โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ชี้ช่องโหว่นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ‘จนไม่จด คนจดกลับไม่จน’

Posted: 30 Oct 2017 11:13 AM PDT

ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ ชี้ช่องโหว่นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 'จนไม่จด คนจดกลับไม่จน' ชี้อทำเป็นถ้วนหน้าเป็นวิธีที่ได้ผลชะงัดที่สุด ที่จะทำให้ปัญหาไม่ถึงคนจนหมดไปเหลือ 0 ระบุรวยจริงๆ คงไม่มาเอา ยกเว้นชั้นกลาง ย้ำรั่วไปตรงนั้นไม่เป็นไร ดีกว่าต้องตกหล่นคนจน

30 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ เรื่อง 'จนไม่จด คนจดกลับไม่จน' ช่องโหว่นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สู่ข้อเสนอปรับปรุงช่วยเหลือคนจน

โดยมีรายละเอียดดังนี้

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนที่ภาครัฐทยอยแจกจ่ายและเริ่มมีการใช้งานแล้ว นอกจากจะอยู่ระหว่างการติดตามแก้ปัญหาเรื่องเครื่อง EDC ไม่พร้อม ไม่เพียงพอ และการนำบัตรไปแลกเงิน  รัฐบาลยังมีโจทย์ท้าทายที่ต้องตามแก้ไข คือการรั่วไหลของสิทธิไปยังคนไม่จนจริง ส่วนคนจนจริงกลับไม่ได้รับสิทธิ

ดังนั้นก่อนที่การผลักดันโครงการและฐานข้อมูลคนจนอาจจะถูกนำไปใช้ประโยชน์อีกมากต่อจากนี้ ทีมจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะ ชวนมาทบทวนจุดตั้งต้นของโครงการ ตั้งแต่การแจ้งจดทะเบียนคนจน ไปถึง ข้อควรพิจารณาในการออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อช่วยเหลือคนจน จากมุมมองและข้อเสนอของ ดร.สมชัย เพื่อนำไปสู่คำตอบว่ากระบวนการที่ดีในการตามหาคนจนและการตอบโจทย์ความต้องการคนจนควรมีแนวทางอย่างไร ที่จะช่วยลดการสูญเสียงบประมาณ มุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนจนที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนและอนาคตของประเทศได้อย่างถูกจุด 

หลังบัตรสวัสดิการคนจนถูกแจกจ่ายให้ผู้ลงทะเบียน และเริ่มมีการใช้งานบ้างแล้ว อาจารย์มองเห็นอะไรบ้าง ?

สมชัย : มองออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของการออกแบบของโครงการ กับ implementation (การนำโครงการไปปฏิบัติ) ซึ่งช่วงหลังนี้จะเป็นข่าว การนำโครงการไปปฏิบัติ เรื่องคนไปใช้ในทางที่ผิดแปลกไป แต่ไม่แปลกใจเลย รู้ว่ามันต้องเป็นแบบนี้ เพราะมันคล้าย food stamp ของอเมริกา คือถ้าเอาสิทธิไปแลกของได้ สุดท้ายก็จะมีคนอยากได้เงินมากกว่าของ โดยเอาบัตรไปขาย ร้านค้าก็ยึดบัตรนั้นไป แล้วร้านค้าก็ไปใช้สิทธินั้นแทน ยิ่งถ้าเขาเป็นร้านธงฟ้าอยู่แล้ว เขาจะไปใช้รูดเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าให้บัตรเขาไป

สมมติถ้าบัตรมีมูลค่า 300 บาท ซื้อของได้ 300 บาท ที่เขาตกลงกันคือ ฉันให้เงินคุณ 200-250 บาท แล้ว คุณเอาบัตรมา คนที่ได้ก็รู้สึกว่าให้บัตรแล้วได้เงินทันที แล้วไปซื้อของ ไปทำอย่างอื่นที่ชอบที่ต้องการจริงๆ ซึ่งไม่มีในร้านธงฟ้า แบบนี้การได้เงินมันดีกว่า ด้านเจ้าของธงฟ้าได้บัตรมา มูลค่า 300 บาท โดยที่จ่ายเงินไปแค่ 200 หรือ 250 ก็กำไรมา 50 บาท   คือ ปัญหาแบบนี้มันเกิดขึ้นอยู่แล้ว จะจับได้สักเท่าไหร่ คือจับได้ก็เท่าที่จับได้ ที่จับไม่ได้ก็เยอะไปหมด นี่คือขั้นตอนการนำโครงการไปปฏิบัติ แต่นี่ก็เป็นเรื่องปกติทั่วไปของการให้เป็นของ แทนที่จะให้เป็นเงิน เพราะถ้าให้เป็น คูปอง ไปแลกกันมันจะมีประเภทของ transaction (การดำเนินการ) ประเภทนี้ให้เห็น เป็นเรื่องปกติ

ย้อนมาการออกแบบแนวคิด (concept) ว่าการจดทะเบียนคนจนถ้ามันใช่ แล้วมันโอเคหรือเปล่า โดยใช้วิธีให้เขามารายงานว่าเขาเป็นคนจน ซึ่งเคยทำมาแล้วในสมัยรัฐบาลทักษิณ ก็มีปัญหามาแล้วในตอนนั้น คือ คนที่ไม่จนมาประกาศตัวว่าเป็นคนจน ซึ่งมีแน่นอน ง่ายๆว่า มีคนลงทะเบียน 14 ล้านคน ที่บอกว่าตัวเองเป็นคนจน

แต่ตัวเลขทางการของสภาพัฒน์ มีคนจนประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ของประชากร คิดเป็นประมาณ 4-5 ล้านคน ซึ่งจำนวนของสภาพัฒน์ คือ รวมทุกอายุ แต่เงื่อนไขการลงทะเบียนคนจนรอบนี้กำหนดให้จดเฉพาะคนอายุเกิน 18 ปี จำนวนคนจนที่ได้สิทธิก็ควรต่ำกว่า 4-5 ล้านคน   การลงทะเบียนคนจนรอบนี้ก็เกินกว่าของสภาพัฒน์มา 10 กว่าล้านคน แค่นี้ก็บอกแล้วว่ามีคนที่ไม่จนมาเยอะมาก

แต่ถ้าเราไม่เอานิยามคนจนของสภาพัฒน์ ตามนิยามที่ว่าใครรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน คือ คนจน ก็ได้ โดยสมมติใหม่ว่า เราขยับเส้นความยากจนให้สูงขึ้น เช่น มากกว่าสภาพัฒน์สักคูณสอง จำนวนคนเข้าข่ายจนก็จะมากขึ้น แต่ผมว่าคนจะขึ้นจาก 4-5 ล้านมาเป็นแค่ 8-9 ล้าน ยังไงก็ยังต่ำกว่า 14 ล้าน แต่ทางนี้ ก็บอกว่าเขาไม่ได้เชื่อสักทีเดียว ก็พยายาม screen (คัดกรอง) ออก บอกเหลือ 11 ล้าน แต่ 11 ล้านก็ยังสูงกว่า 8 ล้าน ดังนั้น คนที่ไม่จนจริงมาจดทะเบียนนั้นยังคงมีอยู่ และมีเยอะด้วย

นำไปสู่คำถามว่า ถ้าคุณยึดฐานข้อมูลนี้ว่าเป็นเรื่องตายตัว เป็นสรณะ ต่อไปการออกแบบนโยบายการช่วยคนจนต่างๆ จะยึดฐานข้อมูลนี้เป็นหลัก มันก็มีปัญหาทันทีว่า มันจะมีคนที่ไม่ใช่คนจนได้ประโยชน์ไป ในแง่หนึ่งคือ งบประมาณรั่วไหล ไม่ถูกวัตถุประสงค์ แต่ที่จะซีเรียสกว่านั้น คือมันเป็นไปได้ว่าคนจนจริงเขาไม่มา ซึ่งตรงนี้ไม่มีตัวเลขว่าเท่าไร

อย่างตัวเลขสภาพัฒน์บอกว่ามี 4-5 ล้านที่รายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ก็ไม่รู้ว่ามาครบไหม อาจจะมาไม่ครบ ถ้าถามว่าสัก 5 แสนคนไม่ได้มา ซึ่งไม่ได้มาก็ด้วยเหตุผลหลายประการ อาจไม่รู้เรื่อง ไม่ว่างมา เพราะคนจนเขาหาเช้ากินค่ำ ต้องมานั่งหาข้อมูล กรอกนู้นนี่ บางทีคนจนก็กลัวการกรอกนะ ก็อาจไม่มากัน

ดังนั้นถ้าคุณยึดฐานข้อมูลนี้เป็นเรื่องตายตัว แล้วคนจนที่ไม่ได้มาหล่ะ เขาก็จนแท้จริงด้วย และคนที่ไม่มามักจะเป็นคนจนตัวจริง คือ จนสุดๆ คนกลุ่มนั้นถูกละเลยทันที ทำตรงนี้ได้แต่อย่าลืมว่ามันมี ข้อผิดพลาด (error) 2 แบบ แบบที่คนไม่จนมาจด และคนจนไม่มาจด

ถ้ามีมาตรการเสริมว่า คนจนไม่มาจดนี่ควรทำไงกับเขา คุณต้องมีกระบวนการอื่นตามตัวเขามั้ย ซึ่งไม่มีการพูดถึงตรงนี้เลย นี่คือ ในแง่ของ policy design (การออกแบบนโยบาย) ที่น่าจะยังไม่ใช่ เรื่องความทั่วถึงของบัตรคนจนจึงเรียกว่า ตั้งคำถามได้

อะไรคือกระบวนการที่ดี เพื่อความถูกต้อง ทั่วถึงในการตามหาคนจน ?

ในทางทฤษฎีนะ อันที่อยากให้ดึงมาใช้มากเลยคือ ข้อมูลการใช้จ่าย อาจเรียกได้ว่าเป็น big data (ข้อมูลจำนวนมาก) ทุกวันนี้เขายังไม่ได้เอาตรงนั้นมา ตอนนี้เค้าดูแค่มีหนี้เท่าไหร่ มีทรัพย์สินเท่าไหร่ ตามที่พอจะหาข้อมูลเจอ แต่ที่แม่นยำมากคือ ข้อมูลการใช้จ่าย

ถ้ารู้ว่าใน 11 หรือ 14 ล้านคน มีพฤติกรรมการใช้จ่ายตามปกติอย่างไรบ้าง ปกติเข้าห้างไปกิน food court จ่ายทีนึง 300 บาทรึเปล่า หรือไปภัตตาคารหรู ถ้าพฤติกรรมแบบนี้มันอนุมานได้ว่าเขาไม่ใช่คนจน ถ้ามีข้อมูลประเภทนี้เข้ามา จะ screen (คัดกรอง) คนได้อีกเยอะ

ต่างชาติเคยใช้ คือ เขาไปติดต่อ บ.บัตรเครดิต คือแค่รู้ว่าเขามีบัตรเครดิตก็เพ่งเล็งได้แล้วว่าไม่จนจริง แล้วยิ่งถ้าดูจากพฤติกรรมการใช้จ่ายบัตรเครดิต เช่นไปซื้อเปียโน แบบนี้ก็ตัดออกได้เลย

ผมเคยไปแอฟฟริกาใต้ เขาใช้วิธีนี้ เขาก็ตัดออกได้เลย เขาก็ screen ไม่คนจนออกไปได้เยอะ แต่ว่าตรงนี้ต้องมีความร่วมมือ รัฐบาลอาจต้องออกกฎหมายใหม่ด้วยซ้ำเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูล เช่น เรื่องบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตของธนาคาร ว่าแต่ละคนจ่ายเรื่องอะไร มันอยู่ในวิสัยที่ทำได้ คือเทคโนโลยีทำได้ แต่มันจะมีขั้นตอนกฎหมายต่างๆ ถ้าทำได้มันการคัดกรองค่อนข้างดี แต่ว่าแก้ปัญหาคนไม่จนนะ ส่วนปัญหาที่คนจนไม่มาจดนี่ต้องแก้อีกแบบหนึ่ง

สำหรับไทยก็มีกรณีนโยบายไฟฟ้า รถเมล์ร้อนฟรี ภาษาวิชาการเรียก self-targeting คือดูพฤติกรรมของคน แล้วนำข้อมูลไปคำนวณว่าเขาเป็นคนจนหรือไม่ คือถ้าคุณใช้ไฟน้อย ก็น่าจะเป็นคนจน อันนี้มันดีกว่าการจดทะเบียนคนจนตรงที่ว่าเอาพฤติกรรมการใช้มาเป็นตัววัด มันก็มีรั่วบ้างคือ คนที่มีคอนโด บ้านหลังที่สอง ค่าไฟก็จะได้ฟรีไป

หรือถ้าขึ้นรถเมล์ร้อน แบบในสมัยก่อน หรือรถไฟชั้น 3 ถามว่าถ้าคุณเป็นคนรวยคุณจะยอมเบียดขึ้นรถเมล์ร้อนไหม ในแง่นี้ตัวสินค้า บริการมันช่วยคัดกรองคนจนได้ คนรวยไม่มาแย่ง เทียบกับการจดทะเบียนคนจน มีถึงขั้น ดร. มาจด ดังนั้นทั้ง ใช้ไฟ ขึ้นรถเมล์ รถไฟ แบบนี้เป็น  self-targeting ซึ่งด้วยไอเดียมันดีกว่าจดทะเบียนคนจน

กับข้อมูล big data อีกแบบที่ ทีดีอาร์ไอ เคยทดลองทำคือ การตามหาคนจนแบบ Geographic targeting เป็นการตามหาด้วยพื้นที่ เช่นดูภาพถ่ายดาวเทียมของหลังคาบ้าน หลังคาแบบไหนจน แบบไหนไม่จน เพื่อดูว่าตำบลนี้มีคนจนสักกี่เปอร์เซ็นต์ โดยไม่รู้ว่าเขาชื่ออะไร แต่ก็ช่วยว่าแต่ละพื้นที่มีคนจนมากน้อยต่างกันอย่างไร ที่ช่วยได้คือ เวลาจัดสรรงบประมาณเพื่อไปช่วยคนจน ก็สามารถจัดให้ผันแปรตามจำนวนหลังคาบ้านคนจน มันเป็นประโยชน์สำหรับการจัดสรรงบประมาณเชิงพื้นที่มากขึ้น แต่โจทย์ต่อมาคือ พองบลงไปแล้วจะกระจายให้แต่ละบ้านอย่างไร

ไอเดียที่ผมชอบมากเลย  คือ คุณต้องไปถึงตัวเขาเลย เพื่อช่วยเสริมการกระจายงบประมาณ หรือความช่วยเหลือไปถึงคนจนได้จริง โดยมันต้องมีกลไกของการตามหาคนจน ซึ่งกลไกที่ว่าต้องเป็นระดับชุมชน คนที่น่าจะทำเรื่องนี้ได้คือ อสม. อาสามัครสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุข

อสม. เป็นคนในพื้นที่ เป็นชาวบ้านนี่แหละ เพียงแต่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขทำการดูแล คนในบ้านแถวนั้น ที่เขามีสูตรคือ อสม. 1 คน ดูแลเพียง 15 บ้าน เขาจึงรู้จักทุกคนที่เขาดูแล รู้ว่าชื่ออะไรมีลูกไหม ทำงานอะไร ท้องหรือยัง แท้งไหม เหมือนรู้จักเพื่อนบ้าน อสม.มารับช่วงต่อ มันก็จะเป็น 2 ขั้นตอน ที่จะได้เจอคนจนอย่างแท้จริง จะได้ไม่มีปัญหาว่างบขาดหรือเกิ

ถ้าถาม อสม. ว่าใครจนไม่จน เขาบอกได้ เราจึงควรใช้ประโยชน์ตรงนี้ เพราะเขาเป็นส่วนหนึ่งของราชการอยู่แล้ว ให้เขารายงานข้อมูลมาได้เลย ที่ผมเคยเสนอคือว่า ทำไมไม่เอาข้อมูลจดทะเบียนคนจนในพื้นที่ไปแจกใส่มือ อสม. แล้ว อสม. ไปเช็คว่าใครไม่จนจริง ส่วนคนจนที่ไม่มีชื่อก็ให้ อสม. เติมชื่อเข้ามา เพราะเขารู้ว่าต้องเติมใคร และต้องเอาใครออก

เทียบกับสิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้วคือ ไปจ้างนักศึกษาใช้เงินเป็นพันล้าน จ้างผ่านสำนักงานสถิติแห่งชาติ คือจ้างทำการสำรวจ ข้อเสียคือ นักศึกษาไม่รู้จักชาวบ้าน เป็นคนจากข้างนอก งั้นถ้าตอนเขาไปจดทะเบียนคนจนเขาโกหกรอบนึง ทำไมเขาจะโกหกอีกไม่ได้ นักศึกษาก็จับโกหกไม่ได้ อาจไม่เชี่ยวชาญพอ แต่ อสม. เขาเคี่ยวมาก ต้นทุนก็จะไม่มากเท่า

ทำไมอาจารย์จึงบอกว่า 'ไม่แปลกใจ' หรือเป็นเรื่องปกติ ที่สุดท้ายเกิดปัญหาคนจนเต็มใจนำบัตรไปแลกเป็นเงินสดกับร้านค้าธงฟ้า  ?

