ประชาไท | Prachatai3.info |
- วรเจตน์ ภาคีรัตน์: คณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย
- ศาลต้องเข้าใจความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม บทเรียนจากคดีแม่อมกิ
- ชุมชนหลังศาลเจ้าพ่อทัพจี้หยุดข่มขู่ หยุดไล่รื้อและใช้ความรุนแรงกับชาวชุมชน
- สภาที่ปรึกษาฯ รับฟังภาคเหนือ ยุทธศาสตร์พัฒนาชาติใน 2 ทศวรรษหน้า
- ว้าถอนกำลังประชิดฐานไทใหญ่ SSA แล้ว
- นายกสั่งทบทวนบังคับเก็บ 30 บาทผู้ป่วยไตวายร้องสามกองทุนยังไม่เท่าเทียม
- แถลงการณ์ “เลี้ยวซ้าย” ในวาระครบรอบ 80 ปี การปฏิวัติ ๒๔๗๕
- พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ประชาชนเตรียมพร้อมรับศึกใหญ่!
- ยูโร 2012: กรีซปะทะเยอรมัน … และเรื่องที่มากกว่านั้นนอกสนามฟุตบอล
- คนทำงาน เดือนพฤษภาคม 2555 : May Day 2012
- ศาลมุกดาหารให้ประกัน 13 เสื้อแดงอุบลเศร้า สารคาม อุดร ลุ้นวันจันทร์
- ละเมิด/ไม่ละเมิดงานดนตรี 101: ตอนที่ 4 เสรีภาพการแสดงออก การล้อเลียน และการใช้อย่างชอบธรรม
- ดูหนังบ้านๆ: The Cabin in the Woods
- ศาลเยาวชนฯ เลื่อนพิพากษาคดีแพรวา 2 ก.ค.นี้
วรเจตน์ ภาคีรัตน์: คณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย Posted: 22 Jun 2012 10:00 AM PDT วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ “คณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย” ในการสัมมนาเรื่อง จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปีประชาธิปไตย จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับนิตยสารศิลปวัฒนธรรมและสถาบันนโยบายศึกษา ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
000 ถ้าพูดเฉพาะเรื่องของคณะราษฎรอาจจะไม่เห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายทั้งหมดหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงจะพูดถึงคณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายและเลยไปถึงช่วงห้าปีแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นสำคัญ โดยประเด็นหลักๆ ที่จะพูด แบ่งเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ ประเด็นแรก คือ การก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเพื่อจัดวางโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายและการปกครองของรัฐ 2.การพัฒนาทางด้านกฎหมายและการใช้กฎหมายเป็นกลไกขับเคลื่อนระบอบการปกครองแบบใหม่ 3.การสร้างอุดมการณ์ของระบอบรัฐธรรมนูญโดยประเมินความสำเร็จและความล้มเหลวและผลกระทบที่มีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
การก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะราษฎรให้กำเนิดรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของประเทศไทยขึ้น แม้อาจมีการช่วงชิงความหมายของรัฐธรรมนูญ โดยมีนักกฎหมายในยุคหลังบางคนกล่าวว่า หลักศิลาจารึกมีสภาพเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก แต่ในทางกฎหมายแล้วจะนับเช่นนั้นไม่ได้ เราถือว่าคณะราษฎรให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกคือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยาม ชั่วคราว 2475 ซึ่งประกาศเมื่อ 27 มิ.ย. 2475 ในรัฐธรรมนูญ คณะราษฎรได้จัดวางหลักการใหญ่ๆ และเป็นโครงของรัฐไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 เรื่อง คือ 1.การกำหนดรูปของรัฐเป็นราชอาณาจักร คือยังคงให้กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ และคงสภาพรัฐเดี่ยวต่อไป แง่นี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐไปจากเดิมเท่าไหร่ 2.การกำหนดให้ประชาชนหรือที่คณะราษฎรเรียกว่า ราษฎร เป็นเจ้าของอำนาจใหม่ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เป็นการประกาศหลักประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งแตกต่างจากจินตนาการของ ร.7 และผู้คนแวดล้อมพระองค์ ซึ่งเห็นได้จากร่างรัฐธรรมนูญของเจ้าพระยากัลยาณไมตรี ซึ่งไม่ได้ประกาศใช้ ที่กำหนดให้อำนาจสูงสุดตลอดราชอาณาจักรเป็นของกษัตริย์ 3.หลักการปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ หรือปัจจุบันรู้จักกันในนามนิติรัฐ คือให้บุคคลเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการปกครอง อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า หลักนิติรัฐไม่ได้ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก แต่อยู่ในคำประกาศของคณะราษฎรที่ว่าด้วยหลัก 6 ประการ การประกาศหลักนิติรัฐลงในรัฐธรรมนูญมาปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธ.ค. 2475 แต่วิธีคิดนี้มีอยู่แล้วในประกาศของคณะราษฎรและหลัก 6 ประการของคณะราษฎร เมื่อย้อนมาดูโครงสร้างรัฐธรรมนูญฉบับแรก จะพบว่ามีหลักอีกประการที่ใช้บังคับในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่หายไปหลังจากมีการทำรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 2 นั่นคือหลักการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน หรือหลักการควบคุมกิจการโดยสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือปัจจุบัน เราคุ้นเคยว่าการจัดวางโครงสร้างรูปแบบการปกครองในทางกฎหมายมหาชน เราใช้ระบบรัฐสภา มีการถ่วงดุลคานอำนาจกัน โดยฝ่ายบริหารสามารถยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ และสภาฯ ลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีได้ แต่หลักการนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในครั้งแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยในรัฐธรรมนูญฉบับแรก คณะราษฎรไม่ได้กำหนดการปกครองในรูปแบบรัฐสภา แต่กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นใหญ่ หมายความว่าในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการรัฐ คณะราษฎรเน้นไปที่สภาผู้แทนราษฎร โดยให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจปลดกรรมการราษฎรหรือพนักงานของรัฐได้ พูดง่ายๆ คือ ในโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับแรก ฝ่ายบริหารคือกรรมการราษฎรจะครอบเสนาบดีอีกชั้น ขณะเดียวกันก็อยู่ภายใต้สภาผู้แทนราษฎรโดยไม่สามารถยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่สภาผู้แทนราษฎรปลดกรรมการราษฎรได้ เมื่อไม่นานมานี้มีผู้กล่าวว่าโครงสร้างคณะกรรมการราษฎรมีลักษณะคล้ายกับโปลิตบูโร (politburo) ในการปกครองของประเทศในระบอบคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย เช่น สหภาพโซเวียต เกาหลีเหนือ คิวบา เนื่องจากมีความเห็นว่าเดิม เรามีเสนาบดี และหลังเปลี่ยนแปลงไม่ได้ยกเลิกตำแหน่งนี้ เพียงแต่สร้างองค์กรชื่อคณะกรรมการราษฎร และให้มีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาเสนาบดีอีกชั้นหนึ่ง จึงมีผู้มีความเห็นว่า คณะกรรมการราษฎรไม่ควรถือเป็นคณะรัฐมนตรี แต่ควรถือว่าเสนาบดีเป็นคณะรัฐมนตรี ส่วนคณะกรรมการราษฎรนั้นเป็นตัวครอบเสนาบดีอีกชั้นหนึ่ง มีลักษณะคล้ายกับโปลิตบูโร (politburo) ในระบบคอมมิวนิสต์ เรื่องนี้ อาจต้องดูโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ทั้งฉบับประกอบกัน ความจริง ตัวคณะกรรมการราษฎรตกอยู่ภายใต้อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรด้วย โดยเมื่อดูวัตถุประสงค์ของคณะราษฎรแล้วจะเห็นว่า สภาผู้แทนราษฎรในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีจะต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยในรัฐธรรมนูญแบ่งพัฒนาการของสภาผู้แทนราษฎรไว้สามช่วงคือช่วงแรกมาจากการแต่งตั้ง ช่วงที่สองมาจากการแต่งตั้งผสมเลือกตั้ง และช่วงที่สามจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ในแง่นี้จะพบว่า ระบอบประชาธิปไตยผ่านเข้าไปในสภาผู้แทนราษฎร และไปครอบกรรมการราษฎรอีกชั้นหนึ่ง จึงคิดว่าอาจจะเปรียบเทียบกับโปลิตบูโร ในระบอบคอมมิวนิสต์ค่อนข้างลำบาก คือจะดูจากตัวองค์กรไม่ได้ ต้องดูที่ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรในรัฐธรรมนูญด้วย เราอาจพูดได้แต่เพียงว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรก คณะราษฎรเน้นที่อำนาจของสภาผู้แทนราษฎร พูดง่ายๆ คือ ถ่ายโอนอำนาจของกษัตริย์มาอยู่กับประชาชนแล้วให้สภาผู้แทนราษฎรทรงอำนาจสูงสุดในนามองค์กรของรัฐ อย่างไรก็ตาม หลักคิดแบบนี้ไม่ได้ใช้ในเวลาต่อมา เมื่อนำพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยาม ให้รัชกาลที่ 7 ทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์ทรงเติมคำว่า ชั่วคราว ลงไป ทำให้เกิดการยกร่างรธน ฉบับถาวร ฉบับ 10 ธ.ค. 2475 ขึ้น หลักการปกครองโดยถืออำนาจของสภาผู้แทนราษฎรสูงสุดจึงหายไป กลายเป็นระบบรัฐสภา ที่มีการถ่วงดุลอำนาจกันแบบที่เห็นในปัจุบันแทน การก่อกำเนิดของรัฐธรรมนูญ คือหลักราชอาณาจักร ประชาธิปไตยและนิติรัฐ มีลักษณะเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่กษัตริย์มีอำนาจล้นพ้นเด็ดขาดกลายเป็นระบอบที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในการเปลี่ยนแปลง 2475 คณะราษฎรใช้วิธีการยึดอำนาจหรือที่เรียกว่า Coup d'etat แต่ถือไม่ได้ว่าเป็นการรัฐประหารในความหมายที่เราใช้ในเวลาต่อมา เพราะคณะราษฎรใช้วิธีการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครอง แต่ตัวการกระทำคือ revolution หรือการปฏิวัติ หรือการอภิวัฒน์ เราจึงไม่สามารถกำหนดสถานะของ 24 มิ.ย.2475 ให้เท่ากับรัฐประหารที่เกิดขึ้นในครั้งต่อๆ มาได้เลย ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารของ ผิน ชุณหะวัณ ในปี 2490 สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 สงัด ชะลออยู่ ในปี 2519 สุนทร คงสมพงษ์ โดย รสช. ในปี 2534 สนธิ บุญยรัตกลิน ในปี 2549 เมื่อเราอธิบายความเรื่องนี้ ในแง่ของกฎหมาย ต้องเข้าใจว่าเมื่อคณะนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างผลพวงรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.2549 มีคำถามว่า ทำไมไม่เสนอลบล้างไปถึง 24 มิ.ย.2475 ด้วย คำตอบคือ ทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะ 24 มิ.ย.2475 ไม่ได้มีสถานะเป็นการรัฐประหาร เพื่อล้มล้างรัฐบาลและอยู่ต่อไปในระบอบเดิม แต่เป็นการเปลี่ยนระบอบ และวางหลักการใหม่อย่างน้อยสามหลักการที่ได้กล่าวไปแล้ว ดังนั้น เมื่อมีการเสนอให้ลบล้างการรัฐประหาร เราอาจจะลบล้างได้ทุกครั้งตั้งแต่ 19 ก.ย.49 แต่ย้อนได้ถึงแค่รัฐประหารของ ผิน ชุณหะวัณ ในวันที่ 8 พ.ย.2490 เพราะเมื่อย้อนไปถึงก่อนหน้านั้น คือการย้อนกลับไปหาหลักของคณะราษฎรนั่นเอง ซึ่งหากลบล้างจะกลับไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายของการลบล้างผลพวงรัฐประหารที่ต้องการลบล้างการกระทำที่เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญโดยไม่ชอบ ดังนั้น การลบล้างรัฐประหารจึงคือ การย้อนหลักไปหาหลักการที่ถูกต้องที่คณะราษฎรได้วางไว้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นเอง มีปัญหาอยู่ว่า ตอนที่คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐธรรมนูญฉบับแรก ควรเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือไม่ เรื่องนี้มีข้อถกเถียงกันอยู่ เมื่อดูทั้งหมด และบริบทของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาจเข้าใจได้ว่าคณะราษฎรต้องการจัดให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายโดยการวางโครงสร้างหลักๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับแรกนั้นอาจมีความไม่สมบูรณ์เพราะร่างในเวลาจำกัดพอสมควร ขาดบทบัญญัติบางประการที่ควรบัญญัติไว้ โดยยึดโยงจากหลัก 6 ประการของคณะราษฎรเอง เช่น ความเสมอภาค เศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับแรกแล้ว อาจตั้งคำถามได้ว่า คณะราษฎรหรือผู้ร่างมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นการชั่วคราวจริงหรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากดูการวางลำดับขั้นตอนให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรเป็น 3 ช่วงในระยะเวลา 10 ปี เมื่ออ่านดูแล้ว จะพบว่าเจตจำนงจริงๆ ต้องการให้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่หนึ่งนั้นได้ใช้ไป แต่ว่าน่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทต่างๆ ที่ยังไม่ได้ร่างเข้าไป คล้ายกับที่อเมริกาทำรัฐธรรมนูญฉบับแรกก็ไม่สมบูรณ์ โดยต่อมามีบทแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง เพียงแต่เมื่อยื่นแล้ว และรัชกาลที่ 7 ทรงเติมคำว่า "ชั่วคราว" ลงไป ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับแรกกลายเป็นฉบับชั่วคราว เกิดการประนีประนอม ปรองดองกัน และก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ทำให้เห็นว่าการปฏิรูปการปกครองที่คณะราษฎรได้มุ่งหมายไว้แต่แรกถอยหลังลงไปในระดับหนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 เป็นที่ยอมรับได้ของทั้งคณะราษฎรและในชั้นแรกก็เป็นที่ยอมรับได้ของรัชกาลที่ 7 รวมทั้งฝ่ายเจ้าด้วย เพียงแต่ในเวลาต่อมา พบการขัดแย้งกันของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ตามมาหลายครั้ง จนในที่สุด ความขัดแย้งก็ไปถึงจุดสุดท้ายเมื่อรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติและรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ถูกใช้บังคับเป็นเวลาต่อเนื่องมาถึงสิบกว่าปี
