/wiki/กำเนิดและพัฒนาการองค์การบริหารส่วนตำบล [4] (เพิ่งอ้าง) [5] ดูรายละเอียดเพิ่มในงานผู้เขียน, ชัยพงษ์ สำเนียง. ร่างรายงานความก้าวหน้า โครงการวิจัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของภาคประชาชน แลการขยายพื้นที่ทางการเมืองของประชาชน. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.). 2555.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
องค์กรผู้บริโภคชวนบอยคอต 'แกรมมี่' ประท้วง 'จอดำ' Posted: 24 Jun 2012 05:54 AM PDT ผู้บริโภคประกาศหยุดซื้อ หยุดฟัง หยุดชม หยุดมีส่วนร่วมทุกสินค้าและธุ องค์กรผู้บริโภค สมาชิกผู้บริโภค อาสาสมัครขององค์กรผู้บริโภคทุ ๑. แกรมมี่เป็นผู้ประกอบการกิ อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการและนักกฎหมายอิสระกล่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวน ๑๑ ล้านครัวเรือนถูกละเมิดสิทธิ ด้าน นส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
หลากทัศนะ ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2555 เวลาย่ำรุ่ง ครบรอบ 80 ปีแห่งการอภิวัฒน์ Posted: 24 Jun 2012 04:07 AM PDT หลายทัศนะหลากมุมมองจากองค์กรร่วม รำลึก 80 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ 5.00 น. วันนี้(24 มิ.ย.2555) ณ บริเวณหมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า มีประชาชนจากกลุ่มต่างๆเดินทางมาร่วมรำลึก 80 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ นอกจากคณะราษฎร ที่ 2 (ดู ประกาศหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่ 2 ) แล้วยังมีอีกหลายกลุ่มที่รวมกิจกรรมรำลึก เช่น กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กลุ่มประกายไฟการละคร กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน ( CCP ), กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพาและกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น พร้อมทั้งได้มีการกล่าวรำลึกดังนี้ 000
ภรณ์ทิพย์ มั่นคง กลุ่มประกายไฟการละคร“ ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยแล้ว นอกจากคณะราษฎรแล้ว ก็คือกบฏ ร.ศ.130 เพราะว่าไม่มีกระบวนการใด หรือว่าขบวนการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะเกิดขึ้นได้หากไม่มีจุดเริ่มต้นและก็การจัดตั้งที่ต่อเนื่องแล้วก็ยาวนานจนถึงมีการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องคิดในวันนี้ก็คือ เราจะทำอย่างไรให้กระบวนการการเปลี่ยนแปลงนั้นยังอยู่ต่อไป เพราะว่าวันนี้เราอาจจะไม่ได้เป็นผู้เปลี่ยนแปลงมันด้วยตัวเราเอง แต่ว่าลูกหลานของเราในอนาคตอาจจะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราคิดว่ามันควรจะเปลี่ยนแปลงได้” ภรณ์ทิพย์ มั่นคง กลุ่มประกายไฟการละคร กล่าว
พรชัย ยวนยี เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) “80 ปีก็ผ่านไป เราคลายๆกับว่าเหตุการณ์วันนั้นถึงวันนี้มันยังไม่ได้โตเหมือนที่คนที่ต้องการให้มันเติบโตเต็มที่ วันนี้เรายังต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเดิมๆ วันนี้เรายังกลับมาที่จุดเริ่มต้น คลายๆกับว่าเรายังเดินไปไม่ถึงไหน วันนั้นอาจจะมีทหารจากหลายภาคส่วนมีประชาชนจากหลายกลุ่มมาร่วมกันอภิวัฒน์สยามดังอารยะประเทศ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของชาติ ดังหลัก 6 ประการที่คณะราษฎรกล่าวไว้ เพื่อเป็นเจตนารมณ์ย้ำว่า เหตุการณ์วันนั้นจะนำพาสยามประเทศ ไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง แต่วันนี้เรากลับพบว่า เราทุกคนที่มาร่วมงาน ที่เป็นลูกหลานของคณะราษฎร และร่วมต่อสุ้ในสิ่งที่คระราษฎรเคยต่อสู้กันมาก็คือประชาธิปไตย วันนี้อำนาจของประชาชนก็ยังไม่ได้อยู่ที่ประชาชน วันนี้สิทธิเสรีภาพก็ยังไม่ได้อยู่ที่ประชาชน วันนี้ความเสมอภาคก็ไม่ได้อยู่ที่ประชาชน วันนี้หลักนิติรัฐก็ไม่ได้อยู่ และเสียงข้างมากก็ไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่เป็นแค่การโยงใยของเหล่าอำมาตย์ เป็นแค่การโยงใยของกลุ่มผู้มีอำนาจ ผู้ไม่เคยเชื่อมั่นว่าประชาชนจะมีอำนาจการตัดสินใจได้ ผู้ไม่เคยเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย แต่เป็นผู้ที่เชื่อมั่นในหลักความดี วันนี้ผมก็ยังไม่รู้เลยว่าความดีที่เขาหมายถึงคือดีอย่างไร หรือการเอาพวกพ้องตนเองมาปกครองประเทศหรือปล่าว” พรชัย ยวนยี เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ยังกล่าวอีกว่า“สถานที่นี้ หมุดคณะราษฎรนี้ล้อมรอบไปด้วยสิ่งที่แทบจะเรียกได้ว่าไม่เป็นประชาธิปไตยเลย ซึ่งเราก็จะพบว่าหมุดคณะราษฎรเองก็ตามก็ถูกรถเหยียบย่ำไปทุกวัน แต่เราก็หวังว่า 80 ปี ซึงอาจเปรียบเทียบกับอายุคนหนึ่งก็ได้ว่าจะสูงมาก ดังนั้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาธิปไตยคงเกิดขึ้นในสังคมไทยในไม่ช้านี้ด้วยน้ำมือของประชาชนเท่านั้น”
บอย กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล “24 มิถุนา 2475 สังคมไทยถูกทำให้มันลืมเลือน มีการบิดเบือนในหลายๆเรื่อง ตอนนี้ผมเชื่อแล้วว่าพี่น้องทุกคนที่มาตรงนี้ตาสว่างกันแล้วใช่ไหมครับ จากที่ร่วมกิจกรรมกลุ่ม 24 มิถุนา เป็นกลุ่มหนึ่งที่จัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องในเรื่องการรำลึกวันชาติไทย สืบเนื่องมาจากพี่สมยศ พฤกษาเกษมสุข แต่ว่าเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ว่าขณะนี้พี่เขาก็ยังถูกคุมขังในฐานะที่เป็นนักโทษทางการเมืองนักโทษทางความคิด ซึ่งตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือหลักอะไรต่างๆก็ตาม พี่เขาไม่ได้มีความผิดเลย เป็นข้อบ่งชี้และยืนยันว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยการต่อสู้ของคณะราษฎรนั้นปัจจุบันยังมิได้เกิดขึ้นเลย ประเทศไทยเราอาจจะกล่าวได้ว่ายังไม่ได้รับประชาธิปไตยที่แท้จริง ระบบอำนาจต่างๆของประเทศนอกจากการเลือกตั้งแล้วไม่มีอะไรยึดโยงกับประชาชนเลย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจศาลตุลาการ แม้ปัจจุบันเรามีพรรคการเมืองที่ว่าเป็นของเรา แต่ว่าอย่างที่พี้น้องทุกคนทราบกันดีว่านักทาการเมืองของเราก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว” บอย กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล กล่าว
ทรงชัย วิมลภัตรานนท์ ประธานกลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตย “วันที่ 24 มิถุนา 2475 นั้นคือคุณูปการและการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย และเรามีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในวันที่ 27 มิถุนา 2475มาตราที่ 1 ความว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย และในวันนั้นหลังจากพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ยืนอ่านแถลงการณ์คณะราษฎรฉบับที่ 1 แล้วก็ยังเชิญคณะ ร.ศ.130 มาเพื่อขอบคุณและยังได้กล่าวว่าหากไม่มีคณะท่านก็ไม่มีคณะเรา ซึ่งในวันนั้นมี ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ และคณะ ร.ศ.130 อีกหลายท่านมาร่วมแสดงความยินดีในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนี้ด้วย” ทรงชัย วิมลภัตรานนท์ ประธานกลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตย กล่าว
สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์คณะอักษรฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล “วันที่เราเรียกว่าเป็นวันชาติดิฉันก็อยากจะให้เราช่วยกันเน้นด้วยเพราะถือว่าเป็นวันที่ตามประวัติศาสตร์นั้นการเป็นชาติที่ทำให้มีเอกราชสมบูรณ์นั้นก็คือการที่ประชาชนมาช่วยกันร่วมสร้าง แล้วก็การทำให้สัญญาต่างๆที่ไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิสภาพนอกอาณาเขาที่เกี่ยวกับเรื่องของศาลได้กลับมาเป็นของประชาชนก็ด้วยผลงานของประชาชนอย่างแท้จริง ที่คณะราษฎรทำให้เราได้มีเอกราชสมบูรณ์ แต่วันนี้วันที่เราน่าจะเดินหน้าไปสู่ความยุติธรรมในระดับสากลมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้กระบวนการยุติธรรมไทยก็มีแต่ถดถอยไปยิ่งเลวร้าย ตราบใดที่อำนาจตุลาการยังไม่เป็นของประชาชนตราบนั้นก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ก็ขอให้มาร่วมสร้างกันคะ” สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์คณะอักษรฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล กล่าว
กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน ( CCP )
“ถ้ามีการปฏิวัติหรือว่าเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งหน้ามันคงมีแค่ 2 อุดมการณ์ให้เลือกถ้าไม่ถอยหลังเข้าสู้สมบูรณาญาสิทธิราชก็คือเดินหน้าเข้าสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ 2 ทางที่จะให้เราต้องเลือก ซึ่งพวกเราก็คงยืนหยัดซึ่งทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้วว่าเราจะเลือกอะไร ฉะนั้นอยากให้พ่อแม่พี่น้องสบายใจได้ว่าในช่วงอายุของเราเราจะทำภารกิจนี้ให้สำเร็จแล้วก็สืบทอดเจตนารมณ์ของคณะราษฎรเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของเราให้สมบูรณ์อย่างที่เขาต้องการมาก่อน” ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน ( CCP )กล่าว “การที่คณะราษฎรเลือกพื้นที่ตรงนี้ในการอ่านประกาศคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครองมันมีนัยสำคัญบางประการที่หน้าสนใจมาก ก็คือว่าการที่อยู่บนลานพระบรมรูปทรงม้านี่รอบข้างจะแวดล้อมไปด้วยบรรยากาศที่อนุรักษ์นิยม แล้วก็แวดล้อมไปด้วยตึกรามด้วยอนุสาวรีย์ที่มีบรรยากาศเป็นราชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นนี่เป็นพื้นที่เล็กๆที่ประกาศเจตนารมณ์ประชาธิปไตยที่แรกของประเทศไทย ทั้งๆที่แวดล้อมไปด้วยบรรยากาศที่เป็นอนุรักษ์นิยมแบบนี้” ดิน บัวแดง กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน ( CCP )กล่าว ดิน บัวแดง ตั้งข้อสังเกตว่า “80 ปีที่ผ่านมานี่หลังจากพื้นที่ตรงนี้ถูกละเลยเป็นเวลานานตอนนี้ก็ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง แล้วผมก็เห็นว่าก็มีคนมารำลึกเพิ่มขึ้นๆทุกปี ในส่วนของประวัติศาสตร์ก็มีการรื้อฟื้นมีการพุดถึงมากขึ้นทุกปีและผมก็หวังว่าในที่สุดแล้วประชาธิปไตยก็จะเบ่งบาน แล้วประชาธิปไตยก็จะกลืนกินพื้นที่ที่เป็นอนุรักษ์นิยมตรงนี้ให้เป็นพื้นที่ของประชาธิปไตยได้”
กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา “ไม่อยากจะคิดเลยว่าวันหนึ่งเราต้องกลับมารำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครองเดิมที่ไม่สำเร็จลุล่วง ผมรู้สึกยินดีที่อย่างน้อยยังมีความอุ่นหนาฝาคั้งและก็ยังมีอุดมการณ์ที่พาพวกเรามายืนอยู่ตรงจุดนี้ร่วมกันอีกครั้ง แต่มันนานเกินไปแล้วกับเวลา 80 ปีที่ต้องก้าวลงมายังจุดเดิม ซึ่งจากจุดนี้ของให้เราในนามกลุ่มลูกชาวบ้านแล้วก็ประชาชนด้วยกันขอให้วันนี้เป็นวันที่จะเริ่มก้าวอีกครั้งหนึ่งไปสู่อนาคตที่จะไม่ต้องวนกลับมาในปีต่อๆไป ไม่ต้องวนกลับมาภายใต้อุ้งเท้าของระบอบเผด็จการ ระบอบอำมาตย์และระบอบศักดินา ขอให้ก้าวต่อไปหลังจากนี้ของพวกเราทุกคน ปีที่ 81, 82 อาจะมีการรำลึกต่อไปเรื่อยๆแต่ผมหวังว่าทางในช่วงระยะเวลาที่เราจะได้กลับมาพบกันเราจะกลับมาในฐานะของผู้ชนะ” ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา กล่าว “วันนี้เราไม่ได้มารำลึกประชาธิปไตยครับ เพราะว่าประชาธิปไตยมันยังไม่มี อำนาจสูงสุดยังไม่ได้เป็นของราษฎรทั้งหลาย วันนี้เรามารำลึกการกระทำการอภิวัฒน์ของคณะราษฎรเมื่อปี 2475 วันนี้เราไม่ได้เอาดอกไม่มาบูชาคนขี่ม้าอีกต่อไปครับ วันนี้เราในนามคนที่หาหญ้าให้ม้าในนามของคนที่เลี้ยงม้าเรามาประกาศว่า วันนี้คนเลี้ยงม้าคนหาหญ้าให้ม้าจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินครับ” ปกรณ์ อารีกุล กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา กล่าว
