โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

มลพิษแม่เมาะและอสังหาริมทรัพย์

Posted: 28 Jun 2012 09:29 AM PDT

ปฏิบัติการภาคสนาม สำรวจมลพิษแม่เมาะ ในพื้นที่ระหว่างวันที่ 20-21 เมษายน 2555

มลพิษแม่เมาะมีอยู่จริงหรือไม่ แล้วส่งผลกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สินอย่างไรบ้าง ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ในฐานะอาจารย์ผู้สอนชุดวิชากฎหมายทรัพย์สินและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชั้นสูง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงได้นำคณะนักศึกษา ออกทดลองปฏิบัติการภาคสนามในพื้นที่เมื่อวันที่ 20-21 เมษายน 2555 มารายงานประกอบการศึกษาและนำเสนอเพื่อประโยชน์สาธารณะ

มลพิษและสิ่งแวดล้อม

ในพื้นที่มีการรายงานผลการตรวจอากาศทุกวันตามภาพที่ 1 ท้ายนี้ สถานการณ์มลพิษทางภาคเหนือปรากฏว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Particulate Matter หรือ PM10) ในเดือนเมษายน 2555 นั้นไม่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานแต่อย่างใด ทั้งนี้เป็นทั้งในเขตเมืองลำปางและบริเวณรอบ ๆ เหมืองแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง {1} ทั้งนี้มีรายงานที่สูงเกณพ์มาตรฐานเพียง 1 วันซึ่งพบทั้งที่ศาลหลักเมืองจังหวัดลำปาง และที่สำนักงานการประปาแม่เมาะ จังหวัดลำปาง 

ภาพที่ 1: ผลการตรวจวันคุณภาพสิ่งแวดล้อมบ้านห้วยคิงซึ่งมีมลพิษต่ำกว่าเกณฑ์

ภาพที่ 2: รายงานการตรวจมลพิษทางอากาศจังหวัดลำปาง เดือนเมษายน 2555

 

ภาพที่ 3: สภาพชุมชนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่อยู่ห่างจากเหมืองไม่มากนัก

อย่างไรก็ตามในอดีตที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าแม่เมาะเคยปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมามากเกินมาตรฐาน แต่หลังจากการติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซดังกล่าวที่ปล่องแล้ว ปรากฏว่าการปล่อยก๊าซนี้ลดลงอย่างชัดเจน จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษที่นำเสนอโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพบว่า นับแต่ปี 2541-2553 ปริมาณก๊าซนี้ในอากาศในกรุงเทพมหานครกลับมีสูงกว่าในเหมืองแม่เมาะมาโดยตลอด {2}

ยิ่งกว่านั้น ผลการศึกษาที่ผ่านมายังพบว่ามลพิษหลักในเขตภาคเหนือเกิดจากการเผาป่ามากกว่าอย่างอื่น {3} กรณีนี้ก็ควรนำเสนอเพื่อให้สังคมโดยรวมเข้าใจว่า กิจการไฟฟ้านี้มีคุณต่อประเทศชาติและไม่ได้เป็นตัวการหลักในการสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง เว้นแต่ในพื้นที่ใกล้เคียงเหมืองขุดถ่านหินหรือใกล้กับบริเวณทิ้งดินจากการขุดทำเหมือง เป็นพื้นที่ที่ต้องให้ความสำคัญและดูแลเป็นพิเศษเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ นอกจากนี้ในพื้นที่ใกล้เคียงเหมือง ยังมีเขตที่อยู่อาศัยถาวรของเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ใช้อยู่อาศัยอีกด้วย

ภาพที่ 4: บ้านห้วยคิง และบ้านดง ที่ประสบปัญหามลพิษจากเหมืองแม่เมาะ

อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจเบื้องต้น คณะผู้ศึกษาเห็นว่า ในกรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบและประสงค์จะย้าย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ควรให้การสนับสนุนการย้ายโดยจ่ายค่าทดแทนตามความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย รวมทั้งการทำความเข้าใจต่อเนื่องเกี่ยวกับแหล่งที่มาของมลพิษเพื่อความเข้าใจของประชาชน

การสำรวจหมู่บ้าน

คณะผู้ศึกษาทั้งหมดออกปฏิบัติการภาคสนาม โดยพิจารณาประเด็นการเปลี่ยนแปลงราคาทรัพย์สินกับมลพิษ ศึกษาในกรณีเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และในการนี้ได้ทำแบบสอบถามกับประชาชนใน 2 หมู่บ้านคือ บ้านห้วยคิง หมู่ 6 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของเหมือง ใกล้กับพื้นที่ทำเหมืองถ่านหินจึงมีเสียงและความสั่นสะเทือน และบ้านดง หมู่ 2 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือของเหมือง ใกล้กับพื้นที่ทิ้งดินจากการขุดเหมือง ซึ่งมีฝุ่นจากการทิ้งดินมากเป็นพิเศษ

ภาพที่ 5: อาคารในบ้านดง หมู่ 2 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ ซึ่งมีจำนวนมากที่ปลูกด้วยไม้มีค่า

ผลการสำรวจพบว่า ชาวบ้านในทั้งสองหมู่บ้านประมาณครึ่งหนึ่งตั้งใจจะย้ายออกจากหมู่บ้าน อีก 19% ไม่แน่ใจ และมีเพียง 13% ที่ไม่ต้องการย้าย ทั้งนี้ที่บ้านห้วยคิงมีผู้ต้องการย้ายเพียง 45% และชาวบ้านที่อยู่ริมถนนไม่ต้องการย้ายเพราะได้ประโยชน์จากการทำการค้าต่าง ๆ ส่วนชาวบ้านที่อยู่ด้านในหมู่บ้านต้องการจะย้าย แต่ในกรณีบ้านดง 55% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ต้องการจะย้าย ที่ไม่ต้องการมี 33% และอีก 13% ไม่แน่ใจ

สำหรับภาวะมลพิษในชุมชนพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ 62% เห็นว่าสถานการณ์แย่ลง ที่เห็นว่าดีขึ้นมีเพียง 13% และที่เห็นว่าเหมือนเดิมเมื่อเทียบกับปีที่แล้วมี 25% ในกรณีบ้านห้วยคิง สถานการณ์ดีกว่า คือมีเพียง 42% ที่เห็นว่าสถานการณ์มลพิษแย่ลง แต่อีก 19% และ 39% เห็นว่าสถานการณ์มลพิษดีขึ้นหรือเหมือนเดิม แต่ที่บ้านดง ประชาชนถึง 80% เห็นว่าสถานการณ์มลพิษแย่ลง มีเพียง 8% ที่เห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้นและอีก 13% เห็นว่าสถานการณ์เหมือนเดิม แต่จากผลผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม: คุณภาพอากาศ (ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง) {4} พบว่า สิ่งแวดล้อมไม่ได้มีมลพิษมากเช่นความรู้สึกของประชาชนในท้องที่ ดังนั้นจึงควรมีการสำรวจในรายละเอียดต่อไป

ต่อข้อถามว่ามลพิษในอากาศเกิดจากอะไรเป็นสำคัญ โดยให้ผู้ตอบแบบสอบถามเรียงลำดับความสำคัญเป็นระดับที่ 1-3 ตามลำดับ และใช้การ Inverse {5} เพื่อแปลงค่าให้ชัดเจน ผลการสำรวจพบว่ามลพิษจากเหมืองมีส่วนสำคัญมากที่สุดคือ 46% รองลงมาคือมลพิษจากรถยนต์ 28% และจากไฟป่า 27% สถานการณ์ที่บ้านห้วยคิงมีแนวโน้มดีกว่า กล่าวคือ เห็นว่ามลพิษจากเหมืองมีเพียง 39% ที่เหลือมาจากมลพิษจากรถยนต์ 32% และจากการเผาป่า 28% ส่วนในกรณีบ้านดง มีความเห็นว่ามลพิษหลักมาจากการทิ้งดินของเหมืองถึง 53% รองลงมาเป็นมลพิษจากไฟป่าและรถยนต์ที่ใกล้เคียงกันคือ 24% และ 23% ตามลำดับ

สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ก็คือ ชาวบ้านประเมินว่าราคาบ้านเพิ่มขึ้นประมาณ 11.8% และราคาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 11.1% ในบ้านห้วยคิง ส่วนที่บ้านดง ราคาบ้านเพิ่มขึ้นประมาณ 9.4% และราคาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 8.2% อย่างไรก็ตามการประมาณการของชาวบ้านในกรณีนี้ยังไม่อาจถือว่าสอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะประชาชนส่วนหนึ่งพยายามระบุว่าราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาก เพราะต้องการได้รับเงินชดเชยเพิ่มเติม จึงทำให้ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานสูงถึงประมาณ 25.2% - 44.1% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยราคา

จากการสังเกตเชื่อว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยคงไม่เพิ่มขึ้นมากนัก แต่อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมอาจมีโอกาสเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะมีผู้สนใจซื้อไปปลูกยางพาราเพราะเชื่อว่าจะสามารถปลูกได้ดีในพื้นที่นี้ อย่างไรก็ตามจากการสอบถามเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอแม่เมาะ ก็ยังไม่พบการซื้อขายจริงแต่อย่างใด และยังไม่มีการปลูกยางพาราในพื้นที่ปรากฏให้เห็นชัดเจน

ภาพที่ 6: สภาพทาวน์เฮาส์ในใจกลางตลาดตัวอำเภอแม่เมาะที่เสนอขายราคา 1.8 ล้านบาท

การสำรวจอสังหาริมทรัพย์

ในวันที่ 20 เมษายน 2555 ดร.โสภณ พรโชคชัย ยังได้มีโอกาสไปสำรวจราคาที่ดินโดยได้ข้อมูลจากเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และเจ้าหน้าที่ พบว่า มีการโอนซื้อขายที่ดินกันบ้างแต่ไม่มากนัก เพียง 40 รายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 ส่วนในปี 2554 ทั้งปีมีการโอนที่ดินกันเพียง 20 รายเท่านั้น

สำหรับราคาที่ดินของทางราชการที่ประเมินไว้เป็นบัญชีเพื่อการจัดเก็บภาษีและนิติกรรมโดยกรมธนารักษ์ ในเขตตัวอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปางนั้น ราคาติดถนนสายหลักของเขตอำเภอ ที่จะประกาศใช้ในเดือนกรกฎาคม 2555-ธันวาคม 2558 นั้น สูงถึงตารางวาละ 1,500 บาท ซึ่งเพิ่มสูงกว่าราคาตามบัญชีปี 2551-2554 ที่ประเมินไว้ 1,200 บาท หรือเพิ่มขึ้นราว 25%

ส่วนราคาที่ดินของทางราชการในหมู่บ้านที่มีข่าวเรื่องมลภาวะนั้น ราคาที่ดินที่ประกาศใช้ในปี 2555-2558 เพิ่มสูงกว่าราคาตามบัญชีปี 2551-2554 เพียงเล็กน้อย เช่น ในบริเวณถนนสายหลักของตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ราคาเพิ่มขึ้นจาก 625 บาทต่อตารางวา เป็น 675 บาทต่อตารางวาเท่านั้น หรือเพิ่มขึ้นเพียง 8% เท่านั้น

สำหรับราคาอสังหาริมทรัพย์ในใจกลางตลาดอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เช่น อาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ขนาดประมาณ 16 ตารางวา ขนาดอาคารประมาณ 80 ตารางเมตร จากการสำรวจภาคสนามพบว่า ราคาเรียกขายสูงถึง 1.8 ล้านบาทต่อหน่วย หากว่าต่อรองแล้วราคาขายจริงเป็นเงิน 1.6 ล้านบาท ราคานี้สามารถหาซื้อได้ที่แถวถนนประชาอุทิศ ทุ่งครุ แถวเขตบางแค หรือเขตประเวศ ฝั่งกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

หากสมมติว่าในส่วนของกำไร ภาษี ค่าดำเนินการ ดอกเบี้ยเป็นเงินประมาณ 30% ของราคาขาย ก็จะพบว่าต้นทุนในส่วนของอาคารและที่ดินควรเป็นประมาณ 1.12 ล้านบาท และหากประมาณการว่าค่าก่อสร้างอาคารเป็นเงินตารางเมตรละ 8,600 บาท หรือเป็นเงิน 0.688 ล้านบาท ต้นทุนในส่วนของที่ดินเปล่าจึงเป็นเงิน 0.432 ล้านบาท หรือเป็นเงินตารางวาละประมาณ 27,000 บาท อาจกล่าวได้ว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ในเขตตัวอำเภอแม่เมาะนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ข้อสังเกต: วัฒนธรรมชุมชน

ที่ผ่านมามักมีการกล่าวอ้างเสมอว่า การย้ายชุมชนจะกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน การกล่าวอ้างนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดการโยกย้ายชุมชนหรือประชาชนออกนอกพื้นที่เดิม ทั้งนี้โดยอ้างว่าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และเป็นผลเสียต่อวัฒนธรรมชุมชนเป็นต้น ในกรณีนี้หากไม่มีความจำเป็น ก็ไม่ควรย้ายชุมชนให้เกิดความเดือดร้อนใด ๆ

อย่างไรก็ตามในบางกรณีอาจมีความจำเป็น ซึ่งการโยกย้ายก็สามารถทำได้หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดหาที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม อย่างเช่นกรณีอำเภอแม่เมาะที่มีการค้นพบว่าบริเวณใต้ที่ตั้งอำเภอเป็นแหล่งถ่านหินขนาดใหญ่ จึงได้โยกย้ายชาวบ้าน วัด โรงเรียนและอื่น ๆ ออกนอกพื้นที่ เพื่อขุดหาถ่านหิน จนสภาพปัจจุบันกลายเป็นขุมเหมืองลึกและมีขนาดใหญ่มาก ส่วนตัวอำเภอใหม่และประชาชนได้รับการโยกย้ายออกห่างจากพื้นที่เดิมประมาณ 15 กิโลเมตร

การโยกย้ายนี้ปรากฏว่าทำให้ประชาชนในเขตตัวอำเภอไม่ได้รับมลพิษจากการทำเหมือง เช่นชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง แต่ละครัวเรือน ได้รับที่ดินแปลงใหญ่ มีสาธารณูปโภคใหม่ครบครัน และปัจจุบันราคาที่ดินก็เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ชาวบ้านมีความมั่งคั่งและความสุข จะสังเกตได้ว่าประชาชนจำนวนมากที่อยู่ในชุมชนริมเหมืองปัจจุบันยินดีจะย้ายเพราะหวังจะได้รับค่าทดแทนที่สูงเช่นกัน ดังนั้นประเด็นเรื่องการทำลายวัฒนธรรมชุมชนจึงไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น

ในแง่หนึ่งเพราะอุตสาหกรรมถ่านหินและไฟฟ้านี้เอง ที่ทำให้อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และพื้นที่โดยรอบเจริญเติบโตขึ้นมาเหนืออำเภออื่นของจังหวัดลำปางเช่นทุกวันนี้ทั้งที่ตัวอำเภอแม่เมาะตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดลำปางเข้าไปในเขตป่าเขาถึง 20 กิโลเมตร ประชาชนบางส่วนให้ข้อมูลว่า หากไม่มีกิจการไฟฟ้าแม่เมาะ หรือหากในอนาคตหากปิดกิจการนี้ อำเภอแม่เมาะก็คงเป็นเพียงอำเภอเล็ก ๆ และไม่มีความเจริญทางเศรษฐกิจเช่นทุกวันนี้

บทสรุป

มลพิษโดยเฉพาะฝุ่นละอองยังมีปรากฏอยู่จริงในพื้นที่หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้เหมือง โดยเฉพาะหมู่บ้านดง ที่อยู่ทางด้านเหนือของเหมืองใกล้กับบริเวณที่ทิ้งดินที่ขุดขึ้นมาจากเหมืองนั่นเอง แต่ในหลาย ๆ บริเวณอื่นคยปรากฏเป็นข่าวนั้น อาจเกิดจากความเข้าใจผิด เพราะมลพิษฝุ่งละอองในอากาศ ส่วนใหญ่เกิดจากไฟไหม้ป่าเป็นสำคัญ คณะผู้ศึกษาเห็นว่าในกรณีจำเป็นก็อาจพิจารณาย้ายชุมชนออกไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ หรือได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว

อย่างไรก็ตามการดำรงอยู่ของเหมืองและโรงงานไฟฟ้าแม่เมาะนี้มีคุณูปการต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง การแก้ไขปัญหามลพิษก็ได้ดำเนินการอย่างจริงจังโดยเฉพาะการกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และทำให้อำเภอแม่เมาะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยพิจารณาได้จากการเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อให้การพัฒนาอยู่ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม

 

อ้างอิง

  1. ข้อมูลระบบเตือนภัยมลพิษทางอากาศ จังหวัดลำปาง http://www.lampangceo.com/warn_air/reports/month.php?y=2012&m=4
  2. ข้อมูลจากตารางสถิติของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ณ เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
  3. ปัญหามลพิษ http://infofile.pcd.go.th/air/Smoke_North.pdf?CFID=8348303&CFTOKEN=21251666 และโปรดดูกรณีซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ได้ที่ http://www.publicconsultation.opm.go.th/rubfung67/doc38.pdf
  4. ข้อมูลที่นำเสนอโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย http://www.egat.co.th/gis
  5. Inverse Funcion: http://en.wikipedia.org/wiki/Inverse_function

* คณะผู้ศึกษา ประกอบด้วย ดร.โสภณ พรโชคชัย และ พ.ต.ท.สมชาย กาวิเนตร พ.ต.ท.หญิง นวกร คำดี นายชัยวัฒน์ แสนภิบาล ร.ต.ท.เสรี เตียมวงค์ น.ส.น้ำอ้อย พันกับ พระนิติพจน์ ขุนพินิจ และนักศึกษาที่เข้าเรียนอีกจำนวนหนึ่ง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลขาฯ ศอ.บต. แนะสภาที่ปรึกษาทำงานเชิงรุก พร้อมดัน 'สันติธานี'

Posted: 28 Jun 2012 09:14 AM PDT

 

ที่มาภาพ http://db.tt/gOl6XzZG
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิกา รศอ.บต. กล่าวเปิดงาน
1 ปีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.)