การพัฒนากฎหมายและใช้กฎหมายเป็นกลไกขับเคลื่อนระบอบการปกครองแบบใหม่ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ การบริหารราชการแผ่นดินช่วงหนึ่งอยู่ในมือคณะกรรมการราษฎร ซึ่งต่อมาเป็นคณะรัฐมนตรี ภายใต้การนำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในช่วงของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เข้าใจว่าเป็นการต่อรองช่วงชิงอำนาจของสองฝ่ายอยู่ในที ความขัดแย้งในแนวคิดที่ไม่ตรงกัน เห็นได้จากเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ เรื่อยมาจนถึงการตราพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งพระยาพหลพลพยุหเสนาต้องใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจ เปลี่ยนรัฐบาล เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญกลับมามีผลใช้บังคับโดยบริบูรณ์ หลังจากนั้นพระยาพหลฯ ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงที่พระยาพหลฯ เป็นนายกฯ จะพบว่ามีความพยายามทำกฎหมายขึ้นหลายฉบับ แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก คือ การทำกฎหมายให้มีลักษณะเป็นอารยะ หรือได้เกณฑ์ของสากล เพื่อให้สยามที่เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในหลายรัชกาลได้รับเอกราชทางศาลกลับคืนมา กลุ่มที่สอง เป็นกฎหมายที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ขับเคลื่อนการปกครองในระบอบใหม่นั้นดำเนินไปได้ เพราะลำพังแต่ตัวรัฐธรรมนูญเอง ไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนการปกครองในระบอบใหม่ กฎหมายกลุ่มแรกที่รัฐบาลพระยาพหลฯ เร่งจัดทำเพื่อขอเอกราชในทางการศาลกลับคืนมาจากชาติตะวันตก ที่ประสบความสำเร็จและเสร็จช่วงปี 2477 และบังคับใช้ในปี 2478 เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นอกจากนี้ยังมีการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในบรรพที่เหลืออยู่ คือ บรรพ 5 กฎหมายลักษณะครอบครัว และบรรพ 6 กฎหมายลักษณะมรดก เสร็จสิ้นด้วยในปี 2477 นี่เป็นความพยายามของรัฐบาลพระยาพหลฯ ในการเร่งจัดทำกฎหมายที่เป็นกฎหมายหลักอันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันเองให้ได้เกณฑ์ในแง่ของมาตรฐานสากล เราอาจกล่าวได้ว่า ภารกิจนี้ของคณะราษฎรซึ่งส่งผ่านมาในสมัยรัฐบาลพระยาพหลฯ เป็นภารกิจที่รับสืบเนื่องมาจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะต่อให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประมวลกฎหมายเหล่านี้ก็ต้องถูกทำอยู่ดี เพื่อจะได้เรียกเอกราชทางการศาลกลับคืนมา เพียงแต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว มันมีการเร่งทำกฎหมายเหล่านี้จนสำเร็จ ก็ถือเป็นว่าคุณูปการประการสำคัญหนึ่งของคณะราษฎรในช่วง 2-3 ปีแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในส่วนของกฎหมายที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนระบอบการปกครองแบบใหม่ พบว่า กฎหมายสำคัญๆ จะออกมาในช่วง 5 ปีแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ ประมาณปี 2476-2480 เช่น พ.ร.บ.ระเบียบราชการพลเรือน พ.ศ.2476 ซึ่งจัดวางจัดรูปข้าราชการพลเรือนใหม่ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2476 พ.ร.บ.ระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2476 นี่คือกฎหมายที่จัดวางโครงสร้างของระบบราชการบริหาร โดยหลักๆ คือราชการบริหารส่วนกลางเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังเกิดความพยายามกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่น เกิดการจัดทำ พ.ร.บ.จัดการเทศบาล พ.ศ.2476 ด้วย เราอาจกล่าวได้ว่า คณะราษฎรเองก็ได้พยายามจัดรูปหรือวางโครงของการปกครองเท่าที่กำลังจะทำได้ กฎหมายสำคัญอีกฉบับ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2476 ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จริงๆ แล้วพยายามจะจัดวางรูปแบบ เพื่อให้มีการก่อตั้งศาลปกครองขึ้น ในคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเขียนเอาไว้ว่าต่อไปในอนาคตจะได้มีกฎหมายจดวางระเบียบวิธีพิจารณาของศาลปกครองขึ้นมาโดยจะให้เกิดขึ้นที่คณะกรรมการกฤษฎีกา โดยลอกรูปแบบมาจาก Conseils d'État หรือ Council of State ของฝรั่งเศส นี่เป็นความพยายามปรับรูปของกฎหมายมหาชน แต่ว่าความพยายามนี้เลือนหายไป เนื่องจากในระยะเวลาต่อมาไม่มีการจัดทำกฎหมายเรื่องนี้ขึ้น ทำให้พัฒนาการทางกฎหมายมหาชนของบ้านเราหยุดชะงักไปนับแต่นั้นเป็นต้นมา เราจึงไปเน้นที่กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญาเป็นสำคัญ ดังจะได้อธิบายต่อไป นอกจากนี้ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรต้องเผชิญปัญหาสำคัญหนึ่ง คือ ปัญหาเกี่ยวกับสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน ในส่วนที่เกี่ยวกับพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์นั้นเป็นประเด็นที่ได้อภิปรายกันในตอนรัฐธรรมนูญถาวร 2475 ว่าฝ่ายเจ้าเองมีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เขียนขึ้นมีลักษณะกร้าวเกินไปและไม่ได้ถวายพระเกียรติให้กับพระมหากษัตริย์พอสมควร เมื่อเขียนฉบับที่ 2 จึงมีการต่อรองกัน และเพิ่มความบางอย่างลงไป เช่น พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ เปลี่ยนคำเรียกประมุขของรัฐจากกษัตริย์เป็นพระมหากษัตริย์ ยกเลิกการฟ้องร้องกษัตริย์ในคดีอาญาซึ่งเป็นลักษณะที่เด่นมากๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ไป คล้ายเป็นการประนีประนอมกับระหว่างฝ่ายผู้ก่อการกับฝ่ายเจ้า ที่เป็นปัญหาคือความสัมพันธ์ทางทรัพย์สิน หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ได้มีการตรากฎหมายกำหนดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างรัฐกับพระมหากษัตริย์ อย่างน้อยก็มีกฎหมายที่เกี่ยวพันกับเรื่องนี้ 2 ฉบับได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2477 และพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2479 เฉพาะกฎหมายฉบับหลัง เป็นการวางรูปของการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ให้สอดรับกับการปกครองตามรัฐธรรมนูญ แต่อย่างที่ทราบกันว่า พ.ร.บ.นี้ต่อมาถูกยกเลิกไปและแทนที่ด้วย พ.ร.บ.ที่ทำขึ้นหลังรัฐประหารโดย ผิน ชุณหะวัณ ในปี 2491 และส่งผลให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นปัญหาตลอดมาในทางกฎหมายจนถึงปัจจุบันในการจัดรูปว่าโครงสร้างของสำนักงานทรัพย์สินฯ นั้นจะถือเป็นองค์กรของรัฐหรือไม่ ถ้าเป็น จะเป็นองค์กรชนิดใด แต่ถ้าย้อนกลับไปที่หลักของปี 2479 จะเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา นี่ก็เป็นความพยายามของคณะราษฎรในการจัดความสัมพันธ์ของทรัพย์สินระหว่างรัฐกับพระมหากษัตริย์ เราจะพบด้วยว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้ว 3-4 ปีต่อมา ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายขึ้นมาก มีกฎหมายใหม่ๆ หลายฉบับ ซึ่งน่าเสียดายที่กฎหมายเหล่านี้ที่วางหลักการดีๆ เอาไว้ ได้ถูกทยอยยกเลิกไป โดยเฉพาะหลังรัฐประหารปี 2490
ความพยายามสร้างอุดมการณ์ของระบอบรัฐธรรมนูญ
ประเด็นสุดท้ายที่จะพูดถึงคือ ความพยายามสร้างอุดมการณ์ของระบอบรัฐธรรมนูญขึ้น และเกี่ยวพันกับวิชาชีพกฎหมายและตัวนักกฎหมายด้วย และอาจจะใช้ประเด็นนี้วิเคราะห์วิชาชีพด้านกฎหมายและนักกฎหมายจากนั้นมาถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจและเปลี่ยนตัวระบบนั้น ลำพังแต่การสร้างกฎหมายขึ้นมาใช้บังคับอาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะกฎหมายเป็นตัวหนังสือที่เขียนขึ้น พลังบังคับของกฎหมายไม่ได้อยู่ที่อำนาจทางกายภาพหรืออำนาจรัฐอย่างเดียว ที่จะทำให้กฎหมายใช้ไปได้ แต่อยู่ที่สำนึกความรู้สึกนึกคิดของคนในวงการกฎหมาย วงการนิติศาสตร์ที่ขับเคลื่อนกฎหมาย รวมทั้งสำนึกของประชาชนทั่วไปที่มีต่อระบอบใหม่ด้วย ถ้าไม่สามารถทำเรื่องนี้ให้สำเร็จได้ ไม่สามารถก่อจิตสำนึกอันใหม่ อุดมการณ์ระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นใหม่ อุดมการณ์แบบนิติรัฐที่เกิดขึ้นใหม่ ต่อให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาสักกี่สิบกี่ร้อยฉบับก็จะไม่สามารถขับเคลื่อนระบอบการปกครองแบบใหม่ขึ้นได้ คิดว่า คณะราษฎรตระหนักถึงปัญหาแบบนี้ โดยตระหนักเพราะเหตุการณ์ในเวลานั้นบังคับด้วย ตามที่ได้เล่าไปว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองความขัดแย้งของคนในระบอบเก่าและระบอบใหม่ยังดำรงอยู่ต่อมา ดังจะสังเกตเห็นได้จาก แม้จะพยายามประนีประนอม โดยเอาพระยามโนปกรณ์นิติธาดา มาเป็นประธานกรรมการราษฎรและต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ก็อาจประนีประนอมได้ระยะหนึ่งในแง่บุคคล แต่เมื่อเวลาผ่านไป วิธีคิดที่แตกต่าง หลักการที่ไม่เหมือนกัน ก็นำมาซึ่งความขัดแย้ง การมองพัฒนาการของรัฐในระยะต่อไปที่แตกต่างกัน พื้นฐานการจัดวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ความขัดแย้งจะประทุขึ้นในวันใดวันหนึ่ง แล้วมันก็เป็นเช่นนั้นจริง หลังการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจโดยหลวงประดิษฐ์มนูญธรรม หรือท่านปรีดี พนมยงค์ ก็เกิดความพยายามต่อต้าน เกิดเหตุการณ์ปิดสภาผู้แทนราษฎร เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร โดยพระยาพหลฯ เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญใช้บังคับ เป็นรัฐประหารเพื่อรัฐธรรมนูญครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การปกครองของไทย หลังจากนั้น ตามด้วยกรณีกบฏบวรเดช ในช่วงกลางปี-ปลายปี 2476 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คณะราษฎรตระหนักว่า ระบอบที่ได้ตั้งขึ้นใหม่ยังไม่มีความมั่นคงเพียงพอ ในแง่นี้การพยายามสร้างอุดมการณ์ของระบอบรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งจำเป็น สิ่งที่คณะราษฎรได้ทำผ่านรัฐบาลพระยาพหลฯ คือหลังเกิดเหตุการณ์กบฎบวรเดชแล้ว ในทางกฎหมายได้ตรา พ.ร.บ.จัดการป้องกันรัฐธรรมนูญขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ และกำหนดโทษแก่บุคคลซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญเสื่อมทรามความศักดิ์สิทธิ์ลง โดยเป็นโทษทางอาญาและมีโทษที่ค่อนข้างรุนแรง อาจกล่าวได้ว่า พ.ร.บ.จัดการป้องกันรัฐธรรมนูญนี้เป็นปฏิกิริยาโดยตรงที่มีต่อกบฏบวรเดช รวมทั้งเหตุการณ์ที่มีขึ้นก่อนหน้านั้น นอกจากนั้นยังมีความพยายามปลูกฝังระบอบใหม่ด้วย โดยในกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวกับข้าราชการและฝ่ายตุลาการ มักมีบทบัญญัติมาตราหนึ่งบัญญัติไว้ในทำนองที่ว่า เช่น มาตรา 39 ของ พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2476 บัญญัติว่า ข้าราชการพลเรือนต้องสนับสนุนการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจและจะต้องพยายามชี้แจงแก่บุคคลในบังคับบัญชาและในอำนาจของตนให้เข้าใจ และนิยมต่อการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ รวมถึงในเวลาต่อมา นอกจากคำขวัญว่าด้วย "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ก็เพิ่มเป็น "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ" นี่คือความพยายามปลูกฝังตัวอุดมการณ์ของการปกครองแบบใหม่ในระบบรัฐธรรมนูญผ่านกลไกทางกฎหมายและทางวัฒนธรรมเท่าที่ทำได้ ทีนี้ถามต่อไปว่าอุดมการณ์เหล่านี้แทรกซึมเข้าสู่วงวิชาการนิติศาสตร์มากน้อยแค่ไหน คิดว่าอุดมการณ์ระบอบรัฐธรรมนูญแทรกซึมน่าจะไม่มากนัก ดังจะสังเกตเห็นได้จากองค์กรที่คุมวิชาชีพกฎหมายเช่นเนติบัณฑิตยสภาก็รับมาจากระบอบเดิม คนของระบอบเดิมได้วางรากฐานของคนที่ประกอบวิชาชีพกฎหมาย ประเด็นสำคัญก็คือรัฐธรรมนูญที่ทำขึ้นทั้ง 3 ฉบับแรกที่สืบอุดมการณ์ของคณะราษฎรในระดับหนึ่ง คือ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2489 ทั้ง 3 ฉบับนี้ ก็แตะต้องโครงสร้างขององค์กรตุลาการน้อยมาก ถามว่ามีความพยายามจัดระเบียบบริหารราชการฝ่ายตุลาการไหม มี มีการออกพระราชบัญญัติตามมา 3-4 ฉบับ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่การออก พ.ร.บ. เหล่านี้ เป็นการออก พ.ร.บ.เพื่อจัดรูประเบียบศาลยุติธรรมเฉยๆ แต่อุดมการณ์คณะราษฎร อุดมการณ์ประชาธิปไตย อุดมการณ์นิติรัฐ ไม่ได้ถูกใส่ลงไปในฝ่ายตุลาการ หรือในกฎหมายของระเบียบข้าราชการตุลาการ ที่สำคัญ อุดมการณ์หลักในการปกครองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือประชาธิปไตยและนิติรัฐ ประชาธิปไตยคือประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ นิติรัฐคือกฎหมายเป็นใหญ่ สองอันนี้เราอาจจะพบความเปลี่ยนแปลงได้ชัดในอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร ครั้นมาถึงอำนาจตุลาการ ถ้าเราย้อนกลับไปดูความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายหลังจากนั้น เราจะพบว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยแทบจะไม่แทรกซึมเข้าไปเลยในการจัดรูปโครงสร้างของฝ่ายตุลาการ เช่น ไม่ได้คิดถึงความเชื่อมโยงของผู้พิพากษาตุลาการกับประชาชน ทั้งที่เวลาเราพูดถึงตัวระบอบประชาธิปไตย เวลาที่จัดรูปโครงสร้างของรัฐทั้งสามอำนาจต้องกลับมายึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจได้ แน่นอน การยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจนั้นอาจจะมีความแตกต่างกัน แต่ต้องมี ในแง่นี้ กฎหมายจัดรูปของฝ่ายตุลาการแทบจะไม่มี หรือมีก็น้อยมาก อาจจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่กำหนดให้คนซึ่งเป็น กต. เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือคนจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองซึ่งตั้งขึ้นเพื่อรองรับตัวระบอบใหม่เข้าไป แต่ต่อมาก็ถูกเลิกไป แล้วการจัดการระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เป็นการจัดการในหมู่ผู้พิพากษากันเอง ตัดขาดจากอำนาจในทางการเมืองหรืออำนาจประชาชนไป และในยุคสมัยหลังๆ เรียกว่าขาดไปเกือบสิ้นเชิง มีฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารอยู่ใน กต. น้อยมาก หลักก็คือเป็นคนฝ่ายของตุลาการเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่วิจารณ์ได้ระดับหนึ่ง แม้ว่าอาจดูไม่เป็นธรรมกับคณะราษฎรนัก ในแง่ที่ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอาจต้องมุ่งอำนาจนิติบัญญัติ บริหารเป็นสำคัญ ประกอบกับเวลานั้นยังต้องการได้คืนซึ่งเอกราชในทางการศาลด้วย จึงมุ่งเน้นไปที่การทำกฎหมายสารบัญญัติ แต่แม้กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่ไม่ได้วางรากฐานอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้ผ่านในวงตุลาการจึงส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ เพราะว่าคนในแวดวงตุลาการ คนในเวลาต่อมาจะเป็นอาจารย์ผู้สอนวิชานิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ในยุคแรกๆ บรรดาผู้พิพากษาในฝ่ายตุลาการจะสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยทั้งหมด การที่ขาดอุดมการณ์แบบนี้ส่งผลทำให้ หนึ่ง การจัดการเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์หรือวิชากฎหมายนั้นจำกัดที่กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา วิธีพิจารณาความแพ่ง วิธีความพิจารณาอาญา ขาดการเรียนการสอน การวางรากฐานกฎหมายมหาชนที่เน้นวิชานิติรัฐและประชาธิปไตย