วันนี้ 24 มิถุนา ครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรานักศึกษาก็พุดกันว่าเรามาถึงจุดแตกหักที่ไม่อาจประณีประนอมได้อีกแล้ว ในยุคสมัยนี้นักเคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่งก็เรียกร้องถวายคืนพระราชอำนาจ ในขณะเดียวกันเมื่อ 2-3 ปีก่อนประชาชนก็บอกว่ายุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน ปัจจุบันเวลาเราถกเถียงกันว่าประเทศชาติเป้นของใครนักแสดงคนหนึ่งก็บอกว่าแผ่นดินนี้เป็นของพ่อ ส่วนนักคิดนักเขียนบางคนก็บอกว่าประเทศนี้เป็นของประชาชน ต่างฝ่ายไม่สามารถประนีประนอมได้ ปัจจุบันมันก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นถ้าหากไม่มีก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงก็คือผลงานของคณะราษฎรเมื่อ 80 ปีที่แล้ว” ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
รายงาน:"100 ปี กบฏประชาธิปไตย ร.ศ.130 - 80 ปี ปฏิวัติประชาธิปไตย พ.ศ.2475"[1] Posted: 24 Jun 2012 01:50 AM PDT เสวนาว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยเมื่อ100ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นหลากปัจจัยที่ส่อให้เห็นถึงความผุกร่อนของระบอบการเมืองการปกครองไทยในสมัยนั้น ซึ่งแม้ว่าจะล้มเหลวแต่ก่อให้เกิดหน่ออ่อนแห่งการ เปลี่ยนแปลง 24มิถุนายน 2475 ในอีก20ปีต่อมา อภิปราย “100 ปี กบฏประชาธิปไตย ร.ศ. 130” ดำเนินรายการโดย ฉลอง สุนทราวาณิชย์ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มธ.เพ็ญพิสุทธิ์ ทองมี นักวิชาการอิสระ และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อักษรศาสตร์ จุฬาฯ %%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%% เพ็ญพิสุทธิ์ ทองมี: นักวิชาการอิสระ การเคลื่อนไหวของสามัญชนในปี 2455 หรือ ร.ศ.130 เป็นการเคลื่อนไหวของสามัญชนเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เนื่องจากไม่สำเร็จจึงกลายเป็นกบฏ โดยการเคลื่อนไหวนี้มีสาเหตุจากปัญหาเศรษฐกิจและความล้าหลังของบ้านเมือง โดยสมาชิกของคณะ ร.ศ.130 ส่วนใหญ่เป็นนายทหารหนุ่มชั้นสัญญบัตร เป็นผลผลิตของระบบราชการใหม่ที่เปิดให้สามัญชนมีส่วนร่วม จึงเห็นว่าบ้านเมืองเกิดปัญหามากมาย แต่รัฐบาลสมัย ร.6 ไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาความเดือดร้อนและเศรษฐกิจ ส่งผลให้กองทัพไม่ได้รับงบประมาณนานถึง 5 ปี ขณะที่งบพระคลังข้างที่เพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ ยังมีความไม่พอใจ กรณีเฆี่ยนหลังทหาร จากความขัดแย้งระหว่างมหาดเล็กของ ร.6 ซึ่งขณะนั้นยังเป็นมกุฎราชกุมารกับทหารบก โดย ร.6 ยืนยันให้ ร.5 ลงโทษด้วยการเฆี่ยนซึ่งทหารบกมองว่า เป็นการทำโทษที่ล้าหลัง แม้ว่า ยังมีโทษนี้ตามกฎหมายอยู่ สอง การตั้งกรมทหารรักษาวัง ซึ่งขึ้นกับกระทรวงวัง ไม่ขึ้นกับกองทัพบก สาม ทหารและประชาชนบางส่วนมองว่า รัชกาลที่ 6 มีจริยวัตรที่คนไทยยังไม่คุ้นเคย เช่น โขน ละคร เอาแต่เล่นสนุกสนานในพระราชวัง ไม่คบหาสมาคมกับเสนาบดี โปรดข้าราชสำนักเป็นพิเศษ เลื่อนยศให้ตามพระราชอัธยาศัย ต่างกับทหารที่เมื่อขอเลื่อนยศบ้าง พระองค์บอกว่าไม่ว่าง ทำไม่ได้ จึงมองว่า พระองค์ลำเอียง สี่ การตั้งกองเสือป่า เหมือนเป็นการตั้งหน่วยงานแข่งกับทหาร แม้ ร.6 จะบอกว่าตั้งขึ้นฝึกอาวุธให้คนธรรมดาเผื่อในยามสงคราม แต่พระองค์ให้ความสำคัญกับกองเสือป่ามากกว่า เสด็จกองเสือป่าทุกวัน มีการนำเสบียง-อุปกรณ์ของทหารไปใช้ โดยทหารมองว่ากองเสือป่าไม่ได้รบจริง เหมือนหน่วยงานกองกำลังส่วนพระองค์มากกว่าเพื่อช่วยราชการ และไม่ได้ช่วยปัญหาบ้านเมืองจริง เมื่อพวกเขาได้รับการศึกษารูปแบบใหม่ เห็นรูปแบบการปกครองอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดเท่านั้น ทำให้มองว่าหากทหารได้มีส่วนร่วมจะช่วยพัฒนาชาติได้ และถ้าทหารที่มีอาวุธและความรู้ในมือไม่ทำแล้วใครจะทำ โดยมีการศึกษารูปแบบการปกครองในระบอบใหม่ 2 แบบคือ limited monarchy ซึ่งกษัตริย์เป็นประมุขที่มีอำนาจจำกัดกับสาธารณรัฐ โดยต้นแบบคือ จีน ที่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วสำเร็จเมื่อ 10 ต.ค. 2454 อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมของกลุ่ม ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าร่วมด้วย และนำไปรายงานว่ามีการกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้แกนนำถูกจับกุมในเวลาต่อมา โดยจากการค้นบ้านสมาชิก พบการรวบรวมรายงานข่าวจาก นสพ.เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวและความสำเร็จของการปฏิวัติในจีน เอกสารกฎข้อบังคับของสมาคมและบันทึกว่าด้วยความเจริญและความเสื่อมทรามของประเทศ ที่อภิปรายถึงข้อเสียของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช และข้อดีของการปกครองแบบ limited monarchy และสาธารณรัฐ หลังถูกจับกุม มีการพิจารณาตัดสินลงโทษให้ประหารชีวิต 3 ผู้ก่อการและจำคุก ต่อมามีการพระราชทานอภัยโทษ ละเว้นโทษประหารชีวิตและลดโทษจำคุก โดยหลังเปลี่ยนการปกครอง 2475 พวกเขาทั้งหมดพ้นโทษ หลังมีการนิรโทษกรรมในปี 2476 สามัญชนได้รับการศึกษาแบบใหม่ เห็นภัยปัญหาของบ้านเมือง จึงวางแผนแต่รั่วไหลเสียก่อน ทำให้ถูกจับกุม แต่ไม่ได้ทำให้ความคิดทางการเมืองหยุดชะงัก โดยแม้จะมีการควบคุมสื่อ แต่ยิ่งคุมมาก ความคิดของคนคิดต่างก็มีมากขึ้น และเกิดการวิจารณ์อย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวนี้จึงจุดชนวนความคิดให้คนคิดถึงการเมืองรูปแบบใหม่ ที่คนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ผนวกกับการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ได้จุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ขึ้น อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ : ข้อสังเกตกรณี ร.ศ. 130 บริบท เรามักจะไม่ค่อยรู้สึกกัน เหมือนกับว่ารัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นบริหารประเทศไม่ค่อยมีปัญหา ราบรื่น แต่จริงๆ การบริหารประเทศในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เหมือนรัฐบาลปัจจุบัน มีปัญหามากมาย เราอาจจะไม่ค่อยทราบว่าในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 มีปัญหาใหญ่คือปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปี เนื่องจากภัยธรรมชาติ โรคพืช ชาวนาเดือดร้อนอย่างหนักแต่รัฐบาลขาดแคลนเงิน แก้ปัญหาโดยการขึ้นภาษี อากรค่าน่าเพิ่มถึง 4 เท่า เพราะฉะนั้นชาวนาก็เดือดร้อนยิ่งกว่าเดิม เมื่อชาวนาเกิดปัญหา วิกฤต รายได้ตกต่ำ ปัญหาอดอยากยากจนภัยแล้ง สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่านโยบายการเกษตร เรื่องนโยบายเป็นเรื่องเกิดหลัง 2475 เมื่อเกิดปัญหาก็แก้ด้วยการแจกข้าว ทำทำนบกั้นน้ำ หรือพิธีกรรม การแก้ปัญหาแบบนี้ส่วนหนึ่เงป็นไปตามแนวคิดแบบเดิม ว่ารัฐบาลพระมหากษัตริย์นั้นพระองค์ต้องประกอบพิธีบุญ เมื่อประชาชนมีภัยแล้ว พระมหากษัตริย์ก็ทำบุญหวังว่าจะช่วยปัดเป่าปัญหาบ้านเมือง ต้องเข้าใจว่าวิธีคิดในการแก้ปัญหานั้นมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ บริบทอื่นๆ คือ พ.ศ. 2450 รัชกาลที่ 5 ประชวรหนักเสด็จไปรักษาตัวยังยุโรป พ.ศ. 2451 มีพิธีรัชมังคลาภิเษก และเรี่ยไรเงินสร้างพระบรมรูปทรงม้า เป็นประเด็นทีน่าสนใจว่า เป็นพระพุทธเจ้าหลวงโดยไม่ได้บวช ไม่ได้นิพพาน หรือตรัสรู้ เดือนมีนาคม 2541 เสียดินแดน 4 รัฐมลายูให้กับอังกฤษ ซึ่งจริงๆ เป็นการยกดินแดนสี่รัฐให้กับอังกฤษ โดยรัชกาลที่ 5 ทรงอธิบายว่าถ้าขืนเอาไว้ก็รักษาไว้ไม่ได้ ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ได้กู้เงินอังกฤษมาสี่ล้านบาท แต่ได้ตัดงบกระทรวงกลาโหม เพิ่มงบกระทรวงวัง และในปีสุดท้ายในรัชกาลของพระองค์ปี 2453 เกิดการประท้วงใหญ่ของชาวจีน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เพราะเรื่องเลิกเงินผูกปี้ และส่งผลโดยตรงต่อนโยบายต่อต้านคนจีนจากรัชกาลที่ 6 เกิดเรื่องใหญ่คดีพระยาระกา คือเจ้านายสองพระองค์เกิดมีปัญหาขัดแย้งกันเรื่องนางรำ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์น้อยพระทัยลาออกจากกระทรวงยุติธรรม เสนาบยดีลาออกตามอีก 28 คน เหตุการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการคิดว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์บริหารงานราบรื่นนั้นไม่จริง จากนั้นเมื่อสวรรคตแล้ว ขึ้นรัชกาลใหม่ ก็ขึ้นมาด้วยความคาดหวังว่าอย่างน้อยที่สุดรัฐบาลใหม่น่าจะแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง แต่ปรากฏว่าไม่เป็นเช่นนั้น แม้ทรงมีการศึกษาสูงมากจบจากอังกฤษ คนทั่วไปก็คาดหวังว่าจะเป็นคนหัวใหม่ เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีการปฏิวัติในประเทศต่างๆ แต่ไม่เป็นเช่นนั้น ทรงมีปัญหาในด้านพระจริยวัตร แม้ทรงครองราชย์เมื่อพระชนมายุสามสิบกว่าพรรษาแล้ว แต่ก็ทรงเป็นมหาราชย์โดยที่ไม่สนพระทัยความงามของสตรี เมื่อไม่สนพระทัยความงามของสตรีก็เป็นเรื่องใหญ่ สังคมก็นินทาไปทั่ว การที่ไม่โปรดนั้นเกี่ยวข้องกับการที่มีพระราชบริพารเป็นมหาดเล็กจำนวนมาก และคนสำคัญคือนายจ่ายง หรือเฟื้อ พึ่งบุญ อายุ 21 ปี เมื่อทรงเริ่มครองราชย์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศอย่างรวดเร็วภายใน 10 ปี จากนายจ่ายง เป็นจมื่น และจากนั้นเป็นพระยาประสิทธิศุภการ และดำรงตำแหน่งเจ้าพระยารามราฆพ ได้เป็นพลเอกเมื่ออายุ 31 ปี ความสนิทสนมที่ทรงมอบแก่นายจ่ายงนั้นเป็นที่นินทา เมื่อเล่นโขนเล่นละครมักให้นายจ่ายงเป็นพระเอก และบริบทสำคัญอีกประการคือกรณีการสั่งเฆี่ยนหลังทหาร ในพ.ศ. 2452 เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างทหารและมหาดเล็ก โดยสรุป เมื่อรัชกาลที่หกขึ้นครองราชย์ความคาดหวังถึงความเป็นคนสมัยใหม่นั้นหมดไป เพราะมีปัญหาพระจริยวัตรหลายประการ แต่ต้องเข้าใจว่าถ้าเป็นสมัยปัจจุบัน เวลารัฐบาลบริหารไม่ถูกก็คาดหวังได้ว่า อีกสี่ปีข้างหน้าจะเลือกได้ไหม แต่ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นนั้นไม่มี ฉะนั้นจึงทำให้คนหนุ่มรุ่นใหม่เห็นว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบ เปลี่ยนระบอบการปกครอง ร.ศ. 130 นั้นจึงเกิดจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และคนที่คิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ได้มีคณะเดียว หรือพูดใหม่คือมีคนคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองเยอะ แต่เป็นสมาคมลับ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก สมัยนั้นมีอั้งยี่ หรือสโมสรจีนกรุงเทพฯ ซึ่งป็นสมาคมพันธมิตรของซุนยัดเซ็น และยังมีสมาคมลับอีกอย่างน้อย 1 สมาคม คือสมาคมลับ กศร. กุหลาบ มีสมาชิกราว 40 คน เหล่านี้คือสมาคมลับที่คิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การหาคนเข้าร่วม สมาคมลับ รศ. 130 นั้นง่ายมาก แสดงถึงกระแสความไม่พอใจของรัฐบาลรัชกาลที่ 6 และ ร.ต. เนตร ก็คิดมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 แล้ว อิทธิพลจากญี่ปุ่น ญี่ปุ่นมีอิทธิพลมากต่อความรับรู้ของคนรุ่นใหม่มาก คือ ญี่ปุ่นชนะสงครามรัสเซีย และเมื่อเผชิญกับตะวันตกนั้น สยามในรัชกาลที่ 5 เลือกรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ญี่ปุ่นเลือกให้มีรัฐธรรมนูญ ใน ร.ศ. 130 จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นก้าวหน้ากว่าสยามมากด้วยระบบที่มีรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้แนวคิดของ ของ ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง อธิบายถึงแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า “การที่ให้กษัตริย์เป็นผู้กครองโดยมีอำนาจอยู่เหนือกฎหมายนั้น เอื้อให้กษัตริย์ทำการชั่วร้ายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ทำได้” “เราชอบพูดว่า ร.ศ. 130 เป็นกบฏทหารซึ่งไม่เชิงว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะมีนายแพทย์เข้าร่วม มีนายทหารที่จบวิชากฎหมายเป็นนายทหารพระธรรมนูญ มีองค์ประกอบที่หลากหลาย” การถูกจับกุม กบฏ ร.ศ. 130 จบลงโดยไม่ประสบความสำเร็จเพราะ ขุนยุทธกาจกำจาย หรือ รต. แต้ม คงอยู่ มาเข้าประชุมและเสนอรายงานต่อกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทำให้คณะทั้งหมดถูกกำจัด จากนั้นรต. แต้ม คงอยู่ ได้รางวัลไปเรียนวิชาทหารที่เยอรมัน กลับมารับราชการจนเลื่อนยศเป็นกระยากำแพงรามภักดี แต่ถูกปลดหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากนั้นได้เข้าร่วมกับกบฎบวรเดช ถูกจับกุมแล้วผูกคอตายในส้วมภายในห้องขังโดยเขียนข้อความก่อนตายว่า “You shall live, I shall die but people will recall and cry” คณะผู้ก่อนการ ร.