โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

สถาบันธรรมรัฐแนะ 3 แนวทาง บริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมมาบตาพุด

Posted: 09 Jul 2010 12:17 PM PDT

“บัณฑูร” ชี้ทิศทางการพัฒนาพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยองวันนี้ยัง ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน พร้อมเสนอ 3 แนวทางการบริหารจัดการปัญหา ต้องตั้งเป้าทิศทางการพัฒนาให้ชัด เปิดพื้นที่การเมืองเรื่องสิ่งแวด ล้อม รวมทั้งปฏิรูปเครื่องมือบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้ทำงานได้จริง

<!--break-->

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และอดีตโฆษกคณะกรรมการแก้ปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงทิศทางการบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวด ล้อมและสุขภาพพื้นที่มาบตาพุด ในงานประชุมวิชาการ “Thai Professionals Conference 2010 : Green Thailand และ ก้าวต่อไปความร่วมมือระหว่างการอุดมศึกษาไทยและนักวิชาชีพไทยใน ต่างประเทศ” ซึ่งจัดขึ้นโดย โครงการสมองไหลกลับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการ อุดมศึกษา (สกอ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เมื่อเร็วๆนี้ ว่า มาบตาพุดเป็นปรากฏการณ์ของปัญหา ที่เปรียบเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาเท่านั้น เพราะ ยังมีปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้อีกมากในแทบทุกภูมิภาคของประเทศไทย ขณะเดียวกันมาบตาพุดยังเป็นตัวสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบ บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ โครงสร้างด้านระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อมและและรัฐ ธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกัน

“แนวทางในการบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพพื้นที่มาบ ตาพุดและจังหวัดระยอง ที่อยากนำเสนอมีอยู่ 3 ประเด็นหลักๆ คือ ประเด็น แรก เรื่องทิศทางการพัฒนาพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง ทุกวันนี้เวลาการแก้ปัญหาหรือแม้แต่กลไกตามมาตรา 67 ที่ใช้อยู่ เรา ดูทีละโครงการที่เข้ามาสู่กระบวนการพิจารณา แต่โจทย์สำคัญที่วันนี้ชาวบ้านมาบตาพุดเริ่มตั้งคำถาม และจะดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า อีก 10 ปีข้างหน้า จังหวัดระยองจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร จะออกมาในทิศทางใด ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมามีการจัดเวทีในการพูดคุยกัน และมีข้อเสนอจากคนในพื้นที่ถึงทิศทางการพัฒนาพื้นที่มาบตาพุดออก เป็นหลายแนวทาง เช่น แนวทางแรก ต้องหยุดการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม แนวทางที่สอง คือ ยินยอมให้เพิ่มอีก 76 โครงการแล้วหยุดขยาย แนวทางที่สาม สามารถเพิ่มขยายการพัฒนาอุตสาหกรรมได้ต่อไป แต่ต้องเป็นโครงการที่ผ่านกฎหมาย และผ่านการอนุมัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ อีกทั้งระยะหลังเริ่ม มีบางความคิดเสนอว่า มีการขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่อไปได้ แต่ควรเป็นอุตสาหกรรมด้านการเกษตร หรือด้านพลังงานทางเลือก เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ยังคงเป็นปัญหาที่ถกเถียงกัน ไม่มีกรรมการชุดใดที่จับโจทย์เรื่องนี้มาวิเคราะห์อย่างจริงจัง ว่าแต่ละทางเลือกมีข้อดี ข้อเสีย หรือข้อจำกัดอย่างไร ศักยภาพ ในการรองรับมลพิษทางอากาศที่มาบตาพุดเป็นอย่างไร ทางเลือกไหนดีกว่ากัน”

นายบัณฑูร กล่าวว่า ประเด็นที่สอง คือ การ เปิดและขยายพื้นที่การเมืองด้านสิ่งแวดล้อม สืบเนื่องจากกระแสโลกา ภิวัตน์ก่อให้เกิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ระบอบเสรี ประชาธิปไตย และกระแสทางด้านสิ่งแวดล้อมโลก ส่งผลให้เกิดแรงกดดันทางด้านการ จัดการสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยระบอบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่เกิดขึ้น ทำให้มีการถ่ายโอนอำนาจสู่ตลาด ทั้งการลงทุนข้ามชาติ ข้อตกลงระหว่างประเทศ อาทิ WTO FTA ที่อาจมีผลให้อำนาจรัฐลดลง ส่วนกระแสระบอบของเสรีประชาธิปไตย เห็นได้ชัดจากกรณีมาบตาพุด ซึ่งมีพลเมืองที่ตื่นตัวมากในทุกพื้นที่ เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นอีกกลไกที่เข้ามาตรวจสอบมากกว่าที่รัฐจะสามารถตัดสินใจ ได้โดยลำพัง ด้านกระแสสิ่งแวดล้อมโลก ที่เข้ามาในกระบวนการมาตรา 67 เรื่องมาบตาพุดโดยตรง อาทิ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment : HIA ) หรือองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กรีนพีซ ซึ่งถ้าไม่มีการปรับเรื่องพื้นที่ทางการเมือง เรื่องสิ่งแวดล้อม ปรากฏการณ์ตรงนี้ก็ไม่สามารถลุล่วงไปได้

“ทุกวันนี้ในพื้นที่ จะเห็นว่ามีผู้เล่นหลายระดับ ทั้งหน่วยงานส่วนกลาง เช่น คณะกรรมการ 4 ฝ่าย คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หน่วยงานในพื้นที่ เช่น คณะกรรมการพัฒนาจังหวัด นิคมอุตสาหกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีองค์กรอิสระ รวมทั้งยังมีเครือข่ายสิ่งแวดล้อม ภาคตะวันออก กรีนพีซ เป็นต้น ดังนั้นภายใต้กลไกที่มีผู้เล่นมากเช่นนี้ จึงอยากเสนอแนวคิด “การบริหารปกครองหลายระดับ (Multi level governance)” ในการนำไปปรับใช้ในออกแบบพัฒนา อาทิ โครงสร้างองค์กรบริหารจัดการ เพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้เครือข่ายทุกระดับได้เดินหน้าทำ หน้าที่ของตนเองต่อไปได้ ทำอย่างไรให้ทุกหน่วยงานทำงานเชื่อมโยงกัน มีกระบวนการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจร่วมกัน อีกทั้งระบบการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้อง ไม่ใช่แค่มีเครื่องมือวัดซึ่งตั้งอยู่ตามสถานีต่างๆ แต่ทุกภาคส่วนต้องเข้าไปทำงานเชื่อมประสานกัน ตรวจสอบซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความไว้ใจว่าข้อมูลที่ออกมาเชื่อถือได้มากที่สุด”

นายบัณฑูร กล่าวว่า สำหรับประเด็นสุดท้าย คือ เครื่องมือเพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวด ล้อมและสุขภาพ สิ่งสำคัญคือต้องมีการปรับปรุงเครื่องมือที่ มีอยู่เดิม อาทิ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ซึ่งมีการใช้กันมากว่า 20 ปีแล้ว แต่กลับยังมีปัญหาเชิงระบบอยู่มาก ทั้งปัญหาในเชิงหลักการ การจัดทำ การพิจารณา และการติดตาม ซึ่งมาบตาพุดเป็นพื้นที่ตัวอย่างที่สะท้อนชัดว่า หลายโครงการที่ได้รับการอนุมัติ ไม่ได้ดำเนินการและปฏิบัติตามกระบวน การที่วางไว้อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังต้องมีการพิจารณา เครื่องมือใหม่ เช่น การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(strategic environment Assessment : SEA) เพื่อการวิเคราะห์ คาดการณ์ และประเมินทางเลือกในเชิงนโยบาย นอกจากนี้ ก็มีเครื่องมือทางด้านกฎหมาย เช่น กลไกยุติข้อพิพาท เครื่องมือทางด้านเศรษฐศาสตร์ เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม กองทุนประกันความเสียหาย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ถ้าหากวันนี้เราไม่สามารถนำบทเรียนจาก มาบตาพุด มาเป็นโจทย์ในการหาทิศทางการแก้ปัญหาในระยะยาวได้ เชื่อว่าในอนาคตย่อมเกิดปรากฏการณ์มาบตาพุดสอง มาบตาพุดสามในพื้นที่อื่นๆ อย่างแน่นอน นายบัณฑูร กล่าวทิ้งท้าย
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักปรัชญาชายขอบ: ประวัติศาสตร์ของ พ.ศ.

