โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กลุ่มคณะราษฎร์ที่ 2 ยืมรถถัง ทบ.ร่วมกิจกรรม 24 มิ.ย.2475

Posted: 18 Jun 2012 02:13 PM PDT

เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า 'คณะราษฏร์ที่ 2' ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งหนังสือขอยืมอาวุธยุทโธปกรณ์จากกองทัพบก เพื่อนำไปประกอบการแสดงรำลึกในงานวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง บริเวณหมุดคณะราษฎร์ ลานพระบรมรูปทรงม้า

กลุ่มนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมตัวภายใต้ชื่อกลุ่ม "คณะราษฎร์ชุดที่ 2 ต่อต้านอำนาจนอกระบบ" เพื่อแสดงเจตจำนงในการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มาอำนาจประชาชนที่แท้จริง

โดยหนังสือของกลุ่มคณะราษฎร์ที่ 2 ที่ยื่นหนังสือเพื่อขอยืมยุทโธปกรณ์ ประกอบด้วย รถหุ้มเกราะจากกองทัพบก เพื่อนำไปประกอบการแสดงรำลึกเนื่องในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ครบรอบ 80 ปีการเปลี่ยนเเปลงการปกครอง บริเวณหมุดคณะราษฎร์ ลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันที่ 24 มิถุนายนนี้

หนึ่งในสมาชิกกลุ่มคณะราษฎร์ที่ 2 ได้ระบุว่า การแต่งกายย้อนยุคจำลองคณะราษฎร์ในปี 2475และการทำหนังสือขอยืมยุทโธปกรณ์ครั้งนี้ เพื่อต้องการแสดงถึงความสมจริงในเหตุการณ์ และถือว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหาร หรือการใช้อำนาจทหารเข้ามามีบทบาทต่อการเมืองไทย

ทั้งนี้ จ่าสิบเอกรุ่งโรจน์ เหลืองอร่าม นายเวรประจำสำนักเลขานุการกองทัพบก เป็นตัวแทนผู้บัญชาการทหารบกมารับหนังสือจากกลุ่มคณะราษฎร์ที่ 2 โดยกล่าวว่าจะส่งหนังสือไปยังสำนักเลขานุการเพื่อส่งเรื่องการขอยืมยุทโธปกรณ์ ซึ่งจะต้องรอผู้บัญชาการทหากบกทำการอนุมัติ  

 

.............
ที่มา:
วอยซ์ทีวี

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

2 นักข่าวเยอรมันให้การกรณีแท็กซี่ถูกยิงที่ราชปรารภ ยันกระสุนมาจากฝั่งทหาร

Posted: 18 Jun 2012 01:56 PM PDT

นิค นอสติทซ์ และ ธีโล เธียลเค เบิกความกรณีการเสียชีวิตของชาญณรงค์ พลศรีลา แท็กซี่เสื้อแดงที่ถูกยิงและเสียชีวิต ถนนราชปรารภ วันที่ 15 พ.ค.53 ยืนยันตรงกันว่ากระสุนมาจากฝั่งทหาร ขณะที่ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ

18 มีนาคม 2555 เวลา 13.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 707 ศาลอาญา รัชดา ได้มีการไต่สวน 2 ผู้สื่อข่าวชาวเยอรมัน คือ นิค นอสติทซ์(Nick Nostiz) และ ธีโล เธียลเค (Thilo Thielke)  ตามเลขคดี อช.1/2555 จากกรณีการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ พลศรีลา คนขับรถแท็กซี่เสื้อแดงที่ถูกยิงและเสียชีวิตบริเวณหน้าปั้มเชลล์ ถนนราชปรารภ เมื่อบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 ช่วงที่มีการกระชับวงล้อมผู้ชุมนุมเสื้อแดงโดย ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)และรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยในระหว่างการไต่สวนได้มีภรรยาและบุตรสาวนายชาญรงค์ร่วมฟังด้วย และจะมีการนัดไต่สวนพยานปากต่อไปในวันที่ 25 มิ.ย. นี้ ที่ศาลอาญา รัชดา เวลา 9.00 – 16.00 น.

นิค นอสติทซ์ เบิกความสรุปได้ว่า พยานมีอาชีพช่างภาพอิสระ ติดตามการชุมนุมของทั้งกลุ่มเสื้อเหลืองเสื้อแดง ติดตามการชุมนุมของกลุ่มเสื้อเหลืองก่อนปี 2549 ต่อมาปี 2553 ทำข่าวการชุมนุมของเสื้อแดงที่ผ่านฟ้า และวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 มาทำข่าวที่บริเวณ 3 แยกดินแดง เห็นผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 200 คน ในขณะนั้นผู้ร่วมชุมนุมไม่ได้ใส่เสื้อสีแดงแล้ว มีการรวมกลุ่มพูดคุยกัน ประมาณ 14 นาฬิกาตนได้เข้าไปในถนนราชปรารภ ขณะนั้นมีรถสัญจรไปมา เมื่อเดินไปทางแยกรางน้ำมีทหารอยู่ในบังเกอร์ เห็นทหารในชุดประจำการ แต่จำไม่ได้ว่าอาวุธดังกล่าวเป็นอาวุธปืน M16 หรือไม่ จากนั้นตนเดินไปซื้อน้ำที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น แล้วกลับมายังบริเวณ 3 เหลียมดินแดง  ต่อมาเลา 15 นาฬิกา 30 นาที เห็นรถสีเหลืองบรรทุกยางมาที่ซอยราชปรารภ ไปยังปั้มน้ำมันเชลล์ ขณะนั้นตนเจอนายชาญณรงค์ พลศรีลา ผู้ตายขณะนั้นตนไม่รู้จัก นายชาญณรงค์ สวมหน้ากากอนามัยภายในมือถือหนังสติ๊ก และตนได้บันทึกภาพนายชาญณรงค์ไว้ ก่อนผู้ตายถูกยิงประมาณ 7 นาที ต่อมาผู้ชุมนุมได้ย้ายยางรถยนต์ไปใกล้ฝั่งของทหารมีระยะห่างประมาณ 80 เมตร ขณะนั้นตนอยู่ห่างจากผู้ชุมนุมประมาณ 4 เมตร เห็นทหารยิงมายังกลุ่มผู้ชุมนุมเวลา 16 นาฬิกา 5 นาที ภายหลังจากยิง 1 นาที นายชาญณรงค์ กำลังคลานออกจากยางรถยนต์และถูกยิงบริเวณท้อง ระหว่างที่ผู้ตายกลับตัวเพื่อที่จะย้ายเข้าหาแนวยางรถยนต์ เห็นผู้ตายถูกยิงที่แขนจนกระดูกหัก จากนั้นผู้ตายพยายามเข้าหายางรถยนต์ ในขณะที่ผู้ชุมนุมที่อยู่หลังยางรถยนต์พยายามออกจากบังเกอร์ก็โดนยิงมาจากซอยรางน้ำ ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีทหารประจำอยู่

นิค นอสติทซ์ ยืนยันว่า นอกจากผู้ตายแล้วยังมีผู้รวมชุมนุมได้รับบาดเจ็บอีก 2 ราย และทั้ง 2 ออกจากแนวยางรถยนต์ไปยังสถานีจ่ายนำมันเชลล์ ตนเลยวิ่งตามไปถ่ายบุคคลทั้ง 2 ที่ห้องน้ำ จากนั้นผู้บาดเจ็บทั้ง 2 รายได้ปีนข้ามกำแพงไปที่บ้านอีกหลังหนึ่งหลังสถานีจ่ายน้ำมันเชลล์ จากนั้นจึงกลับไปยังบริเวณที่มีการวางยางรถยนต์ เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมวิ่งออกมาจากบริเวณล้อยางรถยนต์ 2 ราย จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังไกลกว่าเดิม รู้สึกไม่ปลอดภัยจึงพยายามวิ่งออกจากจุดดังกล่าว ระหว่างนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะจึงไปหลบภายในห้องน้ำสถานีจ่ายน้ำมันเชลล์ ระหว่างนั้นเห็นผู้ร่วมชุมนุม 2 คนพาผู้ตายมายังห้องน้ำสถานีจำหน่ายน้ำมันเชลล์และได้ถ่ายภาพชาย 2 คนที่พาผู้ตายมา ระหว่างนั้นผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธและผู้ชุมนุมก็ได้บอกทหารตั้งแต่ที่อยู่บริเวณบังเกอร์ยางแล้วด้วยว่า “ไม่มีอาวุธ” หลังจากที่ชายทั้ง 2 พาผู้ตายมากลุ่มผู้ชุมนุมได้เปิดดูบาดแผลของผู้ตาย และได้ส่งผู้ตายข้ามกำแพงไปและสไลด์ลงไปในสระน้ำ และตนได้ปีนกำแพงไปด้านหลัง ระหว่างนั้นทหารได้เดินมาและมีการยิงปืนขึ้นฟ้าโดยมีปลอกกระสุนกระเด็นข้ามมา ได้ยินเสียงผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณห้องน้ำแต่ไม่ได้ข้ามมานั้นบอกว่า “ผมยอมแล้ว ผมยอมแล้ว” และได้ยินเสียทหารทำร้ายผู้ชุมนุม ได้มีทหารคนหนึ่งปีนข้ามกำแพงมาและทหารอีกคนหนึ่งอยู่บริเวณกำแพง ตนและทหารได้ช่วยกันตึงผู้ตายขึ้นจากสระน้ำ เมื่อทหารดึงผู้ตายขึ้นจากน้ำทหารตะโกนว่า ทำไมมึงยังไม่ตายอีก รู้ไหมทหารต้องนำตัวผู้ตายไปส่งโรงพยาบาล ระหว่างนั้นผู้ตายได้ลื่นไหลลงไปในน้ำอีกครั้ง ตนจึงได้ดึงผู้ตายขึ้นจากสระน้ำอีกครั้งหนึ่ง ตนดูแลผู้ตาย ระหว่างนั้นทหารวิทยุเรียกหน่วยแพทย์มายังบริเวณนั้น ผู้ตายมีลักษณะหายใจไม่ออกไม่ขยับตัว หลังจากนั้นทหารมารับตัวผู้ตาย

นิค นอสติทซ์  เบิกความต่อไปว่าหลังจากนั้นได้กลับไปยังหลังกำแพง และไม่กล้าออกมาจากบริเวณดังกล่าวจึงได้ออกมาทางด้านหลังถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเวลา 20 นาฬิกา 30 นาที และได้บันทึกภาพพระที่สวดมนต์บนฐานอนุสาวรีย์ และกลับบ้านในเวลา 21 นาฬิกา 30 นาที และได้เขียนบทความบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ทาง New Mandala (ดู Nick Nostitz in the killing zone http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2010/05/16/nick-nostitz-in-the-killing-zone/ ) และมีผู้นำมาแปลเป็นภาษาไทย (ดู Nick Nostitz: ในเขตสังหาร http://prachatai.com/journal/2010/05/29505) หลังเกิดเหตุประมาณ 1 เดือนดูรายชื่อผู้เสียชีวิตจึงได้ติดตามไปยังสถานีตำรวจ รพ.พญาไท จึงได้ทราบว่าผู้ตายได้เสียชีวิตแล้วขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แถลงข่าว ตนจึงได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นบทความที่ตนเขียนในเวปไซต์ถูกบล็อก จึงได้สอบถามกับทางกระทรวง ICT เพื่อสอบถามและยืนยันว่าบทความดังกล่าวไม่ไดผิดกฎหมายแต่อย่างใด หลังจากนั้นบทความดังกล่าวจึงได้เข้าได้เหมือนเดิม และพนักงานสอบสวนก็ได้เคยสอบปากคำตน

นอกจากนี้ นิค ยังให้การยืนยันว่า ไม่เห็นปืนจากฝั่งผู้ชุมนุม และ นิค ยังได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า 2 วันก่อนที่จะได้มาให้การนั้นตนและครอบครัวไปมาอยู่ที่โรงแรมพร้อมกลับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาให้การดูแล รวมทั้งมาให้การนี้ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 5 นายมาด้วย และหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ก็จะไม่ดูแลแล้วตนก็จะกลับบ้านตามปกติ ส่วนในที่ผ่านมานิคเปิดเผยว่าถูกดินเครดิตตลอดกล่าวหาว่าตนเป็นเสื้อแดง เพื่อทำให้คำพูดของตนไม่มีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งภรรยาตนยังเคยถูกจี้เงินไป 2,000 บาท โดยผู้ร้ายยังได้กล่าวกับภรรยาตนว่า “ฝากสวัสดีนิคด้วย” ทำให้ตนไม่แน่ใจว่าเป็นการถูกคุกคามหรือไม่แลผู้ร้ายรู้จักตนได้อย่างไร นิค ยังเปิดเผยว่าหลังจากที่ได้ให้ข้อมูลกับทาง คอป.ของคุณคณิต เหตุการณ์เหล่านี้ก็ลดลง

ส่วน ธีโล เธียลเค ได้เบิกความเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีเจ้าหน้าที่ล่ามของศาลแปล สรุปความได้ว่า วันที่ 15 พ.ค.53 ได้เดินทางออกจากบ้านไปยังที่ดินแดง เห็นผู้ชุมนุมประมาณ 40-50 คน หลังจากนั้นเห็นมีคนเอายางรถยนต์มาที่ถนนผู้ชุมนุมนำยางรถยนต์ไปใกล้เจ้าหน้าที่ทหาร หลัง 14 นาฬิกามีการยิงเกิดขึ้น ตนอยู่หลังบังเกอร์ผู้ชุมนุมประมาณ 15 เมตร ตนไม่เห็นว่าใครเป็นคนยิงหลังจากที่มีการยิงกันประมาณ 10 นาที เห็นผู้บาดเจ็บประมาณ 3-4 คน โดยไม่ทราบว่ามีผู้ชุมนุมเสียชีวิตหรือไม่ในขณะนั้น และหลังจากที่ผู้ชุมนุมได้หนีเข้าไปในสถานีจำหน่ายน้ำมันแล้ว มีเจ้าหน้าที่ทหารตามเข้าไป ถืออาวุธปืนไรเฟิล หลังจากที่ตนหลบอยู่ด้านหลังของสถานีน้ำมันก็ได้กระโดดข้ามไปยังบ้านด้านหลังนั้น และมีทหารเข้ามาพูดคุยแต่ตนไม่เข้าใจสิ่งที่ทหารพูด

ธีโล เบิกความอีกว่า ระหว่างการชุมนุมผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ส่วนทหารมีอาวุธปืน หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำตนไว้ เจ้าหน้าที่ในวันเกิดเหตุใส่ชุดฟอร์มสีเขียว ยืนยันว่าผู้ชุมนุมที่อยู่หลังบังเกอร์ยางไม่มีการยิงตอบโต้เจ้าหน้าที่ทหาร และในขณะที่ตนหลบอยู่ด้านหลังสถานีจ่ายน้ำมันมี นิโครัส (นิค นอสติทซ์) รวมอยู่ด้วยและ นิโครัส เป็นคนที่พยายามจะช่วยเหลือผู้ชุมนุม

โดยผู้สื่อข่าวทั้ง 2 นอกจากเล่าเหตุการณ์แล้วยังได้มีการนำส่งภาพที่ตนเองได้ถ่ายไว้เองอีกจำนวนมากต่อศาลด้วย และทั้ง 2 ยังได้ถ่ายภาพชาญณรงค์ผู้ตายไม่กี่นาทีก่อนถูกยิงที่มีการแอ๊คท่าง้างหนังสติ๊กเพื่อยืนยันว่าฝ่ายผู้ชุมนุมไม่เพียงหนังสติ๊กและมือปล่าว ในขณะที่ทหารมีอาวุธปืนด้วย

 

VDO Clip เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง :
คลิปชื่อ : “เสียงแตรมรณะ..” Uploaded by redkuma123 on May 17, 2010 http://www.youtube.com/watch?v=t-rpXyF4-cs

คลิปชื่อ : ทหารสั่งนักข่าวห้ามถ่ายและยึดเม็ม, Uploaded by majoranticoup on Jun 6, 2010 http://www.youtube.com/watch?v=6bhPzE9_Mqs

คลิปชื่อ : ทหารยิงผู้สื่อข่าวเนชั่น, Uploaded by 0802024537 on Jun 4, 2010 (ออนไลน์)http://www.youtube.com/watch?v=ddjS4SbNlXk

คลิปชื่อ : RedNews_แนวรบ ราชปรารภ 7 PM_2010 may 15, Uploaded by Red9645 on May 15, 2010 (รายงานข่าวจากสำนักข่าวไทย MCOT) ออนไลน์ http://www.youtube.com/watch?v=7vDdhXzo9ek

คลิปชื่อ : ทหารกระหน่ำยิงประชาชนมือเปล่าที่ด่านซอยรางน้ำ May15 '2010, Uploaded by nidnungnid on May 16, 2010 (ออนไลน์) http://www.youtube.com/watch?v=vi6-OP0fxPo

คลิปชื่อ : นิค นอสติทซ์_เขตสังหาร 2 killing zone_Nick Nostitz.flv , Uploaded by oneday2010A on Jun 5, 2010 (ออนไลน์) http://www.youtube.com/watch?v=-Ok6JgIjRVQ

คลิปชื่อ : ชาวบ้านราชปรารภ ยืนยันวิถีกระสุนหวังยิงถึงชีวิต, เผยแพร่เมื่อ 16 สิงหาคม 2553 เวลา 19:15 น. (ออนไลน์) http://archive.voicetv.co.th/content/19433

คลิปชื่อ : ตำรวจเข้าไปเอาคนเจ็บโดนทหารยิง.mpg, Uploaded by 007intermax on May 16, 2010 (ออนไลน์) http://www.youtube.com/watch?v=Zsvpfha0AxU

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 
Nick Nostitz: ในเขตสังหาร http://prachatai.com/journal/2010/05/29505

ลูกเหยื่อสลายชุมนุมที่ราชปรารภพบ "นิค นอสติทซ์" ฟังนาทีพ่อถูกยิง http://prachatai.com/journal/2010/06/30026

ศอฉ.บล็อคบันทึก "นิค นอสติตซ์" เล่าเรื่อง "ในเขตสังหาร" http://prachatai.com/journal/2010/06/29851

ส่งสำนวน "ชาญณรงค์ พลศรีลา" เหยื่อปราบแดงราชปรารภให้อัยการแล้ว http://prachatai.com/journal/2011/11/37925

ทวนความจำ 16 สำนวนผู้เสียชีวิตปี 53 และกรณีนำร่อง 'มูราโมโต-มานะ-ชาญณรงค์' http://prachatai.com/journal/2011/11/37959

คดีแรกไต่สวนการตายเสื้อแดง พ.ค.53 “ชาญณรงค์” นัดเดือนมิ.ย.-ก.ค. http://prachatai.com/journal/2012/03/39640

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

300 บริษัททั่วโลกจะร่วมประชุมด้านการลงทุนที่พม่า

Posted: 18 Jun 2012 12:44 PM PDT

เอกชนสิงคโปร์เตรียมจัดการประชุมด้านการลงทุนที่ย่างกุ้ง โดยเชิญตัวแทนรัฐบาลพบปะกับนักธุรกิจกว่า 300 บริษัท ขณะที่ตัวเลขการลงทุนในพม่าล่าสุด จีนลงทุนสูงสุด รองลงมาคือไทย ฮ่องกง และเกาหลีใต้

ระหว่างวันที่ 20 - 21 มิ.ย. นี้ที่ย่างกุ้งนี้ จะมีสัมมนาด้านการลงทุน โดยคาดหมายว่าจะมีบริษัทต่างชาติราว 300 บริษัทเข้าร่วม

โดย เครือ CMT บริษัทผู้จัดงานซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่สิงคโปร์ให้สัมภาษณ์ Mizzima ว่า งานสัมมนา "New Myanmar Invertment Summit 2012" คาดหมายว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานจากทั่วโลก โดยจะมีการสัมมนาในเรื่องโอกาสการลงทุนในพม่า โดยภาคธุรกิจที่สำคัญ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล และนักธุรกิจชาวพม่า หัวข้อที่จะคุยกันประกอบด้วย การเกษตร น้ำมันและก๊าซ เหมืองแร่ ไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ดร.กันซอว์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนแห่งชาติและการพัฒนาเศรษฐกิจ จะมากล่าวปาฐกถาเปิด ขณะที่อ่อง หน่าย ผู้อำนวยการของสำนักการลงทุนและการบริษัทบริษัท (DICA) จะกล่าวปาฐกถาหัวข้อ "กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ และโอกาสสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ" นอกจากนี้เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลพม่าที่จะเป็นผู้กล่าวในงานสัมมนาได้แก่ ติน ติน ตู รองผู้อำนวยจากกระทรวงอุตสาหกรรม ติน อ่อง ผู้อำนวยการสำนักวางแผนพลังงาน วิน เต่ง และ จอ เต็ด ผู้อำนวยการจากกระทรวงเหมืองแร่ มาเป็นผู้อ่านปาฐกถา

ผู้อำนวยการการประชุม อีเวลีน พาค็อท จากบริษัทที่ปรึกษากลุ่ม "Bagan Capital" ซึ่งมีสำนักงานในฮ่องกงกล่าวว่า ข้อตกลงในการร่วมทุน การค้นหาบริษัทร่วมทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และการปกป้องธุรกิจร่วมทุนระหว่างบริษัทท้องถิ่นและบริษัทต่างชาติ ทั้งหมดนี้จะมีการนำหารือในการประชุมนี้ด้วย

สำหรับการจัดการดังกล่าวยังมีหอการค้าไทย-อิตาลี หอการค้าไทย-สิงคโปร์ หอการค้าอิตาลีในสิงคโปร์ หอการค้ายุโรปในสิงคโปร์ หอการค้าเนเธอร์แลนด์ในสิงคโปร์ และเครือ Bagan Capital ในฮ่องกงเป็นผู้สนับสนุนการจัดงานด้วย

นอกจากนี้ เครือ CMT เตรียมจัดการสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและการลงทุน ในหัวข้อ “Into Myanmar: Agri Trade, Investments & Infrastructure Global Summit 2012” โดยจะจัดที่ย่างกุ้งระหว่างวันที่ 25 - 26 ก.ค.

