โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กอ.รมน.ชี้สถานการณ์ "สามจังหวัดชายแดนใต้" ดีขึ้น เล็งทยอยยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

Posted: 27 Jun 2012 12:22 PM PDT

วงสานเสวนา กอ.รมน. ชี้ตั้งแต่เกิดปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ เปลี่ยนรัฐบาลมา 6 ชุด ทำนโยบายเปลี่ยนตลอด ส่งผลกระทบระดับปฏิบัติงาน คนในพื้นที่ ถามกรณีโยกย้าย ขรก.ใน สมช. ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทเรื่องเจรจา เท่ากับรัฐไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ใช่หรือไม่

(27 มิ.ย.55) ในการสานเสวนาเครือข่ายชายแดนใต้ หัวข้อ "ความก้าวหน้าในการเข้าถึงความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนภายใต้สถานการณ์ขัดแย้ง" จัดโดย มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ร่วมกับสหภาพยุโรป มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ณ ปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ ถ.วิทยุ

อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อน แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้ไม่พูดถึงเรื่องนี้ ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน ก็ยิ่งต้องถกและแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาที่กล่าวถึงกันมากคือ เรื่องธรรมาภิบาล การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถึงแม้ไม่ใช่รากเหง้าของปัญหา แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้นได้ จึงหวังว่าการสานเสวนาวันนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้วิธีการใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาได้

นอกจากนี้ อมราแสดงความเห็นต่อมาตรการเยียวยาตามมติ ครม.ว่า แม้จะเริ่มจากเพื่อช่วยเหลือกลุ่ม นปช. แต่ก็มีผลถึงภาคใต้ด้วย ซึ่งก็น่ายินดีและน่าจะช่วยคลี่คลายความเดือดร้อนลงได้มาก

ด้าน พลตรีนักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวในหัวข้อ "ความร่วมมือระหว่างพลเรือนและกองทัพในด้านความมั่นคงของมนุษย์ภายใต้สถานการณ์ขัดแย้ง" ว่า ประเทศจะมีความมั่นคงได้ รัฐบาลจะต้องมีเสถียรภาพ เพื่อมีนโยบายที่ต่อเนื่อง แต่กรณีประเทศไทยนั้น 8 ปีที่ผ่านมา มีรัฐบาลทั้งสิ้น 6 รัฐบาล ถามว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร โดยชี้ว่า เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล จะมากหรือน้อย นโยบายก็เปลี่ยนตาม กระทบกับคนทำงานในพื้นที่ ไม่ว่าด้านงบประมาณ แผนงาน หรือวิธีการ

อย่างไรก็ตาม เขามองว่าขณะนี้มีแนวโน้มที่พัฒนาดีขึ้น โดยมีตัวชี้วัดคือ สถิติความรุนแรงที่ลดลง หากแต่มีปัญหาคือสื่อไทยยังมีเสรีภาพมาก ทำให้เสนอข่าวแบบไม่วิเคราะห์ เช่น รายการตอนเช้าที่อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์และเน้นเรื่องของอารมณ์ ทำให้คนเชื่อตามนั้น นอกจากนี้ ตัวชี้วัดยังดูได้จากการให้ความร่วมมือของประชาชน ที่จะเห็นได้ว่ามีม็อบลดลงตามลำดับ การที่ประชาชนใช้ชีวิตปกติ ออกมาร่วมงานเทศกาลต่างๆ เริ่มไปมาหาสู่กันในตอนกลางคืน ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นในความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า แม้จะบอกว่ามีแนวโน้มที่ดี แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่ดีนัก เนื่องจากยังมีผู้เสียชีวิต และแม้จำนวนผู้เสียชีวิตรวมสามจังหวัดจะน้อยกว่าจังหวัดใหญ่ๆ แต่เพราะเป็นเรื่องความมั่นคง ทำให้ภาพออกมารุนแรง

พลตรีนักรบ กล่าวว่า ปัญหาภาคใต้นั้นจะแก้ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับภาคประชาชนว่าจะแข็งแรงและเป็นตัวแทนของรัฐได้แค่ไหน พร้อมระบุว่า ขณะนี้ตนเองก็ได้ติดตามการเคลื่อนไหวต่างๆ ของภาคประชาชนอยู่

ส่วนการยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดนั้น พลตรีนักรบ กล่าวว่า อยู่ระหว่างพิจารณาเป็นรายหมู่บ้าน อำเภอและตำบลไป โดยมีแนวโน้มที่จะทยอยยกเลิกไปเรื่อยๆ อาศัยตัวชี้วัด ได้แก่ สถิติการเกิดเหตุรุนแรงว่าคงที่หรือไม่ โครงสร้างของกลุ่มผู้ก่อเหตุยังมีตัวตนหรือเคลื่อนไหวในพื้นที่หรือไม่ และประชาชนในพื้นที่เข้มแข็งพอที่จะปกป้องตัวเองได้หรือไม่

ขณะที่ อาเต็ฟ โซ๊ะโก ผู้ประสานงานสถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา แสดงความเห็นว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดนั้นเป็นความขัดแย้งทางการเมือง โดยมองว่าสิ่งที่ขบวนการกำลังต่อสู้อยู่คือรัฐไทย ไม่ใช่รัฐบาล โดยไม่ว่าจะนานสักเพียงใด ความต้องการเอกราชของคนในพื้นที่ก็ยังมีอยู่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องหาแก้จึงคือ ทำอย่างไรให้ความคิดที่ต่างกันมากขัดแย้งกันได้โดยไม่เกิดแรงปะทะชนิดที่จะส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนทั่วไป ซึ่งเขามองว่าทางออกคือการเจรจาพูดคุย

อย่างไรก็ตาม เขามองว่ายังไม่เห็นความชัดเจนว่าตกลงแล้วรัฐไทยต้องการอะไร โดยระบุว่า ในการประชุม ครม. วานนี้ (26 มิ.ย.) ปรากฏว่ามีการโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการบางคนในสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเรื่องการเจรจามาตลอด จึงเกิดคำถามว่า การเปลี่ยนตัวนั้นเท่ากับการไม่ยอมรับแนวทางที่ผ่านมาใช่หรือไม่ และวิจารณ์ด้วยว่ารัฐไทยควรจะต้องมีเอกภาพมากกว่านี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประเดิม200เวที กระจายอำนาจดับไฟใต้ รุกเสริมเขี้ยวคนทำงาน

Posted: 27 Jun 2012 11:49 AM PDT

 นายรอซีดี อาริยะพงศ์กุล เลขานุการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้เตรียมเดินหน้าจัดทำเวทีดึงข้อเสนอจากพื้นที่ในเรื่องการหลักการกระจายอำนาจในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระดับพื้นที่และเวทีกลุ่มเฉพาะรวม 200 เวทีแล้ว โดยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ได้จัดปฐมนิเทศทีมวิทยากรกระบวนการซึ่งเป็นตัวแทนภาคีเครือข่ายรวม 85 คน

นายรอซีดี เปิดเผยต่อไปว่า ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2555 จะมีจัดอบรมพัฒนาศักยภาพวิทยากรกระบวนการดังกล่าว ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นวิทยากรอาวุโส 20 คน ที่จะลงไปทำหน้าที่ในเวทีสำคัญๆ เช่น เวทีตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐ เวทีผู้นำชุมชน หรือเวทีกลุ่มเฉพาะอื่นๆ เป็นต้น โดยคาดว่า จะประเดิมจัดเวทีแรกในช่วงก่อนถึงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของมุสลิมประมาณวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 จากนั้นจะพักแล้วเริ่มเวทีที่เหลือหลังเดือนถือศีลอด

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2555 ที่หอประชุมเทศบาลนครยะลา เครือข่ายพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองชายแดนใต้จัดเสวนา “24 มิถุนายน...วาระสิทธิของประชาชน” หัวข้อเรื่อง “สิทธิ เสรีภาพตามหลักการอิสลาม สิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ” โดยมีพล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดสงขลา นายสมชาย กุลคีรีรัตนา ประธานชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารฮาลาล และนายมันโซร์ สาและ ประธานฝ่ายประสานงานเครือข่ายเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมเสวนา

นายมันโซร์ กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนเรื่องกระจายอำนาจ ต้องถามประชาชนว่าจะเอาด้วยหรือไม่ ถ้าจะเอาด้วยก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมคือ มาลงชื่อรับรองว่าต้องการให้มีการกระจายอำนาจในรูปแบบใด ซึ่งต้องให้ประชาชนลงชื่อสนับสนุนหนึ่งหมื่นคนขึ้นไป

นายมันโซร์ กล่าวว่า จากการลงชุมชนไปสอบถามความต้องการของประชาชนถึงทางออกของปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ มีข้อสรุปว่า ชาวบ้านต้องการความเป็นธรรมกลับคืนสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดในพื้นที่ เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียกร้องอำนาจควบคู่กันด้วย การกระจายอำนาจจึงเป็นหนทางสู่การสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น

นายมันโซร์ กล่าวต่อไปว่า โมเดลหรือรูปแบบโครงสร้างการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานีมหานครหรือปาตานีดารุสลามตามหลักการกระจายอำนาจนั้น คำว่าดารุสลาม สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยปัจจุบัน ที่เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมหรือ Deliberative Democracy คือ สามารถเลือกผู้นำเองได้และสามารถถอดถอนผู้นำที่ตนเลือกได้ ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะประชาชนยังไม่กล้าพอที่จะเสนอถอดถอนผู้นำที่ตนเองเลือก

นายมันโซร์ กล่าวตอบคำถามจากผู้เข้าร่วมด้วยว่า ปัตตานีมหานคร เป็นรูปแบบการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามหลักการกระจายอำนาจ ซึ่งภาคประชาสังคมในพื้นที่ร่วมกันผลักดันและมีการร่างพระราชบัญญัติออกมาแล้ว ต่างจากนครปัตตานีซึ่งเป็นข้อเสนอของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แต่ไม่มีการร่างพระราชบัญญัติออกมาแต่อย่างใด

นายมันโซร์ กล่าวด้วยว่า ปลายทางของการขับเคลื่อนข้อเสนอทางการเมืองจากพื้นที่ยังไม่ชัดเจน ว่าจะเป็น merdeka (เอกราช) autonomy (ปกครองตนเอง) หรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นสิทธิที่ประชาชนจะเสนอ แต่สิ่งสำคัญมากกว่า คือ การให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิที่ตนมี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปัตตานีเดินรณรงค์วันต้านยาเสพติดโลก

Posted: 27 Jun 2012 11:39 AM PDT

 

 

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 26 มิ.ย.55 ที่ลานศิลปวัฒนธรรม อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดจังหวัดปัตตานี จัดเดินรณรงค์เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลกจังหวัดปัตตานี ประจำปี 2555 พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด เทิดไท้องค์ราชัน องค์ราชินี เฉลิมฉลอง 10 ปี To be Number One มีตัวแทนหน่วยราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษาเข้าร่วมประมาณ 10,000 คน

ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ  วงศ์โพธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก ซึ่งประเทศไทยได้ยึดถือปฏิบัติและยืนหยัดเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ ในการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด โดยหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่องกันทุกปี และในปี 2555 เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ 80 พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รัฐบาลได้กำหนดจัดกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ประจำปี 2555 ภายใต้คำขวัญ พลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด เทิดไท้ องค์ราชัน องค์ราชินี เฉลิมฉลอง 10 ปี To Be Number One

ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ กล่าวต่ออีกว่า ด้วยเหตุนี้ ศูนย์อำนวยการแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดจังหวัดปัตตานี จึงจัดเดินรณรงค์ในวันนี้ โดยเชื่อมั่นว่า พลังของมหาชนจะสร้างกระแสให้ทุกภาคีตื่นตัวและเห็นความสำคัญ จนนำไปสู่การสร้างความร่วมมือในการขจัดปัญหายาเสพติด นอกจากนี้ รัฐบาลยังกำหนดให้การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งทุกจังหวัดจะต้องเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่งจังหวัดปัตตานีและผู้อำนวยการศูนย์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดจังหวัดปัตตานี ได้ดำเนินการอำนวยการ สั่งการและบูรณาการทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม ส่งผลให้จังหวัดปัตตานีมีผลการปฏิบัติงานด้านการแก้ปัญหายาเสพติดดีเด่นของประเทศ

ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ค้าและผู้เสพ ถูกกดดันค่อนข้างมาก สังเกตจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่ค่อยกล้ากระทำการเหมือนเมื่อก่อน เยาวชนเริ่มตระหนักและกลัวภัยจากยาเสพติดมากขึ้น เนื่องจากช่วงหลังๆ มานี้มีการนำศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการบำบัด โดยให้ผู้นำศาสนา ตัวแทนสถาบันปอเนาะหรืออุสตาซ (ครุสอนศาสนา) มาร่วมโครงการ

“เยาวชนเริ่มเห็นแล้วว่า การที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นการทรยศต่ออัลลอฮ์ (พระเจ้าของอิสลาม) เด็กก็เริ่มเกรงกลัว ซึ่งหากเด็กเหล่านั้นยังมีศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ก็จะเกิดความเกรงกลัวที่จะทำความผิด จึงทำให้การวางแนวทางการป้องกัน บรรลุเป้าหมายพอสมควร” ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ กล่าว

