ประชาไท | Prachatai3.info |
- เพื่อไทยจัดเสวนาเรื่องเศรษฐกิจแถมพ่วงการเมืองที่ลำพูน
- นักข่าวพลเมือง: ชาวบ้านพนมสารคาม-สนามชัยเขต ชุมนุมปิดถนนต่อเนื่องร้องโรงไฟฟ้าออกจากพื้นที่
- โวยรัฐสกัดกั้นสื่อเห็นต่าง บุกจับ 12 วิทยุชุมชนเมืองคอน
- "สุรยุทธ์" ขึ้นเหนือมอบนโยบาย "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" ให้เทิดทูนปกป้องสถาบัน
- ระเบิดซอยรางน้ำ สาหัส 1 ราย
- เผยอุทยานเรียกเก็บ 17 ล้าน ชาวบ้านโดนคดีทำโลกร้อน “ธีรยุทธ”จวกสูตรคำนวณ“ตั้งใจโง่”รังแกคนจน
- คนงานหญิงกัมพูชาถูกตำรวจไล่ทุบ หลังประท้วงขอเพิ่มค่าแรง
- หมอต้าน “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย” แต่งดำทั่วประเทศ ฝ่ายหนุนจุดเทียนแจงข้อดี
- TDRI เผยอนาคตรัฐสวัสดิการ ปชช.หนุน"การศึกษา" มาอันดับ1 ถ้ารัฐทำได้ไม่ทุจริต ยินดีจ่าย VAT10%
- ศาสนาของคำ ผกา ตอนที่ 1: ความดีเป็นเรื่องอัตวิสัย
- พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : บทเรียนจากการเคลื่อนไหวพฤษภาคม 2553 (1)
- คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 10 จังหวัด รวมกรุงเทพฯ-ปริมณฑล
- “ชาวบ้านแปดริ้ว” รวมตัวปิดถนน ค้านสร้าง “โรงไฟฟาถ่านหิน” เขาหินซ้อน
- การเมืองเพื่อประโยชน์ใคร?
- ประชาสังคมอาเซียนระดมสมอง ผุดแนวคิด “โครงสร้างเน็ตภิบาลที่เป็นธรรม” เสนอที่ประชุม IGF
เพื่อไทยจัดเสวนาเรื่องเศรษฐกิจแถมพ่วงการเมืองที่ลำพูน Posted: 30 Jul 2010 07:30 AM PDT เสื้อแดงแห่ฟังพรรคเพื่อไทยเสวนาเรื่องหนี้สินที่ลำพูน "สุชาติ ธาดาธำรงเวทย์" จวกรัฐบาลสร้างหนี้พุ่ง 50% ของจีดีพีแถมมีโครงการทุจริต "สุนัย จุลพงศธร" จวกเรื่องตั้ง พล.ร.7 เชียงใหม่ และ พล.ม.2 อีสาน พร้อมไล่ไปตั้งที่ภาคใต้ เตือนฝ่ายอุ้มอภิสิทธิ์ ถ้าไม่เลิกอุ้มโครงสร้างสังคมพัง <!--break--> วันนี้ (30 ก.ค.) ที่ตลาดนัดจตุจักร อ.เมือง จ.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ได้จัดเสวนาทางการเมืองเรื่อง "ปัญหาหนี้สินของรัฐและหนี้สินของประชาชน" มีนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ร่วมเสวนา โดยมีกลุ่มเสื้อแดง จ.ลำพูน และพื้นที่ใกล้เคียงร่วมฟังราว 1 พันคน โดยนายสุรพงษ์ กล่าวว่า การเสวนาในครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงหนี้ของภาครัฐที่มีผลกระทบกับประชาชน และให้ประชาชนรับทราบข้อมูลสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เตรียมรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นายสุชาติกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังมีปัญหาทุจริต ไม่ว่าจะเป็นโครงการถนนปลอดฝุ่น และโครงการชุมชนเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล จะออกนโยบายใครเป็นหนี้เกิน 5 แสนบาท รัฐบาลจะรับผิดชอบจ่ายดอกเบี้ยให้ 5 ปี และสานต่อนโยบายปราบปรามยาเสพติด และนโยบายหวยบนดิน พร้อมกล่าวโจมตีรัฐบาล ที่ใช้มาตรการขอคืนพื้นที่และกระชับวงล้อม ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก แต่กลับอ้างความสมานฉันท์ ทั้งที่เป็นต้นเหตุของการสูญเสีย ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ กล่าวว่า เมื่อมีหนี้สาธารณะสูงขึ้น รัฐบาลจะเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้น หรืออาจจะลดสวัสดิการต่างๆ เช่น งบประมาณด้านสาธารณสุข และส่งผลกระทบต่อรัฐบาลใหม่ที่มาบริหารประเทศ ไม่สามารถกู้เงินได้อีก ขณะที่นโยบายรัฐสวัสดิการ รัฐบาลจะต้องวางโครงสร้าง 14 -15 ปี ถึงจะสามารถทำได้ ดังนั้น ต้องทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อเสียภาษีเพิ่ม ซึ่งประชาชนต้องยอมจ่ายภาษีเอง ขณะที่นายสุรพงษ์ กล่าวว่าสมัยที่นายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถึงยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้สร้างหนี้สินให้กับประเทศและประชาชน ฐบาลชุดนี้ไม่สามารถบริหารประเทศให้ลุล่วงไปได้ ส่วนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเชียงใหม่ ทำให้รายได้ลดลง เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของจังหวัดมาจากการท่องเที่ยว รวมถึงการที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณของภาคเหนือไปให้ จ.บุรีรัมย์ แทนนั้น นับว่าเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม ส่วนนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังเป็นนายกฯ ต่อไป ความร้อนจะเผาโครงสร้างสังคมพัง ทางออกของประเทศ คือ ฝ่ายที่อุ้มนายอภิสิทธิ์ต้องเอานายอภิสิทธิ์ออกไปเพื่อลดอุณภูมิความขัดแย้งลง แต่ถ้าฝ่ายอุ้มอภิสิทธิ์ยังโง่ ก็อุ้มต่อไป ไม่เกินปลายปีนี้โครงสร้างพังแน่นอน เพราะหมอดูทายถูก นายสุนัยกล่าวด้วยว่า ใครที่มีอำนาจในบ้านเมืองต้องลดอุณหภูมิ แต่กลับมาตั้งกองพลทหารราบที่ 7 ที่ จ.เชียงใหม่ และกองพลทหารม้าที่ 2 ในภาคอีสาน ตนไม่ได้บอกว่าตั้งมาปราบปรามคนเสื้อแดง แต่ที่ภาคเหนือและภาคอีสานมีคนเสื้อแดงเต็มไปหมด ทำไมไม่ตั้งสองกองพลนี้ที่ภาคใต้บ้าง ทั้งที่ภาคใต้มีสงคราม ผมยังมีเรื่องราวอีกมาก ใครอยากรู้ให้ไปที่บ้านผมจะเล่าเรื่องลึกๆ ให้ฟัง เล่าตรงนี้มันยาก ถ้าคนที่อุ้มอภิสิทธิ์ยังเอาไว้อยู่ อุณหภูมิบ้านเมืองมันจะร้อน วันนี้ ความรับผิดชอบอยู่ในมือคุณ บ้านเมืองนี้จะพังหรือไม่อยู่ที่ว่าคุณยังอุ้มอภิสิทธิ์หรือไม่ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||
นักข่าวพลเมือง: ชาวบ้านพนมสารคาม-สนามชัยเขต ชุมนุมปิดถนนต่อเนื่องร้องโรงไฟฟ้าออกจากพื้นที่ Posted: 30 Jul 2010 07:25 AM PDT นักข่าวพลเมืองรายงานจากริมถนนสาย 304 เส้นเลี่ยงเมืองพนมสารคาม ระบุชาวบ้านแปดริ้วยังคงชุมนุมคัดค้าน โรงไฟฟ้าถ่านหินตำบลเขาหินซ้อนเป็นวันที่ 2 ที่ โดยยังไม่มีหน่วยงานในจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล หรือมารับข้อเรียกร้องของชาวบ้าน <!--break--> 30 ก.ค. 2553 นักข่าวพลเมืองรายงานจากริมถนนสาย 304 เส้นเลี่ยงเมืองพนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ระบุชาวบ้านแปดริ้วยังคงชุมนุมคัดค้าน โรงไฟฟ้าถ่านหินตำบลเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด กำลังการผลิต 600 เมกกะวัตต์ ให้ออกจากพื้นที่ ซึ่งเป็นการชุมนุมในวันที่ 2 โดยยังไม่มีหน่วยงานในจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล หรือมารับข้อเรียกร้องของชาวบ้าน ตัวแทนชาวบ้านนายวิบูลย์ ชัยภูมิ และนายโสฬส ศรีมงคล ผู้ปราศรัยบนเวที ได้เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรามารับข้อร้องเรียนของชาวบ้าน โดยย้ำว่าต้องให้โรงไฟฟ้าออกจากพื้นที่ ฝั่งผู้สนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก็ได้มีการตั้งเต้นท์สนับสนุนหน้าโครงการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าคือ นิคม 304 อินดัสทรี 2 เช่นเดียวกัน โดยมีเลขานายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหินซ้อน นายพรชัย โง้วเจริญ เป็นแกนนำในการชุมนุม ซึ่งเหตุผลที่มาสนับสนุนโรงไฟฟ้าคือ 1. ชาวบ้านในพื้นที่จะมีงานทำจากการสร้างโรงไฟฟ้า สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||
โวยรัฐสกัดกั้นสื่อเห็นต่าง บุกจับ 12 วิทยุชุมชนเมืองคอน Posted: 30 Jul 2010 05:47 AM PDT เผย ตร.-กทช.บุกปิดวิทยุชุมชนกว่า 12 แห่งในนครศรีธรรมราช อ้างขัด พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม-พ.ร.บ.ประกอบกิจการการจายเสียงฯ จี้รัฐหยุดปิดกั้นสื่อ แสวงกติกาการใช้สื่อที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อรักษาพื้นที่ความเห็นต่าง ลดทอนความขัดแย้งและความเกลียดชัง <!--break--> เครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน ออกแถลงการณ์ระบุ วานนี้ (29 ก.ค. 53) เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองปราบปรามและเจ้าหน้าที่สำนักงาน กทช.นำกำลังเข้าปิดสถานีและจับกุมแกนนำในสถานีวิทยุชุมชน 12 แห่ง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยอ้างว่าขัดต่อ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม 2498 และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 โดยเครือข่ายฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินการปิดกั้นสื่อ และยกเลิกคำสั่งสั่งปิดเว็บไซต์ สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และวิทยุชุมชนที่เกิดขึ้น และเปิดให้ทุกฝ่ายได้สื่อสารและแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ตั้ง รวมถึงระงับยับยั้งการใช้สื่อในเครือข่ายของรัฐเป็นเครื่องมือยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง สร้างการดูหมิ่นเหยียดหยาม เกลียดชังกัน และร่วมกันแสวงหาหลักเกณฑ์กติกาการใช้สื่อที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อรักษาพื้นที่ความคิดเห็นที่แตกต่าง ลดทอนความขัดแย้งและความเกลียดชัง ด้านโครงการเฝ้าระวังการแทรกแซงวิทยุชุมชน (Community Radio Watch) โดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฎิรูปสื่อ (คปส.) รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.-7 ก.ค. 53 มีสถานีวิทยุชุมชนถูกปิดไปแล้ว 26 แห่งในพื้นที่ 9 จังหวัด ยุติการออกอากาศ 6 แห่ง ปรากฎรายชื่อในข่ายที่มีความผิด (แบล็กลิสต์) 84 แห่ง ในพื้นที่ 12 จังหวัด มีหัวหน้าสถานี กรรมการ และผู้จัดรายการ ถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดี 35 ราย
แถลงการณ์ประณามรัฐบาลปิดวิทยุชุมชนที่นครศรีธรรมราช หลังการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 รัฐบาลได้อาศัยอำนาจของกฎหมายปิดกั้นช่องทางการสื่อสารของประชาชน ทั้งเว็บไซต์ สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ตลอดจนปิดสถานีวิทยุชุมชนที่เสนอเนื้อหาตรงข้ามกับรัฐบาล ล่าสุด เมื่อวานนี้ (29 ก.ค. 53) เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองปราบปราม เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) กว่า 50 นาย ได้บุกจับวิทยุชุมชนและเคบิลทีวีชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชกว่า 12 สถานี โดยตั้งข้อหากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม 2498 โดยตั้งข้อหาความผิด 3 ประการ คือ การประกอบกิจการวิทยุชุมชนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต, การใช้เครื่องส่งโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และการใช้คลื่นความถี่โดยไม่ได้รับใบอนุญาต หนึ่งในนั้นมีผู้สื่อข่าวอาวุโส ของนครศรีธรรมราช เช่น สุรโรจน์ นวลมังสอ จากนครโพสต์ สมพร รักหวาน จากสถานี CSTV เคเบิลท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน เห็นว่ามาตรการดังกล่าวของรัฐบาลเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน ซึ่งการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำได้ก็เฉพาะในภาวะสงครามและเพื่อความมั่นคงของรัฐเท่านั้น การที่รัฐบาลปิดกั้นสื่อในทุกระดับและทุกช่องทางเพียงหวังจะลดทอนเสียงของกลุ่มผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล จะเป็นชนวนเหตุทำให้สถานการณ์ยิ่งลุกลามและขยายตัวไปสู่ความรุนแรงได้ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง การเปิดให้สื่อของรัฐและสื่อเอกชนที่เห็นด้วยกับรัฐบาลทำหน้าที่แต่เพียงฝ่ายเดียวจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน รัฐบาลจึงควรเปิดให้ทุกฝ่ายมีสิทธิในการสื่อสารอย่างเท่าเทียมกันเพื่อสร้างสมดุลของข่าวสาร และไม่สนับสนุนการใช้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง หรือสร้างการดูหมิ่นเหยียดหยาม เกลียดชังฝ่ายตรงข้ามกับตัวเอง เครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน จึงขอเสนอความเห็นต่อรัฐบาล ดังนี้ 1. ขอให้รัฐบาลยุติการดำเนินการปิดกั้นสื่อ และยกเลิกคำสั่งสั่งปิดเว็บไซต์ สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และวิทยุชุมชนที่เกิดขึ้น และเปิดให้ทุกฝ่ายได้สื่อสารและแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ตั้ง 2. ขอให้รัฐบาลระงับยับยั้งการใช้สื่อในเครือข่ายของรัฐเป็นเครื่องมือยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง สร้างการดูหมิ่นเหยียดหยาม เกลียดชังกัน และร่วมกันแสวงหาหลักเกณฑ์กติกาการใช้สื่อที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อรักษาพื้นที่ความคิดเห็นที่แตกต่าง ลดทอนความขัดแย้งและความเกลียดชัง 3. วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันที่นำมาซึ่งความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไทย ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐในการปฏิรูปสื่อ ส่งผลให้สังคมไทยขาดกลไกที่เป็นอิสระกำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์เป็นเวลายาวนาน และรัฐมีการเลือกปฏิบัติหนุนสื่อที่เชียร์แต่ทำลายล้างสื่อที่คิดแตกต่าง ซึ่งมีแต่จะส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมไทยโดยรวม 30 กรกฎาคม 2553
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||
