โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

หมายเหตุประเพทไทย 182 คำถามใหม่ของการจัดการภัยพิบัติ

Posted: 05 Nov 2017 05:55 AM PST

ในห้วงปี 2560 ที่เกิดอุทกภัยขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี สนทนากับ คำ ผกา แนะนำบทความของสายพิณ ศุพุทธมงคล. "คนกับภัยพิบัติ: งานวิจัยทางสังคมศาสตร์" ที่ตีพิมพ์ในวารสารธรรมศาสตร์ปี 2554 (อ่านบทความ) ที่นำเสนอคำถามใหม่ๆ ทางสังคมศาสตร์เกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ โดยในรายการจะชวนคิดต่อว่าคำถามเหล่านี้จะช่วยก่อรูปวิธีการใหม่ๆ เพื่อจัดการภัยพิบัติ นอกเหนือไปจากการคำนวณมวลน้ำ และการบรรเทาทุกข์เชิงสังคมสงเคราะห์ได้อย่างไร ติดตามได้ในรายการ

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค 
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับ นศ.สาขาปฐพีวิทยา ลอบขายเมล็ดพันธุ์กัญชาทางเฟสบุ๊ค

Posted: 05 Nov 2017 03:00 AM PST

ตำรวจสืบสวนสอบสวนนครบาล 1 จับนักศึกษา สาขาปฐพีวิทยา ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ลักลอบขายเมล็ดพันธุ์กัญชาสายพันธุ์ต่างประเทศพร้อมอุปกรณ์และคู่มือทางเฟสบุ๊ค ระบุอาศัยความรู้เกี่ยวกับปฐพีวิทยาที่เรียนมาให้คำแนะนำการปลูกกับลูกค้า ตำรวจเตรียมขยายผลกลุ่มลูกค้าต่อ 

5 พ.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ต.ต.ฤชากร จรเจวุฒิ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมตำรวจสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 แถลงจับกุมนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง สาขาปฐพีวิทยา พร้อมของกลางเมล็ดพันธุ์กัญชา สายพันธุ์ต่างประเทศ จำนวน 235 เม็ด, อุปกรณ์เพาะปลูก พร้อมจัดส่ง 5 กล่อง เมล็ดกัญชาบรรจุซองกระดาษสีน้ำตาล พร้อมส่ง 22 ซอง หลังพบมีการลักลอบขายเมล็ดพันธุ์กัญชาเกรดพรีเมียมจากต่างประเทศ ผ่านทางเฟสบุ๊คโดยสามารถจับกุมได้ที่สะพานลอย ใกล้ซอยเพชรเกษม 62/1 ซึ่งเจ้าหน้าที่พบข้อมูลว่า มีการลักลอบขายเมล็ดกัญชา ผ่านช่องทางเฟสบุ๊ค พร้อมทั้งอุปกรณ์การปลูก รวมทั้งระบุขั้นตอน แนะนำและวิธีการในการเพาะปลูก ดูแลรักษา ตั้งแต่เพาะเมล็ด อัตราการผสมดินและปุ๋ย การควบคุมแสงสว่าง ระยะเวลาในการปลูกพร้อมเก็บเกี่ยวผลผลิต ระยะเวลางดปุ๋ย ขั้นตอนการจัดเก็บตากแห้งดอกกัญชา และให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าที่ซื้อเมล็ดกัญชาไปเพาะปลูกเป็นการเฉพาะ และจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้ใช้เฟสบุ๊คติดตามเพจดังกล่าวมากถึง 15,000 คน และเมล็ดพันธุ์กัญชาจะถูกส่งให้กับผู้ซื้อผ่านทางช่องทางไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่จึงล่อซื้อเมล็ดกัญชา จากผู้ต้องหาผ่านทางเพจดังกล่าว และนำเมล็ดกัญชาที่ได้สั่งซื้อ มาส่งตรวจสอบที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน และ ป.ป.ส. และผลการตรวจสอบยืนยันว่าเมล็ดดังกล่าวเป็นเมล็ดกัญชาจริง

จากการสอบสวน ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า เป็นเจ้าของเพจดังกล่าวจริง โดยจะสั่งซื้อเมล็ดกัญชาสายพันธ์ต่าง ๆมากกว่า 800 สายพันธ์ ซึ่งแต่ละสายพันธ์จะให้ความรู้สึกหลังจากการเสพที่แตกต่างกันไป โดยสั่งซื้อผ่านทางเว็บไซต์ขายเมล็ดกัญชาจากต่างประเทศ (ลักษณะคล้ายซื้อขายของออนไลน์โดยทั่วไป) จากนั้นโอนเงินและแจ้งที่อยู่จัดส่งสินค้า แก่เว็บไซต์ดังกล่าวประมาณ 20 วัน จะมีพัสดุส่งมาจากต่างประเทศ ก่อนจะนำมาขายในเพจที่เปิดรอไว้ พร้อมทั้งมีการแนะนำวิธีเพาะปลูกและดูแลเมล็ดกัญชาให้กับลูกค้า เพื่อให้เกิดผลที่สมบูรณ์ โดยเริ่มต้นขายเมล็ดกัญชามาได้ 3 ปี มีลูกค้าประมาณ 2,000 ราย สามารถทำรายได้ประมาณเดือนละ 4-5 หมื่นบาท โดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับปฐพีวิทยา ที่เรียนมาให้คำแนะนำการปลูกกับลูกค้าที่ซื้อไป

เบื้องต้นถูกตั้งข้อหา มีกัญชาโดยผิดกฎหมายไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และตำรวจจะขยายผลไปยังกลุ่มลูกค้าที่ซื้อเมล็ดกัญชาจากผู้ต้องหาไป

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บริษัทในญี่ปุ่นเพิ่มวันหยุดพิเศษ 6 วัน ให้พนักงานที่ไม่สูบบุหรี่

Posted: 05 Nov 2017 02:07 AM PST

บริษัทแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นมีสวัสดิการแหวกแนวให้กับพนักงานที่ 'ไม่สูบบุหรี่' โดยเพิ่มวันหยุดพิเศษให้ 6 วัน ชี้พนักงานเหล่านี้ทำงานต่อเนื่องมากกว่าพนักงานที่ออกไปสูบบุหรี่ข้างนอกวันละหลายครั้ง

 

 
 
5 พ.ย. 2560 เรื่องที่ไม่อาจมองข้าม เมื่อ 'เวลางาน' หายไปกับการออกไป 'สูบบุหรี่' ของพนักงาน บริษัทแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นเริ่มเล็งเห็นปัญหานี้ และได้ออกมาตรการเชิงบวกให้กับพนักงานที่ไม่สูบบุหรี่แทนการกดดันพนักงานที่สูบบุหรี่โดยตรง
 
เว็บไซต์ cnbc.com รายงานเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่า บริษัท Piala Inc. ได้เพิ่มวันหยุดพิเศษให้กับพนักงานที่ไม่สูบบุหรี่ปีละ 6 วัน โดยระบุว่าพนักงานที่ไม่สูบบุหรี่ทำงานต่อเนื่องมากกว่าพนักงานที่ออกไปสูบบุหรี่ข้างนอกวันละหลายครั้งในแต่ละวัน โดย Piala Inc.  สำนักงานตั้งอยู่บนชั้น 29 ของอาคาร พนักงานที่สูบบุหรี่จะต้องลงมายังพื้นที่สูบบุหรี่ชั้นล่างซึ่งทำให้เสียเวลาทำงานไปถึง 15 นาที ในแต่ละครั้ง โฆษกของ Piala Inc.  ระบุว่าได้รับการแนะนำจากพนักงานที่ไม่สูบบุหรี่ว่าการสูบบุหรี่ได้สร้างปัญหาให้กับการทำงาน โดยคำแนะนำนี้ถูกใส่ไว้ในกล่องรับคำแนะนำของบริษัทเมื่อช่วงต้นปี เป็นเหตุให้บริษัทฯ ต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้พนักงานเลิกสูบบุหรี่ โดยผ่านสิ่งจูงใจมากกว่าการบีบบังคับ
 
