โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เกร็ดข่าว: UN International Day in Support for Victims of Torture

Posted: 26 Jun 2012 09:13 AM PDT

26 มิถุนายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันสากลแห่งการสนับสนุนเหยื่อซึ่งได้รับผลกระทบจากการทรมาน (26th June – UN International Day in Support for Victims of Torture)

ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือเรียกสั้นๆ ว่า อนุสัญญา CAT แห่งสหประชาชาติ ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2551 ทำให้ประเทศมีพันธกรณีจำเป็นต้องออกกฎหมายตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"คณิต ณ นคร" เสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เชื่อพัฒนาประชาธิปไตยไทย

Posted: 26 Jun 2012 08:10 AM PDT

 

(26 มิ.ย.55) คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การดำเนินคดีอาญาสมัยใหม่กับสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหา ในเวทีสาธารณะ “การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาเหยื่อซ้อมทรมาน” ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แจ้งวัฒนะ จัดโดยคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรมในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายว่า ปัจจุบัน ผู้ถูกดำเนินคดีนั้นถือเป็นประธานแห่งคดี (Procedural Subject) หรือผู้ทรงสิทธิ ซึ่งมีสิทธิให้การหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น จึงต้องได้รับความคุ้มครอง ไม่สามารถทำอะไรที่กระทบกระเทือนจิตใจได้

กระบวนการยุติธรรมต้องมีประสิทธิภาพด้วย โดยต้องสามารถรักษาความสงบเรียบร้อยได้ดีและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพบุคคล แต่กรณีของไทยมีแนวโน้มไปในทางรักษาความสงบเรียบร้อย ทำให้ประชาชนอาจตกเป็นเหยื่อ เกิดการซ้อมทรมาน

"ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมแสดงให้เห็นถึงขนาดความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ" คณิต ณ นคร กล่าวและยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่สามารถพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงประชาธิปไตยได้เพราะกระบวนการยุติธรรมเข้มแข็ง ขณะที่ของไทย ประสิทธิภาพยังต่ำมาก

นอกจากนี้ ยังมีความไม่เข้าใจรูปแบบของกระบวนการยุติธรรม โดยในไทยที่การดำเนินคดีกระทำโดยรัฐ มีการตรวจสอบ 2 ชั้น คือ ชั้นเจ้าพนักงานและชั้นศาล ซึ่งในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมองว่า การตรวจสอบชั้นเจ้าพนักงานนั้นเป็นกระบวนการที่แยกไม่ได้ ขณะที่ของไทย แยกออกไปหลายส่วน ไม่ได้ทำเป็นกระบวนการเดียวกัน ซ้ำยังทะเลาะกันเอง ทั้งตำรวจ อัยการ ดีเอสไอ (กรมสืบสวนคดีพิเศษ) ป.ป.ท. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) และ ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ)

ด้านกระบวนการในชั้นศาล ก็ไม่เข้าใจบทบาทในการตรวจสอบ โดยประทับฟ้องง่ายมาก ยกตัวอย่างว่าหากอัยการฟ้องมาไม่ได้เรื่อง ศาลมีบทบาทต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ก็ไม่ค่อยได้ทำ แถมยังมายกฟ้องในภายหลัง พร้อมกับมีกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรมแจกเงินให้อีก ทั้งที่ควรต้องผิดพลาดน้อยสุด เพราะเงินเยียวยาในกระบวนการยุติธรรมก็เป็นภาษีของประชาชนทั้งสิ้น

"ศาลก็ต้องมีความกระตือรือล้นในการตรวจสอบความจริง ขอประทานโทษ ผู้พิพากษาเรายัง passive อยู่เยอะ" คณิตกล่าวและว่า มาตรา 228  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ให้ศาลสามารถสืบเสาะเอง ส่งประเด็นไปสืบก็ได้ แต่ไม่ค่อยได้ทำ

คณิต เสนอว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องนำไปสู่การมีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย ไม่ใช่สักแต่จะเพิ่มหน่วยงานหรือบุคลากร เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายสูง ทั้งนี้หน่วยงานต่างๆ ต้องให้ความร่วมมือด้วย

คณิต กล่าวด้วยว่า ควรมีการปฏิรูปศาล โดยที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นไม่เคยมีการปฏิรูปเลย มีแต่เพิ่มจำนวน อาจจะต้องทำองค์คณะให้สมบูรณ์ ให้บุคคลที่มีประสบการณ์มาดำรงตำแหน่ง โดยเมื่อดูจำนวนจะพบว่า ศาลสูงในอเมริกามี 9 คน ศาลเยอรมันมี 15 คน ศาลญี่ปุ่นมี 15 คนขณะที่ของไทยมีร้อยกว่าคนซึ่งทั้งหมดนี้เป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

ทั้งนี้พบว่ายอดคดีคงค้างในศาลฎีกาปัจจุบันมีจำนวน 30,000 กว่าเรื่องและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทบทวีคูณ หากไม่มีการปฏิรูปจะต้องใช้เงินภาษีของประชาชนเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นจึงเสนอให้ทำศาลฎีกาเป็นศาลทบทวนข้อกฎหมาย และศาลอุทธรณ์ต้องพิจารณาคดีร้ายแรงเป็นแบบศาลชั้นต้น ไม่ใช่นั่งอ่านคำพิพากษา เช่นนี้จะเกิดการปรับปรุงศาลชั้นต้นให้ดีขึ้น

คณิตวิจารณ์ด้วยว่า กระทรวงยุติธรรมไม่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม แต่กลับแจกเงินเยียวยา นอกจากนี้ การบริหารงานยุติธรรมควรเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการ

"กระบวนการยุติธรรมที่ดีจะต้องมีค่าใช้จ่ายน้อยแต่ต้องมีความร่วมมือสูง ถ้าช่วยกันผลักดันไปในทิศทางนี้ การพัฒนาประชาธิปไตยก็จะเป็นไปได้"


ภาพโดย ilkin. (CC BY-NC-ND 2.0)
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยแม่สอดคุมเข้มแรงงานข้ามชาติออกนอกพื้นที่กลัวเข้ากรุง เอ็นจีโอชี้ละเมิดสิทธิ

Posted: 26 Jun 2012 06:21 AM PDT

เครือข่าย Migrant Rights Promotion Working Group (MRPWG) เผยได้รับเรื่องร้องเรียนจากแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ อ.แม่สอด ที่ถือหนังสือเดินทางชั่วคราวและมี VISA ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่แม่สอดได้ สอบถามหน่วยงานรัฐชี้เข้มเพราะกลัวแรงงานเข้าพื้นที่ชั้นใน
 
26 มิ.ย. 55 – เครือข่าย Migrant Rights Promotion Working Group (MRPWG) เปิดเผยว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากองค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ อ.แม่สอด ว่าขณะนี้แรงงานต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางชั่วคราวและมี VISA ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่แม่สอดได้ และทางเครือข่ายได้ตรวจสอบข้อมูลก็พบว่ามีแรงงานจำนวนมากที่ถูกยับยั้งการเดินทางออกนอกพื้นที่อำเภอแม่สอด ณ ด่านตรวจบ้านห้วยหินฝน ทั้งๆ ที่มีหนังสือเดินทางและ VISA โดยไม่ทราบสาเหตุ
 
โดยทางเครือข่ายได้สอบถามกรณีดังกล่าวที่ด่านตรวจบ้านห้วยหินฝน อ.แม่สอด ได้ข้อมูลจากทั้ง ตม. ตำรวจ จัดหางาน และหน่วยทหาร ตรงกันว่า การยับยั้งไม่ให้แรงงานออกนอกพื้นที่อำเภอแม่สอดนั้นเป็นเรื่องจริง แต่ไม่ใช่จากห้ามไม่ให้ออกโดยเด็ดขาด เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ ต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้างเสียก่อน ทั้งนี้แรงงานต้องนำหลักฐานการเปลี่ยนนายจ้างมาแสดงประกอบกับหนังสือเดินทางและ VISA ด้วยจึงจะสามารถออกนอกพื้นที่ อ.แม่สอด ได้ ทั้งนี้เป็นไปตามคำสั่ง 2 ฉบับ คือ
 
1.คำสั่งเรื่อง แนวทางปฏิบัติการตรวจสอบเอกสารประกอบการเดินทางออกนอกเขตของแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ฉบับวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ลงนามโดย นายมงคล สัณฐิติวิฑูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และ
 
2.บันทึกข้อความ เรื่องแนวทางปฏิบัติการตรวจสอบเอกสารประกอบการเดินทางออกนอกเขตของแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ฉบับวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ลงนามโดย นางสาวจงดี มีแต้ม จัดหางานจัดหวัดตาก
 
 
 
 
 
โดยคำสั่งทั้งสองฉบับข้างต้นอ้างว่าได้รับเรื่องจากภาครัฐและเอกชนเรื่องการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการป้องกันการหลบหนีของแรงงานต่างด้าวที่ทำงานใน 5 อำเภอชายแดนเข้าสู่เมืองชั้นในเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ให้กับผู้ประกอบการ จึงมีแจ้งให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจฯ ปฏิบัติตาม กล่าวคือ การเดินทางออกนอกพื้นที่อำเภอแม่สอด ของแรงงานต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางชั่วคราวและมี VISA ว่า ต้องได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนนายจ้างหรือสถานที่ทำงานหรือเพิ่มท้องที่/สถานที่ทำงานโดยสำนักจัดหางานจังหวัดตาก จะมีหนังสือรับรองการเปลี่ยนนายจ้างหรือสถานที่ทำงานแสดงต่อเจ้าหน้าที่ จึงจะสามารถเดินทางออกนอกเขตแล้วไปทำงานในจังหวัดอื่นได้
 
ทั้งนี้ทางเครือข่าย MRPWG เห็นว่าการเดินทางถือเป็นเสรีภาพของต่างด้าวทุกคนที่เข้าเมืองถูกกฎหมายตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง และหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ความสัมพันธ์เรื่องนายจ้าง ลูกจ้าง และสัญญาจ้างแรงงานไม่สามารถอ้างเพื่อไม่ให้ใช้สิทธิเสรีภาพนี้ได้ เนื่องจากมี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าวได้กำหนดหลักเกณฑ์และบทลงโทษกรณีทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำงานนอกพื้นที่ ไว้โดยเฉพาะแล้ว อีกทั้งคำสั่งทั้งสองฉบับนี้ไม่ได้กล่าวถึงการออกนอกพื้นที่ของแรงงานกรณีอื่น เช่น การท่องเที่ยว การเยี่ยม เป็นต้น แต่แรงงานเหล่านี้กลับได้รถผลกระทบจากคำสั่งทั้งสองฉบับนี้ด้วยเช่นกัน การมีคำสั่งเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดกฎหมาย ลิดรอนสิทธิเสรีของแรงงาน อันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คดี “สารตะกั่วคลิตี้” ตุลาการผู้แถลงคดีชี้เพิ่มเงินชดเชย เป็นรายละ 1.7 แสน

Posted: 26 Jun 2012 05:17 AM PDT

14 ปี การต่อสู้ยังไม่จบสิ้น ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาคดีสารตะกั่วปนเปื้อนลำห้วยคลิตี้ที่ชาวบ้านยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ตุลาการผู้แถลงคดีเสนอสั่งชดใช้ค่าเสียหายเพิ่ม ด้านทนาย-ชาวบ้าน หวังคำสั่งศาลฟื้นฟูลำห้วยเร่งด่วน

 
 
 วันนี้ (26 มิ.ย.55) เวลาประมาณ 9.30 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ อ.597/2551 ระหว่าง นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ผู้ร้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 22 คน ชาวบ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ฟ้องร้องกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ไม่ควบคุมตรวจสอบการประกอบกิจการของบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปล่อยน้ำเสียซึ่งมีสารตะกั่วเจือปนเปื้อนลงในลำห้วยคลิตี้ เป็นเหตุให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างได้รับความเสียหาย
 
 
คดีนี้ชาวบ้านคลิตี้ล่างได้มอบให้สภาทนายความและโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เป็นผู้แทนในการดำเนินคดีต่อศาลปกครอง โดยยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 23 ก.พ.47 จากนั้นศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 พ.ค.51 ให้กรมควบคุมมลพิษ จ่ายทดแทนชาวบ้านห้วยคลิตี้ล่าง จำนวน 22 ราย รายละ 33,783 บาท รวมเป็นเงิน 743,226 บาท และต่อมาได้มีการยื่นอุทธรณ์จากทั้งฝ่ายผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้อง
 
นายสมพงศ์ ทองผาไฉไล ผู้ฟ้องที่ 13 ตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่างแถลงด้วยวาจาต่อศาลปกครองสูงสุดถึงผลกระทบจากการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ว่า มีมาตั้งแต่ช่วงปี 2540 และยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน โดยชาวบ้านยังคงต้องเสี่ยงกับสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำและสัตว์น้ำที่เป็นแหล่งอาหาร แต่จะให้แก้ปัญหาโดยการโยกย้ายนั้นชาวบ้านคงไม่ยินยอม ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งแก้ไขปัญหา และให้ศาลเร่งรัดให้หน่วยงานรัฐต้องรีบปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม เพราะชาวบ้านยังคงต้องอยู่อาศัยในพื้นที่ไปอีกหลายชั่วอายุคน
 
 
ตุลาการผู้แถลงคดีชี้กรมควบคุมมลพิษมีความผิด แนะเพิ่มเงินชดเชย
 
ต่อมา นายภานุพันธ์ ชัยวัต ตุลาการผู้แถลงคดีได้ชี้แจงความเห็นในการวินิจฉัยคดีด้วยวาจาต่อตุลาการองค์คณะพิจารณาพิพากษา สรุปความได้ว่า โรงแต่งแร่ของบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมลพิษนั้นได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อราษฎรและผู้ฟ้องคดีซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้านคลิตี้ล่างที่อยู่ห่างจากโรงแต่งแร่ไปทางใต้ตามลำห้วยคลิตี้ประมาณ 5 กิโลเมตร โดยทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้ อีกทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นมาจากโรงแต่งแร่ดังกล่าวได้รับอนุญาตโดยหน่วยงานรัฐให้ตั้งบริเวณต้นน้ำ จึงมีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทนแทนจากรัฐและเจ้าของบริษัทฯ
 
