ประชาไท | Prachatai3.info |
- ผู้หญิงกับการเมือง ฟาตู เบนซูดา: อัยการสูงสุดแห่งศาลอาญาระหว่างประเทศ
- ทหารพม่าโจมตี-เผาทำลายฐานกองทัพรัฐฉาน SSA
- ผาสุก พงษ์ไพจิตร: "รัฐสภาประชาธิปไตย"
- ม.ทักษิณพิพาทที่ดินสร้างวิท’ลัยภูมิปัญญา ไล่ฟ้องชาวบ้านบุกรุกอีก 1
- TDRI เสนอปรับปรุงระบบการเงินกู้ยืมอุดมศึกษาป้องกันหนี้สูญ
- Timeline: ชัยชนะของกรรมกรข้ามชาติ 'เอ็มแอพพาแรล' กับการต่อสู้เพื่อสิทธิค่าจ้างขั้นต่ำ
- ความมืดกลางแสงแดด: กรณีการไต่สวนคดีสมยศ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
- คปอ.ร้อง “กองทุนยุติธรรม” ช่วยประกันตัวชาวบ้านทุ่งลุยลาย คดีรุกที่ดินป่าสงวน
- ออง ซาน ซูจีรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ หลังรอมา 21 ปี
ผู้หญิงกับการเมือง ฟาตู เบนซูดา: อัยการสูงสุดแห่งศาลอาญาระหว่างประเทศ Posted: 17 Jun 2012 08:57 AM PDT นางฟาตู เบนซูดา (Fatou Bensouda) วัย 51 ปี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการยุติธรรมของสาธารณรัฐแกมเบีย เพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอัยการสูงสุดแห่งศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2555 นอกจากเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับเลือกสู่ตำแหน่งระดับสูงในกระบวนการยุติธรรมของโลกแล้ว เธอยังเป็นชาวแอฟริกันคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้อีกด้วย นางเบนซูดาประกาศในพิธีสาบานตนว่าเธอจะมุ่งมั่นต่อภารกิจในการนำตัวผู้ก่ออาชญากรรมสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมสากล “เราต้องไม่ถูกชักนำโดยคำพูดและการโฆษณาชวนเชื่อของผู้ทรงอิทธิพลเพียงไม่กี่คนที่มุ่งหมายจะหลบเลี่ยงความยุติธรรม แต่เราต้องมุ่งความสนใจและสดับตรับฟังเสียงของเหยื่อนับล้านที่ยังคงทุกข์ทนกับอาชญากรรมทั้งมวล” หลังจบการศึกษาระดับมัธยมที่บ้านเกิด เบนซูดาเดินทางไปศึกษาต่อด้านนิติศาสตร์ที่ประเทศไนจีเรีย เธอได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมสาขานิติศาสตร์จาก University of IFE (ปัจจุบัน คือ OAU University) เนติบัณฑิตจาก Nigeria Law School, Lagos, ประเทศไนจีเรีย และปริญญาโทจาก International Maritime Law Institute in Malta เธอกลับบ้านเกิดและเริ่มชีวิตการทำงานครั้งแรกที่กระทรวงการยุติธรรมเมื่อปี 1987 ในตำแหน่งผู้ช่วยอัยการ เบนซูดาใช้เวลาสิบเอ็ดปีบนเส้นทางวิชาชีพไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการในปี 1998 ก่อนที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของกระทรวงยุติธรรมโดยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในปี 2000 กลางปี 2000 นางเบนซูดาลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีฯเพื่อไปรับตำแหน่งผู้บริหารของ The International Bank of Commerce แต่ในที่สุดเธอตัดสินใจหวนกลับมาเดินบนถนนสายยุติธรรมอีกครั้งหนึ่ง เธอสารภาพว่าสิ่งที่เธอค้นพบในภาคธุรกิจคือ “มันไม่ใช่ที่ทางของฉัน” เบนซูดาบอกว่าที่ที่เธอคิดถึงอยู่ตลอดเวลาคือศาลสถิตยุติธรรม พลันที่หันหลังให้ภาคธุรกิจ นางเบนซูดาก้าวเข้าสู่วงการการยุติธรรมระดับสากลในฐานะคณะที่ปรึกษากฎหมายและอัยการในการสอบสวนคดีอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในรวันดา และได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษากฎหมายในปี 2004 นับจากนี้ไป นางเบนซูดาในฐานะอัยการสูงสุดแห่งศาลอาญาระหว่างประเทศที่มีสมาชิก 121 ประเทศทั่วโลก จะต้องเดินหน้านำตัวผู้ก่ออาชญากรรมที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติ 15 คดีที่มีการนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ และทั้ง 15 คดีนี้เป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในทวีปบ้านเกิดของเธอเอง เบนซูดายืนยันว่า “ฉันเป็นแอฟริกันและฉันภูมิใจในความเป็นแอฟริกัน แต่ฉันคิดว่าฉันไม่ได้รับเลือกให้มาสู่ตำแหน่งนี้เพราะความเป็นแอฟริกัน ฉันเชื่อว่าประวัติการทำงานของฉันพิสูจน์ข้อนี้ได้ ฉันได้รับการรับรองโดยสหภาพแอฟริกา แต่ฉันคืออัยการของทั้ง 121 ประเทศสมาชิก และนี่คือสิ่งที่ฉันมุ่งมั่นที่จะทำจนครบวาระ” เบนซูดาเล่าให้กลุ่มผู้สื่อข่าวฟังถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอเลือกเรียนกฎหมายว่า เธอเติบโตมากับสังคมที่มีความรุนแรงในครอบครัวให้เห็นอยู่เสมอ แม้ความรุนแรงนั้นจะไม่ได้เกิดในครอบครัวของเธอเองซึ่งบิดามีภรรยาสองคนอยู่ร่วมบ้าน แต่มันเกิดอยู่ทั่วไปในประเทศแกมเบียรวมทั้งในชุมชนของเธอ “ฉันรู้สึกแย่กับสิ่งที่เห็นแต่ไม่อาจทำอะไรได้ในตอนที่เป็นเด็ก มันเป็นความรู้สึกที่ติดอยู่ในใจว่าความรุนแรงเช่นนี้ต้องไม่เกิดขึ้น และมีบางสิ่งบางอย่างที่ฉันต้องทำเมื่อโตขึ้น” เบนซูดามีโอกาสได้ทำในสิ่งที่เธอตั้งใจไว้ไม่เพียงแต่ในประเทศบ้านเกิดเท่านั้น เธอยังได้วางกฎเกณฑ์ใหม่ในกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพการสืบสวนสอบสวนและการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อเด็กและการทารุณกรรมทางเพศ ศาลอาญาระหว่างประเทศมีภารกิจสำคัญในการที่จะนำความยุติธรรมมาสู่บรรดาผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงที่มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมือง การดำเนินคดีกับผู้มีส่วนก่อความรุนแรงดังกล่าวนี้มีผลสำคัญยิ่งต่อการป้องกันความขัดแย้งในอนาคต รวมถึงการสร้างความมั่นใจในความยุติธรรมต่ออาชญากรรมการทารุณกรรมทางเพศซึ่งกลายเป็นเครื่องมือในการทำสงครามรูปแบบใหม่ เช่นที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในหลายประเทศ เช่น พม่า กัมพูชา คองโก และเคนย่า โดยผู้สั่งการ คือ ผู้บัญชาการทหาร เจ้าหน้าที่รัฐ และแม้แต่ประธานาธิบดี เบนซูดาย้ำว่าการให้ความช่วยเหลือเหยื่อคือแก่นกลางของความยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ และสิ่งนี้คือแรงบันดาลใจและความภูมิใจของเธอ Sources: ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||
ทหารพม่าโจมตี-เผาทำลายฐานกองทัพรัฐฉาน SSA Posted: 17 Jun 2012 06:19 AM PDT ทหารพม่าสนธิกำลัง 2 กองพัน บุกโจมตี
แฟ้มภาพทหารกองทัพรัฐฉาน SSA ในวันกองทัพรัฐฉานเมื่อปี 2553 ล่าสุดเกิดปะทะกับทหารพม่า ที่ฐานดอยงอม ที่เมืองโต๋น รัฐฉานภาคตะวันออก หลังมีข้อตกลงหยุดยิงแล้วเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้ทหารกองทัพรัฐฉานยอมถอนกำลังออกจากฐานดังกล่าว มีรายงานจากแหล่งข่าวชายแดนว่า เมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.) ทหารกองทัพพม่ารวมกำลังพลกว่า 100 นาย สนธิกำลังจาก 2 กองพัน คือ กองพันทหารราบที่ 225 และ กองพันทหารราบที่ 65 ประจำนากองมู ตรงข้ามอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้บุกขึ้นโจมตีฐานกองกำลั แหล่งข่าวเผยว่า การโจมตีจากทหารพม่าเริ่มขึ้ พ.ต.หลาวแสง โฆษกกองทัพรัฐฉาน SSA เปิดเผยว่า ทหารพม่าที่บุกโจมตีฐานของ SSA ครั้งนี้ มาจากฐานประจำการในเขตอำเภอเมื พ.ต.หลาวแสง กล่าวด้วยว่า การโจมตี SSA ของทหารพม่าครั้ง กระทบแผนสันติภาพของสองฝ่ายแน่ ทั้งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า หลังทหารพม่าบุกโจมตีฐาน SSA ได้ยินเสียงปื ขณะที่ทางด้าน พล.ท.เจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉาน SSA กล่าวว่า หลังเกิดเหตุทาง SSA ได้ส่งหนังสือประท้วงไปยังรั ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าและกองทัพรัฐฉาน SSA ได้เจรจาลงนามหยุดยิงกันเมื่อ 2 ธ.ค. 2553 นับจากนั้นมาทหารสองฝ่ายยังมี ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ http://www.khonkhurtai.org/
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||
ผาสุก พงษ์ไพจิตร: "รัฐสภาประชาธิปไตย" Posted: 17 Jun 2012 05:13 AM PDT (17 มิ.ย.55) ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบรรยายพิเศษเรื่อง “การเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2549 และบทบาทที่ควรจะเป็นของ ขบวนการภาคประชาชน” เนื่องในโอกาสรำลึก 21 ปีการสูญหาย ของทนง โพธิ์อ่าน จัดโดยมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลารายละเอียดมีดังนี้
000000 สาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันเป็นหัวข้อที่ใหญ่มากและมีคำอธิบาย-ข้อเสนอที่แตกต่างกัน อยากสรุปว่า ที่เรารู้แน่ๆ คือ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทยไม่ใช่ของที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองไทย ประเทศอื่นๆ ได้ผ่านกระบวนการความขัดแย้งทางการเมืองในแบบเดียวกันมาแล้ว เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เปลี่ยน แต่สถาบันทางการเมืองและชนชั้นนำยังไม่ปรับตัว เปลี่ยนแปลงตาม ยังคงต้องการรักษาสภาพเดิม ซึ่งไม่สามารถสนองตอบกับความต้องการและความคาดหวังใหม่ๆ ได้แล้วเอาไว้ ทำให้เกิดความลักลั่น ไม่สอดคล้อง ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา เรากำลังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง โดยอาจมองว่าความขัดแย้งนี้เป็นนิมิตหมายอันดี เพราะต้องมีความขัดแย้งก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่มีสูตรแก้ความขัดแย้งที่จะคลี่คลายความขัดแย้งได้ทันทีทันใด ไม่ว่าจะมีคณะกรรมการปรองดองสักกี่ชุด แก้กฎหมายกี่ฉบับ หรือเปลี่ยนรัฐธรรมนูญกี่มาตรา ก็จะไม่ทำให้ความขัดแย้งสูญหายไปทันที สมมติเราไปหาหมอ ได้ยามา ก็จะลดความเจ็บปวดลงได้บ้าง แต่เราก็ต้องรอให้ร่างกายเยียวยาตัวเองจนแผลค่อยๆ หาย แต่ในระหว่างรอเยียวยาตัวเองให้ดีขึ้น เราควรจะมีท่าที-จุดยืนอย่างไรกับสถานการณ์การเมืองบางอย่างที่จะส่งกับสถานการณ์การเมืองในระยะยาว เช่น จุดยืนต่อรัฐประหาร-ล้มรัฐธรรมนูญ หรือการเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวใดๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ทนง โพธิ์อ่าน หายตัวไปในขณะที่เมืองไทยมีรัฐบาลแต่งตั้งจากการรัฐประหาร เขาเป็นผู้ที่มีหลักการและอุดมการณ์ที่ทำงานเพื่อสิทธิและเสรีภาพของแรงงานอย่างแท้จริง ทนงเป็นผู้นำแรงงานระดับแนวหน้า ที่ต่อต้านกฎอัยการศึกและการยกเลิกสิทธิของคนงานรัฐวิสาหกิจในการก่อตั้งสหภาพและนัดหยุดงาน โดยได้รวบรวมคนงานออกมาประท้วงกรณีดังกล่าวบนท้องถนนในวันที่ 14 มิ.ย. (2534) ก่อนจะถูกอุ้มหายไปเมื่อ 19 มิ.ย. ปัจจุบัน ผ่านมา 21 ปีแล้วก็ยังไม่มีหน่วยงาน ส.ส. หรือใครเข้ามาช่วยติดตามให้ทราบว่า ทนงหายไปไหน และขณะนี้ ได้ทราบว่า อายุความของคดีได้จบสิ้นลงแล้ว แต่ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ไม่จบและยังต้องต่อสู้ต่อไป อยากเห็น ส.ส.คนใดคนหนึ่งออกมาต่อสู้ให้กับคนงาน และแสดงให้เห็นว่า อำนาจประชาธิปไตยน่าจะเป็นอำนาจสูงสุดที่จะต่อสู้กับทหารได้ในเวลาอันเหมาะสม ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย การที่ผู้ต่อต้านรัฐหายตัวไปเช่นนี้โดยไม่มีใครรับผิดชอบ มักเกิดในสมัยของเผด็จการทหาร หรือภาวะที่มีรัฐบาลจากคณะรัฐประหาร การอุ้มเป็นวิธีการที่รัฐไทยจัดการกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยด้วยความรุนแรง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจเกิดกับเรา หรือใครก็ได้ นี่จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องต่อต้านอย่างถึงที่สุด ซึ่งหมายถึงเราต้องพยายามจรรโลงสิ่งที่อยู่ตรงข้ามคือระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยด้วย โดยการเมืองในระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยที่มีหลักการอยู่ที่การเลือกตั้ง แม้ไม่ใช่ระบอบการเมืองในอุดมคติ แต่ขณะนี้ ประเทศสำคัญส่วนใหญ่ของโลกที่มีเสถียรภาพทางการเมืองตามสมควร และประชาชนได้รับการทำนุบำรุงเรื่องสิทธิเสรีภาพ ก็ล้วนปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นระบอบที่จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งได้ดีที่สุด และเป็นระบอบที่จะช่วยลดการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาได้ดีที่สุด เมื่อเรายังไม่มีทางเลือกซึ่งดีกว่านี้และเป็นที่ยอมรับกันในสากลโลก เราจึงต้องจรรโลงระบอบประชาธิปไตยให้ดีที่สุด บางคนบอกว่า ระบบแต่งตั้งดีกว่าเพื่อจะได้เลือกคนดีๆ เข้ามาทำงาน คำถามคือ ใครจะเป็นผู้มีสิทธิแต่งตั้ง คนธรรมดาจะมีโอกาสมากแค่ไหน แล้วใครจะคานอำนาจหรือตรวจสอบกับผู้แต่งตั้ง ขณะที่บางคนบอกว่าระบบพรรคเดียวแบบจีนที่ตัดสินใจทำอะไรได้รวดเร็วดีกว่า แต่อย่าลืมว่าคนไทยได้ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยที่มีหลักการสิทธิเสรีภาพ ภราดรภาพ เสมอภาคมานานแล้ว และไทยไม่ใช่จีน ดังนั้น การหวนสู่ระบอบที่พรรคกำหนดทุกอย่างและมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพคงเป็นไปไม่ได้ แต่ระบอบประชาธิปไตยต้องอยู่ใต้กติกาที่กำหนดในรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด โดยที่รัฐธรรมนูญหากไม่ดี ก็ต้องสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนหรือกฎเกณฑ์เดิมไม่เอื้อให้ระบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับกติกาหรือกระบวนการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญก็มักจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย ข้อดีของระบอบรัฐสภาอีกประการคือการที่พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์หรือวิธีจัดการกับระบบเศรษฐกิจสังคมที่ต่างกัน อาจแข่งขันกันเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก และเข้าปกครองประเทศตามวาระ เช่น อังกฤษ ที่สับเปลี่ยนกันระหว่างพรรคแรงงานกับพรรคอนุรักษนิยม แต่กติกาคือ เมื่อพรรคใดชนะการเลือกตั้ง พรรคที่แพ้ต้องยอมถอยและไม่ขัดขวางจนเกินเลย ขอบเขตและกติกาที่วางไว้ เพราะหากเราเปลี่ยนกติกาบ่อยๆ ไม่ชอบรัฐบาลนี้ ชวนทหารขึ้นมาปฏิวัติ เราจะถอยหลังเข้าคลองไปหลายสิบปี และปัจจุบันเราก็กำลังเผชิญปัญหาจากการที่เรายอมให้ทหารเข้ามาปฏิวัติเมื่อ 2549 เราอาจไม่ชอบนักการเมือง โดยในเมืองไทยมักพูดกันว่า เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่คอร์รัปชั่น แต่จากการศึกษาของตนเอง พบว่า ระบบเลือกตั้งเปิดโอกาสให้จำกัดหรือกำจัดคอร์รัปชั่นได้ดีกว่าระบบแต่งตั้ง และไม่ใช่ว่ารัฐบาลที่มาจากรัฐประหารหรือการแต่งตั้งจะไม่คอร์รัปชั่น ประวัติศาสตร์การเมืองไทยชี้ว่า มีนักการเมืองถูกลงโทษในคดีคอร์รัปชั่นภายใต้รัฐบาลเลือกตั้งมากกว่าระบอบเผด็จการ โดยจากปี 2500 ที่มีรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้เราอยู่ใต้ระบอบเผด็จการทหารจนถึง 2519 เป็นเวลาเกือบ 20 ปี มีรัฐมนตรีถูกลงโทษจำคุกด้วยข้อหาคอร์รัปชั่นเพียงคนเดียว แต่ในช่วง 5 ปีนับจาก 2544-2549 เรามีระบอบประชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ 2540 มีรัฐมนตรีที่ถูกตัดสินจำคุกในข้อหาคอร์รัปชั่นหรือถูกตัดสิทธิไม่ให้เล่นการเมืองเป็นเวลา 5 ปีถึง 5 คน มีนักการเมืองท้องถิ่นที่มีอิทธิพลสูงถูกตัดสินจำคุกจากคอร์รัปชั่น 1 คน และมีข้าราชการประจำจำนวนมากถูกลงโทษ อดคิดไม่ได้ว่าถ้าไม่มีรัฐประหาร 2549 แล้วรัฐธรรมนูญ 2540 ดำเนินต่อไปจนปัจจุบัน เราอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องคอร์รัปชั่นในทางที่ดีขึ้นกว่านี้ก็ได้ แต่ป่วยการที่จะพูดถึงสิ่งที่เราไม่สามารถย้อนกลับได้ เราควรมาพูดว่าเราควรมีท่าทีอย่างไร ท่าทีต่อความขัดแย้งทางการเมือง กรณีทนง โพธิ์อ่าน ทำให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในบ้านเรายังไม่ทำงานอย่างถูกต้องเหมือนกับในสากลโลก ตำรวจไม่สืบสวนสอบสวน ศาลไม่อาจได้รับความเชื่อถือ กล่าวกันด้วยว่าอาจได้รับอิทธิพลจากภายนอก บ้างว่าการตัดสินคดีความที่เกี่ยวโยงกับการเมือง คำตัดสินมีลักษณะเลือกปฏิบัติ ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมของเราจึงเป็นอีกสถาบันที่ต้องได้รับปรับปรุง เพื่อให้เป็นอิสระ โปร่งใสและเชื่อถือได้ ทั้งนี้เพื่อกรณีเช่นคุณทนงจะไม่เกิดขึ้นอีก ขบวนการแรงงานเป็นขบวนการทางสังคมที่มีความสำคัญมากเพราะมีจำนวนมาก จึงมีแรงต่อรองสูง และมีความสำคัญในทางเศรษฐกิจ จึงอยู่ในฐานะที่จะผลักดันให้ปฏิรูปได้ในหลายเรื่อง โดยผลงานสำคัญเช่น การผลักดันให้มี พ.ร.บ.แรงงาน พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งล้วนส่งผลต่อคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม เช่น พ.ร.บ.ประกันสังคมเป็นรากฐานที่นำไปสู่ระบบสวัสดิการสังคมด้านอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในภายหลัง อย่าลืมว่าปัญหาการเมืองไทย เหมือนแผลที่ต้องใช้เวลา ระหว่างนั้น เราต้องยึดโยงกับหลักการให้มั่นคง และต่อต้านรัฐประหารที่ล้มรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยอย่างสุดขีด เป้าหมายของขบวนการแรงงานนั้นเพื่อต่อรองให้คนงานมีสภาพการทำงาน รายได้ ศักดิ์ศรี สถานภาพที่ดี ขณะเดียวกัน มีความคาดหวังว่าขบวนการแรงงานจะมีบทบาททางสังคมด้วย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมกิจกรรมของแรงงาน โดยเฉพาะจุดยืนว่าเมืองไทยควรมีระบอบการเมืองไปทางไหน และจุดยืนเพื่อกดดันให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย
หนึ่ง ผลของการเลือกตั้งทั่วไป 5 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2544 ตอกย้ำว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการระบบรัฐสภาประชาธิปไตย อย่าตกใจที่พรรคของทักษิณ ชินวัตร ชนะขาดลอยทุกครั้ง เราต้องทำใจ อย่ามีอคติและวิเคราะห์เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้า ส่วนตัวไม่ใช่ผู้ที่นิยมทักษิณแต่เราต้องดูปรากฏการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น เราอาจวิเคราะห์ว่า ผลดังกล่าวทำให้ข้ออ้างของฝ่ายต่อต้านพรรคการเมืองทั่วไปที่ว่า พรรคทักษิณชนะเพราะซื้อเสียง เริ่มหมดน้ำยาหรือเสื่อมมนต์ขลังลง โดยข้อมูลในระดับพื้นที่ที่นักวิชาการลงไป พบว่า แม้มีการซื้อเสียงแต่ลดลงทุกปี โดยการเลือกตั้งที่มีเสถียรภาพ เป็นเพราะมวลชนจำนวนมากให้ความสนใจมากขึ้น เพราะได้ประโยชน์จากการเมืองเลือกตั้ง นักวิชาการท้องถิ่นในเขตเสื้อสีแดงเล่าว่าในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ประชาชนจะพูดคุยกันทุกวันว่าต้องไปออกเสียงเลือกตั้งเยอะๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าปฏิเสธสิ่งที่เป็นอยู่ พรรคที่ร่วมมือกับทหาร หรือปฏิเสธการสนับสนุนรัฐประหาร ส่วนตัวมองว่าเป็นการแสดงพลังทางการเมืองของ "คนจริง เสียงจริง" จำนวนมาก การเมืองเลือกตั้งสำคัญขึ้นในระดับท้องถิ่น แม้จะมีปัญหาอุปสรรคจากภาคราชการ แต่มีพัฒนาการทางบวก เช่น กิจกรรมที่เคยทำที่ส่วนกลาง คือกรุงเทพฯ ได้ย้ายมาทำที่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และเริ่มต่อสู้-ต่อรองกัน ทั้งนี้มองว่า ถ้ากระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นได้จะลดภาระของรัฐบาลส่วนกลางลง จะทำให้ ส.ส.และรัฐมนตรีส่วนกลาง มีเวลาทำงานประเด็นระดับชาติที่ยุ่งยากกว่าได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ส่วนการคอร์รัปชั่นในท้องถิ่นนั้นก็ต้องหาทางปรับปรุง สร้างระบบกำกับควบคุมให้ได้ ซึ่งต้องใช้เวลาและต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมาก สอง สื่อสารมวลชนในไทยมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้สังคมไทยตื่นตัวทางการเมืองมากกว่าสังคมเมื่อ 15 ปีก่อน เพราะเทคโนโลยีการสื่อสารได้ลดภาวะการผูกขาดของสื่อโทรทัศน์-วิทยุ ของรัฐบาล-ทหารไทย ได้มาก ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้นผ่านการสื่อสารออนไลน์ หลายประเภท ทั้งโซเชียลเน็ตเวิร์ก เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหลากหลาย คิดด้วยตัวเองมากขึ้น ไม่แน่ว่าคนนอกกรุงเทพฯ ได้รับสื่อหลากหลายกว่าคนกรุงเทพฯ ที่ดูเพียงไม่กี่ช่องเสียอีก การสื่อสารที่แพร่กระจายทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงเร็ว จนคนที่อยู่กรุงเทพฯ ที่เรียกว่าชนชั้นนำและนักธุรกิจตามไม่ทัน สาม ยุทธศาสตร์การอิงสถาบันกษัตริย์เพื่อผลทางการเมืองถึงคราวต้องทบทวนและยังส่งผลสะท้อนกลับที่ไม่เป็นคุณ ความน่าเชื่อถือของกลุ่มที่พยายามใช้ยุทธศาสตร์นี้ลดลงโดยตลอดโดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งยังไม่สามารถก่อตั้งพรรคการเมืองที่เป็นชิ้นเป็นอัน เพื่อเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย กองทัพยังเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเมืองไทย แต่กองทัพเองก็เสี่ยงถ้าจะทำรัฐประหารอีก เว้นแต่จะมีเหตุการณ์พิเศษที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น พรรคเพื่อไทยเองดูเหมือนจะตระหนักว่าปัจจุบัน ให้กองทัพอยู่สบายโดยไม่แซะเก้าอี้ อาจเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุด และชัดเจนว่า กองทัพเองก็ไม่อยากเสี่ยงที่จะอยู่อย่างไม่สบาย สี่ รัฐบาลที่โอบรับโลกาภิวัตน์เพื่อให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต ขณะเดียวกันทำให้ประชาชนระดับล่างมีรายได้สูงขึ้นเพื่อเป็นฐานของตลาดภายในควบคู่ตลาดภายนอก ล้วนเป็นผลดีกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ สิ่งที่รัฐบาลแบบนี้ต้องทำมากกว่านี้คือต้องคิดระยะปานกลางและยาวมากกว่านี้ โดยต้องคิดเรื่องการหารายได้เพื่อใช้จ่ายดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ให้ผลดีกับประชาชน นโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศแทนการลดภาษีเป็นหลัก อาจต้องคิดเรื่องปฏิรูประบบภาษี ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยกเลิกการผลักดันการปฏิรูประบบภาษีที่ดิน ก็อยากเห็นพรรคคู่แข่งผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ดีขึ้นและรัฐบาลนำเงินมาใช้ในด้านสวัสดิการมากขึ้น โดยสรุป พัฒนาการการเมืองดีๆ หลายประการได้ลงรากลึกแล้ว แม้จะมีอุบัติเหตุการเมืองได้อีก แต่สิ่งดีๆ ที่กล่าวมา ส่อว่าการเมืองไทยมีแนวโน้มจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะยาวซึ่งจะเป็นผลดีกับนักธุรกิจ เศรษฐกิจ และทุกคนในประเทศ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลว่าทำไมจึงต้องต้านรัฐประหาร และจรรโลงระบอบรัฐสภาประชาธิปไตย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||
ม.ทักษิณพิพาทที่ดินสร้างวิท’ลัยภูมิปัญญา ไล่ฟ้องชาวบ้านบุกรุกอีก 1 Posted: 17 Jun 2012 04:53 AM PDT
เรื้อรังอยู่อีก 2 คดี 20 คน ซ้ำซ้อน 2 ราย จนท.ตำรวจบอกมหา’ลัยขออนุญาติใช้ที่สาธารณะทุ่งสระแล้ว 635 ไร่ แต่ไม่ยอมเปิดเอกสาร ชาวบ้านให้การปฏิเสธยันไม่บุกรุก-เป็นที่รับมรดก 25 ปี ขอชะลอสำนวนส่งชั้นอัยการ รวบรวมหลักฐานสู้ เตรียมบุกเทศบาลพนางตุงขอเอกสารการใช้ที่จากกระทรวงมหาดไทย เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 17 มิถุนายน 2555 ที่สถานีตำรวจภูธร (สภ.) ทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง นางสายัญ ดำมุสิก และนายโสภณ ดำมุสิก 2 สามีภรรยา เข้ารับทราบข้อกล่าวหา กรณีที่ถูกวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณแจ้งความฐานบุกรุกที่ดิน โดยมีชาวบ้านบ้านไสกลิ้ง และบ้านท่าช้าง ตำบลพนางตุง ในนามเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ประมาณ 50 คน แห่กันไปให้กำลังใจ ร.ต.อ.วิทม พูนช่วย พนักงานสอบสวนสภ.ทะเลน้อย แจ้งว่า เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 9 มิถุนายน 2555 ผศ.วิเชียร แก้วบุญส่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ มาแจ้งความกับพนักงานสอบสวน แจ้งว่าเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2-3 เมษายน 2555 และเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23-24 เมษายน 2555 นางสายัญ ดำมุสิก และนายโสภณ ดำมุสิก เข้าใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยได้ยกร่องปลูกต้นปาล์มน้ำมัน กล่าวหาว่าร่วมกันบุกรุก รบกวนสิทธิการครอบครองและสิทธการใช้ประโยชน์ของมหาวิทยาลัยทักษิณ “วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยแล้วในการขอใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ทุ่งสระ 635 ไร่ เรียบร้อยแล้ว” ร.ต.อ.วิทม กล่าว ครั้นเมื่อนางเนิม หนูบูรณ์ ชาวบ้านบ้านไสกลิ้ง ขอดูเอกสารดังกล่าวแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจฯ กลับไม่ให้ดู โดยบอกว่าเป็นหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถให้ดูได้ “ถ้าอย่างนั้นฉันขอให้ทางตำรวจชะลออย่ารีบส่งสำนวนสู่ชั้นอัยการ ฉันและชาวบ้านจะได้รวบรวมหลักฐานในการต่อสู้ โดยพรุ่งนี้ชาวบ้านจะไปขอเอกสารจากเทศบาลตำบลพนางตุงซึ่งดูแลที่สาธารณะทุ่งสระอยู่” นางเนิม กล่าว ร.