สอง เมื่อตั้งศาลปกครองขึ้นไม่ได้ หรือไม่มีการตั้งศาลปกครองเมื่อช่วงปี 2476 ดังที่ประสงค์แต่แรก ก็ไม่ได้เกิดพัฒนาการด้านกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นรากเหง้าสำคัญของกฎหมายมหาชน ที่จะส่งเสริมพัฒนาอุดมการณ์ประชาธิปไตย มันขาดหายไป นอกจากนั้นเกิดการสู้กันของนักกฎหมาย 2 ฝ่าย คือสำนักอนุรักษ์นิยม และรัฐธรรมนูญนิยม สุดท้ายนั้นอาจกล่าวได้ว่าเมื่อถึงปัจจุบัน ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้รับชัยชนะหลังปี 2490 ถ้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรจะถูกมองว่าไม่บริบูรณ์ นั่นก็คือการที่คณะราษฎรไม่ได้สร้างความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยให้องค์กรตุลาการ และนี่ยังเป็นปัญหาที่ตกทอดสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ในอดีตเราไม่เห็นปัญหานี้ชัดเจนนัก เพราะว่าศาลจำกัดตัวเองอยู่ในการตัดสินคดีแพ่ง คดีอาญาเท่านั้น แต่ครั้นถึงปัจจุบัน เมื่อศาล องค์กรตุลาการ เข้ามามีบทบาทในการตัดสินคดีเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในทางกฎหมายมหาชนมากขึ้น การขาดอุดมการณ์แบบนี้ ส่งผลสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ รวมทั้งกรณีล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญด้วย เราอาจจะกล่าวได้ว่าในปัจจุบันนี้ อุดมการณ์นักกฎหมาย นักกฎหมายมหาชนแบบ 2475 ตกเป็นฝ่ายกระแสรอง หรือเป็นฝ่ายข้างน้อย ในขณะที่อุดมการณ์ของนักกฎหมาย หรือนักกฎหมายมหาชนแบบ 2490 กลายเป็นอุดมการณ์กระแสหลัก อาจจะกล่าวได้ว่าวิธีคิดแบบนี้ไม่ได้อยู่ในทางกฎหมายเท่านั้น อาจจะอยู่ในวงวิชาการรัฐศาสตร์ นักวิชาการแขนงอื่นด้วย ทั้งๆ ที่ถ้าเราไปดูการเปลี่ยนแปลงการปกครองในต่างประเทศ ในอเมริกาก็ดี ฝรั่งเศสก็ดี เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว หลักของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะเป็นที่ยอมรับกันโดยไม่ถูกโต้แย้ง อเมริกาประกาศอิสรภาพก็ชัดเจนว่านี่คือการประกาศอิสรภาพคือรัฐธรรมนูญ ฝรั่งเศสปฏิวัติใหญ่ นั่นคืออุดมการณ์ปฏิวัติใหญ่เป็นอุดมการณ์หลักในการจัดการการปกครอง แต่บ้านเราแตกต่างไป คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง อุดมการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรืออุดมการณ์ทางกฎหมายของคณะราษฎรดำรงอยู่เป็นหลักในช่วงเดียวสั้นๆ แล้วถูกโต้อภิวัฒน์ แล้วอุดมการณ์อีกชนิดหนึ่งเข้ามาแทนที่ แล้วรับสืบเนื่องและพัฒนาตนเองมาอย่างแนบเนียนมากขึ้น จนกระทั่งในปัจจุบันยากที่จะแยกแยะได้สำหรับคนทั่วไป กล่าวโดยสรุป ผมเห็นว่าคณะราษฎรมีคุณูปการอย่างสูง ไม่ว่าเราจะประเมินว่าคณะราษฎรมีความผิดพลาดอยู่บ้าง หรือล้มเหลวอย่างไรก็ตาม ที่อย่างน้อยได้วางโครงหลักของการจัดการการปกครองที่มีลักษณะเป็นสากลและเป็นอารยะเอาไว้ แม้ว่าจะมีความไม่สมบูรณ์อยู่ แต่ความไม่สมบูรณ์นี้เป็นภารกิจของคนในยุคสมัยถัดมาที่จะเติมเต็มอุดมการณ์นิติรัฐประชาธิปไตยให้สมบูรณ์
ช่วงถามตอบ
ฉลอง สุนทราวาณิชย์ ขอบคุณอาจารย์วรเจตน์ที่ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องความเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย หลัง 2475 ประเด็นที่ผมจะขออนุญาตเสริมต่อในทำนองคำปรารถและคำถามจากอาจารย์ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องกฎหมายโดยตรง แต่เกี่ยวกับประเด็นที่ท่านอาจารย์พูดถึงข้อเสนอที่บอกว่าคณะกรรมการราษฎรที่เกิดขึ้นมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงระยะแรก ซึ่งมีนักวิชาการบางท่าน เสนอว่ามันน่าจะเป็นรูปแบบของโปลิตบูโร (Politburo) แบบของบอลเชวิค แบบของพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อผมได้อ่านรายงานฉบับนี้ครั้งแรก (คลิก เพื่ออ่านรายงานข่าวในมติชนออนไลน์) อันที่จริงเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง ผมอ่านแล้วก็รู้สึกตกใจและฉงน เพราะข้อเสนอนี้ ถ้าผมอ่านไม่ผิดมาจากราชบัณฑิตท่านหนึ่ง เป็นการสนทนาในการประชุมของราชบัณฑิต ซึ่งผมคิดว่ามันมีความสมเหตุสมผลเพราะนี่คือวิธีที่นักวิชาการโยนคำถามที่บ้าๆ บอๆ เพื่อถกเถียง เพื่อประโยชน์ของการปรึกษาหาความจริงจากผู้เข้าร่วมการประชุม แต่ทันทีที่ถูกรายงานในสื่อสาธารณะ นัยยะความหมายหน้าที่ของมันเปลี่ยนไปแล้ว มันกลายเป็นวาทกรรมทางการเมืองแบบหนึ่ง และเป็นสิ่งที่น่าตกใจมาก จะเรียนอย่างนี้ครับ เรียนตามตรงว่าเป็นเรื่องปรากฏในสื่อ ผู้เสนอท่านนี้คืออาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร โดยส่วนตัวผมก็เคารพนับถือท่าน รู้จักท่านมา 30-40 ปี ท่านก็เอ็นดู อนุเคราะห์ ให้ความกรุณากับผมมาตลอด เป็นคนที่ผมยกมือไหว้ได้สนิทใจ แต่ผมรู้สึกแปลกกับข้อเสนอนี้ เพราะอันที่จริงท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญการเมืองโซเวียต เชี่ยวชาญระบบการเมืองโซเวียต เรียกว่า ในยุคหนึ่งมีท่านคนเดียวที่รู้เรื่องนี้ แต่ทันทีที่ท่านพยายามบอกว่า กรรมการราษฎร คือ โปลิตบูโร อาจจะเป็นเพราะท่านเป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าซึ่งขัดแย้ง กับการเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเด็นของผมคือ นี่เป็นวาทกรรมที่กลับมาใหม่ ที่มีความพยายามโยงให้เห็นว่าคณะราษฎรกับบอลเชวิค และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กับ การปฏิวัติบอลเชวิค ในปี ค.ศ. 1917 มันเดินตามรอยหรือเป็นสิ่งเดียวกัน โดยตัวมันเอง ผมคิดว่าไม่ใช่อะไรที่เป็นความเสียหายหากมันเป็นจริง แต่เผอิญนี่ไม่ใช่ความจริงทางประวัติศาสตร์ แต่มีความพยายามที่จะทำให้ข้อกล่าวหานี้เป็นวาทกรรมเพื่อทำลายความชอบธรรมของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ผมนึกเท่าไหรก็นึกไม่ออกว่าคณะกรรมการราษฎรจะเหมือนกับโปลิตบูโรได้อย่างไร เพราะในรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการคณะราษฎรสามารถที่จะถูกถอดหรือแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ในความเข้าใจของผม ซึ่งไม่มีความรู้เรื่องระบบการเมืองเปรียบเทียบ แต่เข้าใจว่าในเวลาที่เราพูดถึง โปลิตบูโร (politburo) คนที่ถอดและแต่งตั้งคือ กรรมการกลางของพรรคไม่ใช่สภา เพราะฉะนั้น ถ้าหากจะหยิบยกเพื่อถกเถียงหาความกระจ่างทางวิชาการ ผมคิดว่า "fair enough" เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่การลงมติอะไรแบบนั้น ผมมองว่ามีนัยยะ ความหมายทางการมือง ซึ่งไม่ใช่สัญญาณที่ดีต่อการพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เราเรียกว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัปดาห์ที่เรากำลังรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ผู้ร่วมเสวนา 1: ผมมีความสงสัยอย่างหนึ่งว่า ในการเขียนกฎหมายที่บอกว่า การตัดสินอรรถคดีภายใต้พระปรมาภิไธย ผมไม่แน่ใจว่าหลัง 2475 ได้มีการถกเถียงเรื่องนี้กันไหม ที่สำคัญคือจิตสำนึกภายใต้พระปรมาภิไธย มันมีการเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ๆ ก็ 2490 ขึ้นสู่กระแสที่คิดไปได้อีกทางเลยว่า คล้ายๆ ว่าเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของพระปรมาภิไธยไปเลย เป็นเซนส์ที่รู้สึกเวลาเราไปศาล ซึ่งก็จะสัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลในเรื่องอื่นๆ ถ้าอาจารย์มีความกระจ่างตรงนี้ อยากให้ไล่พัฒนาการให้ฟังสักนิด จะได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่อุดมการณ์อย่างเดียว แต่เป็นวัตรปฏิบัติของศาล ถ้าใครเคยไปศาล ก็จะเหมือนกลัวทุกวินาที เพราะมีอำนาจที่คุณไม่เข้าใจ
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ผมขออนุญาต ตอบประเด็น 2 ประเด็นที่ท่านได้ถามมา เอาประเด็นหลังก่อน เรื่องของศาล ตอนที่ทำรัฐธรรมนูญ 2475 เรื่องนี้ไม่ได้มีการอภิปรายมากนัก ก็เป็นโดยทั่วไปว่ากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ศาลตัดสินตามพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่หากเข้าใจโดยถูกต้องว่า เจ้าของอำนาจเป็นเพื่อประชาชน ก็จบในแง่ที่ว่า เขียนไว้แบบนั้นก็เป็นไปเพื่อประชาชนหรือราษฎรนั่นเอง เพียงแต่ในความรู้สึกนึกคิดของศาล อย่างที่ผมกล่าวไปว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการปรับโครงสร้างนิติบัญญัติ บริหาร ตากหลักการแบ่งแยกอำนาจขึ้น อย่างน้อยก็ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 เป็นต้นมา แต่ในส่วนขององค์กรตุลาการหรือของศาล เป็นการรับเอาศาลจากระบอบเดิมเข้าสู่ระบอบใหม่ เข้ามาทั้งหมด ผู้พิพากษาระบอบเดิมเข้าสู่ระบอบใหม่ทั้งหมด อันนี้เป็นประเด็นว่าในที่สุดพอเข้าสู่ระบอบใหม่แล้ว การปรับเปลี่ยนแง่ของวิธีการคัดเลือกผู้พิพากษา การได้มาซึ่งผู้พิพากษา การถอดถอนผู้พิพากษา การคุมวินัยผู้พิพากษา หลักประชาธิปไตยไม่ได้เป็นหลักคิดในแง่ของการจัดทำกฎหมายหลังจากนั้น นี่คือประเด็น ท่านจึงเผชิญปัญหาแบบที่ท่านเผชิญอยู่ พูดง่ายๆ ไม่มีทางอื่น นอกจากว่าเราต้องปฏิรูปตัวองค์กรตุลาการในอนาคต ซึ่งจะต้องทำอย่างเร็ว ในอนาคตอันใกล้ ถ้าจะทำได้ แต่ท่านก็เห็นแล้วว่าพลังอำนาจยังสู้กันอยู่ จะแก้รัฐธรรมนูญยังแก้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในที่สุดต้องให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างองค์กรตุลาการ ทั้งให้องค์กรตุลาการยืนสองขาคือความเป็นอิสระของตุลาการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิติรัฐ กับสอง ความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ปัจจุบันเราเน้นความอิสระของตุลาการ แต่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เลยเหมือนยืนขาเดียว หลักคิดสองอย่างต้องไปด้วยกัน ขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ ส่วนประเด็นเรื่องของโปลิตบูโร ผมเห็นด้วยว่าที่ท่านกล่าวมาทั้งหมด และผมมีความเห็นว่าคณะกรรมการราษฎรไม่ได้เป็นโปลิตบูโร เข้าใจว่าที่ตอนแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ได้ทำคณะรัฐมนตรีในลักษณะขึ้นมาคุมกระทรวงเลยเพราะฉับพลันเกินไป เพราะมีเสนาบดีกระทรวงอยู่ จึงตั้งกรรมการราษฎรขึ้นมาเพื่อครอบเสนาบดีกระทรวงอีกชั้นหนึ่ง แล้วก็รับผิดชอบต่อตัวสภาผู้แทนราษฎรซึ่งในระยะถัดไปจะมาจากการเลือกตั้ง ถ้าดูโครงสร้างรวมทั้งหมดแบบนี้ต้องถือว่าคณะกรรมการราษฎรมีลักษณะเป็นฝ่ายบริหาร กำกับหรือบังคับบัญชาเสนาบดี เหมือนเสนาบดีเดิมเป็นคนสูงสุด ก็ลดสถานะลงมาเหมือนเป็นฝ่ายประจำ อาจจะต้องเทียบว่าเสนาบดีเปรียบเป็นปลัดไปแล้ว ปลัดทูลฉลองก็ลดสถานะลงมา ไม่ใช่มองว่าเสนาบดีเป็นรัฐมนตรีอีกต่อไป เพราะในแง่นี้ต้องถือว่าเป็นฝ่ายประจำไปแล้ว แล้วฝ่ายการเมืองคือคณะกรรมการราษฎรซึ่งรับผิดชอบ หรือตกอยู่ภายใต้การควบคุมของสภาผู้แทนราษฎร ในแง่นี้ถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการราษฎรมีน้ำหนักเป็นโปลิตบูโร เพราะต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่อย่างที่เรารู้ มันเป็นการช่วงชิงความหมายของถ้อยคำ ท่านคงทราบว่า คณะกรรมการราษฎร ในหลวงรัชกาลที่ 7 ไม่ทรงโปรด ถึงขนาดตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2475 ต้องจึงเปลี่ยนคำนี้แล้วเอาคำเก่ามาใช้คือคำว่า รัฐมนตรี แต่จริงๆ ฟังก์ชั่นเดียวกัน คือควบคุมการบริหาร คณะกรรมการราษฎรไม่ใช่เป็นเพียงอนุกรรมาธิการของตัวสภา แต่เป็นองค์กรแยกออกมาคุมอำนาจบริหารและรับผิดชอบต่อการกระทำของพระมหากษัตริย์ เพราะจะเป็นผู้ลงนามเป็นคนรับสนองพระบรมราชโอการในกิจการที่พระมหากษัตริย์ได้กระทำ ถ้าไม่มีกรรมการราษฎรลงนามโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการราษฎรแล้วการกระทำของพระมหากษัตริย์เป็นโมฆะ เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เรื่องโปลิตบูโรอย่างแน่นอน นอกจากนี้ คณะราษฎรได้คงสถานะของสถาบันกษัตริย์เอาไว้ พระมหากษัติรย์มีสถานะเป็นประมุขของรัฐ ในแง่นี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับคณะราษฎรด้วย ผมจะไม่พูดถึงหลักราชอาณาจักรที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่แน่นอนว่า การสร้างความกลัว ความไม่ชอบคณะราษฎร ยังคงดำรงอยู่ต่อไปสืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เราต้องสร้างความเข้าใจให้ถูกต้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้คงช่วยได้มาก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาลต้องเข้าใจความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม บทเรียนจากคดีแม่อมกิ Posted: 22 Jun 2012 06:44 AM PDT เสวนา “ป่ากับคน : ในมุมมองของศาล บทเรียนจากคำพิพากษาคดีแม่อมกิ” นักวิชาการชี้ศาลต้องพยายามทำความเข้าใจความเป็นพหุวัฒนธรรมในสังคมมากขึ้น เมื่อวันพุธที่ 20 มิถุนายน 2555 เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นและศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ป่ากับคน : ในมุมมองของศาล บทเรียนจากคำพิพากษาคดีแม่อมกิ” ณ.