ศ. 130 ถูกจับดำเนินคดี 91 คน ถูกถอดยศและจำคุก 23 คน และจำที่คุกมหันตโทษ ประเด็นสุดท้ายคือ มีลักษณะอะไรบางอย่างที่น่าสนใจว่า เสนาบดีต่างประเทศของสยามได้แถลงถึงกรณี ร.ศ. 130 ว่า สาเหตุที่รัฐบาลจับกุมกลุ่มทหารไม่ใช่เพราะความคิดที่เรียกร้อง คอนสติติวชั่นเพราะรัชกาลที่ 6 มีน้ำพระทัยกว้าง และเข้าพระทัยเรื่องเดโมเครซี แต่ที่จับกุมเพราะทหารจะใช้วิธีรุนแรงและทำร้ายพระมหากษัตริย์ “การแถลงแบบนี้ทำให้เห็นว่าการใส่ร้ายป้ายสีมีมาแต่สมยนั้น” ผศ. สุธาชัยกล่าว และตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า คือกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถบอกว่ารัชกาลที่ 6 นิยมระบบเดโมเครซี แต่สยามไม่พร้อม สรุปว่าเมื่อร.ศ. 130 ชนชั้นนำ ก็บอกว่าสยามไม่พร้อม ซึ่งก็ใช้เป็นข้ออ้างว่าประชาชนไม่พร้อมมาตลอด แต่แต่ 2475เป็นต้นมาเป็นหนึ่งในคำอธิบายที่ยืนยงคงคู่ประวัติศาสตร์ 80 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำไมยังกลับไปพูดเรื่องเดิม ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มธ. กล่าวว่า หลายประเทศเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเหตุการณ์นั้นก็จะจบไป มีเส้นแบ่งชัดเจน เช่น อินโดนีเซีย พม่า จีน สหรัฐฯ หลังปฏิวัติและตั้งรัฐบาลใหม่ จะไม่มีการกลับไปถามว่า ทำไมก่อนหน้านั้นจึงทำอย่างนั้น วิจารณ์ว่าไม่ได้เรื่อง หรือจะนำขึ้นศาล เพราะมันจบไปแล้ว มีเพียงประเทศไทยซึ่งอัศจรรย์มากที่โยงความคิดหลักโยงกลับไปต้นรัตนโกสินทร์ได้ ความได้เปรียบของผู้นำสยาม อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่สมัย ร.3 ที่สยามเปิดประเทศแล้ว มีการค้า มีประเด็นเรื่องอาณาเขต แต่สิ่งหนึ่งที่เข้ามาด้วยคือความคิดและเทคโนโลยีแบบใหม่ รวมๆ เรียกว่าภูมิปัญญาแบบใหม่ เข้ามาแล้ว และสังสรรค์กับความคิดเก่า ทั้งนี้ ถ้าเราชอบนิทานที่ว่า สยามไม่เคยเป็นอาณานิคม การไม่เป็นอาณานิคมนั้นก็ทำให้ภูมิปัญญา โลกทัศน์สยามเก่ากับความคิดสมัยใหม่ แลกเปลี่ยนถ่ายทอดกัน เปิดโอกาสให้ชนชั้นนำของสยามเลือกที่จะเชื่อได้ ธเนศ กล่าวว่า การรับแนวความคิดใหม่ไม่ใช่เรื่องที่ผู้นำสยามปฏิเสธ โดยเมื่อหมอบรัดเลย์เข้ามาขอเผยแพร่ศาสนาในวัดนั้น ร.4 ไม่ได้ขับไล่หรือกีดกัน แต่ได้ขอว่าหลังพูดเรื่องไบเบิลแล้วให้สอนภาษาอังกฤษให้พระด้วย ทั้งนี้ ด้วยอิทธิพลจากโลกภายนอกนี้เอง ทำให้กลุ่มเจ้านาย ในปี ร.ศ.103 เสนอให้เปลี่ยนระบอบการปกครอง โดยหากไม่เปลี่ยนรูปแบบการปกครอง สยามอาจกลายเป็นอาณานิคมได้ ขณะนั้น ชนชั้นนำก็ได้ปรับตัวและสร้างคำอธิบายใหม่เพื่อรองรับการปกครองของตัวเอง ขณะที่สามัญชนเสียเปรียบ เพราะไม่ได้ศึกษาจากตำรา เช่น เทียนวรรณ ที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง และถูกเบรคว่าไม่มีความรู้พอ โดยสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ชนชั้นนำเห็นการเปลี่ยนแปลงที่อำนาจทางโลกกลายเป็นอำนาจนำแทนธรรมะ จึงมีการอธิบายการปกครองเป็นสิทธิขาดของกษัตริย์ ไม่ใช่เรื่องบารมี เป็นเรื่องหน้าที่และความเหมาะสม จนเมื่อรัชกาลที่ 6 มีการเน้นเรื่องชาติสมมติ อย่างไรก็ตาม คำอธิบายของฝ่ายเจ้าที่ทำให้กษัตริย์มีอำนาจมากขึ้น จนนำสู่ทางตัน ทำให้การเปลี่ยนการปกครองโดยสันติเป็นไปได้ยาก ทั้งที่หากอยู่ในสภาพสังคมเปิด แลกเปลี่ยนทางความคิด โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงจากภายในหรือรองรับการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกจะทำได้ จึงเกิดคณะ ร.ศ.130 และคณะราษฎรขึ้น ธเนศ ตั้งข้อสังเกตว่า หลังถูกจับกุม คณะร.ศ.130 ถูกเรียกว่าผู้ก่อการกำเริบ ไม่ใช่กบฏ โดยเหตุผลที่ฝ่ายเจ้าไม่เรียกว่าเป็นกบฏ เพราะไม่ต้องการยกฐานะให้มีบทบาทเทียบกับชนชั้นนำ นั่นคือยังเอาคติเก่ามาใช้ว่าการเปลี่ยนแปลงการเมืองเป็นของกษัตริย์ ราษฎรเป็นเพียงสิ่งที่แสดงถึงฐานะความชอบธรรมของกษัตริย์เท่านั้น และเมื่อเป็นเช่นนี้ จึงยิ่งทำให้ปมเงื่อนไม่คลี่คลายมากขึ้น ทำให้ต่อมาเกิดคณะราษฎรขึ้น ธเนศ สรุปว่า ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสมัยใหม่ หนีไม่พ้นต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ความคิด ซึ่งโลกทัศน์ของการเมืองแบบเก่าไม่มีความคิดของราษฎรของประชาชน เมื่อพูดไม่ได้ ก็ต่อรองไม่ได้ และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทางออกของคนที่เริ่มตื่นตัวทางการเมืองจึงต้องกบฏทั้งนั้น หมายเหตุ 1.รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเสวนา อภิปราย “100 ปี กบฏประชาธิปไตย ร.ศ. 130” ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ-สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ- ณัฐพล ใจจริง-เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์-ฉลอง สุนทราวาณิชย์ จัดโดยหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิโครงกาตำราสังคมศาสตร์ฯ และสมาคมจดหมายเหตุสยาม 2.ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำ ราชภัฏสวนสุนันทา พูดเรื่องแนวคิดของคณะร.ศ.130 สามารถติดตามเนื้อหาการอภิปรายได้ที่ ณัฐพล ใจจริง: แนวคิดและอุดมการณ์ของขบวนการ ร.ศ.130 3.ภาพโดย เสกสรร โรจนเมธากุล ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
ประกาศหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่ 2 Posted: 24 Jun 2012 01:10 AM PDT กองทัพต้องยุติบทบาททางการเมือง,ต้องดำเนินคดีแก่คนที่สั่งฆ่าประชาชน,ผลักดันรวมตัวและการเจรจาต่อรองของคนงาน ความยุติธรรมต้องเสมอกัน,หยุดใช้ ม. 112 ปล่อยนักโทษการเมืองและให้เสรีภาพในทางวิชาการและให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร 5.00 น. วันนี้(24 มิ.ย.2555) ณ หมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า กลุ่มนักกิจกรรมหลายกลุ่มที่ได้ร่วมรำลึก 80 ปี 24 มิ.ย. 2475 การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยของคณะราษฎร โดยหนึ่งในกลุ่มกิจกรรมที่ร่วมรำลึกคือคณะราษฎรที่ 2 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักศึกษากลุ่มสะพานสูงและกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แต่งตัวเป็นคณะราษฎร เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน), หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ), หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์), หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) และประยูร ภมรมนตรี เป็นต้น โดยในเวลา 6.40 น. คณะดังกล่าได้มีการอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1
และหลังจากนั้น ได้มีการอ่านหลัก 6 ประการใหม่ของคณาราษฎรที่ 2 ที่มีการปรับเข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน ดังนี้
ภาพบรรยากาศกิจกรรม:
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
ประชาธิปัตย์ ตั้งคณะทำงานจับตาการชุมนุมคนเสื้อแดง 24 มิ.ย. Posted: 23 Jun 2012 10:11 PM PDT รองโฆษก ปชป. ขอให้ตำรวจจับกุมทันที หากอภิปรายกระทบสถาบันฯ ด้านโฆษกพรรคเพื่อไทยขอแสดงจุดยืนในโอกาส 80 ปี 24 มิ.ย. 2475 ขอแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า นางสาวมัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิ ปัตย์ เปิดเผยว่า พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งคณะทำงานติดตามการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันที่ 24 มิ.ย. เพราะเกรงว่าจะมีการอภิปรายกระทบสถาบันฯ หรือพรรคการเมืองอื่น โดยจะไม่ขัดขวางการชุมนุม เพราะถือเป็นสิทธิ์ พร้อมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยและจับกุมทันทีที่มีผูกระทำผิด ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่นายจตุพร พรหมพันธ์ ได้ตั้งเวทีปราศัยโจมตีศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการเริ่มกระบวนการปลุกระดมมวลชน และนายกรัฐมนตรี ควรจะมีการตักเตือน เพราะอาจจะเป็นสาเหตุของความขัดแย้งรอบใหม่ได้ ขณะเดียวกัน สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานที่พรรคเพื่อไทย ในวันนี้ (24 มิ.ย.) โดยนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวในโอกาสครบรอบ 80 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยว่า พรรคเพื่อไทยขอแสดงจุดยืนที่จะอยู่เคียงข้างประชาชน และร่วมพัฒนาประชาธิปไตย โดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน ทั้งการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น เพื่อให้อำนาจประชาธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมากระบวนการทางประชาธิปไตยยังมีปัญหา ทั้งการปฏิวัติ รัฐประหาร หรือฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนเองเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญที่ยังค้างอยู่ ล้วนเป็นเจตนารมณ์ของประชาชน โดยการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังมีปัญหาอยู่ และหากสามารถเดินหน้าไปตามขั้นตอนได้จะทำให้รัฐธรรมนูญ มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวอีกว่าในโอกาสที่วันนี้เป็นวันครบรอบ 80 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยพรรคเพื่อไทยจะขอเป็นผู้ยื่นให้พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งหากทุกฝ่ายยังนิ่งเฉย ประชาธิปไตยที่แท้จริงอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 17 - 23 มิ.ย. 2555 Posted: 23 Jun 2012 10:10 PM PDT ผ่าทางตัน กม.คุ้มครองแรงงานรับงานไปทำที่บ้าน ก.แรงงานรับลูกเร่งออกกฎกระทรวง รายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 18 มิถุนายน 2555 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)และคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมจัด ประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “กฎหมายลำดับรองกับการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน” ที่โรงแรมทีเค พาเลส แจ้งวัฒนะ นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า มีข้อสังเกต 2 ประเด็นคือ 1.พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553ออกมาแล้วแต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ และจะเห็นว่าในพ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ระบุจะต้องตั้งคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ภายใน120 วันนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่คณะกรรมการเพื่อดำเนินการไปพลางก่อนแต่ขณะ นี้ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งหรือเลือกเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการฯประเด็นนี้ถือ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องขับเคลื่อน 2.