โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นิติราษฎร์แถลงโต้ ศาล รธน.ไม่มีอำนาจชะลอแก้ไขรัฐธรรมนูญ

Posted: 03 Jun 2012 10:54 AM PDT

นิติราษฎร์ชี้ 3 ประเด็นหลักคำสั่งชะลอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เหตุ คำร้องไม่ชอบ ศาลรธน. ไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ , คำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรธน. เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยรธน. ไม่มีผลผูกพันรัฐสภา และ หากรัฐสภายอมรับให้คำสั่งให้มีผลผูกพันตามกฎหมายจะทำให้ ศาลรธน.กลายเป็นองค์กรที่ อยู่เหนือรธน. อยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ และมีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ-ประชาธิปไตยลงอย่างสิ้นเชิงในที่สุด

0 0 0 0 0

แถลงการณ์
เรื่อง คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญกรณีรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ไว้พิจารณา
และคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ตามที่มีบุคคลเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๖๘ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้งฉบับ อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาและมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังปรากฏตามข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๖/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ นั้น

คณะนิติราษฎร์พิจารณาแล้ว มีความเห็นต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวในสามประเด็น ดังนี้

๑. การกระทำที่เป็นเหตุแห่งการเสนอคำร้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๘

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๘ ให้สิทธิแก่บุคคลผู้ทราบการกระทำอันเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจใจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิ๔ีที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สามารถเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว เหตุแห่งการเสนอคำร้องตามมาตรา ๖๘ ต้องเป็นการกระทำของบุคคลหรือพรรคการเมืองแต่ข้อเท็จจริงในกรณีนี้เป็นการใช้อำนาจของรัฐสภาในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูฐ กรณีนี้จึงไม่ใช่การกระทำของ "บุคคล" หรือ "พรรคการเมือง" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๘

รัฐสภาได้ใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกระบวนการและขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๑๕ ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกรณีที่รัฐสภาใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่การใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ให้แก่บุคคลและพรรคการเมือง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีนี้เป็นการกระทำตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนหรือทั้งฉบับ ตราบเท่าที่การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมิได้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะถือว่าการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอันมีผลเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับนั้นเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อคราวที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ และคราวที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ โดยการจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐

๒. ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๘ วรรคสอง กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำ ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หมายความว่า บุคคลต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดก่อน ภายหลังอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวมีมูล อัยการสูงสุดจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความว่า การเสนอคำร้องตามมาตรา ๖๘ วรรคสองนั้น อาจทำได้สองวิธี คือ หนึ่ง บุคคลมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สอง บุคคลมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้โดยตรง โดยไม่ต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

คณะนิติราษฎร์เห็นว่า กรณีตามมาตรา ๖๘ วรรคสอง ไม่อาจตีความตามที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าเฉพาะแต่อัยการสูงสุดเท่านั้น ที่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และอัยการสูงสุดก็ไม่อาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หากปราศจากการเสนอ เรื่องของบุคคลผู้ทราบการกระทำตามมาตรา ๖๘ วรรคแรก กรณีคำร้องตามมาตรา ๖๘ วรรคสอง จึงต้องดำเนินการเป็นสองขั้นตอนตามลำดับได้แก่ บุคคลเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะขาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไปมิได้

นอกจากนี้ เมื่อได้ตรวจสอบบันทึกรายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๒๗/๒๕๕๐ เกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา ๖๘ พบว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเข้าใจตรงกันว่าผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๖๘ วรรคสอง คือ อัยการสูงสุดเท่านั้น

หากพิจารณารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะเห็นได้ว่าในกรณีที่รัฐธรรมนูญมุ่งประสงค์ให้สิทธิแก่บุคคลทั่วไปในการ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งดังกรณีปรากฏในมาตรา ๒๑๒ ว่าบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ และไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ให้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่ง กฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้

คณะนิติราษฎร์เห็นว่าการตีความมาตรา ๖๘ วรรคสองของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ขัดกับหลักการตีความกฎหมายทั้งในแง่ถ้อยคำ ประวัติความเป็นมา เจตนารมณ์ ตลอดจนระบบกฎหมายทั้งระบบ เป็นการตีความกฎหมายที่ส่งผลประหลาดและผิดพลาดอย่างชัดแจ้ง

๓. อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการกำหนด “วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำ

คำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ไม่ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมี

คำวินิจฉัย แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้นำเอาวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๔ มาใช้ โดยอาศัยข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯ ข้อ ๖

วิธีการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยเป็นมาตรการสำคัญในกระบวนพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคดีรัฐธรรมนูญ การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้อำนาจตาม รัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น หากรัฐธรรมนูญมุ่งประสงค์ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อน มีคำวินิจฉัย ต้องบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

คณะนิติราษฎร์เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจก่อตั้งอำนาจกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยได้ ด้วยตนเอง โดยอาศัยแต่เพียงข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯ ข้อ ๖ เพื่อนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๔ มาใช้ เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้นำวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยมาใช้ระงับ ยับยั้งกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งในลักษณะดังกล่าว จึงเป็นการเข้าแทรกแซงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยไม่มีอำนาจกระทำได้

ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่พิทักษ์ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และทำให้กลไกต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ดำเนินการไปได้ตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ แต่คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้กลับมีผลเป็นการทำลายกลไกการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้มอบอำนาจนี้ไว้ให้แก่รัฐสภาเท่านั้น อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญรูปแบบหนึ่ง ที่มีลำดับชั้นทางกฎหมายสูงกว่าอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ซึ่งอำนาจทั้งสามเป็นเพียงอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญอีกทอดหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตุลาการ เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการควบคุมตรวจสอบการแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถควบคุมตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังเช่น การควบคุมตรวจสอบพระราชบัญญัติมิให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้

อาศัยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด คณะนิติราษฎร์เห็นว่า

๑. ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องในกรณีนี้ไว้พิจารณาได้ เนื่องจากการยื่นคำร้องในกรณีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกระบวนการและขั้นตอนตามที่ บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘

๒. คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ จึงไม่มีผลผูกพันรัฐสภาให้ต้องรอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ

หากรัฐสภายอมรับให้คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนี้มีสภาพบังคับทางรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ย่อมส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่ อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ และมีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ-ประชาธิปไตยลงอย่างสิ้นเชิงในที่สุด

คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, ๔ มิถุนายน ๒๕๕๕

 

ที่มา: http://www.enlightened-jurists.com/blog/64

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'จาตุรนต์'ชี้ ศาล รธน. สั่งชะลอแก้ไข รธน. คือรัฐประหารโดยตุลาการ

Posted: 03 Jun 2012 07:24 AM PDT

 

3 มิถุนายน 2555 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้สภาชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ในวาระที่ 3 ว่า ถือเป็นการรัฐประหารโดยใช้อำนาจตุลาการภิวัฒน์ เข้ามาแทรกแซงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากตัวแทนของประชาชน

นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลผูกพันในทางกฎหมาย และไม่มีอำนาจเข้ามาวินิจฉัยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่มีหน้าที่ในการวินิจฉัยว่ากฎหมายหรือพระราชบัญญัติที่จะออกมาบังคับใช้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องของ ส.ส. และประชาชน 

"รัฐสภาไม่ควรดำเนินการตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้เดินหน้าตามมาตรา 291/5 พิจารณาลงมติในวาระที่ 3 ได้ทันที" นายจาตุรนต์กล่าว

อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ยังเรียกร้องให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อล่าลายชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีการลงมติในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากตุลาการได้ใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 68 ที่จะต้องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเท่านั้น ซึ่งศาลไม่สามารถรับเรื่องจากประชาชนมาพิจารณาได้เอง

"ขณะนี้สิ่งที่ควรทำคือ การทำความเข้าใจกับประชาชนผู้สนใจปัญหาบ้านเมือง และผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลายให้ทราบว่าขณะนี้เกิดกระบวนการรัฐประหารโดยตุลาการภิวัฒน์แล้ว ที่เกิดการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งจะเป็นภัยร้ายแรงต่อประชาธิปไตยของประเทศ เพื่อที่จะหาทางสกัดกั้นกระบวนการนี้กันใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่ร่วมในกระบวนการนี้เป็นผู้ที่จะมีอำนาจวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ ผลที่ตามมาคือถ้าไม่มีแรงต่อต้าน ไม่มีการแสดงความเห็นเชิงหลักการให้หนักแน่นเพียงพอก็ยากที่จะทัดทานตุลาภิวัฒน์นี้ได้ " นายจาตุรนต์ ระบุ 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาไทบันเทิง: สัมภาษณ์ บุญส่ง นาคภู่ ผู้กำกับหนังทางเลือก “4 สถานี”

