โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ภาคปชช.อีสาน ร้องปล่อยกลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยไม่มีเงื่อนไข

Posted: 27 Nov 2017 08:47 AM PST

เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ภาคอีสาน เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ และเครือข่ายศิลปินสายลมแสงแดด ร้องปล่อยตัวกลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ สั่งดำเนินคดี 16 คน เหตุกีดขวางการจราจร ขัดขวางการจับกุม และทำร้ายเจ้าพนักงาน 

27 พ.ย.2560 จากกรณีที่เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้จัดกิจกรรมเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อรณรงค์ถึงความไม่เป็นธรรมและผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และยื่นหนังสือต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อ.เมือง จ.สงขลา ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ โดยวันนี้ (27 พ.ย.60) เวลาประมาณบ่ายโมง เมื่อเครือข่ายฯ เดินทางถึงบริเวณแยกสำโรง อ.เมือง จ.สงขลา มีตำรวจประมาณ 1 กองร้อยตั้งจุดสกัดขบวนเดินเท้าของเครือข่าย และเวลาประมาณ 16.20 น เจ้าหน้าที่ได้สลายการชุมนุม มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บและชาวบ้านจำนวนหนึ่งถูกควบคุมตัวไปที่ สภ.เมือง สงขลานั้น

ล่าสุด เมื่อเวลา 22.22 น. ที่ผ่านมา ฐปนีย์ เอียดศรีชัย ผู้ประกาศข่าวภาคสนามรายการข่าว 3 มิติ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Thapanee Ietsrichai' ในลักษณะสาธารณะว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินคดีผู้ชุมนุมค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 16 คน กีดขวางการจราจร ขัดขวางการจับกุม และทำร้ายเจ้าพนักงาน 

ประมวลแถลงการณ์

ขณะที่องค์กรด้านสิทธิและภาคประชาชนจำนวนมากออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุม ให้มีการสอบสวนในการใช้กองกำลังสลายการรวมตัวของประชาชนที่ชุมนุมโดยสันติ รวมทั้งให้รัฐบาลยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ภาคอีสาน กรีนพีซ เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือตอนล่าง พลเมืองคนรุ่นใหม่ - NGC และเครือข่ายศิลปินสายลมแสงแดด ดังนี้

เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ภาคอีสาน : หยุด ! ใช้อำนาจเถื่อนจับกุมพี่น้องค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

ต้องขอคาระวะพี่น้องชาวบ้านที่รวมตัวคัดค้านการก่อสร้งโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา  ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ของ กฟผ. ด้วยความจริงใจ แม้ว่าการเคลื่อนไหวต่อสู้ในครั้งนี้จะมีความยากลำบากเพราะ ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเราปิดหู ปิดตาที่จะรับฟังความจริงจากประชาชนในพื้นที่ ซ้ำร้ายผู้นำในยุคนี้ยังมีอคติกับกลุ่มที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในข้อกล่าวหาเดิมๆ คือ ขัดขวางการพัฒนาประเทศและถ่วงความเจริญ

หลายปีที่ผ่านมาพี่น้องชาวเทพา จังหวัดสงขลา ได้เดินทางเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ให้รับทราบถึงความทุกข์ยากและปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตจากการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา แต่ไม่เคยมีเสียงตอบรับแต่อย่างใดจากผู้นำรัฐบาล

การเดินเท้าจำนวน 75 กิโลเมตร ของพี่น้อง ให้หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเนื่องจากนายกรัฐมนตรี จะมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ในวันที่ 27พฤศจิกายน 2560 และประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมืองสงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ดังนั้นเจตนาการเดินเท้าเพื่อไปหานายกรัฐมนตรีจึงเป็นความหวังของการบอกกล่าวปัญหาความเดือดร้อนให้ผู้นำรัฐบาลรับทราบ

แต่ในวันนี้ (27 พ.ย.2560) มีการใช้กองกำลังเข้าสลายพี่น้องคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลาอย่างป่าเถื่อนโดยไม่ยึดกับหลักกฏหมายใดๆทั้งสิ้น ผิดกับที่รัฐบาลได้ประกาศเรื่อง "สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ" เราขอประนามรัฐบาล ว่าการใช้กองกำลังเข้าสลายพี่น้องเทพา โดยไม่ยึดหลัก "สิทธิมนุษยชน"  เป็นความเลวร้ายอย่างยิ่ง และการประกาศดังกล่าวเป็นเพียงลมปากเพื่อสร้างภาพเท่านั้น   ดังนั้นเราจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้

1. ให้ปล่อยตัวพี่น้องที่ถูกจับกุมโดยด่วนอย่างไม่มีเงื่อนไข

2. ให้มีการสอบสวนในการใช้กองกำลังสลายการรวมตัวของประชาชนที่ชุมนุมโดยสันติ

3. ให้รัฐบาลยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา

ด้วยจิตคาระวะ

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.อีสาน)

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน

เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน

เครือข่ายปฎิรูปที่ดิน ภาคอีสาน

สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น

สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์

สมาคมเครือข่ายชาวนาชาวไร่อีสาน

สมาคมป่าชุมชนอีสาน

สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ

ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.)

ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง

ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม

ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง

ศูนย์ศึกษาชุมชนท้องถิ่นอีศาน

โครงการทามมูล

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 kv. จ.อุดรธานี

เครือข่ายคนรุ่นใหม่กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา

กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลำพะเนียง

กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย

เครือข่ายชุมชนฮักน้ำโขง

ขบวนการอีสานใหม่ (New Esaan Movements)

กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์แก่งละหว้า จ.ขอนแก่น

โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศห้วยเสนง จ.สุรินทร์

กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร

สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จ.ยโสธร

เครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จ.อำนาจเจริญ

กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสภาคีเครือข่ายฯ จังหวัดสกลนคร

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว จ.ขอนแก่น

กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)

ชมรมชาวบ้านอนุรักษ์ลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูนดูนสาด จ.กาฬสินธุ์

ขบวนองค์กรชุมชน จ.สุรินทร์

กลุ่มสมุนไพรเพื่อสันติภาพ

 

แถลงการณ์ของกรีนพีซ กรณีการใช้ความรุนแรงสลายการเดินทางยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

 
การเดินเท้าอย่างสงบของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินนับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน เพื่อไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีสิชัย อ.เมืองสงขลาในวันที่ 28 พฤศจิกายน ต้องจบลงด้วยความรุนแรงเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและฝ่ายความมั่นคงระดมกำลังเข้าสลายการเดินทางมายื่นหนังสือของเครือข่าย
เหตุรุนแรงโดยรัฐครั้งนี้ย้ำชัดถึง "ความไม่เป็นธรรมที่ชุมชนในพื้นที่โดนกระทำจากอำนาจรัฐและอำนาจทุนมาอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปี ของผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน" ดังเนื้อความในจดหมายที่จะยื่นต่อนายกรัฐมนตรี
 
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว "การปฏิบัติที่รุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐครั้งนี้สะท้อนความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และรัฐธรรมนูญตามมาตรา 65 ที่กำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) อย่างเช่นเป้าหมายที่ 16 ว่าด้วย "ส่งเสริมสังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก" ซึ่งมุ่งมั่นที่จะลดความรุนแรงทุกรูปแบบ พร้อมทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความไม่มั่นคงทางสังคมอย่างยั่งยืน"
 
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและท่าเรือขนถ่ายถ่านหินไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะสร้าง และขอยืนยันข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้ ;
 
ปล่อยตัวเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดที่ถูกจับกุมไว้โดยไม่มีเงื่อนไขในทันทีและยุติการคุกคามสิทธิชุมชนในทุกรูปแบบ
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาโดยทันที
ทบทวนกระบวนการวางแผนพลังงานของประเทศเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ที่สะอาด ยั่งยืนและเป็นธรรมอันเป็นเจตนารมย์หลักตามพันธะกรณีที่ประเทศไทยให้คำมั่นในความตกลงปารีสและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการดำเนินมาตรการในข้อ 8(Article 8) ของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท*
.........................
 
