โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

วิเคราะห์เปรียบเทียบร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ 2 ฉบับ

Posted: 20 Jul 2010 11:59 AM PDT

<!--break-->

(เผยแพร่ครั้งแรกใน: เว็บไซต์โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), 20 ก.ค. 53, http://ilaw.or.th/node/432

 

กระแสทางการเมืองในประเทศไทยช่วงนี้เข้มข้นเป็นอย่างยิ่งจากการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่ม นปช. หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง ที่คนส่วนหนึ่งมองว่าเป็นการชุมนุมที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น จนรัฐบาลต้องใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม และเกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงนั้น เกิดเป็นโจทย์ใหญ่ขึ้นในสังคมว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ประเทศไทยจะต้องมีกฎหมายมาควบคุมดูแลการชุมนุมในที่สาธารณะเป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติของผู้ชุมนุมเองและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้ง หลาย
 
หลักการในเรื่องของการชุมนุมนั้น ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 63 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” และการจำกัดเสรีภาพนั้นจะกระทำไม่ได้ตาม วรรค 2 เว้น แต่ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
 
เสรีภาพการชุมนุมนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการแสดงออกทางความคิด ซึ่งเป็นหลักธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่จากปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้เกิดข้อโต้เถียงขึ้นใหม่ว่า สิทธิในการชุมนุมนั้นเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคนและรัฐต้องอำนวยความสะดวกให้ หรือสิทธิในการชุมนุมนั้นจะต้องมีการจัดระเบียบ ดังนั้นจึงมีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนขับเคลื่อนเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะออกมาสองฉบับ
 
ฉบับแรกเสนอโดย คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีมติเห็นชอบกับร่างนี้เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2553 โดยใช้ชื่อว่า ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ..... ซึ่งในที่นี้จะเรียกว่า ร่าง ฉบับครม.

อีกฉบับหนึ่งเสนอโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย ใช้ชื่อว่า ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะและการเคลื่อนขบวน พ.ศ. ...... ซึ่งในที่นี้จะเรียกว่า ร่าง ฉบับ สสส.
 
กฎหมายเรื่องการชุมนุมสาธารณะจะเป็นก้าว สำคัญทางการเมืองของไทย ซึ่งเนื้อแท้ของร่างพระราชบัญญัติทั้งสองนี้เหมือนหรือแตกต่างกันเช่นไร จะได้เปรียบเทียบแยกเป็นประเด็นให้เห็น ดังนี้

หลักของเสรีภาพในการชุมนุม
ร่างฉบับ สสส. ให้ถือว่าบุคคลทุกคนมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มีลักษณะกล่าวยืนยันสิทธิในการชุมนุมของประชาชน (มาตรา 6) ส่วนร่างฉบับครม. กล่าวว่า การชุมนุมต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย และในระหว่างที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือการประชุมในช่วงเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ (มาตรา 7)
 
ข้อสังเกตคือ หากรัฐบาลประกาศใช้บังคับ พรก.ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก แล้ว ร่างฉบับ ครม.นี้ก็ไม่อาจนำมาบังคับใช้ได้เลย
 
ความหมายของการชุมนุมสาธารณะ
ร่างฉบับ สสส. กำหนด ไว้ว่าการชุมนุมสาธารณะ คือ การรวมตัวอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะของบุคคลตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป (มาตรา 3) ส่วนร่าง ฉบับ ครม.ไม่มีกำหนดจำนวนผู้ชุมนุม
 
ตามร่างที่เสนอโดย สสส. จะ ต้องมีคนรวมกลุ่มกันอย่างน้อย 10 คนขึ้นไปก่อนจึงจะ ใช้พ.ร.บ.ฉบับ นี้ แต่หากเป็นร่างฉบับ ครม. นั้นไม่ว่าจะกี่คนก็ตาม หากมีการรวมกลุ่มกันก็ต้องนำพ.ร.บ.ฉบับนี้มาใช้ บังคับ

ข้อยกเว้นไม่ใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้
ร่างฉบับ ครม. มาตรา 3 กับร่าง ฉบับ สสส. มาตรา 4 นั้นใกล้เคียงกัน แต่มีข้อสังเกตคือ ร่างฉบับ สสส.จะยกเว้นไม่ใช้บังคับกับการประชุมของพรรคการเมืองด้วย แต่ตามร่างฉบับครม. ไม่มียกเว้นเรื่องการประชุมของพรรคการเมือง จึงมีข้อที่น่าขบคิดว่า ร่างฉบับครม.นั้นอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองได้ง่ายกว่า
 
อีกประเด็นสำคัญ คือ ร่างฉบับ สสส. จะยกเว้นไม่ใช้กับการชุมนุมอันเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน ส่วนร่างฉบับ ครม.จะไม่มีข้อยกเว้นนี้
 
การแจ้งการชุมนุม
ร่างทั้ง 2 ฉบับ นี้มีข้อเหมือนกันคือ กำหนดไว้ว่าก่อนการชุมนุมจะต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ แต่ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้ จะกำหนดระยะเวลาในการแจ้งไว้ต่างกัน กล่าวคือ
 
ตามร่างฉบับ สสส. ผู้ นำการชุมนุมจะต้องแจ้งการชุมนุมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นหนังสือไม่น้อย กว่า 24 ชั่วโมง ถึง 168 ชั่วโมง (มาตรา 23) แต่หากไม่อาจแจ้งเป็นหนังสือได้ทันก็จะกระทำโดยวาจาได้ ส่วนร่างฉบับครม. จะ ต้องทำเป็นหนังสือแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง (มาตรา 10)
 
ข้อสังเกตคือ ตามร่างฉบับ สสส. หากไม่สามารถแจ้งเป็นหนังสือได้ ก็สามารถแจ้งเป็นวาจาได้ แต่ในร่างฉบับครม. หากไม่สามารถแจ้งการชุมนุมก่อนได้ จะต้องทำเป็นหนังสือแจ้งการชุมนุมพร้อมคำขอผ่อนผัน (มาตรา 14) เท่ากับว่าจะแจ้งโดยวาจาไม่ได้เลย
 
อีกข้อสังเกต คือ ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่ควรอนุญาตให้จัดการชุมนุม ร่างฉบับครม.กำหนดให้ยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 30 วัน (มาตรา 14) แต่ ร่างฉบับ สสส. ให้อำนาจเด็ดขาดในการตัดสินอยู่ที่นายก รัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย และคำสั่งที่ว่านั้นเป็นที่สุด (มาตรา 24)
 
ข้อสังเกตประการสุดท้าย คือ ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ กำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งระยะเวลาในการชุมนุม และกำหนดเวลาเลิกการชุมนุม ซึ่งถือเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเป็นอย่างมาก เพราะหากไม่เลิกการชุมนุมตามที่แจ้งไว้ก็จะกลายเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบ และเจ้าหน้าที่จะมีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าสลายการชุมนุมได้
 
ข้อจำกัดในการชุมนุมสาธารณะ

ในประเด็นนี้ก็นับว่ามีความสำคัญ เพราะมีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุม โดยในร่างฉบับ สสส. กำหนดไว้ว่า การชุมนุมจะต้องไม่กีดขวางสถานที่สำคัญคือ อาคารรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาล (มาตรา 11) ซึ่งร่างฉบับ ครม. กำหนดว่าต้อง ไม่กีดขวางทางเข้าออก รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล และหน่วยงานของรัฐ (มาตรา 8)
 
ข้อสังเกตที่สำคัญคือ ในอดีตที่ผ่านมา การชุมนุมเรียกร้องต่างๆ มักจะกระทำที่ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา หรือกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ข้อเรียกร้องส่งตรงไปถึงผู้เกี่ยวข้องที่ทำงานอยู่ในสถาน ที่นั้นๆ การที่ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ห้ามไม่ให้ชุมนุมบริเวณเหล่านี้ จึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่จะเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐเข้ามา ช่วยแก้ไขปัญหา ซ้ำร้ายร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดย ครม. ยังห้ามการชุมนุมกีดขวางหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น การชุมนุมเรียกร้องที่ด้านหน้ากระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งหน่วยงานของรัฐทุกประเภท เช่น รัฐวิสาหกิจ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จึงไม่อาจทำได้เลย
 
การสลายการชุมนุมและโทษ
ร่างฉบับ สสส. กำหนด วิธีการบังคับทางปกครอง ซึ่งเป็นการบังคับกับตัวบุคคลหรือทรัพย์สิน มีการให้อำนาจเจ้าหน้าที่สั่งห้ามเข้าร่วมชุมนุม หรือคำสั่งสลายการชุมนุม โดยการสลายการชุมนุมนั้นอาจใช้กำลังทางกายภาพ เครื่องมืออุปกรณ์ หรืออาวุธ เช่น แก๊สน้ำตา หรือระเบิดควันได้ (มาตรา 3) แต่ยังมีข้อสังเกต คือ แม้กฎหมายจะห้ามใช้อาวุธปืน หรือวัตถุระเบิดก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้กำหนดขั้นตอนโดยละเอียดไว้ว่าจะบังคับได้ถึงขนาดไหน ตัวบทกฎหมายในเรื่องนี้จึงยังมีพื้นที่ที่กำกวมอยู่มาก
 
ส่วนร่างฉบับครม. กล่าวถึงกรณีที่การชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือกรณีศาลมีคำสั่งห้ามการชุมนุมหรือเข้าข้อห้ามในการชุมชุม หรือไม่ได้แจ้งการชุมนุมก่อน ซึ่งหากผู้ชุมนุมยังชุมนุมอยู่ก็จะเป็นความผิดซึ่งหน้าทันที (มาตรา 27) เจ้าหน้าที่สามารถค้นและจับดังเช่นความผิดซึ่ง หน้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แม้กระทั่งจะยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ใช้ในการชุมนุมได้เลย จึงเป็นการใช้อำนาจอย่างมหาศาลแก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งการที่เขียนกฎหมายไว้เช่นนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้
 
