โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สงครามเย็นครั้งใหม่ (New Cold War)

Posted: 21 Jun 2012 03:02 PM PDT

 

ขณะประเทศยุโรปตะวันออกหรือค่ายคอมมิวนิสต์กำลังถึงกาลล่มสลายในช่วงปี 1989 นั้น ฟรานซิส ฟูกุยามา นักรัฐศาสตร์ผู้เคยประกาศตนว่า เป็นพวกนวอนุรักษ์นิยมใหม่ก็ไม่รอช้าในการประกาศถึง "การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์" (End of History) ลงในบทความของเขาว่า ประวัติศาสตร์ที่จะเป็นจุดสุดท้ายหรือขั้นสุดยอดของมนุษยชาติหาได้ใช่โลกคอมมิวนิสต์ตามคำทำนายของคาร์ล มาร์กซ์ไม่ แต่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม (Liberal Democracy) ฟูกุยามาได้ตอกย้ำแนวคิดเช่นนี้ของเขาหลังจากสหภาพโซเวียตปราศนาการจากแผนที่โลกในปี 1991 โดยขยายบทความเดิมเป็นหนังสือที่ชื่อ The End of History and the Last Man (1992)

แม้คำทำนายของฟูกุยามาจะดูลึกซึ้ง และเป็นอากาลิโก (เหนือเวลา) แต่ดูเหมือนเขาจะไม่สามารถพ้นข้ามปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของรัสเซียในยุคหลังคอมมิวนิสต์ไปได้ ถึงแม้ว่าสหภาพโซเวียตจะล่มสลายกลายเป็นประเทศใหญ่เล็กไปกว่า 15 รัฐ แต่รัสเซียยังคงเป็นรัฐที่ใหญ่ มีพลเมืองมากกว่า 140 ล้านคนพร้อมกับมรดกทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับจากสหภาพโซเวียตเก่า ที่สำคัญกำลังทหารและอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย ยังคงมีศักยภาพที่น่าสะพึงกลัวต่อตะวันตกไม่ใช่น้อย สิ่งหนึ่งที่อเมริกาในยุคของบิล คลินตันหวาดหวั่นคือภาวะการไร้ขื่อไร้แปรของรัสเซียย่อมส่งผลต่อระเบียบโลกยุคใหม่อย่างมาก

รัสเซียในทศวรรษที่ 90 ถูกผลักดันโดยบอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีขี้เมาซึ่งมีแนวโน้มปกครองประเทศแบบเผด็จการ การเปลี่ยนแปลงประเทศยักษ์ใหญ่ที่คุ้นเคยกับระบอบสังคมนิยมมาสู่ทุนนิยมถือได้ว่าเป็นภาระอันหนักหน่วงสำหรับรัฐบาลใหม่ ความล้มเหลวประการหนึ่งของรัสเซียยุคเยลต์ซินคือการที่ความร่ำรวย มั่งคั่งตกไปอยู่ภายใต้มือของคนหนุ่มจำนวนหนึ่งซึ่งอยู่ในแวดวงของท่านประธานาธิบดี ดังที่เรียกว่ากลุ่มคณาธิปไตยหรือ Oligarchy การเมืองรัสเซียเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎรบังหลวง ถึงแม้รัสเซียจะเป็นลูกหนี้รายใหญ่ขององค์กรการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ เศรษฐกิจรัสเซียกลับตกต่ำมีอัตราเงินเฟ้อสูง สังคมรัสเซียเต็มไปด้วยคนตกงานกับปัญหายาเสพติดและโสเภณี โดยที่รัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้มากนัก

ปัจจัยเช่นนี้ย่อมส่งผลถึงทัศนคติของชาวรัสเซียต่อประเทศของตนในอดีตอย่างมาก มีชาวรัสเซียไม่น้อยที่มองอดีตสหภาพโซเวียตว่ามีความรุ่งโรจน์ ยิ่งใหญ่โดยเฉพาะในยุคของสตาลินและมุมมองเช่นนี้ก็ได้ส่งผลต่อความนิยมต่อผู้นำคนที่สืบต่อจากเยลต์ซินคือวลาดิเมีย ปูตินในฐานะบุรุษเหล็กผู้มากู้ชาติเหมือนสตาลิน (ซึ่งปูตินพยายามสร้างภาพพจน์ให้มีความคล้ายคลึง) รวมไปถึงนโยบายทางการประเทศของรัสเซียซึ่งมีความก้าวร้าวและการพยายามกลับเข้าไปมีอิทธิพลเหนือดินแดนที่เคยเป็นของสหภาพโซเวียตเก่ามากขึ้น

ก่อนจะมาเป็นนักการเมือง ปูตินเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของรัสเซียหรือเคจีบี เขาเคยประจำการอยู่ที่เมืองเดรสเดนขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ของเยอรมันตะวันออกถึงกาลอวสาน การได้แลเห็นอวสานของโลกคอมมิวนิสต์และการที่รัสเซียถูกลดชั้นเป็นประเทศมหาอำนาจระดับล่างๆ ตกเป็นลูกไล่ของอเมริกาช่วยตอกย้ำทัศนคติของผู้นำของรัสเซียคนนี้ว่าสงครามเย็นไม่ควรสิ้นสุดเป็นอันขาด (ไปพร้อมๆ กับความคิดที่จะนำอเมริกาเป็นเจ้าโลกอีกครั้งของบุชในยุคหลัง 9/11)

ตัวอย่างที่สะท้อนมุมมองของรัสเซียได้แก่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือ NATOนับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต รัสเซียกับนาโตลงนามเป็นพันธมิตรกัน แต่เมื่อนาโตใช้อาวุธโจมตียูโกสลาเวียในปี 1999 ด้วยข้อหาสังหารชาวอัลบาเนียในโคโซโว ทำให้รัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรกับยูโกสลาเวียไม่พอใจจึงระงับความสัมพันธ์กับนาโต ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ในภาวะเลวร้ายขึ้นไปอีก

เมื่อจอร์จ ดับเบิลยู บุชึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2001 ถึงแม้สงครามต้านก่อการร้าย(War on Terror) ของบุชจะได้รับการตอบรับจากปูตินเพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมในการบดขยี้ฝ่ายขบถ แบ่งแยกดินแดนชื่อในเชชเนีย แต่การที่บุชติดตั้งระบบการป้องกันขีปนาวุธในโปแลนด์และเช็คซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลเก่าของรัสเซียด้วยข้ออ้างว่าต้องการป้องกันการโจมตีจากอิหร่านทำให้เครมลินตื่นตะหนกว่าอเมริกากลายเป็นภัยคุมคามต่อความมั่นคงของตน เช่นเดียวกับรัฐที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียตคือยูเครนและจอร์เจียล้วนมีความพยายามจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การนาโต (ตามสายตาของรัสเซียคือการเข้าไปเป็นลูกน้องของอเมริกา) โดยได้รับการสนับสนุนจากบุช ผู้นำของทั้งสองประเทศยังแบ่งเป็น 2 กลุ่มในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันคือกลุ่มหนึ่งต้องการพึ่งตะวันตก อีกกลุ่มหนึ่งต้องการพึ่งรัสเซีย

ในปี 2008 จอร์เจียประสบปัญหารัฐที่ต้องการแยกตัวคือเซาว์ โอเซทเทียและอับคาเซียซึ่งหันไปขอความช่วยเหลือจากรัสเซีย รัฐบาลของจอร์เจียส่งกองกำลังเข้าโจมตีเซาท์ โอเซทเทีย ทำให้รัสเซียและอับคราเซียส่งกำลังเข้าช่วยเซาท์ โอเซทเทียกลายเป็นสงครามย่อยๆ รัสเซียได้ให้การยอมรับต่อรัฐทั้ง 2 และความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตกก็เสื่อมทรามลงอีก

คำทำนายของฟูกุยามาเมื่อ 2 ทศวรรษก่อนยังดูกลายเป็นเรื่องขำขันไป ถึงแม้กระแสระบบทุนนิยมก็แพร่ไปทั่วโลกแต่ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศจำนวนมากเป็นประชาธิปไตยเสมอไปอย่างเช่น จีนซึ่งอเมริกาสนับสนุนให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ด้วยความหวังว่าเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมจะทำให้จีนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่การณ์กลับตรงกันข้าม สำหรับรัสเซียนั้นเมื่อทศวรรษที่ 90 เน้นตลาดเสรี เมื่อปูตินก้าวขึ้นมามีอำนาจ เขาใช้กลไกอำนาจของรัฐในการเข้ายึดทรัพย์ของพวกเศรษฐีใหม่ที่รวยในยุคของเยลต์ซิน หลายคนต้องหนีไปต่างประเทศ แต่บางคนโชคร้ายติดคุกเช่นนายมิคเคล โครดอคอฟสกีประธานบริษัทยูคอสด้วยข้อหาทั้งหนีภาษี การฟอกเงิน ถึงแม้รัสเซียจะมีรูปแบบเป็นทางการคือประชาธิปไตย แต่ในเนื้อหาการปกครองยุคปูตินมักถูกสื่อตะวันตกโจมตีว่าเป็นเผด็จการไม่เปิดพื้นที่ให้ประชาสังคมได้แสดงความคิดเห็นมากนัก (2)

แต่แล้วปูตินจำใจต้องลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2008 ตามรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้กับดมีตรี เมดเวเดฟผู้ตกอยู่ใต้อำนาจแต่มีหัวเสรีนิยม ส่วนตัวเองไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อรอเวลากลับมาอย่างอดทน ประจวบกับเวลาที่อเมริกาได้ประธานาธิบดีสีผิวคนแรกในประวัติศาสตร์คือบารัก โอบามาที่ต้องรื้อถอนมรดกในทุกด้านของยุคบุชที่คนอเมริกันไม่ชื่นชอบ เช่นการระงับโครงการต่อต้านขีปนาวุธในยุโรปตะวันออก ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

แต่ปรากฎการณ์อีกประการหนึ่งที่ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกาและรัสเซียคือการประท้วงครั้งใหญ่ในกลุ่มประเทศอาหรับ (Arab spring) โดยเฉพาะความวุ่นวายทางการเมืองในลิเบียที่อเมริกาและนาโตแสดงตนอย่างชัดเจนในการสนับสนุนกำลังอาวุธแก่ฝ่ายขบถ เมื่อสหประชาชาติต้องการห้ามกำหนดพื้นที่ห้ามบิน (No-fly Zone) ไม่ให้รัฐบาลของโมอัมมา กัดดาฟีส่งเครื่องบินเข้าโจมตีฝ่ายประท้วงในเดือนมีนาคม ปี 2011 โดยผ่านมติของสภาความมั่นคงอย่างท่วมท้นแต่รัสเซียกับจีน (รวมถึงเยอรมัน บราซิลและอินเดีย)งดออกเสียง

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการสังหารพลเรือนอย่างโหดเหี้ยมของซีเรียซึ่งยังคงดำเนินจนมาถึงปัจจุบัน จีนและรัสเซียในยุคที่ปูตินกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งได้แสดงการสนับสนุนรัฐบาลของ บัชชาร อัลอะซัดอย่างโจ่งแจ้ง เช่นไม่ยอมลงมติให้สหประชาชาติในการประนามรัฐบาลซีเรีย และแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซง กระนั้นแม้อเมริกาและนาโตจะแทรกแซงทางทหารเหมือนลิเบียก็อาจทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลงไปเพราะซีเรียอาจกลายเป็นสงครามกลางเมืองเหมือนสเปนในทศวรรษที่ 30 (3)เพราะอัลอะซัดจะได้อาวุธและกำลังทหารสนับสนุนจากจีนและรัสเซีย ทั้งนี้สื่อตะวันตกชี้ว่าเกิดจากทั้งรัสเซียและจีนมีผลประโยชน์กับซีเรียอยู่ไม่น้อย รัสเซียเป็นประเทศที่ขายอาวุธรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งให้กับซีเรีย และจีนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับสามให้กับซีเรีย ทั้งจีนและรัสเซียเองก็มีประวัติในการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่มาก (4)

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ได้แสดงถึงการไม่ไว้วางใจ การชิงไหวชิงพริบ แย่งชิงอำนาจ รอบใหม่ระหว่างอเมริกาและรัสเซีย 2 ประเทศมหาอำนาจที่ไม่ได้มีอุดมการณ์เหมือนสงครามเย็นครั้งแรกแต่มีประเทศหุ่นเชิด (Proxy state) ที่ไม่สามารถสังกัดค่ายได้ชัดเจนนักอยู่เต็มไปหมด (5) ที่น่ากลัวกว่านั้นรัสเซียได้พันธมิตรใหม่ซึ่งน่ากลัวสำหรับอเมริกามากคือจีนซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของอเมริกา

สำหรับจีนและรัสเซียมีความสัมพันธ์อันดีโดยการร่วมก่อตั้งองค์การการร่วมมือกันแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization) ตั้งแต่ปี 1996 ถึงแม้ความสัมพันธ์อาจจะไม่ลึกซึ้งนักแต่ก็แตกต่างจากสงครามเย็นครั้งแรกที่จีนมีความขัดแย้งกับโซเวียตอย่างรุนแรงและหันไปมีความสัมพันธ์อันดีกับอเมริกาในยุคของนิกสันเมื่อทศวรรษที่ 70 ทำให้ค่ายประเทศคอมมิวนิสต์ขาดความเป็นเอกภาพและต้องล่มสลายไปในที่สุด แต่ในปัจจุบันความสัมพันธ์ของอเมริกาและจีนเป็นไปในเชิงแข่งขันกันมากว่าจะร่วมมือกัน อเมริกากำลังวางแผนจะโอบล้อมจีนผ่านการเข้ามามีอิทธิพลในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ถ้าจะให้กล่าวให้ถูกกว่านี้สงครามเย็นจึงอยู่ในรูปแบบ

อเมริกา + ตะวันตก  VS  รัสเซีย + จีน

สงครามเย็นในรูปแบบใหม่นี้เป็นปรากฎการณ์ที่จับตาดูอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับชะตากรรมของกลุ่มประเทศที่ใช้ค่าเงินยูโร

 

เชิงอรรถ
(1) ชื่อนี้ไม่ได้ถูกเรียกเป็นครั้งแรกเพราะมีคนเรียกชื่อนี้กับยุคของโรนัลด์ เรแกนในทศวรรษที่ 80 ที่เขาหันมาวางนโยบายแข็งกร้าวกับโลกคอมมิวนิสต์อีกครั้งหลังจากทั้งอเมริกาและโซเวียตอยู่ในภาวะผ่อนปรนต่อกัน (Detente) ในทศวรรษที่ 70

(2) รัสเซียมีการปกครองเป็นทางการว่าประชาธิปไตยแบบ Semi-presidential republic คือประธานาธิบดีมีอำนาจคู่กับนายกรัฐมนตรี

(3)สงครามกลางของสเปนเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายสาธารณรัฐที่ได้รับการสนับสนุนจากพวกคอมมิวนิสต์โซเวียต กลุ่มสังคมนิยม พวกอนาธิปไตย พวกเสรีนิยม กับฝ่ายชาตินิยมที่มีขุนศึกคนสำคัญคือนายพลฟรังโกที่ได้รับการ สนับสนุนจากประเทศฟาสซิสต์คือเยอรมันนาซีและอิตาลี สงครามกินเวลาเกือบ 3 ปีมีผู้เสียชีวิตไปกว่า 500,000 คน

(4)น่าสังเกตว่าประเทศเผด็จการที่ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายแต่ไม่ถือว่าเป็นภัยต่ออำนาจของอเมริกาอย่างประเทศที่ลงท้ายด้วยสถานเช่นอุซเบกิสถานไม่ได้รับการกล่าวถึงจากสื่อกระแสหลักของอเมริกามากนัก ส่วนอเมริกาเองก็มีสถิติการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่มากมายเช่นคนผิวดำ และอเมริกาไม่ใส่ใจต่อการปราบปรามประชาชนของบาเรนในช่วงการประท้วงครั้งใหญ่ในกลุ่มประเทศอาหรับเพราะบาเรนเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือของอเมริกา อเมริกายังไม่ใส่ใจต่อการประท้วงของชาวอียิปต์ต่อประธานาธิบดีฮอสนี มูบารักเพราะมูบารักเป็นมิตรกับอเมริกาและอิสราเอล

(5) ถึงแม้อเมริกาจะเสื่อมถอยอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจลงในศตวรรษที่ 21 ก็ตาม แต่อย่าลืมว่าอเมริกาเองมีความพยายามในการต่อสู้ชิงความเป็นเจ้ากลับคืนมา อเมริกายังมีงบประมาณทางทหารสูงที่สุดและทรงอำนาจที่สุดในโลก และยังสามารถเข้าแทรกแซงหลายๆ ประเทศได้

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อียิปต์ประท้วงต้านทหารอีกระลอก กกต.ยังไม่เผยผู้ชนะการเลือกตั้ง

Posted: 21 Jun 2012 02:52 PM PDT

ในอียิปต์ ระหว่างกลุ่มอำนาจเดิม กับฝ่ายภราดรภาพมุสลิม ต่างอ้างการโกงการเลือกตั้งและอ้างว่าตนชนะ ทำให้ กกต. อียิปต์ยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งรอบสอง ด้านนักสิทธิฯ เกรงว่า ทหารจะไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน

21 มิ.ย. 2012 - สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่า เจ้าหน้าที่ทางการของอียิปค์เลื่อนประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ยังเป็นข้อพิพาทกันอยู่ ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดทางการเมือง จากการที่ประชาชนชาวอียิปต์เฝ้ารอผู้นำคนใหม่

นอกจากนี้แล้วการรายงานเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพของอดีตประธานาธิบดีมูบารัค ก็ยิ่งทำให้เกิดความสับสนทางการเมืองของอียิปต์ โดยมูบารัคถูกศาลตัดสินให้มีความผิดฐานไม่สามารถยับยั้งการสังหารผู้ประท้วงที่ออกมาประท้วงต่อต้านเขาเมื่อปีที่แล้วได้
 
จากรายงานเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมาระบุว่า มูบารัคอยู่ในสภาพใกล้เสียชีวิต ขณะที่มีบางคนคิดว่ารายงานนี้เป็นข้ออ้างของกลุ่มที่อยู่ข้างมูบารัคเพื่อที่จะได้ส่งตัวมูบารัคออกจากเรือนจำไปอยู่ในที่ๆ สะดวกสะบายกว่านี้
 
การเลือกตั้งปธน.รอบสองในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาถูกนำเสนอว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญ เนื่องจากเป็นการที่ชาวอียิปต์จะได้เลือกประธานาธิบดีพลเรือนเป็นครั้งแรก เพื่อที่จะได้ปกครองแทนเหล่าผู้นำทหารทีเป็นผู้นำของอียิปต์ตั้งแต่การโค่นล้มมูบารัคในวันที่ 11 ก.พ. 2011 เป็นต้นมา
 
แต่กระนั้นเอง การเลือกตั้งครั้งนี้กลายเป็นการต่อสู้ชิงชัยกันระหว่างฝ่ายศาสนาอิสลามอย่างกลุ่มภราดรภาพมุสลิม กับกลุ่มที่ต้องการรักษาอำนาจไว้ตั้งแต่ช่วงสมัย ปธน. มูบารัค รวมถึงกลุ่มทหารด้วย
 
กลุ่มสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในวันที่ 21 มิ.ย. ว่า พวกเขาเป็นห่วงเรื่องที่ว่าฝ่ายทหารจะยอมคืนอำนาจให้กับประชาชนหรือไม่
 
"กลุ่มผู้นำทหารขยายอำนาจการจับกุมและสอบสวนประขาขนจนมากกว่าอำนาจในช่วงสมัยมูบารัคแล้ว" โจ สตอร์ค ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์สาขาตะวันออกกลางกล่าวในแถลงการณ์
 
"การออกกฏข้อบังคับเช่นนี้เป็นตัวชี้วัดล่าสุดว่าจะไม่มีการคืนอำนาจให้กับประชาชนในวันที่ 30 มิ.ย. อย่างมีนียสำคัญใดๆ" สตอร์คกล่าวเสริม
 
ในคืนวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมาผู้สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมหลายพันคน รวมถึงกลุ่มเยาวชนไม่สังกัดศาสนาที่สนับสนุนการปฏิวัติ ได้ออกมาชุมนุมกันที่จัตุรัสทาห์เรีย กรุงไคโร ที่แห่งเดียวกับที่เคยใช้ชุมนุมลุกฮือเมื่อปีที่แล้ว พวกเขาประกาศต่อต้านทหาร และต่อต้านการพยายามยึดกุมอำนาจของผู้นำทหารในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
 
เดิมทีแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งของอียิปต์ควรประกาศผลการเลือกตั้งในวันที่ 21 มิ.ย. แต่พวกเขาก็ไม่ได้ประกาศ และไม่ได้บอกว่าจะประกาศผลผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งที่สองวันไหน
 
ซึ่งในการเลือกตั้ง ปธน. ครั้งนี้เป้นการชิงชัยกันระหว่างมูฮัมเม็ด มอร์ซี ตัวแทนจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม กับอดีตนายกรัฐมนตรีสมัยมูบารัค อาห์เม็ด ชาฟิก ซึ่งผู้สมัครทั้งสองรายต่างอ้างว่าตนเป็นฝ่ายชนะ
 
แต่ทางเลขาธิการใหญ่การเลือกตั้ง ฮาเทม เบกาโต กล่าวในหนังสือพิมพ์ อัล-อาห์ราม ของรัฐบาลอียิปต์ว่า จะมีการประกาศผลการเลือกตั้งในวันเสาร์หรืออาทิตย์ที่จะถึงนี้
 
ข้อพิพาทเรื่องการโกงการเลือกตั้ง
คณะกรรมการการเลือกตั้งของอียิปต์กล่าวในประกาศว่าพวกเขาเลื่อนการประกาศผลเนื่องจากผู้พิพากษาต้องพิจารณาข้อร้องเรียน 400 คดีความเกี่ยวกับการละเมิดกฏการเลือกตั้งโดยทั้งสองฝ่าย รวมถึงการที่ทนายของชาฟิกอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้งใน 14 เขตปกครองของอียิปต์ โดยบอกว่ามีบัตรลงคะแนนที่ส่งไปยังสนามเลือกตั้งถูกกาช่องของมอร์ซีไว้แล้ว
 
ด้านทนายของมอร์ซีเองก็กล่าวหาว่าชาฟิกซื้อเสียงและปลอมแปลงบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประกอบด้วยทหารผู้ที่โดยปกติแล้วไม่มีสิทธิเลือกตั้งและชื่อของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว
 
ทางกลุ่มภราดรภาพมุสลิมอ้างว่าพวกเขาถูกกลุ่มจัดตั้งวางเป้าไม่ให้ตัวแทนของพวกเขาเป็นประธานาธิบดี และแม้ว่ามอร์ซีจะได้รับการประกาศว่าเป็นผู้ชนะ เขาก็จะถูกต่อต้านอยู่ลึกๆ จนทำให้ไม่สามารถปกครองประเทศได้
 
สองวันหลังจากการเลือกตั้งครั้งที่สองเสร็จสิ้นในวันอาทิตย์ (17) ที่ผ่านมา ฝ่ายมอร์ซีก็อ้างว่าพวกตนได้รัยชัยชนะจากการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 52 ทางฝ่ายชาฟิกประกาศว่าพวกตนได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 51.5
 
กลุ่มคณะลูกขุนอิสระที่ชื่อว่ากลุ่ม Judges For Egypt บอกว่ามอร์ซีเป็นฝ่ายชนะด้วยคะแนนที่ใกล้เคียงกับที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมประกาศ แต่ฝ่ายของชาฟิกกล่าวหาว่ากลุ่ม Judges For Egypt มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มภราดรภาพฯ
 
ด้านผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งทั้งจากในประเทศและต่างชาติกล่าวว่าการเลือกตั้งรอบสองนี้ไม่ได้มีการทำผิดกฏที่รุนแรงหรือกว้างขวางมากพอที่จะตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของผลการเลือกตั้ง
 
เกมอำนาจ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับพลันหลายเรื่องในอียิปต์ ตั้งแต่ที่ศาลสั่งยุบสภาที่มีส.ส. ของฝ่ายภราดรภาพมิสลิมเป็นเสียงส่วนใหญ่และทหารก็ออกประกาศที่ทำให้ผ้นำทหารรับตำแหน่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและให้พวกเขาควบคุมงบประมาณของประเทศได้
 
นอกจากนี้ฝ่ายกองทัพอียิปต์ยังเข้าครอบหน่วยงานรักษาความปลอดภัยหลังจากที่พวกเขาแทรกแซงคนสำคัญในสภาพิทักษ์ชาติเพื่อให้อยู่ภายใต้การควบคุมของตน นอกจากนี้ยังคอยกำกับดูแลกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย
 
 
 
 
ที่มา
Egypt delays runoff result as protests loom, Aljazeera, 21-06-2012
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมยศ พฤกษาเกษมสุข: สานต่อเจตนารมณ์การปฏิวัติประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475

Posted: 21 Jun 2012 02:44 PM PDT

หมายเหตุ: ประชาไทได้รับบทความในโอกาสครบรอบ 80 ปีของเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผ่านมาจากคนใกล้ชิด โดยขณะนี้สมยศยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

 

วันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการ ทหาร และพลเรือน นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ทำการปฏิวัติประชาธิปไตย เปลี่ยนผ่านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ทำให้สังคมไทยมีความเจริญก้าวหน้าในหลายด้านด้วยกัน อาทิ ในทางการเมือง-การปกครอง มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และเป็นครั้งแรกที่ได้ประกาศให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และยังดำเนินการให้ไทยเป็นเอกราชสมบูรณ์ด้วยการยกเลิกสนธิสัญญาเสียเปรียบกับนานาชาติ รวมทั้งออกกฎหมายให้ทันสมัย  ในทางสังคม ได้ยกเลิกอภิสิทธิ์ตามฐานันดรของเจ้านายเชื้อพระวงศ์ และยกระดับการศึกษาทั้งในภาคบังคับ และการจัดตั้งมหาวิทยาลัย  ในทางเศรษฐกิจ มีการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ สร้างสาธารณูปโภค ปรับปรุงระบบภาษี ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก นับได้ว่าการปฏิวัติ 2475 ได้สร้างคุณูปการให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก

การเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น เนื่องจากคณะราษฎรมีฐานอำนาจอยู่กับข้าราชการขุนนางเป็นหลัก ยังไม่มีฐานอำนาจจากประชาชน จึงประนีประนอมกับกลุ่มขุนนางนิยมเจ้า ไม่ได้รื้อทิ้งโครงสร้างเดิมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้หมดไป ในที่สุดฝ่ายทหารของกลุ่มนิยมเจ้าก่อการรัฐประหาร ทำลายล้างคณะราษฎรจนหมดอำนาจทางการเมือง ในขณะเดียวกันได้ฟื้นฟูอำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาใหม่ จนกลายเป็นพลังการเมืองจารีตนิยมที่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย และความเจริญก้าวหน้าของสังคมไทยจนถึงทุกวันนี้

อาจกล่าวได้ว่าการปฏิวัติประชาธิปไตยตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมายังไม่แล้วเสร็จ เจตนารมณ์คณะราษฎรถูกทำลายและถูกบิดเบือน ดังเช่นวันชาติไทย 24 มิถุนายน และการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม ถูกทำลายไป ตลอดจนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มักจะอ่อนแอและต้องสยบยอมกับอำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งครอบงำอยู่เหนืออำนาจทางการทหาร และตุลาการในสังคมไทย

การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ทำลายประชาธิปไตยและนิติรัฐลงไปจนย่อยยับ นำความหายนะมาสู่สังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจตุลาการได้ยอมรับการรัฐประหารและกลายเป็นเครื่องมือการแทรกแซงทางการเมือง อันเป็นที่มาของปัญหาสองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม จนสร้างความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทย

ประชาชนได้รวมตัวกันต่อต้านการรัฐประหาร และผลผลิตของการรัฐประหาร จนถูกเข่นฆ่าอย่างป่าเถื่อน รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้อาศัยสถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยการใช้มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ดำเนินคดีและจับกุมคุมขังนักโทษการเมืองจำนวนมาก

ในโอกาสครบรอบ 80 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของคณะราษฎร ในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยจึงขอเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. สนับสนุน พรบ.ปรองดองที่เสนอโดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และปลดปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน ซึ่งถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทั้งนี้ ยกเว้นความผิดที่มีต่อชีวิตและการก่อการร้าย

2. รัฐบาลต้องเปิดเผยความจริงทั้งหมดในเหตุการณ์สังหารโหดทางการเมืองระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อยู่เบื้องหลังและผู้สั่งการ เพื่อให้มีการดำเนินคดี และให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้เสียชีวิต

3. รัฐบาลต้องลงสัตยาบรรณรับรองศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงกระทำต่อประชาชนในอนาคต

4. รัฐบาลต้องประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันชาติไทย และจัดงานเฉลิมฉลอง เพื่อสร้างคุณค่าประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น

5. รัฐบาลต้องแก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ เพื่อให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตย

6. รัฐบาลต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ให้เป็นประชาธิปไตย ทำการปฏิรูปกองทัพให้มีทหารอาชีพรับใช้ประเทศชาติ และประชาชน ปฏิรูปตุลาการให้เชื่อมโยงกับประชาชน และเป็นหลักประกันในกระบวนการยุติธรรม ทำการแก้ไขเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม แก้ไขความยากจน จัดทำระบบภาษีก้าวหน้า สร้างรัฐสวัสดิการอย่างทั่วถึง

ประชาชนต้องสามัคคีกันเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในสังคมไทย เป็นไปตามเจตนารมณ์ 24 มิถุนายน 2475 มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้ ไม่กลัวความยากลำบาก ในที่สุดชัยชนะย่อมเป็นของประชาชนอย่างแน่นอน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวี จงกิจถาวร : มองอาเซียนผ่านมุม‘ข่าว’(3) เผยสิ่งที่ต้องรู้เพื่อเข้าใจอาเซียน

Posted: 21 Jun 2012 02:31 PM PDT

กวี จงกิจถาวร บรรณาธิการอาวุโสเครือเนชั่นมัลติมิเดียกรุ๊ป และประธาน South Asian Press Association (SEAPA) บรรยายพิเศษ “มองประชาคมอาเซียนจากมมุมข่าว” ในโครงการอบรมนักข่าวโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ครั้งที่ 1/2555 ณ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ บ้านพักรับรอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555

0 0 0

สิ่งที่ต้องรู้ในกฎบัตรอาเซียน
ตอนนี้อาเซียนมีกฎบัตร มีกรอบการทำงานชัดเจนที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตามและมีบทลงโทษ ต่างกับสมัยก่อนเวลาจะเขียนเรื่องอาเซียน ไม่มีข้อผูกมัดอะไร เพราะทุกอย่างเป็นความสมัครใจ

กฎบัตรอาเซียน มีประเด็นที่ต้องรู้ คือ ทุก 5 ปีจะมีการทบทวน ซึ่งประเทศไหนต้องการให้ทบทวนสามารถเสนอได้ ฉะนั้นปีหน้าคือหลังจากวันที่ 15 ธันวาคม 2556 จะถึงกำหนดการทบทวน โดยประเทศบรูไนจะเป็นเจ้าภาพทบทวนกฎบัตรอาเซียน

กฎบัตรอาเซียนเขียนด้วยภาษาอังกฤษและมีการแปลเป็นทุกภาษาของประเทศสมาชิก โดยฟิลิปปินส์เป็นประเทศสมาชิกสุดท้ายที่แปลกฎบัตรอาเซียนเป็นภาษาตากาลอค หาอ่านกฎบัตรอาเซียนและคำแปลภาษาต่าง ๆ ได้ ที่ www.asean.org

สหภาพยุโรป (อียู) สู้ประชาคมอาเซียนไม่ได้ เพราะประชาคมอาเซียนมีกฎบัตรสั้นกว่าและมีภาษาเดียว กฎบัตรอาเซียนเหนือกว่าสนธิสัญญาลิสบอนของสหภาพยุโรป เพราะสั้นกว่า สามารถกำหนดภาษาทำงานไว้เพียงภาษาเดียว คือภาษาอังกฤษ อีกทั้งมีการกำหนดให้มีคำขวัญและเพลงประจำอาเซียนได้ ซึ่งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปไม่สามารถตกลงกันได้เลยในเรื่องเหล่านี้

ประชาคมอาเซียนมีงบประมาณ 14 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนสหภาพยุโรปมีงบประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญยูโร สหภาพยุโรปมีคนทำงาน 2,400 คน ครึ่งหนึ่งเป็นลามแปลภาษา 27 ภาษา ส่วนคนทำงานของประชาคมอาเซียนมีทั้งหมด 267 คน 70 คน เป็นชาวอาเซียนด้วยกัน

ในความเป็นจริงประชาคมอาเซียนไม่มีงบประมาณเลย แต่ได้เงินมาจากประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศละ 1,000,000 เหรียญ

ดังนั้น เวลาพูดถึงอาเซียนจะต้อง เข้าใจเกี่ยวกับกฎบัตรอาเซียน คือ ประชาคมอาเซียนต้องทำตาม ประชาคมอาเซียนมีบทลงโทษ และจะมีการทบทวนกฎบัตรทุกๆ 5 ปี

ความร่วมมืออาเซียนในช่วง 42 ปี
ในช่วงแรก ปี ค.ศ.1967 – 1976 มีความร่วมมือที่เน้น 3 มิติ ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจ การสร้างความเข้าใจในปัญหาของสมาชิก และปลูกฝังนิสัยหารือปรึกษา

ช่วงที่สอง ปี ค.ศ.1976 – 1986 มีการทดสอบความร่วมมืออาเซียน เน้นความมั่นคงภายใน ปัญหาการก่อการร้ายตามชายแดน แก้ปัญหาเฉพาะในภูมิภาค เช่น ปัญหากัมพูชา ผู้อพยพ ไม่แทรกแซงการเมืองภายในสมาชิก

ช่วงที่สาม ปี ค.ศ.1987 – 1996 เป็นทศวรรษของการปรับตัวหลังสงครามเย็น การเริ่มขยายตัวอาเซียนและมีการรับสมาชิกใหม่ ช่วงที่สี่ ปี ค.ศ.1997 – 2008 เป็นทศวรรษของการสับเปลี่ยนและสับสน ช่วงที่ห้า ปี ค.ศ.2009 เป็นช่วงอาเซียนใหม่ มีกฎบัตรอาเซียน มีความเป็นนิติบุคคล ทั้งหมดมีส่วนทำให้เกิด “วิถีอาเซียน” 

วิถีอาเซียน (Asean Way) คืออะไร
อาเซียนมีหลักการเหล็ก  7 ประการ คือ อาเซียนไม่แทรกแซงสมาชิกอื่น ไม่ใช้กำลังทางทหารแก้ปัญหาแต่ใช้การทูตมากกว่า โดยผู้นำอาเซียนต้องคุยกันบ่อย อย่างน้อยๆปีละ 2 ครั้ง อาเซียนรวมกันมีพลังต่อรอง ถ้าแยกกันจะพากันไปตาย

เสียงของสมาชิกประชาคมอาเซียนมีค่าเท่ากัน คือประเทศละ 1 เสียง ไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่ารวยหรือจน และต้องจ่ายค่าสมัครเท่ากันประเทศละ 1,000,000 เหรียญ งบประมาณของอาเซียนจึงมีแค่ 14 ล้านเหรียญ ซึ่งน้อยมาก อาเซียนจึงขี้เหนียว ประหยัด หวังเล็งผลเลิศตลอดเวลา

เวลาประชาคมอาเซียนตัดสินใจอะไรนั้น ต้องคิดอยู่เสมอว่า ต้องมีฉันทามมติของทุกประเทศสมาชิกอาเซียน

สรุป คือ สนธิสัญญามิตรภาพความร่วมมือของประชาคมอาเซียน คือห้ามแทรกแซง ห้ามใช้กำลัง และพูดจากัน

สิ่งที่อาเซียนต้องทำอย่างต่อเนื่อง หรือ ASEAN Connectivity มี 3 เรื่องใหญ่ คือ การพัฒนาด้านโครงสร้าง ด้านสถาบัน และด้านประชาชนซึ่งสำคัญที่สุด

วิสัยทัศน์อาเซียน
วิสัยทัศน์ของอาเซียน ประกอบด้วย ความเป็นอาเซียนที่แข็งแรงและเป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าอาเซียนจะมีกี่เสา จะมีAEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) หรือไม่ อาเซียนก็ต้องแข็งแรงและเป็นหนึ่งเดียว

เป็นอาเซียนที่เปิดกว้าง มีพลวัตรและประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะตอนที่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จะมีส่วนส่งเสริมให้อาเซียนต้องเปิดกว้างได้

อาเซียนต้องร่วมหล่อเลี้ยงหรือแชร์ค่านิยมร่วมกัน อาเซียนต้องเทไหลข้อมูลร่วมกัน อาเซียนต้องแพร่ข้อมูลเกี่ยวปัญหาภูมิภาคร่วมกัน ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า อาเซียนต้องเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน

7 เอกสารหลักของอาเซียน
หากอ่านทั้ง 7 เอกสารหลักของอาเซียน ได้ทั้งหมด จะสามารถตีประเด็นอาเซียนได้หมด เนื่องจากทั้ง 7 เอกสารมีประเด็นที่เป็นข้อตกลงทั้งหมด 232 ข้อ

เอกสารสำคัญที่พูดถึงความร่วมมือทั่วไปในอาเซียน คือ ปฏิญาณ กรุงเทพ (Bangkok Declaration 1967) ส่วนเอกสารที่เหลือ ได้แก่ สนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมือ (Treaty of Amity and Cooperatiom 1976) แผนปฏิบัติงานของประชาคมอาเซียนสามเสาหลัก ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม/วัฒนธรรม (Roadmaps for an Asean Community 2009-2015)

หนังสือปกเขียวเล่มเล็ก กฎบัตรอาเซียน (Little Green book, Asean Charter) สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเซียอาคเนย์ (Southeast Asian Nuclear Weapons Free Zone 1995) แม่บทโครงข่ายอาเซียน (Master Plan on Asean Connectivity) คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนอาเซียน (Asean Intergovernmental Commissioner for Human Rights)

7 สาระในปฏิญาณกรุงเทพ 
ปฏิญาณกรุงเทพ 8 สิงหาคม 1967 มีสาระสำคัญอยู่ 7 ประการ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม, เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค, เพิ่มความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม, ช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางด้านการฝึกฝนและการวิจัย, ร่วมมือด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้า คมนาคม โทรคมนาคม และส่งเสริมการอยู่ดีกินดีของประชาชน, ส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับเอเชียอาคเนย์, ให้ความร่วมมือกับองค์กรภูมิภาคและระหว่างประเทศอื่นๆ

อาเซียน + ... คืออะไร
ประชาคมอาเซียนเป็นองค์กรฉลาดและไม่ค่อยมั่นคง ฉะนั้นประชาคมอาเซียนจึงต้องดึงประเทศนอกภูมิภาคเข้ามาร่วมด้วย เป็นคู่เจรจา คือ อาเซียน+3, อาเซียน+4, อาเซียน+6, อาเซียน+8 เป็นต้น

อาเซียน+3 คือ อาเซียนบวกประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น

อาเซียน+6 คือ อาเซียนบวกประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

อาเซียน+8 คือ อาเซียนบวกประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลายเป็น East Asia Summit นั่นเอง

ความหมายสัญญาลักษณ์ ASEAN

—น้ำเงินคือสันติภาพและเสถียรภาพ
แดงคือความกล้าหาญและพลวัตร
ขาวคือความบริสุทธิ์
—เหลืองคือความมั่งคั่ง
—วงกลมคือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
—ต้นข้าวสิบต้นมัดรวมกัน คือความสามัคคี พลังอาเซียน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กวี จงกิจถาวร : มองอาเซียนผ่านมุม‘ข่าว’(1) พลวัติในรอบ 45 ปี
กวี จงกิจถาวร : มองอาเซียนผ่านมุม‘ข่าว’(2) เผยคุณสมบัติพิเศษ–667 ตัวเลขต้องจำ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ณัฐพล ใจจริง: แนวคิดและอุดมการณ์ของขบวนการ ร.ศ.130

Posted: 21 Jun 2012 12:34 PM PDT

(22 มิ.ย.55) ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา บรรยายเรื่องแนวคิดและอุดมการณ์ของขบวนการ ร.ศ.130 ในการสัมมนาเรื่อง จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปีประชาธิปไตย จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับนิตยสารศิลปวัฒนธรรมและสถาบันนโยบายศึกษา ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ มีเนื้อหาดังนี้