*หมายเหตุ : สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยลงนามเข้าร่วม เป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท(Minamata Convention on Mercury) เป็นอันดับที่ 66 ของโลก และเป็นประเทศแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคีอนุสัญญาได้ยอมรับร่วมกันว่า "ปรอทเป็นสารเคมีที่ทั่วโลกมีความกังวลเนื่องจากปรอท สามารถเคลื่อนย้ายได้ไกลในชั้นบรรยากาศ ปรอทตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม จากกิจกรรมของมนุษย์ ปรอทมีความสามารถในการสะสมในสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ และปรอทส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสําคัญ อนึ่ง เป็นที่รับรู้กันดีว่า ปรอทที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศนั้นเป็นองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) โดยมาตรการในข้อ 8(Article 8) ของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทนั้นมุ่งเน้นถึงการควบคุมและลดการปล่อย (emission)ปรอทออกสู่บรรยากาศจากแหล่งกำเนิดที่มีจุดกำเนิดแน่นอน(point sources) ตามรายการที่ระบุไว้ในภาคผนวก D (Annex D) ของอนุสัญญาฯ รวมถึง โรงไฟฟ้าถ่านหิน
 

เครือข่ายศิลปินสายลมแสงแดด : แถลงการณ์ประนามการใช้ความรุนแรงต่อพี่น้องเทพา

สืบเนื่องจากการเดินทางร้องทุกข์ของพี่น้องเทพาปัตตานี เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโอกาสที่มาเยือนภาคใต้ ขบวนที่น้องได้เริ่มออกเดิน มาตั้งแต่วันที่24 พฤศจิกายน ตามเส้นทาง กำหนดถึงสงขลาวันที่28 แต่เมื่อพี่น้องเดินฝ่าแดดฝ่าฝนที่ตกหนักติดต่อมาสามวัน แต่เมื่อออกเดินวันที่สี่คือวันนี้27 พฤศจิกายน 2560 ได้มีกองกำลัง ตำรวจ ทหารและอส. มาปิดกั้นไม่ให้ขบวนเดินผ่านเข้าไปยังจุดพักกินข้าว ที่หน้าราชภัฏ ฝ่ายแกนนำได้เจรจาเพื่อขอเดินผ่านไป แต่เจ้าหน้าที่ได้ใช้ความรุนแรงทุบตีผลักดันพี่น้องได้บาดเจ็บหลายราย และยังจับแกนนำไปถึง16คน ที่บริเวณ เก้าเส้ง สงขลา

ทางเครือข่ายศิลปินสายลมแสงแดด ขอประนามการกระทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ต่อพี่น้องประชาชนผู้มีแต่สองมือเปล่า เดินเท้าอย่างสงบสันติ  เพื่อยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรียกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเท่านั้น!!! ดังนั้น เครือข่ายศิลปินสายลมแสงแดดขอประกาศว่า

1) ขอให้ทางการปล่อยตัวแกนนำทันที่ โดยไม่มีเงื่อนไข

2) ให้ยุติความขัดแย้งครั้งนี้โดยยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทันที เพราะเป็นชนวนความขัดแย้งรุนแรง

3) ให้ลงโทษตำรวจทหารและอส. ในชุดปฏิบัติการก่อเหตุครั้งนี้ให้สาสม

4) การทำร้ายจับกุมประชาชนผู้คัดค้านโครงการถ่านหินนั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ของประชาชนอย่างรุนแรงที่สุด ให้รัฐบาลประยุทธ์ ออกมาขอโทษประชาชนทันที เพราะเราไม่อยากเห็นไฟใต้ขยายลุกลามไปถึงสงขลาเทพา 

ดังที่มีบทเรียนการปราบปรามด้วยความรุนแรงอย่างกรือเซะฮ์-ตากใบ ที่เป็นสาเหตุความไม่สงบจนวันนี้ จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน

ด้วยจิตสมานฉันท์กับพี่น้องเทพา ปัตตานี

เครือข่ายศิลปินสายลมแสงแดด

27 พฤศจิกายน 2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยนักข่าวพลเมืองชาวโรฮิงญาหายตัวเพียบ หวั่นฝีมือกองทัพเมียนมาร์

Posted: 27 Nov 2017 07:50 AM PST

27 พ.ย. 2560 หลังกรณีการกวาดล้างชาวโรฮิงญาในเมียนมาร์ มีรายงานการหายตัวไปของอาสาสมัครคนหนุ่มสาวชาวโรฮิงญา ที่รายงานข่าวเกี่ยวกับการข่มเหงรังแกชาวโรฮิงญามาโดยตลอดนับตั้งแต่เหตุการณ์ทำร้ายชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมเมื่อปี 2555

โมอัมหมัด ราฟิค บรรณาธิการเว็บข่าวเกี่ยวกับชุมชนชาวโรฮิงญา The Stateless กล่าวว่า มีนักข่าวพลเมืองในรัฐยะไข่มากกว่าร้อยละ 95 หายตัวไปนับตั้งแต่มีเหตุกวาดล้างชาวโรฮิงญา ข้อมูลเรื่องการกระทำอันป่าเถื่อนของกองกำลังรัฐยะไข่ร่วมมือกับกองกำลังของทางการเมียนมาร์อย่างการข่มขืน สังหาร และเผาหมู่บ้านชาวโรฮิงญา มีออกมาน้อยลง ซึ่งทั้งสื่อต่างชาติและนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนต่างก็ต้องการข้อมูลจากนักข่าวพลเมืองเหล่านี้ทั้งนั้น

กลุ่มผู้นำชุมชนโรฮิงญาเริ่มจัดตั้งคนรายงานข่าวของตัวเองหลังจากที่สื่อเมียนมาร์นิ่งเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเหตุปะทะกับกลุ่มชาวพุทธช่วงปี 2555 โค โค ลินน์ โฆษกของชุมชนชาวโรฮิงญากล่าวว่าจนถึงปี 2559 มีผู้สื่อข่าวกลุ่มนี้อยู่ 2,000 คน การเก็บรวบรวมข้อมูลของพวกเขาเป็นการบอกให้โลกรู้ว่ากองกำลังรัฐยะไข่ร่วมมือกับกองกำลังของทางการเมียนมาร์ก่อเหตุรุนแรงต่อหมู่บ้านของชาวโรฮิงญาในนามของการปราบปรามเพื่อความมั่นคง

นูร์ ฮอสเซน อดีตนักข่าวพลเมืองชาวโรฮิงญา กล่าวว่าพวกเขามีความเสี่ยงมากในการเก็บข้อมูล เขาเล่าถึงในช่วงที่กองทัพเข้ามากวาดล้างชาวโรฮิงญาว่าต้องคอยหลบซ่อนพร้อมทั้งถ่ายภาพความโหดร้ายที่เกิดขึ้นไปด้วย แต่กองกำลังเมียนมาร์ก็พยายามจ้องสังหารชาวโรฮิงญาที่มีสมาร์ทโฟน

อะดิลู ระห์มาน ข่าน จากกลุ่มสิทธิมนุษยชน  Odhikar เชื่อว่า อาสาชาวโรฮิงญาเหล่านี้ถูกกองกำลังด้านความมั่นคงของเมียนมาร์ฆ่า เพื่อสกัดกั้นแผนการเก็บข้อมูลของกลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ฟิล โรเบิร์ตสัน จากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่าเมื่อนักข่าวพลเมืองจากในโรฮิงญาหายตัวไปก็ทำให้สามารถเข้าใจสภาพเหตุการณ์ในพื้นที่ยากขึ้นเพราะองค์กรต่างๆ ทั้งองค์กรให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมส่วนใหญ่ นักข่าว ผู้ตรวจสอบจากนานาชาติ ต่างก็ถูกสกัดกั้นไม่ให้เข้าไปในพื้นที่รัฐยะไข่ตอนบนเกือบทุกพื้นที่

"มันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากองทัพเมียนมาร์ก่อเหตุโหดร้ายป่าเถื่อนต่อชาวโรฮิงญา แต่ไม่มีกลุ่มคนภายในชุมชนเองที่คอยติดตามรายงานสถานการณ์อยู่ที่นั่น" โรเบิร์ตสันกล่าว


เรียบเรียงจาก

Myanmar accused of wiping out Rohingya reporters: Report, Business Standard, 27-11-2017
http://www.business-standard.com/article/news-ians/myanmar-accused-of-wiping-out-rohingya-reporters-report-117112700263_1.html

Myanmar accused of wiping out secret network of Rohingya reporters, The Guardian, 27-11-2017
https://www.theguardian.com/global-development/2017/nov/27/starved-of-news-myanmar-derailing-coverage-rohingya-crisis-rakhine-state


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำถามนางงาม ภาพสะท้อนปัญหาแบบเสรีนิยม

Posted: 27 Nov 2017 06:31 AM PST



ผมพยายามจะเขียนให้กระชับที่สุดคือนั่งคิดตั้งแต่ตอนตื่นนอนมาว่าทำไมคนจำนวนมากต้องไม่พอใจกับการตอบคำถามของคุณมารีญา บนเวทีประกวดนางงามอะไรสักอย่าง (ขออภัยที่ผมจำชื่อเวทีประกวดไม่ได้จริงๆ)

คำตอบที่คิดได้แบบเร็วๆก็คือคุณมารีญาตอบคำถามไม่ถูกใจและไม่ตรงคำถามในเรื่อง social movement ในขณะที่กองเชียร์จำนวนหนึ่ง (พวกก้าวหน้า-เสรีนิยมไทย) เสนอว่าควรจะตอบอะไรในเชิงก้าวหน้า-เกี่ยวกับประชาธิปไตย

ปรากฎการณ์เช่นว่านี้คืออะไร มันคือภาพสะท้อนความคิดแบบ "วีรชนเอกชน" และ "ความอ่อนแอของเสรีนิยม" ที่หนักที่สุดคือสะท้อนความไม่เข้าใจเรื่อง "social movement" กันเลยแม้แต่น้อย

หัวใจสำคัญของ social movement ไม่ใช่การเรียกร้องให้คนที่เสียงดังออกมาพูดนั่น พูดนี่แทนคนในสังคม แต่เป็นการที่เราจะทำอย่างไรให้ทุกคนในสังคมออกมาพูดเรื่องที่เป็นปัญหาพร้อมๆกัน จนระดับเสียงมันดังมากพอต่างหาก

