โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

กรุงเทพโพลล์เผยกลุ่มสำรวจร้อยละ 62.5 ใน กทม. ต้องการให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

Posted: 06 Jul 2010 02:40 PM PDT

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ หรือ "กรุงเทพโพลล์" เผยผลสำรวจคน กทม. พบคิดว่าตนมีคยวามเสี่ยงในการดำเนินชีวิตระดับปานกลาง โดยเป็นความเสี่ยงด้านการเมืองมากที่สุด รองลงมาคือความเสี่ยงด้านสุขภาพร่างกาย และด้านค่าครองชีพและหนี้สิน นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.5 ยังเสนอให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะที่ร้อยละ 37.5 เห็นว่าไม่ควรยกเลิก

<!--break-->

วานนี้ (6 ก.ค.) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,146 คน พบว่า คนกรุงเทพฯ  เห็นว่าตนเองมีความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตในระดับปานกลาง (เฉลี่ยรวม 5.94 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) โดยความเสี่ยงด้านการเมืองมีคะแนนสูงที่สุดคือ 7.59 คะแนน รองลงมาคือความเสี่ยงด้านสุขภาพร่างกาย (6.61 คะแนน) และความเสี่ยงด้านค่าครองชีพและหนี้สิน (6.41 คะแนน) ตามลำดับ

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา (3 เดือนที่แล้ว) พบว่าความเสี่ยงของคนกรุงเทพฯ มีคะแนนเพิ่มขึ้น 0.52 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 9.6 จากฐานเดิม  และเมื่อพิจารณาในรายตัวชี้วัดทั้ง 10 ตัว พบว่า ความเสี่ยงด้านการสูญเสียวัฒนธรรมประเพณี และสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มีคะแนนความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสูงที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 1.11 คะแนน

สำหรับสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขโดยเร่งด่วน เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต ซึ่งกรุงเทพโพลทำเป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุคำตอบเองโดยอิสระ พบว่าอันดับแรก ร้อยละ 22.3 ต้องการให้เร่งสร้างความปรองดองและความสามัคคีในชาติโดยให้ทุกฝ่ายหยุดใช้สื่อในการสร้างความแตกแยก รองลงมาร้อยละ 20.3  ต้องการให้แก้ปัญหาปากท้อง ปัญหาค่าครองชีพ และความเป็นอยู่ของประชาชน และร้อยละ 17.2  ต้องการให้แก้ปัญหารถติด ปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้สะดวก ปลอดภัย และทันสมัย

ให้แก้ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด โจรผู้ร้าย ร้อยละ 11.7 ให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 11.0 ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ มีความมั่นคงทางการเมือง ร้อยละ 4.2 และอื่นๆ เช่น  สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม/ฟื้นฟู/ปรับภูมิทัศน์ของกรุงเทพฯ และยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ฯลฯ  ร้อยละ 13.3

ส่วนความเห็นต่อการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 62.5 เห็นว่าควรยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานคร ขณะที่ร้อยละ 37.5 เห็นว่าไม่ควรยกเลิก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยอดรับสายแตะ 5 หมื่น ไม่ถึง 63 ล้าน - "มาร์ค" รับสายส่งท้ายตอบ "ครับ" ลูกเดียว

Posted: 06 Jul 2010 02:23 PM PDT

ตัดสาย "6 วัน 63 ล้านความคิด" แล้วได้ยอด 5 หมื่น มาร์คชี้เป็นไปไม่ได้ที่จะให้คน 63 ล้านคนโทรศัพท์เข้ามา แต่เสียงของคนเหล่านี้สะท้อนการเป็นตัวแทนของประชาชน ขณะที่มาร์ครับสายส่งท้ายถึงกับหน้าถอดสี ตอบ "ครับ" อย่างเดียว ผู้สื่อข่าวถามว่า "ประชาชนโทรมาต่อว่าเรื่องอะไร" มาร์คบอก "ไม่ทราบ เพราะไม่ได้ตั้งชื่อเรื่อง"

<!--break-->

ภาพจากเว็บไซต์ flickr ของ user thaigov เขียนคำบรรยายภาพว่า "นายกรัฐมนตรีพบปะและให้กำลังใจอาสาสมัครในโครงการ 6 วัน 63 ล้านความคิด ร่วมเดินหน้า ปฏิรูปประเทศไทย รวมรวบเหล่าความคิดเห็นจากประชาชนไทยที่ร่วมบริจาคผ่านทางโทรศัพท์หมายเลข 02-304-9999 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วันอังคาร ที่ 6 กรกฏาคม พ.ศ. 2553"

เว็บไซต์ไทยรัฐ รายงานวานนี้ (6 ก.ค.) ว่า เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 6 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางจากห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้าไปยังตึกสันติไมตรี ตรวจเยี่ยมอาสาสมัครที่เข้ามานั่งรับโทรศัพท์โครงการ 6 วัน 63 ล้านความคิด ร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย เพื่อขอบคุณอาสาสมัครก่อนที่จะปิดโครงการในเวลา 20.00 น. โดยนายอภิสิทธิ์ได้ไปนั่งรับสายจากประชาชนกว่า 15 สาย โดยระหว่างที่รับสายมีอยู่ช่วงหนึ่งที่นายอภิสิทธิ์ ถึงกับสีหน้าไม่สู้ดี และพยายามยิ้มรับ พร้อมพูดคำว่า "ครับ" อย่างเดียว เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนโทรมาต่อว่าเรื่องอะไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า "ไม่ทราบ เพราะไม่ได้ตั้งชื่อเรื่อง"

หลังจากเสร็จสิ้นจากการรับสายโทรศัพท์ นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า จำนวนสายที่โทร.เข้ามานั้นเป็นการสะท้อนปัญหาของประชาชนได้ระดับหนึ่ง รัฐบาลจะมีวีธีการอื่นอีกที่จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม ส่วนข้อมูลนั้นขณะนี้ยังเป็นเพียงข้อมูลคร่าวๆว่า สัดส่วนของเรื่องต่างๆ จะเป็นอย่างไร โดยจะต้องไปประมวลและดูรายละเอียดอีกครั้ง ถือว่าได้รับทั้งข้อเสนอแนะ อย่างเรื่องการศึกษา การรณรงค์บางประเด็น รวมไปถึงเรื่องร้องเรียนที่สะท้อนปัญหาของโครงสร้างของประเทศว่าการแก้ไขปัญหาโดยกลไกปกตินั้น ประชาชนส่วนใหญ่อาจจะไม่รับรู้รับทราบหรือตอบสนองได้ ซึ่งเมื่อไรที่มีการเปิดช่องทางลักษณะนี้ขึ้นมาก็จะเป็นการใช้ไปในทางร้องเรียน แต่เรื่องนี้แค่ได้อาสาสมัครเข้ามาทำงานเพื่อส่วนรวมและการที่คนไทยได้พูด คุยกันทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จัก และได้คุยในเรื่องที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยทราบก็คิดว่าคุ้มค่าแล้ว นอกจากนี้ยังได้กระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวก็ประเมินค่ายาก เพราะหลายคนหลังจากที่เราได้รับสายและเขาได้พูดออกมาก็มีค่าแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จำนวนคนที่โทรศัพท์เข้ามาเพียง 5 หมื่นกว่าคนทั้งๆ ที่ตั้งเป้าหมายไว้ถึง 63 ล้านความคิดนั้นถือว่าล้มเหลวหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่หรอก เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะให้คน 63 ล้านคนโทรศัพท์เข้ามา แต่เสียงของคนเหล่านี้สะท้อนการเป็นตัวแทนของประชาชน ซึ่งสายที่ตนเป็นผู้รับโทรศัพท์เองก็มีมาจากทุกภาคทุกเพศและทุกวัย และปัญหาของหลากหลายมาก ซึ่งก็เป็นการบ่งบอกว่าเรายังมีงานที่ต้องทำอีกเยอะ ซึ่งการแก้ไขปัญหาด้วยการปฏิรูปและการปรองดองนั้นก็ต้องมีการฟื้นฟูด้วย และหากไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็ไม่มีทางสำเร็จได้ หลังจากนี้จะมีกลไกต่างๆมารองรับ อาทิ กลไกของน.พ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ก็จะเป็นเวทีที่หลากหลายในรูปแบบต่างๆ และจะมีโครงการการรับฟังความคิดเห็นลักษณะนี้จะมีอย่างต่อเนื่อง

จากนั้นได้มีผู้พิการที่อาสาสมัครเข้ามารับโทรศัพท์ได้เข้ายื่นหนังสือให้กับ นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการให้งบประมาณช่วยเหลือกลุ่มผู้ชุมนุมที่ทำ ผิดกฎหมาย และขอให้รัฐบาลผลักดันสนับสนุนการวิจัยสเต็มเซลย์เพื่อปลูกถ่ายไขสันหลังให้กับคนพิการ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กาฬโรคระบาดในย่างกุ้ง และสรุปข่าวพม่ารอบสัปดาห์ (30 มิ.ย. - 6 ก.ค. 53)

Posted: 06 Jul 2010 01:45 PM PDT

กระทรวงสาธารณสุขของพม่าในเมืองเนปีดอว์ เปิดเผยว่า ขณะนี้พบการแพร่ระบาดของกาฬโรคในกรุงย่างกุ้ง ซึ่งยังไม่ทราบจำนวนผู้ติดเชื้อที่แน่นอน อย่างไรก็ตามพบว่าส่วนใหญ่แล้วหนูคือพาหะของการแพร่ระบาดของโรคชนิดนี้

<!--break-->

 

กาฬโรคระบาดในย่างกุ้ง
กระทรวงสาธารณสุขของพม่าในเมืองเนปีดอว์ เปิดเผยว่า ขณะนี้พบการแพร่ระบาดของกาฬโรคในกรุงย่างกุ้ง ซึ่งยังไม่ทราบจำนวนผู้ติดเชื้อที่แน่นอน อย่างไรก็ตามพบว่า ส่วนใหญ่แล้วหนูคือพาหะของการแพร่ระบาดของโรคชนิดนี้ 