ส่วนกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทดแทนแทนรัฐ โดยเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของหน่วยงานของรัฐซึ่งทำหน้าที่แทนรัฐตามหลักการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทดแทนในส่วนที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารรายละ 700 บาทต่อเดือน ตามคำร้องขอ คือ ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.2545 ถึง 27 ส.ค.2547 และในระหว่าง 27 ส.ค.2547 ถึง 21 มิ.ย.2552 เนื่องจากอยู่ในช่วงระยะเวลา 10 ปี ของการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามที่ได้วินิจฉัยแล้ว และกรณีค่าเสียหายหรือค่าทดแทนในอนาคตจากการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ คนละ 1,000 บาทต่อเดือน ในช่วง 10 ปี ของการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ คือตั้งแต่ 21 มิ.ย.2542 ถึง 21 มิ.ย.2552
 
โดยสรุป ตุลาการผู้แถลงคดี เสนอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง โดยให้กรมควบคุมมลพิษผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินค่าเสียหายหรือค่าทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน เต็มจำนวนตามที่ชาวบ้านคลิตี้เรียกร้อง หรือคนละ 176,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,872,000 บาท พร้อมให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ฟ้องคดี และหลังจากนี้ศาลปกครองสูงสุดจะได้นัดวันฟังคำพิพากษาต่อไป
 
 
ทนาย-ชาวบ้านรอลุ้น หวังคำสั่งศาลฟื้นฟูลำห้วยเร่งด่วน
 
ด้านนายสุรชัย ตรงงาม ทนายความโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ผู้แทนในการดำเนินคดีต่อศาลปกครองกล่าวว่า คำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีเป็นความพยายามวางแนวทางคำพิพากษาคดี แต่ไม่ได้ผูกพันกับองค์คณะในการพิพากษา และในส่วนคณะทำงานและชาวบ้านมีความประสงค์ที่จะเห็นคำพิพากษาที่วางแนวทางการควบคุมมลพิษ โดยให้มีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปลอดจากสารตะกั่วและมีการชดเชยค่าเสียหาย ทั้งนี้การชดเชยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา แต่การฟื้นฟูลำห้วยให้กลับมามีสภาพดีโดยเร็วคือการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด
 
นายสุรชัย กล่าวด้วยว่า คดีดังกล่าวจะกลายเป็นคดีบรรทัดฐานที่มีการฟ้องให้หน่วยงานรัฐกำหนดมาตรการฟื้นฟูเยียวยาสิ่งแวดล้อมให้รวดเร็วและเป็นธรรม ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนมลพิษซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนในวงกว้าง และยังเป็นกรณีตัวอย่างที่แสดงถึงความล่าช้าและบกพร่องของหน่วยงานรัฐในการปกป้องสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับกรณีมาบตาพุด กรณีการปนเปื้อนสารแคดเมียมในลำห้วยแม่ตาว จ.ตาก กรณีการปนเปื้อนโลหะหนักในลำน้ำและในเลือดของชาวบ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย และปัญหามลพิษอีกมากมาย
  
ส่วนนายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ชาวบ้านคลิตี้ กล่าวว่า ระยะเวลากว่า 14 ปีที่ผ่านมา ตะกอนตะกั่วยังอยู่เหมือนเดิม และชาวบ้านยังคงประสบความเดือดร้อน ซึ่งในมุมมองส่วนตัวของเขาต้องการให้ดูดออกไปฝังกลบที่อื่น สำหรับหน้าที่ในการแก้ปัญหาเป็นของกรมควบคุมมลพิษ ส่วนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่นั้นเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เกี่ยวข้อง การที่จะฟ้องร้องอาจต้องดูต่อไป อย่างไรก็ตามสำหรับชาวบ้านไม่ได้ต้องการฟ้องร้องเป็นคดีความ เพียงแต่ต้องการเรียกร้องการแก้ปัญหาให้ลำห้วยคลิตี้
 
                                                                 
แนะนอกจากกระบวนการศาล หากรัฐบาลเห็นความสำคัญสามารถยื่นมือช่วยเหลือได้
 
นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งมาร่วมฟังพิจารณาคดีในวันนี้ กล่าวว่า ความคิดเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีมีความน่าสนใจและถือเป็นความก้าวหน้าในประเด็นที่มีการเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ เรื่องความรับผิดชอบร่วม ตามหลักการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐ แม้กรณีนี้จะมีข้อถกเถียงว่ากรมควบคุมมลพิษไม่ใช่ผู้รับผิดชอบโดยตรง แต่ก็ถือว่าเป็นหน่วยงานของรัฐเดียวกัน ซึ่งต้องทำการแทนรัฐในการรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีได้ละเลยในประเด็นหลักที่ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องในการฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่วนั้นล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ เพราะได้ยอมรับวิธีการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แล้วให้มีการชดใช้ค่าเสียหายและค่าทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี แต่กรณีดังกล่าวผลกระทบได้เกิดต่อคนทั้งชุมชน ไม่ใช่เฉพาะกับ 22 คน ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้าน อีกทั้งยังมีข้อสงสัยถึงการกล่าวอ้างผู้เชี่ยวชาญของกรมควบคุมพิษที่ระบุความเห็นว่าการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ว่าใครคือผู้เชี่ยวชาญ เพราะการฟื้นฟูตามธรรมชาติตรงนี้เท่ากับว่าเป็นการปล่อยให้คนอยู่กับตะกั่วไปเรื่อยๆ
 
รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดยังมีเวลาย้อนคิดในประเด็นความล่าช้าในการฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่ว และพิจารณาความเสียหายให้ครอบคลุมทั้งชุมชน รวมทั้งการเปิดช่องให้ความคิดเห็นของผู้เชียวชาญท่านอื่นๆ ด้วย ซึ่งตรงนี้คงต้องฝากความหวังไว้กับศาลปกครองสูงสุด
 
ในส่วนข้อเสนอ นางสุนี กล่าวว่า นอกจากการพึ่งพากระบวนการศาลแล้ว หน่วยงานทางปกครองคือรัฐบาลสามารถเข้ามาดูแลเรื่องนี้หากเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาซึ่งสังคมเองก็ให้ความสนใจ โดยประเด็นหลักคือการทบทวนมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่เดิมยอมรับวิธีการฟื้นฟูโดยธรรมชาติ ตรงนี้ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานเชิงซ้อนเป็นมาตรฐานของรัฐ ทั้งนี้ทุกฝ่ายต่างยอมรับว่ากรณีคลิตี้ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจริงและมีมาอย่างยาวนาน แต่สิ่งที่แตกต่างคือแนวคิดเรื่องวิธีการที่จะฟื้นฟู
 
 
กรีนพีซชี้คดีคลิตี้ บรรทัดฐานการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะ
 
ขณะที่ นายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรณีคลิตี้เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายๆ กรณีที่แสดงให้เห็นถึงการเอาเปรียบของทุนอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษ ที่แสวงหาผลกำไรจากทรัพยากรส่วนรวมและผลักภาระให้แก่ชุมชนเป็นผู้รับผลกระทบ ขณะที่หน่วยงานรัฐเพิกเฉย ไม่ทำหน้าที่ในการปกป้องทรัพยากรและชุมชนเท่าที่ควร ทั้งนี้ นอกจากคดีดังกล่าวจะกลายเป็นบรรทัดฐานเรื่องการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ปฏิญญาคลิตี้ 14 ข้อเป็นจริงด้วย
 
อนึ่ง ปฏิญญาคลิตี้ เกิดจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กรณีปัญหาในพื้นที่ต่างๆ จนนำมาสู่การกำหนดปฏิญญาเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาร่วมกัน ณ หมู่บ้านคลิตี้ล่าง เมื่อวันที่ 27 พ.ค.55 แบ่งเป็น 14 ข้อ ดังนี้ 1.ชุมชนต้องได้รับการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เกี่ยวกับกิจกรรมเหมืองแร่ ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดพื้นที่ศักยภาพแร่ การสำรวจ การให้ประทานบัตร ระหว่างประกอบกิจการ และภายหลังการประกอบกิจการ อาทิ ขอบเขตพื้นที่ประทานบัตร ข้อมูลการใช้สารเคมีในการผลิต และมลพิษต่างๆ ที่เกิดจากการประกอบกิจการ การจัดการมลพิษต่างๆ และเอกสารอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ
 
 
2.ประชาชนและชุมชนต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการอนุรักษ์จัดการ และการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน ประกอบการพิจารณาและตรวจสอบการอนุญาต การดำเนินการและการต่ออายุประทานบัตรการทำเหมืองแร่ของรัฐ 3.ประชาชนต้องตรวจสอบ และยกเลิกการประกาศแหล่งแร่ได้หากไม่เหมาะสม 4.ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไข พ.ร.บ.แร่ เพื่อให้มีการตรวจสอบ และคุ้มครองดูแลสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสุขภาพอนามัย
 
5.รัฐต้องดำเนินการแก้ไขและกำจัดมลพิษโดยทันที เมื่อตรวจสอบพบการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชน และหาผู้ก่อมลพิษเพื่อมารับผิดชอบต่อไป 6.รัฐต้องกำหนดค่ามาตรฐานสิ่งแวดล้อม เช่น ตะกอนดิน และสุขภาพอนามัย เช่น ปริมาณโลหะหนักในเลือด เพื่อเป็นเกณฑ์ในการตรวจสอบการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน 7.รัฐต้องจัดให้มีกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ 8.กำหนดให้มีการวางเงินประกันความเสี่ยงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เมื่อเกิดผลกระทบให้นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและเยียวยาสุขภาพโดยทันที
 
9.ต้องมีการตรวจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่ และชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการประกอบการ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานก่อนมีการดำเนินการตามประทานบัตร และตรวจทุกปีเพื่อเป็นมาตรการในการป้องกันการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และก่อนการต่ออายุ การขยายพื้นที่ ประทานบัตร ต้องมีการตรวจสอบการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก่อน หากพบว่ามีผลกระทบ ต้องไม่อนุญาตจนกว่าจะแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้นก่อน 10.รัฐต้องคำนวณต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงต่อสุขภาพของชุมชน ในการตัดสินใจอนุมัติอนุญาตการประกอบกิจการเหมืองแร่
 
11.ควรกำหนดโทษอาญากับหน่วยงานรัฐและผู้ก่อมลพิษ ในกรณีมีการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการอนุมัติอนุญาตเหมืองแร่ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างร้ายแรง12.ต้องเปิดให้มีสถาบันการแพทย์ด้านอาชีวอนามัย และสุขภาพ ให้เพียงพอต่อการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม 13.ลดอายุการให้ประทานบัตรจากเดิม 25 ปี เป็น 10 ปี และ 14.ให้กรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้อย่างเร่งด่วน โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของชุมชนคลิตี้ล่าง และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แหล่งน้ำ ตะกอนดินและห่วงโซ่อาหารปลอดจากการปนเปื้อนสารตะกั่ว และชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้ดังเดิม
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปล่อยชั่วคราว 13 จำเลยเสื้อแดงมุกดาหาร

Posted: 26 Jun 2012 03:35 AM PDT

คนเสื้อแดงแห่ต้อนรับ 13 ผู้ต้องขังเสื้อแดงมุกดาหารที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เจ้าตัวบอกเป็นอิสรภาพชั่วคราว หวังรัฐบาลเร่งปรองดอง

26 มิถุนายน 2555 เวลาประมาณ 12.00 น. จำเลยเสื้อแดง 13 คน ในคดีวางเพลิงเผาศาลากลางมุกดาหาร ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง ท่ามกลางการต้อนรับจากญาติพี่น้องที่เดินทางมาจาก จ.มุกดาหาร คนเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ซึ่งรณรงค์ให้ปล่อยนักโทษการเมือง และสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ซึ่งดำเนินการยื่นขอประกันตัวในครั้งนี้

บรรยากาศการรอรับผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำชั่วคราวหลักสี่

บรรยากาศการรอรับตัวจำเลยทั้ง 13 คน ที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่

ก่อนหน้านี้(21 มิ.ย.55) ศาลจังหวัดมุกดาหารได้มีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 13 คน โดยให้เพิ่มหลักทรัพย์จากที่สมาคมทนายความฯ นำไปยื่นคนละ 600,000 บาท เป็นคนละ 2,000,000 บาท ต่อมา วันที่ 25 มิถุนายน กองทุนยุติธรรมนำเงินสดจำนวนทั้งสิ้น 26 ล้าน ไปวางค้ำประกัน ศาลจังหวัดมุกดาหารจึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ทั้งนี้ ก่อนการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่จากกองทุนยุติธรรมได้นำเอกสารสัญญาค้ำประกันเงิน 2,000,000 บาท มาให้ญาติแต่ละคนลงลายมือชื่อ รวมทั้งเอกสารให้จำเลยเซ็นมอบอำนาจให้กองทุนยุติธรรมในการรับเงินค้ำประกันคืนในกรณีที่คดีสิ้นสุด