นายเสือเล็บ (นามแฝง) เยาวชนที่ได้รับการบำบัดยาเสพติดของศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดจังหวัดปัตตานี เล่าว่า ยาเสพติดที่ตนเคยเสพ ได้แก่ ใบจากและยาเส้น บุหรี่ กัญชา ทินเนอร์ เหล้า ยาบ้า ฝิ่น อัลฟ่าซอแลม ยาไอซ์ และสี่คูณร้อย ตามลำดับ

เสือเล็บ เล่าต่อไปว่า ตนเริ่มลองเสพยาเสพติดครั้งแรกตอนอายุ 14 ปี หลังจากนั้นไปทำงานรับจ้างเสิร์ฟอาหารที่ประเทศมาเลเซีย จึงได้ลองเสพยาไอซ์เป็นครั้งแรก จนติดยาอย่างหนัก ช่างที่หนักที่สุดคือช่วงอายุ 18 ปี มีอาการไม่มีสติ กลัวและระแวงคนรอบข้างไปหมด จนต้องให้พ่อไปรับตัวกลับบ้าน โดยเพื่อนที่ทำงานที่เดียวกันได้ให้กำลังใจและขอให้ตนค่อยๆ เลิกยาเสพติดทีละอย่าง ซึ่งตนก็ได้ตั้งใจจะทำตามที่เพื่อนขอให้ได้

เสือเล็บ เล่าอีกว่า หลังจากกลับมาบ้านแล้วก็ยังไม่มีสติ ยังกลัวและระแวงคนรอบข้างอยู่ ที่แย่กว่านั้น คือ จำพ่อ แม่ และคนรอบข้างไม่ได้เลย พ่อจึงตัดสินใจพาเข้าบำบัดที่โรงพยาบาลปัตตานี หมอจึงพาไปรักษาที่แผนกผู้ป่วยจิตเวช โดยผูกข้อมือและเท้าไว้กับเตียง บำบัดอยู่ที่นั่นหลายเดือนจนออกมา แต่ช่วงนั้น สี่คูณร้อยระบาดทำให้กลับมาติดสี่คูณร้อยอีก จนทำให้ต้องเข้า-ออกศูนย์บำบัดหลายครั้ง ครั้งนี้เกือบปีแล้วที่ตนไม่ได้แตะต้องยาเสพติด และตั้งใจแน่วแน่แล้วว่าจะไม่กลับไปยุ่งกับยาเสพติดอีก เพราะทำให้พ่อแม่เสียใจมากแล้วและเปลืองเงินด้วย

“ตอนนี้ผมทำงานรับจ้างทั่วไป แม้ได้เงินไม่มาก แต่ก็พออยู่พอกิน รายจ่ายมีไม่มาก เนื่องจากพักอยู่บ้านตัวเอง ไม่ต้องเสียค่าเช่าและไม่ต้องซื้ออาหารกิน ที่สำคัญไม่ต้องหมดเงินไปกับยาเสพติด” เสือเล็บ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Let them eat tablets ถ้าการศึกษาไทยไม่พัฒนาก็แจกแท็บเล็ตสิ

Posted: 27 Jun 2012 11:26 AM PDT

 ตั้งแต่รัฐบาลชุดใหม่นำโดยนายกรัฐมนตรีหญิงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งบริหารประเทศในเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็เต็มไปด้วยละครน้ำเน่าเกี่ยวกับนโยบายแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่เด็กประถมปีที่ 1 ดูเหมือนว่านโยบาย “หนึ่งนักเรียน หนึ่งแท็บเล็ต”ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้นจะเป็นนโยบายเดียวที่ดึงคะแนนเสียงให้แก่พรรคเป็นอย่างมาก แต่การที่จะทำให้ได้อย่างที่หาเสียงเอาไว้นั้นกลับกลายเป็นภาระหนักอย่างหนึ่งของประเทศ

หลายอาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีการบรรลุข้อตกลงเพื่อสรรหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตจำนวน 400,000 เครื่องจากบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคปไซ แอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ ประเทศจีน  ต่อมาในวันที่ 7 มิถุนายนนางสาวยิ่งลักษณ์ได้มอบคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตชุดแรกให้แก่กลุ่มเด็กนักเรียนที่แต่งตัวเป็นระเบียบเรียบร้อย

บางคนแย้งว่าเป้าหมายของการแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตนั้นเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจต่อระบบการศึกษาของไทยอันอ่อนแอ ถึงแม้ว่าจำนวนการรับเด็กเข้าเรียนหนังสือจะเพิ่มขึ้นในระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา แต่คุณภาพการศึกษาของไทยนั้นกลับย่ำแย่ลง

ปัญหาใหญ่คือความรอบรู้ของเด็กนักเรียนนั้นตกต่ำลงแม้ว่าจะมีการอัดฉีดเงินเข้าไปในโรงเรียนหลายโรงเรียนเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้ว่า 20% ของงบประมาณของประเทศนั้นใช้เพื่อการศึกษาซึ่งมากกว่าด้านอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด งบประมาณเพื่อการศึกษานั้นเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในระยะเวลาสิบปี แต่กระนั้นผลที่ได้ออกมากลับแย่ลงเรื่อย ๆ โดยเปรียบเทียบทั้งภายในประเทศ และกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานของผู้ตรวจการแผ่นดินของไทย(Thailand’s own ombudsman)ได้ชี้แจงว่าถึงแม้จะมีเงินอัดฉีดเพื่อการศึกษาเป็นจำนวนมาก แต่คะแนนจากผลการสอบไล่ของทั้งประเทศแสดงให้เห็นว่าคะแนนสอบในวิชาหลักคือ ภาษาอังกฤษ, คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์นั้นตกต่ำลงอย่างมาก นอกจากนี้รายงานการแข่งขันระดับนานาชาติจากเวทีเศรษฐกิจโลกได้จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 83 โดยใช้ “สุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Health and Primary Education)” อันเป็นหนึ่งในสี่ตัวชี้วัด ประเทศไทยมีอันดับที่ต่ำกว่าเวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยมีกัมพูชาเท่านั้นที่แย่กว่าประเทศไทย

คะแนนจากการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ(PISA) ของไทยนั้นเกือบจะคงที่มานานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียได้ไต่อันดับขึ้น และยังจะมีรายงานการแข่งขันระดับโลกอีกอันที่จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นลำดับที่ 54 จาก 56 ประเทศทั่วโลกที่มีความชำนาญทางด้านภาษาอังกฤษ ไทยเป็นอันดับสองจากท้ายตารางในภูมิภาคเอเชีย

สำหรับความเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่ต้องการหลุดพ้นจากการมีรายได้ระดับกลางอย่างประเทศไทยนั้น สถิติที่กล่าวมาข้างต้นนั้นน่าใจหายเป็นอย่างมาก บริษัทว่าจ้างต่าง ๆ นั้นโอดครวญว่าไม่สามารถจัดหาลูกจ้างที่มีความสามารถด้านการอ่าน และเขียนเบื้องต้นเป็นอย่างดีได้ ส่งผลให้ตำแหน่งงานต่าง ๆ นั้นว่างลง หรือไม่ก็ต้องให้คนที่มีความสามารถไม่ถึงมาทำงานเป็นเหตุให้มีผลงานที่ต่ำลง

ทำไมประเทศไทยถึงได้แสดงผลงานได้ย่ำแย่เพียงนี้? สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้กล่าวว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาที่ค้างคาใจ งบประมาณที่มากมายนั้นถูกใช้ผ่านการเพิ่มเงินเดือนให้แก่ครู (ซึ่งโดยปกติแล้วจะได้เงินเดือนมากกว่าเงินเดือนเริ่มต้นของผู้สอนในมหาวิทยาลัยเสียอีก) แต่ถึงแม้จะได้มากแต่ก็ยังไม่มีการปรับปรุงผลการปฏิบัติงาน

สมเกียรติแย้งว่าต้องทำให้มีการตรวจสอบโรงเรียนได้โดยผู้เล่าเรียน และผู้ที่จ่ายเงินให้แก่โรงเรียนนั้น ๆ  ข้อมูลเกี่ยวกับผลงานของโรงเรียนต่าง ๆ นั้นต้องมีให้แก่ผู้ปกครอง และเงินเดือนของครูที่เพิ่มขึ้นนั้นต้องสัมพันธ์กับผลคะแนนของนักเรียน ในขณะนี้แทบจะไม่มีการกล่าวถึงการประเมินผลของครูที่ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเลย “มันเป็นการประเมินผลที่เหมือนกับการให้จิตพิสัย” นายสมเกียรติกล่าว “อยู่ที่ว่าคุณจะเลียแข้งเลียขาเจ้านายได้มากแค่ไหน”

อีกหลายคนยังแนะว่าโรงเรียนที่มีผลงานย่ำแย่นั้นควรถูกปิด หรือไม่ก็ให้เอกชนเข้ามาบริหาร ความคิดเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นความคิดที่ก้าวหน้าในประเทศอนุรักษ์นิยมอย่างประเทศไทย และนั่นก็อาจหมายรวมไปถึงการได้ผลประโยชน์จากจำนวนคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต 400,000 เครื่อง หรือครูที่มีเงินเดือนค่อนข้างสูง การแจกจ่ายคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่เด็กประถมนั้นเป็นเครื่องมือที่ดี แต่มันไม่ใช่หัวใจของความเป็นเลิศทางด้านการศึกษา

 

Source : Education in Thailand : Let them eat tablets Trying to stop the rot in Thailand’s schools by giving out tablet computers Jun 16th 2012  from the print edition http://www.economist.com/node/21556940

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกิดเหตุบึ้มรถบัสทหารพรานที่นราธิวาส เจ็บ 25 – ยิงจ่อคนขายไก่ดับ 3

Posted: 27 Jun 2012 11:15 AM PDT

 

สภาพรถบัสที่ถูกแรงระเบิดบริเวณ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส วันที่ 26 มิถุนายน 2555

 

 

ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาคสี่ ส่วนหน้ารายงานว่าเมื่อเวลา 11.40 น. วันที่ 26 มิ.ย. 2555 เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด ขบวนรถบัสรับ-ส่ง ทหารพรานของ หน่วยเฉพาะกิจทหารพราน 11 (ฉก.ทพ.) ส่งผลให้อาสาสมัครทหารพรานได้รับบาดเจ็บจำนวน 21 ราย และชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ จำนวน 4 ราย รวมผู้บาดเจ็บทั้งสิ้นจำนวน 25 ราย โดยผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครทหารพรานหญิง

โดยก่อนเกิดเหตุ ฉก.ทพ.11  ได้ว่าจ้างรถบัสเพื่อส่งทหารพรานลาพัก เพื่อกลับกรุงเทพฯ ขณะที่รถวิ่งมาบนถนนสายตากใบ – นราธิวาส เมื่อมาถึงหัวสะพานบ้านน้าแบ่ง หมู่ที่ 6 ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส คนร้ายได้จุดชนวนระเบิดขึ้น แรงระเบิดส่งผลให้รถบัส และรถพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ที่ขับตามมาได้รับความเสียหาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บดังกล่าว

จากการตรวจสอบพบเป็นระเบิดแสวงเครื่องบรรจุในถังแก๊สหุงต้ม จุดชนวนด้วยวิทยุสื่อสาร ซุกซ่อนไว้ในรถจักรยานยนต์พ่วงข้างยี่ห้อ ฮอนด้ารุ่น ดรีม (รถโชเลย์) ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนที่จอดไว้ริมถนน ผู้บาดเจ็บหลังจากแพทย์ให้การรักษาแล้ว อนุญาตให้กลับบ้าน จำนวน 20 ราย คงเหลือนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จำนวน 5 ราย

วันเดียวกัน เวลา 11.50 น. เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวน ใช้อาวุธปืนลูกซอง ยิงนายอาดง มะเซ็งบางี อายุ 43 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ หมู่ที่ 9 ต.กรงปินัง จ.ยะลา  กระสุนถูกบริเวณหน้าอกซ้าย หัวไหล่ซ้าย แผ่นหลัง และศีรษะ โดยเหตุเกิดขณะที่นายอาดง กำลังขับขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านอยู่นั้น ได้ถูกคนร้ายใช้ปืนลอบยิงบริเวณถนนภายในหมู่บ้านลือมุ หมู่ที่ 8 ต.กรงปินัง อ.กรงปินัง จ.ยะลา ส่งผลให้นายอาดงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

จากการตรวจสอบ พบปลอกกระสุนปืน ลูกซอง จานวน 3 ปลอก เจ้าหน้าที่คาดว่าเป็นเรื่องขัดผลประโยชน์ทางธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากผู้ตายเพิ่งประมูลงานรับเหมาของชลประทานได้

