ประชาไท | Prachatai3.info |
- ขอความสุข (ของใคร???) คืน
- วสันต์ สายรัศมี: ชีวิตและผลตอบแทนพยานปากเอก 6 ศพวัดปทุมวนาราม
- ดีเอสไอเล็งสอบปากคำ ศอฉ. ถามข้อมูลคดี "ล้มเจ้า"
- สมานฉันท์แรงงานไทยขอระดมทุนช่วยเหลือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
- ฟุตบอลโลกกับการพนันในมุมมองศาสนธรรม
- รายงาน: ทุกข์ของคนข้างหลังของ 2 ว่าที่เจ้าบ่าว (ทหาร VS ผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ)
- ภาคประชาชนค้านขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
- คบท. ชี้ ต้องกำหนดการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการประมูลคลื่น 3G
- ประณามความรุนแรงภาคใต้ ผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 ราย ภายใน 6 ปี
- ต้านไม่เอาท่าเรือน้ำลึก หวั่นเจอมาบตาพุดโมเดล
Posted: 04 Jul 2010 10:18 AM PDT หมายเหตุ: “ขอความสุข (ของใคร???) คืน” คำถามจากกลุ่มคนทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งในชื่อที่ตั้งกันอย่างฉุกละหุก ว่า “กสม. (กรูสามารถ)” จากภาพ “ความสุข” ที่ผู้คนขอคืน ภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมโดยกองกำลังทหารของรัฐ ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 88 ศพ และบาดเจ็บถึง 1,407 ราย ....
“สุดยอดเลยค่ะ......... ประเทศไทยของเราขอให้มีความสุข ดูแล้วขนลุกมากๆ เลยค่ะ...... ต้องขอบคุณดารา ทุกๆๆ คนเลยนะค่ะ......” “ดูครั้งแรกที่สถานีรถไฟฟ้าสยาม อึ้งมากมาย คนที่ยืนรอรถ มอง ที่ทีวี เปงทางเดียว แอบน้ำตาซึม” “อยากให้คนไทยกลับมารักกันเหมือนเดิม” นี่คือส่วนหนึ่งของความคิดเห็นใน (www.youtube.com) ที่มีต่อมิวสิควิดีโอเพลง “ขอความสุขคืนกลับมา” ที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ภาพมิวสิควิดีโอที่มีฉากหลังเป็นซากตึกถูกเผาไหม้ กระทบใจใครหลายคนอย่างรุนแรงจนถึงกับมีคนน้ำตาซึม น่าสงสัยว่า “ความสุข” ที่เนื้อเพลงพยายามจะ “ขอคืนกลับมา” นั้นหมายถึงความสุขแบบไหนและความสุขของใคร ถ้าซากตึกที่ถูกเผาไหม้คือความสุขที่ใครต่อใครพยายามจะขอคืน... แล้วซากศพของประชาชนจำนวน 90 ศพที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการของรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม ถูกรวมอยู่ใน “ความสุข” ที่ “หายไปจากสังคมไทย” ด้วยหรือไม่ ?
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
วสันต์ สายรัศมี: ชีวิตและผลตอบแทนพยานปากเอก 6 ศพวัดปทุมวนาราม Posted: 04 Jul 2010 04:39 AM PDT <!--break-->
วสันต์ สายรัศมี หรือ เก่ง อายุ 27 ปี เป็นอาสาสมัครหน่วยกู้ชีพวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน เขาภาคภูมิใจในงานตระเวนช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต ที่ทำมานานหลายปี กระทั่งเกิดความขัดแย้งทางการเมือง เขายังคงทำหน้าที่ของเขา โดยยืนยันว่าไม่ได้สนใจกับเรื่องการเมืองมากนัก ไม่ดูหน้าว่าใครเป็นใคร ไม่สนว่าใครอยู่ฝักฝ่ายไหน สำหรับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง เขาก็ช่วยเหลือตั้งแต่เมษายน 2552 กระทั่งเหตุการณ์เมษายนวิปโยค 2553 จนมาถึงเหตุการณ์นองเลือดในเดือนถัดมา เก่งเป็นอาสาสมัครหนวยกู้ชีำำพที่อยู่ในเหตุการณ์ “กระชับพื้นที่” ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขาเข้าไปหลบอยู่ในวัดปทุมวนารามกับผู้ชุมนุมหลายพันคน หลังจากแกนนำประกาศยอมมอบตัวในช่วงบ่ายแก่ของวันที่ 19 พ.ค.53 ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ทยอยไปพักอยู่ด้านในของวัด เต๊นท์พยาบาลยังตั้งอยู่ด้านหน้าวัด อาสาสมัครยังปักหลักอยู่ตรงนั้นเพื่อดูแลผู้คนที่ทยอยเข้ามา แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อกระสุนปืนสาดเข้ามายังผู้ชุมนุมด้านหน้าประตูวัดที่มีป้าย “เขตอภัยทาน” ขนาดใหญ่ และยังสาดเลยมาถึงเต๊นท์พยาบาลของพวกเขาด้วย เก่งเป็นผู้ที่เสี่ยงชีวิตช่วยเหลือคนบาดเจ็บ ณ จุดปะทะสำคัญหลายแห่ง ตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 19 พ.ค. แม้แต่คนที่ตายไปแล้วเขาก็ยังพยายามเข้าไปลากเอาศพออกมาด้วยเกรงว่าศพจะสูญหายเหมือนการกวาดล้างทางการเมืองหลายๆ ครั้ง หลายคนที่ทำอย่างเขาถูกยิงเสียชีวิตไปด้วย แต่เขารอดมาได้ ช่วงเย็นของวันที่ 19 พ.ค.ในวัดปทุมฯ เก่งยังคงทำเช่นเดิม หลายคนที่ทำอย่างเขาถูกยิงเสียชีวิต แต่เขาก็รอดมาได้ วันรุ่งขึ้น เขายังคงอยู่เฝ้าศพในวัดปทุมฯ กระทั่ง หมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เข้ามาตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ และมีการลำเลียงศพไปผ่าพิสูจน์ยังโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามถนน โรงพยาบาลซึ่งพวกเขาได้แต่มอง และไม่สามารถเอาคนเจ็บฝ่าดงกระสุนข้ามไปส่งได้เลยในคืนวันที่ 19 พ.ค. เขาอยู่ตรงนั้นตลอด และตามไปเฝ้าศพเพื่อนอีกที่โรงพยาบาลตำรวจรอจนญาติมารับ ทั้งยังไม่รีรอที่จะพูดในสิ่งที่เห็นกับนักข่าวที่เข้าไปสอบถามเหตุการณ์ ขณะที่อีกหลายคนที่ร่วมเหตุการณ์เลือกที่จะเงียบเพราะวิตกกังวลเกี่ยวกับอันตรายที่อาจมาถึงตัว เขายืนยันอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ว่า เห็นทหารบนรางบีทีเอสที่สาดกระสุนลงมายังเขตวัด เขายังคงทำอย่างนั้นตลอดเดือนสองเดือนหลังเหตุการณ์ ทั้งการให้สัมภาษณ์กับสื่อหนังสือพิมพ์ ทีวี กระทั่งปรากฏตัวและบอกเล่าเรื่องราวตามเวทีเสวนาทางการเมืองต่างๆ ในมหาวิทยาลัย พร้อมกับเปิดคลิปเหตุการณ์เท่าที่รวบรวมมาได้ สำหรับเก่งแล้วการสูญเสีย “เพื่อน” ที่ร่วมอุดมการณ์ช่วยเหลือผู้คน ใกล้ชิดสนิทสนม กินนอนด้วยกัน และตายต่อหน้าต่อตา กระทั่งตายคามือเขา รวมแล้วถึง 3 คน (กมลเกด อัคฮาด, อัครเดช ขันแก้ว, มงคล เข็มทอง) เป็นเรื่องยากจะยอมรับ อาจเพราะ “เพื่อน” ดูเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในชีวิตของเก่ง ผู้ที่มียายคอยผู้อุปการะเลี้ยงดูมาตลอดชีวิต ขณะที่พ่อและแม่ที่แท้จริงทิ้งเขาไปตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อเริ่มโตเป็นวัยรุ่น เขาก็ตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านกับกลุ่มเพื่อนฝูง เผชิญโชคเพียงลำพังในเมืองกรุง ยืนบนลำแข้งตนเองมาโดยตลอด อาศัยรับจ้างล้างจาน เด็กเสิร์ฟ จนทำอาหารได้ และเก็บเงินเปิดร้านของตัวเอง รวมไปถึงงานต่างๆ อีกสารพัน ตามประสาผู้โชกโชนชีวิต ปัจจุบันเก่งมีลูกวัย 9 ขวบที่อยู่ในความอุปการะของยายและพี่เขย โดยมีเขาทำหน้าที่ส่งเสียเลี้ยงดูทั้งยายและลูกเพียงลำพัง ตั้งแต่ออกมาให้ข้อมูลความเลวร้ายในวันที่ 19 พ.ค. ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องคอยหลบซ่อนตัวด้วยเกรงอันตรายจะเกิดขึ้นในยุคที่การลอบสังหารกลับกลายมาเป็นเรื่องธรรมดาอีกครั้ง และยิ่งสร้างความกังวลให้เพิ่มมากขึ้น เมื่อได้รับแจ้งจากญาติพี่น้องที่พักอาศัยอยู่ภายในซอยประชาอุทิศ 29 ว่าบริเวณหน้าบ้านพักมีหมายเรียกของศูนย์อํานวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ติดไว้ที่ประตู ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีข้อความระบุว่า ให้ไปรายงานตัวที่ ศอฉ. พร้อมระบุถึงโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หากฝ่าฝืนคำสั่ง มีลายเซ็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธาน ศอฉ. กำกับตอนท้าย เก่งตัดสินใจที่จะไม่ไปรายงานตัวเพราะเกรงจะถูกจับกุม โดยเขายืนยันว่าเขาไม่ได้ทำสิ่งใดผิด และแม้ไม่มีใครเข้ามาดูแล คุ้มครองชีวิตของเขาในฐานะพยานของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เขาก็จะอาศัย “เพื่อน” ของเขาที่คอยโอบอุ้มชีวิตของเขาต่อไป และแม้ย้อนเวลาได้ เขาก็จะทำในสิ่งที่ได้ทำลงไปแล้วโดยไม่ลังเล เพราะต้องการทวงถาม “ความยุติธรรม” ให้แก่เพื่อนของเขา รวมถึงประชาชนมือเปล่าที่เสียชีวิตในฝันร้ายอันแสนยาวนานนั้น สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
