โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

แฉรัฐฯ ใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไล่บี้ปิด-ขึ้นบัญชีดำ “วิทยุชุมชน” กว่าร้อยสถานี

Posted: 14 Jul 2010 01:46 PM PDT

คปส.เผยนักจัดรายการถูกดำเนินคดีถึง 35 ราย วิทยุชุมชนเจอส่งทหารหลายร้อยเข้ายึดสถานีเหตุวิจารณ์การเมือง ด้านวิทยุชุมชนยังย้ำ “การชุมนุมทางการเมือง” เป็น “สิทธิ” ของประชาชน “หมอนิรันดร์” ชี้ธุรกิจการเมือง-เกมส์ชิงอำนาจ-เผด็จการภายใต้กฎหมายและนโยบาย อุปสรรค์ของวิทยุชุมชน

<!--break-->

 
วันนี้ (14 ก.ค.53) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ร่วมกับศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม จัดสัมมนา “การปิดสถานีวิทยุชุมชนภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ณ ศศนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
 
คปส.เปิดข้อมูลรัฐใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไล่บี้ปิด-ขึ้นบัญชีดำ “วิทยุชุมชน” กว่าร้อยสถานี
 
นายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) แถลงผลการศึกษา กรณีการจับกุมดำเนินคดีและสั่งปิดสถานีวิทยุชุมชนภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จัดทำโดยโครงการเฝ้าระวังการแทรกแซงวิทยุชุมชน (Community Radio Watch) โดยการสนับสนุนของมูลนิธิไฮริค เบิร์ล ซึ่งทำการศึกษาตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน - 7 กรกฎาคม 2553 ว่า จากจำนวนวิทยุชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และได้รับสิทธิทดลองออกอากาศกว่า 6,625 แห่งทั่วประเทศ และอีกกว่า 1,000 แห่งที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการออกใบอนุญาต ในช่วงสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมามีสถานีวิทยุชุมชนที่ถูกปิด ภายใต้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) จำนวน 26 แห่ง ในพื้นที่ 9 จังหวัด ยุติการออกอากาศ 6 แห่ง
 
นอกจากนั้น ยังปรากฏรายชื่อในข่ายว่ากระทำความผิด (ขึ้นบัญชีดำ) 84 แห่ง ในพื้นที่ 12 จังหวัด และมีหัวหน้าสถานี กรรมการ และผู้จัดรายการถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดีทั้งหมด 35 ราย โดยรูปแบบการเข้าไปปิดสถานีวิทยุในส่วนกลางจะเริ่มจากการออกหนังสือเตือนจากอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ โดยแนบคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) 3 ครั้ง ขณะเดียวกัน รัฐบาล และ ศอฉ.จะเรียกแกนนำเครือข่ายวิทยุชุมชนและสถานีวิทยุชุมชนเข้าฟังสถานการณ์ โดยย้ำว่าการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองต่อต้านรัฐบาลจะมีผลกับการออกใบอนุญาต ทั้งยังให้เผยแพร่เนื้อหาของรัฐบาล 3 ครั้ง 
 
ส่วนวิธีการเข้าไปควบคุมแทรกแซงสถานีวิทยุชุมชนในระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเรียกผู้จัดการรายการสถานีวิทยุไปเซ็นสัญญาที่ทางจังหวัดจัดร่างขึ้นฝ่ายเดียวว่าจะไม่มีการเชื่อมสัญญาณใดๆ เข้ากับระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่เพียงเรื่องของการเมืองเท่านั้น หากรวมไปถึงข่าวด้านอื่นๆ ด้วย และให้ถ่ายทอดสัญญาณจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย อีกทั้งให้เข้าร่วมเวทีชี้แจงการปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
 
นายสุเทพกล่าวว่า การเก็บข้อมูลครั้งนี้มุ่งไปที่มิติทางการเมืองเป็นสำคัญ ซึ่งในสถานการณ์ความขัดแย่งที่ผ่านมาวิทยุชุมชนตกอยู่ในฐานช่องทางโฆษณาชวนเชื่อเพื่อตอบสนองอุดมการณ์ทางการเมืองของทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะสีใดสีหนึ่ง และบรรยากาศดังกล่าวสร้างความหวาดกลัวในการนำเสนอข่าวสารที่อาจถูกจัดวางในฝั่งใดฝั่งหนึ่งของคู่ความขัดแย้ง เพราะตอนนี้วิทยุชุมชนยังไม่มีใบอนุญาตแม้แต่สถานีเดียว ทั้งนี้ ต้องตั้งคำถามว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าประชาชนปฏิเสธเรื่องราวเหล่านี้
 
“จากการเข้าไปแทรกแซงสถานีวิทยุและคำสั่งห้ามวิจารณ์การเมือง ทำให้สถานีวิทยุหลายแห่งต้องยุติการออกอากาศ รวมไปถึงการแขวนป้ายหน้าสถานีไม่วิพากษ์วิจารณ์การเมือง เพื่อจะได้ไม่มีปัญหา” นายสุเทพกล่าว
 
นายสุเทพระบุด้วยว่า การเข้าปิดสถานีมีการนำกำลังทหารจำนวนตั้งแต่ 50-500 นาย เข้าดำเนินการเข้าไปยึดเครื่องส่งสัญญาณ สายส่ง อุปกรณ์การจัดรายการ ไมโครโฟน เทป รื้อถอนเสาอากาศ บางรายมีการยึดเครื่องปรับอากาศ และมอเตอร์ไซค์ด้วย หลายสถานีมีการใช้กำลังเข้าไปข่มขู่ อีกทั้งพบว่ามีวิทยุชุมชนประมาณ 5-7 ที่สถานีมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือ โดยอาวุธที่ใช้มีทั้งปืนเอ็มสิบหก ปืนกล กระบอง โล่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นละเมิดสิทธิเสรีภาพ
 
“สิ่งที่พบจากการสั่งปิดสถานีตามอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ ขาดหลักเกณฑ์การพิจารณาความผิดด้านเนื้อหาที่ชัดเจน มีเพียงกรอบกว้างๆ ที่กำหนดว่าเกินขีดความมั่นคง การเข้าปิดสถานีไม่มีขั้นตอน ไม่คำนึงถึงสิทธิการสื่อสารของประชาชน ปฏิบัติการรุนแรงต่อทรัพย์สินของวิทยุชุมชน และละเมิดสิทธิด้านอื่น ทั้งๆ ที่เนื้อหาที่ออกอากาศไม่พบความผิดชัดเจน” นายสุเทพกล่าว 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามเอกสารที่เผยแพร่ประกอบการประชุม ในส่วนความคิดเห็นของผู้ฟังและผู้ดำเนินรายการวิทยุชุมชนมีการตั้งคำถามถึงการปิดทั้งสถานี ทำไมไม่ปิดเป็นรายการหากมีความผิดจริง เพราะยังมีรายการอื่นๆ ในแต่ละสถานีไม่ได้พูดแต่เรื่องการเมืองอย่างเดียว และแต่ละครั้งที่เข้าปิดสถานนีวิทยุไม่มีขั้นตอนที่เปิดเผยสู่สาธารณะ อีกทั้งระบุว่าดำเนินการของเจ้าหน้าที่ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สิน และอาคารสถานที่ด้วย
 
 
วิทยุชุมชนยังย้ำ “การชุมนุมทางการเมือง” เป็น “สิทธิ” ของประชาชน
 
ด้านวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ แสดงความเห็นในการสัมมนาโต๊ะกลม “ชะตากรรมวิทยุชุมชนภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับกระแสการปฏิรูปสื่อ” ว่า การที่ในปัจจุบันวิทยุชุมชนมีจำนวนมากถึงกว่า กว่า 7,000 แห่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของการเข้าถึงประชาชน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประชาชนถูกปิดกั้นการสื่อสารมายาวนาน เมื่อลุกขึ้นมาทำสื่อชุมชนจึงมีการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ด้วยถ่อยคำภาษาในแบบชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่องการเมือง แต่คนส่วนหนึ่งยังติดเรื่องท่าทีและตัดสินวิทยุชุมชนเร็วเกินไปว่าไม่ควรทำสื่อ อีกทั้งในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาพบว่าสถานีวิทยุชุมชนหลายสถานีโดนปิด ขณะที่อีกหลายแห่งเซ็นเซอร์ตัวเองเรื่องการเมือง 
 
วิชาญ ยกตัวอย่างกรณีวิทยุชุมชนแปลงยาว อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาออกอากาศข้อมูลไม่เหมาะสม แต่เมื่อนำกำลังกว่า 200 นายไปลงพื้นที่ พบว่าไม่มีสิ่งที่ระบุถึงความผิด จึงเข้าจับกุมโดยยัดข้อหาครอบครองเครื่องส่งฯ ผิดกฎหมาย ให้ปิดสถานีและยึดเครื่องส่งฯ ซึ่งความจริงข้อหาดังกล่าวสามารถนำไปใช้กับวิทยุชุมชนทั่วไปที่ออกอากาศอยู่ในปัจจุบันได้ เพราะต่างก็ยังไม่มีการรับรองตามกฎหมาย  
 
ในกรณีวิทยุชุมชนกับการเมือง วิชาญแสดงความเห็นว่า การชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิของประชาชน แต่ปัจจุบันหากใช้วิทยุชุมชนเป็นเรื่องเชิญชวนให้คนไปชุมนุมก็ถูกบอกว่าวิทยุชุมชนกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง เมื่อไปวิจารณ์ทางการเมืองก็ถูกชะลอสิทธิ์ ทั้งนี้ จะทำอย่างไรให้สื่อชุมุชนสามารถพูดและวิจารณ์ทางการเมืองได้ โดยไม่ถูกจับ จนทำให้สื่อชุมชนต้องเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างที่เป็นอยู่ ไม่เช่นนั้นสื่อชุมชนกว่า 7,000 แห่งจะมีไว้เพื่ออะไร 
 
ส่วนเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย ออกตัวว่าเป็นนักจัดรายการท้องถิ่น ซึ่งเดิมเป็นกลุ่มที่ซื้อเวลาจากวิทยุคลื่นหลักซึ่งได้รับสัมปทานจากหน่วยงานรัฐ จนเมื่อราวปี 2547 กรมประชาสัมพันธ์เปิดให้วิทยุชุมชนมีการโฆษณาได้ ทั้งที่วิทยุท้องถิ่นที่ทำอยู่ซื้อเวลาด้วยเงินหลักแสน อีกทั้งยอมรับว่ามีการเสนอขายเครื่องส่งฯ จากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเอง จึงได้เข้ามาทำวิทยุชุมชน จนทำให้เกิดความสับสนระหว่างทางกลุ่มกับวิทยุชุมชนตามหลักการเดิม อย่างไรก็ตาม จากเป้าหมายของการปฏิรูปคืนคลื่นความถี่จากหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดสรรใหม่ ทางกลุ่มซึ่งอยู่ในส่วนวิทยุธุรกิจขนาดเล็กก็เฝ้ารอพื้นที่ตรงนี้เช่นเดียวกัน โดยพยายามเข้ามาเกาะเกี่ยวในขบวนของการปฏิรูปสื่อ เพื่อขอที่ยืนให้กับวิทยุท้องถิ่นด้วย 
 
ต่อกรณี ศอฉ.ขึ้นบัญชีดำวิทยุชุมชน ในข้อหาถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เจริญยกตัวอย่างกรณีที่มีประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากหน่วยงานรัฐ แต่หากประกาศผ่านวิทยุกลับถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งในเรื่องนี้ควรประกาศแยกให้ชัดไม่เช่นนั้นจะทำให้วิทยุโดยทั่วไปถูกขึ้นบัญชีทั้งที่ไม่ได้มีการแสดงออกทางการเมืองในฝักฝ่ายใด
 
“อยากให้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน และแบ่งเครื่องมือทางการเมืองกับการเรียกร้องจากผลกระทบทางนโยบายให้ชัดเจน” เจริญกล่าวถึงข้อเสนอ
 
 
ชี้ธุรกิจการเมือง-เกมส์ชิงอำนาจ-เผด็จการภายใต้กฎหมายและนโยบาย อุปสรรค์ของวิทยุชุมชน
 
นพ.นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าจากประสบการณ์ของวิทยุชุมชนที่ผ่านการทุบและทำลายโดยระบบทุนและการเมือง ทำให้มองเห็นปัญหาของระบอบประชาธิปไตยเสรีที่ไร้ขอบเขตที่ทำให้เกิดการยึดและผูกขาดสื่อ ถึงวันนี้ที่เผชิญการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อโดยอำนาจเผด็จการที่แฝงมากับกฎหมายและนโยบาย ถือเป็นช่วงเวลาที่จะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสที่จะสังคายนาปัญหาจากทุน ธุรกิจการเมืองและอำนาจเผด็จการที่มาทำร้ายเรา
 
นพ.นิรันดร์ แสดงความเห็นต่อมาว่า วิทยุชุมชนภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่ารัฐธรรมนูญ กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เปิดให้รัฐบาลใช้อำนาจแบบเหมาโหล ครอบจักรวาล แต่ระบุไว้ว่าต้องใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน คับขันที่บ่งชี้ถึงภาวการณ์สงคราม โดยชี้จำกัดพื้นที่ เวลา และการกระทำด้วย เหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องความชอบธรรมของการที่จะอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการที่จะมาละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อ โดยเฉพาะของวิทยุชุมชน ที่ตามมาตรา 45-46 ของรัฐธรรมนูญได้ระบุรับรองสิทธิเสรีภาพเอาไว้ ต้องยืนหลักให้ชัดเจน และเมื่อสถานการเข้าสภาวะสู่ปกติ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควรยกเลิก
 
“เราต้องออกมาส่งเสียงและแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่ากฎหมายใดก็ตามไม่ควรอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นแล้วก็เท่ากับว่ารัฐบาลก็ต้องยอมรับว่าขณะนี้ได้ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้ว ก็จะสามารถยึดอำนาจในการที่จะใช้กฎหมายของอำนาจในการปฏิวัติรัฐประหารได้ แม้จะเป็นรัฐประหารเงียบก็ตาม” นพ.นิรันดร์กล่าว
 
ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายแบบครอบจักรวาล นพ.นิรันดร์ กล่าวถึงการเดินทางไปลงพื้นที่คุมขังผู้ต้องหาในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน พบการใช้กฎหมายไปละเมิดและทำร้ายคนโดยไม่สมควร ยกตัวอย่างกรณีวิทยุชุมชนที่ถูกปิดโดยไม่มีข้อหา ซึ่งหากมองเรื่องเนื้อหา ควรระบุว่าเป็นรายการอะไร ใครเป็นคนทำ และมีข้อความอะไรที่ผ่าฝืนเรื่องการกระจายเสียง ไม่ควรเหมารวมแล้วปิดทั้งสถานีซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และใช้กฎหมายในการปราบปรามและทำลายสิทธิของสื่อสารมวลชน ทั้งนี้ ในส่วนพฤติกรรมที่ส่อความรุนแรงหรือละเมิดสิทธิ เป็นอนาธิปไตย หรือกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล สามารถใช้กฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ไปดำเนินการได้ 
 
อย่างไรก็ตาม การละเมิดสิทธิฯ เกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะง่ายในการจัดการซึ่งส่งผลให้รัฐเสพติดในการใช้อำนาจ และรัฐเองมีแนวโน้มการใช้อำนาจที่เกินเลยอยู่แล้ว จึงต้องมีคนตรวจสอบ และสังคมไม่ควรนิ่งเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ร่วมถึงคนที่ทำงานในส่วนภาคประชาชนเองควรลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้อง
 
นพ.นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการปิดสถานีวิทยุชุมชนเป็นการทำลายนโยบายในการปรองดอง และกระแสในเรื่องการปฏิรูป รวมทั้งการปฏิรูปสื่อด้วย เพราะการปฏิรูปสื่อต้องเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่พิเศษ ภายใต้สถานการณ์ที่สังคมมีความขัดแย้ง แตกต่าง และมีความแตกแยกในความคิดทางการเมือง เพราะฉะนั้นการปิดสถานีวิทยุชุมชนภายใต้สิ่งที่ครอบจักรวาล และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จนี้มันทำลายจิตสำนึกร่วมในการมาปฏิรูปประเทศไทย เพราะทำให้เห็นลักษณะของความเป็นฝักฝ่ายและการแบ่งแยกมากขึ้น คนที่มีความคิดต่างทางการเมือง และพยายามแสดงออกทางความคิดแต่กลับถูกข้อหาและถูกปิดสถานี จุดนี้จะทำให้เกิดแนวร่วมมุมกลับที่ทำให้คนต่อต้านรัฐมากขึ้น
 
นพ.นิรันดร์ กล่าวต่อมาถึงอุปสรรค์ 3 ด้านของวิทยุชุมชน ที่ต้องทำให้เกิดรูปธรรมในการจัดการ คือ 1.ทำอย่างไรจึงจะหลุดพ้นจากกรอบและอำนาจที่เข้ามาผูกขาดของระบบธุรกิจการเมือง 2.ทำอย่างไรที่จะทำให้สื่อวิทยุชุมชนหลุดพ้นเกมส์แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ของกลุ่มการเมือง และ 3.เรากำลังเผชิญกับอำนาจเผด็จการภายใต้กฎหมายและนโยบายที่สร้างความชอบธรรมว่าเป็นกฎหมายที่จะต่อต้านการก่อการร้าย ส่วนตัวยืนยันว่าไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะละเมิดสื่อของภาคประชาชน
 
 
แนะ “ปฏิรูปสื่อ” ต้องแก้ 4 ฝ่าย ทั้งกฎหมาย รัฐ สื่อ และผู้รับสื่อ
 
สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการปฏิรูปสื่อว่า มี 2 มิติ คือในมิติโครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อที่จะกระจายสู่ชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาในส่วนของรัฐได้ออกกฎหมายจำนวนมากเพื่อมารองรับในส่วนนี้ แต่อีกด้านที่ถูกละเลย คือมิติการประกันสิทธิเสรีภาพสื่อ ซึ่งในส่วนวิทยุชุมชน แม้เป็นสื่อที่มีมานานแต่ถือเป็นสื่อใหม่ในแง่การเปิดให้ประชาชนเข้ามาเป็นเจ้าของ 
 
ต่อปัญหาการปิดกันสื่อ สาวตรี กล่าวถึงปัจจัยแรกในเรื่องกฎหมาย โดยกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องความมั่นคงซึ่งควบคุมสื่อมีมากทั้งในสภาวะสังคมปกติและไม่ปกติ กฎหมายสื่อของไทยเกือบทุกฉบับมีบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมเนื้อหาสื่อทั้งสิ้น แต่ตัวอย่างในเยอรมัน มีกฎหมายควบคุมสื่อแต่คุมในเรื่องแหล่งทุน การนำเสนอที่หลากหลาย และจริยธรรมสื่อ แต่ไม่คุมเรื่องเนื้อหา การควบคุมเนื้อหาจะระบุอยู่ในกฎหมายอาญาอื่นๆ อย่างชัดเจน ส่วนเนื้อหาที่ห้ามเผยแพร่ ยกตัวอย่างเช่น การอนาจารเด็ก การหมิ่นประมาทตามที่ข้อกฎหมายบัญญัติ และการพนันที่ผิดกฎหมาย ไม่มีกฎหมายประเทศไหนที่ระบุถึงเนื้อหาที่ขัดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งความมั่นคงเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามถึงความไม่มั่นคนในหมู่ประชาชน เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้หรือไม่ได้
 
สาวตรี กล่าวด้วยว่ากฎหมายในสถานการณ์ไม่ปกติ ควรคงให้มีการให้ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิงเมื่อมีปัญหา สังคม การเมือง ทั้งนี้ ในมาตรา 9 (3) พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีเงื่อนไขในการปิดกั้นสื่ออยู่ โดยระบุว่า “ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร” ซึ่งหากใครก็ตามที่จะปิดกันสื่อต้องอธิบายได้ว่าเนื้อหาตรงไหนผิดตามเงื่อนไขข้อกฎหมาย แต่สิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบันสื่อถูกปิดทั้งหมด จึงถือเป็นปัญหาของการบังคับใช้กฎหมาย 
 