จากสถิติของทางการ นับตั้งแต่เปิดประเทศในช่วงปี 2531 ในเดือนมีนาคมปี 2555 มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศในพม่าอยู่ที่ 40,699 ล้านเหรียญสหรัฐ ใน 458 โครงการ โดยมี 31 ประเทศที่ลงทุนในพม่า โดยจีนอยู่ที่ 13,947 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 34.5 ของมูลค่าการลงทุน ไทยเป็นชาติอันดับ 2 อยู่ที่ 9,568 ล้านเหรียญสหรัฐ ฮ่องกงอยู่ที่ 6,308 ล้านเหรียญสหรัฐ เกาหลีใต้อยู่ที่ 2,938 ล้านเหรียญสหรัฐ สหราชอาณาจักรอยู่ที่ 2,659 ล้านเหรียญสหรัฐ และสิงคโปร์อยู่ที่ 1,818 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

ที่มา: 300 foreign companies to attend Burma investment summit, Mizzima Monday, 18 June 2012 13:40  Aung Wi

New Myanmar Investment Summit 2012 http://www.cmtevents.com/aboutevent.aspx?ev=120636& 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต่สวนการตายวัดปทุมหลักฐานชัดกระสุนสงครามสีเขียวยิงจากบนลงล่าง

Posted: 18 Jun 2012 12:25 PM PDT

ศาลอาญากรุงเทพใต้ - 18 มิ.ย. 2555 - ไต่สวนชันสูตรศพ 6 ศพ วัดปทุมฯ รองผบก.น.6 ให้การ วิถีกระสุนยิงจากรางรถไฟฟ้า ที่มีแต่ทหาร เผย 5 ศพ ถูกยิงโดยกระสุนหัวเขียว 

เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลได้นัดไต่สวนคำร้องการเสียชีวิต คดีหมายเลขดำ ช. 5/2555 พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของนายสุวรรณ ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1 นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแห่ง ผู้เสียชีวิตที่ 2 นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3 นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4 น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5 และ นายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 ซึ่งทั้ง 6 ศพ ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม แยกราชประสงค์ ในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยอัยการเตรียม พยานเบิกความ 7 ปาก ประกอบด้วย พ.ต.อ.สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 , นายขาล ศรีรักษา อายุ 65 ปี บิดาของนายสุวรรณ, นางอัญชลี สาลิกานนท์ อายุ 36 ปี พี่สาวของนายอัฐชัย, นายสมใจ เข็มทอง อายุ 50 ปี พี่ชายของนายมงคล, นางสมคิด สุขสถิต อายุ 61 ปี ภรรยาของนายรพ , นางพะเยาว์ มารดา น.ส.กมลเกด และ นายถวิล ใสลำเผาะ อายุ 63 ปี ลุงของนายอัครเดช

ซึ่งก่อนเริ่มการพิจารณา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้สนใจเข้าร่วมฟังการพิจารณาได้เพราะเป็นการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย แต่มีคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจดบันทึกคำเบิกความหรือใช้เครื่องบันทึกเสียงหรือโทรศัพท์มือถือบันทึกเสียงคำเบิกความไม่เช่นนั้นจะถือว่าละเมิดอำนาจศาล

ทั้งนี้ในการเบิกความ พ.ต.อ.สืบศักดิ์ ระบุว่า วันที่ 19 พ.ค.53 แกนนำกลุ่มนปช.ได้ประกาศยุติการชุมนุมบริเวณเวทีราชประสงค์ พร้อมทั้งประกาศให้ผู้ชุมนุมไปรวมตัวกันที่วัดปทุมฯ เพื่อรอเดินทางกลับบ้าน ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารจาก 2 หน่วยงานได้ลาดตระเวนบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน และบนสถานีรถไฟฟ้าสยามเพื่อปฏิบัติหน้าที่ระงับเหตุเพลิงไหม้หน้าห้างสรรพสินค้าสยาม ระหว่างนี้นายสุวรรณ ศรีรักษา ซึ่งกำลังต่อแถวเข้าห้องน้ำในวัดปทุมฯ ถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่ร่างกายเสียชีวิต ส่วนนายอัฐชัย ชุมจันทร์ ถูกยิงขณะเดินข้ามถนนจากแยกเฉลิมเผ่ามาที่หน้าวัดปทุมฯ ในเวลาใกล้เคียงกัน นายรพ สุขสถิต และนายมงคล เข็มทอง อาสาสมัครปอเต็กตึ้ง ซึ่งยืนอยู่บริเวณประตูทางออกวัดปทุมฯ ถูกยิงเข้าที่ร่างกาย สำหรับ น.ส.กมนเกด อัคฮาด และนายอัครเดช ขันแก้ว ซึ่งเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้บาดเจ็บถูกยิงขณะก้มหลบกระสุนปืนบริเวณเต็นท์ภายในวัดปทุมฯ

หลังเกิดเหตุได้นำศพทั้งหมดส่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจสอบ พร้อมทั้งได้เชิญผู้เชี่ยวชาญร่วมตรวจพิสูจน์วิถีกระสุนปืนพบว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ศพ ยกเว้นนายอัฐชัย ถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หัวเขียว ซึ่งเป็นกระสุนที่ใช้กับปืนเอ็ม 16 และปืนทราโว่ที่ใช้ในราชการทหาร เข้าอวัยวะสำคัญเสียชีวิต โดยวิถีกระสุนเป็นการยิงจากบนลงล่าง เท่านั้น ซึ่งสอบสวนเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำรางรถไฟฟ้าให้การว่า มีชายชุดดำยิงปืนขึ้นมาจึงได้ยิงตอบโต้ไป แต่จากการตรวจรอยวิถีกระสุนไม่พบการยิงจากล่างขึ้นบน นอกจากนี้ ภาพถ่ายของประจักษ์พยานนำมาให้ตนหลังเกิดเหตุพบว่าบนรางรถไฟฟ้ามีเพียงเจ้าหน้าที่ทหารประจำจุดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในการสอบสวนตนทราบว่ามีเอกสารแผนการปฏิบัติการสลายการชุมนุม แต่ไม่ได้นำมาประกอบในการพิจารณา

ภายหลังการไต่สวน พ.ต.อ.สืบศักดิ์ เสร็จสิ้นแล้ว ศาลนัดไต่สวนพยานครั้งต่อไปวันที่ 9 ส.ค. นี้เวลา 09.00 น. และนัดไต่สวนต่อเนื่องทุกวันพฤหัส จนครบ 32 นัด โดยแบ่งเป็นพยานฝ่ายอัยการผู้ร้อง 17 นัด และพยานฝ่ายผู้เสียหายอีก 15 นัด
ด้าน นายขาล ศรีรักษา อายุ 65 ปี บิดาของนายสุวรรณ ผู้ตาย กล่าวว่า หลังเกิดเหตุสลายการชุมนุมที่เป็นเหตุให้บุตรชายถูกยิงเสียชีวิตแล้วก็ได้ไปแจ้งความที่ สน.ปทุมวัน ให้สืบสวนสอบสวนหาตัวผู้ที่ลงมือยิง เพื่อดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม โดยเชื่อว่าน่าจะมาจากฝีมือเจ้าหน้าที่ทหาร อย่างไรก็ตามรู้สึกดีใจที่คดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลเพื่อที่จะค้นหาคนผิดมาลงโทษ แม้จะรอมานานกว่า 2 ปี แล้วนานอีกกี่ปีก็จะรอความยุติธรรม

นางอัญชลี สาลิกานนท์ อายุ 36 ปี พี่สาวของนายอัฐชัย ผู้เสียหาย กล่าวว่า นายอัฐชัย เข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2549 เนื่องจากเห็นว่ามีการกระทำที่เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม วันเกิดเหตุเพื่อนของนายอัฐชัย ได้โทรศัพท์มาแจ้งว่านายอัฐชัยถูกยิงเสียชีวิตเมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 19 พ.ค.53 กระสุนเข้าที่หน้าอกด้านซ้าย ซึ่งมี น.ส.กมนเกด พยาบาลอาสาเข้ามาช่วยปั๊มหัวใจแต่ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ ต่อมา น.ส.กมนเกด ก็ถูกยิงตาม พร้อมกับนายมงคล และนายอัครเดช โดยก่อนหน้าที่น้องชายจะถูกยิงเสียชีวิตได้โทรศัพท์เตือนให้อยู่แต่ภายในวัด แต่ก็มาถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งตนอยากให้มีการพิสูจน์ความจริงว่าใครเป็นผู้สั่งการหรืออยู่เบื้องหลังไม่เฉพาะคดี 6 ศพ ที่หน้าวัดปทุม แต่รวมถึง 91 ศพในเหตุการณ์สลายการชุมนุม แม้ว่าคดีจะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลทำให้ดีใจขึ้นมาหน่อย เพราะยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ที่เกี่ยวข้อง และยังไม่ทราบผลการไต่สวนจะออกมาอย่างไร แต่ไม่อยากให้มีการเรียกผู้ที่เสียชีวิตว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะผู้เสียชีวิตคือประชาชนที่มาเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อประเทศชาติ

ส่วนนายสมใจ เข็มทอง อายุ 50 ปี พี่ชายของนายมงคล ผู้ตาย กล่าวว่า สันนิษฐานว่าผู้ที่ลงมือยิงเป็นเจ้าหน้าที่ทหารอย่างแน่นอนโดยยิงมาจากรางรถไฟฟ้า ซึ่งก็ตรงกับผลการสอบสวนของ พนักงานสอบสวน .สน.ปทุมวันและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ระบุว่า เกิดจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นเดียวกับอีก 2 ศพ อยากเรียกร้องความเป็นธรรมให้น้องชายเพราะไม่ได้ตายธรรมดา เป็นการถูกทำให้ตาย ทหารที่ลงมือยิงเป็นเพียงผู้รับคำสั่ง แต่คำสั่งน่าจะมาจากนายอภิสิทธิ์นายกรัฐมนตรีขณะนั้น และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศอฉ. ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอาจจะไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจเป็นการทำเกินกว่าเหตุ ซึ่งกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ต้องมีความเมตตาธรรม ในการปฏิบัติหน้าที่ มองผู้ชุมนุมว่าเป็นคนไทยเหมือนกัน และต้องปฏิบัติตามขั้นตอนสลายการชุมนุมจากเบาไปหาหนักและไม่สามารถใช้กระสุนจริงได้ แต่นี่เป็นการใช้ความรุนแรงทันทีไม่มีการแจ้งให้ผู้ชุมนุมสลายตัว

ส่วนนางสมคิด สุขสถิต อายุ 61 ปี ภรรยาของนายรพ ระบุว่า เรื่องที่เกิดขึ้นไม่รู้ว่ามาจากฝีมือใคร ขณะนี้ไม่อยากคิดอะไรมาก หลังจาก นายรพ สามีเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 แล้วต่อมาลูกชายคนเดียวก็มาเสียชีวิตตามไปอีกในเดือนตุลาคม ทุกวันนี้ต้องอยู่คนเดียว ปวดหัว นอนไม่หลับ อยากให้ปล่อยเป็นไปตามเรื่องตามราว

ส่วน นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด กล่าวว่า ไม่เคยคิดว่าลูกสาวที่เป็นพยาบาลจะต้องมาเสียชีวิต เพราะไม่ว่าประเทศไหนที่รบกันหนักว่านี้ ยังไม่มีการยิงหน่วยแพทย์พยาบาลที่สวมปลอกแขนกาชาด ภายในเต๊นท์พยาบาลหน้าวัด กองทัพยังออกข่าวโกหกว่าถูกยิงที่อื่นแล้วลากศพมาในวัด มั่นใจ 100 % ว่า น.ส.กมนเกด ถูกรัฐฆาตกรรม อยากให้มีการดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ให้ความจริงปรากฏว่าใครเป็นผู้สั่งการสั่งหาร และเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ ให้เป็นประวัติศาสตร์ เจ้าหน้าที่รัฐที่สังหารประชาชนต้องขึ้นศาล ไม่ใช่แค่สร้างอนุสาวรีย์ให้ผู้ตาย ดีใจที่มีความหวังจากศาลที่เริ่มการไต่สวน แต่ยังห่วงเรื่องการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่อาจมีการนิรโทษกรรมคนทำผิดทั้งหมด

นางพะเยาว์กล่าวต่อว่าหลังเกิดเหตุตนไปแจ้งความที่กองบังคับการกองปราบปรามให้สอบสวนเอาผิดนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ ศอฉ. และผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. นอกจากนี้จะยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในนำคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ให้ศาลอาญาระหว่างประเทศรับพิจารณาอีกทางด้วยเพื่อพิสูจน์ความจริง แต่ไม่รู้จะเป็นไปได้หรือไม่

ด้านนายถวิล ใสลำเผาะ อายุ 63 ปี ลุงของนายอัครเดช ผู้ตาย กล่าวว่า ยังสงสัยว่าใครเป็นคนยิงนายอัครเดช ซึ่งเป็นเพียงผู้อาศัยอยู่ในวัด ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการพิสูจน์ความจริงว่ามาจากสาเหตุอะไรที่ต้องสั่งฆ่า

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กูเกิ้ลเผยรายงานเตือน มีการร้องเรียนให้เซนเซอร์มากขึ้นจากรัฐบาล

Posted: 18 Jun 2012 11:54 AM PDT

กูเกิ้ลเผยรายงานระบุว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีกรณีร้องเรียนให้นำวีดิโอของบยูทูบหรือผลลัพธ์การค้นหาออกจากหน้าเว็บกูเกิ้ลด้วยเหตุผลทางการเมืองเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนมากมาจากประเทศประชาธิปไตยโลกตะวันตกที่ปกติจะไม่เซนเซอร์

วันที่ 18 มิ.ย. 2012 สำนักข่าวเดอะ การ์เดียน ของอังกฤษอ้างรายงานของกูเกิ้ลเตือนว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีความพยายามปิดกั้นอินเตอร์เน็ตจากรัฐในจำนวนที่มากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

กูเกิ้ลซึ่งเป็นเว็บไซต์ค้นหาข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต ได้นำเสนอรายงานความโปร่งใสในรอบสองปี รายงานระบุว่ามีการร้องเรียนมากขึ้นว่าให้นำเนื้อหาที่มีความเป็นการเมืองออกจากหน้าเว็บ และการร้องเรียนจำนวนมากมาจากประเทศประชาธิปไตยตะวันตก ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ค่อยมีการเซนเซอร์เท่าใด

รายงานเปิดเผยว่าอีกว่าผู้ควบคุมชาวสเปนได้ร้องเรียนให้กูเกิ้ลถอนลิงค์จำนวน 270 ลิงค์ของบล็อกและบทความหนังสือพิมพ์ที่มีการวิจารณ์ผู้มีชื่อเสียงในสังคม แต่ทางกูเกิ้ลก็ไม่ได้ปฏิบัติตามคำขอ ในโปแลนด์ ก็มีกรณีที่ขอให้นำบทความที่วิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานพัฒนาวิสาหกิจของโปแลนด์ออก รวมถึงผลการค้นหาอีก 8 ชนิดที่เชื่อมต่อสู่บทความนี้ ซึ่งกูเกิ้ลก็ไม่ปฏิบัติตามคำขอ

อีกกรณีหนึ่งคือการที่เจ้าหน้าที่ของแคนาดาร้องเรียนให้ลบวีดิโอของยูทูบที่มีภาพของพลเมืองคนหนึ่งกำลังปัสสาวะรดพาสปอร์ตของเขาแล้วกดลงชักโครก ซึ่งกูเกิ้ลก็ปฏิเสธจะทำตามเช่นกัน

ของไทยก็มีกรณีที่เจ้าหน้าที่เรียกร้องให้กูเกิ้ลถอดคลิปวีดิโอของยูทูบ 149 ชิ้นออก เนื่องจากพบว่ามีเนื้อหาหมิ่นสถาบันฯ ซึ่งเป็นการละเมิดกฏหมายการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งทางยูทูบก็ปฏิบัติตามประมาณร้อยละ 70 ของข้อร้องเรียน

ทางด้านปากีสถานก็ร้องเรียนให้กูเกิ้ลถอนวีดิโอยูทูบ 6คลิป ที่มีการล้อเลียนกองทัพและนักการเมืองระดับสูง ซึ่งกูเกิ้ลได้ปฏิเสธ

ตำรวจของอังกฤษก็ได้ร้องเรียนให้กูเกิ้ลถอด5 คลิปวีดิโอที่สุ่มเสี่ยงต่อการสนับสนุนการก่อการร้าย ซึ่งกูเกิ้ลยอมทำตาม ส่วนสหรัฐฯ การร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นกรณีการกระทำหมิ่นเหม่ต่อการคุกคามผู้อื่นในยูทูบ โดยเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ เรียกร้องให้ถอนวีดิโอ 187 คลิปซึ่งกูเกิ้ลยอมทำตามร้อยละ 42 ของทั้งหมด

โดโรธี ชูว นักวิเคราะห์ระดับสูงด้านนโยบายของกูเกิ้ลเขียนในบล็อกว่า "น่าเสียดายที่สิ่งที่พวกเราเห็นว่าเป็นปัญหาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทุกวันนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เมื่อพวกเราเปิดเผยข้อมูลในปี 2010 พวกเราเห็นว่ามีหน่วยงานรัฐบาลจากประเทศอื่นที่บางครั้งก็ร้องเรียนให้พวกเรานำเนื้อหาที่เป็นเรื่องการเมืองที่ผู้ใช้ของพวกเราโพสท์ไว้ในบริการของพวกเราออกไป พวกเราคิดว่านี่คงเป็นกรณีที่เบี่ยงเบนจากปกติ แต่ในตอนนี้เรารู้ว่าไม่ได้เป้นเช่นนั้น"

"นี่คือข้อมูลครั้งที่ 5 ที่พวกเราเปิดเผย เช่นเดียวกับทุกครั้ง พวกเราถูกเรียกร้องให้นำข้อความทางการเมืองออกไป นี้เป็นการเตือนให้เห็นว่าไม่เพียงเพราะเสรีภาพในการแสดงออกกำลังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงเท่านั้น แต่เพราะการร้องเรียนเหล่านี้บ้างก็มาจากประเทศที่คุณไม่คิดว่าจะร้องเรียน เช่นประเทศประชาธิปไตยในโลกตะวันตก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่ได้ข้องเกี่ยวกับการเซนเซอร์" ชูวกล่าว