นอกจากนี้ เวลา 22.20 น. วันเดียวกันนี้ ยังเกิดเหตุคนร้ายจำนวน 2 คน ขับขี่รถ จักรยานยนต์สีดำ-แดง ไม่ทราบยี่ห้อ และหมายเลขทะเบียน เป็นยานพาหนะ คนขับสวมเสื้อแจ๊คเก็ตสีดำแขนยาว สวมหมวกนิรภัยสีดำ ส่วนคนซ้อนท้ายสวมเสื้อสีเทา สวมหมวกไหมพรมสีดำ ขับขี่รถจักรยานยนต์มาจาก ต.ประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุ คนร้ายได้ใช้น้ามันวางเพลิงเผาตู้โทรศัพท์สาธารณะ บริเวณริมถนนสาย 410 บ้านรามง หมู่ที่ 1 ต.ปุยุด อ.เมือง จ.ปัตตานี ส่งผลให้ตู้โทรศัพท์สาธารณะได้รับความเสียหาย หลังก่อเหตุคนร้ายได้ขับรถ จักรยานยนต์หลบหนีได้

ทั้งนี้เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 25 มิ.ย. 2555 เกิดเหตุคนร้ายจำนวน 6 คน แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ทราบยี่ห้อ และหมายเลขทะเบียนเป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนสงคราม ยิงชาวบ้านเสียชีวิต จำนวน 3 ราย คือ นายวันชัย นาปะสิน อายุ 17 ปี  นายชัยชาญ อาดัม อายุ 31 ปี  และ นายอิสมาแอล แดงสง อายุ 25 ปี 

ก่อนเกิดเหตุคนร้ายจำนวน 6 คน แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ทหาร ยืนอยู่ในลักษณะตั้งจุดตรวจบนถนนสาย 4074 หน้ามัสยิดบ้านมะแนดาแล หมู่ที่ 2 ต.ปล่องหอย อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี โดยคนร้ายได้โบกรถยนต์ ซึ่งเป็นรถกระบะที่ใช้บรรทุกไก่ ของชาวบ้านซึ่งเดินทางกลับจากการส่งไก่ ให้จอดบริเวณริมถนน กลุ่มคนร้ายได้สั่งให้ทั้ง 3 คนลงจากรถยนต์กระบะ จากนั้นคนร้ายได้ใช้อาวุธปืนสงครามยิงใส่เป็นเหตุให้ทั้ง 3 คนเสียชีวิต หลังก่อเหตุคนร้ายได้ขับขี่รถจักรยานยนต์จำนวน 3 คัน หลบหนี และได้นำรถยนต์ของผู้เสียชีวิตหลบหนีไปด้วย จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบปลอกกระสุนขนาด 5.56 มม.จำนวนหลายปลอก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมชาย ปรีชาศิลปกุล: อภิรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไทย 2475-2555

Posted: 27 Jun 2012 10:58 AM PDT

 

27 มิ.ย.55 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม มล.ตุ้ม ชุมสาย ณ อยุธยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับคณะนิติศาสตร์ และภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนาในหัวข้อ “80 ปีแห่งความย้อนแย้งของประชาธิปไตยไทย” โดยมี รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อภิปรายในหัวข้อ “อภิรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไทย 2475-2555”

สมชายเริ่มต้นกล่าวถึงหัวใจสำคัญรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย หรือพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 ซึ่งมีอยู่สองประการ คือหนึ่ง เป็นรูปแบบการปกครองที่กษัตริย์อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครอง และสอง อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย

ต่อมารัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งว่ากันว่าเป็นฉบับที่ได้รับการยอมรับกันในหลายฝ่ายในชนชั้นนำไทย ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะ “ยืนยงอยู่คู่กับสยามรัฐราชสีมาตราบเท่ากัลปาวสาน” เป็นความมุ่งหมายในช่วงเริ่มต้นรัฐธรรมนูญของไทย ในรัฐธรรมนูญหลังๆ อีกสองสามฉบับหลังจากนั้นก็จะเห็นเรื่องนี้ แต่รัฐธรรมนูญหลังจากนั้น โดยเฉพาะหลังทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ความเข้าใจคือเราทราบกันดีว่ารัฐธรรมนูญไทยไม่มีทางกัลปาวสาน แค่ข้ามทศวรรษได้ก็เก่งแล้ว แต่ในช่วงเริ่มต้นรัฐธรรมนูญไทย อันนี้เป็นนัยยะสำคัญที่มีอยู่

แต่ในความเป็นจริงตั้งแต่ 2475-2525 ครบรอบ 50 ปี เรามีรัฐธรรมนูญแล้ว 13 ฉบับ และจากปี 2475-2555 ครบรอบ 80 ปีรัฐธรรมนูญ มี 18 ฉบับ จะพบว่าอายุเฉลี่ยของรัฐธรรมนูญในเมืองไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ประมาณ 4 ปีบวกลบนิดหน่อยต่อฉบับ เราจะบอกว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญในสังคมไทยหรือไม่

ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่คำถามจำนวนมาก ในหมู่นักกฎหมายก็จะมองว่ารัฐธรรมนูญไทยไม่ได้เป็นกฎหมายสูงสุด หรือนักรัฐศาสตร์ก็ตาม รัฐธรรมนูญอยากจะฉีกเมื่อไรก็ฉีกได้ หรือรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็เสนอว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้มีน้ำยาหรือศักดิ์สิทธิ์เท่าที่ระเบียบในกรมกองหน่วยงานราชการ หรือรัฐธรรมนูญถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำในการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง เมื่อไรที่ใครไม่พอใจกฎกติกาที่มีอยู่ ก็ยึดอำนาจ และเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตน

แนวทางการอธิบายรัฐธรรมนูญของสังคมไทย เรามักอธิบายให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ดูเฉพาะที่เป็นตัวบทบัญญัติ ว่าเขียนไว้ว่าอย่างไร และมักอธิบายเป็นรายฉบับ และค้นหาความหมายของบทบัญญัติในแต่ละมาตรา การมองดูแบบนี้ทำให้มองไม่เห็นความต่อเนื่องในระนาบที่มันยาวขึ้น

สมชายได้เสนอให้มองรัฐธรรมนูญในแบบที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญจารีตประเพณี ไม่มีประเทศไหนที่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรโดยไม่มีจารีตประเพณี แต่จะมากจะน้อยก็ว่ากันไป เช่นเดียวกันในประเทศอังกฤษที่เรามักอธิบายว่ามีรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี จริงๆ ก็มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรด้วย จึงเสนอให้มองรัฐธรรมนูญไทยในระนาบที่กว้างและยาว เพื่อมองจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่ยอมรับและปฏิบัติตามกันตนเป็น “บรรทัดฐาน” ในห้วงเวลา 80 ปี การมองในระยะยาว เราจะพบเห็นว่ามันมีอะไรบางอย่างเป็นจารีตซึ่งเป็นที่ยอมรับและปฏิบัติตามกัน แม้จะไม่ได้เขียนไว้เป็นบทบัญญัติก็ตาม แต่เป็นที่รู้กันว่าต้องเป็นแบบนี้ โดยทั้งหมดเป็นผลการต่อสู้ช่วงชิงกันจากฝ่ายสำคัญต่างๆ ทางการเมือง

สมชายเสนอว่าในรัฐธรรมนูญไทยถ้ามองจากมุมจารีตประเพณี มี 4 เรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจรัฐธรรมนูญไทยมากขึ้น ได้แก่ จารีตประเพณีว่าด้วยการรัฐประหาร, อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข, รัฐสภานักเลือกตั้งและประชาธิปไตยราชการ และอำนาจของราษฎรในรัฐธรรมนูญ

เรื่องแรก จารีตประเพณีว่าด้วยการรัฐประหาร ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 คล้ายๆ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นที่ยอมรับเพราะได้ผ่านการต่อรองจากชนชั้นนำฝ่ายต่างๆ พอสมควร กลายเป็นหลักหรือกติกาให้ทุกฝ่ายมาต่อสู้กัน 2476 เกิดการยึดอำนาจเกิดขึ้น แต่การยึดอำนาจที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญแบบที่เราคุ้นกันในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือพระยามโนปกรณ์ฯ ยึดอำนาจจากสภาผู้แทนราษฎร ด้วยปิดประชุมสภา และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยพระยามโนปกรณ์ฯ เป็นนายกฯ ต่อ คือการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองมีอยู่ แต่มันก็ไม่ได้ถึงกับฉีกกติกาที่ถือเป็นกติกาใหญ่ อย่างมาก็งดใช้บางมาตรา

สองเดือนต่อมา พอพระยาพหลพลพยุหเสนายึดอำนาจคืน ก็ยึดโดยให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญ ให้บังคับใช้ทั้งฉบับเหมือนเดิม หมายความว่าการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองในระยะแรก รัฐธรรมนูญยังเป็นกติกาหลักอยู่ การฉีกรัฐธรรมนูญมันยังไม่อยู่ในความเข้าใจว่าต้องทำแบบนั้น ยังคล้ายๆ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้หรือพ้นไปจากจินตนาการอยู่ การช่วงชิงต่อสู้ทางอำนาจจึงยังยึดโยงกับรัฐธรรมนูญอยู่พอสมควร

จน 2490 เกิดการยึดอำนาจโดยคณะทหารนอกราชการ รัฐธรรมนูญ 2490 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกภายหลังเกิดการฉีกเกิดขึ้น การฉีกทหารทำ แต่ประกาศใช้ภายใต้พระปรมาภิไธย โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่การรัฐประหารก็ไม่ได้นำมาซึ่งการฉีกรัฐธรรมนูญเสมอไป ดังเช่นรัฐประหาร2500 ก็ไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการฉีกรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกและประกาศใช้ฉบับใหม่ มันทำให้เกิดการถกเถียงการวิจารณ์เกิดขึ้น เพราะไม่เคยมีการทำแบบนี้มาก่อน ตกลงการรัฐประหารนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และผลในทางกฎหมายเป็นอย่างไร

กองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทยต้องออกแถลงการณ์เพื่อชี้แจงถึงความชอบด้วยกฎหมาย “การทำรัฐประหารนั้นในชั้นแรกเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เมื่อได้กระทำรัฐประหารสำเร็จ จนผู้กระทำรัฐประหารได้ครองอำนาจอันแท้จริงในรัฐแล้ว ผู้กระทำรัฐประหารก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจเลิกล้มรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้อยู่ได้ และอาจออกรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใหม่ได้” (แถลงการณ์ฉบับที่ 15)

คือคณะรัฐประหารปัจจุบันไม่ต้องออกแถลงการณ์แบบนี้ หลัง 2490 ที่ต้องออกแบบนี้เพราะไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อน นี่เป็นครั้งแรก เกิดการตั้งคำถามในหนังสือพิมพ์ จึงต้องออกแถลงการณ์นี้ออกมา สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือแถลงการณ์นี้ไปสอดคล้องกับคำพิพากษาฎีกาที่เกิดขึ้นติดตามมาในสองสามปีหลัง คือแถลงการณ์ฉบับนี้อธิบายสองเรื่อง การรัฐประหารละเมิดรัฐธรรมนูญแน่ แต่เมื่อยึดอำนาจสำเร็จ ก็มีอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และสองคือมีอำนาจออกรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

คำพิพากษาฎีกาปี 2495 บอกว่า “การล้มล้างรัฐบาลเก่า ตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ ในตอนต้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนกว่าประชาชนให้การยอมรับนับถือแล้ว” อันนี้ช่วงแรกของแถลงการณ์ฉบับที่ 15 ส่วนช่วงท้ายอีกฉบับหนึ่งบอกว่า “คณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองได้เป็นผลสำเร็จ การบริหารปกครองในลักษณะเช่นนี้ คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจจะเปลี่ยนแปลง ยกเลิกและออกกฎหมาย” ความเชื่อมโยงกับการรัฐประหารกับสถาบันตุลาการ เกิดขึ้นมานานแล้วแต่อย่างไม่โจ่งแจ้ง

ทศวรรษ 2490 ได้สร้างจารีตประเพณีในการรัฐประหารให้เกิดขึ้น หมายความว่าการรัฐประหารไม่ใช่เพียงการยึดอำนาจในทางการเมือง แต่ยังหมายถึงการจะต้องมีกลไกหรือระบบต่างๆ มารองรับ ให้ความชอบธรรมในการยึดอำนาจต่อด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นคือคณะรัฐประหารแบบที่เราพบในปัจจุบัน คือคณะรัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง มันได้รับการรองรับไว้ด้วยอำนาจของสถาบันตุลาการ ในขณะที่การสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องกระทำภายใต้พระปรมาภิไธย แต่รูปแบบนี้กลายเป็นที่ยอมรับกันแล้วในหมู่ผู้กระทำการรัฐประหาร ว่าถ้าเกิดการรัฐประหารแล้วต้องเดินตามแบบนี้ เพราะมันได้มีกลไกหรือระบอบทั้งหมดรองรับการรัฐประหารเอาไว้

ในนัยยะนี้ เหตุที่ข้อเสนอของนิติราษฎร์ โดยเฉพาะเรื่องการล้มล้างผลการรัฐประหาร มันจึงไปกระทบหรือเกิดการตอบโต้จากหลายฝ่าย เพราะมันกำลังจะไปสั่นคลอนจารีตประเพณีว่าด้วยการรัฐประหารในสังคมไทยที่อยู่ยืนยงมากว่า 60 ปีอย่างสำคัญ จึงพอเข้าใจได้ว่าทำไมข้อเสนอนี้จึงถูกตอบโต้อย่างรุนแรง

