โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักวิชาการสวีเดนค้นพบ ปกครองตนเอง ทางแก้ความขัดแย้งที่ยั่งยืน

Posted: 25 Mar 2012 10:37 AM PDT

นักวิชาการจากสวีเดนระบุ ผลการศึกษาสถิติชี้ชัด ความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งความสูญเสียจากความรุนแรงเหล่านั้นกำลังลดลงโดยภาพรวม ขณะในชายแดนใต้ของไทยสวนกระแสในเอเชียตะวันออกที่กลายเป็นภูมิภาคที่สงบมากกว่าที่อื่นๆ


Isak Svensson

อนุสนธิจากการที่ผู้จัดงานวันสื่อทางเลือกหนล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 มีการเชิญผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไอแซค สเวนซัน (Isak Svensson) นักวิชาการจากภาควิชาการวิจัยสันติภาพและความขัดแย้ง มหาวิทยาลัยอุปซาลา ประเทศสวีเดน เข้าร่วมวงเสวนา เรื่องบทบาทสื่อทางเลือกในการสร้างสันติภาพ

ไอแซค สเวนซัน ได้ประเมินภาพความขัดแย้งไว้สั้นๆ อย่างน่าสนใจ “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” จึงได้นัดหมายพูดคุยเพิ่มเติมเพื่อหาคำอธิบาย เรื่องแนวโน้มของความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ ที่ได้จากการศึกษาของนักวิชาการรายนี้จากโครงการที่กำลังเดินหน้าในนิวซีแลนด์ 

ไอแซค สเวนซัน ซึ่งศึกษาเรื่องของปัญหาความขัดแย้ง ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ยืนยันว่า แม้ตัวเลขจากการศึกษาอาจจะขัดกับความรู้สึกของผู้คนจำนวนมากที่ยังอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง แต่สถิติแสดงให้เห็นแนวโน้มชัดเจนว่า ความขัดแย้งชนิดที่มีการใช้กำลังและความสูญเสียที่เกิดจากความขัดแย้งประเภทนี้ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก กำลังลดลง 

และที่ลดนั้น มิใช่เพราะความขัดแย้งนั้นๆ กลายรูปไปเป็นความขัดแย้งชนิดอื่นแต่อย่างใด

การศึกษาของสเวนซัน ตีกรอบความขัดแย้งไว้ที่ประเภทของความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังหรืออาวุธ และเป็นความขัดแย้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต ตั้งแต่ปีละ 25 คนขึ้นไปเป็นอย่างต่ำ ซึ่งถือว่า เป็นความขัดแย้งในระดับย่อย

หากมีผู้เสียชีวิตระดับปีละนับพันคนขึ้นไปถือได้ว่าเป็นสงคราม การให้คำจำกัดความดังกล่าวนี้ สเวนซันระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และไม่เกี่ยวข้องกับคำจำกัดความ ตามข้อกำหนดของกฎหมายระหว่างประเทศ

สำหรับความขัดแย้งประเภทที่มีการใช้กำลัง (armed conflict) นี้ ไอแซค สเวนซัน ขยายความว่า มักจะเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับรัฐ หรือรัฐกับกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ อาจจะเป็นการใช้อาวุธทั้งคู่หรือมีแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ใช้อาวุธ โดยที่อีกฝ่ายเป็นผู้ถูกกระทำ กับอีกแบบคือ คู่กรณีที่ไม่ใช่รัฐทั้งคู่

ความขัดแย้งที่มีรัฐเป็นคู่กรณีและเป็นความขัดแย้งแบบมีการใช้กำลังมักเป็นรูปแบบของความขัดแย้งที่ได้รับความสนใจและหลายฝ่ายพยายามสนับสนุนให้มีการแสวงหาหนทางยุติ ทั้งนี้เพราะความขัดแย้งแบบนี้มักจะเป็นความขัดแย้งที่ทำให้เกิดความสูญเสียมาก

