โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เครือข่ายนักศึกษา “ปฏิบัติการหน้าศาลฎีกา” หนุนชาวบ้าน “คดีที่ดินลำพูน”

Posted: 04 Jun 2012 11:43 AM PDT

สนนท.ร่วม เครือข่ายนักศึกษา ชูป้ายหน้าศาลฎีกากรณีคดีที่ดินลำพูน ระบุกระบวนการยุติธรรมต้องไม่รับใช้นายทุน คนจนต้องมีสิทธิเท่าเทียมคนรวยในชั้นศาล ก่อนการตัดสินฎีกา 6 มิ.ย.นี้

 
 
 
 
วันที่ 4 มิ.ย.55 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และเครือข่ายนักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสรีนนทรี, มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซุ้มเหมราช, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กลุ่มบัวลอย รวมตัวทำกิจกรรม “ปฏิบัติการหน้าศาลฎีกา” กรณีคดีที่ดินลำพูน ระบุกระบวนการยุติธรรมต้องไม่รับใช้นายทุน คนจนต้องมีสิทธิเท่าเทียมคนรวยในชั้นศาล
 
สืบเนื่องจาก ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ จะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีระหว่างเกษตรกรไร้ที่ดินกับนายทุน กรณีบ้านพระบาท อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ซึ่งมีการพิพาทกันมาตั้งแต่ปี 2545 โดยจำเลยในคดี 3 คน ประกอบด้วย 1.นายประเวศน์ ปันป่า แกนนำชาวบ้าน ซึ่งศาลชั้นต้นลง 6 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์ยืนตามนั้น  2.นายรังสรรค์ แสนสองแคว แกนนำชาวบ้านในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่ดินชุมชนโดยชุมชน ปัจจุบันเป็นประธานสหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง จำกัด และ 3.นายสืบสกุล กิจนุกร เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)
 
ทั้งนี้ กรณีของนายรังสรรค์ แสนสองแคว และนายสืบสกุล กิจนุกรนั้น ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์พลิกคดี ตัดสินลงโทษ 4 ปี
 
ปมความขัดแย้ง กรณีเกษตรไร้ที่ดินเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ถูกทิ้งร้างมีมายาวนาน และส่งผลให้ชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่ของ จ.ลำพูน ถูกฟ้องร้องและดำเนินคดี ตัดสินจำคุกไปแล้วเป็นจำนวน 22 ราย ได้แก่ ชาวบ้านบ้านท่าหลุก ต.หนองล่อง กิ่ง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน จำนวน 20 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 2 ราย โดยเสียชีวิตในคุกจำนวน 1 ราย  และเสียชีวิตนอกคุก 1 ราย  และที่บ้านดงขี้เหล็ก ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูนจำนวน 2 ราย  ทั้งหมดได้รับการอภัยโทษเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.53 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"เต็ง เส่ง" ยกเลิกเยือนไทย - "ยิ่งลักษณ์" ไม่สบายใจ

Posted: 04 Jun 2012 11:36 AM PDT

เมื่อไม่สบายใจ จึงสั่งการให้ รมว.ต่างประเทศ ทำหนังสื่อชี้แจงเพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยระบุว่าผู้จัดการประชุม WEF เชิญเอง ส่วน "ออง ซาน ซูจี" จะไปพบปะประชาชนที่ไหน ก็ดำเนินการเองผ่านบริษัทประชาสัมพันธ์ รัฐบาลไทยไม่ทราบกำหนดการ

ตามที่เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า แจ้งยกเลิกการเข้าร่วมประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยภูมิภาคเอเชียตะวันออก(World Economic Forum on East Asia) ครั้งที่ 21 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ แต่มอบหมายให้รมว.พลังงาน และรมช.การท่องเที่ยวและโรงแรมของพม่า มาร่วมงานแทน โดยขอเลื่อนการเยือนไทยมาเป็นวันที่ 4-5 มิ.ย. และต่อมาเมื่อ 1 มิ.ย. ได้แจ้งขอยกเลิกการเยือนไปก่อน

ล่าสุด ฐานเศรษฐกิจรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อ 3 มิ.ย. ว่ารู้สึกไม่สบายใจ และกังวลใจ จึงมอบให้ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ชี้แจงผ่านสื่อและทำหนังสือชี้แจงไปถึงรัฐบาลพม่า เพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื่องจากการเดินทางมาประเทศไทยของ นางออง ซาน ซูจี ไปพบกับแรงงานพม่าในประเทศไทย ได้ดำเนินการผ่านบริษัทประชาสัมพันธ์ของต่างประเทศที่นางซูจีว่าจ้างส่วนตัว ซึ่งได้กำหนดจุดที่จะลงพื้นที่พบประชาชนเอง โดยที่รัฐบาลไทยไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง และการเชิญนางออง ซาน ซูจี มาไทยตามคำเชิญของคณะผู้จัดงานเวิลด์ อีโคโน มิค ฟอรั่ม ไม่ใช่ในนามของรัฐบาลไทย และไม่มีการแจ้งกำหนดการล่วงหน้าให้ทางการไทยทราบ

ก่อนหน้านี้ สื่อมวลชนไทยหลายฉบับให้ความเห็นว่าประธานาธิบดีพม่า ไม่พอใจการเคลื่อนไหวทางของนางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถยืนยันความเห็นดังกล่าวได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมในมาเลเซียชี้ คนมาเลย์ต้องเข้มงวดกับคนดูหมิ่นสถาบันฯ ตามรอยไทย

Posted: 04 Jun 2012 10:53 AM PDT

สมาคมประชาชนชาวซาลังงอร์-ยะโฮร์ได้ออกมาเรียกร้องให้ทางการมาเลเซียจัดการกับคนที่ดูหมิ่นสุลต่าน โดยยกตัวอย่างประเทศไทยเป็นต้นแบบ ในขณะที่ก่อนหน้านี้บล็อกเกอร์ชาวมาเลย์ถูกยกฟ้องจากข้อหาโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันในอินเทอร์เน็ต

 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวเบอร์นามาของมาเลเซียรายงานว่า สมาคมประชาชนซาลังงอร์และยะโฮร์ได้ออกมาเรียกร้องให้ทางการมาเลเซีย รวมทั้งตำรวจและอัยการ ดำเนินรอยตามทางการไทยในการจัดการกับผู้คนที่คิดดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ 

รองประธานสมาคมดังกล่าว ดาโต๊ะ ไซเอ็ด ฮุสเซ็น อัล-ฮับชี ให้สัมภาษณ์เบอร์นามาว่า วิธีการที่เข้มงวดของทางการไทยในการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นฯ ทำให้สถาบันกษัตริย์ไทยได้รับการพิทักษ์จากการดูหมิ่นและเหยียดหยามจากผู้คนที่ไม่รับผิดชอบ 

"ทางการ (มาเลเซีย) จำเป็นต้องเข้มงวดกับฝักฝ่ายหรือบุคคลที่พูดจาดูหมิ่นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของเรา" เขากล่าว "ทำไมเราจะต้องผ่อนปรนกับคนพวกนี้ด้วย?" 

ทั้งนี้ เขาให้ความคิดเห็นดังกล่าว สืบเนื่องจากกรณีที่อดีตผู้ว่าการรัฐเปรัก โมฮัมหมัด นิซาร์ จามาลุดดิน แสดงความคิดเห็นผ่านทางทวิตเตอร์ก่อนหน้านี้ว่า สุลต่านแห่งยะโฮร์ใช้งบประมาณสาธารณะในทางที่ผิดในการประมูลเลขทะเบียนรถยนต์ส่วนตัว WWW 1 

โดยก่อนหน้านี้ เว็บไซต์เดอะมาเลเชียน อินไซเดอร์ รายงานเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า ชาง หอง เกียง วิศวกรชาวมาเลเชียวัย 29 ปี ถูกตัดสินจำคุก 1 ปี และปรับ 5 หมื่นริงกิต (ราว 5 แสนบาท) ในข้อหาละเมิดการใช้เครือข่ายและบริการ ด้วยการโพสต์ข้อความที่ดูหมิ่นสุลต่านบนเว็บไซต์เมื่อ 3 ปีก่อน ภายใต้มาตรา 223(1) ของพ.ร.บ. การสื่อสารและมัลติมีเดียของมาเลเซีย โดยอัยการระบุว่า "ชางในฐานะที่เป็นผู้ได้รับการศึกษา ไม่ควรใช้เทคโนโลยีการสื่อสารในทางที่ผิดและดูหมิ่นผู้อื่น โดยเฉพาะต่อผู้ปกครองและผู้ที่เป็นสัญลักษณ์ของการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน" 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 31 พ.ค. มีรายงานว่า ศาลได้ยกฟ้องบล็อกเกอร์วัย 31 ปี นายไครูล นิซาม อบู กานี ในข้อหาเดียวกัน โดยเขาถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันกษัตริย์ในบล็อกของตนเองเมื่อ 3 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอัยการไม่สามารถรวบรวมหลักฐานได้เพียงพอจึงไม่สั่งฟ้อง 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.ใต้ ร่อน จม.เรียกร้องรัฐแจงเหตุผลควบคุมตัวนักศึกษา

Posted: 04 Jun 2012 09:55 AM PDT

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้อง รัฐชี้แจงกรณีที่มีการเข้าควบคุมตัวนักกิจกรรมนักศึกษา

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ซึ่งเป็นเครือข่ายกลุ่มองค์กรนักศึกษาที่ทำกิจกรรมทางสังคมและการเมืองภาคใต้ได้ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้อง ผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจยะลา ๑๑ หน่วยงานผู้รับผิดชอบพื้นที่ ให้คำชี้แจงกรณีที่มีการเข้าควบคุมตัวนักกิจกรรมนักศึกษาจำนวน 3 คน โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ทราบสังกัดโดยในระหว่างควบคุมตัวยังใช้วาจาไม่สุภาพต่อผู้ถูกจับกุมและยึดอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารของผู้ถูกจับกุมไป

สนน.จชต.เรียกร้องให้มีการชี้แจงสาเหตุการปิดล้อมและ ควบคุมตัวให้สาธารณะชนได้รับรู้อย่างชัดเจนเพื่อเป็นการสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงานเพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจเหนือกฎหมายหรือกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

 

จดหมายเปิดผนึก
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้(สนน.จชต)
เรื่อง การคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐต่อนักศึกษา (สนน.จชต)

เมื่อเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น.ของวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ได้เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐไม่ทราบจำนวนและหน่วยงานสังกัดที่ชัดเจนเข้าปิดล้อมจับกุมนักศึกษาในบ้านพักเลขที่ ๘๑/๑๑ ซอยศรีปุตรา บ้านตลาดเก่า ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลาซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานเยาวชนนักศึกษาประจำจังหวัดยะลา ในหอพักมีสมาชิกอยู่สามคนประกอบด้วย ๑.นายสือกรี เต๊ะ ๒.อิลยัส สะมะแอ ๓.นายนูรมาน ดอเลาะ เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นภายในหอพักไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆนอกจากเอกสารการทำกิจกรรมนักศึกษา และรายชื่อสมาชิกผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่สงสัยต่อเอกสารรายชื่อนักกิจกรรม จึงควบคุมตัวไปยังหน่วยเฉพาะกิจ ที่ ๑๑ ยะลา ทำการสอบสวนจากนั้นยึดเครื่องมือสื่อสารไป ในขณะสอบสวนมีเจ้าหน้าแสดงพฤติกรรมและวาจาไม่สุภาพต่อนักศึกษา

นายสือกรี เต๊ะ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา เป็นคณะกรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สร้างเกียรติยศชื่อเสียงต่อมหาลัยราชภัฏยะลา มากมาย และเป็นนักกิจกรรมที่ร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นเพื่อสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ทางการเมืองของประชาชนในพื้นที่ สู่การสร้างให้เกิดกระบวนการสันติภาพอย่างแท้จริง ปฏิบัติการปิดล้อมจับกุมในครั้งนี้ก่อให้เกิดการสูญเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อสังคม และเป็นการคุกคามการมีส่วนร่วมของนักศึกษาในการสร้างกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้งนี้

ทางสหพันธ์นิสิตศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงขอเสนอแนวทางดังนี้

๑.เจ้าหน้าที่ต้องชี้แจงถึงสาเหตุการปิดล้อมและ ควบคุมตัวต่อสาธารณะชนได้รับรู้อย่างชัดเจน

๒.ต้องสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงานเพื่อลดความเคลือบแคลงใจของนักศึกษา และสังคมสาธารณะเพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจเหนือกฎหมายหรือกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจยะลา ๑๑ เพื่อที่จะสร้างกระบวนการสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน

วันนี้ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๕
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา ‘ปฏิญญาหน้าศาล’ ชำแหละ ศาล รธน. ทำตัวเป็น รธน.

Posted: 04 Jun 2012 09:44 AM PDT

ปิยบุตร เผยนิติราษฎร์เตรียมเสนอสูตรนิรโทษกรรมแบบไม่เหมากลางเดือนนี้ คาดแรงต้านน้อยกว่า ชี้คำสั่ง ตลก.รธน. ระงับสภาแก้ รธน. คือรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ

เสวนา ‘ปฏิญญาหน้าศาล’ ชำแหละ ศาล รธน. ทำตัวเป็น รธน.

13.30 น. บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดา กลุ่มปฎิญญาหน้าศาล จัดเสวนาเรื่อง "ล้มศาลเตี้ยของชนชั้นสูง ผิดตรงไหนที่รัฐบาลประชาธิปไตย จะลบล้าง คตส.ที่มาจากเผด็จการ" โดยมี ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติราษฎร์และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และสุดา รังกุพันธ์ เป็นวิทยากร โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนากว่า 80 คน

โดยปิยบุตร แสงกนกกุล แจ้งในวงเสวนาว่า กลางเดือนนี้ ทางคณะนิติราษฎร์จะเสนอสูตรนิรโทษกรรม เป็นทางเลือกให้กับสังคมนอกจาก 4 สูตรที่มีอยู่ โดยใช้การทำเป็นรัฐธรรมนูญ ล่ารายชื่อ 50,000 ชื่อยื่นสภา ซึ่งจะแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเกี่ยวกับการชุมนุม เรียก "นิรโทษกรรมปรองดองขจัดความขัดแย้ง" กับ กลุ่มเกี่ยวกับ คตส. เช่น กรณีคดีคุณทักษิณ ชินวัตร ก็รวมอยู่ด้วย เรียก "ล้มล้างผลพวงรัฐประหาร" ซึ่งทางคณะนิติราษฎร์เคยเสนอไว้ คาดว่าแยกแบบไม่เหมาเข่งนี้ แรงต้านจะน้อยลง คนเห็นด้วยจะมากขึ้น ย้ำการเขียนกฏหมายไม่คำนึงหน้าคน ไม่ว่าจะพันธมิตรหรือทักษิณ แต่ยึดหลักการ โดยรวมตั้งแต่ 19 ก.ย.49 เป็นต้นมา ส่วนเรื่องกรณีเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังไม่ได้พิจารณา แต่รับปากกับผู้ร่วมเสวนาว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะนิติราษฎร์ด้วย

ปิยบุตร แสงกนกกุล มองว่า “ตอนนี้ปัญหาที่สำคัญคือเรื่องการปรองดองการนิรโทษกรรมมันเอามาสับสนปนเปกันไปหมด ทั้งเรื่องคุณทักษิณ ทั้งเรื่องคดีบรรดาอดีตรัฐมตรีต่างๆ ที่โดนคดีจาก คตส. ทั้งเรื่องผลพวงรัฐประหาร ทั้งเรื่องคดี 112 ทั้งเรื่องคดีที่โดนจากการสลายการชุมนุม พรก.ฉุกเฉินต่างๆ แล้วก็กำลังมีความคิดในลักษณะที่ว่าพยายามทำให้มันง่ายที่สุด คือว่านิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง เอาทุกเรื่องมารวมให้หมดแล้วนิรโทษกรรม พอทำแบบเหมาเข่ง ในทางการเมืองก็จะเกิดอย่างที่ท่านเห็น จะมีคนที่ไม่เอากับคุณทักษิณก็ไม่ยอมในวิธีแบบนี้ ในทางกฎหมายในทางหลักการผมว่ามันก็ไม่ถูกต้องด้วย ที่ไม่แยกแยะการกระทำเอาไปปะปนกันหมดแล้วนิรโทษกรรมในลักษณะที่ว่าให้ลืมๆเบลิกแล้วต่อกันกันให้หมดในทางหลักการก็ไม่ถูกอีก”

ปิยบุตร แสงกนกกุล ยังได้ชี้แจงหลักพื้นฐานการนิรโทษกรรมที่นิติราษฎร์เสนอว่า ประกอบด้วย

  1. ไม่เอานิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งทั้งหมด เพราะการทำแบบนี้ มันคือการยุติการพิจารณา สืบสวนสอบสวน ข้อเท็จจริงว่าใครเป็นคนสลายการชุมนุม ใครเป็นคนสั่งฆ่าประชาชน คลายๆ 6 ตุลา 19 เลย ถ้าทำแบบนี้ คือปล่อยนักเรียน นักศึกษาออกจากคุกหมดเลย แต่ไปแลกกลับการที่ยุติหมดเลยเรื่อง 6 ตุลานี่ใครเป็นคนทำ พฤษภาทมิฬ 35 ก็ทำอย่างนี้เหมือนกัน วิธีการแบบนี้ประเทศไทยทำมาแล้วหลายครั้ง การจะทำแบบนี้มันจะย้ำว่าสิ่งที่ทำแบบนี้มันถูกต้อง วันข้างหน้ามีการชุมนุมขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจก็ไม่ต้องกังวลใจ เดียวก็สังหารประชาชนสั่งฆ่าไปเลย เดียวก็จะได้นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งแบบนี้อีก ควรเลิกวิธีแบบนี้
  2. นิรโทษกรรม ผู้ต้องหา คนที่ติดคดีต่างๆที่มาจาก พรก.ฉุกเฉินฯ พวกนี้นิรโทษกรรมทันที โดยไม่มีเงื่อนไข ใครที่พิพากษาไปแล้วก็ถือว่าไม่ผิด รวมถึงคดีอาญาเล็กๆน้อยๆที่มีโทษไม่มากคดีลหุโทษต่างๆ พวกนนี้ปล่อยทันที
  3. พวกที่ไม่เข้าข้อที่ 2 ตั้งแต่ 19 ก.ย.49 จนถึงวันนี้ มันมีความขัดแย้งทางการเมืองเยอะแยะเต็มไปหมด เราจะปรองดองเพื่อยุติความขัดแย้ง เราเสนอว่าบุคคลต่างๆที่โดนคดีที่มีมูลเหตุจูงใจจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ 19 ก.ย.49 จนถึงวันนี้ ถ้าใครที่มีคดีที่มีมูลเหตุจูงใจมาจากความขัดแย้งทางการเมืองให้นิรโทษกรรม โดยให้คณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง ชี้ว่าเกี่ยวข้องหรือไม่เพื่อนิรโทษกรรม โดยในระหว่างที่คณะกรรมการชุดนี้พิจารณาอยู่ ใครที่ค้างอยู่ให้ปล่อยออกมาก่อน แล้วพิจารณาที่ละกรณีไปถ้าเกี่ยวกับความขัดแย้งก็นิรโทษกรรมถ้าไม่เกี่ยวก็ดำเนินคดีต่อไป
  4. กรณีที่เกี่ยวพันกับ คตส. คือกรณีคุณทักษิณ และเพื่อนๆทั้งหลาย ชุดนี้นิติราษฎร์เคยเสนอเมื่อ 18 ก.ย.ปีที่แล้ว ที่เราเรียกว่าลบล้างผลพวกรัฐประหาร เราเสนอว่าให้คำพิพากษาต่างๆ ที่เอาประกาศของคณะ คปค.มาใช้ คำพิพากษาต่างๆที่มีความเกี่ยวพันริเริ่มคดีโดย คตส. คณะกรรมการตรวจสอยทรัพย์สิน พวกนี้ ประกาศให้คำพิพากษาเหล่านี้เสียปล่าวไม่มีผลทางกฎหมาย อันนี้ไม่ใช่นิรโทษกรรม เราประกาศให้คำพิพากษาเสียปล่าว แต่การกระทำของคุณทักษิณและเพื่อนๆ ที่สงสัยว่าทุจริตยังอยู่ ใครอยากเริ่มต้นคดีก็เชิญเริ่มต้นคดีใหม่ ตามกระบวนการปกติ โดยไม่มี คตส. อีก

นอกจากนี้ในวงเสวนา ปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะนิติราษฎร์ ยังได้กล่าวถึงคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมาให้สภาฯระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291ดังนี้

เสวนา ‘ปฏิญญาหน้าศาล’ ชำแหละ ศาล รธน. ทำตัวเป็น รธน.