ห้องประชุมชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดงานว่า การจัดการป่าไม้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยรัฐนั้น เน้นที่การใช้ประโยชน์จากป่าไม้ในเชิงเศรษฐกิจและให้ความสำคัญกับระบบทรัพย์สินส่วนบุคคลมากเกินไป ทำให้ขาดมุมมองทางด้านสังคมและความหลากหลายทางชีวภาพ รัฐจึงควรให้น้ำหนักกับการจัดการทรัพย์สินส่วนร่วมให้มากขึ้น ส่วน นางนภาพร สงค์ปรางค์ ทนายประจำศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ได้กล่าวถึงสถานการณ์ชาวชาติพันธุ์กับป่าในพื้นที่ภาคเหนือว่า คดีมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 เป็นต้นมาและยังคงต้องต่อสู้กับทัศนคติต่อชาวชาติพันธุ์ในด้านลบที่ยังคงฝังลึก ทั้งนิ้ตัวแทนทนายความในคดีแม่อมกิ นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญและนาย เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ได้ตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ถึงเรื่องสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย เช่น เรื่องการประกันตัวและเรื่องล่ามในคดี ว่ายังมีความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงสิทธิอยู่สูง โดยเฉพาะต่อชาวชาติพันธุ์ และได้ให้ข้อสังเกตต่อคำพิพากษาในคดีแม่อมกิว่า ศาลยังคงติดอยู่กับกรอบของกฎหมาย และยังไปไม่ถึงเรื่องสิทธิชุมชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามคดีแม่อมกินี้ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องมีการแก้ไขปัญหาในเชิงรุกต่อไป นักวิชาการจากมหาวิทยลัย เชียงใหม่ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ กล่าวว่า สังคมนั้นมีความหลากหลาย ศาลจึงต้องพยายามทำความเข้าใจความเป็นพหุวัฒนธรรมในสังคมมากขึ้น เพราะถ้าศาลไม่เข้าใจความเป็นพหุวัฒนธรรมในสังคมแล้วแทนที่กระบวนการยุติธรรมจะช่วยลดความขัดแย้งในสังคม กลับจะทำให้สังคมนั้นเกิดความขัดแย้งมากขึ้น และได้เสนอให้มีการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่อให้กฎในการอยู่ร่วมกัน สะท้อนความเป็นจริงในแต่ละสังคมนั้นๆ ด้าน ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลับเชียงใหม่ ได้เสนอให้ศาลมีแผนกคดีชุมชน และเสนอว่ากระบวนการพิจารณาแบบไต่สวนอาจจะทำให้เกิดผลดี มากกว่าระบบกล่าวหาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นายสุมิตรชัย หัตถสาร ได้กล่าวว่า “ ศาลจะต้องส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้มากขึ้น” เป็นการปิดเสวนาดังกล่าว ทั้งนี้ นาง หน่อ เฮ หมุย เวียงวิชา ในฐานะที่ตกเป็นจำเลยในคดีได้กล่าวถึงความรู้สึกของตนว่า “ สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือข้าว ถ้าไม่ให้เรา ทำไร่ปลูกข้าวแล้วเราจะทำอย่างไร” และบอกว่าในขณะถูกจับ ตนรู้สึก “กลัวจนตัวสั่น” ในคดีแม่อมกินั้น นาง หน่อ เฮ หมุย เวียงวิชา และนายติแป๊ะโพ (ไม่มีนามสกุล) ชาวบ้านในหมู่บ้านแม่อมกิซึ่งได้มีการตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้ว ทั้งคู่ถูกจับในความผิดตาม พรบ.ป่าไม้และพรบ.ป่าสงวน ในขณะที่เตรียมการทำไร่หมุนเวียน เบื้องต้นนั้นศาลได้มีคำพิพากษาให้จำคุกบุลคลทั้งสอง แต่เนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่ถูกต้องเนื่องจากจำเลยไม่มีทนายความและล่ามไม่ได้ทำการสาบานตัว ศาลจึงมีคำสั่งให้มีการพิจารณาคดีใหม่ โดยทนายในคดีนี้ได้ยกหลักการเรื่องสิทธิชุมชนขึ้นต่อสู้ และพยานคือนักวิชาการได้เสนองานวิจัยเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวชาติพันธุ์ต่อศาล ที่สุดศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายติแป๊ะโพและนางหน่อเฮหมุยไม่มีความผิดเนื่องจากขาดเจตนา ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาให้นายติแป๊ะโพ มีความผิด ลงโทษจำคุกสองปี แต่ให้รอการลงโทษไว้ก่อน 1ปี ส่วนนางหน่อเฮหมุยศาลพิพากษาให้ไม่มีความผิดด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น ทั้งนี้ข้อเท็จจริงของทั้งสองคดีเป็นข้อเท็จจริงเดียวกันแต่ศาลอุทธรณ์กลับมีคำพิพากษาแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามศาลอุทธรณ์ในทั้งสองคดีได้มีคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารต้องออกจากที่พิพาท ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ชุมชนหลังศาลเจ้าพ่อทัพจี้หยุดข่มขู่ หยุดไล่รื้อและใช้ความรุนแรงกับชาวชุมชน Posted: 22 Jun 2012 06:35 AM PDT
22 มิ.ย. 55 - ชุมชนหลังศาลเจ้าพ่อทัพออกแถลงการณ์ชุมชนหลังศาลเจ้าพ่อทัพ ฉบับที่ 1 ยุติความรุนแรง การข่มขู่ เร่งสร้างมาตรการเพื่อที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ แถลงการณ์ชุมชนหลังศาลเจ้าพ่อทัพ ฉบับที่ 1 ยุติความรุนแรง การข่มขู่ เร่งสร้างมาตรการเพื่อที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง ชุมชนหลังศาลเจ้าพ่อทัพ อยู่ในเขตพื้นที่ตำบลสำโรงกลาง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งแต่เดิมที่ดินแปลงนี้เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า และไม่มีผู้แสดงตนเป็นเจ้าของ ชาวบ้านจึงได้หักร้างถางพงเพื่อปลูกสร้างบ้านพักอาศัย เนื่องจากเป็นชาวชนบทที่ยากจน เข้ามาทางานในเมืองก็เพียงเพื่อเลี้ยงชีพและครอบครัว จนกระทั่งในปัจจุบันมีบ้านเรือนในที่ดินแปลงว่างนี้จานวนกว่า 200 ครัวเรือน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2555 มีกลุ่มอันธพาลที่แสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยคาสั่งของเจ้าของที่ดินปักป้ายปิดประกาศ “ ห้ามบุกรุก ห้ามรถเข้าออก ” ซึ่งเป็นการกีดกันเสรีภาพเบื้องต้นในการใช้ชีวิตและขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เพราะเป็นการห้ามเข้าออกในบ้านพักอาศัยของตนเอง นอกจากการปิดประกาศแล้ว ยังได้เข้ารื้อทำลายบ้านพักที่อยู่อาศัย โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐนอกรีด ซึ่งใช้อำนาจหน้าที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ วางตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ข่มขู่ให้หวาดกลัวด้วยการดื่มของมึนเมา ทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน และขับไล่ให้ชาวบ้านไปอยู่ที่อื่นเพราะเจ้าของที่ดินต้องการที่ดินนี้ เนื่องจากชาวชุมชนมีฐานะยากจน ไร้ซึ่งที่ดิน ที่อยู่อาศัย จึงได้พยายามหาช่องทางเพื่อที่จะเจรจา เพื่อขอระยะเวลาในการเตรียมตัวแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ซึ่งที่ผ่านมาผู้ที่อ้างตนว่าเป็นตัวแทนเจ้าของที่ดินนี้ ไม่ยอมที่จะเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยใด ๆ และสถานการณ์ก็มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 กลุ่มอันธพาลดังกล่าวได้เอาเสาปูนปิดกลั้นทางเข้าออกของชุมชนไว้ หากไม่มีการเจรจาก็ยิ่งจะสร้างความขัดแย้ง รุนแรง เพราะหากเราชาวชุมชนไม่มีทางออกเราก็พร้อมที่จะสู้แบบหมาจนตอก เพื่อให้หยุดการไล่รื้อและหาทางออกร่วมกัน เราชาชุมชนหลังศาลเจ้าพ่อทัพมีข้อเสนอ ดังนี้ 1. ให้เจ้าของที่หรือตัวแทนเจ้าของที่ หยุดข่มขู่ หยุดไล่รื้อและใช้ความรุนแรงกับชาวชุมชน 2. เปิดการเจรจาระหว่างชุมชนหลังศาลเจ้าพ่อทัพและเจ้าของที่ดิน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมวางแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยร่วมกัน 3. ให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเป็นไปตามนโยบายบ้านมั่นคง ด้วยจิตคารวะ ชุมชนหลังศาลเจ้าพ่อทัพ 22 มิถุนายน 2555 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สภาที่ปรึกษาฯ รับฟังภาคเหนือ ยุทธศาสตร์พัฒนาชาติใน 2 ทศวรรษหน้า Posted: 22 Jun 2012 06:28 AM PDT สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดการสัมมนาระดมความคิดเห็น “ยุทธศาสตร์ประเทศไทยใน 2 ทศวรรษหน้า พ.ศ.2556-2575 ภายใต้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดภาคเหนือ วันนี้ (22 มิถุนายน) เวลา 9.00 น. ที่โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท จ.เชียงราย สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดการสัมมนาระดมความคิดเห็น 4 ภูมิภาค เรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทยใน 2 ทศวรรษหน้า พ.ศ.2556-2575 ภายใต้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเชิญผู้เข้าร่วมสัมมนาจากจังหวัดภาคเหนือ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 250 คน นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ว่า การระดมความคิดเห็น และวิสัยทัศน์ จากประชาชนไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนงานด้านการพัฒนาประเทศไว้ล่วงหน้า จะทำให้การพัฒนาประเทศชาติและประชาชน เกิดการยอมรับ และสามารถพัฒนาในระยะยาวดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น การกำหนดวิสัยทัศน์ แนวคิด และทิศทางการพัฒนาประเทศไทย ใน 2 ทศวรรษหน้า ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นแนวทางและทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนที่สำคัญต่อประชาชนต่อไป โดยการสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ใน 2 ทศวรรษหน้า (พ.ศ.2556 – 2575) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ได้กล่าวถึงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง – เกษตรทฤษฎีใหม่ โดยยึดแนวทางปฏิบัติ (การเกษตร) ตามรอยพระยุคลบาท ซึ่งเกิดจากแนวคิด “สภาวะการเรือนกระจก” ที่พระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัวทรงนำมาประยุกต์ตามหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” “เกษตรยั่งยืน” และ “การลดภาวะโลกร้อน” จนเกิดการริเริ่มงานวิจัย “เกษตรทฤษฎีใหม่” ดังนั้นการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดทำยุทธศาสตร์ประเทศไทยในระยะยาว และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีการเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเป็นกลไกหลักสำคัญในการขับเคลื่อนให้ยุทธศาสตร์ประเทศไทยมีเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาประเทศที่ชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวขอบคุณ เป็นการอภิปราย เรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทยใน ๒ ทศวรรษหน้า (พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๗๕) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”โดย อาจารย์สุธนี บิณฑสันต์ รองผู้อำนวยการสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศตามแนวคิดของดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ คือ “2 เพิ่ม 2 แก้ 2 ยุทธศาสตร์” ประกอบด้วย เพิ่ม 1 รายได้ประชาชนชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยเสนอการปฏิรูประบบภาษี Negative tax คือการลดภาษีประชาชน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่ม 2 ขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการเพิ่มงบประมาณการวิจัยและพัฒนา พร้อมระบบการควบคุมคุณภาพของการวิจัยและพัฒนาที่รัฐสนับสนุน เน้นงานวิจัยที่ตรงตามความต้องการ แก้ 1 แก้ไขปัญหาคอรัปชั่น โดยการสร้างระบบที่โปร่งใสและบทลงโทษที่ชัดเจน แก้ 2 แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการพัฒนาฝีมือ โดยวางแผนการผลิตแรงงานให้ตรงตามความต้องการตลาด ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยุทธศาสตร์การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC ซึ่งควรให้ความรู้แก่ประชาชนมากขึ้น ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยุทธศาสตร์ทางการค้าที่ชัดเจนในทศวรรษหน้า โดยประเทศไทยควรเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ BRICS รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ รองอธิบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ การเตรียมความพร้อมรับมือและสร้างการพัฒนาในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า โดยให้ข้อสังเกตด้านการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก ที่มีการปกป้องการกีดกันทางการค้า และกำแพงภาษี การเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติ โดยทรัพยากรอาหารขาดสมดุล ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น แต่แรงงานลดลง และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (NBIC) โดยนำการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทั้งนี้ ยังมองว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมรับสภาพสังคมผู้สูงอายุ เต็มรูปแบบใน 20 ปี เนื่องจากสังคมผู้สูงอายุ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค และต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ด้านนางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงานสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากมีการเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาทุกมิติ เกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การเกิดน้อยลง สัดส่วนแรงงานลดลง แต่ผู้สูงอายุจะมากขึ้นในอีก 20 ข้างหน้า เมื่อมีโครงสร้างประชากรลักษณะนี้ จึงต้องมีการวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เหมาะสม โดยศึกษาจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเชื่อมโยงหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ปรับใช้ได้กับทุกระดับ พลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ได้กล่าวถึง ประเทศไทยกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมองว่าประเทศไทยมีการตื่นตัวเรื่องประชาคมอาเซียนในระดับน้อยมาก และเป็นประเทศที่เสี่ยงต่อการก่อการร้าย มีการทุจริตคอรัปชั่น และภาคเอกชนมีการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจดีกว่าภาครัฐ ดังนั้น การวางแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ควรพัฒนาให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านสังคมการเมือง และด้านเศรษฐกิจ โดยหลังจากการอภิปราย มีการเปิดโอกาสให้ร่วมแสดงความคิดเห็น และการแบ่งกลุ่มย่อยทั้งหมด 6 กลุ่ม คือ กลุ่มด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านการบริหารจัดการองค์กร ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและประชาชน เพื่อเตรียมนำเสนอความเห็นกลุ่มย่อยในวันที่ 23 มิ.ย. 2555 ต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ว้าถอนกำลังประชิดฐานไทใหญ่ SSA แล้ว Posted: 22 Jun 2012 06:19 AM PDT กองกำลังว้าได้ถอนกำลังทหารประชิดกองบัญชาการกองกำลังไทใหญ่ SSA บริเวณดอยก่อวัน ตรงข้ามต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย แล้ว หลังผู้นำสองฝ่ายเจรจาได้ข้อตกลงร่วมกัน .... เมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.) พ.อ.เจ้ากอนจื้น ผบ.หน่วยภาคพื้นเชียงตุง กองกำลังไทใหญ่ SSA กล่าวว่า ทหารกองกำลังว้า UWSA (United Wa State Army) สังกัดหน่วย 171 ที่เข้าประชิดฐานดอยก่อวัน กองบัญชาการหน่วยภาคพื้นเชียงตุงของ SSA เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ได้ถอนกำลังกลับหมดแล้ว โดยการถอนกำลังมีขึ้นเมื่อคืนวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา ด้านเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไทยปฏิบัติการชายแดนด้านจังหวัดเชียงราย ยืนยันว่า ทหารว้า UWSA ได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ดอยก่อวัน โดยเดินทางด้วยรถบรรทุกทหารมุ่งหน้าออกไปทางเมืองยอน โดยในวันเดียวกันผู้นำทหารของว้า UWSA มีการประชุมร่วมกันที่เมืองกาน (อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือดอยก่อวัน ตรงข้ามอ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย) เชื่อหารือกันเรื่องเผชิญหน้ากับ SSA ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ทหารกองกำลังว้า UWSA กว่า 500 นาย สนธิกำลังจากสองกองพล คือกองพล 518 (เมืองยอน) และกองพล 775 (บ้านห้วยอ้อ) เข้าประชิดฐานกองบัญชาการ SSA หน่วยภาคพื้นเชียงตุง ที่ตั้งอยู่บนดอยก่อวัน ตรงข้ามบ้านพญาไพร ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยไม่ทราบสาเหตุ ส่งผลให้ทหารสองฝ่ายเกิดการเผชิญหน้ากัน ซึ่งสร้างความกังวลให้หลายฝ่ายหวั่นจะเกิดการสู้รบกัน อย่างไรก็ตาม หลังพ.