ในรายการที่ครอบคลุมข้อมูลเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา กูเกิ้ลประมวลผลได้ว่ามีคำสั่งที่มาจากศาลโดยเฉลี่ยร้อยละ 65 ขณะที่ร้อยละ 47 มาจากคำร้องเรียนที่ไม่ใช่ทางการ

เมื่อเดือนที่แล้วกูเกิ้ลได้ประกาศว่าพวกเขาได้รับการร้องเรียน 1 ล้านรายการจากเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ต้องการนำเนื้อหาของพวกเขาออกจากการค้นหา

เฟรด วอน โลห์มานน์ ที่ปรึกษาระดับสูงด้านลิขสิทธิ์ของกูเกิ้ลกล่าวว่าการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเหตุผลหลักที่กูเกิ้ลจะถอนลิงค์ออกจากผลการค้นหา

โลห์มานน์บอกอีกว่าเขาได้รับคำร้องเรียน 3 ล้าน 3 แสน คำร้องในกรณีละเมิดลิขสิทธิ์ในปีที่แล้ว และคิดว่าในปีนี้คงมากกว่าเดิมอีก 4 เท่า ซึ่งทางกูเกิ้ลก็ตอบรับทำตามคำร้องประเภทนี้ร้อยละ 97 จากทั้งหมด

 

ที่มา:Google reports 'alarming' rise in censorship by governments

ที่มาภาพ:http://blogs.suntimes.com/ebert/assets_c/2011/11/Google-logo-41828.html

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหลือง-แดงกับเชียงใหม่มหานคร

Posted: 18 Jun 2012 11:20 AM PDT

มีแนวโน้มชัดเป็นลำดับว่าการขับเคลื่อนทางการเมืองซึ่งจะเข้ามาแทนที่กระแสเหลือง-แดงนับจากนี้คือกระแสการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ-กระจายอำนาจ

การปฏิรูปยุคใหม่ที่มีพลังและประสบผลสำเร็จต้องมาจากชุดอุดมการณ์ที่ผูกติดกับผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรงและมีประชาชนผลักดันอย่างแท้จริง (ขณะที่ในยุคก่อนแค่ผู้มีอำนาจสูงสุดของแผ่นดินเห็นชอบก็ปฏิรูปได้) ซึ่งข้อเรียกกระจายอำนาจปกครองจัดการตนเองนี่แหละที่เข้าข่ายเงื่อนไขข้างต้น
       
กระแสการเรียกร้องเชียงใหม่ปกครองตนเองและผลักดันร่างพรบ.เชียงใหม่มหานคร อันเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดกำลังก่อตัวขึ้นและมีกำหนดจะใช้ฤกษ์ 24 มิถุนายนนี้ในการประกาศเจตนารมย์ผลักดันให้เป็นผลสำเร็จขึ้นมา
       
ผมได้เข้าไปใกล้ชิดรู้จักคุ้นเคยกับคณะผู้ผลักดันร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานคร มาระยะใหญ่ คนเหล่านี้มีทั้งเสื้อสีเหลือง สีแดง หลากสี สามารถกล่าวได้เต็มปากว่าขบวนการประชาชนที่ขับเคลื่อนการปกครองตนเองรอบนี้มีสายตาจ้องมองไปสู่เป้าหมายที่ชัดกว่าใหญ่กว่าความขัดแย้งระดับประชาชนแบบกีฬาสีที่เคยเป็นมา เพราะการกระจายอำนาจเป็นประเด็นใกล้ตัวสัมผัสและจินตนาการได้
       
นี่จึงไม่ใช่วาระของสีใดสีหนึ่ง จึงพอจะเข้าใจได้ที่คณะทำงานเชียงใหม่ปกครองตนเองเลือกสีส้มมาเป็นสัญลักษณ์ของการรณรงค์
       
หากการรณรงค์เป็นไปตามเป้า กระแสปฏิรูปก่อตัวเป็นกระแสสูง ขยับขึ้นไปสู่ขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมยุคใหม่หรือที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเท่ๆ ว่า “New Social Movement” เมื่อนั้นพรรคการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมดจะถูกกดดันครั้งใหญ่..จะยอมตามกระแสกระจายอำนาจหรือยืนหยัดปฏิรูปรวมศูนย์อำนาจแทน
       
แต่ก็ต้องยอมรับว่าทอดตามองแล้วพรรคการเมือง พรรคราชการ ตลอดถึงทุนใหญ่ที่มีบทบาทในเวลานี้เหมือนจะยังยินดีปรีดาพอใจอยู่กับแนวทางรวมศูนย์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
       
ปชป.-อำมาตย์-ทักษิณเพื่อไทย ล้วนแต่รวมศูนย์
       
พรรคประชาธิปัตย์มักจะอวดตัวเสมอว่าเป็นผู้ทำคลอดกฎหมายอบต. และเป็นผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายๆ ครั้งของวงการปกครองท้องถิ่นไทย แต่ประชาธิปัตย์มีจุดอ่อนซ้ำซากอันเนื่องมาจากวัฒนธรรมของพรรคนั่นคือไม่ว่าเรื่องอะไรไม่เคยทำให้สุดติดโน่นติดนี่ สวมการ์ดป้องกันตัว เหยียบเรือสองแคม จัดเป็นพรรคที่เยี่ยวไม่สะเด็ดไปเสียแทบทุกเรื่อง
       
อย่างเช่นตอนที่มีอำนาจปากหนึ่งรับนโยบายปฏิรูปที่ดิน-โฉนดชุมชนมาดำเนินการแต่ก็เดินหน้าแบบเสียไม่ได้ พอขยับไปได้นิดหน่อยแค่ยึดหัวหาดเพื่อประกาศว่าตัวเอง “ก็ทำนะ” แทนที่จะเอาจริงให้กัดฟันผ่านกฏหมายภาษีก้าวหน้าต่อผู้ครอบครองที่ดินรายใหญ่ เอาจริงเรื่องการกระจายการถือครอง โซนนิ่งเขตเกษตรกรรม ฯลฯ ประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้เดินหน้าจริง
       
แล้วค่อยมาส่งเสียงทวงบุญคุณ เอามาเป็นผลงานตนเองตอนที่ไม่ได้รัฐบาลแล้ว !
       
วัฒนธรรมของประชาธิปัตย์เป็นมวยรับเน้นรอบคอบรัดกุมก็เลยช้าไปทุกลีลา เล่นไพ่ทุกหน้า เผื่อทางถอย แตะมือเอาด้วยทุกฝ่ายก็เลยเดินหน้าอะไรไม่สุดสักเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องการกระจายอำนาจ เพราะที่สุดแล้วพรรคการเมืองทุกพรรค นายทุนใหญ่ทุกค่าย ข้าราชการใหญ่ๆ ล้วนแต่ได้ประโยชน์เน็ตๆ เนื้อๆ จากระบบรวมศูนย์อำนาจทั้งสิ้น
       
ส่วนพรรคอำมาตย์ (ระบบราชการ-Bureaucracy ตามความหมายของ Max Weber) ก็เป็นระบบรวมศูนย์โดยตรงต่อเนื่อง ยิ่งไม่เอาด้วยกับการกระจายอำนาจ อย่าไปหวังเลยที่คนมหาดไทยจะออกหน้ามาสนับสนุนให้ตัดการปกครองส่วนภูมิภาคออกจากโครงสร้าง เพราะนั่นคือการตัดกรมการปกครองออกจากระบบโดยพฤตินัย
       
คนระดับอธิบดี รองอธิบดี ผ.อ.ส่วนกลางทั้งหลายในกระทรวงกรมต่างๆ เขาก็ไม่เอาหรอกครับกับการกระจายอำนาจ ธรรมเนียมของราชการอะไรที่เป็นประโยชน์เน้นๆ เนื้อๆ ประเภทการออกใบอนุญาต การอนุมัติ หรือการยกเลิกไม่เคยกระจายให้ระดับเขตหรอก ปากหนึ่งบอกว่าต้องมีเขตเพื่อกระจายอำนาจแต่อำนาจที่แท้จริงกลับไม่กระจายลง การขุดแร่ เหมืองหิน ขุดทราย เส้นทางเดินรถโดยสาร การตัดถนนหนทาง ฯลฯ ล้วนแต่เป็นอำนาจของราชการส่วนกลางทั้งสิ้น ระดับจังหวัดมีไว้แค่รับเรื่องส่งเรื่องตามพิธีการราชการเท่านั้นเอง
       
ขณะที่พรรคทักษิณเพื่อไทยยิ่งแล้วใหญ่ เพราะธรรมชาติของระบอบทักษิณคือระบบรวมศูนย์อำนาจ เมื่อต.ค.2545 ที่มีการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ นอกจากเพิ่มกระทรวงแล้ว หัวใจสำคัญอีกประการคือการกระชับอำนาจราชการ ผู้ว่าซีอีโอ. อธิบดีซีอีโอ รวมศูนย์รับการสั่งการตรงจากฝ่ายนโยบาย
       
การปฏิรูปของทักษิณที่เพิ่มกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นดูเผินๆ เหมือนส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แต่เนื้อแท้เจ้าหน่วยงานนี่กลับเป็นมือไม้ของนักการเมืองส่วนกลางเพื่อต่อรอง-กดดัน-บีบบังคับ-และเปิดช่องสมประโยชน์กับนักการเมืองท้องถิ่น ผ่านงบอุดหนุน
       
เนวิน ชิดชอบ เข้าใจความสำคัญของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นดี เพราะนี่คือต้นธารการเชื่อมสัมพันธ์กับอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์ท้องถิ่นผ่านงบอุดหนุน พรรคภูมิใจไทยจึงสามารถต่อรองการสนับสนุนบางประการจากอปท.ได้ และประชาธิปัตย์เองก็ทำเป็นหลับตามองไม่เห็น มาถึงรัฐบาลนี้ข่าวล่าสุดที่มีการล็อบบี้ต่อรองกับ ส.ว.เพื่อผ่านกฏหมายสำคัญถึงขนาดว่า จะกันเปอร์เซ็นต์งบอุดหนุนให้อปท. ของแต่ละท้องถิ่นให้เพื่อแลกเปลี่ยนการสนับสนุน
       
พรรคการเมืองทั้งหลายไม่ว่าซีกใดฝ่ายใด ไม่ได้จริงใจกับการกระจายอำนาจเพราะการกระจายอำนาจที่แท้จริงต้องกระจายงบประมาณให้โดยไม่มีข้อแม้ แต่นี่กลับใช้ช่องทางงบอุดหนุนเพื่อเป็นเงื่อนไข พวกใครขึ้นมาก็ผลัดกันปู้ยี่ปู้ยำท้องถิ่นอปท.กันคนละที คนละหนุบหนับ
       
สมมติว่าตำรวจถูกยกให้ขึ้นกับอปท. ตำรวจแต่ละจังหวัดกินเงินเดือนองค์กรท้องถิ่นโดยตรง การโยกย้ายก็มีก.ตร.กลางปลอดจากอำนาจการเมืองโดยนัยสำคัญ (เพราะยากจะมีพี่เบิ้มผูกขาดอำนาจในก.ตร.) ดังนั้นการโยกย้ายแต่งตั้งและรับเงินเดือนตำรวจย่อมอยู่ที่ท้องถิ่น ตำรวจย่อมสนใจคดีประเภท มอเตอร์ไซด์ โจรย่องเบาปีนขึ้นเรือน หรือฉกชิงวิ่งราวฯลฯ มากขึ้นกว่าปัจจุบันเพราะประชาชนส่วนใหญ่ในท้องถิ่นนั้นจะกดดันผ่านผู้บริหารที่ตนเลือกตั้งมา
       
ในทางกลับกันระบบตำรวจในปัจจุบันที่ “รัฐมนตรีนักการเมืองหรือเจ้านายส่วนกลาง” แต่งตั้งมาไม่เห็นจะต้องแยแสสนใจว่าท้องที่ตนมีเหตุลักรถมอเตอร์ไซด์ประจำวันเพราะเขาจะอยู่หรือไปขึ้นกับเจ้านายที่โน่น ไม่ใช่ประชาชนที่นี่
       
การกระจายอำนาจเต็มระบบจะทำให้พรรคการเมืองและเหล่าปลัดฯ-อธิบดีมีเงินน้อยลง เพราะงบประมาณแผ่นดินถูกกระจายและจัดสรรลงท้องถิ่นโดยตรง ท้องถิ่นจะตัดสินใจก่อสร้างถนนใหม่หรือพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ งานบริการต่างๆ ด้วยตนเองมากขึ้น
       
ด้วยเหตุที่เงินน้อยลง อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายก็ไม่มี งบพัฒนาก็ไม่เหลือ ดังนั้นการแย่งชิงเก้าอี้เหมือนหมูหมาแย่งชามข้าว แทงข้างหลัง ปล่อยข่าวกระตุกขาหลังกันเอง ตลอดถึงการแข่งขันทางการเมืองแบบซื้อเสียงถอนทุนขนาดใหญ่แม้จะไม่หมดเสียทีเดียวแต่จะลดลงไปในระดับสำคัญ
       
เหตุการณ์ที่เอ่ยมาทั้งหลาย ไม่ว่าเรื่องงบประมาณน้อยลง อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายหลุดไป อำนาจอนุมัติเรื่องทรัพยากรแร่ธาตุสัมปทานก็หลุดไป ฯลฯ เป็นสิ่งที่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคไหนไม่อยากเห็นหรอก
       
แต่ที่สุดแล้วเมื่อสถานการณ์เดินมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจระหว่างแนวทางปฎิรูปกระจายอำนาจกับแนวทางกระชับรวมศูนย์อำนาจก็จะเกิดขึ้น – ไม่ช้าก็เร็ว
       
ประชาชนก็ต้องเลือกว่าจะยืนหยัดเพื่อบอกให้พรรคการเมือง-พรรคราชการโอนอ่อนยอมตามความต้องการของประชาชน หรือจะยอมตามแนวทางที่เคยเป็นมา
       
ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ เพราะระบบรวมศูนย์อำนาจเองก็มีจุดแข็งของมันอยู่บ้างเหมือนกัน นั่นคือ นักการเมืองที่กุมอำนาจสามารถใช้ทรัพยากรรวมศูนย์สร้างความพึงพอใจ (ประเดี๋ยวประด๋าว) ส่งตรงถึงประชาชน ข้ามหัวองค์กรท้องถิ่นไปเลยก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นงบกองทุนพัฒนาสตรี SML บัตรทองบัตรเครดิตอะไรทั้งหลายแหล่
       
กระแสปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ-กระจายอำนาจกำลังมาแล้วครับ แต่จะผ่านด่านอำนาจรวมศูนย์ที่หยั่งรากยาวนานผนึกแนบแน่นกับระบบราชการ-ทุน-พรรคการเมืองได้หรือไม่ย่อมคู่ควรกับการติดตามอย่างยิ่งเพราะเอาแค่คำถามเรื่องจะอกแบบระบบอย่างไรเพื่อป้องกันการเตะหมูเข้าปากหมา มีมาเฟียผู้มีอิทธิพลคนโกงคนเลวเข้าไปมีอำนาจจะแก้ยังไงซึ่งเป็นคำถามพื้นฐานที่พบมากพบบ่อย
       
ผมแอบมีความรู้สึกลึกๆ ว่ากระแสนี้จะมาแทนกระแสเหลือง-แดงที่ครอบงำสังคมไทยมาหลายปี เพราะเมื่อถึงที่สุดแล้ว คนที่เห็นด้วยกับเรื่องกระจายอำนาจมีกระจายอยู่ในทุกสี ขณะที่คนที่ไม่เห็นด้วยก็มีอยู่ในทุกสีทุกกลุ่ม
       
มีคนจัดให้ประเวศ-อานันท์ เป็นฝ่ายอำมาตย์ แต่เชื่อไหมครับข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเล่ม(สีส้มๆ) จัดเป็นข้อเสนอที่ทำลายรากฐานอำนาจของอำมาตยาธิปไตยไทย -Bureaucracy อย่างถึงแก่น และก็เชื่อไหมครับคนที่สนับสนุนร่างพรบ.เชียงใหม่มหานครที่ผมสัมผัสมามีคนเสื้อแดงที่เอางานเอาการอย่างยิ่งจำนวนหนึ่ง ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจหากพรรคเพื่อไทยไม่สนับสนุนเรื่องนี้ผมก็เชื่อว่าเขาเหล่านั้นจะยืนหยัดยืนยันอยู่ฝ่ายกระจายอำนาจโดยไม่ลังเล.

 

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดตัววารสารออนไลน์ Sensate ฉบับ "สิ่งที่แตะต้องไม่ได้"- วิจารณ์การเมืองไทยผ่านสิ่งของ

Posted: 18 Jun 2012 10:57 AM PDT

วารสารออนไลน์ Sensate: A Journal of Critical MediaPractice
ฉบับพิเศษหัวข้อ "สิ่งที่แตะต้องไม่ได้"

เบณ เทาสิก (Ben Tausig) อาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยาการดนตรี มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) อาจารย์ภาควิชาการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมือง มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เปิดตัววารสารออนไลน์ Sensate: A Journal of Critical MediaPractice ฉบับพิเศษในหัวข้อ "สิ่งที่แตะต้องไม่ได้" ["Unspeakable Things"] เพื่อวิเคราะห์วิจารณ์การเมืองไทยผ่านสิ่งของในชีวิตประจำวัน

"ด้วยในปัจจุบันผู้ติดตามและนักวิเคราห์สถานการณ์ทั้งคนไทยและคนต่างชาติมีข้อจำกัดในการพูดถึงบางอย่างอย่างตรงไปตรงมาได้ดังนั้น เราจึงหยิบเอาสิ่งของต่างๆ มาใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์วิจารณ์คัดค้านการปิดกั้นเสรีภาพดังกล่าว" ทั้งสองระบุผ่านบล็อก

"เราริเริ่มโครงการนี้เพื่อรำลึกถึง 1 ปีของใช้กำลังโดยรัฐไทยเพื่อสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 ขณะนี้ปีที่ 2 หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวกำลังจะผ่านพ้นไปโดยไร้ร่องรอยความรับผิดชอบของรัฐ ขณะเดียวกันวารสารฉบับนี้ก็เปิดตัวท่ามกลางคนจำนวนมากที่กำลังถูกดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างสูงขึ้นและต่อเนื่อง"

ทั้งนี้ แต่ละบทความในวารสารฉบับดังกล่าว มีทั้งคำ ภาพ เสียง และวิดีโอแบบตัดปะ ที่มีรูปแบบเชิงโต้ตอบได้ (interactive) โดยขณะนี้ มีบทนำและบทความแล้ว 4 ชิ้น โดย เครก เรย์โนลด์ และคณะ (Craig Reynolds andTeam) เบณ เทาสิก และ ปีเตอร์ ดูเล่น (Ben Tausig and Peter Doolan) และเอลิซาเบธ ฟิตซ์เจอรัลด์ (Elizabeth Fitzgerald) 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวี จงกิจถาวร: มองอาเซียนผ่านมุม ‘ข่าว’ (1) พลวัตในรอบ 45 ปี

Posted: 18 Jun 2012 08:50 AM PDT

กวี จงกิจถาวร ประธาน SEAPA บรรยายพิเศษ “มองประชาคมอาเซียนจากมมุมข่าว” อธิบายพลวัติอาเซียนในรอบ 45 ปี จับตาพม่าผงาดจาก ZERO เป็น HERO ส่วนไทยจะตกกระป๋องไปอีกนาน อินโดจะเป็นพี่ใหญ่ ภาษาจะครองอาเซียน 

กวี จงกิจถาวร บรรณาธิการอาวุโสเครือเนชั่นมัลติมิเดียกรุ๊ป และประธาน South Asian Press Association (SEAPA) บรรยายพิเศษ “มองประชาคมอาเซียนจากมมุมข่าว” ในโครงการอบรมนักข่าวโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ครั้งที่ 1/2555 ณ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ บ้านพักรับรอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555

0 0 0

ใครๆ ก็อยากเข้าอาเซียน
ประเทศภาคีสมาชิกได้ร่วมลงนามเป็นสมาชิกอาเซียน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967 หรือเมื่อ 45 ปีที่แล้ว ขณะนั้นประเทศไทยสามารถเป็นตัวกลางในภูมิภาคได้ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น ไม่มีเรื่องบาดหมางกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ มีความน่าเชื่อถือสูง มีนโยบายทางการทูตอิสระ แน่นอนและได้รับการสนับสนุนจากโลกเสรี