“..สมติว่ามีองค์กรตารัฐธรรมนูญองค์กรใดองค์กรหนึ่ง จงใจบิดผันใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญของตัวเองบิดผัน ทำผิดรัฐธรรมนูญโดยชัดเจนประจักษ์ชัด ชัดแจ้ง ทำเสร็จแล้วทำมึนเงียบๆไป โดยที่องค์กรอื่นๆไม่มีการตอบโต้ใดเลย จนการบิดผันใช้รัฐธรรมนูญแบบผิดๆกลายเป็นสิ่งที่ถูก นั้นล่ะครับคือการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญเรียบร้อย..”

 

คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้สภาฯระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 มีปัญหาตั้งแต่ขั้นที่ 1 ของกระบวนการก็ผิด ไม่มีรัฐธรรมนูญให้อำนาจ

ผู้ร้อง 5 คนที่ไปยื่น เขาไม่ได้ยื่นโดยใช้วิธีให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบว่าแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใหม่ พวกนี้เก่งมากที่หารูไปศาลรัฐธรรมนูญได้คงมีคนแนะนำให้หาจนเจอ เขาไปใช้มาตรา 68 ซึ่งเป็นระบบป้องกันตัวเองของรัฐธรรมนูญเช่นกัน บอกว่าบุคคลหรือพรรคการเมืองใด ที่มีการกระทำอันเป็นการล้มบล้างการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้ามีผู้ใดพบเห็นก็ให้ไปร้องที่อัยการสูงสุดและส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเห็นว่าเป็นการล้มล้างจริงศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้คนนั้นหยุดการกระทำที่ทารล้มล้าง ถ้าเป็นพรรคการเมืองก็ยุบพรรคการเมืองนั้นได้

5 คำร้องที่ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญนี่ก็รู้อยู่แก่ใจว่าไปช่องอื่นไม่ได้ก็ไปช่องนี้ ด้วยการอธิบายว่าการแก้รัฐธรรมนูญโดยใช้มาตรา 291 เพื่อที่จะไปตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แบบนี้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ผมว่ามหัศจรรย์ที่สุดในโลก ฉีกรัฐธรรมนูญ 19 ก.ย.49 นี่ ไม่มีปฏิกิริยาอะไรเกิดขึ้นเลย แต่พอจะแก้รัฐธรรมนูญตามกระบวนการ สภาร่างมาทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ นี่บอกว่าล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็ส่งไป มันมีปัญหาตั้งแต่ขั้นที่ 1 เลย กระบวนการก็ผิด ผิดตรงที่ว่า 68 นี่ เขาบอกว่าให้ไปยื่นที่อัยการสูงสุด 5 คนนี้ต้องไปยื่นที่อัยการสูงสุดก่อน อัยการสูงสุดชี้ว่ามีมูล ก็ส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดอีกครั้งหนึ่ง อันนี้ยัวไม่ผ่านอัยการสูวสุดเบลยครับ วิ่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเลย เพราะศาลรัฐธรรมนูญไปแปลความแบบพิศดาลว่า บุคคลที่พบเห็นนี่สามารถยื่นอัยการสูงสุดและอัยการสูงสุดไปศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ หรือว่ายื่นตรงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเลยก็ได่ ถ้าดูรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไม่ต้องคิดเรื่องสีเสื้อเลย เด็กประถม เด็กอนุบาล เด็กปริญญาตรีที่ไหนอ่านแล้วก็ต้องเห็นอย่างนี้หมด คือต้องไปอัยการสูงสุดแล้วอัยการสูงสุดเป็นคนส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ขั้นตอนต่อมาก็คือรับไปแล้ว ไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดเลยบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้สภาหยุดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไปควาญหามาได้โดยการไปเอาประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาคบังคับคดี มาตรา 264 พูดเรื่องวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา เช่น มาฟ้องศาล ศาลยังไม่ตัดสินขอคุ้มครองชั่วคราวก่อน อันนี้เขาใช้ในศาลยุติธรรม ศาลปกครองก็มี ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเรื่องนี้เลย แต่ศาลรัฐธรรมนูญไปเอามาใช้ โดยอ้างว่ามันมีข้อกำหนดอยู่อันหนึ่ง ข้อ 6 เขียนว่าถ้าไม่มีข้อกำหนดใดเขียนไว้ให้เอาวิฯแพ่งมาใช้โดยอนุโลม ทำอย่างนี้ไม่ถูก เพราะ วิฯแพ่งมาใช้โดยอนุโลมนี่จะใช้ได้ต่อเมื่อในเรื่องที่ตนเองมีอำนาจอยู่แล้ว แล้วบังเอิญว่าข้อกำหนดวิธีพิจารณาคดีศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนอะไรไว้ก็เลยไปเอาวิฯแพ่งมาใช้โดยอนุโลม แต่กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจอยู่เลย คือสั่งระงับการแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ไม่มีอะไรเขียนไว้เลยนี่ นี่เป็นการเอาวิธีการมาสร้างอำนาจ แต่ถ้าเป็นเงื่อนไขนี้ต้องมีอำนาจก่อน แล้วค่อยหาวิธีการทำอย่างไร

รัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสุงสุด เขียนไว้ชัดว่า คุณทำอะไรได้บ้าง แล้วคุณก็ไปเอาข้อกำหนด ซึ่งเป็นระดับรองมากๆนี่ ไปเอาวิฯแพ่งซึ่งเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเอามาใช้เหนือรัฐธรรมนูญอีก เด็กปริญญาตรีปี 1 ก็รู้เรื่องลำดับชั้นกฎหมาย

ผิดอันที่ 3 คือว่า ต่อไปนี้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญศาลรัฐธรรมนูญก็ใช้ ม.68 ซึมเข้ามาหาทางเข้ามาเพื่อมาตรวจการแก้รัฐธรรมนูญทุกครั้ง เพราะฉนั้นคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันศุกร์เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญเอง ออกคำสั่งมาโดยผิดรัฐธรรมนูญชัดเจน

ถ้าไม่มีใครตอบโต้คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญทำรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ

เวลาเรานึกถึงรัฐประหารเราจะนึกภาพรถถังออกมายึดที่ต่างๆ นี่คือการรัฐประหารโดยใช้ทหาร แต่มันมีรัฐประหารอีกแบบหนึ่งคือรัฐประหารโดยใช้กลไกตามกฎหมาย พวกนี้เนียนกว่าเยอะ ตำราที่เรียมาเขาบอกว่า ถ้าสมติว่ามีองค์กรตารัฐธรรมนูญองค์กรใดองค์กรหนึ่ง จงใจบิดผันใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญของตัวเองบิดผัน ทำผิดรัฐธรรมนูญโดยชัดเจนประจักษ์ชัด ชัดแจ้ง ทำเสร็จแล้วทำมึนเงียบๆไป โดยที่องค์กรอื่นๆไม่มีการตอบโต้ใดเลย จนการบิดผันใช้รัฐธรรมนูญแบบผิดๆกลายเป็นสิ่งที่ถูก นั้นล่ะครับคือการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญเรียบร้อย ถ้าภายในไม่กี่วันไม่มีใครตอบโต้คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั่นเท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนุญทำรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว 1 ต่อไปนี้บุคคลทั่วไปก็วิ่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ใช้ ม.68 ยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงทันที ทั้งๆที่ต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อน อันที่ 2 ต่อไปนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็จะตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้โดยอาศัยช่องมาตรา 68 ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญไม่ให้ทำ อันที่ 3 ต่อไปนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะมีอาวุธพิเศษเพิ่มขึ้นมาคือสั่งระงับคนโน้นคนนี้ได้ชั่วคราว พูดง่ายๆภาษากฏหมายคือ วิธีการชั่วคราว อย่างนี้มันก็กลายเป็นการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญเรียบร้อย คือ ไปทำผิดรัฐธรรมนูญโดยชัดเจน โดยที่ไม่มีใครไปตอบโต้เลย นี่ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญด้วย คือศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนบอกขึ้นมารเอง เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องร้ายแรง มันผิดทฤษฎี ผิดระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งหมด

ศาลรัฐธรรมนูญเป็นยามเฝ้ารัฐธรรมนูญถ้าไม่ตีกรอบจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง

ศาลรัญธรรมนูญเขาก่อตั้งเพื่อเพื่อพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญเอาไว้ เช่น ถ้ามีใครละเมิดรัฐธรรนูญ กฎหมายฉบับนี้เขียนไว้ขัดกับรัฐธรรมนูญ คนนี้จะมาล้มล้างการปกครอง ก็จะมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนเข้าไปตรวจสอบ เป็นยามเป็นการ์เดียนเฝ้ารัฐธรรมนูญ แต่คนที่รักษารัฐธรรมนูญนี่ถ้าไม่ตีกรอบคนรักษารัฐธรรมนูญเลยนี่นานวันเข้าจะกลายเป็ยรัฐธรรมนูญเสียเอง เพราะคนรักษารัฐธรรมนูญจะเป็นคนบอกว่าอันนี้ผิดรัฐธรรมนูญไหม และบอกไปมีผลผูกพันทุกองค์กรอีก องค์กรอื่นๆต้องปฏิบัติตามอีกอำนาจมหาศาล

รัฐสภาต้องโต้กลับคำสั่ง ตลก.รธน.โดยการแก้ รธน.ต่อ เพื่อไม่ให้คำสั่งกลายเป็นวัตรปฏิบัติ

เพราะฉะนั้นเขาจึงสอนหนังสือมาตลอดว่าศาลรัฐธรรมนุญต้องมีเขตอำนาจแบบจำกัด ถ้ารัฐธรรมนูญบอกมีอำนาจ 10 ก็มีอำนาจ 10 ขยายไป 10.2 10.5 เติมออกไปเองไม่ได้ นานวันเข้าขยายแดนออกไปเรื่อยๆตัวเองก็จะใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญเสียอีก เป็นระบบที่ไม่พึงประสงค์ เพราะฉะนั้นเมื่อมีคำสั่งวันศุกร์ที่ผ่านมาผมเห็นว่าชัดยิ่งกว่าชัด ดังนั้นองค์กรที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญด้วยกัน เช่น รัฐสภาคุณก็พอฟัดพอเหวียง แต่ประเทศไทยมีบรรยากาศปกคลุมว่าศาลเป็นใหญ่ตลอดเวลา คุณ(รัฐสภา)มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะโต้กลับไปได้ สิ่งที่เขาสั่งคุณมามันเป็นคำสั่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ คือคำสั่งนี้มันไม่มีผล ก็มีสิทธิไม่ปฏิบัติตาม ในฐานะรัฐสภาองค์กรที่แก้รัฐธรรมนูญนี่ ก็ดำเนินการแก้ต่อไป นี่คือการใช้อำนาจที่ตัวเองมีโต้กลับไป ถ้าไม่โต้แบบนี้ก็จะกลายเป็นวัตรปฎิบัติ มันจะถูกใช้ไปอีกเรื่อยๆ

 

คลิป ปิยะบุตร นิติราษฎร์ ตอบประเด็นคำถาม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สภาผู้แทนราษฎรระงับการพิจารณาร่างแก้ไข รธน.มาตรา 291

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นปช.ประกาศล่าชื่อถอดถอน ตลก.ฐานยับยั้งรัฐสภาแก้ รธน.ม. 291

Posted: 04 Jun 2012 09:16 AM PDT

ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.สับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ ทำตัวเหนือรัฐธรรมนูญ ประกาศล่ารายชื่อขอถอดถอนตามบทบัญญัติ มาตรา 270

0 0 0 0 0

 

คำแถลงกรณีศาลรัฐธรรมนูญยับยั้งรัฐสภา
ในการลงมติวาระ 3 ร่างเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291

โดย ธิดา ถาวรเศรษฐ 4 มิถุนายน 2555

ปฏิบัติการของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการรับคำร้องของ 1. พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม และคณะ 2. นายวันธะชัย ชำนาญกิจ 3. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ 4. นายวรินทร์ เทียมจรัส 5. นายบวร ยสินทรและคณะ รวม 5 คำร้องไว้พิจารณา ตามคำร้องที่อ้างว่า คณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา นายสุนัย จุลพงศธรและนายภราดร ปริศนานันทกุลและคณะ ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญซึ่งอาจมีผลทำให้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และตุลาการที่ลงมติรับคำร้องมีรายชื่อดังต่อไปนี้คือ

  1. 1. นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์          ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
  2. 2. นายจรัญ ภักดีธนากุล            ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  3. 3. นายจรูญ อินทจาร                ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  4. 4. นายเฉลิมพล เอกอุรุ              ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  5. 5. นายนุรักษ์ มาประณีต            ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  6. 6. นายบุญส่ง กุลบุปผา            ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  7. 7. นายสุพจน์ ไข่มุกด์                ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

พิจารณาแล้ว เรามีความเห็นต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปฏิบัติการนี้ว่าขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

กล่าวคือ การรับเรื่องร้องเรียนนี้ไว้พิจารณา เพื่อยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยนั้น มีปัญหาต้องพิจารณาได้หลายประการ

ประการแรก ก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ

ประการที่สอง ทำตัวเหนือกว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ หมวด 3 ส่วนที่ 13 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ห้ามมิให้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือให้ได้มาที่อำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ปัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมิได้ เพียงเพราะตามมาตรา 68 วรรคแรกท่านก็ไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ เพราะการยื่นร่างขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามครรลองระบอบประชาธิปไตยที่มีอำนาจหน้าที่ตามอำนาจนิติบัญญัติที่แบ่งแยกอำนาจการเมืองการปกครองไว้ชัดเจน ไม่มีเรื่องล้มล้างการปกครองใด ๆ เพราะเป็นการขอแก้ไขตามมาตรา 291 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้ได้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ความวิตกจริตของกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วที่มายื่นคำร้องไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญลุเกินอำนาจหน้าที่ให้ไว้ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เว้นแต่ท่านจะอยู่ใต้อาณัติหรือความเชื่อของคณะผู้ร้องเท่านั้น กล้าก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติที่ประชาชนทั้งประเทศให้อำนาจมาออกกฎหมาย และกระทำการตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กระทำนอกระบบรัฐสภาและนอกระบอบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ยิ่งเมื่อพิจาณาวรรคสองที่กล่าวว่า ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใด กระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

พิจารณาวรรคสองแล้ว การกระทำของตุลาการรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 68 วรรคสองชัดเจน จะใช้ระเบียบ กฎหมายอื่นและความคิดที่ว่า ทำให้ช้าเพื่อไต่สวนความจริงมาใช้โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสองมิได้ เพราะหน้าที่กลั่นรองตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นเรื่องของอัยการสูงสุด ไม่ใช่ตุลาการรัฐธรรมนูญ เร่งรีบ รวบรัด ตัดตอนมาทำเอง และจะอ้างมาตรา 212 ที่ บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิ์หรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ วรรคสองมาตรานี้กล่าวว่า การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่ต้องใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว

โดยที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้เกิดนิติรัฐที่มีนิติธรรมในประเทศไทย เป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับอนาคตของประเทศไทยว่า จะนำไปสู่ความสงบสุขได้หรือไม่?

