โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

อสส.ยื่นศาลรธน.สั่งยุบ ปชป. ชงเพิกถอนสิทธิทางการเมืองกก.บห. สมัยบัญญัตินั่งหน.พรรค กว่า 40 คน

Posted: 13 Jul 2010 02:04 PM PDT

<!--break-->

 

(13 ก.ค.53) มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการฝ่ายคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะคณะทำงานของอัยการสูงสุด (อสส.) ที่รับผิดชอบในสำนวนคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในข้อกล่าวหา ปชป.รับเงินบริจาค 258 ล้านบาท จากบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) ผ่านบริษัท เมซไซอะ บิสิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด โดยทำสัญญาสื่อว่าจ้างทำสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ เป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อหลีกเลี่ยงการรายงานการรับบริจาคเงินตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำผิดตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2541 และมาตรา 94 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 ได้เข้ายื่นคำร้องยุบ ปชป.ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเวลา 13.50 น. วันที่ 13 กรกฎาคม โดยคำร้องมีทั้งหมด 62 หน้า เอกสารประกอบอีก 27 หน้า และสำนวนคดี 9,678 แผ่นบรรจุอยู่กล่อง 54 ลัง

นายวินัยกล่าวว่า นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อสส. ได้มีคำสั่งให้เป็นหนึ่งในคณะผู้มีอำนาจดำเนินคดีในศาลรัฐธรรมนูญ คดียุบ ปชป. โดยอีก 4 คน คือ นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย นายภาณุพงษ์ โชติสิน รองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ นายกิตินันท์ ธัชประมุข อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5 และนายสุกิจ นาพุก อัยการจังหวัดประจำกรมคดีพิเศษ 5

นายวินัยกล่าวว่า คำร้องที่ยื่นนั้น ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบ ปชป. ห้ามกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ขอจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมการขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้โดยมีกำหนด 5 ปี และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคขณะเกิดเหตุ ที่มีส่วนร่วม รู้เห็น ปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำแล้วไม่ได้ยับยั้ง เป็นเวลา 5 ปี

"ในสำนวนที่ อสส.เสนอให้ตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี มีประมาณ 40-50 คน โดยจะตัดสิทธิในส่วนของกรรมการบริหารพรรคที่ทำหน้าที่ในช่วงปลายปี 2547 ถึงช่วงต้นปี 2548 ซึ่งในขณะนั้นนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค" นายวินัยกล่าว และว่า อสส.ไม่รู้สึกหนักใจที่ต้องทำคดีนี้ เพราะทำตามหน้าที่อย่างเป็นกลางโดยยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรม และระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยเข้ามาแทรกแซงหรือก้าวก่าย

ทางด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะหนึ่งในทีมกฎหมายสู้คดียุบ ปชป. กล่าวว่า หลังจาก อสส.ยื่นสำนวนคดี 258 ล้านบาท ให้กับศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมารวบรวมเรื่องและตรวจสอบเอกสารประมาณ 2-3 เดือน จากนั้นจึงจะส่งคำร้องทั้งหมดมาให้ ปชป.แก้คดี และยื่นคำร้องคัดค้านภายใน 15 วันต่อไป ซึ่งปกติก็จะมีการยื่นขอขยายเวลาในการร้องคัดค้านอีก 15 วันอยู่แล้ว ส่วนปัญหาเรื่องทีมกฎหมายนั้น ขณะนี้ได้มีนักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประมาณ 10 คน เข้ามาช่วยกว่า 1 เดือนแล้ว แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีการเพิ่มทีม

ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า ปชป. กล่าวถึงคดียุบ ปชป.ที่มีความพยายามที่จะโยงคดีไปเกี่ยวกับคดียุบพรรคเพื่อไทยว่า คงไม่เกี่ยวกัน ยืนยันมาตลอดตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน หรือคดีของพรรคอื่นๆ ว่าพรรคไหนจะถูกยุบอยู่ที่พฤติกรรมของพรรคในเรื่องนั้นๆ มันไม่มีเหตุผลจะมาเอาสองสามคดีมาเชื่อมโยงกันว่า เมื่อยุบพรรคนั้นต้องยุบพรรคนี้ หรือจะยุบพรรคนี้ไม่ยุบพรรคนั้น มันไม่ได้ ศาลต้องตัดสินตามข้อเท็จจริงของคดี เมื่อถามว่า หากมีมวลชนกดดันจะมีผลต่อการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "เราหวังว่าศาลจะตัดสินไปตามข้อเท็จจริง"

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"กลุ่มเยาวชนตะกอนยม" ประณามผู้ว่าแพร่ฯ ล่าชื่อ นร.หนุนเขื่อนแก่งเสือเต้น

Posted: 13 Jul 2010 01:58 PM PDT

<!--break-->

 

(13 ก.ค.53) กลุ่มเยาวชนตะกอนยม ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์พิทักษ์สิ่งแวดล้อม ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กรณีล่ารายชื่อนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดให้สนับสนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยระบุว่า นายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้ดำเนินการล่ารายชื่อนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดแพร่ ให้สนับสนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น หากนักเรียนคนใดไม่ลงชื่อสนับสนุนก็จะถูกตัดคะแนน อีกทั้งยังจะได้จัดเวทีเยาวชนนักเรียนนักศึกษา ให้สนับสนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 ที่จะถึงนี้ ที่ ศาลากลางจังหวัดแพร่ โดยกลุ่มเยาวชนตะกอนยม ได้เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ใต้บังคับบัญชา ยุติการกระทำดังกล่าวโดยทันที

ทั้งนี้ กลุ่มเยาวชนตะกอนยมเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ถือเป็นการกระทำเยี่ยงเผด็จการ สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาล่ารายชื่อนักเรียนให้สนับสนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยไร้เหตุผล ทั้งที่ผลการศึกษาของหน่วยงานหลายแห่งระบุถึงความไม่เหมาะสมในการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

--------------------------------------
แถลงการณ์ กลุ่มเยาวชนตะกอนยม
ขอประณามการกระทำของผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่
หักคอนักเรียนลงชื่อสนับสนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น

ตามที่นายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้ดำเนินการล่ารายชื่อนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดแพร่ ให้สนับสนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น หากนักเรียนคนใดไม่ลงชื่อสนับสนุนก็จะถูกตัดคะแนน อีกทั้งยังจะได้จัดเวทีเยาวชนนักเรียนนักศึกษา ให้สนับสนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 ที่จะถึงนี้ ที่ ศาลากลางจังหวัดแพร่ นั้น

กลุ่มเยาวชนตะกอนยม ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์พิทักษ์สิ่งแวดล้อม ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เห็นว่า การกระทำดังกล่าวของผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ถือเป็นการกระทำเยี่ยงเผด็จการ สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาล่ารายชื่อนักเรียนให้สนับสนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยไร้เหตุผล ทั้งที่ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชัดว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของตัวเอง จากการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์, จากการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน เป็นโครงการที่รัฐไม่ควรให้การสนับสนุน, จากการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก, จากการศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทย และมวลมนุษยชาติ

กลุ่มเยาวชนตะกอนยม จึงขอประณามการกระทำของผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ในครั้งนี้ และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ใต้บังคับบัญชา ยุติการกระทำดังกล่าวโดยทันที พวกเราเห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัด ควรให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้องพิทักษ์รักษาป่า เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับพวกเรานักเรียนและเยาวชน พวกเรากลุ่มเยาวชนตะกอนยมเห็นว่า นโยบายหนึ่งล้านฝายเท่ากับหนึ่งแก่งเสือเต้นของท่านเป็นนโยบายที่ดีและเหมาะสมอยู่แล้ว พวกเราจึงขอสนับสนุนและยินดีให้ความร่วมมือเพื่อผลักดันให้โครงการหนึ่งล้านฝายเท่ากับหนึ่งแก่งเสือเต้นให้เป็นจริงต่อไป

ด้วยจิตคารวะ
กลุ่มเยาวชนตะกอนยม
13 กรกฎาคม 2553 ณ ศูนย์ประสานงานกลุ่มเยาวชนตะกอนยม
บ้านดอนชัย ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อียูเชื่อ ผู้ลี้ภัยอาจยังไม่ได้กลับพม่าทันที แม้หลังเลือกตั้ง

Posted: 13 Jul 2010 12:58 PM PDT

สหภาพยุโรประบุ ผู้ลี้ภัยจากพม่าที่อยู่ในไทยอาจยังไม่ได้กลับบ้านในทันที ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งในพม่าเกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 20 ปีก็ตาม 

<!--break-->

(Irrawaddy 12 ก.ค.53) สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิระวดีได้ร้องขอให้สหภาพยุโรป (อียู) กล่าวถึงจุดยืนต่อผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่อาศัยอยู่ในไทย หลังจากเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่า นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทยได้กล่าวว่า “รัฐบาลพม่ากำลังจะจัดการเลือกตั้งในปีนี้ ดังนั้นเราจึงควรช่วยเหลือประชาชนที่อยู่นอกประเทศ ได้กลับคืนและกลับไปใช้ชีวิตในประเทศพม่า” ขณะที่อียูไม่ได้คาดหวังว่า การเลือกตั้ง 2010 ที่จะถึงนี้จะนำไปสู่การเดินทางกลับคืนสู่พม่าอย่างทันที โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง จากภาคตะวันออกของรัฐกะเหรี่ยง เพราะในขณะที่การทำสัญญาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและผู้นำชาวกะเหรี่ยง ซึ่งดูเหมือนว่า จะไม่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว วิกฤติความขัดแย้งในพื้นที่ยังคงมีให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้และปัญหาก็ยังไม่คลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อียูกล่าวว่า มีความยินดีกับแผนขั้นตอนการดำเนินการของไทยที่เริ่มทำมานับตั้งแต่ปี 2548 เช่นการให้ผู้ลี้ภัยจากพม่าได้พัฒนาศักยภาพและเข้าถึงการศึกษา การอบรม รวมไปถึงการให้สิทธิแก่เด็กที่เกิดในไทย โดยการออกใบสูติบัตรให้เป็นต้น พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งผู้ลี้ภัยไปตั้งรกรากใหม่ยังประเทศที่สามเป็นการแก้ปัญหาให้กับจำนวนผู้ลี้ภัยในไทยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เจ้าหน้าที่อียูยังแสดงความคิดเห็นต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม การบังคับผู้ลี้ภัยกลับคืนประเทศต้นทางโดยใช้วิธีการบังคับ ซึ่งไม่ผ่านการตรวจสอบและวิธีการที่โปร่งใสอย่างถูกต้องแล้ว การกระทำเช่นนั้นจะเป็นการละเมิดข้อปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ปกป้องคุ้มครองไม่ให้ผู้ลี้ภัยถูกส่งกลับไปยังพื้นที่ที่ชีวิตและเสรีภาพของผู้ลี้ภัยอาจถูกคุกคาม

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อียูระบุอีกว่า แม้ไทยจะไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของอนุสัญญาผู้ลี้ภัยปีพ.ศ. 2494 (The 1951 Refugee Convention) แต่ในอดีตที่ผ่านมา ไทยได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ค่อนข้างยึดถือปฏิบัติในด้านมนุษยธรรมและความถูกต้องมาโดยตลอด

ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยจำนวน 140,000 คนที่อาศัยอยู่ใน 9 ค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย – พม่า ทั้งนี้ผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนมากต่างต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ เป็นเวลาหลายปี ก่อนที่จะได้รับโอกาสอพยพไปอยู่ในประเทศที่สาม จากความช่วยเหลือของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โดยผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงที่หนีออกมาจากหมู่บ้านของตน ซึ่งเป็นพื้นที่การสู้รบในรัฐกะเหรี่ยง

ด้านแซลลี่ ท็อปสัน รองผู้อำนวยการองค์กร Thailand Burma Border Consortium (TBBC) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ลี้ภัยกล่าวว่า ผู้ลี้ภัยขณะนี้ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากคนอื่น ซึ่งนั่นเป็นเพราะข้อจำกัดภายในค่ายผู้ลี้ภัย พวกเขาต้องการโอกาสในการทำงาน และควรได้รับโอกาสการจ้างงานทั้งในและนอกค่ายผู้ลี้ภัย

“นโยบายต่อผู้ลี้ภัยควรได้รับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนั่นจะทำให้ผู้ลี้ภัยสามารถทำอะไรได้มากขึ้น โดยเฉพาะมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจท้องถิ่นของไทย และควรยอมรับว่า มันต้องใช้เวลาสำหรับพวกเขาในการกลับคืนสู่บ้านเกิด เป็นที่แน่นอนว่า พวกเขาอยากกลับบ้าน ถ้าหากบ้านของพวกเขาเต็มไปด้วยความสงบและปัญหาการเมืองได้รับการแก้ไข” แซลลี่ ท็อปสันกล่าว

"เราต่างหวังว่า ในอนาคตนี้ ผู้ลี้ภัยจะได้กลับบ้าน แต่เราไม่สามารถคาดเดาการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ได้ เพราะในขณะเดียวกัน วิกฤติความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไปในภาคตะวันออกของพม่า และดูเหมือนว่าการเลือกตั้งจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลย เพราะฉะนั้น ดูเหมือนว่า การกลับคืนสู่ประเทศต้นทางของผู้ลี้ภัยจะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้แน่นอน” แซลลี่ ท็อปสันกล่าว

ขณะที่พบว่า อียูเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามชายแดนไทย – พม่า ด้านเจ้าหน้าที่จากอียูเปิดเผยว่า “เรารู้สึกว่า เรามีความรับผิดชอบที่ต้องช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่อยู่ในสถานการณ์ที่ยังยืดเยื้อมายาวนาน และจำเป็นต้องพัฒนาแผนการในระยะยาว

“ผู้ลี้ภัยต้องการสิทธิ์ในการช่วยเหลือตัวเอง และส่งมอบโอกาสที่ได้รับนั้นเป็นการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่านทางทักษะและแรงงานของพวกเขา เหมือนกับคนอื่นๆ ผู้ลี้ภัยเองก็ต้องการมีสิทธิ์กำหนดอนาคตตนเอง และตระหนักถึงศักยภาพความเป็นมนุษย์ในตัวของพวกเขาเองเช่นกัน” เจ้าหน้าที่จากอียูกล่าว

ด้านนาย Eric Schwartz ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านประชากร ผู้ลี้ภัยและโยกย้ายถิ่นฐานได้เดินทางเยือนค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย – พม่าเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยได้แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย – พม่า โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ขณะที่นักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นว่า หากรัฐบาลพม่าไม่ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านและนักโทษการเมืองอีกกว่า 2 พันคน การเลือกตั้งที่จะมาถึงก็จะขาดความน่าเชื่อถือและไม่ชอบธรรม อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ รัฐบาลพม่ายังไม่ออกมาประกาศวันเลือกตั้งแต่อย่างใด 

 

เกิดพายุหมุนในย่างกุ้ง สังเวย 1 ศพ

(DVB 12 กรกฎาคม 53) มีรายงานว่า พบผู้เสียชีวิตจากเหตุฟ้าผ่าที่มาพร้อมกับพายุหมุน ในพื้นที่ทางตอนใต้ของกรุงย่างกุ้งเมื่อวันพฤหัสบดี (8 ก.ค.53) ที่ผ่านมา

ข่าวได้ระบุว่า พบผู้บาดเจ็บ 6 คน หลังจากที่พายุได้พัดผ่านในเมืองกอมู (Kawhmu) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนผู้บาดเจ็บอีกคนที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านตานต่าบิน (Htantabin) กำลังเข้ารับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล หลังจากที่ถูกแรงลมของพายุดูดเข้าไป โดยชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์กล่าวว่า เขาถูกฉุดขึ้นไปบนฟ้าแล้วตกลงไปที่อื่น แต่เขายังไม่ตาย แต่ได้รับบาดเจ็บสาหัส

ขณะที่ชายที่เสียชีวิตในครั้งนี้ ถือเป็นเหยื่อคนที่สิบของเหตุการณ์ฟ้าผ่า มีรายงานว่าชายรายนี้เสียชีวิตคาที่ ด้านชาวบ้านในเมืองกอมูเปิดเผยว่า จำนวนของกระท่อมและบ้านเรือนหลายหลังโดยรอบได้รับความเสียหายจากพายุในครั้งนี้

ชายคนหนึ่งกล่าวว่า “มันพัดเข้ามาจนเกิดเสียงดังสนั่นซึ่งมีลักษณะคล้ายกับงวงช้าง ในช่วงเวลาประมาณ 3ทุ่ม-4 ทุ่ม โดยหมู่บ้านทะมินชาน (Taminchan) ซึ่งมีบ้านเรือนจำนวน 70 จากทั้งหมด100 หลังก็ถูกพายุพัดทำลายเสียหาย และมีผู้บาดเจ็บจำนวน 6 คน ซึ่งถูกนำส่งโรงพยาบาลแล้วเช่นกัน ลมแรงถึงขนาดกระชากบ้านของพวกเขาทั้งหลัง ออกจากตำแหน่งเดิม”

ทั้งนี้ พื้นที่ในเขตย่างกุ้งเอง กำลังอยู่ในช่วงที่ฟื้นตัวจากความเสียหายที่พายุไซโคลนนาร์กิสได้พัดถล่มเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2551 ที่ผ่านมา โดยผลพวงความเสียหายจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในครั้งนั้นได้คร่าชีวิตของผู้คนไปกว่า 140,000 คน และทำลายพื้นที่การเกษตรและทรัพย์สินของชาวบ้านไปเป็นจำนวนมาก 

 

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทวงถามความชอบธรรม “คณะกรรมการปฏิรูปฯ” ปูทาง 90 ชื่อคนตาย หน้าบ้านพิษณุโลก

