โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เสวนาเปิดตัวหนังสือรวมบทกวี “บทเพลงแห่งมาตุภูมิ” ของ มาตุภูมิ มุสลิมีน ที่ร้านหนังสือบูคู

Posted: 29 Jun 2012 12:02 PM PDT

ค่ำคืนวันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือรวมบทกวีที่มีชื่อว่า “บทเพลงแห่งมาตุภูมิ” ของ มาตุภูมิ มุสลิมีน กวีหนุ่มหน้าใหม่จากจังหวัดนครศรีธรรมราช งานเขียนชิ้นนี้ ถูกจัดพิมพ์ขึ้นด้วยทุนของนักเขียนเอง ฝากขายตามร้านหนังสือเล็กๆเพียงไม่กี่แห่ง ร้านหนังสือบูคูจึงเชิญคุณมาตุภูมิมาพูดคุยเกี่ยวกับบทกวีและความคิดและเรื่องราวชีวิตของเขา

 

เปิดประเด็น

จุดเริ่มต้นของการเขียนกวีเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่และทำไมถึงเลือกที่จะเขียนบทกวี?

สมัยเรียนมัธยม ผมเริ่มเขียนบทกวีที่มีฉันทลักษณ์มาก่อน เป็นกลอนฉันทลักษณ์ธรรมดา เขียนเพื่อเอาเกรดฮะ แล้วบางทีพอเราเขียนไป เราอยากให้คำนี้มาอยู่กับคำนี้ แต่มันทำไม่ได้ มันไม่เข้ากัน เราก็เลยเลิกเขียน จนได้มาอ่าน เลือดไม่ใช่น้ำตา ของมะห์มูด ดาร์วิช กวีชาวปาเลสไตน์ เราก็ได้รู้ว่ามันมีการเขียนบทกวีแบบนี้ด้วยหรือ แบบนี้เค้าเรียกว่าบทกวีหรือ พอหลังจากนั้นเราก็เริ่มฝึกเขียน เขียนเก็บไว้ แล้วต่อมาก็นำมาเผยแพร่ในเว็บไทยโพเอ็ทโซไซตี้ ของคุณซะการียย์ยา อมตยา ให้คนอื่นได้อ่านด้วย มีนักกวีมาอ่านแล้วก็ช่วยวิจารณ์งาน พอเขียนไว้สักสองสามปี ก็อยากจะรวบรวมไว้ เลยจัดพิมพ์เอง ไม่ได้ส่งสำนักพิมพ์ที่ไหน ก็เป็นบรรณาธิการเอง ตรวจปรู๊ฟเอง ขายเอง โดยวางตามร้านหนังสือไม่กี่ร้าน

บทกวีของคุณส่วนใหญ่จะเขียนถึงคนชายขอบในสังคม อย่างเช่น ชาวโรฮิงยา ชนเผ่าอุยกูร์ คนขายโรตีจากบังคลาเทศ หรือคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งอันที่จริงคุณเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำไมจึงรู้สึกว่าอยากเขียนถึงผู้คนเหล่านี้?

บรรพบุรุษของผมมาจากกลันตังครับ เราเป็นคนเชื้อชาติมลายู เราเป็นมุสลิม มุสลิมเป็นพี่น้องกัน เมื่อพี่น้องเราโดนรังแก เราก็เจ็บปวด แต่เราทำอะไรไม่ได้ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เราทำได้แค่เขียนบทกวี

แรงบันดาลใจหรือต้นแบบในการเขียนบทกวีของคุณคือมะห์มูด ดาร์วิช อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น นอกจากนี้ยังมีใครเป็นพิเศษอีกมั้ยคะ หรือบทกวีบทไหนที่ทำให้คุณรู้สึกอยากเขียนบทกวี บทที่จำได้ขึ้นใจ?

นอกจากมะมูด ดาวิชแล้ว ก็มีมูฮัมหมัด ส่าเหล็ม ส่วนบทกวีที่ชื่นชอบก็คือ บทกวีสำหรับชายชาตรี

“มาเถอะสหายผู้อยู่ในโซ่ตรวนและความโศกเศร้า
ขอให้เราก้าวเดินไปและจงอย่ายอมแพ้เลย
เพราะเราไม่มีอะไรจะเสียแล้ว นอกจากแคร่หามศพของเรา
เราจักเปล่งเสียงเพลงแด่ท้องฟ้า
เราจักกระจายความหวังของเราออกไป
เราจักเปล่งเสียงเพลง ในโรงงาน บ่อหิน และทุ่งนา
เราจักออกจากที่ซ่อนของเราเพื่อเผชิญหน้ากับดวงตะวัน
พวกมันคือชาวอาหรับ
พวกมันคือคนป่าเถื่อน
ศัตรูของเราตะโกนก้อง
ถูกแล้ว เราคือชาวอาหรับ
เรารู้จักวิธีสร้างโรงงาน บ้านเรือน โรงพยาบาล โรงเรียนลูกระเบิดและจรวด
เรายังเขียนดนตรีที่ไพเราะและบทกวีที่งดงามได้อีกด้วย…”

เป็นบทกวีของมะห์มูด ดาร์วิช กวีชาวปาเลสไตน์ครับ เป็นกวีที่เติบโตมาในยุคที่ถูกยิวเข้าไปยึดครองประเทศและเค้าถูกเนรเทศออกจากบ้านเกิด ส่วนใหญ่กวีในยุคนั้นจะถูกเนรเทศออกจากปาเลสไตน์เพราะเขียนต่อต้าน

เคยคิดมั้ยว่าบทกวีของเราจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ หรือแค่เขียนเพื่อระบายความรู้สึกที่เกิดจากความไม่ชอบธรรมในสังคมที่เกิดขึ้น?

ผมคิดว่า มันน่าจะเปลี่ยนแปลงสำหรับคนเขียนเท่านั้นมั้ง ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงคนอื่นหรือจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ เพราะว่าเราคนเดียวคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้

เหมือนเราเขียนเพื่อเยียวยาตัวเราเองอย่างนั้นหรือเปล่า?

มันก็ไม่เชิง เราเขียนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมด้วย เยียวยาก็ส่วนหนึ่ง

 

 

จากการอ่านบทกวีในเล่ม สังเกตว่าท่าทีของกวีในการเขียนบทกวีแต่ละบท ดูคล้ายๆจะมีการใช้ท่าทีแบบเสียดเย้ย กราดเกรี้ยว หรือประชดประชัน ต่อความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมค่อนข้างมาก ทำไมจึงเลือกใช้ท่าทีแบบนั้น?

ตอนที่เราเขียนเราก็ไม่ได้คิดอะไรมาก อย่างเรื่องคนขายโรตีเนี่ย คือผมไปเจอคนขายโรตีที่บ้าน ผมก็ไปคุยกับเค้า แล้วเค้าก็เล่าให้ฟังถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นหลายๆอย่างกับเค้า จะละหมาดก็ไม่ได้ เข้าโรงพยาบาลก็ไม่ได้ เรียนในโรงเรียนก็ไม่ได้ เค้าเล่าให้เราฟังแบบนี้ แล้วตอนปี2552 ที่มันเกิดเหตุการณ์ที่โรงฮิงยาถูกทหารไทยผลักดันออกนอกประเทศ ห้ามเข้าประเทศไทย แล้วนั่งเรือออกไป ปรากฏว่าจมน้ำตาย

ตอนนี้ก็มีเหตุการณ์เรื่องโรฮิงยาที่กำลังเกิดขึ้น คุณคิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือเปล่า มีมุมมองยังไงต่อเหตุการณ์เหล่านี้?

ผมอยากให้มีคนเหลียวแล โดยเฉพาะประเทศที่เป็นมุสลิม อย่างอินโดนีเซีย ในเกาะชวาเค้าพยายามผลักดันให้โรงฮิงยาออกจากประเทศ แต่เค้าก็ไม่ยอมกลับ ก็มาสร้างบ้านสร้างอะไรอยู่ ประท้วงรัฐบาลไป อย่างมาเลเซียนี่ก็จะดีหน่อย เพราะว่าเป็นมุสลิมเหมือนกัน เค้าถือว่าเป็นพี่น้องกัน

สำหรับบทกวีแบบไร้ฉันทลักษณ์ที่คุณเขียน มักจะมีคำถามหรือคำวิจารณ์ว่าไม่ใช่บทกวี เป็นแค่การเคาะวรรคประโยคเท่านั้น คุณคิดอย่างไรกับประเด็นนี้?

อันนี้ผมไม่รู้นะ อยากจะเรียกบทกวีหรือกลอนเปล่าหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเราเขียนมาอย่างนี้ ผมไม่คิดว่ามันคือบทกวีหรืออะไรหรอก แล้วแต่จะเรียกกัน มันอาจจะเป็นความเรียงก็ได้

เวลาที่คุณเขียนบทกวี จำเป็นที่จะต้องมีโครงร่างมาก่อนหรือว่าเขียนออกมาสดๆในขณะนั้นเลย

ส่วนใหญ่ผมจะเก็บเรื่องไว้ในหัวก่อน อย่างเรื่องโรฮิงยา บังขายโรตี ที่เจอมา อย่างคนขายโรตีที่เราไปคุยด้วย ผมก็คุยกับเค้า ถามถึงครอบครัวเค้า แล้วเราก็เกิดความรู้สึกว่าเราสงสารเค้า ไม่อยากให้ใครมาดูถูกเค้า เรื่องพวกนี้ผมก็เก็บไว้ ร่างเป็นความคิดไว้ในหัว ผมไม่ได้จด บางคนเค้าจะจดเอาไว้เวลากินกาแฟ นึกได้ก็จด แต่ผมไม่ใช่ ผมคิดไว้ก่อน วางประเด็นหลักเอาไว้ว่าเราจะพูดถึงเรื่องอะไร แล้วพออยากเขียนก็เขียนเลย ตอนหลังก็เขียนลงเฟซบุค เขียนลงในเว็บไทยโพเอ็ท แล้วพอมันเยอะมากก็เลยคิดว่าเราน่าจะรวมเล่มนะ เผื่อวันนึงเราตาย เราอยากเขียนให้ญาติพี่น้องของเราอ่าน ให้คนที่บ้านอ่าน

ตอนนี้หนังสือมีวางขายที่ไหนบ้าง?

ถ้าภาคใต้นี่ก็มีร้านบูคูที่เดียว แล้วก็ที่1oo1 night แกลลอรี่ กับร้านหนังสือเดินทาง แล้วก็ศูนย์หนังสือกรุงเทพที่ศูนย์กลางอิสลาม

มองสถานการณ์ในแวดวงของกวีนิพนธ์อย่างไรบ้างคะ อย่างที่รู้กันว่าในปัจจุบันกวีนิพนธ์เป็นงานที่ค่อนข้างขายยาก ไม่ค่อยมีคนซื้อคนอ่าน?

ผมไม่ค่อยได้สนใจว่ามันจะตายหรือไม่ตาย แต่ผมว่ามันไม่ตายหรอก ตอนนี้ก็มีนักเขียนใหม่เกิดขึ้นเยอะแยะ นักเขียนเก่าก็ยังเขียนงานอยู่ แต่ก็มีเคสนึงที่ผมเจอ คือเอาหนังสือไปฝากขาย แล้วเค้าก็ถามว่าไม่เขียนเรื่องสั้นบ้างหรือ บทกวีขายยาก แต่เค้าก็ให้ผมลองวางขายดูนะ

คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้บทกวีมีผู้อ่านน้อยกว่าเรื่องสั้นหรือนิยาย?

ผมคิดว่าบทกวีมันต้องมีการตีความ อย่างเช่นประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งเรามาย่อให้เป็นบทกวีหน้านึง บางทีเราก็ไม่ได้บอกว่าประวัติศาสตร์อะไร คนอ่านต้องตีความ แต่ว่าจะถูกจะผิดจะตรงกับคนเขียนหรือไม่ก็ได้ อย่างที่เค้าบอกว่า กวีตายไปแล้วตั้งแต่เขียนเสร็จ คุณไม่มีสิทธิแล้ว ผู้อ่านจะตีความไปยังไงก็ได้ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าสนุก

แนวโน้มในอนาคต คุณคิดจะเขียนเรื่องสั้นหรือนิยายหรือเปล่า เพราะอย่างที่ทราบกันว่าบทกวีค่อนข้างขายได้ยากกว่าเรื่องสั้นหรือนิยาย?

ผมคิดว่าคนเขียนบทกวีก็อาจจะเขียนเรื่องสั้นหรือนิยายอยู่แล้ว อย่างผมเองก็เขียนเรื่องสั้นมาก่อน ไม่ได้เริ่มต้นจากการเขียนบทกวี บางทีการเขียนบทกวี มันเหมือนกับเราไปย่นเรื่องสั้นหรือนิยายมา

มีบทกวีบทหนึ่งของคุณ ที่ชื่อว่า ความหวังของอัลอักซอ ที่พูดเรื่องเพลงImagine ของ John Lennon ด้วยท่าทีปฏิเสธหรือต่อต้าน ทั้งๆที่เนื้อหาของเพลงนี้คือการเรียกร้องหาสันติภาพ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ผมก็ฟังนะเพลงนี้ แต่ผมหมายถึงว่า เราอย่ามัวร้องเพลงเรียกหาสันติภาพกันอยู่เลย ลุกฮือกันขึ้นมาเถอะ ลุกขึ้นมาต่อสู้ มาทำอะไรสักอย่าง เราร้องเพลงนี้กันมานานแล้วตั้งแต่สงครามเวียดนามโน่นล่ะ ลุกฮือในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าไม่จำเป็นต้องไปจับอาวุธต่อสู้อะไรนะ ลุกฮือเพื่อสันติภาพก็ได้ แต่ก็ต้องแล้วแต่ประชามติ

 

 

ด้วยความที่มีอาชีพเป็นนักข่าวสายอาชญากรรม งานที่ทำอยู่มีส่วนต่อความคิดความรู้สึกในการเขียนบทกวีของคุณรึเปล่าคะ อย่างเวลาไปทำข่าวในที่เกิดเหตุ เคยคิดอยากเขียนเรื่องที่เราได้ไปพบเจอมาบ้างรึเปล่า?

จริงๆผมเขียนบทกวีก่อนที่จะไปทำงานนี้ แต่ในปัจจุบันก็มีบ้าง อย่างเวลาที่เราไปเจอเรื่องอะไรที่สะเทือนใจ เช่นชาวนามาเรียกร้องเรื่องนายทุนยึดที่ เราก็เขียนไว้ แต่ถ้าจะรวบรวมต้องดูคอนเซปต์ก่อน แล้วแต่โอกาส

งานเล่มนี้เป็นเล่มที่พอใจรึยัง?

ผมคิดว่านี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น ยังมีจุดบกพร่องอยู่อีกเยอะ พอผมมาอ่านตอนหลัง เรื่องคำที่มันยังเยิ่นเย้อ ยังไม่กระชับ ยังต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีกว่านี้

เป้าหมายสูงสุดในการเขียนบทกวีของคุณคืออะไร?

ผมอยากให้คนอ่านได้คิดอย่างที่ผมคิด คือเกิดความเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแค่นั้น ไม่ได้คิดว่าจะต้องได้รางวัลอะไร เพราะว่าคนที่เขียนเกี่ยวกับอิสลามที่เป็นกวีก็น้อย เรื่องสั้นก็น้อย บทกวีที่เขียนเกี่ยวกับมุสลิมก่อนซะการีย์ยาก็มีมูฮัมหมัด ส่าเหล็ม ซึ่งก็เสียชีวิตไปแล้ว ตอนนี้ก็เหลือแต่ซะการีย์ยาแล้วก็มูฮัมหมัด ฮาริส กาเหย็ม

มีการคุยกันว่าในวงการกวีมุสลิมเนี่ย ไม่ค่อยเห็นการเขียนบทกวีที่พูดถึงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่าไหร่ แม้แต่คนในพื้นที่เอง ที่มีความรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นและอยากจะเขียน แต่ก็ยังไม่ค่อยเห็นมีงานที่เกี่ยวกับมุสลิมในจังหวัดภาคใต้เกิดขึ้น คุณมองเรื่องนี้ยังไง?

ผมมองว่าการเขียนอะไรสักอย่าง มันต้องมีการฝึกตนเอง ต้องฝึกเขียน เอาไปให้คนโน้นคนนี้อ่าน เอาไปให้นักเขียนกวีวิพากษ์วิจารณ์ แล้วเราก็ต้องอ่านเยอะด้วย อย่างผมก็จะอ่านงานของมะห์มูด ดาร์วิช งานของมูฮัมหมัด ส่าเหล็ม อย่างมูฮัมหมัด ส่าเหล็มก็จะเขียนงานเกี่ยวกับศาสนา พูดถึงเรื่องการละหมาด

ศาสนามีผลต่อการเขียนบทกวีของคุณหรือเปล่า?

มีผลเยอะเลย คือเวลาเราเขียนเราก็ต้องดูหลักการศาสนาด้วย บางทีเราไปเขียนเรื่องที่มันผิดหลักความเชื่อก็เขียนไม่ได้ เรื่องเทวดาผีสาง แต่มันก็จะมีบทนึงที่เขียนถึงเรื่องเล่า เรื่องผีตะเคียน แต่เป็นเรื่องเล่า เราก็สามารถเขียนถึงได้

นอกจากอ่านบทกวีแล้ว คุณอ่านหนังสือประเภทอื่นด้วยรึเปล่า?

อ่านฮะ ผมอ่านพวกงานของนักเขียนรางวัลโนเบล อย่างพวกนากิบ มาฟูซ งานของเฮมิ่งเวย์ ตอลสตอย อะไรพวกนี้ด้วย อย่างวรรณกรรมคลาสสิค พออ่านแล้วมันทำให้เรารู้สึกถึงพลัง เกิดความรู้สึกว่า โห ทำไมเขียนได้ขนาดนี้ ทำไมเราเขียนแบบนี้ไม่ได้วะ อะไรแบบนี้

มีบทกวีในเล่มนี้บทนึงที่พูดถึงกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ได้มีโอกาสรู้จักกันมาก่อนหรือเปล่าคะ แล้วเค้าเป็นแรงบันดาลใจให้กับการทำงานของคุณบ้างหรือเปล่าคะ ในฐานะที่เป็นคนบ้านเดียวกัน คือเป็นคนนครศรีธรรมราชเหมือนกัน?

พี่กนกพงศ์เค้าอยู่ตรงหน้าเขามหาชัยที่เป็นส่วนหนึ่งของเขาหลวง แล้วผมก็เรียนอยู่ราชภัฏ ตอนนั้นผมอยู่ปีสองมั้ง แล้วพี่เค้ามาจัดอบรมเรื่องสั้น ผมก็เอาหนังสือเรื่องแผ่นดินอื่นหน็บหลัง ยืนสูบบุหรี่อยู่ พี่เค้าก็กินกาแฟ ผมจะขอลายเซ็นก็ไม่กล้าขอ ผมก็ได้เจอเค้าครั้งนั้นครั้งเดียวเท่านั้นแหละครับ แต่ผมก็ชอบอ่านหนังสือของพี่เค้า ที่พูดถึงเรื่องโนราห์ พูดเรื่องน้ำตก เรื่องในวัยเด็ก ผมก็เขียนเรื่องสั้นบ้าง พี่เค้าก็ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องสั้นของผม ผมคิดว่าเค้ามีสายตานักเขียน เห็นอะไรก็เอามาทำให้เป็นเรื่องได้

* * * * *

หลังจากการพูดคุยกันในบรรยากาศอย่างเป็นกันเอง ปิดท้ายงานด้วยการอ่านบทกวีที่แนะนำในเล่ม ซึ่งมีชื่อว่า “มือใครปลูกดอกไม้ระเบิด” พร้อมด้วยเสียงกีต้าร์อะคูสติกที่บรรเลงทำนองระหว่างการอ่านบทกวี

"ขุนเขาบูโดโน้มกายภายใต้เมฆทะมึนซึมเศร้า
ป่าฮาลา-บาลา ก้องไปด้วยเสียงแห่งความตาย
ชายหาดตะโละกาโปร์ถูกคลื่นร้ายกลืนกินเสียแล้ว
เรือกอและก็ไม่อาจฝ่าฝืนกระแสทะเลคลั่ง
แม่น้ำตากใบ-บางนรา-สายบุรี ร่ำไห้

มือใครก็ไม่รู้...
มาปลูกดอกไม้ระเบิดบนเส้นทางสัญจร
ถนนทุกสายจึงเจิ่งนองไปด้วยโลหิต
มือใครก็ไม่รู้...
มาเผาโรงเรียนในยามพลบค่ำ
เด็กเด็กจึงต้องหยุดเรียนโดยไม่มีกำหนด
มือใครก็ไม่รู้...
ลั่นไกปลิดชีวิตผู้บริสุทธิ์
เด็กเด็กต้องกำพร้าและแม่หญิงต้องเป็นม่าย

มือใครก็ไม่รู้...
สลักกลิ่นคาวเลือดไว้ในความทรงจำ
มือใครก็ไม่รู้...
ตะปบเสียงร้องทุกข์จนเงียบกริบ
มือใครก็ไม่รู้...
กระชากตาชั่งยุติธรรมจนขาดวิ่น

มือเปื้อนเลือดของใครก็ไม่รู้
พร่ำเพ้อฝันหาแต่สันติภาพ"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกร็ดข่าว: ยูนิฟอร์มใหม่สุดเท่ของพนักงานแมคโดนัลด์ต้อนรับมหกรรมโอลิมปิก

Posted: 29 Jun 2012 11:48 AM PDT

เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็ต้องแฟชั่นไว้ก่อน จะมาโก๊ะกังทำอะไร ไม่ดูกระแสโลก หรือไม่มีแผนมาร์เก็ตติ้ง ไม่มี ‘กิมมิค’ ในการโปรโมท หรือทำให้เป็นข่าวไม่ได้แล้ว รวมถึงชุดพนักงานร้านฟาสต์ฟู้ดด้วย จะมาเฉิ่มๆ เชยๆ ไม่อิงกระแสแฟชั่นโลก ไม่ได้อีกต่อไป

อย่างชุดพนักงานแมคโดนัลด์ ที่ประเทศอังกฤษนี้ ที่ได้รับการออกแบบใหม่ โดยดีไซเนอร์ชื่อ Wayne Hemingway โดยเขาได้นำสไตล์การแต่งตัวของซีรีส์เรื่อง Mad Men อันโด่งดัง (Mad Men เป็นซีรีส์อเมริกัน ย้อนยุค นอกจากเนื้อเรื่องจะเข้มข้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือเรื่องคอสตูม ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้วงการแฟชั่นมาหลายซีซั่นแล้ว) กับสไตล์การแต่งตัวยุค 60’s อย่างกระโปรงทรงดินสอ (ต้องเป็นระดับแมนเนเจอร์นะคะ ถึงจะได้ใส่กระโปรง) เสื้อคอโปโลสไตล์ Fred Perry เนคไทแบบเส้นเล็กเรียว (อันนี้สำหรับแมนเนเจอร์ผู้ชาย) หมวกแก๊ปที่นำสไตล์ของหมวกของจ๊อกกี้มาปรับแต่ง เชิ้ตลายตารางเส้นเล็กๆ ซึ่งทั้งหมดมาในสีเหลืองมัสตาร์ด (แรงบันดาลใจมาจากซอสมัสตาร์ด) สีเขียวของผลแตง gherkin

โดย Wayne Hemingway กล่าวว่า ที่เขานำสไตล์ย้อนยุคมาใช้ในการสร้างสรรค์ชุดทำงานแบบใหม่ของพนักงานแมคโดนัลด์ในครั้งนี้ เพราะคิดว่าสไตล์ย้อนยุค แบบยุค 60’s นั้นคลาสสิก และเป็นแฟชั่นที่ไม่ตกยุคเสมอ (ตอนนี้กระโปรงทรงดินสอลับมาฮิตอีกครั้งสาองสามซีซั่นต่อกันแล้ว เช่นเดียวกันกับสไตล์ยุค 60’s ที่มาแรงบนรันเวย์เหมือนกัน) สไตล์แบบล้ำสมัยนั้นไม่น่าจะเหมาะ เพราะอยู่ได้ไม่นาน ก็ตกยุคเสียแล้ว แถมคนอาจจะมองตลกๆ นึกว่าพนักงานเป็นตัวละครมาจาก Star Trek และไม่ขอใช้สีแดงหรือสีเหลืองที่เป็นสัญลักษณ์ของแมคโดนัลด์ เพราะมันฉูดฉาดเกินไป ไม่คลาสสิกเท่าไหร่

โดยชุดพนักงานรูปแบบใหม่นี้ จะเริ่มใส่ต้อนรับมหกรรมโอลิมปิกที่อังกฤษในเดือนหน้านี้ และเป็นชุดเฉพาะของพนักงานที่อังกฤษเท่านั้น ส่วนประเทศไหนอยากจะปรับปรุง เปลี่ยนยูนิฟอร์มใหม่บ้างก็ไม่ว่ากัน

สำหรับประเทศไทย ยูนิฟอร์มของพนักงานแมคโดนัลด์ คือสีเหลืองและแดง คาดว่าคงไม่เปลี่ยนแปลงง่ายๆ เพราะสองสีนี้อินเทรนด์ที่สุดแล้วในประเทศไทย ใครๆ ก็พูดถึง!