 

เสวนาครบรอบ 1 ปีสภาที่ปรึกษา ศอ.บต. เลขาฯ ทวีย้ำการมีส่วนร่วมช่วยทำให้ความจริงปรากฏ ลั่นต้องเปิดพื้นที่ให้คนคิดต่าง ดันสภาที่ปรึกษาทำงานเชิงรุก หนุน “สันติธานี” สู่การปฏิบัติ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 มิถุนายน 2555 ที่โรงแรมปาร์ควิวรีสอร์ต  อ.เมือง จ.ปัตตานี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดงาน “1 ปีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อประชาชน”  โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการ นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานกว่า 500 คน

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวในการเปิดงานครั้งนี้ว่า สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ก่อตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.ศอ.บต. เพื่อเป็นเสียงสะท้อนในการแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยสปต.  เป็นตัวแทนของทุกภาคส่วนในพื้นที่  ตนอยากฝากให้สปต. ทำงานเชิงรุก เช่น ในเรื่องการศึกษา ในพื้นที่ไม่สามารถใช้กฎเกณฑ์จากส่วนกลางมาอธิบายได้  

ก่อนหน้านี้ตนเคยคุยกับครูในพื้นที่ ซึ่งปัญหาที่พบ คือ ปัญหาคุณภาพของครูและนักเรียน  มีการเอาระบบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (O-NET) มาวัดซึ่งจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาสก็อยู่ในลำดับท้ายๆ  แต่ว่า O-NET ไม่สามารถเป็นเกณฑ์ในการวัดคนดีได้  นอกจากนี้  เยาวชนบางส่วนก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในการสอบ O-NET  เพราะมีความประสงค์จะเรียนไปศึกษาต่อในต่างประเทศ จึงทำให้พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับ O-NET เท่าที่ควร  พ.ต.อ.ทวีกล่าว

 พ.ต.อ.ทวีอธิบายว่าการเกิดขึ้นของสปต.นั้นเป็น “ความคิดที่ก้าวหน้า” และ “เป็นต้นทุนที่สำคัญในการเดินทางไปสู่สันติสุข”  ในบางปัญหาที่เราคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่  แต่ถ้าหากเรากล้าที่จะให้คนมีส่วนร่วม  ปัญหาก็จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป การมีส่วนร่วมจะช่วยขจัดความเท็จให้หมดไป และความจริงก็จะปรากฏขึ้น

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความซับซ้อนในเรื่องอัตลักษณ์จึงต้องมองการแก้ปัญหาให้รอบด้าน ไม่ควรแก้ปัญหาโดยใช้แนวคิดของคนเพียงคนเดียว ตัวแทนทุกภาคส่วนควรร่วมกันแก้ปัญหา   ปัญหาในภาคใต้ที่สำคัญเป็นเรื่องอุดมการณ์หรือความเห็นที่แตกต่างซึ่งต้องเปิดพื้นที่ให้พูดคุยและมีส่วนร่วม ซึ่งสุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับประชาชน

อนึ่ง  สปต. เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นโครงสร้างใหม่ที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. ศอ.บต.  สปต. มีสมาชิก 49 คนซึ่งเป็นตัวแทนที่คัดเลือกมาจากภาคส่วนต่างๆ เช่น องค์กรปกครองท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา นักการศึกษา สตรี ภาคธุรกิจ ผูนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี   โดยสปต.มีหน้าที่หลักในการให้คำปรึกษาแก่เลขาฯ ศอ.บต.  

สปต. ประกอบด้วย ประธานสปต.  รองสปต.จำนวน 2 คน เลขาสปต. โฆษกประจำสปต. และสมาชิกสปต. โดยแบ่งเป็น 9 ฝ่าย คือ 1.) คณะกรรมการการศึกษา 2.) คณะกรรมการยุติธรรม สิทธิมนุษยชน 3.)  คณะกรรมการบริหารและการมีส่วนร่วม 4.) คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5.) คณะกรรมการพัฒนาสตรี เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ และคนพิการ 6.) คณะกรรมการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ 7.)คณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม 8.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์และกิจการสภา และ9.) คณะกรรมการการต่างประเทศ นอกจากนี้สมาชิกสปต.ยังรวมถึงผู้ประสานงานประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูลอีกด้วย

นอกจากนี้ในงานนี้ยังมีการนำเสนอรูปแบบการปกครองแบบ “สันติธานี” โดยคณะนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 2 (4ส2) สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า  ความคิดของ “สันติธานี” คือการปรับบริการพื้นฐานของรัฐให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่

พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา นักศึกษา 4ส2 นำเสนอรูปแบบโรงพยาบาลสร้างสุขว่า การจัดทำป้าย 2 ภาษา ประกอบด้วย ภาษาไทย ภาษามลายูหรือภาษายาวี จำเป็นต้องมีในทุกโรงพยาบาลของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพื่อความสะดวกแก่ผู้เข้ารับบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล

“สำหรับปัญหาเรื่องเพศก็ควรมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงเพื่อความสบายใจในการเข้าใช้บริการ หรือการเข้ารับการปรึกษา ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ต้องสามารถสื่อสารทั้งได้ภาษาไทยและภาษามลายูได้” พญ.เพ็ชรดาว กล่าว

พญ.เพชรดาว เปิดเผยว่า จากการสำรวจของนักศึกษา 4 ส พบว่า คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังอยากให้หมอตำแยทำคลอดบุตร โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า หมอตำแยจะบีบนวดหลังคลอด ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลาย ขณะที่โรงพยาบาลไม่มีการปฏิบัติในรูปแบบดังกล่าว

พญ.เพชรดาว กล่าวว่า นอกจากนี้การอาซาน (การกล่าวเรียกให้ละหมาด) ในการคลอดบุตร การมีที่ประกอบศาสนกิจ อาหารฮาลาล  ซองยาซึ่งพิมพ์ 2 ภาษา ประกอบด้วยภาษาไทย และภาษามลายูหรือภาษายาวี การจัดให้บริการอาหารในการละศีลอด โดยเฉพาะช่วงเดือนรอมฎอน เช่น การเตรียมน้ำ หรืออินทผลัม ก็ควรมีให้บริการแก่ผู้ที่เข้าใช้บริการที่โรงพยาบาลทุกคน

“ในอดีตกระทรวงสาธารณสุขมีข้อจำกัดมาก แต่ปัจจุบันเนื่องจากการรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่เปิดกว้างมากขึ้น จึงมองว่าสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด ต้องไปได้ในอนาคตอันใกล้นี้” พญ.เพชรดาว กล่าว

น.ส.นารี เจริญผลพิริยะ นักศึกษา 4ส2 กล่าวว่า หลักการสำคัญในการดำเนินการโรงพักต้นน้ำแห่งความยุติธรรมประกอบด้วย 7 ข้อ คือ 1.) หลักนิติธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยต้องเสมอภาคกับทุกคน 2.) หลักความโปร่งใส 3.)หลักการมีส่วนร่วม 4.) ต้องมีความรับผิดชอบ 5.) หลักจริยธรรม 6.) หลักการคุ้มค่า และ 7.) หลักการเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับวิถีชุมชนในพื้นที่

พ.ต.อ.ทวีได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังกล่าวเปิดงานว่า ตนเชื่อว่ารูปแบบ “สันติธานี” ควรจะต้องนำมาปฏิบัติ โดยพื้นที่ใดที่มีต้องการอยากให้ชุมชุมของตนเป็นพื้นที่นำร่อง ก็สามารถติดต่อโดยตรงได้ที่ตน 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. ถก 'อียู' เสียงแข็งไม่ควรล้วงลูกประกาศครอบงำกิจการฯ

Posted: 28 Jun 2012 09:06 AM PDT

สุทธิพลระบุต่างชาติต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย แข่งขันโดยเสรีได้ แต่ต้องกระทำอย่างเป็นธรรมด้วย ย้ำกสทช.จะคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน

สุทธิพล ทวีชัยการ 

 

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคม  เปิดเผยว่า  จากการที่สำนักงาน กสทช. ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ต่อ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. ไปเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา  โดยมีผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต่อ (ร่าง) ประกาศดังกล่าวนั้น ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ แต่ที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ครบถ้วนในลักษณะอัตวิสัยทำให้เกิดความสับสนให้กับนักลงทุนต่างชาติ จนกลายเป็นประเด็นทำให้ผู้แทนของสหภาพยุโรปมีหนังสือถึงกสทช.และหน่วยงานระดับสูงของไทย และขอเข้าพบตนในวันนี้ ซึ่งข้อห่วงใยหลายเรื่องเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจำเป็นต้องอธิบายทำความจริงให้ปรากฏ ทั้งนี้ตนเห็นว่าถ้าคนไทยทุกฝ่ายคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ความสับสนต่างๆคงจะไม่เกิดขึ้น

จึงขอชี้แจงว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 47 กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน แม้จะต้องคำนึงถึงการแข่งขันโดยเสรีก็ตาม แต่การแข่งขันดังกล่าวก็ต้องดำเนินการฯอย่างเป็นธรรม  โดยยึดหลักผลประโยชน์สูงสุดของชาติเป็นสำคัญ การจัดทำร่างประกาศครอบงำกิจการฯ เป็นการออกหลักเกณฑ์ตามกรอบอำนาจของกฎหมายที่มีอยู่เพื่อกำกับดูแลการประกอบกิจการ

ธุรกิจโทรคมนาคมของคนไทย เพื่อมิให้คนต่างด้าวเข้ามาใช้อำนาจเกินสิทธิที่กฎหมายกำหนดให้ถือหุ้นได้ไม่เกิน 49%  อันเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของคนไทย และผลประโยชน์ของชาติ โดยที่ไม่ได้ไปสกัดกั้นคนต่างชาติไม่ให้เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย กล่าวคือ เข้ามาได้ แต่คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติไทย การไปใช้จึงต้องระมัดระวังไม่ให้เกินกรอบที่กฎหมายไทยอนุญาต และที่สำคัญต้องยึดหลักบรรษัทภิบาล และไม่ดำเนินการใช้สิทธิในลักษณะเป็นการเลี่ยงกฎหมาย อันทำให้การแข่งขันเกิดความไม่เป็นธรรม

ในการหารือกับคณะผู้แทนของอียูในวันนี้ ( 28 มิถุนายน 2555) ซึ่งตนก็ได้ให้ความกระจ่างในหลักการของการจัดทำ ร่างประกาศฉบับนี้อย่างตรงไปตรงมา ว่า แนวทางในการคงประกาศนี้ไว้โดยปรับปรุงแก้ไขเป็นวิธีการที่ดีที่สุดและเกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด เพราะหลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านและชั่งน้ำหนักพิเคราะห์ข้อมูลต่างๆด้วยความระมัดระวัง ยังไม่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะไปยกเลิกประกาศนี้ แต่พบว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงประกาศฯให้เกิดความชัดเจน โดยไม่ให้เกิดปัญหาที่จะมีผู้โต้แย้งว่าเปิดให้กสทช.ใช้ดุลพินิจกว้างเกินไป และเพื่อมิให้เกิดปัญหาเรื่องการขัดต่อพันธกรณีของประเทศไทย กสทช.จึงดำเนินการในแนวทางดังกล่าว โดยในกระบวนการแก้ไขก็ได้ใช้นักกฎหมายหลายท่านที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการดำเนินการ และได้รับฟังความคิดเห็นทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร จึงขอสรุปว่าร่างประกาศนี้ไม่ได้ไปสกัดกั้นการลงทุนอย่างเสรี ไม่ได้ขัดต่อพันธกรณีที่ไทยไปทำไว้กับองค์การการค้าโลก ไม่ใช่มาตรการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจเข้ามาแข่งขันประมูลคลื่นความถี่ 3 G แต่เป็นการป้องปรามมิให้มีการฉวยโอกาสเข้ามาประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้ที่เขาปฎิบัติตามกฎหมาย ฉะนั้น หากบริษัทต่างชาติหรือบริษัทไทยปฏิบัติตามกฎกติกา โดยไม่ใช้ช่องทางในการเอาเปรียบเกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตแล้วก็ไม่ต้องห่วงว่าจะได้รับผลกระทบในทางลบจากการใช้ประกาศนี้

ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ร่าง ประกาศฉบับนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องการเตือนสติคนไทยด้วยกันเองว่าการวิพากษ์วิจารณ์และการสื่อสารต่อต่างชาติขอให้กระทำด้วยความระมัดระวังและศึกษาข้อมูลให้รอบด้านเสียก่อน เนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหวและอาจส่งผลเป็นการชักศึกเข้าบ้าน แม้อาจจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ทั้งนี้ขอให้คำนึงว่าเราทุกคนเป็นคนไทย แม้จะสวมหมวกประกอบอาชีพใดก็ยังคงเป็นคนไทยและต้องทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ

สำหรับล่าสุดที่มีการหยิบยกประเด็นในเรื่องของการกำหนด“นิยามของคนต่างด้าว” ว่ามีความเข้มงวดเกินกว่า พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 นั้นก็เกิดจากการที่ผู้วิจารณ์เข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อน เนื่องจากตามร่างประกาศนี้ การเป็นคนต่างด้าวหรือไม่นั้น บอร์ดกสทช. หรือ บอร์ด กทค.มิได้เป็นผู้ใช้ดุลพินิจว่าผู้ประกอบการรายใด หรือบริษัทใดเป็นบริษัทต่างด้าวหรือไม่ เพราะเป็นการใช้นิยามของคนต่างด้าวตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ทั้งร่างประกาศนี้ก็มิได้ไปห้ามคนต่างด้าวมาประกอบกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทยแต่อย่างใด แต่เป็นการวางกรอบให้บริษัทผู้รับใบอนุญาต หรือผู้ขอใบอนุญาต (ซึ่งเป็นนิติบุคคลไทย) ไปกำหนดข้อห้ามด้วยตัวเอง เพื่อให้เป็นบรรษัทภิบาล โดยร่างประกาศฉบับนี้ได้กำหนดแนวทางปฎิบัติไว้ตามที่ปรากฎในตอนท้ายของประกาศ

อีกประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า ร่างประกาศฉบับนี้อาจเป็นเหตุทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดโทรคมนาคมไทยที่มีอยู่ 3 ราย เหลือเพียงแค่ 2 ราย ที่จะมีโอกาสเข้าประมูลคลื่น 3 จีนั้น ขอเรียนให้ทราบว่า เป็นการเข้าใจที่คาดเคลื่อนเป็นอย่างมาก เพราะขั้นตอนในการยื่นขอรับใบอนุญาตนั้นเป็นขั้นตอนของการตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดในหลักเกณฑ์การประมูล และแม้ว่าต่อมาภายหลังจะมีผู้ร้องเรียนว่ามีการฝ่าฝืนข้อห้ามตามประกาศครอบงำกิจการฯก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้บริษัทผู้ถูกร้องเรียนขาดคุณสมบัติทันที แต่ต้องมีการตรวจสอบตามขั้นตอน โดยร่างประกาศฉบับนี้มีความยืดหยุ่นในการเปิดโอกาสให้สามารถแก้ไขตัวโดยกลับไปแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎกติกาที่กำหนดไว้ได้

สำหรับประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า ร่างประกาศฉบับนี้ไม่ได้ผ่านการจัดทำ “การประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแลที่ต้องทำเป็นรายงาน โดยต้องนำเสนอพร้อมกับเรื่องหรือร่างประกาศที่จะเสนอเข้าสู่การประชุมทุกครั้ง”หรือที่เรียกกันว่า “การทำ RIA” นั้น  ก็เป็นการวิจารณ์ที่คลาดเคลื่อนโดยมิได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้ครบถ้วนเสียก่อน                 

โดยประเด็นเรื่องนี้ได้ข้อยุติในบอร์ด กทค. แล้วว่าการนำเสนอร่างประกาศฯ ต่อที่ประชุม กทค. เป็นไปตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฉบับปัจจุบัน มิได้เป็นการผิดขั้นตอนของกฎหมาย หรือทำให้กระบวนการทางกฎหมายบกพร่อง เนื่องจาก กทค. ไม่ได้มีอำนาจในการออกประกาศ ของ กสทช. ทั้งกฎหมายก็ไม่ได้ให้อำนาจ กทค. ในการปฏิบัติการในเรื่องนี้แทน และก็ไม่ปรากฏว่า กสทช. มอบอำนาจในการออกระเบียบนี้แก่ กทค.  ฉะนั้นการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างประกาศฯ ในชั้นนี้ของ กทค. จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตอนต้นก่อนที่จะนำเสนอที่ประชุม กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการออกประกาศ กสทช. นี้ ทั้งนี้ ก็ปรากฏชัดเจนว่าในชั้นที่นำเสนอร่างประกาศเพื่อขอความเห็นชอบจาก กสทช. ในหลักการและขออนุญาตจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ก็ได้มีการเสนอรายงาน RIA ไปอย่างครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีประเด็นที่จะมีคนนำไปฟ้องร้องในศาลปกครอง หรือหากมีผู้ไม่ประสงค์ดีนำคดีไปฟ้อง เราก็สามารถอ้างพยานหลักฐานยืนยันได้ ซึ่งตนเข้าใจว่าผู้วิจารณ์คงไม่ทราบข้อเท็จจริง และไม่ทราบว่า กสทช. มีการออกระเบียบว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฉบับใหม่แล้ว นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจและข้อมูลรอบด้าน รวมทั้งเป็นการนำเอาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานภายในของ กสทช. มาเปิดเผย แต่ไม่ได้ตรวจสอบให้รอบคอบเสียก่อน จึงเกิดความคลาดเคลื่อนดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์  เกี่ยวกับระยะเวลาของการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศฉบับนี้ว่า ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งในประเด็นนี้ ขอชี้แจงว่า กสทช. ได้กำหนดให้จัดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะผ่าน 2 ช่องทาง คือ ช่องทางแรก ผ่านเว็ปไซด์ของสำนักงาน กสทช. โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม ถึงวันที่ 18 มิถุนายน  2555 ซึ่งปรากฏว่ามีประชาชน นักศึกษา และผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตได้แสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนกว่า 30 ราย  และช่องทางที่สอง คือการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ในวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่าสี่ร้อยคนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ ร่างประกาศดังกล่าว  ทั้งนี้การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะดังกล่าวถือเป็นช่องทางเสริมอีกช่องทางหนึ่งในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยข้อคิดเห็นที่ได้จากทางเว็ปไซด์และจากเวทีสาธารณะจะถูกนำมาประมวลวิเคราะห์เข้าด้วยกันเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดพิจารณา และอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างประกาศฯตามข้อมูล เหตุผล เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  ก่อนจะส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้ต่อไป  

ข้อวิพากษ์วิจารณ์อีกประเด็นหนึ่งที่มีการกล่าวอ้างว่า หาก ร่างประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้อาจนำไปสู่การผูกขาดในกิจการโทรคมนาคมไทย และส่งผลให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบนั้น ตนข้อชี้แจงว่า  ร่างประกาศฉบับนี้จะไม่นำไปสู่การผูกขาด แต่จะทำให้การแข่งขันเป็นไปไม่ใช่แค่เสรีอย่างเดียวแต่จะต้องเป็นธรรมด้วย โดยเฉพาะกับบริษัทคนไทยที่อาศัยทุนต่างชาติจะไม่สามารถเล่นนอกกติกาได้อีกต่อไป โดยตนมั่นใจว่า การตัดสินใจในการปรับปรุงประกาศฯ แทนที่จะยกเลิกประกาศเดิมไปทั้งฉบับ ดังที่มีกลุ่มผลประโยชน์รวมทั้งกลุ่มคนต่างชาติบางกลุ่มเรียกร้อง กสทช.ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบหลังจากที่มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งเห็นว่าจำเป็นต้องคงประกาศไว้และแก้ไขเนื้อหาให้เกิดความชัดเจนขี้น ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติและทำให้เกิดการแข่งขันโดยเสรี และอย่างเป็นธรรม โดยบอร์ด กสทช. ชุดนี้คงไม่ยอมให้ใครมาย่ำยีผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแน่นอน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์: ‘นาซ่า’ มา ‘ไทย’ ยากกว่าไป ‘ดวงจันทร์’

Posted: 28 Jun 2012 08:35 AM PDT

ปัญหาเรื่อง “นาซ่า” (จะอด) มา “อู่ตะเภา” นั้น เป็นอีกหนึ่งอาการกำเริบของ “โรคประชาธิปไตยชักกระตุก” ที่กำลังเข้าสู่ “ภาวะเรื้อรัง”

“สาเหตุอาการป่วย” นั้น บางคนมองว่าเป็นเพราะ “ความอ่อนหัดของรัฐบาล” ที่มัวแต่สาละวนกับเรื่อง “ปรองดอง-แก้รัฐธรรมนูญ” จนพลาดท่าไม่ได้ดำเนินการชี้แจงและตัดสินใจอย่างทันท่วงที ทั้งที่มีข้อมูลพร้อมอยู่ในมือ

บางคนอาจมอง  “ความอ่อนสำนึกของฝ่ายค้าน” ที่เล่นการเมืองมากไป แทนที่จะไปจี้ตรวจสอบเรื่องกฎระเบียบข้อกำหนดเรื่องความมั่นคงที่ฝ่ายบริหารจะต้องนำมาควบคุมดูแลโครงการ กลับไปขยายประเด็นเป็นเรื่อง มาตรา 190 เพื่อดึง “ศาลรัฐธรรมนูญ” มาเกี่ยวข้อง

บางคนอาจมองต่อไปถึง “ความอ่อนประชาธิปไตย” ของศาลรัฐธรรมนูญ หรือโครงสร้างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ขยายอำนาจดุลพินิจของ “คน 9 คน” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ให้ไปคร่อมทับรัฐบาลและสภาหลายเรื่อง จนฝ่ายการเมืองกลัวว่าจะถูก มาตรา 190 เล่นงาน

ในขณะที่บางคนก็อาจมอง “ความอ่อนสื่อของนักวิทย์ และความอ่อนวิทย์ของนักสื่อ” ซึ่งต่างฝ่ายต่างทำให้ข้อมูลและข้อชี้แจงในเชิงวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถปรากฏชัดได้ทันท่วงที ปล่อยให้มีแต่ “นิยายวิทยาศาสตร์กึ่งการเมือง” ฟุ้งเต็มไปหมด

แต่ที่แน่ๆ “นาซ่า” เอง ก็ดูท่าจะ  “อ่อนการเมืองไทย” เพราะคงนึกในใจว่า ขนาดส่งคนบินไปไกลถึงดวงจันทร์ ยังทำสำเร็จมาแล้ว แต่หารู้ไม่ว่า การจะบินฝ่า “มรสุมการเมืองไทย” ได้นั้น แสนยากเย็นลึกลับซับซ้อนยิ่งกว่า !