Posted: 02 Jun 2012 11:44 PM PDT

ตอนค่ำของวันที่ 31 ..55 ที่ผ่านมา ที่โรงภาพยนตร์ลิโด 1 มีการจัดฉายภาพยนตร์รอบสื่อมวลชนเรื่อง “4 สถานี” ซึ่งเป็นผลงานการกำกับของ บุญส่ง นาคภู่ ผู้สร้างภาพยนตร์อิสระที่มีประสบการณ์หลากหลาย เคยผ่านชีวิตของอาจารย์ในสถาบันการศึกษา การเป็นนักแสดง ผู้ฝึกสอนการแสดง คนเขียนบท และผู้กำกับภาพยนตร์

4 สถานี” หรือ “Four Stations” สร้างขึ้นโดยดัดแปลงวรรณกรรมจากเรื่องสั้น 4 เรื่องของนักเขียนชื่อดัง 4 คนจาก 4 ภาคของไทย ไดแก่ "ตุ๊ปู่" ของมาลา คำจันทร์ ซึ่งเป็นเรื่องราวพระสงฆ์สูงวัยในชนบทภาคเหนือของไทย, "สงครามชีวิตส่วนตัวของทู-ทา" ของวัฒน์ วรรยางกูร บอกเล่าชีวิตของ “ทู” หนุ่มชาวมอญที่ข้ามพรมแดนมาใช้ชีวิตอยู่ในชนบทภาคกลางประเทศไทย, "ลมแล้ง" ของลาว คำหอม สะท้อนวิถีชีวิตอันแร้นแค้นของคนชนบทในภาคอีสาน และ "บ้านใกล้เรือนเคียง" ของไพฑูรย์ ธัญญา บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของเพื่อนบ้านที่มีรั้วติดกันในชนบทของภาคใต้ โดยนักแสดงส่วนใหญ่คัดเลือกจากคนในท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของสถานที่ถ่ายทำ

บทสัมภาษณ์ บุญส่ง นาคภู่ ผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “4 สถานี”

ภาพยนตร์เรื่อง “4 สถานี” ได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการไทยเข้มแข็ง ปี 2554 ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยมีกำหนดฉายอย่างเป็นทางการในวันที่ 14-20 มิ..นี้ วันละ 1 รอบ เวลา 18.30 . ที่โรงภาพยนตร์ลิโด 1

 
 

บุญส่ง นาคภู่ ผู้กำกับภาพยนตร์ “4 สถานี”

 
 

ทำไมจึงเลือกเรื่องสั้น 4 เรื่องนี้มาทำเป็นภาพยนตร์ แต่ละเรื่องมีความเชื่อมร้อยกันตรงไหน

4 เรื่องนี้มีความโดดเด่นเฉพาะตัว แต่ละเรื่องเน้นเสนอวัฒนธรรมวิถีชีวิตของคนแต่ละภาค วิถีชีวิตของคนแต่ละภาคชัดเจน นักเขียนแต่ละคนก็เป็นคนท้องถิ่น ถามว่าทั้ง 4 เรื่องมีจุดร่วมไหม ไม่มีจุดร่วมเลย มีจุดร่วมตรงนี้แหละ รถไฟผมเอามาแทรก เอามาใส่ทีหลัง มีการดัดแปลงขึ้นเยอะเหมือนกัน ผมเลือกเพราะมีความเป็นท้องถิ่น มีความเป็นวัฒนธรรมชัดเจนของแต่ละภาค เช่น ภาคใต้ สะท้อนความป็นคนใต้ชัดเจน ภาคกลาง ไม่อยากเป็นกรุงเทพฯ เพราะเฝือ คนที่อยู่ภาคกลางแต่ว่าเป็นคนนอก มอญ พม่า เป็นเรื่องสั้นที่คุณวัฒน์ (วรรณยางกูร) เขียนใหม่ แล้วก็ภาคเหนือ เรื่องตุ๊ปู่ก็งดงามมากแบบพระเหนือ ผมก็ดัดแปลงเป็น realistic หมดเลย เรื่องเกินจริงไม่เอา เรื่องลมแล้งของลุงคำสิงห์ เป็นเรื่องเก่า แต่ผมดัดแปลงให้ร่วมสมัยมากขึ้น

 

