โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

112 นักวิชาการใต้ ประณามรัฐสลายการชุมนุมกลุ่มค้านโรงไฟฟ้าเทพา

Posted: 29 Nov 2017 10:27 AM PST

เครือข่ายนักวิชาการภาคใต้ ประณามเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมกลุ่มค้านโรงไฟฟ้าเทพา ชี้ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ร้องแสดงความรับผิดชอบ และไม่ดำเนินคดี-ปล่อยตัวชาวบ้านอย่างไม่มีเงื่อนไข มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ย้ำหยุดการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของรัฐบาลทหาร

ภาพเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว 16 แกนนำ เพื่อขออำนาจศาล จ.สงขลา ฝากขัง เมื่อช่วงสายของวันที่ 28 พ.ย.60

29 พ.ย.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายนักวิชาการภาคใต้ จำนวน 112 คน ร่วมลงชื่อใน แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการภาคใต้ กรณีสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุที่กระทำต่อเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยนักวิชาการกลุ่มดังกล่าวได้ประณามการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งไม่มีความชอบธรรมและเป็นไปอย่างอำเภอใจ ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ดำเนินคดีต่อชาวบ้าน และปล่อยตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข

เครือข่ายนักวิชาการภาคใต้ ยืนยันในเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนโดยการชุมนุมอย่างสงบเปิดเผย และปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงมีสิทธิอันชอบธรรมทุกประการในการแสดงออกซึ่งการไม่เห็นด้วยต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ทั้งนี้ ในการชุมนุมโดยการเดินเท้าที่ผ่านมา ทางเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ทุกประการ อีกทั้งการชุมนุมก็เป็นไปอย่างสงบและปราศจากอาวุธ ยืนยันในหลักการพื้นฐานที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด ดังนี้ การปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขในระหว่างสอบสวนจึงเป็นหลักการที่ต้องยึดถือปฏิบัติ การเรียกหลักประกันหรือการควบคุมตัวระหว่างสอบสวนเป็นเพียงข้อยกเว้นที่ต้องใช้เพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

เครือข่ายนักวิชาการภาคใต้ ยังเรียกร้องต่อรัฐบาลด้วยว่า ให้ทบทวนการดำเนินการตามนโยบายและโครงการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ที่จะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรม ระงับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินในพื้นที่อำเภอเทพาอย่างเร่งด่วนเพื่อระงับความขัดแย้งที่กำลังบานปลาย  ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่ภาคใต้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง รวมทั้งให้รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อให้บรรลุ "ภาคใต้แห่งความสุขอย่างยั่งยืน" ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงในชีวิต แหล่งผลิตอาหาร การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น "คืนบรรยากาศประชาธิปไตย ด้วยการเคารพอย่างมั่นคงจริงใจในโรดแมป (Road Map) การเลือกตั้ง และไม่ใช้อำนาจในลักษณะที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพและไม่ใช้อำนาจที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว"

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์เรื่อง "หยุดการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของรัฐบาลทหาร" โดยเรียกร้องรัฐบาล 1. ยุติการดำเนินโครงการใหญ่ที่จะก่อปัญหาให้แก่สังคมไม่ว่าทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือชีวิตผู้คนในทุกพื้นที่ทุกโครงการ 2. ยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และปล่อยผู้ถูกจับกุมในกรณีโรงไฟฟ้าเทพาอย่างไม่มีเงื่อนไข และ 3. เอาผิดต่อผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ที่ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อพี่น้องประชาชน

รายละเอียดและรายชื่อผู้ร่วมแถลงการณ์ : 

 

แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการภาคใต้ กรณีสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุที่กระทำต่อเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ออกเดินเท้าจาก ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3 ณ จังหวัดสงขลา เพื่อแสดงเจตจำจงให้ยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ตือโละปาตานี แต่ได้มีการใช้กำลังโดยเจ้าหน้าที่ขัดขวางและสลายการชุมนุมในวันจันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2560  เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ และมีผู้ร่วมชุมนุมถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 16 ราย

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ชายฝั่งตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งใช้พื้นที่กว่า 2,850 ไร่ เพื่อผลิตไฟฟ้า 2,200 เมกะวัตต์ ถูกอนุมัติตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2558-2573 หรือ PDP2015 โดยกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในโลกปัจจุบันซึ่งมุ่งสู่การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนระดับชุมชน

การดำเนินการตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา มีปัญหามากมาย ทั้งการไม่มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการรับฟังความคิดเห็นทั้ง 3 ครั้ง กระบวนการศึกษา EHIA มีความบกพร่อง ไม่ครอบคลุม และพบข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงจำนวนมาก นอกจากนี้กระบวนการอนุมัติโครงการมีการแยกส่วนการศึกษา EHIA โดยให้ ครม.อนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก่อนในขณะที่ EHIA ของท่าเรือขนถ่านหินยังไม่ผ่านการพิจารณาและต้องดำเนินการแก้ไข

การพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้แนวทางตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาประเทศไทย 4.0 และประชารัฐ ควรที่จะสอดคล้องกับกระบวนทัศน์การพัฒนาตามมาตรฐานจริยธรรมสากลในการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal : SDGs) ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนประเทศไทยลงนามไว้ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อน การตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน จะต้องกระทำโดยกระบวนการทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและอนามัยของประชาชน

เครือข่ายนักวิชาการภาคใต้ ดังมีรายนามแนบท้าย มีข้อคิดเห็นและข้อเรียกร้องต่อกรณีที่เกิดขึ้น ดังนี้

1. ประณามการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งไม่มีความชอบธรรมและเป็นไปอย่างอำเภอใจ ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ดำเนินคดีต่อชาวบ้าน และปล่อยตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข

2. ยืนยันในเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนโดยการชุมนุมอย่างสงบเปิดเผย และปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงมีสิทธิอันชอบธรรมทุกประการในการแสดงออกซึ่งการไม่เห็นด้วยต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ทั้งนี้ ในการชุมนุมโดยการเดินเท้าที่ผ่านมา ทางเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ทุกประการ อีกทั้งการชุมนุมก็เป็นไปอย่างสงบและปราศจากอาวุธ

3. ยืนยันในหลักการพื้นฐานที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด ดังนี้ การปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขในระหว่างสอบสวนจึงเป็นหลักการที่ต้องยึดถือปฏิบัติ การเรียกหลักประกันหรือการควบคุมตัวระหว่างสอบสวนเป็นเพียงข้อยกเว้นที่ต้องใช้เพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

4. ขอให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินการตามนโยบายและโครงการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ที่จะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรม ระงับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินในพื้นที่อำเภอเทพาอย่างเร่งด่วนเพื่อระงับความขัดแย้งที่กำลังบานปลาย  ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่ภาคใต้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

5.ขอให้รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อให้บรรลุ "ภาคใต้แห่งความสุขอย่างยั่งยืน" ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงในชีวิต แหล่งผลิตอาหาร การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น "คืนบรรยากาศประชาธิปไตย ด้วยการเคารพอย่างมั่นคงจริงใจในโรดแมป (Road Map) การเลือกตั้ง และไม่ใช้อำนาจในลักษณะที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพและไม่ใช้อำนาจที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว"

เครือข่ายนักวิชาการภาคใต้

29 พฤศจิกายน 2560

รายนามนักวิชาการเครือข่ายนักวิชาการภาคใต้

1.       อาจารย์อรชา รักดี คณะรัฐศาสตร์

2.       อาจารย์สุไรนี สายนุ้ย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี

3.       อาจารย์ อุเชนทร์ เชียงเสน สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

4.       อาจารย์ สายฝน สิทธิมงคล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

5.       ดร.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

6.       อาจารย์ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

7.       อาจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

8.       ผศ.ดร.บัณฑิต ไกรวิจิตร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

9.       ดร.อันธิฌา แสงชัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

10.    ดร.ปิยวรรณ ปิยะกาญจน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

11.    ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

12.    ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

13.    ดร.สินาด ตรีวรรณไชย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

14.    อาจารย์ ธัญญธร  สายปัญญา มหาวิทยาแม่ฟ้าหลวง

15.    ดร.สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี

16.    อาจารย์นัจมีย์ หมัดหมาน รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี

17.    ผศ.ดร.เยาวนิจ กิติธรกุล สถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่

18.    อาจารย์เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

19.    นางสาวจิราภรณ์ เรืองยิ่ง นักวิชาการอิสระ

20.    อาจารย์ ศุภวีย์ เกลี้ยงจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

21.    อาจารย์ นิจนิรันดร์ อวะภาค คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

22.    อาจารย์ ดร. พรไทย ศิริสาธิตกิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

23.    นายณัฐวุฒิ โชติการ นักวิชาการอิสระ

24.    ผศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี

25.    ผศ.ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี

26.    ดร. ภาสกร อินทุมาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

27.    อาจารย์ ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

28.    อาจารย์ สัณห์ธวัช ธัญวงษ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

29.    รศ.ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

30.    อาจารย์ ชัยพงษ์  สำเนียง มหาวิทยาลัย เชียงใหม่

31.    ดร. ธนศักดิ์ สายจำปา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

32.    รศ.ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

33.    ดร. ชลิตา บัณฑุวงศ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

34.    อาจารย์ อลงกรณ์ อรรคแสง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

35.    ดร. ดิเรก  หมานมานะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

36.    อาจารย์ปฐม ตาคะนานันท์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มนุษยศาสตร์

37.    นายอดิศร เกิดมงคล นักวิชาการอิสระ

38.    ผศ.ดร. สมัย โกรทินธาคม คณะ เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

39.    อาจารย์ ปวลักขิ์ สุรัสวดี มหาวิทยาลัยมหิดล

40.    อาจารย์ หทยา อนันต์สุชาติกุล มหาวิทยาลัยแม่โจ้

41.    ผศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ อาจารย์ประจำโปรแกรมรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

42.    อาจารย์ สุภาพร ฝั่งชลจิตต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี

43.    ผศ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

44.    ดร.พิชญา บุญศรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

45.    อับดุลอาซิส อับดุลวาฮับ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

46.         ผู้ช่วยศาสตราจารย์มูฮัมหมัดรอฟีอี มูซอ  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

47.    ดร. ปริลักษณ์  กลิ่นช้าง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

48.    อาจารย์ ฮัมบาลี เจะมะ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่

49.    อาจารย์ วิโรจน์ อาลี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

50.    ผศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

51.    อาจารย์ ธรรมศาสตร์ โสตถิพันธุ์ สถาบันสันติศึกษา

52.    อาจารย์ ถนอม ชาภักดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

53.    อาจารย์ อสมา มังกรชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

54.    อาจารย์ ธิกานต์ ศรีนารา ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

55.    ปราการ กลิ่นฟุ้ง นักวิจัยอิสระ

56.    อาจารย์ ว่องวิช ขวัญพัทลุง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

57.    อาจารย์ ศุภกาญจน์ บัวทิพย์  คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

58.    ผศ.ดร.เก่งกิจ กินิเรียงลาภ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

59.    ผศ.นุกูล รัตนดากุล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

60.    อาจารย์สมศักดิ์ บัวทิพย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

61.    วิริยะ สว่างโชติ นักวิชาการอิสระ

62.    ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

63.    ซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรท์ (2553) และบรรณาธิการ The Melayu Review

64.    ดร.โดม ไกรปกรณ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

65.    ผศ. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

66.    ดร. ชุมพล แก้วสม อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร

67.    ดร.อนิรุต หนูปลอด อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร

68.    ดร.ปาริชาติ เบ็ญฤทธิ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

69.    ดร. กรวิทย์ เกาะกลาง อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร

70.    ผศ.ดร.สิทธิศักดิ์ จันทรัตน์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

71.    ดร. สร้อยมาศ รุ่งมณี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

72.    ผศ.ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ ปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

73.    ดร.อารยา สุขสม อาจารย์ประจำโปรแกรมรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

74.    อาจารย์ อามีนี สะอีดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

75.    ผศ.ดร.วันวิสาข์ ธรรมานนท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

76.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุทธิศักดิ์ ดือเระ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

77.    ดร.พิเชตวุฒิ นิลละออ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี

78.    อาจารย์พิเชฐ แสงทอง  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

79.    อาจารย์พศุตม์ ลาศุขะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

80.    ผศ. มงคล มาลยารม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

81.    ณัฐดนัย นาจันทร์ นักวิชาการอิสระ

82.    ผศ.ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

83.    รศ.ดร.อดิศร ศักดิ์สูง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

84.    ผศ.เปรมสิรี ศักดิ์สูง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

85.    ผศ.บัญชา สำเร็จกิจ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

86.    ผศ.ดร.อาฟีฟี ลาเต๊ะ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

87.    ดร.ซัมซู สาอุ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

88.    ดร. สมพร ช่วยอารีย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

89.    ผศ.ดร.ณัฐธิดา รักกะเปา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสหกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี

90.    ผศ. พุทธพล มงคลวรวรรณ คณะมุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

91.    อาจาร์ ฮามีด๊ะ มูสอ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตตานี

92.    อาจารย์ วัสสา คงนคร ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

93.    อาจารย์ สุรางคนา ตรังคานนท์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

94.    มาเรียนา แนกาบาร์ นักวิชาการอุดมศึกษา สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

95.    อาจารย์ นฤมล​ กล้าทุกวัน​ สำนักวิชาศิลปศาสตร์​ มหา​วิทยาลัย​วลัย​ลักษณ์

96.    รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช  นักวิชาการอิสระ

97.    ผศ. จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

98.    ผศ. ผจญ คงเมือง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

99.     อาจารย์ อริศ หัสมา วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

100.ดร. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฬงกรณ์มหาวิทยาลัย

101.อาจารย์ อนุสรณ์ ติปยานนท์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

102.อาจารย์ วรรณภา ลีระศิริ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

103.ผศ.ดร.ภมรี สุรเกียรติ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

104.อาจารย์ วีรพงษ์ ยศบุญเรือง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

105.รศ.ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

106.สมัชชา นิลปัทม์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

107.ดร.สมฤดี คงพุฒ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

108.อาจารย์จริยภัทร บุญมา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

109.อาจารย์ปพิชญา แซ่ลิ่ม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

110.อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

111. นายวิโรจน์ จิเหม สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

112.ผศ.ดร.นัฐ ตัณศิลา คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

 

แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง "หยุดการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของรัฐบาลทหาร"