คำถามสำคัญ คือ วันนี้ ประเทศไทย และ “นาซ่า” จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ?

จาก “กรอบเวลา” ของลมฟ้าอากาศ ก็บังคับให้การบินสำรวจต้องเป็นช่วงเดือน สิงหาคม-กันยายน นี้ แต่กว่าจะบินได้ ก็ต้องขนย้ายติดตั้งอุปกรณ์ ซึ่งอาจใช้เวลาร่วมเดือน จึงหมายความว่า หากจะเดินหน้าต่อจริง “นาซ่า” ก็ต้องเริ่มขนย้ายของมาที่ประเทศไทยมาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมเป็นอย่างช้าแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เขียนขอเสนอให้เราตั้งหลักกันก่อนดีไหมว่า หากสมมติเรายอมให้ “นาซ่า” ขนของมาถึงไทยได้ทันต้นหรือกลางเดือนสิงหาคมแล้ว พอถึงเวลานั้น เราจะมี “เครื่องมือทางกฎหมาย” ใดที่จะมาดูแลควบคุม “ความมั่นคง” ของประเทศชาติ ไปพร้อมๆ กับการเปิดอภิปรายในสภา ได้หรือไม่ ?

ในขั้นแรก คนไทยควรต้องทราบข้อมูลสำคัญก่อนว่า ทาง สหรัฐฯ นั้น ได้ส่งหนังสือเสนอให้รัฐบาลไทยตอบรับเป็น “หนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูต” (Exchange of Notes) ว่าด้วยคำขอของ “นาซ่า” ที่จะใช้ “อู่ตะเภา” มาตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ซึ่งทางฝ่าย สหรัฐฯ ก็รอการตอบรับจากฝ่ายไทย และพร้อมจะถูกผูกมัดภายใต้เงื่อนไขสำคัญ คือ

“- Area of Operation: ...NASA...will file flight plans with Thai aviation authorities and strictly abide by any restrictions placed on flights…”

“- Compliance with Thai Law: While operating in Thailand, NASA and its partners will adhere to Thai law and closely coordinate its activities with the relevant authorities.”

(ดูเอกสารได้ที่ http://bit.ly/NASAVP )

กล่าวโดยสรุป ก็คือ                                                                                         

- “นาซ่า” จะส่งมอบแผนเส้นทางการบิน (flight plans) ให้กับหน่วยงานฝ่ายไทย และจะปฏิบัติตามข้อห้ามเกี่ยวกับการบินใดๆ  ที่ฝ่ายไทยกำหนดอย่างเคร่งครัด

- “นาซ่า” และผู้ร่วมโครงการจะเคารพปฏิบัติตามกฎหมายไทย และประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยอย่างใกล้ชิด

อันที่จริงข้อความเหล่านี้ แม้จะไม่เขียนไว้ ก็ย่อมเป็นสิทธิของประเทศไทย ในฐานะรัฐที่มีอธิปไตยเหนือดินแดนที่จะบังคับได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่การกำหนดไว้ เช่นนี้ ย่อมทำให้ชัดเจนว่า ทางสหรัฐฯ เองก็พร้อมที่จะให้ “นาซ่า” ปฏิบัติการภายใต้การควบคุมตามกฎระเบียบคำสั่งของฝ่ายไทย

เมื่อข้อเท็จริงเป็นดังนี้ ผู้เขียนจึงเสนอว่า หากคนไทย (ไม่ว่าจะฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือ ฝ่ายความมั่นคง) ไม่ได้ดูถูกสติปัญญาของคนไทยด้วยกันเองจนเกินไป ก็ขอให้ตั้งสติว่า “ฝ่ายความมั่นคงของไทย” ก็มี “เครื่องมือทางกฎหมาย” หลายชิ้นที่นำมาใช้ได้

เช่น “พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551”  “ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544”  “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2552” ตลอดจนกฎระเบียบอื่นๆ ของกระทรวงกลาโหม กองทัพอากาศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหาร สามารถนำมาบังคับ ควบคุม ดูแล ให้ “นาซ่า” ปฏิบัติตามได้

สมควรย้ำว่า เมื่อปีที่แล้ว ตอนวิกฤตน้ำท่วม ไทยก็เคยให้ “องค์การสำรวจอวกาศแห่งประเทศญี่ปุ่น” (JAXA) ส่งเครื่องบินเข้ามา “ถ่ายภาพความละเอียดสูง” ในบริเวณสำคัญของไทย เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และแม้การถ่ายภาพที่ว่าจะกระทบ “ความมั่นคง” แต่ฝ่ายบริหารของไทยก็สามารถ “บริหารจัดการ” ให้เครื่องบินของญี่ปุ่นต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความมั่นคงของประเทศไทยได้ (ดูเอกสารได้ที่ http://bit.ly/NASAVP )

ฉันใดก็ฉันนั้น หากเราระลึกได้ว่า เรื่องที่ “นาซ่า” จะเข้ามาศึกษาเมฆอากาศ ก็เพื่อประโยชน์ของคนในโลกที่จะสามารถรับมือเตรียมพร้อมกับภัยธรรมชาติได้แล้ว แม้การเข้ามาบินย่อมมองได้ว่ากระทบ “ความมั่นคง” แต่ก็ไม่น่าจะ “เกินปัญญา” ของฝ่ายบริหารของไทย ที่จะนำ “เครื่องมือทางกฎหมาย” มาใช้ “บริหารจัดการ” ให้ “นาซ่า” ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความมั่นคงของไทยอย่างครบถ้วนดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา

หรือหาก “ฝ่ายค้าน” คิดว่าตนรู้ดีกว่า ก็ไม่ต้องรอสภาเปิด แต่โปรดเสนอแนะมาให้ชัดเลยว่า มีสิ่งใดที่ฝ่ายบริหารของไทยควรจะได้ดำเนินการอย่างรัดกุมเป็นพิเศษ แทนที่จะได้แต่ถามลอยๆ และโยงประเด็นไปสู่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งไม่ได้มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านความมั่นคงโดยเฉพาะแต่อย่างใด

หากเราทุกคนตั้งหลักได้เช่นนี้ ก็ไม่ผิดอะไรหากรัฐบาลไทยจะดำเนินการตอบรับให้ “นาซ่า” รีบขนของให้มาถึงไทยทันต้น-กลางสิงหาคม และเมื่อมาถึงแล้ว ก็พอดีกับที่สภาได้เปิดอภิปรายพูดย้ำกันให้ชัดเจนอีกครั้งว่า จะฝากให้ “ฝ่ายบริหาร” ดูแลเรื่องใดเป็นพิเศษ จากนั้น “ฝ่ายบริหาร” ก็ไปควบคุมดูแล “นาซ่า” แม้เวลา 2 เดือนอาจหดสั้นลง แต่ก็ยังไม่เสียเที่ยวที่เตรียมการมานับปี

ส่วนหาก “นาซ่า” จะดื้อดึงไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของฝ่ายไทย ก็เป็นปัญหาที่ “นาซ่า” ต้องขนของกลับไปเอง เพราะใน “หนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูต” (Exchange of Notes) ทางสหรัฐฯ ก็ได้ยอมรับไว้แล้วว่า “นาซ่า” จะต้องปฎิบัติตามกฎหมายไทย  

ก็หวังว่านักการเมืองไทยจะหยุดทำประเทศ “ชักกระตุก” โดยหันมารับผิดชอบในหน้าที่ตนเองตามกรอบของกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประชาชน ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และความมั่นคง และประกาศให้โลกรู้ว่า บินมา "ไทย" นั้นไม่ได้ยากกว่าบินไป "ดวงจันทร์" !

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณี นาซ่า-อู่ตะเภา ดูได้ที่ http://bit.ly/NASAVP

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาพยนตร์สนทนา: ข้อสังเกตว่าด้วย “การเมือง” ในหนังไทย

Posted: 28 Jun 2012 07:21 AM PDT

เก็บความจากงานภาพยนตร์สนทนา “อุดมการณ์ประชาธิปไตยในภาพยนตร์ไทย” เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ฯ เมื่อ 23 มิ.ย. 55 ศาสวัต บุญศรี นักวิชาการด้านภาพยนตร์ และ ชญานิน เตียงพิทยากร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย สัณห์ชัย โชติรสเศรณี ผู้ช่วยผู้อำนวยการหอภาพยนตร์แห่งชาติ
 

 

หนังไทยประกาศตัวเป็น “หนังการเมือง” ชัดๆ ไม่ค่อยได้ ต้องแอบๆ ซ่อนๆ
ศาสวัตกล่าวว่า ได้ลองไล่สำรวจหนังไทยที่พูดถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างจริงจังร่วมกับเพื่อนๆ นักวิจารณ์หนัง แล้วพบว่าหาได้ยากมาก ช่วงหลังรัฐประหารปี 49 ก็มีหนังหลายเรื่องที่แฝงกลิ่นการเมือง แต่การเป็นหนังการเมืองนั้นไม่ได้หมายความว่าจะมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย กลับพบความคิดที่ไม่เป็นประชาธิปไตยปรากฏอยู่ในหนังมากกว่า

ชญานินวิเคราะห์หนังการเมืองไทยว่า หนังไทยจะแสดงตัวว่าเป็น “หนังการเมือง” ชัดๆไม่ค่อยได้ ต้องปกปิดแอบซ่อน ส่วนหนังไทยที่พูดถึงอุดมการณ์การเมืองชัดเจน เท่าที่พบนั้นอาจแยกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือหนังยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์สมัยก่อนที่รัฐให้การสนับสนุน เช่น เรื่อง "หนักแผ่นดิน" เมื่อ พ.ศ.2520 กำกับและแสดงนำโดย สมบัติ เมทะนี ส่วนกลุ่มที่สอง จะเป็นกลุ่มที่แสดงอุดมการณ์การเมืองชัด แต่ไม่ถูกรับรู้ว่าเป็นหนังการเมือง คือหนังแนวประวัติศาสตร์รบรา และหนังเชิดชูสถาบันกษัตริย์
 


"หนักแผ่นดิน" พ.ศ.2520

นอกเหนือไปจากนี้ หากหนังแสดงเนื้อหาทางการเมืองชัดเจน ก็มักถูกมองว่าเป็นภัย อย่างเรื่อง Shakespeare Must Die กำกับโดย สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ (อิ๋ง เค) ซึ่งถูกแบน เพราะฉะนั้นหนังการเมืองไทยต้องซ่อนตัวเอง จนต้องเป็นผู้ชมที่ติดตามการเมืองและดูหนังมามากประมาณหนึ่งจึงจะเข้าใจ

ถ้าเป็นหนังการเมืองที่ไม่ซ่อนตัวเอง เนื้อหาก็จะไม่ได้ลงลึกถึงระดับอุดมการณ์ หรือวิพากษ์วิจารณ์ระบบ แต่เนื้อหาจะติดอยู่แค่ว่านักการเมืองเลว สกปรก คอร์รัปชัน ขี้โกง มั่วเซ็กส์ ธุรกิจสกปรก ฯลฯ นี่คือจุดที่ไกลที่สุดที่ประเทศนี้จะรับกับคำว่า “หนังการเมือง” ได้ ภายใต้เงื่อนไขนี้ ผู้สร้างหนังอาจจะซ่อนนัยอะไรในหนังหรือไม่ก็แล้วแต่

สำหรับหนังสั้น ชญานินกล่าวว่าพอจะมีหนังสั้นที่พูดถึงการเมืองบ้าง ด้วยธรรมชาติของหนังสั้นในปัจจุบันที่สามารถทำได้รวดเร็วและง่าย แต่ที่พูดถึงอุดมการณ์การเมืองอย่างจริงจังและลึกก็หาได้ยากเช่นกัน เพราะเรื่องเหล่านี้หากจะพูดให้ลึกในเวลาเพียงน้อยนิดก็จะไม่รู้เรื่อง หนังสั้นจะพูดถึงการเมืองได้ชัดมากกว่าอยู่แล้วเพราะไม่มีเซ็นเซอร์ แต่ในความชัดนั้นก็มักเป็นเพียงปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์ ประเด็น หรือกระแสข่าวเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากกว่าที่จะเจาะลงไปถึงเรื่องอุดมการณ์ หรือแกนความคิดหลักที่ควบคุมเรื่องนั้นอยู่

ศาสวัตเสริมว่า ในกลุ่มหนังสั้น นึกถึงหนังสั้นการเมืองที่ได้รับรางวัลรัตน์ เปสตันยี 2 เรื่อง คือ เรื่องหนึ่งที่ชื่อ “I'm fine สบายดีค่ะ” ของ กอล์ฟ - ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ หนังบอกว่าความจริงคนไทยเราอยู่ในกรงขัง ไม่ได้มีเสรีภาพจริงๆ แต่คนก็ไม่ได้ใส่ใจ และไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา และอีกเรื่องหนึ่งคือ สารคดีสั้นเรื่อง “คุณแม่อยากไปคาร์ฟูร์” ของ เต๋อ - นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ กล่าวถึงช่วงเวลาหลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 53 สินค้าในห้างคาร์ฟูร์หมดเกลี้ยง แต่หนังไม่ได้ตั้งคำถามถึงอุดมการณ์ความคิดอะไร เป็นปฏิกิริยาต่อเรื่องการเคอร์ฟิวโดยหยิบความรู้สึกในช่วงเวลานั้นมาเล่ามากกว่า


ภาพยนตร์สั้น “I'm fine สบายดีค่ะ” โดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์


สารคดีสั้น “คุณแม่อยากไปคาร์ฟูร์” โดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์


มองหนังการเมืองของต่างประเทศ
เมื่อพูดถึงตัวอย่างหนังต่างประเทศที่สามารถตีโจทย์เรื่องการเมืองได้แตก ชญานินยกตัวอย่างหนังเรื่อง Secret Ballot (2001) ของประเทศอิหร่าน ซึ่งพูดถึงช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ฉากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ของอิหร่านติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เป็นแหล่งเข้าออกของพวกขนของหนีภาษี ประชาชนแถบนั้นอยู่อย่างยากจนกลางทะเลทราย วันหนึ่งมีเฮลิคอปเตอร์พา กกต. สาวที่ถือหีบเลือกตั้งมาเพื่อเก็บคะแนนเสียงเลือกตั้งที่นี่ ด้วยความที่ผู้คนอยู่ไกลจากศูนย์กลางความเจริญมาก หลายคนจึงไม่สนใจจะเลือกตั้งเพราะรู้สึกว่าเลือกประธานาธิบดีคนไหนก็เหมือนกัน กกต. สาวมีหน้าที่ถือหีบเลือกตั้งไปตามบ้าน ตามชุมชน ให้คนลงคะแนนเสียง โดยมีทหารลาดตระเวนติดตามไปด้วย เจอผู้คนหลากหลาย เช่น ผู้คนในชุมชนหนึ่งที่ปกครองกันเอง 4-5 ครอบครัว มองว่าเลือกตั้งประธานาธิบดีไปก็เท่านั้น บ้างก็เจอหัวคะแนนพาคนมาเลือกตั้ง บ้างก็เจอคนอ่านหนังสือไม่ออก

ชญานินกล่าวว่า คนอาจมองว่าหนังเรื่องนี้ว่าเสียดสีความเละเทะของการเลือกตั้ง แต่ส่วนตัวมองว่าหนังเรื่องนี้พูดถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยว่า สุดท้ายแล้วไม่ว่าคนจะสนใจเลือกตั้งหรือไม่ แม้จะอ่านหนังสือไม่ได้ ตาบอด หูหนวก แก่ชรา อย่างน้อยทุกคนก็มีสิทธิที่จะเลือกประธานาธิบดีของตัวเอง คนอาจมองว่าเลือกประธานาธิบดีแล้วไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่ กกต. สาวที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งของระบบเลือกตั้งก็พยายามจะรักษาสิทธิของประชาชนไม่ว่าประชาชนจะเป็นอย่างไรก็ตาม
 


ภาพจากภาพยนตร์อิหร่าน เรื่อง Secret Ballot (2001)

ส่วนหนังการเมืองต่างประเทศที่ศาสวัตยกตัวอย่างคือเรื่อง Lions for Lambs (2007) โดยกล่าวว่าหนังเรื่องนี้เหมือนจะถกเถียงกับคุณค่าบางอย่างที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ผ่านตัวละคร 3 คู่ คู่แรกเป็นวุฒิสมาชิกไฟแรง (Tom Cruise) กับนักข่าวอาวุโส (Meryl Streep) เถียงกันเรื่องมุมมองต่อการโจมตีตาลีบันครั้งใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเรียกคะแนนเสียง คู่ที่ 2 คืออาจารย์รัฐศาสตร์ผู้เคยผ่านสงครามเวียดนาม เถียงกับนักศึกษาเรื่องประโยชน์ของวิชารัฐศาสตร์ นักศึกษาคนนี้ไม่ยอมเข้าเรียนเพราะมองว่ารัฐศาสตร์ในห้องเรียนกับชีวิตจริงไม่เหมือนกัน คู่ที่ 3 คือนักศึกษาผิวสีกับนักศึกษาลูกครึ่งเม็กซิกันที่เป็นเพื่อนกัน และออกจากมหาวิทยาลัยไปเป็นทหารที่อิรัก หนังทิ้งปมให้คนดูไปตั้งคำถามต่อเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ ตั้งคำถามต่อความจริงที่เราเคยเชื่อ บางครั้งประชาธิปไตยก็มีช่องโหว่ให้ถกเถียงได้
 


ภาพจากภาพยนตร์ Lions for Lambs (2007)

ทำไมหนังไทยถึงพูดการเมืองตรงๆ ไม่ค่อยได้?
ชญานินกล่าวว่าหนังกลุ่มที่แสดงทัศนคติทางการเมืองแบบตรงๆ ได้ เท่าที่เห็นจะไม่ถูกพูดว่าเป็นหนังการเมืองดังที่ได้กล่าวไป เรามีภาพลบกับคำว่าการเมือง ไม่รู้ว่ามายาคติชุดนี้มีมาตั้งแต่สมัยไหน แต่มันทำงานสำเร็จและส่งผลในการรับรู้ของสังคมอย่างกว้างขวางว่าการเมืองเท่ากับความสกปรก เราถึงมีคำเรียกคนแกล้งป่วยว่า “ป่วยการเมือง” พอมีคำว่าการเมืองแล้วคนมักถอยผงะ

