ประชาไท | Prachatai3.info |
- มธ.เผยงานวิจัย การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศ
- นิวยอร์กไทม์: ทำไมไทยถึงภูมิใจกับโศกนาฏกรรมสงครามเวียดนาม
- ภาคประชาสังคมเดินขบวนคบเพลิง-ชุมนุมคู่ขนานการประชุมอาเซียนที่ฟิลิปปินส์
- ข้อถกเถียงร่างกฎหมายดักฟังโทรศัพท์-แชท ละเมิดสิทธิหรือเครื่องมือจำเป็น
- คสช.เตรียมปลดล็อคท้องถิ่น - กกต.จ่อส่งศาล รธน.วินิจฉัย ปม ให้ อปท.จัดเลือกตั้งอาจขัด รธน.
- กองทัพภาค 4 ยัน 'พลทหารอดิศักดิ์' ไม่ถูกซ้อมทรมาน ตายด้วยโรคประจำตัว
- ใบตองแห้ง: ค่าโง่รักชาติ
- กวีประชาไท: สหายแห่งแสงดาว
- แม่พลทหาร เปิดผลชันสูตรรอบสอง ลูกชายคนเดียวไปเป็นทหารเกณฑ์เสียชีวิตเพราะ “ติดเชื้อในลำไส้”
- คุมแกนนำสวนยางปรับทัศนคติในค่ายทหาร 1 คืน หลังเตรียมเข้ากรุงร้องปรับราคา
- แท้ง-ท้อง ยังไม่มี ‘ทางเลือก’ ให้ผู้หญิงในกฎหมายและศีลธรรม
- เป็นทหารเกณฑ์ได้ 10 วัน เสียชีวิตแพทย์ชี้ 'หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน' ญาติไม่เชื่อเพราะมีรอยช้ำตามร่างกาย
- คุมเข้ม ‘อาเซียนซัมมิท’ ฟิลิปปินส์เตือน ต่างชาติร่วมเคลื่อนไหวอาจถูกส่งกลับ
- ดุลยภาพทางการเมือง
- กวีประชาไท: ประวัติศาสตร์ที่เธอเขียน
มธ.เผยงานวิจัย การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศ Posted: 13 Nov 2017 12:28 PM PST เผยงานวิจัย 'การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศ' ชี้ความเปราะบางที่จะถูกกระทำด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมยังมีอยู่มาก แนะทางออกของปัญหาทั้งภาคการศึกษา สื่อมวลชน และทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง อดิศร จันทรสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าคณะทำงานวิจัย 13 พ.ย. 2560 รายงานข่าวจาก คณะวิทยาการเรียนรู้ และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจ้งว่า ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก คนส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (SOGI) ทำให้กลุ่มเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ และผู้มีสภาวะทางเพศกำกวม (LGBTI) ถูกแบ่งแยก เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงพื้นที่ทางสังคม และมีความเปราะบางที่จะถูกกระทำด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ถูกเลือกปฏิบัติ และถูกจำกัดโอกาสในการใช้ชีวิต ข้อเสียเปรียบเหล่านี้ไม่เพียงจำกัดการได้ใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เขาควรมี แต่ยังเป็นการปล้นศักดิ์ศรีของพวกเขาไปด้วย กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) จึงร่วมกับ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท Love Frankie ทำการวิจัยเรื่อง "การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย" เพื่อหาข้อมูลเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติและการถูกแบ่งแยกทางเศรษฐกิจของบุคคลกลุ่ม LGBTI ในประเทศ ทั้งในรูปแบบเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จากกลุ่มเป้าหมายที่ขยายกว้างทั้งในเชิงภูมิภาค อายุ เพศสภาพ เพศวิถี การศึกษา สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ระบุความท้าทาย โอกาส และเปิดเผยประสบการณ์ของคนกลุ่ม LGBTI เปรียบเทียบมุมมองทัศนคติและพฤติกรรมกับกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (Non – LGBTI) ในประสบการณ์ทางด้านต่าง ๆ เพื่อนำเรื่องราวของพวกเขามาเผยแพร่ให้สังคมได้รับทราบ สร้างความเข้าใจ ปรับเปลี่ยน ให้การช่วยเหลือ และนำมาพัฒนาเป็นนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป ผลส่วนหนึ่งจากข้อมูลแบบสอบถามเชิงปริมาณที่มีผู้ให้คำตอบกว่า 3,502 ท่าน พบว่า บุคคลกลุ่ม LGBTI มีประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติมากถึง 46% คนข้ามเพศถูกปฏิเสธงานเพราะเพศสภาพและเพศวิถีถึง 77% และคนข้ามเพศเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือล้อเลียนในที่ทำงาน 40% ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งกลุ่ม LGBTI และ Non – LGBTI มีการรับรู้เรื่องกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศน้อย อดิศร จันทรสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าคณะทำงานวิจัยได้เล่าผลจากการสำรวจเชิงคุณภาพว่า ปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจ คือ บุคคลกลุ่ม LGBTI ส่วนใหญ่มองว่าการถูกเลือกปฏิบัติและกีดกันเป็นผลมาจากความผิดของพวกเขาเองที่เกิดมาแตกต่างจากคนอื่นๆ ในสังคม ซึ่งสิ่งนี้เป็นผลมาจากปัจจัยหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือสังคมมีรากฐานกรอบความคิดการให้ค่าความเป็นหญิงและชายที่แข็งตัว เพราะฉะนั้นอะไรที่เบี่ยงเบนไปก็จะถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนั้นหลายคนในสังคมยังมองว่า การที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับในการทำงานบางอาชีพ เช่น ช่างเสริมสวย ช่างแต่งหน้า หรือนักแสดง/นักเต้นในสถานบันเทิง ก็เป็นสิ่งที่ดีพออยู่แล้ว และอาจถือได้ว่าเป็นการความก้าวหน้าของสังคมด้วยซ้ำ แต่ไม่ได้มองความเป็นจริงว่า คนกลุ่มนี้ควรมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะสามารถเลือกประกอบอาชีพใดก็ตามที่พวกเขามีความรู้ความสามารถเพียงพอ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของมนุษยชนที่พึงได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ถูกประเมินตัดสินจากเพศของตนดังเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนั้น อดิศร ยังให้มุมมองว่าการจะทำให้สังคมยอมรับในเรื่องเหล่านี้ได้ เราต้องการพื้นที่สาธารณะที่จะนำเสนอภาพกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในชีวิตประจำวันที่อยู่ร่วมในสังคมเป็นปกติทั่วไป โดยไม่กักขังเขาไว้ในกรอบคุณลักษณะที่สุดโต่งบางอย่าง ในขณะเดียวกันเราต้องทำให้เรื่องนี้อยู่ในระบบการศึกษามาตั้งแต่ชั้นอนุบาล โดยเราต้องสอนเด็กๆ ให้รู้จักและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย มีความเคารพในเพื่อนมนุษย์ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่รวมถึง สีผิว เชื้อชาติ สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เขาทราบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อไหร่ที่เขาเห็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เขาจะต้องรู้สึกทุกข์ร้อน ออกมาช่วยเหลือ ป้องกัน และเป็นปากเสียงให้แก่ผู้ถูกกระทำ อย่างที่คณะฯ และที่โรงเรียนสาธิตจะมีวิชาที่สอนเนื้อหาเรื่องความแตกต่างหลากหลายเช่นกัน เพื่อเป็นพื้นที่ในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เรียน รวมทั้งยังจัดสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้อาจารย์และนักเรียนนักศึกษาปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพในความหลากหลายดังกล่าวด้วย ข้อมูลจากการสำรวจเพื่อทำวิจัย "การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย" คงได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ในสังคมของเรายังมีการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่อกัน ซึ่งหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาไม่ได้เป็นของนักการศึกษา ผู้ออกนโยบาย หรือนักสื่อสารมวลชนเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคน ที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ให้ความเคารพและยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ถึงจะทำให้สังคมเราก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีคุณภาพและมีความเท่าเทียมระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันั ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นิวยอร์กไทม์: ทำไมไทยถึงภูมิใจกับโศกนาฏกรรมสงครามเวียดนาม Posted: 13 Nov 2017 09:49 AM PST ริชาร์ด เอ รูธ ผู้ศึกษาเรื่องบทบาทของไทยในสงครามเวียดนาม ชี้ถึงการอ้างความชอบธรรมจากศาสนาพุทธที่มีผลต่อการมองว่าตัวเองเป็น 'ฝ่ายดี' ในสงครามเวียดนาม และการที่ไทยมักจะแสดงความภาคภูมิใจในการ่วมรบเนื่องจากได้รับผลประโยชน์หลายระดับจากการเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ แต่ก็ยังมีกลุ่มคนตัวเล็กๆ บางกลุ่มรวมถึงการสูญเสียของทหารชั้นผู้น้อยที่มักจะไม่ค่อยถูกพูดถึงเวลาไทยรำลึกสงครามเวียดนาม อนุสาวรีย์ทหารผ่านศึกเวียดนาม จังหวัดกาญจนบุรี 13 พ.