นักระบาดวิทยาได้ให้ข้อมูลกับนักข่าวว่า มีการพบกลุ่มผู้ติดเชื้อกาฬโรคตั้งแต่เดือนมิถุนายนใน ย่างกุ้ง และตอนนี้ผู้ป่วยทั้งหมดยังคงมีชีวิตอยู่หลังจากได้รับการรักษา จากกระทรวงสาธารณสุข

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า เป็นครั้งแรกในรอบสิบปีที่พบกาฬโรคระบาดในย่างกุ้ง อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ยังไม่ได้แจ้งให้ประชาชนทราบว่าเกิดการระบาดของกาฬโรค

ด้านนักศึกษาแพทย์จากมหาวิทยาลัยในย่างกุ้งระบุว่า รัฐบาลไม่ควรปกปิดข้อมูลการระบาดของโรค ในทางกลับกัน รัฐบาลควรจะเปิดเผยการระบาดของโรคดังกล่าวให้ประชาชนได้รับรู้ เพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน

“ผลจากการปกปิดเรื่องปัญหาสุขภาพ ต่อประชาชน นั่นหมายความว่า เราเองกำลังหยิบยื่นความเสี่ยงให้กับชีวิตของประชาชน” นักศึกษาแพทย์กล่าว อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในย่างกุ้งระบุว่า ในปัจจุบันนี้ กาฬโรคไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด และสามารถรักษาได้ หากได้รับการวินิจฉัยโรคตั้งแต่เบื้องต้น

ด้านกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพัฒนาและดำเนิน การโครงการกำจัดหนู เพื่อป้องกันเชื้อกาฬโรค เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการเทศบาลในย่างกุ้งเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อกำจัดหนู โดยได้กำจัดหนูจำนวน 1 หมื่นตัวต่อวัน
 
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า มีการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า หนูที่อพยพจากเนย์ปีดอว์ลงไปยังทางภาคใต้ของประเทศมีเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นพาหะของโรคติดต่อชนิดอื่นๆ รวมถึงเชื้อกาฬโรครวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งโครงการรักษาโรคติดต่อเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคแล้ว

ทั้งนี้แหล่งข่าวคนหนึ่งระบุว่า แผนเฝ้าระวังเชื้อกาฬโรคได้เริ่มดำเนินการแล้วในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลในเนย์ปีดอว์

ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลพม่าได้ออกมาประกาศเตือนประชาชนและระบุว่ากาฬโรคสามารถติดต่อสู่คนได้โดยตัวผ่านตัวเห็บหมัด แต่ไม่ได้ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโรคนี้แล้วในกรุงย่างกุ้ง

อย่างไรก็ตาม ทางกรมปศุสัตว์ของพม่าได้ประกาศว่า หากประชาชนพบเห็นซากหนูที่ตายแล้ว ให้นำมาส่งยังกรมปศุสัตว์ที่อยู่ใกล้ที่สุดเพื่อนำไปตรวจสอบหาเชื้อโรค (ที่มา: Irrawaddy/5 กรกฎาคม 2553)

 

000

สรุปข่าวพม่ารอบสัปดาห์ (30 มิ.ย.- 5 ก.ค.53 )

 

30 มิถุนายน 2553

ออสเตรเลียเอาจริง ขับลูกสาวนายพลพม่าออกประเทศ

ซินหม่องเอ หญิงชาวพม่าวัย 25 ปี ต้องถูกขับออกจากออสเตรเลีย หลังทางการออสเตรเลียพบว่าเธอพัวพันกับรัฐบาลพม่าในฐานะลูกสาวของ พลจัตวาซินยอ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐบาลทหารพม่า ขณะที่ทางการออสเตรเลียออก มาระบุว่า การให้บุตรสาวของนายพลพม่าอยู่ในประเทศต่อไป อาจขัดกับนโยบายคว่ำบาตรต่อรัฐบาลทหารพม่าและครอบครัว ซึ่งเป็นนโยบายของออสเตรเลียเอง

ด้านซินหม่องร้องขอว่า นโยบายคว่ำบาตรต่อรัฐบาลพม่าไม่ควรนำมาใช้กับสมาชิกในครอบครัวของ คณะรัฐบาล ทหาร โดยเฉพาะสมาชิกครอบครัวที่ไม่ให้การสนับสนุนรัฐบาลทหาร ซินหม่องเอยังกล่าวว่า เธอไม่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องการเงินจากพ่อของเธอแต่อย่างใด อีกทั้งเธอยังเตรีมทำงานทันทีที่จบปริญญาโท พร้อมกันนี้ เธอยังเปิดเผยว่า ส่วนตัวของเธอเองก็ไม่เห็นด้วยที่ครอบครัวให้การสนับสนุนรัฐบาล ทหารพม่า อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดซินหม่องเอถูกส่งตัวกลับพม่าแล้ว (ที่มา: Irrawaddy)

พรรคมอญใหม่ครบรอบ 15 ปี บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา

มีรายงานว่า แม้พรรคมอญใหม่ (New Mon State Party) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มหยุดยิงจะครบ รอบ 15 ปีแห่งการก่อตั้งเมื่อวันอังคารที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่กลับพบว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา โดยในปีนี้ไม่มีพิธีเฉลิมฉลองเหมือนที่เคยจัดขึ้นอย่างทุกปีแต่อย่างใด

ในอีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพม่าและพรรคมอญใหม่กำลังเข้าขั้นวิกฤติ ตั้งแต่หลายเดือนก่อน หลังจากที่พรรคมอญใหม่ปฏิเสธเข้าร่วมเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force) ขณะที่ประเด็นเรื่องกองกำลังรักษาชาย แดนได้ทำให้ผู้นำระดับสูงในพรรคมอญใหม่ แบ่งออกเป็นสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มติในพรรคส่วนใหญ่เห็นว่า จะจับปืนต่อสู้กับรัฐบาลพม่าอีกครั้งและยกเลิกสัญญาหยุดยิง หากถูกบังคับให้เข้าร่วมเป็นกองกำลังรักษาชายแดนหรือในกรณีที่ถูก กองทัพพม่า โจมตี ด้านผู้สังเกตการณ์เชื่อว่า ผู้นำระดับสูงส่วนหนึ่งของพรรคมอญใหม่อาจ ไม่ต้องการทำสงครามกับรัฐบาลพม่า เนื่องจากผลประโยชน์ทางธุรกิจ และไม่อยากทิ้งชีวิตที่สุขสบายในเมืองไปลำบากอยู่ในป่าอีกครั้ง (ที่มา: Irrawaddy)

ผู้ป่วยไข้เลือดออกในย่างกุ้งสูงขึ้นต่อเนื่อง

ระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคมที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกจำนวนกว่า 900 คนในเขตกรุงย่างกุ้งเพียงแห่งเดียวและตัว เลขผู้ป่วยยังสูงขึ้นอย่างต่อ เนื่อง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น ถึง 80 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตนับตังแต่เดือน มกราคมที่ผ่านมามีทั้งหมด 6 รายแล้ว ซึ่งตามข้อมูลของทางการพม่าระบุว่า มีผู้ป่วยเป็นไข้เลือกออกทั้งหมด 3,129 ราย และเสียชีวิตจำนวน 37 ราย เมื่อปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม พบการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกเป็นจำนวนมาก ในเขตกรุงย่างกุ้ง ภาคพะโค ภาคสะกาย ภาคอิรวดีและในรัฐมอญระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูมรสุม (ที่มา: Mizzima)
 

2 กรกฎาคม 2553
 
โจ๋พม่าอาจไปใช้สิทธิน้อย ในการเลือกตั้ง 2010

รัฐบาลพม่าได้ออกมาประกาศว่า มีผู้สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งถึง 30.7 ล้านคน ซึ่งถือว่าตัวเลขผู้สามารถใช้สิทธิมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร ของประเทศ ที่มีอยู่ทั้งหมด 59 ล้านคน ทั้งนี้ 52 เปอร์เซ็นต์พบในประชาชนที่มีอายุระหว่าง 20 – 39 ปี แม้กฎหมายจะกำหนดให้ผู้ที่มีอายุครบ 18 ปีสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ แต่ขณะเดียวกัน กลับมีรายงานว่า ผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาวกลับไม่ ได้ให้ความสนใจการเมืองและการเลือกตั้งใน รอบ 20 ปีที่จะมาถึงนี้แต่อย่างใด

เช่นเดียวกับบรรณาธิการจากนิตยสารวัยรุ่นฉบับหนึ่งระบุว่า กลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี 2008 (2551) ที่ปูทางการเลือกตั้งที่จะมาถึง สอดคล้องกับผู้สังเกตการณ์ที่แสดงความเป็นห่วงว่า วัยรุ่นพม่าอาจตัดสินใจไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ขณะที่ประชาชนวัย 28 ปี รายหนึ่งเปิดเผยว่า กฎหมายเลือกตั้งที่จำกัดบทบาทพรรคการเมืองเช่น การห้ามผู้ลงสมัครกล่าวปราศรัยในพื้นที่สาธารณะนั้น จะยิ่งทำให้ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ในภาคมวลชน อย่างไรก็ตามพบว่า กลุ่มฝ่ายค้านที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการต่อสู้กับ รัฐบาลเผด็จการใน ปัจจุบัน ล้วนแล้วเป็นอดีตนักศึกษาปี 1988 (2531) และ กลุ่มคนหนุ่มสาวเมื่อหลายสิบปีก่อนแทบทั้งสิ้น (ที่มา: DVB)
 

3 กรกฎาคม 2553

ทหารพม่าไถเงินวัยรุ่นโรฮิงยาดูบอลโลก อ้างผิดกฎหมาย

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ทหารพม่าเดินทางไปเรียกเก็บเงินวัยรุ่นถึงหอประชุมในหมู่บ้าน Safaddin Bill เมืองมงดอว์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ฉายการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยวัยรุ่นชาวมุสลิมโรฮิงยาถูกเรียบเก็บเงินคนละ 3,000 จั๊ต (ราว 101 บาท) ขณะที่ทหารพม่าอ้างว่า การเรียกเก็บเงินจากชาวมุสลิมโรฮิงยาครั้งนี้ เป็นเพราะทางการพม่าไม่อนุญาตให้ชาวมุสลิมโรฮิงยาดูการถ่ายทอดสดการแข่งขัน ฟุตบอลโลก

