โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

มาเลเซียถูกเจาะระบบครั้งใหญ่ที่สุด-ข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์ 46 ล้านเบอร์รั่วไหล

Posted: 31 Oct 2017 10:45 AM PDT

หมายเลขโทรศัพท์มือถือที่มีการลงทะเบียนในมาเลเซียมากกว่า 46 ล้านหมายเลขเกิดการรั่วไหลและถูกนำไปขายต่อในเว็บมืด สื่อมาเลเซียระบุว่าการแฮกหมายเลขผู้ใช้บริการในครั้งนี้เป็นการเจาะระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย

ที่มาภาพจาก commons.wikimedia.org

31 ต.ค. 2560 แฮกเกอร์ที่เจาะระบบในครั้งนี้ขโมยเอาข้อมูลที่อ่อนไหวจากองค์การโทรคมนาคมของมาเลเซีย และผู้ประกอบการโครงข่าย ทำให้ข้อมูลส่วนตัวต่างๆ มากกว่า 46 ล้านหมายเลขรั่วไหล ไม่ว่าจะเป็นชื่อผู้ใช้, ข้อมูลการชำระค่าบริการทั้งก่อนและหลังของหมายเลขนั้นๆ ที่อยู่ของหมายเลข ข้อมูลรายละเอียดลูกค้า และข้อมูลของซิมการ์ด

มาเลเซียมีประชากรอยู่ราว 32 ล้านคน หลายคนมีโทรศัพท์มือถือหลายเครื่อง หมายเลขที่ถูกแฮกเหล่านี้อาจจะมีหลายหมายเลขที่เป็นหมายเลขยกเลิกใช้บริการแล้วและหมายเลขที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซื้อไว้ชั่วคราว

มีการรายงานกรณีข้อมูลรั่วไหลดังกล่าวนี้ทางเว็บไซต์ lowyat.net และเว็บไซต์สื่อท้องถิ่นในมาเลเซีย วิจานเดรน รามดาส ผู้ก่อตั้ง lowyat เปิดเผยว่าข้อมูลที่เขาได้รับมาในเรื่องนี้มีการส่งถึงคณะกรรมการสื่อสารและสื่อผสมของมาเลเซีย (MCMC) แล้ว โดยเขาบอกว่าต้องการให้บริษัทโทรคมนาคมเทลคอสยอมรับว่ามีการเจาะระบบเกิดขึ้นจริงและควรบอกกับลูกค้าของพวกเขา

ก่อนหน้านี้ยังเคยมีกรณีที่บันทึก 81,309 ฉบับ จากองค์กรด้านการแพทย์ 3 องค์กรของมาเลเซียรั่วไหลด้วย

กาวิน เชา นักยุทธศาสตร์ด้านเครือข่ายและความปลอดภัยบอกว่าส่วนใหญ่แล้วมักจะมีการใช้วิธีโจมตีด้วยการล่อลวงทางสังคมอย่างการหลอกลวงผ่านข้อความในโทรศัพท์มือถือเพื่อล่อขอข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้โดยแสร้งปลอมตัวเป็นบริษัทโทรคมนาคม หรือด้วยวิธีการอื่นๆ หลังจากนั้นก็มีการส่งมัลแวร์หรือสปายแวร์โดยปลอมแปลงว่าตนเองเป็น "โปรแกรมแอพพลิเคชัน" เพื่อใช้หาประโยชน์จากเหยื่อต่อไป ทำให้ผู้ใช้งานควรระมัดระวังเวลารับข้อความจากคนแปลกหน้า ไม่ให้ถูกล่อลวงเอาข้อมูลไป หรือระวังไม่ให้ถูกล่อลวงให้ลงโปรแกรมแอพพลิเคชันแปลกๆ

ส่วนวิธีการแก้ปัญหาข้อมูลรั่วไหลนั้น ดิเนช แนร์ นักยุทธศาสตร์เทคโนโลนีกล่าวว่าผู้ใช้บริการควรเริ่มจากการเปลี่ยนซิมส์การ์ด เนื่องจากขอมูลส่วนตัวต่างๆ ของเราอยู่ติดกับซิมส์การ์ดเหล่านี้ ที่เลวร้ายกว่านั้นคือผู้ไม่หวังดีอาจจะนำข้อมูลผู้ใช้คนอื่นมา "โคลน" โทรศัพท์ แนร์บอกอีกว่าถึงจะยังไม่ทราบว่ามีรอยรั่วของะบบอยู่ที่ไหนแต่จากการที่มีข้อมูลรั่วออกมาแสดงว่าต้องมีสักจุดใดจุดหนึ่งที่ถูกเจาะ

 

เรียบเรียงจาก

Data breaches nothing new, says expert, The Star, 31-10-2017

Massive data breach hits Malaysia as over 46 million sensitive records end up on Dark Web, International Business Times, 31-10-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอลงอาญา 2 ปี แกนนำ กคป. กรณีบุกกระทรวงพลังงาน ปี 57

Posted: 31 Oct 2017 08:03 AM PDT

ศาลสั่งจำคุก 'หมอระวี' แกนนำ กคป. 8 เดือน ปรับ 6,000 บาท โดยโทษจำรอลงอาญา 2 ปี ฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง กรณีบุกกระทรวงพลังงาน เมื่อปี 57 เจ้าตัวเผยไม่ยื่นอุทธรณ์ พอใจกับคำพิพากษา ย้ำทำเพื่อประเทศชาติ

แฟ้มภาพ

31 ต.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (31 ต.ค.60) ที่ห้อง 704 ศาลอาญารัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษา คดีกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.) บุกกระทรวงพลังงาน มี นพ.ระวี มาศฉมาดล แกนนำ กคป.กับพวก รวม 105 คน เป็นจำเลยฐาน ร่วมกันมั่วสุม ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

ศาลพิเคราะห์ ข้อโต้แย้งของ นพ.ระวี จำเลยที่ 1 แล้วฟังไม่ขึ้นกรณีระบุว่า เป็นเพียงผู้ประสานงานร่วมชุมนุม ไม่ได้เป็นแกนนำ เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ  เนื่องจากมีภาพปรากฏจำเลยขึ้นปราศรัยและเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐ พิพากษาจำคุก 8 เดือน ปรับ 6,000 บาท ฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายฯ แต่ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนศาลให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี จึงให้รอลงอาญา 2 ปี ส่วนแกนนำอีก 3 คน และผู้ชุมนุม คือจำเลยที่ 7-9 , 11-98  และ 100-105 ให้จำคุกคนละ 2 เดือนปรับคนละ 2,000 บาท โดยให้รอลงอาญา 2 ปีเช่นกัน แต่จำเลยที่ 10 และ 99 ให้จำคุกจริง 2 เดือน 20 วัน ส่วนจำเลยที่ 6 ให้ยกฟ้อง

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากวันที่ 13 ม.ค. 2557 กลุ่มจำเลยร่วมกันใช้รถบรรทุก 6 ล้อ เป็นเวทีปราศรัยบุก บมจ.ปตท.สำนักงานใหญ่ โจมตีการทำงานของรัฐบาลและทำลายทรัพย์สินในกระทรวงพลังงาน ถ.วิภาวดีฯ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

นพ.ระวี เปิดเผยหลังฟังคำพิพากษาว่า คดีนี้จะไม่ยื่นอุทธรณ์ และพอใจกับคำพิพากษา แต่ถ้าทาง ปตท.หรืออัยการยื่นอุทธรณ์ก็คงต้องยื่นสู้ต่อ ชี้สิ่งที่เรากระทำเพื่อประเทศชาติ หลังจากนี้ในอนาคตเราอาจเคลื่อนไหวในแนวปฏิรูปด้านพลังงานอย่างไรจะแจ้งให้ทราบภายหลัง

ที่มา : สำนักข่าวไทย ข่าวสดออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ โยนปลดล็อคพรรคการเมือง เป็นเรื่องของ คสช.

Posted: 31 Oct 2017 07:43 AM PDT

ปมกระแสเรียกร้องปลดล็อคพรรคการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ เป็นเรื่องของ คสช. พล.อ.ประวิตร ย้ำยังไม่ปลดล็อค ชี้ยังพบการโจมตี บิดเบือน ยันทันกรอบเวลา 180 วัน

31 ต.ค. 2560  จากกรณีตามเงื่อนไขของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น พรรคการเมืองต้องเช็คชื่อจำนวนสมาชิกพรรค พร้อมกับการเลือกผู้บริหารพรรค กำหนดนโยบาย และตัดสินว่าจะส่งใครลงเลือกตั้ง ที่ต้องทำให้เสร็จภายในวันที่ 5 ม.ค.2561 ต่อด้วยการรีเซตผู้บริหารพรรค เลือกหัวหน้าพรรคใหม่ ก่อนจะกำหนดนโยบายพรรค และประกาศอุดมการณ์พรรคให้ประชาชนทราบ ซึ่งต้องเสร็จภายใน 5 เม.ย. 2561 และเข้าสู่การหาเสียงเลือกตั้ง ประมาณการวันลงคะแนนเลือกตั้งอยู่ในช่วงเดือนพ.ย. ถึง ธ.ค.2561 จนทำให้หลายพรรคการเมืองออกมาเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อคให้สามารถจัดกิจกรรมและประชุมได้นั้น

ล่าสุดวันนี้ (31 ต.ค.60 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และได้ตอบคำถามกรณีฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้รัฐบาลและคสช. เร่งปลดล็อคการเมือง เพียงสั้นๆ ว่า "เป็นเรื่องของ คสช." ขณะเดียวกันเมื่อถามถึงกระแสข่าวการปรับครม. นายกฯ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าวก่อนเดินขึ้นตึกบัญชาการ 

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ยังไม่พิจารณาปลดล็อคให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีความสงบเรียบร้อย หรือมีความเห็นไปในทางเดียวกัน 

"ขณะนี้ยังพบว่ามีการแสดงความคิดเห็นในลักษณะต่าง ๆ ทั้งการโจมตี บิดเบื่อน แต่ยืนยันว่าจะพิจารณาให้ดำเนินการได้ทันตามกรอบ 180 วันที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากต้องรอเวลาที่เหมาะสม ส่วนการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ครั้งต่อไป ยังไม่ได้พิจารณาว่าจะบรรจุเรื่องนี้เข้าหารือหรือไม่ เพราะยังไม่มีแผนว่าจะประชุมเมื่อใด" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นในเวลานี้ยังมีกฎหมายที่ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก 3 ฉบับ จากทั้งหมด 10 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ส่งเข้าที่ประชุมพิจารณาของ สนช. วันนี้ (31 ต.ค.)  พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะมีการยิ่นเข้าที่ประชุมวันที่ 21 พ.ย. และพ.ร.ป.ว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายจะมีการยื่นเข้าที่ประชุมในวันที่ 28 พ.ย.นี้ 

ที่มา : เดลินิวส์ สำนัักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รำลึก 11 ปี ลุงนวมทอง

Posted: 31 Oct 2017 05:59 AM PDT

จุดเทียนวางดอกไม้รำลึก 11 ปี ลุงนวมทอง เพื่อนร่วมอาชีพขับแท็กซี่ชี้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองคนหนึ่ง เผยทั้งรู้สึกใจหายและภูมิใจที่มีแท็กซี่กล้าชนกับเผด็จการถึงขนาดเอาชีวิตเข้าแลก