นี่คือด้านที่อ่อนแอของเสรีนิยมไทย คือพยายามสร้างและ/หรือหาตัวแทน-เซเล็ป มาเป็นกระบอกเสียงแทนในการขับดัน-ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม มากกว่าจะขยายการส่งเสียงไปสู่ระดับประชาชน-คนทั่วไป

ต่อให้คุณมารีญาตอบคำถามแบบด่าเผด็จการเปิดเปิงบนเวทีนางงาม ผลที่ตามมาก็ไม่ต่างอะไรนอกจากความสะใจของกองเชียร์ฝั่งหนึ่ง

ผมนึกถึงประโยคนึงในงานของกรัมชี่ขึ้นมา

"เสียงของปัจเจกบุคคลอาจจะดังและมีเจตจำนงค์ที่รุนแรง แต่มันช่างไร้อำนาจเหลือเกินเมื่อต้องเผชิญหน้ากับกำแพงเหล็กแห่งอำนาจของผู้กดขี่ปกครอง"

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'องค์กรสิทธิ' ร้อง จนท. ปล่อยตัวกลุ่ม 'เดิน....เทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน'

Posted: 27 Nov 2017 06:02 AM PST

องค์กรสิทธิมนุษยชน ร้องรัฐ ปล่อยผู้ถูกคุมตัวจากกรณี "เดิน....เทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดิน....หานายก หยุดทำลายชุมชน" โดยทันที ย้ำต้องเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนดังที่ได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ และเปิดพื้นที่ในการมีส่วนร่วม

27 พ.ย.2560 จากกรณีที่เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้จัดกิจกรรมเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อรณรงค์ถึงความไม่เป็นธรรมและผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และยื่นหนังสือต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย  อ.เมือง จ.สงขลา ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ โดยวันนี้ (27 พ.ย. 60) เวลาประมาณบ่ายโมง เมื่อเครือข่ายฯ เดินทางถึงบริเวณแยกสำโรง อ.เมือง จ.สงขลา มีตำรวจประมาณ 1 กองร้อยตั้งจุดสกัดขบวนเดินเท้าของเครือข่าย และเวลาประมาณ 16.20 น เจ้าหน้าที่ได้สลายการชุมนุม มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บและชาวบ้านจำนวนหนึ่งถูกควบคุมตัวไปที่ สภ.เมือง สงขลานั้น

ล่าสุด สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (UCL) และ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ให้ปล่อยตัวประชาชนจากการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และยุติการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของประชาชน พร้อมทั้ง เรียกร้องให้รัฐต้องเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนดังที่ได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติไปเมื่อไม่นานมานี้ และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับเรื่องนโยบายสาธารณะได้เต็มที่ พร้อมทั้งยุติการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการจำกัดหรือปิดกั้นการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบของประชาชนพร้อมทั้งต้องเปิดพื้นที่ในการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น

รายละเอียดแถลงการณ์ : 

แถลงการณ์ ให้ปล่อยตัวประชาชนจากการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และยุติการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของประชาชน

ตามที่ชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้จัดกิจกรรมเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะถึงความไม่เป็นธรรมและผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และยื่นหนังสือต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมืองสงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 โดยวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มเดิน เครือข่ายฯได้ยื่นแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเทพา และวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 เวลา 13.30 น. ได้ยื่นหนังสือขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาเนื่องจากพึงทราบว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ต้องแจ้งการชุมนุม อย่างไรก็ดีผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาได้ออกประกาศฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ให้เลิกการชุมนุมสาธารณะภายในเวลา 18.00 น.ของวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาในวันนี้ ( 27 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณบ่ายโมง เมื่อเครือข่ายฯเดินทางถึงบริเวณแยกสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีตำรวจประมาณ 1 กองร้อยตั้งจุดสกัดขบวนเดินเท้าของเครือข่าย และเวลาประมาณ 16.20 น เจ้าหน้าที่ได้สลายการชุมนุม มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บและชาวบ้านจำนวนหนึ่งถูกควบคุมตัวไป

องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว และขอยืนยันหลักการสิทธิเสรีภาพที่รัฐต้องให้การเคารพและคุ้มครอง ดังต่อไปนี้

1. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิที่รับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะต้อเป็นไปตามกฎหมายและจำเป็นแก่สังคมประชาธิปไตยเพื่อผลประโยชน์ทางความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย สาธารณะ ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรม หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น  แต่จากข้อเท็จจริงการเคลื่อนไหวของ "เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน" เห็นได้ชัดว่าเป็นการเคลื่อนไหวโดยสันติ เดินตามริมขอบถนน และมีวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรมเพื่อบอกกล่าวถึงความกังวลต่อโครงการการพัฒนาที่อาจจะก่อผลกระทบต่อชุมชน อีกทั้ง เครือข่ายได้มีการแจ้งการชุมนุมสาธารณธและขอผ่อนผันตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2560 แล้ว การที่เจ้าหน้าที่ปิดกั้น สลายการชุมนุมและจับกุมชาวบ้านจึงเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรม และเป็นการกระทำที่ไม่ขอบด้วยกฎหมาย

2. สิทธิชุมชนและการเสนอเรื่องร้องทุกข์ เป็นสิทธิที่ถูกรับรองไว้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  โดยในมาตรา 41 บัญญัติไว้ว่า "บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว" และมาตรา 43 บัญญัติไว้ว่า "บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน" ซึ่งการเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ ก็อยู่ภายใต้หลักการสิทธิดังกล่าว เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ชัดเจนเพื่อยื่นเรื่องร้องทุกข์ การให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็นและความกังวลเกี่ยวกับโครงการพัฒนาดังกล่าวต่อผู้มีอำนาจ ดังนั้น การกีดกันหรือไม่ยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วมดังกล่าว จึงเป็นการละเมิดเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้อย่างชัดเจน

3. สิทธิที่จะได้รับการดำเนินคดีที่เป็นธรรม (Rights to Fair Trial) เป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง  และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28  โดยสิทธิประการดังกล่าวกำหนดห้ามมิให้มีการจับกุมหรือควบคุมบุคคลโดยอำเภอใจ เว้นแต่โดยเหตุและเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย  โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้การจับโดยทั่วไปต้องมีหมายจับที่ออกโดยศาลและมีเหตุแห่งการออกหมายจับ หรือเป็นความผิดซึ่งหน้า  แม้กรณีนี้เจ้าหน้าที่จะกล่าวอ้างว่าการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย  แต่ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่สามารถจะจับกุมบุคคลได้ เพราะหากพิจารณาตามมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แล้ว จะเห็นได้ว่าความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ยังไม่ถือเป็นความผิดซึ่งหน้าที่เจ้าหน้าที่จะจับกุมตัวได้ จนกว่าจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะและต้องมีคำสั่งจากศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะนั้น รวมทั้งได้มีการประกาศพื้นที่ควบคุมเสียก่อน ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการสลายการชุมนุม และได้จับกุมควบคุมตัวบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการมีส่วนร่วมและการชุมนุมโดยสงบไป โดยที่ยังไม่มีคำสั่งศาลและประกาศพื้นที่ควบคุมเสียก่อน จึงถือเป็นการจับกุมควบคุมตัวบุคคลโดยไม่เป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ไม่มีเหตุผลอันสมควร และเป็นไปโดยอำเภอใจ

องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้โดยทันที

1. ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวจากกรณี "เดิน....เทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดิน....หานายก หยุดทำลายชุมชน" โดยทันที

2. รัฐต้องเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนดังที่ได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติไปเมื่อไม่นานมานี้ และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับเรื่องนโยบายสาธารณะได้เต็มที่

3. ยุติการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการจำกัดหรือปิดกั้นการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบของประชาชนพร้อมทั้งต้องเปิดพื้นที่ในการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น

ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw)

สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (UCL)

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปะทะ - จับ 16 ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน - ฝ่ายหนุนเข้าค่ายอิงคยุทธฯ ขอเร่งสร้าง

Posted: 27 Nov 2017 04:17 AM PST

จนท.ปะทะและจับเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน คุมตัวที่ สภ..เมืองสงขลา ด้าน กอ.รมน.รายงาน กลุ่มหนุน ยื่น จม.ขอ ประยุทธ์เร่งโครงการ ทีค่ายอิงคยุทธฯ

ภาพจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'หยุดถ่านหินสงขลา'

27 พ.ย. 2560 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. ของวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สนธิกำลังกับทหารและอาสาสมัคร (อส.) รวมประมาณ 1 กองร้อย ได้เปิดปฏิบัติการบุกรวบตัวแกนนำ "เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน" ไปแล้วนับสิบคน อาทิ ดิเรก เหมนคร สมบูรณ์ คำแหง เอกชัย อิสระทะ มัธยม ชายเต็ม เป็นต้น โดยมีรายงานว่าได้ควบคุมตัวใส่รถตู้มุ่งหน้าไปยัง สภ.สงขลา อ.เมือง จ.สงขลา