สาวตรี กล่าวต่อมาว่า ปัญหาผู้บังคับใช้กฎหมายคือฝ่ายรัฐ “ไม่ชัดเจน อธิบายไม่ได้” และ “ใช้อำนาจแล้วไม่มีใครตรวจสอบการใช้อำนาจของเขา” ทั้งนี้ที่ผ่านมามีตัวอย่างของสื่อเว็บไซต์ที่ฟ้อง ศอฉ.ใช้อำนาจปิดเว็บไซต์โดยขัดต่อกฎหมาย ซึ่งศาลตัดสินโดยระบุว่าไม่มีอำนาจเพราะกฎหมายได้ให้อำนาจรัฐในการใช้อำนาจตรงนี้แล้ว ทั้งนี้ แม้มีการให้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่กฎหมายมีการให้อำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจเสมอไม่ว่าสถานการณ์ปกติหรือผิดปกติ นอกจากนี้ สาวตรี ยังกล่าวถึงการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามสัดส่วน ซึ่งเป็นปัญหาอีกข้อหนึ่งของการใช้อำนาจของรัฐ
 
อย่างไรก็ตามสื่อเองก็มีปัญหา เช่น สื่อที่บอกว่าตัวเองเป็นกลางแต่แอบเลือกข้าง ในส่วนสื่อที่เลือกข้าง คนสามารถเลือกบริโภคได้ ปัญหาสื่อบิดเบือน และปัญหาการแทรกแซงสื่อ ซึ่งสื่อที่ถูกแทรกแซงไม่มีความเข้มแข็งในการรวมตัวเพื่อต่อสู่กับอำนาจที่แทรกแซงเพราะการสงวนท่าที ทำให้สื่อที่โดนเล่นงานต้องสู้เพียงลำพัง ทั้งนี้ในการรวมตัวหรือร่วมผลักดันกฎหมายต่างๆ ที่กำลังจะมีขึ้นต่อไป สาวตรี แนะว่าอย่าแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง และอย่าใช้ระบบต่างตอบแทน เพราะผลคือจะทำให้เกิดการสอดไส้ข้อกฎหมายบางอย่างที่ไม่พึงประสงค์ 
 
สาวตรี กล่าวด้วยว่าคนรับสื่อก็เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญในการปิดกันสื่อ ทั้งนี้ คนรับสื่อเองควรรับสื่อทุกด้านเพื่อชั่งน้ำหนัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคนรับสื่อทนทานต่อการรับฟังความเห็นต่างน้อยมาก ไม่พร้อมเปิดรับ เนื่องจากเติบโตมาในสังคมที่มีการปิดกันและการเซ็นต์เซอร์ของรัฐ อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปสื่อจำเป็นที่จะต้องแก้ทั้ง 4 ฝ่าย คือ กฎหมาย รัฐ สื่อ และผู้รับสื่อ การปฏิรูปจึงจะมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลจริง
 
 
“ความมั่นคง” อยู่เหนือ “สิทธิเสรีภาพ” ปัญหาทางวัฒนธรรมคู่สังคมไทย แม้ไม่มีกฎหมายความมั่นคง
 
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม ม.มหิดล แสดงความเห็นต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า จะยังคงอยู่กับสังคมไทยอีกนาน เนื่องจากเป็นการให้อำนาจคนหนุนรัฐบาลอย่างกว้างขวาง ตรวจสอบไม่ได้ และไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังได้ ซึ่งการมีอำนาจเช่นนี้ในมือทำให้การยกเลิกเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจว่าสังคมจะอยู่ในสภาพอย่างนี้ไปอีกนาน จากตัวอย่างเช่นในฟิลิปปินส์ ที่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มากอส ปกครองประเทศภายใต้กฎหมายความมั่นคง ทำให้เขาสามารถมีอำนาจอยู่ในตำแหน่งยาวนานหลายสิบปี 
 
ศิโรตม์ กล่าวด้วยว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปิดวิทยุชุมชน ถือเป็นการการละเมิดและจำกัดสิทธิ โดยที่กฎหมายเปิดช่องให้จากการใช้อำนาจตามหน้าที่โดยไม่มีความผิด เปิดให้วินิจฉัยอย่างกว้างขวาง และไม่มีการตรวจสอบการใช้อำนาจ หรือให้ตรวจสอบโดยบุคคลกลุ่มเดียวกันเอง อีกทั้งไม่มีมาตรการลงโทษย้อนหลัง สุดท้ายกฎหมายจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ชอบธรรมในตัวมันเอง เพราะถูกจัดทำขึ้นโดยบุคคลเพียงบางกลุ่ม และเป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิได้มาก 
 
ศิโรตม์ กล่าวต่อมาถึงมุมมองของรัฐต่อประชาชนที่สะท้อนผ่านการดำเนินการของรัฐต่อวิทยุชุมชนว่า รัฐมีแนวโน้มมองชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของส่วนกลาง คือต้องอยูภายใต้การจำกัดของรัฐ ซึ่งครอบคลุมไปถึงเรื่องสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ โดยรัฐมองชุมชนว่าควรพัฒนาโดยเอารายได้เข้าสู่ส่วนกลาง ดังนั้นวิทยุชุมชนก็เช่นเดียวกัน จะต้องทำตามมาตรฐานที่รัฐกำหนด โดยที่รัฐไม่ได้มองว่าสิทธิเสรีภาพเป็นพื้นที่ที่รัฐจะมาจัดการไม่ได้ หากเกิดความขัดแย้ง ความมั่นคงของรัฐจึงสำคัญกว่าสิทธิเสรีภาพเสมอ และรัฐจะหาวิธีให้คนอยู่ในอำนาจการควบคุมตลอดเวลา แต่คนมักไม่รู้สึก เพราะอยู่ในสังคมที่เชื่อว่าส่วนกลางต้องควบคุมชุมชนเสมอมา โดยไม่ได้คิดว่าชุมชนต้องอิสระจากรัฐส่วนกลาง และสิทธิเสรีภาพต้องอยู่เหนือความมั่นคง ตรงนี้ถือเป็นปัญหาทางวัฒนธรรม ซึ่งไม่ว่ากฎหมายความมั่นคงอยู่หรือไม่ แต่สิ่งเหล่านี้ก็จะยังคงมีอยู่
 
ส่วนการพูดว่าวิทยุชุมชนไม่ควรแสดงฝักฝ่ายทางการเมืองนั้น สื่อความหมายถึงการห้ามแสดงฝักใฝ่ในฝั่งที่รัฐไม่ต้องการ โดยจะถูกรัฐมองเป็นปัญหา แต่หากแสดงฝักฝ่ายทางการเมืองในฝั่งที่รัฐต้องการสามารถทำได้ นั่นคือฝักฝ่ายทางการเมืองมีได้แต่ต้องมีในกรอบที่รัฐต้องการ คนที่จะได้ประโยชน์ก็คือรัฐ และส่งผลให้ข้อจำกัดนี้กลายเป็นเครื่องมือที่รัฐจะใช้ปิดวิทยุชุมชนได้ 
 
“ถึงจุดหนึ่งคงต้องคิดแล้วว่าการที่วิทยุชุมชนจะมีฝักฝ่ายทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา ต้องเชื่อว่าคนในชุมชนหรือคนในสังคมมีเสรีภาพ มีความสามารถที่จะเลือกเองได้ว่าจะมีความฝักใฝ่ทางการเมืองแบบไหน เพราะถ้าเริ่มต้นพูดเมื่อไหร่ว่าวิทยุชุมชนควรปราศจากฝักฝ่ายทางการเมือง ในที่สุดคนที่จะมาใช้อำนาจนี้แทนพวกเราก็คือรัฐ ซึ่งรัฐก็จะบอกว่าคนนั้นคนนี้มีฝักฝ่าย และคนที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐก็จะถูกละเมิดตลอดเวลา” ศิโรตม์ กล่าว
 
ศิโรตม์ บอกต่อมาว่า คนในสังคมควรต้องมองวิทยุชุมชนในฐานะที่เป็นพื้นที่ซึ่งเป็นอิสระจากรัฐ เป็นอิสระจากส่วนกลางให้มากขึ้น ดังเช่นการกำเนิดของวิทยุชุมชนในประเทศอื่นๆ ซึ่งมีหลักการที่ว่าชุมชนเป็นพื้นที่ของประชาสังคม เป็นพื้นที่ของสิทธิเสรีภาพ การจำกัดสิทธิควรมีให้น้อยที่สุด และหากจะมีการจำกัดควรมีในเงื่อนไขน้อยที่สุด และต้องชัดเจน
 
“ปัญหาใหญ่นั่นก็คือ เราไม่ได้อยู่ในสังคมซึ่งรัฐพร้อมจะให้วิทยุชุมชน หรือสิทธิเสรีภาพ เป็นอิสระจากสิ่งต่างๆ ได้จริงๆ เราอยู่ในสังคมซึ่งรัฐพร้อมจะแทรกแซงได้ตลอดเวลา และคนในสังคมโดยส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่าการแทรกแซงเหล่านี้เป็นเรื่องปกติด้วย” ศิโรตม์กล่าวในตอนท้าย   
 
ขณะที่ รศ.ดร.อุบลรัตน์  ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน และประธาน คปส.กล่าวว่า ปัจจุบันภูมิทัศน์สื่อได้เปลี่ยนแปลงไปและรัฐไม่มีแนวทางในการจัดการ ซึ่งในส่วนนี้เป็นภาระกิจของทุกคนในการจัดการภูมิทัศน์ใหม่นี้ร่วมกัน โดยการจับมือไปด้วยกันว่าจะเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างไร หากไม่ทำ ศอฉ.อาจเข้ามาเป็นคนจัดการแทน ซึ่งการจัดการในแบบ ศอฉ.โดยการปิดแบบเหวี่ยงแหไม่ใช่ทางออกของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อเลย 
 
“ในสังคมอำนาจนิยมแบบไทยๆ ทางออกทางอื่น เพื่อไปสู่การจัดการสิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกัน”  
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมาคมต้านโลกร้อนค้านประกาศ 18 โครงการประเภทรุนแรง

Posted: 14 Jul 2010 07:29 AM PDT

<!--break-->

14 ก.ค. 53 - สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนออกแถลงการณ์ "ขอคัดค้านการประกาศ 18 โครงการประเภทรุนแรง" เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทุกท่าน ควรต้องพิจารณาทบทวนการดำเนินการเพื่อการประกาศรายชื่อโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพเสียใหม่
 

 
แถลงการณ์
เรื่อง
ขอคัดค้านการประกาศ 18 โครงการประเภทรุนแรง
 
 
            ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 250/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 โดยให้มีอำนาจหน้าที่ศึกษาความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน ผู้ประกอบการ นักวิชาการ และผู้มีส่วนได้เสีย และประสานแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย สังคม เศรษฐกิจ และการลงทุน ความดังทราบแล้วนั้น
            คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้จัดทำข้อยุติ พร้อมเสนอผลการดำเนินการกำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพมายัง ฯพณฯ แล้วโดยมีโครงการหรือกิจกรรมฯ จำนวน 18 โครงการ ซึ่งปรากฏผ่านสื่อสารมวลชนและสาธารณะแล้วนั้น
            แต่เนื่องจากโครงการต่าง ๆ ที่คณะกรรมการฯดังกล่าวได้สรุปส่งมายัง ฯพณฯ นั้น ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ตรงกับความคิดเห็นของประชาชน นักวิชาการ และผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมากทั่วประเทศ อีกทั้งการสรุปผลจำนวนโครงการเป็นแต่เพียงความต้องการของกรรมการบางท่านเท่านั้น มิใช่ข้อสรุปที่เป็นเอกฉันท์ของคณะกรรมการทั้งหมด และไม่สอดคล้องกับความเห็นหรือความต้องการของประชาชนทั่วประเทศที่คณะกรรมการบางท่านได้ออกไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นมา แต่ผลสรุปของคณะกรรมการกลับตัดทิ้งความเห็นของภาคประชาชน แต่กลับเอื้อความต้องการของผู้ประกอบการหรือนักลงทุนและหน่วยงานรัฐบางหน่วยงาน โดยมองข้ามบริบทของเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 67 วรรคสอง โดยสิ้นเชิง
            โครงการหรือกิจกรรมหลายโครงการมีข้อมูลเชิงประจักษ์และมีผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่าเป็นโครงการที่เข้าข่ายที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ แต่ไม่ได้รับการพิจารณาหรือกำหนดให้เป็นโครงการประเภทรุนแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง เช่น
1)โครงการขุดสำรวจน้ำมันหรือปิโตรเลียม ซึ่งมีปรากฏการณ์ที่เป็นรูปธรรมแล้วของบริษัท บีพี ที่อ่าวเม็กซิโก ทำลายทรัพยากรทางทะเลและความหลากหลายทางชีวภาพไปอย่างมหาศาล รวมทั้งชุมชนชาวประมงจำนวนมาก แต่คณะกรรมการชุดดังกล่าวก็เมินเฉยมองข้ามประเด็นปัญหาดังกล่าวไป จนในที่สุดขณะนี้นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมเกิดขึ้นแล้วในพื้นที่เกาะสมุยและจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลา
2)โครงการทำเหมืองหิน ระเบิดและย่อยหินก่อสร้าง ซึ่งเกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศ เป็นโครงการที่เห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่าได้ทำลายทรัพยากรหิน ดิน แร่ ภูเขาและป่าไม้ให้พังทลายเสียหายเป็นอุดจาดทัศน์มากมาย ก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นหินไปทั่วบริเวณ รวมทั้งเสียระเบิดที่กระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนและสรรพสัตว์จำนวนมาก ดังจะเห็นตัวอย่างได้บริเวณหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี
3)โครงการขุดทรายหรือดูดทรายอุตสาหกรรม ในพื้นที่บนบก ในแม่น้ำและในทะเล ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากมาย ทำให้ตลิ่งริมน้ำซึ่งเป็นพื้นที่เอกสารสิทธิ์ของประชาชนเสียหายตลอดแนวแม่น้ำ หรือทะเล ดังตัวอย่างโครงการขุดหรือดูดทรายบริเวณแม่น้ำมูล แม่น้ำชี ก่อให้เกิดความเสียหายต่อนิเวศน์ลุ่มน้ำอย่างมหาศาล
4)โครงการสนามกอล์ฟ ซึ่งเป็นโครงการที่จำเป็นต้องใช้น้ำต้นทุนจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้ในโครงการจำนวนมาก ทำให้ต้องแย่งชิงน้ำอุปโภค บริโภคของเกษตรกร ชาวบ้านจำนวนมาก รวมทั้งการต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีจำนวนมากในการบำรุงรักษากรีนหรือต้นหญ้าในโครงการ ซึ่งนำไปสู่การแพร่กระจายของสารเคมีลงสู่แห่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดิน ซึ่งกำลังก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมามากมาย อาทิ กรณีสนามกอล์ฟจังหวัดเชียงใหม่ หรือในจังหวัดชลบุรี เป็นต้น
5)โครงการที่เกี่ยวข้องกับพืชตัดแต่งพันธุกรรมหรือ จีเอ็มโอ (GMOs) ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้บริโภค และเกษตรกรจำนวนมากในด้านความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และการกลายพันธุ์ อีกทั้งมีผลกระทบต่อการรุกคืบของการเบียดบังพันธุกรรมพืชพันธุ์พื้นเมืองของประเทศ ทำให้มีความเสี่ยงในการที่เกษตรกรและผู้บริโภคต้องตกอยู่ในอำนาจการครอบงำของนักธุรกิจต่างชาติหรือบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์พืชพันธุ์เกี่ยวกับจีเอ็มโอ
6)โครงการก่อสร้างและผลิตไฟฟ้าชีวมวล (Biomass) ซึ่งกำลังนำไปสู่ความขัดแย้งของประชาชนเจ้าของพื้นที่กับผู้ประกอบการจำนวนมากทั่วประเทศ บางโครงการเป็นการทำลายทรัพยากรต้นไม้ของชาวบ้านไปโดยไม่ทันคาดคิด เช่น การใช้ฟืนจากต้นไม้ กิ่งไม้ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยรับซื้อวัตถุดิบมาจากชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านไปตัดฟันต้นไม้ตามหัวไร่ ปลายนา ของตนเองมาขายให้กับโรงงานจนสิ้น จนนำไปสู่การลักลอบตัดต้นไม้ในพื้นที่ป่าชุมชน ป่าหวงห้าม ป่าอนุรักษ์มากมายมาขาย จนยากที่หน่วยงานรัฐที่ทำงานเฉพาะวันเวลาราชการจะควบคุม ดูแล ป้องกันได้ โดยเฉพาะในพื้นที่หลายังหวัดในภาคอีสานตอนเหนือ นอกจากนั้นบางโครงการไปก่อสร้างในพื้นที่ที่มีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสวยงาม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นิยมของต่างชาติ แต่กลับมีการอนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้ เช่น โรงไฟฟ้าห้วยยาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกที่เหมาะสมของประเทศ นำไปสู่ความขัดแย้งมากมายในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมประเภทใช้ก๊าซหรือวัตถุดิบอื่นใดทุกประเภท ทุกขนาด ซึ่งมีการคัดค้านของชาวบ้าน ชุมชนต่อโครงการประเภทดังกล่าวมากมายทั่วทุกพื้นที่ แต่กลับได้รับการยกเว้นอย่างมีเจตนาเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยมองข้ามสิทธิของชุมชนในแต่ละพื้นที่ เช่น โรงไฟฟ้าที่หนองแซง จ.สระบุรี โรงไฟฟ้าที่พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น
7)โครงการโรงงานหลอมเหล็กและโลหะทุกประเภท ซึ่งเป็นการนำเอาเศษโลหะมาทำการหลอมใช้ใหม่ ซึ่งพบว่าทุกขนาดประเภทโครงการก่อให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของมลพิษจำนวนมากทั้งมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ และเสียงดัง เป็นโครงการที่ทำให้ชุมชนโดยรอบในพื้นที่ต้องออกมาชุมนุมประท้วงมากมาย อาทิ การก่อสร้างโรงหลอมเหล็กในพื้นที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี เป็นต้น
8)โครงการตัดหรือขยายหรือก่อสร้างถนนใกล้พื้นที่ป่าหรือเขตอนุรักษ์ ซึ่งต้องตัดฟันต้นไม้และทำลายความหลากหลายทางชีวภาพตลอดเส้นทางที่ตัดผ่านเป็นจำนวนมาก เป็นการขัดหรือแย้งต่อยุทธศาสตร์การป้องกันก๊าซเรือนกระจกของรัฐบาลโดยสิ้นเชิง ดังกรณีตัวอย่างการขยายถนน 4 เลนมุ่งสู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มรดกโลก เป็นต้น นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่อหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม และประชาชนที่เห็นเด่นชัดที่สุดโครงการหนึ่ง
9)โครงการเกี่ยวกับการก่อสร้างหรือขยายเส้นทางขนส่งมวลชน แม้จะเป็นโครงการที่ควรสนับสนุนเพราะเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ทั่วโลกนิยม แต่การดำเนินการก่อสร้างและการดำเนินการนำมาซึ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนจำนวนมากตามมา เพราะจะก่อให้เกิดปัญหาการจราจรตามมามากมายขณะก่อสร้าง เกิดปัญหาน้ำท่วมเพราะวัสดุก่อสร้างไปปิดกั้นทางน้ำ เกิดการแพร่กระจายของฝุ่นละออง และเสียงดัง หากไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการดำเนินการ และสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนโดยรวมเสียก่อน อาทิ โครงการขยายเส้นทางรถไฟ ของ รฟท. โครงการก่อสร้างและขยายเส้นทางรถไฟฟ้า ของ รฟม. เป็นต้น ซึ่งกำลังจะนำไปสู่การฟ้องร้องยุติโครงการในเร็ว ๆ นี้ของภาคประชาชน
 