อ.เจ้ากอนจื้น ผบ.หน่วยภาคพื้นเชียงตุง กองกำลังไทใหญ่ SSA ได้ต่อสายตรงทางโทรศัพท์พูดคุยกับ หยางก่อโจง ผบ.กองพล 775 กองกำลังว้า UWSA ทั้งสองฝ่ายสามารถทำความเข้าใจและได้ข้อตกลงร่วมกัน 4 ข้อ คือ 1. SSA จะไม่สร้างฐานเข้าใกล้ที่ตั้งว้า UWSA ให้ทั้งสองฝ่ายอยู่กันเหมือนเดิม 2.ทั้งสองฝ่ายจะไม่รุกล้ำพื้นที่กัน 3. หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะเข้าออกพื้นที่กันให้มีการแจ้งล่วงหน้า 4.ประชาชนและผู้อพยพในฝั่ง SSA สามารถทำไร่สวนได้เหมือนเดิม สำหรับสาเหตุกองกำลังว้า UWSA ส่งกำลังประชิดฐานกองกำลังไทใหญ่ SSA หลายฝ่ายเชื่อว่า อาจเกิดจากความไม่พอใจที่ทาง SSA ทำการเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าและได้ขอพื้นที่เมืองเต๊าะ – เมืองทา (ตรงข้ามอ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่) เป็นเขตพื้นที่ครอบครอง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นที่ตั้งทหารของว้า UWSA อีกส่วนอาจเกิดจากความไม่พอใจที่มีผู้อพยพในเขตพื้นที่กองกำลังไทใหญ่ SSA เข้าไปทำไร่ทำสวนในพื้นที่เคลื่อนไหวของว้า ซึ่งทำให้เกิดการทักท้วงกันก่อนหน้านี้ ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ http://www.khonkhurtai.org/ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นายกสั่งทบทวนบังคับเก็บ 30 บาทผู้ป่วยไตวายร้องสามกองทุนยังไม่เท่าเทียม Posted: 22 Jun 2012 06:12 AM PDT 22 มิ.ย. 55 - นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบทและอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า ได้ทราบรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมสร้างความเท่าเทียมของสามกองทุนประกันสุขภาพ ประเด็นสำคัญในการหารือนอกจากเรื่องสร้างความเท่าเทียมของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และผู้ติดเชื้อ HIV ยังมีเรื่องที่นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ได้เสนอมติบอรด์ สปสช.เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยเสนอให้มีการบังคับเก็บ 30 บาท จากผู้ป่วยที่ไปใช้บริการที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลประจำจังหวัดขึ้นไป ยกเว้นผู้ที่สังคมควรให้การช่วยเหลือเกื้อกูลโดยจะเริ่มเก็บตั้งแต่วันนี้ 1 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป แต่นายกรัฐมนตรีและที่ประชุมเห็นว่าระบบและคุณภาพการให้บริการในปัจจุบันยังไม่พร้อม จึงขอให้บอรด์ สปสช.กลับไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยเสนอให้โรงพยาบาลทั่วประเทศเป็นผู้พิจารณาเองว่าจะเก็บ 30 บาทจากผู้ป่วยหรือไม่ เมื่อโรงพยาบาลมีการพัฒนาการให้บริการที่มีคุณภาพมากขึ้นแล้ว “ต่อผลสรุปให้ทบทวนเก็บ 30 บาท ดังกล่าวที่ให้โรงพยาบาลตัดสินใจเองว่าจะเก็บ 30 บาท จากผู้ป่วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี น่าจะสั่งให้บอร์ด สปสช. ยกเลิกความคิดที่จะเก็บ 30 บาทไปเลย เพราะนักวิชาการและผู้ใหญ่ในประชาคมสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็น อ.อัมมาร สยามวาลา หรือ นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงความเห็นชัดเจนว่าการกลับมาเก็บ 30 บาท อีกครั้งเหมือนพายเรือในอ่าง กลับไปกลับมา ไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่เพิ่มช่องว่างสร้างความแตกต่างระหว่างผู้ป่วยบัตรทองที่ต้องเสีย 30 บาท แต่ผู้ป่วยข้าราชการไม่ต้องร่วมจ่ายอะไรเลย” นพ.พงศ์เทพ กล่าว เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวต่อว่า ข้อสรุปที่ประชุมเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา ยิ่งแย่ไปใหญ่ เป็นการผลักภาระ โยนบาปให้โรงพยาบาลเป็นผู้พิจารณา ตัดสินว่าจะเก็บเงิน 30 บาท จากคนไข้หรือไม่ ทำให้โรงพยาบาลต้องเผชิญหน้าขัดแย้งกับผู้ป่วย โดยรัฐบาลลอยตัวเพียงต้องการให้มีการเก็บ 30 บาท เพื่อเป็นโลโก้ทางการเมืองเท่านั้น และที่นายกรัฐมนตรี ฝากให้โรงพยาบาลต่างๆ มีการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มให้บริการมากขึ้น มีการขยายบริการนอกเวลา นอกสถานที่เพิ่มขึ้น อยากถาม รมว.สาธารณสุขว่าจะทำได้จริงหรือ และจะทำอย่างไร ในเมื่อปีนี้ รพ.จำนวนมากประสบภาวะน้ำท่วม เครื่องมือทางการแพทย์เสียหายแต่งบเหมาจ่าย สปสช. ปี 2555 นี้กลับถูกปรับลดลงร้อยละ 5 เพื่อช่วยน้ำท่วม และปีหน้า 2556 รัฐบาลจะคงให้งบเหมาจ่ายคงที่เท่ากับปีนี้ที่ถูกปรับลดลงแล้ว ขณะที่ รพ.ต่างๆ โดยเฉพาะ รพ.ชุมชนขนาดเล็ก มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จากการขึ้นเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างตามนโยบายของรัฐบาล และภาวะเงินเฟ้อ “แถมงบครุภัณฑ์ทางการแพทย์กว่า เจ็ดพันล้านบาท ของโครงการไทยเข้มแข็งเดิมที่รัฐบาลที่แล้วเริ่มต้นไว้กลับถูกระทรวงสาธารณสุขเตะถ่วงไว้อย่างไม่มีเหตุผล รวมทั้งงบลงทุนค่าเสื่อมกว่าห้าร้อยล้านบาท และงบช่วยน้ำท่วมอีกกว่าสามร้อยกว่าล้านบาท ที่บอร์ด สปสช. ชุดใหม่ยกให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ จัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้ รพ.ต่างๆ แต่กลับมีกระบวนการของคนใกล้ชิดผู้มีอำนาจในกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับพ่อค้ากำลังหาประโยชน์จากงบทั้งสองก้อนนี้ เหมือนกรณีทุจริตยาที่อื้อฉาวในอดีตที่ผ่านมา แบบนี้คุณภาพบริการของ รพ.ต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะพัฒนาดีขึ้นได้อย่างไร คาดได้เลยว่าปีหน้า รพ.ต่างๆ จะมีภาวะวิกฤตทางการเงินอย่างแน่นอน และระบบหลักประกันสุขภาพของไทย ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมา 10 ปี จะถดถอยและพังทลายลง กลายเป็นระบบอนาถาของคนจนที่ถือบัตรทอง”เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าว นายสหรัฐ ศราภัยวนิช รักษาการประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากมติที่ประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นี้ ที่ให้สามกองทุน ใช้มาตรฐานทางการแพทย์เดียวกันในการวินิจฉัยผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และให้มีการคงวิธีการทดแทนไต ให้ต่อเนื่อง แม้จะมีการเปลี่ยนสิทธิเปลี่ยนกองทุนก็ตาม ต่อเรื่องนี้ ผู้ป่วยไตวายทุกสิทธิรู้สึกงง และผิดหวังกับมติดังกล่าว เพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ที่จะทำให้ผู้ป่วยไตวายของทั้ง สามกองทุนมีความเท่าเทียมกัน นายกรัฐมนตรีน่าจะรู้ว่าขณะนี้ทุกสิทธิใช้มาตรฐานการวินิจฉัยโรคไตวายของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยไม่ต่างกันอยู่แล้ว และทุกกองทุนก็มีแนวปฏิบัติ ที่ให้มีการทดแทนไต ด้วยวิธีเดิม เมื่อผู้ป่วยมีการเปลี่ยนสิทธิจากกองทุนหนึ่งไปยังอีกกองทุนหนึ่งอยู่แล้ว ไม่มีอะไรเพิ่มใหม่ที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน “สิ่งที่ไม่เท่าเทียมกัน ที่ผู้ป่วยไตวายรอคอยการแก้ไขอยู่ และทั้งสามกองทุนยังให้ไม่เท่ากัน เช่น ผู้ป่วยฟอกเลือด ระบบประกันสังคม จ่ายให้ รพ. ครั้งละ 1,500 บาท ส่วนเกินให้ผู้ป่วยจ่ายเพิ่มเอง ขณะที่ระบบ สปสช. จ่ายครั้งละ 1,500 สำหรับผู้ป่วยทั่วไป แต่ถ้าเป็นผุ้ป่วยสูงอายุและมีโรคแทรกซ้อน จ่ายครั้งละ 1,700 บาท และห้าม รพ.เก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยทุกคนที่ไม่มีข้อห้ามต้องใช้วิธีผ่านทางช่องท้องก่อน ส่วนสวัสดิการข้าราชการจ่ายครั้งละ 2,000 บาท และการเข้าถึงยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงของสามกองทุนก็ต่างกัน ผู้ป่วยประกันสังคมต้องจ่ายเงินเพิ่มให้ รพ. ครั้งละ 200 – 300บาท ต่อสัปดาห์ แต่ผู้ป่วย สปสช. ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม และสวัสดิการข้าราชการการจ่ายชดเชยให้ รพ. ในอัตราที่สูงกว่ายาเดียวกันของ สปสช. หลายเท่าตัว ทำให้การเข้าถึงยา และเข้าถึงบริการของผู้ป่วยไตวายมีความแตกต่างกัน และยังไม่มีการแก้ไข” รักษาการประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยกล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แถลงการณ์ “เลี้ยวซ้าย” ในวาระครบรอบ 80 ปี การปฏิวัติ ๒๔๗๕ Posted: 22 Jun 2012 06:05 AM PDT การปฏิวัติ ๒๔๗๕ นำโดย อ.ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร์ เป็นความพยายามอันสำคัญยิ่งในการปลดแอกพลเมืองไทยจากระบบเผด็จการของกษัตริย์และในการสร้างระบบรัฐสวัสดิการตามแนวคิด “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ของ อ.ปรีดี แต่ในไม่ช้าฝ่ายปฏิกิริยาก็เข้ามาทำการปฏิวัติซ้อน ช่วงชิงเป้าหมายของการปฏิวัติไปสู่ระบบเผด็จการของทหารและนายทุน ภายใต้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และต่อมาฝ่ายทหารคลั่งเจ้า นำโดยหัวหน้าคณะรัฐประหาร สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็สามารถสถาปนาระบบเผด็จการที่อ้างว่าเชิดชูสถาบันกษัตริย์ แต่เชิดชูเพื่อสร้างความชอบธรรมกับตนเองเท่านั้น กลุ่มอำนาจของชนชั้นปกครองกลุ่มใหม่นี้ ชาวเสื้อแดงเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า “อำมาตย์” อย่างไรก็ตามจงเข้าใจไว้ว่าระบบนี้ไม่ใช่การกลับมาของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เป็นเผด็จการใหม่ของนายทุนและทหารที่แอบอ้างว่าปกป้องสถาบันกษัตริย์ หลายครั้งในประวัติศาสตร์ของสังคมเรา พลเมืองที่รักประชาธิปไตยได้ลุกขึ้นต่อสู้กับอำมาตย์ และสละเลือดเนื้อเพื่อเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็น ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖, ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙, พฤษภาคม ๒๕๓๕ หรือ พฤษภาคม ๒๕๕๓ บางครั้งฝ่ายประชาชนชนะและเสรีภาพก็คืบหน้าไปบ้าง เราสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยได้ระดับหนึ่ง ซึ่งฝ่ายตรงข้ามทำลายได้ไม่หมด แต่ทุกครั้งฝ่ายชนชั้นปกครองมือเปื้อนเลือดก็พยายามปกป้องอำนาจของตนเอง ล่าสุดก็เช่นกัน ชนชั้นปกครองซีกที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ กำลังจับมือกับซีกชนชั้นปกครองของพรรคเพื่อไทย และทักษิณ ชินวัตร เพื่อรักษาเสถีรภาพของชนชั้นตนเองผ่านการปรองดองบนซากศพวีรชน โดยจงใจทอดทิ้งนักโทษการเมืองเสื้อแดง โดยเฉพาะนักโทษ 112 และการปรองดองบนซากศพวีรชนครั้งนี้ ไม่ต่างจากกรณีที่ผ่านมา รวมถึงเหตุการณ์นองเลือดที่ตากใบด้วย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองมือเปื้อนเลือดทุกคนจะลอยนวลได้ดิบได้ดีเสมอ ตราบใดที่ประเทศไทยยังมีกฎหมาย 112 และกฏหมายคอมพิวเตอร์ ตราบใดที่สังคมเราไม่ลบล้างผลพวงของรัฐประหารและอิทธิพลอันไม่ชอบธรรมของทหารในการเมืองออกจากสังคม ตราบใดที่เราไม่ปฏิรูประบบศาลอย่างถอนรากถอนโคน และตราบใดที่พลเมืองส่วนใหญ่มีสภาพความเป็นอยู่ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่ต้อยต้ำกว่าชนชั้นปกครอง เพราะเราไม่มีระบบรัฐสวัสดิการ บ้านเมืองของเราจะไม่มีประชาธิปไตย และความฝันของคณะราษฎร์ซีกก้าวหน้าจะไม่มีวันเป็นจริง เพื่อนๆ ชาวประชาธิปไตยที่รักและเคารพ บัดนี้มันเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า พรรคเพื่อไทย และ นปช. ไม่ได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเสมอภาค แต่พรรคเพื่อไทยเข้าไปจับมือเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง ในขณะที่ นปช. ทำหน้าที่เป็น “ตำรวจ” ของขบวนการประชาธิปไตยเพื่อสลายการต่อสู้ “องค์กรเลี้ยวซ้าย” มองว่าภาระสำคัญของ “เสื้อแดงก้าวหน้า” คือการรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองในรูปแบบ “พรรคเคลื่อนไหว” ที่ไม่เน้นการเลือกตั้งและเวทีรัฐสภา เราควรมีพรรคของนักเคลื่อนไหว อย่างที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเคยเป็น แต่เราจะไม่เข้าป่าจับอาวุธในการต่อสู้ เราจะเน้นการจัดตั้งพลังมวลชนแทน บทเรียนจากความพ่ายแพ้ของ พคท. และชัยชนะของมวลชนอียิปต์และตูนีเซียในตะวันออกกลาง เป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับโลกสมัยนี้ รวมถึงความสำคัญของการจัดตั้งสหภาพแรงงานและชนชั้นผู้ทำงานในรูปแบบที่เน้นการเมืองก้าวหน้า ถ้าเราไม่รวมตัวกันอย่างแน่นแฟ้น เหมือนที่ชนชั้นปกครองรวมตัวกันอยู่ การเคลื่อนไหวของเราจะอ่อนแอดุจการนำน้ำมาสาดก้อนหิน แต่ถ้าเรามีพรรคของนักเคลื่อนไหว เราจะเหมือนฆ้อนที่ทุบอำนาจเผด็จการได้ ในระยะสั้น จุดยืนและการทำงานของพวกเราต้องเน้นการสนับสนุนให้ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เป็นจริง เน้นการรณรงค์ให้ยกเลิกกฏหมายเผด็จการอย่าง 112 เน้นการปล่อยนักโทษการเมือง และเน้นการสร้างสังคมที่เท่าเทียมผ่านรัฐสวัสดิการ ประชาชนจงเจริญ! สังคมนิยมจงเจริญ! องค์กรเลี้ยวซ้าย 22 มิถุนายน 55 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ประชาชนเตรียมพร้อมรับศึกใหญ่! Posted: 22 Jun 2012 05:58 AM PDT การปิดสมัยประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 คือความพ่ายแพ้ของแกนนำพรรคเพื่อไทยเบื้องหน้าการข่มขู่ของพวกเผด็จการผ่านองค์กรตุลากร พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มมวลชนนอกสภา การไม่สามารถระดมจำนวนคะแนนเสียงในรัฐสภาให้มากพอที่จะผลักดันญัตติไม่ยอมรับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เป็นความรับผิดชอบของแกนนำพรรคเพื่อไทยโดยตรง การ “ชะลอ” วาระสามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป แม้จะมีความพยายามแก้ตัวว่า เป็นการถอยเพื่อรุกบ้าง ลับ ลวง พรางบ้าง หลีกเลี่ยงความรุนแรงและการนองเลือดบ้าง แต่ความเป็นจริงก็คือ แกนนำพรรคเพื่อไทยได้ยอมจำนนกับการคุกคามของเผด็จการ โดยหวังว่า จะได้รับ “ความเมตตา” ให้เป็นรัฐบาลต่อไปเรื่อย ๆ ข้อแก้ตัวที่ “แย่” ที่สุดคือ อ้างว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างเงื่อนไขรัฐประหาร และนี่เป็นข้ออ้างเพียงข้อเดียวที่ยกขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อปิดปากผู้คนที่วิจารณ์ยุทธศาสตร์ “ปรองดอง” ของพรรคเพื่อไทย ทาสีให้ผู้วิจารณ์กลายเป็นพวก “ฮาร์ดคอร์” “แดงเทียม” หรือ “แดงเสี้ยม” ไปทุกครั้ง ยุทธศาสตร์แต่เพียงประการเดียวของแกนนำพรรคเพื่อไทยคือ อยู่เป็นรัฐบาลให้นานที่สุดไม่ว่าจะต้องจ่ายด้วยอะไร แม้จะต้องแลกด้วยการยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดก็ตาม ทั้งที่ประการหลังนี้ คือภารกิจสำคัญที่สุดของพรรคเพื่อไทยที่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยได้ฝากความหวังไว้ แกนนำพรรคเพื่อไทยย่อมรู้ดีว่า กระบวนการโค่นล้มรัฐบาลได้เริ่มขึ้นอีกแล้ว เหมือนที่ได้เผชิญมาแล้วสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและรัฐบาลพรรคพลังประชาชน แต่พวกเขาก็ไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนสองครั้งแรก ยังคงหลอกตัวเอง ฝันหวานไปว่า การยอมถอยในทุกแนวรบและยอมสยบต่อการคุกคาม หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าในทุกกรณี เป็นหนทางเดียวที่จะต่อสู้รับมือและ “ยืดอายุ” รัฐบาลออกไปได้เรื่อย ๆ จนครบวาระสี่ปี เพื่อหวังไปชนะเลือกตั้งอีกรอบ แกนนำพรรคเพื่อไทยบางคนอ้างว่า ถึงแม้จะผ่านวาระสามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้ไปได้ ก็จะต้องเผชิญกับ “ด่านแห่งความตาย” ในขั้นตอนต่อไปอยู่ดี ฉะนั้น ควรรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน ตราบใดที่วาระสามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงค้างอยู่ รัฐบาลก็ยังมีเวลาอีกหลายปี จะยกขึ้นมาพิจารณาเมื่อไรก็ได้ แกนนำพรรคเพื่อไทยทำเป็นนอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็นว่า ถึงพวกท่านจะหลีกเลี่ยง “ด่านแห่งความตาย” ด้วยการไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญวาระสามในวันนี้ แต่ฝ่ายเผด็จการก็ยังมีด่านอื่น ๆ รอท่านอยู่ในทันที พวกท่านยังมองไม่เห็นอีกหรือว่า ในขณะนี้ ใบมีดบั่นคอของตุลาการได้ง้างขึ้นจนสุดในเบื้องหน้าแล้ว และรัฐบาลอาจจะอยู่รอดได้อีกเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนี้! ความเป็นจริงก็คือ ไม่ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะประจบเอาใจและถอยให้กับฝ่ายเผด็จการสักเท่าใด ในที่สุด การโค่นล้มรัฐบาลในขั้นสุดท้ายก็จะมาถึงอย่างแน่นอน และจะมาถึงในเวลาอันรวดเร็วจนตั้งรับไม่ทันอีกด้วย ทั้งด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเดือนกรกฎาคมนี้ และขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่น ๆ ที่กำลังตามมาอย่างเป็นขบวน ทั้งที่มุ่ง “บั่นคอ” รัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ไปจนถึงบรรดาสส.ในสภา จบลงด้วยการแทรกแซงของฝ่ายทหาร ดังที่เกิดมาแล้วสองครั้ง การยอมจำนนไม่ต่อสู้ใด ๆ ไม่ใช่ “การยืดอายุรัฐบาลให้นานที่สุด” แต่เป็นการนั่งเฉย เหมือน “ไก่ในสุ่มรอถูกเชือด” ปล่อยให้กระบวนการทั้งหมดนี้อยู่ในมือของฝ่ายเผด็จการอย่างสิ้นเชิง ให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้กำหนด “กดปุ่ม” แต่ฝ่ายเดียวว่า จะให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย “ล่มสลาย” ลงวันไหน การยอมตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญและการปิดสมัยประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนคือเครื่องหมายว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ล้มเหลวลงแล้ว ฝ่ายเผด็จการได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า จะไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แล้วยังจะฉวยใช้โอกาสนี้ ขยายไปเป็นการโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพื่อฟื้นอำนาจเผด็จการแบบเปิดเผยของพวกเขาขึ้นมาอีกครั้ง ความหวังของพรรคเพื่อไทยและประชาชนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจทางการเมืองภายในกรอบรัฐธรรมนูญ 2550 และยุติวิกฤตการเมืองปัจจุบันอย่างสันติ ได้หมดสิ้นไปแล้ว สิ่งที่จ้องตาเราอยู่เบื้องหน้าคือ การปะทะครั้งใหญ่และอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายระหว่างพลังเผด็จการกับพลังประชาธิปไตย! การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อภายหลังชัยชนะขั้นเด็ดขาดและการเปลี่ยนมืออำนาจรัฐที่แท้จริงมายังฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น จากประสบการณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในทั่วโลก ชัยชนะขั้นเด็ดขาดดังว่าชี้ขาดด้วยการต่อสู้ของประชาชนนอกรัฐสภา การต่อสู้นี้จะสันติหรือหลั่งเลือดมากน้อยเพียงใด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายประชาชน หากแต่ฝ่ายเผด็จการที่กุมอำนาจรัฐและกองทัพคือผู้กำหนด นับแต่นี้ สนามการต่อสู้หลักจะไม่ใช่ภายในรัฐสภา แกนนำพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจะไม่ใช่กำลังหลักของฝ่ายประชาธิปไตยอีกต่อไป ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยคือ ทัพหลวง ในการต่อกรกับฝ่ายเผด็จการในสนามรบนอกสภา ผ่านการต่อสู้ยืดเยื้อมาหกปี เห็นได้ชัดว่า การเคลื่อนไหวของฝ่ายเผด็จการผ่านองค์กรตุลาการ พรรคประชาธิปัตย์ และมวลชนนอกสภาในครั้งนี้ มีลักษณะโดดเดี่ยว อ่อนพลัง และขาดความชอบธรรมมากยิ่งกว่าในอดีต พลังครอบงำทางความคิดและอุดมการณ์เสื่อมถอยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในขณะที่พลังฝ่ายประชาธิปไตยเข้มแข็งเติบใหญ่ ขยายตัวทั้งจำนวนคน อุดมการณ์และความรับรู้ประสบการณ์ การรวมกลุ่มองค์กร กิจกรรม และท่วงทำนองหลากหลาย แม้จะผ่านการบาดเจ็บล้มตายมาแล้ว แต่จิตใจกลับยิ่งเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ไม่มีท้อถอย สิ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องเตรียมการในเบื้องหน้าคือ การสามัคคีรวมพลัง เร่งขยายเครือข่ายของมวลชนคนเสื้อแดงกลุ่มย่อยต่าง ๆ ทั่วประเทศ เชื่อมโยงเข้ากันให้ทั่วถึง รวมตัวเคลื่อนไหวแสดงพลังในเงื่อนไขและโอกาสที่เหมาะสม หนุนช่วยสส.พรรคเพื่อไทยปีกที่ร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สนับสนุนแกนนำระดับชาติ พร้อมไปกับการตระเตรียมแกนนำหลักและแกนนำรองของตนเองในระดับท้องถิ่น จัดวางเครือข่ายสื่อสารหลักและเครือข่ายสื่อสารสำรองฉุกเฉินไว้หลาย ๆ ชั้น ตระเตรียมทรัพยากรต่าง ๆ ให้พร้อมสรรพ พร้อมรับการรุกครั้งใหม่ของพวกเผด็จการ เผด็จการไทยก็เหมือนเผด็จการอื่นในโลก คือประเมินกำลังของตนเองสูงเกินไป และประเมินประชาชนต่ำเกินไป พวกเขาได้ทำความผิดพลาดเบื้องต้นแล้วด้วยการเคลื่อนไหวรุกไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยในเงื่อนไขปัจจุบันที่ยังเป็นคุณกับฝ่ายประชาธิปไตย พวกเขาจะทำความผิดพลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และในที่สุด โอกาสที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะตอบโต้และช่วงชิงให้ได้ชัยชนะในขั้นสุดท้าย ก็จะมาถึง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ยูโร 2012: กรีซปะทะเยอรมัน … และเรื่องที่มากกว่านั้นนอกสนามฟุตบอล Posted: 22 Jun 2012 05:44 AM PDT อุ่นเครื่องก่อนเกมรอบ 8 ทีมสุดท้ายของการแข่งขันยูโร 2012 ระหว่างคนป่วยแห่งยุโรป “กรีซ” กับพี่เบิ้มแห่งทวีปอย่าง “เยอรมัน” เรื่องที่มากกว่าเกมฟุตบอลเมื่อเจ้าหนี้อันดับสองเจอลูกหนี้ที่มีขวัญกำลังใจดีขึ้นหลังเลือกตั้ง สื่ออังกฤษเล่นภาพการ์ตูนล้อเลียนเรื่องฟุตบอลและประเด็นนอกสนามระหว่างกรีซกับเยอรมันประเทศเจ้าหนี้อันดับสองผู้เป็นหัวหอกพยุงประเทศกรีซไม่ให้ออกจากยูโรโซน ก่อนที่ทั้งคู่จะโคจรมาพบกันในรอบ 8 ทีมสุดท้ายของการแข่งขันยูโร 2012 (ที่มาภาพ: www.guardian.co.uk) ว่ากันว่าในวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา เกมระหว่างเยอรมันและเดนมาร์ก ซึ่งเยอรมันเป็นว่าที่ทีมที่จะต้องมาเจอกับกรีซในรอบที่ 8 ทีมสุดท้าย แทนที่นักเตะกรีซจะมีสมาธิดูรูปเกมของนักเตะเยอรมัน …พวกเขากับจดจ่อลุ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งในประเทศตัวเองมากกว่า การแข่งขันรอบ 8 ทีมสุดท้ายของการแข่งขันครั้งนี้ เกมระหว่างพี่ใหญ่ของยุโรปอย่างเยอรมัน กับประเทศลูกหนี้แห่งยุโรปอย่างกรีซ (กรีซเป็นหนี้เยอรมันมากที่สุดรองจากฝรั่งเศส) เป็นที่จับตามากกว่าประเด็นเรื่องในสนามฟุตบอล นักเตะกรีซเกือบได้กลับไปเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. แต่ด้วยสปิริตและกฎ Head to Head ทำให้พวกเขายังอยู่ในการแข่งขัน และอาจะมีความหวัง? – อดีตแชมป์ยูโร 2004 ผ่านรอบแบ่งกลุ่มมาได้อย่างพลิกความคาดหมาย ขณะที่ที่แข็งแกร่งและโชว์ผลงานได้เผ็ดร้อนอย่างรัสเซียกับเจ้าภาพร่วมโปแลนด์กลับต้องตกรอบไป ในขณะที่สื่อทั้งสองชาติรวมถึงทั่วโลกจับตาการเจอกันครั้งนี้มากกว่าเรื่องของฟุตบอล แต่ Joachim Löw หัวหน้าโค้ชของเยอรมันก็ปฏิเสธที่จะกล่าวไปมากกว่าเรื่องฟุตบอล " Angela Merkel กับทีมชาติเยอรมัน พวกเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และเรามีข้อตกลงกันว่าเธอจะไม่แนะนำผมเกี่ยวกับเรื่องแทคติคของนักฟุตบอลที่จะลงสนาม และผมก็จะไม่ไปแนะนำเธอในเรื่องทางการเมือง” ทั้งนี้ Löw แสดงความเห็นว่ามันก็แค่เป็นเกมรอบ 8 ทีม ธรรมดาๆ ในนัดที่จะพบกับกรีซ สิ่งที่เขาให้สัมภาษณ์สื่อพุ่งเป้าไปที่เกมรับที่แข็งแกร่งของกรีซ รวมถึงเน้นให้นักเตะเยอรมันมีสมาธิในการเผชิญหน้ากับกรีซ "กรีซจะไม่ได้เป็นคู่แข่งที่ง่าย พวกเขาต้องทำให้เรารู้สึกอึดอัด … เราจึงจำเป็นต้องมีสมาธิ และไม่ผ่อนเกมเพียงเพราะว่าเขาเป็นทีมเล็ก" ด้าน Grigoris Makos กองกลางของกรีซแอบมั่นใจลึกๆ ว่าพวกเขาอาจจะมีโอกาส พลิกล็อคโค่นทีมชาติเยอรมันได้เช่นกัน "เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ เราบรรลุเป้าหมายแรกมาแล้ว หลังจากเรามีปัญหาผู้เล่นบาดเจ็บ และเหตุการณ์โชคร้ายในเกม แน่นอนเราเคารพในฝีเท้าของพวกเขา แต่เราไม่กลัวพวกเขา เราจะจ้องตาพวกเขาแล้วสู้" ออกจากยูโรโซน? คำถามนี้แทบจะหมดข้อสงสัยไปเสียแล้วหลังจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมาเมื่อพรรคร่วมรัฐบาลกรีซนำโดยพรรค New Democracy ที่สนับสนุนแผนรับเงินช่วยเหลือจากยุโรปเอาชนะพรรคฝ่ายซ้าย SYRIZA ที่มีนโยบายปฏิเสธมาตรการรัดเข็มขัด ทันทีทันใดจากการทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ Antonis Samaras หัวหน้าพรรค New Democracy วัย 61 ปี ได้แถลงต่อผู้สนับสนุนเขาว่าชาวกรีซเลือกแล้วที่จะเดินอยู่บนเส้นทางของยุโรปและยูโรโซนต่อไป ด้าน Alexis Tsipras หัวหน้าพรรค SYRIZA ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์เก่าและอดีตแกนนำนักศึกษา ก็ได้ออกมายอมรับความพ่ายแพ้จากผลการเลือกตั้ง แต่ยังยืนยันว่าจะทำการต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดต่อไป ก่อนหน้าการเลือกตั้ง สื่อกระแสหลักของโลกตะวันตกพยายามปั่นกระแสความกลัวของชาวกรีซในการออกจากยูโรโซน หากพรรค SYRIZA สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ (ถึงแม้จะมีการออกมาแถลงก่อนวันเลือกตั้งแล้วว่ากรีซจะไม่ถอนตัวออกจากยูโรโซน หากพรรค SYRIZA ได้จัดตั้งรัฐบาล เพียงแต่ปฏิเสธนโยบายการรัดเข็มขัดที่มาพร้อมเงื่อนไขการกู้เงินเท่านั้น) ไม่ว่าจะเป็นการกักตุนอาหาร และการแห่ถอนเงินจากธนาคาร -- และก็จบปฏิบัติการณ์การปั้นประเด็นข่าวนี้ให้สวย ด้วยการประโคมข่าวว่าชาวกรีซแห่เอาเงินไปฝากธนาคารเมื่อรู้ผลการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามผลเลือกตั้งครั้งนี้ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความเห็นต่างในสังคมกรีซ รวมถึงทำให้เห็นว่าเสียงแห่งความคับแค้นใจของประชาชนยังคงมีอยู่ จากการที่พวกเขาต้องถูกลดเงินเดือน ตกงาน ตัดเงินบำนาญ ตามเงื่อนไขของการรับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และสหภาพยุโรป รวมถึงการขายพันธบัตร, กิจการของรัฐและกิจการท้องถิ่นรายย่อยให้ต่างชาติ – จากข้อมูลของ Bloomberg Businessweek ปัจจุบันนี้กรีซมีหนี้สินรวมถึง 424 พันล้านยูโรแล้ว ทั้งนี้ก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีการทำการสำรวจชาวกรีกว่าไม่ต้องการใช้ค่าเงินยูโรแล้วหรือไม่ โดย 78% ยังต้องการใช้เงินสกุลยูโรต่อ 12.9% อยากให้กลับไปใช้เงินสกุล Drachma และอีก 9.1% ไม่มีความเห็น
ว่าด้วยตัวเลขที่น่าสนใจของกรีซ กรีซเป็นหนี้ใครบ้าง ที่มา: http://www.businessweek.com/articles/2012-05-15/assessing-the-odds-of-a-greek-euro-exit
8 ประเทศเจ้าหนี้ลำดับต้นๆ ของกรีซ ที่มา: http://news.bbcimg.co.uk/media/images/60494000/gif/_60494939_eurozone_chart624x325.gif
มากกว่าฟุตบอล อาจจะไม่ใช่ Mario Gomez หรือ Mesut Özil ที่ชาวกรีซจะครั่นคร้ามมากนัก เพราะ Angela Merkel นายกรัฐมนตรีของเยอรมันได้ทำหน้าที่นั้นมาแล้ว -- เธอเป็นคนที่ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลกรีซฟื้นฟูภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ภายใต้ข้อแลกเปลี่ยนที่คุมเข้มวินัยการคลัง ไม่ว่าจะเป็นการตัดงบประมาณรัฐสวัสดิการต่างๆ ปลดพนักงานรัฐวิสาหกิจ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และนโยบายที่เรียกว่า “การรัดเข็มขัด” อีกต่างๆ นานา ผลการสำรวจความคิดเห็นภายใต้โครงการ Global Attitudes ของศูนย์วิจัย Pew เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ทำการสำรวจประเทศในยุโรป 8 ชาติ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน กรีซ สหราชอาณาจักร โปแลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก พบว่า Merkel ได้รับการยอมรับมากที่สุดในเรื่องของผลงานการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจใน 7 ประเทศ ส่วนชาวกรีซให้คะแนน Merkel ต่ำที่สุด โดยมีเพียง 14% เท่านั้นที่พึงพอใจกับการทำงานของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ในการนำประเทศยูโรโซนออกจากวิกฤต สำหรับประชาชนคนธรรมดาของเยอรมันเองก็อาจมีความไม่พอใจกรีซเหมือนกัน โดยเฉพาะมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรปด้วยแผนการออกพันธบัตรยูโร (Eurobonds) ภายใต้การผลักดันของประธานาธิบดี François Hollande แห่งฝรั่งเศส โดยพันธบัตรยูโรมีการระดมทุนคล้ายกับการออกพันธบัตรทั่วไปของแต่ละประเทศ ทว่าแตกต่างตรงที่ทั้ง 17 ประเทศในกลุ่มยูโรโซน จะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ร่วมกันทั้งหมดโดยแบ่งตามสัดส่วนตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับสัดส่วนของเงินที่ได้ไปจากการประมูลพันธบัตรยูโร ทั้งนี้เยอรมันรู้ดีว่าพันธบัตรยูโรคือหนทางช่วยเหลือทุกประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจยกเว้นเยอรมนีเพียงชาติเดียวเท่านั้น โดยคนเยอรมันจะเป็นผู้เสียประโยชน์แทบจะทุกด้านกับการนำตัวเองไปค้ำประกันหนี้ก้อนใหญ่ร่วมกันของทั้ง 17 ประเทศ และชาวเยอรมันผู้เสียภาษีจะตั้งคำถามตามมาว่าเหตุใดเยอรมันจึงต้องมาแชร์หนี้กับประเทศที่ไม่มีวินัยการคลังอื่นๆ ด้วย – โดยเฉพาะกรีซ คู่แข่งรอบ 8 ทีมสุดท้ายในศึกยูโรงวดนี้ของพวกเขา