ย. 2560 ซีรีส์บทความ "เวียดนาม '67" ของนิวยอร์กไทม์ซึ่งเป็นการรวมบทความจากกลุ่มนักประวัติศาสตร์ นักข่าว และผู้ที่เคยผ่านศึกสงครามเวียดนามย้อนรำลึกว่าสงครามในครั้งนั้นเปลี่ยนแปลงสหรัฐฯ ไปอย่างไรบ้าง มีอยู่บทความหนึ่งที่ระบุถึงบทบาทของประเทศไทยในสงครามเวียดนาม โดยในบทความนั้นพูดถึงไทยว่าขณะที่เวียดนามและสหรัฐฯ มองสงครามเวียดนามเป็นโศกนาฏกรรม แต่ทำไมไทยถึงดูจะภูมิใจในสงครามครั้งนี้นัก ริชาร์ด เอ รูธ ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากโรงเรียนนายเรือสหรัฐฯ ผู้เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับบทบาทของทหารไทยในสงครามเวียดนามระบุถึงการที่ไทยเคยส่งหน่วยรบพิเศษไทยจำนวนมากไปร่วมรบที่เบียนฮหว่า ประเทศเวียดนาม ร่วมกับฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ไทยดูจะภาคภูมิใจในเรื่องนี้ขณะที่ทั้งสหรัฐฯ และเวียดนามมองว่ามันเป็นโศกนาฏกรรม รูธบอกว่าเขาเคยสัมภาษณ์ทหารไทยที่ผ่านศึกสงครามเวียดนามมาก่อนมากกว่า 60 คน พวกเขามักจะพูดเน้นถึงประสบการณ์และผลประโยชน์ทางวัตถุที่ได้รับและบอกว่าพวกเขาสกัดกั้นไม่ให้ลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่มายังไทยได้สำเร็จ พวกเขาประหลาดใจกับการเปลี่ยนแปลงของไทยในช่วงที่มีสงคราม และถึงแม้ว่าจะรับรู้เรื่องผลกระทบด้านแย่ๆ ของสงครามนี้ที่มีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกับเพื่อนทหารพวกเขาาบางคน แต่ทหารผ่านศึกเหล่านี้ก็ยังบอกว่ามันเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาและต่อประเทศชาติอยู่ดี แต่สิ่งที่ทำให้รูธมองว่าโดดเด่นออกมาจากความคิดเห็นเหล่านี้คือการที่ทหารไทยซึ่งผ่านสงครามเวียดนามมีความภูมิใจมองภาพของตัวเองเป็น "ทหารชาวพุทธ" ทหารไทยในสงครามเวียดนามมักจะห้อยพระเครื่องหลายองค์ไปในการรบ และพูดถึงสรรพคุณการปกป้องคุ้มกันภัยให้ทหารอเมริกันฟัง และให้พวกเขายืมถ้ามีคนขอ บ้างก็รู้สึกว่ามันมีอิทธิฤทธิ์เหนือกว่าเครื่องรางไม้กางเขนแบบคริสต์ ทหารบางคนอ้างว่าพระเครื่องเหล่านี้ทำให้พวกเขาเพ่งสมาธิกับการสู้รบและสร้างขวัญในการสู้กับทหารฝ่ายตรงข้ามที่มองว่าเป็น "มาร" โดยไม่ตื่นกลัววิ่งหนีไปเสียก่อน รูธระบุว่าทหารไทยในตอนนั้นมีการใช้สัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาผูกโยงด้วยในหลายๆ เรื่องทั้งในแง่พิธีกรรมทางศาสนาใหญ่โตช่วงก่อนออกไปรบ หรือในแง่การอ้างคำสอนเรื่อง "เมตตา" มาใช้กับภารกิจช่วงกลางวันของทหารไทยในเวียดนามที่จะทำความสะอาดและบูรณะซ่อมแซมวัดในเวียดนาม พวกเขามองตัวเองว่าเป็นนักรบชาวพุทธเถรวาทที่เข้าไปช่วยเหลือเพื่อนบ้านชาวพุทธนิกายมหายาน นอกจากนี้ในแง่ทัศนคติจากสังคมในยุคสมัยนั้นระหว่างสหรัฐฯ กับไทยยังแตกต่างกันด้วย ในช่วงปี 2510-2512 ประชาชนชาวอเมริกันเริ่มต่อต้านสงครามมากขึ้นเรื่อยๆ ใขณะที่ไทยยังเน้นรายงานถึงความสำเร็จในการรบ รวมถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงประทานของกำนัลให้กับผู้บาดเจ็บจากสงคราม การรบที่เบียนฮหว่าในยุคนั้นก็ประสบความสำเร็จจนทหารผ่านศึกหลายคนเล่าว่าแม้แต่นายพลฝั่งสหรัฐฯ ก็ชื่นชมพวกเขา นอกจากนี้รูธยังมองว่าความภาคภูมิใจเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม การที่ประเทศหนึ่งเข้าร่วมอะไรบางอย่างในเวทีโลกก็ทำให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจเช่นที่เวลาทหารไทยพูดย้อนไปถึงสมัยสงครามเวียดนามพวกเขาจะบอกว่ามันเป็นโอกาสที่จะได้สังเกตการณ์บริโภคนิยมแบบอเมริกัน พวกเขาเริ่มรู้จักและสามารถเข้าถึงสินค้าต่างๆ ที่เป็นอเมริกันไม่ว่าจะเป็นกล้อง SLR โทรทัศน์ สเตอริโอ ตู้เย็น วิสกี้ นิตยสารเพลย์บอย แต่การที่ทหารไทยพยายามซื้อสินค้าเหล่านี้ถูกนำเสนออย่างลบๆ ในสื่อต่างประเทศ มีแม้กระทั่งเรื่องที่ทหารไทยนำของเหล่านี้ไปขายต่อในตลาดมืดของไซง่อน สื่อต่างประเทศในยุคนั้นยังขนานนามกองทัพไทยว่าเป็น "ทหารรับจ้างให้อเมริกา" ด้วย การกล่าวอ้างเรื่องนี้ไม่ได้ห่างไกลจากความเป็นจริงนัก เพราะไทยได้รับผลประโยชน์อย่างมากจากการร่วมมือกับสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเวียดนาม ทำให้สหรัฐฯ ให้เงินช่วยเหลือ 1,100 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการทหารแก่ไทย องค์กรด้านการพัฒนานานาชาติของสหรัฐฯ ก็ให้เพิ่มอีก 530 ล้านดอลลาร์ ทั้งหมดนี้แลกกับการที่ไทยซึ่งการเมืองถูกครอบงำโดยกองทัพต้องเอื้อประโยชน์ส่วนหนึ่งต่อสหรัฐฯ เช่นการให้ที่ตั้งฐานทัพอากาศแก่สหรัฐฯ 7 แห่ง เพื่อปฏิบัติการในภูมิภาค ฝ่ายนายทุนไทยยุคสมัยนั้นที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลก็หาประโยชน์จากการสร้างธุรกิจรองรับทหารและคนที่ทำงานให้กองทัพสหรัฐฯ ราว 50,000 นาย ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร หรือบาร์ ซึ่งหน่วยจีไอก็สร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจไทยไปด้วย ทำให้ประเทศราชอาณาจักรพุทธแห่งนี้ถูกทำให้เป็นสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว การถูกสื่อต่างประเทศกล่าวหาเรื่องเป็น "ทหารรับจ้าง" ก็ไม่ได้ส่งผลอะไรกับภาพลักษณ์ภายในประเทศยุคนั้นนัก พวกทหารผ่านศึกเวียดนามมีแต่จะสร้างอนุสาวรีย์อวดโอ่เกียรติภูมิจากสงคราม ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ทหารผ่านศึกเวียดนามที่กาญจนบุรี อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือการจัดแสดงที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ กองทัพไทยก็อ้างว่าสงครามเวียดนามเป็นสิ่งที่พวกเขาภาคภูมิใจที่สุดในยุคคริสตศตวรรษที่ 20 เช่นกัน ผลกระทบจากสงครามในครั้งนั้นยังส่งผลเลวร้ายต่อเวียดนามทำให้เกิดปัญหาผู้ลี้ภัย รวมถึงประสบปัญหาความยากจนและการถูกโดดเดี่ยว ในขณะที่ไทยมีการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นและสหรัฐฯ ก็เข้ามาช่วยสร้างทางหลวงเชื่อมชนบทกับกรุงเทพฯ และหัวเมืองในภูมิภาคต่างๆ ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว กระนั้นก็ยากจะปฏิเสธว่าไทยเองมีราคาที่ต้องจ่ายให้กับการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในยุคนั้นด้วย ราคาอันเจ็บปวดที่ต้องจ่ายให้สงครามเวียดนาม ทว่า สิ่งที่ไม่ค่อยถูกนำเสนอเกี่ยวกับแง่มุมของสงครามเวียดนาคือสิ่งที่ไทยต้องสูญเสียไป นอกจากทหารที่เสียชีวิตในสงคราม 351 นาย และบาดเจ็บอีก 1,351 นาย แล้ว ทหารอาสาที่ส่งไปที่ลาวในปฏิบัติการที่เรียกว่า "สงครามลับ" ก็เสียชีวิตในสภาพที่ย่ำแย่ สงครามเวียดนามและการมีอยู่ของกองกำลังสหรัฐฯ ยังมีบทบาทต่อความรุนแรงทางการเมืองอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และ 6 ตุลาฯ 2519 ด้วย นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ย่านโคมแดงในกรุงเทพฯ ที่รองรับนักท่องเที่ยวตะวันตกมีต้นกำเนิดมาจากการรองรับกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม มีทหารอเมริกันบางส่วนที่ทำผู้หญิงไทยท้องทิ้งไว้จากความสัมพันธ์แบบชั่วคราว เด็กหลายคนที่เกิดจากครอบครัวเหล่านี้เติบโตขึ้นมาในภาวะยากจนและถูกอัปเปหิออกจากสังคม แต่ความทรงจำส่วนนี้ก็ถูกมองข้ามจากการเขียนประวัติศาสตร์และรำลึกความทรงจำในแบบของทางการไทย เรียบเรียงจาก Why Thailand Takes Pride in the Vietnam War, RICHARD A. RUTH, New York Times, 07-11-2017 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ภาคประชาสังคมเดินขบวนคบเพลิง-ชุมนุมคู่ขนานการประชุมอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ Posted: 13 Nov 2017 09:39 AM PST ภาคประชาสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดินขบวนคบเพลิงเป็นระยะทางกว่า 6 กม. คู่ขนานการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ โดยภาคประชาสังคมไทยชูประเด็นชนกลุ่มน้อย LGBT นักโทษการเมือง หยุด ม.112 ยุติความรุนแรงชายแดนใต้ ประชาธิปไตยต้องมาตอนนี้เดี๋ยวนี้ ขณะที่ผู้เข้าร่วมจากภูมิภาคอาเซียนระบุต้องการเห็นอาเซียนที่มีความเท่าเทียม และเห็นแก่มนุษยธรรม พร้อมย้ำว่าอาเซียนคือความแตกต่างเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับและก้าวต่อไปด้วยกัน ภาคประชาสังคมอาเซียนร่วมเดินขบวนถือคบเพลิงมุ่งหน้าไปยังอนุสาวรีย์ประชาชนในเมืองเกซอนซิตี ประเทศฟิลิปปินส์ โดยเป็นการชุมนุมคู่ขนานการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จัดระหว่าง 13-14 พฤศจิกายน เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายร้อยคนเดินขบวนถือคบเพลิงจากโรงแรมโนโวเทลสู่อนุสาวรีย์ประชาชนในเมืองเกซอน ประเทศฟิลิปปินส์ การเดินขบวนเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากเวทีประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนขึ้น (ASEAN Civil Society Conference/ASEAN People Forum: ACSC/APF) โดยงานประชุมจะมีไปจนถึงวันที่ 14 พ.ย. 2560 นี้ มีภาคประชาสังคมจากทุกประเทศในอาเซียนรวมถึงประเทศติมอร์ เลสเต เข้าร่วมงานในพิธีเปิดจำนวนหลายร้อยคน
การเดินขบวนเริ่มในเวลาราว 18.30 น. เดินจากโรงแรมโนโวเทลในเมืองเกซอน มุ่งหน้าสู่อนุสาวรีย์ประชาชน เป็นระยะทางทั้งสิ้นราว 6 กม. ท่ามกลางการอารักขาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจฟิลิปปินส์รายทาง เฮนรี่ โคห์ จากองค์กรฟอร์ติฟาย ไรท์กล่าวว่า ตนมาเวที ACSC/APF รอบนี้เพื่อขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายทางเพศ โดยกล่าวว่าปีนี้การรณรงค์ประเด็นความหลากหลายทางเพศทำได้ง่ายขึ้น เพราะการออกแบบพื้นที่พูดคุยกันแยกย่อยออกเป็นหลายประเด็น และประเด็นความหลากหลายทางเพศได้แบ่งกันไปเชื่อมโยงกับประเด็นสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ได้ "เราต้องการสร้างอาเซียนที่มีความเท่าเทียม มีมนุษยธรรม ที่ประชาชนมีสิทธิในการเลือกรสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศได้" "เหล่าผู้นำของอาเซียนต้องพิทักษ์สิทธิทางเพศและกลุ่มเพศทางเลือกจากความรุนแรงและการถูกเหยียด ถ้าพวกเราต้องการมีอาเซียนที่ยุติธรรมอย่างแท้จริงแล้ว สิทธิของกลุ่มที่ถูกทำให้เป็นชายขอบอย่างกลุ่ม LGBT ก็ไม่ควรถูกกีดกัน" เฮนรี่กล่าว ธิดา คุส จากกลุ่มสีละกะ ทำงานด้านสิทธิสตรีและธรรมาภิบาลในกัมพูชา ระบุว่า เธอมาร่วมเวที ACSC/APF เพราะต้องการส่งเสียงจากกลุ่มรากหญ้าให้ระดับชาติและระดับภูมิภาคได้ยิน ทั้งยังระบุปัญหาเชิงโครงสร้างของอาเซียนและชาติสมาชิกว่าไม่มีกลไกรับฟังเสียงจากประชาชน "เราใส่ประเด็นของเราลงไปในเวที ACSC/APF ได้อย่างง่ายดาย แต่สำหรับเวทีอาเซียนแล้วมันเป็นไปไม่ได้เพราะพวกเขาไม่ได้มีโครงสร้างให้เราเข้าถึงได้ในระดับภูมิภาคและระดับชาติ" "ฉันหวังว่าอาเซียนจะมีระบบที่เป็นมิตรและเปิดเผยกับพลเมืองประเทศต่างๆ มากกว่านี เพราะว่าเวลาเราพูดถึงอาเซียน สิ่งที่ควรได้รับการคำนึงถึงก่อนควรต้องเป็นประชาชนของอาเซียน" จูวินัล ดิเอซ จากติมอร์ เลสเตกล่าวว่า "ผมมาที่นี่เพื่อสร้างเครือข่ายและร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับคนประเทศต่างๆ ในอาเซียนเพื่อส่งเสริมให้ชนพื้นเมืองในภูมิภาคมีสิทธิในฐานะมนุษยชน"