31 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (31 ต.ค.60) เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. ที่สดมภ์ นวมทอง ไพรวัลย์ บริเวณสะพานลอย หน้า สนพ. ไทยรัฐ ริมถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ประชาชนประมาณ 20 คน รวมกิจกรรมจุดเทียน วางดอกไม่ และอ่านบทกวี รำลึก 11 ปี การเสียชีวิตจอง นวมทอง ซึ่งมีอาชีพขับแท็กซี่ผูกคอเสียชีวิต ที่บริเวณ ในคืนวันที่ 31 ต.ค. 2549 โดยมีจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปก.) ที่ว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้" หลังจากก่อนหน้านี้เขาขับแท็กซี่พุ่งชนรถถังของคณะรัฐประหาร ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าจนบาดเจ็บสาหัสเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2549 เพื่อประท้วงการรัฐประหาร

กิจกรรมรำลึกใช้เวลาประมาณ 20 นาที ก่อนยุติลงอย่างสงบ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบคุมเข้มทั่วบริเวณ นอกจากนี้มีรายงานด้วยว่าช่วงเย็นของวันนี้มีประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางไปวางดองไม่บริเวณดังกล่าวเช่นกัน ขณะที่มีป้ายข้อความเตือน โดยยกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองติดไว้ด้วย

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ ไพศาล จันปาน อายุ 44 ปี ผู้มีอาชีพขับแท็กซี่ และมาร่วมกิจกรรมรำลึกนวมทอง เพื่อนร่วมอาชีพตลอดหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งครั้งนี้ด้วย โดย ไพศาล กล่าวว่า นวมทอง ถือเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองคนหนึ่ง ตนเองแม้จะเป็นผู้มีเสียงเล็กๆ น้อยๆ จึงอยากมารำลึก บริเวณดังกล่าว 

"มีผู้ชายคนหนึ่ง เขาขับรถแท็กซี่ ไม่ชอบการสบประมาทหรือหมิ่นประมาทจากกองทัพ แล้วเขาก็ปลิดชีพตัวเอง แต่ผมคงไม่กล้าทำ" ไพศาล กล่าวถึง นวมทอง เพื่อนร่วมอาชีพและอุดมการณ์ของตน พร้อมระบุว่าตนรู้สึกทั้งใจหายและภูมิใจที่มีแท็กซี่กล้าชนกับเผด็จการถึงขนาดเอาชีวิตเข้าแลกแบบนี้ แต่ก็หดหู่ที่ต้องมาเสียชีวิตเพราะการต่อสู้ทางการเมืองเช่นกัน

ไพศาล กล่าวว่า สำหรับคนขับรถแท็กซี่ที่เป็นเสื้องแดงหรือมาทางฝั่งเสื้อแดงนั้นจะรู้จักนวมทองทุกคน หรือแท็กซี่ที่สนใจการเมืองอย่างเข้ทข้นก็จะรู้จักกันหมด แต่ตอนนี้คนขับแท็กซี่ก็มีความหลากหลายมีทั้งที่สนใจการเมืองและไม่สนใจเลย

Banrasdr Photo รายงานด้วยว่าเวลา 20.00น.กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยได้เดินทางมาจุดเทียน วางดอกไม้รำลึกด้วยเช่นกัน โดย มีตำรวจหลายสิบนายแบบเฝ้าสังเกตุการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกับตรวจหาป้ายข้อความหรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับการเมืองจากผูู้ที่เข้าร่วมรำลึก
ภาพจาก Banrasdr Photo 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.ไฟเขียว หนุนธุรกิจปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ - มาตรการภาษีหนุนบริจาคช่วยผู้ประสบอุทกภัย

Posted: 31 Oct 2017 05:15 AM PDT

ครม.อนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ - ช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตช่วงที่ผลผลิตออกมาก และมาตรการการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จ้างงานผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปรับปรุงซ่อมแซมที่เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ

31 ต.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (31 ต.ค.60)  เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งสรุปผลการประชุม ครม. มีมติอนุมัติแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2560/61 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปี 2560/61 วงเงินงบประมาณ 45 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

สำหรับสาระสำคัญของโครงการสินเชื่อฯ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1. เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้กับสถาบันเกษตรกรที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2560/61 กับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อจำหน่ายต่อแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและ/หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์  2. เพื่อช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงที่ผลผลิตออกมาก ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการทำธุรกรรมระหว่างสมาชิกและสถาบันเกษตรกรตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถาบันเกษตรกร

3. เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกรในการดำเนินธุรกิจข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ 4. เพื่อเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรได้มีแหล่งรับซื้อผลผลิตที่หลากหลายยิ่งขึ้น จากเดิมที่แหล่งรับซื้อส่วนใหญ่จะเป็นประกอบการเอกชน

โดยมีเป้าหมาย สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมหรือรับซื้อและสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท โดยใช้เงินทุน ธ.ก.ส.  ซึ่ง วิธีการ ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี โดยคิดจากสถาบันเกษตรกร ในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยแก่ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือนนับแต่วันรับเงินกู้ และตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้เป็นต้นไป สถาบันเกษตรกรจะต้องรับภาระดอกเบี้ยเองในอัตรา MLR บวกตามชั้นความเสี่ยงของสถาบันเกษตรกรแต่ละแห่ง (ปัจจุบัน MLR เท่ากับ   ร้อยละ 5 ต่อปี)

งบประมาณที่ขอจัดสรร จำนวนดอกเบี้ยที่ขอชดเชยจากรัฐ 45 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อรวม 1,500 ล้านบาท X อัตราดอกเบี้ยที่ขอชดเชยจากรัฐ อัตราร้อยละ 3 ต่อปี X ระยะเวลาการชดเชยดอกเบี้ย 12 เดือน)   ระยะเวลาดำเนินงาน 1. ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 2. ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 31 2561 3. กำหนดชำระคืนเงินกู้ ไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันที่รับเงินกู้ ทั้งนี้ ต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 และ 4. ระยะเวลาชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันที่รับเงินกู้

อนุมัติมาตรการการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ครม. ยังมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ คือ 1. เห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2560 (เพิ่มเติม) และ 2. รับทราบมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่มีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

โดยสาระสำคัญของมาตรการการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2560 (เพิ่มเติม)  มีดังนี้  1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 645) พ.ศ. 2560 ซึ่งได้กำหนดช่วงเวลาสำหรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอุทกภัยระหว่างวันที่ 5 กรกาคม 2560 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ได้สิ้นสุดลงแล้ว มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย แต่ยังมีประชาชนและครัวเรือนที่ประสบเหตุอุทกภัยดังกล่าว กระทรวงการคลังจึงเห็นควรขยายระยะเวลาให้ผู้บริจาคเงินหรือทัรพย์สินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ไปหักเป็นค่าลดหย่อน/รายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นจากสิทธิการหักรายจ่ายตามปกติอีกเป็นจำนวนร้อยละ 50 โดยออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

2. มาตรการจ้างงานผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ในการปรับปรุงซ่อมแซมที่เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติตามประกาศของ ปภ. ให้หน่วยงานต่าง ๆ พิจารณาจ้างงานผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี พ.ศ. 2560 ตามความเหมาะสม โดยประสานขอข้อมูลผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐมายังศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลัง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. เสนอตำรวจแก้ไขระเบียบห้ามเปิดเผยประวัติอาชญากรรมของเด็กและเยาวชน

Posted: 31 Oct 2017 03:16 AM PDT

ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิเด็กและการศึกษา เสนอ สำนักงานตำรวจแห่งชาติแก้ไขระเบียบห้ามเปิดเผยประวัติอาชญากรรมของเด็กและเยาวชนให้สอดคล้องกติกาสากล

ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กสม. และประธานอนุกรรมการด้านสิทธิเด็กและการศึกษา 

31 ต.ค. 2560 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งว่า วันนี้ (31 ต.ค.60) ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กสม. และประธานอนุกรรมการด้านสิทธิเด็กและการศึกษา เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุม กสม. ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครอง ได้พิจารณาและมีมติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (3) ส่งข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2557 ข้อ 4 ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล และบทบัญญัติตามกฎหมายของไทย

ฉัตรสุดา กล่าวว่า เด็กและเยาวชนทุกคนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และกฎอันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารงานยุติธรรมเกี่ยวกับคดีเด็กและเยาวชน หรือกฎแห่งกรุงปักกิ่ง (United Nations Standard Minimum Rules for the Administration of Juvenile or the Beijing Rules) ที่ห้ามมิให้เปิดเผยหรือนำประวัติการกระทำความผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชนไปพิจารณาให้เป็นผลร้ายหรือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมไม่ว่าทางใด ๆ ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเอาไว้ อีกทั้งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 84 วรรคหนึ่ง ก็มีบทบัญญัติเด็ดขาดในทำนองเดียวกันนี้ไว้

"เมื่อพิจารณาระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติข้างต้น ที่บัญญัติให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรนำข้อมูลประวัติอาชญากรมาตรวจสอบหรือเพื่อประโยชน์ในการศึกษาได้ แม้ว่าจะให้เจ้าตัวยินยอมก่อนก็ตาม เป็นการให้ดุลพินิจกับเจ้าหน้าที่ที่กว้างเกินไปในการพิจารณาเปิดเผยประวัติ ซึ่งอาจเป็นผลร้ายหรือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม สังคมจึงอาจมีส่วนผลักดันให้เด็กและเยาวชนกลับเข้าสู่วังวนของการกระทำความผิดซ้ำ เป็นการไม่ให้โอกาสกลับตนเป็นคนดี หรืออาจมีส่วนทำให้เด็กและเยาวชนได้รับตราบาปจากสังคมได้" ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิเด็กและการศึกษา ระบุ

ฉัตรสุดา กล่าวด้วยว่า ด้วยเหตุผลข้างต้นประกอบกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 32/2548 เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งไม่ลบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประวัติอาชญากร กสม. จึงมีข้อเสนอแนะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแก้ไขปรับปรุงระเบียบดังกล่าว เพื่อกำหนดการคัดแยกประวัติการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนและบัญชีทะเบียนประวัติของเด็กและเยาวชนไว้ในหมวดหนึ่งหมวดใดโดยเฉพาะ แยกจากกรณีการกระทำความผิดของบุคคลทั่วไป เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและกฎแห่งกรุงปักกิ่ง รวมทั้งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 84 วรรคหนึ่ง , พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 24 และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 22

ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นจะต้องพิจารณาเปิดเผยประวัติการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรกำชับหน่วยงานในสังกัดจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ และระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงสิทธิเด็กและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เป็นผู้หญิง (บริการ) แท้จริงแสนลำบาก (2): โรคติดต่อและการล่อซื้อ

Posted: 31 Oct 2017 02:48 AM PDT

ในตอนที่แล้วเราได้สำรวจมายาคติ ชีวิตและความหลากหลายของพนักงานบริการแต่ละประเภทไปแล้ว ในตอนที่ 2 นี้จะกล่าวถึงวิธีที่พวกเธอใช้ป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการล่อซื้อของเจ้าหน้าที่รัฐ