สอง “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”  สถานะของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษ เกิดขึ้นภายใต้การต่อสู้อันยาวนานระหว่างรัฐสภากับกษัตริย์ และจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายรัฐสภา คือหมายความว่าสามารถทำให้สถาบันกษัตริย์ค่อยๆ ถอยหลังไปจากการมีส่วนทางการเมือง มีฝรั่งคนหนึ่งเขียนสรุปไว้ว่ารากฐานของรัฐธรรมนูญอังกฤษมาจากสงครามกลางเมือง การปลงพระชนม์กษัตริย์ การสถาปนาระบอบกษัตริย์ใหม่ และการปฏิวัติอันรุ่งเรือง ซึ่งกินระยะเวลาที่ยาวนาน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 มา

แต่กษัตริย์อังกฤษยังมีสิทธิธรรมอยู่ในฐานะประมุขของรัฐ ดังการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับใหม่จะเรียกว่า Act of the Queen-in-Parliament คือกฎหมายที่เป็นของควีนแต่ผ่านสภา คือสภามีอำนาจ แต่ว่ากษัตริย์ยังอยู่ในฐานะที่ได้รับการยอมรับเป็นประมุขของรัฐ แต่ทั้งหมดนี้กษัตริย์ไม่สามารถกระทำการใดๆ ได้ด้วยตนเองในทางการเมือง แต่ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ พูดง่ายๆ ว่า King cannot act alone เมื่อไม่ได้ทำอะไรด้วยตนเอง กษัตริย์จึงไม่สามารถทำอะไรผิดได้ เป็นที่มาของสถานะของกษัตริย์ในระบอบรัฐสภาของอังกฤษ

ส่วนพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไทย มีหลายเรื่องที่ตนกำลังเขียนอยู่ แต่ในที่นี่จะพูดเพียงเรื่องเดียว คือเรื่องการสืบทอดราชสมบัติ ในรัฐธรรมนูญ 2475-2521 การสืบทอดราชสมบัติเป็นไปตามกฎมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ แต่สุดท้ายต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญที่ในตอนนั้นแทบไม่มีใครสังเกตเห็น มาเกิดขึ้นเมื่อการยึดอำนาจโดยคณะรสช. ของสุจินดา คราประยูร ยึดอำนาจเมือ 23 กุมภาพันธ์ 2534

ในรัฐธรรมนูญ 2534 แก้ไขในส่วนการสืบทอดราชสมบัติ แบ่งเป็นสองส่วนคือกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้ตามกฎมณเทียรบาล ให้ครม.แจ้งประธานรัฐสภาทราบ ให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมสภาเพื่อรับทราบ และสอง คือกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และมิได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้ ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามตามกฎมลเทียรบาลต่อคณะรัฐมนตรี และเสนอต่อรัฐสภา นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุครสช. หลัง 2534 บทบัญญัติส่วนนี้ไม่มีการแตะต้อง สืบเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญ 2550

อันนี้สอดคล้องกับอำนาจในการแก้ไขกฎมลเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ในระยะแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองยังไม่มีบทบัญญัติเรื่องนี้ไว้ชัดเจน ในรัฐธรรมนูญ 2492 บัญญัติว่าจะกระทำมิได้ ช่วง 2511-2521 การแก้ไขกฎมณเทียรบาลต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คือมีสถานะไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญและยังเป็นอำนาจของรัฐสภาอยู่ แต่พอช่วงรสช. 2534-2550 การแก้ไขเพิ่มเติมกลายเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริให้องคมนตรีจัดทำร่างขึ้นถวาย เมื่อทรงเห็นชอบและลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้แจ้งประธานรัฐสภา เพื่อแจ้งให้รัฐสภาทราบ อันนี้เกิดขึ้น 2534 และสืบเนื่องต่อมา

สิ่งที่เราเห็นก็คือว่าการสืบทอดราชสมบัติ มีลักษณะที่เป็นอิสระจากระบบรัฐสภาเพิ่มมากขึ้นโดยสัมพัทธ์

และการแก้ไขเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ยากลำบากมาก บทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตนคิดว่าเป็นส่วนที่รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไทยแก้ไขได้ยาก เป็นหมวดที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด แตะต้องได้ลำบาก

สาม คือการต่อสู้ช่วงชิงระหว่างนักการเมืองจากระบบเลือกตั้งกับนักการเมืองข้าราชการ อันนี้เป็นส่วนที่เรามองเห็น และมักทำความเข้าใจกันเสมอ ถ้าใช้ภาษาของอาจารย์เสน่ห์ จามริก คือรัฐธรรมนูญไทยจะสะท้อนสัมพันธภาพทางอำนาจ โดยเฉพาะระหว่างนักการเมืองจากการเลือกตั้งกับนักการเมืองข้าราชการ

ในช่วงระยะ 2500-2521 จะพบว่านักการเมืองข้าราชการสามารถยึดพื้นที่ของระบบรัฐสภาไว้ได้ ไม่ว่าจะด้วยการรัฐประหาร หรือการดำรงตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหารก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 หลังเหตุการณ์พฤกษา 2535 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการขยายอำนาจของนักการเมืองจากระบบเลือกตั้งเหนือพลังฝ่ายที่เรียกว่าอำมาตย์หรือนักการเมืองจากฝ่ายข้าราชการ ช่วงคุณสุจินดาทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างเงียบๆ แต่มีผลต่อมาอย่างสำคัญ

หลังเหตุการณ์พฤกษา 35 หัวใจสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้อำนาจของนักการเมืองจากระบบเลือกตั้งขยายเข้าไปในระบบรัฐสภามากขึ้น ตัวอย่างข้อเสนอในตอนนั้น เช่น ให้ประธานสภาผู้แทนฯ เป็นประธานรัฐสภา ก่อนหน้านี้ประธานวุฒิสภาจะเป็นประธานรัฐสภา ลดทอนอำนาจของวุฒิสภาในการเปิดอภิปรายรัฐบาล ที่สำคัญก็คือนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้นักการเมืองจากระบบเลือกตั้งสามารถขยายอำนาจและมีที่ยืนอยู่ในระบบรัฐสภาได้อย่างมั่นคงมาตราบเท่าทุกวันนี้ ขณะเดียวกันก็ปิดช่องทางของพลังอำมาตย์ในการควบคุมนักการเมืองจากระบบเลือกตั้ง ทำให้ตีบตันมากขึ้น ก่อนหน้านี้เป็นวุฒิสภาบ้าง ไปเป็นนายกฯ แต่พอเกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ เส้นทางของระบบราชการมันตีบตันลง แต่พอในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็กลับทำให้เกิดช่องทางใหม่ในการเข้าแทรกแซงนักการเมืองจากระบบเลือกตั้งของพลังฝ่ายอำมาตย์อีก ผ่านช่องทางที่เรียกว่าองค์กรอิสระ การเปลี่ยนแปลงในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมาเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากช่องทางอันนี้

สี่ อำนาจของราษฎรทั้งหลายในรัฐธรรมนูญ เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่อยากพูด คือถ้าแบ่งรัฐธรรมนูญเป็นสองแบบ คือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งเกิดขึ้นหลังรัฐประหารและมีเจตนาบังคับใช้ช่วงระยะเวลาสั้น กับรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งคาดว่าจะให้มันอยู่นานๆ แต่เป็นที่รู้กันว่าก็อยู่ได้ไม่นาน อำนาจของราษฎรทั้งหลายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างสำคัญ คือมันมีอำนาจของราษฎรในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเพิ่มขึ้น

ถ้าคิดใน 4 มิติ คือมิติของการเขียน ในอดีตการเขียนรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของเนติบริกร แต่ปัจจุบันนี้ถ้าพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องพูดถึง ส.ส.ร. จะให้เนติบริการ 10 คนไปรวมหัวกันเขียนไม่ได้แล้ว อำนาจของราษฎรในการเขียนรัฐธรรมนูญมันเริ่มเกิดขึ้น มันเพิ่งมาเกิดขึ้นอย่างสำคัญช่วงรัฐธรรมนูญ 2540  ในมิติการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นกลายเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ เมื่อไรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน การรับฟังความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้

ในมิติการให้ความเห็นชอบ ในอดีตรัฐสภาผูกขาดการเห็นชอบรัฐธรรมนูญ แต่หลัง 2550 ประชามติเริ่มเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงและถูกเรียกร้อง เช่นเดียวกับในมิติการแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ได้จำกัดแค่รัฐสภา แต่ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

ทั้งหมดนี้ที่กล่าวมา ความเปลี่ยนแปลงของรัฐธรรมนูญไทยมีรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีกำกับความเปลี่ยนแปลงเอาไว้ การฉีกหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างอิสระตามใจชอบ ไม่ใช่อยากเขียนอะไรก็เขียน แต่มีจารีตประเพณีบางอย่างกำกับไว้ การเปลี่ยนแปลงของรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากหลากหลายกลุ่มต่อรอง ช่วงชิง และสร้างความหมายให้เกิดขึ้น ไม่มีกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดผูกขาดนิยามความหมายของเนื้อหาในรัฐธรรมนูญไว้ได้ทั้งหมด กลุ่มใหญ่ๆ ที่มีบทบาทสำคัญ เช่น สถาบันทหารสถาบันพระมหากษัตริย์ ระบบราชการ ระบบรัฐสภา ประชาชน เป็นห้าส่วนที่สำคัญ

ความเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไทยจึงไม่ได้ดำเนินไปในทิศทางเดียว บางส่วนดำเนินไปในลักษณะเดียวกันกับนานาอารยะประเทศ เช่น ต้องมีการเลือกตั้ง ต้องมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่บางส่วนกลับหัวกลับหางจากนานาอารยะประเทศ เช่น เรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นอิสระจากระบบรัฐสภามากขึ้น ในแง่นี้การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของไทยถ้ามองในกรองรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี เราจะมองเห็นลักษณะที่ย้อนแย้ง (paradox) บางอย่างดูเหมือนไปข้างหน้า บางอย่างดูเหมือนย่ำกับที่ ไม่ไปข้างหน้า อันนี้คือภาพสะท้อนที่ดีของรัฐธรรมนูญไทย

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าหยุดนิ่งกับที่ บางส่วนได้รับการยอมรับจนกลายเป็นจารีตที่ยากจะปฏิเสธได้ บางส่วนเพิ่งเกิดขึ้นและยังพัฒนาต่อได้ ในนัยยะนี้ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีมีความหมายสำคัญ โดยที่ประชาชนสามารถเข้าไปผลักดันมีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีได้ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไม่ได้อยู่ในมือของชนชั้นนำแต่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ในมือของประชาชนที่จะผลักดันและร่วมกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกร็ดข่าว: Vincent van Dominogh

Posted: 27 Jun 2012 09:50 AM PDT

ผลงาน Master Piece ระดับโลกโลกของแวน โกะห์ อย่างภาพ Starry The Night ถูกนำมาสร้างโดมิโน โดยใช้เวลาทั้งหมด 11 ชั่วโมง ใช้ตัวโดมิโนทั้งหมด 7,000 ตัว


ภาพ Starry Night อันโด่งดังของแวน โกะห์ ในรูปแบบโดมิโน

ใครจะไปคาดคิดว่าว่าภาพที่ขึ้นชื่อว่าคลาสสิก เป็นผลงาน Master Piece ระดับโลกโลกของแวน โกะห์ อย่างภาพ Starry The Night จะมาสามารถใช้โดมิโนสร้างได้ ที่สำคัญ เหมือนเชียว ! (กรุณาอย่าคิดถึงโดทิโนที่มีแต้มเป็นจุดๆ ที่เราเล่นสมัยเด็กๆ กันล่ะ เดี๋ยวนี้เขาพัฒนาแล้ว) โดยผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า Vincent van Dominogh สร้างขึ้นโดยศิลปินชาวแคนาเดี้ยน ใช้ชื่อในยูทูบว่า FlippyCat โดยใช้เวลาทั้งหมด 11 ชั่วโมง (ก่อนหน้านี้ล้มไปหนึ่งครั้ง) ใช้ตัวโดมิโนทั้งหมด 7,000 ตัว พอตั้งเสร็จทั้งหมดแล้วล้มเท่านั้นแหละ สวยงามเชียว เป็นรูปวาด Starry Night ที่ใช้ Combination ของสีของตัวโดมิโนที่แจ่มจรัส เจิดสุดๆ

ว่าแต่คุณเบนซ์ คุณโจ และคุณโญ แบบนี้เป็นศิลปะไหมคะ ? ให้ผ่านหรือเปล่า ?