นอกจากนี้ ยังมีโครงการหรือกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายที่นำไปสู่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย ที่ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องได้มีการนำเสนอให้คณะกรรมการฯ ได้ทราบแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบรับหรือพิจารณาตามเหตุและผลของภาคประชาชน จากคณะกรรมการฯเลย แต่กลับพิจารณาหาข้อสรุปกันเอาเองโดยขาดฐานการสนับสนุนที่แท้จริงจากภาคประชาชน แต่สมอ้างว่าได้ทำการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศมาแล้ว แต่มิได้กล่าวถึงว่าประชาชนแต่ละพื้นที่ แต่ละท้องถิ่น เขามีข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นประการใดบ้าง เพื่อให้คณะกรรมการฯ นำไปประกอบการกำหนดประเภทโครงการนั้น ๆ และจะมีผลนำไปสู่การลดความขัดแย้งได้หรือไม่ในที่สุด ดังนั้นการนำเสนอข้อมูล 18 ประเภทโครงการหรือกิจกรรมมายัง ฯพณฯ เพื่อดำเนินการประกาศเป็นแนวทางในการดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง นั้น จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 67 วรรคสอง โดยชัดแจ้ง รวมทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2552 อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายฉบับใดมารองรับอำนาจการประกาศประเภทโครงการดังกล่าว
 
ดังนั้น สมาคมฯ จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทุกท่าน ควรต้องพิจารณาทบทวนการดำเนินการเพื่อการประกาศรายชื่อโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพเสียใหม่ โดยการเปิดเวทีและจัดกระบวนการรับฟังเสียงสาธารณะในทุกช่องทางอย่างรอบด้านอย่างแท้จริง ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรอให้องค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง เป็นผู้ใช้อำนาจประกาศตามร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ...เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และเพื่อให้ครอบคลุมกับปัญหาและความต้องการของประชาชน ชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศได้อย่างแท้จริง อันจักนำไปสู่การลดความขัดแย้งในโครงการพัฒนาใด ๆ ได้ แต่หาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการฯ เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องตามแถลงการณ์นี้ สมาคมฯ จำเป็นต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรม เพื่อนำมาซึ่งการคุ้มครองสิทธิของประชาชนภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อไป
 
จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
นายศรีสุวรรณ จรรยา
(นายศรีสุวรรณ จรรยา)
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
 
 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"นักศึกษา-นักกิจกรรม" จี้อเมริกาทบทวนแผนปรองดองไทย

Posted: 14 Jul 2010 07:03 AM PDT

<!--break-->

 

14 ก.ค. 53 - เวลาประมาณ 10.30 น. กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย นำโดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข พร้อมด้วยนักกิจกรรมในนามกลุ่มประกายไฟ กลุ่มเลี้ยวซ้าย และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จำนวนประมาณ 50 คน ได้เดินทางไปพบเอกอัคราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทยและยื่นหนังสือต่อรัฐสภาอเมริกัน ผ่านสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทยเพื่อสอบถามถึงแผนปรองดองที่สภาคองเกรสได้ลงนามรับรอง โดยที่ไม่ผ่านรัฐสภาของประเทศไทย และเรียกร้องให้รัฐบาลอเมริกาทบทวนการลงนามนี้ใหม่ นอกจากนั้นยังเรียกร้องทั่วโลกกดดันให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้หยุดปิดกั้นการนำเสนอข่าวของสื่อสารมวลชน หยุดคุกคามประชาชนที่มาร่วมชุมนุมกับเสื้อแดง และยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้เข้าร่วมได้แสดงละครล้อเลียนการปราบปรามผู้เข้าร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 โดยแสดงเหตุการณ์ทหารจับกุมประชาชนทั้งชายและหญิง จับมัดมือไพล่หลัง ผ้าผูกปิดตา และปืนจ่อผู้เข้าร่วมชุมนุม เพื่อแสดงให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน

จากนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองของสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทยได้เดินทางออกมาพบผู้ร่วมชุมนุม แต่ปฏิเสธที่จะรับหนังสือ โดยมีเงื่อนไขว่าการยื่นหนังสือนั้นผู้ยื่นจะต้องเดินทางไปไม่เกินห้าคน ไม่เชิญสื่อมวลชนไปด้วย และไม่มีกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ในบริเวณสถานทูต และแจ้งให้นายสมยศเดินทางไปยื่นหนังสืออีกครั้ง ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 เวลา 10.00 น.

ทั้งนี้ พ.ต.อ.สราวุธ จินดาคำ ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ได้แจ้งด้วยว่าจะทำตามกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง โดยจะออกหมายเรียกผู้เข้าร่วมชุมนุมที่หน้าสถานทูตอเมริกา และได้ถ่ายรูปเป็นหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"อธิบดีกรมพินิจ" ปัดขังลืม "เด็กเสื้อแดง"

Posted: 14 Jul 2010 05:22 AM PDT

อธิบดีกรมพินิจฯ ย้ำไม่มีขังลืมเยาวชนคดีผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ล่าสุดเหลือควบคุมตัว 12 คน เนื่องจากพ่อแม่ไม่ประกันตัวอ้างลูกดื้อ หัวอ่อนถูกชักจูงง่าย ส่วนอิสสระ สมชัย รมว.พม. บอกปล่อยตัวเยาวชน นปช. ไปแล้ว เหลือพวกผิดกฎหมายอาญาเท่านั้น
<!--break-->

14 ก.ค. 53 - จากกรณีพรรคเพื่อไทยระบุมีการควบคุมตัวแนวร่วมกลุ่มเสื้อแดงที่ค่ายทหารใน จ.กาญจนบุรี ซึ่ง ผบ.ทบ. ย้ำว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง ขณะที่อธิบดีกรมพินิจฯ ยืนยันไม่ขังลืมเด็กและเยาวชนคดีผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ด้าน นายธวัชชัย ไทยเขียว  อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวยืนยันหลังเยี่ยมเด็กและเยาวชนในคดีผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเข้าร่วมเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง ที่สถานแรกรับเด็กและเยาวชนชายบ้านเมตตา ว่า ไม่มีการขังลืม  ล่าสุดเหลือควบคุมตัว 12 คน เนื่องจากพ่อแม่ไม่ประกันตัวอ้างลูกดื้อ หัวอ่อนถูกชักจูงง่าย ต้องการให้ลูกได้รับการฝึกจากสถานพินิจฯ มีเพียงเด็กอายุ 14 ปี ข้อหาวางเพลิงย่านดินแดง ยังติดต่อพ่อแม่ไม่ได้

ทั้งนี้ โทษผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชุมนุมเกิน 5 คน หรือยุยงก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีโทษฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รมว.พม.เผยปล่อยตัวเยาวชน นปช.แล้ว
นายอิสสระ สมชัย รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึง กรณีที่ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ระบุว่า มีการกักขังเยาวชนที่ร่วมกันชุมนุม ของกลุ่มคนเสื้อแดงไว้ในสถานพินิจ ว่าขณะนี้เยาวชนที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุม ได้ถูกปล่อยตัวออกจากสถานพินิจแล้ว โดยคงเหลือเฉพาะเยาวชน ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น ที่ถูกคุมขังเพื่อพิจารณาตัดสินตามความผิดต่อไป

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก:

อธิบดีกรมพินิจฯ ย้ำไม่มีขังลืมเยาวชนคดีผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (สำนักข่าวไทย, 14 ก.ค. 2553)
http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/78132.html

รมว.พม.เผยปล่อยตัวเยาวชน นปช.แล้ว (ไอเอ็นเอ็น, 13 ก.ค. 2553)
http://www.innnews.co.th/politic.php?nid=234771

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หญิงไทใหญ่ร้องยูเอ็น ช่วยผู้หญิงจากพม่าถูกขายในจีน

Posted: 14 Jul 2010 04:45 AM PDT

<!--break-->

2 หญิงสาวชาวไทใหญ่ที่เคยถูกขายให้เป็นภรรยาของชาวจีนและถูกปล่อยตัวเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา ล่าสุด ได้ร้องเรียนให้องค์กรระหว่างประเทศ (ILO) ในกรุงย่างกุ้ง ให้ดำเนินการช่วยเหลือหญิงสาวจากพม่าคนอื่นๆที่ถูกนำไปขาย และขณะนี้ยังอยู่ในจีน 

ก่อนหน้ามีหญิงสาวทั้งหมดจำนวน 6 คน จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ถูกขบวนการค้ามนุษย์นำไปขายให้ชายจีนเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา โดยหญิงสาวถูกขายในราคา 38,400 บาท ซึ่งในเวลาต่อมา หญิงสาวจำนวน 3 คนได้รับการช่วยเหลือและถูกส่งตัวกลับพม่า แต่หญิงรายหนึ่งได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาจากโรคเอดส์ ขณะที่หญิงสาวอีกจำนวน 3 คนยังคงอยู่ในจีน

และล่าสุด 2 หญิงสาวที่ได้รับการปล่อยตัวก่อนหน้านี้  ได้ยื่นเรื่องถึงองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation - ILO) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงย่างกุ้ง ให้ช่วยเหลือเหยื่อที่เป็นหญิงสาวที่ขณะนี้ยังอยู่ในจีน ก่อนหน้านี้ทั้งสองได้ยื่นเรื่องไปยังองค์กร Myanmar Women’s Affairs Federation และเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ในรัฐฉาน แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆคืบหน้า จนต่อมาได้รับความช่วยเหลือจากนายเท็ดวาย ผู้อำนวยการของคณะกรรมการพรรคเอ็นแอลดีประจำกรุงย่างกุ้ง

นายเท็ดวายเปิดเผยว่า “หญิงสาวทั้ง 6 คน ถูกนำไปขายเพื่อเป็นภรรยาของชายชาวจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งหมดถูกหลอกจากนายหน้าค้ามนุษย์ว่าจะได้ทำงานในจีน และจะได้รับเงินเดือน 80,000 จั๊ต(ประมาณ 2,675 บาท)ต่อเดือน แต่หลังจากที่เดินทางถึงจีน ทั้งหมดก็ถูกขายให้กับชายชาวจีน” นายเท็ดวายกล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานว่า เหตุที่หญิงสาวจำนวน 3 คนได้รับการปล่อยตัวก่อนหน้านี้ เป็นเพราะว่า สมาชิกครอบครัวของหญิงสาวได้เดินไปยังประเทศจีนและเผชิญหน้ากับผู้ที่กักขังพวกเธอ จนท้ายสุดหญิงสาวได้รับการปล่อยตัว ขณะที่ญาติของหญิงสาวเปิดเผยว่า จีนเองได้เริ่มใช้บทลงโทษหนักต่อขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศ  เห็นได้จากในหลายปีที่ผ่านมา ทางการจีนได้ส่งหญิงสาวจำนวนกว่า 300 คนกลับฝั่งพม่า

ด้านจูเลีย มาหริบ จากองค์กรผู้หญิงคะฉิ่นแห่งประเทศไทย (Kachin Women’s Association Thailand - KWAT) เปิดเผยว่า มีผู้หญิงจากพม่าถูกขายเพื่อแต่งงานกับชายจีนคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนทั้งหมด 5 หมื่นคนที่ถูกขายให้กับชายจีน  

“ถ้าหากมองที่รากของปัญหาการค้ามนุษย์นั้น เราจะเห็นว่า ความยากจนและปัญหาเศรษฐกิจในพม่านั้นย่ำแย่มาก ดังนั้นปัญหาเศรษฐกิจควรได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรก และนั่นจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ได้ผล” จูเลียกล่าว

ทั้งนี้ พม่าเองได้ลงนามข้อตกลงการต่อต้านการค้ามนุษย์เมื่อต้นปี 2547 กับยูเอ็น นอกจากนี้พม่าได้เริ่มใช้กฎหมายป้องกันการค้ามนุษย์ เห็นได้จากเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการสั่งจำคุกลงโทษนายหน้าค้ามนุษย์เป็นเวลา 15 ปี ในภาคมะกวย ทางตอนกลางของประเทศ ในข้อหาขายเด็กสาวอายุ 16 ปี ให้กับชายชาวจีน   

ในขณะที่ สหรัฐได้รายงานเมื่อปีที่ผ่านมาว่า การขายหญิงสาวจากพม่าเพื่อบังคับให้แต่งงานและเป็นภรรยานั้น ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญ ขณะที่พบว่า จีนและมาเลเซียเป็นประเทศอันดับต้นๆที่เป็นจุดหมายปลายทางของขบวนการค้ามนุษย์ที่นำหญิงสาวไปขายเพื่อเป็นภรรยาให้แก่ชายในประเทศ

ในรายงานของสหรัฐซึ่งอ้างจากข้อมูลขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศยังชี้ว่า ปัจจุบันมีประชาชนราว 12.3 ล้านคนจากทั่วโลกตกเป็นเหยื่อของการบังคับใช้แรงงาน และตกเป็นเหยื่อของกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์จากทางเพศ  (DVB 13 ก.ค.53)  
 
แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA ปัดฝึกกองกำลังเสื้อแดง

Posted: 14 Jul 2010 04:20 AM PDT

<!--break-->

กลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA ปัดฝึกกองกำลังเสื้อแดง

สืบเนื่องจากมีกระแสข่าวเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงของไทยบางส่วน มีการรายงานเบื้องบนว่า กองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มหยุดยิงเมืองลา (National Democratic Alliance Army - NDAA) ที่มีกองบัญชาการอยู่ในภาคตะวันออกรัฐฉาน ติดชายแดนจีนด้านมณฑลยูนนาน ให้การฝึกอบรมด้านการทหารแก่กลุ่มคนที่น่าเชื่อว่าฝักใฝ่กลุ่มคนเสื้อแดงนั้น ทางกองกำลัง NDAA ได้ออกมาปฏิเสธข้อรายงานดังกล่าว
 
โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงกลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA คนหนึ่ง ซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม เปิดเผยกับสำนักข่าวฉาน ว่า ปัจจุบันกองกำลัง NDAA กำลังประสบปัญหาขัดแย้งกับรัฐบาลทหารพม่า กรณีถูกกดดันให้เปลี่ยนสถานะกองกำลังเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF ซึ่งภารกิจภายในยุ่งมากพอ การที่จะรับงานอย่างอื่นทำอีกก็ไม่ต่างกับการหาเหาใส่หัว
 
เจ้าหน้าที่ของ NDAA คนดังกล่าวระบุด้วยว่า อดีตกับปัจจุบันมันต่างกัน ในอดีตสมัยกองกำลังคอมมิวนิสต์รุ่งเรือง กลุ่มคอมมิวนิสต์จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งกลุ่ม NDAA ในอดีตก็เคยให้การช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยได้รับการช่วยเหลือด้านอาวุธจากประเทศจีนแล้วนำมามอบให้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพราะถือเป็นคอมมิวนิสต์มีอุดมการณ์เดียวกัน แตกต่างจากปัจจุบัน เราช่วยเหลือใครแล้วเราได้อะไร สิ่งที่จะได้ก็คือปัญหาเท่านั้น
 
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวมีการรายงานของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทยบางส่วนว่า กองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA National Democratic Alliance Army มีการฝึกอบรมด้านการทหารแก่กลุ่มคนซึ่งน่าเชื่อว่าฝักใฝ่กลุ่มคนเสื้อแดง ขณะที่เจ้าหน้าที่เบื้องบนได้มีคำสั่งให้ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้
 
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวนักธุรกิจที่เดินทางไปมาระหว่างเมืองลา – เชียงตุง เป็นประจำแสดงความเห็นว่า การที่กองกำลัง NDAA จะให้การฝึกการทหารให้ใครคงเป็นไปได้ยาก เพราะลำพังตัวเองก็ยังต้องพึ่งพาผู้อื่น อีกทั้งเส้นทางจากประเทศไทย โดยเฉพาะจากท่าขี้เหล็ก เชียงตุง ไปยังเมืองลา ก็มีทหารพม่าตั้งด่านตรวจค้นอย่างเข้มงวด ที่สำคัญการฝึกการทหารต้องใช้เวลา ไม่ใช่ฝึกแค่สามวันเจ็ดวัน ด้วยเหตุนี้คงเป็นไปไม่ได้ เพราะการที่คนไทยจะเดินทางเข้าพม่า จะได้รับอนุญาตเพียงแค่ 7 วันเท่านั้น

ทั้งนี้ พื้นที่ยึดครองของกลุ่มหยุดยิงเมืองลา (NDAA) ซึ่งอยู่ทางเหนือของรัฐฉาน ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินติดชายแดนจีนด้านมณฑลยูนนานนั้น เดิมเป็นพื้นที่ยึดครองของเขตงาน 815 พรรคคอมมิวนิสต์พม่า (Communist Party of Burma - CPB) โดยในเดือนมิถุนายนปี 2532 สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์พม่าในเขตงานดังกล่าวนำโดยจายลืน หรือ หลินหมิงเฉียน ได้แยกตัวออกจากพรรคและตั้งกองกำลังใหม่คือกองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย (National Democratic Alliance Army - NDAA)  หรือ กลุ่มหยุดยิงเมืองลา โดยได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าจนถึงปัจจุบัน

โดยในปีนั้นมีกองกำลังหลายกลุ่มที่แยกตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ได้แก่ กองกำลังโกก้าง หรือ MNDAA ในเดือนมีนาคมปี 2532 กองทัพสหรัฐว้า หรือ UWSA แยกตัวจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่าในเดือนเมษายน 2532

ขณะที่ปัจจุบันนี้กลุ่มหยุดยิงในพื้นที่ต่างๆ ของพม่า ถูกกดดันให้เปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Forces - BGF) ซึ่งขึ้นตรงกับกองทัพพม่า โดยเมื่อปีก่อนกองทัพพม่าเพิ่งปราบกองกำลังโกก้างหลังจากปฏิเสธการเปลี่ยนสถานะ ขณะที่ทั้งกองทัพสหรัฐว้า และกลุ่มหยุดยิงเมืองลา กำลังถูกกดดันจากกองทัพพม่าอย่างหนักเพื่อให้เปลี่ยนสถานะ
 
ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวกล่าวหาว่ากองทัพรัฐฉาน SSA มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงบ่อยครั้งเช่นกัน โดยมีการกล่าวถึงหนาหูทางสื่อ ทั้งทางวิทยุ อินเทอร์เน็ต และในเฟซบุ๊ค ขณะที่ พล.ท.เจ้ายอดศึก ผู้นำสูงสุด SSA ออกมาปฏิเสธว่า SSA ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทย รัฐบาลไทยกับกลุ่ม นปช. เป็นปัญหาภายในของไทยเอง
 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of the Shan State-R.C.S.S.) องค์กรการเมืองของกองทัพรัฐฉาน SSA ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในโอกาสก่อตั้งสภาฯ ครบรอบ 10 ปี ตอนหนึ่งว่า สภาฯ RCSS จะเคารพและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย มุ่งหวังปรารถนาให้คนไทยสามัคคีกัน และทางสภา RCSS จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวการเมืองของประเทศไทย
 

ชาวไทใหญ่ทำบุญรำลึกอดีตนักร้องดัง "จายมู – จายสันดอย"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 12 ก.ค. ชาวไทใหญ่ในตำบลเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ประกอบด้วยชาวบ้านเปียงหลวง บ้านหลักแต่ง ศูนย์อพยพบ้านกุงจ่อ ได้รวมตัวกันจัดงานพิธีทำบุญให้กับ จายมู และ จายสันดอย อดีตนักร้องนักแต่งเพลงเพื่อชีวิตชื่อดังของไทใหญ่ ซึ่งพิธีทำบุญนี้ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี
 
ทั้งนี้ ผู้ร่วมในพิธีส่วนใหญ่เป็นอดีตลูกศิษย์ มิตรสหาย ของสองอดีตนักร้องดัง นอกนั้นมีนักเรียนเข้าร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง โดยพิธีได้จัดขึ้นที่สุสานจายมู – จายสันดอย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของบ้านหลักแต่ง ห่างชายแดนไทย – พม่า (รัฐฉาน) ราว 2 กม. ซึ่งในพิธีได้มีการถวายผ้าบังสุกุล สังฆทาน แด่พระสงฆ์ จำนวน 5 รูป จากนั้นร่วมกันกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแด่อดีตนักร้องชื่อดังทั้งสอง และหลังจากพิธีทำบุญแล้วเสร็จ ได้มีการเล่าชีวประวัติของอดีตนักร้องทั้งสองให้กับเด็กนักเรียนที่เข้าร่วม เพื่อให้ตระหนักรับทราบถึงคุณงามความดีของอดีตนักร้องดังทั้งสอง และให้เกิดการสืบสานเชิดชูกันต่อไป
 