"สุรยุทธ์" ขึ้นเหนือมอบนโยบาย "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" ให้เทิดทูนปกป้องสถาบัน Posted: 30 Jul 2010 04:26 AM PDT พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เดินสายขึ้นเหนือ มอบนโยบายให้กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยให้ร่วมกัน เทิดทูนและปกป้องสถาบัน ส่วนปัญหาความขัดแย้งทางความคิดในแต่ละพื้นที่นั้น ยอมรับ ว่ายังมีอยู่แต่คิดว่าแต่ละชุมชนจะสามารถจัดการได้โดยยึดหลักความสามัคคี 30 ก.ค. 53 - พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เดินทางมาตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนา ราษฎรชาวไทยภูเขาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมพบปะ พูดคุยกับตัวแทนกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อรับทราบ ปัญหา โดยส่วนใหญ่ต้องการให้ช่วยพัฒนาอาชีพและโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ได้มอบนโยบายให้กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยให้ร่วมกัน เทิดทูนและปกป้องสถาบัน ส่วนปัญหาความขัดแย้งทางความคิดในแต่ละพื้นที่นั้น ยอมรับ ว่ายังมีอยู่แต่คิดว่าแต่ละชุมชนจะสามารถจัดการได้โดยยึดหลักความสามัคคี ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือ ขอให้มีการช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และ การคมนาคมในพื้นที่ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น นอกจากนั้นยังเสนอให้มีการ พัฒนาพื้นที่ที่เคยเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในอดีต ให้เป็นแหล่ง ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ด้วย ที่มาข่าว: องคมนตรีเยี่ยมชาวเขาในภาคเหนือ (สทท.11 เชียงใหม่, 30-7-2553) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||
Posted: 29 Jul 2010 11:13 PM PDT <!--break--> 30 ก.ค. 2553 - เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่ามีเหตุระเบิดเกิดขึ้นที่บริเวณข้างธนาคารกสิกรไทย ใน ซ.รางน้ำ ใกล้กับ ห้างสรรพสินค้าคิงส์พาวเวอร์ โดยมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพ นำส่งรพ.ใกล้เคียงแล้ว ตรวจสอบที่เกิดเหตุพบ มีรถตู้จอดอยู่บริเวณด้านหน้าที่ 1 คัน และมีรถชาเล้ง หรือรถรับซื้อของเก่า จอดอยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุด้วย โดยสภาพรถยังอยู่ในสภาพปกติ ทั้งนี้ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมด้วย พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.น. และ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น. 1 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร รถฮัมวี่ ประมาณ 2-3 คัน เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้ว ด้าน ร.ต.ต. นิติ นิรุตติวัฑน์ พนักงานสอบสวน สบ.1 สน.พญาไท เปิดเผยว่า หลังได้รับเจ้งเหตุดังกล่าว จึงเดินทางเข้าตรวจสอบ พบเหตุระเบิดเกิดขึ้น บริเวณหน้าบ้านเลขที่ 27/15 ตรงข้ามกับ คิงพาวเวอร์ ซ.รางน้ำ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี ที่เกิดเหตุพบชายอายุประมาณ 30-40 ปี สวมเสื้อยืดสีกรมท่า สวมเสื้อคลุมอีกชั้นหนึ่ง ใส่กางเกงเล สีชมพูออกแดง นอนหงายครวญครางอยู่ด้านหน้าบ้าน นอกจากนี้ยังมีรถตู้ สีขาว ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ฮต 7693 กทม. ซึ่งเป็นรถตู้วิ่งวินระหว่างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ลพบุรี จอดอยู่ใกล้กัน อีกทั้งยังพบรถซาเล้งจอดอยู่ด้วย เบื้องต้นทราบว่า เป็นของชายที่ได้รับบาดเจ็บที่มีอาชีพเก็บของเก่า โดยขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่กล้าเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุระเบิดซ้ำซ้อน ระหว่างนั้น คนเจ็บได้พยายามลุกขึ้นใน สภาพศีรษะเต็มไปเลือด ที่ใบหน้าที่เลือดออก แขนขาได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม จากการสอบสวนเบื้องต้น เหตุคนร้ายลอบนำระเบิดชนิดขว้างไปซุกไว้ในถังขยะในซอยรางน้ำ ตรงข้าม หน้าห้างสรรพสินค้าคิงเพาเวอร์ เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่าน จนเป็นเหตุให้ คนเก็บขยะที่อยู่ระหว่างการรื้อค้นขยะดังกล่าว ถูกแรงระเบิดอัด เข้าตามร่างกายจนได้รับบาดเจ็บอาการสาหัสนั้น ล่าสุด หลังพลตำรวจโทสัญฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้ว ได้เน้นย่ำให้เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสอบสวน เร่งตรวจสอบกล้องวงปิดในที่เกิดเหตุเพื่อติดตาหาเบาะแสของคนร้ายที่ก่อเหตุ ดังกล่าวแล้ว ด้าน พลตำรวจตรีวิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เปิดเผยว่า จากการสอบสวน พบเป็นระเบิดชนิดขว้างจากจีน ซึ่งคนร้ายนำ มาถอดสลักออก แล้วใช้ยางรัดที่กระเดื่อง ก่อนนำน้ำมันมาราด เพื่อหน่วง เวลาในการระเบิด แล้วจึงมาวางไว้ในถุงดำ ก่อนที่จะมีผู้เคราะห์ร้ายมาเจอแล้ว ได้รับบาดเจ็บดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ได้ประสานขอภาพจากกล้องวงจรปิดจากคิงพาวเวอร์ เพื่อนำมาตรวจสอบหาบุคคลต้องสงสัยแล้ว ส่วนผู้ก่อเหตุจะเป็นใครนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ เว็บไซต์มติชนออนไลน์ รายงานอ้างถึงพยานในที่เกิดเหตุคือ นายสำรวย ทบภักดิ์ อายุ 37 ปี โชเฟอร์แท็กซี่ อยู่บ้านเลชที่ 25 หมู่ 7 ต.เขวไร่ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุตนจอดรถห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 200 เมตร จากนั้นได้เห็นประกายไฟที่ต้นไม้ พร้อมกับเสียงดังไปทั่วบริเวณ จากนั้นเห็นรถแท็กซี่ สีเขียว-เหลือง ซึ่งตอนเกิดเหตุจอดอยู่ด้านหลังรถซาเล้ง ได้ขับรถออกจากที่เกิดเหตุโดยเร็ว น่าจะเป็นเพราะความตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น "ตอนเกิดเหตุผมตกใจมาก ในชีวิตไม่เคยเห็นระเบิดที่น่ากลัวขนาดนี้ มองไปเห็นแสงไฟ และเกิดเสียงดังมาก จากนั้นก็เกิดกลุ่มควันคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ น่ากลัวมากที่สุด แต่ก็พอตั้งสติได้รีบโทรศัพท์แจ้งตำรวจ 191 ทันที" นายสำรวยกล่าว
โรงพยาบาลเผยเหยื่ออาจสูญเสียดวงตา พล.ต.ต.วิชัยกล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเบื้องต้นได้ให้ กก.สส.บก.น.1 และฝ่ายสืบสวน สน.พญาไท เร่งตรวจสอบหาญาติของผู้บาดเจ็บ ซึ่งเบื้องต้นพบว่าเป็นชาย อายุประมาณ 30 ปีเท่านั้น เนื่องจากไม่มีหลักฐานตามตัวว่าเป็นผู้ใด โดยได้ให้ตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดในจุดใกล้เคียงและร้านค้าต่างๆที่มี ประมาณ 9 จุดแล้ว โดยขณะนี้ยังไม่เห็นภาพที่คนร้ายนำระเบิดมาวางไว้ สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะนำรายงานไปถึง ศปก.ตร. และพล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองเลขาธิการนากยกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ต่อไป ด้านพญ.วารุณี จินารัตน์ ผอ.โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า สำหรับผู้บาดเจ็บขณะนี้มีสะเก็ตระเบิดฝังอยู่ทั้งลำตัวและใบหน้า อาจต้องทำการผ่าตัดตาขางซ้ายอีกครั้ง และเสี่ยงที่จะสูญเสียตาข้างซ้ายไป ซึ่งอาการยังสาหัสมาก กระดูกขาขวาแตก และมีแผลเพราะถูกสะเก็ตระเบิดจำนวนมาก เทพเทือกบอกป้องกันสถานการณ์ไม่ทัน ปัญหามาจากการข่าวแย่ “ที่ผ่านมาการข่าวยังไม่ค่อยทันเหตุการณ์ การแก้ไขปัญหาให้ได้ข่าวที่ทันต่อการแก้ไขสถานการณ์และป้องกันสถานการณ์ได้ ก็อยู่ที่ผลการกำกับดูแลของ รมว.กลาโหม ที่จะรายงานให้รับฟังเป็นระยะๆ และทุกฝ่ายต้องประสานกันได้ ต้องไม่มีกรณีต่างคนต่างทำ ซึ่งเรามีหน่วยข่าวหลายหน่วยที่มีหน้าที่ดูแลแล้วแต่กรณี แต่ในสถานการณ์อย่างนี้ต้องรวมกำลังกันป้องกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย” นายสุเทพ กล่าว
ที่มา : สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, มติชนออนไลน์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||
เผยอุทยานเรียกเก็บ 17 ล้าน ชาวบ้านโดนคดีทำโลกร้อน “ธีรยุทธ”จวกสูตรคำนวณ“ตั้งใจโง่”รังแกคนจน Posted: 29 Jul 2010 04:59 PM PDT คทป.จัดสัมมนาวิชาการ “การคิดค่าเสียหายคดีความโลกร้อน: นัยทางวิชาการและกระบวนการยุติธรรม” เผยผลวิจัยยัน วิถีการอยู่กับป่าไม่ได้ทำให้เกิดความเสื่อมเสียกับทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ทำโลกร้อน นักวิชาการเศรษฐศาสตร์จี้ยกเลิกสูตรคำนวณค่าเสียหาย <!--break--> วานนี้ (29 ก.ค.35) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) จัดสัมมนาวิชาการ “การคิดค่าเสียหายคดีความโลกร้อน: นัยทางวิชาการและกระบวนการยุติธรรม” ที่ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์ เพื่อระดมความเห็นต่อสถานการณ์การฟ้องคดีข้อหาทำให้โลกร้อน และทำความเข้าใจต่อสาธารณะถึงวิถีการผลิตและการใช้ทรัพยากรที่ยังยืนของชุมชน พร้อมนำเสนอแนวทางเพื่อการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการจัดการทรัพยากร อย่างยั่งยืน และบรรเทาภาวะโลกร้อน “ธีรยุทธ” จวก “อุทยาน” คิดค่าเสียหายโลกร้อน “ตั้งใจโง่” รังแกชาวบ้าน ธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงวิธีคำนวณค่าเสียหาคดีความโลกร้อนว่า การคิดคำนวณไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังสะท้อนถึงปัญหารากเง้าของสังคมไทย ที่มองปัญหาที่ปลายเหตุ แต่มองข้ามรากเง้าต้นตอของปัญหา ซึ่งโดยภาพรวมแล้วมองว่าชาวบ้านและคนจนได้เป็นเหยื่อความรู้ความคิดที่ไม่ถูกต้องแบบโมเดิร์นไนเซชั่น อันเป็นกระบวนการทำให้ทันสมัยโดยอำนาจทุนนิยมตะวันตกเอามาใช้เพื่อเอาเปรียบ กดขี่ ขูดรีดจากประเทศยากจน ในขณะที่รัฐเองก็ตกเป็นเหยื่อของการพัฒนาด้วยเช่นเดียวกัน กระบวนการคิดแบบโมเดิร์นไนเซชั่นนี้ เป็นรากเง้าที่สร้างปัญหาทำให้เกิดข้อถกเถียง ไม่เพียงแต่กรณีที่ดิน-ป่าไม้ ยังรวมถึง ปัญหาสลัม แรงงาน ผู้อพยพ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ อำนาจไม่ได้กระจายเต็มที่ ไม่ได้สมดุล หากการพัฒนาไม่อยู่ในทิศทางที่ถูกต้องปัญหาก็จะสืบเนื่องต่อไป ตรงนี้นำมาสู่การปฏิรูปประเทศที่ต้องมองมาจากฐานความรู้ ฐานคิดที่ตั้งอยู่บนความยุติธรรม มีความเข้าใจปัญหาร่วมกัน ถัดไปเราต้องทำความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน เพื่อที่จะช่วยแก้ไขปัญหาอื่นๆ ในสังคมด้วย ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ฯ กล่าวต่อมาถึงความยุติธรรมว่า พิจารณาได้หลายแง่มุม สำคัญคือต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งเชิง ประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่จริงเข้าด้วยกัน ในเชิงประวัติศาสตร์พิจารณาปัญหาโลกร้อนที่ผ่านมาใครเป็นตัวการ จากการตามข่าว จีนมีวิธีคิดที่มองเชิงประวัติศาสตร์ว่า ปัญหาโลกร้อนนั้นเกิดจากการพัฒนาของประเทศตะวันตกที่มีมาหลายร้อยปี จีนจึงไม่ยอมรับกติกาสากลที่เสนอแนวทางต่อสภาวะปัจจุบัน เพราะยังต้องการพัฒนาประเทศ และคิดว่าประเทศพัฒนาแล้วควรเป็นผู้รับผิดชอบก่อน ในส่วนของประเทศไทยหากพิจารณาใครก่อให้เกิดปัญหาต้องรับผิดชอบ ทั้งโรงงาน และคนเมืองต่างก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับปัญหาโลกร้อน ธีรยุทธ กล่าวด้วยว่า กระบวนการคิดคำนวณความเสียหายของสภาพแวดล้อม ที่ครอบคลุมแค่เรื่องดิน น้ำ ต้นไม้ โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนขึ้นนั้น มีความซับซ่อน จะมาใช้วิธีคิดคำนวณง่ายๆ อย่างที่ทำอยู่ในวันนี้ไม่ได้ ต้องทำงานการบ้านให้มากกว่านี้ ซึ่งมีกรอบวิธีคิดเยอะมากที่จะคิดค่าเสียหายในรูปแบบต่างๆ และทำได้ทั้งที่เอื้อและไม่เอื้อต่อชาวบ้าน เอื้อและไม่เอื้อต่อความเข้าใจกัน ทั้งนี้ นักวิชาการในด้านนี้และชาวบ้านน่ามีการช่วยกันคิดเรื่องหลักเกณฑ์ใหม่ และวิธีการแก้ปัญหาทำได้อย่างไร “เป็นวิธีคิดแบบตั้งใจโง่ คนที่มีเหตุ มีผล มีวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์จะไม่กล้าคิด” ธีรยุทธแสดงความเห็นต่อการคิดค่าเสียหายกับชาวบ้าน ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ฯ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวตามจริงไม่สนับสนุนการรุกทำลายป่า แต่กระบวนการที่จะแก้ปัญหาควรดูวิธีการ อย่างไรก็ตามศาลน่าจะมีส่วนในการช่วยเหลือ ร่วมทั้งการปรับกระบวนการคิดใหม่ เพราะกระบวนการพัฒนาที่รัฐเป็นฝั่งผิดพลาดตั้งแต่ต้นและส่งผลกระทบให้เกิดกับชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นต้นตอของปัญหา หากมองเห็นก็จะช่วยให้เกิดความเข้าใจต่อชาวบ้านได้ เกณฑ์คำนวณค่าเสียหายของป่าต้นน้ำตามหลักการแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของกรมอุทยานฯ 1. การทำให้สูญหายของธาตุอาหาร คิดค่าเสียหาย 4,064 บาทต่อไร่ต่อปี 2. ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาทต่อไร่ต่อปี 3. ทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่ โดยการแผดเผาของดวงอาทิตย์ 52,800 บาทต่อไร่ต่อปี 4. ทำให้ดินสูญหาย 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี 5. ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาทต่อไร่ต่อปี 6. ทำให้ฝนตกน้อยลง คิดค่าเสียหาย 5,400 บาทต่อไร่ต่อปี 7. มูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่าสามชนิด คือ 7.1 การทำลายป่าดงดิบค่าเสียหายจำนวน 61,263.36 บาท 7.2 การทำลายป่าเบญจพรรณ ค่าเสียหายจำนวน 42,577.75 บาท 7.3 การทำลายป่าเต็งรัง ค่าเสียหายจำนวน 18,634.19 บาท เมื่อนำค่าเฉลี่ยของมูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่าสามชนิด(ตามข้อ7.1-7.3)ซึ่งมีค่าเท่ากับ 40,825.10 บาทต่อไร่ต่อปี มารวมกับมูลค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม(ข้อ1-6) จำนวน 110,117.60 บาทต่อไร่ต่อปี รวมมูลค่าทั้งหมดเท่ากับ 150,942.70 บาท แต่เพื่อความสะดวกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชคิดค่าเสียหายจำนวน 150,000 บาทต่อไร่ต่อปี เผยมีชาวบ้าน ถูกฟ้อง 131 คดี กว่า 500 ราย อารีวรรณ คูสันเทียะ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลคดีความที่มีการรวบรวมล่าสุดในปี 2553 โดยทีมทนายความของเครือข่ายฯ พบว่ามีสมาชิกที่ถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาข้อหาบุกรุก ทั้งหมด 131 คดี จำนวน 500 ราย จากทั่วประเทศ ดำเนินคดีความทางแพ่ง ข้อหาทำให้โลกร้อน จำนวนทั้งสิ้น 30 ราย มูลค่าความเสียหายที่ทางกรมอุทยานเรียกเก็บจากชาวบ้านโดยรวมกว่า 17,559,434 บาท ทั้งนี้ ชาวบ้านถูกฟ้องร้องคดีอาญาในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าของรัฐ ทั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามาแล้วทั้งสิ้น ก่อนที่จะถูกดำเนินคดีความทางแพ่ง ส่วนรายละเอียด ขณะนี้มีเกษตรกรอยู่ระหว่างการบังคับคดี 1 ราย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ชำระค่าเสียหาย 1 ราย และวันที่ 3-6 สิงหาคมนี้ จะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลอีก 16 ราย อารีวรรณ กล่าวต่อมาถึงงานวิจัยวิถีชุมชนทองถิ่น ผู้สร้างภาวะโลกเย็นว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อนำข้อมูลผลการศึกษาไปใช้อธิบาย ต่อสู้ทางคดีความในชั้นศาล และสร้างความเข้าใจต่อสังคมถึงวิถีการดำเนินชีวิต วิถีการผลิต และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนของชุมชนที่สัมพันธ์กับเรื่องภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพทางนิเวศ โดยได้ ลงสำรวจในภาคเหนือ ที่ชุมชนห้วยหินลาด อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ในภาคอีสาน ที่ชุมชนห้วยกลทา-ห้วยระหงส์ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ และภาคใต้ ที่ชุมชนทับเขือ-ปลักหมู อ.นาโยง และชุมชนบ้านตระ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง แสดงศักยภาพการกักเก็บคาร์บอน พบว่าวิถีการผลิตต่อการกับเก็บและปลดปล่อยคาร์บอน ที่ชุมชนห้วยหินลาด ป่าชุมชนมีปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.4 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีสูญเสียจากพื้นที่ไร่หมุนเวียนและนาข้าว 548 ตันต่อปี สัดส่วนการดูดซับ:การสูญเสียคือร้อยละ 99.92:0.08 ในชุมชนห้วยกลทา ป่าชุมชน (ป่าเต็งรัง) และสวนมะขามมีปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์รวม 2,356 ตันต่อปี ขณะที่มีการสูญเสียในไร่ข้าวโพด 3.69 ตันต่อไร่ต่อปี ชุมชนมีสัดส่วนการดูดซับ:การสูญเสียร้อยละ 99.43:0.57 ส่วนที่ชุมชนทับเขือ-ปลักหมู ป่าชุมชนมีปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 11,373.89 ตันต่อปี ขณะที่มีการสูญเสียจากยางพารา 1,201.76 ตันต่อปี สัดส่วนการดูดซับ:การสูญเสียคือร้อยละ 72:28 ส่วนวิถีการผลิตที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะเรื่องอุณหภูมินั้น มีการศึกษาโดยวีการติดตั้งเทอร์โมมิเตอร์ในระดับความสูงต่างๆ ตั้งแต่ผิวดิน ไปจนถังเหนือผิวดิน 1.5 เมตร ในพื้นที่เพาะปลูกรูปแบบต่างๆ เทียบกับพื้นที่ป่า พบว่าโดยสรุป อุณหภูมิในพื้นที่เพาะปลูกไม่ได้สูงกว่าป่าธรรมชาติเสมอไป บางกรณีทำให้อากาศเย็นมากกว่า เช่น กรณีสวนมะขามเมื่อเทียบกับป่าเต็งรัง และแม้จะมีช่วงเวลาที่อุณหภูมิสูงกว่า แต่ก็สั้นเป็นเพียงช่วงสั้นๆ 4-6 ชม.เท่านั้น ในขณะที่ช่วงกลางคืนอุณหภูมิกลับต่ำกว่า ทั้งนี้ เหนือผิวดิน 50 ซม.ขึ้นไปอุณหภูมิแทบไม่ต่างป่าธรรมชาติ “วิถีการอยู่กับป่าไม่ได้ทำให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเสียหายกับทรัพยากรธรรมชาติ และไม่ได้ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน” ผู้ทำการศึกษากล่าวถึงข้อสรุปที่ได้รับและเสริมว่า “ชุมชนเกษตร ดำรงวิถีเพื่อความอยู่รอด ไม่ให้ทำเกษตร ไม่ให้ทำมาหากินกันป่าจะให้พวกเขาไปทำอะไร การศึกษานี้เพื่อตอบคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนสามารถดำรงวิถีชีวิตอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ อย่างร่มเย็นและถาวร” อัด "สูตรค่าเสียหายโลกร้อน" ใช้เศรษฐศาสตร์ที่ไร้เศรษฐธรรม เสนอกรมอุทยานฯ ยกเลิก เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าการจัดทำแบบจำลองการคิดมูลค่าความเสียหายของกรมอุทยานฯ เป็นการใช้เศรษฐศาสตร์ที่ไร้เศรษฐธรรมคือ มีการคิดค่าเสียหายแบบเลือกปฏิบัติกับเกษตรกรรายย่อยไม่ได้คิดกับทุกคนในเขตเมือง หรืออุตสาหกรรมที่ก็มีส่วนในการก่อปัญหา และตามแบบจำลองเป็นการคิดค่าเสียหายแบบแยกส่วนไม่ดูวิถีชีวิต เช่น พื้นที่บ้านห้วยกลฑา ชาวบ้านดูแลป่ากว่า 1,500 ไร่ แต่ถูกจับเพราะปลูกข้าวโพด 9 ไร่ เป็นต้น อีกทั้งไม่ได้ตั้งอยู่บนการสำรวจในพื้นที่จริง จึงเสนอให้กรมอุทยานฯ ต้องยกเลิกแบบจำลองนี้ ด้าน ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นผู้ให้คำแนะนำในการเก็บข้อมูลกล่าวว่า จากการได้ลงพื้นที่ร่วมกับชาวบ้าน พบว่าสิ่งที่ช่วยในการอนุรักษ์ คือการที่ชาวบ้านรักษาพื้นที่ป่าโดยมีการใช้ทั้งความเชื่อและองค์ความรู้ท้องถิ่น มีป่าริมน้ำเป็นทีเป็นเส้นทางเชื่อมของสัตว์ป่าเดินทางระหว่างอุทยานกับป่าชุมชน อีกทั้งช่วยป้องกันการชะล้างดินริมฝั่งและเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ด้วยการปลูกพืชผสมผสาน มีวิถีการเกษตรที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ เช่น ตัดพืชคลุมดินก่อนฤดูแล้ง ทำสวนยางพารา 4 ชั้นอายุ และการเปลี่ยนยางใหม่โดยขวางแนวลาดชันที่ป้องกันการชะล้างหน้าดิน รวมทั้งมีการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชดั่งเดิม ส่วน ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องสิทธิชุมชนซึ่งระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญว่า เป็นสิทธิโดยทั่วไปของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิม ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์และเหตุผลทางกฎหมาย ซึ่งจะเอาการพัฒนามากดทับสิทธิชุมชนไม่ได้ อย่างไรก็ตามการได้มาซึ่งสิทธิชุมชุน มีองค์ประกอบ 4 ข้อคือ 1.ชุมชนต้องพร้อมแสดงออกว่าเป็นผู้มีสิทธิชุมชน ให้ปรากฏ 2.แสดงตนว่ามีความสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ เพียงพอคือสูงกว่ากรมป่าไม้ สูงกว่าจึงควรเป็นผู้ดูแลยิ่งกว่า 3.สามารถระบุบ่งได้ว่าเกี่ยววิถีชีวิตและจัดการทรัพยากรอย่างไร 4.พร้อมทำข้อตกลงกับองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือรัฐ ในการจัดการพื้นที่ ด้วยการระบุวิธีและกระบวนการอันเป็นส่วนหนึ่งของจารีต ประเพณีวัฒนธรรม อันเป็นการใช้สิทธิเพื่อการดำรงอยู่ด้วยความสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ “สิทธิในทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิทธิทำกิน ไม่ใช่สิทธิทำทุน” ดร.กิตติศักดิ์กล่าว ขณะที่ แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความอิสระ กล่าวถึงเกณฑ์คำนวณค่าเสียหาย 7 ข้อว่า ไม่สามารถอธิบายเป็นเหตุเป็นผลเชื่อมโยงได้ เพียงแต่อ้างการเข้าไปทำกินในป่าสงวนว่า ย่อมมีการตัดต้นไม้ เมื่อมีการตัดต้นไม้ย่อมทำให้อากาศร้อนขึ้น แต่ไม่มีกระบวนการพิสูจน์ มีแต่สูตรคำนวณทั่วๆ ไป อีกทั้งยังนำข้ออ้างใช่สิ่งที่ไม่เป็นทรัพย์ที่คำนวณได้มาตีขลุมเป็นทรัพย์สินของรัฐเพื่อมาใช้เรียกค่าเสียหาย เช่น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น นายแสงชัย ยังกล่าวแสดงความห่วงใยถึงข้อตกลงระหว่างประเทศในการซึ้อขายคาร์บอน ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการเลี่ยงความรับผิดชอบจากอุตสาหกรรมโดยโยนความรับผิดชอบสู่ภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้ หากการทำกินมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนตัวคิดว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ขณะเดี่ยวกัน อุตสาหกรรมกลับพยายามสร้างภาพให้เห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดและได้รับการสนับสนุนของรัฐ โดย คาร์บอนเครดิต และฉลากคาร์บอน ไม่อยากเห็นคดีเหล่านี้มาเป็นตัวผลักดันชาวบ้าน แต่ต้นตอที่แท้จริงกลับหาไม่เจอ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||
คนงานหญิงกัมพูชาถูกตำรวจไล่ทุบ หลังประท้วงขอเพิ่มค่าแรง Posted: 29 Jul 2010 04:19 PM PDT คนงานหญิงโรงงานสิ่งทอในกัมพูชากว่า 3,000 คน ปะทะกับตำรวจ 100 กว่านาย ที่เข้าสลายการชุมนุม หลังคนงานออกมาประท้วงเรียกร้องค่าแรงเพิ่ม และปกป้องสมาชิกสหภาพแรงงานที่ถูกพักงาน ซึ่งผลจากการปะทะทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 9 คน
ตำรวจกัมพูชาขอคืนพื้นที่ถนนและกระชับพื้นที่ให้คนงานกลับเข้าไปทำงานในโรงงาน เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 53 ที่ผ่านมาสื่อต่างประเทศได้รายงานว่าคนงานหญิงโรงงานเสื้อผ้าและสิ่งทอในกัมพูชากว่า 3,000 คน ปะทะกับตำรวจ 100 กว่านาย ที่เข้าสลายการชุมนุม หลังคนงานออกมาประท้วงเรียกร้องค่าแรงเพิ่ม และปกป้องสมาชิกสหภาพแรงงานที่ถูกพักงาน ซึ่งผลจากการปะทะทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 9 คน การปะทะกันเกิดหลังคนงานหญิงของโรงงาน Perusahaan Chan Choo Sing Sdn Bhd หรือ PCCS ที่มีเจ้าของสัญชาติมาเลเซีย ได้รวมตัวประท้วงเพื่อเรียกร้องค่าแรงเพิ่มจากเดือนละ 60 ดอลลาร์ ให้ขยับขึ้นเป็น 75 ดอลลาร์ รวมถึงประท้วงที่นายจ้างได้ทำการพักงานผู้นำสหภาพแรงงานของพวกเธอ สหภาพแรงงานเสรีแห่งกัมพูชา (FTUWKC) เปิดเผยว่าตำรวจได้ผลักดันให้ผู้ประท้วงกลับเข้าทำงานตามคำสั่งศาลที่ให้เคลียร์พื้นที่ผลักดันผู้ชุมนุมออกจากท้องถนนและให้กลับเข้าทำงานในโรงงาน โดยผู้บาดเจ็บทั้ง 9 เป็นหญิงทั้งหมด ทั้งนี้โรงงาน PCCS เป็นโรงงานที่รับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ดังอาทิเช่น Adidas, The Gap, Old Navy, Carter's, Puma, Champion, Cross Creek และ Nike เป็นต้น
ที่มา: Cambodian riot police clash with strikers (Tim Johnston, ft.com, 27-7-2553) http://www.ft.com/cms/s/0/e903b470-99c3-11df-a0a5-00144feab49a.html Striking female workers paid just £1 a day at factory which makes clothes for Gap and Adidas are beaten by riot police (Daily Mail, 27-7-2010) http://www.dailymail.co.uk/news/worldnews/article-1298020/Cambodian-garment-workers-injured-clash-riot-police-Gap-Adidas-factory.html http://www.economywatch.com/world_economy/cambodia/ (เข้าดูเมื่อ 28-7-2010) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||
หมอต้าน “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย” แต่งดำทั่วประเทศ ฝ่ายหนุนจุดเทียนแจงข้อดี Posted: 29 Jul 2010 12:59 PM PDT หมอทั่วประเทศแต่งดำประท้วง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย จี้รัฐบาลถอนร่างออกจากสภา นัดชุมนุมใหญ่ที่กระทรวง กดดัน รมว.สธ. ส่วน NGO ยื่นแพทยสภาหยุดสร้างความสับสน เดินหน้าหนุนรัฐบาล <!--break--> หนังสือพิมพ์ข่าวสด รายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 29 ก.ค. พล.ต.ท.น.พ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย แถลงข่าวจุดยืนของแพทยสมาคมต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่ห้องประชุมแพทยสมาคมว่า ขณะนี้มีความขัดแย้งกันระหว่างประชาชนและบุคลากรสาธารณสุข เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ซึ่งประเด็นต่างๆ หลายประเด็นไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้ผลประโยชน์ไม่เกิดแก่ประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งอาจเกิดผลกระทบกับการบริการสาธารณสุขของบุคลากรทางการแพทย์ พล.ต.ท.น.พ.จงเจตน์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการบริหารแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ประชุมร่วมกันและมีมติว่า รัฐบาลควรถอนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาก่อนชั่วคราว เพื่อพิจารณารายละเอียดให้เหมาะสมและลดความขัดแย้งในสังคม โดยตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ1.บุคลากรทางการแพทย์ 2.ภาคประชาชน และ3.ตัวแทนภาครัฐ ร่วมกันพิจารณาและแก้ไขในประเด็นที่มีความขัดแย้ง เพื่อให้มีความสมบูรณ์และเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด “หากร่างฉบับดังกล่าวผ่านเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็จะถกเถียงในประเด็นต่างๆ ลำบาก และไม่ครอบคลุมประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งหากถอนร่างออกมาแล้วก็เสนอกลับเข้าไปใหม่ได้ไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างไร” พล.