การศึกษาความขัดแย้งที่เริ่มจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สเวนซัน พบว่า ความขัดแย้งที่ศึกษาในระยะต้นๆ เป็นความขัดแย้งชนิดที่เข้มข้นมาก มีความสูญเสียมาก หลังจากสงครามโลกสงบ ความขัดแย้งหรือการต่อสู้กันเพิ่มจำนวนขึ้น ทว่าความเข้มข้นเริ่มลดลง 

จำนวนของความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังนั้น สถิติระบุไว้ว่า มีมากที่สุดในช่วงปี พ.ศ.2534 - 2535 ก่อนจะเริ่มลดลง ความขัดแย้งที่ปรากฏมากดังกล่าวนี้ เป็นความขัดแย้งระดับย่อย ซึ่งสเวนซันระบุว่า กลายเป็นแนวโน้มของโลกในปัจจุบัน ในขณะที่สงครามโลกสร้างความสูญเสียอย่างมากเพราะเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐต่อรัฐ และมีผู้เข้าร่วมในความขัดแย้งหรือสงครามอันนั้นหลายราย

“ยิ่งมีผู้สนับสนุนจากภายนอกมาก ความขัดแย้งยิ่งรุนแรงและมีโอกาสเกิดความสูญเสียมาก” 

นอกจากสงครามโลกแล้ว ตัวอย่างอื่นที่เป็นความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังที่สร้างความสูญเสียมาก ล้วนมีลักษณะคล้ายกัน เช่น สงครามเกาหลี การปราบกบฏในจีน สงครามอิรัก-อิหร่าน สงครามในคองโก อัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่เข้มข้น และมีคู่ความขัดแย้งเป็นรัฐ หรือเป็นรัฐขนาดใหญ่ และการมีคนนอกให้การสนับสนุน เช่น ในสงครามเกาหลีที่มีมหาอำนาจหนุนหลัง เป็นต้น

ความขัดแย้งที่รัฐเป็นคู่กรณี ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจรัฐ กล่าวคือใครควรจะได้เป็นผู้ใช้อำนาจในการปกครองนั้น และควรใช้ในลักษณะใด หรือไม่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือเป็นการเรียกร้องอำนาจในการปกครองตนเอง

สเวนซัน ชี้ว่า สาเหตุทั้งสองประการนี้เป็นเหตุผลหลักของความขัดแย้ง ที่เป็นกรณีศึกษาหลักระหว่างช่วงปี พ.ศ.2489 -2554 ด้วยสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตาม สเวนซัน กล่าวด้วยว่า ในระยะหลังความขัดแย้งประเภทที่รัฐเป็นคู่กรณีนั้นมีจำนวนที่ลดลง

ในแง่ของปัจจัยที่จะช่วยระงับหรือยุติความขัดแย้ง เงื่อนไขหลักๆ ที่ผู้ศึกษาพบมี 4 ประการด้วยกันคือ 

หนึ่ง มีการใช้กองกำลังต่างชาติเข้าไปรักษาสันติภาพ 

ถัดมาคือการเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งอาจจะมีได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับนำลงไปจนถึงระดับประชาชน 

ประการที่สาม คือ เมื่อมีการตกลงกันได้ ให้ใช้ระบบแบ่งปันอำนาจบริหารร่วมกันระหว่างคู่ความขัดแย้ง (power sharing) 

และประการสุดท้าย ก็คือ การได้อำนาจปกครองตนเอง ซึ่งโดยอีกนัยหนึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการแบ่งปันการใช้อำนาจบริหารร่วมกันประเภทหนึ่ง  

ทางออกแต่ละอย่าง มีน้ำหนักและความเป็นไปได้แตกต่างกันไป แล้วแต่สถานการณ์และไม่มีคำตอบตายตัวว่า ความขัดแย้งประเภทใดจะต้องใช้ทางออกแบบใด 

แต่ไม่ว่าจะลงเอยที่ทางแก้ไขแบบไหน สเวนซัน บอกว่า สิ่งที่จะทำให้หนทางสันติภาพนั้นยั่งยืน ก็คือการที่ต้องมีคู่กรณีร่วมอยู่ด้วยในการแสวงหาสันติภาพนั้น และด้วยเหตุดังนั้น การแบ่งปันอำนาจหรือการให้อำนาจปกครองตนเอง จึงมักเป็นทางออกที่ยั่งยืนมากกว่า

