โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เป็นผู้หญิง (บริการ) แท้จริงแสนลำบาก (3): ส่วย ผลงาน และรัฐประหาร

Posted: 01 Nov 2017 11:13 AM PDT

ตอนสุดท้ายของซีรีส์ชีวิตพนักงานบริการ ตีแผ่ประเด็นที่พูดกันยาก แถมบ่อยครั้งอาจนำภัยมาสู่ผู้ที่เปิดโปง นั่นคือ 'ส่วย' ที่เจ้าของสถานบริการต้องจ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐ และคนที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งจ่ายเป็นประจำและจ่ายในโอกาสพิเศษเช่น "วันเกิดนาย" จนถึง "ซองผ้าป่า" พร้อมทบทวนว่าหลังรัฐประหารปี 57 ส่งผลอย่างไรต่อชีวิตพนักงานบริการ

เป็นผู้หญิง (บริการ) แท้จริงแสนลำบาก (1): สำรวจชีวิต 'กะหรี่' ในวันที่ศีลธรรมยังค้ำคอรัฐไทย

เป็นผู้หญิง (บริการ) แท้จริงแสนลำบาก (2): โรคติดต่อและการล่อซื้อ

"ตอนเราถามเพื่อนว่า ทำดีไหม เขาก็บอกทำเลยๆ แต่พอตำรวจมาถามว่าใครทำ ก็พากันตอบว่าอีนี่แหละทำ"

จูน (นามสมมติ) ผู้เปิดโปงเรื่องส่วยบาร์เบียร์อ่าวนาง

 

'ส่วย' เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการทำธุรกิจสีเทาทุกรูปแบบ เจ้าของสถานบริการทุกรายที่ไม่ได้มีเส้นสายเป็นคนใหญ่คนโต จำเป็นต้องจ่ายเงินจำนวนมากต่อปีเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ และปล่อยให้ธุรกิจของพวกเขาดำเนินไปโดยสะดวก ยิ่งสถานบริการตั้งอยู่ในจุดที่มีนักท่องเที่ยวมากเท่าไหร่ ส่วยที่จะต้องจ่ายก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

จูน (นามสมมติ) พนักงานบาร์วัย 39 ปี ในย่าน RCA ของอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ กล่าวว่าเธอมีหน้าที่ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของร้าน โดยทุกสัปดาห์เจ้าของร้านจะให้รายชื่อหน่วยงานรัฐและจำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้ในสัปดาห์นั้นๆ กับเธอ และเมื่อถึงเวลาก็จะมีคนมาเก็บเงิน เธอกล่าวว่าในอดีต มีเพียงไม่กี่หน่วยงานที่ทางร้านต้องจ่ายส่วยให้แต่หลังจากมีรัฐประหารขึ้นในปี 2557 จำนวนหน่วยงานรัฐที่เข้ามาขอส่วนแบ่งก็เพิ่มมากขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุ

"วันหนึ่งก็มีผู้ชายเดินเข้ามาในร้าน ทำตัวกร่าง บอกว่ามาจากภาค 8 บอกว่ามาจะมาเก็บเงิน ต้องจ่ายนะไม่งั้นจะสั่งปิดร้าน คือเราไม่มีปัญหาหรอกเรื่องเงิน ยังไงเราก็ต้องจ่าย แต่ทำไมคุณไม่พูดกับเราดีๆ คุณบอกว่ามาจากภาค 8 แต่ภาค 8 คือใคร ทำอะไร เรายังไม่รู้เลย พอเราถามว่าทำไม่ต้องเก็บ เขาก็ตอบว่านายสั่งมา" จูนกล่าว

ไม่ใช่แค่เพียง 'ภาค 8' เท่านั้น แต่ยังมีคนจาก 'ตำรวจภูธร' 'กองสืบ' 'กอง 2' และ 'กอง 5' และชื่ออื่นๆ อีกมากมายที่จูนไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นใครและมีหน้าที่อะไร เข้ามาขอเก็บส่วยอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละหน่วยงานจะเรียกส่วยแตกต่างกันออกไปมีตั้งแต่ 1,000-2,000 บาท จากที่เคยต้องจ่ายอาทิตย์แค่ละ 2,000-3,000 บาท ก็เพิ่มเป็นมากกว่า 10,000 บาท ซึ่งยับไม่นับรวมสินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ที่เจ้าหน้าที่จะเข้ามาเรี่ยไรตามโอกาสต่างๆ เช่น ทอดผ้าป่า เลี้ยงส่งนาย หรือวันเกิดนาย การเก็บเงินแต่ละครั้งจะไม่มีหลักฐานการรับเงิน และคนที่มาเก็บเงินก็มักจะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่มีการแสดงบัตรประจำตัวใดๆ เธอจึงไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคนไหนเป็น 'แก๊งมิจฉาชีพ' คนไหนเป็นคนของ 'เจ้าหน้าที่รัฐ' แต่เธอก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยอมจ่ายไปเพราะไม่อยากมีปัญหา

แต่ในที่สุด จูนก็รู้สึกว่า 'มันชักจะมากเกินไปแล้ว' เธอจึงเริ่มปรึกษาเพื่อนพนักงานว่าควรเอาเรื่องนี้ไปบอกสื่อดีไหม ซึ่งเพื่อนพนักงานต่างพากันเห็นด้วย จูนจึงส่งคลิปวีดีโอจากกล้องวงจรปิดของร้านในขณะที่มีชายที่อ้างว่ามาจาก 'ภาค 8' เข้ามาเก็บเงินกับทางร้านให้กับเพื่อนของเธอซึ่งรู้จักกับนักข่าว จนเรื่องดังกล่าวกลายเป็นข่าวดังในช่วงต้นปีที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ร้อนถึง พ.ต.ท.ปิยะพงษ์ บุญแก้ว รักษาราชการแทนผู้กำกับสถานตำรวจภูธรอ่าวนาง ต้องรีบออกมาชี้แจงกับสื่อว่าชายที่ปรากฎในคลิปไม่ใช่เจ้าหน้าที่สังกัดในตำรวจภูธรภาค 8 แต่เป็นอาสาสมัครตำรวจ สังกัด สภ.เมืองกระบี่ พร้อมเน้นย้ำว่าจะเร่งสอบสวนเรื่องดังกล่าวโดยด่วน

ไม่นานหลังจากข่าวแพร่กระจายออกไป เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เริ่มดำเนินการสอบสวนว่า 'ร้านใดเป็นผู้ปล่อยคลิป' จูนกล่าวว่ามีตำรวจหลายนายเข้ามาในพื้นที่แล้วไล่ถามพนักงานแต่ละร้านว่าใครเป็นคนเอาคลิปไปปล่อย และที่น่าเศร้าที่สุดคือเหล่าเพื่อนพนักงานที่สนับสนุนให้เธอเปิดโปงเรื่องนี้กลับเป็นพากันชี้ตัวมาที่เธอ

"ตอนเราถามเพื่อนว่า ทำดีไหม เขาก็บอกทำเลยๆ แต่พอตำรวจมาถามว่าใครทำ ก็พากันตอบว่าอีนี่แหละทำ" จูนกล่าวเชิงติดตลก

จูนเล่าต่อว่าตำรวจไม่ได้ทำอะไรพนักงานหรือร้านของเธอ เพียงแต่มาตักเตือนว่าคราวหลังอย่าทำอีก อีกทั้งเจ้าของร้านยังสั่งให้เธอเดินสายขอโทษพนักงานคนอื่นๆ ภายในย่านที่ก่อความวุ่นวาย เธอกล่าวว่าบทเรียนสำคัญของเหตุการณ์นี้คือนอกจากเธอจะไม่สามารถไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐและเพื่อนร่วมงานได้แล้ว 'สื่อ' ก็ไว้ใจไม่ได้เช่นกัน เพราะตอนที่เธอส่งคลิปให้นักข่าว เธอขอให้มีการเบลอหน้าพนักงานภายในร้าน แต่เมื่อข่าวแพร่ออกไปกลับมีใบหน้าของพนักงานปรากฎอย่างชัดเจน หนำซ้ำสื่อบางสำนักยังเลือกที่จะเบลอหน้าชายที่เข้ามาเก็บเงิน แต่ไม่เบลอหน้าพนักงานอีกด้วย

แต่ก็ใช่ว่าเรื่องนี้จะไม่มีโชคดีเลยเสียทีเดียว เพราะหลังจากสื่อนำเสนอเรื่องราวดังกล่าว จำนวนหน่วยงานรัฐที่เข้ามาขอเก็บเงินจากทางร้านก็ค่อยๆ ลดลง จนทุกวันนี้เหลือเพียงแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อ่าวนางเท่านั้น นอกจากนี้ 'นายหัว' ซึ่งเป็นเจ้าของที่ย่าน RCA มาบอกกับเจ้าของร้านว่า สิ่งที่จูนทำนั้นดีแล้ว เพราะผ่านมาไม่มีใครกล้าออกมาต่อรอง สุดท้ายจูนจึงไม่ต้องขอโทษพนักงานคนอื่นๆ อีกทั้งนายหัวยังออกเงินให้บาร์ในย่าน RCA เอาไปซื้อกล้องวงจรปิดมาติดที่ร้านอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ คือ อบต.อ่าวนาง ทาง อบต. ยืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ กับเรื่องดังกล่าวโดยสุพจน์ ชดช้อย รักษาการแทนผู้อำนวยการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อบต.อ่าวนาง กล่าวว่าหน้าที่ในการดูแลสถานบริการเหล่านี้เป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่และปลัดอำเภอ หน้าที่ของ อบต. มีเพียงคอยตรวจดูว่าสถานบริการเหล่านี้มีการก่อสร้างถูกหลักสาธารณสุขและได้มาตรฐานความปลอดภัยหรือไม่เท่านั้น

"สถานบริการในอำเภออ่าวนางมีอยู่ 3 ส่วน หนึ่งคือโรงแรมระดับสี่ถึงห้าดาว มีประมาน 40 กว่าแห่ง สองคือโรงแรมขนาดเล็กกับรีสอร์ท อันนี้มีประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ของสถานบริการทั้งหมด และสามคือสถานบันเทิง ซึ่งจะมีถนนทั้งเส้นที่มีแต่ร้านแบบนี้ประมาน 13-14 ร้าน และตรงหน้าหาดอีกประมาน 4-5 ร้าน หน้าที่ของเราคือดูว่าเขาจดทะเบียนถูกต้องไหม มีการวางระบบความปลอดภัยมากเพียงพอไหม มีระบบกำจัดขยะที่ดีพอแล้วหรือยัง" สุพจน์กล่าว "จริงๆ ผมคิดว่ามีนักท่องเที่ยวน้อยรายนะที่จะมาอุดหนุนร้านแบบนี้ ส่วนใหญ่เท่าที่ผมเห็นคือจะไปซื้อเบียร์จากเซเว่นมานั่งกินริมหาดมากกว่า"

ส่วยถือเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนของการที่อาชีพพนักงานบริการเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทยแต่กลับมีสถานบริการตั้งอยู่อยู่อย่างดาษดื่น หากยึดเอาข้อมูลจำนวนสถานบริการของทาง อบต.อ่าวนาง คูณกับข้อมูลการจ่ายส่วยของจูน จะพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้สามารถทำเงินได้สูงถึง 800,000 บาทต่อเดือนจากส่วยของสถานบริการในอำเภออ่าวนางเพียงแห่งเดียว แถมเงินเหล่านี้ยังไม่มีการตรวจสอบว่าถูกใช้อย่างไรและใช้ไปกับเรื่องใด แต่พนักงานบริการในอำเภออ่าวนางยังถือว่าโชคดีในแง่ที่ว่าหากเจ้าของสถานบริการของพวกเธอสามารถทำให้เจ้าหน้าที่รัฐพึงพอใจได้ พวกเขาก็จะไม่เข้ามายุ่มย่ามกับชีวิตพวกเธอ

 

แต่สำหรับพนักงานบริการ 'บ้านสาว' ที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร พวกเธอยังคงต้องเผชิญการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐแม้เจ้าของร้านจะจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ถึงวันละ 3,000 บาทก็ตาม เพราะไม่ใช่เพียงแค่เงินเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่รัฐคอยเก็บเกี่ยวเอาจากเหล่าพนักงานบริการ 'ผลงาน' ก็เช่นกันท

ที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาครมีธุรกิจสีเทาขนาดใหญ่สองธุรกิจซ้อนทับกันอยู่ หนึ่งคือสถานบริการ 'บ้านสาว' และสองคือแรงงานข้ามชาติทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายที่เข้ามาทำงานที่ตลาดปลา ในสภาวะเทาซ้อนเทาเช่นนี้ เจ้าหน้าที่รัฐต้อง 'ทำงานหนักเป็นพิเศษ'

ปลาอดีตพนักงานบ้านสาวและอาสาสมัครมูลนิธิ Empower บอกกับเราว่า ทุกๆ คืน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะขับรถวนเข้าออกซอยละแวกบ้านสาว พวกเขาไม่ได้มองหาพนักงานบริการ แต่มองหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายที่ต้องการมาใช้บริการบ้านสาว หากพวกเขาไม่มีใบอนุญาตทำงาน เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าจับกุม ซึ่งแรงงานผู้โชคร้ายเหล่านี้มีอยู่สองทางเลือกคือไปเสียค่าปรับที่โรงพักหรือเสียค่าปรับที่ 'หน้าปากซอย' พูดง่ายๆ ก็คือ 'สินบน' นั่นเอง ในอดีต เจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ค่อยจะเข้ามายุ่งกับพนักงานบ้านสาวมากนัก เพราะลำพังแค่ตามจับแรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับพวกเขา

แต่เช่นเดียวกับชะตากรรมของพนักงานบริการในเชียงใหม่และกระบี่ ชีวิตของพวกเธอเปลี่ยนไปหลังการขึ้นสู่อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

"เมื่อก่อนเวลามีคนตีกันในร้าน โทรเรียกตำรวจ ต้องรอเป็นชั่วโมง จนไอ้คนที่ตีกันกลับบ้านกันไปหมดแล้ว ตำรวจถึงจะมา ทุกวันนี้เหรอ เจอบ่อยยิ่งกว่าผัวอีก"

ปลา (นามสมมติ) อดีตพนักงานบ้านสาวและอาสาสมัครมูลนิธิ Empower

 

ปลาบอกกับเราว่าความเปลี่ยนแปลงแรกที่เธอสังเกตเห็นคือค่าส่วย จากเดิมที่เคยจ่ายวันละ 2,000 บาทนิดๆ ก็ค่อยเพิ่มขึ้นมาเป็น 3,000 บาทในปัจจุบัน แต่ผลกระทบใหญ่ที่สุดคือการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว แรงงานข้ามชาติจำนวนมากซึ่งเป็นลูกค้าหลักของพนักงานบริการตัดสินใจเดินทางกลับประเทศ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวกำหนดอัตราโทษไว้สูง เทคะเนว่าทำให้ลูกค้าของพวกเธอหายไปถึง 40 เปอร์เซ็นต์ บ้านสาวที่เคยคึกคักชนิดที่ว่า 'คนเดินเบียดกันเหมือนงานวัด' กลับกลายเป็นซอยที่เงียบเหงา สวนทางกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานขยันขันแข็งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่คราวนี้เป้าหมายของพวกเขาคือพนักงานบริการ

"เมื่อก่อนเวลามีคนตีกันในร้าน โทรเรียกตำรวจ ต้องรอเป็นชั่วโมง จนไอ้คนที่ตีกันกลับบ้านกันไปหมดแล้ว ตำรวจถึงจะมา ทุกวันนี้เหรอ เจอบ่อยยิ่งกว่าผัวอีก" ปลากล่าวพร้อมหัวเราะ

ปลาบอกว่า หลังเกิดรัฐประหารเจ้าหน้าที่ตำรวจมักลงมาสุ่มตรวจพนักงานบ้านสาวบ่อยขึ้น โดยสิ่งที่พวกเขามองหาคือยาเสพติดและถุงยางอนามัย โดยเจ้าหน้าที่จะให้เหตุผลว่าการมีถุงยางเป็นการส่อว่าจะมีการค้าประเวณี หากโชคดีก็อาจจะเสียค่าปรับจำนวนเล็กน้อย แต่หากอยู่ในช่วงที่เจ้าหน้าที่ต้องการทำผลงานอาจจะถึงขั้นโดนสั่งปิดร้าน 2-3 วัน (แต่ยังต้องจ่ายส่วยรายวันอยู่) โดยในคืนต่อมาเจ้าหน้าที่จะมาถ่ายรูปที่หน้าร้านที่ถูกสั่งปิด เพื่อไปรายงานกับผู้บังคับบัญชาว่าได้ดำเนินการสั่งปิดสถานบริการในพื้นที่จริงๆ

ลูกค้าที่เป็นเยาวชนก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นกัน เนื่องจากเป็นสถานบริการราคาย่อมเยาว์ ที่นี่จึงเป็นสถานที่เสียบริสุทธิ์ หรือ 'ขึ้นครู' ของเด็กมัธยมจำนวนมาก ในอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยทำอะไรพวกเขา แต่เมื่อลูกค้าที่เป็นแรงงานข้ามชาติลดลง เจ้าหน้าที่จึงเริ่มเข้าไปขอตรวจบัตรประชาชนของลูกค้าที่เป็นเยาชนมากขึ้น คนที่อายุไม่ถึง 18 ปี ก็จะถูกนำตัวไปโรงพักหรือไม่ก็ 'หน้าปากซอย' ยานพาหนะของลูกค้าก็เช่นกัน หากเจ้าหน้าที่พบเห็นรถหรือมอเตอร์ไซค์แต่งที่ละเมิด พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ก็จะนำตัวเจ้าของรถไปเสียค่าปรับ การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นนี้ทำให้ลูกค้าที่มีน้อยอยู่แล้วยิ่งหดหายลงไปอีก

"เวลาลูกค้าเขามาเที่ยว เขาจะบอกกันปากต่อปาก ถ้าเขาบอกเพื่อนเขาว่ามาเที่ยวแล้วโดนจับ โดนตำรวจขอตรวจ โดนค้นตัว ใครมันจะอยากมา" ปลากล่าว

สอดคล้องกับจิ๋ว (นามสมมติ) เจ้าของกิจการบ้านสาวแห่งหนึ่ง เธอเห็นด้วยกับปลาในแง่ที่ว่าธุรกิจของเธอต้องประสบกับปัญหาหนักหลังการรัฐประหาร เธอเริ่มเปิดกิจการบ้านหญิงในช่วงปลายปี 2557 หลังรัฐประหารได้ไม่นาน กล่าวว่าในช่วงปีแรกของรัฐบาล คสช. ธุรกิจของเธอยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ทำให้รายได้ต่อเดือนของเธออยู่ 20,000 ถึง 30,000 บาท หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว และอาจสูงถึง 40,000 บาทในช่วงเทศกาล แต่เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 คสช. เริ่มดำเนินการปราบปรามแรงงานผิดฎหมายอย่างจริงจัง ทำให้ลูกค่าของเธอหายไปกว่าร้อยละ 90 หรือมากกว่านั้น จากรายได้ที่เคยเหยียบหลักหมื่น ทุกวันนี้กลายเป็นติดลบจนเธอต้องเอาเงินเก็บมาใช้ เธอกล่าวอีกด้วยว่าหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นจนถึงสิ้นปี เธอ และเจ้าของร้านอื่นๆ ในละแวก คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปิดกิจการ

"ถ้ามันยังเป็นแบบนี้อยู่ก็คงต้องปิด อยู่ไม่ได้หรอก มันต้องไปหางานอื่นทำ อย่างน้องเขา (พนักงาน) ถ้าได้แขกคืนละสองสามเที่ยวเขาก็ยังพออยู่ได้ แต่เราอยู่ไม่ได้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าส่วย ค่าเช่าที่วันละพันสาม เราก็ต้องหามาจ่าย สภาพตอนนี้มันยังพอหมุนได้ แต่ถ้ายังเป็นอย่างนี้ไปจนถึงสิ้นปีก็คงจะต้องปิดกันเป็นแถว

"ก่อนประยุทธ์มานะ ช่วงเงินเดือนออก เทศกาล วันหยุด ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ลูกค้าจะเยอะมาก คนในซอยแทบนี่จะเดินชนกัน พนักงานหวังกันหมดว่าจะได้เงิน ทุกวันนี้คือไม่ต้องหวัง แล้วแต่โชค จะสิ้นเดือน เสาร์อาทิตย์ ลูกค้าก็น้อย ยิ่งช่วงนี้ใกล้เปิดเทอมยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ เพราะต้องเก็บเงินส่งลูกไปโรงเรียนกัน" จิ๋วกล่าว

แม้แต่นอกเวลางานของพวกเธอ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มักจะมา 'ขอความร่วมมือ' จากพนักงานอยู่บ่อยๆ ปลากล่าวว่า หากตำรวจต้องการเพิ่มยอดคดีการปราบปรามการค้าประเวณีภายในพื้นที่ ก็จะมาขอให้แต่ละร้านส่งพนักงานไปร้านละคนหรือสองคน เพื่อไปกรอกประวัติที่โรงพัก โดยพวกเธอต้องแสตมป์ลายนิ้วมือและเสียค่าปรับอีก 100-200 บาท ถึงแม้จะเป็นจำนวนเงินไม่มาก แต่ชื่อของพวกเธอก็ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชีอาชญากรของรัฐไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงพฤติกรรมของตำรวจในท้องที่ ซึ่งเมื่อเทียบกับตำรวจจากส่วนกลาง เช่นสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์แล้ว ตำรวจในท้องที่ดูน่ารักไปเลย จิ๋วระบุว่าแม้เธอจะมีปัญหากับตำรวจท้องที่อยู่ตลอด แต่อย่างน้อยเธอก็ยังสามารถเจรจากับพวกเขาได้ เพราะสุดท้ายแล้วน้ำก็ต้องพึ่งเรือ เสือก็ต้องพึ่งป่า เวลาตำรวจท้องที่จะมีปฏิบัติการการกวาดจับจริงก็จะมีการส่งข่าวมาบอกพนักงานล่วงหน้า หรือหากมีเจ้าหน้าที่เข้ามาคุกคามพนักงานของเธอ เธอก็สามารถบอกให้นายใหญ่ของพวกเขาจัดการได้เช่นกัน