ไทยต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกลไกที่จะลดความขัดแย้งในภูมิภาค ซึ่งขณะนั้น ประเทศมาเลเซียมีปัญหากับประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ ไทยยังส่งเสริมการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศในภูมิภาค เพื่อรับมือกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ในประเทศอินโดจีน ในปี 1992 หลังจากสงครามในประเทศกัมพูชาสิ้นสุดลง จึงเป็นเรื่องน่าแปลกที่เวียดนามเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอินโดจีนได้เข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน

สำหรับประเทศติมอร์ตะวันออก จะเข้ามาเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นประเทศที่ 11 แต่ประเทศอินโดนีเซียคัดค้านเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียสนับสนุน แต่กลับพบว่าประเทศสิงคโปร์ไม่ต้องการให้ประเทศติมอร์ตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน เนื่องจากไม่ต้องการให้ประเทศติมอร์ตะวันออกตกอยู่ภายใต้อิทธิของประเทศอินโดนีเซียอีกครั้ง

ลึกๆ แล้ว สิงคโปร์ต้องการให้ประเทศติมอร์ตะวันออกอยู่ภายใต้อิทธิพลของออสเตรเลียเหมือนเดิม ต่างจากประเทศบรูไนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนหลังได้รับเอกราชไม่ถึง 1 สัปดาห์ นับเป็นประเทศที่ฉลาดมาก เพราะการได้เข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน ทำให้อาเซียนสามารถปกป้องประเทศสมาชิก

ส่วนประเทศปาปัวนิวกีนี ยังไม่แน่ชัดว่าจะสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนหรือไม่ เนื่องจากมีประเทศที่สนับสนุนมีเพียงประเทศฟิลิปปินส์กับประเทศอินโดนีเซีย ส่วนประเทศอื่นๆ ไม่เห็นด้วย

ทำไมประเทศปาปัวนิวกีนีอยากเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน เพราะไม่อยากโดดเดี่ยว และประเทศปาปัวนิวกีนีถูกประเทศออสเตรเลียรังแก่มาตลอด จึงหวังการปกป้องจากอาเซียน ฉะนั้นประเด็นที่สำคัญของอาเซียนคือ ร่วมกันแล้วแข็งแรง เหมือนต้นข้าว 10 ต้นมัดรวมกัน ดังปรากฏในสัญลักษณ์ของอาเซียน

เมื่อ 45 ปีก่อน ศรีลังกาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่อยากเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน เพราะไม่ต้องการอยู่ในกลุ่มประเทศเอเชียใต้และประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่อาเซียนไม่สนใจ สาเหตุหนึ่งอาจมาจากกรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับกลุ่ม “พยัคฆ์ทมิฬไทเกอร์” ซึ่งเป็นปัญหาเชื้อชาติ และอาเซียนไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง

ปัจจุบันอาเซียนมีสมาชิก 10 ประเทศ หากต้องการแข่งขันกับสหภาพยุโรป ซึ่งมีสมาชิก 27 ประเทศ คงต้องเพิ่มจำนวนประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นไปได้ว่า จะเพิ่มประเทศติมอร์ตะวันออกเข้ามา

ผมกล้าที่ท้าท้ายว่า ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ประเทศออสเตรเลียกับประเทศนิวซีแลนด์จะเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน ผมเชื่อว่าเป็นไปได้ เพราะแนวคิดใหม่ไม่สนใจเรื่องภูมิศาสตร์แล้ว แต่สนใจเรื่องผลประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนั้นความหมายของอาเซียน ไม่ใช่เป็นแค่กลุ่มประเทศในอาเซียอาคเนย์อีกต่อไป

คุณสมบัติของอาเซียน
การเมืองในอาเซียน มีระบบที่หลากหลาย ในความหลากหลายดังกล่าว ทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่ยุ่งยาก เพราะคิดอะไรไม่เหมือนกัน อย่างประเทศมาเลเซียคิดไปอย่างหนึ่ง ประเทศอินโดนีเซียก็คิดไปอีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น

เพราะฉะนั้น สำหรับการเขียนข่าวที่เกี่ยวกับอาเซียน จำเป็นต้องคิดถึงความหลากและความต้องการในแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน

ฉะนั้นอาเซียนไม่เหมือนสหภาพยุโรปที่เมื่อจะรับสมาชิกประเทศใหม่ จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ทั้ง ด้านการเมือง ความคิด การบริหารธุรกิจ สังคมอย่างเท่าเทียมกัน ตัวอย่างประเทศตุรกีที่ไม่สามรถเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้ ส่วนอาเซียนให้เข้ามาเป็นสมาชิกก่อน แล้วค่อยจัดการที่หลัง

ประเทศอินโดนีเซียเป็นชาติมุสลิมที่ใหญ่ที่สุด ส่วนประเทศไทย พม่าและลาว เป็นประเทศพุทธศาสนา และฟิลิปปินส์ เป็นคริสเตียน โดยไม่มีการแทรกแซงทางการเมือง ไม่ใช้กำลังต่อกันและใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาอาเซียน

ผมคิดว่าอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า ภาษาอินโดนีเซียจะเป็นภาษาของอาเซียน เพราะเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีบารมี โดยเฉพาะหลังจากปี ค.ศ.1998 หลายประเทศให้การยอมรับ

ส่วนประเทศไทยเคยมีบารมีสูงมากในปี ค.ศ.1995 เนื่องจากมีนโยบายส่งเสริมประชาธิปไตยและนโยบายสิทธิมนุษยชน ตอนนี้ประเทศไทยตกกระป๋องไปแล้ว และจะตกกระป๋องไปอีกนาน

‘พม่า’น่าจับตาในอาเซียน
ตอนนี้ประเทศที่เป็นตัวแปรใหม่สำหรับสมาชิกอาเซียนคือ ประเทศพม่า ประเทศพม่า สามารถล้มโต๊ะอาเซียนได้ พม่าเปลี่ยนจาก Zero มาเป็น Hero ตอนนี้ หลายๆ ประเทศเริ่มลดการคว่ำบาตรพม่าไปเรื่อยๆ

ส่วนประเทศไทยลืมไปเลย ไม่ใครสนใจ เพราะมัวห่วงว่าอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะกลับประเทศหรือไม่ ปัญหานี้อีก 3 ปีก็ไม่จบ แต่ประเทศไทยจบ

65 ปีหลังสงครามโลก ประเทศไทยได้รับสิทธิพิเศษในโลกเสรี ในฐานะที่มีการพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ไม่ขาดตอน แต่รัฐบาลไม่มีนโยบายต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้ประเทศในอาเซียนต่างยืนเรียงหน้าเพื่อแข่งขัน ซึ่งประเทศไทยแม้ได้สิทธิล่วงหน้ามา 65 ปีแล้ว แต่การพัฒนาก็ไปไม่ถึงไหน

‘ไม่แทรกแซง’ ความหมายที่เปลี่ยนได้
เรื่องการไม่แทรกแซงทาการเมืองในประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะสร้างความมั่นใจต่อกัน ตอนนี้มีการแทรกแซงโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ไปจับมือกับประเทศกัมพูชาและอีกหลายประเทศในอาเซียน แต่เป็นประเด็นที่ยังไม่มีใครกล้าที่จะคุย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ในประเด็นการไม่แทรกแซง

การตีความหมายของการไม่แทรกแซงทางการเมืองภายในสมาชิกอาเซียนได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เป็นเทคนิคหนึ่งที่อาเซียนชอบใช้ คือตีความความหมายเข้าข้างตัวเอง เหมือนประเทศญี่ปุ่นที่ตีความหมายเข้าข้างตัวเองว่า แม้รัฐธรรมนูญห้ามใช้กำลัง แต่ถ้าส่งกำลังไปช่วยส่งเสริมการรักษาสันติภาพในประเทศอื่นๆทำได้

หลักการไม่แทรกแซงนั้น ไม่ใช่ลักษณะที่ตัวแข็งไม่เปลี่ยนแปลง แต่อยู่ที่การตีความหมาย

 

 

อ่านกฎบัตรอาเซียน
http://aseansummit.mfa.go.th/15/thai/PDF/ASEAN_Charter_TH+EN.pdf

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.สุภิญญาฯเตรียมทำคำสงวนมติบอร์ด กรณี 'บอลยูโร'

Posted: 18 Jun 2012 08:45 AM PDT

18 มิถุนายน 2555 สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. แถลงข่าวสืบเนื่องจากผลการประชุมบอร์ดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กสท. มีวาระพิจารณากรณีที่ผู้บริโภคไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดสดรายการฟุตบอลยูโร 2012 ได้ ซึ่งเป็นกรณีที่สาธารณชนกำลังจับตามองการทำหน้าที่ของ กสทช.มาตั้งแต่ต้น ซึ่งบอร์ด กสท. ได้มีมติเพิ่มเติมโดยมอบหมายให้อนุกรรมการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณาการใช้อำนาจทางกฎหมายของ กสทช. แต่ตนเองในฐานะ กสทช.ที่เข้ามาทำหน้าที่ในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีความเห็นว่าการดำเนินการในเรื่องนี้ต้องเป็นไปโดยรวดเร็วและให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้

1. กสทช.ควรมีคำสั่งทางปกครองไปยังฟรีทีวีช่อง 3, 5 และ 9 ให้ดำเนินการเจรจากับเอกชนที่ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรายการฯ ดังกล่าวในประเทศไทย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถรับชมรายการฟรีทีวีได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการรับชมผ่านช่องทางใด เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนและผู้บริโภครับชมรายการโทรทัศน์ฟรีทีวีผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียมและเคเบิลทีวีมากกว่าร้อยละ 75  ซึ่งเกิดจากข้อจำกัดจากการรับสัญญาณโทรทัศน์ในระบบอนาล็อคหรือการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน

2. ส่วนกรณีของบริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ประกอบการทีวีในระบบบอกรับสมาชิกที่ได้สัญญาหรือโฆษณากับผู้บริโภคว่าสามารถรับชมรายการช่องฟรีทีวีได้นั้น ตนเองเห็นว่าเป็นเรื่องที่ ทรู  ต้องรับผิดชอบต่อการประกอบกิจการและเงื่อนไขที่ได้ให้ไว้กับผู้บริโภคซึ่งเป็นลูกค้าของตน และตนเองสนับสนุนข้อเสนอของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้เสนอให้ กสท. พิจารณาในประชุมคราวนี้ 

3. กรณีการอนุญาตนำเข้าและจำหน่ายกล่องรับสัญญาณของบริษัทในเครือ GMM ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้อนุญาตไปแล้ว 600,000 กล่อง และอยู่ระหว่างขออนุญาตอีกกว่า 500,000 กล่องนั้น ตนเองเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช.จะต้องดำเนินการตรวจสอบการนำเข้าและจำหน่ายให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากมีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายก็อาจจำเป็นต้องดำเนินการย้อนหลัง อาทิ การคิดค่าธรรมเนียมย้อนหลังการนำเข้ากล่องรับสัญญาณดาวเทียมดังกล่าว

ทั้งนี้ ในวันพุธที่ 20 มิถุนายน เวลา 09.00 – 12.30 น. ส่วนงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ได้จัดสัมมนาโต๊ะกลมระดมความคิดเห็นเรื่อง “ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ครั้งที่ 2 : กรณีจอดำ ฟุตบอลยูโร 2012” ณ หอประชุม ชั้น 2 สำนักงาน กสทช. เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันต่อความรับผิดชอบผู้บริโภค

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้อนุกิจการอาเซียนเปิดชาวบ้านร่วม ยุติตามน้ำเอกชนดันท่าเรือปากบารา

Posted: 18 Jun 2012 08:35 AM PDT

จี้อนุกิจการอาเซียน เปิดเวทีชาวบ้านมีส่วนร่วม ยุติเลือกข้างตามน้ำรองผู้ว่า-เอกชนสตูลดันท่าเรือน้ำลึกปากบารา-เมกะโปรเจ็กต์ กรรมาธิการชายแดนฯ ส.ส.ร่อนหนังสือรับพิจารณา แจงยึดหลักผลประโยชน์ชาติ แต่ต้องรับฟังประชาชน

นายสมบูรณ์ คำแหง คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2555 ตนได้รับหนังสือด่วนที่สุดที่ 3999/2555 ของคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 ลงนามโดยนายสามารถ มะลูลีม ประธานคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร จากการที่ชาวบ้านไปยื่นหนังสือร้องเรียนพิจารณาโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 ที่คณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการกิจการอาเซียน สภาผู้แทนราษฎร เสวนา “สตูลผงาดเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ว่าการผงาดเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สตูลจำเป็นจะต้องมีท่าเรือน้ำลึกปากบาราเท่านั้น

หนังสือด่วนที่สุดที่ 3999/2555 ของคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง ท่านได้มีหนังสือขอให้คณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร และคณะอนุกรรมาธิการกิจการอาเซียน พิจารณาคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น

“ในการนี้คณะกรรมาธิการได้รับเรื่องร้องเรียนของท่านแล้ว และจะได้พิจารณาดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการตามลำดับต่อไป ทั้งนี้คณะกรรมาธิการจะได้พิจารณาศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน และยึดหลักผลประโยชน์ของชาติในภาพรวมอย่างรอบคอบและยุติธรรม ซึ่งจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญด้วย จึงเรียนมาเพื่อทราบ หากผลการพิจารณาเป็นประการใด คณะกรรมาธิการจะแจ้งให้ท่านทราบอีกครั้งหนึ่ง” หนังสือดังกล่าว ระบุ

นายสมบูรณ์ คำแหง กล่าวว่า หากคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร และคณะอนุกรรมาธิการกิจการอาเซียน ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญเพื่อพิจารณาโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ตนเห็นว่าคณะกรรมาธิการฯ ควรที่จะลงมาจัดเวทีที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมโดยตรง เนื่องจากวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 ได้มีการประชุมผู้แทนราษฎร เสวนา “สตูลผงาดเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ร่วมกับนักธุรกิจแล้ว น่าจะมีเวทีสำหรับชาวบ้านบ้าง

“ขอให้คณะกรรมาธิการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร และคณะอนุกรรมาธิการกิจการอาเซียน ยุติการแสดงบทบาทการผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราและโครงการที่เกี่ยวข้อง ตามที่นายวัชรินทร์ ทองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และนักธุรกิจเตรียมที่จะผลักดันเมกะโปรเจกต์จังหวัดสตูล อาทิ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา อุโมงค์สตูล-เปอร์ลิส เป็นต้น” นายสมบูรณ์ กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ญาติเหยื่อกรือเซะประท้วงเกณฑ์เยียวยา 4 ล้าน

Posted: 18 Jun 2012 08:33 AM PDT

ญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะชุมนุมคัดค้านหลัง ศอ.บต. มีมติจ่ายเยียวยา 4 ล้าน รองเลขาฯ ศอ.บต.เผยทางศอ.บต.จะตั้งกรรมการพิเศษพิจารณาใหม่  

นางแสนะ บูงอตันหยง ญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์กรณีมัสยิดกรือเซะกำลังอ่านแถลงการณ์คัดค้านหลักเกณฑ์ที่ทางคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมติให้เยียวยาผู้เสียชีวิตเหตุการณ์ 28 เมษายน กรณีมัสยิดกรือเซะเพียงรายละ 4 ล้าน

 

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 18 มิถุนายน 2555 ที่ลานด้านหน้ามัสยิดกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจและชาวมุสลิมที่บริเวณมัสยิดกรือเซะในวันที่ 28 เมษายน 2547  ประมาณ 60 คนได้มาชุมนุมกันที่ลานด้านหน้ามัสยิดเพื่อประท้วง “ความไม่เป็นธรรม” ในการตั้งหลักเกณฑ์การเยียวยาในกรณีนี้

นางแสนะ บูงอตันหยง ญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะแถลงว่าญาติของผู้ที่สูญเสียไม่สามารถจะรับมติของคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งได้ลงมติให้เงินเยียวยากรณีมัสยิดกรือเซะ 4 ล้านบาทต่อรายโดยอ้างว่ามีการปะทะกับเจ้าหน้าที่จึงได้ตัดจำนวนที่เหลือ 3.5 ล้านบาทออกไป

"เวลาผ่านมา 8 ปี มีหน่วยไหนมาถามบ้างไหม แผลที่จะหายแล้วยังมาสะกิดอีก ถามว่าถ้าเป็นญาติของคณะจะมีความรู้สึกอย่างไร ? คำพูดที่ว่าได้ 4 ล้านก็พอแล้ว คำพูดคำนี้ยังติดใจของบรรดาญาติผู้เสียชีวิตจนวันตาย ก็ยังไม่ลืมคำนี้" นางแสนะกล่าว

ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน  2555 ที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 กรณีมัสยิดกรือเซะ เป็นจำนวนรายละ 4 ล้านบาท  โดยจะให้สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ 3 คนและชาวบ้านมุสลิมอีก 32 คนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ส่วนกรณีสะบ้าย้อย มีมติจ่ายเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทให้กับชาวบ้านมุสลิม 19 คนที่เสียชีวิต  ในกรณีอื่นๆ ที่มีการปะทะในวันเดียวกันยังไม่มีมติออกมา

 “ผลจากการพิสูจน์สถานที่เกิดเหตุไม่พบอาวุธสงครามที่ประสงค์แก่ชีวิตของเจ้าหน้าที่ พบแต่ มีด ดาบ และหนังสติ๊กเท่านั้นซึ่งเห็นได้ว่าภาครัฐไม่ได้ยึดถือมาตรฐานสากลในการควบคุมตัวผู้ที่อยู่ในมัสยิดกรือเซะ” นางแสนะอธิบาย

ตัวแทนญาติผู้สูญเสียยังได้ระบุว่าการกระทำครั้งนี้สิ่งที่รัฐทำกับกลุ่มเยาวชนคือใช้อาวุธสงครามมีทั้งปืนเอ็ม 79 ระเบิดมือ แก๊สน้ำตา ปืนเอ็ม 16 รวมทั้งถล่มด้วยปืนอาก้าและเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งมีหลักฐานที่เป็นร่องรอยที่ผนังมัสยิด  และบุคคลที่อยู่ภายในมัสยิดทั้งหมดเสียชีวิต  ซึ่งในความเป็นจริงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าบุคคลที่อยู่ภายในมัสยิดมีทั้งเยาวชนและคนชราซึ่งไม่สามารถต่อสู้ได้  

“ถามว่าบุคคลเหล่านี้ได้รับความเป็นหรือไม่? หรือได้รับการพิพากษาหรือไม่ ? ซึ่งเห็นได้จากหน่วยงานภาครัฐใช้วิธีวิสามัญฆาตกรรม โดยใช้อาวุธสงครามกระหน่ำอย่างหนัก ถล่มเพื่อหวังแก่ชีวิตโดยไม่คำนึงถึง [สิทธิ] มนุษยชน ซึ่งในมัสยิดหรือสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา ไม่ว่าศาสนาใด ถือเป็นเขตอภัยทาน ไม่สามารถทำให้สูญเสียแก่ชีวิตได้ ซึ่งทำให้กระทบจิตใจของคนในศาสนาเดียวกันเป็นอย่างมาก” นางแสนะกล่าว

หลังจากญาติสูญเสียแถลงเสร็จก็ได้เดินทางไปยัง ศอ.บต. เพื่อยื่นเรื่องให้ทบทวนหลักเกณฑ์การเยียวยาสำหรับกรณีมัสยิดกรือเซะใหม่ 

นางคอลีเยาะ หะหลี ญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะเปิดเผยว่าจากการเข้าพบนายฐานิส ศรียะพันธ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เพื่อยื่นข้อเสนอให้มีการทบทวนการการเยียวยาสำหรับกรณีนี้ นายฐานิสได้กล่าวว่ากับญาติผู้สูญเสียว่าทาง ศอ.บต. จะตั้งคณะกรรมการพิเศษอีกชุดหนึ่งเพื่อให้มีการพิจารณาใหม่