ที่กล่าวมานี้ เป็นการเปรียบเทียบระหว่างร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ ที่เสนอขึ้นโดย 2 องค์กร เพื่อให้เห็นว่าหากนำกฎหมายเหล่านี้เข้ามาจัดระเบียบการชุมนุมแล้ว อาจจะเกิดปัญหาอย่างไรตามมาได้บ้าง การที่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนการชุมนุมก็ดี การห้ามชุมนุมในสถานที่ต่างๆ ก็ดี ล้วนเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งสิ้น ซึ่งการเขียนกฎหมายลักษณะนี้อาจมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้
 
“ดังที่เคยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2549 ในส่วนที่เกี่ยว กับมาตรา 46/1 ของร่างพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. .... ที่เขียนว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดชุมนุมกันในเขตทางหลวงในลักษณะที่เป็นการขีดขวางการจราจร หรืออาจเป็นอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือผู้ใช้ทางหลวง เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบ หมายจากผู้อำนวยการทางหลวง...” ศาลรัฐธรรมนูญได้ วินิจฉัยว่า กฎหมายมาตรานี้ เป็นการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวางในการอนุญาตหรือ ไม่อนุญาตในเขตทางหลวง ประกอบกับในปัจจุบันในเรื่องการชุมนุมดังกล่าวมีกฎหมายอื่นห้ามอยู่แล้ว ดังนั้นร่างพระราชบัญญัติทางหลวง มาตรา 46/1 จึงเป็น การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธเกินความจำเป็น และกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งเสรีภาพ จึงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและไม่อาจใช้บังคับได้”
 
จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้จะเห็น ได้ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนี้แล้ว มีส่วนที่คล้ายกันคือการแจ้งหรือขออนุญาตในการชุมนุม โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้แล้วว่าการที่จะต้องขออนุญาตการชุมนุม นั้นเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมิอาจบังคับใช้ได้ ดังนี้ ร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงอาจมีปัญหาตามมาเมื่อประกาศใช้ เพราะอาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญในประเด็นเรื่องเสรีภาพของประชาชนในการ ชุมนุม
 
การชุมนุมสาธารณะเป็น “สิทธิ” และเป็นช่องทางหนึ่งของประชาชนที่จะแสดงออกซึ่งความคิด ความต้องการของตนเองให้รัฐได้รับรู้ ประชาชนจึงต้องตั้งคำถามร่วมกันว่า จำเป็นต้องมีกฎหมายมาจำกัด หรือควบคุม “สิทธิ” อันชอบธรรมนี้หรือไม่ และถ้ามีควรจะออกแบบอย่างไร หากกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ เขียนขึ้นโดยอาศัยประสบการณ์จากการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง เท่านั้นย่อมไม่ใช่คำตอบ เพราะมีกลุ่มคนอีกมากมายที่ได้รับความเดือดร้อนนอกจากกลุ่มที่เรียกร้องกัน ทางการเมือง การชุมนุมสาธารณะจึงอาจเป็นเครื่องมือชิ้นเดียวที่พวกเขามีอยู่
 
กฎหมายที่เกี่ยวกับการชุมนุม จึงจะต้องคุ้มครองสิทธิการชุมนุม คุ้มครองผู้ชุมนุม และคุ้มครองผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาจำกัดสิทธิของประชาชนเท่า นั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนควรให้ความสนใจขบคิด กล้าพูดกล้าแสดงออกว่า อยากให้กฎหมายที่มาบังคับใช้กับตัวเองมีหน้าตาเป็นอย่างไร อย่าปล่อยให้กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐที่จะใช้อำนาจเพียงฝ่ายเดียว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วีดีโอคลิป: "ธรรมะจากคุก" สัมภาษณ์พิเศษ พระเขมจิตฺโต (สุวิชา ท่าค้อ)

Posted: 20 Jul 2010 10:26 AM PDT

<!--break-->

ประชาไท สัมภาษณ์พิเศษ พระเขมจิตฺโต (สุวิชา ท่าค้อ)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

3 นร.-นศ.เชียงราย รายงานตัวหมายฝ่าฝืน "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ด้านกรรมการสิทธิฯ ชี้เด็กก็มีสิทธิคิด

Posted: 20 Jul 2010 07:49 AM PDT

ตำรวจเชียงรายออกหมายเรียกนักเรียนและนักศึกษา กรณีถือป้าย "ผมเห็นคนตายที่ราชประสงค์" วิพากษ์วิจารณ์การเมือง ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปัดกลั่นแกล้ง ด้านกรรมการสิทธิฯ ส่งทีมเก็บข้อมูล ชี้แค่ยืนถือป้าย ย่อมมีสิทธิแสดงออก นัดสอบอีกครั้งวันศุกร์ที่ 23 ก.ค. นี้ 

<!--break-->

วันนี้ (20 ก.ค.53) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.นักเรียนและนักศึกษา เชียงราย จำนวน 3 คน ประกอบด้วย นายกิตติพงษ์ นาคเกศ อายุ 24 ปี นายนิติเมธพนฎ์ เมืองมูลกุลดี อายุ 23 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และนายกอ (นามสมมติ) อายุ 16 ปี นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนแห่งหนึ่งเขตเทศบาลเชียงราย ได้เดินทางเข้าแสดงตนต่อพนักงานสอบสวน ที่ สภ.เมืองเชียงราย จากที่ถูกหมายเรียกในข้อหา "ชุมนุมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปหรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด, ร่วมกันเสนอข่าว, ทำให้แพร่หลายซึ่งสิ่งพิมพ์หรือสิ่งอื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชน เกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดใน สถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของ ประชาชน" ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ยังบังคับใช้ในพื้นที่

 
 
 

ที่มาภาพ:  กระดานสนทนากลุ่มสื่อประชาชน

 

การออกหมายเรียกดังกล่าว สืบเนื่องจากจากกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาจำนวน 5 คน ได้ร่วมกันทำกิจกรรมโดยการไปถือป้ายแสดงข้อความต่างๆ ที่บริเวณตลาดสดเทศบาล 1 หอนาฬิกา และทางขึ้นศาลากลางจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยกิจกรรมดังกล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยกับการคงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกรณีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บริเวณแยกราชประสงค์เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 โดยป้ายระบุข้อความ อาทิ ผมเห็นคนตายที่ราชประสงค์, นายกครับอย่าเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นะครับไม่งั้นรัฐบาลจะพัง, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องคงไว้เพื่อไม่ให้ความจริงปรากฏ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามยังมีนักศึกษาอีกจำนวน 2 คนจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ที่อยู่ในกลุ่มที่ไปชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มาแสดงตน ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างสืบสวน จึงยังไม่มีการออกหมายเรียก นอกจากนี้ พ.ต.ท.บัญญัติ ทำทอง รักษาราชการแทนในตำแหน่งรอง ผกก.สส.สภ.เมืองเชียงราย ได้มีการออกหมายเรียกไปยังนายธนิต บุญญนสนีเกษม จากกลุ่มพลังมวลชนเชียงรายซึ่งเคลื่อนไหวในพื้นที่ จ.เชียงราย มาโดยตลอด ให้ไปทำการสอบปากคำที่ สภ.เมืองเชียงราย ในข้อหาเดียวกันนี้ด้วย เนื่องจากมีคนพบว่านายธนิต อยู่ในบริเวณที่กลุ่มนักเรียนนักศึกษาดำเนินกิจกรรมดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสอบปากคำกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาครั้งนี้ คณะทำงานในคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง นำโดย น.ส.เกศริน เตียวตระกูล พร้อมนำเจ้าหน้าที่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การดำเนินคดีด้วย 

น.ส.เกศริน กล่าวถึงการเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ว่า ทางคณะมีหน้าที่ไปดูแลผู้ที่ถูกดำเนินคดีอันเกิดจากเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมาที่เรือนจำกลาง จ.เชียงใหม่ และเรือนจำกลาง จ.เชียงราย โดยที่ จ.เชียงราย พบว่ามีผู้ถูกคุมขังเอาไว้ประมาณ 10 คน แต่บังเอิญมาพบกรณีคดีของเยาวชนถือป้ายในครั้งนี้จึงได้เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งเห็นว่าการถือป้ายลักษณะดังกล่าวถือเป็นสิทธิเสรีภาพในการคิดของพวกเขา เด็กเพียงแค่ 16 ปีก็มีความคิดได้เช่นกัน ดังนั้นจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดนำเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไป

นอกจากนั้น น.ส.เกศรินได้เข้าไปพูดคุยกับเด็กและเยาวชนกลุ่มดังกล่าวว่า การชุมนุมโดยถือป้ายในลักษณะดังกล่าวไม่ถือเป็นการกระทำที่ผิด และกฎหมายที่ห้ามการกระทำดังกล่าวเป็นกฎหมายพิเศษที่คล้ายกฎอัยการศึกซึ่งน่าจะยกเลิกไปได้แล้ว

"ถ้าเขาบอกว่าเรามาชุมนุมกันเกิน 5 คน ก็บอกว่าเราไม่ได้นัดหมายไปชุมนุมกันเพียงแต่พูดคุยกันทาง face book จากนั้นต่างคนต่างก็ถือป้ายไปพบกันโดยบังเอิญเท่านั้น เราไปทีละคนไม่ได้ไปชุมนุมจึงไม่ผิด และข้อความที่ระบุในป้ายก็ไม่ได้ไปกระทบสิทธิใครนอกจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ไม่ถึงกับต้องดำเนินคดีก็ได้ และเนื่องจากอยู่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เราจึงสามารถปฏิเสธหรือดื้อแพ่งต่อกฎหมายนี้ได้" น.ส.เกศริน กล่าวแนะนำกลุ่มนักเรียนนักศึกษา

