โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

(คลิป) วงเสวนาตอบคำถาม รัฐสวัสดิการแสกนดิเนเวียสร้างด้วยคุณค่าแบบใด

Posted: 25 Nov 2017 08:54 AM PST

นักวิชาการชี้ 'รัฐสวัสดิการแสกนดิเนเวีย' สร้างด้วยคุณค่า ความไว้วางใจกันและกัน รวมทั้งไว้วางใจรัฐ ภารดรภาพ และการปรึกษาหารือกันระหว่างสหภาพแรงงานและนายจ้าง การร่วมกลุ่มต่อรองของคนงานที่เข้มแข็ง

 

 
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10) ชั้น 16 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะทำงานวาระทางสังคม ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาหัวข้อ รัฐสวัสดิการแสกนดิเนเวียสร้างด้วยคุณค่าแบบใด โดยมีประเด็นย่อย เช่น "ปริทัศน์กระแสหนังสือศึกษาวัฒนธรรมสแกนดิเนเวีย: เรียนรู้จากเขา เราเห็นอะไร" นำเสนอโดย ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย นักวิจัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยลุนด์ สวีเดน ประเด็น "ประสบการณ์ตรงในรัฐสวัสดิการ: เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เปลี่ยนไป" โดย บุญส่ง ชเลธร อาจารย์ มหาวิทยาลัยรังสิต, นักแปลวรรณกรรมสวีเดน, และอดีตครูสอนภาษาไทย-ภาษาสวีดิช กรุงสตอกโฮล์ม สวีเดน และประเด็น "สวัสดิการสังคม: พื้นฐานชีวิต สู่ความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาการทางเศรษฐกิจ" นำเสนอโดย ฐณฐ จินดานนท์ บรรณาธิการและนักแปลหนังสือเศรษฐกิจ, อดีตนักศึกษา มหาวิทยาลัยลุนด์ สวีเดน โดยมี ตะวัน วรรณรัตน์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
ปกรณ์ นำเสนองานเขียนที่พูดถึงวัฒนธรรมสแกนดิเนเวีย โดยชี้ว่า กระแสหนังสือที่พูดถึงวัฒนธรรมสแกนดิเนเวียที่มีจำนวนมากขึ้นมาในช่วง 2-3 ปีหลัง เพราะคนต้องการวิพากษ์การพัฒนาแบบเสรีนิยมใหม่ จึงหตัวเทียบกับสังคมสแกนดิเนเวีย
 
ปกรณ์ ได้ยกวิธีคิดหนึ่งสำหรับคนที่ศึกษาวรรณกรรมสวีเดน ซึ่่งเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ที่เสนอการมองผ่านการให้ความสำคัญระหว่าง รัฐ ครอบครัวและปัจเจคบุคคล เทียบกับสังคมสหรัฐอเมริกาและเยอรมันในการสร้างสวัสดิการ ว่า สวีเดนอยู่ตรงกลางระหว่างรัฐกับปัจเจคบุคคล เป็นหนทางไปสู่สวัสดิการ สวีเดนให้ความสำคัญกับรัฐที่มันจะฟังก์ชั่นหรือทำงาน มองหาวิธีการที่จะทำอย่างไรให้ปัจเจคบุคคลมีตัวตนขึ้นมาและเรื่องเหล่านี้นำไปสู่สวัสดิการ ขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นอีกแบบคือให้ความสำคัญกับปัจเจคบุคคลกับครอบครัว โดยที่ไม่ไว้ใจรัฐ ส่วนเยอรมันเน้นไปที่รัฐกับครอบครัวนำไปสู่สวัสดิการ
 
ขณะที่ บุญส่ง มองว่ารัฐสวัสดิการเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องทำ หากต้องการลดความเหลือมล้ำในสังคมไทย สำหรับข้อกังวลเรื่องการเก็ฐภาษีแพงในสังคมรัฐสวัสดิการนั้น เป็นเรื่องธรรมดาหากต้องการสวัสดิการที่ดี
 
โดย บุญส่ง ชี้ด้วยว่า หากแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นเมืองไทย ถ้าสามารถนำเงินส่วนนี้มาได้ก็สามารถสร้างสวัสดิการได้มาก อีกทั้งที่ผ่านมานโยบายต่างๆ ทุกรัฐบาลแจกโดยไม่มีระบบ และไมได้แก้ปัญหา
 
สังคมสวีเดนนั้น บุญส่ง ชี้ว่า ตั้งแต่เกิดเด็กมีเงินเดือนจากรัฐเท่าเทียมกันหมด เงินเดือนขึ้นเหมือนเงินเดือนประชาชน เมื่อ 16 ปีเต็มถายังเรียนมัธยมศึกษา ก็ยังได้ต่อแต่เปลี่ยนเป็นเงินสนับสนุนการศึกษา เรียนหนังสือฟรีถึงจบปริญญาเอก รวมทั้งอุปกรณ์การศึกษาก็ฟรีหมด  ขณะที่การสอนและเรียนก็ให้เด็กรักและเรียนรู้ธรรมชาติ ซึ่งนำมาสู่การรักสัตว์ และรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
 
บุญส่ง มองว่า สังคมไทยมนุษย์สัมพันธ์กับมนุษย์ ดังนั้นเมื่อตกงานไปหาเพื่อน ขณะที่สวีเดนนั้นสังคมสัมพันธ์กับรัฐ ทุกปัญหาที่คิดขึ้นมาได้จะมีหน่วยงานรัฐมารองรับหมด สังคมไทยจึงเล่นเพื่อน มีพรรคเพื่อน แต่ที่โน้นสัมพันธ์กับรัฐ ก็อาจมีปัญหาที่สังคมเปราะบาง 
 
บุญส่ง ยังเสนอการสร้างรัฐสวัสดิการในสังคมไทย ไว้ 4 ประเด็น ประกอบด้วย  1. มีพรรคหรือขบวนการทางการเมืองเป็นตัวนำ เอาความคิดนี้ไปขับเคลื่อน ในยุโรปจะผ่านมาทางพรรคสังคมประชาธิปไตย  2. ต้องมีการปฏิรูประบบภาษีครั้งใหญ่ ให้เก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่าง Vat ในสแกนดิเนเวีย 25% คำถามสำคัญเช่นกันคือเงินที่เก็บภาษีไปนั้นถูกเอามาใช้ดูแลประชาชนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ ถ้าตอบคำถามนี้คนก็เอาด้วย 3. ต้องมีการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ให้มีการรั่วไหลของเงินทอง  และ 4. จะต้องสนับสนุนและสงเสริมองค์กรภาคประชาสังคมให้เข้มแข็ง คนเหล่านี้จะออกมาบอกว่าประเทศชาติต้องการอะไร ไม่ใช่ต้องการเรือเหาะ 
 
บุญส่ง กล่าววว่า บทความ  "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ของ ป๋วย อึ้งภากรณ์ นั้น เป็นพื้นฐานของรัฐสวัสดิการ  และประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดีๆ จะมีคอร์รัปชั่นน้อยมาก และจะมีประชาธิปไตยสูงมากด้วยเช่นกัน
 
ฐณฐ ซึ่งศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ กล่าวว่า เรามักละเลยบทบาทของสถาบันบางสถาบันไป คือ ประวัติขององค์กรแรงงานและการรวมตัวต่อรองชีวิตที่ดีของแรงงาน ในสวีเดนมีการให้คนทั่วไปเลือกตั้งทุกคนในปี 1919 หลังจากนั้น รัฐบาลของสังคมนิยมประชาธิปไตยได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลต่อเนื่องยาวนาน ความเข้มแข็งของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเชื่อมโยงกับสมาพันธ์สหภาพแรงงานสวีเดน (LO) เป็นการรวมตัวกันของคนงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง ด้านนายจ้างก็รวมตัวเป็นสมาคมนายจ้างเช่นกัน ต่างฝ่ายต่างมีอาวุธในการต่อรอง โดยฝ่ายลูกจ้างอาวุธคือการนัดหยุดงานหรือการสไตรค์ (Strike) ขณะที่ฝ่ายนายจ้างก็มีอาวุธคือการปิดโรงงาน การต่อรองเข้มข้นจนเกิดความกังวลว่าจะบั่นทอนการพัฒนาเศรฐกิจ แม้รัฐบาลที่กุมอำนาจที่เป็นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ที่ใกล้ชิดกับ LO จะก็พยายามจะเข้ามาแทรกแซง แต่ 2 ฝ่ายก็ไม่อยากให้ รัฐบาลเข้ามา จึงเกิดการปรึกษาหารือ เป็นข้อตกลงที่บอกว่าก่อนสไตล์หรือนายจ้างปิดล็อคโรงงานมันต้องผ่านการคุยกันมาก่อน วิธีการปฏิบัติบบนี้ แม้มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ก็มีสปิริตอยู่ 
 