Posted: 09 Jul 2010 11:48 AM PDT

<!--break-->

ผมเคยเขียนโต้แย้ง ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ตามแผนปรองดอง) ในประเด็นที่ว่า การตัดสินใจทางการเมืองของคนชั้นกลางที่มีการศึกษาเป็นการตัดสินใจที่มีคุณภาพมากกว่าการตัดสินใจทางการเมืองของคนชั้นล่างที่มีการศึกษาต่ำ โดยชี้ว่า ความเห็นของ ดร.สมบัติอาจไม่จริงเสมอไป เพราะประวัติศาสตร์การเมืองเวลานี้ชี้ชัดว่าคนชั้นกลางที่มีการศึกษาดีกว่าเลือกสนับสนุน หรือยอมรับรัฐประหาร และกระบวนการสืบเนื่องจากรัฐประหาร ขณะที่คนชั้นล่างที่มีการศึกษาต่ำกว่าออกมาต่อต้านรัฐประหาร หรือปฏิเสธรัฐประหาร และกระบวนการที่สืบเนื่องจากรัฐประหาร (โปรดดูhttp:/www.prachatai3.info/journal/2010/06/29980)แม้เราอาจถกเถียงกันได้ว่า การที่คนชั้นล่างออกมาต่อต้านรัฐประหารนั้นอาจเป็นเรื่องของศรัทธาในตัวบุคคลหรือศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย? แต่การที่คนชั้นกลางมีการศึกษาดีสนับสนุน หรือยอมรับรัฐประหารนั้น เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า การมีการศึกษาไม่ได้สร้างหลักประกันการตัดสินใจทางการเมืองที่มีคุณภาพ (ในความหมายว่ายึดหลักการประชาธิปไตย) เสมอไป

ฉะนั้น สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ การศึกษาของบ้านเราเป็นอะไรไป ทำไมคนที่มีการศึกษาดี เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือกระทั่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยชั้นนำ จึงเลือกที่จะอยู่ข้างรัฐประหาร แสดงความเห็นสนับสนุน หรือตัดสินใจเข้าร่วมวงไพบูลย์กับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร?

เป็นความจริงหรือไม่ว่า การศึกษาแบบทางการ ในบ้านเราแทบไม่ได้ใส่ใจกับการสร้างอุดมการณ์หรือจิตวิญญาณประชาธิปไตยเลย ยิ่งหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง มีลักษณะเป็น ประวัติศาสตร์ของ พ.ศ. ที่มี เนื้อหาสำคัญ ประมาณว่า ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น นักเรียนที่เรียนประวัติศาสตร์แบบนี้อาจทำข้อสอบได้เกรด A หากเขากากบาทถูกว่า พ.ศ.ใดมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง

นักเรียนที่ได้เกรด A ไม่จำเป็นต้องเข้าใจบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง โครงสร้างอำนาจ ความคิด และบทบาทของคนชั้นนำในเวลานั้น ความเป็นอยู่ สิทธิอำนาจของประชาชนทั่วไป ไม่ต้องเข้าใจการก่อตัวของแนวความคิด เหตุผล อุดมการณ์ที่นำมาสู่การเกิดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เป็นต้น

ทั้งนี้เพราะ แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ คือแบบเรียนที่ตัดตอน ลดทอนความจริงบางแง่บางด้านออกไป เช่น เมื่อเรียนประวิศาสตร์ พ.ศ.2475 นักเรียนไม่มีโอกาสจะได้อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับเต็มที่วิพากษ์วิจารณ์ความฟอนเฟะของระบบกษัตริย์ในขณะนั้น การปกครองที่กดขี่ ความอยุติธรรมต่างๆ เป็นต้น อันเป็นเหตุผลสำคัญที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง

วิชาประวัติศาสตร์ไม่มีเนื้อหา หรือ เวที ให้กับการวิเคราะห์ ประเมินค่าอุดมการณ์ และอื่นๆ ที่อาจทำให้ผู้เรียนเกิดมโนสำนึกว่า อุดมการณ์ และการเสียสละของผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง มีความหมาย (meaningful) ต่อสภาพสังคมและวิถีชีวิตในยุคเราอย่างไร และหรือมี คุณค่า เป็นบทเรียนต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างไร

ฉะนั้น เมื่อเรียนประวัติศาสตร์ของ พ.ศ.2475 นักเรียนอาจรู้สึกซาบซึ้ง และสำนึกในบุญคุณของผู้ที่ถูกยึดอำนาจมากว่าที่จะเห็น คุณค่า ของ คณะราษฎร ผู้ก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือผู้แรกเริ่มสร้างประวัติศาสตร์การปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศของเรา

เช่นเดียวกัน เมื่อเรียนประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 16 ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 19 พฤษภา 35 และต่อไปคือ ประวัติศาสตร์ 10 เมษา-พฤษภา 53 นักเรียนที่กากบาทถูกว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ก็คงได้เกรด A เขาเป็นนักเรียนที่ได้ คะแนนดีมากเพียงเพราะว่าเขาท่องจำ ประวัติศาสตร์ของ พ.ศ. ได้ดี เขาไม่จำเป็นต้องซึมซับ ความเจ็บปวดทางประวัติศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องซาบซึ้งใน อุดมการณ์ หรือจิตวิญญาณรักประชาธิปไตยของบรรพชนผู้เสียสละเพื่อประชาธิปไตย ไม่ต้องรับรู้หรือเกลียดชังความอำมหิตของผู้ที่ใช้อำนาจรัฐ ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้เขาจึงเป็นนักเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่ได้คะแนนดีแต่ไร้หัวใจที่จะเห็นคุณค่าของอุดมการณ์และความเสียสละของผู้รักประชาธิปไตย จึงไม่แปลกที่สังคมวันนี้จะเต็มไปด้วยผู้มีการศึกษาดีแต่ไร้หัวใจ ประณามชาวบ้านที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยทัศนะที่ตื้นเขิน ฉาบฉวย กระทั่งหยาบคาย จนถึงดูหมิ่น เกลียดชัง ขยะแขยง!

แน่นอนว่า การศึกษาเรื่องประชาธิปไตย (democratic education) และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เป็นเงื่อนไขสำคัญ (precondition) ที่จะทำให้การมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนมีความหมายต่อการพัฒนาประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ความเป็นจริงของสังคมไทยวันนี้ คนที่มีการศึกษา (กระทั่งคนที่อยู่ในภาคการศึกษา) กลายเป็นคนส่วนน้อยที่มีจิตสำนึกและออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

คนเหล่านี้ไม่ทุกข์ร้อนกับการที่รัฐละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานของฝ่ายที่คิดต่างทางการเมือง ด้วยการปิดสื่อ การคง พรก.ฉุกเฉิน (ใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ) การอ้างนิติรัฐ (rule of law) แต่ไม่มีกระบวนการสอบสวนที่เที่ยงธรรม (fair trial) ไล่จับกุมฝ่ายตรงข้าม/กักขังโดยไม่ตั้งข้อหา ละเมิดสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคในทางกฎหมาย สองมาตรฐาน ฯลฯ

คนเหล่านี้ (ที่เป็นเจ้าของสื่อ และสามารถส่งเสียงผ่านสื่อได้มากกว่า) ไม่ได้ใส่ใจว่า ประชาธิปไตยต้องสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับหลักสิทธิมนุษยชนที่ทำหน้าที่ (function) เคารพและปกป้องความสง่างามของมนุษย์ (human dignity) ฉะนั้น รัฐบาลที่ลุแก่อำนาจจึงละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างสะดวกดาย

จึงเป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่งที่ประเทศกึ่งดิบกึ่งดีทางเสรีภาพ (partly free) อย่างบ้านเราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประเทศที่มีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากบรรดาผู้ที่มีการศึกษา (ที่ผ่านระบบการศึกษาอันบิดเบี้ยว ไม่สร้างอุดุมการณ์ และจิตวิญญาณประชาธิปไตย) นั่นเองคือ อุปสรรค ของการเปลี่ยนแปลง!