สัดส่วนของผู้ใหญ่ญี่ปุ่นสูบบุหรี่มากกว่าชาวอเมริกัน แม้ในปีที่ผ่านมาสัดส่วนของผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ญี่ปุ่นจะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯแล้ว พบว่าร้อยละ 15 ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันสูบบุหรี่ลดลงจากร้อยละ 20 ในปี 2548 ทั้งนี้การสูบบุหรี่ในอเมริกาลดลงเนื่องจากการการณรงค์และกฎหมายห้ามสูบบุหรี่  นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิต 130,000 คน ทุกปีในญี่ปุ่นจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่และอีก 15,000 รายเสียชีวิตจาก 'ควันบุหรี่มือสอง' และผู้ชายญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิงถึงสามเท่า 
 
เมื่อต้นปีที่ผ่านมาผู้ว่าการกรุงโตเกียวเปิดเผยว่ามีแผนที่จะออกฎห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะทั่วเมืองก่อนโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 (พ.ศ.2563) แต่อาจจะเป็นเรื่องยากเช่นเดียวกับสหรัฐฯ สำหรับการต่อกรกับอุตสาหกรรมบุหรี่ เพราะก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นพยายามออกกฎห้ามสูบบุหรี่ภายในอาคารและในร้านอาหาร แต่กฎนี้ถูกทำให้ผ่อนคลายลงหลังจากที่ถูกนักการเมืองกดดัน
 
อย่างไรก็ตามมาตรการที่ดำเนินการโดย Piala Inc. นี้น่าจะเป็นผลดี เพราะทำให้พนักงาน 4 คน ของบริษัทฯ เลิกสูบบุหรี่ได้แล้ว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รพ.มหา'ลัยชี้แยกเงินเดือนจากงบรายหัว ส่งผลลบทางการเงินแก่โรงพยาบาล

Posted: 04 Nov 2017 10:54 PM PDT

UHOSNET ชี้แยกเงินเดือนบุคลากรจากงบเหมาจ่ายรายหัวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการเงินของโรงพยาบาล แถมส่งผลด้านลบทางการเงินแก่โรงพยาบาลสังกัด สธ.437 แห่ง และนอกสังกัด สธ.อีก 239 แห่ง แนะหามาตรการลดผลกระทบก่อนบังคับใช้กฎหมาย
 
หนังสือเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
 
5 พ.ย.2560 รายงานจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการ รพ.รามาธิบดี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ความเห็นต่อการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในประเด็นการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัว
 
ทั้งนี้ เนื้อหาของหนังสือดังกล่าวระบุว่า จากการจำลองสถานการณ์แยกเงินเดือนออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัวพบว่าจะส่งผลด้านลบทางการเงินต่อโรงพยาบาลสังกัด สธ. 437 แห่ง ซึ่งรองรับประชากร 24 ล้านคน และโรงพยาบาลรัฐนอกสังกัด สธ.จำนวน 239 แห่ง รองรับประชากร 2.5 ล้านคน ตลอดจนจะซ้ำเติมด้านการเงินแก่โรงพยาบาลสังกัดโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยซึ่งปัจจุบันมีปัญหาการเรียกเก็บค่าชดเชยจากกองทุนได้เพียง 40-60% และอาจมีผลกระทบต่อระบบการส่งต่อผู้ป่วย ดังนั้นจึงขอเสนอความคิดเห็นดังนี้ 1.การแยกเงินเดือนออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัวมีข้อดีทำให้แสดงงบประมาณด้านบริการสุขภาพชัดเจนขึ้น แต่ไม่ได้แก้ปัญหาด้านการเงินของโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การแก้ปัญหาที่แท้จริงควรเพิ่มงบประมาณแก่โรงพยาบาลโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง
 
2. ในกรณีที่ไม่สามารถหางบประมาณมาเพิ่มเติมได้ ขอเสนอให้ 2.1 มีงบประมาณเพื่อลดผลกระทบแก่โรงพยาบาลสังกัด สธ. 437 แห่ง และโรงพยาบาลนอกสังกัด สธ. 239 แห่ง ซึ่งรับผิดชอบผู้ป่วยรวมกว่า 26.5 ล้านคน ให้สามารถดำเนินการให้บริการผู้ป่วยได้ 2.2 มีมาตรการกำหนดอัตราฐานในการชดเชยค่าบริการผู้ป่วยใน (Base Rate) กรณีการรักษาผู้ป่วยที่รับส่งต่อจากสถานพยาบาลอื่น ให้ชดเชยแบบรวมเงินเดือนของสถานพยาบาลต้นสังกัดมาด้วย และ 2.3 มีบทเฉพาะกาลใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้มีผลบังคับเกี่ยวกับการแยกเงินเดือนออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัวต่อเมื่อมีมาตรการป้องกันความเสียหายแก่หน่วยบริการแล้วเสร็จ
 
3.หากมีการเพิ่มภาระงานในระบบหลักประกันสุขภาพ เช่น การให้บริการตาม พ.ร.บ.การแพทย์ปฐมภูมิและบริการสาธารณสุข หรือการดูแลโรคเรื้อรัง ขอให้พิจารณาชดเชยงบประมาณแก่หน่วยบริการ เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
 
 
นพ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากใบ จ.นราธิวาส หากมีการแยกเงินเดือนออกจากงบรายหัวจริง ผู้ที่ได้เปรียบก็คือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ส่วนโรงพยาบาลขนาดเล็ก โดยเฉพาะโรงพยาบาลตามชนบทนั้นจะเสียเปรียบ เนื่องจากมีจำนวนประชากรเยอะ แต่มีข้าราชการน้อย
 
นพ.สมชาย กล่าวต่อว่า หลักการเดิมก็คือต้องการปฏิรูประบบสาธารณสุขในเรื่องของบุคลากร เพราะที่ผ่านมาเข้าข่ายมือใครยาวสาวได้สาวเอา ฉะนั้นก็ปฏิรูปก็คือพื้นที่ที่ต้องดูแลประชากรมากๆ ก็จำเป็นต้องให้เงินมากๆ เพื่อไปจ้างบุคลากรเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อการดูแลประชาชน
 
นพ.สมชาย กล่าวว่า เรื่องการแก้กฎหมายครั้งนี้ พูดง่ายๆ ก็คือที่โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปสนับสนุนก็เพราะเขาได้ประโยชน์ คนที่ต่อต้านก็คือโรงพยาบาลตามชนบท ก็มักจะถูกกล่าวหาว่าคุยแต่เรื่องผลประโยชน์ จริงๆ เรื่องนี้ต้องคุยกันในเรื่องของหลักการ คือต้องมองว่าผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ได้อะไร คือเมื่อคุณแยกเงินเดือนออกไปแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร จะได้ไม่ต้องมานั่งเถียงกัน
 