ดังนั้น นปช. ในฐานะองค์กรประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความยุติธรรมมีความเห็นว่า การยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง ของคณะรัฐมนตรี ล้วนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามวงเล็บ 1-7 แสดงว่ารัฐธรรมนูญได้อนุญาตให้มีการแก้ไขได้ เพิ่มเติมได้ ไม่มีเหตุใดที่จะอ้างรับคำร้องไว้พิจารณาเพื่อหยุดยั้งอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการมอบอำนาจของประชาชน ตรงข้าม คณะตุลาศาลรัฐธรรมนูญมาจากการคัดสรรของคณะบุคคลและวุฒิสภาที่ครึ่งหนึ่งมาจากการคัดสรรแต่งตั้ง เป็นวงจรอุบาทว์ของระบอบอำมาตยาธิปไตย

  • ถ้าเป็นเช่นนี้เท่ากับว่าคณะบุคคลในนามศาลรัฐธรรมนูญกระทำการเกินอำนาจหน้าที่ และไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และการออกคำสั่งให้รัฐสภาระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดให้อำนาจไว้ แต่ไปเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 264 มาใช้ (การเอากฎหมายศักดิ์ต่ำกว่ามาใช้ก็เป็นเรื่องที่ตุลาการรัฐธรรมนูญนำมาใช้หลายครั้งแล้ว)

สรุปคือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจกระทำการในการตรวจสอบร่างการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่มีอำนาจสั่งการให้ฝ่ายนิติบัญญัติยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นี่เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญละเมิดรัฐธรรมนูญเอง แล้วยังล่วงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ทำตัวอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

จึงสมควรอย่างยิ่งที่ประชาชนจะเข้าชื่อขอถอดถอนตามบทบัญญัติ มาตรา 270
ขอให้รัฐสภายืนหยัดในอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ชาญวิทย์' รับรางวัล "วัฒนธรรมเอเชียแห่งฟูกุโอกะ" สาขาวิชาการ

Posted: 04 Jun 2012 09:04 AM PDT

รางวัล "วัฒนธรรมเอเชียแห่งฟูกูโอกะ" ของประเทศญี่ปุ่น เป็นรางวัลมอบให้ผู้ทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมเอเชียและส่งเสริมสันติภาพ โดยปีนี้ ยังมี "วันทนา ศิวะ" นักปรัชญาสิ่งแวดล้อมและนักเคลื่อนไหวสตรีชาวอินเดียได้รับรางวัลแกรนด์ไพรซ์ด้วย

4 พ.ค. 55 - รางวัลวัฒนธรรมเอเชียแห่งฟูกูโอกะ ซึ่งเป็นรางวัลมอบให้แก่ศิลปินและนักวิชาการนานาชาติที่ทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมเอเชีย มอบรางวัลดีเด่นสาขาวิชาการให้แก่ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไทยและอดีตอธิการบดีม.ธรรมศาสตร์  โดยในปีนี้ มีผู้ได้รับรางวัลอีกทั้งหมด 3 คน ได้แก่ "วันทนา ศิวะ" นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม-สตรีนิยมชาวอินเดีย "คิดลาต ทาฮิมิก" ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฟิลิปปินส์ และ "จี อาร์ อาย โกเอส มูร์ติยาห์ ปากู บูโวโน" สตรีผู้อนุรักษ์ศิลปะชวา

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีบทบาทส่งเสริมงานวิชาการด้านอุษาคเนย์ศึกษาอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับในประเทศและนานาชาติ โดยนอกจากจะเป็นผู้ก่อตั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการผลิตงานวิขาการที่สำคัญผ่านทางมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ด้วย 

ทั้งนี้ งานของเขาที่ได้รับการยอมรับในวงการประวัติศาสตร์ไทยและนานาชาติ ได้แก่ งานศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาและประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น และมีผู้อ่านจำนวนมาก   

สำหรับปีนี้ ผู้ได้รับรางวัล "ฟูกูโอกะ แกรนด์ไพรซ์" ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุด ได้แก่ "วันทนา ศิวะ" นักปรัชญาสิ่งแวดล้อมชาวอินเดีย ผู้มีดีกรีปริญญาเอกทางควอนตัมฟิสิกส์จากแคนาดา และภายหลังได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยเพื่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมที่อินเดียเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ ต่อมา ได้เข้าไปมีบทบาทในการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมแนว "Ecofeminism" หรือสตรีนิยมสายนิเวศ และขับเคลื่อนในขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยชุมชนรากหญ้าในอินเดีย 

ส่วนรางวัลฟูกูโอกะ สาขาศิลปวัฒนธรรมปีนี้ เป็นของผู้กำกับหนังชาวฟิลิปปินส์อิสระวัย 70 ปี และ จี อาร์ อาย โกเอส มูร์ติยาห์ ปากู บูโวโน สตรีผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์จากเกราตัน ซูรากาตา ผู้อนุรักษ์ศิลปะเก่าแก่ของชวา ทั้งด้านการนาฎศิลป์ราชสำนัก ดนตรี และละครเงา

ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าว ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1990 โดยผู้ได้รับรางวัลที่ผ่านมา รวมถึง เจมส์ ซี สก็อต นักวิชาการชาวสหรัฐด้านมานุษยวิทยา แอนโทนี รีด นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ไทย คลิฟฟอร์ด กีแอร์ตซ์ นักมานุษยวิทยา และคึกฤทธิ์ ปราโมทย์ นักเขียนและรัฐบุรุษไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม? ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

Posted: 04 Jun 2012 09:04 AM PDT

“แด่การปฏิวัติสยาม 2475, คณะราษฎร และผู้ถางทางประชาธิปไตยไทยอันไร้นามสกุล”

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ [1]

0 0 0

 

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบ และกวาดรวบทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎร เพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง

ประกาศคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2475 [2]

 

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร

พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ 2 มีนาคม 2478 [3]

 

พล็อตประวัติศาสตร์กระแสหลักของชาติไทย ถูกวางรากฐานให้เป็นเครื่องมือสร้างความทรงจำร่วมเพื่อเอกภาพของรัฐ อดีตอันยิ่งใหญ่เท่านั้นที่จะสร้างปมเด่นให้กับประเทศชาติ เราจึงมีประวัติศาสตร์ที่อาศัยจินตนาการสูง แต่สมรรถภาพในการตั้งคำถามต่ำ ตั้งแต่พล็อต “คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต” กับการอธิบายประวัติศาสตร์ราชธานีสี่กรุง กรุงสุโขทัย-กรุงศรีอยุธยา-กรุงธนบุรี-กรุงรัตนโกสินทร์ ในที่สุดประวัติศาสตร์ไทยจึงจอดเทียบท่าอยู่กับความส่องสว่างของยุครุ่งเรืองถึงขีดสุดในรัชกาลที่ 5 ขณะที่ความเรืองรองของประวัติศาสตร์ปฏิวัติสยาม 2475 และความพลิกผันของสถานการณ์เมืองที่มีปัจจัยอันสลับซับซ้อน ได้ถูกทำให้ลืมๆกันไป ด้วยการยกความดี ความจริง ความงามของบางสิ่งบางอย่างเข้าแทนที่ พร้อมโครงเรื่องง่ายๆ ที่แบ่งข้างด้วยความดี ความชั่ว ขาว ดำ พระเอก ผู้ร้าย ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากในการสร้างความจดจำ แม้มันจะไม่บันเทิงใจเท่าละครหลังข่าวเท่าใดนักก็ตาม

ประวัติศาสตร์ระยะใกล้ โดยเฉพาะการปฏิวัติสยาม 2475 ได้ถูกทำให้มีสถานะคลุมเครือ การพลิกอำนาจจากกษัตริย์มาสู่ประชาชนอันเป็นความสำเร็จที่ท้าทายและมีรากเหง้าของความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ก็ถูกอธิบายง่ายๆว่า ครั้งนั้นเป็นเพียงการแค่อำนาจที่เปลี่ยนมือจากผู้มีอำนาจเดิม คือ กษัตริย์ไปสู่มือของชนชั้นนำที่ไม่ได้มีเชื้อเจ้าเท่านั้น การโต้แย้งถกเถียงถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของคณะราษฎรจึงมีข้อจำกัด และส่วนใหญ่จะเห็นพ้องกันด้วยซ้ำว่า คณะราษฎรเป็นต้นตอของสภาพสังคมไทยอันวุ่นวาย สังคมที่อยู่ในวังวนของการแก่งแย่งชิงดีของอำนาจของนักการเมือง เป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์แห่งความเลวร้าย ซึ่งอยู่ในขั้วตรงกันข้ามกับความบริสุทธิ์ของสิ่งดีงามที่บริสุทธิ์ “ไร้การเมือง” อย่างสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

หลังจากการรื้อฟื้นอำนาจของสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่ทศวรรษ 2490 และปรากฏผลอย่างจริงจังในทศวรรษ 2500 ได้ส่งผลให้รัชกาลที่ 7 ทรงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับเผด็จการทหารไปในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ในอีกด้านหนึ่งก็เบียดบังความสำคัญและความทรงจำต่อคณะราษฎรออกไปจากความทรงจำร่วมของสังคมไทยได้อย่างเหลือเชื่อ 80 ปีของการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครองของไทยมาสู่ระบอบประชาธิปไตย นอกจากจะเป็นวาระที่สมควรเฉลิมฉลอง ผลิตซ้ำความหมาย ความคิด ความรู้และประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติสยามและคณะราษฎรแล้ว เราควรจะมองปัจจัยที่ทำให้คณะราษฎรและการปฏิวัติสยามถูกลดทอนคุณค่าลงไป

ผู้เขียนเห็นว่า การประเมินความเคลื่อนไหวทางการเมืองในอีกฝั่งฟากเป็นเรื่องสำคัญ ในที่นี้ผู้เขียนสนใจเขียนถึงและครุ่นคิดกับองค์กรประชาธิปไตยองค์กรหนึ่งที่อยู่ใต้การควบคุมของรัฐนั่นคือ สถาบันพระปกเกล้า อาจกล่าวได้ว่า สถาบันดังกล่าวเป็นผลผลิตของพลังของตำนานกษัตริย์นักประชาธิปไตยที่ขยายตัวอย่างชัดเจนในกลางทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา

บทความชุดนี้ได้แบ่งย่อยเป็น 3 ตอน จะขอเปิดประเดิมด้วยจุดเริ่มต้นการสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า

 

1. จากผู้แพ้ สู่ ผู้ชนะ รัชกาลที่ 7 กับฐานะอันสูงเด่นหลัง 14 ตุลา 16

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นับเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวในราชวงศ์จักรีที่ไม่มีการสร้างพระเมรุมาศและการออกพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง เนื่องจากพระองค์เสด็จสวรรคตต่างแดน ในปี 2484 ช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับยุคทองของคณะราษฎรที่เป็นคู่ขัดแย้งกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการลงเอยด้วยการประกาศสละราชสมบัติในปี 2478 ต้องรอให้คณะราษฎรเสื่อม จนตกลงจากบัลลังก์อำนาจด้วยการรัฐประหารปี 2490 การฟื้นฟูพระเกียรติยศจึงได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล ในขณะเดียวกันการฟื้นคืนอำนาจของกลุ่มนิยมเจ้าในทศวรรษ 2490 ทำให้เจ้านายกลับมามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เรื่องเล่าเกี่ยวกับกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ถูกหยิบฉวยมาใช้ในการอธิบายในฐานะคุณูปการต่างๆ ต่อสังคมไทย หนึ่งในนั้นก็มีเรื่องของรัชกาลที่ 7 อยู่ด้วย

ปี 2492 พบว่ารัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม กราบทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ขอให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย [4] อีกไม่กี่ปีต่อมาก็พบว่ามีการประชุมคณะรัฐมนตรี ปี 2496 [5] และมีข้อเสนอให้จัดสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ขึ้น ให้รื้อป้อมกลางของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และให้นำอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ที่กล่าวกันว่ามีขนาดใหญ่ถึง 3 เท่าตัวคนไปแทนที่ เหตุผลก็คือ พานรัฐธรรมนูญเป็นเพียง “สิ่งของ” ขณะที่ “พระบรมรูป” เป็นเพียงความเหมาะสมในการระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ดีกว่า ดังนั้นในมุมนี้รูปเคารพที่เป็นมนุษย์จับต้องได้ จึงมีความสำคัญกว่าสัญลักษณ์ในเชิงหลักการ

นอกจากนั้น ความสำคัญของรัชกาลที่ 7 ยังถูกผลิตซ้ำด้วยพระบรมราชินีของพระองค์ นั่นคือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ปรากฏเรื่องเล่าว่า พระองค์เสด็จมาที่จันทบุรีเพื่อสร้างพระตำหนักส่วนพระองค์ ทรงทำมีดบาดพระดัชนี (มีดบาดนิ้ว) จึงเข้าโรงพยาบาลจันทบุรี [6] โรงพยาบาลขณะนั้นมีขนาดเล็ก จึงทรงเห็นว่าควรจะช่วยเหลือ ในปี 2497 ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกศัลยกรรม ปรากฏว่ามีพระญาติวงศ์ ข้าราชการประชาชน เข้าร่วมบริจาคสมทบด้วย อาคารหลังดังกล่าวแล้วเสร็จในปี 2499 ได้ชื่อว่า “ตึกประชาธิปก” และยังได้ใช้ “ตราศักดิเดชน์” ประจำรัชกาลที่ 7 เป็นตราประจำตึกอีกด้วย มีการบันทึกว่า มุขหน้าตึกได้มีการสร้างพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานไว้ด้วย เข้าใจว่าน่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่มีการสร้างพระบรมรูปฯ รัชกาลที่ 7 ในที่สาธารณะ สอดคล้องกับการที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม อนุมัติคณะรัฐมนตรีให้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลพระปกเกล้า” เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์

อย่างไรก็ตามในบริบททางประวัติศาสตร์ ปลายทศวรรษ 2490 เป็นช่วงที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสาธารณสุข เป็นอย่างมาก พบหลักฐานว่ารัฐบาลให้งบประมาณในการปรับปรุงและสร้างสถานพยาบาล จนขยายตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด [7]

 

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย ในปี 2492 หลังจากสวรรคต 8 ปี ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ที่มา : วังสวนบ้านแก้ว http://www.rbru.ac.th/bankeaw/kittikun/index.php?option=com_content&view=article&id=21:-qq&catid=3:2010-12-08-17-36-51&Itemid=3

 

ภายใต้สังคมเผด็จการ ทศวรรษ 2500 มีผู้เสนอให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 .อีกครั้ง ในฐานะที่พระองค์ทรงวางรากฐานเกี่ยวกับประชาธิปไตย จนประเทศไทยได้เจริญรุ่งเรืองมาได้ วิชัย ประสังสิต เป็นผู้เสนอในปี 2505 [8] ที่ตลกร้ายก็คือ นี่ถือเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของประชาธิปไตยภายใต้การปกครองเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์! ความบิดเบี้ยวดังกล่าว ยังสอดคล้องกับการลบความทรงจำเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่สัมพันธ์กับคณะราษฎรออกไป ถึงขนาดว่ากันว่าชาวธรรมศาสตร์จำนวนมากในยุคก่อน ไม่รู้จักปรีดี พนมยงค์ ว่ามีบทบาทสำคัญอย่างไรทั้งในนามผู้ประศาสน์การ ธรรมศาสตร์และมันสมองของคณะราษฎรเสียด้วยซ้ำ [9] ดังนั้นจึงไม่แปลกที่กระแสภูมิปัญญาของปัญญาชนและนักศึกษา ตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา จึงผนวกรวมรัชกาลที่ 7 เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจใดๆ

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และประจักษ์ ก้องกีรติ [10] แสดงให้เราเห็นถึงพลังของ พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ที่มีต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาช่วง 14 ตุลา 16 ตัวบทที่ถูกคัดลอกออกมาจากบริบทเพียง 3 บรรทัด โดยละเลยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของเอกสาร ที่มีการต่อรองและต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 อย่างถึงพริกถึงขิงที่เกิดขึ้นตลอดเอกสาร ยิ่งเสริมให้ภาพลักษณ์ของรัชกาลที่ 7 มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นั่นคือ ทำให้รูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์มีบทพูดที่เฉียบแหลม ขณะที่ทรงยืนอยู่กับประโยชน์สาธารณชนเป็นใหญ่

พลังของการอ้างอิงข้อความดังกล่าวในด้านหนึ่งแล้ว มันเสริมความแข็งแกร่งให้กับความเคลื่อนไหวของประชาชน แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็กล่าวได้ว่า เป็นการปักหมุดความวิเศษและภาพลักษณ์ใหม่ของรัชกาลที่ 7 ในนามของกษัตริย์นักประชาธิปไตย ในที่สุดพลังถ้อยคำของเอกสารนี้ ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองเพื่อโค่นล้มเผด็จการ ข้อความดังกล่าวไปปรากฏในหนังสือของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่ว่ากันว่าเป็นเอกสารชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของขบวนการนักศึกษายุคนั้น การแจกจ่ายเอกสารนี้นำไปสู่การจับกุมนักศึกษา อันลุกลามไปสู่เหตุการณ์อันไม่คาดฝันนั่นคือ 14 ตุลา 16

 

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

ส่วนหนึงของ พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ รัชกาลที่ 7

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

ส่วนหนึงของ พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ รัชกาลที่ 7 ที่ถูกคัดลอกมาเพียงส่วนหนึ่ง ปรากฏอยู่ใน “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ”

 

เดือนมกราคม 2517 สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่เกิดขึ้นจาก 14 ตุลาคม 16 จำนวนหนึ่งได้เสนอให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 อีกครั้ง หลังจากที่เคยมีการนำเสนอไปในคณะรัฐมนตรีรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2512 แต่คณะรัฐมนตรีสมัยนั้นไม่เคยนำเรื่องเข้าพิจารณา จนรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ลงมติเห็นชอบและให้สำนักเลขาธิการรัฐสภาเป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการ [11] นั่นได้ตอกย้ำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภาพลักษณ์กษัตริย์ประชาธิปไตยของรัชกาลที่ 7 คือ พลังสำคัญอย่างหนึ่งในการโค่นล้มเผด็จการทหารจนประเทศได้รับประชาธิปไตย การผลักดันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

 

