โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ชาวคะฉิ่นเรียกร้องยุติความขัดแย้ง - หลังเกิดสงครามในรัฐคะฉิ่นครบ 1 ปี

Posted: 08 Jun 2012 11:49 AM PDT

องค์กรสิทธิมนุษยชนคะฉิ่นเผยแพร่รายงานเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี ที่ทหารพม่าสู้รบกับทหารคะฉิ่น เผยขณะนี้มีผู้อพยพกว่า 7.5 หมื่นคน มีการคุกคามประชาชนจากทหารฝ่ายรัฐบาล โดยที่ทางการพม่ามักปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะที่สื่อมวลชนคะฉิ่นเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายอมเจรจากับกองทัพคะฉิ่น

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ เอฟซีซีที ชาวคะฉิ่น จากรัฐคะฉิ่น ประเทศพม่า ได้จัดแถลงข่าว เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี การเกิดสงครามระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น หรือ เคไอเอ โดยสมาชิกขององค์กรประชาสังคมในรัฐคะฉิ่น และสื่อมวลชนพลัดถิ่นชาวคะฉิ่นได้กล่าวถึงปัญหาที่ชาวคะฉิ่นกว่า 75,000 คน ซึ่งต้องอพยพเนื่องจากการสู้รบ และต้องเผชิญกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมซึ่งไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ทั้งจากองค์กรภายในประเทศ และจากองค์กรระหว่างประเทศ

"ความขัดแย้งที่ปะทะกันด้วยอาวุธที่เริ่มเมื่อปีที่แล้ว ผู้คนต้องเผชิญกับการจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ การทรมาน การบังคับใช้แรงงาน การข่มขืน และการล่วงละเมิดทางเพศ ด้วยฝีมือของกองกำลังของรัฐบาลซึ่งกระทำโดยที่ไม่ต้องรับโทษ และเจ้าหน้าที่มักปฏิเสธการเกิดขึ้นของสิ่งเหล่านี้ นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมพวกเราจึงสามารถพูดได้ว่า ไม่มีการปฏิรูปอย่างแท้จริงในประเทศของเรา" นางควัง เส่ง ปาน รองผู้ประสงานของสมาคมสตรีคะฉิ่นประจำประเทศไทย หรือ KWAT กล่าว ทั้งนี้สมาคมสตรีคะฉิ่นประจำประเทศไทยได้เผยแพร่รายงานในวันนี้เช่นกัน โดยใช้ชื่อว่า "การยกเว้นโทษที่ต่อเนื่อง: ความโหดร้ายที่ดำเนินต่อไปของกองทัพพม่าต่อประชาชนคะฉิ่น" หรือ "“Ongoing Impunity: Continued Burma Army atrocities against the Kachin people.” โดยในรายงานเป็นการรวบรวมสถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐคะฉิ่น

หน่อ ลา โฆษกของเครือข่ายพัฒนาคะฉิ่น (Kachin Development Network Group) กล่าวถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากเขื่อน เหมืองหยก เหมืองทอง และอุตสาหกรรมป่าไม้ในรัฐคะฉิ่นว่า "การทำสงครามที่เพิ่มทวีขึ้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาเหล่านี้ และนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มากขึ้น ชัดเจนว่ารัฐบาลได้มุ่งเน้นพัฒนาและการลงทุนมากกว่าความกินดีอยู่ดีของประชาชน มีความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ปัญหาด้วยวิถีทางการเมืองต่อเรื่องความขัดแย้งทางเชื่อชาติเสียก่อน การพัฒนาจึงจะให้ประโยชน์ต่อประชาชน และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้อย่างแท้จริง

"องค์กรเพื่ออิสรภาพคะฉิ่น ที่อยู่ในฝ่ายตั้งรับตลอด ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้มีการเจรจาทางการเมืองอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามรัฐบาลปฏิเสธที่จะร่วมเจรจาทางการเมือง แต่ต้องการให้หยุดยิงเท่านั้น การเจรจาหยุดยิงหลายรอบประสบความล้มเหลว ขณะที่ประชาชนยังคงได้รับผลกระทบต่อไป ได้เวลาแล้วสำหรับสันติภาพและการเจรจาทางการเมืองอย่างแท้จริง" นอว์ ดิน บรรณาธิการของสำนักข่าวคะฉิ่น (KNG) กล่าว

ทั้งนี้การแถลงข่าวในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ทั่วโลกโดยชุมชนชาวคะฉิ่น องค์กรประชาสังคม และผู้สนับสนุนเพื่อเรียกร้องให้มีการยุติวิกฤตกาลทางมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในรัฐคะฉิ่น ทั้งนี้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (5 มิ.ย.) มีชาวคะฉิ่นและผู้สนับสนุนประมาณ 40 คน จัดการประท้วงที่หน้าสถานทูตพม่าประจำกรุงเทพฯ พร้อมยื่นจดหมายถึงประธานาธิบดีเต็ง เส่งด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่เกิดขึ้นทั่วโลก

สำหรับกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น หรือ KIA ได้ทำสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่าตั้งแต่ปี 2537 และได้พื้นที่ปกครองตนเองบริเวณชายแดนรัฐคะฉิ่นติดกับจีน อย่างไรก็ตาม เกิดเหตุตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายนับตั้งแต่ปี 2553 หลัง KIA ปฏิเสธเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border guard force - BGF) ตามคำสั่งของกองทัพพม่า และได้เกิดการปะทะกันเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ปี 2554 เมื่อทหารพม่ามากกว่า 200 นาย ได้ข้ามมายังเขตควบคุมของ KIA และโจมตีฐานของทหารคะฉิ่น ใกล้หมู่บ้านปราง กาดัง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความทุกข์จากการศึกษาไทย : จากแป๊ะเจี๊ยะ ถึงโอเน็ต

Posted: 08 Jun 2012 05:55 AM PDT

น่าชื่นชมความกล้าหาญ และความวิริยะอุตสาหะของนักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชาที่ลุกขึ้นมารวมตัวต่อสู้เมื่อประมาณกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาที่หน้าทำเนียบรัฐบาลด้วยการอดอาหารประท้วงความอยุติธรรมที่ถูกตัดสิทธิทางการศึกษาซึ่งเยาวชนไทยทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน 

การต่อสู้นี้สะท้อนให้เห็นความทุกข์จากการศึกษาไทยของทุกครอบครัวที่มีบุตรหลานต้องแบกรับกันอยู่นั่นคือ การเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาระดับต่างๆ ถูกครอบงำโดยระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาที่กระทรวงศึกษาธิการมีส่วนอย่างสำคัญในการบริหารการศึกษาจนก่อให้เกิดขึ้นปรากฏเป็นรูปธรรมของแป๊ะเจี๊ยะ และโอเน็ต ยังผลให้ผู้ปกครองต้องดิ้นรนอย่างแสนสาหัสเพื่อลูกหลานของตนจนเกิดคำถามต่อกระทรวงศึกษาธิการว่า ทำไมไม่ดูแลให้ประชาชนได้รับสิทธิในการศึกษาอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม

 

ทุกข์จากแป๊ะเจี๊ยะกับสิทธิทางการศึกษา

แป๊ะเจี๊ยะเป็นเงินให้เปล่าที่ผู้ปกครองจ่ายให้กับผู้บริหารของสถานศึกษาที่ตนประสงค์นำบุตรหลานของตนเข้าศึกษาต่อเพื่อเป็นหลักประกันสำคัญที่นอกเหนือจากการรับเข้าเรียนต่อสถานศึกษาตามปกติ ที่สำคัญราคาที่จ่ายนั้นเป็นราคาผูกขาดของโรงเรียนจำนวนน้อยที่ได้รับความเชื่อถือว่ามี “คุณภาพ” แต่มีที่นั่งให้นักเรียนเข้าเรียนจำกัดและน้อยกว่าความต้องการของผู้ปกครองอย่างมาก จึงเกิดการยินยอม และแย่งกันจ่ายเพื่อซื้อการศึกษาที่มี “คุณภาพ” ให้บุตรหลานของตน โดยที่“คุณภาพ”นั้นคือ การเน้นเรียนวิชาความรู้เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย และเข้าเรียนในคณะที่ช่วยให้มีการงานและฐานะที่ดีซึ่งกลายเป็นค่านิยมหลักของผู้ปกครองไปแล้ว  

การที่แป๊ะเจี๊ยะยังคงดำรงอยู่โดยทั่วไป ย่อมสะท้อนว่าการศึกษาไทยส่วนใหญ่ยังคงด้อยคุณภาพไม่สามารถเอื้อให้เด็กไทยได้สิทธิทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน แป๊ะเจี๊ยะจึงเป็นเครื่องประจานความล้มเหลวของกระทรวงศึกษาธิการในการบริหารการศึกษาของชาติตามเป้าหมายในพรบ.การศึกษาแห่งชาติที่ระบุในมาตรา ๑๐ ว่า การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คือหน่วยงานบริหารการศึกษาของชาติโดยตรงที่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาดังกล่าว ทว่ามาตรการแก้ไขปัญหาที่สพฐ.ใช้นั้น คือ การออกกฎระเบียบการรับนักเรียนในสังกัดที่เปิดช่องให้สถานศึกษารับนักเรียนทั่วไปได้ไม่เกินร้อยละ ๒๐ ของจำนวนนักเรียน สิ่งนี้ส่งผลกระทบด้านลบตามมาอย่างสำคัญคือ

ประการแรก ผู้บริหารโรงเรียนที่ฉวยโอกาสใช้ช่องทางนี้แย่งกันคัดเลือกนักเรียนมีคุณภาพให้เข้ามาสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนและตนเองมากยิ่งขึ้น

ประการที่สอง ผู้บริหารโรงเรียนที่คิดทุจริตใช้ช่องทางนี้สร้างเงื่อนไขให้ได้มาซึ่งแป๊ะเจี๊ยะที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มพวกและโรงเรียน

ประการที่สาม ผู้บริหารโรงเรียนที่ไม่รับผิดชอบใช้ช่องทางนี้คัดทิ้งนักเรียนที่เติบโตมากับโรงเรียนออกไป ซึ่งเท่ากับไปลิดรอนสิทธิและโอกาสทางการศึกษาที่นักเรียนจะพึงได้จากผู้บริหารสถานศึกษา และคณะครูของพวกเขา นั่นคือ การไม่ทอดทิ้งนักเรียนของตน (No child left behind) 

ประการที่สี่ กระบวนการคัดเลือกรับนักเรียนนั้นเน้นที่การทดสอบความรู้ความจำเป็นสำคัญ   ทำให้เน้นคุณภาพของผู้เรียนแต่ความเก่งทางการจดจำเข้าใจในวิชา ละเลยกระบวนการเรียนรู้ที่ผ่านการลงมือปฏิบัติ และการพัฒนาคุณภาพด้านความดี ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเยาวชนของสังคม 

แนวทางการรับนักเรียนของสพฐ.จึงเป็นการแก้ไขปลายเหตุคือปัญหาการคัดเลือกนักเรียนในโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงเท่านั้น ที่สำคัญด้วยการทำเช่นนี้ สพฐ.ได้กระทำการที่ขัดกับเป้าหมายของการศึกษาชาติ

 

ทุกข์จากโอเน็ตกับการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา

โอเน็ตเป็นการทดสอบระดับชาติที่สำนักงานรับรองมาตรฐาน และประกันคุณภาพการศึกษา  (สมศ.)ใช้ประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาต่างๆโดยผ่านการวัดและประเมินผลกับนักเรียนในระดับชั้น ป.๖, ม.๓, และม.๖ เพื่อสพฐ.ได้นำผลการทดสอบมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการรับรู้คุณภาพของสถานศึกษา และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพต่อไป โดยการกำกับ ติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

ผลการทดสอบโอเน็ตในทุกวิชาของนักเรียนตกต่ำมาตลอด ๖ ปีที่ผ่านมาคือตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๘ – ๒๕๕๓ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริหารการศึกษาของชาติได้แก่ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารของสพฐ. และผู้บริหารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาล้มเหลวในการทำหน้าที่กำกับ ติดตาม และประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ที่น่าเศร้าคือ ความล้มเหลวดังกล่าวแทบมีผลน้อยมากต่อผู้บริหารการศึกษาของชาติเหล่านี้ นี่คือระบบการบริหารของข้าราชการที่ขาดความรับผิดชอบ (Accountability)

ที่น่าสลดหดหู่ใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ แทนที่พวกเขาจะหาทางออกให้เกิดการทำหน้าที่ที่ถูกที่ควรของพวกเขา สพฐ.กลับเตรียมออกมาตรการนำโอเน็ตมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจบการศึกษาของนักเรียนด้วยโดยมีแนวคิดเบื้องต้นว่าจะใช้ในสัดส่วนร้อยละ๒๐ ของผลการสอบของนักเรียนในปีนี้ และสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มจนเป็นร้อยละ๕๐ในช่วงต่อๆ ไป พวกเขาคิดวิธีบีบคั้นเอาผลที่นักเรียน และเชื่อว่าจะมีผลบีบคั้นให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาต้องตื่นตัวลุกขึ้นมาหาวิธีการพัฒนานักเรียนเพื่อให้จบการศึกษาด้วยดี วิธีบริหารเช่นนี้จะก่อผลกระทบทางลบซ้ำเติมความล้มเหลวให้แสนสาหัสยิ่งขึ้นคือ

ประการที่หนึ่ง การบีบคั้นเอาผลที่นักเรียนในขณะที่ผู้บริหารการศึกษาของชาติและสถานศึกษาต่างๆยังไม่ได้แก้ไขปรับปรุงคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนอย่างได้ผล จะทำให้นักเรียนและผู้ปกครองต้องพึ่งการกวดวิชามากยิ่งๆ ขึ้น ธุรกิจนี้ยิ่งเติบใหญ่ขึ้น แต่สร้างภาระค่าใช้จ่าย และบั่นทอนคุณภาพชีวิตของครอบครัวอย่างหนักหน่วง

ประการที่สอง การบีบคั้นเอาผลที่นักเรียน จะทำให้นักเรียนที่เบื่อหน่ายกับระบบการเรียนมุ่งเอาเกรดเอาคะแนน ท้อถอยและเลิกเรียนกลางคันเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะนักเรียนจากครอบครัวยากจนทั้งในเมือง และชนบท เท่ากับบีบคั้นให้พวกเขาหมดสิทธิและโอกาสทางการศึกษาไปโดยปริยาย ชะตาชีวิตของพวกเขาจากนั้นย่อมมีโอกาสสุ่มเสี่ยง และกลายเป็นปัญหาของสังคม

ประการที่สาม วิธีการบริหารดังกล่าวยิ่งทำให้โรงเรียนมุ่งการเรียนวิชาเพื่อสอบเป็นใหญ่ และละเลยเป้าหมายการศึกษาด้านอื่นที่โรงเรียนต้องช่วยให้เยาวชนคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น สื่อสารเป็น ใช้ชีวิตเป็น ใช้เทคโนโลยีเป็น อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุขด้วยความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ความซื่อสัตย์ มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย และมีจิตสาธารณะ โดยขาดการพัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ดีและหลากหลายเพื่อคุณภาพเหล่านี้