"คุณต้องยึดประชาชนเป็นหลักก่อนแล้วค่อยมาดูเรื่องนี้ คือเมื่อคุณแยกเงินเดือนไปแล้วปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่รอบนอกนี้เสียประโยชน์ โรงพยาบาลที่อยู่นอกๆ ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เพราะได้รับงบประมาณหลักมาจากค่าเหมาจ่ายรายหัวทางเดียวมีปัญหา คนที่อยู่ชนบทก็ยิ่งแย่ หมอก็ยิ่งไม่อยากมาอยู่ชนบท เงินก็ไม่มี ค่าตอบแทนลำบาก ทุกอย่างก็ไหลเข้าไปในเมือง ก็กลายเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันมาก" นพ.สมชาย กล่าว
 
สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ...... เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คน กทม. เกินครึ่งอยากให้ภาครัฐส่งเสริมแอปพลิเคชั่นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

Posted: 04 Nov 2017 10:45 PM PDT

บ้านสมเด็จโพลล์ระบุคน กทม. เกินครึ่งอยากให้ภาครัฐส่งเสริมแอปพลิเคชั่นมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพราะทำให้ทราบราคาค่าโดยสารที่แน่นอน-รู้สึกมั่นใจและปลอดภัย เรียกร้องให้รัฐจัดการเรื่องค่าโดยสารเกินอัตรา

 
 
5 พ.ย. 22560 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้บริการของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเขตกรุงเทพมหานคร เก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 2,053 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 12 - 14 ก.ย. 2560  ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 99% และความผิดพลาดไม่เกิน 4% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,406 กลุ่ม
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่าผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการให้บริการของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจากกรมการขนส่งทางบก ร่วมกับ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร เปิดรับลงทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะ เป็นการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยรถจักรยานยนต์ที่นำมาใช้จะต้องจดทะเบียนถูกต้อง (ป้ายเหลือง) ผู้ขับรถ เสื้อวิน บัตรประจำตัว และรถจะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องและตรงกัน เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์หรือการปล่อยให้เช่าเสื้อวิน ทั้งนี้ หากพบการนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) มาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศของกรมการขนส่งทางบก ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ระยะเวลา 3 ปี จุดที่น่าสนใจคือการที่มอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่สามารถจอดรับผู้โดยสารได้เนื่องจากอยู่นอกพื้นที่ของตนเองทำให้เกิดปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสารของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้างประชาชนในกรุงเทพมหานครนั้นมีความคิดเห็นเป็นอย่างไร ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการให้บริการของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเขตกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ 
 
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ทราบว่ามีการจัดระเบียบมอเตอร์ไซค์รับจ้างโดยภาครัฐ โดยมอเตอร์ไซค์รับจ้างต้องเป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง เสื้อวิน และมีบัตรประจำตัวตรงกับผู้ขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้อยละ 58.0 แต่มีการใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่มีป้ายทะเบียนสีดำร้อยละ 35.0 และไม่แน่ใจร้อยละ 36.9 สะท้อนว่าผู้ใช้บริการรับรู้เกี่ยวกับการจัดระเบียบของภาครัฐแต่ยังใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างป้ายทะเบียนสีดำ
 
และอยากให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างมีการปรับปรุงในเรื่องการเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตราเป็นอันดับแรก ร้อยละ 35.2 อันดับที่สอง คือการขับรถเร็ว/ผิดกฎจราจร ร้อยละ 32.1 อันดับที่สามคือไม่จอดรับ/ปฏิเสธผู้โดยสาร ร้อยละ 28.9 อันดับที่สี่คือ สภาพรถจักรยานยนต์/หมวกกันน็อก ร้อยละ 25.1 และอันดับที่ห้าคือ มารยาทของคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้อยละ 23.8 
 
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.8 เคยเรียกใช้บริการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชั่น (Application) โดยอันดับหนึ่งคือ แกร็บไบค์ (GrabBike) ร้อยละ 60.7 อันดับสอง คือ โกไบค์ (Go Bike)  ร้อยละ 20 อันดับที่สาม คือ บานาน่าไบค์ (Banana Bike)  ร้อยละ 17.1 และอันดับที่สี่ คือ อูเบอร์โมโต (Ubermoto)  ร้อยละ 13.6
 
ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 57.2 ต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมแอพพลิเคชั่นในการเรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยร้อยละ 52.7 คิดว่าการใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น ทำให้ทราบราคาค่าโดยสารที่แน่นอน ทำให้รู้สึกมั่นใจและปลอดภัย ร้อยละ 52.4 และ เพื่อความสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินไปขึ้นที่วิน ไม่ต้องรอ/หามอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้อยละ 49.7 กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.2 ต้องการให้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ลงทะเบียนกับแอปพลิเคชั่น
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยก “อุทัยธานี” ต้นแบบดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในชุมชน ดึง อปท.ตั้งกองทุนเกือบครบทั้งจังหวัด

Posted: 04 Nov 2017 10:09 PM PDT

"จังหวัดอุทัยธานี" ต้นแบบงาน "กองทุนดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวหรือ LTC" 2 ปี ดึงท้องถิ่นร่วมจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงเกือบครอบคลุมทั้งจังหวัด เผยปีงบประมาณ 61 มี อบต.ร่วมจัดตั้งกองทุน LTC แล้ว 60 แห่ง จาก 62 แห่ง อีก 2 แห่งเตรียมร่วมจัดตั้งกองทุนเพิ่มเติม ชี้ปัจจัยสำเร็จเกิดจากความร่วมมือร่วมใจทุกภาคส่วน ใช้กลไก "คณะทำงานขับเคลื่อนด้วยใจถึงใจ" เป็นพี่เลี้ยงหนุนท้องถิ่นเดินหน้า

 
 
5 พ.ย. 2560 นายวันชัย แข็งการเขตร สาธารณสุขอำเภอเมืองอุทัยธานี ที่ปรึกษาคณะทำงานพี่เลี้ยงกองทุน จ.อุทัยธานี กล่าวว่า จากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ จำเป็นต้องมีการจัดระบบการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับ โดยเฉพาะผู้ สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจังหวัดอุทัยธานี ตระหนักถึงความสำคัญ จึงได้เข้าร่วมดำเนินงานบริหารจัดการการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันมี อปท.สมัครเข้าร่วม 60 แห่ง จากจำนวน อปท.ในอุทัยธานี ทั้งสิ้น 62 แห่ง สำหรับ อปท.ที่เหลืออีก 2 แห่ง เตรียมที่จะเข้าร่วมเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้อุทัยธานีเป็นจังหวัดแรกของประเทศที่ อปท.เข้าร่วมดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงครบทุกแห่ง
 
นายวันชัย กล่าวต่อว่า ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจาก อปท.ในอุทัยธานีมีนโยบายให้ความสำคัญต่อการดูแลผู้สูงอายุ ก่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ นอกจากการสนับสนุนโดย สปสช.ที่ได้จัดสรรงบภายใต้กองทุน LTC จำนวน 5,000 บาท/ราย/ปี ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จังหวัดแล้ว อปท.ในอุทัยธานียังได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานพี่เลี้ยงกองทุน จ.อุทัยธานีเพื่อเป็นพี่เลี้ยงในการขับเคลื่อนกองทุน LTC ขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีตัวแทน อปท.และหน่วยงานสาธารณสุขทั้งระดับอำเภอและจังหวัด เป็นทีมสนับสนุนการดำเนินงานดูแลระยะยาวสำหรับผู้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงให้กับ อปท.ในพื้นที่ การวางกลไกติดตาม กระตุ้น และให้คำปรึกษาแนะนำ ส่งผลให้เกิดเครือข่ายและขยายการบริการดูแลผู้สูงอายุที่พึ่งพิงอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปี  
 