000000

บริบทของความคิดทางการเมืองไทย
หลังการปฏิวัติซิ่นไฮ่ โค่นล้มราชวงศ์จีนได้สำเร็จ ช่วงเดียวกัน ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นยุคที่อำนาจยังรวมอยู่ที่กษัตริย์ ในขณะทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ไปศึกษาต่อต่างประเทศเป็นเวลายาวนาน ทำให้ห่างเหินราชวงศ์ชั้นสูงที่เคยช่วยเหลือพระราชบิดา พระองค์กลับมาพร้อมกับความระหองระแหงในราชวงศ์ และความไม่ไว้วางใจในกองทัพ ทำให้พระองค์สร้างกองทัพทหารเสือป่าขึ้น ขณะเดียวกันพระองค์ก็มีมหาดเล็กที่ใกล้ชิดคือ เจ้าพระยารามราฆพ และพระยาอนิรุทเทวา ทรงวางใจทั้งสองมากและมีการเลื่อนยศอย่างรวดเร็ว ด้านหนึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจในระบบราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นายทหาร

หลังเกิดการปฏิวัติซิ่นไฮ่ หนังสือพิมพ์ในสยามมีการรายงานข่าวเรื่องการล้มราชวงศ์ชิง ทำให้คนเริ่มรับรู้การเปลี่ยนแปลงของโลกและเห็นตัวอย่างการเปลี่ยนไปของมหาอำนาจที่สำคัญ หนึ่งเดือนหลังการรายงานข่าว มีคณะนายทหารหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเพื่อการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างจีนบ้าง นั่นคือ ขบวนการเก็กเหม็ง (คณะ ร.ศ.130)

ความคิดทางการเมืองสมัยใหม่
เมื่อพูดเรื่องความคิดทางการเมืองไทย มักเริ่มต้นที่เทียนวรรณ กุหลาบ สายประดิษฐ์และข้ามไปที่คณะราษฎร จึงคิดอยากศึกษาความคิดทางการเมืองของ คณะ ร.ศ.130 ผ่านหลักฐานที่ปรากฏในบันทึกไม่กี่เล่มของพวกเขา โดยเฉพาะบันทึกของหมอเหล็ง "ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจริญของประเทศ"

คติสำคัญที่คิดว่าเป็นหัวใจสำคัญของ ร.ศ.130 เมื่อพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือ "เสียชีพ อย่าเสียชาติ" คือเริ่มเห็นว่าชาติสำคัญกว่ากษัตริย์ ซึ่งนี่เป็นแนวคิดทางการเมืองสมัยใหม่

เมื่อพูดเรื่องความคิดทางการเมืองไทย มักเริ่มต้นที่เทียนวรรณ กุหลาบ แต่เขาคิดตรงกันข้าม โดยมองว่าความคิดทางการเมืองสมัยใหม่น่าจะเริ่มที่คณะ ร.ศ.130 ซึ่งแตกต่างกับความคิดของเทียนวรรณ เพราะเทียนวรรณ เสนอการปฏิรูป ผสมผสานแนวคิดพุทธศาสนาในแนวคิดทางการเมือง และความร่วมมือระหว่างกษัตริย์ ขุนนางและราษฎร ขณะที่คณะ ร.ศ.130 เสนอการปฏิวัติ เน้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไม่ได้ประนีประนอม แต่เป็นการเปลี่ยนไปสู่สิ่งใหม่ เน้นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความคิดทางโลกย์ (Secular) ซึ่งเป็นแนวความคิดสมัยใหม่แท้ๆ ไม่ใช่กึ่งเก่ากึ่งใหม่อย่างที่เทียนวรรณเป็น

ในเอกสารชื่อ "ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจริญของประเทศ" ที่เขียนด้วยลายมือของ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง) กล่าวถึงรูปแบบการปกครองในโลก 3 แบบคือ 1.แอ็บโซลุ๊ดมอนากี 2.ลิมิตเต็ด มอนากี้ และ 3.รีปัปลิ๊ก โดยส่วนต้นของเอกสารกล่าวถึงข้อดีของการใช้กฎหมายเป็นแนวทางจำกัดอำนาจของรัฐ และสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่อยู่ในแนวคิดของเทียนวรรณ
 

 

นอกจากนี้ หมอเหล็งได้ใช้กระดาษสิบกว่าหน้าจาก 21 หน้า เพื่อวิจารณ์ระบอบแอ็บโซลุ๊ดมอนากีอย่างรุนแรง โดยชี้ว่าหากปกครองเช่นนี้ต่อไปประเทศจะทรุดโทรม จากนั้น เสนอการปกครอง 2 แบบ คือ ลิมิตเต็ด มอนากี้ ที่กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย กับรีปัปลิ๊ก คือยกเลิกไม่ให้กษัตริย์ปกครองอีกต่อไป แต่มีการประชุมสำหรับปกครองบ้านเมือง โดยเชื่อว่าระบอบแบบนี้ราษฎรชื่นชอบ และพูดเรื่องความเสมอภาคของคน

คณะ ร.ศ.130 พูดเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคอย่างมาก มากกว่าที่เทียนวรรณเสนอ โดยพวกเขาบอกว่า แอ็บโซลุ๊ดมอนากี มีการแบ่งคนเป็นกลุ่มสูงต่ำ ถ้าเลือกในสองแบบหลังจะเป็นยุคที่คนเสมอภาคกัน ดังนั้น จากเอกสารจะเห็นว่าพวกเขามีความคิดสมัยใหม่ ความคิดทางโลกย์ และความศิวิไลซ์ ก้าวไปข้างหน้า

การประชุมเวลานั้นมีการถกเถียงกันว่าจะไปทางไหน ระหว่างลิมิตเต็ด มอนากี้ กับรีปัปลิ๊ก โดยในการประชุมครั้งหนึ่ง พบว่า ความคิดแรกในกลุ่มแกนนำค่อนข้าง radical โดยหมอเหล็งบอกว่า ถ้าเลือกลิมิตเต็ด มอนากี้ กษัตริย์อาจกลับมาอยู่เหนือกฎหมายได้อีก ขณะที่ หมออัทย์ หะสิตะเวช ซึ่งเป็นราชแพทย์หมายเลข 1 บอกว่าต้องการให้เปลี่ยนเป็นแบบจีนแม้แต่พลเรือนในหมู่นี้อย่าง อุทัย เทพหัสดิน ก็บอกว่าให้เปลี่ยนให้หมด ร.ท.ชนินทร์ ณ บางช้าง พูดไว้ในการประชุมครั้งหนึ่งว่า ทหารควรรักชาติและกตัญญูต่อชาติสูงสุด เราควรเดินตามแบบอเมริกา ฝรั่งเศสหรือจีน ดังนั้นจะเห็นว่า ความพยายามของ คณะ ร.ศ.130 ได้นี้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงในจีนและประเทศอื่นๆ แต่จีนใกล้กว่าจึงเห็นชัดกว่า

มีสายกลางที่เสนอว่าอย่าเปลี่ยนแปลงเลย เพราะไม่ต้องการให้ฝ่ายถูกชิงอำนาจเคียดแค้นและทำตัวเป็นศัตรูตลอดกาล แต่ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ ก็วิจารณ์ว่า ไม่ได้ความเลย อย่างไรก็ตาม เมื่อองค์กรขยายตัวมากขึ้น ก็มีคนสายกลางเข้ามามากขึ้น ทำให้เลือกไปที่การเปลี่ยนแปลงระดับกลางคือ ลิมิตเต็ดมอนากี้ ท้ายที่สุด มีการทรยศในองค์กร ประมาณปลายเดือน ก.พ.-ต้นเดือน มี.ค. สมาชิกถูกจับ และมีบางคนยิงตัวตาย

นอกจากนี้ การปฏิวัติในจีนยังกระทบต่อความคิดของแกนนำสำคัญของคณะราษฎรด้วย โดยปรีดี พนมยงค์ เล่าในบันทึกว่าในปี 2455 ขณะอายุ 11 ปีได้เห็นการเปลี่ยนแปลงฉับพลันในจีน ที่มีการตัดผมเปียที่เป็นเหมือนมรดกตกทอดออก ขณะที่คณะงิ้วในอยุธยา เปลี่ยนบทเป็นการเล่าเรื่องทหารเก็กเหม็งกับกองทัพกษัตริย์ แทนเรื่องเล่าเก่าๆ และมีการกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ในชั้นเรียน โดยครูที่สอนบอกว่าไม่รู้ว่ารัสเซียหรือสยามใครจะเปลี่ยนก่อน


การต่อสู้ความคิดทางการเมืองผ่านสิ่งพิมพ์ หลังคณะ ร.ศ.130 ถูกจับ
แม้ว่า คณะ ร.ศ.130 ถูกจับกุมหมดแล้ว ฝ่ายสนับสนุนซุนยัดเซนได้ตีพิมพ์สุนทรพจน์ของซุนยัดเซน มีการตีพิมพ์หนังสือที่นำเสนอความคิดของซุนยัดเซน ชื่อ ลัทธิตรัยราษฎร์ซามิ่นจูหงีซึ่งพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงในอเมริกา ฝรั่งเศส การปฏิวัติการตัดหัวพระเจ้าหลุยส์ ซึ่งถูกรัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สั่งเก็บอย่างรวดเร็ว

เวลาเดียวกัน รัชกาลที่ 6 ได้มีพระราชนิพนธ์ "ฉวยอำนาจ" เพื่อตอบโต้ความคิดคณะ ร.ศ.130 ว่านายทหารฉวยอำนาจไปจากพระองค์ มีงานเขียนของ รัชกาลที่ 6 ที่พูดถึงความวุ่นวายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในจีน ซึ่งที่สุดต้องกลับมาใช้ราชาธิไตยแบบเดิม พูดถึงบทบาทของยวนซีไข ผู้นำในจีนที่พยายามกลับไปสู่ระบอบเดิม นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ไทย ซึ่งได้รับการอุดหนุนจากพระคลังข้างที่ ได้แปลสิ่งพิมพ์ที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงในช่วงยวนซีไขที่จะกลับระบอบเดิมด้วย

ด้านเรื่องราวเกี่ยวกับ คณะ ร.ศ.130 จนเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้วจึงมีความกล้าพิมพ์เรื่องของพวกเขาว่าพวกเขาคิดอย่างไร อาทิ ในหนังสืองานศพของ อุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ในปี 2480 หมอเหล็งรำลึก ในปี 2503 ร.ศ.130 พิมพ์โดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา ในปี 2517 ซึ่งถูกรัฐบาลสั่งเก็บในปี 2519

เมื่อพ้นโทษในปี 2467 ความคิดต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองของพวกเขายังไม่เปลี่ยน สมาชิกคณะ ร.ศ.130 หลายคนเข้าทำงานในหนังสือพิมพ์ เผยแพร่แนวคิดทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง บางคนคลุกคลีกับการสั่งสอนความคิดแก่นายทหารรุ่นใหม่

ปฏิกิริยาต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม พบเอกสารว่ามีการตั้งองค์กรลับของราชสำนึกขึ้น คือ จิตรลดาสโมสร จัดตั้งหลังเกิด ร.ศ.130 เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการในสมัยพระปกเกล้าฯ และมีบทบาทสำคัญในรัชกาลที่ 6 บันทึกว่าได้จัดตั้งจิตรลดาสโมสรขึ้น โดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว สมาชิกคัดเลือกโดยพระองค์เอง รับเฉพาะคนที่พระองค์วางใจจริงๆ โดยองค์กรนี้ด้านหนึ่ง แสดงกับคนทั่วไปว่าชอบเล่นละคร แต่แท้จริงเพื่อปกป้องพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีการประชุมบ่อยครั้ง บางครั้งประชุมที่สวนสราญรมย์ บางครั้งประชุมที่บางพลี

อีกองค์กรคือสมาคมลับแนบดำ จากบันทึกของ เผ่า ศรียานนท์ ระบุว่าในสมัยที่เขาเป็นนายทหารในกรมทหารมหาดเล็ก มีการตั้งสมาคมลับแนบดำขึ้น โดยมีหัวหน้าองค์กรคือ พันเอกพระยาสุรเดชรณชิต (ชิต ยุวนะเตมีย์) มีหน้าที่คอยดูว่านายทหารมหาดเล็กมีความคิดไม่ภักดีหรือไม่ ซึ่งเผ่ามองว่าเป็นองค์กรซ้อนองค์กร หรือการที่ราชสำนักไม่ไว้วางใจระบบราชการ

บทบาทและความสัมพันธ์ระหว่าง คณะ ร.ศ.130 และคณะราษฎร
หลังพ้นโทษ ร.ต.เนตร เขียนในบันทึกว่า ได้ทำงานในหนังสือพิมพ์ และได้เจอกับสมาชิกสำคัญของคณะราษฎร โดยตกลงร่วมมือกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไป นั่นคือ มานิต วสุวัต เจ้าของหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนการปฏิวัติ ซึ่งต่อมาเป็นหนึ่งในสมาชิกนอกคณะราษฎร ที่เข้ามาเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรสัดส่วนแต่งตั้ง

ท้ายที่สุด เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการรายงานข่าวการปฏิวัติ นสพ.หัวก้าวหน้าเริ่มวิจารณ์กษัตริย์อย่างกว้างขวาง ความสัมพันธ์ระหว่าง คณะ ร.ศ.130 และคณะราษฎร ปรากฏความเชื่อมโยงระหว่างแกนนำสองกลุ่มผ่านหนังสือพิมพ์ หลังการเปลี่ยนแปลง 2475 ในช่วงเช้า ตอนบ่าย พระยาพหลฯ ได้เชิญแกนนำ คณะ ร.ศ.130 ที่ตามตัวได้ พระยาพหลฯ บอกว่าไม่มีคณะคุณก็ไม่มีคณะผม และหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แกนนำ ร.ศ.130 หลายคนลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั่นคือพวกเขาเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองและลงเลือกตั้ง

จากที่ได้กล่าวถึงความคิดทางการเมืองของคณะ ร.ศ.130 ระหว่างการเสนอลิมิตเต็ดมอนากี้และรีปัปลิ๊ก ลิมิตเต็ดมอนากี้ หลัง 2475 ก็ได้เห็นแล้วว่า ความคิดด้านหนึ่งจะสอดคล้องกับความคิดของคณะ ร.ศ.130 ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่คณะราษฎรทำ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นข้อกังขา ที่ยังเรียกร้องการตีความจากนักประวัติศาสตร์ นักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์คือ ภาวะหนึ่งที่เป็นข้อฉงนอย่างมากหลัง 2475 คือ การรัฐประหาร 29 พ.ย.2494 โดยรัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งเป็นการรัฐประหารตัวเอง ล้มรัฐธรรมนูญ 2492 ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับยังเสด็จอยู่ต่างประเทศ ในหลวงมาถึงพระนครวันที่ 2 ธ.ค.

ในช่วงสามวันนี้คือภาวะอะไร รัฐธรรมนูญไม่มี ในหลวงไม่อยู่ ซึ่งภาวะนี้แตกต่างจาก 2475 ที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัชกาลที่ 7 ประทับอยู่ในประเทศ แต่ช่วงสามวันนี้ไม่มีรัฐธรรมนูญ พระเจ้าอยู่หัวยังไม่กลับ เป็นภาวะว่างๆ ที่ไม่มีอะไรเลย ดังนั้น จึงเรียกร้องว่า ภาวะเช่นนี้เราจะเรียกว่าภาวะอะไร รัฐธรรมนูญไม่มี พระเจ้าอยู่หัวไม่อยู่

 

0000000

สำหรับรายการสัมมนาเรื่อง “จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย” จัดโดย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันนโยบายศึกษา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ในวันที่ 21-22 มิ.ย. ณ ห้อง 304 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ โดยในวันที่ 22 มิ.ย. จะมีการบรรยายโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ “คณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย” อาจารย์ศรัณยู เทพสงเคราะห์ “คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หลังการปฏิวัติ 2475” นายกันย์ ชโลธรรังสี “การเผยแพร่ประชาธิปไตยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังปฏิวัติ 2475” อาจารย์ชาติชาย มุกสง “การปฏิวัติด้านอาหารการกินกับการปฏิวัติ 2475” รองศาสตราจารย์ ดร.พอพันธ์ อุยยานนท์ “คณะราษฎรกับเศรษฐกิจไทย” และการอภิปรายเรื่อง “อดีต และอนาคต จาก 80 ปีประชาธิปไตย” โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง, รองศาสตราจารย์ ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชุมชนหลังศาลเจ้าพ่อทัพจัดเสวนาหยุดปัญหาไล่รื้อ

Posted: 21 Jun 2012 08:59 AM PDT

ชุมชนหลังศาลเจ้าพ่อทัพ สำโรง เตรียมจัดเสวนา “หยุดอิทธิพล หยุดรุนแรง หยุดไล่รื้อ เพื่อความมั่นคงในที่อยู่อาศัย” กรรมการสิทธิ์ฯ -ตำรวจ-นายกเทศมนตรี ร่วมระดมข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาของชุมชน

 
วันนี้ (21 มิ.ย.55) ชุมชนหลังศาลเจ้าพ่อทัพ (ซอยหัวแตก) ถ.รถไฟสายเก่า ต.สำโรงกลาง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เตรียมจัดเสวนา “หยุดอิทธิพล หยุดรุนแรง หยุดไล่รื้อ เพื่อความมั่นคงในที่อยู่อาศัย” บริเวณชุมชนหลังศาลเจ้าพ่อทัพ เพื่อร่วมระดมข้อคิดเห็นและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาเรื่องของชุมชน ในวันที่ 22 มิ.ย.นี้
 
ผู้ร่วมเวทีเสวนา ประกอบด้วย นายแพทย์นิรันด์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายพงษ์อนันต์ ช่วงธรรม ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค นางสาวเพ็ญวดี แสงจันทร์ ทนายความมูลนิธิดวงประทีป นางทิพยรัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ผู้กำกับการ สถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้ และนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย
 
สืบเนื่องจากชุมชนหลังศาลเจ้าพ่อทัพ ประสบปัญหาถูกไล่รื้อจากเจ้าของที่ดิน โดยตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 มี.ค.55 ทางตัวแทนเจ้าของที่ดินได้เข้าปักป้ายในพื้นที่ว่า “ห้ามบุกรุก ห้ามรถเข้าออก”  และได้เข้ารื้อทำลายบ้านพักอาศัยของชาวบ้านในชุมชนอย่างต่อเนื่องและทำการในเวลากลางคืน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ ด้วยทุกครั้ง
 
จากข้อมูลของชาวชุมชนหลังศาลเจ้าพ่อทัพ ระบุว่า ตัวแทนเจ้าของที่ดินได้พูดจาขับไล่ข่มขู่ชาวบ้าน และอ้างว่าเป็นที่มั่วสุม ให้ชาวบ้านรื้อย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่น เพราะเจ้าของที่ต้องการที่ดินไปทำประโยชน์ โดยที่ดินแปลงนี้ถูกขายทอดตลาดและถูกบังคับคดีแล้ว
 
ทางชุมชนได้พยายามหาวิธีการที่จะเจรจากับทางเจ้าของที่เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยร่วมกัน แต่ทางตัวแทนเจ้าของที่ไม่ยอมที่จะเปิดโอกาสให้ได้พูดคุยหรือยื่นข้อเสนอใดๆ เลย และแจ้งว่าจะเข้ามาปิดหมายไล่รื้อ
 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 14 พ.ค.55 ทางชุมชนได้ไปยื่นหนังสือต่อนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้หยุดการไล่รื้อและหาทางออกในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้าน ในเดือนมิถุนายน 55 จะนำหมายศาล มาติดในชุมชน
 
ทั้งนี้ เดิมที่ดินแปลงที่เป็นกรณีพิพาทดังกล่าวเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ต่อมาชาวบ้านได้เข้ามาปลูกบ้านพักอาศัยเป็นเวลากว่า 20 ปีมาแล้ว ปัจจุบันมีบ้านเรือนที่ปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนี้กว่า 200 หลัง
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษกพันธมิตรฯ เผยสหรัฐมีโครงการลับยิงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อทำให้เกิดภัยธรรมชาติได้ตามต้องการ

Posted: 21 Jun 2012 08:50 AM PDT

เรียกว่าโครงการ "H.A.A.R.P." อ้างเป็นการยิงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปที่ชั้นบรรยากาศแล้วสะท้อนกลับผิวโลก สร้างภัยธรรมชาติต่างๆ ได้ตามต้องการ ใช้เป็นอาวุธกำจัดศัตรูแบบใหม่ หวั่นสหรัฐอเมริกาจะใช้อู่ตะเภาเป็นฐานทำลายประเทศใกล้เคียง อ้างคลิปที่เสฉวน มีการยิ่งคลื่นความถี่ไปยังชั้นบรรยากาศจนฟ้าเปลี่ยนสีก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวตามมา

เมื่อวานนี้ (20 มิ.ย.) เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูต และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV พูดถึงประเด็นการให้สหรัฐฯ ตั้งฐานทัพที่อู่ตะเภา

นายสุรพงษ์กล่าวว่า อยากให้สังคมไทยได้พิจารณา พอได้ยินชื่อองค์กรนาซา คือองค์กรอวกาศ คนมักเข้าใจว่าวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ แต่ความจริงแล้วเป็นแค่ชื่ออำพราง องค์กรนี้ได้รับงบประมาณส่วนมากจากกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นอิสระ ทำงานให้กระทรวงกลาโหมมาตลอด ส่วนที่เราวิตกว่าอู่ตะเภาจะถูกใช้เป็นฐานทัพไปสอดแนมประเทศอื่น อู่ตะเภานี้ถูกใช้มาตลอดอยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนามจนปัจจุบัน เครื่องบินที่ไปทิ้งระเบิดตะวันออกกลางก็แวะมาเติมน้ำมันที่นี่ โดยรัฐบาลไทยยินยอม อย่าเข้าใจผิดว่ามาใช้ฐานทัพ เพราะใช้อยู่แล้ว

อีกทั้งหลังๆ มานี้อเมริกาเองก็ไม่ต้องการใช้ฐานทัพเพราะมีเยอะอยู่แล้ว แต่เขาต้องการพื้นที่ ขอแค่ให้เครื่องบินลงได้ จอดเติมน้ำมัน ขนส่งเสบียง โยกย้ายยุทธปัจจัย แต่ในเรื่องความตกลงต้องไม่ลืมว่าการตกลงให้ใช้ฐานทัพ โดยธรรมชาติของมันจะมีลักษณะไม่เท่ากัน คือการที่เขาจะให้ข่าวกรองกับเรา เราก็ต้องเสียค่าเช่า ค่าดูแลรักษาฐานทัพนี้ด้วย เงินภาษีของเราต้องให้เขาด้วยหรือ ในเมื่อมาตั้งในแผ่นดินไทย อีกอันคือปฏิบัติการอันนี้ อาจเขียนไว้ชัดเจนว่า หน้าที่ของผู้มาใช้ฐานทัพนี้ต้องเคารพกฎหมายของประเทศผู้ให้ใช้ นั่นเป็นเพียงกระดาษแต่พฤตินัยจะรู้ได้อย่างไรว่าอเมริกาจะปฏิบัติตามเงื่อนไข แล้วข้อมูลข่าวกรองที่ว่าจะให้ จะรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะให้หมด

นายปานเทพกล่าวตอนหนึ่งว่า ล่าสุดเขาได้เขียนบทความเกี่ยวกับโครงการ H.A.A.R.P. (High Frequency Active Aurora Research Program) หรือโครงการวิจัยพลังงานลำแสงออโรราจากความถี่สูง ซึ่งเป็นการทำงานวิจัยร่วมกันระหว่าง ส่วนห้องทดลองวิจัยของกองทัพอากาศ และกองทัพเรือของสหรัฐอเมริการ่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งอะแลสกา และสำนักงานโครงการวิจัยความก้าวหน้าของกองทัพของสหรัฐอเมริกา เป็นการสร้างและควบคุมภูมิอากาศโดยการยิงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูง และความแรงกว่าพันล้านวัตต์ไปที่ชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ แล้วสะท้อนกลับมายังพื้นผิวโลกไปยังเป้าหมายที่ต้องการได้ทั้งบนบกและในทะเล เพื่อส่งพลังงานนั้นลงไปสู่ชั้นหินใต้ดินเพื่อก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนหรือเกิดแผ่นดินไหว

นายปานเทพได้เปิดสารคดี เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการอธิบายว่า โครงการ H.A.A.R.P.นี้ สามารถกำหนดภัยพิบัติธรรมชาติได้ เป็นอาวุธใหม่ ยิงด้วยกำลังส่งสูงมาก เป็นพันล้านวัตต์ ที่น่าสนใจคือมีการยกระดับชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ขึ้นมาด้วย ทำให้เกิดความแปรปรวนของบรรยากาศ เปลี่ยนทิศทางกระแสลม และกระแสน้ำ หรือแม้กระทั่งเฮอริเคน ไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว แล้วการทดลองโครงการนี้ไม่ได้มีที่อลาสก้าที่เดียว แต่มีที่รัสเซีย และนอร์เวย์ด้วย

นายปานเทพกล่าวเสริมว่า มันไม่ใช่เรื่องที่ตนพูดเอง แต่ทั่วโลกกำลังหวาดวิตก ในการใช้อาวุธให้เกิดภัยพิบัติ แล้วเกิดความเสียหายที่ไหนอเมริกาก็จะเข้าไปเป็นผู้ถูกพึ่งพิง เพื่อหวังสูบทรัพยาการ และครอบงำรัฐบาลในประเทศต่างๆ กำลังจะบอกว่าเขามาขออะไร ขอตั้งศูนย์ภัยพิบัติ แค่ชื่อก็น่าวิตกแล้ว แถมเป็นการปฏิบัติในทางทหาร ซึ่งเราเข้าไปตรวจสอบไม่ได้ เชื่อว่ารัฐบาลทั่วโลกจะต้องเฝ้ามองว่าจะเป็นอันตรายกับประเทศเขาหรือไม่ แล้วถ้าเป็น ไทยจะไม่สงบสุขเลย จากทั้งประเทศเพื่อนบ้าน จากจีน หรือตามตะเข็บชายแดน

ทั้งนี้ นายปานเทพยังได้แสดงคลิปวิดีโอ เพื่อยกตัวอย่างภัยพิบัติที่เกิดขึ้นว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องจากโครงการนี้ โดยอ้างว่าเมื่อปี 2551 ที่เสฉวน เกิดฟ้าเปลี่ยนสีก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหว นั่นก็เพราะเวลามีคลื่นความถี่ถูกส่งไปยังชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ จะเกิดความร้อนสูงจนฟ้าเปลี่ยนสีได้

ปี 2553 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่เฮติ โดยฮูโก ชาเวซ ประธานาธิบดีของเวเนซุเอลา เพิ่งออกมาประกาศต่อชาวโลกว่ามันเป็นกระบวนการทดลองอาวุธเพื่อเปลี่ยนภัยพิบัติทางธรรมชาติ และทำให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงที่เฮติ อเมริกากำลังเล่นกับพระเจ้า

ที่ญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวหลายครั้ง ก็มีคนไปสำรวจพบสนามแม่เหล็กต่ำจริงๆ เกิดก่อนที่จะมีสึนามิ และพบว่าคลื่นความถี่มีการส่งมาแบบผิดปกติ

นายปานเทพอ้างต่อไปว่า ความคิดนี้อาจใหม่สำหรับไทย แต่เราต้องตระหนักว่าเป็นการทำให้ทั่วโลกกังวล จึงไม่แปลกใจกองทัพจีนต้องมาคุยกับกองทัพไทย แล้วใครจะเป็นฐานให้เรื่องแบบนี้ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในฐานะที่ปลอดภัย

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันโลกตะวันออกมีหลายประเทศผงาดขึ้นมา เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บวกกับภาวะถดถอยในโลกตะวันตก สหรัฐฯจึงกังวลมากว่าตัวเองจะไม่มีอิทธิพลต่อโลกแล้ว จีนเป็นมหาอำนาจเดียวที่ท้าทายสหรัฐฯ โดยตรง เขาก็มองว่าไทยเป็นเวทีของการแข่งขันช่วงชิงอิทธิพลระหว่างสหรัฐฯ-จีน ส่วนเหตุการณ์ที่นายปานเทพพูดเรื่องโครงการ H.A.A.R.P. มันต้องดูบริบทว่าทำไมต้องเป็นช่วงนี้ แล้วอู่ตะเภาเองก็ใช้อยู่แล้ว นักการเมืองไทยต้องถามตัวเองว่าเราได้อะไรจากสิ่งเหล่านี้ ถ้าอันนี้มันจริง มันจะเป็นอาวุธในการจัดการประเทศที่เป็นศัตรู อันตรายมากๆ เป็นการทำลายมนุษยชาติอย่างนิ่มนวล เพราะเกิดความตายจากภัยพิบัติไม่ใช่ฝีมือมนุษย์เหมือนสงคราม เป็นมหาอำนาจที่กำหนดว่าคุณตายเมื่อไหร่ ตายอย่างไร ตายแบบไหน อาจคิดว่าเป็นแค่จินตนาการ แต่ตนคิดว่ามันมาถึงจุดที่เทคโนโลยีสามารถทำได้ มันน่ากลัวมาก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จดหมายเปิดผนึกจากอดีตอธิการบดี (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ) ถึงประธานที่ประชุมอธิการบดี: ขอเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของ ม.112

Posted: 21 Jun 2012 04:26 AM PDT

จดหมายเปิดผนึกจากอดีตอธิการบดี ถึงประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย 
Open Letter to All Rectors in Thailand (to become Siam)

17 มิถุนายน 2555
ตลิ่งชัน ธนบุรี สยามประเทศไทย

เรื่อง ขอเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของกฏหมายอาญา มาตรา 112

เรียน ศ. ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธาน “ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย”
อาคารจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กทม 10330
cupt@chula.ac.th, www.cupt-thailand.net,

สำเนา ส่งอธิการบดีทุกท่าน

 

สืบเนื่องจากการที่ท่าน และผู้ที่ได้รับสำเนานี้ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ  เพื่อรับผิดชอบในงานวิชาการและงานบริหาร สถาบันการศึกษาระดับสูงทั่วประเทศ และสืบเนื่องจากการที่ประเทศของเรา กำลังเผชิญปัญหาทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย กับ “การสมานฉันท์” ในชาติ ทั้งนี้โดยมีส่วนที่เกี่ยวเนื่องและเกี่ยวพัน กับหลักการณ์และการบังคับใช้ กฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้นั้น

เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันถูกต้อง ทั้งในด้านตัวบทกฎหมาย ทั้งในด้านวิชาการ ทั้งในการแก้ไขร่วมกันในหมู่่อธิการบดี ครูบาอาจารย์ ของประเทศ และเพื่อจักได้ดำเนินการให้นิสิต นักศึกษา ตลอดจนเยาวชนของชาติ มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และกฎหมายของชาติ ที่สำคัญยิ่งยวดต่อสถาบันกษัตริย์ ตลอดจนความจำเป็น ที่จะต้องมีการปฏิรูปแก้ไข กฎหมายดังกล่าว เพื่อประโยชน์สุขของชาติ และราษฎรไทย ผมใคร่ขอเรียนเสนอความเห็น ที่ทั้งได้ประมวลมาจากมิตรสหายที่เป็นครูบาอาจารย์ และที่เป็นนักวิชาการทั้งในและนอกประเทศ ตลอดจนความคิดเห็นส่วนบุคคลของผม ความทราบแล้วนั้น จึงใคร่ขอรวบรวมและเสนอมา ดังต่อไปนี้

(หนึ่ง) จากการศึกษาและจากการสอน “วิชาประวัติศาสตร์การเมืองสยาม/ไทย” มาเป็นเวลานานปีผมได้พบว่า ขณะนี้สังคมและประชาชนไทยของเราเผชิญต่อปัญหาที่ท้าทายอย่างยิ่ง คล้ายๆกับที่ได้เผชิญมาแล้วเมื่อ พ.ศ. 2475 (1932) คือเมื่อ 80 ปีที่แล้วในเรื่องของ “รัฐธรรมนูญ” ที่ถ้ามองจากเหรียญด้านหัวของ “คณะเจ้า” ก็กล่าวกันว่า “คณะราษฎร” ใจร้อน ชิงสุกก่อนห้าม แต่ถ้ามองจากเหรียญด้านก้อยของ “คณะราษฎร” ก็เชื่อกันว่า “คณะเจ้า” นั่นแหละ ล่าช้า อืดอาด ไม่ทันโลก ผ่านจาก “การปฎิรูป พ.ศ. 2435/1893) รัชกาลที่ 5 (ตรงกับสมัยจักรพรรดิเมจิ) ก็แล้ว จนถึงรัชการที่ 6 (ทดลองดุสิตธานีก็แล้ว) รัชกาลที่ 7 (ทรงให้ที่ปรึกษาต่างชาติ ร่างรัฐธรรมนูญก็แล้ว) ก็ยังไม่พระราชทานรัฐธรรมนูญเสียที จึงมี “ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์” ที่จะต้องมี “การปฏิวัติประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475”  เพื่อเปลี่ยน “ระบอบราชาธิปไตย” ให้เป็น “ระบอบประชาธิปไตย”

ปัญหาที่สังคมและประชาชนไทย เผชิญอยู่ในสมัยรัชกาลปัจจุบัน ก็คือ เราจะสามารถปฏิรูป และแก้ไข “กฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112” ได้ช้า หรือได้เร็ว และจะทันท่วงทีกับสถานการณ์ของการเมืองภายในของเราเอง กับสถานการณ์ของการเมืองระหว่างประเทศหรือไม่ นี่คือปัญหา ของ “เหรียญสองด้าน” ที่เราต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างด้านหัว กับด้านก้อย ระหว่าง “กลุ่มอำนาจเดิม-พลังเดิม” กับ “กลุ่มอำนาจใหม่-พลังใหม่”

(สอง) จากการศึกษาของผม พบว่ามีข้อมูลใหม่ๆเกี่ยวกับ ปัญา กม.หมิ่นฯ ม. 112 ปรากฎอยู่ในหนังสือเล่มใหม่ที่ ฯพณฯอานันท์ปันยารชุน เป็นประธานรวบรวมและจัดพิมพ์ ในวโรกาศ 84 พรรษา ชื่อเรื่อง King BhumibolAdulyadej: A Life's Work หนา 383 หน้าราคา 1, 235 บาท หรือ 40 US$ มีนักเขียนที่มีชื่อเสียงด้านวิชาการ เช่นคริสเบเกอร์-พอพันธ์ อุยยานนท์-เดวิด สเตร็กฟุส ร่วมด้วย

ในหนังสือเล่มนี้บทที่ว่าด้วย  “กฎหมายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย...” หน้า 303-313 (The Law of Lese Majeste) มีข้อความถอดเป็นภาษาไทยได้ดังนี้   

“จากปีพ.ศ. 2536 (1993) ถึงปี พ.ศ. 2547 (2004) เป็นเวลาถึง 11 ปี โดยยเฉลี่ยแล้ว จำนวนคดีหมิ่นฯใหม่ๆ ลดลงครึ่งหนึ่ง  และก็ไม่มีคดีหมิ่นฯเลย ในปี 2545 (2002).....

..อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาเร็วๆนี้  จำนวนคดีหมิ่นฯที่ผ่านเข้ามาในระบบศาลของไทยนั้น  เพิ่มขึ้นอย่างน่าสังเกต  ในปีพ.ศ. 2552 (2009) มีคดีฟ้องร้องที่ส่งไปยังศาลชั้นต้น  สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 165.....

(สาม) ข้อความดังกล่าวยังขยายความต่ออีกว่า “ขณะนี้ประเทศไทยมีกฎหมายหมิ่นฯ  ที่มีโทษรุนแรงที่สุดในรอบหนึ่งร้อยปี เทียบได้ก็แต่ระบบกฎหมายของญี่ปุ่นในสมัยสงคราม (โลกครั้งที่ 2) เท่านั้น  โทษขั้นต่ำสุด (ของไทย) เท่ากับโทษสูงสุดของจอร์แดน  และเป็นสามเท่าของโทษในประเทศระบอบกษัตริย์โดยรัฐธรรมนูญในยุโรป.... 

นี่นับได้ว่าสูงสุดในมาตรฐานสากลของอารยประเทศ   ซึ่งก็ทำให้ “ราชอาณาจักรไทย” สมัยรัชกาลปัจจุบันนี้ มีคดีหมิ่นฯขึ้นโรงขึ้นศาล มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของโลกเช่นกัน

ผมคิดว่าข้อมูลเชิงประจักษ์จากหนังสือสำคัญเล่มนี้  ก็น่าจะเพียงพอที่จะทำให้เราๆท่านๆทั้งหลาย  จักต้องนำมาพิจารณาเพื่อปฏิรูปปรับปรุงแก้ไข  ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงคดีที่ ค้างคากันอยู่จำนวนมาก  รวมทั้งกรณีของ “อากง” (ที่เสียชีวิตไปแล้วในคุก) และ/หรือ “จีรนุช/สมยศ/ดาตอร์ปิโด/ก้านธูป” ฯลฯ 

(สี่) ข้อเสนอของ “ครก. 112” “คณะนิติราษฎร์” และ“กลุ่มสันติประชาธรรม ”ตลอดจนคนหนุ่มคนสาว นักคิดนักเขียน กวีรุ่นใหม่ และประชาชนธรรมดาๆโดยทั่วไป ให้ปฏิรูปแก้ไข กม.หมิ่น ม. 112 นั้น เป็นข้อเสนอที่ผมได้ไตร่ตรองทางวิชาการ ทั้งทางด้านรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และนิติศาสตร์แล้ว  และเห็นพ้องด้วย ควรสนับสนุน  จึงได้ลงนามร่วมไปกับทั้งบรรดาอาจารย์ และบุคคลทั้งหลาย จำนวนมากหลายต่อหลายหมื่นชื่อ

ข้อเสนอของ“ครก. 112” “คณะนิติราษฎร์” และ “กลุ่มสันติประชาธรรม ”ตลอดจนคนหนุ่มคนสาว นักคิดนักเขียน กวีรุ่นใหม่ และประชาชนธรรมดาๆโดยทั่วไป ถ้าสามารถผลักดันให้ดำเนินการให้ผ่านสภาฯได้ มี สส. สว. ที่มีทัศนะกว้างไกล มีความกล้าหาญทางจริยธรรมทางการเมือง รับลูกที่จะดำเนินการต่อในกรอบของกฎหมาย ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ก็จะช่วยให้สังคมไทยของเรา มีสันติสุข  และจะทำให้สถาบันกษัตริย์ของเรา มั่นคง สถาพร และที่สำคัญคือได้มาตรฐานสากล ดังเช่นนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหราชอาณาจักร และยุโรปตะวันตก ไม่ทำให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอ เกิดปัญหาภายใน และล่มสลายไปอย่างในยุโรปตะวันออก ในตะวันออกกลาง ในเอเชียตะวันออก และ/หรือเอเชียใต้

(ห้า) จากการศึกษาทางวิชาการของผม พบว่าสหราชอาณาจักร ยุโรปตะวันตก (อาจรวมหรือไม่รวมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกรณีพิเศษที่แพ้สงคราม และถูกสหรัฐฯยึดครอง กับเขียนรัฐธรรมนูญบังคับใช้)ต่างก็มีสถาบันกษัตริย์ที่มั่นคง สถาพร เพราะต่างได้ปฏิรูป แก้ไขให้สถาบันกษัตริย์ เป็นสถาบันที่ใช้ “พระคุณ” ที่กอร์ปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ยังให้เกิดความรัก ความเชื่อ ความศรัทธามากกว่าการใช้ “พระเดช” ที่ทำให้เกิดความกลัว ความเกลียดชัง และข่มขู่ด้วยคุก ด้วยตาราง

หรือแม้แต่การใช้ความรุนแรง เข้าประหัตประหาร ทำลายชีวิตกัน  

เราได้เห็นมาแล้วในโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับ ฯพณฯปรีดี พนมยงค์ของเรา (และเหยื่อในกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8) กับดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือเหยื่อในเหตุการณ์ “6 ตุลาวันมหาวิปโยค 2519” กับเหยื่อในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต 2553” หรืออีกหลายๆเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นกับผู้คนในชนบท หรือผู้คนชายแดนชายขอบ ที่ห่างไกล และหลุดไปจากหน้าประวัติศาสตร์ กับความทรงจำของคนแบบเราๆ ท่านๆ ในเมืองหลวง ฯลฯ

แน่นอน ผมทราบดีว่าบรรดาอารยประเทศในยุโรปตะวันตก ส่วนใหญ่ก็มี “กม หมิ่นฯ” เช่นกัน แต่ทั้งการลงโทษ กับการบังคับใช้ ก็หาได้รุนแรง สาหัสสากรรจ์ พร่ำเพรื่อ และที่สำคัญคือ ปล่อยให้ ม. 112 กลายเป็นเครื่องมือ “ทางการเมือง” ของนักการเมืองทั้งในหรือนอกเครื่องแบบ หรือสวมสูท ผูกเน็คไทใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการทำลายฝ่ายตรง