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์พม่า 6-9 ก.ค.

Posted: 09 Jul 2010 09:26 AM PDT

พม่ารวบรวมรายชื่อ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเมืองโต๋น รัฐฉาน, พม่าเปิดจดทะเบียนรถหาทุนหนุนเลือกตั้ง, ทหารพม่าสั่งกองกำลังอาสาสมัครเกณฑ์กำลังพลเพิ่ม, ทัพพม่าติดเรดาร์ตรวจจับอากาศยานทั่วประเทศ

<!--break-->

พม่ารวบรวมรายชื่อ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเมืองโต๋น รัฐฉาน
9 กรกฎาคม 2553 ทางการพม่าใน เมืองโต๋น รัฐฉานตะวันออก จัดเก็บรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง พร้อมจี้ข้าราชการประชาสัมพันธ์ชาวบ้านหนุนพรรคข้างรัฐบาล ขณะที่ทางการเตรียมออกบัตรประชาชนให้ผู้มีอายุ 18 ปี ในรัฐอาระกันเพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา อูตองอ่อง นายอำเภอเมืองโต๋น รัฐฉานภาคตะวันออก พร้อมด้วย นางต่อมิกู่ ปลัดฝ่ายทะเบียนอำเภอ ได้เรียกประชุมข้าราชการทุกหน่วยงาน ชี้แจงถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น พร้อมกับให้ประชาสัมพันธ์ประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งให้รับทราบ ทั้งพูดเป็นนัยว่าให้แนะนำผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเลือกลงคะแนนให้กับ พรรคที่มี ศักยภาพในการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ตาม นายอำเภอไม่ได้กล่าวระบุโดยตรงว่า ให้ข้าราชการและประชาชนเลือกลง คะแนนให้กับพรรคใด แต่เป็นที่เข้าใจกันว่าคำกล่าวของเขาหมายเจาะจงให้เลือกพรรคสหภาพ เอกภาพและการพัฒนา Union Solidarity and Development Party – USDP ซึ่งเป็นพรรคภายใต้การสนับสนุนของ รรัฐบาล มีพล.อ.เต็งเส่ง อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพรรค

แหล่งข่าวเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ข้าราชการทุกหน่วยในพื้นที่อำเภอเมืองโต๋น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชครูและ พยายาล ได้ไปลงชื่อเพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยทางอำเภอเปิดโอกาสให้ข้าราชการไปลงชื่อได้ภายใน 10 วัน จากนั้น ทางอำเภอจะมีการสำรวจทะเบียนบ้านราษฎร เพื่อคัดเลือกรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต่อไป

ปัจจุบันในพื้น ที่เมืองโต๋น นอกเหนือจากพรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา USDP แล้ว ยังไม่มีพรรคการเมืองใดมาเคลื่อนไหวหาเสียง ขณะที่ในรัฐฉานมีพรรคการเมืองเตรียมลงเลือกตั้งกว่า 10 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ (SNDP) พรรคก้าวหน้า รัฐฉานภาคเหนือ (NSSPP) พรรคชาติปะหล่อง (PNP) พรรคเอกภาพแห่งชาติว้า (WNUP) พรรคประชาธิปไตยว้า (WDP) พรรค ประชาธิปไตยและเอกภาพโกก้าง (KDUP) องค์กรแห่งชาติ ปะโอ (PNO) พรรคพัฒนาชาติอินน์ (INDP) พรรคพัฒนาชาติลาหู่ (LNDP) พรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา (USDP) และ พรรคเอกภาพแห่งชาติ (NUP)

ด้านสำนักข่าว Narinjara รายงาน วันที่ 6 ก.ค. ว่า ทางการพม่ามีแผนที่จะออกบัตรประชาชนให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในพม่า จนถึงวันที่ 31 ต.ค. นี้ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่จะมีขึ้น โดยทางการจะออกบัตรให้แก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

ขณะที่ ทางการพม่าเตรียมจัดทำบัตรประชาชนใหม่ให้กับชาวมุสลิมในรัฐอาระ กัน เป็นการเอาใจเพื่อหวังให้ชาวมุสลิมสนับสนุนพรรค USDP โดยที่ ผ่านมา ทางการพม่าในรัฐอาระกัน ได้ออกบัตรประจำตัวให้กับชาวมุสลิมโรฮิงยา ซึ่งเป็นบัตรสีขาวประเภทชั่วคราว โดยด้านหลังมีข้อความระบุว่า ผู้ถือบัตรไม่มีสิทธิ์ขอเป็นพลเมืองพม่า

นักธุรกิจชาว มุสลิม คนหนึ่งกล่าวว่า บัตรสีขาวไม่ใช่บัตรประชาชนพม่า บัตรประชาชนพม่าทั่วไปเป็นบัตรสีชมพู ซึ่งเมื่อครั้งพล.อ. โพนส่วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยพม่ามาเยือนเมืองมงดอว์ ได้กล่าวว่า จะให้สถานะชาวมุสลิมในภาคเหนือรัฐอาระกันเป็นพลเมืองของพม่า โดยจะออกบัตรประชาชนสีชมพูให้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครได้รับบัตรประเภทดังกล่าว

พม่าเปิดจดทะเบียนรถหาทุนหนุนเลือกตั้ง
8 กรกฎาคม 2553 ทางการพม่าเข้ม งวดจับกุมรถไม่ทะเบียนในรัฐฉาน พร้อมเปิดศูนย์รับจดทะเบียน แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงไม่ต่างราคาซื้อ รถ ลือสนั่นหาเงินสนับสนุนการเลือกตั้ง

มีรายงานว่า ตั้งแต่กลางเดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายจราจรพม่าในพื้นที่เมือง โต๋น รัฐฉานภาคตะวันออก ได้ทำการตรวจจับรถไม่มีทะเบียนต่อเนื่อง โดยสามารถตรวจยึดรถยนต์ได้แล้วกว่า 10 คัน และจักรยานยนต์อีกจำนวนหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ผู้เป็นเจ้าของไปเสียค่าปรับเพื่อรับรถ คืนพร้อมกับให้ไปยื่นเรื่องขอจดทำทะเบียนถูกต้อง

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่พิเศษพม่าจำนวน 10 นาย ซึ่งถูกส่งมาจากกรุงเนปิดอว์ มาประจำที่เมืองโต๋น เพื่อทำหน้าจัดทำทะเบียนรถ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในท้องที่ออกทำการตรวจจับรถ ไม่มีทะเบียนอย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่พม่าได้ประกาศให้ผู้มีรถไม่มีทะเบียนในพื้นที่ตำบลแม่ แกน ตำบลนากองมู และกิ่งอำเภอปุ่งป่าแขม ไปขอรับจดทะเบียนได้ที่อำเภอเมืองโต๋น ส่วนผู้มีรถไม่มีทะเบียนในพื้นที่เมืองสาด ให้ไปขอรับจดทะเบียนที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเผยว่า การขอจดทะเบียนรถต้องเสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 5 แสน (ราว 16,500 บาท) ถึง 2 ล้านจั๊ต (ราว 66,000 หมื่นบาท) โดยหากเป็นรถจักรยานยนต์ รุ่น 100 แรงม้า ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขอจดทะเบียน 7 – 8 แสนจ๊าต (ราว 23,100 – 26,400) ขณะที่รถรุ่น 125 แรงม้า ต้องจ่ายมากกว่า 8 แสนจั๊ต ซึ่งค่าใช้จ่ายในการขอจดทะเบียนแทบจะไม่แตกต่างจากราคาซื้อรถมาก นัก

