ประชาไท | Prachatai3.info |
- "กษิต" เรียกร้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้ความชัดเจนเรื่องสหรัฐใช้อู่ตะเภา
- ใบตองแห้งออนไลน์: สิทธิผู้บริโภคในสงครามทรู-แกรมมี่
- ในหลวงเสด็จทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8
- ยูโร 2012: คณะรัฐมนตรีอังกฤษบอยคอตเกมรอบแรก
- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กับอภิมหากาพย์มาตรา 68 (รธน.)
- ทรู ออกแถลงการณฺข้อโทษผู้ชม-ผิดหวังแกรมมี่ จี้รัฐ/กสทช.สร้างความชัดเจน ยันยังเจรจาต่อรู้ผลต้นสัปดาห์นี้
- เปิดปากถอดคำ: สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ‘คนกระทรวงทรัพย์ไม่เอาโฉนดชุมชน’
- คดีเขาคูหา ‘ชาวบ้าน-เหมืองหิน’ รับตั้งอนุญาโตตุลาการร่วมแก้บ้านแตกร้าว
- เสื้อแดงออสเตรเลียชี้ฟ้องตุลาการศาล รธน. ด้วย กม.อาญา ม.157
- ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่รับคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายกรณีตากใบ
- เปิด 15 หลักเกณฑ์เยียวยาผู้เสียหายไฟใต้ (สองภาษา) ไม่ใช่แค่เงิน
- ฉันอยู่ในดินแดนประหลาด ในเมืองอันน่าสะพรึง
- โวหารและความเห็นต่างกฎหมายหมิ่นฯ (1): อภิปรายโดยประวิตรและครูเบน
- กิตติศักดิ์ ปรกติ: ว่าด้วยอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ
"กษิต" เรียกร้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้ความชัดเจนเรื่องสหรัฐใช้อู่ตะเภา Posted: 09 Jun 2012 01:48 PM PDT ยอมรับสหรัฐฯ ขอใช้อู่ตะเภาสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ในกรอบศูนย์บรรเทาสาธารณภัยฯ แต่รัฐบาลปัจจุบันกลับปกปิดเรื่องความคืบหน้า แจงพันธมิตรฯ เข้าใจผิด เรื่องนี้ไม่ใช่ความลับทางราชการ เชื่อสหรัฐฯ ใช้อู่ตะเภาไม่ใช่เรื่องวีซ่าต่างตอบแทนให้ทักษิณ เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานเมื่อวานนี้ (9 มิ.ย.) ว่า นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ ได้แถลงเรื่องการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นศูนย์บรรเทาสาธารณภัยและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และองค์การนาซ่าขอใช้พื้นที่ด้วย เพื่อจอดอากาศยานและขึ้นทำการบินตรวจสภาพอากาศว่า โครงการนี้ทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ นายกษิต กล่าวว่า เรามีการเสนอต่อโลกเพื่อจะให้ใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์บรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเราได้พูดคุยกับ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ องค์การสหประชาชาติ และเวิลด์ฟู๊ด โดยเขาก็ขอเสนอให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์บรรเทาสาธารณภัยฯ และเราทำเรื่องนี้เป็นนโยบายของอาเซียน ซึ่งเราพูดชัดเจนในอาเซียน ว่าจะทำเรื่องนี้ในกรอบของสหประชาชาติ โดยเรามีการประสานงานระหว่างกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เราเคยหารือกันและมาสำรวจพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาว่าจะสามารถใช้พื้นที่ไหนในการทำศูนย์บรรเทาสาธารณภัยฯได้บ้าง และเรามีข้อหารือกันอีก 3 ข้อใหญ่คือ 1.สหรัฐจะมีการฝึกอบรมเทคโนโลยีให้กับบุคลากรของไทยและมิตรประเทศ 2.จะใช้สนามบินเป็นโกดังเก็บอุปกรณ์และอาหาร ซึ่งเราได้ทาบทามเรื่องนี้กับสหประชาชาติและเวิรด์ฟู๊ด ในการพัฒนาอาหารที่ไม่หุงตุ้ม 3 เมื่อเกิดอุบัติภัยก็มาร่วมปฏิบัติงานให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง เรามีความคืบหน้าในเรื่องนี้มาตลอด นายกษิต กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาไทยและสหรัฐฯอเมริกามีความร่วมมือในด้านต่างๆ มามากมาย เช่น การฝึกคอบบร้าโกลด์ หรือเมื่อเกิดสึนามิกองทัพสหรัฐก็มาใช้สนามบินอู่ตะเภาในการให้ความช่วยเหลือกู้ภัยในภูมิภาคนี้ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เราก็ให้สหรัฐฯใช้สนามบินอู่ตะเภาในช่วยเหลือภูมิภาคนี้เช่นกัน ดังนั้นถือว่าเรามีประสบการณ์ร่วมกับสหรัฐฯ มาตลอด ก็เป็นที่น่าเสียดายว่ารัฐบาลชุดนี้รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงไอซีที กลับนิ่งเงียบไม่ยอมออกมาแถลงข่าวความคืบหน้าความชัดเจนในเรื่องนี้เลย ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ดีของประชาชน ทั้งที่จริงเรื่องนี้เราเป็นฝ่ายไปเจรจาเองในการขอความร่วมมือในการมาช่วยเหลือภัยพิบัติในอาเซียน ส่วนจะไปเกี่ยวกับ มาตรา 190 หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหา เพราะด้านความมั่นคงเรามีกรอบความร่วมมือกับสหรัฐฯเราอยู่แล้ว “ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงกับประชาชนให้ประชาชนเข้าใจกระจ่างชัด ว่าขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร และหากมีการทำเอ็มโอยูก็ควรจะนำมาแจกสมาชิกรัฐสภาและให้ประชาชนรับทราบข้อมูลทั้งหมด ทำอะไรให้โปร่งใส และมีอะไรที่เกี่ยวกับ มาตรา 190 หรือไม่ ส่วนการที่องค์การน่าซ่ามาขอใช้ก็มาในช่วงปลายสมัยที่ผมเป็น รมว.ต่างประเทศ จนเสนาธิการทหารสหรัฐมาให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ คนไทยจึงมาทราบเรื่อง ส่วนเรื่องขอนาซ่ามาขอใช้ด้วยนั้น ทางเสนาธิการทหารสหรัฐฯบอกว่าเรื่องนาซ่าไม่เกี่ยวกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แต่ผลงานของนาซ่าในการสำรวจอวกาศจะช่วยให้เราสามารถรู้ถึงการเกิดภัยพิบัติล่วงหน้า และจะทำให้เราสามารถเตือนภัยและป้องกันภัยได้ ข้อมูลของน่าซ่าก็จะเป็นประโยชน์กับเรา”นายกษิต กล่าว นายกษิตกล่าวว่า ตลอดเวลา 7-8 เดือน รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับปิดปากในเรื่องนี้ น่าเสียใจว่าคนไทยไม่เคยรู้เรื่องเหล่านี้เลย จึงขอให้รัฐบาลนำข้อมูลออกมาชี้แจงให้ประชาชนไทยทราบ ว่าเราจะได้ประโยชน์อะไร เช่นจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทยหรือไม่ ต่อไปการพยากรณ์อากาศของเราจะรวดเร็วขึ้นแค่ไหน หรือการสำรวจอวกาศจะสามารถเห็นกำลังรบในภูมิภาคนี้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องมีความโปร่งใส และต้องแจ้งมิตรประเทศด้วย เมื่อถามว่าแสดงว่าเรื่องนี้พันธมิตรเข้าใจผิดใช่หรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า เป็นการเข้าใจผิด และความจริงไม่ควรจะเข้าใจผิดถ้ารัฐบาลมาชี้แจงให้ประชาชนฟัง เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ความลับทางราชการหรือเรื่องลับที่ต้องปิดบังอะไร ส่วนการต่างตอบแทนเรื่องวีซ่าเข้าสหรัฐฯ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แลกกับการใช้สนามบินอู่ตะเภา นายกษิต กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ สูงส่งกว่าเรื่องนี้เยอะ เขาเคารพกฎหมาย คงไม่ใช่ประเทศที่จะมาทำเพื่อผลประโยชน์ของคนๆ เดียว เมื่อถามว่าสรุปว่าไทยได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ในเรื่องนี้ นายกษิต กล่าวว่า เราได้ประโยชน์ ได้ความรู้ ได้เทคโนโลยี อยู่ทีเงื่อนไขว่ากระทรวงวิทย์ฯมีบุคลากรที่มีฝีมือที่จะไปรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือยัง เรื่องนี้กระทรวงวิทยฯก็น่าจะออกมาชี้แจงด้วย เมื่อถามว่าหลายคนเป็นห่วงกลัวจะเสียอธิปไตย นายกษิต กล่าวยืนยันว่า เราไม่เสียอธิปไตยแน่นอน เพราะเราเป็นคนอนุญาตให้เขามาใช้พื้นที่ของเราเอง เขาเข้ามาเราก็มีอธิปไตยอยู่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ใบตองแห้งออนไลน์: สิทธิผู้บริโภคในสงครามทรู-แกรมมี่ Posted: 09 Jun 2012 08:53 AM PDT และแล้ว คนที่เคยดู “ฟรีทีวี” ผ่านจานแดงของทรูวิชั่น ก็ไม่ได้ดูบอลยูโร เพราะสิ่งที่เราเคยเข้าใจว่าเป็น “ฟรีทีวี” ในการตีความของ กสทช. ไม่ใช่ของฟรีอีกแล้ว ของฟรีหรือบริการสาธารณะ หมายถึงทีวีระบบอนาล็อก ที่ต้องดูผ่านเสาอากาศหรือหนวดกุ้ง อันสืบทอดมาแต่โบราณกาลเท่านั้น บร๊ะเจ้า! ช่างตีความได้คุ้มค่าเงินเดือน 4 แสนเสียจริง นอกจากตัดสินว่าทรูไม่สามารถถ่ายทอดฟรีทีวีไปให้สมาชิกของตัวเองดูฟรีๆ กสทช.ยังบังคับทรูอีกว่า เมื่อสัญญากับสมาชิกไว้แล้วว่าจะได้ดูฟรีทีวี ก็ต้องทำตามนั้น ไม่เช่นนั้นถือว่าผิดสัญญา ต้องเสียค่าปรับ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเซอร์ไพรส์ ที่คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ออกมาสนับสนุน กสทช.และเรียกร้องว่า กสทช.ควร “คุ้มครองผู้บริโภค” ด้วยการบังคับให้จานดาวเทียมอื่นๆ ต้อง (ซื้อลิขสิทธิ์จากแกรมมีเพื่อ) ถ่ายทอดบอลยูโร เช่นเดียวกับทรูด้วย ตามที่สัญญากับผู้บริโภคไว้ว่าจะให้ดูฟรีทีวีแบบฟรีๆ ข้อความในวงเล็บคุณสารีไม่ได้พูด แต่ถ้าคุณสารีเห็นว่า กสทช.วินิจฉัยถูกแล้วในกรณีทรู และให้บังคับค่ายอื่นตามมา ก็แปลว่าคุณสารีสนับสนุน กสทช.ให้มัดมือมัดตีนถีบเจ้าของจานดาวเทียมและเคเบิลทีวีทั้งหลาย ส่งไปให้ “อากู๋” ที่นั่งลับมีดรอหัวร่อเคี๊ยกๆ เชือดนิ่มๆ แบบไม่มีทางสู้ กสทช.และคุณสารีหลับตาข้างหนึ่ง มองไม่เห็นด้านที่แกรมมีอ้างความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์มาผูกขาดตลาดอย่างไม่เป็นธรรมเชียวหรือครับ แกรมมีอ้างความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสดบอลยูโร ถ้าจะถ่ายเฉพาะกล่องของตัว ให้ชาวบ้านไปซื้อกล่อง 1,580 บาท ก็คงไม่มีใครว่าอะไร (แต่เข้าข่ายทุ่มตลาดหรือไม่ ต้องไปดูกฎหมายป้องกันการผูกขาดของกระทรวงพาณิชย์) แต่นี่แกรมมีเอามาถ่ายทอดทาง “ฟรีทีวี” โดยได้ค่าโฆษณา แล้วก็ตั้งเงื่อนไขว่า 1.จานดำทุกประเภทดูไม่ได้ เพราะสัญญาณดาวเทียมสามารถรับได้ไกลหลายประเทศ แกรมมีอ้างว่าผิดสัญญากับยูฟ่า ที่ให้ถ่ายทอดเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ข้อนี้ยินดีรับฟัง และเคยเห็นช่อง 3 ช่อง 7 ถ่ายทอดบอลยูฟ่าแชมเปี้ยนลีกก็ตัดสัญญาณจานดำ แต่ยังมีข้อกังขาเล็กๆว่า เขาทำกันอย่างนี้ทุกประเทศหรือเปล่า เพราะไม่เคยเห็นข่าวมีปัญหาวุ่นวายในประเทศอื่น (ดูโปรแกรมในสยามกีฬาก็บอกว่ามีดาวเทียมอินโดดูได้) ผู้รู้ช่วยตอบที นอกจากนี้ ทรูอ้างว่าทีตัวเองถ่ายทอดฟรีทีวีก็ไม่เคยบล็อกสัญญาณ ถ้าทรูจะสู้ ก็ควรเปิดโปงสัญญาถ่ายทอดสดประเภทต่างๆ ด้วยว่ามีเงื่อนไขอย่างไร 2.จานทรูและเคเบิลท้องถิ่น 923 สถานีดูไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากแกรมมี แม้จะเป็นทีวีในประเทศ ไม่ผิดสัญญายูฟ่า แต่แกรมมีอ้างว่าเป็นโทรทัศน์ระบบรับสมาชิก (เปย์ทีวี) ไม่ใช่ฟรีทีวี ตรงนี้ที่ถกเถียงกัน 3.ภายหลังจากปิดกั้นดังกล่าวแล้ว ใครที่บ้านติดจานดำจานแดง ก็ต้องไปซื้อกล่องของแกรมมี จึงจะดูได้ แกรมมีฉวยโอกาสนี้ มัดมือชาวบ้านชก ให้เป็นสมาชิกกล่องของตัวเอง เอาลิขสิทธิ์บอลยูโรมาเป็นเครื่องมือก่อร่างสร้างสถานี ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว ทั้งได้ค่าโฆษณาจากการถ่ายทอดฟรีทีวี ได้ค่ากล่อง ได้อนาคต แล้วก็ยังมาไล่บี้ค่าลิขสิทธิ์จากทรูและเคเบิลท้องถิ่น ผมเชื่อว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ในประเทศไทยประเทศเดียวในโลก กับการคุ้มครองผู้บริโภคแบบไทยๆ ซึ่งใครอยากผูกขาดอะไรก็ทำได้ตามอำเภอใจ ที่จริงแกรมมีไม่ใช่รายแรก เพราะทศภาคทำมาก่อน ทศภาคถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านฟรีทีวี ก็บล็อกสัญญาณจอดำ แต่ไม่มีปัญหากับทรูและเคเบิลท้องถิ่น และทศภาคไม่ได้ขายกล่องของตัวเอง เพียงแต่ทศภาคไปไล่เก็บค่าลิขสิทธิ์จากร้านเหล้าที่เปิดบอลให้ลูกค้าดู ทั้งที่มันเป็น “ฟรีทีวี” ซึ่งคุณได้ค่าโฆษณาไปแล้ว ร้านเหล้าเขาก็เปิดโฆษณาให้ลูกค้าดู (ถ้าเปิดละครเรื่องบ่วงให้ลูกค้าดูบ้าง จะเสียค่าลิขสิทธิ์ไหม) แต่อย่างว่า ทศภาคเป็นยักษ์ใหญ่ระดับครองชาติ ร้านเหล้าแค่ตัวกระจิ๊บกระจอก ก็เลยไม่มีใครกล้าโวย อันที่จริงก็มีข้อกังขาว่า ลิขสิทธิ์บอลโลกถูกใช้เป็นกลไกการตลาดเบียร์ช้างหรือเปล่า แต่ทศภาคยังทำเนียน ไม่เหมือนแกรมมีที่แก้ผ้าโจ๋งครึ่ม ทรูและเคเบิลท้องถิ่นถ่ายทอดฟรีทีวีกันเป็นปกติ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ในลักษณะบริการเสริม ให้ความสะดวก เพราะถ้าไม่มีฟรีทีวี 6 ช่อง ชาวบ้านต้องไปหาหนวดกุ้งหรือเสาอากาศมาติด ยุ่งยากวุ่นวาย เปลี่ยนสายเปลี่ยนรีโมท ถามว่าเป็นแรงจูงใจลูกค้าด้วยไหม ก็มีส่วนใช่ จานแดงที่ขายขาดของทรู หรือสมาชิกเดือนละ 300 บาท ก็ขายได้เพราะดีกว่าดูทีวีผ่านเสาอากาศ และมีช่องอื่นให้ดูเพิ่ม แต่ถึงอย่างไรก็ถือว่าไม่อยู่ในค่าบริการ (เพราะถ้าเราเทียบกับจานขายขาด ช่องที่เพิ่มขึ้นมาคือค่าสมาชิก) ทรูถ่ายทอดฟรีทีวีซึ่งมีโฆษณา ในลักษณะผลประโยชน์ร่วมกัน ทรูให้ความสะดวกสมาชิก ฟรีทีวีก็ได้คนดูเพิ่ม ได้เรตติ้งโฆษณา ไม่เคยมีปัญหากัน เพราะเมื่อคุณบอกว่าเป็นฟรีทีวี คุณก็ต้องยินยอมให้ทุกช่องถ่ายทอดคุณฟรีๆ ไม่มีค่าลิขสิทธิ์ แต่ได้ค่าโฆษณา อันที่จริงกรณีแกรมมีไม่ยอมให้ทรูถ่ายทอด คนเสียประโยชน์รายแรกน่าจะเป็นเอเยนซีโฆษณา ซึ่งถ้าตัดจานดำออกไป ตัดทรูออกไป (อากู๋สมยอมให้เคเบิลท้องถิ่น) คนดูอาจเหลือไม่ถึง 50% ของปกติ โอเค อาจมีคนซื้อกล่องแกรมมีไปติด แบบดูไปเจริญพรไป ถ้าจะนับเป็นเป้าหมายลูกค้าก็ได้ แต่งานนี้เอเยนซีกลับเงียบกริบ ทั้งที่ต่อไปเอเยนซีควรต่อสู้บ้าง เช่นถ้าอ้างว่าผิดสัญญายูฟ่าต้องบล็อกจานดำ ก็ต้องคิดค่าโฆษณาในอัตรา 60% ของปกติ เพราะคนดูหายไปเพียบ จะได้ไม่หน้ามืดตามัวซื้อลิขสิทธิ์ราคาแพง แกรมมีไม่ยอมให้ทรูถ่ายทอด จะเรียกค่าลิขสิทธิ์ ทั้งที่ตัวเองก็ได้ค่าโฆษณา ถามว่าเป็นธรรมหรือ ถ้าแกรมมีขายลิขสิทธิ์ให้ทรู ทรูก็ควรเอาไปออกช่องที่ไม่มีโฆษณาต่างหาก ไม่ใช่แกรมมีกินสองเด้ง แต่คำสั่ง กสทช.