(หก) ผมอยากจะขยายความต่ออีกว่า ถ้าเราจะรักษาสถาบันประชาธิปไตย ควบคู่กันไป กับการรักษาสถาบันกษัตริย์ เราต้องปฏิรูป กม.หมิ่นฯ ม. 112 เราต้องดูตัวอย่างของประเทศ ที่มี “สถาบันประชาธิปไตย” อยู่ร่วมกันได้ กับ “สถาบันกษัตริย์” เราต้องดูประเทศที่ศิวิไลซ์ ที่เป็นอารยะ ไม่ดูประเทศที่ล้าหลัง เราต้องดูที่ที่เป็นมาตรฐานของโลก ซึ่งในเรื่องนี้ เราหนีไม่พ้นที่จะต้องดูแบบของอังกฤษ (ที่เราเรียนรู้และลอกเลียนแบบมานับแต่ คำขวัญ-สีธงชาติ-เพลงสรรเสริญพระบารมี-เครื่องแบบราชการ-เครื่องราชฯ-สายสะพาย-การถวายคำนับ-การถอนสายบัน นานานับประการ)

หรือแบบของประเทศในยุโรปตะวันตก (ที่ตามแบบของอังกฤษ) ที่รักษา “สถาบันกษัตริย์” ไว้ได้

ทำให้ “สถาบันกษัตริย์” กับ “สถาบันประชาธิปไตย/ประชาชน” อยู่คู่กันไปไม่ใช่ทำให้ “สถาบันกษัตริย์” ขัดแย้งกับ “สถาบันประชาธิปไตย”

สังคมไทย ถึงจุดที่กำลังถูกท้าทายอย่างมาก เราต้องไม่ฝืนกระแสโลก ยิ่งทุกวันนี้ การสื่อสารเร็วขึ้น มีโซเชียลเน็ตเวิร์ค  มีเฟซบุ๊ค มียูทูบ ถ้าไม่ดูปัจจัยภายนอกเลย เรามีสิทธิพังได้ง่ายๆ

การที่มีนักวิชาการ ผู้คนจำนวนไม่น้อย บอกว่าสังคมไทยของเรานั้น ไม่ควรนำไปเปรียบเทียบ กับสังคมประเทศอื่นใดเลยนั้น สังคมไทย แม้จะมีลักษณะพิเศษก็จริง แต่เราก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ ถ้าเราดูในโลกนี้ องค์การสหประชาชาติ มีประเทศสมาชิก 193 ประเทศ ผมถามว่าประเทศส่วนใหญ่ เป็นระบบสถาบันกษัตริย์ หรือระบบประธานาธิบดี คำตอบคือประมาณ15เปอร์เซ็นต์ หรือ 30 ประเทศเท่านั้น เป็นระบอบกษัตริย์ ในขณะที่ระบอบสาธารณรัฐ หรือ ประธานาธิบดีมีถึง 85 เปอร์เซ็นต์ หรือ 163 ประเทศ (โปรดดูรูปถ่ายงาน Diamond Jubilee ของควีนอลิซาเบท อังกฤษ เมื่อเร็วๆนี้)

เราต้องดูโลกใบใหญ่ให้เห็นว่าโลกใบนี้ เป็นอย่างไร เราฝืนกระแสโลกไม่ได้ ถ้าเราทำให้ “สถาบันกษัตริย์” กับ “สถาบันประชาธิปไตย” ขัดแย้งกัน สังคมไทยจะมีปัญหาแน่ๆ แต่ถ้าเราสามารถทำให้สองสถาบันนี้ อยู่ร่วมกัน ควบคู่กันไปได้ สังคมนี้ก็จะมีความหวัง ไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรง เหมือนที่เคยเกิดรบราฆ่าฟันกันมาหลายต่อหลายยก ไม่ว่าจะเป็น“วันมหาปิติ 14 ตุลา 2516”, “วันมหาวิปโยค 6 ตุลา 2519”, “วันพฤษภาเลือด 2535 (ขอย้ำว่าไม่ใช่ “พฤษภาทมิฬ” เพราะชนชาติทมิฬจำนวนหลายสิบล้านคนในอินเดียใต้ ผู้ให้กำเนิดอักษร และตัวเลขมอญ/พม่า/เขมร/ไทย/ลาวหาได้มีส่วนกับการรบราฆ่าฟันของ “ไทยกับไทย” ที่ราชดำเนิน หรือราชประสงค์ไม่”) รวมถึงเหตุการณ์ “เมษาพฤษภาอำมหิต 2553” ด้วย

(เจ็ด) ท้ายที่สุด ผมค่อนข้างเป็นห่วงว่าการปฏิรูปแก้ไข กม.หมิ่นม. 112 นี้ คงจะยากเย็นเข็ญใจยิ่งเพราะมีแรงต้านทานจาก“พลังเดิม-อำนาจเดิม” ที่เต็มไปด้วย“โลภะโทสะโมหะและอวิชชา”สูง ส่วน“พลังใหม่-อำนาจใหม่” ก็มีทั้งที่เฉื่ยยชา เมินเฉย “ได้ดีแล้วก็ทำเป็น (วัว) ลืม (ตีน)” บางคน“เกี้ยเซี๊ยะ” บางคน “มือไม่พายแล้ว (แถม)ยังเอาเท้าราน้ำ” คนจำนวนไม่น้อย ที่อยู่ในสังคมชั้นสูง

ที่ผมจำเป็นต้องพบปะเป็นครั้งคราว คุยกันทีไร ก็มักบอกกับผมว่า “เห็นด้วยๆๆ” แต่ก็มีน้อยคนที่ในที่แจ้ง ในที่สาธารณะ จะกล้าออกมาพูด มาแสดงความคิดเห็น ขีดเขียนเพื่อสังคม

ผมจึงเป็นห่วงว่า ถ้าเป็นกันแบบนี้ โอกาสที่สังคมนี้จะแตกหัก ไปไกลจนถึงนองเลือดเหมือนๆ “พฤษภาเลือด 2535” หรือ  “เมษา/พฤษภาอำมหิต 2553” เกิด “กาลียุค” ดังที่ปรากฏอยู่ใน“เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” และบนหน้าบันกับทับหลัง“ปราสาทเขาพนมรุ้ง กับ ปราสาทเขาพระวิหาร” (ปางทำลายล้างโลกของ “ศิวนาฏราช” กับปางสร้างโลกใหม่ของ” นารายณ์บรรทมสินธุ์”)

ถ้ามองตามกาลานุกรมประวัติศาสตร์ ที่ผมได้เล่าเรียนมา สังคมไทยของเรา ก็ยังพอมีโอกาส ที่จะ “ปลดล๊อค” ปลดเงื่อนไขการนองเลือด หรือ“กาลียุค”ได้ แต่ก็นั่นแหละ สังคมนี้ก็ต้องการผู้ที่มี “ความกล้าหาญทางจริยธรรม” สูงมากในการทำภารกิจนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเสียสละของผู้ที่อยู่ในปีกของ“พลังเดิม”กับ“อำนาจเดิม”

(แปด) การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญๆ ของไทย และของสากลโลก ก็ใช้ผู้คนจำนวนไม่มาก บางทีก็เพียงสิบ บางทีก็เพียงร้อย ที่จะก้าวขึ้นมาเป็น“ผู้ก่อการ” ในการเปลี่ยนแปลง

แน่นอน “ผู้ก่อการ” จำนวนไม่มากนักนั้นต้องได้รับแรงสนับสนุนจากสังคมจากผู้คนส่วนใหญ่ ที่เป็น “ตัวจริงของจริง” จึงจะทำการณ์ได้สำเร็จ

ผมอยากจะเชื่อว่า ณ บัดนี้ สังคมสยามประเทศไทยเรามี “ตัวจริงของจริง” มีประชาชนที่หลากหลายจำนวนมากมายมหาศาล ทั้งในกรุง ในเมือง ในชนบทอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนที่พร้อมแล้ว สำหรับการเปลี่ยนแปลง แก้ไขและปฏิรูป กม.หมิ่น ม. 112 ที่จะทำให้ทั้ง“สถาบันประชาธิปไตย-ประชาชน” และ“สถาบันกษัตริย์” อยู่ร่วมกันได้โดยสันติ ในกรอบของ“เสรีภาพเสมอภาค และภราดรภาพ” ต้องตามเจตนารมณ์ และจิตวิญญาณของ “กบฏประชาธิปไตย ร.ศ. 130” เมื่อ 100 ปีที่แล้ว กับ “ปฏิวัติประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475” เมื่อ 80 ปีที่แล้ว และ“ปฏิวัติประชาชน 14 ตุลาคม 2516” เมื่อ 39 ปีที่แล้ว

“คบเพลิงของการต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตย เพื่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน”ได้ถูกส่งต่อมายังคนรุ่นเราๆ ท่านๆ ณ วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเก่าเช่น “รุ่นตุลา 2519”  หรือ รุ่นกลางเก่ากลางใหม่ “รุ่นพฤษภา 2535” หรือรุ่นล่าสุด “รุ่นเมษา/พฤษภา 2553”

 

ขอแสดงความนับถือ
นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

หมายเหตุ
ถ้าท่านต้องการรักษา สถาบันกษัตริย์ ให้อยู่มั่นคง คู่กับ สถาบันประชาธิปไตย (ของสยามประเทศไทย.) ท่านต้องปฎิรูป กม. หมิ่น มาตรา 112 และปลดปล่อย นักโทษการเมือง ถ้าท่านต้องการรักษา สถาบันกษัตริย์ให้สถาพร มั่นคง เช่น ในสหราชอาณาจักร และ ยุโรปตะวันตก ท่านต้องปฎิรูป กม. หมิ่น มาตรา 112 และปลดปล่อย นักโทษการเมือง 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โปรดฟังอีกครั้ง ทราบแล้วโปรดเพิกเฉย (ศ.รธน.)

Posted: 21 Jun 2012 03:56 AM PDT

"โปรดฟังอีกครั้ง"

เป็นคำกล่าวที่มักจะถูกใช้ในการกล่าวนำในการประกาศระหว่างการทำปฏิวัติหรือรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจ เป็นการประกาศเพื่อให้มีการดำเนินการตามคำประกาศ/กฎ/ระเบียบที่ฝ่ายที่ยึดอำนาจได้บัญญัติขึ้นเพื่อให้มีการปฏิบัติตาม

มีการใช้นับตั้งแต่การทำการปฏิวัติโดยคณะราษฎรวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงการทำรัฐประหารครั้งล่าสุด 19 กันยายน 2549 ซึ่งปีนี้เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทยครบรอบ 80 ปี ที่มาพร้อมคำประกาศของคณะราษฎร ว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย"

แต่มาถึงวันนี้ทำให้เกิดข้อกังวลที่สำคัญยิ่ง ผู้เขียนจึงขอประกาศจุดยืนและทำความเข้าใจแก่ประชาชนทั้งหลายเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยที่กำลังถูกรุกรานผ่านบทความนี้

สืบเนื่องจากการที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ลงนามในหนังสือชี้แจงตามข้อกล่าวหามาตรา 68 (รธน.) ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2555 ต่อศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องไว้พิจารณากรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 291 ของคณะรัฐมนตรี รัฐสภา พรรคการเมือง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ยื่นโดยกลุ่ม ส.ส. ส.ว. และประชาชน จำนวน 5 สำนวน ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2555

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ได้มีประชาชน นักการเมือง นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและด้านรัฐศาสตร์หลายต่อหลายท่านรวมทั้งผู้เขียนเองได้ออกมาเรียกร้องและเขียนบทความขอให้รัฐบาลและรัฐสภาเพิกเฉยต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญสืบเนื่องจากการรับคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดอีก แต่จะขอหยิบยกมาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับข้อเรียกร้องสืบเนื่องจากการกระทำของประธานสภาฯ ดังนี้ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://prachatai.com/journal/2012/06/40955)

"ผู้เขียนขอเรียกร้องให้รัฐสภาเพิกเฉยต่อคำสั่งศาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ และ/หรือตอบโต้ด้วยการชี้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ และทำหน้าที่ของรัฐสภาต่อไป"

"เมื่อมีคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องมีหนังสือชี้แจงภายใน 15 วัน หากรัฐสภาทำหนังสือชี้แจงตามที่ศาลได้มีคำสั่งมานั้นและ/หรือไม่ดำเนินการลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 การกระทำดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นการยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้โดยนัยแล้วหรือไม่ เพราะการกระทำการใดที่เป็นการแสดงออกถึงการยอมรับว่าอำนาจดังกล่าวมีอยู่จริง ทั้งที่ไม่มีอยู่จริง จะถือเป็นการสถาปนาอำนาจนอกรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่หรือไม่ ถือเป็นการทำลายกลไกการปกครองระบอบประชาธิปไตย หลักการแบ่งแยกอำนาจ และเป็นการสร้างบรรทัดฐานขึ้นในสังคมไทย เพราะการไม่ปฏิเสธและไม่ตอบโต้เท่ากับเป็นการยอมรับ ซึ่งอาจจะถูกนำมาสร้างเป็นบรรทัดฐานต่อไปได้"

(จากบทความ: ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กับอภิมหากาพย์มาตรา 68 (รธน.) โดยผู้เขียน เผยแพร่วันที่ 9 มิถุนายน 2555)

แม้เป็นที่ปรากฏชัดแล้วว่าจะไม่มีการลงมติพิจารณารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในสมัยการประชุมสภานิติบัญญัติสมัยนี้ด้วยการตรา พ.ร.ฎ.ปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ 2555 ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2555 ตามพระบรมราชโองการลงวันที่ 15 มิถุนายน 2555 และมีการออกมายืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าทั้งจากประธานสภาและพรรคเพื่อไทยว่าจะไม่มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณารับร่างฯวาระ 3 จนกว่าจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยหน้าในวันที่ 1 สิงหาคม 2555 (ยังไม่มีการยืนยันว่าจะมีการลงมติรับร่างฯในการประชุมสภาสมัยดังกล่าว) ทั้งที่มีแรงสนับสนุนทั้งจากกลุ่มที่ชอบและไม่ชอบคุณทักษิณ แต่รัฐบาลและรัฐสภาเลือกที่จะถอย ด้วยเหตุผลกลใดคงเป็นสิ่งที่ผู้เขียนไม่อาจล่วงรู้ได้ เพียงแต่สัญนิษฐานได้ว่าการทำหน้าที่ของรัฐสภาเองหรือแม้แต่รัฐบาลเองไม่ได้อยู่ในกรอบหรือกระบวนการที่พึงจะกระทำได้ในระบบ/ระบอบปกติ ดังนั้นข้อเรียกร้องสุดท้ายที่พึงมีคือ เรียกร้องให้รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา “เพิกเฉย” ต่อคำสั่งดังกล่าว เพราะคำสั่งที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายย่อมไม่มีผลผูกพันไม่ต้องปฏิบัติตาม ผู้เขียนขออธิบายโดยสังเขป ดังนี้

“การเพิกเฉย” หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า "ignore" ปรากฎตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษหมายถึง การปฏิเสธการรับทราบหรือการรับรู้ใดๆ เป็นการมองข้ามโดยมีเจตนา (refuse to take notice of or acknowledge; disregard intentionally) ซึ่งหากจะมองในบริบทกฎหมายเทียบเคียงได้ปรากฏตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคท้าย ได้แก่คำว่า "งดเว้น" ซึ่งมีความหมายเป็นหนึ่ง “การกระทำ” ตามประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติองค์ประกอบความผิดว่าจะต้องประกอบด้วย “การกระทำ” และ “เจตนา”

"มาตรา 59 วรรคท้าย การกระทำ ให้หมายรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยการงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย"

โดยหลักการ "การงดเว้น" ที่เป็นการกระทำที่จะเป็นความผิดได้นั้นจะต้องเป็นการงดเว้นการกระทำในสิ่งที่ตนมีหน้าที่จะต้องกระทำ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ตามกฎหมายตามสัญญาหรือไม่มีสัญญาก็ได้ กรณีที่ไม่มีสัญญา ตัวอย่างคลาสสิค เช่น มารดาที่จะต้องมีหน้าที่ให้นมแก่บุตรทารก การงดเว้นเป็นเหตุให้บุตรของตนเสียชีวิตย่อมเป็นความผิด “การงดเว้น” ตามมาตรา 59 จึงสอดคล้องกับมาตรา 57 ประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้คำว่า "ละเว้น" ในการกระทำที่เป็นการกระทำของ “เจ้าพนักงาน”

"มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ.."

ตามมาตรา 157 ระบุคำว่า “โดยมิชอบ” ซึ่งหมายถึงการไม่ทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และมี “เจตนาพิเศษ” คือ การกระทำที่มีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด กฎหมายระบุว่า การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จะต้องเป็นการละเว้นหน้าที่ตามกฎหมายบัญญัติให้ต้องปฏิบัติตาม หากเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นย่อมไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรานี้  ส่วน “โดยทุจริต”  หมายถึง การแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 1 ประกอบ มาตรา 157)

ดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีบุคคลทั่วไป "งดเว้น" (มาตรา 59) หรือเจ้าพนักงาน "ละเว้น" (มาตรา 157) การงดเว้น การละเว้น หรือการเพิกเฉยที่จะเป็นความผิดได้จะต้องเป็นการงดเว้น ละเว้น หรือเพิกเฉยในการที่ตนมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติเท่านั้น ดังนั้น การงดเว้น ละเว้น หรือเพิกเฉยในการใดๆ ที่ตนไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามย่อมไม่เป็นความผิด มิพักต้องพิจารณาว่าเป็นการละเว้นการกระทำที่ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ โดยทุจริต ซึ่งผู้เขียนมองว่าห่างไกลจากความผิดตามมาตรานี้มาก หากแต่ไมนับว่ามีการกระทำซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลที่ตรงกันข้ามได้

ลองมาดูในรัฐธรรมนูญบ้าง มาตรา 74 และมาตรา 244 ได้ระบุคำว่า “ละเลย” โดยมาตรา 74 ระบุว่า บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม (วรรค 1) การละเลยหรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหน้าที่ดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิขอให้บุคคลดังกล่าวหรือผู้บังคับบัญชาของบุคคลดังกล่าวชี้แจง แสดงเหตุผล และขอให้ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติ.. (วรรคท้าย) มาตรา 244 ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในการปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย (1 (ข)) ตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรในกระบวนการยุติธรรม.. (1 (ค))

สังเกตได้ว่าการ “ละเลย” ตามรัฐธรรมนูญก็ได้ระบุเช่นเดียวกันคือ จะต้องมี “หน้าที่” ที่จะต้องปฏิบัติ

มาถึงจุดนี้ ผู้เขียนขอสรุปแบบกระชับให้เป็นที่เข้าใจง่ายๆ ว่า การที่บุคคลที่ใช้อำนาจรัฐไม่ว่าจะเป็นผู้ออกคำสั่งหรือผู้ปฏิบัติตามคำสั่งจะต้องการทำตามกรอบอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติกฎหมายโดยสุจริตจึงจะเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตาม ขอย้ำให้ชัดอีกครั้งว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญกระทำการโดยไม่มีอำนาจแล้วจึงไม่สามารถก่อให้เกิดสิทธิตามมาตรา 213 รธน. ที่ระบุให้มีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐาน เรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ หรือให้ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดีได้

การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในครั้งนี้เป็นการรับคำร้องไว้โดยไม่มีอำนาจ ดังนั้นการออกคำสั่งให้รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีดำเนินการทำหนังสือชี้แจงจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผลคือไม่อาจก่อให้เกิดหน้าที่ตามกฎหมายที่รัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีจะต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด  อีกทั้งรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีไม่ใช่บุคคลหรือพรรคการเมืองตามมาตรา 68 รธน. โดย “รัฐสภา” เป็น “องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ” ตามรัฐธรรมนูญฯ หมวด 6 และ “คณะรัฐมนตรี” เป็น “องค์กรฝ่ายบริหาร” ตามรัฐธรรมนูญฯ หมวด 9 และการกระทำของทั้งสององค์กรเป็นการกระทำตาม "อำนาจหน้าที่" ที่บัญญัติให้ไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การใช้สิทธิ (Rights) และเสรีภาพ (Liberties) ของประชาชนและพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

