โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน: แรงงานข้ามชาติอีสานใต้ ความไม่ปลอดภัยจากการทำงานที่ถูกหลงลืม

Posted: 01 Nov 2010 01:01 PM PDT

เผยข้อมูลแรงงานข้ามชาติในอีสานใต้ มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ป่วยด้วยสารเคมีจากการทำงานภาคเกษตรเกินครึ่ง ชี้ค่าแรงต่อเดือนเพียง 1,500 บาท ด้านแรงงานภาคเกษตรส่วนใหญ่เป็นแรงงานเด็ก ชี้ความต้องการแรงงานสูง แต่คุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นกลับไม่มีใครหรือหน่วยงานใดให้การสนใจ

 
การหลั่งไหลเข้าประเทศไทยของประชาชนจาก สปป.ลาว มีหลายวัตถุประสงค์ด้วยกัน บ้างเข้ามาเพื่อการซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค การมาเยี่ยมญาติ มาเที่ยวงานบุญ มารักษาพยาบาล เนื่องจากในฝั่งไทยมีบุคลากรทางการแพทย์และมียาที่ดีกว่าในประเทศของตัวเอง และยังมีอีกจำนวนมากเดินทางเพื่อหางานทำ เป็นการเข้ามาแบบมีเอกสารแล้วไม่กลับบ้านของตัวเองตามระยะเวลาที่อนุญาต 
 
เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเขมราฐ จ.อุบลราชธานี รายงานว่า มีประชาชน สปป.ลาวไม่น้อยกว่า 50,000 คนต่อปีที่หลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยแล้วหายไป โดยไม่กลับคืนสู่บ้านของตัวเองตามระยะเวลาที่ขอข้ามแดนในเอกสาร อีกทั้งในพื้นที่ชายแดนอีสานใต้ยังมีแรงงานจาก สปป.ลาวที่ข้ามเขตมาทำงานตามฤดูกาลโดยไม่ทำเอกสารใดๆ แต่จะผ่านเข้ามาในชุมชนโดยมีนายหน้าเป็นผู้จัดการ เพื่อเข้ามาทำงานตามฤดูกาลเช่น ดำนา เกี่ยวข้าว ตัดอ้อย ปลูกยาสูบ ทำงานในสวนยางพารา อีกด้วย
 
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนรักษ์ ได้พัฒนาโครงการเพื่อทำกิจกรรมนำร่อง โดยเน้นการประสานความร่วมมือกับภาคีในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติ ในกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน 3 จังหวัดได้แก่ มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่หน้าด่านของอีสานใต้
 
แรงงานตามฤดูกาลในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานจาก สปป.ลาว ที่ไม่มีเอกสาร ไม่ได้จดทะเบียนตามเงื่อนไขของกรมจัดหางาน ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพ หรือเข้าถึงบริการอันควรจะได้รับ ต้องเจอกับสภาพปัญหาในหลายๆ ด้านที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพชีวิต อาทิ ไม่มีที่พัก ไม่มีห้องน้ำที่เหมาะสม นายจ้างมักจะให้นอนอยู่ในพื้นที่ไร่ นา เพื่อจะได้หลบหลีกไม่ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเห็น ไม่มีน้ำสะอาดใช้อย่างเพียงพอ และกินอยู่อย่างไม่ถูกสุขลักษณะในระหว่างการทำงาน เมื่อได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน หรือมีอาการเจ็บป่วย ก็จะไม่ไปหาหมอ เนื่องจากกลัวถูกจับ และมักจะไปหาหมอเมื่อมีอาการหนักแล้ว ทำให้รักษายากและส่งผลอันตรายต่อชีวิต การรับจ้างทำงานไม่มีอัตราค่าจ้างที่แน่นอน ไม่ได้คำนึงถึงอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละพื้นที่ 
 
แรงงานที่ทำงานในพื้นที่เกษตรที่มีการใช้สารเคมีสูง ไม่มีอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการป้องกันตัวเองจากสารเคมี แรงงานที่ทำงานตามสถานบันเทิง ไม่มีความรู้ในการรักษาตัวเอง ให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอดส์ และหลายคนกลายเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ เป็นต้น
 
นายสุนทร มิ่งแนน ผู้จัดการมูลนิธิพัฒนรักษ์ สำนักงานโขงเจียม ระบุว่า “จากการสำรวจพบว่าแรงงานจาก สปป.ลาวที่เข้ามาจะมาทำนา ปลูกอ้อย ปลูกมัน และในระบบเกษตรพันธสัญญา คือการปลูกพืชเพื่อเอาเมล็ดพันธุ์ ส่วนมากจะมีการรับจ้างเป็นรายวัน โดยต้องหักเป็นรายจ่ายค่านายหน้าในการมาทำงาน 20 บาท ค่าเหยียบแผ่นดินอีกหัวละ 20 บาท เป็นต้น โดยเดินทางมาครั้งละ 10 ถึง 20 คน แต่มีค่าแรงเพียงแค่วันละ 100-120 บาท มีการพักในเต็นท์นอน ซึ่งไม่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะซึ่งงานเกษตรในแปลงเกษตรส่วนใหญ่ก็จะเป็นแรงงานเด็ก 
 
สภาพการทำงานมีลักษณะเป็นโรงเรือน มีการกางมุ้งซึ่งเป็นพื้นที่ปิด โดยแรงงานจะต้องผสมเกสรของพืชเพื่อให้ได้พันธุ์ที่แท้จริง ซึ่งการทำงานจะต้องรับและสัมผัสสารเคมีจำนวนมากโดยตรง แต่กลับไม่มีการดูแลรักษาความปลอดภัยของตนเอง 
 
กรณีเป็นแรงงานเด็กที่มาเป็นลูกจ้างขายสินค้าตามบ้านเป็นงานที่ได้ค่าจ้างถูกเพียงแค่ 1,500 ต่อเดือน แต่จะต้องทำงานที่หนัก เช่น การแบกสินค้า ทำงานบ้านจนไม่มีโอกาสพบปะคนอื่นทำให้ถูกหลอกเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์มากขึ้น 
 
แรงงานอีกกลุ่มที่มีจำนวนมากไม่แพ้กัน คือ คนที่มาทำงานสถานบันเทิง เป็นพนักงานบริการ กลุ่มพนักงานร้อยละ 100 มาจาก สปป. ลาว เข้ามาทำงานในร้านคาราโอเกะ ถ้าเข้าไปในพื้นที่มุกดาหารจะอยู่ในรูปแบบของนวดแผนโบรานที่ใช้บังหน้าการขายบริการซึ่งมีจำนวนมาก แต่แรงงานภาคบริการเหล่านี้กลับไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือบริการด้านสุขภาพได้น้อยมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
 
จากการสำรวจข้อมูลของโครงการพบว่า แรงงานเหล่านี้ไม่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพเลย จากการลงพื้นที่ไปพูดคุยให้ความรู้เรื่องประเด็นสุขภาพ และเคยนำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปตรวจสุขภาพของแรงงานในฟาร์ม เพื่อตรวจสารตกค้าง ปรากฏว่ามาตรวจ 54 คน 4 คนแรกอันตราย 35 คนมีภาวะเสี่ยง ทุกคนที่เข้ามาตรวจจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อมที่เกิดจากสารเคมีทั้งสิ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จัดเวทีเพื่อให้ความรู้แก่แรงงานและผู้ประกอบการต่อไป
 
สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งมีแนวโน้มว่าแรงงานข้ามชาติจะเข้ามาทำงานมากยิ่งขึ้น เพราะด้วยสภาพของจุดผ่านแดนที่ผ่านได้ง่าย ภาคเกษตรมีความต้องการแรงงานที่สูงขึ้น ร้านค้ามีความต้องการแรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้นทุกร้าน แต่คุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นกลับไม่มีใครหรือหน่วยงานใดให้การสนใจ อีกทั้งปัจจุบันยังมีสถิติของการค้ามนุษย์ที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัวอีกด้วย 
 
อย่างไรก็ตามคุณภาพชีวิตแรงงาน ขึ้นอยู่กับคุณธรรมของนายจ้างอีกส่วนหนึ่งด้วยที่จะช่วยกันดูแลแรงงานให้ได้ดีมากน้อยเพียงใด ซึ่งตอนนี้ทางโครงการฯได้มีการสร้าแกนนำนายจ้างเพื่อให้ข้อมูลและให้ความรู้แก่นายจ้างให้เห็นประโยชน์และคุณค่าของแรงงานข้ามชาติ อีกทั้งจัดตั้งแกนนำแรงงานข้ามชาติในภาคส่วนต่างๆที่สนใจในเรื่องสุขภาพของตัวเอง โดยโครงการฯจะลงไปให้ความรู้เพื่อใช้ในถ่ายทอดความรู้ให้แก่แรงงานข้ามชาติคนอื่นๆอีกด้วย เพื่อช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติที่เป็นเพื่อนมนุษย์ไม่ต่างอะไรกับเราๆต่อไป” นายสุนทรกล่าว
 
 
หมายเหตุที่มา: ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency) ฉบับที่ 95 (1 พฤศจิกายน 2553)
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“จรัญ” แจงคลิปฉาวจ้องทำลายศาล รธน. ด้าน "อภิสิทธิ์" แนะใช้ พ.ร.บ.คอมฯ เล่นงานมือโพส

Posted: 01 Nov 2010 12:41 PM PDT

“จรัญ ภักดีธนากุล” แจงคลิปฉาวเป็นการบวนการทำลายศาล รธน. ลั่นเอาผิดคนเผยแพร่ ย้ำศาลจะไม่ออกมาตอบโต้ ยัน9ตุลาการไม่ใช่โสเภณีซื้อขายได้ ด้านชุดคลี่คลายคดีเผยแพร่คลิปยุบพรรค ปชป.ทำหนังสือถึง ICT บล็อกคลิปเก่า-ใหม่ รวม 8 คลิป พร้อมเผยยังไม่ออกหมายจับ “พสิษฐ์”

 
"จรัญ" ออกหน้ายันคลิปล่าสุดเป็นกระบวนการโค่นล้มศาล รธน.
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงเมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 1 พฤศจิกายน ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ถนนแจ้งวัฒนะ ถึงกรณีคลิปล่าสุดที่มีการสนทนาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวางแผนแก้เกมกรณีมีการกล่าวหาว่า ลักลอบนำข้อสอบการเข้าเป็นข้าราชการศาลรัฐธรรมนูญระดับ 3 ว่า ตนได้รับมอบหมายจากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้มาแถลง ถึงเหตุการณ์ที่เกิดคลิปดังกล่าว ล่าสุด เป็นการลักลอบแอบบันทึกในศาลเผยแพร่ต่อสาธารณชน สร้างความเสื่อมเสียให้ศาลมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง เปรียบเสมือนเป็นระเบิดที่ตามหลังลูกก่อนๆ ที่นำหน้ามาก่อนหน้านี้เพื่อทำลายล้างศาลรัฐธรรมนูญ จึงใช้ระเบิดลูกล่าสุดนี้ ระเบิดอีกครั้งเพราะลูกก่อนไม่รุนแรงพอ เพื่อบีบบังคับให้ดำเนินการตามความประสงค์ของคนที่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาคดีตามที่คนอยู่ในกระบวนการนี้มุ่งประสงค์ไว้เพื่อล่อให้คู่สนทนาติดกับ เหมือนที่ผู้กระทำเคยกระทำไว้ในคลิปชุดก่อนๆ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้โดยการติดต่อที่จะข่มขู่ เพราะถ้าไม่ยอมทำตามคำพิพากษาคดี ตามที่กลุ่มคนกลุ่มนี้ต้องการก็จะเปิดเผยข้อมูลในลักษณะนี้เพื่อวางแผนติดกับดักเป็นระยะ
 
ยันไม่มีลูกหลานตัวเองสอบเข้าศาล ลั่นจะทำความจริงให้ปรากฏ 
 
นายจรัญ กล่าวว่า โชคดีการวางแผนจัดทำข้อมูลเหล่านี้ได้เอาข้อมูลเท็จที่ทำลายล้างศาล โดยเฉพาะการกล่าวอ้างที่ตนได้ฝากให้ลูกเข้าไปเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ กล่าวหาตนมีส่วนร่วมฉ้อฉลกระบวนการโกงข้อสอบเลยไปถึงว่าให้เอาลูกของตนรู้ข้อสอบล่วงหน้าและทำให้สอบได้เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ศาลระดับ 3 ที่มีการสอบเมื่อ 2 ปีก่อนล้วนแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้พิสูจน์ได้ชัดในปัจจุบันไม่ยากเพราะมีหลักฐานยืนยัน
 
"ยืนยันได้ว่าไม่มีลูกหลานหรือคนที่เกี่ยวข้องกับผมได้รับการคัดเลือกมาเป็นข้าราชการในการสอบครั้งนั้นแล้วผมไม่เคยฝากฝังลูกหลานผม กับท่านอดีตเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ สำหรับคนที่วางแผนกับดักนี้พยายามพูดเชื่อมโยงให้มีข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายป้ายสีตุลาการชัดเจน" นายจรัญกล่าว
 
นายจรัญ กล่าวว่า ทางตุลาการจำเป็นต้องทำความจริงให้ปรากฏ ก่อนที่ข้อมูลเท็จดังกล่าวเผยแพร่ออกสร้างเสื่อมศรัทธาของประชาชนซึ่งตนก็ได้รับความเสียหายรุนแรงทั้งญาติ เพื่อนได้ทราบข่าวนี้ก็ฟังเหมือนจะหลงเชื่อตามข้อมูลเท็จนี้หมดแล้ว โชคดีที่ตนได้ชี้แจงยืนยันความจริง และขอเรียกร้องให้องค์กรสื่อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการพิสูจน์ความจริงของบ้านเราช่วยทำความจริงนี้ให้ปรากฏก่อนจะทำข้อมูลเท็จไปขยายผล
 
"ผมมีลูก 4 คนเรื่องที่เกิดขึ้นทำให้ลูกของผมเดือดร้อน เพราะ ลูกของผม2คนจบแพทย์ อีกคนทำอาชีพทนายความ คนสุดท้องกำลังเรียนแพทย์อยู่และกำลังทำงานที่ รพ.ฉะเชิงเทรา ดังนั้นไม่เคยมีลูกผมคนไหนสมัครสอบเข้าเป็นข้าราชการซี 3 ที่ไหนเลย ผมจึงชี้แจงว่ามีกระบวนการที่จะใส่ร้ายเล่นงานผมเพื่อให้กระทบต่อคำพิพากษาคดีของศาล เรื่องที่เกิดขึ้นผมไม่คิดว่า ผมต้องลาออกจากตุลาการ เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นการใส่ร้ายป้ายสี แต่ขอให้ข้อเท็จจริงปรากฏจนได้ข้อยุติก่อนจึงค่อยดูว่ามีใครต้องเกี่ยวข้องในกระบวนการดังกล่าวอย่างไร" นายจรัญกล่าว
 
ชี้ศาลจะไม่ออกมาตอบโต้ผ่านสื่อ
 
นายจรัญ กล่าวว่า จากนี้ไปศาลจะดำเนินการให้เข้าสู่กฎหมายบ้านเมืองต่อไปเพราะถ้าหากพูดต่อไปในสื่อประชาชนจะไม่มีวันทราบความจริงเป็นอย่างไร โดยเหตุนี้ มติของคณะตุลาการจึงออกมาไม่ควรไปตอบโต้ทางสื่อและข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ฝืนความจริงใส่ความหมิ่นประมาทตุลาการโดยเฉพาะตน ทั้งผิดทั้งผู้ทำและผู้เผยแพร่ก็มีความผิดตามกฎหมาย ผิดทางพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้มอบหมายเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญากับคนที่เผยแพ่รข้อมูลเหล่านี้ตามกฎหมายต่อไปในช่วงบ่ายหรือเย็นวันเดียวกันนี้
 