แต่การที่คู่กรณีหรือสถานการณ์จะอยู่ในสภาพสุกงอม พร้อมสำหรับการหาทางยุติความขัดแย้งได้นั้น สเวนซัน ชี้ว่า ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของความขัดแย้งแต่ละกรณีไป บางครั้งความขัดแย้งนั้นกินเวลาไม่นานแค่ปีเดียว คู่กรณีก็อยู่ในสภาพพร้อมจะหาทางออกหรือข้อยุติได้

แต่หลายครั้ง ความขัดแย้งนั้นกินเวลายืดเยื้อยาวนาน กว่าที่แต่ละฝ่ายจะยินยอมพร้อมใจร่วมมือแสวงหาสันติภาพ 

ที่เป็นเช่นนี้ นักวิชาการสวีเดนรายนี้ชี้ว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า คู่กรณีหรือคู่ความขัดแย้งจะมองเห็นผลเสียที่เกิดอันเนื่องมาจากความขัดแย้งนั้นว่า มากเกินกว่าที่จะรับได้หรือยัง หากคู่กรณีรู้สึกว่าต้นทุนของการสานต่อความขัดแย้งนั้น แพงและหนักเกินกว่าจะรับได้ ก็จะรู้สึกว่าต้องการแสวงหาทางออกมากขึ้น

ประชาชนทั่วไปเอง ก็สามารถมีบทบาทในการผลักดันให้เกิดการแสวงหาทางออกและสันติภาพได้ สเวนซัน ยกตัวอย่างการเคลื่อนไหวของประชาชนในกรณี นอร์ทเทิร์นไอร์แลนด์หรือไอร์แลนด์เหนือ ที่ได้ลงประชามติหาทางออกให้กับความขัดแย้งที่นั่นที่กินเวลายาวนาน

สเวนซัน เผยว่า เขากำลังจะเริ่มศึกษาเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้ของไทย 

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดสำหรับความขัดแย้งที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ มันทำให้ประเทศไทยเดินสวนทางกับแนวโน้มของทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งเมื่อมองโดยเปรียบเทียบแล้ว จะพบว่า มีสันติภาพมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของโลก

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุภัตรา ภูมิประภาส: ผู้หญิงกับการเมือง - นอว์ ซิปปอร่า เซน

Posted: 25 Mar 2012 09:29 AM PDT

ซิปปอร่า เซน เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ที่มาของภาพ: เฟซบุคเพจ Naw Zipporah Sein

 

นอว์ ซิปปอร่า เซน (Naw Zipporrah Sein) ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมสมัชชาสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union- KNU)  เมื่อเดือนตุลาคม 2551 ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ KNU โดยที่บิดาของเธอ คือ นายพล Tamla Baw ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสหภาพฯ

ซิปปอร่า เซน เป็นผู้หญิงคนแรกที่ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการ KNU ท่ามกลางทั้งเสียงสนับสนุนและคำปรามาส ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนเชื่อมั่นในประสบการณ์และผลงานที่ผ่านมาของซิปปอร่า เซนในฐานะเลขาธิการองค์กรสตรีกะเหรี่ยง (Karen Women’s Organisation -KWO) ฝ่ายที่ปรามาสเธอนั้นไม่เชื่อว่าเซนจะมีความสามารถนำองค์กรได้เท่าเทียมกับ Mahn Sha อดีตเลขาธิการ KNU คนก่อนที่ถูกลอบสังหาร

แต่เซนบอกว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง กระบวนการเจรจาทางการเมืองเพื่อให้บรรลุสันติภาพนั้นมิอาจเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพหากปราศจากการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในระดับการตัดสินใจ เธอบอกว่าตลอดระยะเวลายาวนานของการทำสงครามประชาชนในพม่า ผู้หญิงถูกกระทำให้อ่อนแอ และต้องแบกรับปัญหามากมายที่พวกเธอไม่ได้เป็นต้นเหตุ อย่างไรก็ตาม เธอเชื่อว่าประสบการณ์ในการทำงานเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้  ทำให้ผู้หญิงมีความเชี่ยวชาญในการที่จะทำงานทางการเมืองร่วมกับผู้ชายเพื่อนำสันติสุขมาสู่สังคม