ขณะที่ตามปกติแล้ว ผู้ที่ต้องการชมการการแข่งขันฟุตบอลต้องจ่ายเงินเพียง 200 จ๊ต (7 บาท) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นในพื้นที่ต่างให้ความ สนใจชมการแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นจำนวนมาก ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมทหารพม่าเหมือนโจร (ที่มา: Kaladan)

 

5 กรกฎาคม 2553

ตัวแทนพม่าเยือนจีน เชื่อตอบประเด็นเรื่องนิวเคลียร์

นายติ่นอ่องมิ้นอู ผู้นำหมายเลข 5 ของรัฐบาลพม่าเดินทางเยือนจีนเพื่อ หารือถึงสถานการณ์ตรงชายแดนพม่า  - จีน รวมถึงการเลือกตั้งของพม่าที่จะมาถึง ขณะที่หลายฝ่ายเชื่อ การเยือนของผู้นำรัฐบาลพม่าครั้งนี้ ยังมีจุดประสงค์ เพื่อตอบคำถามกับรัฐบาลจีนถึงกรณีที่มีข่าวโครงการนิวเคลียร์พม่า เล็ดลอดออก มาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จีนยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อกรณีที่มีข่าวว่ารัฐบาลพม่ากำลังมีแผนที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า จีนคงไม่ต้องการเห็นเพื่อนบ้านอย่างพม่าครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์เตือนว่า หากโครงการนิวเคลียร์พม่าเกิดขึ้นจริง เชื่อว่าจะส่งผลต่อความมั่นคงในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม สถานีโทรทัศน์ของพม่ารายงานว่า นายติ่นอ่องมิ้นอูเดินทางเยือนจีนตามคำเชิญของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน เท่านั้น (ที่มา: DVB)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"อภิสิทธิ์" ชี้ถ้า "มาร์ค V11" โพสต์หยาบคายถือว่าไม่เหมาะ ผู้บริหาร AF7 แจงยังไม่ไล่ออกจากบ้าน

Posted: 06 Jul 2010 01:15 PM PDT

"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เผยยังไม่รู้ถูก "มาร์ค V 11" ด่ายับ แต่เห็นว่าถ้าโพสต์ข้อความหยาบคายถือว่าไม่เหมาะสม ด้านผู้บริหาร AF7 แจงไม่ไล่ออกจากบ้านเพราะถือว่าโพสต์ก่อนเข้าบ้าน ถือว่าไม่ได้ทำผิดกติกา ขณะที่มีข้อกล่าวหาใหม่ว่ามาร์ค V 11 โพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันสำคัญ แต่มีผู้เตือนว่าอาจเป็นภาพที่ตัดต่อขึ้นมาใหม่

<!--break-->

เมื่อวานนี้ (6 ก.ค.) เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่า นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งกรณีที่ นายวิทวัส ท้าวคำลือ หรือ "มาร์คAF" อายุ 17 ปี ผู้เข้าแข่งขันรอบสุดท้ายรายการเรียลลิตี้ทีวีล่าฝันยอดนิยม ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ซีซั่น 7 (เอเอฟ 7) หมายเลข “วี 11” โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัววิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำรุนแรง ว่า ตนไม่ได้อ่านข้อความ ดังกล่าว เมื่อถามว่าเป็นห่วงหรือไม่ต่อการที่เยาวชนมีความคิดทางการเมืองที่รุนแรง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ถ้าบอกว่าโพสต์ด้วยข้อความที่หยาบคาย ก็ถือว่าไม่เหมาะสม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการสอบถามกับทีมพีอาร์ที่นำศิลปินเอเอฟฯ เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อรับสายประชาชนในวันนี้ก็พบว่าขณะนี้นายวิทวัสกำลังอยู่ภายในบ้านเอเอฟ ซึ่งไม่มีทีวีให้ชม จึงทำให้นายวิทวัสเองไม่ทราบข่าวดังกล่าวที่เคยเคยโพสต์ข้อความไว้

โดยก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่า นายอรรถพล ณ บางช้าง ผู้บริหารระดับสูงบริษัท ทรูวิชั่นส์ ผู้ควบคุมการผลิตรายการเอเอฟ 7 ได้กล่าวว่าภายหลังจากประชุมผู้ผลิตรายการได้มีมติว่าจะไม่ปลดนายวิทวัส ท้าวคำลือ หรือมาร์ค หมายเลข 11 ออกจากบ้านนักล่าฝัน เนื่องจากนายวิทวัสได้โพสต์ข้อความทางการเมืองลงในเว็บไซต์เฟซบุ๊กในช่วงก่อนที่จะเข้าได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 12 นักล่าฝัน และถือว่าไม่ได้ทำผิดกติกาการเข้าร่วมรายการ ซึ่งมีกฎเหล็กว่าระหว่างอยู่ในช่วงรายการเรียลลิตี้ห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น หากผู้ใดละเมิดจะถูกปลดจากรายการทันที ในกรณีของนายวิทวัสไม่เข้าข่ายแต่อย่างใด และผู้เข้าร่วมรายการทุกคนต่างก็ทราบกติกาเป็นอย่างดี

ก่อนหน้านี้มีผู้นำข้อความที่อ้างว่าเป็นของนายวิทวัส ท้าวคำลือ ผู้เข้าแข่งขันรายการเรียลิตี้ ทรู อะคาเดมี แฟนเทเชีย ซีซั่น 7 หมายเลขวี 11 (V 11) ที่เคยโพสต์ลงในเฟซบุ๊กก่อนที่จะเข้าการแข่งขัน ซึ่งเนื้อหาที่โพสต์ได้ขับไล่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ออกจากตำแหน่งด้วยถ้อยคำหยาบคาย พร้อมให้ของลับผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อครั้งเกิดกรณีปฏิบัติการทางทหารสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงและเกิดการเผาสิ่งของและอาคารตอบโต้

"แม่งพูดมาได้เห็นประชาชนประท้วงมาขนาดนี้ เป็นผมผมออกไปนานแล้ว แล้วทีตัวเองเสือกไม่ออก ___! ละเป็นไงพอมันเผา มึงจะทำไง มึงก็ทำเ_ยอะไรไม่ได้ มึงไม่ออกเลยล่ะสัส หน้าโง่ แก้ปัญหาไม่ได้ก็ยุบสภาซะสิ แม่งกลัวไม่มีงานทำมากกว่า บ้านไม่ได้รวยเท่าทักสินไง กลัวตาย กลัวออกประเทศไม่มีเงินใช้หรือไงวะ" ข้อความส่วนหนึ่งที่ถูกอ้างว่าอยู่ในเฟซบุคของนายวิทวัส

นอกจากนี้มีผู้นำข้อความที่อ้างว่าเป็นของนายวิทวัสที่ด่าคนเสื้อแดงด้วยคำหยาบคายเช่นกัน พร้อมออกปากไล่ทั้งทหารและคนเสื้อแดงให้ออกไปจากบริเวณห้างสยามพารากอนเพื่อที่ตนจะได้ร้องคาราโอเกะและเล่นโบว์ลิ่ง

ขณะที่ล่าสุดมีการกล่าวหาว่านายวิทวัสโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันสำคัญ โดยมีการโพสต์ลิ้งค์ภาพที่อ้างว่านำมาจากเฟซบุคของนายวิทวัสมาแปะในกระดานเฟซบุคของกลุ่ม "ยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม - Social Sanction: SS" กระดานสนทนาเสรีไทย และความเห็นท้ายข่าวบันเทิงใน ASTVผู้จัดการออนไลน์ เป็นต้น

โดยผู้ดูแลเฟซบุคของกลุ่ม "ยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม" แสดงความเห็นว่า "หลักฐานชัดเจนฮะ ระดมช่วยกันส่งภาพไป DSI ด้วยดีกว่าฮะ" และยังเตือนสมาชิกกลุ่มด้วยว่า "เพื่อนๆ ฮะ อย่าติดแท็กรูปภาพนะฮะ ไม่งั้นจะเข้าข่ายเผยแพร่ฮะ"

อย่างไรก็ตามเมื่อมีผู้นำไปโพสต์ในกระดานข่าวพันทิพ ห้องเฉลิมกรุง ได้มีผู้เตือนว่าอาจเป็นภาพที่ถูกตัดต่อขึ้นมาใหม่ จนล่าสุดเมื่อเวลา 00.10 น. ของวันที่ 7 ก.ค. ผู้โพสต์ภาพดังกล่าวได้ลบทิ้งแล้ว และผู้ดูแลกระดานข่าวได้ปิดหัวข้อสนทนาดังกล่าวไปแล้ว

ที่มา: เรียบเรียงบางส่วนจาก คมชัดลึก และ ไทยโพสต์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปฏิบัติการสงครามเพื่อสลายการชุมนุมและการล้อมปราบคนเสื้อแดง

Posted: 06 Jul 2010 08:57 AM PDT

โศกนาฏกรรมทางการเมืองจากเหตุการณ์ล้อมปราบและสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 และวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2553 ได้ก่อให้เกิดข้อกังขาและคำถามต่อรัฐบาล ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และกองทัพบก โดยเฉพาะเป้าหมาย ยุทธวิธีและการปฏิบัติการทางการทหารที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งที่เป็นประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ

<!--break-->

การสลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษายน เกิดขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประกาศ “ขอพื้นที่คืน” ในบริเวณแยกราชประสงค์ และให้ผู้ชุมนุมกลับไปชุมนุมที่บริเวณถนนราชดำเนินดังเดิม แต่ปรากฏว่า รัฐบาลกลับสั่งการให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินโดยไม่มีการเตือนให้ผู้ชุมนุมทราบล่วงหน้า ในขณะที่ไม่มีปฏิบัติการใด ๆ ในบริเวณแยกราชประสงค์
 
ความรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงเช้า เมื่อฝ่ายทหารได้เคลื่อนกำลังออกจากบริเวณกองทัพภาคที่ 1 รอ. เพื่อตั้งแถวยันกับกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ในขณะเดียวกัน นายพายัพ ปั้นเกตุ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ได้นำมวลชนส่วนหนึ่งมายืนเผชิญหหน้ากับฝ่ายทหาร มีการปะทะกัน โดยทหารใช้โล่ กระบอง และแก๊สน้ำตา เหตุการณ์ดำเนินไปถึงช่วงบ่าย จนในที่สุดทั้งสองฝ่ายได้ถอยร่นกลับสู่ฐานที่ตั้งของฝ่ายตนเอง และนำคนบาดเจ็บของทั้งสองฝ่ายไปรับการรักษาพยาบาล
 
แม้ว่า ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินการสลายการชุมนุมจะกลับสู่ฐานที่ตั้งแล้วก็ตาม แต่ตลอดช่วงบ่ายจนถึงเย็น ฝ่ายทหารยังคงใช้เฮลิคอปเตอร์เพื่อทิ้งแก๊สน้ำตาและโปรยใบปลิวลงมายังผู้ชุมนุม นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนกองกำลังทหารและอาวุธสงครามจำนวนมากเข้ามาเสริมกำลัง แต่ถูกกลุ่มคนเสื้อแดงสกัดและบุกเข้ายึดยานยนต์และอาวุธสงครามดังกล่าวได้บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า
 
เหตุการณ์ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อรัฐบาลพยายามสลายการชุมนุมด้วยกำลังทหารและอาวุธสงครามอีกครั้งในช่วงเย็นของวันนั้น โดยเริ่มขึ้นบริเวณสี่แยกคอกวัวและถนนดินสอหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา การปะทะกันเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 18.00 น. เมื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐเคลื่อนกำลัง พร้อมยานยนต์หุ้มเกาะมายังถนนประชาธิปไตยและตั้งฐานกำลังอยู่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา กับเคลื่อนพลมาตั้งแนวปะทะอยู่บริเวณถนนตะนาว เพื่อเคลื่อนกำลังยึดพื้นที่บริเวณสี่แยกคอกวัวอีกเส้นทางหนึ่ง
 
การดำเนินการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากลในการสลายการชุมนุม เมื่อการปะทะเริ่มต้นขึ้น การใช้กำลังและอุปกรณ์ช่วยในการสลายการชุมนุม มิได้ปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก แต่ข้ามขั้นตอน เมื่อฝ่ายกองทหารที่ทำหน้าที่สลายการชุมนุมเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง นอกจากการดันระหว่างกันด้วยโล่และกระบองแล้ว การใช้ปืนพร้อมกระสุนยางก็เกิดขึ้นตามมาในบริเวณสี่แยกคอกวัว ส่วนบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาก็มีการเคลื่อนยานยนต์หุ้มเกาะเข้ามายึดพื้นที่
 
บริเวณสี่แยกคอกวัว หลังจากการใช้กระสุนยาง ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีการยิงกระสุนจริงสลับบ้างในระยะแรก จนทำให้ฝ่ายผู้ชุมนุมที่เข้าปะทะกับฝ่ายทหารได้รับบาดเจ็บ สถานการณ์ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เมื่อมีการใช้ปืนเอ็ม 79 จำนวน 2 ลูกโดยกองกำลังไม่ทราบฝ่ายที่สวมชุดดำ ยิงเข้าใส่กลุ่มทหารที่ปฏิบัติการอยู่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา จนทำให้นายทหารระดับผู้บังคับบัญชาได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
 
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ฝ่ายทหารใช้อาวุธสงครามประเภท ปืนเอ็ม 16 ยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ในขณะเดียวกันกลุ่มคนชุดดำ ที่ต่อมาเข้าใจกันว่ามาช่วยผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ก็ปะทะและผลักดันให้ฝ่ายทหารต้องล่าถอยออกจากพื้นที่บริเวณสี่แยกคอกวัวและหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา
 
การสลายการชุมวันที่ 19 พฤษภาคม     นับตั้งแต่มีการยิงปืนเอ็ม 79 ใส่กลุ่มผู้ชุมนาคนเสื้อหลากสีบริเวณแยกศาลาแดงเมื่อวันที่ 22 เมษายน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คนและได้รับบาดเจ็บกว่า 70 คน การตรึงกำลังและเฝ้าระวังสถานการณ์ รวมทั้งการสร้างสถานการณ์เพื่อก่อให้เกิดความรุนแรงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
 
สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อ ศอฉ. ประกาศปฏิบัติการ “กระชับวงล้อม” ในวันที่ 14 พฤษภาคม โดยตัดน้ำ-ไฟฟ้าและสัญญาณมือถือในบริเวณที่ชุมนา ขณะเดียวกันก็เคลื่อนกำลังทหารเข้าตรึงพื้นที่รอบๆ แยกราชประสงค์ ซึ่ครอบคลุมพื้นที่ราชปรารภ ซอยรางน้ำ ศาลาแดง แยกสาธร และซอยบ่อนไก่ ตลอดระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการกระชับวงล้อมนี้ ได้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการโดนสุ่มยิงจากที่สูง ณ บริเวณราชปรารภและแยกสาธร มีการปะทะกันระหว่างกองทหารที่รักษาการในพื้นที่กับกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณรอบๆ สวนลุมพินี แยกสาธร บ่อนไก่ ซอยงามดูพลี และย่านราชปรารภอยู่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งนำไปสู่การล้อมปราบ ในวันที่ 19 พฤษภาคม โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม ผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ของรัฐ  นักข่าว-ช่างภาพชาวไทยและต่างประเทศ และอาสาสมัครกู้ชีพ
 
การล้อมปราบผู้ชุมนุมเสื้อแดงเริ่มต้นในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 19 พฤษภาคม โดยกองกำลังทหารเคลื่อนพลออกจากหน่วยทหารและฐานที่มั่นในพื้นที่รอบๆ สถานที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และเข้ายึดพื้นที่ ณ บริเวณศาลาแดงถึงแยกสารสินและพื้นที่โดยรอบของสวนลุมพินี มีการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นระยะๆ ส่งผลให้ผู้ชุมนุม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการ์ด ถูกยิงเสียชีวิตโดยหน่วยล่าสังหาร (sniper) เป็นหลัก
 
ในเวลาประมาณ 13.30 น. แกนนำ นปช. นำโดยณัฐวุฒิ ไสยเกื้อประกาศยุติการชุมนุมเพื่อยุติการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้ชุมนุม แล้วเข้ามอบตัวกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมแกนนำคนอื่นๆ ส่วนผู้ชุมนุมที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ชุมนุม บางส่วนก็ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ บางส่วนได้อพยพมาอยู่ในบริเวณวัดปทุมวนาราม ด้วยเชื่อว่าพวกตนจะปลอดภัยเมื่ออยู่ใน “เขตอภัยทาน” แต่ปรากฏว่ามีการยิงอาวุธหนักเข้าสู่พื้นที่บริเวณวัดปทุมอย่างรุนแรง จนผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพเสียชีวิตถึง 6 คน
ในขณะเดียวกัน เริ่มมีการเผาอาคารสถานที่ของรัฐและเอกชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง เมื่อเจ้าหน้าที่สามารถเข้ายึดและควบคุมพื้นที่ในบริเวณแยกราชประสงค์และพื้นที่ต่อเนื่องในช่วงเย็น พร้อมๆ กับการควบคุมเพลิงที่ไหม้อาคารสถานที่ต่างๆ ส่วนผู้ชุมนุมที่หลบภัยอยู่ในวัดปทุมวนารามก็ทยอยกลับภูมิลำเนาของตนเองในวันรุ่งขึ้น
แน่นอนว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการสลายและล้อมปราบการชุมนุมทั้ง 2 ครั้ง นำมาซึ่งความสูญเสียให้แก่ทุกฝ่าย
แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ การใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามเพื่อสลายการชุมนุมทั้งสองครั้งนี้ มีความชอบธรรมและเหมาะสมเพียงใด 
 
1) ยุทธวิธีในการสลายและล้อมปราบการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยหลักการแล้ว การใช้กำลังทหารเข้าสลายและล้อมปราบการชุมนุมทางการเมืองในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยไม่ควรเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อแนวทางการเจรจาเพื่อยุติปัญหาโดยสันติยังเป็นไปได้ แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์กลับปิดประตูการเจรจาอย่างรีบเร่ง เมื่อ สว.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สามารถเป็นตัวกลางชักชวนให้แกนนำ นปช. หันกลับสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม (แก้ไขเพิ่มเติม) แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกละเลยและเพิกเฉยจากสังคมทุกภาคส่วน
 
การใช้อาวุธสงครามในการสลายการชุมนุมนั้นเป็นสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่ เพราะว่าโดยหลักสากลของการสลายการชุมนุม 7 ขั้นตอนนั้น ไม่ปรากฎว่ามีขั้นตอนใดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถใช้อาวุธสงคราม เช่น ปืนM 16 ยานยนต์หุ้มเกราะ เป็นต้น เพื่อสลายการชุมนุม ดังนั้น คำถามที่ทางรัฐบาลและ ศอฉ. ต้องตอบต่อสังคมก็คือ ทำไมสิ่งเหล่านี้ยังเกิดขึ้นในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยรัฐบาลที่อ้างว่าตนมาจากการเลือกตั้ง บทเรียนจากเหตุการณ์ต่างๆ นับตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงกรณีกรือเซะและตากใบ ไม่ได้ทำให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถทบทวนความผิดพลาดในวิธีการสลายการชุมนุมเลยหรือ?
 
แท้ที่จริงยุทธวิธีในการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงคือ ปฏิบัติการทางทหารในภาวะสงครามนั่นเอง เพียงแต่พื้นที่แห่งสงครามครั้งนี้เกิดขึ้นในเมืองหลวง นอกจากนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่สงครามกลางเมืองที่ทั้งสองฝ่ายประกาศสงครามระหว่างกัน แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลและ ศอฉ. มักประกาศว่าผู้ชุมนุมมีกองกำลังติดอาวุธ แต่ก็ไม่สามารถแสดงหลักฐานยืนยันได้ว่า ผู้ก่อการร้ายที่รัฐบาลชอบกล่าวถึงนี้คือใคร มีจำนวนเท่าไร หรือพวกเขามีเพียง 5-6 คนตามที่ปรากฏในคลิปเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายนหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสลายการชุมนุมวันที่ 19 พฤษภาคม หากพวกเขามีจำนวนมาก ทำไมรัฐบาลไม่สามารถแสดงหลักฐานการดำรงอยู่ของพวกเขาให้ปรากฏ จริงอยู่ว่าผู้ชุมนุมเสื้อแดงบางคนมีอาวุธ แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย คำถามในจุดนี้คือ หากพวกเขามีเพียงไม่กี่คน การใช้กำลังทหารกว่า 50,000 นายพร้อมอาวุธขนาดหนักจำนวนมากเพื่อจัดการกับการชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม มีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร?
 
ยิ่งกว่านั้น ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการจัดกำลังพล การควบคุมพื้นที่ในเชิงกายภาพ การซุ่มยิงฝ่ายตรงข้ามในที่สูง บนรางรถไฟฟ้าและทางเดินลอยฟ้าล้วนเป็นวิถีคิดทางการทหารทั้งสิ้น โดยมีตัวแบบการล้อมปราบนักศึกษาของรัฐบาลจีนที่จตุรัสเทียน อัน เหมิน เป็นต้นแบบ ลักษณะการดำเนินการเช่นนี้ไม่ใช่วิถีทางในการสลายการชุมนุมตามหลักสากล อีกทั้ง การสลายการชุมนุมจะต้องคำนึงถึงหลักการรักษาชีวิต และสิทธิของความเป็นมนุษย์ที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างอารยะ ฉะนั้น การใช้อำนาจและกำลังที่เกินกว่าเหตุในปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน และ19 พฤษภาคม จึงนำไปสู่การละเมิดสิทธิชีวิตของพลเมืองจำนวนมากกว่าการปราบปรามประชาชนครั้งใด ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทย
 
2) การกล่าวหาผู้ชุมนุมว่าเป็นผู้ร้ายและจำเลยของสังคม กล่าวคือ ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงถูกกระทำให้เป็นจำเลยทางสังคมใน 3 ประเด็น คือ 1. ผู้ก่อการร้าย 2. กลุ่มคนที่ได้รับการสนับสนุนจากพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรและถูกจัดตั้งมาจากเครือข่ายของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรและอดีต สส. พรรคไทยรักไทยกับ สส. พรรคเพื่อไทย 3. กลุ่มคนที่พยายามล้มล้างสถาบันเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่รัฐไทยใหม่
 
     2.1) การกล่าวหาว่า กลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้ายหรือมีผู้ก่อการร้ายแฝงตัวปะปนกับผู้ชุมนุม เริ่มต้นขึ้นหลังเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ที่มีกลุ่มคนชุดดำแฝงตัวเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้ชุมนุมปะทะกับกองกำลังเจ้าที่ของรัฐ และใช้อาวุธสงครามยิงตอบโต้กับกองทหาร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าการสลายการชุมนุม ไม่ปรากฎว่ามีการใช้คำดังกล่าวเรียกผู้ชุมนุม
 
นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ยืนยันให้ใช้คำว่า ‘ผู้ก่อการร้าย’ เพื่อเรียกกลุ่มคนชุดดำและกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง หลังวันที่ 10 เมษายนเป็นต้นมา เขามักจะกล่าวอ้างว่า มีผู้ก่อการร้ายแฝงตัวปะปนอยู่กับผู้ชุมนุมและเรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมด้วยจิตใจบริสุทธิ์เดินทางออกจากพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ รวทั้งยังเรียก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรและแกนนำ นปช. บางคน เช่น ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เป็นต้น ว่าเป็นผู้นำของผู้ก่อการร้าย
 
ข้อกล่าวหาเรื่องผู้ก่อการร้ายยังได้รับการขานรับอย่างแข็งขันจากพ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. สื่อมวลชนทั้งของรัฐและสื่อเสรี กลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาล เช่น สส.พรรคประชาธิปัตย์ สว. และนักวิชาการ เป็นต้น
ในขณะที่รัฐบาลและ ศอฉ. ช่วยกันตอกย้ำว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงเท่ากับ “การก่อการร้าย” ที่เต็มไปด้วยผู้ก่อการร้าย จนอาจทำให้สังคมเข้าใจว่าผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เป็นผู้ก่อการร้าย แต่รัฐบาลต้องตอบสังคมให้ได้ว่า ประชาชนที่ถูกทหารยิงจนเสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งหมดเป็นผู้ก่อการร้ายหรือไม่ พวกเขามีอาวุธร้ายแรงต่อสู้กับทหารหรือไม่ เพราะจากหลักฐานการชันสูตรศพ ไม่พบคราบเขม่าปืนในมือของผู้เสียชีวิต 
 
     2.2) การกล่าวหาว่า กลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการสนับสนุนจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรและถูกจัดตั้งมาจากเครือข่ายของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรและอดีต สส. พรรคไทยรักไทยกับ สส. พรรคเพื่อไทย
 
สาระสำคัญของข้อกล่าวหานี้ก็คือ การทำให้พวกเขาเป็นเพียงเบี้ยทางการเมืองที่มี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรและแกนนำ นปช. หลอกใช้ เพราะว่าพวกเขาโง่-จน-เจ็บ วาทกรรมทางการเมืองที่ถูกตอกย้ำโดยชนชั้นกลาง-คนในเมือง ทำให้คนเสื้อแดงกลายเป็นพลเมืองที่ด้อยค่า ที่รังแต่ฉุดรั้งความเจริญของประเทศ การตายของพวกเขาด้วยฝีมือของรัฐจึงไม่ใช่สิ่งที่น่าเศร้าสลดแต่ประการใด สังคมไม่ควรต้องเสียเวลาขุดค้นหาความจริงที่เกิดขึ้น
 
ในขณะที่ข้อเท็จจริงจำนวนมากเกี่ยวกับคนเสื้อแดงกลับถูกปฏิเสธจากผู้คนที่ต่อต้านเขา จริงอยู่ผู้ชุมนมบางส่วนอาจจะชื่นชอบต่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนั่นก็เป็นสิทธิของพวกเขา กระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเสื้อแดงจะเห็นชอบในทิศทางเดียวกัน ในทางตรงข้าม พวกเขามีความหลากหลายและมีเป้าประสงค์ในการเข้าร่วมที่แตกต่างกัน บางคนมาเพื่อเรียกร้องปัญหาปากท้องของพวกเขา ความไม่เป็นธรรมในสังคม นโยบายของรัฐที่มุ่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและละเลยชนบท บางคนมาเพราะไม่พอใจความอยุติธรรมทางการเมืองด้วยระบบสองมาตรฐานของรัฐบาล ตุลาการภิวัตน์ และบรรดากลุ่มการเมืองที่มีฐานอยู่ในเมือง
 
การที่ประชาชนคนเสื้อแดงไม่สามารถใช้ภาษาสวยหรูอธิบายความคับข้องใจและความปรารถนาของพวกเขาให้ชนชั้นกลาง-คนในเมืองรู้สึกประทับใจได้ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขามองไม่เห็นปัญหาข้างต้น หรือขาดสำนึกในสิทธิทางการเมืองของตนเอง ตลอดจนความอยุติธรรมทางการเมืองที่ปรากฏในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
 
การหยิบยกประเด็นเรื่องชนชั้นในนาม ‘ไพร่’ และ ‘อำมาตย์’ ของแกนนำ นปช.จึงเป็นถ้อยคำที่สามารถสื่อกับผู้คนในสังคมและบรรดากลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุด เพราะอำมาตย์คือ ตัวแทนของความอยุติธรรมที่พวกเขาเผชิญหน้าอยู่ในชีวิตจริง คือสิ่งที่ทำให้สิทธิทางการเมืองของพวกเขาถูกเหยียบย่ำ ดังนั้น การเรียกร้องประชาธิปไตยของพวกเขาจึงเป็นการแสดงออกทางการเมืองเพื่อแสดงให้เห็นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
 
ประการสำคัญ ไม่ว่าเหตุผลและการเข้าร่วมของบรรดากลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงจะเป็นเช่นใดก็ตาม ทุกคนควรเคารพในความคิดและจุดยืนทางการเมืองของพวกเขา เพราะหนึ่งเสียงของพวกเขาคือ หนึ่งสิทธิที่เท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ในสังคมนี้  
 
 
 
 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ครม.เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 5 จังหวัดที่เหลือคงต่อ 3 เดือน ศอฉ. อ้างเหตุวินาศกรรม

Posted: 06 Jul 2010 08:21 AM PDT

คณะรัฐมนตรีเผยยกเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 5 จังหวัด กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ นครปฐม และน่าน ที่เหลือคงต่อ 3 เดือนตามที่ ศอฉ. เสนอ อ้างอาจมีการก่อวินาศกรรม "ปณิธาน" ลั่นแม้จะยกเลิกแต่มีการเฝ้าระวัง และหากจำเป็นก็ประกาศใช้ใหม่ได้ ด้าน "จตุพร" ชี้ไม่เกินความคาดหมาย เผยภรรยาแกนนำ นปช. เตรียมช่วย "ก่อแก้ว" หาเสียง