ในส่วนของจังหวัด ท่าขี้เหล็ก ได้เปิดทำการรับจดทะเบียนรถ ระหว่างวันที่ 11 – 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ได้ประกาศให้ผู้มีรถไม่มีทะเบียนไปขอรับการจด ทะเบียนได้อย่าง ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตาม เหตุเนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง จึงมีผู้ไปติดต่อขอจดทะเบียนเพียง 100 กว่ารายเท่านั้น

ทั้งนี้ มีกระแสข่าวลือกันถึงการเปิดรับจดทะเบียนรถของทางการพม่าในพื้นที่ เมืองโต๋น เมืองสาด ท่าขี้เหล็ก และเมืองเชียงตุง ว่า ทางเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้รับสั่งจากเบื้องบนให้จัดหาเงินเพื่อ นำไปใช้สนับ สนุนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในไม่ช้านี้

ทหารพม่าสั่งกองกำลังอาสาสมัครเกณฑ์กำลังพลเพิ่ม
7 กรกฎาคม 2553 กองทัพพม่า หนุนกลุ่มอาสาสมัคร หวังใช้ปราบกลุ่มหยุดยิง ล่าสุดมอบอาวุธปืนกลุ่มอาสาสมัครลาหู่ เมืองต้างยาน รัฐฉานภาคเหนือ พร้อมสั่งให้เกณฑ์กำลังพลเพิ่ม

มีรายงานจากแหล่ง ข่าวว่า ทหารพม่าได้มีคำสั่งให้กองกำลังอาสาสมัครในเมืองต้างยาน รัฐฉานภาคเหนือ ซึ่งมีพื้นที่เคลื่อนไหวอยู่ติดเขตครอบครองกองกำลังว้า UWSA และ กองกำลังไทใหญ่ภาคเหนือ SSA-N เกณฑ์กำลังพลเพิ่ม พร้อมกับได้มอบอาวุธปืนให้กับกองกำลังอาสาสมัครที่อยู่ในพื้นที่ ติดกับ เคลื่อนไหวของกองกำลังไทใหญ่ภาคเหนือ SSA-N

โดยคำสั่งดัง กล่าวของกองทัพพม่า มีขึ้นเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังกองกำลังว้า UWSA และ กองพลน้อยที่ 1 ของกองกำลังไทใหญ่เหนือ SSA-N ปฏิเสธเข้าร่วมจัด ตั้งเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน Border Guard Force – BGF

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา พ.อ.จ่อจ่อหน่าย ผบ.กองพันทหารราบที่ 33 ของพม่า ประจำเมืองต้างยาน ได้มอบอาวุธปืนจำนวนหนึ่งให้แก่กองกำลังอาสาสมัครลาหู่ ในตำบลดอยเจ

แหล่งข่าวเผยว่า อาวุธปืนที่กองทัพพม่ามอบให้กองกำลังอาสาสมัคร มีทั้งปืน M16 และปืน M22 ที่กองทัพพม่าผลิตใช้เอง โดยหลังจากอาวุธถูกส่งถึงกองกำลังอาสาสมัคร ทางกองทัพพม่าได้มีคำสั่งให้จัดเกณฑ์กำลังพลเพิ่มโดยกำหนดเกณฑ์ ให้ได้อย่าง น้อยหมู่บ้านละ 20 คน

ทั้งนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า กองทัพพม่าเตรียมยืมมือกองกำลังอาสาสมัครช่วยปราบปรามกองกำลังหยุด ยิง โดยเฉพาะกองพลน้อยที่ 1 กองกำลังไทใหญ่ภาคเหนือ SSA-N ที่ ยังไม่ยอมรับข้อเสนอจัดตั้งเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF ตามผู้นำที่ได้ตกลงรับเปลี่ยนสถานะกองกำลังไปแล้ว

สำหรับเมืองต้าง ยาน เป็นเมืองประวัติศาสตร์ด้านการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกองกำลัง กู้ชาติไท ใหญ่ในอดีต มีพื้นที่อยู่ติดเขตปกครองว้า ทางด้านทิศตะวันตก และพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ภายใต้การครอบครองของกองพลน้อยที่ 1 ของกองกำลังไทใหญ่ภาคเหนือ SSA-N ปัจจุบันพื้นที่เมืองต้างยาน มีกองกำลังอาสาสมัครลาหู่อยู่ราว 400 นาย

ทัพพม่าติดเรดาร์ตรวจจับอากาศยานทั่วประเทศ

6 กรกฎาคม 2553 มีรายงานว่า ปัจจุบันกองทัพรัฐบาลทหารพม่าได้ทำการติดตั้งเครื่องเรดาร์ รุ่น 1L 117 ซึ่งเป็นเครื่องมือสองซื้อจากประเทศรัสเซีย สำหรับตรวจจับอากาศยานบินรุกล้ำน่านฟ้าไว้ทั่วประเทศ 7 แห่ง รวมถึงในรัฐคะฉิ่นและรัฐฉาน

โดยสถานที่ที่ เครื่องเรดาร์ถูกติดตั้ง ไว้ทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ 1. ดอยหมวย เมืองเชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออก 2. นัตเยกานต่อง ภาคมัณฑะเลย์ 3. ทาต่าอู ภาคมัณฑะเลย์ 4. มะริด ภาคตะนาวสี 5. หม่วยส่อง ภาคอิรวดี 6. ต่องโหญ่ เมืองเปียนมะนา (ใกล้เมืองเนปิดอว์) และ 7. ดูวุน รัฐคะฉิ่น โดยที่ดูวุน เพิ่งติดตั้งแล้วเสร็จไปเมื่อเร็วๆ นี้

ส่วนที่นัตเยกาน ต่อง มีรายงานว่า ทางกองทัพพม่าได้สร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กไว้สำหรับปั่นไฟ ให้เครื่องเรดาร์ใช้งานได้ทุก 24 ชม. โดยเขื่อนเพิ่งสร้างเสร็จไปเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา

สำหรับเครื่อง เรดาร์ 1L 117 ที่กองทัพรัฐบาลทหารพม่าซื้อมาติดตั้งนี้ ถูกส่งมากับเรือบรรทุกสินค้ามาถึงท่าเรือติละหว่า ชานกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 23 และ 25 ก.พ. 2552 มีประสิทธิภาพสามารถตรวจจับอากาศยานในรัศมี 350 กม. โดยเครื่องเรดาร์รุ่นนี้ง่ายต่อการติดตั้งใช้งานและมีราคาถูก

--------------------------------------------------------------------------
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/
"คน เครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทยใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักกิจกรรมบุกบ้านพิษณุโลก ลั่นค้านปฏิรูปบนซากศพ

Posted: 09 Jul 2010 08:23 AM PDT

"เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย" รณรงค์หน้าบ้านพิษณุโลก ประณามคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ซื้อเวลาให้รัฐบาลที่มาจากการเข่นฆ่าประชาชน ด้านอานันท์เผยการปฏิรูปไม่มีวันเสร็จสิ้น วาระการทำงานไม่ใช่เรื่องใหญ่ เตรียมทำงานคู่ขนานกับสมัชชาของ นพ.ประเวศ เหมือนแฝดอิน-จัน

<!--break-->

 