แจง 9 ตุลาการไม่ใช่โสเภณีซื้อขายได้
 
นายจรัญ กล่าวว่า ส่วนตุลาการ 2 ท่านที่เกี่ยวข้องกับคลิปที่เผยแพร่นั้น ท่านยืนยันว่ามีข้อมูลที่พร้อมจะพิสูจน์โดยตัวท่านเองแต่ตนไม่ทราบในลายละเอียด อีกทั้งที่ประชุมคณะตุลาการก็ยืนยันว่ามีข้อมูลที่สามารถชี้แจงได้ และแนวทางของคณะตุลาการจะไม่ออกมาต่อสู้คดีในสื่อเพราะไม่ชัดว่าถูกจริงแค่ไหน แต่เราจะดำเนินกระบวนการทางกฎหมาย และไม่หวังจะแก้ข่าวหรือออกมาโต้วิวาทะทางสื่อ ทั้งนี้กระบวนการทั้งหมดเป็นการวางแผนจัดทำลักลอบบันทึกโดยคนที่เรามั่นใจคนๆ เดียวกันก็วางแผนล่อให้นายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง พรรคปชป.มาติดกับโดยใช้วิธีการถามนำตุลาการ
 
"ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าคลิปชุดนี้มีการปิดบังข้อเท็จจริงหรือไม่ แต่เรารู้ว่าเป็นการเปิดคลิปเพื่อขจัดตุลาการออกจากองค์กรศาลทีละคนจนกว่าจะหมดจากองค์คณะและจะนำไปสู่แผนโค่นล้มทำลายล้างศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันแทน 9 ตุลาการว่าทั้งหมดไม่มีใครขายตัวเป็นโสเภณีแม้แต่คนเดียว เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปเพื่อต้องการข่มขู่ให้ตุลาการสยบยอม เมื่อตุลาการไม่กลัวการข่มขู่จึงต้องทำลายล้างตุลาการ" นายจรัญกล่าว
 
นายจรัญ กล่าวว่า ส่วนการทำความจริงให้ปรากฏของศาลนั้นต่อคลิปดังกล่าวล่าสุดนั้น ศาลคงไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่มาดำเนินการ เพราะขณะนี้คณะกรรมการสอบสวนชุดที่สอบคลิปก่อนหน้านั้นก็ยังถูกทำลายเช่นกัน ดังนั้นศาลต้องใช้กระบวนการภายนอกศาลโดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายเพื่อหาคนผิดมาลงโทษไม่ว่าจะผิดฐานใด
 
“อภิสิทธิ์” แนะใช้ พ.ร.บ.คอมฯ เล่นงานมือโพสคลิปฉาว
 
เนชั่นทันข่าว รายงานว่า วานนี้ (1 พ.ย.53) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การเผยแพร่คลิปที่ชื่อว่า “พฤติกรรมศาลรัฐธรรมนูญไทย” ที่เป็นการดิสเครดิตศาลรัฐธรรมนูญ ว่า เรามีพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งหน่วยงานต่างๆต้องทำหน้าที่ในการดูแลการบังคับใช้กฎหมายนี้อยู่ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าเรื่องของการใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตในการปล่อยข้อมูลต่างๆ เป็นเรื่องที่กำกับดูแลยาก และต้องมีความระมัดระวัง เพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการแจ้งความ ก็มีการดำเนินการกันไปตามกฎหมาย 
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าแต่ละสถาบันต้องช่วยกันแก้ปัญหา ทางศาลฯก็ต้องมีท่าทีที่ชัดเจนในการชี้แจงตามข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และต้องให้ความมั่นใจให้ได้ว่าการตัดสินคดีนั้นเป็นไปตามเนื้อของคดี เพื่อไม่ให้ได้รับความกระทบกระเทือนอะไร แต่อะไรที่ส่งผลกระทบ เราก็ต้องมาทำ 
 
เมื่อถามว่าดูเหมือนมีการพยายามนำประเด็นนี้มาเป็นเรื่องของการเมือง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงมีความพยายามที่จะลดความน่าเชื่อถือของศาล แต่ทั้งหมดอยู่ที่การอธิบาย ซึ่งสิ่งที่ตนย้ำมาตลอดคือเวลาที่เรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นศาลใดก็ตาม และในเรื่องนั้นๆส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในทางการเมือง ก็ไม่มีอะไรที่ดีกว่าการอธิบายเหตุและผลที่เป็นที่มาของคำตัดสิน ซึ่งนี่เป็นจุดหลัก เพราะฉะนั้น ตนสังเกตว่าระยะหลัง คำพิพากษารือคำวินิจฉัยของหลายคดีมีความละเอียดมาก ซึ่งช่วยได้โดยอย่างน้อยที่สุดทำให้มีคำตอบสำหรับคนที่ไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วย 
 
ต่อข้อถามว่าในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ได้เตรียมคำชี้แจงในเรื่องนี้อย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีคลิปวีดีโอที่นายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง และคณะทำงานฝ่ายกฎหมายในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ถูกกล่าวหาว่าไปวิ่งเต้นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการล้มคดียุบพรรค ซึ่งมีนายเทอดพงศ์ ไชยนันทน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ได้สอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว คงจะส่งรายงานการสอบสวนมาให้ตนได้ภายใน 1-2 วันนี้
 
 
สั่งบล็อกอีก 3 คลิปยุบพรรค ปชป. - ยังไม่ออกหมายจับ “พสิษฐ์”
 
ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าวันเดียวกันนี้ (1 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่กองบัญชาการสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ที่ปรึกษา (สบ 10) พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รอง ผบช.ก.ได้ประชุมพนักงานสืบสวนสอบสวนกองปราบปรามในคดีเผยแพร่คลิปยุบพรรคประชาธิปัตย์ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ห้องมณีรินทร์ บช.ก. โดยใช้เวลาในการประชุมกว่า 1 ชั่วโมง
 
พล.ต.ต.ปัญญากล่าวภายหลังการประชุมว่า วันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาในหลายเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกที่ประชุมได้พิจารณาว่าได้มอบหมายให้กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ทำหนังสือถึงกระทรวงไอซีทีเพื่อบล็อกคลิปทั้ง 8 คลิป คลิปเก่า 5 คลิป คลิปใหม่อีก 3 คลิป เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย บก.ปอท.ก็ได้ไปทำมาเรียบร้อยแล้ว อีกเรื่องที่ประชุมพิจารณาเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้เลขาธิการศาล รธน.มาแจ้งความร้องทุกข์ที่พนักงานสอบสวนกองปราบปรามเป็นการกล่าวหาเจ้าหนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เปิดเผยความลับราชการ ซึ่งได้พิจารณาเรื่องนี้เข้ามาในสำนวนการสอบสวน
 
พล.ต.ต.ปัญญากล่าวอีกว่า ประกอบกับพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ จากร้านที่เกิดเหตุ ที่พบว่ามีการมาพบพูดจากันในลักษณะที่อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 198 และที่เกิดเหตุในศาลรัฐธรรมนูญที่ปรากฏในคลิป การรวบรวมพยานหลักฐานเดิมจะขออนุมัติจับกุมผู้กระทำผิด แต่เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องในการกระทำผิดครั้งนิ้ เป็นตัวการ สนับสนุน เป็นเจ้าพนักงานตามที่เลขาฯ ศาลมาร้องทุกข์ไว้ ที่ประชุมมีมติให้ส่งเรื่องไปยังฝ่ายกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติดูอีกครั้งว่าเขาเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่อย่างไร เพื่อพิจารณาส่งป.ป.ช.ภายใน 30 วันหรือไม่ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา
 
“ส่วนผู้ที่ปล่อยคลิป ทาง บก.ปอท.ได้ใช้ความพยายามในหลายส่วนด้วยกัน ตั้งแต่การตรวจสอบในประเทศ กับการประสานฝ่ายต่างประเทศของยูทิวบ์ และส่วนที่เกี่ยวข้องแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งเราคงต้องทำเป็นทางการไป เราต้องรอความร่วมมือ แต่การได้มาของพยานหลักฐานส่วนหนึ่ง คือ การสืบสวน ซึ่งต้องหาอีกสักระยะ ถึงตอนนี้พยานหลักฐานที่มีพอจะออกหมายจับได้ แต่เมื่อเป็นเจ้าพนักงานก็ต้องส่ง ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการในการแจ้งข้อหาดำเนินคดี” รอง ผบช.ก.กล่าว
 
พล.ต.ต.ปัญญากล่าวอีกว่า สำหรับคลิปที่มีการเผยแพร่เพิ่มนั้นที่ประชุมมติเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันก็จะรวมมาทำเป็นคดีเดียวกันอยู่ในคณะทำงานชุดนี้ สำหรับคนที่จะออกหมายจับนั้นเป็นผู้ที่กระทำความผิดหลายส่วนด้วยกัน เป็นผู้รวบรวมเรื่องราว เป็นผู้กระทำผิดในการเอาข้อมูลต่างๆ มาสู่การกระทำผิด ซึ่งจากการดูเที่ยวบินเชื่อว่าน่าจะออกไปนอกประเทศแล้ว
 
ต่อมาเมื่อเวลา 10.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีมีคลิปลับของคนในศาลรัฐธรรมนูญออกมาอีก 1 คลิปว่า การตรวจสอบเรื่องคลิปนี้ก็จะให้ คณะกรรมการตรวจสอบเรื่องคลิปชุดแรกของ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ที่ปรึกษา (สบ 10) เข้าไปดูแล รวมถึงประสานหน่วยที่เกี่ยวข้องกรณีที่มีคลิปลักษณะเช่นนี้เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต โดยตำรวจจะไปบังคับใช้กฎหมายกรณีที่การเผยแพร่เข้าข่ายความผิด
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สงขลาไฟฟ้าดับทั้งเมือง เร่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยง

Posted: 01 Nov 2010 12:07 PM PDT

หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สงขลา ระบุ สงขลาไฟฟ้าดับทั้งเมือง พร้อมสั่งเร่งอพยพประชาชนริมชายฝั่งทะเลออกจากพื้นที่ ขณะที่การสื่อสารติดขัด ด้านกรมอุตุฯ ประกาศเตือนภัย ฉบับ 7 ระบุพายุดีเปรสชันขึ้นฝั่งบริเวณ อ.สทิงพระ จ.สงขลาแล้ว จ่อเข้า ตรัง กระบี่ และภูเก็ต ในคืนนี้ 

 
วันนี้ (2 พ.ย.53) เมื่อเวลา 00:26 น.สถานีโทรทัศน์ทีวีไทยรายงานผ่านทางเว็บไซต์ ระบุว่า นายวิจิตร จันทรปาน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดสงขลา กล่าวถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดสงขลา ว่า ตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่กำลังเฝ้าระวังสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยล่าสุดสถานการณ์ตอนนี้ไฟฟ้าดับทั้งเมือง ซึ่งเบื้องต้นได้แจ้งให้อพยพประชาชนริมชายฝั่งทะเลทั้งหมด อย่างไรก็ดียังมีหลายพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่เข้าไปไม่ถึงเพราะความแรงของกระแสน้ำ
 
นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งว่า ยังมีประชาชนติดอยู่ในพื้นที่จำนวนหนึ่ง รวมถึงผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสะเดาที่มีผู้ป่วยตกหนักค้างอยู่ในพื้นที่ซึ่งแพทย์ประจำโรงพยาบาลกำลังดูแลให้พ้นคืนนี้ไปก่อน ส่วนการระบายน้ำในพื้นที่ยังทำได้ตามปกติ แต่บางพื้นที่น้ำอาจจะไหลไม่ทันซึ่งอาจจะทำให้ท่วมสูงขึ้นไปอีก
 
ด้านเนชั่นทันข่าว ระบุมีรายงานแจ้งว่า ในพื้นที่ อ.สทิงพระ อ.ระโนด จ.สงขลา มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากแรงลมพายุดีเปรสชั่นกรรโชก ส่งผลให้หลังคาบ้านเรือนประชาชนปลิวว่อน กระจกประตู หน้าต่างแตกจำนวนหลายหลัง รวมถึงต้นไม้ พืชผล สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ได้รับความเสียหายจำนวนมาก ในเบื้องต้นยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ขณะเดียวกันการติดต่อสื่อสารในพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่สามารถติดต่อหากันได้
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่การติดต่อสื่อสารในพื้นที่ดังกล่าวจะเกิดปัญหาไม่สามารถติดต่อหากันได้นั้น ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ อ.สทิงพระทราบว่า ลมพายุกรรโชกแรงมาก ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นและประสบเหตุมาก่อน ชาวบ้านในพื้นที่ต่างตกใจและหวาดกลัวกันมาก โดยระหว่างที่มีการพูดคุยสอบถามสถานการณ์อยู่นั้นก็ยังคงมีลมพัดกรรโชกแรงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสัญญาณโทรศัพท์ขาดหายไป และไม่สามารถติดต่อกันได้อีก
 
เช่นเดียวกับในพื้นที่ อ.เมืองสงขลาก็ประสบเหตุลมพายุกรรโชกแรง ส่งผลให้ศาลากลางจังหวัดสงขลา กระจกแตกจำนวนมาก รวมไปถึงบ้านเรือนประชาชนด้วย ต้นไม้หักโค่นหลายต้น อีกทั้งกระแสไฟฟ้าก็ถูกงดปล่อยกระแสไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว ส่งผลให้พื้นที่ตัวเมืองสงขลาอยู่ในความมืด
 
ขณะที่ ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าเมื่อเวลา 01.30 น.กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัย"พายุดีเปรสชันในอ่าวไทย"ฉบับที่ 7 ระบุว่า เมื่อเวลา 01.00 น. วันนี้ (2 พ.ย) พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวไทยตอนล่างได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณ อ.สทิงพระ จ.สงขลา (เมื่อเวลา 23.30 น. วันที่ 1 พ.ย.53)แล้ว โดยมีศูนย์กลางบริเวณจังหวัดพัทลุงมีความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 50 กม./ชม. พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้วยความเร็วประมาณ 15 กม./ชม. คาดว่า จะเคลื่อนตัวในแนว จ.ตรัง กระบี่ และภูเก็ต ในคืนนี้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้ทั้งสองฝั่งตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไป มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ รวมทั้งคลื่นลมแรงโดยมีคลื่นสูง 3-5 เมตร
 
ขอให้ประชาชนที่อาศัยใน พื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่ทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง รวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลของภาคใต้ฝั่งตะวันออกระมัดระวัง อันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าสู่ฝั่ง ชาวเรือควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
 
อนึ่ง ในระยะ 3-4 วันนี้ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปก คลุมประเทศไทย ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไปกับมีลมแรง สำหรับภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิต่ำสุด 12-16 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณยอดดอยและยอดภู อุณหภูมิต่ำสุด 6-12 องศาเซลเซียส จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและเตือนภัย จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลปกครองไม่รับคำฟ้อง "พันธมิตร" ร้องระงับสภาลงมติ MOU ไทย-กัมพูชา

Posted: 01 Nov 2010 11:37 AM PDT

ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง 2 คดีของ “พันธมิตร” กรณีขอให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจ MOU ไทย-กัมพูชา ชี้การดำเนินการของผู้ถูกฟ้อง เป็นขั้นตอนของการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 