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“9 ปีความรุนแรงภาคใต้” ถกหาแสวงสว่างที่ปลายอุโมงค์

Posted: 29 Jun 2012 09:24 AM PDT

สัมมนาไฟใต้ผลักการพูดคุย กระจายอำนาจ ปฏิรูปการศึกษา กระบวนการยุติธรรม เพื่อดับไฟใต้ ย้ำรัฐต้องมีเอกภาพในการดำเนินนโยบาย ดึงการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
 
เวลา 14.00 น. วันที่ 29 มิถุนายน  2555 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ได้ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะเรื่อง “9 ปีความรุนแรงภาคใต้ : อัศจรรย์ความรู้ในแดนเนรมิต?” 
 
ในการอภิปรายในหัวข้อเรื่อง “ทางเลือกสำหรับทางรอดของภาคใต้”  นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมา 101 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2547 ถึง พ.ค. 2555 มีเหตุการณ์กว่่า 11,700 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ 1.4 หมื่นคน แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 5 พันคน บาดเจ็บอีก 9 พันคน โดยช่วงแรกมีเหตุการณ์เกิดขึ้นสูงมาก แต่หลังจากปี 2550 เหมือนเหตุการณ์จะลดลง แต่ยังคงที่เดือนละ 60 - 100 ครั้ง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์แต่ละเดือน พบว่าความสูญเสียไม่เด่นชัดเท่ากับจำนวนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สรุปได้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงลดลง แต่ความตาย ความบาดเจ็บยังคงที่ ซึ่งเรามองว่าเหมือนเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งคลายกับหลายประเทศทั่วโลกที่มีปมปัญหาภายในที่แก้ไม่ตก คล้ายกับว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งขึ้นไปสู่ที่ราบสูงที่ยาวมาก แต่กลับไม่มีทางลง
 
ดร.ศรีสมภพ กล่าวต่อว่า นโยบายของรัฐที่ลงไปในพื้นที่ 9 ปีที่ผ่านมา มีงบประมาณ 1.8 แสนล้านบาท แต่งบประมาณที่ลงไปต่อปีถือว่าช่วยพยุงให้ภาวะเศรษฐกิจอยู่ได้ แต่การกระจายรายได้ยังไม่ตกไปถึงคนส่วนใหญ่ เนื่องจากมีปัญหาความไม่โปร่งใส และนโยบายมีการใช้เรื่องการทหารมาก มีกำลัง 1.5 แสนคน ทั้งทหาร ตำรวจอาชีพ อาสาสมัคร เป็นต้น ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐยังมีไม่สูง จึงต้องดูว่าทางรอดจะมีอย่างไรบ้าง โดยมีข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจแบบพิเศษ 6 โมเดล อาทิ มีศอ.บต. มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯโดยตรง หรือมหานครปัตตานี ซึ่งโมเดลทั้งหมดก็ยังอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอพูดคุยกับผู้ใช้ความรุนแรงในการเจรจาฝ่ายตรงข้ามกับรัฐเพื่อหาทางออกด้วย
 
นายดนัย มู่สา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม สภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่าการร่าง “นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557 ซึ่งตนได้มีส่วนร่วมนั้นใช้เวลาดำเนินการกว่าหนึ่งปีและได้ไปพูดคุยกับคนหลากหลายภาคส่วน ซึ่งหลายฝ่ายก็มองปัญหาไม่ตรงกันเลย  นอกจากนี้ ปัญหาที่ท้าทายอีกอย่างคือ เจ้าหน้าที่นั้นไม่ได้นำนโยบายไปปฏิบัติ โดยมี 3 ประเภท คือ หนึ่ง ไม่เข้าใจจึงไม่นำไปปฏิบัติ สอง เข้าใจแต่ไม่เห็นด้วยจึงไม่ปฏิบัติ และสาม  เข้าใจ ไม่เห็นด้วยและปฏิบัติสวนทาง 
 
สิ่งที่รัฐบาลต้องทำภายใน 3 ปี  เพื่อเป็นทางออกของปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมี 5 ข้อ คือ 1.ต้องใช้พื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหา  2.ความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงได้ ควรใช้แนวทางสันติวิธี 3.ความสมดุลในเรื่องการปกครองหรือการกระจายอำนาจในพื้นที่  4. การเคารพในเรื่องสิทธิมนุษยชน มีนิติธรรมและนิติรัฐ และ 5.การปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐต้องมีเอกภาพ  ทั้งนี้หัวใจของทางรอดในระยะเฉพาะหน้า คือ ต้องสร้างความปลอดภัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิต  และในระยะยาวจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา  รัฐจะต้องมีความเข้าใจตรงกันในเชิงนโยบาย  และจะต้องเอาภาคส่วนอื่นๆ มาร่วมกับรัฐ  และที่สำคัญรัฐบาลจะต้องส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าต้องการที่จะเดินในแนวทางนี้  
 
นายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่าสังคมไทยมี “ความไม่รู้” และ “อคติ” เกี่ยวกับพื้นที่ภาคใต้มาก  การเอาไม้บรรทัดเดียวกันที่ใช้ที่กรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ไปวัดภาคใต้นั้นจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด ระบบการจัดการศึกษาของรัฐไทยที่ผ่านมาเต็มไปด้วยบาดแผลและความขัดแย้ง  จำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนปัญหาหลักของการศึกษา คือ เด็กในพื้นที่นั้นต้องเรียนทั้งศาสนาและสามัญซึ่งทำให้เด็กต้องเรียนหนังสือหนักมาก  ครูมีเวลาสอนไม่ครบ เพราะปัญหาในเรื่องของความปลอดภัย นอกจากนี้ยังขาดทุนการศึกษาและอุปกรณ์การศึกษา  จริงๆ แล้วเด็กในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างนั้นมีศักยภาพเพราะเขาพูดได้อย่างน้อยสองภาษาอยู่แล้ว คือ ไทยและมลายูถิ่น ซึ่งสามารถจะพัฒนาไปเป็นการพูดมลายูกลางซึ่งใช้อยู่ในประเทศมาเลเซียได้ง่าย 
 
นายปิยะกล่าวว่าตนเชื่อว่าการศึกษาและศาสนาเป็นหัวใจในการเปลี่ยนให้ความขัดแย้งกลายเป็นสันติสุข   รัฐไทยจะต้องเปลี่ยน ไม่รวมศูนย์หรือปิดกั้นความเห็นต่าง   หากว่าเราสนับสนุนให้คนมีสิทธิ์มีเสียง ก็จะแก้ไขปัญหาได้ นายปิยะกล่าว
 
นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน สื่อมวลชนอาวุโส  ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) กล่าวว่าการมีทางเลือกนั้นสะท้อนว่าเรายังคงมีความหวัง ภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการเปิดพื้นที่กลางและพื้นที่ปลอดภัยให้คนในพื้นที่ได้เสนอทางเลือก  การพูดคุยระหว่างฝ่ายรัฐและขบวนการที่ต่อต้านรัฐอย่างเดียวนั้นไม่อาจจะทำให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืนได้   จำเป็นที่เสียงของภาคประชาสังคมและรากหญ้าจะต้องถูกรวมเข้าไปด้วย
 
การแก้ไขปัญหาภาคใต้ต้องทำ 3 ส่วน คือ หนึ่ง ต้องปรับบริบทการเมืองการปกครองให้เหมาะสมกับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ซึ่งมีลักษณะเฉพาะในเชิงอัตลักษณ์  ถ้าไม่มีทางออกทางการเมืองก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างยั่งยืนได้  สอง ต้องมีการปรับปรุงเรื่องกระบวนการยุติธรรม  และสาม  ตนเห็นด้วยกับกรอบนโยบายของสมช. ที่ส่งเสริมเรื่องของการพูดคุยกับผู้เห็นต่าง  แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่า สมช.จะสามารถทำให้นโยบายแปรไปสู่การปฏิบัติได้หรือไม่  นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาภาคใต้นั้นควรจะเดินด้วยความรู้ ไม่ใช่ความรู้สึกและต้องมีการสื่อสารกับสาธารณะให้มาก
 
พ.อ.ชินวัฒน์  แม้นเดช ตัวแทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้ากล่าวว่าปัญหาภาคใต้นั้นกระทบกับรากฐานของประเทศ  ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเป็น “movement” ไม่ได้เป็น “event”  มีกระบวนการดำเนินการที่ต่อเนื่อง  แต่ว่าที่ผ่านมายังคงไม่มีใครมาแสดงความรับผิดชอบอย่างเปิดเผย  ในขณะเดียวกันมีการโฆษณาชวนเชื่อในพื้นที่อย่างกว้างขวางและบางครั้งมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง เช่น ผ่านการออกใบปลิว  หรือการปลอมตัวโดยสวมใส่ชุดทหารเข้าไปก่อเหตุ   ทำให้เกิดความสับสนในพื้นที่   
 
การแก้ไขปัญหา จำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงแก่นของปัญหาให้ถ่องแท้  สิ่งที่ตนมองก็คือภาคใต้มีสิ่งที่เรียกว่า “อิสลามเชิงจารีตนิยม” และมีความโดดเด่นในเชิงอัตลักษณ์  นโยบายรัฐที่ผ่านมาได้ทำลายความแตกต่างเพื่อสร้างความเหมือน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาและเกิดการต่อต้านรัฐขึ้น    แต่ที่จริงแล้วความแตกต่างเหล่านี้เป็นต้นทุนทางสังคมที่สามารถนำมาสร้างศักยภาพของประเทศได้    นโยบายการสร้างความเหมือนเหล่านี้ไม่ควรมีอีกต่อไป  
 
ตัวแสดงหลักในภาคใต้ในทัศนะของตนมี 3 ส่วน คือ หนึ่ง state actor คือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  สอง คือ sub-state actor คือ กลุ่มหัวรุนแรงที่ต้องการรักษาอัตลักษณ์และแบ่งแยกดินแดน จึงได้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐ  สาม คือ ประชาชนมลายูมุสลิมในพื้นที่  ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างตัวแสดงทั้งสองข้างตน  sub-state actor ไม่เคยแสดงตนและแอบอยู่หลังประชาชนอย่างลับๆ  การศึกษาเกี่ยวกับ sub-state actor นั้นมีค่อนข้างน้อย  เขามีกระบวนการคัดเลือกคนเข้าขบวนการและบ่มเพาะความเป็นชาตินิยมมลายู  โดย  บอกว่าปัตตานีนั้นเป็น Dar al-Harb (แผ่นดินที่ปกครองโดยผู้นำที่ไม่ใช่มุสลิมและเข้าเงื่อนไขในการทำสงคราม)
 
พ.อ.ชินวัตรกล่าวทิ้งท้ายว่ารัฐไทยจะต้องสร้างเอกภาพทางความคิดและ “ยิงปืนให้ตรงเป้า” รัฐจะต้องกุมสภาพสามอย่างให้ได้ คือ  หนึ่ง กุมสภาพประชาชนในพื้นที่  รัฐจะต้องได้ใจประชาชน เพื่อให้ sub state actor ถูกโดดเดี่ยว สอง ศอ. บต. กอ. รมน. จะต้องมีนโยบายไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ  และ สาม คือการสร้างความยอมรับและความชอบธรรมในเวทีระหว่างประเทศ  หากเราคุมสามอย่างนี้ได้ การแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่ยาก
 
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวในปัจฉิมกถาว่าสันติสนทนากับการเจรจาสันติภาพนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะว่าการเจรจาสันติภาพนั้นเน้นในการได้ข้อยุติ แต่ว่าสันติสนทนานั้นมุ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่น  นอกจากนี้การตั้งเขตปกครองพิเศษนั้นอาจจะไม่จำเป็นที่จะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนเสมอไป กรณีแบบนี้มีอยู่แต่ว่าเป็นส่วนน้อย   แต่ว่ามีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าเขตปกครองพิเศษนั้นกลับสามารถเป็นตัวหยุดการแบ่งแยกดินแดนได้  
 
ศ.ดร. ชัยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่าการแก้ไขปัญหาภาคใต้นั้นยากเพราะปัจจัย 3 เรื่อง หนึ่ง เกิดสภาวะ “อุตสาหกรรมความไม่มั่นคง” ในพื้นที่ หลายฝ่ายได้ประโยชน์จากการที่สถานการณ์ความรุนแรงดำรงอยู่ สอง ทางเลือกที่จะเกิดนั้นยากเพราะ “วาทกรรมความมั่นคง” ที่ครอบอยู่ และสาม สังคมไทยเข้าใจว่าตนเองนั้นเป็นสังคมที่ดี โอบอ้อมอารีและอดทนต่อความแตกต่าง แต่ว่าปัญหาภาคใต้นั้นเหมือนเป็นหนามที่ทิ่มแทงความสำเร็จนี้อยู่ เหมือนเป็นก้อนกรวดในรองเท้า   ด้วยเหตุที่มองว่าสังคมไทยมองตนเองว่าเป็นสังคมที่ดีจึงปฏิเสธที่จะมองความเป็นจริงนี้อย่างซึ่งหน้า 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสื้อแดงปทุมฯฮือไล่ "อภิสิทธิ์" ไม่พอใจสลายชุมนุมปี 53

Posted: 29 Jun 2012 08:18 AM PDT

กลุ่มคนเสื้อปทุมธานีฮือตะโกนไล่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้าน ไม่พอใจเรื่องการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 จนกองเชียร์ทั้งสองฝ่าย เกิดปะทะถึงขั้นปาขวดน้ำแต่ไม่ลุกลามรุนแรง
 
29 มิ.ย. 55 - เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าเวลา 19.00 น. พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดงาน “ราตรีสีฟ้า พรรคประชาธิปัตย์พบประชาชน คนปทุมธานี” ที่โรงเรียนชุมชนประชาธิปัตย์วิทยาคม ริมคลองเทศบาลนครรังสิต โดยระหว่างที่แกนนำพรรคขึ้นปราศรัย ปรากฏว่ามีคนเสื้อแดงทยอยมารวมตัวกัน ที่บริเวณด้านหน้าโรงเรียน ซึ่งเป็นจุดที่รถของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้น้ำฝ่ายค้าน จอดไว้ภายในงาน
 
จนกระทั่งเวลา 19.30 น. ได้มีรถกระบะติดป้าย“แดงปทุม” พร้อมเครื่องขยายเสียงวิ่งมาจอดบริเวณด้านหน้าโรงเรียน พร้อมหันลำโพงไปทางเวทีพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปราศรัยโจมตีขับไล่นายอภิสิทธิ์ เนื่องจากแสดงความไม่พอใจเรื่องการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 พร้อมกับขอให้ออกจากพื้นที่ไประหว่างที่นายอภิสิทธิ์ กล่าวปราศรัยบนเวทีกับผู้ให้การสนับสนุนเช่นกัน จนทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปิดประตูทางเข้าโรงเรียนเพื่อป้องกันเหตุวุ่นวาย ขณะที่แขกเหรื่อที่มาร่วมรับประทานโต๊ะจีนพากันลุกขึ้นเดินออกมาตะโกนตอบโต้กับคนเสื้อแดง จนเหตุการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น เมื่อมีการขว้างปาขวดน้ำและสาดน้ำใส่กัน
 
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าไปขอร้องให้ทุกคนกลับเข้ามาในงาน และระหว่างนั้นเอง นายอภิสิทธิ์ กล่าวปราศรัยตอบโต้ว่า “คนที่มาเรียกร้องหาฆาตกร ขอให้ไปหาที่อื่น เพราะเขากำลังทำเรื่องล้างผิดกันอยู่” แต่คนเสื้อแดงยังคงพยายามตะโกนขับไล่ จนเวลา 20.40 น. นายอภิสิทธิ์ กล่าวปราศรัยเสร็จสิ้นและเปลี่ยนไปขึ้นรถป้ายทะเบียนปทุมธานีออกไปทางประตูหลังของโรงเรียนเพื่อเดินทางกลับไป ขณะที่คนเสื้อแดงทราบว่า นายอภิสิทธิ์ เดินทางกลับแล้วต่างทยอยเดินทางกลับเช่นเดียวกัน โดยไม่เหตุการณ์รุนแรงบานปลายแต่อย่างใด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลยะลาชี้ 'อัสฮารี สะมาแอ' เสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัว

Posted: 29 Jun 2012 07:25 AM PDT

เมื่อวันที่ 28  มิถุนายน เวลา 2555  เวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดยะลา ได้อ่านคำสั่งคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายอัสฮารี สะมะแอ ในคดีหมายเลขดำที่ ช.13/2552  ว่า  ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานว่า นายอัสฮารี สะมะแอ  ถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ  และถูกทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส สมองช้ำ และต่อมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา  เนื่องจากประจักษ์พยานยืนยันว่าตนเองถูกทำร้ายร่างกายพร้อมนายอัสฮารี จนได้รับบาดเจ็บ คำเบิกความดังกล่าว  สอดคล้องกับมีใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร และสภาพบาดแผลตามร่างกายของนายอัสฮารี  จึงเชื่อได้ว่านายอัสฮารีเสียชีวิตในระหว่างควบคุมตัวเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย
 
ภายหลังจากศาลมีคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ศาลให้ส่งสำนวนไต่สวนดังกล่าวไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับคดีอาญาต่อไป
 
เหตุคดีนี้เมื่อวันที่  21 กรกฎาคม 2550  ระหว่างการควบคุมตัวนั้นนายอัสฮารีและเพื่อนได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 หน่วยเฉพาะกิจที่ 13 จังหวัดยะลา  ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ได้อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก  ทำร้ายร่างกายในระหว่างการจับกุมและควบคุมตัว  จนได้รับบาดเจ็บสาหัส  และทำให้นายอัสฮารีเสียชีวิต ในเวลารุ่งเช้าของวันที่ 22 กรกฎาคม 2550  ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ซ้อมทรมานแบบไทยๆ" เปิดปมปัญหา-หลากข้อเสนอรูปธรรม

Posted: 29 Jun 2012 07:21 AM PDT

ญาติเหยื่อทหารเกณฑ์ตายคาแข้งครูฝึก เล่าประสบการณ์เรียกร้องความเป็นธรรมที่ยังมาไม่ถึง ทนายความสิทธิฯ เผย 3 คดีเหนือ-อีสาน-ใต้ โชว์ความบกพร่องกฎหมายพิเศษ องค์กรสิทธิเสนอร่าง กม.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนการซ้อมทรมาน ขณะศาลเตือนตั้งองค์กรใหม่ไม่เวิร์ค-เปลืองงบประมาณ

 


ภาพโดย Eric Constantineau (CC BY-NC 2.0)

ในการเสวนาสาธารณะ เรื่อง การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาเหยื่อซ้อมทรมาน ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. เนื่องในวันต่อต้านการซ้อมทรมานสากล พรเพ็ญ คงเจริญเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้ดำเนินรายการ กล่าวนำการอภิปรายว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน ซึ่งให้นิยามคำว่า "การทรมาน" ไว้ว่าคือการทำให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำที่เป็นเจตนา โดยมุ่งหมายต่อข้อสนเทศ คือ การรับสารภาพ หรือข้อมูลข่าวสาร ที่อาจจะเป็นประโยชน์กับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่หากผู้ที่กระทำการดังกล่าวไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ จะไม่ใช่การทรมานตามความหมายนี้ อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นว่าการทรมานกระทำได้ ถ้าเป็นการลงโทษที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังมีโทษประหารชีวิต ซึ่งก็เป็นที่วิจารณ์กันในวงการสิทธิมนุษยชนว่า อาจเข้าข่ายการทรมาน หรือเป็นการปฏิบัติโดยไร้มนุษยธรรมด้วย


ญาติเหยื่อบอกเล่าความยุติธรรมที่ยังมาไม่ถึง

ด้าน นริศราวัลณ์ แก้วนพรัตน์ นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงการเรียกร้องความเป็นธรรมในพลทหารวิเชียร เผือกสม น้าชาย ซึ่งเป็นทหารเกณฑ์ในพื้นที่สามจังหวัดและถูกครูฝึกรุมทำร้ายจนเสียชีวิต โดยได้ร้องเรียนมาตั้งแต่หลังจากผู้ตายเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.54 จนปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

เธอเล่าว่า ก่อนหน้านี้ พลทหารวิเชียรเป็นพระมาตลอด 8 ปี หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาโท คณะสังคมสงเคราะห์ มธ. ได้แจ้งทางบ้านว่าจะขอสึกไปทำงาน 6 เดือน โดยไม่ได้แจ้งว่าจะไปเกณฑ์ทหาร ทางบ้านได้ทราบเรื่องก็เมื่อค่ายพล ร.151 โทรแจ้งเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ว่า พลทหารวิเชียรหลบหนีจากค่าย เมื่อสอบถามหัสดี ทางบ้านจึงได้ทราบว่าพลทหารวิเชียรได้สมัครเป็นทหารเกณฑ์ในสามจังหวัดเนื่องจากมองว่ากำลังพลขาด ต่อมา ได้รับแจ้งว่าพลทหารวิเชียรกลับมาที่ค่ายแล้วและไม่ได้ข่าวอีก จนเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ได้รับแจ้งว่า พลทหารวิเชียรนอนอยู่ห้องไอซียู โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส จึงได้สอบถามไปยังค่ายทหารซึ่งได้รับคำตอบว่าพลทหารวิเชียรยังอยู่ในค่าย อย่างไรก็ตาม เมื่อทางบ้านได้ตามไปที่โรงพยาบาล ปรากฏว่า พลทหารวิเชียรไม่สามารถตอบสนองใดๆ ได้แล้วและเสียชีวิตในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ได้ทราบว่า ก่อนเสียชีวิต พลทหารวิเชียรได้แจ้งชื่อผู้กระทำทั้งหมด 10 นายแก่แพทย์ พร้อมบอกรายละเอียดเพื่อติดต่อมารดาเอาไว้ด้วย

เธอชี้ว่า ในงานศพพลทหารวิเชียร มีความไม่โปร่งใส อาทิ มีร้อยโทนายหนึ่งเข้ามาช่วยเหลืองานศพ ตั้งแต่วันแรกที่นำศพกลับมา และเจรจาขอคลุมธงชาติ รับขอพระราชทานเพลิงศพ พร้อมเสนอเงิน 3 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 5 ล้านบาทเมื่อทราบว่าผู้ตายมีวุฒิการศึกษาสูง ต่อมา ทางครอบครัวทำหนังสือไปที่ต้นสังกัดเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม แต่ก็ไม่มีคำตอบในเรื่องดังกล่าว จึงตัดสินใจเก็บศพไว้ ยังไม่ฌาปนกิจตามกำหนดเดิม โดยที่ผ่านมา ได้ยื่นหนังสือถึงทั้งแม่ทัพภาคที่ 4 ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ก็ไม่มีการตอบกลับมา จนบังเอิญ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เดินทางมามอบทุนการศึกษาที่จ.สงขลา จึงเข้าไปขอความเมตตา ต่อมา มีการสอบสวนปรากฏว่าทหาร 9 นายถูกดำเนินคดี ส่วนร้อยโทที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้สั่งการถูกคุมขังเพียง 15 วัน และปัจจุบันยังไม่ถูกดำเนินคดี

เธอเล่าว่า คดีนี้ถูกส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และใช้เวลานานกว่าจะโอนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดย ป.ป.ช.ระบุว่ายศต่ำกว่าพลตรีต้องโอนไปที่ ป.ป.ท. ทั้งนี้ ยืนยันว่ามีเอกสารชัดเจนที่จะเอาผิดร้อยโทในกรณีนี้ แต่เมื่อตรวจสอบสำนวนที่ ป.ป.ท. ปรากฏว่าไม่พบเอกสารดังกล่าว ด้านศาลทหารเลือกดำเนินคดีตามมาตรา 157 เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเท่านั้น ส่วนข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนายังอยู่ในระหว่างการชี้มูลของ ป.ป.ท.