ภายหลังการต้อนรับเสื้อแดงมุกดาหารที่ได้รับการปล่อยตัว กลุ่มคนเสื้อแดงรวมทั้งจำเลยที่ได้รับอิสรภาพชั่วคราวได้ไปให้กำลังใจผู้ต้องขังที่ยังอยู่ในเรือนจำ ทั้งนี้ ยังมีผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวเหลืออยู่ในเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ทั้งสิ้น 29 คน เป็นผู้ต้องขังจาก จ.อุบลฯ, อุดรฯ และมหาสารคามรวม 18 คน ซึ่งสมาคมทนายความฯ ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้วเมื่อ 20 มิ.ย.55 โดยศาล จ.อุบลฯ มีคำสั่งไม่อนุญาตแล้ว ส่วนที่เหลือยังไม่มีคำสั่ง และเป็นผู้ต้องขังคดีในกรุงเทพฯ อีก 11 คน ซึ่งสมาคมทนายความฯ จะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อีก 3 คน ในวันพรุ่งนี้(27 มิ.ย.55)

ส่วนหนึ่งของผู้ที่รับการปล่อยตัวชั่วคราววันนี้

นายดวง คนยืน 1 ใน 13 คนที่ได้รับอิสรภาพในวันนี้กล่าวว่า “แม้ว่าเราจะได้รับอิสรภาพในวันนี้ ก็เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ถ้าศาลอุทธรณ์ตัดสิน เราก็อาจจะได้กลับเข้ามาอีก ซึ่งก็เป็นความทุกข์แสนสาหัส เวลามีพี่น้องเสื้อแดงมาเยี่ยมก็มีกำลังใจ แต่พอมืดมาผ้าห่มคลุมหัวก็ร้องไห้ทุกที ความหวังของเราก็คือให้รัฐบาลปรองดองไวๆ”

ทั้งนี้ จำเลย 13 คน ถูกศาลจังหวัดมุกดาหารพิพากษาจำคุก 20 ปี ในความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ โรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน(ศาลากลางจังหวัด) จากหลักฐานภาพถ่ายจำเลยในขณะกลิ้งยาง โดยจำเลยให้การปฏิเสธ และต่อสู้ว่ากลิ้งยางไปกองเป็นสัญลักษณ์แสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลที่สลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต ตลอดจนช่วยกลิ้งยางออกมาเมื่อกองยางอยู่ใกล้อาคารศาลากลางมากเกินไป หลังคำพิพากษา เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2554 จำเลยทั้ง 13 คน ถูกควบคุมตัวในเรือนจำจังหวัดมุกดาหาร และเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ รวมเวลาทั้งสิ้น 8 เดือน ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มุมมืดของ กสทช.: กรณีการจัดทำร่างประกาศการครอบงำกิจการของคนต่างด้าว

Posted: 26 Jun 2012 02:29 AM PDT

สุดท้ายคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค). ก็เดินหน้าที่จะผลักดัน ร่างประกาศ เรื่องการครอบงำกิจการของคนต่างด้าว ซึ่งได้กำหนดนิยามของคนต่างด้าวที่เข้มงวดมากขึ้นกว่าที่กำหนดใน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542  แต่ที่สำคัญคือ นิยามดังกล่าวหละหลวมมากเปิดช่องให้ผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลใช้อำนาจแห่งดุลยพินิจในการชี้ว่าผู้ประกอบการรายใดเป็นหรือไม่เป็นคนต่างด้าว  ปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาสัญชาติของผู้ประกอบการนั้นหลากหลายมาก  รวมถึงแหล่งเงินกู้ เงื่อนไขการกู้เงิน การทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา การทำสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง ฯ โดยไม่มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ชัดเจน

ประกาศฉบับนี้เกี่ยวกับผลประโยชน์ทางธุรกิจมหาศาล เพราะในปัจจุบัน  ตลาดโทรคมนาคมไทยมีผู้ประกอบการเอกชนรายใหญ่เพียงแค่ 3 ราย  หากมีการตีความว่ารายใดรายหนึ่งเป็นต่างด้าวแล้ว  ก็จะเหลือคู่แข่งเพียงสองราย  บัดนั้นสองรายที่เหลือก็จะสามารถกอบโกยกำไรได้โดยไม่อั้น 

ท่านผู้อ่านที่อายุไล่เลี่ยกับผู้เขียนคงไม่ลืมว่าเมื่อยุคแรกๆ ที่มีบริการโทรศัพท์มือถือภายใต้ระบบสัมปทานประมาณ 17-18 ปีก่อน  เราต้องจ่ายค่าบริการรายเดือนเดือนละ 500 บาท (ไม่รวมค่าโทร) ค่ามัดจำ ค่าลงทะเบียน ฯลฯ รวมเบ็ดเสร็จแล้วหลายพันบาทกว่าจะมีโอกาสได้ใช้บริการ และยังถูกบังคับซื้อเครื่องโทรศัพท์ในราคาหลายหมื่น (ในขณะที่ราคาขายในฮ่องกงไม่กี่พันบาท)  ปฏิบัติการ “ขูดรีดคนไทย โดยคนไทย” ในระยะเวลาดังกล่าวทำให้เกิดธุรกิจแสนล้านในพริบตา

ประสบการณ์ดังกล่าวชี้ชัดว่า  ประกาศฉบับนี้สามารถเป็นเครื่องมือที่ดีเลิศในการผูกขาดตลาดโทรคมนาคมสำหรับกลุ่มทุนที่มีเส้นสายทางเศรษฐกิจการเมือง เพราะสามารถนำประกาศดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือในการเขี่ยคู่แข่งบางรายออกจากตลาดได้  โดยเริ่มจากการประมูลคลื่น 3G ที่จะเกิดขึ้นในไม่อีกกี่เดือนข้างหน้า  หากรายหนึ่งถูกตัดสิทธิในการเข้าประมูลเพราะถูกตีความว่าเป็นต่างชาติก็จะเหลือเพียงสองรายทำให้ไม่ต้องแข่งขันกันในการประมูล เพราะคลื่นความถี่ที่มีอยู่เกินพอสำหรับสองราย  ใช้เท่าไรก็ไม่หมด  หากเป็นเช่นนั้นแล้ว  การพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมของไทยก็จะกลับไปสู่ยุคมืดของตลาดผูกขาดสองรายเหมือนเดิม 

อันที่จริงแล้ว ประกาศ  เรื่อง การครอบงำกิจการของคนต่างด้าวมีการบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2554 โดยกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมชุดก่อน (กทช) เป็นผู้ผลักดันอย่างรีบเร่งก่อนที่จะหมดวาระ  กรรมการชุดใหม่ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เมื่อปลายปี พ.ศ.2554 มีท่าทีว่าอยากที่จะยกเลิกประกาศฉบับนี้และได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น  แต่เมื่อเวลาผ่านไป  ท่าที่ของกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมหลายท่านเปลี่ยนไป  กลับคล้อยตามประกาศดังกล่าวอย่างน่าประหลาด สุดท้ายแล้ว  เพียงแต่มีความเห็นให้ตัดข้อความที่เกี่ยวกับความมั่นคงซึ่งเป็นข้ออ้างหลักในการออกประกาศฉบับดังกล่าวของกรรมการชุดก่อนออกไปเท่านั้น  แต่ยังคงนิยามของคนต่างด้าวที่คลุมเครืออย่างเดิม

ร่างประกาศดังกล่าวไม่ได้มีปัญหาเฉพาะในเรื่องของเนื้อหาสาระ  หากแต่มีปัญหาในส่วนของกระบวนการและขั้นตอนในการจัดทำอีกด้วย  ซึ่งขัดกับทั้งกฎหมายและระเบียบของ กสทช. เอง ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นที่สามารถนำไปฟ้องศาลปกครองได้

ประการแรก ข้อ 6 ของระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2549 ระบุไว้ว่า “การประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแลต้องจัดทำเป็นรายงาน โดยต้องนำเสนอพร้อมกับเรื่องหรือร่างประกาศที่จะเสนอเข้าสู่การประชุมทุกครั้ง” แต่ในการประชุม กทค. ที่ให้การเห็นชอบร่างประกาศ ฯดังกล่าว กลับไม่มีการนำเสนอรายงานการประเมินฯ ดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด  ถึงกระนั้น  กรรมการ กทค. 4 ใน 5 ท่านก็พร้อมที่จะเห็นชอบประกาศดังกล่าวโดยปราศจากข้อมูลหลักฐานและผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อยู่บนพื้นฐานหลักการทางวิชาการ

อนึ่ง  ผู้เขียนได้พยายามสอบถามว่า เหตุใดจึงไม่มีการทำรายงานผลกระทบจากการกำกับดูแลตามระเบียบของ กสทช. ได้รับการชี้แจงว่า ระเบียบดังกล่าวเกินเลยไปกว่าบทบัญญัติของกฎหมาย  เนื่องจากมาตรา 28 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดขั้นตอนในการรับฟังความคิดเห็นมิได้กล่าวถึงการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบแต่อย่างใด  การเพิ่มขั้นตอนในการออกกฎระเบียบให้โปร่งใสมากขึ้นตามมาตรฐานสากลนั้นเป็นการกระทำที่ขัดกับกฎหมายหรือ ?  

ประการที่สอง  มาตรา 28 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ พ.ศ. 2553  กำหนดว่า  ในการรับฟังความคิดเห็นนั้นจะต้องให้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน  ยกเว้นกรณีเร่งด่วน  แต่การรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมานั้นได้มีการประกาศให้ประชาชนทราบเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน เพียง 3 วันล่วงหน้าโดยได้แจ้งในเว็บไซต์ของ กสทช. ว่าร่างประกาศฯ ได้ปรากฏในเว็บไซต์ของ กสทช. ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมแล้วจึงครบหนึ่งเดือน  ผู้เขียนไม่ทราบว่า กสทช. คาดว่าผู้ที่มีส่วนได้เสียจะเปิดเข้ามาชมเว็บไซต์ของ กสทช. ทุกวันเพื่อตรวจสอบว่ามีการโพสต์ร่างประกาศดังกล่าวหรือ 

ความพยายามที่จะรวบรัดกระบวนการในการออกประกาศ ฯ สะท้อนถึงเจตนารมณ์ที่จะปกปิดข้อบกพร่องอย่างร้ายแรงของประกาศฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นนิยามของคนต่างด้าวที่ลอกมาจากการพิจารณาอำนาจในการควบคุมธุรกิจของกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาสัญชาติแต่อย่างใด หรือการที่ประกาศฉบับนี้ขัดกับพันธกรณีของไทยในองค์การการค้าโลก เมื่อไม่นานมานี้  นักวิชาการอิสระด้านกฎหมายท่านหนึ่งได้วิจารณ์ประเด็นปัญหาเหล่านี้ในรายละเอียดผ่านหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์แล้ว

ผู้เขียนรู้สึกท้อแท้กับสิ่งที่เกิดขึ้น  และหวังว่าคณะกรรมการชุดใหญ่ คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  โดยเฉพาะท่านประธาน กสทช.  ว่าท่านจะใช้ภาวะผู้นำในการไม่ให้ความเห็นชอบร่างประกาศของ กทค. ที่ไม่มีเหตุผลความจำเป็นรองรับที่ชัดเจนและมีกระบวนการและขั้นตอนในการจัดทำที่ผิดระเบียบและกฎหมายมากมาย

อนึ่ง มาตรา 27(11) แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ พ.ศ. 2553 ระบุว่า กรรมการ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการ “กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาด” และ มาตรา 27(13) “คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ”  หากประกาศฉบับนี้นำไปสู่การผูกขาดในกิจการโทรคมนาคมไทย  ส่งผลให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบแล้ว  กรรมการคงจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนที่อาจถูกตีความว่าเป็น “บกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง” หรือ “ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ” ซึ่งนำไปสู่การถอดถอนตามมาตรา 21 และ 22 ของกฎหมายดังกล่าวได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุเนตร ชุตินธรานนท์: ไขคติ "เบิกยุค" ของพม่า เหตุย้ายเมืองหลวงไป "เนปิดอว์"

Posted: 26 Jun 2012 02:26 AM PDT

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาหัวข้อ “เปิดมิติเนปิดอว์เมืองหลวงใหม่พม่า: ที่มา ที่ไป และที่เป็น” ที่ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยตอนหนึ่งมีการอภิปรายหัวข้อ “การย้ายราชธานีของพม่าก่อนยุคเนปิดอว์” โดย รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอาจารย์สุเนตรได้กล่าวถึงภูมิหลังประวัติศาสตร์และความเป็นมา ของธรรมเนียมการย้ายราชธานีพม่าในอดีต เปรียบเทียบกับการย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้ง ไปสู่เนปิดอว์ ในปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

"เมื่อพูดคำว่า "เนปิดอว์" คนไทยเข้าใจว่าเป็นชื่อของเมืองที่ปัจจุบันเป็นราชธานีของพม่ามาแทนนคร "ย่างกุ้ง" แต่ถ้ามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ชื่อนี้ไม่ใช่ชื่อเฉพาะอย่างที่เราเข้าใจ "เนปิดอว์" ในภาษาพม่ามีความหมายตรงตัวว่า "ราชธานี""

"คำว่า "เบิกยุค" หมายความว่า กษัตริย์พม่ามีคติเรื่องการปกครองที่เชื่อว่าพุทธศาสนานับวันจะเลวลง นับวันจะเสื่อมถอยลง เป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่จะต้องฟื้นฟูบูรณะพระศาสนาให้ยืนยงสถาพรเท่าพุทธทำนายคือ 5,000 ปี เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเหตุทุกภิกขภัยต่างๆ เกิดโรคระบาด เกิดรบราฆ่าฟัน แพ้สงคราม ก็จะเป็นคล้ายๆ เป็นสัญลักษณ์ว่าพุทธศาสนาคงเสื่อมแล้ว บ้านเมืองถึงปรากฏสภาวะเสื่อมโทรมดังนี้ ทำอย่างไรดีล่ะ ก็ต้องปลุกขวัญกำลังใจเหล่าอาณาประชาราษฎร์ เบิกยุคใหม่ บอกว่า "ไม่ต้องห่วงยังไม่สิ้น บ้านเมืองยังไม่สิ้น ยุคแห่งพุทธศาสนาไม่เสื่อม เราจะนำพาความรุ่งเรืองกลับมาอีกครั้ง ให้ยืนยงไปดังพุทธทำนาย" รูปธรรมต้องสร้างเมือง สร้างวัง ย้ายเมือง อย่างนี้เป็นต้น"