ฐณฐ กล่าวต่อว่า ใน LO มีนักเศรษฐศาสตร์ 2 คน ที่คิดแนวนโยบายที่มีเป้าหมาย 4 อย่างคือ ทำใหเงินเฟ้อต่ำ จ้างงานเต็มอัตรา ซึ่งเป็นอิทธพลของแนวคิดเคนส์ (Keynesian Economics) สร้างการเติบโตอย่างรวดเร็ว สร้างนโยบายโซลิดาริตติก มุ่งสร้างรายได้ที่เท่าเทียม ภายใต้แนวคิดที่ว่างานเดียวกันอย่างน้อยค่าจ้างต้องเท่ากันในแต่ละพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ และยังเป็นการสร้างผลิตภาพในการผลิตหลังสงคราม อีกด้านณะนั้นเกิดคนงานตกงานเยอะ และบีบให้ทุนย้ายไปอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่กำกลังเติบโต จึงเลยมีนโยบาย นโยบายตลาดแรงงาน (Active Labour Market Policies: ALMP) และช่วยแรงงานย้ายงานได้อย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงพยายาขยายของเขตของรัฐสวัสดิการออกไป จากเดิมมุ่งช่วยคนจน  แต่นโยบายโซลิดาริสติก ซึ่ง โซลิดาริตี้ หรือภารดรภาพเป็นคุณค่าที่สำคัญที่สร้างรัฐสวัสดิการอย่างมาก ดังนั้นเมื่อมีนโยบายการมุ่งช่วยคนจน ก็เกิดการแบ่งช่วงชั้นทางสังคมมาก ทำให้มองว่าทุกอย่างเป็นหลักถ้วนหน้า พร้อมกับขยายการศึกษาให้กว้างขวางขึ้นรองรับการพัฒนาอตุสาหกรรมอีกด้วย
 
สำหรับความเท่าเทียมทางเพศนั้น ฐณฐ กล่าวว่า การขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานหญิงเข้ามาเพิ่มขึ้น
เมื่อผู้หญิงได้เข้าไปทำงาน ก็กิดกระแสเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศด้วย นโยบายของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยก็ตอบรับความตองการตรงนี้ 
 
คุณค่าอะไรเป็นรากฐานในการสร้างรัฐสวัสดิการขึ้น โดยสรุปแล้ว ฐณฐ มองว่า มาจากคุณค่าของความไว้วางใจกันและกัน รวมถึงไว้วางใจรัฐบาล และคุณค่าเรื่องโซลิดาริตี้ หรือภารดรภาพ ความเป็นน้ำหนึงใจเดียวกัน อย่างนโยบายที่เป็นลักษณธถ้วนหน้าจะเน้นคุณค่าแบบนี้ที่ไม่แบ่งช่วงชั้น ไม่ใช่แค่คนจนเท่านั้นถึงจะได้สวัสดิการ จึงมีคุณค่าที่ตามาเช่น ความรับผิดชอบทางสังคม ความเข้าอกเข้าใจกันบ้าง  สำหรับมุมมองพื้นฐานขงชีวิต บางที่เรามองเรื่องปัจจัย 4 ซึ่งพวกนี้รัฐมีรองรับ 
แต่เรามองความพื้นฐานความเป็นมนุษย์เรื่องจิตใจ เช่น ศักดิ์ศรี รวมถึงเรื่องอิสรภาพ การไม่ถูกรัฐข่มเหง รวมถึงเรามีกำลังพอหรือเปล่าที่จะทำในสิ่งที่เราฝัน
 
ตะวัน กล่าวสรุปคุณค่าในการสร้างรัฐสวัสดิการว่า เรื่องสำคัญ คือ เรื่องไว้วางใจ ภารดรภาพ และการปรึกษาหารือกันระหว่างสหภาพแรงงานและนายจ้าง ซึ่งประเด็นการปรึกษาหารือนั้น สังคมไทยเป็นเรื่องไตรภาคี แต่กลับเอารัฐมาเป็นผู้ตัดสิน ทั้งที่หลักการสำคัญของการปรึกษาหารือมันเริ่มมาจากความเท่าเทียมกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนายจ้างลูกจ้าง และไว้วางใจกัน และสรุปเป็นฉันทามติ ท้ายที่สุดมันนำไปสู่ทางเรื่อกที่เป็นอิสระของปัจเจค ซึ่งต้องมีสวัสดิการรองรับ แม้เศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะบอกว่าตลาดมีทางเลือก แต่จริงๆ เราไม่มีกำลังที่จะเลือกหากไม่มีสวัสดิการรองรับ
 
สำหรับประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ประกอบด้วย  สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก อาจรวมถึงประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มนอร์ดิก เช่น ไอซ์แลนด์ และฟินแลนด์ 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทะลุ 5 หมื่นรายชื่อ ขอองค์กรกลางตรวจการตายของภคพงษ์ แต่กองทัพเมินลุยสอบเอง

Posted: 25 Nov 2017 01:55 AM PST

ยอดเรียกร้ององค์กรกลางตรวจสอบการตายของภคพงศ์ เกิน 50,000 รายชื่อแล้ว แต่กองทัพยังนิ่งไม่ดำเนินการให้มีคณะกรรมการที่เป็นคนภายนอกกองทัพเข้ามาร่วมตรวจสอบสาเหตุการตาย

25 พ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ได้มีการรณรงค์ร่วมลงชื่อในแคมเปญซึ่งเรียกร้องต่อทัพบก ที่ชื่อว่า  เจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ "น้องเมย" ต้องลาออก  ซึ่งเป็นเรียกร้องทั้งหมด 5 ประเด็นด้วยกันคือ 1. กองทัพจะต้องดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของน้องเมยอย่างครอบคลุมและโปร่งใสตั้งแต่ระดับผู้บังคับบัญชา จนถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และเปิดเผยผลการสอบสวนต่อสาธารณะ 2. ให้มีตัวแทนจากองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมในการสอบสวนด้วย ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเกิดการทุจริต หรือการใช้ความโดยเจ้าหน้าที่ของกองทัพ กองทัพมักจะทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพด้วยกันเอง ซึ่งถือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (conflict of interests) ทำให้สาธารณชนไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่ากระบวนการตรวจสอบของกองทัพโดยกองทัพ จะทำให้ได้ข้อมูล และข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน 3. เมื่อดำเนินการตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดทุกคนจะต้องลาออกจากราชการ และถูกดำเนินคดีจนถึงที่สุดทั้งในทางวินัย แพ่ง และอาญา โดยต้องไม่มีการปกป้องพวกพ้อง หรืออะลุ่มอะล่วยใดๆ 4. กองทัพจะต้องชดเชยค่าเสียหาย และค่าเยียวยาจิตใจ ให้กับครอบครัวของเหยื่ออย่างครอบคลุม 5. ยกเลิกมาตรการการ "ธำรงวินัย" ที่ใช้ความรุนแรง และหามาตรการอื่นที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และความปลอดภัยในชีวิตของผู้รับการฝึก

ล่าสุดเวลา  16.32 น. ได้มีผู้ร่วมลงชื่อกับข้อเรียนร้องดังกล่าวไปแล้ว 54,725 รายชื่อ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการออกมาพูดถึงเรื่องการดำเนินการตรวจสอบโดยองค์กรกลาง หรือการอนุญาตให้หน่วยงานอื่นๆ เข้าร่วมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จกรณีการเสียชีวิตของ ภคพงศ์ โดยมีเพียงการออกคำสั่งของผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2560 ให้แต่งตั้ง พลอากาศเอกชวรัตน์ มารุ่งเรือง รองเสนาธิการทหาร เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในการเสียชีวิตของ นตท.ภคพงศ์ เพื่อตรวจสอบถึงความคืบหน้าต่างๆในภาพรวมตั้งแต่วันที่เกิดเหตุจนกระทั่งวันเสียชีวิต รวมถึงข้อความต่างๆที่เผยแพร่จากเพื่อนหรือทางญาติทางโซเชียลมีเดีย อีกทั้งข้อมูลทางการแพทย์ที่ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุการเสียชีวิตอย่างละเอียด ซึ่งระหว่างนี้ยังอยู่ในช่วงเวลาของการตรวจสอบอยู่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สั่งเด้ง 2 นายทหาร กองทัพลุยสอบเอง ด้านประวิตรขอโทษครอบครัวน้องเมยแล้ว