เป็นผู้หญิง (บริการ) แท้จริงแสนลำบาก (1): สำรวจชีวิต 'กะหรี่' ในวันที่ศีลธรรมยังค้ำคอรัฐไทย

'แหล่งแพร่เชื้อ' เมื่อรัฐไม่แคร์ จึงต้องดูแลตัวเอง

หนึ่งในมายาคติที่คนในสังคมมีต่อพนักงานบริการคือพวกเธอเป็นพาหะของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ต้องมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้ามากหน้าหลายตาทำให้พวกเธอเสี่ยงต่อการติดกามโรค แต่ก็ใช่ว่าพวกเธอจะไม่มีการป้องกันตัว มาตรการป้องกันโดยทั่วไปที่พนักงานบริการพึงปฏิบัติกันคือการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่ให้บริการและหลีกเลี่ยงการจูบกับลูกค้า ในกรณีของอาบอบนวด เจ้าของร้านจะจ้างหมอมาตรวจสุขภาพทั่วไปให้กับพนักงานทุกๆ เดือนและทุกๆ 3 หรือ 6 เดือนจะมีการตรวจเลือด เพราะหากมีข่าวว่ามีลูกค้าติดโรคจากสถานบริการของตนแพร่ออกไป กิจการของพวกเขาอาจต้องพบกับจุดจบ

แต่สำหรับพนักงานบ้านสาวในจังหวัดสมุทรสาคร พวกเธอต้อง 'ดูแลตัวเอง' เพราะทางร้านจะไม่จัดหาแพทย์มาให้ แต่โชคดีที่ในจังหวัดสมุทรสาครมีอาสาสมัครและภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ ที่คอยให้ความรู้ด้านสุขภาวะทางเพศและสิทธิตามกฎหมายให้กับพวกเธอ รวมถึงกระตุ้นให้พวกเธอเห็นความสำคัญของการไปตรวจโรค

ปลา (นามสมมติ) อดีตพนักงานบริการวัย 43 ปี ที่ปัจจุบันเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิ Empower หรือมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง กล่าวว่าเธอทำงานเป็นอาสาสมัครมานานกว่าสิบปีแล้ว ทำให้เธอรู้จักกับพนักงานบริการในพื้นที่เป็นอย่างดี ปลาระบุว่าในจังหวัดสมุทรสาครมีพนักงานบริการอยู่ประมาณ 400 คน มีเพียง 9 คนเท่านั้นที่มีเชื้อ HIV และส่วนใหญ่ได้รับเชื้อก่อนเข้าสู่วงการ งานของปลาคือช่วยให้พนักงานตระหนักในสิทธิตามกฎหมายของตน พนักงานหลายคนไม่รู้ว่ารัฐไทยมีบริการตรวจโรคเอดส์ฟรี 2 ครั้งต่อปี แค่เพียงแสดงบัตรประชาชน พนักงานที่ติดเชื้อบางคนไม่รู้ว่าพวกเธอสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสได้โดยใช้สวัสดิการบัตรทอง บางคนเลือกที่จะเก็บตัวจนอาการทรุดหนักถึงตัดสินใจมาขอความช่วยเหลือจากปลา

ปลากล่าวว่าการทำงานอาสาสมัครในระยะแรกมีความยากลำบากมากในการกระตุ้นให้พนักงานไปตรวจสุขภาพและร่วมกิจกรรมกับทางมูลนิธิ เพราะพนักงานมองว่าเป็นกิจกรรมที่ทำให้เสียเวลาทำมาหากิน ทั้งนี้เพราะโรงพยาบาลจะรับตรวจโรคแค่ช่วงกลางวัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาพักผ่อนของพวกเธอ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมักมีทัศนคติไม่ดีต่อพนักงานบริการจึงปฏิบัติและใช้คำพูดกับพวกเธออย่างไม่ให้เกียรติ พวกเธอจึงไม่ค่อยอยากจะไปตรวจ ปลาต้องเริ่มจากการสร้างความสัมพันธ์กับพนักงานผ่านการแจกถุงยาง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทำหากินพื้นฐานของพนักงานบริการและจัดหารถเช่าเพื่อพาพนักงานไปตรวจที่โรงพยาบาล

แต่ก็มิใช่ว่ารัฐไทยจะไม่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงานบริการเลย ตรงกันข้าม บางครั้งรัฐไทยก็ดูจะให้ความสำคัญ 'มากเกินไป' เสียด้วยซ้ำ ปลากล่าวว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำจังหวัดเคยมาขอให้พนักงานไปตรวจภายในทุกเดือนที่คลินิกกามโรคประจำจังหวัด โดยมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสมุทรสาครคอยให้บริการ โดยบางครั้ง ขู่ว่าหากไม่ทำตามจะส่งตำรวจไปสั่งปิดร้าน ปลาไม่ทราบว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจึงมีอำนาจสั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ แต่เธอมีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวมีสามีเป็นตำรวจ

การตรวจภายในไม่ใช่กิจกรรมที่น่าภิรมย์นักสำหรับพนักงานบริการ เพราะพวกเธอจะต้องขึ้นขาหยั่งให้แพทย์เอาคีมปากเป็ดสอดเข้าไปในช่องคลอด ซึ่งทำให้พวกเธอเจ็บมากและอาจทำงานไม่ได้ไปทั้งวัน แต่พวกเธอก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมทำตาม เพราะการมีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ต่างจากการยื่นใบลาออกจากอาชีพที่พวกเธอทำอยู่ ซ้ำอาจจะนำปัญหามาสู่เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ อีกด้วย สิ่งที่ปลาพอทำได้เพื่อช่วยเหลือเพื่อนพนักงานคือรวบรวมความคิดเห็นของพนักงานส่งไปให้กับทางต้นสังกัดและหวังว่าพวกเขาจะรับฟังเท่านั้น

แต่สำหรับพนักงานบริการในจังหวัดกระบี่ พวกเธอต้องแบกรับต้นทุนในการไปตรวจโรคด้วยตัวเอง นายจ้างของพวกเธอไม่จัดหาแพทย์มาให้ และไม่มีภาคประชาสังคมทำงานอยู่ในพื้นที่ ในอดีต จังหวัดกระบี่เคยมีอาสาสมัครของมูลนิธิ Empower คอยช่วยให้การสนับสนุนด้านสุขภาพกับเหล่าพนักงานเช่นเดียวกับในจังหวัดสมุทรสาคร แต่หลังจากปี 2555 เป็นต้นมา ทางมูลนิธิได้รับเงินทุนสนับสนุนน้อยลง สำนักงานที่กระบี่จึงต้องปิดตัวลง เมื่อไม่มีภาคประชาสังคมคอยสนับสนุน พนักงานบริการในจังหวัดกระบี่จึงไปตรวจโรคน้อยลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะโรงพยาบาลที่มีบริการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ฟรีตั้งอยู่ในตัวเมืองกระบี่ซึ่งไกลจากอำเภออ่าวนาง 16 กิโลเมตร

จูนจำไม่ได้แล้วว่าเธอไปตรวจโรคครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ นั่นอาจจะเมื่อ 5 หรือ 6 เดือนที่แล้ว พร้อมกล่าวต่อว่า "เออ เดี๋ยวไปตรวจหน่อยดีกว่า" ด้านลิลลี่สาวบาร์ที่ทำงานที่อ่าวนาง จังหวัดกระบี่ มาร่วมสิบปี กล่าวว่าเธอไปตรวจโรคพร้อมกับฝังยาคุมกำเนิดทุกๆ 3 เดือนที่โรงพยาบาลกระบี่ หรือไม่ก็คลินิกในอำเภออ่าวนาง แต่เธอก็ยอมรับว่าไม่ใช่พนักงานทุกคนที่จะใส่ใจดูแลตัวเอง ในอดีตจะมีอาสาสมัครมูลนิธิมาเดินแจกถุงยางอนามัย ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทำมาหากินของพนักงานบริการ คอยมาถามไถ่สารทุกข์สุขดิบและเตือนให้พวกเธอไปตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง แต่หลังมูลนิธิปิดตัวลง พวกเธอก็ไม่มีใครมาช่วยแบ่งเบาภาระด้านการดูแลสุขภาพของพวกเธออีกเลย

 

'อาชีพผิดกฎหมาย?' การล่อซื้อและความดัดจริตของกฎหมายไทย

"เขาก็มาตามตื้อ ตามจีบ มาเอาอกเอาใจอยู่เป็นเดือนๆ จนสุดท้ายเด็กเขาก็เริ่มไว้ใจ เริ่มรู้สึกว่า เออ พี่เขาก็เป็นคนดีนะ เขาคงไม่ทำร้ายเราหรอก พูดง่ายๆ คือเริ่มชอบเขานั่นแหละ สุดท้ายก็ตัดสินใจไปกับเขา แล้วก็โดนจับ แต่ที่น่าเศร้าที่สุดคืออะไรรู้ไหม? คือผู้ชายที่เธอไว้ใจคนนั้นนั่นแหละเป็นคนสอบสวนเธอด้วยตัวเอง จดบันทึกการสอบสวนเองต่อหน้าเธอเลย"

แจ๊ส (นามสมมติ) สาวบาร์และอาสาสมัครมูลนิธิ Empower

 

"ศาลฎีกาให้เหตุผลว่า การร่วมหลับนอนกับหญิงขายบริการถือเป็นการกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรในการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของผู้ต้องหาในคดีอาญา และชี้ว่าเหตุที่เจ้าหน้าที่ต้องทำอย่างนั้นเพราะไม่มีทางเลือก"

เดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความ

 

"เราต้องเข้าใจก่อนว่าพนักงานเขาก็เป็นมนุษย์ ไม่ใช่ยาเสพติด หรือสิ่งของผิดกฎหมายที่จะมาล่อซื้อกันได้ เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติกับเขาอย่างให้เกียรติ และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคน และสังคมก็ควรจะเข้าใจว่าการมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้าถือเป็นความพึงพอใจส่วนบุคคล"

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงต้องดัดจริตเรียก 'บ้านสาว' ว่าร้านคาราโอเกะ แถมยังต้องมีตู้คาราโอเกะปลอมวางหลอกอยู่หน้าร้านอีก คำตอบก็คือเพราะกฎหมายประเทศไทยบังคับให้ต้อง 'ดัดจริต'

การค้าประเวณีในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมายเช่นเดียวกับหลายประเทศในทวีปเอเชีย แต่การเปิดสถานบริการอาบอบนวดและร้านคาราโอเกะกลับถูกจัดให้อยู่ในส่วนของสถานบริการทั่วไป ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย บ้านสาวจึงต้องมีตู้คาราโอเกะหลอกตาเพื่อให้สามารถจดทะเบียนเป็นสถานประกอบการที่ถูกต้องตามกฎหมายได้

ส่วนการขายบริการทางเพศของผู้ให้บริการถือเป็นการตกลงกันเองระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อโดยไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าของสถานบริการ แต่หากเจ้าของสถานบริการละเมิดกฎหมายอื่นๆ เช่น ใช้พนักงานอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือมีแรงงานผิดกฎหมาย ก็อาจจะถูกตั้งข้อหาค้ามนุษย์ได้ แต่คนที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยแตะต้องเลยก็คือลูกค้า กล่าวอย่างง่ายคือ 'นายจ้างถูกกฎหมาย พนักงานผิดกฎหมาย ผู้ใช้บริการลอยตัว' ภาวะอีหลักอีเหลื่อดังกล่าวทำให้พนักงานไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการที่ผู้ใช้แรงงานทั่วไปพึงได้รับ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำหรือสิทธิในการลาหยุด ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเกิดการบุกจับโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่ก็คือเหล่าพนักงานในขณะที่เจ้าของสถานบริการมีกฎหมายคุ้มครอง แต่เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้าไปจับผู้กระทำผิดกฎหมายในสถานที่ที่ถูกกฎหมายได้อย่างไร?