000

เมื่อพูดคำว่า "เนปิดอว์" คนไทยเข้าใจว่าเป็นชื่อของเมืองที่ปัจจุบันเป็นราชธานีของพม่ามาแทนนคร "ย่างกุ้ง" แต่ถ้ามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ชื่อนี้ไม่ใช่ชื่อเฉพาะอย่างที่เราเข้าใจ "เนปิดอว์" ในภาษาพม่ามีความหมายตรงตัวว่า "ราชธานี" ในประวัติศาสตร์พม่ามีราชธานีหลายราชธานี อย่างเช่น พุกาม ก็มีชื่อเฉพาะ รู้สึกจะชื่อ อริมัทนะปุระ ความหมายเฉพาะตัวคือ เมืองที่ไม่อาจจะมีศัตรูใดต่อรบด้วยได้ หรือชื่อเมืองอังวะ ชื่อจริงๆ คือ รัตนะปุระ คือ นครแห่งอัญมณี ถ้าเมืองตองอูที่เรามักคุ้นเคยในวรรณกรรมของยาขอบ ผู้ชนะสิบทิศ ชื่อเต็มคือ เกตุมวดีตองอู ส่วน หงสาวดี เป็นชื่อมอญ พม่าก็ได้มาอาศัยเมืองนี้เป็นราชธานี ที่ผมยกตัวอย่างพอสังเขป เพื่อให้ท่านได้เข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นพุกามก็ดี อังวะก็ดี ตองอูก็ดี หรือหงสาวดีก็ดีเหล่านี้ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ล้วนเป็นเมืองราชธานี หรือเป็น "เนปิดอว์" ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นคำว่า "เนปิดอว์" ซึ่งมีความหมายว่าราชธานี หรือเมืองหลวง จริงๆ แล้วคำๆ นี้เป็นคำกลาง เมืองแต่ละเมืองจะมีชื่อเฉพาะของตัวเองแตกต่างกันไป แต่จะมีสถานะเป็นเมืองหลวง แล้วแต่ว่ากษัตริย์องค์ไหนเข้มแข็ง ก็สถาปนาศูนย์กลางอำนาจขึ้นมาเป็นเมืองหลวงคือ "เนปิดอว์" ขึ้น

ลักษณะที่น่าสนใจคือ รัฐบาลทหารพม่าในช่วงหลัง เมื่อไปตั้งราชธานีหรือ "เนปิดอว์" ขึ้น ไม่ได้ใช้คำเฉพาะ หรือชื่อเฉพาะ แต่ใช้คำซึ่งในอดีตเป็นคำกลางคือราชธานีมาเป็นชื่อเรียกชื่อเมืองเฉพาะที่ตั้งขึ้นเป็นราชธานี เพราะฉะนั้นคำว่า "เนปิดอว์" ซึ่งในความหมายของพม่าคือเมืองหลวง ย่างกุ้งก็เคยเป็น "เนปิดอว์" ปัจจุบันจึงกลายเป็นชื่อเฉพาะด้วย คือเป็นชื่อราชธานีของพม่า ทำอย่างนี้เพื่อให้รู้กันว่าปัจจุบันราชธานีอยู่ที่ "เนปิดอว์" ส่วนย่างกุ้งทางพม่าถือว่าถึงแม้จะเคยเป็นราชธานีมาก่อน แต่ไม่ได้เป็นราชธานีที่ผู้ปกครองพม่าสถาปนาขึ้นมา เป็นราชธานีที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษสถาปนาขึ้นมาภายหลังสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 2 คือ ค.ศ. 1852 คือต้องการตั้งเมืองศูนย์กลางหรือราชธานี ของรัฐหรือดินแดนในปกครองของอังกฤษก็เลยตั้งย่างกุ้งเป็นเมืองหลวง และถูกใช้เป็นเมืองหลวงสืบเนื่องมาจนกระทั่งพม่าได้รับเอกราชในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1948

ส่วนในประเด็นว่ามีการย้ายเมืองหลวง พม่าย้ายเมืองหลวงบ่อยจากที่โน่นไปที่นี่ ผมอยากทำความเข้าใจในชั้นต้นว่า เมื่อพูดถึงการย้ายราชธานีของพม่า การย้ายราชธานีในความรู้สึกนึกคิดของผมจริงๆ คือเป็นสิ่งที่เกิดในช่วงหลัง คือในยุคสมัยที่พระเจ้าอลองพญามาปกครอง และสถาปนาราชวงศ์สุดท้ายของพม่า หลังจากนั้นเราจะเห็นการย้ายราชธานีบ่อยครั้ง แต่ก่อนหน้านั้น เราไม่เห็นลักษณะการที่พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง วันดีคืนดีเบื่อเมืองที่ตัวเองปกครองก็ขนย้ายอาณาประชาราษฎรไปตั้งเมืองใหม่ อันนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่นิยมทำกันในประวัติศาสตร์แรกๆ พม่า 

 

000

ถ้าอย่างนั้นทำไมพม่าจึงมีราชธานีหลายแห่ง เช่น พุกาม อังวะ ตองอู หงสาววดี ถ้าท่านไม่คุ้นกับที่ตั้งเมืองเหล่านี้ ผมมีแผนที่ให้ดู เมืองพุกามอยู่ทางตอนเหนือ อังวะ อมราปุระ

พม่าในสมัยโบราณมีความแตกต่างกับประเทศไทย ของไทยหรือสยามประเทศจะไม่ค่อยย้ายราชธานี เราจะเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาได้ถูกสถาปนาเป็นราชธานี และคงสถานะเป็นราชธานีต่อเนื่องถึง 417 ปี ลักษณะอย่างนี้ไม่ค่อยเจอในกรณีของพม่า ถามว่าทำไมจึงไม่ค่อยเจอ ทั้งนี้เพราะว่าในยุคสมัยแรกของพม่า การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่ใดที่หนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เกิดบ่อยในประวัติศาสตร์ หมายความว่า ในอาณาจักรพม่า จะมีพระมหากษัตริย์ปกครองเมืองต่างหลายๆ เมือง มีสถานะค่อนข้างใกล้เคียงกัน เช่น มีพระมหากษัตริย์ปกครองที่อังวะ ที่ตองอู ที่แปร หลายเมือง และกษัตริย์เหล่านี้มีสถานะเท่าเทียมกัน

ยกเว้นบางยุค บางสมัยเท่านั้น ที่กษัตริย์เมืองใดเมืองหนึ่งเหล่านี้เข้มแข็งกว่าที่อื่นก็สามารถลุกขึ้นสถาปนาอาณาจักรขึ้นมา และรวมรวมเมืองต่างๆ เหล่านั้นมาอยู่ในอาณาจักรของพระองค์ได้ แต่พอสิ้นสุดสมัยของพระองค์ อาณาจักรที่รวมๆ ไว้หลวมๆ ก็จะแตกไปอีก ก็จะเป็นกษัตริย์ที่ปกครองตามเมืองต่างๆ นั้นอีก ต้องรอคอยคนเข้มแข็ง จากเมืองใดเมืองหนึ่งขึ้นมา สถาปนาเมืองตัวเองขึ้นเป็นราชธานี เป็นอย่างนี้อย่างสม่ำเสมอในประวัติศาสตร์พม่า

ในยุคแรกๆ มีพระเจ้าอโนรธา (Anawrahta Minsaw) เข้มแข็ง สถาปนาเมืองพุกามเป็นราชธานี พอกษัตริย์ที่เข้มแข็งของพุกามล่มสลายก็เกิดบ้านเล็กเมืองน้อย ต้องรอเวลาอีกหลายปี จนเกิดคนดีมีฝีมืออย่างจะพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ (Tabinshwehti) หรือพระเจ้าบุเรงนอง (Bayinnaung) ที่สถาปนาตองอู และหงสาวดีเป็นราชธานี

ในยุคที่พระเจ้าบุเรงนอง สถาปนาหงสาวดีเป็นราชธานี ก็รวมบ้านเล็กเมืองน้อยมาอยู่ในพระราชอำนาจ พอสิ้นพระชนม์ พระเจ้านันทบุเรงขึ้นมา (Nanda Bayin) ไปตามดูหนังพระนเรศวรนะครับประมาณนั้น เหล่าบ้านเมืองอื่นๆ ก็แข็งข้อ ไม่ยอมขึ้น ก็เกิดเมืองต่างๆ แข็งข้อ พอพระเจ้านันทบุเรงหมดอำนาจ พระเจ้านยองยาน (Nyaungyan) ก็สถาปนาเมืองอังวะเป็นราชธานี อาการเป็นอย่างนี้

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์พม่า มีปัญหาการสร้างความเป็นเอกภาพทางการเมืองต่อเนื่องมาโดยตลอด กษัตริย์ที่จะลุกมาสร้างเมืองราชธานีได้ต้องเข้มแข็ง ถ้าตัวเองสร้างเมืองของตัวเป็นราชธานีได้ แต่ลูกหลานไม่เก่ง กษัตริย์เมืองอื่นก็ตั้งราชธานีใหม่ ก็เลยมีราชธานีหลายแห่งเป็นเรื่องปกติ ถ้าเราอ่านพระราชพงศาวดารของเราที่เขียนเกี่ยวกับพม่า จะเห็นว่า พระราชพงศาวดารจะเขียนว่าพระเจ้าตองอู พระเจ้าอังวะ พระเจ้าแปร พระเจ้านั่น พระเจ้านี่ แสดงว่าเป็นกษัตริย์กันหมดเลย ไม่มีใครเลยเป็นขุนนาง เป็นกษัตริย์หมด แล้วแต่ว่าศูนย์กลางของตัวเข้มแข็งตรงไหนขึ้นมาก็จะเป็นราชธานีได้ ลักษณะอย่างนี้เราไม่เห็นกับอยุธยา อยุธยาแม้มีการเปลี่ยนราชวงศ์ แต่ไม่เปลี่ยนเมือง ยังคงอาศัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจนกระทั่งกรุงแตกในปี พ.ศ. 2310 (ค.ศ. 1767) จึงย้ายราชธานีลงมาเป็นกรุงธนบุรี กรุงเทพฯ ตามลำดับ แต่ไม่ได้ห่างจากศูนย์กลางเดิมเท่าไหร่นัก ส่วนของพม่านี่ไปคนละทิศคนละทาง

นี่คือสภาวะที่เป็นอยู่ จนกระทั่งวันดีคืนดี จนในช่วงปลายยุคอังวะ ปรากฏว่ามอญ ลุกขึ้นมาเข้มแข็ง สามารถปราบปรามพม่าลงได้ราบคาบ สถาปนาเมืองหงสาวดีเป็นราชธานีขึ้นมาใหม่ ในยุคนั้นมอญเป็นใหญ่ในพุกามประเทศ ในพม่าเหลือคนดีมีฝีมือหลบเป็นนายพรานป่า หลบไปที่หมู่บ้านที่ชื่อว่า "ชเวโบ" (Shwebo) คนที่เป็นนายพรานป่าคนนี้ชื่อ "มังอองไจยะ" (Aung Zeya) ตั้งตัวเองแข็งข้อไม่ขึ้นกับมอญ มอญส่งกองทัพไปปราบ ปราบเท่าไหร่ก็ไม่ได้ จากชุมนุมเล็กๆ กลายเป็นชุมนุมใหญ่ขึ้นๆ จนสถาปนาศูนย์กลางอำนาจขึ้นพม่ามาแข่งกับมอญ ศูนย์กลางอำนาจมีชื่อว่า "ชเวโบ" จริงๆ แล้วชื่อเดิมคือหมู่บ้านมุตโชโบ แล้วขึ้นมาเป็นใหญ่เป็น "พระเจ้าอลองพญา" (Alaungpaya) ท่านก็เปลี่ยนชื่อศูนย์กลางอำนาจเป็น "รัตนสิงหะ" เป็นราชธานีขึ้นมา

พระเจ้าอลองพญาไม่เหมือนใคร พอขึ้นมาเป็นใหญ่ปั๊บคราวนี้ได้บทเรียนว่า พอพม่าอ่อนแอ มอญกวาดทั้งประเทศไปอยู่ใต้อำนาจมอญ แกลุกขึ้นมาแสดงอำนาจปราบมอญเสียเหี้ยนเตียนไปหมด จนกระทั่งช่วงนั้นมีมอญอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์อยุธยา จนเป็นเหตุชักนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าอลองพญาและสายสันตติวงศ์ของพระองค์กับกษัตริย์อยุธยาจนนำมาซึ่งสงครามในปี พ.ศ. 2310

นับแต่เปิดราขวงศ์อลองพญาในยุคพระเจ้าอลองพญา ก็สถาปนาเมืองชเวโบ หรือรัตนสิงหะเป็นราชธานี เมืองนี้อยู่ในลุ่มน้ำชิงวิ่น แต่ท่านลงมาปกครองหรือยึดเมืองย่างกุ้งเป็นเมืองท่า ที่เปิดตัวสู่การค้านานาชาติ ส่วนศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ชเวโบ แต่มาปกครองย่างกุ้ง เอาย่างกุ้งเป็นเมืองท่า