ต.อ.วิทม พูนช่วย พนักงานสอบสวนสภ.ทะเลน้อย จึงให้โอกาสชาวบ้านหาเอกสารหลักฐานมายืนยันว่าวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ยังไม่ได้ขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยแล้วในการขอใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ทุ่งสระ 635 ไร่ นางสายัญ ดำมุสิก ชาวบ้านท่าช้าง ให้การปฏิเสธว่า ตนไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาฐานบุกรุกที่ดินของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ แต่อย่างใด เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะทุ่งสระ ซึ่งตนได้รับมรดกมาจากแม่มาเป็นเวลา 25 ปีแล้ว สำหรับทำนาปลูกข้าว ต่อมาไม่สามารถทำนาได้เนื่องจากขาดแคลนน้ำ ตนจึงปลูกปาล์มน้ำมันแทน ก่อนหน้านี้นางเนิม หนูบูรณ์ และนายวิน ผอมหนู ถูกดำเนินคดีซ้ำซ้อนถึง 2 คดี คดีแรกอยู่ในชั้นศาล คือ คดีหมายเลขดำที่ 510 / 2554 อัยการจังหวัดพัทลุง ยื่นฟ้องนายบุญธรรม วรรณเดช กับพวกรวม 8 คน ประกอบด้วย นายรูญ หนูบูรณ์ นายบวน หนูบูรณ์ นางเนิม หนูบูรณ์ นายยุทธชัย ทองวัตร นายวิน ผอมหนู นางแปลก หนูบูรณ์ และนายเปื้อม จันสุกสี ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยศาลจังหวัดพัทลุงนัดเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างชาวบ้าน กับวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งคดีกำลังคาราคาซังอยู่ คดีที่ 2 ยังอยู่ในชั้นอัยการ คือคดีอาญาที่ 78/2553 ที่พนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหาแก่ นายบุญรัตน์ สวนอินทร์ จำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าผู้สั่งการนำกำลังชาวบ้านรวม 14 คน ประกอบด้วย นายบุญเศียร รอดยัง นายวิน ผอมหนู นายบุญรัตน์ สวนอินทร์ นายสมปอง จักรปล้อง นายมานะ เอื้อบำรุงเกียรติ นางสารภี เอื้อบำรุงเกียรติ นางอุไร จันสุกสี นางเอิ้ม จันสุกสี นายสมนึก จันสุกสี นางศรีเพียร จันสุกสี นายศรศักดิ์ จันสุกสี นายสวน เทพนุ้ย นางพัน เพชรศรี และนางเนิม หนูบูรณ์ ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยอัยการจังหวัดพัทลุงนัดเจรจาไกล่เกลี่ยซึ่งคดีกำลังคาราคาซังอยู่เช่นกัน
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||
TDRI เสนอปรับปรุงระบบการเงินกู้ยืมอุดมศึกษาป้องกันหนี้สูญ Posted: 17 Jun 2012 04:46 AM PDT เพิ่มมาตรการคัดกรอง สนับสนุนให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย มีระบบติดตามใกล้ชิดหลังเรียนจบ ลดฐานรายได้เริ่มผ่อนชำระ ลดเสี่ยงหนี้สูญ-กองทุนล่ม เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ให้ทัศนะว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึ เนื่องจากการให้กู้ยืมสำหรั ดร.ดิลกะ กล่าวว่า เมื่อดูคุณภาพการศึกษากับค่าจ้ ข้อเสนอแนะสำหรับ กรอ.ในยุค 2555 เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิ การปฏิรูประบบการเงินอุดมศึ ปัจจุบันจำนวนเงินหมุนเวี ดร.ดิลกะ กล่าวว่า รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรู
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||
Timeline: ชัยชนะของกรรมกรข้ามชาติ 'เอ็มแอพพาแรล' กับการต่อสู้เพื่อสิทธิค่าจ้างขั้นต่ำ Posted: 17 Jun 2012 04:30 AM PDT ปรานม สมวงศ์ บันทึกการต่อสู้ของกรรมกรข้ามชาติชาวพม่า 323 คน ที่ทำงานในโรงงาน เอ็มแอพพาแรล จำกัด ได้ร่วมกับมูลนิธิแมพและสมาคมแรงงานยองชีอูเพื่อเจรจากับนายจ้างจนได้รับการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ ตามกฎหมาย
ภาพโดย Stephen Campbell
แรงงานพม่า 323 คนที่ทำงานในโรงงาน เอ็มแอพพาแรล จำกัด ได้ร่วมกับมูลนิธิแมพและสมาคมแรงงานยองชีอูเพื่อเจรจากับนายจ้างโดยผ่านทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สาขาอำเภอแม่สอด เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา แรงงานได้ประสบความสำเร็จในการเจรจาและขณะนี้ได้รับการจ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ของแม่สอด ซึ่งจริงๆแล้วแรงงานทุกคนต้องได้รับการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ โดยต้องรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย อย่างไรก็ตามแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่ได้รับการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายและค่าจ้างจริงๆที่ได้รับมักจะต่ำกว่าที่รัฐบาลไทยกำหนดทางกฎหมายมาก แรงงานได้รับชัยชนะในการต่อสู้เพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ และเพื่อให้นายจ้างปรับปรุงสภาพการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ เมื่อแรงงานไม่ได้รับการจ่ายค่าจ้างตามกฎหมาย ตามที่รัฐบาลกำหนดอัตราใหม่เพิ่มขึ้นในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา แรงงานได้เรียกร้องสิทธิของตนและได้ดำเนินกระบวนการเพื่อนัดหยุดงานจำนวน 21 วัน เริ่มเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ซึ่งตามกฎหมายแรงงานควรมีสิทธิได้รับค่าแรง 226 บาทในเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงของวันทำงานปกติ ก่อนที่จะมีการกำหนดอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำใหม่นี้ แรงงานในพื้นที่นี้ควรจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย วันละ 162 บาท ทว่าก่อนที่แรงงานจะเรียกร้องสิทธิพวกเธอและเขา แรงงานได้รับค่าแรงจริงเพียงแค่ 60-100 บาท ซึ่งในเงินจำนวนนี้ได้รวมค่าทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุดแล้ว แรงงานต้องทำงานโดยไม่มีวันหยุดตั้งแต่ 8.00 เช้าถึงห้าทุ่ม โดยโรงงานจ่ายค่าล่วงเวลาแค่ชั่วโมงละ 8-10 บาท เหตุเกิดจากการนายจ้างไม่จ่ายค่าแรงตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ส่งผลให้แรงงานประสบความยากลำบาก ต้องอยู่โดยไม่มีเงิน ต้องอดอยากไม่มีเงินซื้ออาหารกินและไม่มีเงินใช้จ่ายในสิ่งของพื้นฐานที่จะเป็นต่อการดำรงชีวิต แรงงานเริ่มที่จะเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าแรงขั้นต่ำอัตราใหม่ตามที่กฎหมายกำหนด และอยากให้นายจ้างซ่อมแซมที่พัก จัดให้มีน้ำดื่มที่สะอาดและมีไฟฟ้าใช้ และได้รับสิทธิที่พึงมีพึงได้เหมือนแรงงานคนอื่นๆ วันที่ 10 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันกำหนดจ่ายเงินเดือน โรงงานได้ประกาศว่าจะเลื่อนไปจ่ายวันที่ 12 พอถึง วันที่ 12 พฤษภาคม โรงงานได้ประกาศว่านายจ้างป่วยจะเลื่อนไปจ่ายวันที่ 14 พอถึง 14 พฤษภาคม โรงงานแจ้งว่านายจ้างยังป่วย ผู้จัดการสามารถให้แรงงานยืมเงินก่อนคนละ 85 บาท ส่วนค่าแรงจะเลื่อนไปจ่ายวันที่ 17 พฤษภาคม แรงงานปฏิเสธไม่ยืมเงินและยืนยันให้โรงงานจ่ายค่าแรงเต็มจำนวน ที่เป็นเช่นนี้เพราะแรงงานไม่สามารถทนการกดขี่ต่อไปได้อีก ดังนั้นวันที่ 15 พฤษภาคม แรงงานได้เริ่มนัดหยุดงาน โดยได้เริ่มจากรวมตัวหน้าโรงงานและเรียกร้องให้นายจ้างเพิ่มค่าแรงและปรับปรุงสภาพการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ ผู้จัดการโรงงานแจ้งว่าหากแรงงานไม่ทำงานก็ต้องออกไปจากบริเวณโรงงาน แรงงานจำนวน 209 คนถูกบังคับให้ออกนอกบริเวณโรงงานและต้องไปอาศัยวัดสองแควอยู่ หลังจากที่แรงงานได้เรียนรู้สิทธิของตนตามกฎหมายจากมูลนิธิแมพและสมาคมแรงงานยองชีอู แรงงานได้เลือกตัวแทน 7 คนเพื่อดำเนินการเจรจาและเขียนข้อเรียกร้องส่งถึงนายจ้าง ระบุว่าที่ผ่านมาแรงงาน 209 คน ได้พิจารณาแล้วเห็นว่านายจ้างและทางบริษัทจ่ายค่าจ้างผิดนัดและไม่ได้ปฎิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับค่าแรงและวันหยุดในการทำงาน รวมถึงการเรียกร้องเรื่องสภาพการทำงานและมีข้อเรียกร้องต่อนายจ้างดังนี้ 1. ให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และจ่ายค่าจ้างขั้นตำวันละ 226 บาท และลูกจ้างต้องมีวันหยุดอย่างน้อยหนึ่งวันต่อสัปดาห์ รวมถึงวันหยุดตามประเพณี และวันหยุดอื่นๆที่กฎหมายกำหนด วันที่ 16 พฤษภาคม แรงงานร่วมกับมูลนิธิแมพและสมาคมแรงงานยองชีอู ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สาขา แม่สอด ระบุถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวและขอให้ทางบริษัทดำเนินการและเจรจากับตัวแทนแรงงาน ภายในวันที่17พฤษภาคม2555 หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดทางแรงงานจะดำเนินการแจ้งการหยุดงานตามลายมือชื่อแนบท้ายเอกสาร วันที่ 17 พฤษภาคม แรงงานได้ทำการเจรจากับนายจ้างโดยผ่านทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สาขา แม่สอด นายจ้างยินยอมดำเนินการตามข้อรียกร้อง 2-6 แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ในข้อเรียกร้องข้อหนึ่งเรื่องค่าแรง วันที่ 29 พฤษภาคม นายจ้างยังคงไม่ปฏิบัติการตามข้อเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย แรงงานได้ใช้เหตุผลและเสนอว่าให้นายจ้างจ่ายค่าแรงวันละ 160 บาทได้ และค่าจ้างที่เหลือให้เป็นการหักจ่ายค่าน้ำ ค่าที่พักและอาหาร แต่นายจ้างยังคงไม่ยอม วันเดียวกันนั้น แรงงานส่วนใหญ่ที่เป็นผู้หญิงได้ย้ายไปอยู่ที่วัดสองแคว ซึ่งทางวัดเมตตาให้ที่พักอาศัยระหว่างที่ประสบปัญหาและไดรับการช่วยเหลือบางส่วนจากองค์กรชุมชนในแม่สอด วันที่ 5 มิถุนายน แรงงานประสบชัยชนะเมื่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สาขา แม่สอด มีคำสั่งให้นายจ้างต้องจ่ายเงินค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน วันละ 226 บาทกับแรงงาน 323 คน ให้มีวันหยุดวันอาทิตย์ หากมีล่วงเวลาให้จ่ายตามกฎหมายแรงงานและให้จ่ายทุกวันที่ 10 ของเดือน และแรงงานต้องย้ายไปพักอาศัยข้างนอกโรงงาน ภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2555 พร้อมทั้งมีการลงลายมือชื่อในข้อตกลงนั้นจากทุกฝ่าย แต่หลังจากข้อตกลงฉบับนี้ยังมีแรงงานที่เหลือ 60 คนที่ไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย และแรงงานกลุ่มนี้ยังพักอาศัยและทำงานตามปกติในโรงงาน มูลนิธิแมพของแสดงความยินดีกับแรงงานจำนวน 323 คนที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิของตนและมีความกล้าหาญอย่างต่อเนื่องในกระบวนการต่อสู้จนกระทั่งทำให้นายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายได้ โรงงาน เอ็มแอพพาแรล จำกัด จะเป็นโรงงานแห่งแรกในแม่สอดที่จ่ายค่าจ้างตามกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดตาก โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายที่กฎหมายไม่อนุญาต แต่เรายังคงมีความห่วงใยต่อแรงงานอีก 60 คนและแรงงานในโรงงานอื่นๆอีกนับแสนคน ที่ยังคงได้รับค่าจ้างในอัตราเก่าที่ตำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ดังนั้นเราจึงขอเรียกร้องให้ 1. ให้รัฐบาลไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีมาตรการที่มั่นใจได้ว่านายจ้าง โรงงาน เอ็มแอพพาแรล จำกัด จะทำตามบันทึกข้อตกลงและคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายให้แรงงาน และไม่หาเหตุผลที่ไม่ชอบธรรมใดๆในการเลิกจ้างหรือเลือกปฏิบัติแรงงานที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของตนผ่านทางกระบวนการทางกฎหมายและผ่านกระบวนการของเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 2. ให้กระทรวงแรงงานส่งพนักงานตรวจแรงงานไปตรวจทุกโรงงานในแม่สอดเพื่อตรวจสภาพการทำงานของลูกจ้างและสภาพการจ้างงานเพื่อให้มั่นใจว่านายจ้างจะปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||
ความมืดกลางแสงแดด: กรณีการไต่สวนคดีสมยศ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ Posted: 17 Jun 2012 04:15 AM PDT การดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ต่อนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เกิดขึ้นในช่วงที่กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมยืดเยื้อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชีวะ ยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่ แต่รัฐบาลกลับใช้กำลังทหารปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิต 93 คน บาดเจ็บกว่า 3,000 คน ระหว่างนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แก้ไขปัญหาการชุมนุมของคนเสื้อแดงโดยกล่าวหาว่า กลุ่มคนเสื้อแดงเป็นขบวนการล้มเจ้า มีการนำเสนอรายชื่อกลุ่มคนเชื่อมโยงกันเป็นขบวนการล้มเจ้ามากมายด้วยกัน หนึ่งในนั้นมีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Voice of Taksin อยู่ด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รวบรวมพยานหลักฐานออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบสวนบันทึกหลักฐานเป็นวีดีโอเทปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2553 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 จึงขอศาลอนุมัติหมายจับ จนกระทั่งวันที่ 30 เมษายน 2554 เมื่อนายสมยศได้นำคณะท่องเที่ยวไปกัมพูชา ได้ยื่นเอกสารการเดินทางให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว จึงถูกจับกุมตัวนำส่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นำตัวไปขังไว้กองปราบปรามอยู่ 2 คืน แล้วส่งไปฝากขังต่อ 84 วันที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2554 วันที่ 25 กรกฎาคม 2554 พนักงานอัยการส่งฟ้องต่อศาลอาญารัชดาภิเษก กล่าวหาว่านายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นผู้จัดทำ จัดจำหน่ายนิตยสาร Voice of Taksin ปีที่ 1 ฉบับที่ 15 ปักษ์หลังกุมภาพันธ์ 2553 หน้าที่ 44 – 47 และฉบับที่ 16 ปักษ์แรกมีนาคม 2553 เรื่อง 6 ตุลา แห่งปี 2553 หน้าที่ 45 – 47 ทั้งสองบทความเป็นของผู้ใช้นามปากกา “จิตร พลจันทร์” มีข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 12 กันยายน 2554 ศาลนัดพร้อมตรวจสอบบัญชีพยานฝ่ายโจทก์ – จำเลย และนัดหมายการไต่สวน โดยเริ่มจากการสืบพยานโจทก์ที่ต่างจังหวัดประกับไปด้วยจังหวัดสระแก้ววันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 จังหวัดเพชรบูรณ์วันที่ 19 ธันวาคม 2554 จังหวัดนครสวรรค์วันที่ 16 มกราคม 2555 จังหวัดสงขลาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 นายสุวิทย์ ทองนวลและนายคารม พลพรกลาง ทนายความ ได้ยื่นคำร้องให้การสืบพยานฝ่ายโจทก์ในต่างจังหวัดให้มาไต่สวนที่กรุงเทพ โดยทางฝ่ายจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ทั้งนี้เนื่องจากการเคลื่อนย้ายนักโทษจากเรือนจำกรุงเทพไปต่างจังหวัดจะต้องถูกล่ามโซ่ ตีตรวน ไม่อนุญาตให้เข้าห้องน้ำระหว่างเดินทางเพื่อป้องกันการหลบหนี อีกทั้งยังต้องถูกคุมขังในเรือนจำในแต่ละจังหวัดล่วงหน้าเป็นเวลานาน โดยที่นายสมยศ ได้เปิดเผยว่าเรือนจำต่างจังหวัดมักมีสภาพแออัด สภาพความเป็นอยู่ยากลำบากเป็นอย่างมาก สภาพเช่นนี้ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการทรมานนักโทษ แต่ศาลยกคำร้องดังกล่าว นายสมยศ จึงต้องทุกข์ทรมานเป็นเวลากว่า 5 เดือนด้วยกัน (ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์) พยานฝ่ายโจทก์ประกอบไปด้วยทหาร, นักศึกษาฝึกงานที่ DSI, เจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติ, เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, พนักงานสอบสวน, พนักงานนิตยสาร Voice of Taksin ทั้งหมด, ได้อ่านบทความทั้งสองฉบับที่ทางพนักงานสอบสวน DSI นำมาให้อ่าน โดยเน้นเฉพาะข้อความบางท่อนเป็นการเฉพาะเจาะจงที่มีความเห็นกันว่า บทความทั้งสองใช้ชื่อตัวละคร เป็นการสื่อความหมายที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทนายความได้ซักค้านพยานฝ่ายโจทก์ เกิดขึ้นจากการดำเนินคดีของ DSI ในภาวะความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งมีฝ่ายหนึ่งใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นเหตุให้การดำเนินคดีความมาตรา 112 ขยายตัวอย่างรวดเร็ว พยานฝ่ายจำเลยประกอบด้วยนักวิชาการ คนเสื้อแดง กรรมการสิทธิมนุษยชน นายสมยศ ได้เบิกความในชั้นศาลว่า ไม่ใช่ผู้เขียนบทความดังกล่าว แต่เป็นนายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งเขียนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ฉบับที่ 2 เป็นต้นมา ได้อ่านอย่างคราว ๆ พบว่าเป็นงานเชิงวรรณกรรมการเมือง มีข้อความสื่อความหมายถึง ฝ่ายอำมาตย์ทั้งในด้านรูปภาพประกอบ และเนื้อหาที่ปรากฏ อีกทั้งผู้เขียนเป็นอดีตรัฐมนตรี เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นงานเขียนประจำ และต่อเนื่อง และถือว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่ละคน ไม่ใช่บรรณาธิการที่ต้องรับผิดตามกฎหมายเป็นไปตาม พรบ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 เช่นเดียวกับนักวิชาการอาทิ อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล, ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, ดร.