ประการที่สี่ ผู้บริหารและคณะครูที่ไม่รับผิดชอบอาจใช้ช่องโอกาสนี้ประกอบอาชีพกวดวิชามากยิ่งขึ้น หรือร่วมมือกับนักเรียนทุจริตในการสอบมากยิ่งขึ้น หรือเข้มงวดและเอารัดเอาเปรียบนักเรียนโดยใช้คะแนนโอเน็ตเป็นเครื่องต่อรองมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ผู้บริหารการศึกษาของชาติยังขาดระบบติดตาม และประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องเอากับสถานศึกษาต่างๆจึงทำให้ความเลวร้ายเหล่านั้นงอกเงยขึ้น

การใช้โอเน็ตเป็นส่วนหนึ่งของการจบการศึกษาจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอีกเช่นกัน คือ บีบให้นักเรียนทำคะแนนโอเน็ตให้ดีขึ้น โดยโรงเรียน หรือกระทรวงศึกษาฯจะได้หน้าได้ตาว่า ได้พัฒนาคุณภาพการศึกษาแล้ว ทั้งที่มันเป็นคุณค่าเทียมที่ตั้งอยู่บนความทุกข์ยากของครอบครัว ที่สำคัญสพฐ.กำลังกระทำการที่ขัดต่อพรบ.การศึกษาของชาติ

 

ทางออก

เมื่อมาตรการที่สพฐ.ใช้อยู่และกำลังจะนำมาใช้นั้นก่อผลกระทบทางลบ และสร้างความเสียหายให้กับการศึกษาของชาติเช่นนั้น ทางออกอื่นที่ดีกว่า มีดังต่อไปนี้

๑.  ยกเลิกนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนในสังกัดสพฐ.ที่เปิดช่องให้รับนักเรียนทั่วไปร้อยละ๒๐

๒. ยุติการเตรียมนำผลการทดสอบโอเน็ตมาเป็นเกณฑ์การจบการศึกษาของนักเรียน แต่ให้ใช้โอเน็ตเป็นเกณฑ์ในการกำกับ ติดตาม และประเมินผลเพื่อการพัฒนาการทำงานของผู้บริหารและครูของโรงเรียนให้เกิดคุณภาพ 

๓. พัฒนาคุณภาพของโรงเรียน โดยผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษาร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุน ตลอดจนกำกับ ติดตาม และประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครู

๔. เพื่อให้ภารกิจข้อ๓บรรลุผล ผู้บริหารสถานศึกษาควรมีการกำกับ ติดตาม และประเมินผลอย่างต่อเนื่องโดยมีระบบนิเทศที่มีคุณภาพซึ่งประกอบด้วยวงจรการถอดบทเรียนการสอนร่วมกัน คือ การร่วมวางแผนการสอนของครู การร่วมสังเกตการณ์การทำงานของครูผู้สอนในชั้นเรียน และการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูผู้สอนหลังจากสอนเสร็จ เพื่อช่วยกันหาทางพัฒนาคุณภาพของครูต่อไป

๕. เพื่อให้ภารกิจข้อ๔บรรลุผล ผู้บริหารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรส่งเสริม และสนับสนุนให้ผู้บริหารสถานศึกษาและคณะครูได้ร่วมกันพัฒนาระบบนิเทศนี้อย่างมีคุณภาพ โดยไม่นำเอาภาระงานอื่นๆทั้งของสำนักงานฯเอง และที่ได้รับจากกระทรวงไปให้พวกเขาทำจนครูขาดโอกาสสอนในชั้นเรียน และผู้บริหารสถานศึกษาขาดการทำหน้าที่บริหารวิชาการ

๖. เพื่อให้ภารกิจข้อ๕บรรลุผล ผู้บริหารของสพฐ.ควรส่งเสริมและสนับสนุน ตลอดจนกำกับและติดตามให้ผู้บริหารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสามารถทำงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยไม่ผลักดันโครงการทั้งของสำนักงานฯเอง และทั้งที่เพื่อรับใช้นโยบายของนักการเมืองไปให้พวกเขาจนขาดโอกาสปฏิบัติงาน และขาดงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษาโดยตรง

๗. เพื่อให้ภารกิจข้อ๖บรรลุผล รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการควรทุ่มเทการทำงานมุ่งที่การส่งเสริม สนับสนุน ตลอดจนกำกับและติดตามการทำงานของพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษาในภาพรวม โดยการออกกฎหมายที่สนับสนุนเรื่องดังกล่าวเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบ (Accountability) ของผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทั้งระบบ 

ยกตัวอย่างที่น่าเรียนรู้ คือ กฎหมายการไม่มีนักเรียนถูกทอดทิ้ง (No Child Left Behind Act of 2001) ของสหรัฐอเมริกา สาระสำคัญของกฎหมาย คือ การใช้ผลการทดสอบระดับชาติเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพของครูและสถานศึกษาโดยมีมาตรการเป็นลำดับขั้น เช่น กรณีที่ผลการทดสอบตกต่ำเป็นปีที่สอง โรงเรียนต้องมีแผนดำเนินการปรับปรุงคุณภาพ และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ไปเรียนกับโรงเรียนที่สอนดีกว่าในเขตนั้น หากผลการทดสอบตกต่ำอีกเป็นปีที่สาม โรงเรียนต้องจัดให้มีการเรียนรู้ซ่อมเสริมให้กับนักเรียน กรณีผลการทดสอบยังตกต่ำอีกเป็นปีที่สี่ โรงเรียนอาจต้องเปลี่ยนทีมครู หรือปรับปรุงหลักสูตร ขั้นตอนเหล่านี้ยังเสริมด้วยการให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการติดตามอีกด้วย เป็นต้น 

ทางออกที่ดีที่สุดคือ การที่ประชาชนร่วมใจกันลุกขึ้นมาต่อสู้ทวงสิทธิทางการศึกษา เรียกร้องความเป็นธรรม และทำลายความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่ระบบราชการ และระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาสร้างให้เกิดขึ้น เพราะเราคือผู้เสียภาษีให้รัฐและข้าราชการนำไปพัฒนาประเทศให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงมีคุณภาพ เราคือผู้เลือกนักการเมืองเข้ามาบริหารประเทศเพื่อความผาสุกของประชาชน การศึกษาเพื่อความดีงามและคุณภาพของลูกหลานเราไม่เคยได้มาโดยไม่ผ่านการต่อสู้.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษกใหม่: จะหนุนนำรัฐบาลได้อย่างไร?

Posted: 08 Jun 2012 05:29 AM PDT

ในที่สุดก็ได้โฆษกรัฐบาลคนใหม่ (ตัวจริง) หลังจากที่มีรักษาการแทนมาระยะหนึ่ง จากนี้ทีมงานโฆษกคงจะบุกงานประชาสัมพันธ์ (PR) ให้รัฐบาลเต็มสูบ ตามที่ตั้งใจหวัง

ในฐานะเป็นคนหนึ่ง ที่สนใจ PR เชื่อว่า ท่านศันสนีย์ นาคพงศ์ ซึ่งมีประสบการณ์สูง มีความเชี่ยวชาญ และเคยอยู่ในแวดวงสื่อ จะเป็นที่พึ่งพาให้นายกรัฐมนตรี และนำPRรัฐบาลสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก 

ต้องยอมรับว่า PR จำเป็นกับทุกองค์กรโดยเฉพาะรัฐบาล ซึ่งสูงสุดของประเทศ เป็นต้นทางของการบริหาร การริเริ่ม กำหนดนโยบาย และการแก้ไขปัญหาต่างๆทั้งหลายทั้งปวง  

มองข้ามหรือละเลย PR ไม่ได้ เพราะวันนี้อะไรๆเปลี่ยนแปลง ทั้งผู้คน การทำมาหากิน ไม่เว้นกระทั่งธรรมชาติ มีความซับซ้อน เกี่ยวพันเชื่อมโยงด้วยผลประโยชน์และการแข่งขัน 

ส่งผลให้โจทย์การทำงานยากขึ้น  

เมื่อโจทย์ยากขึ้น ก็ต้องอาศัยวิธีการ 2 ส่วนสำคัญ กล่าวคือ 

1.วิธีการบริหารอย่างมืออาชีพ เป็นมันสมองของรัฐบาล ที่จะแก้ไขปัญหา และสร้างนโยบายให้ตรงความต้องการของประชาชนกลุ่มต่างๆ

2.วิธีการสื่อสาร อธิบายว่า ทำไมต้องบริหารจัดการอย่างนั้น ทำไมต้องแก้ไขปัญหาอย่างนี้ เพื่อใคร มีเหตุผลอย่างไร มุ่งหวังผลอะไร ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจประชาชนกลุ่มต่างๆที่เป็นเป้าหมายของแต่ละนโยบาย  รวมถึงสังคม        

การจะทำอะไรของรัฐบาล อย่างไร เพื่อใคร ต้องคิดหนักและรอบคอบ ไม่เหมือนอดีตที่จะทำอะไร ก็ทำได้ ตัวแปรปัจจัยต่างๆก็นิ่ง บอกประชาชนให้ทำ ก็ทำ 

เดี๋ยวนี้การจะให้ประชาชนทำอะไร ไม่ง่าย ถ้าไม่เห็นสอดคล้องด้วย มีสิทธิไม่ทำ ดีไม่ดี เจอต้าน เจอประท้วง ปิดถนน เอาสับปะรดมาทิ้ง พังคันกันน้ำ ฯลฯ   

โครงการรัฐหลายอันต้องหยุด ชะลอ หรือสอบถามชุมชนก่อน (ประชาพิจารณ์)

ประชาชนมีส่วนร่วมสูง ซึ่งก็ดีไปอย่าง ทำให้เป็นรัฐบาลธรรมาภิบาล ใครที่จะทำอะไรแอบแฝง ซ่อนเร้นไม่ได้แล้ว ประชาชนรู้และฉลาดเท่าทันด้วยข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่อยู่รอบตัว ทั่วสารทิศ ไม่ยอมกันอีกแล้ว 

บุคลิกของผู้คน ประชาชนเปลี่ยนไป 

แต่หากรัฐบาลทำดี ก็ไม่มีอะไรให้ต้องกลัว ประชาชนก็พร้อมหนุนเช่นกัน

PR ของท่านศันสนีย์  จากนี้คงจะต้องรุกทำข้อ 2 ดังที่กล่าวข้างต้น หาวิธีการสื่อสาร รับรู้รับทราบปัญหา ความต้องการ สัมผัสสัมพันธ์ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ประชาชน สื่อมวลชน กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ฯลฯ

รู้เขา รู้เรา 

เพื่อขับเคลื่อนการบริหารงานของรัฐบาล และใช้ PR หนุนรัฐบาลสู่ความสำเร็จ 

จะกำหนดกลยุทธ์สื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างไร เพื่อเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนาประชาชน ใช้ประโยชน์จากโครงการรัฐ 

ยิ่งใช้ประโยชน์จากโครงการรัฐเท่าใด ยิ่งถือว่า PR สำเร็จเท่านั้น  

ยิ่งPRสำเร็จเท่าใด รัฐบาลยิ่งสำเร็จเท่านั้น 

รัฐบาลยิ่งสำเร็จ คะแนนนิยมยิ่งเพิ่ม

วันนี้โฆษกใหม่ ถึงเวลาทบทวน ประเมิน ปรับเปลี่ยนเป้าหมาย PR ใหม่ เป็นการประชาสัมพันธ์รัฐบาลเพื่อเพิ่มคะแนนนิยม (นิยมในผลงานโครงการรัฐ) จะดีหรือไม่ อย่างไร

หากมองย้อนกลับ ก่อนที่จะได้คะแนนนิยม ต้องมาจากการมีผลงาน 

ก่อนที่จะมีผลงาน ต้องมาจากความร่วมมือร่วมใจปฏิบัติ 

ก่อนจะลงมือปฏิบัติ ต้องมาจากการสร้างความรู้ความเข้าใจ  

ก่อนจะเข้าใจได้ ต้องมาจากการได้รับข่าวสารเสียก่อนเป็นเบื้องแรก เป็นสเต็ป (step) แรก

ดังนั้น เป้าหมายของการประชาสัมพันธ์รัฐบาล จึงเริ่มตั้งแต่การเผยแพร่ข่าวสาร สร้างความเข้าใจ เปลี่ยนพฤติกรรมส่งเสริมความร่วมมือร่วมใจปฏิบัติ  การเผยแพร่ผลงาน และสร้างคะแนนนิยม เป็น step สุดท้าย 

ผู้เขียนเองชอบที่จะมองอะไรแบบประเมินวิเคราะห์ ไม่มองทางเดียว (one way) แต่ชอบมองยอกมองย้อน มองขึ้นมองลง เป็นไปได้หรือไม่ว่า นำ step สุดท้าย (เพิ่มคะแนนนิยม) มาเป็นเป้าหมายแรก 

ถือเป็นวิสัยทัศน์ PR ที่น่าสนใจ

หากเป็นไปได้ น่าจะเป็นพลัง PR ที่จะทำให้งานโครงการต่างๆของรัฐบาล บรรลุผลเร็ว เห็นผลจริง ซึ่งที่สุดแล้วรัฐบาลต้องไปให้ถึง ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล ก็ต้องมุ่งหวังผลคะแนน

เพราะการได้คะแนนนิยมเพิ่ม นอกจากเป็นรัฐบาลในดวงใจประชาชนในวันนี้แล้ว ยังเป็นรัฐบาลที่พึ่งหวังของประชาชนในวันหน้า

ซึ่ง PR มีบทบาทหน้าที่หนุนรัฐบาลขับเคลื่อนการบริหารงาน สู่ความสำเร็จ

และมิเพียง “หนุน” หากแต่ PR ต้อง “นำ” ด้วย 

คำถาม คือ แล้วพีอาร์จะเล่นบท “นำ”อย่างไร

อยู่ที่วิสัยทัศน์ คิดเหนือชั้น และมองข้ามช็อต  เห็นอะไรก่อนคนอื่น ประเมินวิเคราะห์ ปิ๊งไอเดียว่า จะทำอะไรได้บ้าง 

ที่กล่าวว่า เห็นอะไรก่อนคนอื่น ก็คือ เห็นปัญหาของประชาชนในขณะที่คนอื่นมองไม่เห็น (ว่าเป็นปัญหา) เห็นสถานการณ์ของประเทศ รวมถึงสถานการณ์โลกที่จะมีผลกระทบต่อไทยก่อนคนอื่น ทั้งสถานการณ์ด้านบวก และสถานการณ์ด้านลบ เห็นความต้องการของประชาชนก่อนคนอื่น 

PR หยิบจับประเด็นนั้นๆ และพิจารณาว่า จะทำอะไรได้บ้างในเชิงการบริหาร หรือการสร้างงานใหม่ๆ ในรูปของนโยบาย แผน โครงการ หรือ เป็นกิจกรรมออกมา 