นักกิจกรรมโผล่ต้านคณะกรรมการปฏิรูปประเทศฯ ลั่นเสียดายคนตายไม่ได้ปฏิรูป

วันนี้ (9 ก.ค. 53) เวลา 13.30 น. ที่บ้านพิษณุโลก เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย (คกป.) ซึ่งประกอบด้วยนักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่และนิสิตนักศึกษาจาก สนนท. ได้ทำกิจกรรมรณรงค์คัดค้านการเข้ามาทำหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยที่หน้าประตูบ้านพิษณุโลก ก่อนที่การประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานจะได้เริ่มขึ้น

การชุมนุมดังกล่าวมีการแสดงละครโดยการที่ผู้รณรงค์ได้นำเอาเอาสีแดงมาทาที่ทาตัวและนอนอยู่หน้าประตูบ้านพิษณุโลก โดยผู้จัดกิจกรรมระบุว่าเพื่อเป็นการเปรียบเทียบว่า คณะกรรมการทั้งสองชุดได้จัดตั้งขึ้นอยู่บนซากศพของประชาชนที่ถูกสังหารใน เดือนเมษาถึงพฤษภาที่ผ่านมา นอกจากนั้นในการรณรงค์ได้มีการถือป้ายรณรงค์มีเนื้อหาเช่น “เสียดายคนตายไม่ได้ปฏิรูป” “ไม่ขอปรองดองกับฆาตกร” “เขตอภัยทาน งดปฏิรูปบนซากศพ”และ“คนตาย 90 คน พวกคุณไม่แคร์”

ระหว่างการรรณรงค์ ดังกล่าวได้มีคณะกรรมการปฏิรูปได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุมในบ้านพิษณุโลก อย่างต่อเนื่องอาทิ เช่น ทั้งนายชัยอนันต์ สมุทวณิช นางรัชนี ธงไชย นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ ฯลฯ ทยอยเดินทางเพื่อเข้าร่วมประชุม โดยคณะกรรมการเหล่านี้ไม่ได้แสดงอาการสนใจต่อการรณรงค์ดังกล่าว

ขณะที่เมื่อรถของนายอานันท์ ปันยารชุนขับเข้ามา ซึ่งเมื่อมาถึงประตูบ้านพิษณุโลก นายอานันท์ได้เปิดประตูรถและเดินผ่านกลุ่มผู้ประท้วงเข้าไปเล็กน้อยก่อนที่จะขึ้นรถเพื่อเข้าไปสู่ที่ประชุม หลังจากนายอานันท์เข้าที่ประชุมแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเดินทางกลับ

 

อานันท์เผยจะทำงานนคู่ขนานกับสมัชชาหมอประเวศ เหมือนแฝดอิน-จัน

สำหรับบรรยากาศการประชุมเมื่อเวลา 14.00 น. ได้เริ่มมีการประชุม โดยมีกรรมการเข้าร่วมทุกคน ยกเว้นพระไพศาล วิสาโล ทั้งนี้ นายอานันกล่าวก่อนการประชุมว่า จากการสำรวจเนื้อหาข่าวของ นสพ.ฉบับต่างๆ ส่วนใหญ่ลงครบถ้วนถูกต้อง แต่ก็มีบางฉบับซึ่งนักข่าวอาจจะเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ยังไม่รู้จักประวัติศาสตร์ จึงอ้างอิงตำแหน่งต่างๆ ของกรรมการไม่ตรงตามเจตนารมณ์ที่ตนพิจารณาคัดเลือก

โดยนายอานันท์ ได้ยกตัวอย่างด้วยว่า เช่น นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ ตนไม่ได้เลือกเพราะเคยเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่เลือกเพราะเป็นนักหมายที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษี หรือนายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ เป็นนักวิชาการด้านการเกษตร เคยลงมือทำนาด้วยตัวเองมาแล้ว หรือนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตนไม่ได้สนใจว่าเคยเป็นคณบดีรัฐศาสตร์ที่ไหน แต่เลือกเพราะเคยเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เช่น เดียวกับนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ และนายศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ก็เลือกเพราะเป็นนักประวัติศาสตร์

นายอานันท์ กล่าวด้วยว่า สำหรับ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ก็เป็นคนที่ทำการศึกษาเรื่องสลัมและชุมชนแออัดมายาวนาน นายสมชัย ฤชุพันธ์ นั้นตนเลือกเพราะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการคลังและงบประมาณ นายพงศ์โพยม วาศภูติ ไม่ได้เลือกเพราะเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการปกครอง นายชัยอนันต์ สมุทวนิช ก็เลือกเพราะเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการปฎิรูปการเมืองในอดีต ไม่ใช่เพราะเป็นผู้บังคับวชิราวุธวิทยาลัย

"อย่างไรก็ตาม การประชุมวันนี้จะคุยเรื่องกรอบการทำงานยังไม่ลงถึงเนื้อหาสาระ เพื่อกำหนดว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องเร่งด่วนต้องทำก่อน-หลัง ซึ่งกรรมการชุดนี้จะทำงานคู่ขนานกับชุด นพ.ประเวศ วะสี เหมือนฝาแฝด อิน-จัน นอกจากนี้ จะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญ หรือทำวิจัยเพิ่มเติม เพื่อเป็นข้อมูลศึกษาของเรา " นายอานันท์ กล่าว

และเมื่อเวลา 14.30 น. นพ.ประเวศเดินทางมายังที่ประชุม เพื่อบอกถึงแนวทางการทำงานของกรรมการปฏิรูป เพื่อกรรมการสองชุดจะได้ทำงานประสานกันได้

 

อานันท์เผยเป็นการคุยทั่วไปเพื่อเขียนแผนงาน ลั่นปฏิรูปไม่มีวันเสร็จสิ้น วาระการทำงานไม่ใช่เรื่องใหญ่

ข้อมูลจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์ ยังระบุด้วยว่า หลังการประชุมยาวนานกว่า 3 ชั่วโมง นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูป ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง ว่า วันนี้ได้เปิดโอกาสให้ทุกคนได้คิดและพูดออกมาดังๆ เป็นการคุยทั่วๆ ไป ซึ่งจะนำไปสู่การเขียนแผนงาน ทั้งนี้การปฏิรูปไม่มีวันเสร็จสิ้น ทุกประเทศก็มีการปฏิรูปอยู่เรื่อยๆ ดังนั้น วาระการทำงาน 3 หรือ 5 ปี คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ เรามีเวลาเท่าใดก็ทำไปเท่านั้น แค่ต้องรู้ว่าจะปฏิรูปเรื่องใด หากกว้างไปคงจะทำเสร็จยาก หากแคบไปก็ไม่สำเร็จ

“คณะกรรมการเราไม่มีอำนาจด้านบริหารคงไปล้วงลูกไม่ได้ แต่เมื่อคณะกรรมการเห็นว่ามีปัญหาต้องแก้ให้ชาวบ้านอย่างปัจจุบันทันด่วน เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความไม่ยุติธรรม หรือกรณีถ้าพบว่าต้องมีการปรับปรุงระบบราชการแผ่นดิน การจัดงบประมาณรูปแบบใหม่ หรือต้องแก้ไขกฎกระทรวง ก็สามารถกระตุ้นให้รัฐบาลที่มีอำนาจไปดำเนินการแก้ไขได้” นายอานันท์ กล่าว

นายอานันท์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการประชุมนั้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม คณะกรรมการจะนัดประชุมทุกวันจันทร์และพฤหัสบดี เวลา 13.30 น.ที่บ้านพิษณุโลก แต่สัปดาห์หน้าคณะกรรมการหลายคนติดภารกิจ จึงเปลี่ยนมาเป็นวันอังคารที่ 13 ก.ค.และวันศุกร์ที่ 16 ก.ค.แทน