ด้าน พ.ต.ท.บัญญัติ กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดเพราะพื้นที่ยังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงสืบสวนพบว่าผู้ชุมนุมเป็นนักศึกษาจาก 2 มหาวิทยาลัยและ 1 โรงเรียน จึงทำการสืบสวนจนพบทั้ง 3 คน มีการติดต่อนัดแนะไปชุมนุมถือป้ายทางอินเตอร์เน็ตด้วย face book ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงนายธนิต บุญญสนีเกษม ด้วยจึงถูกดำเนินคดีไปพร้อมกัน ทั้งนี้ตำรวจยืนยันว่าไม่ได้กลั่นแกล้งใครแต่เป็นไปตามกฎหมายและข้อหานี้ก็มีโทษสูงสุดคือจำคุก 2 ปีและปรับไม่เกิน 20,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.เกศริน พยายามจะซักถาม พ.ต.ท.บัญญัติ ว่าข้อความที่ระบุในป้ายไม่ถือว่าน่ากลัวแต่อย่างใดซึ่งทาง พ.ต.ท.บัญญัติ ชี้แจงว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการตีความซึ่งต้องมีการตีความกันต่อไป เพราะยังต้องมีการสอบปากคำพยานแวดล้อมที่เกี่ยวข้องด้วยว่าเมื่อพวกเขาเห็นป้ายต่างๆ ดังกล่าวแล้วรู้สึกเช่นไร จากนั้นทาง พ.ต.ท.บัญญัติ ได้เรียกสอบปากคำผู้ต้องหาเป็นรายบุคคล

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และทางเจ้าหน้าที่ได้นัดหมายทำการสอบสวนอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 23 ก.ค. นี้ โดยจะมีทนายจากคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาร่วมรับฟังการสอบสวนด้วย

 
 

ภาพถ่ายขณะทำกิจกรรมเมื่อวันที่ 16 ก.ค.53 ที่มา: uddthailand's Photos - กิจกรรมนศ.เชียงราย 

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์ และ กระดานสนทนากลุ่มสื่อประชาชน 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทางการพม่าสั่งข้าราชการทำลายต้นสบู่ ดำ-จี้ปลูกชาแทน

Posted: 20 Jul 2010 03:39 AM PDT

ทางการพม่า สั่งข้าราชการทุกหน่วยงานในรัฐฉานและรัฐคะเรนนี ทำลายต้นสบู่ดำที่ประชาชนถูกบังคับปลูกไว้เมื่อหลายปีก่อน โดยให้ปลูกต้นชาทดแทน

<!--break-->

มีรายงานว่า เมื่อต้นเดือนนี้ (ก.ค.) เจ้าหน้าที่ทางการพม่าในเมืองปางโหลง รัฐฉานภาคกลาง ได้มีคำสั่งให้ข้าราชการทุกหน่วยงาน เช่น ฝ่ายปกครอง ฝ่ายงานทะเบียน ฝ่ายภาษีอากร ฝ่ายป่าไม้ ฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายการศึกษา และฝ่ายดับเพลิง ช่วยกันลงมือทำลายต้นสบู่ดำ ที่ประชาชนถูกบังคับให้ปลูกไว้เมื่อช่วงหลายปีก่อน โดยที่ให้นำต้นชามาปลูกแทน อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวมีให้เฉพาะข้าราชการ ขณะที่ประชาชนทั่วไปยังไม่ได้ถูกบังคับให้ลงมือด้วย

ชาวบ้านคนหนึ่งเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่พม่าได้มีคำสั่งให้ข้าราชการทำลายต้นสบู่ดำที่ปลูกไว้ ทั่วในพื้นที่ และให้นำต้นชามาปลูกทดแทน ซึ่งข้าราชการได้ลงมือทำกันแล้วในบางพื้นที่ ส่วนชาวบ้านยังไม่ได้ถูกบังคับด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านต่างหวั่นวิตกกันว่า หลังจากนี้จะถูกบังคับใช้แรงงานเหมือนเมื่อครั้งปลูกต้นสบู่ดำ ซึ่งครั้งนั้น หากชาวบ้านคนใดไม่ไปปลูกตามคำสั่งก็จะถูกปรับเงินวันละ 5 พันจั๊ต (ราว 150 บาท)

ขณะที่ชาวบ้านในเมืองปั่นคนหนึ่งกล่าวว่า เมื่อครั้งรัฐบาลทหารพม่ามีคำสั่งให้ปลูกต้นสบู่ดำทั่วประเทศ ชาวบ้านจำต้องละทิ้งงานตัวเองทั้งหมด เพื่อไปปลูกต้นสบู่ดำ แต่จนถึงขณะนี้ไม่เห็นรัฐบาลนำไปใช้ประโยชน์อะไร ต้นสบู่ดำถูกปลูกไว้เปล่าประโยชน์ ไม่ต่างจากผู้นำพม่าซึ่งก็ไม่มีประโยชน์อะไรเช่นกัน

ทั้งนี้ คำสั่งทำลายต้นสบู่ดำและให้ปลูกชาแทนของรัฐบาลทหารพม่า ได้เกิดขึ้นในรัฐคะเรนนีด้วย โดยสำนักข่าวกันตารวดีไทม์ รายงานว่า มีข้าราชการและประชาชนในบางพื้นที่ถูกสั่งบังคับให้ทำลายต้นสบู่ ดำและให้นำต้นชามาปลูกแทนเช่นเดียวกัน

เมื่อปลายปี 2548 รัฐบาลทหารพม่าได้มีคำสั่งบังคับประชาชนทั่วประเทศปลูกต้นสบู่ดำ นอกจากประชาชนจะถูกบังคับใช้แรงงานฟรีแล้ว มีประชาชนอีกจำนวนมากถูกยึดที่ดินใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกต้นสบู่ดำ โดยรัฐบาลทหารพม่าอ้างจะนำไปใช้ผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงไบโอดีเซล เพื่อทดแทนพลังงานเชื้อเพลิง ขณะที่หลายฝ่ายเชื่อว่า เป็นความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์มากกว่า เพราะชื่อของต้นสบู่ดำในภาษาพม่า คือ "แจ๊ตซู" หรือ Kyet Suu มีตัวอักษร K และ S เมื่อสลับกันก็จะหมายถึง ซูจี (อองซาน ซูจี) หากมีการปลูกต้นสบู่ดำมากก็จะเสมือนเป็นสิ่งปกคลุมครอบงำเหนือออ งซาน ซูจี ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านรัฐบาลนั่นเอง
 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คน เครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทยใหญ่ที่ www.mongloi.org และ ภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทางการพม่าจัดงานวันวีรชนปีที่ 63 อย่างเงียบๆ

Posted: 20 Jul 2010 03:02 AM PDT

สื่อรัฐบาลพม่าเลี่ยงกล่าวถึง "วันวีรชน" ซึ่งเป็นวันครบรอบปีที่ 63 การลอบสังหารนายพลออง ซาน และผู้นำคนอื่นๆ ขณะที่ “ออง ซาน ซูจี” บุตรสาวนายพลออง ซาน ไม่ได้เข้าร่วมพิธีเป็นปีที่ 8 ติดต่อกันเนื่องจากถูกกักบริเวณ ด้านพรรคการเมืองจดทะเบียนใหม่สามารถเข้าร่วมภายหลังพิธีทางการเท่านั้น

<!--break-->

ภาพจากหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ฉบับวันที่ 20 ก.ค. 53 หน้า 7 เป็นภาพของนายอ่องถั่นลิน นายกเทศมนตรีย่างกุ้งวางพวงมาลาที่สุสานนายพลออง ซาน ผู้นำที่ล่วงลับ เนื่องในวันวีรชนปีที่ 63 เมื่อ 19 ก.ค. ที่่ผ่านมา

พม่าจัดงานวันวีรชนปีที่ 63 อย่างเงียบๆ

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางการพม่าจัดงานรำลึกวันวีรชน หรือวันอาซานี เป็นปีที่ 63 โดยวันซึ่งถือเป็นวันหยุดของพม่านี้ เพื่อรำลึกถึงการนายพลออง ซาน ผู้นำการเรียกร้องเอกราชของสหภาพพม่า สำหรับนายพลอองซานยังเป็นบิดาของนางออง ซาน ซูจีผู้นำฝ่ายค้านพม่าด้วย โดยในวันนี้เมื่อปี 2490 นายพลอองซาน และผู้นำการเรียกร้องเอกราชคนอื่นๆ ประกอบด้วยรัฐมนตรี 6 คน เจ้าหน้าที่รัฐบาล 2 คน ในจำนวนรัฐมนตรีนี้มีเจ้าจ่ามทุน เจ้าฟ้าเมืองป๋อน รัฐฉาน หนึ่งในผู้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาปางโหลงรวมอยู่ด้วย โดยทั้งหมดถูกฝ่ายนายพลอูซอ ซึ่งเป็นคู่อริลอบสังหารระหว่างประชุมสภา ก่อนพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ 6 เดือน

โดยพิธีรำลึกซึ่งจัดขึ้นทุกปีที่สุสานวีรชน ถนนอาซานี ใกล้ฐานทิศเหนือของเจดีย์ชเวดากองในกรุงย่างกุ้ง อย่างไรก็ตามรัฐบาลทหารพม่าค่อยๆ ลดความสำคัญของพิธีนี้ นับตั้งแต่นางออง ซาน ซู จี บุตรสาวของ นายพลออง ซาน เริ่มโดดเด่นทางการเมือง หลังการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2531

โดยในปีนี้พิธีรำลึกวันวีรชนจัดขึ้นอย่างเงียบๆ ทางการพม่าได้ลดธงครึ่งเสาที่สุสาน มีเจ้าหน้าที่ บุคคลในครอบครัวและนักการทูตร่วมกันวางพวงหรีดหน้าหลุมศพ ทั้งนี้ในอดีตพิธีนี้จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ต่อมาลดลงมาเหลือรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายใน ส่วนในปัจจุบันมีเพียงนายอ่องถั่นลิน นายกเทศมนตรีนครย่างกุ้งเป็นเจ้าหน้าที่สูงสุดที่เข้าร่วมพิธี