"เมื่อก่อนมีตำรวจคนหนึ่งมาติดติดใจเด็กที่ร้าน แล้วก็ชอบมาตอนเมา จะเอาเด็กเราออกไปข้างนอกให้ได้ พอเด็กเขาไม่ไปด้วยก็มาโวยวาย บอกว่าจะมาสั่งปิดร้าน เราก็หมั่นไส้มัน พอดีเรารู้จักกับผู้กอง เลยแอบอัดคลิปส่งไปเลย บอกอย่างนี้ไม่ไหวนะ ทำแบบนี้เราอยูู่ไม่ได้ ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยมายุ่งอีกเลย" จิ๋วระบุ

แต่สำหรับตำรวจจากส่วนกลาง เธอพวกเธอไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าพวกเขาจะลงพื้นที่เมื่อไหร่ ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะบุกเข้าไปค้นถึงด้านหลังร้านซึ่งเป็นส่วนห้องทำงานของพวกเธอ กรณีทีโชคร้ายที่สุดที่จิ๋วเจอคือ ตำรวจบุกจับในขณะที่พนักงานกำลังรับลูกค้า เธอโดนตั้งข้อหาค้ามนุษย์ ซึ่งต้องเสียค่าไถ่ตัวสูงถึง 50,000 บาท และนั่นคือการเสียค่าปรับที่ 'หน้าปากซอย'

"ตอนแรกเขาจะเอาทั้งเรา ทั้งเด็ก ทั้งลูกค้าไปด้วย เราก็บอกเอาเราไปคนเดียว เอาเด็กไว้นี่ ถ้าเอาเด็กไปด้วยร้านเราจะทำยังไง เราก็ขึ้นรถไป ยังไม่ทันจะพ้นหน้าปากซอยเลย เขาก็หันมาถามว่าเจ๊จะให้ได้เท่าไหร่ ตอนแรกเราบอกสองหมื่นก็เขาก็ไม่เอา เราบอกทั้งเนื้อทั้งตัวมีอยู่สามหมื่น เขาก็ยังไม่เอา เราก็ถามว่าพี่จะเอายังไง เขาบอกงั้นพี่ขอห้าหมื่นแล้วกัน เราก็โทรหาเด็กที่ร้านให้เรี่ยไรกันมาคนละพันสองพัน จนได้มาอีกสองหมื่น แล้วเราก็ให้เด็กเอาเงินมาให้ที่โรงพัก เขาถึงยอมปล่อยเรา"

ในสภาพที่ลูกค้าหดหายเช่นนี้ การหาเงินสองหมื่นมาคืนพนักงานเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับจิ๋ว แต่โชคชะตาก็ยังไม่ใจร้ายกับเธอนัก เพราะเธอ "ถูกหวย" เธอกล่าวว่าตอนที่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุม พวกเขาได้ยึดสมุดจดบันทึกการให้บริการของร้านไปด้วย ซึ่งด้านหลังสมุดมีโพยหวยที่จิ๋วจดไว้ก่อนจะส่งให้เจ้ามือ ในตอนแรก เจ้าหน้าที่จะตั้งข้อเล่นหวยใต้ดินอีกกระทงหนึ่งกับเธอ แต่เนื่องจากไม่มีหลักฐานการจ่ายเงิน โพยดังกล่าวก็เหมือนตัวเลขที่ไม่มีความหมาย เมื่อกลับมาที่ร้าน จิ๋วจึงตัดสินใจเพิ่มจำนวนเงินก่อนส่งก่อนส่งโพยหวยให้เจ้ามือ และผลก็คือเธอถูกหวย เธอจึงสามารถให้เงินมาคืนพนักงานได้ในเวลาอันรวดเร็ว เธอกล่าวว่าหากเธอไม่ถูกหวยงวดนั้น ร้านของเธออาจจะปิดกิจการไปแล้วก็ได้

การคุกคามที่มากขึ้นของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ กำลังทำให้ธุรกิจบริการทางเพศค่อยๆ ตายไปอย่างช้าๆ ปลากล่าวว่าสิ่งที่รัฐไทยกำลังทำอยู่นั้นไม่ต่างจากการค่อยๆ บีบให้เหล่าพนักงานไปประกอบอาชีพอื่น หรือออกไปทำงานนอกพื้นที่ อีกทั้งรัฐบาล คสช. ยังมองธุรกิจการค้าบริการเป็นบ่อเกิดของขบวนการค้ามนุษย์ที่ต้องได้รับการกำจัด แรงบีบที่เหล่าพนักงานบริการจะต้องแบกรับจึงมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น พนักงานหลายคนตัดสินใจเลิกมานั่งประจำที่บ้านสาวเพื่อหลีกเลี่ยงเจ้าหน้าที่รัฐ และหันไปรับงานผ่านทางออนไลน์ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกลูกค้าทำร้ายและการโดนล่อซื้อ ปลาจึงทำงานอาสาสมัครของเธอยากยิ่งขึ้น เพราะเธอไม่รู้ว่าจะไปตามตัวพนักงานจากที่ไหน เมื่อเราถามเธอว่าเคยคิดท้อแท้ หรือคิดอยากเลิกทำงานอาสาสมัครไหม เธอเพียงสั้นๆ ว่า "เคยสิ ช่วงนี้แหละ"

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการคุกคามและทัศนคติของภาครัฐเป็นปัญหาใหญ่ของพนักงานบริการไทย แต่จะกล่าวโทษรัฐเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะรัฐคงไม่สามารถดำเนินการปราบปรามพวกเธอได้ หากปราศจากเสียงสนับสนุนของคนในสังคมไทย ซึ่งก็มีทัศนคติแง่ลบต่อพวกเธอไม่ต่างจากรัฐ

แล้วสังคมไทยควรจะมองพวกเธออย่างไร?

แน่นอนว่าการมองแบบเหยียดและดูถูกว่าพวกเธอเป็น 'ผู้หญิงรักสบาย' 'แหล่งแพร่เชื้อ' หรือ 'ผู้หญิงสำส่อน' ล้วนแต่เป็นมุมมองที่ผิดจากความเป็นจริง และมีแต่จะกีดกันพวกเธอออกจากสังคมไปเรื่อยๆ แต่ขณะเดียว การมองว่าพวกเธอเป็น 'เหยื่อ' ของความยากจน เจ้าหน้าที่รัฐ สังคมชายเป็นใหญ่ และขบวนการค้ามนุษย์ ก็ผิดต่อความเป็นจริงและมิใช่ผลดีต่อพวกเธออีกเช่นกัน เพราะจะยิ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐไทยเข้าปราบปรามพวกเธอหนักยิ่งขึ้น

พนักงานบริการคนหนึ่งได้แนะนำทัศนติที่นักข่าวควรมีต่อพนักงานบริการเวลาเขียนเรื่องราวของพวกเธอ ซึ่งผู้เขียนได้ยึดมาเป็นหลักปฏิบัติตลอดการผลิตรายงานชิ้นนี้ และเชื่อว่านั่นอาจจะเป็นทัศนคติที่คนในสังคมควรมีต่อพวกเธอเช่นกัน เธอกล่าวว่า

"เวลาเขียนเรื่องของพวกเรา อย่ามองเราเป็นผู้หญิงไม่ดี เป็นผู้หญิงสำส่อน แต่ก็ไม่ต้องเขียนว่าพวกเราน่าสงสาร ต้องตกเป็นเหยื่อตลอดเวลา เขียนให้พวกเราเป็นแค่ผู้ใช้แรงงานคนหนึ่งที่ไม่ได้รับสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ แค่นั้นก็พอแล้ว"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาฯ เปลี่ยน พระบรมสาทิสลักษณ์ ร.9 เป็น ร.10 เหนือแท่นบัลลังก์ที่ประชุมรัฐสภา

Posted: 01 Nov 2017 10:47 AM PDT

เลขาฯสภาฯ ถวายสักการะพระบรมสาทิสลักษณ์ ร.9 พร้อมอัญเชิญจากห้องประชุมรัฐสภาและนำมาประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑ์รัฐสภา เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ อัญเชิญพระฉายาลักษณ์ ร.10 ขึ้นประดิษฐานเหนือแท่นบัลลังก์ที่ประชุมรัฐสภา   

ภาพจากเว็บไซต์ วิทยุรัฐสภา

1 พ.ย.2560 ทีมข่าววิทยุรัฐสภา รายงานว่า สรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นำพวงมาลัยดอกไม้ถวายสักการะพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อความเป็นสิริมงคล ภายหลังมีการอัญเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งประดิษฐานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2517 จากหลังบัลลังก์ห้องประชุมรัฐสภา มาประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑ์รัฐสภา เพื่อเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติและของชาติต่อไป พร้อมกันนี้ได้อัญเชิญพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นประดิษฐานเหนือแท่นบัลลังก์ที่ประชุมรัฐสภา   

เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้ตั้งจิตถวายสักการะพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้และขอพรให้การดำเนินการต่างๆ ของรัฐสภาเป็นไปอย่างราบรื่น  และปราศจากอุปสรรคใดๆ  

ภาพที่ประชุมสภาก่อนหน้านี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ชุมนุมไล่ผู้ว่าฯ เมืองชล เหตุไม่ปลื้มพิธีวางดอกไม้จันทน์ สลายตัว หลัง จนท.เเจ้งเป็นความผิด

Posted: 01 Nov 2017 10:35 AM PDT

ประชาชนชุมนุมไล่ผู้ว่าฯ จ.ชลบุรี เหตุไม่พอใจการจัดพิธีวางดอกไม้จันทน์ สลายตัว บอกพรุ่งนี้มาใหม่ หลังจนท.เเจ้งห้ามมีการชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปช่วงนี้ผิดกฎหมาย

เพจ Army Worldwide News โพสต์ภาพพร้อมรายงานว่า 20.34 น. กลุ่มประชาชนชาวชลบุรี ที่ไม่พอใจผู้ว่าฯ ชลบุรี ได้ตั้งแถวร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ก่อนประกาศนัดรวมตัวกันใหม่กันในพรุ่งนี้ และแยกย้ายกลับบ้าน ด้านตำรวจและฝ่ายปกครองยังเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และยังไม่มีการใช้มาตรการสลายการชุมนุม

 

1 พ.ย. 2560 จากกรณีประชาชน จ.ชลบุรี รวมตัวที่ศาลากลางชลบุรีประท้วงขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องจากเกิดปัญหาความไม่เรียบร้อยในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าร่วมการพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยวิจารณ์ว่า จัดงานได้ไม่ดี ทำให้ประชาชนหลายคนไม่ได้ถวายดอกไม้จันทน์ แถมการเข้าแถวก็เหมือนงูกินหาง นั้น

วันนี้ (1 พ.ย.60) มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 17.00 น. ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี ได้มีประชาชนในพื้นที่ จ.ชลบุรี ได้ทยอยเดินทางมาร่วมชุมนุม เนื่องจากมีการประสานงานทางไลน์ และเฟซบุ๊กว่าจะมีการชุมนุมไล่ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เนื่องจากไม่พอใจในการจัดงานถวายดอกไม้จันทน์ เพราะปล่อยให้ประชาชนเข้าแถวรอนาน แต่บรรดาข้าราชการได้วางดอกไม้จันทน์

รายงานข่าวระบุว่า ในการชุมนุมครั้งนี้ ได้มี อส. จังหวัดชลบุรี ได้เดินทางมาบอกกล่าวว่า ห้ามมีการชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปช่วงนี้ผิดกฎหมาย ทำให้ประชาชนหลายคนต่างเดินทางกลับบ้านพัก แต่มีผู้มาร่วมชุมนุมได้พยายามอ้างเหตุว่าจะมาถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับพระเมรุมาศจำลอง โดยมีบรรดา อส.และตำรวจนอกเครื่องแบบมารักษาความปลอดภัย แต่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น มีเพียงการจับกลุ่มพูดคุยถึงวันที่ 26 ตุลาคมจะมาถวายดอกไม้จันทน์ แต่รอนานจนเกิดความไม่พอใจ จึงได้มารวมตัวกันในครั้งนี้ จนกระทั่งถึงช่วงเวลา 20.30 น. กลุ่มผู้ที่มาชุมนุมต่างรวมตัว พร้อมทั้งร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.แรงงาน ลาออกยกทีม หลังอธิบดีฯ จัดหางาน โดนเด้งด้วย ม.44

Posted: 01 Nov 2017 06:55 AM PDT

หลังมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ปลด วรานนท์ พ้นจากอธิบดีกรมการจัดหางาน ต่อมา พล.อ.ศิริชัย รมว.แรงงาน พร้อมด้วย ทีมงานข้าราชการการเมืองกระทรวงยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งทุกคนด้วย

1 ต.ค. 2560 หลังจากที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยอาศัยมาตรา 44 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ปลด วรานนท์ ปีติวรรณ พ้นจากอธิบดีกรมการจัดหางาน มาดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงแรงงาน และให้อนุรักษ์ ทศรัตน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางานแทน นั้น

แฟ้มภาพ

สำนักข่าว INN รายงานว่า เมื่อช่วงเย็นได้มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่ากาารกระทรวงแรงงาน ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีฯ ภายหลังจากที่เข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น 

ต่อมา สำนักข่าว INN  รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ทีมงานของ พล.อ.ศิริชัย ยืนยันกับสำนักข่าว INN ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ส่วนสาเหตุของการลาออกนั้น ไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องรอให้ พล.อ.ศิริชัย เป็นผู้ชี้แจง 

เดลินิวส์ รายงานด้วยว่า นอกจาก พล.อ.ศิริชัย แล้ว ทีมข้าราชการการเมือง ประกอบด้วย พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ ผู้ช่วย รมว.แรงงาน นายอารักษ์ พรหมณี ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน พล.ท.ธนิต พิพิธวนิชการ เลขานุการ รมว.แรงงาน ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งทุกคน

โดยเมื่อเวลา 16.40 น.ได้มีหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ของ พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ ผู้ช่วย รมว.แรงงาน ออกมาปลิวว่อนในกระทรวงแรงงาน โดยหนังสือเลขที่ รง 0102.1 / 2202 ลงวันที่ 1 พ.ย. 2560 ที่กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง เรื่องขอลาออกตำแหน่ง มีใจความว่า กราบเรียนนายกรัฐมนตรี ตามที่กระผม พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงานนั้น กระผมมีความประสงค์จะขอลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2560 จึงเรียนมาเพื่อกรุณาพิจารณา ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ

ทั้งนี้ พล.อ.เจริญ ถือว่าเป็นมือขวาของ พล.อ.ศิริชัย และเป็นเพื่อนนายทหารที่สนิทสนมกันมาตั้งแต่ครองยศร้อยเอก เข้ามาเป็นผู้ช่วย รมว.แรงงาน เป็นระยะเวลา 2 ปี 2 เดือน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: เนื้อแท้ของศาสนาคือการเมือง

Posted: 01 Nov 2017 03:52 AM PDT

 



ในไทยแลนด์โอนลี่ มักมีการพูดตามๆ กันว่า "ศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง" แม้จะจริง แต่ก็ไม่จริงทั้งหมด ซ้ำยังยังเป็นการพูดกันบนมายาคติว่า ศาสนาที่แท้จริงเป็นสิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์ แต่การเมืองเป็นเรื่องสกปรก เมื่อดึงศาสนามาเกี่ยวกับการเมืองจึงทำให้ศาสนาสกปรกไปด้วย

แต่ที่จริง ศาสนามีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง การเมืองก็มีสองด้านเช่นกัน

ความย้อนแย้งของบรรดาผู้ที่พูดว่าศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ก็คือพวกเขามักเชื่อว่าศาสนาจะช่วยแก้ปัญหาการเมืองปัจจุบันได้ เช่นด้วยการทำให้ประชาธิปไตยมีธรรมาธิปไตย นักการเมืองเป็นคนดีมีจริยธรรม แต่เมื่อถามว่า ประวัติศาสตร์ของ "รัฐนาฏกรรม" ในเอเชียอาคเนย์ที่ผู้ปกครองเป็นธรรมราชาตามคติพุทธ และส่งเสริมความรุ่งเรืองของวังคู่กับวัดมาร่วมพันปี ทำไมถึงไม่ทำให้รัฐต่างๆ ในแถบนี้สามารถสร้างระบบการเมืองการปกครองได้ดีกว่าระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีธรรมาธิปไตย

บรรดาผู้ที่อ้างธรรมาธิปไตย ก็มักจะตอบหน้าตาเฉยว่า "นั่นเป็นเพียงการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่ใช่การปฏิบัติตามหลักศาสนาที่แท้จริง"

เพื่อเปิดเปลือยมายาคติดังกล่าว เราควรทำความเข้าใจความหมายและประวัติศาสตร์ศาสนาอย่างตรงไปตรงมา ที่เราเรียกกันว่า "ศาสนา" นั้น ชาวตะวันตกเรียก "Religion" หมายถึง ข้อผูกมัด, คำสั่ง, กฎของพระเจ้า ถ้าถือนิยามนี้อย่างเข้มงวด ย่อมหมายถึงศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว หรือเอกเทวนิยม แต่ในความหมายยืดหยุ่น ย่อมรวมถึงศาสนาที่นับถือเทพหลายองค์ หรือพหุเทวนิยมด้วย

ในอารยธรรมเมโสโปเตเมียและอียิปต์ ศาสนาพหุเทวนิยมสถาปนาระบบสังคมและการเมืองที่กำหนดว่า ชนชั้นปกครองถ้าไม่ใช่ผู้นำศาสนาที่เป็นทั้งนักบวชและผู้ปกครองในคนๆ เดียวกัน ก็จะเป็นกษัตริย์ที่เป็นโอรสของเทพ หรือเป็นเทพเองเลย โดยมีนักบวชเป็นฝ่ายสร้างสรรค์จรรโลงสถานะและอำนาจเหนือมนุษย์ธรรมดาของผู้ปกครอง นอกจากนี้ ศาสนายังเป็นที่มาของศีลธรรม ประเพณี ความอุดมสมบูรณ์ของผลิตผลการเกษตร ความรุ่งเรืองด้านศิลปวัฒนธรรม ตลอดทั้งระบบชนชั้นทางสังคม และการแบ่งชาติพันธุ์ ชนเผ่าที่นับถือเทพต่างๆ คำสนทนาที่คนยุคนี้ทำความรู้จักกัน คือ "เทพเจ้าของคุณคืออะไร" หรือ "คุณนับถือเทพเจ้าองค์ใด" เป็นต้น

แน่นอน เทพบนสวรรค์ย่อมทำสงครามกันเป็นปกติ และสงครามบนโลกมนุษย์ระหว่างฝ่ายที่นับถือเทพต่างกันก็เกิดขึ้นเป็นปกติเช่นกัน ซึ่งแปลว่า เทพบนสวรรค์เมื่อมีเวลาว่างจากการทำสงครามกันเอง ก็มักจะลงจากสวรรค์มาช่วยเหลือพวกมนุษย์ฝ่ายที่นับถือตนเองในการทำสงครามกับฝ่ายที่นับถือเทพองค์อื่นๆ เสมอ

ส่วนการเกิดขึ้นของศาสนาเอกเทวนิยม ก็เกิดขึ้นด้วยสายตาที่ดูแคลนความงมงายในความเชื่อเรื่องเทพหลายองค์ และรังเกียจการสร้างรูปเคารพของเทพที่มีอยู่ดาษดื่น พระเจ้าองค์เดียวคือใคร? ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์จะรู้เองได้ ต้องฟังเสียงของพระองค์ที่กระซิบ "ในหัว" ของศาสดาพยากรณ์ว่า "เราเป็นสิ่งซึ่งเราเป็น" และ "จงอย่าสร้างรูปเคารพใดๆ แทนตัวเรา"

คำสั่งห้ามสร้างสัญลักษณ์ใดๆ แทนพระเจ้ามีนัยสำคัญว่า พระเจ้าคือ "ความจริงแท้หนึ่งเดียว" ไม่มีสัญลักษณ์ใดแทนความจริงแท้ได้ การรู้จักสัญลักษณ์จึงไม่ใช่การรู้จักความจริง เหมือนคำว่า "น้ำ" เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่บ่งถึงบางอย่างที่มีความจริงของมันเองแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสัญลักษณ์ในภาษาที่ออกเสียงว่า "น้ำ, water และ ฯลฯ"

ด้วยเหตุนี้ ศาสนาเอกเทวนิยมในแง่หนึ่งก็เป็นศาสนาที่เรียกร้องศรัทธาสูงสุด แต่ศรัทธาสูงสุดนั้นคือศรัทธาต่อ "ความจริงแท้" จึงเป็นศรัทธาที่กลายเป็นพลังในการแสดงหาความจริง เพราะผู้นับถือศาสนาเอกเทวนิยมเชื่อว่า ตัวตนของเขามีอยู่จริง แต่ก่อนที่จะมีตัวตนของเขา โลก จักรวาลและสรรพสิ่งนั้น มีความจริงแท้เพียงหนึ่งเดียวคือพระเจ้า และพระองค์คือผู้สร้างตัวตนของเขาและสรรพสิ่งขึ้นมา

ฉะนั้นในหนังสือ "ศาสนา: ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์" ริชาร์ด ฮัลโลเวย์ จึงอุปมาอุปไมยว่า "มนุษย์คือตัวละครที่ถูกเขียนขึ้นโดยพระเจ้า" และศาสดาพยากรณ์ก็คือผู้ที่ติดต่อกับผู้เขียนนั้นได้ และย่อมเป็นไปได้เช่นกันที่ตัวละครอย่างเราๆ จะสามารถ "สัมผัส" กับผู้เขียนเรื่องราวของเราได้โดยตรง หากเรามีศรัทธาที่แน่วแน่แท้จริง

ดูเหมือนการนับถือพระเจ้าในฐานะความจริงแท้หนึ่งเดียว จะไม่เกี่ยวอะไรกับ "การเมือง" แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า ศาสนาพระเจ้าองค์เดียวเกิดจากการดูแคลนศาสนานับถือเทพหลายองค์ ดังนั้นในสายตาของพวกเอกเทวนิยมจึงมองพวกพหุนิยมเป็น "พวกนอกรีต" ซึ่งแน่นอนว่า พวกพหุนิยมก็ย่อมมองพวกเอกนิยมเป็นพวกนอกรีตเช่นกัน ฉะนั้นเนื้อแท้ของการกำเนิดศาสนา จึงเริ่มจากความเป็นการเมืองตั้งแต่แรก เพราะการนับถือเทพหลายองค์หรือนับถือพระเจ้าองค์เดียวมีความหมายสำคัญว่า เทพที่เรานับถือ หรือพระเจ้าที่เรานับถือเป็นเทพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดหรือเป็นพระเจ้าที่ยิ่งใหญ่สูงสุด และเทพหรือพระเจ้าที่ยิ่งใหญ่นั้นจะนำพาชาติพันธุ์ของเราผู้ซึ่งเชื่อฟังพระองค์ไปสู่ชัยชนะเหนือชาติพันธุ์อื่นๆ บนโลกนี้