"เรื่องหนึ่งก็คือ เราไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ถ้าประเทศในอาเซียนไม่ตระหนักถึงสิทธิของชนพื้นเมือง ทุกประเทศในอาเซียนต้องรับรองหลักการสิทธิมนุษยชนให้กับชนพื้นเมือง" "ติมอร์ เลสเต เคยตกเป็นเหยื่อของเหล่าผู้นำในอาเซียนที่ต้องการแสดงพละกำลังของตัวเอง หนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนเคยส่งทหารมาเข่นฆ่าพวกเรา และเราก็ไม่อยากให้ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนนำเอาหลักการดังกล่าวไปใช้ฆ่าคนไม่ว่าจะใจปาตานี ปาปัวตะวันตก มินดาเนาและที่อื่นๆ อาเซียนต้องตอบสนองต่อสิทธิของประชาชนตนเอง อาเซียนจะเป็นนายหน้าให้กับลัทธิทุนนิยมและจักรวรรดินิยมไม่ได้" จูวินัล กล่าว มัจฉา พรอินทร์ จากโครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ทำงานกับประเด็นชายขอบต่างๆ ทำงานกับคนทั้งหมดที่ประสบปัญหาสิทธิมนุษยชนกล่าวว่ากลไกภายในประเทศที่มีทำให้คนชายขอบจำนวนมากเข้าไม่ถึง จึงต้องใช้กลไกต่างๆ รวมถึงอาเซียน ทำให้ต้องมาเคลื่อนไหวในระดับอาเซียนให้นำไปสู่การสนใจ เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น "เราจะเห็นว่าคนเราหลากหลายมาก แล้วอาเซียนสิบประเทศก็มีบริบทไม่เหมือนกัน พอเรามารวมกันแล้วต้องการให้ข้อเรียกร้องเป็นหนึ่งเดียว เป็นเอกภาพเราก็จะเห็นว่ามีการต่อสู้ แย่งชิงพื้นที่ แต่นี่ก็คือความเป็นจริง เราเห็นการประนีประนอมให้ประเด็นของแต่ละคนได้เข้าไปด้วยกัน เราเห็นการต่อสู้เพื่อจะหาจุดยุติ สุดท้ายต่อให้มันไม่ยุติ เราก็ต้องยืนยันที่จะรับฟังความเห็นที่แตกต่าง หลากหลายและคงตรงนี้ไว้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เราไม่สามารถเมหือนกัน อาเซียนคือความแตกต่าง หลากหลาย คือวัฒนธรรม คือคน เราจะทำอย่างไรให้คนที่แตกต่างหลากหลายเดินไปด้วยกัน แต่เคียงบ่าเคียงไหล่กัน และประเด็นแต่ละประเด็นก็เยอะมาก เราจำเป็นที่จะต้องรับรู้ให้หมด" มัจฉา กล่าว อุ้ม (นามสมมติ) เป็นหนึ่งในเยาวชนไทยไร้สัญชาติที่ได้มาร่วมประชุมอาเซียนเป็นครั้งแรก กล่าวว่า ตื่นเต้นและดีใจที่ได้มา เพราะกว่าจะได้มาก็ลำบากเพราะไม่มีสัญชาติ ความลำบากเริ่มตั้งแต่ขอหนังสือจากผู้ใหญ่บ้าน ไปอำเภอ แล้วก็ไปที่จังหวัด ที่อำเภอที่อยู่ไม่ค่อยได้ทำเรื่องคนไม่มีสัญชาติขอออกนอกพื้นที่ก็จะมีปัญหาในเรื่องการทำเอกสาร พอเอกสารมีข้อผิดพลาดก็ต้องกลับมาแก้ไข พอผ่านจังหวัดแล้วก็ต้องไปกรมต่อ ใช้เวลาสองอาทิตย์กว่าจะทำพาสปอร์ตได้ซึ่งถือว่าเร็ว เธอพบว่าประเด็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติไม่ค่อยได้รับการพูดถึงในเวทีประชาชนอาเซียน จึงอยากผลักดันให้เป็นที่พูดถึงมากขึ้น การเดินขบวนเกิดขึ้นในช่วงวันจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ณ กรุงมะนิลา โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการด้านการดูแลความปลอดภัยและเตรียมความพร้อมยามฉุกเฉินของอาเซียนได้แถลงว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองอาจถูกส่งตัวกลับประเทศทันที และในวันที่ 12 พ.ย. ได้มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ประท้วงต่อต้านสหรัฐฯ ในกรุงมะนิลา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก การเดินขบวนเสร็จสิ้นเมื่อฟิลิปปินส์ในฐานะเจ้าภาพปีปัจจุบันได้ส่งมอบหน้าที่เจ้าภาพในปีต่อไปให้กับประเทศสิงคโปร์ โดยไทยจะได้รับตำแหน่งเจ้าภาพในปี 2562 หลังจากสิงคโปร์ ภาพบรรยากาศในงาน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ข้อถกเถียงร่างกฎหมายดักฟังโทรศัพท์-แชท ละเมิดสิทธิหรือเครื่องมือจำเป็น Posted: 13 Nov 2017 09:28 AM PST การแก้ไขวิ.อาญา ให้พนักงานสอบสวนดักข้อมูลต่างๆ กับผู้ต้องสงสัยได้ ยังคงมีแง่มุมให้ถกเถียง แม้ร่างดังกล่าวจะถูกปรับแก้จนจำเพาะคดีความมั่นคง-ก่อการร้ายแล้วก็ตาม เรื่องนี้เกี่ยวพันโดยตรงกับสิทธิเสรีภาพของคนสมัยใหม่ทุกคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือและแชทกันตลอดเวลา 13 พ.ย.2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีกาจัดเสวนาหัวข้อ ร่างแก้ไขวิ.อาญาเพิ่มอำนาจดักฟังโทรศัพท์ เป็นหนึ่งในกิจกรรมงานรพีวิชาการประจำปี 2560 โดยวิทยากรประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และนักวิชาการด้านกฎหมายอาญา อันที่จริง ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ.... ไม่ได้ดักข้อมูลเฉพาะโทรศัพท์ แต่หมายรวมถึง เอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใดซึ่งส่งทาง ไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการสื่อสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ประเภทความผิดที่จะดักข้อมูลได้คือ คดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือคดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดที่เป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม หรือคดีความิดที่มีความซับซ้อนซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป ร่างกฎหมายนี้ สตช.ยกร่างมาตั้งแต่ปี 2556 มีการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและปรับแก้หลายระลอก จนขณะนี้อยู่ในคณะกรรมาธิการยุติธรรม เพื่อรอคิวเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ไม่น่าจะผ่าน สนช. รัฐบาลทหารกลัวเสียภาพพจน์ (หนักกว่าเดิม)"ไม่ต้องกังวล ผมคิดว่ากฎหมายนี้ในที่สุดคงไม่ผ่าน วิปรัฐบาลบอกว่ารัฐบาลทำความดีมหาศาลจะมาย่อยยับอับจนด้วยกฎหมายนี้ได้อย่างไร" พ.ต.อ.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผูกำกับการส่วนตรวจสอบสำนวนคดีอุทธรณ์และฎีกา สตช.กล่าว พ.ต.อ.ศิริพล เป็นตัวแทนของ สตช.และมีบทบาทในการยกร่างและผลักดันกฎหมายนี้ เขากล่าวว่า เนื้อหาในกฎหมายเป็นสิ่งที่ดีเพราะจะช่วยคุ้มครองเหยื่อเพิ่มมากขึ้นและเพิ่มเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยกำหนดกระบวนการเข้าถึงไว้อย่างรัดกุม เชื่อว่าการมีเครื่องมือเช่นนี้จะช่วยลดกระบวนการซ้อมทรมานผู้ต้องหาของเจ้าหน้าที่ได้อีกด้วย นอกจากนี้ในกฎหมายยังคุ้มครองข้อมูลที่ได้มาให้เป็นความลับและมีบทลงโทษหนักสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ละเมิด พ.ต.อ.ศิริพล ชี้ว่า ปัจจุบันมีพนักงานสอบสวนทั่วประเทศราว 10,000 คนต่อประชากรเกือบ 70 ล้านคน ต้องทำคดีอาชญากรรมเฉลี่ย 600,000 คดีต่อปี หากพนักงานสอบสวนใช้เวลารวบรวมหลักฐานเกิน 1 ปีก็จะถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัย พนักงานสอบสวนทำงานหนักมากและได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าดีเอสไอ 100% น้อยกว่าอัยการหรือศาล 300-400% "แต่ถ้าจะกังวลว่าอาจมีเจ้าหน้าที่เอาไปใช้ในทางที่ไม่ดี แบบนี้สังคมนี้ไม่ต้องมีกฎหมายใดๆ แล้ว เพราะมันเกิดขึ้นได้กับทุกกฎหมาย...และผมยืนยันว่าพนักงานสอบสวนของเรามีคุณภาพ เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพมากที่สุดในองค์กรแล้ว" พ.ต.อ.ศิริพลกล่าว การให้อำนาจเจ้าพนักงานดักข้อมูลผู้ต้องสงสัยไม่ใช่เรื่องใหม่ มันปรากฏอยู่ในกฎหมายอื่นๆ หลายฉบับ เช่น กฎหมายยาเสพติด กฎหมายค้ามนุษย์ กฎหมายดีเอสไอ แต่ที่ใหม่เพราะการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นจะทำให้เรื่องนี้เป็นมาตรการ "ทั่วไป" สำหรับพนักงานสอบสวน แม้ว่าจะมีขั้นตอนในการตรวจสอบโดยต้องยื่นคำร้องต่ออธิบดีศาลเพื่อขออนุญาตพร้อมอธิบายเหตุความจำเป็นและไม่สามารถหาวิธีการอื่นที่ดีกว่าได้ ดีเอสไอระบุที่ผ่านมาใช้การดักฟังน้อย เปลืองทรัพยากรมหิธร กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองกฎหมายของดีเอสไอ ให้ข้อมูลว่า ดีเอสไอมีพนักงานสอบสวนอยู่ 300 คน รับคดีพิเศษปีละประมาณ 300 คดีมีงบประมาณเพียงพอในการทำคดีใหญ่ๆ และมีอำนาจพิเศษกว่าพนักงานสอบสวนทั่วไปตาม พ.ร.บ.ดีเอสไอ เช่น การเข้าค้นโดยไม่มีหมาย แต่โดยปกติจะขอหมายศาลเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่, การตรวจสอบบัญชีและอายัดการเงินผู้ต้องสงสัย, การดักข้อมูลไม่ว่าจะเป็นจดหมาย โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต แอพลิเคชั่นต่างๆ นอกจากนี้ยังมีอาวุธยุทธภัณฑ์เท่ากับทหาร 1 กรม มหิธรกล่าวด้วยว่า อันที่จริงไม่ต้องถึงกับต้องดักฟังการสนทนาซึ่งเป็นการเปลืองทรัพยากรมากเกินไป เพียงแค่ทราบเบอร์โทรศัพท์เป้าหมายแล้วข้อข้อมูลการโทรก็รู้ความเคลื่อนไหวในชีวิตคนได้เกือบหมด สามารถเห็นการโทรเข้าออกตลอดหนึ่งปี ความถี่ เครือข่ายผู้ติดต่อ ฯลฯ "การดักฟังโทรศัพท์เป็นการใช้ทรัพยากรที่ฟุ่มเฟือยมาก ถ้าผมดักฟังโทรศัพท์ท่าน ก็ต้องบันทึกเป็นคลิปเสียง ต้องให้เจ้าหน้าที่พิมพ์ ถอดเทปนำส่งศาล ถอดเฉพาะส่วนที่ต้องการก็ไม่ได้ ต้องถอดตั้งแต่วันที่ขอดักฟังจนถึงวันสุดท้ายเพื่อไม่ให้ถูกหาว่าตัดต่อ เราจึงใช้การดักฟังโทรศัพท์น้อยมาก หลังๆ แทบไม่ได้ใช้เลย" เจ้าหน้าที่จากดีเอสไอกล่าว ปัจจุบันหลายแอพลิเคชั่นดักข้อมูลได้แน่นอนมีผู้เข้าร่วมฟังเสวนาถามว่าหากโทรศัพท์ทางไลน์ (LINE) นั้นสามารถดักฟังได้หรือไม่ มหิธรตอบว่า ในทางทฤษฎีการสื่อสารทุกระบบดักได้เสมอ แต่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาเทคนิค ขณะที่เทคโนโลยีก็จะก้าวหนีไปเรื่อยๆ ให้ต้องวิ่งไล่ตาม "ไลน์ก็เหมือนกัน ผมมั่นใจว่าต้องแกะได้ แต่ถ้าถามว่าวันนี้แกะได้ไหม ยังตอบไม่ได้ แต่ฝ่ายพัฒนาเทคนิคก็คงทำให้จนได้" เจ้าหน้าที่ดีเอสไอกล่าว สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า พวก instant message (การส่งข้อความสนทนาระหว่างสองคนหรือกลุ่มในเน็ตเวิร์คเดียวกัน) ทั้งหลายที่ให้บริการหลากหลายยี่ห้อนั้นดักข้อมูลได้แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเสียงหรือเป็นถ้อยคำ เว้นแต่บางยี่ห้อที่มีการเข้ารหัส หรืออย่างกรณีของกองทัพก็มีการจ้างทำแอพลิเคชั่นเฉพาะแบบเข้ารหัสเพื่อจะแชทกันเองภายใน ต่อคำถามว่า หากกฎหมายนี้ผ่าน ต้นทุนในการดำเนินการดักข้อมูลของผู้ให้บริการ (operator) เช่นบริษัทมือถือค่ายต่างๆ จะสูงหรือไม่ เจ้าหน้าที่จากดีเอสไอ กล่าวว่า สูงแน่นอนและผู้ประกอบการต้องเป็นผู้แบกรับ แม้แต่กฎหมายของดีเอสไอก็กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องให้ความร่วมมือหากมีการร้องขอไป เพียงแต่กรณีเหล่านี้เกิดไม่มากนัก ขณะที่พ.