เธอเล่าว่า ที่ผ่านมา ได้เรียกร้องและทวงถามถึงการดำเนินการกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็กลับมีการโยนความรับผิดชอบไปมา จนไม่รู้จะเรียกร้องความเป็นธรรมจากไหนได้ บางครั้ง ถามตัวเองว่าทำไมไม่รับเงินตามที่มีการเสนอเสีย จะได้ไม่ต้องวุ่นวาย ปัจจุบันก็ไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ ต้องเดินทางไปร้องเรียน-ทวงถาม เวลาเดินทางก็ต้องระวังตัว เพราะมีการข่มขู่ครอบครัวเธอด้วยว่า คนตายก็ตายไปแล้ว ถ้าเลือกจะร้องเรียน คนเป็นอาจจะตายตามไป อย่างไรก็ตาม เธอทิ้งท้ายว่า ไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคนอื่นอีกแล้ว อยากให้ทหารในสามจังหวัดเสียสละชีวิตเพราะแผ่นดินเกิด ไม่ใช่เพราะลำแข้งทหารหรือครูฝึก


"ซ้อมทรมาน" กระทบถึงความมั่นคงของประเทศ

ซุกกรียะห์ บาเหะ ผู้ช่วยวิจัยกลุ่มด้วยใจ เรือนจำกลาง จ.สงขลา เล่าถึงผลการวิจัยของกลุ่มที่ทำกับผู้ต้องขังคดีความมั่นคง 50 รายจากทั้งหมด 118 ราย ระหว่างวันที่ 26 ก.ย.-3 ต.ค.54 โดยผู้ต้องขัง 80% ถูกซ้อมทรมานในช่วงปี 2547-2551 ช่วงเวลาที่ถูกซ้อมทรมานส่วนใหญ่คือ ช่วงจับกุม ช่วงระหว่างการเดินทาง และระหว่างถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยกลุ่มตัวอย่าง 63% ถูกข่มขู่ทำร้ายร่างกาย 72% ถูกทำร้ายด้วยปลายปืนห่อผ้า เพื่อให้ไม่ปรากฏร่องรอย 51% ถูกยึดทรัพย์ระหว่างตรวจค้น ทำให้ขณะที่รัฐมองชาวบ้านว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ชาวบ้านก็มองเจ้าหน้าที่ว่าเป็นโจร

ซุกกรียะห์ประเมินว่า ผู้คุมขังที่ถูกซ้อมจะสูญเสียความไว้วางใจ โดยแม้ตนเองซึ่งเป็นผู้ทำวิจัยจะนับถือศาสนาอิสลาม เป็นมลายูเหมือนกัน แต่เมื่อไปสัมภาษณ์ ก็จะถูกตั้งคำถามว่า เมื่อให้ข้อมูลจะถูกกระทำเพิ่มเติมหรือไม่ ส่วนอาการที่พบ คือ พวกเขาจะไม่ค่อยปฏิสัมพันธ์กับใคร นอนไม่หลับ ฝันร้าย ซึมเศร้า สูญเสียการควบคุมตัวเอง ตกใจง่ายเมื่อมีเสียงดัง พะว้าพะวง และตึงเครียด โดยมี 8 รายที่แม้จะนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีข้อห้ามฆ่าตัวตาย แต่พวกเขาก็ยังคิดฆ่าตัวตาย

ซุกกรียะห์ มองว่า ผลจากการถูกซ้อมทรมานกระทบต่อทั้งผู้ที่ถูกกระทำ ครอบครัว ชุมชน และความมั่นคงของประเทศ โดยระดับบุคคล เกิดความเครียด หวาดกลัว ระดับครอบครัว เกิดความไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่เมื่อเรื่องราวการซ้อมทรมานกระจายไปในระดับชุมชน ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ซึ่งบอกว่าจะพิทักษ์ประชาชน แต่กลับเห็นบางส่วนมาทำร้ายประชาชน และเมื่อความไว้วางใจที่ประชาชนเคยมีให้กับรัฐสูญเสียไป ทำให้ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศตามมาด้วย โดยแม้กระทั่งในปัจจุบัน ก็ยังมีการร้องเรียนจากครอบครัวผู้ต้องขังในพื้นที่อยู่

เธอเรียกร้องด้วยว่า อยากให้ผู้เกี่ยวข้องตระหนักเรื่องนี้ว่าการกระทำของคนๆ หนึ่งนั้นส่งผลกระทบกับประเทศอย่างไร พร้อมเรียกร้องให้รับผิดชอบการอยู่ในประเทศร่วมกัน ทั้งนี้ เชื่อว่าประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดพร้อมจะอยู่กับผู้นำที่มีความยุติธรรม ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม


หมอเชื่อ นิติวิทยาศาสตร์หยุดการซ้อมทรมานได้

พญ.ปานใจ โวหารดี สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า มีคำกล่าวว่า นิติวิทยาศาสตร์หรือนิติเวชคือการปฏิบัติเพื่อให้เกิดสิทธิมนุษยชนขึ้นมา โดยในประเทศที่เจริญแล้ว นิติวิทยาศาสตร์ก็จะเจริญตาม จะไม่มีการใช้พยานบุคคลในการสืบสวนสอบสวนมากนัก แต่จะใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ไม่ต้องซ้อมใครเพื่อให้ได้หลักฐาน แต่บางประเทศที่นิติวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญมากนักและจะต้องปิดคดี อาจทำให้เกิดการซ้อมเพื่อให้ได้ข้อมูล

พญ.ปานใจ ชี้ว่า ปัญหาของประเทศไทย คือนิติวิทยาศาสตร์ยังเติบโตได้ไม่เร็วและไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร โดยตำรวจส่วนใหญ่ยังพึ่งคำสารภาพ ยังไม่มีเจ้าภาพหลักในเรื่องนี้ และยังไม่มีความโปร่งใสเท่าที่ควร ทั้งนี้แม้ว่า กระบวนการการเยียวยาจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่จากการพูดคุยกับทนายและเหยื่อ พวกเขาอยากได้ความจริงก่อน ซึ่งกระบวนการใช้นิติวิทยาศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยได้

พญ.ปานใจ แนะนำด้วยว่า เมื่อมีเหตุการณ์ซ้อมทรมาน ต้องเข้าตรวจเพื่อเก็บพยานหลักฐานโดยเร็วที่สุด เพราะรอยฟกช้ำหรือบาดแผลบางอย่างอยู่ไม่นาน และการที่ไม่พบบาดแผลภายนอก ก็ไม่ใช่ว่าไม่เกิดการทรมานขึ้น โดยยกตัวอย่างการทรมานที่ออกแบบมาเพื่อไม่ให้ตรวจเจอ เช่น การให้นั่งอยู่ในท่าไม่สบายนานๆ การปิดกั้นประสาทสัมผัสบางแบบ เช่น ไม่ให้เห็น ไม่ได้ยินเสียง ซึ่งไม่บาดเจ็บ แต่ได้ผลอย่างมาก ทำให้แทบบ้าไปได้ ส่วนนี้จำเป็นต้องใช้จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเข้าไปเก็บข้อมูลผลกระทบด้านจิตใจด้วย อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับสภาทนายความ พบว่า ศาลไทยยังไม่ค่อยยอมรับเรื่องของผลกระทบด้านจิตใจนัก ทั้งที่เธอมองว่าเรื่องนี้สำคัญกว่าผลกระทบด้านร่างกาย

ตัวอย่างจากเหนือ-อีสาน-ใต้ โชว์ข้อบกพร่องกฎหมาย "พิเศษ"
รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความคดีสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างคดีที่สะท้อนข้อบกพร่องของกฎหมาย โดยคดีแรกเกิดในชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน ประชากร 2 คนถูกเจ้าหน้าที่ชายแดนจับ ด้วยข้อหาว่าไม่เดินกลับผ่านทางด่านพรมแดน ตามกฎหมายแล้ว ทั้งสองเพียงแต่เสียค่าปรับ 1,000 บาท แต่ปรากฏว่า ทหารขออายัดบุคคลทั้งสองไว้ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ซึ่งสามารถคุมตัวไว้ 7 วันเพื่อสอบถาม โดยมีการเบิกตัวมาสอบสวนที่ค่ายทหารในวันที่ 9 ธ.ค.2549 เวลาประมาณ 21.00 น. วันต่อมา เวลาประมาณ 23.00น. ทั้งสองถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล คนหนึ่งบาดเจ็บสาหัส คนหนึ่งเสียชีวิต โดยทหารอ้างว่า ทั้งคู่ขอโดยสารมาในรถและกระโดดหลบหนี จนเสียชีวิตและบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไต่สวนและทำคำสั่งไม่เชื่อว่ากระโดดรถหลบหนี พร้อมซักพนักงานสอบสวนท้องที่ที่ทำสำนวนไปในทิศทางที่เจ้าหน้าที่ททหารกล่าวอ้างว่า เหตุใดจึงไม่สอบสวนว่าขณะที่ทั้งสองกระโดดนั้น รถขับมาด้วยความเร็วเท่าใด

จากกรณีนี้ รัษฎาชี้ว่า กระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นต้องให้ความยุติธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ไม่จำเป็นต้องเข้าข้างประชาชน แต่ต้องทำให้เป็นกลาง และตั้งคำถามว่า การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ให้อำนาจแก่ทหารควบคุมประชาชน นำตัวไปซักถามที่ค่ายทหาร ในเวลากลางคืน เป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ยัดข้อหาหรือไม่

กรณีที่สอง เกิดในภาคใต้ กรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ซึ่งทหารควบคุมตัวอิหม่ามยะผา พร้อมคนที่บ้านรวม 6 คน เอาไปแถลงข่าวว่าร่วมก่อความไม่สงบ คุมตัวไว้ในค่ายทหาร เอาขึ้นรถผู้ต้องหาโรงพักของตำรวจ จากนั้นมีการนำตัวอิหม่ามออกมาซ้อมแล้วนำกลับไปไว้ในรถ หกโมงเช้า อิหม่ามยะผาตายคาตักลูกชาย ส่วนอีก 5 คนถูกย้ายไปค่ายอิงคยุทธบริหาร อีก 20 กว่าวัน โดยอาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ให้อำนาจควบคุมบุคคลได้รวมแล้ว 30 วัน จากนั้นจึงปล่อยกลับมา โดยไม่ดำเนินคดีใดๆ

รัษฎากล่าวถึงข้อจำกัดของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมว่า โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร กฎหมายมีข้อจำกัด ห้ามไม่ให้พลเรือนฟ้องเจ้าหน้าที่ทหารต่อศาล แต่ให้พนักงานอัยการ ศาลทหารเท่านั้นเป็นผู้ฟ้อง ซึ่งหากพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องสิทธิของประชาชนก็หมดไป หรือหากศาลชั้นต้นยกฟ้อง อัยการ หรือศาลทหารเห็นว่า ไม่ควรอุทธรณ์ คดีก็เป็นอันยุติไป ทั้งนี้ ตั้งคำถามว่า กฎหมายใดที่ยังจำกัดสิทธิของประชาชนหรือล้าหลังนั้น ควรจะแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกไปหรือไม่

ทั้งนี้ เขามองว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ใช้อยู่นั้น ก็เป็นกฎหมายที่ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งจะส่งผลให้เจ้าหน้าที่ลุแก่อำนาจ

นอกจากนี้ รัษฎา ยังตั้งคำถามถึงกฎหมายที่ให้อำนาจองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. ในการตรวจสอบว่าทำให้คดีไปรกอยู่กับ ป.ป.ช.มากเกินไปหรือไม่ โดยยกตัวอย่างคดียาเสพติดในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีชายวัยรุ่นแขวนคอตายในท้องนา มีตำรวจระดับผู้กำกับเป็นจำเลย อยู่ด้วย ใช้เวลานานมากกว่าจะมีการส่งฟ้อง มีการส่งเรื่องไปที่ ป.ป.ช. แล้วใช้เวลาอีกหนึ่งปี กว่าจะมีการส่งเรื่องกลับมาว่าไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบ โดยระบุว่าเป็นอำนาจของ ป.ป.ท.เพราะเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ยศต่ำ ถามว่าแล้วเมื่อไหร่ประชาชนจะเข้าถึงความยุติธรรมเสียที

รัษฎากล่าวถึงการสัมมนาเกี่ยวกับร่างกฎหมายแก้ไขอำนาจหน้าที่ของ กสม.ว่า ไม่เห็นด้วยกับกรณีที่มีดำริจะห้ามเปิดเผยข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบของ กสม. โดยชี้ว่า การที่ กสม.ลงพื้นที่ มีสื่อไปทำข่าว มีเวทีสาธารณะ ให้ประชาชนได้เข้าฟัง ทำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แต่หากการตรวจสอบเป็นความลับ ประชาชนจะไม่รู้ว่ามีการดำเนินการถึงขั้นไหนแล้ว รวมถึงยังไม่เห็นด้วยกับดำริที่จะลดอำนาจฟ้องคดีแทนประชาชนผู้เสียหาย โดยมองว่านี่เป็นดาบที่ กสม.ควรจะมี เพื่อทำหน้าที่แทนประชาชน ซึ่งอาจไม่กล้าฟ้องหน่วยงานรัฐ

เสนอร่างกฎหมายป้องกันการทรมาน
พูนสุข พูนสุขเจริญ เจ้าหน้าที่รณรงค์กฎหมายป้องกันการทรมาน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานตั้งแต่ปี 2550 โดยมีพันธกรณีต้องแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามอนุสัญญา โดยต้องมีนิยามและฐานความผิดเรื่องการซ้อมทรมาน โดยในอนาคต ไม่ว่าจะโดยการออกกฎหมายใหม่หรือแก้ไขกฎหมายเดิมก็ตาม จะทำให้มีข้อหาเรื่องการซ้อมทรมาน

สำหรับสภาพปัญหาที่เกิดในพื้นที่ภาคใต้นั้น มีตั้งแต่ความไม่มั่นใจของผู้ถูกกระทำว่า หากร้องเรียนแล้วจะถูกทรมานเพิ่มหรือไม่ เมื่อร้องเรียนว่าถูกทรมานโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ปรากฏว่าถูกดำเนินคดีกลับ หรือแม้จะกล้าร้องเรียนแล้ว ก็ยังพบอุปสรรค โดยเจ้าหน้าที่บ่ายเบี่ยง ให้ไปร้องเรียนที่ สน.อื่น ทำให้หมดแรงและหมดศรัทธาในการร้องเรียนต่อ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการพิสูจน์พยานหลักฐาน ที่แพทย์ควรเข้าถึงผู้ถูกร้องเรียนเร็วที่สุด แต่ปรากฏว่ากว่าจะได้ร้องเรียน บาดแผลก็หายไปแล้ว เมื่อพบแพทย์เพื่อออกใบรับรอง แพทย์ในต่างจังหวัดก็อาจยังไม่เข้าใจว่าต้องเก็บพยานหลักฐานอย่างไร ด้านปัญหาในการดำเนินคดีในชั้นศาล อาทิ กรณีของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่ฟ้องทหารร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เมื่อศาลยกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้คดีถูกโอนจากศาลยุติธรรมไปศาลทหาร ซึ่งผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนร่วมในคดีต่อ ด้านการเยียวยา พบว่าผู้เสียหายไม่เคยได้รับการเยียวยาทางจิตใจอย่างเป็นระบบ รวมถึงแพทย์ยังมีความไม่เข้าใจการตรวจด้านนี้

เธอกล่าวต่อว่า แม้ว่าไทยจะมีทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญาที่ปกป้องสิทธิบุคคล รวมถึงให้มีการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่กลไกในบ้านเรายังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการนำบุคคลมาลงโทษ หรือเยียวยาผู้เสียหาย

สำหรับร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทรมาน พ.ศ.... ที่เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกันร่างขึ้น พูนสุข ระบุว่า มีการออกแบบให้มีคณะกรรมการ 12 คน โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน และคณะกรรมการมาจากการสรรหาของประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยมีอำนาจหน้าที่หลัก คือ ตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขัง เสนอแนะให้แก้ไขกฎระเบียบ สอบสวน เผยแพร่ความรู้อบรม กำหนดมาตรการเยียวยา นอกจากนี้ ยังให้มีพนักงานสอบสวนคดีซ้อมทรมาน เพื่อสร้างพนักงานที่เชี่ยวชาญในคดีประเภทนี้ด้วย

ข้อดีของการแก้กฎหมายอาญา คือ ไม่ต้องสร้างองค์กรใหม่ และมีเจ้าหน้าที่พร้อมอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ที่สอบสวนกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดอาจเป็นกลุ่มเดียวกัน ซึ่งจะขัดกับหลักเป็นกลางในการสอบสวน ขณะที่หากออกกฎหมายเฉพาะ ซึ่งมีการเสนอให้มีคณะกรรมการป้องกัน สอบสวน เยียวยาโดยเฉพาะ มีข้อดีคือ ผู้ที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนมีความเป็นกลางมากกว่าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมถึงจะอนุวัติตามพันธกรณีได้ครบถ้วนและมีสภาพบังคับมากกว่าการใช้กลไกการบริหารอย่างเดียว แต่ข้อเสียซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันคือ การสร้างองค์กรใหม่อาจเปลืองงบประมาณและเจ้าหน้าที่ในคณะกรรมการอาจไม่มีเวลานั่งดู แต่หากกำหนดอยู่ในกฎหมายอาญาจะผูกพันเจ้าหน้าที่มากกว่า

 

เสนอมาตรการแก้ปัญหา
ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา ได้แก่ 1.ประกาศยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ หากไม่สามารถเลิกได้ ให้ลองงดใช้บางช่วง เพื่อทดสอบว่าเอาอยู่หรือไม่ หากควบคุมไม่ได้ จะได้มีเหตุผลในการประกาศใช้ต่อ รวมถึงอาจลดดีกรีการบังคับใช้ลง ดังเช่นที่มีการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย) แทนกฎอัยการศึกเป็นต้น 2.ควรอนุวัติกฎหมายให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และ 3.เร่งลงสัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลมิให้ถูกบังคับให้สูญหายโดยเร็ว พร้อมออกกฎหมายให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าว

นอกจากนี้ มาตรการด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา เจ้าหน้าที่ที่จะลงพื้นที่จะต้องเรียนรู้มิติด้านภาษาและวัฒนธรรมด้วย ส่วนมาตรการคุ้มครองกลไกสิทธิ จะต้องมีการสร้างระบบให้โปร่งใสในทุกขั้นตอนตั้งแต่ตรวจสอบ จับกุม คุมขัง จนกระทั่งปล่อยตัว เช่น มีการบันทึกภาพอย่างละเอียด รวมถึงบันทึกรับส่งตัว ห้องสอบปากคำควรเป็นห้องกระจกใส ไม่สอบในยามวิกาล

เหยื่อสงครามยาเสพติดในอีสาน
พิกุล พรหมจันทร์ เครือข่ายญาติผู้เสียชีวิตและผู้เสียหาย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัญหาในพื้นที่ภาคอีสานนั้นไม่เหมือนกับในภาคใต้ โดยในอีสาน เกิดจากการกระทำของตำรวจ อันเป็นผลมาจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดในช่วงปี 2546-2548 ประชาชนที่ด้อยโอกาสและยากจนมักถูกกระทำหรือซ้อมทรมาน ขณะที่ผู้มีอิทธิพล มีบารมีรอดตัวไป

พิกุล กล่าวว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ก็เป็นไปได้ยาก เพราะเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจกันหมด ทำให้ไม่มีพยานหลักฐาน ไม่รับแจ้งความ ไม่มีการสืบสวนสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ชันสูตรที่เกิดเหตุ เมื่อไปร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองก็ถูกปฏิเสธ เพราะเป็นนโยบายของผู้ว่าฯ ที่จะปราบปรามยาเสพติด

พิกุล เล่าว่า จากการเสียชีวิตของหลานชายในปี 47 ทำให้เธอต้องออกมาเรียกร้อง คาดว่าคดีนี้มีตำรวจตั้งแต่ระดับผู้กำกับลงมาเกี่ยวข้อง 6 ราย ซึ่งจะมีคำพิพากษาในวันที่ 30 ก.ค.นี้ โดยก่อนหน้านี้ คดีไปค้างอยู่ที่ ป.ป.ช.นานร่วม 3 ปี ทั้งที่แม้แต่คนไม่รู้กฎหมายอย่างเธอยังรู้ว่านี่เป็นคดีอาญา พร้อมเรียกร้องด้วยว่า อยากให้มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษเป็นอันดับแรก เพื่อไม่ให้มีการละเมิดรายอื่นซ้ำอีก

พิกุล กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีการมอบเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทให้กับกรณีภาคใต้แล้ว อยากขอให้มองไปทางภาคอีสานบ้าง เพราะเมื่ออยู่ใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน ก็น่าจะได้รับความเป็นธรรมเหมือนกัน

"ศาล" ห่วงตั้งองค์กรอิสระเพิ่ม เปลืองงบประมาณ
ดล บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า การเยียวยาเหยื่อทางจิตใจนั้น ศาลพร้อมอยู่แล้ว รอแต่กฎหมายเปิดช่อง อย่างไรก็ตาม ความยากคือความเสียหายทางจิตใจจะแปรเป็นตัวเงินได้อย่างไร เพราะศาลชินกับค่าเสียหายตามความเป็นจริง เสียหายเท่าไหร่ก็จ่ายตามใบเสร็จ ยกตัวอย่างคดีซ้อมทรมาน แม้ไหล่ไม่หลุดแต่ทรมาน จะจ่ายเท่าไหร่ ทุกวันนี้ ไม่มีความชัดเจน ทำให้ศาลละล้าละลังที่จะจ่าย เรื่องนี้อาจต้องดูแนวของต่างประเทศว่ามีมาตรฐานอย่างไร