2. จาก 14 ตุลา 16 สู่ 6 ตุลา 19 ชัยชนะยังเป็นของฝ่ายเจ้า

ความหมายของประชาธิปไตยกับรัชกาลที่ 7 ถูกผลิตซ้ำเข้าด้วยกันอย่างแน่นแฟ้น เมื่อเดือนมกราคม 2518 กรมไปรษณีย์โทรเลข พิมพ์ตราไปรษณียากรชุด “14 ตุลาคมรำลึก” ออกจำหน่าย มีอยู่ 4 รูปแบบ คือ ตราไปรษณียากร มูลค่า 75 สตางค์ที่เป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 2 บาท และ ภาพปั้นนูนที่เป็นส่วนล่างของปีกอนุสาวรีย์ มูลค่า 2.75 บาท และสุดท้าย ภาพพานรัฐธรรมนูญและมีข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ…โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” พิมพ์ซ้อนทับลงไป มีมูลค่าสูงที่สุดนั่นคือ 5 บาท [12]

ภาพประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเรือนหมื่นเรือนแสนแน่นขนัดถนนราชดำเนิน กลับไม่ถูกเลือกให้เป็นภาพตัวแทนของพลังประชาธิปไตย ดังนั้นตราไปรษณียากรนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงการจับคู่ประชาธิปไตยที่ละเลยความสำคัญของประชาชน และพลังของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

 

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

ตราไปรษณียากรชุด 14 ตุลาคมรำลึก

 

หลัง 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 การเคลื่อนไหวของนักศึกษาและขบวนการประชาชน เกษตรกร ชาวนาชาวไร่ และกรรมกร เพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ของสามัญชนไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวน การหยุดงานประท้วง มีมากขึ้นทุกที ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ก่อความหวาดระแวงให้กับชนชั้นนำมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับอาการตื่นตระหนกเสียขวัญของชนชั้นนำ หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ลาวสามารถยึดครองประเทศได้ในปี 2518 ก็ได้ทำให้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกประเมินว่า มีฝ่ายซ้ายชักใยอยู่เบื้องหลังนั่นคือ ภัยคุกคามขั้นอุกฤต ดังนั้นภาพลักษณ์ของการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน หลัง 14 ตุลา 16 จึงกลายเป็นภาพลบ ฝ่ายนักศึกษาและประชาชนที่ก้าวหน้า ก็ดูเหมือนจะก้าวล้ำเส้นมากไปจนน่าหวาดหวั่น จึงไม่แปลกที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะมีการจัดตั้งมวลชนอย่างเป็นระบบ กลุ่มนวพล กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน คือ มวลชนขวาจัดอันเกรี้ยวกราด พวกเขาต่อต้านเหล่านักศึกษาและประชาชนอย่างอุกอาจและเปิดเผยหลายครั้ง ท่ามกลางบรรยากาศการปลุกระดมสร้างความเกลียดชังด้วยสื่อวิทยุจากฝ่ายรัฐบาล และหนังสือพิมพ์ ซึ่งในเวลาต่อมาได้นำไปสู่โศกนาฏกรรมทางการเมืองที่โหดเหี้ยมอย่างยิ่งที่เราทราบกันดี นั่นคือเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

ความวุ่นวายอันเนื่องมาจากประชาธิปไตย หรือการสูญเสียในเหตุการณ์โศกนาฏกรรม กลับไม่มีผลกระทบต่อตำนานกษัตริย์ประชาธิปไตยใดๆ สถานะตัวแทนประชาธิปไตยจึงยังคงอยู่ร่วมกับความศักดิ์สิทธิ์ของสถานะกษัตริย์ได้ ภาพลักษณ์ของกษัตริย์นักประชาธิปไตยของรัชกาลที่ 7 ที่ปราศจากรอยมลทินใดๆ กลับยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ

 

3. รูปเคารพกับอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม และพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ณ รัฐสภา

หลังจากการอนุมัติก่อสร้าง พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 แล้วเสร็จ ได้มีกำหนดการพิธีเปิด ก็คือวันที่ 10 ธันวาคม 2523 อันถือพระราชพิธีควบกัน 2 งาน นั่นคือ “พระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” และ “พระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ธันวาคม พุทธศักราช 2523”

ความสำคัญของอนุสาวรีย์นี้แสดงอย่างชัดเจนว่าอะไรคืออะไร

รัฐสภา ที่เป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางอำนาจอธิปไตยของประชาชน กลับถูกพื้นที่ทางการเมืองอีกแบบหนึ่งวางซ้อนทับ ที่น่าสนใจก็คือ พระบรมราชานุสาวรีย์นั้น ได้โฟกัสความสำคัญไปที่รัชกาลที่ 7 และพระราชหัตถเลขาอันลือลั่นเท่านั้น แต่ไม่ยักปรากฏชัยชนะของประชาชนที่มีส่วนร่วมในการโค่นเผด็จการในช่วง 14 ตุลา 16 เลยแม้แต่น้อย

ที่น่าสังเกตก็คือ พระบรมรูปนี้ประทับนั่งในพระอิริยาบถเดียวกับตอน “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” ต่างกับพระบรมรูปทรงประทับยืนที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า นอกจากนั้นบริเวณฐานไม่มีพระราชประวัติจารึกไว้ เช่นเดียวกับอนุสาวรีย์อื่นๆ [13] พื้นที่ทางการเมืองนี้ได้แยกพระบรมรูปออกมาเป็นเอกเทศมากขึ้นเมื่อมีการจัดตั้ง มูลนิธิพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาใกล้เคียงกัน [14]  หรืออาจกล่าวได้ว่า การผลิตซ้ำพิธีกรรมทุกปี ได้ทำให้พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 เปรียบเสมือนเป็นศาลเจ้าประชาธิปไตยที่กลายเป็นรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์ประจำรัฐสภาไปในที่สุด นอกจากนั้นพบว่า ยังมีส่วนที่เกี่ยวเนื่องกันนั่นก็คือ พิพิธภัณฑ์รัฐสภาที่อยู่ในตำแหน่งใต้พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้พระราชทานสิ่งของส่วนพระองค์นำมาจัดแสดงพร้อมกันด้วย พิพิธภัณฑ์นี้อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดให้ประชาชนเข้าชมในปี พ.ศ. 2523 พิพิธภัณฑ์นี้ในเวลาต่อมาได้ย้ายไปสร้างใหม่ ณ อาคารกรมโยธาธิการเดิม บริเวณถนนราชดำเนิน

อนุสาวรีย์แห่งนี้เปิดขึ้นปีเดียวกับ การออกคำสั่ง 66/2523 ที่นำไปสู่ชัยชนะเหนือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อนุสาวรีย์แห่งนี้เกิดขึ้นพร้อมๆกับอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงผู้เสียสละในการต่อสู้กับ พคท. เช่น อนุสาวรีย์เราสู้ จ.บุรีรัมย์ (2523) อนุสาวรีย์วีรชนอาสาสมัครทหารพราน (2524) อนุสาวรีย์ผู้เสียสละเขาค้อ (2527) [15]

 

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ณ อาคารรัฐสภา เปิดเมื่อ 10 ธันวาคม 2523

 

ในช่วงนี้ กระแสอนุรักษ์นิยมเฟื่องฟูขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพร้อมๆกับ การเบ่งบานของประวัติศาสตร์แห่งชาติกระแสหลักที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นแกนกลาง งานรัฐพิธีที่แสดงความยิ่งใหญ่ของชุดความคิดดังกล่าว ก็คือ งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีในปี 2525 งานสมโภชประกอบด้วยแผนงานหลักๆ ก็คือ ชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ และการประมวลเอกสารทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ยังพบว่ามีความพยายามอ้างอิงถึงปี 2475 ที่รัชกาลที่ 7 สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 150 ปีอีกด้วย [16]

ไม่เพียงเท่านั้น ทศวรรษ 2520 ยังเป็นช่วงที่อนุสาวรีย์วีรบุรุษในประวัติศาสตร์แห่งชาติ ผุดขึ้นทั่วประเทศอย่างคึกคัก [17] ได้แก่ พระบรมรูปสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก อุทัยธานี (2522) พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ระนอง (2522) พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ระยอง (2522) พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จันทบุรี (2524) พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (2525) ฯลฯ

ขณะที่ การสวรรคตของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ในปี 2527 ได้ทำให้รัฐบาล รื้อฟื้นงานประเพณีออกพระเมรุมาศกลางท้องสนามหลวงในปี 2528 หลังจากที่งานออกพระเมรุครั้งสุดท้ายคือ งานออกพระเมรุมาศของ สมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้า ในปี 2498 ที่ขาดช่วงไปกว่า 3 ทศวรรษ โอกาสนี้จึงถือเป็นงานออกพระเมรุที่แสดงถึงพระราชอำนาจและความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ผ่านพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สามัญชนเป็นเพียงผู้ชมและเสพรับความหมายอันศักดิ์สิทธิ์นั้นให้ฝังแน่นในมโนสำนึก

 

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี (2528)

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

ธนบัตรฉบับละ 50 บาท ด้านหลังเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ (2528)

 

ในปีเดียวกันนี้ยังพบว่า มีการพิมพ์ธนบัตรฉบับใบละ 50 บาท โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย ด้านหลังมีภาพประธานคือ “พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ อาคารรัฐสภา และพระที่นั่งอนันตสมาคม” โดยจุดมุ่งหมายของการจัดพิมพ์ธนบัตรแบบนี้ ระบุว่าเพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี [18]

 

4. การก่อรูปกลุ่มการเมือง หลังวิกฤตการณ์ พฤษภาคม 2535

หลังวิกฤตการณ์การเมืองหลังพฤษภาคม 2535 ที่มีฉากหน้าคือ การต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะและอธรรมอีกรอบ ทหารที่นำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ปะทะและสังหารประชาชน บาดเจ็บ เสียชีวิตจำนวนมาก ตามโครงเรื่องหลักแห่งชาติ จบลงด้วยพระบารมีหลังจากที่เชิญให้สุจินดา คราประยูรและจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้า และได้นำบรรยากาศการเข้าเฝ้าถ่ายทอดเทปบันทึกเหตุการณ์ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

นอกจากนั้นปี 2535 ยังถือว่าเป็นวาระครบรอบ 60 ปีการปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 อีกด้วย แต่ไม่วายที่วาทกรรมกษัตริย์นักประชาธิปไตย ยังสำแดงฤทธิ์ได้อยู่ ดังเห็นได้จากการพิมพ์หนังสือ อนุสสติ 60 ปีประชาธิปไตย ข้อความที่ปรากฏหน้าแรกคือข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ…” จากพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของ ร.7 [19]

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญของวิกฤตการณ์การเมืองครั้งนี้ มีการตีความว่า ได้ทำให้ดุลอำนาจการเมืองระดับชาติเปลี่ยนไป จากเดิมที่กองทัพและระบบราชการ เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย แต่หลังปี 2535 เป็นต้นมาได้ทำให้นักการเมืองที่เคยเป็นพลังที่เป็นคุณต่อประชาธิปไตยกลายเป็นอุปสรรคไปแทน [20] พลังการเมืองที่มาจากตัวแทนประชาชนกลับถูกชี้นำว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ตรงกันข้ามกับพลังจากกองทัพและระบบราชการก็ดูไม่มีพิษสงเท่าเดิม หลังจากถูกบีบให้กลับไปตั้งหลักอยู่ในกรมกอง ขณะที่ก็ไม่ได้มีการปฏิรูปกองทัพในเชิงโครงสร้างอย่างจริงจังมากพอ ขณะที่กลุ่มการเมือง “ภาคประชาชน” “เอ็นจีโอ” ที่สมาทานความคิดชุมชนนิยมก็ขยายตัวขึ้น เช่นเดียวกับสถานะของสถาบันกษัตริย์ที่สูงอย่างยิ่งในฐานะผู้มีบทบาทต่อภูมิปัญญาสาธารณะ รวมไปจนถึงประชาธิปไตย [21]

 

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

เหตุการณ์ความขัดแย้งช่วงพฤษภา 2535 หรือที่รู้จักกันว่า “พฤษภาทมิฬ” ที่มา Mthai. "พฤษภาทมิฬ 2535". http://scoop.mthai.com/hot/143.html (17 พฤษภาคม 2552)

 

ในอีกด้านหนึ่ง พบว่ามีการรื้อฟื้นเกียรติภูมิของการปฏิวัติสยามขึ้น โดยเฉพาะงานเขียนที่ศึกษาภูมิปัญญาของการปฏิวัติสยาม 2475 เริ่มมีการพิมพ์หนังสือสู่ตลาดสาธารณะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ความคิด ความรู้และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 (2533) และ การปฏิวัติสยาม 2475 (2535) โดย นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ 2475 : การปฏิวัติของสยาม (2535) โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ซึ่งชาญวิทย์เองจะมีบทบาทเชิดชูปรีดี พนมยงค์ คณะราษฎรและการปฏิวัติสยามอย่างจริงจังในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญากระแสรองที่ยังไม่เป็นที่รับรู้กันมากนักในระดับสาธารณะ

 

5. จังหวะ 100 ปี รัชกาลที่ 7 ทำคลอด “สถาบันพระปกเกล้า”

วาระครบรอบ “100 ปี วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ในปี 2536 ได้ถูกกำหนดเป็นวาระสำคัญของทางการ ขนาดว่ามีการจัดทำเหรียญที่ระลึก ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการจัดทำเหรียญที่ระลึกใน พระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เมื่อปี 2523 รวมไปถึงการจัดทำดวงตราไปรษณียากร มูลค่า 2 บาท จำนวน 1 ล้านดวง [22]

 

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

แสตมป์ที่ระลึก 100 ปี วันพระราชสมภพ รัชกาลที่ 7

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

เหรียญที่ระลึก 100 ปี วันพระราชสมภพ รัชกาลที่ 7 (ด้านหน้า)

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

เหรียญที่ระลึก 100 ปี วันพระราชสมภพ รัชกาลที่ 7 (ด้านหลัง)

 

ในเวลาใกล้เคียงกัน ได้มีข้อเสนอให้ตั้ง “สถาบันพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” [23] โดย มารุต บุนนาค ประธานรัฐสภาขณะนั้น รายละเอียดก็คือ ได้มีคำสั่งรัฐสภาที่ 12/2536 วันที่ 7 ธันวาคม 2536 แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถาบันพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานกรรมการพิจารณากำหนดรูปแบบและพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้สถาบันนี้สามารถดำเนินกิจการได้ในปี 2537 โดยมีหลักการและเหตุผลว่า เพื่อให้สถาบันดังกล่าวเป็นหน่วยงานทางวิชาการใต้การควบคุมของ “รัฐสภา” เมื่อเราพินิจการออกแบบองค์กรนี้แต่แรกเริ่ม จะเห็นว่าสถาบันนี้มีรากฐานมาจากอำนาจอธิปไตยของประชาชนนั่นคือ จากรัฐสภา ต่างจากองคมนตรี ต่างจากฝ่ายตุลาการที่ไม่ได้มีอำนาจยึดโยงจากประชาชน และเป็นเรื่องยากที่ประชาชนจะทำการตรวจสอบได้ ในโครงสร้างและกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการวิพากษ์วิจารณ์

ที่น่าสนใจก็คือ ตัวบทที่เน้นไปที่การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย ในหมู่สมาชิกพรรคการเมือง เจ้าหน้าที่พรรคการเมือง เจ้าหน้าที่องค์กรเอกชน ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน นักเรียนและนักศึกษาทั่วไป ซึ่งแตกต่างไปจากเดิมที่เห็นว่า ผู้ที่ควรได้รับการสั่งสอนคือ ชาวบ้านและประชาชนทั่วไปที่ยังโง่และไม่เข้าใจประชาธิปไตย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ในสำนึกทางการเมืองแล้ว พวกเขาจะเห็นว่าชาวบ้านและประชาชนไม่ใช่ตัวปัญหา ในทางกลับกันพวกเขาละเลยที่จะแก้ไขปัญหานั้น และหันหลังกลับเข้าสู่ชนชั้นกลางต่างหาก

หากเราพิจารณาโครงสร้างเดิมของรัฐสภาที่ทำหน้าที่นี้ พบว่ามี 2 หน่วยงานซึ่งฐานะเทียบเท่าระดับกรม ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา พูดง่ายๆก็คือว่า ทั้งสองเป็นตัวแทนของอำนาจอธิปไตยที่มาจากปวงชนชาวไทย ซึ่งหมายความว่า ในทางทฤษฎีและอุดมคติแล้ว รัฐสภาจะต้องรับใช้ประชาชนโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือการตีกรอบจำกัดแต่ “อุดมการณ์ทางการเมืองที่ถูกต้อง” อุดมการณ์ใด อุดมการณ์หนึ่ง องค์กรที่จะสนับสนุนประชาธิปไตยจะต้องใจกว้าง หนักแน่นในหลักการ และเปิดรับอุดมการณ์และความคิดเห็นทางการเมืองที่หลากหลาย กระทั่งการยืนยันสิทธิที่จะคิดเห็นต่าง หรือมีข้อเสนอทางการเมืองที่อย่างน้อยเทียบได้กับมาตรฐานประชาธิปไตยในสากลโลก

ตัวอย่างก็คือ กรณีที่เคยมีความเคลื่อนไหวในการรื้อฟื้นพรรคสังคมนิยมขึ้นมาใหม่ในปี 2552 แต่ก็มีคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกมาขวางคลองไม่อนุญาตรับจดทะเบียน [24] สิ่งนี้ควรจะเป็นหน้าที่ของสถาบันที่อ้างตัวว่าสนับสนุนประชาธิปไตยแบบรัฐสภาหรือไม่ ที่จะออกมายืนยันในความเป็นไปได้ตามหลักการสากล โดยการสนับสนุนความคิดนี้อย่างเป็นทางการ ตามหลักวิชา ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ไม่มีหลักการชัดเจน ลากคุณค่าสากลอันเป็นสมบัติของมนุษยชาติให้เข้ารกเข้าพงไปอย่างน่าเสียดาย

ดังนั้นการแยกงานออกมาจากทั้งสองหน่วยงานมาตั้งเป็นสถาบันใหม่โดยใช้ชื่อว่า สถาบันพระปกเกล้า จึงเป็นที่น่าตั้งคำถามว่า การเกิดขึ้นของนาม “พระปกเกล้า” และกลไกของสถาบันนี้ มีเหตุผลใดอื่นอีก นอกจากวาระครบ 100 ปี วันพระราชสมภพรัชกาลที่ 7