ดีเอสไอเล็งสอบปากคำ ศอฉ. ถามข้อมูลคดี "ล้มเจ้า" Posted: 04 Jul 2010 02:35 AM PDT <!--break--> เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 53 ที่ผ่านมามติชนออนไลน์รายงานว่าพ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ถึงความคืบหน้าคดีกรณีศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ระบุมีบุคคล 27 ราย ที่เกี่ยวข้องกับความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ด้วยการอามาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินีและรัชทายาท หรือคดีล้มสถาบัน ว่ารายชื่อบุคคลที่เข้าข่ายกระทำผิดจำนวน 27 คน เป็นรายชื่อที่พนักงานสอบสวนได้รับจาก ศอฉ.ตามแผนผังที่ปรากฏก่อนหน้านี้ สำหรับ 27 รายนี้เป็นบุคคลที่ยังไม่ถูกจับกุมหรือดำเนินคดี หลังจากนี้ พนักงานสอบสวนจะเดินทางไปสอบปากคำ ศอฉ. เพื่อสอบถามว่ามีข้อมูลและหลักฐานใดบ้างที่ระบุว่า บุคคลในแผนผังกระทำผิด เนื่องจาก ศอฉ.เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อจากนั้นดีเอสไอจะสืบสวนประวัติบุคคลต้องสงสัยที่ปรากฏชื่อในแผนผังและวิเคราะห์ข้อมูลของ ศอฉ.ว่า มีส่วนเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับขบวนการล้มเจ้าจริงหรือไม่ พ.ต.อ.ญาณพลกล่าวอีกว่า ส่วนการตรวจสอบเครือข่ายหรือมือโพสท์ข้อความบนอินเตอร์เน็ต ตอนนี้ดีเอสไอกำลังรวบรวมข้อมูลว่ามีเครือข่ายใดบ้าง จากนั้นจะจับตาพฤติกรรมเป็นพิเศษ หากพบว่ามีโพสท์ข้อความไม่สมควร เบื้องต้นจะไปพบตักเตือน แต่ถ้ายังไม่หยุดพฤติกรรมจะจับกุมทันที
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
สมานฉันท์แรงงานไทยขอระดมทุนช่วยเหลือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค Posted: 04 Jul 2010 02:20 AM PDT <!--break--> เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 53 ที่ผ่านมาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ออกจดหมายถึงองค์กรสมาชิก องค์กรพันธมิตร และเครือข่ายองค์กรต่างๆ ขอระดมทุนช่วยเหลือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยมีรายละเอียดดังนี้ ... เนื่องด้วยสถานการณ์ความไม่สงบในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน และได้ลามมาถึงสำนักงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำให้ได้รับความเสียตามข่าวที่ทราบกันแล้วนั้น ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นค์กรที่ดำเนินงานเพื่อสาธารณะ และเป็นภาคีร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยตลอดมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงขอเชิญชวนพี่น้ององค์กรสมาชิก องค์กรพันธมิตร และเครือข่ายองค์กรต่างๆ ร่วมกันระดมทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งนี้สามารถติดต่อเพื่อสนับสนุนงบประมาณในการระดมทุนช่วยเหลือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ที่คุณอังสนา ภิรมย์ศิริพรรณ (เหรัญญิก คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย) หมายเลขโทรศัพท์ ๐๘-๑๖๘๕-๐๙๒๔ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
ฟุตบอลโลกกับการพนันในมุมมองศาสนธรรม Posted: 04 Jul 2010 02:14 AM PDT <!--break--> ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน ข้อความดังต่อไปนี้ผมได้อ่านจากเว็ปบอร์ดหนึ่งที่ให้ทัศนะกับเทศกาลบอลโลกว่า ฟุตบอลโลกได้ดึงดูดความสนใจของคนไทยแม้ทีมชาติไทย ไม่ได้ไปบอลโลก ความสุข รอยยิ้ม ของคนไทย ปรากฎขึ้นได้ หลังจากผ่านช่วงเวลาที่น่ากลัว และเลวร้ายช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม แต่หลายคนไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การพนันคือ ปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งผลให้เกิดความสนใจ มหกรรมกีฬา ครั้งนี้ อันเนื่องมาจาก"การพนัน" คือวัฒนธรรมพื้นฐาน ของคนไทย(หลายคนถึงแม้จะเป็นเมืองพุทธ) แต่โบราณ ที่มันยังอยู่คู่กับความสังคมไทย มาช้านานถึงแม้จะข้ามน้ำข้ามทะเลก็ยังอุตส่าห์ตามไปเล่นถึงที่ (ประเทศเพื่อนบ้าน) ในเมื่อไม่สามารถจะกำจัด นิสัย หรือ ความผูกพันธ์ ระหว่างคนไทย(หลายคน) กับ การพนันให้หมดไปได้จึงควรที่จะคิดว่าจะบริหารจัดการควบคุม การพนันให้อยู่หมัดได้อย่างไรโดยเฉพาะองค์กรตำรวจ (อย่าปากว่าตาขยิบ) ในเมื่อไม่ปราบปราบ หรือปรามไม่เป็น หรือมือไม่ถึงก็เห็นควรปิดกั้น พฤติกรรมใดๆ ทีส่งเสริม ทางตรงหรือทางอ้อม ยั่วยุ ชักชวนให้เข้าสู่วังวนของ การพนันฟุตบอล สื่อที่หลากหลาย(ที่ไม่มีจรรยาบรรณ)ทุกวันนี้นั่นแหละตัวดี โดยมีการวิเคราะห์วิจารณ์เกมส์ฟุตบอลทั้งก่อนและหลังเกมส์ซึ่งส่อเพื่อใช้ในการพนัน (ไม่ใช่วิเคราะห์ทางกีฬา) แม้แต่เด็กประถมศึกษายังรู้ว่าจะเสพสื่อประเภทนี้ได้ที่ไหน SMS การพนันแฝง มีให้เสี่ยงทาย (พนันถูกกฎหมาย) มีตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาทั้งทายข่าว ทายผล มันเป็น การพนันแฝงทั้งนั้น ในเมื่อสื่อต่างๆหวังธุรกิจของตัวเองเช่นนี้ก็ขอฝากไปยังองค์กรศาสนาไม่ว่าพุทธ มุสลิม หรือศาสนาต่างๆที่อยู่ในประเทศไทยให้ หันมาช่วยรณรงค์จิตวิญญาณทางศาสนธรรมให้แก่เยาวชนของตนหรือจับมือศาสนสัมพันธ์แถลงการณ์ ยิงสปอร์ตโฆษณา ห้ามเล่นการพนันฟุตบอลโลกไปเลย เพราะการพนันตามหลักศาสนพุทธก็ชัดเจนว่าผิดศีลห้า ในขณะอิสลามศาสนาของผมก็กล่าวอย่างชัดเจนเช่นกันว่า ห้ามการพนันทั้ง พระดำรัสของพระเจ้า และวัจนศาสดาที่กล่าวไว้ตั้ง 1400 ปีมาแล้ว เช่นพระเจ้าได้โองการไว้ ความว่า : โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ! แท้ จริงแล้วสุรา การพนัน แท่นบูชายัญ และการเสี่ยงติ้วนั้นเป็นสิ่งโสมมที่เกิดจากการกระทำของซาตาน ดังนั้น พวกเจ้าจงหลีกเลี่ยงมันเสีย เผื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ (อัล-มาอิดะฮฺ : 90) ในขณะที่ศาสดามุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า “ผู้ใดเล่นลูกเต๋า แน่นอนเขาได้ฝ่าฝืนอัลลอฮและศาสดาของพระองค์ (บันทึกโดย อบูดาวูด หะดิษหมายเลข 4938 และอิบนุมายะฮ หะดิษหมายเลข 3762) ที่สำคัญรายได้ที่เกิดจากการพนันตามทัศนะของศาสนาอิสลามแล้วถือเป็นรายได้ที่โสมมพระเจ้าจะไม่รับศาสนกิจของผู้นั้น เพราะท่านศาสดากล่าวไว้ความว่า แท้จริงอัลลอฮ (พระเจ้า) นั้น ทรงดียิ่ง พระองค์จะไม่ทรงรับรอง นอกจากสิ่งที่ดีเท่านั้น ...และพระองค์ยัง ตรัสไว้อีกว่า (โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงบริโภคจากบรรดาสิ่งที่ดี สิ่งซึ่งเราได้ประทานให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า และจงขอบคุณต่ออัลลอฮ หากพวกเจ้าเคารพภักดีต่อพระองค์เท่านั้น ต่อมาท่านศาสดา ก็ได้ระบุว่า (ชายคนหนึ่งเขาได้เดินทางไกล ผมเฝ้ายุ่งเหยิง เต็มไปด้วยฝุ่น แล้วเขายกมือของเขาสู่ฟากฟ้า ขอพรต่อพระเจ้า ว่า”โอ้พระผู้อภิบาลของข้า โอ้พระผู้อภิบาลของข้า ทั้งๆที่ อาหารของเขา นั้น เป็นสิ่งต้องห้าม เครื่องดื่มของเขา เป็นสิ่งต้องห้าม เสื้อผ้าของเขาเป็นสิ่งต้องห้าม และ เขาหาอาหารมาด้วยสิ่งต้องห้าม ดังนั้น แล้วมันจะถูกรับสำหรับสิ่งดังกล่าวนั้น ได้อย่างไร – บันทึกโดยมุสลิม ท้ายนี้ก็หวังว่าธรรมมะซึ่งเป็นเรื่องจิตวิญญาณจะสามารถช่วยคนไทยหลุดพ้นจากความหายนะของการพนัน ทั้งโลกนี้และโลกหน้า อามีน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