Posted: 25 Nov 2017 12:59 AM PST

ผู้บัญญาการทหารสุดสูงสั่งย้าย 2 นายทหารเข้ากรุ เปิดทางให้คณะกรรมการของกองทัพตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของ น้องเมย ได้อย่างอิสระ ย้ำไม่ได้ย้ายเพื่อลงโทษ ด้านพลเอกประวิตร วงษสุวรรณ ขอโทษครอบครัวแล้วที่พูดกระทบกระเทือนจิตใจ

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2560 พลเอกธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีคำสั่งที่ 104 / 2560 เรื่องให้นายทหารสัญญาบัตรรับราชการใน 4 ตำแหน่ง โดยเป็นการปรับย้ายนายทหาร เพื่อให้มีความเหมาะสม กรณีการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร ภคพงศ์ ตัญกาญน์ หรือ น้องเมย โดยเป็นการให้ออกจากตำแหน่งเดิมไปก่อน เพื่อให้คณะกรรมการสามารถสอบสวนได้อย่างมีเสรี ซึ่งการปรับย้ายในครั้งนี้ ถือว่าไม่ได้เป็นการลงโทษนายทหารที่มีชื่อ แต่เป็นการเปิดทางให้คณะกรรมการสอบสวน ที่มี พลอากาศเอก ชวรัตน์ มารุ่งเรือง รองเสนาธิการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ให้สามารถเข้ามาตรวจสอบได้อย่างเป็นธรรมเร่งคลี่คลายให้เร็วที่สุด

สำหรับนายทหารที่ถูกปรับย้าย ประกอบด้วย พันเอก ฉัตรชัย ดวงรัตน์ ผู้บังคับการกรมนักเรียนเตรียมทหาร โรงเรียนเตรียมทหาร และนาวาโท นพศิษฐ์ เพียรชอบ ผู้บังคับกองพันนักเรียนเตรียมทหาร โดยให้พันเอกเบญจพล เดชาติวงศ์ ณ อยุทธยา รองผู้บังคับการทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ และ นาวาโท ประเสริฐศิลป์ วรสิษฐ์ หัวหน้านายทหารฝ่ายสรรพาวุธ นาวิกโยธิน มาปฏิบัติงานแทน ทั้งนี้ได้ให้พันเอกฉัตรชัย ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำกองบัญชาการกองทัพไทย ส่วนนาวาโท นพศิษฐ์ ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

ด้าน พล.ท.ณตฐพล บุญงาม เจ้ากรมข่าวทหาร ในฐานะโฆษกกองทัพไทย กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า พลเอกธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผบ.ทหารสูงสุดได้รับผลสอบประเด็นนักเรียนเตรียมทหาร นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 หรือน้องเมย เสียชีวิตพร้อมทั้งเตรียมส่งให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหมว่า คาดว่าเป็นผลการตรวจสอบเบื้องต้นของทางโรงเรียนเตรียมทหาร แต่ในส่วนของคณะกรรมการการตรวจสอบที่ ผบ.ทหารสูงสุด ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่งตั้งให้ พลอากาศเอกชวรัตน์ มารุ่งเรือง รองเสนาธิการทหาร เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในการเสียชีวิตของ นตท.ภคพงศ์ เพื่อตรวจสอบถึงความคืบหน้าต่างๆในภาพรวมตั้งแต่วันที่เกิดเหตุจนกระทั่งวันเสียชีวิต รวมถึงข้อความต่างๆที่เผยแพร่จากเพื่อนหรือทางญาติทางโซเชียลมีเดีย อีกทั้งข้อมูลทางการแพทย์ที่ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุการเสียชีวิตอย่างละเอียดนั้น  ขณะนี้ทางคณะกรรมการฯกำลังดำเนินการอยู่ โดยผลการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามในวันนี้ทาง ผบ.ทหารสูงสุดได้เดินทางไปโรงเรียนเตรียมทหารแต่เป็นการเดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยขึ้นตรงของกองทัพไทยตามปกติ

ด้าน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่วัดโสมนัสราชวรวิหาร ขอโทษครอบครัวของน้องเมย ภายหลังครอบครัวตัญกาญจน์ กล่าวผ่านสื่อมวลชนตำหนิคำให้สัมภาษณ์ของ พลเอกประวิตร

"อะไรที่ผมพูดไปแล้วทำให้ไปกระทบกระเทือนครอบครัวของน้องเมย ผมต้องขอโทษด้วย ผมยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ไม่เข้าข้างฝั่งทหาร ซึ่งในวันนี้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้มีคำสั่งย้ายผู้การและผู้พันโรงเรียนเตรียมทหาร"พล.อ.ประวิตรกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอนุมัติหมายจับ 'ชัยฤทธิ์' พา 'ยิ่งลักษณ์' หลบหนี

Posted: 24 Nov 2017 10:45 PM PST

ศาลอนุมัติหมายจับ 'ชัยฤทธิ์' อดีต รอง ผบก.น.5 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ พา 'ยิ่งลักษณ์' หลบหนี

 
25 พ.ย. 2560 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อนุมัติหมายจับที่ 28/2560 พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์ อนุฤทธิ์ อดีตรองผบก.น.5 อยู่บ้านเลขที่ 7/21 ถนนวัชรพล แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ลงวันที่24 พฤศจิกายน 2560 กระทำความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
 
อย่างไรก็ตามสำหรับ พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์ มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการพา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลบหนีไม่ไปฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าว โดยก่อนหน้านี้กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง และมีมติให้มีความผิดวินัยร้ายแรง ตามม.78 (1) ประกอบม.79 (6) ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 หลังพบมีความผิดด้วยการใช้รถผิดกฎหมายพา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลบหนี ตั้งแต่วันที่23สิงหาคม ก่อนศาลจะอ่านคำพิพากษาในวันที่25 สิงหาคม ที่ผ่านมา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ทำไมนโยบายยุทธศาสตร์ชาติไม่ตอบโจทย์เป้าหมาย ‘การเติบโตที่เป็นธรรมและยั่งยืน’

Posted: 24 Nov 2017 10:37 PM PST

อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อภิปรายในงานเสวนา "วิพากษ์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี: การมีส่วนร่วม ความยั่งยืน และการรับผิด" เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องประชุม 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  ประชาไทเรียบเรียงมานำเสนอ

 

อภิชาต สถิตนิรามัย

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฐานะทางกฎหมายเป็น พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งกำหนดให้มีโดยรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 60 สภาพัฒน์ได้เผยแพร่ร่างยุทธศาสตร์ชาติฯ (ฉบับเต็ม)  ซึ่งมีฐานะเป็นต้นแบบและยังอยู่ในระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตัวจริง จึงถือได้ว่าร่างนี้เป็นพิมพ์เขียวของพิมพ์เขียว (ของสีเขียว)

เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ในแง่ทางเศรษฐศาสตร์คือ การเติบโตที่เป็นธรรมและยั่งยืน หรือเท่ากับ Growth, Inclusive, Green ซึ่งถือเป็นหลักการนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องมีการทดลองปรับใช้ และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในแง่นี้ระบอบประชาธิปไตยจึงสำคัญ เพราะมันคือกระบวนการรวบรวมข้อมูลที่จะทำให้สังคมสามารถออกแบบกติกาหรือการสร้างสถาบันที่มีคุณภาพสูงได้

แต่ในความเป็นจริงแล้วเป้าหมายที่วางไว้เหล่านี้ เมื่อมีการกำหนดนโยบายจริงแล้วขัดแย้งกับตัวมันเอง เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่อง Growth, Inclusive, Green ที่แท้จริง

 

Growth? ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ต้องพัฒนานวัตกรรม มีนโยบายอุตสาหกรรมเกื้อหนุน สำคัญต้องมีบทลงโทษและการรับผิดต่อสังคม

แม้ธนาคารโลกจัดให้ไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงแล้ว แต่ถ้าก้าวข้ามกับดับนี้ไม่ได้ ก็จะไปสู่สังคมแก่ก่อนรวย สังคมจะไม่สามารถรองรับคนชราได้ ซึ่งเป็นสังคมที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ค่ารักษาพยาบาล เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแบบค่อยๆตายช้าๆ ดังนั้น หากจะรวยได้ต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพในต้นทุนที่แข่งขันได้

ความสามารถในการผลิต (Productivity) ของประเทศหนึ่งๆ คือรายได้ นอกจากปัจจัยการผลิตคือแรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติ ก็ต้องมี นวัตกรรม (Innovation) มีเทคโนโลยี ความสามารถคิดค้นเป็นหัวใจสำคัญนำไปสู่ความสามารถการผลิตเพิ่มขึ้น และรายได้สูงขึ้นตามลำดับ

การจะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆได้จำเป็นที่รัฐต้องมี นโยบายอุตสาหกรรม (IP: Industrial Policy) ไปช่วยให้การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ โตเร็ว เศรษฐกิจเราก็จะโตเร็วตามไปด้วย

ดังนั้น สรุปได้ว่า IP -> Innovation -> Productivity -> Growth

 

ทำไมเอกชนไม่คิดค้นเอง ทำไมรัฐต้องมีนโยบายอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยเหลือ?