จายมู หรือ หมอสอนห้วยจอย เป็นชาวเมืองปั่น รัฐฉานตอนใต้ เกิดเมื่อปี 2503 สมัยยังมีชีวิตเขาเป็นทั้งครู นักร้องและนักแต่งเพลงที่มีแบบฉบับของตัวเอง โดยเนื้อหาและทำนองดนตรีเพลงของเขาทั้งภาษาไทใหญ่ พม่า ที่มีไม่ต่ำกว่า 500 เพลง กินใจผู้ฟังทั่วรัฐฉาน จายมูเสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยโรคหัวใจ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2537 ที่บ้านหลักแต่ง ด้วยวัย 35 ปี
 
ส่วนจายสันดอย เป็นชาวเมืองเป็ง จังหวัดเมืองสาด รัฐฉานตะวันออก ซึ่งเขาเป็นทั้งอดีตนักร้องนักแต่งเพลงเช่นกัน โดยผลงานเพลงยอดนิยมของเขา ได้แก่ "เนวินปล้นแบงค์ร้อย" ซึ่งออกในช่วงที่รัฐบาลทหารพม่าภายใต้การนำของนายพลเนวินประกาศยกเลิกธนบัตรใบละ 100 จั๊ต จายสันดอย เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวเมื่อปี 2542 ที่บ้านห้วยบอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
 
จายมูและจายสันดอย ถือเป็นนักต่อสู้ทางการเมืองที่เรียกร้องอิสรภาพให้กับรัฐฉานผ่านบทบาทการเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งวงดนตรี “เจิงแลว (Freedom’s Way)” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2527 ที่บ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ในสมัยกองทัพสหปฏิวัติรัฐฉาน (SURA) ภายใต้การนำของ “เจ้ากอนเจิง”
 

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทยใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"มาร์ค V11" ประกาศถอนตัว AF พ่อระบุอยากพาไปขอขมา "มาร์ค อภิสิทธิ์"

Posted: 14 Jul 2010 04:05 AM PDT

"มาร์ค V11" โชว์สปิริตแถลงข่าวประกาศถอนตัวออกจากบ้าน AF เพื่อรับผิดชอบสิ่งที่ทำลงไป ปัดโพสต์ข้อความจาบจ้วงสถาบัน พ่อระบุอยากพาไปขอขมา "มาร์ค"
<!--break-->


ที่มาภาพ: http://www.facebook.com/Trueaf7

14 ก.ค. 53 - ที่โรงแรมเอตัส ซอยร่วมฤดี ถนนเพลินจิต เขตปทุมวัน นายวทัญญู นางเร็จวรรณา ท้าวคำลือ พ่อแม่ของมาร์ค-วิทวัส วี 11 แห่งบ้านเอเอฟ 7 พร้อมทนายความได้ร่วมกันแถลงข่าว หลังถูกกระแสกดดันเรื่องข่าวที่มาร์ค-วิทวัส ไปโพสต์ต่อว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ โดยมาร์ค-วิทวัส กล่าวว่า ยอมรับว่าโพสต์ข้อความเรื่องการเมืองจริง แต่ที่ทำไปเพราะความที่เป็นวันรุ่น จึงของโอกาสจากสังคมที่ทำผิดพลาดในครั้งนี้ และอยากให้ตัวเองเป็นตัวอย่างแก่เยาวชนหากจะทำอะไรควรคิดให้ดีเสียก่อน ทั้งนี้จะขอรับผิดชอบด้วยการถอนตัวออกจากบ้านเอเอฟ เพื่อกลับไปเรียนต่อ

ด้านนายวทัญญู กล่าวว่า ส่วนเรื่องการโพสต์ข้อความจาบจ้วงสถาบัน จากการตรวจสอบพบว่ามีการคัดลอกและตัดต่อข้อความจนเนื้อหาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง มีข้อพิรุญหลายจุด ซึ่งได้มอบหมายให้ทนายไปดำเนินการแจ้งความไว้ที่เชียงใหม่แล้ว ขอยืนยันว่าครอบครัวจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตามหากมีโอกาสจะพาลูกเข้าไปกราบขอโทษนายอภิสิทธิ์ เป็นการส่วนตัว พร้อมจะเข้าหารือกับผู้บริหารรายการ เพื่อขอให้ลูกชายขึ้นเวทีอำลาแฟนคลับที่โหวตให้ในวันเสาร์นี้ด้วย

ที่มาข่าว:
"มาร์ค เอเอฟ"ประกาศถอนตัว (เว็บไซต์เดลินิวส์, 14-7-2010)
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=38&contentID=78096

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ราคายาในประเทศไทย: ได้เวลาที่รัฐจะต้องเข้ามากำกับดูแลอย่างจริงจังหรือยัง

Posted: 14 Jul 2010 03:35 AM PDT

<!--break-->

ยาเป็นสินค้าที่มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสินค้าอื่นๆ ที่ทำให้รัฐต้องเข้ามากำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน ด้วยเหตุผลหลักสามประการ

ประการแรก ยาเป็นสินค้าที่ผู้ใช้ไม่ได้เป็นผู้ซื้อ เนื่องจากมีระบบประกันสุขภาพทำให้การที่ราคายาแพงไม่ทำให้ผู้ใช้เดือดร้อน เนื่องจากไม่มีภาระค่าใช้จ่ายใดๆ[1] รวมทั้งยังไม่ต้องทดรองจ่ายอีกด้วย[2] สำหรับระบบประกันสุขภาพที่มีลักษณะเป็นการเหมาจ่ายรายหัว (capitation) ได้แก่ โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาท) และระบบประกันสังคม สถานพยาบาลไม่มีแรงจูงใจที่จะจ่ายยาราคาแพง เนื่องจากไม่สามารถเบิกค่ายาได้เพราะเป็นระบบเหมาจ่ายในอัตราตายตัวทำให้ไม่มีปัญหาการจ่ายยาที่มีราคาสูง แต่ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการเป็นระบบการเบิกจ่ายจริงตามค่าบริการ (fee for service) ภาระค่าใช้จ่ายค่ายาจึงไม่ตกแก่โรงพยาบาลเพราะสามารถเบิกได้จากกรมบัญชีกลาง รัฐบาลกลับเป็นผู้ที่มีภาระต้องจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอดังที่เป็นที่ทราบกันดีว่า ค่ารักษาพยาบาลสำหรับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากประมาณ 30,000 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2548 เป็นกว่า 6 หมื่นล้านบาทในปี พ.ศ. 2552 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงเวลาเพียง 4 ปี โดยกรมบัญชีกลางได้ชี้แจงว่าร้อยละ 80 ของค่าใช้จ่าย หรือประมาณ 4 หมื่นล่านบาทนั้นเป็นค่ายา การศึกษานี้พบว่า เกณฑ์การเบิกจ่ายค่ายาของกรมบัญชีกลางนอกจากจะไม่สร้างแรงจูงใจให้โรงพยาบาลและแพทย์ประหยัดค่าใช้จ่ายยาแล้ว ยังกลับส่งเสริมให้มีการจ่ายยาที่มีราคาสูงให้แก่ผู้ป่วยอีกด้วย เพราะโรงพยาบาลสามารถทำกำไรจากการจ่ายยาที่มีราคาแพงมากกว่ายาที่มีราคาถูก
 
จากตารางที่ 1 ซึ่งแสดงเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ายาตามประกาศของกรมบัญชีกลางด้านล่าง จะเห็นได้ว่า หากแพทย์จ่ายยาสามัญเม็ดละ 1 บาท ให้แก่ผู้ป่วย โรงพยาบาลจะสามารถเบิกจ่ายค่ายาดังกล่าวจากกรมบัญชีกลางได้ในราคา 1.50 บาท ทำให้มีกำไร 50 สตางค์ แต่หากโรงพยาบาลจ่ายยาต้นแบบเม็ดละ 100 บาท จะสามารถเบิกจ่ายได้ 121 บาท (13 + 90*1.2) ทำให้มีกำไรสูงถึง 21 บาทต่อเม็ด การเลือกจ่ายยาต้นแบบที่มีราคาแพงจึงเป็น ช่องทางในการหารายได้ของโรงพยาบาลของรัฐ
 
ตารางที่ 1 เกณฑ์การเบิกจ่ายค่ายาตามประกาศของกรมบัญชีกลาง
 

ราคาต้นทุนต่อหน่วย(บาท)
ราคาที่ให้เบิก
0.01-0.20
0.50
0.21-0.50
1.00
0.51-1
1.50
1.01-10
1.50+125% ของส่วนที่เกิน 1 บาท
10.01-100
13+120%ของส่วนที่เกิน 10 บาท
100.01-1,000
126+115% ของส่วนที่เกิน 100 บาท
เกิน 1,000
1,161 + 110% ของส่วนที่เกิน 1,000 บาท

 
ที่มา : ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราค่าบริการสาธารณสุขเพื่อใช้สำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ
 
ทั้งนี้ มีการกล่าวว่า โรงพยาบาลของรัฐมีความจำเป็นต้องหารายได้ส่วนนี้เพื่อไป “โปะ” ค่าใช้จ่ายโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งเป็นระบบเหมาจ่ายรายหัว แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า โรงพยาบาลของรัฐขาดทุนจากการให้บริการภายใต้โครงการดังกล่าวจริงหรือ ในการสัมนา “แปดปีภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: ปัญหา อุปสรรค สิ่งท้าทายในการพัฒนา ความสำเร็จและความเสี่ยง” เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 กระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่าโรงพยาบาล 175 แห่งขาดทุน 1600 ล้านบาท ในขณะที่ สปสช. พบว่า เงินสดคงเหลือของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงเพิ่มขึ้นจาก 14,605 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการนำระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาใช้ เป็น 42,968 ล้าน ในปี พ.ศ. 2552 ในขณะที่หนี้สิน ของโรงพยาบาลเหล่านี้มีประมาณ 16,000 กว่าล้านบาท แต่ถึงโรงพยาบาลจะขาดทุนจริง การยัดเยียดยาราคาแพงให้แก่ผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นเป็นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ป่วยอย่างยิ่งเพราะยาทุกชนิดล้วนมีผลกระทบข้างเคียงไม่มากก็น้อยทั้งนั้น การปรับเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ายาเพื่อมิให้เกิดแรงจูงใจในการจ่ายราคายาแพงจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้
 
เหตุผลประการที่สองที่จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลราคายา คือ ผู้ป่วยที่รับบริการจากสถานพยาบาลเอกชนไม่สามารถปฏิเสธยาราคาแพงได้ แม้จะเป็นผู้ที่ต้องจ่ายค่ายาเอง[3] เนื่องจากผู้ป่วยส่วนมากจะซื้อยาตามที่แพทย์สั่งจากโรงพยาบาลที่รับการรักษามิได้ไปซื้อจากร้านยาทั่วไป แม้ในทางปฏิบัติจะสามารถปฏิเสธที่จะรับยาดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีข้อมูลรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับชื่อหรือราคาต่อหน่วยของยาที่แพทย์สั่งเลยเพราะค่ายาทั้งหมดจะปรากฏอยู่ภายใต้ค่าใช้จ่ายหมวด “ยา” ในใบเสร็จบรรทัดเดียวเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว สำหรับผู้ป่วยใน โอกาสที่จะปฏิเสธยายิ่งมีน้อยมากเพราะขณะที่อยู่บนเตียงผ่าตัดคงไม่สามารถบอกแพทย์ได้ว่า ค่ายาสลบ หรือ น้ำเกลือที่ให้นั้นแพงเกินควร ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงมักมีการกำกับราคายาสำหรับผู้ป่วยใน ที่เรียกว่า “hospital drugs” ในต่างประเทศ
 
การศึกษานี้พบว่า ราคายาที่จำหน่ายในโรงพยาบาลโดยทั่วไปไม่สะท้อนต้นทุน มีการกำหนดราคายาที่จำหน่ายสูงกว่าต้นทุนที่ซื้ออย่างมาก โดยมีการบวกต้นทุนอื่นๆ ไว้ในราคายาเช่น ค่าสาธารณูปโภค หรือ ค่าห้อง เนื่องจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยาเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยไม่สามารถประมาณการณ์ได้ล่วงหน้า ต่างจาก ค่าห้อง ค่าแพทย์ ค่าบริการรักษา ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เปิดเผยผู้ป่วยสามารถเปรียบเทียบได้ในการเลือกสถานพยาบาล โรงพยาบาลจึงใช้กลยุทธ์การตัดราคาค่าห้องเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าและชดเชยรายได้ที่หายไปบางส่วนจากค่ายา
 
ตัวอย่าง เช่น ราคายา Paracetamol ซึ่งมีราคาประมาณเม็ดละ 1 บาทในร้านขายยาทั่วไป จำหน่ายในราคา 3 บาท/เม็ด ขณะที่ยาที่จ่ายให้แก่ผู้ป่วยในมีราคา 10-13 บาท/เม็ด ทั้งนี้ราคาดังกล่าวจะแตกต่างกันแต่ละโรงพยาบาล พฤติกรรมในการกำหนดราคายาของโรงพยาบาลเอกชนสะท้อนให้เห็นว่าเป็นลักษณะการกำหนดราคาแบบแบ่งแยกตลาด ระหว่างกลุ่มลูกค้าที่มีโอกาสในการตอบสนองต่อราคาสูง (ผู้ป่วยนอก) และกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีโอกาสที่จะปฏิเสธยา (ผู้ป่วยใน)
 
การแก้ปัญหาการกำหนดราคายาไม่เป็นธรรม อาจดำเนินการได้โดยให้ สถานพยาบาลทุกแห่งต้องจำแนกรายการยาและราคาของยาแต่ละตัวในใบเสร็จรับเงิน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเปรียบเทียบราคายาได้ เพื่อที่จะตัดสินใจที่จะรับหรือไม่รับยา นอกจากนี้แล้วอาจมีข้อห้ามมิให้มีการกำหนดราคายาตัวเดียวกันที่แตกต่างกันระหว่างคนไข้ในและคนไข้นอก สำหรับยาที่มีเฉพาะสำหรับคนไข้ในนั้น ภาครัฐอาจต้องเข้ามากำกับดูแลมิให้มีการค้ากำไรเกินควรโดยเริ่มจากการให้สถานพยาบาลเอกชนต้องเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อและราคาต่อหน่วยของยาที่ใช้ทั้งหมดในใบเสร็จด้วย
 
เหตุผลประการสุดท้ายที่จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลราคายา คือ โครงสร้างของตลาดยาในประเทศไทยยังมีลักษณะของการกระจุกตัวสูง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการผูกขาด ซึ่งคงไม่แตกต่างจากโครงสร้างตลาดยาในต่างประเทศมากนัก เพราะยาเป็นสินค้าที่มีสิทธิบัตรคุ้มครอง การแข่งขันในตลาดจึงมีจำกัด โดยเฉพาะสำหรับยาต้นแบบบางประเภทที่ยังไม่มียาชื่อสามัญทดแทน การศึกษาส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มยาที่มีมูลค่าการซื้อสูงสุดในปี พ.ศ. 2551 จำแนกตามกลุ่มการรักษาโรคทั้งหมด 20 กลุ่ม พบว่า 7 กลุ่มที่มีโครงสร้างตลาดที่เข้าเกณฑ์ “การมีอำนาจเหนือตลาด” ตามที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าประกาศกำหนด[4] ซึ่งหมายความว่า สำนักแข่งขันทางการค้าควรจับตาดูมิให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มีพฤติกรรมที่เป็นการผูกขาด ซึ่งรวมถึงการกำหนดราคาสินค้าที่สูงเกินควรด้วย
 
อนึ่ง การมีสิทธิบัตรคุ้มครองมิได้หมายความว่า ผู้ผลิตสามารถขายยาได้ตามราคาที่ต้องการได้ตามอำเภอใจ ในปี พ.ศ. 2545 องค์กรเอกชนในประเทศแอฟริกาใต้ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของประเทศแอฟริกาใต้ให้ดำเนินคดีกับบริษัทยา GlaxoSmithKline ด้วยข้อหาการกำหนดราคาที่สูงเกินควรในกรณีของยารักษาโรคเอดส์ การดำเนินการส่งผลให้ บริษัทดังกล่าวได้ยินยอมที่จะให้ผู้ผลิตยาภายในประเทศ 3 รายผลิตยาดังกล่าวเพื่อป้อนตลาดทั้งของภาครัฐและของเอกชน และยังสามารถส่งออกยาดังกล่าวไปยังประเทศข้างเคียงได้อีกด้วย ในเวลาต่อมา หนึ่งในสามบริษัทที่ได้รับสิทธิในการผลิตยาครั้งนั้นได้กลายเป็นบริษัทผลิตยาขนาดใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดในตลาดจัดซื้อยาของภาครัฐ[5] ในลักษณะเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2548 สำนักงานแข่งขันทางการค้าของอิตาลีมีค่ำสั่งให้บริษัทยา Merck ต้องอนุญาตให้บริษัท Dobfar ในอิตาลีผลิต Imipenem Cilastatina ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ เพื่อที่จะส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ที่สิทธิบัตรคุ้มครองสารดังกล่าวหมดอายุแล้ว และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้มีการผลิตสารดังกล่าวเพื่อป้อนตลาดในประเทศเมื่อสิทธิบัตรในประเทศอิตาลีจะหมดอายุลงเวลา 2 ปีข้างหน้า[6] อีก 2 ปีต่อมา สำนักงานฯ ได้มีคำสั่งในลักษณะเดียวกันซึ่งบังคับให้บริษัท Merck ต้องอนุญาตให้ผู้ผลิตยาในประเทศผลิตตัวยา Finasteride โดยไม่มีการคิดค่าธรรมเนียม (royalty หรือ license fee) เพื่อเป็นการเยียวยาพฤติกรรมที่ผูกขาดของบริษัทที่ปฏิเสธที่จะให้อนุญาตให้มีการผลิตยาดังกล่าวตลอดมา กรณีศึกษาทั้งสองประเทศแสดงให้เห็นว่ารัฐสามารถใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าในการแก้ไขปัญหาการผูกขาดตลาดยาที่ส่งผลให้ยามีราคาแพงได้ โดยมิได้เป็นการละเมิดความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาในองค์การการค้าโลก (TRIPS) ด้วย
 
กล่าวโดยสรุป ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการวางระบบในการกำกับดูแลราคายาทั้งในสถานพยาบาลภาครัฐและในภาคเอกชน เพื่อให้มีการจ่ายยาอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อป้องกันการกำหนดราคายาที่แพงเกินควร ในระยะข้างหน้า รัฐควรหันมาให้ความสำคัญแก่ (1) การดูแลราคายาในสถานพยาบาลเอกชนเนื่องจากสองในสามของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศเป็นค่าใช้จ่ายในภาคเอกชน และ (2) การกำกับดูแลราคายาต้นแบบ เพราะค่าใช้จ่ายยาประมาณสามในสี่เกิดจากยาต้นแบบที่ผลิตโดยบริษัทต่างชาติ[7] เนื่องจากยาเหล่านี้มีราคาสูงกว่ายาชื่อสามัญหลายเท่า หากรัฐสามารถดูแลราคายาเหล่านี้ได้ก็จะสามารถประหยัดงบประมาณและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศโดยรวมได้อย่างมีนัยสำคัญ
 
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายการแข่งขันทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภค ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจรายสาขา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จากการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลราคายาในประเทศไทย ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบสิทธิบัตรยาของไทย และการเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเจรจาเขตการค้าเสรีในประเด็นสิทธิบัตรยา” ซึ่งสถาบันฯ ได้ทำการศึกษาเสนอต่อ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือน มีนาคม 2552
 
 
 
 
 
เชิงอรรถ
 
[1] ภายใต้ระบบการประกันสุขภาพทั้งสามของภาครัฐ อันได้แก่ โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการนั้น ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหากแพทย์สั่ง ในกรณีของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ผู้ป่วยสามารถเบิกค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติได้เต็มจำนวนหากมีลายเซ็นคณะแพทย์รับรอง ซึ่งในทางปฏิบัติมีการเซ็นรับรองไว้ล่วงหน้าทำให้แพทย์สามารถจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติแก่ผู้ป่วยได้โดยผู้ป่วยไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายใดๆ
[2] ระบบสวัสดิการข้าราชการมีการนำระบบจ่ายตรงเข้ามาใช้ตั้งปลายปี พ.ศ. 2549
[3] จากข้อมูลรายได้ประชาชาติของไทยของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐคิดเป็นสัดส่วนเพียงหนึ่งในสามของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของประเทศ ซึ่งหมายความว่า ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง
[4] เกณฑ์ “ผู้มีอำนาจเหนือตลาด” ตามประกาศของ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ตาม พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 คือ ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งที่มีส่วนแบ่งตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป หรือ ผู้ประกอบการสามรายรวมกันมีส่วนแบ่งตลาดตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป และมียอดขายขั้นต่ำที่ 1000 ล้านบาทต่อปี
[5] World health Organization ( February 2008), Country Experiences in Using Safeguards, Briefing Note: Access to Medicin.
[6] Gianni, Origoni, Grippo & Partners (2005), Italian Authority’s Power to Adopt Interim Measures Confirmed by Court Ruling, Legal Update: Antitrust.
[7] คำนวณจากฐานข้อมูล IMS World Review (2008)
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จาตุรนต์ ฉายแสง: ข้อสังเกตบางประการต่อคดียุบพรรคประชาธิปัตย์

Posted: 14 Jul 2010 02:53 AM PDT

<!--break-->

@ ไม่ทราบว่ามีใครคิดจะไปคุกคามทำร้ายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เห็น ปชป.ออกมาเปิดประเด็นเพื่อบิดประเด็นการที่หลักฐานแน่นหนากันใหญ่ ลูกไม้ตื้นๆ
 

@ ก่อนหน้านี้มีแต่ข่าวว่าผู้ใหญ่ใน DSI และกระทรวงยุติธรรมถูกเรียกไปขู่ พนักงานสอบสวนคดียุบพรรคลาออกเป็นแถว รถถูกทุบเพื่อขโมยข้อมูล....