ศาสวัตกล่าวว่า หากมองในแง่ดี อาจจะมีผู้กำกับที่อยากทำหนังแนวการเมือง แต่ต้องเอาโครงการไปเสนอนายทุนทั้งในและนอกประเทศ โอกาสที่จะได้นายทุนในประเทศก็น่าจะเป็นศูนย์ หรือไม่ก็ได้หนังซูเปอร์ฮีโร่กัดจิกนักการเมืองอย่าง อินทรีแดง ซึ่งกว่าจะได้ก็ยากอยู่เหมือนกัน หรืออาจจะได้หนังตลกสอดแทรกเรื่องขบกัดนักการเมือง แต่หากเป็นไปได้ นายทุนก็คงไม่อยากให้มีอะไรเกี่ยวกับการเมือง เพราะมันมีโอกาสถูกต่อต้านขัดขวาง ถ้าไปขอทุนต่างประเทศก็ได้น้อย และยุ่งยาก สู้ทำหนังที่ไม่ต้องเสี่ยงมากจะคุ้มกว่า ผู้กำกับมีหลายความคิด หลายอุดมการณ์ แต่มักเลือกที่จะไม่พูดออกมา เพราะไม่อยากเสี่ยง กลัวจะซวยในวันข้างหน้า หรือกลัวโดนแบนเหมือน Shakespeare Must Die ความจริงแล้วผู้กำกับหลายๆ คนคงอยากเล่าเรื่องอะไรบางอย่าง

ชญานินตั้งคำถามว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนไทยรู้สึกว่าการทำหนังการเมืองมันไม่ปกติ หรืออาจทำให้ตัวเองซวย หนังการเมืองที่พูดถึงอุดมการณ์อาจไม่จำเป็นต้องไปกระทบกระแทกหรือรุนแรงแบบ Shakespeare Must Die ซึ่งส่วนตัวดูแล้วก็รู้สึกว่ามันแรงอยู่ หรือแบบที่ไปอ้างถึงคนที่มีตัวตนจริงอย่างเรื่อง “นักโทษประหาร 2482” ของยุทธนา มุกดาสนิท หนังการเมืองไม่ใช่ว่าต้องอยู่ในระดับนั้นเสมอไป แต่เราพบว่าการที่อเมริกาทำหนังเกี่ยวกับประธานาธิบดีนิกสันเป็นเรื่องปกติมาก การที่ฝรั่งเศสทำหนังด่าประธานาธิบดีนิโคลัส ซาโคซี่ ก็เป็นเรื่องปกติมาก แต่ในประเทศเรา ทำไมถึงกลายเป็นความไม่ปกติ

ชญานิน พูดถึงหนัง “นักโทษประหาร 2482” ว่าถูกระงับการสร้าง เพราะทายาทจอมพล ป. บอกหากสร้างก็จะฟ้อง การทำเช่นนั้นเป็นเรื่องปกติของคนไทย ขณะที่หนังที่ด่าซาโคซี่ของฝรั่งเศส ก็มีคนที่ไม่พอใจเช่นกัน แต่เขาไม่ฟ้อง การไม่ฟ้องเป็นเรื่องปกติของฝรั่งเศส

ศาสวัต เสริมว่าอาจเป็นเพราะสังคมไทยเป็นสังคมรอมชอม มีอะไรก็เก็บไว้ดีกว่าเอาออกมาพูด และเหมือนพร้อมที่จะซ่อนอะไรบางอย่างไว้ใต้พรมเสมอ ไม่แน่ใจว่ามันจะกลายเป็นธรรมชาติของเราหรือเปล่า สมมติโอลิเวอร์ สโตน เป็นคนไทย สงสัยว่าเขาอาจจะอยากเสนอทฤษฎีสมคบคิดในประเทศเรา แบบที่เสนอว่าประธานาธิบดีเคเนดี้ถูกคนใกล้ตัววางแผนฆ่าหรือเปล่า ซึ่งจริงๆแล้วนั่นเป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นในเมืองไทย คนสร้างจะถูกรุมด่าว่ากล้าพูดแบบนี้ได้อย่างไร เลยซ่อนทุกอย่างไว้ใต้พรม ไม่พูดเสียดีกว่า
 

คติเรื่อง “คนดี” “ธรรมะปราบอธรรม” บนแผ่นฟิล์ม
เมื่อถามว่า “อินทรีแดง” เวอร์ชันล่าสุด ของวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ที่นำเสนอการเมืองตรงๆ เหมือนกัน มีการพูดถึงนักการเมืองว่าเป็นตัวแทนกลุ่มก่อการร้าย แต่ทำไมถึงนำเสนอได้ ชญานินกล่าวว่าการพูดถึงนักการเมืองว่าเลวเป็นเรื่องปกติของหนังไทยและสังคมไทย พูดร้อยปีก็จริงร้อยปี นอกเสียจากถ้าเขาเจาะลงไปที่ใครถึงจะเริ่มมีปัญหา

ชญานินกล่าวถึงหนังเรื่อง “ผู้แทนนอกสภา” (พ.ศ.2526) ว่าเป็นหนังไทยที่เคยดูเรื่องเดียวที่พูดถึงการเลือกตั้งอย่างเข้มข้น แกนหลักของเรื่องคือการเลือกตั้ง ส.ส. เรื่องเกิดขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มี ส.ส. เป็นเจ้าพ่อนายทุนคุมพื้นที่มาเป็นเวลานานมาก หนังนำเสนอการทุจริตของเหล่าผู้สมัคร ส.ส. ตัวเอกคือ สรพงษ์ ชาตรี เล่นเป็น ส.ส. ชั้นดีที่ไม่ทุจริตและตั้งใจทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ช่วงต้นเรื่องมีฉากที่น่าสนใจคือ สรพงษ์ต้องไปพบกับหัวหน้าพรรคที่รับบทโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีการอธิบายนโยบายพรรคที่ดูยูโทเปียมาก ตอนดูจบใหม่ๆ ตนเองได้คุยกับเพื่อนว่า มันดูคล้ายทักษิณจังเลย ถ้าลองเปลี่ยนคำจะพบลักษณะที่คล้ายกับการหาเสียงของพรรคไทยรักไทยประมาณหนึ่ง ตอนท้าย สรพงษ์ไปขัดขากับเจ้าพ่อและถูกลอบสังหาร หนังเชิดชูความดีงามของ ส.ส.ชั้นดีว่าแม้สรพงษ์จะตายไปแล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังเลือกให้เขาชนะในการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้

“สุดท้ายแล้วหนังไม่ได้พูดชัดเจนว่า เราต้องศรัทธาในการเลือกตั้ง อาจมีฉาก ส.ส. ซื้อเสียงแบบตลกๆ เช่น แข่งกันเอาหนังขายยาไปฉายให้ดู เอารองเท้าแตะไปให้ชาวบ้านก่อนข้างหนึ่ง หากเลือกตนเองจะเอามาให้อีกข้างหนึ่ง แต่ว่าตอนท้ายหนังจะบอกว่ายังมีคนดีอยู่นะ เราต้องศรัทธาคนดี ไม่ได้พูดถึงตัวระบบ แต่พูดถึงตัวมนุษย์ เหมือนกับที่เรามักจะวิพากษ์ทุกสิ่งในประเทศนี้ตลอดเวลาว่าถ้าคนมันดีทุกอย่างก็ดี เราก็อย่าให้คนเลวเข้ามามีอำนาจ ให้คนดีจัดการเดี๋ยวมันก็ดีเอง”

 

ศาสวัตกล่าวว่า หนังที่พูดถึงการเมืองที่เราดูกัน เช่น ฝนตกขึ้นฟ้า อินทรีแดง หมาแก่อันตราย จะมีจุดร่วมกันคือศัตรูในเรื่องนี้คือนักการเมืองเลว อย่างเช่น “หมาแก่อันตราย” ของ ยุทธเลิศ สิปปภาค ศัตรูคือนักการเมืองที่กำลังจะสมัครรับเลือกตั้ง มีภาพลักษณ์คือพูดไม่ชัดซึ่งอาจดูเป็นมุขของเขา แต่ถ้าวิเคราะห์แล้วมันคือการลดทอนความน่าเชื่อถือ ตัวเอกเป็นมือปืนฆ่าคน แต่ขณะเดียวกันก็ด่านักการเมืองว่าเลว ซื้อสิทธิ์ขายเสียง ส่วนเรื่อง “ฝนตกขึ้นฟ้า” ตัวเอกของเรื่องรับจ็อบเป็นมือปืนที่ไปยิง ส.ส. มีเหตุการณ์ที่เขาเห็นภาพกลับหัวคือตอนที่ไปยิงนักการเมืองแล้วพลาด ตัวเอกจะมองว่ากฎหมายและระบบต่างๆ ไม่สามารถกำจัดนักการเมืองเลวได้ จึงยอมเป็นมือปืนเพื่อไปกำจัดนักการเมืองเลว และคิดในใจว่าตัวเองมีคุณธรรม ส่วนเรื่อง “อินทรีแดง” ก็มีตัวร้ายคือองค์กรมาตุลีที่ชักใยนักการเมือง

ศาสวัตวิเคราะห์ถึงวิธีคิดที่พบในพล็อตหนังที่คล้ายคลึงกันนี้ว่า คนไทยอาจได้อิทธิพลจากวรรณกรรมหรือวรรณคดีสมัยก่อนอย่าง “ธรรมาธรรมะสงคราม” ที่เราเคยเรียนกันสมัยเด็ก เทวดาไปรบกับมาร เทวดาชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเทวดา คือเป็นคนดีอยู่แล้ว คล้าย “รามเกียรติ์” พระรามก็มีสถานะเป็นคนดีตั้งแต่เกิดอยู่แล้วเพราะเป็นร่างอวตารของเทพ หนังไทยหลายๆ เรื่องอาจจะไม่เชิงว่าตัวเอกเป็นคนดีตั้งแต่เกิด แต่ก็คิดว่าตัวเองดีกว่าตัวร้าย ถึงแม้จะเป็นมือปืนที่ชอบใช้ความรุนแรง ตัวเองยิงคนอื่นตายเป็นสิ่งที่สมควรแล้ว แต่ในขณะเดียวกันถ้าตัวเอกตายเพราะคนอื่นยิง กลับเป็นเรื่องไม่สมควร ตรงนี้คือภาพสะท้อนของวิธีคิดในสังคมไทย

“อยากชวนตั้งคำถามว่า ทุกวันนี้เราใช้อะไรเป็นเครื่องมือวัดคนดี เวลาเราย้อนไปดูหนัง จะเห็นว่าจริงๆ แล้วตัวละครที่บอกว่าตัวเองเป็นคนดีมักเข้าลักษณะว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง แกเป็นคนเลวเพราะฉะนั้นฉันจะฆ่าแก แต่วิธีการกระทำก็ไปฆ่าเขาเหมือนกัน ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ซึ่งก็ไม่ต่างกัน ทุกวันนี้เราจะเห็นคนในสังคมจำนวนมากมองว่าตัวเองเป็นคนดีจะมาปราบยักษ์มาร ต่อไปจะเป็นปัญหาหากเราติดกับกับคำว่าคนดีไปเรื่อยๆ ในทางประชาธิปไตย เราต้องการคนดีหรือเปล่า เราเลือก ส.ส. เข้าไปเพื่อไปเป็นปากเสียงแทนเรา ถ้าเราเลือกคนที่เป็นคนดีมาก เข้าวัดฟังธรรม ไม่ผิดลูกผิดเมีย ไม่โกงใครเลย แต่กลับไม่เคยพูดแทนปากเราเลย แบบนั้นจะโอเคหรือไม่” ศาสวัตกล่าว

ชญานิน วิเคราะห์ว่า “คนดี” ในสื่อต่างๆ ของไทยมักจะถูกนำเสนอให้ “ดี” เป็นแพ็คเกจ เช่น สรพงษ์ ชาตรี ใน “ผู้แทนนอกสภา” ไม่ซื้อเสียง ไม่ทุจริต คิดจะทำเพื่อประเทศชาติจริงๆ มันก็จะไม่หยุดแค่นี้ แต่จะต้องขยายไปถึงชีวิตส่วนตัวว่า เป็นคนรักเมียมาก ซื่อสัตย์กับเมีย เป็นพ่อที่ดี สมมติสรพงษ์ไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง แต่ว่าเที่ยวผู้หญิงตลอดเวลา มันก็ไม่ได้ทำให้เขาเป็นนักการเมืองโกง หนังไทยจะต้อง “ดี” เป็นแพ็คเกจ เรื่องนี้ดีแล้วอีกอย่างต้องดีด้วย ไม่เช่นนั้นคนดูจะรู้สึกตะขิดตะขวงอึดอัดที่จะยอมรับว่าดี

ศาสวัตกล่าวถึงเทศกาลหนังสั้น “เล่าเรื่องโกง” ซึ่งได้ทุนแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ศสส.) โดยมีข้อสังเกตว่าหนัง 10 เรื่อง จากผู้ประกวด 10 ทีม มีแนวของเนื้อหาคล้ายกัน มีวิธีการเล่าเรื่องคล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น เด็กคนหนึ่งไปสมัครเป็นประธานนักเรียน ฝ่ายตรงข้ามซื้อเสียง เอาขนมมาล่อรุ่นน้องประถม แต่เธอก็ยึดในหลักการความดี ในที่สุดเธอก็ได้เป็นประธานนักเรียน และคิดในใจว่านี่เป็นเพราะความดีของเธอ แต่ที่จริงแม่แอบไปฮั้วกับครูใหญ่ ส่วนหนังอีกเรื่อง พล็อตคือคุณพ่อเป็นทหารภาคใต้อยากจะย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ แต่ย้ายไม่ได้ซะทีเพราะทางการไม่ให้ย้าย พ่อเป็นคนดี ไม่ยัดเงิน ไม่ยอมไปขอร้องใคร จนวันหนึ่งพ่อได้รับจดหมายจากกรุงเทพฯ แจ้งว่าได้รับการย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ แล้ว พ่อก็ดีใจ แต่เรื่องหักมุมว่าลูกไปยัดเงินให้กับผู้พัน ศาสวัตกล่าวว่าทำไมหนังไม่ตั้งคำถามถึงเรื่องระบบราชการว่าทำไมพ่อไม่ได้ย้าย ทำไมครูไม่จัดการกับพวกซื้อเสียง

ชญานินกล่าวว่าหนังอีกกลุ่มประมาณ 5-6 เรื่องทั้งที่นักศึกษาทำส่งประกวดและของผู้กำกับอิสระพูดถึงเรื่องการโกง คอร์รัปชัน โดยเล่าวงจรความอุบาทว์สกปรก ชี้ให้เห็นว่าเงินก้อนหนึ่งถูกส่งต่อไปเป็นทอดๆ อย่างไรบ้าง พอเราจะตั้งคำถามกับระบบเราก็จะตั้งได้แค่ในระดับผิวเปลือก เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วว่าวงจรการรับเงินเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้ถามว่าวงจรนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ความคิดอะไรอยู่เบื้องหลังของวงจรนี้ อะไรอยู่เบื้องหลังความคิดแบบนี้ คนไทยไม่ค่อยซีเรียสกับระบบ สุดท้ายแล้วเราตัดปัญหาไปอยู่ว่า “ปัญหาอยู่ที่คน แก้ที่คน” ระบบดีไม่ดีนั้นไม่รู้ แต่ถ้าคนดีทุกอย่างจะดีเอง จึงเกี่ยวข้องกับการที่ไม่ค่อยมีหนังไทยที่พูดถึงอุดมการณ์หรือระบบ

“การนิยามคนดีนั้นใช้ลักษณะทางศีลธรรม ซึ่งศีลธรรมเป็นเรื่องที่ปัจเจกมากๆ อาจจะมีหลักศาสนาของแต่ละคนเป็นที่ยึด เมื่อเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่แน่ไม่นอน ความคิดส่วนตัวเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ปัญหาคือเราเอาสิ่งที่ไม่แน่นอนมากมาใช้ตัดสินหรือมองว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาของสังคมไปเสียหมด” ชญานินกล่าว

สัณห์ชัย ผู้ดำเนินรายการ กล่าวเพิ่มเติมว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่เฉพาะหนังอย่างเดียว แต่วรรณกรรม นิยาย และละครที่เราดูทุกวันนี้ก็ล้วนแล้วแต่มีฝั่งดีและฝั่งร้ายชัดเจน มีคำกล่าวว่ารัฐนี้เป็นรัฐนาฏกรรม หรือรัฐละคร แต่รัฐละครในความหมายนี้คือรัฐที่คนในรัฐสมาทานว่าทุกคนจะต้องเป็นเหมือนละคร พระเอกต้องดี 100% และมีตัวร้ายที่เลว 100% เราเสพละครเหล่านี้มาก ถ้ามองด้วยความเข้าใจ คิดว่าคนจำนวนมากอกหักกับการเชื่อในนักการเมืองหรือเชื่อในระบบ จนต้องหาจุดยึดเหนี่ยวเพื่อที่จะให้ประเทศไปต่อได้เพราะไม่รู้จะไปอย่างไร จึงยึดศาสนาหรือความดีเพราะรู้สึกไม่สามารถพึ่งใครได้
 


 

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ถูกแบน หนัง Shakespeare Must Die บางตอนไม่ชัดเจนว่าพูดถึงใคร
ชญานินซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้ดูหนังเรื่อง Shakespeare Must Die แล้ว กล่าวถึงจุดที่น่าจะโดนแบนว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหนังแสดงความเป็นหนังการเมืองชัดเจน แต่ประเด็นคือ มันไม่ได้เป็นการเมืองที่ชัดไปในข้างที่สามารถแน่ใจได้ว่าที่คนตรวจ รัฐ คนที่มีอำนาจในปัจจุบัน หรือคนดูทั่วๆไปจะยอมรับ คนตรวจอาจรู้สึกว่าถ้าปล่อยไปแล้วตนเองอาจโดนต่อว่าในภายหลัง เพราะหนังการเมืองที่คนยอมรับคือต้องพูดเรื่องนักการเมืองเลว

ท้องเรื่องในหนังคือ “แมคเบธ” แต่เขาจะเล่าเรื่องสองเส้นไปพร้อมๆ กันคือ ชีวิตของนักการเมืองที่ขึ้นเป็นใหญ่ในโลกแห่งความเป็นจริง กับละครเวทีที่แสดงเพื่อเสียดสีนักการเมืองคนนี้ โดยที่ใช้นักแสดงชุดเดียวกันและเล่าสลับกันไปเรื่อยๆ แต่พอตอนท้ายเมื่อถึงจุดที่เป็นโศกนาฏกรรม คนดูจะระบุไม่ได้ชั่วขณะหนึ่งว่าสรุปแล้วแมคเบธหมายถึงใคร บางฉากมั่นใจว่าแมคเบธเป็นทักษิณแน่ๆ แต่พอฉากต่อมากลับรู้สึกว่ามันไม่ใช่ พูดถึงอีกคนต่างหาก พอถึงอีกฉากหนึ่ง ก็ดูจะหมายถึงอีกคน ฉากลักษณะนี้อยู่ติดกันในช่วงเวลา 5-6 นาที ความไม่ชัดเจนตรงนี้ที่ทำให้คนตรวจกลัว