ในทางทฤษฎี กลไกตลาดมีแรงจูงใจไม่เพียงพอจะให้เอกชนคิดค้นเพิ่มความสามารถในการผลิต การลงทุนการคิดค้น (Innovation) ในปัจจุบัน ทั้งประเทศเราลุงทุนการคิดค้น 1% ของ GDP และใน 1 % นั้นเอกชนลงทุนเพียง 20-30 %

เนื่องจาก Innovation ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการคิดค้นครั้งแรกของโลก แต่อาจเป็นการนำเทคนิคการผลิตจากต่างประเทศมาดัดแปลงให้เข้ากับสังคมท้องถิ่นก็ได้ ซึ่งก็มีต้นทุนเช่นกัน และหากทดลองแล้วล้มเหลว นักธุรกิจรายนี้ก็จะขาดทุนคนเดียว แต่ถ้าสำเร็จจะมีคนเลียนแบบการผลิต กำไรของผู้คิคค้นจะลดลง  ดังนั้น การลงทุนคิดค้น จึงมีน้อยกว่าจุดที่สังคมต้องการ (socially optimum)

นักธุรกิจจึงมี demand for innovation ต่ำ เพราะมองว่าโอกาสในการทำกำไรจาก innovation ต่ำ มากกว่ามองด้านข้อจำกัดในการสร้าง innovation เช่นขาดแคลนวิศวกร ฯลฯ

รัฐจึงควรกำหนด "นโยบายอุตสาหกรรม" (industrial policy) เพื่อส่งเสริมการลงทุนคิดค้นพัฒนา เพิ่มความสามารถการผลิตของประเทศให้แข่งขันได้ เช่น การให้เงินอุดหนุนผู้ลงทุนคิดค้นเพื่อลดต้นทุนการคิดค้น โดยรัฐเอาภาษีไปแจกให้เอกชนลงทุนในการเพิ่มความสามารถการผลิตของประเทศ ง่ายสุดคือการตั้งกองทุน เช่น ในเกาหลี จีน ไต้หวัน

คำถามคือจะคิดค้นอะไร สินค้าใด ขั้นตอนการผลิตใด เทคนิคแบบใด อะไรคืออุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐจะส่งเสริม?

ในแง่นี้ EEC (Eastern Economic Corridor โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก) ได้เลือกเป้าหมายอุตสาหกรรมไว้แล้ว

 

เงื่อนไขที่จะทำให้นโยบายอุตสาหกรรมประสบความสำเร็จ

ถอดบทเรียนจากเกาหลีใต้ ไต้หวัน ที่เคยทำนโยบายอุตสาหกรรมมาแล้ว

1. กระบวนการร่วมมือใกล้ชิดระหว่างรัฐกับเอกชน กระบวนการค้นคว้าความรู้ร่วมกัน (Embeddedness)

กระบวนการกำหนดนโยบายสำคัญกว่านโยบาย เช่น ในการเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมาย ใครเป็นผู้เลือกอุตสาหกรรมเหล่านี้สำคัญกว่าตัวนโยบาย เพราะรัฐเอกชนมีข้อดีข้อเสียคนละด้าน ไม่มีฝ่ายใดมีข้อมูลสมบูรณ์ ต้องร่วมมือใกล้ชิดเพื่อกำหนดว่าอุตสาหกรรมไหนเป็นดาวรุ่ง และจะไม่ส่งเสริมอุตสาหกรรมไหน เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อดึงข้อมูล ดึงอุปสรรคออกมา เพื่อดูว่าทำไมไม่สำเร็จในการคิดค้น

ในทางกลับกัน ถ้ารัฐและเอกชนใกล้ชิดกันเกินไปก็นำไปสู่การเล่นพรรคเล่นพวกได้ โดยเฉพาะสาระสำคัญของ IP คือการแจกภาษีของภาครัฐให้กับเอกชน กลายเป็น "คอร์รัปชันทางนโยบาย" เช่น เลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายผิด ให้ผลประโยชน์ที่ไม่สมควร

ดังนั้น ต้องหาความสมดุลระหว่างความใกล้ชิดกับความเป็นอิสระของรัฐที่จะไม่ถูกเอกชนกลืนกิน

2. แรงจูงใจและบทลงโทษ (carrot & stick)

รัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้เอกชนในการคิดค้นนวัตกรรม รัฐจึงต้องแจกเงินซึ่งก็คือแจกแรงจูงใจ เช่นที่ทำใน EEC คือการแจกสิทธิพิเศษทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี (ดังจะมีรายละเอียดในประเด็นถัดไป)

คำถามคือรัฐจะแจกถึงเมื่อไหร่ และหยุดแจกเมื่อไหร่ จะแจกใคร และจะไม่แจกใคร? ดังนั้น คีย์ของนโยบายอุตสาหกรรม คือต้องมีการลงโทษที่ชัดเจน เกณฑ์ต้องชัดเจนว่าจะตัดสิทธิ์เมื่อไหร่ อย่างน้อยต้องเป็นรูปธรรมที่ไม่ขึ้นกับการตีความตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้รัฐเป็นอิสระจากเอกชน ไม่ให้เสียเงินกับเอกชนไปเปล่าๆ ตัวอย่างของจีน ไต้หวัน ที่เป็นเกณฑ์ในการการตัดความช่วยเหลือกับเอกชน เกณฑ์คือถ้าให้ความช่วยเหลือภายใน 5 ปีคุณต้องส่งออกให้ได้ 20 % ของกำลังการผลิต

3. ความรับผิดต่อสังคม (Accountability) เมื่อผู้กำหนดนโยบายปฏิบัติไม่สำเร็จก็ควรถูกถอดถอนได้ ถ้าถูกถอดถอนไม่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้สำเร็จ

 

มองยุทธศาสตร์ชาติผ่านตัวอย่าง EEC แจกสิทธิประโยชน์ แต่ไม่ยกระดับความสามารถการผลิต

ECC ก็คือนโยบายอุตสาหกรรมหรือ IP ของรัฐไทยในปัจจุบัน ทั้งที่ตอนนี้ยังเป็นเพียงพิมพ์เขียวอยู่ แต่รัฐบาลเลือกเป้าหมายอุตสาหกรรมไว้แล้ว 10 ชนิด เป็นอุตสาหกรรมเก่า 5 ชนิด เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเติบโตอยู่แล้วพอสมควรในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และอุตสาหกรรมใหม่ 5 ชนิด เช่น หุ่นยนต์ เศรษฐกิจดิจิทัล ไบโอเทค

3 เสาหลักของแรงจูงใจ 10 อุตสาหกรรมที่รัฐจะแจกใน EEC (หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น IP ของรัฐบาลชุดนี้) มีแต่การแจกสิทธิประโยชน์ แต่ไม่มีบทลงโทษ ไม่มีความรับผิดต่อสังคม

1. การสร้าง Infrastructure คือการลงทุนของรัฐเป็นแสนแสนล้านบาท ไล่ตั้งแต่การถมทะเล การสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 การสร้างรถไฟรางคู่ การสร้างมอเตอร์เวย์ การสร้างสนามบินอู่ตะเภา การสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

2. การแจกสิทธิพิเศษทางภาษีในระดับที่ไม่เคยแจกมาก่อน ภาษีนิติบุคคลของไทยต่ำสุดในอาเซียนในปัจจุบัน แต่ถ้าลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมใน EEC คุณจะมีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 15 ปี (ภาษีจะลดเหลือเพียง 7.6% การดึงดูดลงทุนด้วยภาษี ทำให้รัฐเสียรายได้ภาษี 2.2 แสนล้านบาทในปี 2559) และผู้เชี่ยวชาญที่มาทำงานใน 10 อุตสาหกรรมนี้ก็จะได้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือเพียง 17 %

3. สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การเช่าที่ดินได้สูงสุด 99 ปี การได้รับอนุญาตให้ทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเงินตราต่างประเทศ และการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้เสร็จภายใน 1 ปี

สิ่งที่ขาดหายคือมาตรการ "การบังคับ" ให้ผู้ได้รับสิทธิพิเศษถ่ายทอดความสามารถทางเทคโนโลยีให้แก่ไทย ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญที่สุดจากประเทศเอเชียตะวันออกที่ข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

เป้าหมายของ IP คือการเพิ่มความสามารถทางการผลิตของประเทศ เป้าหมายของ IP จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะวัดความสำเร็จจากการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันเอกชนในไทยขนเงินไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าต่างประเทศขนเงินมาลงทุนในไทย ดังนั้น การลงทุนไม่ได้สำคัญในตัวมันเอง เขาอาจมาใช้ประเทศเราเป็นฐานในการผลิต แต่ไม่ได้ทำให้เราผลิตเก่งขึ้น การลงทุนจะสำคัญเมื่อมันเพิ่มความสามารถในการผลิตให้ประเทศเรา

เสาวรัจ รัตนคำฟู ระบุในบทความในเว็บไซต์ TDRI ไว้ว่า "บทเรียนในอดีตจึงชี้ว่า การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยไม่ได้สร้างความสามารถทางเทคโนโลยีของตัวเอง และไม่ยกระดับทักษะของแรงงานไทย จะไม่เพียงพอที่จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศรายได้สูง  อันที่จริง ประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในโลกก็ชี้ว่า ไม่มีประเทศใดที่สามารถหลุดพันจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางลำพังด้วยการลงทุนจากต่างชาติได้เลย"

 

หากไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ผู้รับผิดไม่ใช่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ แต่เป็นนายกฯจากเลือกตั้ง

- รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลต้องแถลงนโยบายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติต่อรัฐสภา และรัฐบาลต้องแสดงความสอดคล้องกันระหว่างร่างพ.ร.บ.งบประมาณประจำปีกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย

- พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ฯ มาตรา 25 สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเห็นว่า หน่วยงานของรัฐดําเนินการไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ฯ  ให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาดําเนินการต่อ

- พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ฯ มาตรา 26 การดําเนินการใดของหน่วยงานของรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท ให้แจ้งให้แก้ไขปรับปรุง  ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดําเนินการแก้ไขปรับปรุง ให้พิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและสั่งการต่อไป ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดําเนินการโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้ถือว่าหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย  และให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบเพื่อดําเนินการ ตามหน้าที่และอํานาจต่อไป

- มาตรา 29 ให้วุฒิสภาชุดแรก ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจพิจารณาว่า การดําเนินการของหน่วยงานของรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท เป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรี หรือเป็นการดําเนินการของคณะรัฐมนตรีโดยตรง ให้วุฒิสภามีมติเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดําเนินการ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจึงสรุปได้ว่า การเลือกตั้งไม่มีผลต่อการกำหนดนโยบายของประเทศ นอกจากนี้ยังยุทธศาสตร์ชาติยังเป็นการบังคับให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (ในกรณีที่ไม่มีนายกฯ คนนอก) รับผิดต่อกรรมการยุทธศาสตร์ และ ส.ว.จากการแต่งตั้ง

ยุทธศาสตร์ชาติอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งผ่านการตีความว่า คณะรัฐมนตรีมีมติหรือมีการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติได้ง่าย เนื่องจากธรรมชาติของยุทธศาสตร์ แผนแม่บท ไม่สามารถเขียนให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้ และมีหลายเส้นทางในการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ หากระบุรายละเอียดมาก ก็จะขาดความยืดหยุ่นในการปฏิบัติ ทำให้พรรคและนักการเมืองจะไม่กล้าสร้างนโยบายที่มีนัยสำคัญต่อประเทศ

ขณะที่เราไม่มี IP ที่กำหนดบทลงโทษหรือการรับผิดต่อสังคมของผู้กำหนด IP ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐและภาคเอกชนก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะผลักดันนโยบายให้เกิดความสำเร็จ และยิ่ง IP สาระสำคัญคือการแจกซึ่งเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชัน จึงต้องมีนักการเมืองระดับสูงในการกำกับ ตรวจสอบ หน่วยงานที่ดำเนินนโยบายอุตสาหกรรม หากนโยบายผิดพลาดหรือไม่สุจริต ก็ต้องมีกลไกที่จะปลดนักการเมืองนี้ได้ ดังนั้นการรับผิดต่อสังคมจึงสำคัญมาก

"คำถามคือถ้ายุทธศาสตร์ชาติล้มเหลว กรรมการยุทธศาสตร์ต้องรับผิดชอบกับใคร ผมฟันธงว่าไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะการออกแบบ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ แม้จะมีนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง แต่องค์ประกอบกรรมการ 34 สูงสุด 8 คนเท่านั้นที่มาจากการเลือกตั้ง จึงถูก out vote โดยกรรมการที่มาจากฝ่ายความมั่นคง มาจากภาคธุรกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิได้ง่ายๆ  โครงสร้างแบบนี้เอื้อให้คณะกรรมยุทธไม่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม"

 

Inclusive? ในยุทธศาสตร์ชาติ กับการ (ไม่) มีส่วนร่วม

การเมืองแบบมีส่วนร่วม ในความหมายกว้างสุดคือระบอบประชาธิปไตยที่สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนได้รับการประกันจากรัฐนั้นมีฐานะเป็นอภิมหาสถาบัน (กฎของการสร้างกฎ) ทำหน้าที่ดึง รวบรวม และควบรวมความรู้ท้องถิ่นในการสร้างสถาบันชั้นรองๆ ลงมา (เช่นสถาบันที่จัดการ IP) ที่มีคุณภาพสูงขึ้นและสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ มีตัวแทนของชนชั้นล่าง (แรงงาน เกษตรกร  ฯลฯ) และสาธารณชนวงกว้างทั้งในกระบวนการสร้างและผลักดันยุทธศาสตร์ชาติฯ


กระบวนการมีส่วนร่วมในพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ฯ ออกกฎให้การรับฟังความเห็นครั้งแรกหมายรวมถึงครั้งที่สอง

ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. มีการเปิดรับฟังความคิดจากประชาชนผ่านเว็บไซต์ www.thaigov.go.th ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน - 20 พฤษภาคม 2560 มีประชาชนเข้าอ่านข้อมูล จำนวน 3,051 ครั้ง และแสดงตนเพื่อเสนอความเห็น เพียง 8 คน สนช. มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเมื่อ 22 มิถุนายน 2560

พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ มาตรา 28 (3) การรับฟังความคิดเห็นที่ได้ทำไปแล้วก่อนหน้านี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ให้ถือเป็นการรับฟังที่ทำเสร็จไปแล้ว ให้เอาร่างฯ นี้มาใช้เป็นหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตัวจริง แม้ว่าเมื่อร่างฯ ต่อไปแล้วเสร็จจะเปิดให้มีขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่งเป็นเวลา 30 วันก็ตาม มาตรา 28 (5)

หมายความง่ายๆ ว่า จะถือเอาการแสดงความคิดเห็นในร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เป็นการแสดงความคิดเห็นใน พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติด้วย แม้ว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไรเพราะถือว่าการแสดงความคิดเห็นในครั้งแรกหมายรวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ด้วย
 

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 29 จาก 34 คนเคยทำงานกับ คสช.

ที่มา https://ilaw.or.th/node/4625

ทั้งนี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติปัจจุบันประกอบด้วย

- คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติชุดนี้มีทหารอยู่ถึง 11 คน และมีนายทหารถึง 10 คนเป็นสมาชิกคสช. ด้วย

- คณะกรรมการชุดนี้มีที่มาจากภาคธุรกิจถึง 9 คน จากกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มาจากภาคธุรกิจทั้งหมด 9 คนมีจำนวนถึง 6 คนที่เข้าร่วมในคณะกรรมการและคณะทำงานโครงการประชารัฐ (ถ้ารวมกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมด 29 คน จะมีกรรมการ 12 คน ที่ร่วมโครงการประชารัฐ) ซึ่งโครงการประชารัฐเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานราก แต่โครงการนี้ถูกวิจารณ์ว่ารัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจชั้นนำของประเทศมากกว่า

- แบ่งสัดส่วนของกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามที่มาและภูมิหลังของตัวกรรมการแต่ละคนได้ดังนี้ ทหารและตำรวจ 11 คน ภาคธุรกิจ 9 คน เทคโนแครต 5 คน นักกฎหมาย 2 คน อดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัย 1 คน และภาคประชาสังคม 1 คน แต่ไม่ว่าจะแบ่งสัดส่วนอย่างไร ก็สามารถกล่าวภาพรวมของกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 29 คน ได้ว่าเป็นคนที่เข้ามารับใช้ คสช. เพราะทุกคนล้วนผ่านการทำงานกับ คสช.มาแล้วทั้งสิ้น

เช่น เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เคยถูก คสช.แต่งตั้งเป็นประธานสปช. หรือตัวแทนภาคประชาสังคมอย่าง พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เคยถูก คสช.แต่งตั้งเป็นสมาชิก สปช.และกรรมการปฏิรูปประเทศ หรือศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังก์ถัด (UNCTAD) เคยถูกคสช.แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ในป.ย.ป.