กลับไม่มองประเด็นนี้ กลับอ้างว่ากรณีนี้ไม่เหมือนฟรีทีวีปกติ ลิขสิทธิ์มีเจ้าของ ฟรีทีวีหมายถึงทีวีอนาล็อกที่ดูผ่านเสาอากาศและหนวดกุ้งเท่านั้น ถ้าตีความกันแบบนี้ ต่อไปรายการถ่ายทอดสดอะไรที่มีคนไปซื้อมาออกฟรีทีวี หรือมีบริษัทจัดรายการต่างหาก เช่น ประกวดนางงาม เดอะสตาร์ ไทยแลนด์กอตทาเลนท์ ฯลฯ ก็มีสิทธิเรียกค่าลิขสิทธิ์จากทรูและเคเบิลท้องถิ่นสิครับ ถามว่าทรู (ที่ลูกค้าด่าว่าหน้าเลือดอยู่แล้ว) จะยอมเสียฟรีหรือ ต่อไป ทรูก็ต้องคิดค่าบริการ “ฟรีทีวี” เพิ่มขึ้นมาด้วย และแน่นอนเลยว่า อีก 2 ปีข้างหน้า ฟุตบอลโลกบราซิล 2014 ก็คงมียักษ์ใหญ่ซักราย ไปซื้อลิขสิทธิ์มาเพื่อขายกล่อง เปิดช่องทีวีของตัวเอง ออกฟรีทีวีเก็บค่าโฆษณา เก็บค่าลิขสิทธิ์จากทรู เคเบิลท้องถิ่น เจ้าของจานทุกระบบ ลงไปจนถึงร้านเหล้าที่เปิดฟรีทีวีถ่ายทอดบอลให้ลูกค้าดู หวานคออีแร้งเลยครับ ยิ่งถ้ายักษ์ใหญ่อย่างไทยรัฐจะอาศัยจังหวะนั้นเปิดทีวีดาวเทียมของตัวเอง มีใครกล้าหือ อย่างไรก็ดี เมื่อกรณีพิพาทระหว่างทรู แกรมมี ขึ้นมาถึง กสทช.ก็เปิดช่องให้ทำเรื่องนี้เป็นบรรทัดฐานเช่นกัน นั่นคือคำสั่ง กสทช.ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ซี่งทรูสามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลปกครองได้ ให้ไต่สวนฉุกเฉิน หรือออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไว้ก่อน ภายในเวลา 23.00 น.ของวันจันทร์ ตอนนี้ ASTV ก็โดดมาร่วมต่อต้านแกรมมีแล้ว จะใช้สุวัตร อภัยภักดิ์ เป็นทนายความก็ได้นะครับ คริคริ ผู้บริโภคในนิทานอีสป สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ เมื่อผมโพสต์เรื่องนี้ในเฟซบุค มีคนครึ่งต่อครึ่งที่เข้าข้างแกรมมี อ้างว่าเขาซื้อลิขสิทธิ์มา ก็เป็นสิทธิของเขา อ้างว่าทรูไม่ได้ให้ดูฟรีเพราะถ้าไม่จ่ายค่าบริการเวลาตัดสัญญาณก็ตัดหมด รวมทั้งฟรีทีวีด้วย ผมมองว่าทรูก็สร้างศัตรูไว้เยอะ ทำให้ผู้บริโภคเจ็บใจ พอเห็นทรูถูกแกรมมีเชือด ก็สะใจ ที่มีเหลือบฝูงใหม่มาไล่กัดเหลือบฝูงเก่า แต่อันที่จริง คุณมัวแต่สะใจจนลืมไปว่าตัวเองโดนทั้งสองฝูง ทรูสร้างเคเบิลทีวีขึ้นมาจากการผูกขาดสายเคเบิลโทรศัพท์ของบริษัทแม่ จนทีวีดาวเทียมมาทำลายการผูกขาด แต่ทรูยังอยู่ได้เพราะผูกลิขสิทธิ์ช่องดังๆ อย่าง HBO และฟุตบอลอังกฤษ ซึ่งก็เอาเปรียบผู้บริโภคอยู่เหมือนกันเพราะใช้วิธีขายเหมารวม คุณอยากดูฟุตบอลอังกฤษก็ต้องซื้อ CCTV มาดูด้วย ทั้งที่ CCTV มันควรจะดูกันในครอบครัวอาแปะซีพีเท่านั้น กรูอยากดูหนัง ไม่ได้อยากดูทีวีภาษาจีน แต่ถูกยัดเยียดให้เสียค่าบริการอย่างเลือกไม่ได้ ที่สุดแสบคือพอมีช่อง HD ทรูก็มาคิดราคา HD ทั้งที่มันก็อันเดียวกัน ลิขสิทธิ์เดิมๆ แค่ลูกค้าเขาไปซื้อทีวี LCD มาดู HD ได้ ทรูกลับคิดราคาใหม่ เรื่องลิขสิทธิ์ฟุตบอลก็แสบสันต์เหมือนกัน เช่น ทรูห้ามฟรีทีวีเสนอข่าวฟุตบอลพรีเมียร์ลีก โดยมีภาพการแข่งขัน ผมไม่แน่ใจว่านี่มันบังคับกันทั่วโลกหรือเปล่า แต่มันคือการตีความกฎหมายลิขสิทธิ์แบบขยายดินแดน จนมาปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน สมมติช่อง 3 ซื้อข่าวรอยเตอร์ เขามีภาพการแข่งขันคู่แมนยูฯ ขยี้ลิเวอร์พรุน เขาก็สมควรเสนอข่าวได้ เพราะไม่ใช่การถ่ายทอดสดทั้งเกม แต่ดูเหมือนไม่มีใครอยากต่อสู้ ประชาชนอย่างเราๆ ก็ซวยไป ผมก็เกลียดขี้หน้าทรู แต่ใครจะไม่พอใจอาแปะพูกไม่ชัก เพราะได้สัมปทาน 3G มาเนื้อๆ ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เป็นอีกเรื่อง (อานิสงส์จากศาลปกครองสั่งระงับ กทช.ประมูล 3G นี่แหละ) แต่คราวนี้ผมเห็นว่าทรูต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของลูกค้าตัวเอง แม้ในอีกมิติจะเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง (ซึ่งเขาก็ไม่ควรเสียไม่ใช่หรือ) ทรูจึงควรต่อสู้ถึงที่สุด เพื่อให้เกิดบรรทัดฐาน ถ้าไม่ฟ้องศาลปกครอง ก็ดึงสัญญาณฟรีทีวีมาถ่ายทอดสด โดยไม่ต้องเจรจากับแกรมมี ให้แกรมมีฟ้องเอา สู้กันในศาลทรัพย์สินทางปัญญา ว่าอะไรคือฟรีทีวีกันแน่ นี่จะเป็นบรรทัดฐานให้ผู้บริโภคต่อไป กระแสสังคมควรหนุนหลังทรูในการต่อสู้เรื่องนี้ ไม่ใช่ยอมแพ้ เดินไปซื้อกล่องแกรมมี (ในร้าน 7-11 อีกต่างหาก) เพราะเรามีนักต่อสู้เรื่องลิขสิทธิ์ ที่ต่อสู้เพื่อผู้บริโภคน้อยเหลือเกิน กฎหมายลิขสิทธิ์ถูกตีความขยายดินแดนโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่างที่คนตัวเล็กตัวน้อยไม่มีทางสู้เขาได้ (แบบเอาซีดีดูแล้วมาขายยังถูกปรับ 2 แสน ตอนนี้ DSI ก็เห็นชิ้นปลามัน จะขออำนาจดูแลเรื่องลิขสิทธิ์แทนตำรวจ) เราก็ต้องอาศัยยักษ์ชนยักษ์นี่แหละครับ อยู่ที่เลือกข้างให้ถูกว่าใครชนะแล้วเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ผมจึงเชียร์ ASTV ลูกสนธิ ลิ้ม ประกาศชนแกรมมี ใครจะว่า ASTV มีเบื้องหน้าเบื้องหลังก็แล้วแต่ (ตั้งข้อสังเกตได้ว่า ASTV มีทรูเป็นลูกค้าโฆษณารายใหญ่) แต่ในบ้านนี้เมืองนี้ คุณจะหาสื่อที่ไหนกล้าชนแกรมมี ทศภาค เบียร์สิงห์ เบียร์ช้าง ฯลฯ หรือแม้แต่ทรูเอง ประชาสัมพันธ์บริษัทยักษ์ใหญ่พวกนี้เดินกันยั้วเยี้ยในแวดวงสื่อ พี่ๆ น้องๆ หัวหน้าข่าว บรรณาธิการ คบหากันมาตั้งแต่ยังเป็นนักข่าวเล็กๆ ขณะที่ผู้บริหารสื่อกับผู้บริหารบริษัทก็มีความสัมพันธ์อันดีหรืออย่างน้อยก็ไม่อยากเป็นศัตรูกัน คุณจะไปหวังพึ่งสื่อบันเทิงที่ไหน ในเมื่อสื่อบันเทิงส่วนใหญ่ก็รับข่าวแจกรับข่าวโปรโมชั่นจากแกรมมี RS ช่อง 3 ช่อง 7 (คนถึงได้นิยมอ่านซ้อเจ็ด ต่อให้เท็จเยอะจริงบ้าง) คุณจะไปหวังพึ่งสื่อกีฬาที่ไหน ในเมื่อสื่อกีฬาส่วนใหญ่ก็เดินตามหลังมาเฟีย นักการเมือง นายทหาร นายตำรวจ หรือพ่อค้า ที่มาชุบตัวในวงการกีฬา เป็นนายกสมาคมกีฬาต่างๆ หรือไม่ก็เป็นสปอนเซอร์ ให้สื่อแดกซ์เบียร์ไม่อั้นทั้งสิงห์ทั้งช้าง สื่อกีฬามีแต่ล้อมหน้าล้อมหลัง “ท่านสุวัจน์คร้าบ ถ้าไม่มีท่าน วงการกีฬาประเทศนี้คงล่มจมไปแล้วคร้าบ” (แต่ไม่เคยเห็นทำประโยชน์อะไรให้การเมือง) ฉะนั้นผมก็ดีใจที่ ASTV ยินดีรับบทหน่วยกล้าตาย คริคริ โดยไม่เกี่ยวกับจุดยืนทางการเมือง เพราะเราควรจะแยกแยะเป็นเรื่องๆ ไม่ใช่เลือกข้างแล้วเห็นอีกฝ่ายเลวร้ายหมด ถ้าจะมองกันอย่างเลือกข้าง ผมน่าเลือกแกรมมีด้วยซ้ำไป แต่ผมรับไม่ได้กับการบอกว่าผมมีสิทธิดูฟรีบนฟรีทีวี แต่ต้องซื้อกล่องของเขา เหมือนเราถูกมัดมือชกให้เป็นทาส ผมจึงยืนยันว่าชาตินี้ทั้งชาติจะไม่มีวันซื้อกล่องอากู๋ ไม่ได้ดูก็ไม่ดู ถ้าลูกมันอยากดูก็จะไปซื้อหนวดกุ้งมาใช้ ตามที่ กสทช.ท่านตีความว่าประชาชนเรามีสิทธิได้รับบริการสาธารณะแค่นั้น (แถมคุณสารียังสนับสนุนอีกต่างหาก) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ในหลวงเสด็จทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 Posted: 09 Jun 2012 08:37 AM PDT พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากโรงพยาบาลศิริราช เพื่อทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 ณ เชิงสะพานพระราม 8 9 มิ.ย. 55 - มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 17.30 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากโรงพยาบาลศิริราช เพื่อทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่8 ณ เชิงสะพานพระราม8 เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีประชาชนมารอรับเสด็จอย่างเนื่องแน่นเต็มพื้นที่โรงพยาบาลพร้อมเปล่งเสียงทรงพระเจริญอย่างกึกก้อง เวลา 17.50น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาถึงพลับพลาพิธีบริเวณเชิงสะพานพระราม8 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถวายรายงานความเป็นมาและน้อมเกล้าฯถวายสูจิบัตรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จากนั้นทรงเสด็จทอดพระเนตรชมวิดิทัศน์ประวัติความเป็นมาของการก่อสร้างสะพานพระราม8และพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่8ซึ่งพระบรมราชานุสาวรีย์นี้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่ใหญ่ที่สุดที่ประเทศไทยเคยสร้างมาโดยมีส่วนผสมจากทองแดง ตะกั่ว สังกะสีและดีบุก โดยใช้เวลาการสร้างทั้งสิ้น18เดือน ออกแบบโดยกรมศิลปากร เวลา18.00น.ทรงเสด็จทอดพระเนตรชมนิทรรศการพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯซึ่งบรรยากาศบริเวณเชิงสะพานพระราม 8 ประชาชนแห่จับจองพื้นที่รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ กันอย่างเนื่องแน่น และเวลา18.09น. ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 อย่างเป็นทางการ จากนั้นทรงประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานทรงพระราชอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯกระทั่งเวลา 19.15น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ และ สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับ โดยสร้างสร้างความปลื้มปิติให้แก่ประชาชนที่มาเฝ้ารอส่งเสด็จจำนวนมากและต่างเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ สำหรับสะพานพระราม8นี้เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้นเมื่อทรงเสด็จเยี่ยมสมเด็จพระบรมราชชนนีที่ทรงประทับรักษาพระอาการที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อปี พ.ศ.2538 ทรงเห็นถึงปัญหาการจราจรที่หนาแน่น จึงทรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้น ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ยูโร 2012: คณะรัฐมนตรีอังกฤษบอยคอตเกมรอบแรก Posted: 09 Jun 2012 08:26 AM PDT รัฐมนตรีอังกฤษประกาศคว่ำบาตรฟุตบอลยูโร 2012 โดยจะไม่มีรัฐมนตรีจากอังกฤษเดินทางไปชมเกมในรอบแบ่งกลุ่มที่ยูเครน แต่อาจตามไปชมถ้าอังกฤษเข้ารอบ 2 เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 55 ที่ผ่านมาสำนักข่าวไทยรายงานว่าคณะรัฐมนตรีอังกฤษงดเดินทางไปชมฟุตบอลยูโร เพื่อประท้วงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยูเครน กรณีนางยูลิยา ทีโมเชนโก อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกจองจำซึ่งอังกฤษมองว่าเป็นเรื่องการเมือง อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีอังกฤษอาจเดินทางไปชมทีมอังกฤษหากผ่านรอบแบ่งกลุ่มเข้าไปเล่นในรอบแพ้คัดออกได้สำเร็จ ทั้งนี้ ทีมสิงโตคำรามมีกำหนดการลงเตะในรอบแบ่งกลุ่มทั้ง 3 นัดที่ยูเครน ในจำนวนนี้ 1 นัดเตะที่กรุงเคียฟ แต่ถ้าอังกฤษโชว์ฟอร์มผ่านเข้ารอบเป็นที่ 1 ของกลุ่ม การแข่งขันในรอบ 8 ทีมสุดท้ายจะลงเตะที่กรุงเคียฟ ส่วนรอบรองชนะเลิศจะเตะที่กรุงวอร์ซอในโปแลนด์ และถ้าเข้าชิงชนะเลิศก็จะกลับมาเตะที่กรุงเคียฟอีกครั้ง อังกฤษไม่ใช่ประเทศเดียวที่รัฐมนตรีประกาศคว่ำบาตรฟุตบอลยูโร คณะรัฐมนตรีฝรั่งเศสประกาศเมื่อเดือนที่แล้วจะคว่ำบาตรไม่ไปชมฟุตบอลทุกนัดที่เตะในยูเครน เพื่อประท้วงการปฏิบัติของรัฐบาลยูเครนต่ออดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนสหภาพยุโรปประกาศว่าคณะกรรมาธิการทุกชุดจะไม่เดินทางไปชมฟุตบอลที่ยูเครน เช่นเดียวกับรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาของเยอรมนี ประกาศไม่ไปชมเกมที่เยอรมนีลงเตะในยูเครน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กับอภิมหากาพย์มาตรา 68 (รธน.) Posted: 09 Jun 2012 08:04 AM PDT ด้วยความเคารพ หลังจากศาลมีคำสั่งพิจารณารับคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เกี่ยวเนื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลหรือพรรคการเมืองซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 (รธน.) อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สืบเนื่องจากการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 291 ของรัฐบาล รัฐสภา พรรคการเมือง และบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ยื่นโดยกลุ่ม ส.ส. ส.