ต่อร่าง พ.ร.บ.การป้องกันการทรมาน ซึ่งเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นนั้น ดล แสดงความเป็นห่วง โดยกล่าวว่า องค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ก.ก.ต. กสม. ที่ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ 40 ที่มีแนวคิดดีนั้น ก็เห็นแล้วว่าทางปฏิบัติเป็นอย่างไร งบประมาณของรัฐที่ต้องเสียหายไปเท่าไหร่กับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ พร้อมตั้งคำถามว่า 10 กว่าปีแล้วพิสูจน์หรือยังว่าหน่วยงานเหล่านั้นทำงานได้คุ้มกับภาษีประชาชน ทั้งนี้ แนะนำว่าถ้าไม่คุ้มก็ทำให้คุ้มเสีย พร้อมยกตัวอย่างว่า กสม. นั้นขอให้ติดดาบและบวกกึ๋นหรือความกล้าเข้าไป เมื่อให้อำนาจไต่สวนและฟ้องก็ต้องฟ้อง

ดล แสดงความเห็นต่อว่า การตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวเป็นหัวใจสำคัญ ต้องมีคนเข้าไปตรวจสอบ โดยสถานที่คุมตัวนอกจากเรือนจำแล้ว ยังมีค่ายทหาร โรงเรียนตำรวจบางเขน ฯลฯ ซึ่งสถานที่เหล่านี้ต้องมีคณะกรรมการที่มีหน้าที่โดยตรงเข้าไปตรวจสอบและสุ่มตรวจ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังตลอดเวลา ส่วนจะถึงขนาดตั้งเป็นคณะกรรมการหรือไม่ ฝากว่าถ้าจะตั้ง ต้องเป็นกรรมการที่มีอำนาจตรวจสอบและไต่สวนเบื้องต้น มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้เสียหายได้เลย โดยอาจใช้หน่วยงานที่มีอยู่ เช่น กระทรวงยุติธรรม ดีเอสไอ ฯลฯ เพิ่มอำนาจหน้าที่เป็นชุดเฉพาะกิจ และอย่าใส่อำนาจเชิงนโยบาย ไม่ต้องตั้งให้ใหญ่ เพราะจะเทอะทะ ซ้ำซ้อน และเกี่ยงหน้าที่กัน

ทนายเผยญาติผู้ถูกคุมตัวร้อง เข้าเยี่ยมลำบาก
ด้าน อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งทำงานในจังหวัดปัตตานีกล่าวว่า การควบคุมตัวผู้ที่ต้องสงสัยโดยอาศัยกฎอัยการศึก ในค่ายทหารหรือที่เรียกว่ากรมทหารราบนั้น ญาติสามารถเยี่ยมได้บ้าง-ไม่ได้บ้าง แต่ช่วงหลังที่มีการเปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัวจากกรมทหารราบเป็นกรมทหารพราน ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ นอกจากนี้ ในการเยี่ยมนั้น มีเจ้าหน้าที่มายืนคุมอยู่ด้วย ทำให้การที่ผู้ถูกคุมตัวจะแจ้งต่อญาติว่าถูกทำร้ายร่างกายไม่สามารถทำได้ และเมื่อไม่รู้ว่ามีเหตุเกิดขึ้น ก็ทำให้ไม่สามารถนำแพทย์เข้าตรวจได้ทันที เพื่อให้ได้หลักฐาน

กรณีที่ ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กสม.ระบุว่า กรรมการสิทธิฯ มีอิสระที่จะตรวจสอบการทำงานของรัฐ อับดุลเลาะห์ กล่าวว่า ในความเป็นจริง พบว่า เมื่อมีการร้องเรียน กรรมการสิทธิฯ กลับส่งเรื่องให้กลไกของรัฐในพื้นที่ตรวจสอบ เช่น เมื่อมีการร้องเรียนสถานีตำรวจภูธร (สภ.) แห่งหนึ่งในยะลา กสม.กลับตั้งเรื่องให้ภูธรยะลาตรวจสอบ ซึ่งดูตามตรรกะแล้ว การตรวจสอบก็จะไม่อาจเกิดขึ้น เพราะตรวจโดยกลไกของรัฐเอง จุดนี้ ชาวบ้านได้ฝากว่าควรให้อีกองค์กรตรวจสอบจะดีกว่า

ยันทหารใช้ "อัยการศึก" เพื่อป้องปราม ไม่ใช่ปราบปราม
พันโทศิรสิทธิ์ แก้วบุญเมือง กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ในช่วงปี 51-55 การซ้อมทรมานในภาคใต้แทบไม่มีเลย ส่วนที่มีอยู่นั้นเป็นคดีค้างเก่า เพราะนโยบายของแม่ทัพภาคสี่ส่วนหน้า ห้ามกำลังพลกระทำกับพลเรือน นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ญาติเยี่ยมได้ทันทีในช่วงถูกควบคุมตัว โดยหากทนายความต้องการเยี่ยมก็ทำได้ แต่ขอให้ทำหนังสือแจ้งก่อน

ด้านการบังคับใช้กฎหมายที่มีการวิจารณ์กันนั้น พันโทศิรสิทธิ์ กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าในอนาคตจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน โดยขณะนี้มีการนำร่องแล้วในสี่อำเภอในสงขลา และหนึ่งอำเภอในปัตตานี อย่างไรก็ตาม การใช้กฎอัยการศึกตามแนวชายแดนนั้นมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องมี เพื่อป้องกันประเทศ ทั้งนี้ชี้แจงว่า ทหารไม่ได้ใช้กฎอัยการศึกเต็มที่หรือใช้เพื่อปราบปราม แต่เป็นการใช้เพื่อป้องปรามเท่านั้น เช่น ห้ามออกนอกพื้นที่ ห้ามมีระเบิด พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ใช้อำนาจละเมิดสิทธิหรือก้าวก่ายสิทธิคนอื่น ส่วนการเยียวยานั้น ก็ไม่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนเลยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
 

ความรับผิดชอบของฝ่ายปฏิบัติการ-ฝ่ายนโยบาย
สมชาย หอมละออ กรรมการปฎิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าสถิติการทรมานในสามจังหวัดที่ลงลด แม้จะยังไม่คงที่ ส่วนระดับประเทศ ปัญหานี้ของตำรวจลดลงมาก ซึ่งมองว่ามาจากการที่เจ้าหน้าที่มีความรู้ความเข้าใจดีขึ้น สื่อ องค์กรอิสระ และภาคประชาสังคม มีการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้น บทบาทของศาล ศอ.บต. กอ.รมน. ที่เอาใจใส่ที่จะลดปัญหา โดยมองว่าทุกภาคส่วนเริ่มตระหนักว่า สิทธิมนุษยชนและความมั่นคงไม่ใช่สิ่งที่ขัดแย้งกัน และหากสร้างดุลยภาพได้ ก็จะทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไปได้

สมชาย กล่าวว่า ไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ภาคใต้เท่านั้นที่สังคมไทยกำลังเรียนรู้ ความขัดแย้งทางการเมืองช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราก็กำลังเรียนรู้เช่นกัน ในฐานะกรรมการ คอป. พบว่า กรณี 7 ต.ค.2551 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าควบคุมฝูงชน และถูกดำเนินคดี โดยคดีค้างอยู่ ป.ป.ช. มีคำถามว่าเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามกฎหมายกับฝ่ายรับผิดชอบเชิงนโยบาย จะแบ่งรับผิดชอบกันอย่างไร หรือกรณีเหตุการณ์เมื่อปี 53 เจ้าหน้าที่เริ่มเรียกร้องว่าคำสั่งฝ่ายนโยบายต้องเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่ด้วยวาจาและในที่สุดก็ผลักภาระความรับผิดชอบมาให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ทางปฏิบัติ

สมชาย เล่าว่า จากการรับฟังเจ้าหน้าที่ ได้ข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ไม่อยากจะซ้อมทรมาน แต่ต้องการรู้ว่าสิ่งใดทำได้ หรือทำไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีแรงกดดันที่ต้องปฏิบัติตามนโยบาย-คำสั่งการของฝ่ายนโยบายและแรงกดดันทางการเมืองและสังคม ทำให้เจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่เบี่ยงเบนไปจากหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน แต่ท้ายที่สุด คนรับผิดชอบคือ ตัวเจ้าหน้าที่เอง

 

 

AttachmentSize
(คลิกเพื่อดาวน์โหลด) คำถาม-คำตอบ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน พ.ศ...1.72 MB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

แผนปรองดองใหม่ของโคฟี่ อันนัน ตั้ง 'รัฐบาลสมานฉันท์' ในซีเรีย

Posted: 29 Jun 2012 07:11 AM PDT

โคฟี่ อันนัน อดีตเลขาฯ ยูเอ็น เผยแผนสันติใหม่ เสนอตั้งรัฐบาลเปลี่ยนผ่านอำนาจในซีเรีย โดยมีทั้งตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน กลุ่มมหาอำนาจร่วมหนุน ขณะที่เหตุรุนแรงล่าสุด สื่อหนุนรัฐบาลซีเรียตกเป็นเหยื่อโจมตี มีการสังหาร ทำลายอาคารและลักพาตัวพนักงาน
 
 

วันที่ 28 มิ.ย. 2012 โคฟี่ อันนัน ตัวแทนนานาชาติได้เสนอให้จัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนผ่านอำนาจของซีเรีย ที่รวมฝ่ายของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด และสมาชิกฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เพื่อหยุดสงครามภายในประเทศ
 
กลุ่มประเทศมหาอำนาจ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และรัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญกับรัฐบาลอัสซาด สนับสนุนแผนการดังกล่าวนี้ โดยจะมีการหารือในที่ประชุมของรมต. ต่างประเทศ ที่อันนันจัดขึ้นในเจนีวา วันเสาร์ (30) ที่จะถึงนี้
 
ตามคำบอกเล่าของทูตสหประชาชาติรายหนึ่ง แบบร่างของอันนันระบุว่ารัฐบาลรักษาการในซีเรียจะมีทั้งฝ่ายรัฐบาลอัสซาดและกลุ่มต่อต้าน เว้นแต่กลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้ที่ "การมีอยู่ของพวกเขาจะทำลายกระบวนการเปลี่ยนผ่านและเสี่ยงต่อการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลหรือบ่อนทำลายความพยายามในการปรองดอง"
 
"ดูจากการใช้ภาษาในแบบร่างแผนของอันนันทำให้เห็นว่า ตัวอัสซาดเองอาจจะถูกกันออกไป แต่ตัวแกนนำกลุ่มต่อต้านที่มีชื่อเสียงบางคนก็อาจถูกกันออกไปเหมือนกัน" ทูตสหประชาชาติอีกรายหนึ่งกล่าว
 
แต่ทางทูตก็เน้นย้ำว่า อย่างไรก็ตาม ในเอกสารของอันนันก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าอัสซาดจะถูกกันออกโดยอัตโนมัติ
 
แผนการของอันนันประกอบด้วยชุดเอกสาร "แนวนโยบายและหลักการของการเปลี่ยนผ่านในซีเรีย" ที่ส่งให้กับรมต. ที่จะเข้าร่วมประชุมในวันที่ 30 ที่จะถึงนี้ได้พิจารณา
 
การประชุมที่เจนีวาที่จะมีขึ้นนี้เป็นการประชุมของรมต.การต่างประเทศของเหล่ามหาอำนาจ รวมถึงสมาชิกถาวรของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และประเทศอย่างตุรกี, กาตาร์, คูเวต และอิรัก
 
เซอกี ลาฟรอฟ รมต.ต่างประเทศของรัสเซียกล่าวว่า ชะตากรรมของอัสซาดจะถูกกำหนดโดยการเจรจาระดับชาติ และปฏิเสธวิธีแก้ไขปัญหาใดๆ ก็ตามที่มาจากต่างประเทศ ในการหยุดยั้งความรุนแรงภายในประเทศ
 
"การประชุมที่เจนีวามีเป้าประสงค์ในการสนับสนุนแผนการของโคหี อันนัน และจะต้องมีการจัดสภาพการณ์ให้เหมาะสำหรับการหยุดยั้งความรุนแรงและเริ่มต้นการเจรจาระดับชาติที่ประชาชนชาวซีเรียทุกคนมีส่วนร่วม และไม่มีการตัดสินใจไว้ล่วงหน้าสำหรับการเจรจา" ลาฟรอฟกล่าว
 
ลาฟรอฟบอกอีกว่า เป็นความผิดพลาดที่ไม่ได้ให้อิหร่านเข้าร่วมการหารือในครั้งนี้ด้วย
 
ฝ่ายต่อต้านบอกไม่ร่วมแผน หากไม่ระบุให้อัสซาดลงจากตำแหน่ง
 
ด้านฮิลลารี่ คลินตัน รมต.ต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวจากกรุงอฮลซิงกิประเทศฟินแลนด์ว่าเธอติดต่อกับอันนันในเรื่องแผนการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจในซีเรียเสมอ แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดแผนการของอันนัน
 
ฮิลลารี่ กล่าวว่า อันนันได้พัฒนาโร้ดแม็ปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในซีเรีย และได้แจกจ่ายออกไปเพื่อให้มีการวิจารณ์ และเมื่อฮิลลารี่ได้คุยกับอันนันวานนี้ เธอก็แสดงออกว่าสนับสนุนแผนการที่เขาเสนอมา
 
"พวกเราคิดว่า มันเป็นหลักการที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในซีเรียที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สงบสุข มีความเป็นประชาธิปไตย และมีผู้แทนที่สะท้อนความต้องการของประชาชนชาวซีเรียจริงๆ" ฮิลลารี่กล่าวเสริม
 
ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียกลาวในวันเดียวกันว่าพวกเขาจะไม่ยอมรับแผนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเว้นแต่ว่าในแผนการนั้นจะระบุให้อัสซาดลงจากตำแหน่งอย่างชัดเจน
 
"แผนการยังดูไม่ชัดเจนสำหรับพวกเรา แต่ผมบอกคุณได้ว่า หากมันไม่ได้ระบุให้อัสซาดลงจากตำแหน่งอย่างชัดเจน เราก็ไม่สามารถยอมรับได้" ซาเมียร์ นาชาร์ สมาชิกกลุ่ม SNC กลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรียกล่าว
 
 
สถานีโทรทัศน์หนุนรัฐบาลถูกโจมตี
 
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. คณะผู้ตรวจการของยูเอ็นได้เดินทางเยือนสถานีโทรทัศน์สนับสนุนรัฐบาลซีเรียที่ถูกกลุ่มติดอาวุธบุกเข้าโจมตี โดยเจ้าหน้าที่รายงานว่ามีพนักงาน 7 รายถูกสังหาร คนอื่นๆ ถูกลักพาตัว และอาคารถูกทำลาย 
 
สถานีดังกล่าวชื่อ อัล-อิคบาริยา ตั้งอยู่ใกล้กรุงดามาสกัส เป็นสถานีโทรทัศน์เอกชนที่สนับสนุนประธานาธิบดีอัสซาดอย่างมาก ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่ามีการใช้อาวุธระเบิด ขณะที่ช่างภาพข่าวต่างประเทศเข้าไปในพื้นที่รายงานว่าอาคารเคลื่อนที่ 5 หลัง ที่ใช้เป็นสำนักงานและสตูดิโอพังทลายลงมา มีเลือดเจิ่งนอกที่พื้น และเศษไม้บางส่วนยังมีไฟลุก กำแพงส่วนหนึ่งมีรอยกระสุน
 
รัฐบาลซีเรียกล่าวหาว่า ผู้ก่อเหตุดังกล่าวเป็นกลุ่มก่อการร้าย และกล่าวถึงการสังหารว่าเป็นการสังหารหมู่ ขณะที่กลุ่มกบฏในซีเรียปฏิเสธว่าพวกเขาไม่เคยมุ่งเป้าไปที่สื่อ
 
 
ที่มา: 
 
Kofi Annan proposes Syria 'unity government', Aljazeera, 28-06-2012
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/06/2012628423300508.html

Deadly attack on pro-Assad TV channel, Aljazeera, 27-06-2012
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/06/2012627132722216959.html
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาไทบันเทิง: รำลึก ผู้กำกับ นักเขียนบทภาพยนตร์ชื่อดัง Nora Ephron จากไปด้วยลูคีเมีย

Posted: 29 Jun 2012 05:03 AM PDT

เธอคือหนึ่งในนักเขียนบทภาพยนตร์ (และผู้กำกับ) หญิงไม่กี่คนของฮอลลีวู้ด ที่ได้รับการยอมรับในความสามารถ ทั้งการเขียนบทภาพยนตร์ (เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ถึง 3 ครั้ง) และงานกำกับภาพยนตร์ จากคนในวงการและนักแสดงทั้งหลาย หนังเรื่องล่าสุดของเธอ Julie&Julia หนังที่สร้างจากหนังสือขายดี (และชีวิตจริง) เกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่ง Julie Powell ที่ทำบล็อกขึ้นมา เพื่อบอกเล่าชีวิตของตัวเองและการทำอาหารตามอย่างนักเขียนตำราอาหารฝรั่งเศสในภาษาอังกฤษชื่อดัง Julia Child หนังที่ได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากนักวิจารณ์และผู้ชม ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลหลากลหายเวที (รวมถึงเวทีออสการ์ กับสาขานักแสดงนำหญิง) ได้รางวัลติดไม้ติดมือมาก็ไม่น้อย (ได้รับการเสนอชื่อ 16 รางวัล และได้รางวัลอีก 14 รางวัล) โดยเฉพาะบทภาพยนตร์ที่ Nora เขียนเอง (จากหนังสือของ Julie) และการแสดงของ Meryl Streep ที่ได้เข้าชิงออสการ์

ที่จริง Nora Ephron นั้น ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้กำกับฯ มือทองหนังรักโรแมนติก สร้างชื่อจากบทภาพยนตร์หนังรักโรแมนติกชื่อดัง ที่กลายเป็นหนังคลาสสิกไปแล้วอย่าง When Harry Met Sally ในปี 1989 นำแสดงโดย เม็ก ไรอัน และ Meg Ryan และ Bill Crystal และเธอก็นำ Meg Ryan มาร่มงานอีกครั้ง จน Meg Ryan ได้ชื่อว่าเป็นนางเอกหนักรักโรแมนติกในยุคนั้น กับหนังเรื่องต่อมา ที่ Nora Ephron เขียนบทภาพยนตร์และลงมือกำกับฯ เอง นั่นก็คือ Sleepless In Seattle ในปี 1993 กับการจับคู่ระหว่าง Meg Ryan และ Tom Hank ซึ่งทั้งคู่ก็กลับมาเจอกันอีกครั้งในปี 1998 กับหนังรักโรแมนติกออนไลน์ You’ve Got Mail ซึ่งเขียนบทภาพยนตร์และกำกับฯ โดย Nora Ephron เช่นเดียวกัน นอกจากนี้เธอยังเขียนบทหนังโรแมนติกคอมเมดี้อีกหลายเรื่อง รวมถึง Hang Up (ไดแอน คีนตัน เม็ก ไรอัน ลิซ่า คูโด) และ Bewitched (นิโคล คิดแมน)

Nora Ephron เสียชีวิตจากโรคลูคิเมีย ซึ่งไม่มีใครล่วงรู้มาก่อนว่าเธอป่วยเป็นลูคีเมียมานานแล้ว แต่ในหนังสือเล่มสุดท้ายที่เธอเขียน I Remember Nothing เหมือนเธอได้บอกใบ้ว่าเธออาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน โดยเธอได้เขียนจบท้ายด้วย การแยกสองสิ่งที่เธฮจะคิดถึง และไม่คิดถึง หากเธอเสียชีวิตไปแล้ว เช่น

สิ่งที่ฉันจะไม่คิดถึง : สาธารณรัฐโซเวียต ทวิตเตอร์ เดอะคาร์ดาเชียน (ซีรีส์สามพี่น้องสาวสวยตระกูล คาร์ดาเชียน) แม่บ้านทุกคน และความเจ็บป่วยทุกๆ ที่

สิ่งที่ฉันจะคิดถึง : ลูกๆ ของฉัน, นิค (สามีของเธอ Nicholas Pileggi) ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูใบไม้ร่วง วาฟเฟิล พาย ปารีส

นอกจากงานกำกับ และเขียนบทภาพยนตร์แล้ว เธอยังเขียนบทความให้กับนิตยสาร Esquire และ New York Times อีกด้วย โดยเธอสนใจเรื่องการเมืองและการเคลื่อนไหวของสิทธิสตรี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูโร 2012: บางแง่มุมของประเด็น ‘ผู้หญิง’ กับยูโร 2012

Posted: 29 Jun 2012 04:10 AM PDT

ขณะที่กลุ่ม FEMEN กำลังประท้วงเรื่องเซ็กส์ทัวร์ที่มาพร้อมกับการแข่งขันยูโร 2012 อีกด้านหนึ่งก็มีข่าวลือว่า Olga Kurylenko ดาราซูเปอร์สตาร์เลือดยูเครนจะเปลือยเพื่อชาติหากยูเครนได้แชมป์ (ซึ่งก็พลาดไปแล้ว) … และลองไปดูเรื่องราวบางแง่มุมของประเด็นผู้หญิงๆ ในการแข่งขันยูโร 2012

 ยูโร 2012 กับการเปลือยของสาวยูเครน

 

‘Olga Kurylenko’ เปลือยเพื่อชาติ?


Olga Kurylenko (ที่มาภาพ: wikipedia)

เมื่อช่วงต้นของการแข่งขันยูโร 2012 เว็บไซต์ euronews2012.com รายงานว่า Olga Kurylenko ดารานางแบบสาวเลือดยูเครนวัย 32 ปี นางเอกจากภาพยนตร์ชุด James Bond ตอน Quantum of Solace ที่ถึงแม้ว่าเธอจะโอนสัญชาติไปเป็นฝรั่งเศส แต่ยังมีใจให้กับประเทศบ้านเกิด โดยมีข่าวลือว่าหากยูเครนได้แชมป์เธอจะเปลื้องผ้าเพื่อฉลองแชมป์ให้กับยูเครน

ทั้งนี้ เว็บไซต์ euronews2012.com ไม่ได้ระบุว่า Kurylenko จะแก้ผ้าฉลองแชมป์ให้ยูเครนตอนไหนอย่างไร แต่ข่าวลือดังกล่าวก็กลายเป็นสีสันให้พูดถึงในการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ในช่วงต้นๆ

 

Yulia Tymoshenko หายไปไหน?