- ไม่มีตัวแทนจากแรงงาน เกษตรกร ธุรกิจรายเล็ก ชุมชน ฯลฯ

 

Green? มองผ่าน EEC มาบตาพุด ถมทะเลสร้างท่าเรือ - EIA ผ่านใน 1 ปี - ล้มผังเมืองที่ลดผลกระทบมลพิษอุตสาหกรรม

ข้อมูลจาก  บีบีซีไทย สรุปเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับมาบตาพุดว่า

              •          2532 ก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

•          2534 เกิดปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวนจากโรงงานปิโตรเคมีและโรงกลั่น สืบเนื่องจากพื้นที่ตั้งของโรงงานอยู่ใกล้กับชุมชน ขาดพื้นที่กันชน

•          2548 เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความระแวงในการแย่งน้ำใช้ระหว่างชุมชนกับภาคอุตสาหกรรม

•          2550 จากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทำให้องค์กรเอกชนเคลื่อนไหวรณรงค์ให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ

•          2552 ศาลปกครองให้ระงับชั่วคราวการดำเนินงาน 76 โครงการ ในเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดตามคำร้องของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม

•          2558 โครงการสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 วงเงินลงทุน 10,000 ล้านบาท โครงการนี้จะมีการถมทะเลด้วย (https://www.thairath.co.th/content/568077)

•          2560 เดือนมีนาคม ประกาศใช้ผังเมืองฉบับใหม่ของระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อลดผลกระทบมลพิษอุตสาหกรรม

•          26 พ.ค. 2560 คสช. ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 28/2560 โดยมีใจความสำคัญคือ ให้การพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการอีอีซีแล้วเสร็จภายใน 1 ปี (https://www.matichon.co.th/news/568057)

•          25 ต.ค. 2560 คสช. ออกคำสั่ง ม.44 เรื่อง ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ล้มผังเมืองที่เพิ่งประกาศ


 

เดชรัต สุขกำเนิด 

สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ยังทำไม่สำเร็จ-ไม่ได้พูดถึงในแผนยุทธศาสตร์ฯ

- ปี 2558 ทุ่ม7พันล้านบาทฟื้นฟูคลองแสนแสบ

- การลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมที่ส่งเสริมใน EEC จะมีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 15 ปี ภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยต่ำที่สุดในอาเซียน การดึงดูดการลงทุนด้วยภาษีทำให้รัฐเสียรายได้ 2.2 แสนล้านบาทในปี 2559 ซึ่งเงินจำนวนนี้อาจทำให้เกิดการจ้างงานได้ถึง 50,000 คน คิดเป็นค่าเสียโอกาสรายคน ตกคนละ 4 ล้านบาท

- มาตรการช้อปช่วยชาติ ผู้ที่ได้รับประโยชน์มากคือผู้เสียภาษีมาก คน 7 % ในจำนวนคนเสียภาษีทั้งหมดเท่านั้นที่จะได้ส่วนลดภาษี 20 % ขึ้นไป

ซึ่งปัจจุบันก็มีนโยบายลดหย่อนภาษีให้กับผู้มีรายได้มากอยู่แล้วซึ่งไปลงทุนใน กบข. RMF LTF ประกันชีวิต ฯลฯ 1 ปี ลดหย่อนรวม 5 หมื่นล้านบาท

- ดุลการคลังของรัฐบาลไทย มีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะทำให้พ้นจากสภาวะนี้ได้หรือไม่ เมื่อเห็นกราฟนี้รัฐบาลจะบอกว่าเขาสามารถขาดทุนได้มากกว่านี้ เป็นความจริงที่สามารถกู้เพิ่มได้มากกว่านี้ แต่มันจะตอบสนองต่อระยะเวลายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีหรือไม่

ไม่เคยมีการถกเถียงเรื่องการขาดดุลงบประมาณในอีก 20 ปีข้างหน้า ถามว่าใครต้องเป็นคนตามจ่ายหนี้ที่เกิดขึ้น? ก็คือคนรุ่นหลังใช่หรือไม่?

- สถานการณ์คนจนล่าสุดในประเทศไทย

·         เส้นความยากจนปี 58 มีรายได้ต่อคนต่อเดือนอยู่ที่ 2,574 บาท แต่ในปี 60 ลดลงมาที่ 2,496 บาท

·         ในระหว่างปี 58-59 ประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น 963,000 คน
          โดยปี 58 จำนวนคนจนอยู่ที่ 4.847 ล้านคน แต่ในปี 59 จำนวนคนจนอยู่ที่ 5.810 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 20 %)

·         ในจำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งล้านคนแยกเป็น

  • คนจนในเมืองเพิ่มขึ้น 436,000 คน (หรือเพิ่มขึ้น 24 %)
  • คนจนในชนบทเพิ่มขึ้น 527,000 คน (หรือเพิ่มขึ้น 17 %)

·         สัดส่วนของคนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.21 % เป็น 8.61 %
          ในขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยสูงที่สุด ในปี 60 เพิ่มจาก 26,161 บาท/คน/เดือน เป็น 26,545 บาท/คน/เดือน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สรรเสริญ' ยืนยันไม่ยกเลิก ครม.สัญจรใต้

Posted: 24 Nov 2017 09:32 PM PST

'พล.ท.สรรเสริญ' เผยการปรับ ครม.ใหม่ ไม่ทำให้ ครม.สัญจร จ.ปัตตานีและสงขลา 27-28 พ.ย.นี้ ยกเลิก เผยนายกฯ ขอให้ ครม.ใหม่เชื่อมั่น จะทำให้รัฐบาลบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปตามโรดแมป

 
25 พ.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่าพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และมีอดีตรัฐมนตรีบางคนต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ที่ จ.ปัตตานีและสงขลา ระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายนนี้ ยังคงกำหนดเดิม โดยรัฐมนตรีใหม่และรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งจะไม่ได้เข้าร่วมประชุม ในส่วนของรัฐมนตรีเก่าที่ปรับเปลี่ยนตำแหน่งนั้น ยังคงเดินทางเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในฐานะรัฐมนตรีเดิมไปก่อน เพราะยังไม่ได้มีการเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตน จึงเข้าร่วมประชุมในฐานะของรัฐมนตรีกระทรวงเดิม
 
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ครั้งนี้ สามารถดำเนินการได้ เพราะตามกฎหมายกำหนดให้จะต้องมีจำนวน 1 ใน 3 ของรัฐมนตรีที่มีอยู่ จึงจะเปิดประชุมหรือพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้เชื่อมั่นในตัวของนายกรัฐมนตรีที่จะทำให้รัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาและเป็นไปในทิศทางที่ไว้วางตามโรดแมป
 
"นายกรัฐมนตรีไม่ได้สบายใจ หรือแฮปปี้ดีใจที่มีบางคน ซึ่งเคยทำงานร่วมกันมาเป็นเวลานาน จะต้องพ้นจากตำแหน่ง หรือบางคนจะต้องถูกปรับออกจากตำแหน่งเดิม และมีคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน แต่อยากให้คิดว่าการปรับเพื่อจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานให้ได้มากที่สุด จึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ดังนั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะไม่ว่ารัฐบาล คสช. หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทุกครั้งที่มีการปรับคณะรัฐมนตรี ก็จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาอยู่แล้ว ดังนั้นจึงอยากให้ดูผลการปฏิบัติงานเป็นสำคัญ" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
 
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้เน้นด้านใดเป็นพิเศษ แต่จะเน้นในทุกด้านตามคลัสเตอร์ที่วางไว้ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และความมั่นคง เป็นต้น แต่ที่สำคัญ การทำงานของคณะรัฐมนตรีครั้งนี้จะรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ และประสบความสำเร็จตามกรอบเวลาที่นายกรัฐมนตรีวางไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีคาดหวัง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.แจงทิศทางบริหารกองทุนบัตรทองปี 2561 ปรับจุดที่เป็นอุปสรรค เน้นประชาชนเข้าถึงบริการ