พอคิดว่าจะให้เป็นของแทนเงิน มันก็จะมีเรื่องของการนำโครงการไปปฏิบัติตามมาเพราะไม่ว่าอย่างไร อย่างที่บอก สุดท้ายคนก็จะอยากได้เงินมากกว่าได้ของ

สมมติผมอยากช่วยคุณเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผมมี 2 ทางเลือกคือ ให้เป็นของ ซื้อของขวัญให้กับให้เป็นเงิน ด้วยมูลค่าเท่ากัน แต่ถ้าให้เป็นของก็มีโอกาสที่คุณจะไม่ชอบ หรือไม่ชอบที่สุด แต่ถ้าให้เงิน คุณก็เอาเงินนั้นไปซื้อของที่ชอบที่สุดได้

ดังนั้นประโยชน์ต่อคนได้รับ ให้เป็นเงินเขาได้ประโยชน์สูงสุดกว่า เศรษฐศาสตร์ตั้งแต่ ECON 101 เลย บอกว่าให้เป็นเงินดีกว่าให้เป็นของ

แต่ว่านี่หมายความว่าให้ถูกตัวนะ คือถ้าเขาจนจริง คนจนจริงเขาก็มีความจำเป็นในชีวิตที่เขายังขาด อาหารไม่พอ เครื่องนุ่งห่มไม่พอ ได้เงินมาเขาไม่ไปซื้อบุหรี่ก่อนอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณให้คนไม่จน ก็เป็นไปได้ที่เขาจะไปซื้อบุหรี่ซื้อเหล้า เพราะปัจจัย 4 เขาครบแล้ว

ดังนั้นต้องกลับไปตั้งต้น คือ ตามตัวคนจนให้เจอ และให้เป็นเงินไป และถ้าให้ก็ให้ไม่มาก แค่ให้เขาผ่านช่วงชีวิตที่มันลำบากไปได้ ช่วยในเรื่องที่เขาจำเป็นจริงๆ ถ้าให้เยอะ จะยิ่งกระตุ้นให้คนไม่จนวิ่งมาหาช่องทางของคนจน

เรื่องที่ต้องจำกัดการใช้บัตรเฉพาะร้านค้าธงฟ้า ก็มาจากไอเดียไม่ยอมให้เงิน ก็ต้องไปแลกเป็นของ พอเป็นของ ก็ต้องเพิ่มเงื่อนไขจำกัดแค่บางร้าน และต้องมีเครื่องอ่านบัตร โดยใช้กับทุกร้านทั่วประเทศไม่ได้ เพราะมันต้องลงทุนสูง จึงมีแค่ธงฟ้า

ซึ่งดีไม่ดี คนจนในภูเขา ค่าเดินทางมาร้านธงฟ้า 300 บาท เขาก็ไม่อยากมาแล้ว ได้บัตรไปก็ไม่มีประโยชน์ ก็เทียบกับได้เป็นเงินก็ได้ประโยชน์เลย พอคิดว่าจะให้เป็นของแทนเงิน มันก็จะมีเรื่องของการนำโครงการไปปฏิบัติตามมา และต้นทุนก็สูงขึ้นตามจากเครื่องอ่านบัตร อย่างค่าแก๊สได้มา 40-50 บาท แต่ต้องผ่านกระบวนการกับทางรัฐบาล ก็รู้สึกไม่คุ้ม

อะไรเป็นข้อจำกัดทำให้นโยบายช่วยคนจนไม่ออกมาในลักษณะแจกเงินให้ใช้ซื้ออะไรก็ได้เลย ?

เรื่องแจกเงินนี่คนชนชั้นกลางไทยไม่ชอบ จะมีคำถามว่าทำไมให้เงินเขาไป ซึ่งเป็นความระแวงคนอื่น ว่าเดี๋ยวงอมืองอเท้าไม่ยอมทำงาน เดี๋ยวเอาเงินซื้อบุหรี่ กินเหล้า แต่ถ้าถามนักเศรษฐศาสตร์เลยนะ คือยังไงให้เป็นเงิน ก็ดีกว่าให้เป็นของ

ซึ่งประสบการณ์จากที่ต่างๆ ที่ให้เป็นเงินกับคนจนนะ  สัดส่วนคนที่ไปใช้เงินผิดประเภท ซื้ออบายมุขต่างๆ เพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าน้อยมาก

อีกอย่างคือคนให้ความช่วยเหลือมักทำว่ารู้ดีกว่า ทำเหมือนว่าเป็นพ่อกับแม่แล้วมองคนจนเหมือนลูก เหมือนเด็กที่ไม่รู้เรื่อง จะต้องคิดแทน และคิดแล้วว่าต้องเป็นสินค้านู้นนี่ เช่นเรื่องให้ขึ้นรถโดยสารฟรี นี่ก็เป็นเรื่องคิดแทน ทั้งที่ไม่ใช่ว่าคนจนทุกคนต้องใช้รถโดยสาร

ไปดูในชุมชนแออัด เขาจะชอบทำมาหากินใกล้บ้านเขาไม่ได้ชอบเดินทาง การทำตัวเป็นพ่อแม่รู้ดี แต่รู้ไม่จริง ประโยชน์ที่จะได้ก็ไม่ได้

ดังนั้นควรออกแบบนโยบายยังไง ที่ทั้งต้องช่วยคนจน แต่ในอีกทางก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถกระตุ้นให้เขาอยากออกจากความจนด้วย?

เขาอยากออกอยู่แล้ว ถ้าสมมติให้เป็นเงินเขาก็เอาไปใช้ประโยชน์ เช่น คนจนขาดสารอาหารกินได้ไม่พอ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้วในเมืองไทย ก็สมมติเอาแล้วกัน พอเขาได้เงินไปก็ซื้ออาหาร เขาก็ได้สารอาหารครบถ้วน ทำงานได้ดีขึ้น สุดท้ายก็รายได้ได้ดีขึ้น หรือขยับมาสู่การมีลูก ก็อยากให้ลูกไปเรียนในศูนย์เด็กเล็กที่บางที่เขาเก็บวันละ 10 บาท เดือนนึง 300 บาท ถ้าจนจริงๆลูกก็ไม่ได้ไปศูนย์เด็กเล็ก เด็กก็ไม่ได้พัฒนาการอะไร ซึ่งถ้าเขามีเงิน มีโอกาส ก็ได้รับการพัฒนาตั้งแต่เล็กๆ เด็กก็ได้โอกาสในชีวิต และถ้าช่วยกระตุ้นในช่วงวัยแรกเกิด ถึง 5 ปี เด็กเล็กที่ได้รับการกระตุ้นในช่วงนี้ดีๆ จะเป็นโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ถามว่าช่วยคนจนมั้ย ก็ช่วยได้แน่นอน  generation หรือ รุ่น ต่อไปจะหายจน

มีกรณีตัวอย่างโครงการหรือนโยบายที่ดีในการช่วยเหลือคนจนโดยแจกเงิน บ้างไหม?

ตามที่ศึกษา อยู่คือ โครงการเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็ก อันนี้รัฐบาลแจกเป็นเงินสด กำลังอยู่ในช่วงทำวิจัยว่าผลจะทำให้เกิดความแตกต่างอย่างไร ว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อครอบครัวนั้นอย่างไรบ้าง ซึ่งยังทำไม่เสร็จดี แต่มีที่ประเมินได้ และพบความสำเร็จ

คือ โครงการนี้มีข้อดีที่ การเลือกช่วยเด็กเล็ก ตั้งเป้าหมายที่เด็กเล็ก แต่ที่ควรปรับปรุงคือต้องทำให้กระบวนการง่ายขึ้น เช่นเมื่อเกิดที่ รพ. พอแจ้งเกิดก็ได้เลย แต่เขาต้องแจ้งว่าประสงค์รับเงิน และมีช่องทางรับเงินที่ต้องแจ้งกันนิดหน่อย

ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องทำให้ง่ายสุด เพื่อขจัดปัญหาคนจนไม่ได้เงิน เช่น เกิดที่ รพ. มีเจ้าหน้าที่ทำให้ได้เลยได้ไหม มีระบบเชื่อมต่อกัน พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ รพ. ก็แค่ถามเบอร์บัญชี ก็จบ เดือนถัดไปเงินก็เข้า ตอนนี้ให้ถึง 3 ขวบ 600 บาทต่อเดือน ขยับจาก 400 และ ขวบเดียว

ที่ผมเคยเสนอคือ  600 ให้ถึง 6 ขวบ และให้ทุกคนเพื่อป้องกันเด็กจนไม่ได้เงิน แบบนี้ใช้เงิน 0.2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเท่านั้น คุ้มมาก สร้างอนาคตประเทศด้วยเงินเท่านี้คุ้มมาก แต่รัฐบาลไทยยังไม่ยอมจ่าย

เด็กเล็ก คือกลุ่มที่ควรตั้งเป้าหมายอย่างยิ่ง คือเอาเงินไปแจกให้เด็ก ดีกว่าแจกคนแก่นะ ตอนนี้แจกคนแก่ใช้เงิน 6-7 หมื่นล้านบาท แจกเด็กเล็กยากจน 1-2 พันกว่าล้าน ขนาดมันต่างกันเยอะมากเลย ทั้งที่เด็กเล็กเป็นอนาคตของประเทศ แต่กลับไปประหยัดตรงนั้น แล้วไปจ่ายให้คนแก่ เพียงเพราะคนแก่โหวตได้

แต่การเป็นนโยบายที่ตั้งเป้าหมายเด็กที่ยากจน มันก็มีปัญหาเดียวกันกับลงทะเบียนคนจน คือ คนไม่จนก็ได้ด้วย เพราะว่าขั้นตอนของเขาก็มีการรับรองต่างๆ ก็มีความพยายามคัดกรองแล้ว พวกผู้ใหญ่บ้าน อบต. ต่างๆที่รับรอง และมีคนไม่จนที่มาเข้ากระบวนการ ซึ่งที่ซีเรียสคือ จนแล้วไม่ได้เข้าโครงการ ตอนนี้ที่ล่าสุดทางเราเสนอคือ ให้ทำตัวนี้ เป็น universal (ถ้วนหน้า) เลย ไม่สนใจยากดีมีจน ก็ทำคล้ายๆ คนแก่เลย แต่ใช้เงินน้อยกว่าคนแก่เยอะ คือประมาณหมื่นสองหมื่นล้าน และยิ่งเวลาผ่านไป เด็กยิ่งเกิดน้อยลงๆ ใช้งบประมาณอนาคตก็น้อยลง ไม่เหมือนคนแก่ยิ่งนานยิ่งเยอะ ฉะนั้น ก็เสนอว่าทำให้ถ้วนหน้าไป เพื่อ ขจัดปัญหา exclusion error คือเด็กที่ยากจนไม่ได้เงิน

การทำเป็น universal เป็นวิธีที่ได้ผลชะงัดที่สุด ที่จะทำให้ปัญหาไม่ถึงคนจนหมดไปเหลือ 0  แน่นอนมันไปปูดเรื่องคนไม่จน สำหรับผมงบประมาณเรื่องนี้ หมื่นสองหมื่นล้านบาท สำหรับ universal ก็ยังคุ้มกว่า

คือถ้ารวยจริงๆ เขาคงไม่มาเอาหรอก ยกเว้นชั้นกลางอาจมาเอา แต่รั่วไปตรงนั้นไม่เป็นไร ดีกว่าต้องตกหล่นคนจนไป

เมื่อรัฐบาลมีหลายนโยบายช่วยคนจน ทั้งไฟฟรี บัตรคนจน เงินอุดหนุนเด็กเล็ก ควรนำมาเชื่อมกันมั้ย ?

เขาก็มีคุยกันว่าจะนำมาชนกัน คือถ้านำมาชนกันก็ overlap แต่ใช่ว่าจะเจอ overlap คนจน นั่นอาจเป็น overlap คนไม่จนก็ได้ สุดท้ายยังไงก็ต้องมี อสม. มาตรวจสอบ สมมติตรวจสอบตรงลงทะเบียนคนจนด้วยวิธีนี้สำเร็จจะได้เอาไปทาบกับนโยบายอะไรก็ได้  

นอกจากมิติแก้จนแล้ว โครงการช่วยเหลือคนจนต่างๆ  ส่งผลบวกกับการลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยบ้างได้ไหม ?

ถ้าคุณแก้ปัญหาความยากจนได้จริงๆ คุณก็แก้ความเหลื่อมล้ำได้หน่อยนึงแล้ว ก็ทำให้คนจนดีขึ้น ช่องว่างมันเล็กลง แต่อย่างงบบัตรคนจนมันก็แค่ 4 หมื่นล้าน แต่มีบางส่วนรั่วไปคนไม่จนด้วย ดังนั้นตีเป็นคนจนจริงๆก็อาจ 3 หมื่นล้าน จำนวนนี้ต่อปีไม่ได้เยอะ ก็ช่วยคนจนได้อยู่นิดนึง

แต่ที่สร้างความเหลื่อมล้ำขึ้นคือ เงื่อนไขและสิทธิในบัตรที่ให้ไม่เท่ากัน ที่ทำให้ได้ประโยชน์ไม่เท่ากัน เมื่อคนได้บัตรที่อยู่ในเขตชนบทได้เงินน้อยกว่า คิดเป็นเม็ดเงินก็ได้น้อยกว่า ก็เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างจนในเมือง กับจนในชนบท ก็กลายเป็นห่างมากขึ้น หลังจากที่ใส่ตรงนี้เข้าไป แต่ถ้าจะให้เท่ากัน ก็ควรแจกเป็นเงินไปเลย ก็จะไม่ต้องมีประเด็นที่เป็นปัญหากันตอนนี้

อะไรจะเป็นตัวชี้วัดว่าโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ และควรเน้นไปที่ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ?

ก็ต้องมีการสำรวจออกมา ตามหลักวิชาการ ทั้งการจดทะเบียนที่เจอคนจนจริง ไม่จริง และประโยชน์ที่ได้มามีแค่ไหน ดีต่อชีวิตเขายังไง แตกต่างอย่างไร ซึ่งตามหลักวิชาการมันทำได้ แต่ใช้เวลา 1-2 ปี

ส่วนกรณีกระตุ้นเศรษฐกิจ มากน้อยแค่ไหน ง่ายๆ ถ้าอยากซื้อข้าวสาร ยังไงคุณต้องกินข้าวอยู่แล้ว ถ้าไม่มีบัตรคนจนไปร้านธงฟ้า คุณก็ต้องเอาเงินไปซื้อ แต่ถ้ามีบัตรธงฟ้า ก็เอาบัตรไปซื้อ ดังนั้นเงินที่เขาเตรียมไว้เพื่อซื้อของในร้านธงฟ้า ซื้อข้าวสารก็ไม่ต้องจ่าย เงินนี้ก็ได้เอาไปซื้ออย่างอื่น ดังนั้นข้าวสารก็ยังขายได้ผ่านช่องทางธงฟ้า และยังมียอดขายอย่างอื่นเพิ่มอีก คิดเป็นเม็ดเงินก็ประมาณ 4 หมื่นล้าน ซึ่งถ้าเงินมันลง เศรษฐกิจมันก็ถูกกระตุ้น

ถึงจะเอาบัตรไปแลกเป็นเงินก็กระตุ้นนะ กระตุ้นเศรษฐกิจนี่ไม่ได้สนใจว่าเงินมันจะสกปรกหรือสะอาด ก็กระตุ้นได้หมดเหมือนกัน

อยากฝากอะไร ถึงผู้รับผิดชอบบัตรคนจน?