เซนเห็นความรุนแรงของสงครามมาตลอดชีวิต เธอเกิดและเติบโตในพื้นที่สู้รบของชนชาติกะเหรี่ยงกับรัฐบาลพม่า บิดาของเธอเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธ มารดาของเธอต้องพาลูกๆแปดคนหลบลี้ภัยการสู้รบอยู่เกือบตลอดเวลา เธอถูกส่งไปเรียนหนังสือที่เมืองร่างกุ้งอยู่ช่วงหนึ่งและกลับมาเรียนต่อหลักสูตรครูและภาษาอังกฤษที่รัฐกะเหรี่ยง

เซนเล่าถึงความยากลำบากในการเป็นครูในพื้นที่สู้รบว่า เธอพบว่าเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะสอนให้เด็กๆเข้าใจคำว่า “สันติภาพ และความมั่นคง” เพราะความเป็นจริงที่รายล้อมเด็กๆรวมทั้งเธออยู่ตรงนั้นคือสงคราม เกือบทุกปีในช่วงกลางเทอม โรงเรียนต้องถูกปิดลงเพราะรัฐบาลพม่าส่งทหารเข้ามาโจมตีในพื้นที่ บรรดาเด็กผู้ชายต้องถูกส่งไปแนวหน้าเพื่อช่วยดูแลผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุในหมู่บ้านของพวกเขา หลายคนไม่มีโอกาสกลับเข้าห้องเรียนอีกเลย

นอว์ ซิปปอร่า เซน สอนหนังสือในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สู้รบในรัฐกะเหรี่ยงมานานถึง 20 ปี ก่อนที่จะหนีข้ามแดนมาเป็นผู้พักพิงในค่ายผู้หลบภัยจากการสู้รบที่ชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2538 ที่ค่ายผู้หลบภัยฯแห่งนี้ นอว์ ซิปปอร่า เซน ช่วยงานฝ่ายการศึกษา โดยทำหน้าที่ฝึกหัดครูเพื่อสอนหนังสือให้เด็กๆชาวกะเหรี่ยง และเริ่มงานในฐานะผู้ประสานงานองค์กรสตรีกะเหรี่ยง (KWO) ไปพร้อมกันด้วย  เซนทำหน้าที่ประสานงานช่วยเหลือชุมชนชาวกะเหรี่ยงในค่ายผู้หลบภัยสงคราม 7 แห่งที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า และยังเสี่ยงภัยกลับเข้าไปดูแลช่วยเหลือประชาชนกะเหรี่ยงที่ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่าด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงที่เป็นเลขาธิการองค์กรสตรีกะเหรี่ยง เซนได้ริเริ่มโครงการโรงเรียนผู้นำสำหรับเด็กหญิงชาวกะเหรี่ยง และจัดหลักสูตรต่างๆเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงกะเหรี่ยงโดยรวมด้วย เช่น โครงการการศึกษาของผู้ใหญ่ การพยาบาล รวมไปถึงการสร้างเซฟเฮ้าส์สำหรับผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ  เธอมีบทบาทสำคัญในการจัดทำรายงานการทารุณกรรมทางเพศที่เกิดขึ้นในรัฐกะเหรี่ยง และจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ"Shattering Silence" หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยในชื่อ “ข่มขืน ขื่นขมในความเงียบ” โดยคณะกรรมการจัดงานครบรอบ 60 ปี ออง ซาน ซูจี และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า

ปัจจุบัน ในฐานะเลขาธิการ KNU เซนเป็นหนึ่งในผู้แทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลพม่า เธอบอกว่าการเจรจาที่บรรลุข้อตกลงหยุดยิงเพียงอย่างเดียวนั้นมิอาจทำให้เกิดสันติภาพได้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องถกกันในโต๊ะเจรจาโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์