นายฐานิสได้ระบุว่าคณะกรรมการพิเศษชุดนี้จะประกอบด้วยกรรมการ 5 คนเป็นตัวแทนจาก ศอ.บต. 2 คนและเป็นตัวแทนของผู้สูญเสียจากกรณีมัสยิดกรือเซะ 3 คน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา: 24 มิถุนายน 2475: สงครามบนแผ่นฟิล์ม

Posted: 18 Jun 2012 04:58 AM PDT

ภาพยนตร์ในวันพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

"เมื่อเช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แสงทองส่องฟ้าเรื่อเรือง มวลชีวิตได้พลิกตัวตื่นพร้อมกับการพลิกหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ แต่กลุ่มชีวิตที่รุ่งโรจน์ด้วยอำนาจวาสนา ยังหลับไหลด้วยความบรมสุขอันสืบต่อมาจากศตวรรษเก่า...อำนาจใหม่ซึ่งเติบโตขึ้นมาในสายตาอันฝ้าฟางของอำนาจเก่ากำลังย่างสามขุมออกมาเพื่อจะเข้าบดขยี้อำนาจเก่าที่ง่อนแง่นโงนเงนให้ย่อยยับไป ประวัติศาสตร์ของสยามกำลังจะขึ้นบทใหม่ และผู้ที่สร้างประวัติศาสตร์ หรืออีกนัยหนึ่งผู้ลิขิตชะตากรรมของมนุษย์ผู้ลิขิตความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของมนุษย์นั้นก็หาใช่พระพรหม หรือพระผู้เป็นเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนไม่ หากเป็นมนุษย์นั่นเอง เมื่อชนชั้นสูงผู้ครองอำนาจได้ตื่นขึ้นมาในเช้าวันนั้น เขาก็ได้พบว่า อำนาจลายครามของเขาได้ถูกกลุ่มชนชั้นหนึ่งเข้าจู่โจมยืดเอาไปเสียแล้ว

ในตอนสายของวันที่ 24 มิถุนายน ข่าวการยึดอำนาจการปกครองจากกษัตริย์ และการจับกุมเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และนายพลมาคุมตัวไว้ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ได้แพร่ออกไปจากกองบัญชาการยึดอำนาจอย่างรวดเร็ว ประดุจถูกลมพายุหอบไป จากถนนใหญ่น้อยเข้าไปสู่อาคารร้านค้าสองฟากถนน ผู้คนที่กำลังทำการซื้อขายต่อราคาด้วยกิริยาอันเนิบนาบและกำลังนั่งอ้อยอิงสนทนารับประทานอาหารและเครื่องดื่มอยู่ ต่างก็ฟังข่าวอย่างหูผึ่ง บ้างตกตลึงพรึงเพริด บ้างร้องวื้ดว้าด บ้างหน้าบาน บ้างกังวล บ้างลุกพรวดพราว เผ่นออกไปนอกร้าน ร้านรวงบางแห่งก็ปิดอย่างฉับพลัน ประหนึ่งเตรียมรับกองโจรที่จะบุกเข้ามาในสองสามนาทีข้างหน้า บางร้านกลับโหมไฟในเตาตระเตรียมอาหารสดไว้เต็มที่ประหนึ่งจะคอยต้อนรับผู้คนซึ่งมาเที่ยวงานเทศกาลรื่นเริงมโหฬาร..."

นี่คือเหตุการณ์ของวันพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งศรีบูรพาได้ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรด้วยถ้อยคำอันเร้าใจ ในบทนำของนวนิยายอมตะ "แลไปข้างหน้า"

ภาพของเหตุการณ์ในวันนั้นนอกจากจะถูกบันทึกลงบนกระดาษโดยปลายปากกาและแท่นพิมพ์ของนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์แล้ว มันยังถูกบันทึกเก็บไว้บนแผ่นฟิล์มอย่างมีชีวิตวา โดยฝีมือนักสร้างภาพยนตร์ชั้นแนวหน้าสุดของไทยขณะนั้นอีกด้วย

คณะถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ได้เข้าร่วมกับคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยทำหน้าที่เป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ให้กับฝ่ายคณะราษฎร เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองวันนั้นถูกบันทึกลงบนแผ่นฟิล์มขนาด 35 ม.ม. มีความยาวถึง 3,000 ฟุต เมื่อทำการตัดต่อและใส่อักษรบรรยายแล้วได้ถูกนำไปโฆษณาเผยแพร่ชัยชนะของคณะราษฎรต่อสาธารณชน ซึ่งกำลังหลงไหลคลั่งไคล้ในมหรสพบันเทิงชนิดนี้ [1] ภาพยนตร์ "วันพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน" นี้ถือได้ว่าเป็นเสมือนคำประกาศแห่งชัยชนะของราษฎรสามัญชนที่มีต่อชนชั้นปกครองเก้าเจ้าขุนมูลนายเป็นประจักษ์พยานที่ตอกย้ำว่ายุคสมัยแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สิ้นสุดลงแล้ว และความหวังใหม่ของสยามคือ ประชาธิปไตย และความเสมอภาคเท่าเทียมกันของผู้คนในสังคมที่จะเข้าแทนที่สังคมแบบไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ซึ่งได้มาจากการต่อสู้แย่งชิง มิใช่ร่วงหล่นมาจากฟากฟ้าหรือสรวงสวรรค์

ภาพยนตร์ชุดนี้ถูกนำไปฉายเผยแพร่ยังโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยได้รับการต้อนรับจากผู้ชมอย่างกว้างขวาง แน่นอนภาพยนตร์ชุดนี้ได้ทำการแย่งอำนาจรัฐจากกษัตริย์และเจ้านายมาสู่มือของคณะราษฎรมีความชอบธรรม และได้รับการยอมรับจากประชาชนมากยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้ามฐานะองค์กษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงย่อมถูกดูแคลนโดยผู้ชม ด้วยเหตุนี้ย่อมไม่เป็นที่พึงพอใจของกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์และบรรดาพวกอนุรักษ์นิยมหัวประจบทั้งหลาย

เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองพลิกกลับ โดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมภายใต้การนำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี สามารถผนึกกำลังของตนดึงอำนาจการเมืองกลับคืนมาจากสมาชิกคณะราษฎร ภายหลังวิกฤตการณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ทำให้ความขัดแย้งภายในคณะราษฎรที่ดำรงอยู่ก่อนหน้านั้นปรากฏตัวเด่นชัดและถึงจุดแตกหักในที่สุด สมาชิกคณะราษฎรบางส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 ทหารเสือ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.อ.พระยาฤทธิ์อาคเนย์ และ พ.ท.พระประศาสน์ วิทยายุทธ ได้ถอนตัวออกจากการสนับสนุนคณะราษฎรไปอยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมกลับมามีอำนาจในวงการรัฐบาลอีกครั้ง พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้มีคำสั่งให้ภาพยนตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เป็นภาพยนตร์ต้องห้าม โดยให้เหตุผลว่า "ยังไม่สมควรให้นำออกฉายตามโรงมหรสพ เพราะเป็นการระหว่างหัวต่อ จะทำให้เห็นเป็นการเย้นหยันหรือที่เรียกว่าย้ำหัวตะปู เป็นการชอกช้ำแก่ในหลวงและพระบรมวงศาสนุวงศ์มากเกินไป" [2] โดยมอบหมายให้นายประยูร ภมรมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการราษฎรจัดการห้ามมิให้นำออกฉาย

ภายหลังการทำรัฐประหารแย่งอำนาจคืนจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 ภาพยนตร์ชุดดังกล่าวจึงกลับมาโลดแล่นบนจออีกครั้ง ภาพยนตร์ชุดนี้นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของการเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตยไทย น่าเสียดายที่ปัจจุบันฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าวได้สูญหายไปเสียแล้วโดยไม่หลงเหลือร่องรอยให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตชีวาของมัน

อย่างไรก็ตามมีหลักฐานแสดงว่า ภาพยนตร์ชุดนี้ได้ถูกส่งไปยังสหรัฐอเมริกา 2 ก๊อปปี้ ทั้งนี้เพราะมีบริษัทถ่ายภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกาได้ทราบข่าวว่า เกิดการปฏิวัติขึ้นในสยาม และรู้ว่าบริษัทศรีกรุงได้ถ่ายภาพเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ จึงโทรเลขมาขอซื้อฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าว "ให้ถ่ายหนังคุปเดต้าต์ในสยามไว้มีเท่าไรเอาหมด คิดราคาให้ตามอัตราพิเศษส่งเนกาติฟทางเรือบินด่วน" โดยบริษัทศรีกรุงได้ส่งฟิล์มที่ตัดต่อและใส่อักษรบรรยายภาษาอังกฤษแล้วไปให้ทั้ง 2 บริษัท แต่ภาพยนตร์ดังกล่าวไม่ตรงกับจินตภาพของการรัฐประหารที่บริษัทภาพยนตร์ดังกล่าวตั้งไว้ คือจะต้องมีการสู้รบที่รุนแรง ดังนั้นเมื่อฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าวไปถึงมือแล้ว บริษัทหนึ่งจึงมีโทรเลขแจ้งกลับมาว่า "คุปเดต้าต์ เมืองไทยไม่เห็นมียิงกันสักหน่อย บริษัทไม่เอา หากจะเอาหนังคืนก็ให้ส่งเงินไปสำหรับเป็นค่าส่งกลับ" ส่วนอีกบริษัทเมื่อได้รับฟิล์มแล้วเงียบหายไปเลย ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน [3]

จากนั้นเราก็ไม่ทราบชะตากรรมของฟิล์มภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ชุดนี้ว่า เป็นตายร้ายดีอย่างไร ปัจจุบันฟิล์มดังกล่าวยังถูกเก็บรักษาไว้หรือไม่ก็สุดที่จะคาดคะเน เนื่องจากวัสดุฟิล์มดังกล่าวทำด้วยสารไนเตรทที่มีคุณสมบัติระเบิดและลุกไหมได้ง่าย หากไม่มีวิธีเก็บรักษาที่ถูกต้องก็จะเสื่อมสลายไปได้โดยง่ายดายและอาจเป็นอันตราย

 

เมื่อคนเท่ากับคนบนสยามใหม่

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้พยายามปลดปล่อยสามัญชนออกจากโซ่ตรวนของอุดมการแบบศักดินาที่ได้พันธนาการราษฎรไว้กับสถานะ "ข้าของแผ่นดิน" ซึ่งต้องอาศัยภายใต้ร่มใบบุญของเจ้าขุนมูลนายมีฐานะที่ต่ำต้อยในสังคมไร้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพ คณะราษฎรได้ประกาศลดสลายฐานะอันสูงส่งของชนชั้นเจ้าลงพร้อม ๆ กับการเชิดชูสามัญชนให้สูงเด่นขึ้น ดังปรากฏในประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ 1 และหลัก 6 ประการ ข้อ 4 และข้อ 5

"ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎรไม่ใช่เป็นของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสระภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน ก็เอามาจากราษฎร เพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่งเอง...

4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่

5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ชัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น..." [4]

ในทางนิตินัยฐานะของสามัญชนถูกยกให้สูงเด่นขึ้นทัดเทียมกับชนชั้นอื่น ๆ ดังที่ระบุไว้อย่างชัดแจ้งในมาตราที่ 12 ของรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ที่ว่า "ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประกาศอื่นใดก็ดี ไม่ทำให้เกิดอภิสิทธิแต่อย่างใดเลย" [5]

นอกจากนี้ชนชั้นนำกลุ่มใหม่ยังพยายามลดช่องว่างของโครงสร้างทางชนชั้นแบบเก่าลง ตัวอย่างเช่น การแก้ไขกฎมฑเฑียรบาลที่ห้ามไม่ให้เจ้านายแต่งงานกับสามัญชนหรือการพยายามกระจายอำนาจการปกครองออกไปตามหลักการประชาธิปไตย เช่นการให้มีการเลือกตั้ง การจัดระเบียบเทศบาล เป็นต้น

รัฐบาลในระบอบใหม่ยังได้ตราพระราชบัญญัติยกเลิกการปรับโทษตามศักดินา พ.ศ.2476 เพื่อตอกย้ำหลักการเรื่องความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ ดังคำแถลง

"...โดยเหตุที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ในรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ราษฎรทั้งหลายมีความเสมอกันในกฎหมาย ความผิดทั้งหลายที่กระทำขึ้น ก็ควรจะได้รับการพิจารณาโทษเท่าเทียมกัน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นราษฎรสามัญธรรมดาหรือมีบรรดาศักดิ์ฐานนันดรศักดิ์อย่างไร..." [6]

นอกจากนี้สภาผู้แทนราษฎรยังได้ผ่านร่างประมวลกฎหมายแพ่งฯ ให้ชาวไทยมีภรรยาตามกฎหมายได้เพียงคนเดียว อันเป็นการยกเลิกการกดขี่สตรีเพศตามธรรมเนียมศักดินา ซึ่ง เทียนวรรณ เคยเรียกร้องให้เลิกมาแล้วแต่ครั้งรัชกาลที่ 5 การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้นประสบความสำเร็จเพียงทำลายอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชของกษัตริย์ลง แต่การยักย้ายถ่ายเทอำนาจรัฐจากชนชั้นศักดินามาสู่ผู้ปกครองใหม่นั้นไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากความอ่อนแอของคณะราษฎรทั้งในด้านการจัดองค์กร ความเป็นเอกภาพทางอุดมการณ์ และฐานสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจในสังคม จึงนำไปสู่การประนีประนอม แม้คณะราษฎรจะพยายามเข้าปรับกลไกด้านการปราบปรามของรัฐโดยการปลดและถอดถอนกลุ่มผู้ปกครองเก่าออกไปและจัดสรรคนของตนเข้าไปแทนที่บ้างบางส่วนก็ตาม แต่ในภาวะการณ์ที่กลไกทางอุดมการณ์ของสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นวัด โรงเรียน และสถาบันอื่น ๆ ของสังคมยังคงดำเนินการผลิตซ้ำอุดมการณ์แบบศักดินาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลให้อุดมการแบบศักดินาที่สนับสนุนชนชั้นเจ้ายังคงครองความเป็นใหญ่เหนือสังคมอยู่ ประกอบกับการที่อำนาจรัฐของชนชั้นปกครองเก่ายังมิได้ถูกทำลายล้างลงอย่างสิ้นเชิง การประนีประนอมจึงทำให้อำนาจรัฐถ่ายกลับไปสู่กลุ่มอนุรักษ์นิยมอย่างรวดเร็วในเวลาไม่นานนัก ดังจะเห็นได้จากชัยชนะของกลุ่มอนุรักษ์นิยมในกรณีความขัดแย้งเนื่องจากเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีอนุรักษ์นิยม ในการประกาศปิดสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และออกกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์โดยไม่ผ่านสภา

ข้ออ่อนดังกล่าวทำให้คณะราษฎรหันมาตระหนักถึงภาระกิจอันเร่งด่วนของงานสร้างอุดมการณ์ใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากอุดมการณ์แบบ "ไพร่ฟ้าข้าไทย" ที่สนับสนุนราชาธิปไตยของเจ้าศักดินานั้นมีอิทธิพลครอบงำความคิดชีวิตจิตใจของผู้คนในสังคมไทยอยู่เป็นเวลาช้านานแล้ว คณะผู้ปกครองกลุ่มใหม่ต้องการปรับแต่งและโยกย้ายเป้าหมายแห่งอุดมการณ์ของสังคมไทยให้มาเป็นเครื่องมือสนับสนุนและสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบการปกครองแบบใหม่และผู้ปกครองกลุ่มใหม่ การสร้างอุดมการใหม่ขึ้นมานั้น จำต้องสร้างรากฐานทางสังคม และวัฒนธรรมแบบใหม่ขึ้นมารองรับด้วยเช่นกัน เพราะอุดมการจะแสดงตัวเองออกมาก็โดยผ่านรูปแบบการดำเนินชีวิต ภาษา การแสดงออกทางศิลปะ ตลอดจนกิจกรรมทางการเมือง ภารกิจในการวางรากฐานทางอุดมการจึงครอบคลุมรากฐานทางสังคมทั้งหมด (Social Infrastructure) ด้วย [7]

นอกจากคณะผู้ปกครองกลุ่มใหม่จะทำการเคลื่อนไหวเผยแพร่อุดมการผ่านระบบการศึกษา สถาบันการปกครองของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีเครือข่ายกว้างขวางทั่วประเทศแล้วยังได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นหน่วยหนึ่งทำหน้าที่ทางด้านอุดมการณ์โดยตรง คือ กรมโฆษณาการ [8] ในปี พ.ศ.2476 ประกอบด้วย 2 กองใหญ่ คือ กองการหนังสือพิมพ์ และกองเผยแพร่ความรู้ ในกองเผยแพร่ความรู้นั้นได้แบ่งออกเป็น 5 แผนกย่อย คือ แผนกเอกสาร แผนกวิทยุกระจายเสียง แผนกปาฐกถา แผนกภาพยนตร์ และแผนกแสดงเบ็ดเตล็ด

 

รัฐธรรมนูญ : หล่นจากฟ้าหรือมาจากการต่อสู้?

ขณะที่ภาพยนตร์เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ถูกห้ามฉายโดยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ด้วยเหตุผล "ทำให้เห็นเป็นการเย้ยหยันหรือที่เรียกว่า ย้ำหัวตะปู เป็นการชอกช้ำแก่ในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์มากเกินไป" รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดากลับเชื้อเชิญคณะถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงเจ้าเก่าให้เข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์พิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 โดยมีการตระเตรียมสถานที่ ไฟ และซักซ้อมกล้องแบบซ้อมใหญ่เหมือนพิธีจริงก่อนหน้าวันที่ 10 ธันวาคม โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเข้าร่วมการซ้อมใหญ่ครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ได้ภาพและเสียงออกมาชัดเจนที่สุด

พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญซึ่งจัดขึ้นอย่างมโหฬารตระการตา เมื่อประกอบเข้ากับ ฉลองพระองค์ที่ดูมลังเมลือง ราชพิธีแบบศักดินา เสียงดนตรี มโหรีปีพาทย์ ที่บรรเลงประกอบและอื่น ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมให้พิธีกรรมในวันนั้นดูขึงขัง และศักดิ์สิทธิ์ไม่ผิดกับพระราชพิธีอื่น ๆ ที่เคยมีมาแต่ครั้งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภาพและเสียงของเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ถูกบันทึกลงบนแผ่นฟิล์มภาพยนตร์ ขนาดมาตรฐาน 35 ม.ม. ด้วยระบบเสียงในฟิล์ม ด้วยกล้องถ่ายถึง 4 ตัว ภาพยนตร์พิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญนี้เมื่อถ่ายเสร็จแล้วตัดต่อรวมกับภาพยนตร์เหตุการณ์ฉลองรัฐธรรมนูญเข้ามีความยาวถึง 4,200 ฟุต ได้ถูกขอซื้อไว้โดยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาด้วยเงิน 4,000 บาท พร้อมกับมอบหมายให้สำนักโฆษณาการนำออกเผยแพร่ และกำชับให้เก็บรักษาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์สมบัติของประเทศสืบต่อไป [9] ราวกับจงใจเก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างเช่นที่ปรากฏบนแผ่นฟิล์ม ภาพที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์จากฟิล์มภาพยนตร์ชุดนี้ได้สื่อสารไปสู่ผู้ชมคือ

1. บัดนี้สังคมไทยเข้าสู่ยุคใหม่ คือระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งทันสมัยกว่า สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของผู้คนในสังคมขณะนั้น

2. รัฐธรรมนูญที่เป็นหัวใจของระบอบใหม่นี้องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้พระราชทานพสกนิกรของพระองค์