แล้วเสนอนายกรัฐมนตรี 

แนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้พีอาร์ เห็นอะไรก่อนคนอื่น ก็คือ เกาะติดข่าวสารจากสื่อ ฟังเสียงสะท้อนจากสื่อ และประชาชน 

ใช้สื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อPRรัฐบาล ที่สำคัญ ต้องแม่นยำ ไม่พลาดในการประเมินวิเคราะห์ อะไรใช่ อะไรไม่ใช่ อะไรตอบโจทย์ อะไรไม่ตอบโจทย์

หากเสนอประเด็น ชงเรื่องขึ้นไป และนายกรัฐมนตรีเห็นชอบ กระทั่งนำไปสู่การจัดทำนโยบาย แผน โครงการ หรือกิจกรรมตามที่เสนอ นั่นคือ PR เล่นบทนำแล้ว

ประชาชนได้ คือ รัฐบาลได้ 

รัฐบาลได้ ก็คือ พีอาร์รัฐบาลได้ 

PR หนุนนำรัฐบาลได้ ก็เป็นที่พึ่งพาให้นายกรัฐมนตรีได้  

 

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ตุลาการรัฐประหาร

Posted: 08 Jun 2012 05:17 AM PDT

นักปรัชญาเมธีท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยตนเองสองครั้ง ครั้งแรกเป็นโศกนาฏกรรม ครั้งที่สองเป็นละครตลกปนสมเพช”

แต่สำหรับประเทศไทย ต้องมีสามครั้ง สองครั้งแรกเป็นโศกนาฏกรรมคือ รัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยปี 2549 และการโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชนปี 2551 ส่วนครั้งที่สามก็คือ การพยายามโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในขณะนี้ กำลังจะเป็นละครตลกปนสมเพช

นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 3 กรกฎาคม 2554 พวกเผด็จการก็ได้ดำเนินมาตรการหลอกลวงและแยกสลายต่อฝ่ายประชาธิปไตยมาโดยตลอด ใช้ประโยชน์จากความเพ้อฝันของแกนนำพรรคเพื่อไทยที่หวัง “ปรองดองและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” กับพวกเผด็จการ พวกเขาส่ง “สัญญาณประนีประนอมหลอก ๆ” โดยหวังผลสองด้านคือ ด้านหนึ่ง เพื่อดึงแกนนำพรรคเพื่อไทยให้ออกห่างจากฐานมวลชนของตนเอง ทำให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลตกในสถานะโดดเดี่ยวและอ่อนแอ ถูกทำลายได้ง่าย อีกด้านหนึ่ง ก็เพื่อสร้างความระส่ำระสายหมดกำลังใจและถอยห่างในหมู่มวลชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย

เมื่อพรรคเพื่อไทยพยายามผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และพระราชบัญญัตปรองดองแห่งชาติที่มุ่งยกเลิกคดีการเมืองทั้งปวงที่เป็นผลจากรัฐประหาร 2549 ฝ่ายเผด็จการก็มิอาจนิ่งเฉยต่อไปได้ จึงต้องดำเนินการรุกกลับทันที

สำหรับพวกเผด็จการแล้ว รัฐธรรมนูญ 2550 กับคดีการเมืองทั้งปวงที่โยนใส่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและนักการเมืองพรรคไทยรักไทย คือหลักประกันเฉพาะหน้าในอำนาจปัจจุบันของพวกเขา เป็นดอกผลทางการเมืองสำคัญที่สุดที่พวกเขาได้รับจากรัฐประหาร 2549 หากปล่อยให้ฝ่ายประชาธิปไตยแก้ไขสองประเด็นนี้สำเร็จ พวกเขาก็จะ “ไม่ได้อะไรเลย” จากรัฐประหาร ทั้งยังได้สูญเสีย “ทุนทางการเมือง” ของตนไปอย่างมากมายมหาศาลแล้วอีกด้วย

ในสองครั้งแรกปี 2549 และ 2551 ประชาชนจำนวนมากยังไม่รู้เท่าทัน การเคลื่อนไหวของพวกเผด็จการผ่านมือเท้า เช่น กลุ่มพันธมิตรฯ พรรคประชาธิปัตย์ ตุลาการ และทหาร จึงน่าตกใจและไม่อาจเข้าใจได้ทันท่วงที แต่เผด็จการไทยก็เหมือนอาชญากรการเมืองอื่น ๆ ทั่วโลกคือ ชะล่าใจกระทำการซ้ำอีกโดยเชื่อว่า ประชาชนยังโง่อยู่ หรือถึงประชาชนรู้ ก็ไม่มีทางตอบโต้ ในครั้งที่สาม พวกเขากำลังทำผิดพลาด เพราะมาถึงวันนี้ ประชาชนรู้และจะไม่นิ่งเฉยอีกต่อไป

ท้ายสุด เครื่องมือและวิธีการเก่า ๆ ก็จะมีประสิทธิผลน้อยลงทุกที เปรียบเสมือนผู้ลงทุนสร้างและผู้กำกับละครที่ใช้เค้าโครงเรื่อง ฉากหลัง และตัวละครซ้ำเป็นครั้งที่สาม จนประชาชนคนดูเอือมระอาเต็มทน คนพวกนี้คือ สิ่งมีชีวิตทางการเมืองที่พ้นยุคสมัยไปแล้วอย่างแท้จริง

เราจึงได้เห็นพวกเขาหันมาใช้ “สี่ขาหยั่ง” ของตนซ้ำอีกคือ กลุ่มอันธพาลการเมืองบนท้องถนนก่อกวนสร้างสภาวะจลาจลนอกสภา พรรคประชาธิปัตย์ก่อความปั่นป่วนทำลายกระบวนการนิติบัญญัติในรัฐสภาและสนับสนุนการก่อความวุ่นวายนอกสภา องค์กรตุลาการใช้ “กฎหมาย” มาทำลายรัฐบาลและสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วจบลงด้วยการแทรกแซงของกองทัพ เหมือนสองครั้งแรก ทั้งหมดนี้ ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ บิดเบือน ยุยงให้ท้าย ไส้ไคล้เป็นเท็จโดยสื่อมวลชนและนักวิชาการที่หากินอยู่กับเผด็จการ

การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด แล้วอ้างข้อกำหนดศาล ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 264 มี “คำสั่ง” ให้รัฐสภา “ชะลอ” การพิจารณาวาระสามร่างแก้ไขฯ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เหล่านี้ได้ถูกผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายมหาชน เช่น คณะนิติราษฎร์ ชี้แล้วว่า เป็นการใช้อำนาจเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นการก้าวก่ายครอบงำการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติโดยตรง

ผลเฉพาะหน้าของ “คำสั่ง” ศาลรัฐธรรมนูญคือ เป็นการยับยั้งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและอาจนำไปสู่การ “ทำแท้ง” ด้วยคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า ร่างแก้ไขฯฉบับนี้ ขัดรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีใครหยั่งรู้ได้ว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นอย่างไร นี่คือการตัดตอนให้เป็นบรรทัดฐานว่า นับแต่นี้ไป การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไม่ว่าจะครั้งไหน เมื่อไร ล้วนทำไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะทุกครั้งอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข!

และในกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังอาจเลยไปถึงสั่งยุบพรรคเพื่อไทย ส่วนบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขฯ ก็เข้าข่ายมีความผิด ถูกถอดถอนและอาจถูกดำเนินคดีอาญาอีกด้วย!

แต่ผลในระยะยาวคือ อำนาจตุลาการกำลังเข้าครอบงำและทำลายกระบวนการนิติบัญญัติทั้งหมด เพราะในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญสามารถอ้างข้อกำหนดและกฎหมายที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ มาสั่งฝ่ายนิติบัญญัติให้ “ชะลอ” การทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญได้ นี่ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซงและ “ชะลอ” การพิจารณาออกกฎหมายอื่น ๆ ได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะ “กดปุ่มสั่ง” ให้รัฐสภา “หยุด” เมื่อไรก็ได้

ทั้งหมดนี้ เป็นการเผยให้เห็นเนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ ที่กลุ่มอำนาจนิยมจำนวนไม่กี่คนกุมอำนาจการปกครองที่แท้จริง ผ่านองค์กรตุลาการที่ไม่ได้มาจากกระบวนการเลือกตั้งของประชาชน เป็นอำนาจที่อยู่เหนือและครอบงำอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ

คำว่า “ตุลาการรัฐประหาร” ก็คือการที่ตุลาการสามารถอ้างอิงหลักตรรกะ เลือกใช้ภาษาไทยและ “พจนานุกรม” มาตีความตัวหนังสือในกฎหมายรัฐธรรมนูญตามที่ตนเห็นชอบ เข้าแทรกแซงกระบวนการนิติบัญญัติและ “ถอดถอนลงโทษ” นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้โดยไม่มีใครท้วงทิงตรวจสอบได้

หากพรรคเพื่อไทยยอมจำนน ก็เท่ากับว่า ได้สูญเสียอำนาจนิติบัญญัติไปโดยสิ้นเชิง ทั้งประธานสภา รองประธานสภา และบรรดาสมาชิกสภา เป็นได้เพียง “เจว็ด” ในห้องประชุม และคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน ก็คือ เสียงนกเสียงกาที่ไร้ความหมาย

พรรคเพื่อไทยจะต้องแสดงความกล้าหาญ ยืนยันสถานะของสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งว่า มาโดยมติมหาชนอันชอบธรรม เป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตย เป็นตัวแทนอำนาจนิติบัญญัติของปวงชนชาวไทย ที่มิอาจยอมจำนนต่อคำสั่งที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญเช่นนั้นได้ พรรคเพื่อไทยมิได้โดดเดี่ยว หากแต่มีหลังพิงเป็นประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่พร้อมจะสนับสนุนและปกป้องสภาที่มาจากคะแนนเสียงเลือกตั้งของพวกเขา

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักข่าวพลเมือง: นักศึกษา มข. เดินสายยื่นค้าน ม.นอกระบบ ที่ศาลปกครองขอนแก่น

Posted: 08 Jun 2012 05:06 AM PDT


 
ภาพถ่ายโดย  ดาวดิน Law Kku
 
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 55 - เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ เดินทางไปศาลปกครองเพื่อฟ้องให้เพิกถอนหนังสือที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยืนยันความพร้อมในการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปออกนอกระบบพร้อมยืนยันว่าไม่มีนักศึกษาหรือประชาคมคัดค้านแต่อย่างใด 

โดยที่ข้อเท็จจริงนั้น ยังมีเครือข่ายนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่ได้จัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง ทำให้ตัวแทน เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบต้องมายื่นฟ้องเพิกถอนหนังสือดังกล่าวในวันนี้

 
 

 
แถลงการณ์แสดงจุดยืน
คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ (ม.นอกระบบ)
           
ตามที่นายสุเมธ แย้มนุ่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้มีหนังสือเพื่อทวงถามว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นพร้อมจะปรับเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ม.นอกระบบ) หรือไม่  ซึ่งทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ตอบหนังสือกลับไปว่า พร้อมและได้มีการทำประชาพิจารณ์ตามขั้นตอนเสร็จสิ้นแล้ว โดยไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่อย่างใด แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การกระทำดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมจากประชาคมผู้มีส่วนได้เสีย ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ที่โปร่งใส ยุติธรรม และมิได้เปิดโอกาสให้คณาจารย์และนักศึกษาได้แสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจต่อกรณีดังกล่าวอย่างทั่วถึง และถือเป็นการขัดแย้งต่อหลักการมีส่วนร่วมในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง
          
ทั้งนี้ หากการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นผลสำเร็จ ส่งผลกระทบต่อนักศึกษาและผู้ปกครองโดยตรง นำมาซึ่งปัญหาค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนที่สูงขึ้น เนื่องจากรัฐจะไม่ได้ให้การสนับสนุนในด้านงบประมาน ถือเป็นการผลักภาระที่รัฐจะต้องส่งเสริมให้ประชาชนได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง  ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ  และปัญหาสำคัญที่อาจจะตามมา คือ การบริหารที่ไม่สุจริตและไม่โปร่งใส  เพราะ การบริหารจัดการมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนไปเป็นในรูปแบบของเอกชน การตรวจสอบจะทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะอำนาจการตัดสินใจต่างๆ จะอยู่ที่คณะบุคคลเพียงไม่กี่คน การดังกล่าวย่อมหมายความได้ว่า เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยในคราบเผด็จการสภามหาวิทยาลัย     
       
ดังนั้น เราในนามเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ได้ติดตามสถานการณ์ ตรวจสอบข้อมูล เคลื่อนไหวคัดค้านมาโดยตลอด จึงขอแสดงจุดยืนในการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบต่อไป และมีข้อเรียกร้องดังนี้
           
1. ยุติการดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ  และเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาขอนแก่นออกนอกระบบให้เป็นที่รับรู้ต่อนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและสังคมภายนอกอย่างทั่วถึง
           
2. เปิดให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในการบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นจากนักศึกษา และประชาชนในอีสานอย่างทั่วถึง
 
 
ด้วยจิตคารวะ
เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ
7 มิ.ย. 2555
 
 
 
ข่าวเกี่ยวข้อง:
นศ.ขอนแก่น ร้อง สกอ.ยุตินำ มข.ออกนอกระบบ
http://prachatai.com/journal/2012/06/40893

รัฐสภา กับ ศาล โปรด “ถอยคนละก้าว”

Posted: 08 Jun 2012 04:36 AM PDT

บทความโดย “วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ” เสนอแนะ "ทางออก" ของปัญหาความขัดแย้งระหว่าง รัฐสภา และ ศาล รธน. ทำได้ไม่ง่าย  แต่หากเราจะช่วยกันทำจริง และจริงใจ

ผู้เขียนขอย้ำ หลักกฎหมายว่า สิ่งที่ ศาลรัฐธรรมนูญเรียกชื่อว่า คำสั่งให้รัฐสภารอการพิจารณาการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระที่ 3 นั้น เป็นสิ่งที่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่อาจมีผลผูกพันต่อรัฐสภาได้ (คำอธิบายดูที่ http://on.fb.me/NkNvdE ) ซึ่งบัดนี้สมาชิกเสียงข้างมากในสภา ก็ดูจะเห็นไปในทางนั้น

ประเด็นที่สำคัญกว่านั้น คือ เราจะยึด หลักกฎหมายที่ว่านี้อย่างไรให้นำไปสู่ ผลทางการเมือง ที่น่าปรารถนา ?