“การเจรจาทางการเมืองจะต้องให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ทั้งนี้ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้กำหนดนโยบายที่จะเพิ่มผู้แทนสตรีในการเจรจาสันติภาพครั้งต่อๆไปกับรัฐบาลพม่าไว้แล้ว”

เซนเป็นหนึ่งในจำนวนผู้หญิง 1000 คนจากทั่วโลกที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2548 

เธอได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชน Perdita Huston Human Rights Award ปี 2550 ในฐานะที่ทำงานส่งเสริมสตรีชนชาติกะเหรี่ยงในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ประชาธิปไตยและความเท่าเทียม

 

Perdita Huston Human Rights Award ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2546 โดย the United Nations Association of the National Capital Area (UNA-NCA) เพื่อเป็นเกียรติกับ Perdita Huston นักข่าวและนักเขียนสตรีชาวอเมริกันที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ทุกปีจะมีการมอบรางวัลนี้ให้กับสตรีที่มีบทบาทโดดเด่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรีในประเทศกำลังพัฒนา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ กษัตริย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: คงอยู่หรือล่มสลาย?

Posted: 24 Mar 2012 11:40 PM PDT

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกือบจะดับมอดลงอย่างราบคาบ เมื่อระบอบการปกครองแบบใหม่ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสนับสนุนความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน หรือที่เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตย ได้เข้ามาแทนที่ แต่กระนั้น ยังมีบางประเทศที่ยังคงระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นี้อยู่ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย แต่ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคขวากหนามมากขึ้นทุกวัน จนอาจนำไปสู่การล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในที่สุด เช่นที่ปรากฏในประเทศเนปาล เป็นต้น

บทความของผมฉบับนี้ ต้องการวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่นำไปสู่การคงอยู่หรือการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมถึงความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ในประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย คำถามหลักของผมก็คือ สถาบันกษัตริย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมี “ความร่วมสมัย” หรือ relevance กับสภาพการเมืองที่เปลี่ยนไปในศตวรรษที่ 21 หรือไม่ และสถาบันกษัตริย์สามารถอยู่ร่วมกับประชาธิปไตยหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ สถาบันกษัตริย์ถูกกำจัดไปส่วนหนึ่งด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ กาลเวลา และพัฒนาการทางการเมืองภายในประเทศ นับตั้งแต่พม่า เวียดนามและลาว เป็นต้น ในปัจจุบัน 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (จากทั้งหมดจำนวน 10 ประเทศ) ยังคงมีสถาบันกษัตริย์หลงเหลืออยู่และมีระดับของความสำคัญทางด้านการเมืองและการครอบงำอำนาจที่ต่างกันไปด้วย จากระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์เต็มรูปแบบ ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ในกรณีของไทยนั้น สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่คู่สังคมมาช้านาน ในรัชสมัยปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นับเป็นองค์พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุด (และยังคงครองราชย์อยู่) ในโลก สถาบันกษัตริย์ของไทยเป็นศูนย์กลางชีวิตทางการเมือง และเป็นสถาบันที่ตั้งอยู่บนยอดของโครงสร้างทางการเมืองของไทยที่ได้รับการค้ำจุนจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มราชานิยม และกองทัพ ด้วยดีเสมอมา

สำหรับประเทศบรูไนนั้น สุลต่านฮาสซานาล โบลเกียห์ ยังคงต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการคงไว้ซึ่งความชอบธรรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่เนืองๆ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่บรูไนเองเป็นประเทศที่รายล้อมไปด้วยเพื่อนบ้านที่เป็นประชาธิปไตย ในส่วนของกัมพูชานั้น พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี มีบทบาทในเชิงพิธี (ceremonial) เท่านั้น แต่ก็นับว่ามีเป็นปัจจัยหนุนทางการเมือง รวมถึงในด้านการเป็นผู้ปกป้องสิ่งที่เรียกว่าเป็นอัตลักษณ์ของกัมพูชา