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุดมศึกษาไทยในอาเซียนสมัย ภายใต้ระบบพนักงานมหาวิทยาลัยที่ไร้สถานะ

Posted: 27 Jun 2012 08:40 AM PDT

ในสภาวะแห่งยุคทุนนิยม ที่เศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนและผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ก้าวรุดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ประกอบกับประเทศต่าง ๆ นั้นอยู่รวมกันเป็นสังคมโลก ไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวเดียวดายได้    ดังนั้นการรวมตัวกันของประเทศในแต่ละภูมิภาคเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ร่วมและพัฒนาประเทศในภูมิภาคไปพร้อม ๆ กัน   จึงเป็นสิ่งที่กลุ่มประเทศต่างๆในโลก   เริ่มรวมตัวกันด้วยเหตุนี้

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ อาเซียน ซึ่งในปัจจุบันอาเซียนมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ     ก็เป็นอีกกลุ่มประเทศที่มีข้อตกลงให้มีการรวมตัวเป็นประชาคมเดียวกันให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2558 โดยกรอบความร่วมมือด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community:AEC)ซึ่งเดิมมีการกำหนดเป้าหมายที่จะตั้งขึ้นในปี 2563 แต่ต่อมาได้ตกลงกันเลื่อนกำหนดให้เร็วขึ้นเป็นปี 2558

จากกรอบความร่วมมือในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนดังกล่าวประเทศไทยมองในมิติการได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจในฐานะเป็นประเทศผู้นำในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพราะเป็นการกระจายสินค้าบริการและการลงทุนสู่ประเทศในกลุ่มประชาคม   แต่ในขณะเดียวกันประเทศในกลุ่มประชาคมก็มองผลประโยชน์ที่ตนเองน่าจะได้รับในบริบทไม่แตกต่างไปจากที่ไทยมองแต่หากเราพิจารณาดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยดูข้อมูลจาก Human Development Report 2011 ของ UNDP ที่พิจารณาเฉพาะดัชนีการศึกษา (Education Index) ที่ คํานวณจากอัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ และสัดส่วนของเด็กวัยเรียนที่ ได้รับการศึกษาระดับประถมจนถึงอุดมศึกษา ซึ่งมีการแบ่งกลุ่มและจัดอันดับจากทั้งหมด 187 ประเทศ แต่จะเปรียบเทียบเฉพาะสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ปรากฏว่ากลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูงมากคือ สิงคโปร์ (อันดับที่ 26)บรูไน (อันดับที่ 33)กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูงคือ
มาเลเซีย (อันดับที่ 61)กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับปานกลางคือไทย (อันดับที่ 103)ฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 112)อินโดนีเซีย (อันดับที่ 124)เวียดนาม (อันดับที่ 128)สปป.ลาว (อันดับที่ 138)กัมพูชา (อันดับที่ 139) และกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับต่ำคือพม่า (อันดับที่ 149)(ที่มา :http://www.thai-aec.com)

การพัฒนาศักยภาพมนุษย์มาจากพื้นฐานการศึกษาในแต่ละประเทศ   ซึ่งหมายความว่าถ้าเราพัฒนาบุคลากรของประเทศไม่ทัน เราจะแข่งขันกับประเทศที่มีศักยภาพสูงอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียได้ยาก แต่หากมองกลับมาที่ระบบการอุดมศึกษาไทยเอง ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพมนุษย์สู่ตลาดแรงงาน   กลับพบว่า  ประเทศไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงภายในของระบบการอุดมศึกษาไทยที่ชะลอการพัฒนาเพื่อการแข่งขัน  ซึ่งอาจไม่ใช่ศักยภาพของระบบอุดมศึกษาไทยที่ด้อยกว่าชาติในกลุ่มอาเซียนชาติอื่นๆ ณ เวลาในปัจจุบัน   แต่อาจกลายเป็นว่า  ประเทศไทยกำลังมีตัวแปรซ่อนเร้นที่อาจทำให้ระบบอุดมศึกษาไทยอาจก้าวไม่ทันการพัฒนาเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคต

เป็นที่ทราบกันดีว่า  มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ในปัจจุบันได้เปลี่ยนระบบบุคลากรในมหาวิทยาลัยจาก “ข้าราชการพลเรือนในอุดมศึกษา”  กลายสภาพมาเป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นระบบการจ้างงานผู้มีความรู้ความสามารถภายใต้กรอบสัญญาการจ้างงานที่มีระยะเวลา  หากมองโดยผิวเผินโดยหลักการจะเห็นว่าประเทศไทยได้นำระบบที่ทันสมัยและก้าวทันประชาคมโลกมาใช้   เพราะเป็นการกระจายอำนาจและเพิ่มอิสระในการบริหารให้กับสถาบันอุดมศึกษาส่งผลให้ระบบมีความคล่องตัวสูงและจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถหลากหลายสถานะสามารถเข้าสู่ระบบได้สะดวกขึ้นพร้อมด้วยค่าตอบแทนแรงงานและสิทธิสวัสดิการที่น่าสนใจอีกทั้งการสร้างระบบสัญญาจ้างจะไม่ผูกมัดบุคลากรมากเกินไปในการถ่ายเทแรงงานด้านการศึกษาสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคต

แต่เมื่อนำมาใช้จริงในทางปฏิบัติ   ด้วยความเคยชินของระบบราชการไทย  มุมมองในการบริหารงานในอุดมศึกษาไทยกลับไม่ได้พัฒนาระบบและระเบียบตลอดจนวิธีการ   ให้สอดคล้องกับหลักการที่เขียนขึ้นอย่างสวยหรู   หากแต่เคลือบแฝงไว้ด้วยเงามืดดำทางการบริหารและการทับซ้อนของระบบดั้งเดิมที่มีข้าราชการพลเรือนในอุดมศึกษาอยู่ร่วมกับพนักงานมหาวิทยาลัย   สร้างทั้งความเหลื่อมล้ำและความตกต่ำในทางวิชาการ  อย่างน่าเป็นห่วง   กระบวนการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยในอุดมศึกษาไทยที่ขาดการรับรองสถานะทางกฏหมายกลับกลายเป็นเครื่องมือต่อรอง  ตลอดจนบั่นทอนขวัญกำลังใจโดยตรงของคนที่ได้ชื่อว่า   “ผู้สร้างอนาคตของชาติ”  ทั้งที่พนักงานมหาวิทยาลัยคือบุคลากรที่มีทั้งความรู้ความสามารถสูงแต่กลับตกอยู่ภายใต้ระบบสัญญาจ้างที่ไร้ซึ่งการรับรองสถานะที่ชัดเจน   จึงกลายเป็นช่องว่างสำคัญของการอ้างความไร้ตัวตนทั้งในแง่การพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อการแข่งขันตลอดจนขวัญกำลังใจในการทำงานที่มีสถานะไม่ต่างไปจาก “กรรมกรทางการศึกษา”ของการบริหารอุดมศึกษา   ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในทางตรงและทางอ้อมของการพัฒนาการศึกษาไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน   อย่างไม่ต้องสงสัย

อาจเพราะกระบวนการจ้างงานในระบบพนักงานมหาวิทยาลัย  ยังยึดกรอบวิธีคิดแบบเก่าของระบบราชการไทย  ทำให้สถานะพนักงานมหาวิทยาลัย   ไม่ต่างไปจาก  ลูกจ้างชั่วคราวของรัฐ กล่าวคือ มีค่าตอบแทนแรงงานที่หลากหลาย  ตามแต่สถาบันการศึกษานั้นๆกำหนด  อีกทั้งไม่มีระบบรองรับสถานะที่ชัดเจน  เช่น  ไม่อยู่ภายใต้กฏหมายแรงงาน   ไม่มีสวัสดิการเกื้อหนุนจากรัฐ   ไม่มีระบบสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพ เหมือนระบบข้าราชการเดิม ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานสร้างผลงานจากแรงกระตุ้นกดดันทางการบริหารเพียงอย่างเดียว    ไร้ซึ่งจิตวิญญาณและสามัญสำนึกของวิชาชีพที่แท้จริง  นั่นหมายถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างยากจะคาดเดาในระบบอุดมศึกษาไทยในอนาคต

จริงอยู่ในประการที่ว่า  พนักงานมหาวิทยาลัย ในสถาบันอุดมศึกษาบางแห่ง  ที่ได้ค่าตอบแทนและสวัสดิการค่อนข้างน่าพอใจ  แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า  สถานะของพนักงานมหาวิทยาลัย จะได้รับการรับรองอย่างมั่นคง  หากเป็นเพียงแค่การอยู่ดีมีสุขบนเส้นด้ายแห่งวิชาชีพที่ติดอยู่กับกรอบสัญญาจ้างที่มีทั้งระยะเวลาและหรือผลกระทบด้านสวัสดิภาพในวิชาชีพ  เฉกเช่นเดียวกัน

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าก็คือ  เมื่อเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัวแล้ว  ประเทศที่สามารถจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรทางการศึกษาที่มีความสามารถสูงและอยู่ในสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาด  จะได้เปรียบในด้านการให้ผลประโยชน์ที่จูงใจกว่า  ยิ่งจะส่งผลกระทบต่ออนาคตการศึกษาไทย  ที่ไม่ใช่การเกิด “สมองไหล” ไปสู่ภาคธุรกิจเอกชนดังปรากฏการณ์ในอดีตที่ผ่านมา   แต่กลับไหลออกสู่ประเทศคู่แข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแทน  นั่นย่อมหมายความว่าประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางการแข่งขันทั้งทางการศึกษาและตลาดแรงงานมีฝีมือในอนาคตไปอย่างน่าเสียดาย

ในโลกแห่งทุนนิยม   การแข่งขันทางการศึกษาในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะส่งผลให้  มหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่มีต้นทุนทั้งด้านการเงินและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความสามารถจะสามารถอยู่รอดได้  แต่มหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถต้านทานสภาวะของการแข่งขันในโลกทุนนิยม  อาจจำใจต้องแปรสภาพของตนเองเพื่อความอยู่รอด  นั่นย่อมหมายความว่า ระบบอุดมศึกษาไทยกำลังจะถูกสั่นคลอนจากการเปิดเสรีกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในสภาวะที่ยังสามารถเยียวยาสถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้   หากภาครัฐซึ่งมีความกระตือรือร้นสูงต่อการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน   จะกลับมามองและยอมรับความจริงที่ว่า  เรากำลังเอาความเสียเปรียบที่มองไม่เห็นหรืออาจไม่อยากมองของการอุดมศึกษาไทย   ไปแลกกับการได้มาซึ่งหน้าตาของการเป็นประเทศผู้นำในกลุ่มอาเซียนแล้ว  นั่นหมายถึงเรากำลังจะได้บทเรียนราคาแพงทางด้านการศึกษาให้รู้สึกเจ็บปวดอีกครั้ง   โดยไม่คิดที่จะแก้ไขก่อนสายเกินจะแก้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: จริยธรรมประธานศาลรัฐธรรมนูญ

Posted: 27 Jun 2012 08:32 AM PDT

ไม่น่าเชื่อข่าวที่รายงานใน Manager Online ว่าเป็นคำพูดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรายงานข่าวได้บอกว่าเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการจัดการสัมมนาบทบาทของสื่อมวลชน ในการพัฒนาระบบนิติรัฐและนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 22-23 มิ.ย. ที่โรงแรม แกรนด์แปซิฟิก ซอฟเฟอริน รีสอร์ท แอนด์ สปา ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เพื่อให้สื่อมวลชนมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่การนำเสนอข่าวสารให้สาธารณชนรับทราบในผลการดำเนินงานศาลรัฐธรรมนูญ(???)