การใช้ความรุนแรงและมาตรการทางกฎหมายกับชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลา – ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่เดินทางขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 แยกไม่ออกจากกระบวนการดำเนินตามนโยบายบังคับให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมของรัฐบาลภายใต้อำนาจนำของทหารชุดนี้ นโยบายบังคับให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจนี้ซึ่งไม่แตกต่างไปจากนโยบายบีบบังคับคนพื้นเมืองในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เปลี่ยนแปลงระบบการผลิตในสมัยการล่าอาณานิคมก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งก่อให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า

รัฐบาลทหารที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนได้วางแผนและใช้กำลังความรุนแรงบีบบังคับให้เกิดความเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อันจะมีผลต่อชีวิตผู้คนไม่ใช่เพียงเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น การใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในทุกพื้นที่ ผ่านการผลักดันโครงการและนโยบายต่างๆ ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคกลาง การขึ้นมามีอำนาจโดยปราศจากการยึดโยงกับพี่น้องประชาชน ทำให้การตัดสินใจทางการเมืองเศรษฐกิจในโครงการต่างๆ ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่ออนาคตพี่น้องประชาชน ดังกรณีการเดินหน้าโรงไฟฟ้าเทพาก็เป็นประจักษ์พยานอันชัดเจนในภาคใต้ที่เกิดขึ้นโดยไม่ให้ความสำคัญต่อความเห็นของผู้คนเลยแม้แต่น้อย เฉกเช่นเดียวกับการกระทำต่อประชาชนในพื้นที่ต่างๆ

การถูกริบอำนาจการตัดสินใจในอนาคตของตนเองเช่นนี้จะก่อให้เกิดปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอย่างรุนแรง ดังนั้น รัฐบาลทหารจึงต้องสำนึกตนเองว่าปราศจากความชอบธรรมทางการเมืองและไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากต่ออนาคตอย่างไม่รับผิดชอบเช่นนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเรียกร้องต่อสังคมให้ช่วยกันกดดันรัฐบาลทหารไม่ให้ใช้อำนาจอันปราศจากความชอบธรรมในการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน และร่วมกันกดดันให้รัฐบาลดำเนินการต่อไปนี้

1. ยุติการดำเนินโครงการใหญ่ที่จะก่อปัญหาให้แก่สังคมไม่ว่าทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือชีวิตผู้คนในทุกพื้นที่ทุกโครงการ

2. ยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และปล่อยผู้ถูกจับกุมในกรณีโรงไฟฟ้าเทพาอย่างไม่มีเงื่อนไข

3. เอาผิดต่อผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ที่ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อพี่น้องประชาชน

​​​​​​29 พฤศจิกายน 2560

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตนายทหารซดยาพิษหลังศาลจำคุก 20 ปีก่ออาชญากรรมสงครามบอสเนีย

Posted: 29 Nov 2017 09:56 AM PST

อดีตนายทหารเชื้อสายโครแอต "สโลโบดัน ปราลจัก" ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย หลังคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศฯ ที่กรุงเฮก ตัดสินจำคุก 20 ปี ข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามช่วงสงครามกลางเมืองบอสเนียระหว่างปี 2535-2538 โดยจนถึงสิ้นปีนี้คณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศฯ นัดจำเลยฟังคำตัดสินคดีทั้งหมด 161 ราย

สโลโบดัน ปราลจัก ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย หลังคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศฯ ที่กรุงเฮก ตัดสินจำคุกเขา 20 ปี ข้อหาอาชญากรรมสงครามช่วงสงครามกลางเมืองบอสเนีย (ที่มา: ICTY)

30 พ.ย. 2560 อดีตนายทหารเชื้อสายโครแอต สโลโบดัน ปราลจัก (Slobodan Praljak) ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย หลังคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศฯ ที่กรุงเฮกตัดสินจำคุก 20 ปี ข้อหาอาชญากรรมสงครามช่วงสงครามกลางเมืองบอสเนีย

เดอะการ์เดียนอ้างรายงานของสถานีโทรทัศน์โครเอเชียว่า อดีตนายพลชาวบอสเนียเชื้อสายโครแอต เสียชีวิตเมื่อวันพุธ (29 พ.ย.) หลังดื่มยาพิษที่บรรจุในขวดแก้วใบเล็ก ภายหลังทราบคำตัดสินของคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศ ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

ไม่กี่วินาที ภายหลังคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย (ICTY)  ซึ่งตั้งขึ้นตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2535 ได้อ่านพิพากษาจำคุก 20 ปี ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม เขาได้ตะโกนด้วยความโกรธว่า "ปราลจักไม่ใช่อาชญากร ผมขอปฏิเสธคำตัดสิน"

ปราลจักในวัย 72 ปี ได้ยกขวดใบเล็กๆ ขึ้นมาระดับริมฝีปากและดื่ม ท่ามกลางกล้องที่กำลังบันทึกภาพการพิพากษา "ผมเพิ่งดื่มยาพิษ" และเขากล่าวด้วยว่า "ผมไม่ใช่อาชญากรสงคราม ผมคัดค้านคำตัดสินนี้" ทั้งนี้เขาเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเฮก

เหตุการณ์อันไม่คาดหมายนี้เกิดขึ้นระหว่างผู้พิพากษาตัดสินคดีของอดีตผู้นำทางการเมืองและการทหารชาวบอสเนียเชื้อสายโครแอต 6 ราย ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามหลังการล่มสลายของอดีตประเทศยูโกสลาเวีย

หลังจากที่เขาดื่มยาพิษ ผู้ทำหน้าที่ผู้พิพากษาคือ คาร์เมล อากิอัส ได้สั่งให้ระงับกระบวนการพิจารณาคดีไว้ก่อน พร้อมกับปิดม่านในห้องพิจารณาคดี โดยไม่กี่นาทีเท่านั้นรถพยาบาลก็มาถึงภายนอกศาล โดยมีเฮลิคอปเตอร์บินเหนืออาคารด้วย

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่กู้ชีพหลายคนเร่งเข้าไปในอาคารพร้อมอุปกรณ์กู้ชีพ หน่วยรักษาความปลอดภัยของศาลเข้ามาร้องขอให้รักษาความสงบและบอกว่าอดีตนายทหารชาวบอสเนียเชื้อสายโครแอตผู้นี้ได้รับความดูแลด้านการแพทย์ตามที่จำเป็นทุกประการ

ข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม

สภาพความเสียหายของเมืองมอสตาร์ ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ภาพถ่ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2540 (ที่มา: Cesar Rodriguez/Wikipeida/Public Domain)

ปราลจักถูกฟ้องในข้อหาเป็นผู้สั่งให้ทำลายสะพานในเมืองมอสตาร์ (Mostar) ที่สร้างในศตวรรษที่ 16 ในสมัยจักรวรรดิออตโตมัน เหตุเกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2536 โดยผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นเคยกล่าวว่า  "สร้างความเสียหายอย่างไม่สมเหตุต่อพลเรือนชาวมุสลิม"

สะพานดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความเสียหายที่เกิดขึ้นในสงคราม แม้ในเวลาต่อมาจะมีการบูรณะขึ้นใหม่ แต่เมืองมอสตาร์ก็ประสบความเสียหายร้ายแรงจากสงครามกลางเมืองโดยร้อยละ 80 ของเมืองในฝั่งตะวันออกได้รับความเสียหายจากการสู้รบ

ในการตัดสินของศาล ผู้พิพากษารับฟังในส่วนที่ปราลจักอุทธรณ์ โดยเขาระบุว่าในช่วงความขัดแย้ง สะพานดังกล่าวเป็นเป้าหมายทางการทหารที่มีความชอบธรรม โดยในเว็บไซต์ส่วนตัวของเขา ยังมีการแสดงเอกสารชี้แจงของเขาอีกด้วย

ทั้งนี้ผู้พิพากษาเองก็กลับคำตัดสินให้กับเขาบางส่วน แต่ปฏิเสธที่จะลดโทษของเขาทั้งหมด

องค์คณะผู้พิพากษาในชั้นอุทธรณ์กล่าวว่าจำเลยทั้ง 6 มีความผิดฐานมีส่วนร่วมในการลบล้างพลเรือนมุสลิมบอสเนีย นับเป็นอาชญากรรมที่หนักหนาและร้ายแรงอย่างมาก

โดยองค์คณะผู้พิพากษาตัดสินจำคุก 25 ปี ต่อจาดรันโก พรีลิค (Jadranko Prlić) อดีตนายกรัฐมนตรีของอดีตสาธารณรัฐโครเอเทียนแห่งเฮอร์เซก-บอสเนีย (Croatian Republic of Herzeg-Bosnia) ซึ่งเป็นรัฐที่พยายามก่อตั้งโดยชาวบอสเนียเชื้อสายโครแอต

องค์คณะผู้พิพากษายังตัดสินจำคุก 20 ปี สำหรับอดีตรัฐมนตรีกลาโหม บรูโน สโตจิค (Bruno Stojić) ส่วนจำเลยอีก 3 คน ที่ศาลยังไม่ได้อ่านคำตัดสินคือ มินิวอจ เปตโควิค (Milivoj Petković) อายุ 68 ปี วาเลนทิน คอริค (Valentin Corić) อายุ 61 ปี และ เบริสลาฟ ปูสิค (Berislav Pušić) อายุ 65 ปี

 

สงครามกลางเมืองที่มีผู้เสียชีวิต 1 แสนราย

สงครามที่เกิดขึ้นในบอสเนียระหว่างปี 2535-2538 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 แสนคน มีผู้อพยพกว่า 2.2 ล้านคน เริ่มต้นเป็นการต่อสู้กันระหว่างชาวบอสเนียเชื้อสายมุสลิม กับชาวบอสเนียเชื้อสายเซิร์บ และต่อมาก็เป็นการต่อสู้กันระหว่างชาวบอสเนียเชื้อสายมุสลิม กับ ชาวบอสเนียเชื้อสายโครแอต หลังจากที่ความเป็นพันธมิตรระหว่างชนสองกลุ่มสิ้นสุดลง

คำตัดสินของคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศฯ (ICTY) เมื่อวันพุธ เกิดขึ้น 1 สัปดาห์หลังจากมีคำตัดสินจำคุกตลอดชีวิต อดีตผู้บัญชาการทหารบอสเนียเชื้อสายเซิร์บ รัตโค มลาดิค (Ratko Mladic) ซึ่งเป็นผู้มีความโหดร้ายในช่วงสงคราม ทำให้เขาได้ฉายาว่า "นักชำแหละแห่งบอสเนีย"

อย่างไรก็ตามสาธารณรัฐโครเอเทียนแห่งเฮอร์เซก-บอสเนีย ที่ได้รับการหนุนหลังโดยผู้นำชาตินิยมโครแอตอย่าง ฟรานโจ ทุดจแมน (Franjo Tudjman) ก็สิ้นสุดไปเมื่อปี 2539 หลังทำสัญญาสันติภาพสิ้นสุดสงคราม ประธานาธิบดีของรัฐคือ เมท โบบัน เสียชีวิตเมื่อปี 2540 ทุดจแมนเสียชีวิตเมื่อปี 2541 เหลือเพียง จาดรันโก พรีลิค เป็นผู้ที่มีตำแหน่งสูงสุดที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงวันพิพากษา

มิโรสลาฟ ทุดจแมน ลูกชายของอดีตผู้นำชาตินิยมโครแอตกล่าวว่า การกระทำของปราลจักเป็นผลสรุปที่สะท้อนจุดยืนทางศีลธรรมของเขา ที่ไม่ต้องการยอมรับคำตัดสินที่ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับทั้งความยุติธรรมหรือความเป็นจริง

ทั้งนี้คณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศฯ (ICTY) ฟ้องร้องพรีลิคและพวกมาตั้งแต่ปี 2547 พวกเขาทั้ง 6 มอบตัวกับโครเอเชีย ภายใต้แรงกดดันที่ต้องว่าตามคณะตุลาการฯ เพื่อแลกกับการที่โครเอเชียจะได้เข้าร่วมสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ภายหลังการล่มสลายของยูโกสลายเวียในปี 2534 และยุคสิ้นสุดสงครามกลางเมืองบอสเนียปี 2538 มีประเทศเกิดใหม่ประกอบด้วย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา โครเอเชีย มาซิโดเนีย เซอร์เบีย มอนเตเนโกร สโลวีเนีย ส่วนคอซอวอ แยกตัวจากเซอร์เบียและประกาศเอกราชเมื่อปี 2551 แต่เซอร์เบียยังถือว่าคอซอวอเป็นจังหวัดปกครองพิเศษ

สำหรับคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย (ICTY) หรือ คณะตุลาการระหว่างประเทศเพื่อดำเนินคดีต่อผู้ต้องรับผิดชอบในการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงซึ่งกระทำลงในดินแดนประเทศยูโกสลาเวียเดิมตั้งแต่ พ.ศ. 2534 (International Tribunal for the Prosecution of Persons Responsible for Serious Violations of International Humanitarian Law Committed in the Territory of the Former Yugoslavia since 1991) เป็นองค์กรของสหประชาชาติซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินคดีอาญาอุกฉกรรจ์ซึ่งกระทำลงในระหว่างสงครามกลางเมือง และเพื่อไต่สวนตัวการในความผิดเหล่านั้น คณะตุลาการนี้เป็นศาลเฉพาะกิจ ตั้งอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

โดยคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศฯ ตั้งขึ้นตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 827 ซึ่งผ่านเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 โดยมีเขตอำนาจเหนือความผิดอาญาสี่กลุ่มซึ่งกระทำขึ้นในดินแดนอดีตยูโกสลาเวียตั้งแต่ พ.ศ. 2534 ได้แก่ การละเมิดอนุสัญญาเจนีวา การละเมิดกฎหมายหรือธรรมเนียมการยุทธ์ การล้างชาติ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โทษสูงสุดที่คณะตุลาการสามารถกำหนดได้ คือ จำคุกตลอดชีวิต

คณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศฯ จะยุติกระบวนการไต่สวนในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ โดยจะมีคำพิพากษาต่อบุคคลทั้งสิ้น 161 ราย

แปลและเรียบเรียงจาก

Bosnian Croat war criminal dies after drinking poison in UN courtroom - reports, The Guardian, 29 November 2017

International Criminal Tribunal for the former Yugoslavia, Wikipedia

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับสื่ออิสระด้านสิทธิชุมชน เหตุขึ้นโดรนถ่ายภาพรณรงค์ปิดเหมือง จ.เลย ปี 58