ยังมีกฎกระทรวงที่ต้องออกมารองรับขณะนี้ยังมีความล่าช้า อย่างไรก็ตามในแง่กฎกระทรวงหากเป็นไปได้ควรให้จัดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาค แรงงานด้วย โดยสามารถจัดตั้งคณะกรรมการชุดเล็กคณะหนึ่งเพื่อให้ภาคแรงงานมีส่วนร่วมเสนอ ความเห็น นายวินัย ลู่วิโรจน์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัตินี้ จะต้องมีกฎหมายลำดับรองทั้งสิ้น 14 ฉบับ ซึ่งออกไปแล้วในส่วนที่ไม่มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก 6 ฉบับ ส่วนที่เหลืออีก 8 ฉบับที่มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอกยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยเหตุที่ทำให้เกิดความล่าช้ามาจากต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีการศึกษามาก่อนและมีรายละเอียดมากที่ ต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการอ้างอิง หากเร่งรีบเกรงว่าจะเป็นช่องทางให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง เช่น กฎกระทรวงเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานของหญิงมีครรภ์และเด็กอายุต่ำ กว่า15 ปีตามมาตรา 21, กฎกระทรวงเกี่ยวกับค่าพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพและค่าทำศพ ตามมาตรา 25, การกำหนดอัตราค่าตอบแทน เป็นต้น ส่วนเรื่องการดำเนินการขณะที่ยังไม่มีคณะกรรมการตามมาตรา 50 ซึ่งระบุให้ บุคคลตามที่กำหนด ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการแทนไปก่อนได้ ซึ่งในการสรรหาขณะนี้ยังติดปัญหาที่วิธีการสรรหากรรมการที่เป็นตัวแทนฝ่าย ลูกจ้าง ซึ่งตามหลักการแล้วจะต้องใช้วิธีลงคะแนนแบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง(one man one vote) แต่ใช้งบประมาณมาก ดังนั้น อาจต้องใช้ระบบไตรภาคี คือ ให้ตัวแทนเสนอรายชื่อ แต่การเลือกแบบนี้อาจจะได้ตัวแทนไม่ตรงตามที่ต้องการ โดยอาจจะขอความร่วมมือกับหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมในข้อมูลส่วนนี้ หากได้รับความร่วมมือจะทำให้ได้ข้อมูลทั้งกลุ่มนายจ้างและกลุ่มผู้รับงานไป ทำที่บ้าน เมื่อประกอบกับฐานข้อมูลเก่าของกรมจัดหางานและกลุ่มแรงงาน 5 ภาค แล้วน่าจะคลอบคลุมเกือบทั้งหมด โดยในวันที่ 21 มิถุนายนนี้จะมีการประชุมเรื่องดังกล่าวคาดว่าน่าจะมีความคืบหน้ามากยิ่ง ขึ้น “เห็นด้วยที่จะให้ออกกฎกระทรวงโดยเร็ว คือเสนอหลักการไปก่อนแล้วปรับปรุงเพิ่มเติมรายละเอียดในภายหลัง และเน้นย้ำว่าเรื่องสำคัญที่ควรจะตราออกมาก่อน คือ เรื่องความปลอดภัย ซึ่งจะรับหน้าที่ผลักดันให้ออกมาเป็นลำดับแรก และยังเปิดโอกาสให้กลุ่มต่างๆมีแนวทางที่น่าสนใจ สามารถร่างและนำมาเสนอประกอบการพิจารณาออกกฎกระทรวงด้วย” นายอภิมุข สุขประเสริฐ กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า กฎกระทรวงยังมาไม่ถึงขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งหากมาถึง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วคาดว่าจะพิจารณาใช้เวลาไม่นานประมาณ 1 -2เดือน เว้นแต่มีประเด็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัย โดยหลักของกฎหมายฉบับนี้ต้องการคุ้มครองแรงงานนอกระบบที่รับงานไปทำที่บ้าน ให้ได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกับลูกจ้างในระบบ ส่วนประเด็นการออกกฎกระทรวงนั้น เห็นว่าต้องเร่งผลักดัน ส่วนระดับของความคุ้มครองนั้นสามารถปรับปรุงพัฒนา แก้ไขได้ ขณะที่เรื่องการสรรหาคณะกรรมการตามมาตรา 50 วรรคแรก เป็นมาตรการเร่งรัด ดังนั้นต้องเริ่มที่ต้องให้เกิดคณะกรรมการชุดแรกตามมาตรา 25ก่อนแล้วจึงจะเข้าสู่กระบวนการสรรหาโดยคาดว่าไม่น่าจะใช้เวลานาน นายสุภัท กุขุน ที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มุ่งดูแล 3 ส่วนคือค่าตอบแทน สวัสดิการ และคุณภาพชีวิต ขณะที่กรอบงานในมาตรา 3 ระบุงานที่รับไปทำที่บ้านหมายถึง งานที่ผู้จ้างงานในกิจการอุตสาหกรรมมอบให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านเพื่อนำไป ผลิตหรือประกอบนอกสถานประกอบกิจการของผู้จ้างงานหรืองานอื่นที่กำหนดในกฎ กระทรวง คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะใช้เวลาอีกนานพอสมควร เนื่องจากต้องพิจารณาในรายมาตราและต้องมีกฎกระทรวงและระเบียบมารองรับ ส่วนตัวเห็นว่าควรจะเขียนควบคู่กันเพื่อให้กฎหมายดังกล่าวออกบังคับใช้ได้ เร็ว อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในมาตรา24 ระบุถึงความรับผิดชอบในค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพแลค่าทำศพในกรณีที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านประสบอันตราย เจ็บป่วยหรือทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์และสิ่งอื่นที่ใช้ในการทำงานที่ผู้ว่าจ้างจัดหาหรือส่งมอบให้ ประเด็นคือจะต้องจ่ายตามหลักเกณฑ์ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงข้อน่ากังวลคือ บางกรณีอย่างกรณีพลุระเบิด นายจ้างจะนำค่าจ้างส่วนใดมาจ่าย ประเด็นนี้ยังไม่ได้คิดเผื่อไว้และหากลูกจ้างทุพพลภาพจะดูแลจะช่วยกันอย่าง ไร เรื่องนี้อาจจะขยายผลต่อไปถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกองทุนดูแลและคุ้มครอง หรือไม่ นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ขอให้ส่งร่างกฎกระทรวงที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พิจารณาเพื่อจะเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะของคปก. ให้กฎหมายดังกล่าวนำไปสู่ขับเคลื่อนต่อไป นางวิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม กรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมต้องพิจารณา กล่าวว่า มี 3 ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ 1.ลักษณะการจ้างเป็นแบบใดเป็นลักษณะการจ้างทำของหรือเป็นสัญญาจ้างแรงงาน 2.ปัญหาที่มีกฎหมายแม่แล้วแต่กฎหมายลูกยังไม่ออกมาจึงไม่สามารถนำมาบังคับ ใช้ได้ หากกลไกไม่สามารถทำได้อาจจะต้องหาวิธีการอื่น เพราะแม้จะตั้งกรรมการไม่ได้แต่การดำเนินการจะมีช่องว่างไม่ได้ หากมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ก็จำเป็นต้องตีความ ดังนั้นแม้ว่าจะไม่มีลายลักษณ์อักษรเรื่องค่าจ้าง หรือความปลอดภัย หากไม่มีก็ต้องเทียบเคียงได้ โดยสามารถนำกฎหมายแรงงานใช้เทียบเคียงได้ 3.เรื่องค่าตอบแทน ต้องไม่น้อยกว่าค่าจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งจะมี 2 ประเภทคือ เป็นไปตามมาตรฐานฝีมือ หรืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำท้องที่ เป็น 3 ประเด็นสำคัญที่ต้องนำไปพิจารณาด้วย นางพูนทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ผู้แทนเครือข่ายผู้รับงานไปทำที่บ้าน กล่าวว่า ผู้รับงานไปทำที่บ้านมีปัญหาอย่างมากโดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงอัตราค่าจ้าง และยังไม่แน่ชัดว่าจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่แม้ว่าจะมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ รับงานไปทำที่บ้าน แต่ค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกปีในช่วงระยะ 10-15 ปีที่ผ่านมาพบว่า ค่าแรงไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงอยากเรียกร้องให้แต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน โดยเร็วเนื่องจากบทบาทของคณะกรรมการฯมีหน้าที่ในการกำหนดอัตราค่าตอบแทนและ กฎหมายลูกต่างๆ เพราะจะเห็นว่าแรงงานประมาณ70-80% เป็นแรงงานหญิงซึ่งยังไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ จึงอยากจะร้องขอให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้อย่างเร่งด่วนหากเป็นไปได้ไม่ ควรเกิน 1ปี นางสาวนุชนภา บำรุงนา กรรมการเครือข่ายแรงงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้แรงงานส่วนใหญ่เสียโอกาสด้านค่าแรง และประสบปัญหาความปลอดภัยในการทำงาน โดยแรงงานผู้รับงานไปทำที่บ้านหลายพื้นที่ประสบปัญหาสารพิษตะกั่วตกค้างใน ร่างกาย ขณะเดียวกันมีความเสี่ยงสูงที่ผู้สูงอายุและเด็กในบ้านจะได้รับสารพิษดัง กล่าวด้วยอันเนื่องมาจากการรับงานมาทำที่บ้าน (มติชน, 18-6-2555) เผยผลสำรวจสายงานที่ผู้หญิงสนใจอยากทำมากที่สุด 5 อันดับแรก แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เปิดเผยผลสำรวจ 10 อันดับความต้องการของตลาดแรงงานสำหรับผู้หญิง และ สายงานที่ผู้หญิงสนใจทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ งานธุรการ อันดับ 2 งานด้านการตลาดและงานประชาสัมพันธ์ อันดับ 3 คืองานด้านโฆษณา อันดับ 4 งานด้านการเงินการธนาคาร อันดับ 5 งานด้านการโรงแรมและท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังคัดสรรงานดีๆสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะกว่า 20,000 อัตรากับบริษัทชั้นนำทั่วประเทศ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Age of Lady Has Begun” สุธิดา กาญจนกันติกุลผู้จัดการฝ่ายการตลาดแมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า จากผลสำรวจของทีมบริหารงานบุคคลของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป พบว่าจากปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อ หลายครอบครัวส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยออกมาหางานประจำนอกบ้านทำมากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว ฉะนั้น แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ในฐานะที่เป็นผู้นำขององค์กรที่นำเสนอโซลูชั่นการจัดหาแรงงานเชิงนวัตกรรม จึงได้คัดสรรงานดีๆสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะกว่า 20,000 อัตรา กับบริษัทชั้นนำ ทั่วประเทศจากหลากหลายสาขาอาชีพ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Age of Lady Has Begun” จะเป็นการสร้างโอกาสดีๆให้กับผู้หญิงทั้งหลายได้มีงานทำมากขึ้น เพราะเราเข้าใจการทำงานของผู้หญิง และเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้หญิงเช่นกัน แต่สำหรับบางคนอาจมีข้อจำกัดหรือขาดโอกาสในการหางานทำ ขณะเดียวกัน แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ได้ทำการสำรวจสายงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานสำหรับผู้หญิง พบว่า 10 อันดับแรก ได้แก่ สายงานบริการลูกค้าสัมพันธ์มีจำนวนกว่า 25,042 อัตรา สายงานธุรการจำนวน 1,278 อัตรา สายงานการผลิตจำนวน 805 อัตรา สายงานขาย จำนวน 121 อัตรา สายงานการตลาด และ ประชาสัมพันธ์จำนวน 95 อัตรา สายงานคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 86 อัตรา สายงานบัญชี จำนวน 55 อัตรา สายงานสุขภาพโภชนาการ จำนวน 51 อัตรา สายงานบริการเฉพาะทาง จำนวน 47 อัตรา และสายงานการธนาคารและการเงิน จำนวน 39 อัตรา และในส่วนสายงานอื่นๆ เรายังเปิดรับไม่ต่ำกว่า 200 อัตรา และจากผลสำรวจสายงานที่ผู้หญิงสนใจอยากทำมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ งานธุรการ อันดับ 2 งานด้านการตลาด และงานประชาสัมพันธ์ อันดับ 3 คือ งานด้านโฆษณา อันดับ 4 งานด้านการเงินการธนาคาร อันดับสุดท้าย งาน ด้านการโรงแรม และท่องเที่ยว (Manpower, 19-6-2555) สธ.ยกระดับ รพ.ในระยอง รองรับอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2555 นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ลงพื้นที่ จ.ระยอง เพื่อตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลระยอง และติดตามการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ โอกาสนี้ยังได้เข้าเยี่ยมอาการของ นายบุญพึ่ง จิตต์ปลื้ม อายุ 48 ปี เป็นผู้ป่วยรายสุดท้ายใน 394 ราย ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์บริษัท บีเอสที อีลาสโตเมอร์ (มาบตาพุด) สารเคมีระเบิด เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมพบว่าผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ ยังเหลือปัญหากระดูกที่ส้นเท้าแตก ต้องฟื้นฟูต่อเนื่องและมีปัญหาเยื่อแก้วหูทั้ง 2 ข้างทะลุ ไม่ได้ยิน ซึ่งจะได้รับเครื่องช่วยฟังในเร็วๆ นี้ นายวิทยา เปิดเผยว่า กรอบงานสาธารณสุขใน จ.ระยอง นอกจากจะดูแลปัญหาการเจ็บป่วยทั่วไปเหมือนพื้นที่อื่นแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการลงทุนภาคอุตสาหกรรม มีโรงงานประมาณ 2,235 แห่ง มีประชากรแฝงเข้าไปทำงานจำนวนมาก ทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าว รวมทั้งประชาชนพื้นที่ รวมทั้งจังหวัดมีมากกว่า 1 ล้านคน จะต้องให้การดูแลทั้งหมด รวมทั้งยังมีความเสี่ยงจากผลกระทบสุขภาพจากสารเคมีในระยะยาว จึงมอบนโยบายพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาล 4 แห่ง ได้แก่ รพ.ระยอง รพ.แกลง รพ.มาบตาพุด และ รพ.