ด้านนางออง ซาน ซู จี ไม่ได้เข้าร่วมพิธีมานาน 8 ปีแล้ว มีเพียงนายออง ซาน อู พี่ชายคนโตและภริยาร่วมพิธีวางพวงหรีดที่หลุมศพของบิดา นายออง ซาน อู มีอาชีพวิศวกรและไม่มีบทบาททางการเมืองเหมือนน้องสาว รัฐบาลทหารพม่ามักเชิญนางซู จี ให้เข้าร่วมพิธี แต่นางปฏิเสธเพราะถูกกักบริเวณในบ้านพัก

นอกจากนี้ยังมีผู้วางพวงหรีดรำลึกประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรทหารผ่านศึกพม่า กองพลน้อยดับเพลิงพม่า, สมาคมนักเขียนและผู้สื่อข่าวพม่า, สมาคมถ่ายภาพพม่า, สมาคมดนตรีพม่า, สมาคมหุ่นกระบอกพม่า และสมาคมศิลปินพม่า

ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลพม่างดการตีพิมพ์อัตชีวประวัติของ นายพล ออง ซาน และรัฐมนตรีที่ถูกลอบสังหาร ยกเว้นข้อความที่คัดลอกมาจากสุนทรพจน์ และในปีนี้ ไม่มีแม้กระทั่งบทความหรือบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์รายวันของรัฐบาลที่เขียนเกี่ยวกับนายพล ออง ซาน โดยในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ของรัฐบาลทหารพม่าฉบับวันที่ 20 ก.ค. มีเพียงการรายงานข่าวพิธีรำลึกวันวีรชนเป็นกรอบเล็กๆ ขณะที่หน้าแรกตีพิมพ์เรื่องการพัฒนาสะพานและถนนในพม่า

ขณะที่บรรณาธิการนิตยสารข่าวแห่งหนึ่งในย่างกุ้ง กล่าวกับ “อิระวดี” นิตยสารข่าวพม่าที่อยู่นอกประเทศ ว่า “บทความเกี่ยวกับวันวีรชนถูกห้ามหมด เราตีพิมพ์ได้แต่ข้อมูลของวันวีรชน”

เดิมกองทัพพม่าใช้โอกาสวันวีรชนเพื่อย้ำเตือนประชาชนถึงบทบาทของ กองทัพในการรักษาความเป็นเอกราชของประเทศชาติ แต่ในช่วงที่นางออง ซาน ซู จี มีบทบาทโดดเด่นทางการเมือง เธอได้รับยกย่องจากสาธารณชนว่าเป็นผู้สืบทอดมรดกความรักในเสรีภาพต่อจากบิดา

 

พรรคการเมืองพม่าถูกสั่งให้เข้าร่วมหลังพิธีทางการ

ขณะเดียวกันเว็บไซต์สถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่าหรือดีวีบี รายงานด้วยว่า ทางการพม่าแบ่งพิธีรำลึกวันวีรชนเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นพิธีทางการตามที่รายงานข่าวไปแล้ว และส่วนที่สองสำหรับบรรดาพรรคการเมืองที่จดทะเบียนขึ้นใหม่ โดยคำเชิญของรัฐบาลทหารถูกส่งไปยังพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้เข้าร่วมพิธีการประจำปีดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลแจ้งให้ผู้ที่จะเข้าร่วมพิธีวันดังกล่าว ส่งพวงหรีดเพื่อให้ตรวจสอบตั้งแต่ 16 ก.ค. พร้อมกับส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมพิธี โดยพวกเขาได้รับแจ้งว่าให้มาเตรียมพร้อมที่วัดใกล้กับสุสานวีรชน ในเวลา 8.30 น. เพื่อเริ่มพิธีการในวันที่ 19 ก.ค. ดังกล่าว

อย่างไรก็ตามหลังสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ มาถึง พวกเขายังไม่สามารถเข้าในพิธีช่วงเช้าได้ นายพิวมินถั่น หัวหน้าพรรคสหภาพประชาธิปไตย กล่าวว่า "เมื่อพวกเรามาถึงวัดใกล้กับสุสานในเวลา 8.30 น. ปรากฏว่าวัดปิด พวกเราเข้าไปคำนับวีรชนในเวลา 10.00 น." ซึ่งเป็นกำหนดการภายหลังพิธีของรัฐบาล

โดยสุดท้าย 16 พรรคการเมืองได้รับอนุญาตให้ร่วมพิธี โดยออง ซอ อู จากสหพันธ์การเมืองแห่งชาติสหภาพพม่า กล่าวว่าแต่ละพรรคได้รับอนุญาตให้ส่งคนเข้าร่วมพิธีได้พรรคละ 7 คนเท่านั้น ผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ หล่า มิ้น แห่งพรรคสหภาพประชาธิปไตย กล่าวว่า ไม่สามารถนำธงของพรรคการเมืองเข้าร่วมพิธีได้ ขณะที่มีการริบกล้อง ปากกา และนาฬิกา "พิธีการไม่เป็นไปโดยเสรีเท่าไหร่"

ขณะที่มีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ทั่วย่างกุ้ง และรอบๆ เนินอันเป็นที่ตั้งสุสานวีรชน และรอบๆ เจดีย์ชเวดากองซึ่งเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมามักเป็นจุดนัดชุมนุม

ชาวเมืองรายงานกับสถานีโทรทัศน์ดีวีบีว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดอาวุธกลุ่มละ 2 ถึง 5 คนวางกำลังบนถนนที่มุ่งสู่สุสานวีรชนแทบจะทุกช่วงเสาไฟฟ้า โดยแหล่งข่าวซึ่งใกล้ชิดกับกระทรวงการต่างประเทศพม่าระบุว่ามีการเคลื่อนกำลังของตำรวจปราบจลาจลและทหารด้วย โดยประตูด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ชเวดากองมีการวางลวดหนาม ส่วนถนนเข้าสู่เจดีย์ฝั่งขวาถูกปิด แหล่งข่าวในย่างกุ้งยังระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลได้ตัดตั้งจุดตรวจสกัดพาหนะที่ต้องสงสัย และมีการสุ่มตรวจแขกผู้ลงทะเบียนเข้าพักในเมือง

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

New parties get cold shoulder on Martyrs’ Day, AYE NAI, DVB, 19 July 2010 http://www.dvb.no/news/new-parties-get-cold-shoulder-on-martyrs%E2%80%99-day/10805

Martyrs' Day Tributes Censored, By KO HTWE, Irrawaddy, Monday, July 19, 2010 http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=19002

63rd of Anniversary Arzani Day observed, THE NEW LIGHT OF MYANMAR, 20 July, 2010 P7.

Burmese Martyrs' Day, Wikipedia, http://en.wikipedia.org/wiki/Burmese_Martyrs%27_Day

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลิกฉุกเฉิน 3 จังหวัด ลำปาง ร้อยเอ็ด สกลนคร

Posted: 20 Jul 2010 01:06 AM PDT

ที่ประชุม ครม. เลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 3 จังหวัด ลำปาง ร้อยเอ็ด สกลนคร ส่วนจังหวัดที่คงไว้เนื่องจากยังมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง และอาจมีก่อวินาศกรรม-ลอบสังหาร

<!--break-->

วันนี้ (20 ก.ค.) นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ร้อยเอ็ด และสกลนคร ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เสนอเนื่องจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) รายงานว่าจากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างร้ายแรง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง มีอำนาจและกำลังเพียงพอในการดูแลเหตุการณ์หลังจากนี้ได้ ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เนื่องจากไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม นายศุภชัย ระบุวา ถ้าพบว่ายังมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าวอยู่ ก็สามารถกลับมาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้อีก

ส่วนจังหวัดที่ยังคงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ เนื่องจากยังพบความเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ โดยมีการบ่งเหตุเรื่องการก่อวินาศกรรม การข่มขู่ การลอบสังหาร และลอบทำร้ายบุคคลสำคัญ รวมถึงการผลิตสื่อต่างๆ ขึ้นมา เช่น วิทยุชุมชน เพื่อปลุกระดมประชาชน ตลอดจนข้าราชการ ทั้งนี้แม้จังหวัดร้อยเอ็ดและสกลนคร จะเป็นพื้นที่ของกลุ่มเสื้อแดง แต่ขณะนี้แกนนำคนสำคัญถูกจับกุมไปแล้ว และประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ มุ่งเน้นแต่การประกอบอาชีพ และไม่มีการรวมตัวของประชาชนแล้ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สิทธิการใช้รถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

Posted: 19 Jul 2010 10:58 PM PDT

<!--break-->

บทนำ

แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งจาก ลาว กัมพูชา และพม่า ซึ่งมีประมาณสองล้านคนในประเทศไทย โดยแรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีเหตุผลที่สำคัญหลายประการที่ต้องเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย เช่นปัญหาการสู้รบ ความแตกต่างของค่าจ้าง เป็นต้น แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทยมักทำงาน ประมง ก่อสร้าง เกษตรกรรม แม่บ้าน และงานอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงสูงในด้านความปลอดภัย ทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ แต่เป็นงานที่ส่งเสริมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก และมีความจำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชนชาวไทยอย่างยิ่ง 

นอกจากแรงงานข้ามชาติจะได้ค่าจ้างและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว ยังประสบกับปัญหาการเข้าถึงสิทธิการใช้รถ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ระบบการขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีความแตกต่างจากหลายๆ พื้นที่ที่เป็นเมืองใหญ่ กล่าวคือบริการด้านขนส่งมวลชนยังไม่สามารถทำได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ของจังหวัด และมีราคาแพง ทำให้ชาวเชียงใหม่รวมทั้งแรงงานข้ามชาติต้องพึ่งพายานพาหนะส่วนตัวเป็นสำคัญ ทำให้แรงงานข้ามชาติก็ต้องใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะในการดำเนินชีวิตประจำวัน 