สำหรับ เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินนับร้อยคนนั้น ได้ออกเดินเท้าจากชายหาดบางหลิง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาตั้งตั้งแต่เช้าวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีวัติประสงค์เพื่อไปยื่นหนังสือและขอพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ซึ่งในวันนี้ ช่วงค่ำมีนัดหมายประชุม กรอ.ร่วมกับแกนนำภาคเอกชนและผู้ว่าฯ ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ณ โรงแรมบีพี สมิหลา บีช แอนด์ รีสอร์ต ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายหาดสมิหลา สงขลา และพรุ่งนี้จะประชุม ครม.สัญจรภาคใต้ที่ ม.ราชมงคลศรีวิชัย  บริเวณชายหาดสมิหลา จ.สงขลาเช่นกัน

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานรายละเอียดเพิ่มเติมว่า การเดินเท้าเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ออกเดินจากบ้านบ่ออิฐ อ.เมือง จ.สงขลา มุ่งหน้าสู่ตัวเมืองสงขลา โดยช่วงบ่ายที่นัดจะทานอาหารกลางวัน ณ โรงพยาบาลประสาท สงขลา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชายหาดสมิหลาสถานที่จัดประชุม ครม. สัญจรภาคใต้ไม่มากนัก ปรากฏว่ามีตำรวจ ทหารและ อส.ประมาณ 1 กองร้อยไปตั้งจุดสกัดช่วงบริเวณสามแยกสำโรง ช่วงก่อนเข้าสู่ตัวเมืองสงขลา โดยมีการกักคณะเดินเท้าไว้นับชั่งโมง ส่งผลให้เกิดอาการหิวข้าวและตันสินใจเดินฝ่าจุดสกัดไปได้ โดยมีชาวบ้านได้รับบากเจ็บประมาณ 3 คน เมื่อเครือข่ายดังกล่าวได้ร่วมกันรับทานอาหารกลางวันบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลประสาท สงขลาแล้ว ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ถอยร่นไปตั้งจุดสกัดรับบริเวณถนนเลียบชายหาดชลาทัศน์ กองกำลังทั้งหมดได้ค่อยเคลื่อนเข้าหนาชาวบ้าน แล้วเปิดปฏิบัติการจับตัวแกนนำไปทีละคนดังกล่าว อย่างไรก็ตามชาวบ้านในเครือข่ายจำนวนมากแม้จะกระจัดกระจายกันไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีทีท่าจะรวมตัวกันต่อไป 

16 คนที่ถูกจับกุมไว้ที่ สภอ.เมืองสงขลา (ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'หยุดถ่านหินสงขลา')

ล่าสุดเมื่อเวลา 18.00 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'หยุดถ่านหินสงขลา' รายงานว่า 16 คน ที่ถูกจับไว้ที่ สภอ.เมืองสงขลา ขณะนี้ตำรวจกำลังให้ลงชื่อ ยังไม่แจ้งข้อหา โดยมีทนายอยู่ที่ สน.ช่วยเหลือ

กลุ่มหนุน ยื่น จม.ของเร่งโครงการ ทีค่ายอิงคยุทธฯ

วันเดียวกัน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) รายงานว่า วันนี้ ) เวลา 10.30 น. ณ. กองบัญชาการ มณฑณทหารบกที่ 46 ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี  พณวรรธน์ พงศ์ประยูร ประธานกลุ่มเครือข่ายพัฒนาเทพา ยื่นหนังสือ ขอสนับสนุนและเร่งรัดอนุมัติการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าเทพา ให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ โดยมี พ.อ.ธีรวัฒน์ ปิ่นแก้ว รองผู้บัญชาการมณฑณทหารบกที่ 46 เป็นผู้รับหนังสือ

ตามที่นายกรัฐมนตรีมาตรวจราชการที่ จ.ปัตตานี และประชุมคณะรัฐมนตรรีสัญจร ทางกลุ่มเครือข่ายคนเทพา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย องค์การภาคประชาชน ชมรม สมาคมและกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลาจำนวน 67 องค์กร อันมีสมาชิกกว่า 50,000 คนได้แสดงจุดยืนร่วมกันเพื่อสนับสนุนและผลักดันให้เร่งรัดการอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าเทพา เพื่อพลิกโฉมเทพาจากเมืองปิดที่ไม่มีคนคนรู้จักให้เป็นเมืองหลักของการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกลุ่มเครือข่ายคนเทพา เพื่อการพัฒนาอย่างนั่งยืน ที่ได้มายื่นหนังสือในวันนี้ เป็นตัวแทนจากกลุ่มภาคีเครื่อข่ายต่างๆของ อ.เทพา จ.สงขลา ทราบว่าจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพาขึ้น ในพื้นที่หมู่ที่ 4 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา  ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่ายหิน จนเกิดความเข้าใจ หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่และจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงโครงการต้นแบบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี จะส่งผลดีในเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนและเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่เห็นด้วยต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อมรินทร์ทีวีเผย มีทหารเกณฑ์ถูกซ้อมจนสะโพกหักอีก 1 ราย เหตุฝึกแถวช้าเกินไป

Posted: 27 Nov 2017 02:01 AM PST

พ่อพลทหารสรรเพชร คงโนนกอก เผยลูกชายถูกครูฝึกเตะจนสะโพกหัก เหตุฝึกแถวช้าเกินไป ย้ำต้องการให้ลูกไปรับใช้ชาติไม่ใช่ไปรับเท้าครูฝึก ด้านครูฝึกทหารยันไม่ได้ซ้อมพลทหาร แต่สะโพกหักเพราะได้รับบาดเจ็บจากการฝึก

ภาพประกอบข่าวจาก กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 3 ในวาระการตรวจเยี่ยมทหารใหม่ ผลัดที่ 1 ประจำปี 2559

27 พ.ย. 2560 อมรินทร์ทีวี รายงานว่า ประยูร คงโนนกอก ชาวบ้านตำบลหนองข่า อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ พร้อมญาติ ได้เข้าร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวอมรนทร์ทีวีว่า ลูกชายคือ พลทหารสรรเพชร คงโนนกอก อายุ 23 ปี ซึ่งเพิ่งเข้ารับการฝึกทหารเกณฑ์ผลัด 2 ปี 2560 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ในหน่วยฝึกทหารใหม่ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 3 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ถูกครูฝึกทหารใหญ่ซ้อมจนสะโพกด้านซ้ายหัก

ประยูร ระบุว่า ทางค่ายสุรนารีมีหนังสือมาที่บ้านว่าให้ ทางครอบครัวเดินทางไปพบลูกชายที่ฝึกทหารใหม่อยู่ เมื่อเดินทางไปถึงที่ค่ายกลับเห็นแต่ลูกคนอื่นออกมาเจอหน้าพ่อแม่ ไม่เห็นลูกตัวเอง จึงไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่ และได้รับคำตอบว่าพลทหารสรรเพชรพักอยู่ที่โรงพยาบาลค่ายสุรนารี จึงรู้สึกตกใจว่าลูกชายเป็นอะไร โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้คำตอบว่าพลทหารสรรเพชรล้มจนสะโพกหัก แต่เมื่อไปถามลูกชายที่โรงพยาบาลค่ายสุรนารีกลับได้รับคำตอบว่า โดนครูฝึกซ่อม เพราะในช่วงการฝึกมีการสั่งแถว ซ้ายหัน ขวาหัน แต่ทำช้ากว่าเพื่อน จึงโดนครูฝึกเตะเข้าที่สะโพกด้านซ้ายจนสะโพกหัก ซึ่งขณะนี้ต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลค่ายสุรนารี โดยมีแม่เฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ประยูร กล่าวด้วยว่า ต้องการให้ลูกชายไปรับใช้ชาติไม่ได้ต้องการให้ไปรับเท้าครูฝึก

เมื่อผู้สื่อข่าวประชาไท สอบถามไปยัง กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 3 โดยร้อยตรีจิรวัฒน์ พวงนาค หัวหน้าครูฝึก หน่วยฝึกทหารทหารใหม่ ค่ายสุรนารี ได้ให้ข้อมูลว่า มีพลหทารที่ได้รับเจ็บจนสะโพกหักจริง และขณะนี้กำลังเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลค่ายสรุนารี โดยช่วงเวลาที่คาดว่าพลทหารสรรเพชรได้รับบาดเจ็บนั้น เป็นการได้รับบาดเจ็บจากการฝึกวิชาทหารทั่วไป ซึ่งจะมีการวิ่ง และกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง โดยหลังจากฝึกเสร็จพลทหารคนดังกล่าวได้รับบาดเจ็บที่ขา และหลังจากนั้นพลทหารได้กลับไปที่หน่วยที่ตนสังกัดคือ กองทัพน้อยที่ 2 ค่ายสุรนารี ซึ่งครูฝึกที่หน่วยนั้นได้แยกพลทหารออกมาจากการทำงานในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่หลังจากเสร็จภารกิจในวันดังกล่าวกลับพบว่า พลทหารสรรเพชรมีอาการขาบวม