<!--break-->

วันนี้ (6 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเวลา 14.30 น. ภายหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ด้วยทางศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ (ศอฉ.) เสนอให้มีการขยายเวลาบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการฉุกเฉินร้ายแรง (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ออกไปอีก 3 เดือนนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาพิจารณาหารือเรื่องนี้อย่างละเอียดมาก โดยมีข้อเสนอพิจารณาว่าอาจมีบางพื้นที่ให้ยุติการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นายกฯ ให้หลักการไว้ว่า บ้านเมืองกำลังอยู่ในการฟื้นฟูเยียวยาและพัฒนา ในหลายท้องถิ่นรัฐบาลจะทำงานร่วมกับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น เนื่องจากการเข้าพื้นที่ต้องอาศัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องทำงานร่วมกับท้องถิ่นมากขึ้น โดยใน 5 จังหวัดที่ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ นครปฐม และน่าน ที่มีสถานการณ์คลี่คลายแล้ว โดยทางรัฐมนตรีมีความเห็นพ้องกันว่า สามารถคืนพื้นที่กลับไปอยู่ในการดูแลฝ่ายปกครองและฝ่ายตำรวจได้ โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้ยืนยันว่าสามารถทำงานได้ ในส่วนของ 19 จังหวัดที่ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป ในอนาคตจะมีการพิจารณาลดข้อกำหนดบางส่วนหากสถานการณ์คลี่คลาย

นายปณิธาน กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้เหตุผลที่ต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ 19 จังหวัดว่า ฝ่ายที่มีความเคลื่อนไหว ยังดำรงความมุ่งหมายเดิมในการชุมนุม เคลื่อนไหวแบบเป็นกระบวนการ. และจุดความรู้สึก จุดประกายอารมณ์ของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนบางส่วนที่รู้สึกไม่พอใจ และมีความเชื่อที่ไม่อยู่บนพื้นฐานความจริง โดยทางศอฉ. ได้เสนอ ครม.ให้รับทราบว่า กระบวนการเยียวยาได้เดินหน้าในหลายพื้นที่ แต่ต้องใช้เวลา โดยในระยะนี้ อาจมีความเคลื่อนไหวก่อวินาศกรรม ปล่อยข่าวลือ คุกคามที่ทำการราชการ พรรคการเมือง ชุมชน โรงเรียน คลังน้ำมัน จึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไว้

นายปณิธาน กล่าวอีกว่า การยกเลิกพ.ร.ก. ฉุกเฉินใน 5 จังหวัด เพื่อส่งสัญญาณให้นานาชาติรับทราบว่าเราเดินหน้าฟื้นฟูเยียวยาการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการยกเลิกใน 5 จังหวัด แต่ยังคงมีการเฝ้าระวัง เพื่อความปลอดภัย และสามารถประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ทุกเมื่อหากมีความจำเป็น

ส่วนที่พรรคเพื่อไทย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. กล่าวว่า การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใน กทม. ไม่เกินความคาดหมาย และเชื่อว่าไม่กระทบต่อการรณรงค์หาเสียงช่วยนายก่อแก้ว พิกุลทอง ผู้สมัครส.ส.กรุงเทพฯ เขต 6 พรรคเพื่อไทย โดยวันที่ 7 ก.ค.เวลา 17.00 น. จะมีการปราศรัยใหญ่ ที่ตลาดสดหนอกจอก ซึ่งนอกจากหัวหน้าพรรคส.ส.และแกนนำพรรคแล้ว ภรรยาของนายก่อแก้ว นายณัฐวุฒิ และภรรยาแกนนำคนอื่นๆ ที่ถูกคุมขังจะไปหาเสียงด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"คณิต" เผยรายชื่อคณะกรรมการปรองดองฯ

Posted: 06 Jul 2010 06:56 AM PDT

"คณิต ณ นคร" เผยรายชื่อกรรมกาีีรปรองดองฯ ให้ ครม. ทราบแล้วคือ กิติพงษ์ กิตติยารัตน์ - จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย - เดชา สังขละวรรณ - มานิจ สุขสมจิตร - รณชัย คงสกนธ์ - นพ.สุรชัย ลิขสิทธิ์วัฒนกุล - ไำพโรจน์ พลเพชร และ สมชาย หอมละออ โดยมีวาระทำงาน 2 ปี

<!--break-->

วันนี้ (6 ก.ค.) นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ( คอป. ) เสนอรายชื่อ 8 กรรมการให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเเล้ว คือ นายกิติพงษ์ กิตติยารัตน์ (อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม) นางจุฑารัตน์ เอื้ออำนวย(นักวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ) นายเดชา สังขละวรรณ (คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) นายมานิจ สุขสมจิตร(สื่อมวลชน และ สสร.50) นายรณชัย คงสกนธ์ (รองคณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี) นพ.สุรชัย ลิขสิทธิ์วัฒนกุล (ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ศิริราชพยาบาล) นายไพโรจน์ พลเพชร (องค์กรพัฒนาเอกชน) เเละนายสมชาย หอมละออ (องค์กรพัฒนาเอกชน) โดยอายุการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้มีอายุสองปี
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่ม 24 มิถุนาฯ บุก กมธ.ยุติธรรมสภาล่าง ฝากปลุก ส.ส. ดูแลประชาชนถูกคุกคาม จากพรก. ฉุกเฉิน

Posted: 06 Jul 2010 06:25 AM PDT

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุขและกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จำนวน 20 คน เข้าพบนายประชา ประสพดี ประธานกมธ.ยุติธรรม สภาผู้แทนฯ ที่อาคารรัฐสภา ร้องตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภายใต้พรก.ฉุกเฉิน จับตากรณีบ.ก.ลายจุด และ วสันต์ สายรัศมี เจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนตาย แต่ถูก ศอฉ.ออกหมายเรียก เป็นตัวอย่างการคุกคามเสรีภาพ

<!--break-->

เวลาประมาณ 11.00 น. นายสมยศ พฤกษาเกษมสุขและกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จำนวน 20 คน เข้าพบนายประชา ประสพดี ประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่เรียกร้องให้ส.ส. ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลภายใต้พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีประชาชนถูกจับกุมคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม โดยยกตัวอย่างนายสมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวทางสังคม ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงาซึ่งถูกจับกุมขณะผูกผ้าแดงที่สี่แยกราชประสงค์ และนายวสันต์ สายรัศมี เจ้าหน้าที่กู้ภัยซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ยิงประชาชนในวัดปทุมวนาราม และออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิต และถูกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ออกหมายเรียก

 “เราเห็นว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพของประชาชนเพื่อกลบเกลื่อนความจริงเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง จึงอยากให้กมธ.ยุติธรรมตรวจสอบ และเราผิดหวังกับการทำหน้าที่ของสภา เพราะประชาชนถูกคุกคามเสรีภาพแต่ ส.ส.ยังหลับใหล เราจึงขอเร่งรัดให้ทางกมธ.ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และขอให้เลิก พ.ร.ก.ทันที”

กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยได้มอบนาฬิกาปลุกให้กับนายประชาด้วย โดยนายสมยศกล่าวว่า ให้นำไปปลุก ส.ส. ในสภา “ขอให้ไปปลุก ส.ส.ให้หน่อย รู้สึกว่าจะหลับใหลมาก โดยเฉพาะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ควรจะเป็นแนวหน้า”

นายประชา ได้รับจดหมายร้องเรียน และรับนาฬิกาปลุกเอาไว้ พร้อมกล่าวว่าจะดำเนินการเอาเรื่องร้องเรียนเข้าสู่การประชุม กมธ. ในวันพุธนี้ และจะติดตามสอบถามและตรวจสอบผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเช่น นายรัฐมนตรี และประธานศอฉ. ต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอฟริกาใต้ 2010: เมื่อ “ท่านผู้นำ” แทรกแซง “ฟุตบอล”

Posted: 06 Jul 2010 03:29 AM PDT

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากีฬายอดนิยมอย่าง “ฟุตบอล” นั้นมีอิทธิพลต่อคนในสังคมสูง ซึ่งจะให้ไม่ไปข้องเกี่ยวกับเรื่องการเมืองนั้นคงแทบที่จะเป็นไปไม่ได้ ฟอร์มอันย่ำแย่ของ “ไนจีเรีย” และ “ฝรั่งเศส” จึงต้องทำให้ “ท่านผู้นำ” ออกโรงมาแทรกแซง-สร้างภาพเพื่อเรียกทั้ง “ความนิยมจากแฟนบอล” และ “คะแนนเสียง”
<!--break-->