กระนั้น แม้แต่พรรคการเมือง หรือ ส.ส. ส.ว. ที่ถูกกล่าวหาจะมีฐานะเป็นบุคคลหรือพรรคการเมืองตามมาตรา 68 ก็มิจำต้องยื่นหนังสือชี้แจงแต่ประการใด เนื่องจากการรับคำร้องเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่ก่อให้เกิดหน้าที่ตามกฎหมายจึงไม่จำต้องปฏิบัติตาม กล่าวคือ การยื่นคำร้องขอเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามมาตรา 68 นั้น จะกระทำได้ก็โดย “อัยการสูงสุด” เท่านั้น เช่นเดียวกัน การทำหน้าที่ของพรรคการเมือง หรือ ส.ส. ส.ว. ตามที่ถูกกล่าวหาไม่เป็นการกระทำโดยใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนและพรรคการเมืองแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจที่ให้ไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ตรงข้าม ศาลรัฐธรรมนูญเสียอีกที่กระทำการโดยที่ตนไม่มีอำนาจแต่ยังคงกล่าวอ้างอย่างเลอะเลือน

แต่เมื่อมีการยื่นหนังสือชี้แจงตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญนั้น การกระทำของ ส.ส. ส.ว. พรรคการเมือง คณะรัฐมนตรี และรัฐสภาย่อมถือเป็นการยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการรับคำร้องว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายเสียแล้ว เป็นการกระทำที่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญว่าการรับคำร้องโดยตรงจากบุคคลทั่วไปโดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุดเป็นการกระทำที่ชอบตามรัฐธรรมนูญ เป็นการยอมรับการเข้ามาตรวจสอบการทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา เป็นการยอมรับเขตอำนาจศาลที่ขยายขอบเขตอย่างไม่เหมาะสมที่ย่อมส่งผลเป็นการแทรกแซงการใช้อำนาจรัฐสภาในการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ เป็นการแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยโดยตรง

นอกจากนี้ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งนัดคู่กรณีไต่สวนในวันที่ 5 และ 6 กรกฎาคม 2555 ตั้งแต่เวลา 9.30 น. เป็นต้นไปนั้น ผู้เขียนขอเรียกร้องที่ผู้ถูกกล่าวหาทุกกลุ่มจะ “เพิกเฉย” ต่อคำสั่งดังกล่าว และปล่อยให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการตามทางพิจารณาตามกระบวนการไต่สวนของตนไปแต่ฝ่ายเดียวเพราะอำนาจการพิจารณาไต่สวนไม่ได้จำกัดให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยจากข้อมูลที่คู่กรณีให้หรือไม่ให้ไว้เท่านั้น ที่สำคัญแม้ในอนาคตไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องดังกล่าวออกมาไม่ว่าจะเป็นไปในทางบวกหรือลบ ผู้ถูกกล่าวหาทุกกลุ่มก็ไม่ควรถือเอามาเป็นสาระสำคัญในการทำหน้าที่ของตนอย่างเด็ดขาด เพราะจะถือเป็นการรับรองอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่ขัดกับหลักการที่สำคัญในกลไกการปกครองระบอบประชาธิปไตย หลักการแบ่งแยกอำนาจ และเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่บิดเบี้ยวขึ้นในสังคมไทยดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

ส่วนการกระทำของประธานสภาผู้แทนราษฎร ส.ส. ส.ว. พรรคการเมือง และคณะรัฐมนตรี ที่ได้มีการยื่นหนังสือชี้แจงตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วนั้น หรืออาจจะมีการเข้าร่วมการไต่สวนตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 5 และ 6 กรกฎาคม 2555 ด้วยหรือไม่ ผู้เขียนในฐานะประชาชนคนหนึ่งผู้มีสิทธิเต็มปรากฏตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ขอคัดค้านการกระทำของ ส.ส. ส.ว. พรรคการเมือง คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา อันเป็นการรับรองอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ทั้งปวง และผู้เขียนขอเรียกร้องประชาชนชาวไทยที่จะแสดงความคิดเห็นต่อต้านการกระทำที่เป็นการรับรองอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นการรับรองว่าเป็นการกระทำของรัฐอย่างสมบูรณ์อันจะนำมาสู่การกล่าวอ้างถึงอำนาจที่ผิดเพี้ยนนี้อีกในอนาคต

ในท้ายนี้ ไม่ว่า ส.ส. ส.ว. พรรคการเมือง คณะรัฐมนตรี รัฐสภา หรือแม้แต่รัฐบาลเองจะได้ยินเสียงเรียกร้องจากประชาชนตัวเล็กๆ เหล่านี้กันหรือไม่ ผู้เขียนก็จะขอประกาศอีกครั้งในฐานะประชาชนคนไทยผู้มีสิทธิเต็มตามรัฐธรรมนูญฯ ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ไม่ใช่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรืออำนาจอื่นใดที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ การสถาปนาและการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจเต็มของประชาชนซึ่งกระทำการผ่านรัฐสภา

ได้โปรดอย่าลิดรอนอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยอีก โปรดฟังอีกครั้ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐเตรียมรักษาเอดส์-ไต 3 กองทุนมาตรฐานเดียว มีคุณภาพต่อเนื่องแม้เปลี่ยนสิทธิ

Posted: 21 Jun 2012 03:35 AM PDT

นายกรัฐมนตรี เดินหน้าสร้างเสมอภาครักษาผู้ป่วยโรคเอดส์และโรคไต  3  กองทุน  เน้นการป้องกัน ลดผู้ป่วยรายใหม่และดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด ตามมาตรฐานการรักษา

นายกรัฐมนตรี  เดินหน้าสร้างความเสมอภาคการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเอดส์ ผู้ติดเชื้อกว่า 2 แสนคน  และโรคไตวายเรื้อรัง เกือบ 4 หมื่นคน ปรับระบบ 3 กองทุนใช้เกณฑ์เดียวกัน ได้รับดูแลต่อเนื่องแม้เปลี่ยนสิทธิ หลังกรณีผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินได้รับบริการมาตรฐานเดียวประสบผลสำเร็จ  

วันนี้( 21 มิถุนายน 2555) ที่ทำเนียบรัฐบาล กทม. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเชิงนโยบายเรื่องการสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสุขภาพภาครัฐครั้งที่ 5  ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน การดูแลระยะยาว  เรื่องยา การสร้างความเสมอภาคในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยใน 3 กองทุน ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพต่อเนื่องแม้มีการเปลี่ยนสิทธิ์ และการพัฒนาบริการการแพทย์ผ่านระบบอินเตอร์เนต (Thailand  eHealthcare Telemedicine CARE)

นายวิทยา กล่าวว่า รัฐบาลนำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เร่งเดินหน้าดำเนินการในเรื่องการสร้างความเสมอภาคในดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

ขณะนี้ประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รับยาต้านไวรัส 225,272 คน เป็นสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 148,357 คน หรือร้อยละ65.9  สิทธิประกันสังคม 46,114 คน หรือร้อยละ 20.5  สิทธิข้าราชการ 12,059 คน หรือ ร้อยละ5.4 และสิทธิอื่นๆ 18,742 คน หรือร้อยละ 8.3  โดยทั้ง 3 กองทุนได้เตรียมพร้อมที่จะดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งการรักษา  การบริหารยา /การเปลี่ยนสูตรยา ระบบสารสนเทศ การจัดหน่วยบริการ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ได้รับการดูแลที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง แม้มีการเปลี่ยนสิทธิ เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา โดยมีระบบสารสนเทศกลางที่เชื่อมโยงทุกระบบและรักษาความลับผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด  

ส่วนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีผู้ป่วย 38,780 คน แบ่งเป็น สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 20,077 คน สิทธิประกันสังคม 9,193คน สิทธิข้าราชการ 8,810 คน โดย 3 กองทุนจะปรับเกณฑ์การเข้ารับบริการทดแทนไตเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยใช้มาตรฐานกลาง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย รวมถึงปรับปรุงระเบียบให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเปลี่ยนสิทธิรักษาพยาบาลให้ได้รับการรักษาด้วยวิธีการเดิมอย่างต่อเนื่อง แม้มีการเปลี่ยนสิทธิ รวมถึงมีระบบข้อมูลสารสนเทศสำหรับประสานการรักษาการดูแลในภาวะภัยพิบัติ

ทั้งนี้  นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ทุกกองทุนดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุดตามมาตรฐานการรักษา  รวมทั้งมีการบูรณาการการป้องกันเพิ่มเข้าไปในบริการด้วย ทั้งโรคเอดส์และโรคไต การให้ความรู้ทางวิชาการ เพื่อลดผู้ป่วยรายใหม่ให้ได้มากที่สุด  โดยระดมทรัพยากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ วิจัยสาเหตุการเกิดโรคเรื้อรังทั้งโรคไตวายเรื้อรัง มะเร็ง เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

สำหรับการพัฒนาบริการการแพทย์ผ่านระบบอินเตอร์เนต(Thailand  eHealthcare Telemedicine CARE) ที่เชื่อมโยงการรักษาระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)กับโรงพยาบาลแม่ข่าย เพื่อปรึกษาแพทย์ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยขยายให้ครอบคลุมและเพิ่มการบริการให้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความก้าวหน้าบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555  เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2555 ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ 2,353 คน ใน 191 รพ.เอกชน ใน 50 จังหวัด แบ่งเป็นบริการผู้ป่วยนอกร้อยละ 28  และผู้ป่วยในร้อยละ 72  ใช้บริการในเขตกรุงเทพมหานครร้อยละ 42 และต่างจังหวัดร้อยละ 58 เฉลี่ยผู้รับบริการวันละ 32 คน ซึ่งการให้บริการตามโครงการนี้สามารถช่วยชีวิตประชาชนได้ ร้อยละ 92.6

ทั้งนี้ได้มีการหารือกับรพ.เอกชนเป็นระยะๆ เพื่อปรับปรุงระบบการสนับสนุนและการจัดการ เกี่ยวกับการย้ายผู้ป่วยหลังพ้นภาวะวิกฤติ และค่าใช้จ่ายหลังพ้นภาวะวิกฤติ ทิศทางที่จะดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินต่อไป คือ 1.สนับสนุนระบบบริการสาธารณสุขภาครัฐและเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลให้เพียงพอต่อการรับกลับ 2.พัฒนาระบบบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินและระบบการส่งต่อของประเทศ 3.ปรับปรุงการจ่ายชดเชยค่าบริการให้สะท้อนต้นทุนที่เหมาะสม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์ แอมเนสตี้: พม่า ต้องตอบสนองความต้องการด้านมนุษยธรรมและแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยทันที

Posted: 21 Jun 2012 03:24 AM PDT

แถลงการณ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

พม่า: ต้องตอบสนองความต้องการด้านมนุษยธรรม
และแก้ปัญหาการเลือกปฏิบั
ติอย่างเป็นระบบโดยทันที

            ในขณะที่สถานการณ์ในรัฐยะไข่ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือกำลังตึงเครียดมาก ทางการพม่าควรประกันให้ผู้พลัดถิ่นสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเต็มที่และไม่มีข้อจำกัด และให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ความรุนแรงในชุมชนที่เกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระและไม่ลำเอียง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555

            รัฐบาลพม่ายังควรหาทางยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในรัฐยะไข่โดยเร็วสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และอำนวยความสะดวกให้ผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติเข้ามาทำงาน และให้แก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบที่มีต่อชาวโรฮิงญาที่เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มน้อย ซึ่งเป็นปัญหาที่ดำเนินมานับทศวรรษ

            ปัจจุบันความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในอย่างน้อยแปดพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายนได้ลดลงอย่างมาก แต่การละเมิดสิทธิยังคงเกิดขึ้นต่อชาวยะไข่พุทธ ชาวยะไข่มุสลิม และชุมชนชาวโรฮิงญาที่เป็นมุสลิม รวมทั้งการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่ของเมืองดอและยะทีดอง

            ตามข้อมูลของรัฐบาล ประชาชนอย่างน้อย 50 คนได้ถูกสังหาร และกว่า 30,000 คนต้องอพยพหลบหนีความรุนแรง บ้านเรือนถูกทำลายหลายพันหลัง

            ต้องมีการตอบสนองความต้องการด้านมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานของประชาชนเหล่านี้โดยเร่งด่วน เนื่องจากพวกเขาขาดทั้งอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัยและยารักษาพยาบาล ทางการพม่าควรอนุญาตให้หน่วยงานช่วยเหลือทั้งในและนอกประเทศ สามารถเข้าถึงประชากรผู้พลัดถิ่นทุกคนอย่างเต็มที่และไม่มีเงื่อนไขจำกัด รวมทั้งผู้อพยพประมาณ 1,500 คนที่หลบหนีข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมายเข้าไปอยู่ในประเทศบังคลาเทศตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว

            เมื่อวานนี้ หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของบังคลาเทศได้กักตัวชายชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 150 คน ระหว่างที่พยายามหลบหนีเข้าประเทศด้วยเรือขนาดเล็กในแม่น้ำนาฟ พวกเขาหลบหนีการจับกุมโดยพลการของเจ้าหน้าที่ชายแดนพม่าและกองทัพพม่าตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ระหว่างอยู่ที่เมืองดอ

            ควรมีการสอบสวนสาเหตุเบื้องต้นของความรุนแรงอย่างถี่ถ้วน อย่างเป็นอิสระและอย่างไม่ลำเอียง และให้นำตัวผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ความมั่นคงมาลงโทษ

            แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อสังเกตต่อไปว่า สาเหตุความรุนแรงครั้งนี้มีความสำคัญเท่ากับผลกระทบที่เกิดขึ้น และทางการพม่าควรให้คำมั่นสัญญาแบบเดียวกันที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว

            การทำงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลกชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอาจเป็นสิ่งจำเป็นในบางกรณี แต่ก็เป็นการระงับสิทธิบางอย่างชั่วคราวแม้จะเป็นการปกป้องสิทธิส่วนอื่น ๆ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในรัฐยะไข่ควรยกเลิกโดยเร็วสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และควรให้คณะผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติ โดยเฉพาะที่ประกอบด้วยตัวแทนจากประชาคมอาเซียน ให้เข้าไปทำหน้าที่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง

            สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างชุมชนชาวยะไข่และโรฮิงญาเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านศาสนา ผู้สังเกตการณ์ควรพยายามประกันว่า ในการรักษาความสงบระหว่างชาติพันธุ์จะต้องไม่นำไปสู่การจำกัดเสรีภาพด้านศาสนา

            แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเน้นว่า การฟื้นฟูสภาพก่อนเหตุการณ์รุนแรงยังไม่เพียงพอ เนื่องจากในหลายทศวรรษที่ผ่านมานโยบายของทางการพม่ามีแนวโน้มที่จะเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อชาวโรฮิงญา ในระหว่างปี 2534-2535 กองกำลังทหารได้บังคับให้ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนต้องอพยพหลบหนีไป แม้ว่าพม่าจะเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่ทางการพม่ายังคงปฏิเสธไม่ยอมให้สัญชาติต่อลูกหลานชาวโรฮิงญา ผลจากการอ้างพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. 2525 เพื่อปฏิเสธการให้สัญชาติต่อบุคคล เป็นเหตุให้ชนกลุ่มน้อยด้านชาติพันธุ์และศาสนาสามารถเข้าถึงสิทธิอย่างจำกัดในด้านการเรียนหนังสือ การทำงาน การเดินทาง การแต่งงาน การปฏิบัติตามหลักศาสนา และการได้รับบริการด้านสุขภาพ

            ตามถ้อยคำของอดีตนักโทษการเมืองเมื่อเร็ว ๆ นี้ การเลือกปฏิบัติเช่นนี้เป็นผลมาจากอคติต่อชาวโรฮิงญาซึ่งลุกลามมากยิ่งขึ้น

            ทางการพม่าต้องอนุญาตให้ชาวโรฮิงญาได้รับสัญชาติ เพื่อให้ได้รับสิทธิอันพึงมีพึงได้ และให้ยกเลิกนโยบายและการปฏิบัติใด ๆ ที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อพวกเขา 

ข้อมูลพื้นฐาน
            ในวันที่ 28 พฤษภาคม ได้เกิดเหตุการณ์สังหารและข่มขืนกระทำชำเราต่อหญิงชาวยะไข่ที่เป็นพุทธอายุ 27 ปีที่เมืองดอ มีรายงานข่าวว่าวันต่อมา ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่เป็นมุสลิมสามคน ในวันที่ 3 มิถุนายน ฝูงชนชาวยะไข่ประมาณ 300 คนที่เมืองตองกุบ ได้บุกเข้าไปขวางรถโดยสารซึ่งกำลังเดินทางไปยังกรุงย่างกุ้ง เนื่องจากเชื่อว่าผู้กระทำผิดอยู่ในรถคันดังกล่าว จากนั้นได้ลากตัวผู้โดยสารชาวมุสลิม 10 คนลงมาซ้อมจนเสียชีวิต เป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงด้านชาติพันธุ์และศาสนาอย่างกว้างขวางและดำเนินสืบมาจนถึงวันที่ 14 มิถุนายน แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในรัฐยะไข่เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน แต่สถานการณ์ก็ยังตึงเครียดเช่นเดิม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมชาย ปรีชาศิลปกุล: ระบอบอำมาตย์ชราธิปไตย

Posted: 21 Jun 2012 03:20 AM PDT

อำมาตย์ชราธิปไตยเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีในการครอบงำสังคมการเมืองไทยของพลังฝ่ายอำมาตย์ในห้วงระยะเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา โดยปรากฏเป็นรูปแบบและโครงสร้างในทางการเมืองที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสำคัญ

สังคมการเมืองไทยกำลังอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองประเภทหนึ่ง ซึ่งควรจะมีชื่อเรียกอย่างเฉพาะเจาะจงว่า “อำมาตย์ชราธิปไตย”

อำมาตย์ชราธิปไตยเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีในการครอบงำสังคมการเมืองไทยของพลังฝ่ายอำมาตย์ในห้วงระยะเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา โดยปรากฏเป็นรูปแบบและโครงสร้างในทางการเมืองที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสำคัญ

ในอดีตที่ผ่านมา การครอบงำทางการเมืองของฝ่ายอำมาตย์ในสังคมการเมืองจะดำเนินไปโดยผ่านพลังของสถาบันทหาร ในด้านหนึ่งจะเป็นการใช้กำลังอำนาจในการเข้าแทรกแซงระบบการเมืองด้วยการรัฐประหารที่ปรากฏอย่างต่อเนื่อง และในสภาวะ “ปกติ” ก็ด้วยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองผ่านการแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก ซึ่งจะมีอำนาจมากไปถึงมากที่สุดผันแปรไปตามแต่ละยุคสมัย

แต่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและการขยายอิทธิพลของระบอบประชาธิปไตยในระดับโลก ทำให้การครอบงำของพลังฝ่ายอำมาตย์ไม่อาจจะดำเนินไปในรูปแบบเดิมอีกต่อไป เนื่องอาจต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านจากภายในและแรงกดดันจากนานาอารยะประเทศ ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนลักษณะของการครอบงำมาสู่รูปแบบอำมาตย์ชราธิปไตย

โดยอำมาตย์ชราธิปไตยเป็นการแทรกตัวเข้ามาในการขยายตัวของพลังประชาธิปไตยในช่วงทศวรรษ 2540 อันปรากฏขึ้นพร้อมกับความตกต่ำทางด้านความชอบธรรมของนักการเมืองจากการเลือกตั้งที่ยังคงปรากฏอย่างต่อเนื่อง แม้จะสามารถสร้างอำนาจนำทางการเมืองในระบบได้ จึงเป็นการเปิดทางให้กับพลังอำมาตย์เข้ามาช่วงชิงพื้นที่ของระบบการเมืองอย่างเป็นทางการในตำแหน่งขององค์กรอิสระที่ได้ถูกริเริ่มจัดตั้งขึ้นนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา

อำมาตย์ชราธิปไตย มีลักษณะสำคัญที่ผันแปรไปจากอำมาตยาธิปไตย ดังนี้

ประการแรก บุคคลที่จะมาทำหน้าที่จะมิใช่มาจากแวดวงทหารซึ่งเป็นผู้ยึดกุมอาวุธยุทโธปกรณ์ในการสงครามเช่นเดิม หากจะมาจากแวดวงตุลาการเป็นสำคัญ แม้จะมีได้มีปืน รถถัง กำลังพล แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ของกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะมาจากการอ้างความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ซึ่งสามารถจะตีความ/ให้ความหมายต่อกฎหมาย และสามารถทำให้บางฝักบางฝ่ายต้องสูญอำนาจในทางการเมืองไปได้ หากพิจารณาในแง่มุมดังกล่าวนี้ก็อาจไม่มีความแตกต่างไปจากการใช้รถถังในการยึดอำนาจรัฐในเชิงเนื้อหาแต่อย่างใด