Posted: 29 Nov 2017 08:50 AM PST

จามร ศรเพชรนรินทร์ ถูกคุมตัวที่ ตม. จ.กาญจนบุรี หลังเช็คแล้วมีหมายจับคดีร่วมกันบุกรุก เหตุขึ้นโดรนถ่ายภาพรณรงค์ปิดเหมือง จ.เลย ปี 58 เจ้าตัวระบุไม่ทราบมาก่อนว่ามีหมายจับ ขณะที่คดีศาลยกฟ้องไปแล้วเหตุไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นที่ดินของบริษัท

ภาพที่ จามร ขึ้นโดรนถ่ายกิจกรรมรณรงค์ปิดเหมือง จ.เลย เมื่อปี 2558 จนเป็นเหตุให้ถูกออกหมายจับ

29 พ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. ของวันนี้ จามร ศรเพชรนรินทร์ ผู้ทำสื่ออิสระด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ที่จุดผ่านแดนถาวรและจุดผ่อนปรนช่องทางบ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี  โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีหมายจับคดีเกี่ยวกับพื้นที่เหมืองแร่เมืองเลย จ.เลย ในข้อหาร่วมกันบุกรุก จากกรณีถ่ายภาพกิจกรรมของประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดในพื้นที่ ด้วยโดรน ตั้งแต่ปี 2558

จามร ศรเพชรนรินทร์ (ซ้าย)

รายงานข่าวเพิ่มเติม ระบุด้วยว่า จามร ต้องถูกคุมตัวที่ สภ.เมือง จ.กาญจนบุรี เพื่อรอเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.วังสะพุง จ.เลยที่เป็นเจ้าของคดีมารับตัว อย่างน้อย 1 คืน 

ศิริพร ฉายเพ็ชร นักกิจกรรมทางสังคม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะถึงกรณีนี้ด้วยว่า ตำรวจอ้างว่ามีหมายจับคดีบุกรุกภูซำป่าบอน ตั้งแต่ปี 58-59 แต่เจ้าตัวไม่เคยได้รับแจ้งมาก่อน คดีที่ว่าคือคดีที่บริษัทเหมืองแร่ทุ่งคำเป็นโจทก์ฟ้องชาวบ้านข้อหาบุกรุกพื้นที่ของบริษัท ชื่อ 'ภูซำป่าบอน' โดยปักธงเขียวและเขียนข้อความ "ปิดเหมืองฟื้นฟู" แต่ศาลได้พิพากษายกฟ้องไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.2559 ด้วยบริษัทไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นที่ดินของบริษัทเนื่องจากพื้นที่ได้หมดอายุใบอนุญาตไปแล้ว

รายละเอียดบันทึกการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ : 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: กลิ่นสาบเสือสมิง

Posted: 29 Nov 2017 08:33 AM PST

 

กางเกงเก่าเอามา ทำผ้าขี้ริ้ว     ขี้ฝุ่นปลิวเปรอะพื้นเปียกลื่นได้

เสื้อผ้าเก่าเอาสะสาง,กางเกงใน     เคยหวงใส่ใช้จนขาดปราศราคา

สารพันสิ่งของเครื่องใช้เคยให้ความสุข     ยามหมดยุคอายุ  พังผุหนา

เคยใช้ได้ให้หยุดสะดุดตา     และนำพาทุกสารทิศติดพัวพัน

อีกตัวอย่างร่างกายเราเก่ากับใหม่     แม้หัวใจก็มีให้เปลี่ยนถ้าเหียนหัน

เดี๋ยวนี้มีแพทย์ผ่าตัดมหัศจรรย์     เชื่อมต่อกันทันใดหัวใจคน

เอาหัวใจใครอีกคนพ้นจากร่าง     เพื่อจะสร้างชีวิตใหม่ใครอีกหน

แต่สมองของใครของมันนั้นหมองหม่น     จะหลุดพ้นจากโง่เง่ายากเข้าใจ


ชีวิตเก่าชีวิตใหม่,วิสัยทัศน์     ยากจะลัดขั้นตอนยอกย้อนได้

ถ้ามีกักขฬะเป็นอวัยวะภายใน     จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรไม่มีทาง

ซ่อนสันดอนสันดานพาลฝังลึก     ร่างคนนึกเป็นเสือโผนกระโจนขวาง

ลอกคราบใหม่ได้เหมือนงูดูลายพราง     กลิ่นสาบสางของเสือสมิงไม่ทิ้งลาย

นึกถึงเสื้อผ้าเก่าเอามา  ทำผ้าขี้ริ้ว     เช็ดฝุ่นปลิวมากับลมสมใจหมาย

แต่สันดานเก่า ๆ เคล้าเลือดกระจาย     ติดกับกายและใจไอ้เสือเอาวา.

                                                              

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปล่อยตัว 15 แกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว

Posted: 29 Nov 2017 07:48 AM PST

เรือนจำ จ.สงขลาปล่อยตัว 15 แกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว หลังศาลอนุญาตให้ใช้ ตำแหน่งอาจารย์ 6 คนประกันตัวได้ ขณะที่ยอดบริจาคสู้คดีทะลุ 5 แสนแล้ว

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ หยุดถ่านหินสงขลา 

29 พ.ย.2560 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า ที่เรือนจำจังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่เรือนจำสงขลาได้ปล่อยตัวกลุ่มเครือข่ายชาวสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 15 คนออกมาจากเรือนจำ โดยทั้ง 15 คนสวมใส่เสื้อสีเขียวที่มีข้อความ "หยุดถ่านหินในประเทศไทย" โดยทันทีที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาทุกคนได้มายืนเรียงแถวหน้ากระดานอยู่บริเวณด้านหน้าเรือนจำท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมาก่อนร่วมกันประกาศอิสรภาพ

รายงานข่าวระบุด้วยว่า จากนั้นก็ได้เดินทางพบครอบครัวญาติและมวลชนประมาณ 100 คนที่เดินทางมาปักหลักรอรับตั้งแต่ช่วงเย็น ทุกคนต่างสวมกอดกันร้องไห้ด้วยความดีใจ การได้อิสรภาพครั้งนี้ที่ศาลจังหวัดสงขลาอนุญาตให้ประกันตัว มีนักวิชาการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 6 คนใช้ตำแหน่งทางราชการเป็นหลักทรัพย์ในการยื่นเรื่องขอประกันตัว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ต้องหาหลักทรัพย์ประกันคนละ 9 หมื่นบาทรวม 15 คน เป็นเงินกว่า 1.3 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายหลังได้รับการประกันตัวทุกคนต้องมารายงานตัวอีกครั้งวันที่ 12 ธ.ค.นี้

เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเปิดเผยรายชื่ออาจารย์จำนวน 6 คนที่อาสาเป็นนายประกันใช้ตำแหน่งอาจารย์ประกันตัวผู้ต้องหา ประกอบไปด้วย  1. เกื้อ ฤทธิบูรณ์ คณะวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี 2. สายฝน สิทธิมงคล คณะวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี 3. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณะนิติศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่ 4. ธีรวัฒน์ ขวัญใจ คณะนิติศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่ 5. สินาด ตรีวรรณไชย เศรษฐศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่  และ 6. เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ คณะนิติศาสตร์ ม.ทักษิณ

ขณะที่ยอดเงินซึ่งมีการเปิดบัญชีเพื่อระดมทุนในการต่อสู่คดีในวันนี้ เมื่อเวลา 18.55 น. ยอดเงินทั้งสิ้น 577,024.98 บาท แล้ว

สำหรับ 15 คน ถูกจับกุมหลังจากพยายามฝ่าชุดควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่เพื่อไปยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรีที่เดินทางมาประชุมครม.สัญจรที่ จ.สงขลา โดยพนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหา 15 คนไปฝากขังผัดแรกที่ศาลจังหวัดสงขลา ส่วนอีก 1 คนซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี ส่งศาลเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา โดยทนายความของแกนนำได้ยื่นเรื่องขอประกันตัว แต่ทางแกนนำ 15 คนไม่ได้รับการประกันตัว เนื่องจากพนักงานสอบสวนคัดค้าน รวมทั้งหลักทรัพย์ที่จะยื่นค้ำประกันแต่ไม่สามารถหาได้ทัน ทำให้ทั้งหมดถูกส่งตัวไปควบคุมที่เรือนจำกลาง จ.สงขลา จนกระทั่งได้รับการประกันตัวในวันนี้ ส่วนเยาวชนชายอายุ 16 ปี ศาลเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา กำหนดวงเงินหลักทรัพย์ประกันตัว 5,000 บาท

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา 'การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน' ศึกษาขบวนการชาวนา 40 ปีก่อน ส่งไม้ต่อให้ปัจจุบัน

Posted: 29 Nov 2017 07:11 AM PST

ชื่อหลัก: การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน
ชื่อรอง: ชาวนา นักศึกษา กฎหมายและความรุนแรงในภาคเหนือของไทย
ชื่ออังกฤษ:  Revolution Interrupted

นี่เป็นหนังสือเล่มล่าสุดของ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น  (Tyrell Harberkorn) นักวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยมายาวนาน ปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา

มันเป็นหนังสือที่แปลงมาจากวิทยานิพนธ์ของเธอที่ลงพื้นที่เชียงใหม่ช่วงปี 2544-2551 เพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2517 หลังประชาธิปไตยเบ่งบานจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ไทเรลศึกษาขบวนการชาวนาอันใหญ่โตมโหฬารนี้ (สมาชิก 1.5 ล้านคนทั่วประเทศ) ทั้งจากเอกสารราชการ-หนังสือพิมพ์ในหอจดหมายเหตุ เอกสารประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล และประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) ผ่านการสัมภาษณ์อดีตนักศึกษานักกิจกรรม 19 คน ชาวนา 7 คนที่ร่วมยุคสมัย

หลังหนังสือออกได้ไม่นาน มีการจัดเสวนาที่คณรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนักวิชาการประวัติศาสตร์อย่าง นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาเป็นผู้ร่วมอภิปราย

ทั้งนี้ ขบวนการชาวนาเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องกับรัฐเรื่องการจัดสรรที่ทำกิน กฎหมายควบคุมค่าเช่านาซึ่งยุคนั้นชาวนาต้องแบ่งผลผลิตกับเจ้าที่ดินคนละครึ่ง จนก่อเกิดเป็นสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย มีนักศึกษา นักกฎหมายเข้าร่วมขบวนจำนวนมาก และเพียงไม่นานก็เริ่มมีการสังหาร อุ้มหาย ผู้นำชาวนา สถิติช่วงปี 2517-2522 มีผู้ถูกสังหาร 33 คน บาดเจ็บสาหัส 8 คน และหายสาบสูญ 5 คน โดยไม่เคยมีการจับกุมลงโทษผู้กระทำผิดแม้แต่รายเดียว

ในการเสวนา นิธิเริ่มต้นว่าเขาเห็นเช่นเดียวกับผู้เขียนว่า ขบวนการชาวนาที่เคลื่อนไหวผลักดัน พ.ร.บ.การควบคุมการเช่านาในตอนนั้น นับได้ว่าเป็นการปฏิวัติของคนเล็กคนน้อย หลุดไปจากกรอบเดิมๆ ที่ว่าปฏิวัติต้องเป็นการยึดและเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐ

"ชาวนาไร้ที่ดินเป็น 'กรรม' ทางการเมือง ไม่ได้เป็น 'ประธาน' มีคนมาบอกว่าเขาต้องเป็นยังไงตลอด ดังนั้น การเคลื่อนไหวของชาวนาไร้ที่ดินคือความพยายามเปลี่ยนแปลงจากกรรมทางเมือง มาเป็นประธานทางการเมือง เป็นความพยายามเปลี่ยนความสัมพันธ์กับชนชั้นนำ"

"การปฏิวัติในเล่มนี้คือการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของคนกลุ่มหนึ่งกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่ในความหมายแบบเหมา (Maoism) แต่เป็นความพยายามเปลี่ยนความสัมพันธ์ของตัวเองกับผู้ปกครองรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ และอื่นๆ เต็มไปหมด"

"การปฏิวัติเพียงแต่ถูกขัดขวาง แต่มันยังไม่หมดไป มองปัจจุบัน เราจะเห็นคนเสื้อแดง ฐานะเขาอาจดีกว่าชาวนาไร้ที่ดินแยะ แต่ไม่เคยมีโอกาสเป็นประธานในทางการเมืองเช่นกัน การเคลื่อนไหวของเสื้อแดงในทัศนะผมชี้ให้เห็นว่า การปฏิวัติเพียงชะงักงันชั่วคราวและคนกลุ่มนี้พยายามเปลี่ยนความสัมพันธ์อีกครั้งหนึ่ง"

"สิ่งที่ชนชั้นนำไทยใช้ ไม่ให้คนเล็กๆ ปรับความสัมพันธ์ได้คือ ใช้ความรุนแรง การบังคับเด็ดขาด เขาไม่มีวิธีอื่น เป็นอย่างนี้มาตลอด แต่มันก็ไม่เคยสำเร็จ"

นิธิอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ชนชั้นนำไทยนั้นไม่มีกลไกในการรักษาอภิสิทธิ์ของตนเองมากนัก เปรียบเทียบกับชนชั้นนำอังกฤษที่มีกลไกมากกว่ายืดหยุ่นกว่า นอกจากนี้รัฐไทยยังมีลักษณะกระจัดกระจายไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถช่วยกันคิดอย่างจริงจังได้ว่าจะจัดการอย่างไรกับคนชั้นล่างแบบที่พวกเขาก็ไม่เสียหายมากนักและคนชั้นล่างก็พอรับได้

"ส่วนคนเล็กๆ ที่โดนเอาเปรียบก็ไม่เคยสามารถรวมตัวกันจัดองค์กรทางสังคมแบบใหม่ ที่ไม่ใช่สายสัมพันธ์แบบครอบครัวได้ ดังนั้น เวลาตั้งสหพันธ์ชาวไร่ชาวนาขึ้นมา มันมีผลประโยชน์ร่วมกันชัดเจนและเข้มแข็งจริง มันน่าตกใจนะสำหรับคนชั้นนำ ในแง่นี้ สหพันธ์ชาวนาชาวไร่โดยตัวของมันเองมันคุกคามชนชั้นนำไทยน้องๆ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเลยทีเดียว"