ต.ท.น.พ.จงเจตน์กล่าว รศ.น.พ.ประเสริฐ ศัลย์วิวรรธน์ เลขาธิการแพทยสมาคม กล่าวว่า หากพิจารณาจากหลักการและเหตุผลจะเห็นได้ว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่หากดูลึกลงไปในรายละเอียดเนื้อหาบางประเด็นของร่างพ.ร.บ.ยังกำกวมและวางหลักเกณฑ์ไว้อย่างกว้างๆ ยังไม่เจาะลึกลงไปในรายละเอียด รวมทั้งยังต้องออกกฎหมายลูกออกมาเพื่อรองรับให้มีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้จุดประสงค์ของร่างพ.ร.บ.ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการสาธารณสุข ซึ่งขัดกับเนื้อหาบางประเด็นที่ว่าหากจ่ายเงินทดแทนแก่ผู้เสียหายไปแล้ว หากผู้เสียหายประสงค์จะฟ้องร้องต่อแพทย์ก็สามารถกระทำได้ ซึ่งตรงนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันมาก วันเดียวกันที่แพทยสภา เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชมรมเพื่อนโรคไต มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิสุขภาพไทยสมาคมผู้บริโภคสงขลา สมาคมผู้บริโภคขอนแก่น และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ประมาณ 30 คนเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงแพทยสภา พร้อมกับนำเทียนพรรษาขนาดใหญ่ 2 เล่มมาจุดบริเวณหน้าป้ายแพทยสภา เพื่อเรียกร้องและผลักดันร่าง พ.ร.บ.ผู้เสียหายทางการแพทย์ พ.ศ. ... โดยมี น.พ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภา เป็นตัวแทนรับหนังสือ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าวว่า ข้อมูลที่แพทยสภานำเสนอออกมาขณะนี้เป็นการให้ข้อมูลด้านเดียว เป็นข้อมูลที่มีอคติให้ร้ายร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ให้การรักษากับผู้ป่วย จึงต้องเดินทางมาเพื่อเตือนสติแพทยสภาให้อยู่ในศีลธรรม เลิกให้ข้อมูลที่เป็นเท็จเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ทั้งที่แพทยสภามีตัวแทนอยู่ในการร่วมร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมาตลอด แต่กลับบอกว่าเป็นร่างที่เกิดจากเอ็นจีโอ และผู้หญิงสติไม่ดีที่กดดันรัฐบาล ซึ่งมาตราสำคัญของพ.ร.บ. คือ มาตรา6 ลักษณะความเสียหายที่เกิดขึ้น และมาตรา 45 เรื่องฟ้องในคดีอาญา ล้วนเป็นประเด็นที่แพทยสภาและภาคประชาชนร่วมกันทำงานทั้งสิ้น ซึ่งกว่าจะเป็นร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มาจากความเห็นของหลายฝ่ายและได้ลงความเห็นร่วมกันไว้แล้ว “การนำเทียนมาจุด เพราะเห็นว่าขณะนี้แพทยสภากำลังมืดบอด อยากขอให้แพทยสภาหยุดให้ข้อมูลให้ร้ายภาคประชาชน และทำให้เกิดความร้าวฉานมากไปกว่านี้ วันนี้สังคมต้องการข้อเท็จจริงมากกว่าสิ่งใด ถือเป็นเรื่องเศร้าของภาคประชาชนอย่างยิ่งที่ถูกมองว่ากฎหมายฉบับนี้จะนำไปสู่ความไม่เข้าใจ ทั้งที่ทำงานมาเป็นเวลาหลายปี และผ่านความเห็นจากฝ่ายต่างๆ มาแล้ว” นายนิมิตร์กล่าว ขณะที่ น.พ.อำนาจกล่าวว่า แพทยสภามีเจตนารมณ์ที่จะดูแลประชาชน และเพื่อนร่วมวิชาชีพแพทย์ ให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งแพทยสภาหารือร่วมกันและมีมติว่า 1.แพทยสภาได้พิจารณาเนื้อหาของร่างพ.ร.บ. พบว่าสาระสำคัญไม่สอดคล้องกับหลักการและเหตุผลที่กล่าวไว้ หากประกาศบังคับใช้จะไม่สามารถลดความขัดแย้งในระบบบริการสาธารณสุขได้จริง แม้ว่าแพทยสภาจะเห็นด้วยในเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.นี้ 2.หน่วยงานที่มีส่วนได้ส่วนเสียของร่างพ.ร.บ.ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบรายละเอียด และมีส่วนร่วม 3.เนื้อหาของพ.ร.บ.จะมีผลกระทบรุนแรงต่อเนื่องต่อระบบการเงินการคลัง และบริการสาธารณสุขของประเทศ 4.แพทยสภาเสนอให้ขยายการเยียวยาความเสียหายทางการแพทย์ให้ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ ผ่านระบบประกันสุขภาพที่มีอยู่แล้ว 5.ควรถอนร่าง พ.ร.บ.นี้มาทบทวนให้รอบคอบเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงทั้งนี้ ในการประชุมร่วมกันระหว่างภาคประชาชน และแพทย์ในสัปดาห์หน้า แพทยสภาจะนำเสนอประเด็นเหล่านี้นำเสนอด้วย “การถอนร่างพ.ร.บ.ออกมาทบทวนไม่ได้หมายความว่าแพทยสภาอยากให้ล้ม พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ควรนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยมีบุคคลฝ่ายต่างๆ มาวิพากษ์วิจารณ์ แก้ไข และส่งกลับเข้ากระบวนการพิจารณาของสภาใหม่หากปล่อยให้พิจารณาในสภาเลยอาจทำให้เสียเวลาและล่าช้า ซึ่งประเด็นที่แพทยสภาเห็นว่าต้องปรับเปลี่ยน เช่น สัดส่วนของคณะกรรมการที่ควรมีตัวแทนจากสภาวิชาชีพ ในสัดส่วนเท่าๆ กัน เพราะการจะพิจารณาว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการรักษาหรือไม่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญลงความเห็น นอกจากนี้การที่ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ต้องมีหลักเกณฑ์ที่ละเอียดกว่านี้ รวมถึงที่มาของกองทุน และการจ่ายเงินชดเชย จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน" น.พ.อำนาจกล่าว วันเดียวกัน พ.ญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์ร.พ.ศูนย์ และร.พ.ทั่วไป (รพศ./รพท.) กล่าวว่าวันนี้มีแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศจากร.พ.ในสังกัด รพศ./รพท.กว่า 10 แห่งทั่วประเทศ ร่วมแต่งชุดดำ แล้วยืนไว้อาลัยหน้าเสาธง ร.พ.อาทิ จ.บุรีรัมย์ ชลบุรี ราชบุรีสุรินทร์ เชียงใหม่ อย่างไรก็ตามวันที่ 30 ก.ค.นี้เวลา 07.00 น.กลุ่มแพทย์จากทุกจังหวัดจะรวมตัวกันแต่งชุดดำเดินทางมากระทรวงสาธารณสุขเพื่อไว้อาลัยแก่ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน พ.ญ.วารุณี จินารัตน์ ผอ.ร.พ.ราชวิถี กล่าวว่า วันที่ 30 ก.ค.กลุ่มแพทย์ของร.พ.จะเข้าร่วมประท้วงกับ รพศ./รพท.แน่นอน และจะเริ่มแต่งดำปฏิบัติงานตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะได้ความชัดเจนของร่างกฎหมายนี้ ส่วนความห่วงใยจากคนไข้ที่ว่าหากแพทย์เข้าร่วมประท้วงจะไม่มีแพทย์รักษา ขอยืนยันว่าจะมีแพทย์เข้าร่วมเพียงบางส่วนขึ้นกับความสมัครใจ ขณะที่น.พ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ร.พ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวว่า วันนี้มีแพทย์และบุคลากรแต่งดำประท้วงประมาณ100 คนที่หน้าเสาธงร.พ. ยอมรับว่ามีจำนวนไม่มากอย่างที่คิด เนื่องจากหลายคนติดภารกิจและบางคนมีความคิดเห็นเปลี่ยนแปลงไป ด้าน ศ.น.พ.สมศักดิ์ โล่เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า สภาวิชาชีพทั้ง 6 ประกอบด้วยแพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภาการพยาบาล สภากายภาพบำบัดและสภาเภสัชกรรม ได้หารือเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขมีความเห็นคัดค้านร่างพ.ร.บ.ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของครม. อย่างไรก็ตามวันที่ 2 ส.ค.นี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข เชิญผู้แทนสภาวิชาชีพทั้ง 6 เข้าหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต่อมาเวลา 15.00 น.เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์และเครือข่ายผู้บริโภค ประมาณ 30 คน เข้าพบ น.พ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง น.พ.ไพจิตร์กล่าวสรุปว่าเท่าที่รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ต่างเห็นด้วยใน2 หลักการว่า ประชาชนที่ได้รับความเสียหายต้องได้รับการดูแล และบุคลากรแพทย์ พยาบาลจะต้องทำงานด้วยความสบายใจ ไม่กังวลเรื่องฟ้องร้อง หรือภาระที่จะเกิดขึ้นภายหลังการรักษา เมื่อเห็นชอบร่วมกันในหลักการแล้วก็ต้องหาวิธีทำให้เกิดหลักการทั้ง 2 เรื่องต่อไปโดยจะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้หารือ พูดคุยกันเพื่อทำความเข้าใจและหาจุดยืนร่วมกัน ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวหากไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นก็กระทำได้ แต่ขอให้พิจารณาตามความเหมาะสมทั้งนี้ มอบหมายปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานไกล่เกลี่ยสร้างความสมานฉันท์ในกลุ่มแพทย์ พยาบาลที่คัดค้าน และภาคประชาชนที่สนับสนุน ส่วนการขยายมาตรา 41 ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพในการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายทางการแพทย์ ให้ครอบคลุมสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการนั้น ขอปฏิเสธตอบคำถามเรื่องนี้เนื่องจากต้องการให้บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ กลุ่มแพทย์ และบุคลากรด้านสาธารณสุข ของ ร.พ.หลายแห่งทั่วประเทศ อาทิ ร.พ.ศูนย์อุดรธานี ร.พ.หนองคายร.พ.ศูนย์ยะลา ร.พ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก ร.พ.พิจิตร ร.พ.ราชบุรี ร.พ.สตูล เป็นต้น พร้อมใจกันแต่งชุดดำทำงาน จากนั้น เวลาประมาณ 12.00 น.ที่หน้าเสาธงทุก ร.พ.มีการอ่านแถลง การณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางสาธารณสุข โดยเรียกร้องให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ออกจากสภาผู้แทนฯ แล้วตั้งกรรมการจากทุกฝ่ายมาหาข้อสรุปอีกครั้ง มิฉะนั้นจะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้านต่อไป ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||
TDRI เผยอนาคตรัฐสวัสดิการ ปชช.หนุน"การศึกษา" มาอันดับ1 ถ้ารัฐทำได้ไม่ทุจริต ยินดีจ่าย VAT10% Posted: 29 Jul 2010 12:16 PM PDT TDRI เผยผล “ประชาเสวนา” 14 จังหวัด มองอนาคต 10 ปี สวัสดิการสังคมที่คนไทยต้องการ จัดอันดับสวัสดิการ 6 ข้อ การศึกษามาวิน ตามด้วยการรักษาพยาบาล ชี้ถ้ารัฐทำได้จริงไม่มีปัญหาทุจริต ยินดีจ่ายภาษีเพิ่ม <!--break--> ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาท่ามกลางสถานการณ์ความไม่ปกติของสังคมไทย ก่อนที่รัฐบาลจะมีนโยบายทำเรื่องปรองดองและเน้นสวัสดิการสังคมเป็นวาระแห่งชาติ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้ร่วมกับภาคีหลายองค์กรดำเนินกระบวนการที่เรียกว่า “ประชาเสวนา” โดยสุ่มตัวแทนประชาชนคนธรรมดามาพูดคุยกันเรื่องสวัสดิการสังคมของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า และเชื่อว่าการมีสวัสดิการที่เหมาะสมจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นสาเหตุของความขัดแย้งในสังคมได้ “รัฐสวัสดิการ ถ้าทำได้จริง ก็ยินดีจ่ายภาษีเพิ่ม” นี่คือเสียงสะท้อนจากตัวแทนประชาชนในวงประชาเสวนาทั้ง 14 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ น่าน ลำพูน กำแพงเพชร ภาคกลาง ปทุมธานี สระบุรี ระยอง กาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สุรินทร์ ขอนแก่น หนองคาย เลย ภาคใต้ ชุมพร กระบี่ สงขลา โดยมีการจัดลำดับความสำคัญสวัสดิการ 6 ประเภทที่ควรทำคือ การศึกษา การรักษาพยาบาล การพัฒนาทักษะแรงงาน สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ สวัสดิการสำหรับผู้ว่างงาน และสวัสดิการสำหรับผู้ด้อยโอกาส พร้อมเหตุผลประกอบ ผู้รับผิดชอบ และเงินที่ใช้ เป็นแนวทางการจัดสวัสดิการสังคมอย่างครบวงจรในสายตาประชาชน น.ส.สุวรรณา ตุลยวศินพงศ์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 โจทย์ใหญ่ คือ อยากรู้ว่าสวัสดิการสังคมในอีก 10 ปีข้างหน้าของคนไทยควรเป็นอย่างไร โดยใช้เครื่องมือของกระบวนการประชาเสวนา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเคยใช้ในการทำ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ หัวใจสำคัญของกระบวนการประชาเสวนา ประการแรกคือ การสุ่มหากลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนประชากรจังหวัดละ 50 คน กระจายตามโครงสร้างประชากรจริงทั้งในด้าน อายุ เพศ การศึกษา และอาชีพ ซึ่งพบว่าผู้เข้าร่วมเสวนาเป็นตัวแทน “ชาวบ้านธรรมดา” จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ในจังหวัดเดียวกันแต่ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ประการที่สอง เป็นข้อแตกต่างของกระบวนการประชาเสวนาเมื่อเปรียบเทียบกับการสอบถามทัศนคติหรือการทำโพลทั่วไปคือ ต้องมีการให้ข้อมูลพื้นฐานที่ “ไม่มีอคติลำเอียง” ก่อนการเสวนา เช่น ในการเสวนาครั้งนี้ได้มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์สวัสดิการที่คนไทยได้รับในปัจจุบัน และตัวอย่างการจัดสวัสดิการในประเทศต่างๆ โดยเลือกมา 3 แบบ คือ การจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย สวัสดิการที่จัดให้เฉพาะกลุ่มคนจน เช่นในสหรัฐอเมริกา และการจัดสวัสดิการให้ตามกลุ่มอาชีพ เช่น ประเทศเยอรมัน นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอทั้งข้อดีและข้อด้อยของระบบสวัสดิการดังกล่าวโดยให้น้ำหนักเท่าๆ กัน เมื่อตัวแทนประชาชนได้รับข้อมูลพื้นฐานสำหรับการเสวนาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการให้ตัวแทนประชาชนได้ใช้เวลาคิดไตร่ตรองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการเสวนากลุ่มย่อย กลุ่มละ 10-12 คน โดยมีวิทยากรกระบวนการช่วยดำเนินการให้ตัวแทนประชาชนเกิดการแสดงความคิดเห็นในกลุ่มย่อยอย่างเท่าเทียมกัน เริ่มจากให้ผู้เข้าร่วมเสวนาเลือกว่าอยากจะพูดคุยสวัสดิการประเภทไหนก่อน