โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ปิดฉากเวทีรับฟังความคิดเห็น ร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ

Posted: 16 Oct 2017 10:08 AM PDT

16 ต.ค. 2560 รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีการจัด เวทีรับฟังความเห็นรายภาค ต่อ (ร่าง) ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. ... (เวทีภาคธรรมยุต) โดยความร่วมมือระหว่าง สช. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ณ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) ศาลายา จ.นครปฐม โดยมีตัวแทนคณะสงฆ์และฆราวาสกว่า ๑๐๐ รูป/คน ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธรรมนูญฉบับนี้เข้าร่วม

พระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ กล่าวว่า ความคาดหวังต่อธรรมนูญคือการนำหลักการและรายละเอียดไปสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งหวังว่าเจ้าคณะสงฆ์ ผู้ปกครอง รวมทั้งภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ จะช่วยกันขยายผลเพื่อให้เกิดพื้นที่รูปธรรมแบบอย่างในระยะเริ่มต้น และขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในระยะต่อไปให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

"ขอให้ทุกท่านใช้องค์ความรู้ตามหลักธรรมวินัยและหลักวิชาการ เป็นหลักการพื้นฐานในการให้ความคิดเห็นเพื่อทำให้ธรรมนูญมีความสมบูรณ์มากที่สุด หากทำได้เช่นนี้ ธรรมนูญจะไม่ใช่เพียงนโยบายหรือแนวทางการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ หากแต่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาพระพุทธศาสนาให้ธำรงสืบไป" พระพรหมวชิรญาณ กล่าว

ก่อนเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น พระมงคลธรรมวิธาน รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ในฐานะผู้แทนคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ และผู้แทนจาก มจร, มมร, สปสช., สสส., กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ร่วมกันชี้แจงถึงความเป็นมา บทบาทของหน่วยงาน และสาระสำคัญของธรรมนูญ

หลังจากนั้น ผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันออกแบบภาพพึงประสงค์ของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความเข้าใจสาระรายประเด็นใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย 2.ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย 3.บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม และ 4.การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์

อนึ่ง การจัดเวทีรับฟังความเห็นรายภาคต่อ (ร่าง) ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. .... ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว จำนวน 4 ครั้ง โดยเริ่มจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ เวทีแรก ณ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วังน้อยจ.พระนครศรีอยุธยา, จ.ขอนแก่น, จ.แพร่ และ จ.นครศรีธรรมราช ตามลำดับ จนมาถึงการจัดเวทีรับฟังความเห็นรายภาค ต่อ (ร่าง) ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. ... (เวทีภาคธรรมยุต) ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นเวทีสุดท้ายจากทั้งหมด 5 เวที

สำหรับการดำเนินการภายหลังรับฟังความคิดเห็นต่อร่างธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติครบทั้ง 5 เวทีแล้ว คณะกรรมการฯ จะสังเคราะห์ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงร่างธรรมนูญฯ อีกครั้ง ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ในช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยหากที่ประชุม มส. เห็นชอบ ก็จะสามารถประกาศได้ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 เดือนธันวาคม 2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมเดินหน้าตั้ง 'พรรคประชาชนปฏิรูป' ชูนโยบาย ‘ดันประยุทธ์เป็นนายก’

Posted: 16 Oct 2017 08:28 AM PDT

ไพบูลย์ นิติตะวัน ยืนยันรอ คสช. ปลดล็อคการทำกิจกรรมของพรรคการเมือง เตรียมยื่นจัดตั้ง "พรรคประชาชนปฏิรูป" ชูนโยบายเด่นเอาคนใหม่ๆ มาทำงาน พร้อมหนุนประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะเหมาะสมที่สุดหากเทียบกับคนอื่นๆ

ไพบูลย์ นิติตะวัน : แฟ้มภาพ

16 ต.ค. 2560 มติชนออนไลน์ และ  Voice TV รายงานตรงกันว่า ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) เปิดเผยว่าเตรียมตั้ง 'พรรคประชาชนปฏิรูป' ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเพื่อประชาชน  เนื่องจากที่ผ่านมาพรรคการเมืองมีลักษณะผูกขาดเป็นพรรคนายทุน ทำให้การเมืองล้มเหลว ซึ่งการตั้งพรรคครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือของประชาชนในการนำไปสู่การปฏิรูป เช่นปฏิรูปการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้พรรคการเมืองนี้เป็นเครื่องมือของประชาชน ซึ่งเห็นว่านายกฯไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ยกตัวอย่างในตอนนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือผู้ที่เหมาะสมที่สุดเมื่อเทียบกับบุคคลอื่น 

ทั้งนี้พรรคประชาชนปฏิรูป ยึดหลักการดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นพรรคการเมืองที่ตรวจสอบได้ เข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ และผู้มาร่วมต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจสาธารณะ ซึ่งพรรคจะหลีกเลี่ยงการดึงอดีตส.ส.มาเข้าร่วมเป็นสมาชิก เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามา นอกจากนี้หากคสช.ผ่อนปรนคำสั่งให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ ตนพร้อมจะยื่นเรื่องเพื่อขอจัดตั้งพรรค

"อุดมการณ์ของเราเน้นกระบงนการว่าจะต้องกำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นพรรคการเมืองที่สะอาดจริงๆ เป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีอามิสสินจ้างใดๆ ผู้ที่มาร่วมจะต้องเป็นผู้ที่มีจิตสาธารณะ เข้ามาทำงานการเมืองเอประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ทั้งหมดนี้คือหลักการของการตั้งพรคคประชาชนปฏิรูป ทั้งนี้ โดยหลักการเราคงหลีกเหลี่ยงหรือคงไม่เอาอดีต ส.ส. มาร่วม เพราะต้องการให้คนใหม่ๆ ที่มีจิตสาธารณะเข้ามาร่วม เพราะต้องการให้คนใหม่ๆ ที่มีจิตสาธารณะเข้ามาเป็นสมาชิคพรรคและลง ส.ส. ของพรรค อย่างไรก็ตาม หากกระบวนการออกระเบียบของ กกต. เสร็จเรียบร้อย และทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปลดลิอกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมืองได้ เราจะยื่นเรื่องเพื่อขอจัดตั้งพรรค" ไพบูลย์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สุดารัตน์' รับผิดปมขึ้นรถมีป้ายชื่อชวน ปชช.ปลูกดอกดาวเรือง - 'ประวิตร' พร้อมให้ คสช.คุย

Posted: 16 Oct 2017 06:55 AM PDT

'สุดารัตน์' ยอมรับผิดขึ้นรถแห่เชิญชวนประชาชนถวายดอกดาวเรืองเพื่อใช้ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ชี้เป็นรถเก่าไม่ได้ลอกสติ๊กเกอร์ออก ยืนยันไม่หวังผลทางการเมือง 'ประวิตร' เตือนต้องใช้ดุลยพินิจว่าอะไรควรไม่ควร พร้อมให้ คสช.พูดคุย