อะไรเป็นสิ่งที่ที่ท้ายชีวิตคนเล็กคนน้อยในแต่ละเรื่อง

หนังของผมทุกเรื่อง พยายามพูดเรื่องคนตัวเล็กตัวน้อย แน่นอนเรื่องสั้น 4 เรื่องนี้พูดถึงชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อย ผมไม่อยากเล่าถึงประเทศไทยแล้วพูดถึงคนตัวใหญ่ๆ เพราะมันไม่มีค่าอะไรกับผม ผมคิดว่าคนตัวเล็กตัวน้อยมีเสียงที่เล็กก็จริง แต่ก็มีความหมายมาก นี่คือเหตุผลที่เลือก 4 เรื่องนี้

หนังเรื่องนี้ผมไม่ได้ทำให้ชาวบ้านดู ผมอยากทำให้คนอื่นดูชีวิตชาวบ้าน เห็นมิติอื่นๆ ของชีวิตบ้าง ไม่ใช่มองแต่เรื่องทั่วๆ ไป มันจะเป็นภาพที่หาดูได้ยาก ถ้าชาวบ้านดูคงหลับ (หัวเราะ)

 

หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 2 ที่เป็นหนังนอกกระแส มันตอบโจทย์อะไรในตัวผู้กำกับบ้าง

ผมมีปัญหากับหนังกระแสหลัก เพราะทำแล้วมันไม่ขาย แล้วผมก็ไม่อินกับมันเลย คือผมเข้าวงการหนังเพราะอยากทำหนังที่ดีๆ อยากเล่าเรื่องที่อยากเล่า ชีวิตชาวนา ชาวบ้าน ชีวิตพระ ชีวิตเณรที่เรารู้จักดี แต่ในโลกหนังกระแสหลักมันไม่มีเรื่องพวกนี้เลย ผมรอมาสิบกว่าปีนะถึงมีโอกาส

ผมทำเรื่องมือปืน 191 เป็นหนังตลก ชีวิตตำรวจ ผมก็พยายามเอาชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อยเข้าไป นายทุนด่าเช็ดเลย สุดท้ายก็พยายามใส่ความเป็นบ้านๆ เข้าไป มันก็ไม่ขาย มันก็ไม่เป็นรสนิยมสาธารณ์ ผมอาจจะไม่เหมาะก็ได้ แล้วก็พยายามอีกหลายครั้ง ผมไม่ย่อท้อง่ายๆ นะ ยุคนั้นเป็นยุคที่ทำหนังต้องเข้าวงการ ต้องทำเป็นฟิล์ม 16 ฟิล์ม 35 เท่านั้น ดิจิตอลไม่มี พอมาถึงยุคนี้สบายแล้วล่ะ มันมีดิจิตอลคราวนี้ผมจะทำเรื่องอะไรก็ได้ ผมเลยถอยออกมาจากวงการกระแสหลักพร้อมกับความเชื่อมั่นว่าทำหนังที่เราอยากทำได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร

ผมทะเยอทะยานอยู่ 2 เรื่องในชีวิตของผม หนึ่ง ผมอยากเล่าเรื่องที่ผมอยากจะเล่า ซึ่งมีอีกเยอะ ล้วนเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากจะเล่าในประเทศนี้ เช่น เรื่องต่อไปอยากจะทำเรื่องวังพิกุล เป็นตำนานหมู่บ้านผม จะทำไตรภาคเลย ผมจะดัดแปลงเรื่อง “เพื่อนบ้าน” เป็นแรงงานพม่า 2 คน ผมจะดัดแปลง “Old man and the sea” ของแฮมมิ่งเวย์ เป็นชาวนาต่อสู้กับทุนนิยมโลก มีเรื่องให้ทำเยอะแยะไปหมดเลย

สอง ผมท้าทายตัวเองเรื่องความเป็นภาพยนตร์ สังเกตหนังเรื่องนี้จะไม่ใช่รูปแบบทั่วไปอย่างที่เราเคยเห็น มันไม่ใช่อาร์ตจ๋า ไม่ใช่หนังดูยากอะไรเลย ดูง่าย แต่เป็นจังหวะอีกแบบหนึ่งซึ่งหาไม่ได้ในหนังทั่วๆ ไป ก็คือท้าทายว่าผมเข้าใจหนังแค่ไหน ที่ผมเข้าใจมันถูกหรือเปล่า ผมลองพิสูจน์ดู

ผมทำหนังให้คนดูอินกับมันแล้วจินตนาการ ให้เกียรติคนดูอย่างสูงสุดมันจะเป็นยังไง ท้าทายคนดูในจุดนี้ ท้าทายผมด้วยว่าจะเป็นยังไงต่อไป ผมก็ต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น