สืบเนื่องจากเหตุการณ์การบุกเข้าตรวจค้นบ้านพักคนงานก่อสร้าง บ้านไร่ หมู่ที่ 3 ต.หนองควาย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่จำนวนมาก โดยเมื่อเวลาประมาณ 05.00 น.ของวันที่ 7 ธันวาคม 2550 เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 5 กว่า 30 นายได้เข้าตรวจค้นบ้านพักอาศัย ค้นตัวแรงงานและได้ยึดรถจักรยานยนต์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของแรงงานไปทั้งหมด 27 คัน ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 เวลาประมาณ 06.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.สันกำแพง ประมาณ 12 นายได้บุกเข้าตรวจค้นบ้านพักอาศัยของแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ ที่หมู่บ้านกาญจน์กนก ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพงและยึดรถจักรยานยนต์ไป 3 คัน และเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 เวลาประมาณ 20.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ช้างเผือก ประมาณ 15 นายได้เข้าตรวจศูนย์การเรียนรู้แรงงานข้ามชาติ เลขที่ 29/8 ถ.เทพารักษ์ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่และได้ยึดรถจักรยานยนต์ของแรงงานกว่า 80 คัน โดยแรงงานต้องเสียค่าปรับในอัตราสูง คือข้อหาละ 1,000 บาท และเสียค่าปรับ 1,000-2,000 บาทต่อการปรับหนึ่งครั้ง หลังจากการเข้าตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทรวงยุติธรรม และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 เพื่อให้เกิดตรวจสอบและทำให้การเข้าตรวจค้นยุติลง รวมทั้งสถานการณ์การจับ ปรับ ยึดรถของแรงงานข้ามชาติเมื่อตั้งด่าน หรือการจับบนท้องถนนดีขึ้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ทางโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา จึงได้เข้าไปเก็บข้อมูล และเริ่มรณรงค์ การเข้าถึงสิทธิของคนกลุ่มนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นข้อกังวลของปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างมาก เมื่อแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับสิทธิในการใช้รถจักรยานยนต์ ทั้งๆที่เป็นสิทธิพื้นฐานทางสังคม ทางมูลนิธิฯมีความคาดหวังและมีความพยายามในการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย และระเบียบต่าง ๆ เพื่อการปกป้องแรงงานข้ามชาติและสนับสนุนให้แรงงานได้รับสิทธิเบื้องต้นทางสังคม

 

การขับเคลื่อนและความก้าวหน้าในการเปลี่ยนแปลงนโยบาย

จากการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในประเด็นแรงงานข้ามชาติกับปัญหาการใช้รถจักรยานยนต์ในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่18มีนาคม 2552 โดยตัวแทนกลุ่มแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีข้อเสนอคือ สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ยอมรับเอกสารของแรงงานข้ามชาติเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการขอใบอนุญาตขับรถและจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถ ซึ่งในระหว่างที่ยังไม่มีมาตรการหรือนโยบายออกมาชัดเจน ขอให้จัดอบรมเพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัยบนท้องถนน และขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปรับในอัตราที่เป็นมาตรฐานเดียวกันตามกฎหมายที่เท่ากับคนไทย ซึ่งตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนี้รับข้อเสนอและนำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม ทางโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้ทำการสำรวจข้อมูลต่างๆ และติดตามความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหานี้ และจากการสำรวจสถานการณ์ การใช้รถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังจากการประชุมหารือดังกล่าว พบว่าสถานการณ์การปรับของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น กล่าวคือ แรงงานข้ามชาติมักโดนปรับใน 2 ข้อหาคือ ข้อหาไม่มีใบขับขี่และไม่มีชื่ออยู่ในสมุดคู่มือรถ โดยปรับข้อหาละ 500 บาท ในส่วนของประเด็นการยึดรถนั้นยังคงมีปรากฏแต่มีแนวโน้มลดลง

ดังนั้นมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาจึงได้เข้าหารือกับกรมการขนส่งทางบก โดยเข้าพบตัวแทนของกรมการขนส่งทางบก นายรณยุทธ ตั้งรวมทรัพย์ รองอธิบดีฝ่ายปฏิบัติและคณะ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 เกี่ยวกับความชัดเจน กรณีการจดทะเบียนโอนเป็นเจ้าของรถและการขอทำใบอนุญาตขับรถของแรงงานข้ามชาติ โดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาขอเสนอ แนวทางในการสร้างความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ด้วยการหารือนี้กรมการขนส่งได้พิจารณาตามข้อกฎหมาย และเห็นว่าแรงงานข้ามชาติสามารถโอนรถและจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถได้ ซึ่งเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2552 กรมการขนส่งทางบกได้ออกหนังสือเวียนที่ คค0408/ว244 อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถได้เวียนไปยังสำนักงานขนส่งทุกจังหวัด

สำหรับประเด็นเรื่องใบอนุญาตขับรถของแรงงานข้ามชาตินั้น ได้มีการปรึกษา หารือร่วมกันอีกครั้ง ในวันที่ 22 มกราคม 2553 ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสภาความมั่นคงแห่งชาติได้ให้ความเห็นถึง ความเกี่ยวโยงกับการพิสูจน์สัญชาติ เมื่อแรงงานข้ามชาติผ่านการพิสูจน์สัญชาติ จะมีสถานะกลายเป็นเดินทางเข้าประเทศโดยถูกกฎหมาย ซึ่งสามารถทำใบอนุญาตขับรถได้ทันที ประเด็นเรื่องใบอนุญาตขับรถของแรงงานข้ามชาติจึงต้องพิจารณาต่อไป

ในวันที่ 22 มีนาคม 2553 กรมการขนส่งทางบกได้ออกหนังสือเวียนที่ คค0408/ว.108 อนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติและชนกลุ่มน้อย 14 กลุ่ม สามารถทำใบอนุญาตขับรถได้ซึ่งส่งผลดีต่อกลุ่มดังกล่าวอย่างมาก อย่างไรก็ดีการให้สิทธิ์ครั้งนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงการให้สิทธิ์กับแรงงานข้ามชาติ

ด้วยความยังไม่ชัดเจนในสิทธิการใช้รถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติ ทางมูลนิธิฯ จึงมีความกังวลเกี่ยวกับสิทธิของคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนนั้นเป็นประเด็นซึ่งไม่อาจรอเวลาได้ จึงหารือ กับหน่วยงานซึ่งเกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหานี้หลายครั้ง และล่าสุดในวันที่ 11 มิถุนายน 2553 ได้มีการจัดการหารือร่วมกัน ซึ่งกรมการขนส่งทางบก ให้ความเห็นถึงประเด็นการใช้รถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติเป็นประเด็นซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับความมั่นคงของประเทศ นโยบายเกี่ยวกับการให้สิทธิ์จึงต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาความมั่นคงแห่งชาติก่อน และกรมการขนส่งพร้อมที่จะดำเนินการตาม เรื่องใบอนุญาตขับรถของแรงงานข้ามชาติจึงยังไม่ได้รับการให้สิทธิแต่อย่างใด และต้องผ่านความเห็นชอบของสภาความมั่นคงแห่งชาติก่อน

 

การดำเนินการไปข้างหน้า ประเด็นใบอนุญาตขับรถของแรงงานข้ามชาติ

หลังจากที่กรมการขนส่งทางบก ได้ออกนโยบายอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติพม่า ลาว และกัมพูชาสามารถจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถ โอนรถได้ และได้อนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติและชนกลุ่มน้อย 14 กลุ่มทำใบอนุญาตขับรถได้ ปรากฏให้เห็นถึงแรงงานข้ามชาติไปดำเนินจดทะเบียนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตนเองจำนวนมาก และบุคคลไร้สัญชาติและชนกลุ่มน้อยที่รอคอยมายาวนานกว่า 15 ปีได้สิทธิ์ของการมีใบอนุญาตขับรถ

โครงการยุติธรรมแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มีความกังวลถึงเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน เมื่อแรงงานข้ามชาติใช้รถจักรยานยนต์โดยไม่ผ่านการฝึกอบรม ทำให้ไม่ทราบกฎระเบียบของการขับขี่อย่างถูกต้อง จึงอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ทำให้เกิดความไม่มั่นคงของสังคมมากยิ่งขึ้น มูลนิธิฯมีความพยายามในการผลักดันเพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิ์ โดยร่วมประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้เข้ามาพิจารณาร่วมขับเคลื่อนถึงสิทธิของคนกลุ่มนี้ และประสาน หารือ กับหน่วยงานในพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เกิดการลดหย่อนปัญหา และหาทางออกสำหรับปัญหาการใช้รถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติต่อไป

000

 

สรุปเหตุการณ์และพัฒนาการการใช้รถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

ธันวาคม 2550 - กุมภาพันธ์ 2551 เก็บข้อมูลสถานการณ์การเข้าตรวจค้นที่พักอาศัยของแรงงาน

21 กุมภาพันธ์ 2551 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร้องเรียนไปยัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการเข้าตรวจบ้านพักอาศัยแรงงาน

30 เมษายน 2551 ตำรวจภูธรภาค 5 ตอบข้อร้องเรียนโดยแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ตามระเบียบที่กฎหมายกำหนด

20 สิงหาคม 2551 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งผลการวินิจฉับ โดยให้ตำรวจภูธรภาค 5 กล่าวตักเตือนเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการจับกุมดังกล่าว

4 เมษายน 2551 สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ปฏิเสธครั้งแรก ในการขอทำใบอนุญาตขับรถของแรงงานข้ามชาติ

15 พฤษภาคม 2551 แรงงานข้ามชาติอุทธรณ์คำสั่งสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ขอทราบเหตุผลในการไม่ออกใบอนุญาตขับรถให้