ภาพจากเพจ 'คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

16 ต.ค. 2560 จากกรณีกระแสวิพากษณ์วิจารณ์ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย จัดกิจกรรมเชิญชวนประชาชนย่านลาดปลาเค้า เขตลาดพร้าว และพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ เขตลาดพร้าว เขตบางเขน ร่วมงาน "ดอกดาวเรืองแทนดวงใจ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร" โดยติดชื่อตนเองที่รถขยายเสียง มีรถนำขบวน นั้น

ล่าสุด สำนักข่าวไทย รายงานว่า คุณหญิงสุดารัตน์ พร้อมคณะกรรมการจัดงานดอกดาวเรืองแทนใจชาวลาดปลาเค้า แถลงข่าวเกี่ยวกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียกรณีขึ้นรถแห่เชิญชวนประชาชนถวายดอกดาวเรืองเพื่อใช้ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยคณะกรรมการจัดงาน ชี้แจงว่า การจัดงานครั้งนี้ยึดนโยบายตามภาครัฐที่ต้องการให้ดอกดาวเรืองเหลืองทั้งแผ่นดิน เขตลาดปลาเค้าจึงจัดเป็นซุ้มตามจุดต่าง ๆ 9 ซุ้ม โดยซุ้มต่าง ๆ มีภาพพระราชกรณียกิจของพระองค์ และมีกิจกรรมที่ต่างกันไปในแต่ละซุ้ม มีทุกภาคส่วนเข้าร่วมกิจกรรม

"คุณหญิงสุดารัตน์เป็นคนลาดปลาเค้าโดยกำเนิด ทางคณะกรรมการจึงขอความเห็นจากคุณหญิงสุดารัตน์อยู่เสมอ และได้เชิญคุณหญิงสุดารัตน์มาร่วมงานด้วย โดยในวันที่จัดกิจกรรมได้เคลื่อนขบวนตั้งแต่ซุ้มที่ 1-9 ซึ่งมีระยะทางพอสมควร อีกทั้งต้องทำงานแข่งกับฝน จึงต้องใช้รถและเจ้าหน้าที่เปิดเส้นทาง เพราะถนนเส้นนี้มีรถสัญจรมาก ต้องมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ที่มาอำนวยความสะดวกล้วนแต่เป็นจิตอาสาทั้งสิ้น เพราะไม่มีงบประมาณจ้างเจ้าหน้าที่  ยืนยันว่าทำงานเพื่อถวายพระองค์จริง ๆ แต่ภาพที่ออกไปทำให้ทางคณะกรรมการไม่สบายใจ ยอมรับว่าอาจจะทำผิดพลาดบ้างเพราะเป็นงานขนาดใหญ่  จึงขออภัยสำหรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และอยากให้ทุกคนค่อย ๆ ให้คำแนะนำ" คณะกรรมการฯ ระบุ

คณะกรรมการจัดงาน กล่าวว่า ขอบคุณคุณหญิงสุดารัตน์ที่มาร่วมกิจกรรมตั้งแต่การปลูกดอกดาวเรือง โดยให้ใช้สถานที่ที่บ้านพักเก็บดอกดาวเรือง หากมองความตั้งใจของคนไทยคนหนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็น่าเสียใจ จึงขอยืนยันว่างานครั้งนี้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ เกี่ยวข้อง

ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า กิจกรรมนี้เริ่มตั้งแต่ 4 เดือนที่แล้ว โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งชุมชน วัด โรงเรียน โบสถ์ โดยเริ่มกันตั้งแต่เริ่มต้นปลูก ซึ่งตั้งใจว่าอยากถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อตัวแทนชุมชนมาหารือ มองว่าเป็นเรื่องที่ดีและเห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งหมด 9 ซุ้ม 9 ธีม ซึ่งรวบรวมพระราชกรณียกิจของพระองค์มาจัดแสดง และให้ประชาชนร่วมกิจกรรม โดยกิจกรรมที่จัดในชุมชนนี้ จัดกันทั้งสิ้น 3 วัน คือวันที่ 13-15 ตุลาคม ไม่รวมการปลูกดอกดาวเรืองที่เริ่มมาก่อนหน้านี้ 3 เดือน 

"วันสุดท้าย ดิฉันกับคณะกรรมการขึ้นรถคันโน้นบ้าง คันนี้บ้าง เพื่อเคลื่อนขบวนไปรับดอกดาวเรืองจากซุ้มต่าง ๆ เป็นกิจกรรมที่เราเตรียมและจัดขึ้นด้วยหัวใจจริง ๆ ดิฉันเสียใจที่มีการนำภาพไม่กี่ภาพที่ไม่ได้เห็นภาพรวมทั้งหมดมาเป็นประเด็น วันนี้ประชุมสรุปงาน ดิฉันกราบขอโทษคณะกรรมการทุกคนที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดข่าวแบบนี้ขึ้น และขอยืนยันว่า รถที่เห็นไม่ใช่รถหาเสียง แต่เป็นรถที่ใช้รวบรวมดอกดาวเรืองจากซุ้มต่าง ๆ และรถมอเตอร์ไซค์ต่าง ๆ เป็นรถอาสาสมัคร ไม่ใช่รถตำรวจ ซึ่งเขานำมาเข้าร่วมขบวนเพื่อคอยอำนวยความสะดวก" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ถึงจะเคยเป็นนักการเมือง แต่ความเป็นนักการเมืองไม่ได้หมายความว่าจะแสดงความรู้สึกในฐานะคนไทยไม่ได้ ตนเป็นคนหนึ่งที่รักและเทิดทูนในหลวง รัชกาลที่ 9 หากทำงานในอาชีพหนึ่งแล้วบอกว่า อาชีพนั้นไม่สามารถแสดงความจงรักภักดีได้ ตนไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น พ่อสอนมาตลอดว่าต้องมีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน เพราะพระองค์ทรงงานหนักเพื่อชาวไทยทุกคน ตลอด 365 วันที่ผ่านมา จึงทำกิจกรรมหลายอย่างเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและถวายเป็นพระราชกุศล เช่น การจัดสวดมนต์ ทำโครงการชวนเด็ก ๆ มาประกวดเรียงความ ภาพวาด จัดบวชพระ ทั้งหมดที่ทำด้วยสำนึกในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทำให้ได้อยู่ในแผ่นดินนี้อย่างมีความสุข 

"แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็เสียใจ บางคนนำรูปมาเขียนด้วยความรู้สึกของตัวเอง โดยที่ไม่ได้อยู่ในงานดังกล่าวด้วยซ้ำ ดิฉันขออธิบายความรู้สึกว่าดิฉันไม่มีเจตนาและไม่มีความรู้สึกเลยว่าจะเอาการเมืองเข้ามายุ่งกับเรื่องนี้ ป้ายที่ติดตามถนนไม่มีชื่อดิฉันสักชื่อ กรรมการจะให้ใส่ชื่อดิฉัน ดิฉันก็บอกว่าไม่ให้ใส่ มาพลาดตรงที่ดิฉันขึ้นรถคันดังกล่าว ซึ่งเป็นรถเก่าที่ใช้ตั้งแต่การทำกิจกรรมมูลนิธิไทยพึ่งไทยแล้วมีสติกเกอร์ชื่อดิฉันติดอยู่ โดยคณะกรรมการไม่ได้ปิดสติ๊กเกอร์ทับ ขอโทษประชาชนที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า กราบขออภัยที่ทำให้ทุกฝ่ายไม่สบายใจ ขอยืนยันเจตนาว่าทั้งชีวิต สิ่งที่ได้รับจากพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นทุกอย่าง ก่อนการถวายพระเพลิงพระบรมศพ อะไรที่ทำได้เราก็ทำ เราทำกิจกรรมนี้ด้วยหัวใจ ไม่เคยปลูกต้นไม้ แต่ภูมิใจที่ได้ปลูกต้นไม้ 4 หมื่นกว่าต้นออกมาได้อย่างงดงาม ไม่เคยคิดเลยว่าจะมีการนำภาพบางภาพไปโยงในลักษณะนั้น หากผิดพลาดประการใดกราบขอโทษและขอน้อมรับผิดจากใจ" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวทั้งน้ำตา

ส่วนจะต้องชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อคสช.หรือไม่ คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า พร้อมชี้แจง เพราะความจริงคือความจริง แต่ขณะนี้ คสช.ยังไม่ได้ติดต่อมา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่บั่นทอนความตั้งใจที่จะทำความดี จะไม่ย่อท้อ และจะทำความดีถวายพระองค์ท่าน  

ส่วน คสช.จะใช้เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขไม่ปลดล็อกคำสั่งคสช.ฉบับที่ 57/2557 หรือไม่ คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า น่าจะเป็นคนละเรื่อง ไม่ทราบว่าคสช.จะคิดอย่างไร ซึ่งได้อธิบายไปแล้ว แต่หากคสช.จะมาหาข้อมูลก็พร้อมให้ และสื่อหลาย ๆ สื่อได้ออกข่าวเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาแล้ว

ต่อกรณีคำถามว่าจะดำเนินคดีกับผู้ที่นำภาพไปโพสบิดเบือนหรือไม่ นั้น คณะกรรมการจัดงาน ชี้แจงว่า ได้ประชุมกันแล้วเห็นว่าไม่อยากให้เป็นเรื่องราวใหญ่โต จึงยังไม่ดำเนินคดีขณะนี้ แต่หากยังนำไปโพสอีกก็จำเป็นต้องฟ้องร้องต่อไป

'ประวิตร' เตือน 'สุดารัตน์ ต้องใช้ดุลยพินิจ พร้อมให้ คสช.พูดคุย

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ต้องใช้ดุลยพินิจบ้างว่าอะไรควรไม่ควร ไม่ใช่ช่วงที่จะมาโฆษณา หรือหาเสียงให้ตัวเอง 

"จะให้ คสช.พูดคุยกับคุณหญิงสุดารัตน์ในเรื่องนี้ และหากยังมีพฤติกรรมแบบนี้ก็จะยังไม่ปลดล็อคทางการเมือง เพราะเคยพูดไปแล้วว่าตลอดเดือนตุลาคมนี้ห้ามเคลื่อนไหวการเมือง" พล.อ.ประวิตร กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร้อง 'เจียไต๋ ซินเจนทา' หยุดสารเคมีเพื่อปกป้องคนไทย เนื่องในวันอาหารโลก

Posted: 16 Oct 2017 06:20 AM PDT

วันอาหารโลก เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงยื่นจดหมายเรียกร้องให้ซินเจนทาและเจียไต๋แสดงจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ ไม่ต่ออายุทะเบียนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ปกป้องสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค ส่งเสริมความปลอดภัยทางอาหาร

 


16 ต.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (16 ต.ค.60) เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงยื่นจดหมายเรียกร้องให้ซินเจนทาและเจียไต๋แสดงจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ เรื่องนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงที่มี ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 เม.ย.60 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการโดยให้มีการเพิกถอนทะเบียนและไม่ต่ออายุทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 2 ชนิดคือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส

หลังจากที่เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงได้ตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย พบว่า ทะเบียนแรกของพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสได้หมดอายุลงในวันที่  9 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยเป็นของบริษัทซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น และบริษัทเจียไต๋ จำกัดตามลำดับ ทั้งนี้ซินเจนทายังถือทะเบียนพาราควอต อีก 4 ทะเบียน และเจียไต๋ยังถือทะเบียนคลอร์ไพริฟอสอีก 4 ทะเบียน และพาราควอต 3 ทะเบียน ที่จะทยอยหมดอายุลงเป็นลำดับ  

อุบล อยู่หว้า ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง พร้อมเครือข่ายเกษตรกร 5 จังหวัด จึงได้เดินทางไปยื่นจดหมายเรียกร้องให้ทั้งสองบริษัทแสดงจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ โดยในช่วงเช้าได้เดินทางไปยังบริษัทเจียไต๋ จำกัด เรียกร้องให้บริษัทไม่ต่ออายุทะเบียนคลอร์ไพริฟอสและพาราควอต ทั้งนี้เครือข่ายเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขตได้มอบกระเช้าผักผลไม้อินทรีย์ให้กับ สมชาย เนาสราญ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทเจียไต๋ จำกัด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการส่งมอบอาหารที่ปลอดภัยเนื่องในวันอาหารโลก แล

"ผู้บริโภคต้องการอาหารปลอดภัย จึงอยากให้บริษัทได้อาหารปลอดภัย และผลิตอาหารปลอดภัยให้กับสังคม" อุบล กล่าวย้ำ

ในช่วงบ่ายเครือข่ายฯ ได้ไปยื่นจดหมายที่บริษัทซินเจนทา แต่ไม่มีผู้แทนจากบริษัทออกมารับจดหมาย

"เรามาเพื่อเรียกร้องจริยธรรมในการทำธุรกิจของบริษัทซินเจนทา ซึ่งเป็นบริษัทที่มีที่ตั้งอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ส่งพาราควอตมาขายในประเทศไทยทั้งที่ไม่ขายสารนี้ในสหภาพยุโรปมาเป็น 10 ปีแล้ว เราเรียกร้องความรับผิดชอบต่อสุขภาพของเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศไหนมีกฎหมายอ่อนแอก็เอาสารพิษอันตรายไปขายที่นั่น เราอยากเห็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบด้วย ด้วยเงื่อนไขที่ทะเบียนพาราควอตของซินเจนทาได้หมดอายุลงเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม จึงเรียกร้องให้ไม่มีการต่อทะเบียนเพื่อขายในประเทศไทยและภูมิภาคนี้ และเรารู้สึกผิดหวังที่ซินเจนทาไม่กล้าเผชิญหน้ากับคนไทยส่วนหนึ่งที่ตื่นรู้กับปัญหาสารเคมีอันตรายนี้ที่ตั้งใจมาพบ ทั้งๆที่ตอนประสานในครั้งแรกก็มีท่าทีที่จะมารับจดหมาย ถือว่าไม่มีความจริงใจ หลบเลี่ยงปัญหา และหาประโยชน์บนชีวิตคนไทยอย่างไม่รับผิดชอบ" อุบล กล่าว พร้อมระบุว่า หลังจากนี้เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงอาจพิจารณาหามาตรการเพื่อกดดันให้บริษัทที่เกี่ยวข้องยุติการขึ้นทะเบียนไปพร้อมๆกัน และเครือข่ายทั้งหมดจะเฝ้าติดตามการทำงานของกรมวิชาการเกษตร และคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อผลักดันให้สองหน่วยงานดังกล่าวยกเลิกทะเบียนและแบนสารเคมีทั้งสองชนิดดังกล่าวโดยเร็ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศปิดซีพีเฟรชมาร์ท-เซเว่นอีเลฟเว่น-ทรูช้อปทุกสาขา 26 ต.ค. นี้