3. สถาบันกษัตริย์ ยังทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์สมควรแก่การสักการะบูชา ซึ่งแตกต่างจากภาพยนตร์ชุดแรกที่ถ่ายทำเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่แสดงให้เห็นถึงความพ่ายแพ้ของระบอบเก่า และที่มาของระบอบใหม่ คือ การต่อสู้เรียกร้องโดยคณะราษฎร ซึ่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเห็นว่าเป็นการ "ย้ำหัวตะปู" จึงสั่งห้ามฉาย ขณะที่ภาพยนตร์ที่ถ่ายเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ให้ภาพของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในลักษณะ "ถอนหัวตะปู" ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มอนุรักษ์นิยม จึงได้รับการสนับสนุนให้จัดฉายต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตามภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 อันเป็นผลให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาต้องตกจากเวทีการเมืองไป ภาพยนตร์ชุด "ย้ำหัวตะปู" จึงได้รับการอนุญาตให้กลับมาฉายได้อีกครั้งจากรัฐบาล พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ภาพยนตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 และภาพยนตร์ฉลองรัฐธรรมนูญถูกนำออกไปฉายต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวางในช่วงนี้ อย่างเช่น พ.ท.หลวงพิบูลสงครามได้ขอฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าวไปฉายตามกองพันทหารต่าง ๆ [10] นอกจากนี้ สำนักโฆษณาการยังได้จัดทำภาพยนตร์ชุดอื่น ๆ ขึ้นโฆษณาเผยแพร่ผลงาน และอุดมการของรัฐบาลคณะราษฎรต่อสาธารณชนอีกหลายชุด ภาพยนตร์ที่ผลิตขึ้นโดยสำนักโฆษณาการนี้จะถูกนำไปฉายประกอบกับการฉายภาพยนตร์อื่น ๆ ตามโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ รวมทั้งส่งไปฉายตามจังหวัดต่าง ๆ ที่ร้องขอมา อย่างเช่นที่งานสมโภชรัฐธรรมนูญฉบับจำลองที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นต้น [11]

ภาพยนตร์เหล่านี้น่าจะมีส่วนช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจจากกษัตริย์โดยคณะราษฎรได้อย่างดีทีเดียว

 

จากทหารของพระเจ้าแผ่นดินสู่ทหารของรัฐธรรมนูญ

การประนีประนอมทางการเมืองระหว่างพลังตกค้างของระบอบเก่ากับคณะราษฎรได้มาถึงจุดแตกหักในเดือนตุลาคม 2476 เมื่อพลเอกพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช นำกำลังทหารจากหัวเมืองหมายแย่งยึดอำนาจรัฐจากรัฐคณะราษฎร ทว่าประสบความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ เป็นผลให้พลังของฝ่ายอนุรักษ์นิยมถดถอยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในปีถัดมา นับแต่นั้นรัฐบาลคณะราษฎรก็ก้าวเข้ามาสู่ยุคแห่งมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น การดำเนินการเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์จึงเริ่มขึ้นอย่างจริงจัง ดังจะเห็นได้จากการจัดงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญอย่างเอกเกริกติดต่อกันถึง 5 วัน 5 คืน การตอกย้ำและประกาศชัยชนะของฝ่ายคณะราษฎรเหนือฝ่ายเจ้าที่สำคัญคือการประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2481 อันเป็นช่วงปลายของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพ.อ. พหลพลพยุหเสนา แต่ก็ได้ถูกยกเลิกไปในที่สุดในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2503 [12]

ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในช่วงนี้ คือการก้าวขึ้นมามีบทบาทของสถาบันทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลวงพิบูลสงคราม ผู้มีบทบาทเด่นชัดที่สุดในการกำจัดศัตรูของคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นกรณีการปราบปรามกบฎบวรเดชหรือกบฎนายสิบหลวงพิบูลสงครามยังได้มีการผลักดันให้มีการขยายเครือข่ายของสถาบันทหารออกไปอย่างกว้างขวาง เริ่มมีการเปิดโรงเรียนเสนาธิการและโรงเรียนเทคนิคทหารบกในปี 2477 ตั้งกรมยุวชนทหารบกและยุวนารีขึ้นในปี 2478 และยังมีการสั่งซื้ออาวุธจำนวนมากมายจากเยอรมัน อิตาลี และสวีเดน ทำให้งบใช้จ่ายด้านกลาโหมในช่วง 2476-2481 สูงมากถึงกับเฉลี่ยประมาณ 26 % ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด [13] ปรากฏการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นชัดว่า รัฐบาลคณะราษฎรขณะนั้นได้มุ่งหน้าสู่การใช้สถาบันทหารเป็นฐานอำนาจของตนเอง เพื่อบรรลุการเปลี่ยนแปลงด้านอื่น ๆ อาจารย์อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ ได้ชี้ให้เห็นในงานวิจัย "คณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย : ด้านการทหารของเขาว่า การย้ายสัญญาลักษณ์จาก "กษัตริย์" ในระบอบการปกครองเก่าสู่ "รัฐธรรมนูญ" ในระบอบใหม่ ส่งผลให้คณะราษฎรต้องดำเนินการเปลี่ยนฐานะ "ทหารของพระเจ้าแผ่นดิน" สู่ "ทหารของรัฐธรรมนูญ" [14]

การลอกคลายไคลของสถาบันทหารนั้นกระทำในหลายวิธี การใช้ภาพยนตร์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ดำเนินไปอย่างได้ผล ภาพยนตร์ข่าวการปราบกบฎบวรเดช เป็นผลงานของสำนักงานโฆษณาการโดยหลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) และบริษัทถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงเจ้าเก่า ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เข้าไปบันทึกภาพจากเหตุการณ์สู้รบจริง ๆ มีความยาวถึง 7 ม้วน ภาพยนตร์แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหม่เกรียงไกรและชัยชนะของทหารผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ต่อทหารของฝ่ายกบฎที่ถูกอธิบายว่าเป็นศัตรูต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้ภาพทหารของรัฐธรรมนูญเด่นชัดขึ้น ขณะที่ทหารของพระเจ้าแผ่นดินค่อย ๆ เลือนหายไป

ภาพยนตร์ชุดนี้ถูกพิมพ์เป็น 2 ก๊อปปี้ แล้วนำออกฉายเผยแพร่ที่โรงภาพยนตร์วัฒนากร (พัฒนากร) และแคปปิตอล ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ชั้นแนวหน้าสุดขณะนั้นก่อนแล้วจึงนำไปฉายยังโรงภาพยนตร์อื่น ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด [15] นอกจากการเผยแพร่ภาพยนตร์ชุดปราบกบฎบวรเดชแล้ว กระทรวงกลาโหมยังได้มอบหมายให้บริษัทถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ซึ่งมีสถานะคล้ายกับเป็นหน่วยผลิตภาพยนตร์ของรัฐบาลคณะราษฎรขณะนั้นโดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล [16] ร่วมกับสำนักงานโฆษณาการจัดสร้างภาพยนตร์เพื่อเผยแพร่และเชิดชูกิจกรรมของทหารในระบอบการปกครองใหม่ให้ชื่อว่า "เลือดทหารไทย" โดยมอบหมายให้กาญจนาคพันธุ์ เป็นผู้ประพันธ์เรื่องและกำกับการแสดง มีพันตรีหม่อมหลวงขาบกุญชร แสดงนำภาพยนตร์จุดชี้จัดได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี เพราะได้รับความสนับสนุนจากหน่วยราชการต่าง ๆ อย่างพร้อมเพรียง รัฐบาลให้เงินสนับสนุนในการจัดทำภาพยนตร์ชุดนี้ถึง 10,000 บาท ภาพยนตร์ถ่ายทำในระบบมาตรฐานโลก 35 ม.ม. เสียงในฟิล์ม ซึ่งภาพยนตร์เสียงในฟิล์มขณะนั้นยังถือว่าเป็นของใหม่สำหรับโลกอยู่ ใช้เวลาถ่ายทำอย่างพิถีพิถันอยู่นานหลายเดือน ในที่สุดก็เสร็จสมบูรณ์ โดยผู้บัญชาการสามเหล่าทัพและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งบุคคลสำคัญของรัฐบาลได้ถูและให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงบางส่วนจนเป็นที่พอใจของรัฐบาลและทหาร ภาพยนตร์จึงได้ลงโรงฉายเป็นครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ในปี 2478 [17] โดยมีคนดูแน่นขนาด เนื้อหาของภาพยนตร์นั้นสนับสนุนอุดมการของรัฐ ขณะนั้นคือการสร้างศรัทธาให้กับระบอบการปกครองใหม่และทหารคือ ผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ปกป้องปฐพีและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ด้วยฝีมือการสร้างการประพันธ์ และเสน่ห์ของภาพยนตร์มิต้องสงสัยเลยว่าภาพยนตร์ชุดนี้ได้ทำหน้าที่สื่อสารความคิดจากรัฐบาลไปสู่ผู้ชมได้อย่างมีประสิทธิภาพชนิดที่สื่ออื่น ๆ ในยุคร่วมสมัยมิอาจทำได้ดีเท่า การสร้างด้วยระบบเสียงในฟิล์มยิ่งทำให้การสื่อสารข้อมูลเป็นไปอย่างตรงจุดหมายยิ่งขึ้นกว่าภาพยนตร์เงียบในยุคก่อนหน้านั้น เพลงประกอบในหนังยังช่วยเร่งเร้าให้ผู้ชมเข้าสู่จุดมุ่งหมายของผู้สร้างได้เร้าใจยิ่งขึ้นอย่างเพลง "มาร์ซไตรรงค์" ซึ่งมีท่วงทำนองที่เร่าร้อนและปลุกใจยิ่งนัก

"คนไทย นี่คืออะไร มิใช่ความจำ
เป็นที่ได้ทำ ให้เรารู้สึกตัว มาแล้วหรือไร
ฉะนั้นไทย จึงต้องเตรียมพร้อม เสมอที่จะรักษาไว้
ซึ่งความเป็นไทย ทั้งชาติ ศาสนา กษัตริย์ รัฐธรรมนูญ" [18]

ภาพยนตร์ "เลือดทหารไทย" นี้อาจถือได้ว่าเป็นเสมือนเช่น อนุสาวรีย์บนแผ่นฟิล์มของทหารไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งสร้างขึ้นก่อนหน้าที่อนุสาวรีย์ที่มีความหมายเดียวกันนี้จะถูกสร้างขึ้นด้วยถาวรวัตถุในปีถัดมาที่หลักสี่

 

จากศักดินานิยมสู่ชาตินิยม

ความพยายามของคณะราษฎรที่จะลบล้างอุดมการณ์แบบศักดินานิยม ซึ่งส่งเสริมบทบาทและสถานะของชนชั้นเจ้าได้ค่อย ๆ คลี่คลายไปสู่การขยายตัวของอุดมการณ์แบบชาตินิยมที่สนับสนุนระบอบอำนาจนิยมของทหารที่กำลังขยายบทบาทของตนเองมากขึ้นในอำนาจรัฐ อุดมการณ์แบบชาตินิยมนี้ด้านหนึ่งมันได้เข้าบดขยี้โครงสร้างทางชนชั้นและรูปการจิตสำนึกแบบไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของระบอบศักดินาลงพร้อมกับสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ยังคงปกปักษ์รักษาสถานะและบทบาทของประชาชนในฐานะผู้ตามหรือผู้ถูกกระทำเอาไว้ ประชาชนมิได้ถูกกระตุ้นให้พัฒนาศักยภาพทางการเมืองของตนเพื่อเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองแบบที่เกิดขึ้นในประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย กระแสความคิดชาตินิยมถูกอัดฉีดสู่ประชาชนผ่านสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชนซึ่งมักถูกควบคุมโดยรัฐเช่นกัน นอกจากกรมโฆษณาการและกรมศิลปากรที่มีหลวงวิจิตรวาทการ นักคิดคู่บารมีของหลวงพิบูลสงคราม ผู้ทำให้อุดมการณ์แบบชาตินิยมซึมซาบสู่ผู้คนด้วยบทประพันธ์และการละครแล้ว ภาพยนตร์ก็เป็นสื่ออีกชนิดหนึ่งที่รัฐบาลมิได้มองข้ามไป บริษัทถ่ายภาพยนตร์ศรีกรุง ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐให้จัดสร้างภาพยนตร์ "ค่ายบางระจัน" เพื่อสนับสนุนอุดมการณ์แบบชาตินิยมของรัฐ แต่เนื่องจากงานภาพยนตร์เป็นงานใหญ่มีขบวนการผลิตที่ซับซ้อน ต้องใช้ทรัพยากรและงบประมาณก้อนใหญ่อีกทั้งใช้เวลาในการผลิตที่ค่อนข้างยาวนานและกระบวนการเผยแพร่ที่ต้องพึ่งพิงโรงฉายภาพยนตร์ของเอกชนนับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้รัฐมิได้ทุ่มความสนใจมายังสื่อประเภทนี้เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งพิมพ์ วิทยุ และการละครที่รัฐให้ความสนใจมากกว่า

อย่างไรก็ตามแม้รัฐจะมิได้ลงมาผลิตโดยตรง แต่ภาพยนตร์ก็ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐอย่างใกล้ชิดด้วยระบบเซนเซอร์ ซึ่งดำเนินรอยตามกฎเกณฑ์ที่รัฐบาลเก่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้วางเอาไว้ สถานภาพทางสังคมของผู้คนและบริบททางอุดมการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมไทยภายใต้ระบอบใหม่นี้ย่อมส่งผลไปยังเนื้อหาของภาพยนตร์ด้วยเช่นเดียวกับที่มันส่งผลต่อวงการวรรณกรรม [19] จึงมีภาพยนตร์บางเรื่องหันมาเชิดชูชีวิตของสามัญชนผู้ต่ำต้อยด้อยค่าในสังคมเก่า อย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง "เลือดชาวนา" และภาพยนตร์เรื่อง "เลือดชนบท" ของบริษัทถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง เป็นต้น แต่ก็นับว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอยู่ในอัตราส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงในวรรณกรรม

ในช่วงนี้ได้เกิดการสร้างภาพยนตร์ไทยระบบพากษ์ขึ้นมา โดยใช้วิธีการถ่ายทำเช่นเดียวกับภาพยนตร์เงียบ แต่แทนที่จะใช้อักษรบรรยายภาพกลับใช้คนให้เสียงพากษ์ขณะฉาย ซึ่งระบบนี้ทำให้ลดต้นทุนการผลิตลงได้จำนวนมาก เปิดโอกาสให้นักสร้างหนังใหม่ได้ปรากฏตัวในวงการภาพยนตร์มากขึ้น

ขณะที่กลุ่มนักสร้างภาพยนตร์เสียงในฟิล์มพยายามสร้างมาตรฐานของภาพยนตร์ไทยทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหา รวมทั้งพยายามดึงรสนิยมของคนดูหนังให้ไปสู่ความเป็นสากล (ตะวันตกฮอลลีวู๊ด) กลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์พากษ์กลับพยายามปรับมาตรฐานของภาพยนตร์ให้ถูกรสนิยมคนส่วนใหญ่คือ ชาวบ้านซึ่งเขาต้องการดึงเข้าสู่ตลาดภาพยนตร์

แน่นอนเนื้อหาที่เอาใจชาวบ้านของภาพยนตร์พากษ์และการเข้าใกล้มหรสพพื้นบ้านของไทยที่มักเป็นการสื่อสารสองทาง คือ ระหว่างผู้ชมกับผู้แสดงสามารถโต้ตอบกันได้ [20] ทำให้ภาพยนตร์พากษ์เป็นที่ยอมรับจากผู้ชมระดับชาวบ้านมากกว่าภาพยนตร์เสียงที่สนองตอบของคนเมืองมากกว่า ปรากฎการณ์นี้ โดม สุขวงศ์ บอกว่าทำให้เกิดการพัฒนาไปสู่การแตกแยกออกเป็น 2 แนวทางของภาพยนตร์และผู้ชมภาพยนตร์ไทย คือ แนวทางหนึ่งคือ การเข้าหาความเคยชินของชาวบ้านของภาพยนตร์พากษ์และการเข้ามาหามาตรฐานสากล (แบบตะวันตก) ของภาพยนตร์เสียง [21] การเข้าหาความเคยชินของชาวบ้านก็คือ การสื่อด้วยรูปแบบที่ง่าย ๆ ไม่สลับซับซ้อน และเรื่องราวที่คุ้นเคยของชาวบ้าน ซึ่งหมายถึงเรื่องราวจากวรรณกรรมยุคศักดินาที่สร้างสำนึกยอมจำนนให้กับผู้คน ส่วนการเข้าหามาตรฐานสากล (แบบตะวันตก) ก็คือการก้าวไปสู่การถูกครอบงำโดยเรื่องราวแบบทุนนิยมจักรวรรดินิยมที่ละเลยการสะท้อนปัญหาของสังคมที่ดำรงอยู่จริง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นแนวทางใดภาพยนตร์ส่วนใหญ่ได้หลุดลอยไปจากสภาพความเป็นจริงของสังคมเข้าไปสู่โลกมายาโลกแห่งความเพ้อฝันมากขึ้นทุกที เพราะผู้สร้างใช้กำไรเป็นตัวกำหนดทิศทางของภาพยนตร์ น้อยรายนักที่จะกล้าเสี่ยงสร้างภาพยนตร์ให้แวกวงล้อมที่ครอบงำความคิดของผู้ชมและผู้สร้างหนังไทยออกไปได้ ภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นในยุคนี้ ได้แก่ โมรา ระเด่นลันได กุหลาบเชียงใหม่ กุหลาบนครสวรรค์ ขุนช้างขุนแผน ดงตาล หนามยอกหนามบ่ง พญาน้อยชมตลาด เมืองแม่หม้าย กลัวเมีย ปู่โมเฝ้าทรัพย์ แก่นกลาสี วิวาห์เที่ยงคืน และเพลงหวานใจ เป็นต้น

 

ลัทธิเชื่อผู้นำและการปฏิวัติวัฒนธรรมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

หลวงพิบูลสงครามมีบทบาททางการเมืองที่เด่นชัดมาแต่หลังการปราบกบฎบวรเดช และในที่สุดก็เข้ากุมบังเหียนประเทศในปี พ.ศ.2481 บทบาทที่สูงเด่นทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นี้พัฒนาเคียงคู่กับการใช้อำนาจแบบทหารไทยตลอด ดังนั้นเมื่อได้รับตำแหน่งผู้นำสูงสุดทางการเมืองลักษณะอำนาจนิยม จึงปรากฏเด่นชัดขึ้นเป็นเงาตามตัวประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่ขมึงเกลียวเข้าทุกที ได้กลายเป็นเงื่อนไขของการพลิกอุดมการชาตินิยมของคณะราษฎรไปสู่ลัทธิเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ที่มอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับท่านผู้นำ

"...ญี่ปุ่นมีเครื่องยึดมั่นอยู่กับพระเจ้าแผ่นดินของเขา เราไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดแน่นอน ที่มีอยู่ก็คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ชาติก็ยังไม่มีตัวตน ศาสนา ก็ไม่ได้ทำให้คนเลื่อมใสถึงยึดมั่น พระมหากษัตริย์ก็ยังเป็นเด็กเห็นแต่รูป รัฐธรรมนูญก็เป็นหนังสือ เวลาบ้านเมืองคับขัน จะเอาอะไรเป็นเครื่องยึดไม่ได้ ผมจึงให้ตามนายกรัฐมนตรี..." [22] ลัทธิเชื่อผู้นำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นี้ด้านหนึ่งทำให้ภาพประชาธิปไตยของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กลายเป็นเพียง "เงา" แห่ง "ความฝัน" [23] แล้ว อีกด้านหนึ่งมันยังคงดำเนินการบดขยี้ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของโครงสร้างทางชนชั้นแบบศักดินาต่อไปอย่างไม่ยั้งมือ เช่น การประกาศยกเลิกการใช้บรรดาศักดิ์แบบศักดินา โดยให้เหตุผลว่าในเมื่อบุคคลย่อมเสมอกันในทางกฎหมายและฐานันดรศักดิ์มิอาจก่อให้เกิดเอกสิทธิ์แต่อย่างใดได้อีกต่อไปแล้ว จึงสมควรที่จะยกเลิกบรรดาศักดิ์ ที่ทำให้คนมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกันลงเสีย [24]

ยุคสมัยเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยนี้เป็นยุคแห่งการปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งสำคัญสุดของประวัติศาสตร์ชาติไทย ทั้งนี้เพราะ "...ประเทศไทยยังไม่มีประเพณี ระเบียบแบบแผนเหมือนอารยะประเทศทั้งหลาย อันประเพณีหรือขนบธรรมเนียมของชาติ เท่าที่สังเกตมารู้สึกว่าคนไทยยังละเลยอยู่มาก เช่น การแต่งกายก็ยังไม่มีระเบียบ มีนุ่งผ้าบ้าง กางเกงบ้าง ผ้าขาวม้าบ้าง กางเกงชั้นในบ้าง ฯลฯ เป็นเหตุให้ชาวต่างประเทศที่ได้พบเห็น นำไปพูดในทางที่ไม่ดี นอกจากนั้นการเที่ยวเตร่ การรับประทานอาหาร การหลับนอนก็ไม่มีกำหนด สำหรับการรับประทานอาหารนั้นเกือบตลอดทั้งวันทำให้เสียทรัพย์ และสุขภาพของคนเอง..." [25]

ดังนั้นเพื่อให้สมกับการเข้าสู่ระบอบใหม่อย่างแท้จริง จอมพล ป. จึงเร่งดำเนินการปฏิวัติวัฒนธรรมเสียงใหม่ โดยใช้ทั้งมาตราการ "ชักชวน" และ "บังคับ" [26] นับจากเดือนมิถุนายน พ.ศ.2482 ถึงเดือนมกราคม 2485 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกรัฐนิยมทั้งสิ้น 12 ฉบับ อันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมไทยหลายประการ เช่น เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นไทย เปลี่ยนเนื้อร้องและทำนองเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญบารมี นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้ประชาชนต้องเคารพธงชาติ รู้จักแบ่งเวลาปฏิบัติงานแต่ละวันให้เป็นสัดส่วน รู้จักออกกำลังกาย ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ฟังวิทยุกรมโฆษณาการ ซึ่งมีเพียงสถานีเดียวในขณะนั้น ฯลฯ

จอมพล ป. ยังได้มีหนังสือไปถึงคณะกรรมการจัดหวัดทุกจังหวัด และอธิบดีกรมตำรวจให้สอดส่องดูแลตักเตือนให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และแนวทางที่รัฐ รัฐบาลกำหนดขึ้นเกี่ยวกับการแต่งกายของประชาชน [27] วันที่ 14 กรกฎาคม อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดงาน และมีการชักชวนให้ประชาชน ชักธงชาติขึ้นเสาตามข้อเสนอของหลวงวิจิตรวาทการ [28] ก่อนหรือหลังการฉายภาพยนตร์ทางโรงภาพยนตร์จะต้องเปิดเพลงมหาฤกษ์มหาชัย และให้ผู้ชมทุกคนยืนตรงเพื่อทำความเคารพรูปของท่านผู้นำ [29] ซึ่งต่อมาภายหลังถึงกับมีการแต่งเพลงประจำตัวของท่านผู้นำขึ้นชื่อเพลง "สดุดีพิบูลสงคราม" มีสง่า อารัมภีร์ เป็นผู้ประพันธ์ เนื้อร้อง และพระเจนดุริยางค์ เป็นผู้ใส่ทำนอง

"ไชโย วีรชนชาติไทย ตลอดสมัยที่ไทยมี
ประเทศไทย คงชาตรี ด้วยคนดีพยองไชย
ท่านผู้นำพิบูลสงคราม ขอเทอดนามให้เกริกไกร
ขอดำรงคงคู่ชาติไทย นำชาติให้ไพบูลย์เทอญ"

เพลง "สดุดีพิบูลสงคราม" นี้จะถูกเปิดทุกครั้งที่ท่านผู้นำปรากฏตัวต่อสาธารณชน หรือปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงและตามโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ [30] ดังนั้นผู้ชมภาพยนตร์ในยุคนี้จึงถูกยัดเยียดให้ต้องเสพลัทธิเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยของรัฐไปพร้อม ๆ กับการแสวงหาความบันเทิงจากการชมภาพยนตร์ของเขา

ภาพยนตร์ขางเรื่องสร้างขึ้นเพื่อสนองตอบและขานรับนโยบายของรัฐอย่างชัดแจ้ง อย่างเช่นในช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพมหานครในปี พ.ศ.2485 ซึ่งผู้คนพากันด่ารัฐบาลท่านผู้นำจนแทบจะจมหายไปกับสายน้ำ รัฐบาลมิอาจแก้ไขอะไรได้ นอกจากปลอบใจประชาชนด้วยคำขวัญ "น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง" ศรีกรุงบริษัทสร้างภาพยนตร์คู่บุญรัฐบาลก็รีบทำหนัง "น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง" ออกมาปลอบใจประชาชนขานรับนโยบายรัฐบาลท่านผู้นำอย่างครื้นเครง

นโยบายที่เด่นชัดอีกประการหนึ่งของยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยนี้ คือ "ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ" ดังที่ จอมพล ป. ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า "...ผมต้องการให้เดินนโยบายอย่างเข้มแข็ง มุ่งให้ชาติไทยได้เอกราชในทางเศรษฐกิจให้จงได้ ให้ไทยขายไทยซื้อ" [31]

โดยรัฐได้เข้าปลุกใจและส่งเสริมการประกอบอาชีพของพลเมือง ทางด้านกสิกรรม อุตสาหกรรม และพานิชยกรรม ที่เรียกกันสืบไปยุคนั้นว่า "นโยบายกอุพากรรม" การปฏิวัติทางวัฒนธรรมและอุดมการชาตินิยมของยุคสมัยเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยนี้ ได้ไปไปรากฎบนจอใหญ่ของโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ เมื่อรัฐบาลได้ทุ่มทุนสร้างภาพยนตร์เกียรติยศยิ่งใหญ่ เรื่อง "บ้านไร่-นาเรา" โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นสื่อในการถ่ายทอดวัฒนธรรมใหม่และกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นตัวทางเศรษฐกิจแต่ประชาชนไทย โดยมีกองถ่ายภาพยนตร์ของกองทัพอากาศที่เพิ่งจะซื้อกิจการโรงถ่ายมาจากบริษัทไทยฟิล์มมาสด ๆ ร้อน ๆ เป็นผู้รับผิดชอบในการถ่ายทำภาพยนตร์ดังกล่าว กองถ่ายทำภาพยนตร์ของกองทัพอากาศนี้ได้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยผลิตภาพยนตร์โฆษณาของรัฐโดยเฉพาะ

ภาพยนตร์ "บ้านไร่-นาเรา" นี้ กาญจนาคพันธุ์ ผู้ประพันธ์เรื่องได้รับทอดความคิดและโครงเรื่องมาจากความประสงค์ของท่านผู้นำโดยตรง "บ้านไร่-นาเรา" เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของชาวนาไทยที่มีความมุ่งมั่นบากบั่นในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมจนประสบความสำเร็จและมีความสุข ชาวนาไทยในภาพยนตร์เรื่องนี้ผู้สร้างจงใจที่จะให้แต่งกายผิดจากความเป็นจริงของชาวนาไทย คือ แต่งตัวทันสมัย ใส่ท๊อปปบู๊ต ทั้งนี้เนื่องจากท่านผู้นำต้องการที่จะยกฐานะของชาวนาให้สูงขึ้นตามแบบอย่างต่างประเทศ ซึ่งชาวนามีฐานะดีและเท่าเทียมอาชีพอื่น ๆ เรืออากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นผู้แสดงนำฝ่ายชายและมีเพลงประกอบที่ผู้คนร้องกันอย่างติดปาก

"เรืองแสงทอง กระดึงก้องกริ๋งมา
เป็นสัญญาออกทุ่งนาจับทำงาน
ฟังเสียงกระดึง ดูผึ้งบินคลุกคลาน
กินน้ำหวานเก็บไปสร้างรังถาวร" [32]

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวางจากผู้ชม ซึ่งแน่นอนว่าสถานะของการเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพของภาพยนตร์ น่าจะทำให้เป้าหมายบางประการของรัฐไปบรรลุผล

 

สัมพันธ์มิตร V.S. อักษะ : ปรีดี V.S. พิบูล : พระเจ้าช้างเผือก V.S. รวมไทย

การใช้ยุทธวิธี "ขวาหัน" เข้าหาสถาบันทหารเพื่อเสริมอำนาจของรัฐบาลคณะราษฎร นับแต่กรณีกบฎบวรเดชเป็นต้นมาทำให้ฐานะและบทบาททางการเมืองของหลวงพิบูลสงครามโดยยังเกาะแน่นอยู่กับอาวุธและใช้อำนาจทางการทหารมาสนับสนุนอำนาจทางการเมืองของตนอีกทางหนึ่ง นั้นเป็นการปิดโอกาสทางการเมืองของนักการเมืองนอกเครื่องแบบ และโน้มนำให้การเมืองไทยเบี่ยงเบนออกจากลัทธิประชาธิปไตยไปสู่อำนาจนิยมมากขึ้น ปรากฏการณ์นี้ได้นำไปสู่ความไม่พอใจของนายปรีดี พนมยงค์และคณะที่ไม่เห็นด้วยกับแนวโน้มทางการเมืองเช่นนี้ จนเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าความเป็นมิตรระหว่างปรีดี

พนมยงค์กับหลวงพิบูลสงครามนั้นได้แปรผันไปสู่ความเป็นศัตรูกันอย่างสมบูรณ์แบบแล้วก่อนหน้าที่สงครามมหาเอเชียบูรพาจะคืบคลานเข้าสู่ประเทศไทย

บรรยากาศของสงครามระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับฝ่ายอักษะได้แปรความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างบุคคลทั้งสองไปเป็นความขัดแย้งในนโยบายระหว่างประเทศต่อสถานการณ์สงครามจอมพล ป. พิบูลสงคราม นำไทยเข้าร่วมวงไพบูลย์ในสงครามมหาเอเชียบูรพาข้างฝ่ายญี่ปุ่น ขณะที่นายปรีดี เข้าจัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นต่อต้านญี่ปุ่น แผ่นฟิล์มได้กลายเป็นสมรภูมิอีกแห่งหนึ่งของการต่อสู้ระหว่างแนวทางที่ต่างกันของสองมหาบุรุษ จอมพล ป. พิบูลสงครามได้เข้าบงการให้กรมสาธารณสุขและกรมรถไฟ ซึ่งมีช่างภาพและนักสร้างภาพยนตร์ฝีมือเยี่ยมสังกัดอยู่คือ หม่อมเจ้าศุกร์วรรณดิศ ดิศกุล แห่งกรมรถไฟ และนายฟื้น เพ็งเจริญ จากกรมสาธารณสุขร่วมกันผลิตภาพยนตร์สนองนโยบายทางทหารของท่านผู้นำเรื่อง "รวมไทย" อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการรบของทหารไทยกับทหารฝรั่งเศสเกี่ยวกับกรณีพิพาทไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ซึ่งฝ่ายไทยได้รับชัยชนะ อันเป็นการยืนยันความถูกต้องของการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลท่านผู้นำ [33]

ภายหลังที่ญี่ปุ่น กรีฑาทัพเข้าแผ่นดินไทย ปลายปี พ.ศ.2484 และรัฐบาลจอมพล ป. ประกาศศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตรในต้นปีถัดมา กองทัพฟิล์มของญี่ปุ่นได้เข้าหนุนช่วยงานโฆษณาบนแผ่นฟิล์มให้กับรัฐบาลไทยอีกหนึ่งแรง เช่นมีการส่งภาพยนตร์ประมวลข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยที่หน่วยภาพยนตร์ของญี่ปุ่นเป็นผู้บันทึกไว้ เกี่ยวกับการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส การเดินขบวนของราษฎร และภาพยนตร์การเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นของคณะฑูตไทย ซึ่งมีความยาวรวม 6 ม้วน ให้กับรัฐบาลไทยไว้สำหรับเผยแพร่ [34] มีการส่งช่างภาพเข้ามาร่วมบันทึกภาพงานฉลองรัฐธรรมนูญของไทยในปี 2486 [35] และรัฐบาลญี่ปุ่นยังสนับสนุนให้บริษัท เองะไฮคิวชะ เข้ามาบุกตลาดภาพยนตร์ไทย โดยนำเอาภาพยนตร์โฆษณาลัทธิบูชิโด เข้ามาฉายเผยแพร่ตามโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ

ก่อนที่จะตกจากเวทีการเมือง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มอบหมายให้กองภาพยนตร์ทหารอากาศสร้างภาพยนตร์ต่อต้านฝ่ายสัมพันธมิตร เรื่อง "นักบินกลางคืน" แต่ทว่ายังมิทันสร้างเสร็จ จอบพล ป. ก็มีอันตกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเสียก่อน โครงการสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวต้องยุติไปโดยปริยาย

ทางฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ ก็จัดตั้งบริษัทภาพยนตร์ของตนขึ้นมาบริษัทหนึ่งให้ชื่อว่า ปรีดีโปรดักชั่น ดำเนินการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" ด้วยระบบมาตรฐาน 35 ม.ม. เสียงในฟิล์มเป็นภาษาอังกฤษ โดยนายปรีดี เป็นผู้เขียนบทประพันธ์เอง อาจารย์ชาญ เกษตรศิริ ได้เขียนถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า "หนังเรื่องพระเจ้าช้างเผือกน่าจะถือได้ว่าเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นความคิดทางการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศของผู้อำนวยการสร้างเป็นอย่างดี ความคิดนี้คงจะเป็นเรื่องตอนก่อนสงครามมหาเอเซียบูรพา และก่อนที่ญี่ปุ่นจะบุกประเทศไทยในระยะนี้ลัทธิทหารฟาสซิสต์กำลังเฟื่องฟูทั้งในเยอรมนี ญี่ปุ่น และไทย หนังเรื่องนี้เนื่องจากมีทำนองเรียกร้องสันติภาพ ฉะนั้นจึงคล้ายกับเป็นการต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์และการทำสงครามของฝ่ายอักษะไปในตัว อาจจะคล้ายเป็นคำเรียกร้องให้คนดูมีความโน้มน้าวไปในทางที่จะต่อต้านสงคราม พยายามแนะแนวทางและความหมายของสันติภาพ" [36]

นายปรีดีเคยแสดงทัศนะอันตระหนักถึงบทบาทางอุดมการของศิลปะไว้ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ.2478 ว่า "...ศิลปะเป็นของสำคัญของชาติ เพราะว่าศิลปะของชาติเป็นเครื่องชักจูงประชาชนให้รักชาติ และภูมิใจในเกียรติยศแห่งชาติของตน นี้เป็นผลในทางการภายในส่วนผลในทางภายนอกนั้นศิลปะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราได้รับความนิยมของนานาชาติ จะทำให้ต่างประเทศแลเห็นชัดว่าเรามิใช่แต่ป่าเถื่อน เรามีอารยธรรมและวัฒนธรรม เรายิ่งได้มีโอกาสเผยแพร่ศิลปะของชาติออกไปมากเท่าใด เราก็ยิ่งได้รับความนับถือในหมู่นานาชาติยิ่งขึ้นเพียงนั้น" [37]

นายปรีดี ตั้งใจที่จะนำภาพยนตร์ชุดนี้ออกฉายเผยแพร่ทั่วโลก จึงได้ใช้บทสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ ภาพยนตร์เข้าฉายในเมืองไทย ณ โรงภาพยนตร์เครือศาลาเฉลิมกรุง โดยมีทิดเขียว นักพากย์นามกระเดื่องแห่งยุคเป็นผู้พากย์ภาษาไทย ทว่าภาพยนตร์ฉายได้ไม่กี่วันไฟสงครามโลกก็ลุกลามเข้าสู่ประเทศไทย ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกจึงกลายเป็นหนังต้องห้ามเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. ประกาศเข้าร่วมสงครามฝ่ายญี่ปุ่น

 

อ้างอิง:

  1. กาญจนาคพันธุ์ ยุคเพลงหนังและละครในอดีต (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์เรืองศิลป์, 2519) หน้า 127-139.
  2. หจช. สร.0201 .53/1 เรื่อง เบ็ดเตล็ดเกี่ยวด้วยภาพยนตร์และสำนักงานโฆษณา (กรมโฆษณาการ) (24 มิถุนายน 2475-10 พฤศจิกายน 2477) หน้า 7
  3. กาญจนาคพันธุ์ ยุคเพลงหนังและละครในอดีต, หน้า 130
  4. ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต เอกสารการเมืองการปกครองไทย (กรุงเทพ, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศ, 2518) หน้า 209-211
  5. พ.ต.ท.วิฑูรย์ สุทธวิชัย ประวัติรัฐธรรมนูญไทยฉบับแรก พ.ศ.2475 ถึงปัจจุบัน (กรุงเทพ: พิมพ์ไทยการพิมพ์, 2516) หน้า 93
  6. ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) (กรุงเทพ: หจช. ช. ชุมนุมช่าง, 2517) หน้า 56-57.
  7. อภิญญา เฟื่องฟูสกุล "ปฏิบัติการทางการเมืองของคณะราษฎร" ในสำนักวิจัยและพัฒนา และคณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยเกริก คณะราษฎรในประวัติศาสตร์ไทย(เอกสารประกอบการสัมมนา วิทยาลัยเกริก 9-10 พฤษภาคม พ.
  8. เมื่อแรกตั้งมีฐานะเป็นกองโฆษณาการ ต่อมาปลายปี 2476 เปลี่ยนเป็นสำนักงานโฆษณาการ ปี พ.ศ.2482 จึงเป็นกรมโฆษณาการ
  9. หจช. สร.0201 .53/2 เรื่อง ทำภาพยนตร์เสียง พิธีพระราชทานและงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2475 (19 ธันวาคม - 18 กุมภาพันธ์ 2475)
  10. หจช. สร.0201 .53/1 เบ็ดเตล็ดเกี่ยวด้วยการภาพยนตร์ของสำนักงานโฆษณา (กรมโฆษณาการ) (24 มิถุนายน 2475-10 พฤศจิกายน 2477) หน้า 1-4
  11. เรื่องเดียวกัน, หน้า 9
  12. ดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 24 มิถุนา เคยเป็นและเลิกเป็นวันชาติได้อย่างไร http://www.crma.ac.th/histdept/archives/viewpoint/thai-02-09-03.htm
  13. อภิญญา เฟื่องฟูสกุล "ปฏิบัติการทางการเมืองคณะราษฎร", หน้า
  14. อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ "คณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงสังคม: ด้านการทหาร" ในเรื่องเดียวกัน หน้า
  15. หจช. สร.0201 .53/7 เรื่อง สำนักงานโฆษณาการขอให้บริษัทสหศินิมาถ่ายทำภาพยนตร์ เรื่อง การปราบกบฎ พงศ.2476 (26 ธันวาคม 2476-19 กรกฎาคม 2477)
  16. หจช. สร.0201 .53/13 เรื่อง บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง นายมานิต วสุวัตร หัวหอกสำคัญของบริษัทยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็น 1 ในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกของประเทศไทยด้วย
  17. ดู กาญจนาคพันธุ์ ยุคเพลงหนังและละครในอดีต, หน้า 59-71
  18. เรื่องเดียวกัน, หน้า 200
  19. การเปลี่ยนแปลงในวงการวรรณกรรม ดู ตรีศิลป์ บุญขจร นวนิยายกับสังคมไทย (2475-2500) และเสถียร จันทิมาธร สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทย (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์เจ้าพระยา, 2525)
  20. ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์ "ความล้ำลึกของน้ำเน่าในหนังไทย" ในชมรมหนังไทยและศูนย์สังคีตศิลป์ 85 ปี ภาพยนตร์ในเมืองไทย 2525, ไม่ปรากฏเลขหน้า
  21. จากการสนทนากับคุณโดม สุขวงศ์ ณ หอภาพยนตร์แห่งชาติ ถนนเจ้าห้า 16 มกราคม 2531
  22. กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี, ครั้งที่ 20/2485, 25 เมษายน 2485 อ้างถึงใน ประชัน รักพงษ์ "การศึกษาบทบาททางการเมืองในระบบรัฐสภาของรัฐบาลทหาร และรัฐบาลพลเรือนในประเทศไทย พ.ศ.2481-2500 วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2520
  23. เสถียร จันทิมาธร "สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทย" (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์เจ้าพระยา, 2525) หน้า 192
  24. ดู "พระบรมราชโองการเรื่องการยกเลิกบรรดาศักดิ์" ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 59 (19 พฤษภาคม 2485) หน้า 1089 ต่อมาภายหลังที่จอมพล ป. พิบูลสงครามตกจากเวทีการเมืองเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2487 แล้ว นายควง อภัยวงศ์ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้กฎหมายดังกล่าวเป็นโมฆะ ดู "พระบรมราชโองการให้คำประกาศยกเลิกบรรดาศักดิ์เป็นโมฆะ" ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 62 (23 มกราคม 2488) หน้า 126
  25. รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี, วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2482
  26. ดู นามว่า "นิมิตร" "บทบาทคณะราษฎรทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม" ในคณะราษฎรในประวัติศาสตร์ไทย หน้า 12-19
  27. ดู สังข์ พัธโนทัย, ความนึกในกรงขัง, (พระนคร: บริษัทประสารชัยสิทธิ, 2499) หน้า 243-244
  28. ดู รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 33/2485 วันที่ 1 กรกฎาคม 2485
  29. ดู ศรีกรุง วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2485
  30. สง่า อารัมภีร์ "ท่านเป็น-ครูพักลักจำ-ของผม ท่านขุนวิจิตมาตรา หรือท่าน ส. กาญจนาคพันธุ์", หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ (สง่า กาญจนาคพันธุ์" 80 ปี ในชีวิตของข้าพเจ้า" ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม พฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม 2523 (มปท. มปป.) หน้า 459.
  31. กระทรวงมหาดไทย รายงานการประชุมข้าหลวงประจำจังหวัด พ.ศ.2484 เล่ม 1 (มปท. มปป.) หน้า 42 อ้างใน แถมสุข นุ่มนนท์ "จอมพล ป. พิบูลสงครามกับการสร้างชาติไทย" ใน แถมสุข นุ่มนนท์ ฟื้นอดีต (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์เรืองศิลป์, พ.ศ.2522) หน้า 136.
  32. มานพ อุดมเดช. "ภาพยนตร์ไทยกับสังคมไทย" ในสังคมพัฒนา ป.8 ฉ.4 กันยายน-ตุลาคม 2523
  33. ดู ใบปลิว ภาพยนตร์เกียรติประวัติของชาติไทย คือ "รวมไทย" (พระนคร: บ.การพิมพ์ไทย จำกัด 2484)
  34. หจช. สร.0201 .53/1 เรื่อง ฟิล์มภาพยนตร์ประมวลข่าวประเทศไทย (26 พฤศจิกายน 2485-30 พฤศจิกายน 2486)
  35. หจช. สร.0201 .53/16 เรื่อง ญี่ปุ่นจอถ่ายภาพข่าว ฯลฯ
  36. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ "หนังไทยเมื่อ 30 ปีก่อน พระเจ้าช้างเผือก" ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 2515 หน้า 76
  37. หจช. ศร.0701.48/2 เรื่อง แถลงการณ์แก้ข่าวหนังสือพิมพ์ (พ.ศ. 2477-2479)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่บรรจุพยาบาล หนทางสู่บริการ 2 มาตรฐาน…เจตนา หรือละเลย