30 พฤษภาคม 2551 สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ตอบเหตุผลการไม่ออกใบอนุญาตขับรถให้

21 กรกฎาคม 2551 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม อุทธรณ์ไปยังกรมการขนส่งทางบก ขอทราบเหตุผล

21 กุมภาพันธ์ 2552 สมช. ให้ความเห็นให้สิทธิในการทำใบอนุญาตขับรถให้บุคคลไร้สัญชาติและชนกลุ่มน้อย 14 กลุ่ม(ไม่รวมถึงแรงงานข้ามชาติ)

10 มีนาคม 2552 แรงงานข้ามชาติยื่นคำร้องขอจดทะเบียนโอนเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ ต่อสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่

18 มีนาคม 2552 ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับสิทธิการใช้รถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติ และปัญหาการปรับ จับ ยึดรถ

20 เมษายน 2552 แรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ 3 รายยื่นคำร้องขอทำใบอนุญาตขับรถ ต่อสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่

30 เมษายน 2552 สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งเหตุผลไม่รับคำร้องจดทะเบียนโอนรถจักรยานยนต์

7 พฤษภาคม 2552 สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งเหตุผลไม่รับคำร้อง โดยแรงงานข้ามชาติขาดคุณสมบัติในการทำใบอนุญาตขับรถ

15 พฤษภาคม 2552 แรงงานข้ามชาติ อุทธรณ์คำสั่งของสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง กรณีขอจดทะเบียนโอนเป็นเจ้าของรถ

16 มิถุนายน 2552 สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ส่งเรื่องให้กรมการขนส่งทางบก เพื่ออนุญาตให้จดทะเบียนโอนเป็นเจ้าของรถ

22 มิถุนายน 2552 แรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ 3 คน อุทธรณ์คำสั่งของสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ที่ไม่อนุญาตให้ทำใบอนุญาตขับรถ

1 กรกฎาคม 2552 สามารถจดทะเบียนโอนเป็นเจ้าของรถได้ โอนจากรถของคนไทยให้เป็นของแรงงานข้ามชาติ

20 กรกฎาคม 2552 สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ตอบคำอุทธรณ์เรื่องใบอนุญาตขับรถ โดยให้รอนโยบายและระเบียบจากกรมการขนส่งต้นสังกัดให้อนุญาตก่อน

17 สิงหาคม 2552 ตัวแทนมูลนิธิฯ เข้าพบ หารือ กับตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์การจราจร โดยยืนยันการปรับที่ข้อหาละ 500 บาท

1 กันยายน 2552 มูลนิธิฯ เข้าพบกรมการขนส่งทางบก เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหา

14 ตุลาคม 2552 กรมการขนส่งทางบก อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถได้

20 มกราคม 2553 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรียกประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการใช้รถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

29 มกราคม 2553 กรมการขนส่งทางบก ออกหนังสือเวียนแจ้งเรื่องเอกสารของแรงงานข้ามชาติที่ใช้ในการดำเนินการจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถ

22 มีนาคม 2010 กรมการขนส่งทางบก อนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติและชนกลุ่มน้อย 14 กลุ่มสามารถทำใบอนุญาตขับรถได้

11 มิถุนายน 2553 มูลนิธิฯ จัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่ กรมการขนส่งทางบกและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อหารือปัญหาของแรงงานข้ามชาติในการใช้รถจักรยานยนต์ โดยเห็นว่าประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ การพิจารณาเรื่องใบอนุญาตขับรถจึงต้องผ่านการพิจารณาจากสภาความมั่นคงแห่งชาติก่อน

20 กรกฎาคม 2553 ตัวแทนแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ ยื่นฟ้องกรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ต่อศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพิจารณาการให้สิทธิ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แรงงานข้ามชาติร้อง “ศาลปกครอง” หลังไม่ได้รับอนุญาตทำ “ใบขับขี่”

Posted: 19 Jul 2010 10:24 PM PDT

แรงงานข้ามชาติใน จ.เชียงใหม่ ยื่นฟ้องกรมการขนส่งทางบก – ขนส่งเชียงใหม่ฯ หลังไม่ออกใบอนุญาตขับรถ เผยกรมการขนส่งทางบกออกหนังสือเวียนให้แรงงานข้ามชาติจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถแล้ว และอนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติและชนกลุ่มน้อย 14 กลุ่มทำใบอนุญาตขับรถได้ แต่ไม่ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติในทางปฏิบัติ

<!--break-->

วันนี้ (20 ก.ค. 53) ตัวแทนแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ ใน จ.เชียงใหม่ ได้ยื่นฟ้องกรมการขนส่งทางบก และสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ต่อศาลปกครอง จังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้พิจารณาตัดสินเกี่ยวกับสิทธิของแรงงานข้ามชาติในการทำใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 โดยตัวแทนแรงงานข้ามชาติ ได้ยื่นขอทำใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ต่อสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2552 แต่สำนักงานดังกล่าว ไม่สามารถออกใบอนุญาตขับรถให้ได้

นายสมชาย หอมลออ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) แสดงความเห็นว่า “สิทธิในการใช้รถจักรยานยนต์เป็นสิทธิพื้นฐานทางสังคมซึ่งมนุษย์อันพึงมีไม่ว่าจะสัญชาติใด การปฏิเสธไม่ให้สิทธิกับแรงงานข้ามชาตินั้น ยิ่งเป็นการเพิ่มความกดดัน และเพิ่มโอกาสให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ในสังคมมากขึ้น รวมถึงทำให้เกิดความไม่มั่นคงของประเทศเพิ่มมากยิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2550 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และกลุ่มแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันทำรณรงค์ ส่งเสริมให้รัฐเปิดนโยบายให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำใบอนุญาตขับรถได้ โดยร่วมหารือหลายครั้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และส่วนกลาง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นของการใช้รถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติและปัญหาที่ประสบอยู่ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแรงงานข้ามชาติประสบกับการปรับ จับ ยึดรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่มีการปรับในอัตราที่สูงกว่าปกติคือข้อหาละ 1,000 บาท และปัจจุบันได้ลดค่าปรับลง เป็นข้อหาละ 500 บาท

การไม่มีใบอนุญาตขับรถจึงมีผลกระทบต่อวีถีการดำเนินชีวิตของแรงงานข้ามชาติอย่างมาก แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าเกี่ยวกับนโยบายการใช้รถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นลำดับขั้น โดยวันที่ 14 ตุลาคม 2552 กรมการขนส่งได้ออกหนังสือเวียนที่ คค0408/ว244 อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถได้ และวันที่ 22 มีนาคม 2553 ได้ออกหนังสือเวียนที่ คค0408/ว.108 อนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติและชนกลุ่มน้อย 14 กลุ่ม สามารถทำใบอนุญาตขับรถได้ แต่ถึงกระนั้นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนั้นยังไม่ครอบคลุมถึงแรงงานข้ามชาติแต่อย่างใด

ทั้งนี้ มสพ. และกลุ่มแรงงานข้ามชาติมีความพยายามส่งเสริมให้รัฐพิจารณาสิทธิของแรงงานข้ามชาติและลดการแสวงหาผลประโยชน์ในการใช้รถจักรยานยนต์ของคนกลุ่มนี้ โดยมีการจัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือร่วมกันหลายครั้งและมีการประชุมล่าสุด ในวันที่ 11 มิถุนายน 2553 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าประเด็นดังกล่าวนี้มีความเกี่ยวโยงกับความมั่นคงของประเทศ ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติจึงเป็นหน่วยงานที่สำคัญที่จะพิจารณาถึงสิทธิของคนกลุ่มนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักเรียน ม.5 ที่เชียงราย ถือป้าย "ผมเห็นคนตายที่ราชประสงค์" โดนเรียกรายงานตัว ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

Posted: 19 Jul 2010 06:04 PM PDT

Facebook รายงานข่าวนักเรียน-นักศึกษา 5 คน รวมตัวรณรงค์ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดนหมายเรียกในความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อหาชุมนุมห้าคนขึ้นไป กระทำการยุยง ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

<!--break-->

 
รายงานข้อมูลจากใน Facebook uddthailand และAeaw วะ ฮะ ฮ่า ระบุว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา พ.ต.ท.บัญญัติ ทำทอง รอง ผกก.สส.สภ.เมืองเชียงราย ได้ออกหมายเรียก เด็กนักเรียน ชั้น ม.5 อายุ 17 ปี และนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 2 คน นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 2 คน รวมเป็น 5 คน ที่ออกไปรณรงค์ถือป้ายคัดค้านการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
 
 
ทั้งหมดโดนหมายเรียกในความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อหา “ชุมนุมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยง ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบ ประกาศกำหนด ร่วมกันเสนอข่าว ทำให้แพร่หลายซึ่งสิ่งพิมพ์หรือสิ่งอื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” และให้ไปรายงานตัวในวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 เวลา 10.00 น.
 