ความขัดแย้งและสมรภูมิรบระหว่างพระเจ้าองค์เดียวกับเทพหลายองค์ เริ่มขึ้นตั้งแต่ยุคอับราฮัม ศาสดาพยากรณ์คนแรกที่ได้ยินเสียงพระเจ้าองค์เดียว เรื่อยมาถึงยุคโมเสสผู้นำชาวยิวอพยพหนีจากการตกเป็นทาสของพวกที่นับถือเทพหลายองค์ในอียิปต์มายาวนานกว่าสี่ร้อยปี เพื่อแสวงหา "แผ่นดินแห่งพันธสัญญา" ครั้นถึงยุคเยซู พระเจ้าก็ปรากฏขึ้นในร่างมนุษย์ในฐานะ "ผู้ไถ่บาป" แต่แล้วพระเจ้าในร่างมนุษย์ก็ถูกกล่าวหาว่า "ดูหมิ่นพระเจ้า" เสียเอง บวกกับการถูกกล่าวหาจากฝ่ายโรมันว่า เยซูประกาศตนเป็นกษัตริย์ของชาวยิว จึงถูกประหารชีวิตด้วยการตรึงกางเขน แต่พระเจ้าไม่ได้ตายถาวร พระองค์ฟื้นคืนชีพและเสด็จคืนสู่สวรรค์

เมื่อบรรดาผู้เผยแพร่ "พระวรสาร" ของพระเจ้าองค์เดียวเข้าไปสู่กรุงโรม พวกเขาย่อมเข้าไปด้วยสายตาดูแคลนความงมงายในความเชื่อเทพเจ้าหลายองค์ ซึ่งแน่นอนว่า ชาวโรมันย่อมมองว่าศาสนาพระเจ้าองค์เดียวเป็น "ภัยคุกคาม" แต่การเปลี่ยนศรัทธาของผู้เชื่อพระเจ้าองค์เดียวย่อมเป็นไปไม่ได้ วิธีปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมจึงตามมา ทว่าการฆ่าผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่พร้อมพลีชีพเพื่อพระเจ้านั้น ยิ่งฆ่าก็ยิ่งเพิ่ม ในที่สุดเมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินหันมานับถือคริสต์และก่อตั้งศาสนจักรคริสต์ขึ้น ศาสนาพระเจ้าองค์เดียวจึงมีอิทธิพลเหนือยุโรปตลอดยุคกลางร่วมพันปี ด้วยการสถาปนาระบบการปกครองสองระบบควบคู่กัน คือการปกครองทางโลก มีกษัตริย์ใช้อำนาจในนามพระเจ้า และการปกครองทางจิตวิญญาณ มีโป๊ปใช้อำนาจในนามพระเจ้าองค์เดียวกัน

หันมาดูอิสลามที่มูฮัมหมัดเป็นศาสนทูตองค์สุดท้าย ผู้ซึ่งได้ยินเสียงสวดที่เชื่อว่าเป็น "พระวจนะ" ของพระเจ้าโดยตรง ต่อมาเสียงสวดนั้นถูกบันทึกในคัมภัร์อัลกุรอาน แม้จะเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวเช่นกัน แต่มูฮัมหมัดไม่เห็นด้วยกับชาวคริสต์ที่แบ่งพระเจ้าเป็นสามภาคคือ "ตรีเอกานุภาพ" พระบิดา พระบุตร และพระจิต พระเจ้าองค์เดียวที่แท้จริงที่สุดคือ "อัลเลาะฮ์" เท่านั้น และคำสอนที่แท้จริงของพระองค์คือพระวจนะที่มูฮัมหมัดได้ฟังมาโดยตรงและถูกจดจำต่อมา จนนำมาบันทึกในอัลกุรอานเท่านั้น

สำหรับมูฮัมหมัดนั้น เป็นทั้งศาสนทูตและนักรบผู้นำทัพต่อสู้กับศัตรูของชาวมุสลิม ทั้งสองบทบาทนี้ไม่ได้ขัดกัน เนื่องจากศาสนากับการเมืองไม่อาจแยกจากกัน ฮัลโลเวย์อธิบายว่า เป้าหมายของอิสลามคือ "เปลี่ยนโลกให้หันมามองในมุมเดียวกับพวกเขา นั่นคือมุมมองเรื่องชุมชนหนึ่งเดียวหรือ อุมมะฮ์ (umma) ซึ่งหลอมรวมศรัทธาและการใช้ชีวิตเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว ในอุมมะฮ์ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างศาสนากับสังคม เพราะทั้งสองจะกลายเป็นสิ่งเดียวกัน"

แน่นอนว่า สงครามศักดิ์สิทธิ์หรือ "ญิฮาด" (jihad) เพื่อปกป้องมุสลิมย่อมเป็นสิ่งจำเป็น และสำหรับอัลเลาะฮ์นั้น ย่อมเป็นทั้งพระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมเมตตาและมีอำนาจลงโทษที่น่ากลัว พระองค์จึงเป็นพระเจ้าที่ชาวมุสลิมต้องน้อมยอมตนต่อพระประสงค์อย่างปราศจากข้อสงสัยใดๆ

มองมาที่ศาสนาในอารยธรรมอินเดีย แม้ชาวฮินดูจะเชื่อว่า พวกเขาถูกสร้างโดยพระเจ้า แต่ตัวตนของพวกเขาเป็นเพียง "มายาภาพ" เป้าหมายของพวกเขา คือการหลุดพ้นจากการยึดติดตัวตนที่เป็นมายาเพื่อเข้าสู่โมกษะหรือนิรวาน อันเป็นการสิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิดในตัวตนที่เป็นมายาภายใต้กฎแห่งกรรมในสังสารวัฏ

ความย้อนแย้งคือ ขณะที่พวกเขาเชื่อว่าไม่ควรยึดติดตัวตนที่เป็นมายาภาพ แต่พวกเขากลับยึดติดอย่างเข้มข้นว่า "ระบบวรรณะสี่" เป็นสิ่งที่พระพรหมผู้สร้างโลกกำหนดไว้อย่างตายตัว มนุษย์ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้

ระบบวรรณะสี่ จึงเป็นระบบสังคมการเมืองที่ศาสนาฮินดูสถาปนาขึ้น ถือว่ากษัตริย์และพราหมณ์คือชนชั้นปกครองที่สืบทอดอำนาจโดยชาติกำเนิด ขณะที่ชนชั้นผู้ถูกปกครอง คือไวศยะและศูทร เฉพาะศูทรนั้นคือทาส ดังนั้นศาสนาฮินดูจึงสถาปนา "ระบบทาส" ขึ้นมาด้วย

แต่ดูเหมือนว่าศาสดาใดๆ จะไม่ได้มองว่า "ระบบทาสผิดศีลธรรม" นักบุญเปาโลก็เคยนำทาสที่หนีเจ้านายมานับถือคริสต์ไปคืนเจ้านายเดิม พร้อมกับขอให้เจ้านายเมตตาต่อทาสด้วย ขณะที่นักบูญออกัสตินสอนว่า "ระบบทาสเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาเพื่อลงโทษต่อบาปของมนุษย์" พุทธศาสนาเองก็มีวรรณกรรมอมตะ "เวสสันดรชาดก" ที่พระโพธิสัตว์บริจาคลูกเป็นทาสเพื่อจะบรรลุพระโพธิญาณในอนาคต

แม้พุทธศาสนาจะไม่ได้สถาปนาระบบการเมืองการปกครองชัดเจนเท่าฮินดู, คริสต์, อิสลาม แต่ก็มีคำสอนในไตรปิฎกว่า "พุทธธรรมราชา" กับ "จักรพรรดิธรรมราชา" ควรทำหน้าที่โดยธรรมสนับสนุนกัน ประวัติศาสตร์รัฐพุทธศาสนาตั้งแต่ยุคอโศกเป็นต้นมาจนตลอดยุคกลาง ล้วนปรากฏมีธรรมราชาในรัฐนาฏกรรมต่างๆ ของอินเดีย ศรีลังกา พม่า กัมพูชา ไทย เป็นต้น ที่ถือว่าธรรมราชาเป็นพระโพธิสัตว์, สมมติเทพ,พระพุทธเจ้าอยู่หัว

ฉะนั้น โดยความหมายของศาสนาและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสนาตามที่กล่าวมา จึงไม่ใช่เพียงว่าศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างที่พูดๆ กัน ศาสนาต่างหากที่สถาปนาระบบการเมืองการปกครอง กระทั่งระบบทาสขึ้นมา

การแยกศาสนาจากรัฐ ตามแนวคิดโลกวิสัย (Secularism) จึงหมายถึง การแยกการเมืองการปกครองและเรื่องสาธารณะอื่นๆ ออกมาจากอำนาจทางศาสนา คือเปลี่ยนการเมืองการปกครองและเรื่องสาธารณะจากที่เคยขึ้นต่อข้อผูกมัด, คำสั่ง, กฎของพระเจ้า หรือความเชื่อทางศาสนาใดๆ มาเป็นการปกครองแบบทางโลก หรือ Secular ที่อยู่บนพื้นฐานของความมีเหตุผล ความเป็นวิทยาศาสตร์

สาระสำคัญของ Secular คือ มนุษย์สมัยใหม่ไม่ต้องการเป็นเพียงตัวละครที่ถูกเขียนขึ้นโดยผู้เขียนคือพระเจ้า (หรือกฎสังสารวัฏ) อีกต่อไป เพราะบทเรียนทางประวัติศาสตร์ยากจะหาข้อสรุปชัดเจนได้ว่า ตกลงมนุษย์เป็นตัวละครที่ถูกพระเจ้าเขียนขึ้น หรือมนุษย์เองเป็นผู้เขียนพระเจ้าขึ้นเป็นตัวละครที่ใช้อ้างกดหัวคนด้วยกัน ฉะนั้นการทำให้การเมืองและเรื่องสาธารณะอื่นๆ หลุดพ้นจากอำนาจศาสนามาเป็นเรื่อง Secular จึงหมายถึง การยอมรับตรงๆ ว่ามนุษย์คือผู้เขียนกฎของตัวเอง เราเป็นทั้งผู้ร่วมเขียนบทและเป็นตัวละครในโลกที่เป็นจริงทางการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา และอื่นๆ ที่เราร่วมกันสร้างขึ้นด้วยหลักความมีเหตุผล ความเป็นวิทยาศาสตร์ และการยืนยันสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีในตัวเอง

การเกิดขึ้นของวิถีโลกสมัยใหม่แบบ Secular ย่อมทำให้อิสลามที่ดำรงความเป็นศาสนาการเมืองแบบดั้งเดิมไว้มากที่สุด กลายเป็นศาสนาที่ "แปลกหน้า" และแน่นอนว่า ความเป็น Secular โดยเฉพาะ "เสรีนิยม" ย่อมเป็นสิ่งที่แปลกหน้าสำหรับหลักการอิสลามด้วยเช่นกัน

มองในแง่นี้ รากฐานของ Islamophobia จึงมาจาก "ความแปลกหน้า" ระหว่างกัน เมื่อเกิดเงื่อนไขบางอย่างที่กระตุ้นให้ความแปลกหน้ากลายเป็นความขัดแย้งและความรุนแรง ย่อมจะนำไปสู่การสร้างกระแส Islamophobia ได้ง่ายๆ (ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่า มีเพียงฝ่ายอิสลามที่ถูกระแวงและกลัว แต่ย่อมระแวงและกลัวกันทั้งสองฝ่าย หรือมากกว่า)

ส่วนพุทธไทยนั้น ภายใต้โลกสมัยใหม่แบบ Secular พุทธไทยได้กลายเป็นศาสนาที่สับสน ลักลั่นในเรื่อง "เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง" มีความพยายามหลอกตัวเองว่าไม่เกี่ยวการเมือง แต่องค์กรสงฆ์ยังเป็นองค์กรของรัฐ มีหน้าที่สนับสนุนอุดมการณ์รัฐ

พูดอีกอย่าง Secular แบบโลกสมัยใหม่ ได้ทำให้เราเห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของรัฐไทยว่า เป็น "รัฐกึ่งศาสนา" ที่ปกครองด้วยระบบอำนาจแบบรัฐนาฏกรรมอิงความเชื่อเรื่องสมมติเทพตามคติพุทธไทยซึ่ง "ควบขี่" กันไปกับการปกครองด้วยหลักการทางโลก

โดยมีนักบวชเป็นผู้ผลิตสร้างบทสวดสรรเสริญสมมติเทพ เทศนา และประกอบพิธีกรรมเชิดชูความศักดิ์สิทธิ์ของ "การแสดงนาฏกรรม" ทางอำนาจบารมี และศีลธรรม ความดีในสังคมที่ยังมองไม่เห็นทางออกว่า จะมีเสรีภาพและประชาธิปไตยในความหมายแบบโลกสมัยใหม่ได้อย่างไร

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดอาชีพแนะนำยาม 'ภัยแล้ง-น้ำท่วม-ราคาพืชผลตก' ของลุงตู่

Posted: 01 Nov 2017 03:26 AM PDT

เปิดอาชีพแนะนำของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อน้ำท่วมแนะให้ทำประมง เมื่อราคาข้าวตกแนะให้ปลูกหมามุ่ย เมื่อราคายางตกแนะปลูกมังคุด และเมื่อยามน้ำแล้งแนะให้เลี้ยงจิ้งหรีด-ปลูกถั่ว

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจชาวบ้านที่จังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยนอกจากการกล่าวถึงแผนการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยังขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดไปหาอาชีพเสริมในช่วงฤดูกาลน้ำท่วมให้กับประชาชนเพื่อมีรายได้ด้วย เช่น อาชีพของการประมง ด้วย จนต่อมาเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมกับข้อเสนอดังกล่าว
 
อย่างไรก็ตามตลอดเวลากว่า 3 ปี ของการบริหารรัฐบาลทหารนี้ มีความพยายามจัดการพื้นที่เกษตรหลายประการ เช่น การโซนนิ่งใช้น้ำ การพยายามผลักดันการค่าใช้น้ำด้านเกษตร เลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุดหนุนธุรกิจปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้เมื่อเผชิญปัญหานอกจากน้ำท่วมแล้ว ยังเผชิญกับภาวะภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ พล.อ.ประยุทธ์ มีข้อเสนอประกอบอาชีพหรือปลูกพืชอื่นอีก 

ทุเรียน-มังคุด

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา จากกรณีปัญหาราคายางพาราตกต่ำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากล่าวว่า รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ต้องยอมรับว่า ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งของไทยคือ ยังคงมีพื้นที่ปลูกยางมากเกินไป และยังพบว่ามีการปลูกในพื้นที่บุกรุกถึง 3 ล้านไร่ แต่รัฐบาลคงไม่สามารถสั่งให้หยุดปลูกได้ทั้งหมด เพราะจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความเดือดร้อน อยากให้เกษตรกรลดพื้นที่การปลูกยางลงและหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น ทุเรียน และมังคุดที่มีราคาสูง เพราะหากไม่เปลี่ยนแปลง ราคายางก็คงไม่สามารถขยับสูงไปมากกว่านี้ได้ 
 
ทั้งนี้ การปลูกพืชทดแทนนั้น ข้อวิจารณ์คือนอกจากต้องใช้เวลาในการปลูกเพื่อรอรับผลผลิตแล้ว ชื่อหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ แนะนำให้ปลูกทำแทนคือ 'มังคุด' โดยในวันเดียวกัน ช่อง 8 และมติชนออนไลน์ รายงานว่า 11 ก.ค.60 ธีระ วงษ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยคณะกรรมการสภาฯ ได้เข้าพบ วิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เพื่อยื่นหนังสือขอให้แก้ปัญหาราคามังคุดตกต่ำ เป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ หลังราคามังคุดลงต่ำลงอย่างมาก ซึ่งเป็นราคาไม่คุ้มต้นทุนการผลิต เช่นเดียวกับที่ จ.ตราด ที่ศาลา 100 ปี ตราดรำลึก หน้าศาลากลางจังหวัดตราด เกษตรกรชาวสวนมังคุด ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยแก้ดังกล่าวเช่นกัน

หมามุ่ย

และ หากย้อนกลับไป พล.อ.ปะยุทธ์ เคยแนะนำการปลูกพืชทดแทนเช่นกัน เมื่อครั้งที่มีปัญหาราคาข้าว 8 ก.ค.58 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้แนะนำชาวนา ว่า "ขณะเดียวกันวันนี้เราขายหมามุ่ยได้ก.ก.ละกว่า 800 บาท และเมื่อส่งไปประเทศอินเดียแล้วมีการแปรรูปกลับมาเป็นยา เป็นอะไรต่างๆ ราคาได้กลายเป็นก.ก.ละ 8 หมื่นบาท แล้วเหตุใดเรายังโง่ปลูกอย่างอื่นที่มีกำไรเพียงพันบาทหรือไม่กี่บาท แต่เราก็ต้องควบคุม อย่างไรก็ตามขณะนี้ข้าวของเรายังดีอยู่ ในส่วนที่เสียก็เป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาเป็นความคิดที่ไม่ถูกวิธีเพราะเราต้องทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนว่าถ้าจะทำให้คนเข้มแข็งต้องสอนวิธีการตกปลาให้เขา แต่ไม่ใช่ให้ปลาเขาไปกิน เรากำลังสอนให้เกษตรกรมีการเรียนรู้ เข้าถึงเครื่องจักรทางการเกษตร และที่ผ่านมารายได้มันต่ำจึงต้องกู้เงิน แล้วไร่นาก็ถูกยึด"

ต่อมา 14 ม.ค.59  ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ที่ จ.อำนาจเจริญ ได้มี สุนทร ลำงาม อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 47 ม. 9 ต.คำโพน อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ และเพื่อนเกษตรกรอีก 3 คน ได้เข้าพบผู้สื่อข่าวไทยรัฐเพื่อร้องทุกข์ผ่านไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ช่วยแก้ปัญหาหมามุ่ยที่พวกตนได้ปลูกทดแทนยางพาราที่ราคาตกต่ำตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ขณะนี้หมามุ่ยที่ปลูกสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว แต่ไม่มีตลาดรองรับ กล่าวคือปลูกได้ผลผลิตแล้วแต่ขายไม่ได้ จึงวอนให้นายกฯ หรือรัฐบาลหาตลาดให้ ตามที่เคยแนะนำเกษตรกรไว้

เลี้ยงจิ้งหรีด-ปลูกถั่ว

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.58พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ถึงการ แก้ไขปัญหาภัยแล้ง ช่วงนั้น โดยแนะชาวนาให้เลิกปลูกข้าว และให้ปรับปลูกพืชที่เหมาะกับน้ำน้อยทดแทน 

"ผมก็บอกว่าให้มีการปรับการปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ แล้วก็พื้นที่ด้วยนะ วันนี้ฝนตกฝนน้อยไม่เท่ากัน ระบบการส่งน้ำของชลประทานส่งได้ไม่เพียงพอ น้ำต้นทุนไม่มีนะ ท่านก็ต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชน้ำน้อย มีหลายพื้นที่นะครับ ผมเห็นเลี้ยงจิ้งหรีดก็มีปลูกอะไรล่ะ ปลูกถั่ว ปลูกผัก ปลูกอะไรเยอะแยะไปหมด แล้วก็มีรายได้ดีกว่าปลูกข้าวด้วยซ้ำไป เพราะบางทีมันปลูกข้าวแล้วมันก็ตาย ใช่ไหม พอน้ำมันขาด ตอนจะออกรวงก็ไม่ออก ไม่มีน้ำ มันก็ไม่ออก ก็แห้งตาย มันก็เป็นอย่างนี้ทุกปี แล้วเสร็จแล้วก็ต้องเยียวยา ช่วยเหลือ ท่านต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยนะครับ ถ้าท่านรู้ว่าท่านทำต่อไปแล้วเป็นหนี้เป็นสินเยอะๆ ท่านก็ต้องมาหาความรู้ เราไม่สามารถจะไปเดินบอกทุกบ้านได้ ทุกครอบครัวได้ ท่านต้องฟังนะครับ เพราะงั้นผมถึงบอกไง นี่คือสิ่งที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จะต้องเข้าในนโยบายของรัฐบาล แล้วก็นำไปบอกเล่ากัน ในการประชุมประจำเดือนของแต่ละตำบลแต่ละหมู่บ้าน หน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้าน หน้าที่ของสมาชิกต่างๆ นะครับ อบท. นี่เป็นผู้ที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ถ้าท่านไม่มีความรู้ ถ้าท่านไม่เอาสิ่งที่เป็นนโยบาย กำลังถ่ายทอดอยู่นี้ กำลังทำอยู่นี่ ไปสู่การปฏิบัติให้ได้ สร้างความเข้าใจประชาชนไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาอยู่แบบนี้  วันหน้าความเดือดร้อนก็กลับมาใหม่อีก แล้วเกิดปัญหาความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมมาตลอดนะ งั้นขอความกรุณาเถิดครับ ผมขอตรงนี้ ก็คงจะต้องร่วมมือกันต่อไปนะครับ อย่าไปขัดแย้งกันอีกเลยนะ เรื่องน้ำ เรื่องท่า การปล่อยน้ำ นี่ไม่ใช่ต้องให้ทหารไปดูทุกเรื่องนะ มันดูเหมือนต้องใช้อำนาจตลอดเลยในการทำงานไม่ได้นะครับ ก็ต้องช่วยกันนะ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขณะนั้น

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดโผ 11 แข้งตัวจริง 'กระทิงดุ-กาตาลุญญา' หากแยกประเทศสำเร็จ

Posted: 01 Nov 2017 03:06 AM PDT

สกายสปอร์ตเปิดโผแข้งสเปน-กาตาลุญญา ฟาเบรกัส ชาบี ปิเก้ เดโลเฟว ติดธงกาตาลุญญาตามคาด กระทิงดุนำโดยเซร์กิโอ รามอส อิเนียสตา โมราตา  เด เกอา เปิดสถิติย้อนหลัง 8 นัดหลังสุดสเปนข่มชัดเจน แพ้แค่นัดเดียวนอกนั้นชนะรวด 