... คำตอบก็คือการ 'ล่อซื้อ'

หากยังจำกันได้ ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ได้เกิดการล่อซื้อที่เป็นข่าวดังไปทั่วประเทศที่อาบอบนวด "นาตารี" ย่านห้วยขวาง (อ่านข่าว) พนักงาน 119 คน ถูกจับกุม โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 7 คน โดย 1 คนเป็นเยาวชนไทย และอีก 6 คนเป็นชาวพม่า เจ้าของสถานบริการถูกตั้งข้อหาค้ามนุษย์ ส่วนพนักงานถูกตั้งข้อหาร่วมกันค้าประเวณี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกกับสื่อว่าพวกเขาใช้เวลากว่า 3 เดือน ในการเฝ้าติดตามสถานบริการแห่งนี้ ก่อนจะเข้าล่อซื้อพนักงาน 3 คน และแสดงตัวเข้าจับกุม

เหตุการณ์ดังกล่าวมีประเด็นให้ตั้งคำถามมากมาย เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นอย่างไรในการเข้าล่อซื้อพนักงาน ถึง 3 คน ทั้งๆ ที่ใช้เวลาสืบก่อนหน้านั้นถึง 3 เดือน? เหตุใดจึงไม่มีการดำเนินคดีกับลูกค้าและเจ้าหน้าที่ที่ใช้บริการเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี? เหตุใดการขายบริการและการมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้าจึงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย?

เดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความและวิทยากรเครือข่ายทนายคลายทุกข์กล่าวว่ากล่าวว่า หากดูตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4 ระบุว่า การค้าประเวณีหมายถึงการยอมรับการกระทำชำเรา หรือการยอมรับการกระทำอื่นใด เพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำและผู้กระทำจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันหรือคนละเพศ ดังนั้น บุคคลที่ทำอาชีพค้าประเวณีย่อมกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว นั่นจึงทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าจับกุมได้ทันที อาจโดยการใช้ธนบัตรที่ซื้อขายเป็นหลักฐาน หรือแม้กระทั่งต้องใช้วิธีการปลอมเป็นลูกค้าและรับบริการจากพนักงานก่อนจึงเปิดเผยตัวเพื่อจับกุมตามกฎหมาย

"ในประเทศไทยวิธีการล่อซื้อจะใช้กับคดียาเสพติดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งเสพติด พ.ศ.2550 ระบุในหมวดที่ 1 การสืบสวน มาตรา 7 ว่า ตำรวจสามารถใช้วิธีการอำพรางได้ อำพรางหมายถึงการดำเนินการทั้งหลายที่เป็นการปิดบังสถานะ หรือวัตถุประสงค์ของการดำเนินการโดยลวงผู้อื่นหรือให้เข้าใจไปทางอื่น หรือเพื่อไม่ให้รู้ความจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเจ้าพนักงาน นั่นหมายความว่า (ตำรวจ) ปลอมตัวได้ ทำตัวเป็นสายลับได้ ไปโกหกผู้ต้องหาได้ ไปหลอกล่อได้ ทำอย่างไรก็แล้วแต่เพื่อให้ได้ยาเสพติดมา แต่ไม่ให้ใครรู้ว่าเป็นตำรวจ เรื่องเหล่านี้คือการอำพรางที่มีอยู่ในกฎหมายยาเสพติด ทั้งในกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญาก็ยอมรับเรื่องการล่อซื้อ ถ้าเป็นการล่อซื้อในคดีที่เป็นอาญาแผ่นดิน เช่น ยาเสพติด การค้ากาม การค้าประเวณี ก็สามารถกระทำได้"

หากดูคดีความทางกฎหมาย เดชาตั้งข้อสังเกตย้อนไปในปี พ.ศ.2518 ฎีกาที่ 1163/2518 และปี พ.ศ. 2554 ฎีกาที่ 10632/54 ยืนยันว่า มีการล่อซื้อในลักษณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมหลับนอนหรือร่วมประเวณีกับผู้หญิงขายบริการและใช้บริการจนเสร็จ จนมีของกลางที่ครบองค์ประกอบความผิดคือมีอสุจิและถุงยางอนามัย ก็สามารถเอามาเป็นพยานวัตถุเพื่อพิสูจน์การกระทำความผิดของพนักงานบริการได้

"ศาลฎีกาให้เหตุผลว่า การร่วมหลับนอนกับหญิงขายบริการถือเป็นการกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรในการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของผู้ต้องหาในคดีอาญา และชี้ว่า เหตุที่เจ้าหน้าที่ต้องทำอย่างนั้นเพราะไม่มีทางเลือก จึงจำเป็นต้องจับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางหรือพยานหลักฐานหรือที่เรียกว่าแบบคาหนังคาเขา คือมีอสุจิและถุงยางอยู่ด้วย"

"สรุปคือศาลฎีกายอมรับได้ และนับว่าไม่ใช่การล่อเพื่อให้ผู้ขายบริการกระทำความผิด หมายถึงผู้ค้าบริการเหล่านี้มีเจตนาค้ากามอยู่แล้ว ฉะนั้น หากบุคคลนั้นไม่ได้มีเจตนาที่จะให้บริการร่วมประเวณีหรือค้าประเวณีตั้งแต่ต้น แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปล่อซื้ออย่างไรก็จะไม่ยอมหลับนอนร่วมกับตำรวจ นี่คือแนวคิดของศาลฎีกาไทย" เดชากล่าว

อย่างไรก็ตาม อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า พนักงานบริการไม่ได้จำเป็นจะต้องมีเพศสัมพันธ์เสมอไป มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐแฝงตัวมาเป็นลูกค้า เข้ามาตีสนิท และเป็นฝ่ายโน้มน้าวให้พนักงานมีเพศสัมพันธ์กับตน ก่อนจะแสดงตัวเข้าจับกุม และพาสื่อมวลชนเข้ามารุมถ่ายรูปพวกเธอ ซึ่งทาง กสม. เองก็มีการเชิญหน่วยงานต่างๆ เข้ามาพูดคุย เช่น กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งทุกหน่วยงานต่างยืนยันว่าไม่เคยสนับสนุนการล่อซื้อในระดับนโยบาย แต่ก็ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับปฏิบัติ

"มันต้องมีการคิดใหม่กันในเรื่องนี้ เราต้องเข้าใจก่อนว่าพนักงานเขาก็เป็นมนุษย์ ไม่ใช่ยาเสพติด หรือสิ่งของผิดกฎหมายที่จะมาล่อซื้อกันได้ เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติกับเขาอย่างให้เกียรติ และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคน และสังคมก็ควรจะเข้าใจว่าการมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้าถือเป็นความพึงพอใจส่วนบุคคล"

อังคณากล่าวอีกด้วยว่าพนักงานที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐล่อซื้อหรือละเมิดสิทธิ สามารถเข้ามายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กสม. ได้ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มทำงานเพื่อพนักงานบริการเข้ายื่นเรื่องต่อ กสม. 2 กรณี โดยเป็นการยื่นเรื่องในนามองค์กร เพราะการเรียกร้องประเด็นดังกล่าวในนามบุคคลอาจทำให้เธอถูกเพ่งเล็งได้

อย่างไรก็ตาม การล่อซื้อไม่ใช่สิ่งที่เกิดเป็นประจำทุกวันจนพนักงานบริการไม่สามารถทำงานได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มันเกิดขึ้น นั่นแสดงว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีจุดประสงค์บางประการ แจ๊ส (นามสมมติ) สาวบาร์และอาสาสมัครมูลนิธิ Empower วัย 47 ปี จากจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าหลังจากประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ใน Tier 3 ซึ่งถือเป็นระดับที่แย่ที่สุดของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ปี 2016 (TIP Report 2016) การล่อซื้อก็เกิดบ่อยขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และยิ่งเพิ่มมากขึ้นหลังมีการออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเหยื่อของการล่อซื้อส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่พนักงานบริการที่เป็นแรงงานข้ามชาติ หรือเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี พนักงานที่โดนล่อซื้อส่วนใหญ่มักจะเลือกที่จะเดินออกจากวงการ เพราะมันได้สร้างประสบการณ์ที่เลวร้ายให้กับพวกเธอ แต่ต่อให้พวกเธออยากจะกลับมาทำงานต่อ สถานบริการก็ไม่ค่อยอยากจะจ้างเพราะกลัวเธอจะเป็นสายให้กับตำรวจ พวกเธอจึงมีทางเลือกสองทางคือไปหางานทำที่อื่น หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนอาชีพ

"เวลาตำรวจจะล่อซื้อ เขาไม่ได้เลือกจับใครก็ได้นะ แต่เขาเลือกเลยว่าฉันจะเอาคนนี้ เคยมีครั้งหนึ่ง ตำรวจแฝงตัวมาเป็นลูกค้ามาถามเจ้าของร้านว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ไหม พอเจ้าของร้านบอกไม่มี เขาก็บอกให้ช่วยหาให้หน่อย เจ้าของร้านก็หามาให้ ตอนแรกเด็กก็ไม่กล้าไป (ให้บริการทางเพศ) ด้วย ไม่ใช่เพราะกลัวว่าเป็นตำรวจนะ กลัวเจอลููกค้านิสัยไม่ดี แต่เขาก็มาตามตื้อ ตามจีบ มาเอาอกเอาใจอยู่เป็นเดือนๆ จนสุดท้ายเด็กเขาก็เริ่มไว้ใจ เริ่มรู้สึกว่า เออ พี่เขาก็เป็นคนดีนะ เขาคงไม่ทำร้ายเราหรอก พูดง่ายๆ คือเริ่มชอบเขานั่นแหละ สุดท้ายก็ตัดสินใจไปกับเขา แล้วก็โดนจับ แต่ที่น่าเศร้าที่สุดคืออะไรรู้ไหม? คือผู้ชายที่เธอไว้ใจคนนั้นนั่นแหละเป็นคนสอบสวนเธอด้วยตัวเอง จดบันทึกการสอบสวนเองต่อหน้าเธอเลย" แจ๊สกล่าว

