ประชาไท | Prachatai3.info |
- นายกสมาคมสื่อแนะ ยื่นพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ให้ศาลรธน.ตีความ
- นักข่าวต่างชาติเหยื่อสไนเปอร์บอกไม่หวั่น พร้อมกลับมาทำข่าวความขัดแย้งในไทยต่อ
- เสียงจากเวียนนา: สีสันงานเอดส์โลก - 2 องค์กรไทยคว้ารางวัล Red Ribbon
- “ความรู้” ในแบบสมเกียรติ ตั้งนโม แห่ง ม.เที่ยงคืน
- ศาลแรงงานชี้ "ทรู" เลิกจ้างไม่เป็นธรรมจริง-อดีต พนง.อุทธรณ์ต่อ ขอกลับเข้าทำงาน
- อ่านที่นี่ คำแปลฉบับเต็ม "สมุดปกขาวของอัมเสตอร์ดัม" (ส่วนแรก)
- IT fair รณรงค์ให้หน่วยงานของรัฐในยุโรปใช้ "อุปกรณ์-คอมพิวเตอร์" ที่ไม่ละเมิดสิทธิแรงงาน
- สมาคมวิทยุชุมชนโลก เรียกร้องรัฐบาลไทยหยุดคุกคามวิทยุชุมชน
- 'อำนวย' เผยยังไม่ได้แจ้งหมิ่น 'พงษ์พัฒน์' แค่เรียกเชิญตามขั้นตอน
- 'มาร์ค' - 'ว.วชิรเมธี' ติดโผผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นปี 53
- ตร.เชียงราย เรียกอีก 2 นศ.รายงานตัวเพิ่ม ชี้ตกเป็นเหยื่อคนเสื้อแดงหลอกใช้
- เปิดบทคัดย่อสมุดปกขาว “การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ: ข้อเรียกร้องหาการรับผิด”
นายกสมาคมสื่อแนะ ยื่นพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ให้ศาลรธน.ตีความ Posted: 22 Jul 2010 01:38 PM PDT ผลศึกษาชี้ คดีหมิ่นฯ ยุคใหม่ ถูกบังคับใช้ผ่านมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมฯ ด้านนายกสมาคมนักข่าวติง ปิดสื่อทั้งหมดไม่ได้ เสนอให้ผู้ตรวจการรัฐสภาและกรรมการสิทธิฯ ส่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ให้ศาลรธน.ตีความ <!--break--> เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 53 เครือข่ายพลเมืองเน็ต คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และ Southeast Asia Press นายศิลป์ฟ้า ตันศราวุธ นักกฎหมายอิสระด้านสื่อ นำเสนอบทวิเคราะห์ต่อพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่า นับจากประกาศกฎหมายนี้ออกมาก็มีคดีเกิดขึ้นมากและหลายคดีเป็นที่อยู่ในความสนใจของสื่อทั้งไทย และเทศ "สาเหตุที่ทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้น่าสนใจและอื้อฉาว คือ มาตรา 14 ซึ่งระบุว่า ถ้าคุณกระทำผิดโดยใช้คอมพิวเตอร์ คุณก็ผิดมาตรา 14 ซึ่งย้ำว่ามันผิดกฎหมายอื่นอยู่แล้ว" นายศิลป์ฟ้ากล่าวถึงตัวอย่างคดีจากกฎหมายอื่นๆ ที่ถูกใช้ให้เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เช่น มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา (คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า แม้ในเนื้อหาของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่ได้พูดถึงความผิดฐานนี้แต่เมื่อเกิดความผิดฐานหมิ่นฯ จะมีการนำมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาบังคับใช้เป็นหลัก เช่นกรณีของนายสุวิชา ท่าค้อ ที่โพสรูปในหลวง และกรณีนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้ให้บริการเว็บไซต์ประชาไท ที่อัยการส่งฟ้องตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เพราะเห็นว่าเป็นเนื้อหาเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นายศิลป์ฟ้ากล่าวว่า กฎหมายนี้ใช้มา 3 ปีก็มีข้อถกเถียงว่าควรแก้ไขหรือไม่ ซึ่งล่าสุดมีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของวุฒิสภาที่ศึกษาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่ข้อสรุปของกมธ. ไม่ได้เสนอให้แก้ไขมาตรา 14 ในส่วนที่ภาคประชาสังคมมีความกังวลและไม่ได้แตะเนื้อหาเรื่องอำนาจรัฐในกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ดีเขาเห็นว่าภาคประชาสังคมน่าจะมีการถกเถียงในส่วนนี้ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงหลักการเสรีภาพสื่อว่า การปิดหนังสือพิมพ์หรือสื่อจะทำไม่ได้ ถ้าจะทำตามกฎหมายก็ต้องจำกัดเฉพาะ ไม่ใช่ปิด การจำกัดหมายถึงหากหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับมีการละเมิดบางประการก็ต้องห้ามจำหน่ายจ่ายแจกเฉพาะฉบับนั้น หรือถ้าศอฉ.ห้ามจำหน่ายก็ต้องห้ามเฉพาะฉบับที่ละเมิดกฎหมาย เขาเห็นว่า กฎหมายคอมพิวเตอร์ในมาตรา 20 ก็ไม่ได้หมายความว่า ให้อำนาจศาลสั่งปิดเว็บไซต์ได้ ทำได้เพียงระงับการแสดงข้อมูลเฉพาะในส่วนที่ละเมิดกฎหมาย นายกสมาคมนักข่าวฯ เสนอว่า น่าจะมีการผลักดันหน่วยงาน เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นายนิรันดร์ เยาวภาว์ บรรณาธิการเว็บไซด์เอเอสทีวีผู้จัดการ เล่าถึงปัญหาจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฟ้องผู้จัดกวน แม้ว่าคอลัมน์ผู้จัดกวนจะมีคำเตือนอยู่แล้วว่า สิ่งที่ทำเป็นเรื่องสมมติอีกทั้งภาพในผู้จัดกวนปรากฏทั้งในเว็บไซต์และในหนังสือพิมพ์ แต่พ.ต.ท.ทักษิณก็เลือกฟ้องเฉพาะในส่วนของเว็บไซต์ "การใช้กฎหมายนี้ เน้นเอาผิดคนทำมากกว่าคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ ใช้" นิรันดร เยาวภาว์กล่าว ในการเสวนาช่วงบ่าย มีการพูดถึงการควบคุมสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตของภาค รัฐผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการพัฒนา ประชาธิปไตย นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่ารัฐไทยเข้าใจผิดว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสือที่คล้ายสื่ออื่นๆ อย่างหนังสือพิมพ์ หรือวิทยุ จึงพยายามที่จะคัดกรองแต่โดยธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตเป็นระบบเปิด ถ้าปิดขวางไม่ให้เดินไปได้ก็จะเล็ดรอดไปได้อยู่ดี "ถ้าผู้ใช้อำนาจยังมองอินเทอร์เน็ตว่าคือสื่อที่ต้องคัดกรองกัน ต้นทุนของการเซ็นเซอร์ไม่ใช่แค่ความเร็ว เงิน สิทธิเสรีภาพเท่านั้น แต่ยังมีความเสียหายในอนาคต นวัตกรรมใหม่ๆ การออกแบบเว็บไซด์ใหม่ๆ เครื่องมือต่างๆ เราจะมีไปนานแล้วถ้ารัฐบาลไม่เซ็นเซอร์ เพราะฉะนั้นเราควรมาตั้งคำถามว่า เราได้สูญเสียโอกาสจากการที่ไม่เปิดให้ผู้ใช้ช่วยสร้างเนื้อหาได้อย่างเต็มที่ไป ไม่รู้เท่าไหร่แล้ว" นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พูดถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ระบบราชการไทยมีรากฐานมาจากอำนาจนิยม มีระบบอุปถมภ์เชิงศักดินา ใครก็ตามเมื่อได้มาเป็นรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ก็มาเป็นผู้ชี้นำให้คนอื่นทำตาม เขากล่าวว่า วัฒนธรรมองค์กรแบบอำนาจนิยมนี้เองที่เปิดฉากปิดกั้นการ ตรวจสอบ ก่อให้เกิดกฎหมายหรือระเบียบที่ให้อำนาจกว้างขวางแก่คนที่เป็นหัวโขน ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่เขียนให้อำนาจไว้อย่างครอบจักรวาล เช่น พูดถึงความมั่นคงรัฐ พูดถึงเรื่องลามกซึ่งที่แท้แล้วไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งเหล่านี้ปล่อยให้ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ใช้อำนาจ และไม่เพียงเท่านั้นยังมีกฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่ยิ่งให้อำนาจมาก ควบคุมมาก "การปิดกั้นสื่ออินเทอร์เน็ต ปิดหนังสือพิมพ์เป็นทัศนคติของมนุษย์ที่มีอำนาจ" อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักข่าวต่างชาติเหยื่อสไนเปอร์บอกไม่หวั่น พร้อมกลับมาทำข่าวความขัดแย้งในไทยต่อ Posted: 22 Jul 2010 10:26 AM PDT <!--break-->
22 ก.ค. 2553 - สำนักข่าวแวนคูเวอร์ซัน นำเสนอข่าวเกี่ยวกับเนลสัน แรนด์ นักข่าวชาวแคนาดาที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิง 3 นัด โดยเขาบอกว่าความขัดแย้งในไทยจะยังไม่จบง่าย ๆ และเขาพร้อมจะกลับมาทำข่าวในพื้นที่อีกครั้งเมื่อมีสถานการณ์ นักข่าวชาวแคนาดา เนลสัน แรนด์ กลับบ้านไปหลังจากถูกยิง 3 นัด จากการทำข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงในกรุงเทพฯ ช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา "น่าตลกที่บาดแผลที่แย่ที่สุดของผมในตอนนี้ไม่ได้มาจากกระสุน แต่มาจากตอนถูกนำส่งโรงพยาบาล" แรนด์กล่าวให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์วันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา หลังเขาถูกยิง มีชายแปลกหน้าคนหนึ่งอาสาขี่รถจักรยานยนต์ไปส่งเขาที่โรงพยาบาล ขาของแรนด์ลากกับพื้นไปตามทางเท้า และแผลฉีกเข้าไปถึงกระดูก "แต่แน่นอนว่าผมคงไม่บ่นเรื่องนี้" เขากล่าว แรนด์มีกำหนดการไปพูดเกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาที่มหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบียคืนวันที่ 21 เขาเรียนจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยนี้ เขาคอยบันทึกภาพเหตุการณ์ในช่วงการประท้วงที่ผ่านมาให้กับสำนักข่าวฝรั่งเศส และได้ทำข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานนับทศวรรษแล้ว แรนด์บอกว่า เขาคิดว่าความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยและคนเสื้อแดงจะยังคงมีต่อไป "ผมคิดว่าประเทศไทยมีการต่อสู้ที่ยาวนานรออยู่ข้างหน้า" แรนด์กล่าว "คำถามคือ วงจรความวุ่นวายนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อใด" ในช่วงเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาความวุ่นวายทางการเมืองปะทุอย่างรุนแรงในไทย มีประชาชน 88 รายถูกสังหารเมื่อรัฐบาลทำการปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ปักหลักประท้วงอยู่บนท้องถนนของกรุงเทพฯ มาเกือบ 2 เดือน และประชาชนอีกกว่า 1,400 รายได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้ แรนด์ถูกสไนเปอร์ยิงเข้าที่มือซ้าย, ขาซ้าย และท้องน้อย ขณะที่กำลังถ่ายทำภาพการปราบปรามผู้ชุมนุม "ในตอนนี้ผมยังเดินเป็นปกติไม่ได้" เขากล่าว กล้องของแรนด์ยังคงบันทึกภาพต่อไปหลังจากเขาถูกยิงแล้ว เมื่อเขานำภาพวิดิโอมาดูก็พบว่ามีน "ดูยากสักเล็กน้อย" แรนด์จะอยู่ที่แคนาดาถึงช่วงปลายเดือน ส.ค. เพื่อพักฟื้นหลังจากนั้นจะไปเยี่ยมเพื่อนและครอบครัวที่คัลการี แม้ว่าเขาจะได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา แต่เขาก็ยังคงวางแผนกลับมาทำข่าวที่เมืองไทย "ผมเข้าใจดีว่างานผมมีความเสี่ยงอยู่ระดับหนึ่ง" เขากล่าว "แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมอยากอยู่บนท้องถนนที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากกว่า ไม่เช่นนั้นผมก็จะไม่รายงานมันเลย" ชานเลอร์ แวนเดอกริฟ ผู้สื่อข่าวอีกรายที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ 19 พ.ค. ก็เป็นเพื่อนของแรนด์ จากเมืองคัลการี "ผมโทรหาเขา (ตอนนั้นอยู่โรงพยาบาลแล้วทั้งคู่) แล้วเขาก็บอกว่า 'เฮ้ พวกนั้นจัดการเราได้ทั้งคู่เลย' " แรนด์เล่า
ที่มา - แปลจาก Journalist shot in Bangkok says he'll return to Thai streets to cover conflict
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เสียงจากเวียนนา: สีสันงานเอดส์โลก - 2 องค์กรไทยคว้ารางวัล Red Ribbon Posted: 22 Jul 2010 08:55 AM PDT <!--break-->
“หมู่บ้านโลก” หรือ global village ถือเป็นสีสันที่สำคัญยิ่งของการประชุมเอดส์โลกทุกๆ ครั้ง มันเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงบูธของภาคประชาสังคมของประเทศต่างๆ ที่ทำเรื่องเอชไอวี/เอดส์ พวกเขาจะตกแต่งคูหาของตนตามแต่ไอเดียอันเก๋ไก๋เพื่อดึงดูดผู้พบผ่าน ทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และให้การศึกษาในเรื่องต่างๆ ไปด้วยในคราวเดียวกัน นอกจากนี้ยังสรรหากิจกรรมทำในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะร้อง เล่น เต้นระบำ ฉายวิดีทัศน์ ฯลฯ เช่นเดียวกับปีนี้ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย หมู่บ้านโลกยังคงคึกคัก มีสีสันสะดุดตา บริเวณโถงใหญ่มีเวทีกลาง สำหรับการจัดเสวนาหลากหลายหัวข้อ รวมไปถึง “พื้นที่สนทนา” (dialogue space) ซึ่งเป็นที่ตั้งของบูธองค์กรต่างๆ ที่ได้รับรางวัล Red Ribbon ในปีนี้ “ริบบิ้นสีแดง” เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้ติดเชื้อ และยังหมายถึงการตระหนัก ห่วงใย และพยายามหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาเรื่องเอดส์ของสังคมโดยรวมด้วย รางวัลนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2001 โดย UNDP ปีนี้คณะกรรมการได้คัดเลือกผู้ได้รับรางวัลจำนวน 25 องค์กร จาก 5 สาขา ได้แก่ สาขาการให้การรักษากับผู้ติดเชื้อ,การสนับสนุนการป้องกันการติดเชื้อในหมู่ผู้ใช้ยาเสพติด, การรณรงค์ปรับเปลี่ยนกฎหมาย ทัศนคติของสังคม การเลือกปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อ, การรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศสภาพและหยุดความรุนแรง, การสนับสนุนด้านการปรับปรุงมิติทางสังคมให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี โดยในการประชุมเอดส์นานาชาติซึ่งจัดทุก 2 ปีจะมีการประกาศผลรางวัลที่ 1 ในแต่ละสาขาด้วย ปีนี้มีผู้เข้าประกวดโครงการทั้งหมด 720 องค์กร จาก 102 ประเทศ โดยประเทศไทยได้รับเลือกเป็น 1 ใน 25 ถึง 2 กลุ่ม/องค์กรด้วยกัน สำหรับ 2 องค์กรของประเทศไทยที่ได้รับรางวัล คือ กลุ่มเยาวชนอาสา (The Youth Volunteer Group) และเครือข่ายสามเณรต้านภัยเอดส์และยาเสพติด (Novices Aids Intervention and Rehabilitation Network) หรือเรียนสั้นว่า NAIRN (เณร) ซึ่งกลุ่มเณรนี้ยังได้รับรางวัลพิเศษ MDGs (Millennium Development Goals) เนื่องจากเป็นการดำเนินงานที่เข้ากับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของยูเอ็น