เป็นเวลาหนึ่งเดือนพอดิบพอดี หลังจากแคว้นกาตาลุญญาจัดประชามติประเด็นการแยกตัวจากสเปน จากวันนั้นตามมาด้วยภาพการชุมนุมของผู้สนับสนุนการแยกตัวสลับไปกับภาพการชุมนุมของผู้สนับสนุนการอยู่กับสเปนต่อไป ในระดับการปกครองมีการเผชิญหน้าอย่างต่อเนื่องระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นที่นำโดยการ์เลส ปุกเดมอนต์ กับรัฐบาลกลางที่นำโดยมาริอาโน ราฮอย

(ล่าง)การ์เลส ปุกเดมอนด์ แถลงเรื่องการประกาศตัวเป็นเอกราชในรัฐสภากาตาลัน ปัจจุบันเจ้าตัวหลบหนีไปอยู่ที่ประเทศเบลเยียมหลังถูกรัฐบาลสเปนปลดจากตำแหน่ง (ที่มา: Parliament de Catalunya)

ล่าสุดรัฐบาลกลางได้บังคับใช้อำนาจตามมาตรา 155 แห่งรัฐธรรมนูญสเปนรวบเอาอำนาจบริหารแคว้นมาให้ขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง ล่าสุดรัฐบาลมาดริดเข้าควบคุมการบริหารราชการแคว้น สั่งปลดรัฐบาลทั้งชุดรวมถึงผู้บัญชาการตำรวจแคว้นหรือโมสโซส ประกาศให้มีเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 21 ธ.ค. นี้ ขณะเดียวกัน อัยการสูงสุดสเปนได้ขอให้ศาลมีหมายเรียกปุกเดมอนต์และคณะรัฐบาลอีก 14 คนขึ้นศาลในข้อหากบฏ ยุยงปลุกปั่นและใช้งบประมาณแผ่นดินในทางมิชอบ ซึ่งถ้าผิดจริงอาจมีโทษสูงสุดถึงจำคุก 30 ปี แต่ตอนนี้ปุกเดมอนต์และคณะรัฐมนตรีบางส่วนได้เดินทางหลบหนีไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. แล้ว

ผู้นำกาตาลุญญาหลบหนีไปเบลเยียมแล้วหลังอัยการสูงสุดขอศาลฟ้องสามข้อหา

ผลโหวตร้อยละ 90 หนุนกาตาลุญญาแยกตัว หลายฝ่ายกังวลปะทะเดือดวันลงคะแนน

5 เรื่องน่ารู้ เงื่อนไข ทางตันและทางออกก่อนกาตาลุญญาประกาศเอกราช

กาตาลุญญาถึงไทย: เข้าใจการเมืองเรื่องแคว้น บทเรียนของไทยจากสังคมที่โตแล้ว

นอกจากความขัดแย้งและเผชิญหน้าทางการเมืองแล้ว คนจำนวนมากยังให้ความสนใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับกีฬาฟุตบอล ปัจจุบัน ในลา ลีกา ที่เป็นลีกฟุตบอลสูงสุดของสเปนมีสามทีมที่มาจากแคว้นกาตาลุญญา ได้แก่บาร์เซโลนา เอฟซี เอสปันญอล และกิโรนา แคว้นกาตาลุญญายังเป็นแคว้นที่ให้กำเนิดนักเตะฝีเท้าดีให้กับทีมชาติสเปนเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นเชสก์ ฟาเบรกาส เซร์จิโอ บุสเกตต์ โจเซฟ 'เป๊ป' กวาดิโอลาร์ ชาบี เอร์นันเดซ เคราร์ด ปิเก้ ฯลฯ

ณภัทร พุ่มศิริ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย อดีตนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ณ เมืองบาร์เซโลนา ให้ความเห็นระหว่างเป็นวิทยากรในงานเสวนา "มากกว่าการเมืองร่วมสมัย? ร่วมกันเข้าใจสถนการณ์และความขัดแย้งสเปน-กาตาลูญญา" ว่าเป็นไปได้ที่ว่าบาซาร์จะได้ออกจากลา ลีกาไปเล่นที่ฝรั่งเศส เพราะสโมสรโมนาโกที่มาจากราชรัฐโมนาโกก็สามารถเล่นในลีกฝรั่งเศสได้ น่าจะมีทางออกให้เล่นกับสเปนได้ในส่วนอื่น หรืออาจจะเปลี่ยนเป็นลีกไอบีเรียที่เป็นภูมิภาคที่ตั้งของสเปนก็อาจเป็นไปได้เหมือนกัน

เคราร์ด ปิเก้ เซนเตอร์ฮาล์ฟทีมชาติสเปนจากบาร์เซโลนาที่เกิดในแคว้นกาตาลุญญาได้ออกความเห็นในช่วงที่มีประชามติแยกตัวว่า ถ้าทีมเห็นว่าตนเป็นปัญหากับทีมก็พร้อมที่จะเลิกเล่นทีมชาติก่อนฟุตบอลโลกปี 2018 จะเริ่มขึ้น ทั้งยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรการของรัฐบาลกลางที่ใช้ความรุนแรงขัดขวางการเดินทางไปลงประชามติ โดยสถิติของกระทรวงสาธารณสุขสเปนระบุว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 450 รายจากการปะทะในหลายพื้นที่ทั่วแคว้นกาตาลุญญา กระทรวงกิจการภายในของสเปนระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 11 ราย ในขณะที่ทางการท้องถิ่นของกาตาลันระบุว่ามีผู้บาดเจ็บมากกว่า 750 คน

File:Gerard Piqué Euro 2012 trophy.jpg

เคราร์ด ปิเก้ กับถ้วยยูโร 2012 (ที่มา:วิกิพีเดีย)

"ผู้คนเขามาประท้วงโดยไม่ได้ใช้ความรุนแรง ผมคิดว่าพวกเขา(รัฐบาลสเปน) จะพยายามหยุดยั้งการลงคะแนนเสียงด้วยสันติวิธี และทุกคนได้เห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น พวกเขาทำให้สถานการณ์แย่ลง นี่เป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่แย่ที่สุดใน 50 ปีที่ผ่านมา พวกเขาทำให้กาตาลุญญาแยกตัวไปจากสเปนมากกว่าเดิมและมันจะมีผลกระทบตามมา" เดอะการ์เดียนรายงานคำพูดของปิเก้ที่สะท้อนทัศนคติของหนึ่งในนักเตะตัวหลักของทีมกระทิงดุที่รับใช้ทีมชาติมากว่าร้อยนัดต่อประเด็นการเมืองที่แหลมคมถึงขั้นแบ่งแยกดินแดน

อีกคำถามที่ตามมาในกรณีที่ต้องแยกตัวออกไปทั้งทางภูมิรัฐศาสตร์และทีมฟุตบอลก็คือ โฉมหน้าของทีมชาติกาตาลุญญากับทีมชาติสเปนจะออกมาเป็นแบบไหน ใครจะเป็น 11 คนแรกของแต่ละทีมในกรณีนักเตะกาตาลุญญาต้องรับใช้ทีมชาติกาตาลุญญา

สกายสปอร์ต สื่อกีฬาจากสหราชอาณาจักรได้นำเสนอ 11 ตัวจริงของทั้งสองประเทศออกมาดังนี้

ทีมชาติกาตาลุญญา

ผู้รักษาประตู: กิโก กาซิญา

กองหลัง: ฆอร์ดี อัลบา, มาร์ค บาทรา, เคราร์ด ปิเก้, อเล็กซ์ บิดัล,

กองกลาง: เชสก์ ฟาเบรกาส, ชาบี เอร์นันเดซ, เซร์จิโอ บุสเกตต์

กองหน้า: คริสเตียน เตโญ, เคราร์ด โมเรโน, เคราร์ด เดโลเฟว

ทีมชาติสเปน

ผู้รักษาประตู: ดาบิด เด เกอา

กองหลัง: ดาเนียล การ์บาฆาล, เซร์จิโอ รามอส, นาโช่, เซซาร์ อัสปิลิกวยตา

กองกลาง: ซาอูล, อันเดรส อิเนียสตา, ดาบิด ซิลบา, อาเซนซิโอ, อิสโก

กองหน้า: อัลบาโร โมราตา

จากข้อมูลของวิกิพีเดียพบว่า แคว้นกาตาลุญญามีทีมฟุตบอลประจำแคว้นที่จัดตั้งโดยสหพันธ์ฟุตบอลกาตาลัน แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า และสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปหรือยูฟ่า นักเตะแคว้นกาตาลุญญาถือเป็นนักเตะทีมชาติสเปน ทีมแคว้นกาตาลุญญาเตะเปิดตัวในแมทช์นานาชาติเมื่อปี ค.ศ 1912 ด้วยการพ่ายแพ้ต่อฝรั่งเศสยับเยินถึง 7-0 คากรุงปารีส สถิติย้อนหลัง 8 นัดล่าสุดของทีมกาตาลุญญาในแมทช์นานาชาติพบว่า ชนะ 3 นัด เสมอ 4 นัด และแพ้ 1 นัด ดาวซัลโวสูงสุดของแคว้นคือเซร์จิโอ การ์เซีย กองหน้าจากสโมสรเอสปันญอล ยิงไป 9 ประตู

สำหรับทีมชาติสเปนนั้นได้รับการจัดตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 เล่นนัดแรกเอาชนะทีมชาติเดนมาร์กไปได้ 1-0 มีดาวซัลโวประจำทีมคือดาบิด บีญา ยิงไป 59 ประตู สถิติ 8 นัดหลังสุดพบว่าชนะ 7 นัด แพ้ 1 นัด

แปลและเรียบเรียงจาก

How could Catalonia line up? And what would Spain's national team look like?, Sky Sport, October 2, 2017

Barcelona's Gerard Piqué offers to end Spain career over Catalan turmoil, The Guardian, October 1, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่ง 42 ผู้ต้องหาตามหมายจับ หลังพบตัวที่จุดคัดกรองงานพระราชพิธีฯ ให้อัยการแล้ว

Posted: 01 Nov 2017 02:38 AM PDT

ผบ.ตร. เผยจับกุมผู้ต้องตามหมายจับในคดีอาญาและความมั่นคงได้รวม 42 คน ที่หน่วยคัดกรองบุคคลที่จะเข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ ขณะนี้ส่งตัวให้อัยการดำเนินคดีต่อแล้ว

1 พ.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วานนี้ (31 ต.ค.60) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ (ผบ.ตร. )เปิดเผยถึงการจับกุมผู้ต้องตามหมายจับในคดีอาญาและความมั่นคงได้รวม 42 คน ที่หน่วยคัดกรองบุคคลที่จะเข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ว่า ขณะนี้ส่งตัวให้อัยการดำเนินคดีต่อแล้ว เนื่องจากหมดระยะเวลาการควบคุมตัว และอยู่ในขั้นตอนของอัยการโดยผู้ต้องหาที่ถูกจับได้นั้น

เนื่องจากตำรวจได้ปิดพื้นที่ และคัดกรองบุคคลรวมทั้งตรวจสอบข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชน จนพบว่ามีหมายจับจึงควบคุมตัวมาสอบสวน ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวบุคคลตามหมายจับในคดีความมั่นคงได้ หลังจากนี้ตำรวจและหน่วยงานความมั่นคง ดูแลความปลอดภัยโดยรอบพื้นที่ท้องสนามหลวงต่อไป เนื่องจากจะยังคงมีการเปิดนิทรรศการพระเมรุมาศ ให้ประชาชนเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 2-30 พ.ย. โดยเป็นการตรวจสอบความเข้มงวดเทียบเท่ากับในวันพระราชพิธีดังกล่าว

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์ และเดลินิวส์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูนิเซฟชี้เด็กหลายล้านถูกคุกคามจากโทษที่รุนแรง ล่วงละเมิดทางเพศ จากคนใกล้ชิด

Posted: 01 Nov 2017 01:40 AM PDT

รายงานฉบับใหม่ของยูนิเซฟเผยยังมีเด็กจำนวนมหาศาลที่กำลังเผชิญกับความรุนแรง ซึ่งมักเกิดจากคนใกล้ชิดของเด็ก โดยเด็กบางคนมีอายุเพียง 12 เดือนเท่านั้น ไทยเด็กหญิง 9 ใน 10 ที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ ถูกกระทำโดยบุคคลที่เด็กรู้จั

 

ภาพจากยูนิเซฟ

1 พ.ย. 2560 รายงานข่าวจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย แจ้งว่า รายงานชื่อ A Familiar Face: Violence in the lives of children and adolescents (คนใกล้ตัว: ความรุนแรงในชีวิตของเด็กและวัยรุ่น) ระบุว่า เด็กอายุ 2-4 ปีจำนวน 3 ใน 4 คนหรือราว 300 ล้านคนทั่วโลกถูกพ่อแม่ผู้ปกครองกระทำรุนแรงทางจิตใจ และ/หรือถูกลงโทษทางร่างกาย นอกจากนี้ เด็กวัย 1 ปี เกือบ 1 ใน 4 คนถูกลงโทษโดยการจับเขย่า และเกือบ 1 ใน 10 คนถูกตบหรือตีที่ใบหน้า ศีรษะ หรือหู รายงานดังกล่าวยังระบุอีกด้วยว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีประมาณ 1 ใน 4 คน หรือราว 176 ล้านคนอาศัยอยู่กับแม่ซึ่งเป็นเหยื่อความรุนแรงจากคู่ครอง

สถานการณ์ในประเทศไทยก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยปี 2559 ที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติโดยการสนับสนุนของยูนิเซฟ พบว่า เด็กวัย 1-14 ปีจำนวน 3 ใน 4 คนถูกสมาชิกในครอบครัวลงโทษทางร่างกายหรือจิตใจ ผลการสำรวจยังพบว่าผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กเกือบครึ่งหนึ่ง เชื่อว่าการลงโทษทางกายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนเด็ก

โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า "ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหยุดมองว่าการทำโทษด้วยการใช้กำลังเป็นเรื่องปกติของการเลี้ยงดูเด็ก แต่เราควรหันมาใช้การสร้างวินัยเชิงบวกในการอบรมสั่งสอนเด็กแทน  เพราะนอกเหนือจากความเจ็บปวดระยะสั้นที่เด็กได้รับแล้ว ความรุนแรงอาจส่งผลเสียที่หนักหน่วงและยาวนานต่อพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาของเด็ก และอาจทำลายศักยภาพของพวกเขาไปตลอดชีวิต พวกเราทุกคนตั้งแต่ พ่อแม่ สมาชิกชุมชน ผู้กำหนดนโยบายและผู้นำทางสังคมล้วนมีบทบาทในการหยุดความรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบ"

การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทั้งหญิงและชายก็ยังคงเป็นปัญหาหลักทั่วโลก รายงาน "A Familiar Face" พบว่า มีเยาวชนหญิงอายุ 15-19 ปีจำนวน 15 ล้านคนถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ หรือถูกกระทำทางเพศอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ถูกกระทำโดยบุคคลที่เด็กรู้จัก ทว่ามีเพียงร้อยละ 1 ของเด็กเหล่านี้เท่านั้นที่ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับในประเทศไทยนั้น ข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขรวบรวมจากศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาล 523 แห่งทั่วประเทศในปี 2558 พบว่า เด็กจำนวนเกือบ 11,000 คน หรือราว 30 คนต่อวัน เข้ารับการรักษาพยาบาลจากการถูกกระทำรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ โดย 9 ใน 10 คนถูกกระทำโดยบุคคลที่เด็กรู้จั

"ภัยที่เกิดขึ้นกับเด็กทั่วโลกเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการที่เด็กทารกถูกตบหน้า เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือวัยรุ่นถูกฆาตกรรมในชุมชนของตนก็ตาม จะเห็นได้ว่าความรุนแรงต่อเด็กเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยแทบไม่มีขอบเขตจำกัด" คอร์นีเลียส วิลเลียมส์ หัวหน้าใหญ่ฝ่ายคุ้มครองเด็กของยูนิเซฟ กล่าว 

ยูนิเซฟเรียกร้องให้รัฐบาลในแต่ละประเทศดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก รวมถึงสนับสนุนแนวปฏิบัติ  'INSPIRE' ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากองค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ และพันธมิตรเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก (Global Partnership to End Violence Against Children) โดยมีข้อเสนอแนะในการดำเนินการดังต่อไปนี้

  • จัดทำแผนงานระดับชาติเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก ที่มีการประสานเชื่อมโยงภาคการศึกษา สวัสดิการทางสังคม ระบบสุขภาพ ระบบยุติธรรม รวมถึงชุมชนและตัวเด็กเอง
  • เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใหญ่ และจัดการกับปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงต่อเด็ก เช่น ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม ค่านิยมที่ยอมรับความรุนแรง การขาดกฎหมายและนโยบายที่เหมาะสม บริการรองรับที่ไม่เพียงพอ และการขาดการลงทุนในระบบที่ป้องกันและจัดการกับความรุนแรงอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ผลักดันการลดพฤติกรรมรุนแรง การลดความเหลื่อมล้ำ การจำกัดการเข้าถึงอาวุธปืนและอาวุธอื่นๆ ให้เป็นนโยบายแห่งชาติ
  • สร้างระบบบริการทางสังคมและฝึกอบรมนักสังคมสงเคราะห์ในการให้คำปรึกษาและบำบัดเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง รวมถึงการส่งต่อผู้เสียหายให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
  • ให้ความรู้แก่เด็ก ผู้ปกครอง ครู และสมาชิกในชุมชนเพื่อให้ตระหนักถึงความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมทั้งเสริมพลังให้มีการร้องเรียนและรายงานความรุนแรงได้อย่างปลอดภัย
  • เก็บรวบรวมข้อมูลด้านความรุนแรงต่อเด็กให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และตรวจสอบความคืบหน้าผ่านการติดตามและประเมินผลอย่างเป็นระบบ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอบโลกแรงงานตุลาคม 2017

Posted: 01 Nov 2017 01:21 AM PDT

สหภาพแรงงานในออสเตรเลียขู่บอยคอตไอศกรีม ค้านการลดค่าจ้างพนักงานถึง 46% ของบริษัทในเครือยูนิลีเวอร์

สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมการผลิตออสเตรเลีย (Australian Manufacturing Workers Union หรือ AMWU) ซึ่งเป็นตัวแทนพนักงานบริษัทสตรีท (Streets Ice Cream) เปิดเผยกระนั้นว่าจะทำการรณรงค์กระตุ้นให้ผู้บริโภคคว่ำบาตรไอศกรีมของบริษัทฯ เช่น ไอศกรีมยี่ห้อ Magnum Cornetto Paddle Pop และ Golden Gaytime เพื่อประท้วงการลดการจ่ายค่าจ้าง ซึ่งก่อนหน้าได้มีการเจรจาต่อรองเป็นเวลาถึง 16 เดือน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ยูนิลิเวอร์ (Unilever) บรรษัทข้ามชาติซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทสตรีท ให้ยกเลิกการไม่บังคับใช้ข้อตกลงของบริษัทฉบับปัจจุบัน ที่จะมีผลในเดือน เม.ย. ปีหน้า ซึ่งจะทำให้ค่าจ้างของพนักงานลดลงถึง 46%

สตีฟ เมอร์ฟี่ เลขาธิการ AMWU รัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่าสหภาพแรงงานจะไม่เรียกร้องการนัดหยุดงานของพนักงานโรงงานสตรีทในเมืองมินโต้ เขาระบุว่าอัตราค่าจ้างปัจจุบันจะถูกตัดลง 46%  จากการประชุมสมาชิกและพูดคุยกับคนงาน สมาชิกบางส่วนเป็นพนักงานที่จงรักภักดีต่อบริษัทมาก ซึ่งพวกเขาก็ไม่เชื่อว่ายูนิลิเวอร์จะทำเช่นนี้ ทั้ง ๆ ที่ทำงานที่นี่มาเป็นเวลา 20 ปี คนงานบางคนกล่าวว่าการตัดค่าจ้างเป็นการทำลายครอบครัวชัด ๆ เพราะพวกเขาจะไม่สามารถจ่ายค่าเช่าบ้านและค่าการศึกษาลูก รวมทั้งมาตรฐานความเป็นอยู่อย่างอื่นด้วย คนงานคนหนึ่งกล่าวว่าพวกเขาเป็นกังวลมากว่าจะเลี้ยงดูลูกที่เป็นออทิสติกได้อย่างไร  อีกคนหนึ่งบอกว่า พวกเขาอาจสูญเสียครอบครัว ถ้าบริษัทยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว

ที่มา: thenewdaily.com.au, 2/10/2017

'Facebook' รับพนักงานเพิ่ม 1,000 ตำแหน่ง ทำหน้าที่ตรวจสอบโฆษณาไม่เหมาะสม

บริษัท Facebook ประกาศแผนจ้างพนักงานเพิ่ม 1,000 คนในปีหน้า ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบโฆษณาต่างๆ เพื่อรับประกันว่าโฆษณาเหล่านั้นเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของ Facebook มาตรการใหม่ของ Facebook ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามป้องกันไม่ให้รัสเซียและประเทศอื่นๆ ใช้ Facebook เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงการเลือกตั้ง

ก่อนหน้านี้ Facebook เปิดเผยว่า บัญชีในรัสเซียได้ซื้อโฆษณาใน Facebook ราว 3,000 ชิ้น เพื่อใช้เผยแพร่แนวคิดที่ทำให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองในสหรัฐฯ ทั้งก่อนหน้าและหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปลายปีที่แล้ว นอกจากจ้างพนักงานเพิ่ม 1,000 ตำแหน่งแล้ว Facebook ยังจะลงทุนพัฒนาซอฟท์แวร์ที่สามารถตรวจจับและลบโฆษณาที่ไม่เหมาะสมได้โดยอัตโนมัติด้วยปัจจุบัน เครือข่ายสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งนี้ มีพนักงานเกือบ 20,000 คน ไม่รวมพนักงานชั่วคราว

ที่มา: voathai.com, 3/10/2017

ญี่ปุ่นรับผู้ลี้ภัยเพียง 3 คนในช่วงครึ่งปี 2017

ญี่ปุ่นรับผู้ลี้ภัยเพียง 3 คน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2017 จากจำนวนผู้ของยื่นลี้ภัยมากถึง 8,561 คน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างไม่เต็มใจนักต่อการรับผู้อพยพ ก่อนหน้าในปี 2016 ที่ผ่านมารายงานจากกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่นชี้ให้เห็นว่ามีผู้ลี้ภัยเพียง 4 คน จากจำนวนผู้ขอยื่นลี้ภัยมากถึง 5,011 คน