ซึ่งนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เปิดเผยในงานสัมมนาว่า การจัดงานพบสื่อไม่ใช่เป็นการจัดเพื่อหาเสียงให้สื่อหันมาสนับสนุน เพราะสื่อถล่มศาลรัฐธรรมนูญอยู่ทุกวัน แต่มีเป้าหมายเป็นการสร้างความเข้าใจบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกัน การที่ว่าสื่อต้องทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน เรื่องนี้ยาก เพราะสื่อบางครั้งก็ยังไม่เข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้น ตลอดระยะเวลา 44 ปีที่ตนเองทำงานด้านกฎหมายมา จะว่าเป็นคนมืออ่อนหรืออย่างไรก็ว่ากันไป แต่ตลกที่มีคนที่ไม่ได้จบกฎหมายออกมาวิจารณ์ด่าศาลรัฐธรรมนูญทางโทรทัศน์ มันก็เป็นเรื่องแปลก ดังนั้น สื่อไม่ได้ทำตัวนำเสนอความคิดเห็นในหลายด้าน

“ขอนำคดีที่อยู่ในความสนใจขณะนี้ เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคำฟ้องกรณี รัฐบาล รัฐสภา กำลังยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 68 เราก็ไปดูการพิจารณาของสภาวาระที่ 3 ก็เห็นว่าเป็นไปได้เหมือนกัน เพราะรัฐสภาชุดนี้พิจารณากฎหมายแบบขายขาด แล้วโยนภาระให้ ส.ส.ร. ก็ต้องเสียเงินเลือกตั้ง ส.ส.ร.มาให้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีกรอบว่าไม่แตะต้อง หมวด 1 (บททั่วไป) และหมวด 2 (พระมหากษัตริย์) ต้องไม่แตะนะ ถ้าเขาร่างมาแล้วแตะล่ะ ใครจะทำไม อ๋อไม่เป็นไรมีประธานสภาเป็นผู้วินิจฉัย แต่ถ้าประธานสภาเห็นว่าให้ลงมติเลย เวลานั้นศาลรัฐธรรมนูญจะทำอะไรได้อีก เพราะเมื่อมีผลเป็นการลงประชามติไปแล้ว ผมขอย้ำเลยว่าถ้าเชื่อถือในบุคคล ก็ไม่ต้องมีกฎหมาย” นายวสันต์ กล่าว

นายวสันต์ กล่าวว่า เมื่อมีข้อกล่าวหาว่าล้มล้างระบอบรัฐธรรมนูญ เวลานี้ตนเองยังไม่เห็นว่าจะมีใครออกมาปฏิเสธสักคำ มันจึงเป็นเรื่องตลกเมื่อโจทย์ยื่นฟ้องจำเลย แทนที่จำเลยจะชี้แจงข้อกล่าวหา กลับมาเล่นงานศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าแปลกมาก

(ที่มา http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000076949)

จากข่าวที่ปรากฏข้างต้นสามารถวินิจฉัยได้ 2 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ คนไม่ได้จบกฎหมายวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

คำวินิจฉัย คือ ทำไมจะวิจารณ์ไม่ได้เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน และแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเองก็มีตุลาการที่ไม่ได้จบกฎหมายเช่นกัน เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 2คน ที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ตามมาตรา 204(4) และมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 50 นี่เอง

ประเด็นที่สอง คือ การให้ความเห็นว่าเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคำฟ้องกรณี รัฐบาล รัฐสภา กำลังยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 68 เราก็ไปดูการพิจารณาของสภาวาระที่ 3 ก็เห็นว่าเป็นไปได้เหมือนกันนั้นขัดต่อประกาศศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง จริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2548 หรือไม่ ซึ่งเราต้องมาดูกันว่าประกาศดังกล่าวกำหนดไว้ว่าอย่างไร

ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้ ดังต่อไปนี้

“ข้อ 1 ปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชนและความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร

ข้อ 2 รักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ

ข้อ 3 ยึดมั่นความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่หวั่นไหวต่อกระแสหรือการกดดันใด ๆ

ข้อ 4 รักษาความลับในการประชุมปรึกษาอย่างเคร่งครัด

ข้อ 5 เคารพในมติและเหตุผลในการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก

ข้อ 6 ระมัดระวังในการให้คำปรึกษาแก่บุคคลภายนอกในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

ข้อ 7 ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชนหรือสาธารณชนในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เสนอหรืออาจจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย”

คำวินิจฉัย การที่ให้ความเห็นเช่นนี้น่าจะเข้าข่ายตามข้อ 7 ในการที่ต้องระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชนหรือสาธารณชนในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เสนอหรืออาจจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแล้ว มิหนำซ้ำความเห็นที่แถลงต่อสื่อมวลชนในคราวนี้น่าจะก้าวล่วงเข้าไปในเนื้อหาแห่งคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประโยคที่ว่า “เป็นไปได้เหมือนกัน” นั่นเอง

แล้วจะทำอย่างไร
คงไม่ต้องทำอะไรสำหรับประเด็นที่หนึ่ง แต่สำหรับประเด็นที่สองนั้นเมื่อเห็นว่าน่าจะเข้าข่ายขัดต่อประกาศศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยจริยธรรมแล้ว ย่อมเข้าข่ายตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่บัญญัติว่า

“ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้”

ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้มีสิทธิตามมาตรา 271 ซึ่งก็คือ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนเข้าชื่อต่อประธานวุฒิสภาเพื่อพิจารณาว่าจะเข้าข่ายต้องถูกถอดถอนหรือไม่ อย่างไร ต่อไป

เมื่อพิจารณาตัดสินคนอื่นให้พ้นจากตำแหน่งได้ ก็ย่อมถูกพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่งได้เช่นกันครับ ว่าแต่ว่าผู้มีสิทธิเข้าชื่อนั้นจะทำหรือเปล่าเท่านั้นเอง เพราะลำพังเพียงการถามหาจริยธรรมเพื่อแสดงความรับผิดชอบคงใช้ไม่ได้ผลในกรณีนี้เป็นแน่

 

------------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 27 มิถุนายน 2555

 

 

 

 

 

-- 

CHUWAT RERKSIRISUK

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: จริยธรรมประธานศาลรัฐธรรมนูญ

Posted: 27 Jun 2012 08:31 AM PDT

เปิดดูคำสัมภาษณ์ประธานศาล รธน. เปิดดูจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ "ข้อ 7 ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชนหรือสาธารณชนในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เสนอหรืออาจจะเสนอให้วินิจฉัย”

ไม่น่าเชื่อข่าวที่รายงานใน Manager Online ว่าเป็นคำพูดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรายงานข่าวได้บอกว่าเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการจัดการสัมมนาบทบาทของสื่อมวลชน ในการพัฒนาระบบนิติรัฐและนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 22-23 มิ.ย. ที่โรงแรม แกรนด์แปซิฟิก ซอฟเฟอริน รีสอร์ท แอนด์ สปา ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เพื่อให้สื่อมวลชนมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่การนำเสนอข่าวสารให้สาธารณชนรับทราบในผลการดำเนินงานศาลรัฐธรรมนูญ(???)

ซึ่งนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เปิดเผยในงานสัมมนาว่า การจัดงานพบสื่อไม่ใช่เป็นการจัดเพื่อหาเสียงให้สื่อหันมาสนับสนุน เพราะสื่อถล่มศาลรัฐธรรมนูญอยู่ทุกวัน แต่มีเป้าหมายเป็นการสร้างความเข้าใจบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกัน การที่ว่าสื่อต้องทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน เรื่องนี้ยาก เพราะสื่อบางครั้งก็ยังไม่เข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้น ตลอดระยะเวลา 44 ปีที่ตนเองทำงานด้านกฎหมายมา จะว่าเป็นคนมืออ่อนหรืออย่างไรก็ว่ากันไป แต่ตลกที่มีคนที่ไม่ได้จบกฎหมายออกมาวิจารณ์ด่าศาลรัฐธรรมนูญทางโทรทัศน์ มันก็เป็นเรื่องแปลก ดังนั้น สื่อไม่ได้ทำตัวนำเสนอความคิดเห็นในหลายด้าน

“ขอนำคดีที่อยู่ในความสนใจขณะนี้ เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคำฟ้องกรณี รัฐบาล รัฐสภา กำลังยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 68 เราก็ไปดูการพิจารณาของสภาวาระที่ 3 ก็เห็นว่าเป็นไปได้เหมือนกัน เพราะรัฐสภาชุดนี้พิจารณากฎหมายแบบขายขาด แล้วโยนภาระให้ ส.ส.ร. ก็ต้องเสียเงินเลือกตั้ง ส.ส.ร.มาให้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีกรอบว่าไม่แตะต้อง หมวด 1 (บททั่วไป) และหมวด 2 (พระมหากษัตริย์) ต้องไม่แตะนะ ถ้าเขาร่างมาแล้วแตะล่ะ ใครจะทำไม อ๋อไม่เป็นไรมีประธานสภาเป็นผู้วินิจฉัย แต่ถ้าประธานสภาเห็นว่าให้ลงมติเลย เวลานั้นศาลรัฐธรรมนูญจะทำอะไรได้อีก เพราะเมื่อมีผลเป็นการลงประชามติไปแล้ว ผมขอย้ำเลยว่าถ้าเชื่อถือในบุคคล ก็ไม่ต้องมีกฎหมาย” นายวสันต์ กล่าว

นายวสันต์ กล่าวว่า เมื่อมีข้อกล่าวหาว่าล้มล้างระบอบรัฐธรรมนูญ เวลานี้ตนเองยังไม่เห็นว่าจะมีใครออกมาปฏิเสธสักคำ มันจึงเป็นเรื่องตลกเมื่อโจทย์ยื่นฟ้องจำเลย แทนที่จำเลยจะชี้แจงข้อกล่าวหา กลับมาเล่นงานศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าแปลกมาก

(ที่มา http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000076949)

จากข่าวที่ปรากฏข้างต้นสามารถวินิจฉัยได้ 2 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ คนไม่ได้จบกฎหมายวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

คำวินิจฉัย คือ ทำไมจะวิจารณ์ไม่ได้เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน และแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเองก็มีตุลาการที่ไม่ได้จบกฎหมายเช่นกัน เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 2คน ที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ตามมาตรา 204(4) และมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 50 นี่เอง

ประเด็นที่สอง คือ การให้ความเห็นว่าเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคำฟ้องกรณี รัฐบาล รัฐสภา กำลังยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 68 เราก็ไปดูการพิจารณาของสภาวาระที่ 3 ก็เห็นว่าเป็นไปได้เหมือนกันนั้นขัดต่อประกาศศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง จริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2548 หรือไม่ ซึ่งเราต้องมาดูกันว่าประกาศดังกล่าวกำหนดไว้ว่าอย่างไร

ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้ ดังต่อไปนี้

“ข้อ 1 ปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชนและความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร

ข้อ 2 รักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ

ข้อ 3 ยึดมั่นความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่หวั่นไหวต่อกระแสหรือการกดดันใด ๆ

ข้อ 4 รักษาความลับในการประชุมปรึกษาอย่างเคร่งครัด

ข้อ 5 เคารพในมติและเหตุผลในการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก

ข้อ 6 ระมัดระวังในการให้คำปรึกษาแก่บุคคลภายนอกในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

ข้อ 7 ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชนหรือสาธารณชนในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เสนอหรืออาจจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย”

คำวินิจฉัย การที่ให้ความเห็นเช่นนี้น่าจะเข้าข่ายตามข้อ 7 ในการที่ต้องระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชนหรือสาธารณชนในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เสนอหรืออาจจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแล้ว มิหนำซ้ำความเห็นที่แถลงต่อสื่อมวลชนในคราวนี้น่าจะก้าวล่วงเข้าไปในเนื้อหาแห่งคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประโยคที่ว่า “เป็นไปได้เหมือนกัน” นั่นเอง

แล้วจะทำอย่างไร
คงไม่ต้องทำอะไรสำหรับประเด็นที่หนึ่ง แต่สำหรับประเด็นที่สองนั้นเมื่อเห็นว่าน่าจะเข้าข่ายขัดต่อประกาศศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยจริยธรรมแล้ว ย่อมเข้าข่ายตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่บัญญัติว่า

“ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้”

ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้มีสิทธิตามมาตรา 271 ซึ่งก็คือ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนเข้าชื่อต่อประธานวุฒิสภาเพื่อพิจารณาว่าจะเข้าข่ายต้องถูกถอดถอนหรือไม่ อย่างไร ต่อไป

เมื่อพิจารณาตัดสินคนอื่นให้พ้นจากตำแหน่งได้ ก็ย่อมถูกพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่งได้เช่นกันครับ ว่าแต่ว่าผู้มีสิทธิเข้าชื่อนั้นจะทำหรือเปล่าเท่านั้นเอง เพราะลำพังเพียงการถามหาจริยธรรมเพื่อแสดงความรับผิดชอบคงใช้ไม่ได้ผลในกรณีนี้เป็นแน่

 

------------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 27 มิถุนายน 2555

 

 

 

 

 

-- 

CHUWAT RERKSIRISUK

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเบาบางของ ‘ประชาธิปไตย’ ในภาพยนตร์ไทย ว่าด้วยนักการเมืองเลว

Posted: 27 Jun 2012 04:59 AM PDT

ในทางทฤษฎีด้านสื่อสารมวลชน แนวความคิดในการนิยามความหมายของสื่อสารมวลชนที่ได้รับการยอมรับชุดหนึ่งคือสื่อนั้นคือตัวกลางในการนำความคิด อุดมการณ์ ส่งสารจากปัจเจกหรือกลุ่มคนไปสู่ยังผู้รับสาร จุดมุ่งหมายย่อมต้องการบอกกล่าวให้ผู้ที่ได้เห็นสารนั้นเป็นไปดั่งวัตถุประสงค์ไม่ว่าจะคล้อยตามหรือต่อต้าน

สื่อภาพยนตร์มิได้มีเพียงบทบาทในการให้ความบันเทิงประโลมโลกย์ตามโรงภาพยนตร์เพื่อให้คนหลุดลอยออกจากห้วงแห่งความจริงเท่านั้น ตลอดช่วงอายุที่ถือกำเนิดขึ้นมา ภาพยนตร์มีโอกาสกลายเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญสำหรับเป็นกระบอกเสียงบอกกล่าวข่าวสาร ถูกใช้เป็นกลจักรปลุกเร้าอุดมการณ์ สร้างภาพดีให้กับฝ่ายตนและสร้างภาพฝ่ายมารให้กับศัตรู ตลอดช่วงเวลาที่สงครามและความเห็นต่างเกิดขึ้นบนโลกใบนี้