เมื่อถามว่า ที่ประชุมได้วางกรอบการทำงานหรือไม่ว่าเรื่องใดควรแก้ไขก่อนหรือหลัง นายอานันท์ กล่าวว่า ยัง เรายังไม่เร่งรีบคงต้องประชุมอีกสัก 2 ครั้ง ถึงจะกำหนดแผนการระยะยาวหรือระยะกลางได้ วันนี้เป็นเพียงการเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้โต้แย้ง และแสดงความคิดเห็น ยอมรับว่า คณะกรรมการที่มาประชุมได้สะท้อนปัญหาออกมามากหลายเรื่อง

นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด เลขานุการคณะกรรมการปฏิรูป กล่าวว่า การสะท้อนปัญหาต่างๆ ของกรรมการครั้งนี้ พบว่า มีทั้งปัญหาในเชิงประเด็น และปัญหาของกลุ่มคน เช่น ปัญหาของเกษตรกรที่เป็นประเด็นใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านอาหาร เนื่องจากเกษตรกรมีอายุมากขึ้น แต่คนวัยรุ่นส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรน้อยลง รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องการกระจายการทรัพยากรที่ดินทำกิน และปัญหาหนี้สิน นอกจากนี้ที่ประชุมยังพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในเรื่องของระบบงบประมาณ เกี่ยวกับความไม่สมดุลของการกระจายงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น รวมทั้งสิ่งที่ไม่ใช่ปัญหา แต่เราต้องมองไปถึงอนาคตทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไป ในอีก 10 ปี 20 ปีข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร ขั้นตอนการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปในระยะต่อไปจะดูว่ามีวิธีแก้ไขปัญหา อย่างไร โดยจะนำสิ่งต่างๆ ที่รับรู้ และปัญหาที่เสนอมาจากคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปมาจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหา

 

นักกิจกรรมค้านคณะกรรมการปฏิรูปฯ เพราะกลัวซื้อเวลาและฟอกผิดให้อภิสิทธิ์

ด้่านนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคม ซึ่งมาจัดกิจกรรมรณรงค์ที่หน้าบ้านพิษณุโลกในวันนี้กล่าวว่า เราเพียงแต่มารณรงค์เพื่อกระตุ้นเตือนผู้ทำหน้าที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศว่า พวกเขามีบทบาทเพียงแค่การซื้อเวลาและฟอกความผิดให้กับรัฐบาลอภิสิทธิเท่านั้น เราอยากเรียกร้องถึงจิตสำนึกของกรรมการปฏิรูปประเทศทั้งหลายว่า สถานะอันทรงเกียรติที่พวกเขาได้รับการสถาปนาขึ้นนั้น มีที่มาอันเดียวกับผู้ที่อนุมัติให้มีการสังหารประชาชนในการชุมนุมจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถึงแยกราชประสงค์ ที่ทำให้มีคนไทยต้องเสียชีวิตไปกว่า 90 ราย นั่นเอง

ในการรณรงค์ดังกล่าวทางกลุ่มผู้รณรงค์ได้ออกแถลงการณ์ประกอบ มีเนื้อหาคัดค้านแผนการปฏิรูปประเทศ ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย และสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยด้วย (รายละเอียดแนบท้าย)

 

000

ปฏิรูปประเทศไทย อำมหิต ไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี

ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินหน้าแผน “ปรองดอง” โดยกำหนดให้การปฏิรูปประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของแผน โดยแต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (คปร.) และนายแพทย์ประเวศ วะสี เป็น ประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย (คสป.)

ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 นายอานันท์ ปันยารชุน ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย จำนวน 19 คน และ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยจำนวน 27 คน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังรายชื่อที่ปรากฎเป็นข่าวตามสื่อมวลชนทั่วไป

พวกเราในนามของเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย (คกป.) มีความเห็นต่อการแต่งตั้งคณะกรรมการทั้งสองชุดข้างต้นดังนี้

1.เราเห็นว่า การปฏิรูปประเทศไทยในครั้งนี้เป็นเพียงการซื้อเวลาของรัฐบาล เพื่อจะไม่คืนอำนาจให้ประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้ง และเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลใช้เบี่ยงเบน ประเด็นความสนใจของสังคมต่อข้อเรียกร้องที่ให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและ รับผิดชอบในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายนับร้อยราย และผู้บาดเจ็บพิการนับพันรายจากการที่รัฐบาลสั่ง “กระชับ พื้นที่” ในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนการใช้มาตรการที่รุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อไล่ล่าบดขยี้คน เสื้อแดงและการปฏิบัติการทางจิตวิทยาในระดับต่างๆ ของหน่วยงานด้านความมั่นคง ดังนั้นการเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ รัฐบาลมีความ ชอบธรรมที่จะไม่แสดงความรับผิดต่อการใช้ความรุนแรงและใช้อำนาจรัฐอย่างไร้ ความเป็นธรรม การกระทำดังกล่าวย่อมนับเป็นความอำมหิตแบบหนึ่ง

2.ขณะที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจและตั้งคำถามถึงความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย แต่ที่มาของคณะกรรมการทั้งสองชุดข้างต้นกลับสวนทางกับหลักการประชาธิปไตยโดย สิ้นเชิง ใช้วิธีการแต่งตั้งจากบนลงล่างมาโดยตลอด นับตั้งแต่ นายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง ประธานกรรมการฯ และ ประธานกรรมการฯ แต่งตั้ง คณะกรรมการฯ นอกจากนี้การมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ที่ได้ชื่อว่า “นายกฯ ร้อยศพ” จากการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนที่ผ่านมาจึงทำให้คณะกรรมการทั้งสองชุดข้างต้น ไร้เกียรติและศักดิ์ศรีอย่างที่สุด

ท้ายที่ สุดพวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสังคมไทยจะร่วมกันรับรู้และร่วมกันผลักดัน เปลี่ยนแปลงเพื่อให้ความถูกต้อง ความยุติธรรม และประชาธิปไตยที่แท้จริงเกิดขึ้นในสังคมไทยต่อไป

เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย (คกป.)

 

วันที่ 9 กรกฎาคม 2553

ก่อนการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ณ บ้านพิษณุโลก 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปฏิรูปไม่ได้ ปรองดองไม่ได้ ถ้าไม่รู้สึกเจ็บปวด

Posted: 09 Jul 2010 05:17 AM PDT

พลันเมื่อได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ให้ทำหน้าที่ประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) สื่อมวลชนรายงานว่า นพ. ประเวศ วะสี ประธาน คสป. กล่าวว่า “คณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่คณะกรรมการปรองดอง เพราะปรองดองเป็นเรื่องของอดีต มีโจทก์และจำเลย แต่การปฏิรูปเป็นการมองไปข้างหน้า ไม่ใช่แก้ปัญหา แต่จะเป็นการทำสิ่งใหม่เพื่อสร้างอนาคตประเทศไทย” (8 กรกฎาคม 2553 มติชนออนไลน์) 

ออกจะเป็นเรื่องแปลกที่คน “องค์รวม” อย่างหมอประเวศจะพูดว่าเราควรเดินหน้าต่อไป โดยมองข้ามอดีต และที่น่าสนใจก็คือทำไมคุณหมอถึงบอกให้มองข้ามอดีตทั้ง ๆ ที่เป็นเหตุการณ์สำคัญและมีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และตามเนื้อทฤษฎีที่คุณหมอมักกล่าวอ้าง แทบไม่มีครั้งใดเลยที่คุณหมอจะไม่พูดเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าด้วยกัน อย่างเช่น

“เมื่อเราเกิดปัญญาแล้วจะสามารถเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน อนาคต ทำให้เห็นอนาคตและกลับไปพิจารณาอดีตปัจจุบันด้วยกระบวนการทางปัญญา” (การจัดการความรู้ ศ.นพ. ประเวศ วะสี ปาฐกถาพิเศษ ในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548)