ปลวกแดง ให้สามารถพร้อมรับทั้งภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน โดยจะพิจารณาอย่างรอบคอบตามความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเร็วที่สุด นายวิทยา กล่าวต่อว่า ด้านการรักษาพยาบาลได้ยกระดับโรงพยาบาลมาบตาพุดเป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง เพื่อดูแลผู้ป่วยที่เกิดจากการประกอบอาชีพ มีแพทย์เฉพาะทาง เพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่อีก 200 กว่าอัตรา และเพิ่มแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เป็น 4 คน เพื่อเป็นศูนย์รองรับการส่งต่อผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมี และโรคจากการประกอบอาชีพอื่นๆ ซึ่งมีความจำเป็นมาก ขณะเดียวกัน ในด้านการเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพ และมลพิษทางอากาศ น้ำ ดิน ได้มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพ ประชาชนในชุมชน ทั้งในเขตและนอกเขตควบคุมมลพิษอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบผลกระทบที่อาจมีต่อประชาชน ในปี 2556-2560 ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนจัดบริการตรวจเฝ้าระวังปีละ 50 กว่าล้านบาท ตรวจสุขภาพประชากรปีละ 15,000 คน ในระยะยาวจะหารือการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันผล กระทบ มีการตรวจเชิงลึก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะมีมาตรการให้ลูกหลานแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนซื้อ บัตรประกันสุขภาพเพิ่มเติมด้วย รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในส่วนของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ตนยังได้มอบนโยบายให้ร่วมเฝ้าระวังตรวจสอบความผิดปกติของมลภาวะมลพิษใน พื้นที่ โดยให้จัดอบรม อสม. ด้านพิษภัยของสารเคมี เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันแก่ตนเองและชุมชน สามารถรองรับเมื่อเกิดวิกฤติฉุกเฉิน ช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยรวมด้วย ทั้งนี้ ยังมอบนโยบายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในภาคตะวันออก ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าโอทอป ยกระดับให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพีขั้นต้น รองรับครัวไทยสู่ครัวโลก ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค เนื่องจากโซนนี้มีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก หากสินค้าได้มาตรฐานจีเอ็มพีขั้นต้น ก็สามารถวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าได้. (ไทยรัฐ, 19-6-2555) พยาบาลบุกทำเนียบฯ จี้บรรจุลูกจ้างชั่วคราว 1.7 หมื่นคนเป็นราชการ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 55 ที่เลียบคลองเปรมประชากร ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 2,000 คน จากทั่วประเทศ ได้มาชุมนุมติดตามข้อเรียกร้องที่ให้รัฐบาลมีมติให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมาย และนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.)และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)ดำเนินการเปิดกรอบอัตรากำลังใหม่ สำหรับบรรจุพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวฯเป็นข้าราชการ ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ยื่นต่อนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สธ. เมื่อ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ขอให้กระทรวงสาธารณสุข ออกจากระบบของสำนักงานกพ. เนื่องจากกพ.ไม่เข้าใจในบริบทของระบบสุขภาพ จึงไม่นำเรื่องความขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพ มาปฏิบัติในการพิจารณากรอบอัตราตำแหน่ง ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ได้รับบริการสุขภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ด้านนายอนุสิษฐ์ เป็งแก้ว ผู้ประสานงานกลาง พยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กล่าวว่า ทางเครือข่ายได้เข้ายื่นเรื่องกพ.แล้ว เพื่อให้ดำเนินการเปิดอัตราบรรจุลูกจ้างชั่วคราว 17,000 ตำแหน่ง ซึ่งในวันนี้(19 มิ.ย.)จะรอคำตอบจากรัฐบาล โดยเฉพาะนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สธ.จะให้คำตอบอย่างไร และมีตัวแทนเครือข่ายเดินทางไปพบกับนายวิทยา ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี สัญจรแล้ว และหากยังไม่ได้รับคำตอบเป็นที่น่าพอใจก็จะยกระดับการชุมนุมเรียกร้องให้นาย วิทยา ดำเนินการให้มีความชัดเจน กรณีที่เคยรับปากว่าจะบรรจุลูกจ้าง 3,000 คน ที่เข้าทำงานปี 2549-2550? ซึ่งหากยังไม่มีความชัดเจน อาจจะมีพยาบาลวิชาชีพฯลาออกทั่วประเทศก็ได้ ขณะเดียวกันก็จะรอคำตอบจาก กพ. หากไม่ดำเนินการก็จะยื่นถอดถอนนายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการ ก.พ. ออกจากตำแหน่งด้วย (แนวหน้า, 20-6-2555) สวีเดนให้โควต้าแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่า 5,000 คน นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากทางการสวีเดนว่า ได้ให้โควตาแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน นี้ ประมาณ 5,000 คน โดยสหภาพแรงงานในสวีเดนได้ประกันรายได้ให้แก่ผู้ที่เดินทางไปเก็บผลไม้ จะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 80,000 บาท และได้จัดเตรียมทั้งที่พักและข้าวของไว้ให้แรงงานไทยเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะที่พักจัดแยกเป็นหลายแคมป์ ทำให้ไม่แออัดเช่นปีผ่านๆ มา ส่วนประเทศฟินแลนด์จะให้โควตาแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ประมาณ 2,000 คน อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีแรงงานไทยมาลงทะเบียนเพื่อเดินทางไปเก็บผลไม้ในสวีเดนและฟินแลนด์ ประมาณ 6,000 คน ซึ่งการเดินทางไปทำได้ใน 2 รูปแบบ คือ 1.แจ้งการเดินทางผ่านบริษัทจัดหางาน และ 2.เดินทางไปด้วยตนเองโดยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสวีเดนคนละ 7.5 หมื่นบาท และฟินแลนด์คนละ 6 หมื่นบาท คาดว่าจะเริ่มส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ใน 2 ประเทศนี้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ (มติชนออนไลน์, 20-6-2555) ก.แรงงาน เตรียมแผนรับมือเลิกจ้างจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเตรียมการรับผลกระทบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจประเทศในแถบยุโรป หลังเข้าร่วมการประชุมกับนายกรัฐมนตรีและผู้แทน 9 กระทรวงที่เกี่ยวข้องที่ทำเนียบรัฐบาลว่า กระทรวงแรงงานเตรียมแผนรับมือผลกระทบวิกฤติที่จะเกิดขึ้นกับแรงงานไทย โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มแรงงานในสถานประกอบการที่อาจจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโดยเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มยอดการส่งออกสินค้าไปประเทศแถบยุโรปลดลง พร้อมเฝ้าระวัง 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป็นพิเศษ คือ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มคอมพิวเตอร์ กลุ่มยานยนต์และกลุ่มสิ่งทอ โดยจะให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สรุปข้อมูลภาพรวมว่าสถานประกอบการเหล่านี้อยู่ในจังหวัดใดบ้างภายในสัปดาห์ นี้ นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า จากนั้นจะให้สำนักงานแรงงานจังหวัดลงไปสำรวจข้อมูลสถานการณ์การจ้างงานและ เลิกจ้างในสถานประกอบการเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสำนักงานประกันสังคมขณะนี้สถานการณ์การจ้างงานในประเทศยังถือว่า อยู่ในภาวะปกติโดยยังอยู่ในช่วงชะลอตัว จากเดิมที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1 ต่อเดือน ล่าสุดเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 0.2 ลดลงไป 0.8 นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า ส่วนกลุ่มที่สองเป็นแรงงานไทยที่ทำงานในประเทศแถบยุโรปที่ปัจจุบันมีอยู่ 1,800 คน ส่วนใหญ่เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง โดยเตรียมการมาตรช่วยเหลือแรงงานไทยกลุ่มนี้ หากถูกบริษัทเลิกจ้างและต้องเดินทางกลับไทย กระทรวงแรงงานจะช่วยดูแลในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมรองรับ และกลุ่มที่สามเป็นแรงงานไทยที่กำลังจะเดินทางไปทำงานในประเทศแถบยุโรป เช่น แรงงานที่จะไปเก็บผลไม้เบอร์รีที่สวีเดนและฟินแลนด์ ประมาณ 7,000 คน หากไม่ได้เดินทางไป ก็จะหาตลาดงานใหม่ในประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นรองรับ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือแรงงานไทยทั้ง 3 กลุ่มนี้จะใช้รูปแบบเดียวกับในช่วงประสบวิกฤติน้ำท่วม เนื่องจากมองว่าเป็นผลกระทบระยะสั้น เช่น การใช้แรงงานสัมพันธ์เข้าไปป้องกันการเลิกจ้าง โครงการป้องกันการเลิกจ้าง โดยรัฐช่วยจ่ายค่าจ้าง 2,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน โครงการเพื่อนช่วยเพื่อนให้เปลี่ยนที่ทำงานชั่วคราว การให้สินเชื่อเพิ่มสภาพคล่อง หรือการขยายเวลาการลดเงินสมทบประกันสังคม โดยจะเร่งสรุปข้อมูลเสนอนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ที่จะเป็นประธานการประชุมในสัปดาห์หน้า (สำนักข่าวไทย, 20-6-2555) บ.โดลฯ แจงการประท้วงของพนักงานเป็นการเจรจากันตามประกาศของบริษัทฯ เท่านั้น 20 มิ.ย. 55 - บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ตั้งอยู่ ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ชี้แจงกรณีการออกมาประท้วงของพนักงานที่รวมตัวกันประท้วงฝ่ายบริหาร เรียกร้องให้มีการจ่ายค่าน้ำมันแก่รถรับ-ส่งพนักงาน และจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาตามจริงเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ความจริงแล้วเป็นการปรึกษาหารือและเจรจากันระหว่างตัวแทนของฝ่ายบริษัทกับ ฝ่ายพนักงานขับรถรับ-ส่งพนักงาน ตามประกาศของบริษัท ซึ่งติดประกาศในเช้าวันดังกล่าว เกี่ยวกับการจ่ายค่าน้ำมันแก่รถรับ-ส่งพนักงาน อย่างไรก็ตาม มีพนักงานของบริษัทเกือบ 2,000 คนเข้าร่วมประชุมด้วยเพื่อติดตามผล เนื่องจากเกรงว่าข้อตกลงระหว่างบริษัทกับพนักงานขับรถจะกระทบต่อการมาทำงาน ของตน ในการเจรจาดังกล่าวได้มีการโชว์แผ่นป้ายตามรูปภาพที่ได้ลงไว้ แต่ไม่ได้มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ เกิดขึ้น การเจรจาดำเนินไปอย่างเรียบร้อยและสิ้นสุดลงประมาณ 10 โมงเช้า โดยบริษัทยินยอมตามข้อเสนอของพนักงานขับรถบางส่วน หลังจากนั้นประมาณ 11 โมงพนักงานที่เข้าประชุมก็แยกย้ายกลับเข้าทำงานตามปกติ บริษัทได้ทำบันทึกรายงานการประชุม ลงนามยอมรับ และแจ้งให้พนักงานทราบโดยทั่วกันแล้ว ส่วนประเด็นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำที่มีบางสื่อรายงานว่าบริษัทจ่ายต่ำ กว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดนั้น บริษัทได้ชี้แจงว่าไม่เป็นความจริงแต่ประการใด ในความเป็นจริงแล้วบริษัทจ่ายสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดใน ปัจจุบัน ส่วนรายละเอียดในข่าวที่ลงผิดพลาดนั้น น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดของผู้ให้ข่าว ในส่วนที่บางสื่อเสนอข่าวว่าบริษัทไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของ รัฐนั้น บริษัทได้ชี้แจงว่าบริษัทให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการขอเข้าตรวจสถานประกอบการ ส่งเอกสาร หรือความร่วมมืออื่นๆ นอกจากนั้น บริษัทยังได้รับเลือกให้เป็นโรงงานสีขาวตามมาตรฐานของกระทรวงแรงงาน และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการตรวจแรงงานต่างด้าวทุกครั้ง (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 21-6-2555) พนักงานรง.