รายงาน: ทุกข์ของคนข้างหลังของ 2 ว่าที่เจ้าบ่าว (ทหาร VS ผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ) Posted: 04 Jul 2010 02:02 AM PDT เรื่องราวของคนข้างหลังคู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่ายในชายแดนใต้ ฮัมดี แวสะมะแอ กับ ร.ท.สุรชัย ศิลานันท์ สองว่าที่เจ้าบ่าวที่ตายในบ้านหลังเดียวกันจากการยิงปะทะกัน ก่อนวันคืนแห่งความชื่นมื่นจะมาถึงไม่กี่วัน กลายเป็นความโศกเศร้าเสียใจ หนึ่งปีที่ผ่านการเยียวยาและผลตอบแทนที่พวกเขาได้รับกับความลำบากที่คนที่เหลืออยู่ต้องประสบพบเจอ <!--break--> นางเจ๊ะรอกายะ มูดอ กำลังดูการ์ดแต่งงานของลูกชาย ฮัมดี แวสะมะแอ ที่ถูกทหารยิงเสียชีวิตหลังจากใช้ปืนยิงร.ท.สุรชัย ศิลานันท์ ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจปัตตานีเสียชีวิตก่อนถึงวันงานเพียง 10 วัน นางเจ๊ะรอกายะ มูดอ กับหลานที่พ่อของเขาถูกคุมขังในเรื่องจำเนื่องจากเป็นจำเลยคดีความมั่นคง ฮาตีนี อูมา ภรรยาของฮัมดีที่ได้อยู่กินกับเพียงเดือนเดียวกำลังอุ้มลูกสาววัย 2 เดือน โดยมีหลานของเธอกำลังเล่นอยู่ใกล้ๆ แน่นอนว่า การช่วยเหลือเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากกลไกภาครัฐที่ผ่านมา ไม่ได้พูดถึงครอบครัวหรือญาติๆ ของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเลย ในขณะที่มีการตั้งสมมุติฐานว่า พวกเขาอาจไม่รู้เรื่องมาก่อนแม้แต่น้อยว่า คนที่อาศัยอยู่ด้วยกันได้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้กับรัฐไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อการแบ่งแยกดินแดน ดังที่มีการยืนยันจากหลายส่วน โดยเฉพาะชาวบ้านที่เป็นญาติของผู้ก่อความไม่สงบที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการต่อสู้ปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือไม่ก็มีหลักฐานจับได้คาหนังคาเขา สมมุติฐานดังกล่าว หากเป็นเช่นนั้นจริง สำหรับบางคนหรือบางครอบครัวแล้ว ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ภาครัฐน่าจะเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาอะไรบางอย่าง เพื่อลดหรือคลายความบาดหมาง หวาดระแวงและเกลียดที่อาจถูกขยายความให้กลายเป็นความแตกแยกได้ในที่สุด อย่างที่เคยปรากฏเป็นตัวอย่างมาแล้วในหลายกรณี ด้วยเพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้น ย่อมนำความยากลำบากให้กับคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องตามมามากมาย ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ จึงจำเป็นที่จะต้องให้การช่วยเหลือ เพื่อให้ทุกชีวิตที่เหลืออยู่ดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างเข้มแข็งได้ การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในส่วนที่อยู่ในภาครัฐหรือชาวบ้านทั่วไปบางราย ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงมากนักในด้านร่างกายหรือแม้แต่ในด้านจิตใจ เพราะภาครัฐมีมาตรการและหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลืออยู่แล้ว โดยเฉพาะในเรื่องเงิน แต่ยังมีฝ่ายที่รัฐไม่อยากเยียวอยู่ด้วย หมายถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เป็นญาติพี่น้องของคนในขบวนการที่จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐไทย พวกเขาอยู่กันอย่างไรท่ามกลางการสูญเสียที่เกิดขึ้นโดยที่ตัวเองอาจไม่ได้รับรู้รับทราบมาก่อน ความตายของสองเจ้าบ่าว ครอบครัวของฮัมดี แวสะมะแอ คือครอบครัวหนึ่งที่ได้รับผลกระทบในลักษณะดังกล่าว เพราะฮัมดีคือผู้ที่ยิงเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตระหว่างต่อสู้ปะทะกัน ในพื้นที่บ้านคลองช้าง หมู่ที่ 4 ตำบลนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และฮัมดีเองก็ถูกทหารยิงเสียชีวิตเช่นกัน เหตุการณ์เกิดขึ้นในตอนเย็นวันที่ 26 กรกฎาคม 2552 ขณะที่ฮัมดีหนุ่มวัย 25 ปี ชาวบ้านคลองช้าง หลบเข้าไปอยู่ในบ้านหลังหนึ่งในซอยเยื้องๆ กับมัสยิดประจำหมู่บ้านพร้อมกับเพื่อนอีก 2 คน เนื่องจากเห็นทหารกลุ่มหนึ่งกำลังเข้ามาตรวจค้น โดยฮัมดีถูกระบุว่าเป็นผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบในพื้นที่หลายครั้ง เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่ฮัมดีกำลังแจกการ์ดเชิญร่วมงานแต่งงานของตัวเองที่จะมีขึ้นในอีก 10 วันข้างหน้า คือวันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2552 ระหว่างที่ทหารได้เข้าตรวจค้นบ้านหลังดังกล่าว ฮัมดีได้ใช้ปืนที่พกติดตัวมายิงทหารคนหนึ่งเสียชีวิต ก่อนที่ตัวเองจะถูกทหารยิงเสียชีวิตภายในห้องน้ำ ส่วนเพื่ออีก 2 คนที่หลบอยู่ในห้องอาบน้ำถูกทหารควบคุมตัวไว้ได้ นางเจ๊ะรอกายะ มูดอ อายุ 42 ปี แม่ของฮัมดี เล่าว่า ฮัมดีเป็นคนยิงทหารคนนั้น แต่ไม่รู้ว่าฮัมดีเอาปืนมาจากไหน ส่วนรถจักรยานยนต์ของฮัมดีไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ยึดไป โดยในตะกร้ารถก็ยังมีการ์ดเชิญเหลืออยู่อีกหลายใบ ส่วนทหารที่เสียชีวิต คือ สิบตรีสุรชัย ศิลานันท์ อายุ 29 ปี จากหน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.)ปัตตานี 24 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่อำเภอโคกโพธิ์และอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่สำคัญสิบตรีสุรชัยก็มีเจ้าสาวที่กำลังรอเข้าสู่พิธีวิวาห์เช่นกัน แต่ทั้งสองคนเสียชีวิตในบ้านหลังเดียวกัน พ.ท.หาญพล เพชรม่วง ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 153 อดีตผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.) ปัตตานี 24 และเป็นผู้บังคับบัญชาของสิบตรีสุรชัย กล่าวว่า การปิดล้อมดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากมีชาวบ้านแจ้งว่า มีผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบเข้ามาเคลื่อนไหวในหมู่บ้าน “ก่อนเข้าตรวจค้นบ้านได้เชิญผู้ใหญ่บ้านและโต๊ะอิหม่ามมาพูดคุยให้มีการมอบตัวแล้ว แต่ไม่เป็นผล ซึ่งผมศรัทธาพวกเขามากในความเป็นนักรบของพวกเขา ที่ยอมสู้จนตัวตาย แม้ทั้งทหารและฝ่ายขบวนการจะถือปืนเหมือนกัน แต่คนละอุดมการณ์กัน หากเป็นผมอาจจะยอมมอบตัวแล้วก็ได้” พ.ท.หาญพล กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบทั้ง 3 คน พบว่าสวมเสื้อ 2 ชั้น ซึ่งผู้ก่อความไม่สงบมักสวมเสื้อ 2 ชั้นเพื่อพรางตัวได้ง่าย สำหรับนายฮัมดี ก่อนเสียชีวิตฮัมดีเคยถูกดำเนินคดีข้อหา ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่และข้อหาอังยี่ซ่องโจร แต่ถูกศาลพิพากษาเฉพาะข้อหาขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่และได้ถูกจำคุกจนพ้นโทษตามกำหนดแล้ว แต่คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ของอัยการจังหวัดปัตตานี กรณีที่ศาลมีคำสั่งยกฟ้องข้อหาอังยี่ซ่องโจร คดีนี้ฮัมดีถูกจับกุมดำเนินคดีตัวพร้อมกับน้าชายซึ่งเป็นน้องคนสุดท้องของนางเจ๊ะรอกายะ ชื่ออับดุลเลาะห์ อายุ 23 ปี นางเจ๊ะรอกายะ แม่ของฮัมดี เล่าว่า ฮัมดีถูกขังอยู่ในเรือนจำกลางจังหวัดปัตตานี 5 เดือน แล้วถูกนำตัวไปขังต่อที่เรือนจำกลางจังหวัดสงขลาอีก 6 เดือน ก่อนจะได้รับการประกันตัวออกมา โดยต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวถึง 500,000 บาท หลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหาข้อหาอังยี่ซ่องโจรแล้ว ฮัมดีได้กลับมาอยู่บ้านประมาณ 2 ปี ก่อนจะเสียชีวิตโดยมาช่วยพ่อกับแม่กรีดยางพารา แต่ระหว่างนั้นก็ยังถูกทหารหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 ซึ่งตั้งฐานที่ศูนย์ศิลปชีพวัดช้างได้ อำเภอโคกโพธิ์ นำตัวไปสอบสวนหลายครั้ง ฮัมดีเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนมูลนิธิอาซิซสถาน ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2545 จากนั้นได้สมัครเป็นทหารเรือ ประจำอยู่ที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 2 ปี เมื่อปลดประจำการแล้ว จึงเข้าสมัครเรียนศาสนาต่อที่โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี หรือ มัจลิสปัตตานี ในชั้นซานาวีหรือชั้นมัธยมปลายในระบบโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม แต่เรียนได้ไม่ทันถึงปีก็ถูกจับกุมในข้อหาข้างต้น โดยถูกจับกุมตัวได้ภายในสวนยางพาราใกล้บ้าน พ.ท.