อนึ่ง ก่อนที่จะสามารถเข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระได้แทบทั้งหมดต้องดำรงตำแหน่งหน้าที่ในระดับสูงของระบบราชการ ดังนั้น จึงทำให้บุคคลต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีอายุที่สูงหรืออยู่ในวัยชราอันเป็นบั้นปลายของชีวิต หากเปรียบเทียบกับข้าราชการในฝ่ายอื่นๆ ก็เป็นช่วงชีวิตขาลงที่เตรียมตัวเกษียณอายุราชการไปเลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน แต่สำหรับคนกลุ่มนี้อาจเป็นจุดเริ่มในการป่ายปีนเข้าสู่แวดวงอำนาจทางการเมือง 

ประการที่สอง การใช้อำนาจจะเข้ามาโดยผ่านองค์กรอิสระอันเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองไว้ด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการชี้เป็นชี้ตายในการแข่งขันทางการเมืองระหว่างกลุ่มต่างๆ

รูปแบบของอำมาตย์ชราธิปไตยจึงมิใช่การใช้อำนาจแบบดิบๆ ในทางการเมืองเฉกเช่นเดียวกับการรัฐประหารที่ปราศจากความชอบธรรมทางการเมืองรองรับ แต่อำมาตย์ชราธิปไตยเป็นการใช้อำนาจที่มีรัฐธรรมนูญรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคหรือตัดสิทธิทางการเมือง และในกรณีที่ถูกโต้แย้งว่าไม่มีรัฐธรรมนูญรองรับก็ต้องพยายามยืนยันว่าเป็นการใช้อำนาจตีความตามบทบัญญัติ (โดยหากไม่เชื่อก็สามารถเปิดอ่านรัฐธรรมนูญภาษาอังกฤษได้)

ประการที่สาม นอกจากการอ้างอิงถึงอำนาจตามกฎหมายแล้ว บรรดาบุคคลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบอบอำมาตย์ชราธิปไตยมักอ้างอิงถึงคุณลักษณะความดีความชั่วของบุคคล โดยเน้นย้ำถึงการสนับสนุนต่อการทำความดีและประณามการกระทำความชั่ว แน่นอนว่าการให้คำอธิบายเช่นนี้ย่อมก็สามารถกระทำได้ แต่ปัญหาก็คือว่าบุคคลที่เป็นคนดีก็มักอยู่แค่ในแวดวงของอำมาตย์ชรา และคนชั่วอยู่คือบรรดานักการเมืองเห็นแก่ตัว

สิ่งที่ติดตามมาก็คือหากบุคคลใดเป็นคนชั่วในทรรศนะของอำมาตย์แล้วก็จะต้องถูกกำจัดไป ไม่ว่าจะด้วยวิถีใดๆ ก็ตาม จะโดยชอบรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่สำคัญ ขอให้เพียงเป้าหมายดี วิธีการจะเป็นอย่างไรก็ไม่สำคัญ เพราะฉะนั้น หากถึงที่สุดแล้วถ้าจำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญก็ย่อมกระทำได้เพื่อปราบหมู่มารในสังคม

พร้อมกันไปก็มีการสร้างระบบการตรวจสอบแบบเข้มข้นกับนักการเมือง ขณะที่กับบรรดาอำมาตย์ด้วยกันแล้วไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเกิดขึ้นแต่ประการใด ถึงจะมีเรื่องฉาวโฉ่นานัปการเกิดขึ้น ไม่ว่าการใช้เส้นสายฝากงาน การวินิจคดีแบบไร้หลักวิชา แต่นั่นก็เป็นการใส่ร้ายจากฝ่ายตรงกันข้าม คนดีๆ อย่างพวกเราจะกระทำความชั่วได้อย่างไร คนดีย่อมดีวันยังค่ำไม่จำเป็นต้องถูกตรวจสอบแม้แต่น้อย

แน่นอนว่าปัญหาสำคัญของระบอบอำมาตย์ชราธิปไตยก็เช่นเดียวกันกับระบอบอำมาตยาธิปไตยในรูปแบบเดิมคือ เป็นการแทรกตัวเข้ามาครอบงำสังคมการเมืองไทยโดยที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือจุดยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด ทั้งในด้านที่มา การตรวจสอบ การควบคุม อำมาตย์ชราสามารถดำเนินการในเรื่องด้านได้ตามแต่ใจต้องการ

อันเป็นปมประเด็นถกเถียงสำคัญว่าสถาบันที่ใช้อำนาจทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับประชาชนแม้แต่น้อยได้หรือไม่ หรือลำพังเพียงการเป็น “คนดี” ก็สามารถดำรงสถานะอยู่ได้ในสังคมการเมืองไทยได้โดยไม่ต้องถูกแตะต้องแต่อย่างใด

 

 

.........................
เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์กฎเมืองกฎหมาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 21 มิถุนายน 2555

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. เปิดม่านรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ “ร่างประกาศครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว”

Posted: 21 Jun 2012 02:23 AM PDT

(21 มิ.ย.55) พ.อ.รศ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการออกประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ.2554 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.54 แต่ปรากฏว่า ประกาศฯ ฉบับนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ไม่ว่าจะในแง่มุมของข้อกฎหมาย นโยบาย หรือแม้แต่การนำไปบังคับใช้ในทางปฏิบัติ

 
บอร์ด กทค.ชุดนี้ จึงได้มีมติให้สำนักงาน กสทช. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบกิจการและผู้เกี่ยวข้องไปเมื่อปลายปี 2554 เพื่อนำข้อมูล ตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆ มาประมวลข้อดี ข้อเสีย โดยสำนักงาน กสทช.ได้ข้อสรุปว่า ควรให้มีการแก้ไขปรับปรุงประกาศฯ ดังกล่าว จึงได้เสนอให้บอร์ด กทค.พิจารณา และมีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคมทำการแก้ไขและปรับปรุงร่างประกาศฯ เพื่อเสนอให้บอร์ด กทค.พิจารณา และต่อจากนั้นก็นำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม กสทช. โดยมีมติเห็นชอบให้จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป ต่อ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. ...                  
 
พ.อ.รศ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำการรับฟังความคิดเห็นผ่าน 2 ช่องทาง คือ นำร่างประกาศพร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเผยแพร่ผ่านเว็บไซด์ของสำนักงาน กสทช. โดยดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 ม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่ามีประชาชน นักศึกษา และผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต ได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว จำนวน 31 ราย
 
สำนักงาน กสทช. จะนำความคิดเห็นเหล่านี้มาประมวลเข้ากับการรับฟังความคิดเห็นที่ได้จากเวทีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ในวันนี้ (21 มิ.ย.55) เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กทค. พิจารณา ซึ่งอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างประกาศฯ ตามข้อมูล เหตุผล ที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จากนั้นก็จะส่งไปขอความเห็นชอบจากที่ประชุม กสทช. แล้วส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อประกาศบังคับใช้ต่อไป
             
ด้าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ด้านกฎหมายในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื้อแท้ของร่างประกาศฯ ฉบับนี้ ไม่ได้ไปกำกับดูแลบริษัทต่างด้าว แต่มุ่งเน้นที่จะกำกับดูแลบริษัทไทยที่อยู่หรือจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ให้ไปกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำโดยคนต่างด้าว และให้รายงานว่ามีกรณีฝ่าฝืนข้อห้ามที่ผู้ประกอบการเป็นผู้กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งการกำหนดข้อห้ามนั้นเป็นดุลพินิจของผู้ประกอบการเอง ในลักษณะเป็นการควบคุมตนเองและเป็นการให้ข้อมูลเพื่อให้เกิดบรรษัทภิบาลในกิจการของผู้ประกอบการ โดยจะต้องทำตามแนวทางที่ กสทช. กำหนด
 
ในแต่ละปีผู้ประกอบการต้องรายงานพฤติการณ์และสถานภาพการครอบงำกิจการให้ กสทช.พิจารณา เมื่อ กสทช. พบว่าไม่ถูกต้องก็จะแจ้งให้แก้ไขให้เกิดความถูกต้อง หากไม่ปฏิบัติตามก็เป็นกรณีที่จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ต่อไป อีกทั้งร่างประกาศฯ นี้จะช่วยดูแลไม่ให้ผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช.ไปฝ่าฝืน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพราะหากมีการฝ่าฝืน พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ ก็จะมีโทษทางอาญาที่รุนแรง
 
สำหรับกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างมาโดยตลอดเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความมั่นคงนั้น สืบเนื่องมาจากตัวประกาศเดิมได้เข้าไปกำกับดูแลเกินเลยกว่ากรอบอำนาจของกฎหมายแม่ ตามมาตรา 8 วรรคสาม (1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นฐานอำนาจในการออกประกาศฉบับนี้ ดังนั้นร่างประกาศฉบับใหม่จึงจำเป็นต้องตัดประเด็นเรื่องความมั่นคงและการขอความเห็นจากหน่วยงานด้านความมั่นคงออก เพราะหากยังคงไว้นอกจากจะเป็นการกำหนดกติกาเกินเลยไปจากกรอบของกฎหมายแม่บทแล้ว ยังไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการออกประกาศฯ ซึ่งต้องการป้องปรามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว อันเป็นคนละประเด็นกับเรื่องความมั่นคงของรัฐ
 
ทั้งนี้แม้จะเห็นว่าประเด็นเรื่องความมั่นคงของชาติมีความสำคัญและมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคมก็ตาม แต่เนื่องจากกฎหมายแม่บทที่ใช้เป็นฐานในการออกประกาศมิได้ครอบคลุมไปถึงประเด็นเรื่องความมั่นคง จึงเห็นว่าประเด็นเรื่องความมั่นคงนั้นมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และมีกฎหมายรองรับอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดีหากมีประเด็นเรื่องความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกิจการโทรคมนาคมและต้องการสนับสนุนในเรื่องความรู้เฉพาะทางด้านนี้ กสทช.ก็ยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
 
“การแก้ไขประกาศฯฉบับนี้ เป็นผลจากการวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประมวลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ทั้งจากผู้มีส่วนได้เสีย และจากภาคประชาชน อย่างตรงไปตรงมา ภายใต้กรอบการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม และที่สำคัญเมื่อมีการกำหนดกติกาตรงนี้ให้มีความชัดเจนแล้ว ก็จะทำให้ผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้ามาประมูลคลื่น 3 จี ในช่วงเดือนตุลาคมนี้มีแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวที่ชัดเจนอีกด้วย ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า ร่างประกาศนี้จะมีคุณค่าอย่างมาก เพราะจะทำให้เราได้ กฎ กติกา ที่เป็นธรรม และเป็นกฎ กติกา ที่ทุกฝ่ายยอมรับ อันจะส่งผลดีต่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน” ดร.สุทธิพล กล่าว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ผู้บริโภค” ยื่น “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” สอบ “กสท.” ไม่แก้ปัญหาจอดำบอลยูโร

Posted: 21 Jun 2012 02:15 AM PDT

"สารี อ๋องสมหวัง" นำกลุ่มองค์กรผู้บริโภค ยื่นหนังสือประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร้องตรวจสอบ กสท.ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และอาจจะเข้าข่ายการละเลย จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค ยกเว้น กสทช.สุภิญญา

ภาพจาก: http://www.consumerthai.org
 

วันนี้ 21 มิ.ย.55 สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำโดยสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะ ขอให้ตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และอาจจะเข้าข่ายการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของ กสท.จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค โดยยกเว้นนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

 
ในความจดหมายระบุรายละเอียด ดังนี้
 
 
เรื่อง  ขอให้ตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และอาจจะเข้าข่ายการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของกสท.จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค (ยกเว้นนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์)  
 
เรียน  ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะ
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย  สำเนาหนังสือของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๕
            และวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕
                 
ตามที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคจำนวน ๓๐๒ องค์กร ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติโดยเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถดูการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโร โดยขอให้มีคำสั่งทางปกครองกับช่อง ๓, ๕ และ ๙ บริษัทแกรมมี่ ตรวจสอบการดำเนินการของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินการเพื่อให้เกิดการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงจากบริษัททรู
 
แต่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐ ล้านครัวเรือน และอาจจะเข้าข่ายการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของ กสท. ยกเว้นนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ที่เป็นกรรมการ กสท. เสียงข้างน้อยที่สนับสุนนการดำเนินการตามมติของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคและได้สงวนความเห็นเสียงข้างน้อยไว้ ซึ่งการไม่ดำเนินการดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายการไม่ปฏิบัติหน้าที่ หลายประการดังนี้
 
๑.      การดำเนินการของ กสท. อาจจะถือเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๗ ที่ระบุว่าในการให้บริการสื่อสาธารณะนั้น จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของชาติ ประโยชน์สาธารณะอื่นๆ และการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม
 
๒.      การไม่ดำเนินการกับสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๓, ๕ และ ๙ ที่อาจจะเข้าข่ายละเลยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๒๗ (๑๓) ให้กสท. คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการและคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
 
๓.      อาจจะเข้าข่ายละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๓๑ วรรคสองต่อบริษัทแกรมมี่ “ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมดำเนินการใดๆ ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดตามหลักเกณฑ์ที่กสทช.กำหนด ให้กสทช.มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวได้
 
๔.     รวมทั้งสามารถมีคำสั่งให้ฟรีทีวี ช่อง ๓, ๕ และ ๙ ระงับการดำเนินการในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยให้ทำการแพร่ภาพและเสียงรายการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร ๒๐๑๒ ผ่านระบบการส่งทางภาคพื้นดินและทางอากาศโดยผ่านระบบจานรับสัญญาณดาวเทียมหรือดำเนินการใดๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับชมผ่านการรับสัญญาณทุกประเภทตามที่เคยปฏิบัติ โดยด่วนที่สุด
 
๕.     อาจจะเข้าข่ายการละเลยและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ในการออกคำสั่งทางปกครองกับช่อง ๓, ๕ และ ๙ ในฐานะผู้มีสิทธิประกอบกิจการ เมื่อสถานีฯ ดังกล่าว หยุดให้บริการสาธารณะในบางช่องทางที่ดำเนินการอยู่ตามปกติ ในบางช่วงเวลาหรือมีการออกอากาศเพียงบางช่องทาง จึงเป็นการขัดต่อแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รวมทั้งอาจขัดต่อมาตรา ๒๗ (๑๓) ในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือแม้แต่ กสทช. จะยังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำผังรายการสำหรับใบอนุญาตแต่ละประเภทไว้ก็ตาม แต่การที่ผู้ประกอบกิจการจะเปลี่ยนแปลงผังรายการจากเดิมก็จะต้องแจ้งให้ กสทช. พิจารณาก่อนตามมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร ๒๐๑๒ เป็นการเปลี่ยนแปลงผังรายการจากผังรายการเดิมของสถานีวิทยุโทรทัศน์ ช่อง ๓, ๕ และ ๙ ซึ่งได้มีข้อตกลงกับบริษัทในเครือแกรมมี่ล่วงหน้าเป็นเวลานาน
 
๖.      อาจจะเข้าข่ายการละเลยหรือยกเว้นการดำเนินการตามมาตรา๓๒ ต่อการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ ให้หมายรวมถึงการถือครองธุรกิจในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกันในการใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ติดตั้งเป็นพิเศษเพื่อรับสัญญาณเสียงหรือภาพในลักษณะที่กีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
 
๗.     อาจจะละเลยการตรวจสอบอันเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ในการตรวจสอบผู้รับใบอนุญาต คือการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) หากไม่มีการขออนุญาต เนื่องจากร่วมมือกับเอกชนในการส่งและตัดสัญญาณ ทำให้เอกชนบางรายได้ประโยชน์ และทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงบริการฟรีทีวีในครั้งนี้ อาจเข้าข่ายสมคบกระทำความผิดด้วย
 
ในการนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ๓๐๒ องค์กร จึงได้เรียนมายังท่านและคณะ ให้ดำเนินการตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างเคร่งครัด และอาจจะเข้าข่ายการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของ กสท. (ยกเว้นนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์) จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคจำนวนมากและกว้างขวางทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับบริการสาธารณะอย่างทั่วถึงจากฟรีทีวีในการถ่ายทดสดฟุตบอลยูโร ๒๐๑๒
 
 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชัยอนันต์ สมุทวณิช: ย้อนทวนเรื่องประวัติศาสตร์จาก ร.ศ.130 ถึง 24 มิถุนายน 2475

Posted: 21 Jun 2012 01:47 AM PDT

ปาฐกถาโดยชัยอนันต์ สมุทวณิช ตั้งโจทย์ว่า “กบฏ ร.ศ.130 – การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475” ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างแท้จริงในสาระสำคัญหรือไม่ จะเรียกว่าการปฏิวัติได้หรือไม่

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 55 ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ย้อนทวนเรื่องประวัติศาสตร์ จาก ร.ศ.130 ถึง 24 มิถุนายน 2475” ในการสัมมนา “จาก 100 ปี ร.ศ. 130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย” โดยมีรายละเอียดดังนี้

000


ภาพโดย เสกสรร โรจนเมธากุล

ผมจะพูดถึงเหตุการณ์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2 เรื่อง

ก่อนอื่น อยากจะกล่าวว่า การศึกษาเรื่อง ร.ศ. 130 และการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475 นั้น เป็นเรื่องที่กระทำค่อนข้างจะยากลำบาก ด้วยเหตุผลที่ว่าเหตุการณ์ทั้ง 2 เหตุการณ์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน จริงๆ แล้ว รศ. 130 ยังไม่ได้เกิดการกบฎจริงๆ และไม่มีใครรู้ว่าผู้ที่คบคิดมีความคิดที่จะเปลี่ยนการปกครองและจะอาศัยกำลังทหารที่ไหน หรือจะมีแผนการที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างไร

สำหรับการเปลี่ยนแปลงใน พ.ศ. 2475 นั้น เราก็รู้แต่ว่ามีนักเรียนนอกกลุ่มหนึ่งเคยประชุมปรึกษาหารือกัน แต่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดอย่างฉับพลัน และสำเร็จลงอย่างง่ายดายโดยไม่มีการต่อสู้ให้เสียเลือดเสียเนื้อ

การเปลี่ยนแปลงการปกรองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ผมเคยเรียกว่า “การปฏิวัติที่ปราศจากการเคลื่อนไหว” คือโดยปกติแล้ว ในการปฏิวัติหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องมีการเคลื่อนไหว ซึ่งหากกระทำไม่สำเร็จก็หลบหนีลงใต้ดินแล้วไปเคลื่อนไหว พยายามอีกครั้งหนึ่ง การปฏิวัติที่ไม่มีการเคลื่อนไหวทำให้เกิดปัญหามากมายหลายประการ แล้วก็ไม่มีคนเขียนบันทึกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ไว้ เพราะฉะนั้นเราทุกคนในที่นี้ต่างไม่ได้เป็นคนร่วมสมัยในการที่จะพูดถึงเรื่อง ร.ศ.130 และคณะราษฎรนั้นก็เป็นเรื่องที่ต่างคนก็ต่างมีความคิดเห็นและมุมมองในการวิเคราะห์ต่างกันไป อย่างเช่นการเขียนของนักวิชาการหลายคน โดยปกติแล้วจะมีการสรรเสริญคณะทั้งสองคณะนี้ แล้วก็ใครก็ตามที่อาจจะวิจารณ์ทั้งสองคณะนี้อาจจะได้รับการมอง หรือไปวิเคราะห์ว่าเป็นพวกนิยมเจ้า

ซึ่งจริงๆ แล้ว คุณูปการทั้งสองคณะก็มี แต่เพื่อความยุติธรรมและเพื่อการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์เราควรจะมองให้ลึกซึ้งว่าการเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 นี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างแท้จริงในสาระสำคัญหรือเปล่า คือพูดง่ายๆ ว่า จะเรียกว่าการปฏิวัติได้หรือไม่

คำว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง” เป็นคำกลางๆ แต่มีอีกคำหนึ่งก็คือการรัฐประหาร ซึ่งดูเหมือนอาจจะไม่ดี แต่เราอาจจะนำมาใช้ได้ว่า คือเป็นเรื่องการใช้กำลังโค่นล้มอำนาจทางการเมือง ในวันนี้ผมก็จะพยายามที่จะพูดถึงสองเหตุการณ์นี้ อาจจะมีการเปรียบเทียบเล็กน้อย