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 ก.ค.53 กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ทั้ง 5 คน ได้รวมตัวทำกิจกรรมให้มีการยกเลิกการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ที่บริเวณหน้าตลาดสดเทศบาล 1 เทศบาลนครเชียงราย อ.เมืองเชียงราย ด้วยการปิดปากด้วยหน้ากากอนามับที่เขียนว่า “พ.ร.ก.” และเดินถือป้ายรณรงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ ในเขตเทศบาลเช่น หอนาฬิกา ศาลลากลางจังหวัด โดยถือป้ายที่มีข้อความ อาทิ “ผมเห็นคนตายที่ราชประสงค์” “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คงไว้เพื่อไม่ให้ความจริงปรากฏ” “นายกครับ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินนะ ไม่งั้นรัฐบาลจะพัง” ฯลฯ ก่อนที่จะสลายตัวกันไปอย่างสงบ
 
หนึ่งในกลุ่มนักศึกษา กล่าวในการทำกิจกรรมวันนั้นว่า การออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เพื่อที่ต้องการแสดงออกว่ากลุ่มนักเรียน นักศึกษาได้มีความสนใจทางด้านการเมือง ซึ่งไม่อยากให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้เข้ามามีบทบาทในการปกครองเนื่องจากจะถูกมองจากต่างประเทศว่าไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตย จะกระทำหรือมีการเคลื่อนไหวอะไรก็ไม่ได้ ซึ่งการออกมาในครั้งนี้ก็ได้ทำตามมาตรการ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการรวมกลุ่มไม่เกิน 10 คนและจะได้มีการรณรงค์อย่างสันติต่อไป
 
ทั้งนี้ ในวันเดียวกันนั้น มีการแจ้งข่าวผ่านทางเว็บบอร์ดประชาไท ระบุว่า หลังจากเสร็จจากการทำกิจกรรม ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนชั้น ม.5 ได้ถูกทางโรงเรียนเชิญเข้าพบ โดยอาจารย์แจ้งว่าที่ให้มาพบเพียงอยากให้ยืนยันว่าได้มีการไปทำกิจกรรมจริงหรือไม่ ไม่ได้ถือเป็นการทำผิด แต่หาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ.) มีคำสั่งมาว่าอย่างไร ทางโรงเรียนก็ต้องดำเนินการตามนั้น อีกทั้งในตอนหัวค่ำยังถูกตำรวจเข้าพบที่บ้านและเข้าตรวจสอบข้อมูลในคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คด้วย
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประมวลข่าวการเมือง

Posted: 19 Jul 2010 03:23 PM PDT

<!--break-->

 
ปิด-ยึดเครื่องส่งวิทยุชุมชนเสื้อแดงเชียงใหม่ เหตุดีเจพูดจายั่วยุ ปลุกระดม ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
 
เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ต.อ.ดุลเดชา อาชวะสมิตตระกูล ผกก.สภ.แม่ปิง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พ.ต.ท.สัมพันธ์ ศิริมา รอง ผกก.สส.สภ.แม่ปิง และพ.ต.ท.จิรัฐพัทธ์ สิตานุรักษ์ พนักงานสอบสวน สภ.แม่ปิง พร้อมกำลังชุดปราบจลาจลนำหมายศาล จ.เชียงใหม่ ค.80/2553 เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 62/9 ม.3 ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งจัดตั้งเป็นสถานีวิทยุชุมชน 99.0 เมกกะเฮิร์ทซ ปูนิ่มเรดิโอ ของกลุ่มคนเสื้อแดง หลังพบพฤติกรรมยั่วยุปลุกระดมมวลชนผ่านดีเจหนึ่ง หรือนายจักรพันธ์ บริรักษ์ ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา
 
โดยนายสุขสันต์ สายสุรินทร์ หรือดีเจต่อ กำลังจัดรายการวิทยุอยู่เพียงคนเดียวได้นำเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบสถานีวิทยุชุมชน พร้อมทั้งระบุว่าดีเจปูนิ่ม หรือนายประทีป ทรรศนียาภรณ์ เจ้าของสถานีไม่อยู่ เจ้าหน้าที่จึงทำการตรวจยึดเครื่องส่งวิทยุจำนวน 8 รายการ ซึ่งประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ ซีพียู ไมโครโฟน ฯลฯ รวมทั้งอายัดเสาส่งสัญญาณสูง 60 เมตร และห้ามกระจายเสียงอีกต่อไป โดยอาศัยอำนาจตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่
 
 
รักษาการผู้ว่าฯ ขอนแก่นหนุนต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยันไม่กระทบ ปชช.
 
19 ก.ค.53 นายพยัต ชาญประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีเผาศาลากลางจังหวัดขอนแก่น พร้อมกับเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองทั่วกรุงเทพหมานคร และอีก 3 ศาลากลางจังหวัดในพื้นทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ที่ผ่านมา ซึ่งวันนี้นับเป็นวันครบ 2 เดือนของเหตุการณ์ และความสูญเสีย ในส่วนของคดีการจับกุมผู้กระทำผิด บุกรุกสถานที่ราชการและทำลายทรัพย์สิน ตลอดจนก่อการร้ายเผาศาลากลางจังหวัดนั้น โดยคดีเผาศาลากลางอยู่ในความดูแลของDSI ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทางจังหวัดได้ประสานการทำงานเพื่อนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประชาชนอาจมองว่าผ่านไป 2 เดือน จับกุมได้เพียงไม่กี่ราย ก็เนื่องจากหมายจับส่วนใหญ่เป็นการติดตามจับจากภาพถ่ายในสถานที่เกิดเหตุ ไม่มีชื่อ ที่อยู่ของผู้ต้องหา อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีการติดตามเพื่อจับกุมผู้กระทำผิดต่อเนื่องอย่างแน่นอน
 
ต่อข้อถามถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะมีการทบทวนเพื่อยกเลิก พ.ร.ก. ในบางจังหวัด ในวันที่ 21 ก.ค. นี้ นั้น สำหรับจังหวัดขอนแก่นที่ยังมีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น มีผลกระทบต่อประชาชนจนเกิดการร้องเรียนใดๆ หรือไม่ นายพยัต กล่าวว่า ตนได้ประชุมพูดคุยกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางสภาอุตสาหกรรม หอการค้าจังหวัด ผู้ประกอบการธุรกิจ โรงแรม และผู้ประกอบการทั่วไป ต่างแสดงความเห็นตรงกันว่าตั้งแต่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉินในขอนแก่น ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ หรือการประกอบกิจการ เพราะพ.ร.ก. ควบคุมเฉพาะการชุมนุมทางการเมืองเท่านั้นดังนั้น หาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และทาง ศอฉ. จะมีการทบทวนเพื่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในบางจังหวัด ก็จะมีการสอบถามมาทางจังหวัดอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนของทางจังหวัดก็ยืนยัน ยังไม่มีความจำเป็นต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในขอนแก่น แต่อย่างใด 
 
 
"หรั่ง" คนสนิทเสธ.แดง ปิดปากไม่ให้ข้อมูลดีเอสไอ
 รายงานข่าวจากดีเอสไอเปิดเผยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ว่า หลังจากศาลอนุญาตให้ฝากขังนายสุรชัย หรือหรั่ง  เทวรัตน์  ผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายและคนสนิท พล.ต.ขัตติยะ  สวัสดิผล  หรือ เสธ.แดง  อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก นั้น  นายสุรชัยยื่นเงื่อนไขเป็นข้อแลกเปลี่ยนกับการเปิดเผยข้อมูลถึงขบวนการก่อการร้าย และผู้อยู่เบื้องหลังการสั่งการทั้งหมด โดยขอให้ดีเอสไอ ยอมกันตัวเองเป็นพยานในคดี และขอให้รับภรรยา แม่และลูกสาวของตนเข้าสู่การคุ้มครองพยาน  ซึ่งดีเอสไอตกลงจะคุ้มครองแม่ ลูกและภรรยาตามมาตรการคุ้มครองพยาน ให้อยู่ที่ดีและมีความปลอดภัยในชีวิต  แต่ไม่สามารถกันตัวนายสุรชัยเป็นพยานคดีได้เพราะมีส่วนเกี่ยวกับคดีก่อการร้ายหลักๆถึง 8 คดี และเป็นหนึ่งในขบวนการค้าอาวุธสงครามด้วย  นายสุรชัยจึงยังไม่ยอมให้การเพิ่มเติมแก่ดีเอสไอ  
 
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าทันทีที่นายสุรชัยเข้าไปถูกควบคุมในเรือนจำ กลุ่มนปช.ได้เข้าเยี่ยมและติดต่อจะให้ความช่วยเหลือและดูแลครอบครัวให้
 
ด้าน พล.อ.อภิชาต  เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่โรงแรมรอยัล ริเวอร์ ถึงกรณีมีข่าวนายสุรชัยให้การว่า มีนายทหาร ตท.16 เข้าไปสนับสนุนการก่อการร้าย ว่า ถ้าหากเข้าไปเกี่ยวข้องทางเจ้าหน้าที่คงจะพิจารณาดำเนินการ
 
เมื่อถามว่าแสดงว่าการก่อเหตุที่ผ่านมามีทั้งกลุ่มสีเขียวและสีกากีเข้าไปเกี่ยวข้องกับ พล.อ.อภิชาต กล่าว่า ความจริงตามหลักฐานที่ปรากฏตั้งแต่ต้นมีเครือข่ายโยงใยกันอยู่ แต่ต้องติดตามกันต่อไป 
 
 
"ดีเอสไอ" โชว์อาวุธของกลาง "ธาริต" ยันไม่ได้พยายามโยงเอี่ยวเสื้อแดงแต่มีหลักฐาน
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม  ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายธาริต  เพ็งดิษฐ์  อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ณรัชต์  เศวตนันท์  รองอธิบดีดีเอสไอ  แถลงข่าวการล่อซื้ออาวุธสงครามจากนายสุรชัย หรือหรั่ง  เทวรัตน์  ผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายและคนสนิท  พล.ต.ขัตติยะ  หรือเสธ.แดง  สวัสดิผล  อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก
 