 

(ที่มาภาพ: wikipedia)

ก่อนมหกรรมยูโร 2012 จะเริ่มคาดหมายกันว่า Yulia Tymoshenko จะเป็นนางเอกตัวจริงของการแข่งขัน เธอเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงยูเครน ปัจจุบันถูกจำคุกในข้อหาทุจริต ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองหลังจากมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เธอทำให้ทั้งยุโรปจับตายูเครนประเทศเจ้าภาพร่วมด้วยการอดอาหารในคุกเพื่อประท้วงเนื่องจากถูกผู้คุมทำร้ายร่างกาย ทั้งนี้ตามกฎหมายของยูเครนเจ้าหน้าที่ทัณฑ์สถานมีสิทธิใช้อำนาจทางร่างกายต่อผู้ต้องขังได้ -- และนั่นคือการจุดประเด็นที่สำคัญให้ทั้งโลกจับตาเรื่องสิทธิมนุษยชนในยูเครนพร้อมๆ ไปกับมหกรรมการฟาดแข้งยูโร 2012

Tymoshenko เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศ ยูเครน เจ้าภาพร่วมฟุตบอลยูโรครั้งนี้มาแล้วถึง 2 สมัย โดยสมัยแรกเธอดำรงตำแหน่งเมื่อปี ค.ศ.2005 (9 เดือน) และสมัยที่สองตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 - 2010

หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 2010 เธอได้ลงแข่งขันรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่ก็พ่ายแพ้ให้กับ Viktor Yanukovych หลังความพ่ายแพ้นี้เองที่ทำให้ชะตาชีวิตเธอต้องดำดิ่งลง เธอถูกสอบสวนในข้อหาทุจริตหลายอย่าง อาทิ การเซ็นสัญญาขายแก็สให้กับรัสเซีย ในสมัยที่เธอยังเรืองอำนาจ เป็นต้น โดยศาลตัดสินว่าเธอมีความผิดและลงโทษจำคุกเธอ 7 ปี

ทั้งนี้พอการแข่งขันยูโร 2012 เริ่มขึ้น ข่าวคราวของเธอก็โดนประเด็น "ฟุตบอล" กลบไปเสียสิ้น

 

 

‘เปลือย’ เพื่อศักดิ์ศรี ‘FEMEN’ ความภูมิใจแห่ง “ผู้หญิงยูเครน”


แคมเปญ FUCK EURO ของกลุ่ม FEMEN ต่อต้านการแข่งขันยูโร 2012 ที่พวกเธอมองว่าเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมเซ็กทัวร์ให้แก่ยูเครน (ที่มาภาพ: http://femen.livejournal.com/)

นอกเหนือจากประเด็นของ Yulia Tymoshenko แล้ว ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปครั้งนี้ ก็มีเรื่องของผู้หญิงๆ ออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่ม FEMEN ที่ประท้วงการแข่งขันครั้งนี้อย่างแข็งขันด้วยนโยบาย “FUCK EURO”

FEMEN เป็นองค์กรกิจกรรมด้านสิทธิสตรีที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2008 ผู้ก่อตั้งและทำงานอยู่เบื้องหลังคือ Anna Hutsol นักเศรษฐศาสตร์หญิงชาวยูเครน ที่กรุง Kiev ประเทศยูเครน ก่อนที่จะมีการขยายเครือข่ายในระดับนานาชาติ พวกเธอต่อต้านอุตสาหกรรมเซ็กส์ทัวร์ และทำกิจกรรมประเด็นทางเพศที่เกี่ยวโยงกับสังคม-ความเท่าเทียม รวมถึงมีการพัฒนานักกิจกรรมหญิงรุ่นใหม่ในยูเครนขึ้นมา

เริ่มแรกทีเดียวสมาชิกของ FEMEN จะเป็นนักศึกษาสาวอายุระหว่าง 18 - 20 ปี คนมีส่วนร่วมกับการทำกิจกรรมประมาณ 300 คน (ซึ่งก็มีผู้ชายด้วยแต่เป็นจำนวนน้อย) โดยการประท้วงที่พวกเธอมักจะเลือกใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของ FEMEN ก็คือการเปลือยอกประท้วง (topless protests)


การประท้วงคัดค้านการปฏิรูปการเกษียณอายุ (ที่มาภาพ kyivpost.com)

นอกเหนือจากประเด็นเพศสภาพแล้ว FEMEN ยังใช้การรณรงค์ประท้วงแบบเปลือยอกนี้ต่อต้านเรื่องที่ไม่เป็นธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง เช่น ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011 พวกเธอก็ได้ปฏิบัติการเปลือยอกประท้วงรัฐบาลยูเครนที่กำลังเสนอแผนปฏิรูประบบการเกษียณอายุ ที่รัฐสภาในกรุง Kiev หญิงสาวเปลือยอก 3 ราย สวมพวงมาลัยไว้บนศีรษะ พร้อมป้ายข้อความประท้วงรัฐบาล พยายามวิ่งฝ่าเจ้าหน้าที่เข้าไปยังบริเวณทางเข้าอาคารรัฐสภา ขณะเดียวกันได้ร้องตะโกนสโลแกนต่อต้านการปรับเพิ่มอายุการเกษียณของผู้หญิง โดย FEMEN คัดค้านการปฏิรูปการเกษียณอายุ เพราะถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง

และในการแข่งขันยูโร 2012 ครั้งนี้ FEMEN ก็ออกมาต่อต้าน เพราะมองว่ามันเป็นเรื่องที่มากกว่าฟุตบอล โดยเฉพาะการ "กระตุ้นอุตสาหกรรมเซ็กทัวร์" ที่แฝงมากับมหกรรมกีฬาครั้งนี้ โดยเริ่มประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. ณ Independence Square ใจกลางกรุง Kiev ที่มีการประดับประดาดอกไม้ให้เป็นรูปมาสคอตของการแข่งขัน












การประท้วงเมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ Independence Square (ที่มาภาพ: cryptome.org)

ทัศนคติต่อยูเครนในยุคใหม่ของชาวต่างชาติ ที่ทำให้ FEMEN ต้องออกมาเคลื่อนไหว นั่นก็คือ "ดินแดนสวรรค์แห่งเซ็กส์ทัวร์" และว่ากันว่าก่อนหน้าการแข่งขันยูโร 2012 นี้ มีการลงทุนเปิดคลับเปลื้องผ้าแห่งใหม่ถึง 7 แห่งที่กรุง  Kiev เพื่อรองรับแฟนบอลจากประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน

"เรารู้ดีว่าพวกผู้ชายชอบอะไร พวกเขาต้องการเบียร์ ดูฟุตบอล จากนั้นพวกเขาก็จะคิดถึงเซ็กส์ เราต้องการจะทำให้แน่ใจว่าพวกเขาจะได้รับข้อความว่า ผู้หญิงยูเครนไม่ใช่วัตถุทางเพศ และประเทศยูเครนก็ไม่ใช่ซ่อง" Oleksandra Shevchenko นักกิจกรรมกลุ่ม FEMEN กล่าว

โดยในช่วงการแข่งขันยูโร 2012 นี้ FEMEN ก็ได้ออกมาประท้วงเป็นระยะๆ  

 

คลิปวีดีโอการประท้วงของ FEMEN ในแฟนโซนสวีเดน เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. (ดูภาพและคลิปวีดีโอของกลุ่ม FEMEN เพิ่มเติมได้ที่: http://femen.livejournal.com/)

 

 

Dick Kerr's Ladies บทเรียนในอดีตของการกีดกันผู้หญิงจากสนามฟุตบอล
 

 
(ที่มาภาพ: dickkerrladies.com)
 
การแข่งขันฟุตบอลหญิงก็ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับฟุตบอลสมัยใหม่ เช่นเดียวกับช่วงแรกของฟุตบอลชาย กีฬานี้เป็นเกมกีฬาของผู้หญิงชั้นสูง (ลูกผู้ดีมีเงิน) ก่อน โดยมีการแข่งขันอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1892  แต่การแข่งขันฟุตบอลหญิงก็ต้องถูกสกัดไม่ให้เติบโตและปราบปรามอย่างเด็ดขาด ด้วยค่านิยมที่มองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่บอบบาง ในปี ค.ศ.1896 สมาคมฟุตบอลดัตช์ออกคำสั่งไม่ให้มีการแข่งขันฟุตบอลหญิง และในปี ค.ศ. 1902 สมาคมฟุตบอลอังกฤษได้ออกกฎห้ามทีมฟุตบอลชายแข่งกับทีมฟุตบอลหญิงเด็ดขาด
 
แต่ทว่าการไหลบ่าเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมของแรงงานหญิงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ได้ทำให้กระแสฟุตบอลหญิงบูมขึ้นมาอีกครั้ง และคราวนี้ทีมที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงในยุคนั้นเป็นทีมที่ประกอบไปด้วยผู้หญิงชนชั้นแรงงาน ในนามทีม Dick Kerr's Ladies (ซึ่งนักเตะในทีมทำงานอยู่ในโรงงาน Dick, Kerr & Co. ในเมือง Preston) ที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1917 โดยมีผู้ชมแมตซ์เปิดตัวนี้กว่า 10,000 คน Deepdale เมือง Preston
 
ในปี ค.ศ.1920 มีแฟนบอลถึง 53,000 คน เข้าไปดูเกมระหว่าง Dick Kerr's Ladies กับ St. Helen's Ladies ที่สนาม Goodison Park ในเมือง Liverpool จากนั้นปี ค.ศ. 1921 ในอังกฤษก็มีทีมฟุตบอลหญิงผุดขึ้นอย่างน้อยกว่า 150 ทีม และสมาคมฟุตบอลหญิงก็เปิดตัวขึ้นในเมือง Blackburn
 
กระแสฟุตบอลหญิงต้องมาสะดุดอีกครั้ง คราวนี้สมาคมฟุตบอล(ชาย)ของอังกฤษ เริ่มรู้สึกว่าพวกเขาถูกคุกคาม ปี ค.ศ. 1921 สโมสรฟุตบอลหญิงถูกสั่งห้ามไม่ให้เล่นในสนามแข่งขันของฟุตบอลชาย รวมถึงการตัดความช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและการฝึกสอน ทำให้ฟุตบอลหญิงซบเซาเรื่อยมาจนถึงทศวรรษที่ 1990’s ที่เริ่มมีการปลุกกระแสฟุตบอลหญิงในอังกฤษอีกครั้ง

 

 

ว่าด้วยเกร็ด ประเด็น “ผู้หญิงๆ” กับกระแส “ยูโร 2012

แฟนบอลหญิงในโลกอิสลาม

ที่อิหร่าน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าแฟนหญิงถูกห้ามไม่ให้ชมเกมยูโร 2012 ที่ถ่ายทอดสดในสถานที่สาธารณะเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โดยในประเทศอิหร่านนั้น ส่วนใหญ่นิยมที่จะมีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลในโรงภาพยนตร์ แต่ทางการอิหร่านระบุว่าโรงภาพยนตร์กลับเป็นสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมเมื่อผู้ชายและผู้หญิงดูฟุตบอลด้วยกันในโรงภาพยนตร์

ทีวีจีนเรียกเรตติ้งให้ประกาศหญิงจีนนุ่งบิกินี


(ที่มาภาพ: http://www.wantchinatimes.com)

ผู้ประกาศข่าวสาวของ Guangdong TV ประเทศจีนกับยูนิฟอร์มชุดชุดบิกิรายงานข่าวพยากรณ์อากาศของประเทศยูเครน และโปแลนด์ เจ้าภาพร่วมฟุตบอลยูโร 2012

กลยุทธ์นี้ Guangdong TV นำมาใช้เพื่อแข่งขันเรียกเรตติ้งกับคู่แข่งอย่าง CCTV ที่เชิญ Li Yundi นักเปียนโนคลาสสิคคนดังของจีน มาบรรเลงเพลงของโชแปงช่วงข่าวกีฬาในช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 นี้

Guangdong TV ได้ทำการคัดสาวมาเป็นผู้ประกาศข่าว จากผู้เข้าประกวดเวทีชุดบิกินี่ Changlong ในเมือง Guangzhou จำนวน 10 คน โดยแต่ละคนมีอายุระหว่าง 18-30 ปี และต้องมีส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 162 เซนติเมตร

เมื่อ "ผู้หญิงไทย" ติดพนันบอล

เมื่อกลางเดินมิถุนายนที่ผ่านมา เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต้องจัดเวทีเสวนา “ผู้หญิง กับภัยร้ายพนันบอล” และจับมือเอแบคโพลล์ สำรวจความคิดเห็นและทัศนคติ “ผู้หญิงต่อการพนันฟุตบอล ช่วงยูโร 2012” ในกลุ่มผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี และ 20 ปีขึ้นไป 1,000 ราย ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 2-6 มิ.ย.นี้

ธนากร คมกฤส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน ได้เปิดเผยผลสำรวจดังกล่าวว่า จากกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.5 ยอมรับว่าเคยเล่นการพนัน แม้จะรู้ว่าผิดกฎหมาย ศีลธรรม เกิดปัญหาสังคม หากพิจารณาการเคยเล่นพนันพบข้อมูลที่น่าตกใจว่าในกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี เคยพนันบอลมาแล้วถึงร้อยละ 40.6 เมื่อจำแนกตามกลุ่มอาชีพ พบว่าเป็นกลุ่มว่างงานถึงร้อยละ 75.0 รองลงมา คือ ข้าราชการร้อยละ 70.6 ธุรกิจส่วนตัว/ค้าขายร้อยละ 69.8 เกษตรกร/รับจ้างร้อยละ 68.3 แม่บ้าน/เกษียณอายุร้อยละ 63.6 พนักงานบริษัทเอกชนร้อยละ 63.2 และนักเรียน/นักศึกษาร้อยละ 49.0

ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งมองว่าการพนันบอลกำลังเป็นเรื่องปกติไปแล้วในสังคมไทย อีกทั้ง 1 ใน 4 ระบุว่าเคยมีประสบการณ์เล่นพนันฟุตบอลในช่วง 12 เดือนที่ผ่าน เมื่อสอบถามถึงสาเหตุที่ทำให้คนเล่นทายพนันบอล พบว่าร้อยละ 55.2 เล่นเพื่อความสนุก ร้อยละ 53.0 เล่นตามเพื่อน /แฟน ร้อยละ 46.6 ชอบลุ้น ชอบตื่นเต้น ร้อยละ 23.2 เห็นคนใกล้ชิดในครอบครัวเล่น และอื่นๆ เช่น คลายเครียด เข้าสังคมและหวังรวยทางลัด

 “ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากติดตามการแข่งขันฟุตบอล กลุ่มตัวอย่างระบุว่าร้อยละ 48.6 เจ็บไข้ได้ป่วย เพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ และร้อยละ 41.0 ต้องหยุดงานหยุดเรียนเนื่องจากติดตามดูการถ่ายทอดสด ร้อยละ 31.4 มีหนี้สิน ร้อยละ16.2 ถูกขู่กรรโชก ถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 15.9 ใช้หนี้ด้วยวิธีที่ผิด เช่น ค้ายาเสพติด ขายบริการทางเพศ และร้อยละ 11.4 เครียด พยายามฆ่าตัวตาย” ธนากร กล่าว

ด้าน จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ชี้ว่าแนวโน้มการพนันช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร คาดว่า กลุ่มวัยรุ่นผู้หญิงอาจจะต้องตกเป็นเหยื่อพนัน ส่งผลกระทบโดยตรง เกิดปัญหาหนี้สิน ความรุนแรงในครอบครัว และหากไม่มีการแก้ปัญหาอาจจะเลยเถิดทำให้ผู้หญิงถูกกระทำได้ง่ายขึ้น หรือหาทางออกด้วยวิธีที่ผิด เช่น ทำงานไซด์ไลน์ ขาย บริการเพื่อใช้หนี้ ถูกหลอกเป็นเหยื่อค้าบริการทางเพศ และจากข่าวที่ผ่านมา มีผู้หญิงต้องยอมขนยาเสพติดแลกกับเงินที่จะนำมาใช้หนี้พนันบอลอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ มูลนิธิได้ลงพื้นที่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ยังพบว่า ผู้หญิงที่ขับวินมอเตอร์ไซต์รับจ้าง มีแนวโน้มการเล่นพนันที่สูงขึ้น อย่างรายล่าสุด ต้องนำเสื้อวินไปขายในราคา 8 หมื่นบาท เพื่อนำเงินมาใช้หนี้พนัน อย่างไรก็ตามปัญหาผลกระทบจากพนันบอลไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้หญิงที่ติดพนัน กรณีผู้หญิงที่ไม่ได้เล่นแต่มีแฟน คนรัก หรือพี่น้องที่ติดพนัน ก็ส่งผล กระทบต่อผู้หญิงด้วย เช่น ถูกขโมยของมีค่าไปขาย หรือจำนำ ถูกขโมยเงิน เริ่มโกหก ไม่สนใจครอบครัว และพอมีปากเสียงกันก็จะนำไปสู่ความรุนแรงได้

“ลำพังเจ้าหน้าที่ตำรวจคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวมีมานานแล้ว และกฎหมายการจับกุมก็ยังไม่หมดไป อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตรวจจับอย่างจริงจัง รวมถึงกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ต้องมีหน่วยเฝ้าระวังพิเศษ เช่น เปิดศูนย์ครอบครัวคอยให้คำปรึกษา มีพื้นที่ระบายความรู้สึก รวมไปถึงศูนย์พึ่งได้ ของกระทรวงสาธารณสุข ควรออกมาให้คำแนะนำ และอยากเรียกร้องต่อสื่อควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ชี้ช่องให้เกิดการเล่นพนัน แต่ควรพูดถึงผลกระทบที่เกิดจากการเล่นพนันฟุตบอล” จะเด็จกล่าว

 

ข้อมูลประกอบการเขียน:

http://www.dickkerrladies.com/ (เข้าดูเมื่อ 11-6-2012)

http://en.wikipedia.org/wiki/Dick,_Kerr%27s_Ladies_F.C. (เข้าดูเมื่อ 11-6-2012)

http://en.wikipedia.org/wiki/FEMEN (เข้าดูเมื่อ 28-6-2012)

FEMEN Protest EURO 2012 (cryptome.org, 31-5-2012)

Iran bans women from Euro 2012 screenings (AFP, 10-6-2012)

Models report the weather for Chinese Euro 2012 coverage (WantChinaTimes.com, 10-6-2012)

Topless activists target Euro 2012 mascots in Ukraine (The Sun, 1-6-2012)

Topless FEMEN activists protest pension reform in Kyiv (kyivpost.com, 5-7-2011)

เมื่อ 'ผู้หญิง' ติดพนันบอล (คมชัดลึก, 15-6-2555)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สิทธิการนำแสดงต่อสาธารณะในคาเฟ่ จากศตวรรษที่ 19 ถึงบอลยูโร 2012

Posted: 29 Jun 2012 02:38 AM PDT

ข้อถกเถียงลิขสิทธิ์บอลยูโรเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทยทุกวันนี้ดูเผินเหมือนจะทำให้สังคมไทยเรียนรู้มากขึ้นกับปัญหาของการ “ผูกขาดลิขสิทธิ์” (ซึ่งจริงๆ เป็นการกล่าวซ้ำซ้อน เพราะลิขสิทธิ์คือการผูกขาดอยู่แล้ว [1]) แต่สิ่งที่ผู้เขียนเห็นไปพร้อมกันนั้นก็คือ ฝ่ายต่างๆ ที่ออกมาพูด ดูจะเน้นไปที่ประเด็นอื่นๆ ตั้งแต่เรื่องสิทธิผู้บริโภค ไปจนถึงประเด็นที่ดูจะไม่เป็นประเด็นทางธุรกิจอย่าง “ความใจแคบ” น้อยคนนักที่จะพูดเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งก็ไม่ต้องพูดถึงการตั้งคำถามกับระบบลิขสิทธิ์ที่เป็นอยู่โดยตรง ดังนั้นผู้เขียนในฐานะที่ศึกษาเรื่องนี้มาบ้างก็อยากจะพูดถึงประเด็นนี้ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน

สิทธิในการแพร่ภาพและเสียงรู้จักกันในภาษาระบบลิขสิทธิ์ในคำที่ความหมายมากกว่าว่า Performance Right หรือที่ผู้เขียนจะแปลในที่นี้ว่า “สิทธิในการนำแสดงต่อสาธารณะ” สิทธิที่ว่านี้ถือเป็นสิทธิลูกของลิขสิทธิ์ กล่าวคือผู้ถือครองลิขสิทธิ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะผูกขาดการนำแสดงสิ่งนั้นสู่สาธารณะแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเขาจะขายหรือมอบสิทธินั้นให้ผู้อื่นภายใต้เงื่อนไขใดๆ ก็ได้ตามแต่จะตกลงกัน

สิทธิในการนำแสดงต่อสาธารณะไม่ใช่สิ่งที่เกิดมาพร้อมกับลิขสิทธิ์ คำภาษาอังกฤษของลิขสิทธิ์อย่าง Copyright ก็ดูจะมีความหมายตรงตัวมากถึงต้นกำเนิดของมันซึ่งก็คือสิทธิในการทำสำเนา ในยุคแรกราวๆ ศตวรรษที่ 17-18 ลิขสิทธิ์ในทางปฏิบัติ คือสิทธิในการผูกขาดการตีพิมพ์ข้อเขียนแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น มันเป็นสิทธิที่เชื่อมโยงโดยตรงกับการขยายตัวของเทคโนโลยีทางพิมพ์และการล่มสลายของอำนาจศักดินาในยุโรป กล่าวคือในยุคศักดินายุโรปผู้ที่มีอำนาจการให้สิทธิการพิมพ์สิ่งต่างๆ ในรัฐก็คือกษัตริย์ และการที่ระบบกษัตริย์ในยุโรปล่มสลายหรืออ่อนอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจลง มันก็ทำให้สิทธิ์นี้ตกเป็นของเอกชนผู้สร้างสรรค์งาน และนี่คือต้นกำเนิดของแนวคิดเรื่องลิขสิทธิ์ร่วมสมัย

ขอบเขตการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องไม่ได้ต่างจากการขยายตัวของการทำให้สารพัดสิ่งกลายเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลในระบบทุนนิยม และ “สิทธิในการนำแสดงต่อสาธารณะ” ก็เป็นผลหนึ่งของการขยายตัวนี้

ต้นกำเนิดของสิทธินี้เกิดขึ้นในคาเฟ่แห่งหนึ่งในฝรั่งเศสช่วงกลางศตวรรรษที่ 19 เรื่องมีอยู่ว่ามีนักแต่งเพลงสามคนไปใช้บริการคาเฟ่แห่งหนึ่งซึ่งมีดนตรีสด และนักดนตรีในคาเฟ่แห่งนั้นก็ได้เล่นบทเพลงที่เป็นผลงานประพันธ์พวกเขาขึ้น นักแต่งเพลงเกล่านั้นพอได้ยินเพลงดังขึ้นก็มีความรู้สึกไม่พอใจว่าเหตุใดเพลงของพวกเขาถึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการค้าขายแต่เขากลับไม่ได้ผลประโยชน์เป็นตัวเงินใดๆ เลย [2] พวกเขารู้สึกไม่พอใจทางคาเฟ่มากๆ และพวกเขาก็ลุกออกไปจากคาเฟ่โดยที่ไม่ยอมจ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่มใดๆ พร้อมให้เหตุผลว่าการที่คาเฟ่นำเพลงของพวกเขามาเล่นโดยไม่จ่ายเงินให้พวกเขาเป็นการละเมิดสิทธิ์ตามกฏหมาย ดังนั้นพวกเขาก็มีสิทธิ์ที่จะไม่จ่ายค่าอาหารเครื่องดื่มเช่นกัน หลังจากนั้นเขาก็นำเรื่องไปฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ที่จะได้ส่วนแบ่งรายได้ยามที่บทเพลงของเขาถูกนำไปใช้ ศาลฝรั่งเศสตัดสินให้เขาชนะคดี และ “สิทธิในการนำแสดงต่อสาธารณะ” ก็ถือกำเนิดขึ้นมาในโลก และหลังจากที่พวกเขาชนะคดีราว 1 ปีนักแต่งเพลงทั้งสามพร้อมกับเจ้าของสำนักพิมพ์ที่ออกค่าใช้จ่ายในการสู้คดีให้ก็ร่วมกันตั้งองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์แห่งแรกของโลกนาม Syndicat des Auteurs, Compositeurs, et Editeurs de Musique (SACEM) ซึ่น ซึ่งองค์กรนี้ก็ยังดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ [3]

องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์มักจะเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า collecting society การที่มันถูกเรียกเช่นนี้เพราะมันมีลักษณะเป็น “สมาคม” (society) ที่ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของสมาชิกสมาคมมากกว่าที่จะเป็นบริษัทที่มุ่งจะแสวงกำไรให้องค์กร องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ก็เป็นองค์กรเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในภาคการผลิตสินค้าศิลปวัฒนธรรมซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่สามารถที่จะไปไล่เก็บค่าลิขสิทธิ์ด้วยตัวเองได้อย่างทั่วถึง และช่วงศตวรรษที่ 19 มันก็มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวแทนการเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้บรรดานักแต่งเพลงทั้งหลายที่เป็นสมาชิกสมาคมเมื่อเพลงของพวกเขาถูกนำไปใช้ในกิจกรรมทางการค้าต่างๆ