"คาดว่าน่าจะเจ็บมาจากช่วงที่มีการฝึกก่อนหน้านี้ ซึ่งมีทหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วย กองทัพน้อยที่ 2 ซึ่งเป็นต้นสังกัดของพลทหารยืนยันได้ว่า ได้แยกตัวพลทหารคนนี้ออกมาแล้ว ไม่ได้ให้เดิน ไม่ได้ให้ทำงาน โดยให้นั่งจัดของเพียงอย่างเดียว ยืนยันว่าไม่ได้มีการเตะหรือทำร้ายร่างกายตามที่เป็นข่าว" ร้อยตรีจิรวัฒน์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ สวนชาวประมง "อย่ามาส่งเสียงกับผม" หลังเข้าแจงปัญหาต่อหน้า

Posted: 27 Nov 2017 12:49 AM PST

ประยุทธ์ สวนชาวประมงปัตตานี "อย่ามาส่งเสียงกับผม" ย้ำกดดันตนไม่ได้ หลังเข้าแจงปัญหาประมงต่อหน้า ระหว่างลงพื้นที่ จ.ปัตตานีเพื่อพบปะประชาชน 

ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ ทำพิธีเปิดป้าย "ตลาดกลางปศุสัตว์จังหวัดชายแดนภาคใต้" และพบประชาชน ณ ตลาดกลางปศุสัตว์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี (ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

27 พ.ย. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ จ.ปัตตานีเพื่อพบปะประชาชน พร้อมกล่าวประเด็นติดตามความก้าวหน้าของโครงการ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" และติดตามประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้นำท้องถิ่น ภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินแผนงานโครงการของรัฐบาล ในรอบ 3 ปี รวมทั้งสร้างขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนในพื้นที่ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินทักทายประชาชน และเยี่ยมชมตลาดปลา ก่อนจะมีชายคนหนึ่งเข้ามาร้องเรียนกับ พล.อ.ประยุทธ์ว่า ตนเดือดร้อนเรื่องจำนวนวันในการทำประมง

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบกลับชายคนดังกล่าวว่า "ใจเย็นๆ อย่ามาส่งเสียงกับผม เข้าใจหรือเปล่า ผมฟังคุณนี่ พูดดีๆ ก็ได้" จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ได้บอกกับคณะผู้ติดตามให้รับเรื่องไป พร้อมกล่าวขอบคุณและกล่าวด้วยว่า "กดดันผมไม่ได้ทั้งนั้นล่ะ" 

มติชนออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ เอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอหนอกจิก จ.ปัตตนา ก็ได้เข้ามาพูดคุยกับชายคนดังกล่าว ที่ทราบชื่อต่อมาคือ ภรัณยู เจริญ เพื่อทำความเข้าใจ และได้พาไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมที่มีการตั้งเต็นท์บริเวณในงาน ของกระทรวงมหาดไทย โดย ภรัณยู เปิดเผยว่า ตนเคยรวมตัวกับผู้ประกอบการประมงไปยื่นหนังสือต่อรัฐบาลมาแล้วครั้งหนึ่งที่ลานพระราชวังดุสิต แต่วันนี้ก็ยังคงได้รับความเดือดร้อน โดยมีประเด็นเพิ่มเติม คือ เรื่องวันทำประมงที่กฎหมายอนุญาตให้ทำเพียง 220 วัน ซึ่งตนได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะว่าไม่เพียงพอและไม่คุ้มกับทุนที่ลงไป เนื่องจากในหนึ่งปีที่อนุญาตให้ทำประมงได้ 220 วัน จริงๆก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่ 220 วัน เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ธุรกิจประมงเดือดร้อนมาก เมื่อมาวันนี้ได้ฟังที่นายกฯพูด แต่ไม่มีประเด็นนี้ จึงอยากบอกให้นายกฯพูด รับรู้ ไม่ได้ขู่หรือตะคอก เพียงแต่บรรยากาศเสียงดัง และอยากพูดให้นายกได้ยิน ก็เลยกลายเป็นตะคอก และอยากให้นายกฯช่วยเหลือ ทบทวนแก้ไข เพื่อให้ธุรกิจประมงอยู่ได้ต่อ
 
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงพื้นที่ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในครั้งนี้ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวระว่างพบปะกับประชาชนตอนหนึ่งว่า พื้นที่ภาคใต้ชายแดนมีภูมิศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความโดดเด่นทางวัฒนธรรม ทางสังคม มีประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างงดงาม มีเสน่ห์ที่แตกต่างไปจากที่อื่น รวมไปถึงความแตกต่างทางเชื้อชาติ และศาสนา ซึ่งไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนาไหน ทุกคนล้วนเป็นคนไทย มีสิทธิมีความเท่าเทียมบนแผ่นดินไทย ขออย่าให้นำความแตกต่างเหล่านี้มาสร้างความขัดแย้ง สร้างความไม่สงบเพราะว่าเป็นแผ่นดินไทยของพวกเราทุกคน และอย่าให้ใครแบ่งแยกประเทศไทยได้ ไม่ว่าจะแตกต่างกันแค่ไหนทุกคนก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ ปัญหาความไม่สงบจะสงบได้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกคนและทุกภาคส่วน โดยรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
 
สำหรับเรื่องการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้จะต้องส่งเสริมการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่และความต้องการของตลาด โดยเฉพาะยางพารา รัฐบาลจะส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางพาราให้เกิดประโยชน์ภายในประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาสินค้าเกษตรเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมายาวนาน รัฐบาลไม่ต้องการให้ใครเดือดร้อน แต่ต้องการจะช่วยเหลือและให้เกิดการกระจายรายได้อย่างสมดุลตามพื้นที่

ส่วนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จังหวัดชายแดนใต้ทั้งทางบกและทางน้ำ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ และลงทุนโครงการสำคัญต่างๆ แต่อาจต้องใช้เวลาในการศึกษาผลกระทบ และผู้มีส่วนได้เสียด้วย

ทางด้านการศึกษา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี โดยภาคใต้ชายแดนเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมมุ่งเน้นให้การศึกษาที่แตกต่างกัน สามารถเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดทักษะที่จำเป็น รวมถึงนำเทคโนโลยีมาช่วยเรื่องการเรียนรู้ ใช้ในการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม และนำมาใช้ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวในแต่ละชุมชน ให้เกิดความเชื่อมโยง สร้างรายได้ต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายนักกิจกรรมยื่นหนังสือขอ กสม.สอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของภคพงศ์

Posted: 27 Nov 2017 12:21 AM PST

นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย เป็นตัวแทนเครือข่ายนักกิจกรรมยื่นหนังสือขอคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร "ภคพงศ์" ด้านอังคณารับจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อตั้งคณะกรรมการ

27 พ.ย. 2560 เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เครือข่ายนักกิจกรรม ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย, Anti Sotus, Chulalongkorn Community For the People, Law Long Beach และThird Way Thailand นำโดยนิธิ กัลชาญพิเศษ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของ ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ต.ค. หลังจากกลับเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้เพียง 1 วัน

เนื้อหาในหนังสือระบุว่า การเสียชีวิตของ นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ในรอบหลายปีที่ผ่านมา จากปีพ.ศ. 2545 ถึงปัจุบัน มีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 นาย ซึ่งเกือบทั้งหมดเกิดเหตุขึ้นในรัฐบาลทหาร โดยมีเพียงรายเดียวที่เสียชีวิตภายใต้สมัยรัฐบาลพลเรือนและมีกรณีเดียวเช่นกันที่เริ่มกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลภายใต้รัฐบาลพลเรือน ทว่าถึงที่สุดแล้วผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต่อชีวิตเหล่านั้นก็ไม่ได้ถูกพิพากษาความผิดตามกระบวนการยุติธรรมภายใต้หลักนิติรัฐ และหลักประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น เรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยถูกทำให้กระจ่างแจ้งหรือแก้ไขอย่างจริงจัง ด้วยวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่เป็นอยู่ในระบอบเผด็จการทหาร เหตุการณ์เช่นนี้ วันหนึ่งอาจเกิดกับผู้คนอันเป็นที่รักของใครอีกหลายคน

การลงโทษที่เกินเลยนั้น หาใช่การกระทำเพื่อสร้างระเบียบวินัย แต่เป็นการลุแก่อำนาจของผู้กระทำ ซึ่งเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำ ให้เป็นเพียงแค่วัตถุในการรองรับอารมณ์ ความเคียดเเค้นส่วนตัวที่ซึมซับปลูกฝังมาจากรุ่นสู่รุ่น และการแสดงออกถึงอำนาจของผู้กระทำเท่านั้น ดังนี้แล้วการลงโทษที่เกินเลยจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้ง สิทธิในเนื้อตัวร่างกายที่จะไม่ถูกทำร้ายหรือทารุณ สิทธิในชีวิตที่จะอยู่รอด ซ้ำร้ายไปกว่านั้นสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง ที่หลายครั้งถูกพรากไป

ความสูญเสียจากการถูกลงโทษที่เกินขอบเขตของการฝึกสรรถภาพร่างกายในหลายชื่อ ทั้งการ "แดก" "ซ่อม" หรือ "ธำรงวินัย" ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับพลทหารที่ถูกบังคับเกณฑ์เข้ามา หรือนักเรียนเตรียมทหารซึ่งเป็นเยาวชนที่ยินยอมเข้ารับการฝึก ล้วนเป็นกรณีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่บุคคลทุกคนต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาค

ดังนั้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นโดยมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 ในการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ย่อมต้องปฏิบัติหน้าที่โดยเร็ว แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับไม่ได้ทำหน้าที่อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ให้เกิดผลลัพท์ที่เป็นรูปธรรมมีประสิทธิภาพในการป้องกันปัญหาที่เกิดใน 7 ปีที่ผ่านมาแต่อย่างใด แสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพขององค์กร เปรียบเสมือนเป็นองค์กรที่ตายไปแล้ว เป็นไม้ประดับอันคอยแก้ต่างสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลทหารเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย, Anti Sotus, Chulalongkorn Community For the People, Law Long Beach และThird Way Thailand ในฐานะตัวแทนของเครือข่ายนักกิจกรรม นักศึกษา และประชาชนทั่วไป จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตลอดจนองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนเตรียมทหารและค่ายทหาร เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพโดยหาทางป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันจะเกิดขึ้นได้อีกในสถานที่เหล่านี้ และประศาสน์หลักนิติรัฐประชาธิปไตยการเคารพสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ทั้งนี้เราขอประณามรัฐบาลทหารที่ไม่ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากแต่ยังสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้อีกด้วย สุดท้ายนี้ทางเราจึงประกาศ ณ ที่แห่งนี้ว่า ความถูกต้องและความยุติธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลต้องธำรงอยู่เหนือความสัมพันธ์พวกพ้องและสถาบันในทุกกรณี

ด้านอังคณา ได้รับหนังสือพร้อมกล่าวว่า เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในค่ายทหาร หรือโรงเรียนเตรียมทหารนั้น ที่ผ่านมากรรมการสิทธิมนุษยชนได้รับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบมาโดยตลอด ทั้งยังได้มีการจัดทำรายงานข้อเสนอแนะให้กับกองทัพไปแล้วหลายครั้ง สำหรับกรณีของภคพงศ์ นั้นแม้ว่าผู้ที่มายื่นจะไม่ใช่ญาติ หรือมีความเกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตโดยตรง คณะกรรมการสิทธิก็สามารถหยิบเรื่องดังกล่าวมาตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ โดยจะมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งครอบครัว แพทย์ และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมทั้งเอกสารข้อมูลผลการชันสูตรมาประกอบการพิจารณาได้ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบพอสมควร โดยในการประชุมครั้งต่อไป จะนำเรื่องนี้เข้าหารือ ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้หาข้อมูลเบื้องต้นไว้แล้ว

อังคณากล่าวต่อด้วยว่า กรณีที่เครือข่ายนักกิจกรรมกล่าวระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรที่ตายแล้ว และเป็นเพียงไม้ประดับที่คอยแก้ตัวให้กับรัฐบาลทหารนั้น ขอให้ทางกลุ่มได้อธิบายให้ชัดเจนว่ามีกรณีใดบ้างที่เป็นการกระทำในลักษณะดังกล่าว พร้อมยืนยันว่าที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายระบุไว้อย่างเต็มที่ หลายกรณีก็ได้เชิญทหารเข้ามาให้ข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: ประยุทธ์ ท่าดีแต่...

Posted: 27 Nov 2017 12:18 AM PST

 

ครม.ประยุทธ์ 5 ดูเหมือนให้ความหวังว่า จัดสรรคนมีความสามารถเหมาะสมตำแหน่งและน่าจะทำงานดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ยกตัวอย่าง กระทรวงเกษตรฯ เพิ่มรัฐมนตรีเป็น 3 คน รมว.กฤษฎา บุญราช อดีตปลัดมหาดไทย เป็นนักบริหารที่มีฝีมือ และน่าจะขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ประสานกลไกมหาดไทยได้คล่องตัว รมช. 2 คน มาจากอดีตผู้จัดการ ธกส.และปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรกรก็ขานรับว่าเข้าใจปัญหาเป็นอย่างดี

แต่ถามว่า ทำไมไม่ปรับอย่างนี้เสียแต่แรก ปล่อยให้เพื่อนรัก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ นั่งเก้าอี้มา 2 ปีกว่า จนกลายเป็นตำบลกระสุนตก ค่อยโยกไปเป็นรองนายกฯ

รมว.ท่องเที่ยว วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ก็เป็นคนเก่งนะครับ แต่ชาวบ้านก็ประหลาดใจปนขบขัน ที่รัฐมนตรีท่านเดิมรักประเทศไทยมาก จนร่ำไห้แถลงข่าวก่อนประกาศพระบรมราชโองการ

นอกจากทำให้กังขาว่าอยู่มา 3 ปีมีผลงาน หรือการท่องเที่ยวดีด้วยตัวมันเอง ก็ยังทำให้ขำกลิ้งว่า นี่นักการเมืองหรือรัฐมนตรีจากแต่งตั้ง

รัฐมนตรีบางคนอย่าง ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เรียนตรงๆ ว่าเหมาะสมแล้วที่ต้องออกไป ท่านเป็นคนดีดี๊ดี เป็นแบบอย่าง ไม่ลัดคิว เหมาะแก่การให้โอวาท แต่เรามีลุงตู่ให้โอวาทอยู่แล้วไง รัฐมนตรีควรมีความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่งด้วยสิ

ในภาพรวม ครม.ชุดนี้เอาทหารออกไป 4 คนได้แก่พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร, พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย อดีต ผบ.สส.และอดีต ผบ.ทร.ตอนรัฐประหาร, พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร, พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ที่ลาออกไปก่อน แล้วตั้งใหม่ 1 คนคือ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล เป็น รมช.กลาโหมแทน พล.อ.อุดมเดช ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย โยกเป็นรองนายกฯ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงานไป รมว.พัฒนาสังคม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว มาเป็น รมว.แรงงาน

แปลว่ายังมีโควตาให้เพื่อนพ้องน้องพี่ เท่าที่พอจะรักษาได้แม้จำเป็นต้องให้มืออาชีพมาทำงาน แต่ยังเชื่อในปรัชญาที่ว่าทหาร ถ้า "ซ่อมไม่ตาย" แล้วเก่งทุกอย่าง

ข้าราชการเกษียณหลุดไป 2 นางคือ รมว.พาณิชย์อดีตปลัดพาณิชย์ กับ รมว.วิทยาศาสตร์ อดีตปลัดอุตสาหกรรม ซึ่งก็งงตั้งแต่แรก ว่าเอาไปทำหลอดทดลองหรือไง

ที่น่าสนใจยังได้แก่ 2 รัฐมนตรีที่หลุดไป ออมสิน ชีวะพฤกษ์ พิชิต อัครทิพย์ เป็นอดีตประธานบอร์ดรถไฟที่เลื่อนขึ้นเป็น รมช.คมนาคมทั้งคู่ ก่อนหน้านี้ช่วงต้นปีก็มี ม.44 ปลดบอร์ดและผู้ว่าฯ รถไฟ แล้วตั้งซูเปอร์บอร์ดมาดูแลการจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใส

ถามจริงว่าการรถไฟ ซึ่งทำโปรเจ็กต์ใหญ่งบมหาศาลในรัฐบาลนี้ ล้มเหลวหรือมีผลงาน หรือมีปัญหาอะไรซุกไว้ใต้พรม ทำไมผู้เกี่ยวข้องล้วนมีอันเป็นไป

ในภาพรวม ท่ามกลางเสียงแซ่ซ้องสดุดี จึงมีคำถามว่า แล้ว ครม.ชุดที่ผ่านมาล่ะ ตั้งกันอย่างไร เวลาบอกว่าชุดใหม่ดีกว่าชุดเก่า อ้าว แล้วปล่อยให้ชุดเก่าอยู่มาได้อย่างไร มีใครสรุปบทเรียนไหม ว่าผิดพลาดบกพร่องอย่างไร

มองโลกแง่ดีก็ดูเหมือนว่า ครม.ประยุทธ์ 5 ยังพอมีเวลาทำงาน แก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก ที่เป็นเรื่องใหญ่ แต่มองอีกด้าน สายน้ำไม่คอยท่า สถานการณ์การเมืองวันนี้เปลี่ยนไป รัฐบาลถูกกระหน่ำจากทุกฝ่าย จากทุกพรรคการเมือง ตั้งแต่เพื่อไทยไปถึงประชาธิปัตย์ จากภาคประชาสังคม สื่อ นักวิชาการ ในประเด็นหลากหลาย

แม้กระแสสังคมยังสับสน แต่เมื่อนับถอยหลัง ไม่ว่าจะเป็นไปตามโรดแมปหรือไม่ก็ตาม สถานการณ์การเมืองมีแต่สับสนวุ่นวายและหาทางลงยาก

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ ข่าวหุ้น คอลัมน์ทายท้าวิชามาร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ดักดาน' วัฒนา เมืองสุข วิพากษ์กองทัพ