 

งานชิ้นนี้ได้รับทุนจากกระทรวงวัฒนธรรม มองการสนับสนุนแบบนี้จากรัฐอย่างไรบ้าง

จู่ๆ ก็มีโครงการนี้ขึ้นมา มันงดงามมากเลยนะ เปิดโอกาสให้ผู้กำกับตัวเล็กๆ อย่างผมได้เล่าเรื่องราวที่อยากเล่า ให้ป่าผืนนี้ได้มีความหลากหลายบ้าง

ตอนนี้วงการหนังไทยไม่มีความหลากหลายเลย มีแต่หนังตลก หนังรัก หนังผี หนังแอคชั่นฟอร์มใหญ่ซึ่งไร้สาระหมด ผมรู้สึกไม่มีความหลากหลาย ป่าผืนนี้มีแต่ยูคาลิปตัส มันน่าจะมีป่าหลายๆ ชนิดสิ กระทรวงวัฒนธรรมให้โครงการนี้ขึ้นมา สร้างความหลากหลายให้วงการ หนังเล็กๆ เต็มไปหมด ผมก็ได้ทำ บังเอิญจบแล้ว ไม่มีอีกแล้ว ป่าผืนนี้ก็จะยังเป็นป่าเสื่อมโทรมเหมือนเดิม ความหลากหลายไม่มีแล้ว ถ้าไม่มีโครงการนี้ผมก้ไม่มีหนัง แต่นั่นเป็นความคดเมื่อปีที่แล้วนะ ต่อจากนี้ไม่เกี่ยวแล้ว ไม่ให้ทุนก็ทำได้ ลงทุนเองมี 10 บาท ทำ 10 บาท ต่อไปไม่มีปัญหาเรื่องให้ทุนไม่ให้ทุน

สมมติผมทำเรื่องชีวิตคนทุกข์ยากในชนบท เป็นเรื่องสุขภาวะเลย ผมควรจะขอกระทรวงสาธารณสุข ผมควรจะได้เลย ถูกไหม ปรากฏว่าไม่ได้เพราะไม่เข้ากับวาระ ไม่เข้ากับนโยบายเขา การจ่ายเงินแต่ละครั้งมันมีเงื่อนไขพิเศษที่ไม่ตรงกับเรา ผมทำเรื่องชีวิตคนมอญ กระทรวงวัฒนธรรมต้องให้เงินผมสิ ยาก ขอทุนต่างประเทศก็เงื่อนไขเยอะมาก งั้นผมก็ทำเท่าที่ทำได้ก็แล้วกัน มีโอกาสขอทุนผมก็ขอ มีกล้องตัวนึง ทำเลย นี่คืออนาคตของหนัง ทุกคนสามารถทำหนังได้ โรงหนังไม่ใช่ผู้มีอำนาจอีกต่อไป นายทุนอย่าแหยม

ผมสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อจะสร้างทางเลือกใหม่ให้คนดูที่จะเสพอรรถรสภาพยนตร์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่นิยมดาษดื่นอย่างหนังทั่วไป เหมือนหนังฝรั่งที่พยายามยัดเยียดอะไรเข้ามา แต่หนังเรื่องนี้ไม่ยัดเยียดเลย ให้มาดูแล้วพิจารณาด้วยตัวเขาเอง แล้วจะพบความงดงามบางอย่าง รอยหยักสมองจะมากขึ้น จิตใจจะดีขึ้น แล้วจะเข้าใจสังคมเข้าใจชีวิตมากขึ้นเหมือนอ่านวรรณกรรม ผมดัดแปลงจากวรรณกรรม แล้วแต่ละเรื่องก็ทรงคุณค่ามาก ผมว่าเราน่าจะเรียนรู้ชีวิตคนอื่นเพื่อเรียนรู้ชีวิตตัวเอง ผมว่าชีวิตเกิดมาเพื่ออันนี้หรือเปล่า เพราะฉะนั้นมาส่งเสริมหนังทางเลือกเพื่อให้มีทางเลือกมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าไม่ส่งเสริมเลย ทางเลือกก็จะน้อยลง แล้วสุดท้ายเราก็เป็นทาสเขา ไม่มีสิทธิต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น

 

……………………………………………….