อย่าหยุดปรับปรุง อย่าคิดว่า การคัดกรองที่ทำมาทั้งหมดนี่พอแล้ว ผมว่ายังไม่พอ และอยากให้ร่วมมือกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสาธารณสุข ในเรื่องการให้ อสม. ช่วยเรื่องปรับปรุงฐานข้อมูล  ส่วนเรื่องรั่วไหลไปคนไม่จน ไม่น่าซีเรียสเท่าไม่ถึงคนจนจริง แต่ก็ควรคัดกรอง

ผมมองว่าบัตรคนจนเป็นขั้นตอนของการเก็บข้อมูล แต่ข้อมูลที่ว่านี่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ นำเรื่อง big data เข้ามา และมีกฎหมาย เพื่อดึงข้อมูลต่างๆเข้ามา ข้อมูลมันจะดีขึ้น เพื่อนำไปใช้เรื่องอื่นๆ รวมทั้งเรื่องถ้าจะแจกเงินก็ใช้ฐานข้อมูลนี้ได้ อันนี้คือข้อดีของการมีพัฒนาการทางเครื่องมือ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้นำกาตาลุญญาหลบหนีไปเบลเยียมแล้วหลังอัยการสูงสุดขอศาลฟ้องสามข้อหา

Posted: 30 Oct 2017 10:39 AM PDT

ข้อหากบฏ ยุยงปลุกปั่น ใช้งบหลวงในทางมิควร ผิดจริงอาจคุกสูงสุด 30 ปี ผู้นำแคว้นและ รมว.เขตแดนยังโพสท์ภาพอยู่ที่ทำงานก่อนจะมีรายงานว่าไปเบลเยียมแล้ว รมต.การย้ายถิ่นของเบลเยียมบอกใบ้ว่าลี้ภัยได้ถูกกฎหมาย แต่นายกฯ ปัด อ้าง อย่าโยนฟืนใส่กองไฟ รัฐบาลสเปนแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแคว้นคนใหม่แล้ว

การ์เลส ปุกเดมอนต์ ผู้นำแคว้นกาตาลุญญาที่เพิ่งถูกรัฐบาลสเปนปลดไป (ที่มาภาพ:วิกิพีเดีย)

เมื่อวานนี้ (30 ต.ค. 2560) สำนักข่าวเดอะอินดิเพนเดนท์ของสหราชอาณาจักรรายงานว่า มีรายงานจากรัฐบาลสเปนว่า การ์เลส ปุกเดมอนต์ ผู้นำแคว้นกาตาลุญญาที่ถูกสเปนปลดจากตำแหน่งไปแล้วได้เดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมแล้วหลังอัยการสูงสุดของสเปนได้ยื่นคำร้องให้ศาลสั่งฟ้องข้อหากบฏ ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกและใช้งบหลวงในทางมิควรกับปุกเดมอนต์และคณะรัฐมนตรีกาตาลันที่เพิ่งถูกปลดไป

 
 

การเดินทางไปยังเบลเยียมเกิดขึ้นหลังธีโอ แฟรงเคน รัฐมนตรีด้านการย้ายถิ่นและลี้ภัยของเบลเยียมกล่าวกับรายการโทรทัศน์ในประเทศว่าปุกเดมอนต์สามารถลี้ภัยมาที่เบลเยียมได้

"ชาวกาตาลันที่รู้สึกว่าถูกคุกคามจากการเมืองสามารถลี้ภัยเข้ามาในเบลเยียมได้รวมถึงตัวปุกเดมอนต์ด้วย เรื่องนี้ถูกกฎหมายร้อยเปอร์เซนต์" แฟรงเคนกล่าวกับรายการของช่อง VRT เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แฟรงเคนผู้สังกัดพรรคพันธมิตรเฟลมมิชใหม่ (New Flemish Alliance) ซึ่งเป็นพรรคที่ต้องการให้แคว้นแฟลนเดอร์สแยกตัวเป็นเอกราชจากเบลเยียมเช่นกัน และการแถลงดังกล่าวก็ได้ใจกลุ่มชาตินิยมเฟลมมิช ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนกาตาลัน

อย่างไรเสีย การบอกใบ้ดังกล่าวถูกปัดโดยนายกรัฐมนตรีเบลเยียม ชาร์ลส มิเชล โดยเขากล่าวว่า "ผมได้ขอให้ธีโอไม่เพิ่มเชื้อเพลิงเข้าไปในกองไฟ"

ลา วานการ์เดีย สื่อในแคว้นกาตาลุญญารายงานว่า มีสมาชิกรัฐบาลชุดปุกเดมอนต์ได้เดินทางไปเบลเยียมพร้อมผู้นำของพวกเขาด้วยเพื่อเตรียมการว่าจะทำอย่างไรต่อไป

โฆเซ มานูเอล มาซา อัยการสูงสุดของสเปนได้ประกาศในวันนี้ว่าเขาจะขอให้ศาลฟ้องสมาชิกอาวุโสในรัฐบาลชุดที่เพิ่งถูกปลดไปทั้งหมด 14 คนรวมถึงปุกเดมอนต์ โอริโอล ฆุนเกราส รองประธานาธิบดีแคว้นและราอูล โรเมวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศแคว้นด้วย โดยศาลฎีกาจะตรวจสอบว่ามีวิธีการใดที่เป็นไปได้ในการจัดการกับผู้นำทางการเมืองที่มีส่วนในการปูทางให้เกิดการประกาศแยกตัวที่มีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

มาซากล่าวถึงสาเหตุที่เขาขอให้ศาลฟ้อง "เป็นเพราะการกระทำของพวกเขาในสองปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ในสถาบันและส่งผลให้เกิดการประกาศเอกราชเพียงฝ่ายเดียวในวันที่ 27 ตุลาคม ซึ่งถือเป็นการเหยียดหยามรัฐธรรมนูญของพวกเรา"

ตามระบบกฎหมายของสเปน คำร้องของมาซาจะถูกส่งให้ผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องทำการพิจารณา และผู้นำการแยกตัวสามารถถูกเรียกตัวไปพิจารณาคดีได้ถ้าข้อหาดังกล่าวถูกยกมาดำเนินคดี โดยข้อหากบฏนั้นมีโทษจำคุกสูงสุด 30 ปี โทษฐานยุยงปลุกปั่นมีโทษจำคุก 15 ปี และโทษใช้งบหลวงในทางมิควรมีโทษจำคุก 6 ปี

กาตาลุญญาถูกสเปนปกครองโดยตรงตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้วหลังวุฒิสภาสเปนอนุมัติให้รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรีมาริอาโน ราฮอย ใช้อำนาจตามมาตรา 155 แห่งรัฐธรรมนูญสเปนได้ โดยมาตรา 155 ให้อำนาจรัฐบาลกลางบริหารระบบราชการพลเรือน กองกำลังตำรวจ การเงินและสื่อสาธารณะของกาตาลุญญาได้

ราฮอยยังได้ประกาศว่าวันเลือกตั้งใหม่จะมีขึ้นในวันที่ 21 ธ.ค. นี้ อัลฟอนโซ ดาสติสกล่าวว่าตามทฤษฎี ปุกเดมอนต์สามารถลงรับเลือกตั้งได้ "ถ้าตอนนั้นเขาไม่ถูกจับเข้าคุกไปก่อน"

วันจันทร์นี้เป็นบททดสอบแรกของสเปนต่อการเข้าบริหารแคว้นกาตาลุญญาโดยตรง เหล่านักการเมืองและข้าราชการต่างเข้าไปทำหน้าที่ของตนเองท่ามกลางความไม่แน่นอนว่าพวกเขาจะยอมรับหรือไม่ยอมรับการเข้าบริหารจากรัฐบาลมาดริด

เช้าวันจันทร์นี้ ปุกเดมอนต์ได้โพสท์รูปภายในอาคารรัฐบาลแคว้นผ่านอินสตาแกรม แต่ไม่มีข้อมูลว่าเป็นภาพที่ถ่ายเมื่อไหร่ ผู้นำแคว้นกาตาลุญญาที่ถูกสเปนปลดไปได้รับการคาดคะเนว่าจะพยายามเข้ามาที่อาคารรัฐบาล แต่เหล่าสื่อมวลชนและผู้สนับสนุนที่มารออยู่จนถึงเวลาพักเที่ยงก็ยังไม่เห็นการมาเยือนของเขา จนมีรายงานว่าเขาได้เดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์แล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิดฉากงานมหกรรมหนังสือ รวม 12 วันผู้เข้าชมกว่า 1.8 ล้าน ยอดขายเพิ่ม 10%

Posted: 30 Oct 2017 10:30 AM PDT

ปิดฉากงานมหกรรมหนังสือครั้งที่ 22  หนังสือเกี่ยวกับ ร.9 ได้รับความสนใจสูงสุด ขณะที่ยอด 12 วันมีผู้เข้าชมงานกว่า 1.8 ล้านคน ยอดขายโดยรวมจากทุกสำนักพิมพ์ประมาณ 600 ล้าน เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน 10%

30 ต.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า สุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงภาพรวมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 22 ซึ่งมีสำนักพิมพ์ไทยเข้าร่วมงาน 389 ราย รวมทั้งสิ้น 939 บูธ และจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 18 - 29 ต.ค. 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด "ความทรงจำ" ว่าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย เพราะมีผู้เข้าร่วมชมงานรวมกว่า 1,800,000 คน โดยหนังสือที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้ คือหนังสือพระราชนิพนธ์ พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และรวมพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รวมถึงความรู้ที่เกี่ยวกับการสร้างพระเมรุมาศ รองลงมาคือหนังสือแนววัยรุ่น 

 "หนังสือพระราชนิพนธ์ พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และรวมพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แสดงให้เห็นถึงการทรงงานหนักของพระองค์ตลอด 70 ปีที่ผ่านมาเพื่อปวงชนชาวไทย ทุกสำนักพิมพ์ล้วนน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้ จึงตั้งใจทำหนังสือเหล่านี้อย่างสุดความสามารถ ทำให้ทุกเล่มเปี่ยมด้วยคุณภาพและงดงามอย่างยิ่ง และได้รับความสนใจจากประชาชนที่ต้องการเก็บไว้เป็นที่ระลึกเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะทำให้คนอ่านได้นำวิธีคิดและหลักคิดของพระองค์ท่านไปสานต่อ และนิทรรศการ "ความท๙งจำ" ที่จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่มีต่อวงการหนังสือไทยตลอดรัชสมัยของพระองค์ ก็ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมชมงานอย่างมาก

หนังสือที่รับความนิยมรองลงมาคือหนังสือแนววัยรุ่น โดยเฉพาะนวนิยายวัยรุ่นและงานเขียนประเภทไลท์โนเวล ซึ่งเป็นนิยายวัยรุ่นพร้อมภาพประกอบที่แปลจากประเทศญี่ปุ่น ไลท์โนเวลบางเรื่องสามารถทำให้เยาวชนไปตามอ่านวรรณกรรมคลาสสิคระดับโลกได้ โดยผู้เข้าชมงานกว่า 40 % คือวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มหลักของงานหนังสือในทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความรักการอ่านในกลุ่มเยาวชนอย่างชัดเจน รองลงมาคือวัยทำงาน โดยตลอด 12 วันของการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 22 มีผู้เข้าร่วมชมงานประมาณ 1.8 ล้านคน สรุปยอดขายโดยรวมจากทุกสำนักพิมพ์ประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการจัดงานมหกรรมหนังสือครั้งที่ 21 ประมาณ 10%" สุชาดา กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุก 8 ปีหัวคะแนน 'มาโนช เสนพงศ์' แจกเสื้อ 'สายล่อฟ้า'

Posted: 30 Oct 2017 09:40 AM PDT

ศาลจังหวัดปากพนังพิพากษาจำคุกหัวคะแนนทุจริตเลือกตั้ง 8 ปี เหตุแจกเสื้อจูงใจเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้เหลือ 4 ปี 24 เดือน

 

แฟ้มภาพ

30 ต.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ศาลจังหวัดปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ได้นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดปากพนังได้ยื่นฟ้อง สุรินทร์ หรือบ่าวริน อ๋องเซ่ง ชาว อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ในความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น โดยในคดีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มอบอำนาจให้เจ้าพนักงาน กกต. เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ สุรินทร์ หลังจากสืบสวนสอบสวนพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งด้วยการแจกจ่ายเสื้อที่มีตรา หรือสัญลักษณ์ ซึ่งได้มีของกลางเป็นเสื้อมีข้อความชื่อ "มาโนช เสนพงศ์" รวมถึงเสื้อข้อความ "สายล่อฟ้า" เสื้อข้อความ "กลุ่มประชาธิปัตย์สร้างสรรค์"

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้มีความเห็นแนบท้ายสำนวนเสนออัยการเห็นควรสั่งฟ้อง และอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุรินทร์ ซึ่งตกเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดปากพนัง และศาลได้นัดสืบพยานทั้งโจทก์และจำเลยจนครบถ้วนกระบวนความจึงนัดอ่านคำพิพากษาตามคำพิพากษาคดีดำ อ.1528/2559 และคดีแดงที่ อด. 1656/2560

โดยสรุปกรณีที่ สุรินทร์ นำเสื้อไปจ่ายแจกให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเลือก มาโนช เสนพงศ์ ผู้สมัครนายก อบจ. หมายเลข 2 ในขณะนั้น เนื่องจากจำเลยได้นำเสื้อซึ่งเป็นวัตถุพยานข้างต้นออกแจกจ่ายเพื่อหวังผลคะแนนเสียงในหลายพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่มีการจับกุมได้เป็นคดีนี้จำนวน 4 แห่ง ศาลจึงลงโทษจำคุกจำเลยทุกกระทงรวม 8 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาจึงลดโทษให้เหลือ 4 ปี 24 เดือน ส่งผลให้จำเลยต้องถูกคุมขังทันทีโดยทนายจำเลยอยู่ในระหว่างการประสานงานเพื่อพิจารณาขอยื่นประกันตัวสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ตามขั้นตอน

ที่มา : โลกวันนี้ และผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เป็นผู้หญิง (บริการ) แท้จริงแสนลำบาก (1): สำรวจชีวิต ‘กะหรี่’ ในวันที่ศีลธรรมยังค้ำคอรัฐไทย

Posted: 30 Oct 2017 07:28 AM PDT

รายงานพิเศษ 3 ตอน สำรวจพื้นที่ชีวิตของพนักงานบริการที่วันๆ ไม่ได้ทำ "แค่ขายตัว" โดยในตอนที่ 1 นี้ จะสำรวจรูปแบบการทำงานที่หลากหลายของพวกเธอ รวมถึงเหตุผลและเป้าหมายในการเข้าสู่วงการ

การค้าบริการทางเพศ จัดเป็นธุรกิจสีเทาที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทย แม้จะไม่เคยมีการสำรวจอย่างเป็นทางการจากรัฐไทย แต่ในปี 2014 โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้ประเมินเอาไว้ว่าประเทศไทยมีพนักงานบริการ (service worker) อยู่มากถึง 123,530 คน และร้อยละ 10 ของรายได้ที่ประเทศไทยได้จากภาคการท่องเที่ยวมาจากธุรกิจบริการทางเพศ นอกจากนี้ ยังมีงานศึกษาในปี 2003 ที่ระบุว่าประเทศไทยสามารถทำเงินจากธุรกิจทางเพศได้มากถึงปีละ 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แต่ธุรกิจที่ทำรายได้มหาศาลและข้องเกี่ยวกับชีวิตของผู้คนจำนวนมากเช่นนี้กลับเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย ความย้อนแย้งดังกล่าวได้ทำให้พนักงานบริการไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานเฉกเช่นที่ผู้ใช้แรงงานทั่วไปควรได้รับ อีกทั้งยังเป็นช่องว่างให้ผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้ใช้บริการเอารัดเอาเปรียบพวกเธอโดยไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้ ยิ่งไปกว่านั้น สังคมไทยยังมีมายาคติแง่ลบต่อพนักงานบริการ อาทิ 'พวกรักความสบาย' 'พวกละเมิดกฎหมาย' 'ตัวแพร่เชื้อโรค' หรือ เหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์'

มายาคติดังกล่าวสอดคล้องกับความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน? เพื่อหาคำตอบดังกล่าว เราจึงไปพูดคุยกับเหล่าพนักงานบริการจาก 3 พื้นที่ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐและภาคประชาสังคมที่ทำงานกับพนักงานบริการ เพื่อหาคำตอบว่า พวกเธอใช้ชีวิตอย่างไรภายใต้ค่านิยมทางสังคมที่มองพวกเธอเป็นสิ่งน่ารังเกียจและความย้อนแย้งทางกฎหมายของรัฐไทย

 

'กะหรี่ี่แค่ขายตัว...' ความฝันและความหลากหลายของพนักงานบริการ

'กะหรี่ี่แค่ขายตัว แต่หญิงชั่วเร่ขายชาติ' เป็นข้อความทวิตเตอร์ของ 'ชัย ราชวัตร' นักเขียนการ์ตูนชื่อดังของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 'หญิงชั่ว' จะหมายถึงใครนั้นไม่สำคัญ แต่ประโยคดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงอคติต่อพนักงานบริการ 2 ประการ หนึ่งคือ 'กะหรี่ี่' เป็นคำด่า หมายความถึงผู้หญิงที่มีพฤติกรรมน่ารังเกียจ คำพูดดังกล่าวไม่ต่างจากคำว่า ดำ ลาว หรือ ตุ๊ด ที่ใช้กันอยู่ทุกวันด้วย อาจจะด้วยเจตนาที่จะทำร้ายจิตใจผู้อื่น หรือหยอกล้อกันในหมู่เพื่อน แต่มันก็ได้ผลิตซ้ำอคติทางสังคมต่อผู้ที่มีอัตลักษณ์เป็นคำด่าเหล่านั้น

อคติประการที่ 2 นั้นน่าสนใจกว่า นั่นคือ กะหรี่ 'แค่' ขายตัว กล่าวคืออาชีพของพวกเธอนั้นมิต้องทำอะไรอย่างนอกจากหลับนอนกับลูกค้าและรับเงิน อคติดังกล่าวไม่ถูกต้อง (เสียทั้งหมด) เพราะขึ้นอยู่กับว่าพวกเธอเป็นพนักงานรูปแบบใด โดยรูปแบบพนักงานที่ดูจะใกล้เคียงกับมายาคติ 'กะหรี่แค่ขายตัว' มากที่สุด อาจจะเป็นพนักงานบริการไร้สังกัด (freelance) พนักงานเหล่านี้มักจะรวมตัวกันโดยมิได้นัดหมายตามสถานที่ต่างๆ ที่นักเที่ยวยามราตรี 'รู้กัน' เช่น วงเวียน 22 กรกฎา สวนลุมพินี หรือสนามหลวงในอดีต หากลูกค้าที่เดินผ่านไปถูกใจพวกเธอ ก็จะต่อรองราคา และพาไปให้บริการที่โรงแรมละแวกใกล้เคียง โดยมีเวลาในการให้บริการรอบละไม่เกิน 30 นาที หากมองโดยผิวเผินงานของพวกเธอดูไม่มีความซับซ้อน แค่รอลูกค้า มีเพศสัมพันธ์ และรับเงิน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเธอทุกคนจะ 'แค่' ขายตัว พนักงานบางคนอาจจะเลือกที่จะมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างเดียวและรับเงินเลยก็ได้ แต่รายได้ของเธอก็จะน้อยกว่าพนักงานคนอื่นๆ ที่มี 'ทักษะและประสบการณ์' ไม่ว่าจะเป็นทักษะการต่อรอง การเจรจากับลููกค้า การพูดจาปราศรัยให้ลูกค้ารู้สึกพึงพอใจ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับพวกเธอ และเพิ่มโอกาสที่ลูกค้าเหล่านั้นจะ 'ติดใจ' และกลับมาใช้บริการเธอใหม่ ซึ่งทักษะเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนทั้งสิ้น