แจ๊สกล่าวต่อว่า รัฐไทยไม่ควรเอาปัญหาการค้ามนุษย์มาสร้างความชอบธรรมให้กับล่อซื้อ เพราะไม่ใช่พนักงานทุกคนที่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ จริงอยู่ที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากเข้ามาทำงานเป็นพนักงานบริการในประเทศไทยโดยไม่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่พวกเธอไม่ได้ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวหรือโดนยึดหนังสือเดินทาง ตรงกันข้ามพวกเธอเลือกเข้าสู่วงการด้วยความสมัครใจ เพราะมองว่าเป็นงานที่รายได้ดี พวกเธอหลายคนอยากจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่อาจติดปัญหาเรื่องเอกสาร หรือบางคนก็เลือกที่จะไม่จดเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน เพราะแรงงานข้ามชาติจะต้องจดทะเบียนกับนายจ้างเพียงคนเดียว ซึ่งตรงกันข้ามกับธรรมชาติของงานบริการที่จำเป็นต้องโยกย้ายที่ทำงานอยู่เสมอ

ด้านจันทวิภา อภิสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิ Empower กล่าวว่า ปัญหาการล่อซื้อระหว่างผู้ค้าบริการทางเพศกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นมีมานานกว่า 32 ปี หรือยาวนานกว่า 14 รัฐบาล แต่กลับยังไม่สามารถแก้ไขได้ แถมยังพบเห็นกรณีการล่อซื้อพนักงานบริการทางเพศโดยเจ้าพนักงานที่ใช้อำนาจหน้าที่อย่างไม่สุจริต โดยอ้างว่าเพื่อหาหลักฐานพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา เธอเสริมว่าหากรัฐไทยต้องการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ก็ควรทุ่มงบประมาณไปกับการเปิดโปงเครือข่ายผู้มีอิทธิพล และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่แสวงหาผลประโยชน์จากขบวนการดังกล่าว แทนการไล่จับคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งอาจจะไม่ใช่เหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์จริงๆ เสียด้วยซ้ำ

"หลายที่ซึ่งเป็นร้านอาหารหรือคาราโอเกะ แต่ละเดือน มีการจดทะเบียนแม่บ้านถึงกว่า 50 คน รายได้ของสถานประกอบการมีมากถึง 15-19 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าคนที่ได้ผลประโยชน์ตามกฎหมายและแสวงหาประโยชน์จากการค้ามนุษย์ทั้งแรงงานทาสและค้าประเวณี กลับจับไม่ได้สักคน นอกจากนั้น หลักฐานที่เป็นโพย รายชื่อหน่วยงาน หรือเอกสารการรับเงินต่างๆ ก็ไม่สามารถเป็นหลักฐานได้ แต่ถุงยางอนามัยใช้แล้วที่ตำรวจไปล่อซื้อกลับใช้ได้"

"ส่วนตัวแล้ว การล่อซื้อนั้นไม่ควรจะมี เพราะกลายเป็นว่าของที่ได้จากหน่วยงานหนึ่งในการป้องกันโรค กลับกลายเป็นของที่ทำให้ถูกจับ มีความผิด เมื่อมองไปถึงการล่อซื้อ มันคือการร่วมกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ โดยวิธีการสร้างหลักฐานที่ไม่สุจริต แต่เจ้าหน้าที่ก็อ้างว่า ถ้าไม่ทำอย่างนั้นจะจับอย่างไร เราก็เกิดคำถามต่อว่า แล้วทำไมต้องจับ ทุกคนก็ร่วมเพศ เราก็ร่วมเพศ ใครๆ ก็ร่วมเพศ การร่วมเพศในบ้านไม่ผิด แต่ทำไมการร่วมเพศในที่ทำงานถึงผิด ที่โรงแรมถึงผิด มันต้องคิดใหม่ มีมุมมองใหม่และทบทวนใหม่ว่า เจ้าหน้าที่มีสิทธิพิเศษอะไรที่ทำแล้วไม่มีความผิด แถมยังใช้เป็นเครดิตในการเพิ่มความสำเร็จในการทำงาน โดยที่อีกฝ่ายต้องถูกปรับ จับ จำขัง และเอาไปป่าวประจานต่อหน้าหนังสือพิมพ์ เรื่องนี้เราคงต้องคิดใหม่"

จะเห็นได้ว่าการล่อซื้อได้ทำให้ชีวิตของพนักงานบริการไม่ต่างจากการ 'เล่นหวย' ซึ่งเป็นหวยที่พวกเธอไม่อยากถูกแม้แต่งวดเดียว ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิ Empower ที่ทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิพนักงานบริการในประเทศไทยมานานกว่า 30 ปี จึงพยายามผลักดันให้มีการยกเลิกการล่อซื้อ รวมถึง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาอย่างต่อเนื่อง โดยในการการพิจารณารายงานอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW) ณ กรุงเจนีวา ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางมูลนิธิได้มีโอกาสเขียนรายงานสะท้อนปัญหาของพนักงานบริการในประเทศไทยส่งไปยังคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ คณะกรรมการ CEDAW ซึ่งทางคณะกรรมการมีข้อเสนอเร่งด่วนต่อรัฐไทยในประเด็นการค้าบริการอยู่ 3 ข้อด้วยกันคือ

1.ให้พิจารณายกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539

2.ยกเลิกการบุกจับ ล่อซื้อ และข่มขู่คุกคามพนักงานบริการทุกรูปแบบ และ

3.คือให้นำเอากฎหมายแรงงานและสวัสดิการสังคมมาบังคับใช้กับสถานบริการ

และนี่คือคำแก้ต่างของรัฐไทย

วิวัฒน์ แท่งหงษ์ ผู้แทนจากกระทรวงแรงงานกล่าวว่าในที่ประชุม CEDAW ทุกวันนี้พนักงานบริการก็ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงานและสวัสดิการประกันสังคมเฉกเช่นแรงงานในธุรกิจอื่นๆ พร้อมเน้นย้ำว่าแรงงานข้ามชาติก็สามารถทำงานในสถานประกอบการได้อย่างถูกกฎหมายและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานเช่นเดียวกัน

ด้านจุรี วิจิตรวาทการ คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าการแก้กฎหมายการค้าประเวณีเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่ในสังคมวงกว้างซึ่งทางรัฐไทยยังไม่มีข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว โดยเธอเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดให้ต้องมีการจัดประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในขั้นตอนการร่างกฎหมายจะช่วยทำให้มีการถกเถียงในเรื่องดังกล่าวกันมากขึ้น

และสุดท้าย พล.ต.ท. ไกรบูลย์ ทรวดทรง จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กล่าวต่อคณะกรรมการ CEDAW ว่า

"ในกรณีการล่อซื้อ เราขอยืนยันว่าคณะกรรรมการสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เคยมีนโยบาย และไม่สนับสนุนการให้เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติยินดีรับฟังข้อมูลและข้อร้องเรียกจากทุกภาคส่วนหากเกิดการประพฤติไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ และพร้อมที่จะดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเหล่านั้น"

คำตอบของรัฐไทยในเวทีโลกดูเหมือนจะเป็นการปฏิเสธกลายๆ ว่าปัญหาต่างๆ ที่พนักงานบริการสะท้อนออกมาในรายงานข่าวชิ้นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย นั่นแปลว่าพวกเธอก็คงจะต้องอยู่กับความเสี่ยงที่จะโดนล่อซื้อต่อไปอีกพักใหญ่ แต่ต่อให้การล่อซื้อหมดไปจากประเทศไทย ก็ไม่ได้หมายความพวกเธอจะปลอดจากการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะอันที่จริงแล้ว การล่อซื้อและการบุกจับสถานบริการที่ปรากฏผ่านสื่อนั้นเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลำบากเช่นเดียวกัน พบ ‘คนงานก่อสร้างจีน’ ไม่ได้รับความคุ้มครองเท่าที่ควร

Posted: 31 Oct 2017 02:38 AM PDT

ไม่ว่าจะที่ไหนในโลก 'คนงานก่อสร้าง' ก็เหมือนจะเป็นแรงงานที่ทำงานหนักและเสี่ยงที่สุด พบในจีนคนงานไม่มีสัญญาการจ้างงาน หรือการประกันสุขภาพ-อุบัติเหตุ สถิติยังชี้ให้เห็นภาคการก่อสร้างมีอุบัติเหตุร้ายแรงมากกว่าภาคอุตสาหกรรมใด ๆ และพอคนงานประสบอุบัติเหตุนายจ้างมักล่องหน

ที่มาภาพประกอบ: Saad Akhtar (CC BY 2.0)

31 ต.ค. 2560 เว็บไซต์ China Labour Bulletin รายงานเมื่อต้นเดือน ต.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่าในประเทศจีนที่มีคนทำงานในภาคการก่อสร้างถึง 50 ล้านคน ส่วนใหญ่มีการจ้างงานแบบไม่มั่นคง ไม่มีสัญญาการจ้างงานหรือการประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุใด ๆ โดยปกติจะได้รับค่าจ้างเฉพาะเมื่อเสร็จสิ้นโครงการก่อสร้าง ซึ่งพบว่ามีปัญหาการค้างจ่ายค่าจ้างบ่อยครั้ง อันเป็นค่าแรงเป็นต้นเหตุการณ์ประท้วงของคนทำงานในภาคการก่อสร้าง จนกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคม (Ministry of Human Resources and Social Security) ต้องออกกฎระเบียบ 'แบล๊คลิสต์' ผู้ประกอบการที่ชอบค้างจ่ายค่าแรงให้คนงาน นอกจากนี้ยังพบว่าหากเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน คนงานก็มักจะไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร

ตัวอย่างกรณีของ 'จาง เปียว' คนทำงานก่อสร้างวัย 20 ปี ผู้สูญเสียนิ้วเท้าไปจากอุบัติเหตุในการทำงาน เขาทำงานเป็นคนงานทั่วไปในไซต์ก่อสร้างที่เมืองทางตะวันตกของหลานโจว (Lanzhou) โดยได้รับการว่าจ้างจากผู้รับเหมาในท้องถิ่นและไม่ได้รับการฝึกอบรมใด ๆ รวมทั้งไม่มีสัญญาจ้างงานหรือการประกันสุขภาพใด ๆ อีกด้วย ในวันที่เกิดอุบัติเหตุ เพื่อนร่วมงานของจางพาเขาไปที่โรงพยาบาลในท้องถิ่น ส่วนผู้รับเหมาท้องถิ่นก็ให้เงินเขาเพียง 5,000 หยวน (ประมาณ 25,000 บาท) สำหรับค่ารักษาพยาบาลและก็ได้หายตัวไปทันที

"เราพยายามติดต่อเขา (ผู้รับเหมา) ทางโทรศัพท์มือถือของหลายครั้ง แต่กลับกลายเป็นว่าหมายเลขที่โทรไปไม่ได้ลงทะเบียน" พี่ชายของจางระบุ

และเมื่อทั้งสองพี่น้องไปเรียกร้องต่อบริษัทเจ้าของโครงการก่อสร้างที่จ้างผู้รับเหมาท้องถิ่นอีกที บริษัทเจ้าของโครงการกลับปฏิเสธที่จะรับผิดชอบใด ๆ โดยอ้างว่าจาง เปียวไม่ได้ลงนามในสัญญาจ้างกับบริษัทฯ รวมทั้งไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทฯ ต่อมาสองพี่น้องได้เข้าไปขอความช่วยเหลือจากสหภาพแรงงานท้องถิ่นเขตหลานโจวและสหพันธ์แรงงาน บริษัทเจ้าของโครงการจึงยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับจาง

ข้อมูลจาก แผนที่อุบัติเหตุ (Work Accident Map) ของ China Labour Bulletin ยังระบุว่าจากอุบัติเหตุร้ายแรง 520 รายการ ที่ได้รับการบันทึกไว้ในปี 2559 พบอุบัติเหตุร้ายแรงกว่าในภาคการก่อสร้างกว่า 193 ไซต์งาน (คิดเป็นร้อยละ 37) ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมถ่านหินมีเพียง 45 ครั้ง และอุตสาหกรรมการผลิตมีเพียง 59 ครั้ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มีชัย รับปลดล็อคพรรคการเมืองช้า อาจกระทบระยะเวลาหาเสียง แต่ขออย่ากังวล

Posted: 31 Oct 2017 02:23 AM PDT

ประธาน กธน. ขอพรรคการเมืองอย่ากังวลกรณี คสช. ยังไม่ปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง ระบุมีช่องทางขยายเวลาให้เตรียมการลงรับเลือกตั้ง แต่อาจจะกระทบระยะเวลาหาเสียง ยอมรับอาจกระทบพรรคใหม่ แนะต้องวางแผนให้ดี

แฟ้มภาพ

31 ต.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง กรณีที่ คสช.ยังไม่ยกเลิกมาตรา 44 เรื่องห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง หรือ ปลดล็อคทางการเมือง ทำให้พรรคการเมืองกังวลว่า จะเตรียมการไม่ทันสำหรับการเลือกตั้ง ว่า ขออย่ากังวล เพราะตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีบทเฉพาะกาล ที่เปิดช่องให้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขยายเวลาให้กับพรรคการเมืองได้ ซึ่งจะไม่ทำให้เสียหายกับพรรคการเมือง 

"กรธ.จะพิจารณาปรับเพิ่มกลไกไว้ในบทเฉพาะกาล ของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่ออำนวยความสะดวกให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการได้ทัน แต่อาจจะมีผลกระทบกับพรรคการเมืองในช่วงสุดท้าย ที่เป็นช่วงการหาเสียง ที่อาจจะเหลือเวลาสั้นลง" นายมีชัย กล่าว 

อย่างไรก็ตาม มีชัย ยอมรับว่า สำหรับพรรคการเมืองใหม่ อาจได้รับผลกระทบมากกว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม ดังนั้น พรรคที่จะตั้งใหม่ ควรที่จะวางแผน และเตรียมความพร้อม เมื่อปลดล็อคให้ประชุมได้ ก็จะได้ดำเนินการได้ทันที เชื่อว่า คสช.คงไม่ปล่อยไปจนถึงขั้นทำให้ไม่สามารถตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ เพราะตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ต้องการให้มีพรรคการเมืองใหม่ เพื่อที่จะได้มีตัวเลือกมากขึ้น

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นในเวลานี้ยังมีกฎหมายที่ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก 3 ฉบับ จากทั้งหมด 10 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ส่งเข้าที่ประชุมพิจารณาของ สนช. วันนี้ (31 ต.ค.)  พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะมีการยิ่นเข้าที่ประชุมวันที่ 21 พ.ย. และพ.ร.ป.ว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายจะมีการยื่นเข้าที่ประชุมในวันที่ 28 พ.ย.นี้ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศรีสุวรรณ จ่อร้องผู้ตรวจฯ เอาผิด 'หน.คสช.-มีชัย' ปมตั้งลูกสาวมากินตำแหน่งรองเลขาฯ

Posted: 31 Oct 2017 12:08 AM PDT

เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เผยเตรียมร้องผู้ตรวจการแผ่นดินเอาผิด 'หัวหน้า.คสช. - มีชัย' กรณีแต่งตั้งลูกสาวมากินตำแหน่งรองเลขาธิการ 1 พ.ย.นี้ ชี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กันและกันของ หัวหน้า คสช.และประธาน กรธ.

แฟ้มภาพ

31 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ว่า วันพุธที่ 1 พ.ย. 2560 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ชั้น 9 ห้อง 903 ศูนย์ราชการฯ อาคาร B สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อดำเนินการไต่สวนเอาผิดและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อ หัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีแต่งตั้งบุตรสาวของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และมือกฎหมายของ คสช.ให้ดำรงตำแหน่ง "รองเลขาธิการ" ประจำตัวของ มีชัย โดยได้รับเงินค่าตอบแทนจากภาษีของประชาชนจำนวน 47,500 บาทมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2557 มาจนถึงปัจจุบันนั้น โดยระบุว่าเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กันและกันของ หัวหน้าคสช.และประธาน กรธ.

ศรีสุวรรณ แจ้งด้วยว่าตามที่ปรากฏเป็นการทั่วไปว่า หัวหน้า คสช. ได้แต่งตั้งบุตรสาวของ มีชัย ดำรงตำแหน่ง "รองเลขาธิการ" ประจำตัวของ มีชัย โดยได้รับเงินค่าตอบแทนจากภาษีของประชาชนจำนวน 47,500 บาท มาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2557 มาจนถึงปัจจุบันนั้น การกระทำดังกล่าว เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กันและกันของ หน.คสช.และประธาน กรธ. โดยใช้เงินภาษีของประชาชนเป็นค่าตอบแทน ผ่านกลไกที่แยบยลด้วยการกำหนดอัตราตำแหน่งและค่าตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานใน คสช. โดยการออกประกาศ คสช.ที่ 93/2557 ซึ่งฝ่ายกฎหมายเป็นคนยกร่างนั่นเอง

การใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. และประธาน กรธ. จึงเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของรัฐ และขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง 2551 ข้อ 8 ข้อ 14 ข้อ 16 และข้อ 22 และยังขัดต่อ
พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 100 และมาตรา 103 โดยชัดแจ้ง
2)กรณีที่ปรากฏเป็นการทั่วไปว่า บิ๊ก 3 ป. ได้แก่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ได้ร่วมมือกันเสนอและอนุมัติให้มีการจัดซื้อ-จัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา 849 เครื่อง ๆละ 575,000 บาท รวมมูลค่า 573 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่แพงกว่าท้องตลาดหลายเท่าตัว โดยการใช้เล่ห์ฉลในการกำหนด Spec ของเครื่องให้สูงมากนั้น การร่วมมือกันใช้อำนาจดังกล่าว เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการที่ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป. ป.ป.ช.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม และ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ฯลฯ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.ยุติธรรม หนุนกลาโหมนำนักโทษ ป้อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

Posted: 30 Oct 2017 11:19 PM PDT

กลาโหมเตรียม ประสาน กรมราชทัณฑ์ สำรวจนักโทษ คดีปลอมแปลงอาวุธปืน เข้าอบรม ป้อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รมว.ยุติธรรม ชี้เหมือนกับการนำผู้ต้องขังมาผลิตเครื่องยนต์ ช่างเครื่อง ช่างไฟฟ้า 

แฟ้มภาพ

31 ต.ค. 2560 จากกรณีที่ประชุมสภากลาโหม เห็นชอบ ให้ กรมสรรพวุธทหารบก ฝึกอบรมนักโทษ ถูกคุมขัง ในข้อหา ผลิต ดัดแปลงสิ่งเทียมอาวุธปืน ให้เป็นอาวุธปืนที่สามารถใช้งานได้ เพื่อให้ได้รับการอบรมในทางที่ถูกต้อง และนำมาช่วยงานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม

ล่าสุดวันนี้ (31 ต.ค.60) สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า โดยหลักการนี้เหมือนกับการนำผู้ต้องขังมาผลิตเครื่องยนต์ ช่างเครื่อง ช่างไฟฟ้า ช่างสี เพื่อต้องการให้ผู้ต้องขังเหล่านี้มีงานทำ โดยผู้ต้องขังที่จะออกจากเรือนจำเพื่อไปดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องมีระเบียบหลักเกณฑ์ และต้องเป็นผู้ต้องขังชั้นดี เมื่อออกไปภายนอกจะไม่สามารถค้างคืนได้ เพราะต้องกลับเข้าเรือนจำภายในเวลา 16.30 น.

รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้ต้องขังทำความผิดซ้ำนั้น ขณะนี้กระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์จะหารือกับกระทรวงกลาโหม เรื่องโครงการดังกล่าว เพื่อนำผู้ต้องขังนำไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งตนคิดว่าเป็นหลักการสำคัญ ขณะที่ตัวเลขผู้ต้องขังที่จะเข้าร่วมโครงการนั้น ตนยังไม่ได้รับงาน เพราะทางกรมราชทัณฑ์กำลังสำรวจตัวอยู่ โดยจะพิจารณาจำนวนคน ความเชี่ยวชาญ และความต้องการของกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะพิจารณาในหลายมิติ รวมทั้งดูระเบียบ หลักปฏิบัติ เพื่อเป็นหลักป้องกันเมื่อผู้ต้องขังออกมาทำงานข้างนอก โดยกรมราชทัณฑ์กำลังดำเนินการอยู่
 
"ในโลกออนไลน์กำลังวิพากษ์วิจารณ์ว่าแนวคิดเช่นนี้จะเป็นดาบสองคมนั้น ผมคิดว่า หลักการใหญ่เราต้องการให้ผู้ต้องขังมีงานทำ ซึ่งเราเคยดำเนินการมาแล้ว แต่การนำผู้ต้องขังไปช่วยทำปืน ถือเป็นมิติใหม่ ต้องเข้าใจว่าไม่ได้ทำปืนเถื่อน แต่นำเข้าไปในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยจะมีระเบียบที่กำกับดูแลอยู่" สุวพันธุ์ กล่าว

โดยวานนี้ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ในที่ประชุมสภากลาโหม โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รัฐว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้ เห็นชอบ ให้ กรมสรรพวุธทหารบก ฝึกอบรมนักโทษ ถูกคุมขัง ในข้อหา ผลิต ดัดแปลงสิ่งเทียมอาวุธปืน ให้เป็นอาวุธปืนที่สามารถใช้งานได้ ให้ได้รับการอบรมในทางที่ถูกต้อง เพื่อนำมาช่วยงานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ตามแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ขณะนี้กระทรวงกลาโหม เตรียมประสานไปยัง กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ให้สำรวจจำนวนนักโทษที่ถูกคุมขังทั้งหมด  

"หากเขามีความเข้าใจด้านเทคนิค สามารถช่วยขยายความรู้ วิธีการ ผลิตอาวุธปืนให้กับกองทัพในอนาคต ซึ่งเราจะต้องพูดคุยในขั้นต้นกับกลุ่มนักโทษเหล่านี้ก่อน เพื่อเสนอเงื่อนไขและผลประโยชน์ที่เขาจะได้รับ และเป็นการช่วยให้นักโทษเหล่านี้ได้นำความรู้ที่มีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม" พล.ท.คงชีพ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จดหมายฉบับที่ 2 ของ 'โจชัว หว่อง' : คุกคือสถานที่บีบคั้นเสรีภาพปัจเจกชน