@ นอกจากนี้ก็มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำคดีถูกขู่และ DSI  บางคนถูกสะกดรอยโดยคนของนายตำรวจที่อาจเกี่ยวพันกับผู้ที่จะพิจารณาคดียุบพรรค

@ ถ้าต้องการให้คดีเป็นไปด้วยความยุติธรรมจริง ปชป.ควรจะเรียกร้องให้คุ้มกันไม่ให้ตุลาการศาล รธน.มีใครมาวิ่งเต้น โดยเฉพาะจากคนใน ปชป.เอง

@ ผมกลัวว่าการที่เจ้าหน้าที่ศาลเอาเอกสารมาส่งให้คนของปชป.อาจเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ กลัวจะมีเรื่องใหญ่กว่านั้นที่เรายังไม่รู้ก็ได้

@ ข่าวเรื่องการจ้างทนายเพิ่ม การเตรียมตั้งพรรคสำรอง  แสดงว่า ปชป.คงรู้ว่าคดีนี้หนักมากและคงไปไม่รอดจริงเพราะพยานหลักฐานและข้อกฎหมายชัดเจน

@ งานนี้ผู้มีอำนาจทั้งหลายคงต้องชั่งน้ำหนักว่าจะปล่อย ปชป.ถูกยุบไปแล้วเริ่มกันใหม่หรือจะช่วยปชป.  แต่จะทำให้คนยิ่งเห็นความเป็น 2 มาตรฐาน

@ ถ้า ปชป.ถูกยุบ กรรมการบริหารชุดที่เกิดเรื่องจะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ลงโทษเป็นบางคนไม่ได้ นายกฯ ก็จะพ้นจากตำแหน่งด้วย

@ เรื่องนี้มาจากการออกประกาศ คปค.ฉบับที่27 ซึ่งต่อมาได้ถูกนำเข้าไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้าพรรคถูกยุบ  ศาลจึงไมมีทางตัดสินเป็นอย่างอื่น

@ นักการเมืองคนสำคัญจำนวนมากของปชป.จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี เป็นการสูญเสียบุคลากรและทั้งๆที่หลายคนอาจไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเลย

@ ระบบกฎหมายนี้จึงเป็นระบบที่ไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ทำให้บ้านเมืองเสียหายและระบบพรรคการเมืองอ่อนแอและขัดหลักนิติธรรม

@ ที่ว่าขัดหลักนิติธรรมคือทำผิดเป็นบางคนแต่ลงโทษทั้งหมู่คณะ และยังเป็นการลงโทษย้อนหลังเพราะกรณีเกิดก่อนกฎหมายเรื่องถอนสิทธิ์มีขึ้น

@ แต่จะไม่ลงโทษโดยอ้างเหตุผลดั่งที่ยกมาก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้อย่างนั้นและทำเป็นบรรทัดฐานผิดๆมาแล้วในเรื่องกฎหมายย้อนหลัง จะเว้นเฉพาะปชป.ไม่ได้

@ โดยสรุป ระบบกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดหลักนิติธรรมที่เดิมทีมุ่งทำลายคนกลุ่มเดียวกำลังออกฤทธิ์กับปชป.เข้าแล้ว

@ ที่มีข่าวว่าอาจชิงยุบสภาก็เป็นไปได้สูง เพราะเมื่อพรรคถูกยุบ นายกฯก็จะพ้นสภาพ รัฐบาลก็จะอยู่ในสภาพแพแตกทันที ปชป.ก็อาจแตกกระจัดกระจาย

@ การยุบ ปชป.จึงเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับผู้มีอำนาจทั้งหลาย เพราะอาจจะทำให้ทุกอย่างเสียหายไปหมด แต่ถ้าไม่ยุบก็ถูกมองว่าช่วย ปชป.อย่างน่าเกลียด

@ ถ้าไม่ยุบ ปชป.จากทั้ง 2 คดี  ผู้คนก็จะสรุปว่าบ้านเมืองนี้ไม่มีความยุติธรรมชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก จะส่งผลเสียต่อสังคมไทยในระยะยาวอย่างรุนแรง

@ ผมเสนอว่าควรใช้กฎหมายว่าด้วยการยุบพรรคกับปชป.เป็นพรรคสุดท้าย  แล้วแก้ระบบกฎหมายในเรื่องนี้เสียใหม่ให้ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม

@ ในทางตรงข้ามถ้าช่วย ปชป.ให้รอดจากการยุบพรรคแล้วคงระบบกฎหมายนี้ไว้เพื่อเล่นงานพรรคอื่นไปเรื่อยๆอย่างที่ผ่านมา วันข้างหน้าบ้านเมืองอาจลุกเป็นไฟ

@ นี่ไม่ใช่การกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้มีอำนาจหน้าที่อะไร เพียงแต่เป็นห่วงบ้านเมืองในฐานะคนที่ตกเป็นเหยื่อของความป่าเถื่อนของระบบปัจจุบัน

@ ถ้าจะมีอะไรแนะ ปชป.บ้างก็คือนอกจากคิดยุบสภาเร็วขึ้นก็อาจให้นายกฯลาออกเสียก่อนเพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ก่อนที่ศาลฯจะตัดสิน ก็ยังพอเป็นทางรอด

@ เรื่องยุบพรรค ปชป.ขอไว้เท่านี้ก่อนละครับ แค่นี้ก็ไม่รู้ว่าหัวหน้า ปชป.จะสั่งให้โฆษกส่วนตัวออกมาลุยหรือเปล่า หรือจะให้ ศอฉ.ปิดทวิตเตอร์ผม

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรุงเทพโพลล์: “ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจไทย”

Posted: 14 Jul 2010 02:38 AM PDT

<!--break-->

14 ก.ค. 53 - ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 25 แห่ง เรื่อง “ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจไทย” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 9-12 ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่า
 
ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ตุลาคม 53) อยู่ที่ 72.19 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน (กรกฎาคม 53) ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นต่อสถานะทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน(กรกฎาคม 53) ว่ายังคงอยู่ในสถานะที่อ่อนแอเห็นได้จากค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 42.16 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า 50 (ตารางในข้อ 1)
 
เมื่อพิจารณาในแต่ละปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าพบว่านักเศรษฐศาสตร์มีมุมมองเชิงบวก เห็นได้จากค่าดัชนีคาดการณ์ฯ ที่อยู่ในระดับสูงกว่า 50 ในทุกปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยด้านการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นค่อนข้างมากว่าจะปรับตัวดีขึ้น (ค่าดัชนีเท่ากับ 81.88) รองลงมาเป็นปัจจัยการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ในขณะที่ปัจจัยด้านการส่งออกแม้ว่าค่าดัชนีคาดการณ์ฯ จะอยู่ในระดับ 63.57 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 50 แต่ค่าดัชนีก็อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจัยขับเคลื่อนอื่นจึงอาจสื่อให้เห็นว่าบทบาทการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการส่งออกในอีก 3 เดือนข้างหน้าอาจปรับตัวลดลง
 
ด้านสถานะในปัจจุบันของแต่ละปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ เชื่อว่าภาคการส่งออกในปัจจุบันยังคงอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่ง และมีมุมมองต่อการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนว่าอยู่ในสถานะปกติ ส่วนมุมมองต่อการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและการลงทุนภาคเอกชน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าอยู่ในสถานะที่อ่อนแอ
 
สำหรับการประเมินสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ปัจจัยที่จะส่งผลด้านลบที่สำคัญคือ วิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรป (ร้อยละ 61.4) รองลงมาเป็นปัญหาด้านการเมือง (ร้อยละ 42.9) ตามด้วยเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวม (ร้อยละ 38.6) ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลด้านบวกที่สำคัญคือความเชื่อมั่นผู้บริโภค (ร้อยละ 61.4) รองลงมาเป็นความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (ร้อยละ 58.6) ตามด้วยการปรับค่าเงินหยวนของจีน (ร้อยละ 50.0)
 
สำหรับความเห็นเกี่ยวกับ แนวคิดของรัฐบาลที่จะปรับเปลี่ยนมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนมาเป็นการให้บริการสังคมฟรีระยะยาวนั้น นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 51.4 เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ในจำนวนนี้ เห็นด้วยกับมาตรการรถเมล์ฟรีมากที่สุด (ร้อยละ 21.7) รองลงมาเป็นมาตรการรถไฟฟรี(ร้อยละ 20.3) และค่าไฟฟ้าฟรี (ร้อยละ 9.4) ตามลำดับ ขณะที่ร้อยละ 40.0 ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว
 
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ได้ให้ข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจ โดยในระยะสั้น (ภายใน 1 ปี) เสนอให้ รัฐบาลรักษามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ก่อน และทำการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามแผนที่วางไว้ ส่วนนโยบายการเงินนั้นเสนอให้รักษาระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำไว้อีกสักระยะก่อน นอกจากนี้ เสนอให้ตัดโครงการประชานิยมที่ไม่ส่งผลต่อประชาชนที่เดือดร้อนจริงแต่ควรให้โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตมากกว่า ส่วนระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) เสนอให้ ดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยการสร้างความเป็นธรรมทางทางเศรษฐกิจผ่านแนวทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม การนำระบบรัฐสวัสดิการมาใช้ การส่งเสริมภาคการเกษตร การสร้างงานในท้องถิ่นเพื่อลดการเคลื่อนย้ายคนเข้าเมือง เป็นต้น ซึ่งผลที่ตามมานอกจากความเหลื่อมล้ำที่ลดลงแล้วยังจะช่วยเพิ่มอำนาจซื้อของคนในประเทศ อันจะช่วยลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย
 
 (โปรดพิจารณารายละเอียดของผลสำรวจดังต่อไปนี้)
 
1 ปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และคาดการณ์อนาคตอีก 3 เดือนข้างหน้า
 

ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
สถานะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า
อ่อนแอ
(%)
ปกติ
(%)
แข็งแกร่ง
(%)
ค่าดัชนี
 1) การบริโภคภาคเอกชน
30.4
60.9
8.7
39.13
79.29
 2) การลงทุนภาคเอกชน
57.4
36.8
5.9
24.26
71.01
 3) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
7.4
69.1
23.5
58.09
65.22
 4) การส่งออกสินค้า
8.7
30.4
60.9
76.09
63.57
 5) การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
77.9
17.6
4.4
13.24
81.88
ดัชนีรวม
42.16
72.19

 
ค่าดัชนีเท่ากับ 50 หมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ในสถานะปกติ (สำหรับสถานะปัจจุบัน) หรือหมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ เดิม/ไม่เปลี่ยนแปลง (สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า)
 
ค่าดัชนีสูงกว่า 50 หมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ในสถานะแข็งแกร่ง (สำหรับสถานะปัจจุบัน) หรือหมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ ดีขึ้น (สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า)
 
ค่าดัชนีต่ำกว่า 50 หมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ในสถานะอ่อนแอ (สำหรับสถานะปัจจุบัน) หรือหมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ แย่ลง (สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า)
 
2. สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในแต่ละส่วนต่อไปนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า
 
ส่งผลด้านลบ
 อันดับ 1 :         ร้อยละ 61.4       วิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรป
 อันดับ 2 :         ร้อยละ 42.9       ปัญหาด้านการเมือง
 อันดับ 3 :         ร้อยละ 38.6       เศรษฐกิจโลกโดยภาพรวม
 
ไม่ส่งผลกระทบ(ทั้งด้านลบและด้านบวก)
 อันดับ 1 :         ร้อยละ 60.0       อัตราเงินเฟ้อทั่วไป
 อันดับ 2 :         ร้อยละ 58.6       อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท
อันดับ 3 :       ร้อยละ 52.9       อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์
อันดับ 4 :       ร้อยละ 51.4       ราคาน้ำมันโดยภาพรวม
 
ส่งผลด้านบวก
 อันดับ 1 :         ร้อยละ 61.4       ความเชื่อมั่นผู้บริโภค
 อันดับ 2 :         ร้อยละ 58.6       ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ
 อันดับ 3 :         ร้อยละ 50.0       การปรับค่าเงินหยวนของจีน
 
 3. ความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดการปรับเปลี่ยนมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน(ซึ่งเพิ่งมีการต่ออายุถึงสิ้นปี 53) มาเป็นการให้บริการสังคมฟรีระยะยาว
                           ร้อยละ   40.0                  ไม่เห็นด้วยในทุกโครงการ
ร้อยละ   51.4                 เห็นด้วย โดย
ร้อยละ 21.7        เห็นด้วยกับมาตรการรถเมล์ฟรี        
ร้อยละ 20.3        เห็นด้วยกับมาตรการรถไฟชั้น 3 ฟรี 
ร้อยละ 9.4          เห็นด้วยกับมาตรการค่าไฟฟ้าฟรี
ร้อยละ   8.6                    ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ
 
 
4 ข้อเสนอแนะประเด็นเศรษฐกิจต่อรัฐบาล
ข้อเสนอระยะสั้น(ภายใน 1 ปี)
อันดับ 1 รักษามาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ก่อน และทำการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามแผนที่วางไว้ ในส่วนนโยบายการเงินนั้นเสนอให้รักษาระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำไว้อีกสักระยะก่อน นอกจากนี้ เสนอให้ตัดโครงการประชานิยมที่ไม่ส่งผลต่อประชาชนที่เดือดร้อนจริงแต่ควรให้โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตมากกว่า
อันดับ 2 เร่งสร้างความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางด้านการเมือง จัดทำและดำเนินแผนปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งช่วยเหลือผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง
อันดับ 3 กระตุ้นการลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมถึงการสร้างอาชีพสร้างงานในท้องถิ่น
 
ข้อเสนอระยะยาว(มากกว่า 1 ปี)
อันดับ 1 ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจผ่านแนวทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม การนำระบบรัฐสวัสดิการมาใช้ การส่งเสริมภาคการเกษตร การสร้างงานในท้องถิ่นลดการเคลื่อนย้ายคนเข้าเมือง เป็นต้น ผลที่ตามมานอกจากความเหลื่อมล้ำที่ลดลงแล้วอำนาจซื้อของคนในประเทศจะเพิ่มขึ้น อันจะช่วยลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ
อันดับ 2 พัฒนาศักยภาพของประเทศ ด้วยการพัฒนาการศึกษา พัฒนาคน ลดการคอร์รัปชันและพัฒนาปัจจัยด้านการเมืองไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการจัดการแรงงานภาคอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แรงงานต่างด้าว รวมถึงฐานข้อมูลแรงงาน
อันดับ 3 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ระบบชลประทานเพื่อการเกษตร เครือข่ายคมนาคม ระบบโลจิสติกส์ พลังงานทดแทนรวมถึงพลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โสภณ พรโชคชัย: แนวทางการแก้ปัญหาทุจริตคดโกงในภาคธุรกิจเอกชน

Posted: 14 Jul 2010 02:29 AM PDT

<!--break-->

Corruption ซึ่งแปลไทยว่าการทุจริต ประพฤติมิชอบ โกงกินและติดสินบน แพร่หลายเป็นอย่างมากและในแทบทุกวงการในประเทศไทยของเรา ผมจำได้ว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วสมัยผมยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรี มีคำขวัญที่โด่งดังว่า “ช่วยขจัดคอร์รับชั่นให้สิ้น เพื่อแผ่นดินไทยอยู่รอด” บัดนี้คนที่เคยโกงกินเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ก็คงหมดอำนาจหรือตายไปเกือบหมดแล้ว แต่คนโกงกินรุ่นใหม่ก็กลับมาสืบทอด “เจตนารมณ์” อย่างไม่ขาดสาย!
 