เมื่อวัดยังเป็นศูนย์กลางเยียวยาชีวิตคนตะเข็บชายแดน สำหรับ “เครือข่ายสามเณรต้านภัยเอดส์และยาเสพติด” อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ นั้น ผู้ริเริ่มคือ พระอาจารย์ ดร.ฐาณี ฐิตวิริโย ผอ.โรงเรียนเวียงแหงปริยัติศึกษา สถานปฏิบัติธรรมปลีกวิเวก และ Lawrence Maund ผู้ทำงานรณรงค์ให้ความรู้เรื่องเอดส์โดยอาศัยแนวทางของพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย หลวงพี่ฐาณี เล่าว่า เครือข่ายนี้ก่อตั้งมาได้ 7-8 ปีแล้ว ท่ามกลางปัญญาสารพัดในอำเภอเวียงแหง ซึ่งเป็นตะเข็บชายแดนระหว่างไทย-พม่า ที่นั่นมีผู้ลี้ภัยและเด็กกำพร้าชาวไทใหญ่ซึ่งหนีการสู้รบมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และยังเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อยู่รวมกัน “คนเขาเรียกโรงเรียนนี้ว่า โรงเรียนนาชาติ..พันธุ์ มีทั้งไทยใหญ่ ชนพื้นเมืองล้านนา ปกาญาญอ จีนฮ่อ ลีซอ มูเซอ” หลวงพี่เล่า ผู้คนจำนวนมากที่นั่นยังไร้สัญชาติ และไม่สามารถออกนอกพื้นที่ได้ พวกเขาเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข ก่อนหน้านี้เด็กๆ ไม่สามารถเรียนต่อในชั้นที่สูงกว่าโรงเรียนในพื้นที่ได้ เด็กผู้หญิงมักถูกหลอกให้ไปขายบริการในเมือง ปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดหนัก ปัญหาความยากจนขยายตัวเพราะผลิตผลการเกษตรลดลงอย่างมากเนื่องจากการใช้สารเคมีหนักหน่วงทำให้ดินเสีย ฯลฯ แน่นอน หนึ่งในปัญหาทั้งหมด มีเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีรวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน หลวงพี่ฐาณี ในฐานะเป็นคนเวียงแหงโดยกำเนิด บวชเรียนตั้งแต่อายุ 12 และออกไปเรียนต่อจนจบด็อกเตอร์ กลับมาจำวัดที่บ้านเกิด พร้อมก่อตั้งโรงเรียนเวียงปริยัติศึกษา มองเห็นปัญหารอบด้านดังกล่าว จึงเริ่มต้นด้วยการรับเด็กกำพร้าทั้งหญิงและชายมาอุปการะที่วัด โดยเด็กชายให้บวชเป็นสามเณร จากนั้นอบรมสามเณรให้มีความรู้เกี่ยวกับเอดส์ เป็นความรู้ที่อยู่อยู่บนพื้นฐานของการนำพระรุทธศาสนามาปรับประยุกต์ พัฒนาจนสามเณรน้อยมีศักยภาพในการวิทยกร แล้วไปเป็นพี่เลี้ยงของเยาวชนในชุมชน ซึ่งได้ผลดีในการสื่อสารเพราะสามเณรก็อยู่ในวัยเดียวกับเยาวชน เพราะทุกปัญหาล้วนมีเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงถึงกัน ปัญหาเรื่องเอดส์ไม่อาจแก้ไขเฉพาะตัวมันเองเพียงลำพัง โรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นยิ่งกว่าการศึกษาในระบบ หรือศึกษาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หากแต่เป็นการศึกษาถึงทักษะการใช้ชีวิตอย่างครบวงจร ทั้งนี้ นักเรียนทั่วไปก็เข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ในนามของ “ค่ายคุณธรรม” “ทางโลกไม่ให้ช้ำ ทางธรรมไม่ให้เสีย” หลงพี่ฐาณีพูดถึงคอบเซ็ปท์ของหลักสูตรการอบรม พร้อมขยายความว่า จะต้องให้พวกเขามีความรู้ในทักษะการดำรงชีวิต ทักษะการปฏิเสธยาเสพติด การคิด การฟัง การตัดสินใจ การประเมินสถานการณ์ การรู้จักตนเอง รวมไปถึงความรู้เอชไอวี การเกษตรอินทรีย์ การสร้างบ้านดิน ขณะเดียวกันยังมีการทำวัตร สวดมนต์ ทำสามธิ เจริญภาวนา ทั้งหมดนี้เป็นการสอน “การใช้ชีวิต” เพื่อให้เขาอยู่ในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีการตั้งศูนย์เรียนรู้ตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เป็นที่ปฏิบัติธรรม โดยผู้เรียนจะได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติ ที่เรียกว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวทย์ ทั้งเรื่องเศรฐษกิจ การเกษตร การสร้างบ้านดิน ซึ่งตอนนี้มี 8-9 หลังแล้ว สามเณรยังต้องปลูกผักปลอดสาร ทำปุ๋ยหมัก ตามคอนเซ็ปท์ “ปลูกทุกอย่างที่ฉัน ฉันทุกอย่างที่ปลูก” เน้นการพึ่งตนเอง โดยพระ เณร ที่นี่จะไม่ออกบิณฑบาตเนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ก็มีฐานะยากจน อีกทั้งเณรก็มีกว่า 200 รูป ไม่นับรวมเด็กกำพร้าที่รับอุปการะไว้อีกจำนวนหนึ่ง สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อ ทางโรงเรียนก็จัดอบรมสมาธิ ให้คำปรึกษา ตลอดจนลงไปทำงานในชุมชน เปลี่ยนทัศนคติของชาวบ้านให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวีเพื่อให้ยอมรับผู้ติดเชื้อ จนกระทั่งผู้ติดเชื้อยอมเปิดเผยตัว ซึ่งก็จะทำให้สามารถพาไปโรงพยาบาลรับยาได้ และยังช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นด้วย ทุกวันนี้คนในชุมชนยอมรับผู้ติดเชื้อมากขึ้นจากเดิมที่พยายามกั้นรั้วบ้านไม่ให้แม้แต่ไก่ข้ามไปยังบ้านของผู้ที่ติดเชื้อ ตอนนี้รั้วทั้งหลายก็ดูจะหายไปหมดแล้ว ผู้ติดเชื้อกลายเป็นนักจัดการวิทยุชุมชนประจำหมู่บ้านร่วมกับพระและเณร ซึ่งทำให้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้นำไปสู่การอัตราการติดเชื้อที่ลดน้อยลงอย่างมากในพื้นที่นี้ ปัจจุบัน โรงเรียนและสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ต้นแบบที่มีผู้คนจากทั่วสารทิศมาดูงาน รวมถึงพระสงฆ์จากประเทศต่างๆ ด้วยเพื่อหาแนวทางปรับประยุกต์ศาสนาในการแก้ปัญหาทางโลก
เยาวชนอาสากับศิลปะสร้างชีวิต สร้างโลก ชุติมา สายแสงจันทร์ หรือ “ป้าอุ้ย” ของน้องๆ ที่ติดเชื้อเดินทางมาร่วมงานที่เวียนนา พร้อมด้วยเยาวชนที่ติดเชื้อ 2 คนซึ่งอยู่ในกลุ่มเยาวชนอาสา ป้าอุ้ย หนึ่งในผู้ที่ริเริ่มงานนี้ เล่าให้ฟังว่า กลุ่มเยาวชนอาสา หรือ เพื่อนอาสา เป็นกลุ่มเยาวชนที่ติดเชื้อเอชไอวีและเข้ามาร่วมกิจกรรมศิลปะเยียวยาจิตใจตั้งแต่ปี 2004 จนกระทั่งเติบโตขึ้นและทำหน้าที่สานต่อภารกิจนี้กับน้องๆ ตลอดจนพัฒนาไปจนเป็นผู้รณรงค์ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเอดส์ให้กับผู้คนทั่วไปแล้วในทุกวันนี้
“มันเหมือนจากที่เขาเคยเป็นผู้ได้รับผลกระทบแล้วลุกขึ้นมาทำงานเพื่อช่วยคนอื่นต่อไปได้อีก” ชุติมากล่าว เธอกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการว่า ช่วงปี 2004 เอ็นจีโอด้านเอดส์ที่ลงไปทำงานกับเยาวชนในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ขอนแก่น เชียงราย เริ่มรณรงค์เรื่องการใช้ยาต้านไวรัสในเด็ก โดยทำงานร่วมกับโรงพยาบาลต่างๆ เนื่องจากขณะนั้นเริ่มมียาสูตรของเด็กออกมาแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ยาส่วนมากมักทำสำหรับกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีจำนวนมากกว่าเป็นหลัก “เป้าหมายตอนนั้นคือให้เด็กได้รับการรักษาเร็วที่สุด เจ็บป่วยน้อยที่สุด ทำไปซักระยะ เด็กในพื้นที่ก็แข็งแรงขึ้น จากที่โฟกัสเรื่องร่างกาย ก็เริ่มไปโฟกัสที่จิตใจ เพราะเด็กดูไม่ความสุข บางคนซึมเศร้า บางคนมีพฤติกรรมก้าวร้าว บางคนไปโรงเรียนถูกล้อ ไม่มีเพื่อน เหมือนกับว่าเขาแข็งแรงแต่ใจยังป่วยอยู่” “เราเห็นเด็กเศร้า เราเข้าไปถามว่า หนูมีปัญหาอะไรไหม ไม่สบายใจเรื่องอะไร เด็กไม่ตอบ แต่ตอนนั้นสังเกตเห็นว่าเด็กสนใจเรื่องศิลปะได้ง่ายกันแทบทุกคน” ชุติมากล่าวถึงไอเดียเริ่มต้นที่ใช้ศิลปะมาเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจเยาวชนผู้ติดเชื้อ และเป็นช่องทางในการสื่อสารถึงกัน โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนศิลปะแหลมคม ซึ่งช่วยออกแบบกระบวนการเรียนรู้เรื่องศิลปะ โดยเน้นเรื่องการสื่อสาร ทำความเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องเทคนิคหรือผลลัพธ์ของงาน การอบรมครั้งแรกพบว่า การวาดภาพทำให้เข้าถึงสิ่งที่เด็กๆ คิดได้มาก “อะไรที่มันรบกวนเขาอยู่มันมักจะออกมากับภาพวาด เหมือนกับเขาก็ไม่อยากจะแบกมันไว้ แต่ไม่รู้จะพูดยังไง พอใช้ศิลปะก็ออกมาง่ายขึ้น และทำให้เรารู้ปัญหาและช่วยกันกับส่วนอื่นๆ หาทางแก้ไขให้มันคลี่คลายได้ ชุติมากล่าว และว่ามันยังช่วยเรื่องสมาธิ ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ผลงานของเด็กๆ ถูกนำไปจัดนิทรรศกาล “วาดชีวิต” และ “ฉันคือใครใยฉันจึงมี” ทำให้เด็กได้รับความภาคภูมิใจ จนทุกวันนี้ รวมถึงสามารถขายภาพหารายได้ได้ด้วย โครงการขยายไปสู่ศิลปะอื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นละคร หนังสั้น ถ่ายภาพ ทุกวันนี้เด็กรุ่นแรกๆ กลายเป็นรุ่นพี่อาสาสมัคร ขยายตัวกว่า 200 คน คอยดูแล เป็นที่ปรึกษาให้กับน้องรุ่นต่อๆ มา ไอรีน เป็นนามแฝงของสาวน้อยวัย 21 ปี ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มเยาวชนอาสาจากจังหวัดเชียงรายเข้าร่วมงานนี้ เธอกล่าวถึงความรู้สึกในการทำกิจกรรมดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2004 ว่า รู้สึกดีที่ได้ทำให้ผู้คนในสังคมเข้าใจผู้ติดเชื้อมากขึ้น อีกทั้งกิจกรรมศิลปะยังสอนให้เธอซึ่งปกติเป็นคนชอบเก็บตัวได้เรียนรู้ว่าเธอไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว และโลกไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด “แม้เราไม่ได้รางวัลก็ทำงานเหมือนเดิม แต่ดีใจที่เขาเห็นคุณค่าของเรา เพื่อนๆ ก็รู้สึกว่าอยากทำงานมากขึ้น อยากทำอะให้มันดีกว่านี้ เพราะเรามีศักยภาพจะทำได้” ไอรีนกล่าว ปัจจุบันไอรีนเป็นประธานกลุ่มเยาวชนอาสาจ.เชียงรายซึ่งมักนัดประชุมกันเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ เป็นระยะ เครือข่ายเยาวชนอาสานี้มียังมีในภาคกลาง อีสาน และภาคใต้ด้วย กลุ่มเยาวชนเหล่านี้จะทำทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่ระดมความคิด เตรียมความพร้อมกิจกรรม ทำบัญชี เขียนโครงการขอทุน โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเอดส์เป็นพี่เลี้ยงห่างๆ นอกจากนี้เธอยังเรียนคณะสังคมศาสตร์ สาขาการปกครอง ปี 2 ที่สถาบันแห่งหนึ่ง โดยมีความใฝ่ฝันว่าเมื่อเรียนจบแล้วอยากสมัครเข้ารับราชการ โดยที่ยังไม่รู้ว่าถึงวันนั้นจะมีอุปสรรคขัดขวางหรือไม่ เพียงไร พีระ (อันที่จริงแล้ว เขาชื่อ “เล่าปี่” ต่างหาก) เป็นเด็กหนุ่มวัย 16 ปี ผู้มีบุคลิกร่าเริงและคล่องแคล่วเป็นตัวแทนกลุ่มเยาวชนอาสาจากสมุทรปราการ เขาชอบเข้าสังคมและมีความสุขกับกิจกรรมต่างๆ ทั้งการวาดรูป เข้าค่าย การแสดงละครเวที รวมไปถึงการทำงานรณรงค์ให้ความรู้กับคนในชุมชนเรื่องการป้องกันเอดส์ “เราเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่เราตั้งใจ มั่นใจในตนเอง เชื่อมั่นกับสิ่งที่เราทำได้และกำลังที่เรามีอยู่ แล้วเราก็จะทำทุกอย่างเพื่อกลุ่มเราต่อไป ไม่มีสิ่งใดที่เราทำไม่ได้” พีระกล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
“ความรู้” ในแบบสมเกียรติ ตั้งนโม แห่ง ม.เที่ยงคืน Posted: 22 Jul 2010 08:01 AM PDT <!--break-->
สมเกียรติ ตั้งนโม อาจไม่ได้เป็นปัญญาชนชื่อเสียงโด่งดังคับบ้านคับเมือง แต่ในท่ามกลางบรรดาผู้สนใจใฝ่หาความรู้ รวมถึงผู้ที่สนใจความเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนไม่น้อยคงเคยได้ยินชื่อของเขาบ้างในฐานะบุคคลหนึ่งที่มีส่วนอย่างสำคัญ ทั้งในแง่ของการสร้างฐานความรู้ที่ทันสมัยและกว้างขวางบนสื่ออินเตอร์เน็ตจากการก่อตั้งเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (http://www.midnightuniv.org) และในฐานะสมาชิกคนสำคัญของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งมีส่วนร่วมต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเด็นที่มุ่งเน้นถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการสร้างสังคมประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งในด้านของ “ความรู้” อันเป็นสิ่งที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความหมายและความสำคัญเป็นอย่างมากในช่วงการมีชีวิตอยู่ของอาจารย์สมเกียรติ ซึ่งแน่นอนว่าคงยากจะหาแหล่งทุนใดมาสนับสนุนได้เป็นอย่างแน่แท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่แหล่งทุนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศก็ล้วนต้องอยู่ภายใต้ระบบการควบคุมคุณภาพเฉกเช่นโรงงานผลิตปลากระป๋อง การให้ทุนจึงเต็มไปด้วยเงื่อนไข ข้อตกลง คำถามการวิจัย หรืออะไรประมาณนี้ที่ชัดเจน เขาให้ความสำคัญกับความรู้ในแบบที่สังคมกระแสหลักไม่สู้จะให้ความสนใจ ความรู้ในแบบที่แตกต่างจากกระแสหลัก ความรู้ที่เป็นการโต้แย้ง หรือแม้กระทั่งเป็นอริกับความรู้กระแสหลักคือสิ่งที่เขาให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อผมได้พูดถึงแนวคิดเรื่องการดื้อแพ่งต่อกฎหมายเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วในยามที่เพิ่งรู้จักกัน อาจารย์สมเกียรติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งต่อมาในภายหลังจึงเข้าใจว่าเพราะอยู่ในทิศทางของความรู้ที่เขาสนใจ หากมีเวลาลองไล่เรียงงานของอาจารย์สมเกียรติ บางคนที่ไม่คุ้นเคยอาจมึนงงอยู่บ้างกับงานเขียนหลายชิ้น เช่น แนวคิดหลังอาณานิคม (Post-colonialism), ความรู้ช้า (Slow knowledge), ลิขซ้าย (Copyleft), วัฒนธรรมทางสายตาหรือ Visual Culture (สำหรับเรื่องนี้เข้าใจว่าเป็นประเด็นที่อาจารย์สมเกียรติมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในการนำเสนอ ตอนที่เริ่มอ่านเริ่มแปลเรื่องนี้ใหม่ๆ ทุกครั้งในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ ไม่ว่าการเมือง สังคม วัฒนธรรม การช้อปปิ้ง การแต่งกาย ล้วนจะต้องมีแนวการวิเคราะห์แบบ Visual Culture โผล่มาด้วยทุกครั้ง) เขามีความสุขกับการเดินทางไปในโลกแห่งความรู้ การอ่านและการคิดของเขาไม่ใช่เพียงเพราะต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ เราทุกคนที่อยู่ใกล้ชิดคงตระหนักดีได้ว่าการทำงานของอาจารย์สมเกียรติคือชีวิตที่เต็มไปด้วยความเพลิดเพลิน (ทั้งนี้ความสำราญใจประการหนึ่งที่รับรู้กันดีก็คืออาหารมันๆ ประเภทข้าวขาหมู