เมื่อเห็นรายชื่อกรรมการหลายคน โดยส่วนตัวผู้เขียนเชื่อมั่นในพลังทางศีลธรรมและเจตนารมณ์ที่ดีของท่านทั้งหลาย แต่อย่างที่กล่าวข้างต้น ความคิดที่จะมุ่งปฏิรูปอนาคตโดยไม่สนใจใยดีต่ออดีต และอันที่จริงอดีตก็ไม่ใช่เรื่องของเฉพาะโจทก์และจำเลย แต่เป็นเรื่องของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นของหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐและผู้ชุมนุม แต่เป็นเรื่องของการสูญเสียที่ร้าวลึกของหลายฝ่าย แต่เป็นเรื่องของบาดแผลในจิตใจมนุษย์ที่คงใช้เวลาอีกนานกว่าจะเยียวยา ทั้งยังเป็นบาดแผลต่อจิตวิญญาณของชนชาติไทย แต่ทำไมประธานกรรมการท่านนี้จึงเริ่มจากการบอกให้มองข้ามอดีต

ทำไมท่านประธานฯ ถึงบอกว่าอดีตเป็นแค่เรื่องระหว่าง “โจทก์และจำเลย” ความคิดเช่นนี้ไม่ใช่หรือที่เรียกว่าเป็นความคิดแบบคู่ตรงข้าม ที่ตัวท่านประธานฯ เองเสนอหลายครั้งหลายคราให้เรามองข้ามคู่ความคิดที่ตรงข้ามเช่นนี้

อดีตที่เพิ่งผ่านมาเพียงสองสามเดือน หรือจะย้อนหลังไปจนตั้งแต่ช่วงมีการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ไม่ใช่สิ่งที่เรามองข้ามถ้าเราต้องการก้าวเดินต่อไปข้างหน้า อย่างน้อยที่สุด กรรมการชุดนี้ควรมีสำเหนียกและสำนึกถึงความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ซึ่งอันที่จริงก็เกิดขึ้นกับบรรดา “คนเล็กคนน้อย คนยากคนจน” ที่ท่านประธานฯ เรียกร้องให้มีการเคารพศักดิ์ศรีทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยท่านประธานฯ เองก็มองว่า “ศีลธรรมพื้นฐานคือการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคน” (ปาฐกถาเดียวกัน)

คนที่ตายเกือบร้อยชีวิต คนที่เจ็บกว่าสองพัน เขามีศักดิ์ศรีหรือไม่ ท่านประธานฯ และกรรมการทั้งหลายพอจะมีเวลาและพร้อมจะสงบนิ่งไว้อาลัยให้กับเขาสักหนึ่งนาทีก่อนจะเริ่ม “ปฏิรูปอนาคต” ของประเทศที่ผู้สูญเสียเหล่านี้รัก ท่านพร้อมจะไว้อาลัยให้กับประชาธิปไตยที่คนเหล่านี้เอาชีวิตเข้าแลกได้หรือไม่

ในเมื่อยังไม่มีการสำเหนียกและสำนึกซึ่งความเจ็บปวด ไม่พักต้องพูดถึงความจริงที่ต้องคลี่คลาย ทั้งการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่และราษฎร ซึ่งในฝ่ายแรกก็ยังไม่ชัดเจนว่า เป็นความขัดแย้งกันเองในกองทัพหรือไม่ ในฝ่ายหลังมีหลักฐานประจักษ์ชัดมากทีเดียวว่ารัฐมีการกระทำที่น่าจะพิจารณาว่าเกินกว่าเหตุ ไม่นับคนอีกหลายร้อยคนที่ถูกจองจำเพียงเพราะความเชื่อทางการเมืองของตน

เขาเหล่านั้นยังมีครอบครัว ญาติมิตร ลูกหลาน หลายคนเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ที่อุบลราชธานี แม่คนหนึ่งถูกยิงขาทะลุและถูกจับ ศาลปฏิเสธไม่ปล่อยตัวชั่วคราวตั้งแต่พฤษภาคม ถูกต้องข้อหาอาญา เพียงเพราะเข้าร่วมการชุมนุม ปล่อยลูกสามคนที่แคระแกรนเพราะขาดสารอาหารอยู่กับยายอายุ 84 ปีเพียงลำพัง ยายมีรายได้เพียง 500 บาทต่อเดือน (เบี้ยยังชีพ)
และยังอีกหลายร้อยคนที่ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐตามล่าหาตัว กล่าวหาว่าเขาเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้เกิดการชุมนุมประท้วง
การเข้าร่วมการประท้วงจึงกลายเป็นความผิดทางอาญาไปสำหรับรัฐบาลที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแค่ปาก

ท่านประธานฯ และกรรมการทั้งหลายจะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างไรในเมื่อความจริงเหล่านี้ยังไม่คลี่คลาย อาจเป็นไปได้ว่าเมื่อคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งซึ่งตั้งโดยรัฐบาลนี้สอบสวนและพบว่าเจ้าพนักงานของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิเหล่านี้ การทำหน้าที่ที่อ้างว่าเป็น “การปฏิรูปอนาคต” ของท่าน จะไม่ได้เป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐที่ขาดความชอบธรรมไปนานแล้วหรือ

ผู้เขียนเชื่อมั่นในพลังทางศีลธรรมของกรรมการทั้งหลาย ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าทุกท่านมีเจตนาดี ด้วยความคุ้นเคยและด้วยความเคารพต่อกรรมการบางท่าน ผู้เขียนอยากขอให้ท่านทั้งหลายยืนนิ่งไว้อาลัยอย่างน้อยสักหนึ่งนาทีก่อนจะเริ่มปฏิบัติงานทุกครั้ง การไว้อาลัยเช่นนี้แล เชื่อได้ว่าจะทำให้ท่านสามารถ “พิจารณาอย่างลึกซึ้ง มีสติ ก็จะทำให้ปัญญาเกิดขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการทางบวกที่เรามองความสำเร็จ ทำให้เกิดพลังเพิ่มขึ้น” ซึ่งเป็นคำพูดของท่านประธานฯ เคยกล่าวไว้เอง

ในระหว่างความเงียบงันระหว่างสงบนิ่งนั้น ขอให้ท่านกรรมการสัมผัสอย่างลึกซึ้งถึงอดีตอันเจ็บปวดเพราะ

“คำว่าปรองดอง มันพูดง่าย แต่ถ้ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น อย่างนั้นก็ไม่ต้องพูด ถ้าเห็นใจก็คือ คุณรู้สึกจริงๆ รู้สึกเจ็บปวดร่วมกับคนเหล่านั้นจริงๆ ถึงขั้นที่พูดออกมาเป็นคำไม่ได้” และ “การให้อภัยดูจะเป็นหนทางหนึ่งในการคืนศักดิ์ศรีให้กับตัวเราเองด้วย ไม่กลัวที่จะยอมรับบทเรียนอันเจ็บปวดที่เกิดขึ้น และไม่กลัวที่จะเผชิญปัญหาต่อไป หรือแม้แต่จะต่อสู้ทางการเมืองต่อไป การให้อภัยได้เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับพลังทางสติปัญญาเข้ามามีบทบาทแทนที่ ความโกรธเกลียดได้”
("ทุกข์ร่วมจึงร่วม ทุกข์ สัมภาษณ์ อ.ประมวล เพ็งจันทร์ (ตอนที่ 1) วิจักขณ์ พานิช http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1278076278&catid=02)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“บก.ลายจุด” ได้ประกันตัว ออกจากห้องขังแล้ว

Posted: 09 Jul 2010 04:39 AM PDT

อัยการยื่นฟ้อง บก.ลายจุด ทันที หลังศาลไม่อนุญาตให้ขยายเวลาขังต่อในผลัดสองตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หนูหริ่งเผย พ้นจากห้องขัง จะรีบเข้าเฟซบุ๊ค

<!--break-->

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.53 เวลา 9.30 น. ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้องให้ขยายเวลาควบคุมตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุด ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ยื่นให้คุมขังต่อเป็นผลัดที่สอง