Posted: 13 Jul 2010 11:09 AM PDT

<!--break-->

วันนี้ (13 ก.ค. 2553) เวลา 13.00 น. เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย (คกป.) นัดรวมตัวจัดกิจกรรมประท้วงการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป โดยนำรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ด้วยกำลังทหารพร้อมอาวุธบรรจุกระสุนจริง ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 จำนวน 90 รายชื่อ วางเรียงบนพื้นถนนทางเข้าบ้านพิษณุโลก ซึ่งในเวลา 13.30 น. วันเดียวกันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

 

กิจกรรมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการรณรงค์ได้แต่งกายโดยใช้สัญลักษณ์ของกาชาดและพระสงฆ์ พร้อมสวมหน้ากากอาบเลือด ซึ่งมีความหมายถึงกลุ่มคนที่เป็นผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ เพื่อเป็นการแสดงความเห็นคัดค้านถึงความไม่ถูกต้องของที่มาของคณะกรรมการฯ ทั้งสองชุด

“ถึงแม้ว่าคณะกรรมการทั้งสองชุด ซึ่งนายอานันท์ ปันยารชุน และนายประเวศ วะสี เป็นประธานนั้นจะมาจากผู้มีประสบการณ์อย่างมากมายก็ตาม ทางเครือข่ายก็ยังเห็นว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ควรแสดงความรับผิดชอบต่อผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้สูญเสีย และผู้สูญเสียจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่ผ่านมาก่อน การปฏิรูปที่กำลังดำเนินการอยู่นี้จึงเป็นเพียงการซื้อเวลา และการเบี่ยงเบนความรับผิดชอบต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์เท่านั้น” นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ผู้เข้าร่วมการรณรงค์คนหนึ่งแสดงทัศนะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ทางกลุ่มผู้ร่วมการรณรงค์ได้วางรายชื่อวางที่หน้าบ้านพิษณุโลกนั้นได้มีรถยนต์ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศขับผ่านเข้า-ออก โดยไม่ได้หยุดแสดงความสนใจกลุ่มผู้ชุมนุม และแผ่นกระดาษพิมพ์รายชื่อผู้เสียชีวิตที่วางปูอยู่บนพื้นถนน

นอกจากนี้ระหว่างทำการรณรงค์ เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยได้มีการแจกเอกสาร จดหมายบูชาครูฉบับที่ 1 “ปฏิรูปไม่ได้ ปรองดองไม่ได้ ถ้าไม่รู้สึกเจ็บปวด” ซึ่งมาจากบทความที่เขียนโดย นายพิภพ อุดมอิทธิพงษ์ ให้กับผู้คนที่เดินผ่านไปมา โดยเนื้อหาในบทความดังกล่าวได้ตั้งคำถามถึงจุดยืนของ นายประเวศ วะสี ในการเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปการเมือง และเป็นประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) 

“ความคิดที่จะมุ่งปฏิรูปอนาคตโดยไม่สนใจใยดีต่ออดีต และอันที่จริงอดีตก็ไม่ใช่เรื่องของเฉพาะโจทก์และจำเลย แต่เป็นเรื่องของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นของหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐและผู้ชุมนุม แต่เป็นเรื่องของการสูญเสียที่ร้าวลึกของหลายฝ่าย แต่เป็นเรื่องของบาดแผลในจิตใจมนุษย์ที่คงใช้เวลาอีกนานกว่าจะเยียวยา ทั้งยังเป็นบาดแผลต่อจิตวิญญาณของชนชาติไทย แต่ทำไมประธานกรรมการท่านนี้จึงเริ่มจากการบอกให้มองข้ามอดีต” เนื้อความตอนหนึ่งของเอกสารระบุ

ส่วนการประชุมภายในบ้านพิษณุโลก หลังจากใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง ที่ประชุมได้ข้อยุติว่าจะมุ่งตรงในเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมซึ่งมีอยู่ 5 ด้าน คือ รายได้ สิทธิ โอกาส อำนาจ ศักดิ์ศรี ซึ่งการวางกรอบหลังจากนี้จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด โดยในส่วนสมัชชาประชาชนจะเข้ามาทำหน้าที่ดำเนินการรับฟังข้อมูลจากภาคประชาสังคม ทั้งนี้ ในวันที่ 14 ก.ค.เวลา 13.00 น.ที่บ้านพิษณุโลก คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานได้นัดประชุมกรรมการเป็นนัดแรก โดยจะแถลงข่าวในเวลา 16.00 น. สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปฯ จะประชุมกันอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 16 ก.ค. 2553

 

ที่มาภาพ: Kratik Wannasiri

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฮิวแมนไรท์วอทช์ร่อน จม.เปิดผนึก ร้องอภิสิทธิ์เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

Posted: 13 Jul 2010 10:00 AM PDT

ฮิวแมนไรท์วอทช์ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยทันที และหันกลับไปใช้ความพยายามในการปฏิรูปทางการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ระบุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขัดหลักการสนธิสัญญานานาชาติด้านสิทธิฯ ที่ไทยเป็นสมาชิก

<!--break-->

 

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2553 อิเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีโดยในเนื้อหาของกฏหมายแสดงความยินดีที่ทางรัฐบาลยอมยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในบางพื้นที่เช่น กาฬสินธุ์, นครปฐม, นครสวรรค์, น่าน และศรีสะเกษ แต่ขณะเดียวกันก็แสดงความเป็นห่วงจากการที่มีการขยายเวลา พ.ร.ก.ในพื้นที่กรุงเทพฯ และอีก 18 จังหวัด เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา และยืนยันว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะส่งผลทางลบต่อการเคารพในสิทธิมนุษยชน จากกระบวนการบังคับใช้กฏหมายและหลักการของประชาธิปไตยในไทย

โดยทางองค์กรแสดงความเป็นห่วงการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเรื่องการขยายเวลาการกุมขังโดยไม่มีข้อหา การไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้ที่ถูกจับกุม การใช้สถานที่กุมขังอย่างไม่เป็นทางการ และขาดการตรวจสอบความเป็นไปได้ที่ผู้กุมขังจะถูกทารุณกรรม การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการอ้างความชอบธรรมและสร้างเกราะกรรมบังให้ตนพ้นข้อกล่าวหา รวมถึงการปิดดกั้นสื่อจำนวนมากโดยรัฐบาลด้วย

ฮิวแมนท์ไรท์วอทช์กล่าวอีกว่าพวกเขาแสดงความเป็นห่วงต่อการใช้อำนาจอย่างไม่จำกัดของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ และเป็นการขัดต่อหลักการด้านมนุษยชนที่วางไว้ตาม สนธิสัญญานานาชาติว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ซึ่งไทยร่วมเป็นสมาชิก นอกจากนี้ยังขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไทยเองด้วย

ทางฮิวแมนไรท์วอทช์ยังได้แสดงความกังวลต่อการที่ ศอฉ.ไม่สามารถให้ข้อมูลเรื่องจำนวนและสถานที่ของผู้ที่ถูกจับกุมแก่ครอบครัวของพวกเขาได้ แม้ว่าทางรัฐบาลจะออกมาเปิดเผยข้อมูลจำนวนผู้ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่ผู้ที่ถูกเปิดเผยข้อมูลจำนวน 417 คน ก็เป็นคนที่ถูกจับตามหมายจับและถูกกุมขังในเรือนจำทางการหรือสถานพินิจฯ ขณะที่ยังไม่มีข้อมูลของผู้ที่ถูกจับโดยไม่มีหมายเรียก

โดยทางฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้ทางรัฐบาลเปิดเผยข้อมูลของผู้ที่ถูกจับกุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 2553 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งล่าสุดเป็นต้นมา ต่อสาธารณชน และแสดงความเห็นอีกว่าการปิดกั้นสื่อแบบปูพรมของรัฐบาลเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและขัดกับหลักสนธิสัญญานานาชาติว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิก

ฮิวแมนไรท์วอทช์จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยทันที และหันกลับไปใช้ความพยายามในการปฏิรูปทางการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ

.............................................
แปลและเรียบเรียงจาก Letter to Prime Minister Abhisit on Thailand's Emergency Decree Extension, 10-07-2010

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปัจฉิมคาถาปิดท้ายฟุตบอลโลก: หนทางสู่การเป็นแชมป์ด้วยเศรษฐศาสตร์การเมือง

Posted: 13 Jul 2010 09:36 AM PDT

<!--break-->

ภัควดี แปลจาก Franklin Foer, “Afterword: How to Win the World Cup,” The Thinking Fan’s Guide to the World Cup, Edited by Matt Weiland and Sean Wilsey, Harper Collins e-books, 2006.

 

โลกเรามีการปฏิวัติกันมาหลายครั้งเพื่อสถาปนาระบอบสังคมนิยม ระบอบประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการอำนาจนิยม แต่ยังเหลือการปฏิวัติอีกอย่างหนึ่งที่มนุษยชาติพึงต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อชีวิตอย่างยิ่งประการหนึ่ง หรืออาจจะกล่าวว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของชีวิตที่ดีก็ได้ นั่นคือ การมีทีมฟุตบอลที่ชนะฟุตบอลโลก

ถ้าหากเราต้องจับอาวุธลุกขึ้นสู้เพื่อเหตุผลนี้ เราควรสู้เพื่อสถาปนารัฐบาลแบบไหนดี? ถึงแม้ทฤษฎีการเมืองทั้งหลายชอบพูดถึงความเท่าเทียมและคุณธรรม แต่แปลกที่มันมักบ่ายเบี่ยงไม่ยอมตอบคำถามนี้เสียที แต่หลังจากบอลโลกจัดไปแล้ว 17 ครั้ง (ตามจำนวนเมื่อหนังสือเล่มนี้ออกมา ถ้านับถึงปัจจุบันก็ 19 ครั้ง--ผู้แปล) ตอนนี้เราก็มีข้อมูลเชิงประจักษ์มากมาย และเมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาพิเคราะห์ด้วยวิธีการที่ละเอียดอ่อนซับซ้อนที่สุดเท่าที่มีอยู่ เราก็สามารถกำหนดเงื่อนไขด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่เอื้อต่อความรุ่งโรจน์ในกีฬาฟุตบอล

ขั้นแรกสุด เราต้องล้วงลึกลงไปในถังขยะประวัติศาสตร์ ระบอบคอมมิวนิสต์ถึงจะมีค่ายกักกันและนักโทษการเมือง แต่ระบอบนี้ก็ผลิตนักบอลเยี่ยม ๆ และทีมแข็ง ๆ ออกมาได้ ทีมฮังการีในช่วงต้นทศวรรษ 1950 ได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นทีมที่ดีที่สุดทีมหนึ่งที่ไม่เคยชนะถ้วยรางวัลอะไรเลย ไม่กี่ทศวรรษให้หลัง ใน ค.ศ. 1982 ทีมโปแลนด์ก้าวเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศบอลโลก โดยเสมอกับทีมอิตาลีของเปาโล รอสซี่และเอาชนะทีมฝรั่งเศสของมิเชล พลาตินีมาได้ ชัยชนะเหล่านี้สะท้อนออกมาในสถิติโดยรวม ในบอลโลกนัดที่แข่งกับประเทศที่ไม่ใช่ระบอบคอมมิวนิสต์ ทีมจากประเทศคอมมิวนิสต์สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้จากระบอบทุนนิยมได้มากกว่า นั่นคือ ชนะ 46 เสมอ 32 แพ้ 40

แต่ข้อเท็จจริงก็ยังมีอยู่ว่า ประเทศคอมมิวนิสต์ไม่เคยชนะถ้วยเวิลด์คัพเลยสักครั้ง หลังจากดูทีมประเทศคอมมิวนิสต์เล่นได้ดีมีประสิทธิภาพในรอบแรก ๆ ของทัวร์นาเมนท์แล้ว คุณมั่นใจได้เลยว่า ทีมพวกนี้จะแพ้เมื่อเข้าไปถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ มีคำอธิบายมากมายว่าทำไมทีมจากประเทศคอมมิวนิสต์ไม่เคยก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดกว่านี้ ประการแรกสุดคือ มีสิ่งที่เรียกว่า “ตัวแปรโลบานอฟสกี” ซึ่งมาจากชื่อของ วาเลอรี โลบานอฟสกี โค้ชผู้ยิ่งใหญ่ชาวโซเวียตและยูเครนในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 เขาเชื่อว่า วิทยาศาสตร์สามารถให้คำตอบพื้นฐานทุกอย่างเกี่ยวกับฟุตบอลได้ เขาจึงส่งนักเทคนิคไปดูทุก ๆ เกมเพื่อประเมินนักเตะ โดยใช้พื้นฐานการคำนวณจากตัวเลข “ปฏิบัติการ” ของนักเตะ นั่นคือ การสกัด การผ่านบอล การยิง ฯลฯ การประเมินตัวเลขเหล่านี้ให้ผลลัพธ์ที่พิลึก เพราะมันทำให้การสกัดอย่างบ้าคลั่งมีความสำคัญเหนือกว่าการสร้างสรรค์เกมรุก วิธีการของโลบานอฟสกีสะท้อนให้เห็นผลเสียที่ความแข็งกร้าวไม่ยืดหยุ่นของลัทธิมาร์กซิสต์ครอบงำความคิดจิตใจของคนในซีกยุโรปตะวันออก ความแข็งกร้าวไม่ยืดหยุ่นแบบนี้อาจสร้างนักวิ่งหรือนักยิมนาสติกชั้นยอดได้ แต่มันไม่เอื้อต่อการสร้างผู้ชนะในกีฬาที่ต้องการการคิดเร็วทำเร็วและกล้าเสี่ยงของปัจเจกบุคคล ประการต่อมาคือความยากลำบากของการใช้ชีวิตภายใต้สัญลักษณ์ค้อนกับเคียว ยกตัวอย่างเช่น ฮังการีไม่สามารถเหนี่ยวรั้งนักเตะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างลาซโล คูบาลาและแฟแรนช์ ปุชกาช ไม่ให้หนีไปอยู่สเปนในช่วงทศวรรษ 1950

หากข้อมูลข้างต้นทำให้เราได้ข้อสรุปว่า ระบอบคอมมิวนิสต์ไม่เอื้อต่อการสร้างสังคมที่เป็นต่อด้านฟุตบอล ระบอบฟาสซิสต์ก็ยิ่งยากที่จะเสนอตัวมาเป็นทางเลือก รัฐบาลฟาสซิสต์เชี่ยวชาญในการสร้างสำนึกถึงความรู้รักสามัคคีในชาติ และเหนือกว่านั้นคือความรู้สึกถึงความเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของตน ทัศนคติเช่นนี้แม้จะไม่ค่อยน่าดึงดูดใจนักในสายตาของคนที่เป็นห่วงบ่วงใยในสิทธิมนุษยชน แต่มันช่วยสร้างบรรยากาศที่สมบูรณ์แบบสำหรับการชิงถ้วยฟุตบอลโลกทีเดียว ไม่เพียงแต่มันสามารถสร้างความเชื่อมั่นอย่างเข้มแข็งแล้ว มันยังสร้างความกลัวการพ่ายแพ้ที่ทรงพลังด้วย ใครล่ะจะอยากสร้างความผิดหวังให้ประเทศชาติที่คุกรุ่นไปด้วยความรู้สึกเร่าร้อนรุนแรงแบบนี้? หรือพูดให้ชัด ๆ ก็คือ ใครกันจะกล้าสร้างความผิดหวังให้ผู้นำประเทศที่อาจหักแขนขาคุณและจับยายคุณไปขังคุก? ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลฟาสซิสต์มักคลั่งไคล้บูชาความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย รัฐบาลพวกนี้จึงเต็มใจทุ่มเททรัพยากรในชาติจำนวนมากให้โครงการด้านกีฬา ส่วนสถิติของระบอบฟาสซิสต์ก็บอกอะไรได้ด้วยตัวมันเอง ในช่วงทศวรรษ 1930 อิตาลีของท่านผู้นำคว้าถ้วยบอลโลกมาได้สองครั้ง ฮังการีในยุคสัญลักษณ์กากบาทได้ตำแหน่งรองชนะเลิศใน ค.ศ. 1938 และเยอรมนีได้ที่สามใน ค.ศ. 1934 เช่นเดียวกับบราซิลใน ค.ศ. 1938 (ในยุคของประธานาธิบดีเชตูลิอู วาร์กัส บราซิลปกครองในระบอบกึ่งฟาสซิสต์หรือจะว่าเป็นฟาสซิสต์แท้ ๆ ก็แล้วแต่คุณไปถามใคร) โดยรวมแล้ว ระบอบฟาสซิสต์สะสมสถิติในทศวรรษนั้นอยู่ที่ชนะ 17 เสมอ 4 แพ้ 5