Posted: 24 Nov 2017 06:51 PM PST

"หมอศักดิ์ชัย" แจงทิศทางบริหาร "กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561" เน้นปรับปรุงการบริหารจัดการที่เป็นอุปสรรค เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารค่าใช้จ่ายเงินกองทุน มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพตามสิทธิประโยชน์อย่างครอบคลุมและทั่วถึง พร้อมประเดิมปีแรกจัดงบ 240 ล้านบาท หนุน "คลินิกหมอครอบครัว" จัดบริการเชิงรุกให้กับประชาชน

 
25 พ.ย. 2560 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561ว่า งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ ปี 2561 ได้รับจัดสรรจำนวน 171,373.67 ล้านบาท เพื่อดูแลประชากรผู้มีสิทธิ 48.797 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 5,600 ล้านบาท หรือ 3% แยกเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 156,019.62 ล้านบาท และงบเพิ่มเติมดูแลเฉพาะกลุ่ม จำนวน 15,354.04 ล้านบาท อาทิ บริการผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวี บริการไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย บริการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง บริการโรคเรื้อรัง เป็นต้น ทั้งนี้ภาพรวมการบริหารค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ยังคงเดิมเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา และปรับเปลี่ยนเล็กน้อยในบางรายการเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการบริหาร ดังกล่าวข้างต้น สำหรับงบเหมาจ่ายรายหัวหลังหักเงินเดือนหน่วยบริการภาครัฐอยู่ที่จำนวน 111,179.08 ล้านบาท
 
โดยในปีนี้ มีการบริการที่มุ่งเน้น ได้แก่ บริการตรวจคัดกรองและการตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ สำหรับประชาชนสิทธิบัตรทอง อายุ 50-70 ปี และกลุ่มเสี่ยง เช่น มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น งบประมาณ 111,306 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ บริการคัดกรองและตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซี ใช้งบประมาณ 67.32 ล้านบาท เน้นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีสิทธิประโยชน์ยารักษาไวรัสตับเอกเสบอยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดการคัดกรองเพื่อให้เกิดการเข้าถึงยา
 
นอกจากนี้ในปีนี้ยังได้ยังปรับรูปแบบการจ่ายบริการตามนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) เพื่อรองรับประชาชนที่เจ็บป่วยวิกฤตและจำเป็นต้องเข้ารับบริการ รพ.เอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบที่อยู่ใกล้ที่สุด จากเดิมเป็นการจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Groups: DRG) เป็นการจ่ายค่าใช้จ่ายตามรายการที่กำหนด Fee schedule โดย รพ.เอกชน ซึ่งในปีนี้ได้จัดสรรงบประมาณที่ 218.53 ล้านบาท  
 
นพ.ศักดิชัย กล่าวว่า ในปี 2561 นี้ ในส่วนของงบเพิ่มเติมเพื่อดูแลกลุ่มเฉพาะยังได้จัดสรรงบเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการจัดบริการ "คลินิกหมอครอบครัว" (Primary Care Cluster: PCC) ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการกำหนดงบประมาณนี้ เนื่องจากเชื่อว่ายังมีประชาชนอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึงบริการระดับปฐมภูมิ จำเป็นต้องมีการจัดสรรงบเพื่อสนับสนุน โดยรูปแบบการบริหารแยกเป็น 2 ส่วน คือ เขต กทม. และนอกเขต กทม. โดยมีการคัดเลือกหน่วยบริการเข้าร่วม PCC ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ทีมหมอครอบครัวจัดบริการเชิงรุกเพิ่มขึ้น  
 
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ส่วนหลักเกณฑ์เบิกจ่ายที่ปรับเปลี่ยนไปจากปี 2560 อาทิ การปรับช่วงเวลาข้อมูลการเบิกจ่ายโดยใช้ข้อมูลประชากร ณ เดือนเมษายน 2560 เป็นตัวแทนการจ่ายเพื่อให้สามารถจ่ายเงินไปยังหน่วยบริการได้รวดเร็วขึ้น เพิ่มการเบิกจ่ายตามศักยภาพหน่วยบริการต้นแบบสำหรับบริการการแพทย์แผนไทย การปรับหลักเกณฑ์เบิกจ่ายกรณีผ่าตัดวันเดียวกลับ (One Day Surgery : ODS) โดยร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขจัดระบบบริการ กำกับ ติดตาม ประเมินผลและรายงานผล การปรับตามแนวทางประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกคำสั่งโดย คสช.ที่ 37/2559
 
พร้อมกันนี้ในปี 2561 ยังได้ปรับการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับหน่วยบริการในสังกัด สป.สธ. ตามแนวทางที่ กระทรวงสาธารณสุขเสนอ กล่าวคือ ให้มีการกันเงิน 300 ล้านบาท สำหรับบริหารจัดการระดับประเทศ/เขต/จังหวัด กันเงินไม่เกิน 700 ล้านบาท เพื่อปรับเกลี่ยตามรายรับของหน่วยบริการ, การปรับเกลี่ยงบให้ความสำคัญหน่วยบริการโดยเฉพาะพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และที่ต้องติดตามสถานะทางการเงินอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้แนวการจ่ายนี้เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องมาจากปี 2560 ซึ่งผลจากการประเมินการจัดสรร พบว่าจำนวนโรงพยาบาลที่มีวิกฤตทางการเงินระดับ 7 ลดลงอย่างชัดเจน เป็นต้น   
 
"นโยบายและแนวทางการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2561 นี้ เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากการปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ แล้ว การบริหารกองทุนต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานกองทุนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และบรรลุเป้าหมายในการดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545" เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์ระบุคนส่วนใหญ่จับจ่ายเท่าเดิมแม้มีนโยบาย 'ช้อปช่วยชาติ'

Posted: 24 Nov 2017 06:34 PM PST

ผลสำรวจกรุงเทพโพลล์ระบุประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 64.5 มีพฤติกรรมซื้อสินค้าและบริการเท่าเดิมถึงแม้ว่าช่วงนี้รัฐบาลจะออกมาตรการ "ช้อปช่วยชาติ" โดยร้อยละ 52.9 ระบุว่าต้องการให้รัฐดูแลห้างร้านที่เข้าร่วมโครงการไม่ให้ขายสินค้าราคาแพงกว่าช่วงปกติ
 
 
25 พ.ย. 2560 จากที่รัฐบาลออกมาตรการ  "ช้อปช่วยชาติ 2560" เมื่อซื้อสินค้าและบริการสามารถลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาทระหว่างวันที่ 11 พ.ย.– 3 ธ.ค. 2560 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  จึงสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "ช้อปช่วยชาติกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชน" โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,099 คน พบว่า
 
ในช่วงที่รัฐบาลออกมาตรการ"ช้อปช่วยชาติ 2560" ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 64.5 ระบุว่าพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการเท่าเดิมเหมือนช่วงปกติ  รองลงมาร้อยละ 14.7 ระบุว่าทำให้ซื้อสินค้าและบริการปริมาณมากขึ้น และร้อยละ 10.7 ระบุว่า ทำให้ตัดสินใจซื้อสินค้าชิ้นใหญ่และมีราคาสูงง่ายขึ้นเช่นเครื่องใช้ไฟฟ้า/สมาร์ทโฟน/โน้ตบุค
 
ส่วนเรื่องที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลสำหรับห้างร้านที่เข้าร่วมโครงการ"ช้อปช่วยชาติ 2560 "ประชาชนร้อยละ 52.9 ระบุว่าต้องการให้ดูเรื่องสินค้าไม่ให้มีราคาแพงกว่าช่วงเวลาปกติ รองลงมาร้อยละ 27.3 ระบุว่าเรื่องนำสินค้าหมดอายุ/ตกรุ่นมาขาย และร้อยละ 10.1 ระบุว่าเรื่องการจำกัดปริมาณการซื้อ
 
ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 55.0 มีความเห็นว่า มาตรการ"ช้อปช่วยชาติ 2560" ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับ "ปานกลาง"  รองลงมาร้อยละ 24.0 ระบุว่าช่วยได้ในระดับ "มากถึงมากที่สุด" และร้อยละ 21.0 ระบุว่า ช่วยได้ในระดับ "น้อยถึงน้อยที่สุด"
 