ที่แตกต่างออกไปเลยก็คือระบอบการปกครองของมาเลเซีย ที่ยังมีการเลือกตั้งกษัตริย์และยังมีวาระของการอยู่ในอำนาจที่ระบุเด่นชัด ตำแหน่งนี้มาเลเซียเรียกว่า ยังดี เปอร์ตวน อากง (Yang di-Pertuan Agong) ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันหนึ่งที่มีตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์มาเลเซีย ยังดี เปอร์ตวน อากง องค์ปัจจุบัน ได้แก่ สุลต่านอับดุลฮาลิม (Sultan Abdul Halim) จากรัฐเคดาห์ ที่ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อเดือนธันวาคม 2554 หากมองย้อนหลังไปในการเลือกตั้งในมาเลเซียเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียที่นั่งในสภานิติบัญญัติของพรรคการเมืองที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของมาเลเซีย นั่นคือ พรรคอัมโน หรือ United Malays National Organization ซึ่งต่อมาได้มีความพยายามตอบโต้พรรคฝ่ายค้านโดยใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือ โดยกล่าวหาว่า พรรคฝ่ายค้านขาดความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ และรณรงค์ให้ชาวมาเลเซียหันมาต่อต้านพรรคฝ่านค้านเหล่านั้น

ที่อื่นๆ ทั่วไปในโลกนั้น สถาบันกษัตริย์ถูกมองว่าเป็นสิ่งล้าหลังทางการเมือง วัตถุโบราณ หรือมองไปถึงการเป็นสถาบันที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่ยังมีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือยังมีสถาบันกษัตริย์หลงเหลืออยู่ คำถามที่จำเป็นต้องได้รับคำตอบก็คือ สถาบันกษัตริย์จะคงอยู่อีกนานเท่าใด และปัจจัยใดที่จะนำไปสู่ความอยู่รอดหรือการล่มสลาย

เรามาเริ่มจากกรณีของไทยก่อน วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่มีการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2549 นำไปสู่การใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มรักเจ้าใช้สถาบันกษัตริย์เป็น “ตัวประกัน” ในการให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตัวและเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ความพยายามกำจัดปฏิปักษ์ทางการเมืองโดยใช้สถาบันกษัตริย์เป็นอาวุธนำไปสู่ความสั่นคลอนของสถาบันกษัตริย์ที่เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน การเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ด้วยวิธีนี้ ส่งผลให้หรือกระตุ้นให้สาธารณชนหันมามองบทบาทของสถาบันกษัตริย์ต่อพัฒนาการทางการเมืองมากขึ้น นำไปสู่คำถามที่ว่า หากสถาบันกษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมืองแล้ว ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์บทบาททางการเมืองนั้นได้ เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่กระทบต่อวิถีชิวิตของทุกคน และประชาชนย่อมมีสิทธิในการแสดงความเห็นต่อตัวแสดงทางการเมืองต่างๆ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในไทยในปัจจุบันอยู่ที่ว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มรักเจ้าและกองทัพ มีความเห็นแก่ประโยชน์ตนสูงและมองข้ามธรรมชาติและพัฒนาการทางการเมืองของไทย ดึงสถาบันกษัตริย์ลงมาเล่นการเมืองเพื่อประโยชน์ตัวเอง แต่ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ให้มีการวิจารณ์การเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ วิธีปฏิเสธหรือต่อต้านก็โดยการใช้กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ในการหักล้างกับฝ่ายตรงข้าม แต่ก็ลืมไปว่า สังคมไทยเติบโตและมีวุฒิภาวะขึ้นมาก กระแสประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในโลกและในภูมิภาคได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาสู่ไทยเช่นกัน การสร้างกำแพงปิดกั้นพัฒนาการทางประชาธิปไตยนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