ในศตวรรษที่ 20 องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์เริ่มมีบทบาทมากขึ้นเมื่อเกิดอุตสาหกรรมบันทึกเสียงขึ้น เมื่อมีการบันทึกเสียง บทเพลงก็สามารถจะถูกนำไปเปิดในที่ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ก็มักจะตามไปเก็บถึงที่ น่าจะเรียกได้ว่าองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์สามารถตามไปเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้ในสถานธุรกิจทุกที่ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงเหล้า ดิสโก้เธค ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โรงแรม ฯลฯ นอกจากนี้แหล่งรายได้หลักขององค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ในหลายๆ ประเทศก็ยังเป็นการเก็บค่าลิขสิทธิ์จากผู้กระจายภาพและเสียงที่อุตสาหกรรมดนตรีถือลิขสิทธิ์ด้วยตั้งแต่วิทยุแบบ FM/AM ดั้งเดิมไปจนถึงเว็บฟังเพลงออนไลน์หรือกระทั่งเว็บวีดีโอแบบ Youtube ซึ่งในหลายๆ ครั้งที่เราเข้า Youtube แล้วขึ้นข้อความว่า “This Video is Not Available In Your Country” (น่าจะประมาณนี้ ผู้เขียนไม่ได้เช็ค) มันก็หมายความว่า Youtube ไม่ยอมจ่ายเงินให้องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ในประเทศของเราซึ่งถือลิขสิทธิ์เพลงนั้นๆ อยู่ และที่กล่าวมาทั้งนี้นี่คือภาคปฏิบัติทางธุรกิจของ “สิทธิในการนำแสดงต่อสาธารณะ” นั่นเอง

อาจมีผู้สงสัยว่าการเก็บค่าลิขสิทธิ์การเผยแพร่ดนตรีต่อสาธารณะมันทำจะเงินได้มากสักเท่าใดเชียว? ในโลกตะวันตกมีการแบ่งอุตสากรรมดนตรีเป็น 3 ส่วน คืออุตสาหกรรมบันทึกเสียง (recording industry) อุตสาหกรรมการแสดงดนตรีสด (live music industry) และอุตสาหกรรมการเผยแพร่ดนตรีต่อสาธารณะ (music publishing industry) โดยทั่วไปในปัจจุบันรายได้จากทั้ง 3 อุตสาหกรรมจะคิดเป็นราวๆ อุตสาหกรรมละ 1/3 ของรายได้ทั้งอุตสาหกรรมดนตรีทั้งหมดดังนั้นน้ำหนักความสำคัญมันจึงใกล้เคียงกันมาก อุตสาหกรรมสองส่วนแรกคงจะไม่ต้องอธิบายมากมายนัก แต่ส่วนที่สามหลายๆ คนก็งงงวยว่ามันคืออะไรกันแน่เมื่อเห็นชื่อมันครั้งแรก ความจริงในภาพรวมแล้วมันก็คือ อุตสาหกรรมการเก็บค่าลิขสิทธิ์นั่นเอง [4]

ถ้าชีวิตสาธารณะของมนุษย์ยุคปัจจุบันมีดนตรีอยู่ทุกที่ อุตสาหกรรมการเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการแสดงดนตรีต่อสาธารณะก็ยิ่งมีพื้นที่ในการเก็บค่าลิขสิทธิ์มากขึ้น ผู้เขียนได้กล่าวถึงสถานที่ต่างๆ องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์เหล่านี้แล้วในข้างต้น แต่ประเด็นที่คนมักจะสับสนกันก็คือ การเก็บลิขสิทธิ์การเผยแพร่ซ้ำในหลายระดับ (เช่น การเก็บกับสถานีวิทยุ แล้วมาเก็บอีกกับสถานีบันเทิงที่เปิดวิทยุของสถานีนั้นๆ) ได้หรือไม่

คำตอบคือได้ และนี่เป็นเรื่องปกติของระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ในประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก ถ้ากฏหมายไม่มีการระบุข้อยกเว้นไว้ชัดเจน โดยทั่วไปการเก็บในทุกระดับสามารถเกิดขึ้นได้โดยบริยาย ตัวอย่างการเก็บที่ซ้ำซ้อนที่สุดอย่างหนึ่งได้การการใช้งานดนตรีในงานแฟชั่นโชว์ ถ้างานโชว์ใช้งานดนตรีอันมีลิขสิทธิ์และจัดในสถานที่ยังไม่ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์การนำแสดงดนตรีต่อสาธารณะ ผู้จัดงานก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ก่อนรอบหนึ่ง ถ้าทางสถานีโทรทัศน์นำแฟชั่นโชว์นี้ไปฉายอย่างจริงจัง (มากกว่าการรายงานข่าวสั้นๆ) ทางสถานีโทรทัศน์ก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์อีกรอบ [5] และถ้ามีผู้เอาคลิปงานแฟชั่นโชว์นี้ไปขึ้นเว็บไซต์ทางเจ้าของเว็บไซต์ก็ต้องจ่ายอีกทอด [6] และถ้ากฎหมายไม่ระบุไว้ว่าการเผยแพร่ซ้ำตามสถานบันเทิงต่างๆ ไม่จัดเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ่พวกสถานบันเทิงต่างๆ ก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เช่นกันถ้าเอารายการแฟชั่นโชว์มาเปิด และการเก็บค่าลิขสิทธิ์จากบรรดาผู้ประกอบการแทบทุกชั้นนี้ก็เป็นที่มาจองรายได้ของอุตสาหกรรมการเผยแพร่ดนตรีต่อสาธารณะ

แน่นอนว่ารายละเอียดเหล่านี้ต่างกันไปในแต่ละระบบกฎหมาย กฎหมายอเมริการะบุชัดว่าสถานีวิทยุภาคพื้นดินต่างๆ ไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เจ้าของลิขสิทธิ์ดนตรี (ซึ่งต่างจากหลายๆ ประเทศที่ต้องจ่าย) แต่ในทางตรงข้ามพวกสถานีวิทยุออนไลน์กลับและพวกเว็บฟังเพลงออนไลน์กลับต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ซ้ำถึง 2 ชั้น คือกับองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ดนตรีเอกชนดังเดิมที่มักเก็บค่าลิขสิทธิ์แบบเหมาจ่าย และองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่เป็นองค์กรอิสระที่ตั้งมาโดยรัฐที่เก็บค่าลิขสิทธิ์โดยคิดจากจำนวนครั้งที่เพลงหนึ่งๆ ถูกฟังบนเว็บ [7] ในขณะเดียวกันในระบบกฏหมายไทยก็มีคดีที่ตัดสินว่าการเปิดเพลงในร้านอาหารไม่นับว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ เป็นต้น

ในประเทศทางยุโรปส่วนใหญ่องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ทางดนตรีจะมีแค่องค์กรเดียวเท่านั้นที่จะไล่ตามเก็บค่าลิขสิทธิ์การนำแสดงดนตรีต่อสาธารณะให้นักแต่งเพลงในประเทศของเขาทั้งหมด ทางด้านในอเมริกาก็มีถึง 3 องค์กรคือ ASCAP, BMI และ SASAC ซึ่งทั้งสององค์กรหลังก็เกิดขึ้นในเงื่อนไขของการแข่งกันกันโดยองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่ก็มักจะมีข้อเสนอที่ดีกว่าทั้งกับสมาชิกองค์กรและทางภาคธุรกิจที่ซื้อจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพื่อซื้อสัญญาอนุญาตในการเปิดเพลงสาธารณะจากองค์กร ทั้งนี้การมีองค์กรเดียวหรือหลายองค์กรนั้นจริงๆ ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าองค์กรเหล่านี้จะทำงานซ้ำซ้อนกันหรือไม่ กล่าวคือถ้าองค์กรเหล่านี้เกิน 1 องค์กรเก็บลิขสิทธิ์การแสดงดนตรีต่อสาธารณะของบทเพลงเดียวกันอย่างซ้ำซ้อนกัน มันก็จะสร้างความปวดหัวให้กับเจ้าของสถานบริการที่จะต้องจ่ายไม่รู้จักจบจักสิ้น และการทำงานที่ไม่เป็นระบบแบบนี้ก็อาจทำให้เงินที่เก็บมาได้ไปไม่ถึงบรรดาเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วย ซึ่งสภาวะที่ว่านี่คือสภาวะการเก็บค่าลิขสิทธิ์ดนตรีในไทยที่น่าจะเป็นประเทศหนึ่งที่มีองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์จำนวนมากที่สุดในโลกถึงหลายสิบองค์กร

น่าสนใจว่าองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ทางดนตรีเท่านั้นทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ภาพยนตร์ หรือกระทั่งกีฬาก็สามารถจะมีองค์กรแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมได้ แต่โดยทั่วไปอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมแบบนี้ก็ไม่ได้มีหน่วยงานพิเศษใดๆ ที่จะมาจัดการกับค่าลิขสิทธิ์เฉพาะทาง และผู้ที่ดำเนินการเก็บค่าลิขสิทธิ์ในแทบทุกแบบก็จะเป็นองค์กรที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เอง

ในกรณีของฟุตบอลมาตรฐานในการใช้กฎหมายลิขสิทธิ์โดยทั่วไปก็ไม่น่าจะแตกต่างจากดนตรีเพราะอยู่ใต้ตัวบทเดียวกัน การแยกแยะระหว่างการแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินและการเผยแพร่ทางเคเบิลเป็นสิ่งที่กฏหมายลิขสิทธิ์จำนวนมากแยกอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ตัวบทกฏหมายอเมริกันมีความชัดเจนมากว่าการเผยแพร่ “ฟรีทีวี” ทางเคเบิลทีวีนั้นทางผู้ให้บริการเคเบิลต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนดไว้กับหน่วยงานของรัฐตามยอดของสมาชิกของเคเบิลทีวีนั้นๆ ก่อนที่ทางหน่วยงานจะนำค่าลิขสิทธิ์ไปกระจายสู่เจ้าของลิขสิทธิ์อีกที นี่เป็นวิธีการที่รัฐเข้ามาแก้ปัญหาการเก็บค่าลิขสิทธิ์ซ้ำซ้อน และปัญหาที่ทางช่องเคเบิลต้องมานั่งเคลียร์ค่าลิขสิทธิ์สารพัดเช่นเดียวกับที่ทางฟรีทีวีได้ทำไปแล้ว [8]

อย่างไรก็ดีเท่าที่ทราบ ในไทยก็ไม่มีวิธีการป้องกันปัญหาแบบนี้ฝังอยู่ในระบบการแพร่ภาพ ลำพังการอ้าง “สิทธิผู้บริโภค” มาโจมตีทางฝั่ง GMMZ ที่ถือลิขสิทธิ์บอลยูโรและใช้อำนาจรัฐมาบังคับให้ทาง GMMZ ปล่อยสัญญาณก็คงจะเป็นสิ่งที่ขัดกระแสโลกพอควร เพราะนี่คือการเวรคืนลิขสิทธิ์ให้กลับมาเป็นของสาธารณะชน แม้จะเป็นเรื่องที่ฟังดูดีแต่ก็ไม่มีรัฐสมัยใหม่ในโลกใดๆ ที่ทำแบบนี้นอกจากพวกรัฐสังคมนิยมในยุครุ่งเรือง แต่นี่ก็ไม่แปลกอะไรถ้ารัฐไทยจะดำเนินการเวรคืนลิขสิทธิ์เพราะถึงที่สุดไทยก็อาจจะมีระบอบลิขสิทธิ์แบบไทยๆ เช่นเดียวกับที่ไทยได้มีสารพัดสิ่งในแบบไทยๆ มาแล้ว อย่างไรก็ดีถ้า “สิทธิผู้บริโภค” เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในระบบกฏหมายไทยก็ดูจะเป็นสิ่งที่น่ายินดี เพราะในระบบกฎหมายอเมริกาเองสิ่งที่อยู่เหนือและพอจะมางัดข้อกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ได้มันก็ต้องเป็นสิ่งที่ใหญ่โตอย่างหลักเสรีภาพในการพูดที่อยู่ในรัฐธรรมนูญเลยทีเดียว

 

อ้างอิง

  1. ทางฝั่งต่อต้านระบบลิขสิทธิ์ใช้คำว่า Copyright Monopoly แทนคำว่า Copyright เฉยๆ เพื่อเน้นว่าลิขสิทธิ์เป็นการผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญาที่อนุญาตโดยรัฐ ซึ่งก็ไม่ต่างจากการได้สัมปทานต่างๆ แต่อย่างใด
  2. ในสมัยนั้นรายได้ของนักแต่งเพลงมีแต่การขายโน้ตเพลงที่เขาแต่งเท่านั้น
  3. อ่านรายละเอียดเรื่องราวของกำเนิดของสิทธิ์ในการนำแสดงต่อสาธารณะและองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ ได้ใน Jacques Attali, Noise: The Political Economy of Music, Translated by Brian Massumi, (Minneapolis: University of Minnesota Press, 1985), pp. 77-78
  4. อันที่จริงแล้วการเก็บค่าลิขสิทธิ์มันมีขอบเขตที่มากกว่าการเก็บบทฐานของสิทธิ์ในการนำแสดงสาธารณะที่กล่าวมา สิทธิที่สำคัญอีกอย่างคือสิทธิเชิงกลไก (mechanical right) ซึ่งก็คือสิทธิในการผลิตซ้ำงานดนตรีชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการตีพิมพ์โน้ตเพลง หรือการบันทึกเสียงเพลงเหล่านี้ในเวอร์ชั่นคัฟเวอร์ ซึ่งองค์กรที่เก็บค่าลิขสิทธิ์เชิงกลไกนี้ก็จะเป็นองค์กรที่ต่างจากองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการนำแสดงต่อสาธารณะ (ในอเมริกาองค์กรที่เก็บค่าลิขสิทธิ์นี้ส่วนใหญ่คือ Harry Fox Agency) โปรดดู http://en.wikipedia.org/wiki/Music_publisher_(popular_music) และ http://en.wikipedia.org/wiki/Mechanical_license
  5. สถานีโทรทัศน์อาจต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ถึง 3 ชั้นกับ 3 ฝ่ายถ้ารายการแฟชั่นโชว์ที่ออกอากาศใช้บทเพลงที่มีลิขสิทธิ์ ชั้นแรกทางสถานีต้องจ่ายเงินให้บริษัทเก็บค่าลิขสิทธิ์การนำดนตรีแสดงต่อสาธารณะ (ส่วนใหญ่สถานีต้องจ่ายแบบเหมาจ่ายอยู่แล้ว) ชั้นที่สองทางสถานีต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์การประสานภาพกับเสียง (synchronization) ให้ตัวแทนเจ้าของบทประพันธ์เพลง (บางครั้งเป็นบริษัทบริหารค่าลิขสิทธิ์) หรือตัวเจ้าของบทประพันธ์เพลง ชั้นสุดท้ายทางสถานีต้องจ่ายค่าใช้งานบันทึกเสียงเพลงต้นฉบับ (master) ให้กับค่ายเพลงที่เป็นเจ้าของงานบันทึกเสียงต้นฉบับดังกล่าว
  6. และก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์หลายๆ ชั้นเช่นเดียวกับที่สถานีโทรทัศน์ต้องจ่าย ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2012/120215legalfashion
  7. ประเด็นนี้กำลังเป็นเรื่องเป็นราวมากเพราะ ทางฝั่งสถานีวิทยุดั้งเดิมที่ขยายกิจกรรมไปออนไลน์ไม่พอใจมาก ทั้งนี้ การเก็บลิขสิทธิ์โดยองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ดั้งเดิมที่คิดอย่างเหมาจ่ายทุกองค์กรนั้นคิดเป็นมูลค่าไม่ถึง 5% ของรายได้ของเว็บฟังเพลงออนไลน์เหล่านี้ด้วยซ้ำ ในขณะที่การเก็บค่าลิขสิทธิ์ต่อการฟังเป็นรายครั้งขององค์กรอิสระแทบจะคิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้ของเว็บ ดู http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2012/061512playfair
  8. แต่แน่นอนว่าถึงเป็นอเมริกาเอง พวกสถานบริการต่างๆ ที่เปิดกีฬาให้ลูกค้าดูก็น่าจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์การแพร่ภาพกีฬาให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์กีฬาเช่นกันไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม การที่ทางสถานีโทรทัศน์ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ไปแล้วไม่ใช่เหตุผลที่สถานบริการจะไม่ต้องจ่ายแม้แต่นิดเดียว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: ชัยชนะของ Obamacare

Posted: 29 Jun 2012 01:38 AM PDT

 “ไม่ว่าในทางการเมืองจะเป็นยังไงก็ตาม ผลของการตัดสินใจวันนี้ เป็นชัยชนะของประชาชนทั้งประเทศ” บารัค โอบามาประธานาธิบดีของสหรัฐประกาศชัยชนะเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2012 หลังจากศาลสูงสุดตัดสินกฎหมาย Obamacare ในประเด็นที่ว่าให้ชาวอเมริกันทุกคนที่ไม่มีประกันสุขภาพต้องจัดหาประกันสุขภาพมิเช่นนั้นจะถูกลงโทษโดยการเก็บภาษีนั้น เป็นการไม่ขัดรัฐธรรมนูญด้วยคะแนนห้าต่อสี่

นโยบาย Obamacare เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2010 โดยมีแรงจูงใจในการผลิตนโยบายสาธารณะจากปัญหาเรื่องการไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศอเมริกาได้โดยค่าใช้จ่ายด้านนี้คิดเป็นมูลค่าถึง 18% ของเศรษฐกิจประเทศ แต่อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของระบบประกันสุขภาพกลับไม่สูงเท่าที่ควรเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ประมาณ 20% ของประชากรยังคงไม่มีประกันสุขภาพ และอายุขัยเฉลี่ยของประชากรเพศชายอยู่ที่ 79 ปี และเพศหญิง 81 ปี ในขณะที่ประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีค่าใช้จ่ายสุขภาพ 11%GDP และสามารครอบคลุมประกันสุขภาพให้ประชาชนทั้งประเทศ และมีอายุขัยเฉลี่ยของเพศชายอยู่ที่ 78 ปี และเพศหญิง 85 ปี

การผ่านกฎหมายฉบับนี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในหลายประเด็นทั้งทางด้านกฎหมาย เศรษฐกิจสังคม และระบบประกันสุขภาพอเมริกัน

ในทางด้านกฎหมายส่งผลให้ต้องมาทบทวนอีกครั้งกับขอบเขตอำนาจของกฎหมายสหพันธรัฐที่สามารถแทรกแซงกฎหมายของมลรัฐ และประเด็นเรื่องกฎหมายของรัฐที่เข้ามาแทรกแซงการตัดสินใจกิจกรรมของประชาชน

ในทางด้านเศรษฐกิจกฎหมายตัวนี้ส่งผลให้เกิดการปฏิรูประบบประกันสุขภาพอเมริกาอย่างใหญ่หลวงโดยมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไม่ให้สูงกว่านี้ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่สูงสะท้อนถึงการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค

ในด้านสังคม การปฏิรูประบบประกันสุขภาพจะช่วยขยายการครอบคลุมให้กับคนที่ไม่มีประกันสุขภาพมากขึ้น และเป็นการลดภาระการใช้จ่ายด้านสุขภาพให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะในประเทศอเมริกาที่ค่ารักษาพยาบาลลอยตัวแพงหูฉี่อย่างรวดเร็ว

ระบบประกันสุขภาพเสรีนิยมอเมริกัน :ระบบที่มีปัญหา
ในประเทศเสรีนิยมสุดโต่งอเมริกาการตัดสินใจทำกิจกรรมของปัจเจกชนสำคัญที่สุดและรัฐควรมีหน้าที่เข้ามาแทรกแซงกิจกรรมของเอกชนเท่าที่จำเป็นน้อยที่สุด และในด้านสุขภาพก็เช่นเดียวกัน ระบบประกันสุขภาพของอเมริกาจึงเป็นระบบเสรีนิยมที่ปัจเจกชนมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสุขภาพของตนเองและตัดสินใจทำกิจกรรมต่างๆเพื่อสุขภาพของตนเอง ซึ่งรวมถึงการซื้อประกันสุขภาพหรือการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย

การตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพของปัจเจกชนอยู่บนฐานความคิดที่ว่าแต่ละคนมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยไม่เท่ากัน เช่นคนที่เจ็บป่วยมากกว่ามีความเสี่ยงมากกว่าส่งผลให้การซื้อประกันสุขภาพย่อมส่งผลดีกับเขา ในขณะที่คนที่ไม่เคยเจ็บป่วยเลยการซื้อประกันสุขภาพย่อมเหมือนเอาเงินไปทิ้งเปล่าประโยชน์เพราะซื้อมาก็ไม่ได้ใช้สิทธิ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นระบบที่ถัวเฉลี่ยคนโชคร้ายกับคนโชคดีในแต่ละกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงแตกต่างกันไป ซึ่งข้อดีของระบบเสรีนิยมคือ ประชาชนมีเสรีภาพในการเลือก พวกเขาสามารถเลือกซื้อประกันที่เหมาะสมกับความต้องการและความเสี่ยงของแต่ละบุคคล โดยที่ค่าเบี้ยประกันก็มีความหลากหลายสูงต่ำไปตามความเสี่ยงของแต่ละคน

นอกจากนี้ลักษณะตลาดประกันภัยของอเมริกาก็เป็นการแข่งขันแบบเสรีนิยมเช่นกัน โดยปกติแล้วตลาดสินค้าทั่วไปนั้นการแข่งขันยิ่งสูงยิ่งส่งผลดีต่อผู้บริโภคในการมีตัวเลือกที่หลากหลายและเกิดการแข่งขันด้านราคาระหว่างผู้ผลิตด้วยกัน ยิ่งแข่งขันมากยิ่งส่งผลให้สินค้ามีราคาถูกลง แต่ในตลาดประกันภัยกลับไม่เป็นเช่นนั้น ในการประกันสุขภาพนั้นตามกฎของคณิตศาสตร์ Loi des grands nombres ยิ่งมีจำนวนประชากรมากขึ้นเท่าไรยิ่งลดค่า variance มากขึ้นเท่านั้นซึ่งหมายถึงถ้าผู้ประกันตนมากขึ้นเท่าไรยิ่งลดความเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น แต่ทว่าการแข่งขันอย่างดุเดือดในตลาดประกันภัยส่งผลให้เกิดบริษัทประกันภัยจำนวนมากและทำให้แต่ละบริษัทประกันภัยมีผู้ซื้อประกันไม่สูงและทำให้ไม่เกิดการขจัดความเสี่ยงที่ดีพอ ซ้ำยังเสียค่าโฆษณาและงานบริหารต่างๆโดยไม่จำเป็นส่งผลให้ผู้ซื้อประกันต้องเสียค่าเบี้ยประกันสูงขึ้นโดยใช่เหตุ

ถึงแม้ระบบเสรีนิยมจะมีข้อดีในเสรีภาพการเลือกของปัจเจกชน แต่ก็มีข้อจำกัดหลายประการ ประการแรกมันไม่แน่นอนเสมอไปที่ปัจเจกชนทุกคนจะสามารถรู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงมากหรือน้อย การขาดข้อมูลรอบด้านหรือการประเมินผิดอาจส่งผลต่างๆตามมา เช่นบางคนตัดสินใจไม่ซื้อประกันสุขภาพเพราะคิดว่าตนเองแข็งแรงมีความเสี่ยงน้อยแต่แท้ที่จริงกลับทำงานที่มีความเสี่ยงสูงในการเจ็บป่วยเช่นอาชีพแพทย์เป็นต้น หรือบางคนที่มีความเสี่ยงน้อยแต่เข้าใจผิดว่ามีความเสี่ยงมากจึงไปซื้อประกันราคาแพงสำหรับคนที่มีความเสี่ยงมากเป็นต้น