 
เนชั่นทันข่าว รายงานว่าที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 1 พ.ย.53 เวลา 19.30 น. นายชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวน และองค์คณะ คดีหมายเลขดำที่ 1693/2553 มีคำสั่งไม่รับฟ้อง คดีที่ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ กับพวกรวม 4 คน ยื่นฟ้อง นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เรื่อง กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน และไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 รวมทั้งขัดรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 190 และไม่บริหารราชการแผ่นดินตามคำแถลงนโยบายของ ครม.ที่แถลงต่อรัฐสภา 
 
จากกรณีที่ รมว.ต่างประเทศ ใช้อำนาจบริหาร เสนอเรื่องบันทึกผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา (JBC) 3 ครั้ง ในการทำบันทึกความเข้าใจสภาพแวดล้อมพื้นที่ชายแดนรอบปราสาทพระวิหาร เข้าสู่ที่ประชุมของสมาชิกรัฐสภา โดยเปิดให้มีการอภิปรายเมื่อวันที่ 26 ต.ค.53 ทั้งๆ ที่บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทย - กัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก หรือ MOU ลงวันที่ 14 มิ.ย.43 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และประชาชนไทยได้โต้แย้งคัดค้านมาโดยตลอดขั้นตอน โดยที่ประชุมสภาได้กำหนดวาระที่จะลงมติเกี่ยวกับ MOU 43 ดังกล่าว ในวันที่ 2 พ.ย.นี้ หากปล่อยให้มีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อไป ย่อมเป็นการแสดงเจตนายืนยันชัดแจ้งถึงการยอมรับในแผนที่กำหนดแนวเขต MOU 43 ดังกล่าวที่จะส่งผลให้เป็นสนธิสัญญาที่มีผลบังคับทั้งสองฝ่าย แล้วจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตอย่างชัดเจนและกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทยทุกคนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างร้ายแรง ที่อาจแก้ไขเยียวยาภายหลังไม่ได้ 
 
โดยศาลพิเคราะห์คำฟ้อง คำขอท้ายฟ้องและเอกสารอื่นๆ ในคดี รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องทั้งสี่ อ้างว่าอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนชาวไทยโดยรวม เพราะการกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้งสอง ที่จะนำบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา (JBC) 3 ฉบับ คือ บันทึกการประชุม JBC สมัยสามัญ ณ เมืองเสียมราฐ วันที่ 10-12 พ.ย.51 , ครั้งที่ 4 ณ กรุงเทพ ฯ วันที่ 3-4 ก.พ.52 และสมัยวิสามัญ ณ กรุงพนมเปญ วันที่ 6-7 เม.ย.52 เสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบในวันที่ 2 พ.ย.นั้น เป็นการเสนอบันทึกการประชุม JBC เพื่อให้รัฐสภาเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 190 วรรคสอง ภายหลังที่นายกรัฐมนตรี และ ครม. ได้เสนอกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย - กัมพูชา ตลอดแนวในกรอบของ JBC และกลไกอื่นๆ ภายใต้กรอบนี้ต่อรัฐสภา โดยในการประชุมร่วมกันรัฐสภาครั้งที่ 5 สมัยสามัญนิติบัญญัติ เมื่อวันที่ 28 ต.ค.51 ได้ให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสามแล้ว ซึ่งบันทึกการประชุมของ JBC และข้อตกลงชั่วคราวระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชาทั้ง 3 ฉบับ ได้อ้างถึงบันทึกบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทย - กัมพูชา เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.43 และข้อกำหนดและแผนแม่บทสำหรับการสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 25 ส.ค.46 ที่ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ได้ดำเนินการก่อนหน้านี้แล้ว 
 
การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ลงนาม MOU 43 และข้อกำหนดและแผนแม่บทฯ ดังกล่าว และจัดประชุม JBC รวมทั้งเสนอบันทึกการประชุมต่อรัฐสภา 3 ฉบับให้ความเห็นชอบนั้น การกระทำได้มาถึงขั้นให้รัฐสภาตรวจสอบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งเป็นขั้นตอนการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ตามบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญฯ ไม่ได้เป็นขั้นตอนการใช้อำนาจทางปกครองของผู้ถูกฟ้องทั้งสอง อีกทั้งรัฐสภาก็ต้องพิจารณาตรวจสอบบันทึกความเข้าใจ ( MOU) ระหว่างรัฐบาลไทย - กัมพูชา เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.43 รวมทั้งข้อกำหนดและแผนแม่บทสำหรับการสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 25 ส.ค.46 ที่อ้างในข้อตกลงชั่วคราวระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชาทั้ง 3 ฉบับ รวมทั้งเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องเช่นกัน
 
ดังนั้นกรณีพิพาทของผู้ฟ้องดังกล่าว จึงไม่ใช่ข้อพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
 
ด้านมติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า ในส่วนคดีที่นายวีระ สมความคิด และคณะรวม 7 คนยื่นฟ้องนายกฯ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประธานคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา และประธานรัฐสภาในข้อหาที่คล้ายคลึง ศาลปกครองกลางก็มีคำสั่งไม่รับฟ้อง
 
ศาลเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ที่ผู้ฟ้องทั้ง 7 อ้างว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อผู้ฟ้องและประชาชนชาวไทยโดยรวม การดำเนินการของผู้ถูกฟ้อง เป็นขั้นตอนของการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หาใช่เป็นการขั้นตอนการใช้อำนาจทางปกครองไม่ 
 
อีกทั้งรัฐสภาต้องพิจารณาสาระสำคัญของเอ็มโอยูฯ กรณีข้อพิพาทของผู้ฟ้องคดีทั้ง 7 จึงมิใช่ข้อพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่ศาลจะรับคดีนี้ไว้พิจารณา จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศอฉ.เปิดทาง พธม.ชุมนุมได้ ด้าน กอ.รมน.ประเมินชุมนุมไม่มาก เชื่อไม่ยืดเยื้อ

Posted: 01 Nov 2010 11:00 AM PDT

โฆษก ศอฉ.เผยมีนโยบายแน่ชัดต่อการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ เน้นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมแนะพันธมิตรฯ ชุมนุมพรุ่งนี้ตามกรอบกฏหมาย เชื่อไม่มีเหตุวุ่น ด้านโฆษกกอ.รมน.ย้ำแค่แสดงเจตนารมย์ก็ทำได้ ขู่ถ้าทำผิดฟันไม่เลือก เผยฝ่ายข่าวระบุผู้ชุมนุมมาไม่เยอะ 

 
วานนี้ (1 พ.ย.) ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ.กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรจะชุมนุมในวันนี้ (2 พ.ย.) ที่บริเวณลานพระบรมรูปฯ ก่อนที่จะเคลื่อนตัวไปที่บริเวณรัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเพิกถอนวาระการลงมติบันทึกกรอบการเจรจาคณะกรรมาธิการชายแดนร่วมไทย - กัมพูชา (เจบีซี) ว่า เรื่องนี้ทาง ศอฉ.ยังไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดคุย เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การชุมนุมแต่ละครั้ง ทาง ศอฉ.มีนโยบายแน่ชัดต่อการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ซึ่งทุกครั้งเราจะเน้นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม ทั้งนี้เพราะถือว่า บริเวณการชุมนุมดังกล่าว เป็นพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทุกครั้งที่จะชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบในพื้นที่ต้องติดต่อประสานงานกับแกนนำผู้ชุมนุมถึงขั้นตอนต่างๆ ว่า อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้สังคมวิตกกังวลต่อสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องยึดกรอบกติกา แนวทางการปฏิบัติตามสิทธิ์ของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญด้วย
       
"แนวโน้มการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรที่จะชุมนุมนั้น ทาง ศอฉ.มั่นใจว่า ไม่น่าจะมีเหตุการณ์อะไรวุ่นวาย เพราะมีนโยบายที่ชัดเจนต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในดูแลรักษาความปลอดภัยหรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อะไรต่างๆ และทุกครั้ง พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. จะรับนโยบายไปปฏิบัติตามที่ ศอฉ.มอบหมายไป" พ.อ.สรรเสริญ กล่าว
       
ด้าน พล.ต.ดิฏฐพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า การชุมนุมในพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นกลุ่มไหน หากการกระทำอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ แต่หากทำผิดกฎหมายคงไม่ได้
 
"เชื่อมั่นว่ากลุ่มพันธมิตรจะชุมนุม (วันที่ 2 พ.ย.) ไม่ยืดเยื้อ เพียงแต่มาแสดงเจตนารมณ์ สามารถทำได้ ดังนั้น เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร ทั้งนี้ จากฝ่ายข่าวที่รายงานมาว่า จะมีผู้มาร่วมชุมนุมจำนวนไม่มาก หากการชุมนุมเกินกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมก็สามารถร้องขอกำลังทหาร จาก ศอฉ.เพื่อสั่งกองทัพภาคที่ 1 มาสนับสนุนได้" พล.ต.ดิฏฐพรกล่าว
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรมอุตุฯ เตือนภัยฉบับ 6 ระบุภาคใต้ฝนหนัก พายุขึ้นฝั่งคืนนี้

Posted: 01 Nov 2010 10:24 AM PDT

ประกาศเตือนภัย "พายุดีเปรสชันในอ่าวไทย"ฉบับที่ 6 เมื่อเวลา 22.30 น.พายุจ่อเข้าภาคใต้ หลายพื้นที่ฝนตกหนัก เตือน ปชช.ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่ทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน

 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 22.30 น.วันที่ 1 พ.ย.กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัย "พายุดีเปรสชันในอ่าวไทย" ฉบับที่ 6 ว่า เมื่อเวลา 22.00 น. วันนี้ (1 พ.ย) พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง มีศูนย์กลางห่างประมาณ 40 กิโลเมตร ทางตะวันออก ของ จ.สงขลา หรือที่ ละติจูด 7.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 100.6 องศาตะวันออก มีความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 50 กม./ชม. พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้วยความเร็วประมาณ 15 กม./ชม. คาดว่า จะเคลื่อนขึ้นฝั่งในแนว จ.สงขลา และนครศรีธรรมราช โดยจะเคลื่อนผ่านบริเวณ จ.พัทลุง สตูล ตรัง กระบี่ ภูเก็ต และพังงา ในคืนนี้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้ทั้งสองฝั่งตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไป มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ รวมทั้งคลื่นลมแรงโดยมีคลื่นสูง 3-5 เมตร
 
ขอให้ประชาชนที่อาศัยใน พื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่ทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง รวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลของภาคใต้ฝั่งตะวันออกระมัดระวัง อันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าสู่ฝั่ง ชาวเรือควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
 
อนึ่ง ในระยะ 3-4 วันนี้ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปก คลุมประเทศไทย ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไปกับมีลมแรง สำหรับภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิต่ำสุด 12-16 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณยอดดอยและยอดภู อุณหภูมิต่ำสุด 6-12 องศาเซลเซียส จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและเตือนภัย จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
 
ด้านเนชั่นทันข่าว รายงานว่า ในวันเดียวกัน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีศูนย์กลางห่างประมาณ 160 กิโลเมตร ทางตะวันออกของจังหวัดสงขลา มีความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยพายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งแนวจังหวัดปัตตานี สงขลา และนครศรีธรรมราช โดยเคลื่อนผ่านจังหวัดบริเวณจังหวัดพัทลุง สตูล ตรัง กระบี่ ภูเก็ต และพังงา ในคืนนี้(1พ.ย.) ซึ่งจะทำให้บริเวณภาคใต้ทั้งสองฝั่งตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป มีฝนเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ รวมทั้งมีคลื่นลมแรงโดยมีคลื่นสูง 3 - 5 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่ทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง รวมทั้งผู้ที่อาศัยบริเวณชายฝั่งทะเลของภาคใต้ตะวันออกระมัดระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าสู่ฝั่ง ชาวเรือควรงดออกจากฝั่ง 
 
นายวิบูลย์ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมว่า ให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 (ประจวบคีรีขันธ์) เขต 11 (สุราษฎร์ธานี) เขต 12 (สงขลา) เขต 18 (ภูเก็ต) และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในเขตความรับผิดชอบ โดยจัดเจ้าหน้าที่อยู่เวรเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานพิเศษ: สงครามชาวบ้าน-รัฐทาสนายทุน ความรุนแรงรอบใหม่พื้นที่เหมืองแร่โปแตช อุดรธานี

Posted: 01 Nov 2010 08:52 AM PDT

จุดเริ่มต้นของความรุนแรง

นับจากที่รัฐบาลไทยออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2523 เชิญชวนให้เอกชนยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริษัท อะกริ โปแตช จำกัดบริษัทสัญชาติแคนนาดา (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเอเชียแปรซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัดหรือ เอพีพีซี) ได้ทำสัญญาและได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทย โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (เดิมคือกรมทรัพยากรธรณี) กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ประกอบกิจการเหมืองแร่ พัฒนา และหาประโยชน์จากแหล่งแร่ ที่บริษัทฯ ได้ทำการเจาะสำรวจและมีความเป็นไปได้ในเชิงพานิชย์ ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 4 ตุลาคม 2527 และต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกาบน 2537 มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม 
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2543 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกอาชญาบัตรพิเศษแก่บริษัทฯ จำนวน 53 แปลง ครอบคลุมเนื้อที่ 120,000 ไร่ ในอำเภอเมืองอุดรธานีและอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จากการสำรวจนั้นพบว่าในจังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งแร่โปแตชที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง เกรดดี เป็นแร่โปแตชชนิดซิลไวท์ มีคุณภาพทัดเทียมกับที่พบในประเทศแคนาดา แร่ที่พบนี้อยู่ที่ระดับความลึกประมาณ 300 - 400 เมตร และในแหล่งอุดรเหนือมีปริมาณแร่สำรองประมาณ 700 ล้านตัน และในแหล่งอุดรใต้ มีปริมาณสำรอง 300 ล้านตัน บริษัทฯ จึงได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2547 ได้รับจดทะเบียนคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดินเพื่อผลิตแร่โปแตชในพื้นที่แหล่งอุดรใต้ จำนวน 22,437 ไร่ ครอบคลุมอำเภอเมืองอุดรธานี และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547 ได้รับจดทะเบียนคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดินเพื่อผลิตโปแตชในแหล่งพื้นที่อุดรเหนือ จำนวน52,037 ไร่ ครอบคลุมอำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอประจักษ์ศิลปาคม และอำเภอหนองหาน รวมแล้ว 74,474 ไร่ โดยหวังจะเปิดทำเหมืองแร่ใต้ดินในพื้นที่ทั้งหมด 
 
จากรายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้จัดทำรายงานตรวจสอบปัญหาความขัดแย้งจากโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เมื่อปี 2550 มีความเห็นว่าโครงการนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อราษฎร และคุณภาพสิ่งแวดล้อมในวงกว้างมาก พื้นที่การขุดทำเหมืองใต้ดินนั้นซ้อนทับกับพื้นที่ที่มีราษฎรอยู่อาศัย ทำกิน ชุมชน เป็นที่ตั้งของเมือง เกือบแปดหมื่นไร่ จึงสร้างความวิตกกังวลให้กับราษฎรในหลายประการ เช่น การทำเหมืองใต้ดินอยู่ด้านล่างของที่อยู่อาศัย ทำกิน มีทั้งชุมชนชนบทและชุมชนเมือง ราษฎรกลัวว่าหากเหมืองใต้ดินถล่ม จะทำให้ที่ดินด้านบนถล่มตามไปด้วย จะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งการรับรองต่อระบบป้องกันมลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อมตามคำมั่นของผู้ประกอบการ ราษฎรไม่เชื่อมั่น เกรงว่าเมื่อทำเหมืองใต้ดินแล้ว การขุดเกลือ น้ำเกลือ ฝุ่นเกลือ จะส่งผลต่อสภาพแวดล้อม ที่ดินทำกิน รวมถึงน้ำเกลืออาจไหลลงแหล่งน้ำสำคัญทำให้กลายเป็นน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม และเมื่อคิดค่าใช้จ่ายสำหรับระบบป้องกันมลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อมให้ได้ผลตามคำมั่นแล้ว คาดว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากกว่ารายได้จากการขายแร่โปแตช หากเกิดปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็ม น้ำเค็ม และสภาพแวดล้อมเสียหาย ฯลฯ ก่อให้เกิดค่า ใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาสูงมากซึ่ง เมื่อถึงเวลานั้นรัฐซึ่งหมายถึงคนไทยทั้งประเทศต้องเข้ามารับภาระในการแก้ไขปัญหา
 
กรณีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากกากแร่หรือกองเกลือซึ่งในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเดิมที่ผ่านความเห็นชอบของ คชก. เมื่อปี 2543 นั้นระบุว่าจะมีกองเกลือที่มีความยาว 1.000 เมตร กว้าง 600 เมตรและสูง 40 เมตร จำนวน 20 ล้านตัน ซึ่งกองเกลือดังกล่าวมีความสูงกว่าบ้านเรือนของประชาชนและต้นไม้ในพื้นที่โครงการ อันมีลักษณะเป็นภูเขาเกลือขนาดมหิมา และจะถูกทิ้งไว้โดยไม่มีสิ่งปกปิด เป็นเวลา 50 ปี เมื่อถึงฤดูแล้งที่อากาศแห้งและลมพัดแรงฝุ่นผงเกลือก็จะฟุ้งกระจายไปในอากาศ เมื่อถึงฤดูฝนในกรณีฝนตกหนักหรือเกินน้ำท่วม เกลือปริมาณ 20ล้านตัน จะถูกชะล้างลงสู่ดินและแหล่งน้ำต่างๆ ในสภาพแวดล้อม ทำให้นาข้าวเสียหายได้อย่างรุนแรง ทำลายป่าไม้ และแหล่งน้ำธรรมชาติทุกแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นหนองน้ำ อ่างเก็บน้ำหรือแม่น้ำลำคลองในบริเวณหลายตารางกิโลเมตรโดยรอบ 
 
นอกจากนี้จากรายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ ยังอ้างถึงคำชี้แจงของผู้ประกอบการ ว่าการทำเหมืองแร่โปแตชจะทำเพื่อใช้ในประเทศไทยใช้เพียง 20 % ของที่ขุดได้ อีก 80 % ส่งออก โดยคณะกรรมการสิทธิฯ เห็นว่า หากเทียบกับการซื้อแร่โปแตชจากต่างประเทศเข้าใช้ 20 % ค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับผลเสียต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กับปัญหาความวิตกกังวล และความแตกความสามัคคีของราษฎรและสภาพแวดล้อมที่เสียหาย จะมีความคุ้มค่ามากว่า เพราะการทำเหมืองโปแตชนี้ทำให้รัฐมีรายได้ปีละประมาณ 600 ล้านบาท คิดแล้วไม่เกินร้อยละ 5 ของรายได้ของผู้ประกอบการเท่านั้น ตลอดทั้งการที่มีคนทำงานประมาณ 900 คน นั้นนับเป็นการไม่คุ้มค่ากับผลเสียต่างๆ เป็นต้นว่า ดินเสีย มลพิษ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ 
 
ตั้งแต่ขั้นตอนการดำเนินการสำรวจและยื่นคำขอประทานบัตรของ บริษัทฯ ได้รับการคัดค้านจากประชาชนในท้องที่ โดยเมื่อปี 2545 ประชาชนในท้องที่ตำบลโนนสูง และตำบลหนองไผ่ อำเภอเมืองอุดรธานี ตำบลห้วยสามพาด และตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคมได้รวมตัวกันตั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีขึ้น และแสดงตัวเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเหมืองแร่ใต้ดินอย่างจริงจังทุกขั้นตอนจนปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช
 
อุดรธานีเป็นที่รับรู้ในสังคมไทย และเผยให้เห็นว่านโยบายการพัฒนาเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสานไม่ได้มีเพียงในจังหวัดอุดรธานีเท่านั้นหากแต่มีโครงการลักษณะเดียวกันในอีก 6 จังหวัดภาคอีสานรวมแล้วพื้นที่กว่า 7 แสนไร่ 
 
 
ความรุนแรงกับการปักหมุดเขตเหมืองแร่...
 
หากเริ่มต้นตั้งแต่บริษัทฯ ทำสัญญาสำรวจและผลิตแร่โปแตชกับกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อปี 2523 ก็ยาวนานมากว่า 30 ปี และกระแสการคัดค้านการทำเหมืองแร่ในชุมชนอีสานก็ขยายวงกว้างขวางขึ้น เฉพาะในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีขบวนคัดค้านเหมืองแร่โปแตชนั้นยืดเยื้อเรื่อยมาจนเกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีกับแกนนำชาวบ้านหลายคน แต่บริษัทฯก็ไม่สามารถปักหมุดเขตเหมืองแร่เพื่อประกอบการขอประทานบัตรเปิดเหมืองแร่ได้
 
ทำให้ บริษัท เอพีพีซี เจ้าของกิจการเดิมตัดสินใจขายกิจการ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2549 บริษัทสินแร่เมืองไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อหุ้นของบริษัทเอเซีย แปซิฟิค รีสอร์ซเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทเอพีพีซี และภายหลังเข้าดำเนินโครงการบริษัทอิตาเลี่ยนไทยได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีขณะนั้น ก็ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่าบริษัทฯ ขอถอนคดีความทั้งหมดที่บริษัทเดิมได้เคยดำเนินกับชาวบ้านอย่างไม่มีเงื่อนไขอันได้แก่คดีบุกรุกทำให้เสียทรัพย์, คดีหมิ่นประมาท ที่บริษัทฯเคยแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้าน ซึ่งมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นในช่วงของการรังวัดแนวเขตเหมืองแร่เพื่อประกอบคำขออนุญาตประทานบัตร และเรื่องรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอที่เป็นปัญหามาตั้งแต่ปี 43 - 49 บริษัทยินดีที่จะทำอีไอเอใหม่ และยื่นเข้าสู่ขบวนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการใหม่ 
 
คราวนั้น อิตัลไทยพยายามถอดรูปเงาะ เพื่อจะบอกแก่ตลาดในโลกธุรกิจเหมืองแร่ว่าโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เป็นแหล่งแร่โปแตชคุณภาพระดับโลก ปริมาณมหาศาล ปลอดปัญหาทางเทคนิค ปัญหาในข้อกฎหมาย และที่สำคัญปลอดปัญหามวลชน ขณะเดียวกันบริษัทก็เร่งรัดให้เกิดการปักหมุดรังวัดเขตเหมืองแร่ตามขั้นตอนประทานบัตร แต่เหตุการณ์กลับเผยในทางตรงข้ามเมื่อภาพสมานฉันท์ที่ว่าเป็นเพียงเกมส์ ลับ ลวง พลางเมื่อแกนกลุ่มอนุรักษ์ฯ 5 คนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และ 2 ใน 5 เป็นคู่สามีภรรยาที่มีลูกสาวเป็นเด็กอ่อนแฝดสอง อายุเพียง 2 เดือนเมื่อถูกหมายจับ ชาวบ้านทั้ง 5 คนพร้อมด้วยเด็กแฝดอายุสองเดือนนั้นถูกควบคุมตัวในห้องขังศาลจังหวัดอุดรธานี ระหว่างขั้นตอนดำเนินเรื่องขอประกันตัวแม่ของเด็กแฝดทั้งสองต้องให้นมลูกในห้องขัง นั่นย่อมเป็นภาพที่ออกมาฟ้องสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี แม้จะเปลี่ยนผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทอิตาเลี่ยนไทยแล้วก็ตาม 
 
เมื่อวันที่ 20 เดือน ธันวาคม พุทธศักราช 2550 ศาลจังหวัดอุดรธานี ได้พิพากษาคดียกฟ้องแกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งบริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ในเครือของบริษัทอิตาเลียนไทย จำกัด มหาชน เจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตชแจ้งความดำเนินคดีกับ 5 แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ ว่าบุกรุกพื้นที่ของบริษัท โดยบริษัทฯ เป็นโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2549 แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินของบริษัท แล้วทุบทำลายหมุดปักเขตเหมืองแร่ 
 
การปักหมุดขอบเขตเหมืองแร่และโรงงานแต่งแร่อันเป็นเหตุการฟ้องร้องนั้นเป็นขั้นตอนในขบวนการขอประทานบัตรเพื่อเปิดเหมืองแร่ตามขั้นตอนกฎหมายแร่ พ.ศ. 2545 ซึ่งนับตั้งแต่บริษัทฯ ยื่นขอประทานบัตรมาตั้งแต่ปี 2547 ก็มีความพยายามลงปักหมุดในพื้นที่ โดยในเบื้องต้นพยายามเร่งรัดขั้นตอนจนเกิดความขัดแย้งเผชิญหน้ากับประชาชนในพื้นที่นับครั้งไม่ถ้วน จนทางจังหวัดได้พยายามแก้ปัญหาโดยตั้งคณะทำงานขึ้นมา 3 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหา และผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้ทำหนังสือแจ้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีว่ามีการระงับการรังวัดปัก ลงวันที่ 17 กันยายน 2547 และต่อมามีการเจรจาตกลงว่าต้องมีการชี้แจงประชาคมหมู่บ้านในทุกหมู่บ้านในพื้นที่ก่อนที่จะมีการปักหมุดเขตเหมืองแร่ ดังกล่าว 
 
ศาลได้พิพากษาศาลยกฟ้องแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ ทั้ง 5 ด้วยพิจารณาตามหลักการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พุทธศักราช 2540 ที่ได้กำหนดสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีสาระเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยได้เพิ่มอำนาจให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเห็นว่าบริษัทดำเนินการโดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแร่ และฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 อันเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ ดังนั้นศาลจึงเห็นว่าการคัดค้านการรังวัดปักหมุดของกลุ่มอนุรักษ์ฯ และเรียกร้องการมีส่วนร่วมจึงเป็นการกระทำการอันเป็นการร่วมกันในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน อีกทั้งเป็นการใช้สิทธิในการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษา คุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย สวัสดิ์ภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน 
 
ในคำพิพากษาศาลยังระบุว่าโครงการเหมืองแร่โปแตช เป็นโครงการที่แสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แม้บริษัทจะอ้างว่าดำเนินการไปตามที่ระบุไว้ในสัญญากับรัฐบาลไทยแต่ประชาชนในพื้นที่โครงการฯ ก็จะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ หรือได้รับผลกระทบจากสัญญาโดยตรงด้วย จึงต้องคำนึงถึงกฎหมายมหาชนอันเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในรัฐนั้นประกอบด้วย นอกจากนี้ยังระบุว่าว่าในขณะที่ทำสัญญา ตลอดจนการดำเนินการตามสัญญาในแต่ละขั้นตอนในเวลาต่อมาไม่มีการเปิดเผยให้ประชาชนในพื้นที่และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ เช่น ในช่วงของการสำรวจ หรือ ในช่วงของการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 
 
การเข้าถึงสัญญาในครั้งนี้ประชาชนต้องใช้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 59 และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 35 โดยคณะกรรมการวินิจฉัยฯ มีมติให้กรมทรัพยากรธรณีเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานที่มีลักษณะผูกขาดตัดตอนของเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องจึงมีโอกาสได้ทราบข้อเท็จจริงของสัญญาและขั้นตอนการดำเนินการตามสัญญาตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และศาลยังระบุเพิ่มเติมว่าการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตชของบริษัทฯ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็ดำเนินการในลักษณะไม่โปร่งใส สร้างความสงสัยคลางแคลงใจและความวิตกกังวลให้แก่ชาวบ้านหลายกรณี เช่น กรณีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการให้ความเห็นชอบหรือรับรองการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนที่พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 จะประกาศใช้บังคับ 
 
นอกจากนั้น นักวิชาการที่เกี่ยวข้องตลอดจนองค์กรเอกชนอื่นก็ได้ร่วมคัดค้านว่า การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนที่กฎหมายบังคับใช้เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการดำเนินการที่ไม่ครอบคลุมพื้นที่โครงการทั้งหมด หรือเป็นการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งนี่คือเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้บริษัทอิตาเลี่ยนไทยไม่อาจจะดันทุรังใช้รายงานอีไอเอเดิมได้แม้จะผ่านความเห็นชอบของ คชก.ไปแล้วก็ตาม
 
 
หมายเหตุว่าด้วยโครงการรุนแรงฯ
 
คำพิพากษาศาลดังกล่าวนี้ถือเป็นที่สุดเพราะไม่มีการอุธรณ์ และความขัดแย้งและการต่อสู้แบบกัดไม่ปล่อยของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีทำให้บริษัทอิตัลไทยเสียภาพพจน์ทางการลงทุนไปพอประมาณ ทำให้ต้องถอยทัพกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ และหาก นับแต่ปี 2547 ที่บริษัทได้ยืนของประทานบัตรหวังจะเริ่มขุดเหมืองมาจนบัดนี้ก็ยังไม่อาจจะเข้าปักหมุดขอบเขตเหมืองแร่ได้ทำให้ขั้นตอนอื่นไปไม่ได้ ซึ่งกินเวลาร่วม 7 ปี 
 
ร่วม 10 ของการต่อสู้อย่างเข้มข้นนั้นได้มีมิติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2549 ให้มีการศึกษาประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ของโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี และโครงการเหมืองแร่โปแตชอื่นๆ ในภาคอีสาน ดังนั้นการต่อสู้เรื่องเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีจึงไม่ได้หยุดอยู่แค่ขอบเขตจังหวัดอุดรธานี แต่ได้เกิดแรงเคลื่อนไหวด้านการกำหนดนโยบายสาธารณะในการทำเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทยไปแล้ว ที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีได้ทำความตกลงในระดับจังหวัดว่าจะยุติขบวนการอนุมัติ อนุญาต ตลอดจนการรังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่ไว้จนกว่าการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ ตามมติ ครม. จะแล้วเสร็จ
 
นอกจากนี้ความผิดพลาดของรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรัฐธรรมนูญใหม่ปี 2550 มาตรา 67 วรรค 2 กำหนดให้ “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงจะต้องศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน” และต่อมาก็ยังมีข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2552 เรื่องการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ทำให้บริษัทฯลังเลว่าจะดำเนินการต่อไป อย่างไรดี แม้บริษัทฯ ได้ทำการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไปแล้วแต่ก็ยังไม่มีการยื่นผลการศึกษาดังกล่าวต่อ คชก.แต่อย่างใด
 
ต่อมาได้มีข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงโรงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง และในที่สุดได้มีประกาศประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ 11 ประเภท เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 โดยประกาศดังกล่าวไม่ได้ยึดตามข้อเสนอของ”คณะกรรมการคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (คณะกรรมการ 4 ฝ่าย)” ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่โดยตรงในการศึกษาและจัดทำข้อเสนอให้ประกาศกำหนดประเภทโครงการรุนแรง โดยผ่านขบวนรับฟังความคิดเห็นร่วมกันของภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งยังผ่านการรับฟังความ คิดเห็นจากประชาชนทั่วทุกภาค จนมีข้อมูลสนับสนุนที่น่าเชื่อว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงและเสนอข้อกำหนดออกมาจำนวน 18 ประเภทโครงการรุนแรง ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยคัดกรองให้โครงการต่างๆ ที่จะเกิดผลกระทบได้
 