หรืออะไรที่มีรสหวานจัด ตบท้ายด้วยเป๊ปซี่เย็นๆ) แม้ว่าเวลาทำงานอย่างเพลิดเพลินของเขาอาจไม่เหมือนมนุษย์ธรรมดาทั่วไปมากเท่าไหร่ เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนั้นเป็นการลงแรงของอาจารย์สมเกียรติในห้วงเวลาที่มนุษย์ต่างพากันนอนพักผ่อนเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนมาจนถึงเกือบรุ่งสาง แต่ไม่ใช่เพียงเพื่อตอบสนองต่อความกระหายอยากในความรู้ อาจารย์สมเกียรติยังให้ความสำคัญกับการใช้ความรู้ในการสนับสนุนคนตัวเล็กๆ ในสังคมให้ยืนหยัดขึ้นต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เขาจึงมิได้เพียงนั่งป่าวประกาศสัจธรรมอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น มีโครงการหลายอย่างที่ถูกเสนอขึ้นในระหว่างพวกเรา (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน) นำอาจารย์สมเกียรติออกไปในสถานที่ต่างๆ บ้านกรูด บ่อนอก ที่ประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนปากมูล อุบลราชธานี สหภาพแรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน บ้านปางแดง เชียงใหม่ และอีกหลายแห่ง อันทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่กว้างขวางมากขึ้น การเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมนับเป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ สมเกียรติได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อการคิดและพูดอย่างเสรีมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงไม่ต้องแปลกใจที่ในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเขาได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าสามารถนำบทความไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ภายใต้ระบบ Copyleft (อันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ Copyright) โดยที่แทบไม่ต้องกล่าวถึงการต่อสู้อำนาจทางการเมือง อันเป็นบทบาทที่เห็นได้บ่อยครั้งแม้ว่าความเห็นของอาจารย์สมเกียรติอาจไม่เหมือน แตกต่าง หรือแม้กระทั่งอยู่ตรงกันข้ามกับเสียงส่วนใหญ่หรือเสียงของผู้มีอำนาจก็ตาม จึงไม่ต้องแปลกใจที่เขาจะเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนให้มีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (อันนำมาสู่การกล่าวหาว่าเขาไม่จงรักภักดีภายหลังดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ แทบไม่น่าเชื่อว่าข้อกล่าวหานี้สามารถทำงานได้แม้ภายในสถาบันการศึกษาระดับสูงของสังคม) ไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่าต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์แต่เป็นเพราะกฎหมายนี้ได้ทำให้คนต้องปิดปากและถูกปิดปากอย่างไม่เป็นธรรมจากอำนาจรัฐ เมื่อถูกอำนาจรัฐสั่งปิดเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อาจารย์สมเกียรติเลือกที่จะต่อสู้ด้วยกระบวนการทางกฎหมายมากกว่าจะไปแอบเปิดเว็บไซต์ในชื่ออื่นเพื่อหลบหลีกการตรวจจับของรัฐบาล แม้การกระทำในแบบหลังจะง่ายกว่ามากนัก แต่เพื่อยืนยันถึงความถูกต้องและเสรีภาพในการแสดงความเห็น แม้อาจลำบากมากกว่าก็เป็นทางที่อาจารย์สมเกียรติได้เลือก ความกล้าหาญในการยืนยันถึงสิ่งที่เป็นความถูกต้องจากความรู้จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวความรู้นั้นด้วย หากจะพอบอกได้ว่าอะไรคือสิ่งที่อาจารย์สมเกียรติได้ทิ้งไว้เบื้องหลัง การยืนยันในความรู้ตามแบบที่ได้ดำเนินชีวิตมาโดยตลอดของเขาก็เป็นสิ่งที่ท้าทายต่อความเข้าใจในเรื่อง “ความรู้” ของปัญญาชนและคนในมหาวิทยาลัยในสังคมไทยอย่างสำคัญ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ศาลแรงงานชี้ "ทรู" เลิกจ้างไม่เป็นธรรมจริง-อดีต พนง.อุทธรณ์ต่อ ขอกลับเข้าทำงาน Posted: 22 Jul 2010 07:37 AM PDT ศาลแรงงานชี้ "ทรู" เลิกจ้างไม่เป็นธรรมจริง สั่ง "ทรู" จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย อดีตพนักงานเตรียมอุทธรณ์ต่อ หวังบริษัทรับกลับเข้าทำงาน ยันไม่ได้เป็นปฎิปักษ์กับบริษัท <!--break--> จากกรณีพนักงานบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 29 คน รวมตัวยื่นขอจดทะเบียนและเป็นกรรม การสหภาพแรงงานเพื่อชีวิตทรู เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 50 แต่ต่อมาบริษัทได้มีคำสั่งเลิกจ้างพนักงาน 20 คน โดยอ้างว่าประสบภาวะขาดทุนและยอมจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย แต่พนักงานไม่ยอมจึงได้ดำเนินการยื่นฟ้องร้องต่อศาล ขอให้บริษัทรับพนักงานกลับเข้าทำงาน ล่าสุด วันนี้ (22 ก.ค.) ศาลแรงงานกลางได้ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษาคดีที่ 1258-1273 /2550 และ 1544-1547/2550 โดยศาลได้วินิจฉัยแล้วเห็นว่า บริษัท ทรูฯ เลิกจ้างไม่เป็นธรรมจริง แต่ไม่สามารถรับกลับเข้าทำงานได้ เนื่องจากคดีความมีอายุนานกว่า 3 ปี ประกอบกับโครงสร้างบริษัทมีการเปลี่ยนแปลง และนายจ้างก็ไม่มีความประสงค์ที่จะรับกลับเข้าทำงาน ศาลจึงสั่งบริษัท ทรูฯ จ่ายค่าชดเชยกับพนักงานทั้งหมดตามกฎหมาย ด้านนายอัษฎาวุธ เที่ยงทอง อดีตพนักงานบริษัท ทรูฯ กล่าวว่า ทั้งจากแรงกดดันและปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ปัจจุบันเหลือเพื่อนพนักงานที่ยังต้องการดำเนินคดีต่อไปทั้ง หมด 9 คน โดยวันนี้อดีตพนักงานทั้ง 9 คนมีมติไม่รับค่าเสียหาย โดยจะขออุทธรณ์ต่อศาล ขอให้บริษัทรับกลับเข้าทำงาน ทั้งนี้ ยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้เป็นปฎิปักษ์ใดๆ กับนายจ้างและบริษัท เพียงแต่ต้องการตั้งสหภาพแรงงานขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางระหว่างองค์ กรและพนักงานให้เป็นเนื้อเดียวกันเท่านั้น แต่ผู้บริหารอาจยังไม่เข้าใจ หรือยังติดขัดกับคำว่าสหภาพแรงงาน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
อ่านที่นี่ คำแปลฉบับเต็ม "สมุดปกขาวของอัมเสตอร์ดัม" (ส่วนแรก) Posted: 22 Jul 2010 06:42 AM PDT เปิดรายงานครึ่งแรก ของโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม "การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : ข้อเรียกร้องหาการรับผิด ว่าด้วยพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยมีภาระผูกพันในการนำตัวฆาตกรสู่กระบวนการยุติธรรม" <!--break--> หมายเหตุ: คำแปลนี้เป็นครึ่งแรกของรายงานจำนวน 80 หน้า ซึ่งจัดทำโดย สำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff ติดตามอ่านฉบับสมบูรณ์ได้ที่ประชาไท
การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : ข้อเรียกร้องต่อการแสดงความรับผิดชอบ สมุดปกขาวโดยสำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff 000
บทคัดย่อ/ คำนำ 000
สารบัญ
000
บทที่ 1 บทนำ
เป็นเวลากว่า 4 ปีที่ประชาชนชาวไทยตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ สิทธิดังกล่าวคือสิทธิในการกำหนดทางเลือกของตนโดยผ่านการเลือกตั้งอย่างแท้จริงที่ดำรงอยู่บนฐานของเจตจำนงของประชาชน การโจมตีระบอบประชาธิปไตยเริ่มขึ้นด้วยการวางแผนและลงมือกระทำการรัฐประหารโดยทหารเมื่อปี 2549 ด้วยความร่วมมือกับสมาชิกองคมนตรี ผู้บัญชาการทหาร ของไทยล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ซึ่งชนะการเลือกตั้งมาถึง 3 สมัยติดต่อกัน ทั้งในปี 2544, 2548 และ 2549 ระบอบที่การรัฐประหารตั้งขึ้นได้เข้าควบคุมหน่วยงานต่างๆของรัฐบาล ยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองของแกนนำพรรคเป็นเวลา 5 ปี การที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ด้วยเหตุผลเดียวนั่นก็คือเพราะพรรคการเมืองต่างๆที่ชนะการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยตลอดการเลือกตั้งสี่ครั้งที่ผ่านมาถูกยุบไป การรัฐประหารในปี 2549 ถือเป็นการเริ่มต้นในการพยายามที่จะฟื้นฟูอำนาจนำของกลุ่มทุนเก่า นายทหารระดับสูง ข้าราชการระดับสูง และกลุ่มองคมนตรี ซึ่งจะขอรวมเรียกว่าเป็น “กลุ่มอำนาจเก่า” ซึ่งการฟื้นฟูระบอบที่กลุ่มอำนาจเก่าต้องการนั้นจะสำเร็จได้ก็ต้องทำลายพรรคไทยรักไทยเป็นอันดับแรก เพราะพรรคไทยรักไทยเป็นพลังทางการเลือกตั้งที่ได้กลายเป็นสิ่งท้าทายอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าอย่างสำคัญและเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และหลังจากนั้นกลุ่มอำนาจเก่าก็ไม่อาจหยุดยั้งการกวาดล้างขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นตามมา พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ได้รับความนิยมสูงสุดให้มาปกครองประเทศ อันเป็นการไปขัดขวางธรรมเนียมปฏิบัติอันยาวนานที่รัฐบาลผสมที่อ่อนแอจะได้เข้ามารับใช้ตามอำเภอใจของกลุ่มอำนาจเก่า ด้วยการเสริมอำนาจของฐานเสียงที่ถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบของชีวิตทางการเมืองของประเทศมายาวนาน พรรคไทยรักไทยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้พรรคฯ รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องสยบยอมมอบอำนาจใดๆ ที่รัฐธรรมนูญได้มีให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งแก่พวกกลุ่มอำนาจเก่า การบริหารจัดการของพรรคฯ จึงเป็นไปเพื่อยืนยันการควบคุมกระบวนการกำหนดนโยบาย การให้ทหารอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน และการทำลายเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ที่สมาชิกอันทรงอำนาจของคณะองคมนตรีได้ใช้อิทธิพลของตนเหนือข้าราชการ ระบบตุลาการ และกองกำลังทหาร ทั้งสองด้านของนโยบายเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน (dual track) ที่รัฐบาลไทยรักไทยได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีเสียงข้างมากในสภานั้น ยิ่งทำให้บรรดานักธุรกิจชั้นนำในกรุงเทพฯ ถอนการสนับสนุนทักษิณ ในขณะที่นโยบายเปิดตลาดเสรีของพรรคไทยรักไทยได้ทำให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อิงกลุ่มอำนาจเก่าต้องมีการแข่งขันมากขึ้น ความนิยมที่มีต่อโครงการต่างๆ ที่ตอบสนองต่อความจำเป็นของเกษตรกรในต่างจังหวัดและคนจนเมืองก็ทำให้รัฐบาลยืนหยัดต่อแรงกดดันที่มาจากกลุ่มตัวละครหลักๆ ของกลุ่มอำนาจเก่าไว้ได้ เมื่อไม่สามารถจะขจัดหรือบั่นทอนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ด้วยวิธีใดๆ ทหารจึงใช้ยุทธวิธีในการยกขบวนรถถังและกองกำลังพิเศษเข้ามาทวงประเทศคืนจากตัวแทนของประชาชน หลังจากการรัฐประหารเป็นต้นมา พวกกลุ่มอำนาจเก่าก็ได้พยายามที่จะรวบรวมอำนาจทางการเมืองของตน ในขณะเดียวกันก็ถอยไปซ่อนตัวอยู่หลังฉากที่สร้างภาพว่าเป็นประชาธิปไตยแบบมีรัฐธรรมนูญ กลุ่มอำนาจเก่าได้ใช้การรณรงค์อย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อกำจัดพรรคไทยรักไทยออกจากพื้นที่ทางการเมืองไทย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะกลับไปสู่การมีรัฐบาลอ่อนแอที่ยอมรับใช้ผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจเก่า เมื่อแผนนี้ไม่สำเร็จ กลุ่มอำนาจเก่าจึงต้องหันไปพึ่งฝ่ายตุลาการที่ถูกทำให้เข้ามามีส่วนพัวพันทางการเมืองอย่างมาก และได้รับอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 ให้สามารถล้มผลการเลือกตั้งที่ดำเนินอย่างเสรีได้ เพียงเพื่อทำให้การกำจัดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นดูเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยการครอบงำศาล และด้วยความสำเร็จบางส่วนในการทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติในรัฐบาลผสมของทักษิณอ่อนแอลง และด้วยความวุ่นวายที่ก่อโดยกลุ่มการเมืองนอกรัฐสภาอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กลุ่มอำนาจเก่าก็สามารถทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ทว่าหลังจากนั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ถูกกดดันให้ต้องใช้มาตรการกดขี่เพื่อรักษาฐานอำนาจอันไม่ชอบธรรมและปราบปรามการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ก่อตัวขึ้นเพื่อตอบโต้การรัฐประหารโดยทหารเมื่อปี 2549 และการรัฐประหารโดยศาลในปี 2551 หนึ่งในวิธีการกดขี่ก็คือการที่รัฐบาลได้บล็อกเวปไซท์ประมาณ 50,000 เวป ปิดสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และกักขังคนจำนวนหนึ่งภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพอันเลื่องชื่อของไทย และภายใต้พ.ร.