จากนั้นเวลาราว 11.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีวังทองหลาง จึงนำเรื่องแจ้งความต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ในฐานความผิดร่วมกันฝ่าฝืนข้อห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง อันมีลักษณะเป็นการขัดขืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งการเกี่ยวกับการชุมนุมเพื่อให้เป็นไปโดยสงบและไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยมีโทษสูงสุดจำคุก 2 ปี และหรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท

ศาลแขวงพระนครเหนือ อนุญาตให้ประกันตัวนายสมบัติในวงเงินประกัน 3 หมื่นบาท และกำหนดนัดวันพร้อมหรือชี้สองสถาน ในวันที่ 9 ส.ค. 53 ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ

เมื่อเวลา 15.00 น. นายสมบัติเดินออกจากที่คุมขังด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เขากล่าวว่าอยากรีบกลับไปออนไลน์เฟซบุ๊ค ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่คนทั่วไปสามารถใช้แสดงความคิดเห็นอย่างมีความรับผิดชอบ ในครั้งนี้ มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์รอต้อนรับนายสมบัติประมาณ 30 คน โดยเครือข่าย Try Arm นำโดย จิตรา คชเดช ได้ตัดกางเกงในซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์กางเกงในชายชิ้นแรก มามอบให้นายสมบัติจำนวน 2 ตัว เพื่อเป็นกำลังใจในการสู้คดี

ทั้งนี้ หลังการปล่อยตัว นายสมบัติได้อัพเดตสถานะในเฟซบุ๊คส่วนตัว อาทิ

“Hello FB I am back”

“อิสรภาพที่แลกด้วยพันธนาการ งดงามกว่าอำนาจที่แลกด้วยชีวิตคน” 

“เพื่อนคนหนึ่งถามผมว่า ผมจะทำอะไรเป็นอันดับแรกเมื่อได้รับการประกันตัว <== โกนหนวดครับ”

“ระหว่างที่ถูกจับกุมตามหมาย ศอฉ จะมีตำรวจ 2 ชุดมาคุย คือ ท้องที่ กับ ทีมตำรวจของ ศอฉ ซึ่งประกอบด้วยทีมงานประมาณ 20 คน เขาไม่เรียกว่าเป็นการสอบปากคำ แต่เป็นการพูดคุยกัน ซึ่งจริง ๆ ก็คือ การหาข้อมูลจากคนที่ถูกจับนั่นแหละ แต่ไม่เกี่ยวกับคดี แต่อาจเกี่ยวกับคดีคนอื่น”

“อิสรภาพมาพร้อมกับสิวหัวช้างที่จมูก แสบจริง ๆ ส่วนผมหงอกก็ลุกลามจนมีคนทักหลายคน เลยไม่รู้ว่าตอนนี้อยู่ในวัยไหนกันแน่ สับสน”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ไพโรจน์” ถอนตัว 1 ใน 9 กรรมการอิสระตรวจสอบความจริงฯ ชุด “คณิต” แล้ว

Posted: 08 Jul 2010 07:52 PM PDT

"ไพโรจน์ พลเพชร" ถอนตัวจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เผยปฏิเสธการทาบทามตั้งแต่ต้น ชี้ไม่แถลงข่าวแต่พร้อมแจง ย้ำขอทำงานคู่ขนาน เกื้อหนุน-ตรวจสอบกัน 

<!--break-->

วานนี้ (8 ก.ค.53) นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวถึงกรณีมีรายชื่อเป็น 1 ใน 9 ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน ว่า เมื่อเร็วๆ ได้ประสานงานไปทางนายคณิต เพื่อถอนตัวจากคณะกรรมการชุดดังกล่าวแล้ว โดยให้เหตุผลว่า ส่วนตัวได้ทำงานคู่ขนานในการสืบค้นข้อเท็จจริงในฐานะที่เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชน จากการดำเนินงานของศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายจากความรุนแรงทางการเมือง (ศรส.) ซึ่งทำหน้าที่ในเรื่องเดียวกันนี้อยู่แล้ว 

นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่าเขาได้ปฏิเสธการทาบทามให้เข้าร่วมมาตั้งแต่ต้น แต่อาจเนื่องจากการสื่อสารที่ผิดพลาดจึงทำให้ยังมีชื่อไปปรากฏในคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งเมื่อทราบข่าวครั้งแรกก็รู้สึกตกใจ ทั้งนี้ เมื่อมีการสื่อสารไปยังนายคณิตแล้ว ในส่วนคณะกรรมการอิสระฯ จะมีการทาบทามคนใหม่ หรือคงจำนวนคณะกรรมการที่เหลืออยู่ไว้นั้น เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของนายคณิตซึ่งเป็นประธานที่จะดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามเขาจะไม่แถลงข่าวต่อกรณีการถอนตัวดังกล่าว แต่พร้อมจะให้ข้อมูลและตอบข้อซักถามของนักข่าว

ต่อเรื่องการสืบค้นความจริงในเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น นายไพโรจน์แสดงความเห็นว่า เป็นประเด็นที่สังคมควรให้การสนับสนุน เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคม องค์กร สถาบันต่างๆ เข้ามาช่วยกันทำหน้าที่สืบหาข้อมูล และตรวจสอบซึ่งกันและกัน ในส่วนคณะกรรมการอิสระนั้นทางกลุ่มเองก็ได้มีการเรียกร้องให้มีการจัดตั้งมาโดยตลอด นับจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ซึ่งก็รู้สึกยินดีที่มีคนมาทำเรื่องนี้ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น เพราะก่อนหน้านี้คนที่จะเข้ามา อาจถูกกล่าวจากหลายๆ ฝ่าย และต้องเผชิญหน้ากับความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจ ในภาวะที่สังคม มีความขัดแย้งรุนแรง

ส่วนคำถามถึงการเข้าถึงข้อมูลของ คอป.ที่อาจมีปัญหาความหวาดระแวงจากคนบางกลุ่ม เนื่องมาจากได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล นายไพโรจน์แสดงความเห็นว่า หากจะมีคนหวาดระแวงก็เป็นเรื่องธรรมดาในภาวะที่เราต้องเผชิญปัญหาร่วมกันในสังคมตอนนี้ อย่างไรก็ตาม การทำงานดังกล่าวจะมีข้อเด่นในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานรัฐ เพราะรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนทั้งในส่วนงบประมาณและข้อมูล อีกทั้งคณะกรรมการอิสระ ดังกล่าวยังถูกจับตามมองจากทั้งในและนอกประเทศ ถึงความเป็นอิสระว่ามีจริงหรือไม่ และรัฐจะเกื้อหนุนให้สามารถทำงานได้เต็มที่จริงหรือไม่ 

นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการทำงานในส่วนของ ศรส.น่าจะเป็นการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมที่คู่ขนานกันไปกับภาคส่วนอื่นๆ โดยอาจมีส่วนช่วยเกื้อหนุน ในเรื่องการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งแต่ละหน่วยงานที่เข้ามาทำงานตรงนี้จากมีความสามารถในการเปิดพื้นที่ของข้อมูลที่แตกต่างกัน หรืออาจทำหน้าที่ในการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ขึ้นอยู่กับศักยภาพและความชอบธรรมของแต่ละองค์กร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อกรรมการที่นายคณิตเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ ทั้งหมด 8 คน ประกอบด้วย นายกิติพงษ์ กิตติยารัตน์ (อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม) นางจุฑารัตน์ เอื้ออำนวย (นักวิชาการ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ) นายเดชา สังขละวรรณ (อดีตคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) นายไพโรจน์ พลเพชร (เอ็นจีโอ) นายมานิจ สุขสมจิตร (สื่อมวลชน สสร.50) นายรณชัย คงสกนธ์ (รองคณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี) นายสมชาย หอมละออ (เอ็นจีโอ) เเละนายสุรชัย ลิขสิทธิ์วัฒนกุล (ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ศิริราช) โดยอายุการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้มีอายุไม่เกินสองปี

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น