ชญานินกล่าวว่า คุณอิ๋ง เค ผู้กำกับ ชี้แจงว่าหนังต้องการพูดถึงผู้มีอำนาจว่าจะเป็นใครก็ตาม คนกัมพูชาดูอาจจะนึกถึงฮุนเซน คนลิเบียดูอาจจะนึกถึงกัดดาฟี แต่คนจะคิดเช่นนั้นหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง คนตรวจเองก็คงไม่ได้เชื่อแบบนั้น นี่คือจุดที่ทำให้รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เป็นภัย เพราะเมื่อมันไม่ชัดแล้วคนจะคิดได้เป็นร้อยแบบ ส่วนตัวเข้าใจได้ว่าทำไมถึงถูกเซ็นเซอร์ แต่ไม่ได้รู้สึกว่ามันควรโดน

สังคมประชาธิปไตยในประเทศอื่นๆ ก็ยังมีเรตห้ามฉายอยู่ เช่น ในอังกฤษ มีการแบนหนังเรื่องล่าสุดคือ Human Centipede 2 หนังสยองขวัญที่เกี่ยวกับชายโรคจิตจับเหยื่อหลายคนมาเย็บให้ปากติดกับทวารคนข้างหน้าเป็นทอดๆ คล้ายตะขาบ เมื่อขับถ่าย อุจจาระก็จะไหลเข้าปากคนข้างหลัง หนังถูกแบนเพราะอุบาทว์เกินไป แต่ตรรกะพื้นฐานของการจัดเรตคือการปกป้องเยาวชนไม่ให้เจอกับสิ่งที่รุนแรงไม่สมกับวัย ซึ่งก็แล้วแต่ว่าความสมกับวัยของแต่ละที่เป็นอย่างไร เขาคิดว่าเรื่อง Human Centipede 2 มันรุนแรงมากจนไม่สมควรกับประชาชนประเทศนี้ ประชาชนอาจสะอิดสะเอียน หัวใจวาย ล้มป่วย เป็นอันตราย ซึ่งใช้ฐานคิดคนละแบบกับการแบน Shakespeare Must Die ที่มองว่าอันตรายคืออาจทำให้คนแตกแยก


หนังไทยกลัวเรื่องการเมือง ส่วนหนึ่งเพราะสังคมที่กลัวการโต้เถียง

สำหรับเรื่องความแตกแยกของคนไทย ศาสวัตมองว่า เราแตกแยกน้อยเกินไปด้วยซ้ำ เมื่อไม่เห็นด้วยกับคนอื่นบางเรื่อง คนไทยมักเลือกที่จะเก็บไว้ การไม่พูดไม่เถียงกันทำให้ไม่ได้ใช้ความคิด ในการทำงานศิลปะหรือทำหนัง ขั้นตอนหนึ่งที่ง่ายที่สุดคือต้องเถียงกับตัวเองว่าสิ่งที่เราเชื่อมันจริงแค่ไหน แต่เรามักไม่กล้าเถียงกับคนอื่น เพราะรู้สึกว่าทำให้เกิดความแตกแยก สิ่งที่เราคิดจึงไม่ได้รับการต่อยอด ไม่ได้พัฒนาเหตุผลและตรรกะให้หนักแน่น เราเรียนหนังสือกันมาแบบครูบอกให้เชื่อก็ต้องเชื่อ ไม่เถียงผู้ใหญ่ มันสะท้อนออกมาในหนังที่มีท่าทีไม่ตั้งคำถาม หรือไม่ถกเถียงอะไรมากมาย ไม่ต้องการแตกแยกกับใคร จึงเลือกจะพูดในสิ่งที่ไม่กระทบใคร และเป็นที่พอใจของสังคมส่วนใหญ่

ชญานินมองว่าการไม่อยากถกเถียงอาจจะอธิบายได้ว่า ทำไมเราถึงไม่มีหนังที่พูดถึงระบบหรืออุดมการณ์การเมืองอย่างลึกซึ้ง สมมติเราจะสนับสนุนอุดมการณ์แบบในเรื่องสี่แผ่นดิน มันเป็นสิ่งที่ง่าย เพราะว่ามีชุดเหตุผลสำเร็จรูปที่รัฐหรือสังคมบอกว่ามันใช้ได้ ส่วนความสมเหตุสมผลจริงๆ เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันอีกที แต่หากเราจะทำหนังที่บอกว่าสนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตย ก็มักจะถูกซักไซ้เหตุผล วิธีคิด ถ้าทำไม่ดีพอก็ถูกตีตกง่าย ถ้าบทไม่แน่นพอก็มีปัญหา การพูดถึงอุดมการณ์บางอย่างถ้าไม่แน่นก็ไม่เป็นไรเช่นเรื่องศาสนา ความเชื่อ ลัทธิ วาทกรรม เพราะไม่ได้ถูกประกอบขึ้นด้วยเหตุผลแบบอุดมการณ์ประชาธิปไตย

ในช่วงแลกเปลี่ยน มีผู้ฟังเสนอแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยในภาพยนตร์ว่า ไม่ได้นึกถึงประชาธิปไตยในภาพยนตร์ไทยว่าต้องเป็นเรื่องการเมือง ไม่ได้คิดว่าต้องมีภาพการกบฏ ปฏิวัติ หรือการปราบปรามในหนัง แต่นึกถึงหนังที่สอนการโต้แย้งด้วยวิธีการที่ให้รู้จักเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ในระบอบประชาธิปไตย ประชากรต้องเรียนรู้การโต้แย้งหรือการต่อสู้ด้วยการเคารพสิทธิผู้อื่น เพื่อรักษาสิทธิหรือปกป้องเป้าหมายที่เราเป็นผู้กำหนด บ้านเรายังไม่รู้จักการโต้แย้งเพราะเราถูกอบรมมาอีกแบบ

ผู้ฟังอีกรายกล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ถูกทำให้หวาดกลัว ไม่กล้าพูดในสิ่งที่คิด และเป็นผลกระทบที่ชัดเจนมากหลังปี 2549 มันส่งผลกับคนทำหนังไทย ทำไมผู้กำกับยุคใหม่ถึงต้องเลือกซ่อนสัญลักษณ์อะไรบางอย่างที่เขาต้องการพูดไว้ในหนัง มันเป็นผลของความไม่เป็นประชาธิปไตยในประเทศเราหรือไม่ รู้สึกว่าประเทศเราเหมือนอิหร่านไปแล้ว คือทำหนังได้แต่ต้องลดเลี้ยว ต้องทำหน้าหนังแบบหนึ่ง แต่ข้างในพูดถึงอีกอย่างเพื่อให้ได้พูดในสิ่งที่อยากจะพูด หรือเพื่อให้เซ็นเซอร์จับไม่ได้ว่าต้องการจะพูดอะไร ตัวอย่างที่ชัดมากคือ “หนังสั้นสีขาว/ชั่วแสงเทียน” ของ ปราปต์ บุนปาน ซึ่งพูดถึงการเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างชัดเจนมากของศิลปิน

 

หอภาพยนตร์ฉายภาพยนตร์เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ความรุ่งโรจน์-จุดจบ ของปฏิวัติ 2475
นอกจากการเสวนาเกี่ยวกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยในภาพยนตร์แล้ว เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี ของเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ทางหอภาพยนตร์ได้นำภาพยนตร์เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรมาฉายก่อนเริ่มงานเสวนา และช่วงปิดงานเสวนา

 


ภาพบรรยากาศบนท้องถนนช่วงงานแห่รัฐธรรมนูญในปี 2476


จอมพล ป. พิบูลสงคราม พบปะนักข่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มหลังทำรัฐประหารในปี 2490

ช่วงเริ่มงานเสวนามีการฉายภาพยนตร์สั้นๆ ของงานแห่รัฐธรรมนูญเมื่อปี 2476 ซึ่งถ่ายโดยกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน โดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ กล่าวถึงการถ่ายทำภาพยนตร์เกี่ยวกับการปฏิวัติว่า
“ที่จริงได้มีการถ่ายภาพยนตร์ไว้ในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่น่าเสียดายที่ฟิล์มนั้นได้สูญหายไป หอภาพยนตร์พยายามติดตามหา มีความเชื่อกันว่าถ้าไม่ถูกทำลายไปก็น่าจะยังอยู่ที่ใดที่หนึ่งในโลก โดยเฉพาะในต่างประเทศที่เคยซื้อฟิล์มไป 2 ก็อปปี้

คณะถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับคณะราษฎร ได้รับมอบหมายเป็นการลับว่าพรุ่งนี้จะทำการปฏิวัติ ให้บันทึกเหตุการณ์ไว้ทั้งวัน ภาพการปฏิวัติในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้ถูกบันทึกไว้ และคณะราษฎรได้นำภาพยนตร์ออกฉายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วเพื่อโฆษณาเผยแพร่ชัยชนะของคณะราษฎร แต่เมื่อฉายไปสักพัก สถานการณ์การเมืองพลิกโดยฝ่ายอนุรักษนิยมภายใต้การนำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาขึ้นมามีอำนาจ พระยามโนปกรณ์ฯ เห็นว่าภาพยนตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองมีความไม่เหมาะสม เพราะเป็นการซ้ำเติมพระราชวงศ์มากเกินไป จึงสั่งให้งดฉาย แต่ก็ได้ฉายอีกครั้งหลังพระยาพหลพลพยุหเสนาทำรัฐประหารพระยามโนปกรณ์ฯ ฟิล์มได้สูญหายไปในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานว่าสำนักข่าวต่างประเทศที่อเมริกา 2 สำนักได้เคยโทรเลขมาขอซื้อฟิล์มทั้งหมด หลังข่าวการปฏิวัติแพร่กระจายออกไปยังต่างประเทศ แต่ภาพการปฏิวัติไม่ตรงตามจินตนาการของสำนักข่าวที่คิดว่าจะมีภาพการยิงกัน จึงโทรเลขกลับมาภายหลังว่า ไม่เห็นมียิงกัน จึงไม่ได้ฉาย หากจะให้ส่งฟิล์มคืนก็ต้องเสียค่าส่งเอง (จากข้อเขียนของขุนวิจิตรมาตรา) ทางภาพยนตร์เสียงศรีกรุงจึงไม่ได้รับคืนมา

เมื่อมีการปราบกบฏบวรเดช รัฐบาลได้ให้กรมโฆษณาการถ่ายทำการปราบกบฏบวรเดช และงานศพทหารที่เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดช และให้นำออกฉายควบคู่กัน เข้าใจว่าหนังได้ถูกออกฉายไปทั่วประเทศ แต่ไม่แน่ใจว่าก็อปปี้หายไปไหน ส่วนฟิล์มต้นฉบับที่ศรีกรุงก็ถูกไฟไหม้ จึงไม่เหลือ

หนังที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่หอภาพยนตร์ยังเก็บไว้คือ ภาพรัฐบาลจัดงานแห่รัฐธรรมนูญอย่างใหญ่โตในปี 2476 โดยเอารัฐธรรมนูญบนพานมาตั้งให้คนชื่นชมที่สนามหลวง มีผู้ถ่ายหนังไว้คือกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ฟิล์มที่ได้มาอยู่ในคอลเล็กชันของหอภาพยนตร์ ภาพยนตร์นี้จะทำให้เราเห็นอารมณ์ความรู้สึกของบรรยากาศในยุคนั้นซึ่งตัวหนังสือไม่สามารถให้ได้”

ส่วนช่วงปิดงานเสวนา ได้มีการฉายภาพยนตร์เหตุการณ์รัฐประหาร 2490 ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ผู้ถ่ายคือนายแท้ ประกาศวุฒิสาร ศิลปินแห่งชาติ และเป็นที่ปรึกษาให้กับหอภาพยนตร์ฯ ในปัจจุบัน

เหตุการณ์รัฐประหาร 2490 เกิดจากกลุ่มทหารและกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม ได้ร่วมมือกันล้มรัฐบาลพลเรือนของกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ ถือเป็นการปิดฉากยุคของคณะราษฎร และเริ่มต้นของการกลับมามีอำนาจของกลุ่มทหารและกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม รวมทั้งเป็นจุดการเริ่มต้นของการเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้กับพระมหากษัตริย์อย่างสำคัญภายหลังการปฏิวัติ 2475
 

 

รัฐประหาร 2490


หมายเหตุ : ภาพยนตร์งานแห่รัฐธรรมนูญเมื่อ 2476 ของกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน หาชมได้ใน DVD รวมภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ จำหน่ายที่ร้าน DVD ในหอภาพยนตร์แห่งชาติ ศาลายา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุฯ ด้านแรงงานข้ามชาติ สภาทนาย ค้านนโยบายส่งแรงงานหญิงตั้งครรภ์กลับประเทศ

Posted: 28 Jun 2012 04:35 AM PDT

คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ แถลงค้านนโยบายส่งแรงงานหญิงตั้งครรภ์กลับประเทศ ระบุขัดกฎหมายทั้งระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญ ในเรื่องครอบครัว ทั้งจะทำให้มีการทำแท้งเพิ่มขึ้น

28 มิ.ย. 2555 คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ แถลงค้านแนวคิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่จะส่งแรงงานข้ามชาติที่เป็นหญิงตั้งครรภ์กลับ ระบุนโยบายดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน ตลอดจนปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคีและให้สัตยาบัน ทั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๐ ในเรื่องครอบครัวและการเดินทาง

โดยรายละเอียดของแถลงการณ์ระบุว่าเมื่อมีข่าวที่จะส่งแรงงานหญิงตั้งครรภ์กลับแต่ละครั้ง คณะอนุกรรมการฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีแรงงานที่ตั้งครรภ์จำนวนไม่น้อย ต้องทำแท้งเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งกลับ ซึ่งเป็นการทำแท้งกันเอง ส่งผลให้แรงงานหญิงบางคนได้รับอันตราย การส่งกลับแรงงานหญิงตั้งครรภ์จึงเป็นการละเมิดหลักครอบครัว ที่ได้รับการคุ้มครองอยู่ร่วมกัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการป้องกัน “ค้ามนุษย์” ตรงกันข้ามกลับเป็นการส่งเสริมการ “ฆ่ามนุษย์” ทารกที่ไม่มีความผิด

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ กล่าวว่า การส่งกลับหญิงท้อง เป็นการผลักดันไปสู่อันตรายต่อทารกในครรภ์ และอนามัยของแม่ เป็นการแยกครอบครัวออกจากกัน เด็กจะไม่ได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน ไม่ได้รับการพัฒนาจากครอบครัวที่อบอุ่น ไม่ได้รับการคุ้มครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพ่อของเด็กเป็นผู้มีสัญชาติไทย เด็กก็ไม่สามารถแจ้งเกิดอย่างผู้สัญชาติไทยตามหลักสายเลือดได้ เนื่องจากอยู่ต่างประเทศ

“คณะอนุกรรมการฯจึงใคร่เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทบทวนนโยบายการส่งกลับแรงงานหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลให้ซึ่งกำลังถูกจับตาเรื่องการค้ามนุษย์ มีภาพพจน์เสียยิ่งขึ้น ในทางตรงข้ามให้มาดูแลหญิงและเด็กตามกฎหมายต่อไป” แถลงการณ์ระบุ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนนท.จัดกิจกรรม 8 ทศวรรษประชาธิปไตยอำนาจสูงสุดยังไม่เป็นของราษฎรทั้งหลาย

Posted: 28 Jun 2012 04:34 AM PDT

สนนท. จัดเสวนาและเวทีวัฒนธรรมรำลึก 80 ปีการปฏิวัติประชาธิปไตย ย้ำอำนาจยังไม่เป็นของราษฎร เพราะอำนาจเก่าขัดขวาง หนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญฉบับแรกในวันที่ 27 มิ.ย.2475 ที่เป็นประชาธิปไตยสุด

09.30 น. วานนี้(27 มิ.ย.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.)และเครือข่ายองค์กรนักศึกษา จัดกิจกรรมรำลึก 80 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองและมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยในชื่องาน “8 ทศวรรษ ประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดยังไม่เป็นของราษฎรทั้งหลาย” ที่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ราชดำเนิน โดยเริ่มด้วยการเสวนาโดยนิสิตนักศึกษาในหัวข้อ “ขบวนการนิสิตนักศึกษากับ เจตนารมณ์คณะราษฎร” และหลังจากนั้นบ่ายโมงได้มีการบรรยาย พิเศษคณะราษฎรในความทรงจำ โดย พันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ทายาท พระยาพหลพลพยุหเสนา ต่อด้วย เสวนาวิชาการ หัวข้อ “80 ปี ประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดยังไม่เป็นของ ราษฎรทั้งหลาย”โดยมี รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะนิติราษฎร์ เป็นวิทยากร สุดท้ายในช่วงค่ำมีเวทีวัฒนธรรม ดนตรี กวี ละคร เครือข่ายองค์กรนักศึกษา โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 80 คน

นายพรชัย ยวนยี เลขาธิการ สนนท. ได้เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมกับผู้สื่อข่าวว่า “เหตุผลแรกคือเราต้องการรำลึกถึงคุณงามความดีในการนำพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของคณะราษฎรโดยการอภิวัฒน์จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชนทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้มันบ่งบอกออกมาผ่านตัวรัฐธรรมนูญ ส่วนเหตุผลที่ 2 ต้องการเปิดพื้นที่ให้กับนักศึกษานักกิจกรรมได้มาพูดคุยกันเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองว่า 80 ปีผ่านมาแล้วในการปฏิวัติประเทศไทยนี่ เรามีอำนาจสูงสุดหรือยัง ประชาชนมีอำนาจสูงสุด ในมุมมองของนักศึกษาเห็นอย่างไรกับเจตนารมณ์คณะราษฎรเห็นอย่างไรกับการอภิวัฒน์สยามเมื่อปี 2475”

ความสำคัญของวันที่ 24 และ 27 มิถุนายน 2475 ในมุมมองของนักศึกษา นั้น นายพรชัย ยวนยี ได้สะท้อนออกมาว่า “เป็นการนำพาประเทศไทยไปสู่ความศิวิไลซ์เป็นประชาธิปไตยเหมือนอารยะประเทศ มันได้ทำให้บ้านเมืองได้เจริญรุ่งเรื่องขึ้น แต่จากวงเสวนาของนักศึกษาสรุปสรุปว่า ล้วนมีขบวนการขวางกั้นจากกลุ่มอำนาจเดิม เกิดขึ้นมาโต้การอภิวัฒน์ จนนำมาสู่เหตุการณ์ 2490 เป็นการรวบอำนาจของคณะราษฎรโดยเบ็ดเสร็จ มันทำให้ประชาธิปไตยในบ้านเรายังอ่อนแอเพราะยังมีกลุ่มเหล่านี้อยู่จนถึงปัจจุบัน ในมุมมองของนักศึกษาที่เห็นส่วนนี้ร่วมกัน”

“และได้โยงถึงการโต้กลับที่ว่าคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามที่ฝ่ายอำนาจเก่าล้วนพูดถึงกัน นักศึกษาก็ได้พูดว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่จริงเลยเพราะว่าสาเหตุของการปฏิวัติสยามของคณะราษฎรสาเหตุวัตถุประสงค์แรกคือการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิ์มาเป็นประชาธิปไตย ส่วนวัตถุประสงค์ที่ 2 เพื่อพัฒนาชาติไทยตามหลัก 6 ประการที่คณะราษฎรกล่าวไว้ ไม่ว่าจะเป็นหลักเอกราช หลักความปลอดภัย เศรษฐกิจ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและการศึกษา ซึ่งในมุมมองนักศึกษาได้มองเห็นร่วมกันว่า หลักที่เรามองเห็นก็คือหลักที่ 6 คือหลักการศึกษาเราจะพบว่าการศึกษาที่คณะราษฎรได้มอบให้คณะราษฎรก็ได้ทำจริงไม่ว่าจะเป็นการตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ในต่างจังหวัด สิ่งเหล่านี้ในปัจจุบันการศึกษากลับถูกครอบงำโดยกลุ่มอำนาจเก่าหมด เพราะการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญมากเขาต้องการควบคุมทางความคิด สิ่งเหล่านี้มันแสดงออกผ่านมาปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นหนังสือเรียก แนวคิดในการศึกษาที่อำนาจอยู่ที่ผู้บริหาร โดยที่อำนาจการตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่นักศึกษาเลย

ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดคือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเพื่อให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่ฝ่ายบริหารโดย แม้กระทั้งมหาวิทยาลัยก็ไม่มีประชาธิปไตย และที่พูดกันมากในวงนักศึกษาก็คือสื่อมวลชนว่า สื่อเกิดจากการมีเสรีภาพมีประชาธิปไตย แต่เราจะพบว่าสื่อกลับเป็นตัวขัดขวางประชาธิปไตยเองเสียด้วยซ้ำเพราะว่าในส่วนหนึ่งมีการประโคมข่าวด้านเดียวการไม่พูดความจริง แม้กระทั้งเดือนนี้เป็นมิถุนาสื่อก็แทบไม่พูดถึง สิ่งเหล่านี้เป็นการบั่นทอนประชาธิปไตย” นายพรชัย ยวนยี กล่าว

เหตุผลที่จัดงานรำลึกในวันที่ 27 มิถุนายน นั้น เลขาธิการ สนนท. ได้ให้เหตุผลว่า “เรามองเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นหลัก และส่วนหนึ่งวันที่ 24 มีหลายกลุ่มจัด ซึ่งวันที่ 27 ประเด็นที่ร้อนแรงในปัจจุบันคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ของรัฐสภาเอง เราอยากให้คนในสังคมย้อนกลับไปดูว่าการปฏิวัติประเทศ 2475 ได้รัฐธรรมนูญมา ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญที่น่าจะเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งก็คือรัฐธรรมนูญวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ของคณะราษฎร แม้จะเป็นการไม่สมยอมของกลุ่มอำนาจเดิมที่ให้คำว่าชั่วคราวเพื่อกลับไปแก้ไขกันใหม่ แต่ผมคิดว่าเป็นฉบับหนึ่งที่เป็นประชาธิปไตยตามอารยะประเทศมากที่สุดก็เลยจัดงานวันนี้ขึ้น

นายพรชัย ยวนยี กล่าวอีกว่า “ตอนนี้ สนนท. ก็ได้จับตาดูการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ว่ากระบวนการแก้ไขของจะเป็นอย่างไร เราจะเห็นบ่อยครั้งว่าต้องการตั้ง สสร. ขึ้นมา มี 99 คน มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยขึ้น แต่ส่วนมันคลายๆกับว่าคุณมีเป้าหมายในตัวเองแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีเป้าหมายในตัวเองแล้ว โดยที่ยืนอิงกับผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ซึ่งการแก้ไขแบบนี้เรามองว่ามันมีข้อเสียคือมันไม่ได้แก้ทั้งฉบับมันไม่ได้แก้ตัวที่เป็นปัญหาจริงๆ หมวดทั่วไปหมวดพระมหากษัตริย์ก็ไม่แก้ ทุกอย่างมันเป็นปัญหาแต่ไม่ได้แก้กลับแก้กับตัวที่เป็นปัญหากับพวกตัวเองเท่านั้น เราต้องการให้กลับไปดูรัฐธรรมนูญ 2475 ฉบับชั่วคราวว่ามันสำคัญ มันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยด้วยซ้ำ การแก้ต้องมาจากทุกคนต้องมาจากการเห็นพ้องของทุกคนมีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยและทำให้ทุกคนยอมรับได้ เพราะการยอมรับมันเป็นสิ่งที่สำคัญ”

นอกจากวันที่ 27 มิ.ย.จะเป็นวันครบรอบ 80 ปีการมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกแล้ว ยังเป็นวันครบรอบ 78 ปีของการสถาปนามหาวิยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง นายรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ รองเลขาธิการ สนนท. และอดีตอุปนายกองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักศึกษาธรรมศาสตร์ด้วยมองว่า “เรื่องแรกเลยคือว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้เลยว่าวันนี้เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยน้อยคนมากเลย ดูจากใน facebook นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อผมครึ่งหนึ่งก็ไม่มีใครรู้หรือพูดถึงวันสถาปนามหาวิทยาลัย วันปรีดียังพอรู้บ้าง แต่ว่าวันสถาปนานี่แทบไม่มีใครรู้เลย แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกิดมาจากอะไร เกิดจากคณะราษฎรที่ตั้งขึ้นมาส่งเสริมประชาธิปไตย ให้ราษฎรได้มีโอกาสได้เรียนรู้ ตอนนั้นก็มีจุฬาฯแล้วก็มีธรรมศาสตร์ขึ้นมา พอนักศึกษามีรู้แล้วอย่าหวังเลยว่าวันที่ 24 มิถุนา จะมีคนรู้ เพราะ 27 มิถุนา ก็คือผลผลิตจากวันที่ 24 มิถุนา”

นอกจากนี้ นายรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ  กล่าวถึง 78 ปีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองว่า “การเปลี่ยนแปลงคนจะไปมุ่งที่การเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยซึ่งผมคิดว่าการเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้สำคัญเท่าไหร่ เปลี่ยนชื่อไปแต่คุณยังเน้นสิทธิเสรีภาพเท่าเดิมผมก็ยังโอเค 14 ตุลา 6 ตุลา นักศึกษาก็ยังอยู่ ดังนั้นการเปลี่ยนชื่อไม่ได้ลดพลังลงไป ผมว่าสิ่งที่มันลดลงไปคือการศึกษาในปัจจุบันมากกว่าที่มันด้อยลง คุณภาพของการศึกษาเองที่มันด้อยลง จากมหาวิทยาลัยรัฐที่เป็นตลาดวิชาที่เป็นมหาลัยเปิดเหมือนรามคำแหงก็เป็นมหาลัยปิดค่อยๆคัดคนออกไปเรื่อยๆ มีพิเศษขึ้นมาจ่ายค่าเทอมแพงกว่าได้เรียนดีกว่าอย่างนี้ก็มีเพิ่มขึ้นมา แล้วก็เกือบออกนอกระบบอย่างเต็มตัวแล้ว ตรงส่วนนี้ต่างหากที่มีมันทำให้คุณภาพมหาวิทยาลัยที่อาจจะด้อยลงไปบ้าง แล้วก็หลายๆเรื่องเอง เช่น บุคลากรเอง เรื่อความคิดทางการเมืองหลายๆอย่างเองของในปัจจุบันนี่ มันส่งผลทำให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือตัวมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ทำตามเจตนารมณ์ของดั้งเดิม”

“ตอนนี้ผมว่าราษฎรต่างหากที่ดับกระหายมหาวิทยาลัย นักศึกษาที่จ่ายค่าเทอมให้มหาวิทยาลัยคงอยู่ได้โดยที่มหาวิทยาลัยตอบโจทย์นักศึกษาแค่ไหนนี่ก็ยังน้อยอยู่ และในท่าพระจันทร์เอง นักศึกษาก็พูดกันว่ากลายเป็นพลเมืองชั้น 2 ของมหาวิทยาลัย เพราะที่จอดรถยังไม่มีเลย สิ่งอำนวยความสะดวกของปริญญาตรีก็น้อยมาก ทั้งๆที่ปริญญาตรีในท่าพระจันทร์จ่ายค่าเทอมแพงกว่าด้วยซ้ำ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่พูดกัน หรือว่าหลายๆอย่างเช่นเมื่อปีที่แล้วอธิการออกมติว่าห้ามใช้สถานที่(กรณีคณะนิติราษฎร์ทำกิจกรรมเสวนาเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ ม.112) หรือว่าหลายๆอย่างที่ท่านอธิการหรือฝ่ายบริหารทำนี่ก็ไม่ได้ตรงตามเจตนารมณ์คณะราษฎรตั้งไว้เลย ทั้งนี้ทั้งนั้นผมไม่คิดว่าเรื่องนั้นจะสามารเอามาอ้างได้เท่าไหร่ คือเท่ากับสิ่งที่เป็นหลักสากลที่คนยึดถือมหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยควรจะเป็นที่ๆให้นักศึกษามีสิทธิเสรีภาพ คือเป็นที่ๆเราสามารถมีเสรีภาพในการแสดงออกในสิ่งที่เราต้องการ สิ่งที่เราจะพูด เราควรจะต้องมีสิทธิเสรีภาพในมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที” นายรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ  กล่าวทิ้งทาย

 

ภาพกิจกรรม : 

  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน “เราตั้งใจมาเรียนที่ ม.อ.ปัตตานี” เมื่อคุณภาพเบียดขับความกลัว

Posted: 28 Jun 2012 03:47 AM PDT

 

รับน้อง - รับน้องคล้องมาลัย เป็นกิจกรรมหนึ่งของนักศึกษา ม.อ.วิทยาเขตปัตตานีในช่วงเปิดเทอมแรก ปัจจุบันรูปแบบกิจกรรมมีการปรับเปลี่ยนไป เนื่องจากมีนักศึกษาที่เป็นคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น แต่ยังคงความหมายของการช่วยเหลือดูแลระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องเหมือนเดิม

 

พวกเด็กหนุ่มสาวหน้าใสเดินเรียงแถวทยอยลอดซุ้มทางมะพร้าวเข้าไปทีละคน ทีละคน พอพ้นประตูเข้าไปในเขตรั้วมหาวิทยาลัย พวกนักศึกษารุ่นพี่ก็เอาพวงมาลัยดอกมะลิมาคล้องคอ และแล้วทั้งคู่ก็จะกลายเป็น “พี่มาลัย” และ “น้องมาลัย” ที่จะคอยช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันตลอดระยะเวลาที่ศึกษาที่นี่

ทว่า นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา กิจกรรมที่กลายเป็นประเพณีไปแล้ว อย่างกิจกรรม“รับน้องคล้องมาลัย”ขององค์การบริหารกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หรือ ม.อ.ปัตตานี เปลี่ยนไปจากการคล้องมาลัยดอกมะลิที่รุ่นพี่ร้อยมากับมือ ไปเป็นการมอบดอกกุหลาบแทน อันมีนัยยะถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์ความรุนแรง

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ คือ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีสัดส่วนของนักศึกษาที่มาจากนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้น้อยกว่านักศึกษาจากในพื้นที่เป็นอย่างมาก อันเป็นผลมาจากปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนนอกพื้นที่ไม่กล้าเข้ามาเรียนที่นี่

เมื่อจำนวนคนนอกพื้นที่น้อยลง จึงกลายเป็นโอกาสให้นักศึกษาในพื้นที่ได้เข้ามาเรียนในสถาบันนี้มากขึ้นตามไปด้วย รูปแบบกิจกรรมจึงต้องปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมกับนักศึกษาที่ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่และเป็นมุสลิม

แม้รูปแบบจะปรับเปลี่ยนไป แต่ความหมายของ “รับน้องคล้องมาลัย” ยังคงเหมือเดิม คือการช่วยเหลือดูแล โดยเฉพาะการที่รุ่นพี่ต้องคอยให้คำปรึกษาทั้งเรื่องการเรียนและเรื่องอื่นๆ ให้แก่น้องมาลัย โดยเป็นกิจกรรที่จัดขึ้นในช่วงเดือนแรกของภาคเรียนที่ 1 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา

ไม่เพียงแต่กิจกรรมรับน้องที่เปลี่ยนไปเท่านั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่หลายคนยังติดตามความเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวใน ม.อ.ปัตตานี โดยเฉพาะการเข้ามาเรียนของนักศึกษาจากนอกพื้นที่ ซึ่งจะมีผลต่อความหลากหลายของนักศึกษา ซึ่งช่วงสั่งสมประสบการณ์และรู้จักปรับตัวในการอยู่ร่วมกันของนักศึกษาที่มีพื้นฐานที่แตกต่างกันดังเช่นในอดีต ทั้งยังช่วยในเรื่องการเรียนของนักศึกษาด้วย เพราะทำให้นักศึกษาต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้

ปัจจุบันบรรยากาศดังกล่าว กำลังค่อยๆ กลับมาเหมือนเดิม นักศึกษาจากนอกพื้นที่เริ่มเข้ามาเรียนที่นี่มากขึ้น

 

“เราตั้งใจมาเรียนที่ ม.อ.ปัตตานี”

นางสาวณัฐกานต์ เพ็งสกุล หรือใบเฟิร์น ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่เลือกมาเรียนที่ ม.อ.ปัตตานี โดยเลือกเรียนคณะศึกษาศาสตร์ ในเอกภาษาอังกฤษ ชั้นปีที่ 1

ใบเฟิร์น เล่าว่า สอบติดตอน ม.อ.เปิดรับตรงแล้ว แต่ผู้ปกครองไม่ให้มา จากนั้นจึงสอบเอ็นทรานซ์รอบ GATT-PATT อีกครั้งและสอบติดที่นี่ ผู้ปกครองจึงยอมให้มา

“ก่อนจะมาที่นี่ รู้สึกกลัวเหตุการณ์ในพื้นที่อยู่บ้างและกังวลเรื่องการปรับตัว เพราะนักศึกษาและคนที่นี่ส่วนใหญ่นักถือศาสนาอิสลาม กลัวว่าจะปรับตัวเข้ากับพวกเขาไม่ได้และกลัวจะอยู่ไม่ได้ แต่ก็ตั้งใจจะมาเรียนที่นี่แล้ว จึงตัดสินใจมา”

ใบเฟิร์น เล่าอีกว่า ในวันที่มาสอบสัมภาษณ์ เริ่มรู้สึกว่าปัตตานีน่าอยู่ จึงยิ่งอยากมาเรียนมากขึ้น และเมื่อได้มาอยู่ก็รับรู้ได้เลยว่านักศึกษาในผู้คนในพื้นที่แห่งนี้มีความเป็นกันเองมาก

ส่วนนางสาวศิรินทิพย์ สุดจิตร์ หรือทิว จากจังหวัดตรัง นักศึกษาชั้นปีและเอกเดียวกับใบเฟิร์น ให้เหตุผลที่เข้ามาศึกษาที่ ม.อ.ปัตตานีว่า เพราะอยากมาเป็นลูกพระบิดา และตั้งใจเลือกที่จะมาเรียนที่นี่อยู่แล้ว

ทิว บอกว่า มีความมั่นใจในคุณภาพการศึกษาของม.อ.ปัตตานี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ 1 ใน 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย และมั่นใจว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะมีงานทำแน่นอน โดยตนได้ทุนเรียนดี ซึ่งเป็นโควตาที่ให้นักศึกษานอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“ผู้ปกครองให้อิสระเต็มที่ที่จะเลือกเรียนที่ไหนก็ได้ เพราะชีวิตเป็นของเราเอง แต่ก็ได้ฝากให้ดูแลตัวเองด้วย เช่น ให้พยายามอยู่ในมหาวิทยาลัยให้มากที่สุด หรือหากจะออกนอกมหาวิทยาลัยก็ให้ระวังตัว” ทิว ยืนยัน

ทิวบอกว่า เธอเคยมาปัตตานีหลายครั้งแล้ว เห็นว่า สื่อนำเสนอเกินความเป็นจริง เพราะตอนแรกที่ดูข่าวก็รู้สึกว่า เป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรง แต่เมื่อได้เข้ามาเรียนและใช้ชีวิตในพื้นที่จริงๆ ก็ไม่เห็นว่าจะมีเหตุการณ์เหมือนที่เป็นข่าว หรือถ้ามี ก็ไม่ได้เกิดเหตุในเขตเมืองปัตตานี

“ยิ่งอยู่ในรั้ว ม.อ.ปัตตานีก็ยิ่งปลอดภัย รวมถึงอาจารย์ และรุ่นพี่ทุกคนก็มีความน่ารักและเป็นกันเอง” ทิว กล่าว

ขณะที่นางสาวศุภรัตน์ ใบเต้ หรือซอ นักศึกษาชั้นปี 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกมลายูศึกษา จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เหตุผลว่า ตั้งใจที่จะมาเรียนที่ม.อ.ปัตตานีอยู่แล้ว ก่อนที่จะมาผู้ปกครองก็เป็นห่วง แต่ท้ายที่สุดก็ยอมให้มา

ซอ เล่าว่า สอบเข้ามาโดยวิธีการรับตรง ซึ่ง 5 อันดับแรกของสาขาที่เลือก อยู่ในวิทยาเขตปัตตานีทั้งหมด ตัวเองเป็นมุสลิมอยู่แล้ว จึงไม่ต้องปรับตัวมากยำเว้นเรื่องภาษามลายู เพราะไม่มีพื้นฐานด้านนี้เลย

 

สถาบันการศึกษาที่ยังคงความหลากหลาย

ส่วนในมุมมองของอาจารย์ อย่างนายมูหัมมัดมันซูร หมัดเร๊าะ หัวหน้าแผนกวิชาภาษาอาหรับ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เล่าว่า ทั้งช่วงก่อนปี 2547 ที่เริ่มมีเหตุไม่สงบและหลังปี 2547 นักศึกษาเอกภาษาอาหรับไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก คือมีทั้งไทยพุทธและมุสลิมที่มาจากภาคกลาง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษาในพื้นที่

“ก่อนปี 2547 มีนักศึกษาที่มาไกลสุด คือจากจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแพร่ ซึ่งนักศึกษาไทยพุทธที่มีความตั้งใจเรียนภาษาอาหรับอย่างจริงจังมาก ส่วนมากมาจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วงนั้นนักศึกษาชั้นปีละเพียงประมาณ 15 คน เป็นนักศึกษานอกพื้นที่ประมาณ 6-7 คน ปัจจุบันมีนักศึกษาชั้นปีละ 50 คน ส่วนใหญ่มาจากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”

“ปัจจุบันมีนักศึกษาที่มาไกลสุด คือ จากจังหวัดปทุมธานี จำนวน 2 คน โดยอยู่ชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่ 3”

นายมูหัมมัดมันซูร บอกว่า นักศึกษาจากในพื้นที่มีพื้นฐานภาษาอาหรับอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องปรับความรู้พื้นฐานด้านภาษาอาหรับเล็กน้อย ต่างกับนักศึกษาไทยพุทธที่ไม่มีพื้นฐานเลย จึงต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่แรก แต่เนื่องจากพวกเขามีความตั้งใจที่จะมาเรียนด้านนี้มาก ผลการเรียนจึงไม่ค่อยมีปัญหามากนัก

นางสาวอรพรรณ จันทร์เทา อาจารย์ประจำแผนกวิชาภาษาเกาหลี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ บอกว่า ก่อนปี 2547 เอกภาษาเกาหลี มีนักศึกษารหัส 45 จำนวน 33 คน เป็นนักศึกษาจากนอกพื้นที่ถึง 30 คน และจากในพื้นที่ 3 คน นักศึกษาจากนอกพื้นที่ส่วนมากมาจากจังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดกระบี่ ตามลำดับ

แต่หลังปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีนักศึกษาจากนอกพื้นที่ส่วนมาก ก็มาจากอำเภอหาดใหญ่ และอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดกระบี่ ซึ่งก็มีเพียง 1 - 2 คน โดยแต่ละชั้นปีมีประมาณ 22 คน

“อาจารย์มักจะเตือนนักศึกษาที่นี่ให้ระวังตัวด้วย โดยเฉพาะเวลาอยู่นอกมหาวิทยาลัย แต่นักศึกษาหลายคนพักอยู่นอกมหาวิทยาลัย มีบางคนทำงานรับจ้างเสิร์ฟอาหารเป็นการหารายได้เสริมด้วย” ัอาจารย์ประจำแผนกวิชาภาษาเกาหลี กล่าว