Posted: 16 Oct 2017 04:51 AM PDT

เครือเจริญโภคภัณฑ์ประกาศปิดบริการชั่วคราว ร้านซีพีเฟรชมาร์ท ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านทรูช้อป ทุกสาขาทั่วประเทศในวันที่ 26 ต.ค. เพื่อร่วมถวายอาลัยในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

18 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ cp-enews.com รายงานว่า ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ก่อกำเนิดธุรกิจขึ้นบนผืนแผ่นดินไทยในใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร และในวาระแห่งความโศกเศร้าของแผ่นดินไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคนไทยในการรวมใจกันถวายความจงรักภักดีและถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเพื่อให้พนักงานได้ร่วมแสดงความอาลัย  ในช่วงเวลาพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

โดยการประกาศปิดบริการชั่วคราวในร้านซีพี เฟรชมาร์ททุกสาขาทั่วประเทศ ในวันที่ 26 ต.ค. 2560 ตั้งแต่เวลา 15.00 น. และจะเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 27 ต.ค. 2560 เวลา 6.00 น. ส่วนทรู ช้อป จะปิดให้บริการทุกสาขายกเว้นสาขาสนามบินในวันที่ 26 ต.ค. 2560 ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไปโดยจะ เปิดอีกครั้งในเวลาทำการของวันที่ 27 ต.ค. 2560 และสำหรับร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จะปิดให้บริการทุกสาขาทั่วประเทศในวันที่ 26 ต.ค. 2560 ตั้งแต่เวลา 14.30 น.จนถึง 24.00 น.
 
เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส ได้ประมวลการประกาศปิดชั่วคราวในวันที่ 26 ต.ค.นี้ ของธุรกิจอื่นๆ ไว้ ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน แจ้งปิดบริการ 1 วัน โรงภาพยนตร์ ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ทุกสาขา งดให้บริการ 1 วัน โดยเปิดบริการอีกครั้ง ในวันที่ 27 ต.ค. 2560
 
เทสโก้ โลตัส ทุกสาขาทั่วประเทศ ปิดบริการเวลา 14.00 น. ในวันที่ 26 ต.ค.2560 และเปิดบริการอีกครั้งวันที่ 27 ตุลาคม 2560 ส่วนเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส เปิดให้บริการเวลา 06.00 น. วันที่ 27 ต.ค. 2560 บริษัทซี อาร์ ซี ไทวัสดุ จำกัด (ไทวัสดุ โฮมเวิร์ค และบ้านแอนด์บียอนด์) ปิดสาขาทั่วประเทศ เปิดให้บริการอีกครั้ง วันศุกร์ที่ 27 ต.ค.2560 บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด รวมถึง อินเด็กซ์ เฟอร์นิเจอร์เซ็นเตอร์ ปิดให้บริการวันที่ 26 ต.ค. ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 14.00 น. และจะเปิดให้บริการในวันที่ 27 ต.ค.2560
 
บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ปิดบริการศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา และเซ็นทรัลเฟสติวัล ทั่วประเทศ วันที่ 26 ตุลาคม ตั้งแต่เวลา 15.00 น. ยกเว้นศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา สาขาพระราม 2 เปิดให้บริการปกติ เนื่องจากเป็นสถานที่จัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ของภาครัฐ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ปิดบริการทุกแห่งทั่วประเทศ 
 
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ปิดบริการเอไอเอส ช็อป และร้านเทเลวิซ ทั่วประเทศ ยกเว้น เอไอเอส ช็อป สาขาสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินสมุย สนามบินภูเก็ต และสนามบินกระบี่ เปิดให้บริการในวันที่ 27 ต.ค. 2560 บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ปิดบริการดีแทคทุกสาขาทั่วประเทศ วันที่ 26 ต.ค. ตั้งแต่เวลา 15.00 น.เปิดให้บริการในวันที่ 27 ต.ค. 2560
 
ทุกธนาคาร ปิดบริการวันที่ 26 ต.ค. ธนาคารทหารไทย (TMB) ปิดบริการทุกสาขาทั่วประเทศ แต่ ตู้ ATM และช่องทางอื่นๆ ยังให้บริการตามปกติ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประกาศหยุดทำการสำนักงาน และสาขาทั่วประเทศ พร้อมจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 89 รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ในวันที่ 27 ต.ค. 2560 ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ปิดทำการทุกสาขาทั่วประเทศ ยกเว้น ศูนย์บริการเดอะวิสดอม ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสำนักงานแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทุกแห่ง ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ ขณะเดียวกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารยูโอบี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮาส์และธนาคารทิสโก้ ปิดให้บริการทุกสาขาเช่นกัน
 
รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปิดการทำการซื้อขาย 1 วัน ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้วันที่ 26 ต.ค. 2560 สถาบันการเงินหยุดเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้พนักงานมีโอกาสเข้าร่วมพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ปิดตาขวา เปิดตาซ้าย

Posted: 16 Oct 2017 04:25 AM PDT



เอ็งว่าข้าเป็นซ้ายไร้เดียงสา
ข้าว่าเอ็งเป็นขวาน่าเสือกไส
ขวาชิดขอบหลืบเหลิบ เอ้า...เหยิบไป !
เว้นตรงกลางเอาไว้ซ้ายจะเดิน

ใดลือใดหนึ่งอ้าง เอามุม
เเสยะปากสำรากสุม ใส่ไคล้
อีกอวดโอ่ตีขลุม ขีดเบ่ง ธรรมนา
ใดนั่นแหละขวาไร้ ตรึกคิด คอยขวาง

ใดยืนใดหยัดสู้ ทุกทิศ
สาธยายถูกผิด ห่อนหยั้น
อีกเปิดบ่คิดปิด ปากคร่า ใครแฮ
ใดนั่นแลหากรั้น ก็ไร้เดียงสม

เลือดใครรดใครรินแผ่นดินนี้
จึงเกิดสิทธิเสรีประชาได้
เลือดใครร่วงใครหล่นบนธงชัย
ก็รู้ดีตำนานไพร่เซ่นธงรบ

เมื่อขวาคิดแบ่งฝ่ายซ้ายและขวา
ความชอบธรรมคือรักษาความสงบ
หรือโลดแล่นเสวงหาองคาพยพ
มาทวงศักดิ์แก่ศพผู้ไร้เสียง ?