รัฐสภาพึงระวังว่า หากเสียงข้างมากเร่งเดินหน้าปฏิเสธ ศาลทันทีทันใดอย่างย่ามใจ ก็อาจทำให้ ผู้ไม่หวังดี ฉกฉวยโอกาสทางการเมืองมาทำลายประชาธิปไตย ตลอดจนชักนำมวลชนไปสู่ความรุนแรงในที่สุด

ศาลก็พึงระวังว่า ฐานแห่งอำนาจตุลาการ คือ ความชอบธรรมและเหตุผลแห่งการใช้อำนาจตามกรอบแห่งกฎหมาย หากศาลย่ามใจจนใช้อำนาจเกินเลยให้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัย ศาลก็จะกลายเป็นผู้ทำลายฐานอำนาจของตนในที่สุด

เมื่อเป้าหมายสูงสุดของกฎหมาย คือ ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองและความมั่นคงของประชาธิปไตย ผู้เขียนจึงขอเสนอให้รัฐสภาและศาลโปรด ถอยคนละก้าวและนำ หลักกฎหมายมาผสานเข้ากับ ความแยบยลทางการเมือง เพื่อหาทางออกร่วมกัน ตาม ข้อเสนอ 7 ลำดับขั้น ดังต่อไปนี้

ขั้นที่ 1. รัฐสภาไม่ควรเร่งเดินหน้าลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในทันที แต่ควรเปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายและแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ว่า รัฐสภาควรปฎิบัติตาม ข้อเสนอ 7 ลำดับขั้น ฉบับนี้ (หรือข้อเสนออื่นๆ) หรือไม่ โดยการรอนั้น มิต้องถือเป็นการปฏิบัติตาม คำสั่ง ที่ว่าหรือไม่ แต่เป็นการตัดสินใจของรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มีโอกาสหารือเท่านั้น

ขั้นที่ 2. สมาชิกรัฐสภาควรร่วมประกาศคำสัตย์ต่อปวงชนว่า เมื่อใดที่การแก้ไข มาตรา 291 ได้เสร็จสิ้นจนเกิดบทบัญญัติหมวดใหม่ คือ หมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรียบร้อยแล้ว สมาชิกรัฐสภาจะร่วมกันแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพื่อเพิ่มข้อความให้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีโอกาสตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ยกร่างโดย ส.ส.ร. ว่า มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในหมวดพระมหากษัตริย์ หรือไม่

ขั้นที่ 3. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ควรสำนึกในบทบาทหน้าที่ของตนในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยอำนาจตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 244 (1)() และ มาตรา 244 (3) ประกอบกับมาตรา 244 วรรคสอง ทำการพิจารณาสอบสวนและจัดทำ ข้อเสนอแนะอย่างเร่งด่วนว่า เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรหรือแม้แต่ ประธานรัฐสภาควรปฏิบัติต่อสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกว่า คำสั่ง หรือไม่ ดังนี้:

ผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่า สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกว่า คำสั่ง นั้น แท้จริงแล้วก็คือ คำขอตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ซึ่งย่อมไม่มีข้อกำหนดหรือวิธีพิจารณาข้อใดที่จะมาขัดหรือแย้งได้ ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงเสนอแนะว่า เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรหรือแม้แต่ ประธานรัฐสภา ย่อมมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่าจะสามารถปฏิบัติตาม คำขอดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ การใช้ดุลพินิจดังกล่าวย่อมไม่ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย    

ขั้นที่ 4. หาก รัฐสภา มีความเห็นไปในทางเดียวกันกับ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกว่า คำสั่ง นั้น ก็คือ คำขอตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213  และเมื่อพิจารณาความเห็นของ อัยการสูงสุดที่พบว่าคำร้องที่เกี่ยวข้องนั้นปราศจากมูลการกระทำตามมาตรา 68 แล้วไซร้   รัฐสภา  ย่อมชอบที่จะใช้ดุลพินิจไม่ปฏิบัติตาม คำขอของศาลดังกล่าว และ ศาลรัฐธรรมนูญก็ย่อมพึงตระหนักใน การถ่วงดุลอำนาจโดยสภาพระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญอีกทั้งพิจารณาถึง คำสัตย์ของสมาชิกรัฐสภา (ตามข้อเสนอลำดับขั้นที่ 2 ข้างต้น) เพื่อสามารถพิจารณาได้ว่า สิ่งที่ตนเรียกว่า คำสั่ง นั้น ก็คือ คำขอตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213  เช่นกัน

ขั้นที่ 5. หาก การถ่วงดุลอำนาจโดยสภาพระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้เช่นนี้  รัฐสภา ย่อมชอบที่จะเดินหน้าลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระที่ 3 ต่อไป และเมื่อพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ย่อมชอบที่จะใช้อำนาจตาม ข้อ 23 แห่งข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาฯ เพื่อ จำหน่ายคำร้อง ด้วยเหตุว่าประเด็นหรือวัตถุแห่งการพิจารณาตาม มาตรา 68 ได้สิ้นสุดไปแล้ว (ไม่ว่าการกระทำที่กล่าวอ้างจะเข้ากรณี มาตรา 68 หรือไม่)

ขั้นที่ 6. ทันทีที่ รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้ สมาชิกรัฐสภาต้องรักษาคำสัตย์ โดยดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมอีกครั้งเฉพาะในส่วนที่เพิ่มให้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีโอกาสตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร. จะได้ยกร่าง (เฉพาะประเด็นตามข้อเสนอลำดับขั้นที่ 2.) ทั้งนี้โดยไม่เป็นการกระทบต่อกระบวนการอื่นที่เกี่ยวข้อง

ขั้นที่ 7. จากนั้นทุกฝ่ายควรร่วมกันเดินหน้าจรรโลง กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งพึงได้รับ การตรวจสอบถ่วงดุลโดยปวงชนชาวไทยอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะโดยกระบวนการขั้นตอนเลือกตั้ง ส.ส.ร. ไปจนถึงการเคารพ วิจารณญาณทางประชาธิปไตยของปวงชนผู้ไปลงประชามติเพื่อแสดงเจตจำนงกำหนดอนาคตของตนเองในท้ายที่สุด




 

ข้อสังเกตเกี่ยวกับคำแถลงโดยอัยการสูงสุด

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นักกฎหมายอิสระ

http://www.facebook.com/verapat         

 

เมื่อผมได้ฟังคำแถลงของอัยการสูงสุดเสร็จแล้ว รู้สึกเสียดายว่า แทนที่จะสามารถชมเชยอัยการฯได้เต็มปาก กลับต้องบอกว่าอัยการฯ อาจกำลังใช้อำนาจหน้าที่เกินกรอบตามรัฐธรรมนูญ จนคำแถลงของอัยการฯ ฟังประหนึ่งคล้ายคำวินิจฉัยของศาล

จริงอยู่ว่าอัยการฯ ท่านอ้างกฎหมายได้น่าคล้อยตามหลายข้อ และพยายามแถลงรายละเอียดเพื่อไม่ให้สังคมเคลือบแคลง โดยแม้อัยการฯ จะบอกว่าดูเรื่อง "มูล" ของการกระทำเท่านั้น และไม่ได้วินิจฉัยแทนศาลก็ตาม แต่ท้ายที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นจากการแถลงดังกล่าว ก็คือ อัยการฯได้ใช้อำนาจเกินเลยถ้อยคำของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 1 โดยอัยการฯ กำลังสร้างบรรทัดฐานว่า ต่อไปนี้ "การใช้อำนาจหน้าที่" ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภา สามารถถูกตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงโดย "อัยการสูงสุด" ตาม มาตรา 68 ได้

ซึ่งผมต้องย้ำให้ชัดว่า ผมไม่เห็นด้วย และก็สังหรณ์ไว้แล้วว่า อัยการฯอาจพลาดท่า ผมเขียนไว้ในบทความฉบับนี้ตั้งแต่เรื่องนี้ยังไม่เป็นประเด็น ( http://on.fb.me/LpqdCF )
 
สิ่งที่ถูกต้องคือ อัยการฯท่านต้องแถลงให้ชัดว่า คำร้องทั้งหลายเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอมานั้น ล้วนเป็นเรื่อง "การใช้อำนาจหน้าที่" จึงย่อมไม่ใช่ "การใช้สิทธิเสรีภาพ" ตาม มาตรา 68 วรรค 1 ดังนั้น อัยการฯ จึงไม่สามารถไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ว่า เป็นการล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่  (หากพบว่ามีมูลเป็น "การใช้สิทธิเสรีภาพ" ก็ค่อยตรวจสอบมูลในส่วนอื่นต่อไป)

หากอัยการฯไม่ "กรอง" คดีโดยแยกแยะการกระทำที่เป็นหรือไม่เป็น "การใช้สิทธิเสรีภาพ" เสียก่อน แต่กลับเข้าไปดูรายละเอียดทั้งหมดของเรื่องที่เสนอมา อัยการฯก็กำลังสร้างบรรทัดฐานที่เพิ่มภาระให้อัยการฯต้องทำการตรวจสอบเรื่องทุกเรื่องที่มีใครเสนอมา ซึ่งสิ้นเปลืองทั้งเวลา งบประมาณแผ่นดิน และอาจไปสร้างภาระให้แก่บุคคลอื่นๆ ที่ต้องมาชี้แจงให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วย

หากคำแถลงเป็นเช่นนี้ ต่อไปหากอัยการสูงสุดท่านไหนใจใหญ่ ก็อาจยื่นคำร้องอีกสารพัดเรื่องต่อศาลได้ เพราะไม่ว่าจะเป็น การใช้สิทธิเสรีภาพหรือการใช้อำนาจหน้าที่ ก็ดูประหนึ่งจะตรวจสอบได้ทั้งหมด

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลขา ศอ.บต. เผยเหยื่อเหตุรุนแรงซ้ำซาก รัฐคุ้มครองไม่ได้ มีหวัง 7.5 ล้าน

Posted: 08 Jun 2012 04:04 AM PDT

เลขา ศอ.บต. แจงผู้สูญเสียจากการกระทำของจนท.รัฐและจากเหตุรุนแรงใหญ่ที่รัฐป้องกันไม่ได้ เข้าข่ายได้ 7.5 ล้าน ชาวบ้านโวยเกณฑ์ไม่ชัดเจนและไม่เป็นธรรม

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 6 มิถุนายน 2555 ที่ห้องประชุมมะปราง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนภาคใต้ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมจัดเสวนาแลกเปลี่ยนหลักคิด มุมมอง และ ประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศเรื่อง “เยียวยาอย่างไร นำไปสู่ความสมานฉันท์ ” โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวในพิธีเปิดงานถึงกรณีที่มีข้อสงสัยกันมาก คือ กรณีการเยียวยากับผู้สูญเสียจำนวนไม่เกิน 7.5 ล้านบาท   โดยที่กำหนดไว้คือจะจ่ายให้กับผู้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพอันเกิดจากการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ในกรณีเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 (หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์กรือเซะ) และเหตุการณ์ตากใบซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 และการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอื่นๆ ที่เกิดจากการละเมิดสิทธิของเจ้าหน้าที่รัฐ

เลขาฯ ศอ.บต. กล่าวเพิ่มเติมว่าอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้าข่ายที่จะได้รับเงินเยียวยาไม่เกิน 7.5 ล้าน คือ กลุ่มที่คณะกรรมการเห็นควรที่จะให้มีการเยียวยา “เฉพาะกรณี”   

“อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดจากผู้ก่อเหตุรุนแรงที่คณะกรรมการเห็นควรที่จะมีการเยียวยาเฉพาะกรณี เพราะเมื่อไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เจ้าหน้าทีรัฐมีคำสั่งให้ปกป้อง คุ้มครอง และไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ เป็นเหตุให้เสียชีวิต หรือสั่งให้ไปคุ้มครองแล้ว ไม่สามารถคุ้มครองได้ ปล่อยให้มีความสูญเสียจำนวนมาก ผมยกตัวอย่างอาจจะเป็น ที่เดียวเกิดระเบิดซ้ำกัน 6 - 7 ครั้ง และความสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำอีก …  ในกลุ่มนี้จะมีจุดต่างนิดหนึ่งคือว่า การช่วยเหลือนั้นให้ไปนำเกณฑ์ของ กพต. [คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้] กพต. มีระเบียบอยู่ ถ้าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องจ่ายไม่เกิน 7.5 ล้านบาท”  พ.ต.อ.ทวีกล่าว

นางผณิตา ศรีผ่องงาม ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมาจากจ.นราธิวาสได้แสดงความคิดเห็นในเวทีว่าชีวิตมนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน แต่ทำไมบุคคลที่ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เกิดจากการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบจะได้รับการเยียวยาเพียงแค่ 100,000 บาท 

”มันแตกต่างกันระหว่างฟ้ากับดิน” นางผณิตากล่าว  เธอได้เสนอแนะว่าอย่างน้อยรัฐควรที่จะเยียวยาประชาชนในกลุ่มอื่นประมาณ 5 ล้านบาท  เพื่อที่จะไม่ให้มีความเหลือมล้ำมากเกินไป  

นายสมชาย หอมลออ กรรมการของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) แสดงความคิดเห็นว่า รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน  หากว่ารัฐไม่สามารถปกป้องคุ้มครองได้  รัฐก็ควรที่จะเยียวยาผู้เสียหาย  แต่การเยียวยาในกลุ่มนี้ก็อาจจะแตกต่างจากการเยียวยาสำหรับผู้ที่ได้รับกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

นายแพทย์อนันต์ชัย ไทยประทาน รองประธาน “คณะอนุกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกรณีถูกบังคับให้สูญหายหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนวิธีอื่นโดยเจ้าหน้าที่รัฐจนบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต” และกรรมการ “คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยากรณีถูกจับกุม ควบคุมหรือคุมขัง หรือถูกดำเนินคดีโดยไม่มีความผิด” 

เปิดเผยว่าจากการที่ศอ.บต. ได้เปิดลงทะเบียนไปเมื่อที่ 21 - 23 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา  สำหรับกลุ่มผู้ที่ถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขังก่อนและระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาล มีผู้มาลงทะเบียนเพียงประมาณ 30 คน ทั้งๆ ที่ตามข้อมูลที่มีอยู่ คาดว่ามีบุคคลที่ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประมาณ 5,000 คน 

นายแพทย์อนันต์ชัยเปิดเผยอีกว่า สำหรับกลุ่มซ้อมทรมานและผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายยังไม่มีผู้มาลงทะเบียนแม้แต่คนเดียว  ทั้งนี้ เขาชี้แจงเพิ่มเติมว่าข้อมูลของศูนย์ทนายความมุสลิมระบุว่ามีผู้ที่ถูกซ้อมทรมานประมาณ 300 คน ส่วนบุคคลสูญหายมีอยู่ประมาณ 36 ราย  

นายซูรีมัน สุหลง เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรมเปิดเผยว่าสำหรับกลุ่มผู้ที่ถูกควบคุมตัวซึ่งไม่ได้ไปลงทะเบียนนั้น  ส่วนใหญ่เป็นเพราะว่าเขาไม่ทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์การเยียวยาในกลุ่มนี้ 

นางสาวอัญชนา หีมมิน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจกล่าวว่า การเปิดลงทะเบียนเพื่อให้ผู้เสียหายแสดงความจำนงขอรับการช่วยเหลือนั้นยังขาดการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง  ประชาชนบางคนยังไม่รู้ว่าจะไปลงทะเบียนที่ใด  เรื่องนี้น่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะทำให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วกัน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฟผ.ลุยโรงไฟฟ้าถ่านหินกันตัง ส่งราชมงคลตรัง-ม.เกษตรฯศึกษา IEE

Posted: 08 Jun 2012 03:58 AM PDT

กฟผ.ประกาศเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง จ้าง “ราชมงคลตรัง-ม.เกษตรฯ” ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เดินเครื่องลงพื้นที่เก็บข้อมูลกรกฎาฯ นี้

เมื่อเวลา 18.30 วันที่ 7 มิถุนายน 2555 ที่ห้องอาหารโรงแรมเรือรัษฎาบัดเจ็ทโฮต็ล อำเภอเมือง จังหวัดตรัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดงาน “สังสรรค์สื่อมวลชนกับกฟผ.” และบรรยายเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าของไทย โดยมีเจ้าหน้าที่กฟผ. ผู้สื่อข่าวภูมิภาค หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น นักจัดรายการวิทยุ ในจังหวัดตรัง ร่วมประมาณ 30 คน 

นายชวการ โชคดำลีลา วิศวกร 9 กฟผ. หัวหน้าศูนย์พลังงานไฟฟ้าจังหวัดตรัง ชี้แจงว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ขนาด 800 เมกะวัตต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง จะเริ่มศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2555 นี้เป็นต้นไป ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษา 8 เดือน

“ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2553-2573 (PDP 2010) กฟผ.จะต้องผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ 9 โรง โรงละ 800 เมกะวัตต์ 7,200 เมกะวัตต์ โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคใต้ อาทิ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง เป็นต้น เพื่อความสะดวกในการขนส่งถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศ” นายชวการ กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหายเก่าเชียร์ศาล รธน. ด้านแดงภูมิภาคหนุนแก้ รธน.