การทุจริต ซึ่งเป็นคำไทยที่ต่อไปนี้จะใช้แทนภาษาอังกฤษว่า Corruption นั้นมักพุ่งเป้าไปที่การประพฤติมิชอบในวงราชการ แต่ในบทความนี้ มุ่งชี้ให้เห็นถึงการทุจริตในภาคเอกชน ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับการทุจริตภาครัฐเช่นกัน
 
อย่างไรจึงเป็นการทุจริต
 
หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติที่ชื่อว่า United Nations Development Program (UNDP) ได้จัดทำ Anti-Corruption: Practice Note {1} ขึ้น ใจความสำคัญสรุปได้ว่าการทุจริตนั้นเป็นความล้มเหลวของการบริหารจัดการที่แสดงถึงการขาดความโปร่งใสและการตรงไปตรงมาและไม่ได้เป็นการปกครองโดยระบบนิติรัฐที่ถือกฎหมายเป็นหลัก ปรากฏการณ์เช่นนี้ในประเทศไทยของเรา สะท้อนจากอาการ “คนไทยกลัวตำรวจ แต่ไม่กลัวกฎหมาย” ซึ่งต่างจากประเทศตะวันตกอย่างเด่นชัด {2}
 
UNDP ได้สรุปผลร้ายของการทุจริตหลายประการ ได้แก่:
 
1. ลดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ
ผมเคยไปเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงการคลังในประเทศเพื่อนบ้าน 2-3 แห่ง บริษัทขนาดใหญ่ที่จะเข้าไปทำธุรกิจ ต่างต้องเสีย “ค่าต๋ง” ให้กับข้าราชการใหญ่ เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม หาไม่ก็จะไมได้รับสัมปทาน เป็นต้น
 
2. ลดทอนรายได้ของภาครัฐที่จะนำมาเพื่อการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย
ทำให้ผู้มีรายได้น้อย ยิ่งยากจนลง ส่งผลเสียต่อประเทศโดยรวม จะเห็นได้ว่า ประเทศในภูมิภาคนี้อาจมีความแตกต่างกันไม่มากนักเมื่อราว 50 ปีก่อน แต่ในขณะนี้แตกต่างกันมาก ประเทศที่มีการทุจริตมาก ย่อมเจริญน้อยกว่าประเทศที่มีการทุจริตน้อย
 
3. จัดสรรทรัพยากรผิด
ทำให้การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดซึ่งแทนที่จะนำไปพัฒนาประเทศ กลับนำไปใช้ในวงการอื่นที่อาจมีความจำเป็นน้อยกว่า เช่น ในด้านงบประมาณการทหาร เป็นต้น
 
4. ทำให้กฎหมายบ้านเมืองขาดความศักดิ์สิทธิ์
ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
 
5. เป็นการทำลายระบบสิทธิมนุษยชน
สร้างวงจรความชั่วร้ายจากการทุจริต กลุ่มที่อยู่เหนือกฎหมายย่อมกระทำการให้ผู้อื่นเสียสิทธิอันชอบธรรม และส่งผลต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคมโดยรวม
 
การขจัดการทุจริตจึงเป็นภาระหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของคนไทยทุกคน การร่วมกันขจัดการทุจริตจึงเป็นกุศลกรรมที่ทำแล้วจะเป็นมงคลต่อชีวิตเหนือกว่าการทำบุญใด ๆ แต่ในความเป็นจริงก็อาจ “โชคร้าย” ถูกทำลายชีวิตและทรัพย์สินได้เช่นกัน
 
 
รูปแบบการทุจริตในภาคเอกชน
 
บางท่านอาจนึกภาพไม่ออกว่าการทุจริตในภาคเอกชนเป็นอย่างไร เพราะส่วนมากเห็นแต่การทุจริตในภาครัฐ รูปแบบการทุจริตในภาคเอกชน มีตั้งแต่การที่ถูกปัจจัยภายนอกบังคับให้ทำการทุจริต เช่น จำเป็นต้องจ่ายเงิน “ใต้โต๊ะ” หาไม่ก็ไม่อาจประกอบธุรกิจได้ (โดยสะดวก) การทุจริตฉ้อโกงโดยผู้บริหารบริษัทนั้นเอง การทุจริตภายในวิสาหกิจซึ่งกระทำโดยพนักงานเอง เป็นต้น
 
1. การทุจริตที่เกิดจากปัจจัยภายนอก
 
ในที่นี้หมายถึงการที่วิสาหกิจเอกชนจำเป็นต้องติดสินบนเจ้าพนักงานเพื่อให้สามารถทำธุรกิจได้ (โดยสะดวก) หรือโดยไม่ถูกขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว ปรากฏการณ์เช่นนี้มีเห็นอยู่ทั่วไปในวงการการรับ-ส่งสินค้าระหว่างประเทศ การขอรับใบอนุญาตต่าง ๆ จากทางราชการ แม้แต่วิสาหกิจชั้นดีที่มีธรรมาภิบาลสูงจากต่างประเทศก็ยังต้องยอมติดสินบน เช่น การเข้าไปทำธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศโลกที่สาม เป็นต้น
 
ในประเทศตะวันตกที่มีระบบการต่อสู้กับการทุจริตที่ดี ปรากฏว่า ต้นทุนในการเลี่ยงภาษี สูงกว่ามูลค่าของการเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในกรณีประเทศกำลังพัฒนา ต้นทุนในการเลี่ยงภาษีกลับต่ำกว่า จึงทำให้นักธุรกิจยินดีหรือจำเป็นที่จะต้องติดสินบน เพื่อให้การทำธุรกิจเป็นไปด้วยความราบรื่น โดยถือต้นทุนนี้เป็นต้นทุนปกติหนึ่งของการทำธุรกิจนั่นเอง
 
2. การตั้งใจฉ้อโกงโดยเจ้าของวิสาหกิจ
 
กรณีนี้ถือเป็นการมุ่งกระทำอาชญากรรมโดยโจ่งแจ้ง ได้แก่ การตั้งวงธุรกิจแชร์ลูกโซ่ หรืออาชญากรรมเศรษฐกิจผ่านการขายสินค้าด้วยระบบขายตรงบางรายการ เป็นต้น กรณีนี้ถือเป็นการฉ้อโกงลูกค้าหรือผู้มีส่วนได้เสียอื่น สมควรที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
 
เมื่อเร็ว ๆ นี้พนักงานผู้ช่วยเลขานุการของผมคนหนึ่ง ยินดีลาออกจากงานเพื่อไปสมัครงานในบริษัทใหม่ซึ่งเป็นของเพื่อนและจ่ายเงินเดือนมากกว่าผมถึง 40% ผมก็ยินดีให้ลาออกไป แต่พนักงานผู้นี้ทำงานได้เพียงเดือนเศษ ๆ ก็ลาออกเพราะพบว่า บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่เข้าข่าย “ต้มตุ๋น” ประชาชน ในระหว่างทำงาน ก็ทำด้วยความไม่สบายใจ เพราะมีผู้รักษากฎหมายเข้ามาตรวจและจับกุมผู้บริหารบริษัทบ่อยครั้ง แต่ผู้บริหารก็ไม่ได้ถูกจับไป ซึ่งก็คงเป็นเพราะได้ติดสินบนเจ้าพนักงานนั่นเอง
 
3. การทุจริตของผู้บริหาร-พนักงาน
 
ผมเป็นกรรมการที่ปรึกษาของสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาหลายสมัย ทราบจากข้อมูลที่เกี่ยวข้องว่า การทุจริตในวงการสถาบันการเงินนั้น ส่วนมากมาจากการทุจริตจากบุคคลภายใน เช่น โดยผู้บริหารหรือพนักงาน ไม่ใช่การโกงจากลูกค้าภายนอก เช่น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การทุจริตจากภายในนี้ เป็นการทุจริตที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ โปรดดูพาดหัวข่าวเฉพาะในวงการสถาบันการเงินที่มีระบบตรวจสอบที่ดีที่สุดแล้ว ยังมีข่าวออกบ่อย ๆ ดังต่อไปนี้:
·    แจ้งจับผู้ช่วยผจก.แบงก์ธนชาตโกง 17 ล. (คมชัดลึก: 3 เมษายน 2552)
·    จำคุกเกริกเกียรติ 20ปีชดใช้บีบีซี 1.5พันล. (กรุงเทพธุรกิจ: 11 มีนาคม 2552)
·    ศาลสั่งจำคุกสาวแบงก์ 492 ปี ฐานโกงเงินลูกค้ากว่า 65 ล้านบาท (โพสต์ทูเดย์ 27 กันยายน 2551)
·    ผช.ผจก.สาวแบงก์ โกง200ล.ตร.ประกาศจับทั่วปท. (ข่าวสด: 6 พฤษภาคม 2550)
·    พนักงานธ.กรุงเทพ โกงเงินลูกค้าเกือบ 3 ล้านบาท (28 กันยายน 2550)
·    รวบหนุ่มแบงก์ โกง 45 ล. ติดหวยงอมแงม (ไทยรัฐ: 26 พฤศจิกายน 2548)
·    สาวแบงก์ทหารไทยโกงเงินลูกค้า 13 ล.นานกว่า 3 ปี (ข่าวสด: 25 กุมภาพันธ์ ไม่ทราบปี)
            
4. การรับประโยชน์ที่มิควรได้
 
ประโยชน์ที่มิควรได้ประกอบด้วย การ “กินตามน้ำ” ในกระบวนการจัดซื้อของวิสาหกิจ ซึ่งมักมีความไม่โปรงใสต่าง ๆ ทั้งนี้รวมไปถึงการรับประโยชน์ทางอ้อมต่าง ๆ อันได้แก่ ใบหุ้น หรือการได้รับการอำนวยความสะดวกในการจับจ่ายหรือการรื่นรมย์ต่าง ๆ เช่น การเข้าแหล่งบันเทิงต่าง ๆ เป็นต้น
 
ผู้บริหารของวิสาหกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะที่เป็นบริษัทมหาชนนั้น ทำการผูกขาดตัดตอนบริการเสริมต่าง ๆ เช่น ในกรณีสถาบันการเงิน ผู้บริหารนั้น ๆ อาจตั้งบริษัทขนเงิน บริษัทยาม บริษัทประเมินค่าทรัพย์สิน ฯลฯ เพื่อให้บริการแก่สถาบันการเงินของตนเอง การนี้ย่อมทำให้สถาบันการเงินไม่ได้รับสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพ เนื่องจากขาดการแข่งขันเสรีจนได้รับบริการที่ดีที่สุด ณ ราคาที่ถูกที่สุด ทำให้ผู้ถือหุ้นทั้งหลายได้รับความเสียหาย
 
5. สวัสดิการที่สูงเกินควร
 
วิสาหกิจขนาดใหญ่หลายแห่งโดยเฉพาะบริษัทมหาชน จ่ายสวัสดิการที่สูงเกินจริง เช่น ในวงการสายการบิน สายการบินที่มีชื่อเสียงชั้นนำของโลกบางแห่ง ให้อดีตพนักงานสามารถซื้อตั๋วเดินทางในอัตราราคาเพียงไม่กี่ร้อยบาท ในขณะที่ผู้ใช้บริการทั่วไปต้องเสียค่าบริการหลายหมื่นบาท เป็นต้น
 
อาจกล่าวได้ว่า พนักงานของวิสาหกิจขนาดใหญ่หลายแห่งมีประสิทธิภาพการทำงานที่ต่ำ ทำงานอยู่ในลักษณะเสมือน “ทาก” “กาฝาก” หรือ “พยาธิ” ที่เกาะกินวิสาหกิจขนาดใหญ่ ในบางหน่วยงานอาจสามารถ “ดุน” พนักงานเหล่านี้ออกได้จำนวนมาก และหากพนักงานเหล่านี้ออกไปแล้ว ก็ใช่ว่าจะหางานทำได้ในตลาดแรงงานทั่วไป เพราะคงมีคุณภาพต่ำเกินกว่าจะหางานตามอัตราเงินเดือนที่ได้รับอยู่ในวิสาหกิจปัจจุบัน
 
อาจกล่าวได้ว่ารูปแบบของการทุจริต ซึ่งสรุปจากกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ค มีดังนี้:
·    กลโกงในการประมูล
·    การ “ฮั้ว” ประมูล
·    การโกงในเรื่องสัญญา
·    การโกงในระบบการตรวจสอบ
·    การโกงในการจัดซื้อ – ต้นทุนสินค้า/บริการ
·    การติดสินบน
·    การโกงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเดินทาง
·    การขโมยและการยักยอกทรัพย์ขององค์กร
 
 
ความคาดหวังของสังคม
 
ความคาดหวังของสังคมต่อการไม่ทุจริตของวิสาหกิจต่าง ๆ นั้น สามารถเข้าใจได้ ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ หรือธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อม (SMEs: Small and Medium Enterprises) ล้วนต้องไม่กระทำการทุจริต ดังนี้:
 
1. ธุรกิจ SMEs
 
หลายท่านคงเคยได้ยินว่า แม่ค้าขายขนมจีน เอากระดาษทิชชูมาผสมในน้ำยา นัยว่าเพื่อลดต้นทุนให้ขายได้ราคาถูก ช่วยให้ขายได้ดีขึ้น หรือใส่ผงชูรสมากมายเพียงเพื่อให้คนติดใจในรสชาติโดยขาดความรับผิดชอบ หรือนำอาหารที่เสื่อมคุณภาพมาขายจนกระทั่งเด็กนักเรียนกินแล้วอาเจียนกันทั้งโรงเรียน เป็นต้น
 
ในธุรกิจไม่ว่าระดับ SMEs หรือธุรกิจขนาดใหญ่ มีคติชั่วร้ายอยู่อย่างหนึ่งก็คือ “ด้านได้-อายอด” กล่าวคือ ทำอะไรก็ได้ที่ขอเพียงให้ได้ผลตอบแทนงดงามในวันนี้โดยไม่รับผิดชอบ การทำธุรกิจเช่นนี้ย่อมไม่ยั่งยืนและยังเสี่ยงกับการถูกสั่งปิด เราจึงควรส่งเสริมธุรกิจให้รับผิดชอบ หาไม่ถือเป็นการละเมิด เป็นการกระทำผิดกฎหมาย เป็นอาชญากรรมที่ต้องถูกลงโทษ
 
2. บริษัทมหาชน
 
ข่าวในหนังสือพิมพ์ อาจพบเห็นได้ว่าเจ้าของเดิมของบริษัทมหาชน ทิ้งกิจการของตนเองหลังจากเข้าระดมเงินในตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว ผู้บริหารบางคนโกงบริษัทของตนเอง หรือใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยเพื่อบำรุงความสุขสบายของผู้บริหาร เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ ตลาดหลักทรัพย์และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต) ต่างมี มาตรการควบคุมบริษัทมหาชนรัดกุมกว่าแต่ก่อน และถือเป็นมาตรฐานที่ดีสำหรับวิสาหกิจอื่น ๆ นอกตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เกิดความ โปร่งใส เป็นธรรม และปิดโอกาสการทุจริต
 
3. นายธนาคาร
 
เราคงเคยได้ยินว่า ธนาคารหลายแห่งที่เจ๊งไปนั้น เป็นเพราะการปล่อยกู้อย่างขาดความรับผิดชอบให้เครือญาติโดยขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เพียงพอ ธนาคารหลายแห่งขโมยโครงการที่มีแนวคิดการตลาดดี ๆ ไปทำเสียเอง หรือกว่าจะกู้เงินได้ ก็ต้องจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ผู้จัดการสาขา และผู้จัดการเขต เป็นต้น
 
ธนาคารที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ก็คือการรับผิดชอบต่อลูกค้าเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่มาฝากเงินหรือที่มากู้เงิน โดยการ “กวาดบ้าน” ตัวเองก่อน ปิดโอกาสที่จะเกิดทุจริต ทำให้ลูกค้าไว้วางใจ เป็นต้น
 
3. สื่อมวลชน
 
เราได้ยินปัญหาของสื่อมวลชนอยู่เนือง ๆ เช่น การเขียนเชียร์ดารา หรือผู้มีอุปการะคุณที่ลงโฆษณา หรือที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือการใช้ปากกาเป็นอาวุธในการทำร้ายคนอื่น ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์มักเป็นข่าวที่ได้จากการแถลงข่าวของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเสนอข่าวอาจคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคน้อยกว่าผู้จ่ายเงินโฆษณาที่ทำให้สื่อมวลชนอยู่ได้ หนังสือพิมพ์จึงอาจเป็นเพียง “กระบอกเสียง” หรือเป็นเพียง “กระดาษเปื้อนหมึก” ไปในบางคราว
 
สื่อมวลชนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่ทุจริต จึงไม่ควรเป็นเครื่องมือของประเทศมหาอำนาจ นายทุนข้ามชาติ หรือนายทุนในประเทศรายใหญ่ ๆ ที่มุ่งการเสนอข่าวเฉพาะบางมุมบางด้านอันถือเป็นการ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” และเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อโดยไม่รับผิดชอบ
 
4. ห้างสรรพสินค้า
 
ห้างสรรพสินค้าที่ขายของราคาแพงเกินเหตุ หลอกขายของที่คุณภาพไม่สมราคา หรือหลอกลวงด้วยกลยุทธลดแลกแจกแถมที่ฉ้อฉล ย่อมถือเป็นการละเมิด กระทำการทุจริตต่อลูกค้า หากสรรพสินค้าที่ไม่ทุจริตก็คือไม่ตั้งราคาสินต้าเกินควรในเชิงเปรียบเทียบกับคู่แข่ง
 
5. นักพัฒนาที่ดิน
 
ความคาดหวังของสังคมต่อนักพัฒนาที่ดิน เช่น ผู้ประกอบการบ้านจัดสรรหรืออาคารชุดก็คือ การไม่ฉ้อโกงลูกค้า การไม่ใช้วัสดุหรือการส่งมอบบ้านและบริการสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่มีคุณภาพด้อยกว่าที่โฆษณาไว้ เป็นต้น รวมทั้งการไม่หลอกขายบ้านในราคาที่สูงเกินจริง เป็นต้น
นักวิชาชีพ
 
6. บริการวิชาชีพ
 
บริการวิชาชีพอาจถือเป็น SMEs เราคงเคยได้ยินบริษัทบัญชี หรือผู้ตรวจสอบบัญชีบางราย ฉ้อฉลด้วยการลงลายมือชื่อตรวจสอบบริษัทนับแสนรายต่อปี บริษัทที่ปรึกษา เช่น ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินบางแห่งไม่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงผู้ประกอบวิชาชีพเรียกรับเงินจากลูกค้า หรือร่วมกับ ลูกค้าออกรายงานประเมินโกงธนาคาร หรือร่วมมือกับผู้บริหารธนาคารโกงธนาคารที่ตนบริหารอยู่ เป็นต้น ดังนั้น นักวิชาชีพที่ดีต้องไม่ “พาย-เรือให้โจรนั่ง” แต่ควรดำเนินวิชาชีพตามกฎหมาย ไม่ละเมิดจรรยา-บรรณของวิชาชีพเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
 
การควบคุมวิชาชีพนั้น รัฐบาลมักเป็นผู้ดำเนินการควบคุมโดยตั้งเป็นสภาวิชาชีพ เช่น แพทยสภา สภาวิศวกร และสภาสถาปนิก ในประเทศไทยยังมีวิชาชีพอีกหลายแขนงที่ยังไม่มีสภาวิชาชีพ อาจกล่าวได้ว่าในประเทศที่ไม่ค่อยพัฒนา ยังไม่มีระบบควบคุมนักวิชาชีพ เพื่อให้ความไม่มีระบบและขาดการควบคุมนี้ เป็นช่องทางการโกงกินต่าง ๆ โดยใช้นักวิชาชีพเป็นตรายาง (rubber stamp)ต่อไป
 
การไม่ทุจริตกับ CSR
 
หลักการรับผิดชอบต่อสังคมของวิสาหกิจ (CSR: Corporate Social Responsibility) ตาม the UN Global Compact ซึ่งเป็นกรอบที่วางโดยองค์การสหประชาชาติ {4} ให้วิสาหกิจดำเนินตามหลักการ 10 ประการนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อมและการไม่ยอมรับการโกงกิน-สินบน ในขณะนี้มีวิสาหกิจเข้าร่วมลงนามเป็นจำนวนมาก โดยถือเป็นกลุ่มที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในโลก
 
วิสาหกิจใดที่ประสงค์จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ UN Global Compact จะต้องลงนามตกลงปฏิบัติตามหลักการ 10 ประการอย่างเคร่งครัด ซึ่งประกอบด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่ง แวดล้อม และการไม่ร่วมมือกับการติดสินบนหรือทุจริต ดังนี้:
 
1. ด้านสิทธิมนุษยชน
หลักข้อที่ 1: ธุรกิจควรสนับสนุนและเคารพการปกป้องสิทธิ-มนุษยชนที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ
หลักข้อที่ 2: ธุรกิจไม่พึงข้อแวะกับการกระทำที่ขัดหลักสิทธิ-มนุษยชน
 
2. ด้านมาตรฐานแรงงาน
หลักข้อที่ 3: ธุรกิจควรส่งเสริมและตระหนักถึงเสรีภาพในการก่อตั้งสหภาพแรงงานของพนักงาน
หลักข้อที่ 4: ธุรกิจต้องร่วมขจัดการบังคับการใช้แรงงาน
หลักข้อที่ 5: ธุรกิจต้องร่วมขจัดการใช้แรงงานเด็ก
หลักข้อที่ 6: ธุรกิจต้องไม่กีดกันการจ้างงานและอาชีพ
 
3. ด้านสิ่งแวดล้อม
หลักข้อที่ 7: ธุรกิจควรสนับสนุนการดำเนินการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม
หลักข้อที่ 8: ธุรกิจควรแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ต่อความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม
หลักข้อที่ 9: ธุรกิจควรส่งเสริมและเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
4. ด้านการไม่ยอมรับการทุจริต
 
หลักข้อที่ 10: ธุรกิจควรดำเนินไป โดยปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบในทุกรูปแบบ รวมทั้งการบังคับ ขูดรีด และการติดสินบน ทั้งนี้อาจพิจารณาในกรณีภายในวิสาหกิจ และการให้สินบนอันเป็นการทุจริตในวงราชการ ก็เป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง
 
การปฏิบัติให้ครบถ้วนหรือไม่ละเมิดตามหลักการข้างต้น จึงถือว่าวิสาหกิจนั้น ๆ มี CSR ดังนั้น CSR จึงไม่ใช่การไปทำบุญเอาหน้า หรือสักแต่ทำทีดูแลสิ่งแวดล้อม หรือเลี่ยงไปทำดีทางอื่นในหน้าฉาก แต่หลังฉากกลับขูดรีด ฉ้อฉล เอาเปรียบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยไม่ละอายและไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย
 