รูปของพระเจ้าอลองพญา ถ้านึกไม่ได้ จะเห็นว่าที่เนปิดอว์มีการสร้างอนุสาวรีย์ใหญ่โต มีมหาราช 3 พระองค์ประทับอยู่ หนึ่งในมหาราชคือพระเจ้าอลองพญา พม่านับถือเหลือเกินว่าทำให้พม่าขึ้นมาเป็นปึกแผ่น เป็นตัวเป็นตน เกิดอาณาจักรได้ในยุคท้าย ผมเชื่อว่าจะมากจะน้อย ผู้นำพม่าเป็นคนไม่ทิ้งประวัติศาสตร์ เขาทำอะไรก้าวไปข้างหน้า 2 ก้าว เขาจะหันกลับมาดูว่า ข้างหลังเขาผ่านอย่างไร แล้วอาศัยอดีตเป็นบทเรียนเสมอ เพราะฉะนั้นพระเจ้าอลองพญา จะไม่ลงมาเอาหัวเมืองในรัฐมอญเดิม ไม่ว่าจะเป็นหงสาวดีก็ดี หรือย่างกุ้งก็ดีเป็นราชธานี เพราะไม่สู้ปลอดภัย ท่านตั้งฐานกำลังอยู่ตอนในคือชเวโบ ซึ่งคุมกำลังได้เป็นเมืองหลวงดีกว่า แล้วมาปกครองหัวเมืองที่ติดทะเล ใกล้ทะเล จะเป็นไปได้ไหมที่ผู้ปกคองพม่ายุคหลัง ก็พอจะเล็งเห็นว่า ทำเลที่ตั้งข้องเมืองอย่างเช่นย่างกุ้ง อาจจะล่อแหลมต่อการถูกโจมตีจากมหาอำนาจทางทะเลได้ และย่างกุ้งก็มีความเคลื่อนต่อต้านรัฐบาลทหารในช่วงนั้น ปี ค.ศ. 1988 ก็เป็นตัวอบ่่าง 

อย่ากระนั้นเลยกองทัพควรมีศูนย์กลางอำนาจ ที่ตั้งลึกอยู่ในตอนใน ที่สามารถจะมีความมั่นคงเข้มแข็ง เปรียบประหนึ่งเมืองชเวโบ หรือรัตนสิงหะ ที่ครั้งพระเจ้าอลองพญาเคยทำมา เป็นไปได้หรือเปล่าก็ไม่มีหลักฐานยืนยัน (ท่านหม่องเอคงไม่ได้เรียนท่านนิพัทธ์ในเรื่องนี้) แต่ว่าทหารพม่าก็คิดในเรื่องทำนองนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นไปได้ว่า ไปตั้งราชธานีที่เนปิดอว์เสีย เพื่อให้เป็นเขตปลอดความไม่มั่นคงต่างๆ การจะเดินขบวน เคลื่อนไหว หรือแม้กองทัพต่างชาติจะรุกก็อยู่ไกล แต่สามารถจะแผ่อำนาจลงมาคุมเมืองหลวงเดิมหรือย่างกุ้งได้

กลับมาที่พม่า หลังยุคพระเจ้าอลองพญาขึ้นมาแล้ว เราจะเริ่มเห็นธรรมเนียมการย้ายเมือง กษัตริย์ราชวงศ์นี้มีอำนาจเข้มแข็งและสืบสันตติวงศ์ต่อเนื่อง ลูกของพระเจ้าอลองพญาจะลุกขึ้นมาย้ายเมืองจากเมืองหนึ่งไปเมืองหนึ่ง

อย่างพระเจ้ามังระ หรือเซงพะยูเซง (Hsinbyushin) ที่ส่งเนเมียวสีหบดี และมหานรธามาตีกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ. 2310 ท่านเป็นต้นคิดในยุคสมัยของท่าน ท่านบอกชเวโบเป็นหมู่บ้านเก่าแกเห็นจะไม่ไหว ย้ายไปอังวะ ที่เป็นราชธานียุคเก่าดีกว่า

พอตกมาในสมัยน้องของท่าน คือพระเจ้าปดุง หรือโบดอพญา (Bodawpaya) นึกถึงใครไม่ได้ก็นึกถึงสงคราม 9 ทัพในสมัยรัชกาลที่ 1 กษัตริย์พระองค์นี้ละครับทำสงคราม 9 ทัพ ย้ายเมืองจากอังวะ ไปสร้างเมืองใหม่ชื่อว่า อมรปุระ ไม่ห่างเท่าไหร่ มีความหมายว่าเป็นนิรันดร์ไม่มีสิ้นสูญ ฝรั่งเรียกว่า Immortal City

พอหลังจากนั้น ก็ตกมาสมัยสงครามพม่า-อังกฤษครั้งแรก พม่ารบแพ้อังกฤษในสมัยพระเจ้าบาจีดอ (Bagidaw) ท่านก็ว่าเมืองอมรปุระไม่เป็นมงคลแล้ว ในยุคนี้เราแพ้อังกฤษเรากลับไปอยู่อังวะดีกว่า ท่านเป็นหลานตาพระเจ้าปดุง ย้ายกลับไปอังวะใหม่ อยู่ไปได้สักพัก เข้าใจว่าพระโอรสของพระองค์คือ พระเจ้าสารวดี (Tharrawaddy) ก็ย้ายจากอังวะ ไปอยู่ อมรปุระ อีก เห็นไหมครับ ย้ายกันมาย้ายกันไปอยู่อย่างนี้

พอตกมาสมัยของพระเจ้ามินดง (Mindon) จึงย้ายราชธานีเป็นการถาวรไปอยู่มัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองอันดับสองพม่า

แต่การย้ายไม่เหมือนกับยุคแรก คือยุคนี้พระมหากษัติรย์ที่ย้ายเมืองมาจากราชวงศ์เดียวกัน มีการสืบสายอำนาจกันมา และพระมหากษัตริย์ที่ย้ายเมืองก็เคยอยู่เมืองเดิมมาก่อน ก็ย้ายจากเมืองของพระองค์ไปอยู่อีกเมือง ท่านจะเห็นธรรมเนียมการย้ายเมือง ของกลุ่มผู้นำสายตระกูลเดียวกัน และพระมหากษัตริย์ไม่ใช่คนต่างถิ่นต่างที่ อยู่แปร อยู่อังวะ อยู่สายเดียวกัน ท่านก็พอใจจะย้ายจากที่หนึ่งก็ย้าย เป็นเช่นนี้เสมอ

เหตุปัจจัยการย้ายเมืองมีหลายเหตุปัจจัย ปัจจัยประการหนึ่งของพระเจ้าอลองพญาก็เป็นปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์ อยู่ชเวโบปลอดภัย ลงมาอยู่ย่างกุ้ง แดนมอญไม่ปลอดภัย

เหตุของการย้ายเมืองมีหลายสาเหตุ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการย้ายเมืองของพม่าคือ เขาย้ายเมืองเพราะผู้ปกครองต้องการแสดงพระองค์ให้เห็นว่า ยุคสมัยของพระองค์ต้องการจะ "เบิกยุคใหม่" คิดใหม่ ทำใหม่ สร้างสิ่งใหม่ให้ราชอาณาจักร เพราะฉะนั้นสัญลักษณ์ของการสร้างสิ่งใหม่ เบิกยุคใหม่ ที่ทำได้อย่างเช่น ถ้าไม่สร้างวังใหม่ ก็ย้ายเมืองเสียเลย ถามว่าทำไมต้องมี "เบิกยุค" คำว่า "เบิกยุค" หมายความว่า กษัตริย์พม่ามีคติเรื่องการปกครองที่เชื่อว่าพุทธศาสนานับวันจะเลวลง นับวันจะเสื่อมถอยลง เป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่จะต้องฟื้นฟูบูรณะพระศาสนาให้ยืนยงสถาพรเท่าพุทธทำนายคือ 5,000 ปี เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเหตุทุกภิกขภัยต่างๆ เกิดโรคระบาด เกิดรบราฆ่าฟัน แพ้สงคราม ก็จะเป็นคล้ายๆ เป็นสัญลักษณ์ว่าพุทธศาสนาคงเสื่อมแล้ว บ้านเมืองถึงปรากฏสภาวะเสื่อมโทรมดังนี้ ทำอย่างไรดีล่ะ ก็ต้องปลุกขวัญกำลังใจเหล่าอาณาประชาราษฎร์ เบิกยุคใหม่ บอกว่า "ไม่ต้องห่วงยังไม่สิ้น บ้านเมืองยังไม่สิ้น ยุคแห่งพุทธศาสนาไม่เสื่อม เราจะนำพาความรุ่งเรืองกลับมาอีกครั้ง ให้ยืนยงไปดังพุทธทำนาย" รูปธรรมต้องสร้างเมือง สร้างวัง ย้ายเมือง อย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้นถ้าเรามาดูอาการย้ายเมือง เราจะเห็นว่าอย่างพระเจ้าปดุง ท่านขึ้นมาย้ายเมืองเพราะยุคก่อนท่าน รบราฆ่าฟันเยอะมาก พระเจ้าปดุงลุยทางเลือดขึ้นมาเลยนะครับ ฆ่าพี่ฆ่าน้อง หลานเยอะแยะ กว่าจะมาเป็นกษัตริย์ครองชเวโบท่านก็มองว่า คนตายเยอะ อาณาประชาราษฎรเดือดร้อน ต้องแสดงให้เห็นว่าเบิกยุค นำพาสิ่งใหม่ขึ้นมา ก็เลยย้ายเมืองมา "อมราปุระ" หรือ "เมืองอันเป็นนิรันดร์" 

พอมาถึงสมัยพระเจ้าบาจีดอ รบอังกฤษแล้วรบแพ้ ทำสัญญายันดาโบ ท่านเลยต้องย้ายราชธานี เลยย้ายไปอังวะ และเหตุผลก็ทำนองคล้ายๆ นี้ มีเรื่อง "เบิกยุค" มาด้วย

 

000

เราคงจะมองว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงย้ายราชธานีจากอยุธยาลงมากรุงเทพฯ บ้างก็ว่าเป็นเหตุผลยุทธศาสตร์เพื่อพม่าจะได้เดินทัพมาไม่ถูก ไม่จริง อย่าไปเชื่อเรื่องเหลวไหลอย่างนั้น พม่านั้นชำนาญทาง มาตีอยุธยาหลับตาเดินเลยครับ ย้ายจากอยุธยามาธนบุรี ไม่ยี่หระเลยครับ

เหตุผลประการหนึ่งคือกำลังของท่านน้อย อีกเหตุผลหนึ่งคือมันเสื่อมถอยเต็มทน ท่านต้องการจะ "เบิกยุคใหม่" ไหมล่ะครับ ถ้าท่านต้องการเบิกยุคใหม่ ท่านต้องย้ายราชธานี สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ท่านย้ายราชธานีกลับมาอีกฝั่ง มาฝังกรุงเทพฯ นั่นก็เป็นลักษณะของการเบิกยุคเหมือนกัน เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เกิดอะไรต่ออะไรขึ้น เพราะฉะนั้นท่านต้องการสถาปนาว่าเราจะฟื้นฟูบูรณบ้านเมืองใหม่ สร้างพุทธศาสนาให้เข้มแข็ง

นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์พม่า เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดก่อนที่อังกฤษจะยึดครองพม่า ธรรมเนียมการย้ายเมืองแบบนี้ทำมาโดยเสมอ พออังกฤษมายึดครอง จารีตแบบนี้ก็หมดไป อังกฤษมาปกครองพม่ายาวนานโดยมีย่างกุ้งเป็นราชธานี แต่ความรู้สึกในทางประวัติศาสตร์ บทเรียนประวัติศาสตร์ก็ดี ไม่ได้สูญหายในยุคอาณานิคม ผมยังอยากจะเชื่อว่า เมื่อผู้ปกครองพม่าจะคิดสร้างเนปิดอว์ นัยหนึ่งคงต้องการแสดงให้โลกรับรู้ ให้ชาวพม่ารับรู้ว่า รัฐบาลได้พยายาม ทำให้เหตุการณ์ต่างๆ อันเป็นความขัดแย้งกันเผชิญหน้ากันในสังคม ก็อยากทำอะไรในเชิงสัญลักษณ์

อันนี้นอกเหนือเหตุปัจจุัยด้านความมั่นคงที่ท่านนิพัทธ์ (พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม กระทรวงกลาโหม วิทยากรในการเสวนา) ให้อรรถาธิบาย เนปิดอว์เป็นการเกิดขึ้นของการเบิกยุคใหม่ เบิกราชธานีใหม่ ศูนย์กลางด้านจิตวิญญาณอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์แสดงความยิ่งใหญ่ของพุกามประเทศว่าไม่ได้ไม่ได้เสื่อมสลาย ไม่ได้สิ้นสุด ท้ายที่สุดแล้วสิ่งนี้ยังคงดำรงอยู่ เราจะสร้างขวัญกำลังใจ หรือทำให้เกิดความเชื่อถือให้คนเห็นและถือเป็นรูปธรรมได้อย่างไร ถ้าจะคิดอย่างพม่าก็ต้องย้ายเมือง ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นอรรถาธิบายหนึ่งอันนำมาซึ่งการเกิดนครหลวงเนปิดอว์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์คัดค้านโครงการขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3

Posted: 26 Jun 2012 02:18 AM PDT

แถลงการณ์ 
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เรื่อง
คัดค้านโครงการขยายท่าเรื
อแหลมฉบังเฟส 3

.......................................

ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม มีแผนงานโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงแหลมฉบัง-นิคมฯ ทวายในพม่า และได้ไฟเขียวให้มีการขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โดยตั้งงบประมาณจากภาษีประชาชนเพื่อถลุงถึง 3.5 หมื่นล้าน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์เกี่ยวกับการรถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ให้ได้ถึง 18.8 ล้านตู้ต่อปี พร้อมขยายเส้นทางคมนาคม ถนน-รถไฟทางคู่ มูลค่า 1.2 แสนล้านบาทให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปีนั้น

การผลักดันของรัฐบาลดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่นำไปสู่การสร้างความเดือดร้อนของชาวบ้าน ชาวประมง และทำลายฐานทรัพยากรของแผ่นดินอย่างมหาศาล โดยมิได้มีการทบทวนเลยว่าโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 1 และเฟส 2 ที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดปัญหาและความหวาดผวาให้เกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิมอย่างไร และรัฐบาลมิได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียแต่อย่างใด อันเป็นการขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ รวมทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 หลายมาตรา

ทั้งนี้นับแต่รัฐบาลใช้อำนาจออกกฎหมายเวนคืนที่ดินมาตั้งแต่ปี 2516 ในจำนวนถึง 6,340 ไร่ และเปิดดำเนินการท่าเรือเฟส 1 มาตั้งแต่ปี 2534 และขยายเฟส 2 ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจนถึงบัดนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งแล้วว่า ท่าเรือแห่งนี้ได้สร้างผลกำไรและผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับรัฐบาลมากมาย แต่ทว่าได้ก่อปัญหาและทำลายวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของชาวประมงชายฝั่งในพื้นที่อำเภอบางละมุงและใกล้เคียงให้ล่มสลายไปแล้วเป็นจำนวนมาก โดยที่รัฐบาลหรือผู้ประกอบการนายทุนมิได้รับผิดชอบหรือเอื้อประโยชน์ใด ๆ ให้เกิดขึ้นกับชาวประมงและชาวชุมชนใกล้เคียงเหล่านั้นเลย อีกทั้งการสร้างท่าเทียบเรือและการถมทะเล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลเวียนของกระแสน้ำทะเล การเกิดตะกอนขุ่นข้นในท้องทะเล และเกิดขยะอุตสาหกรรมและขยะก่อสร้างที่ไร้ที่มาเกลื่อนกลาดในท้องทะเลใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายพื้นที่ของตำบลบางละมุง ของจังหวัดชลบุรีเกิดการกัดเซาะของน้ำทะเลทำให้ชายหาดที่สวยงามและเป็นแหล่งดึงดูดการท่องเที่ยวและตลิ่งเสียหายไปเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีหน่วยงานใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ นอกจากนั้นการบริหารจัดการท่าเรือดังกล่าวในด้านสิ่งแวดล้อมผิดพลาดบ่อยครั้งก่อให้เกิดการรั่วไหลและการระเบิดของสารพิษในตู้คอนเทนเนอร์ต่าง ๆ ทั้งที่ปรากฎเป็นข่าวและไม่เป็นข่าวต่อสื่อสารมวลชน

การที่รัฐบาลเร่งรีบตอบสนองแต่เฉพาะกลุ่มนายทุนอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์แต่เพียงอย่างเดียวในการขยายท่าเรือขนาดใหญ่ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกเป็นเฟสที่ 3 โดยต้องถมทะเลและใช้พื้นที่ถึง 1,600 ไร่ และต้องขุดร่องน้ำในทะเลทำแอ่งจอดเรืออีกถึง 18 เมตร โดยมีท่าเทียบเรือยาว 4,500 เมตร เพื่อจัดทำท่าเทียบเรือย่อย 29 ท่า ประกอบด้วย 1) ท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ 3 ท่า 2)ท่าเทียบเรือขนส่งรถยนต์ 4 ท่า 3) ท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า 3 ท่า 4)ท่าเทียบเรือขนส่งตู้สินค้า 18 ท่า และ 5) อู่ต่อและซ่อมเรือ 1 ท่า นั้นเข้าข่ายเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน อันเป็นโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ 2550 และพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม 2535 ที่ยังไม่ผ่านฉันทามติหรือการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างรอบด้านและทั่วถึงทุกพื้นที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ.2548

สมาคมฯจึงขอคัดค้านโครงการดังกล่าวอย่างถึงที่สุด และหากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่า และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ยังเดินหน้าโครงการดังกล่าวโดยไม่ผ่านกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายอย่างถูกต้องเสียก่อน สมาคมฯจักได้ร่วมมือกับชาวบางละมุงในการใช้กระบวนการยุติธรรมทางปกครองเพื่อยับยั้งหรือเพิกถอนโครงการดังกล่าวโดยทันที

ประกาศ ณ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2555

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลรับไต่สวนฉุกเฉินจอดำ จำเลยอ้างไม่ใช่คดีผู้บริโภค

Posted: 26 Jun 2012 02:15 AM PDT

26 มิ.ย.55 ศาลแพ่งรัชดา - หลังจากศาลนั่งบัลลังก์เปิดการไต่สวนคดีขอความคุ้มครองกรณีจอดำ จำเลยที่สี่ (บ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่) ยื่นคำร้องคัดค้านการขอไต่สวนฉุกเฉินก่อนมีคำพิพากษาโดยอ้างว่าจำเลยที่สอง คือ กองทัพบก เป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่อยู่เขตอำนาจศาลแพ่งนี้ อีกทั้งคดีนี้ไม่ใช่คดีผู้บริโภค และผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้บริโภคตามกฎหมาย จำเลยเป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดฟุตบอล

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ไม่แปลกใจว่าจำเลยต้องใช้กระบวนการที่ทำให้การพิจารณาคดีล่าช้าโดยอ้างว่าไม่ใช่คดีผู้บริโภค

“การอ้างว่าไม่เป็นคดีผู้บริโภคนั้นเป็นเทคนิคทางกฎหมายที่ผู้ประกอบธุรกิจทั่วไปใช้ช่องทางนี้เป็นประจำ แต่ต้องบอกว่าได้มีการพิจารณาเรื่องนี้ไว้แล้ว ซึ่งเห็นได้จากบัญชีคดีผู้บริโภคข้อ 14 ที่รวมถึงสื่อสารมวลชน และการฟ้องกองทัพบกในครั้งนี้ ฟ้องในฐานะผู้ประกอบการทีวีสาธารณะ ไม่ใช่ฟ้องในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ออกคำสั่งทางปกครอง ผู้ฟ้องคดีไม่กังวลแต่ประการใด เพราะมีบรรทัดฐานพิจารณาเรื่องนี้ไว้แล้ว ซึ่งตอนนี้ศาลกำลังอยู่ในระหว่างพักพิจารณาคดี” นางสาวสารีกล่าว

คนเชียงใหม่พร้อมจัดการตนเองเดินหน้ารวบรวมชื่อเสนอ พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร

Posted: 26 Jun 2012 02:12 AM PDT

ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง ผนึกกำลังประชาชน ประกาศเจตนารมณ์ "เชียงใหม่พร้อมจัดการตนเอง" นำเสนอร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร และเปิดเวทีสาธารณะ "ปฏิรูปประเทศไทยให้เชียงใหม่จัดการตนเอง"

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2555 ณ  บริเวณลานหอศิลป์ล้านนา ตรงข้ามอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง ผนึกกำลังประชาชน ประกาศเจตนารมณ์ "เชียงใหม่พร้อมจัดการตนเอง" นำเสนอร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร และเปิดเวทีสาธารณะ "ปฏิรูปประเทศไทยให้เชียงใหม่จัดการตนเอง"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมประกอบด้วยการประกาศเจตนารมณ์อย่างเป็นทางการของภาคีขับเคลื่อนฯ ซึ่งประกอบด้วยประชาชนจากหลายภาคส่วนที่พร้อมจะสนับสนุน พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร การจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง  ตลอดจนการตั้งจุดรวบรวมรายชื่อประชาชน เพื่อร่วมลงนามสนับสนุนกฎหมาย 10,000 รายชื่อตามกระบวนการทางรัฐสภาต่อไป โดยในกิจกรรมครั้งนี้มีประชาชนชาวเชียงใหม่กว่าพร้อมใจประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้โดยสวมเสื้อสีส้ม และสัญลักษณ์ต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมจนเต็มพื้นที่ลานหอศิลป์ล้านนา นอกจากนี้ยังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวบริเวณถนนคนเดินเชียงใหม่อีกด้วย

ทั้งนี้ภายหลังจากประกาศเจตนารมณ์ ยังมีการจัดเวทีสาธารณะ "ปฏิรูปประเทศไทย ให้เชียงใหม่จัดการตนเอง" ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย (ไทยพีบีเอส) บันทึกเทปรายการซึ่งจะออกอากาศในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ โดยมีผู้ร่วมรายการ อาทิ นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตคณะกรรมการปฏิรูปประเทศและอดีตปลัดกระทรวงมหาไทย ดร.วณี ปิ่นประธีป รองผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูป นายไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายไพรัช ใหม่ชมพู ผู้อำนวยการกองการศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.เชียงใหม่ ศ.ดร.ธเนศว์ เจริญเมือง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสงวน พงษ์มณี  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ นายสวิง ตันอุด ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการทางสังคม ฯลฯ

สำหรับร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร  มีสาระสำคัญที่จะมุ่งแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยดำเนินการใน 3 แนวทาง คือ การยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เหลือเพียงราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่และมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจในการกำหนดแนวนโยบาย ระเบียบ ข้อบัญญัติ การจัดงบประมาณ การคลัง การจัดการบริหารบุคลากรและกลไกโครงสร้างการบริหารงานภายในท้องถิ่นเพื่อการบริหารราชการท้องถิ่นได้คลอบคลุมทุกเรื่อง ยกเว้น 4 เรื่องหลัก คือ การทหาร ระบบเงินตรา การต่างประเทศ และการศาล โดยจัดการปกครองเป็น 2 ระดับ คือระดับบน(เชียงใหม่มหานคร) และระดับล่าง(เทศบาล) ทำให้สามารถดูแลคลอบคลุมเต็มพื้นที่

โดยทั้ง 2 ระดับมีการบริหารงานในลักษณะการแบ่งหน้าที่การทำงานอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันต้องทำให้การเมืองมีความโปร่งใส คุณธรรมจริยธรรม โดยมีระบบการตรวจสอบที่มีความเข้มแข็งและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างดุลยภาพ 3 ส่วนเพื่อป้องกันการฮั้วกัน ซึ่งต่างจากโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นทั่วๆไป ที่มีเพียง 2 ส่วนคือฝ่ายบริหารกับฝ่ายออกข้อบัญญัติ โดยจัดโครงสร้างใหม่เป็น ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร สภาเชียงใหม่มหานครและสภาพลเมือง (civil juries) รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้อำนาจประชาชนโดยตรงในการกำหนดทิศทางการพัฒนาตรวจสอบการทำงานหน่วยงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ และเข้าถึงการใช้งบประมาณผ่านกระบวนการกลไกต่างๆ อาทิ สภาพลเมือง การไต่สวนสาธารณะ การจัดตั้งกรรมาธิการด้านต่างๆ เช่น การศึกษา เกษตร การจัดการปัญหาหมอกควัน ฯลฯ และการปรับโครงสร้างด้านภาษี โดยภาษีทุกชนิดที่เก็บได้ในพื้นที่จะส่งคืนทางรัฐบาลส่วนกลางร้อยละ 30 และคงไว้ที่เชียงใหม่มหานคร ร้อยละ 70

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารซีเรียหนีเข้าตุรกี หลังเหตุข้อพิพาทน่านฟ้าซีเรีย-ตุรกี

Posted: 26 Jun 2012 02:05 AM PDT

ทหารซีเรีย 33 คน รวมถึงระดับพลเอกหนึ่งคนและพันเอกสองคน หลบหนีเข้าประเทศตุรกี ด้านเหตุรุนแรงในประเทศ กองกำลังกบฏเผยรัฐบาลส่งรถถังร้อยคันสู่เมืองฮอม กำลังกระทำการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

 
วันที่ 25 มิ.ย. 2012 สื่อของรัฐบาลตุรกีรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารของซีเรีย 33 คน หลบหนีมายังประเทศตุรกีพร้อมครอบครัว ในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศเพิ่มสูงขึ้นจากกรณีที่ซีเรียยิงเครื่องบินของตุรกีตก
 
สำนักข่าวอนาโดลูรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารรวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับพลเอกหนึ่งคน และพันเอกอีกสองคน ได้ข้ามฝั่งมายังตุรกีเมื่อคืนที่ผ่านว่า และพวกเขาได้พำนักอยู่ที่ค่ายผู้อพยพใกล้กับเขตชายแดน
 
การหลบหนีเข้าประเทศครั้งล่าสุดทำให้ตุรกีมีทหารระดับนายพลลี้ภัยจากซีเรียแล้ว 13 คน นับตั้งแต่มีการประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด เมื่อ 16 เดือนที่แล้ว
 
มีทหารซีเรียหลายพันคนที่ละทิ้งหน้าที่ แต่ส่วนใหญ่เป็นทหารชั้นผู้น้อย โดยกองกำลังฟรีเซียนอาร์มี ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องเล็กน้อยกับกลุ่มกบฏในซีเรีย ประกอบด้วยทหารที่ย้ายข้างเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่
 
ตุรกีผู้เคยเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับซีเรียมาก่อนได้เรียกร้องให้มีการประชุมวิสามัญของนาโต้ในวันอังคารนี้ (26) หลังจากที่กล่าวหาว่าซีเรียได้ยิงเครื่องบินรบของตนตกในน่านฟ้าสากล
 
ทางรัฐบาลซีเรียได้ตอบโต้ข้อกล่าวหานี้ โดยจีฮาด มัคดิสซี โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศกล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวว่า เครื่องบินรบของตุรกีได้ล่วงเข้ามาในน่านฟ้าของซีเรีย ทำให้ทางซีเรียต้องใช้อาวุธตอบโต้ทางอากาศยานยิงสวนและเครื่องบินก็จนลงสู่พื้นน้ำของฝั่งซีเรีย
 
"สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการละเมิดต่ออธิปไตยของซีเรีย" มัคดิสซีกล่าว "หากการจัดประชุมนาโต้ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อถือโอกาสใช้เหตุการณ์นี้ในการส่งเสริมเรื่องความมั่นคง พวกเราก็หวังว่ามันจะสำเร็จ แต่ถ้าหากเป้าหมายของการประชุมเป็นเรื่องของความก้าวร้าว พวกเราก็ขอบอกว่าน่านฟ้า เขตแดน และน่านน้ำ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับกองทัพซีเรีย เช่นเดียวกับน่านฟ้า เขตแดน และน่านน้ำของตุรกีก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของตุรกีเช่นกัน"
 
ยูเอ็นคว่ำบาตรเพิ่ม
ในวันเดียวกัน (25) อูริ โรเซนธาล รมต.ต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่าทางสหภาพยุโรปจะประณามซีเรียที่ยิงเครื่องบินของตุรกีตก แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้มีการใช้ทหารเข้าแทรกแซงซีเรีย
 
สหภาพยุโรปมีแผนเพิ่มรายชื่อคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของซีเรีย รวมถึงบริษัทและองค์กรของรัฐอีก 6 แห่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการคว่ำบาตรบุคคล มากกว่า 120 คน และนิติบุคคลอีกราว 50 คน ไปแล้ว ซึ่งในการคว่ำบาตรครั้งนี้มีการสั่งห้ามส่งออกสินค้าบางจำพวกแก่ซีเรียรวมถึงอาวุธสงครามด้วย
 
กองกำลังกบฏเตือน รัฐบาลซีเรียกำลังกระทำการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
ทางด้านสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศซีเรียเอง ล่าสุดในวันจันทร์ (25) กองกำลังของซีเรียก็ยังคงโจมตีเมืองฮอม ขณะที่กองกำลังกบฏฟรีซีเรียอาร์มี (FSA) เตือนว่ากำลังจะมีการสังหารหมู่เกิดขึ้น ด้านกลุ่ม SNC ซึ่งเป็นกลุ่มทางการเมืองของฝ่ายต้านรัฐบาลซีเรียก็ได้เผยแพร่คำร้องของคนในพื้นที่ เรียกร้องให้นานาชาติยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือก่อนที่จะสายเกินไป
 
ทางกองกำลัง FSA บอกว่าประเทศอาหรับ ประเทศอิสลาม ประเทศเพื่อนบ้าน และองค์กรนานาชาติที่เกี่ยวข้อง มีส่วนรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย
 
มีแถลงการณ์กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เมืองฮอมว่า "เมืองฮอมเป็นเมืองที่กล้าหาญ กำลังเผชิญกับความรุนแรงถึงที่สุดทั้งจากการระดมยิงจรวด, ปืนใหญ่ และรถถัง" 
 
"รัฐบาลซีเรียกำลังส่งกองกำลังเสริมเป็นรถถังราว 100 คันมุ่งมายังเมืองฮอม ...ซึ่งเห็นได้ชัดถึงเจตนาว่าพวกเขากำลังจะทำการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
 
 
 
ที่มา
Syria officers and troops defect to Turkey. Aljazeera, 25-06-2012
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร้ายสไตล์บายรุ้งรวี: ธงชาติกับโอลิมปิก

Posted: 26 Jun 2012 01:48 AM PDT

หลังจากจบการแข่งขันฟุตบอลยูโร เราก็จะมีมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ (ไม่กี่ชาติ) ให้ดูต่อ นั่นก็คือการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ที่จะจัดขึ้นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ดูเหมือนว่าปีนี้จะไม่ค่อยมีอะไรตื่นเต้นเท่าไหร่ อาจด้วยเพราะความระแวงของลอนดอนเอง ที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างยิ่งยวดและโอเวอร์ เพลงโอลิมปิกก็ไม่ดัง ไม่ติดหู หลายเรื่องราวที่น่าจะมีการประชาสัมพันธ์หรือการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว หรือตื่นเต้นกว่านี้สักหน่อย ก็ไม่มี อย่าว่าอะไรเลย ทีแรกดิฉันก็กะว่าจะไปเยี่ยมเพื่อนที่ลอนดอนสักหน่อย และถือโอกาสไปยลงานโอลิมปิกด้วย เพื่อนสาวเจ้ากรรมลอนดอนเนอร์ ยังบอกเลยว่า “ไม่ต้องมาหรอกแก คนเยอะ วุ่นวาย ชั้นว่าจะหนีไปอยู่ที่อื่นสักพักเหมือนกัน” ดูสิ เจ้าภาพที่ดี เขาทำกันอย่างนี้

แต่ในความเงียบงันของการแข่งขันโอลิมปิกที่กำลังจะมีขึ้น ก็มีเรื่องดราม่าเล็กๆ น่าสนใจ เกี่ยวกับเสื้อผ้า ชุดกีฬา ซึ่งออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดังจากสามประเทศ ซึ่งมีประเด็นตรงกันโดยมิได้นัดหมาย

หนึ่งในไฮไลต์ของโอลิมปิกในปีนี้ คือชุดกีฬาจากสามดีไซเนอร์ชื่อดัง สามประเทศ เมืองแฟชั่นของของโลก ซึ่งก็คือ ชุดกีฬาของนักกีฬาสหราชอาณาจักร โดย Stella McCartney ชุดกีฬาของนักกีฬาสหรัฐอเมริกาโดย Ralph Laurent และชุดกีฬาของนักกีฬาอิตาเลี่ยน โดย Giorgio Armani สำหรับ Ralph Lauren และ Armani นั้น เราๆ ท่านๆ น่าจะเคยได้ยินชื่อ หรือรู้จักมาบ้าง Ralph Lauren เค้าก็ดังเรื่องเสื้อคอโปโล กับสัญลักษณ์กีฬาโปโล ผู้ชายขี่ม้า ที่ปักอยู่ตรงหน้าอกนั่นไง คาดว่าคงเคยเห็น เคยซื้อของก๊อปกันมาใช้บ้างนะคะ ส่วน Armani ก็ดังเรื่องสูท รวยได้เพราะขายสูทให้คนอเมริกันนี่แหละ (ผลพวงจากสูทที่ให้ริชาร์ด เกียร์ ใส่ ในหนังเรื่อง American Gigolo) ส่วน Stella McCartney เป็นลูกสาวของ Paul McCartney หนึ่งในสมาชิกวง The Beatles เธอจบจากโรงเรียนแฟชั่น St. Martin เคยทำงานที่แบรนด์ชื่อ Chloe (อ่านว่า โคลเอ้) ก่อนจะออกมาเปิดแบรนด์ตัวเอง ตอนนี้เป็นคุณแม่ลูกสี่ เป็นสาวมังสวิรัต และสนับสนุนองค์กร PETA ไม่ใช่เฟอร์ทำเสื้อผ้าแน่นอน ความโดดเด่นของเธอคือเสื้อผ้าสไตล์กีฬา โดยเฉพาะคอลเล็กชั่นที่ออกแบบให้กับแบรนด์ Adidas ที่มีออกมาทุกปี ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เรียกได้ว่าเป็นคอลเล็กชั่นหรู และเป็นแฟชั่นของแบรนด์กีฬา Adidas เขาล่ะ

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า สามประเทศ สามดีไซเนอร์ (ประเทศอื่นๆ ไม่มีรายงานถึงว่ามีดีไซเนอร์ดังคนไหนออกแบบเสื้อผ้าสำหรับนักกีฬาโอลิมปิก) คิดตรงกันในเรื่องรูปแบบ ดีไซน์ ของชุดนักกีฬาของประเทศตน สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกนี้ว่า “ไม่เอาแล้วลายธงชาติ”

ชุดนักกีฬาที่สเตลล่า แม็คคาร์ทนีย์ เป็นผู้ออกแบบครั้งนี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากบรรดาสื่อมวลชน และประชาชนชาวอังกฤษเอง เพราะสัญลักษณ์ธงยูเนี่ยนแจ๊กที่ปรากฏอยู่บนชุดนักกีฬาที่เธอออกแบบนั้นไม่มีสีแดง! (ธงยูเนียนแจ๊ก หรือธงชาติสหราชอาณาจักร นั้นมีสีแดง สีน้ำเงิน และสีขาวเป็นองค์ประกอบหลัก) เธอเชิดใส่รูปแบบดั้งเดิมของธงชาติ แล้วหันมาใช้ลูกเล่น ดีไซน์ การออกแบบเชิงแฟชั่น โดยใช้ความอ่อน-เข้ม ของสีน้ำเงิน สีฟ้า และสีขาว สร้างรูปแบบใหม่ของธงยูเนี่ยนแจ๊กขึ้นมาแทน ส่วนสีแดง ก็ใช่ว่าจะหายไปเลย แต่เธอนำนำสีแดงไปใช้ในการตกแต่งที่ขอบเสื้อ ขอบกางเกง หรือใช้ในรูปแบบรองเท้า หรือถุงเท้านักกีฬาแทน เรียกได้ว่าครบทุกสีเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่ตัวธงนั้นไม่ครบทุกสีเหมือนออริจินัลแต่ธงชาติอังกฤษซึ่งมีสีสันที่ถูกต้องสมบูรณ์นั้นก็ยังมีอยู่ เดี๋ยวเวลาแข่งคนจะจำไม่ได้ว่า นักกีฬาคนนี้มาจากประเทศไหน โดยเธอนำไปแปะไว้ที่ด้านหลังของกางเกงในชุดว่ายน้ำ หรือแขนเสื้อเท่านั้น

พอเปิดตัวชุดนักกีฬาสำหรับนักกีฬาสหราชอาณาจักรปุ๊ป...สเตล่า ก็โดนด่าทันที

บ้างก็ว่า “เอาสีแดงคืนมา” บ้างก็ว่า “เธอทำลายธงชาติอันสวยงามของประเทศอังกฤษ” บ้างก็ว่า “เธอทำให้คนอังกฤษหมดสิ้นความภูมิใจ”

ดิฉันล่ะอยากจะบอกสเตลล่า แม็คคาร์ทนีย์ว่า สเตลล่าจ้ะ...ถ้าเธอเป็นดีไซเนอร์ที่ประเทศไทย และดันอุตริไปดัดแปลงรูปแบบ สีสัน ของธงชาติ เธอคงโดนมากกว่านี้แน่ๆ ทั้งข้อหา ขายชาติ ล้มล้างสถาบัน และแน่นอนว่า เขาจะหาว่าเธอไม่เป็นคนไทย และไล่เธอออกไปอยู่ประเทศอื่นแน่ๆ ที่เธอโดนวิพากษ์วิจารณ์ ด่าทอที่อังกฤษน่ะ จิ๊บๆ ประเทศชั้นดราม่ากว่านี้อีกหลายเท่า

ไม่นานสเตลล่า แม็คคาร์ทนีย์ ก็ออกมาชี้แจงถึงผลงานการออกแบบของเธอที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ครั้งนี้ว่า ในการทำงานโปรเจ็กต์นี้ สำหรับเธอแล้วอย่างแรกเลยคือการมองย้อนกลับไปดูเสื้อผ้าของนักกีฬาในต่ละปี แน่นอนว่าธงชาติอังกฤษ หรือยูเนี่ยนแจ๊กคือสิ่งแรกที่เธอพิจารณา มันเป็นธงชาติที่สวยที่สุดในโลก และเป็นตัวแทนของคนอังกฤษ แต่มันก็เป็นรูปแบบเดิมๆ ที่เห็นทุกปี สิ่งที่เธอต้องการนำเสนอคือการปรับเปลี่ยนดีไซน์ รูปลักษณ์ให้ยูเนี่ยนแจ๊กมีรูปแบบที่โมเดิร์นมากขึ้น รวมถึงรูปแบบ ลวดลาย และสีสันของชุดนักกีฬาให้มีความเป็นแฟชั่น และทันสมัยมากขึ้นด้วย

แน่นอนว่า เหตุผลของเธอฟังไม่ขึ้น เมื่อมันเป็นเรื่องที่ผูกพันอยู่กับสัญลักษณ์ของ “ชาติ” ซึ่งมีรูปแบบที่ตายตัว ดั้งเดิม และห้ามเปลี่ยนแปลง

และอีกอย่างหนึ่งที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่แพ้กันก็คือสัญลักษณ์ตัวเอกซ์ (X) ซึ่งปรากฏอยู่ตรงกลางลำตัว ซึ่งหลายคนให้ความคิดเห็นว่ามันคล้ายคลึงกับสัญลักษณ์ตัวเอ็กซ์ของราบการประกวดรอ้งเพลงชื่อดังของอังกฤษ The X-Factor มากเกินไป มิวาย มีสำเนียงกระแนะกระแหนว่า สงสัยรายการดังกล่าวเป็นสปอนเซอร์ หรือไม่ก็รายการ The X-Factor คงดังมากจนถึงขั้นกลายเป็นตัวแทน สัญลักษณ์ของประเทศอังกฤษไปแล้ว

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหู แต่สุดท้ายชุดภายใต้การออกแบบของสเตลล่า แม็คคาร์ทนีย์ ก็เป็นชุดนักกีฬาอย่างเป็นทางการของสหราชอาณาจักร ที่เราจะได้เห็นกันในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้