Posted: 08 Jun 2012 03:45 AM PDT

อดีต ผรท.ขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงร่วม 2,000 คนชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัด แสดงพลังสนับสนุนคำวินิจฉัยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ชะลอพิจารณาร่าง รธน. ด้านแดงหลายจังหวัดหนุนเดินหน้าแก้ รธน.
 
8 มิ.ย. 55 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าที่บริเวณสนามด้านหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่นได้มีพี่น้องประชาชนในนามนักรบประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มอดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย(ผรท.) จากอำเภอต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงร่วม 2,000 คนมาชุมนุมเปิดเวทีปราศรัยสนับสนุนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สภาฯ ชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ถือว่ามีอำนาจและมีความชอบธรรม
       
พร้อมกันนั้น แกนนำอดีต ผรท.ต่างได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยโจมตีคนของพรรคเพื่อไทยที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านคำสั่งดังกล่าว โดยเฉพาะนายจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งอดีตเคยเข้าป่าร่วมอุดมการณ์กับ ผรท. แต่ขณะนี้กลับประกาศยั่วยุให้ผู้คนออกมากล่าวให้ร้าย ไม่ยอมรับมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พฤติกรรมท่าทีของนายจาตุรนต์ต่อของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถือว่ามีเป้าหมายไม่สุจริต
       
ทั้งนี้ ในที่ชุมนุมแกนนำ ผรท.ได้อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ได้มีบุคคลและกลุ่มบุคคลบางพวกที่ไม่ยอมรับ ไม่เคารพต่อคำสั่งจากสถาบันตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง
       
กรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง ได้กล่าวให้ความเห็นและชักชวนผู้อื่นให้ร้ายต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่มีอำนาจหน้าที่ในการออกคำสั่งศาลในการยับยั้งหรือชะลอการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ในฐานะของพี่น้องประชาชนผู้เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ใช้ปกครองประเทศไทย จึงขอเรียนถามทุกท่านว่าการกระทำดังกล่าวของนายจาตุรนต์ ฉายแสง นั้นถือเป็นการหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และนายจาตุรนต์ทำเพื่อประโยชน์ของใคร
       
พวกเราในนามนักรบประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงขอเรียกร้องให้นักการเมืองและผู้มีอำนาจจงเคารพต่อคำสั่งศาลและเคารพต่อการวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้พวกเราขอแสดงพลังเพื่อเป็นกำลังใจให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีคำสั่งให้ชะลอการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
       
สุดท้ายขอถามว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง นั้นเป็นใคร เอาอำนาจอะไรมาชักชวนผู้อื่นให้ดูหมิ่น เกลียดชัง และไม่ให้ความเคารพต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นเสาหลักของความเป็นธรรมรัฐแห่งชาติไทย
       
ในโอกาสนี้ พวกเราขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ร่วมกันแสดงพลัง เพื่อปกป้องสถาบันหลักที่สำคัญของชาติไทยให้คงอยู่ตลอดไป
       
หลังจากอ่านแถลงการณ์เสร็จ ตัวแทนกลุ่มนักรบประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ยื่นแถลงการณ์ต่อนายเสน่ห์ นนทโชติ ปลัดจังหวัดขอนแก่น
       
นายบุญธรรม แสนเวียง หรืออดีตสหายสิงหา อดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยจากอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า หลังจากออกมาแสดงพลังให้กำลังใจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้แล้ว ทางกลุ่มพี่น้องอดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยจะรอดูท่าทีของกลุ่มบุคคลที่ออกมาโจมตีคัดค้านและไม่ยอมรับการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก่อน หากกลุ่มคนพวกนี้ไม่หยุดเคลื่อนไหวหรือยังกล่าวหาดูหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญอีก ทางแกนนำ ผรท.ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและอีกหลายจังหวัดภาคอีสานจะนัดหารือกันเพื่อกำหนดท่าทีเคลื่อนไหวต่อ
       
“ถ้ายังดื้อดึงไม่เคารพคำสั่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดันทุรังจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญอีกต่อ พวกเราจะลุกขึ้นมาสู้แน่นอน พวกเราไม่ต้องการให้บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อทำลายล้างสถาบันตุลาการเด็ดขาด” อดีตสหายสิงหากล่าวย้ำ
 
เสื้อแดงน่านยื่นต้านคำสั่งศาล รธน.-พ่วงดัน พ.ร.ก.นิรโทษฯ
 
8 มิ.ย. 55 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าแกนนำ นปช.น่านจำนวน 50 คน นำโดย ร.ต.ต.สมศักดิ์ แพทย์สมาน ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการจังหวัดน่าน ได้เดินทางเข้าศาลากลางจังหวัดน่านเพื่อยื่นหนังสือขอสนับสนุนไม่รับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ และเสนอให้คณะรัฐมนตรีออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมผู้ประสบภัยคุกคามจาก ม.112 ผ่านจังหวัดไปยังรัฐบาลเพื่อเป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจในการออกมติคณะรัฐมนตรีใช้ พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ม.112 บรรเทาปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการใช้ ม.112 โดยมีนายอดิศร พิทยายน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นตัวแทนรับหนังสือ
 
ร.ต.ต.สมศักดิ์กล่าวว่า เครือข่ายแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการจังหวัดน่าน หรือ นปช.น่าน มีความเห็นชอบพร้อมกันในการขอสนับสนุนไม่รับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีผู้ประสบภัยคุกคามจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวนมาก ที่ยังถูกลิดรอนสิทธิการประกันตัว เป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรงให้ได้รับความทรมานในสภาพเดียวกันกับนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง
 
ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดน่าน ซึ่งคำนึงถึงปัญหาภัยคุกคามประชาชนจาก ม.112 จึงร้องขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านเป็นตัวแทนนำเสนอความต้องการของพี่น้องประชาชนไปยังคณะรัฐมนตรี ได้เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยคุกคามจาก ม.112 ลงในระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12 มิถุนายน 2555
 
เสื้อแดงสงขลายื่นหนังสือค้านคำสั่งศาล
 
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 55 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์  รายงานว่า ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลานาย พ.พนธ์ จิตต์ภักดี รองผู้อำนวยการเลือกตั้งจังหวัดสงขลา ศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทยจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายมนตรี แก้วแพง อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคเพื่อไทย เขต 2 ในฐานะตัวแทนสมาชิกพรรคเพื่อไทย และคนไทยกลุ่มเสื้อแดง เดินทางมายื่นหนังสือบัญชีรายชื่อผ่านทางนายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อนำส่งถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 เพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นประชาธิปไตย และขอคัดค้านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้ระงับการลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในวาระที่ 3
 
นายมนตรี แก้วแพง อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคเพื่อไทย เขต 2 เปิดเผยว่า ในฐานะตัวแทนสมาชิกพรรคเพื่อไทย และคนไทยกลุ่มเสื้อแดง วันนี้เป็นตัวแทนมายื่นหนังสื่อรายชื่อผู้สนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2550 และคัดค้านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งระงับการลงมติวาระที่ 3 โดยมีรายชื่อจำนวน 84 คน และสมาชิกเครือข่ายเสื้อแดงในจังหวัดสงขลาอีกส่วนหนึ่งได้เดินทางเข้าร่วมกับเครือข่ายคนเสื้อแดงจากทั่วประเทศ เพื่อจะรวมตัวที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นถอดถอนคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่กรุงเทพมหานครต่อไป
 
เสื้อแดงพัทลุงล่า 600 รายชื่อหนุนแก้ ม.291
 
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 55 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์  รายงานว่า ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง นายสุนทร วงศ์บุญ อายุ 65 ปี ประธานแนวร่วมผู้รักประชาธิปไตยพัทลุง (นปช.พัทลุง) พร้อมแกนนำกลุ่มเสื้อแดงในพื้นที่ จ.พัทลุง ประมาณ 80 คน เข้ายื่นหนังสือสนับสนุนรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 3 พร้อมรายชื่อสนับสนุนจำนวน 640 ราย ผ่านนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ส่งต่อยังประธานสภาผู้แทนราษฎร
       
นายสุนทร ประธานแนวร่วมผู้รักประชาธิปไตยพัทลุง กล่าวว่า ตามที่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้ดำเนินการผ่านวาระ 1 และวาระ 2 ไปแล้ว และกำหนดลงมติวาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย.2555 นั้น แต่ปรากฏว่า ในว่าในวันที่ 2 มิ.ย.2555 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือแจ้งให้เลขาธิการรัฐสภา แจ้งประธานสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งการดำเนินการในวาระ 3 ออกไป
       
สำหรับเรื่องดังกล่าวนี้ ทางแนวร่วมผู้รักประชาธิปไตยพัทลุง เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญกระทำการที่ไม่เหมาะสม และปฏิบัติหน้าที่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญเสียเอง ดังนั้น แนวร่วมผู้รักประชาธิปไตยพัทลุงจึงขอเรียกร้องศาลรัฐธรรมนูญหยุดการกระทำใดๆ เกี่ยวกับ มาตรา 291 วาระ 3 และขอสนับสนุนรัฐสภาเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 3 ต่อไป และพร้อมที่จะนำแนวร่วมผู้รักประชาธิปไตยพัทลุง ชุมนุมร่วมที่กรุงเทพมหานคร หากการลงมติในวาระที่ 3 ได้ขยายเวลาออกไป หรือหยุดชะงักลง ซึ่งทางด้านนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง จะส่งหนังสือดังกล่าวไปยังรัฐสภาต่อไป
 
เสื้อแดงศรีสะเกษโผล่ยื่นผู้ว่าฯ หนุนแก้ รธน.
 
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 55 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีกลุ่มคนเสื้อแดงจากหลายอำเภอในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษจำนวนประมาณ 500 คน นำโดย ดร.ไสว สดใส แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงศรีสะเกษ รวมตัวกันตามที่แกนนำ นปช.ส่วนกลางได้สั่งการให้ดำเนินการพร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ตามแนวทางที่ผ่านการพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา ในวาระที่ 1 และวาระที่ 2 และคัดค้านการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550
       
พร้อมทั้งได้มีการขึ้นเวทีปราศรัยด่าทอการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และพรรคประชาธิปัตย์อย่างรุนแรง อ้างว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารเงียบ จากนั้นได้มีการยื่นหนังสือเรียกร้องต่อ นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อให้รับทราบถึงจุดยืนของกลุ่มเสื้อแดงศรีสะเกษ ซึ่งนายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ ได้มารับนำหนังสือข้อเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดงโดยตนเอง พร้อมรับปากว่าจะยื่นเสนอต่อส่วนกลางโดยเร็วต่อไป
       
ดร.ไสว สดใส แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงศรีสะเกษ กล่าวว่า ในวันนี้ตนพร้อมด้วยกลุ่มคนเสื้อแดงจากหลายอำเภอในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ได้พากันเดินทางมาชุมนุมเพื่อสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล และรัฐสภา ของประชาชน รวมไปถึงการคัดค้านรัฐประหารตุลาการพินาศที่ขัดขวางประชาธิปไตย และแสวงหาผลประโยชน์และผลกำไรของกลุ่มผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คน ซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงศรีสะเกษจะทำทุกวิถีทางเพื่อคัดค้านความไม่ถูกต้องในสังคมเพื่อลบภาพสองมาตรฐาน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันถ้วนหน้า และเพื่อให้ประเทศชาติก้าวสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
 
แดงสุรินทร์บุกศาลากลางฯ หนุนแก้ “รธน.”
 
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 55 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ ได้มีมวลชนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงจาก อ.รัตนบุรี, อ.ท่าตูม, อ.สนม และ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ราว 150 คน นำโดย นายประดับ สืบสันต์ ทนายความคนเสื้อแดงสุรินทร์ เดินทางมาตั้งเวทีปราศรัยถึงข้อดีของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการออก พ.ร.บ.ปรองดอง ล้างผิด “พ่อแม้ว” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าทำเพื่อคนไทยทุกคนไม่ใช่คนหนึ่งคนใด พร้อมมีการชูป้ายสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และออก พ.รบ.ปรองดองแห่งชาติ
       
จากนั้นได้ยื่นหนังสือแสดงเจตนารมณ์แถลงการณ์ฉบับที่ 1 ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ มีใจความสรุปได้ว่า พ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดสุรินทร์ผู้มีหัวใจรักประชาธิปไตยขอให้การสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศจนครบ 4 ปีตามระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนได้เลือกเข้ามาบริหารประเทศ องค์กรใดหรือผู้ใดจะมายึดหรือปล้นอำนาจประชาธิปไตยจากปวงชนชาวไทยไม่ได้
       
พ่อแม่พี่น้องและคนเสื้อแดงจังหวัดสุรินทร์พร้อมรวมตัวสู้และขัดขวางเต็มที่ด้วยชีวิตจนกว่าลมหายใจจะสิ้นสุด หากมีองค์กรใดหรือผู้ใดมายึด ปล้นอำนาจประชาธิปไตยไปจากมือประชาชน พร้อมทั้งยืนยันขอให้การสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย น้องสาวอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร บริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตย และขอสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ และการออก พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ทำเพื่อคนไทยทุกคน ให้ประเทศก้าวต่อไปได้อย่างอารยะ
       
ขณะที่นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ สายกลุ่มคนเสื้อแดง ได้มารับหนังสือ พร้อมรับปากจะส่งให้ถึงนายกรัฐมนตรีภายในวันนี้โดยเร็วที่สุด
 
กลุ่มกำนัน-ผญบ.ในอุดรฯ บุกศาลากลางยื่นหนังสือหนุนแก้ รธน.
 