นางสาวทยากร ทองคำดี ปลัด อบต.ดงขวาง เลขานุการคณะทำงานฯ กล่าวว่า ในยุคเริ่มต้นของการทำงาน LTC จ.อุทัยธานี มีรูปแบบการดำเนินงาน LTC ให้ศึกษาน้อยมาก เนื่องจากมี อปท.ที่ทำในเรื่องนี้ไม่มาก ทำให้ อปท.และผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care manager: CM) ในอุทัยธานีต่างมีความกังวลและไม่กล้าขับเคลื่อนงาน LTC ทำให้ผู้สูงอายุที่พึ่งพิงต้องเสียโอกาสที่จะได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบที่ดี คณะทำงานฯ จึงได้ร่วมปรึกษาหารือและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรค อาทิ การจัดทำแบบฟอร์มธุรการเพื่อเป็นแนวทางในการทำงาน นอกจากนี้ยังพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วย การจัด "เวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้สนใจและดำเนินงานกองทุน LTC" โดยแต่ละ อปท.ต่างหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพเพื่อมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจ สิ่งใดที่เป็นข้อสงสัยก็ซักถามกันในเวทีโดยมี สปสช.เป็นที่ปรึกษาสนับสนุนความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นทาง Online จนเกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทุน LTC อย่างจริงจัง
 
นางสาวทยากร กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังได้มีการจัดอบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver: CG) จากความร่วมมือร่วมใจนี้ยังได้เกิด "กองทุนบุญ CG และ CM" เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุในส่วนที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ รวมทั้งเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน
 
ด้าน นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ สปสช.ได้รับมอบจากรัฐบาลเพื่อดำเนินการเชิงรุกจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่บ้านและชุมชน ร่วมกับ อปท. ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มอย่างต่อเนื่องจากปี 2559 จำนวน 600 ล้านบาท เป็น 900 ล้านบาทในปี 2560 และปี 2561 เพิ่มเป็น 1,200 ล้านบาท โดย สปสช.เน้นทำงานร่วมกับ อปท.และหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ ซึ่งจังหวัดอุทัยธานีถือเป็นต้นแบบหนึ่งในการขับเคลื่อนกองทุน LTC ที่ประสบความสำเร็จ มีการดำเนินงานผ่านกลไกคณะทำงานเพื่อเป็นพี่เลี้ยงในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินงานกองทุน LTC ได้อย่างมีประสิทธิผล จึงนับเป็นแบบอย่างการดำเนินงานเพื่อขยายไปจังหวัดอื่นต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เศรษฐีอเมริกัน 'โจ ริคเกตต์ส' สั่งปิดสื่อตัวเอง หลังพนักงานมีมติเข้าร่วมสหภาพ

Posted: 04 Nov 2017 09:48 PM PDT

เศรษฐียักษ์ใหญ่อเมริกันสั่งปิดสื่อของตัวเองพร้อมกัน 3 แห่ง หลังจากที่พนักงานสื่อแห่งหนึ่งของเขาตัดสินใจเข้าร่วมสหภาพแรงงาน พวกเขาคือสื่อท้องถิ่นผู้นำเสนอเรื่องราวของผู้คนในนิวยอร์กอย่าง Gothamist กับ DNAInfo นักเขียนชื่อโนแลนระบุว่าการเป็นสมาชิกสหภาพเป็นสิทธิอันชอบธรรมของนักข่าวเหล่านี้และสหภาพที่เรียกร้องสิทธิในประชาชนก็ทำอะไรให้กับสังคมมากกว่าพวกเศรษฐี

 
5 พ.ย. 2560 โจ ริคเกตต์ส เศรษฐีพันล้านเจ้าของธนาคารโบรกเกอร์หุ้นทีดีอเมริเทรด สั่งปิดสื่อ Gothamist, DNAInfo และ Shanghaiist ที่เขาเป็นเจ้าของหลังจากที่พนักงานลงมติเข้าร่วมสหภาพแรงงาน เดอะการ์เดียนระบุว่าการตัดสินใจของเจ้าพ่อสื่อรายนี้ถือเป็น "ความตกต่ำ" ในยุคสื่อออนไลน์
 
เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้สื่อข่าวและกองบรรณาธิการจากสื่อ Gothamist ที่เป็นสื่อที่นำเสนอเรื่องราวและวัฒนธรรมในท้องถิ่นของนิวยอร์กพยายามจัดตั้งสหภาพแรงงานของตัวเอง แต่เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมาริคเกตส์เศรษฐีเอียงขวาผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ประกาศสั่งปิดสื่อทั้ง DNAinfo และ Gothamist ทำให้นักข่าว 115 รายต้องออกจากงานแม้จะได้รับเงินชดเชยเป็นเวลา 3 เดือน
 
ถ้อยแถลงของโจ ริคเกตต์ส อ้างว่าการสั่งปิดสื่อตัวเองในครั้งนี้เป็นเพราะเหตุผลทางการเงิน โดยอ้างว่าสื่อของเขา "เป็นธุรกิจ" และต้องการ "ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ" เพื่อให้มันคงอยู่ต่อไป ในถ้อยแถลงจากเว็บไซต์ริคเกตต์สะบุอีกว่า "ถึงแม้พวกเราจะสามารถสร้างความก้าวหน้าสำคัญในการทำให้ DNAinfo เป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ แต่สุดท้ายแล้วความก้าวหน้าก็ไม่มากพอจะส่งเสริมความพยายามอย่างหนักและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการสร้างสื่อแบบนี้แบบที่ทำให้ก่อตั้งบริษัทขึ้นมา"
 
กระนั้นโฆษกของ DNAinfo ก็เปิดเผยว่า "การตัดสินใจที่จะเข้าร่วมสหภาพแรงงานโดยกองบรรณาธิการถือเป็นแค่อีกหนึ่งอุปสรรคในเชิงการแข่งขันที่จะทำให้ธุรกิจปะสบความสำเร็จในทางการเงินได้ยากขึ้น"
 
 
"...รู้สึกใจสลาย" เสียงจากคนข่าวและพนักงานสื่อ
 
กองบรรณาธิการของ Gothamist เคยลงมติร่วมกันว่าจะมีการเข้าร่วมสมาคมนักเขียนแห่งอเมริกาอีสต์ (Writers Guild of America East) ทางสมาคมนักเขียนระบุถึงเรื่องที่ริคเกตต์สสั่งปิดสื่อเหล่านี้ว่าเป็นเรื่อง "น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง" และมองว่าการปิดสื่อนครั้งนี้เป็นเครื่องมือคุกคามคนทำงานที่กำลังพยายามจัดตั้งสหภาพตัวเอง
 
ริคเกตต์สยังเคยเขียนเว็บล็อกเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาในหัวข้อว่าทำไมเขาถึงต่อต้านการตั้งสหภาพแรงงานในธุรกิจที่เขาสร้าง ในบทความมีการอ้างว่า "สหภาพส่งเสริมให้เกิดพลวัติแบบพวกเขาพวกเราซึ่งทำลายความเป็นหมู่คณะที่ธุรกิจต้องอาศัยมันในการประสบความสำเร็จ"
 