ความเห็นของผู้ชมภาพยนตร์

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย

สถานี 4 ภาค เป็นหนังที่น่าสนใจ เรียกว่าได้สะท้อนชีวิตของคนตัวเล็กๆ ในสังคม ซึ่งยอมรับทุกชีวิตในหนังคือชีวิตของคนไทยจริงๆ ที่มีอยู่ในประเทศเรา แต่อาจจะมีความเหลื่อมล้ำกันซะบางคนอาจจะไม่คิดถึงชีวิตของมนุษย์ที่อยู่ในสังคมเดียวกับเรา ซึ่งส่วนตัวกอล์ฟชอบ ชอบหนังที่เล่าเรื่องมนุษย์ที่ชายขอบ โดยเฉพาะคนตัวเล็กๆ ที่ต้องต่อสู้กับระบบที่มันใหญ่ๆ แล้วก็ทำลายทำร้ายคนตัวเล็กๆ อย่างที่เห็นในหนังทั้ง 4 ภาค ไม่ว่าอะไรที่มันถาโถมเข้ามา มันเป็นสงครามที่ต่อสู้ด้วยคนๆ เดียวมันยากอยู่แล้ว

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ

ผมว่าน่าสนใจตรงที่เอาเรื่องของนักเขียนมีชื่อเสียง 4 คนของเมืองไทยมารวมกัน แล้วทำให้ทั้งหมดมาเชื่อมโยงกันตรงชีวิตของคนธรรมดา แล้วทำให้เห็นว่าชีวิตของคนธรรมดามันต้องดิ้นรนยังไงบ้าง การดิ้นรนของตัวละครแต่ละตัวที่จะมีชีวิตอยู่รอดในระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหนังก็เล่าความดิ้นรนของตัวละครเหล่านี้คู่ขนานไปกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในบ้านเราในช่วงปี 2553 เป็นต้นมา มันทำให้เห็นว่าจริงๆ มีการเมืองซ่อนอยู่ในหนังเรื่องนี้ค่อนข้างมาก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมต. กระทรวงกลาโหมพม่าเผย ประเทศพร้อมยุติพลังงานนิวเคลียร์

Posted: 02 Jun 2012 03:48 PM PDT

ณ การประชุมสุดยอดด้านความมั่นคงเอเชียที่ประเทศสิงคโปร์ ตัวแทนจากพม่าเผย พร้อมยุติการใช้พลังนิวเคลียร์แล้ว นับเป็นครั้งแรกที่พม่ายอมรับเป็นทางการถึงความเคลื่อนไหวด้านนิวเคลียร์

 2 พ.ค. 55 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานการประชุมสุดยอดความมั่นคงเอเชียเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ณ ประเทศสิงคโปร์ว่า หล้า มิน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของพม่าเปิดเผยว่า รัฐบาลพม่าจะยุติการวิจัยการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศนับจากนี้ โดยเขากล่าวว่าเป็นผลมาจาก "ข้อจำกัดในทางปฏิบัติ" ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการขาดแคลนงบประมาณในการทำวิจัย 

"ในรัฐบาลใหม่นี้ เราได้ยุติกิจกรรมที่ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนิวเคลียร์ไปหมดแล้ว เราไม่มีแผนในอนาคตที่จะขยายผลเรื่องดังกล่าวต่อไป" พลเอกหล้า มินกล่าว โดยเขายอมรับว่าถึงแม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลทหารพม่ามีแผนที่จะเริ่มการศึกษาพลังงานนิวเคลียร์ แต่สำหรับรัฐบาลพลเรือนนี้ เขาระบุว่า ไม่มีนโยบายการใช้นิวเคลียร์ในฐานะอาวุธเพื่อการป้องกันประเทศอีกต่อไป 

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและเกาหลีเหนือด้วยว่า เป็นความสัมพันธ์ปกติเช่นเดียวกับความสัมพันธ์ทวิพาคีของประเทศอื่นๆ ทั่วไป 

อย่างไรก็ตาม หล้า มิน กล่าวว่า "ในอนาคต เราจะทำให้ความสัมพันธ์นี้เปิดเผยและโปร่งใสต่อสาธารณะ เราจะบรรลุซึ่งสิ่งนั้นให้ได้" 

ต่อข้อเสนอแนะที่จะให้หน่วยงานพลังงานอะตอมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบการใช้นิวเคลียร์แห่งสหประชาชาติ เข้ามาตรวจสอบการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ เขากล่าวว่า พม่าไม่มีอะไรจะให้ตรวจสอบ และมองว่ามันไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น