 
ว่าด้วยจรรยาบรรณ
 
ในการป้องกันการทุจริตนั้น จรรยาบรรณถือเป็นมาตรการสำคัญประการหนึ่ง จรรยาบรรณนั้นถือเป็น Solf Law หรือ “กฎหมายอย่างอ่อน” ซึ่งไม่ใช่กฎหมาย Hard Law แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับมรรยาท มาตรฐานวิชาชีพ จรรยาบรรณธุรกิจหรืออะไรทำนองนี้ ในวงวิชาชีพต่าง ๆ มี Soft Law ซึ่งสังคมทั่วไปก็เคยได้ยินอยู่บ้าง เช่น จรรยาบรรณแพทย์ มรรยาททนาย มาตรฐานบัญชี เป็นต้น ดังนั้นนักวิชาชีพที่มี CSR ก็คือนักวิชาชีพที่มีการปฏิบัติตาม Soft Law โดยเคร่งครัดจนสร้างความไว้วางใจและความเชื่อถือต่อผู้ใช้บริการและสังคมโดยรวม
 
ทำไมจึงมีการบังคับใช้หลักนิติรัฐโดยห้ามละเมิด หรือมีการวางและบังคับใช้ Soft Law โดยเคร่งครัด เหตุผลก็คือเพื่อผู้บริโภคนั่นเอง เพราะในทางกฎหมายก็ถือว่า อำนาจเป็นของปวงชน ในทางรัฐศาสตร์ก็ถือว่า ประชาชนคือเจ้าของประเทศ หรือแม้แต่ในทางการตลาดก็ถือว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” ดังนั้นนักวิชาชีพจึงต้องให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอันดับแรก
 
ประชาชนนี้ไม่ใช่สิ่งลอย ๆ แต่หมายถึงผู้บริโภค ลูกค้าของเรานั่นเอง หากประชาชนวางใจใช้บริการ ก็ย่อมถือเป็นมงคลต่อวิสาหกิจ การถือประชาชนเป็นที่ตั้งจึงเป็นหนทางเดียวที่จะพัฒนาธุรกิจหรือวิชาชีพให้ดีขึ้น เราจึงต้องเริ่มต้นที่ประชาชนก่อน ไม่ใช่ที่ประโยชน์ของนักวิชาชีพ หาไม่นักวิชาชีพก็คงเป็นเพียง “แกงค์” หรือ “ซ่องโจร” ไป
 
การควบคุมทางวิชาชีพ ได้แก่:
 
1. การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
หลายท่านคงจำภาพยนตร์เรื่อง “องค์บาก” ได้ ในภาพยนตร์ดังกล่าว มีเรื่องใบอนุญาตเล่นดนตรี ซึ่งตามท้องเรื่องดูน่าขัน แต่ในความเป็นจริงนับเป็นความน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง หากมีการออกใบอนุญาตในวิชาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยนั้น วิชาชีพต่าง ๆ ก็จะมีการพัฒนา โดยทั่วไปในแต่ละวิชาชีพก็จะมีการจัดระดับ นักวิชาชีพก็จะพยายามเพิ่มพูนความรู้เพื่อการยกระดับตนเองอยู่เสมอ
 
2. การควบคุมการปฏิบัติงานตามวิชาชีพ
เพื่อให้นักวิชาชีพปฏิบัติงานโดยยึดถือมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพโดยเคร่งครัด หาไม่จะถูกลงโทษในสถานต่าง ๆ ตั้งแต่การตักเตือนจนถึงการยึดใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หมดทางทำมาหากินในวิชาชีพอีกต่อไป อย่างไรก็ตามการจัดการศึกษาต่าง ๆ ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรควบคุมวิชาชีพ เพราะถือเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง ที่มีผู้ให้บริการทั่วไป เช่น สถาบันการศึกษาในระดับต่าง ๆ ทั้งหลาย หากองค์กรวิชาชีพจัดการศึกษาเสียเอง ก็เท่ากับผู้บริหารองค์กร “ทำมาหากิน” กับการจัดการศึกษา ทำให้ขาดความเป็นกลางในการควบคุมทางวิชาชีพไป
 
ในการควบคุมวิชาชีพต่าง ๆ รัฐบาลต้องออกหน้ามาควบคุม โดยเสนอกฎหมายให้มีพระราชบัญญัติวิชาชีพต่าง ๆ และจัดตั้งสภาวิชาชีพตามกฎหมาย เช่น แพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาวิชาชีพบัญชี เป็นต้น ในแต่ละวงการเช่น แพทย์ อาจมีแพทยสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือมีสมาคมแพทย์เฉพาะทางต่าง ๆ มากมาย แต่เพื่อการควบคุมวิชาชีพที่เป็นกลาง จึงต้องตั้งสภาวิชาชีพ
 
สมาคมวิชาชีพ ไม่สามารถเป็นผู้ควบคุมนักวิชาชีพได้ เพราะสมาคมประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ถ้าปล่อยให้กรรมการสมาคมซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งหนึ่ง มาคอยตัดสินหรือควบคุมบริษัทคู่แข่งอื่น ก็ย่อมไม่เกิดความเป็นธรรม สมาคมวิชาชีพอาจทำหน้าที่ปกป้องผู้ประกอบวิชาชีพ จัดงานสังสรรค์ หรืออื่น ๆ อย่างสมาคมนักบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย แต่เดิมก็จัดการศึกษา แต่เมื่อมีสภานักบัญชี สมาคมนี้ก็ยุบเลิกไป เพราะไม่มีหน้าที่ควบคุมวิชาชีพ เป็นต้น สมาคมในวิชาชีพอื่นก็อาจยังอยู่ แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ควบคุมวิชาชีพ
 
สภาวิชาชีพจะประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐบาลซึ่ง (โดยทางทฤษฎี) ถือเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีผู้แทนนักวิชาชีพ ผู้แทนผู้ใช้บริการ ผู้แทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น การควบคุมวิชาชีพจึงเป็นเครื่องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของนักวิชาชีพโดยแท้ ในสังคมไทย ยังมีนักวิชาชีพอีกมากที่รัฐบาลยังไม่ได้ควบคุม โดยเฉพาะนักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชน และอาจสร้างความเสียหายได้ในวงกว้าง เช่น ตัวแทนนายหน้า ผู้บริหารทรัพย์สิน ผู้ประเมินค่าทรัพย๋สิน เป็นต้น
 
ประเทศที่ขาดการควบคุมทางวิชาชีพ ย่อมเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย ทำให้ปัญหาการฉ้อโกงทั้งในสังคมและการฉ้อโกงชาติเกิดขึ้นอย่างดกดื่น การควบคุมและพัฒนานักวิชาชีพย่อมทำให้นักวิชาชีพมีความเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำโดยมิชอบ และจะเป็นการช่วยสังคมตรวจสอบความถูกต้องต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
 
นอกจากนี้ยังมีจรรยาบรรณทางธุรกิจซึ่งไม่ใช่ของนักวิชาชีพ แต่เป็นของผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) เช่น กรณีจรรยาบรรณหอการค้าไทย จรรยาบรรณของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย {5} เป็นต้น
 
 
ศีลธรรมไม่ใช่แนวทางการแก้ไข
 
ในการแก้ไขปัญหาทุจริต ไม่ใช่แค่ “อมพระมาพูด” ในเชิงสากล การใช้ศีลธรรมมาแก้ไขปัญหาทุจริตไม่ได้
 
1. ขีดจำกัดของการรณรงค์ให้ทำดี
 
โดยทั่วไปมีการรณรงค์ให้ประชาชนยึดมั่นในศาสนา กิจกรรมรณรงค์อาจมากขึ้น แต่การเข้าถึงศาสนากลับน้อยลง สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ การยกศาสนาหรือความดีมานำเสนอนั้น คนที่ได้ดีเพิ่มขึ้นอาจไม่ใช่คนฟังแต่เป็นคนพูด ที่อย่างน้อยก็ได้หน้า ได้ภาพลักษณ์ ยิ่งถ้าพูดหรือสรรหาคำคมได้ประทับใจเพียงใด ยิ่งได้ผลเพียงนั้น ในวงการศาสนา ทุกท่านก็คงเคยได้ยินว่าพระรูปใดที่มีน้ำเสียงการเทศน์ที่ไพเราะก็มักเป็นที่นิยมของญาติโยม การนี้แสดงว่าเรายังยึดติดอยู่ในเปลือกหรือรูปแบบมากกว่าแก่นหรือสาระ
 
การอธิบายเรื่องการทำดีนั้น แทนที่จะเอาความเชื่อทางศาสนามาอ้างอิง เราควรอธิบายโดยอาศัยความเป็นจริง เช่น ความซื่อสัตย์ต่อ ลูกค้านั้นไม่ใช่การทำดีตามที่บัญญัติในหลักศาสนาหรือเพราะกลัวตกนรก แต่ต้องทำในภาคบังคับตามกฎหมาย คือหากไม่ซื่อสัตย์ ฉ้อโกงลูกค้า ก็อาจถูกลูกค้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ ทำให้เสียชื่อเสียง ความเชื่อถือหมดไป การทำงานอย่างซื่อสัตย์จึงทำให้ธุรกิจยั่งยืน ลูกค้าต้อนรับและเติบโตต่อไปด้วยบริการหรือสินค้าที่มีคุณภาพสมราคา การอธิบายเช่นนี้จะเข้าใจได้ง่ายและชัดเจนโดยไม่ต้องอาศัยบทบัญญัติของศาสนาใดมากล่าวอ้าง
 
2. ไม่ควรอ้างความดีโดด ๆ
 
การพร่ำพูดว่าเราควรทำดี (เพิ่มขึ้น) นั้นอาจไม่เกิดประโยชน์นัก เพราะคนดีก็ทำดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาทุกวันนี้ไม่ใช่อยู่ที่ทำดีน้อยไปแต่อยู่ที่การละเมิดกฎหมายกันอย่างแพร่หลาย โดยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกลับเอาเอาหูไปนาตาไปไร่ต่างหาก เราจึงควรรณรงค์ป้องกันไม่ให้ทำผิดกฎหมาย ส่วนช่องโหว่ของกฎหมายที่มีบางคนเล็ดลอดได้ประโยชน์เป็นเพียงส่วนน้อยนิดซึ่งต้องหาทางอุดหรือปรับปรุงเป็นระยะ ๆ โปรดสังวรว่าการรณรงค์ให้ทำความดีบางครั้งอาจเป็นไปเพื่อซ่อนเร้นการทำชั่วจนเข้าทำนองอ้างว่ามีคุณธรรมแต่ละเมิดกฎหมาย
 
ยิ่งกว่านั้น เราควรรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักปกป้องและหวงแหนสิทธิของตนเองตามกฎหมายและไม่เฉยชาต่อการกระทำผิดกฎหมายของผู้อื่นที่ส่งผลต่อตนเอง ชุมชน และสังคม การเพิกเฉยหรือละเลยต่อหน้าที่ยังถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่งด้วย และยังเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้หาผลประโยชน์โดยมิชอบและไม่ตระหนักว่าค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหามากกว่าการป้องกันหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ชีวิตมนุษย์ซึ่งสร้างคนใหม่มาทดแทนคนเก่าไม่ได้ รัฐบาลที่เพิกเฉยเช่นนี้เท่ากับเป็นรัฐบาลที่อยู่ข้างอาชญากรหรือเป็นหัวหน้าอาชญากรเสียเอง
 
3. ระวังคนทำดีแต่เป็นอาชญากร
 
บางคนดูคล้ายมีคุณธรรม แต่มักละเมิดกฎหมาย! มีคนทำดีมากมายแต่ประกอบอาชญากรรมอยู่เป็นนิจ บริษัทพัฒนาที่ดินบางแห่งอาจดูประสบความสำเร็จ ทำบุญทำกุศลมากมาย เจ้าของก็ดูมีชื่อเสียง ไม่เคยถูกสื่อมวลชนติติง แต่กลับ “รีดเลือดกับปู” ต่อผู้รับเหมา ทำผิดสัญญาก่อสร้างล่าช้าเกินทน หรือส่งมอบบ้านที่ไม่มีคุณภาพ ก่อสร้างแบบสุกเอาเผากินให้ลูกค้า
 
อีกกรณีหนึ่งสถาบันการเงินบางแห่งอาจเป็นผู้อุปถัมภ์งานมรดกของชาติที่ยิ่งใหญ่หรือทำสาธารณประโยชน์มากมาย แต่ภายในสถาบันการเงินนั้นกลับขาดธรรมภิบาล ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้บริหารโกงสถาบันการเงินของตัวเอง พนักงานเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะกับผู้มาขอกู้ ผู้บริหารให้สินเชื่อเครือญาติโดยไม่มีหลักประกันจนกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สุดท้ายสถาบันการเงินแห่งนั้นก็ล้มไป
 
4. ระวังทำดีเพื่อปกปิดคนผิดและความผิด
 
การทำดีแบบแอบแฝงและไร้ประสิทธิผล นอกจากจะได้ดีเฉพาะคนทำดีแล้ว บ่อยครั้งยังเป็นการช่วยปกปิดความชั่วของคนชั่วที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้เสื้อคลุมของคนดี เช่น เรารณรงค์ปลูกป่ากันใหญ่ แต่ไม่เคยใส่ใจว่า เราจะรณรงค์กันปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่ากันอย่างไร ท่านทราบหรือไม่ในปี 2504 มีพื้นที่ป่าไม้อยู่ 273,629 ตร.กม. (53% ของพื้นที่ประเทศไทย) แต่ ณ ปี 2547 เหลืออยู่เพียง 167,591 ตร.กม. (33% ของพื้นที่ประเทศไทย) {6} หรือหายไปเท่ากับ 68 เท่าของพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือเท่ากับเราสูญเสียพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกรวม
 
 
แนวทางการแก้ไข
 
แนวทางการแก้ไขปัญหาทุจริตของวิสาหกิจเอกชนนั้น สามารถพิจารณาได้ในหลายมิติ อย่างไรก็ตามพึงเริ่มต้นที่ผู้บริหารเป็นอันดับแรก และตามด้วยการปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด รวมทั้งการตรวจสอบที่เข้มงวด
 
1. เริ่มต้นที่ผู้บริหาร
 
ผมเคยอ่านหนังสือประวัติของพระพุทธเจ้า ซึ่งแปลโดย ท่าน สว.รสนา โตสิตระกูลและสามี ว่า ในสมัยพุทธกาล ในราชสำนักของพระเจ้าสุทโธทนะก็มีปัญหาขุนนางทุจริต แต่ก็แก้ไขอะไรไม่ได้มากเพราะพวกขุนนางทุจริตเหล่านี้ค้ำจุนบัลลังก์อยู่ ขุนนางเหล่านี้ต่างก็ขับเคี่ยวกันเพื่อมุ่งปกป้องและสร้างฐานอำนาจของตนเอง ไม่ใช่มุ่งขจัดความทุกข์ยากให้ผู้ยากไร้ พระพุทธเจ้าได้เห็นความเป็นจริงข้อนี้จึงไม่คิดที่จะเป็นกษัตริย์ {7}
 
การที่จะแก้ปัญหาทุจริตได้ จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นที่ผู้บริหารก่อน หากผู้บริหารมีความตั้งใจ (Strong Commitment) ที่จะแก้ไข ปัญหาก็อาจได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไป
 
2. เน้นที่การปฏิบัติตามกฎหมาย
 
การที่จะแก้ปัญหาทุจริตได้ เราต้องบังคับใช้ Hard Laws หรือให้ประเทศมีลักษณะนิติรัฐโดยเคร่งครัด อย่างไรก็ตามกฎหมายต่าง ๆ อาจมีช่องโหว่บ้าง เราก็ควรแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยอยู่เป็นระยะ ๆ หากไม่แก้ไขข้อกฎหมาย ก็เท่ากับส่งเสริมการทำผิดกฎหมาย เปิดช่องโหว่อยู่ร่ำไป เช่น ในวงการประเมินค่าทรัพย์สิน มีการจัดสอบและจัดการศึกษาให้บริษัทประเมินอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นการทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ช่องโหว่ที่ไม่ได้แก้ก็คือ การปล่อยให้บริษัทมหาชนว่าจ้างบริษัทประเมินกันเอง ซึ่งย่อมมีโอกาสประเมินตามใจชอบ อันอาจทำให้ประชาชนผู้ถือหุ้นเสียประโยชน์ได้ นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าหากเรา “ปลื้ม” กับการทำดีในระดับหนึ่ง (จัดสอบและจัดการศึกษา) แต่ละเลยสาระสำคัญคือ การอุดช่องโหว่ ก็เท่ากับเราเปิดโอกาสให้เกิดการฉ้อฉล
 
เราจะหวังให้กฎหมายสมบูรณ์แบบ ไร้ช่องโหว่คงไม่ได้ บางคนอาจอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตัวบ้าง แต่กรณีนี้ก็เกิดขึ้นได้น้อยมาก และคงต้อง “ยกประโยชน์ให้จำเลย” ไป เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ จึงไม่ถือเป็นความผิด และกฎหมายทั้งหลายก็มักไม่มีผลย้อนหลัง อย่างไรก็ตามปัญหาส่วนมากที่เกิดขึ้นก็คือ การที่ผู้รักษากฎหมายร่วมมือตีความกฎหมายอย่างบิดเบี้ยวเพื่อฉ้อฉลมากกว่า เช่น การสร้างอาคารพาณิชย์ในพื้นที่ต้องห้ามบางบริเวณตามผังเมือง ด้วยการหลีกเลี่ยงไปสร้างเป็นบ้านเดี่ยวที่ดูคล้ายอาคารพาณิชย์โดยแต่ละหลังห่างกันแค่คืบเดียว กรณีเช่นนี้ถือว่าผิดกฎหมายชัดเจน แต่ผู้รักษากฎหมายคงตีความส่งเดช หรือ “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” มากกว่า
 
ข้อพึงสังวรประการสำคัญก็คือเราจะให้ใครมาละเมิดกฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้ หาไม่ก็จะเป็นการยอมรับอาชญากรรม ดังนั้น เราจึงต้องเริ่มต้นที่การทำให้ถูกต้องตามตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ก่อนเพื่อยึดถือปฏิบัติตามกติกาที่ชอบธรรมฉบับเดียวกัน ผู้ไม่ยึดถือกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ย่อมไม่มีคุณธรรมหรือจริยธรรม เพราะการละเมิดกฎหมายเป็นการล่วงเกินหรือเอาเปรียบบุคคลอื่น เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้สังคมโดยรวม
 
3. พัฒนาระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง
 
ลำพังการมีกฎหมาย (Hard Law) ที่ทันสมัย มีบทลงโทษที่เข้มงวดโดยไม่เลือกปฏิบัติ และการมีจรรยาบรรณ (Soft Law) ที่ชัดเจนในแต่ละวิชาชีพเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันหรือแก้ไขปัญหาทุจริต ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง เข็มงวด ต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสอย่างแท้จริง การตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพนั้น นอกจากจะเป็นการป้องปรามในลักษณะ “เขียนเสือให้วัวกลัว” แล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ควรดำเนินการต่อเนื่องเพื่อประกันระบบคุณภาพให้เข้าที่และอยู่กับร่องกับรอยอย่างสม่ำเสมอ
 
ระบบตรวจสอบสามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบคือ
·    การตรวจสอบภายใน โดยใช้พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในวิสาหกิจเองเป็นผู้ดำเนินการ โดยผู้ตรวจสอบต้องมีความเป็นอิสระ และขึ้นอยู่กับผู้บริหารสูงสุดในวิสาหกิจ การใช้ผู้ตรวจสอบภายในซึ่งคุ้นเคยกับวิสาหกิจของตนเอง จะช่วยให้สามารถค้นพบข้อผิดพลาดหรือกรณีทุจริตต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
·    การตรวจสอบภายนอก ทั้งนี้ใช้ในกรณีที่การตรวจสอบภายในอาจมีข้อบกพร่อง หรือใช้ในกรณีการตรวจสอบการตรวจสอบภายใน รวมถึงการเพิ่มมุมมองใหม่ ๆ จากภายนอกเพื่อให้ปัญหาทุจริตสามารถได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีนี้จึงอาจว่าจ้างผู้ตรวจสอบจากภายนอก เพื่อให้มุมมองที่แตกต่างออกไป
 
กรณีศึกษาส่งท้าย
 
ในฐานะที่ผมเคยเป็นที่ปรึกษาในต่างประเทศให้กับรัฐบาลเวียดนาม อินโดนีเซีย และบรูไน ผมได้พบเห็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจหลายประการ แต่บางประการอาจอ้างอิงชื่อประเทศไม่ได้เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศนั้น ๆ อย่างไรก็ตามมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ 2 กรณีที่พึงอ้างอิงได้ เพราะเป็นข่าวที่ลงในสำนักข่าวต่างประเทศมาแล้ว
 
1. กรณีกัปตันเวียดนามแอร์ไลน์
ในกรณีนี้กัปตันดังกล่าว ซื้อเครื่องเสียงจากต่างประเทศเข้าประเทศของตนเอง แต่ทางราชการเวียดนามจับได้ กัปตันผู้โชคร้ายดังกล่าวถูกไล่ออก ทั้งที่ราคาเครื่องเสียงเป็นเงินเพียงราวแสนกว่าบาทเท่านั้น กรณีนี้ผิดกับในบางประเทศที่เจ้าหน้าที่การบินนำสินค้าหนีภาษีเข้าประเทศจนผู้ค้าสินค้าหนีภาษีประกอบกิจการจนร่ำรวย
 
2. กรณีนักฟุตบอลทีมชาติ{8}
เมื่อคราวแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่กรุงมนิลา พ.ศ.2548 นักฟุตบอลทีมชาติเวียดนามได้รับการติดสินบนให้ชนะพม่าเพียง 1:0 และผลการสอบสวนพบว่านักฟุตบอล 8 คนมีความผิด โดย 2 คนติดคุก (ขณะนี้ยังไม่ออกจากคุก) ท่านจะสังเกตได้ว่าเรื่องเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในแผ่นดินไทย!
 