คนทำงานให้สื่อเหล่านี้แสดงออกทั้งความตกตะลึง ความเสียใจและความไม่พอใจ เคนเนธ ทัน บรรณาธิการบริหารของ Shanghaiist ทวิตหลังรับรู้คำประกาศปิดสื่อแค่ว่า "ชีวิตบัตซบ" ขณะที่สก็อต ไฮนส์ ช่างภาพข่าวที่ Gothamist กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อ CNN ว่า เพื่อนร่วมงานบางคนร้องไห้สะอึกสะอื้นออกมาทันทีคนอื่นๆ ก็ร้องตะโกนออกมา
 
"ภายในชั่วพริบตา ส่วนหนึ่งของชีวิตผมที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญก็สาบสูญ หายไป ถูกลบเลือนไป ... รู้สึกใจสลาย" แดน วอชเบิร์น ผู้ก่อตั้ง Shanghaiist กลาว เจมส์ กริฟฟิธส์ ผู้ที่เคยทำงานที่ Shanghaiist ระบุว่า พวกเขาบีบเค้นและทำงานสุดกำลังเพื่อให้ได้ข่าวออกมาโดยที่มีค่าตอบแทนจำนวนไม่มากนัก
 
นักกิจกรรมที่ชื่อชอน คิง ทวิตว่าเขารู้สึกโกรธในสิ่งที่เกิดขึ้นกับสื่อ DNAinfo และ Gothamist "พวกเขาจัดตั้งสหภาพแรงงานกันเพียงเพื่อให้เศรษฐีเลวทรามเจ้าของบริษัทปิดตัวพวกเขาลง"
 
 
โนแลนระบุถึงกรณี Gothamist-DNAinfo สหภาพสื่อทำอะไรให้ชาวอเมริกันมากกว่าพวกคนรวย 
 
แฮมิลตัน โนแลน นักเขียนอาวุโสของ Splinter ระบุว่านักข่าวมักจะได้เห็นปัญหาในที่ทำงานอย่างค่าจ้างน้อย การจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการสื่อสารกันไม่ดีพอ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่เกิดขึ้นในที่ทำงานจำนวนมากทั่วสหรัฐฯ แต่อุตสาหกรรมสื่อในสหรัฐฯ ก็กำลังพยายามรวมกลุ่มจัดตั้งสหภาพกันเพื่อให้อุตสาหกรรมสื่อดีขึ้น ถึงแม้หลายคนจะมองว่าการจัดตั้งสหภาพแรงงานนั้น "ล้าสมัย" ไปแล้ว แต่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ยังคงเป็นน้องใหม่ก็กลายเป็นสหภาพแรงงานที่ประสบความสำเร็จที่มองเห็นได้มากที่สุดในสหรัฐฯ แต่สิ่งที่ริคเกตต์สกระทำกับสื่อที่พยายามเข้าร่วมก็เป็นเรื่องน่าเสียใจ
 
โนแลนระบุถึงความไม่จริงใจในถ้อยแถลงของริคเกตต์สด้วยว่า ถึงแม้ DNAinfo จะไม่ได้ทำกำไรจริง แต่ริคเกตต์สก็ยังลงทุนต่อมากว่า 8 ปี ขณะที่ Gothamist นั้นจริงๆ แล้วทำกำไรได้ดี แต่เขากลับเลือกปิดตัวสื่อลงหลังจากที่สื่อ Gothamist ตัดสินใจเข้าร่วมสหภาพ แทนที่เขาจะเลือกต่อรองกับพนักงานสมาชิกสหภาพจำนวนหนึ่งเขากลับเลือกเลย์ออฟพนักงานนับร้อย ก่อนที่จะกลับไปนอนในที่พักมูลค่า 29 ล้านดอลลาร์
 
"ความคิดที่ว่าพนักงานอย่างใน DNAinfo-Gothamist มีแรงจูงใจจะทำให้นายจ้างตัวเองล้มละลายนั้นเป็นความคิดที่น่าขัน พวกเขาทำงานที่นั่น พวกเขามีแรงจูงใจอย่างมุ่งมั่นในการที่จะทำให้สถานที่ทำงานของพวกเขาดีขึ้น ความสำเร็จของพวกเขาผูกโยงอยู่กับความสำเร็จของบริษัทด้วยเช่นกัน" โนแลนระบุในบทความ
 
โนแลนมองว่าสหภาพแรงงานทำอะไรๆ ให้ชาวอเมริกันมากกว่าพวกคนรวยทุกคนรวมกันเสียอีก สหภาพเป็นทั้งสิทธิตามกฎหมายและเครื่องมือต่อสู้ของคนงาน คนทำสื่ออย่าง DNAinfo และ Gothamist ต่างก็ช่วยประชาชนในการรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นนเมืองของพวกเขา แต่ก็ถูกลงโทษเพียงเพราะใช้สิทธิของตัวเอง
 
มีการพยายามกีดกันการร่วมสหภาพของนักข่าวแล้วสองครั้งใหญ่ๆ อีกครั้งหนึ่งคือกรณีที่ฮัฟฟิงตันโพสต์เลย์ออฟพนักงาน 39 รายที่เป็นตัวแทนของสมาคมนักเขียนแห่งอเมริกาอีสต์ กระนั้นก็ตาม ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงตอนนี้ก็มีพนักงานของสื่อออนไลน์ต่างๆ เข้าร่วมสหภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อ Vice, MTV News, ThnkProgress, The Intercept, Slate, Salon สื่อต่างๆ เหล่านี้ล้วนเข้าร่วมสมาคมนักเขียนแห่งอเมริกาอีสต์ หรือไม่ก็สมาคมนิวส์กิลด์ (NewsGuild) ซึ่งเป็นสหภาพอีกแห่งหนึ่ง
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Billionaire shuts down US and Chinese news sites after staff join union, The Guardian, 03-11-2017
 
News workers unionized. Days later, they were jobless. Was it payback?, The Guardian, 04-11-2017
 
ถ้อยแถลงการปิดตัว DNAinfo และ Gothamist, 02-11-2017
 
A Billionaire Destroyed His Newsrooms Out of Spite, The New York Times, 03-11-2017
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: แดนเดียวดาย

Posted: 04 Nov 2017 08:36 PM PDT

น้ำหลากท่วมอ่วมอกนายกพูด
มีปากเหมือนมีตูดพูดล่มเหลว
เป็นผู้นำน้ำเหนือโอบเหลือเอว
ปากลงเหวตกต่ำคำซ้ำเติม

ประเทศนี้มีผู้นำน่าขำกลิ้ง
เล่นเป็นลิงหลอกเจ้าเข้าสั่นเทิ้ม
ทั้งกิริยาท่าทางเป็นอย่างเดิม
มีแต่ลบไม่เพิ่มเสริมบทบาท

โคตรหดหู่ผู้นำตกต่ำตม
ไม่เหมาะสมตมใต้ใจแทบขาด
อยู่บันเทิงเถลิงถลำในอำนาจ
ประชาราษฎรนอนรอวันตาย

ประเทศชาติขาดวิ่นแผ่นดินดับ
แสนอาภัพอับจนทนฉิบหาย
อยู่ลำบากยากแค้นแดนเดียวดาย
ไม่เคยอายหงายกะลาดูฟ้าดิน

อนาถใจในชาติบทบาทนำ
การกระทำซ้ำเติมเหิมเกริมดิ้น
ประเทศชาติบาดหมางทางทำกิน
แทบหมดสิ้นเศรษฐกิจมืดมิดเมือง

อดทนใจไปถึงไหนคนในชาติ
มันประหลาดวิปริตผิดทุกเรื่อง
รัฐประหารผ่านไปไม่รุ่งเรือง
มันสิ้นเปลืองงบประมาณผลาญกัน