นอกจากนี้นิธิยังชี้ให้เห็นจุดเด่นของขบวนการชาวนาชาวไร่ในยุค 2517-2520 นั้นว่า เต็มไปด้วยการให้ข้อมูลข่าวสารและกระจายการศึกษาอย่างถึงราก โดยเฉพาะข้อมูลและความสำคัญของกฎหมายการควบคุมค่าเช่านา และนี่เป็นสิ่งที่ขาดหายไปในขบวนการเคลื่อนไหวในปัจจุบันซึ่งมักเคลื่อนกันแต่เฉพาะหน้า

อย่างไรก็ตาม ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์จาก มช.ผู้ร่วมฟังอภิปรายได้ตั้งคำถามกับผู้เขียนว่า การใช้คำว่า "ปฏิวัติ" นั้นเป็นสิ่งที่ชาวนาชาวไร่คิดเช่นนั้นแต่ต้นหรือไม่ หรือเป็นการนำวาทกรรมภายนอกเข้าไปทำความเข้าใจชาวบ้าน ไทเรลอธิบายว่า นี่เป็นการให้ความหมายของผู้เขียนเองเพื่อทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการใช้อภิสิทธิ์ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ส่วนผู้มีส่วนร่วมในการต่อสู้นั้นไม่มีใครใช้คำนี้

ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลอิสระตั้งคำถามว่า ทำไมวิทยากรทั้งสองคนจึงหลีกเลี่ยงการพูดถึงอิทธิพลของลัทธิสังคมนิยมที่มีอิทธิพลกับนักศึกษายุคนั้นไม่ว่าจะรับมาโดยเข้าใจอย่างถูกต้องหรือไม่ก็ตามแต่มันน่าจะเป็นสาเหตุให้นักศึกษาลงไปเคลื่อนไหวกับชาวนาจำนวนมากและเหนียวแน่น ไทเรลกล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ไม่ได้สนใจชาวนาเนื่องจากเห็นว่าเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องระดับกฎหมายซึ่งไม่ใช่การปฏิวัติยึดอำนาจรัฐ ขณะที่ขบวนการชาวนาก็ระมัดระวังไม่ใกล้ชิดกับ พคท. มากเกินไปเนื่องจากเป็นเป้าในการกวาดล้างของรัฐ อย่างไรก็ดี เราพบว่าปลายปี 2518 ผู้นำชาวนาและชาวนาจำนวนไม่น้อยเข้าป่าไปร่วมกับ พคท. อาจด้วยอุดมการณ์ความเชื่อหรือเพื่อหนีการลอบสังหารที่เกิดขึ้นมากในช่วงนั้น เรื่องนี้น่าทำการศึกษาและทำวิทยานิพนธ์ได้อีกเล่ม

"ยังไงก็ตาม ผมอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วมีความหวัง ผมอายุขนาดนี้แล้วอาจไม่ทันได้เห็นอะไรดีๆ แต่ผมมั่นใจว่า 'มึง' ไม่รอดหรอกว่ะ" นิธิกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูนิเซฟจับมือพันธมิตรออกหลักสูตรออนไลน์ด้านการคุ้มครองเด็กครั้งแรกของไทย

Posted: 29 Nov 2017 05:53 AM PST

ยูนิเซฟ เปิดตัวหลักสูตรออนไลน์ด้านการคุ้มครองเด็กครั้งแรกในไทย มุ่งแก้ปัญหาการละเมิดเด็กและการกระทำรุนแรงต่อเด็กซึ่งเป็นปัญหาที่น่ากังวลในปัจจุบันและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น

เว็บไซต์ www.thaichildprotection.com 

เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย รายงานว่า เปิดตัวหลักสูตรออนไลน์ด้านการคุ้มครองเด็ก (Child Protection e-learning) ครั้งแรกในประเทศไทย โดยมุ่งแก้ปัญหาการละเมิดเด็กและการกระทำรุนแรงต่อเด็กซึ่งเป็นปัญหาที่น่ากังวลในปัจจุบันและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น หลักสูตรออนไลน์ด้านการคุ้มครองเด็ก ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ที่เว็บไซต์ www.thaichildprotection.com พัฒนาโดยสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนจากยูนิเซฟ มุ่งเน้นให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาการละเมิดเด็กและการกระทำรุนแรงต่อเด็ก และให้และ พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก และผู้ปฏิบัติงานด้านคุ้มครองเด็กมีความรู้ความเข้าใจด้านการคุ้มครองเด็กมากขึ้น พร้อมมีทักษะในการป้องกันและรับมือเมื่อเกิดสถานการณ์ต่างๆ ที่เด็กถูกกระทำรุนแรงหรือถูกละเมิด โดยหลักสูตรครอบคลุมสาระสำคัญหลายด้าน เช่น สภาพปัญหาในปัจจุบัน จิตวิทยาและการเลี้ยงดูเด็ก สาเหตุและผลกระทบของความรุนแรงต่อเด็ก การเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยง มาตรการ กลไกและข้อกฎหมายในการคุ้มครองเด็ก รวมถึงการฟื้นฟูเด็กและครอบครัว

องค์การยูนิเซฟฯ รายงานว่า ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า มีเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงซึ่งเข้ามารับบริการในศูนย์พึ่งได้ (One Stop Crisis Center – OSCC) มากถึง 11,000 คนในปี 2558 หรือคิดเป็น 30คนต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ  โดยส่วนใหญ่ถูกกระทำโดยบุคคลใกล้ชิดที่เด็กรู้จัก

โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า "ในประเทศไทย ทุกๆ ชั่วโมง มีเด็กอย่างน้อย 1 คนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากถูกทำร้ายหรือถูกล่วงละเมิด ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงอาจมากกว่านี้อีก เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และต้องเร่งแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไป เราทุกคนล้วนมีบทบาทในการจัดการกับปัญหานี้ โดยเราต้องเข้าใจบทบาทของตนเอง และรู้วิธีปกป้องคุ้มครองเด็กเด็กจากการถูกละเมิดหรือถูกทำร้าย เริ่มตั้งแต่การสังเกตสัญญาณผิดปกติ การรายงานแจ้งเหตุ ไปจนถึงการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมและทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เด็กถูกละเมิดหรือถูกทำร้าย โดยทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ"

ดาวิน กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน สถานศึกษาของไทยยังไม่มีหลักสูตรเฉพาะด้านการคุ้มครองเด็ก ดังนั้น หลักสูตรออนไลน์ด้านการคุ้มครองเด็ก จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้คนในสังคมและผู้ปฎิบัติงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าถึงความรู้และยกระดับการทำงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลักสูตรออนไลน์ด้านการคุ้มครองเด็กสามารถเข้าถึงได้ง่าย ในเวลาที่สะดวกสำหรับผู้เรียน มีเทคนิคในการนำเสนอที่น่าสนใจ และผ่านการประมวลและคิดร่วมกันจากบทเรียนและประสบการณ์ของนักวิชาชีพสาขาต่าง ๆ

รายงานข่าวระบุอีว่า หลักสูตรออนไลน์ด้านการคุ้มครองเด็ก ประกอบด้วย 11 หัวข้อหลัก ที่สามารถเลือกเรียนได้ตามความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ระดับพื้นฐาน (สำหรับประชาชนทั่วไป) ระดับกลาง (สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านการดูแลเด็ก) และระดับสูง (สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองเด็ก) ในแต่ละบทจะมีการประเมินผลก่อนและหลังเรียน โดยผู้ที่ผ่านการประเมิน จะได้รับใบประกาศรับรอง ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับอนุญาตสามารถนำใบประกาศรับรองการผ่านหลักสูตรนี้เสนอต่อสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์เพื่อนับหน่วยคะแนนในการต่ออายุใบอนุญาตวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ได้ หลักสูตรออนไลน์ด้านการคุ้มครองเด็กถูกพัฒนาขี้นมาในช่วงเวลาที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการคุ้มครองเด็ก  ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้การเห็นชอบเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการสร้างความเข้มแข็งของคนและกลไกรอบตัวเด็ก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พบคนทำงานรุ่นใหม่ ‘ไม่มีทักษะ’ ตรงกับตำแหน่งงาน

Posted: 29 Nov 2017 05:10 AM PST

ซีอีโอ 63% ทั่วโลกกังวหาลูกจ้างตรงกับตำแหน่งงานยาก ที่สหรัฐฯ แม้จะมีตำแหน่งงานว่างเพิ่มขึ้นเท่าแต่พบเกิดการจ้างงานไม่ถึงครึ่ง ไทยขาดแรงงานทักษะสูงส่งผลแข่งขันกับต่างประเทศลำบาก งานวิจัยชี้ตลาดแรงงานไทยต้องการคนจบวิชาชีพมากกว่าปริญญาตรี 

ที่มาภาพประกอบ: pexels.com (CC0 License)

แม้ตลาดแรงงานโลกจะเริ่มขยายใหญ่ขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้มีตำแหน่งงานว่างจำนวนมากขึ้นเปิดรองรับผู้ว่างงาน แต่สิ่งที่ผู้ประกอบต้องประสบกลับเป็นการที่ไม่สามารถหาคนที่มีทักษะทำงานได้ในตามตรงตำแหน่งที่ต้องการได้ หรือที่เรียกว่าช่องว่างทักษะ (skills gap) ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ที่ออกมาสู่ตลาดแรงงานทั่วโลก เมื่อลักษณะการทำงานงานที่เปลี่ยนไป ระบบการศึกษาหรือการฝึกอาชีพที่ทำมีอาจไม่สามารถสร้างทักษะอาชีพที่จำเป็นต่อการทำงานได้

ช่องว่างทักษะปัญหาคนรุ่นใหม่ทั่วโลก

ปัญหาช่องว่างทักษะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาให้เห็นในทั่วทุกมุมโลก จากการสำรวจ Talent Challenge: Adapting to growth ประจำปี 2560 จัดทำโดยบริษัทตรวจสอบบัญชี PWC ที่ทำการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารและซีอีโอ (CEO) กว่า 1,300 ราย ใน 68 ประเทศ พบว่าร้อยละ 63 มีความกังวลเกี่ยวกับการแคลนลูกจ้างที่มีทักษะตรงกับประเภทงาน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่อยู่ที่ร้อยละ 51 แม้ผู้บริหารร้อยละ 50 จะเผยว่ามีแนวโน้มจะมีการจ้างงานเพิ่มในรอบอีก 1 ปีภายหน้า

ในปัจจุบันอัตราการว่างงานของคนวัยหนุ่มสาวพุ่งสูงขึ้น แต่พร้อมกันนั้นกับมีผู้ประกอบการไม่สามารถหาคนเข้าไปเติมในตำแหน่งงานที่ว่างลงได้ ด้วยปัญหาที่คนหนุ่มสาวนั้นไม่มีทักษะฝีมือตรงกับตำแหน่งงาน หรือที่เรียกกันว่า 'ช่องว่างทักษะ' จาการสำรวจบริษัทในสหภาพยุโรปพบว่าร้อยละ 50 ต้องเจอปัญหาในการรับคนที่มีการศึกษาสูงเข้าทำงาน ซึ่งปัญหานั้นไม่ได้เป็นเรื่องของคุณสมบัติแต่เป็นปัญหาการขาดทักษะการทำงานในตำแหน่งนั้น ๆ

ปัญหาใหญ่ในอเมริกา

เช่นเดียวกันพื้นที่อื่น ๆ ในโลก สหรัฐอเมริกาที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หลังจะวิกฤตครั้งใหญ่ผ่านพ้นไป โดยตลาดแรงงานได้ขยายตัวขึ้น ในปี 2559 มีตำแหน่งงานเพิ่มมากขึ้นปะประวัติการณ์ ทำให้มีอัตราคนว่างงานต่อตำแหน่งงานที่เปิดอยู่ที่ 1.5 คน ต่อ 1 ตำแหน่งงาน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับปี 2553 อยู่ที่อยู่ที่ 5 คนต่อ 1 ตำแหน่ง โดยในเดือน มี.ค. 2559 นั้นจากการสำรวจของ Job Openings and Labor Turnover Survey พบว่าในช่วงดังกล่าวมีตำแหน่งงานว่างมากถึง 5.757 ล้านตำแหน่ง แต่ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าในขณะที่มีการเปิดตำแหน่งงานใหม่เพิ่มมากขึ้น แต่อัตราการจ้างงานกับสูงขึ้นไม่ถึงครึ่งของตำแหน่งงานที่เปิด ทำให้เห็นว่าไม่มีแรงงานที่มีทักษะมากพอที่สามารถจะเติมเข้าไปในตำแหน่งงานที่ว่างลงได้ ทำให้ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ประกอบการสามารถหาคนเข้ามาทำงานแทนที่ในตำแหน่งที่ว่างลงนานขึ้นเป็น 26 วัน ในปี 2559 จาก 23 วัน ในปี 2547

สมาพันธ์การค้าเสรีแห่งชาติ (National Federation of Independent Business : NFIB) เผยว่าธุรกิจขนาดเล็กร้อยละ 45 ไม่สามารถ หาลูกจ้างในตำแหน่งงานที่กำลังเปิดใหม่ได้ โดยประเภทงานที่ขาดแคลนที่สุดจะเป็นงานค่าจ้างระดับกลาง เช่น พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ นักพัฒนาเว็บไซต์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัย ส่งผลให้เป็นตัวแปรในการชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

มีการคาดการว่าอีก 3 ปี ข้างหน้าสหรัฐฯ จะต้องการแรงงานฝีมือเพิ่มอีก 10 ล้านคน และในจำนวนนั้นจะมีตำแหน่งงานที่ไม่สามารถหาแรงงานเข้ามาเติมเต็มถึงร้อยละ 52 เนื่องจากคนรุ่นใหม่นั้นไม่มีทักษะการทำงานที่เข้ากับลักษณะงานที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน (ดูเพิ่มเติม: U.S. Skills Gap)

นอกจากนี้ในบทความ America has to close workforces skills gap ได้เสนอวิธีการลดช่องว่างทักษะ โดยการเพิ่มการเข้าถึงการฝึกทักษะในท้องถิ่นด้วยการให้ผู้นำด้านธุรกิจสร้างความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น เช่น โรงเรียนไปจนถึงวิทยาลัยในพื้นที่ในการสร้างหลักสูตรที่สร้างทักษะตรงตามตำแหน่งงานที่เปิดรับ ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์กรในชุมชนที่ต้องกระตุ้นเตือนให้คนเห็นถึงความสำคัญในการสร้างทักษะที่นำไปใช้ได้ในโลกปัจจุบัน