โดยมีโจทย์ของการพูดคุยในแต่ละสวัสดิการคือ ทำไมต้องการสวัสดิการนั้น ใครเป็นคนทำ ทำอย่างไร ใช้เงินจากไหน เมื่อจบการเสวนาในกลุ่มย่อยแล้ว ทุกกลุ่มก็จะนำข้อสรุปมาเรียนรู้ร่วมกันอีกครั้ง ผลจากกระบวนการเสวนานี้ พบว่า ตัวแทนประชาชนให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการด้านการศึกษาให้ประชาชนทุกคนมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานของชีวิต และจะนำมาซึ่งโอกาสในด้านต่างๆ ที่จะทำให้มีชีวิตที่ดี ทั้งงาน สุขภาพ และมีเงินออมดูแลตัวเองเมื่อสูงวัยไม่ต้องพึ่งคนอื่นมากนัก ดังนั้น ถ้าการศึกษาดีก็จะมีผลต่อสวัสดิการอื่นๆ “สิ่งที่น่าประทับใจคือ ชาวบ้านเลือกการศึกษามาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะเห็นความสำคัญของการศึกษาว่าจะทำให้หลุดพ้นความยากจนได้ สมัยนี้ถ้าไม่จบปริญญาตรีก็หางานลำบาก หรือถ้าได้งานก็ไม่ดีเป็นลูกจ้างรายวัน สวัสดิการไม่ดี ฯลฯ นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านเขาเห็นและเป็นสิ่งที่เขาเผชิญอยู่ในชีวิตประจำวัน และยังมองว่าเรื่องการศึกษาไม่ได้แค่เรื่องงบประมาณที่จัดให้ครอบคลุมทุกปี แต่เป็นเรื่องคุณภาพมาตรฐานของการศึกษาด้วยที่ต้องเท่ากัน ด้วยจึงแก้ปัญหาได้” ทั้งนี้ ตัวแทนประชาชนได้สะท้อนความต้องการโดยปรับปรุงจากปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ อยากให้รัฐเข้ามาดูแลให้ทุกคนมีการศึกษาพื้นฐานตั้งแต่ระดับอนุบาล – ม.6 สวัสดิการการศึกษาต้องครอบคลุมค่าใช้จ่ายหลักในการศึกษา เช่น ค่าเทอม ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ฯลฯ โดยผู้ปกครองออกเองบางส่วน ส่วนการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ยังมีความเห็นแตกต่างทั้งที่คิดว่าควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า กับกลุ่มที่เห็นว่าควรให้เฉพาะกลุ่มยากจนแต่เรียนดี อาจให้เฉพาะสาขาที่ขาดแคลน เช่น แพทย์ พยาบาล ฯลฯ เพื่อไม่ให้เด็กจบปริญญาตรีมาแล้วตกงาน เป็นปัญหาว่างงาน อันดับ 2 คือ การรักษาพยาบาล เป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญของชีวิตเช่นเดียวกับการศึกษา รัฐควรเน้นเรื่องคุณภาพการรักษาพยาบาล ให้มีมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่ดีและเพียงพอ พัฒนาแพทย์แผนไทยให้ความรู้แก่ชุมชนเพื่อที่ประชาชนจะดูแลกันเองได้ในกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง เช่น การออกกำลังกาย สิ่งเหล่านี้เป็นความร่วมมือกันของคนในชุมชนที่หลายอย่างประชาชนทำและดูแลกันเองได้ โดยไม่ต้องใช้เงินมาก สำหรับสวัสดิการเรื่องอื่นๆ ซึ่งตัวแทนประชาชนให้ความสำคัญรองลงมาตามลำดับคือ การพัฒนาทักษะแรงงาน สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน และผู้ด้อยโอกาส สาเหตุที่สวัสดิการเหล่านี้ถูกจัดลำดับรองลงมาเพราะตัวแทนประชาชนเห็นว่า หากรัฐบริหารจัดการสวัสดิการเรื่องการศึกษาและการรักษาพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วจะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้มีปัญหาด้านอื่นๆ น้อยลง และไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปแก้ไข โดยอันดับ 3 การพัฒนาทักษะแรงงาน เป็นสวัสดิการที่จัดให้คนวัยทำงาน ควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า ปรับปรุงการจัดฝึกพัฒนาฝีมืออาชีพต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ การฝึกอาชีพบางอย่างอาจต้องทำเรื่องของการหาตลาดให้ด้วย เช่น การแปรรูปอาหารต่างๆ อันดับ 4 สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ควรปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า และควรมีมาตรการเสริมโดยส่งเสริมการออมในวัยทำงานให้มากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมความอบอุ่นของครอบครัว ความกตัญญู การดูแลกันในชุมชน โดยมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ให้คนว่างงานในหมู่บ้านมาอบรมการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งก็เท่ากับแก้ปัญหาการว่างงานไปด้วย เป็นต้น อันดับ 5 สวัสดิการสำหรับผู้ว่างงาน ควรมีการจัดระบบให้คนที่อยู่นอกระบบประกันสังคมมีโอกาสเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้น โดยรัฐเข้ามาร่วมสมทบจ่ายให้เช่นเดียวกับแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม ส่วนอันดับสุดท้าย สวัสดิการสังคมสำหรับผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้พิการ ซึ่งเชื่อว่ามีจำนวนไม่มากและหากทำสวัสดิการข้างต้นได้ดี ครอบครัวร่วมกับชุมชน ก็สามารถช่วยเหลือ ดูแลคนพิการเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ควรมีการดูแลกลุ่มผู้ด้อยโอกาสกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น กลุ่มพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ก็ควรมีการจัดศูนย์รับเลี้ยงเด็กในชุมชน เพื่อช่วยให้พ่อแม่สามารถออกไปทำงานเลี้ยงดูครอบครัวได้ น.ส.สุวรรณา กล่าวต่ออีกว่า เมื่อถามว่าสวัสดิการเหล่านี้ใครจะเป็นคนทำ และใช้เงินจากไหน ตัวแทนประชาชนที่ร่วมเสวนาเสนอว่า งานบางส่วนที่มาจากนโยบายส่วนกลาง รัฐบาลกลางก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น ในเรื่องหลักสูตรการศึกษา การรักษาพยาบาล แต่คนลงมือปฏิบัติอยากให้เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีความใกล้ชิดประชาชนและเข้าใจความต้องการของท้องถิ่นดีกว่ารัฐบาลกลาง เงินที่ใช้ในการจัดสวัสดิการก็มาจากภาษี และมีหลายอย่างที่ให้ชุมชนจัดการได้เอง เช่น การทำศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ศูนย์เลี้ยงเด็ก ฯลฯ เป็นเรื่องของคนในชุมชนดูแลกัน นอกจากงประมาณที่เก็บจากภาษีแล้ว ก็ควรจะมีการออมในชุมชน และงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาสมทบในการจัดสวัสดิการด้วย นอกจากนี้ ในการเสวนายังเปิดให้ตัวแทนประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 10% เพื่อนำภาษีที่เก็บได้เพิ่มขึ้นมาจัดสวัสดิการทั้ง 6 ประเภท ตัวแทนประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าหากรัฐสามารถจัดสวัสดิการทั้ง 6 ประเภทได้อย่างมีคุณภาพตามที่ประชาชนต้องการจริง พวกเขายินดีจ่ายภาษีเพิ่ม แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการรั่วไหลของงบประมาณหรือทุจริตคอรัปชั่น แต่ตัวแทนประชาชนบางส่วนก็เห็นว่าควรเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% เฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เหล้า บุหรี่ และภาษีคนรวย (ที่ดิน มรดก) อีกส่วนหนึ่งเสนอว่า หากรัฐสามารถจัดการจัดเก็บภาษีให้ครบทุกคน จัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพและไม่รั่วไหล ก็น่าจะมีเงินพอจะมาทำสวัสดิการเหล่านี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเก็บภาษีเพิ่ม เป็นต้น น.ส.สุวรรณา กล่าวว่า กระบวนการประชาเสวนาที่ให้ข้อมูลและเปิดให้ประชาชนได้มีเวลาไตร่ตรองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการสังคม ซึ่งมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขาเอง ช่วยให้รัฐได้รับทราบข้อมูลความต้องการที่แท้จริงจากประชาชนเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการสังคม และเห็นถึงความยินดีร่วมมือหรือแม้แต่การจ่ายภาษีเพิ่ม หากสวัสดิการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จริง โดยผลที่ได้จากการประชาเสวนาดังกล่าวจะถูกส่งต่อให้ภาครัฐเพื่อใช้พิจารณาประกอบการจัดทำแผนการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคประชาชนตามที่รัฐบาลได้มีการกำหนดให้สังคมสวัสดิการเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการกำหนดเป้าหมายให้ภายในปี 2560 จะให้ประชาชนได้รับสวัสดิการถ้วนหน้าต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||
ศาสนาของคำ ผกา ตอนที่ 1: ความดีเป็นเรื่องอัตวิสัย Posted: 29 Jul 2010 10:33 AM PDT วิจักขณ์ พานิช สัมภาษณ์คำ ผกา คอลัมนิสต์สาวปากคอเราะร้าย ที่ยืนยันตัวตนของเธอเองว่าเป็นคนที่ไม่มีสำนึกเกี่ยวกับเรื่อง "ธรรมะ" "จิตวิญญาณ" หรือ "ภายใน" แต่แรงขับเคลื่อนในชีวิตเธอ คือ ราคะ โทสะ โมหะ และความดีเป็นเรื่องส่วนบุคคล <!--break--> คำ ผกา เป็นคอลัมนิสต์ปากคอเราะร้าย เธอยืนยัน ว่าเธอเป็นคนที่ไม่มีสำนึกเกี่ยวกับเรื่อง "ธรรมะ" "จิตวิญญาณ" "ภายใน" อะไรเลยแม้แต่นิดเดียว เธอมี Passion กับการด่าและการวิพากษ์ ชวนคนคุยเรื่องกินกับปี้ แรงขับเคลื่อนในชีวิตของเธอ คือ ราคะ โทสะ โมหะ อยากทำอะไรเธอก็ทำ ภายใต้การเคารพในสิทธิ เสรีภาพ และกติกาการต่อรองผลประโยชน์ที่เป็นธรรมทางสังคม สิ่งที่เธอแสดงให้เห็นอย่างเปิดเผย ก็คือ... ชีวิตคนคนหนึ่ง มีอิสรภาพและศักยภาพที่จะเติบโต เรียนรู้ รื่นรมย์ และมีคุณค่าได้ท่ามกลางสิ่งเหล่านั้น อย่างที่ไม่ต้องรู้สึกผิด และไม่จำเป็นต้องรู้ว่า "ธรรมะ" หรือ "จิตวิญญาณ" คืออะไร วิจักขณ์: สำหรับชาวพุทธที่เอาความสุขเป็นตัวตั้ง เค้าคงไม่ค่อยชอบคนที่ชวนตี วิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามกับทุกๆ เรื่อง ยิ่งหากเป็นกระแสของการปฏิบัติธรรมที่มาแรงมากทุกวันนี้ ก็จะมีคำเชิญชวนทำนองที่ว่า “ทุกอย่างต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน อย่ามัวสนใจสิ่งนอกตัว ขอแค่ทุกคนดูใจตัวเอง ดูแลจิตดูแลใจตัวเองให้ดี ไม่ให้ถูกขับเคลื่อนด้วยกิเลสตัณหา ไม่ต้องไปต่อว่าคนอื่น ไปต้องไปมัวมองใคร ขอแค่ทุกคนหันมาสนใจเรื่องภายใน ทุกอย่างมันก็จะดีเอง ตัวระบบมันก็จะเปลี่ยนไปสู่สังคมอันผาสุกเอง หากมนุษย์มีจิตใจที่ดีงามเป็นพื้นฐาน” คำ ผกา: เยอะนะคนคิดอย่างนี้ วิจักขณ์: ซึ่งจริงๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันเป็นความปรารถนาที่งดงาม แต่ในมิติทางสังคมและระบบของการอยู่ร่วมกันมันจะ practical รึเปล่า คำ ผกา: ฟังแล้วมันก็เหมือนจะดีนะคะ แต่ถามว่า ปลูกข้าวแล้วขายไม่ได้ราคา ไม่มีน้ำจะทำนา แล้วถามว่า น้ำถูกเอาเข้าเมืองเพื่อที่จะเอาไปทำไฟฟ้า ในขณะที่รัฐบาลขอร้องให้ชาวนาหยุดหรือชะลอการทำนา ในเมื่อเราอยู่ในสังคมแบบนี้ แล้วจะให้ชาวนาเค้ามานั่งดูจิตใจตัวเองเหรอ คนไม่มีข้าวจะกิน ไม่มีเงินจะใช้ เป็นหนี้ แล้วคนมันจะมานั่งดูจิตใจตัวเองอยู่ได้ยังไง คนที่พูดอย่างนี้เค้าไม่ได้มองเห็นว่า มันไม่มีความเป็นธรรมอยู่ในสังคม แต่ความเป็นธรรมมันจะเกิดขึ้นได้ เราก็ไม่สามารถไปบังคับให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ มันจะมีระบบอะไรที่ “สั่ง” ให้ทุกคนเป็นคนดี แล้วยังต้องมีความเป็นธรรมในจิตใจด้วย เราอยู่ในโลกที่มีทรัพยากรอันจำกัด เพราะฉะนั้นปัญหาก็คือการจัดสรรทรัพยากร การเมืองคือการจัดสรรเรื่องอำนาจ การจัดสรรเรื่องทรัพยากร คนตั้งหกสิบ เจ็บสิบล้านคน คุณจะเอาระบบอะไรมาจัดการ ให้คนได้ใช้น้ำใช้ไฟ ใช้ infrastructure ในสังคมได้ โดยไม่กระทบกระทั่งกันมาก ยังไงมันก็นึกไม่ออกน่ะ ว่ามันจะใช้วิธีนั่งดูใจ เป็นคนดี แล้วใครจะไปบอกว่าเขื่อนควรอยู่ตรงไหน ใครควรได้น้ำเท่าไหร่ เพราะเราไม่ได้อยู่ในสังคมหมู่บ้านที่มีคน 20 คน แล้วคน 20 คนก็มาประชุมกันได้ทุกวัน นั่งแลกเปลี่ยน นั่งถกเถียงกันได้ทุกวัน วิจักขณ์: มันเป็นสมมติฐานที่ว่าคนดี ดีเพราะไม่มีโลภ โกรธ หลง ดังนั้นสังคมที่ดี ถ้าได้คนดีมาบริหารบ้านเมืองก็จะบริหารบ้านเมืองไปสู่สังคมที่ดี ที่ปราศจากโลภ โกรธ หลงได้ อย่างนั้นหรือเปล่า คำ ผกา: อือ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ แม้แต่คนที่พูดเองเค้ายังมีเลย แขกว่าคนกำลังสับสนโลกสองแบบอยู่หรือเปล่า คือโลกโลกย์แบบมนุษย์ปุถุชน กับโลกแบบโลกุตตระซึ่งมันไม่มีจริงที่ว่าทุกคนนิพพานหมด ทุกคนเป็นพระอรหันต์หมด มันก็ไม่ต้องมีสังคมอย่างที่เราอยู่กันทุกวันนี้ แต่โลกทุกวันนี้ มันเป็นโลกของมนุษย์ปุถุชน แล้วเราจะจัดการกับมนุษย์ปุถุชนยังไงไม่ให้มันทุบหัวกัน ฆ่ากัน เราก็ผ่านยุคนั้นมาแล้วนะ ยุคตีหัวลากเข้าถ้ำอะไรแบบนั้น ยุคแบบแย่งเนื้อสัตว์ แย่งผลผลิตทางการเกษตรกัน หรือว่าแย่งที่ดิน แย่งน้ำ เราก็ผ่านยุคแบบนั้นมาแล้ว แล้วเราก็คิดระบบการเมืองตั้งหลายระบบมา ในช่วงพัน สองพันปี ที่มีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าตัวเองว่ามนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ คนที่มองแบบนี้มันโรแมนติกไปมั๊ย แล้วก็ไม่ได้เข้าใจว่าโลกนี้มันเป็นโลกของมนุษย์ที่มีกิเลส เป็นมนุษย์ปุถุชนที่มีความต้องการมากน้อยต่างกันไป ซึ่งทุกคนก็มีสิทธิเสรีภาพในความเป็นปุถุชนแบบที่เขาเป็นนั้น วิจักขณ์: ความสนใจใน “ธรรมะ” อาจสนใจแต่ “ธรรมะ” แต่ไม่สนใจ “โลก(ย์)” หรือเปล่า ซึ่งอันนี้ก็เลยเป็นคำถามที่ว่าความเข้าใจใน “ธรรมะ” ที่ว่านั้น รากฐานของมันอยู่ตรงไหน คำ ผกา: แขกว่าพวกนี้มันแคบน่ะ คือแขกนึกไม่ออกเลยจริงๆ อย่างแขก แขกเข้าใจไม่ได้ ว่าความคิดแบบนี้มันคิดขึ้นมาได้ยังไง.. ลองมองให้ดีสิ ความดีมันเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากๆ เลย แล้วมันก็เป็นอัตวิสัยมากๆ ดีสำหรับเราอาจจะไม่ดีสำหรับคนอื่น แล้วถ้าเกิดว่าแขกเป็นคนดี ตั้มเป็นคนดี คนอื่นก็เป็นคนดี แต่ว่าเงื่อนไขที่อยู่แวดล้อมคนแต่ละคนมันก็ไม่เหมือนกัน หน้าที่อาชีพก็ไม่เหมือนกัน ความใฝ่ฝันก็ไม่เหมือนกัน ความต้องการพื้นฐานอาจจะเหมือนกัน แต่มากน้อยอย่างไรก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นสมมติว่าเรามีความฝันถึงอนาคต ที่ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนที่เค้าเป็นชาวนาชาวไร่ก็มีอนาคตมีความฝันของเขาแบบนึง เราเป็นคนชั้นกลางแบบนี้ เราก็ฝันถึงอนาคตอีกแบบนึง ฝันอยากมีบ้าน ก็ยังมีบ้านกันคนละแบบเลย แค่นี้ยังต่างกัน แล้วจะมาบอกให้ทุกคนเป็นคนดี (หัวเราะ) แล้วแค่ไหนล่ะถึงจะเรียกว่าดี แค่ไหนถึงจะเรียกว่าดีมากไปมั๊ย ดีน้อยไปมั๊ย หรือยังดีไม่พอหรือเปล่า วิจักขณ์: “ความดีเป็นเรื่องอัตวิสัย” เพราะมันสะท้อนถึงการให้คุณค่าของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน คำ ผกา: อื้อ ก็ดูสิ วัฒนธรรมของแต่ละสังคมเรื่องความดี ยังไม่เหมือนกันเลย วิจักขณ์: ความดีสะท้อนถึงมิติเรื่องคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นทางจิตใจหรือทางสังคมก็ดี คุณแขกกำลังชี้ว่าเราต้องมองผ่านแง่มุมทางอัตวิสัย ไม่ใช่ว่าจู่ๆก็จะมาพูดว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของความดีงาม เป็นเรื่องอนิจจัง อนัตตา จนราวกับว่าทุกอย่างกลายเป็นพิมพ์เดียวกันหมดในรายละเอียด คำ ผกา: ใช่ ใช่ ...