จากกรณีตัวอย่างเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า วันหนึ่งเวียดนามจะแซงหน้าประเทศไทยอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะประเทศของเขาพยายาม “ปัดกวาดบ้าน” ทำความสะอาดระบบต่าง ๆ ภายในประเทศจนการทุจริตลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามสูงขึ้นกว่าไทยในอนาคต
 
การแก้ไขปัญหาทุจริตต้องดำเนินการอย่างจริงจังเป็นระบบ ไม่ใช่เพียงแค่การรณรงค์ให้คนทำดี มีศีลธรรม ต้องมีมาตรการป้องปรามที่ดีจึงจะเกิดผล การแก้ไขปัญหาทุจริตนี้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อความสามารถในการแข่งขันที่เป็นธรรมของภาคธุรกิจไทย ทำให้ประเทศชาติของเรารุดหน้าไปอย่างยั่งยืน
 
 

เกี่ยวกับผู้เขียน
ดร.โสภณ พรโชคชัย วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต ที่ดิน-ที่อยู่อาศัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ประกาศนียบัตร การประเมินค่าทรัพย์สินจากสถาบันนโยบายที่ดินลินคอล์น และการพัฒนาที่อยู่อาศัยจากมหาวิทยาลัยคาทอลิกลูแวง ปัจจุบันเป็นผู้บริหารธุรกิจเอกชนในฐานะประธานศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ AREA ในทางสังคมเป็นกรรมการหอการค้าสาขาจรรยาบรรณ สาขาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นที่ปรึกษาสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นอุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ เป็นที่ปรึกษาสถาบันประเมินค่าทรัพย์สินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาซึ่งจัดตั้งโดยสภาคองเกรส เป็นต้น ดร.โสภณได้มีโอกาสช่วยราชการสำนักงาน ปปช. โดยเป็นวิทยากรและเป็นประธานคณะทำงานดำเนินการรวบรวมข้อมูลและจัดทำเอกสารสื่อประชาสัมพันธ์

 
 
เชิงอรรถ
{1}   โปรดดูรายละเอียดได้ที่: http://www.undp.org/governance/docs/AC_PN_English.pdf
{2}   โปรดอ่านกรณีเปรียบเทียบกับประเทศฟินแลนด์: ดร.โสภณ พรโชคชัย. สนทนาเรื่องรัฐสวัสดิการกับอาจารย์บุญส่ง ชเลธร (กุมภาพันธ์ 2552) ที่: http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market234.htm
{3}   แจ้งจับผู้ช่วยผจก.แบงก์ธนชาตโกง 17 ล. (แจ้งจับผู้ช่วยผจก.แบงก์ธนชาตโกง 17 ล.) 
{4}   โปรดดูรายละเอียดได้ที่ http://www.unglobalcompact.org/AboutTheGC/index.html
{5}   โปรดอ่านจรรยาบรรณหอการค้าได้ที่ http://www.thaiechamber.com/cms/content.jsp?id=com.tms.cms.section.Section_61e4dc43-c0a81019-6dd8f100-17a390b6 และจรรยาบรรณของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ที่ http://www.fti.or.th/Fti%20Project/ethics_fti.aspx
{6}   โปรดดูข้อมูลของกรมป่าไม้ ณ http://www.forest.go.th/stat/stat49/TAB4.htm
{7}   ดร.โสภณ พรโชคชัย. พระพุทธเจ้า ผู้ประกาศศักยภาพความเป็นมนุษย์ (http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market172.htm) ซึ่งเขียนจากหนังสือ “คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่” วรรณกรรมพุทธประวัติในทัศนะใหม่ ที่แปลมาจากหนังสือ Old Path White Clouds: Walking in the Footsteps of the Buddha ซึ่งเป็นหนังสือพุทธประวัติที่เขียนโดยภิกษุ ติช นัท ฮันห์ และได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยโดย คุณรสนา โตสิตระกูล และคุณสันติสุข โสภณสิริ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง
{8}   ข่าว “Vietnam jails footballers for fix” โปรดดูที่: http://news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/6301647.stm
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เล่าเรื่อง “เอกสารในวันประกาศเป็นวันชาติ” และ “หนังสือมันสมอง” ของ “หลวงวิจิตรวาทการ”

Posted: 14 Jul 2010 02:13 AM PDT

<!--break-->

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 รัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง วันชาติ ความว่า ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษา และลงมติว่า วันที่ 24 มิถุนายน ย่อมถือว่าเป็นวันชาติ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ดังนั้น ผู้เขียนอยากเล่าเรื่องสั้นสำหรับเรื่องเอกสารในวันประกาศเป็นวันชาติอย่างทางการ กับหนังสือมันสมองของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งสองเรื่องเล่า เป็นตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายในการนำเสนอภาพของเอกสารกับหนังสือ ในฐานะชีวประวัติอย่างหนึ่งว่าถ้าเราพัฒนามันสมองของคนในชาติ เหมือนกับไม่ให้วันชาติถูกลืม ดังนั้น หนังสือ “มันสมอง” เป็นภาพสะท้อนของคู่มือพัฒนามันสมองของคนในชาติ

 
“วันชาติ” และวันประกาศอย่างเป็นทางการปรากฏเป็นเอกสาร
 
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 รัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง วันชาติ ความว่า ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษา และลงมติว่า วันที่ 24 มิถุนายน ย่อมถือว่าเป็นวันชาติ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ด้วยเหตุที่ว่า การปฏิวัติสยาม จากระบอบราชาธิปไตย (สมบูรณาญาสิทธิราชย์) มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) เกิดขึ้นโดยคณะราษฎร ในวันและเดือนดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ. 2475 คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดไว้ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น ซึ่งในบทความของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้กล่าวถึงวันที่ 24 มิถุนา ว่าเคยเป็นและเลิกเป็นวันชาติได้อย่างไรและก็กล่าวถึงตัวบทเอกสารที่กำหนดวันชาติดังกล่าวไว้ด้วย
 
โดยในบทความนี้ ผู้เขียนเพียงแต่อยากจะเล่าเพื่อเป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์แก่สาธารณชน ว่าครั้งหนึ่ง 24 มิถุนายน “ถูกทำให้เป็นและถูกเลิกทำให้เป็น-วันชาติ” ได้อย่างไร เชื่อว่าผู้อ่านทุกคนไม่ว่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอเมื่อสักครู่หรือไม่ คงยอมรับว่านี่เป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจในตัวเอง เรื่องนี้ความจริงถ้าจะเล่าให้ตลอด เป็นเรื่องยาว เช่น ต้องเท้าความถึงความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 และความสัมพันธ์ภายในคณะราษฎร เป็นต้น จึงขอเล่าสั้นๆ เฉพาะเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง พูดแบบภาษาวิชาการประวัติศาสตร์คือ เล่าแบบไม่มีบริบทหรือมีแต่น้อย
 
เอกสารที่กำหนดให้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ คือ "[ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี] เรื่องวันชาติ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2481"โปรดสังเกตว่าผู้เขียนใส่วงเล็บสี่เหลี่ยมข้างหน้าและหลัง "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี" เพราะถ้าใครไปเปิดดูในราชกิจจานุเบกษา ฉบับที่ลงประกาศนี้ (เล่ม 55 วันที่ 1 สิงหาคม 2481 หน้า 1322) จะพบเรื่องประหลาดมากๆ ว่าประกาศนี้ไม่มีหัวว่าเป็นประกาศประเภทไหน!
 
ที่ประหลาดมากยิ่งขึ้นคือ ประกาศที่ (ถ้ามองจากปัจจุบัน) น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มาก(กำหนดวันชาติ) มีข้อความเพียงเท่านี้ คือ
 
เรื่องวันชาติ
 
ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติว่า วันที่ 24 มิถุนายน ย่อมถือว่าเป็นวันชาติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศมา ณ วันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2481
 
พ.อ.พหลพลพยุหเสนา
 
นายกรัฐมนตรี
 
ตอนที่เห็นประกาศนี้ครั้งแรก ผู้เขียนยืนงงเป็นไก่ตาแตกอยู่หลายนาที เพราะนึกไม่ถึงว่า จะมีข้อความเพียงเท่านี้ (1)… และผู้อ่านคงอยากทราบว่า ปรีดี พนมยงค์ สมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญ มีความเห็นว่าอย่างไร ปรากฏว่าขณะนั้นปรีดี ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศกำลังอยู่ในระหว่าง "ลาหยุดพักรักษาตัว" ไม่ได้เข้าประชุม (2) ขณะที่ปรีดี หรือ หลวงประดิษฐมนูธรรม ในฐานะมันสมองของคณะราษฎร์ ลาหยุดพักรักษาตัวนั้น ซึ่งผู้อ่านดูข้อมูลบทความของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เพิ่มเติม ก็จะรู้ว่า หลวงวิจิตรวาทการ ก็เป็นผู้เข้าร่วมประชุม ในเรื่องนี้ของ ครม.พระยาพหลฯ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2481และเสนอความคิดเห็นต่อวันชาติด้วย
 
ทั้งนี้หลวงวิจิตรวาทการ ก็มีฐานะเกี่ยวข้องทางศิลปะเป็นอย่างสูง ในยุคสมัยสร้างชาติ ทั้งการละคร ศิลปะ ต่างๆ ซึ่งผู้เขียนเคยกล่าวถึงไปแล้วในบทความหลายครั้งของผู้เขียน เช่น ภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก  แต่ว่าเมื่อยุคสมัยของการเมืองเปลี่ยนไป หมดยุคของคณะราษฎร คือ จอมพล ป. ถูกรัฐประหารไป และต่อมา เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใน พ.ศ.2501 หลวงวิจิตรวาทการก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เลขาธิการกับที่ปรึกษาหลักของจอมพลสฤษดิ์ (3) รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ คือ คณะกรรมการทำหน้าที่เปลี่ยนวันชาติไป แล้วขบวนการลืมวันชาติ จวบจนกระทั่ง เรารู้ว่าจากยุคสฤษดิ์ สิ้นสุดปี 2506 ต่อมาก็เกิดกลุ่มคนรุ่นใหม่ 14 ตุลา 2516 ต่างๆนานา แล้วปัจจุบันนี้ เมื่อคนยุคดังกล่าว ก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่ นั่นคือ เรื่องราวของความทรงจำและช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ เหมือนอยู่ในมันสมองของแต่ละคน
 
ย้อนดูหนังสือมันสมอง กับความทรงจำ
 
ผู้เขียนเป็นผู้อ่านหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการ มาหลายเล่ม (*)ทั้งหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการ เป็นแนวคลาสสิค How to  ต่างๆ ซึ่งสมัยตั้งแต่ผู้เขียนใช้คำนำหน้านามว่า “เด็กชาย” โดยเติบโตมาใช้คำนำหน้าว่า “นาย” แล้วต่อมา ผู้เขียนก็รับรู้ถึงการวิจารณ์ผลงานของหลวงวิจิตรวาทการมาเรื่อยๆ รวมทั้งผู้เขียนประเมินตนเอง ก็ไม่สามารถบรรลุถึงสิ่งที่หนังสือสื่อให้พัฒนามันสมองดีก็ตาม สำหรับผู้อ่านสนใจพัฒนามันสมองกับความทรงจำ ก็สามารถติดตามอ่านหนังสือมันสมอง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2471 และหนังสือกำลังความคิด พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2494 เมื่อหลวงวิจิตรวาทการ กล่าวว่า หนังสือกำลังความคิด เป็นการฝึกสมอง สร้างกำลังความคิด สำหรับผู้ต่อสู้ความเป็นไปในชีวิต และสร้างอนาคตของตน โดยผู้เขียน เน้นร่วมเชิญชวนดูตัวบท สารบัญเนื้อหาในหนังสือ “มันสมอง”
 
สารบัญ
คำนำสำนักพิมพ์
คำนำ
คำนำสำนักพิมพ์ครั้งที่ 12
คำนำสำนักพิมพ์ครั้งที่ 3
คำนำสำนักพิมพ์ครั้งที่ 2
คำนำสำนักพิมพ์ครั้งที่ 1
ประวัติพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ
ประวัติโดยย่อของพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ
ข้อความเบื้องต้น
1.มันสมองดี
2.ประโยชน์ของมันสมองที่ดี
3.เหตุที่ทำให้มันสมองของคนเราไม่ดี
4.มันสมองเป็นสิ่งที่เพาะปลูกได้
5.โรงเรียนเพาะปลูกมันสมองในประเทศต่างๆ
6.ตำราเกี่ยวกับการเพาะปลูกมันสมอง
7.วิธีเรียนตามหลักของหนังสือเล่มนี้
บทที่ 1 ความมุ่งหมายและความรู้
บทที่ 2 สัมปชัญญะ (Perception)
บทที่ 3 ความสังเกต (Observation)
บทที่ 4 สมาธิ (Concentration)
บทที่ 5 มโนคติ (Imagination)
บทที่ 6 ความจำ (Memory)
บทที่ 7 ความคิดปลอดโปร่ง (Clear Thinking)
บทที่ 8 การคิดหาเหตุผลให้ถูกทาง (Right Reasoning)
บทที่ 9 ความที่วินิจฉัยถูกต้อง (Good Judgment)
บทที่ 10 ความไหวพริบ (Intuition)
บทที่ 11 การโต้เถียง (Argument)
บทที่ 12 ความฉลาด (Intelligence)
บทที่ 13 การแนะนำตนเอง (Auto-Suggestion)
บทที่ 14 ความชนะตนเอง (Self – Control)
คำตอบแบบฝึกหัดบทที่ 7
คำตอบแบบฝึกหัดบทที่ 8
คำตอบแบบฝึกหัดบทที่ 9
คำตอบแบบฝึกหัดบทที่ 10
คำตอบแบบฝึกหัดบทที่ 11
คำตอบแบบฝึกหัดบทที่ 12
 
กระนั้น ถ้าผู้อ่านลองอ่านดูบทสำหรับการแนะนำหนังสือ “มันสมอง” คือ วิชาการอันทรงคุณค่าจากพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ที่จะช่วยเป็นคู่มือในการฝึกสมองของคุณสู่ความเป็นเลิศ เป็นคนฉลาด รอบรู้ มีวิจารณญาณ และเปี่ยมไหวพริบ เพียงคุณสละเวลาให้กับหนังสือเล่มนี้ คุณจะพบเนื้อหาที่เป็นสาระควรแก่การติดตาม ลองทำแบบฝึกหัดที่ท่านผู้ประพันธ์ได้แนะนำไว้ ด้วยความเพียรพยายาม แล้วคุณจะพบความมหัศจรรย์ของวิธีคิดที่จะช่วยพัฒนาสมองของคุณให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยกตัวอย่างหนังสือมันสมอง เหมือนกับยุคสมัยปัจจุบัน ก็มีหนังสือ How to แนวอัจฉริยะสร้างได้…ที่นิยมอย่างมาก เพราะผู้เขียนตั้งใจเขียนเล่าเรื่องสั้นในบทความนี้ ก็ไม่ใช่ตัดสิน วิจารณ์หนังสือ แค่เล่าให้ผู้อ่านทราบไว้  เนื่องจากถ้าเราเชื่อในอุดมคติของคุณค่าสำหรับหนังสือ How to ก็เป็นตัวอย่างในปัจจุบัน ซึ่งหนังสือ “มันสมอง” เป็นเรื่องของความทรงจำ โดยดูจากการพิมพ์หนังสือเป็นข้อความแนะนำหนังสือ คือ คู่มือฝึกฝนสมองสู่ความเป็นเลิศ ฉลาด รอบรู้ มีสติ วิจารณญาณ เปี่ยมไหวพริบ ปฏิภาณ และความจำเป็นเยี่ยมเมื่อหนังสือยังถูกผลิตพิมพ์ซ้ำต่อเนื่องอันตรงข้ามกับการลืมวันชาติ 24 ในมันสมองของคน ถ้าไม่มีพื้นที่ของการสืบทอดประวัติศาสตร์ ในความทรงจำของคนไทย
 
ดังนั้น เราเห็นได้ว่าหนังสือมันสมองเป็น How to สำหรับสร้างคน โดยปัจเจกชน เป็นผู้สนใจพัฒนาตนเอง และผู้เขียนเคยเขียนถึงสำนึกของความเป็นชุมชนจินตกรรมของชาติ ว่า สารัตถะของแต่ละชาติ ก็คือ บรรดาปัจเจกของชาติทั้งมวล ต่างมีหลายสิ่งหลายอย่างร่วมกัน และในเวลาเดียวกันต่างก็ร่วมลืมหลายสิ่งหลายไปแล้ว ซึ่งเราต้องสร้างมันสมอง เพื่อเป็นความทรงจำไม่ให้หลงลืมไปเหมือนหนังสือมันสมองของหลวงวิจิตรวาทการ ผู้ร่วมเป็นมันสมองของส่วนหนึ่งสำหรับประกาศวันชาติ
 
 
 
 
 
อ้างอิง
 
(1) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 24 มิถุนา เคยเป็นและเลิกเป็นวันชาติได้อย่างไร?
มติชน วันที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9307
http://www.crma.ac.th/histdept/archives/viewpoint/thai-02-09-03.htm
(2) เพิ่งอ้าง
(3) รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การสืบทอดและการปรับเปลี่ยนความหมาย "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย"
แนวคิดเกี่ยวกับ"ชาติไทย"และ"ความเป็นไทย"ของ หลวงวิจิตรวาทการ (๑)-(๒)
http://www.midnightuniv.org/midnighttext/0009999888.html
 
(*) หมายเหตุ: "ขอให้ผู้อ่านของข้าพเจ้าจงเป็นนักทำงาน ขอให้เราสร้างชีวิต สร้างอนาคตของเราด้วยการทำงาน และขอให้การทำงานจงเป็นความผาสุกความสนุก และเป็นเกียรติ ขอให้หนังสือที่อยู่ในมือท่านนี้ จงเป็นเครื่องอุปกรณ์ให้ท่านประสบผลสำเร็จในการงานของท่าน" จากหนังสือ "วิธีการทำงานและสร้างอนาคต" และตัวอย่างผลงานของหลวงวิจิตรวาทการ ด้านวิชาการ คือ ประวัติศาสตร์สากล (12 เล่ม) ประชุมพงศาวดารฉบับความสำคัญ (8 เล่ม) ศาสนาสากล (5 เล่ม) วิชชาแปดประการ มหาบุรุษ มันสมอง ความฝัน พุทธานุภาพ กุศโลบาย กำลังใจ กำลังความคิด ฯลฯ เป็นต้น
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น