ไทยขาดแรงงานทักษะ คนจบปริญญาเสี่ยงตกงาน

ผลสำรวจ Talent Challenge: Adapting to growth ยังพบว่าผู้บริหารและซีอีโอในกลุ่มประเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร้อยละ 54 ให้ข้อมูลว่าจะมีจ้างงานเพิ่มมากในอีก 12 เดือนข้างหน้ามากที่สุดเป็นรองแค่กลุ่มประเทศตะวัน ร้อยละ 71 โดยกลุ่มธุรกิจที่ต้องการเพิ่มจำนวนพนักงานมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมประเภทธุรกิจบริการร้อยละ 51 ประกันภัยร้อยละ 49 และเทคโนโลยีร้อยละ 46  ส่วน ข้อมูลจากบริษัท PWC ประเทศไทย ระบุถึงสถานการณ์แรงงานไทยที่มีจำนวนอยู่ 38 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวมีเพียงร้อยละ 10-15 เท่านั้นที่เป็นแรงงานทักษะสูง เมื่อตลาดแรงงานของโลกที่ขยายใหญ่ขึ้นทั่วโลกจะทำช่องว่างทักษะที่กว้างขึ้น บรรดาบริษัทข้ามชาติหลายแห่งหันมาหาบุคลากรหรือเด็กจบใหม่จากจีนและอินเดียเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะของไทยมีแนวโน้มขยายผลไปสู่การแย่งชิงบุคลากร อาจนำไปสู่การไหลออกของความการลงทุนที่ต้องการแรงงานเพิ่ม

จากรายงาน Human Capital Report 2016 ที่จัดทำโดย World Economic Forum พบว่าประเทศไทยที่มีสัดส่วนของแรงงานฝีมือเพียงร้อยละ 14.4 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำเมื่อเทียบในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเยอรมัน 43.3หรือสวีเดนที่สูงถึงร้อยละ 49.2 ส่วน งานวิจัยสถานการณ์ตลาดแรงงานในกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม เผยว่าตลาดแรงงานไทยกำลังต้องการแรงงานที่จบศึกษาสายวิชาชีพที่มีทักษะในการทำงานจำนวนมากกว่ากลุ่มที่มีใบปริญญา ซึ่งแรงงานที่จบศึกษาสายวิชาชีพจะเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ส่วนผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 2559 ตกงานสูงถึง 1.79 แสนคน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนของ UN ร้องปล่อยผู้ถูกจับกุมขณะประท้วงโรงไฟฟ้าถ่านหินทันที

Posted: 29 Nov 2017 01:34 AM PST

ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมขณะประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินทุกรายทันที

ภาพเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว 16 แกนนำ เพื่อขออำนาจศาล จ.สงขลา ฝากขัง เมื่อช่วงสายของวันที่ 28 พ.ย.60

28 พ.ย.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (UNOHCHR) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาผู้ชุมนุมทุกรายที่ถูกจับกุมขณะเดินประท้วงอย่างสันติต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 2,200 เมกะวัตต์ที่ จังหวัดสงขลา ภาคใต้ของประเทศไทย จากกรณีเมื่อวันจันทร์ที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ชาวบ้านประมาณ 100 คนจากอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ได้ร่วมชุมนุมเพื่อยื่นหนังสือแก่นายกรัฐมนตรีที่อยู่ระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดภาคใต้ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ทหารในท้องถิ่น เข้าทำการสกัดการชุมนุมและจับกุมตัวชาย 17 คน ซึ่งรวมถึงผู้สื่อข่าวในท้องถิ่นและเด็กวัย 16 ปี

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ผู้ชุมนุมทั้ง 16 คนถูกตั้งข้อหาร่วมกันเดินอันเป็นการกีดขวางการจราจรตาม พ.ร.บ. ทางหลวง และต่อสู้หรือจัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่ตามมาตรา 138 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งผู้ชุมนุมอาจต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 2 ปี หากพบว่ากระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ทั้งนี้ ผู้ชุมนุม 15 คนยังคงถูกควบคุมตัว ขณะที่เด็กวัย 16 ได้รับการประกันตัวเมื่อวานนี้

"การประท้วงอย่างสันติเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยเพื่อก่อให้เกิดสำนึกรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของสาธารณชน" ซินเธีย เวลิโก ตัวแทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าว

รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้รับรายงานหลายครั้งกรณีชาวบ้านในชุมชนและนักกิจกรรมผู้ประท้วงโครงการพัฒนาอย่างสันติเนื่องจากความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความเป็นอยู่ ถูกข่มขู่จากทางการและบริษัทผู้พัฒนาโครงการ สมาชิกในชุมชนและนักกิจกรรมในประเทศไทยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ถูกปลิดชีวิต ทำร้ายร่างกาย ตั้งข้อหาทางอาญาว่าทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และยังถูกขัดขวางไม่ให้ชุมนุมอย่างสันติหรือเข้าร่วมในการอภิปรายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาต่างๆ อีกด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนตรงข้ามกับพันธสัญญาที่ประเทศไทยทำไว้อย่างแน่นแฟ้นในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและหลักการชี้นำของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

"เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องดำเนินขั้นตอนสำคัญเพื่อให้เกิดการหารือกับสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ บนพื้นฐานของความสุจริตใจ และเพื่อให้ได้รับความยินยอมที่เป็นอิสระบนพื้นฐานของการได้รับข้อมูลเพียงพอและล่วงหน้าจากชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาด้วยวิธีที่มีความหมาย ตามที่รัฐธรรมนูญไทยได้รับประกันไว้" เวลิโก กล่าว

"เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยรับประกันสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติและสิทธิในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งขอให้คุ้มครองความปลอดภัยและเกียรติของสมาชิกชุมชนตลอดจนผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ในวิถีที่สอดคล้องกับพันธะของประเทศไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย" เวลิโก กล่าวย้ำ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชี้ ‘ธรรมาภิบาล’ จุดอ่อนรัฐวิสาหกิจ-ตอบ 4 ข้อกังขาหน้าตารัฐวิสาหกิจที่จะเปลี่ยนไป

Posted: 29 Nov 2017 01:01 AM PST


การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พยายามเดินหน้าให้แล้วเสร็จ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ถูกจับตามองด้วยไปผูกโยงกับเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

สภาธุรกิจตลาดทุนไทยได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อ 'การพัฒนา การกำกับดูแล และบริหารรัฐวิสาหกิจ: คำตอบของการดูแลสมบัติชาติ' เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 อาคาร B ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีวิทยากรคือประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รพี สุจริตกุล กรรมการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และบรรยง พงษ์พานิช อดีตกรรมการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ



ชี้ปัญหาธรรมาภิบาล คนเดียวใส่หมวก 4 ใบ

ประสาร กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจเป็นสถาบันทางเศรษฐกิจ ซึ่งถ้ามีความเข้มแข็งก็จะสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ ก่อนจะอธิบายว่าทำไมต้องให้ความสำคัญกับรัฐวิสาหกิจ โดยยกตัวเลขสินทรัพย์ปี 2547 ที่มีอยู่ 4.7 ล้านล้านบาท รายได้รวม 1.5 ล้านล้านบาท พอถึงปี 2559 สินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 14.4 ล้านล้านบาท รายได้รวม 4 ล้านล้าน รัฐวิสาหกิจจึงมีนัยมากในเชิงขนาดและการเติบโต

"มูลค่าตลาดของรัฐวิสาหกิจสูงและมีนัยต่อระบบเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือมีแนวโน้มเติบโตสูง มีสัดส่วนในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าไปในทางดีก็ดีไป ถ้าไปในทางไม่ดีก็จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งตอนเริ่มก่อตั้ง เราอาจยังไม่เห็นบริบทที่ชัดเจน ตัวอย่างสถาบันการเงินของรัฐตั้งไว้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ก็ไม่มีใครคิดว่าบัดนี้กลายเป็นเครื่องมือทางการคลังอย่างมีนัยสำคัญ"

แต่ขณะเดียวกัน รัฐวิสาหกิจก็มีปัญหาการหย่อนประสิทธิภาพ รัฐวิสาหกิจที่มีกำไร ส่วนใหญ่มีอำนาจพิเศษหรืออำนาจผูกขาด สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีการแข่งขันกลับมีผลประกอบการไม่ดี อีกทั้งเวลานี้ สินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์สำคัญๆ ของประเทศที่จะนำพาไปสู่ความก้าวหน้าในอนาคต อยู่ในมือรัฐวิสาหกิจคุม ถ้าองค์กรที่ดูแลสินทรัพย์เหล่านี้หย่อนประสิทธิภาพก็จะมีนัยสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ

ประสาร กล่าวย้ำว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญมากประการหนึ่งคือบรรดาข้อต่อต่างๆ ของหน่วยที่เกี่ยวข้อง และระบบธรรมาภิบาลเพื่อระบุความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ

"โครงสร้างที่เกี่ยวข้องมีตั้งแต่รัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายการเมือง กระทรวงต้นสังกัดและกระทรวงการคลังซึ่งทำหน้าที่คล้ายซีเอฟโอ (Chief Financial Officer: CFO หรือผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน) และตัวรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง บางแห่งมีวัตถุประสงค์ทางสังคม บางแห่งมีวัตถุประสงค์ทางวิสาหกิจหรือทางธุรกิจ แล้วก็ลงมาที่ผู้ใช้บริการหรือประชาชน เช่น ข้อต่อแรก รัฐวิสาหกิจจะประสบปัญหาการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในหลายรูปแบบ ส่วนกระทรวงการคลังก็มีลักษณะแตกต่างจากบริษัทเพราะไม่มีอำนาจ เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องเยอะมาก หลายครั้งทำหน้าที่ได้แค่แนะนำ ตักเตือน ขอข้อมูล รัฐวิสาหกิจบางแห่งไม่มีผลกำไรต้องอาศัยกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ แต่พอให้ส่งรายงานกลับไม่ส่ง กระทรวงการคลังก็ทำอะไรไม่ได้

"สรุปว่า รสก.มีหัวใจหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่คือระบบธรรมาภิบาลภายใน ร่างกฎหมายฉบับนี้ (ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ) มีเจตนาเข้าไปปรับตรงนี้ หาทางจัดระบบธรรมาภิบาลให้เป็นปกติ"

ประสานขยายความว่า ระบบธรรมาภิบาลที่เป็นจุดอ่อนของรัฐวิสาหกิจคือการมีบทบาทหน้าที่ทับซ้อนกัน ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับดูแล เจ้าของ และผู้ดำเนินงาน ซึ่งร่างกฎหมายพยายามแยกแยะ 4 บทบาทนี้ออกจากกัน

"ตัวอย่างนโยบายจำนำข้าว คนที่นั่งเป็นประธานกรรมการ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์) คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดูแลในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับดูแล ผู้ปฏิบัติงาน และเจ้าของ แล้วจะตัดสินใจอย่างไร ถ้าเป็นผู้กำหนดนโยบายก็ต้องทำตาม ถ้าเป็นผู้กำกับดูแลก็ต้องไม่ยอมเพราะอาจไม่สามารถรับฝากเงินประชาชนได้ ถ้าเป็นเจ้าของ แล้วทำเสียหายเป็นแสนล้าน ใครจะยอม แล้วเป็นผู้ปฏิบัติงานก็ต้องเคาะว่าจะทำหรือไม่ทำ เราจึงเห็นระบบธรรมาภิบาลที่ค่อนข้างเละ จึงต้องแยกบทบาทเหล่านี้ออกมา"

ประการที่ 2 ต้องมีผู้ที่มีบทบาทการเป็นเจ้าของเพื่อรักษาผลประโยชน์ขององค์กรเช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นในบริษัทมหาชน
"โดยเรียนรู้จากธุรกิจเอกชนและต่างประเทศ เจ้าของจะดูแลฐานะการเงิน ความยั่งยืน ความสำเร็จขององค์กร การตั้งกรรมการผู้บริหาร คล้ายผู้ถือหุ้นในบริษัทมหาชน การบริหารทรัพย์สินให้เพิ่มมูลค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด การประเมินผล นี่คือหน้าที่ของเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น"

ประการที่ 3 การมีระบบธรรมาภิบาลที่ดี ยังหมายรวมถึงการมีแผนงาน การคัดเลือกคนที่ดี เหมาะสม และมีระบบรายงานประเมินผล

สุดท้ายคือนำข้อดีของกลไกตลาดมาปรับใช้

"การปฏิรูปครั้งนี้เป็นการปฏิรูปเชิงสถาบัน หวังให้กลไกที่เกี่ยวข้องทำงานได้อย่างเป็นปกติ ช่วยให้รัฐวิสาหกิจทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น บรรลุภารกิจที่ประชาชนคาดหวัง ไม่ได้มีเจตนาเพื่อการแปรรูป นำหลักธรรมาภิบาลตามมาตรฐานสากลมาปรับใช้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง จัดตั้งบริษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติขึ้นเพื่อทำหน้าที่องค์กรเจ้าของแทนประชาชน เพื่อเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพสำหรับรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัท" ประสาร กล่าวทิ้งท้าย

 

7 ประเด็นภาพรวมปฏิรูป

ด้านรพีเสนอภาพรวมของการปฏิรูปไว้ 7 ข้อ ดังนี้

"หนึ่ง ร่างกฎหมายฉบับนี้  (ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ) ไม่สามารถขัดแย้งหรือครอบงำกฎหมายฉบับอื่นได้ ที่ต้องพูดให้ชัดเพราะมีการพูดว่ากฎหมายนี้จะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งการแปรรูปเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถไปยุ่งเกี่ยวได้

"สอง รัฐวิสาหกิจที่แปรรูปแล้ว ถ้าภาครัฐจะลดหรือเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นต้องทำอย่างไร ปัจจุบันมีระเบียบว่าต้องทำเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งกฎหมายใหม่ก็ไม่ได้ลบล้างระเบียบนี้เลย ในทางกลับกัน คนร. (คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) หรือซูเปอร์บอร์ดที่จะตั้งขึ้นมาตามกฎหมายระบุว่า ถ้าจะมีการเสนอแนะให้ปรับเปลี่ยนการถือหุ้นของรัฐในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชน ต้องเสนอความเห็นไปยัง ครม. ให้ ครม. เป็นคนตัดสินและมีมติ ที่บอกว่าเรื่องนี้นำไปสู่การแปรรูปทางอ้อม จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะมีกฎหมายครอบอยู่

ประการที่ 3 กฎหมายฉบับนี้กำหนดองค์ประกอบและหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจไว้อย่างชัดเจน ถ้าไม่ทำหรือทำผิดหน้าที่ตามกฎหมายก็จะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ประการที่ 4 เนื่องจากคณะผู้ร่างที่ทำงานมาตั้งแต่ต้นมาจากทางตลาดทุนที่มีความเชื่อว่า สิ่งที่ต้องทำมากที่สุดในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจคือการเปิดเผยข้อมูล เพราะยิ่งเอาข้อมูลการดำเนินงานออกสู่ประชาชนมากเท่าไหร่ ประชาชนก็จะสามารถชี้ได้ว่าสิ่งที่รัฐวิสาหกิจทำผิดหรือไม่ กฎหมายนี้จึงเน้นการเปิดเผยข้อมูล แผนยุทธศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจต้องจัดทำเป็นแผน 5 ปี การแต่งตั้งกรรมการ มีกระบวนการคัดเลือกอย่างไร และต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา


ประการที่ 5 รัฐวิสาหกิจไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) หรือเป็นบริษัทมหาชน จะต้องเปิดเผยการดำเนินงานของตนเอง โดยใช้มาตรฐานเดียวกันกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ประการที่ 6 ห้ามทำสิ่งที่ไม่อยู่ในแผนของรัฐวิสาหกิจที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถ้ามีการเปลี่ยนแผน แต่แผนนั้นก่อภาระทางการเงินแก้รัฐวิสาหกิจ ก็จะต้องมีกระบวนการประเมินค่าใช้จ่าย ค่าเสียหาย แล้วประกาศเปิดเผยให้สาธารณะรับรู้ เพื่อให้รัฐบาลชดเชยค่าเสียหาย

"ประการสุดท้าย บทบาทของ สคร. ปัจจุบันอยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง สคร. จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา แนะนำเจ้ากระทรวง เพราะกฎหมายรัฐวิสาหกิจที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาตาม พ.ร.บ. ของเขา อำนาจทั้งหลายยังอยู่ที่เจ้ากระทรวง ถ้าจะแก้กฎหมายมารวมศูนย์ทั้งหมด ต้องแก้ประมาณ 30-40 ฉบับพร้อมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก ดังนั้น บทบาท สคร. จึงทำหน้าที่แนะนำเจ้ากระทรวง แต่ต้องถาม คนร. (คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธานก็สามารถสั่งมายังกระทรวงต่างๆ"

 

บรรยงชี้แปรรูปไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ตอบ 4 ข้อว่าด้วยการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ 

ด้านบรรยง เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงความจำเป็นของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจว่า "12 ปีที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจขยายตัวจาก 4.77 ล้านล้านบาท ขึ้นมาเป็น 15 ล้านล้านบาท หรือจากร้อยละ 60 ของจีดีพี ขึ้นมาเป็นเกือบร้อยละ 110 ของจีดีพี และจะขยายต่อไป ความหมายคือเราเอาทรัพยากรของประเทศเข้าไปอยู่ภายใต้รัฐวิสาหิจมากขึ้นและมากขึ้น ถ้าทรัพยากรถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่รั่วไหลก็ไม่น่ากังวล ปัญหาของการพัฒนาคือการเพิ่มประสิทธิภาพ มีตัวชี้วัดมากมายที่บ่งบอกว่ากระบวนการที่ทำอยู่เดิมไม่มีประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการใช้ทรัพยากรก้อนใหญ่ของประเทศ สิ่งที่กำลังทำเป็นเรื่องกระบวนการทางสถาบัน คือจัดรูปแบบสถาบันใหม่ เป็นเรื่องซับซ้อนและยาก

"ทุกอย่างของการปฏิรูป ความยากของมันคือต้องเริ่มจากสภาพที่เป็นอยู่ บางคนบอกว่าอันไหนแย่ก็ขาย ก็ยุบทิ้ง มันทำไม่ได้ครับ ก็ต้องจัดการจากจุดนั้น การปฏิรูปใดๆ ก็ตาม เราไม่สามารถกระโดดทีเดียวไปที่ความฝัน มันต้องไปตามขั้นตอน กฎหมายนี้เป็นขั้นต้น แล้วจะต้องมีกระบวนการจัดตั้งองค์กร การมีส่วนร่วม ความโปร่งใสเป็นเครื่องมือทางสถาบันที่สำคัญที่สุดที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพและป้องกันการทุจริตในระยะยาว"

บรรยง กล่าวว่า เขาต้องตอบคำถาม 4 คำถามที่พบอยู่ในสังคมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ข้อแรกคือเป็นการรวมศูนย์เพื่อกินรวบหรือไม่

"แต่เดิมรัฐวิสาหกิจแยกกันอยู่ในกระทรวงต่างๆ ประมาณ 10 กระทรวง ไม่มีมาตรฐาน ใครจะบริหารยังไงก็ได้ มีเรื่องก็ส่งเรื่องเข้า ครม. กระทรวงอื่นๆ ก็ไม่สนใจ มีแค่ สคร. ที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นที่ปรึกษา แต่หน่วยงานระดับกรมอย่าง สคร. ก็มีอำนาจจำกัด การรวมนี้ก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและเพิ่มมาตรฐาน  ทุกอย่างมีกลไกธรรมาภิบาลสากล ไม่ใช่ว่า คนร. ทำอะไรได้ตามอำเภอใจ ซึ่งจะทำให้การกินรวบเกิดขึ้นไม่ได้เลย"

สอง-เป็นการลดสวัสดิการของประชาชนหรือไม่

"การปฏิรูปไม่ได้หยุดการให้บริการสาธารณะและสวัสดิการของประชาชน เพียงแต่จะมีการแยกแยะที่ชัดเจนว่าส่วนไหนเป็นส่วนที่ให้สวัสดิการ มีการชดเชยอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วเวลาพูดว่ารัฐวิสาหกิจให้สวัสดิการ ทั้งคนจนคนรวยได้หมด ผมยกตัวอย่างเช่น เคยมีการเรียกร้องให้รัฐวิสาหกิจที่ประกอบธุรกิจน้ำมันว่าไม่ต้องเอากำไรหรอก ลดราคาลงไปได้ตั้ง 4 บาทต่อลิตร เพราะเขากำไรอยู่แสนล้านต่อปี ขายน้ำมัน 2 หมื่นล้านลิตร ถ้าทำอย่างนั้นจริง มีงานวิจัยเยอะแยะในโลกว่า ถ้าอุดหนุนไปที่ราคาน้ำมัน 1 บาท 2 สตางค์จะไปที่คนรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์แรก ส่วนอีกไม่ถึง 1 สตางค์จะไปที่คนจนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย

"แต่ถ้ามาเข้าระบบนี้ อยากอุดหนุนก็แจกไปเลยครับ เดี๋ยวนี้เรามีบัตรคนจน เอาไปลิตรละ 5 บาทเลยก็ยังน้อยกว่าอุดหนุนรวม กระบวนการนี้จะทำให้การให้สวัสดิการตรงเป้าหมาย การวัดประสิทธิภาพก็เกิดขึ้นได้ รัฐวิสาหกิจก็อ้างไม่ได้ว่าที่ขาดทุนทุกวันนี้เพราะสนองนโยบายให้บริการสาธารณะในราคาถูก"

สาม-ทำให้การเมืองยังแทรกแซงได้อยู่หรือเปล่า

"มีคำถามว่าทำไมไม่เอานักการเมืองออกไปให้หมด ยังนั่งอยู่ใน คนร. ตั้ง 5 คน ยังมีอำนาจในเรื่องนโยบาย ผมตอบว่านี่เป็นทางเดียวที่จะทำให้ฉันทานุมัติของประชาชนมาเกี่ยวข้องได้ นักการเมืองเมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาล เขาได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน รัฐวิสาหกิจยังไงก็ต้องเป็นเครื่องมือของนโยบายรัฐบาล การตัดขาดให้เป็นองค์กรอิสระเป็นไปไม่ได้เด็ดขาดในความเห็นของผม เพียงแต่รัฐมนตรีจะสั่งทุกอย่างไม่ได้ มันมีกระบวนการที่ต้องมีเหตุผล มีแผนยุทธศาสตร์รวม มีการเปิดเผยข้อมูล มีการคานอำนาจ การแยกบทบาท นักการเมืองยังไงก็ต้องผลักดันนโยบาย แต่เรามีองค์กรที่เป็นเจ้าของมาต่อรองเรื่องนโยบาย"

สี่-นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือไม่

"เวลาพูดถึงการแปรรูป คนที่วิจารณ์เรื่องนี้พูดเหมือนว่าการแปรรูปเป็นความชั่วในตัวของมันเอง มีการยกคำของโจเซฟ สติกลิตซ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจธนาคารโลก มาพูดเยอะมากว่า การแปรรูปคือการโกงที่มากที่สุด

"ไม่มีทางที่สติกลิตซ์จะพูดต่อต้านการแปรรูป เขาเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Globalization and Its Discontents ในปี 2545 เขาพยายามเตือนว่าโลกาภิวัตน์มีข้อบิดเบี้ยวบางประการที่ต้องดู เรื่องนี้ก็เหมือนกัน สติกลิซต์เขียนไว้ในหน้าที่ 58 ว่า การแปรรูปทำให้ประเทศที่เปลี่ยนจากระบบวางแผนจากสู่กลางมาสู่ระบบโลกาภิวัตน์ได้ดี แต่ถ้าแปรรูปอย่างบิดเบี้ยวมันก็สามารถทำให้นักการเมืองคอร์รัปชัน โดยเอาทรัพย์สินของรัฐไปขายถูกๆ เขาแปลมาแค่ครึ่งหลังให้เสมือนว่าทุกๆ การแปรรูปเป็นเรื่องเลว การเข้าตลาดหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจไทยที่ผ่านมา ไม่เข้าเงื่อนไขอย่างที่สติกลิตซ์พูดเลย ถ้าจะมีก็จะเกิดในรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้แปรรูป ก็คือการให้สัมปทาน

"แต่กฎหมายนี้ไม่ได้ห้ามแปรรูป เพราะไม่รู้จะห้ามทำไม มันจะไปบล็อคทางเลือกทางเศรษฐกิจจำนวนมากในอนาคต และทรัพยากรของรัฐก็จะบริหารยากขึ้นๆ แต่ถ้าจะแปรรูป จะมีกระบวนการเพิ่มขึ้นและรัดกุมขึ้น มีระบบการคานกันมากขึ้น เมื่อก่อนการแปรรูปจะถูกริเริ่มโดยกระทรวงซึ่งเป็นทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับดูแล และเจ้าของ ไม่มีการคานเลย ดังนั้น การแปรรูปอาจจะไม่สมบูรณ์

"แต่ถ้ามีโครงสร้างใหม่ ถ้าจะมีการแปรรูปมันจะมีการคานกันมากขึ้น ผู้กำหนดนโยบายก็เป็นส่วนหนึ่ง ผู้กำกับดูแลจะคอยดูเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ไม่ให้เกิดการผูกขาด ในกรณีที่มีการผูกขาดโดยธรรมชาติ ผู้กำกับดูแลก็จะคอยควบคุมไม่ให้ค้ากำไรอย่างไม่สมควร หรือถ้าต้องการแก้ไขข้อบกพร่องการแปรรูปในอดีต ภายใต้โครงสร้างใหม่ก็จะทำได้ดีขึ้น"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอทบทวนโครงการโรงน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล

Posted: 28 Nov 2017 11:38 PM PST

ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ระบุปัญหาการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น การดำเนินโครงการโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ไม่ชอบธรรม ขอให้มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นใหม่ พร้อมให้หน่วยงานรัฐลงพื้นที่ชี้แจงข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน

29 พ.ย. 2560 เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ตัวแทนประชาชนกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเชบาย จากบ้านเชียงเพ็ง ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าตื้ว จ.ยโสธร ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตายทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มิตรผลไบโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด

โดยรายละเอียดในหนังสือระบุว่า ตามที่บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และบริษัท มิตรผลไบโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตน้ำตาลทรายดิบ และพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีแผนในการก่อโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห้ฯแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 และวันที่ 10 มีนาคม 2560 ซึ่งทั้งสองเวทีมีประชาชนทำหนังสือคัดค้านการจัดเวทีทั้งสองครั้ง เนื่องจากไม่มีการให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการ ข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบในภาพรวมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ให้ประชาชนผู้เข้าร่วมได้เข้าใจในตัวโครงการก่อนที่จะเข้าร่วมให้ความคิดเห็น และทั้งสองเวทีมีการการกำหนดผู้เข้าร่วม โดยกีดกันไม่ให้ผู้ที่สนใจบางส่วนเข้าไปแสดงความคิดเห็น จึงเป็นการจัดเวทีที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้าร่วมอย่างคลอบคลุม 

โดยทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย และเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อมภาคอีสาน ได้ติดตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ทางกลุ่มเห็นว่าปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ก็ยังไม่ไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนของโครงการที่จะมาดำเนินการในพื้นที่ รวมถึงกระบวนการขั้นตอนทั้งหมดของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องการโครงการทั้งสอง ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ต้องมีการให้ข้อมูล และตอบข้อซักถามของชุมชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจภาพรวมของโครงการอย่างครบถ้วนรอบด้าน และรับทราบถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นทางกลุ่มจึงขอคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา  และจะไม่เข้าร่วมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่บริษัทฯ อีก หากยังคงดำเนินการในลักษณะเดิม

ทั้งนี้ทางกลุ่มมีข้อกังวลว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลเดิมได้มีการแจ้งว่าจะมีกำลังผลิต 38 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันกลับมีข้อมูลว่าจะเพิ่มกำลังผลิตเป็น 61 เมกะวัตต์ ขณะที่โรงงานน้ำตาลมีกำลังผลิต 20,000 ตันต่อวัน ซึ่งหากสองโครงการเกิดขึ้นจะมีผลกระทบในการแย่งชิงการใช้ทรัพยากรน้ำจากลำน้ำเซบาย ซึ่งประชาชนในพื้นที่ใช้ประโยชน์ในการอุปโภคและบริโภค

นอกจากนี้ทางกลุ่มได้ตั้งข้อสังเกตต่อการจัดทำรายงานวิเคราะห์ทางผลกระทบสิ่งเเวดล้อมของทั้งสองโครงการดังนี้