เหตุที่ทักษะและประสบการณ์มีความสำคัญกับพนักงานไร้สังกัดเหล่านี้เพราะกลุ่มลูกค้าของพวกเธอ มักจะเป็นผู้มีรายได้น้อย เช่น คนขับแท็กซี่ วัยรุ่น หรือผู้ใช้แรงงาน รายได้ต่อการรับลูกค้าหนึ่งรอบจึงตกอยู่ที่ 500 - 800 บาท พนักงานบางคนที่อายุมากแล้วอาจจะลดราคาลงมาเหลือ 300 บาท เพื่อเพิ่มโอกาสในการแย่งลูกค้ากับพนักงานคนอื่นที่อายุน้อยกว่า บางคนอาจจะตระเวนไปตามแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง ในยามที่ย่านประจำของพวกเธอไม่มีลูกค้า

แก้ม (นามสมมติ) พนักงานไร้สังกัดวัย 24 ปี ที่มักจะยืนประจำอยู่ที่วงเวียน 22 กล่าวว่า โดยปกติแล้วเธอจะต้องมายืนรอลูกค้าตั้งแต่ช่วงหัวค่ำยาวไปถึงตีสาม หากวันใดได้ลูกค้าเยอะเธออาจทำเงินได้มากถึง 3,000-4,000 บาทต่อคืน หากวันใดไม่มีโชค เธออาจจะได้ลูกค้าเพียงหนึ่งหรือสองคน หรือไม่มีเลย ทำให้เธอต้องหาลูกค้าจากช่องทางออนไลน์เป็นรายได้เสริม ด้วยอายุที่ยังน้อย รูปร่างหน้าตา และทักษะในการทำงานของเธอ แก้มมีศักยภาพที่จะไปเป็นพนักงานบริการในอาบอบนวด หรือร้านเหล้าแพงๆ ได้อย่างสบายๆ แต่เหตุที่เธอเลือกที่จะมาเป็นพนักงานไร้สังกัดก็คือ 'ความอิสระ'

"เราว่ามันอิสระดี วันไหนเราไม่สบาย มีประจำเดือน หรือขี้เกียจ เราก็แค่ไม่มา ไม่ต้องขอลาใคร ไม่ต้องโดนหักเงิน ไม่มีใครมาบงการชีวิตเรา เงินทุกบาทที่เราได้จากลูกค้าก็เข้าเราหมด ไม่ต้องหักให้ใคร" แก้มกล่าว

ด้วยความอิสระและเปิดกว้างของวงเวียน 22 สถานที่แห่งนี้จึงเป็นที่นิยมของพนักงานหลากหลายรูปแบบ บางคนอาจจะเป็นพนักงานในอาบอบนวดหรือร้านคาราโอเกะที่เลิกงานแล้ว แต่ยังอยากหาลูกค้าเพิ่ม บางคนอาจจะเข้ามาทำเฉพาะช่วงที่ต้องการรายได้เสริม บางคนก็ทำเป็นอาชีพหลัก แต่อิสรภาพดังกล่าวก็ต้องแลกมาด้วยความไม่มั่นคงในการทำงานหลายประการ อย่างแรกคือการความไม่มั่นคงจากเจ้าหน้าที่รัฐ แม้ภาพของการบุกจับหรือการล่อซื้อตามแหล่งค้าบริการจะปรากฏอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อกระแสหลัก แต่ในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้เข้ามาขัดขวางการทำงานของพวกเธอมากนัก แต่ก็มีบางช่วงเวลาของปีที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องเร่งทำผลงาน เหตุการณ์เหล่านี้ก็มักจะเกิดขึ้น และตำรวจจะมาพร้อมกับสื่อมวลชนจำนวนมาก เพื่อให้สังคมรู้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไทย 'ทำงานจริง' เหล่าพนักงานไม่มีทางรู้ว่าวันใดที่พวกเธอต้องเจอกับเหตุการณ์ดังกล่าวและตกเป็นข่าวหน้า 1 อย่างไม่เต็มใจ

ความไม่มั่นคงในการทำงานประการที่ 2 มาจากลูกค้าที่ไม่พึงประสงค์ บางครั้งพวกเธออาจเจอกับลูกค้าที่เมา ไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัย หรือไม่ยอมจ่ายเงิน เพราะยังไม่เสร็จกิจภายในระยะเวลาครึ่งชั่วโมง ซึ่งพวกเธอต้องรับมือกับลูกค้าเหล่านี้ด้วยประสบการณ์ของตัวเองและต้องเสี่ยงกับการโดนทำร้ายร่างกาย มาตรการป้องกันของพวกเธอมีเพียงการบอกเล่าปากต่อปากในหมู่เพื่อนพนักงานให้คอยระวังลูกค้าที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้น สำหรับแก้ม มาตรการป้องกันตัวเบื้องต้นของเธอคือ 'เงินมา งานเดิน' คือเธอจะเก็บเงินจากลูกค้าก่อนจะให้บริการทุกครั้ง เพราะเคยเกิดเหตุการณ์ที่ลูกค้าอาศัยจังหวะที่เธอกำลังเข้าห้องน้ำหลังให้บริการเสร็จวิ่งหนีออกจากห้องไปโดยไม่จ่ายค่าบริการ

ปัญหาที่เหล่าพนักงานไร้สังกัดเหล่านี้ต้องประสบ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่การค้าบริการเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย ทำให้เธอไม่สามารถเรียกร้องการคุ้มครองใดๆ จากรัฐได้ในกรณีที่พวกเธอถูกละเมิดสิทธิหรือถูกทำร้ายร่างกาย พนักงานส่วนใหญ่จึงยอมแลกอิสรภาพของพวกเธอ เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน นั่นก็คือการมี 'นายจ้าง'

รูปแบบงานบริการที่มีนายจ้างมีนั้นมีอยู่หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ร้านคาราโอเกะ ร้านนวด บ้านสาว บาร์นั่งดื่ม บาร์อะโกโก้ ไปจนถึงอาบอบนวด ซึ่งแต่ละประเภทก็มีรูปแบบงานที่แตกต่างกันไป โดยในรายงานชิ้นนี้จะขอเจาะจงไปที่บ้านสาว อาบอบนวด และบาร์นั่งดื่ม เป็นหลัก

 

บ้านสาว

'บ้านสาว' เป็นหนึ่งในหลายๆ คำที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้เรียกสถานบริการประเภทนี้ บางคนอาจเรียกว่า 'ซ่อง' 'สำนักค้าประเวณี' หรือ 'แหล่งแพร่เชื้อ' ซึ่งแต่ละคำต่างแฝงไปด้วยความหมายในเชิงเหยียดและดูถูกทั้งสิ้น เหล่าพนักงานจึงเลือกที่จะเลือกสถานบริการของพวกเธอว่า 'บ้านสาว' เพราะดูเป็นคำที่เหยียดพวกเธอน้อยที่สุดแม้พนักงานหลายคนจะพ้นวัยสาวไปแล้วก็ตาม ในขณะที่ลูกค้ามักจะเรียกสถานบริการประเภทนี้ว่า ร้านคาราโอเกะ ซึ่งต่างจากร้านคาราโอเกะจริงๆ ที่ลูกค้าสามารถร้องเพลงได้อยู่พอสมควร

พนักงานในร้านคาราโอเกะจริงๆ จะมีหน้าที่เสิร์ฟอาหาร ร้องเพลง และเอาอกเอาใจลูกค้า ยิ่งพวกเธอกระตุ้นให้ลูกค้าสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มเพิ่มได้มากเท่าไหร่ รายได้ของพวกเธอก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น หากลูกค้าต้องการจะมีเพศสัมพันธ์กับพนักงาน ก็จะต้องตกลงราคากับพนักงานเอง และถ้าพนักงานไม่ต้องการไปกับลูกค้า พวกเธอก็มีสิทธิ์ปฏิเสธเช่นกัน นอกจากนี้ ลูกค้ายังต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับทางร้านเพื่อพาพนักงานออกไปข้างนอก รายได้จากการมีเพศสัมพันธ์ของสาวคาราโอเกะจึงเป็นเพียงรายได้เสริม แต่งานหลักของพวกเธอก็ไม่ต่างจากบริกรหรือนักร้องในร้านอาหารทั่วไป (อ่านงานวิจัย)

แต่สำหรับร้านคาราโอเกะที่เป็น 'บ้านสาว' ในตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร คาราโอเกะเป็นเพียงแค่ฉากบังหน้า ซอยกิโลหนึ่งเป็นโซนบ้านหญิงยอดนิยมในมหาชัย ตลอดทั้งซอยถูกขนาบไปด้วย 'ร้านคาราโอเกะ' กว่าสิบร้าน แต่ละร้านจะประดับด้วยหลอดไฟนีออนสีสันแปลกตา มีตู้เพลงแบบหยอดเหรียญตั้งอยู่ในร้าน แต่ทั้งซอยกลับมีเพียงสองตู้เท่านั้นที่สามารถเปิดเพลงได้ และมีเพียงร้านเดียวเท่านั้นที่ลูกค้าสามารถร้องเพลงได้จริงๆ นั่นก็คือร้านอาหารตามสั่งท้ายซอยที่ไม่มีบริการทางเพศ ภายในตัวร้านไม่มีวงดนตรีหรือเวทีให้ใครได้แสดงพลังเสียง มีเพียงแต่ม้านั่งหรือโซฟาให้เหล่าพนักงานนั่งระหว่างพักรอลูกค้าและโต๊ะจำนวนไม่มากให้ลูกค้านั่งจิบเบียร์ ก่อนจะเลือกพนักงานที่ถูกใจแล้วเข้าไปรับบริการที่ด้านหลังร้าน

'ห้องทำงาน' เป็นห้องไม้อัดที่มีความกว้างประมาณสองช่วงแขน ซึ่งกว้างเพียงพอสำหรับเตียงเล็กๆ หนึ่งเตียง พัดลมสองเครื่อง และที่ว่างอีกเล็กน้อยจากประตูถึงเตียงให้ลูกค้าได้วางสัมภาระ หากต้องการชำระล้างร่างกายหรือทำธุระส่วนตัว ต้องไปใช้ห้องน้ำรวมด้านนอก อาจจะฟังดูเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับกิจกรรมเข้าจังหวะเสียเท่าไหร่ แต่ด้วยราคา 400-600 บาท (ขึ้นอยู่กับอายุและรูปร่างหน้าตาของพนักงาน) กับบริการระยะเวลา 30 นาที ก็อาจจะพอพูดได้ว่า 'คุณภาพสมราคา'

ในจำนวนเงินที่ลูกค้าจ่ายไป ครึ่งหนึ่งจะถูกหักเข้าเจ้าของร้าน เหล่าพนักงานจึงต้องเรียนรู้ที่จะต่อรองกับลูกค้าเพื่อให้ได้ทิปเพิ่ม บางรายที่เชี่ยวชาญอาจจะคิดโปรโมชันขึ้นมา เช่น ขึ้นให้ (woman on top) เพิ่ม 200 อม (oral sex) 200 จับนม 200 เหมาหมด 500 ซึ่งการต่อรองตรงนี้จะเกิดขึ้นหลังจากลูกค้ากับพนักงานอยู่ในห้องทำงานกันสองต่อสอง แม้รายได้ของพวกเธอจะไม่ต่างจากเหล่าพนักงานไร้สังกัดที่วงเวียน 22 เท่าใดนัก แต่สิ่งที่พวกเธอได้มาคือความปลอดภัยในการทำงาน เพราะเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่เข้ามายุ่มย่ามกับการทำงานของพวกเธอ เว้นเสียแต่เจ้าของร้านจะไปทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้น 'ไม่พึงพอใจ'

นอกจากนี้ พวกเธอยังปลอดภัยจากเหล่าลูกค้าที่ไม่พึงประสงค์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน พวกเธอสามารถเรียกขอความช่วยเหลือจากพนักงานคนอื่นๆ ที่อยู่หน้าร้านหรือคนดูแลร้านที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายให้เข้ามาช่วยเธอได้ พนักงานบางคนยังเลือกที่จะเช่าห้องอยู่กับทางร้านทำให้พวกเธอประหยัดต้นทุนด้านที่อยู่อาศัย และการเดินทางลงไปได้มาก ซึ่งแน่นอนว่าห้องนอนของพวกเธอดูดีกว่าห้องทำงานของพวกเธอมากนัก นี่จึงเป็นเหตุผลที่พวกเธอเรียกที่ทำงานของตัวเองว่า 'บ้านสาว' เพราะมันเป็นทั้งที่ทำงานและบ้านพวกเธอ พนักงานบางคนอาจมีอายุเกิน 50 ปี แต่ก็ยังเลือกที่จะทำงานต่อ แม้โอกาสที่จะได้ลูกค้าจะน้อยมากเมื่อเทียบกับพนักงานวัยสาว แต่พวกเธอก็ยังมีความสุขจากการได้พบปะเพื่อนฝูงใน 'บ้าน' ที่พวกเธอคุ้นเคย

อย่างไรก็ตาม งานหลักของพนักงานบ้านสาวโดยส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นการมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้า อาจจะต้องช่วยเก็บร้านหรือจัดร้านบ้าง แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย จึงอาจจะพอพูดได้ว่างานหลักของพวกเธอคือ 'แค่ขายตัว' อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่รายงานข่าวชิ้นนี้ใช้คำว่า 'พนักงานบริการ' แทนคำว่า 'ผู้ค้าประเวณี' ก็เพราะการบริการของเธอมิได้มีแค่การร่วมประเวณี และยิ่งการบริการเสริมของพวกเธอมีความหลากหลายมากเท่าไหร่ รายได้ของพวกเธอก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น การบริการบางอย่างอาจเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ แต่ก็เป็นกิจกรรมที่ชายหลายคนพร้อมควักเงินจ่าย เช่น การอาบน้ำ อาบอบนวดจึงเป็นสถานบริการที่ชายผู้มีอันจะกินมักเลือกใช้

 

อาบ อบ นวด

พนักงานอาบอบนวดจะนั่งเรียงกันอยู่หลังตู้กระจก เพื่อรอการให้บริการ หน้าที่หลักของพวกเธอคือการอาบน้ำ และมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้า อัตราค่าบริการแต่ละครั้งมีตั้งแต่ 1,000 บาทไปจนถึงหลักหมื่น โดยค่าบริการส่วนหนึ่งจะหักเข้าเจ้าของร้าน กรณีที่พบส่วนใหญ่คือจะหัก 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ เธอยังต้องจ่าย 'ค่าตะกร้า' ซึ่งจะเป็นเงินที่ทางร้านนำไปซื้ออุปกรณ์การอาบน้ำ เช่น สบู่ ยาสระผม น้ำยาบ้วนปาก เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าจะได้รับการบริการที่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม เมื่อหักลบรายจ่ายทั้งหมดแล้ว พนักงานอาบอบนวดย่านห้วยขวางบางคนก็ยังมีรายได้มากพอจะเช่าคอนโดที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับที่ทำงานของเธอได้อย่างสบาย

แต่ถึงแม้จะรายได้มาก กฎระเบียบก็มากด้วยเช่นกัน พวกเธอจะต้องรองรับลูกค้าวันละ 4-5 คนตามโควต้าที่ทางร้านกำหนดก่อนจึงจะกลับบ้านได้ พวกเธอจะได้รับการตรวจโรคจากแพทย์ทุกเดือนและรับการตรวจเลือดทุกสามเดือน ซึ่งนายจ้างจะเป็นคนจัดหาแพทย์มาให้บริการ การเข้างานสายหรือลางานเกินสองวันต่ออาทิตย์ จะต้องเสียค่าปรับ บางร้านที่ใส่ใจในมาตรฐานมากๆ อาจถึงขั้นควบคุมน้ำหนักของพนักงาน จีจี้ (นามสมมติ) พนักงานอาบอบนวดในเมืองเชียงใหม่วัย 26 ปี กล่าวว่าร้านของเธอห้ามพนักงานมีน้ำหนักเกิน 50 กิโลกรัม คนที่น้ำหนักเกินจะต้องเสียค่าปรับให้ร้านเดือนละ 200 บาทต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมที่เกินมา

พนักงานอาบอบนวดเข้าสู่วงการด้วยเป้าหมายที่แตกต่างกันไป บางคนเป็นเสาหลักของครอบครัว บางคนต้องการเข้ามาทำเพียงระยะสั้นๆ เพื่อเก็บเงินไปทำตามความฝันของเธอ บางคนก็หวังว่าจะมีลูกค้าฐานะดีเข้ามาอุปการะเลี้ยงดู หรือบางคนก็เข้ามาเพียงเพราะเห็นว่าเป็นอาชีพที่รายได้ดี ในกรณีของจีจี้ เธอเข้าสู่วงการเพราะ 'อยากมาเที่ยว'