แล้วกลับไปดูใจตัวเอง แล้วไงล่ะ ดูแล้วไง แล้วคุณจะเอาดีแค่ไหนล่ะ พุทธศาสนายังมีกี่ร้อยกี่พันนิกายเลย แต่ละนิกายก็ยังนิยามความดี ความไม่ดี การปฏิบัติก็ยังไม่เหมือนกันเลย อันนี้กินเหล้าได้ อันนี้มีเมียได้ อันนี้ต้องใส่ผ้าสีนี้ อันนั้นต้องใส่ผ้าสีนั้น อันนั้นต้องโกนหัว อันนี้ไม่โกนหัว อ้าวแล้วยังไง แค่นี้ยังไม่เหมือนกันเลย แค่ความดีที่เป็น discipline พื้นฐาน วิจักขณ์: แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนใจอะไรกว้างอย่างนั้นรึเปล่า เค้าอาจจะมีศรัทธาแน่วแน่อยู่ในสายหนึ่งสายใด ที่มันก็ตอบโจทย์เรื่องคุณค่าของเขาได้แล้ว ก็เลยไม่ได้ไปสนใจสายปฏิบัติอื่น คำ ผกา: ก็ควรจะมองได้แล้ว (หัวเราะ) แล้วก็เลิกเอาความคิดเห็นของตัวเองไปตัดสินคนอื่น แล้วก็เลิกคิดได้แล้วว่า ถ้าคนทุกคนเป็นคนดี ปฏิบัติธรรม ทำหน้าที่ของตัวเอง แล้วสังคมจะสงบสุข คือแขกมองว่า คนที่มองแบบนี้ไม่เคยมีปัญหาในชีวิตจริงๆ คือเป็นกลุ่มคนที่มีความสะดวกสบายในชีวิตระดับหนึ่ง มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตตัวเองมากพอ ที่จะไปนั่งหลับตาอยู่เฉยๆ มันต้องว่างอ่ะ (เน้นเสียง) แล้วมันก็ต้องไม่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ มันถึงจะไปทำอย่างนั้นได้ แล้ว...ไม่รู้นะคะ ไอ้การขัดเกลาจิตใจเนี่ย จริงๆ แล้วมันก็มีอีกตั้งหลายวิธีที่ไม่ใช่การนั่งหลับตาหรือการภาวนาใช่มั๊ยคะ คือคนที่ทำกิจกรรมอย่างอื่นเค้าก็อาจจะมีกิจกรรมในชีวิตประจำวันเค้าหรือว่างานที่เค้าทำอยู่ มันก็เป็นกระบวนการที่เค้าได้ฝึกจิตใจในแบบของเค้า ซึ่งมันก็อาจจะไม่เหมือนกับเราก็ได้ ___________________________ บ้านตีโลปะ www.tilopahouse.com
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : บทเรียนจากการเคลื่อนไหวพฤษภาคม 2553 (1) Posted: 29 Jul 2010 09:50 AM PDT <!--break--> การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยในช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2553 เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย แม้จะยุติลงด้วยการสังหารหมู่ประชาชนอย่างโหดเหี้ยม เป็นความเสียหายครั้งใหญ่ของฝ่ายประชาธิปไตยก็ตาม แต่ในวันข้างหน้า เมื่อประเทศไทยบรรลุถึงประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้ว ผู้คนก็จะหันกลับมามองและเห็นว่า การต่อสู้ในครั้งนี้มิได้สูญเปล่า หากแต่เป็นก้าวเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะของประชาธิปไตยในที่สุด ขบวนการประชาธิปไตยได้เรียนรู้จากการเพลี่ยงพล้ำเมื่อ 12-14 เมษายน 2552 สรุปบทเรียน ศึกษาเรียนรู้ ขยายการรวมกลุ่มจัดตั้ง สามารถฟื้นตัวกลายเป็นพลังทางการเมืองที่เข้มแข็ง การเคลื่อนไหวที่ยืดเยื้อและยากลำบากเมื่อมีนาคม-พฤษภาคม 2553 แสดงให้เห็นว่า ในเวลาเพียงหนึ่งปี มวลชนได้ยกระดับขึ้นอย่างมากทั้งในด้านขวัญกำลังใจ ความรับรู้ ความทุ่มเทเด็ดเดี่ยว เสียสละ สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างพลิกแพลง แต่ในระหว่างนี้ ได้มีข้อถกเถียงอย่างต่อเนื่องในประเด็นแนวทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) “แดงทั้งแผ่นดิน” การสังหารหมู่ 19 พฤษภาคม 2553 ยิ่งทำให้มีข้อโต้แย้งที่แหลมคมมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาจากผลสำเร็จและจุดอ่อนของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพื่อเป็นบทเรียนแก่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในขั้นต่อไป 1. ท่าทีของการวิจารณ์ ท่าทีในการวิพากษ์วิจารณ์จึงควรกระทำอย่างมิตร แลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นเพื่อให้ความรับรู้ตรงกัน วิจารณ์จุดอ่อนเพื่อสรุปบทเรียนอย่างถูกต้อง ไม่เอาความขัดแย้งส่วนบุคคลมาปะปน ยิ่งไม่ควรโจมตีกัน โยนความผิดทั้งหมดไปให้แกนนำโดยไม่จำแนก กระทั่งเอาข้อมูลเท็จและข่าวลือมาไส้ไคล้กัน แต่ต้องถือเอาประโยชน์ของขบวนการประชาธิปไตยโดยรวมเป็นที่ตั้ง เพื่อให้การเคลื่อนไหวได้พัฒนายกระดับ ไปบรรลุประชาธิปไตยที่แท้จริง การสังหารหมู่ประชาชนครั้งใหญ่ในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นอาชญากรรมนองเลือดอีกครั้งหนึ่งที่เผด็จการอำมาตยาธิปไตยได้กระทำต่อประชาชนไทย แม้ว่าแกนนำและมวลชนอาจกระทำผิดพลาดทางการเมืองและยุทธศาสตร์ยุทธวิธีบางประการ แต่ประชาชนมาชุมนุมด้วยมือเปล่า อย่างสันติ เพียงเรียกร้องการยุบสภาภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ 2550 ฝ่ายเผด็จการไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้นในการใช้กำลังรุนแรงเข่นฆ่าประชาชน และไม่มีความผิดพลาดใด ๆ ของแกนนำ นปช.ที่จะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อลบล้างความจริงข้อนี้ได้ 2. แนวทาง “สันติวิธี” กับเป้าหมายเฉพาะหน้า “ให้ยุบสภา” ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ฝ่ายประชาธิปไตยเริ่มต้นเป็นเพียงขบวนการต่อต้านรัฐประหารและเรียกร้องเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับคืนมา แต่จากการเรียนรู้สั่งสมประสบการณ์ ทำให้ขบวนการประชาธิปไตยพัฒนาขยายเติบใหญ่ ยกระดับความรับรู้ถึงขั้นเข้าใจในรากเหง้าอุปสรรคที่แท้จริงของประชาธิปไตยในประเทศไทย กลายเป็นขบวนการที่มีการจัดตั้งและมีการนำในระดับหนึ่ง มีเป้าหมายที่มุ่งช่วงชิงประชาธิปไตยแท้จริงที่ “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ทำให้การเคลื่อนไหวได้ยกระดับคุณภาพขึ้น จนมี “ลักษณะปฏิวัติประชาธิปไตย” แต่การต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยนั้นมีหนทางยาวไกล ยืดเยื้อยาวนาน และยากลำบาก ต้องผ่านการต่อสู้หลายขั้นตอน แต่ละขั้นมีลักษณะ วิธีการ เป้าหมายเฉพาะหน้าและคำขวัญที่ต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับดุลกำลังเปรียบเทียบระหว่างฝ่ายเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตย ในปริบทนี้ “แนวทางสันติ” ของ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน เป็นมิติหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และถูกกำหนดจากเงื่อนไขเฉพาะคือ ฝ่ายเผด็จการเข้มแข็งอย่างยิ่ง เพียบพร้อมไปด้วยสรรพกำลังทางกฎหมาย อาวุธ และอุดมการณ์ ควบคุมพื้นที่ทางการเมืองและภูมิศาสตร์ไว้ทั้งหมด โดยยอมเปิดพื้นที่ทางการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ในทางตรงข้าม ฝ่ายประชาธิปไตยยังอ่อนเล็กและถูกปิดล้อมทางการเมือง ในสภาพการณ์เช่นนี้ หนทางการพัฒนาและเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตยคือ ใช้ช่องทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เปิดอยู่ให้เป็นประโยชน์ เดิน “แนวทางสันติ” เคลื่อนไหวตามสภาพและโอกาส เพื่อสะสมกำลังและขยายตัว การเดินหนทางอื่นที่มิใช่สันติในสภาพการณ์เช่นนี้ มีแต่จะสร้างความเสียหายให้กับฝ่ายประชาธิปไตย ข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าให้ยุบสภาจึงมีความเหมาะสมกับดุลกำลังเปรียบเทียบในขณะนั้นที่เผด็จการยึดกุมกลไกรัฐ รัฐบาลและรัฐสภาไว้ได้อย่างเด็ดขาด เป็นข้อเรียกร้องขั้นต่ำสุดที่มิใช่ “แตกหักเผชิญหน้า” ไม่ใช่การขับไล่รัฐบาลหรือให้นายกรัฐมนตรีลาออก เพียงแต่ให้มีการเลือกตั้งภายในกรอบรัฐธรรมนูญ 2550 จึงเป็นข้อเรียกร้องที่สมเหตุผลและมีความชอบธรรม สามารถโน้มน้าวประชาชนจำนวนมากที่แม้จะลังเลแต่ยังมีจิตใจรักความเป็นธรรม ให้หันมาสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยได้ ผู้วิจารณ์บางคนกล่าวหาว่า แนวทางสันติและให้ยุบสภาเป็น “แนวทางปฏิรูป” คำถามคือ แล้วสิ่งที่พวกเขาอ้างว่าเป็น “แนวทางปฏิวัติ” คืออะไร? คำตอบหนึ่งที่ได้คือ “การเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตยมาเป็นระบอบประชาธิปไตย” แต่ปัญหาคือ นิยาม “แนวทางปฏิวัติ” ที่ว่านี้ต่างจากเป้าหมายของ นปช. อย่างไร? นปช.แดงทั้งแผ่นดินมิได้กำลังต่อสู้เพื่อโค่นล้มระบอบอำมาตยาธิปไตยอยู่หรอกหรือ? ถ้าผู้วิจารณ์เหล่านี้ปฏิเสธการเรียกร้องให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ เพื่อแก้รัฐธรรมนูญหรือนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาปรับปรุงใช้ใหม่ โดยกล่าวหาว่า เป็น “แนวทางปฏิรูป” แล้วพวกเขาจะให้ประชาชนต่อสู้อย่างไร? บางคนอ้างถึง “แก้วสามประการ” ว่าเป็น “แนวทางปฏิวัติ” ทฤษฎี “แก้วสามประการ” เป็นบทเรียนที่สรุปมาจากประสบการณ์ในการปฏิวัติของจีน ประกอบด้วยพรรคปฏิวัติ กองกำลังติดอาวุธ และแนวร่วมทางการเมือง ทฤษฎีดังกล่าวเกิดขึ้นในปริบทเฉพาะของประเทศจีนยุค ค.ศ.1930-1949 ที่ตกอยู่ในสงครามกลางเมืองและการรุกรานจากต่างชาติ ผู้ปกครองดำเนินระบอบเผด็จการเต็มรูป ไม่มีช่องว่างทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้ฝ่ายต่อต้านได้เคลื่อนไหว ทั้งดำเนินนโยบายเข่นฆ่าจับกุมคุมขังประชาชนอย่างต่อเนื่องยาวนาน ผู้ที่อ้าง “แก้วสามประการ” ไม่มีความเข้าใจถึงรากฐานที่มาและปริบทดังกล่าว ไม่เข้าใจว่า สภาพการณ์ของประเทศไทยและลักษณะเฉพาะของขบวนการประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบันนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง แท้ที่จริง ผู้ที่เสนอทฤษฎี “แก้วสามประการ” กำลังใช้ทฤษฎีดังกล่าวเป็นเครื่องอำพรางความโน้มเอียงในทาง “การทหาร” ของตน ด้วยการประเมินอย่างผิดๆ ว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไทยในขั้นปัจจุบัน “สุกงอม” แล้ว มองไม่เห็นความเป็นจริงเฉพาะหน้าที่ดุลกำลังทั้งทางการเมืองและการทหารของฝ่ายเผด็จการนั้นเหนือกว่าฝ่ายประชาธิปไตยอย่างที่ไม่มีทางเทียบกันได้ ความโน้มเอียงในทางทหารดังกล่าวอาจนำไปสู่การเคลื่อนไหวอย่าง “สุ่มเสี่ยง” เพ้อฝันที่จะใช้ยุทธวิธี “เผชิญหน้าแตกหัก” ในขั้นตอนปัจจุบันไปบรรลุเป้าหมายอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีแต่จะก่อความเสียหายให้แก่ฝ่ายประชาธิปไตยเอง 3. ประเมินความโหดร้ายของฝ่ายเผด็จการต่ำเกินไป แกนนำบางส่วนเชื่ออย่างไร้เดียงสาว่า ฝ่ายเผด็จการจะไม่ใช้กำลังปราบปรามประชาชนอย่างแน่นอนเนื่องจากได้เรียนรู้บทเรียนอดีตหลายครั้งแล้วว่า การใช้กำลังรุนแรงมีแต่จะทำให้ประชาชนยิ่งโกรธแค้น การต่อสู้ยิ่งลุกลามขยายออกไป ฉะนั้น หากฝ่ายประชาธิปไตยเคลื่อนไหวกดดันอย่างเหนียวแน่น ฝ่ายเผด็จการก็จะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องหันมาประนีประนอมอ่อนข้อ (เช่น ด้วยการยุบสภา) แกนนำอีกส่วนยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายเผด็จการจะใช้กำลังปราบปรามประชาชน แต่พวกเขายังคงยึดติดอยู่กับประสบการณ์จากกรณีนองเลือดพฤษภาคม 2535 โดยเชื่ออย่างลมๆ แล้งๆ ว่า หากฝ่ายเผด็จการลงมือปราบปรามประชาชน ความพยายามดังกล่าวจะล้มเหลว และในเมื่อไม่สามารถเอาชนะฝ่ายประชาชนในทางทหารได้อย่างเด็ดขาด เหตุการณ์ก็จะต้องคลี่คลายไปในรูปของ “พฤษภาคม 2535” ด้วยการประนีประนอมและถอยให้กับฝ่ายประชาธิปไตย (เช่น นายกรัฐมนตรีลาออก แล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่) แกนนำส่วนนี้ไม่เข้าใจว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการในวันนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเมื่อพฤษภาคม 2535 เพราะในวันนี้เป็นการต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์ที่ชี้ขาดความอยู่รอดของฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และกระแสประชาธิปไตยทั้งในประเทศและทั่วโลก เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครั้งที่ยิ่งใหญ่และมีลักษณะถึงที่สุดนับแต่ปี 2475 เป็นต้นมา จึงเป็นความขัดแย้งที่แหลมคมและไม่อาจประนีประนอมกันได้ ความล้มเหลวของฝ่ายเผด็จการในการใช้กำลังปราบปรามประชาชนเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 กลับยิ่งไปตอกย้ำการประเมินที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงดังกล่าวทั้งในหมู่แกนนำและในหมู่มวลชนมากยิ่งขึ้น กรณี 10 เมษายน 2553 ก่อให้เกิดความโกรธแค้นและมุ่งมั่นในหมู่มวลชนที่จะยืนหยัดต่อสู้ให้ถึงที่สุด และมีผลทางลบที่สำคัญคือ ทั้งแกนนำและมวลชนจำนวนมากประเมินภัยอันตรายจากฝ่ายเผด็จการต่ำลงไปอย่างมาก เกิดความเชื่อโดยทั่วไปว่า ฝ่ายเผด็จการได้ประสบความพ่ายแพ้ทางทหารและสูญเสียขวัญกำลังใจอย่างมาก จนไม่มีทางที่จะใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนได้อีก พวกเขาประเมินดุลกำลังทางการเมืองและการทหารของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างไม่เป็นจริง เกิดกระแส “ความโน้มเอียงทางการทหาร” ขึ้นสูงทั้งในหมู่แกนนำและมวลชนบางส่วน และเมื่อฝ่ายรัฐบาลรุกกลับทางการเมืองด้วยการเสนอ “แผนปรองดองห้าข้อ” แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน ก็ต้องเผชิญกับคู่ความขัดแย้งใหญ่ทางยุทธศาสตร์ที่พวกเขาไม่สามารถแก้ให้ตกได้คือ ความขัดแย้งระหว่างการยึดแนวทางสันติและให้ยุบสภาในด้านหนึ่ง กับความต้องการของแกนนำบางส่วนและมวลชนที่มุ่งเผชิญหน้ากับเผด็จการโดยตรงและทันทีในอีกด้านหนึ่ง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||
คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 10 จังหวัด รวมกรุงเทพฯ-ปริมณฑล Posted: 29 Jul 2010 09:46 AM PDT "อภิสิทธิ์" เซ็นต์ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 6 จังหวัด ยังคงเหลือ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา และอุบลฯ <!--break--> ผ่านไป 3 เดือนกว่า รัฐบาลทยอยยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในแต่ละพื้นที่ ล่าสุดในวันนี้ (29 ก.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เผยว่าจะใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี ลงนามเอกสารยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน 6 จังหวัด ได้แก่ 1.ชลบุรี 2.พระนครศรีอยุธยา 3.หนองบัวลำภู 4.มุกดาหาร 5.มหาสารคาม และ 6.ชัยภูมิ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 ก.ค.เป็นต้นไป ทั้งนี้ นับจากเมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 นายอภิสิทธิ์ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ถึงมติให้ออกแถลงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล พร้อม การจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ตามมาด้วยการประกาศเพิ่มพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครอบคลุมไปใน 24 จังหวัด ในเวลาต่อมา ทั้งนี้ 24 จังหวัด ประกอบด้วย 1.กรุงเทพมหานคร 2.นนทบุรี 3.สมุทรปราการ 4.ปทุมธานี 5.นครปฐม 6.พระนครศรีอยุธยา 7.ชลบุรี 8.เชียงใหม่ 9.เชียงราย 10.ลำปาง 11.นครสวรรค์ 12.น่าน 13.ขอนแก่น 14.อุดรธานี 15.ชัยภูมิ 16.นครราชสีมา 17.ศรีสะเกษ 18.อุบลราชธานี 19.มหาสารคาม 20.ร้อยเอ็ด 21.หนองบัวลำภู 22.สกลนคร 23.กาฬสินธิ์ และ 24.มุกดาหาร กระทั่งมีการสลายการชุมชุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 รัฐบาลและ ศอฉ.ยังคงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไว้ โดยใช้เหตุผลว่า เพราะสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ จนเมื่อวันที่ 6 ก.ค.53 ครม.มีมติยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน 5 จังหวัด คือ 1.นครปฐม 2.นครสวรรค์ 3.ศรีสะเกษ 4.น่าน และ 5.กาฬสินธิ์ จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ 1 วัน ที่ประชุมศูนย์ ศอฉ.ได้เสนอต่อที่ประชุม ครม.ให้คงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้ง 24 จังหวัดไว้ จากนั้น เมื่อวันที่ 20 ก.ค.53 ครม.ก็ได้มีมติให้ยกเลิกอีก 3 จังหวัด คือ 1.ลำปาง 2.ร้อยเอ็ด 3.สกลนคร ดังนั้น ขณะนี้จึงเหลืออีก 10 จังหวัดที่ยังคงมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ 2.นนทบุรี 3.สมุทรปราการ 4.ปทุมธานี 5.เชียงใหม่ 6.เชียงราย 7.ขอนแก่น 8.อุดรธานี 9.นครราชสีมา และ 10.อุบลราชธานี สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||
“ชาวบ้านแปดริ้ว” รวมตัวปิดถนน ค้านสร้าง “โรงไฟฟาถ่านหิน” เขาหินซ้อน Posted: 29 Jul 2010 08:51 AM PDT ชาวบ้าน อ.สนามชัยเขต-พนมสารคาม ร่วม 600 คน รวมตัวปิดกั้นถนนสาย 331 เส้นระยอง-สระแก้ว เรียกร้องไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ <!--break--> วันนี้ (29 ก.ค.53) ชาวบ้าน อ.สนามชัยเขต และ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ร่วม 600 คนรวมตัวกันปิดถนนสาย 331 (เส้นระยอง-สระแก้ว) บริเวณเขตติดต่อหมู่ 7 และหมู่ 13 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม เรียกร้องระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในพื้นที่หมู่ 9 ต.เขาหินซ้อน พร้อมตั้งเต็นท์ เวทีปราศรัยกลางถนน สืบเนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังการผลิต 540 เมกกะวัตต์ ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัทเกษตรรุ่งเรือง ดังกล่าว ผ่านการประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) เมื่อปลายปี 2550 ที่ผ่านมา โดยผ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อเดือนตุลาคม 2552 และกำลังจะเข้ามาก่อสร้างในนิคมอุตสาหกรรม 304 หลังกลุ่มโรงงานพนมสารคาม ส่วนข้อเรียกร้องของชาวบ้านในการปิดถนนครั้งนี้คือให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวยุติ และย้ายโครงการออกจากพื้นที่ เนื่องจากหากมีการสร้างโรงไฟฟ้า ชาวบ้านหวั่นว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิต สุขภาพ การประกอบอาชีพ และคนในพื้นที่ไม่ต้องการที่จะมีชีวิตซ้ำรอยชาวแม่เมาะ จ.ลำปาง และชาวมาบตาพุด จ.ระยอง อีกทั้งโดยรอบของโครงการเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ทำอาชีพเกษตรกรรม และมี ศูนย์ศึกษาและพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่ แต่ไม่ได้รับการตอบรับหรือแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด อีกทั้งได้เคยมีการล่ารายชื่อกว่า 12,000 ชื่อ เมื่อปี พ.ศ.2551-52 ส่งไปยัง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แต่ EIA ได้ผ่านการพิจารณาไปก่อนหน้าแล้ว หลังจากชาวบ้านได้พยายามจนคัดค้านทำให้กระบวนการในอีไอเอมีการตีกลับและทบทวนใหม่จนต้องมีการจัดทำใหม่ถึง 4 ฉบับ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||
Posted: 29 Jul 2010 07:54 AM PDT <!--break--> เรื่องของการเมือง ไม่ว่าระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่นก็ตาม ล้วนมีบทบาท และมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสิ้น ซึ่งกติกาสำคัญในการกำหนดบทบาทของผู้มีอำนาจทางการเมืองนั้น ก็จะมีกฎหมายต่างๆนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ และกฎหมายเฉพาะที่ได้ประกาศบังคับใช้ไว้ โดยรัฐบาลในแต่ละยุคสมัยจะเป็นผู้กำกับดูแลเพื่อให้กฎหมายนั้น มีประโยชน์ต่อประชาชน ต่อการพัฒนาประเทศชาติ หรือท้องถิ่น หรือว่าให้มีประโยชน์ต่อนักการเมืองอย่างไร สำหรับกฎหมายที่ประกาศบังคับใช้ไปแล้วนั้น ประชาชนจะปฏิเสธว่าไม่รู้กฎหมายเหล่านั้นก็ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รู้ว่าข้อความเหล่านั้นในกฎหมายได้กำหนด หรือบัญญัติไว้อย่างไร และก่อนที่กฎหมายเหล่านั้นจะประกาศบังคับใช้ ได้มีการเสนอร่างของกฎหมายนั้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายซึ่งจะต้องนำเอาไปสรุปรวบรวม ก่อนตัดสินใจในการกำหนดข้อความให้กฎหมายเป็นไปตามความต้องการของประชาชน ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งหมด 132 มาตรา เป็นกฎหมายสำคัญอีกฉบับหนึ่ง ที่รัฐบาลจะต้องนำเข้าไปสู่การประชุมของรัฐสภาและอยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน หัวข้อสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือการกำหนดบทบาทหน้าที่ในการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในความของมาตรา 59 ของร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดข้อความไว้อย่างน่าสนใจว่า “มาตรา 59 ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีผู้บริหารท้องถิ่นคนหนึ่งซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้ผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งนับแต่วันที่มีการประกาศผลการเลือกตั้ง และมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ การพ้นตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้ถือว่าเป็นหนึ่งวาระ เว้นแต่เป็นการพ้นจากตำแหน่งเพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่” ข้อความเหล่านี้ ประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร ก็สามารถนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมาย ผ่านไปทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยตรงทางจดหมาย หรือทางอินเตอร์เน็ต www.krisdika.go.th ความจริงแล้ว ก่อนหน้านี้ทั้งกฎหมายสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2546) มาตรา 58/2 กฎหมายเทศบาล พ.ศ.2496 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2546) มาตรา 48 และกฎหมายองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 35/2 ได้เคยกำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศมนตรีที่บริหารงานเทศบาลทุกประเภท และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จะต้องดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง และดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ แต่ข้อความนั้นได้ถูกแก้ไขในสมัยของรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในเดือนพฤศจิกายน 2552 ทำให้สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันกี่วาระก็ได้ และในโอกาสนี้ ประชาชนเจ้าของประเทศมีความต้องการให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสองวาระหรือไม่อย่างไร... สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||
ประชาสังคมอาเซียนระดมสมอง ผุดแนวคิด “โครงสร้างเน็ตภิบาลที่เป็นธรรม” เสนอที่ประชุม IGF Posted: 29 Jul 2010 07:04 AM PDT ประชุมการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต เวทีภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ภาคประชาสังคมอาเซียน 8 ประเทศ กว่า 10 องค์กร ออก “แถลงการณ์ประชาสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2010 ว่าด้วยอินเทอร์เน็ตภิบาล” มุ่งสู่สังคมสารสนเทศที่คนเป็นศูนย์กลาง <!--break--> ระหว่างวันที่ 15-16 มิ.ย. ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมจากอาเซียนจำนวนหนึ่ง รวมถึงตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ตจากประเทศไทย ได้เข้าร่วมการประชุมการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต เวทีภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก หรือ Asia-Pacific Regional Internet Governance Forum (APrIGF) ที่ฮ่องกง หลังการประชุม ภาคประชาสังคมจากองค์กรต่างๆ ในอาเซียน 8 ประเทศ จากมากกว่า 10 องค์กร ได้หารือร่วมกัน และออก "แถลงการณ์ประชาสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2010 ว่าด้วยอินเทอร์เน็ตภิบาล" (2010 Southeast Asia Civil Society Statement on Internet Governance) เพื่อนำเสนอต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศของตน และระดับนานาชาติ โดยเฉพาะที่ประชุมพหุภาคีของ IGF ที่กรุงเจนีวา เมื่อวันที่ 28-29 มิ.ย.ที่ผ่านมา และเวทีระดับโลกของการประชุมการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต หรือ Internet Governance Forum (IGF) ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 14-17 ก.ย.