ต.ท.ศิริพลระบุว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้ฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการเพราะในการรับฟังความคิดเห็นของกฎหมายนี้มีการเชิญบริษัทใหญ่หลายแห่งแล้วแต่ไม่มีตัวแทนเข้าร่วม ต่อคำถามว่ากฎหมายนี้จะใช้แก้ปัญหากรณีที่เจ้าของพื้นที่กลางอย่างเฟสบุ๊คหรือยูทูปไม่ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูลผู้ใช้บริการแก่รัฐไทยได้หรือไม่ พ.ต.ท.ศิริพลกล่าวว่า กฎหมายนี้ใช้บังคับเฉพาะในราชอาณาจักร กรณีที่ยกมาเป็นนโยบายของสหรัฐอเมริกา หากสหรัฐยังมีนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นหลักผู้ประกอบการก็ยังคงไม่ให้ความร่วมมืออยู่เช่นเดิม ซ้ำซ้อนหรือไม่ รัดกุมเพียงพอหรือยังสาวตรี ให้ความเห็นว่า ร่างกฎหมายนี้ฉบับล่าสุดนั้นมีการปรับปรุงจนดีขึ้นมากกว่าฉบับแรกที่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้ แต่ก็ยังมีคำถามสำคัญเรื่องความซ้ำซ้อนกับดีเอสไอและกฎหมายเฉพาะต่างๆ ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานดักข้อมูลได้ในคดีสำคัญๆ เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว นอกจากนี้นิยาม "คดีที่มีความซับซ้อน" ก็เป็นถ้อยคำที่อาจถูกตีความได้กว้างขวางครอบคลุมอาชญากรรมทั่วไป "สิ่งสำคัญอีกอย่าง การค้นข้อมูลหรือดักฟังโทรศัพท์ มีลักษณะการล่วงละเมิดสิทธิที่พิเศษกว่าการค้นบ้าน ค้นรถ ตรงที่ผู้ถูกล่วงละเมิดอาจไม่ใช่ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัย เพราะผู้ต้องสงสัยก็ต้องติดต่อกับคนอื่นๆ อีกมากมาย ก้อนข้อมูลนั้นมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ ในต่างประเทศจึง concern มากกับกฎหมายลักษณะนี้" สาวตรีกล่าว สาวตรีให้ข้อมูลว่า ในระดับสากลก็มีการใช้กฎหมายลักษณะนี้แต่จะระบุมาตรการต่างๆ ไว้อย่างรัดกุมและมีการตรวจสอบหลายขั้น เช่น ในสหประชาชาติมี "เทคนิคการสืบสวนพิเศษ" ข้อ 20 ในกฎหมายเพื่อต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ยอมรับให้มีการสะกดรอยด้วยเครื่องมือโทรคมนาคม โดยให้หมายถึงการสังเกตการณ์หรือดักฟังบุคคล สถานที่หรือกิจกรรมโดยเป็นความลับไม่ให้ผู้ถูกดักฟังรู้ตัว แต่มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้มาตรการสะกดรอยไว้ด้วยโดยอย่างน้อยต้องมี 2 ขั้นตอน 1. มาตราการก่อนใช้อำนาจ เช่น กำหนดประเภทความผิดที่จะใช้มาตราการสะกดรอยให้ชัดเจน ไม่ใช่คำว่า "คดีที่ซับซ้อน", กำหนดองค์กรผู้มีอำนาจพิจารณาและอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการสะกดรอย ไม่ได้ให้เจ้าพนักงานทุกคนใช้ได้, กำหนดกระบวนการในการอนุญาตที่ชัดเจน, กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน ฯลฯ 2. มาตราการหลังการใช้อำนาจ เช่น กระบวนการแจ้งให้ผู้ตกเป็นเป้าหมายได้รับรู้, การเก็บรักษา ใช้ประโยชน์และทำลายข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้อง, การรายงานต่อผู้มีอำนาจตรวจสอบโดยตรง, บทลงโทษและคุ้มครองตัวเจ้าของข้อมูล "บ้านเราไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตอนนี้ยังร่างกันอยู่เลย แต่เรามีกฎหมายดักข้อมูลแล้ว" สาวตรีกล่าว สาวตรี กล่าวเพิ่มเติมโดยยกตัวอย่างประเทศเยอมนีว่า เคยพยายามออกกฎหมายลักษณะนี้ตั้งแต่ปี 2007 ชื่อร่างกฎหมายการค้นออนไลน์ ช่วงแรกมีการหยั่งเสียงประชาชนพบว่ามีผู้สนับสนุนมาตรการนี้ถึงร้อยละ 65 ในปี 2007 ต่อมาอีกหนึ่งปีปรากฏว่าผู้สนับสนุนลดลงเหลือร้อยละ 57 และในการสำรวจอีกครั้งปี 2011 ผู้สนับสนุนเหลือร้อยละ 43 ขณะที่มีบางมลรัฐเริ่มใช้ไปก่อน แต่ประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ศาลตัดสินว่ามาตรการนี้ขัดรัฐธรรมนูญจริง ให้เลิกบังคับใช้ แต่บอกด้วยว่ารัฐจะสามารถทำได้ต้องออกกฎหมายให้ชัดเจนกว่านี้และมีมาตรการตรวจสอบ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คสช.เตรียมปลดล็อคท้องถิ่น - กกต.จ่อส่งศาล รธน.วินิจฉัย ปม ให้ อปท.จัดเลือกตั้งอาจขัด รธน. Posted: 13 Nov 2017 05:53 AM PST คสช.เตรียมปลดล็อคท้องถิ่นทำกิจกรรมได้ สนช. ขานรับ เตรียม กมธ.ศึกษาข้อ กม. ขณะที่ประธาน กรธ.พร้อมให้ความเห็นแก้กฎหมายเปิดทางเลือกตั้งท้องถิ่น ยัน กกต. มีอำนาจจัดเอง ด้าน ประธาน กกต. ชี้ ปัญหา ม.27 พ.ร.ป.กกต. ให้ อปท.จัดเลือกตั้ง อาจขัด รธน. เตรียมส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 13 พ.ย.2560 ความคืบหน้ากรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)จะปลดล็อคให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) นั้น โดยในวันนี้ รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการปลดล็อคคำสั่ง คสช. ให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ว่า คงปลดล็อคในส่วนของท้องถิ่นก่อนเพื่อให้หาเสียงได้ตามระบบ "แต่การหาเสียงจะต้องไม่โจมตีคสช.หรือสร้างความขัดแย้งทางการเมือง ส่วนการปลดล็อคคำสั่งคสช.ให้พรรคการเมือต้องรอดูเวลาที่เหมาะสม" พล.อ.ประวิตร กล่าว สนช. ขานรับ เตรียม กมธ.ศึกษาข้อ กม.ขณะที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึง การพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยยืนยันว่า จะไม่กระทบกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับ คือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะส่งมายัง สนช. ช่วงปลายเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) จะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น และจะตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องและกฎหมายที่รัฐบาลจะเสนอเข้ามาแก้ไข ให้สามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ ยืนยันว่า สนช.มีความพร้อมในการพิจารณากฎหมายได้ทันเวลา ประธาน กรธ. เผยเตรียมแจง ก.ม.เกี่ยวเลือกตั้งท้องถิ่นมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ได้เชิญ กรธ. ให้ความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ภายหลังจากที่ คสช.เตรียมจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นบางพื้นที่ก่อนการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่า กรธ. ได้ส่ง ศ.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นตัวแทนในการชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่ามีมาตราใดของรัฐธรรมนูญที่ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ และหากมีผลกระทบรัฐบาลจะต้องปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส่วนตัวเห็นว่าจำเป็นต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นกับสมาชิกท้องถิ่น และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งท้องถิ่นที่ยังไม่สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญ ส่วน กรณีที่ ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาระบุว่า ยังมีประเด็นข้อขัดแย้งที่ กกต. อยู่ระหว่างยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ตามมาตรา 27 ที่บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้จัด โดย กกต.เป็นผู้ควบคุมให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่ง กกต.เห็นว่ากฎหมายยังขัดแย้งกันอยู่ นั้น มีชัย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความเข้าใจผิดของ กกต. เพราะ กรธ.เขียนระบุไว้ในกฎหมายแล้วให้สอดคล้องกัน ไม่ได้จำกัดอำนาจของ กกต. ซึ่ง กกต. สามารถมอบหมายให้ อปท.เป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งแทนได้อยู่แล้ว โดย กกต.ทำหน้าที่กำกับดูแล หรือ กกต.จะจัดการเลือกตั้งเองก็สามารถได้ แม้ว่าขณะนี้จะไม่มี กกต. จังหวัดแล้ว ก็ไม่มีปัญหา เนื่องจากตำแหน่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ยังคงมีอยู่ ซึ่งช่วงที่มีการจัดการเลือกตั้งกกต. จะมอบหมายให้ปลัดท้องถิ่นเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการยึดตามโครงสร้างเดิม ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และกฎหมายไม่ได้ห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหวสนับสนุนผู้สมัครการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่เนื่องจากขณะนี้ คสช. ยังไม่มีคำสั่งปลดล็อคพรรคการเมือง ดังนั้น จำเป็นต้องพิจารณาเงื่อนไขของ คสช. ว่าจะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมได้มากน้อยเพียงใดเนื่องจากคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 57/2557 ยังมีสภาพบังคับเพราะมีสถานะเป็นกฎหมาย หากจะมีการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องออกคำสั่ง คสช. หรือออกเป็นกฎหมาย ส่วนการที่ กกต. มีการออกระเบียบเกี่ยวกับพรรคการเมืองนั้น มีบางเรื่องที่พรรคการเมืองสามารถทำได้ตราบใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง เช่น การตรวจสอบบัญชีสมาชิก เป็นต้น มีชัย กล่าวว่า ส่วนตัวคาดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นอาจจะยังไม่เกิดขึ้นภายใน 1-2 เดือนนี้ เพราะรัฐบาลต้องปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน และรัฐบาลกับ กกต. ต้องหารือร่วมกันว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่ง กกต. ชุดปัจจุบันยังคงมีอำนาจในการตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องรอ กกต. ชุดใหม่ เพราะขณะนี้กฎหมายลูกว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่ง กกต.สามารถจัดทำระเบียบมารองรับได้ตั้งแต่วันที่กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ เตรียมส่งศาลรัฐธรรมนูญ ให้ อปท.จัดเลือกตั้ง อาจขัด รธน.สำหรับรายละเอียดเพิ่ิมเติม ประธาน กกต.