 

คุณภาพการศึกษาเท่านั้นที่ดึงคนนอกเข้ามาได้

ในขณะที่ในมุมมองของอาจารย์ระดับผู้บริหาร อย่างดร.ศักรินทร์ ชนประชา รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคลากร คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ระบุว่า แม้เหตุไม่สงบในพื้นที่จะรุนแรงขึ้นหรือลดลง ก็ยังไม่สามารถทำให้นักศึกษานอกพื้นที่เข้ามาเรียนในม.อ.ปัตตานีได้มากขึ้นอยู่ดี เพราะภาพเก่ายังฝังอยู่ในความรู้สึกของคน ว่าเป็นพื้นที่รุนแรงและน่ากลัว ที่เป็นเช่นนั้น เพราะการนำเสนอของสื่อ ซึ่งปัจจุบันความเป็นจริงไม่ได้เป็นไปตามที่สื่อนำเสนอ

ดร.ศักรินทร์ บอกว่า ที่ผ่านมา แม้จะมีการให้ทุนการศึกษาหรือทุ่มงบประมาณจำนวนมากให้กับมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังไม่สามารถดึงนักศึกษาจากนอกพื้นที่เข้ามาเรียนได้มากนัก ดังนั้น จึงอยู่ที่คุณภาพของการศึกษาเท่านั้น ที่จะสามารถดึงคนนอกเข้ามาเรียนได้

“ตัวอย่างเช่น ทำไมนักศึกษาต้องมาเรียนที่คณะศึกษาศาสตร์ ของม.อ.ปัตตานี ก็เพราะเป็นคณะที่มีชื่อเสียงด้านคุณภาพ จนเป็นที่พูดถึงว่า หากจะเรียนครู ต้องมาเรียนที่ ม.อ.ปัตตานี”

ดร.ศักรินทร์ ระบุว่า แม้หลังปี 2547 เป็นต้นมา มีนักศึกษานอกพื้นที่เข้ามาเรียนน้อยลง ส่งผลให้มีนักศึกษาในพื้นที่มีโอกาสเข้ามาเรียนม.อ.ปัตตานีมากขึ้น แต่เนื่องจากคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของที่นี่ยังต่ำ จึงยังทำให้หาคนเก่งที่เป็นคนในพื้นที่ไม่ได้

“แต่นั่นก็เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่จะทำให้คนในพื้นที่ได้รับการศึกษาที่ดีขึ้นด้วย” ดร.ศักรินทร์ ทิ้งท้ายให้เห็นถึงสิ่งที่ได้มากับสิ่งที่ต้องเสียไป คล้ายกับเป็นโจทย์ให้ต้องคบคิดกันต่อไปว่า จะพัฒนาและยกระดับการศึกษาโดยเฉพาะนักศึกษาให้มีคุณภาพสูงขึ้นต่อไปอย่างไร

และแล้วหนุ่มสาวหน้าใสกลุ่มสุดท้าย ก็ค่อยๆ ลอดซุ้มออกมาทีละคน หลายคนต้องเข้ามาอยู่ในม.อ.ปัตตานี ก่อนเปิดเทอมหลายวัน เพื่อปรับพื้นฐานความรู้กับรุ่นพี่ ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เพิ่งมีมาไม่กี่ปี เนื่องจากมหาวิทยาลัยต้องการให้นักศึกษาในพื้นที่มีความพร้อมก่อนเข้าเรียนจริงๆ โดยหวังจะยกระดับคุณภาพของนักศึกษาให้สูงขึ้นอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต

......................................

สถิตินักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ปีการศึกษา

3 จังหวัด

นอก 3 จังหวัด

รวม

 

2542

 

153

 

818

 

971

 

2453

 

208

 

781

 

989

 

2544

 

476

 

1,149

 

1,625

 

2545

 

454

 

1,544

 

1,998

 

2546

 

564

 

1,377

 

1,941

 

2547

 

963

 

1,387

 

2,350

 

2548

 

1,641

 

1,014

 

2,655

 

2549

 

1,643

 

677

 

2,320

 

2550

 

1,556

 

649

 

2,205

 

2551

 

1,775

 

591

 

2,366

 

2552

 

2,203

 

166

 

2,369

 

2553

 

2,035

 

128

 

2,163

 

2554

 

1,970

 

331

 

2,301

 

2555

 

2,265

 

161

 

2,426

 

รวม

 

17,906

 

10,773

 

28,679

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จากมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯสู่คดีอาญา : บทเรียนคดีอยู่ในความสนใจของประชาชน

Posted: 28 Jun 2012 02:58 AM PDT

 


ภาพโดย antonychammond (CC BY-NC-SA 2.0)


1.คดีร้ายแรงอยู่ในความสนใจของประชาชน ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายมาซับบรี กะบูติง กับพวกรวม 5 คน ในฐานความผิด “ร่วมกันก่ออันตรายโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใด อันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตโดยมีความมุ่งหมายเพื่อสร้างปั่นป่วน โดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน สะสมกำลังพลหรืออาวุธอันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพื่อก่อการร้าย พยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำตามหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นอั้งยี่ เป็นซ่องโจร มีวัตถุระเบิด ซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ขนย้ายวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต และกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น” ต่อศาลจังหวัดนาทวี จำเลยสี่รายได้ยื่นหลักประกันเป็นโฉนดที่ดินมูลค่ารวม 2,400,000 บาทเพื่อขอปล่อยตัวจำเลยทั้งสี่คน อย่างไรก็ตามศาลได้มีคำสั่งว่า “ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เนื่องจากกรณีเป็นคดีร้ายแรงอยู่ในความสนใจของประชาชน หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี”

2.มูลเหตุแห่งคดี กระบวนการมาตรา 21 แห่งพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และการยื้อเวลาในการฟ้องคดี

สำหรับที่มาของจำเลยในคดีดังกล่าวสืบเนื่องจากมีเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555 บริเวณตลาดนัดนิคมเทพา อ.เทพา จ.สงขลา ส่งผลให้มีอาสาสมัครทหารพรานได้รับบาดเจ็บจำนวนหกนาย และประชาชนบริเวณดังกล่าวอีกเจ็ดราย โดยก่อนที่จำเลย 4 ใน 5 ราย คือ นายมะซับบรี กะบูติ นายซุบิร์ สุหลง นายสะแปอิง แวและ นายอับบริก สหมานกูด จะถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีความมั่นคงนี้ ได้เคยถูกควบคุมตัวตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน 2554 ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉฉฯ) พร้อมกับชาวบ้านคนอื่นๆ อีก 5 ราย ซึ่งต่อมาญาติของผู้ถูกควบคุมตัวบางส่วนได้ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉฉฯ ต่อศาลจังหวัดปัตตานี ด้วยเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีความจำเป็นในการควบคุมตัวผู้ถูกควบคุมตัวอีกต่อไป และศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งได้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉฉฯ ทั้ง 8 ราย ได้แก่ นายสาแปอิง แวและ นายมะนาเซ สะมะแอ นายดลเลาะ เดนดาหยัด นายสุริยา แวนาแว นายอับริก สหมานกูด นายฮัมดี มูซอ นายมะซับรี กะบูติง และนายรอหีม หลำโสะ

อย่างไรก็ตามแม้ศาลจังหวัดปัตตานีจะได้มีคำสั่งปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 8 รายแล้ว ปรากฏว่าพนักงานตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ถูกควบคุมตัวบางรายไว้โดยอ้างว่ามีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและเข้าสู่กระบวนการสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ นายมะนาเซ สะมะแอ และนายดลเลาะ เดนดาหยัด ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงให้เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) อันจะทำให้การฟ้องในคดีอาญาระงับไป แต่นายมะนาเซ และนายดลเลาะ ปฏิเสธไม่เข้าร่วมสู่กระบวนการตามมาตรา 21 แต่ขอต่อสู้คดีตามกระบวนการพิจารณาคดีอาญาตามปกติ โดยวันที่ 22 กรกฎาคม 2555 พนักงานอัยการจังหวัดนาทวีได้ยื่นฟ้องนายมะนาเซและนายดลเลาะ ต่อศาลในข้อหาเกี่ยวข้องกับความมั่นคงและเหตุการณ์ระเบิดที่ตลาดนิคมเทพา วันที่ 2 เมษายน 2554 จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดี

ส่วนผู้ถูกควบคุมตัวที่เหลือ ได้แก่ นายมะซับรี กะบูติง นายซุบิย์ สุหลง นายสะแปะอิง แวและ และนายอับริก สหมานกูด ยังคงมีสถานะเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงและได้ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงหว่านล้อม ให้เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ กระทั่งหน่วยงานความมั่นคงได้ออกแถลงข่าวว่าทั้งสี่รายได้ยินยอมเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 และได้มีการปล่อยตัวชั่วคราวออกมา โดยผู้ต้องหาทั้งหมดได้ไปรายงานตัวต่อศาลอย่างสม่ำเสมอ

วันที่ 14 ธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานอัยการจังหวัดนาทวี จะต้องนำตัวผู้ต้องหาทั้งสี่รายมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลและเพื่อให้ศาลสอบถามถึงความสมัครใจของผู้ต้องหาทั้งสี่รายเพื่อเข้าสู่การฝึกอบรมตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ซึ่งต่อมาได้ขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจนทำให้ทราบถึงสิทธิของตนรวมถึงกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายและบางรายร้องเรียนว่ามีการบังคับขู่เข็ญ ทำร้ายร่างกายเพื่อให้เข้าสู่โครงการดังกล่าว ผู้ต้องหาทั้งสี่รายจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อแถลงถึงความไม่สมัครใจเข้าสู่กระบวนการมาตรา 21 และยินดีจะพิสูจน์ความจริงตามวิธีพิจารณาความอาญาปกติ พนักงานอัยการจึงขอเลื่อนการไต่สวน ศาลจังหวัดนาทวีจึงนัดอีกครั้งในวันที่ 23 มกราคม 2555 ในครั้งนี้ผู้ต้องหาทั้งสี่รายยังยืนยันที่จะไม่ร่วมเข้ารับการอบรมดังกล่าว ศาลจึงให้งดการไต่สวน ยกคำร้องของพนักงานอัยการและมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

การจะเข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดที่หลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์มีโอกาสในการกลับสู่สังคมโดยผ่านการอบรมและจะมีผลให้คดีอาญาระงับไปได้ซึ่งทางภาครัฐต้องการนำมาใช้เป็นกลไกแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้อีกกลไกหนึ่ง อย่างไรก็ตามขั้นตอนดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหา และผู้ต้องหาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด จึงจะเข้ารับการฝึกอบรมได้ เมื่อผู้ต้องหาไม่ยินยอมจึงต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความจริงตามปกติ ตลอดระยะเวลาหลังจากศาลยกคำร้อง ผู้ต้องหาทั้งสี่รายยังได้รับการติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเสนอให้เข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แต่ผู้ต้องหาทั้งสี่ยังยืนยันที่จะต่อสู้ตามกระบวนการปกติเช่นเดิมแม้จะมีการเลื่อนกำหนดนัดฟ้องมาแล้วถึง 4 ครั้งจากนัดเดิมในวันที่ 6 มี.ค.55, 19 เม.ย.55, 21 พ.ค.55 และ 1 มิ.ย.55 โดยไม่ได้แจ้งสาเหตุในการเลื่อนกำหนดฟ้อง แต่ผู้ต้องหาทั้งสี่ยังคงไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการตลอดมาทุกนัด จนกระทั่งพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่รายพร้อมกับจำเลยอีกหนึ่งคน ในวันที่ 26 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา และได้ขอรวมคดีกับคดีของนายมะนาเซ สะมาแอ และนายดลเลาะ เดนดาหยัดเป็นคดีอาญาที่1572/2554 โดยพนักงานอัยการได้คัดค้านการประกันตัวจำเลยทั้งหมด ศาลอนุญาตให้รวมคดีและมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยเหตุข้างต้น

3.ปัญหาในการปล่อยตัวชั่วคราว
ในคดีอาญานั้นถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้นจำเลยจึงต้องได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ ซึ่งรวมถึงสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวเพราะเมื่อสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นบุคคลผู้บริสุทธิ์แล้วจะมาจับกุมคุมขังไม่ได้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงได้รองรับสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาและจำเลยเป็นหลัก การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นเป็นข้อยกเว้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 นั้นกำหนดว่า การไม่ปล่อยตัวชั่วคราวกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งต่อไปนี้
1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน
3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
5) การปล่อยตัวชั่วคราวนั้นจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

ในคดีดังกล่าวศาลมีเหตุในการสั่งไม่อนุญาตด้วยองค์ประกอบหลักสามประการคือ หนึ่งเป็นคดีร้ายแรง สองคดีอยู่ในความสนใจของประชาชน และสามเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี แต่เหตุผลตามกฎหมายมีประการเดียวคือ เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี ซึ่งเมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่ราย ที่ได้มารายงานตัวตามกำหนดนัดของศาลและพนักงานอัยการทุกนัดตั้งแต่นัดไต่สวนกระบวนการตามมาตรา 21 จนถึงการนัดฟ้องซึ่งเลื่อนมาถึงสี่ครั้งก็ตาม ย่อมแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยในคดีดังกล่าวต้องการต่อสู้คดีและไม่ได้หลบหนี เมื่อพฤติการณ์ของจำเลยเป็นเช่นนี้บุคคลทั่วไปย่อมไม่อาจเข้าใจได้ว่าศาลยุติธรรมใช้ข้อเท็จจริงใดเป็นฐานในการวินิจฉัยว่าจำเลยจะหลบหนี

ทั้งนี้ความไม่เป็นธรรมในคดีดังกล่าวยิ่งเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเมื่อพบว่าจำเลยสองคนคือนายมะนาเซ สะมาแอ และนายดลเลาะ เดนดาหยัดซึ่งมีการฟ้องคดีตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 นั้น ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ และขณะนี้คดีอยู่ระหว่างนัดตรวจพยานหลักฐาน ในขณะที่จำเลยทั้งสี่รายซึ่งฟ้องเป็นคดีเดียวกัน มูลเหตุคดีเดียวกัน ความร้ายแรงของคดีเท่ากัน กลับไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว การอ้างเหตุร้ายแรงของคดียิ่งฟังไม่ขึ้นในกรณีดังกล่าว

พฤติการณ์ที่ต่างกันระหว่างจำเลยทั้งสี่รายกับจำเลยสองรายที่ฟ้องไว้แล้วก็คือ ควานสนใจของประชาชนต่อคดีดังกล่าวเนื่องจากจำเลยทั้งสี่เดิมถูกวางไว้ว่าจะเป็นกลุ่มแรกที่เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา21 พ.ร.บ.ความมั่นคง​ฯ แต่โครงการดังกล่าวยังไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากจำเลยไม่สมัครใจ จำเลยสี่รายจึงเป็นที่สนใจมากกว่าจำเลยสองรายที่ฟ้องไปแล้ว อย่างไรก็ตามความสนใจ ความรู้สึกของประชาชนนั้นไม่สามารถนำมาอ้างเป็นเหตุทางกฎหมายในการปล่อยตัวชั่วคราวได้

การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยศาลพิจารณาจากความรู้สึกของประชาชนเคยมีกรณีศึกษามาแล้วหลายกรณี ตัวอย่างเช่น กรณีการขอปล่อยตัวชั่วคราวของนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรืออากงจำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่มารายงานตัวต่อศาลและพนักงานอัยการทุกครั้งแต่ศาลกลับให้เหตุผลในการไม่อนุญาตว่าจำเลยจะหลบหนีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554ว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาของข้อหา ตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีและองค์รัชทายาท นับเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบความรู้สึกของปวงชนชาวไทย หากให้จำเลยปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง แล้วคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยและผู้ขอประกันทราบโดยเร็ว" จนกระทั่งปัจจุบันนายอำพลเสียชีวิตไปแล้วในเรือนจำ หลังจากที่ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วกว่าแปดครั้งก่อนที่นายอำพลจะเสียชีวิต มีข้อสังเกตว่าในคดีความมั่นคง ศาลยุติธรรมมักจะให้เหตุผลซึ่งเกี่ยวข้องความรู้สึกของประชาชนร่วมด้วยทั้งที่ไม่ใช่เหตุผลตามกฎหมายอันแสดงให้เห็นถึงการใช้ดุลพินิจที่ปราศจากความเป็นอิสระและเป็นกลาง

4.บทส่งท้าย
ปัญหาในคดีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจำเลยขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการยุติธรรมมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะคดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีปัญหาทับซ้อนหลายมิติ ยังผลให้มีการตัดสินใจที่ผิดพลาดต่อแนวทางในการต่อสู้คดี สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยยังขาดประสิทธิภาพที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงทนายความที่สามารถให้คำปรึกษาแก่ผู้ต้องหา ความพยายามหว่านล้อม บังคับ ขู่เข็ญของเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี[2] ไปจนถึงการเลื่อนกำหนดนัดฟ้องของอัยการออกไปทั้งที่ผู้ต้องหายืนยันต้องการต่อสู้คดี รวมถึงการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาลซึ่งไม่ได้อยู่บนฐานของข้อเท็จจริงในคดี

สิทธิในการพิจารณาอย่างสะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม รวมถึงสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริงกับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง สิ่งที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความมั่นคงต้องการนั้นไม่ถึงขนาดให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แต่สิ่งที่ผู้ต้องหาและจำเลยที่กำลังเผชิญหน้ากับการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องการมีเพียงอย่างเดียวคือความเป็นอิสระเป็นกลางและความโปร่งใสของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม

 

 

//////////////////////////////////////////

 

[1] คดีนี้อยู่ในความรับผิดชอบของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
[2] ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ​พฤศจิกายน 2550
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นาซ่ายกเลิกโครงการสำรวจอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหตุไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลไทย

Posted: 28 Jun 2012 01:57 AM PDT

เว็บไซต์นาซาเผย ยกเลิกโครงการสำรวจอากาศ SEAC4RS mission ซึ่งตามกำหนดการเดิมจะเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคมปี 2555 ระบุเหตุไม่ได้รับความยินยอม และความร่วมมือกันภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดจากรัฐบาลไทย

โดยหน้าเว็บของนาซ่า ซึ่งให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ได้อัพเดทข้อมูลว่าหลังจากรอการอนุมัติจากรัฐบาลไทยเพื่อเห็นชอบความร่วมมือในโครงการสำรวจอากาศนั้น วันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา นาซ่าได้ยกเลิกโครงการสำรวจอากาศ SEAC4RS mission ซึ่งตามกำหนดการเดิมจะเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคมปี 2555 ระบุเหตุผลว่าไม่ได้รับความยินยอม และความร่วมมือกันภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดจากรัฐบาลในภูมิภาค

ขณะที่เว็บไซต์มติชนรายงานคำสัมภาษณ์โฆษกสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยเปิดเผยว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (นาซา) ยกเลิกโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลต่อสภาพภูมิอากาศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAC4RS) แล้วเนื่องจากรอไม่ได้

นายวอลเตอร์ บราวโนห์เลอร์ โฆษกสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยกล่าววันนี้ว่า นาซาไม่สามารถรอได้เนื่องจากโครงการจะต้องดำเนินการเฉพาะเดือนสิงหาคมและกันยายนเท่านั้น แต่คณะรัฐมนตรีไทยมีมติเมื่อวันอังคารให้รัฐสภาอภิปรายเรื่องนี้หลังเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งเลยกำหนดเส้นตายของนาซาไปแล้ว 1 เดือน โฆษกกล่าวด้วยว่า ยังไม่สามารถบอกได้ว่านาซาจะทบทวนเรื่องโครงการนี้อีกครั้งในปีหน้าหรือไม่