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 55 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์  รายงานว่ากลุ่มผู้รักประชาธิปไตยชาวอุดรธานี ประมาณ 500 คน นำโดยนายเพียร แก้วมหาดไทย ประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จังหวัดอุดรธานี ได้มารวมตัวกันที่ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เพื่อขอพบและยื่นหนังสือสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อนายแก่นเพชร ช่วงรังษี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี
       
นายเพียร แก้วมหาดไทย ประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ประชาชนที่เดินทางมาในวันนี้เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนจากทั้ง 20 อำเภอของจังหวัดอุดรธานี ที่มีความเห็นสนับสนุนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในขณะนี้ และทางสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จ.อุดรธานี มีความเห็นร่วมกันที่จะขอยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภาผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี
       
ในเวลาต่อมา นายแก่นเพชร ช่วงรังษี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วย นายจีรศักดิ์ คำรณฤทธิศร ปลัดจังหวัด และนายมาลัยวรณ์ ตั้งอรุณสวัสดิ์ นอภ.เมืองอุดรธานี ได้เดินทางมาพบกับกลุ่มผู้ชุมนุม และรับหนังสือด้วยตนเอง
       
หลังจากที่นายแก่นเพชรรับหนังสือฉบับดังกล่าวแล้ว ได้มอบให้นายจีรศักดิ์ ปลัดจังหวัด ดำเนินการตามที่ผู้ชุมนุมมีความประสงค์ พร้อมกันนี้ ได้กล่าวต่อผู้ชุมนุมสนับสนุนครั้งนี้ว่าจะทางจังหวัดจะดำเนินการให้โดยด่วน
       
ทั้งนี้ เนื้อหาของหนังสือระบุว่า ในนามของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานี ที่มารวมพลังกันเพื่อแสดงออกตามวิถีทางประชาธิปไตยในครั้งนี้ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า พวกเราขอสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับการพิจารณาผ่านสภาฯ ในวาระที่ 2 ไปแล้วนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้พวกข้าพเจ้ารู้ดีว่า เป็นไปตามวิถีของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิได้มีจุดประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ประการใด การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เพื่อให้ประเทศชาติก้าวหน้านำไปสู่ความปรองดองและความสมานฉันท์ของคนภายในชาติ
       
การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ พวกเรารู้ว่าเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ การที่มีบุคคลบางกลุ่มกล่าวหาว่ารัฐบาลต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงได้จัดทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่เป็นความจริง
       
แต่ที่จริงแล้วรัฐบาลมีความตั้งใจและมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญรุ่งเรือง และแก้ไขปัญหาทางการเมืองให้ประเทศชาติเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พวกเราจึงได้มาแสดงพลังของประชาชน เพื่อให้ทางราชการและทุกภาคส่วนได้รับทราบว่าพวกเราสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เดินหน้าต่อไป
 
กลุ่มคนเสื้อแดงเมืองกว๊านพะเยาบุกศาลากลางจังหวัดยื่นหนังสือหนุนรัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญ
 
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 55 ที่ผ่านมาโพสต์ทูเดย์ รายงานว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจาก อ.เมือง อ.ดอกคำใต้ และ อ.แม่ใจ จ.พะเยา ประมาณ 500 คน เดินทางเข้ามาที่บริเวณหน้าศาลาประชาคม ภายในศูนย์ราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยป้ายไวนิลระบุข้อความ “ประชาชนชาวพะเยาขอสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” และเพื่อยื่นหนังสือต่อนายไมตรี อินทุสุต ผวจ.พะเยา ให้เสนอต่อรัฐบาลว่าประชาชนชาวพะเยาขอสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ(รธน.) ฉบับปี 2550 และผลักดันพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ โดยมีนางตุลา บรรจง ประธานแม่บ้าน หมู่ 17 ต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา เป็นตัวแทนยื่นหนังสือต่อ ผวจ.พะเยา และหลังจากที่ ผวจ.รับหนังสือแล้ว ประมาณ 10 นาที ผู้ชุมนุมได้สลายตัวแยกย้ายกันกลับบ้านอย่างสงบ
 
นายไมตรี กล่าวหลังรับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุม ว่า การยื่นหนังสือเพื่อสนับสนุนรัฐบาลแก้ไข รธน.ในครั้งนี้ ถือว่าประชาชนทำถูกต้อง เพราะเดินทางมาแสดงความคิดเห็นที่มีลักษณะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ก่อความเดือดร้อน แสดงออกตามวิถีของประชาธิปไตย ตนจะส่งหนังสือที่ได้รับมาไปยังทำเนียบรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย โดยเร็วที่สุด เพื่อให้รัฐบาลได้รับทราบเจตนารมณ์ของประชาชนชาวพะเยาต่อไป
 
สมาคมกำนัน-ผญบ.เชียงใหม่ ออกโรงขอสนับสนุน พ.ร.บ.ปรองดอง
 
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 55 ที่ผ่านมาไทยรัฐ รายงานว่าที่ทางขึ้นหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายกิติพงษ์ นกแก้ว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอเมืองเชียงใหม่ พร้อมด้วยสมาชิก ประกอบไปด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยฯ สารวัตรกำนันและแพทย์ประจำตำบล เกือบ 100 คน ได้มารอยื่นหนังสือให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผวจ.เชียงใหม่ โดยนายกิติพงษ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การมายื่นหนังสือในวันนี้ ทางสมาคมฯ พร้อมกับประชาชนใน อ.เมืองเชียงใหม่ รู้สึกไม่สบายใจที่เห็นภาพความขัดแย้งทางการเมืองทั้งในและนอกสภา ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ไม่ดีต่อการเมืองไทย ต่อสายตาคนไทยและชาวโลก ทางสมาคมพร้อมกับชาวเชียงใหม่ อยากจะให้สังคมไทยกลับคืนสู่สภาวะปกติ สร้างความปรองดอง ให้อภัยซึ่งกันและกัน จึงมายื่นหนังสือผ่าน ผวจ.เชียงใหม่ไปถึงประธานรัฐสภา และรัฐบาล โดยยืนยันว่าขอสนับสนุนให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาและเห็นชอบรับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และไม่เห็นด้วยกับแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญ จึงขอเป็นกำลังใจและสนับสนุนให้ท่านประธานรัฐสภาเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ต่อไป ซึ่งการมายื่นหนังสือในวันนี้ไม่ได้มีนัยใดๆ พวกตนก็เป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งอยากจะเห็นบ้านเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้ จึงรวมตัวกันมายื่นหนังสือดังกล่าว ต่อมาทาง ผวจ.เชียงใหม่ ได้ลงมารับหนังสือจากนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน พร้อมกับยืนยันว่าจะส่งหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
เสื้อแดงเมืองชลฯ ยื่นรายชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
 
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 55 ที่ผ่านมาไทยรัฐ รายงานว่านางจุรีพร สินธุไพร ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) พัทยา พร้อมกลุ่มคนเสื้อแดงเมืองพัทยา แหลมฉบัง อ.ศรีราชา และ อ.เมืองชลบุรี ประมาณ 300 คน รวมตัวกันถือแผ่นป้ายข้อความ ''กรุณาอย่าละเมิดอำนาจรัฐสภา'' และ ''ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้รัฐสภาฯ ประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่ 3" เข้ายื่นรายชื่อกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่รวบรวม ได้ประมาณ 1,200 ชื่อ ให้กับ นายคมสัน เอกชัย ผวจ.ชลบุรี ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดฯ หลังรับรายชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว นายคมสันได้กล่าวกับคนเสื้อแดงว่า จะนำรายชื่อส่งไปยังกระทรวงมหาดไทยต่อไป จากนั้นกลุ่มคนเสื้อแดงได้เดินทางไปร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.ที่หน้ารัฐสภา เพื่อสนับสนุนรัฐบาลพิจารณาร่างกฎหมายปรองดองและร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ทันที
 
แดงสิงห์บุรีขยับหนุนรัฐแก้รัฐธรรมนูญต่อ
 
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 55 ที่ผ่านมาไทยรัฐรายงานว่าที่บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรี ต.บางมัญ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ก็มีประชาชนกว่า 300 คน จาก 6 อำเภอของจังหวัดสิงห์บุรี นัดรวมตัวยื่นหนังสือสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ต่อนายอัครเดช เจิมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี เพื่อส่งให้นายพิเชษฐ ไพบูลย์ศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมี 4 ประเด็นหลักดังนี้คือ 1. รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่ได้มาจากประชาชนที่แท้จริง แต่เกิดจากรัฐประหาร 2. หน่วยงานอิสระทำงานรับใช้ให้กับกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม 3. ต้องการให้ประเทศเดินหน้าเพื่อให้พัฒนาไปสู่ความเจริญ 4. ชาวสิงห์บุรีมีความต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของชาติ หลังจากนายอัครเดช เจิมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี รับหนังสือจากผู้ชุมนุมแล้วทั้งหมดจึงได้แยกย้ายกันกลับบ้าน.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ละเมิด/ไม่ละเมิดงานดนตรี 101: ตอนที่ 3 ดนตรีฮิปฮอปกับใบอนุญาตล้อ

Posted: 08 Jun 2012 02:25 AM PDT

บทความตอน 3 ในซีรีส์เบื้องต้นว่าด้วยการละเมิดงานดนตรี อธิป จิตตฤกษ์ เขียนถึงการ “แซมปลิง” ในดนตรีฮิปฮอป ซึ่งมีรากฐานมาจากการดัดแปลง-ล้อเลียน แต่เมื่อมันถูกตัดสินว่าละเมิดกม. ลิขสิทธิ์ จะมีนัยสำคัญอย่างไรต่อวัฒนธรรมดนตรีและ “ฟรีสปีช”

 

ถ้าไม่มีงานสร้างสรรค์ใดๆ ที่สร้างขึ้นมาอย่างเป็นเอกเทศโดยไม่ขึ้นกับงานชิ้นอื่นดังชื่อหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า “Everything is a remix” แล้ว การคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ใดๆ ก็คงจะเป็นเรื่องน่าขัน อย่างไรก็ดีระบบลิขสิทธิ์ทั้งหมดก็ไม่ได้ล่มสลายไปง่ายๆ กับความจริงที่ว่ามานี้ เพราะถึงที่สุดแล้ว ปัญหาเรื่อง “ความมีเอกลักษณ์” ของงานชิ้นหนึ่งๆ นั้นดูจะไม่ใช่เรื่องของการที่งานชิ้นนั้นๆ ไม่ได้ “ลอกเลียน” งานชิ้นอื่นๆ เลย แต่ประเด็นกลับอยู่ที่การลอกเลียนนั้น “มากเกินไป” หรือไม่?

ในแง่นี้ประเด็นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์และการลอกงาน (plagiarism) ทั้งหลายแหล่นั้นทางปฏิบัติก็เป็นปัญหาในเชิงปริมาณเช่นเดียวกับปัญหาเชิงคุณภาพ เป็นเรื่องปกติที่บทบัญญัติของกฏหมายลิขสิทธิ์หรือคำตัดสินศาลคดีลิขสิทธิ์ทั่วโลกจะมีการกล่าวถึงหลักการพิจารณาการละเมิดลิขสิทธิ์ว่างานที่จัดว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์คืองานที่นำส่วนประกอบของงานที่ถูกละเมิดมาใส่ในงาน “มากเกินไป” อย่างไรก็ดีไอ้ “มากเกินไป” ดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่มีการโต้เถียงกันอย่างกว้างขวางว่าเท่าใดถึงจะจัดว่ามากเกินไป และจะเอาอะไรมาวัด?

ปัญหานี้มีตั้งแต่ประเด็นเรื่องปริมาณการถ่ายเอกสารหนังสือในห้องสมุดว่าต้องถ่ายไม่เกินร้อยละเท่าไดของเนื้อหาหนังสือทั้งหมดว่าเป็นการละเมิด ไปจนถึงความละม้ายคล้ายคลึงกันของโน๊ตเพลงในทำนองเพลงที่บางทีต้องมานับกันว่าโน๊ตเหมือนกันไม่เกิดกี่ตัวๆ ถึงจะไม่จัดเป็นการละเมิด ดังนั้นในแง่นี้ความผิดการลอกเลียนมันจึงไม่ใช่เรื่องของการเหมือนต้นฉบับมากหรือน้อยในเชิงคุณภาพ เพราะถ้าความเหมือนนั้นเหมือนทุกกระเบียดนิ้วแต่ยังไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ว่า “มากเกินไป” การลอกเลียนเหล่านั้นก็ชอบธรรมแน่นอน

การสร้างงานดนตรีบนฐานของความเหมือนนั้นเป็นสิ่งที่พบได้ในดนตรีฮิปฮอปที่มีการใช้การตัดต่อเสียงของเพลงอื่นๆมาประกอบกันเป็นดนตรีที่เรียกกันว่า “การแซมปลิง” (sampling) ก่อนจะทำการร้องทับลงไป การแซมปลิงเป็นรูปแบบการสร้างสรรค์ที่ขัดกับรากฐานของกฏหมายลิขสิทธิ์อย่างถึงราก เพราะธรรมชาติของการใช้ตัวอย่างเสียงมันเป็นการทำซ้ำอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดีธรรมชาติของการแซมปลิงต่างจากการลอกเลียนและดังแปลงทำนองเพลง เพราะแซมปลิงยืนอยู่บนการลอกเลียนและดัดแปลงตัวงานบันทึกเสียงโดยตรง แซมปลิงมีความตรงไปตรงมาในการลอกเลียน และโดยทั่วไปมันก็คงจะเป็นเรื่องที่น่าขันที่จะบอกว่าการแซมปลิงเป็นการลอกเลียนงานคนอื่นมาและกล่าวอ้างว่าเป็นงานตัวเอง (plagiarism) เนื่องจากธรรมชาติของแซมปลิงมันไม่เคยอ้างว่าวัตถุดิบที่มันทำซ้ำและดัดแปลงนั้นตกเป็นของผู้ทำซ้ำและดัดแปลงอยู่แล้ว กล่าวคือการที่วงฮิปฮอป Public Enemy ได้ทำการแซมปลิงท่อนริฟฟ์ท่อนบริดจ์ของเพลง Angel of Death ของ Slayer วงแธรชเมทัลชื่อดังไปใส่ในเพลง She Watch Channel Zero ของตน มันก็ไม่ได้ทำให้ท่อนริฟฟ์ดังกล่าวกลายเป็นของวง Public Enemy แต่อย่างใด [1]