Posted: 30 Oct 2017 10:39 PM PDT

จดหมายของโจชัว หว่อง ฉบับที่ 2 เผยแพร่ในเดอะการ์เดียนหลังจากที่เขาได้รับการประกันตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หว่องระบุถึงสภาพในเรือนจำที่เขาเคยถูกคุมขังอยู่เป็นเวลา 2 เดือนกว่า โดยมองว่าทัณฑสถานเป็นสิ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อสกัดกั้น "จิตวิญญาณแห่งเสรี" ด้วยการกำกับชีวิตในทุกส่วน

31 ต.ค. 2560 โจชัว หว่อง หนึ่งในผู้ร่วมกับประชาชนต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยให้ฮ่องกงเพิ่งอายุ 21 ปี เมื่อไม่นานนี้ ทำให้เขาถูกย้ายจากสถานกักกันเยาวชนไปสู่ทัณฑสถานของผู้ใหญ่ที่ชื่อว่าทัณฑสถานตงโถว (Tung Tau) เขาเล่าถึงสภาพชีวิตเมื่อช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทุกวันจะตองทำกิจวัตรเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายหมู่ การฝึกวิชาชีพ ทำงานบ้าน และเข้าชั้นเรียน 

นอกจากกิจวัตรที่น่าเบื่อและซึมกระทือแล้วชีวิตในคุกทำให้หว่องเรียนรู้ว่าทัณฑสถานเป็นสถานที่ที่บีบให้ปัจเจกบุคคลต้องเชื่อฟังโดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นใด เป็นสถานที่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสกัดกั้น "จิตวิญญาณแห่งเสรี" ตั้งแต่ตื่นจนหลับพวกเขาถูกกำกับทุกอย่างราวกับเป็นเครื่องจักรไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่เล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม ทำให้เห็นความสัมพันธ์ทางอำนาจในระดับที่สุดโต่ง

กระนั้นหว่องก็บอกว่าการถูกคุมขังอยู่ในที่ที่การวางเกณฑ์บังคับอยู่เหนือความคิดอิสระนั้นไม่ได้ทำให้เจตจำนงและความมุ่งมั่นที่จะตอสู้ของเขาลดลงเลย เขาพยายามอ่านข่าวทุกวันไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศเพื่อรับรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในโลกภายนอกบ้าง เขายังเคยพยายามเรียกร้องให้มีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเป็นมนุษย์มากขึ้น อย่างเรื่องเล็กๆ เช่นการขอผ่อนปรนเกี่ยวกับกฎข้อบังคับด้านทรงผม แต่มันก็ทำให้เขาถูกเตือนว่าอย่าง "ยุยงให้เกิดความวุ่นวาย"

การอยู่ในคุกยังทำให้หว่องมีโอกาสพูดคุยกับผู้ต้องขังอื่นๆ ที่เขาไม่เคยมีโอกาสพบเจอมาก่อน เขาเล่าว่าได้เจอวัยรุ่นที่จิตใจดีเล่าให้เขาฟังว่าเคยไปทำอะไรเสี่ยงๆ มาถึงได้ต้องติดคุก หว่องบอกว่ามันทำให้เขารู้สึกเข้าถึงหัวอกคนที่อยู่ชายขอบของสังคมผู้ที่มักจะถูกเข้าใจผิดหรือถูกละเลยอย่างสิ้นเชิง

สภาพเช่นนี้เองทำให้หว่องระบุว่าสิ่งที่เขาพอจะทำได้คือการตื่นตัวตลอดเวลาเมื่อมีพฤติกรรมที่ก่อความอยุติธรรมต่อเพื่อนผู้ต้องขังของเขา และพยายามรักษาการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ไว้ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ความหวังต่อเสรีภาพนตัวเขาสูญสลายไป

หว่องระบุถึงสิ่งที่พวกเขาต่อสู้ในฮ่องกงมาตั้งแต่ในป 2554 ที่เป็นการประท้วงระบบการศึกษาที่ถูกมองว่าเป็นการที่จีนแผ่นดินใหญ่พยายาม "ล้างสมอง" คนหนุ่มสาว มาจนถึงการประท้วงขบวนการร่มปี 2557 ที่เป็นสาเหตุทำให้หว่องถูกลงโทษจำคุก มาจนถึงการเลือกตั้งที่เพื่อนของเขานักกิจกรรมชื่อนาธาน หล่อ เข้าร่วม แต่ประเด็นที่หว่องอยากให้นึกถึงมากที่สุดคืออิสระในการปกครองตนเองด้วยประชาธิปไตยของฮ่องกง ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2527 ที่มาร์ติน ลี และพรรคพวกเริ่มเรียกร้องประชาธิปไตยให้ฮ่องกง

หว่องมองไปยังอนาคตว่า ถ้าหากอีก 30 ปีข้างหน้า ที่สนธิสัญญากับอังกฤษที่การันตี "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ให้กับฮ่องกงหมดอายุลง เขาหวังว่าชาวฮ่องกงจะออกมาเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองกันในระดับใหญ่ ปะชาชนในฮ่องกงจะอดทนรอและสะสมกำลังการต่อสู้ขณะที่ต้องรับมือกับการโจมตีอย่างต่อเนื่องจาก 'กำปั้นเผด็จการ' ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้หรือไม่

หว่องระบุอีกว่าเขารู้สึกดีที่ได้รับจดหมาย 777 หน้าส่งถึงเข้าในคุก ไม่ว่าจะจากผู้ที่สนับสนุนเขาและแม้กระทั้งจากกลุ่มที่เคยสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่มาก่อนแต่เปลี่ยนใจหันมาสนับสนุนเขา ทำให้ถึงแม้ว่าหว่องจะยอมรับว่าตัวเขาเองจะยังไม่มีแรงมากพอจะคัดง้างเอาชนะจีนแผ่นดินใหญ่ได้ในตอนนี้ แต่เขาก็ได้รู้ว่าแค่การทำตามจุดยืนของตัวเองก็กลายเป็นแรงบันดาลใจทางจริยธรรมให้กับคนอื่นได้ เหมือนกับที่คนยุคก่อนหน้านี้เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขา

ในเรื่องที่เขาได้รับการประกันตัวชั่วคราวนั้นหว่องระบุว่า "การได้สูดลมหายใจแห่งเสรีภาพอันสดชื่นเฮือกแรก ได้เห็นเพื่อนและครอบครัวของผม และได้กลับมาใช้สมาร์ทโฟนของตัวเองได้อีกครั้ง ย้ำเตือนให้ผมเห็นว่าเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เคยมองเป็นของตายมาตลอดนั้นมีความสำคัญขนาดไหน"

ถึงแม้ว่าหว่องอาจจะต้องถูกส่งกลับเข้าคุกอีกครั้งเพราะต้องโทษเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเมื่อปี 2557 แต่เสรีภาพชั่วคราวที่เขาได้รับมานั้นเป็นสิ่งย้ำเตือนเล็กๆ น้อยๆ ว่าเขาจะไม่ละทิ้งการต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่ยิ่งใหญ่กว่านี้และตราบนานเท่านาน

 

เรียบเรียงจาก

A brief taste of freedom reminds me to never stop fighting for Hong Kong, Joshua Wong, The Guardian, 29-10-2017

'National education' raises furor in Hong Kong, CNN, 30-07-2012

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: รำลึกสิบเอ็ดปี นวมทอง ไพรวัลย์

Posted: 30 Oct 2017 06:58 PM PDT

 

และแล้วก็เวียนมาอีกคราหน
แลกชีพชนม์บนถนนบนความหมาย
สารที่สื่อคือเสรีที่วอดวาย
ถูกทำลายด้วยปลายหอกกระบอกปืน

เขามิอาจนิ่งเฉยเลยขับรถ
โศกสลดอดตายกายกลับฟื้น
เจ็บสาหัสรัฐเสรีมิกลับคืน
บ้างหยิบยื่นไม้ดอกบอกชอบใจ

เมื่อครั้งแรกแลกชีวิตกลับผิดหวัง
เขาจึงยังหวังอีกครั้งไม่หวั่นไหว
ครั้งที่สองลองตายให้สาใจ
อยู่ทำไมในระบอบมิชอบธรรม

สิ้นตุลาคราสิ้นใจไม่สิ้นชื่อ
ให้เล่าลือคือ "นวมทอง" ผ่องผุดล้ำ
สิ้นตุลาคราสิ้นใจไม่สิ้นวีรกรรม
อัตวินิบาตซ้ำจำจดจาร

และแล้วก็เวียนมาอีกคราครั้ง
เลือดรินหลั่งลงดินยินขับขาน
สิบเอ็ดปีที่ผ่านผันวันคืนวาน
เติมตำนานหาญกล้าประชาชน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Reach for the SKY: เพราะเป็นวัยรุ่นเกาหลีนั้นเจ็บปวด

Posted: 30 Oct 2017 06:47 PM PDT

ภาพจาก imdb.com

เมื่อได้รับชมภาพยนตร์สารคดีว่าด้วยเรื่องราวการขับเคี่ยวของเหล่าเด็กมัธยมเกาหลีใต้ในการสอบ 'ซูนึง' หรือที่บ้านเราเรียก 'แอดมิชชัน' เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยระดับท็อปของประเทศให้จงได้ ฉันหวนนึกกลับไปถึงคำพูดของเพื่อนชาวเกาหลีคนหนึ่งที่สร้างความประหลาดใจให้พอสมควร ว่าคนเกาหลีส่วนหนึ่ง (หรือส่วนมากตามที่เธอว่า) เกลียดหนังสือเล่มหนึ่งที่มาโด่งดังในไทยเมื่อช่วงปี 2555 แบบเข้าไส้

หนังสือเล่มที่ว่านั่นคือ 'เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด' เขียนโดยอาจารย์คนหนึ่งผู้มีชื่อว่า 'คิม รันโด'

งานเขียนชิ้นนี้มีจุดหมาย (ตามคำโปรย) เพื่อ 'ปลอบประโลม' ความทุกข์ระทมของเหล่าหนุ่มสาวชาวเกาหลี ที่ดูเหมือนจะใช้ชีวิตไหลไปตามความคาดหวังของกระแสสังคมเท่านั้นจนไม่รู้จักความสุขที่แท้จริงของตน เป็นงานประเภทสร้างแรงบันดาลใจ กึ่งๆ How-to ในการใช้ชีวิต

สังคมเกาหลีใต้นั้นขึ้นชื่อลือชาเรื่องการแข่งขันที่สูงทะลุปรอทและห่วงภาพลักษณ์ยิ่งชีพ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการเรียน การงาน ครอบครัว หรือชีวิตส่วนตัวในแง่มุมใดๆ ก็ตาม ความกดดันและตึงเครียดในการใช้ชีวิตที่แทบจะไม่สามารถกระดิกออกนอกลู่นอกทางที่สังคมเห็นชอบนี้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก[i]