ว. และประชาชน จำนวน 5 สำนวน ปรากฏตามข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข่าวที่ 16/2555 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2555 รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 68 “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้ ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว...” แม้ว่ามีนักวิชาการโดยเฉพาะนักกฎหมายจำนวนมากออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การที่ศาลตีความว่าตนมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาตามมาตรา 68 นั้นเป็นการตีความที่ผิดหลักการ เป็นการกระทำที่ใช่ไม่เพียงทำเกินหน้าที่เท่านั้นแต่เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจเลยในกรณีนี้ เพื่อปกป้องเกียรติยศและศักดิ์ศรีของสถาบันอันทรงเกียรตินี้ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกมาแถลงจุดยืนของตนถึงสองครั้งในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์โดยย้ำว่า “ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการถ่วงดุลในการตรวจสอบ” “ไม่ใช่การก้าวล่วงกำกับรัฐสภาแต่ให้มองในทางบวกว่าการรับคำร้องก็เพื่อทำให้ลดความตึงเครียด และความหวาดระแวงของสังคมที่มีต่อรัฐบาลและรัฐสภา” หรือแม้จากการให้สัมภาษณ์ครั้งล่าสุด ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญยังกล่าวอีกว่า “ส่วนการตีความมาตรา 68 นั้น ขอให้ไปดูรัฐธรรมนูญฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ จะชัดเจนว่าการยื่นคำร้อง เป็นเรื่องของผู้ทราบ ไม่ใช่เรื่องของอัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียว” การออกมาเน้นย้ำถึงสองครั้งของนักกฎหมายผู้ทรงคุณวุฒิผู้เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์การทำงานอย่างยาวนานเกือบจะทำให้นักกฎหมายทั้งหลายหลงเชื่อ หากแต่ไม่สามารถหาเหตุผลที่จะมาอธิบายตามตรรกะทางกฎหมายหรือแม้แต่หลักการทางรัฐศาสตร์ได้เลย และ/หรือหากจะมีกฎหมายให้อำนาจเช่นนั้นจริง ก็ยังต้องมาถกเถียงว่า เป็นการให้อำนาจที่ขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจในการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่และเป็นการขัดกับอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเองหรือไม่ ยิ่งท่านประธานอ้างว่า “ก็เพื่อทำให้ลดความตึงเครียด และความหวาดระแวงของสังคมที่มีต่อรัฐบาลและรัฐสภาลงได้” แล้ว แม้เป็นที่เข้าใจในความหวังดี แต่ก็อดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่าท่านมีอำนาจหน้าที่เช่นว่าตั้งแต่เมื่อไร หากท่านวินิจฉัยว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสภาในครั้งนี้ก่อให้เกิดความวุ่นวายและความขัดแย้งของคนในสังคม การรับไว้พิจารณาก็เพื่อลดความตึงเครียดและความหวาดระแวงของสังคม ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นความหวังดี แต่มีกฎหมายฉบับไหนให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจลดความตึงเครียดและความหวาดระแวงของคนในสังคมได้ การวิเคราะห์เหตุผลที่ท่านประธานให้ไว้ยิ่งทำให้เครียดและหวาดระแวงต่อพฤติกรรมที่ไม่อยู่ในร่องในรอยของท่านหนักเข้าไปใหญ่ เป็นการตีความให้มีอำนาจกว้างขวางอย่างไม่สามารถอธิบายได้โดยหลักวิชาการ หลักกฎหมายมหาชนทั่วไปโดยหลักแล้ว องค์กรที่ใช้อำนาจในทางมหาชนจะต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ ดังนั้น การกระทำการใดๆ จึงต้องเป็นขั้นเป็นตอนและเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ท่านยังอ้างต่อไปอีกว่า “ขอให้ไปดูรัฐธรรมนูญฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ” ผู้เขียนได้ตามไปศึกษาตามที่ท่านเสนอ จึงขอนำมาฝาก ดังนี้ ฉบับแปลของศาลปกครอง: Article 68 para 2 “In case where a person or political party has committed an act under paragraph one, the person knowing of such an act shall have the right to request the Prosecutor General to investigate its facts and submit a motion to the Constitutional Court for ordering cessation of such act...” ฉบับแปลของ IFES Thailand (ฉบับแปลทางการ): Where a person or political party acts under paragraph one, the witness thereof has the right to report the matter to the Prosecutor General to investigate facts and to submit a request to the Constitutional Court for decision to order cessation of such act...” หากจะให้ตีความแบบที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระนักรัฐศาสตร์ (ซึ่งน่าจะเอามาจากฉบับของศาลปกครอง) ได้ให้ไว้บนเฟสบุ๊คส่วนตัวแล้วว่า ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญคงเล่นตลกโดยการตีความเอาคำว่า "submit a motion/request to the Constitutional Court for ordering cessation of such act..." ไปขยายส่วน 1. right to request และ right to submit หรือ 2. to request และ to request to submit ซึ่งหากจะตีความแบบที่ท่านอาจารย์เกษียรเดา คือ ท่านประธานศาลตีความว่า บุคคลมีสิทธิยื่นได้ทั้งต่ออัยการและศาลรัฐธรรมนูญ (แบบแรก) ซึ่งหากจะตีความตามนั้นบวกกับการตีความตามหลักกฎหมายจะมีผลดังนี้ คือ การยื่นตามาตรา 68 นี้จะต้องกระทำพร้อมกันในสองลักษณะ (เนื่องจากกฎหมายใช้คำว่า “และ/and” เป็นตัวเชื่อมระหว่างประโยค) คือ 1. เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และ (พร้อมกับ) 2. ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ กล่าวคือยื่นพร้อมกันทั้งที่อัยการสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญจึงจะเป็นการยื่นที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ตามการตีความของท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ คำถามต่อมาคือ แล้วใครเป็นผู้วินิจฉัยสั่งการ ก็ต้องตอบว่าเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะอัยการสูงสุดมีอำนาจเพียงการตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น ส่วนตรวจสอบได้ข้อเท็จจริงแล้วอย่างไรต่อก็ต้องบอกว่าไม่ต้องทำอะไร เพราะรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบเฉยๆ แปลกดี เพื่อความชัดเจนอีกครั้งสำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตาม ศาลรัฐธรรมนูญอ้างมาตรา 68 ในการรับคำร้อง นักวิชาการมองว่าศาลไม่มีอำนาจรับคำร้องเพราะอะไร ขออธิบายโดยสังเขปดังนี้ (ผู้อ่านสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากงานเขียนและบทสัมภาษณ์ของนักวิชาการหลายต่อหลายท่านที่ได้ให้ความเห็นในกรณีนี้ไว้แล้ว) 1. ฟ้องใครได้บ้าง? มาตรา 68 ระบุว่า “บุคคลหรือพรรคการเมือง จะใช้สิทธิเสรีภาพ (exercise the rights and liberties) เพื่อล้มล้างการปกครอง..” (วรรค 1) สภาไม่ใช่บุคคลแต่เป็นกระบวนการที่มาจากกลไกในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นหน้าที่ซึ่งสภามีอำนาจทำได้ตามมาตรา 291 กรณีนี้เป็นเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ (duty ดูมาตรา 74) ไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพ (rights and liberties) กล่าวคือ มีกฎหมายให้อำนาจไว้และได้ทำตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้นั้น และกระบวนการดังกล่าวไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือพรรคการเมืองแต่เป็นการกระทำในรัฐสภาอันเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ อีกทั้งหมวดดังกล่าวอยู่ในหมวดของ “สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย” (มาตรา 26-69) จึงไม่ควรเอามาปนกับเรื่องของหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด 2. ใครยื่นได้บ้าง? มาตรา 68 ระบุว่า "ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ..." ดังนั้น บุคคลธรรมดาย่อมไม่สามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เอง หากจะตีความตามภาษาอังกฤษที่ท่านประธานอ้างคงจะต้องยื่นทั้งสองที่ตามที่ได้กล่าวแล้ว 3. ยื่นต่อใคร? มาตรา 68 ระบุ “ให้ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ..” กล่าวคือผู้ทราบการกระทำยื่นต่ออัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายตามคำร้องจริง จากนั้นให้อัยการยื่นต่อไปยังศาลเพื่อวินิจฉัยสั่งการต่อไป การที่ศาลรับไว้พิจารณาจึงไม่ชอบเพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ 4. ศาลมีอำนาจมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่? เมื่อศาลไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาแล้วศาลจะมีอำนาจมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้อย่างไร ยิ่งกว่านั้นหากพิจารณาโดยตรรกะเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตามข้อกำหนดศาลฯ ข้อ 6 เพื่อใช้มาตรการชั่วคราวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ เป็นการเอากฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ามาบังคับการกระทำตามกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่า เป็นการใช้กฎหมายข้ามสายพันธ์เป็นหลักการที่หาคำอธิบายเชิงตรรกะได้ยากมาก สรุปคือ ศาลไม่มีอำนาจ การมีคำสั่งรับไว้พิจารณาจึงไม่ชอบด้วยประการทั้งปวง อีกทั้งการมีคำสั่งเพื่อมีผลให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยอีกถือเป็นการออกคำสั่งที่ตนไม่มีอำนาจอย่างชัดเจน เพื่อตอบคำถามว่าอัยการไม่ควรเป็นองค์กรเดียวที่ดำเนินการเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญเท่านั้น ประชาชนที่เห็นการกระทำดังกล่าวสามารถกระทำการใดเพื่อตอบโต้หากมีการกระทำเพื่อล้มล้าง รัฐธรรมนูญ ได้หรือไม่ คำตอบคือ “ได้” กล่าวคือปรากฏตามมาตรา 69 รัฐธรรมนูญ ซึ่งให้สิทธิประชาชนในการต่อต้านการกระทำเช่นว่าด้วยสันติวิธี ซึ่งเป็นหลักการที่สอดคล้องกับการใช้สิทธิและเสรีภาพชองประชาชนตามที่ปรากฎในชื่อหมวดของรัฐธรรมนูญส่วนนี้ อีกทั้งเป็นการเน้นย้ำว่ากระบวนการทางกฎหมายย่อมต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงกลั่นกรองก่อนนำขึ้นสู่กระบวนการทางศาลต่อไป พิจารณาโดยตรรกะ (อย่างคนที่ไม่มีความรู้กฎหมาย) หากประชาชนสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างพร่ำเพรื่อเช่นนี้โดยไม่มีกระบวนการกลั่นกรองก่อน บ้านเมืองจะไม่วุ่นวายหรือ เพราะศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเครื่องมือทางการเมืองชั้นดีในการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามที่ทำไม่ถูกใจอีกฝ่ายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แล้วเสถียรภาพของรัฐในการบริหารจัดการจะอยู่ที่ไหน ต่อบทบาทของตุลาการศาลรัฐธรรมยังคงเป็นที่เคลือบแคลง ล่าสุดได้มีเสียงสะท้อนจากพรรคประชาธิปัตย์โดยคุณเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราชแสดงความกังวลต่อการประชุมสภาที่จะมีขึ้นว่า “ตนมีความกังกลหากรัฐสภาจะพิจารณาคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ชลอการพิจารณาลงมติแก้ไขในวาระ 3 ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในสภาได้เนื่องจากการอภิปรายส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายแต่เป็นความคิดเห็นทางการเมือง เกรงว่าคนที่ไม่รู้กฎหมายนำมาอภิปรายจะเป็นปัญหา ซึ่งตนทราบข่าวว่ามีการจองกฐินถล่มศาล ตนเห็นว่าไม่เหมาะเพราะจะไม่เป็นธรรมกับศาลที่ไม่สามารถชี้แจงได้” เพราะหากวิเคราะห์จากช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ที่นายสนธิ ลิ้มทองกุลออกมาให้สัมภาษณ์ว่าตราบใดที่ยังไม่เห็นเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญก็ถือว่าเป็นการยกประโยชน์ให้จำเลย นัยคือพันธมิตรไม่ต่อต้านการลงมติของสภาในการรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 (แต่ก็ไม่อาจชล่าใจเพราะพธม.เองหรือผู้ยื่นเองก็ยังมีจุดเกาะเกี่ยวกับประโยชน์ตรงนี้อยู่) อาการลอยเคว้งของศาลรัฐธรรมนูญจึงน่าเป็นห่วงเพราะขาดมวลชนหนุนหลัง การที่พรรคประชาธิปัตย์ออกตัวเช่นนี้จึงเป็นการสื่อความหมายบางประการต่อองค์กรตุลาการนี้ จากประวัติความเป็นมาของตุลาการตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 50 คือผลสืบเนื่องจากการทำรัฐประหาร โดยการทำรัฐประหารมีธงในการทำลายอำนาจการเมืองของทักษิณ ดังนั้น ตุลาการที่ถูกแต่งตั้งจึงเป็นที่เคลือบแคลงว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่อยู่ฝั่งตรงข้ามคุณทักษิณและสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์แทบทั้งสิ้นสืบเนื่องจากผลการทำงานที่ผ่านมา ทั้งผลงานยุบพรรคไทยรักไทย ยุบพรรคพลังประชาชน และพรรคอื่นๆ ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ ทำไมประชาธิปัตย์ถึงรอด ในช่วงปี 2553 และปี 2554 จากสองคดีที่มีผู้ร้องยื่นยุบพรรคประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์ชนะคดีด้วยเทคนิคทางกฎหมาย(แบบคลุมเครือ)แทบทั้งสิ้น มิได้พิเคราะห์ว่ามีความผิดตามข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างหรือไม่ ในช่วงเวลาดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญถูกประจานว่ามีตุลาการบางคนประชุมเตรียมการเพื่อช่วยพรรคประชาธิปัตย์ หลักฐานชัดเป็นวีดิทัศน์เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญประชุมช่วยเหลือคดีพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายอย่างร้ายแรงและขัดต่อหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษา แต่ศาลไม่เพียงไม่ตั้งคณะกรรมสอบวินัยและลงโทษตุลาการที่ปรากฏในภาพวิดิทัศน์ดังกล่าว แต่กลับจะฟ้องเอาผิดผู้เผยแพร่วิดีโอดังกล่าวตาม พรบ.คอมพ์ฯ ว่าการเผยแพร่วีดิทัศน์ดังกล่าวเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน และล่าสุดกรณีศาลสั่งให้นายจตุพร พรหมพันธ์พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. เนื่องจากถูกจำคุกไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ที่ยังคงเป็นข้อกังขาของนักกฎหมาย ทำไมต้องรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ต้องถามว่าเหตุการณ์ เมษา-พค. 53 เป็นผลสืบเนื่องมาจากบทบัญญัติที่บิดเบี้ยวอันเป็นผลิตผลจากอำนาจเผด็จการใช่หรือไม่ เพราะฝ่ายที่ไม่ชอบทักษิณต้องการทำทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายโดยไม่สนหลักการสากลที่ทั่วโลกยอมรับเป็นเหตุให้ประชาชนออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมใช่หรือไม่ เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่สามารถใช้ได้เป็นการทั่วไปใช่หรือไม่ โดยเฉพาะมาตรา 237 เห็นได้ชัด เพราะเป็นบทบัญญัติให้สามารถยุบพรรคการเมืองจากการที่บุคคลเพียงคนเดียวในพรรคการเมืองกระทำความผิด ซึ่งตามหลักสากลแล้ว “บุคคลที่ไม่ได้กระทำความผิดย่อมไม่ต้องรับโทษ” หลักการเช่นนั้นเป็นธรรมแล้วใช่หรือไม่ นี่ยังไม่นับรวมมาตรา 68 ที่กำลังถกเถียงกันแบบไม่มีทีว่าว่าจะจบสิ้นง่ายๆ แล้วมีเหตุผลใดที่จะไม่แก้กฎหมายสูงสุดที่ประกอบด้วยหลักการที่บิดเบี้ยวเช่นนี้อีก เพื่อให้เป็นที่เข้าใจเนื่องจากมาตรา 291 เปิดให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตราดังกล่าวจะต้องกระทำผ่าน “รัฐสภา” เท่านั้น จากการแก้มาตรา 291 ที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมจำนวนหลายมาตราไม่สามารถทำได้โดยกลไกรัฐสภา ดังนั้นจึงต้องแก้มาตรา 291 ไปก่อนเพื่อตั้ง ส.