ข้อมูลประกอบการเขียน: Assessing the Odds of a Greek Euro Exit (Bloomberg Businessweek, 15-5-2012)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คนทำงาน เดือนพฤษภาคม 2555 : May Day 2012 Posted: 22 Jun 2012 02:17 AM PDT |
ศาลมุกดาหารให้ประกัน 13 เสื้อแดงอุบลเศร้า สารคาม อุดร ลุ้นวันจันทร์ Posted: 22 Jun 2012 02:08 AM PDT ศาลมุกดาหารให้ประกันคนเสื้อแดงคดีวางเพลิงเผาศาลากลาง 13 คน กระทรวงยุติธรรมวางหลักทรัพย์ประกัน 26 ล้านบาท ส่วนผู้ต้องหาคดีความผิดมาตรา 112 รมว.ยุติธรรม เผยให้คณะกรรมการกระทรวงพิจารณาอยู่ ญาติอุบลราชธานีผิดหวังศาลยกคำร้องเหตุผลเดิม ส่วนอุดรธานี มหาสารคาม รอลุ้นวันจันทร์ 22 มิ.ย. 55 - สำนักข่าวไทยรายงานว่ าพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงข่าวความคืบหน้าในการยื่นขอประกันตัวผู้ต้องขังกลุ่มเสื้อแดงในคดีการเมือง ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันดำเนินการ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีวางเพลิงเผาทรัพย์ และบุกรุกสถานที่ราชการ โดยได้ยื่นขอประกันตัวที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี 4 คน ศาลจังหวัดอุดรธานี 5 คน ศาลจังหวัดมหาสารคาม 9 คน และศาลจังหวัดมุกดาหาร 13 คน แต่ได้รับอนุญาตจากศาลจังหวัดมุกดาหารให้ประกันตัว 13 ราย โดยในวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายนนี้ กรมคุ้มครองสิทธิฯ จะใช้งบประมาณ 26 ล้านบาท จากกองทุนยุติธรรมเป็นหลักทรัพย์ต่อศาลจังหวัดมุกดาหาร เพื่อปล่อยตัวทั้ง 13 คน ในวันดังกล่าว พล.ต.อ.ประชา กล่าวอีกว่า ในส่วนหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ค่อนข้างสูง ศาลวินิจฉัยให้ใช้เงินสด 2 ล้านบาทต่อคนในการยื่นประกัน เนื่องจากอัตราโทษในการกระทำผิดสูง โดยศาลพิพากษาให้จำคุก 20 ปี 8 เดือน อยู่ระหว่างอุทธรณ์คดี ส่วนผู้ต้องหาในคดีเดียวกันที่เหลือ อยู่ระหว่างรอคำวินิจฉัยจากศาล ซึ่งนอกจากศาลจังหวัดอุดรธานี มหาสารคาม และอุบลราชธานีแล้วยังมีผู้ต้องขังในเขตอำนาจศาลกรุงเทพฯ อีก 14 คน ที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ จะดำเนินการต่อไป ต่อข้อถามว่า หากผู้ต้องขังที่ได้รับการประกันตัวหลบหนีเช่นเดียวกับที่เคยปรากฏกับผู้ต้องขังคดีความมั่นคงภาคใต้ เพราะหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินงบประมาณ ไม่ใช่เงินของตนเอง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า การขอประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เมื่อคดียังไม่สิ้นสุดผู้ต้องหาทุกคนยังถือว่าบริสุทธิ์ สำหรับผู้ต้องหาที่กระทำผิดมาตรา 112 ตนได้ให้คณะกรรมการพิจารณา ในการจะยื่นประกันตัวหรือแยกคุมขังจากนักโทษทั่วไป โดยให้คุมขังที่เรือนจำนักโทษคดีการเมืองที่โรงเรียนพลตำรวจ บางเขนเก่า ขณะนี้ยังอยู่ในการพิจารณา เพราะข้อหาดังกล่าวต้องพิจารณาไต่ตรองอย่างรอบคอบ ขณะเดียวกันประชาไทได้รับแจ้งจากญาติผู้ต้องขัง จ.อุบลราชธานี ว่าวันนี้ศาล จ.อุบลราชธานีได้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยทั้งสิ้น4คน โดยให้เหตุผลเดิมว่าโทษร้ายแรงและเกรงว่าจะหลบหนี ในส่วนของ จ.อุดรธานีและ จ.มหาสารคาม ประชาไทได้สอบถามไปยังญาติผู้ต้องขัง ได้รับคำตอบว่าศาลยังไม่มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของคนเสื้อแดงทั้งสองจังหวัดตกลงมา ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ละเมิด/ไม่ละเมิดงานดนตรี 101: ตอนที่ 4 เสรีภาพการแสดงออก การล้อเลียน และการใช้อย่างชอบธรรม Posted: 22 Jun 2012 01:51 AM PDT เมื่อมีการพูดคุยเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์กับบรรดาเจ้าของลิขสิทธิ์ ประเด็นลิขสิทธิ์สุดท้ายที่เจ้าของลิขสิทธิ์จะยอมเอ่ยออกมาในกรณีที่จำเป็นจริงๆ คือประเด็นเรื่องการใช้อย่างชอบธรรม (fair use) เพราะการใช้อย่างชอบธรรมของสาธารณะชนนั้นอยู่เหนือสิทธิเหนือทรัพย์สินทางปัญญาส่วนบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น อะไรคือการใช้อย่างชอบธรรม? โดยทั่วไปแล้วการใช้อย่างชอบธรรมคือกิจกรรมที่กฏหมายลิขสิทธิ์บัญญัติไว้ชัดเจนว่าไม่จัดเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เราอาจไม่คุ้นกับการใช้อย่างชอบธรรมเท่าใดนัก แต่จริงๆ แล้วกิจกรรมจำนวนมากที่เราทำอยู่บ่อยๆ ก็ล้วนจัดอยู่ในการใช้อย่างชอบธรรม เช่น งานเขียนทุกชิ้นต้องมีผู้เขียน และผู้เขียนก็จะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์งานเขียนโดยธรรมชาติ แต่การกระจายลิงค์หรือข้อความต่างๆ นั้นไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ก็เพราะถือว่าเป็นการนำเสนอข่าว หรือการอ้างอิงข้อความหรือการ “โควต” ในขนบการทำงานวิชาการนั้นก็ถูกคุ้มครองว่าไม่ละเมิดลิขสิทธิ์เพราะเป็นกิจกรรมทางวิชาการ การทำสำเนาเอกสารต่างๆ ที่ผู้บรรยายแจกนักศึกษาในห้องเรียนก็ถือว่าเป็นกิจกรรมทางวิชาการที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน ซึ่งข้อยกเว้นพวกนี้ก็มีละเอียดยิบย่อยตั้งแต่การกำหนดว่าการนำงานอันลิขสิทธิ์มานำแสดงในศาลเป็นการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือการบูรณะปฏิสังขรตึกรามบ้านช่องต่างๆ นั้นก็ไม่ถือว่าเป็นการทำซ้ำอันเป็นการการละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน โดยทั่วไปแล้วงานเขียนจะเป็นสิ่งที่มีพื้นที่การใช้อย่างชอบธรรมกว้างที่สุด อย่างน้อยที่สุดเท่าที่ทราบก็ไม่มีที่ไหนในโลกที่นักวิชาการจะต้องไปขออนุญาติในการโควตงานเขียนของคนอื่นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับงานบันทึกภาพและเสียง เพราะการมีเพียงคลิปภาพยนตร์เล็กๆ ไปปรากฏบนจอทีวีในฉากของภาพยนตร์อีกเรื่องก็อาจนำมาสู่การฟ้องร้องที่ผู้ถูกฟ้องต้องลงเอยด้วยการเสียเงินเป็นล้านดอลลาร์สหรัฐ และก็เช่นเดียวกันการ “โควต” เสียงในดนตรีฮิปฮอปหรือการแซมปลิงก็ไม่ถือว่าเป็นการใช้อย่างชอบธรรม ดังที่ได้ชี้ให้เห็นในคดีต่างๆ ในตอนที่แล้ว โลกของงานดนตรีพื้นที่ของการใช้อย่างชอบธรรมดูจะมีน้อยกว่าโลกอื่นๆ มาก หากดูในทางประวัติศาสตร์มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะ อุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับดนตรีก็เป็นอริกับการใช้อย่างชอบธรรมมาตั้งแต่ในศตวรรษที่ 19 แล้ว การริเริ่มขยายสิทธิที่มีเหนือบทเพลงจากแต่การทำซ้ำโน้ตเพลงมายังสิทธิในการนำบทเพลงไปเล่นในที่สาธารณะในฝรั่งเศส และสิทธิในการดัดแปลงบทเพลงในเยอรมันในช่วงศตวรรษที่ 19 ก็เป็นตัวอย่างที่ดี มาถึง ณ ตอนนี้ตอนต้นศตวรรษที่ 21 สิทธิในการใช้งานดนตรีอย่างชอบธรรมมันก็มีน้อยมากๆ เพราะการซื้องานดนตรีชิ้นหนึ่งมาบางครั้งมันก็เอาไปทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากฟังอยู่กับบ้าน แค่การจะแปลงไฟล์จากไฟล์เสียงของ CD มาเป็น mp3 ก็ยังถูกล็อคไว้ และการล็อคที่ว่านี้ก็เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายเสียด้วยในหลายๆ ประเทศ [1] แล้วเรายังจะเหลือสิทธิในการใช้อันชอบธรรมใดๆ ที่จะใช้งานดนตรีอย่างไม่ละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่ขออนุญาตอีก? ดูเหมือนจะยังมีแสงสว่างอยู่บ้างในการคุ้มครองลิขสิทธิ์อันบ้าคลั่งทั้งหมดนี้ ในโลกของเสรีนิยมใหม่ที่ความคิดถูกแปลงให้เป็นสินค้าโดยสมบูรณ์ ในอเมริกาสิ่งที่พอจะมีพลังพอจะนำมางัดข้อกับพลังในการทำให้เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลของระบบทุนนิยมก็คือ หลักการพื้นๆ อันเป็นคุณค่าแกนกลางของเสรีประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกาอย่าง หลักเสรีภาพในการพูดหรือหลัก Free Speech หลักเสรีภาพในการพูดเป็นหลักรัฐธรรมนูญอเมริกันที่บรรดานักต่อสู้เพื่อเสรีภาพโปรดปรานมาก เพราะมันสามารถนำมาใช้สู้คดีได้จริง ไม่ใช่หลักการลอยๆ ที่ใส่ไปในรัฐธรรมนูญให้ดูสวยๆ การต่อสู้เพื่อต้านการเซ็นเซอร์ส่วนใหญ่ก็อ้างหลักการนี้ และหลักการอันทรงพลังในสังคมอเมริกันนี้เองก็ถูกนำมาใช้งัดกับระบอบลิขสิทธิ์ที่สถาปนาตัวขึ้นมา ณ ตอนนี้ผู้อ่านอาจสงสัยว่าการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์มันไปเกี่ยวอะไรกับเสรีภาพในการพูด? คำอธิบายที่น่าจะสั้นและได้ใจความในระดับหลักการก็คือ หลักเสรีภาพในการพูดนั้นในทางปฏิบัติมันรวมไปถึงเสรีภาพในการแสดงออกโดยทั่วไปด้วย และเสรีภาพในการสร้างศิลปวัฒนธรรมก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ในแง่นี้การใช้หลักกฏหมายลิขสิทธิ์มาเพื่อทำการระงับการสร้างศิลปวัฒนธรรมบางรูปแบบจึงเป็นการขัดกับหลัก Free Speech อันทรงคุณค่าของสังคมอเมริกัน แน่นอนว่าศาลก็ไม่ได้ซี้ซั้วตัดสินว่าการปราบการสร้างงานดนตรีบนฐานของละเมิดลิขสิทธิ์ (เช่นการแซมปลิงในดนตรีฮิปฮอป) ทั้งหมดเป็นการละเมิดเสรีภาพในการพูดของผู้สร้างงาน การอ้างหลักเสรีภาพในการพูดเป็นไปได้เฉพาะในเงื่อนไขเฉพาะอันเหมาะสมเท่านั้น และเงื่อนไขอันเหมาะสมหนึ่งก็คือ การล้อเลียน (parody) การล้อเลียนเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการพูดของยุคสมัยใหม่มานมนานกว่ากฎหมายลิขสิทธิ์จะบ้าคลั่งดังทุกวันนี้ มันเป็นองค์ประกอบสำคัญในการวิจารณ์อำนาจซึ่งนำมาสูโลกเสรีประชาธิปไตยทุกวันนี้ ในทางหลักการแล้ว การล้อเลียนเป็นส่วนหนึ่งของการวิจารณ์ ซึ่งการวิจารณ์ก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดในทางการเมืองอันหนึ่งของเสรีภาพในการพูด ในแง่นี้หากต้องการจะต่อสู้กับข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยหลักเสรีภาพในการพูด เราก็ต้องพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นการล้อเลียนซึ่งเป็นการวิจารณ์รูปแบบหนึ่งให้ได้ ในทางปฏิบัติแล้วสำหรับงานดนตรีเราก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าองค์ประกอบของงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นมีความจำเป็นต่องานเราในการสื่อสารชนิดที่งานชนิดที่เราหางานชิ้นอื่นมาใส่แทนหรือประพันธ์ดนตรีเองใส่ลงไปจะทำให้สารในการ “วิจารณ์” ของเราสูญเสียไปได้ และเงื่อนไขอันซับซ้อนวุ่นวายนี้เองที่จะทำให้หลักเสรีภาพทางการพูดสามารถถูกนำมาใช้ในการงัดข้อกับหลักทรัพย์สินส่วนบุคคลของกฏหมายลิขสิทธิ์ได้ [2] คดีที่ทำให้เกิดหลักการนี้คือคดี Campbell v. Acuff-Rose Music [3] เรื่องมีอยู่ว่าวงดนตรีฮิปฮอป 2 Live Crew ได้นำเอา Oh Pretty Woman เพลงเก่าของ Roy Orbison จากปี 1964 [4] มาทำใหม่ในแบบฮิปฮอบในอัลบั้ม As Clean As They Wanna Be ในปี 1989 ของทางวง [5] ทั้งนี้ ในตอนแรกทางวงก็ได้พยายามจะขอสัญญาอนุญาตในการใช้เพลงจากทาง Acuff-Rose Music ที่ถือลิขสิทธิ์เพลง Pretty Woman ของ Orbison แล้ว แต่ทางสังกัดไม่ยอมให้ อย่างไรก็ดีทางวงก็ยังทำบทเพลงนี้ออกมาใส่ในอัลบั้ม ภายหลังอัลบั้มนี้ขายได้กว่า 2 แสนชุด ทาง Acuff-Rose Music ก็ได้ยื่นฟ้องต้นสังกัดของ 2 Live Crew ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในปี 1993 คดีนี้เป็นคดีลิขสิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่มากๆ เพราะมีการสู้กันไปถึงขั้นศาลสูงเลยทีเดียว เริ่มแรกการสู้ในระดับศาลชั้นต้นในระดับเขตศาลได้ตัดสินว่าสิ่งที่ 2 Live Crew ทำถือว่าเป็นการล้อเลียน (Parody) และการล้อเลียนนั้นถือว่าเป็นการใช้อย่างชอบธรรมเพราะมันได้รับการปกป้องภายใต้หลักเสรีภาพในการพูด อย่างไรก็ดีการสู้ในระดับศาลอุทธรณ์ ทางศาลกลับชี้ว่ากรณีนี้ข้ออ้างการใช้อย่างชอบธรรมนั้นใช้ไม่ได้ เพราะงานชิ้นใหม่เป็นงานเพื่อการค้างานชิ้นใหม่ได้นำ “แกนกลาง” (heart) ของงานชิ้นเก่ามาสร้างเป็นงาน ศาลสูงสุดกลับคำตัดสินให้ทางต้นสังกัด 2 Live Crew ชนะอีกครั้งด้วยรายละเอียดคำตัดสินที่น่าสนใจมาก ศาลบอกว่าเกณฑ์ในการพิจารณาการใช้อย่างชอบธรรมมีดังนี้
ศาลให้ความเห็นว่าลำพังเหตุผลว่าการใช้นั้นเป็นการใช้ในเชิงการค้าเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอที่จะทำให้งานชิ้นใหม่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากหลักการใช้อย่างชอบธรรมและชี้ว่านี่เป็นเพียง 1 ใน 4 ประเด็นทีต้องพิจารณาเท่านั้นพร้อมกล่าวกว่ายิ่งงานชิ้นใหม่ฉีกออกมาจากงานชิ้นเก่าเท่าไร (ภาษาอังกฤษใช้คำว่างานมีลักษณะ transformative) ปัจจัยอื่นๆ ก็ยิ่งมีน้ำหนักน้อยลงเท่านั้น ทางด้านเหตุผลของศาลอุทธรณ์ที่ว่างานของ 2 Live Crew นั้นใช้แกนกลางของบทเพลงต้นฉบับมันจึงละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ทางศาลสูงตีกลับโดยสิ้นเชิงเพราะเห็นว่ามันเป็นธรรมชาติของการล้อเลียนอยู่แล้วที่จะต้องนำแกนกลางของงานต้นฉบับมาใช้และแกนกลางที่ว่านั่นเองที่เป็นเป้าที่การล้อเลียนมุ่งจะทำการล้อเลียน สุดท้ายศาลก็ได้ชี้เสริมว่างานล้อเลียนไม่ถือว่าเป็นการลดทอนมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือเป็นการแย่งตลาดของงานต้นฉบับ เพราะงานทั้งสองชิ้นถือว่าอยู่คนละตลาดกัน จะเห็นได้ว่าความเห็นของศาลสูงนั้นค่อนข้างจะเป็นการปกป้องการล้อเลียนอย่างแน่นหนามากๆ คดีนี้จึงถือว่าเป็นคดีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นภาคปฏิบัติของการงัดข้อระหว่างหลักเสรีภาพในการพูดและกฏหมายลิขสิทธิ์ หรือให้เห็นว่าการล้อเลียนนั้นถูกนับเป็นการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์อย่างชอบธรรมได้อย่างไร แต่แน่นอนนี่ก็ไม่ได้หมายความว่างานชิ้นต่างๆ จะสามารถอ้างลอยๆ ว่าเป็นการล้อเลียนแล้วจะหลุดรอดไปจากการละเมิดลิขสิทธิ์ได้หมด เพราะอย่างน้อยในกฎหมายอเมริกันก็มีการแยกระหว่าง Parody กับ Satire ออกจากกัน เพราะถ้าการ “ล้อเลียน” มันมุ่งไปที่สังคมโดยรวมๆ มันจะถูกนับเป็น Satire และก็จะไม่ได้รับการปกป้องจากหลักการใช้อย่างชอบธรรม การ “ล้อเลียน” ที่มุ่งไปที่สิ่งที่ถูกล้อเลียนโดยตรงเท่านั้นที่จะได้รับการคุ้มครองในฐานะ Parody ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่นักป่วนทางศิลปวัฒนธรรม (cultural jammers) ต้องตระหนักก่อนที่จะ “Parodize At Their Own Risk” เพราะถึงการฟ้องพวกนี้จะไม่น่าทำให้ติดคุกติดตารางแต่ก็เล่นเอาล้มละลายทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน
อ้างอิง:
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ดูหนังบ้านๆ: The Cabin in the Woods Posted: 22 Jun 2012 01:09 AM PDT
ปี 1994 เควนติน ตารันติโน ผู้กำกับอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียนทำให้โลกภาพยนตร์ต้องตื่นตะลึงกับ Pulp Fiction หนังแก๊งสเตอร์ที่เต็มไปด้วยตัวละครสุดป่วง การล้อเลียนและบูชาวัฒนธรรมพ็อพ ไดอะล็อกยาวเหยียดเวิ่นเว้อแบบที่ไม่มีสอนในตำราเขียนบทเล่มไหนในโลก และโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบ non-linear ซึ่งทำลายขนบการเล่าเรื่องแบบสามองก์ลงอย่างย่อยยับ ด้วยองค์ประกอบทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ Pulp Fiction และเควนติน ตารันติโนได้รับเสียงแซ่ซ้องจากนักวิจารณ์ว่าเป็นหลักไมล์แรกของโพสต์โมเดิร์นบนแผ่นฟิล์ม ปี 2012 The Cabin in the Woods (ชื่อภาษาไทย 'แย่งตายทะลุตาย') ทำให้นักวิจารณ์และคนดูหนังทั่วโลกได้ตื่น (จากบรรทัดนี้เป็นต้นไป จะมีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนจบของภาพยนตร์) The Cabin in the Woods เปิดเรื่องตามขนบหนังสยองขวัญยุค 90's เมื่อกลุ่มวัยรุ่น 5 คนซึ่งประกอบด้วยสาวร่านสวาท หนุ่มนักกีฬา หนุ่มเนิร์ด ตัวตลก และสาวพรหมจรรย์ตัดสินใจที่จะไปใช้วันหยุดสุดสัปดาห์ในบ้านพักกลางหุบเขาห่างไกล ในขณะที่หนังเล่าเรื่องของกลุ่มวัยรุ่น หนังก็เล่าเรื่องของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งไปพร้อมๆ กัน และเมื่อผ่านไปไม่กี่นาทีคนดูก็จับใจความได้ทันที ว่าเรื่องราวทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นกับห้าหนุ่มสาวหลังจากนี้คือการจัดฉากของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ให้หนุ่มสาวต้องเผชิญกับเรื่องราวสยองขวัญตามขนบหนังสยองขวัญ เริ่มจากการแวะเติมน้ำมันในปั๊มร้าง เจอชายแก่พูดจาแปลกๆ แต่กลุ่มวัยรุ่นก็ยังเดินหน้าต่อตามแผนเดิม การค้นพบห้องใต้ดินในบ้าน การเจอคัมภีร์เก่าเรียกซอมบี้ขึ้นมาจากหลุม ในฝั่งนักวิทยาศาสตร์ก็มีการพนันกันว่าปีศาจตัวไหนจะได้ออกมาไล่ฆ่ากลุ่มวัยรุ่น มีการพนันกันว่าใครจะตายเป็นคนแรก เพราะว่าผู้กำกับไม่ได้ปิดบังเลยว่าชะตากรรมของตัวละครใน “The Cabin in the Woods” นั้นเกิดจากการจัดฉากของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ (และเวลาเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์อเมริกันจัดฉากกับกลุ่มหนุ่มสาว นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นก็จัดฉากให้ผีซาดาโกะออกมาไล่หลอกหลอนเด็กประถม) เราผู้ชมก็ได้แต่ติดตามไปเรื่อยๆ ว่าการเล่าเรื่องแบบทุบโครงสร้างทิ้งแล้วเอาตีนขยี้ซ้ำของผู้กำกับจะนำไปสู่บทสรุปอย่างไร ในขณะเดียวกัน ผู้กำกับก็ไม่ลืมที่จะเอ็นเตอร์เทนคนดูที่หวังจะเข้ามาดูฉากหวีดสยองแบบที่หน้าหนังปูทางมา ด้วยฉากตัวละครถูกซอมบี้ฆ่าอย่างวิจิตรพิสดารสะใจคอหนังสยองขวัญ แต่เมื่อกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เริ่มตระหนักว่ามีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้นในการจัดฉาก (และความผิดพลาดในการจัดฉากแบบเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น เด็กนักเรียนประถมสามารถปราบซาดาโกะด้วยการสวดมนต์บ้าบออะไรซักอย่าง – คัลต์มาก) เพราะตามคิวแล้วคนที่ต้องตายเป็นคนสุดท้ายคือสาวพรหมจรรย์ แต่เมื่อตัวละครที่ควรจะตายก่อนอย่างหนุ่มนักปุ๊นตัวตลกประจำกลุ่มกลับไม่ยอมตาย และเป็นคนแรกที่จับได้ว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นการจัดฉาก ความพินาศระดับมหากาพย์พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินก็เกิดขึ้นในห้องแล็บของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์นั่นเอง (ฉากความพินาศระดับมหากาพย์นี้เป็นฉากที่ผู้เขียนบันเทิงมาก เพราะผู้กำกับจัดเต็มจนผู้เขียนไม่อาจจะจินตนาการไปถึงว่าจะมีภาพยนตร์เรื่องไหน – ไม่ว่าจะก่อนหรือหลัง The Cabin in the Woodsที่จะมีฉาก 'รวมดาว' ได้ขนาดนี้) และเมื่อสองหนุ่มสาว (ตัวตลกกับสาวพรหมจรรย์) ผู้รอดชีวิตตะเกียกตะกายหนีตายลงไปถึงห้องใต้ดินของห้องแล็บ ความเหวอก็ได้เดินทางมาถึงจุดสูงสุดเมื่อมีป้าหนึ่งคนที่หน้าเหมือนฮิลลารี คลินตันออกมาบอกกับสองหนุ่มสาวว่าพวกเธอต้องเสียสละเพราะพวกเธอถูกเลือกมาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมบูชายัญเทพเจ้าเก่าแก่ใต้ดิน ถ้าหากสาวพรหมจรรย์ตายก่อนหนุ่มปุ๊น เมื่อนั้นโลกจะถึงกาลวิบัติ ซึ่งสุดท้ายโลกก็ได้วิบัติจริงๆ และฉากสุดท้ายของเรื่องคือหนุ่มปุ๊นกับสาวพรหมจรรย์นั่งพิงไหล่กัน ดูดปุ๊นเป็นเฮือกสุดท้ายและพูดว่า “อาจจะถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ต้องปล่อยให้คนอื่นครองโลกบ้าง” The Cabin in the Woods ได้รับคำชื่นชมจากเว็บไซต์วิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง rottentomato.com ถึง 90% นักวิจารณ์ทั่วโลกพากันยกย่องสรรเสริญความฉลาดของผู้กำกับที่ถอดรื้อโครงสร้างคลาสสิคของหนังสยองขวัญวัยรุ่นยุค 90's ออกเป็นชิ้นๆ นำชิ้นส่วนทั้งหมดมาประกอบเข้าด้วยกันอีกครั้ง และสร้างความหมายใหม่ ทำให้ภาพยนตร์สยองต้องหวีดเป็นเครื่องมือในการวิจารณ์สังคมอย่างแยบคาย ฉากนักวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บเฝ้ามองฝูงซอมบี้ออกมาไล่ฆ่าห้าหนุ่มสาวด้วยความบันเทิงสะท้อนวัฒนธรรมการรับสื่อของผู้บริโภคสมัยใหม่ที่ต้องการเห็นความรุนแรงอย่างไม่มีขีดจำกัดในสื่อ ซึ่งเป็นการยั่วล้อรสนิยมของผู้ชมและตอบคำถามไปในตัวว่าทำไมหนังแนวไล่สับสยองต้องหวีดจึงได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 90 ประหนึ่งผู้กำกับชี้นิ้วกลับมายังผู้ชมว่า “เพราะพวกมึงชอบดูฉากโหดๆ พวกกูถึงทำให้พวกมึงดูเว้ย” ส่วนฉากจบของภาพยนตร์นั้นชัดเจนเสียยิ่งกว่า ว่าผู้กำกับจงใจวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่พยายามจะทำตนเป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของโลก โดยไม่สนใจว่าภารกิจสร้างสันติภาพของตนทำให้ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องเผชิญชะตากรรมเลวร้าย อย่างเช่นการก่อสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานเพื่อ กำจัดรัฐบาลตาลีบันและซัดดัม ฮุสเซน แต่ประชาชนคนธรรมดาจำนวนมากต้องบาดเจ็บล้มตาย เปรียบเทียบกับพิธีกรรมบูชายัญเทพเจ้าใต้ดินที่ทุกปีจะต้องมีหนุ่มสาวผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ห้าคนสังเวยชีวิตเพื่อทำให้เทพเจ้ายอมสงบอยู่ใต้ดิน ส่วนทางออกของปัญหาในสายตาผู้กำกับก็คงอยู่ในประโยคสุดท้ายที่หนุ่มนักปุ๊นรำพึงรำพัน “อาจจะถึงเวลาแล้วที่อเมริกาต้องปล่อยให้คนอื่นครองโลกบ้าง”
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาลเยาวชนฯ เลื่อนพิพากษาคดีแพรวา 2 ก.ค.นี้ Posted: 22 Jun 2012 12:14 AM PDT 22 มิ.ย. 55 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เลื่อนพิพากษาคดี "แพรวา" ในวันที่ 2 ก.ค.นี้ โดยคดีนี้อัยการยื่นฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.53 เวลากลางคืน จำเลยขณะอายุ 16 ปีเศษขับรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าซีวิค หมายเลขทะเบียน ฎว-8461 กรุงเทพมหานคร ขึ้นบนทางยกระดับโทลล์เวย์ ขาเข้ามุ่งหน้า ถ.ดินแดงด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจำเลยได้กระทำประมาทโดยปราศจากความระมัดระวังที่บุคคลในภาวะปกติจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ โดยจำเลยไม่ขับรถในช่องทางซ้าย เมื่อมาถึงบริเวณแยกทางลงบางเขน ช่วงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปลี่ยนช่องทางไปมา เปลี่ยนช่องทางจากช่องทางขวาสุดเพื่อมาทางซ้ายถัดมา และยังเปลี่ยนกลับไปยังช่องทางขวาอีกครั้ง เป็นเหตุให้รถยนต์ซีวิคของจำเลยพุ่งเข้าชนรถยนต์ตู้โดยสารทะเบียน 13-7795 กรุงเทพ ที่วิ่งระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งมีนางนฤมล ปิตาทานัง อายุ 38 ปี เป็นคนขับทำให้รถยนต์ตู้เสียหลักหมุนไปชนขอบกั้นทางโทลล์เวย์ พลิกคว่ำพังเสียหาย คนขับรถตู้โดยสารและผู้โดยสารภายในรถยนต์ตู้กระเด็นออกจากตัวตกจากทางด่วนเสียชีวิตรวม 9 คน และบาดเจ็บสาหัสจำนวนหนึ่ง ส่วนรถยนต์ของจำเลยแฉลบเลยจากรถยนต์ตู้ประมาณ 50 เมตร นอกจากนี้ ก่อนเกิดเหตุจำเลยยังได้ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถยนต์ โดยมีหลักฐานเป็นรายงานการใช้โทรศัพท์มือถือของจำเลย ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธทั้ง 2 ข้อหา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศที่ศาลเยาวชนฯ มีบรรดาญาติผู้เสียหาย และเพื่อนๆ นักศึกษาที่เสียชีวิตเดินทางมาฟังการพิจารณาตั้งแต่ช่วงเช้า 8.30 น. ขณะที่สื่อมวลชนมาร่วมทำข่าวจำนวนมาก โดยทางศาลอนุญาตให้ช่างภาพอยู่นอกศาล ส่วนผู้สื่อข่าวสามารถเข้าด้านในศาลได้แต่ไม่อนุญาตให้เข้าฟังภายในห้องพิจารณาคดี แต่อนุญาตให้เฉพาะคู่ความเท่านั้นที่สามารถเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ ต่อมาเวลาประมาณ 9.30 น. น.ส.แพรวพราว ซึ่งสวมชุดสีขาวทับด้วยสูทสีดำ เดินทางมาพร้อมพ่อ-แม่ และทนายความ โดยเข้าประตูด้านหลังศาลฝั่งตรงข้ามกระทรวงกลาโหม เพื่อหลบกองทัพนักข่าว นางถวิล เช้าเที่ยง มารดาของดร.ศาตรา เช้าเที่ยง ผู้เสียชีวิต กล่าวว่า แม้เหตุการณ์จะผ่านมา 2 ปีแล้วแต่รู้สึกเสียใจ ทุกวันนี้ตื่นขึ้นมายังอยากเห็นหน้าลูกชาย ตอนนี้อยากให้จำเลยออกมาขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับการเยี่ยวยาคดีนี้ได้รับเงินจากบริษัทประกันภัยจำนวนหนึ่ง และจำเลยนำมามอบให้อีกจำนวน 30,000 บาท หลังจากนี้ก็ไม่ได้รับการติดต่ออีกเลย ส่วนเรื่องคดีความได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดูแล ด้านนายแพทย์กฤช รอดอารีย์ บิดาของนายเกีรยติมัน รอดอารีย์ นศ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังรอคำขอโทษจากทางจำเลย และอยากให้ผลของคดีนี้เป็นบรรทัดฐานให้กับสังคม ที่ผู้ปกครองที่มีฐานะชอบซื้อรถให้ลูกซึ่งเป็นเยาวชนยังไม่มีวุฒิภาวะและใบขับขี่ หากบุตรหลานได้กระทำความผิดไปแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องรับผิดชอบในส่วนที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากคำพิพากษาของศาลออกมาอย่างไรแล้ว จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์คดี โดยเฉพาะการขอรถยนต์ของกลางซีวิคคืน ขณะที่นางทองพูน พานทอง มารดาคนขับรถตู้ กล่าวทั้งน้ำตาว่า มั่นใจในพยานหลักฐานในคดีนี้ พอที่จะเอาผิดจำเลยได้โดยยืนยันว่าลูกสาวไม่ได้ขับรถเร็ว หรือประมาท เพราะหากขับเร็วกว่ารถยนต์ของจำเลย จะไม่ถูกชนและไม่เสียชีวิต โดยมีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่า รถตู้วิ่งมาด้วยความเร็วในเลนกลางปกติ แต่ถูกรถยนต์ซีวิคที่ขับมาด้วยความเร็วสูงเฉี่ยวชนด้านท้าย คดีนี้แม้เป็นอุบัติเหตุจำเลยอาจไม่เจตนาก็จริง แต่ถ้าระมัดระวังก็จะไม่เกิดเหตุสลดเช่นนี้ ทั้งนี้ มั่นใจในความยุติธรรมที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้คิดที่จะซ้ำเติมเด็ก แต่ฝ่ายจำเลยก็ควรลดฐิถิลงมาบ้างเราก็คนเหมือนกัน ที่ผ่านมาฝ่ายจำเลยจะพูดอย่างไร ต้องอดทนทั้งที่รู้สึกเสียใจเหมือนน้ำท่วมปาก อย่างไรก็ตาม วันนี้ยังไม่มีการอ่านคำพิพากษา โดยศาลได้หารือกับคู่ความทั้งสองฝ่ายเรื่องการไกล่เกลี่ยประนีประนอมเกี่ยวกับค่าเสียหายในคดี เพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ยังไม่สมควรมีคำพิพากษา แต่ให้คู่ความทุกฝ่ายร่วมประชุมกัน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาของแต่ละฝ่าย โดยให้ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำและประสานการประชุม เพื่อแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็ก เยาวชนและครอบครัวของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเป็นผู้ประสานงาน โดยนัดประชุมวันที่ 2 ก.ค.นี้ เวลา 9.00 น. โดยให้คู่ความทุกฝ่ายทั้งนักจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ ผู้แทนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมประชุม และให้ศูนย์ฯ รายงานให้ศาลทราบ เพื่อกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาต่อไป ต่อมาเมื่อเวลา 11:30 น. น.ส.ยุวดี เยี่ยงยุกดิ์สากล อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผย ว่าวันนี้ศาลได้มีข้อเสนอแนะให้ทั้งสองฝ่ายใช้วิธีไกล่เกลี่ยเรื่องค่าสินไหมทดแทน ตามพรบ.ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวกลาง พ.ศ.2553 มาตรา132 และวันนี้ยังไม่มีการพิพากษา แต่จะนัดทั้งสองฝ่ายมาไกล่เกลี่ยอีกครั้งในวันที่ 2 ก.ค.เวลา09.00น.นี้ ซึ่งการนำพรบ.ฉบับนี้มาใช้ เนื่องจากเป็นการช่วยไกล่เกลี่ยและเยียวยาผู้เสียหายด้วย และหากการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จจะมีการพิพากษาต่อไป น.พ.กฤช รอดอารีย์ บิดาของ1ในผู้เสียชีวิต เปิดเผยภายหลังเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาตามนัดของศาลว่า ส่วนตัวตนยังไม่ค่อยเข้าใจกับกฎหมายใหม่ที่นำมาใช้ แต่ยอมรับดุลยพินิจของศาลที่นำมาเพื่อไกล่เกลี่ยให้กับทั้งสองฝ่าย ส่วนผล ส่วนผลการไกล่เกลี่ยจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับศาล แต่ตนเองไม่ได้หวังเรื่องเงินสินไหมตอบแทน แต่อยากให้มีการรับผิดชอบต่อสังคม อย่างไรก็ตามยอมรับรู้สึกผิดหวังที่ยังไม่ได้ อ่านคำพิพากษาในวันนี้ ซึ่งอยากให้มีการตัดสินตามความผิดของจำเลยแต่ก็เป็นดุลพินิจของศาลนำกระบวนการไกล่เกลี่ยมาใช้ และหลังจากนี้ได้มีการนัดผู้เสียหายไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสาตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อหารือในเรื่องการไกล่เกลี่ยต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น