ประเด็นที่สองเกิดปัญหา adverse selection โดยเมื่อระบบประกันสังคมเป็นแบบไม่บังคับ ผู้บริโภคจะซื้อหรือไม่ซื้อประกันก็ได้โดยดูตามราคาเบี้ยประกันของแต่ละบริษัท ปัญหาที่ตามมาคือถ้าบริษัทประกันตั้งราคาเบี้ยประกันราคาเดียวโดยไม่แบ่งแยกตามความเสี่ยงของผู้ซื้อเช่นสมมติตั้งราคาเบี้ยประกันในราคากลางๆ ส่งผลให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งโดยปกติจะมีราคาเบี้ยประกันสูงกว่าราคาเบี้ยประกันราคากลางจะได้ประโยชน์จากการตั้งราคาแบบนี้ ในขณะที่ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำที่โดยปกติมีราคาเบี้ยประกันต่ำกว่าเบี้ยราคากลางๆจะเสียประโยชน์ถ้าเลือกซื้อประกันกับบริษัทนี้ ดังนั้นผลสุดท้ายคือระบบประกันแห่งนี้จึงมีแต่ผู้มีความเสี่ยงสูงมาซื้อประกันและไม่มีผู้มีความเสี่ยงต่ำมาซื้อประกัน บริษัทแห่งนี้ย่อมมีความเสี่ยงที่ล้มละลายตามมา

เพื่อแก้ปัญหานี้ทางบริษัทประกันจึงสร้างแบบสอบถามเพื่อทราบถึงความเสี่ยงแต่ละบุคคลและตั้งราคาเบี้ยประกันที่หลากหลายไปตามความเสี่ยง อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ย่อมส่งผลให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงย่อมมีค่าเบี้ยประกันที่แพงและไม่สามารถหาเงินมาซื้อประกันได้ หรือในบางกรณีบริษัทประกันอาจไม่เปิดแพกเกจประกันภัยสำหรับผู้มีความเสี่ยงสูงเลยเพราะถ้าเปิดย่อมจะมีแต่ผู้มีความเสี่ยงสูงมาซื้อโดยไม่มีผู้มีความเสี่ยงต่ำมาถัวเฉลี่ยความเสี่ยง ดังนั้นจึงส่งผลให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจึงไม่สามารถหาซื้อประกันจากบริษัทเอกชนได้

จากสาเหตุข้างต้นจึงส่งผลให้ประชาชนอเมริกันจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงประกันสุขภาพเอกชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีความเสี่ยงสูงเช่น คนชรา และคนมีรายได้น้อยที่ไม่มีเงินซื้อประกัน ดังนั้นระบบประกันสุขภาพอเมริกาจึงมีโปรแกรมเสริมจากรัฐ Medicaid ซึ่งเป็นความช่วยเหลือจากรัฐโดยนำภาษีมาใช้จ่ายด้านสุขภาพให้กับประชาชนที่มีความยากจนโดยเริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 1990 และอีกโปรแกรมคือ Medicare ซึ่งเป็นระบบประกันสังคมโดยนำเงินมาจากภาษีและเบี้ยประกันสังคมมาใช้จ่ายสุขภาพแก่ประชาชนที่มีอายุมากกว่า65 ปีและเด็กๆโดยเริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 1960

ระบบประกันสุขภาพหลักในอเมริกาจึงประกอบด้วยสามระบบใหญ่ๆคือ ระบบประกันจากรัฐสองระบบ Medicaid, Medicare และระบบประกันสุขภาพของเอกชนโดยมาจากระบบประกันกลุ่มที่บริษัทประกันเสนอให้บริษัทเอกชนต่างๆซื้อเพื่อครอบคลุมลูกจ้างเอกชนในแต่ละบริษัท อย่างไรก็ตามก็ส่งผลให้ประชาชนอเมริกันกว่า 20%ไม่มีประกันสุขภาพโดยสามารถแบ่งกลุ่มสาเหตุได้จาก กลุ่มที่ไม่เป็นลูกจ้างบริษัทกินเงินเดือน เช่นพวกที่ทำอาชีพอิสระ ศิลปิน เจ้าของร้านค้าขนาดเล็ก, กลุ่มที่มีรายได้สูงกว่าเส้นยากจนMedicaid แต่ไม่มีเงินมากพอที่ซื้อประกันเอกชน ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เสียประโยชน์มากเพราะว่าจ่ายภาษีแต่ไม่ได้ประกันสุขภาพในขณะที่คนยากจนได้รับการยกเว้นภาษีและได้รับประกันสุขภาพ และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่มีสุขภาพแข็งแรงและเห็นว่าไม่จำเป็นต้องซื้อประกัน

สาระสำคัญของการปฏิรูป

สาระสำคัญของกฎหมาย Obamacare คือการบังคับให้ผู้ไม่มีประกันสุขภาพต้องซื้อประกันสุขภาพมิเช่นนั้นแล้วจะต้องถูกลงโทษโดยการเก็บภาษีโดยยกเว้นในกรณีสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือตามความเชื่อศาสนา มีจุดประสงค์เพื่อบังคับให้คนที่สุขภาพแข็งแรงมีความเสี่ยงน้อยและไม่มีประกันเข้าร่วมรับความเสี่ยงสังคมด้วยกับคนอื่นๆเพื่อถัวเฉลี่ยความเสี่ยงด้วยกัน และสาเหตุนี้ย่อมส่งผลเกิดความไม่พอใจในชาวอเมริกาจำนวนมากที่รัฐเข้ามาแทรกแซงและบังคับให้ซื้อประกันที่ไม่จำเป็นแก่ตน โดยภาษีที่เก็บได้นั้นรัฐบาลจะนำมาสนับสนุนโครงการ Medicaid เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายและขยายสิทธิประโยชน์ครอบคลุมให้กับประชาชนที่มีรายได้ยากจนจนถึงระดับที่สูงกว่าเส้นยากจน 113% อันเป็นการช่วยเหลือผู้ที่รายได้น้อยแต่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์Medicaidก่อนการปฏิรูป และให้เงินช่วยเหลือการรักษาบางส่วนแก่ผู้มีรายได้สูงกว่าเส้นยากจน 400% ซึ่งเป็นการตั้งเป้าให้ประชาชนอเมริกามีประกันสุขภาพกันทุกคน

เชิงอรรถ
หนังสือและบทความ
D’INTIGNANO B., Economie de la santé, PUF Thémis, 2001.
D’INTIGNANO B., Santé et économie en Europe, PUF, 2009.
HAVIGHURST C., RICMAN B., “Distributive injustice(s) in American health care”, Law and contemporary problems 2006; 69(7).
LAMBERT D., Les systèms de santé, Seuil, 2000.
PHELPS C., Health Economics, HarperCollins Publishers Inc., 1992.

อินเตอร์เนต
http://blogs.smartmoney.com/advice/2012/06/28/how-the-health-ruling-impacts-you/
http://online.wsj.com/article/SB10001424052702304898704577480371370927862.html?mod=e2fb
http://www.reuters.com/article/2012/06/29/us-usa-healthcare-court-idUSBRE85R06420120629
http://www.newsherald.com/articles/uncertainty-103746-washington-abounds.html
http://www.who.int/gho/countries/usa.pdf

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

20 ปี “มลพิษอุตสาหกรรมไทย” กับ 24 ข้อเสนอนโยบาย “ภาคประชาชน”

Posted: 28 Jun 2012 03:34 PM PDT

สัมมนา 20 ปีมลพิษอุตสาหกรรมไทย: ปัญหาและการจัดการ “เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง” นำเสนอภาพรวมโครงสร้างและปัญหา “การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย” พร้อมรวมข้อเสนอทางนโยบาย 24 ข้อ จาก 30 องค์กรภาคประชาชน

 
 
วันนี้ (28 มิ.ย.55) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (มบน.) โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนา "20 ปีมลพิษอุตสาหกรรมไทย: ปัญหาและการจัดการ" เพื่อทบทวนปัญหาและสถานการณ์อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา กลังจากที่หลังประเทศไทยมีการปรับปรุงกฎหมายและโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและจัดการมลพิษรวมทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อมหลายด้านเมื่อปี 2535 พร้อมเสนอแนวทางในการจัดการ รวมทั้งแนวทางการป้องกันปัญหาในอนาคต
 
 
ภาพรวมโครงสร้างและปัญหา “การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย”
 
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงเรื่องมลพิษอุตสาหกรรมว่า มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีอำนาจจัดการและสั่งปิดโรงงาน หากโรงงานนั้นก่อให้เกิดปัญหามลพิษรุนแรง โดยกรมควบคุมมลพิษที่เข้าใจกันมาตลอดว่าควรเป็นผู้ดูแลจัดการนั้น แม้ตั้งขึ้นมาดูแลสิ่งแวดล้อมแต่บทบาทหลักเน้นมลพิษและสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปที่เป็นมลพิษชุมชน มลพิษของเมือง ไม่มีอำนาจจัดการมลพิษอุตสาหกรรม
 
ในส่วนการลงทุนด้านอุตสาหกรรมซึ่งเป็นตัวนำพาปัญหามลพิษที่พูดถึงกันในปัจจุบันนั้น เพ็ญโฉม ให้ข้อมูลว่ามี 3หน่วงงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้กรมโรงงานอุตสาหกรรมมี 3 จำพวก ปัจจุบันมี 107 ประเภท โดยโรงงานที่มีปัญหามากคือโรงงานจำพวกที่ 3 และเขตประกอบอุตสาหกรรม ที่มีขนาดเนื้อที่ตั้งแต่ 200 ไร่ ติดต่อกันขึ้นไป
 
พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ได้แบ่งโรงงานออกเป็น 3 จำพวก คือ
โรงงานจำพวกที่ 1
 เป็นโรงงานที่สามารถประกอบกิจการได้ทันทีตามความประสงค์ของ ผู้ประกอบกิจการ แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงและประกาศกระทรวง
โรงงานจำพวกที่ 2 เป็นโรงงานที่ไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่นกัน และเมื่อจะเริ่มประกอบกิจการให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน

โรงงานจำพวกที่ 3 เป็นโรงงานที่ต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะตั้งโรงงานได้
 
ประเภทที่สองคือส่วนที่อยู่ใต้การนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยจะกำกับโรงงานที่อยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีลักษณะการร่วมทุนระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมและภาคเอกชน มากกว่าในรูปแบบเดิมที่เน้นการจัดการการลงทุนโดยการนิคมอุตสาหกรรม
 
 
เพ็ญโฉม กล่าวต่อมาว่า ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมปัจจุบันในจำพวกที่ 2 และ 3 มีอยู่ทั้งหมด 130,131 โรงงาน กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยช่วงหลังปี 2520 เป็นต้นมามีการกระจายไปยังท้องถิ่นต่างๆ มาก ตามความพยายามในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคโดยเฉพาะปี 2530 ซึ่งมีการขยายการลงทุนไปในภูมิภาคอย่างเข้มข้น
 
ส่วนจำนวนนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม และชุมชนอุตสาหกรรมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีอย่างน้อย 87 แห่ง และในจำนวนนี้มีโรงงานนับพันโรงงานอยู่ภายใน เช่นนิคมอุตสาหกรรมมาตาพุดก็มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ภายในอยู่เกือบ 100 แห่ง ซึ่งจำนวนมากเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
 
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวด้วยว่า การประชุมสุดยอดด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ที่กรุง ริโอ เดอ จา เนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 2535 ถือเป็นหลักไมล์สำคัญของการพัฒนาที่ยังยืนของสังคมโลก ซึ่งผู้นำนานาชาติที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติให้การรับรอง โดยมาจากการประเมินผลกระทบของการพัฒนาอุตสาหกรรมอันเป็นสาเหตุให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมย่ำแย่ลง รวมทั้งเป็นต้นเหตุความเจ็บป่วยของชุมชนต่างๆ จึงมีความพยายามที่จะชี้ทิศทางการเดินหน้าของสังคมโลกไปสู่ทิศทางที่ยั่งยืน คือมีความปลอดภัยจากมลพิษและสารพิษ
 
“บ้านเราเองมีการพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง มีการพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนค่อนข้างเยอะ เราเน้นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เราพยายามพูดถึงการปกป้องพื้นที่เกษตรและพื้นที่สิ่งแวดล้อม แต่ว่าในทางกลับกัน มันจะมีความพยายามอย่างเงียบๆ และคืบไปอย่างรวดเร็ว เงียบแต่รวดเร็ว ก็คือมีความพยายามในการแก้ไขเพื่อผ่อนกฎระเบียบหลายๆ อย่าง หลายๆ ด้าน ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว
 
เพ็ญโฉม กล่าวยกตัวอย่างการแก้ไขกฎระเบียบที่ประชาชนที่ไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดมักไม่รู้ เช่น เมื่อปี 2545 มีการแก้ไขข้อบังคับให้มีการร่นระยะห่างระหว่างโรงงานกับชุมชน และการแก้ไขผ่อนปรนข้อบังคับในเรื่องการตั้งโรงงานประเภทจำกัดของเสียหรือขยะอันตรายจากอุตสาหกรรม ให้โรงงานที่มีอยู่เดิมสามารถเพิ่มเติมกิจการแปรรูปของเสียได้ง่ายขึ้น เพื่อเอื้อต่อการลงทุน ลดขั้นตอนให้รวดเร็วขึ้น ต่อมาในปี 2548 ก็มีความพยายามในการแก้ไขกฎระเบียบเรื่องการจัดทำอีไอเอ โดยผ่อนผันให้นิคมอุตสาหกรรมบางแห่ง บางประเภท ไม่จำเป็นต้องจัดทำอีไอเอเมื่อจะขออนุญาตตั้งนิคม
 
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่ามีลักษณะที่สวนทางกันระหว่างปัญหาที่มีอยู่กับการผ่อนผันกฎในการควบคุมโรงงาน ในขณะเดียวกัน การส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมกลับมีความเข้มข้นมากขึ้น พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมมีการแก้ไขเป็นระยะ จากฉบับแรกปี 2522 แก้ไขในปี 2534 2539 และ2550 โดยสาระสำคัญในการแก้ไขคือการเอื้ออำนวยให้มีการลงทุนได้เสรีมากขึ้น โดยการเปลี่ยนจาก “เขตนิคมอุตสาหกรรม” หรือ “เขตประกอบการอุตสาหกรรม” ให้เป็น “เขตประกอบการเสรี” แต่พบว่าเอื้อประโยชน์ให้กับโรงงานขนาดใหญ่ที่ผลิตเพื่อการส่งออก กลายเป็นความเหลื่อมล้ำในการส่งเสริมการลงทุน
 
“เราอาจจะต้องกลับไปขบคิดอีกทีหนึ่งว่า เราควรจะปล่อยให้กฎระเบียบแบบนี้ดำรงอยู่ต่อไปโดยไม่มีการพิจารณาหรือการแก้ไขหรือเปล่า ในเมื่อสังคมบ้านเรามีหลายพื้นที่มากที่ปนเปื้อนมลพิษ แล้วไม่มีการเยียวยา ไม่มีการฟื้นฟู แต่อุตสาหกรรมเหล่านี้ได้สิทธิประโยชน์เต็มที่ ทั้งการลดภาษีอากรนำเข้าส่งออก ภาษีมูลค่าเพิ่มก็ไม่ต้องเสีย แล้วสังคมไทยได้อะไรจากการลงทุนประเภทนี้”  เพ็ญโฉม ตั้งคำถามให้พิจารณา
 
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวด้วยว่า ในขณะที่งานส่งเสริมการลงทุนเดินหน้าไปรวดเร็วและให้สิทธิพิเศษจำนวนมาก แต่ประเทศไทยยังขาดกฎหมายสำคัญ ซึ่งจากปฏิญญาริโอเมื่อปี 2553 รัฐบาลนานาชาติได้มีข้อสรุปว่าการพัฒนาที่ยังยืนจะเกิดได้เมื่อมีการทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลมลพิษและสารอันตราย โดยตรงนี้จะเป็นประโยชน์และทำให้การพัฒนาที่ปลอดภัยต่อสังคมเกิดขึ้นได้จริง ทั้งนี้การเข้าถึงข้อมูลมลพิษและสารอันตรายที่ถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมจะทำให้เราสามารถประเมินความเสี่ยง และสามารถจัดการได้
 
 
“ผังเมือง” กับการกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม ปัญหาหรือทางออก?
 
ภารนี สวัสดิรักษ์ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เรื่องผังเมืองเป็นเรื่องไกลตัวในสายตาประชาชนที่ต่อสู้เรื่องเรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันหลายพื้นที่มองเห็นความเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ในขณะที่หน่วยราชการกลับไม่เห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกัน โดยในส่วนกรมโยธาธิการและผังเมืองมีความพยายามทำผังเมืองที่ทำให้สิ่งแวดล้อมดี ตามที่ถูกเขียนในนิยามการผังเมือง พ.ร.บ.การผังเมือง ในการสร้างเมืองน่าอยู่ ตั้งแต่ปี 2518 แต่เมืองที่มีมลพิษกลับมีมากกว่าเมืองน่าอยู่
 
ส่วนประเด็นเรื่องนโยบาย กรมโยธาธิการฯ มีความพยายามมองเรื่องการแก้ปัญหาความเสียงภัยกับตัวชุมชน โดยจัดทำไว้ในรายงาน “ผังประเทศไทย 2600” ซึ่งเป็นเรื่องความเสี่ยงภัยทางธรรมชาติกับชุมชน แต่ไม่มองเรื่องความเสี่ยงภัยจากมลพิษในผังเมือง ซึ่งหากเกิดในพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติจะทำให้ภัยนั้นกลายเป็นมหันตภัย เช่นในกรณีน้ำท่วมในพื้นที่มลพิษ 
 
 
ภารนี กล่าวว่า เรื่องการจัดการมลพิษในผังเมืองต้องแก้ตั้งแต่ในระดับนโยบาย ไม่ใช่เฉพาะในชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หรือโรงงานใดโรงงานหนึ่ง แต่นโยบายซึ่งเป็นตัวร้ายที่เอามลพิษเข้าไปในพื้นต่างๆ ที่ยังมีอยู่
 
นักวิชาการเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม ให้ข้อมูลว่า ผังประเทศไทย 2600 เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547-2548 ซึ่งมีการต่อสู้เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ และในผังประเทศไทยนี้ได้เขียนไว้ข้อหนึ่งว่าในผังประเทศไทยต้องกำหนดพื้นที่รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษไว้ในขอบเขตงาน (TERMS OF REFERENCE: TOR)  โดยที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลย และเพิ่งมีการคัดค้านเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งส่วนตัวก็ยังค้านผังนี้อยู่และจะค้านต่อไป เพราะผังประเทศไทยดังกล่าวมีบางส่วนที่เป็นปัญหา และโยนปัญหาให้ชาวบ้านไปทะเลาะกับกลุ่มทุน กับอำนาจรัฐ ซึ่งไม่ยุติธรรม
 
“เวลาดูในผังก็ดูเหมือนว่ามันดี เขาบอกว่าจะเป็นการทำผังที่มองไปยังอนาคตข้างหน้าตั้งปี 2600 แต่ว่าประเด็นปัญหาที่เป็นปัญหาแรงๆ ปัญหาที่มีผลกระทบกลับไม่หยิบขึ้นมาดู เช่น การโซนนิ่งอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมมลพิษไม่มี แต่มีแต่การโซนนิ่งว่าจะส่งเสริมอุตสาหกรรมตรงไหน มันก็ออกมาเป็นอย่างนี้ การโซนิ่งพื้นที่ทางทะเล หรือพื้นที่อนุรักษ์ที่จะเอามาใช้ในเรื่องของเหมือง ในเรื่องของพลังงานก็ไม่มีตรงนี้ไว้ในผังประเทศไทย แสดงว่าการมองไปข้างหน้าเป็นการมองในลักษณะที่จะดึงเอาการส่งเสริมการลงทุนเข้ามาในผังประเทศไทย อยู่พื้นที่ตรงไหน ได้เท่าไหร่ ที่เหลือกันเอาไปไว้ให้ชาวบ้านอนุรักษ์ ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า” ภารนี ตั้งข้อสังเกต
 
ภารนี กล่าวด้วยว่า ผังประเทศไทย 2600 ได้เขียนไว้หลวมๆ ว่า พื้นที่อุตสาหกรรมหลัก ปิโตรเคมี เหล็ก น้ำมัน จะอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ ตรงนี้กลายเป็นกรอบที่จะทำให้กระทรวงอุตสาหกรรม หรือกระทรวงพลังงานนำไปทำแผน เนื่องจากวัตถุประสงค์ของผังประเทศไทยเขียนไว้ข้อหนึ่งว่าผังตรงนี้เป็นการกำหนดกรอบสำหรับหน่วยงานที่จะนำไปทำต่อ
 
“ในผังประเทศไทยก็ไม่มีข้อสรุปเลยว่าแล้วคุณจะประเมินผลกระทบของผังเมืองอย่างไร ในขณะที่เราพูดถึง HIA ผังเมืองมันอาจจะต้องพูดถึง CIA คือ City Planning Impact Assessment” นักวิชาการเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคมกล่าว และว่าในหลายประเทศมีการตั้งคำถามว่าพื้นที่สีม่วง หรือพื้นที่สีเขียวจะมีผลกระทบอย่างไรทั้งในด้านบวกและด้านลบ แต่ตรงนี้ไม่มีการดำเนินการ จึงยังมีการคัดต้านอยู่
 
ภารนี แสดงความเห็นต่อมาว่า ผังเมืองมีการระบุว่าจะเป็นแหล่งอาหารโลกนั้นเป็นสิ่งที่อยากได้ เช่น ชายฝั่งทะเลตะวันออก ชายฝั่งทะเลภาคใต้ แต่กลับมีการวางโครงการท่าเรือน้ำลึก คลังน้ำมันไปไว้ในแหล่งอาหาร และกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมหลักไว้ในภาคตะวันออกซึ่งบอกว่าจะให้เป็นแหล่งอาหาร ตรงนี้คือเรื่องที่ผังประเทศไทยต้องปรับปรุงด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม เพราะหากไม่ปรับปรุงและมีการใช้บังคับ ตรงนี้จะไปสัมพันธ์กับการกำหนดงบประมาณของหน่วยงานให้เหมาะสม รวมทั้งส่งผลกระทบต่อผังในระดับภาค ระดับจังหวัด ระดับพื้นที่ต้องจัดทำโครงการให้สอดคล้องกับผังประเทศด้วย
 
ขณะนี้ประชาชนในหลายพื้นที่ได้ลุกขึ้นมาทำข้อมูลในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรต้องทำ และในส่วนราชการก็ต้องมีการปรับปรุงการอนุมัติอนุญาต เพราะมีหลายพื้นที่ที่อ้างว่าผังเมืองกำหนดกรอบอุตสาหกรรมไว้ให้ แล้วระบุว่าอีไอเอสอดคล้อง ขณะที่บางพื้นที่เมื่อผังเมืองห้ามก็กลับบอกว่าผังเมืองไม่บังคับใช้ ช่องโหว่ในการอนุมัติอนุญาตที่มีอยู่ในกฎหมายหลายฉบับนี้ คงต้องฝากให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเข้าไปแก้ไข
 
นอกจากนั้น ในส่วนของผังเมืองซึ่งกฎหมายได้กำหนดอำนาจหน้าที่ให้คุ้มครองพื้นที่ที่ตัวเองปกป้อง แต่กลับไม่ทำ เช่นกรณีสระบุรีที่ผังเมืองห้ามโรงไฟฟ้าในพื้นที่แต่โรงไฟฟ้ากลับได้รับอนุญาตดำเนินโครงการ ในขณะที่ผังเมืองรอประกาศ ทั้งที่สามารถออกหลักเกณฑ์คุ้มครองได้ในระหว่างที่มีผังยังไม่เสร็จ ตรงนี้ต้องแก้ไขให้ราชการทำหน้าที่ของตนเอง
 