ถ้าหากสถาบันดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นที่ “เลือกข้าง” แล้วอย่างชัดเจน ดังนั้นการยอมรับความคิดต่างอย่างใจกว้างและหลากหลายจึงเป็นไปได้ยาก ไม่ต้องฝันไปไกลถึงพรรคคอมมิวนิสต์ หรือพรรคสังคมนิยมหรอก เพียงแค่การมีพื้นที่ให้กับ ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร ผู้เขียนเองยังไม่แน่ใจว่า “สถาบันพระปกเกล้า” จะวางตำแหน่งแห่งที่และจัดความสัมพันธ์อย่างไรให้มีที่ทางที่ไม่ขัดแย้งและทำลายความเป็นรูปเคารพ และสัญลักษณ์พิธีกรรมประชาธิปไตยที่พวกเขาพยายามสร้างกันมา

 

6. รัฐธรรมนูญ 2540 กับสมดุลการเมืองที่เปลี่ยนไปหลังโค่นกองทัพ

การร่างรัฐธรรมนูญที่เรียกกันภายหลังว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ปี 2540 มีกรอบคิดที่ “รังเกียจนักการเมือง” อุ้มชูแนวคิด “ชุมชนนิยม” เป็นรัฐธรรมนูญ เอื้อให้กับชนชั้นกลางในเขตเมืองที่ไม่พอใจ การเมืองแบบการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้มีองค์กรอิสระเพื่อคอยตรวจสอบ ส.ส. นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี กำหนดให้ส.ส.ต้องจบปริญญาตรี ซึ่งเป็นการกีดกันชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ไม่มีวุฒินี้ และพลังเหล่านี้เองจึงเป็นอุปสรรคที่แท้จริงต่อประชาธิปไตย [25]

นอกจากนั้นวิกฤตเศรษฐกิจหลังจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนและการตั้งคำถามถึงระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบที่เป็นอยู่อย่างมากมาย สำนักคิดชุมชนนิยมท้องถิ่นนิยมถึงเวลาตีปีก พร้อมๆกับการเกิดขึ้นของแนวคิด “ทฤษฎีใหม่” “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” พลังภูมิปัญญาเช่นนี้ได้ค่อยรวมตัวกันอย่างแข็งแกร่งอย่างมิได้นัดหมาย พระธรรมปิฎก (ประยุทธ ปยุตฺโต) ก็มีงานเขียน พุทธเศรษฐศาสตร์ เสนอเศรษฐศาสตร์บนฐานจริยธรรม จุดหมายความสุขสูงสุดมาจากการบริโภคแบบพอดี แนวคิดนี้ อภิชัย พันธเสน นักเศรษฐศาสตร์กระแสก็ยังสนับสนุน แต่นั่นไม่เท่ากับผู้ที่เรียกตนว่า “ราษฎรอาวุโส” อย่าง ประเวศ วะสี ได้ขยายความทฤษฎีใหม่และสนับสนุนแนวทางเศรษฐศาสตร์แบบพุทธ ประเวศโจมตีการพึ่งทุนภายนอกและเห็นว่าระบบเศรษฐกิจที่นึกถึงแต่เงินจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง และเรียกร้องให้กลับมาสนใจครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อม และเสนอให้สร้างสังคมและเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ โดยมีฐานจากชุมชนท้องถิ่น [26] เหล่านี้คือบริบทในช่วงต้นกำเนิดของสถาบันพระปกเกล้า

 

7. ตัวตนเป็นทางการ ใน พระราชบัญญัติ สถาบันพระปกเกล้า 2541

อาจกล่าวได้ว่า ในทศวรรษ 2530-2540 ราว 20 ปี รัฐได้ออกแบบและสร้างองค์กรสาธารณะในกำกับของรัฐขึ้นจำนวนมากด้วยทุนมหาศาล สิ่งที่เหลือเชื่ออีกประการก็คือ สถาบันที่เป็นผู้สนับสนุนและผลิตความรู้อย่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. 2534), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. 2535) และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส. 2535) ถูกจัดตั้งขึ้นผ่านสภาในช่วงรัฐบาลรัฐประหาร 2534 ทั้งสิ้น ดังนั้นที่มาของสำนักงานต่างๆ จึงมิได้มาจากอำนาจอธิปไตยของประชาชน แต่มาจากปากกระบอกปืนและผู้หวังดีแต่ชอบเดินทางลัด

ในอีกสายหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังพฤษภาคม 2535 ได้แก่ สถาบันเอกชนอย่างสถาบันปรีดี พนมยงค์ (2538) และสื่อมวลชนอย่าง สถานีโทรทัศน์ไอทีวี (2539)

การเกิดขึ้นของสถาบันพระปกเกล้า ก็อยู่บนกระแสธารความเปลี่ยนแปลงหลังรัฐประหารนั้น โดยเฉพาะภายใต้การริเริ่มของ “รัฐสภา” อันเป็นโครงสร้างทางการเมืองที่ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน ช่วงแรก สถาบันพระปกเกล้าได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นส่วนราชการระดับกอง สังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 19 มกราคม 2538 [27] ภารกิจแรกก็คือการเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับไปสู่สถาบันอย่างสมบูรณ์ ใช้เวลาประมาณ 3 ปี นำไปสู่ความเห็นชอบของสภานำไปสู่การตรา พระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ.2541 [28] สถาบันพระปกเกล้ากลายเป็น สถาบันนิติบุคคลที่อยู่ในกำกับดูแลของประธานรัฐสภา เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ "ไม่เป็น" ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ

โครงสร้างของสถาบัน จะเป็นการทำงานร่วมกันของ 2 ส่วนใหญ่ๆ นั่นก็คือ ส่วนกำกับดูแลและตรวจสอบ ประกอบด้วยสภาสถาบันพระปกเกล้าที่เน้นกำกับนโยบาย, คณะกรรมการติดตามผล และผู้ตรวจสอบภายใน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนบริหารที่นำโดย เลขาธิการสถาบันที่ทำหน้าที่ร่วมกับ คณะกรรมการบริหารสถาบัน

สภาสถาบัน มีประธานรัฐสภาเป็นประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า โดยตำแหน่ง วันมูหะมัดนอร์ มะทา คือ ประธานคนแรก ขณะที่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าคนแรก (2542-2546) คนที่สองคือ นรนิติ เศรษฐบุตร (2546-2549) และบวรศักดิ์กลับมาเป็นเลขาธิการครั้ง มาตั้งแต่ ธันวาคม 2549 มาจนถึงปัจจุบัน [29] ที่น่าสังเกตก็คือ การเข้ารับตำแหน่งของบวรศักดิ์ หลังรัฐประหาร 2549 หลังจากที่เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้กับรัฐบาลไทยรักไทย ข้างล่างนี้คือ บทสัมภาษณ์บวรศักดิ์ วันที่ 24 ตุลาคม 2549 หลังรัฐประหารเป็นเวลาเดือนเศษ

“ไม่มีใครอยากเห็นการรัฐประหารหรอกครับ ผมก็เชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ไม่อยากทำ เพราะว่าเสี่ยงต่อการที่ถ้าทำไม่สำเร็จก็เป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต แล้วคนที่สอนกฎหมายมหาชนอย่างอาจารย์ อย่างผมก็ไปผลักดันให้มีการปฏิวัติไม่ได้หรอก แต่เมื่อทำไปแล้ว แล้วก็เป็นทางออกอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมที่เกิดความเขม็งเกลียว เครียดกันอยู่ในเวลานั้นผ่อนคลายลงข้อหนึ่ง ...เมื่อไม่มีทางออก การยึดอำนาจที่เกิดขึ้นก็เหมือนยาถ่าย ที่ใครท้องดี ๆ อยู่ก็ไม่อยากกิน ข้อที่สอง เลี่ยงการเผชิญหน้าของคนที่ต่อต้านรัฐบาลและคัดค้านรัฐบาล กับพวกที่สนับสนุนรัฐบาลไม่ให้ต้องตีรันฟันแทงจนเลือกตกยางออกได้ เมื่อเหตุการณ์เกิดไปแล้ว หมุนนาฬิกาย้อนกลับไม่ได้ คำถามก็คือทำอย่างไรต่อให้ดีที่สุด [30]

สถาบันพระปกเกล้า ถูกสถาปนาขึ้นมาพร้อมๆกับเงื่อนไขสังคมการเมืองไทยที่เห็นแสงสว่างที่เรืองรองนั้นประทับอยู่ร่วมกับพระนามและพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นสำคัญ ภายใต้การนิยามถึงประชาธิปไตยที่พิเศษไม่เหมือนใครในโลก ดังนั้น แม้ว่า เลขาธิการสถาบันคนล่าสุด จะมีประวัติกระโดดออกจากรัฐนาวาประชาธิปไตย มาช่วยขับรถถังเก็บกวาดเศษซากรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรอยู่แล้ว

บทความหน้า ในตอนที่ 2 จะเป็นเรื่องของ พลวัตของข้อถกเถียงและการโต้แย้งวาทกรรมกษัตริย์นักประชาธิปไตยของรัชกาลที่ 7 ที่ทรงพลังมากขึ้น อันเป็นแรงกระทำต่อเนื่องจากการรัฐประหารครั้งแรกของไทยในศตวรรษที่ 21.

 

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

ตราสัญลักษณ์ของ สถาบันพระปกเกล้า ที่ผนวกเอาสัญลักษณ์ ปปร.ของรัชกาลที่ 7 และพานแว่นฟ้าอันเป็นสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายถึงประชาธิปไตย มาอยู่ด้วยกัน

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

โครงสร้างสถาบันพระปกเกล้า ที่มา สถาบันพระปกเกล้า. "โครงสร้างสถาบัน". http://kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=20&Itemid=9 (3 มิถุนายน 2555)

 

อ้างอิง:

 

  1. อาจารย์ประจำ สาขาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
  2. “ประกาศคณะราษฎร” ใบแทรกใน จุลสาร หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 16 (มิถุนายน 2555 - พฤษภาคม 2556)
  3. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง” ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก), น.20
  4. "กำหนดการ ที่ 6/2492 รับพระบรมอัฎฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 2492" ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 66, ตอน 29 ง, 24 พฤษภาคม 2492, น.2262 และ "กำหนดการ ที่ 9/2492 บรรจุพระบรมราชสริรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 2492" ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 66, ตอน 34 ง, 28 มิถุนายน 2492, น.2931
  5. หจช., (1) มท. 1.1.3.3/1 เรื่อง อนุสสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2496, หน้า 1. อ้างถึงใน ชาตรี ประกิตนนทการ. "ความทรงจำ และ อำนาจ บนถนนราชดำเนิน" ใน เมืองโบราณ ฉบับที่ 33.4 (2550)
  6. "โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี". โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี. http://ppkhosp.go.th/general/history/history.htm (27 พฤษภาคม 2555)
  7. ทวีศักดิ์ เผือกสม. เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม : ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), 2550
  8. ประจักษ์ ก้องกีรติ. และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ การเมืองและวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2548, น.494-495
  9. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวไว้ว่า “ความทรงจำของธรรมศาสตร์ในยุค “สายลม แสงแดด และยูงทอง” ของ ผมนั้น ถูกตัดขาดไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ทั้ง ๆ ที่ก่อตั้งมาเพียง 27 ปี ผมเกือบไม่เคยได้ยินชื่อ ของผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง-ปรีดี พนมยงค์ พวกเราเคยคิดเพ้อเจ้อกันว่าผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ คือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสียด้วยซ้ำไป” ใน "สุนทรกถา ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในงานเปิดตัวห้อง สมุดอิเล็กทรอนิกส์ และ เว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ณ ห้องประชุม 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์ วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เวลา 13.00 – 16.30 น. http://www.pridi-phoonsuk.org/chanvit-open/ (27 พฤษภาคม 2555)
  10. แต่แรกทั้งสองเคยเขียนบทความร่วมกันใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง” ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก), น.20-30 ต่อมาบางส่วนได้เป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ที่ถูกตีพิมพ์ใน ประจักษ์ ก้องกีรติ. เรื่องเดียวกัน, น.497-519
  11. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง”, น.28-29
  12. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง”, น.28
  13. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง”, น.28-29
  14. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและตราสาร "มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" " ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 101, ตอนที่ 170, 20 พฤศจิกายน 2527, น.4557
  15. มาลินี คุ้มสุภา. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น (กรุงเทพฯ : วิภาษา), 2548, น.311-313
  16. "ประกาศ งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี" ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 98, ตอนที่ 219, 31 ธันวาคม 2524, ฉบับพิเศษ น.1-8
  17. มาลินี คุ้มสุภา. เรื่องเดียวกัน, น.310-311
  18. ธนาคารแห่งประเทศไทย. "ธนบัตรแบบ13". http://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/HistoryANdSeriesOfBanknotes/Pages/Banknote_Series13.aspx (29 พฤษภาคม 2555)
  19. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง”, น.29
  20. โยชิฟูมิ ทามาดะ. “ประชาธิปไตย การทำให้เป็นประชาธิปไตยและการออกจากประชาธิปไตยของประเทศไทย” ใน ฟ้าเดียวกัน 6 : 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2551) : 104-106
  21. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ Mass Monarchy ไว้ว่า ก่อนทศวรรษ 2530 สถาบันกษัตริย์มีจุดมุ่งหมายสื่อสารในวงแคบเพียงในหมู่ชนชั้นนำ (elite) ด้วยกัน แต่หลังทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ได้มีลักษณะการสื่อสารผ่าน “สื่อมวลชน” และสื่อสารต่อประชาชนมากเท่าๆกับชนชั้นนำ "เมื่อในหลวงประชวร ปี 2525 และข้อเสนอว่าด้วย สถาบันกษัตริย์แบบมวลชน (Mass Monarchy)". http://somsakwork.blogspot.com/2007/11/2525-mass-monarchy.html (15 พฤศจิกายน 2550)
  22. "ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง สร้างและจำหน่ายตราไปรษณียากรที่ระลึกฉลองพระบรมราชสมภพ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว " ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 110, ตอนที่ 195, 25 พฤศจิกายน 2536, น.4
  23. สถาบันพระปกเกล้า. "ประวัติความเป็นมา". http://kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=19&Itemid=9 (27 พฤษภาคม 2555)
  24. เจ้าพระยานิวส์. "ก.ก.ต. ไม่รับจดพรรคสังคมนิยมฯ". http://www.chaoprayanews.com/2009/05/03/%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%99/ (3 พฤษภาคม 2552)
  25. โยชิฟูมิ ทามาดะ. “ประชาธิปไตย การทำให้เป็นประชาธิปไตยและการออกจากประชาธิปไตยของประเทศไทย” ใน ฟ้าเดียวกัน 6 : 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2551) : 118-119
  26. ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเกอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพ (กรุงเทพฯ : ซิลค์เวอร์ม, พิมพ์ครั้งที่ 3), 2546, น.521-522
  27. สถาบันพระปกเกล้า. "ประวัติความเป็นมา". http://kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=19&Itemid=9 (27 พฤษภาคม 2555)
  28. "พระราชบัญญัติ สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ.2541" ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 115, ตอนที่ 57 ก, 4 กันยายน 2541, น.20-29
  29. สถาบันพระปกเกล้า. "ประวัติความเป็นมา". http://kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=19&Itemid=9 (27 พฤษภาคม 2555)
  30. นันทวัฒน์ บรมานันท์. "บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ วันอังคารที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2549" . http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=999 (28 ตุลาคม 2549)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โวย "ม.สารคาม" เลือกปฏิบัติ สั่งปลดป้ายรณรงค์ "ต้าน SOTUS"

Posted: 04 Jun 2012 08:35 AM PDT

นักกิจกรรม-นิสิต ตั้ง กลุ่ม SOTUS WATCH GROUP จับตาการรับน้อง มมส.ทำกิจกรรมตั้งป้าย-แจกเอกสาร แบบสอบถามในมหาวิทยาลัย แต่ถูกสั่งห้าม-ยกป้ายเก็บ ตั้งคำถามถูกเลือกปฏิบัติ-ปิดกั้นข้อมูล

 
 
(4 มิ.ย.55) นายประภัสชัย กองศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่ม SOTUS WATCH GROUP (กลุ่มผู้จับตาดูการรับน้องแบบ SOTUS) อันเกิดจากการรวมกลุ่มของนักกิจกรรม นิสิต นักศึกษา ประกอบด้วย กลุ่มเถียงนาประชาคม กลุ่มปุกฮัก และกลุ่มแสงเสรี ให้ข้อมูลว่า เมื่อช่วงเวลาประมาณ 23.15 น.ของวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้ทำกิจกรรมโดยการติดป้ายผ้ารณรงค์เรื่อง SOTUS ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมรับน้องในระหว่างวันที่ 4-10 มิ.ย.55 แต่เมื่อทางกลุ่มเข้าไปทำการรนรงค์ในช่วงเช้าวันต่อมากลับไม่พบป้ายดังกล่าว คาดว่าจะมีการขนย้ายโดยเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย
 
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.55 ทางกลุ่มฯ ได้นำเอกสารที่มีข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับการรับน้องของ และประกาศของกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการรับน้อง รวมทั้งแบบสอบถามจำนวน 1,000 ชุด ซึ่งมีคำถาม อาทิ “คุณรู้หรือไม่ว่ามหาวิทยาลัยมหาสารคามรับนองแบบ SOTUS” “คุณรู้หรือไม่ว่าระบบ SOTUS เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนฯ” และ “คุณรับได้หรือไม่กับการรับน้องที่มีการบังคับให้หมอบคลาน ข่มขู่” ไปแจกให้กับนิสิตชั้นปี 1 แต่ถูกกลุ่มกองกิจการนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นิสิตอาสาและยามเข้ามาพูดคุยเพื่อให้หยุดแจกเอกสาร โดยให้เหตุผลว่า อธิการบดีเป็นผู้สั่งการให้ยับยั้งการแจกเอกสารดังกล่าว เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบการรับน้องของมหาลัยได้ อีกทั้งจะไปกระทบต่อกลุ่มคนที่จัดงานด้วย
 