แต่หลังจากการล่มสลายของกลุ่มอักษะ ทีมฟุตบอลประเทศฟาสซิสต์ก็มีผลการแข่งขันที่ย่ำแย่มาก ทีมฟุตบอลของรัฐบาลหน่ออ่อนฟาสซิสต์ เช่น ทีมสเปนของนายพลฟรังโก หรือทีมอาร์เจนตินาของประธานาธิบดีเปรอง คือช่วงที่ทีมเหล่านี้ทำผลงานไม่เข้าเป้าอย่างมากในประวัติศาสตร์ของกีฬาฟุตบอล เป็นไปได้อย่างไรที่คุณเอาความสามารถของนักฟุตบอลอย่างอัลเฟรโด ดี สเตฟาโน ไปทำเสียของหมด? ทีมโปรตุเกสของนายกรัฐมนตรีซาลาซาร์ก็ผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกเพียงครั้งเดียวตลอดระยะเวลาที่เขาครองตำแหน่งนานถึง 36 ปี (แน่นอน โปรตุเกสสร้างผลงานได้ดีเยี่ยม โดยมียูเซบิโอพาทีมไปได้ที่สาม แต่หากย้อนกลับไปในยุคของมุสโสลินีและฮิตเลอร์ จอมเผด็จการฟาสซิสต์ขนานแท้ย่อมเห็นว่าผลลัพธ์เช่นนี้เป็นเรื่องน่าขายหน้า และคงไม่ยอมอนุญาตให้ยูเซบิโอลงเล่นอยู่ในทีมไม่ว่าจะต้องแลกกับอะไรก็ตาม) อะไรคือคำอธิบายของความตกต่ำนี้? ในช่วงทศวรรษ 1930 ประเทศฟาสซิสต์เป็นมหาอำนาจที่มีอิสระในโลก เป็นระบอบการปกครองที่มีพลังดุดันที่สุดบนพื้นพิภพ แต่หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ความกร่างนี้ก็หายเหือดไปหมด อำนาจของกลุ่มประเทศฟาสซิสต์ต้องอาศัยการผูกพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา เมื่อไรก็ตามที่คุณกลายเป็นหมาน้อยของพวกอเมริกัน ก็ยากที่จะกระตุ้นเจตจำนงอยากเอาชนะแบบเดิม ๆ กลับคืนมา

มีผลลัพธ์สำคัญอีกประการที่ตามมาจากการค้นพบนี้ ไม่มีประเทศไหนเคยชนะถ้วยเวิลด์คัพขณะที่กำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือเตรียมตัวเข้าสู่ปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนในชาติ ทีมเยอรมนีและยูโกสลาเวียต่างก็ล้มลุกคลุกคลานในช่วงก่อนการสังหารหมู่ประชาชน (ทีมไทยเพิ่งตกรอบแรกซีเกมส์ครั้งล่าสุดใช่ไหม—ผู้แปล) ในฟุตบอลโลกปี 1938 ทีมเยอรมนีแข่งไม่ชนะเลยแม้แต่เกมเดียว ทีมที่ดีที่สุดตลอดกาลของยูโกสลาเวียแพ้ในรอบก่อนรองชนะเลิศในบอลโลก 1990 เห็นได้ชัดว่า ความกระหายหาเลือดของชาวยิวและชาวมุสลิมได้ดูดเอาพลังชีวิตไปจากภารกิจการล่าประตูในนัดที่แข่งกับอาร์เจนตินาและอิตาลีไปเสียหมด

ตอนนี้ เราได้พิจารณารูปแบบที่พบเจอมากที่สุดสองรูปแบบของระบบเศรษฐกิจแบบสั่งการรวมศูนย์ไปแล้ว คราวนี้ก็เหลือแบบที่สาม นั่นคือ รัฐบาลทหารแบบโบราณนั่นเอง คุณไม่ค่อยเจอระบอบการปกครองแบบนี้มากนักในโลกปัจจุบัน แต่รัฐบาลทหารมีประวัติศาสตร์อันยอดเยี่ยมในการคว้าถ้วยบอลโลก รัฐบาลทหารบราซิลและอาร์เจนตินาประสบความสำเร็จรุ่งโรจน์ที่สุดในประวัติศาสตร์ของทัวร์นาเมนท์บอลโลกในช่วงทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่รัฐบาลทหารจะโดดเด่นในแง่นี้ เพราะรัฐบาลทหารเป็นการปกครองโดยหมู่คณะ (กองทัพ) ซึ่งชายชาติชาตรีผู้เข้มแข็งคือส่วนหนึ่งของกลไกในระดับที่ใหญ่กว่าอยู่แล้ว ทีมฟุตบอลที่ดีนั้น ในแง่หนึ่งก็คือรัฐบาลทหารนั่นเอง

ถึงแม้ว่ารัฐบาลทหารมีสถิติที่ดีมาก นั่นคือ คว้าถ้วยฟุตบอลโลกมาได้ถึงสามครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถอ้างว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดมาจากการขาดความเข้มข้น เพราะในบรรดาประเทศที่ปกครองด้วยรัฐบาลทหารนั้น ยังมีกลุ่มที่ล้าหลังอยู่มาก เช่น ปารากวัยและเอลซัลวาดอร์ เมื่อเทียบกันโดยปริมาณแล้ว ความสำเร็จของรัฐบาลทหารก็ยังสู้ไม่ได้กับรัฐบาลฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยรู้จักกันมา นั่นคือ รัฐบาลสังคมนิยมประชาธิปไตย รัฐบาลสังคมนิยมประชาธิปไตยคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมากกว่ารัฐบาลทหาร นั่นคือ 6 ครั้งด้วยกัน แม้แต่ทีมสังคมนิยมประชาธิปไตยที่แย่ที่สุด เช่น เบลเยียม ฟินแลนด์ ก็ยังชนะเกมการแข่งขันอย่างสม่ำเสมอกว่าทีมจากประเทศอำนาจนิยม

เพื่อเข้าใจความสำเร็จนี้ เราต้องทำความเข้าใจถึงแก่นแท้ของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย สังคมนิยมประชาธิปไตยมีรากเหง้ามาจากสังคมอุตสาหกรรมหนัก และนี่เป็นข้อได้เปรียบมาก ทุกประเทศที่ชนะถ้วยเวิลด์คัพล้วนแล้วแต่มีฐานทางด้านอุตสาหกรรมที่แน่นหนา ฐานอุตสาหกรรมนี้คือแหล่งที่รวมของชนชั้นกรรมาชีพในเมืองจำนวนมาก ซึ่งกลายเป็นแหล่งป้อนนักเตะให้ทีมฟุตบอลต่าง ๆ อีกทีหนึ่ง ระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมยังผลิตความมั่งคั่งได้มาก กลายเป็นแหล่งทุนสนับสนุนการแข่งขันระดับสโมสรในประเทศ ทำให้นักเตะในประเทศเหล่านี้พัฒนาตัวเองภายใต้การแข่งขันที่มีคุณภาพสูง แม้ว่าบุคลิกแบบรัฐบาลทหารอาจนำไปใช้ได้ดีในสนามแข่งขัน แต่ทัศนคติแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยกลับจับคู่กับฟุตบอลได้เหมาะเหม็งยิ่งกว่า ระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยยกย่องความเป็นปัจเจกบุคคลนิยม ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนสำนึกของความสมานฉันท์สามัคคีอย่างไม่มีเสื่อมคลาย ช่างเอื้อต่อการสร้างทีมฟุตบอลที่เหนียวแน่นพร้อมกับมีช่องว่างสำหรับนักเตะระดับสตาร์

กรอบกระบวนทัศน์ใหม่ในด้านทฤษฎีการเมืองที่นำเสนอไปข้างต้น ไม่เพียงใช้เป็นคู่มือเพื่อการปฏิวัติได้เท่านั้น ยังสามารถใช้เติมคำทำนายทีมชนะในแต่ละทัวร์นาเมนท์ได้ด้วย ผู้เขียนขอเสนอว่า ผลลัพธ์ของการแข่งขันแต่ละนัดในฟุตบอลโลกนั้น สามารถพยากรณ์ได้ด้วยการวิเคราะห์เงื่อนไขด้านการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศคู่แข่งในสนาม นี่ไม่ใช่ระบบวิธีคิดที่ไม่มีทางผิดพลาด แต่ผู้เขียนยังไม่เคยเห็นวิธีการพยากรณ์การแข่งขันแบบใดที่ดีไปกว่านี้ นอกเหนือจากการใช้ลำดับชั้นข้างต้นเป็นแนวทางในการเลือกทีมชนะ กล่าวคือ ทีมประเทศฟาสซิสต์จะชนะคอมมิวนิสต์ รัฐบาลทหารจะชนะฟาสซิสต์ สังคมนิยมประชาธิปไตยจะชนะรัฐบาลทหาร ยังมีกฎเหล็กอื่น ๆ อีกหลายข้อที่นำมาประยุกต์ใช้ได้ดังนี้:


1. EU ย่อมาจาก Experience Unlimited (ประสบการณ์ไร้ขีดจำกัด)
นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1992 สหภาพยุโรป (อียู) ก็ทำสถิติมีชัยชนะในการแข่งขันฟุตบอลโลกถึง 44 นัด เสมอ 24 และแพ้ 36 นัด แน่นอน ยุโรปตะวันตกครองความเป็นใหญ่ในทัวร์นาเมนท์เสมอ แต่การแข่งขันในระยะหลังมีสถิติที่ดีกว่าในอดีตขึ้นมาเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฟีฟ่าขยายทีมเข้ารอบสุดท้ายจาก 24 ทีมเป็น 32 ทีม มหาอำนาจโลกเก่าทั้งหลายก็เลยมีปลาเล็กให้ไล่กินมากขึ้น แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลมาจากโลกาภิวัตน์ด้วย ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ที่เข้ารอบสุดท้ายมาได้มักมีนักเตะมาเล่นอยู่ในสเปน อิตาลีและอังกฤษ แต่ประเทศยุโรปเล็ก ๆ ก็ได้อานิสงส์จากการที่ลีกใหญ่ ๆ เปิดกว้างให้นักเตะต่างชาติที่มีพรสวรรค์ (แน่นอน ชาติแอฟริกาและละตินอเมริกาก็ได้ประโยชน์ด้วย แต่น้อยกว่าหน่อย) เดี๋ยวนี้ประเทศอย่างสวีเดน นักเตะตัวหลักทั้ง 11 คนแทบไม่มีคนไหนเลยที่เล่นอยู่ในทีมสโมสรของสวีเดน การอพยพไปทำงานต่างถิ่นของนักฟุตบอลเก่ง ๆ และการได้สัมผัสกับการแข่งขันในลีกที่ใหญ่กว่า ทำให้ประเทศยุโรปที่ไม่เคยมีประวัติว่าประสบความสำเร็จด้านฟุตบอลมากนัก กลับสามารถเปลี่ยนโฉมแปลงกายไปเป็นทีมที่เล่นได้อย่างน่าทึ่งในเวลารวดเร็ว


2. การปลดแอกและอยู่ในอารมณ์ของผู้ชนะ

ประเทศที่เพิ่งปลดแอกจากระบอบคอมมิวนิสต์หรือระบอบกดขี่แบบอำนาจนิยมมักมาแรงแซงทางโค้ง ฟุตบอลโลกปี 1990 และ 1994 คือข้อพิสูจน์ เมื่อทีมบัลแกเรียและโรมาเนียหลังยุคคอมมิวนิสต์สามารถทะลุเข้าไปในรอบน็อคเอาท์ลึก ๆ ได้ ทีมโปแลนด์มีช่วงรุ่งโรจน์ที่สุดในฟุตบอลโลก 1982 สมัยที่ขบวนการโซลิดาริตี้กำลังมีบทบาทเป็นฉากหลัง และทีมเยอรมนีชนะถ้วยเวิลด์คัพครั้งสุดท้ายในระหว่างที่กำลังรวมประเทศ


3. เจ้าอาณานิคมย่อมเหนือกว่าประเทศใต้อาณานิคม

การแข่งขันระหว่างคู่กรณีแบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้งในแต่ละทัวร์นาเมนท์ สเปนมักต้องแข่งกับทีมจากละตินอเมริกาที่เป็นอาณานิคมเก่าของตน ฝรั่งเศสก็มักเจอกับทีมอย่างเซเนกัลหรือแคเมอรูน โปรตุเกสก็ต้องปะทะกับบราซิล เมื่อเจ้าจักรวรรดินิยมพวกนี้ต้องต่อกรกับข้าทาสเก่าของตน คุณคงคาดหวังว่าประเทศใต้อาณานิคมน่าจะเล่นได้ดีกว่า เพราะถึงอย่างไร ลัทธิจักรวรรดินิยมก็เป็นโครงการที่มีชะตาลิขิตอยู่ในตัวมันเองแล้วว่าต้องพังไม่เป็นท่า ไม่เคยมีเจ้าอาณานิคมรายไหนสามารถต้านทานเสียงเรียกร้องเอกราชของข้าทาสได้ชั่วกัลปาวสาน แต่ความเป็นจริงทางการเมืองนั้นกลับใช้ไม่ได้กับฟุตบอล อันที่จริง ถ้ายกเว้นชัยชนะที่เซเนกัลมีเหนือฝรั่งเศสในเกมเปิดสนามฟุตบอลโลก 2002 แล้ว ตามสถิติในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก มหาอำนาจเจ้าอาณานิคมมักเป็นฝ่ายชนะมากกว่า อาจเป็นไปได้ว่าบรรดาเจ้าอาณานิคมอยากหาอะไรชดเชยให้ความบอบช้ำทางจิตใจที่เกิดจากการสูญเสียจักรวรรดิและความตกต่ำทางการเมืองของตัวเอง คุณอาจถามว่า อ้าว ถ้าอย่างนั้นแนวโน้มแบบนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่ออังกฤษ เจ้าจักรวรรดินิยมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบสองร้อยปีที่ผ่านมาสิ? จริง ๆ ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ปัญหาคืออังกฤษดันไปปลูกฝังรักบี้กับคริกเก็ตในดินแดนใต้อาณานิคมมากกว่าฟุตบอล ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่อังกฤษจะแข่งทั้งทัวร์นาเมนท์โดยไม่เคยเจอะเจอกับประเทศในเครือจักรภพของตัวเองเลย

4. อย่าฝากความหวังไว้กับประเทศผู้ผลิตน้ำมันเด็ดขาด
ประเทศใดก็ตามที่ส่งออกน้ำมันเป็นหลัก ไม่ว่าไนจีเรีย รัสเซีย เม็กซิโก นอร์เว กลุ่มประเทศอาหรับ อิหร่าน ประเทศพวกนี้มักประสบความสำเร็จต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเสมอ ระบบเศรษฐกิจใดก็ตามที่สร้างความมั่งคั่งได้ง่าย ๆ ต่อให้ความมั่งคั่งนั้นไหลเข้ากระเป๋าอภิชนาธิปไตยกลุ่มน้อยนิดก็ตาม ประเทศนั้นก็มักเกียจคร้าน คิดแต่ว่าความร่ำรวยจะไหลมาง่าย ๆ ร่ำไป นักรัฐศาสตร์มักเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ปฏิบทของความมั่งคั่ง” พออยู่บนสนามฟุตบอล ประเทศพวกนี้มักขาดความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะและความคิดสร้างสรรค์ ไม่เคยมีประเทศร่ำรวยน้ำมันประเทศไหนเคยทะลุไปถึงรอบรองชนะเลิศ

5. การเยียวยาปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีการช็อคแบบเสรีนิยมใหม่คือมารความสำเร็จโดยแท้
อาร์เจนตินาไม่เคยไปถึงรอบแปดทีมสุดท้าย นับตั้งแต่รัฐบาลเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บราซิลเคยสะดุดแค่ครั้งเดียวในฟุตบอลโลก 1998 ตอนที่ประธานาธิบดีเฟอร์นานโด เอนริเก คาร์โดโซ กำลังผลักดันให้เปิดตลาดเสรีในบราซิลอย่างสุดตัว ดังนั้น คุณอย่าไปถือหางทีมฟุตบอลของประเทศไหนก็ตามที่กำลังแปรรูปธนาคารและภาคพลังงาน แต่ก็มีข่าวดีสำหรับโธมัส ฟรีดแมนและฝ่ายสนับสนุนเสรีนิยมคลาสสิกทั้งหลาย ประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่มักฟื้นตัวขึ้นมาจากหล่มเสรีนิยม บราซิลคือตัวอย่างคลาสสิกของกรณีแบบนี้ แต่โปแลนด์กับเอกวาดอร์ก็เป็นข้อพิสูจน์ว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่ทำร้ายฟุตบอลในระยะสั้นเท่านั้น (อาร์เจนตินาเพิ่งเข้าถึงรอบควอเตอร์ไฟนอลในฟุตบอลโลกหนนี้เช่นกัน—ผู้แปล)


6. คำเตือนเพื่อกันความผิดพลาด

มีกฎเหล็กข้อหนึ่งที่สามารถทำให้กฎข้ออื่น ๆ เป็นโมฆะไปหมดได้ ความเป็นจริงทางการเมืองที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะสร้างทีมฟุตบอลที่คว้าถ้วยจูลส์ริเมท์ไม่ว่าในช่วงใดของประวัติศาสตร์ก็คือ รัฐบาลรูปแบบใดก็ตามที่ครองทำเนียบในกรุงบราซิเลียในสัปดาห์นั้น

 

  

 แชมป์ฟุตบอลโลก  ระบบการเมือง

1930
อุรุกวัย
ประชาธิปไตยง่อนแง่น
1934
อิตาลี
เผด็จการฟาสซิสต์
1938
อิตาลี
เผด็จการฟาสซิสต์
1950
อุรุกวัย
ประชาธิปไตยเกิดใหม่
1954
เยอรมนีตะวันตก
ประชาธิปไตยคริสต์ศาสนา
1958
บราซิล
ประชาธิปไตยประชานิยม
1962
บราซิล
ประชาธิปไตยประชานิยม
1966
อังกฤษ
สังคมนิยมประชาธิปไตย
1970
บราซิล
รัฐบาลทหาร
1974
เยอรมนีตะวันตก
สังคมนิยมประชาธิปไตย
1978
อาร์เจนตินา
รัฐบาลทหาร
1982
อิตาลี
สังคมนิยมประชาธิปไตย
1986
อาร์เจนตินา
ประชาธิปไตยเกิดใหม่
1990
เยอรมนีตะวันตก
สังคมนิยมประชาธิปไตย
1994
บราซิล
ประชาธิปไตยเกิดใหม่
1998
ฝรั่งเศส
สังคมนิยมประชาธิปไตย
2002
บราซิล
ประชาธิปไตยเสรีนิยมใหม่
 

..........................................
หมายเหตุผู้แปล: อิตาลีที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2006 อยู่ในช่วงของการมีรัฐบาลประชาธิปไตยเสรีนิยมใหม่สลับกับรัฐบาลซ้ายกลาง

ส่วนสเปนที่เพิ่งคว้าแชมป์ไม่กี่วันมานี้เป็นแค่หนึ่งในสองประเทศแชมป์ฟุตบอลโลก ซึ่งปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ สเปนถูกปกครองด้วยระบอบรัฐบาลทหารมายาวนานและเพิ่งเปลี่ยนมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งขึ้นเมื่อราวทศวรรษ 1980 นี้เอง นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่สเปนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ก่อนจะมาประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อปีที่แล้วนี้เอง

ต้นฉบับได้รับการเอื้อเฟื้อจาก คุณวิทยากร บุญเรือง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เคลียร์ปมกรรมการสิทธิฯ กรณี เรือนจำ “ละเมิดสิทธิฯ” ผู้ต้องขัง “นปช.”