ในส่วนของบรูไนนั้น สุลต่านโบลเกียห์และผู้สนับสนุนรอบข้าง ได้พยายามสร้างความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์บนพื้นฐานของการยึดมั่นในศาสนาอิสลาม อุดมการณ์ที่เรียกว่า Melayu Islam Beraja หรือความเชื่อมั่นในความเป็นมาเลย์ คำสอนของอิสลาม และระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (a blend of Malay language, culture and Malay customs, the teaching of Islamic laws and values and the monarchy system which must be esteemed and practiced by all) ถูกนำมาผูกยึดติดกับบทบาทของอิสลามทางการเมือง แต่การยึดมั่นในอุดมการณ์นี้กำลังเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากกลุ่มคนที่มิใช่มาเลย์และอิสลามในบรูไน กลุ่มคนเหล่านี้มองว่ากำลังถูกโดดเดี่ยวจากรัฐ และเห็นว่า สถาบันกษัตริย์มีส่วนสร้างความแตกแยกทางสังคม

ปัญหาข้างต้นยังไม่รวมถึงเรื่องอื้อฉาวอีกมากที่เกิดกับพระบรมวงศานุวงศ์ สร้างความเอือมระอาต่อพสกนิกรในประเทศนั้นๆ อาทิ กรณีของพระเชษฐาของสุลต่านบรูไน (เจ้าชาย Jefri) ที่ถูกกล่าวหาในกรณีการคอร์รัปชั่นมากกว่า 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระหว่างการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของบรูไนเป็นเวลา 13 ปี หรือในกรณีที่อดีตยังดี เปอร์ตวน อากง Mahmud Iskandar Al-Haj ibni Ismail Al-Khalidi (2527-2532) ที่ได้ก่อหลายคดีความที่เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมและทำร้ายร่างกายก่อนที่จะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งยังดี เปอร์ตวน อากง ทางด้านกัมพูชานั้น กษัตริย์สีหมุนีก็ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือรับใช้ของระบอบฮุนเซน เป็นต้น

จากตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์มีส่วนชี้นำสังคมทั้งในทางบวกและทางลบ ดังนั้น ความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์จึงขึ้นอยู่กับไหวพริบส่วนตัวของกษัตริย์เองในการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่พฤติกรรมและสถานะทางการเมือง หรือกล่าวโดยสรุป สถาบันกษัตริย์ (และผู้รับใช้สถาบันกษัตริย์) จะต้องปรับตัวให้เข้ากับระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่บีบบังคับให้ประชาธิปไตยปรับตัวเข้าหาสถาบันกษัตริย์ ความสามารถในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ตามการเปลี่ยนแปลง หรือที่เรียกว่า reinvention ถือเป็นหัวใจสำคัญของความอยู่รอด โดยการปรับตัวนี้ ต้องทำใน 2 ระดับควบคู่ไป ทั้งในระดับปัจจเจกบุคคลและระดับชาติ

ในระดับปัจเจกบุคคลนั้น พระมหากษัตริย์ต้องมีความพร้อมในการแสดงโปร่งใส ความรับผิดชอบต่อสังคม และยอมรับในสถานะที่ได้รับมอบหมาย การเป็นองค์อุปถัมภ์ให้กับศาสนาต่างๆ รวมถึงการเป็นแบบอย่างของการประพฤติดี (ในกรณีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือการปฏิบัติตนเยี่ยง “ธรรมราชา”) จะส่งผลต่อความจงรักภักดีของพสกนิกรตามธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องมีการบังคับให้ยอมรับนับถือ หรือรักสถาบันกษัตริย์โดยอาศัยเครื่องมือของรัฐ ในจุดนี้ ขอเน้นย้ำว่า “ธรรมราชา” มีความแตกต่างอย่างยิ่งจาก “เทวราชา” ในขณะที่คอนเซ็ปท์แรกเน้น “ความเป็นมนุษย์” ที่จักต้องมีการตรวจสอบได้ คอนเซ็ปต์หลังเน้น “ความเหนือมนุษย์” ที่อยู่นอกเหนือการวิพากษ์วิจาณ์ (และเป็นภัยต่อประชาธิปไตย)