หาญพล ระบุว่า ฮัมดีมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุลอบวางระเบิดหลายครั้งในพื้นที่ เคยถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวมาแล้วหลายครั้งตามหมายพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) มีครั้งหนึ่งที่ทหารเข้าไปค้นบ้านฮัมดีเคยหลบไปอยู่บนขื่อบ้าน ถ้าไม่มีความผิดก็ไม่น่าจะต้องหลบซ่อนตัวขนาดนั้น แต่นางเจ๊ะรอกายะ แม่ของฮัมดี บอกว่า เพราะฮัมดียังเป็นวัยรุ่นมีความหวาดกลัวอยู่เป็นธรรมดา จึงต้องหลบเวลาทหารมาตรวจค้น ไม่เหมือนผู้ใหญ่อย่างตนที่ไม่ค่อยกลัวอะไรแล้ว และทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น เหตุระเบิดที่หน้าสถานีตำรวจภูธรโคกโพธิ์ ก็จะมีทหารมาปิดล้อมบ้านทุกครั้ง แล้วถามว่าฮัมดีอยู่หรือไม่ ชีวิตและความลำบากของเจ๊ะรอกายะ มูดอ นางเจ๊ะรอกายะ แม่ของฮัมดี เล่าย้อนไปในวันเกิดเหตุว่า เวลาประมาณ 16.00 น. ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายชุดทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน จากนั้นเห็นขบวนรถทหารขับผ่านไปทางต้นเสียง โดยไม่นึกว่าคนที่ถูกยิงคือลูกชายของตนเอง “คืนก่อนหน้านั้นฮัมดีโทรศัพท์มาบอกว่า จะกลับมาที่บ้านเพื่อแจกการ์ดแต่งงาน แล้ววันรุ่งขึ้นจะเดินทางไปจังหวัดพัทลุงเพื่อแจกการ์ดเชิญร่วมงานแต่งงานกับญาติฝ่ายพ่อ เนื่องจากตอนนั้นเขาไปอยู่ที่บ้านภรรยาแล้ว เพราะได้ทำพิธีนิกะห์ หรือ การแต่งงานตามหลักศาสนาอิสลามแล้ว จนถึงช่วงได้ยินเสียงปืน จึงคิดว่าฮัมดีคงไม่กลับมาบ้านแล้วในวันนั้น” จนกระทั่งเวลาประมาณ 19.00 น. เศษ มีทหารมาเคาะประตูบ้าน มาบอกว่า ลูกชายของตนเสียชีวิตแล้ว ตอนนี้อยู่ที่โรงพยาบาล แล้วก็บอกด้วยว่า ทหารเป็นคนยิงเอง “ตอนนั้นตกใจมาก จากนั้นก็ขับรถจักรยานยนต์ไปที่โรงพยาบาลคนเดียว อยู่ห่างจากบ้านประมาณ 6 – 7 กิโลเมตร แล้วก็โทรศัพท์บอกญาติๆด้วย” เมื่อไปถึงที่โรงพยาบาลเจ้าหน้าที่ให้ดูศพแล้วเพื่อยืนยันว่าเป็นศพของลูกชายจริง จากนั้นทางเจ้าหน้าที่มูลนิธิฮิลาลอะมัรได้นำศพลูกชายขึ้นรถพาไปส่งที่บ้าน “ตอนดูศพลูกชาย เราไม่ได้ร้องไห้และไม่มีน้ำตาออกมาซักหยด ทหารที่ดูแลอยู่ก็ถามว่า ไม่เสียใจเลยหรือ ยังไม่ทันได้ตอบก็มีเสียงพูดจากทหารอีกคนที่เป็นมุสลิมเหมือนกันว่า ถึงร้องไห้ไปคนตายไปแล้วก็ไม่ฟื้นขึ้นมาหรอก ชาวมุสลิมเขาคิดอย่างนี้” นางเจ๊ะรอกายะ อธิบายเพิ่มเติมว่า การตายของชาวมุสลิมก็คือการกลับไปหาพระเจ้า ซึ่งทุกคนก็จะต้องไปที่นั่น ซึ่งฮัมดีตายตรงกับวันที่ 3 เดือนซะอ์บาน ปีฮิจเราะห์ศักราช 1430 ตามปฏิทินอิสลาม แน่นอนว่า เมื่อมีการตายก็ย่อมต้องมีความเสียใจเป็นธรรมดา แต่นางเจ๊ะรอกายะ บอกว่า การตายของฮัมดีนั้นตนเตรียมใจไว้แล้ว เพราะก่อนหน้านี้มีเรื่องให้ตกใจกับฮัมดีมาหลายครั้งแล้ว แล้วคิดว่า สุดท้ายก็คงต้องเจออย่างนี้อยู่แล้ว “ดีกว่าเสียอีก ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ แล้วต้องเจอเรื่องแย่ๆ ขึ้นมาอีก ถ้าเราเห็นเขาถูกทำร้าย ก็จะยิ่งสงสารมากขึ้น การที่เขาเจออย่างนี้ได้แล้วก็อัลฮัมดุลิ้ลลาห์ (มวลการสรรเสริญเป็นของอัลเลาะห์ : เป็นคำกล่าวเพื่อแสดงการขอบคุณพระเจ้า)” เธอบอกว่า แม้ว่ายิ่งนานจะยิ่งคิดถึงฮัมดี แต่สุดท้ายเธอก็ยังต้องทำงานปกติ เพราะเราก็คิดว่า เราก็ต้องตายเหมือนกัน เพียงแต่ใครก่อนใครหลังเท่านั้นเอง สำหรับคดีการตายของฮัมดีนั้น ศาลจังหวัดปัตตานีได้นัดสืบพยานไต่สวนการตายเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา นางเจ๊ะรอกายะ เล่าต่อว่า ระหว่างที่ไปดูศพลูกชายที่โรงพยาบาลโคกโพธิ์นั้น ตนเห็นเพื่อนของฮัมดีอีก 2 คน ถูกนำตัวมารักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วย ถ้าไม่สังเกตก็จะจำไม่ได้ว่าเป็นใคร เพราะหน้าตาบูดเบี้ยว มีรอยแผลอยู่ตามหน้าและปาก ผมฟูเหมือนถูกทำร้าย มีทหารคุมอยู่ด้วยหลายนาย สภาพดังกล่าว ทำให้ญาติของทั้ง 2 คน ได้ร้องเรียนไปยังศูนย์ทนายความมุสลิม สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานให้ความช่วยด้านกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เข้ามาตรวจสอบว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายหรือไม่ นาวสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า มีการทำร้ายร่างกายจริงทั้งในที่เกิดเหตุและที่โรงพยาบาลบาลโคกโพธิ์ โดยมีประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์ แต่ทางเจ้าหน้าที่กลับบอกว่า อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นของทั้ง 2 คน เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ จากนั้นทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้บัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร(พตท.) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ พร้อมทั้งให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายร่างกายดังกล่าว แต่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเองก็ไม่ได้ติดตามว่ามีการดำเนินการตามที่ร้องเรียนหรือไม่อย่างไร นาวสาวพรเพ็ญ ยังกล่าวด้วยว่า ผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 2 คนดังกล่าว ถูกดำเนินคดีข้อหาพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ แต่ตอนหลังพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ได้เปลี่ยนข้อกล่าวหาเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีโทษเบากว่า ครอบครัวผู้ต้องหาคดีป่วนใต้? หลังจากฮัมดีตายไปแล้ว ก็ใช่ว่าความยุ่งยากต่างๆ ของครอบครัวนางเจ๊ะรอกายะ มูดอ จะหมดไป เพราะไม่เพียงแต่น้องสุดท้องที่ชื่ออับดุลเลาะห์จะถูกดำเนินคดีความมั่นคงพร้อมกับฮัมดีด้วยแล้ว ยังมีลูกเขยอีกคนหนึ่ง ชื่ออิบรอฮิม ซึ่งเป็นสามีของน้องสาวคนรองจากฮัมดีด้วยอีกคนที่ถูกจับกุมในคดีความมั่นคง โดยปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางจังหวัดปัตตานี และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว กล่าวสำหรับคดีของอับดุลเลาะห์นั้น หลังจากอัยการจังหวัดปัตตานีได้ยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากก่อนหน้านั้นศาลได้พิพากษายกฟ้องเช่นเดียวกับฮัมดี ทำให้อับดุลเลาะห์ต้องถูกควบคุมต่ออีกครั้งระหว่างอุทธรณ์ ขณะนี้นางเจ๊ะรอกายะกำลังเตรียมทำเรื่องขอประกันตัวอยู่ ซึ่งต้องใช้หลักทรัพย์สูงถึง 700,000 บาท ทั้ง 2 คดีศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีรับดูแลเป็นทนายให้ นางเจ๊ะรอกายะ บอกว่า ลูกคนเขยคนนี้เป็นชาวบ้านควนลาแม ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เคียง ที่มีนายกูเฮ็ง สะอิ เป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมในสมัยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมกราคม 2552 เนื่องจากได้ยิงต่อสู้กับกลุ่มก่อความไม่สงบจนฝ่ายก่อความไม่สงโดนยิงเสียชีวิตไป 2 ราย เมื่อเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งถัดมาอีก 1 เดือน นายกูเฮง คนนี้ได้ถูกลอบวางระเบิดอีกครั้งในพื้นที่บ้านคลองช้างจนได้รับบาดเจ็บ นางเจ๊ะรอกายะ เล่าต่อว่า อิบรอฮิม ไม่สามารถกลับไปอยู่ที่บ้านได้ เช่นเดียวกับพี่น้องอีก 2 คน และพ่อซึ่งเป็นโต๊ะอิหม่าม เนื่องจากถูกอัปเปหิออกมาโดยผู้ใหญ่บ้าน ขณะที่เพื่อนก็มองว่าครอบครัวนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุยิงผู้ใหญ่บ้านกูเฮ็ง ทั้งๆ ที่แม่ของอิบรอฮิมเป็นลูกพี่ลูกน้องของผู้ใหญ่บ้านกูเฮ็ง ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้นางเจ๊ะรอกายะและสามี ต้องดูแลทั้งลูกของตัวเอง ซึ่งเหลืออยู่ 4 คน หลาน 2 คน รวมทั้งลูกของฮัมดีด้วย และยังมีพ่อของสามีอีกหนึ่งคนซึ่งมีอายุ 70 ปีและตาบอด รวมทั้งลูกเขยที่ถูกขังอยู่ด้วย ซึ่งต้องเดินทางไปเยี่ยมสัปดาห์ละครั้งมาตลอดระยะเวลา 1 ปีที่เขาถูกขัง ซึ่งทุกครั้งที่ไปเยี่ยมจะไปกันทั้งบ้านด้วยรถจักรยานยนต์ พร้อมกับนำอาหารจากบ้านไปให้ด้วย สำหรับหลานที่อยู่อาศัยกับนางเจ๊ะรอกายะและสามีขณะนี้มีอายุเพียง 1 ขวบ โดยแม่ของเขาเป็นลูกคนที่ 2 รองจากฮัมดี ซึ่งเป็นคนโต ส่วนลูกอีก 2 คนยังเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยมและชั้นประถมตามลำดับ ขณะที่ลูกของฮัมดีนั้น ภรรยาของเขาเป็นคนเลี้ยงเอง โดยรายได้หลักของครอบครัวมาจากสวนยางพาราซึ่งมีจำนวน 10 ไร่ ซึ่งนางเจ๊ะรอกายะ บอกว่า แต่ละวันมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 300 – 400 บาท แต่ถ้าวันไหนต้องเดินทางไปเยี่ยมลูกเขยที่อยู่ในคุกก็จะหมดไปประมาณ 1,000 บาท ส่วนลูกสาวคนที่ 2 นอกจากต้องเลี้ยงลูกของตัวเองแล้ว ยังช่วยเปิดร้านขายน้ำแข็งหน้าบ้านด้วย เป็นการหารายได้เสริมเล็กๆ น้อยในขณะที่ไม่สามารถทำงานอื่นได้ นางเจ๊ะรอกายะ บอกว่า หลังการตายของฮัมดี ไม่ต้องถามหรอกว่าจะมีใครมาช่วยเหลือเยียวยาบ้าง เพราะไม่มี มีเพียงญาติๆ และคนรู้จักที่มาเยี่ยมให้กำลังใจเท่านั้น ด้าน พ.