Posted: 18 Jun 2012 04:33 AM PDT

จากข่าวที่กลุ่มพยาบาลวิชาชีพ ลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุขมาชุมนุมเพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้เร่งบรรจุตำแหน่งข้าราชการให้กับลูกจ้างใน รพ.ชุมชนทั่วประเทศต่อกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งเคยร้องเรียนผ่านหลายหน่วยงานแต่ไม่เป็นผล ซึ่งหากยังไม่คืบหน้า อาจมีการนัดชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศต่อไป ซึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 แล้ว เมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เข้ามาประเมินระบบราชการไทยในฐานะเจ้าหนี้ พบว่า ระบบมีจำนวนข้าราชการมากเกินไป จึงมีการจำกัดการบรรจุข้าราชการแบบเหมารวม ขาดวิจารณญาณในการแยกแยะว่าส่วนใดที่เกินแล้ว ส่วนใดที่ยังขาดอยู่ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงถูกผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้ไม่สามารถบรรจุ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ต้องหันมาใช้คำว่าพนักงานราชการแทน จนต่อมาเริ่มมีตำแหน่งมากขึ้นแต่ก็เพียงพอแค่การบรรจุ แพทย์ และทันตแพทย์เท่านั้น ส่วน พยาบาล , เภสัชกร และเจ้าหน้าที่ประเภทอื่นๆ ได้บรรลุเพียงเล็กน้อยจากการรอตำแหน่งว่างจากผู้เกษียณเท่านั้น

จากข้อมูลของสภาการพยาบาล ในการเปรียบเทียบระหว่างโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในระหว่างปี 2549-2553 จำนวนพยาบาลวิชาชีพทำงานเต็มเวลาในโรงพยาบาลเอกชน เพิ่มจาก11,000 คน เป็น 15,000 คน เป็นการเพิ่มถึงร้อยละ 36.36 ในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งการเข้างานสู่งานในภาคเอกชนของพยาบาลวิชาชีพปีละประมาณ 1,000 คน สภาการพยาบาลคาดว่า ในอีก 5 ปี ข้างหน้า ภาคเอกชนจะต้องการพยาบาล ถึง 20,000 คน เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ต้องการได้รับรับรองคุณภาพจากJCI ที่กำหนดให้มีการจัดอัตรากำลังพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยตามมาตรฐานบริการพยาบาลสากล ซึ่งมาตรฐานอัตรากำลังของพยาบาลไทยต่ำกว่าที่กำหนดของมาตรฐานวิชาชีพอยู่ถึงร้อยละ 30 ในทางตรงกันข้าม กระทรวงสาธารณสุขปัจจุบันมีพยาบาลที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวประมาณ 18,000 คน และยังขาดแคลนทั่วประเทศอยู่อีกประมาณ 33,112 คน  ซึ่งการขาดแคลนก็จะทำให้ผู้ที่อยู่ในระบบต้องทำงานหนักขึ้น เสี่ยงต่อความผิดพลาด ไม่ปลอดภัยต่อผู้ป่วย

การที่พยาบาลถูกละเลยไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ ทำให้มีการลาออกไปสู่ภาคเอกชน โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเขตเมืองมากขึ้น หรือออกไปทำงานต่างประเทศมากขึ้นหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economy Community :AEC) ในปี พ.ศ.2558   ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่ง มีการปรับตัวอย่างไร้ทิศทาง เพื่อให้สามารถดึงดูดให้พยาบาลเข้ามาทำงาน และรักษาคนไว้ในระบบ โดยเฉพาะการเพิ่มอัตราเงินเดือน และค่าตอบแทนต่างๆในโรงพยาบาลในเมืองให้ทัดเทียมภาคเอกชน ทำให้ขาดแรงจูงใจที่คนจะไปทำงานในเขตชนบท เพราะค่าตอบแทนที่ต่ำกว่า  ซึ่งหากปล่อยให้การแข่งขันในกลไกตลาดแรงงานดำเนินต่อไป อาจทำให้เกิดการบริการ 2 มาตรฐานระหว่างภาครัฐ และเอกชน ที่ภาครัฐไม่แสดงภาวะผู้นำ ความรู้ความสามารถในการแทรกแซงแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้สถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถจัดบริการได้ตามมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพของประชาชนไทยที่ฐานะยากจน ไม่มีกำลังจ่าย   โดยเฉพาะในเขตชนบทที่ห่างไกล

แต่เป็นที่น่าผิดหวังยากมาก เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน  มุ่งให้ความสนใจแต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การพัฒนาเมดิคัลฮับ (medical hub) และการทำโครงการที่เพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐโดยไม่จำเป็น เช่น โครงการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในราคาที่สูงเกินไป  หน่ำซ้ำยังตัดงบประมาณรายจ่ายสำหรับการประกันสุขภาพในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ลงจากเดิม  5 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท  จากความเรื้อรังของปัญหาดังกล่าวนั้น ราวกับว่ารัฐบาล, ก.พ. และกระทรวงสาธารณสมรู้ร่วมคิด ยินยอม พร้อมใจไปด้วย หรือไม่ก็เกิดจากความปล่อยปะละเลยของทั้งฝ่ายการเมือง และข้าราชการประจำ คือ ก.พ. และความมุ่งมั่นที่ไม่เพียงพอของผู้นำกระทรวงสาธาณสุข ผลร้ายย่อมตกกับพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งไม่สามารถไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนได้

ดังนั้นเพื่อแสดงความจริงใจ และศักยภาพของรัฐบาลที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ นายวิทยา บูรณศิริ รมต.กระทรวงสาธารณสุข ควรเร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีรายได้น้อย และอาศัยในเขตชนบทได้มีโอกาสเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพจากสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข ตามที่พรรคเพื่อไทยได้กล่าวอ้างในการหาเสียงเลือกตั้งมาโดยตลอด โดยการแสดงภาวะผู้นำและความรู้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาการคงอยู่และกระจายของพยาบาลวิชาชีพในสถานบริการระดับต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นระบบ เป็นธรรม สร้างสรรค์ เป็นที่ยอมรับอย่างเร่งด่วนต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับมือสร้างเครือข่ายวิจัยข้ามสถาบันแพทย์ รุกงานวิจัยคลินิก พัฒนาวิธีการรักษาและคุณภาพยา

Posted: 18 Jun 2012 04:26 AM PDT

กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) จับมือสร้างเครือข่ายวิจัยข้ามสถาบันรุกคืบสร้างความเข้มแข็งด้านงานวิจัยทางคลินิก เพื่อพัฒนาวิธีการรักษาและสร้างความมั่นใจด้านคุณภาพยาให้กับประเทศ

ศ.นพ.อาวุธ ศรีสุกรี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะเลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์ศึกษาแห่งประเทศไทย  กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า กสพท. ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของโรงเรียนแพทย์ทั้ง 19 แห่งของประเทศไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนด้านแพทยศาสตร์ของประเทศไทย ได้ขยับตัวเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับแพทยศาสตร์ศึกษาของประเทศไทยอีกระดับหนึ่งด้วยการจัดตั้งเครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (Medical Research Network- MedResNet) เพื่อให้อาจารย์แพทย์ในโรงเรียนแพทย์แต่ละแห่ง ได้ผลิตงานวิจัยร่วมกันได้

“งานวิจัยทางการแพทย์หลายอย่างต้องการกลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก ในขณะที่มีเวลาทำวิจัยไม่มาก เพื่อให้สามารถสร้างผลการวิจัยที่ตอบสนองทันต่อความต้องการทางคลินิก การทำวิจัยข้ามสถาบันจะทำให้เราสามารถผลิตงานวิจัยทางคลินิกที่ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก และมีความหลากหลาย เพราะกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจะมีความต่างกันไปตามบริบท” ศ.นพ.อาวุธ กล่าว

เครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ศึกษา พัฒนาขึ้นมาจากเครือข่ายวิจัยสหสถาบัน (Clinical Research Collaboration Network) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2548 โดยในครั้งนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นองค์กรกลางในการทำการวิจัยทางคลินิกร่วมกันระหว่างโรงเรียนแพทย์ การปรับตัวจากเครือข่ายวิจัยสหสถาบัน มาสู่เครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย นอกจากจะเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานวิจัยทางคลินิกระหว่างสถาบันทางการเรียนการสอนแพทยศาสตร์ศึกษาแล้ว ยังจะเป็นการทำงานขับเคลื่อนทางนโยบายเพื่อให้ผลการวิจัยถูกนำไปใช้ในระดับนโยบาย

รศ.นพ.สุรพล เวียงนนท์ จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในนักวิจัยที่มีผลงานกับเครือข่ายวิจัยสหสถาบัน กล่าวถึงการทำงานวิจัยทางคลินิกข้ามสถาบันว่าเป็นกระบวนการทำงานที่ทำให้ข้อมูลทางคลินิกที่สถาบันทางการแพทย์แต่ละแห่งมีอยู่ในมือ สามารถถูกนำมารวมกันเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและการพัฒนาทางการแพทย์

“ประเทศไทยควรจะทำงานร่วมกัน  เพื่อให้บรรลุแนวปฏิบัติอันเดียวกัน การแข่งขขันในบางเรื่องจะทำให้เราไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ การร่วมมือกันจะทำให้เกิดการประสานงานกัน และเราจะได้ข้อมูลที่สมบูรณ์” รศ.นพ.สุรพลกล่าว

เครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (MedResNet) มีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการสู่สาธารณชนพร้อมการประชุมวิชาการครั้งแรกของเครือข่ายในประมาณปลายเดือนตุลาคมนี้ คาดว่าจะมีนักวิจัยทางการแพทย์จากโรงเรียนแพทย์ทั้ง 19 แห่ง และจากสถาบันบริการสุขภาพทั่วประเทศมากกว่า 300 คนเข้าร่วม 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยามะเร็งสุดแพงเข็มละ 7 หมื่น รักษาหายใช้เงินกว่าล้าน สปส./30 บ.เข้าไม่ถึง

Posted: 18 Jun 2012 04:12 AM PDT

เผยโรคมะเร็งปัญหาสำคัญของไทย สาเหตุการตายอันดับหนึ่ง และสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาล 3 กองทุนสุดเหลื่อมล้ำ โรคเดียวกัน แต่ได้ยาต่างกัน เหตุราคายาสุดแพงแถมไร้ระบบควบคุมกำกับต่อรอง พบผู้ป่วย 30 บาทและประกันสังคมเข้าไม่ถึงยา แม้เป็นยาที่รักษาหายขาด แต่มีราคาแพงมาก เม็ดละ 4 พัน เข็มละ 7 หมื่น ทั้งคอร์สใช้เงินรักษากว่าล้านบาท มีแต่ข้าราชการที่เบิกได้ เสนอรัฐบาลลดเหลื่อมล้ำมะเร็งคู่ไตและเอดส์ ปรับสิทธิประโยชน์ การจ่ายเงิน และยาเป็นมาตรฐานเดียวกัน แนะทางแก้จัดกระบวนการต่อรองราคายาและจัดซื้อยารวม ใช้งบเพิ่มไม่มากจากที่จ่ายให้ข้าราชการอยู่แล้ว แต่จะขยายครอบคลุม 30 บาทและประกันสังคมด้วย

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2555 นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายสร้างความเสมอภาคการรักษาพยาบาล 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐนั้น เป็นเรื่องที่ดีและน่าชื่นชม ซึ่งหลังจากเริ่มนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวแล้ว ทราบว่ารัฐบาลจะลดความเหลื่อมล้ำโรคเอดส์และโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายต่อไป ในฐานะนักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเสนอให้รัฐบาลควรดำเนินการสร้างความเสมอภาคการรักษาโรคมะเร็งของ 3 กองทุนสุขภาพโดยเร่งด่วนด้วย เพราะโรคมะเร็งเป็นปัญหาที่สำคัญของสังคมไทย เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่าในปี 2548-2552 มะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง ในปี 2552 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและเนื้องอกทุกชนิด 56,058 คน คิดเป็นอัตราการตาย 88.34 ต่อประชากร 100,000 คน รองลงมาคือ อุบัติเหตุและการเป็นพิษ35,304 คน คิดเป็น 55.63 ต่อ 100,000 คน และลำดับที่สามคือ โรคหัวใจ 18,375 คน คิดเป็น 28.96 ต่อ 100,000 คน

นพ.พงศธร กล่าวต่อว่า แต่จากการศึกษาสิทธิประโยชน์การรักษามะเร็งของ 3 กองทุนพบว่ามีความแตกต่างกันมาก ทั้งที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของคนไทย มีความต่างกันทั้งเรื่องวิธีการจ่ายเงิน ที่สวัสดิการข้าราชการจ่ายเงินแบบไม่จำกัด (Fee for service) ขณะที่ 30 บาท และประกันสังคมจ่ายตามอัตราที่กำหนด และเมื่อพิจารณาถึงยาที่ใช้ในการรักษา พบว่ามีความเหลื่อมล้ำอย่างมาก ในโรคเดียวกันแต่ 30 บาท และประกันสังคมไม่ได้รับยาตัวเดียวกับที่ข้าราชการได้รับ ส่งผลให้ผู้ป่วยใน 2 ระบบที่เข้าไม่ถึงยาจำเป็นต้องเสียชีวิตโดยเหตุไม่สมควร จากการศึกษาราคายา 6ชนิด ในการรักษามะเร็งต่างๆ ได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง มะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ยาที่ใช้รักษามะเร็งที่ได้ประสิทธิผลดีมีอัตราการรอดชีวิตสูงนั้นเป็นยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักทั้งหมด ซึ่งทำให้สิทธิ 30 บาท และประกันสังคมเข้าไม่ถึงยาเหล่านี้ มีเพียงข้าราชการที่เบิกได้ แต่ในระบบ 30 บาทนั้น มีโครงการพิเศษกับบริษัทยา จึงทำให้ผู้ป่วย 30 บาทได้ใช้ยาบางชนิด แต่วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืน เมื่อหมดโครงการพิเศษ ผู้ป่วยก็จะไม่ได้ใช้ยานี้

“ยกตัวอย่าง ยารักษามะเร็งเต้านม Trastuzumab (Herceptin) ราคาต่อหน่วย 98,340 บ. ต่อคอร์สการรักษาใช้เงิน 1,180,080 บาท ยาที่ใช้รักษามะเร็งปอด Erlotinib (Tarceva) มีราคาเม็ดละ 3,086 บาท ค่ายาต่อคอร์ส 1,126,390 บาท และยารักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง Rituximab (Mabthera) เข็มละ 69,157 บ. ค่ายาต่อคอร์ส 829,884 บาท ซึ่งทั้งหมด สิทธิ 30 บาท และประกันสังคมไม่ได้ยาเหล่านี้ มีเพียงข้าราชการที่ได้รับยาเท่านั้น” นพ.พงศธร กล่าว

นพ.พงศธร กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่รู้ว่ามียาแต่ไม่สามารถใช้ได้เป็นเรื่องเจ็บปวดมาก แม้ยาจะมีราคาแพงมาก แต่ข้ออ้างว่าไม่มีงบประมาณนั้นไม่ถูกต้อง เพราะมีวิธีการจัดการที่จะทำให้ผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงยาได้ คือ การจัดซื้อยารวม ซึ่งสปสช.เคยทำมาแล้ว ในปี 2552 คณะอนุกรรมการเข้าถึงยาของสปสช.ได้พิจารณายา Rituximab (MabThera) ที่มีปัญหาในการเข้าถึง 2 กลุ่มโรคได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Non-Hodgkin’s lymphoma : NHL)และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis: RA) ผลการเจรจาต่อรองพบว่า บริษัทยายอมลดราคายาลงถึง 60% จากเข็มละเกือบ 7 หมื่นบาท เหลือ 25,000 บาท ดังนั้นจะเห็นว่า การมีระบบบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะการต่อรองราคายาและการจัดซื้อยารวม จะทำให้ประหยัดงบประมาณ ทำให้คนไข้สามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วย 30 บาท และประกันสังคมได้ ดังนั้นจึงขอเสนอให้รัฐบาล

1. ปรับสิทธิประโยชน์ และแบบแผนการรักษา (protocol) มะเร็งทุกโรคให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะยาราคาแพง ที่ทุกคนต้องเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ทั้ง 3 ระบบ

2. ปรับวิธีจ่ายเงินให้หน่วยบริการเป็นอัตราเดียวกันทั้ง 3 กองทุน แยกจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว เนื่องจากเป็นการรักษาที่มีราคาแพง เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้ดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยในขอให้จ่ายตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมหรือ DRG ที่เท่ากัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ

3. ให้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ ให้ความสำคัญกับการรณรงค์สร้างความรู้การส่งเสริมป้องกันโรค และคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเพื่อการรักษาตั้งแต่เป็นระยะแรกซึ่งจะลดการสูญเสียได้มากกว่าการเป็นระยะลุกลาม

 “นโยบายลดความเหลื่อมล้ำด้านระบบสุขภาพถือได้ว่าเป็นนโยบายสาธารณะที่ดีที่สุดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ทำยากกว่าการทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคสมัยรัฐบาลทักษิณ จึงอยากเรียนคุณยิ่งลักษณ์ว่า ไม่ว่าใครจะว่าคุณอย่างไรก็ตาม หากคุณยิ่งลักษณ์ กล้าตัดสินใจ เดินหน้าเรื่องนี้ให้สำเร็จ ประวัติศาสตร์จะจารึกชื่อคุณยิ่งลักษณ์ไว้ตลอดกาล” นพ.พงศธร กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น