แม้ทุกวันนี้อาจจะไม่มีผู้กำกับคนใดเลือกเล่าความคิดของเขาออกมาตรง ๆ ซื่อ ๆ แบบหนังข่าวในอดีต ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคนิคทางภาพยนตร์ทำให้กลวิธีการนำเสนอแยบคายขึ้น ผู้ชมอาจจะต้องตีความกันอย่างพินิจพิเคราะห์มากกว่าหนังข่าว บ้างต้องวิเคราะห์สัญญะกันหนักหน่วงเพื่อเชื่อมโยงไปสู่แก่นความคิดของผู้กำกับ ทั้งนั้นบทบาทของภาพยนตร์ในแง่เป็นตัวกลางนำความคิดไปสู่คนดูยังคงเสมอต้นเสมอปลาย

--------------------------

ในประเทศไทยนั้น เป็นที่รู้กันดีว่าการพูดถึงเรื่องการเมืองในภาพยนตร์อย่างจริงจังดูจะเป็นเรื่องที่ ‘เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง’ นอกจากจะเสี่ยงในแง่หาทุนมาทำหนังไม่ได้แล้ว ยังมีโอกาสถูกเซนเซอร์ไปจนถึงแบนห้ามฉาย อย่างไรก็ดีนับแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมามีภาพยนตร์ไทยไม่น้อยที่ใส่บรรยากาศความอึมครึมทางการเมืองไว้

แม้หนังจะพูดเรื่องการเมือง ทว่าเมื่อลองมองลึกเข้าไปสำรวจถึงแนวคิดประชาธิปไตยที่ควรจะเป็นประเด็นหลักก็น่าชวนตั้งข้อสงสัยอย่างยิ่งว่ามีหนังไทยสักเรื่องหรือไม่ที่พูดถึงประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจัง แนวคิดประชาธิปไตยที่ว่านี้คือการพูดถึงหลักการพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค หรือการตั้งคำถามต่อระบบคิดทางการเมืองต่าง ๆ รวมไปถึงความยอมรับความคิดต่างที่เกิดจากการถกเถียงด้วยเหตุผล

เอาเฉพาะหลังรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา ไม่มีภาพยนตร์ไทยเรื่องไหนพูดถึงเรื่องเสรีภาพ ไม่มีใครแตะต้องความเสมอภาค จะมีบ้างก็ในสายหนังสั้น ผลงานรางวัลรัตน์ เปสตันยีอย่างน้อยสองเรื่อง คือ คุณแม่อยากไปคาร์ฟูร์ ของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ และ I’m Fine สบายดีค่ะ ของ ธัญญ์วาริน สุขพิสิษฐ์ ทว่าเรื่องแรกก็พูดถึงสภาพสังคมที่เกิดขึ้นในวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 หลังจากมีการประกาศเคอร์ฟิว ส่วนเรื่องหลังน่าจะใกล้เคียงแนวคิดประชาธิปไตยเป็นพิเศษเมื่อธัญญ์วารินตั้งคำถามถึงคนไทยที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพทว่ากลับไม่รู้สึกว่านั่นคือความทุกข์ร้อน (ทั้งสองเรื่องหาชมในทาง youtube)

ถ้าเช่นนั้นเราพบอะไรในหนังไทย (โดยเฉพาะหนังที่ฉายตามโรง) ที่พูดเรื่องการเมือง

---------------------------

เมื่อสำรวจดูภาพยนตร์ไทยคร่าว ๆ หลังรัฐประหาร ความคิดเรื่องนักการเมืองเลวกลายเป็นประเด็นที่คนหลายกลุ่มสมาทานยอมรับ พวกเขาเชื่อว่านักการเมืองเลวนั้นคือปมปัญหาทุกสิ่ง หากกำจัดนักการเมืองเลวทิ้งย่อมเป็นเรื่องดี นอกจากนั้นพวกเขายังสมาทานความดีของบุคคล และเชื่อว่าตนนั้นคือคนดีทว่ายินยอมให้ใช้วิธีการใดก็ได้ในการกำจัดนักการเมืองเลวด้วยการสังหารทิ้ง

ความคิดเช่นนี้ปรากฎในภาพยนตร์หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ฝนตกขึ้นฟ้า ของเป็นเอก รัตนเรือง, เฉือน ของก้องเกียรติ โขมศิริ, หมาแก่อันตราย ของยุทธเลิศ สิปปภาค และอินทรีแดงของ วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง

สิ่งที่มีคล้ายกันในหนังทั้งสี่เรื่องคือมีตัวละครที่เป็นนักการเมืองผู้โกงกินคอรัปชั่น ตัวเอกในเรื่องรับหน้าที่เป็นศาลเตี้ยขอพิพากษาเหล่านักการเมืองเลวพวกนี้ด้วยเหตุผลนานา ในฝนตกขึ้นฟ้า ตัวเอกขอเป็นนักฆ่าเพราะยอมไม่ได้กับนักการเมืองเลว แถมยังอ่านจดหมายประหนึ่งประกาศ manifesto ของผู้กำกับกันอย่างจะแจ้ง ในเฉือน ‘ไท’ พระเอกของเรื่องก็สังหารนักการเมืองเลวที่ชอบเสพสุขกับเด็ก ส่วนหมาแก่อันตราย เป้ อูซี่ สาธยายด่าหัวคะแนนที่กำลังซื้อเสียงก่อนจะลงมือยิงกราดอย่างเลือดเย็น ส่วนอินทรีแดง เขาแก้แค้นนักการเมืองเพราะนักการเมืองทำให้ชีวิตเขาป่นปี้

อินทรีแดงอาจจะไปไกลกว่าคนอื่นหน่อยตรงที่นักการเมืองเลวเหล่านั้นแท้ที่จริงมีองค์กรลับชักใยอยู่เบื้องหลัง (ในเรื่องชื่อองค์กรมาตุลี) วิศิษฐ์อาจต้องการบอกว่าแท้จริงเหนือขึ้นไปอาจจะมีเรื่องลับซับซ้อนที่ซ่อนตัวควบคุมในเบื้องหลัง และคนเหล่านั้นอาจจะเป็นใครที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้

เราจะเห็นภาพนักการเมืองเลวเช่นนี้ถูกผลิตซ้ำอยู่เรื่อย ๆ โดยแทบไม่มีการตั้งคำถามกับเหล่าบรรดาตัวเอกเลยว่าในยุคนี้แล้วการใช้วิธีแบบศาลเตี้ยนั้นชอบธรรมแล้วจริงหรือ แม้บรรดานักการเมืองจะเลวจริงแต่วิธีการกำจัดถึงชีวิตเป็นสิ่งที่ควรทำแล้วใช่ไหม

แล้วบรรดาตัวละครที่ตัดสินคนอี่นว่าเลวนี่ตนเองดีขนาดไหน แล้วถ้าเป็นคนดีจริงสามารถไปทำกับคนอื่นแบบนี้ได้หรือไม่ แล้วเราจะวัดความดีของคนว่าดีเลวต่างกันได้อย่างไร

ในทัศนะส่วนตัว ผู้เขียนเชื่อว่าหนังเหล่านี้กลายเป็นภาพสะท้อนระบบคิดของคนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยที่มักบอกว่าตัวกูดี ตัวมึงเลว ดังนั้นเมื่อกูเป็นคนดี กูย่อมมีสิทธิ์กำจัดคนเลวอย่างมึงด้วยวิธีไหนอย่างไรก็ได้ ไม่น่าแปลกที่เราจะเห็นคนพวกนี้เรียกร้องในทหารออกมาปฏิวัติ เรียกร้องและยินดีให้ทหารยิงผู้ชุมนุมกลางราชประสงค์ ด้วยความรู้สึกว่าพวกคนเลวตายไปไม่กี่คนคงทำให้แผ่นดินเบาขึ้น

เมืองไทยไม่ต้องการหนังฮีโร่ที่ออกมาจัดการผู้ร้ายเพราะกฎหมายช่วยอะไรไม่ได้แล้ว เราต้องการหนังที่ทบทวนระบบว่าทำไมถึงจัดการกับเหล่าร้ายไม่ได้มากกว่า แต่หนังแบบนี้ทำไปโอกาสเจ๊งสูง สู้ทำหนังฮีโร่เชิดชูคุณธรรมไม่ได้ แถมนายทุนก็คงให้ทุนยาก ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อยที่เราก็คงเห็นนักการเมืองถูกฆ่าในหนังไทยต่อไปเรื่อย ๆ

 

หมายเหตุ

เนื้อหามาจากบางส่วนในงานเสวนาเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตยในภาพยนตร์ไทย จัดโดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหมืองโปแตชเต็มแผ่นดินอีสาน ล่าสุดผุดที่ยโสธร นายทุนขอสำรวจ 1.9 แสนไร่

Posted: 27 Jun 2012 03:40 AM PDT

นายทุนรุมทึ้งขอสัมปทานสำรวจและผลิตแร่โปแตช เอ็นจีโอจวกรัฐบาลเอื้อประโยชน์เอกชน ปลดล็อคกฎหมายแร่ ให้ขุดเอาทรัพยากรใต้ดินไปขาย ไม่เว้นแม้กระทั่งพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

 
วันนี้ (27 มิ.ย.55) นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน ซึ่งติดตามตรวจสอบกรณีเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสานมาอย่างต่อเนื่อง เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลชุดนี้โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ยื่นเรื่องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศยกเลิกมาตรา 6 ทวิ วรรคสอง ของ พ.ร.บ.แร่ 2510 ในเขตพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเปิดให้เอกชนสามารถยื่นคำขออาชญาบัตรเพื่อประกอบการเชิงพาณิชย์ และทำการผลิตแร่โปแตช ได้ในหลายพื้นที่
 
นายสุวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ โดยนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ได้ประกาศยกเลิกมาตรา 6 ทวิ วรรคสอง ตาม พ.ร.บ.แร่ 2510 ไปแล้ว ในพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร จำนวน 120,000 ไร่, พื้นที่ อ.เรณูนคร และ อ.พระธาตุพนม จำนวน 200,000 ไร่ และในส่วน จ.หนองคาย คือ อ.สระใคร อ.ท่อบ่อ อ.สังคม และ อ.ศรีเชียงใหม่ จำนวน 100,000 ไร่ กระทรวงอุตสาหกรรม กำลังดำเนินการยื่นเรื่อง
 
“ล่าสุดคือที่อำเภอเมือง และอำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ได้มีเอกชน คือบริษัทไทยอินเตอร์ โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด กำลังยื่นขออาชญาบัตรสำรวจแหล่งแร่โปแตช พื้นที่จำนวน 190,000 ไร่ นอกจากนี้ก็พบว่ามีนายทุนไปหากว้านซื้อที่ดินหลายพันไร่ในบริเวณนั้น ขณะที่ผู้ว่าฯ และอุตสาหกรรมจังหวัดได้ลงพื้นที่ไปคุยกับชาวบ้าน แต่อ้างว่าจะพัฒนา การเกษตร คือปลูกยางพารา” นายสุวิทย์ กล่าว
 
ด้านนายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือก ภาคอีสาน เปิดเผยว่า เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ที่จะให้อุตสาหกรรมร้ายแรง และไม่เป็นประโยชน์แก่คนในท้องถิ่น มาเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งคนอีสานจะต้องลุกขึ้นมาปกป้องผืนแผ่นดิน โดยตนและเครือข่ายชาวบ้านก็จะติดตามให้ถึงที่สุด
 
“พื้นที่จังหวัดยโสธร ถือว่าเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำ และมีการทำเกษตรอินทรีย์มากที่สุดในประเทศ หากมีเหมืองแร่โปแตชเกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ซึ่งในเบื้องต้นก็ได้ให้ข้อมูลกับแกนนำในพื้นที่แล้วระดับหนึ่ง และมีแผนจะไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพี่น้องที่อุดรฯ และสกลนครด้วย” นายอุบล กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.สกลนคร มีความคืบหน้าค่อนข้างมาก เมื่อประธานบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) ผู้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษ จากประเทศจีน กำลังเดินสายพบปะข้าราชการและผู้นำชุมชน และมีแผนจะพาไปดูเหมืองที่ประเทศจีน ในเร็วๆ นี้
 
ส่วนที่ จ.อุดรธานี อยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตประทานบัตร ทำเหมือง ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) แต่ติดอยู่ที่ชาวบ้านในพื้นที่คัดค้าน และอยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย คือ ฝ่ายกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และฝ่ายชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เพื่อศึกษาร่วมกันทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงตามขั้นตอนประทานบัตร
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ: ทัศนียภาพของการต่อต้าน: เรื่องเล่าของการปฏิวัติสยามในสื่อร่วมสมัย

Posted: 27 Jun 2012 03:29 AM PDT

ในการรายการสัมมนาเรื่อง "จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย" โดย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันนโยบายศึกษา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ที่อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้น ในการสัมมนาวันแรกคือวันที่ 21 มิ.ย. ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้นำเสนอหัวข้อ "ทัศนียภาพของการต่อต้าน: เรื่องเล่าของการปฏิวัติสยามในสื่อร่วมสมัย"