ส.ร. มาแก้ทั้งฉบับ ซึ่งหากศาลชี้ว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือจะต้องกลับมาแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ที่ระบุว่า “ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม.. ให้สภาพิจารณาเป็นสามวาระ” จากการสังเกตการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในช่วงเดือนที่ผ่านมาอาจจะกล่าวได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับด้วยวิธีนี้อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 5-36 ปี (ขึ้นอยู่กับว่าแก้จำนวนกี่มาตรา) ในเวลานี้เป็นขั้นตอนของการรับร่างฯ วาระ 3 ของ ซึ่งการแก้ไขมาตรา 291 มาตราเดียวยังทำให้บ้านเมืองวุ่นวายได้ถึงเพียงนี้ แล้วอย่างไรต่อไป ด้วยเหตุผลประการทั้งปวง ผู้เขียนจะขอเรียกร้องที่รัฐสภาจะเพิกเฉยต่อคำสั่งศาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ และ/หรือตอบโต้ด้วยการชี้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ และทำหน้าที่ของรัฐสภาต่อไป เพราะหากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ไม่ได้รับการแก้ไข ความขัดแย้งจะยิ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่มีวันจบสิ้น แม้มีนักวิชาการบางท่านมีความเห็นตรงกันว่าไม่ควรปฏิบัติตามแต่เสนอให้รัฐสภารอจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แล้วระหว่างเวลาดังกล่าวจะต้องทำอย่างไรในเมื่อมีคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องมีหนังสือชี้แจงภายใน 15 วัน หากรัฐสภาทำหนังสือชี้แจงตามที่ศาลได้มีคำสั่งมานั้นและ/หรือไม่ดำเนินการลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 การกระทำดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นการยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้โดยนัยแล้วหรือไม่ เพราะการกระทำการใดที่เป็นการแสดงออกถึงการยอมรับว่าอำนาจดังกล่าวมีอยู่จริง ทั้งที่ไม่มีอยู่จริง จะถือเป็นการสถาปนาอำนาจนอกรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่หรือไม่ ถือเป็นการทำลายกลไกการปกครองระบอบประชาธิปไตย หลักการแบ่งแยกอำนาจ และเป็นการสร้างบรรทัดฐานขึ้นในสังคมไทย เพราะการไม่ปฏิเสธและไม่ตอบโต้เท่ากับเป็นการยอมรับ ซึ่งอาจจะถูกนำมาสร้างเป็นบรรทัดฐานต่อไปได้ เมื่อพิจารณาแล้วว่าการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่ไม่ชอบตามกฎหมายจริง เช่นนี้ ประชาชนควรออกมาแสดงพลัง/แสดงความคิดเห็นให้มากว่าอำนาจที่แท้จริงเป็นของประชาชน อำนาจตรวจสอบรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน อย่าให้นักกฎหมายเพียงไม่กี่คนมาทำอะไรที่ลิดรอนอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยอีก กรณีการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงถือเป็นอภิมหากาพ์ที่อาจจะไม่จบลงง่ายๆ จนกว่ามีีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพ่ายแพ้กันไปในที่สุด ที่สำคัญเนื้อเรื่องตอนต่อไปฝ่ายประชาชนจะพ่ายแพ้ต่ออำนาจตุลาการเพื่อให้เกิดการสถาปนาอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยอย่างสมบูรณ์ หรือจะเป็นการช่วงชิงจังหวะจากการเพลี่ยงพล้ำเองของผู้มีอำนาจเพื่อการประกาศชัยชนะของประชาชน ตัวเล่นสำคัญที่จะทำให้เรื่องราวพลิกผันต่อไปหาใช่ใครอื่นแต่คือคนไทยทุกคนที่จะร่วมกันต่อสู้บนเส้นทางประชาธิปไตยเส้นนี้ ส่วนบทสรุปจะลงเอยอย่างไรคงต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 09 Jun 2012 05:47 AM PDT ทรู ออกเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมกรณีปัญหาถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ผิดหวังแกรมมี่จำกัดสิทธิ์ ระบุทรูได้ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก ก็ไม่จำกัดสิทธิ์ในกรณีที่ให้สิทธิ์ฟรีทีวีเผยแพร่ เรียกร้องให้ ภาครัฐ/กสทช. สร้างความชัดเจนและสร้างมาตรฐานต่อฟรีทีวีให้เผยแพร่รายการที่ไม่จำกัดสิทธิ์คนดูในทุกระบบ ยันยังเจรจาต่อรู้ผลต้นสัปดาห์นี้ ที่มาภาพ: แคปเจอร์จาก http://www3.truecorp.co.th/truevisions/coverpage 9 มิ.ย. เวลา 19.30 น. 9 มิ.ย. 55 - บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด ออกเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมกรณีปัญหาถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ในช่องฟรีทีวีที่ดูผ่านทรูวิชั่นส์ไม่สามารถรับชมได้ ว่า ต้องขออภัยผู้ชมในระบบของทรูวิชั่นส์ที่ไม่สามารถรับชมฟุตบอลยูโร 2012 ผ่านช่องฟรีทีวี 3, 5, 9 ที่ถ่ายทอดผ่านระบบของทรูวิชั่นส์ได้ เนื่องจากการระงับการเผยแพร่จากช่องฟรีทีวี 3, 5, 9 ตามข้อตกลงกับผู้ถือลิขสิทธิ์ (บริษัท GMM Grammy) โดยจำกัดสิทธิ์การถ่ายทอดต่อ หรือ rebroadcast ฟุตบอลยูโร ไม่ให้เผยแพร่ในทุกระบบทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ชมจะรับชมบอลยูโรบนฟรีทีวีโดยผ่านระบบเสาสัญญาณ หนวดกุ้ง หรือระบบคลื่นสัญญานแนวราบ (terrestrial tv) เท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างทำให้ผู้ชมในระบบดาวเทียมกว่าสิบล้านครัวเรือนไม่สามารถรับชมได้ ทรูวิชั่นส์ มีความรู้สึกผิดหวังต่อการจำกัดสิทธิ์ของฟรีทีวีในครั้งนี้ เพราะตลอดมานั้นไม่เคยมีการจำกัดสิทธิ์สาธารณชน ในการเผยแพร่ในกรณีช่องฟรีทีวีมาก่อน ผู้ชมในระบบจานหรือเคเบิลต่างๆ สามารถรับชมการส่งต่อการเผยแพร่รายการถ่ายทอดสด ฟุตบอลยูโร หรือ ฟุตบอลอื่นบนช่องฟรีทีวีได้ ในอดีต ตามที่ ทรูวิชั่นส์ เป็นผู้ถือสิทธิ์ English Premier League ก็ไม่จำกัดสิทธิ์ในกรณีที่ให้สิทธิ์ฟรีทีวีเผยแพร่ เพราะตระหนักดีว่าช่องฟรีทีวีเป็นระบบเปิดที่เป็นสิทธิ์ที่สาธารณชนพึงได้รับชมไม่ว่าบนระบบอะไรก็ตาม ด้วยสาเหตุนี้ ที่ผ่านมาทรูวิชั่นส์จึงมิได้มีการเจรจา หลังจากทราบว่าผู้ถือสิทธิ์ได้ให้สิทธิ์กับฟรีทีวีไปแล้ว เพราะเข้าใจว่าเมื่อถ่ายทอดผ่านฟรีทีวีแล้ว ก็สามารถแพร่ภาพต่อได้โดยเสรีดังที่ยึดปฏิบัติกันมาในสากล ทรูวิชั่นส์ต้องการเรียกร้องให้ ภาครัฐ/กสทช สร้างความชัดเจนและสร้างมาตรฐานต่อฟรีทีวีให้เผยแพร่รายการที่ไม่จำกัดสิทธิ์คนดูในทุกระบบ ตลอดจนสร้างมาตรฐาน ต่อผู้ถือลิขสิทธิ์ในการให้สิทธิ์ต่อฟรีทีวี โดยมิให้จำกัดสิทธิ์ในการเผยแพร่ต่อจากฟรีทีวี ทั้งนี้ ทรูวิชั่นส์ ก็ยังใช้ความพยายามในการเจรจากับเจ้าของลิขสิทธิ์และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อจะสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้เพื่อประโยชน์ต่อสมาชิกทรูวิชั่นส์และผู้บริโภคโดยรวม ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในต้นสัปดาห์นี้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เปิดปากถอดคำ: สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ‘คนกระทรวงทรัพย์ไม่เอาโฉนดชุมชน’ Posted: 09 Jun 2012 05:15 AM PDT เปิดใจอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐตรีนาม “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ผู้ผลักดัน “โฉนดชุมชน” ชนิดเอาการเอางาน แรงต้าน “โฉนดชุมชน” มาจากไหน และอีกหลากหลายข้อสงสัย ในท่ามกลางบรรยากาศการไล่รื้อสาธารณูปโภค และตัดฟันผลอาสินของชาวบ้าน ในพื้นที่เตรียมการโฉนดชุมชนบนเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง คำถามต่างๆ ก็ตามมา โดยเฉพาะคำถามในประเด็นการเมืองที่ว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการดิสเครดิตพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ผูกขาดพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดตรังที่เป็นถิ่นของ “ชวน หลีกภัย” หรือจะเป็นเพราะพื้นที่นี้ เป็นพื้นที่ของอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐตรีนาม “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ผู้ผลักดัน “โฉนดชุมชน” ชนิดเอาการเอางาน และอีกหลากหลายข้อสงสัย คำถามและข้อสงสัยทั้งหมด มีคำตอบจาก “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ดังต่อไปนี้
สาเหตุกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตัดฟันผลอาสินของชาวบ้านในพื้นที่เตรียมการออกโฉนดชุมชนบนเทือกเขาบรรทัดมาจากอะไร ตอใหญ่ที่สุดคือคนส่วนมากในกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ไม่เห็นด้วยกับนโยบายโฉนดชุมชนตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เห็นได้ชัดว่าในช่วงที่เราจัดทำร่างนโยบายโฉนดชุมชน ได้ยินเสียงติติงไม่เห็นด้วยจากคนในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก เพราะแนวคิดโฉนดชุมชนเป็นแนวคิดใหม่ หนึ่ง คนในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมองว่า เป็นการนิรโทษกรรมให้ชาวบ้านที่เข้าไปบุกรุกป่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ หรือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องการให้ยึดถือหลักฐานของทางราชการเป็นหลัก ถ้าจะพิสูจน์ว่าอยู่มาก่อนอุทยานแห่งชาติประกาศทับที่ดินทำกิน ชาวบ้านจะต้องมีหลักฐาน ขณะที่ชาวบ้านต่อสู้ด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ร่องรอยการทำประโยชน์ต่างๆ ซึ่งมักจะแพ้คดีในศาล สอง คนในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลัวว่า ถ้าทำโฉนดชุมชนไปแล้วจะเป็นการเปิดทางให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อขอโฉนดชุมชนต่อไปเรื่อยๆ จริงๆ ตรงนี้เราพยายามอธิบายว่า แนวคิดโฉนดชุมชนไม่ใช่การนิรโทษกรรม ถึงแม้จะออกโฉนดชุมชนไปแล้ว ที่ดินยังเป็นของรัฐอยู่เหมือนเดิม คนที่เข้าไปครอบครองได้เฉพาะสิทธิ์ทำกิน และคุ้มครองให้เฉพาะการทำเกษตรเท่านั้น ที่ดินจะเอาไปจำนอง จำนำ ถ่ายโอนใดๆ ไม่ได้ ไม่มีกรรมสิทธิ์เป็นของส่วนตัว เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของชุมชน เจ้าหน้าที่อุทยานฯ มักจะแย้งว่ากรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้มีนโยบายอยู่แล้ว เช่น ออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (สปก.) เราบอกว่านโยบายเหล่านั้นมันล้มเหลว เพราะชาวบ้านได้กรรมสิทธิ์ในเชิงปัจเจก สุดท้ายเมื่อทำมาหากินไประยะหนึ่งก็จะขายสิทธิ์ของตัวเอง ก่อให้เกิดการบุกรุกป่าต่อไปอีก จิตสำนึกในการดูแลพื้นที่ไม่มี ขณะที่โฉนดชุมชนบังคับให้ชุมชนดูแลที่ดิน ใครคนใดคนหนึ่งออกจากที่ดินก็เป็นสิทธิ์ของชุมชนที่จะตัดสินว่า จะให้ใครเข้ามาทำกินเป็นคนต่อไป มันแตกต่างกับเอกสารสิทธิที่ให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (สปก.) โดยสิ้นเชิง แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็พยายามคัดค้าน นั่นคือปัญหาที่มีมาตั้งแต่ในชั้นเริ่มนโยบายโฉนดชุมชน เหตุการณ์ครั้งนี้ ผมเข้าใจว่ากลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย อาศัยจังหวะเปลี่ยนรัฐบาลทำให้นโยบายโฉนดชุมชนเกิดความไม่แน่นอน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องโฉนดชุมชนก็เปลี่ยนมาแล้ว 2 คน จากนายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ เป็นนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ออกปฏิบัติการตัดฟันผลอาสินของชาวบ้าน อย่าลืมว่าตอนหาเสียงเลือกตั้งนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ออกมาคัดค้านนโยบายโฉนดชุมชน แต่ปัจจุบันมาเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน นายวรวัจน์เห็นด้วยในการให้กรรมสิทธิ์ที่ดินในลักษณะปัจเจกบุคคล เคยประกาศว่าควรออกเป็นโฉนดที่ดินให้กับปัจเจก เป็นคนที่ผมคิดว่าไม่เข้าใจหลักการโฉนดชุมชน เท่าที่ผมทราบจากเจ้าหน้าที่ในสำนักปลัดนายกรัฐมนตรีว่า ประชุมมาหลายครั้งรัฐมนตรีไม่รู้เรื่องโฉนดชุมชน ต้องให้ชาวบ้านให้ความรู้อยู่เป็นประจำ จังหวะนี้อุทยานฯ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับโฉนดชุมชนมาตั้งแต่ต้น จึงฉวยโอกาสเปิดเกมรุกขึ้นมา นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์ เป็นอีกคนที่ไม่เห็นด้วยกับโฉนดชุมชน จึงมีท่าทีที่แข็งกร้าวในการจัดการกับคนที่อยู่กับพื้นที่ป่ามาตลอด
ทำไมเป้าหมายการปราบปรามขบวนการบุกรุกป่าของกรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงเล็งมาที่เทือกเขาบรรทัด ผมก็แปลกใจ ผมคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ เป็นเพราะชาวบ้านที่อยู่บริเวณเทือกเขาบรรทัด เป็นแกนนำของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ซึ่งมีบทบาทมากในการเรียกร้องนโยบายโฉนดชุมชน และเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง ร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ ทั่วประเทศ อีกทั้งเครือข่ายปฏิรูปเทือกเขาบรรทัด มีปัญหากับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดมาตลอด จนกระทั่งความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในช่วงดำเนินนโยบายโฉนดชุมชน สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประกาศชัดเจนว่าจะเดินหน้านโยบายโฉนดชุมชน เทือกเขาบรรทัดมีการบุกรุกป่ากันมาก การเลือกไปตัดฟันยางพาราในพื้นที่เตรียมการโฉนดชุมชน ทั้งที่เคยมีข้อตกลงในคณะกรรมการระดับชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า พื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่มาก่อนประกาศเขตป่าอนุรักษ์ให้ยุติการจับกุมไว้ก่อน จนกว่าจะจัดการได้ด้วยนโยบายโฉนดชุมชน การเข้าไปจัดการในพื้นที่เตรียมการโฉนดชุมชน ผมมองว่าเป็นการละเมิดข้อตกลง อาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นการเลือกพื้นที่จัดการชาวบ้านการในเชิงสัญลักษณ์ ที่ผมเป็นห่วงคือการนำนายเจิม เส้งเอียด อดีตจอมโจรมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ มองแบบผิวเผินอาจดูว่าดี เป็นการรณรงค์ให้คนรักษาป่า แต่ในทางกลับกันมันเหมือนกับการจัดตั้งมวลชนขึ้นมาปะทะกับชาวบ้าน โดยอาศัยชื่อเสียงของคนที่เคยเป็นโจร ทำให้ชาวบ้านกลัวและหยุดยั้งการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิทำกิน ผมว่านี่เป็นการละเมิดสิทธิชุมชน