Posted: 27 Nov 2017 12:08 AM PST

โรงเรียนเตรียมทหารเป็นองค์กรของกองทัพที่ดำรงอยู่ได้ด้วยภาษีของประชาชน เป็นแหล่งผลิตบุคลากรออกไปรับใช้ประเทศชาติ แต่ทัศนคติของผู้ที่จบจากโรงเรียนแห่งนี้ เช่น รอง นรม. ที่บอกว่าการถูกซ่อมจนสลบเป็นการธำรงไว้ซึ่งวินัยและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการสอบสวนสาเหตุการตายของ นตท.ภัคพงศ์ ตัญกาญจน์ ที่มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและไม่ยอมให้บุคคลภายนอกมาเกี่ยวข้อง สะท้อนให้เห็นถึงความป่าเถื่อนของวัฒนธรรมอำนาจนิยมของกองทัพที่ไม่เคารพกฎหมาย เป็นแดนสนธยาโดยใช้ความมั่นคงเป็นข้ออ้างเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ

กองทัพมักแก้ปัญหาด้วยการยึดอำนาจจากประชาชน จากนั้นละเมิดสิทธิมนุษยชนและใช้อำนาจตามอำเภอใจ ขยายเขตแดนอำนาจเพื่อคงอภิสิทธิ์ของตนไว้ให้นานที่สุด ล่าสุดใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงขยายเขตแดนอำนาจสร้างความเป็นรัฐทหารเพื่อประโยชน์ทางการเมืองโดยผ่าน กอ.รมน. ทั้งหมดเกิดจากความล้าหลังของวัฒนธรรมองค์กรที่ปลูกฝังมาตั้งแต่ในโรงเรียน ดักดานถึงขนาดมองตัวเองเหนือกว่าคนอื่นส่วนประชาชนที่เป็นคนจ่ายเงินเดือนพวกตนเป็นชนชั้นล่าง

ผมเชื่อว่าไม่มีใครปฏิเสธความจำเป็นที่ต้องมีกองทัพ แต่จำนวนบุคลากรและความเหมาะสมของภารกิจที่จะสอดคล้องกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่เน้นการก่อการร้ายแทนการทำสงครามในรูปแบบเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา

นอกจากนี้การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ชาญฉลาด ไม่ชักศึกเข้าบ้านและการดำรงสถานะของประเทศอย่างเหมาะสมจะป้องกันภัยคุกคามได้ดีกว่าการใช้งบประมาณไปซื้ออาวุธที่ไม่สอดคล้องกับภารกิจ เช่น เรือดำน้ำ เป็นต้น

แต่เมื่อได้เห็นทัศนคติของคนที่จบมาจากสถาบันแห่งนี้ ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการคือการปฏิรูปกองทัพให้หลุดพ้นจากแนวคิดอำนาจนิยม เคารพกฎหมาย เคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น เพื่อความเป็นทหารอาชีพที่มีจิตสำนึกเป็นประชาธิปไตยและเคารพในอำนาจของประชาชน

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน เฟสบุ๊ค Watana Muangsook

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อินเดียสั่งจัดมาราธอนต่อ แม้เมืองมีปัญหาฝุ่นควันเสี่ยงต่อสุขภาพ

Posted: 26 Nov 2017 11:57 PM PST

เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้มีการจัดวิ่งมาราธอนของผู้คนมากกว่า 30,000 คนในมหานครเดลีท่ามกลางฝุ่นควันคละคลุ้งจนนักวิ่งบางคนต้องสวมหน้ากากกันมลภาวะวิ่งไปด้วย อีกทั้งยังต้องวิ่งกันต่อไปจนถึงสัปดาห์หน้า แม้ว่าฝุ่นควันจะปนเปื้อนหนักจนหมอออกมาเตือนเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและก่อนหน้านี้ก็เคยมีการเรียกร้องให้มีการเลื่อนการจัดมาราธอน

27 พ.ย. 2560 ภาวะฝุ่นควันในเดลีทำให้โรงเรียนหลายแห่งต้องหยุดการเรียนการสอนเป็นเวลาหลายวัน เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐอเมริกา ระบุว่าระดับของมลภาวะในอากาศที่มีขนาดเล็กสุดและอันตรายที่สุดอยู่ที่ระดับ 200 มากกว่าระดับปลอดภัยตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ 8 เท่า

การจัดมาราธอนดังกล่าวมีการวิ่งเป็นระยะทาง 21 กม. มีนักกรีฑาบางคนที่แสดงความไม่พอใจสภาพมลภาวะที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ นักวิ่งรายหนึ่งชื่อโรหิต โมฮาน อายุ 30 ปี ที่มาจากบังกาลอร์พูดถึงสภาพอากาศในการวิ่งครั้งนี้ว่ามันทำให้เขาแสบตา คอแห้ง น้ำมูกไหล นักวิ่งบางส่วน เช่น อะเบย์ เซน อายุ 30 ปี แสดงความไม่พอใจที่ถูกบังคับให้ต้องใส่หน้ากากอนามัยวิ่งเนื่องจากมันทำให้เขาหายใจลำบาก

แต่ก็มีนักวิ่งหลายคนที่บอกว่าสภาพอากาศไม่ได้เลวร้าย เช่น นักวิ่งชื่อ ไซกัต มาเนอร์จี บอกว่าอากาศ "สดใสและสบาย" บีร์ฮานู เลกีส นักวิ่งจากเอธิโอเปียที่ชนะการแข่งขันมาราธอนกล่าวว่าตอนแรกเขาก็กลัวเรื่องมลภาวะแต่สำหรับเขาแล้วมัน "ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น"

แพทย์เตือนว่าการวิ่งท่ามกลางมลภาวะหนักๆ อาจจะทำให้เกิดอาหารหอบหืด ทำให้สภาพปอดแย่ลง และเพิ่มโอกาสหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมอง

ขณะที่ในโซเชียลมีเดีย มีคนทำวิดีโอเชิงเสียดสีการวิ่งมาราธอนฝ่าฝุ่นควันในครั้งนี้ โดยทำภาพนักวิ่งสูบบุหรี่จัดติดต่อกันและสูดเอาควันพิษเข้าไปในช่วงที่กำลังเตรียมการแข่งขัน

ก่อนหน้านี้ สมาคมแพทย์อินเดียเคยเรียกร้องให้ศาลสูงเดลีสั่งเลื่อนการจัดวิ่งมาราธอนออกไปก่อน แต่ก็ถูกตอบกลับมาว่าทางผู้จัดงานได้ระมัดระวังป้องกันในเรื่องนี้อย่างเหมาะสมแล้ว วิธีการที่พวกเขาใช้คือการฉีดพ่นน้ำเกลือเพื่อทำให้ระดับฝุ่นควันลดลง ฝนตกปรอยๆ ในช่วง 1 วันก่อนการเริ่มงานก็ทำให้มลภาวะลดลง แต่ทางสถานทูตสหรัฐฯ ในอินเดียก็ยังคงประกาศว่าระดับมลภาวะเกินกว่า 200 หน่วยเป็นระดับที่ผู้คนควรจะทำกิจกรรมออกกำลังกายภายนอกอาคาร

แม้ว่าจะมีนักกรีฑาบางคนที่ยกเลิกการวิ่งเพราะคิดถึงความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ แต่นักวิ่งที่ชื่อสิทัมมองว่าการเข้าร่วมมาราธอนในวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมาเป็นการแสดงออกเพื่อต่อต้านแบบหนึ่ง สิทัมบอกว่าเขารู้ดีว่ามลภาวะอยู่ในระดับแย่และสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพเขาได้แต่เขาก็ยังจะเข้าร่วมต่อไป

เดอะการ์เดียนระบุว่าเดลีถูกจัดให้เห็นเมืองหลวงที่มีมลภาวะสูงสุด และทางการของเดลีก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่สามารถจัดการปัญหาได้


เรียบเรียงจาก

'My eyes are burning': Delhi holds half marathon despite pollution warning, The Guardian, 19-11-2017
https://www.theguardian.com/world/2017/nov/19/my-eyes-are-burning-delhi-holds-half-marathon-despite-pollution-warning

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การทดลองมิลแกรม Milgram Experiment

Posted: 26 Nov 2017 11:53 PM PST

เพราะเหตุใดมนุษย์จึงเต็มใจที่จะทำร้ายทรมานเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง?

สมมติว่าคุณได้เป็นอาสาสมัครเข้าไปร่วมการทดลองเกี่ยวกับ "ความทรงจำ" การทดลองหนึ่ง เมื่อคุณไปถึง คุณพบกับอาสาสมัครอีกคนหนึ่งที่มารอทำการทดลองเช่นเดียวกับคุณ ต่อมามีเจ้าหน้าที่ออกมาอธิบายว่าเรากำลังจะทำการทดลองเรื่อง "ความทรงจำและการเรียนรู้" โดยให้อาสาสมัครคนหนึ่งได้รับบทเป็น "ครู" และอีกคนหนึ่งเป็น "นักเรียน" โดยการจับไม้สั้นไม้ยาว คุณบังเอิญว่าจับไม้ยาว และได้รับเลือกเป็นคุณครู ระหว่างคุณกับอาสาสมัครที่ได้รับเลือกเป็นนักเรียน ถูกคั่นด้วยกำแพงหนึ่ง และคุณได้รับมอบหมายให้ทำการ "สอน" และ "ลงโทษ" นักเรียนทุกครั้งที่ตอบผิด ด้วยการช๊อตไฟฟ้า เบื้องหน้าของคุณมีสวิทซ์ไฟฟ้าตั้งแต่ไม่กี่โวลต์ ไปจนถึง 200-300 โวลต์พร้อมกับคำเตือนว่า "อันตราย" "อันตรายมาก" ไปจนถึง 450 โวลต์ที่ไม่ได้เขียนอะไรเอาไว้อีก นอกจากกากบาท "X" ตัวโตสามตัว

หลังจากที่คุณได้ทำการ "สอน" ไปสักพักหนึ่ง นักเรียนของคุณเริ่มตอบผิด และส่งเสียงอย่างเจ็บปวดทุกครั้งที่ได้รับการช๊อต ขอร้องให้หยุดทำการทดลองเสีย จากนั้นไม่นานเสียงกรีดร้องอีกฟากของกำแพงก็ได้หยุดลง แต่ผู้ดำเนินการทดลองก็ได้บอกให้คุณดำเนินการทดลองต่อไป คุณคิดว่าคุณจะกดช๊อตไฟไปไกลกี่โวลต์ ก่อนที่จะหยุดไม่ดำเนินการทดลองต่อไป? 100 โวลต์? 200 โวลต์? 350 โวลต์? คุณคิดว่าจะมีอยู่กี่คนที่ยังคงกดช๊อตไฟต่อไปจนถึง "XXX" ที่ 450 โวลต์?