ชุดนักกีฬาของฝั่งอังกฤษ ไม่ได้ถึงกับเชิ่ดใส่ลายธงชาติโดยสิ้นเชิง เพียงแต่นำลายธงชาติมาปรับเปลี่ยนรูปแบบเท่านั้น ฝั่งอเมริกาโดยการออกแบบของ Ralph Lauren นั้น เรียกได้ว่า ขอโบกมือบ๊ายบาย ลายธงชาติอันซ้ำซากจำเจเลยแล้วกัน Ralph Lauren ก็ไม่เลือกใช้รูปแบบดั้งเดิมของธงชาติมาเป็นจุดเด่นในการนำเสนอบนตัวเสื้อผ้าของนักฬา โดยในปีนี้ ชุดกีฬาของทัพนักกีฬาอเมริกันทั้งหลายดูเรียบหรูและคลาสสิกด้วยเสื้อคอโปโล หรือเสื้อเชิ้ต สีขาว แดง หรือน้ำเงินเข้ม ที่คอปกใช้แถบสีธงชาติอเมริกันแถบเล็กๆ ผสมอยู่ (แต่ดูไม่ค่อยออกหรอก) บนหน้าอกด้านขวาเป็นสัญลักษณ์โอลิมปิก ส่วนด้านซ้ายเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ Ralph Lauren อาจมีคำว่า U.S.A พิมพ์ประทับอยู่ด้านหน้า หรือมีตัวเลขติดอยู่ที่แขนขวา สวมใส่กับกางเกงขาสั้นหรือขายาว และรองเท้าผ้าใบสีขาว เพิ่มความเท่เข้าไปอีกด้วยมหวกเบเรต์สีขาว ซึ่งชุดโดยการออกแบบของ Ralph Lauren ถือเป็นชุดลำลองของนักกีฬาเพื่อสวมใส่ในชีวิตประจำวันในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ส่วนชุดกีฬาที่ใส่แข่งขันนั้นจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง

และอีกหนึ่งประเทศที่ชุดกีฬานั้น นอกจากจะปราศจากสีสันของธงชาติเช่นเดียวกันกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา และดูเหมือนจะหนักกว่าทั้งสองประเทศ ก็คืออิตาลี โดยการออกแบบของ Giorgio Armani เพราะเขาหันมาเล่นกับดีไซน์ ความเรียบเท่ งดเว้นการใช้สีของธงชาติอิตาเลียน ซึ่งก็คือสีแดง เขียว และขาว แต่หันมาใช้สีเรียบๆ อย่างสีขาว และสีน้ำเงินมิดไนต์บลู (น้ำเงินเข้มจนเกือบดำ สีของท้องฟ้ายามเที่ยงคืน เขาว่ากันอย่างนั้น) แทน ในรูปแบบของชุดวอร์ม แจ๊กเก็ตสำหรับนักกีฬา กางเกงขาสั้น โดยมีสัญลักษณ์ของแบรนด์ EA7 (แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาของอาร์มานี่) อยู่ที่หน้าอก หรือที่ขากางเกง ด้านขวา และสัญลักษณ์ของกีฬาโอลิมปิกที่หน้าอกด้านซ้าย

สำหรับการออกแบบคอลเล็กชั่นนี้ โดยมิสเตอร์อาร์มานี่กล่าวว่า “นี่จะเป็นเสื้อผ้าของนักกีฬาโอลิมปิกที่แฟชั่นที่สุดเท่าที่เคยมีมา”

จะเห็นได้ว่า สิ่งที่บรรดาเหล่าดีไซเนอร์ชื่อดังระดับโลกทั้งหลาย เห็นพ้องต้องกันก็คือ ความน่าเบื่อหน่ายของการใช้สัญลักษณ์ธงชาติในแบบเดิมๆ รวมถึงความซ้ำเดิม ของการแปะป้ายธงชาติลงบนเสื้อผ้าของนักกีฬา เพื่อแสดงตัวตน สัญชาติ หรืออะไรก็แล้วแต่ โดยเฉพาะในกรณีของชุดนักกีฬาอย่างไม่เป็นทางการ (คือไม่ได้ใส่ลงแข่ง แต่ใส่ระหว่างการแข่งขัน ใช้ชีวิตในช่วงโอลิมปิก) ของสหรัฐและอิตาลี ที่เลือกเชิ่ดใส่ธงชาติ ไม่มีแม้แต่ธงชาติผืนเล็กๆ แปะให้เห็น (สหรัฐ ยังเลือกใช้ “สี” ในการประยุกต์ แต่อิตาลี ไม่เอาแม้แต่สี) เพราะเขาคิดว่า หากไม่ได้อยู่ในสนามแข่งขัน ที่ผู้คนกำลังจดจ้อง เชียร์อยู่ว่าใครจะชนะ ประเทศไหนจะได้เหรียญทอง ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องแปะป้ายตัวเองด้วยธงชาติเสมอไป เสื้อผ้า ชุดลำลองของนักกีฬาจึงออกมาโดยไร้ซึ่งลายธงชาติในแบบเก่าๆ ที่เราเคยเห็น

มันอาจไม่ใช่การเสื่อมคลายของรูปแบบชาตินิยมแบบเก่า หรืออาจใช่ ? มันอาจเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงทางแฟชั่นที่เข้ามามีอิทธิพลเหนือความเป็นชาติ การระบุตัวตนแห่งสัญชาติ ใช่ ? หรือ ไม่ใช่ ? ในกรณีของสเตลล่า แม็คคาร์ทนีย์ เราอาจจะเห็นว่าอุดมการณ์ชาตินิยม (ในแบบเก่าๆ) ยังคงมีมีอยู่ แต่อาจอ่อนแรงเต็มที แต่เมื่อมองดูจากทั้งสามกรณีของสามดีไซเนอร์ที่บังเอิญใจตรงกันนั้น เราก็เริ่มเห็นว่า มีบางอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว...

หมายเหตุ
กีฬาโอลิมปิก 2012 จะมีขึ้นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษระหว่างวันที่ 27 กรกฏาคม ถึงวันที่ 12 สิงหาคม นี้
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

HSRI Forum: เผย 7 ปีกองทุนสุขภาพตำบล ชาวบ้านยังขาดการรับรู้และมีส่วนร่วม

Posted: 26 Jun 2012 01:34 AM PDT

HSRI Forum สำรวจอุณหภูมิ 7 ปี กองทุนสุขภาพตำบลกับบทบาทจัดการตนเอง พบแม้ถูกขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2549 หรือเป็นเวลานับ 7 ปี แต่ชาวบ้านยังขาดการรับรู้และมีส่วนร่วม จี้“ปลดล็อค” เงินกองทุนสุขภาพตำบล เพื่อให้ชุมชนได้แสดง “บทบาท” เจ้าของอย่างจริงจังอีกครั้ง
 
26 มิ.ย. 55 - ในจุลสาร HSRI Forum ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 ได้เจาะประเด็นนำเสนอเรื่อง "สำรวจอุณหภูมิ 7 ปี กองทุนสุขภาพตำบลกับบทบาทจัดการตนเอง เดินหน้าสู่ความยั่งยืน" พบประเด็นสำคัญคือแม้ถูกขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2549 หรือเป็นเวลานับ 7 ปี แต่ชาวบ้านยังขาดการรับรู้และมีส่วนร่วม จี้“ปลดล็อค” เงินกองทุนสุขภาพตำบล เพื่อให้ชุมชนได้แสดง “บทบาท” เจ้าของอย่างจริงจังอีกครั้ง
 
โดยกองทุนตำบลกับการจัดการกับปัจจัยทางสังคม ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ” เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง โดยในมุมมองของนักวิชาการ กับอีกด้านของท้องถิ่นมีทรรศนะที่แตกต่างกันไปเกี่ยวกับเรื่องนี้
 
ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ สถาบันการจัดการระบบสุขภาพ ได้ให้มุมมองกับเรื่องนี้ว่า การขับเคลื่อนเรื่องกองทุนสุขภาพตำบลใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาเพื่อนำไปสู่สุขภาวะที่ดี คือต้องมี 1. คน คือ มีความรู้ในการจัดการ 2. สภาพแวดล้อม เช่น วิถีชีวิต ศาสนา วัฒนธรรม และ 3. กลไก ซึ่งหมายถึงกองทุนฯ ที่ผ่านมาได้มีการลงไปประเมินพื้นที่เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการเรื่องสุขภาพของตนเองได้ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญหลายด้าน เช่น 1. วิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ของชุมชน 2. การจัดทำข้อมูล 3. การวางแผน และ 4. การบริหารจัดการ
 
“จากการประเมินพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่คิดว่าการเจ็บป่วยหรือเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องทางการแพทย์ เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องไปหาหมอ ไม่ได้คิดว่ากองทุนสุขภาพตำบลจะช่วยขับเคลื่อนอะไรได้ ดังนั้นกิจกรรมหรือแผนงานที่ชุมชนท้องถิ่นทำจึงเป็นกิจกรรมที่ทำให้แล้วเสร็จไปในแต่ละปี ไม่ได้คิดเรื่องการทำให้กองทุนฯ งอกเงยหรือเติบโตขึ้นมา”
 
นอกจากนี้ ข้อมูลที่ชุมชนมีอยู่หรือจัดทำขึ้นมา ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลจากหน่วยงานราชการ เพื่อนำมาประกอบการเขียนโครงการเสนอของบประมาณไม่ใช่เป็นข้อมูลที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์หรือวางแผนแก้ไขปัญหา ส่วนแผนทางเดินยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้นก็จัดทำด้วยคนเพียงไม่กี่คน โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วม แผนดังกล่าวจึงไม่ได้นำไปใช้จริง ขณะเดียวกันยังมีปัญหาเรื่องการนำเงินกองทุนสุขภาพตำบลไปใช้ในบางกิจกรรมแต่ติดขัดอยู่ที่ข้อระเบียบราชการ ที่จะมีหน่วยงานเข้าตรวจสอบอย่างเคร่งครัดโดยกลัวว่าจะใช้เงินผิดประเภท ซึ่งทำให้ขาดความคล่องตัวเกิดข้อจำกัดในการทำงาน
 
ผศ.ดร.พงค์เทพ สรุปว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนจะต้องช่วยกัน “ปลดล็อค” เพราะเข้าใจว่าสปสช./กสธ.เป็นเจ้าของกองทุน เมื่อมองเช่นนั้นทำให้ติดเงื่อนไขการใช้เงินกองทุน ที่ผ่านมาบางพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) บางแห่งก็นำเงินกองทุนไปใช้เอง หรือให้ อสม.ไปทำโครงการ หรือ อปท. ก็เข้าใจว่างบกองทุนฯ เป็นของตนเอง ทำให้ชาวบ้านไม่รู้เรื่องและไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเงินกองทุน จึงต้องช่วยกันปลดล็อคให้กองทุนเป็นของชุมชน ให้ชุมชนบริหารและตัดสินใจใช้เงินเองได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ชุมชนเข้มแข้ง ไม่ต้องกลัวว่าจะติดเงื่อนไขหรือหากยังไม่ได้ผล ประชาชนก็อาจจะต้องไปคุยกับ สตง.เพื่อชี้แจงให้เข้าใจ
 
ทางด้าน ผศ. ดร. ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อคิดเห็นว่า จากการลงพื้นที่เพื่อทำการวิจัยเรื่องกองทุนตำบล มีข้อเสนอว่าแต่ละพื้นที่ควรจะเพิ่มเป้าหมายสุขภาพชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 4 ข้อคือ 1. การดูแลทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่เช่น ป่าไม้ แหล่งน้ำ ฯลฯ 2. การรักษาอัตลักษณ์ของชุมชน เช่น การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรที่ชุมชนมีอยู่และนำมาใช้ประโยชน์3. การเฝ้าระวังปัญหาสังคมที่มีผลกระทบต่อชุมชน ยาเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว ภัยพิบัติ และ 4. ชุมชนต้องสร้างข้อมูลเอง เก็บข้อมูลเอง และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ต้องรอหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานภายนอก
 
“จากการลงพื้นที่เพื่อทำการวิจัย พบว่า หัวใจของการพัฒนาสุขภาพชุมชน คือการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ไม่ใช่ปล่อยให้ อสม.ทำอย่างเดียว โดยชาวบ้านจะต้องมีข้อมูลโดยรู้ว่าตัวเองมีความต้องการและปัญหาอะไร เพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจและร่วมวางแผนโดยชุมชน และจะนำไปสู่แผนที่ยุทธศาสตร์ว่าจะเดินไปสู่เป้าหมายใหญ่ร่วมกันได้อย่างไร โดยใช้เงินจากกองทุนฯ และมีภาคีความร่วมมือจากภายนอกเข้ามาช่วยสนับสนุน” ผศ. ดร. ชะนวนทอง กล่าว
 
ด้าน สมเกียรติ เกรียงไกรอนันต์นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลไทรย้อย จ.พิษณุโลก เล่าว่า ตำบลไทรย้อยมี 17 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 9,000 กว่าคน ที่ผ่านมาเทศบาลเราเน้นไปที่การจัดการด้านสุขภาพของชาวบ้าน มากกว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทำถนน สร้างอาคาร เพราะเหล่านี้ต้องใช้งบประมาณมากมาย แต่เรื่องสุขภาพไม่ต้องใช้เงินก็ทำงานได้ โดยมีฐานความคิดให้ประชาชนในท้องถิ่น และ อสม. ทำโครงการเกี่ยวกับสุขภาพขึ้นมา แล้วทางเทศบาลจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ
 
0 0 0
 
 
  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิปรายถาม-ตอบ "ปัญหาข้ามศตวรรษ"

Posted: 25 Jun 2012 04:35 PM PDT

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดงานสัมมนา "100 ปี กบฏประชาธิปไตย ร.ศ.130 - 80 ปี ปฏิวัติประชาธิปไตย พ.ศ.2475" (SIAMESE-THAI POLITICS: FROM the 1912 COUP TO the 1932 REVOLUTION) เนื่องในโอกาสครบ 80 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทยจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย

ช่วงบ่าย มีการจัดอภิปรายถาม-ตอบเกี่ยวกับข้อสงสัยของการปฏิวัติ 2475 ในหัวข้อ "ปัญหาข้ามศตวรรษ" โดยมีผู้ถามคือ ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ตอบเป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ 2 ท่าน คือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ และชาญวิทย์ เกษตรศิริ ประชาไทนำวิดีโอการอภิปรายในช่วงดังกล่าวมานำเสนอ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น