สำหรับข้อเสนอ ภารนีกล่าวว่า ชาวบ้านต้องยืนยันการใช้สิทธิของตัวเองในเรื่องผังเมือง ทำข้อมูลด้วยตนเองและยื่นไปที่หน่วยงานต่างๆ ในส่วนหน่วยงานรัฐควรต้องปรับปรุงมาตรฐานผังเมือง ซึ่งกรณีพื้นที่สีเขียวเห็นได้ชัดว่าเลือกปฏิบัติและไม่มีมาตรฐาน หลายจังหวัดกำหนดไม่เหมือนกัน และอย่าใช้ GDP เป็นตัวกำหนดพื้นที่ อีกทั้งเรื่องทำผังพื้นที่เสี่ยงภัยที่ครอบคลุมพื้นที่เสียงภัยมลพิษ
 
“ถึงเวลาที่เรานั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ และจะปล่อยให้เขานั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้เช่นกัน” นักวิชาการเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคมให้ความเห็น
 
 
 
คดีมลพิษ และสารพัดปัญหาในกระบวนการยุติธรรม
 
สุรชัย ตรงงาม ทนายความโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องมลพิษคือการไม่บังคับใช้กฎหมาย ทั้งในการป้องกันและการเยียวยาความเสียหายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในเรื่องมาตรการการป้องกัน เช่น การวางผังเมือง การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางสุขภาพ หรือการควบคุมตรวจสอบตามที่ระบุไว้ ปัจจุบันยังไม่มีหลักการเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าการดำเนินโครงการจะไม่เกิดผลกระทบ รวมทั้งเมื่อเกิดผลกระทบขึ้นก็ทำให้เกิดคำถามว่าที่ผ่านมาการศึกษายังไม่ช่วยให้มีการป้องกันที่เพียงพอ ทั้งนี้ สำหรับบางโครงการอาจมีการศึกษาไว้อย่างดีแต่การควบคุมตรวจสอบไม่เป็นไปตามมาตรการที่กำหนดก็จะทำให้เกิดปัญหา
 
ในทางกฎหมายผู้ที่กระทำผิดด้านสิ่งแวดล้อมต้องรับผิดชอบ ทั้งทางอาญา ทางปกครอง ทางแพ่ง ส่วนตัวเข้าใจว่า ความผิดซึ่งผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบนั้นเป็นปัญหามากในประเทศไทย เนื่องจากการทำงานมาสิบกว่าปีพบว่า หากมีการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม ปัญหาประการแรกคือจะมีหน่วยงานเช่นกรมควบคุมมลพิษแสดงความเห็นว่าผู้ประกอบการรายใดเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ความเห็นอีก เช่น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ซึ่งอาจจะมีความเห็นไปอีกทางหนึ่ง ตรงนี้นำไปสู่ความคลุมเครือว่าใครเป็นผู้ที่กระทำความผิด แค่ไหน อย่างไร
 
“ผมว่าบ้านเรายังไม่มีความพยายามอย่างเพียงพอที่จะแสวงหาผู้กระทำความผิดด้านสิ่งแวดล้อม จริงอยู่ที่ว่าอาจจะยาก แต่ผมคิดว่าในเชิงเทคนิคแล้ว หากมีการวางแผนหรือประสานงานกันอย่างจริงจังในการหาตัวผู้กระทำความผิดด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะง่ายกว่านี้ แต่อันนี้ก็จะผลักให้เป็นภาระของประชาชนที่ต้องแสวงหาผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการต่างๆ พยายามมายืนยันให้เห็นความเชื่อมโยงว่า การกระทำผิดต่างๆ เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการรายใด ซึ่งนี่เป็นปัญหามาก” ทนายความโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อมให้ความเห็น
 
สุรชัย กล่าวต่อมาโดยยกตัวอย่างกรณีคลิตี้ว่า ศาลได้วินิจฉัยว่ามีการจงใจปล่อยสารเคมีลงลำห้วย แล้วก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อประชาชนในวงกว้างมาก จะถือได้หรือไม่ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำทางอาชญากรรมแบบหนึ่ง เรียกว่า “อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม” แต่หากคิดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม ก็จะพบว่ามันจะเป็นอาชญากรรมที่ไม่มีอาชญากรอยู่เสมอ พูดง่ายๆ ว่าเห็นการกระทำผิดต่อหน้าแต่ไม่มีผู้ที่ต้องรับผิดชอบอย่างชัดเจน
 
ปัญหาที่สอง คือ ไม่มีการบังคับใช้มาตรการทางปกครองให้เหมาะสม ขณะที่ตนเองอยู่ในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมของสภาทนายความก็พบเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก ว่ามีการปล่อย การปนเปื้อนหรือมีกลิ่นเหม็นของโรงงานอุตสาหกรรมหรือโครงการต่างๆ เมื่อทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบแล้วก็จะมีคำสั่งให้แก้ไข ปัญหาก็จะหายไปพักหนึ่งแล้วต่อมาก็กลับมาอีก ในเรื่องนี้รัฐควรจะมี การบังคับให้เหมาะสมว่าถ้ามีการกระทำซ้ำซากก็ต้องบังคับให้หนักขึ้น เช่น สั่งให้หยุด หรือยกเลิกเพิกถอนไป อย่างไรก็ตามมาตรการปกครองของไทยนั้นเน้นไปในทางให้แก้ไขเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นไปได้ในกรณีที่เป็นครั้งแรกหรือไม่ร้ายแรง แต่ในกรณีกระทำซ้ำซากหรือเป็นการกระทำที่รุนแรงอาจต้องใช้มาตรการทางปกครองให้มากขึ้น
 
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาการดำเนินคดีทั้งแพ่ง อาญา กับผู้ก่อมลพิษไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเชื่อมโยงในเรื่องการหาตัวผู้กระทำความผิดที่ไม่มีความชัดเจน และอาจเกี่ยวข้องกับตัวกฎหมายที่อาจจะยังล้าสมัยอยู่ เช่น พ.ร.บ.แร่ กรณีคลิตี้ ทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้รับการร้องเรียนเรื่องการปล่อยสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วย จึงไปตรวจสอบและพบว่าจริง จึงสั่งปรับเต็มที่เป็นเงิน 2,000บาท ซึ่งก็เป็นไปตามกฎหมาย
 
“คือจะถามว่ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายไหม ไม่ครับ กฎหมายมีอยู่แค่นั้น มันไม่น่าเชื่อว่ากรณีการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรงแบบนี้ โทษที่เกิดขึ้นนั้นน้อยมาก จนแทบไม่ต้องไปคิดว่ามันก่อนให้เกิดความเกรงกลัวที่จะไม่กระทำซ้ำอีก หรือจะเป็นตัวอย่างสำหรับผู้ประกอบการรายอื่น มันไม่มี” สุรชัย กล่าว
 
ในเรื่องการเยียวยาความเสียหาย สุรชัย แสดงความเห็นว่า ไทยยังขาดมาตรการเยียวยาความเสียหายที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างกรณีมีการดูดทราย ทำให้บ้านเรือนถล่มลงมา ชาวบ้านไปฟ้องร้องว่าทางหน่วยงานมีใบอนุญาตไม่ถูกต้อง และมีการขอคุ้มครองชั่วคราวโดยให้ทางหน่วยงานเข้ามาเยียวยาแก้ไข อ้างตามที่ พ.ร.บ.โรงงานที่กำหนดไว้ว่า หากมีการกระทำที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้วทางผู้ประกอบการไม่แก้ไข ค่อยให้อำนาจทางกรมโรงงานเข้าไปดำเนินการแก้ไขได้ โดยขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนสิ่งแวดล้อม เมื่อเจรจากับทางผู้ประกอบการเรียบร้อยแล้วได้เงินคืนกลับมา ก็นำไปคืนให้กับกองทุนสิ่งแวดล้อม
 
แต่ในระหว่างการไต่สวน ทางกรมโรงงานชี้แจงว่าตั้งแต่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเมื่อ พ.ศ.2535 เรื่อยมา ยังไม่เคยใช้กฎหมายฉบับนี้มาก่อน พูดได้ว่ารัฐยังไม่เคยเข้าไปแก้ไขปัญหาโดยใช้กฎหมายฉบับนี้ ไม่เคยนำเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมเข้ามาแก้ไขทั้งที่มีกฎหมายเขียนไว้ ด้านกองทุนสิ่งแวดล้อมเองก็มาชี้แจงกับศาลว่าไม่เคยมีระเบียบแบบนี้เช่นเดียวกัน คือทั้งกรมโรงงานและกรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมซึ่งอยู่ในสังกัดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่มีการออกกฎหมายหรือบังคับใช้กฎหมายเรื่องนี้
 
ทนายความโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อมาถึงปัญหารัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูล่าช้า ในกรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วคลิตี้ว่า มีการฟ้องทางกรมมลพิษว่าไม่ได้ดำเนินการฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางกรมควบคุมมลพิษก็ไปดำเนินการกับทางบริษัทผู้ก่อมลพิษให้ไปดักตะกอนกรวดที่ฝายหินทิ้ง แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการทำแผนงานต่อ โดยกรมควบคุมมลพิษมีความเห็นในทางเทคนิคว่าควรปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง ซึ่งส่วนตัวแลชาวบ้านเข้าในว่าหมายถึงกรมควบคุมมลพิษ “ไม่ต้องทำอะไร” นำไปสู่การฟ้องร้องคดี ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า หลายๆ เรื่องไม่อาจพิจารณาแต่ข้อมูลในทางเทคนิค แต่ต้องคำนึงถึงการกระทบต่อสิทธิ์ของชุมชนมาพิจารณาประกอบด้วย
 
ประเด็นต่อมาที่สืบเนื่องกัน คือการดำเนินโครงการใดๆ ชุมชนมักจะขาดการรับรู้ข้อมูล ทั้งก่อนดำเนินโครงการ การติดตามตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรการสิ่งแวดล้อม รวมถึงแม้ว่ามีการเยียวความเสียหายที่อาจจะมีผลกระทบต่อเขาก็ยังไม่มีการดำเนินการ เรื่องนี้อยากให้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 โครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีผลกระทบต่อชุมชนไม่ต้องรุนแรง แต่มีมาตรการในการดำเนินการ ให้ข้อมูล รับฟังความคิดเห็น ซึ่งเรื่องนี้เข้าใจว่ายังไม่มีเกณฑ์ใดๆ การดำเนินโครงการต่างๆ จึงมีปัญหาความเห็นที่แตกต่างและความขัดแย้งในชุมชน ทั้งนี้มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้มีความชัดเจนมากขึ้น ว่าจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามารับรู้ข้อมูลและแสดงความเห็นได้อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานมีหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน
 
สุรชัย กล่าวถึงปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมว่า มี 1.ปัญหาเรื่องการเข้าถึง ว่าจะไปฟ้องร้องอย่างไร แบบไหน กับใคร 2.ไม่มีนักกฎหมายที่ให้ความช่วยเหลืออย่างเพียงพอ 3.การฟ้องร้องต้องไม่มีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ต้องให้มีผลไปสู่คนอื่นๆ ที่ได้รับความเสียหายในทำนองเดียวกันได้ ซึ่งจริงๆ แล้วตรงนี้มีกฎหมายที่ได้เสนอเข้าสู่สภา แต่ยังไม่มีการพิจารณา 4.ปัญหาเรื่องค่าเสียหาย เช่นถ้าเป็นค่าเสียหายทางสุขภาพที่มักเป็นการสะสม กำหนดค่าเสียหายยาก ส่วนความล่าช้าในการพิจารณาก็เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่มีการพยายามแก้ไขอยู่
 
 
 
เปิด 24 ข้อเสนอทางนโยบาย หวังแก้ปัญหามลพิษอุตสาหกรรม-นโยบายการพัฒนา
 
จากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับตัวแทนชาวบ้านประกอบด้วย วินัย กาวิชัย เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ.ตราด ตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี แกนนำเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม และ พัชรี ดิษฐ์เย็น เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก จัดแถลงข่าว ข้อเสนอเชิงนโยบายจากเวทีสัมมนาซึ่งมาจากการร่วมระดมความเห็นของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 30 องค์กร ทั้งหมด 24 ข้อ ใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
 
ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม อาทิ การกำหนดนโยบายการพัฒนาของรัฐ ทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่ ต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ และการรักษาความมั่นคงทางอาหาร เคารพสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง การพัฒนาประเทศต้องคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชนและความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการส่งเสริมการลงทุน ต้องคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และให้ปฏิรูปกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศทุกฉบับที่ไม่รับรองและคุ้มครองสิทธิชุมชนในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการมลพิษ
 
ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งจากการขยายอุตสาหกรรม อาทิ การส่งเสริมมาตรการป้องกันเชิงพื้นที่ ให้มีความเหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำผังเมือง ทั้งในระดับชุมชน ระดับจังหวัด และระดับประเทศ คุ้มครองพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ก่อนการพิจารณาอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ ให้มีการกำหนดระยะเวลาการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติในนิคมอุตสาหกรรม ต้องเปิดเผยข้อมูลและกระบวนการให้สัมปทานหรือการประมูลโครงการขนาดใหญ่ ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ และต้องปรับปรุงกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอไอ)
 
ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้ว อาทิ การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิม ก่อนอนุญาตให้มีอุตสาหกรรมเพิ่ม ส่วนการขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมแล้ว ต้องศึกษาศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่ในภาพรวม และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ต้องมีการกำหนดพื้นที่กันชนระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับร่วมกันทุกฝ่าย จัดทำระบบและเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษอุตสาหกรรมและสารเคมีอันตราย มีระบบการจัดการขยะอุตสาหกรรมทั้งในเชิงป้องกันและลดปัญหา ต้องมีองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพรวม มีระบบการแก้ไขเยียวยาปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม และมีกองทุนในการเยียวยาความเสียหาย
 
“นี่เป็นข้อเสนอต่อรัฐบาล และเราจะพยายามขับเคลื่อนข้อเสนอเหล่านี้ให้เป็นจริงด้วย” เพ็ญโฉม กล่าวในเวทีเสวนาซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานราชการ นักวิชาการ สถาบันการศึกษา นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมและโครงการพัฒนาอุตสาหกรรม กว่า 200 คน
 
ทั้งนี้ รายละเอียดข้อเสนอทั้งหมดระบุดังนี้
 
 
 
ข้อเสนอเชิงนโยบายจากเวทีสัมมนา
“20 ปีมลพิษอุตสาหกรรมประเทศไทย: ปัญหาและการจัดการ”
 
28 มิถุนายน 2555
 
เป็นเวลา 20 ปีเต็ม นับจากปี พ.ศ.2535 ที่ประเทศไทยมีการปรับปรุงกฎหมายและโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและจัดการมลพิษรวมทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อมหลายด้าน ได้แก่ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535  พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และการตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการก่อตั้งกระทรวงที่รับผิดชอบดูแลด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรงของประเทศเป็นครั้งแรกพร้อมกับการก่อตั้งกรมควบคุมมลพิษ (คพ.), กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม
 
ในขณะเดียวกัน การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยอย่างเข้มข้นในช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมารุดหน้าไปมาก พร้อมๆ กับการใช้สารเคมีปริมาณมหาศาลในทุกภาคการผลิต ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาการจัดการกากเคมีและของเสียอันตรายจำนวนมาก ปัญหาน้ำเสียและมลพิษอากาศที่เกิดจากโรงไฟฟ้าและโรงงาน ปัญหาการแพร่กระจายของโลหะหนักเป็นบริเวณกว้างตามแหล่งน้ำและดินในหลายพื้นที่ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่ผ่านมา ต้องแลกกับสุขภาพของประชาชนและคนงานจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคจากมลพิษอุตสาหกรรมและสารเคมีอันตราย ทั้งนี้ ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมสืบเนื่องจากการดำเนินนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ขัดแย้งกับความต้องการของคนในชุมชนท้องถิ่นหลายพื้นที่ หลายกรณีลงเอยด้วยการสูญเสียชีวิต อีกหลายกรณีได้กลายเป็นภาวะความขัดแย้งที่ยังคงร้าวลึกต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
 
ปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะกระจายวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมของประเทศยังดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง ในขณะที่การจัดการกับปัญหามลพิษ การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางนโยบายและโครงการพัฒนายังคงมีปัญหาด้วยเหตุนี้ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมตามรายชื่อแนบท้าย ซึ่งรวมตัวกันในงานสัมมนา “20 ปีมลพิษอุตสาหกรรมประเทศไทย: ปัญหาและการจัดการ” ในวันที่ 28 มิถุนายน 2555 จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาจากมลพิษอุตสาหกรรมและความขัดแย้งจากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศอย่างเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนในสังคม ดังต่อไปนี้
 
ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม
 
 1. รัฐบาลต้องเคารพสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนกำหนดทิศทางและนโยบายการพัฒนาพื้นที่ตนเอง
 2. การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ต้องคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชน และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่มุ่งเน้นแต่เพียงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และรัฐต้องกำหนดตัวชี้วัดการพัฒนาใหม่ โดยไม่ยึดติดแต่ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) เท่านั้น
 3. การกำหนดนโยบายการพัฒนาของรัฐ ทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่ ต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ และการรักษาความมั่นคงทางอาหาร  และจะต้องไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาหาร  ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกษตรกรรม และแหล่งประมง
 4. ในการส่งเสริมการลงทุน ต้องคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่และชุมชน และทำให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น โดยไม่ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลเสียต่อสุขภาพชุมชน
 5. ต้องปฏิรูปกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศทุกฉบับที่ไม่รับรองและคุ้มครองสิทธิชุมชนในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการมลพิษ
 
ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งจากการขยายอุตสาหกรรม
 
 6. รัฐต้องคำนึงถึงมาตรการป้องกันเชิงพื้นที่ ให้มีความเหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ เช่น ผังเมือง, ประกาศเขตควบคุมมลพิษ, ประกาศเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม, ประกาศเขตคุ้มครองความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น
 7. รัฐต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำผังเมือง ทั้งในระดับชุมชน ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ตลอดจนต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผังเมืองอย่างเคร่งครัด และเมื่อร่างผังเมืองได้่ผ่านขั้นตอนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว รัฐต้องป้องกันมิให้มีการดำเนินการใดที่ขัดต่อร่างผังเมืองดังกล่าว
 8. รัฐต้องกำหนดให้ผังเมืองเก่าที่หมดอายุมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีผังเมืองใหม่ใช้บังคับ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมาย
 9. รัฐต้องคุ้มครองพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ก่อนการพิจารณาอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ 
 10. ต้องมีการกำหนดระยะเวลาการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติในนิคมอุตสาหกรรม
 11. การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ในด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพชุมชนเป็นสำคัญ
 12. รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลและกระบวนการให้สัมปทาน หรือการประมูลโครงการขนาดใหญ่ ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้
 13. ต้องปรับปรุงกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอไอ) เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติ-อนุญาตโครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
 13.1  กำหนดหลักเกณฑ์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำอีไอเอให้ชัดเจน
 13.2 จัดทำระบบที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบการดำเนินการของโครงการตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ
 13.3 ต้องมีระบบการรับเรื่องร้องเรียนที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และเร่งดำเนินการตรวจสอบ-แก้ไขปัญหาให้รวดเร็วและเท่าทันต่อสถานการณ์
 13.4 แก้ไขปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในระบบการจัดจ้างทำอีไอเอ โดยยกเลิกระบบที่ให้เจ้าของโครงการเป็นผู้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาโดยตรง และสร้างระบบที่มีองค์กรกลางเข้ามาจัดการแทน
 
ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้ว
 
 14. รัฐต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดจากอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิม ก่อนที่จะอนุญาตให้มีอุตสาหกรรมเพิ่มเติม
 15. การขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมแล้ว ต้องมีการศึกษาศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่ในภาพรวม  และเปิดเผยข้อมูลการศึกษาต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการพิจารณาอนุมัติ-อนุญาตอุตสาหกรรมเพิ่มเติม
 16. ต้องมีการกำหนดพื้นที่กันชนระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับร่วมกันทุกฝ่าย
 17. รัฐต้องจัดทำระบบและเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษอุตสาหกรรมและสารเคมีอันตราย ให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย
 18. รัฐต้องจัดให้มีระบบการจัดการขยะอุตสาหกรรม ทั้งในเชิงป้องกันและลดปัญหาขยะอุตสาหกรรม และการจัดการกับขยะที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชนและสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ต้องเป็นระบบที่เข้าถึงและตรวจสอบได้โดยสาธารณะ
 19. หน่วยงานอนุมัติ-อนุญาต ต้องมีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนมลพิษ และฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจดังกล่าว
 20. หน่วยงานที่-อนุมัติอนุญาต ต้องใช้อำนาจในการกำกับดูแลโครงการ และต้องรับผิดชอบหากโครงการก่อให้เกิดผลกระทบ หากละเลยหรือเพิกเฉยต้องรับโทษทางวินัย หรือโทษอื่นใดตามกฎหมาย
 21. การจัดสรรทรัพยากรน้ำ ต้องให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์ของชุมชนก่อนภาคอุตสาหกรรม
 22. ต้องมีองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพรวม
 23. ต้องมีระบบการแก้ไขเยียวยาปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม
 24. ให้มีกองทุนในการเยียวยาความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุน และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลในการบริหารจัดการกองทุนต่อสาธารณะ
 
ในการรวมตัวกันครั้งนี้ พวกเราเห็นร่วมกันว่า การพัฒนาทางด้านวัตถุอย่างเดียวอย่างไม่สมดุล เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสังคม จึงต้องมีการพัฒนาทางด้านจิตใจและความคิดของคนในสังคมควบคู่ไปด้วย   ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอข้างต้นให้บรรลุผลได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิรูปการเมือง ให้มีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อประชาชน และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมพร้อมกันไปด้วย
 
ร่วมลงชื่อโดย
1. มูลนิธิบูรณะนิเวศ
2. โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
3. เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมหนองแซง-ภาชี จ.สระบุรี
4. ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอย จ.สระบุรี
5. เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา
6. เครือข่ายคุ้มครองบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
7. เครือข่ายประชาชนคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังขั้นที่ 3 จ.ชลบุรี
8. เครือข่ายคนบ้านค่ายรักบ้านเกิด จ.ระยอง
9. สภาองค์กรชุมชนตำบลป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง
10. เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก, มาบตาพุด จ.ระยอง
11. กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ จ.ปราจีนบุรี
12. สมัชชาประชาชนรักษ์โลกร้อน
13. กลุ่มคนรักษ์บ่อวิน จ.ชลบุรี
14. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.ราชบุรี
15. กลุ่มรักแม่พระธรณี จ.ชลบุรี
16. เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดตราด
17. เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี
18. เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคท่าจะนะ จ.สุราษฏร์ธานี
19. เครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ประจวบคีรีขันธ์
20. คณะทำงานพลังงานยั่งยืน จังหวัดสุรินทร์
21. ศูนย์ประสานงานประชาสังคม จ.เลย
22. กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง จ.เลย
23. กลุ่มรณรงค์คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดตรัง
24. เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปาง
25. กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
26. เครือข่ายเกษตรทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา
27. กลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา
28. ชมรมอาสาสมัครรักษาสิ่งแวดล้อมคลองบางแก้วและเจดีย์บูชา จ.นครปฐม
29. กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารแคดเมียมตำบลพระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก
30. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น