แต่การตัดเหลือ 11 ประเภทโครงการรุนแรง ทำให้โครงการเหมืองแร่ใต้ดินที่มีเสาค้ำยันไม่เป็นโครงการรุนแรง จึงไม่ต้องประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการเหมืองแร่เหมืองแร่โปแตช ซึ่งในทางเทคนิคการทำเหมืองแร่นั้นออกแบบเป็นการทำเหมืองใต้ดินที่มีเสาคำยัน จึงไม่เข้าเกณฑ์โครงการรุนแรงตามรัฐธรรมนูญปี 2550 
 
ประกาศนี้ทำให้มีความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมือแร่ (กพร.) ได้จัดการประชุมชี้แจง เรื่องการขออนุญาตประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ภายใต้กรอบมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ณ โรงแรมเซ็นทารา โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี ในวันเดียวกันรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้ออกหนังสือแจ้งไปยังอำเภอที่ตั้งโครงการว่าแจ้งว่าจะมีเจ้าหน้าที่ลงดำเนินการรังวัดการปักหมุดเขตเหมืองแร่ และวันเสาร์ที่ 30 ได้พยายามลงดำเนินการรังวัดปักหมุดแต่ไม่เป็นผลเพราะมีการออกมาป้องกันพื้นที่ของกลุ่มชาวบ้านจำนวนมาก และต่อมาในวันอาทิตย์ที่ 31 ได้มีการระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ อปพร. จากอำเภอรอบนอกเข้าป้องกันบริษัทฯ และเจ้าหน้าที่ของ กพร. ลงรังวัดปักหมุด ขณะที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ออกมาชุมนุมคัดค้านการดำเนินการปักหมุดแบบสายฟ้าแลบดังกล่าว 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อนุสรณ์ อุณโณ: ตายอย่างไรให้ไม่ตาย

Posted: 01 Nov 2010 06:03 AM PDT

 
 
นักปราชญ์ทางพุทธศาสนามักอาศัยความตายเป็นเครื่องเตือนสติ พวกเขาชี้ว่าชีวิตนี้ไม่มีแก่นสารและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นักปราชญ์บางรายเสนอว่ามนุษย์ควรเรียนรู้ที่จะตายก่อนตาย เพื่อว่าเมื่อถึงเวลาตายจะได้ตายอย่างไม่ทุกข์ ความตายสามารถเป็นสุขได้หากเรารู้เท่าทัน
 
สังคมศาสตร์เสนอวิธีการรู้เท่าทันความตายเช่นเดียวกันแต่ว่าเป็นในอีกลักษณะ ในทางสังคมศาสตร์ ความตายไม่ได้ถูกนับเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงชีวภาพ แต่มีสถานะเป็นความเป็นจริงทางสังคมอย่างหนึ่งที่มีความหมาย แต่ความหมายของความเป็นจริงข้อนี้ไม่ได้ตกที่ตัวผู้ตาย หากแต่อยู่ที่ตัวผู้อื่นซึ่งยังมีชีวิตอยู่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความตายในฐานะการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพส่งผลกระทบต่อการจัดความสัมพันธ์ของผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนอย่างไรขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของผู้ตาย หลายคนตายไปโดยแทบจะไม่มีใครสนใจ แต่ความตายของบางคนส่งผลต่อคนที่มีชีวิตอยู่อย่างมหาศาล หรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นความตายชนิดที่ไม่ตาย
 
“ลุง” นวมทอง ไพรวัลย์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ด้วยการผูกคอตายกับสะพานลอยคนข้ามบริเวณใกล้กับสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถังที่จอดอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า เขาระบุสาเหตุของการฆ่าตัวตายไว้ในจดหมายว่า เป็นเพราะต้องการลบคำสบประมาทของนายทหารรองโฆษกคณะรัฐประหารที่ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้” ความตายของเขาจึงไม่เพียงแต่สั่นคลอนโวหารที่ผูกขาดความกล้าหาญและความเสียสละไว้กับบุคคลในเครื่องแบบเพียงไม่กี่คนไม่กี่กลุ่ม หากแต่ยังท้าทายสถาบันจารีตที่ผูกขาดความจงรักภักดีด้วยการเสนอว่าหลักการอื่นๆ เช่น ความเสมอภาค และความเป็นธรรม ก็สามารถเป็นหลักยึดของผู้คนในแผ่นดินนี้ได้ไม่แพ้กัน 
 
ความตายของ “ลุงนวมทอง” ส่งผลกระทบในวงกว้าง คนธรรมดาหาเช้ากินค่ำจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นแม่ค้า คนทำความสะอาด คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือว่าคนขับรถแท็กซี่ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมอาชีพกับเขา เข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารโดยมีความตายของเขาเป็นความทรงจำร่วม ปัญญาชนหลายคนก้าวออกมาท้าทายการใช้อำนาจดิบหยาบของรัฐบาลอย่างเข้มแข็งมากขึ้น โดยมีความกล้าหาญและความเสียสละของเขาเป็นสิ่งเปรียบเทียบ การจัดกิจกรรมรำลึก “วีรชนประชาธิปไตย” ซึ่งเคยกระจุกตัวอยู่ที่นักศึกษา ปัญญาชน และผู้นำประชาชน ได้ขยายครอบคลุมคนธรรมดาสามัญโดยมีเขาเป็นปฐมบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณถนนราชดำเนิน ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมามีการจัดทำประติมากรรมส่วนบนของเขาเพื่อจะนำไปติดตั้งเป็นการถาวร ความตายของเขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญและความเสียสละที่คนธรรมดาสามัญสามารถแบ่งปันได้ และเป็นครั้งแรกที่ความตายของคนธรรมดาสามัญได้รับการจดจำอย่างกว้างขวางในกลุ่มของผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและความเปลี่ยนแปลง
 
ในทางกลับกัน ความตายของคนสำคัญหรือผู้อยู่ในอำนาจส่วนใหญ่เป็นปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลง พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายของชนชั้นนำในสังคมวัฒนธรรมต่างๆ มักมีเป้าหมายที่การกระชับข่ายความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ดำรงอยู่ หรือเพื่อสร้างหลักประกันว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจจะเกิดขึ้นอย่างราบรื่น คติความเชื่อและสัญลักษณ์ต่างๆ มักถูกใช้เพื่อตอกย้ำอาญาสิทธิ์และความชอบธรรมของผู้มีอำนาจ ผู้อยู่ใต้ปกครองจะถูกเกณฑ์มาทั้งในส่วนของการใช้แรงงานและการเข้าร่วมแสดงความจงรักภักดี ขณะที่ในเอเชียอาคเนย์สมัยที่อาณาจักรต่างๆ สัมพันธ์กันในเชิงบรรณาการ เจ้าผู้ครองนครหรือแคว้นเล็กมีพันธกรณีต้องเข้าร่วมพิธีศพของเจ้าผู้ครองแคว้นใหญ่และเครือญาติ นอกเหนือไปจากการส่งส่วย ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง รวมทั้งเสบียงอาหารและไพร่พลยามศึกสงคราม นอกจากนี้ ผู้ปกครองในสังคมร่วมสมัยยังมักกำหนดให้มีการจัดพิธีรำลึกความตายของผู้ที่อยู่ในข่ายอำนาจเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีกิจวัตรในการเป็นศูนย์กลางในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายของผู้ซื่อสัตย์ เพื่อตอกย้ำความจงรักภักดีของผู้อยู่ใต้การปกครอง 
 
สังคมไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและผู้อยู่ในอำนาจต่างก็พากันกังวลว่าจะประคองตัวเองให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้อย่างไร พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายจึงถูกพวกเขาใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายครั้งนี้ ภาพยนตร์และละครอิงประวัติศาสตร์ที่เน้นความจงรักภักดีของราษฎรอย่างพลีกายถวายชีวิตได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นกรณีพิเศษ ความตายของชาวบ้านบางระจันที่ต้องการปกป้องทรัพย์สินและบ้านเรือนของพวกเขาถูกหมายความเป็นการปกป้องชาติบ้านเมืองหรืออาณาจักรอยุธยา ขณะเดียวกันผู้อยู่ในอำนาจก็หยิบเลือกความตายของผู้อยู่ใต้ปกครองที่เกื้อหนุนสถานภาพพวกเขามายกย่องสรรเสริญ การเสียชีวิตของสมาชิกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้รับการยกย่องเชิดชูว่าเป็นการเสียสละเพื่อชาติ และมีการจัดพิธีศพให้อย่างโอ่อ่า แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของการตายจะยังไม่กระจ่างชัด ความตายของทหารในช่วงการล้อมปราบกลุ่มคนเสื้อแดงก็ได้รับการยกย่องเชิดชูอย่างมากแม้จะยังคงมีความครุมเครืออยู่เช่นกัน ทหารเหล่านี้ได้รับการเลื่อนชั้นยศเป็นกรณีพิเศษ พิธีศพของพวกเขาถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ และความตายของพวกเขาได้รับการแซ่ซ้องสดุดี เพื่อเป็นเครื่องชี้ว่าความซื่อสัตย์และจงรักภักดีเหล่านี้จะได้รับการตอบแทนอย่างที่สุด
 
เพราะเหตุนี้ นอกจากมรณานุสติตามหลักพุทธศาสนา การรำลึกถึงความตายของ “ลุงนวมทอง” จึงต้องวางอยู่บนบริบททางการเมืองที่เขาเกี่ยวพันอยู่ด้วย “ลุงนวมทอง” เลือกที่จะตายก่อน ตายเพื่อที่จะได้ไม่ตายอย่างไร้ความหมาย เขาต้องการให้ความตายของเขาหมายถึงการไม่ยอมจำนนต่ออำนาจที่ฉ้อฉลและอยุติธรรมที่กำลังพยายามหาทางออกให้กับตัวเองท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง ผู้อยู่ในอำนาจเห็นความตายของเขาเป็นภัยคุกคาม จึงออกจะเพิกเฉย ไม่ปรากฏผู้มีอำนาจรายใดเดินทางหรือส่งพวงหรีดไปร่วมงานศพ หากเป็นไปได้พวกเขาต้องการให้ความตายของ “ลุงนวมทอง” เป็นเรื่องของการฆ่าตัวตายของคนวิกลจริต สติสัมปชัญญะไม่ครบถ้วน หรืออาจจะอาศัยกาลเวลาช่วยให้เรื่องราวของเขาลบเลือนไปจากความทรงจำของผู้คนในสังคม จึงเป็นพันธกรณีของผู้ที่อยู่ข้างหลังเช่นเราว่าจะทำอย่างไรให้ความตายของเขาไม่สาบสูญ ทำอย่างไรให้ความหมายของความตายของเขายังคงมั่นและดังกึกก้องไปทั่ว มารำลึกถึงความตายของ “ลุงนวมทอง” ร่วมกัน
 
 
หมายเหตุ: บทความตีพิมพ์ในคอลัมน์ คิดอย่างคน ในหนังสือรายสัปดาห์ “มหาประชาชน” ปีที่ 1 ฉบับที่ 9 (29 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2553)
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาคประชาชนจี้รัฐบาลยกเลิก “ร่างแผนแม่บทโลกร้อน” ให้เวลาหนึ่งเดือนมาทวงคำตอบ

Posted: 01 Nov 2010 03:08 AM PDT

เครือข่ายภาคประชาชนกว่า 30 เครือข่าย แถลงข่าวเตรียมยื่นหนังสือนายกฯ จี้ยกเลิกแผนแม่บท 10 ปี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ สผ.พร้อมเรียกร้องให้มีกระบวนการยกร่างใหม่ที่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน ขู่ 1 เดือนไม่คืบจะไปทวงคำตอบที่ทำเนียบ

 
วันนี้ (1 พ.ย.2553) เวลา 10.30 น.ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายภาคประชาชน 30 เครือข่ายได้ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการเตรียมการยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีเรื่องขอให้ยกเลิกแผนแม่บท 10 ปี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยภาคประชาชนต้องการให้รัฐบาลยกเลิกร่างแผนแม่บทฉบับดังกล่าวและจัดทำร่างใหม่โดยภาคประชาชน 
 
นายพฤ โอ่โดเชา สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือและเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เราไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้โลกร้อน แต่กลับได้รับผลกระทบเพราะฝนตกน้อยลง ทำให้ปลูกข้าวล่าช้า พอฝนตก ก็เข้าช่วงเก็บเกี่ยว ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ นอกจากนี้ คนในป่าปัจจุบันไม่มีสิทธิ์ รัฐประกาศเขตป่าทับ และกล่าวหาชาวบ้านว่าทำให้โลกร้อน ยิ่งเจอแผนแม่บทที่คิดจะแก้ไขปัญหา โดยโยนความผิดให้ภาคป่าและเกษตร แต่สาเหตุโลกร้อนเกิดในภาคอุตสาหกรรม พอรัฐไปทำข้อตกลงกับต่างประเทศ หมู่บ้านผมจะมีหลักประกันอย่างไรว่าจะไม่เดือดร้อน สิทธิ วัฒนธรรมจะอยู่อย่างไร โลกร้อนจะแก้อย่างไรถ้าสาเหตุหลักไม่ได้แก้ แผนแม่บทที่ออกมา ผมไม่เห็น ไม่รู้ว่าออกมาได้อย่างไร ล้มไปได้เลย” 
 
นายเกรียงไกร ชี้ช่วง เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อวิถีชีวิตและการทำมาหากินของชนเผ่า มาตรการรองรับหรือแก้ไขของรัฐบาลต้องเป็นธรรม ต้องยอมรับพี่น้องชนเผ่า เรากลัวว่าวิถีชีวิตของเราและการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติจะเปลี่ยนไป สิทธิ์ของเราจะถูกจำกัด เพราะรัฐขาดความเข้าใจวิถีชีวิตของชนเผ่า นอกจากนี้ รัฐต้องรับรองสิทธิและยอมรับรูปแบบการใช้และการจัดการทรัพยากรตามประเพณีของชนเผ่าพื้นเมืองที่สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ อย่าโยนความผิดเรื่องการปล่อยคาร์บอนให้ชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งให้ยอมรับองค์ความรู้พื้นบ้านของชุมชนเพราะมีการปรับ เรียนรู้และมีความสมดุลย์อยู่แล้ว การแก้ปัญหาต้องเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกส่วน เรากับพี่น้องพร้อมจะติดตามนโยบายรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพราะจะไม่ยอมให้การพัฒนาในอดีตที่สร้างความเจ็บปวดให้ชุมชนเกิดขึ้นอีก”
 
นายสายัณห์ อุทธาสม เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า “สถานการณ์ในปัจจุบันในพื้นที่ คือ ฤดูกาลเปลี่ยน ช่วงหน้าร้อนยาวนานขึ้นเป็นห้าเดือน เบียดให้หน้าฝนเหลือแค่สามเดือน ผลก็คือ ทำให้พืชผลการเกษตรได้ผลผลิตลดลง แต่ปริมาณน้ำฝนเท่าเดิม ทำให้ฝนตกมากขึ้นในแต่ละครั้ง ทำให้เกิดน้ำท่วม แต่แผนแม่บทที่ออกมา ไม่ได้มีการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไม่มีแผนมารองรับหรือหนุนเสริมกระบวนการของวิถีเกษตรกรรมยั่งยืน ชุมชนท้องถิ่น ไม่ได้พูดถึงความหลากหลายของพันธุ์พืชท้องถิ่น พูดถึงแต่พืชเศรษฐกิจ แค่ 4 อย่าง นอกจากนี้ การใช้ปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน ทำให้เกิดโลกร้อน กระบวนการผลิตปุ๋ยก็ใช้พลังงานมหาศาล องค์ความรู้ปัจจุบันของชาวบ้าน สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีไนโตรเจนสูงมาทดแทนปุ๋ยเคมี แต่ในแผนแม่บทไม่ได้พูดถึงการสนับสนุนเรื่องนี้เลย”
 