1.ไม่มีการเผยเเพร่ข้อมูลข่าวสารก่อนการดำเนินการศึกษาผลกระทบ ซึ่งก่อนที่จะดำเนินการจัดการประชุมการกำหนดขอบเขตการวิเคราะห์ และแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ครั้งที่ 1 ประชาชนในที่พื้นที่ใกล้ที่ตั้งโครงการ ไม่รู้ว่าจะมีการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวมาก่อนล่วงหน้า

2.กระบวนการชี้แจงข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ทางบริษัทฯ ได้อธิบายแต่ข้อดีของการมีโรงน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล

3.ในการจัดประชุมกำหนดขอบเขตทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 และครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 มีนาคม 2560 จะต้องให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น แต่ทางบริษัทฯ กลับนำประชาชนนอกพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร มาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น

4.การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชุมชน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ทางกลุ่มเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกระบวนการ เนื่องจากมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้วสองครั้ง และการจัดเวทีเฉพาะกลุ่มครั้งที่สามเป็นเพียงการมาชี้แจงข้อดีของโครงการเท่านั้น ไม่ได้มีการรับฟังความเห็นอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ทางกลุ่มมีข้อเสนอดังนี้

1ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงและกระบวนการขั้นตอนการอนุมัติโครงการ รวมทั้งสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการดำเนินโครงการทั้งสองโครงการ

2.ให้บริษัท คอลซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับจ้างทำงานรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นใหม่ เนื่องจากกระบวนการที่ผ่านมาทั้งหมดขาดความชอบธรรม

3.รัฐต้องให้ประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตร ที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดำเนินโครงการทั้งสอง เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มต้น ในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน

4บริษัทไม่มีการศึกษาระบบนิเวศลำน้ำเซบายที่ครอบคลุมพื้นที่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปละปลายน้ำ ซึ่งลำน้ำเซบายเป็นทางน้ำสาธารณะที่มีประชาชนใช้สอยร่วมกันและมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด 19 อำเภอ 530 ตำบล ที่มีประชากรรวมทั้งสิ้น 281,210 คน โดยทางกลุ่มเห็นว่าโครงการทั้งสองจำเป็นต้องผันน้ำจากลำน้ำเซบายเพื่อใช้ประโยชน์ ดังนั้นควรให้มีการจัประชาคมในระดับหมู่บ้านเพื่อที่จะรับฟังความเห็นจากประชาชนที่ใช้ประโยชน์จากลำน้ำเซบายด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภรรยา 'แบร์มุส' ผิดหวัง 'สรรเสริญ' ตั้งข้อสังเกตหายตัวเหตุเที่ยวหญิงอื่น ชี้ควรเป็นมืออาชีพกว่านี้

Posted: 28 Nov 2017 11:37 PM PST

"Man of his words" ภรรยา 'แบร์มุส' ผิดหวัง 'สรรเสริญ' ปมตั้งข้อสังเกตการหายตัวของ แบร์มุส เพราะเที่ยวกับผู้หญิงอื่น ชี้เป็นคนสำคัญของประเทศควรมีความเป็นมืออาชีพกว่านี้ เผย 'แบร์มุส' ปลอดภัยแล้ว ด้าน 'สรรเสริญ' แจงไม่ได้กล่าวหา

(ซ้าย) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (ขวา) เอกรินทร์ ต่วนศิริ กับ สุไรนี สายนุ้ย ซึ่งเป็นภรรยาของ แบร์มุส

29 พ.ย. 2560 วานนี้ (28 พ.ย.60) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเดินหน้าประเทศไทย ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ชี้แจงกรณีการจับกุมตัวแกนนำคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา จ.สงขลา ตอนหนึ่งตั้งข้อสังเกตถึง มุสตาร์ซีดีน วาบา หรือ 'แบร์มุส' แกนนำกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้า ที่มีภาพออกไปในโซเชียลมีเดียว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารจับไป และยังไม่ได้กลับบ้าน ด้วยการยกตัวอย่างว่าเคยเกิดในพื้นที่หายตัวไป แต่ปรากฎว่าไปเที่ยวกับผู้หญิงที่ไม่ใช่ครอบครัว

 

"มีแกนนำท่านหนึ่งชื่อว่า มุสตาร์ซีดีน วาบา หรือที่เรียกว่า แบร์มุส คนนี้มีภาพออกไปในโซเชียลมีเดียว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือทหารจับไป วันนี้ยังไม่ได้กลับบ้านเลย ก็เลยถามแม่ทัพภาคที่ 4 และผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ตรวจสอบแล้วทั้งตำรวจ ทหาร ไม่มีใครจับตัวไป ยืนยันไม่ได้เก็บตัวไว้ แต่ว่าท่านหายไปไม่กลับบ้านก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้ไหมว่า ลักษณะลีลามันจะเหมือนที่สะบ้าย้อยเมื่อไม่นานมานี้ เขาบอกว่าหาย ไม่กลับบ้าน ถูกตำรวจ ถูกทหารจับไป แต่พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ก็ปรากฏว่าท่านหนีไปเที่ยวกับผู้หญิงที่ไม่ใช่ครอบครัวของท่านที่สตูล อันนี้ตั้งข้อสังเกต ผมไม่ได้ว่าคุณแบร์มุสนะ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ในวันข้างหน้า" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

 

ภรรยา 'แบร์มุส' ผิดหวัง 'สรรเสริญ' ชี้ควรมีความเป็นมืออาชีพกว่านี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 พ.ย.60) เฟซบุ๊ก 'Ekkarin Tuansiri' ของ เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เผยแพร่วิดีโอสัมภาษณ์ สุไรนี สายนุ้ย ซึ่งเป็นภรรยาของ แบร์มุส และเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ม.อ.ปัตตานี

 

สุไรนี กล่าวว่าขณะนี้ แบร์มุส ปลอดภัยดี ส่วนที่มีคำถามมากอีกประเด็นว่า แบร์มุส อยุ่ที่ไหนนั้น ต้องขอตอบด้วยความสัตย์จริงว่า ตนไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนในตอนนี้ ตอนนี้ แบร์มุส ยังไม่ถูกออกหมายจับหรือหมายเรียกตัวหรือให้รายงานตัวแต่อย่างใด

สำหรับกรณีที่ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึง แบร์มุส นั้น สุไรนี กล่าวว่า รู้สึกผิดหวัง ที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ ไม่ได้สอบถามมายังครอบครัวหรือตนโดยตรงถึงความเป็นมาและเป็นไป มันทำให้เราผิดหวังในคำพูด คนที่ก็ถือเป็นคนสำคัญในประเทศและมีบทบาทในการบริหารประเทศ

ควรมีความเป็นมืออาชีพมากกว่านี้และเรื่องของการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสิ่งที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ พูดนั้นคือการสื่อสารกับประชาชน สารที่พูดออกมาจะมีผลต่อความรู้สึกกับประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะขณะนี้ทางครอบครัวมีความกังวลและเมื่อได้รับการสื่อสารเช่นนี้จากบุคคลสำคัญของประเทศยิ่งทำให้รู้สึกผิดหวังหนักมากเข้าไปอีก

"ในฐานะที่เป็นผู้มีอำนาจ ผู้นำหรือผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสารกับประชาชน ควรจะต้อสร้างความเข้าใจที่ดีกับประชาชน มีช่องทางมีการสื่อสารที่ดีกับประชาชนและควรที่จะมีความเป็นมืออาชีพมากกว่านี้" สุไรนี กล่าว พร้อมกล่าวอีกว่าข้อมูลที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ พูดออกมานั้น หากเป็นคนที่อยุ่รอบตัว แบร์มุส นั้น จะทราบว่าแบร์มุสเป็นคนอย่างไร  พร้อมเรียกร้องให้รัฐรับฟังเสียงของประชาชน และก็สิ่งไหนก็ตามที่มันจะนำพาไปสู่ความขัดแย้งก็อยากจะให้รัฐทบทวน

'สรรเสริญ' ยันไม่ได้กล่าวหา 'แบร์มุส' 

ขณะที่ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ พล.ท.สรรเสริญ กล่าวในรายการ "เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand" จากกรณีที่ถูกพาดพิงว่ากล่าวหาว่า แบร์มุส แกนนำกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินไปเที่ยวผู้หญิง ว่า สิ่งที่ตนเล่าให้ฟังเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ทราบจากท่านแม่ทัพภาคที่ 4 ตนไม่ได้ระบุว่าคุณแบร์มุส เขาไปเที่ยวผู้หญิง แต่แค่เล่าให้ฟังว่าเขาอาจจะมีเหตุผลไปที่หนึ่งที่ใดหรือเปล่า ด้วยการพยายามปล่อยข้อมูลในโซเชียลว่าถูกจับตัวไปจนไม่กลับบ้าน ซึ่งตนก็ได้ยกตัวอย่างว่าเคสแบบนี้มีตัวอย่างแล้ว เมื่อ 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา ที่สะบ้าย้อย มีครอบครัวหนึ่งแจ้งว่าสามีโดนจับ หรือถูกทหารโดนจับ แต่ผ่านมา 2-3 วัน ชายคนนั้นก็ออกมาเอง ระบุว่าไปเที่ยวสตูลกับเพื่อนผู้หญิง ซึ่งตนไม่ได้ว่าคุณแบร์มุสแบบนั้น แค่ตั้งข้อสังเหตุว่ามีจุดประสงค์ไปที่อื่นหรือเปล่า คนเป็นรัฐบาลจะต้องทำอย่างไร คือต้องเล่าทุกอย่างให้ถูกใจกลุ่มผู้ชุมนุมใช่ไหม ทำทุกอย่างให้เบาลงเหมือนไม่มีอะไร

เมื่อถามว่าการตั้งข้อสังเกตแบบนี้เท่ากับว่า แบร์มุส ตายไปครึ่งตัวหรือไม่ พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ตนไม่ได้คิดอย่างนั้น วันนี้เราต้องพูดกันด้วยความจริง รัฐบาลพูดด้วยเหตุผล เรารับข้อเสนอของท่านได้ แต่ต้องพิจารณาดูว่าวันนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้มีเยอะขึ้น เสนออะไรก็ไม่เอา จะเอาแต่สร้างแหล่งผลิตพลังงานทดแทน แต่ว่าพลังงานทดแทนใช้ได้ในหลัก 30 - 40% ไม่สามารถใช้เป็นพลังงานหลักได้

เมื่อถามย้ำถึงกรณีที่บอกว่าทราบข้อมูลจากแม่ทัพภาพที่ 4 เรื่องแบร์มุสนั้น พล.ท.สรรเสริญ ไม่ได้หมายถึงคุณแบร์มุส แต่แค่บอกว่าเคสแบบนี้เคยมีแล้วที่สะบ้าย้อย ซึ่งเขาไม่ได้ไปเที่ยวผู้หญิง นั่นเป็นการตัดต่อคำของผม หาว่าผมไปกล่าวหาเขาว่าไปเที่ยวผู้หญิง ผมบอกว่าเคสนั้นผู้ชายคนนั้น หนีไปเที่ยวกับผู้หญิงที่สตูล แค่ตัดคำพูดของผมแล้วมาลงเฟสบุ๊ค ก็เห็นแล้วว่าไม่ปรารถนาพูดความจริงให้สังคมฟัง จะเอาคำพูดอะไรก็ได้มาทำให้ผมดูเลว อันนี้คงไม่ใช่ ซึ่งผมไม่ได้พูดเช่นนั้น

เมื่อถามอีกว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าควรพูดแบบนี้ออกทีวีเฉพาะกิจหรือไม่ พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ปัจจัยของผมคือผมตั้งข้อสังเกตที่อ้างว่าโดนจับไป จริงๆอาจจะมีเหตุผลอย่างอื่นก็ได้ แล้วผมก็ย้ำตอนท้ายแล้วว่าไม่ได้หมายความว่าตนกล่าวหาแบร์มุส

 

ภาพแบร์มุสที่ถูกเผยแพร่ในโซเชียเน็ตเวิร์คเพื่อตามหาตัว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิด 'กองทุนสู้คดีเทใจให้เทพา' ช่วยประกันตัว 15 แกนนำค้านโรงไฟฟ้าเทพา

Posted: 28 Nov 2017 09:40 PM PST

หลังเรียกหลักทรัพย์ประกันตัว 1.35 ล้าน ขณะที่ทีมงานหาเงินไม่ทัน ทำให้ 15 แกนนำค้านไฟฟ้าถ่านหินเทพา ถูกส่งตัวเรือนจำกลาง จ.สงขลา ล่าสุดนักวิชาการ-เอ็นจีโอ เปิด "กองทุนสู้คดีเทใจให้เทพา" ชวนคนบริจาคเพื่อสิทธิประกันตัว

ภาพจาก เฟซบุ๊ก บรรจง นะแส 

29 พ.ย.2560 จากรณีจากกรณีวานนี้ (28 พ.ย.60) การดำเนินคดีกับแกนนำและกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 16 คน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่จับกุมหลังจากพยายามฝ่าชุดควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่เพื่อไปยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรีที่เดินทางมาประชุมครม.สัญจรที่ จ.สงขลา โดยพนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหา 15 คนไปฝากขังผัดแรกที่ศาลจังหวัดสงขลา ส่วนอีก 1 คนซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี ส่งศาลเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา โดยทนายความของแกนนำได้ยื่นเรื่องขอประกันตัว แต่ทางแกนนำ 15 คนไม่ได้รับการประกันตัว เนื่องจากพนักงานสอบสวนคัดค้าน รวมทั้งหลักทรัพย์ที่จะยื่นค้ำประกันคนละ 90,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,350,000 บาทนั้น ทางทีมงานหาให้ไม่ได้ ทำให้ทั้งหมดถูกส่งตัวไปควบคุมที่เรือนจำกลาง จ.สงขลา ส่วนเยาวชนชายอายุ 16 ปี ศาลเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา กำหนดวงเงินหลักทรัพย์ประกันตัว 5,000 บาท โดยในวันนี้ (29 พ.ย.60) ทางทีมทนายความและแกนนำจะยื่นเรื่องขอประกันตัวอีกครั้งหนึ่ง