จีจี้เดินทางมาจากสิบสองปันนาในประเทศจีน เธอข้ามแดนและมีใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เธอกล่าวว่ามีผู้หญิงในหมู่บ้านหลายคนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับเธอเข้ามาทำงานเป็นพนักงานบริการในเมืองเชียงใหม่และสามารถส่งเงินกลับบ้านได้อย่างไม่ขาดสาย เธอจึงอยากลองมาทำดู เธอทำงานมาได้ 3 เดือนแล้ว และวางแผนจะทำต่ออีกไม่นานนัก เพราะเป้าหมายหลักของเธอคือการมาเที่ยวประเทศไทย ลักษณะเดียวกับที่วัยรุ่นไทยเดินทางไป Work and travel ที่สหรัฐฯ เพียงแต่จีจี้ไม่ต้องฝึกทักษะทางภาษามากนัก เพราะที่สิบสองปันนาใช้ภาษาคล้ายคลึงกับคนไทย เธอทำเงินได้เดือนละ 20,000-40,000 บาท ขึ้นอยู่กับช่วงเทศกาล เธอกล่าวว่าช่วงเข้าพรรษาลูกค้าค่อนข้างน้อยเพราะเหตุใดเธอก็ไม่ทราบได้ แต่รายได้ของเธอเพียงพอต่อการจ่ายค่าครองชีพในเมืองเชียงใหม่ ส่งเงินกลับที่บ้านเดือนละ 2,000 บาท และท่องเที่ยวในช่วงวันหยุด

งานของจีจี้มิได้มีเพียงแค่การมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องควบคุมน้ำหนัก นวดเฟ้น และอาบน้ำให้ลูกค้าด้วย รูปแบบงานบริการจึงมีความหลากหลายสูงมากเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่อยากได้บริการเสริมนอกเหนือจากการมีเพศสัมพันธ์ เช่น การนวด การร้องเพลง การเต้น หรือ แม้แต่การ 'กินเหล้าเป็นเพื่อน'

 

สาวบาร์

'การกินเหล้าเป็นเพื่อน' คือบริการของพนักงานรูปแบบสุดท้ายนั่นคือพนักงานในร้านนั่งดื่ม หรือ "สาวบาร์" หน้าที่ของพวกเธอคือนั่งเป็นเพื่อนกินเหล้ากับลูกค้าและกระตุ้นให้พวกเขากินเยอะๆ ภายในบาร์เหล่านี้จึงมักจะมีเกมกระดาน เช่น XO หรือโอเทลโลให้พนักงานเล่นกับลูกค้าเป็นกิจกรรมกระตุ้นการดื่ม ลูกค้าที่ต้องการให้เธอนั่งเป็นเพื่อนจะต้องซื้อเครื่องดื่มให้กับพวกเธอ โดยพวกเธอจะได้เงินตามจำนวนเครื่องดื่มที่ลูกค้าของเธอสั่ง ซึ่งเรียกว่า 'ค่าดริ้งค์' อัตราค่าดริ้งค์ของแต่ละร้านจะแตกต่างกันไป มีตั้งแต่ดริ้งค์ละ 50 ไปจนถึง 200 บาท บางร้านอาจจะมีการกำหนดโควต้าดริ้งค์ขั้นต่ำที่พวกเธอต้องทำให้ได้ในแต่ละวัน มิเช่นนั้นก็จะถูกหักเงิน

การมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้าขึ้นอยู่กับความสมัครใจและพวกเธอก็เป็นคนกำหนดค่าบริการเอง โดยส่วนมากมักอยู่ที่ 1,500-2,000 บาทต่อครั้ง และ 3,000-5,000 บาทต่อคืน หากตกลงราคากันได้แล้ว ลูกค้าจะต้องจ่าย 'ค่าบาร์' 500 บาทให้กับทางร้านเพื่อพาพนักงานออกนอกสถานที่ และลูกค้าจะต้องเป็นฝ่ายหาสถานที่ในการรับบริการเอง หลังการให้บริการ พวกเธอสามารถเลือกที่จะกลับมาหาลูกค้าต่อที่บาร์หรือกลับบ้านพักผ่อนเลยก็ได้ สาวบาร์บางคนอาจจะไม่มีสังกัดหรือร้านประจำ ซึ่งเรียกกันว่า 'ไซด์ไลน์' โดยเธอจะย้ายที่ทำงานไปตามร้านต่างๆ ที่ต้องการพนักงานเสริมในช่วงที่ลูกค้าเยอะ เช่นเดียวกับพนักงานบริการรูปแบบอื่นๆ สาวบาร์แต่ละคนย่อมมีเป้าหมายและเหตุผลในการเข้าสู่วงการที่แตกต่างกัน แต่สำหรับจ๋า (นามสมมติ) สาวบาร์วัย 29 ปี ในอำเภออ่าวนาง จังหวัดกระบี่ เป้าหมายหลักของเธอคือการ 'หาแฟน'

จ๋ากล่าวว่าด้วยความที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ลูกค้าหลักของสาวบาร์ที่อ่าวนางจึงเป็นชาวต่างชาติเสียส่วนใหญ่ ในช่วงไฮซีซั่น รายได้ของพวกเธออาจมากถึง 50,000 บาทต่อเดือน แต่ในช่วงโลว์ซีซั่น รายได้ของพวกเธอก็จะหายไปกว่าเท่าตัว การมีลูกค้าที่ติดใจและเสนอตัวจะดูแลส่งเสียด้านการเงินให้จึงเป็นเหมือนหลักประกันทางรายได้ให้กับพนักงานอย่างเธอ ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่เสนอตัวเข้ามาส่งเสียพนักงานบาร์มักจะอยู่ในวัยเกษียณอายุ บางคนตัดสินใจแต่งงานและอยู่ประเทศไทย บางคนอาจพาพวกเธอกลับไปอยู่ประเทศบ้านเกิด บ้างอาจจะกลับประเทศไปแล้ว แต่ยังคงส่งเงินกลับมาให้

จ๋ากล่าวว่า เธอคบกับแฟนที่เป็นชาวแคนนาดามาได้ 3 เดือนแล้ว ในตอนแรก แฟนของเธอต้องการแค่มาท่องเที่ยว แต่หลังจากพบกับเธอ เขาก็ตัดสินใจอยู่ต่ออย่างไม่มีกำหนดกลับ เธอกล่าวว่าชีวิตของเธอดีขึ้นมากหลังจากมีแฟน จากที่ต้องทำงานทุกวัน เธอสามารถทำงานเพียง 3 วันโดยยังมีเงินพอส่งให้พ่อแม่และลูกชายวัย 14 ขวบที่กำลังเรียนอยู่ได้อย่างไม่ขาดสาย เมื่อถามเธอว่าคาดหวังกับความสัมพันธ์ครั้งนี้มากเท่าไหร่ เธอไม่สามารถตอบได้ แต่เธอก็คาดหวังให้มันอยู่นานเท่าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม จ๋าตระหนักดีว่าความสัมพันธ์เช่นนี้ไม่มีความแน่นอน เพราะแฟนของเธออาจจะทิ้งเธอไปเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อเขาเจอพนักงานคนอื่นที่ถูกใจกว่าหรือมีความจำเป็นต้องกลับประเทศกะทันหัน สิ่งที่เธอทำได้ก็คือตักตวงให้ได้มากที่สุดในขณะที่ยังมีโอกาส

สำหรับสาวบาร์ที่ไม่มีโชคจากการหาแฟนเป็นชาวต่างชาติ เธอจำเป็นต้องหารายได้เสริมเพื่อชดเชยนักท่องเที่ยวที่หายไปในช่วงโลว์ซีซั่น แจน (นามสมมติ) สาวบาร์รุ่นใหญ่วัย 53 ปี มักใช้เวลาในช่วงกลางวันที่เพิงเล็กๆ ในสวนยางแห่งหนึ่ง เธอรับจ้างเจ้าของสวนดูแลไก่จำนวนกว่า 20 ตัว เธอกล่าวว่าไก่พวกนี้เคยเป็นของเธอ เธอใช้เงินจำนวนหนึ่งเพื่อซื้อไก่เหล่านี้มาโดยหวังว่ามันจะสร้างรายได้เสริมให้กับเธอในอนาคต แต่มันกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด การเลี้ยงไก่มีต้นทุนที่สูงกว่าที่เธอคิด เธอไม่มีเงินพอที่จะสร้างโรงเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน และซื้อยาที่จำเป็น ทำให้ไก่ของเธอตายไปเกือบครึ่งในระยะเวลาเพียง 1 เดือน เธอจึงตัดสินใจขายมันแม้จะต้องขาดทุน นอกจากดูแลไก่ เธอยังรับจ้างเป็นพี่เลี้ยงเด็กให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย

"เมื่อก่อนพี่ทำงานก่อสร้างอยู่ในกรุงเทพฯ ทีนี้ พอแก่มันก็เริ่มทำไม่ไหว แล้วพอดีมีเพื่อนชวนให้มาทำงานร้านนวดที่ภูเก็ต เราก็คิดว่าน่าจะดี เพราะเราก็แก่แล้ว คงทำงานนี้เป็นงานสุดท้ายแล้วก็จะกลับอุดรฯ ตอนกลับบ้านจะได้ไปนวดให้คนที่บ้านได้ แต่พอมาถึงภูเก็ตเพื่อนเราเป็นห่วงแฟนกับลูกก็เลยกลับ ทิ้งเราไว้คนเดียว ตอนนั้นพี่มีเงินติดตัวอยู่สองร้อยบาทไม่รู้จะไปทางไหน เพราะเราไม่รู้จักใครเลย ตอนนั้นนั่งร้องไห้อยู่ริมฟุตบาทเห็นหมามันคุ้ยกองขยะกิน ยังคิดเลยว่านี่กูต้องคุ้ยขยะกินเหมือนมึงไหมวะเนี่ย แต่สุดท้ายก็ได้งานที่ร้านนวด เราก็นวดไม่เป็นหรอก แต่ก็แอบดูเพื่อนแล้วก็ทำตามๆ เขาไป แต่ทำไปได้ซักพักก็ปวดหลังทำต่อไม่ไหว เราไม่ได้เรียนมาเลยไม่รู้ว่ามันต้องนวดท่าไหนให้เราไม่ปวด สุดท้ายก็มาจบที่อ่าวนางนี่แหละ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มีชัย แจง ลูกสาวนั่งรองเลขาฯ ตนเอง เหตุไว้ใจได้รักษาความลับได้

Posted: 30 Oct 2017 06:59 AM PDT

ปมคำสั่ง คสช. ต่ออายุปีที่ 4 ลูกสาวมีชัยนั่งรองเลขาฯ ตนเอง 'มีชัย' แจ้งงานใน คสช.เป็นงานที่ต้องให้คนที่ไว้ใจได้รักษาความลับได้เข้าทำหน้าที่ จึงแต่งตั้งลูกสาวให้ทำหน้าที่ 

30 ต.ค. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 6/2560 เรื่อง แต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานใน คสช. จำนวน 34 คน ซึ่งเป็นการต่ออายุตำแหน่งเดิมที่ดำรงมาก่อนหน้า โดยหนึ่งในผู้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือ มยุระ ช่วงโชติ บุตรสาวของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ถูกตั้งเป็น รองเลขาธิการฯ มีชัย พร้อมค่าตอบแทนตาม ประกาศ คสช.ที่ 93/2557 คือ  ตำแหน่ง "รองเลขาธิการประจำผู้ดำรงตำแหน่งในคสช." เทียบเท่า "รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง" รับเงินเดือน 47,500 บาทนั้น

ล่าสุดสื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า มีชัย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตำแหน่งนั้นถือเป็นตำแหน่งเป็นข้าราชการการเมือง เขาทำหน้าที่เลขาฯของตน และตนไม่อยู่ในราชการแล้ว ไม่รู้จะหาบุคคลใดที่ไว้วางใจมาทำหน้าที่ได้ ทั้งนี้การแต่งตั้งนั้น แต่งตั้งมาตั้งแต่ตนเข้ารับตำแหน่ง งานใน คสช.เป็นงานที่ต้องให้คนที่ไว้ใจได้รักษาความลับได้เข้าทำหน้าที่ จึงแต่งตั้งลูกสาวให้ทำหน้าที่ และตำแหน่งดังกล่าวถือเป็นข้าราชการการเมืองที่ทำหน้าที่ชั่วคราว ไม่มีสถานที่ทำงาน ตนไม่ได้อยู่ในงานราชการจึงไม่รู้จะยืมใครมาทำหน้าที่ จึงเป็นความจำเป็นส่วนตัว ส่วนการได้รับค่าตอบแทน เป็นปกติของผู้ที่ทำงานได้รับเงินเดือนตามปกติ ทั้งนี้ในส่วนของนักการเมือง ไม่มีอะไรห้ามไม่ให้เขาตั้งลูกหรือภรรยามาทำหน้าที่ เพียงแต่มีกรณีเดียวที่ ส.ว. ไม่ให้คนที่เป็นนักการเมืองเข้ามาสมัคร เพราะไม่อยากดึงพรรคการเมืองเข้ามา

สำหรับ มยุระ นั้น ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการ ฯ มีชัย ตั้งแต่ปี 57 แล้ว ตามคําสั่ง คสช.ที่ 124/2557 โดยมีการต่ออายุเป็นรายปีเรื่อยมา ในปี 58 ตามคำสั่ง คสช. ที่ 15/2558 ลงวันที่ 30 ต.ค. 2558 และคำสั่ง คสช. ที่ 5/2559 ลงวันที่ 20 ต.ค.2559 จนกระทั่งคำสั่ง คสช. ล่าสุด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลื่อนอ่านคำพิพากษาฎีกา คดี อ.อ.ป. ฟ้องขับไล่ 32 ชาวบ้านบ่อแก้ว ออกจากพื้นที่ป่าสงวนฯ

Posted: 30 Oct 2017 06:01 AM PDT

ศาลภูเขียวเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา กรณีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน 32 คนออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ฐานบุกรุกที่ป่าสงวน โดยเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากยังไม่มีคำพิพากษาฎีกาลงมา

30 ต.ค.2560 สำนักงานปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน รายงานว่า ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เดินทางมายังศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ตามนัด เพื่อมารับฟังคำพิพากษาศาลฎีกา กรณีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ฟ้องขับไล่ดำเนินคดี นิด ต่อทุน จำเลยที่ 1 พร้อมพวกรวม 31คน และบริวารออกจากพื้นที่ ฐานความผิดบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม

เวลา 13.00 น.ศาลจังหวัดภูเขียว มีคำสั่งเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไปโดยไม่มีกำหนดนัด เนื่องจากยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาสั่งลงมา

ทั้งนี้ที่มาของพื้นที่พิพาทและการถูกดำเนินคดีของชาวบ้าน สืบเนื่องจากปี 2521 เป็นต้นมา อ.อ.ป.เข้ามาปลูกสวนป่ายูคาฯ ตามเงื่อนไขการสัมปทานป่าไม้ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 4,401 แต่ในทางปฎิบัติ อ.อ.ป.ได้เข้ามาดำเนินการปลูกทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน ส่งผลกระทบให้ชาวบ้านกว่า 300 ราย ถูกให้อพยพออกจากพื้นที่ กลายเป็นคนไร้ที่ดินทำกิน หลายรายไม่ยอมออกก็จะถูกข่มขู่ จับกุม ดำเนินคดี เป็นต้น ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจึงได้รวมตัวต่อสู้เรียกร้องในสิทธิที่ดินทำกินมาอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งเมื่อวันที่ 17 ก ค.2552 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนได้รวมตัวเข้ายึดพื้นที่ทำกินเดิมกลับคืนมาได้จำนวน 86 ไร่ และตั้งชื่อว่า ชุมชนบ่อแก้ว มานับแต่นั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2552 อ.อ.ป.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องดำเนินคดีชาวบ้านตกเป็นจำเลยรวม 31 คน และในวันที่ 28 เม.ย.2553 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรวมทั้งบริวารออกจากพื้นที่ ซึ่งจำเลยได้ยื่นอุทรณ์

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2554 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยพร้อมบริวารออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ต่อมาจำเลยได้ฎีกา

เมื่อมีหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในวันที่ 2 พ.ค.2560 แต่ไม่สามารถอ่านได้ เนื่องจากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 13 เสียชีวิต ศาลจึงมีคำสั่งเรียกให้ทายาทของจำเลยที่เสียชีวิตมายื่นคำร้องขอรับมรดกความ และศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องขอรับมรดกความของทายาทจำเลย ในวันที่ 2 มิ.ย.2660

ในวันไต่สวนตามนัดเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2560 ศาลมีคำสั่งเลื่อนนัดไต่สวนคำร้องขอรับมรดกความออกไปเป็นวันที่ 26 มิ.ย.2560 เนื่องจากเอกสารทะเบียนสมรสของผู้เป็นภรรยาของจำเลยที่ 13 ไม่ครบถ้วน ต้องไปคัดสำเนาทีว่าการอำเภอคอนสาร มายื่นต่อศาล