บ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ที่โหดร้ายพอๆ กัน เมื่อเผชิญกับการชุมนุมประท้วงโดยมวลชนที่ท้าทายอำนาจของรัฐบาล รัฐบาลก็ได้เชื้อเชิญให้กองทัพเข้ามาจัดการ และได้ระงับเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยการนำพ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร พร้อมทั้งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งเข้มงวดยิ่งกว่ามาใช้ ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2553 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารชุดใหม่ของประเทศในนามของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้เข้ามาปกครองประเทศโดยไม่มีมาตรการตรวจสอบความรับผิดใดๆ ภายใต้การประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ที่ถูกประกาศอย่างไม่เหมาะสม ถูกนำมาบังคับใช้อย่างไม่สอดคล้องกับความรุนแรงของสถานการณ์ และใช้อย่างต่อเนื่องอย่างไม่มีกำหนดเพื่อที่จะปิดปากการคัดค้านใดๆ ที่มีต่อรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง นี่เป็นอีกครั้งที่กลุ่มอำนาจเก่าไม่อาจปฏิเสธข้อเรียกร้องเพื่อการปกครองตนเองของประชาชนชาวไทยได้โดยไม่ต้องหันไปหาระบอบเผด็จการทหาร ในเดือนมีนาคม 2553 เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ โดยกลุ่มคนเสื้อแดง หรือที่เรียกว่า “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) การชุมนุมของคนเสื้อแดงดำเนินมาจนถึงวันที่ 66 ในวันที่ 19 พฤษภาคม เมื่อรถหุ้มเกราะบดขยี้แนวกั้นที่ทำขึ้นชั่วคราวรอบสี่แยกราชประสงค์ในกรุงเทพฯ และทะลวงค่ายประท้วงของคนเสื้อแดง หลายสัปดาห์ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 10 เมษายน กองกำลังทหารพยายามสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงที่สะพานผ่านฟ้าแต่ล้มเหลว ยังผลให้มีผู้เสียชีวิต 27 ราย และในการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ระหว่างวันที่ 13 -19 พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 55 ราย เมื่อต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แกนนำนปช. ได้ประกาศยุติการชุมนุมและยอมมอบตัวกับตำรวจ พยานนับร้อยๆ คน และวิดีโอคลิปพันๆ คลิป ได้บันทึกการใช้กระสุนจริงอย่างเป็นระบบโดยกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของไทยต่อพลเรือนที่ไร้อาวุธ รวมถึงนักข่าวและเจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์ฉุกเฉินในเดือนเมษายนและพฤษภาคม นับถึงเวลาที่บริเวณที่ชุมนุมได้ถูกเคลียร์เรียบร้อย อาคารพาณิชย์สำคัญๆ สองสามแห่งยังคงมีควันกรุ่น มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 80 คน และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำการชุมนุมมากกว่า 50 คนอาจเผชิญกับโทษประหารชีวิตจากข้อหา “ก่อการร้าย” ผู้ชุมนุมหลายร้อยคนยังคงถูกควบคุมตัวข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรัฐบาลไทยนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำให้การชุมนุมทางการเมืองที่ชอบธรรมกลับกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีการออกหมายจับจำนวนสูงถึงแปดร้อยหมาย และทางการยังได้สั่งแช่แข็งบัญชีธนาคารของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมขบวนการและอาจเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินแก่นปช.อีกอย่างน้อย 83 ราย ที่น่าสลดใจก็คือ แกนนำคนเสื้อแดงในท้องถิ่นต่างๆ ได้ถูกลอบสังหารในชลบุรี นครราชสีมา และปทุมธานี ท่ามกลางเหตุการณ์ที่น่าสลดอันเป็นจุดสูงสุดของโครงการสี่ปีในการโค่นเจตนารมย์ของประชาชนเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มอำนาจเก่า สมุดปกขาวเล่มนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ วัตถุประสงค์ข้อแรกคือเพื่อเน้นถึงพันธกรณีของประไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ และพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ในการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงทั้งหลายที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดง รวมถึงต้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนซึ่งอยู่ภายใต้สายการบังคับบัญชาสำหรับอาชญากรรมอย่างการสังหารพลเรือนกว่า 80 รายโดยพลการและตามอำเภอใจในกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมด้วย ข้อเท็จจริงต่างๆ ปรากฏอย่างชัดเจนว่ามีการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการใช้กองกำลังทหารอย่างเกินความจำเป็น การกักขังโดยพลการต่อเนื่องเป็นเวลานาน และการทำให้ประชาชนบางส่วนหายสาบสูญ และยังมีระบบการประหัตประหารทางการเมืองที่ปฏิเสธเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและในการแสดงออกของพลเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง มีหลักฐานว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเพียงพอที่จะดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงอย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง เพื่อที่ผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายอาญาระหว่างประเทศจะถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จากประวัติศาสตร์ความเป็นปรปักษ์ต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ทำให้เป็นการสมเหตุสมผลที่จะยืนยันให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างเหมาะสม ด้วยหน่วยงานที่เป็นกลางและเป็นอิสระ เพื่อให้ผู้ที่รับผิดชอบต้องการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชนดังกล่าวจะต้องรับผิดตามที่กำหนดโดยกฎหมายระหว่างประเทศ เป้าหมายประการที่สองเกี่ยวข้องกับพันธกรณีของประเทศไทยในการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นในด้านสิทธิทางการเมือง หลังจากการรัฐประหารในปี 2549 และในระหว่างที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลที่มีทหารหนุนหลังพยายามที่จะรวบรวมอำนาจของตนโดยการกดขี่ปราบปรามการคัดค้านทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง มาตรการประการหนึ่งก็คือ การปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวนั้นโดยมีการประทุษร้ายประชาชนพลเรือนที่ไร้อาวุธอย่างเป็นระบบและอย่างเป็นวงกว้าง ซึ่งอาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศซึ่งกำหนดให้จัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮกอีกด้วย แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้ให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมฯ แต่การกระทำผิดต่อกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างร้ายแรงนี้ก็อาจจะเป็นเหตุเพียงพอให้ได้รับการพิจารณาให้เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศได้หากเป็นการดำเนินการโดยรู้ถึงการกระทำนั้นภายใต้นโยบายที่ยอมให้เกิดหรือสนับสนุนให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตโดยไม่จำเป็น หรือเป็นนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อโจมตีกลุ่มทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง มีหลักฐานมากมายที่ชี้ว่าแผนต่อต้านคนเสื้อแดงที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลา 4 ปีและที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันภายใต้นโยบายที่รับรองโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ และการสังหารหมู่คนเสื้อแดงที่เพิ่งผ่านมาก็เป็นเพียงการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวครั้งล่าสุดเท่านั้น สมุดปกขาวเล่มนี้ศึกษาการเกิดขึ้นของความรุนแรงในประเทศไทย รวมถึงการปฏิบัติการทางทหารในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม 2553 รวมทั้งการปราบปรามในเดือนเมษายนปี 2552 ที่มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน จากแง่มุมของหลักประกันตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หลักฐานต่างๆ นั้นเพียงพอต่อการสืบสวนโดยหน่วยงานที่เป็นอิสระและเป็นกลางถึงนัยยะทางอาญาของการประหัตประหารทางการเมืองเช่นนี้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ วัตถุประสงค์ประการที่สามของสมุดปกขาวเล่มนี้คือเพื่อยืนยันถึงสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศของสมาชิกนปช.หลายร้อยคนที่กำลังเผชิญข้อกล่าวหาทางอาญาจากการเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองรับรองสิทธิในการต่อสู้ดคีอย่างยุติธรรม รวมถึงสิทธิที่จะเลือกทนายของตนเอง เพื่อเตรียมการต่อสู้คดีโดยมีเวลาและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอ และสิทธิในการสามารถเข้าถึงหลักฐานได้อย่างเท่าเทียม [1] ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิในการตรวจสอบหลักฐานอย่างอิสระผ่านทางผู้เชี่ยวชาญหรือทนายของตนเอง ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันกับรัฐบาล และมีสิทธิในการเรียกพยานหลักฐานฝ่ายตนเพื่อแก้ต่างให้ตนเองได้ [2] เพื่อเป็นการตอบสนองต่อข้อประท้วงของนานาชาติเกี่ยวกับความรุนแรงในเดือนเมษายนและพฤษภาคม นายอภิสิทธิ์ได้ประกาศโร้ดแมปเพื่อการปรองดองและได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาอย่างเป็นทางการ สิ่งที่หายไปจากโร้ดแมปของอภิสิทธิ์ก็คือ ความเป็นอิสระและความเป็นกลางอย่างแท้จริงในกระบวนการตรวจสอบตัวเอง นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด ที่ได้รบแต่งตั้งให้นำคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ได้บอกกับสื่อมวลชนในเกือบจะในทันทีทันใดว่าเขาสนใจในการ “ส่งเสริมการให้อภัย” มากกว่าการเรียนรู้ข้อเท็จจริง [3] การละเลยเช่นนี้อาจจะสอดคล้องกับแนวความคิดเรื่องการปรองดองแบบเดิมๆ ของไทย ที่ให้นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่สังหารผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2516, 2519 และ 2535 หลายร้อยคน แต่ไม่ทำอะไรกับการสืบหาข้อเท็จจริงหรือส่งเสริมการสมานฉันท์ที่แท้จริงเลย ปัจจัยหลายอย่างได้ชี้ให้เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องมีการเข้ามาเกี่ยวข้องจากประชาคมโลก เพื่อรักษาการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทุกกรณีอย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง ประการแรก รัฐบาลไม่มีทีท่าจะยอมอ่อนข้อในการยึดอำนาจทางการเมือง โดยการให้ผู้นำทหารและพลเรือนถูกดำเนินคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ประการที่สอง การกักขังที่ยาวนานและการไม่สนใจที่จะดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมต่อคนเสื้อแดงหลายร้อยคนที่ถูกรัฐบาลตัดสินไปล่วงหน้าแล้วว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” นั้นทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมของการสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ ประการที่สาม คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของอภิสิทธิ์ทำงานรับใช้ความต้องการของนายกรัฐมนตรี และไม่มีหน้าที่ที่ชัดเจนในการสืบสวนหรือดำเนินคดีกับรัฐบาล ส่วนความสามารถในการค้นหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการก็ถูกขัดขวางโดยกฎระเบียบต่างๆ ที่ออกภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ถูกเหมือนจะยังคงมีผลในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของการดำเนินการของคณะกรรมการ ประการสุดท้าย การวิเคราะห์หลักฐานของรัฐบาลไทยนั้นมีแนวโน้มจะโอนเอียงและเชื่อถือไม่ได้เช่นที่มักจะเป็นในทุกครั้งที่รัฐบาลต้องทำการตรวจสอบการกระทำผิดของตัวเอง การที่รัฐบาลยึดมั่นกับผู้สืบสวนที่เลือกมาจากฐานของการถือข้างมากกว่าจากฐานของความเชี่ยวชาญทำให้กระบวนการไต่สวนทั้งหมดมีมลทิน การสืบสวนข้อเท็จจริงที่มีอคติ ไม่เป็นกลาง และตอบสนองผลประโยชน์ของรัฐบาลทหารนั้นก็เท่ากับไม่มีการสืบสวนเลย ทุกคนย่อมยอมรับความจริงที่ว่าประเทศไทยควรจะก้าวให้พ้นความรุนแรง และดำเนินการให้เกิดความปรองดอง ทว่าความปรองดองนั้นจำเป็นต้องเริ่มด้วยการฟื้นคืนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการปกครองตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นความปรองดองนี้ยังต้องการความรับผิดอย่างเต็มที่ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงที่กระทำไปเพื่อยับยั้งสิทธิในการปกครองตนเองนั้น กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ว่าไม่อาจยอมรับสิ่งที่น้อยไปกว่านี้ได้ 000
บทที่ 2 เส้นทางไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย
ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบ “ประชาธิปไตย” มาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบภายใต้รัฐธรรมนูญเมื่อปีพ.ศ. 2475 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในความจริง นอกจากช่วงเวลาที่เป็นเผด็จการทหารอย่างรุนแรงในระหว่างปี พ.ศ. 2501- 2512 แล้ว ประเทศไทยมีการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติเป็นประจำมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ทว่า อำนาจมักจะถูกเปลี่ยนมือด้วยการรัฐประหารโดยทหารมากกว่าด้วยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และจะมีการนำรัฐธรรมนูญฉบับที่สนับสนุนโดยทหารและรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยทหารเข้ามาบังคับใช้แทนที่รัฐธรรมนูญและรัฐบาลของช่วงเวลานั้น รัฐธรรมนูญในช่วงหลังมักจะถูกร่างขึ้นเพื่อรักษาการควบคุมของกลุ่มที่ก่อการรัฐประหาร ไม่ว่าผู้ก่อการจะตั้งใจใช้อำนาจโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านทางการให้ตัวแทนหรือการเข้าควบคุมจัดการรัฐบาลพลเรือนที่อ่อนแอ การจัดการเช่นนี้จะยังคงมีผลบังคับใช้ไปจนกว่าจะมีกลุ่มทหารกลุ่มอื่นทำรัฐประหารครั้งใหม่ และนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อทำให้สมดุลย์อำนาจใหม่ได้รับการรับรองในกฎหมายขึ้นมาใช้ [4] วิธีปฏิบัติเช่นนี้ดำเนินเรื่อยมา ผ่านทางการรัฐประหารโดยทหารที่สำเร็จ 11 ครั้ง รัฐธรรมนูญ 14 ฉบับ และแผนการและปฏิบัติการล้มล้างรัฐบาลที่ไม่สำเร็จอีกหลายครั้ง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2475 มาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2535 ตลอดช่วงเวลาเหล่านี้ ประเทศไทยมีช่วง “ประชาธิปไตย” สั้นๆ เพียงสามครั้งที่หยั่งรากอยู่ในเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแข่งขันในการเลือกตั้งอย่างแท้จริง โดยครั้งแรกคือหลังจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2507 และครั้งที่สองคือหลังจากการประท้วงใหญ่ในปี 2516 ครั้งที่สามคือหลังการเลือกตั้งที่ได้พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2531 ในทั้งสามครั้งนี้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถูกล้มล้างด้วยกระบอกปืนของกองกำลังทหาร และถูกแทนที่ด้วยระบอบที่เหมาะสมกับการคุ้มครองอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของพวกเขามากกว่า นอกจากช่วงเวลาสั้นๆ เหล่านั้นแล้ว ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาถูกปกครองโดยระบอบที่มีส่วนผสมของประชาธิปไตยและเผด็จการแตกต่างกันไป สิ่งที่ทุกระบอบมีเหมือนกันก็คือ เครือข่ายของเจ้าหน้าที่รัฐในราชการพลเรือนและทหาร หรือที่เรียกว่ากลุ่มอำมาตย์ ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจทางการเมืองที่แท้จริง ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนขึ้นมา ผู้แทนของประชาชนมีอิสรภาพระดับหนึ่ง และมีมากขึ้นในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา แต่ภายใต้ระบบอำมาตยาธิปไตย (คำที่ใช้เรียกระบบรัฐบาลที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มอำมาตย์ มักจะใช้ในทางตรงข้ามกับ “ประชาธิปไตย”) รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่เคยได้รับสิทธิในการกำหนดให้ทหารอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน และเข้าควบคุมกระบวนการกำหนดนโยบายทางทหารได้ ที่จริงแล้ว แนวคิดเรื่อง “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ได้ถูกจัดขึ้นโดยรัฐไทยตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมา โดยหมายถึงรูปแบบรัฐบาลที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่มีการกำหนดข้อจำกัดเข้มงวดเรื่องเสรีภาพของพลเมือง และเรื่องขอบเขตอำนาจที่เจ้าหน้าที่ที่มาจากการเลือกตั้งสามารถใช้ได้ ระบบรัฐบาลแบบนี้ที่อยู่บนฐานของการยินยอมอย่างไม่ใยดีของประชากรไทยส่วนใหญ่ ได้รักษาอำนาจของทหาร ข้าราชการ นายทุนขนาดใหญ่ และกลุ่มองคมนตรี (หรือเรียกรวมๆว่า “กลุ่มอำนาจเก่า”) ในการกำหนดนโยบายระดับชาติส่วนใหญ่เอาไว้ เหตุการณ์ต่างๆ หลังจากการยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยกองทัพที่นำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร เมื่อปีพ.ศ. 2533 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องอำนาจนำของกลุ่มอำนาจเก่าที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเหนือระบบการเมืองไทย การประท้วงโดยประชาชนจำนวนมากที่ต่อต้านการขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา หลังจากที่มีการเลือกตั้งที่มีเปลือกนอกว่าเป็น “ประชาธิปไตย” ในเดือนมีนาคม 2535 ได้นำไปสู่การปะทะรุนแรงเป็นประวัติการณ์ระหว่างพลเรือนกับทหารในช่วงวันที่ 17-20 พฤษภาคม ผู้ประท้วงหลายสิบคนที่เรียกร้องให้พลเอกสุจินดาลาออกและนำประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยถูกสังหารโดยโหดร้ายโดยทหารในช่วงระหว่างเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ” ปี 2535 ในท้ายที่สุด พลเอกสุจินดา ได้ลาออกหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ปรากฏพระองค์ต่อสาธารณะ และนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ในเดือนกันยายน 2535 โศกนาฏกรรมพฤษภาทมิฬทำให้ประเทศเดินเข้าสู่หนทางการเป็น “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อย่างแท้จริง และมีกระบวนการปฏิรูปเป็นเวลานานห้าปี อันสิ้นสุดลงด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างสูงในกระบวนการที่นำไปสู่การออกรัฐธรรมนูญ รวมถึงการที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยอย่างไม่กำกวม รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2540 นี้จึงเป็นที่รู้จักกันในนาม “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2540 นำมาซึ่งยุคใหม่แห่งการเมืองที่ไม่มีการกีดกันในไทย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ผู้แทนของประชาชนเป็นผู้ร่างและรับรองรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นการกำหนดมาจากกลุ่มอำนาจเก่าอย่างแต่เดิม นำไปสู่ยุคแห่งประชาธิปไตยที่แท้จริง ความโปร่งใส และการรับผิดตรวจสอบได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของพลเมือง ซึ่งฉบับก่อนหน้านี้ไม่ได้รองรับ และยังกำหนดกลไกอีกบางประการ รวมถึงเรื่องการเลือกตั้งสภาทั้งสอง ระบบการเลือกตั้งแบบปาร์ตี้ลิสต์เพื่อมาใช้พร้อมกับระบบแบ่งเขตแบบเดิม และตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกแบบมาเพื่อรับประกันว่าจะมีรัฐบาลตัวแทนอย่างเต็มที่ และเพื่อสร้างสนามเลือกตั้งที่เท่าเทียมกันสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในขณะที่ยังรักษาความเป็นธรรมและความซื่อสัตย์เอาไว้ให้ได้ [5] ที่สำคัญก็คือ รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 นี้ยังห้ามการใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองแบบประชาธิปไตย และยังห้ามความพยายามใดๆ ในการ “ให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้” [6] และยังห้ามทำการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญยกเว้นแต่เป็นไปตามหลักการและวิธีการที่บัญญัติไว้ [7] รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 ยังได้สร้างเสถียรภาพทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการรับรองในช่วงที่มีวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและทางการเงินอย่างหนักในประเทศ การส่งออกลดลงและความกังวลเรื่องสถานการณ์ของภาคการเงินทำให้เกิดการไหลออกของทุนขนาดใหญ่อย่างทันที จนเกิดวิกฤตอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงปลายปีพ.ศ. 2540 [8] ในสถานการณ์ที่ประชาชนต่างไม่พอใจรัฐบาลที่ไม่สามารกู้วิกฤติเศรษฐกิจของปะเทศได้ จึงเป็นที่คาดกันว่าอาจจะเกิดการรัฐประหารครั้งที่ 12 อย่างแน่นอน แต่ถึงกระนั้นวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ก็ไม่ได้นำไปสู่วิกฤตทางการเมือง ข้อผูกพันมุ่งมั่นของประเทศที่จะเป็นประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงดูเหมือนจะยังคงถูกรักษาไว้ได้ในที่สุด [9] รัฐธรรมนูญ 2540 ยังกำหนดยุทธศาสตร์ทางการเมืองแบบใหม่ ก่อนหน้านี้พรรคการเมืองที่อ่อนแอและแตกแยกต้องขึ้นอยู่กับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นและเครือข่ายเส้นสายของระบบอุปถัมภ์ ในการระดมพลังสนับสนุนในพื้นที่การเลือกตั้งส่วนใหญ่ของประเทศ เนื่องจากพรรคเหล่านั้นมีเนื้อหาเชิงโครงการน้อยมาก และมีภาพลักษณ์ของพรรคไม่ชัดเจน ด้วยระบบตรวจสอบและถ่วงดุลย์ การป้องกันการคอร์รัปชั่น และด้วยบทบัญญัติใหม่ๆ ที่เสริมอำนาจของฝ่ายบริหารโดยการทำให้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งมีความเปราะบางต่อการแปรพรรคน้อยลง รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 ได้เปิดช่องทางให้เกิดการเติบโตของผู้นำทางการเมืองใหม่ๆ ที่พยายามจะสร้างพรรคการเมืองระดับชาติที่เข้มแข็งที่อยู่บนฐานของวาระนโยบายเชิงโครงการที่ชัดเจน ที่อาจจะเป็นที่สนใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ นี่เป็นบริบทที่ทำให้ทักษิณ ชินวัตร ตั้งพรรคไทยรักไทยและนำพรรคไปสู่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งในปี 2544 และ 2548 อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้จินตนารของคนนับล้านๆเป็นจริง และได้มอบปากเสียงให้แก่พลังทางการเมืองที่ปัจจุบันนี้คัดค้านการบริหารปกครองของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างมั่นคง 000
บทที่ 3 การขึ้นสู่อำนาจของพรรคไทยรักไทย
ทักษิณ ชินวัตร เกิดเมื่อปีพ.ศ. 2492 เป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจในปีพ.ศ. 2516 และรับราชการเป็นเวลา 14 ปี จนมียศพันตำรวจโท ซึ่งในระหว่างนั้นเขาได้ลาไปศึกษาต่อขั้นปริญญาโทและปริญญาเอกในสาขาอาชญาวิทยาที่มหาวิทยาลัย Eastern Kentucky และมหาวิทยาลัย Sam Houston ในเท็กซัส ในปีพ.ศ. 2526 ขณะรับราชการตำรวจอยู่นั้น ทักษิณก่อตั้งบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์แอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์กรุ๊ป กับภรรยาและพี่ชายภรรยา หลังจากออกจากราชการตำรวจในปี 2530 และทุ่มเทความสนใจทั้งหมดให้กับธุรกิจ บริษัทของเขาก็เติบโตเป็นบริษัทชินคอร์ป ในช่วงทศวรรษ 1990s (2533-2542) บริษัทนี้เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจโทรคมนาคมโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่กำลังเริ่มต้นในประเทศไทย ในปี 2537 อันเป็นปีที่เขาเข้าสู่วงการการเมือง นิตยสาร Forbes ประเมินว่าเขามีทรัพย์สินประมาณ 1.6 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ทักษิณเข้าสู่การเมืองโดยเข้าร่วมในรัฐบาลชวน หลีกภัย ในปี 2537 เมื่อเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะสมาชิกพรรคพลังธรรมของพลตรีจำลองศรีเมือง จากนั้นเขาก็เป็นรองนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาสั้นๆ ในรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา (2538-2539) และรัฐบาลชวลิต ยงใจยุทธ (2540) ในวันที่ 14 กรกฏคม 2541 เขาก่อตั้งพรรคไทยรักไทยอย่างเป็นทางการร่วมกับสมาชิกพรรครุ่นก่อตั้ง 22 คน ภายใต้การนำของทักษิณ ไม่นานพรรคก็ประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยมีพรรคการเมืองใดทำได้มาก่อนเลยในประเทศไทย ในความพยายามที่จะแก้ปัญหาวิกฤตการเงินในปี 2540 รัฐบาลไทยได้ขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เงินกู้จำนวน 1.7 หมื่นล้านเหรียญนั้นต้องแลกมาด้วยกับการยอมรับเงื่อนไขของ IMF ที่จะต้องมีการปฏิรูประบบการเงิน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และมาตรการอื่นๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (foreign direct investment) ในช่วงแรก การปฏิรูปเหล่านี้ก่อให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ค่าจ้างตกต่ำลง อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรและแรงงาน บรรดานักธุรกิจชั้นนำในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงได้เข้าร่วมขบวนการชาตินิยมที่กำลังขยายตัวต่อต้าน IMF และพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นรัฐบาลขณะนั้น นายกฯ ชวน หลีกภัยถูกโจมตีจากหลายด้าน ทั้งภาคธุรกิจขนาดใหญ่ นักวิชาการ องค์กรประชาสังคมก่นประนามเขาว่าทำลายเศรษฐกิจ รับนโยบายจากต่างประเทศ ปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาฮุบทรัพย์สินของไทยในราคาถูก ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2544 พรรคไทยรักไทยของทักษิณปราศรัยถึงประเด็นเหล่านี้อย่างดุเดือด พรรคมีนโยบายให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ สาธารณสุข การศึกษา และพลังงาน ในขณะเดียวกันนโยบายสวัสดิการสังคมของไทยรักไทยและการพัฒนาชนบทก็ได้รับความนิยมอย่างมากจากชนชั้นแรงงานในเมืองและเกษตรกรในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจมากที่สุด ด้วยมาตรฐานของประเทศที่คุ้นชินกับการมีรัฐบาลผสมที่เคยประกอบด้วยพรรคการเมืองมากถึง 16 พรรค พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2544 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างถล่มทลาย ได้ที่นั่งในสภาถึง 248 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่พรรคการเมืองหนึ่งเกือบจะได้เสียงข้างมากในสภา และผลจากการเลือกตั้ง ทักษิณ ชินวัตรก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ คนที่ 23 ของไทย ชัยชนะของพรรคไทยรักไทยที่หีบเลือกตั้งและการเพิ่มจำนวนสส.