นางจินตนา แก้วขาว เครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า “ปัญหาแผนแม่บทเกิดจาก สผ.ไม่ใส่ใจว่าสาเหตุเกิดจากอะไรทั้งๆ ที่มีข้อมูลอยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมทั้งเหล็กและปิโตรเคมีเป็นสาเหตุของโลกร้อนถึง 70% แต่รัฐบาลกลับไปตามการชี้นำของกลุ่มทุน ทำให้พัฒนาเละเทะไปหมด ภาคใต้ทั้งภาคถูกกำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมหนัก ทั้งๆ ที่โรงไฟฟ้าที่จะนะเกิดปัญหามาก เราเห็นว่าแผนไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง วันนี้เกิดโรงไฟฟ้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นประจวบฯ ทับสะแก ชุมพร นครศรีธรรมราช เกิดปิโตรเคมีมากมาย ซึ่งสร้างปัญหาโลกร้อน แต่รัฐกลับเบี่ยงเบนประเด็นไปใส่ว่าป่าไม้สร้างให้เกิดโลกร้อน ยิ่งไปสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นอีก ดังนั้น เราเสนอว่าให้ยกเลิก และร่างใหม่โดยภาคประชาชนร่างแผนขึ้นมาเพื่อจะแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ตามความเป็นจริง และนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง” 
 
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ กล่าวว่า “สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประมงตอนนี้ คือ หนึ่ง หน้าร้อนสำหรับชาวประมงคือ การกินของเก่า เพราะหาปลาไม่ค่อยได้ เกิดปรากฎการณ์ปลาตายในช่วงที่ร้อนมากๆ ช่วงมีนาคม เมษายน และยังมีปะการังฟอกขาว สอง การกัดเซาะชายฝั่ง เกิดมากโดยเฉพาะในอ่าวไทย บางหมู่บ้านหายไปทั้งหมู่บ้านเลยก็มี ด้านหนึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ซึ่งน่าจะเป็นโลกร้อน แต่อีกด้านหนึ่งเกิดจากน้ำมือมนุษย์ การสร้างเขื่อนกั้นกระแสน้ำ รัฐบาลยังไม่สามารถฟันธงได้ สาม ภัยธรรมชาติ เช่น สินามิ คนตายเป็นแสน มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอีกได้ แผนแม่บทไม่สามารถตอบโจทย์สองสามเรื่องนี้ได้เลย แต่อ้างว่าเป็นทิศทางการแก้ปัญหาของประเทศไทยในอีกสิบปีข้างหน้า หลายเรื่องที่เขียนออกมากยิ่งไปซ้ำเติม เช่น การลดโลกร้อนโดยการทำท่าเรือ หรือถนนเลียบชายฝั่ง เกี่ยวตรงไหน เราไม่ได้พูดๆไปเฉยๆ แต่เราพูดบนซากศพเกือบแสนศพ ขณะนี้ ภาคใต้กำลังน้ำท่วม ฝนยังตกไม่หยุด แผนแม่บทรับรองตรงนี้ได้ไหม ไม่ได้ก็ต้องเลิก”
 
ทั้งนี้ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนระบุตอนท้ายว่า ตอนนี้ภาคประชาชนหารือกันอยู่บ่อยๆ หากรัฐบาลไม่มีทีท่าเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ นับจากนี้อีกหนึ่งเดือนข้างหน้า เครือข่ายประชาชนจะไปทวงคำตอบที่หน้าทำเนียบ 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเสร็จสิ้นการแถลงข่าวตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนระบุว่าจะเดินทางไปยื่นหนังสือขอให้ยกเลิกร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ.2553-2562 และจัดกระบวนการยกร่างใหม่ที่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายยกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลบ่ายวันเดียวกันนี้ โดยหนังสือดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
 
 
 
1 พฤศจิกายน 2553 
 
เรื่อง ขอให้ยกเลิกร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ. 2553-2562 และจัดกระบวนการยกร่างใหม่ที่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน
เรียน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ
สิ่งที่ส่งมาด้วย เอกสารสรุปประเด็นเบื้องต้น วิพากษ์ร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ. 2553-2562 โดยภาคประชาชน
 
ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นผู้ประสานงานจัดทำ “ร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ2553-2562” (ฉบับเผยแพร่ พฤศจิกายน 2552) ซึ่งตามร่างฉบับนี้จะผูกพันงบประมาณถึง 9,233 ล้านบาทนั้น
 
เครือข่ายภาคประชาชนขอให้มีการยกเลิกร่างแผนแม่บทฯ ดังกล่าวในทันที พร้อมทั้งขอให้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติดำเนินการสร้างกระบวนการทำแผนแม่บทฯ ใหม่ ด้วยเหตุผลดังนี้
 
1.วิธีการและกระบวนการจัดทำร่างเนื้อหาของแผนแม่บทฯเป็นไปอย่างรวบรัด ฉาบฉวย ขาดกระบวนการจัดทำแผนแบบมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมคิดและวางแผน ขัดแย้งกับกรอบวิสัยทัศน์ของแผนแม่บทฯ เอง ซึ่งระบุชัดเจนว่าภาคพลังงานและอุตสาหกรรมเป็นผู้ก่อปัญหาหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่แผนฯ กลับผลักภาระไปยังภาคส่วนอื่น โดยหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างใดๆ
 
2.เนื้อหาของร่างแผนแม่บทฯ มีความสะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง ไม่ครอบคลุมทุกมิติ จึงไม่สามารถตอบโจทย์นำสู่การแก้ปัญหาการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง
 
จึงไม่ก่อประโยชน์ที่จะดันทุรังผลักดันร่างแผนแม่บทฯ ฉบับนี้ ออกมาใช้สำหรับเป็นยุทธศาสตร์ในการกำหนดหลักการและแนวทางเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ เพราะถือว่าสอบตกตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งยังไม่สามารถแก้ปัญหาหรือรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้จริง
 
ไม่สายเกินไปที่ท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ จะตัดสินใจยกเลิกร่างแผนแม่บทฯฉบับดังกล่าว เพื่อจัดกระบวนการทำแผนแม่บทฯใหม่ ที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้เนื้อหาที่ครอบคลุมในทุกมิติ และเป็นแผนแม่บทฯ ที่จะนำไปสู่การยอมรับจากทุกภาคส่วนได้ในอนาคต อันจะก่อประโยชน์ในการแสวงหาความร่วมมือเพื่อร่วมกันปฏิบัติให้แผนแม่บทฯ สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็นจริงต่อไป
 
ทั้งนี้ ขอทราบคำตอบและความชัดเจนของท่าน ต่อข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ภายในสิ้นเดือน พฤศจิกายน 2553 (ภายในระยะเวลา 1 เดือน)
 
ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมลงชื่อดังต่อไปนี้
 
1. สมัชชาคนจน
2. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)
3. เครือข่ายทรัพยากรภาคเหนือล่าง
4. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูผาแดง
5. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
6. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.)
7. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
8. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.)
9. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ (คปน.)
10. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ ลุ่มน้ำเซิน
11. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
12. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒธรรมและสิ่งแวดล้อมภาคตะวันตก (เครือข่ายเฝ้าระวังเรื่องเรดด์)
13. สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้
14. เครือข่ายพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์
15. เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน
16. เครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะ (นครศรีธรรมราช)
17. กลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งทะเล อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
18. กลุ่มปะทิวรักษ์ถิ่น จังหวัดชุมพร
19. เครือข่ายรักษ์ละแม จังหวัดชุมพร
20. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
21. เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา
22. กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์
23. กลุ่มรักบ้านเกิดอ่าวน้อย จ. ประจวบคีรีขันธ์
24. กลุ่มประมงเรือเล็กอ่าวขั้นกระได ต.อ่าวน้อย จ. ประจวบคีรีขันธ์
25. กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์
26. กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์
27. กลุ่มอนุรักษ์ห้วยยาง จ.ประจวบคีรีขันธ์
28. กลุ่มรักท้องถิ่นกุยบุรี-สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
29. เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
30. เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
 
 
 
 
 
ข้อคิดเห็นของภาคประชาสังคม
ต่อ (ร่าง) “แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2553-2562)”
เสนอต่อนายกรัฐมนตรี วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553
 
            ภาคประชาสังคมไทย อันประกอบด้วยเครือข่ายประชาชนจากภูมิภาคต่างๆ ที่สนับสนุนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตระหนักอย่างมากว่า ปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องอนาคตอีกต่อไป ขณะนี้ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง โรคระบาด พายุ คลื่นยักษ์จากท้องทะเลและภัยธรรมชาติอื่น ๆ อีกมากมายกำลังเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเห็นว่า การจัดทำแผนแม่บทเพื่อรองรับภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลเป็นการวางแผนระยะยาวเพื่อป้องกันและรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นที่สำคัญอย่างยิ่ง
 
อย่างไรก็ดี ในฐานะที่เป็นภาคประชาชนที่ได้ศึกษา (ร่าง) แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2553 – 2562) และการติดตามเรื่องนี้มาอย่างใกล้ชิด มีความเห็นว่า (ร่าง) แผนแม่บทฯ ฉบับนี้มีปัญหาหลายส่วนตั้งแต่ขั้นของกระบวนการจัดทำแผนและสาระสำคัญของแผนงานตามยุทธศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นต่อไปนี้
           
1. ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ในกระบวนการจัดทำแผน
วิกฤตการณ์และปัญหาจากภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องสำคัญและจะมีผลกระทบเกิดขึ้นกับทุกๆ ภาคส่วนของสังคม การจัดทำแผนแม่บทฯ เพื่อรองรับปัญหานี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีขั้นตอนและกระบวนการที่เปิดกว้างให้ภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำ แต่แผนแม่บทฯ ฉบับปัจจุบันภายใต้การดำเนินการของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ จัดทำขึ้นด้วยวิธีการว่าจ้างสถาบันวิชาการแห่งหนึ่งรวบรวมข้อมูลตามที่มีอยู่ และขาดการวิเคราะห์ปัญหาสำคัญๆ อีกหลายส่วน จริงอยู่ว่ารัฐบาลมีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามภูมิภาคและที่กรุงเทพฯ แต่การมีส่วนร่วมดังกล่าวจัดขึ้นอย่างรวบรัด ประชาชนหรือผู้มาเข้าร่วมเวทีทำได้เพียงการรับฟังข้อมูลที่ย่นย่อสั้นๆ ซึ่งไม่ก่อประโยชน์ที่แท้จริงอันใด
 
2. การดำเนินการภายใต้แผนฯ ไม่สามารถรองรับวิกฤตการณ์โลกร้อนได้ตรงจุดในหลายประเด็น
แผนงานและโครงการที่บรรจุอยู่ในร่างแผนแม่บทไร้ทิศทางที่ชัดเจน กระจัดกระจาย และไม่สอดคล้องกับสาเหตุของปัญหาการเกิดภาวะโลกร้อนที่วิเคราะห์ไว้ แต่ขณะเดียวกันจะสร้างภาระผูกกันรัฐบาลเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือมากกว่านั้น จากการศึกษาร่างแผนแม่บทฉบับนี้ มีความเห็นว่า แผนงานและโครงการที่บรรจุ ไม่ครอบคลุมสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนหลายประเด็น เช่น
 
2.1 การไม่ควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและอุตสาหกรรม
การวิเคราะห์ทางวิชาการระบุชัดเจนว่า ภาคอุตสาหกรรมและพลังงานเป็นตัวการหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยคือ ร้อยละ 73 ของการปล่อยก๊าซฯ ทั้งหมดตามสถิติในปี 2548 โดยเฉพาะจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมหนักบางกลุ่ม เช่น อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า และปิโตรเคมี เป็นต้น ดังนั้นแนวทางของการแก้ปัญหาจึงจะต้องมีนโยบายและแผนงานที่ควบคุมให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานด้วยการจำกัดหรือระงับการพัฒนาโครงการที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหินและน้ำมัน และมีนโยบายควบคุมการลงทุนอุตสาหกรรมหนักบางกลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก รวมถึงการจำกัดการลงทุนหรือการพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมและพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนแม่บทควรจะต้องมีการกำหนดทิศทางและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากทั้งสองภาคนี้ สำหรับมาตรการและการส่งเสริมกลไกพัฒนาที่สะอาดหรือกลไกทางการตลาดอื่นๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซควรเป็นมาตรการที่ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคการผลิตต่างๆ และใช้กระตุ้นผู้บริโภคทั่วไปให้มีส่วนร่วมในเรื่องนี้
 
2.2 การขาดนโยบายมหภาคและการจัดการเชิงองค์รวมสำหรับภาคเกษตร
แผนแม่บทให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรระดับจุลภาคมากกว่าระดับมหภาค (เกษตรกรรายย่อยมากกว่าอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่) การดำเนินโครงการต่างๆที่มีแนวโน้มแก้ไขพฤติกรรมเกษตรกรเป็นรายปัจเจกบุคคล ทำให้มีแนวโน้มเน้นไปที่การจัดการกับกลุ่มคนที่ขาดอำนาจการต่อรองมากกว่าคนกลุ่มที่เป็นต้นเหตุของปัญหาจริงๆ นอกจากนี้ แผนฯ ยังขาดการวิเคราะห์ถึงรากเหง้าของปัญหาในภาคเกษตรที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเพียงพอ ทำให้ไม่ทราบแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซในประเทศไทย และไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่างการปล่อยก๊าซในภาคเกษตรเพื่อความอยู่รอดหรือเพื่อความจำเป็นของเกษตรกรรายย่อย กับการปล่อยก๊าซเพื่อแสวงหากำไรของกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งกลุ่มหลักในภาคเกษตรที่รัฐควรตั้งเป้าหมายให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
 
ในมิติการปรับตัว แผนแม่บทฯ ไม่ได้พูดถึงอุปสรรคเชิงโครงสร้างของการปรับตัวในระดับมหภาค เช่น การป้องกันไม่ให้บรรษัทข้ามชาติผูกขาดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์และสิ่งมีชีวิต เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวและการแก้ปัญหาโลกร้อนของเกษตรกรรายย่อย และในระดับจุลภาคเองก็ขาดการเชื่อมโยงองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเพียงพอ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากเมื่อพิจารณาว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่มีความเฉพาะตัว และการใช้มาตรการเดียวกันที่สั่งการมาจากส่วนกลางมีแนวโน้มจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ในประเด็นความมั่นคงทางอาหารก็ให้ความสำคัญกับพืชเพื่อส่งออกซึ่งเป็นมิติที่คับแคบมาก และไม่ได้รับประกันการเข้าถึงอาหารของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิของเกษตรกรและชุมชน แต่เห็นชัดว่าเน้นการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) ซึ่งจะเปิดช่องให้เกิดการเข้ามาผูกขาดการจัดการเมล็ดพันธ์โดยบรรษัทการเกษตรขนาดใหญ่ อันเป็นเรื่องอันตรายในระยะยาวสำหรับสังคมเกษตรอย่างประเทศไทย
 