ท.หาญพล เพชรม่วง ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 153 อดีตผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 ย้ำว่า การที่รัฐจะเข้าไปเยียวยาครอบครัวของฮัมดีด้วยนั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าฮัมดีเป็นคนยิงเจ้าหน้าที่เสียชีวิต อย่างมากที่สุดก็แค่เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับคนในครอบครัว แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปช่วยเหลือเยียวยาจริงๆ สำหรับกรณีนี้ ก็คือการซ่อมแซมบ้านที่เกิดเหตุให้เท่านั้น ทายาทที่ฮัมดีไม่ทันได้เห็นหน้า แม้ว่าวันเกิดเหตุฮัมดีอยู่ระหว่างแจกการ์ดเชิญร่วมงานแต่งงานของตัวเองอยู่ก็ตาม แต่ฮัมดีได้ทำพิธีแต่งงานตามหลักศาสนาอิสลามแล้ว หรือ ที่เรียกว่านิกะห์ เมื่อก่อนหน้าจะเสียชีวิตมาประมาณ 1 เดือนและได้อยู่อาศัยกับภรรยาแล้วที่บ้านของภรรยาที่บ้านกาเดาะ หมู่ที่ 3 ตำบลลิปะสะโง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ห่างจากบ้านคลองช้างไปประมาณ 15 – 20 กิโลเมตร ที่สำคัญคือ ภรรยาของฮัมดีได้ตั้งท้องและคลอดลูกออกมาแล้ว เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2553 ที่ผ่านมา เป็นลูกสาว โดยตั้งชื่อว่า “เด็กหญิงนูร์ซาฮีดะห์ แวสะมะแอ” นางสาวฮาตีนี อูมา อายุ 25 ปี ภรรยาของฮัมดี บอกว่า เหตุที่ให้ลูกสาวใช้นามสกุลของฮัมดี ก็เพราะเป็นสิ่งเดียวที่ฮัมดีทิ้งไว้ แน่นอนว่าฮาตีนีต้องเป็นคนเลี้ยงลูกสาว แต่ค่าใช้จ่ายต่างๆ นั้นมาจากพ่อของเธอซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างบ้าน โดยมีน้องสาวกับน้องเขยเป็นลูกน้องของพ่อ ร่วมกับชาวบ้านอีก 2 -3 คน ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ฮาตีนียังไม่คลอดลูกก็พอมีรายได้อยู่บ้าง จากเป็นครูสอนในโรงเรียนตาดีกา ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาให้กับเด็กเล็กประจำหมู่บ้าน ซึ่งเปิดสอนเฉพาะวันเสาร์ – อาทิตย์เท่านั้น โดยมีเด็กนักเรียนประมาณ 80 คนและครู 5 คน โรงเรียนตาดีกาแห่งนี้ ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเดือนละ 2,000 บาท ทำให้ต้องนำเงินจำนวนนั้นมาหารกับจำนวนครู 5 คน ก็จะได้คนละ 400 บาทต่อเดือน รวมกับเงินบริจาคอีกจำนวนหนึ่ง รวมแล้วฮาตีนีมีรายได้เพียงวันละ 100 บาท ในจำนวน 8 วันต่อเดือน เหตุที่ฮาตีนีได้มาเป็นครูสอนตาดีกา ก็เนื่องจากเรียนศาสนาจบชั้น 10 ที่โรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา หรือ ปอเนาะจือแรบาตู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี แม้ว่าขณะนี้ ฮาตีนียังหยุดสอนมาตั้งแต่ตอนท้องได้ 8 เดือนแล้ว แต่เธอก็ยืนยันว่า จะไปสอนตาดีกาต่ออีกเพราะเป็นการช่วยเหลือเด็กในหมู่บ้าน แล้วค่อยหางานอื่นทำไปด้วย ในบ้านที่ตั้งอยู่ใกล้ถนนสี่เลนตัดใหม่สายปัตตานี – ยะลาแห่งนี้ ฮาตีนีอาศัยอยู่กับพ่อแม่ มีสมาชิกที่อยู่อาศัยด้วยกันทั้งหมด 11 คน นอกจากพ่อกับแม่และตนเองซึ่งเป็นลูกคนโตแล้ว ยังมีน้องอีก 4 คน รวมทั้งน้องเขยกับหลานอีก 1 คน เนื่องจากน้องสาวและน้องเขยยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง จึงต้องอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันไปก่อน ฮาตีนี เล่าด้วยว่า ในช่วง 1 เดือนที่ได้อยู่ด้วยกันกับฮัมดี ตอนนั้นฮัมยังไม่ได้ทำงานอะไรเป็นหลักเป็นแหล่ง แต่ก็ช่วยงานในบ้านอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะการไถนา เพียงตรงกับช่วงทำนาพอดี พร้อมๆ กับการเดินสายแจกการ์ดเชิญร่วมงานแต่งงานไปด้วย “ส่วนใหญ่ตนไปเดินทางไปแจกการ์ดกับฮัมดีตลอด ซึ่งไปกันเกือบทุกแห่งที่มีญาติๆ และเพื่อนอยู่แล้ว ส่วนเหตุที่ได้แต่งงานกับฮัมดีนั้นทางผู้ใหญ่เป็นคนจัดการให้ ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน” ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ฮาตีนีจึงไม่ค่อยทราบเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นกับฮัมดีมาก่อนมากนัก คนในหมู่บ้านกาเดาะก็ยังไม่ค่อยรู้สามีของเธอมากนัก เพราะยังไม่ได้จัดงานเลี้ยงแต่งงาน ซึ่งเหมือนกับการเปิดตัวสามีอย่างเป็นทางการนั่นเอง “ที่ผ่านมาเราไม่รู้ว่าเขาเคยถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวมาแล้วหลายครั้ง ตอนเขามาอยู่ที่นี่ก็ไม่เคยถูกเจ้าหน้าที่มาควบคุมตัวไป ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น รวมทั้งการตายของเขาด้วย” ฮาตีเล่าว่า วันที่ฮัมดีจากไป ฮัมดีออกจากบ้านไปแต่เช้า บอกว่าจะไปแจกการ์ดแต่งงานต่อแล้วก็กลับไปที่บ้านแม่ ส่วนตนเองไปสอนที่โรงเรียนตาดีกาตามปกติ เพราะเป็นวันอาทิตย์ จนกระทั่งเวลา 5 ทุ่มกว่า แม่ของฮัมดีโทรศัพท์มาบอกว่าฮัมดีตายแล้วถูกทหารยิง เมื่อได้ยินดังนั้นก็ตกใจแล้วก็เสียใจด้วย เพราะเพิ่งแต่งงานกัน จากนั้นแม่ฮัมดีก็ส่งรถมารับไปเยี่ยมศพฮัมดีที่บ้านคลองช้าง ส่วนเพื่อนๆ ที่ทราบเรื่องก็พากันเสียใจ สงสาร แล้วก็เสียดายด้วย เพราะแต่งงานกันได้ไม่กี่วัน ซึ่งก็ได้แต่ให้กำลังใจเท่านั้น เพราะจะช่วยเหลืออย่างอื่นก็ไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้านธรรมดาไม่ได้มีฐานะมากนัก ตอนนี้พอมีเงินเก็บอยู่บ้างที่เอามาใช้ได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะใช้ได้นานเท่าไหร่ ส่วนแม่ของฮัมดีก็ส่งเงินมาช่วยเป็นประจำ ครั้งละพันสองพันบาท ก่อนที่ฮัมดีจะตาย ฮัมดีเคยเล่าให้ตนและคนในครอบครัวว่า ฝันว่าได้สร้อยคอทองคำมาสวมที่คอของตน แม่บอกว่า ชาวมุสลิมในพื้นที่มีความเชื่อว่า ถ้าฝันว่าได้ทองอย่างนั้น จะมีลูก ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่า ตั้งท้องแล้วหรือยัง แต่ฮัมดีเองก็ค่อนข้างมั่นใจว่าตัวเองจะได้ลูกแล้ว แต่แล้วเมื่อรู้ตั้งท้องแล้วจริงๆ ฮัมดีก็ไม่ได้อยู่ดูหน้าลูกอีกแล้ว ส่วนพ่อของฮาตีนี ชื่อนายสุไลมาน อูมา แต่ชาวบ้านเรียกว่า แบโซะ อายุ 49 ปี บอกว่า ตอนนี้ตนเองเป็นคนทำงานหารายได้หลักเข้าบ้านคนเดียว จากการรับเหมาสร้างบ้านชาวบ้าน ส่วนใหญ่ก็เป็นบ้านของชาวบ้านในหมู่บ้านหรือพื้นที่ใกล้เคียง “ถ้าเจ้าของบ้านให้ค่ารับเหมาแพงก็จะได้กำไรเยอะ แต่ถ้าให้น้อยก็ได้กำไรน้อย ที่สำคัญถ้าได้เงินมาแล้วต้องให้ค่าจ้างลูกน้องก่อนเป็นอันดับแรก บางครั้งหักค้าจ้างลูกน้องกับซื้อวัสดุก่อสร้างแล้ว ไม่เหลือกำไรซักบาทก็มี” ส่วนแม่ชื่อนางยียะห์ กาเซ็ง อายุ 46 ปี เป็นแม่บ้านอย่างเดียว ไม่ได้ทำงานหารายได้เสริม เพียงในช่วงฤดูทำนาก็จะช่วยทำนาด้วย ส่วนนางเจ๊ะรอกายะ แม่ของฮัมดี ซึ่งมีฐานะดีกว่า เพราะเป็นเจ้าของส่วนยาง 10 ไร่ บอกว่า ตอนภรรยาฮัมดีท้องอยู่ ตนก็ต้องส่งเงินช่วยเหลือด้วยครั้งละพันบาท พอคลอดออกมาก็ซื้อสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาทให้ แล้วก็ส่งเงินไปให้ครั้งละ 2,000 บาท เพราะต้องมีค่านมผงเพิ่มขึ้นแล้ว “ตอนท้องภรรยาของฮัมดีก็ยังมาที่บ้านเราบ่อย แม้ว่าฮัมดีไม่อยู่แล้วก็ตาม แต่ตั้งแต่คลอดลูกออกมา ภรรยาเขายังไม่ได้มาเยี่ยมที่บ้าน เพราะลูกยังเล็กเดินทางไปมาไม่ค่อยสะดวก” ผลตอบแทนร.