สุดสงวน สุธีสร และนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเห็นว่าบทความสื่อความหมายถึงกลุ่มอำมาตย์หรือกลุ่มนิยมเจ้า (Royalist) ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลทางการเมืองอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ผ่านมา นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ยังระบุอีกว่าทั้งสองบทความมีเจตนาจะเตือนสติให้ทุกฝ่ายระมัดระวังในเรื่องความรุนแรงเพราะความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตมักนำมาสู่ความรุนแรง นายสุวิทย์ ทองนวลและนายคารม พลพรกลาง ทนายความ ยังได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2550 โดยคำร้องระบุว่ามาตรา 112 ไม่มีบทบัญญัติยกเว้นความผิดไว้ ซึ่งเท่ากับไม่ให้โอกาสฝ่ายที่ถูกกล่าวหาได้พิสูจน์ความจริงว่า ไม่ได้กระทำความผิดซึ่งเป็นการกำจัดสิทธิประชาชน อีกทั้งไม่ควรจัดความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามมาตรา 112 ไว้ในหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงควรเป็นเรื่องที่กระทบต่อการดำรงอยู่ของราชอาณาจักรหรือประเทศชาติเท่านั้น ในขณะที่การกำหนดโทษจำคุก 3 – 5 ปี ไม่สอดคล้องกับหลักพอสมควรแก่เหตุ เมื่อเทียบกับมาตรา 116 ซึ่งเป็นการกระทำที่มีความร้ายแรงมากกว่า 112 การกระทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย การก่อความไม่สงบ ฯลฯ กำหนดเพียงไม่เกิน 7 ปี โดยมิได้ระบุโทษขั้นต่ำไว้ ซึ่งทำให้ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจในการลงโทษจำคุกแก่ผู้ที่กระทำความผิดตามมาตรานี้ต่ำเท่าใดก็ได้ ในคำร้องดังกล่าวยังระบุอีกว่า พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ การดูหมิ่นกษัตริย์จะกำหนดโทษสูงกว่าการดูหมิ่นกฎหมายบ้านเมืองไม่ได้แต่อย่างใด เพราะเท่ากับนำสถานะของพระมหากษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย นายสมยศ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังจากการไต่สวนเสร็จสิ้นว่า “ได้พูดความจริงทั้งหมดแล้ว ได้ทำหน้าที่สื่อมวลชนที่เปิดกว้างสำหรับเสรีภาพทางความคิดเห็น ยังเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตนเองอย่างเต็มที่ เพราะเป็นเพียงเหยื่อของกฎหมายไม่เป็นธรรม ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกดขี่ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน” การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไม่ว่าจะด้วยการสนับสนุนเชิดชูบูชาหรือการต่อต้านคัดค้านถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่ใช่อาชญากรที่ต้องถูกลงโทษทัณฑ์ด้วยการจองจำ จนสูญเสียอิสรภาพเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน การต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขา และเป็นการยืนยันในสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นการทำหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการต่อสู้ของเขา และนักโทษทางการเมืองทุกคนที่ถูกจองจำในขณะนี้จะไม่สูญเปล่าอย่างแน่นอน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||
คปอ.ร้อง “กองทุนยุติธรรม” ช่วยประกันตัวชาวบ้านทุ่งลุยลาย คดีรุกที่ดินป่าสงวน Posted: 17 Jun 2012 12:38 AM PDT เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ออกแถลงการณ์ กรณีชาวบ้านทุ่งลุยลายถูกศาลพิพากษาจำคุก 4 เดือน ในคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ชี้การฟ้องศาลไม่ใช่ทางออกข้อพิพาท ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม 16 มิ.ย.55 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ออกแถลงการณ์ กรณีชาวบ้านทุ่งลุยลาย ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ถูกศาลพิพากษาจำคุก 4 เดือน ในคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม โดยกำหนดหลักทรัพย์ประกันตัวรายละ 200,000 บาท ซึ่งเกินกำลังของชาวบ้าน ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้านี้ คปอ.เรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เร่งพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยนำเงินจากกองทุนยุติธรรม มาใช้ในการประกันตัวชาวบ้าน สำหรับการแก้ไขปัญหาพิพาทเรื่องที่ดินกรณีสวนป่าโคกยาว ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทจนนำมาสู่การฟ้องคดีครั้งนี้ คปอ.เรียกร้องให้รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการพิจารณาแนวทาง มาตรการแก้ไข ให้เป็นไปตามคำแถลงนโยบายของรัฐบาลในข้อที่ 5.4 ซึ่งในกรณีดังกล่าว ชาวบ้านในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ยื่นข้อเสนอต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา “กรณีดังกล่าว เป็นปัญหาพิพาทที่ต้องใช้มาตรการทางนโยบายเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหา และต้องมีความรวดเร็ว ทันการณ์ หากล่าช้าหมายถึงความขัดแย้งที่ลุกลามบานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน การนำเรื่องดังกล่าวขึ้นฟ้องร้องต่อศาลของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพื่อให้เรื่องดังกล่าวไปยุติที่กระบวนการยุติธรรม ก็ไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขข้อพิพาท เพราะชาวบ้านไม่มีหลักฐานที่เป็นกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งผลของคำพิพากษาส่วนใหญ่ ชาวบ้านต้องตกเป็นผู้กระทำความผิด แต่มีคำถามสำคัญคือ “ชาวบ้านได้รับความเป็นธรรมหรือไม่” นี่ยังไม่นับรวมถึง หลักทรัพย์ในการประกันตัว กรณีนายทอง กุลหงส์ ที่ถือว่าสูงมาก ทั้งที่ไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรง ซึ่งหากพิจารณาเทียบเคียงกับคดีเดียวกันในบางพื้นที่ จากการศึกษาพบว่า สามารถใช้บุคคลประกันตัวได้” แถลงการณ์ คปอ.ระบุ แถลงการณ์ดังกล่าวให้ข้อมูลว่า กรณีสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานานกว่า 25 ปี กระทั่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุมดำเนินคดีชาวบ้าน จำนวน 10 ราย ข้อหาบุกรุก แผ้วถางและใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 1 ก.ค.54 โดยแยกฟ้องชาวบ้านทั้งหมดเป็น 4 คดี ปัจจุบัน ศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปแล้ว 2 คดี มีชาวบ้านเป็นจำเลยจำนวน 4 ราย โดยพิพากษาให้จำคุก 4 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ พร้อมให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ ส่วนอีก 2 คดีที่เหลือ ศาลจังหวัดภูเขียว นัดสืบพยานโจทก์ ในวันที่ 11 และ 20 ก.ค.55 ตามลำดับ ส่วนการกำหนดหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ต้องหา ในกระบวนการศาลชั้นต้นจังหวัดภูเขียว ศาลมีคำสั่งให้ยื่นประกันตัวในหลักทรัพย์รายละ 100,000 บาท รวมเงินประกันเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1 ล้านบาท ต่อมาในชั้นอุทธรณ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเขียวมีคำสั่งให้เพิ่มหลักทรัพย์ประกันตัวผู้จำเลยรายละ 200,000 บาท ล่าสุด กรณีนายทอง และนายสมปอง กุลหงส์ สองพ่อลูกที่ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.55 ศาลได้กำหนดหลักทรัพย์ประกันตัวรายละ 200,000 บาท ทำให้ชาวบ้านต้องนำหลักทรัพย์ในศาลชั้นต้นของทั้ง 2 ราย มารวมกัน เพื่อประกันตัวลูกชายออกมาก่อน เนื่องจากมีปัญหาบกพร่องทางสมอง ส่วนพ่อต้องถูกจำคุก เพราะไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น แสดงให้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของอำนาจรัฐไทย ที่มีความเชื่องช้าในการตอบสนองต่อปัญหาความขัดแย้ง กระทั่งสุดท้ายปลายทาง ชาวบ้านต้องเป็นผู้แบกรับชะตากรรม ดังที่เคยเกิดขึ้นมาโดยตลอด” แถลงการณ์ระบุ แถลงการณ์ให้ข้อมูลด้วยว่า นายทอง กุลหงส์ ที่ตกเป็นผู้ต้องขัง เข้ามาอยู่ในพื้นที่พิพาทตั้งแต่ปี พ.