2.3 การขาดความรอบด้านและสิทธิชุมชนในการจัดการป่าไม้กับเรื่องโลกร้อน
ป่าไม้เป็นทั้งแหล่งปล่อยและแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังผูกโยงกับการหล่อเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชนจำนวนมากทุกภูมิภาคของประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นภาคส่วนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ดังนั้นการจัดการป่าไม้ในบริบทนี้เป็นเรื่องอ่อนไหวอย่างยิ่ง แต่แผนงานในแผนแม่บทฯ เน้นเฉพาะการส่งเสริมการจัดการป่าในแง่ของการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนเพื่อค้าขายเครดิตในตลาดคาร์บอน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและคุ้มครองคุณค่าทางระบบนิเวศของป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และฐานทรัพยากรเพื่อการดำรงชีวิตของประชาชน ในด้านที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแต่อย่างใด
 
นอกจากนี้ยังเน้นการคุ้มครองป่าด้วยการยึดกฎหมายป่าไม้เป็นหลักโดยไม่มองในแง่มุมของชุมชนที่ควรมีสิทธิและมีส่วนร่วมในการปกป้องรักษาป่าไม้ อันเป็นมิติที่คับแคบเช่นกัน ยิ่งกว่านั้นแผนงานบางอย่างอาจไปซ้ำเติมปัญหาความขัดยังกับประชาชนที่อยู่ในเขตป่า ตัวอย่างเช่น โครงการศึกษาผลกรทบจากการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำ โครงการพัฒนาระบบการตรวจสอบและติดตามการปริมาณการดูดซับคาร์บอนจากการสูญเสียพื้นที่ป่าในอุทยานทั่วประเทศ โครงการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า (REDD) เป็นต้น
 
2.4 การขาดการให้ความสำคัญกับประชาชนที่เป็นกลุ่มอ่อนไหวหรือมีความเสี่ยงสูงจากผลกระทบของโลกร้อน
การวิเคราะห์ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตของร่างแผนแม่บทฯ มีลักษณะแยกส่วนและไม่ให้ความสำคัญกับประชาชนกลุ่มอ่อนไหวที่จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น เกษตรกรรายย่อย ประมงรายย่อย ชนเผ่า และประชาชนที่อยู่ในป่า เป็นต้น ตัวอย่างเช่นกลุ่มชุมชนในภาคประมงและที่อยู่ตามพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหลากหลายและรุนแรงจากภัยพิบัติที่จะเกิดจากความแปรปรวนของภูมิอากาศ
 
การจัดทำแผนแม่บทฯ ควรมีการวิเคราะห์ความเปราะบางและความล่อแหลมของชุมชนฝายฝั่งทะเล รวมถึงศักยภาพและขีดความสามารถของชุมชนในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มีความรอบด้านเพียงพอ เช่น ควรมองให้เชื่อมโยงกันตั้งแต่นโยบายและแผนงานเกี่ยวกับการประมง การพัฒนาการท่องเที่ยว การขยายตัวของพื้นที่เมืองในพื้นที่ชายฝั่งทะเล การขยายการลงทุนภาคพลังงานและอุตสาหกรรมหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของพื้นที่ชายฝั่งทั้งหมดของภูมิภาคนี้
 
            นอกจากนี้ การจัดทำแผนแม่บทฯ ควรคำนึงถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบถ้วน เช่น ชุมชนที่อาศัยตามพื้นที่ชายฝั่ง ชุมชนประมงพื้นบ้าน เกษตรกรรายย่อย แรงงานนอกระบบและแรงงานต่างด้าว และการวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมและผลกระทบระยะยาวด้วย
 
3. สรุปความเห็นต่อร่างแผนแม่บทฯ
โดยภาพรวมแล้ว แผนแม่บทฯ ฉบับนี้จะไม่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาประเทศเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่รัฐบาลไปพยายามเน้นย้ำในหลายโอกาสทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเครือข่ายภาคประชาชนก็ได้ต่อสู้และสนับสนุนทิศทางนี้อย่างแท้จริงมาตลอดเวลา โครงการต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในแผนแม่บทฯ เป็นเพียงการนำโครงการที่มีอยู่แล้วของหน่วยงานต่างๆ เข้ามาบรรจุไว้ ไร้ทิศทาง ไร้ระบบและไร้เอกภาพ ทำให้เกิดคำถามตามมาถึงความจริงจังในการแก้ปัญหาโลกร้อนของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ
 
ดังนั้น ภาคประชาชนที่ได้ยื่นหนังสือถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2553-2562) และจัดให้มีกระบวนการในจัดทำร่างแผนแม่บทฯ ใหม่ เปิดให้ประชาชนภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง และให้การจัดทำแผนงานมีความครอบคลุมรอบด้าน มีทิศทางของแผนงานและการรับมือกับปัญหานี้ที่ชัดเจนตามที่แผนแม่บทควรจะเป็น
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สรุปข่าวพม่ารอบสัปดาห์ 25 - 31 ต.ค.53

Posted: 01 Nov 2010 02:10 AM PDT

 
26 ต.ค.53
 
ยึดเฮโรอีนและยาไอซ์ได้ที่ท่าขี้เหล็ก
 
เจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของพม่าสามารถยึดเฮโรอีนจำนวน 79 กิโลกรัม และยาไอซ์อีก 50 กิโลกรัมได้ที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา จากการตรวจค้นบ้านสองหลังในพื้นที่ มีรายงานว่า ผู้หญิงชาวอาข่า 1 คน และชายชาวจีนอีก 2 คน ถูกจับกุมในครั้งนี้ ซึ่งขณะนี้ทั้งหมดกำลังถูกควบคุมอยู่ในคุกในท่าขี้เหล็ก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยว่า เบื้องต้นกำลังสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมด แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ยาเสพติดที่ยึดได้ทั้งหมด ผู้ต้องหาเตรียมลักลอบส่งเข้ามาขายในไทย
 
ด้านกลุ่ม Shan Drug Watch รายงานว่า มีการทำไร่ฝิ่นใน 46 พื้นที่ในรัฐฉาน โดยทหารพม่ามีส่วนร่วมด้วย เนื่องจากได้รับผลประโยชน์จากการเรียกเก็บภาษีฝิ่นจากชาวบ้านที่ปลูกฝิ่น (Irrawaddy)
 
 
28 ต.ค.53
 
วัยรุ่นคะฉิ่นออกอัลบั้มเพลงต่อต้านการเลือกตั้ง 2010
 
กลุ่มสหภาพนักศึกษาและเยาวชนคะฉิ่น (All Kachin Students and Youth Union - AKSYU) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในไทย ได้เปิดตัวอัลบั้มเพลงชื่อ “Rise Up” โดยบทเพลงในอัลบั้มเกือบทั้งหมดพูดถึงการต่อต้านการเลือกตั้งพม่า 2010 ของรัฐบาลพม่า ทั้งนี้ มีการแจกอัลบั้มเพลงดังกล่าวกว่า 1,000 แผ่น ให้กับประชาชนในเมืองมิตจีนา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น
 
ผู้จัดทำอัลบั้มเพลงนี้ขึ้นเปิดเผยว่า ต้องการให้ความรู้แก่ประชาชนและให้ประชาชนรู้ทันรัฐบาลพม่า นอกจากนี้จัดทำขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนต่อต้านการเลือกตั้งที่จะถึง โดยบทเพลงขับร้องโดยวัยรุ่นคะฉิ่นที่อยู่ในไทย ก่อนหน้านี้กลุ่ม AKSYU ก็เคยออกมาเรียกร้องให้ประชาชนคะฉิ่นออกมาต่อต้านรัฐธรรมนูญปี 2008
 
 มีรายงานเช่นกันว่า วัยรุ่นชาวพม่าที่เป็นสมาชิกของพรรคเอ็นแอลดีเองก็ได้แจกใบปลิวในเมืองมิงกลาดงและเมืองอินเส่ง ในเขตย่างกุ้งเช่นเดียวกัน โดยเรียกร้องให้ประชาชนคว่ำบาตรการเลือกตั้ง 2010 (KNG)
 
 
29 ต.ค.53
 
กลุ่มห้องสมุดเพื่อนพม่าประท้วงแอร์ปะก่าน อ้างเชื่อมโยงรัฐบาลพม่า
 
ชาวต่างชาติจำนวน 9 คน ในนามห้องสมุดเพื่อนพม่า(The Best Friend Library) ในเชียงใหม่ ได้ออกมารวมตัวประท้วงหน้าสำนักงานสายการบินแอร์ปะก่าน (Air Bagan) ถ.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีรายงานว่า ผู้ประท้วงได้ชูป้ายและได้ประกาศเรียกร้องให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวคว่ำบาตรสายการบินแอร์ปะก่าน โดยอ้างว่า สายการบินนี้เป็นของนายเตซาร์ ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลพม่า นอกจากนี้กลุ่มผู้ประท้วงยังได้เดินประท้วงตามถนนลอยเคราะห์และถนนท่าแพ ด้านพนักงานสายการบินแอร์ปะก่านได้หยุดให้บริการทันที หลังทราบมีการประท้วงหน้าสำนักงาน (Mizzima)
 
 
30 ต.ค.53
 
ผู้ประสบภัยไซโคลนกิริยังต้องการความช่วยเหลือ
 
มีผู้เสียชีวิตจากพายุไซโคลนกิริจำนวนกว่า 100 คน ขณะที่ชาวบ้านที่รอดชีวิตตัวเลขเกือบ 1 แสนคนไม่มีบ้านอยู่ ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านต่างต้องอาศัยหลับนอนยังที่พักพิงชั่วคราว ด้านพรรคพัฒนาแห่งชาติยะไข่ (Rakhine National Development Party) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงอยู่ในรัฐอาระกัน (ยะไข่) ได้ออกมาเรียกร้องให้องค์กรสากลเข้ามาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัย
 
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า โรคท้องร่วงได้ระบาดหนักในพื้นที่ประสบภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากไซโคลนกิริอย่างเมืองมเร โบน และเมืองมิ้นเบียเป็นต้น โดยมีชาวบ้านที่เสียชีวิตจากท้องร่วงแล้ว 3 คน (Narinjara)
 
 
31 ต.ค.53
 
กองทัพเรือพม่าจับตัวชาวประมงบังกลาเทศ เรียกค่าไถ่
 
กองทัพเรือพม่าปล่อยตัวชาวประมงชาวบังกลาเทศจำนวน 44 คน และเรืออีก 4 ลำ หลังได้รับเงินค่าไถ่จากเจ้าของเรือ โดยลูกเรือชาวบังกลาเทศทั้งหมดถูกลักพาตัวโดยกองทัพเรือพม่าตั้งแต่เมื่อวันพุธ (27 ต.ค.53) ที่ผ่านมา ในระหว่างที่ลูกเรือประมงทั้งหมดกำลังหาปลาบริเวณหมู่เกาะ St. Martin ตั้งอยู่ในอ่าวเบงกอล ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างบังกลาเทศกับพม่า 
 
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กองทัพพม่าก็เคยยึดเรือลากอวนจำนวน 4 ลำ ของบังกลาเทศมาแล้วครั้งหนึ่งในบริเวณน่านน้ำเดียวกัน แม้กองทัพเรือพม่าจะปล่อยตัวลูกเรือทั้งหมดกลับบังกลาเทศ แต่มีรายงานว่า เรือลากอวนจำนวน 3 ลำ รวมถึงอุปกรณ์หาปลาอื่นๆถูกกองทัพเรือพม่ายึดเอาไว้ (Narinjara)
 
 
..................................................................................................................................................................................
แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost   
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตร.รวบ "สุชาติ นาคบางไทร" ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ ที่ประตูน้ำส่ง สน.ชนะสงคราม

Posted: 01 Nov 2010 12:47 AM PDT

กรณีมีกระแสข่าวรายงานว่า วันนี้ (1 พ.ย.53) เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวนายวราวุธ ฐานังกรณ์ หรือ นามแฝง "สุชาติ นาคบางไทร" อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และอดีตแกนนำกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ได้ที่ย่านประตูน้ำโดยนำตัวส่งไปที่กองปราบปราม อย่างไรก็ตาม มติชนออนไลน์ระบุว่าผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบที่กองปราบปราบปราม เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่มีรายงานการจับกุมแต่อย่างใด

ล่าสุด มีรายงานยืนยันว่า นายวราวุธถูกส่งตัวไปสอบสวนยัง สน.ชนะสงคราม เนื่องจากเป็นท้องที่เกิดเหตุ

ขณะที่ข่าวสดออนไลน์รายงานรายละเอียดว่า เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ พ.ต.ท.อัครวุฒิ์ หลิมรัตน์ สว.กก.ปพ.บก.ป. พ.ต.ท.อธิป ฉิมอร่าม พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ป.พร้อมกำลังได้เข้าจับกุม นายวราวุธ ได้ที่บริเวณศูนย์อาหาร ชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าแพลททินั่มแฟชั่นมอลล์ แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กทม.หลังจากสืบทราบว่าผู้ต้องหาได้หลบกลับมาในประเทศและจะเดินทางมาพบกับครอบครัวที่ห้างสินค้าดังกล่าว

ทั้งนี้ นายวราวุธ ถูกจับกุมตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2911/2551 ลงวันที่ 17 ต.ค.2551จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ได้ขึ้นปราศรัยที่เวทีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 และถูกออกหมายจับใน 3 วันต่อมาด้วยข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการปราศรัยดังกล่าว และเขาได้หายตัวไปตั้งแต่นั้น

 

 

หมายเหตุ: แก้ไขล่าสุด เมื่อ 23.20 น. วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสื้อแดงรำลึก 4 ปี ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ -วางดอกไม้เรือนจำจี้ปล่อยแกนนำ

Posted: 01 Nov 2010 12:14 AM PDT

เสื้อแดงหลายร้อยจัดกิจกรรมรำลึกการตายที่ราชประสงค์ จัดนิทรรศการโชว์ภาพหลักฐานรัฐบาลมาร์คใช้ความรุนแรงสลายม็อบ ก่อนจะปั่นจักรยานผ่านสถานที่ทหารยิงท่ามกลางประชาชนให้กำลังใจตลอดทาง มุ่งเรือนจำคลองเปรมวางดอกไม้ ตะโกนเรียกร้อง"ปล่อยตัวแกนนำ"บ.ก.ลายจุดนัดอาทิตย์สีแดงครั้งหน้าเจอกันโคราช

 
โชว์หลักฐาน-รัฐใช้ความรุนแรง
31 ต.ค.53 เมื่อเวลา 10.00 น. บริเวณแยกราชประสงค์ กลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ500 คน ได้จัดกิจกรรมขี่รถจักรยานจากแยกราชประสงค์ถึงคลองเปรม เพื่อวางดอกไม้และเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวแกนนำเสื้อแดง ซึ่งเป็นกิจกรรมร่วมระหว่างกลุ่มเส้นทางสีแดง มูลนิธิวีรชน กลุ่มสองขาเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ในช่วงเช้ากลุ่มเสื้อแดงทยอยมาร่วมงานอย่างต่อเนื่อง มีการจัดนิทรรศการนำภาพถ่ายเหตุการณ่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมาติดบนฟีเจอร์บอร์ด และนำไปติดริมรั้วสังกะสีด้านหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ มีประชาชนที่เดินผ่านไปมาสนใจเข้าไปดูและอ่านจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังสกรีนรูปภาพผู้เสียชีวิตเหตุการณ์ที่ทหารเข้าสลายการชุมนุม ภาพรถถังเข้าสลายการชุมนุม ภาพสไนเปอร์ ภาพทหารมัดมือพระ มัดมือผู้มนุม พร้อมทั้งนำผ้ามาผูกตา ลงบนผ้าใบ และนำมาเรียงต่อกันยาวกว่า 20 เมตรตามแนวทางเท้า เพื่อให้ประชาชนสัญจรไปมาบริเวณแยกราชประสงค์ได้ดู และรำลึกถึงเหตุการณ์อันโหดร้ายที่รัฐบาลสั่งใช้ความรุนแรงกับผู้มนุมที่เป็นประชาชนคนไทยด้วยกัน
นอกจากนี้ ยังนำผ้าใบสกรีนข้อความเกี่ยวกับเอกสารหลักฐาน หัวข้อเกี่ยวกับการฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งขัดกับสนธิสัญญาเจนีวาและธรรมนูญกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ 5 ผืน ระบุพยานหลักฐาน และขั้นตอนในการสลายการชุมนุมของรัฐ ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และละเมิดสิทธิมนุษยชน มาแสดงให้ชมด้วย
 