ระบุว่า ยังมีประเด็นข้อขัดแย้งที่ กกต. อยู่ระหว่างยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ตามมาตรา 27 ที่บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้จัด โดย กกต.เป็นผู้ควบคุมให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่ง กกต.เห็นว่ากฎหมายยังขัดแย้งกันอยู่ นั้น ศุภชัย ประธาน กกต.ระบุว่า กกต.เห็นว่า กฎหมายยังขัดแย้งกันอยู่ และมีการทักท้วงตั้งแต่ในชั้นกรรมาธิการฯ แต่ไม่ได้มีการแก้ไข กกต.จึงมอบหมายให้สำนักงานยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยอยู่ระหว่างการตวจสอบข้อกฎหมาย และจะมีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยเร็ว เพื่อให้ได้บทสรุปที่ชัดเจน ก่อนที่ คสช.จะปลดล็อคให้เลือกตั้งท้องถิ่นได้ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาการฟ้องร้องในภายหลังแล้ว อาจทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นโมฆะ "แต่ถ้ายังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วมีการเลือกตั้งท้องถิ่นไปก่อน กกต.ก็จะทำหน้าที่ควบคุมตามกฎหมายลูก ซึ่งหากมีปัญหาในภายหลังก็เป็นเรื่องของ คสช." ศุภชัย กล่าว สำหรับกรณีที่รัฐบาลจะแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 5 ฉบับ เพี่อรองรับการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ศุภชัย กล่าวว่า ยังไม่มีการติดต่อมาที่ กกต.เพื่อไปให้ความเห็น ส่วนการที่นักการเมืองจะเข้าไปสนับสนุนนักการเมืองท้องถิ่นนั้น ต้องยอมรับว่านักการเมืองท้องถิ่นคือหัวคะแนนของนักการเมืองระดับชาติ การจะไปสนับสนุน ก็อย่าให้ผิดกฎหมาย
ที่มา : สำนักข่าวไทย (1, 2) และเว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา (1, 2)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กองทัพภาค 4 ยัน 'พลทหารอดิศักดิ์' ไม่ถูกซ้อมทรมาน ตายด้วยโรคประจำตัว Posted: 13 Nov 2017 05:05 AM PST กองทัพภาคที่ 4 แจงเหตุ 'พลทหารอดิศักดิ์' เสียชีวิต เกิดจากโรคประจำตัวที่เป็นตั้งแต่เข้ากองประจำการ ยันไม่มีซ้อมทรมาน พร้อมขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัว และสั่งให้การช่วยเหลือตารมสิทธิ 13 พ.ย. 2560 จากกรณีการเสียชีวิตของ พลทหาร อดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์ อายุ 21 ปี ทหารเกณฑ์สังกัดค่ายเทพสตรีศรีสุนทร กองพลทหารราบที่ 5 ต.กะปาง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช โดยแพทย์ระบุในใบมรณบัตรว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจาก "สภาวะหัวใจล้มเหลว" นั้น ได้เข้ารับการฝึกเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2560 ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2560 รายงานข่าวจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) วันนี้ (13 พ.ย.60) เมื่อเวลา 16.00 น. พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ชี้แจงว่า กองทัพภาคที่ 4 ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับญาติและครอบครัวของ พลทหาร อดิศักดิ์ ที่ได้เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ในระหว่างการฝึกตามหลักสูตรการฝึกทหารใหม่ 10 สัปดาห์ และได้ป่วยด้วยโรคประจำตัว ถึงแม้ว่าทีมแพทย์และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะทำการช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้วก็ตาม ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการเน้นย้ำให้หน่วยต้นสังกัดเร่งทำการช่วยเหลือด้านสวัสดิการและสิทธิกำลังพลอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอำนวยความสะดวก และการช่วยเหลือด้านการจัดการศพให้ดีที่สุด กองทัพภาคที่ 4 ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการฝึกทหารใหม่ ให้เป็นนโยบายสำคัญ ที่ทุกหน่วยฝึกต้องยึดถือและปฏิบัติตามให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ โดยได้ทำการคัดกรองทหารใหม่ทุกคน ตั้งแต่ วันแรกของการเข้ารายงานตัว เพื่อเฝ้าระวังบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง สำหรับ พลทหาร อดิศักดิ์ฯ ได้ตรวจพบว่ามีโรคประจำตัวด้านกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ และมีประวัติการเสพยาเสพติด จึงได้นำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาติดต่อกันหลายครั้ง และแพทย์ได้มีความเห็นให้งดการฝึกเป็นระยะๆ ทั้งนี้ในระหว่างพักฟื้น หน่วยได้จัดเจ้าหน้าที่เสนารักษ์เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด หนังสือรับรองการตาย โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ระบุอีกว่า กองทัพภาคที่ 4 ขอยืนยันให้สังคมได้รับทราบว่า ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือชีวิต โดยไม่มีการซ้อมทรมานหรือปฏิบัติอื่นใดที่นอกเหนือกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ดังที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ ได้ให้คำแนะนำญาติ ให้นำศพไปผ่าชันสูตรเพื่อวิเคราะห์สาเหตุของการเสียชีวิตโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และล่าสุดเมื่อ 13 พ.ย. 2560 ทีมแพทย์ได้สรุปสาเหตุการตายในเบื้องต้นให้กับพ่อแม่และญาติทราบว่า เกิดจากการติดเชื้อในช่องท้อง เนื่องจากเป็นโรคกระเพาะและลำไส้ทะลุ ซึ่งเป็นโรคที่เป็นมาตั้งแต่ก่อนถูกส่งตัวเข้ากองประจำการ และไม่พบว่ามีการทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด สำหรับรอยฟกช้ำที่เห็นไม่ได้เกิดจากการทำร้าย แต่เกิดจากการติดเชื้อ ทำให้ศพมีสีคล้ำ ซึ่งทุกคนต่างก็มีความเข้าใจเป็นอย่างดี จึงขอให้ใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง เพราะทำให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ไม่รอบด้าน และมีความผิดตามกฎหมาย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 13 Nov 2017 12:39 AM PST
แหม่ พูดอย่างนั้นก็ไม่ถูกเสียทีเดียว ม.44 คือ "กฎหมาย" สั่งแล้วไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพียงแต่ ม.44 มีอำนาจบังคับแค่คนไทย ไม่สามารถคุ้มครองประเทศไทยจากการเรียกค่าเสียหายตามสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งคราวนี้คิงส์เกตจะเรียก 1,400 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าตอนเจรจาขั้นต้น 2 เท่า แน่ละ ในกระแสคนไทยหัวใจรักชาติ ปลุกสำนึกปกป้องผลประโยชน์ชาติ รู้สึกเป็นหน้าที่ ที่ต้องช่วยกันเถียงคอเป็นเอ็น ว่ารัฐบาลไทยไม่ผิด ไม่ต้องจ่าย "ค่าโง่" นอกจากนี้ยังมีกระแสรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม สุขภาพประชาชน ฯลฯ ซึ่งพร้อมจะรุมเล่นงานคนที่มองตามหลักกฎหมายอย่างตรงไปตรงมาว่า เฮ้ย เราน่าจะเป็นฝ่าย "ผิด" หรือเป็นฝ่ายเสียเปรียบเยอะเลย ไม่เสียเปรียบได้ไง ถ้าดูข้อต่อสู้ของเหมืองอัครา ว่ารัฐบาลไทย ซึ่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ลงไปศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ในปี 57-58 ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า "โลหะหนักและสารหนูที่ตรวจพบในปริมาณที่สูงจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนนั้น เกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำ" ตามรายงานของคณะกรรมการ ผลการตรวจเลือดชาวบ้าน พบแมงกานีสและสารหนู ร่วมครึ่งหนึ่งของจำนวนที่สุ่มตัวอย่าง ทำไมยังว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้ ก็เพราะเหมืองเปิดมาตั้งแต่ปี 2542 ในอดีตไม่เคยมีการตรวจเลือด ตรวจสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นในทางกฎหมายจึงยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า สารอันตรายเกิดจากเหมือง ในทางกฎหมาย เหมืองยัง "ดิ้นได้" ว่าสารหนูมีอยู่ในกะปิ กุ้งแห้ง เช่นที่นักวิจัยเคยทดลองให้ชาวบ้านเลิกกินกะปิ กุ้งแห้ง สารหนูก็ลดลง ถามว่าเหมืองทองน่าจะเป็นอันตรายไหม น่าจะเป็นสิครับ อย่างน้อยก็ไม่คุ้มเลยที่ให้เปิดใกล้ชุมชน ใกล้พื้นที่เกษตร แต่ในทางกฎหมาย ในทางวิทยาศาสตร์ เรายังไม่มีหลักฐานมัดว่า อันตรายมาจากเหมือง แม้แต่การตรวจคุณภาพน้ำ ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยลงไปสุ่มตัวอย่าง ผลออกมาก็ไม่ตรงกัน คงต้องศึกษาวิจัยอีกระยะหนึ่งจึงมีหลักฐานเพียงพอ ฉะนั้นเข้าใจตรงกันนะ รัฐบาล คสช. ตัดสินใจด้วยความห่วงใยผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพประชาชน รวมทั้งคำนึงถึงผลประโยชน์ชาติ เพราะแร่ทองคำที่ได้มา เราได้ค่าภาคหลวงจากทองดิบ ที่ส่งออกไปสกัดนอกประเทศ แล้วเราต้องซื้อทอง 99.99% กลับมา ไม่คุ้มเลย แต่ทั้งหมด ไม่ได้ลบล้างความจริงที่ว่า เราเสียเปรียบทางกฎหมายเต็มๆ โดยเฉพาะการตัดสินใจที่เห็นได้ว่ารัฐบาลก็พลิกไปพลิกมา ออกมติ ครม. 10 พ.ค. 59 แล้วกลับมาออกมติ 7 มิ.ย. 59 สุดท้ายก็ออก ม.44 ล่าสุด วิชา มหาคุณ ตีปี๊บว่า ป.ป.ช.กำลังไต่สวนข้อกล่าวหาคิงส์เกต ติดสินบนนักการเมืองและเจ้าหน้าที่แลกกับการอำนวยความสะดวกในการสำรวจและทำเหมืองทอง หากผลสอบออกมาว่าติดสินบนจริง คิงส์เกตจะทั้งติดคุกและถูกรัฐบาลไทยฟ้องเรียกค่าเสียหายได้อีกต่างหาก ฟังแล้วฮากลิ้ง แต่คงถูกหาว่าไม่รักชาติ ถามหน่อยสิ ถ้าเอาผิดได้จริง ทำไมไม่รอป.ป.ช.ส่งฟ้อง ดำเนินคดี แล้วค่อยถอนสัมปทาน การใช้ ม.44 ถอนสัมปทานก่อนแล้วเอาข้อหาทุจริตติดสินบนมาโยนใส่ทีหลัง ฟังไม่ขึ้นหรอก ซ้ำยิ่งเสียเครดิตต่อนักลงทุนต่างชาติ ยอมรับความจริงเถอะว่า การใช้ ม.44 ลัดขั้นตอน แม้เจตนาดี แต่ก็เสียเปรียบทางกฎหมาย อย่าตะแบงปกป้องด้วยความรักชาติรักสิ่งแวดล้อมอยู่เลย
ที่มา: https://www.kaohoon.com/content/200382 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 13 Nov 2017 12:27 AM PST มีคนอยู่ในคุก