 

หมายเหตุ: ด้วยแรงดาลใจจากกระแสวิพากษ์ในวงวรรณกรรมหลังปี 49 เป็นต้นมา เกี่ยวกับจุดยืนทางการเมืองของกวีและนักเขียนสองขั้วที่อาจแบ่งได้ลวกที่สุดว่าฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา รวมถึงจากบทสัมภาษณ์ของคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ทางไทยพีบีเอสที่เรียกนักเขียนและคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนปชต.ว่าซ้ายไร้เดียงสา

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปี 60 จำนวน รพ.สธ.ขาดสภาพคล่องลดลง หลัง สธ.-สปสช.ปรับกลไกจัดสรรงบ

Posted: 16 Oct 2017 01:37 AM PDT

ผู้ช่วยปลัด สธ. เผย ปี 60 รพ.สธ.ขาดสภาพคล่องลดฮวบ หลังคณะทำงาน สธ.-สปสช.ร่วมปรับกลไกจัดสรรงบสัมฤทธิ์ผล เผยจากปี 59 ช่วง 3 ไตรมาสแรก มี รพ.ขาดสภาพคล่องวิกฤตระดับ 7 ถึง 86 แห่ง ปี 60 ลดลงเหลือ 29 แห่ง

16 ต.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงจุดเน้นและประเด็นเการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ในปี 2561 ในการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมาว่า การจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว (งบ UC basic payment) ไปยังหน่วยบริการปี 2561 นี้ สธ.มีบทบาทมากขึ้น โดยคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารกองทุน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เปิดให้ สธ.เสนอกลไกการจัดสรรและปรับปรุงการกระจายงบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในหน่วยบริการภายใต้สังกัดเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา

โดยการจัดทำข้อเสนองบปี 2561 มาจากการทบทวนการจัดสรรงบประมาณ 3 ไตรมาสแรกของปี 2560 ทั้งงบผู้ป่วยนอก งบผู้ป่วยใน และงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่ได้มีการปรับปรุงโดยคณะทำงานร่วมกันระหว่าง สธ. และ สปสช.เพื่อแก้ไขปัญหาหน่วยบริการขาดสภาพคล่อง ภาพรวมส่วนใหญ่ยังคล้ายปี 2560 เพียงแต่ปรับปรุงในส่วนที่ยังเป็นปัญหา

ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า ในการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2560 กลไกสำคัญคือการกันเงินระดับประเทศและการกันเงินระดับเขตเพื่อช่วยเติมเต็มการบริหารให้กับหน่วยบริการ โดยกระจายตามความต้องการและผลงานบริการ ซึ่งจากที่คณะทำงานได้ประมาณการรายรับหน่วยบริการ พบว่าหน่วยบริการส่วนใหญ่ งบเหมาจ่ายรายหัวเป็นเพียงรายได้ส่วนหนึ่งของหน่วยบริการเท่านั้น ดังนั้นการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวคณะทำงานจึงเน้นให้ความสำคัญต่อหน่วยบริการที่เปราะบางทางการเงิน มีประชากรเบาบาง โดยรายรับส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับงบเหมาจ่ายรายหัว ทั้งนี้เพื่อให้งบประมาณลงไปเพียงพอและไม่ประสบปัญหาสภาพคล่องในปลายปี

หลักการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2560 งบผู้ป่วยนอกและงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้กำหนดการโอนงบประมาณแบ่งเป็น 2 งวด คือในไตรมาสที่ 1 และ 2 งวดละ 50% เพื่อให้หน่วยบริการมีงบเพียงพอในการบริหารจนถึงปลายปี ส่วนงบผู้ป่วยในกำหนดให้เบิกจ่ายตามผลงานบริการรายเดือน เมื่อสิ้นปี รพ.แต่ละแห่งจะได้งบเหมาจ่ายรายหัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 เมื่อเปรียบเทียบในปี 2559 คาดว่าในปี 2560 การจัดสรรงบเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2560อยู่ที่ 52,200 ล้านบาท ช่วง 3 ไตรมาส รพ.ได้รับงบแล้ว 47,428 ล้านบาท โดย รพ.ร้อยละ 91 มีรายรับงบเหมาจ่ายรายหัวที่เป็นไปตามตามเป้าคือ ร้อยละ 73 อย่างไรก็ตามยังมี รพ.อีก 27 แห่ง หรือร้อยละ 3 ที่ยังมีรายรับจากงบเหมาจ่ายรายหัวน้อยกว่าคาดการณ์    

พิทักษ์พล กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์ รพ.ที่ได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวน้อยกว่าคาดการณ์ พบกว่าใน 27 แห่ง มี รพ. 4 แห่ง ที่สภาพคล่องการเงินอยู่ในวิกฤตระดับ 7 ในจำนวนนี้มี 2 แห่งที่อยู่ในกลุ่ม รพ. 202 แห่งที่ประสบปัญหาสภาพคล่องในปี 2559 และเป็นเป็นเป้าหมายของปี 2560 เพื่อช่วยเหลือ ส่วนอีก 2 แห่งเป็นเป็น รพ.นอกกลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์สาเหตุหลักมาจากผลงานบริการการผู้ป่วยในต่ำกว่าคาดการณ์ เป็นเรื่องประสิทธิภาพหน่วยบริการ ทำให้รายรับจากงบเหมาจ่ายรายหัวที่ได้ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ โดย รพ.อีก 23 แห่ง แม้ว่ารายได้งบเหมาจ่ายจะต่ำกว่าคาดการณ์ แต่ไม่ประสบปัญหาสภาพคล่องวิกฤติระดับ 7 อาจมีรายรับจากสิทธิการรักษาอื่น การบริหารจัดการระดับเขต

อย่างไรก็ตามในปี 2560 นี้ รพ.ที่มีรายรับงบเหมาจ่ายเป็นไปตามที่คาดการณ์มีจำนวน 881 แห่ง จาก 908 แห่ง ในจำนวนนี้มีเพียง 25 แห่ง อยู่ในวิกฤตสภาพคล่องระดับ 7 ซึ่งกลไกจัดสรรเงินและการการันตีรายรับงบเหมาจ่ายยังไม่สามารถปกป้องให้สภาพคล่องให้ รพ.เหล่านี้ได้ แต่ภาพรวมการบริหารจัดสรรงบเหมาจ่ายปี 2560 ถือว่าประสบผลสำเร็จ เพราะเมื่อเปรียบเทียบข้อมูล รพ.ในแต่ละปีเป็นรายไตรมาสพบว่าจำนวน รพ.วิกฤตสภาพคล่องระดับ 7 ลดลงอย่างมาก โดยไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มี รพ.วิกฤตสภาพคล่องระดับ 7 จำนวน 74 แห่ง ปี 2560 มีเพียง 5 แห่ง, ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มี รพ.วิกฤตสภาพคล่องระดับ 7 จำนวน 4 แห่ง ปี 2560 มีเพียง 7 แห่ง และไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มี รพ.วิกฤตสภาพคล่องระดับ 7 จำนวน 86 แห่ง ปี 2560 ลดลงอยู่ที่ 29 แห่ง 