26 มิ.ย 2560 ตามที่ศาลจังหวัดภูเขียวมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 13 ที่ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2558 ภายหลังการไต่สวน ศาลพิเคราะห์จำเลยที่ 13 เสียชีวิตจริง ถึงแก่ความตายระหว่างการพิพากษาของศาลฎีกา โดยมีสวย ปลื้มวงษ์ เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นทายาทผู้มีสิทธิ์รับของจำเลยที่ 13 จึงให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา มีกำหนดรับฟังคำสั่งและคำพิพากษาศาลฎีกา ในวันที่ 30 ต.ค.2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอกชัย แจ้งความ ระบุถูกทหารทำร้ายร่างกาย ระหว่างคุมตัวไปรีสอร์ตกาญจนบุรี

Posted: 30 Oct 2017 05:54 AM PDT

เอกชัย หงส์กังวาน เข้าแจ้งความกับตำรวจ กรณีถูกทหารทำร้ายร่างกาย ระหว่างคุมตัวไปรีสอร์ต จ.กาญจนบุรี ช่วงพระราชพิธีฯ 
 
เอกชัย โพสต์ภาพยาวานนี้ (29 ต.ค.60) ก่อนเข้าแจ้งความ
 
30 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมและอดีตนักโทษการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะว่า  วานนี้ (29 ต.ค.60) เมื่อเวา 13.45 น. ตัวเขาไปแจ้งความที่ สน.ลาดพร้าว กรณีที่ตัวเขาถูกทหารทำร้ายร่างกายจากทหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 3 คนในวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา
 
ภาพบาดแผล ซึ่งเอกชัย ระบุว่า วันที่ 24 ที่ผ่านมา ทหารนอกเครื่องแบบ 3 คนร่วมกันล็อกตัวตนออกจากบ้าน โดยพวกเขาไม่ได้แสดงหมายจับ หรือบัตรเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด พวกเขาลากตนอย่างรุนแรงจนผมล้มลงกับพื้นถนนหน้าบ้านจนเป็นแผลถลอกที่แขน
 
โพสต์ดังกล่าวของ เอกชัย ยังเปิดเผยว่าว่า การสอบสวนเป็นไปอย่างเชื่องช้า เนื่องจากมีรายละเอียดมาก ตนแสดงใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลให้ตำรวจเป็นหลักฐาน โดยมีนายตำรวจระดับสูงกว่าพยายามเข้ามาไต่ถามถึงการสอบสวน พร้อมสั่งให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มข้อความ "ไม่ติดใจดำเนินคดีการละเมิดสิทธิ" แต่ตนไม่ยินยอมหลังจากยื้อกันพักหนึ่ง ตำรวจยอมตัดข้อความนี้ออก โดยกว่าที่ตำรวจจะเขียนใบแจ้งความเสร็จก็กว่า 17.00 น. จากนั้นตำรวจพาตนมาที่บ้านของตนเพื่อถ่ายภาพที่เกิดเหตุ โดยตนชี้จุดและพยายามเล่าเหตุการณ์ทั้งหมด กว่าจะเสร็จขั้นตอนนี้เป็นเวลาเกือบ 18.00 น.
 
เอกชัย เปิดเผยอีกว่า หลังจากนี้ตนอาจจะต้องเดินทางไปที่ จ.กาญจนบุรี เพื่อชี้จุดการท่องเที่ยวของตน หากจำเป็นต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติม
 
สำหรับ เอกชัย เขาถูกทหารแต่งกายในเครื่องแบบ 3 คน แต่งกายนอกเครื่องแบบรวมทั้งสิ้นจำนวน 11 คน ได้เดินทางไปที่บ้านของเขา ช่วงเช้าวันที่ 24 ต.ค.2560 เพื่อนำตัวไปคุมตัวที่รีสอร์ท จ.กาญจนบุรี เพื่อความสบายใจในช่วงงานพระราชพิธี และปล่อยตัวเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา 

เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ เอกชัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า วันที่ 26 ต.ค.นี้ ตนจะสวมเสื้อแดง และจะทำในสิ่งที่ใครคาดไม่ถึง จากนั้นมีสื่อบางสำนักนำไปรายงานต่อ จะมีผู้แสดงออกในลักษณะข่มขู่ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก แม้กระทั่งเพจ 'ไข่แมว' ยังทำการ์ตูนล้อเลียนการข่มขู่ดังกล่าว จากนั้น เอกชัย เล่าด้วยว่า วันเสาร์ที่ผ่านมาตนเดินทางไปที่ร้านนวนแผนไทยที่ตนทำงานอยู่ พบนายตำรวจ เข้ามาเตือนตนด้วย ในขณะที่ตนยืนยันว่าสิ่งที่จะทำในวันที่ 26 ต.ค.นี้ ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด

การคุมตัว เอกชัย โดยพลการของเจ้าหน้าที่ทหารครั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารปล่อยตัว เอกชัย จากการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งแจ้งเหตุในการควบคุมตัว สถานที่ควบคุมตัวในทันที โดยระบุด้วยว่าการกระทำดังกล่าวขัดกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้ คสช. ปลดล็อคพรรคการเมือง 'ประวิตร' ระบุยังไม่มีแนวคิด

Posted: 30 Oct 2017 02:09 AM PDT

ประวิตร ระบุยังไม่มีแนวคิดปลดล็อคพรรคการเมือง ต้องรอการพิจารณาจากนายกฯ 'เพื่อไทย' จี้ คสช.เลิกถ่วงเวลา 'ชาติไทยพัฒนา' ระบุถึงเวลาแล้ว

แฟ้มภาพ (เฟซบุ๊ก  Wassana Nanuam )

30 ต.ค.2560 จากกรณีตามเงื่อนไขของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น พรรคการเมืองต้องเช็คชื่อจำนวนสมาชิกพรรค พร้อมกับการเลือกผู้บริหารพรรค กำหนดนโยบาย และตัดสินว่าจะส่งใครลงเลือกตั้ง ที่ต้องทำให้เสร็จภายในวันที่ 5 ม.ค.2561 ต่อด้วยการรีเซตผู้บริหารพรรค เลือกหัวหน้าพรรคใหม่ ก่อนจะกำหนดนโยบายพรรค และประกาศอุดมการณ์พรรคให้ประชาชนทราบ ซึ่งต้องเสร็จภายใน 5 เม.ย. 2561 และเข้าสู่การหาเสียงเลือกตั้ง ประมาณการวันลงคะแนนเลือกตั้งอยู่ในช่วงเดือนพ.ย. ถึง ธ.ค.2561 จนทำให้หลายพรรคการเมืองออกมาเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อคให้สามารถจัดกิจกรรมและประชุมได้นั้น

ประวิตร ระบุยังไม่มีแนวคิดปลดล็อค

วันนี้ (30 ต.ค.60) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า คสช. ยังไม่มีแนวคิดปลดล็อคพรรคการเมือง แม้กลุ่มการเมืองจะออกมาทวงสัญญา  เพราะยังไม่ได้ประชุมหารือ และเพิ่งจะเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และยังมีกลุ่มก่อความวุ่นวายอยู่ อย่างไรก็ตามจะต้องรอการพิจารณาจากนายกรัฐมนตรี แต่ในวันพรุ่งนี้ไม่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับคสช.

พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงกระแสข่าวการปรับครม. ตนไม่ทราบ ไม่มีสัญญาณ ต้องไปถามนายกรัฐมนตรี และตนไม่จำเป็นต้องให้ข้อเสนอแนะ  ซึ่งในส่วนของกระทรวงกลาโหมถือว่ามีความพอใจในการทำงาน

เพื่อไทย จี้ คสช.เลิกถ่วงเวลา

ขณะที่ สุณิสา เลิศภควัต อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าคสช. ควรเลิกถ่วงเวลาในการปลดล็อคพรรคการเมืองได้แล้ว ไม่อย่างนั้น เราอาจเห็นพรรคการเมืองขนาดเล็กจำนวนมากต้องสูญพันธ์หรืออาจถูกยุบพรรค เพราะขาดคุณสมบัติในการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะพรรคขนาดเล็กและมีระบบไม่แข็งแรง เนื่องจากอาจไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน พรป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ 2560 เช่น การเพิ่มจำนวนสมาชิก การเพิ่มเงินทุนประเดิมพรรค และการเพิ่มสาขาพรรคตามจำนวนขั้นต่ำที่ ก.ม. กำหนด ซึ่งต้องดำเนินการผ่านที่ประชุมพรรค และต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค 60 ซึ่งเป็นวันที่ พรป. ว่าด้วยพรรคการเมืองดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ ซึ่งขณะนี้ พรรคการเมืองเก่ามีเวลาดำเนินการเหลือแค่ 157 วัน เท่านั้น ไม่ถึง 180 วัน ด้วยซ้ำ และจะยิ่งนับถอยหลังลงไปเรื่อย ๆ ทุกวัน แต่ คสช. กลับทำเป็นเฉยเรื่องปลดล็อคพรรคการเมือง เหมือนกับจงใจให้พรรคการเมืองทำงานไม่ทัน ไหนยังจะต้องเผื่อเวลาให้ กกต. ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับพรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่อีก ไม่ทราบว่าพวกท่านต้องการเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองใดเป็นพิเศษหรือไม่ เพราะสื่อมวลชนโจษจันหนาหูเหลือเกินว่า คสช. กำลังแอบตั้งพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจ ซึ่งพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่นั้น กฎหมายไม่ได้บังคับเรื่องเงื่อนเวลา 180 วันเอาไว้ ย่อมได้ประโยชน์ในกรณีนี้ 

อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ชี้ว่า เรื่องนี้สะท้อนว่า คสช. และ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่จริงใจในการคืนอำนาจให้ประชาชนและไม่จริงจังกับการปฏิบัติตามโร้ดแม็ป ทั้ง ๆ ที่ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ รัฐบาลและ คสช. จึงไม่ควรพูดจาส่งเดชในเรื่องโร้ดแม็ป ที่สำคัญ พวกท่านควรหยุดโทษคนอื่นเสียทีว่าเป็นต้นตอของปัญหาทางการเมือง เพราะตัวเองก็เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองเหมือนกัน จึงถือว่ามีส่วนก่อปัญหาในบ้านเมืองด้วย อย่ามาทำเป็นลืมหรือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แถมพวกท่านยังได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะฉวยโอกาสยึดอำนาจโดยอ้างเรื่องความขัดแย้ง แต่พอเข้ามาบริหารประเทศ ก็ไม่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาความเดือดร้อน ทำให้ประชาชนมีความอดอยากปากแห้ง และมีความทุกข์มากกว่าในอดีตเสียอีก จงอย่าทำผิดซ้ำซาก เหมือนที่แอบผลาญงบประมาณแผ่นดินเพื่อจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วที่มีราคาแพงเกินความจำเป็น ในขณะที่ประชาชนทั้งประเทศกำลังรัดเข็มขัดและบ้านเรือนราษฎรหลายจังหวัดยังจมอยู่ใต้น้ำซึ่งท่วมสูงจนมิดหลังคาบ้าน โดยที่รัฐบาลช่วยอะไรไม่ได้ แต่พอเป็นเรื่องผลประโยชน์ของนายทุน รัฐบาลกลับมีปัญญาแอบประกาศใช้ ม.44 ยกเว้นการบังคับใช้ก.ม. ผังเมือง ใน 3 จังหวัดชายทะเลภาคตะวันออกที่เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ ทั้ง ๆ ที่ นักวิชาการและสื่อมวลชนคัดค้านเพราะกลัวว่า อาจเปิดช่องให้นายทุนเข้าไปสูบผลประโยชน์ทางทะเลของชาติและทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตใครเนื่องจากไม่มี ก.ม. ควบคุมอีกแล้ว เป็นต้น

สาธิต ชี้หากให้อดีต ส.ส.ร่วมร่าง ก.ม.ลูกจะมีความสมบูรณ์มากขึ้น

สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงท่าทีของพรรคต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยเรื่อง ส.ว. และ ส.ส. ภายหลังที่มีการปลดล็อคพรรคการเมืองแล้ว ว่า ก็คงจะทำได้แค่ส่งความเห็นของพรรคไปยัง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงความเห็นในการจัดทำ พ.ร.ป.ฉบับต่างๆ ในนามส่วนตัวมาโดยตลอด โดยเฉพาะในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ถ้าหากให้เราไปมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย ก็คงจะมีความสมบูรณ์มากขึ้น เพราะว่าอดีต ส.ส.ก็ถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน แต่ทางกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับการร่างกฎหมาย เขามองว่าพวกเราเป็นนักการเมือง กลัวว่าเข้าไปแล้วจะไปร่างกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้กฎหมายที่ผ่านมายังไม่สมบูรณ์เพราะเป็นแนวคิดในเชิงทฤษฎี แต่พอออกมาในทางปฏิบัตินั้นจะเป็นปัญหามากกว่า ดังนั้นก็จะมีเพียงแค่ไม่กี่ความเห็นของทางพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ได้รับการตอบสนองและถูกนำไปเขียนเป็นกฎหมาย

ชาติไทยพัฒนา จี้ปลดล็อค

ขณะที่เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ว่า ถึงเวลาปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้แล้ว เพราะร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ประกาศในราชกิจจาเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 60 ซึ่งก็จะครบกำหนดเดือนแล้ว จากที่กำหนด 180 วันก็จะเหลือเพียง 150 วัน ทำให้พรรคการเมืองเสียโอกาสไปเรื่อย ๆ ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ถ้าพรรคการเมืองไม่สามารถทำอะไรได้เลยจะทำอย่างไร เป็นห่วงโดยเฉพาะพรรคการเมืองที่มีสมาชิกจำนวนมาก ต้องส่งจดหมายไปให้สมาชิกพรรคกว่าจะตอบกลับมา และต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)รับรองอีก ต้องใช้วเลาในการดำเนินการทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอย่ากลัวว่าหากเปิดให้บรรดาพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแล้วจะทำให้การบริหารงานของรัฐบาลมีปัญหา หรือยุ่งยาก รัฐบาลก็สามารถบริหารประเทศต่อไปได้

 

เรียบเรียงจาก  สำนักข่าวไทย ครอบครัวข่าว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ Voice TV และคมชัดลึกออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยกฟ้อง นักศึกษาเรียกร้องค่าเสียหายกรณีสลายการชุมนุม “ดูเวลา” หน้าหอศิลป์ปี 58

Posted: 30 Oct 2017 01:56 AM PDT

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษายกฟ้องคดีที่นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 13 คน ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก 3 หน่วยงานรัฐ จากการสลายการชุมนุมครบรอบ 1 ปี รหป. ศาลชี้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้นักศึกษาจะมีสิทธิชุมนุม แต่ คสช. ได้ใช้อำนาจตาม ม.44 จำกัดเสรีภาพแล้ว

30 ต.ค. 2560 เวลา 09.00 น. ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ 13 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองบัญชาการกองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเรียกค่าเสียหาย ค่าสินไหมชดเชยจากกรณีการสลายการชุมนุมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 เป็นจำนวน 16,468,583 บาท ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

โดยในวันนี้ศาลได้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 3 ไม่ได้เป็นการจงใจประมาท เลิ่นเล่อตามมาตรา 420 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่มีการละเมิดเกิดขึ้น โจทก์ทั้ง 13 คนจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสาม ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ได้

สำหรับคดีดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่คำฟ้องโจทก์ที่ได้ยื่นฟ้องโดยระบุว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุม โดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ ตามเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ และได้รับการคุ้มครองไว้ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 จนถึงวันที่ 23 พ.ค. 2558 เวลาต่อเนื่องกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบ ซึ่งสังกัดอยู่ในหน่วยงานของจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 กล่าวคือ

1. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 เวลาประมาณ 18.00 น. ขณะโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 กำลังทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ "ศุกร์ 22 เรามาฉลองกันมะ?" โดยใช้รูปแบบศิลปะ "Performance Art ใน Concept : Time&Silence" โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ประชาชนจะมาร่วมกันสวมใส่เสื้อสีขาวพร้อมพกสิ่งบอกเวลาที่มีเช่น นาฬิกาข้อมือ , โทรศัพท์, นาฬิกาทราย, นาฬิกาแขวนพนังบ้าน,ปฏิทิน ฯลฯ แล้วมาร่วมยืน นั่ง นอน มองเงียบ ๆ เป็นเวลา 15 นาที โดยจะรวมตัวกันในเวลา 18.00 น. และจบกิจกรรมร่วมกันในเวลา 18.15 น. ด้วยการเปล่งเสียงเพียงครั้งเดียวในกิจกรรมพร้อมกันว่า "เวลาที่ผ่านมา 1 ปี เป็น "1 ปีที่…." สำหรับคุณ" โดยกิจกรรมจัดขึ้นที่บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร ถนนพระราม 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

ปรากฏว่าในขณะที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 กำลังจะเริ่มทำกิจกรรมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สังกัดในหน่วยงานของจำเลยที่ 1 และเจ้าหน้าที่ทหาร สังกัดในหน่วยงานของจำเลยที่ 2 และเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจดังกล่าวข้างต้นอยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาและรับผิดชอบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งสังกัดจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกันสั่งการและควบคุมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาห้ามไม่ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ใช้เสรีภาพในการชุมนุมจัดกิจกรรม โดยเอารั้วเหล็กสีเหลืองมาปิดกั้นบริเวณลานหน้าหอศิลปฯไว้โดยรอบ ทำให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ไม่สามารถจัดกิจกรรมในบริเวณดังกล่าวได้ จึงต้องทำกิจกรรมบริเวณด้านนอกรั้วที่ถูกกั้นไว้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ฯ ก็ใช้กำลังประทุษร้ายต่อร่างกายและจิตใจ และควบคุมตัวโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 อันถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจ

2.เจ้าหน้าที่สังกัดจำเลยทั้ง 3 ในขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ร่วมกันหรือสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบควบคุมตัวโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน โดยไม่มีอำนาจที่จะควบคุมตัวไว้ตามกฎหมาย และไม่ใช่การควบคุมตัวไว้เพื่อสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือสอบสวนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 แต่อย่างใด และควบคุมตัว กักขัง หน่วงเหนี่ยว โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 กับพวกเป็นเวลาต่อเนื่องกันนานถึง ๑๐ ชั่วโมง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เสรีภาพในการเดินทาง ไม่สามารถเดินทางไปไหนตามที่ใจปรารถนาได้ อีกทั้งยังทำให้ได้รับผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง และทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 13 เสียหาย ถือเป็นการร่วมกันกระทำโดยจงใจ กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ทำให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ และทรัพย์สิน "

ด้าน โครงการอินเทอร์เพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw รายงาน คำพิพากษาสรุปความได้ว่า วันที่ 22 พ.ค. 2558 โจทก์ทั้ง 13 คนและพวกเข้าร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ "ศุกร์ 22 เรามาฉลองกันมะ?" จากนั้นจึงถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัวไปที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน และปล่อยตัวในเวลา 6.00 น.ของวัดถัดมา โดยเหตุที่เกิดขึ้นสร้างความกระทบกระเทือนทางร่างกายและจิตใจแก่โจทก์ทั้ง 13 คนนั้น มีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยในสามประเด็นดังนี้

1.การชุมนุมดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล รู้โดยทั่วไปว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวคุ้มครองการชุมนุมโดยสงบ แต่อย่างไรก็ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ให้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการป้องปรามหรือยับยั้งเหตุที่บ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยของชาติ การกระทำตามคำสั่งถือว่าชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด ต่อมาคสช.ได้อาศัยมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย ข้อ 12 กำหนดห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ดังนั้นเสรีภาพในการชุมนุมจึงถูกจำกัดโดยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งตามบทบัญญัติ แม้การชุมนุมจะสงบก็ย่อมมีความผิด การที่โจทก์อ้างว่า การชุมนุมของโจทก์เป็นการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญหรืออ้างว่า คำสั่งที่ 3/2558 ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นความเข้าใจของโจทก์เองและเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น

ทั้งการชุมนุมดังกล่าวยังถือเป็นการชุมนุมทางการเมือง เห็นได้จากคำเบิกความของพยานโจทก์แอนเดรีย จิออเก็ตตา ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ที่กล่าวว่า ในการชุมนุมครั้งนี้ตนเชื่อว่า เป็นการชุมนุมทางการเมือง และคำเบิกความของพยานโจทก์ จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กล่าวว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมทางการเมืองเนื่องจากเป็นการชุมนุมครบรอบหนึ่งปีของการรัฐประหาร ประกอบกับในวันเกิดเหตุผู้จัดกิจกรรมไม่ได้ทำการขออนุญาตเจ้าหน้าที่ก่อน ดังนั้นกิจกรรมดังกล่าวจึงถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนเข้าข่ายต้องห้ามของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558

2.โจทก์ทั้ง 13 คนเข้าร่วมการกิจกรรมหรือไม่

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้ง 13 คนได้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการควบคุมตัวโดยชอบ ประเด็นที่โจทก์ทั้ง 13 คนกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการใช้กำลัง ฉุดกระชาก และไม่ได้มีการใช้เจ้าหน้าที่หญิงควบคุมตัวผู้ชุมนุมที่เป็นผู้หญิงนั้น พิเคราะห์จากข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า ก่อนเริ่มทำกิจกรรมเจ้าหน้าที่ได้มีการนำแผงเหล็กสีเหลืองมากั้นบริเวณด้านหน้าหอศิลป์ มีตำรวจตรึงกำลังราว 50-80 นาย แต่ผู้ชุมนุมยืนยันว่า มีสิทธิที่จะกระทำได้ เมื่อตำรวจบอกว่า กิจกรรมดังกล่าวขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ผู้ชุมนุมก็ยังไม่เลิกกิจกรรม เห็นถึงพฤติการณ์ของโจทก์ทั้ง 13 คนที่ทราบเป็นอย่างดีว่า ไม่ให้ทำกิจกรรม แต่ยังฝ่าฝืนที่จะทำต่อไป

จากคำเบิกความของพยานจำเลย ไปพ.ต.อ.จารุต ศรุตยาพร ผู้กำกับ สน.ปทุมวัน ที่กล่าวว่า วันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ไม่มีการใช้อาวุธ โล่ กระบองหรือพันธนาการ โดยพ.ต.อ.จารุต ได้เจรจากับพรชัย หนึ่งในโจทก์ สามครั้ง และเมื่อเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวโจทก์ทั้ง 13 คนยังแสดงอาการขัดขืนการควบคุม ดึงรั้งสิ่งของไม่ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ส่วนเรื่องการควบคุมตัวผู้หญิงโดยเจ้าหน้าที่ชาย มีเพียงชลธิชา โจทก์ ที่กล่าวว่า ตนถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ชาย เมื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากจำเลยแล้วเห็นว่า ชลธิชาถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ชายเพียงสิบเมตรเท่านั้นก่อนจะเปลี่ยนเป็นเจ้าหน้าที่หญิงมารับหน้าที่ต่อ การดำเนินการควบคุมของเจ้าหน้าที่จึงไม่ได้เกินกว่าเหตุ ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการจากมาตรการเบาไปหาหนักแล้ว วินิจฉัยว่าดำเนินการโดยชอบ

3.การควบคุมตัวที่สถานีตำรวจโดยมิชอบ

การควบคุมตัวโจทก์ทั้ง 13 คนไปที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการยึดเครื่องมือสื่อสารหรือขังโจทก์ไว้ในห้องขัง ทั้งยังให้ทนายความและอาจารย์ของโจทก์เข้าพบได้ นอกจากนี้เมื่อพบว่า รังสิมันต์และชลธิชามีอาการป่วยก็ได้ส่งตัวไปทำการรักษาที่โรงพยาบาล เมื่อแพทย์ตรวจว่ามีอาการเพียงเล็กน้อยจึงนำตัวกลับมีสถานีตำรวจ เหตุที่ต้องควบคุมตัวจำเลยไว้เป็นเวลาสิบชั่วโมงเนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้มีการยื่นข้อเสนอให้โจทก์ว่า จะดำเนินคดีเฉพาะแกนนำผู้จัดกิจกรรมเท่านั้น แต่โจทก์ปฏิเสธ ขณะเดียวกันโจทก์ยังไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวนแก่เจ้าหน้าที่ ดังนั้นการควบคุมเป็นเวลานานจึงไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่ วินิจฉัยว่า การควบคุมตัวเป็นไปโดยชอบแล้ว

การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ได้จงใจประมาท เลิ่นเล่อตามมาตรา 420 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่มีการละเมิดเกิดขึ้น โจทก์ทั้ง 13 คนจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสาม ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ได้ พิพากษายกฟ้อง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เดือน ก.ย. 2560 ผู้ประกันตนว่างงานลดลงแล้ว หลังเพิ่มติดต่อกัน 12 เดือน

Posted: 30 Oct 2017 01:11 AM PDT

หลังจากที่ผู้ประกันตนว่างงานเพิ่มขึ้นมาติดต่อกัน 12 เดือน ล่าสุด เดือน ก.ย. 2560 จำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมลดลงแล้วที่ 146,471 คน ส่วนผู้ที่ถูกเลิกจ้างมี  21,480 คน เพิ่มจากเดือน ส.ค. เล็กน้อย

 
30 ต.ค. 2560 สำนักเศรษฐกิจการแรงงานเปิดเผยตัวเลข ข้อมูลด้านเศรษฐกิจแรงงานประจำเดือน ก.ย. 2560 พบว่าภาวะการจ้างงานในตลาดแรงงาน เดือน ก.ย. 2560 การจ้างแรงงานในระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตน (มาตรา 33) จำนวน 10,733,498 คน มีอัตราการขยายตัว 2.86% (YoY) เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. 2559 ซึ่งมีผู้ประกันตน จำนวน 10,435,407 คน แสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การทำงานเพิ่มขึ้นถึง 298,091 คน 
 
 
ในด้านสถานการณ์การว่างงาน (ผู้ว่างงาน หมายถึง ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม : SSO) จากข้อมูล ณ เดือน ก.ย. 2560 มีผู้ว่างงานจำนวน 146,471 คน มีอัตราการชะลอตัว (YoY)
อยู่ที่ -3.31% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (เดือน ก.ย. 2559) ซึ่งมีจeนวน 151,489 คนและเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (ส.ค. 2560) พบว่ามีจำนวน 157,883 คน โดยมีอัตราการชะลอตัวอยู่ที่ -7.23% (MoM) และหากคิดเป็นอัตราการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเดือน ก.ย. อยู่ที่ 1.36% มีอัตราลดลงเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานของเดือน ส.ค. 2560 ซึ่งอยู่ที่ 1.48% ทั้งนี้จากข้อมูลอัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือน ก.ย. 2560 อยู่ที่ 1.2% มีอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานของเดือน ส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 1.1% ซึ่งก่อนหน้านี้ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 - ส.ค. 2560 พบว่าผู้ประกันตนว่างงานเพิ่มขึ้นทุกเดือน โดยพุ่งสูงสุดที่ 157,883 คน เมื่อเดือน ส.ค. 2560
 
 
ในด้านสถานการณ์การเลิกจ้างอัตราการเลิกจ้างลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 คิดจากจำนวนผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง ต่อจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33
เดือน ก.ย. 2560 ผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างมีจำนวนทั้งสิ้น 21,480 คน คิดเป็นร้อยละ 0.20 เท่ากับเดือน ส.ค. 2560 ที่ร้อยละ 0.20 แต่ลดลงจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 0.30
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ASEAN Weekly: วิกฤตมนุษยธรรมรัฐยะไข่และจุดปะทะทางอารยธรรม

Posted: 30 Oct 2017 12:36 AM PDT

คลื่นผู้อพยพชาวโรฮิงญา 6 แสนคนที่หนีการประหัตประหารของกองทัพพม่า ชวนพิจารณาการปรับยุทธศาสตร์กองทัพพม่าที่ต้องการคุมจุดตัดซึ่งมีนัยสำคัญทั้งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมในพื้นที่รัฐยะไข่ ซึ่งภาพใหญ่คือจุดยุทธศาสตร์สำคัญและเป็นจุดปะทะสังสรรค์เชื่อมภูมิภาคเอเชียใต้-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ASEAN Weekly เทปนี้ พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ พูดคุยกับดุลยภาค ปรีชารัชช ถึงสถานการณ์วิกฤตมนุษยธรรมในรัฐยะไข่ เป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญาอพยพหลบหนีภัยการถูกประหัตประหารเข้าสู่บังกลาเทศแล้วกว่า 6 แสนคน ทั้งนี้หลังกองกำลัง ARSA ซึ่งระบุว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญาบุกโจมตีป้อมตำรวจที่ชายแดนพม่า ทำให้กองทัพพม่าใช้วิธีปราบปรามแบบไม่เลือกหน้าและมุ่งเป้ามาที่พลเรือน โดยใช้ทั้งวิธีสังหารและเผาทำลายหมู่บ้าน ขณะเดียวกันกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในรัฐยะไข่ในพื้นที่ขัดแย้ง ก็อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ซึ่งรัฐบาลพม่าจัดให้ โดยระบุว่าถูกโจมตีจากกลุ่ม ARSA เช่นกัน

ดุลยภาคนำเสนอภาพใหญ่ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการปรับพื้นที่ปฏิบัติการทางทหารในรัฐยะไข่ โดยในช่วงรัฐบาลทหารพม่าก่อนหน้านี้ มีการย้ายที่ตั้งกองบัญชาการภาคตะวันตก (Western Command) ของกองทัพพม่า จากเมืองซิตตเว มาที่เมืองอานซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลเข้ามา รวมทั้งพัฒนาฐานทัพอากาศขึ้นที่นี่ พร้อมๆ กับการกวาดล้างชุมชนโรฮิงญาในรัฐยะไข่หลายระลอก

ขณะเดียวกันยังชวนให้พิจารณาผังการบังคับบัญชาของกองอำนวยการยุทธการพิเศษที่ 3 กองทัพพม่า ที่ควบคุมพื้นที่ บก.ภาคตะวันตก (อาน) บก.ภาคใต้ (ตองอู) และ บก.ภาคตะวันตกเฉียงใต้ (พะสิม) ซึ่งสามารถสับเปลี่ยนและหนุนกำลังเข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่รัฐยะไข่

นอกจากนี้ที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กับเส้นทางยุทธศาสตร์ท่อส่งก๊าซจากแหล่งเจาก์ผิ่ว รัฐยะไข่ ที่มุ่งสู่คุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีนแล้ว กอง บก.ภาคตะวันตก ยังอยู่ในจุดที่เสมือนเป็นเส้นแบ่งพรมแดนภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมของรัฐยะไข่ ที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่มีประชากรมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งติดชายแดนบังกลาเทศ ประเทศที่มีประชากรมุสลิมกว่า 160 ล้านคน ในขณะที่ทางตอนใต้ของรัฐยะไข่มีประชากรพุทธมากกว่า นับเป็นจุดปะทะสังสรรค์ทางอารยธรรมเชื่อมต่อชุมชนเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมีนัยสำคัญ

ในช่วงท้ายรายการ พูดถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและแรงกดดันของประชาคมระหว่างเทศเพื่อกดดันให้รัฐพม่าปรับพฤติกรรม พร้อมไปกับการแก้เกมของรัฐบาลพม่า 'ถิ่นจ่อ-อองซานซูจี' ที่ลดแรงกดดันด้วยการประสานมือกับมหาอำนาจเพื่อนบ้านอย่างจีน-อินเดีย นอกจากนี้ดุลยภาคยังชวนอ่านหนังสือ The Clash of Civilizations โดย Samuel P. Huntington นักรัฐศาสตร์ผู้มีชื่อ แม้จะเขียนขึ้นในช่วงหลังสงครามเย็น แต่นัยจากหนังสือยังสะท้อนสภาวะขัดแย้งในภาวะปัจจุบันอยู่ไม่น้อย

ติดตามชม ASEAN Weekly ย้อนหลังที่

YouTube https://goo.gl/Hgn7tq

Facebook https://www.facebook.com/AseanWeekly/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จาตุรนต์ แจงปมภาพพร้อมข้อความ 'ทาสรุ่นเก่า-รุ่นใหม่' ไม่ใช่คำพูดตัวเอง

Posted: 30 Oct 2017 12:15 AM PDT

30 ต.ค. 2560 จากกรณีโซเชียลเน็ตเวิร์กเผยแพร่ภาพ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมข้อความที่ทำให้คิดว่าเป็นคำพูดของ จาตุรนต์ ในประเด็นเรื่องทาสรุ่นเก่ากับทาสรุ่นใหม่นั้น

ล่าสุด จาตุรนต์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Chaturon Chaisang' ชี้แจงว่าข้อความดังกล่าวไม่ใช่ข้อความของตน
 
"มีการจงใจเผยแพร่ข้อความนี้ควบคู่กับรูปผมให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นข้อความของผม" จาตุรนต์ ระบุ พร้อมชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ตนก็เคยชี้แจงมาแล้ว ไม่ทราบว่า เหตุใดมีการนำมาเผยแพร่ในช่วงนี้อีก จึงขอชี้แจงมาอีกครั้งหนึ่ง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนหนุนกาตาลุญญาอยู่กับสเปนต่อ 3 แสนคนชุมนุมในบาร์เซโลนา

Posted: 29 Oct 2017 10:20 PM PDT

กลุ่มขวาจัดเอี่ยวความรุนแรงประปราย ทั้งปะทะกับตำรวจท้องถิ่นและทำคนขับแท็กซี่บาดเจ็บ ผู้นำท้องถิ่นย้ำมุ่งหน้าสร้างประเทศใหม่ต่อไปแม้โดนรัฐบาลกลางไล่ออกทั้งชุด แต่ผู้นำแคว้นยังได้สิทธิ์ลงเลือกตั้งได้ถ้าไม่เข้าคุกไปก่อน สหรัฐฯ เยอรมนียังหนุนมาดริด มีเพียงสกอตแลนด์หนุนกาตาลุญญา

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (29 ต.ค. 60) สำนักข่าวอินดิเพนเดนท์ของสหราชอาณาจักรรายงานว่า มีการชุมนุมของผู้ที่ต้องการให้แคว้นกาตาลุญญาอยู่กับสเปนต่อไป การชุมนุมมีขึ้นที่เมืองหลวงแคว้นกาตาลุญญาได้แก่เมืองบาร์เซโลนา มีผู้ออกมาชุมนุมประมาณ 3 แสนคนตามการประมาณของทางการท้องถิ่น