เรารู้ว่ากระแสความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่มีมาในเมืองไทย จะว่าไปแล้วก็ไม่ได้ก่อรูปในแง่ของความคิดประชาธิปไตย แบบที่เรารู้จักกัน แต่ความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นจากเรื่องของความต้องการที่จะให้มีกติกาหรือมีรัฐธรรมนูญซึ่งมาจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์มากกว่า เพราะฉะนั้นความคิดตั้งแต่สมัยเจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลเพื่อเปลี่ยนแปลงการจัดการราชการแผ่นดิน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2427 หรือความคิดของเทียนวรรณที่อยู่ในหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่ความคิด หรือบทความในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ดี ล้วนแต่เป็นความคิดที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ หรือความต้องการที่จะให้มีตัวแทนของราษฎรหรือสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น ความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นจากความไม่พึงพอใจในระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเริ่มมีข้อวิจารณ์มากขึ้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการวิจารณ์ระบอบการปกครองซึ่งยังอยู่ในคนกลุ่มน้อย แต่ในหน้าหนังสือพิมพ์มีบทความวิจารณ์ระบอบค่อนข้างแรง แล้วก็เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นเหล่านั้นได้ด้วย

ท่าทีของรัฐบาลในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ได้ใช้วิธีปิดกั้นหรือเซ็นเซอร์ความคิดเห็น แต่กลับไปใช้วิธีการที่จะจัดทำหนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงให้รัฐบาลมากกว่า โดยพระคลังข้างที่ได้ทำการซื้อหนังสือพิมพ์ และเอามาทำ มีคนเข้ามาทำงานมาเขียนบทความที่จะตอบโต้ หรือไม่ก็อธิบายเหตุผลต่างๆ ของคณะรัฐบาลสมัยนั้นในการดำเนินเรื่องต่างๆ

ความไม่พอใจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เกิดจากความไม่สามารถของระบอบที่จะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมเจ้านายหรือขุนนางบางคน ทำให้คนเกิดความไม่พอใจเห็นว่าบุคคลเหล่านี้เป็นอภิสิทธิ์ชน นอกจากนั้นยังมีความคิดเห็น ความคิดทางตะวันตกที่เริ่มเข้ามาสู่ผู้มีการศึกษา โดยเฉพาะผู้จบการศึกษาจากต่างประเทศ แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดก็คือการเติบโตของสังคมและระบบราชการ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการปฏิรูประบบราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ข้าราชการจำนวนหนึ่งเห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล้าหลัง และไม่สามารถโตตอบท้าทายกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

นายทหารที่สำเร็จจากต่างประเทศก็มีความเห็นว่า การตัดสินใจสำคัญต่างๆ ตกอยู่ในหมู่ผู้อาวุโสไม่ได้คำนึงถึงความรู้ความสามารถ เหมือนบันทึกของพระยาพหลพลพยุหะเสนา เคยพูดถึงการเสนอความเห็นแล้วไม่ได้รับการตอบสนอง

ในที่สุด ร.ศ.130 มีนายทหารระดับล่างส่วนหนึ่งมีแผนที่จะก่อกบฏขึ้น สุดท้ายก็ไม่รู้อะไรมากว่าบุคคลเหล่านี้จะก่อกบฏด้วยวิธีอะไร เพราะว่าต่างก็เป็นนายทหารชั้นผู้น้อย บ้างก็ว่าคณะนี้ต้องการสถาปนาสาธารณรัฐ แล้วไปเชิญเจ้านายพระองค์หนึ่งขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี แต่แผนการก็ถูกล่วงรู้เสียก่อน และมีการจับกุม แต่ก็ไม่ได้มีการลงโทษขนานหนัก เพียงแต่มีการจำคุกเท่านั้น

เมื่อมาดูปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผมคิดว่าอาจจะมีสัก 5 ปัจจัยด้วยกัน
ปัจจัยแรก คือการขยายตัวของระบบราชการที่เรากล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพประจำการ ทำให้เกิดการอุดตันของตำแหน่งที่มีอย่างจำกัด ประกอบกับการที่มีข้อได้เปรียบของเชื้อพระวงศ์ ทำให้คนที่ได้รับการศึกษา และเป็นข้าราชการเกิดความรู้สึกว่าโอกาสถูกปิดกั้น และมีความรู้สึกว่ามีความไม่เป็นธรรม

ปัจจัยที่สอง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา สมัยก่อน พระมหากษัตริย์ถือว่าเป็นสมมติเทพ แล้วะยะห่างของพระมหากษัตริย์กับขุนนางและประชาชน มีค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นทั้งขุนนางและประชาชนก็มีความรู้สึกเกรงกลัว และมีความรู้สึกว่ามีความแตกต่างกัน เกิดความเกรงกลัวพระราชอำนาจ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎ เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงใกล้ชิดขุนนางมากเป็นพิเศษ ถึงกับแม้เล่นละครก็อาจจะไม่ใช่ตัวเอก เพราะฉะนั้นความใกล้ชิดที่พระมหากษัตริย์มี ทำให้ขุนนาง คนแวดล้อมคลายความเกรงกลัวลง ความเป็นสมมติเทพก็ลดน้อยลง ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า “ความใกล้ชิดทำให้เกิดความดูแคลน” เพราะฉะนั้นยิ่งขุนนางได้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์เท่าไหร่ ขุนนางก็เห็นว่าพระองค์ก็เป็นคนธรรมดาเหมือนพวกเขาเหมือนกัน

ประการที่สามก็คือ การเปิดเสรีทางความคิด ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปิดเสรีทางความคิดอย่างกว้างขวาง ถึงกับมีการเขียนบทความวิจารณ์พระองค์ และพระองค์ก็ทรงโต้ตอบด้วย เพราะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา หนังสือสามารถวิจารณ์การปกครองได้อย่างเสรี มีการวิจารณ์การคอรัปชั่นมากมาย และชี้ให้เห็นภัยของระบอบการปกครองแบบเดิม

ประการที่สี่ ความไม่พอใจของทหารบางพวก ที่มีต่อการจัดตั้งกองเสือป่า ที่จริงแล้วการจัดตั้งกองเสือป่าคือการทำให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการปกป้องประเทศนั่นเอง เพราะว่าทหารมีจำนวนจำกัด แต่ทหารเองก็มีความไม่พอใจเสือป่า เพราะว่าเสือป่ามีลักษณะเหมือนทหาร มีการซ้อมรบ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ให้ความสนพระทัยเสือป่ามาก นอกจากนั้นมีกรณีที่ทหารเกิดทะเลาะวิวาทกับทหารมหาดเล็กและทำให้ถูกลงโทษด้วยการโบย ซึ่งทหารรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่เสียเกียรติยศหรือเสียศักดิ์ศรี

ประการสุดท้าย คือ ความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรือประชาธิปไตย ที่ต้องการจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ เริ่มแพร่หลายเข้ามาในหมู่คนที่มีการศึกษา นำมาสู่การรวมกลุ่มคนที่มีแนวคิดล้มล้างระบอบในที่สุด ในส่วนของผู้ปกครองเองแม้จะรู้ว่ามีความคิดทางตะวันตกเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพราะไม่คิดว่าเป็นปัญหาสำคัญ หรือมีลำดับความสำคัญเท่าเรื่องอื่นๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาการปรับปรุงระบบบริหารเป็นต้น นอกจากนั้นก็ไม่คาดหวังว่าความคิดเหล่านั้นจะส่งผลสะเทือนไปยังประชาชนส่วนใหญ่จนก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในทางสังคมขึ้นได้

จะว่าไปแล้วมีหลักฐานว่าพระมหากษัตริย์และอภิรัฐมนตรีหรือขุนนางชั้นสูง ได้เคยถกเถียงกันเรื่องเราควรมีรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ก็มีความลังเลและความเห็นส่วนมากค่อนไปในทางว่าประชาชนยังไม่พร้อม แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือว่าเห็นว่าถ้ามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยให้มีรัฐธรรมนูญ ให้มีสภาแล้ว กลุ่มที่จะมีอิทธิพลมีอำนาจสุดเพราะมีการจัดตั้งดี และมีเงินมาก ก็คือกลุ่มคนจีน ซึ่งในขณะนั้นคนจีนยังเป็นกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่ยังไม่กลมกลืนเข้ากับสังคมไทยอย่างเต็มที่ และความภักดีก็ยังเป็นความภักดีที่มีต่อแผ่นดินแม่

อาจจะกล่าวด้วยว่าความคิดเรื่องการเมือง คนสนใจหันมาสนใจการเมืองมากขึ้นเพราะข่าวการเปลี่ยนแปลงในเมืองจีน ของหมอซุน หรือซุนยัดเซน และลัทธิไตรราษฎร์ ซึ่งเป็นที่รู้ในหมู่คนจีน และหนังสือพิมพ์ จีนก็ลงข่าวประจำ

ด้วยความลังเลและไม่เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยจะพร้อมสำหรับสยาม แม้มีผู้เสนอให้เปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม ก็ไปปรับปรุงการบริหารแทน โดยเฉพาะระบบการบริหาราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจนการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ให้ทันสมัย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดคือการพัฒนาระบบกฎหมายและการบริหารมากกว่าที่จะเป็นการพัฒนาทางการเมือง

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475 ขึ้น รัฐไทยมีลักษณะเป็นนิติรัฐเต็มรูปทั้งทางด้านรากฐาน กฎหมาย และทางด้านโครงสร้างการปกครอง กล่าวคืออำนาจรัฐได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็ง พอเกิดการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475 ขึ้น อำนาจการเมืองจึงเป็นอำนาจที่อ่อนแอและตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ คณะราษฎรเองก็เห็นภัยของการมีพรรคการเมืองเช่นกัน ฉะนั้นจะพบว่าถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลง มีรัฐธรรมนูญก็ดี มีสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม แต่ก็ยังไม่เปิดโอกาสให้มีพรรคการเมือง จนกระทั่งอีก 20 ปีต่อมา คือ พ.ศ. 2495 จึงเปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองแล้วควบคุมพรรคการเมืองอีก โดยการมี พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งพัฒนามาจาก พ.ร.บ. อั้งยี่ คือมีการควบคุมพรรคการเมือง แทนที่จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ตามเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ตามสิทธิเสรีภาพทางการเมือง

ถึงแม้คณะราษฎรจะได้อำนาจการเมืองมา แต่ต้องใช้เวลาหลายปีในการจัดอำนาจโครงสร้างรัฐ ที่สำคัญคือการทบทวนการจัดอำนาจโครงสร้างรัฐเสียใหม่ โดยให้อยู่ภายใต้อำนาจทางการเมือง มาตรการสำคัญคือใช้ผู้มีตำแหน่งสำคัญทางราชการเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในขณะเดียวกันยังไม่มีพรรคการเมือง ฉะนั้นแหล่งเดียวที่จะป้อนบุคลากรทางการเมืองก็คือระบบราชการ โดยเฉพาะกองทัพ กฎหมายที่สำคัญที่คณะราษฎรออกมาแล้วทำการแก้ไขคือกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งในขณะนั้นมีความสำคัญ เพราะว่าเป็นการเปิดโอกาสให้อำนาจทางการเมืองสามารถที่จะดำเนินไปได้ มีการออกระเบียบเกี่ยวกับการมอบอำนาจจากรัฐมนตรีไปสู่ปลัดกระทรวง ไปสู่อธิบดีเป็นต้น

ถ้าเราดูคณะราษฎรกับ คณะ ร.ศ.130 จะเห็นว่าจำนวนที่คนเข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎรมีฐานทาง สังคม เศรษฐกิจที่กว้างกว่าคือมีทั้งทหาร พลเรือน และพ่อค้า ทหารเองก็มาจากทั้งทหารบกและทหารเรือ และมีทหารหลายรุ่นคือรุ่นหนุ่ม และรุ่นอาวุโสรวมอยู่ในคณะราษฎร ในแง่นี้ คณะราษฎรก็เป็นแนวร่วมของพันธมิตรผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบการปกครองแบบเก่ามากกว่าแนวร่วมของนักประชาธิปไตย อันนี้คือมีความต่าง คือทุกคนที่มารวมกันไม่พอใจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ความเชื่อมั่น และการยึดถือระบอบประชาธิปไตยยังเป็นที่กังขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นายทหารด้วยกัน ด้วยเหตุนี้เองทำให้ผู้ที่ฝักใฝ่ ประชาธิปไตย อย่างนายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย แล้วเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น การช่วยเหลือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ก็เป็นการช่วยเหลือในลักษณะของผู้รู้จักสนิทสนมกันมากกว่าเป็นเพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน เพราะฉะนั้นในแง่นี้แล้ว แนวร่วมพันธมิตรของผู้ไม่เห็นด้วยกับระบอบเก่า จะว่าไปแล้วก็เป็นกลุ่มปฏิกิริยา โต้ตอบระบอบเก่า คือเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายไม่เห็นด้วย มากกว่าเป็นอุดมการณ์ฝ่ายรุก Pro-active หรือมีความเป็นปึกแผ่น

ด้วยเหตุนี้เองในเวลาไม่นานจาก พ.ศ. 2475 เราก็จะเห็นความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมาย และตามจดหมายของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีไปถึงปรีดี หลาย 10 ปี หลังหมดอำนาจ และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมลี้ภัยไปอยู่เมืองจีนแล้ว จดหมาย (ของจอมพล ป.) ก็ยังพูดว่าในสมัยนั้นท่านมีความเข้าใจผิดเพราว่ายังอ่อนไวและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความไม่ไว้วางใจกันในหมู่คณะราษฎรมันเกิดขึ้นเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จเร็วเกินไป
โดยปกติแล้ว ในขบวนการปฏิวัติของหลายประเทศหลายสังคมผู้ที่ร่วมในคณะปฏิวัติมีการเคลื่อนไหว และมีระยะเวลาการต่อสู้ร่วมกันอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นของอินโดจีน ในลาว ในพม่า หรือจีน เป็นตัวอย่างสำคัญที่มีการต่อสู้ยืดเยื้อยาวนาน เป็นเหตุให้ผู้ที่เข้าร่วมขบวนการนั้นสามารถที่จะยอมรับภาวะผู้นำ และภาวะผู้นำของคนที่ร่วมสู้กันจะเกิดขึ้น เราจะเห็นได้ว่าเมื่อขบวนการเหล่านี้ประสบชัยชนะแล้วได้มีการก่อตั้งพรรคการเมือง ก็เกิดความต่อเนื่อง

แต่สำหรับคณะราษฎรนั้น อย่างที่พูดแล้ว เป็นพันธมิตร เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ แล้วต่างไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันมาก่อน เป็นเหตุให้เกิดความหวาดระแวงได้โดยง่าย แล้วในที่สุดคณะราษฎรก็แตกแยกกันในที่สุด เพราะฉะนั้นทั้งสองคณะก็เป็นการก่อหวอดทางการเมือง ที่ขาดการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง มีขอบเขตจำกัดอยู่ในหมู่คนกลุ่มน้อย กลุ่มจึงเปราะบาง

ถ้าเรามาดูว่า 2475 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า ที่เราพูดว่าประชาธิปไตยมีอายุ 80 ปีจริงหรือเปล่า มีอะไรบ้างที่บ่งบอกถึงความเป็นประชาธิปไตยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลผู้มีอำนาจ และผู้มีอำนาจก็ไม่ใช่ประชาชน ประชาชนถูกอ้างชื่อเท่านั้น ผู้ที่เข้ามามีบทบาทมากก็คือข้าราชการโดยเฉพาะกองทัพ สิ่งที่เกิดขึ้นค่อนข้างมากคือการปรับปรุงกฎหมาย เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนยังไม่เกิดขึ้น อาจจะมีการเลือกตั้ง แต่ที่เรารู้ก็มีการเลือกตั้งครั้งเดียว และกระบวนการทางการเมืองก็ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้ามามีบทบาททางการเมือง

สรุปว่าประชาชนก็เหมือนเดิม ในแง่ประชาชนแล้วอาจจะได้รับสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่แล้วก็จะละเว้นเสียไม่ได้ที่จะกล่าวถึงประโยชน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่เห็นได้ชัดและมีหลักฐานคือรายจ่ายของรัฐ ที่แต่เดิมเคยมีน้อยมากในทางเศรษฐกิจ ในทางเกษตร โดยเฉพาะในทางศึกษานั้นเริ่มขยายตัวมากขึ้น มากว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งสมัยนั้นรายจ่ายกลาโหม มหาดไทย และพระมหากษัตริย์ รวมแล้ว 80% ของรายจ่ายทั้งหมด ในขณะที่รายจ่ายด้านการเกษตร การศึกษามีไม่ถึง 1% เพราะฉะนั้นนี่เป็นคุณูปการของการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เราเห็น พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้มีอำนาจใหม่เป็นผู้ให้ ประชาชนก็เป็นผู้รับและสิ่งเหล่านี้มีต่อมาเป็นเวลานาน

ในแง่ของความคิดและอุดมการณ์ของบุคคลที่อยู่ในคณะราษฎร เราก็ไม่เห็นความพยายามที่จะผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองมากเท่าไหร่ ในพรรคการเมืองเองก็เราจะเห็นได้ว่า ผู้นำคณะราษฎรส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้นำพรรคการเมืองด้วย และอยู่นอกพรรคการเมือง พรรคการเมืองอาจจะสนับสนุนผู้นำบางคน เช่น สนับสนุนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม อย่างนี้เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แล้วพรรคการเมืองกับผู้มีอำนาจในรัฐบาลก็เป็นคนๆ ละกลุ่ม ไม่มีความเชื่อมโยง หรือมีความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับผู้มีอำนาจทางการเมือง แต่เรื่องนี้เป็นไปกระทั่งหลังปี พ.ศ. 2500 จะเห็นว่าพรรคสหประชาไทยก็เป็นพรรคที่รวบรวมเอาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาสนับสนุนผู้นำทหารและข้าราชการ

บทสรุปก็คือว่า 2475 เป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชการได้มีความก้าวหน้ามากขึ้น เปิดโอกาสให้ข้าราชการได้เข้ามามีอำนาจทางการเมือง เราจึงไม่อาจพูดได้ว่าประชาธิปไตยเขาเรานี้ 80 ปี ถึงแม้ว่าคณะราษฎรจะมีคุณูปการอย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรจะมองว่าคณะราษฎรไม่มีข้อบกพร่องหรือข้อเสียเลย เพียงเพราะว่าเป็นกลุ่มที่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ไม่ใช่เชิดชูโดยอัตโนมัติว่าเป็นผู้นำประชาธิปไตยมาให้กับเมืองไทย แต่เป็นผู้เริ่มต้นในการที่จะป้องกันไม่ให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนมาอีก การกระทำของคณะราษฎรภายหลัง พ.ศ. 2475 ก็ไม่ใช่การกระทำที่มุ่งสู่ประชาธิปไตย แต่การดำเนินงานทางการเมืองส่วนใหญ่มุ่งที่จะป้องกันไม่ให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนมาอีก

นี่ก็เป็นทัศนะหนึ่งเท่านั้น และผมคิดว่าคงมีทัศนะอื่นๆ อีกมากมาย แต่หลัง พ.ศ. 2475 งานเขียนทั้งหลายและงานต่างๆ ที่ออกมา ล้วนแล้วแต่เป็นการเชิดชูคณะราษฎรเป็นส่วนใหญ่ แม้กบฏบวรเดชจะมีข้อเรียกร้องที่เราพบว่า สะท้อนให้เห็นปัญหาก็ตาม แต่กบฏบวรเดชก็ถูกมองว่าเป็นเรื่องของกลุ่มนิยมเจ้าทั้งๆ ที่ มองในอีกมิติหนึ่งก็เป็นปฏิกิริยาของทหารหัวเมืองที่มีต่อทหารในเมืองซึ่งเป็นผู้ได้อำนาจ และทหารหัวเมืองก็ถูกทอดทิ้ง ก็เป็นปัญหาเดียวกับที่เกิดสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ผมก็ฝากข้อคิดเหล่านี้ด้วย หวังว่าจะมีการถกเถียงกัน วิเคราะห์วิจารณ์กันต่อไปได้ด้วยมุมมองต่างๆ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นการตีความ เพราะหลักฐานและบันทึกนั้นมีน้อยมาก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น