ศ.2511 มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม เมื่อปี พ.ศ.2516 แต่ต้องถูกขับไล่ออก และกลายเป็นคนไร้ที่ดินตั้งแต่นั้นมา ปัจจุบัน นางพัน กุลหงส์ ภรรยา วัย 71 ปี ต้องเลี้ยงหลาน 6 คน พร้อมกับลูกชายที่มีอาการทางประสาท ทั้งนี้ ไม่ต้องพูดถึงหลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท ลำพังจะหาเงินเลี้ยงครอบครัวยังลำบากแสนสาหัส ทั้งนี้ ข้อพิพาทที่ดินกรณีดังกล่าว เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และกองกำลังทหารพราน ได้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่เดิม โดยสัญญาว่าจะจัดสรรที่ดินแห่งใหม่ให้รายละ 15 ไร่ เมื่อชาวบ้านบางส่วนออกจากพื้นที่ จะเข้าพื้นที่จัดสรร กลับปรากฏว่าเป็นที่ดินที่มีการครอบครองอยู่แล้ว จะเข้าที่ดินเดิมก็ไม่ได้ เพราะกลายสภาพเป็นสวนยูคาลิปตัสหมดแล้ว การเรียกร้องต่อสู้ของชาวบ้านจึงเริ่มตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา แต่สุดท้ายกลับต้องตกเป็นจำเลยในที่สุด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now | |||||
ออง ซาน ซูจีรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ หลังรอมา 21 ปี Posted: 16 Jun 2012 10:16 PM PDT ผู้นำพรรคฝ่ายค้านพม่าเดินทางไปรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ที่ไม่มีโอกาสมารับด้วยตัวเองเมื่อ 21 ปีทีแล้ว เผยการได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2534 ได้ทำให้โลกมุ่งความสนใจไปที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในพม่า เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางความคิดที่เหลือพร้อมชวนชาวโลกมาสร้างโลกที่สันติสุข ที่จะสามารถนอนหลับได้อย่างปลอดภัยและตื่นอย่างมีความสุข เมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.) นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ได้เดินทางไปที่ศาลาว่าการกรุงออสโล เพื่อกล่าวปาฐกถาเนื่องในโอกาสรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพที่เธอได้รับเมื่อปี 2534 คลิปไฮไลท์ นางออง ซาน ซูจี รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เมื่อ 16 มิ.ย. 2555 ที่ศาลาว่าการกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ (ที่มา: youtube.com/thenobelprize) คลิปของบีบีซี แสดงการกล่าวปาฐกถาของนางออง ซาน ซูจี เมื่อ 16 มิ.ย. 2555 ที่ศาลาว่าการกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ พิธีมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เมื่อ 10 ธ.ค. 2534 ที่ศาลาว่าการกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ โดยในวันดังกล่าวสามีของนางออง ซาน ซูจี คือไมเคิล อาริส และบุตรชายคือ คิม และอเล็กซานเดอร์ เป็นผู้เดินทางไปรับรางวัลแทน ส่วนนางออง ซาน ซูจี ทำได้แต่เพียงติดตามข่าวการประกาศรางวัลจากการฟังวิทยุอยู่ที่บ้านในย่างกุ้ง สถานที่ซึ่งเธอถูกกักบริเวณ ถัดมาอีก 21 ปีต่อมา นางออง ซาน ซูจีจึงมีโอกาสเดินทางไปที่กรุงออสโล เพื่อกล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสได้รับรางวัลโนเบล (ที่มา: youtube.com/thenobelprize)
เผยการได้รับรางวัลโนเบล เหมือนได้กลับมาสู่สังคมมนุษย์ หลังอยู่กันคนละโลกเพราะถูกกักบริเวณ ในพิธีรับรางวัลซึ่งมีคิม อาริส บุตรชายของนางออง ซาน ซูจี และกษัตริย์ฮอราลด์ และพระราชินีซอนย่าแห่งนอร์เวย์เข้าร่วมด้วยนั้น ประธานคณะกรรมการโนเบลของนอร์เวย์ นายโทบ์จอน ยัคแลนด์ กล่าวว่าได้รอนางออง ซาน ซูจีมารับรางวัลมาเป็นเวลานาน “ในช่วงเวลาที่คุณถูกโดดเดี่ยว คุณได้กลายเป็นเสียงแห่งศีลธรรมสำหรับโลกทั้งมวล” ในการกล่าวปาฐกถา นางออง ซาน ซูจี เริ่มต้นกล่าวถึงสมัยที่ยังอยู่ที่อ๊อกฟอร์ด และกำลังฟังวิทยุบีบีซี รายการ “Desert Island Discs” กับลูกชายคนโต อเล็กซานเดอร์ อาริส สำหรับรายการวิทยุดังกล่าวเริ่มจัดรายการมาตั้งแต่ปี 2485 จนถึงปัจจุบัน มีรูปแบบเป็นการเชิญคนดังมาเล่าว่าถ้าติดเกาะจะเอาแผ่นเสียง หนังสือ และของฟุ่มเฟือยอะไรติดตัวไปด้วย โดยนางออง ซาน ซูจีเล่าว่าในตอนจบรายการวิทยุ อเล็กซานเดอร์ได้ถามว่า “แม่จะได้ไปออกรายการนี้หรือเปล่า” นางออง ซาน ซูจีก็ตอบลูกชายว่า “ทำไมจะไม่ได้ไปล่ะ” และได้ตอบลูกชายถึงเหตุผลที่จะได้ไปออกรายการวิทยุดังกล่าวว่า “บางที แม่อาจจะได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม” ออง ซาน ซูจีกล่าวและว่าจากนั้นทั้งสองแม่ลูกก็หัวเราะ “เพราะดูจะเป็นไปได้ยาก” นางออง ซาน ซูจีกล่าวต่อไปว่า ในปี 2532 เมื่อไมเคิล อาริส สามีของเธอได้มาเยี่ยมระหว่างที่เธอถูกกักบริเวณ ไมเคิลได้บอกนางออง ซาน ซูจีว่า เพื่อของเขาคือจอห์น ฟินนิส ได้เสนอชื่อของนางออง ซาน ซูจี เพื่อรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ซึ่งครั้งนั้นก็ทำให้นางออง ซาน ซูจีหัวเราะเช่นกัน นางออง ซาน ซูจีกล่าวว่า “ฉันจะรู้สึกอย่างไร เมื่อฉันได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ?" "คำถามนี้เกิดขึ้นกับฉันหลายครั้ง และนี่ก็เป็นโอกาสที่เหมาะสมที่จะตอบว่ารางวัลโนเบลมีความหมายสำหรับฉันอย่างไร และสันติภาพมีความหมายสำหรับฉันอย่างไร” ออง ซาน ซูจี กล่าวว่าในตอนที่มีการประกาศมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี 2534 ในตอนนั้นรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่จริง เพราะความรู้สึกในเวลานั้นในช่วงที่ถูกกักบริเวณได้รู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ในโลกที่แท้จริง เหมือนกับอยู่ในโลกอีกใบหนึ่ง ความรู้สึกหลังจากได้รับรางวัลจึงเหมือนได้กลับมาสู่สังคมมนุษย์ที่กว้างใหญ่ขึ้น นางออง ซาน ซูจีกล่าวด้วยว่า “สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ รางวัลโนเบลได้ทำให้โลกมุ่งความสนใจไปที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในพม่า ซึ่งพวกเราจะไม่ถูกลืม” ในการกล่าวปาฐกถาออง ซาน ซูจีกล่าวถึงการพบกับแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยจากพม่า ระหว่างการเยือนประเทศไทยเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาว่า “เมื่อฉันพบกับแรงงานข้ามชาติชาวพม่าและผู้ลี้ภัยในระว่างที่ฉันไปเยือนประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ พวกเขาหลายคนได้ร้องไห้และบอกว่า “อย่าลืมพวกเรา!” พวกเขาหมายความว่า “อย่าลืมความลำบากของพวกเรา อย่าลืมทำในสิ่งที่คุณจะสามารถช่วยเหลือพวกเรา อย่าลืมว่าพวกเราก็อยู่ในโลกใบเดียวกันคุณ” “เมื่อคณะกรรมการโนเบล ประกาศมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพให้กับดิฉัน พวกเขาได้ทำให้รู้ว่า พม่าซึ่งถูกกดขี่และถูกโดดเดี่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งของโลก พวกเขาทำให้รู้ถึงความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษยชาติ สำหรับการรับรางวัลโนเบล โดยส่วนตัวของดิฉัน ยังหมายถึง ความกังวลของดิฉันในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนนั้นได้ก้าวข้ามพรมแดนของชาติ รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพได้เปิดประตูในหัวใจของดิฉัน” “ถ้าฉันถูกถามว่าทำไมฉันจึงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า นี่เป็นเพราะฉันเชื่อในสถาบันประชาธิปไตยและการปฏิบัติมีความจำเป็นเพื่อให้มีหลักประกันสำหรับสิทธิมนุษยชน”