โดยการนำเสนอดังกล่าว ผู้นำเสนอระบุไว้ในบทคัดย่อว่าเป็นการนำเอาแนวคิดเรื่องการจ้องมอง (the gaze) มาเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้กรอบศึกษาวัฒนธรรมทัศนา (visual culture) หรือวัฒนธรรมทางสายตา มาพิจารณาวามเป็นการเมืองของสื่อร่วมสมัยกับการเล่าเรื่องเกี่ยวกับการปฏิวัติสยามและการเมืองร่วมสมัย ซึ่งจะเห็นได้ว่าการมองเห็นมิใช่เพียงแค่การอ่านหรือการมองเห็นเพื่อความสุขเพลิดเพลินจากการได้เห็นสิ่งสวยงามแต่อย่างเดียว เพราะถึงแม้มนุษย์ได้สร้างสรรค์วัตถุในรูปแบบและวิธีการต่างๆ เพื่อความสุขเพลิดเพลินจากการมองเห็น เช่น อาคาร งานศิลปะ หรือภาพยนตร์ ตลอดจนสื่อร่วมสมัยอย่างอินเทอร์เน็ตมีนัยสำคัญต่อการสร้างหรือแต่งเติม เพิ่มความหมายและนำไปสู่การรับรู้เกี่ยวกับ 2475 และสร้างวาทกรรมประชาธิปไตยในหลากมุมมอง ทั้งส่วนที่เป็นการสนับสนุนและยอมรับความสำคัญของการปฏิวัติสยาม ในขณะที่ภาพและเรื่องเล่าที่ปรากฏในสื่อจำนวนไม่น้อยพยายามลดทอนความสำคัญของการปฏิวัติสยาม และทำให้กลายเป็นเพียงปัญหาเรื่องความไม่พร้อม การชิงสุกก่อนห่าม การเร่งรุกสร้างประชาธิไตยมากเกินไป และทำให้เกิดรอยด่างในทฤษฎีรัฎฐาธิปัตย์ของไทย เป็นต้น

ในบทความจะได้สำรวจแนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมทัศนา พัฒนาการเรื่องเล่าเกี่ยวกับศิลปะในไทย แนวคิดเรื่องพระราชนิยม การสร้างแบบความงามผ่านสถาบันการศึกษาด้านศิลปะที่สำคัญ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร และผลงานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยของไทย

การนำเสนอยังชี้ให้เห็นว่า พัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้การแพร่หลายของสื่อมีมากขึ้นและขยายเรื่องเล่าของการปฏิวัติสยาม ตลอดจนพยายามเชื่อมโยงการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในหลายมิติ และในตอนท้ายยังมีการนำเสนอถึงตำแหน่งแห่งที่และสุนทรียศาสตร์ของการต่อสู้ในวาทกรรมประชาธิปไตยที่ปรากฏในสื่อบนท้องถนนอีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขบวนการแรงงานเกาหลีใต้ยังคงยืนหยัดปกป้องประชาธิปไตยในประเทศไทย

Posted: 26 Jun 2012 10:00 PM PDT

 
 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ขบวนการแรงงานเกาหลีใต้ในนามสมาพันธ์แรงงานเกาหลี (Korean Confederation of Trade Unions-KCTU) และนักกิจกรรมแรงงานจากองค์กรต่างๆ ได้ออกมาประท้วงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับเหยื่อของความขัดแย้งทางการเมือง และความบกพร่องของกลไกรัฐด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่สามารถปกป้องคนเสื้อแดงที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากคณะผู้ทำการรัฐประหาร 2549    ซึ่งไม่ใช่เพียงครั้งเดียวที่ขบวนการแรงงานเกาหลีออกมาเรียกร้อง  เพราะแม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ยังคงต้องเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อปัญหาการละเมิดสิทธิ การปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชนด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อไป
 
จดหมายที่ยื่นให้แก่สถานทูตไทยประจำประเทศเกาหลีใต้ ที่กรุงโซล มีข้อเรียกร้องหลัก 2 ข้อ ดังที่พาดหัวไว้  ส่วนเนื้อหาของจดหมายปรากฎด้านล่างสุดของรายงาน
 
ต่อจากนั้น ทางโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยประชุมร่วมกับตัวแทนของ KCTU และองค์กรแนวร่วม ได้แก่ Workers Solidarity All Together (Korea), Korean House for International Solidarity, Asia Monitoring Resource Center (Hong Kong), Labour Action China (Hong Kong),  Sedane  Labour Resource Center (Indonesia)    โดยโครงการฯ ได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย โดยเฉพาะจากอำนาจตุลาการที่มีอคติต่อประชาชนที่คัดค้านฝ่ายอนุรักษ์จารีต   อำนาจที่เข้มแข็งของฝ่ายทหารที่กล้าใช้อาวุธสงครามยิงใส่ผู้ประท้วงเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553   และการรณรงค์แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  ไปจนถึงปัญหาของขบวนการแรงงานไทยที่แบ่งเป็นฝักฝ่ายคือ  ฝ่ายที่สนับสนุนการทำรัฐประหารเพื่อขจัดอดีตรัฐบาลไทยรักไทย  และฝ่ายที่คัดค้านการทำรัฐประหาร ต้องการรักษาระบบเลือกตั้งไว้  ซึ่งนำไปสู่การแตกแยกของขบวนการแรงงานไทย  อันส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาแรงงานในปัจจุบัน และการรวมกลุ่มจัดตั้งที่แรงงานยังอ่อนแอทางความคิด ผู้นำไม่เข้าใจหลักสิทธิมนุษยชน และไม่สามารถเล็งเห็นผลที่ตามมาจากเลือกข้างฝ่ายก่อการรัฐประหาร ฝ่ายเสื้อเหลือง โค่นล้มรัฐธรรมนูญ ระบบการเลือกตั้ง  การทำร้ายผู้ที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจรัฐ และการมีระบบยุติธรรมสองมาตรฐาน
 
ทางสหภาพแรงงานเกาหลี ได้เสนอแนะให้แรงงานไทยศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนให้มากกว่านี้ ให้ทำความเข้าใจว่า สิทธิพลเมืองคืออะไร ความรุนแรงของรัฐส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างอย่างไร 
 
ข้อสรุปที่ได้จากการประชุม คือ ขบวนการแรงงานเกาหลีจะสนับสนุนการรณรงค์เช่นนี้ต่อไป และจะสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายญาติและผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรา 112 โดยจะติดต่อสื่อสารกันอย่างต่อเนื่อง และจะวางแผนการรณรงค์ร่วมกันในอนาคต
 
0 0 0
 
21 มิถุนายน 2555
 
ถึง นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
สำเนาถึง เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเกาหลี
 
เราเขียนจดหมายฉบับนี้ในนามของขบวนการทางสังคมทั้งในประเทศเกาหลีและระหว่างประเทศเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับนักกิจกรรมแรงงาน คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข
 
เราขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งถูกจับกุมคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554  เขาเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิ อุทิศงานเพื่อประชาธิปไตยและขบวนการแรงงานในประเทศไทย ทั้งยังได้ร่วมสร้างความสมานฉันท์ระหว่างประเทศ ในฐานะนักกิจกรรมแรงงาน นักคิดและนักหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาได้แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับขบวนการแรงงานที่เกาหลี โดยได้แปลเพลงแรงงานเกาหลี และเผยแพร่ให้ขบวนการแรงงานไทย ด้วยเหตุนี้ขบวนการแรงงานเกาหลีและขบวนการทางสังคมจึงมีความกังวลต่อสถานการณ์ปัญหาของเขาอย่างมาก
 
เขาถูกคุมขังด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งถูกปฏิเสธการประกันตัวและยังถูกขยายการคุมขังไปอีก  เรากังวลมากที่รัฐบาลไทยใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกำราบปราบปรามคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผ่านนิตยสารเรดพาวเวอร์ 
 
นอกจากนี้ เราได้ยินมาว่า นายกรัฐมนตรีประเทศไทยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้รับการสนับสนุนจากขบวนการเสื้อแดง ยืนกรานที่จะไม่แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะไม่ได้รณรงค์หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้  แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์การเสียชีวิตของนายอำพล ตั้งนพคุณ นักโทษการเมืองวัย 62 ปี ผู้ตกเป็นเหยื่อกฎหมายหมิ่นดังกล่าวในวันที่ 8 พฤษภาคม 2555  เขาถูกตัดสินจำคุกถึง 20 ปีเพราะส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือไปยังเลขานุการส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
 
โศกนาฏกรรมของนายอำพล ตั้งนพคุณไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่กรณีเดียว  แต่กำลังเกิดขึ้นกับผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกหลายคน  การประกันตัวและการรักษาพยาบาลนอกเรือนจำก็ยังคงถูกเจ้าหน้ารัฐปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า  กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงเป็นกฎหมายที่ต่อต้านประชาธิปไตยเพื่อใช้ปราบปรามขบวนการแรงงานและขบวนการทางสังคมในประเทศไทย  เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักโทษการเมืองคดีหมิ่นฯและแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ ด้วย
 
และเราขอเตือนความจำท่านว่า ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิต่างๆ และความรับผิดชอบของปัจเจกชน กลุ่มและองค์กรของสังคมที่ส่งเสริม ปกป้องสิทธิมนุษยชนสากลและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้รับฉันทามติจากสหประชาชาติเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541  ปฏิญญานี้เป็นการตระหนักถึงความชอบธรรมของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการจัดตั้ง รวมตัว ที่รัฐทุกรัฐต้องสร้างหลักประกันให้แก่นักกิจกรรมด้านสิทธิ ให้สามารถดำเนินกิจกรรมของตัวเองได้โดยไม่ถูกทำให้กลัว หรือถูกใช้กำลังบ่อนทำลาย
 
ย้ำว่า การใช้กฎหมายไปในทางที่ผิดอย่างต่อเนื่องเป็นภัยคุกคามต่อการสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ในประเทศไทย  กฎหมายเช่นนี้ต้องได้รับการแก้ไข ทบทวนให้สอดคล้องกับหลักมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล
 
เราขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐ
 
1. ปล่อยนักโทษการเมืองคดีหมิ่นฯ ทุกคน รวมถึงคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข โดยไม่มีเงื่อนไขและให้สิทธิในการนิรโทษกรรม 
 
2. แก้ไขก.ม.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 
 
องค์กรผู้ร่วมลงชื่อแนบท้ายจดหมาย
 
1. Korean Confederation of Trade Unions (KCTU), Korea
2. Korean House for International Solidarity, Korea
3. Workers Solidarity All Together, Korea
4. Thai Labour Campaign, Thailand 
5.  Unified Progressive Party, Korea
6.  Korea Contingent Workers Center
7. Workers' Assistance Center (Philippines) 
8. Sedane Labour Resource Center (Indonesia)
9. Local Initiative for OSH Network
10. Asia Monitor Resource Centre (Hong Kong)
11. Globalization Monitor (Hong Kong)
12. Yokohama Action Research (Japan)
13. Labour Action China  (Hong Kong)
14.Citizen of the Earth Taiwan (CET)
15. International Campaign for Responsible Technology (ICRT, U.S.A.)
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปรับสมาคมฟุตบอลโครเอเชียอีกหลังแฟนบอลเหยียดผิว เล็งสเปน-รัสเซียต่อ

Posted: 26 Jun 2012 07:42 PM PDT

ความเข้มงวดเรื่องการกวดขันการเหยียดผิวในยูโร 2012 ยังคงเดินหน้าต่อ เมื่อ UEFA ปรับเงินสมาคมโครเอเชีย โทษฐานแฟนบอลแสดงพฤติกรรมเหยียดผิว เล็งสเปน-รัสเซียต่อ ส่วนสมาคมฟุตบอลโปรตุเกสโดนปรับหลังแฟนบอลบุกลงไปในสนาม
 
27 มิ.ย. 55 - UEFA สั่งปรับเงินสมาคมฟุตบอลโครเอเชีย (HNS) จำนวน 30,000 ยูโร กรณีที่แฟนบอลแสดงป้ายเหยียดผิวและขว้างพลุไฟลงไปในสนามระหว่างเกมที่โครเอเชียแพ้สเปนเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 55 ที่ผ่านมา
 
ก่อนหน้านี้ HNS พึ่งโดนปรับเงิน 80,000 ยูโรในเกมที่แฟนบอลเหยียดผิวผู้เล่นอิตาลีเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ทั้งสองทีมเจอกัน เบ็ดเสร็จแล้วพวกเขาโดนปรับเงินไปถึง 110,000 ยูโร
 
นอกจากกรณีเหยียดผิวแล้ว UEFA ยังปรับเงินสมาคมฟุตบอลโปรตุเกส (FPF) จำนวน 7,000 ยูโร จากกรณีที่แฟนบอลรายหนึ่งพยายามที่จะบุกเข้าไปในสนามระหว่างเกมที่โปรตุเกสชนะสาธารณรัฐเช็ก 1-0 เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา
 
นอกจากนี้ UEFA แถลงว่ากำลังดำเนินการสอบสวนสมาคมฟุตบอลรัสเซีย (RFS) และสมาคมฟุตบอลสเปน (RFEF) ฐานที่แฟนบอลเหยียดผิวเช่นกัน ในเกมที่รัสเซียพบกับสารธารณะรัฐเช็กเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. และในเกมที่สเปนพบอิตาลีเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดย UEFA มีกำหนดพิจารณาโทษในวันพรุ่งนี้ (28 มิ.ย.)
 
ที่มาข่าว:
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น