Posted: 13 Jul 2010 08:40 AM PDT

กระทรวงยุติธรรม ร่วมกรมราชทัณฑ์ แถลงข่าวกรณีกรรมการสิทธิมนุษยชนลงพื้นที่ “เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร” พบการปฏิบัติละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องขัง “นปช.”  แจงประเด็นผู้ถูกคุมตัวไม่มีทนายให้คำปรึกษา-ไม่สามารถติดต่อครอบครัว-เจ็บไม่ได้รับการรักษา 

<!--break-->

 
หมายเหตุ - พ.อ.เฟื่องวิชช์ อนิรุธเทวา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 ที่กระทรวงยุติธรรม กรณีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงผลการลงพื้นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่มีการควบคุมตัวผู้ต้องขังกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้กระทำผิดตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ยังมีการปฏิบัติลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
--------------------
 
1.ประเด็นข่าว
หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ได้เสนอข่าวกรณี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงผลการลงพื้นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่มีการควบคุมตัวผู้กระทำผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พบว่า ยังมีการปฏิบัติในลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนี้
1.1 ผู้ถูกควบคุมตัว 28 ราย ไม่มีทนายความคอยให้คำแนะนำในการสู้คดี
1.2 บางรายไม่รู้ว่าถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาอะไร
1.3 ไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวที่อยู่ในต่างจังหวัดอะไร
1.4 ไม่ได้รับการรักษาพยาบาล
 
2. ข้อเท็จจริง
2.1 ข้อมูลผู้ต้องขัง ปัจจุบันมีผู้ต้องขับกลุ่ม นปช.ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จำนวนรวม 59 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.ค.53)
2.2 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และได้พบกับผู้ต้องขังกลุ่ม นปช.บางส่วน และได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนปรากฏเป็นประเด็นข่าวตามข้อ 1
 
3. การชี้แจงประเด็นข่าว
 
ประเด็น 1.1 ผู้ถูกควบคุมตัว 28 ราย ไม่มีทนายความคอยให้คำแนะนำในการสู้คดี
กรมราชทัณฑ์ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการหรือแต่งตั้งทนายความให้แก่ผู้ต้องหา หรือผู้ถูกควบคุมตัวที่มีความผิดตามพระราชกฤษฎีกาบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือคดีอาญาใดๆ ได้ แต่หากผู้ต้องหาดังกล่าวได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในชั้นพิจารณาของศาลในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ศาลต้องถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ หากไม่มีศาลต้องถามความต้องการ และถ้าจำเลยต้องการทนายความ ศาลจะต้องตั้งทนายความให้เสมอ (ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรค 2)
 
นอกจากการตั้งทนายความให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังกล่าวแล้ว กระทรวงยุติธรรมได้มีระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยกองทุนยุติธรรม พ.ศ.2549 ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนเงิน หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านกฎหมาย การฟ้องร้อง การดำเนินคดี หรือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น ผู้ต้องหาหรือทายาทสามารถขอสนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายในการวางเงินประกันการปล่อยตัวชั่วคราว หรือในการจ้างทนายความว่าความในคดีอาญา รวมถึงการสนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนยุติธรรมได้อีกทางหนึ่ง
 
สำหรับกรณีนี้ จากการตรวจสอบทราบว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 มีทนายความ ชื่อ นายจีระศักดิ์ บุณณะ เลขหมายใบอนุญาตให้เป็นทนายความ 1672/2529 ได้มาติดต่อที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครพร้อมหนังสือลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 ขอคัดรายชื่อผู้ต้องขับในคดีดังกล่าวทั้งหมดที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานครและเรือนจำกลางคลองเปรม โดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์ในการติดตามสอบข้อเท็จจริง และลงนามในใบแต่งทนายความ ซึ่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการให้ตามความประสงค์แล้วส่วนจะไปเป็นทนายความให้กับทุกคนหรือไม่นั้น กรมราชทัณฑ์ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบ
 
ประเด็น 1.2 บางรายไม่รู้ว่าถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาอะไร
การถูกจับกุมตัวผู้ต้องหาในการกระทำความผิดทางอาญา เจ้าพนักงานผู้จับกุม จะต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับกุมทราบในโอกาสแรก พร้อมทั้งจะต้องแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับกุมให้ทราบด้วย ซึ่งเป็นเป็นไปตามมาตรา 7/1 และมาตรา 83 ประกอบกับมาตรา 2 (16) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กล่าวคือ เมื่อพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องหาแล้ว จะเป็นสิทธิของผู้ถูกจับกุมจะรับหรือปฏิเสธ และสามารถแต่งตั้งทนายความ หรือผู้ที่ตนเองไว้วางใจ เข้าร่วมรับฟังการสอบสวนได้ เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนก็จะให้ผู้ถูกจับกุม ลงลายมือชื่อรับทราบตามข้อกล่าวหาตามที่พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อกล่าวหาไว้ ซึ่งในการนี้ ผู้ถูกจับกุมสามารถคัดค้านการจับกุมหากเห็นว่าตนถูกจับกุมหรือควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
 
กรณีนี้ แม้ว่าตอนที่ผู้ต้องขังจะถูกจับกุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และไม่ได้ดำเนินการขั้นตอนปกติของ ป.วิฯ อาญา เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มิได้กำหนดไว้ก็ตาม แต่เมื่อมีการส่งตัวไปให้พนักงานสอบสวนนำตัวไปฟ้องและฝากขังต่อศาลพนักงานสอบสวนก็จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิฯ อาญา ซึ่งจะต้องมีการแจ้งข้อหาให้ผู้ถูกจับกุมทราบ ดังนั้น จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่อ้างถึง จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องขังดังกล่าว จะอ้างว่าไม่ทราบข้อกล่าวหาว่าตนกระทำความผิดอะไร
 
ประเด็น 1.3 ไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวที่อยู่ในต่างจังหวัดได้
กรมราชทัณฑ์ไม่เคยปิดกั้นไม่ให้ผู้ถูกควบคุมหรือผู้ต้องขังติดต่อกับญาติแต่อย่างใด ซึ่งในเรื่องดังกล่าวกรมราชทัณฑ์ได้มี ข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยม การติดต่อของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขังและการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ.2547 ได้กำหนดไว้ให้ ผู้ถูกควบคุมสามารถติดต่อกับญาติได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 มาตรา 7 มาตรา 33 และมาตรา 45 ประกอบกับมาตรา 7/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ได้กำหนดให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมสามารถให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก และมีสิทธิได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร
 
สำหรับกรณีนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้ต้องขังกลุ่ม นปช.ได้มีการติดต่อทางจดหมายหรือทางครอบครัว ซึ่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครก็ได้ดำเนินการให้ตามระเบียบดังปรากฏตามบัญชีข้อมูลจดหมายที่ผู้ต้องขังติดต่อญาติจำนวน 7 รายที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้จัดทำไว้
 
ประเด็น 1.4 ไม่ได้รับการรักษาพยาบาล
การรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังที่มีสิทธิที่จะได้รับ โดยทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจะมีสถานพยาบาลในเรือนจำ และมีแพทย์จากภายนอกเข้ามาทำการตรวจรักษาในช่วงเช้าทุกวัน ซึ่งในแต่ละวันจะมีผู้ต้องขังขอรับการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ประมาณวันละ 40 คน ผู้ต้องขังในเรือนจำที่ป่วยสามารถแจ้งความประสงค์ไปสถานพยาบาลได้โดยตรง โดยการนำบัตรประจำตัวใส่ลงในกล่องที่ทางแดนจัดไว้ให้ ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 มาตรา 29 และมาตรา 30 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7/1 (4) ก็ได้กำหนดให้สิทธิผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
 
สำหรับในกรณีของผู้ต้องขังกลุ่ม นปช.นั้น จากข้อมูลของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้มีผู้ต้องขังจำนวน 24 คน ที่มาติดต่อขอรับการรักษาพยาบาล ดังปรากฏเอกสารหลักฐานตามสำเนาบัตรประจำตัวผู้ป่วยของผู้ต้องขัง (Opd card) ที่แนบมาพร้อมนี้
 
 
24 ผู้ต้องขัง "นปช." ขอรักษาพยาบาล

1. เอกชัย มูลเกษ เลขหมาย 1009/53 แดน 2 
2. ณัทกร ชยธรดำรงสุข แดน 4 
3. บัณฑิต สิทธิทุม เลขหมาย 1653/53 แดน 4 
4. ศุภณัฐ หุลเวช เลขหมาย 1654/53 แดน 6 
5. ธเนตร อนันตวงษ์ เลขหมาย 1871/53 แดน 2 
6. สมพล แวงประเสริฐ เลขหมาย 1887/53 แดน 4
7. โกวิทย์ แย้มประเสริฐ เลขหมาย 1945/53 แดน 5 
8. ประพฤทธิ์ พิพิธารมย์ เลขหมาย 2038/53 แดน2 
9. เพชร แสงมณี เลขหมาย 2039/53 แดน 4
10.ธาดา เปี่ยมฤทัย เลขหมาย 2044/53 แดน 4 
11.นคร สังสุวรรณ์ เลขหมาย 2045/53 แดน 5 
12.แก่น คำโคตร เลขหมาย 2046/53 แดน 5 
13.วีระยุทธ สุภาพ เลขหมาย 2048/53 แดน 5 
14.วิชัย แสงแพง เลขหมาย 2050/53 แดน 6 
15.ธนพงษ์ บุตรดี เลขหมาย 2187/53 แดน 8 
16.นพรัตน์ ศรีเข้ม เลขหมาย 2212/53 แดน 4 
17.เพอร์เซลล์ คอนเนอร์ เลขหมาย 2204/53 แดน 8 
18.ซาเวจ เจฟฟีย์ ฮัก เลขหมาย 2203/53 แดน 8 
19.ซยุต ไหลเจริญ เลขหมาย 2243/53 แดน 8 
20.สายชล แพบัว เลขหมาย 2447/53 แดน 4 
21.วีระ มุสิกพงศ์ เลขหมาย 2524/53 แดน 4
22.เฉลิมพงษ์ กลิ่นจำปา เลขหมาย 2575/53 แดน 4 
23.เดชพล พุทธจง เลขหมาย 2747/53 แดน 5 
24.จักรกริช จอมทอง เลขหมาย 1183/53 แดน
 

 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: "เก้าอี้ตัวนั้นอยู่...ในมือคุณ"

Posted: 13 Jul 2010 07:12 AM PDT

<!--break-->

 

"เก้าอี้ตัวนั้นอยู่...ในมือคุณ"

คมกระสุนมิเพียงพอต่อคนชั่ว
เหวี่ยงฟาดลงตรงเนื้อหนังอยางหวาดกลัว
พวกเห็นบัวเป็นกงจักร...หนักแผนดิน

คือเก้าอี้ที่รักชาติ...มิสร่างซา
เดินทางมาจากตำนานอันแหว่งวิ่น
เอาเลือดหัวโจรถ่อยล้างมลทิน
นกสีเลือดโบยบิน...สู่ดินแดน

คือเก้าอี้หลากสี...รักสงบ
แต่พร้อมรบเพื่อแผ่นดินถิ่นหวงแหน
รักกันเถิดเรานี้เกิดร่วมดินแดน
โศกเหลือแสนแม้นเลือดไทย...ฆ่าันเอง

คือเก้าอี้ที่ชิงชัง...การแก่ง แย่ง
แต่กล้าแกร่งมิยอมให้ใครข่มเหง
เพื่อสิ่งรักจักยอมตายไม่หวั่นเกรง
ใครบรรเลงเพลงหมิ่นแคลน...จงฆ่ามัน!

เก้าอี้ตัวนั้นชื่อ...หกตุลา
เราผ่านมากี่บาดแผลกี่แปรผั
กี่รอยโศกกี่เปลี่ยวเศร้ากี่เสี้ยวจันทร์
ประชาชนถูกโรมรัน...มันเรื่อยไ

คือเก้าอี้ตัวที่อยู่...ในมือคุ
ร่างแหลกพรุนพร่างกระสุนกี่ร้อยสาย
เพียงดับดิ้นมิเพียงพอต่อความตา
ฟาดลงไป...ก่อการร้าย...รกแผ่นดิน!!!

""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

หมายเหตุ:
ใครคนหนึ่งพูดย้ำแล้วย้ำอีกว่า เหตุการณ์ี่ที่ผ่านมา ช่างเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ไม่มีผิด...นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฉันได้ยินเช่นนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รางรถไฟกับการตัดสินใจ

Posted: 13 Jul 2010 06:52 AM PDT

<!--break-->

ผู้อ่านหลายๆคนคงเคยได้รับฟอร์เวิร์ดเมลที่มีคุณค่าน่าสนใจและส่งต่อไปยังคนที่รู้จักต่อๆกันไป ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และก็ได้รับเมล์ดีดีเช่นกัน หนึ่งในเมลดีดีนั้นก็คือ “รางรถไฟกับการตัดสินใจ” ซึ่งอ่านแล้วก็อดที่จะนำมาเผยแพร่ต่อไม่ได้ เพราะเห็นว่าตรงกับสถานการณ์บ้านเมืองของเราในปัจจุบันยิ่งนักและสามารถเป็นบททดสอบจิตสำนึกของเราเป็นอย่างดีว่าแท้จริงแล้วเราเป็นคนที่มีการตัดสินใจเป็นอย่างไร

เรื่องก็มีอยู่ว่ามีเด็กกลุ่มหนึ่งเล่นกันใกล้รางรถไฟ 2 ราง รางหนึ่งอยู่ในระหว่างการใช้งาน ในขณะที่อีกรางหนึ่งไม่ได้ใช้งานแล้ว มีเพียงเด็กคนเดียวเท่านั้นที่เล่นบนรางที่ไม่ได้ใช้งาน ส่วนเด็กที่เหลือนั่งเล่นอยู่บนรางที่ยังใช้งานอยู่

เมื่อรถไฟแล่นมาคุณอยู่ใกล้ๆ ที่สับรางรถไฟ คุณสามารถเปลี่ยนทางรถไฟไปยังรางที่ไม่ได้ใช้งาน
เพื่อช่วยชีวิตเด็กส่วนใหญ่ แต่นั่นหมายถึงการเสียสละชีวิตของเด็กคนที่เล่นอยู่บนรางที่ไม่ได้ใช้งาน

ถ้าคุณเป็นคนสับรางคุณจะตัดสินใจอย่างไร คุณจะสับรางไปยังเด็กคนเดียวหรือคุณเลือกจะปล่อยให้รถไฟวิ่งทางเดิมที่มีเด็กอยู่หลายคน

ลองหยุดคิดสักนิดมีทางเลือกใดที่เราสามารถตัดสินใจได้ คุณต้องตัดสินใจก่อนที่จะอ่านต่อไป
แต่กรณีนี้รถไฟไม่สามารถหยุดรอให้คุณไตร่ตรองได้

คนส่วนมากอาจเลือกที่จะเปลี่ยนทางรถไฟ และยอมสละชีวิตของเด็กคนนั้น

ผมคิดว่าคุณก็อาจจะคิดเช่นเดียวกัน แน่นอน ตอนแรกผมก็คิดเช่นนี้เพราะการช่วยชีวิตเด็กส่วนมาก ด้วยการเสียสละชีวิตเด็กหนึ่งคนนั้นดูสมเหตุผล ทั้งทางศีลธรรมและความรู้สึก

แต่คุณเคยคิดบ้างไหมว่าเด็กที่เลือกเล่นบนรางที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ที่จริงเขาได้ตัดสินใจถูกต้องที่จะเล่นในสถานที่ๆ ปลอดภัยแล้วต่างหาก แต่ทว่า เขากลับต้องเสียสละชีวิตให้กับเพื่อนที่ไม่ใส่ใจ และเลือกที่จะเล่นในที่อันตราย

สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นรอบตัวเราทุกวัน โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย คนกลุ่มน้อยมักจะถูกบังคับให้เสียสละต่อผลประโยชน์ของคนหมู่มากอยู่เสมอด้วยข้ออ้างที่ว่าเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

แม้ว่าคนกลุ่มน้อยจะฉลาดมองการณ์ไกลและคนหมู่มากจะโง่เง่าและเสียสติก็ตาม เด็กคนที่เลือกที่จะไม่เล่นบนรางที่อยู่ในการใช้งานตามเพื่อนๆ ของเขา และคงไม่มีใครเสียน้ำตาให้ หากเขาต้องสละชีวิต

คนอื่นจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ หากเป็นผม ผมจะไม่พยายามเปลี่ยนเส้นทางรถไฟ เพราะผมเชื่อว่าเด็กที่เล่นอยู่บนรางที่อยู่ในการใช้งานย่อมรู้ดีว่ารางนั้นยังอยู่ในระหว่างการใช้งานและพวกเขาควรจะหลบออกมาเมื่อพวกเขาได้ยินเสียงหวูดรถไฟ