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ช่วงไตรมาส 3 พบว่า จำนวน รพ.29 แห่งที่ประสบวิกฤตสภาพคล่องระดับ 7 มีเพียง 6 แห่งที่อยู่ในกลุ่ม รพ. 202 แห่งที่เป็น รพ.เป้าหมายในการแก้ไขสภาพคล่อง และ 23แห่ง เป็น รพ.ที่อยู่นอกกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ตามในจำนวน รพ. 29 แห่งนี้ 3 แห่ง เป็นโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) 3 แห่ง และอีก 26 แห่งเป็น รพช. ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ รพ.เกิดสภาพคล่องวิกฤต นอกจากจำนวนประชากรน้อยและวิธีการจัดสรรงบประมาณแล้ว ยังพบปัญหาผลงานบริการผู้ป่วยในของ รพ.ต่ำกว่าเป้าหมาย การบริหารรายได้และค่าใช้จ่ายของของ รพ. และต้นทุนการดำเนินงาน รพ.ที่สูง

ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้นนี้ ในปี 2561 จะมีกลไกในการจัดสรรและดูแลหน่วยบริการที่ยังคงมีปัญหาวิกฤตสภาพคล่องอย่างไร โดยปี 2561 สป.สธ.ได้รับงบเหมาจ่าย 99,900 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2560 จำนวน 2,900 ล้านบาท โดยเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จ่ายเป็นเงินเดือน เงินที่เพิ่มเติมในระบบมีเพียง 495 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.81% ถือว่าน้อยมาก ซึ่งการจัดสรรยังคงหลักการเดียวกับปี 2560 โดยหักเงินในงบเหมาจ่ายรายหัว 4 รายการ คือ เงินจ่ายตามผลงานและคุณภาพบริการ (Quality and Outcome Framework : QOF) ในผู้ป่วยนอก 9 บาท/ผู้มีสิทธิ์ และส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค 9 บาท/ประชากร, การกันเงินระดับประเทศ 1.5% หรือ 1,500 ล้านบาท และการกันเงินระดับเขต 1,500 ล้านบาท รวมเป็นประมาณที่หักจากงบเหมาจ่ายรายหัว 7,000 ล้านบาท

ส่วนประเด็นเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบเหมาจ่าย ปี 2561 ได้ปรับกลุ่มเป้าหมายจัดสรรงบให้กับ รพ.ที่มีปัญหาสภาพคล่องจาก 202 แห่ง เป็น 216 แห่ง เป็นการเพิ่มเติม รพ.ขนาดเล็ก ประชากรน้อย โดยการจัดสรรเงินได้การันตีรายรับงบเหมาจ่ายหลังหักเงินเดือนให้กับ รพ.ที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย 100% และ รพ.กลุ่มทั่วไป 85% ซึ่งหลังหักเงินเดือนจะต้องมีรายรับไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท พร้อมให้อำนาจระดับเขตปรับเกลี่ยงบให้กับ รพ.ตามสภาพปัญหาในพื้นที่ ตามเงื่อนไขที่ส่วนกลางกำหนดและปรับตามน้ำหนักคะแนนเพื่อให้เกิดการดูแล รพ.กลุ่มเป้าหมายอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ยังได้กำหนดแผนการโอนงบประมาณโดยงวดที่ 1 จำนวน 3 ล้านบาทให้กับ รพ.ทุกแห่ง ไม่เกิน 31 ตุลาคม 2560 งวดที่ 2 โอนงบผู้ป่วยนอกและงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ร้อยละ 50 ภายในต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 และงวดที่ 3 โอนงบงบผู้ป่วยนอกและงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่เหลืออีกร้อยละ 50 ไม่เกิน31 มกราคม 2561 ทั้งนี้เพื่อให้ รพ.ได้รับงบประมาณรวดเร็ว และป้องกันปัญหาสภาพคล่องในช่วงปลายปี    

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลายองค์กรสหรัฐฯ ร่วมกันประท้วง 'ทรัมป์' ปรับกฎให้คนอ้างศาสนากีดกันสวัสดิการคุมกำเนิด

Posted: 16 Oct 2017 12:49 AM PDT

สื่อคอมมอนดรีมส์รายงานว่าองค์กรหลายแขนงไม่ว่าจะเป็นองค์กรผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) กลุ่มด้านสิทธิทางกฎหมาย และกลุ่มรณรงค์สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ พากันเดินขบวนประท้วงรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ที่หน้าทำเนียบขาวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากที่รัฐบาลพยายามอ้างศาสนาเป็นความชอบธรรมในการกีดกัน-จำกัดการเข้าถึงการคุมกำเนิดของผู้หญิง

ที่มาภาพจาก: Women's March

16 ต.ค. 2560 เมื่อไม่นานนี้ทรัมป์ตัดสินใจยกเลิกข้อกำกับของรัฐบาลกลางที่ระบุให้นายจ้างต้องมีประกันสุขภาพให้ลูกจ้างครอบคลุมถึงการคุมกำเนิด ทรัมป์ยกเลิกคำสั่งนี้โดยอ้างว่าเพื่อให้ธุรกิจที่ "มีเจตจำนงแรงกล้าด้านศีลธรรม" หรือ "มีความเชื่อทางศาสนาอย่างจริงใจ" ต่อต้านไม่ครอบคลุมการประกันสุขภาพด้านการคุมกำเนิดลูกจ้างได้

การที่ทรัมป์ยกเลิกข้อกำกับเดิมทำให้หลายกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านในเรื่องนี้ เช่น บริจิตต์ อามิรี ทนายความอาวุโสของสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) วิจารณ์ว่ารัฐบาลทรัมป์กำลังบีบบังคับให้ผู้หญิงต้องจ่ายให้กับความเชื่อทางศาสนาของเจ้านายพวกเธอ โดยที่ ACLU ยังประกาศฟ้องร้องต่อต้านคำสั่งชั่วคราวของรัฐบาลทรัมป์ที่ออกมาแทนด้วย

ทางด้านอิลิซ โฮกจ์ ประธานกลุ่มสนับสนุนทางเลือกในการคุมกำเนิดแห่งสหรัฐฯ NARAL วิจารณ์ว่าการยกเลิกข้อกำกับนี้แสดงให้เห็นถึงความกระเหี้ยนกระหือรือของทรัมป์ในการพยายามควบคุมผู้หญิงและฉกชิงสวัสดิการไปจากประชาชน

ถึงแม้ว่ารัฐบาลทรัมป์จะอ้างศาสนามาใช้ลดโอกาสสวัสดิการสุขภาพของผู้หญิง แต่ในกลุ่มที่ประท้วงเมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมาก็มีทั้งกลุ่มหมอและผู้นำทางศาสนารวมอยู่ด้วย พวกเขาร่วมกับฝูงชนที่ชุมนุมกันตะโกนว่า "ไม่ใช่โบสถ์ ไม่ใช่รัฐ แต่เป็นผู้หญิงที่ต้องตัดสินชะตากรรมของตัวเอง" และ "ร่างกายของพวกเรา ชีวิตของพวกเรา สิทธิในการตัดสินใจของพวกเรา!"