นายธาริต  กล่าวว่า นายหรั่งเป็นคนสนิทใกล้ชิดเสธ.แดง จริง  โดยดีเอสไอมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายแสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิด  โดยนายหรั่งได้เดินทางไปเมืองจีนพร้อมคณะการ์ดชุดดำ  มีเที่ยวบินและภาพถ่ายขณะเดินออกจากด่านที่สุวรรณภูมิชัดเจน  หากนายหรั่งไม่ใช่ตัวการสำคัญคงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายเหตุการณ์  ซึ่งดีเอสไอมีหลักฐานค่อนข้างแน่นหนาว่านายหรั่งเกี่ยวข้องกับ 8 คดีสำคัญ  ซึ่งไม่ขอเปิดเผยหลักฐานในชั้นสอบสวน  อย่างไรก็ตาม ขอทำความเข้าใจว่าการเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุก่อการร้าย 8 คดี ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติ เนื่องจากคดีระเบิดและคดียิงเอ็ม 79 ในช่วง 2 เดือนของการชุมนุมเกิดขึ้นมากกว่า 60 คดี  การก่อความไม่สงบทั้งหมดเป็นขบวนการและมีตัวละครชุดเดียวและหลังเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ  การระบายอาวุธสงครามออกมาขายเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งของนายหรั่งกับพวก
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า  ทนายความของนปช.ตั้งข้อสงเกตุว่าดีเอสไอพยายามโยงนายหรั่งให้เกี่ยวข้องกับแกนนำนปช. นายธาริต  กล่าวว่า พฤติการณ์ของนายหรั่งเชื่อมโยงกับการก่อความไม่สงบขณะที่แกนนำนปช.ก็มีความเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ  พฤติการณ์ทั้งหมดจึงเชื่อมโยงกันทั้งหมด  ดีเอสไอไม่ได้สอบสวนเพื่อเชื่อมโยงนายหรั่งกับเสธ.แดง แต่ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้น  ส่วนกรณีที่นายคารม  พลทะกลาง  ทนายความนปช. เข้ายื่นหนังสือขอถอนบัญชีพยานไม่ให้ดีเอสไอสอบปากคำพยานในส่วนของผู้ถูกกล่าวหานั้น ยืนยันว่าที่ผ่านมาดีเอสไอได้ติดต่อกับฝ่ายนปช.มาโดยตลอด และได้กำหนดที่จะสอบปากคำพยานในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาในช่วง 10 วันสุดท้ายก่อนสรุปสำนวน จึงไม่ทราบว่าเหตุใดนายคารมจึงยื่นหนังสือขอถอนรายชื่อพยาน ดังนั้นดีเอสไอจะประสานโดยตรงไปยังตัวผู้ต้องหาเพื่อยืนยันว่าดีเอสไอพร้อมจะสอบพยานให้
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าอีกว่า มีรายงานข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงระบุว่า นายหรั่งดูเก่งเกินจริง ในการก่อเหตุ ทั้งหมด นายธาริต กล่าว ยังไม่ได้ข้อมูลและ ยังไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นหน่วยงาน ใด
 
พ.ต.อ.ณรัชต์  กล่าวว่า ในช่วงต้นเดือนมิ.ย.ได้รับมอบหมายจากนายธาริต ให้จัดชุดสายลับและเจ้าหน้าที่ดีเอสไอล่อซื้ออาวุธสงครามจากกลุ่มนิยมความรุนแรงที่ปฏิบัติการก่อเหตุช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.  ซึ่งนำอาวุธที่ใช่ก่อเหตุออกมาจำหน่ายโดยนัดส่งมอบเงินจำนวน 60,000 บาทให้นายหรั่งกับพวกรวม 4 คน เพื่อแลกเปลี่ยนกับอาวุธสงครามประเภทต่าง ๆ อาทิ ปืนเล็กยาว(อาก้า) 4 กระบอก , เครื่องยิงเอ็ม 79  จำนวน 2 กระบอก ,  ลูกระเบิดขนาด 40 มม. (หัวสีทอง) 4 ลูก , ลูกระเบิด 40มม. (หัวสีดำ) 8 ลูก , ซองกระสุนปืนอาก้า 14 ซอง , ซองกระสุนปืนเอ็ม 16 ขนาดบรรจุ 30 นัด 1 ซอง , ซองกระสุนปืนเอ็ม 16 ขนาดบรรจุ 20 นัด 1 ซอง , ลูกระเบิดขว้าง 57-89 ไอที จำนวน 25 ลูก , กระสุนเอ็ม 60 จำนวน 102 นัด , กระสุน 5.56 มม. จำนวน 614 นัด ,กระสุนปืนอาก้า 47 จำนวน 1,375 นัด , ปลอกลูกระเบิด 1 ปลอก  และกระเป๋าใส่ซองกระสุน 4 ใบ   โดยดีเอสไอจะแจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับนายหรั่งฐานจำหน่ายอาวุธสงคราม
 
พ.ต.อ.ณรัชต์  กล่าวอีกว่า ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบถึงอาวุธสงครามที่ล่อซื้อว่าผลิตจากที่ใด  นำไปใช้ที่ไหนและนำเข้าประเทศไทยผ่านเส้นทางใด  เบื้องต้นคาดว่าปืนอาก้าที่ล่อซื้อได้ผลิตจากประเทศจีนเพราะมีภาษาจีนกำกับ  และไม่น่าจะใช่อาวุธที่คนร้ายยึดไปจากทหารเนื่องจากปืนอาก้าไม่ใช่อาวุธประจำกายของทหารไทย  ส่วนรายละเอียดการล่อซื้อกลุ่มนายหรั่งได้เสนขายอาวุธทั้งหมดในจำนวนเงิน 1 แสนบาท แต่สายลับต่อรองเหลือ 6 หมื่นบาท  เมื่อตกลงกันได้จึงมีการส่งมอบเงินและอาวุธกันในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออก
 
 
ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกัน “ก่อแก้ว” ออกหาเสียง ส.ส.กทม.
วันที่ 19 ก.ค. 2553 ศาลอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ในกรณีที่นายก่อแก้ว พิกุลทอง ผู้สมัคร ส.ส.กทม. ที่ถูกฝากขังในคดีฐานก่อการร้าย และ ถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์ เป็นครั้งที่สอง พร้อมหลักทรัพย์ 2 ล้านบาทนั้น  ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า คดีนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน และเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง พฤติการณ์ผู้ต้องหาร้ายแรงอุกอาจ หากปล่อยตัวไป เกรงว่าจะไปทำยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานและอาจหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว
 
นายคารม พลทะกลาง ทนายความ กล่าวว่า หากนายก่อแก้วได้รับเลือกตั้ง ก็จะขออนุญาตศาล เดินทางไปรายงานตัวที่สภา และอาจจะขอประกันตัวอีกเพื่อไปทำหน้าที่ ส.ส. และหากเข้าสู่สมัยประชุมสภา เขาก็มีสิทธิ์ขอปล่อยตัวอีกด้วย
 
 
เสื้อแดงโคราชทำบุญ 2 เดือนเหตุแยกราชประสงค์
19 ก.ค.53 นายสมโภชน์ ประสาทไทย หัวหน้าศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย สาขา อ.เมือง จ.นครราชสีมา และ ว่าที่ผู้สมัคร สส.เขต จ.นครราชสีมา พร้อมแกนนำเครือข่ายคนเสื้อแดง 23 องค์กร คนเสื้อแดงหลานย่าโม จำนวนกว่า 50 คน ได้นัดหมายรวมตัวที่วัดหนองจะบก ถนนมุขมนตรี เขตเทศบาลนครนครราชสีมา เพื่อร่วมพิธีทำบุญเลี้ยงเพลพระ และถวายสังฆทาน อุทิศส่วนบุญส่วนกุศล เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 เดือน ในการเข้าสลายการชุมนุม ที่ แยกราชประสงค์ กทม. จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ โดยการ์ดคนเสื้อแดง มิให้สื่อมวลชนบันทึกภาพโดยเด็ดขาด
 
นายสมโภชน์ หน.ศูนย์ประสานงานฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ขอให้ จนท.หน่วยงานความมั่นคง รายงานตรงตามข้อเท็จจริงด้วย กรุณาอย่างเบี่ยงเบนประเด็น คนเสื้อแดงในเขตโคราช มารวมตัวกัน ก็เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ มิใช่การแอบแฝงเรื่องการเมือง หรือเคลื่อนไหวใต้ดินแต่อย่างใด แนวร่วม นปช.ที่เสียชีวิต ขอให้วิญญาณจงรับรู้ไว้ด้วยว่า พวกเราคิดถึงอยู่ในใจเสมอ โดยเฉพาะกรณีที่วัดปทุมวนาราม ที่มีหลายคนยังคงหลอนกับภาพเบื้องหน้าที่ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม ยังคงทำใจไม่ได้ เพราะเขาเห็นเหตุการณ์ต่อหน้าต่อตา ผู้เสียชีวิตทุกคนถือเป็นวีรชน ที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย มิใช่เป็นผู้ก่อการร้าย หรือเป็นคนชั่ว คนไม่ดี ตามที่ผู้นำประเทศกำลังบิดเบือนความจริง หากเป็นเช่นนี้ความปรองดองที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่อาจจะล้มเหลวไม่เป็นท่า
 
ต่อข้อถามหากยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คนเสื้อแดง จะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ หน.ศูนย์ประสาน ฯ ตอบ ทุกวันนี้แม้นจะมีหรือไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พวกเราต่างคนก็แยกย้ายกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ปฏิบัติหน้าที่การงานหาเลี้ยงชีพ และครอบครัวเหมือนเดิม ไม่ได้แอบนัดพบ หรือวางแผนเคลื่อนไหวตามที่มีหลายฝ่ายคาดคิดไว้เลย มีแต่เจ้าหน้าที่รัฐ ที่พยายามสะกดรอยติดตาม สร้างปม สร้างประเด็น ให้เกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อน ทั้งๆที่ทราบดีว่า พื้นที่ในเขต จ.นครราชสีมา ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ทางการเมือง หรือแนวเขตสายล่อฟ้า ที่มีบ้านพักประธานองคมนตรี กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 สนง.ตำรวจภูธร ภาค 3 ตั้งอยู่ โดยเฉพาะเป็นเส้นทางผ่านไปยังเมืองหลวง โอกาสที่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นมีน้อยมาก เพราะฉะนั้น ก็ขอให้พวกเราได้ใช้ชีวิตปกติสุขจะดีกว่า จะได้ช่วยเป็นหูเป็นตาให้อีกทาง หากมีกลุ่มไม่หวังดีมาสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น