นี่เป็นการทดลองของ Stanley Milgram จากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ที่ได้ทำการทดลองเอาไว้เมื่อปี 1961 แต่ในความเป็นจริงแล้ว "อาสาสมัคร" อีกคนหนึ่งนั้นเป็นเพียงนักแสดง ที่จะได้รับบทบาทเป็น "นักเรียน" เสมอ และไม่ได้มีการช๊อตไฟฟ้าจริงแต่อย่างใด เสียงที่ได้ยินผ่านกำแพงทั้งหมดเป็นเพียงการแสดง และสิ่งที่ Milgram ต้องการจะทดลองจริงๆ ก็คือ "Blind Obedience to Authority" นั่นก็คือมนุษย์เรานั้นจะหลับหูหลับตาเชื่อฟัง และทำตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายไปถึงเมื่อใด

ก่อนเริ่มทำการทดลอง Milgram ได้ให้นักเรียนวิชาจิตวิทยาของเขาทำการโหวตว่าพวกเขาคิดว่าจะมีผู้ร่วมการทดลองกี่เปอร์เซ็นต์ที่กดช๊อตไฟฟ้าไปถึงสูงสุด 450 โวลต์ ผลการคาดการณ์เบื้องต้น คาดเอาไว้ว่าอาสาสมัครไม่เกิน 5% จะยังคงดำเนินการทดลองต่อไปเมื่อเสียงของ "นักเรียน" ได้เงียบลงไปแล้วที่ 300 โวลต์ และไม่ถึง 0.1% จะกดต่อไปจนถึง 450 โวลต์

แต่ความเป็นจริงแล้วนั้น Milgram กลับพบว่าถึงกว่า 65% ยังคงดำเนินการทดลองต่อไป ไม่ว่า "นักเรียน" อีกห้องหนึ่งจะขอร้อง หรือแม้ว่าหลังจากเสียงโหยหวนนั้นได้เงียบลงไป อาสาสมัครก็ยังคงกดไฟช๊อตต่อไป เลยขีด "อันตราย" และ "อันตรายมาก" ไปจนถึง "XXX" ที่ 450 โวลต์ สามครั้ง ก่อนที่การทดลองจะยุติลง

อย่างไรก็ตาม อาสาสมัครเกือบทุกคนก็ได้แสดงความลำบากใจเป็นอย่างยิ่งที่จำดำเนินการทดลองต่อไป อาสาสมัครเกือบทุกคนหยุด และหันมาถามผู้ทดลองว่าจะให้ดำเนินการต่อไปหรือไม่ บ้างก็บอกว่าจะยอมคืนเงินค่าอาสาสมัครที่ได้รับ หลายๆ คนแสดงอาการเครียด เหงื่อออก ตัวสั่น กัดริมฝีปาก พูดติดอ่าง เอาเล็บจิกบนผิวหนังตัวเอง บางคนก็ถึงกับช๊อคหรือหัวเราะออกมา

แต่แม้กระนั่นก็ตาม อาสาสมัครก็ยังคงดำเนินการทดลองและช๊อตไฟต่อไป ตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายมา

เพราะเหตุใดมนุษย์เราจึงยินยอมและเต็มใจที่จะทำร้ายผู้อื่น? เพราะพวกเขาเหล่านี้เป็นมนุษย์ที่ใจร้ายหรืออย่างไร? แท้จริงแล้วอาสาสมัครเกือบทุกคนก็เป็นมนุษย์ธรรมดาอย่างพวกเรา และเป็นคนที่เราๆ อาจจะเรียกกันว่าเป็น "คนดี" แต่เพียงเพราะพวกเขามี "สถาบัน" เป็นที่อ้าง อาจทำให้พวกเขารู้สึกเป็นอิสระจากความรับผิดชอบต่อสิ่งที่กระทำลงไป นอกไปจากนี้ นักจิตวิทยาทั่วโลกก็ได้เคยมีการพยายามทำซ้ำการทดลองของมิลแกรม และได้ผลที่ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก

นั่นเอง การทดลองของ Milgram ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์เรานั้นเกิดมาพร้อมกับสัญชาติญาณที่จะทำตาม "คำสั่ง" ที่ได้รับมอบหมายมา ไม่ว่าคำสั่งนั้นจะขัดกับสามัญสำนึกของเราเพียงใด เช่นเดียวกับอาสาสมัครกว่า 65% ที่แสดงความไม่พึงพอใจที่จะทำการช๊อตไฟอาสาสมัครอีกคนที่ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ก็ยังคงดำเนินการต่อไป แค่เพียงเพราะว่ามีใครอีกคนบอกให้พวกเขาทำ

Milgram ได้ดำเนินการทดลองนี้สามเดือนหลังจากที่เริ่มมีการไต่สวนคดีการฆ่าล้างชาวยิวของเหล่านาซี เขาสงสัยว่าเพราะเหตุใดคนทั้งกองทัพนาซีจึงสามารถที่จะทำสิ่งที่โหดเหี้ยมเช่นนั้นได้ การทดลองของมิลแกรมบ่งชี้ให้เห็นว่า บางที่แล้ว "อสูรกาย" อาจจะไม่ได้อยู่ในตัวมนุษย์แต่อย่างใด แต่อยู่ใน "ระบบ" และ "คำสั่ง" ที่ทำให้เราประพฤติตัวดังเช่น "อสูรกาย" ไปโดยไม่รู้ตัว

หลังจากการทดลอง ได้มีการสัมภาษณ์อาสาสมัครทุกคน อาสาสมัครส่วนมากก็บอกว่า ถ้าถามพวกเขาเองก่อนการทดลอง พวกเขาก็คิดว่าพวกเขาคงจะไม่มีวันที่จะสามารถทำอะไรที่โหดร้ายเช่นนี้ได้ แต่การทดลองนี้ได้เปลี่ยนทัศนคติของพวกเขาไป มันสอนเขาว่าพวกเขาก็สามารถตกเป็นภัยของ "คำสั่ง" ได้ไม่ต่างอะไรกับคนทั่วๆ ไป และแม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายสิบปี พวกเขาก็ยังคงรู้สึกว่าการได้เป็นส่วนร่วมของการทดลองนั้น และได้เห็นว่าตัวพวกเขาเองสามารถเป็นเหยื่อของคำสั่ง ทำให้ต้องทำอะไรที่ไม่เต็มใจทำได้แค่ไหน มันได้เปิดโลกพวกเขาเพียงใด

หากเรามองไปรอบๆ ตัวเราในยุคปัจจุบันนี้แล้ว เราก็จะสามารถพบเห็นพฤติกรรมเดียวกันกับการทดลองของ Milgram ได้ทั่วไป มนุษย์เป็นจำนวนมากยังคงทำร้ายและทรมานเพื่อนมนุษย์ด้วยกันต่อไป เพียงเพราะพวกเขาอ้างว่าพวกเขาเพียงทำตาม "คำสั่ง" ยิ่งไปกว่านั้น ในบางครั้งการอ้างว่าทำอะไรไปเพื่อ "สถาบัน" อาจจะทำให้เราต้องกลายเป็น "อสูรกาย" ไปโดยไม่รู้ตัว

ทุกวันนี้ เราได้ยินเรื่องมนุษย์ ทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจนถึงแก่ความตายอยู่บ่อยครั้ง เราจะโยนว่าเรื่องราวเหล่านั้น เกิดขึ้นจากจิตใจมนุษย์ที่เหี้ยมโหดไม่กี่คน เพียงเท่านั้นหรือ หรือว่าเราควรที่จะโทษ "ระบบ" ที่ทำให้เกิด "คำสั่ง" อันเหี้ยมโหด หรือ "สถาบัน" ที่เป็นเครื่องมือที่ทำให้พวกเขาสามารถผลักความรับรับผิดชอบ ว่าพวกเขาไม่ได้ทำเพราะพวกเขาเป็นคนเหี้ยมโหด แต่พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการธำรงอยู่ของ "สถาบัน" อันเป็นที่รักต่างหาก

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน เฟสบุ๊ค มติพล ตั้งมติธรรม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น