 
Goodluck Jonathan ประธานาธิบดีผู้มอบความโชคร้ายให้กับฟุตบอลไนจีเรีย
หลังจากที่ทีมมีผลงานที่ย่ำแย่ในฟุตบอลโลกหนนี้ เมื่อกลับบ้านยังถูกเรื่องของ “การเมือง” ซ้ำเติมเข้าไปอีก สำหรับอย่างทีมฝรั่งเศสและไนจีเรีย
Nicolas Sarkozy ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสได้เรียก Thierry Henry กองหน้าของทีมไปพูดคุยด้วยทันทีหลังที่พวกเขาหอบกระเป๋าถึงบ้านเกิด รวมถึงสั่งการให้ Roselyne Bachelot รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกีฬาไปพบกับนักฟุตบอลเพื่อสอบเหตุถึงความล้มเหลวของฝรั่งเศส นอกจากนี้ Sarkozy ยังได้เรียกร้องต่อสาธารณะให้ Jean-Pierre Escalettes ประธานสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส (FFF) ลาออกจากตำแหน่ง
FIFA มองปฏิกิริยาของ Sarkozy ครั้งนี้ว่าเป็นเรื่องของ “คนการเมือง” ที่พยายามเข้ามาแทรกแซงวงการฟุตบอล ทั้งนี้ FIFA ระบุว่าการเมืองไม่ควรเข้ามายุ่งกับวงการฟุตบอล และได้มีจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกีฬาของฝรั่งเศส เพื่อขอยืนยันว่าไม่มีการบีบให้ใครลาออก โดย FIFA จะเฝ้าจับตามองกรณีนี้อย่างใกล้ชิด
Sepp Blatter ประธาน FIFA ยังให้ความเห็นว่าการที่ Sarkozy มาวุ่นวายกับทีมชาติฝรั่งเศส อาจส่งผลพวกเขาถูกห้ามแข่งขันทั่วโลกและระบุว่า "พวกเราไม่ต้องการให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง กฎของกีฬาระหว่างประเทศมีทางออกอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง"
แต่ล่าสุด Escalettes ก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของฝรั่งเศสในฟุตบอลโลกหนนี้ รวมถึงเขาและ Raymond Domenech ผู้จัดการทีมชาติฝรั่งเศสก็ต้องเข้าให้การต่อคณะกรรมาธิการวัฒนธรรมของสภาแห่งชาติ เพื่อชี้แจงถึงปัญหาภายในของสหพันธ์ฟุตบอลและทีมชาติฝรั่งเศส ซึ่งท้ายสุด FIFA เองก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ มาลงโทษฝรั่งเศส
ที่ไนจีเรีย ประธานาธิบดี Goodluck Jonathan ก็ได้ออกมาแทรกแซงสมาคมฟุตบอลของประเทศ ด้วยการประกาศจะไม่ส่งทีมเข้าแข่งขันรายการระดับชาติใดๆ ทั้งสิ้นเป็นเวลา 2 ปี (หรือจนถึงปี 2012) โดยเขาได้อ้างเหตุผลว่าเพื่อเป็นการจัดระบบฟุตบอลของไนจีเรียใหม่ หลังจากที่ทีมทำผลงานได้ไม่ดีนักในฟุตบอลโลกหนนี้ โดยไนจีเรียได้อันดับสุดท้ายของกลุ่ม B (แพ้อาร์เจนตินา 0-1 แพ้กรีซ 1-2 และเสมอเกาหลีใต้ 2-2)
นโยบายเกี่ยวกับฟุตบอลของ Jonathan ในครั้งนี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะถูก FIFA ลงโทษ โดย FIFA ได้ส่งจดหมายให้ Jonathan ยกเลิกคำสั่งแบนทีมชาติของตัวเองภายใน 48 ชม. คือภายในวันจันทร์ที่ 5 ก.ค. (อนึ่ง ขณะเขียนต้นฉบับเสร็จในวันที่ 6 ก.ค. 53 ยังไม่มีข่าวว่าไนจีเรียมีท่าทีอย่างไรต่อคำเตือนของ FIFA และ FIFA มีบทลงโทษใดต่อไนจีเรีย) มิฉะนั้นอาจจะแบนไนจีเรียออกจากการแข่งขันระดับนานาชาติแบบถาวรไปเลย โดย Jerome Valcke เลขาธิการทั่วไปของ FIFA ออกมากล่าวถึงกรณีนี้ว่า FIFA มีชาติสมาชิก 208 ประเทศ แต่ถ้าชาติใดชาติละเมิดข้อบังคับหรือระบบ มันจะทำให้พีรามิดของฟุตบอลอยู่ในสภาวะอันตราย
ทั้งนี้ Jonathan ขึ้นสู่อำนาจด้วยการเป็นรักษาการประธานาธิบดีแทน Umaru Yar'Adua ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจนต้องออกไปรักษาตัวที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย และได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อหลังจากที่ Yar'Adua เสียชีวิต
ทั้งนี้พลังแห่งตุลากาลภิวัฒน์ไม่ได้ฮิตแค่ในบ้านเราที่เดียว เพราะการขึ้นสู่ตำแหน่งของ Jonathan นั้นศาลมีส่วนสำคัญในการแทรกแซงการเมือง โดยก่อนหน้านั้นการเมืองไนจีเรียต้องเผชิญกับภาวะสุญญากาศ เพราะประธานาธิบดี Yar'Adua ที่ไปรักษาตัวต่างประเทศและไม่ได้มอบอำนาจในการรักษาการบริหารประเทศให้กับ Jonathan ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดี
การเมืองไนจีเรียจึงเกิดปัญหาขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความแตกแยกในคณะรัฐมนตรี มีการชุมนุมประท้วงของประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนฝ่ายนิติบัญญัติต้องวอนให้ฝ่ายตุลาการออกมาชี้ขาดว่า Yar'Adua ละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ไม่มอบอำนาจให้กับรองประธานาธิบดีขณะที่ตนไม่สามารถปฏิบัติภารกิจขณะรักษาตัวอยู่ในต่างประเทศ
ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศาลของไนจีเรียได้ตัดสินว่า Yar'Adua ไม่ได้ละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ จากกรณีที่ไม่ได้ส่งมอบอำนาจให้กับรองประธานาธิบดี แต่ก็ดีชี้ว่าการที่ประธานาธิบดีไม่ได้แจ้งต่อสภาถึงการเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้รองประธานาธิบดีไม่สามารถทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดีได้
หลังจากนั้นศาลสูงสุดของไนจีเรียได้ให้เวลาคณะรัฐมนตรีเป็นเวลา 14 วัน เพื่อตัดสินใจว่าจะให้ Yar'Adua อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปหรือไม่ และที่สุดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐสภาไนจีเรียก็มีมติให้ Jonathan ขึ้นรักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของไนจีเรีย ในวาระที่เหลือของ Yar'Adua แต่ขณะนั้นก่อนที่ Yar'Adua จะเสียชีวิตเขาก็ได้ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่าเขามีอาการดีขึ้นและต้องการเดินทางกลับไปเป็นประธานาธิบดี และในวันที่ 24 ก.พ. 2010 เขาก็กระเสือกกระสนเดินทางกลับไนจีเรียได้ แต่ Jonathan ก็ไม่ได้คืนอำนาจให้แก่เขา และหลังจากนั้นไม่กี่วัน (5 พ.ค. 2010) เขาก็เสียชีวิตลง และ Jonathan ก็ได้เป็นประธานาธิบดีอย่างเต็มตัว
โดย Jonathan หลังได้ขึ้นรักษาการแทน Yar'Adua ใหม่ๆ นั้นได้ประกาศแผนปรองดอง ลั่นวาจาว่าจะเดินหน้าการนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มติดอาวุธในบริเวณสามเหลี่ยมไนเจอร์เพื่อให้ยุติการโจมตีท่อส่งน้ำมัน ที่เป็นปัญหาที่สาหัสอันหนึ่งของประเทศ
ผู้นำการเมืองกับเรื่อง “ฟุตบอล-การเมือง”
Kwame Nkruma อดีตผู้นำทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ของกาน่า และถือว่าเป็นบิดาผู้ก่อกำเนิดทีมดาวดำ (The Black Stars) ฉายาของทีมฟุตบอลกาน่า โดย Nkruma ตั้งชื่อตาชื่อตามเรือของ Marcus Garvey ที่ทำสัญญาเช่ามาในปี 1922 เพื่อนำชาวอเมริกันผิวดำกลับคืนสู่ถิ่นแอฟริกา
หลังจากที่กานาได้รับเอกราชในปี 1957 Nkruma ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรก เขานำทีมชาติกานาออกทัวร์ลงเตะกับทีมดังๆ ในยุโรป ช่วงปี 1962 – 1963 ส่งผลให้พวกเขาสามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติแอฟริกัน (Africa Cup of Nations) 2 สมัยซ้อน ในปี 1963 และปี 1965
ในด้านแนวคิดทางการเมืองของ Nkruma นั้น เขามีความเชื่อในอุดมการณ์รวมชาติแอฟริกัน (Pan-Africanism) มากกว่าแนวคิดชาตินิยม (Nationalism) และก็เหมือนผู้นำประชาธิปไตยที่ได้รับความนิยมในประเทศโลกที่สามทั้งหลาย เขาถูกกองทัพยึดอำนาจในปี 1966
Mobutu Sese Seko ผู้นำซาอีร์ (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) อาจเป็นด้านกลับของ Nkruma ทั้งการขึ้นสู่อำนาจ (เขาเป็นผู้นำจากการรัฐประหาร) และการที่เขาเห็นฟุตบอลเป็นแค่เครื่องเล่นเสริมบารมีแก่ตนเอง โดยวิธีการใช้เงินอย่างมหาศาล เขาจ้างชาวยูโกสลาฟมาเป็นหัวหน้าโค้ช และดึงนักเตะที่มีเชื้อชาติซาอีร์ในเบลเยียมกลับมารับใช้บ้านเกิด
Mobutu เปลี่ยนฉายาทีมชาติจาก “สิงห์” มาเป็น “เสือดาว” ด้วยเหตุผลที่ต้องการเสริมบารมีของตนเองเพราะว่าหมวกประจำตัวของเขาทำจากหนังเสือดาว แต่กระนั้นทีมชาติซาอีร์ไปได้ไกลกว่ากานามากมายนัก ด้วยการคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติแอฟริกัน ในปี 1968 และ 1974 และในปี 1974 นั้นเองพวกเขาสามารถเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกที่เยอรมันเป็นเจ้าภาพได้
เรื่องของฟุตบอลซาอีร์ในยุคของ Mobutu กลับจบด้วยความเศร้า เมื่อทีมโชว์ผลงานย่ำแย่ในฟุตบอลโลก 1974 ที่เยอรมัน พวกเขาพ่ายแพ้ทุกเกม และสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการพ่ายแพ้ต่อยูโกสลาเวียไป 0-9 Mobutu รู้สึกเสียหน้าเป็นอย่างมาก เขาประกาศต่อสาธารณะชนว่านักเตะทีมชาติชุดนี้จะไม่ได้รับการเหลียวแลจากเขาอีกต่อไป และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ก่อนที่เขาจะไปหาของเล่นชิ้นใหม่ด้วยการทุ่มเงินจัดการแข่งขันชกมวยครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์มวยโลก นั่นก็คือศึก “Rumble in the Jungle” ระหว่าง Muhammad Ali กับ George Foreman
ตัวอย่างสุดท้ายเป็นสุดยอดความเลวร้ายยิ่งกว่า Mobutu ที่ปฏิบัติต่อนักเตะทีมชาติของตนเองเมื่อทีมประสบความล้มเหลว นั่นคือการทำทีมบอลของ Uday Hussein ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ Saddam Hussein อดีตผู้นำอิรัก
เช่นเดียวกับผู้พ่อ เขามีสไตล์การทำงานที่ดุดัน ครั้งหนึ่งเขาเคยให้โอวาทแก่นักเตะทีมชาติอิรักก่อนไปแข่งขันนอกบ้านว่าถ้าหากทีมแพ้เขาจะระเบิดเครื่องบินขากลับทิ้งเสีย แต่นั่นเป็นเพียงคำขู่ เพราะเมื่ออิรักตกรอบคัดเลือกไม่ได้ไปฟุตบอลโลกที่สหรัฐอเมริกาในปี 1994 เขานำนักเตะมาซ้อมแบบเข้มข้นแทนที่การระเบิดเครื่องบิน ด้วยการหล่อลูกฟุตบอลด้วยคอนกรีตแล้วให้พวกเขาเตะมันแทนลูกหนัง
หนึ่งในนักเตะชุดนั้นเล่าว่า “ผมถูกทรมานหลังแข่งขันเสร็จอยู่ 4 ครั้ง ครั้งหนึ่งหลังนัดกระชับมิตรกับจอร์แดนที่กรุงอัมมานที่เราแพ้ 0-2 Uday สั่งให้เอาผมกับเพื่อนร่วมทีมอีก 3 คนไปขังคุก พอไปถึงพวกนั้นก็จับเราถอดเสื้อ มัดเท้าเราติดกันและจับขาเราพาดกับท่อนไม้ ขณะที่นอนหงายหลัง แล้วพวกนั้นก็ลากเราไปตามพื้นทางเดินและคอนกรีต จนแผ่นหลังเราถลอกปอกเปิก จากนั้นพวกมันก็ลากเราไปยังแอ่งทรายและเอาทรายถูหลังเรา สุดท้ายพวกมันก็ให้เราปีนขึ้นบันไดและโดดลงไปในโถส้วม”
 