ล่าสุดเมื่อเวลา 10.36 น.ที่ผ่านมา บรรจง นะแส โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะ ว่า "กองทุนสู้คดีเทใจให้เทพา" การใช้ตำแหน่งราชการประกันตัวผู้ต้องหากรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่ถูกตำรวจสลายการชุมนุม ศาลมีข้อกำหนดว่าผู้ประกันจะต้องเป็นญาติของผู้ต้องหาถึงจะประกันได้ การใช้เงินสดประกันเกินกำลังของพี่น้อง วันนี้ทางคณาจารย์มหาวิทยาลัยเลยเปิดบัญชีเพื่อขอบริจาคสมทบบัญชีสู้คดีให้พี่น้องโดยมี ธีรวัฒน์ ขวัญใจ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.สินาด ศรีวรรณไชย  อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลนครินทร์ และ อิสรา เจียมวิทยานุกูล ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ กป.อพช.ใต้) ร่วมกันในการเปิดบัญชีนี้ขึ้นเมื่อเช้านี้ เพื่อนมิตรท่านใดที่เห็นว่าจะร่วมสนับสนุนก็โอนเงินคนละสองสามร้อยหรือแล้วแต่ศรัทธาเข้าบัญชีตามภาพที่ส่งมานี้ได้เลย

บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์  เลขที่บัญชี 565-491810-0 ชื่อบัญชี บัญชี นายธีรวัฒน์ ขวัญใจ และ/หรือนายสินาค ตรีวรรณไชย และ/หรือนางสาวอิสรา เจียมวิทยานุกูล

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ศาสนามีไว้ทำไม

Posted: 28 Nov 2017 09:38 PM PST

Gallup ได้สำรวจความเห็นคนทั่วโลกว่าศาสนาสำคัญต่อผู้ตอบแค่ไหน ได้ผลดังแผนที่ด้านบน จะเห็นว่าในประเทศที่
ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) สูงมาก ล้วนเป็นที่ๆ ศาสนามีความสำคัญน้อยหรือไม่มีความสำคัญทั้งสิ้น
ที่มา http://whereisthailand.info/2011/07/no-religion/


ในยุคโบราณที่ศาสนาทำหน้าที่ตอบคำถามแทบทุกเรื่อง คำถามว่าศาสนามีไว้ทำไม อาจไม่จำเป็นต้องถาม เพราะหัวหน้าเผ่าที่เป็นทั้งผู้นำศาสนาและผู้นำชนเผ่า ย่อมมีคำตอบชัดเจนอยู่แล้วว่า ศาสนาคือสิ่งหลอมรวมชนเผ่าให้เป็นหนึ่งเดียว หรือเป็นเครื่องมือควบคุมระเบียบประเพณีของแต่ละชนเผ่า

ในรัฐโบราณที่มีเทพเจ้าประจำรัฐ หรือในรัฐที่ถือว่าผู้ปกครองเป็นเทพ โอรสของเทพ อวตารของเทพ สมมติเทพ พระโพธิสัตว์ ศาสนาย่อมเป็นสัญญะรวมจิตใจพลเมืองของรัฐ คุ้มครองรัฐ เป็นพลังให้ทำสงครามชนะรัฐอื่นๆ ตลอดทั้งเป็นสัญญะของอำนาจบารมีของชนชั้นปกครองและความรุ่งเรืองของรัฐนั้นๆ นอกจากนี้ ศาสนายังทำหน้าที่กำหนดศีลธรรมทางสังคมและระบบชนชั้นทางสังคม กระทั่งสร้างอำนาจชอบธรรม และอำนาจครอบงำเพื่อจรรโลงสังคมชนชั้นแบบยุคโบราณและตลอดยุคกลางที่กินเวลายาวนานหลายพันปี

ที่สำคัญ ศาสนาทำให้ความปรารถนาของมนุษย์เกี่ยวกับความอยากรู้ที่มาที่ไปของของตนเองได้รับการเติมเต็ม เมื่อศาสนาทำหน้าที่ให้คำตอบว่า มนุษย์ โลก และสรรพสิ่งมาจากการสร้างของพระเจ้า และมีเป้าหมายคือหวนคืนไปสู่สวรรค์ของพระเจ้า หรือมนุษย์มาจากผลกรรมเก่า และมีเป้าหมายคือความหลุดพ้นจากอำนาจของกรรม เป็นต้น

ในกรอบคิดแบบยุคกลางย้อนไปถึงยุคโบราณ มนุษย์อาจจะไม่นึกถึงศีลธรรมในความหมายอื่น นอกจากศีลธรรมศาสนา การไม่มีศาสนาเท่ากับชีวิตไร้ที่พึ่ง ไร้เป้าหมาย และปราศจากศีลธรรมหรือคุณค่าใดๆ บางทีคนไร้ศาสนาก็อาจถูกตัดสินว่าเป็น "พวกนอกรีต" ควรขจัดทิ้งราวกับสิ่งปฏิกูล ฉะนั้นในยุคที่ศาสนามี "เขี้ยวเล็บ" หรือมีอำนาจรัฐ จึงมีการขจัดสิ่งปฏิกูลอย่างน่าสยดสยองในนามการปกป้องศาสนาที่แท้

แต่ในยุคสมัยใหม่ คำถามที่ว่า ศาสนามีไว้ทำไม? กลายเป็นคำถามที่มีเหตุผล เนื่องจากสังคมโลกส่วนใหญ่เปลี่ยนการปกครองตามหลักความเชื่อทางศาสนามาเป็นการปกครองตามหลักการทางโลกกันแล้ว สิ่งที่เชื่อมโยงประชาชนในรัฐต่างๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ย่อมไม่ใช่ศาสนาประจำรัฐ หากแต่เป็น "หลักการ" ที่รับรองอำนาจ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพของประชาชนที่มีความแตกต่างทางศาสนา ชาติพันธุ์ และอื่นๆ

ศาสนาที่ไม่ยอมปรับตัวอยู่ใต้หลักการปกครองแบบทางโลก ย่อมถูกมองว่าเป็นศาสนาที่ยึดความสำคัญของพวกตัวเองสูงสุด ไม่เคารพหลักการที่ "free and fair" ในการอยู่ร่วมกันของคนหลากหลายศาสนาและวัฒนธรรม

คำถามก็คือว่า ศาสนาเช่นนี้มีไว้เพื่อเป็นปฏิปักษ์หรือคู่ขัดแย้งกับหลักการที่  "free and fair" อันเป็นอุดมคติของการปกครองทางโลกเช่นนั้นหรือ?

เพราะเมื่อศาสนาพยายามรักษาสถานะความเป็นศาสนาของรัฐ หรือ "ศาสนาประจำชาติ" และเป็น "รัฐศาสนา" ย่อมหมายความว่า ศาสนากำลังขัดแย้งกับหลักความเป็นกลาง,เสรีภาพ และความเสมอภาคทางศาสนา อันเป็นหลักการพื้นฐานของรัฐโลกวิสัย (secular state) เพียงเพื่อรักษาสถานะสำคัญสูงสุดของศาสนาตนเอง อันสะท้อนความคับแคบเห็นแก่ตัวหรือต้องการเอาเปรียบศาสนาอื่นๆ และคนไม่นับถือศาสนาที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน

ส่วนเรื่องที่ว่าศาสนามีไว้เพื่อให้คำตอบเกี่ยวกับที่มาที่ไปของมนุษย์นั้น ปัจจุบันความรู้ทางวิทยาศาสตร์ย่อมให้คำตอบเกี่ยวกับกำเนิดมนุษย์ โลก และสรรพสิ่งได้อย่างมีเหตุผลมากกว่า

แล้วศาสนามีไว้ทำไม มีไว้ให้คำตอบที่ขัดกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์เช่นนั้นหรือ?

ผู้ปกป้องศาสนาอาจแย้งว่า คำตอบทางวิทยาศาสตร์ไม่เกี่ยวกับศีลธรรม แต่คำตอบทางศาสนาที่ว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์และโลก หรือมนุษย์เกิดมาจากผลกรรมเก่า ย่อมเป็นคำตอบที่เป็นรากฐานของศีลธรรม และสังคมมนุษย์ก็จำเป็นต้องมีศีลธรรมเพื่อความสงบสุข

แต่ในโลกสมัยใหม่ ได้เกิดศีลธรรมใหม่ ที่เรียกว่า "secular morality" หรือศีลธรรมโลกวิสัยที่ถือว่าศีลธรรมเป็นเรื่องของหลักการในการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ อะไรที่ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานนี้ย่อมถือว่า "ผิดศีลธรรม" เช่นความเชื่อทางศาสนาในเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ การไม่ยอมรับหรือกีดกันความหลากหลายทางเพศ การลงโทษคนรักร่วมเพศ การเลือกปฏิบัติเพราะคนอื่นนับถือศาสนาต่างจากตนเอง การสร้างความเกลียดชัง ความขัดแย้งระหว่างศาสนา และการที่ศาสนามีอำนาจรัฐ ใช้อำนาจรัฐปกป้อง "ความบริสุทธิ์" ของหลักคำสอน ย่อมขัดหลักสิทธิมนุษยชนหรือหลักศีลธรรมโลกวิสัย

แปลว่าในโลกสมัยใหม่ ศีลธรรมศาสนาไม่อาจเป็น "ศีลธรรมทางสังคม" อย่างที่เคยเป็นในยุคโบราณและยุคกลางได้อีกแล้ว ถ้าเช่นนั้นศาสนามีไว้ทำไม มีไว้ขัดกับหลักศีลธรรมโลกวิสัยเช่นนั้นหรือ?

บางคนอาจจะโต้แย้งผมว่า มนุษย์ในโลกสมัยใหม่อยู่กันด้วยด้วยหลักการปกครองแบบทางโลก, ความรู้ทางวิทยาศาสตร์, ศีลธรรมโลกวิสัย ก็เพียงพอแล้วหรือ ไม่จำเป็นต้องอาศัยคำตอบทางศาสนาอีกแล้วหรืออย่างไร

คำตอบของผมคือ ในเรื่องหลักการปกครอง ความก้าวหน้าทางวิทยาการ และหลักศีลธรรมทางสังคม ไม่จำเป็นต้องอาศัยคำตอบทางศาสนาอีกแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า เราต้องกีดกันศาสนาออกไปจากเรื่องทางสังคมโดยสิ้นเชิง ศาสนายังสามารถเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมได้ แต่ไม่ใช่เข้ามาในลักษณะที่มุ่งจะมีสถานะ อำนาจ ความสำคัญในรัฐอย่างเช่นเป็นศาสนาประจำชาติ หรือต้องการให้รัฐออกกฎหมายอุปถัมภ์คุ้มครอง หรือต้องการให้รัฐออกกฎหมายตามหลักความเชื่อทางศาสนานั้นๆ ศาสนาควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องทางสังคม (หรือประเด็นสาธารณะต่างๆ) ได้เฉพาะเมื่อศาสนาถูกตีความสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ การสนับสนุนขันติธรรม สันติภาพทางสังคม เป็นต้น

พูดในทางหลักการคือ ศาสนาควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องทางสังคมหรือเรื่องสาธารณะเฉพาะเมื่อศาสนาสามารถตีความหลักคำสอน หรือเสนอแนวคิด การเคลื่อนไหวใดๆ ที่สนับสนุน "หลักการทั่วไป" หรือหลักการทางสังคมที่อธิบายได้ว่า "free and fair" ในการอยู่ร่วมกันของคนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนาเท่านั้น ไม่ควรอ้าง "ความเชื่อเฉพาะ" ของศาสนาใดๆ มาบิดเบือน ลดทอนความหมายและคุณค่าของหลักการทางสังคม

การที่ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องทางสังคมในความหมายดังกล่าว ย่อมมีตัวอย่างให้เห็น เช่นการใช้ศาสนาสนับสนุนสันติวิธีโดยมหาตมะ คานธี และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง เป็นต้น

ส่วนคำตอบทางศาสนาที่เป็นความเชื่อเฉพาะ หรือเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณ เช่นการเข้าถึงพระเจ้า, นิพพานและอื่นๆ ปัจเจกบุคคลคือผู้ที่จะตอบคำถามนี้เองว่า ศาสนาในมิติเช่นนี้มีความจำเป็นต่อชีวิตเขาหรือไม่ เพราะศาสนาในความหมายนี้เป็นเรื่องส่วนตัวหรือเสรีภาพส่วนบุคคล และอันที่จริง ผู้นำทางศาสนาหรือนักบวชควรจะตั้งคำถามกับตนเองว่า ในโลกสมัยใหม่บทบาทของศาสนาในด้านยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ทำไมเสื่อมลงไป ที่เสื่อมเป็นเพราะศาสนาไปผูกกับรัฐมากเกินไปจนสูญเสียบทบาทการกล่อมเกลาด้านจิตวิญญาณใช่หรือไม่

ในความเห็นผม ศาสนายังมีคุณค่าด้านจิตวิญญาณ และคุณค่าดังกล่าวย่อมสามารถงอกงามไปกันได้กับศีลธรรมธรรมโลกวิสัย เพราะความรักพระเจ้า รักเพื่อนมนุษย์ ปัญญา กรุณาในคำสอนทางศาสนาย่อมตีความสนับสนุนการสำนึกเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นต้นได้อยู่แล้ว

เพียงแต่ว่ามิติด้านจิตวิญญาณเช่นนี้ ไม่อาจงอกงามได้ในศาสนาที่ผูกติดกับรัฐ หรือเป็นกลไกสนับสนุนอำนาจและอุดมการณ์รัฐ เพราะศาสนาเช่นนั้นย่อมเป็นศาสนาแบบยุคกลาง ที่มีไว้เพื่อขัดแย้งกับหลักการปกครองแบบทางโลก ขัดกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และศีลธรรมโลกวิสัยเป็นด้านหลัก

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: มาตุ-สมรภูมิ

Posted: 28 Nov 2017 09:01 PM PST

อวสานตำนานรัก
บนกองซากเศษปรักหักสูญ
แผ่นดินแม่เลี้ยงมาแสนอาดูร
ไม่เคยเลยจะเทิดทูนแผ่นดินใด

เหลือแต่ถ่านขี้เถ้า
กับรอยยิ้มหม่นเศร้าหมองไหม้
กับชิ้นส่วนเศษกระดาษประกาศชัย
ที่ทุกใบเคลือบอาบคราบน้ำตา

เคยรักไม่คิดรบ
เคยสยบยอมให้เหยียดละเลียดล่า
น้ำใจเอย น้ำใจเจ้าอสุรา
มนุษย์ชาติไร้ค่าดุจหญ้าฟาง

จบสิ้นแผ่นดินทอง
ระฆังฤกษ์เพรียกร้องคำรามหง่าง
เมื่อเดือนดับนิราศฟ้า ดาราร้าง
หรือจำต้องทุบถางแผ่นดินตน

เบิกม่านตำนานรบ
ถมศพทำทางกว่าร่างหล่น
ยาจก คนเข็ญใจ ไพร่พล
จักสู้เพื่อ "แผ่นดินตน" จนแตกยับ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น