หมายเหตุ ที่ใช้รูปพี่ไผ่ ดาวดิน เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่แจ่มชัดที่สุด ในการสื่อถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในกระบวนการต่อสู้ทางชนชั้น และเพื่อสิทธิเสรีภาพในสังคมไทย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แม่พลทหาร เปิดผลชันสูตรรอบสอง ลูกชายคนเดียวไปเป็นทหารเกณฑ์เสียชีวิตเพราะ “ติดเชื้อในลำไส้” Posted: 13 Nov 2017 12:12 AM PST สืบเนื่องจากกรณีการเสียชีวิตของพลทหารอดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์ มารดาให้สัมภาษณ์หลังทราบผลชันสูตรครั้งที่ 2 เผยลูกชายคนเดียวเสียชีวิตเพราะ "ติดเชื้อในลำไส้" ส่วนเรื่องรอยช้ำแพทย์ระบุ หลังเสียชีวิตจะเขียวช้ำเป็นธรรมดา มาดารย้ำเสียใจ แต่ทำอะไรไม่ได้เรื่องมันผ่านไปแล้ว พลทหาร อดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์ อายุ 21 ปี 13 พ.ย. 2560 สืบเนื่องจากกรณีข่าวการเสียชีวิตของ พลทหาร อดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์ อายุ 21 ปี ซึ่งเป็นทหารเกณฑ์สังกัดค่ายเทพสตรีศรีสุนทร กองพลทหารราบที่ 5 ต.กะปาง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช โดยได้เข้ารับการฝึกเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2560 ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2560 เตือนใจ น้อยพิทักษ์ มารดาของพลทหารอดิศักดิ์ ได้เปิดเผยในตอนต้นว่า ได้ทราบข่าวจากทหารในค่ายเทพสตรีศรีสุนทร เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2560 เวลา 21.30 น. ว่า บุตรชายไม่สบายนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลในค่าย มีอาการปวดท้องและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยแพทย์ระบุในใบมรณบัตรว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจาก "สภาวะหัวใจล้มเหลว" ทั้งนี้เธอไม่ได้ปักใจเชื่อ พร้อมยืนยันว่าบุตรชาย ซึ่งเป็นบุตรเพียงคนเดียวมีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่เคยมีโรคประจำตัว อีกทั้งยังสังเกตุสภาพศพว่ามีรอยช้ำตามร่างกายหลายแห่ง เช่นลำตัว หลัง และ คอ รวมถึงพบว่าซี่โครงหักบริเวณหน้าอกผิดปกติ ทั้งยังทราบอีกว่า ครูฝึกทหารใหม่ ยังไม่ยอมให้ผู้ใดติดต่อญาติ หลังการเสียชีวิตของบุตรชาย เธอจึงขอให้โรงพยาบาลค่ายเทพสตรีศรีสุนทร ส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อีกครั้ง หากผลการชันสูตรพบว่าไม่ได้ตรงตามที่แพทย์ระบุ จะดำเนินการร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และจะดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้สอบถามไปยัง เตือนใจ (วันนี้) หลังทราบผลชันสูตรจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เธอเปิดเผยว่า แพทย์ได้ผ่าชันสูตรศพ และลงความเห็นว่าสาเหตุของการเสียชีวิตเกิดจากการ "ติดเชื้อในลำไส้" ส่วนรอยช้ำที่เกิดขึ้นตามร่างกายนั้น แพทย์ระบุว่า เป็นเรื่องปกติที่จะมีรอยช้ำตามร่างกายหลังจากเสียชีวิต "มันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่มันเกิดขึ้นไปแล้ว หมอว่าเขาไม่สบายในท้อง ปวดท้อง หมอเขาผ่าข้างในแล้วก็บอกว่าติดเชื้อในลำไส้ ลำไส้ทะลุ มันก็ต้องทำใจแล้ว ตอนนี้ก็เอาศพกลับไปก่อน เอาไปทำพิธีให้เขา มันผ่านไปแล้ว อะไรก็ต้องรับได้อยู่แล้วตอนนี้ เขาสรุปไปแล้วหมอวินิจฉัยว่า รอยช้ำ พอเสียชีวิตแล้วมันก็เขียวช้ำเป็นธรรมดา ตอนนี้แม่ไม่อยากพูดอะไรมากมันเสียใจ" เตือนใจ กล่าว เมื่อถามว่าทหารเจ้าหน้าที่ทหารได้เขามาให้ความช่วยเหลือบ้างหรือไม่ เตือนใจ ระบุว่า ทหารได้เข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะตอนนี้ทหารก็ได้ขับรถมาส่งศพที่บ้านด้วย และให้ความช่วยเหลือเรื่องอื่นๆ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คุมแกนนำสวนยางปรับทัศนคติในค่ายทหาร 1 คืน หลังเตรียมเข้ากรุงร้องปรับราคา Posted: 12 Nov 2017 11:21 PM PST ทหารคุมตัว 4 แกนนำสวนยางจาก พัทลุง และตรัง เข้าค่าย หลังเตรียมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ร้องแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ขณะที่ รองหน.ปชป.ไม่เห็นด้วย ชี้ปัญหาปากท้อง-ไร้ปมการเมือง ล่าสุดเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางฯ บุกวางพวงหรีดกยท. 13 พ.ย.2560 จากกรณีเจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายปกครองได้เข้าควบคุมตัว 4 แกนนำสวนยางจาก จ.พัทลุง และตรัง เข้าค่ายทหารเมื่อกลางดึกวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังเตรียมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในวันนี้ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยทหารได้ปรับทัศนคติและขอร้องไม่ให้มีการชุมนุม ก่อนจะยอมปล่อยตัวแกนนำทั้ง 4 ในช่วงเที่ยงของวันที่ 12 พ.ย.60 รายงานข่าวระบุว่า 4 แกนนำชาวสวนยาง ประกอบด้วย ไพรัช เจ้ยชุม อายุ 48 ปี ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์กองทุนชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง สำรอง เพชรทอง อายุ 58 ปี รองประธานชุมนุมสหกรณ์กองทุนชาวสวนยางพาราฯ ถูกควบคุมตัวไว้ที่ค่ายอภัยบริรักษ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ขณะที่ ถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน และ ประทบ สุขสนาน แกนนำเกษตรกรสวนยางจังหวัดตรัง ถูกคุมตัวเพื่อปรับทัศนคติที่ค่ายพระยารัษฎานุประดิษฐ์ จ.ตรัง แหล่งข่าวของโพสต์ทูเดย์ระบุว่า 2 แกนนำสวนยาง จ.ตรัง ยอมตามแรงกดดันของเจ้าหน้าที่ที่ขอร้องไม่ให้เดินทางไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ แต่จะให้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อจะนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ส่วนแกนนำสวนยาง จ.พัทลุง ทางทหารได้เชิญ กู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง และ ดำรง ธรรมเพชร ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย จ.พัทลุง เข้าร่วมเจรจาขณะถูกควบคุมตัวจนรับปากที่จะไม่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปพบกับเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจากภาคอื่นๆ ที่หน้ากระทรวงเกษตรฯ ในช่วงวันจันทร์นี้เช่นกัน ประทบ กล่าวภายหลังว่า จากที่ได้พบกับผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ก็ได้รับปากว่าจะช่วยแก้ปัญหายางพาราให้ ก็เชื่อมั่นว่าทางผู้ว่าฯ จะสามารถทำได้ ขณะที่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการควบคุมตัวแกนนำในจังหวัดต่าง ๆ เพราะความต้องการแสดงออกของตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางเหล่านี้ มาจากความเดือดร้อน เนื่องจากราคาที่ตกต่ำซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของประชาชนผู้ประสบปัญหาเรื่องปากท้อง ไม่ใช่เป็นปัญหาการเมือง และไม่มีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง เบื้องต้น ทราบว่ามี 2 จังหวัด คือ จ.พัทลุง และจ.ตรัง ที่ตัวแทนชาวสวนยางในพื้นที่ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวเข้าไปในค่ายทหาร ทำให้การเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ของแกนนำและชาวสวนยางต้องยกเลิก ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่เคยมีมติร่วมกันถึงกำหนดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางนั้น ไม่ทราบ เนื่องจากไม่ได้รับการประสาน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า ในความคิดของตนเห็นรัฐบาลควรเปิดโอกาสให้ตัวแทนชาวสวนยางของจังหวัดต่างๆได้มีการแสดงสัญลักษณ์ เพื่อให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคายางพารา ซึ่งตนมั่นใจว่าการเดินทางเข้ากทม. ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ อย่างไรก็ตาม วันนี้ (13 พ.ย.60) ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริเวณหน้าห้องประชุม 115 วิสูตร สุชาฎา แกนนำเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จ.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วยแกนนำเครือข่ายฯทั่วประเทศ ได้นำพวงหรีด จำนวน 3 พวงมาวางเพื่อไว้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไว้อาลัยต่อการบริหารยางที่ล้มเหลวของกระทรวงเกษตรและบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ทำให้บรรยากาศตึงเครียด ซึ่งมีทั้งตำรวจและทหาร จากกองทัพภาค1 กว่า 100 นาย มายืนเป็นแนวสองชั้นกั้นขวางบันไดชั้นสองเพราะเกรงว่าเกษตรกรจะขึ้นชั้นบน รวมทั้งเฝ้าระวังทั่วบริเวณกระทรวง โดยระหว่างนั้น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เดินลงมาเข้าประตูด้านห้องประชุม 115 เพื่อมารับหนังสือและรับฟังข้อเรียกร้องจากแกนนำเครือข่ายฯมาจากทั่วประเทศ กว่า 50 คน นำโดย สุรัตน์ เทือกสุบรรณ แกนนำเครือข่ายฯ จ.สุราษฐ์ธานี และ เขศักดิ์ สุดสวาท เลขาธิการเครือข่ายฯ ทั้งนี้ สุรัตน์ กล่าวว่า ตัวแทนสถาบันเกษตรสวนยางฯมาจากทุกจังหวัดเพื่อให้ทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนชาวสวนยาง ยืนยันว่ากลุ่มนี้ไม่ได้มาไล่รมว.เกษตรฯแต่มาขอให้รัฐบาลช่วยแก้ไข จากพ.ร.บ.การยางฯ 2558 ที่พวกเรามีความหวังว่ากยท.