ย้ำยังมีนักโทษการเมืองที่่คนไม่รู้จัก พร้อมเรียกร้องการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ในตอนหนึ่ง นางออง ซาน ซูจี ได้กล่าวถึงนักโทษทางโนธรรมสำนึก หรือนักโทษทางความคิด ที่ยังถูกจองจำ “ขอให้ดิฉันได้พูดเพื่อนักโทษทางมโนธรรมสำนึก พวกเขายังคงเป็นนักโทษอยู่ในพม่า เป็นสิ่งที่น่าตระหนกเพราะผู้ถูกคุมขังที่คนรู้จักได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่คนที่เหลือ ซึ่งไม่มีใครรู้จัก กำลังจะถูกลืม ดิฉันยืนอยู่ที่นี่เพราะฉันเคยเป็นหนึ่งในนักโทษทางมโนธรรมสำนึก อย่างที่คุณมองดิฉันและฟังฉัน กรุณาจดจำถึงความจริงที่กล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่บ่อยครั้งว่า มีนักโทษทางมโนธรรมสำนึกหนึ่งคน ก็เป็นหนึ่งคนที่มากเกินพอแล้ว พวกเขาเหล่านี้ยังไม่ได้รับอิสรภาพ พวกเขาเหล่านี้ยังไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมในประเทศของฉันแม้แต่คนเดียว กรุณาจดจำพวกเขาและทำทุกอย่างที่เป็นไปได้เพื่อให้เกิดผลอย่างรีบด่วนที่สุด คือการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข” ในการกล่าวปาฐกถา ออง ซาน ซูจี กล่าวถึงพรรคการเมืองที่เธอเป็นผู้นำคือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยและตัวเธอเอง "พร้อมแล้วที่จะดำเนินบทบาทในกระบวนการปรองดองแห่งชาติ" พร้อมกล่าวว่า มาตรการปฏิรูปของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง จะสามารถดำรงอยู่ได้ "ก็ด้วยความร่วมมืออย่างชาญฉลาด" จากกำลังทุกภาคส่วนในประเทศ ได้แก่ "กองทัพ กลุ่มชาติพันธุ์ของพวกเรา พรรคการเมือง สื่อมวลชน องค์กรประชาสังคม ชุมชนธุรกิจ และที่สำคัญที่สุดสาธารณะชนทั้งหลาย พวกเราสามารถกล่าวได้ว่าการปฏิรูปจะประสบผลก็ต่อเมื่อชีวิตของประชาชนได้รับการปรับปรุง" ออง ซาน ซูจี ยังกล่าวสนับสนุนให้ชุมชนระหว่างประเทศเข้ามามีบทบาทในการปฏิรูปพม่าด้วย โดยกล่าวว่า "ชุมชนระหว่างประเทศมีบทบาทที่สำคัญ การพัฒนา ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ข้อตกลงทวิภาคี และการลงทุน ควรได้รับการร่วมมือและได้รับการชี้วัด เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมความเติบโตทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ว่าจะเป็นไปอย่างสมดุล และยั่งยืน" ในตอนหนึ่งนางออง ซาน ซูจีกล่าวถึง “ภาวะสันติภาพสมบูรณ์” ซึ่งยังเป็น “เป้าหมายที่ยังไม่บรรลุผล” แต่ก็สิ่งที่ต้องเดินทางต่อไปตามเส้นทางนี้ “สายตาของเราจับจ้องอยู่ที่สิ่งนี้ราวกับเราเป็นนักท่องทะเลทรายที่จับต้องไปยังดาวนำทาง ที่จะนำเขาไปสู่การรอดชีวิต แม้เราจะไม่บรรลุถึงสันติภาพสมบูรณ์บนโลกนี้ เพราะสันติภาพที่สมบูรณ์ไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้ แต่ความมุมานะโดยพื้นฐานจะทำให้ได้มาซึ่งสันติภาพที่รวมเอาปัจเจกบุคคลแลชาติต่างๆ ด้วยความความเชื่อมั่นและมีมิตรภาพต่อกัน ช่วยกันทำให้ชุมชนชาวโลกปลอดภัยขึ้นและมีเมตตามากขึ้น” ในตอนท้ายของการกล่าวปาฐกถา นางออง ซาน ซูจี กล่าวว่า “จุดมุ่งหมายของพวกเราควรเป็นการสร้างโลกที่ปลอดจากผู้อพยพ คนไร้บ้าน และความสิ้นหวัง โลกทุกๆ ซอกมุมคือที่หลบภัยอย่างแท้จริง ซึ่งผู้ที่อาศัยจะได้มีเสรีภาพและวิสัยที่จะอยู่อย่างมีสันติภาพ ทุกๆ ความคิด ทุกๆ ถ้อยคำ ทุกๆ การกระทำ ที่มุ่งไปในทางบวกและในทางกุศลจะเป็นการอุทิศแก่สันติภาพ แต่ละคนและทุกๆ คนของพวกเราจะสามารถทำการอุทิศเช่นว่านี้ได้ พวกเรามาร่วมกันสร้างโลกที่สันติสุขที่ซึ่งพวกเราจะสามารถนอนหลับได้อย่างปลอดภัยและตื่นอย่างมีความสุข” “เมื่อดิฉันได้เข้าร่วมขบวนการประชาธิปไตยในพม่า สิ่งนั้นไม่เคยเข้ามาอยู่ในใจดิฉันเลยว่าฉันน่าจะได้รับรางวัลหรือเกียรติยศใดๆ รางวัลสำหรับสิ่งที่เราได้ทำงานมาก็คือสังคมที่มีความเสรี มั่นคง และยุติธรรม ที่ซึ่งประชาชนของพวกเราสามารถบรรลุถึงศักยภาพของเขาอย่างเต็มที่ เกียรติยศวางอยู่บนความพยายามของพวกเรา ประวัติศาสตร์ได้ให้โอกาสแก่พวกเราในการมอบสิ่งที่ดีที่สุดที่พวกเราเชื่อ เมื่อคณะกรรมการรางวัลโนเบลเลือกที่จะยกย่องดิฉัน เส้นทางที่ดิฉันเลือกด้วยเสรีภาพจะไม่ใช่เส้นทางที่โดดเดี่ยวอีกต่อไป” นาง ออง ซาน ซูจีกล่าว ทั้งนี้นางออง ซาน ซูจีกล่าวถึงความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ภายในประเทศและทิ้งท้ายด้วยการกล่าวว่าการรับรางวัลโน เบลได้เสริมความเข้มแข็งแก่ศรัทธาในการทำงานเพื่อสันติภาพของเธอ
เรียกพม่าว่า "Burma" ตลอดปาฐกถา แต่เลี่ยงพูดเรื่องความขัดแย้งโรฮิงยา-อาระกัน ขณะเดียวกันเป็นที่น่าสังเกตว่า ปาฐกถาของนางออง ซาน ซูจี เลือกใช้คำเรียกชื่อประเทศพม่าว่า "Burma" ตลอดการกล่าวปาฐกถา ซึ่งเป็นคำเรียกชื่อประเทศที่ฝ่ายค้านในพม่า และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่พม่าใช้ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลทหารพม่า สภาเพื่อการฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ หรือ SLORC ได้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก "Burma" เป็น "Myanmar" ในปี 2532 และเป็นชื่อทางการของพม่ามาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การกล่าวปาฐกถาของนางออง ซาน ซูจี ก็ไม่ได้กล่าวเฉพาะเจาะจงไปยังสถานการณ์ขัดแย้งระหว่างชาวโรฮิงยาและชาวอาระกัน ในพื้นที่รัฐอาระกัน เพียงแต่กล่าวโดยทั่วไปในตอนหนึ่งของปาฐกถาว่า “ไฟแห่งความทุกข์ทรมานและไฟแห่งความขัดแย้งกำลังเดือดดาลอยู่รอบโลก ในประเทศของฉัน การประทุษร้ายต่อกันยังคงไม่สิ้นสุดในพื้นที่ทางตอนเหนือ และในภาคตะวันตก ความรุนแรงระหว่างชุมชน ในรูปของการวางเพลิง การฆาตกรรม ได้เกิดขึ้นมาหลายวัน ก่อนที่ดิฉันจะเริ่มการเดินทางที่นำดิฉันมาอยู่ที่นี่ในวันนี้” โดยการเดินทางเยือนยุโรปในรอบ 25 ปี ของบุตรีของนายพลออง ซาน ผู้ก่อตั้งประเทศพม่าผู้นี้ เกิดขึ้นในช่วงที่เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนชาวอาระกันและชาวโรฮิงยา ในพื้นที่รัฐอาระกัน โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 คน และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ขณะที่สหประชาชาติได้เตือนถึงเรื่องความยากลำบากที่ผู้อพยพนับพันจากเหตุจลาจลต้องเผชิญ ทั้งนี้นับเป็นเวลากว่า 21 ปีที่มีการประกาศมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพให้แก่นางออง ซาน ซูจี แต่เธอไม่สามารถเดินทางมารับรางวัลได้ เนื่องจากถูกกักตัวอยู่ในบริเวณบ้าน โดยในรอบ 24 ปีที่ผ่านมา นางออง ซาน ซูจีถูกกักบริเวณเป็นเวลารวม 15 ปี และเพิ่งได้รับการปล่อยตัวหลังผ่านการเลือกตั้ง 7 พฤศจิกายน 2553 ได้ 1 สัปดาห์ ทั้งนี้การเดินทางมาเยือนกรุงออสโล ของนางออง ซาน ซูจี เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนยุโรปครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2531 ทั้งนี้ออง ซาน ซูจีเริ่มต้นการเยือนยุโรปที่กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ เพื่อร่วมการประชุมองค์กรแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO ของสหประชาชาติ นอกจากนี้หลังการรับรางวัลโนเบล นางออง ซาน ซูจียังมีกำหนดพบกับชุมชนชาวพม่าที่ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศนอร์เวย์ด้วย โดยกำหนดการเยือนยุโรป 2 สัปดาห์ของนางออง ซาน ซูจี เปรียบเสมือนหลักไมล์ของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของพม่า ทั้งนี้นอกจากสวิสเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์แล้ว นางออง ซาน ซูจีมีกำหนดที่จะไปเยือนอังกฤษ ไอร์แลนด์ และฝรั่งเศสด้วย นับเป็นการเดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งที่สอง ภายหลังจากที่ไปเยือนประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
กำหนดการเยือนยุโรปของนางออง ซาน ซูจีหลังจากนี้ 15-18 มิ.ย.: เยือนนอร์เวย์ เพื่อกล่าวปาฐกถาภายหลังจากที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อ 21 ปีที่แล้ว 18 มิ.ย.: เดินทางถึงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เพื่อร่วมชมคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นางออง ซาน ซูจี จากนั้นเดินทางไปอังกฤษ 18 - 25 มิ.ย.: รับปริญญาดุษดีบัณฑิตสาขากฎหมายแพ่ง จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และกล่าวปราศรัยทั้งสองสภาที่ลอนดอน 25 มิ.ย: เดินทางถึงปารีส ฝรั่งเศส
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Aung San Suu Kyi, the 1991 Nobel Peace Prize Laureate Nobel Lecture (Oslo, June 16, 2012) http://nobelpeaceprize.org/en_GB/laureates/laureates-1991/aung-san-2012/ Suu Kyi says Nobel award meant Burma was not forgotten, 16 June 2012 Last updated at 12:22 GMT http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-18464946
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น