น้ำท่วมปากหลากบ่าประชาชน
ต้องอดทนข้นแค้นแสนสาหัสนั้น
พอยังคืนความสุขทุกคืนวัน
มัวเมามันขันแข่งแต่งตั้งไป

ดีแต่พล่ามถามหาสามัคคี
ปากเต็มขี้ฟันแย่ยังแถไถ
เอาพวกมากาฝากเด็กฝากใคร
ประชาธิปไตยวันไหนจะคืนมา

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนไทย หัวใจ-คอร์รัปชั่น

Posted: 04 Nov 2017 07:46 PM PDT


 

"คอร์รัปชั่น" เป็นคำแสลงหูสำหรับปัญญาชนคนรุ่นใหม่ และเป็นปัญหาที่สะสมเรื้อรังมานานจนส่งผลกระทบต่อภาพรวมของระบบเศรษฐกิจและสังคม แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความใกล้ชิดและเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาเนิ่นนานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไปแล้ว ทำให้คนไทยบางส่วนมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ยอมรับได้ คำนี้มีความหมายที่เข้าใจตรงกันว่า เป็นการทุจริตคดโกง , การไม่ซื่อสัตย์ , การฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นต้น

เหตุใดและทำไม การคอร์รัปชั่นจึงเป็นสิ่งที่คนไทยรู้จักมักคุ้นกันมาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ สิ่งใดคือรากเหง้าที่แท้จริงที่ทำให้การคอร์รัปชั่นดำรงอยู่ได้ โดยที่สังคมส่วนใหญ่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เสแสร้งว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่สนใจใยดีและไม่ได้จริงจังในการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด และสิ่งนั้นก็คือ ระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นระบบที่ก่อตัวมาจากระบบความสัมพันธ์ทางเครือญาติในระดับย่อยของสังคม จนพัฒนามาเป็นระบบพวกพ้องน้องพี่ที่ใหญ่ขึ้นในระดับประเทศ สิ่งนี้จึงเป็นหนึ่งในต้นตอของปัญหาทั้งมวล การทำงานอย่างมีปฏิสัมพันธ์และมีประสิทธิภาพระหว่างคนในแต่ละชนชั้นเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกันเป็นเครื่องตอกย้ำว่า ทำไมการทุจริตคอร์รัปชั่นจึงยืนยงอยู่ได้ในสังคมไทย
 

1. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นล่าง - ชนชั้นกลาง

ชนชั้นล่าง ในปัจจุบันรวมความถึงประชาชนรากหญ้าที่เป็นเกษตรกรรายย่อย , ลูกจ้างทั่วไป , คนงานในโรงงานอุตสาหกรรม , คนจนในเมือง , ผู้มีรายได้น้อยหรือคนหาเช้ากินค่ำ , ผู้ด้อยโอกาสในสังคม เป็นต้น กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ มักโดนรังแกและเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐในระบบราชการอยู่เสมอ เช่น เข้มงวดกวดขันการบังคับใช้กฎหมายจราจร  (ตรวจจับเฉพาะคนขับขี่รถจักรยานยนต์ , รถปิกอัพ , รถสิบล้อเท่านั้น) , จ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อหน่วยงานราชการ เป็นต้น ถือเป็นเรื่องทุจริตเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ชนชั้นกลางซึ่งตีความได้ว่า เป็นข้าราชการพลเรือนและทหาร , นักธุรกิจ เจ้าของกิจการ , นักวิชาการ , สื่อมวลชน , พนักงานบริษัทเอกชน , ดารา นักร้อง นักแสดง , ผู้มีรายได้ปานกลางจนถึงชนชั้นกลางระดับบน  เป็นต้น  กลุ่มคนเหล่านี้มีทั้งกำลังเงินและกำลังความสามารถ ที่พรั่งพร้อมไปด้วยเครื่องมือในการโน้มน้าวจิตใจ สร้างประเด็น และชี้นำสังคมได้อย่างมีนัยสำคัญ

Oval: 1 การพึ่งพิงและพึ่งพานั้นก็ต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน  อย่างแรกที่ผู้ใต้อุปถัมภ์ต้องทำ คือ ฝากตัวรับใช้นายหรือยอมรับอำนาจเหนือกว่าของผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนเสียก่อน หลังจากนั้นผู้อุปถัมภ์จึงจะให้รางวัลหรือผลประโยชน์เป็นการตอบแทน เช่น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ , การสนับสนุนทางการเมือง เป็นต้น ซึ่งความสัมพันธ์ลักษณะนี้อธิบายได้คร่าวๆ ดังนี้

สิ่งแลกเปลี่ยนให้ชนชั้นกลาง คือ แรงงาน , เงิน (ส่วย) , ความอ่อนน้อม , การเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ , ความภักดีต่อเจ้านาย

Oval: 4 ชนชั้นล่างต้องออกแรงกายทำงานรับใช้หรือปรนนิบัติเพื่อหวังพึ่งใบบุญบารมีจากชนชั้นกลาง  โดยส่งเงินหรือติดสินบนเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายบางประการ  ขณะที่ชนชั้นล่างก็ต้องเสาะแสวงหาเจ้านายที่มีเส้นสายใหญ่เพียงพอที่จะอำนวยประโยชน์ต่อตนเองให้มากที่สุด  เฉกเช่นดียวกับในอดีตที่ไพร่ต้องสังกัดมูลนายตามกฎหมายกำหนด และต้องทำงานรับใช้มูลนายโดยที่ไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น

สิ่งแลกเปลี่ยนให้ชนชั้นล่าง คือ การปกป้องคุ้มครอง , การช่วยเหลือเกื้อกูล , การชี้นำสังคม , การควบคุมสั่งการ

ชนชั้นกลางจะตอบแทนชนชั้นล่างด้วยการให้คุ้มครองความปลอดภัยในทรัพย์สินหรือสวัสดิภาพจากชนชั้นกลางกลุ่มอื่นที่จะมาเอาเปรียบหรือหาประโยชน์จากชนชั้นล่าง , ช่วยฝากลูกเข้าทำงานในระบบราชการหรือฝากเข้าโรงเรียนรัฐบาล เป็นต้น  ถือเป็นการขยายอิทธิพลและสร้างบารมี  โดยสะสมทั้งกำลังเงินและกำลังคนเพื่อตั้งตัวเองขึ้นเป็นมาเฟียในชุมชน , ผู้กว้างขวางในท้องถิ่น หรือเป็นชนชั้นสูงในอนาคต

2. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นกลาง - ชนชั้นสูง

Oval: 2 สิ่งแลกเปลี่ยนให้ชนชั้นสูง คือ ความรักความศรัทธา , การสรรเสริญเยินยอ , ความนอบน้อมและเคารพเชื่อฟัง (หมอบกราบ คลานเข่า) , ความภักดีต่อผู้เป็นเจ้านาย , ความสามารถเฉพาะทาง (แรงสมอง) , เงิน (ส่วย) , แรงงาน

ชนชั้นกลางนอกจากจะออกเงินและแรงกายเพื่อทำงานรับใช้ หรือให้ความเคารพนอบน้อมและเชื่อฟังคำแนะนำจากผู้ใหญ่แล้ว สิ่งหนึ่งที่แตกต่างก็คือ การออกแรงสมอง , ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้ชนชั้นสูง ซึ่งชนชั้นกลางแต่ละกลุ่มก็จะอิจฉาริษยากันเอง แย่งกันประจบสบพลอ เอาอกเอาใจเจ้านายเพื่อให้กลุ่มของตนเองเด่นกว่าหรือได้ประโยชน์มากกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งการสรรเสริญเยินยอนี้จะเป็นการสร้างบารมีให้ชนชั้นสูงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วชนชั้นกลางก็จะอ้างสิทธิ์อันชอบธรรมที่ได้รับการรับรองจากชนชั้นสูงเพื่อมาปกครองชนชั้นล่างต่อไป 

Oval: 3สิ่งแลกเปลี่ยนให้ชนชั้นกลาง คือ อำนาจบารมีแผ่ไพศาล , การปกป้องคุ้มครองหรือช่วยให้พ้นผิดจากคดีความ , การสนับสนุนทางการเมืองอย่างลับๆ , ผู้กำหนดมาตรฐานจริยธรรม , ผู้แต่งตั้งรัฐบาล

ชนชั้นสูง เช่น ข้าราชการระดับสูงทั้งทหารและพลเรือน , กลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่ เป็นต้น  จะตอบแทนความซื่อสัตย์ภักดีของชนชั้นกลางด้วยตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ , สัญญาจัดซื้อจัดจ้างโครงการภาครัฐ หรือช่วยให้พ้นผิดด้วยอภินิหารทางกฎหมายในคดีการเมือง  เป็นต้น  สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ การถือสิทธิ์กำหนดมาตรฐานคุณธรรมภายใต้หลักศาสนา หรือสร้างบรรทัดฐานจริยธรรมตามจารีตประเพณีอันดีงาม  เพื่อใช้กำกับสังคมทั้งในแง่การปกครองและทางจิตวิญญาณอีกชั้นหนึ่ง รวมถึงรับรองความชอบธรรมให้คนบางกลุ่มกลายเป็นอภิสิทธิ์ชนเพื่อให้มีบทบาทควบคุมชนชั้นล่างลงไปเป็นทอดๆ

อย่างไรก็ตาม ชนชั้นกลางบางส่วนและชนชั้นสูงมักดูถูกชนชั้นล่างเสมอว่า ชอบทำผิดหรือหลีกเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งที่จริงแล้วก็เลียนแบบและเอาอย่างมาจากผู้ดีจอมปลอมพวกนี้นั่นเองที่มักทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย มีสองมาตรฐานและมีข้อยกเว้นสำหรับพวกตนเสมอ รวมถึงสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความผิดที่เกิดขึ้น เช่น ลูกของกลุ่มทุนใหญ่ขับรถชนตำรวจจนเสียชีวิต แต่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่สามารถนำตัวมาลงโทษได้ ทำให้บางคดีหมดอายุความด้วยเทคนิคทางกฎหมาย โดยที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงถือเป็นความบกพร่องโดยสุจริต แต่ถ้าเป็นคดีความของชาวบ้านทั่วไปจะมีลักษณะตรงกันข้าม

โครงสร้างระบบอุปถัมภ์นี้ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทั้งในแง่การกระจายรายได้และความไม่เป็นธรรมในสังคม  จนเกิดสภาพการรวยกระจุกในหมู่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางบางส่วน และสภาพความจนที่กระจายอยู่ในชนชั้นล่างและชนชั้นกลางที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงสร้างความยากลำบาก ความแร้นแค้น ขาดแคลน และขัดสนในปัจจัยการผลิต ส่งผลให้ชนชั้นล่างเกิดความเดือดร้อน มีการคร่ำครวญโหยหา จนต้องบนบานศาลกล่าว ขอร้องเทวดาฟ้าดิน หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยดลบันดาลทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับชนชั้นสูงที่จะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยเหลือแบบโปรยทานเป็นครั้งคราวไป และกลายเป็นบุญคุณอันล้นพ้นที่ชนชั้นล่างต้องตอบแทนอยู่เรื่อยไป อีกนัยหนึ่งของความเหลื่อมล้ำก็คือ การใช้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างวาทกรรมตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเพื่อกล่อมเกลาให้ผู้ใต้อุปถัมภ์ทำงานรับใช้ผู้อุปถัมภ์ด้วยความเต็มใจโดยปราศจากค่าตอบแทนใดๆ ส่วนดอกผลหรือประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะเป็นสิทธิ์ขาดของผู้อุปถัมภ์

จากอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกชนชั้นสูงหรือผู้กุมอำนาจรัฐพยายามสร้างวาทกรรมปลุกปั่นและครอบงำความคิดประชาชนว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น เกิดจากนักการเมืองในระบบเลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้นการจะแก้ปัญหาที่เรื้อรังมานานจึงต้องให้คนดีเข้ามามีอำนาจ มีตำแหน่งเป็นรัฐบาลเพื่อปกครองคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ สังคมจึงได้ยินเสียงพร่ำบอกอย่างสม่ำเสมอว่า ถึงระบบการปกครองจะไม่ดี แต่ถ้าได้คนดี (ไม่ว่าจะมาด้วยวิธีการใดก็ตาม) ก็ไม่เป็นไร  ยอมรับได้  ดังนั้นสังคมไทยจะปกครองด้วยระบอบอะไรก็ได้ที่ทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี , เชื่อฟังและอยู่ในโอวาทผู้ใหญ่ ตั้งอยู่ในความสงบเรียบร้อยก็เพียงพอแล้ว รวมถึงชนชั้นสูงจะเป็นผู้คัดเลือกคนดีมีคุณธรรมมาเป็นรัฐบาล พร้อมทั้งรับรองความถูกต้องชอบธรรมและการันตีความซื่อสัตย์สุจริตอีกด้วย

นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ศาสตราจารย์โรเบิร์ต คลิตการ์ด (Robert Klitgaard) ได้นำเสนอกรอบแนวคิดเพื่ออธิบายพฤติกรรมคอร์รัปชั่นไว้ว่า

จากสมการข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นจะเพิ่มขึ้นหากระบบเศรษฐกิจมีการผูกขาด ไม่เกิดการแข่งขัน มีการรวบอำนาจไว้กับคนๆ เดียว และเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลยพินิจให้คุณให้โทษได้ แต่ในทางตรงกันข้าม การทุจริตคอร์รัปชั่นจะลดลงหากสังคมมีกลไกความรับผิดชอบที่เข้มแข็งมากขึ้น

จริงๆ แล้วสมการนี้ไม่สามารถอธิบายสถานการณ์ในประเทศไทยได้ถูกต้องแม่นยำนัก เนื่องจากสังคมไทยมีความสลับซับซ้อนของระบบอุปถัมภ์ที่ซ่อนอยู่อีกหนึ่งชั้นหลังฉาก มีมือที่มองไม่เห็นคอยกำกับบงการเจ้าหน้าที่รัฐในทางพฤตินัย และเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ยินยอมพร้อมใจเป็นมือเป็นไม้ให้ด้วย ทั้งนี้เพื่อ

1) ทดแทนบุญคุณที่เคยช่วยเหลือกันมาในอดีต

2) สร้างบุญคุณไว้เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ หากต้องการก้าวหน้าในอนาคต

3) ขอฝากตัวเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอุปถัมภ์

ถึงแม้ทุกคนจะรับรู้ถึงปัญหาเหล่านี้ดีแต่ก็ไม่มีใครกล้าทำอะไร จึงเกิดปรากฎการณ์กินตามน้ำกันไปเพื่อความอยู่รอด โดยยึดหลักที่ว่า "รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง" ในกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น การตัดสินใจของภาครัฐที่ทำตามกรอบระเบียบกฎหมายแต่มีผลลัพธ์เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นกรณีพิเศษแล้ว สังคมก็ไม่สามารถตรวจสอบได้เลย แต่เมื่อหน่วยงานปราบทุจริตมาตรวจสอบและรับรองความถูกต้องตามระเบียบราชการแล้ว สังคมก็จะหยุดตรวจสอบทันทีทั้งๆ ที่รู้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น หรือบางครั้งสื่อมวลชนก็จงใจละเลยการขุดคุ้ยหาข้อมูลหรือพร้อมใจกันเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย ยกตัวอย่าง ส.ต.ง. ไม่พบสิ่งผิดปกติในโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน , การใช้มาตรา 44 ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก , การเลื่อนสืบพยานโจทก์คดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมปิดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปี 2551 เป็นต้น แต่ถ้าเป็นคดีความของฝ่ายตรงข้ามมักจะเกิดการเลือกปฏิบัติ โดยตัดสินอย่างเคร่งครัดตามตัวบทกฎหมาย เช่น คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว มีการตีความว่า เป็นพฤติการณ์ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และส่อแสดงเจตนาแสวงหาผลประโยชน์โดยทุจริตจากโครงการ รวมถึงเร่งรัดการสืบพยานและพิจารณาคดีอย่างรวดเร็วดโดยเปรียบเทียบ เป็นต้น

ปัจจุบันมีองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมาก ได้แก่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ตรวจการฯ) , สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) , สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (ส.ต.ง.) , สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในส่วนกระบวนการยุติธรรม ก็มีการจัดตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย แต่ก็เกิดคำถามตามมาจากสังคมว่า 1) องค์กรเหล่านี้ทำงานอย่างสุจริตเที่ยงตรงและเป็นธรรม รวมทั้งปฏิบัติต่อทุกคดีอย่างมีมาตรฐานเดียวกันใช่หรือไม่ 2) เป็นกลไกทางการเมืองเพื่อกำจัดพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามใช่หรือไม่ 3) ทำไมอัตราการคอร์รัปชั่นจึงยังไม่มีแนวโน้มลดลง ทั้งๆ ที่มีองค์กรอิสระจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เปิดเผยว่า คะแนนและอันดับความโปร่งใสของประเทศไทยลดลงมาเรื่อยๆ หลังจากรัฐประหาร ปี 2557

หากพิจารณางานวิจัยของ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ตามกรอบแนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและเศรษฐศาสตร์สถาบันแล้ว ได้บทสรุปว่า สถาบันทางสังคม เช่น บ้าน , วัด , โรงเรียน ได้หล่อหลอมพฤติกรรม วิธีคิด และทัศนคติเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ทำให้พฤติกรรมการทุจริตฝักรากลึกอยู่ในดีเอ็นเอแบบไม่รู้ตัว คุ้นเคยและชาชิน พร้อมทั้งรับมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตโดยปริยาย

จากงานวิจัยพบว่า คนไทยให้ความหมายและคุณค่าความดีและคนดีแตกต่างกัน ความดี (ความซื่อสัตย์ , สุจริต , ไม่คดโกง) เป็นเรื่องของผลประโยชน์สาธารณะ แต่คนดี (กตัญญู , เชื่อฟังพ่อแม่และผู้ใหญ่) เป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัวหรือคนใกล้ชิด สิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้แนวคิดนี้ก็คือ ความรู้สึกเป็นครอบครัวหรือเครือญาติเดียวกัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวพันทางสายเลือดก็ได้ เป็นความผูกพันในลักษณะเพื่อนร่วมสถาบันการศึกษา , รุ่นพี่รุ่นน้องที่นับถือ , เป็นคนจังหวัดเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน , ทำงานในวิชาชีพเดียวกัน หรือผู้ใหญ่ที่มีบุญคุณที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ทำให้คนๆ นั้นมีความเอนเอียงที่จะเลือกปฏิบัติ , ย่อหย่อนกฎเกณฑ์ , ผ่อนหนักเป็นเบา หรืออะลุ้มอล่วยช่วยเหลือกัน สุดท้ายแล้วก็กลายเป็นการทุจริตในความรู้สึกที่ยอมรับกันได้แบบหยวนๆ ว่า ไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม และกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน

ความแตกต่างของชุดคุณธรรมที่มีการสอนกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศไทย

สังคมที่พัฒนาแล้วจะสอนให้ประชาชนมองออกไปข้างนอก คิดถึงผู้อื่นเป็นลำดับแรก โดยเน้นย้ำให้ความสำคัญเรื่องสิทธิและหน้าที่เป็นสำคัญ ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

สังคมไทยสอนให้ประชาชนมองเข้าข้างในหรือเน้นความสัมพันธ์ส่วนตัว เช่น เชิดชูตัวบุคคลเป็นหลัก , ยึดกฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย , แยกไม่ออกระหว่างส่วนรวมกับส่วนตัว , ขาดจิตสาธารณะ , มองคนไม่เท่าเทียมกัน , มีลำดับชั้นความสัมพันธ์ , ยึดมั่นระบบอาวุโส , ไม่กล้าคิดแตกต่าง จึงเป็นสาเหตุให้ระบบอุปถัมภ์อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน

ถ้ามองผิวเผินแบบฉาบฉวยแล้ว การตราหน้าว่านักการเมืองเป็นต้นเหตุสำคัญของการทุจริตคอร์รัปชั่นแต่เพียงฝ่ายเดียว ก็ดูเหมือนเป็นการป้ายสีและจงใจทำให้สังคมเข้าใจผิดและหลงประเด็น จนไม่ต้องสืบหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งระบบ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว คนทุกคนในสังคมล้วนมีส่วนร่วมไม่มากก็น้อยในการส่งเสริมการทุจริตคอร์รัปชั่นให้ดำรงอยู่ได้โดยปราศจากการตรวจสอบและตั้งคำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นสูงหรือผู้มีอำนาจรัฐที่เป็นต้นตอของปัญหาที่อยู่บนสุดในโครงสร้างระบบอุปถัมภ์ ซึ่งไม่มีใครกล้ากล่าวถึง ถึงแม้สังคมจะมองเห็นปัญหาแต่ก็ทำเมินเฉยมาตลอด ชนชั้นสูงเป็นกลุ่มคนที่อนุรักษ์นิยมไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบอุปถัมภ์แต่อย่างใด เพราะความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนี้ เปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้ชนชั้นสูงมีสถานะที่แตะต้องไม่ได้ ดำรงความศักดิ์สิทธิ์ และมีสิทธิพิเศษหรืออภิสิทธิ์อยู่เหนือกฎกติกาบ้านเมือง 

ทางออกที่ดีที่สุดในการลดระดับการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น อย่างแรกที่ต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมก็คือ การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ส่งผลในทางปฏิบัติ ต้องสร้างให้คนรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง รวมทั้งไม่ไปละเมิดสิทธิและหน้าที่ของคนอื่นด้วย ทั้งนี้ต้องเปิดกว้างให้คนทุกชนชั้นได้เข้ามาแบ่งปันอำนาจการบริหารและจัดการทรัพยากรร่วมกัน พร้อมทั้งสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลโดยให้ภาคธุรกิจ ภาคสังคม และสื่อมวลชนเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อสร้างพื้นฐานการเมืองแบบเปิดให้มีความเป็นธรรมและมีมาตรฐานเดียวกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพียงเท่านี้ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการสร้างสังคมที่สงบสุข มีความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล เพื่อขจัดระบบอุปถัมภ์แบบศักดินาสวามิภักดิ์ให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว โดยมีเป้าหมายสุดท้ายก็คือ การสร้างสังคมให้มีสันติสุขต่อคนทุกชนชั้น

 


  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น