แหล่งข้อมูล:
ฟุตบอล ประเด็นเล็ก สะท้านโลก (ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล แปลจาก Trigger Issue: Football, Cris Brazier, โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2552)
การเมืองวุ่นๆในแอฟริกา (ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 25 - 27 ก.พ. 2010)
Fifa chief warns French president (BBC, 29-6-2010)
Nigeria: Nation Risks Fifa Ban (allafrica.com, 1-7-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Nigeria_national_football_team (เข้าดูเมื่อ 5-7-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Goodluck_Jonathan (เข้าดูเมื่อ 5-7-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Ghana_national_football_team (เข้าดูเมื่อ 5-7-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Congo_DR_national_football_team
(เข้าดูเมื่อ 5-7-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Iraq_national_football_team (เข้าดูเมื่อ 5-7-2010)
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผบ.ม.พัน1 ผู้คุมกำลังสลายเสื้อแดงถูกยิงดับปริศนา ทหารอ้างอุบัติเหตุปืนลั่น

Posted: 05 Jul 2010 11:55 PM PDT

<!--break-->

เมื่อวันที่ 5 ก.ค.53 ข่าวสดรายงานว่า เมื่อเวลา 07.30 น. พนักงานสอบสวนเวร สน.ดินแดง รับแจ้งเหตุ พ.ท.ชัยยันต์ ปรีชา ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.ม.พัน.1 รอ.) ถูกยิงเสียชีวิตในบ้านพักในกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) สนามเป้า กทม. จึงรายงานให้ พ.ต.อ.ชาตรี กาญจนกันติ ผกก.สน.ดินแดงทราบ จากนั้น พ.ต.อ.ชาตรี นำกำลังเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานและแพทย์ร.พ.พระมงกุฎเกล้า เมื่อไปถึงบ้านพักที่เกิดเหตุ ที่เกิดเหตุพบศพ พ.ท.ชัยยันต์ถูกยิงเสียชีวิตภายในบ้านพักหลังดังกล่าว มีบาดแผลถูกกระสุนเข้าที่ศีรษะ 1 นัด

ภายหลังการชันสูตรพลิกศพเบื้องต้น พ.ต.อ. ชาตรี กล่าวว่า จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนของทางทหาร สถาบันนิติเวช และแพทย์ ร่วมกันเข้าตรวจสอบในที่เกิดเหตุอย่างละเอียดพบว่า เหตุที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการยิงตัวตาย และไม่ใช่การฆาตกรรม แต่เป็นอุบัติเหตุ โดยทราบจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงของพ.ท.ชัยยันต์ว่า ก่อนเกิดเหตุผู้ตายได้นำอาวุธปืนออกมาทำความสะอาด แล้วเกิดปืนลั่นใส่ตัวเองจนเสียชีวิตคาที่ ผู้บังคับบัญชายืนยันชัดเจนว่าเป็นอุบัติเหตุ ไม่เกี่ยวกับความเครียดเรื่องงานและครอบครัวแต่อย่างใด และทางกองทัพจะดูแลทุกอย่างและจะจัดงานศพให้อย่างสมเกียรติ

รายงานข่าวเปิดเผยว่า พ.ท.ชัยยันต์ เข้ามามีบทบาทสำคัญในช่วงเหตุการณ์ดูแลความสงบเรียบร้อยของระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่บริเวณแยกศาลาแดง ซึ่งเหตุการณ์ที่ผ่านมาทางกลุ่มคนเสื้อแดงได้ลักลอบขโมยอาวุธปืนและเสื้อเกราะ ไปหลายชิ้น และเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผู้บังคับบัญชาได้เรียกให้พ.ท.ชัยยันต์ ไปชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธและยุทธภัณฑ์ที่หายไป จึงอาจจะทำให้พ.ท.ชัยยันต์ เกิดความเครียด เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยทำงานผิดพลาด อาจจะเป็นชนวนทำให้เกิดความน้อยใจ และฆ่าตัวตาย

ต่อมาผู้สื่อข่าวโทรศัพท์เข้าไปยังโทรศัพท์มือถือของพ.ท.ชัยยันต์ มีผู้รับสายอ้างว่าเป็นน้องชาย เปิดเผยว่า สาเหตุการเสียชีวิตของพี่ชาย น่าจะมาจากความเครียดในการทำหน้าที่ช่วงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ผ่านมา เนื่องจากพี่ชายเป็นคนจริงจังในการทำงาน และก่อนเสียชีวิตมักบ่นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานให้ฟังอยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวข้องกับการถูกกดดันเกี่ยวกับการทำหน้าที่กระชับพื้นที่ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.หรือไม่

สำหรับประวัติของพ.ท.ชัยยันต์ จบจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 26 (ตท.26) จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 37 (จปร.37) เส้นทางการทำงานเคยเป็นผบ.พัน.ฝขว. สระบุรี ก่อนขึ้นมาเป็นผบ.หน่วยในพล.ม.2 รอ. เข้าปฏิบัติการกระชับพื้นที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่แยกศาลาแดง เมื่อ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยที่รับผิดชอบดูแลสถานที่สำคัญ เช่น ทำเนียบรัฐบาล บ้านสี่เสาเทเวศร์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สมเกียรติ ตั้งนโม" อดีตอธิการบดี ม.เที่ยงคืน เสียชีวิตแล้ว

Posted: 05 Jul 2010 09:20 PM PDT

รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และหนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้ถึงแก่กรรมแล้วด้วยวัย 52 ปี

<!--break-->

แฟ้มภาพ รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและบรรณาธิการออนไลน์ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (http://www.midnightuniv.org) ภาพนี้เมื่อ 2 มี.ค. 2549 โดย รศ.สมเกียรติ เสียชีวิตแล้วเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (6 ก.ค.) (ที่มา: สำนักข่าวประชาธรรม)

หน้าแรกของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (http://www.midnightuniv.org) ซึ่ง รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม เป็นบรรณาธิการเว็บไซต์ดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเช้าวันนี้ (6 ก.ค. 53) รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้ถึงแก่กรรมแล้วด้วยวัย 52 ปี โดยก่อนหน้านี้ รศ.สมเกียรติ เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ (รพ.สวนดอก)

โดยญาติมิตรของ รศ.สมเกียรติ จะตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จะสวดอภิธรรมเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่ช่วงเย็นวันพุธที่ 7 ก.ค. 53 - วันศุกร์ที่ 9 ก.ค. 53 และทำพิธีฌาปนกิจในวันที่ 10 ก.ค. 53

สำหรับ รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม เป็นนักวิชาการด้านศิลปร่วมสมัยและสุนทรียศาสตร์ สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยช่างศิลป์ กรมศิลปากรเมื่อปี 2522 ต่อมาสำเร็จการศึกษาหลักสูตรศิลปบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อปี 2528 และสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2533 เริ่มเข้ารับราชการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในตำแหน่งอาจารย์ประจำ ที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อปี 2535

ต่อมาในปี 2543-2544 เป็นหัวหน้าสาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ ในปี 2547 เป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิจิตรศิลป์ และเป็นคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ในปี 2540 รศ.สมเกียรติ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายทางวิชาการที่ชื่อ "มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน" เคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และเป็นบรรณาธิการเว็บไซต์ http://www.midnightuniv.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการบทความทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน

 

----------------------------------------
กำหนดการฌาปนกิจศพ รองศาสตราจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม

1. กำหนดพิธีการรดน้ำศพ ในวันอังคารที่ 6 กรกฎาคม 2553 เวลา 14.00 น. ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (ห้องเก็บศพ)

2. ตั้งบำเพ็ญกุศล ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ. เชียงใหม่ โดยมีสวดอภิธรรมศพ ระหว่างวันที่ 7 – 9 กรกฎาคม 2553 เวลา 20.00 น.

วันที่ 7 กรกฎาคม 2553 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพ
วันที่ 8 กรกฎาคม 2553 ชมรมศิษย์เก่าคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพ
วันที่ 9 กรกฎาคม 2553 คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพ

3. เคลื่อนศพสู่ สุสานประตูหายยา วันที่ 10 กรกฎาคม 2553 เวลา 13.00 น.

ที่มา: http://www.finearts.cmu.ac.th/25530706

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น