จากการรวมกับพรรคอื่นในภายหลังนำไปสู่สภาพการณ์ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกลุ่มอำนาจเก่าของไทย ซึ่งก็คือ องคมนตรี ผู้นำกองทัพ ข้าราชการระดับสูง ผู้พิพากษาศาลสูง ผู้นำทางธุรกิจ ที่ได้สะสมความมั่งคั่งในระบบการเมืองก่อนที่จะมีทักษิณ ก็สนับสนุนการการขึ้นมาของทักษิณอย่างกระตือลือล้นในช่วงแรก แต่เมื่อความชอบธรรมจากการกุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาทำให้นายกฯ อยู่ในฐานะที่สามารถผลักดันนโยบายของพรรคไทยรักไทยได้โดยไม่จำเป็นต้องต่อรองหรือขอความเห็นชอบจากกลุ่มอำนาจเก่า ความเข้มแข็งที่ได้มาด้วยความนิยมชมชอบของประชาชนในการเลือกตั้ง คุกคามอำนาจในการกำหนดนโยบายประเทศที่พวกอำมาตย์ยึดกุมมาตลอดตั้งแต่ประเทศไทยดูคล้ายจะเป็นประชาธิปไตยมา ก่อนหน้านี้กลุ่มอำนาจเก่ากุมอำนาจเหนือระบบการเมืองของประเทศและนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยอาศัยยุทธวิธีแบ่งแยกและปกครอง ภาวะเบี้ยหัวแตกของระบบพรรคการเมืองของไทยได้ป้องกันการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนที่มีฐานจากการเลือกตั้งที่จะสามารถท้าทายอำนาจนอกรัฐธรรมนูญของกลุ่มอำนาจเก่า การเลือกตั้งปี 2544 ทำให้ทักษิณมีฐานมวลชนสนับสนุนอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ซึ่งเขาใช้ฐานสนับสนุนนั้นในการทำสิ่งที่เขาได้สัญญาไว้ ในช่วง 1 ปีแรก เขาดำเนินนโยบายตามที่ได้เสนอไว้ในการหาเสียง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทักษิณยังกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ทำงานครบวาระ พรรคไทยรักไทยหาเสียงในการเลือกตั้งปี 2548 ด้วยนโยบายต่อเนื่องภายใต้สโลแกน “สี่ปีซ่อม สี่ปีสร้าง” และผลการเลือกตั้งในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ก็เป็นชัยชนะที่ถล่มทลายยิ่งกว่าเดิม หลังจากการเลือกตั้งปี 2548 พรรคไทยรักไทยกุมเสียงข้างมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งในสภา พรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดคือประชาธิปัตย์สูญเสียที่นั่งกว่าหนึ่งในสี่ เหลือไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งในสภา และถือเป็นครั้งแรกอีกเช่นเดียวกันที่ทักษิณได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกฯ อีกครั้ง ในขณะที่หลายคนในกลุ่มอำนาจเก่าของไทยเคยมองทักษิณว่าเป็นคนที่อาจสามารถช่วยกอบกู้ให้พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ที่ทำลายความมั่งคั่งของพวกเขาไปไม่น้อย พอเริ่มต้นวาระที่สอง ทักษิณก็ได้กลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองของกลุ่มอำนาจเก่า มาถึงปี 2548 นี้ ทักษิณไม่เพียงแต่ยึดกุมสนามการเลือกตั้งในประเทศไทยได้เท่านั้น การที่เขาได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนยังทำให้เขามีโอกาสขับเคลื่อนในทิศทางที่ดึงอำนาจตามรัฐธรรมออกมาจากกลุ่มอำนาจเก่า ชนิดที่ไม่มีนายกฯ พลเรือนคนไหนเคยทำได้มาก่อน ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วรัฐธรรมนูญของประเทศไทยส่วนใหญ่ก็มอบอำนาจดังกล่าวไว้แก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่แล้ว รัฐบาลทักษิณมีลักษณะเป็นภัยคุกคามหลายประการต่อกลุ่มหลักๆ 4 กลุ่มที่ประกอบเป็นกลุ่มอำนาจเก่าของไทยอันได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจการเงินในกรุงเทพฯ 2) ผู้นำทางทหาร 3) ข้าราชการพลเรือนชั้นสูง 4) กลุ่มองคมนตรี พวกนักธุรกิจชั้นนำในกรุงเทพฯ ที่ทักษิณเคยทอดสะพานให้ครั้งเขาลงชิงตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรก กลับหันมาต่อต้านรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเพราะดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นไปที่เกษตรกรและคนจนในเมือง ตลอดจนการเปิดเสรีทางการค้า โดยผู้ต่อต้านนั้นพูดอย่างชัดเจนว่า “เป้าประสงค์นั้นคือการต่อต้านนโยบายแบบทักษิโนมิคส์” น่าขำที่ทักษิณมักถูกโจมตีเรื่อง “ประชานิยม” (เมื่อเร็วๆนี้ พวกเสื้อแดงก็ถูกเรียกว่าเป็นพวก “มาร์กซิสต์”) การสนับสนุนการค้าเสรีของเขานั่นเองที่สร้างความระคายเคืองแก่คนรวยมากที่สุด นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ Suehiro Akira อธิบายเศรษฐกิจประเทศไทยยุคหลังสงครามว่าถูกครอบงำโดยครอบครัวที่เป็น ทุนนิยมพวกพ้อง (“client capitalist”) ไม่กี่สิบครอบครัว ที่ยึดกุมและรักษาการผูกขาดเกือบโดยสิ้นเชิงเหนือภาคส่วนทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งเป็นผลจากเส้นสายความสัมพันธ์ที่พวกเขามีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ทรงอิทธิพล ในการแลกเปลี่ยนเพื่อความมั่งคั่งส่วนตัว เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจในฝ่ายพลเรือนหรือนายทหารระดับสูงจะคอยดูแลให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ภายในประเทศต้องได้รับผลประโยชน์จากนโยบายต่างๆ ความอ่อนแอของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และการป้องกันการแข่งกันจากภายในและภายนอกประเทศของรัฐ วิกฤติการเงินเอเชียทำให้หลายครอบครัวในกลุ่มนี้ต้องมีหนี้สิน ทำให้พวกเขาต้องยอมขายกิจการให้กับต่างชาติ รัฐบาลไทยได้เข้ามาช่วยเหลือธุรกิจขนาดใหญ่เมื่อต้นปี 2544 โดยการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์แห่งชาติ เพื่อซื้อหนี้เงินกู้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (non-performing loans)มูลค่า1.2 พันล้านเหรียญทั้งที่เกิดจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งหนี้เงินกู้เหล่านี้หลายตัวก็ยังคงไม่ก่อรายได้ (underperforming)อยู่จนถึงปี 2548 และบริษัทที่กู้เงินก็ยังมีหนี้ค้างชำระกับธนาคารจำนวนมาก ภายใต้การบริหารงานของทักษิณ บรรดานักธุรกิจชั้นนำของกรุงเทพ ผู้ซึ่งแต่ไหนแต่ไรเคยชินกับการอาศัยอิทธิพลทางการเมืองในการปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน เริ่มที่จะเสี่ยงต่อการสูญเสียอิทธิพลที่มีต่อรัฐบาลและหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ ทำให้พวกเขาตกอยู่ในฐานะที่อ่อนแอในการต่อรองกับธนาคารเกี่ยวกับหนี้ที่ยังค้างชำระ นอกจากนี้ การที่นโยบายเศรษฐกิจของไทยรักไทยมุ่งเน้นสนับสนุนการค้าเสรีก็คุกคามกลุ่มธุรกิจภายในประเทศให้ต้องเผชิญกับการแข่งขันจริงๆ อีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่คุ้นที่จะต้องเผชิญ ครอบครัวที่ควบคุมอาณาจักรเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่าง ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ไทยเบเวอเรจ เจริญโภคภัณฑ์กรุ๊ป และทีพีไอ โพลีน กลับกลายมาเป็นปฏิปักษ์ตัวฉกาจของทักษิณ นอกจาก ทุนนิยมพวกพ้อง client capitalists เหล่านี้แล้ว นโยบายของทักษิณได้คุกคามเครือข่ายราชการ (หรืออำมาตยา) ที่ได้คอยดูแลให้ครอบครัวเหล่านี้มีอำนาจครอบงำเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด ในด้านหนึ่ง การที่ทักษิณพยายามลดทอนอำนาจของทหาร ข้าราชการ และองคมนตรีในการกำหนดนโยบายประเทศนั้นยังได้ไปบ่อนเซาะเกราะคุ้มกันจากการแข่งขันที่พวกนักธุรกิจชั้นนำเคยได้รับเสมอมาจากระบบอมาตยาอีกด้วย และในอีกทางหนึ่ง ความมุ่งมั่นของทักษิณที่จะลดบทบาทของสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งให้เหลือเพียงบทบาทที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ก็เป็นภัยคุกคามต่ออิทธิพลและรายได้ของของกลุ่มอำมาตย์ ข้าราชการอาชีพอาจเป็นกลุ่มหันมาต่อต้านรัฐบาลทักษิณเร็วที่สุด ตั้งแต่แรกทีเดียว ทักษิณได้กำหนดตนเองเป็นตัวเปรียบเทียบกับคนที่อยู่ในระบบราชการและนักการเมืองอาชีพ ทันทีที่เข้ามาเป็นรัฐบาล การดำเนินนโยบายของไทยรักไทยทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลกระบวนการกำหนดนโยบายโดยตรง ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาอยู่ในมือของข้าราชการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ในการพยายามที่จะทำให้รัฐบาลมีอำนาจควบคุมการออกแบบและดำเนินการนโยบายใหม่ๆ ทักษิณได้ทำให้ข้าราชการระดับสูงมีบทบาทลดน้อยถอยลง ทั้งโดยการให้อำนาจแก่ฝ่ายการเมืองและการปฏิรูประบบราชการที่ทำให้เกิดกระทรวงใหม่ขึ้นมาหกกระทรวงเพื่อให้ระบบราชการทำงานได้คล่องแคล่วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพและการสนองตอบต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทักษิณพยายามอย่างหนักที่จะได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ในช่วงเวลาที่ทักษิณเข้ารับตำแหน่ง กองทัพยังคงมีภาพพจน์ที่ไม่ดีที่ผู้นำกองทัพกระทำไว้จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 อย่างไรก็ตาม ด้วยประวัติศาสตร์ของไทย บรรดานายพลก็ยังคงเป็นกลุ่มอำนาจที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่สามารถจะมองข้ามได้ งบประมาณของกองทัพที่ถูกหั่นลงอย่างมากหลังวิกฤติทางการเงินเอเชีย ค่อยๆ เพิ่มขึ้นในช่วงสมัยแรกของทักษิณ จาก 71.3 พันล้านบาทในปี 2543 เพิ่มขึ้นเป็น 86.7 ในปี 2549 ทว่าในเวลาเดียวกัน ทักษิณก็พยายามที่จะทำให้กองทัพอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือนมากขึ้น ในทางหนึ่งเขาปฏิเสธที่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายของกองทัพตามที่ขอมา (ที่กองทัพต้องการนั้นดูได้จากงบประมาณทหารที่เพิ่มขึ้นมา 35 เปอร์เซ็นต์ตามที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติอนุมัติหลังการรัฐประหาร) ในอีกทางหนึ่ง ทักษิณใช้การโยกย้ายตำแหน่งเพื่อสร้างความพอใจให้กับผู้ที่ภักดีต่อรัฐบาลและตัวเขาเอง ซึ่งทำให้นายทหารชั้นสูงหลายคนไม่พอใจที่ถูกข้ามหัวหรือเห็นอนาคตตีบตัน การต่อต้านของเครือข่ายที่ปรึกษาของราชสำนักที่นำโดยประธานองคมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการถูกถอดจากตำแหน่งของทักษิณ สำหรับพลเอกเปรมและพันธมิตรแล้ว ประเด็นขัดแย้งคือการบ่อนเซาะอำนาจทางการเมืองที่เป็นผลมาจากความพยายามอย่างเป็นระบบของทักษิณที่จะขจัดระบบอุปถัมภ์อันเป็นช่องทางที่บรรดาผู้แวดล้อมราชสำนักใช้อำนาจอิทธิพลในการบริหารราชการแผ่นดินแทบทุกแง่มุม การที่ทักษิณพยายามทำให้กองทัพและราชการพลเรือนอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาล ตลอดจนลดอิทธิพลของพล.อ.เปรมที่มีต่อศาลและองค์กรอิสระ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการต่อต้านจากองคมนตรี ในปี 2549 หลังจากประสบความสำเร็จในการผลักดันให้พลเอกสนธิ บุญยรัตกลินได้ขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพ พลเอกเปรมก็เริ่มวางแผนการรัฐประหารอยู่หลังฉากและทำการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยมุ่งหมายบ่อนทำลายความภักดีของกองทัพที่มีต่อรัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นการเฉพาะ กฎสำคัญข้อหนึ่งที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาก็คือ รัฐบาลพลเรือนจะเป็นที่อดรนทนได้ตราบใดที่เป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ แตกแยกภายใน ต้องคล้อยตามระบบอมาตยาในกองทัพ ราชการ และองคมนตรี และรับใช้ผลประโยชน์ของนักธุรกิจชั้นนำในกรุงเทพฯ รัฐบาลใดที่พยายามจะทำในสิ่งที่แตกต่าง ก็จะถูกบ่อนทำลายอย่างเป็นระบบ และหากบ่อนทำลายไม่สำเร็จ ก็จะถูกขจัดออกไปโดยกองทัพ ทักษิณไม่เพียงแต่ละเมิดกฎอันไม่เป็นทางการข้อนี้ด้วยการทุ่มเทบริหารประเทศอย่างไม่บันยะบันยัง การอยู่ในตำแหน่งนายกฯ จนครบวาระและชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งสองครั้งซ้อนอันเนื่องมาจากการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากมวลชนที่พึงพอใจในนโยบาย เป็นการคุกคามที่จะเปลี่ยนทิวทัศน์ทางการเมืองของไทยโดยขจัดอำนาจนอกรัฐธรรมนูญที่มีมาอย่างยาวนานของกลุ่มอำนาจเก่าที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ด้วยสังขารที่ร่วงโรยของผู้นำที่มีบารมีสูงสุดบางคนของอำมาตย์ กลุ่มอำนาจเก่าก็ตัดสินใจว่าจำเป็นต้องลงมืออย่างรวดเร็วและเด็ดขาดเพื่อทำลายล้างพรรคไทยรักไทยและการท้าทายอำนาจอย่างใหญ่หลวงที่สุดที่พวกเขาเคยประสบในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา 000
อ้างอิง:
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
IT fair รณรงค์ให้หน่วยงานของรัฐในยุโรปใช้ "อุปกรณ์-คอมพิวเตอร์" ที่ไม่ละเมิดสิทธิแรงงาน Posted: 22 Jul 2010 05:39 AM PDT IT fair รณรงค์ล่าชื่อ 10,000 รายชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลในยุโรป มีความรับผิดชอบต่อสังคมในการเลือกสั่งซื้อคอมพิวเตอร์ที่ไม่ละเมิดสิทธิแรงงาน 22 ก.ค. 53 - IT fair กลุ่มนักพัฒนาเอกชนจากประเทศยุโรปที่ทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบจับตาบริษัทคอมพิวเตอร์และ IT ได้สร้างหน้าเวบเพจล่ารายชื่อ รณรงค์ให้หน่วยงานของรัฐในยุโรปใช้ "อุปกรณ์-คอมพิวเตอร์" ที่ไม่ละเมิดสิทธิแรงงาน โดย IT fair ได้ระบุว่าในปัจจุบันคนงานในอุตสาหกรรมไอทีเทคโนโลยีทั่วโลกต้องเผชิญกับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและสภาพการทำงานที่อันตรายเพื่อผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปการณ์เครื่องใช้อีเลคโทรนิคส์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราในมากมายหลากหลายด้าน พวกเขาต้องทำงานกับสารเคมีที่เป็นพิษและได้รับค่าแรงที่น้อยนิด ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข บ่อยครั้งที่พวกเขาถูกนายจ้างบีบคอลดค่าจ้างและสวัสดิการสังคม สถาบันของรัฐ อาทิเช่นหน่วยงานมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเทคนิคสามารถเปลี่ยนแปลงความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ เนื่องจากกำลังซื้อที่มหาศาล เพียงใช้จรรยาบรรณในการเลือกซื้อคอมพิวเตอร์ของหน่วยงาน ท่านสามารถช่วยลดความยากจนและทำให้คนงานมีสวัสดิการการทำงานที่ดีขึ้นได้อย่างมหาศาล กรุณาร่วมลงชื่อจดหมายเปิดผนึกเพื่อเรียกร้องให้สถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยในทวีปยุโรปเพิ่มจริยบรรณต่อสังคมเป็นหลักในการเลือกสั่งซื้อคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อีเลคโทรนิคส์และลงนามความตั้งใจที่จะยึดถือความรับผิดชอบต่อสังคมในการเลือกสั่งซื้อคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในหน่วยงาน หลังจากที่รวบรวมรายชื่อได้ครบจำนวน 10,000 รายชื่อ! เราจะจัดส่งรายชื่อของท่านไปยังสถาบันของรัฐทั่วทวีปยุโรป สามารถลงชื่อได้ที่ http://procureitfair.org/petition/thai
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สมาคมวิทยุชุมชนโลก เรียกร้องรัฐบาลไทยหยุดคุกคามวิทยุชุมชน Posted: 22 Jul 2010 05:31 AM PDT สมาคมผู้กระจายเสียงวิทยุชุมชนโลก (AMARC) แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ การปราบปราม และปิดสื่อวิทยุชุมชนในไทย หลังบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน เรียกร้องสิทธิ์ในการแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างอิสระ <!--break-->