 
เหตุการณ์ขณะที่ "กองกิจการนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม" เข้าขัดขวางการทำกิจกรรมของกลุ่มกลุ่ม SOTUS WATCH GROUP ซึ่งแม้จะบอกว่าก็บอกว่าไม่ผิดแต่ก็ไม่ให้แจกเอกสาร
 
 
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ในสถาบันอุดมศึกษา
 
กำหนดนโยบาย และมาตรการ 3 ข้อ สรุปสาระสำคัญดังนี้
 
นโยบาย
 
1.การจัดกิจกรรมฯ ควรเคารพสิทธิเสรีภาพและหลักความเสมอภาค  ไม่มีความรุนแรง และห้ามล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ดื่มสุรา และเสพสิ่งมึนเมาทุกชนิด และไม่กระทบกับการเรียนการสอน
 
2.การจัดกิจกรรมฯ ควรอยู่ในความรับผิดชอบดูแลร่วมกันของผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากรทุกคณะ/ภาควิชา รวมทั้งรุ่นพี่ ที่จะต้องให้คำแนะนำกำกับดูแล ปรึกษาการจัดกิจกรรมให้มีลักษณะสร้างสรรค์ ไม่ขัดต่อระเบียบสถาบัน กฎหมาย วัฒนธรรม ประเพณี และมารยาททางสังคมที่ดีงาม
 
3.การจัดกิจกรรมฯ ให้จัดกิจกรรมภายในสถาบันอุดมศึกษา ไม่ควรจัดนอกสถานที่ เพื่อความปลอดภัยและประหยัด โดยการอนุญาตการจัดกิจกรรมให้อยู่ในดุลยพินิจของแต่ละสถาบัน
 
มาตรการ
 
1.ให้สถาบันอุดมศึกษาออกกฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือหลักเกณฑ์และมาตรการ ในการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับนโยบาย ศธ. โดยกำหนดการพิจารณาอนุญาต การรับผิดชอบ การกำกับ ระยะเวลาการจัดกิจกรรม รูปแบบแนวทางกิจกรรม ตามความเหมาะสมและลักษณะเฉพาะของแต่ละสถาบัน
 
2.องค์กรนิสิตนักศึกษาต้องเสนอขออนุมัติโครงการจัดกิจกรรมเป็นลายลักษณ์อักษร และจะจัดกิจกรรมได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติแล้วเท่านั้น
 
3.ให้สถาบันอุดมศึกษารณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้สังคมเข้าใจรูปแบบกิจกรรม นโยบาย และมาตรการ มีทัศนคติที่ดีต่อการรับน้อง และร่วมตรวจสอบการจัดกิจกรรมได้
 
4.ให้นิสิตนักศึกษาใหม่ เข้าร่วมกิจกรรมด้วยความสมัครใจ เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามาสังเกตการณ์กิจกรรมได้
 
5.สถาบันอุดมศึกษาให้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวัง มีเว็บไซต์เพื่อติดตามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แก้ไขปัญหา ประสานกับสื่อมวลชน ส่วนวิทยาเขต/คณะต่างๆ ควรจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลและให้การช่วยเหลือ (Call Center) หรือบริการสายด่วน (Hotline)
 
6.ให้สถาบันอุดมศึกษาประเมินผลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดกิจกรรม และควรมีการยกย่องชมเชยผู้ที่จัดกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์
 
7.ให้สถาบันอุดมศึกษามีบทลงโทษทางวินัย กับนิสิตนักศึกษาและผู้เกี่ยวข้องที่จัดกิจกรรมที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ความเสมอภาค และกฎระเบียบข้อบังคับของสถาบัน
 
8.ให้ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินการตามนโยบายและมาตรการนี้
 
 
นายประภัสชัย ให้ข้อมูลต่อมาว่า ช่วงแรกทางกองกิจการนิสิตได้ขอเอกสารทั้งหมดที่มีเพื่อเก็บไว้ แต่ทางกลุ่มฯ ให้ไปเพียงหนึ่งชุด และทางกองกิจการนิสิตได้สอบถามทางกลุ่มนำเงินจากไหนมาทำกิจกรรม รวมทั้งถ่ายเอกสารจำนวนมาก ซึ่งทางกลุ่มได้ตอบไปสั้นๆ ว่าเป็นเงินจากการลงขันกันเองในกลุ่ม
 
นอกจากนั้น ทางกลุ่มฯ ได้พยายามต่อรองเพื่อแจกเอกสารต่อไป โดยจะไม่เข้าไปใกล้บริเวณที่มีการทำกิจกรรมรับน้อง แต่ทางกองกิจการนิสิตไม่ยินยอม โดยอ้างว่าให้ไปทำเอกสารยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตก่อน รวมถึงเรื่องการติดป้ายในมหาลัยด้วยเช่นกัน เมื่อสอบถามถึงป้ายรณรงค์ที่ทางกลุ่มฯ ทำไว้ รปภ.ของมหาวิทยาลัยอ้างว่า รองอธิการฝ่ายอาคารสถานที่ เป็นคนสั่งให้ปลดป้ายลงและให้ไปทำเรื่องยื่นที่ฝ่ายกองกิจก่อนตามขั้นตอนจึงจะได้ป้ายคืน
                                                                                                           
ด้านนายโอภาส สินธุโคตร สมาชิกกลุ่มSOTUS WATCH GROUP แสดงความเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากในมหาวิทยาลัยมีการติดป้ายต่างๆ อยู่กลาดเกลื่อน และมักไม่มีการขอก่อนติดหรือแม้กระทั่งการแจกเอกสารปกติก็มีการขออนุญาต โดยเฉพาะเมื่อเป็นแบบสอบถามเพื่อทำข้อมูลเกี่ยวกับความเห็นต่อการรับน้องก็ไม่ควรต้องมีการปิดกั้น เราควรมีสิทธิที่จะแจกเอกสารเพื่อให้ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อนิสิตได้
 
นายโอภาส กล่าวว่า หากเป็นไปได้ทางกลุ่มต้องการหยุดการรับน้องแบบ SOTUS และต้องการให้มีการรับน้องที่สร้างสรรค์เพื่อให้คนที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยออกไปรับใช้สังคมส่วนร่วม ไม่ใช่รับใช้หรือสยบยอมต่ออำนาจตั้งแต่ในมหาวิทยาลัย และที่ผ่านมาแต่ละกลุ่มที่มารวมตัวกันก็มีการทำกิจกรรมเรียนรู้สังคมและชุมชน เช่นการศึกษาข้อมูลโครงการพัฒนาต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น พานิสิต นักศึกษาไปลงพื้นที่ในกรณีเหมืองโปแตช เหมืองแร่ทองคำ และโรงไฟฟ้า เป็นต้น  
 
สมาชิกกลุ่ม SOTUS WATCH GROUP ให้ข้อมูลด้วยว่า หลังจากที่ทางกลุ่มได้แจกเอกสารไปแล้วในบางส่วน จึงได้ติดตามผลโดยการสอบถามนักศึกษาปี 1 พบว่า มีรุ่นพี่ที่ทำกิจกรรมรับน้องสั่งให้ฉีกเอกสารของทางกลุ่มSOTUS WATCH GROUP ทิ้งด้วย
 
ทั้งนี้ เมื่อปี 2554 กรณีการรับน้องของมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้รับความสนใจจากสังคมวงกว้าง เมื่อมีการเผยแพร่คลิปเหตุการณ์การรับน้องที่กลุ่มคนถือป้ายประท้วงการรับน้องว่าเป็นเผด็จการ และมีการตอบโต้จากรุ่นพี่บนเวทีโดยประกาศปลุกกระแสมวลชนขับไล่กลุ่มคนเหล่านั้น พร้อมข่มขู่ว่าห้ามนำคลิปไปเผยแพร่ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการรับน้องและระบบ SOTUS ขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
 
 
 
 
เผด็จการพบได้ในที่แห่งนี้
 
คำ ประโยค แห่งเสรีถูกกล่าวเกลื่อน
แต่... มือ มาร เถื่อน หยิบย้ายบิดเบือนหนี
ความมืดมิด ใบ้บอด ตลอดปฐพี
ไหนชีวีประชา จะได้ลืมตาอ้าปา
ปัญญาชนแดนอีสานที่ใฝ่รู้
จะต่อสู้ความขมขื่นอย่างร่วมมือ
ทั้งติดตามเปิดโปงโหมกระพือ
ว่านี่คือประเพณีกดขี่คน
                           (ชอบสูญ สัญญา 2555)
           
ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ได้มีกลุ่มกิจกรรม รวมตัวกันในนามกลุ่มจับตาการรับน้องแบบ SOTUS (SOTUS WATCH GROUP) เพื่อต่อต้านระบบการกดขี่ หรือ ปิดบัง สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคเอาไว้ภายใต้ระบบ SOTUS นักศึกษาปัญญาชนเหล่านี้ เห็นว่า ระบบการรับน้องแบบ SOTUS ได้รับใช้สังคมจารีต ที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสังคมไทยที่ยังคงความไม่เสมอภาคอย่างหนาแน่น และวิธีคิดเช่นนี้ได้ขัดกับอุดมการณ์ของกลุ่ม ทำให้จิตสำนึกทางการเมือง หรือ ความคิดต่อต้านกับความไม่เป็นธรรม ได้เร่งเร้าพวกเขาให้วางแผนเปิดโปงข้อเท็จจริงของหน่ออ่อนเผด็จการในทันที
 
ค่ำคืนของวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 สมาชิกของกลุ่มประมาณ 10 คน ได้ติดป้ายรณรงค์ถึงความสำคัญของสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค รวมถึงการรณรงค์เพื่อให้นักศึกษาใหม่ได้รับรู้ถึงระบบ SOTUS ในพื้นที่มหาวิทยาลัย และด้วยถ้อยคำภาษาที่ปะทะกับหน่อความคิดแบบเผด็จการ ทำให้ป้ายรณรงค์ของพวกเขาได้หายไปหลายผืน จึงมีคำกล่าวขึ้นมาในทันที “ว่าแล้วเชียว” “สังคมเผด็จการยังมีอยู่” และหลายคนรู้สึกว่าเปล่าประโยชน์ “อุตส่าห์ลงขันกันซื้อป้าย” เพื่องานรณรงค์ในครั้งนี้
 
ภาพ : การติดป้ายผ้ารณรงค์ในมหาวิทยาลัย
 
ปรากฏการณ์ดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมแบบเผด็จการอำนาจนิยมที่ใช้อำนาจในการกำจัดความเห็นต่าง ทางกลุ่มจับตาการรับน้องแบบ SOTUS จึงได้ประณามการกระทำเยี่ยงนี้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยโดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่พึ่งมีไว้ในสังคม
 
อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่สามารถหาผู้กระทำการรื้อป้ายได้ อีกทั้งยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับป้ายผ้าคืน พวกเขาจึงได้แต่หวังว่าการต่อสู้อย่างต่อเนื่องจะทำให้เผด็จการหายไปจากสังคมนี้เสียที
 
โดย SOTUS WATCH GROUP
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

น.ศ.เดินขบวนร้องทหารปล่อยตัวอดีตนักกิจกรรม

Posted: 04 Jun 2012 07:59 AM PDT

นักศึกษาใต้กว่าร้อยชุมนุมหน้า ฉก. 11 เรียกร้องทหารปล่อยตัวอดีตนักกิจกรรมสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้

เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. วันที่ 4 มิถุนายน 2555 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีและหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตยะลา และวิทยาลัยเทคนิคยะลา ประมาณ 120 คน ได้ชุมนุมกันที่บริเวณหน้าหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 ซึ่งตั้งอยู่ที่อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงสาเหตุในการควบคุมตัวนักศึกษาสองคนและอดีตนักศึกษาหนึ่งคนไปเมื่อสามวันก่อน

นายกรียา มูซอ แกนนำสนน.จชต.  เปิดเผยว่า ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 ได้มาควบคุมตัวนายนูรมาน ดอเลาะ อดีตนักกิจกรรมของสนน.จชต. นายอาลียัซ สะมะแอ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และนายสือกรี เต๊ะ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาที่ศูนย์ประสานงานเยาวชนนักศึกษาประจำจังหวัดยะลา ซึ่งตั้งอยู่บ้านเลขที่ 81/11 ซอยศรีปุตรา ชุมชนตลาดเก่า ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลาเพื่อไปสอบปากคำที่หน่วยเฉพาะกิจ 11 จังหวัดยะลา

”การออกมาชุมนุมในวันนี้  นอกจากอยากทราบสาเหตุการควบคุมตัวเพื่อนแล้ว ยังต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐปรับตัวให้เข้ากับบริบทในพื้นที่ เพื่อให้ทำงานได้ดีขึ้น” นายกรียากล่าว

นายกรียาเปิดเผยต่อไปว่าทหารที่เฝ้าอยู่ประตูหน้าของหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 ไม่ให้พวกเขาเข้าไปและบอกกับตนว่าให้ไปสอบถามสาเหตุในการเชิญตัวกับหน่วยเหนือ โดยใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพในการพูดคุยกับผู้ชุมนุม

รายงานของศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้าประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ระบุว่า เมื่อเวลา 19.00 น. - 22.10 น.วันที่ 31 พฤษภาคม หน่วยเฉพาะกิจที่ 11 ได้สนธิกำลังร้อย.ร.5033 เข้าปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมายในพื้นที่ อ.เมือง จ.ยะลา จำนวน 2 จุด คือ บ้านเลขที่ 112 ซอยสิโรรส 14 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา มีนายเจ๊ะอุเซ็ง เจ๊ะดอเลาะห์ แสดงตนเป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งจากการตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย และบ้านหลังหนึ่ง ซอยศรีปุตรา ชุมชนตลาดเก่า ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และได้เชิญผู้ต้องสงสัยจำนวน 3 คน

พ.ท.พิเชษฐ์ ชุติเดโช ผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 เปิดเผยอีกว่า การเชิญตัวนักศึกษาในครั้งนี้อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก โดยสาเหตุในการเชิญตัว เนื่องจากสงสัยว่าทั้งสามคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดในพื้นที่ แต่หลังจากที่พูดคุยแล้วไม่ได้ข้อมูลที่แน่ชัดจึงได้ปล่อยตัวนายอาลียัซและนายสือกรีไปตั้งแต่เช้าวันที่ 1 มิถุนายน เหลือเพียงนายนูรมานที่ยังไม่ได้ปล่อยตัวซึ่งจะต้องพูดคุยกับต่อไป โดยขณะนี้ได้เชิญตัวนายนูรมานไปสอบปากคำต่อที่กรมทหารพรานที่ 41 อ.รามัน จ.ยะลา และดำเนินการตามกระบวนการต่อไป

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

น.ศ.เดินขบวนร้องทหารปล่อยตัวอดีตนักกิจกรรม

Posted: 04 Jun 2012 07:58 AM PDT

นักศึกษาใต้กว่าร้อยชุมนุมหน้า ฉก. 11 เรียกร้องทหารปล่อยตัวอดีตนักกิจกรรมสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้

เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. วันที่ 4 มิถุนายน 2555 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีและหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตยะลา และวิทยาลัยเทคนิคยะลา ประมาณ 120 คน ได้ชุมนุมกันที่บริเวณหน้าหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 ซึ่งตั้งอยู่ที่อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงสาเหตุในการควบคุมตัวนักศึกษาสองคนและอดีตนักศึกษาหนึ่งคนไปเมื่อสามวันก่อน

นายกรียา มูซอ แกนนำสนน.จชต.  เปิดเผยว่า ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 ได้มาควบคุมตัวนายนูรมาน ดอเลาะ อดีตนักกิจกรรมของสนน.จชต. นายอาลียัซ สะมะแอ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และนายสือกรี เต๊ะ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาที่ศูนย์ประสานงานเยาวชนนักศึกษาประจำจังหวัดยะลา ซึ่งตั้งอยู่บ้านเลขที่ 81/11 ซอยศรีปุตรา ชุมชนตลาดเก่า ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลาเพื่อไปสอบปากคำที่หน่วยเฉพาะกิจ 11 จังหวัดยะลา

”การออกมาชุมนุมในวันนี้  นอกจากอยากทราบสาเหตุการควบคุมตัวเพื่อนแล้ว ยังต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐปรับตัวให้เข้ากับบริบทในพื้นที่ เพื่อให้ทำงานได้ดีขึ้น” นายกรียากล่าว

นายกรียาเปิดเผยต่อไปว่าทหารที่เฝ้าอยู่ประตูหน้าของหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 ไม่ให้พวกเขาเข้าไปและบอกกับตนว่าให้ไปสอบถามสาเหตุในการเชิญตัวกับหน่วยเหนือ โดยใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพในการพูดคุยกับผู้ชุมนุม

รายงานของศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้าประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ระบุว่า เมื่อเวลา 19.00 น. - 22.10 น.วันที่ 31 พฤษภาคม หน่วยเฉพาะกิจที่ 11 ได้สนธิกำลังร้อย.ร.5033 เข้าปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมายในพื้นที่ อ.เมือง จ.ยะลา จำนวน 2 จุด คือ บ้านเลขที่ 112 ซอยสิโรรส 14 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา มีนายเจ๊ะอุเซ็ง เจ๊ะดอเลาะห์ แสดงตนเป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งจากการตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย และบ้านหลังหนึ่ง ซอยศรีปุตรา ชุมชนตลาดเก่า ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และได้เชิญผู้ต้องสงสัยจำนวน 3 คน

พ.ท.พิเชษฐ์ ชุติเดโช ผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 เปิดเผยอีกว่า การเชิญตัวนักศึกษาในครั้งนี้อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก โดยสาเหตุในการเชิญตัว เนื่องจากสงสัยว่าทั้งสามคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดในพื้นที่ แต่หลังจากที่พูดคุยแล้วไม่ได้ข้อมูลที่แน่ชัดจึงได้ปล่อยตัวนายอาลียัซและนายสือกรีไปตั้งแต่เช้าวันที่ 1 มิถุนายน เหลือเพียงนายนูรมานที่ยังไม่ได้ปล่อยตัวซึ่งจะต้องพูดคุยกับต่อไป โดยขณะนี้ได้เชิญตัวนายนูรมานไปสอบปากคำต่อที่กรมทหารพรานที่ 41 อ.รามัน จ.ยะลา และดำเนินการตามกระบวนการต่อไป