ถ้าทางรถไฟถูกเปลี่ยนเด็กหนึ่งคนนั้นต้องตายอย่างแน่นอน เพราะเขาไม่เคยคิดว่ารถไฟจะเปลี่ยนมาใช้เส้นทางนั้น ด้วยเหตุผลของการพยายามช่วยชีวิตเด็กจำนวนหนึ่งโดยการสละชีวิตเด็กหนึ่งคนคนนั้น

เรารู้ว่าชีวิตเต็มไปด้วยการตัดสินใจอันยากลำบากบางครั้งเราอาจลืมไปว่า การตัดสินใจอันรวดเร็วใช่จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป จำไว้ว่าสิ่งที่ถูกต้องไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่นิยมปฎิบัติและสิ่งที่เป็นที่นิยมไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป

เรื่องการตัดสินใจในการสับรางรถไฟนี้เปรียบได้กับการตัดสินใจทางการเมืองของเราในหลายๆ เหตุการณ์ ผู้ที่ทำตามกฎกติกา ทำตามกฎหมาย ทำตามรัฐธรรมนูญแต่เป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมถูกจับกุมคุมขัง ถูกลงโทษข้อหาเร่ร่อนจรจัดเพราะไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง แต่คนที่โกงทรัพย์สินหรือผืนแผ่นดินของชาติกลับลอยนวล

คนที่ประท้วงโดยสุจริตด้วยการผูกผ้าแดงถูกจับกุมข้อหาละเมิด พรก.ฉุกเฉิน แต่คนที่ฉีกรัฐธรรมนูญกลับไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใดใด คนที่มาชุมนุมเรียกร้องให้มีการยุบสภากลับถูกสังหารถึง 90 ชีวิต แต่ผู้ที่สังหารเขาเหล่านั้นกลับไม่ต้องถูกลงโทษลงทัณฑ์ใดใด เพราะเพียงข้ออ้างว่าต้องรักษาชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่เล่นอยู่ในรางที่ชื่อว่าความมั่นคงของชาติทั้งๆ ความจริงแล้วเป็นเพียงความมั่นคงของรัฐบาล หาใช่ความมั่นคงของรัฐไม่

ชีวิตของคน 90 คนคงไม่มีความหมายใดใดในสายตาของชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเพราะเห็นว่าเป็นเพียงชีวิตของคนกลุ่มน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตของเขาทั้งหลายที่เลือกเล่นในรางที่รู้อยู่ว่ามีอันตรายเพราะขณะที่รถไฟสายประชาธิปไตยกำลังวิ่งอยู่แต่พวกเขากลับท้าทาย ด้วยการนำสิ่งอื่นมาเล่นในเส้นทางสายประชาธิปไตยด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญบ้าง ด้วยการเรียกร้องมาตรา 7 บ้าง ฯลฯ เพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์และความสนุกสนานของพวกเขาเอง


ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะรักษาความถูกต้องด้วยการรักษาชีวิตของคนส่วนน้อยที่ทำถูกต้องและนำผู้กระทำความผิดมารับโทษ แม้ว่าจะได้ความรับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ที่ยกมือไว้วางใจในสภาก็ตาม

---------------------------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 13 ก.ค.53

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บันทึกของ วิสา คัญทัพ (ฉบับที่ 3) แนวทางการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยจะเดินต่อไปอย่างไร

Posted: 13 Jul 2010 06:21 AM PDT

เป็นคำถามจากผู้ต้องการประชาธิปไตยอันแท้จริง เจาะจงถามมาที่ผม สืบเนื่องจาก การได้อ่านบันทึกสองฉบับ ผมขอตอบในฐานะของคนธรรมดาที่เข้าร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคนหนึ่ง ไม่ใช่ แกนนำ นปช. ดังนี้

<!--break-->

หนึ่ง / ต้องจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรประชาธิปไตยเสื้อแดง (นปช.และหรือ ฯลฯ) กับพรรคการเมืองแนวทางประชาธิปไตย (พรรคเพื่อไทย และหรือ ฯลฯ) ให้ดี กล่าวคือ องค์กรประชาธิปไตยต้องสรุปบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมาทั้งหมด ตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่ามีข้อดี ข้อเด่น ข้อด้อย ข้อถูกต้อง และผิดพลาดอย่างไร (อย่างเป็นระบบ) กล้าที่จะวิจารณ์และวิจารณ์ตนเอง โดยเฉพาะประเด็น “การนำ” นำไปบนพื้นฐานแห่งหลักการและเหตุผลที่สอดคล้องกับภววิสัยที่เป็นจริง หรือนำไปโดยอัตวิสัยแห่งอารมณ์ความรู้สึก หรือจากแหล่งข้อมูลที่ผิดพลาด

จักต้องยึดกุม “การนำรวมหมู่” ให้ได้อย่างแท้จริง ไม่ปล่อยให้ “การนำโดยบุคคล” อยู่ในฐานะที่ครอบงำ ปัญหายุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหว เมื่อตั้งไว้แล้วต้องยึดกุมให้ได้ ไม่ใช่วางขั้นตอนไว้ระดับหนึ่ง แล้วไปเปลี่ยนแปลงภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นไปโดยธรรมชาติ หรือว่า “อำพราง” กันภายใน ปิดบังกันเอง สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดความแปลกแยกทางการนำในท้ายที่สุด

ในส่วนของพรรคการเมืองแนวทางประชาธิปไตย (พรรคเพื่อไทย และอาจมีพรรคอื่นๆฯลฯ) ต้องจัดความสัมพันธ์ในการเป็น ”แนวร่วม” ต่อสู้ให้เหมาะสม พรรคก็คือพรรค ต้องดำเนินสถานะและบทบาทที่แตกต่างจากองค์กรเคลื่อนไหว เพราะพื้นที่ในการทำงานของพรรคมีลักษณะพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นพรรคต่อสู้ในระบอบรัฐสภา จะเคลื่อนไหวนอกกรอบแบบองค์กรอิสระคงไม่เหมาะสม จึงควรมีการจัดการทั้งงานเปิดและงานปิดให้ดี อันที่จริง แนวยุทธศาสตร์ “สองขา” ของ นปช. ในทางทฤษฎีที่เรียนกันอยู่ในโรงเรียน นปช.นั้นถูกต้องแล้ว หากแต่มิได้นำมาปฏิบัติในท่ามกลางการต่อสู้ที่เป็นจริงอย่าง เอาจริงเอาจัง กล่าวคือ เกิดอาการ “สัมพันธ์ขวาง” “สัมพันธ์ซ้อน” “สัมพันธ์แทรกแซง” “เปลี่ยนแปลงการนำ” “ไม่ทำตามมติ” ฯลฯ อื่นๆ อีกมากมาย ปัญหานี้ต้องสรุปทบทวน

ภาระหน้าที่ของพรรคต้องมีทั้งส่วนที่เป็นงานลับและงานเปิดเผย การจัดบุคลากรในการทำงานมีความสำคัญยิ่ง ใครเหมาะสมกับหน้าที่อะไร อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ควรต้องมีการจัดตั้งขึ้นมาทำงานอย่างจริ งจัง กรณีพรรคเพื่อไทยกับ นปช.มีคนทำงานซ้อนสองฝั่ง สองขา สองหน้าที่อยู่ไม่น้อย ทำงานพรรคด้วยทำงาน นปช.ด้วย งาน “สองขา” ดังกล่าวจึงต้องจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมของขบวนการต่อสู้

ที่ผ่านมา ขบวนการประชาธิปไตยมีความสันทัดจัดเจนในเรื่องทำนองนี้อยู่ไม่น้อย แต่นั่นก็เป็นความสันทัดของพรรคปฏิวัติ หรือขบวนปฏิวัติในอดีต ยุคก่อน นโยบาย 66/23 ซึ่งไม่มีการถ่ายทอดบทเรียนแลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นระบบแต่อย่างใด จึงเป็นเพียงความเข้าใจของบางบุคคลที่เคยผ่านประสบการณ์การสู้รบในเขตป่าเขามาเท่านั้น มีข้อเท็จจริงมากมายที่สามารถยกขึ้นมาอภิปรายในองค์ประชุมกลุ่มย่อยได้

ในบางประเทศที่การต่อสู้ได้รับ ชัยชนะ อย่างประเทศเวียดนาม กัมพูชา และ ลาว งานจัดการด้าน “แนวร่วม” จะถือเป็นหัวใจสำคัญ กรณีลาว การเคลื่อนไหวของ “พรรคประชาชนปฏิวัติลาว” ดำเนินไปในระยะแรกภายใต้องค์กรแนวร่วมที่ชื่อว่า “แนวลาวฮักชาติ” สามารถสามัคคีเอาเจ้าชายองค์น้องของเจ้าสุวรรณภูมาที่ชื่อ “สุภานุวงษ์” เชื้อสายเจ้า ผู้มีหัวเอียงข้างประชาชนมาเป็นผู้นำการต่อสู้ ชูขึ้นโดดเด่น ทำให้สามัคคีคนได้กว้างขวางยิ่งขึ้น เป็นต้น

สอง / ต้องเข้าใจว่า ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมไทยวันนี้มีลักษณะพิเศษเฉพาะที่ไม่เหมือนใครในโลกนี้ เราคิดว่า เราจะได้ประชาธิปไตยก่อน 100 ปีหรือไม่ โดยนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งขณะนี้ก็ 78 ปีแล้ว

ลักษณะพิเศษประการแรกคือโครงสร้างของระบอบศักดินาอำมาตยาธิปไตยแข็งแกร่งมั่นคงยิ่ง ไม่ใช่เฉพาะโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และอำนาจทางการเมือง ที่สำคัญเป็นเรื่องรูปการจิตสำนึก นั่นคือ โครงสร้างการครอบงำทางวัฒนธรรมที่ลงรากลึกอย่างเหลือเชื่อ ผ่านระบบการศึกษาด้วยคำพูดง่ายๆว่า “เรียนไปเป็นเจ้าคนนายคน” ปลูกฝังจิตสำนึกยกระดับจากคนชั้นล่างขึ้นไปเป็นชนชั้นกลาง แล้วเติมแต่งด้วยยศฐาบรรดาศักดิ์อย่าง “เจ้าขุนมูลนาย” ให้กลายเป็นชนชั้นข้าราชการและชนชั้นผู้ปกครอง

ที่สุดก็ลืมกำพืดตัวเอง ได้ใส่เครื่องแบบราชการหรือชุดทหารก็กล้ากระทั่งยิงพ่อแม่พี่น้องของตนเองได้แล้ว

ที่พูดถึงนี้กล่าวเฉพาะในภาคส่วนของระบบราชการ ทีนี้พูดถึงภาคการเมืองบ้าง ความจำเป็นที่ต้องเอาประชาธิปไตยมาให้ มิใช่ด้วยความเต็มใจแต่ประการใด หากแต่เป็นภววิสัยสากลตามพัฒนาการของโลกที่จักต้องเปลี่ยนไป รูปแบบเศรษฐกิจ และการเมืองที่ก้าวหน้าต้องเข้าแทนที่สิ่งที่ล้าหลัง ประชาธิปไตยในเมืองไทยจึงมีลักษณะพิเศษคือ เริ่มต้นจำเป็นต้องให้อำนาจกับคนชั้นขุนนาง ขุนศึก และพลเรือนผู้มีการศึกษาสูง เพราะพวกนี้เรียกร้องต้องการ กระทั่งขู่บังคับเอา

หากมองให้ดีจะพบว่าเป็นเรื่องการแย่งชิงอำนาจของ “ส่วนบน” มาตลอด จะมาแตะหรือมาสัมผัสเอา “ชาวไพร่” บ้าง ก็เมื่อลูกหลานชาวไพร่ได้มีโอกาศเรียนหนังสือสูงๆ แต่จะมีสักกี่คนเล่าที่หลุดพ้นจากวัฒนธรรมปลูกฝังแห่งระบบ การศึกษาไทย นานๆเราจึงได้คนอย่าง ปรีดี พนมยงค์, เตียง ศิริขันธ์, อัศนี พลจันทร์, กุหลาบ สายประดิษฐ์. จิตร ภูมิศักดิ์ และนักสู้เพื่อสังคมในยุค พ.ศ.2500 อีกหลายคน เกิดขึ้นมา แต่ก็เพือจะถูกปราบปราม จับคุมคุมข้ง กระทั่งเข่นฆ่าล่าสังหารตลอดมาในฐานะผู้รู้ความจริงก่อนชาวบ้าน หรือ “ผู้มาก่อนกาล” ตามคำศัพท์ของนักวิชาการในยุคต่อมา

กลุ่มนักการเมืองในยุคต้นๆ ยังเป็น “คนชั้นบน” อยู่เหมือนเดิม ได้แก่ ขุนนาง ขุนศึก พลเรือนผู้มีการศึกษาสูง จากนั้นจึงค่อยขยายมาสู่ ผู้มีการศึกษาที่มักใหญ่ใฝ่สูง และพวกพ่อค้า หลังยุคเปลี่ยนความเชื่อจากเดิมที่ว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าพญาเลี้ยง” ซึ่งนั่นคือยุคศักดินา

เพราะฉนั้นสำนึกเชิงวัฒนธรรมในทางการเมืองของนักการเมืองยุคแรกๆ ลึกๆแล้วจึงไม่มี “ความใฝ่ฝันจะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง” หากแต่เป็นนักการเมืองเพื่อแสวงอำนาจและผลประโยชน์เพื่อตน เองและพวกพ้อง พรรคการเมือง รัฐสภา และรัฐบาล จึงเต็มไปด้วย พ่อค้า นักธุรกิจ ผู้รับเหมา ขุนศึกขุนทหาร และผู้มักใหญ่ใฝ่สูงที่ต้องการไต่เต้าขึ้นเป็นอำมาตย์

สรุป เมื่อทั้งระบบราชการที่คัดเลือกเอาเฉพาะไพร่ที่พร้อมเปลี่ยนรูปการจิตสำนึกเป็นอำมาตย์ และระบบการเมืองที่เปิดโอกาสให้เฉพาะพวกแสวงหาผลประโยชน์ พวกมักใหญ่ใฝ่สูง ผู้ต้องการไต่เต้าเป็นอำมาตย์ประชาธิปไตยที่แท้จริงจึงยากจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อประกอบกับโครงสร้างอันแข็งแกร่งของระบบศักดินาอำมาตยาธิปไตย ทำให้การต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยเป็นเรื่องยากและมีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง ประการสำคัญที่สุดจึงต้องมองให้เห็นลักษณะพิเศษของสังคมไทยดังกล่าว กำหนดยุทธศาสตร์แต่ละระยะให้ชัดเจน มีสายตายาวไกล มองเห็นผู้นำ และสันทัดในการสร้างผู้นำ ไม่ปล่อยให้เป็นไปอย่างเสรี ไร้การจัดตั้งอย่างเป็นระบบ ไม่เช่นนั้นสู้ไปก็รังแต่จะพ่ายแพ้ซ้ำซาก

สาม / ผู้นำขบวนการประชาธิปไตยควรเป็นบุคคลแบบใด ต้องกำหนดภาพให้ชัดเจนแน่นอน ในส่วนของพรรคการเมืองก็ต้องสร้างและสนับสนุนผู้นำขึ้นมา ควรทำให้ต่อเนื่อง เห็นลำดับเป็นหนึ่ง.สอง.สาม.สี่ ยอมรับบทบาทการนำ และเชิดชูให้โดดเด่น ไม่ขัดแย้งแก่งแย่งและช่วงชิงการนำกันเอง วางไว้สำหรับอนาคตข้างหน้าอย่างน้อย 3-5 ปี หรือกว่านั้น ภาพผู้นำดังกล่าวต้องเป็นที่ยอมรับของมวลชน มีบทบาทต่อสู้เพื่อประชาธิปไต ยยาวนานต่อเนื่อง มีแนวคิดแหลมคม แจ่มชัด มีท่วงทำนองสุภาพสุขุม มีสัมพันธภาพกับสื่อมวลชน และบุคคลทั่วไปเป็นอย่างดี มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความเพรียบพร้อมในภาพความซื่อสัตย์สุจริต และที่สำคัญ เป็นคนมีอุดมการประชาธิปไตยที่แท้จริง กล่าวอย่างเป็นรูปธรรม พรรคเพื่อไทยควรมีจินตนาการในเรื่องนี้

สมมุติว่า เรามอง จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นบุคคลที่เข้าข่ายที่กล่าวมา พรรคต้องกล้าสนับสนุนให้เป็นผู้นำ ผู้นำมิได้หมายความถึงตำแหน่งทางการเมืองในพรรคปัจจุบันที่ต้องเป็นหัวหน้าพรรค หรือตำแหน่งสำคัญอื่นใด เราสามารถสร้างภาพผู้นำเชิงจินตนาการได้ สร้างภาพให้เป็นนายกรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปไตยในอนาคต เชิดชูขึ้นให้แข็งแกร่งและมีพลัง เพราะในความเป็นจริง หลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 53 เราอาจ
ต้องใช้เวลาพลิกฟื้นสถานการณ์ไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย (เวลานั้น จาตุรนต์ พ้นภาวะบ้านเลขที่ 111 ไปแล้ว) ซึ่งนี้คือสิ่งที่พรรคการเมืองต้องมีจินตนาการ มองข้ามไปในอนาคต และสร้างรูปการสำหรับการต่อสู้ขึ้นมารองรับ แล้วพาไปในทิศทางนั้น เมื่อก่อนเวียดนามในยุคแรกๆมี โฮจิมินห์ เคลื่อนไหวเป็นผู้นำสูงสุด แต่ก็ยังมี ฝ่ามวันดง และคนอื่นๆเป็นผู้นำร่วมต่อสู้ เรื่องอย่างนี้ ทักษิณ ชินวัตร ควรเริ่มคิดอย่างจริงจัง