ที่มา: japantoday.com, 4/10/2017

NHK ยอมรับนักข่าวหญิงในสังกัดทำงานหนักจนเสียชีวิต

สถานีโทรทัศน์ NHK ออกมายอมรับว่า มิวะ ซาโดะ ผู้ประกาศข่าวหญิงวัย 31 ปี ในสังกัด เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลว หลังจากเธอทำงานหนักเกินเหตุ โดย NHK ระบุว่า เธอลาหยุดเพียงแค่ 2 วันต่อเดือนและทำงานล่วงเวลามากถึง 159 ชั่วโมงในหนึ่งเดือน เฉลี่ยแล้วเธอทำโอทีวันละเกือบ 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ NHK เพิ่งมาเปิดเผยเรื่องนี้ หลังจากที่เธอเสียชีวิตไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ทั้งนี้เพราะพ่อแม่ของซาโดะเรียกร้องให้สถานีเปิดเผยเรื่องราวของซาโดะเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างและไม่อยากให้ใครต้องมาเสียชีวิตเพราะทำงานหนักอีก

ที่มา: japantimes.co.jp, 5/10/2560

กัมพูชาขึ้นค่าแรงภาคสิ่งทอเดือน ม.ค. 2018

นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ตอบสนองเสียงเรียกร้องของสหภาพแรงงานสิ่งทอที่เป็นฐานเสียงสำคัญสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปปีหน้า ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ เดือนละ 17 ดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 153 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 170 ดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. 2018

ที่มา: xinhuanet.com, 6/10/2017

พนง.เวียดนามร่วม 8,000 คน ผละงานประท้วงบริษัทฯ ห้ามจอดรถในโรงงาน

พนักงานบริษัท วีนัส เวียดนาม (Venus Vietnam Footwear Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรองเท้าในเวียดนามร่วม 8,000 คน ได้ผละงานประท้วงนายจ้างห้ามจอดรถบริเวณรั้วโรงงาน บีบให้ต้องจ่ายค่าจอดรถสาธารณะ บริษัทแห่งนี้เปิดทำการผลิตมา 2 ปีนั้น ได้ประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า พนักงานจะไม่ได้รับอนุญาตนำจักรยานเข้ามาจอดในรั้วโรงงานอีก ซึ่งทำให้อัตราค่าจอดจักรยานในพื้นที่พุ่งขึ้น 2 เท่าจาก 2.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ  ต่อเดือนเป็น 4.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: libcom.org, 6/10/2017

แรงงานอเมริกันเรียกร้องตั้ง 'สหภาพแรงงาน' ที่โรงงานกระจกจีนในรัฐโอไฮโอ

บริษัทจีนที่ลงทุนตั้งโรงงานในสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับความท้าทายเรื่องสหภาพแรงงาน หลังจากที่พนักงานที่โรงงานผลิตกระจก Fuyao Glass ที่เมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ กำลังพยายามจัดตั้งสหภาพแรงงานที่โรงงานดังกล่าว บริษัท Fuyao Glass เข้ามาตั้งโรงงานในสหรัฐฯ เมื่อ 2 ปีก่อน ด้วยเงินลงทุน 600 ล้านดอลลาร์ และมีการจ้างงานราว 2,000 ตำแหน่ง แต่ที่ผ่านมา โรงงานแห่งนี้มักถูกกล่าวหาว่าละเมิดระเบียบปฏิบัติด้านความปลอดภัยสำหรับแรงงาน ซึ่งลูกจ้างบอกว่าเกิดจากวัฒนธรรมการทำงานที่ต่างกันของคนอเมริกันและคนจีน

ก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้ส่งผู้ตรวจสอบไปยังโรงงาน Fuyao บ่อยครั้ง และบริษัทถูกปรับไปแล้วกว่า 100,000 ดอลลาร์ ฐานละเมิดข้อกำหนดด้านความปลอดภัย นำไปสู่การรณรงค์ให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานดังกล่าว

ที่มา: voathai.com, 11/10/2017

ยืนยันคนงานก่อสร้างสนามโอลิมปิกโตเกียว 2020 ฆ่าตัวตายเหตุเพราะความเครียดจากการทำงานหนัก

กระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นยอมรับอย่างเป็นทางการว่าชายชาวญี่ปุ่นไม่เปิดเผยชื่อ อายุ 23 ปี ที่เป็นคนงานก่อสร้างสนามกีฬาแข่งขันโอลิมปิกปี 2020 ที่ฆ่าตัวตายเมื่อเดือน เม.ย.2017 ที่ผ่านมา ชายคนดังกล่าวฆ่าตัวตาย เพราะมีอาการทางจิตซึ่งเกิดจากการทำงานหนักเกินไปจนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ 1 เดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิตเขาทำงานล่วงเวลานานถึง 200 ชั่วโมง

ที่มา: channelnewsasia.com, 11/10/2017

บริษัทผลิตรถไฟฟ้า Tesla เลิกจ้างพนักงาน 400 คน

มีรายงานข่าวระบุว่า บริษัทผลิตรถไฟฟ้า Tesla ของสหรัฐฯ ได้เลิกจ้างพนักงานตั้งแต่พนักงานระดับปฏิบัติงานไปจนถึงหัวหน้างานประมาณ 400 คน ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือน ต.ค. 2017 Tesla แจ้งว่า มีปัญหาติดขัดในการผลิตทำให้ไม่สามารถเร่งผลิตรถรุ่นใหม่ 'Model 3' ได้ตามแผนที่วางไว้

ที่มา: businessinsider.com, 13/10/2017

'พนักงานดิสนีย์' ปิดถนนเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรม

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2017 พนักงานดิสนีย์ราว 1,200 คน ได้ปิดกั้นการจราจรบนทางแยกของถนน Stage 535 ในช่วงเวลาเร่งด่วนและปิดกั้นสี่แยก ด้านนอกของบริษัทดิสนีย์ เป็นเวลา 7 นาทีเพื่อประท้วงค่าจ้างที่เป็นอยู่

ผู้นำสหภาพแรงงานกล่าวว่าพนักงานของดิสนีย์แทบจะทำงานหาเลี้ยงชีพไม่เพียงพอ โดยพวกเขาทำงานได้เพียงชั่วโมงละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ และข้อเรียกร้องของการประท้วงคือการทำงานได้ค่าตอบแทนชั่วโมงละ 13 ดอลลาร์สหรัฐฯ

โฆษกบริษัทดิสนีย์ กล่าวว่าพนักงานมีรายได้สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงของรัฐฟลอริดาอยู่ 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ บริษัทฯ ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า "บริษัทเห็นด้วยที่พนักงานสมควรจะได้รับค่าจ้างสูงขึ้น เราจึงเสนอให้ขึ้นไปจนถึง 5% ในช่วง 2 ปีจากนี้"

แต่พนักงานที่ออกมาประท้วงระบุว่ามันยังไม่เพียงพอ การขึ้นค่าจ้าง 2%-2.5% ของ 10 ดอลล่าร์ มันก็เท่ากับว่าพนักงานจะได้แค่ 10.25 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น ซึ่งมันไม่มากเลย ซึ่งพนักงานก็ยังมีแผนจะชุมนุมประท้วงอีกในคราวต่อไป

ที่มา: fox35orlando.com, 19/10/2017

พนักงานบริษัทรับจ้างผลิต iPhone ในจีนประท้วงไม่ได้โบนัส

พนักงานร่วมร้อยพากันหลั่งไหลสู่ท้องถนนตอนกลางคืนเพื่อปิดกั้นทางเข้าโรงงานผลิตไอโฟน (iPhone) ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของประเทศจีน ประท้วงการไม่ได้รับโบนัส เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2017 ที่ผ่านมา บริษัทจาบิล (Jabil Inc.,) ผู้ดำเนินธุรกิจโรงงานกรีนพอยท์ (Green Point) เมืองอู๋ซี (Wuxi) กล่าวว่ามีคนงานเพียง 20 คนจากทั้งหมด 40 คนที่ประท้วง ส่วนที่เหลือเป็นคนงานกะกลางคืนที่พยายามจะเข้าไปทำงาน แต่สัญญาว่าจะแก้ไขปัญหาข้อพิพาทค่าจ้าง

โฆษกบริษัทจาบิลกล่าวว่า "ตราบใดที่คนงานสามารถแสดงหลักฐานสัญญาจากนายหน้าจัดหางานของบริษัทได้ เราก็จะจ่ายโบนัสให้ตามสัญญานั้น" ทั้งนี้ในแถลงการณ์ของบริษัทจาบิล ระบุว่าบริษัทจะจ่ายเงินให้กับคนงานทุกคนตรงเวลาและเป็นธรรม จากอีเมล์ของแอปเปิล (Apple) ถึงองค์กร China Labor Watch ระบุว่าแอปเปิลกำลังดำเนินการสอบสวนและสัญญาว่าคนงานจะได้รับการชดเชย "เรากำลังขอให้บริษัทจาบิล ส่งรายงานสำรวจช่องว่างของการจ่ายโบนัสและบริษัทต้องทำแผนปฏิบัติการให้ลูกจ้างทุกคนได้รับโบนัสโดยทันที"

ที่มา: phys.org, 19/10/2017

กาตาร์ประกาศกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นครั้งแรก

กาตาร์ได้ให้สัญญาจะปฏิรูปกฎหมายแรงงานหลายข้อ รวมถึงการเริ่มใช้ข้อกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ หลังจากที่ถูกต่างชาติวิจารณ์ เรื่องการเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 การประกาศนี้ มีขึ้น 1 วันก่อนหน้าการประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งเคยเตือนการตาร์เรื่องการกระทำที่ทารุณต่อแรงงานต่างชาติ ด้านสมาพันธ์สหภาพแรงงานนานาชาติ (ITUC) ออกมาขานรับความเคลื่อนไหวนี้ โดยนางชารัน เบอร์โรว เลขาธิการไอซีทียู ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นสัญญาณของการเริ่มปฏิรูปที่แท้จริง และจะช่วยยุติการใช้แรงงานทาสในยุคสมัยใหม่ได้

ILO ซึ่งเป็นองค์กรของยูเอ็น ได้ขีดเส้นตายให้กาตาร์พิสูจน์ว่ามีความคืบหน้าในด้านสิทธิแรงงาน และอาจเปิดการไต่สวนอย่างเป็นทางการได้ ซึ่งการประชุมของ ILO จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 26 ต.ค.- 9 พ.ย. นี้

ที่มา: bbc.com, 26/10/2017

โรงงานพลุระเบิดในอินโดนีเซีย

เกิดเหตุโรงงานพลุระเบิดทางตะวันตกของกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 47 คน เหตุระเบิดเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 9 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น ที่นิคมอุตสาหกรรมตังกรังทางตะวันตกของกรุงจาการ์ตา ภาพจากสถานีโทรทัศน์แสดงให้เห็นกลุ่มควันดำที่พวยพุ่งขึ้นมาจากโรงงาน ขณะนี้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้แล้ว แต่จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่แน่นอนยังไม่ได้รับการยืนยัน

นิโค อาฟินตา ผู้อำนวยการฝ่ายอาชญากรรมทั่วไปของตำรวจจาการ์ตา เปิดเผยต่อสถานีโทรทัศน์คอมปาสทีวีของอินโดนีเซียว่า "มีคนงาน 103 คนที่ทำงานในโรงงานแห่งนี้" เขาระบุว่า มี 43 คนได้รับบาดเจ็บ และกำลังได้รับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 3 แห่ง

ที่มา: bbc.com, 26/10/2017

Nikon ปิดโรงงานกล้องดิจิตอลในจีน

บริษัทผู้ผลิตกล้องถ่ายรูปชื่อดัง Nikon เปิดเผยว่าบริษัทได้หยุดการดำเนินงานโรงงานผลิตกล้องดิจิตอลในเมืองอู๋ซี มณฑลเจียงซู ประเทศจีนซึ่งมีพนักงานราว 2,500 คน แล้ว หลังความนิยมใช้สมาร์ทโฟนถ่ายภาพเข้ามามีผลทำลายตลาดกล้องดิจิทัล

ที่มา: nikkei.com, 30/10/2017

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กก.นักนิติสากล ยินดีกับคําสั่งยุติดำเนินคดี 3 นักสิทธิฯ ปมแฉซ้อมทรมานชายแดนใต้

Posted: 01 Nov 2017 01:16 AM PDT

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล แถลงยินดีที่อัยการจังหวัดปัตตานีมีคําสั่งให้ยุติการดําเนินคดีอาญากับ 3 นักปกป้องสิทธิฯ กรณีรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติ ชายแดนใต้

แฟ้มภาพ

1 พ.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (1 พ.ย.60) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ได้ออกแถลงการณ์เพื่อแสดงความยินดีที่อัยการจังหวัดปัตตานีมีคําสั่งให้ยุติการดําเนินคดีอาญากับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงทั้งสามท่านซึ่งได้ร้องเรียนถึงกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย อันได้แก่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ สมชาย หอมลออ และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ

ความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ICJ ระบุว่า ในวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สํานักงานอัยการภาค 9 รักษาการในตําแหน่ง อัยการจังหวัดปัตตานีมีหนังสือถึงผู้กํากับการสถานีตํารวจภูธรเมืองปัตตานีเพื่อแจ้งคําสั่งยุติการดําเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสาม ในความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาและความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ก่อนหน้านี้ไอซีเจได้แสดงความกังวลว่าการดําเนินคดีดังกล่าวไม่มีเหตุผลอันสมควรและไม่ถูกต้องนักและยังทําให้เกิดผลกระทบคุกคามต่อการทํางานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
 
"แม้เรามีความยินดีต่อการมีคําสั่งยุติการดําเนินคดีดังกล่าว แต่การดําเนินคดีที่ได้ผ่านมาแล้วนั้นได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อผู้ที่ร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น การทรมานและการประติบัติที่โหดร้าย ภาคประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งจําเป็นต้องได้รับการแก้ไข" นายคิงสลี่ย์แอ๊บบอต (Kingsley Abbott) ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโสภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว "สิ่งสําคัญที่จําเป็นจะต้องกระทําคือการออกกฎหมายที่กําหนดให้กาทรมานและการประติบัติอย่างทารุณเป็นความผิดทางอาญา และให้ความคุ้มครองต่อผู้ที่ต้องการดําเนินการร้องเรียนการละเมิดดังกล่าวอย่างจริงจัง"

คดีดังกล่าว สืบเนื่องมาจากกรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า โดย พ.ท.เศรษฐสิทธิ์ แก้วคูณเมือง ร้องทุกข์ ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ปัตตานีเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2559 ให้ดำเนินคดีกับสามนักสิทธิมนุษยชน ในข้อหาความผิดร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เนื่องจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้จัดพิมพ์และเผยแพร่รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558 โดย ต่อมา กอ.รมน. ภาค 4  ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2560 ที่โรงแรมสุโกศล กรุงเทพ ว่าไม่ติดใจดำเนินคดีกับสามนักสิทธิฯไปในทุกข้อหา และจะดำเนินการถอนคำแจ้งความร้องทุกข์ดังกล่าวต่อไป แต่เมื่อทนายความได้พบกับพนักงานอัยการ กลับพบว่า ขณะนี้ กอ.รมน. ยังไม่ได้ถอนคำแจ้งความร้องทุกข์แต่อย่างใด ซึ่งการถอนคำแจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้ จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) หรือผู้บัญชาการทหารบกในฐานะ รอง ผอ.รมน. เป็นผู้ลงนาม และ กอ.รมน.ภาค 4 จะต้องส่งหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแก่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการประกอบการถอนแจ้งความร้องทุกข์คดีดังกล่าว

รายละเอียดแถลงการณ์ของ ICJ :

ประเทศไทย: ไอซีเจยินดีกับคําสั่งยุติการดําเนินคดีกับนักปกป้องปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสาม ซึ่งได้ร้องเรียนว่ามีกรณีต้องสงสัยว่ามีการกระทําการซ้อมทรมาน

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ไอซีเจ) ยินดีที่ อัยการจังหวัดปัตตานีมีคําสั่งให้ยุติการดําเนินคดีอาญากับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงทั้งสามท่านซึ่งได้ ร้องเรียนถึงกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย อันได้แก่ นางสาวพร เพ็ญ คงขจรเกียรตินายสมชาย หอมลออ และ นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ

ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560 อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สํานักงานอัยการภาค 9 รักษาการใน ตําแหน่ง อัยการจังหวัดปัตตานีมีหนังสือถึงผู้กํากับการสถานีตํารวจภูธรเมืองปัตตานีเพื่อแจ้งคําสั่งยุติการ ดําเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสาม ในความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาและความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ก่อนหน้านี้ไอซีเจได้แสดงความกังวลว่าการดําเนินคดีดังกล่าวไม่มีเหตุผลอันสมควรและไม่ถูกต้องนัก และยังทําให้เกิดผลกระทบคุกคามต่อการทํางานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

"แม้เรามีความยินดีต่อการมีคําสั่งยุติการดําเนินคดีดังกล่าว แต่การดําเนินคดีที่ได้ผ่านมาแล้วนั้นได้ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อผู้ที่ร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น การ ทรมานและการประติบัติที่โหดร้าย ภาคประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่ง จําเป็นต้องได้รับการแก้ไข" นายคิงสลี่ย์แอ๊บบอต (Kingsley Abbott) ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ อาวุโสภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว "สิ่งสําคัญที่จําเป็นจะต้องกระทําคือการออกกฎหมายที่ กําหนดให้กาทรมานและการประติบัติอย่างทารุณเป็นความผิดทางอาญา และให้ความคุ้มครองต่อผู้ที่ต้องการ ดําเนินการร้องเรียนการละเมิดดังกล่าวอย่างจริงจัง"

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2560 สํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติออก แถลงการณ์ว่าได้รับแจ้งจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ว่าจะไม่มีการผ่านร่างกฎหมายที่จะกําหนดให้การทรมานและบังคับสูญหายเป็นความผิดทางอาญา หรือ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการ บังคับบุคคลให้สูญหาย ในวันต่อมา เจ้าหน้าที่ของสนช.ได้เปิดเผยต่อบีบีซีไทยโดยยืนยันว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว "จะถูกส่งกลับไปพิจารณา (โดยคณะรัฐมนตรี) เพื่อรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ...ทั้งจากมหาดไทย ตํารวจ ฝ่ายความมั่นคง ทหาร อัยการ" ปัจจุบันร่างพ.ร.บ.อยู่ในการพิจารณาของคณะรัฐมนตร

"กําหนดระยะเวลาที่ประเทศไทยให้คํามั่นสัญญาไว้หลายต่อหลายครั้งในเวทีระหว่างประเทศว่าจะทํา การออกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชน ได้ ผ่านพ้นไปนานแล้ว" นายแอ็บบอตกล่าวเสริม

ความเป็นมา

วันที่ 10 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2559 องค์กรของประเทศไทยสามแห่ง ได้แก่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่ม ด้วยใจ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานีได้ออกรายงานซึ่งรวบรวม 54 กรณีที่มีการกล่าวหาเรื่องการทรมาน และการประติบัติอย่างทารุณ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ พ.ศ. 2547

ต่อมา กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งก่อตั้งขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ตอบโต้การออกรายงานฉบับดังกล่าวด้วยการเข้าร้องทุกข์ต่อ เจ้าพนักงานในความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาต่อบรรณาธิการร่วม 3 ราย ได้แก่ นางสาวพรเพ็ญ คงขจร เกียรติ(ผู้อํานวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม) นายสมชาย หอมลออ (ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโสประจํามูลนิธิ ผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ) และนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ (ผู้ก่อตั้งเเละผู้อํานวยการกลุ่มด้วยใจ)

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 เจ้าหน้าที่ตํารวจได้ตั้งข้อหาทางอาญากับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สามราย ได้แก่ การหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามมาตรา 326 เเละ มาตรา 328 ประมวลกฎหมายอาญา รวมถึงการนําข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 (1) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ. 2550

วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2560 กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงความประสงค์ที่จะถอนการเเจ้งความ การดําเนินคดีดังกล่าวในการแถลงข่าว ณ กรุงเทพมหานคร

อนึ่ง ประเทศไทยเป็นภาคีของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Convention on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทําอื่นๆ ที่ โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ํายีศักดิ์ศรี(Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ CAT) และได้ลงนาม แต่ยังมิได้ให้สัตยาบัน ในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย (Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance หรือ ICPPED)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ยุคแห่งความหงอยเหงา

Posted: 01 Nov 2017 01:06 AM PDT

<--break- />

ระบบราชการซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐสมัยใหม่ในปัจจุบัน มีทั้งความเข้มแข็งและความอ่อนแอไปพร้อมกัน เราพูดถึงด้านเข้มแข็งมามากจนมักลืมคิดถึงด้านอ่อนแอของระบบราชการ

หากพูดถึงด้านอ่อนแอ ก็มักพูดถึงขั้นตอนอันยุ่งยากหลายซับหลายซ้อนซึ่งไม่จำเป็น และทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงบริการของรัฐ หรือการทุจริตคดโกงของข้าราชการ หรือสมรรถนะที่ไม่เอาไหนของระบบราชการ แต่ความอ่อนแอเหล่านี้แก้ได้ จะปรับจะเปลี่ยนตัวบุคคลหรือระบบ กระบวนการ โครงสร้าง ฯลฯ บางอย่างก็อาจทำให้ความอ่อนแอเช่นนี้ของระบบราชการหมดไป หรือน้อยลง

ระบบอะไรๆ ในโลกก็ล้วนมีความอ่อนแอเช่นนี้ คือปฏิบัติงานไม่ได้ตามเป้าหมายด้วยเหตุต่างๆ ทั้งสิ้น

แต่ความอ่อนแอของระบบราชการที่ผมอยากพูดถึง คือความอ่อนแอที่มีในระบบ ซึ่งแก้ไม่ได้ และมีในระบบราชการของทุกรัฐในโลกนี้ แต่ในการบริหารของรัฐต่างๆ มักไม่ได้อาศัยแต่ระบบราชการเพียงอย่างเดียว ยังต้องอาศัยอะไรที่อยู่นอกระบบราชการอีกหลายอย่าง ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม

ภาษาอังกฤษมีคำเรียกระบบราชการแบบเก่าว่า mandarinate (ภาษาไทยน่าจะเป็นระบบขุนนาง) และเรียกระบบราชการแบบใหม่ว่า bureaucracy แต่นักวิชาการก็ชี้ให้เห็นว่าไม่มีเส้นที่แบ่งระหว่างสองระบบนี้ชัดนักหรอก