ท.สุรชัย ศิลานันท์ พ.ท.หาญพล เพชรม่วง ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 153 อดีตผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 ผู้บังคับบัญชาของสิบตรีสุรชัย กล่าวถึงการช่วยเหลือสิบตรีสุรชัย ศิลานันท์ ที่ถูกฮัมดียิงเสียชีวิตว่า เป็นไปอย่างสมเกียรติที่สุดนับแต่วันที่เคลื่อนศพจากจังหวัดปัตตานีไปยังบ้านเกิดที่จังหวัดสุรินทร์ ต่อมาในวันที่ 1 สิงหาคม 2552 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเพลิงศพ ส.ต. สุรชัย ศิลานันท์ ณ วัดหัวตะพาน ตำบลเพี้ยราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ พร้อมทั้งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานยศเป็นร้อยโท (ร.ท.) สุรชัย ศิลานันท์ นอกจากนี้ทางหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 ได้จัดทำโครงการช่วยเหลือครอบครัวศิลานนท์ ผ่านกองทุนวีรบุรุษบ้านคลองช้าง อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี โดยขอรับบริจาคเงินจากหน่วยงานต่างๆ ได้เงินมา 6 แสนบาท และได้มอบให้กับพ่อ แม่ ของ ร.ท.สุรชัยไปแล้ว พ.ท.หาญพล บอกว่า สิ่งที่ถือว่าเป็นสุดยอดของการเป็นทหาร นอกจากการได้รับพระราชทานเพลิงศพแล้ว อีกอย่างคือการได้รับเหรียญบางระจัน จากกระทรวงกลาโหม เพราะได้ปฏิบัติหน้าที่ในการป้องอธิปไตยและรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ด้วยความเสียสละ กล้าหาญอดทน โดยได้รับเหรียญนี้เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2552 จากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ.ท.หาญพล เล่าด้วยว่า ร.ท.สุรชัย มีความกตัญญูต่อบุพการี และเป็นเสาหลักของครอบครัว โดยเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับไม่ว่าเงินเดือนและเงินเบี้ยเลี้ยงสนาม เขาจะส่งเงินกลับบ้านทั้งหมด เพราะเป็นครอบครัวชาวนาธรรมดาๆ ตนเองเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งให้ครอบครัวได้ โดยส่งเสียน้องทั้งสองคนเล่าเรียน และจ่ายหนี้ให้ทางบ้าน เหลือไว้ใช้เองเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนการช่วยเหลืออื่นๆ ก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ของรัฐให้การช่วยเหลือเยียวยาเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย เงินเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรีและระเยบกระทรวงการคลัง ผ่านสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 500,000 บาท เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ของกองทัพบก 180,000 บาทช่วยเหลือ และเงินช่วยเหลือต่างๆอีกจำนวนมาก นอกจากนี้กองทัพบกยังได้บรรจุน้องชายร.ท.สุรชัย ชื่อนายอาทิตย์ ศิลานันท์ เข้ารับราชการเป็นนายสิบโดยใช้สิทธิของร.ท.สุรชัยด้วย สาวเจ้าที่รอเก้อกับชีวิตลำบากที่อีสาน นางสำเรียบ ศิลานันท์ อายุ 53 ปี แม่ของร.ท.สุรชัย ศิลานันท์ กล่าวว่า แม้ว่าน้องชายจะได้เข้ารับราชการโดยใช้สิทธิ์ของ ร.ท.สุรชัย ที่ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จังหวัดสุรินทร์ แต่แม่ของร้องไม่ให้ต้นสังกัดส่งไปปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชานแดนภาคใต้ เพราะไม่อยากเสียลูกชายไปอีกคน “ส่วนการใช้ชีวิตปกติก็ยังลำบากอยู่ แม่ทำนาบ้าง เก็บไข่มดแดงขายบ้าง แต่ถ้าได้รับเงินช่วยเหลือรายเดือนจากรัฐก็จะหน่อย ตอนนี้ยังไม่ได้ทั้งๆ ที่ทางรัฐรับปากว่าจะให้” นางสำเรียบ กล่าวถึง ร.ท.สุรชัยด้วยว่า หนึ่งวันก่อนที่ร.ท.สุรชัยจะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2552 เขาบอกว่าจะส่งเงินมาให้ที่บ้าน แต่ถ้าไม่ได้ส่งก็จะพากลับมาให้เอง ซึ่งปกติ ร.ท.สุรชัยจะส่งเงินมาให้เดือนละ 3 ครั้ง ที่เหลือเก็บไว้ใช้เองแค่ 200 – 300 บาทเท่านั้น ก่อนตาย ร.สรชัยยังโทรศัพท์มาบอกให้แม่ช่วยดูแลควายให้ดีด้วย บอกว่าจะพาไปประกวด เพราะเขาจะห่วงควายมาก มีอยู่ทั้งหมด 8 ตัว ตอนนี้พ่อกับแม่เลี้ยงไม่ไหวก็ขายไป 3 ตัว นางสำเรียบ เล่าว่า ก่อนที่ร.ท.สุรชัย จะมาเป็นทหาร เคยไปทำงานที่ตะวันออกกลางมาแล้วแต่ไปอยู่แค่ 3 เดือนก็กลับมา เพราะงานหนักมากและอากาศก็ร้อนอยู่ไม่ไหว จึงทำให้ติดหนี้ไปแสนกว่าบาท เพราะใช้เป็นค่าเดินทางจนตอนนี้ก็ยังจ่ายไม่หมดแล้ว เมื่อกลับมาก็สมัครมาเป็นทหาร เป็นพลอาสาสมัครของกองพันจู่โจม รุ่นที่ 11 ประจำการอยู่ที่จังหวัดลพบุรี เมื่อปี 2543 นางสำเรียบ เล่าต่อว่า จากนั้นในปี 2547 ถูกส่งมาปฏิบัติภารกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรก โดยได้ร่วมในภารกิจที่มัสยิดกรือเซะเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ด้วยโดยเป็นพลปืนอาร์พีจี แต่ไม่ได้เป็นคนยิงใส่มัสยิดแต่อย่างไร ต่อมาเขาก็ได้ขึ้นศาลเป็นพยานในคดีนี้ด้วย ส่วนเรื่องที่ร.ท.สุรชัยจะแต่งงานนั้น นางสำเรียบบอกว่า “ช่วงที่สุรชัยยังอยู่ แม่ว่าจะขอสาวให้ เป็นคนบ้านเดียวกัน เพราะเวลาสุรชัยกลับมาบ้านก็จะไปที่บ้านสาวคนนี้ ไปก็ไม่พูดอะไร เพราะสุรชัยเป็นคนซื่อพูดไม่เก่ง วันงานศพสุรชัย สาวคนนั้นก็ยังมาช่วยงานตลอด” ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เลย สาวคนนั้นก็ยังอยู่ อยากให้คนที่จับอาวุธขึ้นมาทำร้ายคนอื่น ขอให้หยุดได้แล้ว มันไม่มีอะไรดีขึ้นหรอก” เรื่องราวคนข้างหลังของฮัมดี แวสะมะแอ กับ ร.ท.สุรชัย ศิลานันท์ ดูจะไม่ค่อยแตกต่างกันมากในความเป็นคนที่ต้องต่อสู้ต่อไป แต่อาจแตกต่างกันบ้างกับสิ่งที่รับมาก แต่สำหรับผู้สูญเสียแล้ว ไว้ว่าฝ่ายไหนความโศกเศร้าเสียใจและความลำบากที่ได้รับคงหนีไม่พ้นอยู่แล้ว เพียงใครจะข้ามพ้นความสูญเสียนั้นไปได้ก่อน แล้วเดินหน้าต่อไปกับชีวิตที่ยังเหลืออยู่ เพื่ออนาคตที่ดีกว่า สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
ภาคประชาชนค้านขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน Posted: 04 Jul 2010 01:46 AM PDT <!--break--> 4 ก.ค. 53 - องค์กรภาคประชาชนหลายองค์กรออกแถลงการณ์ค้านการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ชี้สถานการณ์ฉุกเฉินที่รัฐบาลอ้างเป็นเหตุผลตามประกาศนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
คบท. ชี้ ต้องกำหนดการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการประมูลคลื่น 3G Posted: 04 Jul 2010 01:33 AM PDT คบท. ติง กทช. อย่ารวบรัดออกร่างหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่น 3G ชี้ การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเรืองสำคัญ ต้องกำหนดเป็นเงื่อนไขหนึ่งของผู้รับใบอนุญาต แนะประเด็นหลักต้องดูแล ทั้งเรื่องการสนับสนุนผู้ให้บริการรายใหม่ ไม่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค ตามที่ กทช. ได้เตรียมการจัดสรรคลื่นความถี่ IMT หรือ 3G and beyond เพื่อผลักดันให้คนไทยได้ใช้บริการ 3G ภายในเร็ววัน และในวันนี้ (3 กรกฏาคม 2553) จะมีการประชุม บอร์ด กทช. วาระพิเศษ เพื่อรับร่างประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน ๒.