เช่นเดียวกับองค์กรต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่าง นปช. และ/หรือองค์กรอื่นๆ ต้องคิดใหม่ทำใหม่ สรุปข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ควรเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น ประชุมถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ผ่านการต่อสู้ที่เป็นจริง ทุกฝ่ายต่างได้รับบทเรียน เกิดกลุ่มก้อนกำลังพลที่หลากหลาย ซึ่งต้องคิดว่า จะสู้ต่อไปอย่างไรให้ได้ชัยชนะ จินตนาการถึงภาพอนาคต การนำ แกนนำ คณะนำ งานปิดลับ เปิดเผย ใต้ดิน บนดิน รูปแบบการต่อสู้อันพลิกแพลงแตกต่าง รูปแบบงานแนวร่วม คำชี้นำชี้แนะต่างๆ ควรเกิดขึ้นจากการวิคราะห์กลั่นกรองอย่างถี่ถ้วนรอบคอบโดยคณะนำ มิใช่จากบุคคลที่แสดงความเห็นโดยเสรี เคลื่อนไหวอย่างวีรชนเอกชน และอื่นๆอีกมากมาย

สี่ / เรื่อง “ทักษิณ ชินวัตร” ต้องบอกว่ารัฐบาลเผด็จการอำมาตย์ทุบทักษิณมา 4 ปี ทุบทำลายไม่สำเร็จ เข้าภาษิตโบราณ “จันทน์หอม ยิ่งทุบยิ่งหอม” ทักษิณไม่หายไปจากความทรงจำของประชาชน และที่สำคัญ รัฐบาลไม่อาจทำให้ประชาชนเชื่อว่า ทักษิณเป็นคนชั่วร้ายได้ เหมือนกับที่เมื่อก่อนทำให้คนเกลียดชังคอมมิวนิสต์ รัฐบาลพยายามทำให้ทักษิณเป็นเหมือนคอมมิวนิสต์ในอดีต ด้วยข้อหา “ผู้ก่อการร้าย” แต่ประชาชนกลับคิดว่า ทักษิณถูกกลั่นแกล้ง ทักษิณถูกกระทำแบบสองมาตรฐาน ที่สุด ทักษิณกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะฉนั้นไม่ว่าทักษิณจะอยู่ที่ไหน จะไม่อยู่ หรือชื่อนี้หายไปจากโลก แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็ยังดำรงอยู่

เมื่อทักษิณกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้ ปัญหาจึงอยู่ที่ “บทบาท” ที่ผ่านมา บทบาทในฐาะผู้ร่วมต่อสู้นั้นชัดเจน แต่บทบาท “การนำ” ยังเป็นปัญหา ฝ่ายรัฐบาลปักใจเชื่อว่า ทักษิณนำการต่อสู้ แต่ขณะที่ทักษิณเองกลับปฏิเสธ ประเด็นนี้ ความจริงแห่งการเคลื่อนไหวต่อสู้เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อการสำรวจทบทวนเป็นอย่างยิ่ง ต้องยอมรับว่าในส่วนของ นปช.มีอิสระเต็มที่ในการเคลื่อนไหว ตั้งแต่ช่วงแรกๆ จนถึง เหตุการณ์หน้าทำเนียบ เมษายน ปี 52 บทบาทการนำจะอยู่ที่ “สามเกลอ”เป็นตัวหลัก

หลังจากนั้นมีการขยายการนำ เพิ่มจำนวนแกนนำ มีการประชุมบ่อยครั้ง ในช่วงหนึ่งปีก่อนเคลื่อนไหวใหญ่ที่ผ่านฟ้า และราชประสงค์ การเพิ่มแกนนำก็ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งโดยใคร ต่างมาโดยธรรมชาติของคนในขบวนการที่ทำงานต่อเนื่องกันมา มีบทบาทบนเวทีปราศรัย มีเวลาให้กับการทำงานเต็มที่ ร้อยรัดรวมตัวกันเข้ามาโดยสมัครใจ เมื่อไม่การแต่งตั้ง เลือกตั้ง ก็ไม่มีกฎระเบียบในการรับคนเข้าคนออก กรณีทำความผิดพลาดใดๆจึงไม่มีอำนาจไปถอดถอนใครออกจากแกนนำได้ บ่อยครั้งตกลงกันในที่ประชุมอย่างหนึ่ง แต่ออกไปปฏิบัติจริงกลับเป็นไปคนละทิศทางกับที่ประชุมมา

การประชุมทุกครั้ง ไม่มีคำชี้แนะชี้นำอะไรจากทักษิณ การโฟนอินหรือวิดีโอลิงค์เข้ามาแต่ละครั้งไม่มีการกำหนดหัวข้อหรือประเด็น ทักษิณพูดได้โดยอิสระเสรี การสื่อสารถึงทักษิณเท่าที่ทราบเป็นการสื่อสารหลายทาง ใครก็โทรศัพท์คุยกับทักษิณได้ ทั้งนักการเมืองในส่วนของพรรค และแกนนำ นปช.ทุกระดับ รวมไปถึงทหารแตงโมและตำรวจมะเขือเทศ ปัญหาที่ตามมาก็คือ แล้วทักษิณจะเชื่อใคร โดยเฉพาะช่วงปลายหรือช่วงวิกฤติของการต่อสู้ ความขัดแย้งระหว่างแนวทางฮาร์ดคอร์ กับสันติวิธีเริ่มไม่ลงรอยกันชัดเจนยิ่งขึ้น ส่งผลให้การต่อสู้เดินหน้าไปอย่างปั่นป่วน สับสน ไร้การควบคุม

ไม่ว่าจะอย่างไร ทักษิณ ชินวัตร ได้กลายเป็น “สัญญลักษณ์ประชาธิปไตย” ของสังคมเสื้อแดงไปแล้ว และในความเป็นจริงก็ได้พิสูจน์ให้ยอมรับโดยไม่ต้องคัดเลือก ท่ามกลางสถานการณ์ต่อสู้ ให้เป็นหนึ่งในคณะนำสูงสุดอย่างไม่ต้องสงสัย ในการต่อสู้ครั้งต่อไปจึงน่าพิจารณาว่า ทักษิณคือแนวร่วมซึ่งต้องมีที่อยู่ที่ยืนและมีบทบาทที่แจ่มชัด เมื่อพวกเราก้าวพ้น “ผู้ก่อการร้าย” ไปได้แล้ว ก็จะเหลือสถานะต่อไปเพียงประการเดียวคือ “ผู้กอบกู้ประเทศชาติพ้นวิกฤติสู่ศิวิไล” เท่านั้น

ห้า / ภาพทั้งหมดที่ลำดับมาในสี่ข้อสะท้อนให้เห็นอะไร และเรียกร้องให้เกิดอะไร คำตอบมีดังนี้

หนึ่งคือสะท้อนให้เห็นลักษณะไร้การจัดตั้ง ไม่มีระเบียบวินัย และไร้การนำที่มีรูปการอย่างแท้จริง สองสะท้อนให้เห็นความไม่พร้อมขององค์กรฯ ที่ยังไม่เข้มแข็งพอจะยกระดับการต่อสู้
สามคือเรียกร้องให้เกิดองค์กรประชาธิปไตย เกิดแนวร่วมประชาธิปไตยที่มีรูปการ
สี่เรียกร้องให้เกิดคณะผู้นำสูงสุดในการต่อสู้ที่ชัดเจน
ห้าถึงเวลาหรือยังที่จะจัดตั้ง “คณะกรรมการประสานงานกำลังรักชาติรักประชาธิปไตย” เคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับลักษณะพิเศษของสังคมไทย ทั้งก่อนและหลังการยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน
หกทักษิณต้องจัดวางตนเองไว้ในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยให้เหมาะสม อย่างไรจึงเหมาะสมเป็นเรื่องต้องช่วยกันคิด

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล วิพากษ์ตรงๆว่า การต่อสู้ที่ผ่านมา ไม่แสดงให้เห็นลักษณะ “การมีสุขภาพดี” (healthy) ของขบวนการแต่อย่างใด ดังนี้

”การพ่ายแพ้ครั้งหลังสุดนี้ เป็นการพ่ายแพ้ที่รุนแรง และเสียหายอย่างมาก (เฉพาะเรื่องชีวิตคนเรื่องเดียวก็ประเมินค่าไม่ได้) โดยไม่เพียงแต่ไม่ได้อะไรเพิ่มขึ้น (วันยุบสภาตามที่เรียกร้อง) แต่ยังเสียหายในแง่กลไกต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น อีกมหาศาล (ทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์)
ถ้าพ่ายแพ้ และเสียหายถึงขั้นนี้ แล้วยังไม่สามารถ "ก่อให้เกิด" (generate) การอภิปราย แสวงหา สรุป ในแง่ความผิดพลาด ในแง่แนวทาง ทิศทาง ไปถึงในแง่บุคคลากรอีก (คือยังคง อับจนในเรื่องเหล่านี้อีก เช่นที่ผ่านๆมา)”

ต้องถือเป็นเรื่องผิดปกติ

คนเสื้อแดงควรต้องเปิดใจให้กว้าง น้อมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ จากมิตรและแนวร่วม เพื่อปรับขบวนการต่อสู้ให้เข้มแข็งขึ้น ทั้งต้องรู้ว่า เราสู้กับคู่ต่อสู้ที่ไม่ธรรมดา จะมุทะลุดุดัน หัวชนฝา ไร้เดียงสา ต่อไปอีกไม่ได้อย่างเด็ดขาด อีกสองทศวรรษ ราว 22 ปี ก็จะถึงหนึ่ง 100 ปีแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแล้ว เราจะชนะได้อย่างไร ชนะก่อนร้อยปีไหม เป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันคิดอ่านอย่างจริงจัง

ดูแลตัวเอง ดูแลกันและกันให้ดี ถนอมรักษาชีวิต ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน อย่าทำลายทำร้ายกันเอง นี้คือการสรุปบทเรียนเพื่อก้าว เดินไปข้างหน้า เรายังคงต้อง “สู้ พ่ายแพ้ สู้ใหม่ พ่ายแพ้ สู้ใหม่ จนกว่าชัยจะได้มา” ขอให้ทุกท่านโชคดี เดินทางสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงต่อไป สวัสดี.

 

บันทึกนี้เขียนเสร็จวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 (แก้ไขปรับปรุงเผยแพร่ 11 กรกฎาคม)

 

 

หมายเหตุ: งานเขียนชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊คส่วนตัวของ วิสา คัญทัพ ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิดีโอคลิป: สัมภาษณ์พิเศษ - จตุพร พรหมพันธุ์

Posted: 13 Jul 2010 04:37 AM PDT

<!--break-->

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข่าวสด:สัมภาษณ์ ไพโรจน์ พลเพชร ค้น"ความจริง-ตีแผ่"เหตุสลายม็อบ

Posted: 13 Jul 2010 12:27 AM PDT

ไพโรจน์ พลเพชร มีชื่อปรากฏเป็น 1 ใน 8 คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ชุดที่มี นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน

<!--break-->

แต่ได้ประกาศขอถอนตัวไป ทั้งที่ยังไม่ทันเริ่มทำงาน

ไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เปิดใจถึงสาเหตุว่าเป็นเรื่องเข้า ใจกันผิดระหว่างการทาบทามเป็นกรรมการ

แต่ ที่สำคัญคือตนเองต้องการทำงานคู่ขนานและตรวจ สอบ คอป. ในฐานะคณะทำงานในโครงการพิเศษ สืบค้น ความจริงเหตุการณ์เมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553

สาเหตุที่ลาออกจากคอป.

ผม ทำงานองค์กรสิทธิมนุษยชนถึง 9 องค์กร อาทิ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม มูลนิธิประสานวัฒนธรรม คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนา เอกชน เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นต้น และมีสถาบันศึกษา 1 สถาบันคือ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ

โดยร่วมทำโครงการพิเศษสืบค้นความจริงเหตุการณ์เมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 รวบรวมข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ทั้งหมด เพื่อทำเป็นรายงาน เจตนาต้อง การให้เป็นรายงานคู่ขนานกับหน่วยงานรัฐ รวมทั้งกรรม การอิสระด้วย

ตรงนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ไม่รับ ผมต้องการทำงานแยกออกจากกันเพื่อให้เป็นอิสระ สามารถตรวจสอบซึ่งกันและกันได้

โครงการ สืบค้นความจริงฯ ที่องค์กรสิทธิมนุษยชน ร่วมกับสถาบันศึกษาทำเป็นรายงานคู่ขนาน เพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิในสังคมไทย โดยเฉพาะความรุน แรงในสังคมไทยที่ผ่านมา จำเป็นต้องมีหลายฝ่ายเข้ามาทำรายงาน ซึ่งรายงานอาจจะตรงหรือไม่ตรงกันก็ได้ เนื่อง ด้วยฐานที่มาของข้อมูล แหล่งข้อมูลที่ต่างกัน ทำให้ข้อมูลรายงานที่ออกมาสามารถตรวจสอบกันและกันได้

พูดคุยกันอย่างไร ถึงได้ปรากฏชื่อใน คอป.

ทีม งานของอาจารย์คณิต ทาบทามมา ผมเรียนท่านตั้งแต่ต้นว่าผมมีภารกิจ โอกาสเข้าร่วมคงยาก แต่ยังไม่ได้คุยในรายละเอียดเนื้องานว่าภารกิจของผมคืออะไร อาจารย์อาจเข้าใจว่ามันเป็นภารกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภารกิจในโครงการสืบหาความจริงในเหตุการณ์ ตอนหลังได้คุยเรื่องนี้อย่างละเอียด

หลังจากมีชื่อผมไปแล้ว เรียนท่านว่าถ้าผมทำงาน 2หน้าที่ในคราวเดียวกัน เรื่องเดียวกันคงเป็นไปไม่ได้ มัน จะทำให้รายงานโครงการของผมสูญเสียความเป็นอิสระ หรือของอาจารย์ก็สูญเสียความเป็นอิสระจากผมไปด้วย

ตรงนี้จึงเป็นเหตุผล อาจารย์ก็ยอมรับ เรื่องนี้ขอชี้แจงว่า ผมไม่ได้รับเป็นกรรมการ มันจึงไม่ใช่การลาออก

การตัดสินใจไม่รับเป็นคณะกรรมการ เพราะ มีการท้วงติงจากเครือข่ายฯหรือไม่

ไม่ ได้ท้วงติง จริงๆ เป็นเรื่องวิธีการทำงานขององค์กร สิทธิฯ เพราะพูดตั้งแต่ต้นว่าต้องเป็นรายงานคู่ขนานกับภาครัฐ ผมตระหนักในวิธีการทำงานอยู่แล้วว่า มันต้องไม่ไปอยู่ในจุดที่ทำให้ไม่สามารถรักษาคู่ขนานกันได้

เป็นเพราะไม่เชื่อมั่นวิธีการทำงานของรัฐหรือไม่

ไม่ ได้คิดอย่างนั้น การผลักดันให้มีกรรมการอิสระ ทางองค์กรสิทธิมนุษยชนหรือองค์กรอิสระ ได้เสนอรัฐบาลมาตั้งแต่เหตุความรุนแรงเมื่อเดือนเม.ย.2552 ให้ตั้งองค์การอิสระ ดังนั้น เราเห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพื่อตรวจ สอบเหตุการณ์

เมื่อมีการแต่งตั้งนายคณิต เป็นประธาน ผมก็เห็นว่าท่านกล้าหาญที่ยอมรับตำแหน่งนี้ เพราะอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งและความหวาดระแวง แต่กรรมการอิสระจะดำรงความอิสระหรือไม่ คำพูดมันอาจไม่เพียงพอ ต้องขึ้นอยู่กับการกระทำ

กระบวนการทำงานของกรรมการอิสระ เช่น เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้าให้ข้อมูลหรือไม่ รับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายหรือไม่ หาผู้เชี่ยวชาญเพื่อสร้างความมั่นใจในการตรวจ สอบ ผมคิดว่านั่นเป็นกระบวนการทำงานซึ่งจะพิสูจน์เอง

หากเขาไม่เป็นอิสระ เขียนรายงานมาแล้วไม่เป็นที่ยอมรับของผู้คน เขาจะเสียหาย จึงไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเชื่อมั่นหรือไม่เชื่อมั่น

ก่อนหน้านี้เคยระบุว่าความขัดแย้งแก้ยากกว่าการปฏิรูป เป็นอย่างไร

กรรมการ ชุดนี้เป็นกรรมการสืบค้นความจริง เพราะปัจจุบันเราอธิบายความจริงในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน เรามีอคติ มีจุดยืน มีความโน้มเอียงทางการเมือง ดังนั้น การได้ความจริงออกมาจะเป็นเครื่อง มือหนึ่งที่จะลดความหวาดระแวงกันได้ และความจริงที่ได้มา จะนำไปสู่การพิจารณาความรับผิดชอบของคนที่เกี่ยวข้อง หรืออาจนำไปสู่การแก้ปัญหา

การเข้าถึงความจริงจึงเป็นบันไดขั้นแรก ที่ยากกว่าการ ปฏิรูป เพราะการปฏิรูปเป็นการพูดถึงโครงสร้างที่ไม่ได้อยู่ ในความขัดแย้งมากที่เผชิญหน้ากันอยู่จริง

หมายความว่าต้องทำความจริงให้ปรากฏก่อน

ถูก ต้อง การปฏิรูปก็ทำไป ผมไม่ขัดแย้ง เพียงแต่ภาร กิจหลักคือต้องคืนความจริงให้กับทุกคนที่ได้รับผลกระทบของความรุนแรง เป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความยุติธรรม เช่น เราต้องอธิบายได้ว่าคนที่เสียชีวิต 90 กว่าราย คนที่บาดเจ็บเกือบ 2 พันคนเกิดจากอะไร ถ้าเราอธิบายไม่ได้ เราไม่มีเหตุผลเพียงพอ ไม่มีความจริงที่อธิบายที่ยอมรับกันได้ เราก็คืนความจริงให้กับผู้คนไม่ได้