ผลไม้กระป๋องประจวบฯประท้วงฝ่ายบริหารฯ กลุ่มพนักงานโรงงานผลิตผลไม้กระป๋อง บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ตั้งอยู่ ตำบลหนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กว่า 3,000 คน นำโดยนายเกียรติสยาม ยินดีสังข์, นายเจือ จาดศรี ,นายอุทัย ศรีสม พนักงานขับรถ ได้นัดหยุดงานรวมตัวทำการประท้วงการบริหารงานของฝ่ายบริหาร ที่ด้านหน้าบริเวณหน้าโรงงาน พร้อมทั้งยืนยันว่าหากฝ่ายบริหารไม่ยอมรับข้อเสนอ พนักงานทั้งหมดจะยังไม่กลับเข้าทำงาน นายเจือ จาดศรี กล่าวว่า พวกตนได้รวมตัวกับมาตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับความเดือดร้อน จากมาตรการการงดจ่ายค่าน้ำมันรถรับ-ส่ง พนักงาน หากไม่สามารถรับส่งพนักงานได้ตามจำนวนที่กำหนด รวมทั้งราคาค่ารถที่จ่ายให้ก็ขัดกับสภาพปัจจุบันที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูง ขึ้น ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นมานานกว่า 2 ปีมาแล้ว หลังจากที่ผู้บริหารคนเก่าเกษียนอายุไป และมีผู้บริหารคนใหม่เข้ามา ปัญหาดังกล่าวเริ่มสร้างความเดือดร้อนเมื่อผู้บริหารรายใหม่เข้ามา ซึ่งมีการจ่ายค่าน้ำมันขาไปและขากลับของคนงานต่อคนเพียง 15 บาทเท่านั้น และหากวันไหนรถรับส่งพนักงานมีพนักงานโดยสารมาไม่ถึง 10 คน ก็จะไม่มีการจ่ายเงินให้ ทำให้ผู้ที่ขับรถ รับส่ง ไม่สามารถมาส่งพนักงานได้ และพนักงานก็ไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้เช่นกัน เนื่องจากไม่คุ้มค่า อีกทั้งราคาที่จ่ายให้ขัดต่อราคาค่าน้ำมันและค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง ซึ่งปัจจุบันทางโรงงานอ้างอิงราคาน้ำมันกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังมีการเรียกร้องในข้ออื่นๆที่ส่งผลกระทบต่อพนักงานอีกหลายข้อ ดังนี้คือ "การรับส่งพนักงานของคนรถให้คิดอัตราเฉลี่ยต่อวิก โดยการกำหนดให้พนักงานต้องมาทำงานไม่ต่ำกว่า 48 คนต่อวิก แต่ถ้ามาไม่ถึงให้ทางบริษัทตัดค่าน้ำมันได้โดยยึดหลักเฉลี่ยวันละ 7 บาทต่อคน แต่จะต้องไม่ตัดค่าหัว ขอค่าล่วงเวลาคนขับรถในส่วนที่เกินจาก 2 ชั่วโมงไปแล้วโดยคิดชั่วโมงละ 30 บาท เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น นอกจากนี้แล้วการทำสัญญาจ้างของบริษัทกับคนรถ จะต้องให้คนรถเข้าร่วมในการร่างสัญญาจ้างละจะต้องมีการเซ็นสัญญาว่าจ้างทุก ครั้งที่เปิดฤดูการผลิตและจะต้องต่อสัญญาออกไปทุกครั้ง และประการสุดท้าย ขอให้ออกใบสลิปค่าหัวคนงานและค่าน้ำมันคนรถโดยการแยกค่าหัวและน้ำมันออกจาก กันทุกครั้งไป ผู้สื่อข่าวรายงานต่อไปว่า การประท้วงของกลุ่มคนงานยืดเยื้ออยู่กว่า 3 ชั่วโมง จนกระทั่ง ผู้บริหารของทางโรงงานฯ ได้เรียกตัวแทนคนงานรวม 5 คน เข้าไปเจรจาตกลง ซึ่งเจรจาใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง จากนั้นตัวแทนได้ออกมาแจ้งว่า ทางผู้บริหารได้รับข้อเสนอของกลุ่มผู้ประท้วง แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากไม่มีการยืนยันที่ชัดเจน หรือมีการลงลายลักษณ์อักษร และได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ ผู้บริหาร ออกมาตกลงและเจรจา ต่อหน้าผู้สื่อข่าว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากผู้บริหารทั้งสอง พร้อมกับสั่งเจ้าหน้าที่ รปภ.ห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนายอนุวัช เต็มชัย ปลัดอำเภอหัวหิน ที่เดินทางมาหาข้อเท็จจริง เข้าไปภายในเขตโรงงานโดยเด็ดขาด ทำให้พนักงานส่วนใหญ่ยังไม่กลับเข้าทำงานตามปกติ และยืนยันว่าหากยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจะยังไม่กลับเข้าทำงาน (เนชั่นทันข่าว, 21-6-2555) สาธารณสุขคลัง-แรงงานถกแก้กองทุนให้เสมอภาค ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี งดจัดรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน" แต่ได้มอบหมาย ให้นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แจงรายละเอียดหลักประกันสุขภาพ ดำเนินรายการโดย นายธีรัตถ์ รัตนเสวี นายวิทยา กล่าวว่า นโยบายเรื่องการดูแลเรื่องสุขภาพของพี่น้องประชาชนนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ดูแลข้อเท็จจริงว่า ทำอย่างไรให้ใช้สิทธิ์จาก 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนข้าราชการพลเรือน, กองทุนหลักประกันสุขภาพ และกองทุนประกันสังคม ให้เกิดความเท่าเทียมกัน ไม่เหลื่อมล้ำกัน โดยมีกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และกระทรวงสาธารณสุข มาบูรณาการเพื่อทำงานร่วมกัน โดยใช้ทั้ง 3 สิทธิ์ ได้อย่างเสมอภาค อย่างกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์ได้ทันที เพียงแค่มีบัตรประชาชนก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลแล้ว "นายกรัฐมนตรียังมอบหมายในส่วนเรื่องโรคเอดส์ที่ต้องดูแลเรื่องการรักษา ให้มีความเสมอภาค เอดส์ที่ต้องดูแลเรื่องการรักษาให้มีความเสมอภาค โดยต้องทำให้ 3 กองทุนมีมาตรฐานเดียวกัน เมื่อประชาชนเข้ารับการรักษาและเมื่อดูแลการรักษาแล้ว จะต้องดูแลเรื่องการป้องการเพื่อไม่ให้เกิดผู้ป่วยโรคเอดส์รายใหม่ ซึ่งตรงนี้ทางกระทรวงก็จะนำมาสรุปเพื่อหาข้อมูลที่ชัดเจนในการดำเนินการไปใน ทิศทางเดียวกัน หาข้อที่ดีที่สุดเพื่อดูแลสุขภาพของคนไทย ส่วนการรักษาโรคไต ไตวาย ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมาก และขั้นตอนการรักษาค่อนข้างยุ่งยากไม่ว่าจะเป็นการล้างไต การดูแลก็ดี การพบหมอ การล้างช่องท้อง การล้างผ่านเส้นเลือด ตรงนี้นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ขอให้ดูแลผู้ป่วยโรคนี้โดยใช้ทั้ง 3 สิทธิ์ได้อย่างครอบคลุม" นายวิทยา กล่าว ส่วนกรณียาที่ใช้ในการรักษาที่ประชาชนเข้ารับการรักษาและมีการเปลี่ยน สิทธิ์ หรือเปลี่ยนโรงพยาบาลรักษาและกลัวว่าจะไม่ได้ยาเดิมนั้น ทางกระทรวงเล็งเห็นถึงความสำคัญและได้มีการตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องยาโดย รวมทั้ง 3 กองทุน หาข้อสรุปว่า ควรซื้อยาลักษณะแบบไหน อย่างไร เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานเดียวกัน "ในบัญชียาหลักจะมีการพูดคุยกัน เพื่อแสวงหายาที่เหมาะสมและราคาที่เหมาะสม เพื่อเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน อีกทั้งจะมีการกระตุ้นให้ประชาชนนำยาเก่าหมดอายุแล้วมาแลกกับไข่ เนื่องจากยาที่ได้ไปใช้ไม่หมด และมีจำนวนมาก ต้องแก้ปัญหาโดยไม่นำยาเก่าที่หมดอายุมาใช้อีกและส่งผลให้สุขภาพเสื่อมลง ซึ่งช่วยลดงบประมาณ แต่ยืนยันไม่ลดคุณภาพของยาแน่นอน" นายวิทยา กล่าว (บ้านเมือง, 23-6-2555) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
อัลจาซีร่าตีแผ่ชีวิตแรงงานพม่าตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ที่โรงงานในกาญจนบุรี Posted: 23 Jun 2012 09:14 PM PDT "อัลจาซีร่า" เผยชะตากรรมแรงงานพม่าหลบหนีออกมาจากแรงงานโรงงานแปรรูปผลไม้ใน จ.กาญจนบุรี ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ขณะที่ในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เผยรายงานการค้ามนุษย์ล่าสุดไทยถูกจัดไว้ในบัญชีที่ 2 หรือกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามอง รายงาน "Migrant workers exploited in Thailand" ของอัลจาซีร่า ล่าสุดตีแผ่ชีวิตแรงงานชาวพม่าคนหนึ่งที่หนีออกมาจากโรงงานใน จ.กาญจนบุรี ซึ่งเขาร้องเรียนว่าตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ (ที่มา: Aljazeera/youtube.com)
สำนักข่าวอัลจาซีร่า รายงานเมื่อ 23 มิ.ย. ว่า รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปราบการค้ามนุษย์ หลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเผยแพร่รายงานเรื่องการค้ามนุษย์ฉบับล่าสุดโดยวิจารณ์ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่ามีการปฏิบัติเพียงเล็กน้อยเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้จากข้อมูลขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน แรงงานข้ามชาติซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า มักเข้ามาทำงานในโรงงานไทยซึ่งพวกเขาจะถูกบังคับให้ทำงานภายใต้เงื่อนไขที่น่าตกใจ และได้รับผลกระทบจากการละเมิดอย่างร้ายแรง พวกเขาจำนวนมากตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ บางส่วนของพวกเขาตกเป็นเหยื่อของภาวะผูกมัดด้วยหนี้ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาถูกนำพามา ถูกขาย และถูกบังคับให้ทำงานเพื่อนำเงินไปจ่ายส่วยให้ตำรวจและจ่ายหนี้ให้กับบริษัทที่พาพวกเขามาทำงาน โดยผู้สื่อข่าวของอัลจาซีร่า เวน เฮย์ เดินทางไป จ.กาญจนบุรี ทางตะวันตกของไทย เขาได้พูดกับแรงงานคนหนึ่งที่หนีออกมาจากโรงงานแปรรูปผลไม้แห่งหนึ่ง อัลจาซีร่า ยังรายงานว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อกล่าวหาว่าโรงงานวีต้าที่ มีการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้าให้กับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อวอลมาร์ท ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกจัดไว้ในบัญชีที่ 2 ที่ต้องจับตามองในรายงานเรื่องการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐในปีนี้ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) และหากถูกจัดไปอยู่ในบัญชีที่ 3 ซึ่งเป็นประเทศเสี่ยงเรื่องการค้ามนุษย์ ก็จะต้องเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรหลายด้านจากสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ประเทศที่มีชื่อในบัญชีลำดับที่ 2 หมายถึงประเทศที่ไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในความพยายามที่จะกำจัดการค้ามนุษย์ แต่ได้แสดงหลักฐานให้เห็นว่ากำลังดำเนินความพยายามที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเมื่อปีก่อน ในรายงานของสหรัฐอเมริกา บันทึกไว้ว่าประเทศไทยจะรอดจากการถูกลดอันดับไปอยู่ในบัญชีลำดับที่ 3 ก็ด้วยการที่รัฐบาลมีการเขียนแผนในการปฏิบัติในเรื่องดังกล่าว ที่จะสามารถช่วยให้ประเทศเข้าสู่มาตรฐานขั้นต่ำในกำจัดการค้ามนุษย์เหล่านี้ ในรายงานของสหรัฐอเมริกา ยังแนะนำประเทศไทยให้แก้ปัญหาแรงงานที่ถูกบังคับ แรงงานขัดหนี้ การที่แรงงานถูกยึดเอกสารทำงาน และการรีดไถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยังแนะนำด้วยว่า จำนวนผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์จะต้องถูกดำเนินคดีและลงโทษ รวมทั้งใช้มาตรการเดียวกันนี้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งคอรัปชั่นด้วย ทั้งนี้ตามกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทยในปี 2551 ผู้ที่ละเมิดจะต้องระวางโทษจำคุก 4 ถึง 10 ปี แต่ในทางปฏิบัติมีจำนวนน้อยมากที่จะถูกจับกุมและดำเนินคดี อัลจาซีร่า ทิ้งท้ายในรายงานว่า รัฐบาลไทยสัญญาว่าจะมีแผนการปราบปรามการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หลายคนก็พิจาณาว่าทางการไทยไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองพอที่จะจัดการการคอรัปชั่นที่แพร่ขยายในหมู่เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานอื่นๆ
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Thailand vows to tackle human trafficking, Aljazeera, Last Modified: 23 Jun 2012 19:53 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
แพทย์ชนบทเผยขบวนการเขมือบงบเครื่องมือแพทย์ 502.6 ล้านบาท บางรายการสาธารณสุขอัพราคาสูงกว่าปกติ 100 % Posted: 23 Jun 2012 08:59 PM PDT 24 มิ.ย. 55 - จากการที่ชมรมแพทย์ชนบทยื่นเอกสารหลักฐานให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบการอนุมัติจัดซื้อเครื่องซักผ้าอัตโนมัติแบบอุโมงค์ที่ตั้งราคาสูงถึงเครื่องละ 39.3 ล้านบาท และเครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมในสภาพจริง (เครื่องตรวจ DNA) เครื่องละ 8.5 ล้านบาท โดยระบุว่าสูงกว่าราคาจัดซื้อจริงที่ 3.58 ล้านบาท รวมทั้งรายการครุภัณฑ์ทางการแพทย์อื่นๆ ในเงินงบลงทุนค่าเสื่อมของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 502.6 ล้านบาท ที่เป็นอำนาจอนุมัติของกระทรวงสาธารณสุขนั้น นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทเปิดเผยว่าหลังจากที่ชมรมและผู้อำนวยการ รพ.ชุมชน จำนวนหนึ่งได้ยื่นเอกสารหลักฐานให้ ปปช. และผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 19 มิย. ที่ผ่านมา เพื่อให้ตรวจสอบการชะลออนุมัติเครื่องมือทางการแพทย์ในโครงการไทยเข้มแข็งเดิม วงเงินสามพันกว่าล้านบาทที่มีข่าวภายในว่ามีการถ่วงเวลาให้ผู้ขายไปเคลียร์เงินทอนก่อนและการอนุมัติงบลงทุนค่าเสื่อมจำนวน 502.6 ล้านบาทที่อยู่ในอำนาจอนุมัติของกระทรวงสาธารณสุขและพบว่ามีหลายรายการตั้งและอนุมัติราคาสูงกว่าตลาดปกติถึง 100 % “ข่าวการเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้มีหลาย รพ.และกลุ่มคนรักกระทรวงสาธารณสุข ได้ทยอยส่งเอกสารหลักฐานเปิดโปงขบวนการหาเงินทอนจากงบประมาณบริการคนไข้ดังกล่าวมายังชมรมแพทย์ชนบทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนว่าหลังจากที่กลุ่มผลประโยชน์เอกชนและฝ่ายการเมืองได้เข้ายึดครองเสียงข้างมากในคณะกรรมการ สปสช. แล้วได้มีการส่งคนใกล้ชิดซึ่งวงการภายในเรียกกันว่า “ไอ้เสือโหย” ร่วมกับพ่อค้าในเครือข่ายเรียกประชุมผู้บริหาร รพ.บางแห่ง ในภูมิภาคที่โรงแรมแห่งหนึ่งพร้อมส่งรายการและราคาเครื่องมือทางการแพทย์ให้ผู้บริหาร รพ.ทำคำขอตามแบบฟอร์มที่กำหนดไว้แล้ว เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขและเขตตรวจราชการบางเขตอนุมัติงบประมาณ โดยมีการอ้างว่าผู้มีอำนาจมากในกระทรวงได้เตรียมงบลงทุนค่าเสื่อมจำนวนกว่า 500 ล้านบาทและงบช่วยน้ำท่วมจำนวนมากกว่า 300 ล้านบาทไว้แล้ว” นพ.