๑ GHz นั้น นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (กบท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (คบท.) ในฐานะผู้มีหน้าที่ในการเสนอแนะแนวทางและให้ความเห็นแก่ กทช. เพื่อพิจารณาออกประกาศ หลักเกณฑ์ และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมให้มีประสิทธิผล มีความเห็นว่า ที่ผ่านมา แม้ กทช. จะได้ปรับปรุงรายละเอียดและหลักเกณฑ์ในการจัดสรรคลื่นความถี่ 3G ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน แต่ คบท. เห็นว่า ในร่างดังกล่าวยังมีประเด็นสิทธิผู้บริโภคที่ยังมิได้รับการคุ้มครองอีกมาก ซึ่ง กทช. ควรให้ความสำคัญ และกำหนดให้เป็นเงื่อนไขหนึ่งของผู้รับใบอนุญาต รวมถึงเรื่องราคาการประมูลที่ยังต่ำเกินไป “การประมูล 3G ครั้งนี้เป็นความพยายามครั้งที่ 2 ของ กทช. เพราะฉะนั้นควรทำให้ดีที่สุด ไม่ต้องรีบ เพื่อให้ร่างหลักเกณฑ์นี้มีความสมบูรณ์ มีมิติในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญในกิจการโทรคมนาคม กทช. ต้องให้ความสำคัญและต้องเอาเงื่อนไขการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเงื่อนไขหนึ่งของผู้รับใบอนุญาต นอกจากนี้ราคาการประมูลยังต่ำเกินไป รับไม่ได้เพราะหากคำนวณส่วนแบ่งรายได้จากสัญญาร่วมการงานเดิมเพียงระยะเวลารับใบอนุญาตสั้นที่สุดคือ 3 ปี รัฐก็จะได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 118,200 ล้านบาท ขณะที่ครั้งนี้ระยะเวลาได้รับใบอนุญาตคือ 15 ปี แต่กำหนดราคาเริ่มต้นที่ หมื่นกว่าล้านบาท” นางสาวสารีกล่าว นอกจากนี้ประเด็นสำคัญในข้อเสนอของ คบท. คือ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมอยู่เพียงไม่กี่ราย และเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 3 ราย ซึ่งครองส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันประมาณ ร้อยละ 98 ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้บริการไม่มาก ถูกบีบรัดจากระบบการตลาดที่เกือบจะผูกขาด ทั้งที่ โทรคมนาคมมีความสำคัญกับชีวิตคนไทยมากขึ้น ในฐานะที่เป็นสาธารณูปโภคประเภทหนึ่ง ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือ การกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การประมูลที่เปิดโอกาสและสนับสนุน ให้มีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาแข่งขันมากขึ้น ด้วยวิธีการกำหนดจำนวนใบอนุญาตและระยะเวลาขอรับใบอนุญาต “คบท. เห็นว่า หากจำนวนใบอนุญาตคือ 3 ใบ โดยยึดหลัก n-1 คือพร้อมลดใบอนุญาตลงน้อยกว่าจำนวนผู้ประมูล 1 ใบในกรณีมีผู้เข้าประมูลน้อย กติกานี้ก็นับว่าดี แต่อาจจะเพิ่มเติมเงื่อนไขด้วยว่า กำหนดให้ใบอนุญาต 2 ใบสำหรับผู้ให้บริการรายเดิม และ 1 ใบสำหรับผู้ให้บริการรายใหม่ รวมทั้งขยายระยะเวลาสำหรับการยื่นแบบคำขอเป็น 90 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการรายใหม่มีเวลาเตรียมตัวได้ทัน เพราะการกำหนดระยะเวลายื่นขอรับใบอนุญาตเพียง 30 วันนั้นกระชั้นชิดเกินไป สำหรับผู้ให้บริการรายใหม่ที่ต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวเพื่อร่วมประมูลโครงการขนาดใหญ่ และเหมือนจะเอื้อประโยชน์กับรายเก่ามากกว่า หากเปรียบเทียบการประกวดราคาโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของประเทศ คือ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ กำหนดระยะเวลาในการยื่นซองถึง 90 วันภายหลังประกาศ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันมีความพร้อมและเข้าร่วมได้มากที่สุด” นางสาวสารีกล่าว นอกจากนี้ ควรกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีคุณสมบัติไม่เป็นผู้ดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมายในปัจจุบันด้วย เพราะมิฉะนั้นอาจทำให้สาธารณชนเข้าใจได้ว่า องค์กรกำกับดูแลไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายและการละเมิดสิทธิผู้บริโภค แต่กลับปล่อยให้ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายได้รับใบอนุญาตใหม่ ทำให้กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ “เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกวันนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างให้บริการโดยมีลักษณะที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคอย่างชัดเจน เช่น การกำหนดวันหมดอายุระบบเติมเงิน การตั้งสถานีส่งสัญญาณโดยไม่ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ การไม่เปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายทั้งที่ระยะเวลาล่วงเลยมากว่าที่กฎหมายกำหนด หรือ การไม่มีระบบรับเรื่องร้องเรียนทางโทรศัพท์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีการละเมิดกฎหมายที่ทำกันจนกลายเป็นเรื่องปกติมากมาย ซึ่ง กทช. น่าจะใช้โอกาสนี้ในการกำหนดเป็นคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลต้องไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย “ นางสาวสารีกล่าว ด้าน นางสาวบุญยืน ศิริธรรม กบท. อีกท่านหนึ่ง กล่าวว่า ประเด็นสำคัญอีกประการคือ ร่าง หลักเกณฑ์ 3G ควรกำหนดให้ชัดเจนในเรื่อง การสร้างโครงข่ายให้ครอบคลุม เนื่องจากในร่างกำหนดให้สร้างโครงข่ายครอบคลุมจำนวนประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายใน 4 ปี แต่มิได้กำหนดมิติทางภูมิศาสตร์ จึงควรกำหนดว่า ต้องมีการให้บริการที่ครอบคลุมทุกอำเภอด้วย “ความสำคัญประการหนึ่งของ 3G คือ เป็นการส่งเสริมการเข้าถึงบริการบรอดแบนด์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ประชาชนผู้อยู่ห่างไกลด้วย จึงควรกำหนดว่าอย่างน้อยต้องครอบคลุมทุกอำเภอ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกล หรือหน่วยราชการที่บริการประชาชนในที่ตั้งอำเภอนั้นสามารถเข้าถึงบริการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงได้ เพื่อลดช่องว่างทางดิจิตอล มิฉะนั้นการขยายเครือข่ายของผู้ให้บริการจะคำนึงถึงผลตอบแทนเชิงพาณิชย์เท่านั้น” นางสาวบุญยืนกล่าว นางสาวบุญยืน กล่าวต่อไปว่า นอกนี้ยังต้องมีการกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคไว้ในเงื่อนไขใบอนุญาต เพราะที่ผ่านมาผู้ให้บริการมักจะต่อสู้หรือโต้แย้งประเด็นการกำกับดูแลโดยกฎหมาย ทั้งๆที่มาตรการต่าง ๆ ก่อนบังคับใช้ล้วนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมหรือกระบวนการทางปกครองที่ดีกับผู้ให้บริการ จึงควรเพิ่มการกำกับดูแลผ่านเงื่อนไขใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ประกาบการไม่สามารถปฏิเสธได้ในภายหลัง เนื่องจากเป็นผู้ยอมรับเงื่อนไขนั้นตั้งแต่ต้น “จะเป็นเรื่องดีมากถ้าการประมูลครั้งนี้ จะนำไปสู่การแก้ปัญหาเดิมที่ผู้บริโภคต้องเผชิญอยู่ ด้วยการนำเรื่องการละเมิดสิทธิผู้บริโภคเหล่านั้นมากำหนดเป็นเงื่อนไขใบอนุญาต เช่น ต้องมีการจัดระบบรับเรื่องร้องเรียนทางโทรศัพท์เลขหมายสี่ตัวโดยไม่คิดค่าบริการ ต้องมีการจัดระบบแจ้งบอกรับและระบบยกเลิก SMS รบกวน การกำกับดูแลอัตราค่าบริการประเภทเสียงขั้นสูง ไม่เกิน 50 สตางค์ต่อนาที การกำกับดูแลค่าบริการตามระยะเวลาการใช้งานไม่ใช่ตามปริมาณข้อมูล หรือ การป้องกันเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมไปสู่กลุ่มเยาวชน อันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งรายละเอียดทั้งหมด ทางคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ได้สรุปความเห็นเพื่อเสนอให้ กทช. พิจารณา ประกอบการร่าง หลักเกณฑ์ 3G แล้ว เพราะเราหวังว่า การประมูลครั้งนี้จะทำให้เกิดมาตรการในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคมากขึ้น คำนึงถึงผลกระทบทางสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิคและรายได้ แต่เป็นการบริการคมนาคมที่นำไปสู่การพัฒนาสังคมที่ดีด้วย” นางสาวบุญยืนกล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
ประณามความรุนแรงภาคใต้ ผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 ราย ภายใน 6 ปี Posted: 04 Jul 2010 01:27 AM PDT มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 ราย ภายใน 6 ปี <!--break-->