สำหรับความเห็นต่อช่วงเวลาของมาตรการ "ช้อปช่วยชาติ 2560" นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ52.6 ระบุว่าควรขยายเวลาจนถึงสิ้นปี รองลงมาร้อยละ 33.6 ระบุว่าควรจัดช่วงใกล้สิ้นปีเหมือนปีที่ผ่านมา (1-2 สัปดาห์ก่อนสิ้นปี) และร้อยละ 13.8 ระบุว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมดีแล้ว
 
เมื่อถามถึงนโยบายช้อปช่วยชาติว่าควรเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งท้ายปีแบบใด ประชาชนร้อยละ 47.6 ระบุว่าควรจัดเป็นมาตรการแบบปีต่อปีแบบนี้ดีแล้วเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนั้นๆ  รองลงมาร้อยละ 46.7 ระบุว่า ควรออกเป็นมาตรการระยะยาว 5 ปี/ 10 ปีเพื่อจะได้วางแผนการใช้จ่าย และร้อยละ 5.7 ระบุว่า ไม่แน่ใจ
 
สุดท้ายเมื่อถามว่าการออกมาตรการ"ช้อปช่วยชาติ 2560"ใครได้ประโยชน์มากที่สุดประชาชน ร้อยละ 48.3 ระบุว่า เอกชน/ห้าง/ร้าน/ที่จำหน่ายสินค้าและบริการรองลงมาร้อยละ 27.6 ระบุว่าประชาชนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี และร้อยละ 20.1 ระบุว่า รัฐบาล
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาลกลางสหรัฐฯ เสนอข้อกำหนดจ้องสกัด 'ความเป็นกลางทางเน็ต' ในแต่ละรัฐ

Posted: 24 Nov 2017 06:19 PM PST

คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารสหรัฐฯ (FCC) เสนอข้อกำหนดยกเลิก 'ความเป็นกลางทางเน็ต' โดยการจ้องสั่งห้ามไม่ให้ทางการระดับรัฐออกกฎหมายในเชิงที่จะกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตให้มีความเป็นกลางไม่เลือกปฏิบัติ จากที่สมัยรัฐบาลก่อนหน้านี้มีการออกกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองทางอินเทอร์เน็ตแต่รัฐข้อกำหนดใหม่กลับจะทำให้รัฐออกกฎตามมาไม่ได้

 
ในขณะที่คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารสหรัฐฯ (Federal Communications Commission หรือ FCC) พยายามทำลายความเป็นกลางทางเน็ต (Net Neutrality) มีหลายรัฐพยายามหาวิธีตอบโต้ด้วยการให้ความคุ้มครองผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในแต่ละรัฐเอง แต่เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา FCC ก็พยายามจัดการกับรัฐทั้งหลายด้วยการเสนอให้มีการยกเลิกระบบความเป็นกลางทางเน็ตทิ้งไปโดยสิ้นเชิง
 
บทความใน ThaPublica โดย จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล ระบุว่า ความเป็นกลางทางเน็ต หมายถึง หลักการที่ระบุว่าผู้ให้บริการเครือข่ายรวมถึงรัฐบาลจะต้องจัดการกับข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติภายใต้กฎเกณฑ์พิเศษใดๆ เช่น จะต้องไม่สนใจว่าข้อมูลเป็นของผู้ใช้คนใด เนื้อหาเป็นอย่างไร มาจากเว็บไซต์ใด หรือทำงานบนโปรแกรมประยุกต์ใด เป็นต้น
 
ข้อเสนอยกเลิกความเป็นกลางทางเน็ตของ FCC ฉบับดังกล่าวจะทำให้คณะกรรมการ FCC มีอำนาจในการสกักกั้นการออกกฎควบคุมความเป็นกลางทางเน็ตของรัฐใดก็ตามได้ โดยระบุว่าคณะกรรมการสามารถสั่งบล็อกกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับใดๆ ก็ตามที่ทางคณะกรรมการเคยปัดตกไปก่อนหน้านี้แล้ว หรือสั่งบล็อกกรณีการออกกฎหรือระเบียบที่เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นในการควบคุมบริการบรอดแบนด์ตามรูปแบบที่ระบุไว้ในคำสั่งว่าด้วยความเป็นกลางทางเน็ต
 
ก่อนหน้านี้ในปี 2558 ในสมัยรัฐบาลบารัค โอบามา เคยมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองความเป็นกลางทางเน็ต แต่ข้อเสนอล่าสุดของ FCC นั้นหมายความว่าทางการรัฐต่างๆ ไม่สามารถออกกฎหมายใดที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายจากปี 2558 ได้ รวมถึงเกี่ยวกับสิทธิความเป็นส่วนตัวที่สภาคองเกรสเพิ่งลงมติคัดค้านไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาด้วย
 
ทาง FCC ระบุว่าการที่พวกเขาสามารถสั่งห้ามการออกกฎใหม่ๆ ในแต่ละรัฐได้ เพราะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นบริการแบบข้ามรัฐ ทำให้เป็นเรื่องไม่สะดวกในทางปฏิบัติถ้าหากจะปฏิบัติต่อปริมาณการสัญจรเข้าออกเว็บต่างกันภายในรัฐเทียบกับระหว่างรัฐ ถ้าหากทำเช่นนั้นจะ "เกิดภาระใหญ่หลวงมาก" และ "ทำให้เกิดอุปสรรคหรือภาระที่เกินรับได้" ในการส่งผ่านบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต
 
สื่อ The Verge ระบุว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ข้อกำหนดนี้อาจจะมีการโต้แย้งในชั้นศาลเพราะทางการรัฐและท้องถิ่นต่างๆ เริ่มผ่านมาตรการคุ้มครองข้อมูลผู้บริโภคแล้ว และถ้าหากมีการถ่วงร่างข้อกำหนดของ FCC ไว้ก็ขึ้นอยู่กับสภาคองเกรสว่าจะพยายามผ่านร่างกฎหมายที่เข้มงวดกว่านี้ออกมาหรือไม่
 
FCC จะโหวตลงมติการยุติความเป็นกลางทางเน็ต ภายในวันที่ 14 ธ.ค. ที่จะถึงนี้
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
FCC will block states from passing their own net neutrality laws, The Verge, 22-11-2017
https://www.theverge.com/platform/amp/2017/11/22/16691344/fcc-preempt-block-state-local-net-neutrality-laws
 
 
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
 
ความเป็นกลางทางเน็ต โดย 'จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล', Thaipublica
https://thaipublica.org/2015/01/energy-and-infrastructure-group-5/
 
https://en.wikipedia.org/wiki/Net_neutrality_in_the_United_States
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: มรณกรรมของ ‘เมย’

Posted: 24 Nov 2017 05:27 PM PST


มรณกรรมของ 'เมย' เปิดเผยว่า
ใครศรัทธา ระบอบรูปแบบไหน
ทั้งเห็นชัดภาพสะท้อนความเป็นไป
ว่าทำไมประเทศเราเป็นเช่นนี้

เห็นพลพรรคผู้นิยมความทารุณ
อ้างวินัย หมกมุ่น หลงศักดิ์ศรี
เขาต่างผ่านการทรมานมาด้วยดี
มานำหน่วยรบไพรี ทุกกรมกอง

รวมทั้งเหล่า ผู้กำลังนำรัฐ ด้วย
เคยแทบม้วย ไม่ต้องให้ใครปกป้อง
จึงประจักษ์ปัญญาอันรังรอง
ที่ส่องทางถอยเข้าคลองให้ผองไทย!

ชอบการฆ่า ไม่ศรัทธาความแตกต่าง
ชอบอวดอ้าง ไม่รับผิด ปกปิดไข้
ชอบแต่พูด ไม่เคยฟัง ช่าง...(อะไร?)
ชอบเผด็จการ เกลียดประชาธิปไตย ใช่! ไทยแลนด์!

 


หมายเหตุผู้เขียน: 'เมย' คือ นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ เสียชีวิตในโรงเรียนเตรียมทหารเมื่อ 17 ตุลาคม 2560  และมีการพบภายหลังว่าหน่วยงานทางทหารได้นำอวัยวะภายในออกไปโดยไม่แจ้งญาติผู้เสียชีวิต ทั้งยังส่งศพที่มีอวัยวะไม่ครบมาทำพิธีทางศาสนา ภายหลังถูกสงสัยว่าเสียชีวิตจากการถูก 'ซ่อม' (การถูกทำโทษของทหารเกณฑ์หรือนักเรียนทหารจะเรียกกันว่า 'โดนแดก' หรือ 'ซ่อม' )

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น