อารักษ์ กล่าว อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ล่าสุด นพ.ไพจิตร วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามอนุมัติครุภัณฑ์จากงบลงทุนค่าเสื่อมแล้วจำนวน 307.7 ล้านบาทเมื่อปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา จัดสรรให้รพ.ต่างๆ ทั้งที่ได้ทำคำขอเข้ามาและไม่ได้ขอโดยครุภัณฑ์ดังกล่าวมีหลายรายการที่มีปัญหาความเหมาะสมหรือ รพ.ไม่มีความจำเป็นต้องใช้และมีราคาสูงกว่าตลาดปกติมาก เช่นจัดสรรเครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมในสภาพจริง (เครื่องตรวจ DNA) ที่ส่วนใหญ่ใช้กับ รพ.ในสถาบันการแพทย์ชั้นสูง ในราคาเครื่องละ 8.5 ล้านบาทให้กับ รพ.พระนครศรีอยุธยา รพ.พระนั่งเกล้า รพ.นครพิงค์ รพ.ราชบุรี รพ.สรรพสิทธิประสงค์ และ รพ.หาดใหญ่ในราคาที่สูงกว่าที่มหาลัยนเรศวรเพิ่งทำสัญญาจัดซื้อเครื่องดังกล่าวกับบริษัทไบโอราด แลมบอราทอรีส์ จำกัด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่เพิ่งผ่านมาในราคาเพียง 3.38 ล้านบาท สูงต่างกันกว่าเท่าตัว นพ.อารักษ์ เปิดเผยต่อว่า จากเอกสารที่ได้รับจากรพ.ต่างๆ และภายในกระทรวงสาธารณสุขยังมีการอนุมัติเครื่องมือทางการแพทย์ราคาสูงอีกหลายรายการที่มีการประสานงานกันอย่างเป็นขบวนการจากผู้ใกล้ชิดผู้มีอำนาจภายในกระทรวงสาธารณสุข ออกเดินสายบังคับให้รพ.ต่างๆ ทำคำขอตามแบบฟอร์มที่บริษัทเอกชนกำหนดไว้แล้วเหมือนกรณีทุจริตยาในอดีต หรือกรณีงบไทยเข้มแข็งสมัยรัฐบาลที่แล้วที่ถูกสังคมตรวจสอบอย่างหนักจนมีการทบทวนรายการครุภัณฑ์การแพทย์เหลือเฉพาะเท่าที่จำเป็นและลดราคาประหยัดงบประมาณได้หลายพันล้านบาท อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวว่า ขบวนการเขมือบงบลงทุนค่าเสื่อมกว่า 500 ล้านบาทและงบช่วยน้ำท่วมอีก 300 กว่าล้านบาททำกันอย่างโจ่งแจ้ง รีบร้อน คล้ายกับผู้มีอำนาจมีเวลาจำกัดโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายและประชาคมภายในกระทรวงสาธารสุขที่มีระบบตรวจสอบที่ไม่กลัวต่ออำนาจมืดทางการเมืองเหมือนกระทรวงอื่นๆกลัวกัน ดูตัวอย่างการอนุมัติเครื่องซักผ้าอัตโนมัติแบบอุโมงค์ที่ตั้งให้ รพ.ตรัง จำนวน 1 เครื่องราคา 39.3 ล้านบาท โดยไม่คำนึงถึงขนาดของ รพ. ความจำเป็นต้องใช้งานและภาระการบำรุงรักษาซ่อมแซมในอนาคตว่าคุ้มค่าหรือไม่ และไม่เกรงกลัวว่าเครื่องดังกล่าวเคยตั้งที่ รพ.วชิระพยาบาล กรุงเทพมหานครในราคา 34.0 ล้านบาท และถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สอบและเปิดเผยเป็นข่าวว่ามีมูลเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ “ขบวนการหาประโยชน์จากงบเครื่องมือแพทย์ของ รพ.ต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข ทำกันโดยไม่รู้สึกว่าเป็นงบประมาณสำหรับบริการผู้ป่วย สำหรับคนยากคนจน สำหรับรพ.ที่ถูกน้ำท่วม ทำกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นขบวนการเหมือนอย่างที่อดีต รมว.สาธารณสุขที่ต้องคดีจำคุกกรณีทุจริตยา เคยเปิดเผยว่าทุจริตในวงราชการ จะขึ้นจากวงจรอุบาทว์ ที่เริ่มจากพ่อค้าที่หวังกำไรโดยมิชอบเป็นผู้เสนอ และผู้มีอำนาจทางการเมืองที่แสวงหาประโยชน์เป็นผู้สั่งผ่านคนใกล้ชิด โดยมีข้าราชการประจำระดับสูงที่หวังเกาะตำแหน่งนานๆ หรือผู้ที่วิ่งเต้นซื้อตำแหน่งใหญ่ๆ เป็นผู้สนอง เมื่อครบองค์ประกอบทั้งสามอย่างแล้ว ขบวนการทุจริต กินคำใหญ่ๆจากงบบริการผู้ป่วยจึงเกิดขึ้น ซึ่งสังคม สื่อมวลชน ต้องตรวจสอบ โดยชมรมแพทย์ชนบท ขอเรียกร้องทุกภาคส่วนและพรรคการเมืองฝ่ายค้านเข้ามาตรวจสอบขบวนการทุจริตนี้อย่างจริงจัง” นพ.อารักษ์ กล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
เผยเด็กมุสลิม 250,000 เรียนตาดีกา ศอ.บต.ทุ่ม 100 ล้านตั้งศูนย์กลางเรียนรู้ Posted: 23 Jun 2012 08:49 PM PDT จัดใหญ่ มหกรรมตาดีกาปัตตานี โชว์ความสามารถเด็ก ศอ.บต.เผยเยาวชนมุสลิม 250,000 แห่เข้าเรียน พร้อมทุ่ม 100 ล้าน ตั้งศูนย์กลางการเรียนรู้ “อินติฟาดะห์” ตัวแทนไทยแข่งอานาชีดระดับโลก กวีมลายู – บาบอนูรุดดีน ปาดังรู โต๊ะครูปอเนาะในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา ในฐานะนักกวีมลายูนูซันตารา ขึ้นเวทีอ่านบทกวีภาษามลายูเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน ในงานมหกรรมตาดีกาจังหวัดปัตตานี เมื่อ 23 มิถุนายน 2555 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 23 มิถุนายน 2555 ที่สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี มูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดงานมหกรรมตาดีกาจังหวัดปัตตานี ครั้งที่ 31 มีครู นักเรียนตาดีกา (ศูนย์การสอนศาสนาอิสลามขั้นพื้นฐาน) ในจังหวัดปัตตานี และนักศึกษาชมรมส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี เข้าร่วมกว่า 1,000 คน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวเปิดเผยระหว่างเปิดงานว่า ศอ.บต.พยายามส่งเสริมการตั้งศูนย์กลางเรียนรู้ที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส โดยมีลักษณะคล้ายตาดีกา ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็ก โดยให้งบประมาณที่จังหวัดนราธิวาส 100 ล้านบาท โดยอาจจะเชิญครูตาดีกาหรือนักปราชญ์ในท้องถิ่นมาระดมความคิดว่า ทั้งสองศูนย์การเรียนรู้ควรจะรวบรวมสิ่งใดเข้าไปบ้าง พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อไปว่า ตนอยากให้กำลังใจกับครูผู้สอนและนักเรียนตาดีกา เพราะหลายปีที่ผ่านมาอาจรู้สึกหว้าเหว่ หากเปรียบเทียบงบประมาณที่ตาดีกาได้รับกับการศึกษาระบบอื่นพบว่า ตาดีกาได้รับการสนับสนุนไม่มากนัก แต่ผู้ปกครองยังมั่นใจและนิยมส่งลูกหลานเข้าเรียน ขณะนี้มีศูนย์ตาดีกาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2,038 ศูนย์ มีนักเรียนกว่า 250,000 คน พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า สิ่งที่ตนทำอาจเป็นส่วนน้อยในการส่งเสริมค่าตอบแทนครูผู้สอน ส่งเสริมให้ตาดีกาสามารถบริหารได้ แต่ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้ครูผู้สอนได้รับการพัฒนา ได้รับการอบรม ไม่ลาออกกลางคัน เพราะอนาคตจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ที่การศึกษาและเยาวชน ทั้งนี้มหกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก ศอ.บต. โดยกิจกรรมในงาน ประกอบด้วย การประกวดขับร้องอานาซีด ประกวดการปราศรัย ประกวดการอ่านปาฐกถา การอ่านบทกวีภาษามลายูและการอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านของเด็กนักเรียนตาดีกาทั้งชายและหญิงจาก 15 ศูนย์ในจังหวัดปัตตานีที่ผ่านการคัดเลือกในระดับอำเภอ นอกจากนี้ยังมีโชว์การขับร้องอานาชีดของกลุ่มอินติฟาดะห์ ซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทยที่จะเข้าประกวดการขับร้องอานาชีดระดับโลก ในวันที่ 29 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2555 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียด้วย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
กวี จงกิจถาวร: มองอาเซียนผ่านมุม‘ข่าว’(จบ) สื่อยังไม่เสรี-นักข่าวมองแค่ตัวเอง Posted: 23 Jun 2012 08:17 PM PDT กวี จงกิจถาวร ประธาน SEAPA บรรยาย“มองประชาคมอาเซียนจากมมุมข่าว” อธิบายเหตุกลไกสิทธิมนุษยชนล่าช้า ชี้ต้องมีกลไกแก้ข้อพิพาท สร้างจุดยืนร่วม ภาคประชาสังคมช่วยกระตุ้น เผยดัชนีชี้วัด เสรีสื่อยังไม่สมบูรณ์ ปัญหานักข่าวอาเซียนมองแค่ประเทศตัวเอง กวี จงกิจถาวร บรรณาธิการอาวุโสเครือเนชั่นมัลติมิเดียกรุ๊ป และประธาน South Asian Press Association (SEAPA) กวี จงกิจถาวร บรรณาธิการอาวุโสเครือเนชั่นมัลติมิเดียกรุ๊ป และประธาน South Asian Press Association (SEAPA) บรรยายพิเศษ “มองประชาคมอาเซียนจากมมุมข่าว” ในโครงการอบรมนักข่าวโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ครั้งที่ 1/2555 ณ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ บ้านพักรับรอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 กลไกสิทธิมนุษยชนที่ล่าช้า อาเซียนเป็นภูมิภาคเดียวที่ไม่มีกลไกการป้องกันเรื่องสิทธิมนุษยชน จนกระทั่งปี ค.ศ.2009 และยังไม่มีการตรวจสอบ ติดตาม สืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำไมจึงล่าช้ามาว่า 15 ปี เพราะไม่มีฉันทามติ ไทยพยายามส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในระดับสากล ประเทศไทยเขียนรายงานประจำปีเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อองค์การประชาชาติได้ดีมากในบรรดาประเทศด้อยพัฒนา เพราะไทยเอาเครือข่ายภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ในอาเซียนไม่มีรายงานประจำปีเรื่องสิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิก แต่มีรายงานประจำปีที่ประเทศสมาชิกส่งให้สหประชาชาติ เพราะฉะนั้นต้องสร้างกลไกป้องกันเรื่องสิทธิมนุษยชนของอาเซียนในระดับคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจชัดเจน ทำไมจึงมีช่องว่างระหว่างบรรดาสมาชิกประชาคมอาเซียนกับสหประชาชาติ แสดงว่าสมาชิกประชาคมอาเซียนยอมต่อกัน ในกฎบัตรอาเซียน มาตรา 14 ระบุว่า จะต้องส่งเสริมปกป้องสิทธิมนุษยชน คนธรรมดาอ่านแล้วไม่รู้ว่า หมายความว่าอย่างไร แต่คนที่ติดตามเรื่องประชาคนอาเซียน จะรู้ความต่างระหว่างส่งเสริมกับปกป้อง หรือ ปกป้องกับส่งเสริม เช่นคำว่า ผมรักคุณ ผมจะสนับสนุนคุณ เท่ากับว่าผมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของคุณ แต่หากผมบอกว่า ปกป้องสิทธิมนุษยชน คุณจะต้องเขียนรายงาน จะต้องเข้าไปสืบสวน ประชาคมอาเซียนจึงบอกว่า ส่งเสริมไปก่อนค่อยปกป้องที่หลัง หากปกป้องอาเซียนจะต้องส่งคนไปดูกรณีเหตุการณ์กรือเซะ หรือให้มาเลเซียส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดู ประเทศก็คงไม่ยอม หรือจะให้ไปดูเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศมาเลเซีย ประเทศมาเลเซียก็ไม่ยอม นี่คือเทคนิคของประชาคมอาเซียน
ต้องมีกลไกแก้ไขข้อพิพาท ผู้สื่อข่าวต้องจับตาดูสินค้าไทยในประชาคมอาเซียนให้มาก ปัญหาเศรษฐกิจการเงินโลกมาอันดับหนึ่ง ความมั่นคงด้านพลังงานอันดับสอง นักข่าวจะต้องรู้ปัญหาภายในประชาคมอาเซียนและภายนอกประชาคมอาเซียนด้วย เช่น ปัญหาสภาวะโลกร้อน การก่อการร้าย โรคระบาด อย่างกรณีการก่อการร้ายของอิหร่าน ไม่มีใครเขียนได้ตรงประเด็น เพราะคิดว่าไม่มีใครคิดร้ายต่อประเทศไทย เมื่อเกิดระเบิดที่กรุงเทพฯ ต่างก็ด่าทอกัน โดยไม่เข้าใจว่า การเมืองของการก่อการร้ายคืออะไร ประเทศไทยออกมาปฏิเสธ ทั้งๆ รัฐบาลน่าจะบอกว่า ไม่ต้องกลัว เรามีความพร้อมในการรับมือกับการก่อการ้ายและมีข้อมูล ประชาคมอาเซียนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกลไกการแก้ปัญหาข้อพิพาททางเมือง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการยุติข้อพิพาท จึงต้องพึ่งสหประชาชาติ เช่น มาเลเซียมีข้อพิพาทกับอินโดนีเซีย เรื่องเกาะลีกีตัน สิงคโปร์มีปัญหาเรื่องเกาะ Petro Banka กับมาเลเซีย ต่างก็ใช้ศาลโลกในการไกล่เกลี่ย แสดงว่าประชาคมอาเซียนมีปัญหาในการแก้ไขข้อพิพาทของตัวเอง ฉะนั้นประชาคมอาเซียนต้องเพิ่มประเด็นการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างสมาชิกประชาคมอาเซียนด้วย เพราะเป็นประเด็นสำคัญในอนาคต ซึ่งประชาคมอาเซียนจะต้องมีประเด็นความมั่นคงและนโยบายการทูต ประเด็นนี้มักมีคนเปรียบเทียบกับสหภาพยุโรปว่า เวลาพูดจะเหมือนๆ กัน แต่ประชาคมอาเซียนพูดอะไรไม่เคยเหมือนกัน เพราะแต่ละคนมีความภาคภูมิใจในอธิปไตยของตนเอง ไม่ยอมต่อกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้จุดยืนของประชาคมอาเซียนอ่อนแอลง หากเป็นประชาคมแล้ว อาเซียนจะต้องพูดให้เหมือนกันหมด ตัวอย่างเช่น กรณีพิพาทเรื่องหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ประเทศที่พูดเยอะที่สุด คือ เวียดนามกับฟิลิปปินส์ ซึ่งมีข้อพิพาทในเรื่องดังกล่าว แต่ประเทศไทยไม่เคยพูดเรื่องนี้เลย แต่ในปี ค.ศ.1995 ประเทศไทยมีการพูดประเด็นนี้อยู่บ้าง เพราะเป็นประเด็นหนึ่งเดียวด้านความมั่นคง หากประชาคมอาเซียนมีจุดยืนน้อย ยิ่งไม่มีอำนาจต่อรอง แสดงว่าไม่มีความสามัคคี โอกาสที่จะเป็นหนึ่งเดียวในด้านความมั่นคง แทบจะไม่มีเลย เพราะประเทศสมาชิกอาเซียนหวงตนเองมาก ไม่อยากให้ประชาธิปไตยของประเทศตนเองไปตกอยู่กับประชาคมอาเซียน