ดังนั้น การได้ความจริงเพื่อคืนความจริงให้กับผู้คนจึงเป็นความยุติธรรมเบื้องต้นที่จะลดความหวาดระแวงให้กับผู้คนได้

ในฐานะทำงานด้านสิทธิมนุษยชน คิดว่า การสร้างความปรองดองควรเริ่มจากจุดไหน

เริ่ม จากจุดที่รัฐบาลต้องลดการใช้อำนาจตามอำเภอใจ เช่น ยกเลิกการประกาศใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้คืนสู่สถานการณ์ปกติ

รวมทั้งสนับสนุนให้กระบวนการยุติธรรม แม้แต่คนที่ถูกจับกุมทั้งหลายขณะนี้ ดำเนินตามกระบวนยุติธรรมอย่างเข้มงวด ตรงไปตรงมา ถือเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่จะลดการเผชิญหน้า ลดความหวาดระแวง ตรงนี้เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นเฉพาะหน้า

ส่วนเงื่อนไขการหาความจริง แน่นอนว่ารัฐบาลต้องสนับสนุนองค์การอิสระให้เขาทำงานอย่างอิสระ ต้องสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริง เรื่องทรัพยากรต่างๆ มันถึงจะทำให้กระบวนการเหล่านี้เดินไปได้

การตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์เมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 คืบหน้าถึงไหนแล้ว

ระหว่าง นี้อยู่ในการรวบรวมข้อเท็จริงจากเอกสาร ทั้ง จากแพทย์ คลิปต่างๆ รายงานคำให้การที่เป็นเอกสารเผยแพร่ทางสื่อ รวมทั้งรวบรวมคำสั่งของหน่วยงานรัฐ กฎหมายที่ออกมาแต่ละฉบับ

ถัดมา คือเราต้องบันทึกปากคำคนที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งเรามีเป้าหมาย เป็นผู้สื่อข่าวในประเทศ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ คนที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ของรัฐ

การทำงานต้อง ใช้เวลาพอสมควร เบื้องต้นเรากำหนด ไว้ที่ 6 เดือนที่ต้องทำรายงานชิ้นแรกออกมา แต่ความจริงเพิ่งเริ่มเตรียมงานเดือนมิ.ย. ส่วนการจะแถลงต่อสาธารณชนให้ทราบนั้น ต้องรอดูจากข้อเท็จริงที่ได้มา

การทำงานของเราไม่มีการตั้งธงอะไรไว้ล่วงหน้า หลัก การคือต้องให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลให้มากที่สุด

อยากเรียกร้องว่าให้ทุกฝ่ายที่รู้เห็นเหตุการณ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ มาให้ข้อมูลกับหน่วยงานไหนก็ได้ที่ท่านไว้วางใจ

เราต้องร่วมกันรับผิดชอบที่จะทำความจริงให้ปรากฏถึงจะทำให้เราสามารถพิสูจน์ค้นหาความจริงได้ในเหตุ การณ์ทั้งหมดได้

เราต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วยกันทั้งหมด

 

ที่มา: ข่าวสดรายวัน 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7166

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิธิ เอียวศรีวงศ์: เสื้อเหลืองเป็นใครและออกมาทำไม

Posted: 12 Jul 2010 04:00 PM PDT

<!--break-->

1

คนเสื้อเหลืองคือใคร? ตอบได้ยากมาก แต่จากข้อมูลที่มีอยู่น้อย ทั้งอาจารย์อภิชาต สถิตนิรามัย และอาจารย์อเนก เหล่าธรรมทัศน์ พบตรงกันว่า โดยเฉลี่ย พวกเขามีรายได้สูงกว่าคนเสื้อแดง เช่น คนเสื้อเหลืองอยู่ในระบบประกันสังคมจำนวนมากกว่า แปลว่าพวกเขาทำงาน "ในระบบ" เช่นถึงเป็นแรงงาน ก็เป็นแรงงาน "ในระบบ" ในขณะที่คนเสื้อแดงอาจเป็นแรงงาน "นอกระบบ" เช่น ลูกจ้างรายวัน เป็นต้น

ผมขอตีขลุมรวมๆ ว่า คนเสื้อเหลืองเป็นคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป แม้จะรู้ดีว่าทั้งเสื้อเหลืองและแดง ล้วนมีคนหลากหลายประเภทปะปนกันทั้งสิ้น แต่เมื่อพูดโดยเฉลี่ยแล้ว คนเสื้อเหลืองคือคนชั้นกลางระดับกลาง (ขึ้นไป)

นอกจากนี้ เราไม่อาจเอาแกนนำเป็นตัวแทนของผู้ชุมนุมได้ ทั้งเหลืองและแดง การที่มีคนจำนวนมากเช่นนี้ออกมาชุมนุมกันเป็นเดือนๆ ต้องมีปัจจัยในทางสังคมผลักดันอยู่เบื้องหลัง มากกว่าวาทะของแกนนำบนเวที เราจะเข้าใจการเคลื่อนไหวทางการเมืองของสองสีนี้ได้ ก็ต้องเข้าใจปัจจัยทางสังคมที่อยู่เบื้องหลัง ยิ่งกว่านี้ แม้แต่พยายามล้วงลึกลงไปที่อ้ายโม่งซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ก็ยังอธิบายไม่ได้อยู่ดี แกนนำและอ้ายโม่งมีพลังก็จริง 

แต่ไม่มีวันที่ใครจะมีพลังถึงกับดึงคนจำนวนมากไปเสี่ยงตายกลางถนนได้มากขนาดนี้ หากไม่มีปัจจัยทางสังคมเอื้อให้ผู้คนสวมเสื้อสีออกไป

เหตุใดคนเสื้อเหลืองจึงออกมา "เย้วๆ" (หากใช้ศัพท์เดียวกับที่บางคนใช้ในการบรรยายการกระทำของเสื้อแดง) บนถนน? นี่เป็นคำถามที่จะยิ่งตอบยากกว่าคำถามแรก แต่ผมพยายามตอบ แม้จะอย่างผิดๆ ถูกๆ อย่างไรก็ตาม เพราะผมเชื่อว่าคำถามนี้มีความสำคัญ และสักวันหนึ่งก็คงมีคนที่เก่งกว่าผมและขยันกว่าผมจะตอบได้ดีกว่านี้

แม้คนเสื้อเหลืองมีรายได้สูงกว่าคนเสื้อแดง และมโนภาพที่เรามีต่อเขาก็คือเขา (โดยเฉลี่ย) ไม่ใช่คนจน แต่ผมยังคิดว่า ควรเริ่มต้นด้วยการมองหาปัจจัยทางเศรษฐกิจก่อนว่า เกิดอะไรขึ้นในเศรษฐกิจไทยในช่วงประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมา จึงทำให้คนชั้นกลางระดับกลางรู้สึกตัวว่าเดือดร้อนทางการเมือง มากพอที่จะออกมาประท้วงในท้องถนน

ผมต้องสารภาพว่า ผมหาตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อธิบายเรื่องนี้ตรงๆ ไม่ได้ แต่ด้วยความกรุณาของคุณบรรยง พงษ์พานิช ซึ่งได้ส่งส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่องของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยของท่านมาให้ผมดู ในขณะเดียวกัน ด้วยความกรุณาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้เชิญผมเข้าร่วมสัมมนาเรื่อง "การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม" ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ผมจึงได้รับเอกสารที่ใช้ในการคลำหาคำตอบของผมเองได้

แต่ตัวเลขเศรษฐกิจเหล่านี้ ผู้ทำวิจัยไม่ได้เก็บรวบรวมเพื่อตอบปัญหาของผม จึงจำเป็นที่ผมต้องอ่านเอาเองทั้งๆ ที่ไม่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์เลย ผมจึงไม่รับรองว่าที่ผมอ่านนั้นถูกต้อง ถึงผมจะอ้างใคร คนที่ถูกอ้างก็ไม่ต้องรับผิดชอบเพราะผมเองต่างหาก ที่ยัดความหมายลงไปในกราฟนานาชนิดที่เขาแสดงเพื่อพูดเรื่องอื่น

ต่อไปนี้คือปัจจัยทางเศรษฐกิจบางอย่างที่ผมคิดว่าน่าจะอธิบายพฤติกรรมของคนเสื้อเหลืองได้

เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำ เราอาจหาตัวเลขทางเศรษฐกิจเพื่ออธิบายให้เห็นชะตากรรมของคนเสื้อแดงได้มาก แต่จะอธิบายชะตากรรมของคนเสื้อเหลืองด้วยความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร

ต้องเข้าใจก่อนว่า ความเหลื่อมล้ำไม่ได้แปลว่าความยากจน ความเหลื่อมล้ำคือไม่เท่ากัน หรือให้ชัดกว่านั้นคือไม่เท่ากันในระดับที่คนรู้สึกว่ายอมรับได้ (ที่ไหนๆ คนก็ไม่เท่ากันทั้งนั้น แต่จะไม่เท่าแค่ไหน คนที่มีน้อยได้น้อยกว่าจึงจะยอมรับได้ นี่ต่างหากคือปัญหาของความเหลื่อมล้ำ ไม่เกี่ยวกับความยากดีมีจน)

ก.คุณบรรยง ชี้ให้เห็นว่าในช่วงประมาณ 1 ทศวรรษกว่าๆ ที่ผ่านมา ผลตอบแทนจากค่าจ้างแรงงาน (รวมเงินเดือนที่คนชั้นกลางระดับกลางได้รับด้วย) ซึ่งอาจมีขึ้นมีลงตามแต่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนจากทุนแล้ว จะเห็นว่าห่างกันมากขึ้น แปลออกมาเป็นภาษาธรรมดาก็คือ คนที่ทำงานรับเงินเดือนบริษัทอยู่ มองเห็นผลกำไรของบริษัทสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เงินเดือนของตนไม่ได้ขยับขึ้นในอัตราที่เร็วเท่ากับผลกำไร

ข.คุณบรรยงอีกเหมือนกันที่ชี้ว่า ผลตอบแทนจากค่าเช่าและอื่นๆ ลดลงในวิกฤตครั้งแรกอย่างฮวบฮาบ แล้วก็ไม่กระเตื้องขึ้นจนถึง 2547 ก็เริ่มเงยหัวขึ้นมาบ้าง แต่หากเปรียบเทียบกับรายได้จากการประกอบการของธุรกิจ (ดูจากภาษี) ลดลงในวิกฤตครั้งแรกเหมือนกัน แต่ก็สูงขึ้นกว่าเดิมมาเรื่อยๆ จนสูงกว่าเก่า ฉะนั้นโดยเปรียบเทียบแล้ว ผลตอบแทนจากค่าเช่ามีแต่จะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการประกอบการด้วยทุน (จากที่ "ค่าเช่า" เคยอยู่สูงสุดในปี 2541 เป็นกว่า 24% ของรายได้ประชาชาติที่ไม่ได้มาจากค่าจ้าง เหลือเพียงประมาณ 7% ในปี 2546)

ผมเข้าใจว่า รายได้ของคนชั้นกลางระดับกลางจำนวนหนึ่งก็มาจาก "ค่าเช่า" (นับตั้งแต่ที่ดิน, เครื่องจักร, เครื่องมือการเกษตร, นายหน้าแรงงาน, ฯลฯ) คนเหล่านี้ "โดนหยิก" จากการที่รายได้ของตนลดลง และแน่นอนย่อมรู้สึกในความเหลื่อมล้ำมาก

ค.แม้มีการขยายตัวของการจ้างงานในภาคหัตถอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่ค่าจ้างในภาคหัตถอุตสาหกรรมก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จนมาถึงระดับต่ำสุดในปี 2550 เหตุผลก็พอเดาได้ นั่นคือมีคนหลั่งไหลจากภาคอื่นๆ เข้ามาสู่ภาคการผลิตนี้จำนวนมาก รายได้ของแรงงานลดลงนั้นแน่นอนอยู่แล้ว แต่ผมต้องการชี้ให้เห็นว่าแรงงานฝีมือนับตั้งแต่เสมียนขึ้นไปถึงฟอร์แมนและคนงานระดับกลางเองก็ลดลงไปด้วย (อยากได้ ปวส. หรือปริญญาตรีหรือ มีให้เลือกถมถืดไป) ฉะนั้น จึงมีคนชั้นกลางระดับกลางจำนวนหนึ่งที่รู้สึกเจ็บปวดกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้

ง.คุณเดือนเด่น นิคมบริรักษ์และคุณศิริกาญจน์ เลิศอำไพนนท์ แห่ง TDRI แสดงให้เห็นว่า มีการกระจุกตัวของรายได้ภาคธุรกิจในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในปี 2553 ธุรกิจ 20% ระดับบนสุด มีรายได้ 81.02% ของรายได้จากภาคธุรกิจทั้งหมด ส่วนธุรกิจขนาดกลางซึ่งรวมกันเป็น 60% ของธุรกิจไทย มีรายได้เพียง 18.05% ของรายได้ภาคธุรกิจ ครั้นถึงพ.ศ.2551 ธุรกิจ 20% ข้างบนมีรายได้ถึง 86.28% ในขณะที่ระดับกลาง 60% มีรายได้ลดลงเหลือเพียง 13.19% เท่านั้น

นี่คือเหตุผลที่เจ้าของร้านโชว์ห่วยและผู้ส่งออกรองเท้าแตะไปยังรัสเซีย ได้มาสวมเสื้อเหลืองนั่งประท้วงร่วมกับพนักงานคอมพิวเตอร์และเซลส์ของบริษัทน้ำมัน

จ.อาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร แห่ง TDRI เช่นกัน ชี้ให้เห็นว่า นโยบายแทรกแซงราคาพืชผลการเกษตรของรัฐบาลทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นการพยุงราคา, การแบ่งโซนนมโรงเรียน, การอุดหนุนให้ขยายพื้นที่ผลิตสินค้าบางตัว เช่น ยาง, ฯลฯ ล้วนทำให้รัฐขาดทุนหลายหมื่นล้านบาทต่อปี เพราะเป็นนโยบายที่อาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า รัฐยอมซื้อแพงขายถูก แม้ว่าเกษตรกรจะได้รับผลดีจากนโยบายเหล่านี้อยู่บ้าง (แต่น้อยกว่าพ่อค้าและนักการเมือง) แต่ผู้บริโภคกลับต้องจ่ายในราคาแพงขึ้น (ไม่นับต้องเสียเงินภาษีไปโดยไม่คุ้ม)

นี่ก็เป็นเรื่องที่คนชั้นกลางระดับกลางซึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้าเกษตรอยู่ในเขตเมือง "โดนหยิก" โดยตรง

สืบเนื่องกับเรื่องนี้ ยังมีปัญหาที่น่าสนใจด้วยว่า ภายใต้รัฐบาลทักษิณ (โดยเฉพาะนับตั้งแต่ครึ่งหลังของสมัยแรกเป็นต้นมา) คนชั้นกลางระดับกลางในเมืองรู้สึกว่าตัวถูกเอาเปรียบหรือไม่?

ผมตอบไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตว่าคุณทักษิณ ชินวัตร ถูกโจมตีด้วยเรื่องที่น่าหวั่นไหวต่อคนชั้นกลางระดับกลาง เช่น การแทรกแซงสื่อ เพราะสื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของคนชั้นกลางระดับกลาง การแทรกแซงองค์กรอิสระก็เช่นเดียวกัน ราคาหุ้นของกลุ่มบริษัทคุณทักษิณซึ่งถีบตัวขึ้นสูงกว่าคนอื่นมาก กระทบความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นซึ่งมีความสำคัญแก่คนชั้นกลางระดับกลาง ในทางตรงกันข้าม นโยบายที่เรียกว่า "ประชานิยม" ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อคนชั้นกลางระดับกลางโดยตรงมากนัก ถึงแม้จะใช้บริการ 30 บาทมากพอสมควร แต่ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากกองทุนหมู่บ้าน, แปลงสินทรัพย์เป็นทุน, หรือธนาคารเอสเอ็มอี ฯลฯ มากนัก

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า เราไม่สามารถใช้เศรษฐกิจอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ได้ทั้งหมด อย่างไรเสียเราก็ต้องมองลงไปที่ความเป็นมนุษย์ของเขาด้วย และตรงนี้แหละครับที่ยากและเถียงกันได้มาก เพราะมนุษย์คืออะไรนั้นนิยามไม่ตรงกัน

มีเหตุในทางเศรษฐกิจหลายอย่างดังที่กล่าวแล้ว ซึ่งทำให้คนชั้นกลางระดับกลางรู้สึกเจ็บ เจ็บที่ต้องสูญเสียความมั่นคงในชีวิต ไม่เฉพาะแต่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจนะครับ แต่ต้องรวมถึงความมั่นคงที่คุ้นเคยกันมาด้วย (ซึ่งจะพูดถึงข้างหน้า) นอกจากนี้ ในท่ามกลางสถานภาพทางรายได้ของตัวที่ตนรู้สึกว่าตกต่ำลง สังคมไทยดูจะกลายเป็นสังคมฟูมฟายมากขึ้น (affluent society) จึงเท่ากับกีดกันตนให้ออกไปจากความฟู่ฟ่าหรูหราที่ดูจะไม่มีวันเข้าถึง

ทั้งหมดนี้คือ "ความเหลื่อมล้ำ" อย่างหนึ่ง แต่อธิบายด้วยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นที่จะต้องนำเอาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี้ เข้าไปให้ความหมายแก่ชีวิตของคนชั้นกลางระดับกลาง และผมขอเรียกอย่างกว้างๆ ว่าความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม

ความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรมนี่แหละ ที่ผมคิดว่าอธิบายพฤติกรรมทางการเมืองของเสื้อเหลืองได้ดีกว่าเศรษฐกิจ แม้ว่าเราจำเป็นต้องดำรงรักษาเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่กล่าวข้างต้นนั้นไว้ที่ข้างหลังหัวเราตลอดเวลาก็ตาม