 

 

8 ทศวรรษ การกระจายการถือครองที่ดิน จากสมุดปกเหลือง (เค้าโครงการเศรษฐกิจ) ถึงการปฏิรูปที่ดินโดยภาคประชาชน

Posted: 04 Jun 2012 07:06 AM PDT

รูปพื้นที่บ้านพระบาท (พื้นที่พิพาทนำมาสู่คดี) ซึ่งให้ปัจจุบันก็ยังถูกปล่อยทิ้งร้างอยู่เช่นเดิม

 

อีกไม่กี่วันศาลจังหวัดลำพูน ก็จะอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีชาวบ้านพระบาท อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ที่มีการพิพาทมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ และจะสิ้นสุดลงตามคำพิพากษาของศาลฎีกาในวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ นี้ และไม่ว่าผลของคดีจะเป็นอย่างไร ผู้เขียนคงมิอาจก้าวล่วงได้ แต่สิ่งที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงในที่นี้ เป็นข้อเท็จจริงที่กำลังเป็นความขัดแย้งและนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก ดังที่เห็นได้จากการพิพาทเรื่องที่ดินที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วประเทศ

ปมเหตุแห่งความขัดแย้งและการพิพาทเรื่องที่ดิน เป็นเรื่องที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ตั้งแต่เมื่อปี ๒๔๗๖ ดังที่ปรากฎในสมุดปกเหลือง (เค้าโครงการเศรษฐกิจ) ซึ่งจัดทำโดยหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้เขียนขอยกเอาข้อความบางส่วนที่บันทึกในสมุดปกเหลืองมาทวนอีกครั้ง ดังนี้ ....เราจะเห็นว่า ๙๙ % ของราษฎรหามีที่ดินและเงินทุนเพียงพอที่จะประกอบอาชีพการเศรษฐกิจแต่ลำพัง....ในประเทศสยามมีที่ดินถึง ๕ แสนตารางกิโลเมตรเศษ (คิดเป็นไร่ได้กว่า ๓๒๐ ล้านไร่) ...มีพลเมือง ๑๑ ล้านคนเศษ...เวลานี้ที่ดินซึ่งทำการเพาะปลูกได้ตกอยู่ในมือของเอกชน นอกนั้นเป็นที่ป่าที่ต้องก่นสร้าง ที่ดินซึ่งอยู่ในมือของเอกชนในเวลานี้ ผลจากที่ดินนั้นย่อมได้แทบไม่คุ้นค่าใช้จ่ายและค่าอากรหรือดอกเบี้ย....เมื่อกาลเป็นเช่นนี้แล้ว รัฐบาลจะซื้อที่ดินเหล่านั้นกลับคืนมา....เมื่อได้ที่ดินกลับมาเป็นของรัฐบาลเช่นนี้แล้ว รัฐบาลจะได้กำหนดลงไปให้ถนัดว่า การประกอบเศรษฐกิจในที่ดินนั้นจะแบ่งออกเป็นส่วนอย่างไร...ส่วนการจัดหาทุนเพื่อนำมาซื้อที่ดินบันทึกกล่าวไว้ว่า .....เห็นว่ารัฐบาลควรจัดหาทุนโดยทางอื่น วิธีจัดหาทุนคือ การเก็บภาษีบางอย่าง เช่น ภาษีมรดก เช่นภาษีรายได้หรือภาษีทางอ้อม...(หมวดที่ ๕ : วิธีที่รัฐบาลจะจัดหาที่ดิน ,แรงงาน เงินทุน : บทที่ ๑ :การจัดหาที่ดิน เจ้าของที่ดินเวลานี้ไม่ได้รับผลจากที่ดินเพียงพอ)

สมุดปกเหลือง ถูกจัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการบรรลุหลัก ๖ ประการของคณะราฎร ภายใต้เจตนารมณ์ "การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร" ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า ๘ ทศวรรษ ก็ยังไม่มีรัฐบาลชุดใหนที่จะดำเนินการหรือให้ความสำคัญต่อการกระจายการถือครองที่ดิน แม้ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๙๗ ประเทศได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งบัญญัติถึงการได้สิทธิ์ในที่ดิน และการเสียสิทธิ์ในที่ดินอย่างชัดเจน แต่การบังคับใช้ก็เป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป) จนเกิดเป็นความขัดแย้งของคนในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง คนยากจนในชนบทได้ลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิ์ในที่ดินจนเกิดเป็นขบวนการชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย และพัฒนามาเป็นกลุ่มองค์กรต่าง ๆ มากมาย ล้วนแล้วแต่มีสาเหตุมาจาการไร้ที่ดินสำหรับการผลิตอย่างเพียงพอ และในช่วงปี ๒๕๓๖ กลุ่มชาวบ้านไร้ที่ดินในจังหวัดลำพูนจึงได้ทำการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งมีการครอบครองแต่ไม่ทำประโยชน์ ด้วยการนำที่ดินเหล่านั้นมาจัดสรรค์ให้กับสมาชิกสำหรับทำการผลิต

สิ่งที่ควรพิจารณาการกระทำของชาวบ้านลำพูน โดยผู้เขียนขอให้ความเห็นอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าการกระของชาวบ้านลำพูนไม่ควรตกเป็นจำเลยด้วยข้อกล่าวหาว่าบุกรุก เพราะเมื่อพิจารณาเนื้อหาของประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๖ ที่ระบุว่า ...บุคคลใดมีสิทธิในที่ดินตามโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หากบุคคลนั้นทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือปล่อยให้ที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เกินกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้

(๑) สำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน เกินสิปปีติดต่อกัน
(๒) สำหรับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เกินห้าปีติดต่อกัน

ให้ถือว่าเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือที่ปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เมื่ออธิบดีได้ยื่นคำร้องต่อศาล และศาลได้สั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าว....ซึ่งที่พิพาทนั้นก็เป็นที่รกร้างว่างเปล่าทอดทิ้งไม่มีการทำประโยชน์ ซึ่งควรอย่างยิ่งที่หน่วยงานราชการโดยเฉพาะกรมที่ดินควรที่จะดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าว แต่กลับละเลยละเว้นไม่ดำเนินการตามหน้าที่ ซึ่งพฤติกรรมนี้นำมาสู่เหตุแห่งความลำเอียง ความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย การกระทำของชาวบ้านลำพูนจึงควรเรียกว่าเป็น การบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกันของคนในสังคม

จากปี ๒๔๗๖ ที่ประเทศไทยมีประชากรราว ๑๑ ล้านคนเศษ และปัจจุบันประชากรในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น ๖๕.๔ ล้านคน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ:๒๕๕๓) ขณะที่เนื้อที่่ประเทศไทยมีจำนวนเท่าเดิมคือ ๓๒๐ ล้านไร่เศษ ย่อมหลีกเลี่ยงสภาพความขัดแย้งการแย่งชิงที่ดินไม่พ้น และยิ่งหน่วยงานราชการ และรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญในการกระจายการถือครองที่ดิน ซ้ำยังปล่อยให้เกิดการกักตุนที่ดินไว้ในมือคนบางกลุ่มที่มีทุนและมีอำนาจ ก็ยิ่งเป็นการบีบบังคับให้คนยากจนไร้ที่ดินต้องหาทางออกที่เลือกไม่ได้ ดังเช่นการบุกยึดที่ดินที่กำลังดำเนินอยู่ทั่วประเทศในขณะนี้

ผ่านมาแล้วกว่า ๘ ทศวรรษ การกระจายการถือครองที่ดินก็ยังไปไม่เกิดขึ้น และหากปล่อยให้การกระจายการถือครองที่ดินดำเนินการโดยรัฐและกลไกของรัฐก็คงเป็นดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นการลุกขึ้นยึดที่ดินที่ถูกปล่อยทิ้งร้างโดยชาวบ้านไร้ที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรค์เพื่อทำการผลิต ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องและน่ายกย่องเชิดชูด้วยซ้ำ และยิ่งเมื่อคาดการณ์ไปข้างหน้าถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับรัฐ ทั้งในด้านรายได้ที่มาจากภาษี และผลผลิตทางการเกษตรที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการสร้างงานให้กับพลเมืองอีกจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้มากยิ่งขึ้นอีก

ช่วงเวลาที่ผ่านมากว่า ๘ ทศวรรษ น่าจะเพียงพอสำหรับการที่รัฐเสียโอกาส จากรายได้ที่ควรจะเกิดขึ้นจากที่ดินจำนวนมากที่ไม่ถูกใช้ประโยช์อย่างเต็มที่ และที่สำคัญรัฐควรจะใช้ประโยชน์จากกรณีพิพาทที่ดินลำพูน ให้เป็นกรณีศึกษาสำหรับนำไปสู่การปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

ดังนั้น ไม่ว่าผลการตัดสินของศาลฎีกา จะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม ซึ่งทุกฝ่ายต้องน้อมรับ แต่สำหรับผู้เขียนเห็นว่า มีความจริงอีกด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย คือการลุกขึ้นดำเนินการปฏิรูปที่ดินโดยภาคประชาชน ซึ่งควรที่รัฐและกลไกของรัฐควรจะเร่งปรับตัว เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในขณะนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรียนประธานศาลรัฐธรรมนูญ “และ/หรือ” เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

Posted: 04 Jun 2012 06:39 AM PDT

พลันที่ข่าวประชาสัมพันธ์ของศาลรัฐธรรมนูญข่าวที่ ๑๖/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ ได้เผยแพร่ในเวบไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ เนื้อหาที่โดดเด่นมากที่สุดในข่าวฉบับนี้คือเนื้อหาในวรรคที่สองของหนังสือข่าวที่ระบุว่า

“ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ ให้สิทธิแก่ผู้ที่ทราบถึงการกระทำอันเป็นการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมใช้สิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ โดยให้มีสิทธิสองประการ คือ หนึ่งเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ และสองยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว....”

แน่นอนว่าในวงการนักกฎหมายการใช้การตีความกฎหมายดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ การตีความดังกล่าวเป็นการตีความโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งล้วนแต่เป็นนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญเป็นอย่างสูงในสาขาวิชาที่ได้ร่ำเรียนมาบวกด้วยประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวกับการใช้การตีความกฎหมายที่มีมาอย่างยาวนาน หาไม่แล้วคงไม่ได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอันสำคัญของประเทศชาติเป็นแน่แท้

เมื่อได้อ่านข่าวประชาสัมพันธ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้บรรยายการตีความมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญ หากไม่ได้อ่านหรือติดตามผลงานของศาลรัฐธรรมนูญมาบ้างคงจะเกิดความประหลาดใจมากว่าในกรณีนี้ ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามช่องทางที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๘ นั้น หากอ่านถ้อยคำตามเนื้อหาของกฎหมายแล้วย่อมตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่า ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องในกรณีนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แก่ อัยการสูงสุด เท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม อย่างที่เรียนไว้แล้วว่าด้วยผลงานที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญ การตีความว่าผู้ที่ทราบถึงการกระทำตามมาตรา ๖๘ นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดแล้วให้อัยการสูงสุดยื่นต่อศาล หรือสามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้โดยตรง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกและน่าตื่นเต้นประการใด แม้ว่าการตีความดังกล่าวจะขัดต่อถ้อยคำที่เป็นลายลักษณ์อักษรของมาตรา ๖๘ ที่ใช้คำว่า “และ” ไม่ได้ใช้คำว่า “หรือ”

การตีความว่าผู้ที่ทราบถึงการกระทำดังกล่าวนั้นมีสิทธิสองประการนั้น คำถามที่ตามมาก็คือถ้าสามารถยื่นคำร้องได้โดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วจะกำหนดให้สามารถยื่นผ่านอัยการสูงสุดอีกด้วยเหตุอันใด ก็เท่ากับว่าบทบัญญัติมาตรา ๖๘ ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีสิทธิยื่นคำร้องโดยเฉพาะที่กำหนดให้ยื่นผ่านอัยการสูงสุดนั้น เป็นส่วนเกินที่ไม่ควรมีในการตรากฎหมาย (ในที่นี้คือรัฐธรรมนูญ) เพราะด้วยการใช้การตีความกฎหมายแล้ว หากกรณีใดจะกำหนดผู้มีสิทธิยื่นคำร้องแตกต่างกันเป็นสองกรณีแล้ว ย่อมมีเหตุผล และที่สำคัญคือต้องให้ทั้งสองกรณีนั้นสามารถใช้บังคับได้ในทางข้อเท็จจริงด้วย หาไม่แล้วก็เท่ากับเป็นการแสดงถึงความสามารถของผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ เอง ว่าร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะฟุ้งเฟ้อเกินไปหรือไม่ โดยร่างเพื่อกำหนดให้ผู้ที่ทราบถึงการกระทำตามมาตรา ๖๘ นั้น มีสิทธิสองประการคือยื่นเองต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือยื่นผ่านอัยการสูงสุดเพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกต่อหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเหตุใดจึงไม่กำหนดให้ผู้ที่ทราบถึงการกระทำดังกล่าวสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แต่เพียงอย่างเดียว จะกำหนดให้สิทธิไปยื่นผ่านอัยการสูงสุดเพื่ออะไรอีก

อย่างไรก็ตามด้วยผลงานของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจึงไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดการตีความเรื่องผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญนั้นจะปรากฏออกมาตามในข่าวประชาสัมพันธ์ของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยที่สุดก็มีความรู้สึกที่ดีว่าศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายไปในทางที่ให้สิทธิแก่ประชาชนมากขึ้นดังเช่นในกรณีนี้ที่ตีความให้สิทธิสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงได้ ต่อไปนี้ก็ย่อมเป็นการง่ายขึ้นที่จะมีการยื่นคำร้องตามมาตรา ๖๘ ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องไปยื่นผ่านอัยการสูงสุดตามความเข้าใจแบบดั้งเดิมแต่ประการใด น่าเสียดายอยู่ตรงที่ว่าการใช้การตีความดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลที่อาจจะเพิ่มความเข้าใจได้ว่าเหตุใดจึงตีความเรื่องสิทธิในการยื่นคำร้องตามมาตรา ๖๘ ที่แตกต่างไปจากความคิดความเข้าใจแบบดั้งเดิม อาจเป็นเพราะข้อจำกัดในเรื่องของเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ที่ไม่สามารถกล่าวโดยละเอียดได้

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามต้องขอฝากเรียนรบกวนไปยังประธานศาลรัฐธรรมนูญ (นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์) “และ/หรือ” เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (นายชวนะ ไตรมาศ) รีบเร่งดำเนินการเข้าไปแก้ไขข้อมูลในเวบไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ www.constitutionalcourt.or.th ในส่วนของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อ “การใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญ” (http://www.constitutionalcourt.or.th/
index.php?option=com_content&view=article&id=334&Itemid=282&lang=thindex.php
) ที่ยังคงปรากฏเอกสารพีดีเอฟที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญที่มีชื่อไฟล์เอกสารว่า“concourt3.pdf” (http://www.constitutionalcourt.or.th/index.php?option=com_docman&task=doc_download&
gid=867&Itemid=100&lang=th
) ในส่วนของ “(๓) การพิจารณาวินิจฉัยกรณีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๖๘ และมาตรา ๒๓๗) ซึ่งปรากฏอยู่ในหน้าที่สามของเอกสารดังกล่าวเนื่องจากในช่องหัวข้อ “ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง” ยังคงระบุว่าเป็น “อัยการสูงสุด” เพียงผู้เดียวอยู่ และในช่องหัวข้อ “วิธีการและเงื่อนไข” ยังคงระบุว่าผู้ที่ทราบการกระทำดังกล่าวมีสิทธิยื่นเรื่องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้นอยู่

จริงอยู่ว่าแม้ว่าแนวการวินิจฉัยมาตรา ๖๘ ของศาลรัฐธรรมนูญที่มีในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่ผ่านมาจะเป็นแนวความคิดแนววินิจฉัยใหม่ หาไม่แล้วเอกสารที่ชื่อ “concourt3.pdf” คงปรากฏแล้วว่าผู้มีสิทธยื่นคำร้องต่องศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีช่องทางสองประการ คือยื่นเองหรือยื่นผ่านอัยการสูงสูด ดังนั้น เพื่อให้ข้อมูลสอดคล้องกับแนวการใช้การตีความใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเห็นสมควรที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ “และ/หรือ” เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเร่งรีบดำเนินการสั่งการให้มีการแก้ไขข้อมูลให้สอดคล้องกัน โดยในการสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลดังกล่าวนี้

๑. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ หรือ
๒. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือ
๓. เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

เป็นผู้มีอำนาจในการสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลดังกล่าว ให้สอดคล้องกับ “แนวการตีความ(ใหม่)” ในส่วนของมาตรา ๖๘ ของศาลรัฐธรรมนูญ

ท้ายที่สุดนี้ จึงขอให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ/หรือ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญรีบเร่งดำเนินการแก้ไข ข้อมูลในเวบไซต์ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความสับสนหรือความเข้าใจผิดในการใช้การตีความกฎหมาย อันจะเป็นการวางแนวการใช้การตีความกฎหมายอันเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญยิ่งอีกครั้งหนึ่งโดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นคุโณปการอันหาได้ยากยิ่งในวงการนิติศาสตร์ไทยต่อไป

                                                                               ด้วยความเคารพอย่างสูง

 

AttachmentSize
เอกสารในเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ.pdf174.82 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

ชาวอียิปต์ชุมนุมอีกครั้ง หลังไม่พอใจคำตัดสินศาลกรณีสังหารผู้ชุมนุม

Posted: 04 Jun 2012 06:25 AM PDT

ชุมนุมประท้วงผลการตัดสินของศาล ที่ตัดสินให้อดีตปธน. มูบารัคและอดีต รมต. จำคุกตลอดชีวิตฐานร่วมสังหารประชาชน ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งไม่ได้รับโทษ ผู้ประท้วงคิดว่าการตัดสินเบาเกินไป และกลัวคดีจะพลิกในชั้นอุทธรณ์