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวนั้น มีนายไบรอัน ทูน นักวิชาการด้านจากภาควิชาชั้นบรรยากาศและสมุทรศาสตร์ มหาวิทยาลับโคโลลาโดเป็นหัวหน้า โดยคาดหมายว่าจะเริ่มโครงการวิจัยได้ในเดือนสิงหาคมปีนี้ เพื่อศึกษาสภาพอากาศ และผลกระทบโดยเขากล่าวว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่สำคัญของโลก ประชากรกลุ่มใหญ่ของโลกอาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ และเป็นภูมิภาคที่มีทั้งการปล่อยมลพิษทั้งจากไฟไหม้ตามฤดูกาล และจากเมืองใหญ่ต่างๆ ตามปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนด้านอุตุนิยมวิทยาไปทั่วภูมิภาค และเมื่อสารเคมีต่างๆ เข้าสู่ชั้นบรรยากาศมันก็จะส่งผลต่อโลกทั้งโลกด้วย รวมไปถึงอาจส่งผลต่อฤดูลมมรสุมด้วย ซึ่งเขาหวังว่าโครงการ SEAC4RS จะทำให้เกิดความเข้าใจต่อปรากฏการณ์เหล่านี้ได้มากขึ้น และโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการจำนวนมากเพื่อที่จะช่วยกันไขความเข้าใจเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศและถือว่าเป็นโครงการใหญ่อีกโครงการหนึ่งของนาซ่า

เจฟรีย์ เรียด จาก นักวิชาการจากสถาบัน Naval Research Laboratory's Marine Meteorological Division in Monterey, Calif หัวหน้าทีมวิจัยผลกระทบด้านรังสี กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหรัฐต้องการจะพัฒนาการพยากรณ์ด้านอากาศในภูมิภาคนี้ และเพื่อจะพัฒนาไปได้นั้นเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่ามลพิษและสภาพอากาศนั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไร และไม่มีที่ใดในโลกที่จะมีความซับซ้อนด้านอุตุนิยมวิทยามากเท่ากับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจกล่าวได้ว่าภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่ทำการพยากรณ์อากาศได้ยากที่สุดในโลกด้วย เพราะว่ามีทั้งการปล่อยมลพิษในระดับที่รุนแรงขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์อย่างยิ่งด้วย

ฮัล มาริง จาก Earth Science Division at NASA Headquarters กล่าวถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับอีกประการจากโครงการนี้คือ ข้อมูลที่แม่นยำขึ้นจากที่เคยได้จากดาวเทียมเพราะว่าพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นพื้นที่ที่ยากมากสำหรับการตรวจจับระยะไกลด้วยดาวเทียม เนื่องจากมักมีเมฆเข้ามาอยูในเส้นทาง ดังนั้นหากใช้การเก็บข้อมูลจากเครื่องบินก็จะสามารถเก็บข้อมูลจากในชั้นบรรยากาศได้ดีกว่าการเก็บข้อมูลจากดาวเทียมที่อยู่เหนือชั้นบรรยากาศ และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกันเพื่อพัฒนาข้อมูลที่ได้จากดาวเทียม

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้กระทรวงเกษตร-อปท.ช่วยเกษตรพันธสัญญา เข้าถึงสัญญาที่เป็นธรรม

Posted: 27 Jun 2012 11:34 PM PDT

 

หลังการสัมมนาเวทีวิชาการเกษตรพันธสัญญาประจำปี 2555 “เกษตรพันธสัญญา: ใครอิ่ม ใคร...อด ?” เมื่อวันที่ 26 - 27 มิถุนายน 2555 เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา นักวิชาการ สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม ระดมข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา และทางออกของระบบเกษตรพันธสัญญา โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้

1. จากการศึกษาวิจัยเรื่องความไม่เป็นธรรมของระบบเกษตรพันธสัญญาของสถาบันวิชาการหลายแห่ง เช่น ศูนย์การศึกษากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า มีเกษตรกรจำนวนมากที่ตกอยู่ในวงจรหนี้สิน บางกลุ่มอยู่ในขั้นตอนการบังคับคดีอันเนื่องมาจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่เท่าทันข้อมูลและสถานการณ์ บางครอบครัวล้มละลาย ซึ่งจะต้องได้รับการเยียวยาโดยเร่งด่วน จึงมีข้อเสนอ ดังนี้

1.1 ให้คณะอนุกรรมการด้านเกษตรพันธสัญญาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ที่ 4/2555 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2555 ลงนามโดย นายยงยุทธ์ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อสำรวจและขึ้นทะเบียนผู้ที่ได้รับผลกระทบที่จะต้องได้รับการเยียวยา ภายใน 3 เดือน

1.2 ให้แต่งตั้งคณะทำงานกลางเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนจากความไม่เป็นธรรมและหนี้สิน รวมทั้งการฟ้องร้อง ดำเนินคดี เป็นการเฉพาะ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และดำเนินการช่วยเหลือและเยียวยาขึ้น ภายใน 1 เดือน หลังจากมีการสำรวจและขึ้นทะเบียนเสร็จ

2. เนื่องจากโครงสร้างของระบบการผลิตทางการเกษตรของไทยในปัจจุบันพัฒนาเข้าสู่โครงสร้างการผลิตแบบระบบธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร จะต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการแบบใหม่ องค์ความรู้เฉพาะในการผลิตและการตลาดแนวใหม่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรที่อยู่ในระบบและกำลังจะเข้าสู่ระบบ มีข้อมูลองค์ความรู้ในการจัดการการผลิต และการตัดสินในการเข้าสู่ระบบ จึงมีข้อเสนอ ดังนี้

2.1 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สภาเกษตรกรแห่งชาติ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุน และส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้บริโภค มีความรู้ ข้อมูลข่าวสารที่ทันการณ์ และเท่าทัน ในเรื่องสัญญาที่เป็นธรรม การบริหารจัดการและการผลิตที่เน้นมาตรฐานและคุณภาพ และประกอบการตัดสินใจก่อนเข้าสู่ระบบ

2.2 ให้คณะทำงานในข้อ 1.1 เป็นกลไกหลักในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อความเป็นธรรมในระบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติในการส่งเสริมและสนับสนุน การเข้าสู่ระบบ และอยู่ในระบบอย่างเป็นธรรม มีความรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติของส่วนรวม โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง สภาเกษตรกรแห่งชาติ เครือข่ายผู้บริโภค ประชาสังคม และสื่อมวลชน ภายใน 6 เดือน

2.3 ให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม จัดให้มีสมัชชาเพื่อรับฟังความคิดเห็น รวบรวมปัญหาและผลกระทบ และข้อเสนอ เพื่อจัดทำ “ธรรมนูญของเกษตรกร” และนำผลการจัดทำสมัชชา มาจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานตามกรอบแผนยุทธศาสตร์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

3. เนื่องจากโครงสร้างของระบบการผลิตทางการเกษตรของไทยในปัจจุบันพัฒนาเข้าสู่โครงสร้างการผลิตแบบระบบธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฎิรูประบอบกฎหมายที่สามารถอำนวยให้เกิดความเป็นธรรมให้แก่ เกษตรกร ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ สังคม รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

คณะทำงานเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา
-เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา (เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย)
-เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
-สถาบันชุมชนเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
-คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
-คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน
 

00000000

 

คำประกาศเจตนารมณ์
คณะทำงานเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา

 

พวกเรา กลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบเกษตรพันธสัญญาและการผูกขาดของ บริษัทอุตสาหกรรมเกษตร องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และผู้บริโภค ได้มารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และปร ะสบการณ์เกี่ยวกับการทำการเกษตรพันธสัญญา

พวกเรา พบว่าระบบเกษตรพันธสัญญาในสังคมไทยภายใต้การผลักดันของรัฐและทุนตั้งอยู่บน ความไม่ยุติธรรมต่อเกษตรกร ทำให้เกษตรกรจำนวนมากต้องเป็นหนี้และถูกดำเนินคดี ต้องสูญเสียที่ดิน แบกรับความเสี่ยงทั้งด้านต้นทุนการผลิต แรงงาน สุขภาพ และความเสี่ยงจากภัยพิบัติ อีกทั้งทำให้เกิดการทำลายทรัพยากรส่วนรวมและความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ทั้งยังทำให้วัตถุดิบในการผลิตอาหารปนเปื้อนและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของ ผู้บริโภค และทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร

ด้วยเหตุดังกล่าว พวกเราจึงขอเรียกร้องต่อสังคมไทย ดังต่อไปนี้

1. ขอให้ร่วมกันผลักดันให้ทุนอุตสาหกรรมเกษตร ยุติดำเนินธุรกิจระบบเกษตรพันธสัญญา ที่ไม่มีความเป็นธรรมต่อเกษตรกร ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค และทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร

2. ขอให้ร่วมกันผลักดันให้รัฐดำเนินนโยบายและการปฏิบัติที่สนับสนุนระบบเกษตร พันธสัญญาที่มีความเป็นธรรมต่อเกษตรกร ไม่ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค และทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งให้มีมาตรการในการเยียวยาเกษตรกรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบ เกษตรพันธสัญญาอย่างเร่งด่วน

3. ขอให้ร่วมกันผลักดันให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรต้องมีความรับผิดชอบต่อ สังคมที่แท้จริง โดยยุติการทำธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ละเมิดกฎหมาย
ไม่เคารพต่อสิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชน และผลิตสินค้าการเกษตรที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

พวกเรา ขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า พวกเราจะร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและร่วม กันผลักดันให้มีการสนับสนุนระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม ต่อเกษตรกร มีการคุ้มครองทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหาร

พวกเรา ขอประกาศร่วมกันว่า พวกเราจะทำงานกับภาครัฐ เครือข่ายพันธมิตร ผู้บริโภค นักวิชาการ และสื่อมวลชน เพื่อเคลื่อนไหวให้สิทธิของเกษตรกรและผู้บริโภคได้รับการเคารพ

 

ด้วยความสมานฉันท์
คณะทำงานเกษตรกรพันธสัญญา
ประกาศ ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 27 มิถุนายน 2555

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"กลุ่มจับตายาเสพติดรัฐฉาน" ระบุถ้าไม่มีการแก้ปัญหาการเมือง-ปัญหายาเสพติดจะดำรงต่อไป

Posted: 27 Jun 2012 08:48 PM PDT

รายงานประจำปี "Shan Drug Watch" เผยยังมีการปลูกฝิ่น 49 อำเภอของรัฐฉาน แม้ใกล้เส้นตายปีปลอดยาเสพติด 2557 ที่รัฐบาลพม่าประกาศ ขณะที่แม้จะจับ "จายหน่อคำ" ได้แล้ว แต่น้ำโขงยังเป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติด โดยย้ำให้ผู้เกี่ยวข้องแก้ปัญหาที่โครงสร้างมากกว่า "หาแพะ" ตัวใหม่ และยังเผยด้วยว่าหลายพื้นที่มีการเลี้ยง "ยาบ้า" ให้คนที่มาช่วยงานบุญรอบดึกเหมือนเลี้ยงน้ำชา โดยเชื่อว่าเหมือนเป็นยาบำรุงให้สดชื่น

หน้าปกของจดหมายข่าวกลุ่มจับตายาเสพย์ติดรัฐฉาน (Shan Drug Watch) ประจำปี 2555

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก คณะวิจัยของกลุ่มจับตายาเสพติดรัฐฉาน (Shan Drug Watch) ได้เผยแพร่จดหมายข่าวประจำปี 2555 "New Shan Drug Watch report: political solution needed to end drug scourge in Burma" (อ่านรายงานฉบับเต็มที่นี่)  โดยย้ำเตือนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพม่าว่า ตราบใดที่การแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อแก้ไขความคับข้องใจของกลุ่มชาติพันธุ์ยังไม่บรรลุ การใช้กำลังทางทหาร ภาวะไร้ขื่อแป ซึ่งเป็นสิ่งค้ำจุนปัญหายาเสพติดก็จะดำเนินต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ในจดหมายข่าวระบุว่า การปลูกฝิ่นในรัฐฉานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2554 - 2555 แม้ว่าจะใกล้เส้นตายปีปลอดยาเสพติดของรัฐบาลพม่าในปี 2557 ทั้งนี้มีรายงานการปลูกฝิ่น 49 อำเภอ จากทั้งหมด 55 อำเภอของรัฐฉาน แม้ว่าในหลายพื้นที่ซึ่งมีการปลูกฝิ่น จะเคยเป็นพื้นที่เป้าหมายให้เป็นเขตปลอดยาเสพติดเมื่อปี 2552 ก็ตาม

ทั้งนี้กองกำลัง อส.พม่า ของรัฐบาลพม่าหลายกลุ่ม ที่มีบทบาทร่วมกับรัฐบาลพม่าในการปราบปรามกลุ่มต่อต้านในรัฐฉาน ได้กลายเป็นตัวแสดงที่มีบทบาทสำคัญในการค้ายาเสพติด ทั้งเฮโรอีน และยาบ้า อย่างไรก็ตามอันเนื่องมาจากอ้าแขนต้อนรับรัฐบาลพม่าชุดใหม่ ก็ได้ทำให้ประชาคมนานาชาติละเลยต่อเรื่องการเกี่ยวข้องของรัฐบาลกับเรื่องยาเสพติด

ในรายงานฉบับนี้ ยังกล่าวถึงการจับกุมหน่อ คำ "เจ้าพ่อสามเหลี่ยมทองคำ" และอธิบายในรายงานด้วยว่าเขาได้สร้างอาณาจักรธุรกิจของเขาขึ้นขณะที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้า อส.พม่า ประจำเมืองท่าขี้เหล็ก การที่แม่น้ำโขงยังคงเป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดนับตั้งแต่ที่หน่อคำถูกจับ เป็นการตอกย้ำว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องตั้งคำถามถึงโครงสร้างอันเป็นสาเหตุของปัญหายาเสพติด มากกว่าเพียงการจับแพะตัวใหม่

"ถึงเวลาแล้วที่จะยุติวงจรชั่วร้ายของการสร้างพ่อค้ายาเสพย์ติดและทำให้กลายเป็นแพะซ้ำแล้วซ้ำอีก ปัญหาการเมืองอันเป็นรากฐานสำคัญของปัญหายาเสพติดจำเป็นที่จะต้องถูกสกัด" คืนใส ใจเย็น คณะทำงานคนสำคัญของรายงานวิจัยจับตายาเสพติดรัฐฉานกล่าว

รายงานดังกล่าว ยังอธิบาบถึงระดับของการใช้ยาเสพติดในชุมชนทั่วรัฐฉาน ที่ซึ่งขณะนี้มีการแจก "ยาบ้า" ระหว่างงานสังคม และงานบุญทางศาสนาด้วย โดยแจกเหมือนแจกน้ำชา

"ในงานสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานทำบุญ แต่งงาน หรืองานศพ ซึ่งผู้คนจะอยู่กันดึกดื่นหรือทั้งคืนเพื่อช่วยงานสังคม จะมีการเลี้ยงยาบ้า เหมือนเลี้ยงน้ำชา" รายงานชิ้นนี้ระบุ โดยอ้างปากคำของชาวบ้านคนหนึ่ง "หลายคนรู้ว่า มันเหมือนเป็นยาบำรุงและทำให้สดชื่น"

ทั้งนี้สามารถอ่านจดหมายข่าว Shan Drug Watch Newsletter ประจำปี 2555 ได้ตามลิ้งก์นี้

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Press release by Shan Drug Watch on International Day Against Drug Abuse and Trafficking MONDAY, 25 JUNE 2012 19:51, S.H.A.N.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาลพม่าเจรจา "หมอซินเธีย" ที่แม่สอด

Posted: 27 Jun 2012 07:27 PM PDT

ทีมเจรจาของรัฐบาลพม่านำโดย "อ่อง มิน" รมต.กิจการรถไฟ เยือนแม่สอดเพื่อเจรจากับ พญ.ซินเธีย หม่อง ซึ่งเปิดโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยที่ชายแดนไทย-พม่า โดยชักชวนให้หมอซินเธียกลับไปเปิดโรงพยาบาล 5 พันเตียงในพม่า ขณะเดียวกันรัฐบาลพม่ายังได้เจรจากับองค์กรการเมืองหลายกลุ่มทั้ง สหภาพกะเหรี่ยง KNU สหพันธ์นักศึกษาพม่าทั้งมวล ด้วย

สาละวินโพสต์ รายงานว่า นายอ่องมิน รัฐมนตรีกระทรวงกิจการรถไฟของพม่า ซึ่งเป็นตัวแทนเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลพม่าได้เดินทางหารือกับ ดร.ซินเธีย หม่อง แห่งคลินิคแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก โดยนายอู อ่องมิน ได้กล่าวขอบคุณต่อ ดร.ซินเธีย หม่องที่ได้อุทิศทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยจากพม่าตลอดมา พร้อมกับได้ชักชวนให้นางซินเธีย หม่อง กลับไปเปิดโรงพยาบาลในพม่า

นายอ่องมินกล่าวว่า จากนี้ รัฐบาลจะช่วยเหลือคลินิคแม่ตาวในการรักษาผู้ป่วย และขณะนี้รัฐบาลเตรียมที่จะรับผู้ลี้ภัยและแรงงานพม่ากลับพม่าทั้งหมด โดยจะจัดหาที่อยู่ ที่ทำกินและสาธารณูปโภคให้พร้อม

“เราได้ยินว่าคุณรักษาคนไข้กว่าแสนคนในทุกๆปี นั่นเป็นงานที่มากเกินกว่าที่รัฐบาลพม่าทำ ผมอยากจะเชิญคุณกลับมาเปิดโรงพยายบาลในพม่า คุณสามารถเปิดโรงพยาบาลที่รองรับคนไข้ได้ 5 พันเตียง” นายอองมิน กล่าวกับ ดร.ซินเธีย หม่อง ในระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายหารือกัน ขณะที่นางซินเธีย หม่อง กล่าวเพียงว่า ยังต้องทราบรายละเอียดมากกว่านี้และจะต้องหารือกับรัฐบาลพม่าต่อไป พร้อมทั้งเปิดเปิดเผยว่า หากระบบการศึกษาในพม่าดีขึ้น ประชาชนที่ยากจนก็คงไม่จำเป็นที่จะต้องมารักษายังบริเวณชายแดน

ทั้งนี้ นายอ่องมินมีกำหนดการเยี่ยมคลินิคแม่ตาวในช่วงเช้าของวันพุธ (27 มิถุนายน) โดยความพยายามที่จะร่วมมือกับคลินิคแม่ตาวเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับที่ทางคลินิคแม่ตาวกำลังเผชิญกับปัญหาการถูกตัดงบช่วยเหลือจากองค์กรต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม นับเป็นการพบกับรัฐมนตรีในรัฐบาลพม่าเป็นครั้งแรก ของนางซินเธีย หม่อง นับตั้งแต่เดินทางออกพม่า หลังมีการปราบปรามกลุ่มนักศึกษาในปี 1988 (2531)

ทั้งนี้ นายอ่องมินและคณะได้เดินทางถึงไทยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยได้พบกับองค์กรการเมืองพลัดถิ่นหลายองค์กรที่อยู่ตามชายแดน เช่น สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) สมาชิกของกลุ่มแนวร่วมนักศึกษาพม่าเพื่อประชาธิปไต (the All Burma Students’ Democratic Front – ABSDF) กลุ่ม Forum for Democracy in Burma (FDB) รวมถึงพรรคประชาธิปไตยสำหรับสังคมใหม่ (Democratic Party for a New Society -DPNS)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น