เป็นไปได้ไหมว่านโยบายโฉนดชุมชนเกิดขึ้นในยุคประชาธิปัตย์ อีกทั้งจังหวัดตรังก็เป็นเมืองหลวงของพรรค จึงกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายการตัดฟันสวนยางพาราของชาวบ้าน ผมไม่เห็นคำสั่งหรือร่องรอยชัดๆ ว่า เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง หรือว่าเพราะผมเป็นคนผลักดันโฉนดชุมชน เป็นพื้นที่ทางการเมืองของสาทิตย์ ของพรรคประชาธิปัตย์ จะต้องรีบจัดการเสียก่อน เท่าที่ผมรู้ชัดเจนก็คือ รัฐมนตรีที่กำกับดูแลมีความพยายามจะเปลี่ยนชื่อนโยบายโฉนดชุมชนเป็นชื่ออื่น แต่ว่าชาวบ้านไม่ยอม ผมไม่คิดว่าการที่เข้ามาจัดการเป็นเรื่องการเมือง ถ้าข้าราชการทำเอาใจเบื้องบน อันนี้ผมไม่ทราบ ผมว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต้องเป็นผู้ตอบว่าเป็นนโยบายเอาใจนาย หรือนายสั่งให้ทำ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร มันไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน เพราะนโยบายโฉนดชุมชนของรัฐ ควรมีความต่อเนื่อง เพราะการเกิดมาของนโยบายผ่านการกลั่นกรอง ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จนออกมาเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตราบใดที่ยังไม่ยกเลิกระเบียบนี้ รัฐบาลจะต้องปฏิบัติ จริงๆ แล้วผมคิดว่าชาวบ้านฟ้องศาลปกครองได้นะ ฟ้องว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มิชอบ เนื่องจากมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีรองรับนโยบายโฉนดชุมชนชัดเจน เป็นข้อผูกมัดหน่วยงานของรัฐ มีการตกลงความร่วมมือลงนามในเอ็มโอยูกันแล้ว ระหว่างสำนักนายกรัฐมนตรีกับกระทรวงต่างๆ รวมทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนี้คณะกรรมการระดับชาติในการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย ยังมีมติให้พื้นที่ที่มีความขัดแย้งกันอยู่และขอทำโฉนดชุมชน ต้องยุติการดำเนินการใดๆ จนกว่าจะดำเนินการโฉนดชุมชนแล้วเสร็จ
คิดอย่างไรรัฐบาลชุดก่อนถึงได้ดำเนินนโยบายโฉนดชุมชน ทั้งที่รับรู้ว่าข้าราชการในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่เห็นด้วย บอกได้ 2 แนวทางคือ 1. ปัญหาเชิงหลักการ รัฐบาลเห็นว่าปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสำคัญที่สุด จะต้องแก้ไขด้วยเรื่องที่ดินทำกิน เพราะเราเป็นสังคมเกษตร เราศึกษางานวิจัยของบรรดาอาจารย์ทั้งหลายพบว่า ปัจจัยการผลิตคือที่ดินร้อยละ 90 อยู่ในมือของคนไม่เกิน 10% ที่ดินอีกร้อยละ 10 กระจายอยู่ในคน 90% ปี 2547 สมัยรัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร มีการลงทะเบียนคนจน พบว่าประมาณ 4 ล้านกว่าครัวเรือน ไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง ปัจจัยนี้ไปสอดคล้องกับคนที่อยู่ในพื้นที่ป่า ไม่ว่าในเขตอุทยานฯ เขตป่าไม้ฯ ที่ดินของกระทรวงต่างๆ รวมถึงที่ดินของรัฐวิสาหกิจ อันเนื่องมาจากไม่มีที่ดินทำกินประมาณ 10 ล้านไร่ ประมาณ 1 ล้านครัวเรือน เฉลี่ยครัวเรือนละ 10 ไร่ ในจำนวนนี้รวมทั้งประกาศพื้นที่ป่าบุกรุกที่ดินทำกินของคน เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่มาก่อนประกาศเขตอุทยานฯ อยู่มาก่อนประกาศเขตป่า กับพื้นที่ที่คนไร้ที่ทำกินบุกเข้าไปอยู่ในที่ที่ไม่ใช้ประโยชน์ในเชิงป่าไม้แล้ว หรือทำกินมายาวนานแล้ว เช่น อุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า ก็มีชุมชนทับเขือ–ปลักหมู ที่เห็นร่องรอยทำกินมานานแล้วชัดเจน หลักในการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายของรัฐก็คือ เราจะเอาคนพวกนี้ไปไว้ที่ไหน ถึงจะขับไล่ออกมาได้ เราก็ไม่มีพื้นที่ใหม่ให้เขาไปอยู่ สุดท้ายก็กลับมาเป็นภาระของรัฐ เรามาคิดต่อว่าถ้าใช้นโยบายแก้ปัญหาแบบเดิมคือให้สิทธิกับปัจเจก สุดท้ายรัฐก็ไม่ได้เข้าไปส่งเสริม เมื่อไปไม่รอดก็เจ้าของสิทธิ์ในที่ดินก็จะขายสิทธิ์ แล้วกลับบุกรุกป่ากันต่อ เพราะฉะนั้นกรรมสิทธิ์ร่วมในรูปของโฉนดชุมชน เลยเป็นแนวทางที่คิดว่าน่าจะแก้ไขปัญหาได้ 2. ในทางประวัติศาสตร์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เคลื่อนไหวเรื่องที่ดินทำกินมานานแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี พูดว่าในเมื่อพวกเขาเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล ไม่ต้องปิดประตูทำเนียบฯ เปิดประตูพูดคุยกัน มีการจัดตั้งกรรมการระดับชาติ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเอง ในการพูดคุยกันมีปัญหาหลากหลายมาก ในที่สุดเราก็ยกแนวทางโฉนดชุมชนขึ้นมาใช้แก้ไขปัญหา แล้วแต่งตั้งให้ผมเป็นอนุกรรมการไปจัดทำ นี่เป็นที่มาของการศึกษา และในที่สุดก็ตกลงยกระดับขึ้นเป็นนโยบาย ออกประกาศเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากโฉนดชุมชนแล้ว เราจะมีธนาคารที่ดินเป็นเครื่องมือสนับสนุนเงินทุนให้กับคนที่อยู่ในที่ดินของรัฐ เพราะที่ดินไม่สามารถนำไปจำนองจำนำได้ ธนาคารที่ดินจะต้องมีเงินไปจัดซื้อจัดหาที่ดินทำเป็นโฉนดชุมชน ปลายสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ เรายกธนาคารที่ดินให้เป็นองค์การมหาชน รวมทั้งกฎหมายภาษีทรัพย์สินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าสำหรับคนที่มีที่ดินแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ นำเงิน 2% ดังกล่าวไปไว้ในธนาคารที่ดิน กฎหมายถูกเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ในช่วงปลายของรัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่หยิบขึ้นมาพิจารณา ล่าสุดนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังยับยั้งกฎหมายภาษีทรัพย์สินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่นำเข้าพิจารณาในสภาฯ ส่วนธนาคารที่ดิน เราได้ผลักดันเป็นองค์การมหาชน จัดตั้งเสร็จออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อย ตอนปลายรัฐบาลประชาธิปัตย์ เราแต่งตั้งคนขึ้นมารับผิดชอบไม่ได้ เพราะติดช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าจะจัดตั้งต้องผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน ก็ไม่สะดวก เรื่องนี้รัฐบาลปัจจุบัน จะต้องไปจัดตั้งผู้รับผิดชอบตามพระราชกฤษฎีกาภายในเวลาที่กำหนด แต่บัดนี้เลยเวลาไปแล้ว เท่าที่ผมทราบตอนนี้เรื่องถูกเสนอไปยังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และถูกเก็บดองเอาไว้จนบัดนี้
ดูเหมือนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับนโยบายโฉนดชุมชนของชาวบ้านยังมีหนทางอีกยาวไกล ผมว่าภายใต้รัฐบาลชุดนี้ โฉนดชุมชนไม่มีอนาคต แต่ถ้าพูดให้เป็นธรรมกับชาวบ้านรัฐบาลชุดนี้ควรประกาศนโยบายให้ชัดว่ามีนโยบายต่อคนกลุ่มนี้อย่างไร มันไม่เป็นธรรมกับชาวบ้านหากไม่เดินหน้านโยบายโฉนดชุมชน ชาวบ้านเขามองรัฐไม่ใช่มองตัวบุคคล เมื่อรัฐมีนโยบายสาธารณะออกมาแล้วก็ต้องเดินต่อ บัดนี้รัฐบาลยังไม่ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องโฉนดชุมชน รัฐบาลยังไม่ยกเลิกสำนักงานโฉนดชุมชน รัฐบาลยังไม่ยกเลิกงบประมาณ ซึ่งตั้งเอาไว้ในการจัดจ้างบุคลากรในสำนักงานโฉนดชุมชน รัฐบาลยังไม่มีงบประมาณดำเนินการโฉนดชุมชน ที่ตั้งเอาไว้ ในปีงบประมาณปี 2554 และ 2555 ผมจะคอยดูงบประมาณปี 2556 ว่า รัฐบาลจะตั้งงบประมาณไว้อีกหรือไม่ สำหรับพื้นที่โฉนดชุมชนที่ประกาศไปแล้วมี 2 แห่ง สถานะทางกฎหมายครบถ้วนคือ คลองโยง จังหวัดนครปฐม กับชุมชนแม่อาว จังหวัดลำพูน มีงบประมาณที่อนุมัติให้ซื้อที่ดินต่อเนื่องอีก 150 ล้านบาท สำหรับทำโฉนดชุมชนแม่อาว และมีเงินอีก 1,000 กว่าล้านบาท ที่อนุมัติไว้แล้วสำหรับซื้อที่ดินจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) 25 แห่ง เพื่อนำมาจัดสรรเป็นโฉนดชุมชน ซึ่งไม่มีความคืบหน้าในรัฐบาลนี้แต่อย่างใด ถ้าถึงเวลาที่เหมาะสมผมจะถามรัฐบาลว่า จะดำเนินการต่อแบบไหน
สังคมหล่อหลอมให้คนยอมรับสิทธิในเชิงปัจเจก อาทิ โฉนดที่ดิน สปก. ฯลฯ เมื่อให้ใช้สิทธิร่วมกันเป็นโฉนดชุมชน จะไม่สร้างความขัดแย้งภายในชุมชนหรือ ดูตัวอย่างจากพื้นที่โฉนดชุมชนทั้ง 2 แห่ง ยังไม่พบความขัดแย้งภายในชุมชน พื้นที่โฉนดชุมชนสหกรณ์คลองโยง จังหวัดนครปฐม ผมไปร่วมงานวันครบรอบ 1 ปี ที่ได้โฉนดชุมชน หลังจากได้โฉนดชุมชนไปแล้ว เขาผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ปรากฎว่ากระบวนการชุมชนมีความรักสามัคคี มีการคิดโครงการธนาคารพันธุ์พืชของชุมชนโฉนดชุมชน สำหรับให้ทุกครัวเรือนจัดสรรปันส่วนรับมือน้ำท่วมปีต่อไปทันที ข้อพิสูจน์ประการหนึ่งก็คือ คนที่ได้โฉนดชุมชนคือคนที่ไม่มีอนาคตเรื่องที่ดินมาก่อน เมื่อได้จากการประเมิน หลักเกณฑ์ข้อหนึ่งในการให้โฉนดชุมชนก็คือชุมชนต้องเข้มแข็ง ถ้าชุมชนไม่เข้มแข็งเราจะไม่ให้โฉนดชุมชน ต้องกลับไปสร้างกระบวนการชุมชนใหม่ สร้างกฎเกณฑ์กติกาภายในชุมชนใหม่ ชุมชนแม่อาว ถือว่าเป็นต้นแบบของพื้นที่โฉนดชุมชนของประเทศไทย แม้จะได้เป็นลำดับที่ 2 ต่อจากสหกรณ์คลองโยง แม่อาวพิสูจน์ให้เราเห็นหลังจากลงไปเยี่ยม 2 ครั้ง พบว่าแม่อาวไม่มีความขัดแย้งภายใน จากการได้รับโฉนดชุมชน การรับโฉนดชุมชนมาจากการยินยอมพร้อมใจเป็นเอกฉันท์ของชุมชน มาจากคนที่จนตรอกเรื่องที่ดินทำกิน
ถ้าเกิดความขัดแย้งภายในชุมชน ชาวบ้านจะกลับสู่สถานะดั้งเดิม ถูกยึดโฉนดชุมชนคืน กลับสู่สถานะผู้บุกรุก นี่คือข้อตกลง ประเด็นที่เห็นได้ชัดว่า โฉนดชุมชนเป็นที่ยอมรับอย่างมากก็คือ มีการยื่นขอโฉนดชุมชนจากทั่วประเทศเกือบ 600 ชุมชน คิดเป็นเนื้อที่นับหมื่นไร่ กว่า 4 แสนครัวเรือน ตอนนั้นคณะกรรมการฯ ทำงานกันไม่หวาดไม่ไหว จังหวัดน่านยื่นขอโฉนดชุมชนมากที่สุด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านบอกว่า นี่คือทางออกเดียวที่มี ไม่งั้นชาวบ้านกับรัฐพิพาทกันตลอดเวลา
ในฐานะฝ่ายค้านจะดำเนินการเรื่องโฉนดชุมชนอย่างไร สิ่งที่ผมพยายามทำ 1. พยายามสร้างความเข้าใจกับฝ่ายนโยบาย ผมมีโอกาสคุยกับคนวงในรัฐบาลหลายคน ผมชี้ให้เห็นถึงข้อดีของโฉนดชุมชน ดูเหมือนเขาเข้าใจแต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ผมไม่รู้ว่าใครมีอำนาจตัดสินใจ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก 2. เราผลักดันผ่านทางกรรมาธิการฯ ผมได้พูดคุยเรื่องโฉนดชุมชน ในกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาที่ดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็นั่งอยู่ แต่ท่านไม่เคยแสดงความคิดเห็นอะไรเลย
กรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาที่ดิน เข้าใจเรื่องโฉนดชุมชนหรือไม่ มีคนเข้าใจ แต่ก็เสียงคนจากรัฐบาลบางคนไปไกลกว่านั้น บอกว่าอย่าออกโฉนดชุมชน ให้โฉนดที่ดินไปเลย เขาไม่เข้าใจหลักการ ถ้าให้โฉนดที่ดินไปเลยก็จบกัน ผมพยายามชี้แจงตลอดว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการเอาที่ดินของรัฐไปออกเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินให้คนบุกรุกป่า ในเมื่อที่ดินตรงนั้นรัฐไม่สามารถเอาคืนมาได้ ก็ให้ชาวบ้านทำการเกษตร ให้เขาทำกิน โดยมีเงื่อนไขจะต้องดูแลสิ่งแวดล้อม จำกัดเขตการใช้ประโยชน์ ไม่ให้บุกรุกป่าเพิ่ม สร้างชาวบ้านให้เป็นมวลชนที่มีจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติ รักษ์ป่าไม้ ถ้าขับไล่ชาวบ้านออกไปก็ไม่มีที่ให้เขาอยู่ เจ้าหน้าที่รัฐใช้เวลาที่รัฐมาไล่จับชาวบ้าน ขณะที่ขบวนการตัดไม้ทำลายป่าไม่เคยหยุด ขบวนการใหญ่ๆ ทั้งนั้น
จะแนะนำชาวบ้านให้ต่อสู้เรื่องโฉนดชุมชนอย่างไร ผมจะพยายามไปพบชาวบ้าน เพราะเห็นว่ามีที่พึ่งอยู่ 3 กระบวนการคือ 1. การรุกไปทำความเข้าใจกับคนของรัฐ ต้องไปทำความเข้าใจกับฝ่ายนโยบาย เช่น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินระดับชาติ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลนโยบายโฉนดชุมชน และรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผมคิดว่าจำเป็นที่จะต้องไปยื่นหนังสือ ไปขอพบทำความเข้าใจ ไปชี้แจงเกี่ยวกับโฉนดชุมชน อันนี้จำเป็นมาก 2. ถ้ามีการละเมิดข้อตกลง ละเมิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ละเมิดเอ็มโอยูที่ลงนามร่วมกับกระทรวงต่างๆ ระหว่างรัฐต่อรัฐ ชาวบ้านต้องพึ่งศาลปกครอง ไม่มีทางเลือกอื่น มีคดีบางคดีที่ศาลให้ชะลอการลงโทษ ในกรณีที่จำเลยถูกฟ้องบุกรุกป่า อ้างว่ากำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการขอโฉนดชุมชน สุดท้ายศาลก็ชะลอให้ เพื่อรอผลการสืบข้อเท็จจริง 3. ผมคิดว่าชาวบ้านต้องรวมตัวกันของชาวบ้าน ผลักดันผ่านช่องทางที่จำเป็น เช่น กรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร ผู้ตรวจการแผ่นดิน รัฐสภา และช่องทางอื่นๆ