ธรรมชาติของการแซมปลิงทำให้การอ้างอิงงานต้นฉบับเป็นไปโดยอัตโนมัติ ธรรมชาติของสายสัมพันธ์ระหว่างงานต้นฉบับและงานที่ใช้แซมปลิงที่ตัดไม่ขาดนี้ทำให้การแซมปลิงมีความละม้ายคล้ายคลึงกับการล้อเลียนมากกว่าการลอกเลียน หากมองในแง่นี้เสรีภาพในการล้อเลียนมันจึงน่าจะเป็นเรื่องเดียวกับเสรีภาพในการใช้แซมปลิงเสียงในดนตรีฮิปฮอป อย่างไรก็ดีความเป็นจริงมันก็ซับซ้อนกว่านั้น

ดนตรีฮิปฮอปเกิดขึ้นในอเมริกาช่วงครึ่งหลังของทศวรรษที่ 1970 และก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างช้าๆ ในตลอดช่วงทศวรรษ 1980 ในอเมริกาที่ดนตรีฮาร์ดร็อค/เฮฟวี่เมทัลครองเมือง น่าสนใจว่าในช่วงราวๆ ทศวรรษครึ่งที่ดนตรีฮิปฮอปดำรงอยู่ในอเมริกา มันแทบจะไม่มีปัญหาถูกฟ้องร้องในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์เลยทั้งๆ ที่งานทุกๆ ชิ้นก็เกิดขึ้นจากการการแซมปลิงบทเพลงต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องตลาด เหตุผลส่วนหนึ่งที่ไม่มีการดำเนินคดีใดๆก็อาจเป็นเพราะในช่วงดนตรีดนตรีฮิปฮอปเป็นดนตรีที่ค่อนข้างจะอยู่นอกกระแสหลักและถึงบางส่วนของมันจะเข้าไปในกระแสหลักก็ไม่ได้สร้างรายได้มากมายอะไรให้โดดเด่นเตะตาบรรดาเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงนัก ซึ่งนี่ก็เป็นคำอธิบายที่สัมพันธ์กับการที่มูลเหตุของการฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีโดยมากก็เกิดจากแรงจูงใจในทางเศรษฐกิจมากกว่าเหตุผลทางศีลธรรมที่ดูสวยหรูซึ่งหลายฝ่ายชอบยกมา

ในตอนปลายทศวรรษที่ 1980 เมื่อดนตรีฮิปฮอปเริ่มเป็นดนตรีที่ทำเงิน การแซมปลิงในงานดนตรีฮิปฮอปก็เริ่มถูกฟ้องร้องในฐานละเมิดลิขสิทธิ์ คดีเหล่านี้เป็นคดีแพ่งที่เรียกค่าเสียหายในการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหมด ซึ่งคดีในช่วงนี้ก็ไม่เคยไปสิ้นสุดในระดับศาล แต่มักจะจบด้วยการตกลงจ่ายค่ายอมความกันนอกศาลมากกว่า นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายพอควรเพราะในหลายๆ คดี หากทำการต่อสู้กันจนคดีสิ้นสุดแล้ว ผ่ายจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าทำการละเมิดลิขสิทธิ์ก็น่าจะเป็นฝ่ายชนะคดีเนื่องจากแซมเปิลเสียงที่ใช้นั้นเป็นเพียงแซมเปิลสั้นๆ ที่คนฟังน่าจะไม่นึกถึงเพลงต้นฉบับด้วยซ้ำ

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่นเพลง Transmitting Live From Mars ของ De La Soul [2] เพลงนี้จะเรียกว่าเพลงก็ไม่เชิงเพราะมันเป็นเพียงแทร็คเสียงยาว 1 นาทีที่เอาไว้คั่นระหว่างเพลงด้วยซ้ำ ในเพลงนี้ De La Soul ได้ทำการแซมปลิงให้เพลง You Showed Me ในเวอร์ชั่นของวง The Turtles ยาว 12 วินาที [3] ผลก็คือสมาชิกวง The Turtles ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 2.5 ล้านดอลลาร์จาก De La Soul สุดท้ายคดีไปสิ้นสุดที่ De La Soul ยอมจ่ายค่ายอมความ 1.7 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 141,666.67 ต่อวินาทีของการแซมปลิง

หากลองฟังจะพบว่าเพลง Transmitting Live From Mars นั้นใช้แซมปลิงเพลง You Showed Me ไปพร้อมๆ กับเสียงประกอบอื่นๆ จำนวนไม่น้อยในแบบที่คนที่ฟังผ่านๆ อาจไม่รู้สึกถึงการแซมปลิงด้วยซ้ำ หากทาง De La Soul สู้คดีบนฐานของหลักการใช้อย่างชอบธรรมและแก้ต่างว่าว่าตนไม่ได้นำแซมเปิลเพลงต้นฉบับมาใช้มากเกินไปแต่อย่างใด (เพราะแซมเปิลที่เอามาก็เป็นเพียงแซมเปิลสั้นๆ และบทเพลงที่เกิดขึ้นใหม่ก็มีความแตกต่างกับบทเพลงต้นฉบับมากเพียงพอ) ทาง De La Soul ก็น่าจะมีลุ้นในการชนะคดีอยู่ แต่นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น

คดีแบบนี้เกิดขึ้นประปรายในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 และต้นทศวรรษที่ 1990 และเรื่องก็ไม่เคยถึงการตัดสินของผู้พิพากษา อย่างไรก็ดีเมื่อมีการสู้คดีแซมปลิงในปี 1991 คดีหนึ่งจนถึงชั้นศาล ผลการตัดสินของศาลก็เป็นจุดหักเหให้เกิดเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตดนตรีฮิปฮอปจำนวนมากนับแต่นั้นเป็นต้นมาก

เรื่องมีอยู่ว่าแร็ปเปอร์ร่างท้วมนาม Biz Markie ได้นำดนตรีในเพลง Alone Again (Naturally) [4] ซึ่งเป็นเพลงเก่าของ Gilbert O'Sullivan นักร้องชาวไอริชมาตัดต่อและทำการร้องแร็ปเข้าไปใหม่เหนือดนตรีพร้อมตั้งชื่อเพลงว่า Alone Again (ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงเพลงต้นฉบับชัดเจน) [5] ทางค่ายเพลงที่ถือลิขสิทธิ์ O’Sullivan ไม่พอใจจึงฟ้องค่ายเพลงของ Biz Markie ฐานละเมิดลิขสิทธ์ [6] ทางทนายของ Biz Markie พยายามจะสู้คดีว่าการแซมปลิงเป็นปรากฏการณ์แพร่หลายที่ “ใครๆ ก็ทำกัน” ในอุตสาหกรรมดนตรีตอนนั้น แต่ทางผู้พิพากษาก็ไม่เห็นชอบด้วยและตีความว่าการแซมปลิงเป็น “การขโมย” รูปแบบหนึ่ง และก็ได้ตัดสินให้ทางค่ายเพลงที่ถือลิขสิทธิ์เพลงของ O’Sullivan ชนะคดีไป

ความพ่ายแพ้ของ Biz Markie เป็นเรื่องใหญ่เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ศาลชี้ชัดว่าการแซมปลิงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ นี่ส่งผลให้ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้ที่ต้องการแซมปลิงเพลงทั้งหมดต้องขออนุญาติผู้ถือลิขสิทธิ์งานบันทึกเสียงต้นฉบับทั้งหมดหากไม่ต้องการโดนฟ้องร้อง นี่ทำให้การแซมปลิงในวัฒนธรรมดนตรีฮิปฮอปในแบบเดิมๆ หายไปในวงกว้าง กล่าวคือ แซมปลิงส่วนใหญ่ภายหลังคำตัดสินของศาลในปี 1991 ก็ได้กลายเป็นแซมปลิงปลอมๆ ที่เกิดจากการแต่งทำนองดนตรีขึ้นมาใหม่ให้ฟังดูเหมือนเป็นการแซมปลิงแบบเดิม แทนที่จะเป็นการแซมปลิงจากตัวงานบันทึกเสียงของคนอื่นดังเช่นที่ปฏิบัติกันมาตลอดตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970’s

ทั้งนี้หากลองฟังทั้งสองเพลงเปรียบเทียบกันแล้วจะพบว่าเพลงของ Biz Markie นั้นมีการอ้างอิงบทเพลงต้นฉบับชัดเจนตั้งแต่ชื่อเพลง และการร้องแร็ปลงไปใหม่ก็ดูจะสร้างความขำขันให้แก่ผู้ที่เคยได้ยินได้ฟังบทเพลงต้นฉบับมากกว่า นี่ทำให้สิ่งที่ Biz Markie ทำน่าจะเข้าข่ายการล้อเลียน และทำให้คำพิพากษาของศาลเป็นการออกกฏแบบกลายๆว่าการล้อเลียนโดยการใช้แซมปลิงบทเพลงต้องได้รับอนุญาตจากผู้ถูกล้อเลียน คำถามคือการห้ามล้อเลียนนี้เป็นการละเมิด “เสรีภาพในการพูด” (freedom of speech) อันเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญอเมริกาให้ความสำคัญมากหรือไม่? นี่เป็นแนวทางที่ทนายของ Biz Markie ไม่ได้ใช้สู้คดี และนั่นก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดายเพราะก็มีคดีหลังจากนั้นที่แนวทางการสู้คดีแบบนี้ทำให้ฝ่ายจำเลยชนะ ซึ่งผู้เขียนจะเล่าในตอนต่อไปซึ่งเป็นตอนจบของชุดบทความนี้

อ้างอิง:

  1. ฟังทั้งสองเพลงได้ที่ http://youtu.be/XNnaRHqtrDQ (Slayer – Angel of Death) และ http://youtu.be/n5AYMiAdqhQ (Public Enemy - She Watch Channel Zero)
  2. เพลงนี้เป็นแทร็คที่ 8 ของอัลบั้ม 3 Feet High And Rising ในปี 1989 อันเป็นอัลบั้มแรกของ De La Soul ฟังเพลงนี้ได้ที่ http://youtu.be/0cUibv9Q-3g
  3. เพลงนี้เวอร์ชั่นแรกสุดเป็นของ The Byrds ในปี 1964 (ฟังได้ที่ http://youtu.be/HBBj82YCEzo) แต่วง The Turtles ได้นำมาคัฟเวอร์ในปี 1969 (ฟังได้ที่ http://youtu.be/-sHCEYjNYsI) อ่านข้อมูลอื่นๆ ของเพลงนี้ได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/You_Showed_Me
  4. ฟัง Alone Again (Naturally) ของ Gilbert O'Sullivan ได้ที่ http://youtu.be/iCZGqcMZ6Jw
  5. ฟัง Alone Again ของ Biz Markie ได้ที่ http://youtu.be/OebqNsNRBtU
  6. คดีนี้มีนามว่า Grand Upright Music, Ltd. v. Warner Bros. Records Inc. ดู http://en.wikipedia.org/wiki/Grand_Upright_Music,_Ltd._v._Warner_Bros._Records_Inc.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาล รธน.แจงมีอำนาจวินิจฉัยคำร้องตาม รธน.มาตรา 68

Posted: 08 Jun 2012 01:37 AM PDT

ศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารชี้แจง ยืนยันมีอำนาจรับวินิจฉัยคำร้องที่ยื่นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แม้อัยการสูงสุดไม่ส่งคำร้องมา
 
8 มิ.ย. 55 - สำนักข่าวไทยรายงานว่าศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารชี้แจง ยืนยันมีอำนาจรับวินิจฉัยคำร้องที่ยื่นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แม้อัยการสูงสุดไม่ส่งคำร้องมา
 
ทั้งนี้ เห็นว่าความเห็นของอัยการสูงสุดเป็นข้อความที่ใช้กับผู้ทราบถึงการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และเมื่ออัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว สามารถใช้อำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญจึงเป็นสิทธิของชนชาวไทย ไม่ใช่อำนาจของอัยการสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว การปฏิบัติหน้าที่ของอัยการกับศาลจึงแตกต่างกัน คือ อัยการต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วจึงใช้ดุลพินิจ ในขณะที่ศาลต้องรับคำฟ้องหรือคำร้องให้เป็นคดีก่อน จึงจะพิจารณาพยานหลักฐานของทุกฝ่าย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูโร 2012: ว่าด้วยปัญหาเรื่องการถ่ายทอดสดในบ้านเรา

Posted: 08 Jun 2012 01:30 AM PDT

ถ่ายทอดสดยูโร 2012 “กสทช.” ระบุให้ออกอากาศโดยไม่เลือกปฏิบัติแต่ต้องไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ห้ามทรูจอมืดเจรจาแกรมมีเอง และลองไปดูลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลยูโร 2012 ในประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชีย รวมถึงลิขสิทธิ์การแข่งขันฟุตบอลที่สำคัญ ในมือบริษัทต่างๆ ของไทย

กสทช. ให้ออกอากาศโดยไม่เลือกปฏิบัติแต่ต้องไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ห้ามทรูจอมืด เจรจา GMM เอง

8 มิ.ย. 55 – ประเด็นเรื่องการถ่ายทอดสดการแข็งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2012 ถูกจุดให้เป็นที่สนใจ ขึ้นมาโดยบริษัท ทรูวิชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจที่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ผู้ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขัน ไม่ปล่อยสัญญาณการถ่ายทอดสดให้กับผู้ให้บริการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เผยแพร่สัญญาณการแข่งขัน โดยทางจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ปล่อยสัญญาณทางรีสิฟเวอร์ของตนเอง และสัญญาณ RF ทางเสารับสัญญาณแบบอนาลอก (หนวดกุ้งและเสา RF ต่างๆ) (คลิ๊กอ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่)

บริษัททรูวิชัน จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนเรื่องการถ่ายทอดสัญญาณรายการฟุตบอลยูโร 2012 ต่อทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อกดดันให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ปล่อยสัญญาณถ่ายทอดสดให้ โดยหลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 55 ที่ผ่านมา กสทช. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ได้แถลงภายหลังการประชุมว่า มีมติ 3 ข้อเห็นควรให้

1.โทรทัศน์ภาคปกติ หรือฟรีทีวี ดำเนินการออกอากาศ โดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้ประชาชนได้รับชมรายการโดยปกติตามกฎหมาย และให้เป็นไปตามการแพร่ภาพสาธารณภาคพื้นดิน (ระบบอนาล็อก) และออกอากาศโดยไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

2.เห็นควรให้บริษัททรูวิชัน ดำเนินการให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการ เพื่อรับชมรายการจากโทรทัศน์ภาคปกติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนด เงื่อนไขการให้บริการ และการเผยแพร่การโฆษณาของบริษัทที่แสดงไว้ต่อสาธารณะ