ภาพการชุมนุมเมื่อวานนี้ (ที่มา:twitter/breflywesly18)

การชุมนุมเกิดขึ้นสองวันหลังจากรัฐสภากาตาลุญญาประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปนฝ่ายเดียว โดยอ้างผลประชามติเรื่องการแยกตัวเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมาที่มีผู้ออกมาออกเสียงร้อยละ 43 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด ท่ามกลางการปิดกั้นการออกมาลงคะแนนเสียงด้วยไม้กระบองและกระสุนยางของตำรวจจากส่วนกลาง รวมถึงการประกาศจากรัฐบาลกลางที่กรุงมาดริดว่าการประชามติไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ผลปรากฎว่าร้อยละ 90 ของผู้มาออกเสียงเห็นสมควรว่าต้องแยกตัวจากสเปน

ผลโหวตร้อยละ 90 หนุนกาตาลุญญาแยกตัว หลายฝ่ายกังวลปะทะเดือดวันลงคะแนน

ผู้นำกาตาลุญญาลงนามประกาศเอกราชแต่ยังไม่บังคับใช้ หวังเปิดโต๊ะเจรจา รบ. กลาง

เอล กลาซิโกการเมืองระอุ รัฐบาลมาดริดปลดรัฐบาลและ ผบ.ตร.กาตาลุญญาแล้ว

เมื่อ 10 ต.ค. เหล่าผู้นำท้องถิ่นในแคว้นลงนามในคำประกาศเอกราช การ์เลส ปุกเดมอนต์ ประธานาธิบดีแคว้นกาตาลุญญาประกาศเอกราชในวันเดียวกัน แต่ยังไม่บังคับใช้เนื่องจากต้องการให้มีการเจรจากับรัฐบาลสเปนในเรื่องการแยกตัว รัฐบาลสเปนตอบโต้ท่าทีดังกล่าวด้วยการใช้อำนาจตามมาตรา 155 เข้าปกครองแคว้นกาตาลุญญาโดยตรงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ล่าสุด มีคำสั่งจากรัฐบาลกรุงมาดริด ปลดรัฐบาลท้องถิ่นกาตาลันทั้งชุด รวมถึงผู้บัญชาการกองตำรวจท้องถิ่นหรือตำรวจโมสโซสด้วย ทั้งยังประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 21 ธ.ค. นี้

ฝ่ายผู้สนับสนุนการรวมกับสเปนเคยมีการชุมนุมมาตั้งแต่สามสัปดาห์ที่แล้วหลังทราบผลประชามติเมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมาในบาร์เซโลนา ตัวเลขจากทางการท้องถิ่นระบุว่าการชุมนุมครั้งนั้นมีผู้มาร่วมชุมนุม 3 แสนคน แต่ตัวเลขจากกลุ่มผู้จัดการชุมนุม โซเซียตัด ซิบิล กาตาลานา (เอสซีซี) ระบุว่มีผู้มาชุมนุมมากกว่าหนึ่งล้านคน

กลุ่มเอสซีซีกล่าวว่า การชุมนุมมีสโลแกนร่วมกันได้แก่คำว่า "พวกเราทุกคนคือกาตาลุญญา" และไม่ได้มีจุดยืนเพื่อแก้ต่างรัฐบาลกลางที่เข้ามาปกครองแคว้นโดยตรงผ่านมาตรา 155 แต่ในพื้นที่จริงก็ยังมีการโห่ร้องจากผู้ชุมนุมว่า "(มาตรา) 155 งานปาร์ตี้จบแล้ว (155. The party's over)" นอกจากนั้นยังมีการตะโกนจากเหล่าผู้ชุมนุมให้ส่งการ์เลส ปุกเดมอนต์ เข้าคุก

 

 

ภาพถ่ายมุมสูงของการชุมนุมในวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา (ที่มา:twitter/CdVinEnglish)

"พวกนักการเมืองชาตินิยมไม่ได้นึกถึงกาตาลุญญาทั้งหมด หรือไม่คิดไม่ถีงว่าไม่ใช่พวกเราทั้งหมดที่ต้องการเป็นเอกราช" ฆาเวียร์ หนึ่งในผู้อาศัยในแคว้นกาตาลุญญามาอย่างยาวนานให้สัมภาษณ์กับเดอะอินดิเพนเดนท์ในระหว่างการเดินขบวน

"พวกเขาไม่ได้โกหกเราไปเสียทุกอย่าง แต่วิธีแก้ไขปัญหาไม่ใช่การแยกตัวจากสเปน ผมคิดว่าโจทย์ของกาตาลันเป็นอะไรที่สเปนทั้งประเทศต้องมีส่วนร่วมแก้ไขด้วย ไม่ใช่แค่ชาวกาตาลันเท่านั้น ตอนนี้มันเป็นวิกฤติการณ์ครั้งร้ายแรงที่สุดที่สเปนเคยเผชิญมา"

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสองคนออกมาแถลงแล้วว่าปุกเดมอนต์มีสิทธิ์ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 21 ธ.ค. นี้ แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อัลฟอนโซ ดาสติส กล่าวว่า "ถ้าตอนนั้นเขายังไม่ถูกจับเข้าคุก"

ธงชาติสเปน (ที่มา:pcq.com)

การชุมนุมมีหลายอารมณ์ผสมกันไป สำนักข่าว เอล ปาอิส แสดงภาพของชายชราคนหนึ่งที่ถือธงเอกราชของแคว้นกาตาลุญญามาร่วมชุมนุมด้วย ซึ่งก็ได้รับการจับมือจากกลุ่มสนับสนุนการรวมกับสเปน ในขณะที่มีคนตะโกนว่า "ถ้ากล้าขนาดนี้คุณต้องเป็นคนสเปนแน่ๆ" แต่ก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นประรายจากกลุ่มที่เป็นฝ่ายขวาสุดโต่งตามการรายงาน

มีผู้ชุมนุมหลักร้อยคนโยกย้ายไปปักหลักที่ Plaza Sant Jaume ตรงหน้าอาคารรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่ๆ ฝ่ายผู้สนับสนุนการแยกตัวได้มาชุมนุมในวันศุกร์หลังมีการประกาศเอกราช การชุมนุมเมื่อวานนี้แม้จะเป็นไปอย่างสันติในช่วงแรก แต่ก็มีการเผชิญหน้าและตะลุมบอนกันระหว่างตำรวจท้องถิ่นกับผู้ร่วมชุมนุมซึ่งมีกลุ่มขวาจัดอยู่ด้วยอย่างน้อยกลุ่มหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้ก็มีคนขับแท็กซี่ได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้าหลังมีวัตถุบางอย่างลอยมาที่รถ ซึ่งได้รับการรายงานว่ามีกลุ่มขวาจัดอย่างน้อยหนึ่งกลุ่มมีส่วนเกี่ยวข้อง

 

การเผชิญหน้าระหว่างผู้สนับสนุนการรวมกับสเปนและกลุ่มตำรวจโมสโซส (ที่มา:twitter/FelipeCarnotto)

 

การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ (ที่มา:twitter/edgarpima)

ผู้ชุมนุมทำร้ายผู้สื่อข่าวของ เอล นาซิอองนาล (ที่มา:twitter/denterd)

อัยการสูงสุดของสเปนได้แถลงเตือนเกี่ยวกับการแยกตัวเมื่อวันศุกร์แล้วว่า ได้เตรียมโทษจำคุกถึง 30 ปีในข้อหากบฏไว้ให้กับปุกเดมอนต์แล้ว ทั้งยังมีรายงานเพิ่มเติมว่าข้อหาดังกล่าวอาจจะขยายจากตัวปุกเดมอนต์ไปหาผู้มีส่วนรับผิดชอบกับการออกคำประกาศเอกราชด้วย โดยโทษดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะมีประกาศออกมาในวันนี้

รัฐมนตรีฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองของเบลเยียม ธีโอ ฟรังเคน ให้สัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์ในเบลเยียมต่อคำถามที่ว่า ปุกเดมอนต์จะได้รับการไต่สวนที่ยุติธรรมหรือไม่ โดยมีใจความบอกใบ้ว่าผู้นำกาตาลุญญาคนดังกล่าวสามารถได้รับสิทธิ์เป็นผู้ลี้ภัยได้ ท่าทีดังกล่าวทำให้พรรคปาร์ติโด โปปูลาร์ (พีพี) ที่เป็นพรรครัฐบาลของสเปนออกมาตอบโต้ความเห็นดังกล่าวว่า "ยอมรับไม่ได้"

อย่างไรก็ดี ปุกเดมอนต์ไม่ได้แสดงท่าทีอยากจะออกจากแคว้นกาตาลุญญา และในวันนี้จะเป็นวันชี้ชะตาว่ารัฐบาลกาตาลุญญาชุดที่รัฐบาลสเปนสั่งปลดไปหมดจะยังบริหารแคว้นต่อไปตามปรกติได้หรือไม่ภายใต้การเข้ามาควบคุมจากรัฐบาลกลางโดยตรง โจเซฟ รูล หนึ่งในสมาชิกระดับสูงของรัฐบาลท้องถิ่นกล่าวว่า "ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ ความตั้งใจของผมไม่ใช่การมาทำงานในฐานะสมาชิกสภาท้องถิ่น แต่มาในฐานะรัฐมนตรีของสาธารณรัฐกาตาลันใหม่"

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนของสหราชอาณาจักรรายงานว่าเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ปุกเดมอนต์แถลงจะเดินหน้าสร้างประเทศกาตาลุญญาต่อไป และเรียกร้องให้ชาวกาตาลุญญาต่อต้านการเข้าปกครองโดยตรงของรัฐบาลกรุงมาดริดด้วยสันติวิธีและเป็นอารยะ

แคว้นกาตาลุญญาเป็นแคว้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจกับสเปนมาก ร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) มาจากแคว้นกาตาลุญญา การแยกตัวส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจอย่างมาก มีธนาคารและบรรษัทหลายร้อยแห่งย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่แคว้นอื่น และยังมีอีกหลายเจ้าที่วางแผนจะย้ายออกไป

5 เรื่องน่ารู้ เงื่อนไข ทางตันและทางออกก่อนกาตาลุญญาประกาศเอกราช

หลายพรรครัฐสภายุโรปกังวลกาตาลุญญาแยกตัว ชี้ถ้าออกจากสเปนคือออกจากอียูด้วย

กาตาลุญญาถึงไทย: เข้าใจการเมืองเรื่องแคว้น บทเรียนของไทยจากสังคมที่โตแล้ว

กาตาลุญญาได้รับการยอมรับจากนานาประเทศเพียงเล็กน้อย รัฐบาลเยอรมนี ประเทศที่มีบทบาทและอิทธิพลมากในสหภาพยุโรป (อียู) และรัฐบาลสหรัฐฯ ต่างให้การสนับสนุนรัฐบาลมาดริด ทั้งยังเป็นห่วงว่าความรุนแรงจะขยายตัว ความเป็นห่วงดังกล่าวมาจากข้อกังวลเกี่ยวกับกลุ่มที่ต้องการแยกตัวที่มีอยู่ในประเทศตนเองด้วย มีเพียงสกอตแลนด์ที่ออกมาสนับสนุนกาตาลุญญาทั้งยังประณามรัฐบาลมาดริดอีกด้วย

"เราเข้าใจและเคารพจุดยืนของรัฐบาลกาตาลัน ในขณะที่สเปนมีสิทธิที่จะต่อต้านการแยกตัวเป็นเอกราช ประชาชนชาวกาตาลุญญาก็ต้องมีความสามารถที่จะกำหนดอนาคตของพวกเขาเองได้" ฟิโอนา ฮิสลอป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสกอตแลนด์กล่าว "การเข้าไปปกครองโดยตรงไม่สามารถใช้เป็นวิธีแก้ปัญหาได้ และควรเป็นข้อกังวลของผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยในทุกหนแห่ง"

โดนัลด์ ทัสค์ ประธานสภายุโรป กล่าวว่า "ผมหวังว่ารัฐบาลสเปนจะฝักใฝ่การใช้อำนาจจากการถกเถียง ไม่ใช่การถกเถียงเรื่องอำนาจ (I hope the Spanish government favours force of argument, not argument of force,)"

แปลและเรียบเรียงจาก

Catalonia independence: Tens of thousands take to Barcelona streets in support of united Spain, The Independent, October 29, 2017

Catalan leader vows 'peaceful resistance' as Madrid takes control of region, The Guardian, October 28, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ILO เผยคนทำงานมากกว่า 4.1 ล้านคน ได้รับการตรวจเชื้อ HIV ในที่ทำงาน

Posted: 29 Oct 2017 09:16 PM PDT

ที่มาภาพประกอบ: องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

30 ต.ค. 2560 องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เปิดเผยว่าคนทำงานและสมาชิกครอบครัว 4.1 ล้านคน ได้รับการตรวจหาเชื้อ HIV ภายใต้โครงการ VCT@WORK (voluntary counseling and testing at work) ซึ่งเริ่มตรวจและให้คำแนะนำเกี่ยวกับเชื้อ HIV มาตั้งแต่ ปี 2556 ภายใต้ความร่วมมือของ ILO โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) องค์กรผู้จ้างงานระหว่างประเทศ (IOE) และสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (ITUC) ซึ่งมีเป้าหมายในการกำจัดโรคเอดส์ให้หมดไปภายในปี 2573

นับตั้งแต่โครงการ VCT@WORK เริ่มต้น คนทำงานมากกว่า 6 ล้านคน (เป็นชาย 3,749,420 คน หญิง 2,261,806 คนและเพศอื่น ๆ 41,248 คน) ได้เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อ HIV และมากกว่า 4.1 ล้านคนได้รับ การแนะนำและตรวจเชื้อ HIV และพบว่ามี 103,000 คนมีผลตรวจเลือดเป็นบวก ซึ่งทั้งหมดได้ถูกส่งต่อเพื่อเข้าถึงการรักษา

จากรายงานประจำปีของ VCT@WORK เผยว่าในภายในปี 2559 ปีเดียว คนทำงานมากกว่า 1.1 ล้านคน เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อ HIV อีก 1.1 ล้านคน ผ่านการตรวจหาเชื้อ และมากกว่า 17,700 คน ที่พบเชื้อ HIV

เจ้าหน้าที่ ILO ผู้ดูแลโรงการ VCT@WORK ระบุว่าสำหรับคนที่ทำงานนอกระบบ การที่จะเข้ารับการตรวจหาเชื้อ HIV หมายถึงว่าพวกเขาต้องสูญเสียค่าจ้างรายวันไปอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง บวกกับค่าเดินทางที่ต้องจ่าย เราคำนึงถึงต้นเหตุปัญหานั้น เราจึงนำบริการตรวจเชื้อให้เข้าไปใกล้ที่อาศัยและที่ทำงานของพวกเขา ซึ่งโครงการ VCT@WORK ทำให้เห็นว่านั้นเป็นวิธีที่ได้ผล ในการทำให้คนที่ไม่มีความเข้าใจที่เพียงพอในเกี่ยวกับโรคเอดส์ ได้เข้าถึงการตรวจหาเชื้อ HIV

โดยการตรวจเชื้อเริ่มต้นด้วยการมุ่งเน้นกลุ่มคนทำงานที่มีความเสี่ยงสูงก่อน ซึ่งจะรวมไปถึงคนทำงานที่อยู่ภาคส่วนที่มีอัตราจำนวนผู้ได้รับเชื้อสูง อย่างคนทำงานในเหมือง ในภาคขนส่ง ก่อสร้าง สุขภาพและภาคการท่องเที่ยว นอกจากนั้นแรงงานข้ามชาติและคนทำงานนอกระบบก็เป็นกลุ่มที่ให้มุ่งเน้นให้ความสำคัญด้วยเป็นอำดับต้น ๆ ด้วย

ในช่วงเริ่มต้นโครงการจะเน้นไปยัง 18 ประเทศที่เข้าไปทำงานได้อย่างรวดเร็ว เช่นในประเทศที่มีองค์กรพันธมิตรอยู่ อย่างองค์กรแรงงานระดับโลกหรือองค์กรที่ทำงานด้านผู้ติดเชื้อ อีกส่วนสำคัญของโครงการนี้คือการให้ความรู้แก่คนทำงานและคนในครอบครัว ถึงประโยชน์ในการได้รับการตรวจไปถึงการอยู่ร่วมกับเชื้อ HIV อย่างไร หากพวกเขาตรวจพบเชื้อ

บทเรียนสำคัญที่ได้รับในช่วงเริ่มโครงการ คือ 1) โครงการเป็นสร้างตัวอย่างที่ดีในการสร้างความต้องการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อ ระหว่างคนทำงานด้วยกัน 2) การมีผู้ช่วยให้ความรู้ในที่สถานที่ทำงาน มีบทบาทสำคัญในการช่วยโปรโมทโครงการตรวจหาเชื้อได้ 3) วิธีการนำการตรวจหาเชื้อ HIV อยู่ร่วมกับโปรแกรมสุขภาพอื่น ๆ สามารถช่วยลดอคติเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อได้ 4) องค์กรในพื้นที่มีส่วนสำคัญในการขยายการตรวจให้ไปสู่วงกว้างได้

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
More than 4.1 million tested for HIV under VCT@WORK initiative (ILO, 17/10/2017)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น