22 ก.ค. 2553 - สมาคมผู้กระจายเสียงวิทยุชุมชนโลก (The World Association of Community Radio Broadcasters, AMARC) แสดงความเป็นห่วงอย่างลึกซึ้งถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ที่มีรายงานว่ามีการปิดกั้นการรายงานข่าวจากสถานีวิทยุชุมชน และมีวิทยุชุมชนหลายแห่งถูกปิดลง โดยในรายงานเมื่อไม่นานนี้ระบุว่า รัฐบาลได้บังคับใช้ พรก. ฉุกเฉิน เพื่อปิดสถานีวิทยุชุมชน 26 แห่ง ใน 9 จังหวัด และมีการกดดันให้สถานีวิทยุชุมชนอีก 6 แห่งยกเลิกการให้บริการ รวมถึงยังมีสถานีวิทยุอีกกว่า 84 แห่งที่ถูกขึ้นบัญชีดำและถูกสอดส่องอย่างใกล้ชิด มีรายงานต่ออีกว่า นักกิจกรรมอย่างน้อย 35 รายที่เกี่ยวข้องกับสื่ออย่าง ผู้ดำเนินรายการวิทยุ, ผู้อำนวยการ และผู้บริหารสถานี ถูกดำเนินการทางกฏหมายในฐานะผู้ต้องสงสัยในการระดมผู้ฟังเข้าร่วมการประท้วงของคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ "อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัดที่จะสร้างความเป็นรูปธรรมให้กับข้อกล่าวหานี้" สุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการของคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าว มาตรา 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ระบุชัดเจนว่า "บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะยึดมั่นในความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และการเข้าถึง การรับสื่อ ตลอดจนการแจ้งข่าวรวมทั้งความคิดเห็นผ่านสื่อใดๆ และโดยมิต้องคำนึงถึงเขตแดน" ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานรวมถึงสิทธิในการสื่อสาร สิทธิด้านข้อมูล และในฐานะเครือข่ายสื่อชุมชนระดับโลก สมาคมผู้กระจายเสียงวิทยุชุมชนโลกเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้การรับรองว่า ผู้กระจายเสียงชุมชนจะไม่ถูกคุกคามจากการที่พวกเขาแสดงความเห็นทางการเมือง "สถานีวิทยุชุมชนเป็นตัวแทนของเสียงประชาชนในชุมชน และเป็นเรื่องผิดที่จะดำเนินการทางกฏหมายต่อผู้เผยแพร่ข่าวสาร ข้าพเจ้าของเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อย่าได้ใช้อำนาจข่มเหงผู้กระจายเสียงชุมชน ไม่ว่าจะโดยข้ออ้างใด ๆ ก็ตาม" อิหม่าม ประโคโซ รองประธานสมาคมฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว โดยเขายังได้แสดงความกังวลต่อการปิดสถานีวิทยุ และการดำเนินการทางกฏหมายต่อผู้ประกอบการกระจายเสียงสถานี เขาเรียกร้องให้ยึดในหลักการสากลของสิทธิด้านวิทยุชุมชน ในการเผยแพร่ความเห็นทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ รวมถึงประเด้นอื่น ๆ ที่เกี่ยวพันกับชีวิตของคนในชุมชนนั้น ๆ อย่างอิสระเสรี สมาคมผู้กระจายเสียงวิทยุชุมชนโลกในฐานะที่เป็นองค์กรเคลื่อนไหวด้านการกระจายเสียงที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีสมาชิกเป็นผู้กระจายเสียงชุมชนและผู้ให้การสนับสนุน 5,000 ราย เชื่อว่าประชาธิปไตยและความยุติธรรมในสังคมจะเกิดได้เมื่อมีสื่อเสรี
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
'อำนวย' เผยยังไม่ได้แจ้งหมิ่น 'พงษ์พัฒน์' แค่เรียกเชิญตามขั้นตอน Posted: 22 Jul 2010 04:17 AM PDT พล.ต.ต. อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. แถลงว่า ยังไม่ได้แจ้งข้อหาหมิ่นเบื้องสูงพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เพียงแค่ออกหมายเรียกตามขั้นตอนเมื่อมีผู้ร้องทุกข์ ไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งใคร <!--break-->
22 ก.ค. 2553 - พล.ต.ต. อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) รับผิดชอบงานด้านการสอบสวนและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แถลงข่าวยืนยันว่า พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหาหมิ่นเบื้องสูงกับนายพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง นักร้องนักแสดงชื่อดังแต่อย่างใด ส่วนการออกหมายเรียกนั้นเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนเมื่อมีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์ ตำรวจก็ต้องทำไปตามหน้าที่ หากไม่รับแจ้งความหรือไม่ดำเนินการใดๆ ก็จะถือว่าละเว้นเป็นความผิดได้ เพราะตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นกำหนดไวัชัดเจนอยู่แล้ว "ผมขอยืนยันว่าตำรวจทำไปตามหน้าที่ไม่มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งใคร หรืออาฆาตมาดร้ายกับใคร เป็นมีข้อปฏิบัติที่ชัดเจนอยู่แล้ว หากไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ คดีนี้ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้ง หรือไร้มาตรฐาน แต่เมื่อมีคนแจ้งความร้องทุกข์ ทางตำรวจ ก็ต้องดำเนินการเรียก หรือในชั้นนี้เรียกว่า เป็นการเชิญตัวนายพงษ์พัฒน์ มาให้ปากคำก็ได้เขายังไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องหา แต่เป็นการดำเนินการเพื่อให้เสร็จสิ้นตามขบวนความทั้งหมด" พล.ต.ต.อำนวย กล่าว พล.ต.ต.อำนวย กล่าวอีกว่า ทางด้านคดีนั้น นายพงษ์พัฒน์ อาจจะไม่ผิดก็ได้ แต่ต้องดำเนินการไปตามระเบียบ เป็นการเชิญตัวมาพูดคุยสอบถามกันก็เท่านั้นว่า เหตุใดจึงเรียกว่า พ่อเฉยๆ และความรู้สึกขณะพูดตอนนั้นพูดเพื่อต้องการสื่อความหมายอย่างไร ทุกอย่างเป็นเรื่องของรายละเอียดที่ต้องมาพูดคุยกัน หากนายพงพัฒน์ สามารถอธิบายได้ให้ความกระจ่างได้ในทุกข้อทุกเรื่องที่มีการซักถามทุกอย่าง ก็จบไม่มีอะไรไม่มีข้อกังขาก็ไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด เมื่อผู้สื่อข่าวซักถามว่า หากเรียกตัวนายพงษ์พัฒน์แล้วไม่มาจะมีการดำเนินการอย่างไร พล.ต.ต. อำนวยกล่าวว่า หากมีการเรียกนักภาษา นักกฏหมาย แล้วมันจบก็ไม่จำเป็นต้องมา โดยอาจมีการติดต่อทางโทรศัพท์หรือให้พนักงานสอบสวนไปสอบปากคำที่บ้าน หรือสถานที่ที่สะดวกที่ให้พนักงานสอบสวนไปหาได้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2553 นายภูมิพัฒน์ วงศ์ยาชวลิต หรือ "แน็ต พีรกร" ศิลปินเพลงลูกทุ่ง อายุ 35 ปี แจ้งความ พนักงานสอบสวน (สบ 2) สน.คันนายาว เพื่อแจ้งความดำเนินคดีนายพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ดารานักแสดงชื่อดัง ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้แทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีขึ้นกล่าวบนเวทีขณะรับรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ในงานประกาศรางวัลนาฏราช เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2553 ที่มา - เรียบเรียงจาก สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
'มาร์ค' - 'ว.วชิรเมธี' ติดโผผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นปี 53 Posted: 22 Jul 2010 03:33 AM PDT กระทรวงวัฒนธรรมประกาศรายชื่อผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 ก.ค. นี้ อภิสิทธิ์-ว.วชิรเมธี-คำนูณ ติดโผรายชื่อ ด้านราชบัณฑิตหวั่นกระแสเกาหลีโถมเด็กไทยไม่สนใจภาษาบ้านเกิด รมต.วัฒนธรรมเผยเด็กแห่ใช้เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ทำภาษาไทยผิดเพี้ยน มุ่งรณรงค์เขียนจดหมาย <!--break-->
มาร์ค - ว.วชิรเมธี ติดโผผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ราชบัณฑิตหวั่นกระแสเกาหลีโถมเด็กไทยไม่สนใจภาษาบ้านเกิด รมต.วัฒนธรรมเผยเด็กแห่ใช้ดซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำภาษาไทยผิดเพี้ยน ด้านที่มาของวันภาษาไทยแห่งชาติ ร้อยละ 41.25 ทราบว่าวันภาษาไทยแห่งชาติเป็นการเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทยและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรง ห่วงใยและพระราชทานแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 ร้อยละ 35.63 ไม่ทราบ และ ร้อยละ 23.12 ไม่แน่ใจ ด้านผู้ที่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีและถูกต้องในการใช้ภาษาไทย ร้อยละ 77.70 คิดว่าควรเป็นครูอาจารย์ ร้อยละ 60.89 พ่อแม่/ผู้ปกครอง, ร้อยละ 52.99 ผู้ประกาศข่าว, ร้อยละ 37.23 พิธีกรรายการโทรทัศน์, ร้อยละ 31.37 ดารา/นักแสดง, ร้อยละ 27.64 ผู้ดำเนินรายการวิทยุ/ดีเจ, ร้อยละ 25.02 นักร้อง และ ร้อยละ 22.12 คือนักการเมือง ในประเด็นอื่น ๆ พบว่า ร้อยละ 60.30 ไม่เห็นด้วยกับการพูดภาษาไทยปนภาษาอังกฤษ หรือพูดมีสำเนียงฝรั่งเป็นการแสดงถึงการมีความรู้หรือความทันสมัย, ร้อยละ 34.50 ไม่เห็นด้วยกับประเด็น “ไม่จำเป็นต้องเขียนภาษาไทยในการสื่อสารผ่านมือถือ/อินเตอร์เน็ตให้ถูกต้อง เพราะทำให้เสียเวลา แค่สื่อสารกันรู้เรื่องก็พอแล้ว” และ , ร้อยละ 38.70 ไม่เห็นด้วยกับประเด็น “การพูดภาษาไทยไม่ชัด เช่น คำควบกล้ำ เสียงวรรณยุกต์ ถือเป็นเรื่องปกติ” , ร้อยละ 36.20 ไม่เห็นด้วยกับประเด็น "การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ควรใช้ในเรื่องที่เป็นทางการเท่านั้น นอกจากนี้นายพินิฏฐ์ยังกล่าวอีกว่าเด็กในยุคปัจจุบันเขียนภาษาไทยผ่านเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ โทรศัพท์ และเลิกเขียนจดหมายถึงกันแล้ว ทำให้คำบางคำผิดเพี้ยน จึงอยากรณรงค์ให้เด็กหันมาเขียนจดหมายเป็นภาษาไทยที่ถูกต้องกันมากขึ้น
ที่มา - เรียบเรียงจาก
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ตร.เชียงราย เรียกอีก 2 นศ.รายงานตัวเพิ่ม ชี้ตกเป็นเหยื่อคนเสื้อแดงหลอกใช้ Posted: 22 Jul 2010 02:31 AM PDT ตำรวจเชียงรายเรียกนักศึกษา ม.แม่ฟ้าหลวงอีก 2 คน รายงานตัวเพิ่ม เหตุชูป้ายค้านประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ แจงไม่ได้จับกุมหรือกระทำรุนแรง เผย 5 คนถูกแกนนำคนเสื้อแดงหลอกใช้ อ้างหลักฐานมีการสื่อสารกันผ่าน Facebook <!--break--> วันที่ 21 ก.ค.53 ตำรวจ สภ.เมืองเชียงราย เรียกนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) 2 คน คือ นายเอกพันธ์ ทาบรรหาร และนายสาทิตย์ เสนสกุล อายุ 19 ปีเท่ากัน ไปให้ปากคำในข้อหา ชุมนุมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปหรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ยังบังคับใช้ในพื้นที่ กรณีทำการรณรงค์ โดยถือป้ายแสดงความไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเขตเทศบาลนครเชียงราย และหน้าศาลากลางจังหวัด เมื่อ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา นักเรียนและนักศึกษา จำนวน 3 คน ประกอบด้วย นายกิตติพงษ์ นาคเกศ อายุ 24 ปี นายนิติเมธพนฎ์ เมืองมูลกุลดี อายุ 23 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และนายกอ (นามสมมติ) อายุ 16 ปี นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนแห่งหนึ่งเขตเทศบาลเชียงราย ได้เดินทางเข้าแสดงตนต่อพนักงานสอบสวน ที่ สภ.เมืองเชียงราย ในกรณีเดียวกัน อีกทั้งยังได้ออกหมายเรียก นายธนิต บุญญนสินีเกษม แกนนำกลุ่มพลังมวลชนเชียงราย แกนนำคนเสื้อแดงในพื้นที่เข้าให้ปากคำด้วย เนื่องจากอยู่ร่วมในเหตุการณ์ นายนิติเมธพนฎ์ หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่มารายงานตัวเปิดเผยด้วยว่า หลังถูกออกหมายเรียกทุกคนไม่ได้ถูกข่มขู่คุกคาม ยังคงใช้ชีวิตไปตามปกติ ส่วนการอยู่ในสังคมทั้งการเรียนและทั่วไปไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีแต่คนคอยห่วงใยและไต่ถามด้วยความเป็นห่วง โดยส่วนใหญ่ห่วงในอนาคตหลังการเรียนของพวกตนว่าจะไม่สดใส เพราะเป็นคนต้องคดี ซึ่งตนอธิบายว่าสังคมน่าจะเข้าใจ เพราะเราไม่ได้ถูกดำเนินคดีอาญา แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ไม่ได้รู้สึกหวาดหวั่นที่ต้องถูกดำเนินคดี เพราะพวกเราไม่ได้ทำความผิดทางอาญา แต่เกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูกันที่เจตนาว่าเราทำไปเพราะหวังจะให้เกิดความหวาดกลัวหรือไม่ เพราะในความเป็นจริงคือไม่ได้หวังเช่นนั้น” นายนิติเมธพนฎ์กล่าว อย่างไรก็ตาม นายนิติเมธพนฎ์ยอมรับว่า ก่อนจะถูกหมายเรียกดำเนินคดี มี 1 ใน 5 คน เคยถูกคนข่มขู่ด่าว่าและถูกตำรวจเข้าไปค้นบ้านรวมทั้งตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์โดยไม่มีหมายค้นใดๆ แต่ไม่กล้าออกมาเปิดเผยตัว เพราะเกรงกลัวกระทั่งถูกดำเนินคดีด้วยกันทั้งหมดดังกล่าว ด้าน พล.ต.ต.ทรงธรรม อัลภาชน์ ผบก. ภ.เชียงราย กล่าวว่า ตำรวจยืนยันว่าไม่ได้ทำรุนแรงเกินกว่าเหตุในการดำเนินคดีกับเยาวชนทั้ง 5 คน และแกนนำคนเสื้อแดงอีก 1 คน ดังกล่าว เพราะไม่ได้จับกุมหรือกระทำรุนแรงใดๆ แต่เป็นการออกหมายเรียก หลังพบว่าทั้งหมดกระทำความผิดในเขตประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยช่วงเกิดเหตุมีชาวบ้านที่ตื่นกลัวจากการออกมาถือป้ายข้อความต่างๆ แล้วแจ้งกับตำรวจ ขณะนี้ทั้งหมดก็ใช้ชีวิตไปตามปกติ ตนเห็นว่าเยาวชนทั้ง 5 คน เป็นเหยื่อที่ถูกแกนนำคนเสื้อแดงหลอกใช้ และตำรวจมีหลักฐานเป็นคอมพิวเตอร์ที่ระบุการสื่อสารระหว่างแกนนำคนเสื้อแดงกับกลุ่มเยาวชนดังกล่าวผ่านเว็บ Facebook ด้วย ดังนั้นเรื่องนี้จึงดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง ส่วน น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมือง การเมืองและสิทธิชุมชน แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า รัฐบาลคงต้องพิจารณาและไตร่ตรองการบังคับใช้กฎหมายที่ร้ายแรงฉบับนี้ โดยการนำกฎหมายดังกล่าวมาดำเนินการกับนักศึกษาทั้ง 5 คน ถือเป็นการทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นใช้ยาแรงเกินไป เพราะนักศึกษาเพียงแสดงความเห็นทางการเมืองที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้น ถ้าเห็นว่าผิด ควรเรียกนักศึกษาและผู้ปกครองมาทำความเข้าใจก็พอ “กรณีนี้ถือเป็นตัวอย่างของปัญหาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ทำให้รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ และพลาดท่าไปละเมิดสิทธิของเยาวชนที่แสดงความเห็นอย่างบริสุทธิ์ และการที่รัฐบาลใช้ยาแรงอย่างนี้จะมีผลตามมา 2 อย่าง คือ ดื้อยา และเชื้อโรคปรับตัวต่อสู้กับรัฐบาล ซึ่งต้องยอมรับว่ายุทธศาสตร์ของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลขณะนี้ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง หรือทำให้เกิดสงคราม กลางเมือง แต่ต้องการดิสเครดิตในเรื่องสิทธิมนุษยชน รัฐบาลจึงควรทบทวนการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่เช่นนั้นรัฐจะสูญเสียความเชื่อมั่นในการรักษาความมั่นคง และมีผลกระทบต่อแผนการปรองดอง เพราะรัฐบาลอาจถูกมองว่ากำลังพยายามขจัดคนที่คิดเห็นตรงข้าม รวมทั้งจะยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมด้วย” น.