จะดูแลคนปลูกยางได้ทั่วถึง ที่มา : โพสต์ทูเดย์ เดลินิวส์และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แท้ง-ท้อง ยังไม่มี ‘ทางเลือก’ ให้ผู้หญิงในกฎหมายและศีลธรรม Posted: 12 Nov 2017 10:27 PM PST ทำไมกฎหมายและศีลธรรมไม่มีทางเลือกให้ผู้หญิง ทำไมการทำแท้งจึงผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม เมื่อผู้ต้องแบกรับทุกสิ่งอย่างจากการตั้งครรภ์หรือทำแท้งคือผู้หญิง 'ไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งใจท้องเพื่อไปทำแท้ง' เป็นคำพูดที่ประมาณการได้ว่าจริงมากกว่าเท็จ การเลือกที่จะยุติชีวิตในครรภ์จึงไม่ใช่เรื่องที่ตัดสินได้ง่าย ตรงนี้มี 2 คำที่เป็นคู่โต้แย้งกันมานมนานในประเด็นการทำแท้ง-การเลือกและชีวิต ฟากฝั่งหนึ่งเชื่อว่าการทำแท้งคือการทำลายชีวิต การทำลายชีวิตคือบาปและผิดศีลธรรม คนกลุ่มนี้จึงไม่อาจยอมรับให้มีการทำแท้งได้ คำถามว่าชีวิตเริ่มต้นที่ใดจึงมีความสำคัญต่อประเด็นนี้ เพราะแม้ว่าในทางกฎหมายจะชัดเจนว่าความเป็นบุคคลเริ่มต้นเมื่อคลอดและมีชีวิตอยู่ นั่นก็ใช่ว่านิยามทางกฎหมายจะเป็นนิยามเดียวที่สังคมยอมรับ ในมิติของศาสนาและศีลธรรมชีวิตเริ่มต้นแล้วตั้งแต่ปฏิสนธิ อีกฟากหนึ่งเชื่อว่าผู้หญิงควรมีสิทธิที่จะเลือกกำหนดชีวิตของตน ควรมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตน คนอื่นหรือศีลธรรมไม่ควรก้าวก่ายหรือบอกว่าอะไรเลือกได้หรือไม่ได้ เนื่องจากบริบทในชีวิตของปัจเจกไม่เหมือนกัน การใช้ชุดความเชื่อมาตัดสินชีวิตคนอื่นอาจจบลงเป็นความรุนแรงชนิดหนึ่งที่กดทับลงมาบนตัวผู้หญิง การทำแท้งในสังคมไทยจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน (อันที่จริง ทุกสังคมก็ละเอียดอ่อนต่อเรื่องนี้เกือบทั้งนั้น) รายงานชิ้นนี้มุ่งตั้ง 2 คำถามว่าการทำแท้งผิดกฎหมายหรือไม่และผิดบาปหรือไม่ เมื่อกฎหมายและศีลธรรมทางศาสนาคือสองแกนหลักที่ควบคุมชีวิตของเรา ความลำเอียงที่ซ่อนอยู่หลังม่านต่างหากที่ทำให้ศีลธรรมและกฎหมายปิดทางเลือกของผู้หญิง ผิดบาป? ถ้ามองการทำแท้งผ่านแว่นพุทธศาสนา ไม่เหลือที่ว่างให้ถกเถียงเลยว่าบาปหรือไม่ ศาสนาพุทธเชื่อว่าชีวิตเกิดขึ้นเมื่อมีการปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ว่ากันตามบรรทัดฐานนี้ หากมีการตั้งครรภ์ขึ้น ไม่ว่าอายุครรภ์จะแค่ 1 วันหรือ 3 เดือน การทำแท้งผิดศีลปาณาติบาตเสมอเพราะชีวิตได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว ไม่มีทางแยกบนถนนของความบาปต่อเรื่องนี้ สถานการณ์ย่ำแย่งลงไปอีกเมื่อศีลธรรมเปลี่ยนสภาพเป็นตราบาปสำหรับผู้หญิงที่ทำแท้ง (ใช่ ผู้ชายที่ทำให้ผู้หญิงต้องทำแท้งบริสุทธิ์จากบาปโดยสิ้นเชิง) อย่างไรก็ตาม ศีลธรรมทางศาสนาไม่ได้อยู่ตามลำพัง มันจึงปะทะกับหลักการเสรีภาพของบุคคล พระชาย วรธัมโม นักบวชในพุทธศาสนาและเป็นผู้ที่สนใจประเด็นเรื่องเพศและสิทธิทางเพศ เสนอว่าบาปหรือไม่บาปเป็นสิ่งที่ผู้หญิงต้องตัดสินใจ ไม่ใช่เรื่องของคนนอก "เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ชีวิตก็เกิดขึ้น เมื่อมีการยุติก็คือการทำให้ชีวิตนั้นไม่มีชีวิตอยู่ต่อไป คำถามคือมันบาปมั้ย เราว่าบาปหรือไม่บาปก็ไม่สร้างความรุนแรงให้กับตัวความรู้สึกของผู้หญิงเองที่ตั้งท้องและทำแท้ง อันนี้เป็นความรู้สึกที่รุนแรงมากกว่าเรื่องบาป คำว่าบาปที่พูดกัน ส่วนใหญ่เป็นการพูดจากคนที่ไม่ได้ตั้งท้องและไม่ได้ทำแท้งเอง คำว่าบาปจึงเกิดจากคนนอก เพราะฉะนั้นเวลาพูดว่าการทำแท้งมันมีแง่มุมของการประณามและตีตรา "เรามองว่าการทำแท้งควรเป็นเรื่องการตัดสินใจของผู้ตั้งท้องมากกว่า ว่าเขามีมุมมองต่อชีวิตที่จะเกิดขึ้นมาอย่างไร ถ้าเขาไม่พร้อม มันควรเป็นเรื่องที่เขาต้องตัดสินใจ แล้วคนภายนอกไม่มีสิทธิประณาม คิดแทน หรือบอกว่าบาป จะบาปหรือไม่ควรเป็นสิทธิของคนคนนั้นที่จะนิยามตัวเขาเองมากกว่า" พระชายกล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบคิดแทนคนอื่นและไม่ได้มองบริบทรอบตัวของคนที่ต้องตกระกำลำบากว่าต้องเผชิญอะไรและอย่างไร หากใช้โยนิโสมนสิการเข้าไปตรวจสอบบริบทรอบตัวของผู้ที่ทำแท้ง จะช่วยให้เห็นว่าไม่ควรคิดแทนและเปิดโอกาสให้เจ้าของชีวิตคิดและตัดสินชีวิตของตนเอง "คนที่ตั้งท้องบางคนก็ไม่พร้อมที่จะให้กำเนิด แล้วจะเลี้ยงเด็กให้มีคุณภาพได้อย่างไร แม้ว่าศาสนาจะบอกว่าเป็นบาปก็ตาม แต่สุดท้ายควรเป็นเรื่องของคนคนนั้นที่จะตัดสินใจกับสิ่งที่เขากำลังเผชิญมากกว่าที่จะให้คนอื่นชี้นำเขา" ด้าน วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ยอมรับว่าตนเคยผ่านประสบการณ์การทำแท้งและยอมรับด้วยว่าศาสนาหรือความเชื่อทางศีลธรรมไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทั้งก่อนและหลัง
"แต่ก็ไม่ปฏิเสธอิทธิพลของคำสอน การตีความทางศาสนา และความเชื่อที่ครอบคลุมสังคมอยู่ ส่วนตัวคิดว่ามีผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ทำแท้งแล้วไม่รู้สึกผิดบาปและรู้สึกว่าเป็นทางเลือกที่ดีแล้วที่ตัดสินใจทำแท้ง เพียงแต่ว่าเราไม่ค่อยมีพื้นที่พูดในสังคมมากนักเพราะมีโอกาสที่จะถูกตีตราซ้ำซ้อนว่าไปทำแท้งก็แย่แล้ว แล้วยังไม่สำนึกผิดอีก" อย่างไรก็ตาม วราภรณ์ย้ำว่าการที่ผู้หญิงคนหนึ่งรู้สึกผิดบาปจากการทำแท้งก็ไม่ใช่เรื่องล้าหลังแต่อย่างใด เนื่องจากอิทธิพลของศาสนาและความเชื่อแทรกซึมอยู่ในชีวิต เธอเสนอทางเลือกว่า "ส่วนตัวไม่คิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหลสำหรับคนที่จะประกอบพิธีกรรมเพื่อคลี่คลายสิ่งที่ติดอยู่ในใจ ขบวนการของเราจะมีส่วนในการคิดสร้างสรรค์พิธีกรรมแบบสตรีนิยมที่จะคลี่คลายปมในใจ เพื่อให้มีวิธีแก้กรรมแบบทางเลือกที่ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่แสวงหาประโยชน์ด้วยเงิน และไม่ซ้ำเติมให้ผู้หญิงรู้สึกผิดอย่างไรต่างหาก" ผิดกฎหมาย? สังคมรู้สึกว่าการทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่การที่มันผิดกฎหมายก็เพราะความคิดอนุรักษ์นิยมที่แข็งแรงในช่วงที่เขียนกฎหมายนี้ขึ้น รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่าปัจจุบันมีกำหนดความผิดเกี่ยวกับการทำแท้งในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301-305 ซึ่งมีจุดกำเนิดตั้งแต่ปี 2500 ซึ่งคนในยุคนั้นมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม มองว่าการทำแท้งเป็นบาปและผิดศีลธรรม กฎหมายจึงห้ามทำแท้งทุกกรณี ยกเว้นไว้เพียง 2 กรณีคือเหตุจำเป็นด้านสุขภาพของฝ่ายหญิงหรือถูกข่มขืน เมื่อถึงปี 2548 มีการขยายกรอบออกไป โดยทางแพทยสภาออกข้อกำหนดว่าให้รวมเอาความจำเป็นด้านสุขภาพจิตด้วย แต่ต้องผ่านกฎเกณฑ์ของแพทยสภา ทำให้เห็นว่ากฎหมายเปิดช่องไว้น้อยมากและไม่เคยให้สิทธิแก่ผู้หญิงในการตัดสินใจ "ปี 2500 ยังไม่มีนักกฎหมายผู้หญิงสักคน การทำแท้งจึงมีความผิด ข่มขืนชำเราก็ยอมความได้ ไม่ร้องทุกข์ ไม่เอาเรื่อง ก็ไม่มีการเอาผิด" ปกป้องยกตัวอย่างฝรั่งเศสที่มีการถกเถียงเรื่องนี้กระทั่งตกผลึกเป็นกฎหมายที่ประนีประนอมกันระหว่างฝั่งเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม เขากล่าวว่า ในอดีต การทำแท้งในฝรั่งเศสมีโทษถึงประหารอันเป็นอิทธิพลจากศาสนาที่มองว่า การเกิดและตายเป็นเรื่องของพระเจ้า มนุษย์ไม่มีสิทธิก้าวล่วง แต่แล้วก็เกิดขบวนการเรียกร้องเพื่อให้เกิดการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย "ฝ่ายอนุรักษ์นิยมบอกว่าเป็นสิทธิของเด็กที่จะเกิด ฝั่งเสรีนิยมบอกว่าเป็นสิทธิของผู้หญิงที่จะตัดสินใจกับร่างกายตัวเอง เมื่อสองแนวคิดมาปะทะกัน จนในที่สุดตกลงกันได้ว่าช่วงอายุครรภ์สามเดือนเป็นสิทธิของผู้หญิงที่จะเก็บหรือทำแท้ง ถ้าเกินสามเดือนถือเป็นสิทธิของเด็กที่จะมีชีวิต "ดังนั้น ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ผู้หญิงฝรั่งเศสสามารถทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด เดินเข้าไปหาหมอได้ทุกตำบล ทุกคลินิก สวัสดิการออกค่าบริการให้ฟรี สามารถยุติการตั้งครรภ์โดยชอบด้วยกฎหมาย แล้วใครที่ขัดขวางสิทธิของหญิงที่จะทำแท้งย่อมถูกลงโทษ เพราะเป็นสิทธิแล้ว ละเมิดสิทธิไม่ได้ มีสวัสดิการสังคมเข้าไปช่วย มีบริการทางการแพทย์คอยให้การปรึกษา" ปกป้องอธิบายว่า ศีลธรรมกับกฎหมายต้องแยกจากกัน การทำผิดกฎหมายเพราะการกระทำนั้นกระทบคนอื่นและสังคม ขณะที่การทำผิดศีลธรรมอาจไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้น การทำแท้งอธิบายด้านศีลธรรมไม่ได้ ต้องอธิบายว่ามันกระทบความสงบของสังคมหรือไม่ ถ้าไม่ การทำแท้งก็ไม่ต้องเป็นความผิดและจะช่วยให้ผู้หญิงไม่ต้องบาดเจ็บ 80,000 คนต่อปีจากการทำแท้งแบบหลบๆ ซ่อนๆ "เรื่องนี้กฎหมายต้องชัดเจน แต่ปัจจุบันคลุมเครือมาก สิ่งที่สนับสนุนให้เกิดทางเลือกของผู้หญิงได้คือความเสมอภาคที่รับรองในรัฐธรรมนูญ กฎหมายปัจจุบันไม่เสมอภาคอย่างไร เวลาญทำแท้ง กฎหมายลงโทษฝ่ายหญิง ไม่ลงโทษฝ่ายชายที่ทำให้ท้องเลย มันจึงเป็นกฎหมายที่ไม่เสมอภาค" ผิดบาปหรือไม่? ผิดกฎหมายหรือไม่? ทำไมผู้หญิงไม่มีสิทธิกำหนด? ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 12 Nov 2017 09:55 PM PST มารดาของพลทหาร อดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์ ได้รับแจ้งจากครูฝึกทหารใหม่ ว่าลูกชายไม่สบายมีการอาการปวดท้องและเสียชีวิตในเวลาต่อมาหลังเข้าเป็นทหารเกณฑ์ได้เพียง 10 วัน แพทย์ระบุสาเหตุการตายเกิดจาก "หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน" ญาติไม่ปักใจเชื่อเพราะมีรอยช้ำตามรายกาย ส่งศพซันสูตร หากได้ผลขัดแย้งจะร้องเรียนนายกรัฐมนตรี พลทหาร อดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์ อายุ 21 ปี เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2560 เฟซบุ๊กแฟนเพจ "บิ๊กเกรียน" รายงานว่า ได้รับการร้องเรียนจาก เตือนใจ น้อยพิทักษ์ มารดาของพลทหาร อดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์ อายุ 21 ปี ซึ่งเป็นทหารเกณฑ์สังกัดค่ายเทพสตรีศรีสุนทร กองพลทหารราบที่ 5 ต.กะปาง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ว่าเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2560 เวลา 21.30 น. ได้รับการติดต่อจากทหารค่ายเทพสตรีศรีสุนทร ว่า บุตรชายไม่สบายนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลในค่าย มีอาการปวดท้องและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยแพทย์ระบุในใบมรณบัตรว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจาก "สภาวะหัวใจล้มเหลว" หนังสือรับรองการตาย
สภาพศพพลทหารอดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์ ทั้งนี้ เตือนใจ ผู้เป็นมารดา ไม่ปักใจเชื่อ พร้อมยืนยันว่าบุตรชายมีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่เคยมีโรคประจำตัว และเพิ่งเข้ารับการฝึกเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา โดยผลชันสูตรขัดแย้งกับสภาพศพ เนื่องจากพบร่องรอยฟกช้ำตามร่างกายทั่วตัวหลายแห่ง ทั้งที่ลำตัว หลัง และ คอ รวมถึงพบว่าซี่โครงหักบริเวณหน้าอกผิดปกติ โดยตนทราบอีกว่า ครูฝึกทหารใหม่ ยังไม่ยอมให้ผู้ใดติดต่อญาติ หลังการเสียชีวิตของบุตรชาย ตนจึงขอให้โรงพยาบาลค่ายเทพสตรีศรีสุนทร ส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อีกครั้ง หากผลการชันสูตรพบว่าไม่ได้เสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน จะดำเนินการร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และจะดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คุมเข้ม ‘อาเซียนซัมมิท’ ฟิลิปปินส์เตือน ต่างชาติร่วมเคลื่อนไหวอาจถูกส่งกลับ Posted: 12 Nov 2017 09:32 PM PST ภาคประชาสังคมเตรียมเดินขบวนคู่ขนานการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มข้น ทางการฟิลิปปินส์เตือนชาวต่างชาติร่วมการเคลื่อนไหวเสี่ยงถูกส่งกลับประเทศ
13 พ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานจากเวทีประชุมภาคประชาชนและภาคประชาสังคมอาเซียน (ACSC/APF) ปี 2017 มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ วิทยาเขตดิลิมัน เกซอนซิตี ซึ่งจัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 13-14 พ.ย. โดยช่วงบ่ายวันนี้ (13 พ.ย.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเวทีประชุม ACSC/APF 2017 จะมีการเดินขบวน Solidarity March โดยภาคประชาชนที่มาร่วมงานหลายร้อยคนจะตั้งขบวนจากหน้าโรงแรมโนโวเทล เกซอนซิตี มุ่งไปสู่อนุสาวรีย์ประชาชนที่เป็นสัญลักษณ์รำลึกการต่อสู้โค่นล้มรัฐบาลเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เมื่อปี พ.ศ. 2529 ขณะที่มาตรการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงโดยทางการฟิลิปปินส์เป็นไปอย่างแข็งขัน สะท้อนได้จากแถลงการณ์ในวันที่ 12 พ.ย. ของคณะกรรมการด้านการรักษาความปลอดภัยและการเตรียมพร้อมต่อภาวะฉุกเฉิน (CSPOEPR) ที่ออกมาเตือนนักท่องเที่ยวต่างชาติว่าการเข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวใดๆ มีความเสี่ยงที่จะถูกส่งตัวออกจากประเทศทันที สำหรับเวทีประชุม ACSC/APF 2017 เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยดำเนินไปอย่างเข้มข้น มีการเสวนาหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนทางข้างหน้าของอาเซียนที่มีภาคประชาชนมีส่วนร่วม การถูกกีดกันจากกรอบความร่วมมือภูมิภาคที่เน้นพูดถึงนายทุนและรัฐบาลในฐานะตัวแสดงหลัก นอกจากนี้ยังมีการประชุมในประเด็นแยกย่อยอีก 5 หัวข้อ ได้แก่ สิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การยุติความโลภของบรรษัท สันติภาพและความมั่นคงของมนุษย์ และการอพยพย้ายถิ่น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 12 Nov 2017 09:21 PM PST
ซึ่งก็หมายความว่าแต่ละฝ่ายยอมรับกันได้ว่าอยู่กันอย่างนี้ก็ดีแล้ว คุณได้ตัดสินใจบ้าง ฉันได้ตัดสินใจบ้าง และหากเกิดความขัดแย้งขึ้นมาก็จะมีกลไกประสานทำให้ข้อขัดแย้งนั้นไม่แหลมคมจนกระทบกระเทือนฐานของผลประโยชน์ของกลุ่มทั้งหมด " ดุลยภาพ" ทางการเมืองจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของกระบวนการทางการเมืองการรักษา" ดุลยภาพ" ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มสามารถที่จะเข้ามาต่อรองเพื่อให้ผู้ครองอำนาจได้ตัดสินใจว่าจะเลือกอะไรหรือจะเลือกประนีประนอมอย่างไร และในท้ายที่สุดการประคองให้ " ดุลยภาพ" ทางการเมืองดำเนินต่อไปได้ ก็คือ การจำกัดเวลาของการครองอำนาจ เพื่อที่ให้ทุกฝ่าย/ทุกกลุ่มได้ทบทวนและจัดการกระบวนการตัดสินใจเลือกของกลุ่มตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมมากที่สุด ในสมัยจารีตก็จะเป็นการเปลี่ยนตัวผู้ปกครอง " ดุลยภาพ" ทางการเมืองของสังคมไทยก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการจัดสรรอำนาจเฉพาะภายในกลุ่มชนชั้นนำให้ลงตัวเท่านั้นไม่เกี่ยวอะไรกับประชาชน แต่การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาและประชาชนในช่วงหลัง 2516 ได้ทำให้กลุ่มชนชั้นนำต้องปรับตัวผนึกกันเป็นกลุ่มก้อนที่เหนียวแน่น ( อาจจะเรียกได้ว่าได้กลายเป็น " ชนชั้น" ผู้ปกครองอย่างแท้จริง) และได้สร้าง " ดุลยภาพ" ทางการเมืองลักษณะใหม่ขึ้นมาที่จะต้องผนวกเอา " ประชาชน/พลเมือง" เข้ามามีส่วนตัดสินใจโดยผ่านพรรคการเมือง ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบที่สถาปนาขึ้นมาในทศวรรษ 2520 จึงไม่ใช่ความปรารถนาของชนชั้นนำบางกลุ่มเท่านั้น หากแต่เป็นความเห็นชอบร่วมกันของ " ชนชั้นนำ" ทุกกลุ่มในสังคมไทยในการสร้างระบอบการเมืองที่มีการจัดสรรอำนาจกันระหว่างกลุ่มทุน กลุ่มราชการ และพรรคการเมือง โดยที่พรรคการเมืองก็ทำหน้าที่ "ตัวแทน" ประชาชนผ่านการเลือกตั้ง และที่น่าสนใจมาก ก็คือ พรรคการเมืองถูกทำให้เป็น "ตัวแทน" ประชาชนเฉพาะพื้นที่การเลือกตั้งเท่านั้นไม่ใช่ตัวแทนของ "พลเมือง"ทั้งหมด การเมืองระหว่างสามกลุ่มนี้จะถูกทำให้มี " ดุลยภาพ" ภายใต้การตัดสินใจของกลุ่มอำนาจอีกกลุ่มหนึ่งที่ลอยอยู่เหนือการเป็น "ตัวแทนอย่างชัดเจนหรือโดยตรง" อย่างที่กลุ่มการเมืองสามกลุ่มได้สังกัด การสถาปนา " ดุลยภาพทางการเมือง" แบบประชาธิปไตยครึ่งใบนี้ทำให้ "ชนชั้นนำ" ทุกกลุ่มยอมรับเพราะสามารถเข้าไปต่อรองเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มากมาย ขณะเดียวกัน "พลเมือง" เฉพาะพื้นที่ก็ได้รับผลประโยชน์มากขึ้นหากตัวแทนของตนมีอำนาจในพรรคการเมือง ตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหลังทศวรรษ 2540 นั้นได้เปลี่ยนแปลง "ฐาน" ของกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ กล่าวคือ กลุ่มทุนเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น กลุ่มทุนใหม่บางกลุ่มที่สามารถเติบโตขึ้นมาได้โดยไม่ต้องแอบอิงกับอำนาจรัฐแต่ก็รับรู้อยู่ว่าการเข้าสู่การเมืองจะเอื้อให้กลุ่มของเขาเข้มแข็งขึ้นจึงเริ่มพยายามเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น กลุ่มราชการกลับเป็นกลุ่มที่อ่อนแอมากขึ้น เพราะท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทำให้ไม่สามารถธำรงความเป็นผู้นำทางปัญญาได้อีกต่อไป กลุ่มอำนาจทางวัฒนธรรมก็อ่อนแรงลงมาก กลุ่มที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุด ได้แก่ ประชาชน/พลเมือง เพราะพวกเขาได้เชื่อมโยงชีวิตความเป็นอยู่/การทำมาหากินของตนเองกับสังคมไทยทั้งหมด ทำให้พวกเขาไม่พอใจกับการเป็น " พลเมืองเฉพาะพื้นที่" อีกต่อไป พวกเขานิยามตนเองใหม่ว่าทั้งหมด คือ " พลเมืองของรัฐไทย " ดังจะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวทางด้านนโยบายเพิ่มมากขึ้นหลังทศวรรษ 2540 การก้าวข้ามความสำนึก " พลเมืองเฉพาะพื้นที่" มาสู่ " พลเมืองของรัฐไทย" ได้กลายเป็นพลังทางการเมืองสำคัญที่ก่อให้เกิดความตึงเตรียดใน " ดุลยภาพ"ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบที่สืบทอดมา จนทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของพลเมือง (เดินขบวนใหญ่) ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาและนำมาสู่ความพยายามผลักให้ระบอบการเมืองกลับไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบอีกผ่านการรัฐประหารสองครั้งหลัง และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ เมื่อกระแสทางสังคมเริ่มเรียกร้องให้กลับคืนสู่การเมืองระบอบประชาธิปไตยโดยให้มีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด นายกรัฐมนตรีก็จำเป็นที่จะต้องตอบต่อการเรียกร้องดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากการประกาศเวลาอย่างกว้างๆ และไม่ชัดเจนถึงกำหนดการเลือกตั้งซึ่งก็ทำให้คนจำนวนไม่น้อยที่กำลังอึดอัดกับความคลุมเครือรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นเล็กน้อย แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะทำให้สังคมรู้สึกว่า "อีกไม่นาน" ก็จะกลับเข้าสู่การเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันก็ได้ตั้งคำถามให้สังคมคิดว่าการเลือกตั้ง/การเมืองระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร และเมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานของคณะรัฐประหารแล้วเป็นอย่างไร แกนกลางทางความคิดที่อยู่ในหกคำถามคือความเชื่อของนายกรัฐมนตรี (และชนชั้นกลางจำนวนหนึง) ว่านักการเมืองและพรรคการเมืองเก่านั้นไม่ได้ทำเพื่อชาติและสังคม แต่กลุ่มของคณะรัฐประหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงไม่ต้องผูกกับนโยบายหาเสียงเฉพาะกลุ่มได้ทำอะไรเพื่อสังคมโดยรวม ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์เฉพาะกลุ่มตามที่หาเสียงไว้ และนายกรัฐมนตรีก็ถามตรงๆ ว่าหากคณะรัฐประหารจะสนับสนุนพรรคการเมืองนั้น ผิดตรงไหน สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็คือ การหวนกลับไปหา " ดุลยภาพ" ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งต้องเตือนกันในที่นี้ว่ามันเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะหากมีการเลือกตั้งเมือใด เสียงของ " พลเมืองของรัฐไทย" ก็จะกำกับให้พรรคการเมืองที่หวังจะได้อำนาจต้องขยับนโยบายให้พ้นจากผลประโยชน์เฉพาะพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ " ดุลยภาพ" ที่ชนชั้นนำพยายามวางเอาไว้อย่างแน่นอน ความขัดแย้งทางการเมืองรออยู่ข้างหน้า หากชนชั้นนำมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นและไม่พยายามปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง คงต้องช่วยกันภาวนาให้ "ชนชั้นนำ" มีสายตากว้างไกลนะครับ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กวีประชาไท: ประวัติศาสตร์ที่เธอเขียน Posted: 12 Nov 2017 08:17 PM PST
2
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น