000

 2

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมพยายามจะตอบคำถามว่า คนชั้นกลางระดับกลางออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในท้องถนนทำไม

นอกจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแล้ว ผมได้ทิ้งท้ายว่าที่สำคัญกว่านั้นคือ ความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม

ซึ่งผมขออนุญาตนำมาขยายความในสัปดาห์นี้

ก. ในสังคมฟูมฟาย สินค้าที่ "ดีกว่า" หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทีวีจอแอลซีดีซึ่งเพิ่งกัดฟันซื้อไปเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ยังผ่อนไม่ทันหมดดี ก็มีจอแอลอีดีเข้ามาวางขายในตลาด ว่ากันว่าชัดกว่า, สว่างกว่า และกินไฟน้อยกว่าเสียด้วย รถยนต์วีออสและซิตี้รุ่นใหม่นั้น สวยจับตากว่ารุ่นเก่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ซ้ำยังมี "ลูกเล่น" ต่างๆ เพิ่มเข้าไปอีก เห็นอยู่เต็มถนนเสียด้วย คิดไปเถิดครับ มีสินค้าใหม่ที่ล่อตาล่อใจปรากฏให้อยากได้ไม่เว้นแต่ละวัน เพราะชีวิตก็วนเวียนอยู่กับการครอบครองวัตถุ เป็นสัญลักษณ์แห่งตัวตนตลอดมา จะให้ไม่รู้สึกรู้สากับความเหลื่อมล้ำที่เห็นคาตาอยู่ได้อย่างไร

นักเศรษฐศาสตร์บางคนอธิบายว่า ตัณหาที่เผาผลาญมนุษย์อยู่นั้นมีประโยชน์ เพราะย่อมผลักดันให้ผู้ถูกเผาเร่งผลิตเพื่อหากำไรมาดับไฟตัณหาของตัว เศรษฐกิจโดยรวมย่อมเจริญขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากประยุกต์ใช้ทฤษฎีนี้กับคนแต่ละคน โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน จะให้ขยันไปอีกแค่ไหน เพราะดังที่ได้กล่าวแล้วว่า รายได้ของคนประเภทนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วเท่ากับผลกำไรจากทุน ฉะนั้นจึงได้แต่มองสินค้าใหม่ ตัวตนใหม่ และชีวิตใหม่ในตลาดอย่างเหนื่อยอ่อน เพราะรู้ว่าล้วนเป็นสิ่งที่ตนเข้าไม่ถึง

นี่คือเหตุผลที่คนจำนวนมากดึงเอา "เศรษฐกิจพอเพียง " มาเป็นคำตอบ ส่วนหนึ่งคงใช้เพื่อตอบตัณหาของตัวเอง แต่อีกมากทีเดียวใช้เพื่อตอบตัณหาของคนอื่น โดยเฉพาะของคนที่สามารถเข้าถึงสินค้าใหม่ที่ "ดีกว่า" เหล่านี้อย่างง่ายดาย พวกเขาน่าจะรู้จัก "พอเพียง" บ้าง แต่คนที่ไม่รู้จักพอเพียงก็นั่งอยู่ข้างๆ ตัวในการชุมนุมนั่นเอง พวกเขาจึงเห็นด้วยกับแกนนำว่า หัวโจกของคนที่ไม่รู้จักพอเพียงคือ นักการเมืองผู้ชั่วช้าซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งควรถืออำนาจได้ไม่เกิน 30%

นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไม่ต้องรู้จักความพอเพียง ก็เพราะรายได้ของเขามาจากการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง แม้คนชั้นกลางระดับกลางเคยชินกับการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง เพราะในชีวิตจริงก็จ่ายเงินให้ตำรวจจราจรเป็นปกติ แต่การฉ้อราษฎร์บังหลวงของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง สร้างความเจ็บปวดให้มากกว่า เพราะรายได้อันชอบธรรมของเขาก็มากเกินกว่าที่คนชั้นกลางระดับกลางจะสามารถหามาได้อยู่แล้ว ส่วนใหญ่ของเสื้อเหลืองอยู่ "ในระบบ" จึงเป็นผู้เสียภาษีทางตรง จึงยิ่งรู้สึกเจ็บกว่าความเป็นพลเมืองธรรมดา

ข. ความมั่นคงของชีวิตคนชั้นกลางระดับกลางในเมืองไทยนั้นลดลง ค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของลูกหลานแพงขึ้น, ค่ารักษาพยาบาลก็แพงขึ้น ไม่ว่าในโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน, การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบยากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

อย่างไรก็ตาม มีความโน้มเอียงในประเทศไทยที่เริ่มจะใช้หลักประกันสังคมบางส่วน (โดยคิดถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้น้อยเกินไป ฉะนั้น คนชั้นกลางระดับกลางจึงไม่ได้จ่ายภาษีเพิ่มขึ้น) เช่นรัฐธรรมนูญ 2540 ให้หลักประกันว่าเด็กทุกคนจะได้เรียนหนังสือถึง 12 ปี หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคของพรรค ทรท.

แต่เพราะไม่ได้คิดจากหลักการประกันสังคมจริง ในทางปฏิบัติจึงมุ่งไปสู่การหาเสียงและเน้นที่ "คนจน" มากกว่ากระจายให้แก่คนทุกชั้นอย่างทั่วถึง ความมั่นคงของชีวิตที่คนชั้นกลางระดับกลางได้รับจากรัฐจึงมีลักษณะสุกๆ ดิบๆ เช่นการเข้ารับบริการโครงการ 30 บาท ย่อมหมายถึงการได้รับการปฏิบัติเหมือนกับคนอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ "ต่ำ" กว่า เกิดความไม่แน่ใจใน "มาตรฐาน" ของการรักษาพยาบาล เช่นเดียวกับการเรียนฟรี 12 ปี (โดยปราศจากการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนให้ใกล้เคียงกัน) ทำให้บุตรหลานของคนชั้นกลางระดับกลาง ต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้น ซ้ำชั้นเรียนของบุตรหลานยังเคล้าคละปะปนระหว่างคนต่างสถานภาพมากขึ้นด้วย (สถาบันการศึกษาของไทยจะทำหน้าที่กรองคนใน "ชั้น" ต่างๆ ขึ้นไปตามลำดับ ยิ่งเรียนสูง เพื่อนร่วมชั้นก็จะอยู่ในสถานภาพที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น) คนชั้นกลางระดับกลางส่วนหนึ่ง นำบุตรหลานหนีจากระบบเข้าสู่โรงเรียนราษฎร์ หรือโปรแกรมพิเศษของโรงเรียนหลวง แต่คนชั้นกลางระดับกลางจำนวนมาก ไม่มีสมรรถนะที่จะทำอย่างนั้นได้ จึงได้แต่วิตกห่วงใยต่ออนาคตทางการศึกษาของบุตรหลาน

ขึ้นชื่อว่าคนชั้นกลาง เส้นทางของการไต่เต้าทางสังคมที่ใหญ่สุดคือ การศึกษา แต่ความมั่นคงทางการศึกษาที่รัฐจัดให้กลับทำให้เส้นทางนี้แคบลงแก่คนชั้นกลางระดับกลาง

ค. แม้ว่าความเสมอภาคเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่คนชั้นกลางระดับกลางพูดถึงมานาน แต่ในชีวิตจริงของคนชั้นกลางระดับกลางไทย ความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่เห็นได้ถนัด เมื่อมองขึ้นไปข้างบน ความเสมอภาคที่เรียกร้องจึงเป็นความเสมอภาคที่อยากเท่าเทียมกับคนชั้นกลางระดับเจ้าสัวและคุณหญิงคุณนาย แต่ความเสมอภาคที่รัฐนำมาให้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เป็นความเสมอภาคที่ป้อนให้แก่คนชั้นกลางระดับล่าง มีคนแปลกหน้าที่เผยอหน้าขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งดูเหมือนคุกคามความมั่นคงในชีวิตมากยิ่งกว่าเจ้าสัวและคุณหญิงคุณนายเสียอีก

ดังนั้น หลักการความเสมอภาคจึงรับไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งแปลกปลอมใน "ความเป็นไทย" ไม่น่าอับอายอย่างไรที่จะปฏิเสธความเสมอภาคอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย สิ่งที่เรียกร้องกันอย่างอึงมี่คือ "ระเบียบ" ในระยะแรกต่อต้านความไร้ "ระเบียบ" ซึ่งรัฐบาลอันเขาคุมไม่ได้นำมา และในระยะหลังต่อต้านความไร้ "ระเบียบ" ที่การชุมนุมของเสื้อแดงนำมา "ระเบียบ" ที่คนชั้นกลางระดับกลางเรียกร้องหา คือลำดับแห่งช่วงชั้นทางสังคมนั่นเอง นี่คือเหตุผลที่ยินดีจะผูกพันการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะสถาบันนี้ถูกคนชั้นกลางระดับกลางยึดถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสังคมที่มีช่วงชั้น

และนี่คือเหตุผลที่หลงใหลได้ปลื้มกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นักเรียนออกซ์ฟอร์ด ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ใช้ภาษาทั้งไทยและอังกฤษได้อย่างสละสลวย (eloquent), มีกำเนิดในตระกูล "ผู้ดี" และมีชีวิตส่วนตัวที่ไม่มีที่ติในระบบค่านิยมของคนชั้นกลางระดับกลางแต่อย่างใด นับเป็นหมุดหมายสำคัญของความมั่นคงของ "ระเบียบ" ในฐานะนายกรัฐมนตรี ตามสถานภาพช่วงชั้นทางสังคมในอุดมคติควรกำหนดให้เป็นไป

ง. ส่วนที่ใหญ่ไม่น้อยในความมั่นคงของชีวิตคนไทยมาจากเครือญาติ และเครือข่ายความสัมพันธ์ ทั้งสองอย่างนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในชีวิตของคนชั้นกลางระดับกลาง เพราะมีญาติและเพราะมีเพื่อนจึงทำให้มี "เส้น" แต่ "เส้น" ของญาติและของเพื่อนกำลังอ่อนแรงลง ทั้งเพราะไม่สามารถผูกความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นเหมือนเดิม และทั้งเพราะ "เส้น" จะทำงานได้ผลก็ต้องเสียเงิน "ซื้อ" มากขึ้น "เส้น" กำลังเปลี่ยนไปเป็น "ซื้อ" ใน"ชีวิตของเขา ในขณะที่กำลังจะ "ซื้อ" ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นให้ทันกับการสูญเสีย "เส้น" ชีวิตจึงอึดอัดขัดข้องมากขึ้นเพราะขาดความมั่นคงในชีวิต

ที่ถูกโจมตีว่า "ม็อบมีเส้น" นั่นแหละที่สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังโหยหา ก็เพราะ "มีเส้น" นั่นล่ะสิ การชุมนุมจึงสะท้อนอุดมคติที่หลุดลอยไปแล้วได้อย่างดีที่สุด ที่ชุมนุมกลายเป็นความอบอุ่น, ความมั่นคงปลอดภัย อย่างที่หาไม่ได้ในชีวิตจริง

จ. ผมมีเพื่อนรุ่นพี่ที่ผมนับถือท่านหนึ่ง ซึ่งขยันไปสังเกตการณ์การชุมนุมของเสื้อเหลืองเกือบทุกวัน ท่านเล่าให้ผมฟังว่า คนที่มาร่วมชุมนุมจับกลุ่มคุยกันเป็นกลุ่มๆ ตัวท่านเองก็เข้าร่วมวงสนทนากับกลุ่มโน้นกลุ่มนี้อยู่เป็นประจำ ท่านพบว่าประเด็นของการสนทนาก็คือ ความโหยหา (nostalgia) ต่ออดีตที่ไม่มีวันหวนกลับมาแล้ว โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งเมื่อสรุปรวมแล้ว ก็คือความสัมพันธ์ที่มีที่ต่ำที่สูง หรือสังคมที่มีช่วงชั้น ฉะนั้นปัญหาของพวกเขาจึงเป็นปัญหาเช่นลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่, ศิษย์ไม่เชื่อฟังครูบาอาจารย์, เงินเป็นใหญ่กว่าความสูงของสถานภาพ รวยเสียอย่างทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด แม้แต่ทุจริตคดโกงมาก็ไม่น่าอับอายแต่อย่างใด, ความโลภโมห์โทสันระบาดลงไปถึงชาวบ้านระดับล่าง จึงขายเสียงหรือสมัครเป็นบริวารของเจ้าพ่อผู้ทุจริตอื้อฉาว ฯลฯ

ทั้งหมดเหล่านี้สรุปรวมลงเป็นความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม วิธีแก้ไขมิให้สังคมตกต่ำไปกว่านี้ จึงไม่มีทางเดียวได้แก่สนับสนุนให้คนดีมีศีลธรรมได้เป็นใหญ่ และป้องกันมิให้คนเลวไร้ศีลธรรมเข้าสู่อำนาจ หากทำได้ก็จะฟื้นเอาสังคมที่มี "ระเบียบ" อย่างเก่ากลับคืนมาได้ นั่นคือกลับคืนสู่สังคมที่มีที่ต่ำที่สูง คนมีศีลธรรมซึ่งเป็นคนสูงก็จะกำกับควบคุมให้บ้านเมืองมีความสงบสุขเจริญรุ่งเรืองโดยอัตโนมัติ

จารีตนิยมกลายเป็นปราการสำหรับปกป้องตนเองจากความเปลี่ยนแปลงที่ตั้งรับไม่ทัน

ฉ. อย่างไรเสีย เราก็หลีกหนีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคมไปไม่พ้น แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นความเปลี่ยนแปลงที่คนชั้นกลางระดับกลางไม่พึงพอใจ (ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว) คนที่พยายามเสนอตัวเองเป็นหัวหอกของความเปลี่ยนแปลง คือคุณทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นทางเทคโนโลยี, การบริหาร, ไปจนถึงการจัดการรัฐกิจแบบซีอีโอ

อีกทั้งเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ที่ไม่เหลียวมองคนชั้นกลางระดับกลางสักเท่าไรด้วย ขอยกตัวอย่างจากนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน คุณทักษิณอ้างว่าแม้สามารถสร้างเถ้าแก่น้อยได้เพียง 10% ของประชาชนทั้งหมด ก็ถือว่าน่าพอใจแล้ว

เถ้าแก่น้อยจะเกี่ยวข้องกับคนชั้นกลางระดับกลางอย่างไร ไม่ค่อยชัดนัก จะให้ขายบ้านขายรถเพื่อไปลงทุนทำธุรกิจแทนการรับเงินเดือน หากไม่ได้อยู่ใน 10% ที่ประสบความสำเร็จ จะมีโอกาสกลับเข้าสู่งานรับเงินเดือนได้อีกหรือไม่

จึงไม่แปลกอะไรที่คุณทักษิณจะเป็นเป้าโจมตีสำคัญของกลุ่มคนเสื้อเหลือง (แกนนำจะมีวาระซ่อนเร้นอะไรไม่เกี่ยว) แต่ชื่อนี้ชื่อเดียวเท่านั้น ก็เพียงพอแล้วสำหรับใช้แทนความเปลี่ยนแปลงอันน่ารังเกียจทั้งหมดที่ถาโถมเข้าใส่ชีวิตของคนชั้นกลางระดับกลาง ทักษิณจึงควรออกไป และไม่กลับมาอีกตลอดชั่วฟ้าดินสลาย

หลังจากพยายามหาคำตอบว่าคนชั้นกลางระดับกลางออกมาทำไมแล้ว ผมก็นึกถามตัวเองว่า สภาพหวนกลับไปสู่อดีตเพื่อหลบหนีอนาคตเช่นนี้จะอยู่กับคนชั้นกลางระดับกลางไปตลอดหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ เพราะความเปลี่ยนแปลงที่มาจากข้างนอกสังคมไทยแรงเกินกว่าใครจะไปหยุดยั้งมันได้ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีทักษิณ ในที่สุดพวกเขาก็ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงแบบไม่หลบหนีจนได้ การศึกษาที่สูงของพวกเขาจะให้ความสามารถที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงได้หลายรูปแบบ และในที่สุดกลุ่มหนึ่งก็จะต้อนรับความเปลี่ยนแปลงนั้น แล้วก็ขยายไปยังคนกลุ่มอื่นๆ ในหมู่คนชั้นกลางระดับกลางมากขึ้น

แม้แต่อดีตที่เขาโหยหาอยู่ในเวลานี้ ก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์เสียทีเดียว อย่างน้อยก็ช่วยประคองจังหวะก้าวให้เป็นไปอย่างมีรากมีฐานได้ดีขึ้น ถึงจะต้องละทิ้งคุณค่าเก่าๆ ที่เป็นไปไม่ได้แล้วลงไปในที่สุด ก็รู้ว่าต้องทิ้งทำไม

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากย้ำก็คือ ทั้งคนชั้นกลางระดับล่างและคนชั้นกลางระดับกลาง เป็นพลังยิ่งใหญ่ในสังคมไทยปัจจุบัน แต่เนื่องจากระบบการเมือง, ระบบปกครอง, ระบบสังคมและวัฒนธรรม ทำให้ขาดการจัดองค์กรที่ดี ทั้งๆ ที่พลังนั้นพยายามจะเบ่งตัวเองออกมามีบทบาทในสังคม

ดังนั้น จึงง่ายที่คนชั้นกลางทั้งสองกลุ่มนี้จะตกเป็นเหยื่อทางการเมือง ของคนที่จัดองค์กรเพื่อประโยชน์ทางการเมืองส่วนตนและเฉพาะหน้า

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

หมายเหตุ: บทความนี้ถูกนำเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน 2 ตอน ห่างกันหนึ่งสัปดาห์ โดยตอนแรกตีพิมพ์ในฉบับวันที่ 6 ก.ค.2553

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น