3.ในขณะนี้ กสทช. อยู่ระหว่างการร่างหลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการประกอบกิจการ ให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ดังนั้น เพื่อป้องกันสภาพปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันนี้อีกในอนาคต จึงเห็นควรเล็งลัดให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการในเรื่องนี้ และเสนอต่อ กสทช.โดยเร็ว ทั้งนี้ มติดังกล่าวได้เซ็นเป็นคำสั่งให้ปฏิบัติตามตั้งเเต่วันนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวถามตั้งคำถามว่าประชาชนจะทำอย่างไร เพื่อให้สามารถชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโรได้ พ.อ.นทีกล่าวว่า ประชาชนสามารถรับชมฟุตบอลยูโร 2012 ผ่านทางฟรีทีวีได้อย่างแน่นอน ขณะที่ทางบริษัททรูวิชัน กสทช.สั่งให้ปฏิบัติตามที่บริษัททรูวิชัน ได้โฆษณาไว้กับประชา ชน หมายความว่าช่วงเวลาที่ฟรีทีวีออกอากาศรายการใด ทางบริษัททรูวิชัน ก็ควรต้องมีรายการฟรีทีวีนั้นด้วย

ต่อข้อถามว่าสรุปแล้วบริษัททรูวิชัน จะจอดำหรือไม่ รองประธานกสทช.กล่าวว่า ไม่ขอตอบคำถามนี้ แต่ขอย้ำว่าบริษัททรูวิชัน ต้องปฏิบัติตามที่ได้โฆษณาไว้กับประชาชนในการทำสัญญา กระบวนการหลังจากนี้จะเป็นเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องดูว่าถ้าหากผู้บริโภคเสียประโยชน์ ก็มีกฎหมายที่จะดำเนินการต่อไป แต่ในขณะนี้ยังไม่ถึงเวลานั้น และปัญหานี้บริษัททรูวิชัน จะต้องไปพูดคุยกับเจ้าของลิขสิทธิ์เอง

ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลยูโร 2012 ในประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชีย


 

ลิขสิทธิ์การแข่งขันฟุตบอลที่สำคัญ ในมือบริษัทต่างๆ


ฟุตบอลยูโร 2012 - จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

(นอกจากนี้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยังได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลรายการสำคัญต่างๆ ของทวีปยุโรป ตลอดระยะเวลา 3 ปี คือระหว่างปี 2011-2013)


ฟุตบอลโลก 2014 – บมจ.อาร์เอส

(ทั้งนี้มีการเปิดเผยว่าจะมีทั้งรูปแบบดูฟรีบางส่วนผ่านช่องฟรีทีวี และเก็บเงินเพื่อดูครบทุกคู่ ทุกแมตช์ผ่านช่องทีวีดาวเทียมที่อาร์เอสกำลังจะเปิดตัว)


ลาลีกา สเปน (3 ฤดูกาล 2012-2015) - บมจ.อาร์เอส


บุนเดสลีกา เยอรมัน (ฤดูกาล 2012-2015) -  - จีเอ็มเอ็ม แกรมมี

 


พรีเมียร์ลีกอังกฤษ (ฤดูกาล 2013-14, 2014-15 และ 2015-16) - จะมีการยื่นประมูลกันระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้

ทั้งนี้มีการประเมินว่าแนวโน้มมูลค่าการประมูลจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 30% จากเดิมมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท (ในระยะสัญญา 3 ปี) โดยการประมูลครั้งนี้จะเพิ่มสูงขึ้นอีกเกือบ 10,000 ล้านบาท

 

 

ประกอบการเขียน:

อาร์เอส สู้ศึกปีมังกร ส่งลาลีกา สเปน และ แซทเทลไลท์ ทีวี หัวหอกสำคัญ ปั๊มรายได้ 3,200 ล้าน (rs.co.th, เข้าดูเมื่อ 8-6-2555)
กสทช.สั่ง-ห้ามทรู จอมืดยูโร (ข่าวสด, 8-6-2555)
ประมูลพรีเมียร์ลีกเดือด!!! แกรมมี่-อาร์เอส-ทรู พร้อมทุ่ม 5 พันล. (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-6-2554)
'ลิขสิทธิ์พรีเมียร์' ใครจะได้? เมื่อ 'ทรูฯ' ไม่ใช่ธุรกิจหลักซีพี แต่ 'แกรมมี่' มันคืออนาคต! (ไทยรัฐ, 19-3-2555)
'แกรมมี่' คว้าสิทธิ์ถ่ายทอดบุนเดสลีกา (ไทยรัฐ, 1-2-2555)
แกรมมี่เปิดศึกทรูทุ่มซื้อลิขสิทธิ์ยิงสดพรีเมียร์ลีก (ไอเอ็นเอ็น, 1-2-2555)
UEFA Euro 2012 broadcasting rights (wikipedia.org, เข้าดูเมื่อ 8-6-2555)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปชป.ขอ รบ.-พท.-เสื้อแดง หยุดปลุกระดมสร้างความแตกแยก ใช้กฎหมู่เหนือ กม.

Posted: 08 Jun 2012 01:12 AM PDT

วานนี้ (7 มิ.ย.55) พรรคประชาธิปัตย์ ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อสถานการณ์การเมืองขณะนี้ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย หยุดผลักดันกฎหมายปรองดองที่มีเนื้อหาล้างความผิดและคืนเงินให้กับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และพวกทันที หยุดความพยายามที่จะฝืนคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเร่งรัดลงมติร่างรัฐธรรมนูญ วาระที่ 3 รวมถึงขอให้รัฐบาลเร่งเสนอพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมรัฐสภาโดยเร็ว เพื่อลดกระแสความขัดแย้งและความหวาดระแวงในสังคม

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาล พรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง และเครือข่าย หยุดการปลุกระดมสร้างความแตกแยก หยุดการใช้เจ้าหน้าที่รัฐมาเป็นเครื่องมือจัดการกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล หยุดคุกคามการทำหน้าที่ของฝ่ายอื่น หยุดการใช้กฎหมู่มาอยู่เหนือกฎหมาย โดยหันมาให้ความเคารพต่อกฎหมาย และกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ และขอให้รัฐบาลหันกลับมาให้ความสนใจกับการแก้ไขปัญหาของประเทศและประชาชน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ค่าครองชีพ ภัยพิบัติธรรมชาติและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

00000


แถลงการณ์พรรคประชาธิปัตย์
จุดยืนและข้อเสนอต่อสถานการณ์ความขัดแย้ง

นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยผลักดันการเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ ที่มีเนื้อหาเป็นการนิรโทษกรรม ลบล้างความผิดให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวก ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ออกไปก่อน ทำให้สถานการณ์การเมืองของประเทศเพิ่มระดับความตึงเครียด และมีแนวโน้มทวีความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะการที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงออกมาปิดล้อมบริเวณรัฐสภา กดดันการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา รวมถึงการเคลื่อนไหวของหน่วยราชการบางหน่วยที่เป็นการสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในทางลับ

พรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ดังกล่าว จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

  1. ขอให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย หยุดผลักดันกฎหมายปรองดองที่มีเนื้อหาล้างความผิดและคืนเงินให้กับพ.ต.ท.ทักษิณและพวกทันที หยุดความพยายามที่จะฝืนคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเร่งรัดลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระที่ 3
  2. ขอให้รัฐบาลเร่งเสนอพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมรัฐสภาโดยเร็ว เพื่อลดกระแสความขัดแย้งและความหวาดระแวงในสังคม
  3. ขอให้รัฐบาล พรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง และเครือข่าย หยุดการปลุกระดมสร้างความแตกแยก หยุดการใช้เจ้าหน้าที่รัฐมาเป็นเครื่องมือจัดการกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล หยุดคุกคามการทำหน้าที่ของฝ่ายอื่น หยุดการใช้กฎหมู่มาอยู่เหนือกฎหมาย โดยหันมาให้ความเคารพต่อกฎหมาย และกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ
  4. ขอให้รัฐบาลหันกลับมาให้ความสนใจกับการแก้ไขปัญหาของประเทศและประชาชน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ค่าครองชีพ ภัยพิบัติธรรมชาติและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ข้อเรียกร้องข้างต้น พรรคประชาธิปัตย์มุ่งหวังที่จะให้รัฐบาลภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ตระหนักถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนมากกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้าของเครือญาติและพวกพ้อง สมกับที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เคยประกาศเป็นสัญญาประชาคมเมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า จะสร้างสุข สลายทุกข์ให้พี่น้องประชาชนอย่างสุดกำลังความสามารถ จะไม่ทำเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จะทำเพื่อประเทศชาติและคนไทยทุกคน

พรรคประชาธิปัตย์ขอยืนยันอย่างหนักแน่นที่จะทำหน้าที่อย่างถึงที่สุดร่วมกับพี่น้องประชาชนในการดำรงสันติสุขในบ้านเมือง และพิทักษ์รักษาระบบยุติธรรมของประเทศ จะไม่ยอมให้ผู้ใดมาแอบอ้างระบอบประชาธิปไตยไปรักษาผลประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบเป็นอันขาด

พรรคประชาธิปัตย์
7 มิถุนายน 2555

 

ที่มา: เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เม้าท์มอย : พระศุกร์เข้า คณะตลกแทรก

Posted: 08 Jun 2012 12:58 AM PDT

เม้าท์มอยสัปดาห์นี้ หลิ่มหลี กลับมาสวมบทหมอดูทำนายทายทักความปั่นป่วนทางการเมืองในช่วงนี้ สาเหตุเป็นเพราะดาวพระศุกร์และเลดี้กาก้าเข้ามาเอี่ยว ทำให้เกิดกาลีบ้านกาลีเมือง เกิดความวุ่นวายไปทั่ว ขนาดคณะ ตลก.รัฐธรรมนูญ ยังเข้ามาแจมระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ของรัฐสภา อีรุงตุงนังไปหมด หมอดูหลิ่มทำนายทายทักว่า ช่วงนี้ถ้าจะมีการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนส่งผลให้วง BigBang จากเกาหลีมีอันเป็นต้องงดหรือเลื่อนออกไป ระวังจะมีเฮจากบรรดาชาวติ่งหูเกาหลีนะจ๊ะ หลิ่มหลีฟันธง !!!

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แดงกลุ่มย่อยนำเก้าอี้มอบ ส.ส.รังสิมา หวังไม่แย้ง ปธ.สภาฯอีก

Posted: 07 Jun 2012 10:31 PM PDT

นักกิจกรรมกลุ่มสหายสีแดงยื่นจดหมายและรายชื่อร้านเก้าอี้ในเขต กทม. พร้อมเก้าอี้ให้ ส.ส.รังสิมา หวังไม่เกิดเหตุการณ์แย้งเก้าอี้ประธานสภาอีก

 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 55 เวลาราว 12.00 น. บริเวณหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ถนนพระราม 6 นักกิจกรรมในนามกลุ่มสหายสีแดง 10 คน ได้เดินทางมายื่นจดหมายมอบเก้าอี้ 13 ตัว ให้ ส.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.สมุทรสงคราม เพื่อประท้วงพฤติกรรมการแย่งเก้าอี้ ประธานสภาฯ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยจดหมายของทางกลุ่มสหายสีแดงระบุว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสภานั้นเป็นการทำลายภาพลักษณ์การดำรงอยู่ของสภา ที่เป็นตัวแทนของอำนาจประชาชน เพื่อเปิดทางให้เกิดการรัฐประหาร และในจดหมายฉบับดังกล่าวยังได้แนบรายชื่อร้านขายเก้าอี้กว่า 10 แห่งในกรุงเทพมาด้วย โดยระบุว่าเพื่อให้มีโอกาสเลือกซื้อตามต้องการจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์แย่งเก้าอี้ประธานสภาอีก

ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่ามีตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์มารับจดหมายแต่อย่างใด นักกิจกรรมกลุ่มดังกล่าวจึงนำจดหมายยื่นต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์พรรค และเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ได้แจ้งผู้ยื่นจดหมายว่าจะส่งต่อให้ทาง ส.ส.อีกที

นายนิธิวัต วรรณศิริ แกนนำกลุ่มสหายสีแดง สะท้อนทัศนะต่อสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะจากกรณีที่มีเหตุความวุ่นวายในสภาฯเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “เป็นการเดินเกม 2 ขาของฝั่งที่ต้องการต่อต้านรัฐบาลนี้ว่าในสภาก็เดินเกมหนึ่ง นอกสภาก็เดินเกมหนึ่ง และประสานกันให้เกิดเหตุการณ์ให้ได้เพื่ออาจจะหาชนวนเหตุเพื่อให้เกิดการรัฐประหาร”

ส่วนแนวทางของการปรองดองนั้น นิธิวัต มองว่า “ต้องไปเริ่มแก้ที่ปมเหตุเริ่มต้นเลยคือการรัฐประหาร คือต้องไปล้างทีละปมทีละจุด แนวทางนิติราษฎร์น่าจะชัดเจนสุด คือแก้ที่ต้นเหตุปัญหา คำสั่งของ คมช. ที่ส่งผลกระทบต่อมาให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในบ้านเมือง เราต้องไปนั่งไล่แก้ที่ละจุดตั้งแต่เริ่มต้นจะตรงปัญหาที่สุด และส่วนนักโทษการเมืองที่ยังติดคุกอยู่นั้น ต้องทำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กันก่อนและเรื่องรัฐธรรนูญก็เดินกันต่อไป”
 

'รังสิมา'แจงแย่งเก้าอี้'สมศักดิ์'แค่สัญลักษณ์

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา คมชัดลึก รายงานว่า น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ได้ชี้แจงกรณีการแย่งเก้าอี้ประธานสภาฯว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ไม่เหมาะสม ก็ไม่ควรทำหน้าที่ประธาน ซึ่งในระหว่างที่ตนกำลังลากเก้าอี้ประธานและรองประธานลงจากบัลลังก์ ก็ได้มี ส.ส.หญิงพรรคเพื่อไทย อาทิ นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.เลย น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.ลีลาวดี วัชโรบล ส.ส.กทม. และนางชมพู จันทาทอง ส.ส.หนองคาย ก็ได้กรูกันขึ้นมาหลังบัลลังก์แย่งชิงเก้าอี้คืนแต่ไม่มีการกระทบกระทั่งกัน ไม่มีการใช้ความรุนแรง ซึ่งตนทำตามหน้าที่เมื่อประชาชนไม่เห็นด้วย และส.ส.ปชป.ไม่เห็นด้วย แต่ประธานสภาฯก็ยังวินิจฉัยเหมือนเดิม การปรองดองก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งยิ่งจะทำให้บ้านเมืองเกิดวิกฤตมากขึ้น

“ดิฉันคิดว่าถ้ายังมีการฝืนที่ยังจะเอา พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสภาฯ ม็อบหน้ารัฐสภาจะบุกเข้ามาดิฉันทำเพื่อพี่น้องประชาชน ความจริงน่าจะทำมากกว่านี้ ดิฉันทำเป็นในเชิงสัญลักษณ์ว่าประธานไม่ควรทำหน้าที่นี้ และประธานควรใช้สมองคิดเองได้ว่าการกระทำแบบนี้ ควรที่จะปรับปรุงและแก้ไข ” น.ส.รังสิมา กล่าว

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น