กล่าวอย่างกว้างๆ ระบบขุนนางคือระบบที่ใช้กำเนิดและเส้นสายเป็นเกณฑ์การคัดคนเข้าสู่ระบบ ในตัวระบบเองไม่มีการแบ่งแยกหน้าที่ชัดเจนนัก ทำให้ "ข้าราชการ" ไม่อาจพัฒนาทักษะฝีมือเฉพาะด้านได้ มักไม่จ่ายเงินเดือน แต่แจกอภิสิทธิ์ให้ไปหากินเอาเอง ทำให้แยกระหว่างการฉ้อราษฎร์บังหลวงและการปฏิบัติหน้าที่ออกจากกันได้ยาก แม้ว่าระบบขุนนางต้องการคนเก่งเหมือนกัน แต่สายสัมพันธ์มีความสำคัญกว่า อีกทั้งไม่มีการตรวจสอบการทำงานที่เป็นระบบ การเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งก็อาจกระทบต่อโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการเมือง จึงไม่ค่อยทำหรือต้องทำอย่างระมัดระวัง ความมั่นคงในตำแหน่งกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการทำงาน จึงเป็นธรรมดาที่ขุนนางมักมีแนวโน้มอนุรักษนิยม กลัวความเปลี่ยนแปลงและไม่ริเริ่มการปรับเปลี่ยนใดๆ สุดโต่งอีกด้านหนึ่ง (สุดโต่งก็แปลว่าไม่มีหรือเป็นจริง) คือระบบราชการ คัดคนเข้าทำงานโดยอาศัยความรู้ความสามารถ โดยมากมักผ่านการสอบ ดังนั้นการเป็นผู้ปกครองจึงไม่ใช่เรื่องของชนชั้น, สถานภาพ, ฐานะเศรษฐกิจ, หรือเส้นสายความสัมพันธ์ ในขณะที่การศึกษาซึ่งให้วุฒิบัตร กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างระบบราชการ

ระบบนี้แบ่งแยกหน้าที่ของหน่วยราชการเฉพาะเจาะจง ส่งเสริมให้พัฒนาความรู้ความสามารถเฉพาะด้านของตนให้ทำงานได้ดีขึ้น การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งใช้ระบบความรู้ความสามารถ (merit system) ทำงานโดยผ่านลายลักษณ์อักษร หรือมีหลักฐานพิสูจน์ความรับผิดชอบทุกขั้นตอน สามารถบำเหน็จหรือลงโทษบุคลากรได้ถูกต้อง จ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน และมักป้องกันมิให้ข้าราชการหารายได้จากตำแหน่งหน้าที่ของตนเอง (ทั้งหมดนี้ว่ากันตามทฤษฎีก่อน)

แน่นอนว่าระบบราชการย่อมมีประสิทธิภาพกว่าระบบขุนนางอย่างแน่นอน รัฐสมัยใหม่จำนวนมากประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ ที่เป็นเป้าประสงค์ได้ ก็อาศัยระบบราชการแบบใหม่อย่างนี้เป็นเครื่องมือ หรือพูดกลับกัน รัฐสมัยใหม่ที่อำนาจรัฐแผ่ขยายไปเหนือดินแดนและพลเมืองทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีระบบราชการแบบใหม่เช่นนี้ ทั้งนี้รวมทั้งประเทศไทยด้วย

แต่ก็มีปัญหาเชิงระบบในระบบราชการแบบใหม่อยู่หลายอย่าง เช่น เมื่อใช้ความรู้ความสามารถเป็นบรรทัดฐานอย่างเดียว การแข่งขันในระบบจึงมีสูงมาก ทั้งแข่งขันระหว่างบุคคลในหน่วยเดียวกัน และแข่งขันระหว่างหน่วยราชการเพื่อชิงงบประมาณ, อัตรากำลัง, ทรัพยากรสำนักงาน, และอำนาจบริหาร ระบบราชการในเกือบทุกรัฐ ประสบปัญหาอย่างเดียวกัน คือไม่สามารถประสานงานกันไปสู่เป้าหมายใหญ่ที่สำคัญได้

ระบบราชการแบบใหม่ทำงานได้ด้วยกฎระเบียบเป็นลายลักษณ์อักษรตายตัว ความเจนจัดกฎระเบียบเหล่านั้นจึงเป็นความรู้ความสามารถอันหนึ่งของข้าราชการ ในที่สุดลายลักษณ์อักษรในกฎระเบียบกลายเป็นสิ่งที่สำคัญเสียยิ่งกว่าชีวิตจริง หรือความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ จุดมุ่งหมายของงานกลายเป็นรองความถูกต้องของกฎระเบียบ นี่ก็เป็นปัญหาอีกอย่างที่พบได้ในระบบราชการทุกแห่ง รวมทั้งจีนซึ่งมีระบบราชการก่อนใครในโลก

แต่ปัญหาเชิงระบบที่ระบบราชการมีทุกแห่ง คือราชการไม่มีพลังในการ mobilize ประชาชน ทำให้ระบบราชการเพียงอย่างเดียว ปกครองประเทศไม่ได้ รวมทั้งไม่อาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพของรัฐ เก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็จริง แต่ต้องบังคับด้วยอำนาจตรวจตราละเอียด และอำนาจศาล ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องใช้อำนาจทั้งนั้น หรือบังคับทั้งนั้น

อย่าลืมว่าอำนาจบังคับนั้นมีต้นทุนต้องจ่าย และหลายครั้งต้นทุนก็สูงจนกระทั่งไม่คุ้มที่จะบังคับ เช่นนั่งนับชามก๋วยเตี๋ยวที่ขายได้เพื่อเก็บภาษีให้ตรงเป้าทุกร้าน หรือเรียกตรวจบัตรประชาชนและพาสปอร์ตทุกสี่แยก เพื่อป้องกันคนหลบหนีเข้าเมือง ฯลฯ ดังนั้นการปกครองรัฐจึงไม่อาจใช้แต่ระบบราชการได้ ต้องใช้พลังที่จะสามารถ mobilize ประชาชนได้

หลัง 14 ตุลามักแปลคำนี้ว่า "ปลุกระดม" ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ทำให้ความหมายแคบลงเหลือเพียงด้านอุดมการณ์ การทำให้คนหมู่มากทำอะไรพร้อมเพรียงกัน โดยผสมปนเประหว่างอุดมการณ์, ความกลัว, ความอยากได้หน้า, ความจงรักภักดี ฯลฯ คือ mobilization ทั้งนั้น ผมจึงขอถ่ายคำนี้เป็นภาษาไทยว่า "ขับเคลื่อน"

ระบบราชการแบบใหม่นั้นทำงานบนฐานผลประโยชน์ของบุคคลที่อยู่ในระบบ ยิ่งระบบบริหารแบบที่ Frederick Taylor นักคิดชาวอเมริกันในต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีอิทธิพลต่อการบริหารราชการทั่วโลก ก็ยิ่งใช้รางวัลและโทษ (และเทคโนโลยี) เป็นเครื่องมือกำกับระบบราชการอย่างมาก เปรียบเหมือนโรงงานอุตสาหกรรม

ด้วยเหตุดังนั้นระบบราชการจึงไม่มีพลังจะขับเคลื่อนคนอื่น ได้แต่ขับเคลื่อนตัวเอง (หากเป็นระบบราชการที่ดี)

ขอยกตัวอย่างรูปธรรม เช่น จะขับเคลื่อนประชาชนเข้าสู่สงครามได้อย่างไร ระบบราชการทำได้ด้วยอำนาจบังคับทางกฎหมาย ทหารกองเกินไม่มารายงานตัวก็จะถูกจับกุมคุมขัง ซึ่งดังที่กล่าวแล้วว่ามีต้นทุนในการบังคับสูง ในสมัยโบราณ เมื่อกษัตริย์เรียกเกณฑ์ทัพ เป็นหน้าที่ของมูลนายต้องระดมไพร่พลในสังกัดเข้ากองตามจำนวน แล้วยกไปสมทบตามคำสั่ง ที่สามารถระดมได้ก็เพราะความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ซึ่งมีต่อกันระหว่างมูลนายและไพร่ ทำให้ใช้อำนาจบังคับน้อย หรือถึงใช้ก็ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงนัก

ระบบราชการแบบใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นนั้น เป็นเครื่องมือที่ดีในการปฏิรูปการปกครองได้ ไม่ใช่เพราะตัวระบบราชการเอง แต่เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพลังขับเคลื่อนสูงมาก ในทุกวันนี้ที่เราได้เห็นวัดหรือโรงเรียนซึ่งมีชื่อ "สามัคคี" หรือ "ราษฎร์สามัคคี" ก็ล้วนมาจากพลังขับเคลื่อนของพระองค์ โดยผ่านหรือไม่ผ่านระบบราชการก็ตาม

รัฐที่ปราศจากพลังขับเคลื่อน ไม่อาจทำอะไรได้ ไม่ว่าดีหรือเลว ทำสงครามไม่ได้ และทำสันติภาพก็ไม่ได้เหมือนกัน แก้ปัญหาของตัวเองไม่ได้ จึงปฏิรูปอะไรมากไปกว่าลมปากไม่ได้ จริงอยู่ระบบราชการและกฎระเบียบที่ใช้กันมายังทำให้รัฐเช่นนั้นดำรงอยู่ได้ ยังเก็บภาษี เกณฑ์ทหาร จ้างตำรวจ เลี้ยงคนคุก ฯลฯ ได้เหมือนเดิม แต่รัฐอาจเสื่อมลงไปในทางใดทางหนึ่ง โดยไม่อาจยับยั้งหรือเปลี่ยนทิศทางได้

ทั้งนี้เพราะระบบราชการ โดยตัวของมันเอง ไม่มีพลังขับเคลื่อนอะไร เพราะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อน เหตุดังนั้น ตลอดประวัติศาสตร์ของทุกรัฐ เราจึงได้เห็นพลังขับเคลื่อนในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะไปในทางดีหรือไม่ดี ล้วนอยู่ข้างนอกระบบราชการแบบใหม่ทั้งสิ้น

หลังการปฏิวัติสังคมนิยมในหลายประเทศ พลังที่ขับเคลื่อนสังคมไปสู่อุดมคติ (ที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม) ไม่ใช่ระบบราชการ แต่เป็นพลพรรค (cadre) ที่กระตือรือร้นทางอุดมการณ์อย่างสูง การปฏิวัติของรัฐอิสลามก็เช่นเดียวกัน ผู้นำคือครูใหญ่-ครูน้อยทางศาสนา ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน และผู้ที่ทำให้อุดมคติของท่านเหล่านั้นเป็นจริงคือคนหนุ่มคนสาวซึ่งกระตือรือร้นด้านอุดมการณ์อย่างสูง ระบบราชการขับเคลื่อนอะไรไม่ได้ แต่ถูกขับเคลื่อนจากพลังที่อยู่ข้างนอกเท่านั้น

เช่นเดียวกับศาสนา อุดมการณ์อื่นก็ผลิตผู้นำที่มีพลังขับเคลื่อนอย่างสูงเหมือนกัน ผู้นำชาตินิยมขับเคลื่อนผู้คนเข้าสู่สงครามอย่างนองเลือด หรือประท้วงด้วยวิธีอหิงสาอย่างกว้างใหญ่ไพศาลกว่าที่โลกเคยเห็นมาก่อน ผู้นำประชาธิปไตยขับเคลื่อนชนชั้นนำหรือมวลชนให้ยึดกลไกของรัฐ และจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยสงบหรือโดยนองเลือด

แม้ไม่มีพลังขับเคลื่อนด้วยตัวของมันเอง แต่ระบบราชการมีพลังต้านทานการขับเคลื่อนสูงมาก หนึ่งศตวรรษหลังการสถาปนาระบบราชการแบบใหม่ใน ร.5 ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เช่น เส้นสายและความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ก็ยังเป็นความสัมพันธ์หลัก (อย่างน้อยก็อันหนึ่ง) ในระบบราชการแบบใหม่ของไทย ทั้งนี้ยังไม่พูดถึง ความล้มเหลวของระบบราชการไทยที่จะแยกทรัพย์สินสาธารณะและทรัพย์สินส่วนตัวออกจากกัน

ระบบราชการจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพให้แก่พลังขับเคลื่อนอันใดอันหนึ่งได้ ก็ต่อเมื่อพลังนั้นสามารถขับเคลื่อนสังคมในวงกว้างกว่าตัวระบบราชการ เช่น ส่วนใหญ่ของชนชั้นนำ, ส่วนใหญ่ของคนชั้นกลาง, ส่วนใหญ่ของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง, ส่วนใหญ่ของสมาชิกในองค์กรศาสนา ฯลฯ ปราศจากแรงหนุนจากกลุ่มต่างๆ ในสังคมอย่างกว้างขวาง อำนาจเผด็จการอย่างเดียวไม่สามารถขับเคลื่อนอะไรได้

แม้ใช้อำนาจนั้นในการปลดย้ายข้าราชการเหมือนยิงปืนกล ก็ไม่อาจทำให้ระบบราชการขยับเขยื้อนไปได้มากกว่าผักชีที่โรยอยู่ข้างหน้า

จะด้วยเหตุใดไม่ขอกล่าวถึง โลกเราเวลานี้เป็นโลกที่ขาดพลังขับเคลื่อน อุดมการณ์ที่เคยขับเคลื่อนผู้คน – ชาตินิยม, ประชาธิปไตย, วิทยาศาสตร์, เสรีนิยม, ทุนนิยม, สังคมนิยม, ท้องถิ่นนิยม, ศาสนา, ลัทธิพิธี (cults), การพัฒนา, เสรีนิยมใหม่ ฯลฯ – หมดพลังขับเคลื่อนอย่างที่เคยมีมาแล้ว ตัวบุคคลที่เคยเป็นพลังขับเคลื่อนนับวันก็ร่อยหรอลง เพราะสิ้นอายุขัย

เหลือแต่คนอย่างทรัมป์, ปูติน, สีจิ้นผิง, อาเบะ, ดอว์ซู, หรือประยุทธ์ จันทร์โอชา

เราทุกคนบนโลกใบนี้ กำลังเคลื่อนเข้าไปมีชีวิตในรัฐที่ไม่เหลืออะไรเลยนอกจากระบบราชการ ซึ่งไม่มีแม้แต่พลังที่จะทำหน้าที่ของตนเองคือกำกับควบคุม หรือ regulate

นี่คือยุคแห่งความหงอยเหงาที่ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าประชากรโลกจะหลุดพ้นออกไปได้

 

ที่มา: www.matichon.co.th

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มท.1 ขออย่าจุดประเด็น ปมชาวชลบุรีโวยผู้ว่าฯ จัดพิธีวางดอกไม้จันทน์ไม่ดี

Posted: 31 Oct 2017 11:15 PM PDT

กรณีประชาชน จ.ชลบุรี ประท้วงขับไล่ผู้ว่าฯ เหตุไม่พอใจพิธีวางดอกไม้จันทน์ พล.อ.อนุพงษ์ ขอเอาเรื่องนี้ไปเป็นประเด็น แนะให้จบที่ความสวยงามของคนทั้งชาติในการถวายความจงรักภักดี

 ประชาชน จ.ชลบุรี รวมตัวที่ศาลากลางชลบุรีประท้วงขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัด  เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา (ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก อึ้ง ทึ่ง เสียว )

1 พ.ย. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 30 ต.ค.60 ประชาชน จ.ชลบุรี รวมตัวที่ศาลากลางชลบุรีประท้วงขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องจากเกิดปัญหาความไม่เรียบร้อยในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าร่วมการพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยวิจารณ์ว่า จัดงานได้ไม่ดี ทำให้ประชาชนหลายคนไม่ได้ถวายดอกไม้จันทน์ แถมการเข้าแถวก็เหมือนงูกินหาง นั้น

วานนี้ (31 ต.ค.60) ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ได้ตรวจสอบในขั้นต้น ชาวบ้านค่อนข้างไม่พอใจใน 3 ประเด็น แต่ยังไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น คือ 1.จังหวัดได้รับจัดสรรงบประมาณ 20 ล้านบาทในการดำเนินการ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบประมาณลักษณะนี้ ให้เฉพาะในส่วนการก่อสร้างพระเมรุมาศจำลองและพระจิตกาธาน ไม่แน่ใจว่าเกิดความเข้าใจผิดกันหรือไม่ 2.เรื่องผู้ว่าราชการจังหวัดมาสายพบว่าความจริงท่านมาแต่เช้า

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า และ 3.การจัดแถวไม่เหมาะสม เรื่องนี้ไม่ขอวิจารณ์ เพราะประเด็นสำคัญของพระราชพิธีไม่ควรนำมาสร้างเป็นความขัดแย้ง และคนมามากเกินกว่าสถานที่ที่จัดไว้ทุกแห่ง ในพื้นที่ต่างจังหวัดต้องปรับแผนหลายส่วน บางจังหวัดปรับแผนจากพื้นที่ถวายดอกไม้จันทน์ทีละ 9 ช่องเป็น 59 ช่องยังมี ที่สุดแล้วมีปัญหาข้อขัดข้องแน่นอนในการแก้ปัญหาเรื่องประชาชนเดินทางมามาก พบว่ามีปัญหาเรื่องนี้บ้าง ขอให้ทุกคนเข้าใจ แต่การจะสร้างเป็นประเด็นความขัดแย้งต้องพิจารณาให้ดี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่หาข้อเท็จจริงใน 3 ประเด็นดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ส่วนตัวรู้เท่านี้ ต้องรอให้มีการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ส่วนกระแสข่าวข้าราชการแซงคิวประชาชน ขออย่ายกเรื่องนี้มาเป็นประเด็นของความขัดแย้งจะดีกว่า ทุกจังหวัดได้เตรียมการในรูปแบบคณะกรรมการ ไม่ได้เกิดจากคนใดคนหนึ่งสั่งการแน่นอน คงไม่มีใครทำ จะให้ใครมาสั่งการเป็นเจ้าของงานคงไม่มี ดังนั้น จะมีขั้นตอนตามเวลาว่าเริ่มกี่โมง ถวายดอกไม้จันทน์อย่างไร แต่งกายอย่างไร ใครจะเป็นผู้เริ่มถวายดอกไม้จันทน์ก่อน ทั้งหมดเป็นไปตามมติคณะกรรมการแต่ละพื้นที่ ดังนั้น อย่าเอาเรื่องนี้ไปเป็นประเด็น ขอให้จบที่ความสวยงามของคนทั้งชาติในการถวายความจงรักภักดีก็ดีอยู่แล้ว

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี - Chonburi PR' โพสต์ข้อความชี้แจงกรณีดังกล่าวด้วยดังนี้ 

จังหวัดชลบุรีร่วมกับอำเภอเมืองชลบุรี จัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี โดยได้จัดเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับพี่น้องประชาชนในบริเวณงาน พระราชพิธีฯ (โซนชั้นใน) ที่ต้องผ่านจุดคัดกรองเข้ามา ได้เตรียมเต้นท์และเก้าอี้รองรับประชาชน จำนวน 5,000 ที่นั่ง และในชั้นนอกอีก 5,000 ที่นั่ง รวมเป็น 10,000 ที่นั่ง แต่เนื่องจากมีประชาชนเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการต่อคิวเพื่อรอเข้าจุดคัดกรอง สำหรับพิธีการต่างๆ นั้นเริ่มต้นในเวลา 09.00 น. พร้อมกันทั้งประเทศ 

โดยผู้ว่าราชการจังหวัด เดินทางมาถึงตั้งแต่เวลา 08.00 น. ผ่านจุดคัดกรองมาในพระราชพิธีฯ เหมือนประชาชนทุกคน และในช่วงเวลานั้นเมื่อมีประชาชนมาร่วมงานจำนวนมาก จังหวัดเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการเข้าคิวของพี่น้องประชาชน โดยก่อนเริ่มงานพระราชพิธีฯ ได้กำหนดจำนวนประชาชน ในการเข้าวางดอกไม้จันทน์รอบละ 4 คน เนื่องจากต้องการให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้ขึ้นไปบนพระเมรุมาศจำลองให้ได้ใกล้ชิดและวางดอกไม้จันทน์ใกล้กับพระบรมฉายาลักษณ์ฯ มากที่สุด แต่เมื่อมีประชาชนมาร่วมงานจำนวนมาก จึงมีการปรับรูปแบบการวางดอกไม้จันทน์เป็น 8 คน และ 20 คนตามลำดับ ซึ่งประชาชนคนสุดท้ายที่ได้วางดอกไม้จันทน์เสร็จในเวลาประมาณ ตี 1 

ในกรณีที่พี่น้องประชาชนต้องยืนเข้าแถวรอเป็นเวลานานนั้น ขอเรียนว่าเนื่องจากกำหนดการงานพระราชพิธีแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 09.00 น. เริ่มวางดอกไม้จันทน์โดยประธานในพิธี คือเริ่มจากผู้ว่าราชการจังหวัด พระสงฆ์ ข้าราชการ และประชาชน จนกระทั้งถึงเวลาประมาณ 15.00 น. ได้มีการประกอบพิธีสงฆ์ แต่การวางดอกไม้จันทน์ก็ยังคงให้ประชาชนขึ้นวางเรื่อยไป จนกระทั่งถึงเวลา 16.00 น. โดยประมาณ จึงได้หยุดการวางดอกไม้จันทน์ เพื่อร่วมชมการถ่ายทอดพระราชพิธีพร้อมส่วนกลาง จนเสร็จสิ้น จึงได้ดำเนินการวางดอกไม้จันทน์ต่อจนถึงเวลาประมาณ ตี 1 ที่ประชาชนคนสุดท้ายวางเสร็จ แล้วจึงเป็นในส่วนของข้าราชการที่ทำหน้าที่เชิญดอกไม้จันทน์ขึ้นวางเป็นคณะสุดท้าย และได้ทำพิธีเผาดอกไม้จันทน์เสร็จในช่วงเวลาเกือบ 6 นาฬิกาของวันที่ 27 ตุลาคม 2560 

อนึ่งในเวลา 08.00 น. ของวันเดียวกัน มีการนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีทางศาสนา เพื่ออัญเชิญเถ้าดอกไม้จันทน์ไปลอยที่อ่าวสัตหีบ โดยการสนับสนุนเรือรบหลวง จำนวน 2 ลำ และเรือตรวจการณ์ จำนวน 1 ลำ จากกองทัพเรือภาคที่ 1 ทั้งหมดที่กล่าวมาทางจังหวัดชลบุรีตระหนักถึงเรื่องความสมพระเกียรติของพระองค์ท่านเป็นสำคัญ ทุกขั้นตอนพิธีการมีการกำหนดออกมาอย่างชัดเจน จังหวัดมิได้ให้อภิสิทธิแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะทุกคนที่ผ่านเข้ามาในพิธีต้องผ่านจุดคัดกรองเข้ามาทุกคน ในส่วนที่ทำให้ประชาชนหลายท่านไม่ได้รับความสะดวก ในการร่วมพระราชพิธีฯ 

ในครั้งนี้ทางจังหวัดขอน้อมรับในความผิดพลาดที่ไม่สามารถรับรองประชาชน ได้อย่างเต็มที่และกราบขออภัย ทุกท่านมา ณ โอกาสนี้

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โลกวัชชะ: ใครคือผู้กำหนดพฤติกรรมที่เหมาะสมของพระ?