สารคดี 'Reach for the SKY' ช่วยสร้างความเข้าใจถึงประเด็นนี้ได้ในแง่มุมหนึ่ง และตีแผ่เล่าเรื่องสภาพแวดล้อมของเด็กนักเรียนมัธยมชั้นปีสุดท้ายของเกาหลีใต้ออกมาได้ชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง ภาพยนตร์นี้มีศูนย์กลางอยู่ที่ชีวิตก่อนเตรียมสอบของเด็กสามคน ทั้งหมดมีเป้าหมายสูงสุดในใจเดียวกันคือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยกลุ่ม SKY สถาบันระดับท็อป 3 ของประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (S) มหาวิทยาลัยโครยอ (K) และมหาวิทยาลัยยอนเซ (Y)

แต่การโฟกัสเพียงที่ความฝัน ความกดดันและการล้มลุกคลุกคลานของเด็กๆ ก็คงจะเป็นการมองปัญหาในมุมแคบจนเกินไป

สารคดีเรื่องนี้ไปไกลกว่านั้นและแสดงให้เห็นถึง 'ระบบ' ของสังคมเกาหลีใต้ที่เกื้อหนุนค่านิยมการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ต้องเป็นสถาบันระดับสูงสุดเท่านั้นอย่างสุดโต่ง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันกวดวิชาที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดและทำรายได้มหาศาล การโหมโปรโมตติวเตอร์ชื่อดังตามสื่อระดับชาติ การเกิดของอาชีพ 'โค้ช' ติวและปรับบุคลิกเพื่อการสอบสัมภาษณ์ให้เหมาะสมกับรสนิยมของสถาบันแต่ละแห่ง กิจการโรงเรียนประจำและหอพักสำหรับ 'เด็กรอสอบใหม่' ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ไปจนถึงด้านไสยศาสตร์ศาสนา ที่ไม่ใช่แค่การบนบานศาลกล่าว หาหมอดูทักดวงชะตาแบบที่ไทยเรานิยมเท่านั้น แต่เหล่านักบวชและพระถึงขั้นมีบทเทศน์บทสวดพิเศษที่แต่งขึ้นสำหรับเหล่าเด็กเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ

นี่คือแรงกดดันซึ่งหยั่งรากลึกทั้งในแง่สังคมและวัฒนธรรมที่ดูจะเป็นระบบระเบียบอย่างเหลือเชื่อ ชนิดที่ว่าความคาดหวังด้านการศึกษาแบบไทยๆ ก็ไม่อาจเทียบชั้น

สิ่งที่เรามองเห็นได้คือ เด็กๆ เหล่านี้แบกรับภาระค่านิยมทางสังคมอันหนักอึ้งเอาไว้บนบ่า สูตรสำเร็จของชีวิตที่พวกเขาได้รับการปลูกฝังมาคือการเรียนให้ดี สอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำให้ได้ แล้วอนาคตของพวกเขาจากนั้นก็จะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ แต่เมื่อพิจารณาจากอัตราการรับเข้าและจำนวนของเด็กที่สอบแล้ว สิ่งเดียวที่จะรับประกันเส้นทางดังกล่าวคือการสอบให้ได้คะแนนเต็มทุกวิชาเท่านั้น และนั่นกลับกลายเป็นจุดประสงค์เดียวเท่านั้นของ 'การศึกษา'

สิ่งนี้คือหนึ่งในที่มาของ 'ความเจ็บปวด' ที่คิม รันโดกล่าวถึง เด็กหนุ่มสาวเหล่านี้ใช้ชีวิตไปกับการตะกายไขว่คว้าเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวที่ดูจะมีคุณค่าต่อสังคมอย่างสุดความสามารถ จนในท้ายที่สุดก็ไม่อาจเข้าใจว่า เหตุใดพวกเขาจึงไม่มีความสุข ทั้งที่กำลังทำในสิ่งที่ใครๆ ก็พูดว่าจะนำไปสู่ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ

 


ภาพจาก goodreads.com

ดูเผินๆ แล้วก็เป็นประเด็นที่ไม่ผิดไปจากความที่ Reach for the SKY ต้องการจะนำเสนอสักเท่าไร แล้วเหตุใดคนเกาหลีถึงเกลียดหนังสือเล่มนี้นัก

เมื่อได้ลองอ่านทบทวนดูอีกครั้งหลังจาก 5 ปีผ่านไป ฉันเริ่มมองเห็นในที่สุดว่าหนังสือเล่มนี้ 'ขาด' สิ่งใดและเหตุใดจึงทำให้เพื่อนฉันอารมณ์เสียขนาดหนักเมื่อพูดถึง

ผิดกับภาพยนตร์ Reach for the SKY ภายใต้ภาษาสละสลวยนั้น 'เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด' ไม่มีสาระในส่วนใดที่วิพากษ์ 'ระบบ' ที่สร้างแรงกดดันต่อชีวิตปัจเจกชนของสังคมเกาหลีใต้แม้แต่น้อย หนังสือเล่มนี้มีโทนที่เรียบเฉยต่อสภาวะแวดล้อมอันบีบคั้นน่าเศร้าของผู้คนราวกับว่านั่นคือสิ่ง 'ปกติ' อย่างที่มันควรจะเป็น อีกทั้งยังเอ่ยเป็นนัยว่า ภาวะไร้สุขของคนหนุ่มสาวมีบ่อเกิดมาจากทัศนคติของตัวเองเท่านั้น พูดง่ายๆ คือการ 'คิดไปเอง' ว่าชีวิตของพวกเขาช่างไร้ทางเลือก พร้อมแนะว่าควรจะปล่อยวางความคาดหวังของสังคมลงบ้าง

แนวคิดนี้คงปฏิบัติตามได้ไม่ยากนักหากมองจากฉากหลังที่เป็นเมืองไทย แต่มันก็คงไม่ผิดที่จะพูดว่า คนเกาหลีใต้ไม่สามารถปล่อยวางได้หากต้องการจะมีความก้าวหน้าในชีวิต เด็กๆ เหล่านี้คงไม่รู้สึกเช่นนั้น หากสังคมไม่คอยย้ำเตือนอย่างรุนแรงอยู่ตลอดเวลาว่านั่นคือสิ่งที่พวกเขาควรจะเป็น

จะเป็นเรื่องง่ายเพียงใดในการขบถกระแส เมื่อครอบครัวไม่เคยหยุดกดดันเรื่องคะแนนสอบ เมื่อเพื่อนร่วมห้องทุกคนพร้อมใจกันเรียนถึงห้าทุ่มทุกคืน เมื่อใครๆ ก็พักรอสอบใหม่ในปีถัดไปเมื่อผลคะแนนรอบแรกไม่เป็นไปตามหวัง เมื่อสถาบันกวดวิชาได้รับอนุญาตให้ทำโฆษณาประกาศก้องไปทั่วประเทศว่าการสอบไม่ติดนั้นเท่ากับชีวิตที่ล้มเหลว เมื่อผู้ประกาศข่าวพร้อมใจย้ำเตือนว่าสิ่งนี้เองคือเป้าหมายเดียวของการตรากตรำอันยาวนาน 12 ปี เมื่อรัฐบาลประกาศิตให้ทั่วประเทศพร้อมใจกันหยุดเคลื่อนไหวเพื่อหลีกทางให้แก่การสอบใหญ่ประจำปี เมื่อนี่คือความเชื่อร่วมกันของคนทั้งชาติ

แม้แต่ถ้อยคำของคิม รันโดเองก็มีความขัดแย้งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มข้นของวัฒนธรรมนี้ หลังจากการจรรโลงใจถึงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของช่วงเวลาอันน่าทดท้อสับสน ในช่วงท้ายเล่มเขากลับเขียนว่า "การยอมรับจากสังคมและเงินที่ได้จากการประกอบอาชีพ เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่ทำให้ชีวิตมีความสุข" (หน้า 235)[ii]

เช่นนี้แล้ว มันน่าแปลกหรือที่พวกเขาจะไม่รู้สึกถึงทางเลือกอื่นในชีวิต ในเมื่อบริษัทชั้นนำที่ไหนๆ ต่างก็แย่งชิงผู้สมัครที่จบมาจาก SKY

เสียงและภาพอันน่าหวาดหวั่นที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือเสียง "ติ๊ด" ของนาฬิกาบอกเวลาเที่ยงคืนของวันใหม่หลังการสอบ 'ซูนึง' พร้อมตัวเลขดิจิตอลนับถอยหลังสู่การสอบครั้งใหม่ในอีก 364 วันข้างหน้า ประหนึ่งว่าทุกสิ่งที่ผ่านมาคือวัฏจักร คือวงจรอุบาทว์ที่จะวนเวียนไปโดยไม่มีใครอาจหยุดยั้ง

 

เชิงอรรถ

[i] South Korea still has top OECD suicide rate (2015): http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20150830000310

[ii] รันโด, คิม (2553). เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด. แปลโดย วิทิยา จันทร์พันธ์ (2555). พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : springbooks.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ตำลึงที่เกี่ยวพัน

Posted: 30 Oct 2017 06:27 PM PDT

 


ใบไม้เขียวลออด้วยคลอโรฟิลล์     ตำลึงปีนด้วยตีนหนวดอวดยอดใส

นกปลูกไว้ให้ขึ้นเองเบ่งบานใบ     ค่อยไต่ไปสู่แสงแห่งตะวัน

ให้ใบได้สังเคราะห์แสงเป็นแรงส่ง     ร่วมเป็นองค์ประกอบระบอบสวรรค์

มือตีนปีนด้วยหนวดไปอวดกัน     เจ้ารังสรรค์รสกลิ่นให้ยินดี


ผักพื้นบ้านอาหารเราเจ้าตำลึง     แทรกเป็นหนึ่งในหม้อไหให้อิ่มหมี

ได้กลิ่นเจ้าข้าวสวยร้อนอ้อนทัพพี     ถามแม่มีอีกไหมเพิ่มในชาม

มีมาม่ามาลวกน้ำตามด้วยไข่     ชามไหนใส่ใบตำลึงอาจถึงสาม

บะหมี่ราคาถูกผูกติดตาม     ทุก ๆ ยามแห้งกระเป๋าเราคะนึง


ยุคสมัยไม่แห้งกระเป๋าเศร้าสั้นนัก     ส่วนใหญ่มักมาม่าไปหาพึ่ง

แต่สวรรค์พลันมอบไว้ให้ตำลึง     มาคลอคลึงเคล้ามาม่าน่ารับประทาน

1 ซองของบะหมี่ 4 บาทกว่า     แต่ทว่าค่าไฟฟ้าทำอาหาร

ต้องต้มน้ำ จนให้ พุ่งไอพล่าน     ผู้ชำนาญการมาม่าค่าไฟเปลือง


ขอยืมชื่อ"ตำลึง" ด้วยซึ้งค่า     เป็นมาตราตาชั่งตั้งบนเครื่อง

4 บาทเป็น 1 ตำลึง สลึงเฟื้อง     รากฐานเมืองหมู่บ้านโบราณมา

บ้านเมืองเดี๋ยวนี้มีจัด  บัตรคนจน     เขาจ้างเป็นตำแหน่งคนอนาถา

เงินเดือนหลายตำลึงน่าตรึงตรา     บ้านเมืองพาราครา..ร...วยเอย....

                                                              

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น