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 รายภายใน 6 ปี พร้อมเสนอให้รัฐใช้นโยบายเจรจาสันติภาพทุกระดับและนำประสบการณ์ปรองดองจากต่างประเทศมาปรับใช้ โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้ 000 แถลงการณ์ประนามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 ราย ภายใน 6 ปี รัฐต้องนำนโยบายสันติเจรจาทุกระดับ ควรนำประสบการณ์ปรองดองจากต่างประเทศมาปรับใช้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เกิดเหตุคนร้ายใช้ระเบิด20กิโลกรัมและการยิงทำร้ายจนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารพรานเสียชีวิต 3 รายและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองระดับหมู่บ้านเสียชีวิต 2 ราย ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส สถานการณ์ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พ.ศ. 2553 สะท้อนแนวโน้มความรุนแรงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งรูปแบบการใช้ความรุนแรงนอกจากจะมีการใช้ระเบิด การลอบสังหาร ตามรูปแบบเดิม ยังมีแนวโน้มการสร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินในที่สาธารณะ ในเขตเมือง เขตเทศบาล ด้วยรูปแบบการใช้ความรุนแรงใหม่ เช่น กรณีเกิดเหตุระเบิดหลายครั้งด้วยระเบิดมือขนาดเล็ก เป็นต้น ปัจจุบันนับจากยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้องจ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 กว่า 4,000 ราย เฉลี่ยเสียชีวิตวันละสองคนเป็นอย่างน้อย มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอประนามการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบและขอแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายทุกกรณีร่วมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ตกเป็นเป้าในการทำร้ายและสร้างความเสียหาย อีกทั้งหลายเหตุการณ์ความรุนแรงก็ส่งผลประชาชนผู้บริสุทธิ์รวมทั้งเด็กจำนวนไม่น้อยตกเป็นเป้าของความเสียหายของการใช้ความรุนแรงที่โหดร้าย โดยในระยะ 6 ปีที่ผ่านแม้ว่ารัฐจะใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ในหลายรูปแบบ แต่อาจกล่าวได้ว่าความรุนแรงและปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ลดลงเลย โดยมีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 4,000 คน บาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก ผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบนับพันๆคนถูกจับกุม และถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 500 คน ความสูญเสียและเสียหายดังกล่าวเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมให้ความขัดแย้งลึกซึ้งและซับซ้อนยิ่งขึ้น หากปล่อยให้ดำเนินต่อไป จะยิ่งยากที่จะแก้ไขเยียวยา ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงเสนอว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงต้องทบทวนการนโยบาย ยุทธศาสตร์ และปฏิบัติงานของฝ่ายรัฐและค้นหาแนวทางและนโยบายที่แตกต่างไปจากเดิมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรองดอง สมานฉันท์ และสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยเริ่มจากการพิจารณาถึงปมปัญหาพื้นฐานของความขัดแย้ง เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการของการแก้ปัญหา สร้างกระบวนการเจรจา เพื่อนำความขัดแย้งที่ใช้อาวุธและการเข่นฆ่า ไปสู่ความขัดแย้งที่แก้ไขโดยสันติวิธี โดยอาจนำประสบการณ์จากต่างประเทศมาศึกษาและถอดบทเรียนอย่างจริงจัง เช่น แนวทางของการสร้างกระบวนการยุติความขัดแย้งโดยมีคนกลาง การสานเสวนากับทุกภาคส่วนด้วยกลไกใหม่ เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นกลไกให้เกิดการเจรจาทุกระดับ เพื่อหาทางออกทางการเมืองด้วยหนทางประชาธิปไตย พร้อม ๆ กับการใช้มาตรการทางกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมทั้งการปราบปรามและการนำคนผิดมาลงโทษที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเคร่งครัดต่อระเบียบวินัยของเจ้าหน้าที่ พิจารณาสอบสวนกรณีมีข้อกล่าวหาเรื่องการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่อย่างจริงจังเปิดเผยและลงโทษกรณีพบว่ามีการกระทำตามกระบวนการยุติธรรรม เพื่อป้องปรามการก่อเหตุร้ายอันเป็นภัยต่อชีวิตทุกชีวิตและต่อทรัพย์สินสาธารณะของทุกภาคส่วนซึ่งเป็นสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการปรองดองแห่งชาติสำหรับกรณีความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ไม่น้อยไปกว่าการสร้างการปรองดองแห่งชาติในระดับประเทศ รวมทั้งการพิจารณาถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันด้วยมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||
ต้านไม่เอาท่าเรือน้ำลึก หวั่นเจอมาบตาพุดโมเดล Posted: 04 Jul 2010 01:19 AM PDT เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลกว่า500 คน แห่คัดค้าน “ไม่เอาโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา” หวั่นทำลายสิ่งแวดล้อมชุมชน เฉกมาบตาพุดโมเดล เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 53 ที่ผ่านมาชาวบ้านในนามเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดราว 500 คน แห่ “คัดค้านไม่เอาโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา” รอบเขตเทศบาลเมืองสตูล ก่อนเข้ามารวมตัวกันคัดค้านภายในศาลกลางจังหวัดสตูล และยื่นหนังสือผ่านสำนักงานจังหวัดเพื่อส่งต่อถึงนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นพ.สำรวม ด่านประชันกุล สาธารณสุขจังหวัดสตูลตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ารับเรื่องแทน ด้วยมีสาระในการเรียกร้องในครั้งนี้ เพื่อขอให้ทบทวนการผลักดันโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราและโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ภายใต้การรวมตัวขององค์กรภาคประชาชนในจังหวัดสตูล ได้ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลแผนพัฒนาจังหวัด พบว่า ขณะนี้มีโครงการพัฒนาชุดใหญ่กำลังดำเนินการภายในจังหวัด โดยใช้โครงการสร้างท่าเทียบเรือปากบาราเป็นโครงการนำร่อง เพื่อนำไปสู่โครงการอื่น ๆ หลาย ๆ โครงการ ซึ่งคาดว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ให้กับจังหวัดเล็ก ๆ และมีแนวโน้มว่าจะสร้างความสูญเสียที่ไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้ทั้งทางศาสนา วิถีวัฒนธรรมและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ขณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ซึ่งประกอบไปด้วยนายอารีย์ ติงหวัง เครือขายประมงพื้นบ้าน นายสายันณ์ ศรีน้อย สภาพัฒนาการเมือง นายสมยศ โต๊ะหลัง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนฯ นายผูหรน มาลาสัย เครือข่ายประมงพื้นบ้าน นางสาวอนัญญา แสงหลี เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคสตูล มีมติเห็นกันว่า โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นพร้อมโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จะส่งผลเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่นำมาใช้ก่อสร้าง เช่น การจัดหาแหล่งทรายและแหล่งหินจำนวนมาก นอกจากนี้ทางกลุ่มเครือข่ายฯ ยังพบว่าทางกรมเจ้าท่าฯ มีความพยายามขอใช้พื้นที่อุทยานฯหมู่เกาะเภตรา จำนวน 7000 ไร่ เพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งผลซึ่งจะส่งผลกระทบกับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอย่างชัดเจน สำหรับโครงการชุดใหญ่ที่ เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กังวลว่าจะมีการดำเนินการก่อสร้าง โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา โครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าระหว่างฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการท่าเรือ โครงการวางท่อขนถ่ายน้ำมันระหว่างฝั่งตะวันตก ตะวันออก พร้อมฐานที่ตั้งคลังน้ำมันเนื้อที่กว่า 5000 ไร่ (อ่าวละงู) โครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โครงการเจาะอุโมงค์ข้ามชายแดนเชื่อมต่อจังหวัดสตูล สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น