นี้ ที่กรุงวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย เนื้อหาสาระสำคัญคือ ให้ที่ประชุมการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต อย่าลืมหลักการสำคัญของ World Summit on the Information Society ซึ่งเป็นที่มาของ IGF ที่ประกาศว่า สังคมสารสนเทศนั้นจะต้องให้คนเป็นศูนย์กลาง ไม่เลือกปฏิบัติ เคารพสิทธิมนุษยชนสากล อีกทั้งกระบวนการกำกับดูแล จะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นประชาธิปไตย และมาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และที่ประชุม IGF ทั้งเวทีระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ควรมีรูปแบบ เวลา และกระบวนการที่เปิดกว้าง ให้ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมได้โดยสะดวก ในที่ประชุมของประชาสังคมอาเซียนหลังการประชุม APrIGF ดังกล่าว ยังได้มีข้อเสนอว่า ประชาสังคมต่างๆ ในอาเซียน ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตโดยตรงหรือไม่ ควรจะให้ความสนใจและตื่นตัวเกี่ยวกับประเด็นอินเทอร์เน็ตภิบาลให้มากขึ้น เนื่องจากอินเทอร์เน็ตได้เข้าสู่ชีวิตประจำวันของคนจำนวนมาก และเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ประชาสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรจะร่วมกับองค์กรต่างๆ จัดเวทีระดับท้องถิ่น เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาและอุปสรรค อีกทั้งหาช่องทางในการสื่อสารกับชุมชนวิชาการ ชุมชนเทคโนโลยี ภาคเอกชน และรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การหาทางออกร่วมกันในลักษณะพหุภาคี อีกทั้งภาคประชาสังคมในอาเซียนควรจะได้รับการสนับสนุนเพื่อเข้าร่วมในที่ประชุม IGF ระดับโลก เพื่อสะท้อนมุมมองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากภาคประชาสังคม โดยเฉพาะประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง เนื่องจากที่ผ่านมา แม้จะมีตัวแทนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมจากภาคธุรกิจและภาครัฐ แต่ก็เน้นเพียงประเด็นเทคนิคและประเด็นความมั่นคง ผู้แทนองค์กรประชาสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA) , Southeast Asian Center for e-Media (SEACeM), หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ประเทศไทย, Centre for Independent Journalism มาเลเซีย, TechTanod ฟิลิปปินส์, Club of Cambodian Journalist กัมพูชา, Politikana อินโดนีเซีย, Mindanao Bloggers Community ฟิลิปปินส์, Cambodian Center for Human Rights (CCHR) กัมพูชา, เครือข่ายพลเมืองเน็ต ประเทศไทย, Swiss Association for International Development (Helvetas-Laos) ลาว, และผู้แทนประชาสังคมจากพม่าและเวียดนาม แถลงการณ์ประชาสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2010 ว่าด้วยอินเทอร์เน็ตภิบาล (ภาษาไทย) แถลงการณ์ประชาสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2010 ว่าด้วยอินเทอร์เน็ตภิบาล 2010 Southeast Asia Civil Society Statement on Internet Governance “[ที่ประชุมอินเทอร์เน็ตภิบาลนั้นมีลักษณะ] หลายฝ่าย หลายผู้ถือประโยชน์ร่วม ประชาธิปไตย และโปร่งใส”– วาระตูนิส 2005 (2005 Tunis Agenda) “[เราเรียกร้อง] สังคมสารสนเทศที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ครอบคลุม และมุ่งการพัฒนา … เคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนสากลอย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการคิดและการแสดงออก และความเป็นสากล ความไม่สามารถแบ่งแยกได้ ความพึ่งพาอาศัยกัน และความสัมพันธ์ระหว่างกันของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งหมดทั้งปวง”– คำประกาศหลักการการประชุมสุดยอดระดับโลกว่าด้วยสังคมสารสนเทศ 2003 (2003 Declaration of Principles of World Summit on Information Society) ในโอกาสการประชุมโต๊ะกลมอินเทอร์เน็ตภิบาลระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ Asia-Pacifc Regional Internet Governance Forum (APrIGF) Roundtable ครั้งแรก ที่ฮ่องกง ระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2553 พวกเรา ตัวแทนประชาสังคมจากแปดประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอเรียกร้องต่อที่ประชุมอินเทอร์เน็ตภิบาล (Internet Governance Forum – IGF) และคณะที่ปรึกษาผู้ถือประโยชน์ร่วมหลายฝ่าย (Multi-Stakeholder Advisory Group – MAG) ให้สนับสนุนส่งเสริมคำมั่นสัญญาและหลักการดังกล่าวข้างต้น ดังที่ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการสหประชาชาติ เราชื่นชมผลงานของ APrIGF ครั้งแรก ที่ได้ทำให้เกิดการอภิปรายระหว่างผู้ถือประโยชน์ร่วมหลายฝ่าย ในเรื่องการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตหรืออินเทอร์เน็ตภิบาล ด้วยเจตนารมณ์ของการอภิปรายเปิดรวมเอาทุกภาคส่วน เราขอเสนอมุมมองและข้อเสนอแนะต่อที่ประชุม MAG ในกรุงเจนีวาที่ Palais des Nations ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน 2553 รวมทั้งที่ประชุมประจำปี IGF ครั้งที่ห้า ในกรุงวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย ระหว่างวันที่ 14-17 กันยายน 2553 ข้อสังเกตใหญ่จากที่ประชุมอินเทอร์เน็ตภิบาลระดับภูมิภาคเอเชียแปซิกฟิก APrIGF เพื่อสนทนากับที่ประชุมโต๊ะกลมอินเทอร์เน็ตภิบาลระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (AprIGF Roundtable) ครั้งที่หนึ่ง ที่ฮ่องกง ระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2553 พวกเราชาวเน็ต นักหนังสือพิมพ์ บล็อกเกอร์ นักวิชาชีพไอที และตัวแทนนอกภาครัฐจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอเสนอข้อสังเกตจากการประชุมโต๊ะกลมดังกล่าว ดังต่อไปนี้: 1.ประเด็นคับขันของอินเทอร์เน็ตภิบาลในเอเชีย ควรเป็นประเด็นที่นำทางการอภิปรายต่าง ๆ ในอนาคตเกี่ยวกับนโยบายอินเทอร์เน็ตภิบาล: ความเปิดเผยตรงไปตรงมา – Openness การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเปิดเผยและเปิดกว้าง เป็นสิทธิพื้นฐานของบุคคลทุกคน เป็นสิทธิที่เป็นรากฐานของการพัฒนาความรู้และความสามารถของบุคคลแต่ละคน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในที่สุดแล้วช่วยเกื้อหนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม มันจึงสนับสนุนการพัฒนามนุษย์และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ความเปิดเผยตรงไปตรงมาเป็นกุญแจไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง การจำกัดเสรีภาพในการคิดและการแสดงออกออนไลน์ เช่น การเซ็นเซอร์โดยรัฐซึ่งปิดกั้นสื่อที่เป็นตัวกลางในอินเทอร์เน็ต เป็นภัยคุกคามอย่างหนึ่งของสังคมที่เปิดกว้าง การเซ็นเซอร์โดยรัฐและการสร้างความหวาดกลัวก่อให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่อันตรายอย่างยิ่ง อันจะกัดเซาะประชาธิปไตยและความเปิดกว้างแถลงการณ์ประชาสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2010 ว่าด้วยอินเทอร์เน็ตภิบาล 2/4 การเข้าถึง – Access อินเทอร์เน็ตนั้นเป็นของทุกคน มันเป็นบริการสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ช่องว่างดิจิทัลระหว่างประเทศและชุมชนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้และที่เข้าถึงไม่ได้นั้นยังคงมีอยู่ และประเด็นนี้ไม่ได้ถูกกล่าวถึงอย่างเพียงพอในการอภิปรายเรื่องอินเทอร์เน็ตภิบาล จากการปรึกษาพูดคุยกันหลังที่ประชุม APrIGF พบว่า เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษไม่เพียงกับประเด็นช่องว่างดิจิทัลระดับโลก แต่รวมถึงช่องว่างดิจิทัลในระดับภูมิภาคและระดับประเทศด้วย ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์มีสัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่สูงถึง 70% ของจำนวนประชากร ประเทศเช่นพม่าและกัมพูชานั้นยังคงอยู่ที่ปลายอีกด้านหนึ่ง ด้วยสัดส่วน 0.22% และ 0.51% ตามลำดับ เป็นประเทศที่มีอันดับต่ำที่สุดในบรรดา 200 ประเทศที่ธนาคารโลกได้ศึกษา การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นพื้นฐานของการพัฒนา ปัจจัยต่าง ๆ เช่น การพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม, ระดับความยากจน, และโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี มีผลกระทบต่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชน ว่าจะสามารถเข้าถึงได้หรือไม่ และจะเข้าถึงได้อย่างไร มันจำเป็นต้องมีความร่วมมือของนานาชาติที่จะจัดการกับนโยบายภายในที่ก่อให้เกิดช่องว่างดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และร่วมกันหาทางออกเพื่อกำจัดช่องว่างดังกล่าว ความมั่นคงไซเบอร์ – Cyber Security คำจำกัดความของความมั่นคงไซเบอร์ จำเป็นต้องรวมถึงองค์ประกอบที่ระบุถึงสิทธิในความเป็นส่วนตัว เสรีภาพพลเมือง และเสรีภาพทางการเมือง สิทธิของปัจเจกบุคคลเหนือความเป็นส่วนตัวของเขาเอง รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคล จะต้องไม่ถูกละเมิดไม่ว่าด้วยเหตุผลใด เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น IPv6, ZigBee, และ RFID เมื่อใช้โดยไม่มีการดูแลที่โปร่งใสและรับผิดชอบ อาจนำไปสู่ภัยคุกคามต่อสิทธิของบุคคลได้ สังคมสารสนเทศในทุกวันนี้เชื่อมต่ออุปกรณ์ไอทีส่วนบุคคลเข้าโดยตรงกับโลกภายนอก และไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลลงในเซิร์ฟเวอร์เพียงเครื่องเดียวอีกต่อไป เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของภาครัฐบาลและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ ที่ดำเนินกิจการเทคโนโลยีดังกล่าว การสอดส่องควบคุมและการขโมยอัตลักษณ์ยังคงเป็นภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ นโยบายความมั่นคงไซเบอร์ระดับชาติใด ๆ ก็ตาม จะต้องไม่ออกนอกแนวทางของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและข้อตกลงสิทธิมนุษยชนนานาชาติทั้งมวล ที่รัฐต่างๆ ได้ให้การยอมรับและเข้าเป็นรัฐสมาชิก 2.โอกาสที่เราสามารถใช้เพื่อปรับปรุงกระบวนการของการประชุม IGF ต่อไป: ความตระหนักถึง IGF ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในระดับอาเซียนนั้นยังขาดอยู่ในปัจจุบัน มากไปกว่านั้น ตัวแทนประชาสังคมจากทั่วเอเชียแปซิฟิกในการประชุมโต๊ะกลม APrIGF ก็ไม่ครบถ้วน ไม่เพียงความตระหนักถึง IGF เท่านั้นที่ต้องพัฒนา แต่ยังรวมถึงการจัดหาสื่อการเรียนรู้ที่จะทำให้ IGF เข้าถึงได้โดยทุกคน การเข้าถึง IGF ที่มากขึ้นจะทำให้มันครอบคลุมผู้ถือประโยชน์ร่วมที่หลากหลายขึ้น ซึ่งรวมถึงกลุ่มจากประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า กลุ่มชายขอบ และกลุ่มเปราะบางในเอเชียแปซิฟิก ระหว่างการประชุมโต๊ะกลม APrIGF การอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดแบบสองทางนั้นไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกเท่าที่มันจะเป็นไปได้ พื้นที่เปิดสำหรับการอภิปราย การส่งเสียงวิพากษ์อย่างชัดเจน และการแนะนำทางออก จำเป็นต้องได้รับการรับประกันในงาน IGF ทุกครั้ง ความพยายามดังกล่าวจะมอบประโยชน์ในทางปฏิบัติแก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหลาย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เมื่อผลลัพธ์จากการประชุมโต๊ะกลุม APrIGF นั้นได้พัฒนาเข้าไปสู่แผนโรดแมปใหญ่ การวางแผนและทำให้ชัดเจนถึงบทบาทของผู้มีประโยชน์ร่วมระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ จะช่วยส่งเสริมและปกป้องความโปร่งใสและความเป็นประชาธิปไตยของอินเทอร์เน็ตภิบาล และนำไปสู่สังคมสารสนเทศในภูมิภาคแถลงการณ์ประชาสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2010 ว่าด้วยอินเทอร์เน็ตภิบาล ข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมอินเทอร์เน็ตภิบาล IGF APrIGF ครั้งแรกนี้ได้แสดงถึงโอกาสอันมีค่าที่จะวิเคราะห์ ทั้งประเด็นที่ IGF ให้ความสนใจ และกระบวนการที่มันกำกับดูแล ด้วยความเคารพต่อประเด็นสำคัญเหล่านี้ และโอกาสที่จะพัฒนากระบวนการให้ดียิ่งขึ้น เรามีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้: 1.การออกกฎหมายที่ปราบปรามและจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา จะต้องเป็นประเด็นเร่งด่วนของอินเทอร์เน็ตภิบาลระดับโลกนับแต่นี้ทันที; 2.ผสานเอาวาระสิทธิมนุษยชนสากลเข้าไปในแผนงานของ IGF อย่างเต็มที่ และทำงานอย่างเป็นระบบและอย่างสม่ำเสมอร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ; 3.ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อเสนอนโยบายและข้อเสนอแนะของ IGF นั้นอยู่ในแนวทางเดียวกับหลักการและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ; 4.ตอกย้ำอุดมการณ์ความเปิดกว้างและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ในการประชุมประจำปีครั้งที่ห้าของ IGF ที่กำลังจะมาถึงในเดือนกันยายนนี้ ณ กรุงวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย และการประชุมในอนาคต ทั้งในระดับชาติและระดับอนุภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิก; 5.ขยายอำนาจมอบหมายที่ IGF ได้รับออกไปอีก 5 ปี; 6.ขยายขอบเขตการติดต่อให้กว้างขึ้นไปยังประชาสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิก และจัดสรรทรัพยากรการเงินเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของกลุ่มดังกล่าวในการประชุมประจำปีครั้งที่ห้าและการประชุมระดับโลกครั้งต่อ ๆ ไปของ IGF พร้อมทั้งจัดให้มีการประชุม IGF ระดับชาติและระดับอนุภูมิภาค; 7.ทำให้มั่นใจได้ว่ามีการมีส่วนร่วมทางไกลอย่างกระตือรือร้นในการประชุมประจำปีดังกล่าวและการประชุม IGF ครั้งต่อ ๆ ไป ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น เว็บคาสต์ถ่ายทอดสด การประชุมวีดิโอทางไกล ทวิตเตอร์ และเครื่องมือสื่อทางสังคมอื่น ๆ; 8.รับประกันว่าการอภิปรายเชิงเทคนิคระหว่างการประชุม IGF จะปรับตัวให้เข้ากับผู้เข้าร่วมและผู้มีผลประโยชน์ร่วมหน้าใหม่ และรวมเอาการประเมินผลกระทบโดยนัยจากนโยบายในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและสังคมเข้าไปด้วย; 9.พัฒนาแผนดำเนินการเพื่อให้การติดตามและเฝ้าสังเกตผลลัพธ์จาก IGF เป็นไปโดยสะดวก; และ 10.จัดการศึกษาผลกระทบ โดยองค์กรอิสระ เพื่อประเมินประสิทธิผลของ IGF ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับหลักการที่ได้วางไว้ในวาระตูนิส 2005 และคำประกาศหลักการการประชุมสุดยอดระดับโลกว่าด้วยสังคมสารสนเทศ (WSIS) 2003
ที่มา: เครือข่ายพลเมืองเน็ต
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น