Posted: 31 Oct 2017 11:03 PM PDT


 

ความหมายของ "โลกวัชชะ" ถูกบิดเบือนให้กลายเป็น "พฤติกรรมที่ชาวโลกติเตียน" เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญของกลุ่มบุคคลในการจัดการพระภิกษุที่ประพฤติต่างออกไป ปัญหาจึงไม่ได้อยู่แค่การแปลความหมายของศัพท์ที่ผิด แต่ยังรวมถึงการไม่สามารถตัดสินได้ว่า "ใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าพฤติกรรมนั้นควร-ไม่ควร ในท่ามกลางสังคมที่หลากหลาย

ความย่อหย่อนในวินัยสงฆ์เป็นเหตุให้ชาวบ้านติเตียน (โลกวัชชะ) และทำให้ศาสนาเสื่อม กลายเป็นวาทกรรมที่ถูกใช้เรื่อยมา ที่เห็นได้ชัดคือ นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช) ในปี 2557 และการออกประกาศของมหาเถรสมาคมเรื่องควบคุมพฤติกรรมพระสงฆ์เมื่อเดือนกันยายน 2560 บทความนี้มุ่งอภิปรายเหตุผลของการต้องปฏิรูปพระสงฆ์และการใช้คำว่า โลกวัชชะ ในนิยามของสังคมไทยซึ่งถูกนำมาตีความใหม่เพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐและองค์กรสงฆ์ซึ่งไม่สอดรับกับประชาธิปไตย


ทำไมต้องปฏิรูปพระ?

พระสงฆ์ในสังคมไทยมิใช่แค่นักพรต (ascetics) ผู้ซึ่งหลีกหนีความวุ่นวายทางโลกเพื่อเข้าสู่ป่าอันเป็นพรมแดนที่อำนาจรัฐเข้าไม่ถึงเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อ 2500 ปีที่แล้ว ณ ชมพูทวีป แต่เป็นชีวิตที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐชาติและกลายเป็นสถาบันหนึ่งที่ช่วยขับเน้นอัตลักษณ์ของการสร้างชาติและความเป็นไทย แม้จะพระป่าเองก็ถูกรวบเข้าสู่อำนาจรัฐและมีช่วยสร้างสำนึกความเป็นไทยแก่พุทธศาสนิกตั้งแต่อดีต (Taylor, 1993)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอำนาจบริหารของมหาเถรสมาคมจากส่วนกลางที่ลดหลั่งกันมาโดยมีการให้คุณ ให้โทษผ่านการเลื่อนตำแหน่งบริหารปกครอง/สมณศักดิ์ ตลอดจนการตักเตือนหรือไล่สึก ได้ลดทอนความหลากหลายในการตีความคำสอนและรูปแบบปฏิบัติลง เพราะต้องกำหนดให้เป็นแบบแผนอันเดียว คือ พุทธศาสนาแท้ในแบบที่รัฐกำหนด ดังตัวอย่างการใช้อำนาจรัฐเข้าจัดการกับสันติอโศกและธรรมกายเป็นต้น (Rory, 2007)

การผนวกความเชื่อที่ว่า "พระสงฆ์ที่ดีเป็นเนื้อนาบุญ" และ "พระสงฆ์ธำรงไว้ซึ่งคุณธรรมของชาติ" นำไปสู่การต้องรู้สึกว่า ทุกคนต้องช่วยกันชำระพระสงฆ์ให้สะอาด เพื่อเป็นแบบอย่างอันเป็นปูชนียบุคคลของสังคมและเป็นผู้ควรแก่การรับวัตถุทานอันจะส่งผลเป็นบุญมหาศาลในอนาคต สิ่งนี้กลายเป็นแรงจูงใจในการพยายามตรวจสอบพฤติกรรมพระ ใช้อำนาจรัฐในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและจัดการคนเห็นต่างซึ่งอาจเรียกว่า เดียรถีย์/อลัชชีปลอมบวช และโมเดลนี้ถูกยกให้เป็นหน้าที่หนึ่งของธรรมราชาหรือผู้มีอำนาจฝ่ายบ้านเมืองในการพิทักษ์พุทธศาสนา (Swearer, 2010)

จนลืมไปว่า ความเชื่อ (รวมทั้งวิธีปฏิบัติธรรม) เป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่ไม่ควรถูกละเมิด การจับสึกให้พ้นสภาพนักบวชตามอุดมคติของตนเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้หากท่านรูปนั้นมิได้กระทำผิดกฎหมายร้ายแรงของบ้านเมือง แต่เพราะพระสงฆ์ถูกควบคุมมิให้หลากหลาย และที่สำคัญ การเคารพความเป็นปัจเจก (privacy) และความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นไม่ได้ถูกเน้นเท่ากับคุณธรรม การตรวจสอบจับผิดและจัดการให้เป็นแบบเดียวกัน การล่าแม่มดและจับสึกคนคิดต่างในฐานะเป็นผู้ทำลายความงดงามของพุทธศาสนาจึงมีให้เห็นตราบจนปัจจุบัน


ความหมายที่บิดเบือนของ "โลกวัชชะ"

โลกวัชชะในนิยามของคนไทยหมายถึงพฤติกรรมด้านลบของพระสงฆ์ที่ "ชาวโลกติเตียน" ดังนั้น จึงหมายรวมเอาพฤติกรรมทุกอย่างตั้งแต่กิริยาไม่สำรวมเล็กๆน้อยๆ เช่น หัวเราะเสียงดัง สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ จนกระทั่งการความผิดใหญ่ เช่น เสพยาบ้าและโกงเงินบริจาค เป็นต้น โลกวัชชะจึงถูกใช้แบบครอบคลุมทุกสถานการณ์จนลืมความหมายดั้งเดิมที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ไปเสีย

"โลกวัชชะ" (Pakati-vajja/Lokavajja) หมายถึงความผิดตามธรรมชาติ (wrong by their very nature, common sin) ซึ่งชาวโลกทั่วไปยอมรับกันอย่างสากลว่า เป็นการกระทำที่ผิด คือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เช่น ฆ่าคน ฉ้อโกง ละเมิดทางเพศ เป็นต้น โลกวัชชะหรือปกติวัชชะเป็นคำที่ตรงกันข้ามกับคำว่า "ปัณณัตติวัชชะ" (Pannatti-vajja) ที่แปลว่า มีโทษตามพระวินัย (wrong because the Buddha has established so) (Asanga Tilakaratne, 2008, p. 10) กล่าวคือ เป็นพฤติกรรมที่ดูไม่เหมาะสมและเป็นความผิดตามพระบัญญัติทางศาสนา เช่น พระภิกษุฉันอาหารตอนเย็น แม้ถือเป็นเรื่องปกติในทางโลกซึ่งปกติแล้วการกินอาหารตอนเย็นไม่ควรถูกตำหนิหรือถูกลงโทษ แต่เมื่อท่านเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ก็ถือเป็นความผิดทางพระบัญญัติ

การกินอาหารตอนเย็นของพระสงฆ์เป็นความผิดแบบ "ปัณณัติวัชชะ" ซึ่งเป็นกฎพิเศษที่พระพุทธเจ้ากำหนดขึ้นเพื่อสร้างบรรทัดฐานของสังคมสงฆ์เท่านั้น มิใช่ความผิดตามธรรมชาติที่ให้โทษหรือทำร้ายผู้ใด ฉะนั้นสิ่งนี้จึงมิใช่ "โลกวัชชะ" ในแบบที่คนไทยเข้าใจ กล่าวให้ชัดคือ โลกวัชชะ เป็นโทษหรือความผิดที่มีลักษณะเป็นสากล (common sin) ซึ่งทุกคนยอมรับหรือตกลงร่วมกันได้ง่ายเพราะเป็นการละเมิดสิทธิต่อทรัพย์สินหรือร่างกายของผู้อื่น ส่วนปัณณัติวัชชะเป็นความผิดของคนบางกลุ่มซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้แก่กลุ่มของตนเท่านั้น  

การใช้คำว่า โลกวัชชะ แบบไทยเพื่อสื่อถึง "พฤติกรรมที่ชาวบ้านติเตียน" (blamed by people) แทนความหมายดั้งเดิมคือ การผิดศีลธรรมแบบสากล (universal moral codes) เกิดขึ้นเมื่อใดเป็นสิ่งที่ตอบได้ยาก อย่างน้อยที่สุด ความหมายในแง่นี้ได้ถูกกล่าวถึงในพจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) หน้า 260 เช่นกัน ว่า "โลกวัชชะ" อาบัติที่เป็นโทษทางโลก คือ คนสามัญที่ไม่ใช่ภิกษุทำก็เป็นความผิดเสียหาย เช่น โจรกรรม ฆ่ามนุษย์ ทุบตีกัน ด่ากัน เป็นต้น "บางทีว่าเป็นข้อเสียหายที่ชาวโลกติเตียน ถือว่าไม่เหมาะสมกับสมณะ เช่น ดื่มสุรา เป็นต้น" (เน้นคำโดยผู้เขียน) ผลเสียของการนำนิยามที่สองนี้ไปใช้ จะกล่าวถึงในข้อ "ใครคือผู้กำหนดความเหมาะสมพฤติกรรมของพระ?"


พุทธวินัยไม่ใช่เรื่องสากล

อรรถกถาพระวินัยสมันตปาสาทิกา อธิบายไว้ว่า "บรรดาโทษสองอย่างนั้น สิกขาบทใดในฝ่ายสจิตตกะ (มีเจตนาจงใจกระทำ) มีจิตเป็นอกุศลล้วน (เจตนาร้าย) สิกขาบทนั้นชื่อว่าเป็น โลกวัชชะ ที่เหลือ (ตรงกันข้าม) จัดเป็น ปัณณัตติวัชชะ" (อรรถกถาปฐมปาราชิกสิกขาบท มักกฏีวัตถุกถา)

อีกอย่างหนึ่ง โลกวัชชะ เป็นการกระทำที่ทำอันตราย (harmful/antarayika) ต่อสวรรค์และนิพพาน ส่วน ปัณณัติวัชชะ มิได้ทำอันตรายต่อสิ่งเหล่านั้น (anantarayika) (Samantapasadika, Vol. III, p. 1319) พูดกันอย่างถึงที่สุดคือ การละเมิดอาบัติพระวินัย เช่น กินข้าวในตอนเย็น ไม่ได้ขัดขวางการบรรลุธรรม เป็นแต่เพียงการละเมิดจารีตที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอัตลักษณ์ของพระสงฆ์เท่านั้น

เป็นไปได้ว่า พระพุทธเจ้าเองก็ยอมรับความไม่เป็นสากลของศาสนา จึงยอมรับให้พระสงฆ์ที่แม้บวชเข้ามาในศาสนาแล้วก็ยังต้องรับโทษที่เป็นโลกวัชชะ เพราะการบัญญัติพระวินัยแต่ละข้อจะเกิดขึ้นเมื่อพระสงฆ์มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม พระองค์มิได้อ้างความเป็นสัพพัญญูแล้วบัญญัติกฎระเบียบขึ้นอย่างสมบูรณ์คราวเดียว โลกวัชชะ (universal moral codes) จึงเป็นกฎสำคัญที่พระสงฆ์ต้องยึดถือในฐานะพลเมืองของรัฐนั้นๆ เช่นเดียวกับฆราวาสทั่วไป ส่วนสิกขาบทที่บัญญัติขึ้นมิได้เป็นสากล หากแต่กำหนดใช้กับพระภิกษุเท่านั้น ซึ่งก็ต้องปรับตามสภาพวัฒนธรรม สังคม และช่วงเวลาของประเทศนั้นๆ (Kaushlya Karunasagara, 2014)


ใครคือผู้กำหนดความเหมาะสมพฤติกรรมของพระ?

การแปลความหมายของ โลกวัชชะ ว่าเป็น "พฤติกรรมที่ชาวบ้านติเตียน" ทำให้ชาวพุทธเข้าใจผิดไปว่า พฤติกรรมทุกอย่างที่ชาวบ้านติเตียนย่อมไม่เหมาะสมและสามารถนำไปสู่การกำหนดเป็นวินัยของพระสงฆ์ได้ ซึ่งแน่นอนว่า สิกขาบทหลายข้อก็เกิดจากการติเตียนของชาวบ้าน เช่น ต้องกำหนดให้พระสงฆ์เข้าพรรษาเพราะชาวบ้านติเตียนและปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ละเมิด (วัสสูปนายิกขันธกะ วินัยปิฎก เล่ม 4) แต่ผู้จะมีสิทธิกำหนดสิกขาบทเพิ่มเติมขึ้นมีเพียงพระพุทธเจ้าเท่านั้น มิใช่พระสงฆ์หรือผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสห้ามพระสารีบุตรผู้ทูลขอให้บัญญัติสิกขาบทว่า "จงรอก่อนสารีบุตร จงยับยั้งก่อนสารีบุตร ตถาคตผู้เดียวจักรู้กาลในกรณีนั้น" (วินัยปิฎก เล่ม 1 มหาวิภังค์ ภาค 1 ข้อ 8) และเมื่อจะปรินิพพาน ก็มิได้ยกความเป็นใหญ่ให้ผู้ใด หากแต่ให้ถือพระธรรมและวินัยที่พระองค์เคยกำหนดไว้เป็นศาสดาแทนพระองค์ (สุตตันตปิฎก เล่มที่ 10 ข้อ 141)

แต่หากมองว่าพระวินัยเป็นเพียงสมมติบัญญัติ ที่สามารถยกเลิกหรือแก้ไขได้ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตไว้ว่า ดูกรอานนท์ โดยล่วงไปแห่งเรา หากสงฆ์จำนงอยู่ ก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างได้ (สุตตันตปิฎก เล่มที่ 10 ข้อ 141) สิ่งนี้ก็ถูกพระมหากัสสปะและพระอรหันต์ 500 รูปสมัยทำสังคายนาครั้งที่ 1 ปฏิเสธไปเสียแล้ว เพราะไม่ทราบว่าอาบัติใดคืออาบัติหนักและอาบัติใดเล็กน้อย จึงกลายเป็นอัตลักษณ์ของพุทธศาสนาเถรวาทว่าจะไม่เพิกถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติ และจะไม่บัญญัติเพิ่มสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติไว้ (วินัยปิฎก เล่มที่ 7 ข้อ 621)

ที่น่าสนใจคือ การอ้างว่าจะธำรงไว้ซึ่งสิกขาบทโดยไม่ลดทอนหรือกำหนดเพิ่มเติมถูกนำมาอ้างบ่อยครั้งในสังคมไทย เช่น กรณีให้มีผู้ขอให้พระสงฆ์ทำการบวชภิกษุณีโดยใช้พระสงฆ์ผู้ชายเพียงฝ่ายเดียว มิต้องให้มีพระอุปัชฌาย์ที่เป็นภิกษุณีผู้หญิงจะได้หรือไม่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ก็ตอบในทำนองว่า จะทำให้สูญเสียอัตลักษณ์ของความเป็นพุทธศาสนาเถรวาท เพราะเป็นนิกายที่ยืนยันจะรักษาขนบเดิมแบบไม่เพิ่มเติมหรือตัดลดสิกขาบทใดๆ (ป.อ.ปยุตฺโต, 2554, น. 8-10)

แต่น่าแปลกใจว่า ข้อกล่าวอ้างแบบเดียวกันนี้มิได้ถูกหยิบยกมาใช้เมื่อต้องการออกระเบียบอื่นๆ มาควบคุมพฤติกรรมของพระสงฆ์ เช่น ห้ามใช้กล้องถ่ายรูปในที่สาธารณะ ห้ามมิให้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตลอดจนห้ามแสดงกิริยาอาการที่ไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดของตน เป็นต้น (มติชนออนไลน์, 2560) พระพุทธโฆษาจารย์ให้เหตุผลในกรณีที่รัฐหรือองค์กรสงฆ์ออกระเบียบกติกาขึ้นว่ามีความชอบธรรม หากสิ่งนั้นเป็นไปเพื่อหนุนหรือส่งเสริมการรักษาพุทธบัญญัติ (ป.อ.ปยุตฺโต, 2554, น, 19)

ทั้งนี้ เหตุผลดังกล่าวนี้ก็ไม่มีน้ำหนัก เพราะใครเล่าจะเป็นผู้ชี้ว่าระเบียบกติกานั้นสอดคล้องกับพระวินัยและเป็นไปเพื่อความมั่นคงของศาสนา ไฉนการจะออกระเบียบใหม่เพื่อส่งเสริมการบวชภิกษุณีเพื่อช่วยทำงานเผยแผ่จึงถูกมองว่าเป็นการทำลายศาสนาเป็นต้น สรุปคือ การตัดสินว่าสิ่งใดควรเพิ่มเติมหรือเพิกถอนได้นั้นขึ้นอยู่กับชนชั้นนำเพียงบางกลุ่ม และมักอ้างความมั่นคงของศาสนาโดยโยงว่าเป็นพฤติกรรมที่ "ชาวโลกติเตียน" แล้วเรียกร้องให้ใช้อำนาจรัฐเข้าจัดการ

การแสดงกิริยาอาการที่ไม่สอดคล้องต่อเพศกำเนิดของตนเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาเพราะมีความคลุมเครืออย่างมาก ด้านวินัยเองก็ยังมิได้วินิจฉัยกันชัดว่า บัณเฑาะก์หรืออุภโตพยัญชนกคือบุคคลประเภทใดกันแน่ กิริยาอาการบางอย่างถูกตีความว่าส่อลักษณะคนข้ามเพศ ซึ่งก็ยังมิได้พิสูจน์ว่าพระรูปนั้นเป็นบัณเฑาะก์หรืออุภโตพยัญชนะจริงหรือไม่ แต่สังคมก็พร้อมจะประณามและส่งเสริมให้เข้าจัดการกับผู้นั้นโดยใช้มายาคติเรื่องเพศสภาพที่มองว่าผิดปกติทางเพศมากกว่าเป็นเพศทางเลือกหรือพฤติกรรมที่หลากหลายมิใช่แค่แบ่ง หญิง-ชาย

การอ้างโลกวัชชะเพื่อปฏิรูปพระสงฆ์ด้วยนิยามที่ว่า "ชาวบ้านติเตียน" ก็ไม่สมเหตุสมผล เพราะชาวบ้านมีหลายกลุ่ม ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และจากการศึกษาในทางมานุษยวิทยา ชาวบ้านทั่วไปกลับคุ้นเคยกับพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมเช่นนั้นและยังให้ความเคารพ ถวายอาหารบิณฑบาต ตลอดจนรับเป็นโยมอุปัฏฐาก บางรูปเป็นพระนักเทศน์ ทำงานเก่ง และเป็นศูนย์รวมศรัทธาได้ไม่ด้อยไปกว่าพระที่มีพฤติกรรมชายแท้ในสายตาของคนไทย ดังนั้น การอ้างว่าพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนเป็นเหตุให้ศาสนาเสื่อมหรือชาวบ้านติเตียนจึงเป็นการมองจากมุมเดียวหรือคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมิใช่คนส่วนใหญ่และมิใช่ชาวบ้านในชุมชนที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับพระนั้นโดยตรง (Jesada Buaban, 2016)


ความย้อนแย้งของเถรวาทแบบไทยและทางออก

หากยึดความหมายของโลกวัชชะว่า "โลกติเตียน" แล้วต้องจับพระที่ดื่มเหล้าสึก ทั้งที่โทษตามวินัยกำหนดให้เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ซึ่งพฤติกรรมอื่นๆ เช่น การรับเงินทองยังเป็นโทษที่หนักกว่าคือ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ก็มิต้องถูกลงโทษทั้งที่คนไทยไม่น้อยก็ติเตียนพฤติกรรมเช่นนี้ หากใช้บรรทัดฐานเดียวกัน เมื่อมีผู้ตำหนิว่า พระใช้โทรศัพท์ราคาแพง มีรถหรู หรือ รับตำแหน่งแบบราชการเหมือนฆราวาส เป็นต้น ก็ควรจะต้องจับพระเหล่านั้นสึกด้วยหรือไม่ สิ่งนี้สะท้อนว่า สังคมไทยไม่มีบรรทัดฐานในการเอาผิดผู้กระทำที่พอจะยอมรับได้แบบสากล จึงกลายเป็นว่า ความผิด-ชอบ หรือออกข้อกำหนดต่างๆ กลายเป็นเครื่องมือของผู้อำนาจที่ใช้จัดการกับคนบางคนเท่านั้น

หากชาวพุทธไทยจะปรับตัวสู่โลกสมัยใหม่ซึ่งซับซ้อนขึ้นก็ทำได้โดยการกลับไปยึดพระวินัยที่พระพุทธเจ้าอนุญาตไว้ให้พระสงฆ์ตกลงกันปรับเปลี่ยนอาบัติเล็กน้อยได้  แต่ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า กรรมการมหาเถรสมาคมมิใช่ตัวแทนของพระสงฆ์ส่วนใหญ่ เพราะเป็นตำแหน่งที่ได้มาด้วยการแต่งตั้ง มิใช่การเลือกซึ่งเป็นมติส่วนใหญ่ของคณะสงฆ์ไทย กล่าวให้สั้นคือ หากจะให้ระเบียบหรือข้อกำหนดใหม่ๆ เป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับพระวินัย จะต้องปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นประชาธิปไตย หรือต่อให้เป็นแบบเดิมก็ต้องหาวิธีทำให้มติเหล่านี้เป็นที่เห็นพ้องต้องกันของพระสงฆ์โดยรวม