ประเด็นเรื่องการประพฤติตนในฐานะธรรมราชา (มิใช่เทวราชา) มีความสำคัญยิ่งยวด ความเกี่ยวโยงระหว่างความเป็นกษัตริย์ (kingship) และศาสนา หากนำไปใช้อย่างมีไหวพริบและตามธรรมครรลอง ก็จะมีส่วนสร้างพลานุภาพให้กับสถาบันกษัตริย์ได้ การล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเนปาลภายใต้การปกครองของกษัตริย์ Gyanendra Bikram Dev นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการขาด “ความชอบธรรมทางศาสนา” รวมถึงเรื่องอื้อฉาวที่เกิดมาจากการสังหารหมู่พระบรมวงศานุวงศ์โดยน้ำมือของพระบรมโอรสาธิราชของเนปาลเอง

ในระดับชาตินั้น เป็นที่รู้กันโดยทั่วไป (อย่างผิดๆ) ว่า ความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ขึ้นกับความสัมพันธ์ที่แนบแน่นที่มีกับกองทัพ ในเรื่องนี้ กองทัพเองก็ได้รับประโยชน์จากการปกป้องสถาบันกษัติรย์ โดยมักจะอ้างความจำเป็นของการคงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งชาติ (ที่น่าแปลกก็คือ แม้แต่ในประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย สถาบันกษัตริย์กลับได้รับการยกย่องให้เป็นสถาบันที่มีความสำคัญสูงสุดของประเทศ มิใช่สถาบันประชาชน) การก่อรัฐประหารโค่นล้มระบอบทักษิณฯ ส่วนหนึ่งมาจากข้ออ้างของกองทัพที่ว่า คุณทักษิณฯ ขาดความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และทำตัวเป็น “ภัย” ต่อความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ จึงสมควรได้รับการกำจัดด้วยวิถีทางที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ การกล่าวอ้างเช่นนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งโดยเฉพาะในการปกปิดจุดมุ่งหมายและภารกิจที่แท้จริงของกองทัพ นั่นคือ การคงไว้ซึ่งสถานะทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และสถาบันทหาร ขณะเดียวกัน ภารกิจของกองทัพได้แปรผันไป จากการเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแนวหน้าในการต่อสู้กับศัตรูที่รุกรานประเทศและการปกป้องความมั่นคงของประชาชน ไปสู่การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลัก มิหนำซ้ำ กองทัพยังเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ใช้มาตรา 112 ในการจัดการกับ “ประชาชน” ที่แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาต่อสถาบันกษัตริย์อีกด้วย

แต่ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นนี้มีส่วนบ่อนทำลายพัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ขณะที่สถาบันกษัตริย์มีความเข้มแข็งมากขึ้น สถาบันประชาธิปไตยกลับมีความอ่อนลง ความอ่อนแอของระบอบประชาธิปไตยนี้เองจะเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวและผลัดกันเพื่อให้อำนาจทางการเมืองเป็นของประชาชนโดยแท้จริง

ความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์จริงๆ จึงอยู่ที่ความรู้จักบริหารความสัมพันธ์ที่มีกับองค์กร หน่วยงานของรัฐ และภาคประชาชนอย่างเหมาะสมและภายใต้กรอบของประชาธิปไตย ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้คือ ในสังคมไทยทุกวันนี้ ยังมีปัจจัยใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดบทบาททางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ รวมถึงจำกัดบทบาทนั้นๆ หรือแม้แต่เป็นสิ่งท้าทายต่อสถาบันกษัตริย์ อาทิ ความรุดหน้าทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เป็นต้น การใช้เครื่องมือที่ไร้ความชอบธรรมในการปกป้องสถาบันกษัตริย์เพื่อต่อต้านปัจจัยใหม่เหล่านี้ เช่น การใช้มาตรา 112 ปราบปรามผู้คิดต่าง ถือเป็นเป็นการกระทำที่จะส่งผลลบมากกว่าผลบวก (counterproductive)

สถาบันกษัตริย์มีความเป็นมานับร้อยๆ ปี ดังที่ปรากฏในหลายประเทศในยุโรป ความอยู่รอดขึ้นอยู่กับความพร้อมที่จะอยู่ร่วมกับประชาธิปไตยในฐานะมิตร ขณะที่การล่มสลายจะขึ้นอยู่กับการเป็นศัตรูของประชาธิปไตยนั่นเอง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น