การที่แกนนำสำคัญเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ที่พยายามผลักดันนโยบายโฉนดชุมชนบางคนอยู่ในจังหวัดตรัง ทำให้รัฐบาลเกิดความระแวงหรือไม่ ก็อาจเป็นไปได้ แต่คงจะไม่ทุกคน จริงๆ แล้วคนที่ทำงานในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประทศไทย ก็มีคนจากกรุงเทพฯ มาจากสลัม 4 ภาคก็มี จากภาคเหนือก็มี จากภาคอีสานก็มี คนเหล่านี้อยู่ในคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนด้วย ถ้ารัฐบาลคิดว่าภาคใต้ หรือจังหวัดตรังคือพื้นที่พรรคประชาธิปัตย์ ผมว่ามันเป็นวิธีคิดที่ไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน เพราะรัฐบาลกำลังใช้อคติทางการเมืองมาตัดสินความชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ละเมิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งออกโดยรัฐ ละเมิดมติคณะรัฐมนตรีซึ่งออกโดยรัฐ ละเมิดเอ็มโอยูซึ่งรัฐเป็นผู้ลงนาม รัฐบาลทำไม่ได้
พัฒนาการของโฉนดชุมชนมาถึงวันนี้ เป็นอย่างไร ผมพอใจนะครับ พื้นที่ที่ได้โฉนดชุมชนไปแล้วมีความก้าวหน้าในเชิงการจัดการที่ดิน เป้าหมายหนึ่งที่วางเอาไว้ของโฉนดชุมชนก็คือ โฉนดชุมชนควรเป็นแค่วิธีการ แต่เป้าหมายจริงๆ คือการรวมตัวกันของชุมชนในการจัดการพื้นที่ของตัวเอง ทั้ง 2 แห่ง ได้ผลลัพธ์ที่ลงตัวในการรวมตัวของชุมชนในการจัดการพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งหลักการนี้เมืองไทยไม่เคยปรากฏมาก่อน จริงๆ แล้วที่คลองโยง เราถึงขั้นไปริเริ่มไว้เลยว่า ถ้าให้ชุมชนอยู่กันเองแล้วรัฐไม่ส่งเสริม เช่น สาธารณูปโภคก็ดี อาชีพก็ดี ช่องทางการตลาดของภาคเกษตรก็ดี เขาอยู่ไม่ได้ วันที่เราไปเยี่ยมพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง เราจึงจัดสัมมนาร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดให้นำแผนพัฒนาพื้นที่โฉนดชุมชน มาร่วมกับแผนพัฒนาจังหวัด เนื่องจากมีงบพัฒนาจังหวัดอยู่แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมขณะนั้นก็เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็น คลองโยงวางตัวเองเป็นชุมชนเกษตรอินทรีย์ สิ่งที่เขาต้องการคือตลาดขายพืชผักเกษตรอินทรีย์ วันนี้เขาเดินได้ดี พื้นที่แม่อาวก็เช่นกัน ผมเห็นพัฒนาการทั้ง 2 แห่ง ผมเสียดายที่พื้นที่อื่นๆ ไม่ทันได้เดินเต็มรูปแบบ ถ้าได้เดินเต็มรูปแบบทุกจังหวัด ทั้งแผนพัฒนาชุมชน แผนพัฒนาโฉนดชุมชน แผนพัฒนาจังหวัด จะมีส่วนเกื้อหนุนกันและกัน ผมว่าตรงนี้จะตอบโจทย์ได้ว่า เมื่อได้ที่ดินไปแล้วชาวบ้านจะไม่ทิ้งที่ดินทำกินก็ต่อเมื่อที่ดินทำกินตรงนั้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเขา ถ้ารัฐบาลทอดทิ้งชาวบ้านตามยถากรรม เหมือนกับที่ให้เอกสารสิทธิ์ สปก. วันหนึ่งที่ดินก็หลุดมือ พื้นที่ป่าก็หมด. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คดีเขาคูหา ‘ชาวบ้าน-เหมืองหิน’ รับตั้งอนุญาโตตุลาการร่วมแก้บ้านแตกร้าว Posted: 09 Jun 2012 04:31 AM PDT ศาลสงขลาไกล่เกลี่ยคดีชาวบ้านเขาคูหาฟ้อง 2 บริษัทเหมืองหินทำบ้านแตกร้าว เสนอตั้งอนุญาโตตุลาการร่วมประเมินผลกระทบชดใช้ค่าเสียหาย โจทก์-จำเลยตอบรับ ศาลนัดทำสัญญา-เสนอชื่อ19 กรกฎาฯ นี้ เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 มิถุนายน 2555 ที่ห้องพิจารณาคดี 209 ศาลจังหวัดสงขลา นายไพโรจน์ ไพมณี ผู้พิพากษานัดไกล่เกลี่ยคดีหมายเลขดำ พ.1280/53 ระหว่างว่าที่ร้อยตรีหญิง นฤมล จันทสุวรรณ์ และนางประดวง จันทสุวรรณ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทพีรพลมายนิ่ง จำกัด และบริษัทแคลเซียม ไทยอินเตอร์ จำกัด ความผิดฐานละเมิดและทำให้เสียทรัพย์จากการประกอบกิจการเหมืองหินเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา โดยมีโจทก์และจำเลยทั้ง 2 ฝ่าย ชาวบ้านเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา และชาวบ้านที่รับผลกระทบร่วมรับฟังประมาณ 40 คน นางสาวส. รัตนมณี พลกล้า ทนายความฝ่ายโจทก์จากศูนย์ศึกษาชุมชน เปิดเผยว่า จากการที่ชาวบ้านที่ได้รับความเสียหาย 81 คน ประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นมีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 12 ล้านบาท ปรากฏว่าบริษัทพีรพลมายนิ่งฯ และบริษัทแคลเซียม ไทยอินเตอร์ฯ ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของชาวบ้าน และชาวบ้านก็ไม่เห็นด้วยหากบริษัททั้ง 2 ดำเนินการประเมินเอง นางสาวส. รัตนมณี เปิดเผยอีกว่า นายไพโรจน์ ไพมณี ผู้พิพากษาจึงเสนอให้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ด้วยการให้ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยเสนอชื่อคณะอนุญาโตตุลาการ ฝ่ายละ 3 คน รวมเป็น 6 คน แล้วค่อยให้คณะอนุญาโตตุลาการเสนอชื่อประธานอนุญาโตตุลาการ 1 คน รวมทั้งสิ้น 7 คน ประเมินผลกระทบจากสัมปทานเมืองหิน แล้วชดใช้ค่าเสียหายตามจริง ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายก็เห็นด้วย “ผู้พิพากษาจึงนัดฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยอีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 เพื่อร่วมทำสัญญาที่จะเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ และเสนอชื่อคณะอนุญาโตตุลาการ ฝ่ายละ 3 คน แล้วพิจารณาร่วมกันถึงความพึงพอใจกันทั้ง 2 ฝ่ายประเมินผลกระทบจากสัมปทานเมืองหิน แล้วชดใช้ค่าเสียหายต่อไป” นางสาวส. รัตนมณี ระบุ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เสื้อแดงออสเตรเลียชี้ฟ้องตุลาการศาล รธน. ด้วย กม.อาญา ม.157 Posted: 09 Jun 2012 04:16 AM PDT กลุ่มพลังประชาธิปไตยไทยในออสเตรเลีย ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ระบุให้มีการรณรงค์ทั่วประเทศ เพื่อการยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ร่วมออกคำสั่งทั้งหมด และรวมทั้งการฟ้องร้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 9 มิ.ย. 55 - กลุ่มพลังประชาธิปไตยไทยในออสเตรเลีย ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ...
พลังประชาธิปไตยไทยในออสเตรเลีย แถลงการณ์ฉบับที่ 1
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎเห็นอย่างแจ้งชัด จากการเสนอข่าวของสื่อสาธารณะทุกแขนงในและนอกประเทศ บ่งชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้ขบวนการผู้ไม่ยอมรับแนวทางระบอบประชาธิปไตยที่สังคมกำหนด ประกอบด้วยกลุ่มและคณะบุคคลที่อยู่ในและนอกรัฐสภา นักการทหารอำนาจนิยม นักการเมืองผู้ไม่ยอมรับมติประชาชนสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายค้าน องค์กรฝ่ายตุลาการ ใช้เงื่อนไขที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติในนามรัฐสภา ดำเนินตามขอบเขตอำนาจของกฎหมายรัฐธรรมนุญที่บัญญัติไว้ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ร่วมแบ่งหน้าที่สร้างสถานะการณ์โดยเจตจำนงหยุดยั้งมิให้ขบวนการประชาธิปไตยทางรัฐสภา สามารถทำหน้าทีและดำเนินการต่อไปได้ การแสดงเจตนาด้วยการขัดขวาง การข่มขู่และใช้กำลังของขบวนการ รวมทั้งการใช้อำนาจตุลาการออกคำสั่ง (มิใช่คำวินิฉัยตามมาตรา 68) ก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติโดยมิชอบของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนุญนั้น เป็นการร่วมกันแสดงเจตจำนงที่ไม่เป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตย เพื่อการให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยการรัฐประหารด้วยกฎหมายของตุลาการ ดังนั้น เพื่อขจัดการรัฐประหารทุกรูปแบบให้พ้นไปจากสังคมไทย และเพื่อมิให้ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ใช้อำนาจตุลาการ หรืออำนาจอื่นนอกระบบปล้นอำนาจไปจากประชาชนอีกต่อไป เราจึงขอเรียกร้องต่อสังคมไทย พรรคเพื่อไทย ให้พร้อมใจยืนหยัดแสดงออกให้ถึงที่สุดในครั้งนี้เพื่อ 1. ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถอนคำสั่งที่สั่งการต่อรัฐสภาและให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการตามครรลองที่บัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 68 อย่างเที่ยงตรง และแสดงการรับผิดชอบด้วยการลาออกทั้งคณะ 2. ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ถอนคำสั่งหรือไม่ปฎิบัติตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ลาออก ให้มีการรณรงค์ทั่วประเทศ เพื่อการยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ร่วมออกคำสั่งทั้งหมด และรวมทั้งการฟ้องร้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 3. ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะถอนคำสั่งหรือไม่ เราขอสนับสนุนให้ขบวนการรัฐสภายึดมั่นต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งบัญญัติให้อำนาจไว้ โดยไม่ต้องเกรงกลัวอำนาจเถื่อนนอกระบบ และเพื่อจะไม่ตกเป็นจำเลยที่ถูกกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 พี่น้องร่วมอุดมการณ์และพรรคเพื่อไทยอุดมการณ์ประชาธิปไตยพึงตระหนัก ขบวนการประชาธิปไตยอาจจะยังไม่ได้รับชัยชนะเด็ดขาดด้วยพลังมวลชนในและนอกสภาต่อขบวนการเผด็จการอนุรักษ์นิยมที่ใช้นำโดยตุลาการในครั้งนี้ แต่การผนึกกำลังทั้งหมดจะเป็นพลังผลักดันสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะแน่นอนบนแนวรบ "ยุติธรรมวิกฤตศรัทธา" ซึ่งจะแข็งแรงขึ้นในสังคมผู้ยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตยและความยุติธรรมในและนอกประเทศ พี่น้องคนไทยและพี่น้องออสเตรเลียในหลายสาขาภาคส่วน จึงขอประกาศร่วมเป็นผู้เสริมแนวรบขึ้นยืนเคียงข้างต่อสู้กับพี่น้องคนไทยทุกคน เพื่อการปลดปล่อยประเทศไทยให้หลุดพ้นวงจรอุบาทว์นี้ด้วยเช่นกัน
ด้วยจิตศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยและความยุติธรรม
อนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ระบุไว้ว่าผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่รับคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายกรณีตากใบ Posted: 09 Jun 2012 03:52 AM PDT เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 55 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ใน กรณีญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบจำนวน 34 คน ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายของศาลจังหวัดสงขลา เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้อง ผู้ร้องจึงได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญา โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่า “ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ว่า ศาลอาญามีอำนาจพิจารณาคดีนี้หรือไม่ เห็นว่าศาลจังหวัดสงขลารับคดีไว้และทำการพิจารณาพิพากษาไปแล้ว นางสาวมัสตะกับพวกจึงมาคำร้องต่อศาลอาญา ซึ่งกรณีเช่นนี้ศาลอาญาจึงไม่อาจรับคดีไว้พิจารณาได้อีก เป็นการต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2535 มาตรา 15 ที่ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้อง ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของนางสาวมัสตะ กับพวกรวม 34 คน ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ” คดีนี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งในคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพหรือคดีไต่สวนการตายกรณีผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 78 คน โดยศาลจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งว่า ผู้ตายทั้ง 78 คน เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ญาติผู้เสียชีวิตเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นไปโดยถูกต้อง และไม่เป็นธรรม ตามรัฐนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ม. 3 , 27, 28, 32, 197 กติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 2, 6, 7, 14 และไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา ม.150 เนื่องจากหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่กรณีผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ตากใบนี้ เมื่อรับฟังจากคำให้การพยานในคดีแล้ว เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเป็นไปโดยไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ญาติผู้เสียชีวิตจำนวน 34 คน จึงได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลา ต่อศาลอาญา โดยอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลอาญามีเขตอำนาจทั่วอาณาจักร เนื่องจาก กฎหมายกำหนดให้คำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพถึงที่สุด จึงไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาต่อศาลอุทธรณ์ได้ ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งไต่สวนชันสูตร เนื่องจากเห็นว่าศาลอาญาและศาลจังหวัดสงขลาเป็นศาลยุติธรรมชั้นต้นด้วยกัน เมื่อคดีศาลสงขลารับคดีไว้พิจารณาแล้ว ศาลอาญาจึงไม่อาจพิจารณาได้อีก ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 ญาติผู้เสียชีวิตดังกล่าวจึงได้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องของศาลอาญาต่อศาลอุทธรณ์ จึงได้มีการคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เปิด 15 หลักเกณฑ์เยียวยาผู้เสียหายไฟใต้ (สองภาษา) ไม่ใช่แค่เงิน Posted: 09 Jun 2012 03:43 AM PDT เปิด 15 หลักเกณฑ์ เยียวยาไฟใต้ 2ภาษา ไทย – มลายู เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิต คืนเกียรติศักดิ์ศรีและสร้างความสมานฉันท์ ไม่ใช่แค่ให้เงิน แม้ว่าเวทีสัมมนา “เยียวยาอย่างไร นำไปสู่ความสมานฉันท์” ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2555 จะเป็นอีกหนึ่งเวทีที่มีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในเรื่องเงินในการช่วยเหลือผู้เสียหายจากไฟใต้ แต่พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ผู้อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็ได้กล่าวถึงการเยียวยาในรูปแบบอื่นๆ ที่มุ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและฟื้นฟูศักดิ์ศรีของคนในพื้นที่ รวมถึงการสร้างความสมานฉันท์ในระยะยาวอีกด้วย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักเกณฑ์และวิธีการช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายจากเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 พร้อมกับอนุมัติงบประมาณ 2,080 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้เป็นค่าดำเนินการ 80 ล้าน โดยได้มีการจัดสรรเงิน 1,000 ล้านบาทซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของงบประมาณให้กลุ่มที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือกรณีเฉพาะ เช่น เหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 (หรือที่เรียกว่าเหตการณ์กรือเซะ) เหตุการณ์ตากใบ ส่วนกลุ่มประชาชนที่เป็นผู้เสียหายจากเหตุรุนแรงทั่วไปซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดได้รับการจัดสรรงบ 500 ล้านบาท ส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้เสียหายได้รับงบ 200 ล้านบาท และคนที่ถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขัง หรือถูกดำเนินคดี แต่ต่อมาปรากฏหลักฐานว่าไม่ได้ทำผิด ถอนฟ้องหรือถูกยกฟ้อง อีก 300 ล้านบาท ทว่า การเยียวยาของรัฐ ไม่ได้มีเพียงการให้เงินเท่านั้น เพราะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ ด้วยเป็นการเน้นดูแลคุณภาพชีวิต ทำให้คนเหล่านี้ไม่เป็นภาระของสังคม และทำให้การเยียวยานำไปสู่ความสมานฉันท์ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาว ต่อไปนี้เป็นหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายและได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งภาษาไทย และภาษามลายู
1. การรักษาพยาบาลทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการส่งต่อฟื้นฟูผู้พิการหรือฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านร่างการ จิตใจ โดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง 2. การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ 3. การเยียวยาทางด้านจิตวิญญาณ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ไปประกอบพิธีฮัจญ์หรืออุมเราะฮ์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบียหรือประกอบศาสนกิจตามหลักศาสนาอื่น 4. การให้สิทธิในการเข้ารับการศึกษาของตนเองหรือทายาท 5. การสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการศึกษาอย่างต่อเนื่องตามสมควร 6. การช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายด้านทรัพย์สิน 7. การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือการช่วยเหลือด้านที่ทำกิน หรือการส่งเสริมการประกอบอาชีพ 8. การได้รับการยี่ยมเยียนอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มสหวิชาชีพ 9. การส่งเสริมการสร้างกลุ่มและการรวมกลุ่มของผู้ได้รับผลกระทบเพื่อดูแลซึ่งกันและกัน 10. การได้รับความช่วยเหลือให้มีความปลอดภัย หรือมีส่วนร่วมในการจัดระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก 11. การคุ้มครองป้องกันจากการถูกปองร้าย 12. การจัดตั้งสถานพยาบาลเฉพาะทาง หรือสถาบันส่งเสริมการศึกษา เยียวยาฟื้นฟูผู้พิการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 13. การช่วยเหลือเยียวยาด้านกฏหมาย การฟ้องร้อง การดำเนินคดี หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 14. ค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน การเข้าถึงความเป็นธรรม 15. การช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการเยียวยาฯพิจารณาเห็นสมควร
ڤرا توران د ا ن قا عد ه٢ ڤروسيس ڤݕمبوهن د ا ن ڤمو ليهن ا ورڠ يڠتر چد را د ا ن مريك يڠتر ججس ا و له ڤر ڬو لقكن د سلا تن تها يلند سڤا ي مڠسا٢ ممڤو هيد و ڤ بركوا ليتي سڤرت بر يكو ت : 1. ڤنجا ڬأ ن كصيحتن جسما ني د ا ن رو حا ني ترما سوق جوڬ هنتر ڤسا كيت يڠ كورڠ ا وڤا ي ا تو ڤمو ليهن جسما ني د ا ن روحا ني كڤد د قتور ا تو ڤا كر 2. سو كوڠ ا لت ٢ ڤرو بتن 3. ڤمو ليهن سڬي جيوا سڤرت بري بنتوا ن ا ونتوق مڠرجا كن حج د ا ن عمرة د مكة المكرمة ا تو كڬيا تن كأ ڬامأ ن او له ا ڬا م٢ لأ ين 4. بري حق ا ونتو ق ڤند يد يقكن با ڬي د يري سند يري ا تو ڤوا ريثڽ 5. تروس بري سوكوڠن فمبلنجأ ن يڠڤرلو دا ن برڤا توتن 6. ڤموليهن سڬي هرت يڠ روسق 7. ڤمو ليهن سڬي تمڤت تيڠڬل، تمڤت كرجا ا تو سوكوڠن سڬي ڤكرجأ ن 8. تروس منر يما لا و تن د ري كمڤولن ڤلبا ڬا ي د يسيڤلين 9. سوكوڠن سڤا ي ممبوا ت كمڤو لن د ا ن ڤݕا توا ن يڠممبري كسن سڤا ي منجا ڬ سا تو سا م لأ ين 10. د ا فت بنتوان ا تومڠمبيل بها ڬين دا لم سيستم كسلا متن سڤا ي كجا د ين تيد ق برا ولڠ كا لي 11. د ليند وڠي د ري نية جا هت 12. ڤنوبوهن هوسڤيتل يڠ خصوص ا تو ا ينستيتيو سي فند يد يقكن د ا ن ڤݕمبوهن ا ورڠ يڠ كورڠ ا وڤا ي د ولا ية سمڤا د ن سلا تن تها يلند 13. ڤمو ليهن سڬي ا وندڠ٢، تو نتو تن، ڤروسيس ڤڠا د يلن اتو ڤرليند وڠن حق د ا ن كبيبسن 14. ڤمبا يرا ن اونتو ق منچا ري كبنرا ن، بوقتي د ا ن جو ڬ ما سو ق كموك ڤڠا د يلن 15. ڤمو ليهن سڬي لأ ين٢ مڠيكوت مݕلسا ين لأ ين د با وه بودي بيچا را اهلي جا وتنكواس
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ฉันอยู่ในดินแดนประหลาด ในเมืองอันน่าสะพรึง Posted: 09 Jun 2012 03:36 AM PDT "ในดินแดนประหลาด" ค่ำคืนแสนมืดมิด กลางวันกลับมืดมิดยิ่งกว่า ไม่มีแสงดาวและแสงจันทร์ ไม่มีแม้แต่แสงตะวัน มีเพียงความเงียบงัน คอยปกคลุมแน่นหนา ในดินแดนแห่งนั้น คนตายมิอาจพูด คนเป็นมิอาจพูดยิ่งกว่า ในดินแดนแห่งนั้น คำเท็จเป็นสิ่งเลวร้าย คำจริงเลวร้ายยิ่งกว่า ในดินแดนแห่งนั้น การกดขี่นั้นต่ำช้า เสรีภาพต่ำช้ายิ่งกว่า ในดินแดนแห่งนั้น การไม่รู้อันตราย การรู้กลับอันตรายยิ่งกว่า… "ในเมืองอันน่าสะพรึง" ความรักถูกใช้เพื่อความเกลียด การฆ่าถูกใช้เพื่อความสงบ การบังคับถูกใช้เพื่อการภักดี ในเมืองแห่งนั้น ผู้ชนะเท่านั้นใช้เหตุผล ความแตกต่างต้องสงสัย ความผิดแผกคือความชั่ว ความดีมีเพียงหนึ่ง เช่นเดียวกับความถูกต้อง "คนในดินแดนประหลาด ช่างน่าสะพรึง" บางคราวกลายเป็นสัตว์ บางคราวกลายเป็นเกินคน บางคราวไม่ใช่คน ถูกลดค่า/ไร้ค่าพอจะเป็นคน! "ฉันอยู่ในดินแดนประหลาด ในเมืองอันน่าสะพรึง" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
โวหารและความเห็นต่างกฎหมายหมิ่นฯ (1): อภิปรายโดยประวิตรและครูเบน Posted: 08 Jun 2012 08:12 PM PDT เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา เวลา 19.00 น. ณ เรือนร้อยฉนำ สวนเงินมีมา มีการจัดงานเสวนา "Rhetoric and Dissent: Where to next for Thailand's lese majeste law?" (วาทกรรมและความเห็นต่าง: อนาคตของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับประเทศไทย) มีวิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่ เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ศาสตราจารย์ด้านเอเชียศึกษามหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสเดอะ เนชั่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนและนักเขียน แอนดรูว์ แมกเกรเกอร์ มาร์แชล อดีตนักข่าวอาวุโสรอยเตอร์และผู้เขียนหนังสือ "Thai Story" ดำเนินรายการโดยผู้สื่อข่าวอิสระ ลิซ่า การ์ดเนอร์ โดยในตอนแรก นำเสนอการอภิปรายของประวิตร โรจนพฤกษ์ และเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ดังนี้ คลิปการอภิปรายของประวิตร โรจนพฤกษ์ และเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน (ที่มา: ประชาไท)
วิพากษ์สถาบันผ่านมุมมองความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ประวิตร เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ที่ผ่านมา การถกเถียงเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพส่วนใหญ่ยังถูกจำกัดอยู่เพียงด้านกฎหมาย ตนจึงอยากจะพูดถึงด้านวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ซึ่งไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก จึงอยากจะอภิปรายประเด็นของสถาบันกษัตริย์ผ่านทางมุมมองของศาสนา เขาตั้งข้อสังเกตว่า ในแง่หนึ่ง การเคารพนับถือสถาบันกษัตริย์ก็เหมือนกับเป็นความสบายใจด้านจิตวิทยา โดยเป็นเสมือนเครื่องยึดเหนี่ยวด้านจิตใจโดยเฉพาะในหมู่รอยัลและอัลตร้ารอยัลนิสต์ ที่ต้องการหาที่พึ่งทางจิตใจจากความเกลียดชังที่มีต่อนักการเมือง จึงจำเป็นจะต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ไว้ และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จึงทำหน้าที่นั้นเพื่อไม่ให้มีการวิจารณ์ต่อสถาบัน นอกจากนี้ ในฐานะที่สถาบันกษัตริย์มีความศักดิ์สิทธิคล้ายกับศาสนา จึงต้องมีพิธีกรรมมาประกอบ เช่น ดนตรีพระราชนิพนธ์ เพลงขับร้อง หนังสือ และงานต่างๆ เพื่อเชิดชูเกียรติสถานะของสถาบัน ยังรวมถึงการใส่เสื้อสีเฉพาะต่างๆ และสติ๊กเกอร์ที่แปะอยู่ตามท้ายรถ เพื่อแสดงความจงรักภักดี ประวิตรตั้งข้อสังเกตว่า พระสงฆ์อย่าง อย่างว.วชิรเมธี ก็มีส่วนในการเผยแพร่คำสอนของพระมหากษัตริย์เพื่อมาเสริมให้เข้ากับคำสอนทางศาสนาผ่านทางสื่อกระแสหลักได้เป็นอย่างดี และเพื่อให้พล็อตเรื่องนี้สมบูรณ์ จึงต้องมีผู้ร้ายหรือ "ซาตาน" อยู่ด้วย ซึ่งในขณะที่สมัยก่อนผู้ร้ายคือคอมมิวเนิสต์ แต่ปัจจุบัน "ซานตาน"?ก็จะเป็นทักษิณ และผู้สนับสนุนคือเสื้อแดงนั่นเอง และสำหรับฝั่งที่มีทัศนคติวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันกษัตริย์ หรือเป็นฝ่าย "สนับสนุนซาตาน" จึงมักจะเห็นว่า ชีวิตของฝ่ายนี้จึงต้องประสบกับอุปสรรคมากเกินกว่าคนปรกติทั่วไป นักข่าวอาวุโสผู้นี้มองว่า สิ่งที่เป็นปัญหาอีกข้อหนึ่ง ก็คือ สื่อกระแสหลักของไทยเองก็ยังอยู่ในสภาวะที่ปฏิเสธการถกเถียงเรื่องนี้ โดยเซ็นเซอร์ตนเอง และกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากชนชั้นนำที่จะได้ประโยชน์จากการขาดการตรวจสอบและความโปร่งใส สุดท้าย เขาสรุปว่า เรื่องนี้มีความสำคัญเพราะเกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ซึ่งในอนาคตก็คงขึ้นอยู่กับว่าสังคมไทยจะมีวุฒิภาวะมากแค่ไหน "เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา มาถึงจุดที่ย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว" ประวิตรกล่าว
สถาบันกษัตริย์กับความศักดิ์สิทธิ์ที่เปลี่ยนแปลง ด้าน เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ซึ่งในขณะนี้กำลังเขียนบทความทางวิชาการเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่เหลือในโลก 27 ราชวงศ์ หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของประเทศในสหประชาชาติ ตั้งข้อสังเกตว่า ในหมู่สถาบันกษัตริย์ที่มีความเข้มแข็งและน่าจะอยู่รอดได้อย่างยืนยาว มีการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หากแต่ในปัจจุบันนี้ แทบจะไม่ได้ถูกนำเอามาใช้เลย อย่างในนิตยสารหรือ หนังสือพิมพ์ในประเทศอังกฤษ ก็มีมุกตลกเสียดสีราชวงศ์ที่มีความแสบสันต์ แต่สถาบันกษัตริย์อังกฤษนี้ก็เข้มแข็งมากพอที่จะปล่อยคนที่อยากจะหัวเราะให้หัวเราะไป น่าสังเกตว่า การเพิ่มขึ้นโทษของกฎหมายหมิ่น จะสูงขึ้นเมื่อสถาบันเกิดความกลัว ตัวอย่างเช่นในยุโรป ประเทศที่มีกฎหมายหมิ่นแรงสุดก็คือสเปน ทั้งนี้ ก็มีเหตุผลที่สืบเนื่องจากข่าวในทางลบเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์สเปน เสียจนกระทั่งถึงจุดที่ทำให้นักข่าวและนักการเมืองออกมาพูดว่าถึงเวลาที่กษัตริย์ต้องสละราชย์แล้ว โดยแอนเดอร์สันมองว่า นั่นก็เป็นวิธีที่ดีในการหาทางออกหากสถาบันมีสมาชิกและปัญหาที่น่าไม่พึ่งประสงค์ แต่สำหรับวิกฤติการณ์ในปัจจุบัน สเปนก็ยังไม่กล้าเอาคนเข้าคุกมากนัก เพราะข่าวเสียๆหายๆ มันไกลออกไปมากแล้ว เขาเล่าว่า ปัญหาล่าสุดที่ทำให้สถาบันกษัตริย์สเปนอยู่ในภาวะนี้ คือทริปไปล่าสัตว์ป่าที่บอตสวานาของกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสที่สอง ในขณะที่สเปนกำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจอย่างสาหัสและมีประชาชนว่างงานจำนวนมาก และค่าใช้จ่ายในการเดินทางครั้งนี้ ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากเศรษฐีซีเรียผู้เป็นมือขวาของกษัตริย์ซาอุดิอาระเบีย เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์เรื่องการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในกรุงเมกกะ นอกจากนี้ การที่เขาเป็นประธานกิติมศักดิ์ของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก ก็ยิ่งทำให้การขุดคุ้ยเรื่องนี้โดยสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้นและส่งผลเสียแก่สถาบันกษัตริย์มากขึ้น "จะเห็นว่าไม่เพียงแต่ซาตานจะเป็นต่อมากขึ้นเท่านั้น แต่พระเจ้าเองก็ทำตัวไม่ได้ดีไปสักเท่าไร" แอนเดอร์สันกล่าว อีกสิ่งที่ต้องจำไว้คือ สถาบันกษัตริย์ในหลายประเทศก็ไม่ได้อยู่รอดตลอดไป