กลุ่มหลักๆ ที่จัดการประท้วงในครั้งนี้คือกลุ่มว่าด้วยสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์อย่างแพลนด์พาเรนฮูด องค์กรด้านกฎหมายอย่าง ACLU ศูนย์กฎหมายแห่งชาติเพื่อผู้หญิง องค์กร LGBTQ อย่างฮิวแมนไรท์แคมเปญ และองค์กรชื่อหน่วยเฉพาะกิจ LGBTQ กลุ่มศาสนาที่เข้าร่วมได้แก่คาทอลิกฟอร์ชอยส์ ซึ่งเป็นกลุ่มศาสนาที่เชื่อว่าชาวคาทอลิกควรสนับสนุน "สิทธิทางกฎหมายและทางศีลธรรมของผู้หญิงในการปฏิบัติตามจำสำนึกในเรื่องเพศวิถีและอนามัยเจริญพันธุ์ของพวกเธอเอง"

ผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ยังเผยแพร่ภาพการถือป้ายประท้วงพร้อมแฮชแท็กว่า #HandsOffMyBC และ #LicenseToDiscriminate ด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Rights Groups Join Forces to Fight Trump's #LicenseToDiscriminate, Common Dreams, 13-10-2017

'This Attack Is a New Low': Trump Blasted for Rolling Back Birth Control Mandate, Common Dreams, 06-10-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตือนแรงงานไทยไปไต้หวัน หลังจำกัดสิทธิ์ต่างชาติที่ฝืนกฎหมายเข้าประเทศ

Posted: 16 Oct 2017 12:48 AM PDT

กระทรวงแรงงานเตือนแรงงานไทยไปทำงานไต้หวัน ศึกษากฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของไต้หวันให้รอบคอบ ป้องกันการถูกจำกัดสิทธิ์ห้ามเข้าไต้หวัน

แรงงานไทยในไต้หวัน (แฟ้มภาพกระทรวงแรงงาน)

16 ต.ค. 2560 รายงานข่าวจากกรรมจัดหางาน แจ้งว่า วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของไต้หวันกำหนดจำกัดสิทธิ์ห้ามเข้าไต้หวันต่อแรงงานต่างชาติที่กระทำผิดกฎหมายในกรณีต่างๆ เช่น กรณีหลบหนีนายจ้างหรือลักลอบทำงานผิดกฎหมายจะถูกจำกัดสิทธิ์ห้ามเข้าไต้หวัน 3 ปี แต่หากกลับเข้าทำงานกับนายจ้างเดิมภายใน 1 เดือนและได้รับการยินยอมจากนายจ้างให้ทำงานต่อไป แรงงานต่างชาติมีสิทธิ์ยื่นถอนชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้หลบหนีกับกระทรวงแรงงานและสำนักตรวจคนเข้าเมืองไต้หวันได้โดยไม่ถูก Blacklist3 ปี กรณีพำนักในไต้หวันไม่เกิน 1 ปี ห้ามเข้าไต้หวัน 1 ปี พำนักเกิน 1 ปี ห้ามเข้าตามระยะเวลาที่พักเกินสูงสุดไม่เกิน 3 ปี ส่วนกรณีเป็นบุคคลที่เคยถูกดำเนินคดีต้องโทษ อาทิ ถูกศาลตัดสินจำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปห้ามเข้าไต้หวัน 8 ปี จำคุกน้อยกว่า 1 ปี ห้ามเข้า 5 ปี ถูกศาลตัดสินจำคุกในสถานกักกันหรือถูกโทษปรับแต่รอลงอาญา ห้ามเข้า 2 ปี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เสพยาเสพติดแล้วมีคำสั่งศาลให้รับการบำบัดจะถูกห้ามเข้า 5 ปี และเมื่ออัยการยืนยันแล้วว่าผู้เสพเป็นผู้ที่ไม่มีแนวโน้มจะเสพติดอีกและได้รับการยกฟ้องจะถูกห้ามเข้า 3 ปี

วรานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แรงงานไทยที่จะไปทำงานในไต้หวันควรศึกษากฎหมาย กฎระเบียบและข้อบังคับให้รอบคอบเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง จะได้ไม่ถูกจำกัดสิทธิ์ดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม ก่อนจะตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศต้องคำนวณรายรับ-รายจ่ายให้ดีว่าหากเดินทางไปทำงานแล้วจะคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เสียไปหรือไม่ และขอให้เดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะให้ระมัดระวังนายหน้าจัดหางานเถื่อน เพราะอาจถูกหลอกลวงต้องเสียเงินฟรีไม่มีงานให้ทำ หรือทำงานไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ และขอย้ำว่าการจะไปทำงานต่างประเทศจะต้องผ่านด่านตรวจคนหางาน และยื่นแบบแจ้งการเดินทางต่อเจ้าหน้าที่ก่อนทุกครั้ง หากผู้ใดไม่ผ่านด่านตรวจคนหางานถือว่าถูกหลอกแน่นอน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบยีนที่ทำให้สีผิวต่างกันมาตั้งแต่ก่อนการแบ่งแยกเชื้อชาติสีผิวแล้ว

Posted: 16 Oct 2017 12:16 AM PDT

ถึงแม้ว่าในสังคมมนุษย์ช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา สีผิวจะถูกโยงกับเรื่องเชื้อชาติ รวมถึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ใช้เหยียดเชื้อชาติสีผิวด้วย อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า กลุ่มยีนของมนุษย์ที่ส่งผลให้คนมีสีผิวต่างกันนั้นเกิดขึ้นในแอฟริกาตั้งแต่ก่อนการวิวัฒนาการ 300,000 ปีที่แล้วเสียอีก และมีหลายกลุ่มยีนที่กระจายข้ามพรมแดนทวีปไปทั่วโลก

ที่มาภาพจาก: pixabay

16 ต.ค. 2560 ซาราห์ เอ ทิชคอฟฟ์ เป็นนักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย เธอและเพื่อนร่วมงานเพิ่งเผยแพร่ผลงานวิจัยเกี่ยวกับพันธุกรรมมนุษย์และสีผิวเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา งานวิจัยของเธอสั่นคลอนความเชื่อเดิมๆ ของคนทั่วไปที่ว่าสีผิวนั้นเป็นสิ่งที่ใช้แบ่งแยกเชื้อชาติได้

"ถ้าคุณถามใครสักคนบนท้องถนนว่า 'อะไรคือความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ' พวกเขามักจะบอกว่าเป็นสีผิว" ทิชคอฟฟ์กล่าว แต่งานวิจัยของเธอซึ่งทำการสำรวจยีนสีผิวของผู้คนจำนวนมากในแอฟริกาแสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้น