อย่างไรก็ตาม แม้การปกครองคณะสงฆ์จะเป็นประชาธิปไตย แต่การกำหนดพระวินัยหรือข้อปฏิบัติเพิ่มเติมยังต้องคำนึงถึงบริบทของท้องที่และช่วงเวลา ดังตัวอย่างของการกำหนดอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้อาบน้ำก่อนช่วงเวลาครึ่งเดือน แต่ยอมให้ในกรณีที่เป็นหน้าร้อน (หรือเมืองร้อน) ภิกษุที่เหนื่อยจากการทำงาน ภิกษุเดินทาง เป็นต้น (วินัยปิฎก มหาวิภังค์ภาค 2 สุราปานวรรค สิกขาบทที่ 7) จะเห็นว่าวินัยมีความยืดหยุ่นและต้องปรับตามกาละและเทศะ ดังนั้นการออกระเบียบปฏิบัติแบบตายตัวเพื่อครอบคลุมพระสงฆ์ทุกรูปในอาณาจักรจึงเป็นสิ่งที่แย้งต่อความเป็นจริง

สุธี ชล นักศึกษาปริญญาเอกด้านเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เสนอว่า การแยกคณะสงฆ์ออกจากรัฐ โดยทำให้เป็นองค์กรเอกชน (privatized organizations) โดยให้พระสงฆ์แต่ละกลุ่มปกครองกันเองตามสายอุปัชฌาย์มีความสอดรับกับพระธรรมวินัยและรัฐสมัยใหม่มากกว่า ดังตัวอย่างการทำสังคายนาของพระมหากัสสปะ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นแต่เพียงการตกลงกันของพระอรหันต์ 500 รูปเท่านั้น มิใช่พระสงฆ์ทุกกลุ่มจะเห็นด้วยกับการทำสังคายนาครั้งนั้น อย่างน้อยก็ท่านปุราณะซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ซึ่งมีสานุศิษย์จำนวนมากได้เห็นแย้งและยืนยันจะปฏิบัติตามรูปแบบของตน ซึ่งท่านก็อ้างว่าได้ฟังมาจากพระพุทธเจ้าและไม่ตรงกับสิ่งที่ท่านกัสสปะเสนอ ประเด็นที่น่าสนใจคือ พระมหากัสสปะก็มิได้ใช้อำนาจรัฐเพื่อเข้าจัดการกับท่านปุราณะและกลุ่มภิกษุอื่นๆ ที่เห็นต่างออกไป

กล่าวโดยสรุป โลกวัชชะ ควรถูกกล่าวถึงด้วยความหมายเดิมคือ โทษหรือความผิดที่เป็นสากลซึ่งทุกคนยอมรับร่วมกันได้ (universal moral codes) มิใช่แปลแบบบิดเบือนและนำมาอ้างเพื่อจัดการความหลากหลายของศาสนาเพียงเพราะพฤติกรรมนั้นมีผู้ติเตียน เพราะในสังคมที่หลากหลาย ไม่มีพฤติกรรมใดที่ไม่มีผู้ติเตียน ความหมายเดิมนี้จะช่วยลดพฤติกรรมการตัดสิน/จับผิดผู้อื่นตามกรอบจารีตและการตีความของตน

ฉะนั้นการเคารพในการตัดสินใจที่จะเลือกนักถือและปฏิบัติศาสนกิจของปัจเจกบุคคลควรถูกเน้นย้ำให้มากขึ้น เพื่อศาสนาจะสามารถปรับตัวรับกับความหลากหลาย ซึ่งลักษณะดังกล่าวก็มิใช่สิ่งใหม่ หากแต่เป็นวิถีที่พบได้ในสมัยพุทธกาลและลักษณะที่ยืดหยุ่นของพระวินัย ซึ่งไปกันได้กับรัฐสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเสรีนิยมประชาธิปไตย

 

อ้างอิง

Asanga Tilakaratne. (2008). Thinking of Foundation and Justification of Buddhist Ethics, The Journal of International Association of Buddhist Universities. Bangkok: Mahachulalongkornrajavidayalaya University.

Jesada Buaban. (2016). Purple Buddhism: Social Acceptability of Gay Monks in Thai Theravada Tradition. A paper presented in the international conference on Thai Studies, Chulalongkorn University, Bangkok. In the theme of Globalized Thailand (Institute of Thai Studies).

Kaushlya Karunasagara. (2014). Demonstrate the Aims of Promulgating Vinaya in the Buddhist Dispensation.

Rory, M. (2007). New Buddhist Movements in Thailand: Towards an Understanding of Wat Phra Dhammakaya and Santi Asoke. New York, Routledge.

Swearer, Donald K. (2010). The Buddhist World of Southeast Asia. NY: State University of New York Press.

Taylor, J.L. (1993). Forest Monks and the Nation-State: An Anthropological and Historical Study in Northeastern Thailand. Singapore, Institute of Southeast Asian Studies.

ป.อ.ปยุตฺโต (พระเทพเวที). (2538). พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

-------------- (พระพรหมคุณาภรณ์). (2554). ตอบ ดร.มาร์ติน: พุทธวินัยถึงภิกษุณี. พิมพ์ครั้งที่ 2, ไม่ปรากฏสำนักพิมพ์.

มติชนออนไลน์. (2560). เอาจริง!! เจ้าคณะปกครองแจ้ง 'พระ-เณร' ห้ามแสดงออกผิดเพศ-เล่นเฟซ-กดไลค์-แชร์-วิจารณ์สถาบัน ใครละเมิดถูกลงโทษ. ศาสนา-วัฒนธรรม 1 ตุลาคม 2560. เข้าถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2560 จากเว็บไซด์ https://www.matichon.co.th/news/681419

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อเนก เหล่าธรรมทัศน์: ปฏิรูปประเทศต้องให้เมืองคิดและทำเองได้มากขึิ้น

Posted: 31 Oct 2017 10:51 PM PDT

การเป็นเมืองของไทยมาแบบไม่มีการวางแผน การบริหารเมืองไม่เหมือนอารยประเทศ ส่วนท้องถิ่น ภูมิภาคยังเป็นแค่ลูกมือกรม-กระทรวง แนะ กระจายอำนาจพัฒนาเมืองไปจากมือกรม-กระทรวง ร่วมมือประชาชน เอกชน ต้องปลูกฝังจิตสำนึกรักเมืองให้มาก ประวัติศาสตร์ชาตินิยมอย่างเดียวไม่พออีกต่อไป

ศ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

เมื่อ 31 ต.ค. 60 ศ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองนคราภิวัฒน์กับการปฏิรูปการเมือง ได้รับเชิญมากล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ นคราภิวัฒน์กับการปฏิรูปการเมืองในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ "เมืองกินคน แถลงการณ์ว่าด้วยเรื่องนคราภิวัฒน์ การพัฒนาเมืองและสุขภาวะของไทย" เขียนโดย ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

อเนกกล่าวว่า ทุกวันนี้เมืองแบบไกลปืนเที่ยงในชนบทมีจำนวนน้อยลงทุกที คนในชนบทกลายเป็นชนชั้นกลางระดับล่างมากขึ้น ปัจจุบันประชากรโลกอาศัยในเมืองมากกว่าชนบทแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศเมืองไปแล้ว เป็นอะไรที่เราไม่เคยเป็น จากเดิมเรามีชีวิตอยู่และแก่ในไทยที่มีชนบทเป็นหลัก มีเมืองไม่มากนัก แต่ชนบทในไทยตอนนี้ก็ยังมีและยังมีความสำคัญในฐานะพื้นฐาน

ผมคิดว่าไทยมีกระบวนการที่เรียกว่านคราภิวัฒน์ คือกำลังกลายเป็นเมือง เป็นนครหรือมหานครที่เข้มข้นขึ้น มีความหวังว่าจะประณีตขึ้น ผสานกับใหม่เก่า ผสานตะวันออกกับตะวันตกได้มากขึ้น การปฏิรูป พัฒนาและเปลี่ยนแปลงประเทศโดยเน้นแต่ประเทศ ชาติ เศรษฐกิจในภาพรวมน่าจะไม่พอ เราอาจจะต้องสนใจนคราภิวัฒน์ให้มากขึ้น นคราภิวัฒน์ที่ผมพูดอาจจะย้อนหลังไปได้เป็นร้อยปีที่แล้วเมื่อเราพัฒนาประเทศอย่างสมัยใหม่แล้วก็มีเมืองเป็นศูนย์กลางในการบริหารปกครองประเทศ ต่อมาก็ขยายตัวเพราะการซื้อขายสินค้าเกษตร เมืองกลายเป็นโกดัง ร้านค้า ต่อมาก็ขยายตัวเพราะอุตสาหกรรม นั่นเป็นเมืองแบบที่ผมเติบโตมาสมัยหนุ่มๆ

ต่อมานคราภิวัฒน์ขยายตัวไปในด้านการท่องเที่ยว หลายเมืองโตมาด้วยการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นสมุย พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย 20 ปีหลังมานี้นคราภิวัฒน์เติบโตมาคู่กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีบทบาทมากในการพัฒนาเมือง แม้จะชื่อเทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก็ตามแต่ก็ไม่ใช่การทำงานกับชนบทเป็นหลักอย่างเดียวแล้ว ล่าสุดกระแสนคราภิวัฒน์เกิดจากการท่องเที่ยวของไทยที่เปรียบเป็นอาหารจานหลักของไทยแล้ว รายประเทศร้อยละ 20 มาจากการท่องเที่ยว ร้อยละ 8 มาจากภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 30 มาจากภาคอุตสาหกรรม เมืองของเราทั้งหมดรับแขกต่างประเทศได้ปีละหลายสิบล้าน เฉพาะ กรุงเทพมหานครก็รับแขก 20 ล้านคนต่อปี มากกว่าลอนดอน นิวยอร์ก สิงคโปร์ โตเกียว แต่ไม่ใช่มีแค่กรุงเทพฯ เรายังมีภูเก็ตและเมืองพัทยาที่มีผู้คนจากต่างประเทศเดินทางไปถึงจำนวนมากใน 25 อันดับแรกของเมืองในเอเชียแปซิฟิก

ถ้าเราดูวิธีบริหารเมือง นครและมหานคร เราจะคาดไม่ถึงว่าจะมีนคราภิวัฒน์ที่เบ่งบานขนาดนี้ มันเป็นกระบวนการเกิขึ้นแบบที่เราคาดไม่ถึง เพราะเราคิดไม่ถึง ไม่ค่อยวางแผนและจัดการไม่เป็นระบบ ถ้าถามว่าหน่วยงานราชการไหนที่สร้างเมืองมากที่สุด ผมว่าน่าจะเป็นกรมทางหลวง การรถไฟ การท่าอากาศยาน น่าจะเป็นมหาวิทยาลัย น่าจะเป็นนักท่องเที่ยว ไม่มีกระทรวงเมือง ไม่มีกระทรวงการกลับมาตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ (Human Resettlement) แบบในต่างประเทศ มันไม่ได้เกิดแบบมีแผน มีการวางผังเมืองที่ดี มันเกิดแบบของเรา ก็คือวางแผนก็ไม่ได้ตามแผน อะไรที่ไม่ได้วางแผนก็ได้ผล ตอนแรกจะสร้างเป็นเมืองอุตสาหกรรมก็ไม่เกิด กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวไปหมด การท่องเที่ยวของเราตอนแรกดูเหมือนไม่มีอนาคต แต่ทำไปทำมาก็กลับเป็นอนาคตของเรา ดังนั้นอยู่เมืองไทยอย่าไปสนใจแต่เรื่องแผน ต้องสนใจธรรมขาติที่เป็นจริงของสรรพสิ่งที่เราทำอยู่ หมั่นสังเกตและเปลี่ยนแผนไปเรื่อยๆ มีอะไรที่เราคาดไม่ถึงมากเหลือเกิน

การบริหารเมืองของเราไม่เหมือนนานาประเทศที่เป็นอารยะ เพราะเมืองของต่างประเทศเป็นการปกครองปกครองส่วนท้องถิ่น ในสหรัฐฯ กรุงวอชิงตัน ดีซี ถูกดูแลโดยเทศบาลกรุงวอชิงตัน ดีซี กรุงปักกิ่งก็ถูกดูแลโดยผู้ว่าการปักกิ่ง ของไทยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ก็จริงแต่ทำอะไรมากไม่ได้ เพราะที่กรุงเทพฯ มีรัฐมนตรี มีกระทรวงเต็มไปหมด เราบริหารเมืองโดยใช้ราชการส่วนกลางเป็นหลัก แล้วมีราชการส่วนภูมิภาคมาช่วย ส่วนท้องถิ่นมีบทบาทน้อยในาการสร้างเมือง แม้จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้ากล่าวโดยสรุปจริงๆ เราเติบโตด้วยส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นเป็นเพียงบทบาทเสริม

เรามีชาวเมืองที่ค่อยๆมีสำนึกความเป็นเมือง รักเมือง อยากจะสร้างบ้านแปลงเมือง เป็นอะไรที่น่าชื่นใจ เวลานี้ก็จะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นแรกที่อยากชวนคิดก็คือ การพัฒนาการเมืองก็ดี ปฏิรูปการเมืองก็ดี จะต้องคิดและทำให้มากขึ้นในการที่จะทำให้นคร กรุงและพื้นที่มีบทบาท ความริเริ่มและความสร้างสรรค์ของตนเองให้มากขึ้น ในการพัฒนาประเทศและการเมืองของเรา น้อยครั้งที่ระบบราชการของเราจะคิดจากพื้นที่ เราจะคิดจากกรม กระทรวง เราจะต้องพยายามคิดในพื้นที่ให้มากขึ้น เช่น เราจะพัฒนาพื้นที่เมืองชายแดนอย่างไร มีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่มีเมืองชายแดนใหญ่เกือบทุกภาค มีการค้าขายชายแดนเยอะและได้เปรียบดุลการค้าทุกภาค ควรจะคิดว่าทำอย่างไรให้เมืองชายแดนมีความสามารถ มีความริเริ่ม ความพยายามเป็นพิเศษที่ทำให้เมืองชายแดนเติบโตและลงตัวโดยตัวของมันเองโดยไม่ต้องขึ้นกับกรมและกระทรวงมากนัก เพราะปัจจุบันพื้นที่เป็นเพียงภาคสนามของกรมและกระทรวง

ถ้าจะคิดว่าเราจะทำมาหากินกับการท่องเที่ยวให้มากขึ้น ควรคิดว่าทำอย่างไรให้เมืองพิเศษทำอะไรได้มากกว่านี้ ถ้าเราไม่คิดเสียเลยมันก็พอทำได้ แต่มันจะไม่โดดเด่น เหมือนเอาเครื่องบินใบพัดใส่ใบพัดไปเรื่อยๆ แต่ไม่ติดไอพ่น คิดถึงเมืองเชียงคาน แม่สอด พัทยา ภูเก็ต สมุย เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ถ้าทำให้เเป็นเมืองพิเศษในการท่องเที่ยวจะมีผู้ให้ความสนใจมากมาย ไม่ใช่แค่รัฐบาล บีโอไอ (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) สภาพัฒน์ การท่องเที่ยวของเราเกิดขึ้นโดยอะไรที่รัฐบาลไม่ได้บริหารจัดการเยอะมาก เช่น เชียงคานมันก็เกิดของมันเอง เชียงรายก็เกิดของเชียงรายเอง ถ้าเราไปดูเหตุคือระบบบริหารราชการแผ่นดินก็จะพบว่าเหตุและผลไม่ได้ไปด้วยกัน เหตุที่มากจริงๆคือคนไทยเก่ง ฉลาด มีไหวพริบเอาตัวรอด เอกชนที่ปรับตัวเก่ง ชาวบ้านรู้เรื่องการท่องเที่ยวก่อนรัฐบาล รู้เรื่องบูรพาภิวัฒน์ก่อนรัฐบาลหรือนักวิชาการด้วยซ้ำ ถ้าจะคิดเรื่องสร้างบ้านสร้างเมืองต้องยึดโยงกับพลังที่เป็นจริงแต่ไม่เป็นทางการ การบริหารอะไรที่เป็นทางการจะไม่ค่อยได้ผล ต้องหาอะไรที่ไม่ทางการแต่ต้องได้ผล แล้วใช้ตรงนั้นให้มากขึ้น

หากมองอนาคตของเมืองผมว่าอนาคตค่อนข้างจะสดใส ผมไปดูเมืองต่างๆ ในไทยก็ดูค่อนข้างมีอนาคต ผมไปอุดรธานีมาก็พบว่าเป็นเมืองที่มีพละกำลังทางเศรษฐกิจสูงมาก ทุกเช้าจะมีรถมุ่งหน้าข้ามฝั่งไปลาว แม่สอดตอนนี้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวของชาวย่างกุ้ง โรงแรมที่แม่สอดที่ค่อนข้างแพง ร้านอาหารแพงๆ หรูๆ ก็เป็นคนจากย่างกุ้งมากินมาอยู่ สรรพสินค้าของแม่สอดก็มีชาวย่างกุ้งมาซื้อเป็นหลัก ถ้าผมมองประเทศไทยเห็นอนาคตไม่มากนัก แต่ถ้ามองแม่สอดผมว่าอนาคตมันสูงกว่าประเทศไทย เมืองของเรามันขโมยโต ขโมยเบิกบาน ขโมยสร้างสรรค์ เมืองต่างๆ ที่พูดมามันนำพาประเทศอย่างไม่เป็นทางการ นายกเทศมนตรี นายก องค์การบริหารส่วนจังหวัด หลายแห่งเก่งระดับประเทศ ผมคิดว่าการปฏิรูปการเมือง นคราภิวัฒน์ก็เป็นความหวัง เป็นพลัง เป็นเจ้าของการพัฒนาที่สำคัญ กระบวนการรักบ้าน สร้างบ้านแปลงเมืองหรือการร่วมแรงร่วมใจสร้างบ้านเมืองของเรา มันจะช่วยเสริมสร้างจิตใจ สร้างจิตอาสาให้คนเป็นคนของเมือง เหมือนสิ่งที่กรีกโบราณที่เรียกว่าประชาธิปไตยที่ชาวเมืองปกครองตนเอง การสร้างบ้านแปลงเมืองนี้ต้องใช้ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำ ผลักดันให้พวกเขาพัฒนายิ่งขึ้น ทำให้พวกเขามีพลังไปเสริมกับกระบวนการสร้างบ้านสร้างเมืองเอง ระหว่างนี้เรายังใช้ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคมาช่วยมากไม่ได้ ก็ควรใช้ท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับชาวเมืองมากกว่า แต่ต้องประสานกับผู้สร้างบ้านแปลงเมือง เราต้องทำให้เมือง นคร กรุง เป็นบ้านของเรา เราต้องรู้สึกอินกับเมือง นคร กรุง ให้มากขึ้น ให้เป็นครอบครัวใหญ่ของเรา สร้างการเมืองใหม่ที่เป็นการเมืองของเราเอง ผมคิดว่าควรเรียกว่าการเมืองของเมือง นคร และกรุง เรามีชาตินิยมของเราเกือบอย่างเดียว แต่สิ่งที่ขาดไปคือความรักที่มีต่อเมือง นคร และกรุง ผมคิดว่ามันไม่ค่อยมีเพราะมันไม่มีประวัติศาสตร์ของเมือง นคร กรุง ทั้งไม่มีประวัติศาสตร์ของภาคด้วย เพราะประวัติศาสตร์ที่เราเรียนมีแต่ประวัติศาสตร์ชาติ ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น เมือง นคร และกรุงก็อยู่ในประวัติศาสตร์ชาติแต่อยู่อย่างไม่สมบูรณ์ อยู่อย่างไม่ได้ทำให้เมือง นคร และกรุง อยู่อย่างภาคภูมิใจ เราจะต้องสร้างเมืองนิยม สร้างประวัติศาสตร์เมือง ต้องเชิดชูเมืองให้มากกว่านี้ จะต้องมีใจของเมือง จะมีแค่เพียงวงเวียน เสาไฟฟ้า โรงพยาบาล โรงเรียนหรือสวนสาธารณะคงไม่พอ

การปฏิรูปถ้าจะคิดแบบฝรั่งก็คิดได้ แต่แบบที่เราทำตอนนี้คือบนลงล่าง คือให้ผู้นำทำแล้วเชื่อว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนตามแผน ยุทธศาสตร์ ผมก็อยากให้เสริมว่าการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงแบบไทยหรือแบบตะวันออกที่ต้องเปลี่ยนจากภายในด้วย ถ้าเราไม่มีจิตใจที่ดีงามจะเปลี่ยนรูปภายนอกอย่างไม่เต็มที่ จะต้องเป็นจิตที่เข้มงวดตัวเอง ผ่อนปรนผู้อื่น จากใจเราก็หลอมรวมมันเป็นจิตใจของชาวเมือง จากตัวเองสู่ครอบครัว ชุมชน และเมือง ถ้าทำแบบนี้มหานครก็จะเป็นหน่วยหนึ่งในการปฏิรูป ไม่เพียงแต่หน่วยงานราชการ

ต่อคำถามว่าควรจะปล่อยให้แต่ละจังหวัดเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเองได้หรือไม่ เอนกตอบว่า ประเทศไทยปกครองแบบกรมมาธิปไตย ปกครองแบบที่พื้นที่เป็นภาคสนามของกรม ผู้ว่าฯ และปลัดก็เป็นคนจากกรมการปกครองทั้งนั้น วิธีที่จะแก้ปัญหามันมีได้หลายวิธี ถ้าเรารักษารูปแบบจังหวัดเอาไว้แบบทุกวันนี้ก็ต้องมีกติกาว่าผู้ว่าจะต้องอยู่อย่างน้อยกี่ปี เพราะบางจังหวัดผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งเฉลี่ยไม่ถึงปี เรื่องเลือกตั้งผู้ว่ามีข้อดีคือมันอยู่ครบเทอม ผู้ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วมันก็ต้องมีความต่อเนื่อง เรื่องผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งหรือไม่ก็เป็นอะไรที่ต้องถกเถียงกันต่อไปอีกเยอะ ถ้าจะทำจริงๆ มันมีโอกาสทำได้เยอะ เราอาจจะเลือกบางจังหวัดมาทำก่อนก็ได้ ข้าราชการของเราก็จะไม่ค่อยพอใจเวลาได้ยินเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่ข้าราชการเกษียณจะเห็นด้วยเพราะสมัครลงเลือกตั้งได้ เราจะฟังความพอใจหรือไม่พอใจส่วนบุคคลมากก็ไม่ได้ ในเงื่อนไขปัจจุบันก็อย่าไปท้อใจว่าทำอะไรไม่ได้ มันก็ยังทำอะไรได้เยอะ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น