เพราะย่อมถึงเวลาที่สมาชิกในราชวงศ์จะหมดไป ช่วงหลังนี้ เหล่าราชวงศ์จึงเลยมีส่งเสริมให้ปฏิบัติตนดีเป็นพิเศษ เพราะมิเช่นนั้น หากประสบอุปสรรคจากหลายด้าน ประเทศก็อาจต้องกลายเป็นสาธารณรัฐในที่สุด สิ่งที่สองที่ตนอยากเน้น แต่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันมากนัก โดยหากพูดตรงไปตรงมาก็คือว่า ถ้าดูสถิติจาก นสพ. บางกอกโพสต์ จะเห็นว่าผู้ชายไทยที่บวชเป็นพระหรือเณร เมื่อสิบปีที่มีอยู่ราวหกล้านคน แต่เมื่อปีที่แล้วเหลือเพียงหนึ่งล้านหาแสนคน ซึ่งนับว่าเปลี่ยนไปเยอะมากในระยะสิบปี โดยเหล่านักบวชหายไปประมาณ 70% เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านสื่อ ความเป็นเมือง (urbanization) และปัจจัยอื่นๆ นี่หมายความว่าพื้นที่ของความศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้มีมากเท่าเดิมอีกต่อไป และสำหรับสถาบันกษัตริย์ที่เมื่อก่อนมีรังสีและความศักดิ์สิทธิ์ด้านศาสนา จึงเป็นสิ่งที่ต้องควรนำมาพิจารณาคู่กันด้วย ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ เล่าถึงการเดินทางผ่านเมืองต่างๆ ในภาคใต้ของไทยเมื่อสองสามปีที่แล้ว ก่อนวันการเลือกตั้งทั่งไปหนึ่งวัน ที่เขานั่งรถผ่านจังหวัดชุมพร เพชรบุรี และอื่นๆ ก็หาดูป้ายข้างถนนเพื่อสำรวจว่าป้ายการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์จะมีมากแค่ไหน แต่เขาแปลกใจมากที่หาเจอไม่มากนัก ทั้งๆ ที่พื้นที่ตรงนี้เป็นฐานเสียงของประชาธิปัตย์ แต่ป้ายที่เขาพบเจอมาก นอกจากป้ายโฆษณากิจกรรมของวัดต่างๆ ซึ่งคิดเป็นราวร้อยละ 30 ที่เหลือ กลับกลายเป็นป้ายที่มีรูปภาพของสถาบันกษัตริย์เต็มไปหมด ราวกับกำลังทำการหาเสียงอยู่ในการเลือกตั้ง โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นปรากฎการณ์ที่แตกต่างไปจากเมื่อราว 40 ปีก่อน และแทบจะหาที่อื่นในโลกไม่ได้อีกแล้วที่มีปรากฏการณ์เช่นนี้ "ยิ่งมีความกลัวมากเท่าไร ไม่เพียงแต่กฎหมายหมิ่นฯ จะรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีอีกด้านที่ขนานกันไปด้วย นั่นก็คือการรณรงค์ขนานใหญ่ ผมคิดว่าที่ทำโดยข้าราชการและตำรวจ เพื่อกระหน่ำติดป้ายภาพต่างๆ ของสถาบันกษัตริย์ตามถนน และร้านค้าต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งในแง่หนึ่งมันอาจจะเข้าใจได้ แต่มันยากที่จะหาที่ไหนอื่นในโลกที่มีการทุ่มเทพลังงานมหาศาลลงสู่อะไรแบบนี้" แอนเดอร์สันตั้งข้อสังเกต พร้อมกับกล่าวว่า หากว่าเป็นในอังกฤษหรือสวีเดน จะไม่มีอะไรแบบนี้ เพราะมันเยอะเกินไป เราต้องรู้ว่าเราจะอยู่อย่างมีเหตุผลกันอย่างไร สุดท้าย แอนเดอร์สันเล่าเรื่องสมัยที่เขายังเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ว่า แต่ก่อน เมื่อเขาไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ หลังหนังฉายจบจะมีคลิปสั้นๆ ของพระราชินีกำลังขีม้า แต่ผู้ชมก็จะไม่ชอบใจเป็นอย่างมาก อีกสิบปีถัดมาในทศวรรษ 1960 จึงได้เปลี่ยนเอาคลิปดังกล่าวมาฉายก่อนภาพยนตร์จริง คู่กันกับโฆษณาขายช็อคโกแลต ป๊อบคอร์น ฯลฯ ซึ่งคนดูก็จะรอให้โฆษณาจบลงแล้วถึงเข้าไปดู แต่ในที่สุด คนก็สามารถดูหนังได้ทุกเรื่องโดยไม่จำเป็นต้องดูหนังสั้นของสถาบัน เพราะทางราชสำนักได้ยกเลิกการฉายหนังสั้นดังกล่าวในโรงภาพยนตร์ เพราะประชาชนตั้งคำถามมากขึ้นว่าทำไมต้องมีพิธีกรรมเหล่านี้ "คือเราก็ได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันบ้าง แต่ไม่ใช่ทุกที่ ทุกเวลาผมคิดว่าคนเราจะต้องมีความยืดหยุ่นและความเข้าใจที่มากขึ้นว่าสังคมไทยทุกวันนี้เป็นอย่างไรและมุ่งหวังที่จะเป็นอย่างไร" แอนเดอร์สันกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กิตติศักดิ์ ปรกติ: ว่าด้วยอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ Posted: 08 Jun 2012 04:30 PM PDT ในช่วงสัปดาห์แห่งวิสาขบูชา หรือวันครบรอบ ๖๐๐ ปีของการบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ผ่านมานี้ บรรดาผู้สนใจเหตุการณ์บ้านเมืองจะได้ยินคำว่า “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” กันบ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งของการกล่าวถึงเรื่องนี้ก็เป็นเพราะผู้ทรงคุณวุฒิบางท่านเห็นว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจยับยั้งการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่มีอำนาจยับยั้งการใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ โดยที่ปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาในแง่ทฤษฎีรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีทัศนะทางทฤษฎีแตกต่างกันระหว่างสำนักฝรั่งเศส กับสำนักเยอรมัน และยังมีคนอธิบายกันไว้ไม่มาก จึงขอถือโอกาสที่มีเวลาว่างจากการมาร่วมประชุม “กฎหมายกับสังคม” หรือ Law and Society ที่ฮอนโนลูลู ทำความเข้าใจเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อร่วมเฉลิมฉลองโอกาสการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ที่เวียนมาครบ ๘๐ ปีในวันที่ ๒๔ มิถุนายนปีนี้ ที่มาที่ไปของคำสอนว่าด้วย “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ”แบบฝรั่งเศส จุดตั้งต้นของข้อถกเถียงเรื่องนี้ ว่ากันว่าเริ่มต้นในฝรั่งเศส ช่วงก่อนเกิดการปฏิวัติ ๑๗๘๙ โดยนักปราชญ์ท่านหนึ่งชื่อว่า Sieyes ซึ่งได้อธิบายว่าประชาชนเป็นผู้ถืออำนาจการปกครองแผ่นดิน ไม่ใช่พระราชา ไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้าดังที่เคยเชื่อถือกันมาก่อนนั้น และด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงเป็นผู้มีอำนาจสถาปนาการปกครอง หรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ดังที่เรียกกันทั่วไปต่อมาเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “pouvoir constituant” อำนาจทำนองนี้ในภาษาไทยสมัยรัชกาลที่ ๕ เราเคยเรียกกันว่า “อำนาจตั้งแผ่นดิน” ซึ่งตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์อธิบายว่าเป็นไปตามหลัก “เอนกชนนิกรสโมสรสมมติ” นั่นเอง อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญนี้ถือกันว่าเป็นอำนาจดั้งเดิม และตั้งอยู่ได้ด้วยตนเอง มีอยู่ก่อน และตั้งอยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ เมื่ออำนาจนี้ได้สถาปนารัฐธรรมนูญ หรือก่อตั้งอำนาจการปกครองแล้ว จึงใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นนั้นไปก่อตั้งสถาบันผู้ใช้อำนาจการปกครองต่อไปอีกชั้นหนึ่ง อำนาจที่ตั้งขึ้นในชั้นหลังนี้ เป็นอำนาจลำดับรองลงไป ได้แก่อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยเป็นอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญเรียกว่า “อำนาจตามรัฐธรรมนูญ” หรือ “pouvoir constitué” และอำนาจนี้ย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญ จะอ้างตนอยู่เหนือรัฐธรรมนูญไม่ได้ ส่วนประชาชนที่รวมเข้ากันเป็นชาตินั้นถือกันว่าเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้น อยู่นอกและอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เป็นผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ จึงไม่ต้องผูกพันตามรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะทำอะไร ๆ ได้ตามอำเภอใจ เพราะยังต้องผูกพันตามหลักกฎหมายธรรมชาติ หรือหลักแห่งความเป็นธรรม ในขณะที่ประชาชนส่วนรวมหรือชาติอยู่เหนือรัฐธรรมนูญนี้ ประชาชนแต่ละคนย่อมได้รับความคุ้มครองและอยู่ใต้บังคับของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย คำสอนเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนนี้ หากจะกล่าวในทางการเมืองก็กล่าวได้ว่า เป็นคำสอนที่เสนอขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมในการล้มล้างระบอบการปกครองเดิม ซึ่งย่อมต้องถือว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่นั่นเอง และสำหรับฝรั่งเศสนั้น โดยที่ระบอบการปกครองเดิมของฝรั่งเศสตั้งอยู่บนรัฐธรรมนูญในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช หากสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาสามัญซึ่งตั้งขึ้นในระบอบนี้ ประสงค์จะเสนอให้เปลี่ยนระบอบการปกครองไปเป็นอย่างอื่นย่อมไม่อาจอ้างอำนาจหรือความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชได้ ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หรือการแก้ไขยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิม จึงต้องอาศัยอำนาจใหม่จากภายนอกระบอบเดิม ซึ่งอำนาจใหม่นั้นก็คืออำนาจของปวงชน หรืออำนาจของประชาชนส่วนรวม หรือของชาตินั่นเอง ตามทัศนะของ Sieyes นั้นปวงชนก็คือชนชั้นสามัญชนหรือที่เรียกกันว่า “ฐานันดรที่สาม” เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง มีกำลังทางเศรษฐกิจ และมีการจัดตั้งเป็นหมู่เหล่ามั่นคง สามัญชนจึงมีความชอบธรรมที่จะอ้างว่าทรงอำนาจอธิปไตยเหนือกว่า ฐานันดรอื่น อันได้แก่ชนชั้นขุนนางและพระสงฆ์องค์เจ้าในศาสนาคริสต์หรือที่เรียกว่าพวก “ผู้ดี” ในเวลานั้น บรรดาสามัญชนนี้ได้อ้างความชอบธรรมนี้เองในการร่วมกันทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของฝรั่งเศส โดยในชั้นแรกก็ยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชซึ่งกษัตริย์อยู่เหนือบทกฎหมาย มาเป็นระบอบกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ หรือ Constitutional Monarchy ในปี ๑๗๘๙ โดยถือว่ากษัตริย์ผูกพันตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นใหม่ด้วยอำนาจปฏิวัตินี้ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่นี้เมื่อ ค.ศ. ๑๗๙๑ โดยวางหลักไว้ด้วยว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญในรายละเอียดปลีกย่อย ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบขนานใหญ่นั้นเป็นอำนาจของปวงชนไม่ใช่อำนาจของรัฐสภา แต่ในปีถัดมา ค.ศ. ๑๗๙๒ ก็เกิดเรื่องขึ้น เมื่อมีการเสนอให้ถอดถอนพระมหากษัตริย์ออกจากฐานะประมุขแห่งรัฐ ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญไม่ใช่อำนาจของรัฐสภา แต่เป็นอำนาจของปวงชน ประธานรัฐสภาในเวลานั้นจึงสั่งให้ผู้เสนอระงับการเสนอไว้ แต่บรรดาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากเห็นด้วยกับผู้เสนอจึงเรียกร้องให้ประธานรัฐสภาเพิกถอนคำสั่งระงับข้อเสนอนั้นเสีย แล้วดำเนินการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป ไม่นานหลังจากนั้นก็มีการกล่าวหาว่ากษัตริย์ทรงเป็นกบฏในฐานที่ทรงชักศึกเข้าบ้าน และถอดถอนกษัตริย์ฝรั่งเศสออกจากตำแหน่ง แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตรารัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนขึ้น โดยมีมติยกเลิกระบอบกษัตริย์เสีย แล้วสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๗๙๓ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฝรั่งเศสตกอยู่ในภาวะสงครามกับมหาอำนาจโดยรอบซึ่งรับไม่ได้กับการสำเร็จโทษกษัตริย์ คือพันธมิตรฝ่ายอังกฤษ เยอรมัน และออสเตรีย ฯลฯ ฝรั่งเศสจึงมีการจัดการปกครองแบบเผด็จการขึ้นเพื่อสู้ศึก และเลื่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญออกไปอีกสองปี เมื่อสงครามสงบลงจึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ในปี ค.ศ. ๑๗๙๕ แต่ก็ใช้ไม่ได้นานเพราะเต็มไปด้วยวิกฤตต่าง ๆ จนในที่สุดเมื่อนโปเลียนเข้ายึดอำนาจใน ค.ศ. ๑๗๙๙ จึงมีการประกาศรัฐธรรมนูญใหม่โดยการลงประชามติ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของปวงชน โดยได้อนุมัติให้นโปเลียนเป็นผู้เผด็จการ มีกำหนด ๑๐ ปี และหลังจากนั้นก็มีการลงประชามติอีกครั้งเพื่อแต่งตั้งนโปเลียนเป็นผู้เผด็จการตลอดชีวิต และในปี ค.ศ. ๑๘๐๔ ก็มีการลงประชามติ ซึ่งนโปเลียนก็ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงร้อยละ ๙๙.๙๓ ให้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิในที่สุด และหลังจากนั้นนโปเลียนก็ดึงฝรั่งเศสเข้าสู่สงคราม สามารถเข้ายึดยุโรปได้เกือบทั้งหมด จนถูกตีโต้พ่ายแพ้ไปในปี ๑๘๑๕ ทั้งหมดนี้คือช่วงสั้น ๆ จากประสบการณ์ที่ชาวฝรั่งเศส และชาวโลกควรจะได้จดจำไว้ว่า คำสอนเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของปวงชนนั้น แม้ในเบื้องต้นจะดูเหมือนว่าเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย แต่หากขาดความตื่นตัวและความระมัดระวังอยู่เสมอแล้ว อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของปวงชน ก็เป็นแต่เพียงเครื่องมือของอำนาจตามข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่มีหลักประกันใดว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของปวงชนจะไม่อาจกลายเป็นดาบสองคมของจอมเผด็จการที่ใช้ทำลายประชาธิปไตยลงในที่สุดได้เช่นกัน กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การอ้างอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญนี้มักขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ถืออำนาจตามข้อเท็จจริง และใครจะยกประชาชนขึ้นอ้าง ด้วยเหตุนี้ทฤษฎีและคำสอนที่สวยหรู จึงไม่อาจยอมรับได้อย่างหลับหูหลับตา โดยไม่ต้องพิจารณาถึงกาละเทศะ และเหตุผลของเรื่อง หรือโดยขาดการพิเคราะห์ตามพฤติการณ์ที่เป็นจริงในแต่ละกรณีได้เลย ตอนต่อไป เราจะมาดูกันว่า “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” หรือ “อำนาจก่อตั้งการปกครองแผ่นดิน” แบบสำนักเยอรมันนั้นเป็นอย่างไร ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น