ภาคประชาสังคมกับอาเซียน ภาคประชาสังคมต้องกระตือรือร้น ช่วยผลักดันจากรากหญ้าสู่ผู้นำในการสร้างประชาคมอาเซียนให้ได้ ให้คุณและโทษแก่สมาชิกประชาคมอาเซียนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียนอย่างเคร่งครัด มีระบบการเมืองเปิด และเป็นประชาธิปไตย เคารพการเลือกตั้ง ยุติธรรม สามารถตรวจสอบได้ อย่างที่ประเทศพม่า กำลังดำเนินการอยู่ ครึ่งหนึ่งของสมาชิกประชาคมอาเซียนไม่เคยเชิญนักสังเกตการณ์จากต่างประเทศเข้ามา เพราะฉะนั้นประเทศพม่า ทำให้ประเทศอาเซียนต่างๆไม่สบายใจ ทั้งเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน และเคารพบทบาทของภาคประชาสังคม จึงจะต้องมีกองกำลังรักษาสันติภาพของประชาคมอาเซียน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี
ความฝันของประชาคมอาเซียน ความใฝ่ฝันของประชาคมอาเซียนที่จะยกระดับขากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) มาเป็นสหภาพอาเซียน (ASEAN Union) คงเป็นไปได้ยาก ขณะที่หนังสือเดินทางอาเซียน คิดว่าต้องรออีก 5 ปีข้างหน้า การเข้า - ออกอย่างเสรี สำหรับสมาชิกประชาคมอาเซียนต้องรออีก 10 ปีข้างหน้า ส่วนเงินสกุลอาเซียน เลิกคิดไปได้เลย เพราะประสบการณ์ของสหภาพยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโรได้ยกเลิกไปแล้ว เพราะความไม่พร้อม ส่วนการตั้งสภาอาเซียนยิ่งลำบาก และสิทธิมนุษยชนของประชาคมอาเซียนเลิกหวังไปเลย
ดัชนีชี้วัด เสรีสื่อยังไม่สมบูรณ์ รายงานของ Freedom House บอกว่า ในภูมิภาคอาเซียนไม่มีสื่อใดๆ ที่มีความอิสรเสรีที่สมบูรณ์เลย ประเทศที่มีเสรีภาพมากๆ คือฟิลิปปินส์ มีเสรีภาพมาก คือไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย มีเสรีภาพบ้างคือ มาเลเซีย พม่า มีเสรีภาพน้อยคือ สิงคโปร์ บรูไน มีเสรีภาพน้อยมากคือ เวียดนาม ลาว เกณฑ์ในการวัดเสรีภาพระหว่างต่างชาติกับอาเซียนแตกต่างกัน ชาวต่างชาติวัดเสรีภาพด้วยการวัดว่า มีเสรีภาพหรือไม่ แต่ประชาคมอาเซียนวัดว่า มีเสรีภาพน้อยหรือไม่มีเสรีภาพ ดัชนีสื่อ เป็นเรื่องที่แปลก เพราะประเทศที่มีเสรีภาพมากๆ ประเทศนั้นจะมีการลงทุนมาก ถือว่ามีความโปร่งใสทางด้านข้อมูล แต่ประเทศไทยกลับคิดว่า การที่สื่อมีความเสรีภาพมากๆ ทำให้มีกรณีของการหมิ่นสถาบันมากขึ้น
ปัญหาของนักข่าวอาเซียน ปัญหานักข่าวในประชาคมอาเซียนเป็นการเล่นพรรคเล่นพวก เขียนแต่เรื่องของประเทศตนเอง ไม่มีความรู้สึกในชะตาความเป็นประชาคมอาเซียน เวลาคนไทยเขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประชาคมอาเซียน ไม่เคยเขียนว่า องค์กรประชาคมอาเซียนและอนาคตจะเป็นอย่างไร นักข่าวประเทศมาเลเซียก็เขียนเฉพาะประเด็นของประเทศมาเลเซีย ไม่มีความรู้สึกความเป็นประชาคมอาเซียนร่วมกัน ฉะนั้นนักข่าวต้องคำนึงว่า ประชาคมอาเซียนเป็นองค์กรร่วม ไม่ใช่เขียนเพียงว่า ใครจะได้อะไรจากการประชาคมอาเซียนอย่างเดียว ปัญหาของนักข่าว คือ กลัวการแทรกแซง เล่นตามประเด็นของทางการอย่างเดียว ไม่สนใจข่าวข้ามชาติทั้งๆ ที่มีผลต่อประเทศตัวเอง โดยเฉพาะบางประเทศที่ไม่ยอมที่จะให้ใครมาเขียนเรื่องภายในประเทศของตน นักข่าวไม่เข้าใจประวัติศาสตร์และเรื่องอื่นๆ ของประชาคมอาเซียน จึงไม่มีประวัติร่วม ต่างจากสภาพยุโรปที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน นักข่าวดูถูกประเทศเพื่อนบ้าน มีความคิดแบบขาวดำ คิดว่า ประเทศของตัวเองดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน นักข่าวน่าจะส่งเสริมอัตลักษณ์และความรู้สึกร่วมกันในความเป็นประชาคมอาเซียน ส่งเสริมประชาคมอาเซียนแบบวิธีบูรณาการ ส่งเสริมความโปร่งใส่ในการเข้าถึงข้อมูลในอาเซียน ปัจจุบันนักข่าวที่เขียนข่าวในกรอบอาเซียนมีน้อยมาก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
ซีเรียตั้งคณะรมต. ชุดใหม่ แม้ยังเกิดความรุนแรงในประเทศ Posted: 23 Jun 2012 07:37 PM PDT อัสซาด ปธน. ซีเรียตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2012 สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลซีเรี การจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีขึ้ สถานีโทรทัศน์ของซีเรียรายงานว่ โทรทัศน์ซีเรียยังได้เปิดเผยอี โดย คาดรี จามิล คนกลางที่บอกว่าตนเป็นปากเสี ดร.ญิฮาบ ซึ่งเคยเป็นรมต. กระทรวงเกษตรมาก่อน เป็นสมาชิกพรรคบาธของอัสซาดที่ ตำแหน่ง รมต. ระดับสูงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ภั ก่อนหน้านี้อัสซาดเคยอ้างว่า การเลือกตั้งส.ส. ในวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่ การสังหารยังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีการประกาศคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้แล้วยังมีรายงานเหตุรุ ในเมืองฮามา มีรายงานว่าประชาชนสองรายถูกสั กรณีเครื่องบินตุรกี ในวันเดียวกันประธานาธิบดีตุรกี อับดุลลาห์ กูล กล่าวถึงกรณีที่เครื่องบิ ฝ่ายซีเรียเองก็ยืนยันว่ สำนักข่าว BBC รายงานว่า แม้ตุรกีและซีเรียที่ต่างก็เป้ จากรายงานข่าวของสำนักข่ "เป็นเรื่องปกติที่เครื่องบิ กูลบอกอีกว่าจะมีการสืบสวนว่ โจนาธาน เฮด นักข่าว BBC รายงานจากอิสตันบูล บอกว่ารัฐบาลตุรกีจริงจังมากกั จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. กองทัพตุรกีกล่าวว่าพวกเขาขาดสั โดยต่อมากองทัพฝ่ายซีเรี ที่มาเรียบเรียงจาก: Syria forms government amid more violence, Aljazeera, 23-06-2012 Turkish warplane downed by Syria 'may have crossed border', BBC, 23-06-2012 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
จะ PR ผลงานรัฐบาล 1 ปีอย่างไรให้ได้ใจประชาชน Posted: 23 Jun 2012 06:12 PM PDT ขึ้นชื่อว่า ผู้นำ ไม่ว่าใครย่อมต้องการเห็น “ผลสำเร็จ” จากฝีมือบริหารของตน โดยหวังให้ “ผลของงาน” เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมมากที่สุด จะทำได้มากน้อยแค่ไหน อยู่ที่การ “ขับเคลื่อน” อีก 2 เดือนจะครบ 1 ปีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นช่วงเวลาหนึ่งของการบริหาร น่าจะบ่งบอกอะไรได้พอสมควร ผ่าน ไม่ผ่าน สมหวัง ผิดหวัง คงจะมีโอกาสฟังการแถลงผลงานในรอบปี เชื่อว่า รัฐบาลได้เตรียมการไว้แล้ว จะมีผลงานอะไรบ้างบรรลุผลอย่างไร สมกับที่คาดหวังหรือไม่ ซึ่งชวนติดตามไม่น้อย การแถลงข่าว เป็นกลวิธีหนึ่งทางการประชาสัมพันธ์ (PR) พูดก็พูดเถอะ ว่ากันตามจริงแล้ว ประชาชน ชาวบ้านก็พอจะรับรู้รับทราบบ้างแล้วจากข่าวสารสื่อมวลชนนำเสนอในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ ยุคใหม่แล้ว ทั้งรู้จากสื่อ อีเมล์ อินเทอร์เน็ต Facebook Twitter มือถือ ฯลฯ อยากรู้อะไรให้ลูกหลานเปิดกูเกิ้ล รู้หมด ได้ดั่งใจ ชนิดที่เรียกว่า “ความรู้สั่งได้” ซึ่งรัฐบาลคงจะต้องอ่านประชาชนให้ดี มิเช่นนั้น การแถลงข่าวผลงาน อาจไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เพราะรู้แล้ว เท่ากับPRเข้าไม่ถึง และหากไม่มีอะไรใหม่ ยิ่งลำบาก จะใหม่หรือไม่ ถ้าให้ประชาชนเป็นผู้บอก ว่ารัฐบาลมีผลงานแค่ไหน สำเร็จเพียงใด เป็นประโยชน์อย่างไร เขาอาจวิพากษ์ วิจารณ์ ไม่เป็นไรถ้าเป็นพลังความคิดบริสุทธิ์ ตำหนิก็มี ที่ชมก็มาก เพราะเขาเห็น สัมผัส และเป็นผู้ใช้บริการโครงการรัฐ จริงอย่างไรก็จริงอย่างนั้น เป็นไปได้หรือไม่ อยู่ที่รัฐบาล หากทำได้ ก็ได้ใจ(จากประชาชน) เป็นรัฐบาลมิติใหม่ เปิดกว้างมีความคิดเห็นกันได้ ยอมรับกันได้ ทุกคนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของประเทศ ใครบิดเบือน สังคมมองเห็น หากรัฐบาลทำดี ก็ไม่มีอะไรให้ต้องกลัว รัฐบาลจะบิดเบือนก็ไม่ได้ เพราะคนไม่เชื่อ เช็คข่าวได้ ใครไม่พูดความจริงก็เสียหาย วันนี้จับโกหกไม่ยาก ต่างรู้เท่าทันด้วยข้อมูลข่าวสาร ไม่ยอมกันแล้ว ในฐานะผู้หนึ่งที่สนใจ PR มีมุมมองที่อยากนำเสนอ แลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ ผู้อ่านอาจเห็นต่าง เห็นเพิ่ม เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม และผู้ที่สนใจ ทำอย่างไรให้การแถลงผลงานในรอบปีเป็นโอกาส เป็นมูลค่าเพิ่มให้รัฐบาลและประชาชน มองในเชิงPR ออกเป็น 3 มุม คือ หนึ่ง เป็นโอกาสทบทวน ตรวจสอบ ประเมินค่างาน 1 ปีได้ผลของงานเป็นอย่างไร ได้ทำอะไรไปบ้าง เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างไร มีปัญหาอุปสรรคตรงไหน เป็นการมองอดีต สอง กำหนดอนาคต มองไปข้างหน้า ด้วยการพัฒนา แตกไลน์ และต่อยอดผลงาน ขณะที่งานใดล้าสมัยหรือหมดความจำเป็นแล้ว อาจหยุด ชะลอ ยุบเลิก ยุบรวม กระทั่งปรับเป้าหมาย ปรับนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนยิ่งขึ้น เพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิต และสังคม ซึ่งจะต้องพัฒนาแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงการกำหนดนโยบายใหม่(เพิ่มเติม)ที่ตอบโจทย์อนาคตและการเปลี่ยนแปลง สาม สื่อสารกับประชาชน ทั้งนี้ มองว่า การจะสื่อสารกับประชาชน ให้น่าสนใจ ดังนี้ 1. การแถลงผลงานรัฐบาลตามรูปแบบราชการปกติ ก็ดำเนินการไป ขณะที่ควรจัดให้ประชาชนพูดบ้าง จะเปิดช่องทางอย่างไรให้สื่อสารกลับได้บ้าง เขาอาจพูดถึงการเข้าร่วมโครงการรัฐติดขัดตรงไหน จุดอ่อน อุปสรรค ความสำเร็จหรือล้มเหลวของนโยบาย ให้ข้อคิด ข้อเสนอแนะ ล้วนเป็นประโยชน์ ซึ่งสามารถนำไปปรับแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาได้ตรงโจทย์ที่สุด ผิดหรือที่ประชาชนจะพูดกล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรีของเขา ขณะที่ชาวบ้านอีกส่วนอาจบอกว่า ไม่รู้จักรัฐมนตรีท่านนี้เลย หรือรัฐมนตรีโลกลืม ก็เป็นไปได้ เป็นผลดีเสียอีก จะได้ปรับการทำงานใหม่ จะใช้ช่องทางถ่ายทอดสดหรืออย่างไรก็ว่าไป มีถาม มีตอบ พูดคุยอย่างเป็นกันเอง เป็นไปตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น ใช้สื่อรัฐ หรือสื่อเอกชนก็พร้อมสนับสนุนรัฐบาล 2. ให้สื่อมวลชนพูดบ้าง จัดเสวนาสื่อมวลชน ให้สื่อพูดถึงผลงาน สะท้อนปัญหา มุมมองเรื่องต่างๆในรอบปีรัฐบาลเป็นอย่างไร วันนี้สื่อแข่งขันสูง ทำการบ้านเยอะ มีศักยภาพเป็นที่พึ่งพารัฐบาลได้ รู้หมด ใครเป็นอย่างไร ปัญหาประเทศอยู่ตรงไหน สามารถชี้แนะชี้นำที่ดี รัฐบาลต้องใช้ประโยชน์จากสื่อให้มากขึ้น และดึงเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ ขณะที่ทีมงานโฆษกรัฐบาลต้องเชิญสื่อมาร่วมแถลงผลงานรัฐบาล ให้สื่อทำสกู๊ป เฉกเช่นทีวี หนังสือพิมพ์สรุป 10 ข่าวเด่นในรอบปีเหมือนตอนส่งท้ายปีเก่า ประมาณนั้น ซึ่งดูดี จะทำให้ได้ชิ้นงานที่โดดเด่น เพราะสื่อมีมุมมองในสายตาของสื่อและรู้ดีที่สุดว่า จะหยิบอะไร จะเล่น(นำเสนอ)เรื่องใด 3. ให้เอกชนพูดบ้าง จัดเสวนาภาคเอกชน ให้ผู้นำธุรกิจพูดถึงผลงานในรอบปีรัฐบาล จุดอ่อนจุดแข็ง มองปัญหาความต้องการอย่างไร โดยเฉพาะจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีที่ 2 ของรัฐบาลอย่างไร เป็นจังหวะก้าวใหม่สำหรับรัฐบาลที่จะยึดประชาชน เป็นศูนย์กลางของการแถลงผลงาน มิใช่ PR one way ให้ประชาชนฟัง แต่เป็นPR two ways ให้ประชาชนพูด รัฐบาลฟัง ประชาชน เป็นผู้ให้คะแนนความสำเร็จหรือล้มเหลวของรัฐบาล
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||||
"บุญเลิศ" ชนะเลือกตั้ง อบจ.เชียงใหม่ Posted: 23 Jun 2012 05:48 PM PDT 24 มิ.ย. 55 - ผลการนับคะแนนการเลือกตั้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อย่างไม่เป็นทางการ) 99.50% (เข้าดูทางเว็บไซต์ http://chiangmaipao.go.th ณ เวลา 7.30 น. ของวันที่ 24 มิ.ย. 55 ) ผูู้สมัครหมายเลข 1 นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ มีคะแนนนำผู้สมัครคนอื่นๆ โดยได้คะแนน 400,584 คะแนน ตามมาด้วยผู้สมัครหมายเลข 2 นายถาวร เกียรติไชยากร ได้คะแนน 148,613 คะแนน ผู้สมัครหมายเลข 4 นางกิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ ได้คะแนน 95,368 คะแนน อันดับสุดท้ายคือผู้สมัครหมายเลข 3 นายขวัญชัย สกุลทอง ได้คะแนน 41,983 คะแนน โดยมีประชาชนกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนถึง 61,663 คน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น