ตร.ระดมกำลัง 300 นาย-คุมเชิง
ต่อมาเวลา 11.00 น. กลุ่มเสื้อแดงทยอยมาร่วมงานจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรจึงปิดการจราจร 2 ช่องทาง บริเวณหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเดียวกัน พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบช.น. เดินทางมาตรวจความเรียบร้อย พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณดังกล่าว ให้ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และห้ามปิดการจราจร รวมถึงห้ามขีดเขียนข้อความที่ไม่เหมาะสมลงบนพื้นหรือตามผนังกำแพงอย่างเด็ดขาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจากบก.น.5 ได้ใช้พื้นที่ระหว่างห้างเกษรพลาซ่าและอาคารเพรสซิเดนท์ ทาวเวอร์ ตั้งเป็นศูนย์ติดตามการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งประชุมวางแผนตั้งแต่เวลา 07.00 น. มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในเครื่องแบบ นอกเครื่องแบบ และตำรวจปราบจลาจลกว่า 300 นายคอยดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมด้วย
เวลา 13.15 น. กลุ่มเสื้อแดงยืนเรียงแถวหน้ากระดานอยู่บนถนนเลนที่ 2 โดยนำผ้าสีแดงมาขึงยาวประมาณ 50 เมตร พร้อมทั้งนำป้ายโปสเตอร์ผู้เสียชีวิตและข้อความต่างๆ มาชูอยู่ริมถนน มีการปล่อยลูกโป่งสีแดง พร้อมทั้งร้องเล่นเต้นรำอย่างสนุกสนาน มีรถโดยสารพร้อมทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลที่ผ่านไปมาได้โบกมือพร้อมทั้งชูสัญลักษณ์สีแดงใส่กันด้วย
 
แสดงละครรำลึก-มีคนตาย
ขณะที่แกนนำการชุมนุมได้ซักซ้อมแผนโดยให้รถจักรยานอยู่ด้านหน้าขบวน ตามด้วยรถจักรยานยนต์ และปิดท้ายด้วยรถยนต์และรถกระบะ ซึ่งผู้จัดงานยังได้จัดแต่งหน้าผีฟรีให้กับผู้มนุม เนื่องในวันฮัลโลวีนด้วย มีผู้ชุมนุมประมาณ 3-4 คน แสดงละครเสียชีวิตอยู่บนถนน พร้อมทั้งระบุข้อความว่า "สั่งยิงประชาชนทำไม" "ยิงประชาชนทำไม""ใครสั่งยิงประชาชน" และ "ที่ราชประสงค์มีคนตาย" สร้างสีสันและยังความสลดใจให้กับผู้ร่วมชุมนุมเป็นอย่างมาก
จากนั้นเวลา 15.00 น.กลุ่มเสื้อแดงเริ่มขี่รถจักรยานจากแยกราชประสงค์ ไปวางดอกกุหลาบที่เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ จากนั้นจะมอบสิ่งของให้กลุ่มเสื้อแดงอีสาน และร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยแกนนำนปช. และกลุ่มเสื้อแดงที่ยังติดคุกอยู่ในจังหวัดต่างๆ ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน เวลา15.00 น. ที่หน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาลุมพินีหรือ บ่อนไก่ มีกลุ่มคนเสื้อแดงในชุมชนบ่อนไก่และที่อื่นๆ เดินทางมาร่วมระลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ ถ.พระราม 4 ย่านชุมชนบ่อนไก่ โดยกลุ่มคนเสื้อแดงนำรูปภาพของบุคคลที่เสียชีวิต และรูปของทหารที่ถือปืนเล็งใส่ประชาชน พร้อมทั้งนำลูกโป่งสีแดงมาปิดไว้หน้าธนาคาร และผูกตามจุดต่างๆ ที่มีผู้เสียชีวิต รวมทั้งจุดที่มีรอยกระสุนปืน จากนั้นมีการยืนไว้อาลัย กระทั่งเวลา 17.30 น. กลุ่มคนเสื้อแดงได้จุดเทียนเป็นสัญลักษณ์ให้บ้านเมืองสว่างหลังจากมืดมิดมานาน ให้ประชาชนได้ตาสว่างมากขึ้น จากนั้นจึงแยกย้ายกันเดินทางกลับ
 
ตะโกน'ปล่อยแกนนำ'หน้าคุก
เวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มคนเสื้อแดงได้ตั้งขบวนโดยแถวหน้าเป็นรถจักรยาน ขบวนหลังเป็นรถจักรยานยนต์และปิดท้ายขบวนด้วยรถยนต์และรถกระบะจากนั้นได้ทำพิธีปล่อยจักรยาน พร้อมปล่อยลูกโป่งสีแดง จำนวน 100 ใบ จากนั้นขบวนจักรยานได้เคลื่อน นำโดยนายสมบัติ บุญงามอนงค์ บ.ก.ลายจุด หรือแกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มเคลื่อนขบวนจากหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ โดยได้ใช้เส้นทาง ถ.ราชดำริ ข้ามสะพานข้ามคลองแสนแสบ ปั่นไปตาม ถ.ราชปรารภ ก่อนเลี้ยวขวาบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง วิ่งไปตามถ.ดินแดง เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.วิภาวดีรังสิต ตรงไปจนถึงแยกเกษตรแล้วเลี้ยวขวาเข้า ถ.งามวงศ์วาน ก่อนหยุดรวมพลกันที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยขบวนดังกล่าวใช้เวลาในการเดินทางรวม 1 ชั่วโมง และตลอดเส้นทางมีประชาชนต่างปรบมือ ส่งเสียงให้กำลังใจพร้อมทั้งชูสัญลักษณ์สีแดงด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนกิจกรรมหน้าประตูเรือนจำเริ่มต้นด้วยการร้องเพลงของกลุ่มคนเสื้อแดง แล้วเปล่งเสียงตะโกนพร้อมกันว่า "ปล่อยแกนนำ ปล่อยแกนนำ" จากนั้นนายสมบัติได้กล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงโทรโข่งว่า วันนี้จะเป็นวันเริ่มต้นของกิจกรรมรณรงค์ให้รัฐบาลปล่อยนักโทษทางการเมืองเพราะนักโทษทางการเมืองไม่ใช่อาชญากรนักโทษทางการเมืองถือเป็นประชาชนคนหนึ่งที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย จนผู้มนุมถูกกระทำและตามมาด้วยการกล่าวหาและจับแกนนำ ขณะนี้แกนนำนั้นตามรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ เพราะเพียงแค่ถูกกล่าวหา ดังนั้น ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัว และมีสิทธิที่จะได้ประกันตัวในมาตรฐานเดียวกันกับกลุ่มพันธมิตรฯ ดังนั้น ขอให้รัฐบาลเร่งประสานงาน เริ่มจากให้ประกันตัวแกนนำ นปช.เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนแรกของการปรองดองส่วนนักโทษทางการเมืองก็ไปว่าตามกระบวนการทางการเมือง ว่าจะมีมาตรการหรือกรอบอะไรที่จะนำไปสู่การปรองดองอีกขั้น
 
อาทิตย์หน้าแดงเจอกันที่โคราช
นายสมบัติกล่าวอีกว่า การทำกิจกรรมของคนเสื้อแดงและกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงได้ก้าวข้ามจุดที่เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาไปแล้วเพราะที่ผ่านมาเรามาเรียกร้องให้ยุบสภา แต่รัฐบาลก็ใช้วิธีกระชับพื้นที่สลายการชุมนุมจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้นเราจะไม่เรียกร้องวิธีดังกล่าวแล้ว เราจะจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสร้างฐานประชาธิปไตยให้แข็งแรง ดังนั้น รัฐบาลจะยุบสภาในปีนี้หรือปีหน้าเพื่อเลือกตั้งใหม่ก็เป็นเรื่องของรัฐบาล แต่เรายืนยันว่าเราจะจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่อไปเรื่อยๆ และในสัปดาห์หน้ากลุ่มวันอาทิตย์สีแดงจะเดินทางไปที่จ.นครราชสีมา เพื่อจัดกิจกรรม Red Clean D-Day เพื่อไปช่วยกันทำความสะอาดในตัวเมืองและอำเภอรอบนอก ซึ่งจะเดินทางในวันที่ 6 พ.ย.และจะทำกิจกรรมดังกล่าวในวันที่7 พ.ย. ส่วนรูปแบบและสถานที่ที่ดเจนจะกำหนดอีกครั้งหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นกลุ่มผู้มนุมได้นำเอาดอกไม้ไปเสียบตามประตูทางเข้าเรือนจำ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของเรือนจำคอยดูแลรักษาความปลอดภัยอยู่ด้านใน ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ไม่อนุญาตให้คนเสื้อแดงเข้าไปภายในเรือนจำอย่างเด็ดขาด หลังจากทำกิจกรรมเสร็จกลุ่มคนเสื้อแดงก็สลายตัวในเวลา 16.45 น.
 
ขอบคุณรูปภาพจาก Thailand Mirror          
 
รำลึก 4 ปี 'นวมทอง'แท็กซี่ประชาธิปไตย
เวลา 17.00 น.วันเดียวกัน ที่บริเวณหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถ.วิภาวดีรังสิตขาออก แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. กลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มคนวันอาทิตย์สีแดง กว่า300 คน นำโดย นายสมบัติ ได้เดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณใต้สะพานลอย เพื่อร่วมรำลึกไว้อาลัยและเป็นวันครบรอบวันแสียชีวิตครบ 4 ปีของนายนวมทอง ไพรวัลย์ โชเฟอร์แท็กซี่ ที่ผูกคอตัวเองสละชีวิตใต้สะพานลอยดังกล่าว เพื่อประท้วงการกระทำรัฐประหารของทหารที่สมคบกับกลุ่มอำมาตย์ เมื่อวันที่19 ก.ย.2549 พร้อมนำพวงหรีดมาวาง จุดเทียนสีแดง เพื่อไว้อาลัยกับนายนวมทองวีรบุรุษประชาธิปไตยด้วย
นายสมบัติ กล่าวว่า วันนี้ได้เดินทางมาจัดงานวันครบรอบวันตายของนายนวมทองที่ประกาศตัวเองไม่ต้องการอยู่ร่วมประเทศที่มีการรัฐประหาร ซึ่งนายนวมทองเสียชีวิตตามเจตนารมณ์ของตัว เพื่อสร้างและเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังต่อสู้เพื่อความถูกต้องในสังคม นายนวมทอง สู้เพื่อประชาธิปไตย และเป็นผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยแท้ เป็นตัวแทนของการต่อสู้เพื่อประชาชนและในวันนี้พวกเราจึงมารวมตัวกันเพื่อร่วมไว้อาลัยให้กับการเสียสละในครั้งนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น นายสมบัติจึงได้นำเทียนไปจุดที่บริเวณใต้สะพานลอย พร้อมทั้งเชิญชวนให้กลุ่มคนเสื้อแดงจุดเทียนพร้อมกันเพื่อร่วมรำลึกถึงวีรกรรมที่ยอมสละชีวิตของตัวเอง เพื่อต่อต้านการยึดอำนาจจากประชาชน
 
 
ที่มา: เว็บไซต์ข่าวสด
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลสั่งจำคุก 32 คนรักอุดร 2 พธม.เหตุปะทะหนองประจักษ์ปี 51

Posted: 31 Oct 2010 11:42 PM PDT

 
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ศาลจังหวัดอุดรธานี นัดอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ปะทะกันของสมาชิกชมรมคนรักอุดร กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หนองประจักษ์ศิลปาคม เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2551 เฉพาะคดีความผิดต่อร่างกาย ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ก่อเหตุวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ทำให้เสียทรัพย์ โดยมีผู้ต้องหามาฟังทั้งหมดยกเว้น ผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่เรือนจำกลางอุดรธานี ในข้อหาก่อความไม่สงบและเผาสถานที่ราชการ และมี พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เดินทางมาดูแลด้วยตนเอง

ศาลจังหวัดอุดรธานีมีพิพากษา ให้จำคุกนางกุหลาบ ยศอ่อน หรือดีเจหงส์  อายุ 49 ปี เป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน และจำคุกสมาชิกชมรมคนรักอุดรอีก 31 คนๆละ 8 เดือนโดยไม่รอลงอาญารวมทั้งนายประสิทธิ์ วิชัยรัตน์ หรือ ดีเจ.จอใจเดียว และ ดร.ณัฐยศ ผาจวง หรือ ผู้ใหญ่แดงอุดร ที่ศาลมีคำพิพากษาจำคุคนละ 1 ปี 6 เดือนจากเหตุชักชวนคนไปชุมนุมขัดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และจำคุกสมาชิกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 2 คน คือ นายรัตนชัย ทองสุข อายุ 24 ปี และนางธันยนันท์ จรัสจริวงศ์ อายุ 31 ปี  คนละ 8 เดือนไม่รอลงอาญาเช่นกัน
 
โดยศาลพิพากษาว่า นางกุหลาบ มีความผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.116(3) , 215 วรรคสาม , 216 , 299 , 358 ประกอบ ม.85 วรรคสอง เป็นความผิดกรรมเดียวกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 116( 3) อันเป็นบทลงโทษหนักสุด จำคุก 2 ปี แต่ชั้นสอบสวนให้การเป็นประโยชน์ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 ให้จำคุก 1 ปี 4 เดือน นางกุหลาบ เป็นนักจัดรายการวิทยุ อาศัยโอกาสในอาชีพที่ตนเองมีชื่อเสียง และมีคนติดตามรายการวิทยุจำนวนมาก การสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อประชาชน โดยทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า การกระทำของนางกุหลาบไม่เป็นความผิดต่อศีลธรรม กฎหมายบ้านเมือง อันเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคม และประเทศชาติ โดยส่วนรวมมหาศาล จึงไม่สมควรรอลงอาญา
 
ส่วนผู้ต้องหาอีก 33 คน ก็เป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.215 วรรคสอง , 216 , 299  ประกอบ ม.83 วรรคสอง  ต่อเนื่องกันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ม.216 อันเป็นบทลงโทษสูงสุด ให้จำคุกเป็นเวลา 1 ปี  การให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาโทษมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษหนึ่งในสาม จึงเหลือจำคุก 8 เดือน ซึ่งทั้งหมดเข้าร่วมในการชุมนุม และร่วมในการชุลมุนต่อสู้โดยใช้กำลังประทุษร้าย เป็นการก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง จึงไม่สมควรรอการลงโทษ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดที่เดินนทางมาในวันนี้ ได้แสดงเจตนายื่นอุทธรณ์ขอความเป็นธรรมต่อศาล และยืนหลักทรัพย์ประกันตัว ซึ่งศาล จ.อุดรธานี ได้กำหนดหลักทรัพย์ไว้รายละ 120,000 บาท
 
 
 
ที่มา: มติชนออนไลน์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น