 
3 มิ.ย. 2012 - ชาวอียิปต์หลายร้อยคนคนมาชุมนุมที่จัตุรัสทาห์เรียเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการตัดสินคดีล่าสุดที่ ฮอสนี มูบารัค อดีตประธานาธิบดีถูกสั่งจำคุกฐานมีส่วนร่วมสังหารประชาชน
 
ตั้งแต่คืนวันที่ 2 มิ.ย. มีผู้ชุมนุมประท้วงการตัดสินของศาลเนื่องจากเห็นว่าเป็นการตัดสินที่เบาเกินไป ต่อการกระทำของอดีตประธานาธิบดีและผู้ช่วยฝ่ายความมั่นคงของเขา
 
เจ้าหน้าที่ของอียิปตืเปิดเผยว่ามีประชาชน 100 คนได้รับบาดเจ็บในการประท้วงทั่วประเทศ และพนักงานอัยการของอียิปต์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคำตัดสินครั้งนี้แล้ว
 
สำนักงานอัยการแถลงว่าพวกเขากำลังอยู่ในกระบวนการยื่นอุทธรณ์ แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นการยื่นอุทธรณ์ต่อคำตัดสินทั้งหมด หรือแค่เฉพาะกรณีของจำเลยที่ถูกปล่อยตัว
 
ในวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา มูบารัคและอดีตรมต.มหาดไทยของอียิปต์ ฮาบิบ อัล-แอดลี ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตโทษฐานมีส่วนร่วมในการสังหารผู้ชุมนุมประท้วงเมื่อปี 2011 แต่อดีตผู้บัญชาการตำรวจ 6 นายถูกตัดสินให้ไม่มีความผิด และตัวมูบารัคกับลูกชายเขาก็ได้รับการยกฟ้องในข้อหาคอร์รัปชั่น
 
ผู้สื่อข่าว BBC กล่าวว่าการตัดสินในครั้งนี้เหมือนเป็นการทำให้บาดแผลรอยเก่าเปิดออกมาอีกครั้ง 
 
มีชุมนุมจำนวนมากหลังไหลเข้ามาที่จัตุรัสทาห์เรีย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นจุดสำคัญในการประท้วงขับไล่มูบารัค พวกเขาตธโกนว่า "ระบอบทหารจงพินาศ" ซึ่งเป็นคำขวัญอันเดียวกับที่ใช้ในการปฏิวัติในปี 2011
 
ผู้ประท้วงรายหนึ่งชื่อชารีฟ อาลี กล่าวว่าการตัดสินของศาลเหมือนเป็นการหมิ่นหยามพวกเขา แม้ว่ามูบารัคกับแอดลีจะถูกตัดสินลงโทษ แต่ผู้ช่วยคนอื่นๆ ของมูบารัคกลับได้รับการปล่อยตัว และเมื่อมีการอุทธรณ์แล้ว พวกเขาก็อาจจะถูกปล่อยตัวทั้งหมดด้วย 
 
ด้านโมฮาเม็ด เมอซี ผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มาจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิมก็เข้าเยี่ยมการชุมนุมที่จัตุรัสทาห์เรีย เขาบอกว่าหากเขาได้รับเลือกตั้งแล้ว จะมีการไต่สวนคดีใหม่ในกรณีของมูบารัคและเจ้ากน้าที่ทีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารผู้ชุมนุม
 
ผู้ชุมนุมบางคนเปิดเผยว่าพวกเขาจะปักหลักชุมนุมกันที่จัตุรัสต่อไป
 
"เมื่อวานนี้ประชาชนมารวมตัวกันเหมือนในช่วงที่มีการปฏิวัติช่วงแรกๆ ผมรู้สึกว่าการปฏิวัติกำลังจะกลับมาอีกครั้ง" โอซามา อะวัด ผู้ประท้วงรายหนึ่งกล่าว
 
มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า มีผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปสำนักงานหาเสียงของอาห์เม็ด ชาฟิค อดีตนายกรัฐมนตรีสมัยมูบารัค ผู้ที่ลงสมัครเลือกตั้งปธน. ในครั้งล่าสุด และมีคะแนนคู่คี่สูสีกับเมอซี
 
 
 
 
ที่มา
Egypt crisis: Tahrir Square activists maintain pressure, BBC, 03-06-2012
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: เมื่อเฟซบุ๊คเปิดให้ชาวโลก โหวตนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล

Posted: 04 Jun 2012 06:21 AM PDT

 

เฟซบุ๊คในฐานะชุมชนออนไลน์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดของโลกในปัจจุบัน เปิดให้ผู้ใช้บริการลงคะแนนเลือกกฎว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบ และนโยบายการใช้ข้อมูลของเฟซบุ๊ค
 
การโหวตมีระบบเหมือนกับการทำประชามติ โดยมีตัวเลือกให้ผู้ใช้บริการอยู่ 2 อย่าง นั่นคือ จะเลือกกฎแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือ กฎใหม่ซึ่งเฟซบุ๊คอ้างว่าวิเคราะห์รวบรวมมาจากข้อร้องเรียนที่ผู้ใช้บริการ เขียนไปยังเฟซบุ๊ค 
 
อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊คจะยอมรับผลโหวตและนำไปบังคับใช้ก็ต่อเมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊คที่ลงทะเบียนและยังคงเล่นเฟซบุ๊คอย่างต่อเนื่อง มาร่วมโหวตเกินร้อยละ 30 แต่หากผู้ลงคะแนนมีจำนวนน้อยกว่านั้น การโหวตครั้งนี้ก็จะกลายเป็นเพียงข้อเสนอแนะเท่านั้น
 
ประเมินตัวเลขคร่าวๆ นั่นอาจหมายถึง ผู้ใช้ประมาณ 270 ล้านบัญชี จากเกือบ 900 ล้านบัญชี จะต้องใช้สิทธิโหวตเพื่อให้การเลือกตั้งมีลักษณะผูกมัด หรือคือจำนวนเท่ากับประชากรทั้งสหรัฐอเมริกานั่นเอง การเลือกตั้งมีกำหนดเวลานับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน กินเวลาหนึ่งอาทิตย์ไปจนถึงวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน โดยสามารถลงคะแนนได้ที่ แอพพลิเคชั่นโหวตนโยบาย
 
ปัญหาที่นำไปสู่การโหวตครั้งนี้เกิดจากข้อวิจารณ์ต่อการเก็บข้อมูลของเฟส บุ๊ค ผลสำรวจโดย AP-CNBC เปิดเผยว่า ผู้ใช้บริการกว่าร้อยละ 59 ไม่ไว้ใจนโยบายการเก็บข้อมูลของเฟซบุ๊ค 
 
แน่นอนว่าเฟซบุ๊คเก็บข้อมูลทุกอย่างที่เราใส่ลงไป ไม่ว่าจะเป็นข้อความ (post) รูปภาพ การแชร์ การสะกิด (Pokes) ที่อยู่ของเครื่องคอมพิวเตอร์ (IP Address) ที่ใช้ล็อกอิน รวมไปถึงสถานที่ที่เช็คอิน แต่บริษัทยังสามารถเก็บข้อมูลที่เราคาดไม่ถึง เช่น ข้อมูลของเว็บไซต์ที่เราเข้าไปดูขณะที่เปิดเฟซบุ๊คทิ้งไว้ และเว็บไซต์ที่มีปุ่ม Like ของเฟซบุ๊คปรากฏอยู่ แม้เราจะไม่ได้ไปกดมันเลยก็ตาม 
 
แม้เฟซบุ๊คประกาศว่า ไม่ได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประกอบธุรกิจโฆษณา แต่เมื่อเฟซบุ๊คขยายขนาดบริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้นเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แรงจูงใจในการนำข้อมูลไปใช้ทางการตลาดย่อมเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊คก็ได้รับการกดดันจากรัฐบาลสหรัฐอยู่มากในการปิดกั้นข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการ รัฐบาลสหรัฐยังให้เฟซบุ๊คลงนามยอมรับข้อตกลงที่จะไม่ใช้ข้อมูลไปในทางที่ไม่ถูกต้องกับคณะกรรมาธิการการค้าสหพันธรัฐ (Federal Trade Commission) แต่ก็ยังเป็นที่สงสัยว่า ผลผูกพันนั้นสามารถบังคับใช้กับผู้ใช้บริการในประเทศอื่นๆ ได้หรือไม่
 
การลงคะแนนเสียงในครั้งนี้ เฟซบุ๊คออกข้อเสนอเกี่ยวกับระเบียบสองหัวข้อหลัก นั่นคือ "คำชี้แจงว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบ" หรือ Statement of Rights and Responsibilities- SRR และ "นโยบายการใช้ข้อมูล" หรือ Data Use Policy
 
กติกาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบ

สำหรับ "คำชี้แจงสิทธิและความรับผิดชอบ" มีตัวเลือกคือ ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 หรือฉบับใหม่ วันที่ 20 เมษายน 2555 บทบัญญัตินี้มีขึ้นเพื่อจัดระเบียบการใช้โปรแกรม โดยระบุข้อผูกมัดที่เฟซบุ๊คมีต่อผู้ใช้บริการและที่ผู้ใช้บริการมีต่อเฟส บุ๊ค ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ข้อมูล ความปลอดภัย การสมัครใช้บริการ การร่วมปกป้องสิทธิของผู้อื่นฯลฯ ตัวอย่างรายละเอียดความเปลี่ยนแปลงที่เฟซบุ๊คระบุไว้ ได้แก่
 
- การแบ่งปันข้อมูล (Sharing Your Content and Information) เฟซบุ๊คถือว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊คเป็นผู้ตกลงเงื่อนไขการแบ่งปันข้อมูลกับกับแอพพลิเคชั่นต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งแอพฯ เหล่านั้นจะต้องร้องขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว เฟซบุ๊คเองเรียกร้องให้แอพฯ ต่างๆ เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และเฟซบุ๊คเห็นว่า แอพฯ เหล่านั้นเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งอาจจะต้องการข้อมูลจากผู้ใช้และเพื่อนในการ สร้างแบ่งปันประสบการณ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้แอพเกี่ยวกับการวิจารณ์ภาพยนตร์ ก็อาจมีการเรียกข้อมูลการวิจารณ์จากเพื่อนของเราเข้ามาด้วย กรอบการทำงานของแอพฯ เหล่านี้จะถูกผูกพันโดยนโยบายพื้นที่สาธารณะของเฟซบุ๊ค ซึ่งระบุไว้ว่า สามารถดึงข้อมูลจากผู้ใช้ได้ตามที่ผู้ใช้กำหนดไว้ในการตั้งค่าความเป็นส่วน ตัว  (ดูข้อ 2.3 ของ Statement of Rights and Responsibilities )
 
- ความปลอดภัย (Safety) เฟซบุ๊คได้เปลี่ยนการใช้คำว่า เนื้อหาที่มีลักษณะเกลียดชังหรือ Hateful Content เป็น คำพูดแสดงความเกลียดชัง หรือ Hateful Speech โดยอธิบายว่าสามารถครอบคลุมเจตจำนงได้กว้างกว่า โดยคำพูดแสดงความเกลียดชังในความหมายของเฟซบุ๊คระบุไว้ว่าหมายถึงการดูหมิ่น ผู้อื่นบนพื้นฐานของเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ เพศภาวะ เพศสัมพันธ์ ความพิการ หรือเงื่อนไขทางสุขภาพ (ดูข้อ 3 ของ Statement of Rights and Responsibilities)
 
- เพิ่มเติมบทบัญญัติที่ 13 เกี่ยวกับโปรแกรมของเฟซบุ๊ค เช่น เฟซบุ๊คบนมือถือ ระบุว่าเฟซบุ๊คสามารถอัพเกรดโปรแกรมได้ตามต้องการ และผู้ใช้บริการไม่ได้รับอนุญาติให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขโปรแกรมแต่อย่างใด
 
- เพิ่มข้ออธิบายเพิ่มเติมในบทบัญญัติที่ 14 ว่าด้วยการแก้ไขคำชี้แจงสิทธิและความรับผิดชอบ โดยระบุว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการจ่ายเงิน ผู้ให้บริการแอพพลิเคชัน ผู้ดูแลเว็บไซต์ การโฆษณา จะแจ้งเตือนอย่างน้อย 3 วันล่วงหน้า และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆจะแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน 
 
นอกจากนี้หากมีผู้ใช้บริการมากกว่า 7,000 คนเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลง เฟซบุ๊คจะเปิดให้โหวต และการโหวตนั้นจะมีผลจริงเมื่อมีผู้ลงคะแนนมากกว่าร้อยละ 30 อย่างไรก็ดี เฟซบุ๊คสามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าและไม่เปิดโอกาสให้ แสดงความคิดเห็นหากเป็นในเนื้อหาที่มีความเกี่ยวพันกับกฎหมายและการบริหาร งานเว็บไซต์
 
นโยบายความเป็นส่วนตัว
ปัจจุบัน เฟซบุ๊คใช้ "นโยบายการใช้ข้อมูล" หรือชื่อเดิมว่า "นโยบายความเป็นส่วนตัว" ฉบับที่วันที่ 23 กรกฎาคม 2554 และเสนอนโยบายใหม่ เป็นฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2555 ให้ผู้ใช้เลือกโหวต เนื้อหาส่วนนี้ เช่น มาตรการว่าด้วยการเก็บและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของเฟซบุ๊ค ระบบการแชร์ การค้นหาตัวตนของผู้ใช้บริการบนเฟซบุ๊ค เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น การโฆษณา ฯลฯ ตัวอย่างรายละเอียดความเปลี่ยนแปลงที่เฟซบุ๊คระบุไว้ ได้แก่
 
- ข้อมูลที่เป็นสาธารณะตลอดเวลา มีข้อมูลจำนวนหนึ่งที่เฟซบุ๊คตั้งค่าเป็นสาธารณะตลอดเวลา เช่น ข้อมูลเรื่องเพศ เฟซบุ๊คกำหนดให้ผู้ใช้ระบุเพศ เพื่อที่แอพฯ และเฟซบุ๊คสามารถเรียกผู้ใช้งานได้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้สามารถซ่อนข้อมูลนี้ไม่ให้ผู้ใช้คนอื่นเห็นได้ แต่เฟซบุ๊คและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ 
 
นอกจากนี้รูปภาพหน้าแรกหรือ Cover Photo ซึ่งเป็นลูกเล่นใหม่ล่าสุดของเฟซบุ๊ค ก็เป็นข้อมูลสาธารณะ หากต้องการซ่อน จะต้องลบทิ้งและไม่ใช้ไปเลย (ดูคำอธิบาย  หมวดหนึ่ง ว่าด้วยข้อมูลที่ได้รับและการใช้ข้อมูลเหล่านั้น)
 
- การแชร์ข้อมูลและค้นหาบุคคลในเฟซบุ๊ค (Sharing and finding you on Facebook) เฟซบุ๊คเพิ่มคำเตือนว่า บางครั้งเราไม่อยากเปิดเผยข้อมูล แต่คนอื่นๆ ที่ใช้งานเฟซบุ๊คด้วยกันก็อาจรู้ข้อมูลเราได้แบบอ้อมๆ เช่น แม้เราไม่เปิดเผยว่าเราเกิดวันเดือนปีใด แต่คนอื่นก็อาจรู้ได้เมื่อมีเพื่อนมาเขียนข้อความอวยพรวันเกิดบนกระดานของ เรา หรือแม้ว่าเราจะตั้งค่าไม่ให้ผู้อื่นเห็นบัญชีรายชื่อเพื่อนของเรา แต่เฟซบุ๊คก็เปิดเผยให้ผู้ใช้มองเห็น “เพื่อนร่วมกัน” หรือ Mutual friends ได้ นอกจากนี้เฟซบุ๊คยังเพิ่มฟังค์ชั่นการใช้งานกลุ่ม โดยหากมีอีเมลของมหาวิทยาลัย ก็สามารถเชิญผู้ที่มีอีเมลของมหาลัยเข้าร่วมกลุ่มได้โดยไม่ต้องเป็นเพื่อน กันบนเฟซบุ๊ค 
 
ข้อกังขาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง

ในการโหวตนโยบายของเฟซบุ๊คครั้งนี้ ผู้ใช้บริการออกมาวิพากษ์วิจารณ์การโหวตอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการวิจารณ์ระเบียบการเลือกตั้งที่ว่า หากมีผู้ใช้บริการร่วมโหวตไม่ถึงร้อยละ 30 ผลการเลือกตั้งจะเป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น ซึ่งผู้วิจารณ์ระบุว่าการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการโหวตยังมีน้อยส่งผลให้มี ผู้รับรู้เรื่องการเลือกนโยบายน้อย รวมไปถึงวิธีการโหวตที่ต้องเลือกผ่านแอพพลิเคชั่นทำให้เข้าถึงยากขึ้น ที่สำคัญคือเนื้อหายังเข้าใจยากว่าการเปลี่ยนแปลงคืออะไร บ้างวิจารณ์เนื้อหาที่เปลี่ยนไปเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งรัฐบาลของประเทศ คอมมิวนิสต์ว่า มีการเลือกตั้งระหว่างตัวเลือก ก.และข. แต่ก.และข.ก็ไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด
 
หากดูความเปลี่ยนแปลงในเนื้อหา เปรียบเทียบระหว่างนโยบายฉบับเก่าและฉบับใหม่ ก็จะพบว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมีเพียงเปลี่ยนการใช้คำให้กระชับขึ้น แต่แนวนโยบายส่วนใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ทั้งยังกันสิทธิพิเศษให้เฟซบุ๊คในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้บริการอยู่เช่น เดิม อย่างไรก็ตาม การเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการออกเสียงโหวตได้ ก็เป็นการแสดงความใจกว้างของเฟซบุ๊ค และในฐานะผู้ใช้บริการของเฟซบุ๊ค ก็ควรใช้โอกาสนี้แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายกับเฟส บุ๊ค

 

 

อ้างอิง:
Kate Freeman,
It’s Facebook Election Week: How You Can Vote on Your Privacy (เข้าถึงเมื่อ 2 มิ.ย.55)
Facebook Site Governance (เข้าถึงเมื่อ 2 มิ.ย.55)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น