พ.นิรันดร์ กล่าว น.พ.นิรันดร์ ระบุว่า ขณะนี้อนุกรรมการกำลังรวบรวมข้อมูลปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยลงพื้นที่ที่มีการควบคุมตัวผู้ที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ไม่ว่าจะเป็นขอนแก่น มหา สารคาม อุบลราชธานี อุดรธานี มุกดาหาร เชียงใหม่ เชียงราย ร้อยเอ็ด และชัยภูมิ เพื่อนำมาประมวลและสรุปเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อให้พิจารณาต่อไป ที่มา: เรียบเรียงจากข่าวสดออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เปิดบทคัดย่อสมุดปกขาว “การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ: ข้อเรียกร้องหาการรับผิด” Posted: 21 Jul 2010 10:40 PM PDT <!--break--> หมายเหตุ: คำแปลบทคัดย่อของรายงานสมุดปกขาว “THE BANGKOK MASSACRES: A CALL FOR ACCOUNTABILITY” หรือ “การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ: ข้อเรียกร้องหาการรับผิด” ของสำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff ของนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม พร้อมคำนำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยประชาไทจะเผยแพร่รายงานฉบับเต็มเร็วๆ นี้
000 การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : ข้อเรียกร้องหาการรับผิด
บทคัดย่อ เป็นเวลากว่า 4 ปีที่ประชาชนชาวไทยตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ นั่นก็คือสิทธิในการกำหนดใจตนเองผ่านการเลือกตั้งอย่างแท้จริงที่ดำรงอยู่บนฐานของเจตจำนงของประชาชน การโจมตีระบอบประชาธิปไตยเริ่มขึ้นด้วยการวางแผนและลงมือกระทำการรัฐประหารโดยทหารเมื่อปี 2549 ด้วยความร่วมมือกับสมาชิกองคมนตรี ผู้บัญชาการทหาร ของไทยล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ซึ่งชนะการเลือกตั้งมาถึง 3 สมัยติดต่อกัน ทั้งในปี 2544, 2548 และ 2549 การรัฐประหารในปี 2549 ถือเป็นการเริ่มต้นในการพยายามที่จะฟื้นฟูอำนาจนำของกลุ่มทุนเก่า นายทหารระดับสูง ข้าราชการระดับสูง และกลุ่มองคมนตรี (“กลุ่มอำนาจเก่า”) โดยทำลายล้างพลังจากการเลือกตั้งซึ่งได้กลายเป็นสิ่งท้าทายอำนาจของพวกเขาอย่างสำคัญและเป็นประวัติการณ์ ระบอบที่การรัฐประหารตั้งขึ้นได้เข้าควบคุมหน่วยงานต่างๆของรัฐบาล ยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองของแกนนำพรรคเป็นเวลา 5 ปี เมื่อพรรคที่สืบทอดจากพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งในปลายปีพ.ศ. 2550 ก็กลับถูกศาลเฉพาะกิจ (ad hoc court) อันประกอบไปด้วยผู้พิพากษาที่แต่งตั้งโดยผู้ทำการรัฐประหารตัดสินให้ยุบพรรคนั้นอีก และเปิดทางให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ถูกกดดันให้ต้องใช้มาตรการกดขี่เพื่อรักษาฐานอำนาจอันไม่ชอบธรรมและปราบการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ก่อตัวขึ้นเพื่อตอบโต้การรัฐประหารโดยทหารเมื่อปี 2549 และการรัฐประหารโดยศาลในปี 2551 หนึ่งในวิธีการกดขี่ก็คือการที่รัฐบาลได้บล็อกเว็บไซท์ประมาณ 50,000 เว็บ ปิดสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และกักขังคนจำนวนหนึ่งภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพอันเลื่องชื่อของไทย และภายใต้พ.ร.บ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ที่โหดร้ายพอๆ กัน เมื่อเผชิญกับการชุมนุมประท้วงโดยมวลชนที่ท้าทายอำนาจของรัฐบาล รัฐบาลก็ได้เชื้อเชิญให้กองทัพเข้ามาจัดการ และได้ระงับเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยการนำพ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร พร้อมทั้งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งเข้มงวดยิ่งกว่ามาใช้ ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2553 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารชุดใหม่ของประเทศในนามของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้เข้ามาปกครองประเทศโดยไม่มีมาตรการตรวจสอบความรับผิดใดๆ ภายใต้การประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ที่ถูกประกาศอย่างไม่เหมาะสม ถูกนำมาบังคับใช้อย่างไม่สอดคล้องกับความรุนแรงของสถานการณ์ และใช้อย่างต่อเนื่องไม่มีกำหนดเพื่อปิดปากการคัดค้านใดๆ ที่มีต่อรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง นี่เป็นอีกครั้งที่กลุ่มอำนาจเก่าไม่อาจปฏิเสธข้อเรียกร้องเพื่อการปกครองตนเองของประชาชนชาวไทยได้โดยไม่ต้องหันไปหาระบอบเผด็จการทหาร ในเดือนมีนาคม 2553 เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ โดยกลุ่มคนเสื้อแดง หรือที่เรียกว่า “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) การชุมนุมของคนเสื้อแดงดำเนินมาจนถึงวันที่ 66 ในวันที่ 19 พฤษภาคม เมื่อรถหุ้มเกราะบดขยี้แนวกั้นที่ทำขึ้นชั่วคราวรอบสี่แยกราชประสงค์ในกรุงเทพฯ และทะลวงค่ายประท้วงของคนเสื้อแดง หลายสัปดาห์ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 10 เมษายน กองกำลังทหารพยายามสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงที่สะพานผ่านฟ้าแต่ล้มเหลว ยังผลให้มีผู้เสียชีวิต 27 ราย และในการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ระหว่างวันที่ 13 -19 พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 55 ราย นับถึงเวลาที่บริเวณที่ชุมนุมได้ถูกเคลียร์เรียบร้อย อาคารพาณิชย์สำคัญๆ สองสามแห่งยังคงมีควันกรุ่น มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 80 คน และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำการชุมนุมมากกว่า 50 คนอาจเผชิญกับโทษประหารชีวิตจากข้อหา “ก่อการร้าย” ผู้ชุมนุมหลายร้อยคนยังคงถูกควบคุมตัวข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรัฐไทยนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำให้การชุมนุมทางการเมืองที่ชอบธรรมเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ และพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ในการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงทั้งหลายที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดง รวมถึงต้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนซึ่งอยู่ภายใต้สายการบังคับบัญชาสำหรับอาชญากรรมอย่างการสังหารพลเรือนกว่า 80 รายโดยพลการและตามอำเภอใจในกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ด้วย ข้อเท็จจริงต่างๆ ปรากฏอย่างชัดเจนว่ามีการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการใช้กองกำลังทหารอย่างเกินความจำเป็น มีการกักขังโดยพลการต่อเนื่องเป็นเวลานาน และการทำให้หายสาบสูญ และยังมีระบบการประหัตประหารทางการเมืองที่ปฏิเสธเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและในการแสดงออกของพลเมือง รวมถึงกลุ่มคนเสื้อแดง มีหลักฐานว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเพียงพอที่จะดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงอย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง เพื่อที่ผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายอาญาระหว่างประเทศจะถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ การใช้กองกำลังทหารในการปราบปรามกลุ่มคนเสื้อแดงในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ยังจัดเป็นการประทุษร้ายประชาชนพลเรือนอย่างเป็นระบบและเป็นวงกว้าง ซึ่งอาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศซึ่งกำหนดให้จัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮกอีกด้วย แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้ให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมฯ แต่การโจมตีเช่นนี้ก็อาจจะเป็นเหตุเพียงพอให้ได้รับการพิจารณาให้เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศได้หากเป็นการดำเนินการโดยรู้ถึงการกระทำนั้นภายใต้นโยบายที่ยอมให้เกิดหรือสนับสนุนให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตโดยไม่จำเป็น หรือเป็นนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อโจมตีกลุ่มทางการเมืองที่เฉพาะเจาะจงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีหลักฐานมากมายที่ชี้ว่าแผนต่อต้านคนเสื้อแดงที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลา 4 ปีนั้นกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันภายใต้นโยบายที่รับรองโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ และการสังหารหมู่คนเสื้อแดงที่เพิ่งผ่านมาก็เป็นเพียงการปฏิบัติตามนโยบายนโยบายดังกล่าวครั้งล่าสุดเท่านั้น ท้ายที่สุด การสืบสวนเหตุการณ์สังหารหมู่คนเสื้อแดงในเดือนเมษายน- พฤษภาคมที่รัฐบาลตั้งใจจะทำนั้นปรากฏแล้วว่าทั้งไม่เป็นอิสระและไม่เป็นกลางตามที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ ในขณะที่ประเทศไทยอาจมีความผิดเพิ่มเติมกรณีการละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (ICCPR) และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ จากที่ไม่ดูแลให้มีการสืบสวนการสังหารหมู่อย่างเป็นธรรมและสมบูรณ์ การกดดันจากนานาชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเพื่อป้องกันความพยายามในการฟอกตัวเองจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่กำลังดำเนินอยู่ของรัฐบาล ไม่เป็นที่ถกเถียงเลยว่าประเทศไทยควรจะก้าวให้พ้นความรุนแรง และดำเนินการให้เกิดความปรองดอง ทว่าความปรองดองนั้นจำเป็นต้องเริ่มด้วยการฟื้นคืนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการปกครองตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นความปรองดองนี้ยังต้องการความรับผิดอย่างเต็มที่ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงที่กระทำไปเพื่อยับยั้งสิทธิในการปกครองตนเองนั้น กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ว่าไม่อาจยอมรับสิ่งที่น้อยไปกว่านี้ได้
000 คำนำ ในปี พ.ศ.2541 ผมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยแท้ๆ ฉบับแรกของประเทศไทยเท่าที่เคยมีมา รัฐธรรมนูญฉบับที่เรียกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้มอบการเป็นตัวแทนอย่างแท้จริงในกระบวนการเลือกตั้งแก่มวลชนชาวไทยเป็นครั้งแรก ในฐานะนายกรัฐมนตรี ผมพยายามดำเนินโยบายสาธารณะต่างๆ ที่ได้เสนอไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับข้อเท็จจริงที่ว่า เสียงของพวกเขาได้รับการสดับรับฟัง นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับความนิยมและแข็งแกร่ง ในปี 2549 การรัฐประหารได้พรากสิทธิในการเลือกตั้งของเราไป อันทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่พอใจ และทำให้หลายคนลุกขึ้นมาต่อต้าน แต่แทนที่จะมีใครฟังเสียงของพวกเขา กลุ่มที่ล้มล้างรัฐบาลกลับพยายามที่จะกำจัดพวกเขา ความทะยานอยากของคนกลุ่มนี้เป็นอันตรายยิ่ง อีกทั้งยังรุกล้ำจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ ต่อมาภายหลังผมได้ขอให้สำนักกฎหมาย Amsterdam และ Peroff ศึกษากรณีของการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม 2553 ว่าเป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ผมยังได้ขอให้สำนักกฎหมายศึกษาการโจมตีอย่างเป็นระบบต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเบื้องหลังกลุ่มคนเสื้อแดง และศึกษานัยยะของเหตุการณ์เหล่านั้นภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โลกควรจะได้เข้าใจว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นกำลังถูกทำร้ายอยู่ในประเทศไทย ภายใต้บริบทเช่นนั้น ผมเชื่อว่าจะเกิดการเลือกตั้งในไม่ช้า อย่างไรก็ตามหากการเลือกตั้งหมายถึงว่าจะมีการปรองดอง การเลือกตั้งเช่นนั้นจะต้องตอบโจทย์ข้อกังวลพื้นฐานที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างอำนาจประชาชนและการฟื้นฟูประเทศไทยให้เป็นรัฐประชาธิปไตยแบบที่ไม่กีดกันคนกลุ่มใด ในขณะเดียวกัน เราต้องปฏิเสธการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง การไม่กีดกันผู้ใดนั้นโดยนิยมแล้วก็คือภาวะที่เป็นสันติสุขนั่นเอง (ลงชื่อ) ดร. ทักษิณ ชินวัตร สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น