นักวิจัยระบุว่าว่ามีกลุ่มยีนหรือจีโนมของมนุษย์ที่ทำให้สีผิวของคนคล้ำขึ้นหรือขาวขึ้น และจีโนมนี้ก็มีอยู่ในหลากเชื้อสายทั่วโลก เช่น จีโนมตัวหนึ่งทำให้คนผิวขาวขึ้นมีอยู่ทั้งในชาวยุโรปและในสังคมล่าสัตว์ที่บอตสวานา(ประเทศในแอฟริกาใต้) กลุ่มยีนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสีผิวเหล่านี้มีอยู่ในบรรพบุรุษของมนุษย์ตั้งแต่ก่อนหน้าการวิวัฒนาการในแอฟริกาเมื่อ 300,000 ปีที่แล้ว

ทิชคอฟฟ์กล่าวว่าการค้นพบนี้ทำให้ไม่สามารถอาศัยข้ออ้างทางชีววิทยามาแบ่งแยกคนด้วยเชื้อชาติได้อีกต่อไป

ในทางชีววิทยา สิ่งที่ทำให้สีผิวของคนต่างกันคือจำนวนและชนิดโมเลกุลของสารสี (pigment) ที่มีอยู่ในส่วนที่เรียกว่าเมลาโนโซม (melanosomes) ในเซลล์พิเศษของผิวหนัง

ทีมวิจัยของทิชคอฟฟ์ศึกษาเรื่องยีนที่ทำให้เกิดการสร้างสารสีเหล่านี้โดยพบว่าประชาชนที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวยุโรปจะมีการผ่าเหล่าของยีนที่เรียกว่า SLC24A5 ที่ทำให้เซลล์มีสารสีน้อยลงจนทำให้มีผิวสีซีดลง และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกถ้าชาวยุโรปแทบทั้งหมดจะมียีนนี้หรือยีนที่ใกล้เคียงกันนี้อยู่ในตัว

ทิชคอฟฟ์ผู้ศึกษาพันธุกรรมในแอฟริกามาเป็นเวลายาวนานพบว่าในแอฟริกามีผู้คนหลากหลายสีผิวมากเนื่องจากมีความหลากหลายทางพันธุกรรม พวกเธอศึกษากลุ่มตัวอย่าง 1,570 คน จากเอธิโอเปีย ทาร์ซาเนีย และบอตสวานา พบว่าความหลากหลายของพันธุกรรมมีส่วนร้อยละ 29 ในการทำให้สีผิวแตกต่างกันออกไป ในส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่เหลือยังศึกษาไม่พบว่าทำไม

การค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ยังนำมาสู่คำตอบที่ว่ายีนที่ทำให้สีผิวผู้คนแตกต่างกันเหล่านี้มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ พวกเขาพบว่ามันย้อนยุคไปได้ไกลมาก เช่น ยีนจำพวกที่ทำให้เกิดสีผิวที่ขวากว่าที่พบทั้งในชาวยุโรปและบอตสวานาค้นย้อนไปได้ไกลถึง 900,000 ปีที่แล้ว ก่อนกำเนิดสปีชีส์มนุษย์ปัจจุบันอย่างโฮโม เซเปียนส์เสียอีก 

ในยุคนั้นก็มียีนผิวขาวกว่าและผิวดำกว่าปะปนกันไปจนทำให้เกิดกลุ่มยีนที่หลากหลาย นั่นรวมถึงกลุ่มมนุษย์นีแอนเดอทาลที่สูญพันธ์ไปราว 40,000 ปีแล้ว โดยที่ช่วงหนึ่งนีแอนเดอทาลเคยแบ่งแยกตัวเองเดินทางออกไปทางยุโรปและเอเชียตะวันออกทำให้เกิดการผสมข้ามพันธ์กับโฮโม เซเปียนส์ ทำให้มนุษย์ปัจจุบันยังคงมีดีเอ็นเอของนีแอนเดอทาล รวมถึงกลุ่มยีนที่กำหนดสีผิวด้วย ทำให้นักวิจัยสรุปได้อีกว่านีแอนเดอทาลก็มีสีผิวหลายแบบเช่นกัน

แน่นอนว่าสีผิวของผู้คนก็มีหลายแบบไม่ว่าจะเป็นผิวสีน้ำตาลแบบเอเชียใต้ ออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี สีซีดตกกระแบบไอร์แลนด์ นักวิจัยสงสัยว่าปริมาณแสงแดดในแต่ละพื้นที่ก็มีผลกับการปรับสีผิวของคน เช่นคนคล้ำกว่าผิวจะป้องกันแสงอัลตราไวโอเล็ตได้ดีแต่คนที่อยู่ในที่แดดน้อยมีผิวขาวกว่าเพื่อให้รับวิตามินดีจากแสงอาทิตย์ได้มากพอ

แต่ทว่าถึงแม้หลักฐานด้านพันธุกรรมจะสนับสนุนทฤษฎีข้างต้น แต่ก็มีความซับซ้อนบางอย่างอยู่เหมือนกัน ตรงที่คนบางพื้นที่ไม่ได้มีสีผิวตามสภาพภูมิอากาศแต่เป็นไปตามยีนของบรรพบุรุษพวกเขาที่มาจากที่อื่น ขณะเดียวกันคนผิวขาวซึ่งจัดเป็นแค่กลุ่มหนึ่งในพื้นที่เอเชียกับยุโรปก็มีบรรพบุรุษมาจากแอฟริกาเหมือนกันแต่ก็มียีนบางส่วนที่ทำให้ผิวขาวกว่า เป็นไปได้ว่ามาจากการผสมข้ามพันธ์กับมนุษย์นีแอนเดอทาลทำให้ได้ยีนสีผิวจากนีแอนเดอทาลมาด้วย

กลุ่มยีนบางประเภทอย่าง SLC24A5 ที่ปรากฏมากในยุโรปเพื่งมีขึ้นเมื่อราวปี 29,000 ที่ผ่านมา และกระจายตัวไปทั่วเมื่อราวไม่กี่พันปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งกลุ่มยีนนี้ไม่มีเพียงแค่ในยุโรปเท่านั้นยังปรากฏในประชากรผิวขาวกว่าในแอฟริกาที่น่าจะมาจากการอพยพของชาวนาในเอเชียตะวันตกเข้าสู่แอฟริกาตะวันออกและมีการแต่งงานข้ามรุ่นกันหลายรุ่นจนกลุ่มยีนนี้เริ่มแพร่หลาย

นีนา ยาบลอนสกี ผู้เชี่ยวชาญด้านสีผิวจจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตทกล่าวว่างานวิจัยชิ้นนี้ "ทำให้เกิดความชื่นชมในการผสมผสานของพันธุกรรมที่มีการแลกเปลี่ยนไปมาตลอดในช่วงตลอดระยะเวลาการวิวัฒนาการของมนุษย์"

 

เรียบเรียงจาก

Genes for Skin Color Rebut Dated Notions of Race, Researchers Say, New York Times, 12-10-2017

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ความแปลกหน้าของมุสลิม

Posted: 15 Oct 2017 11:26 PM PDT



ความรู้เกี่ยวกับโรฮิงญาของผมทั้งคลุมเครือ และกะพร่องกะแพร่งเสียจนไม่อาจพูดถึงเขาได้เลย รู้อย่างเดียวว่า โศกนาฏกรรมของมนุษย์ที่ใหญ่ขนาดนี้ ไม่น่าจะเงียบหายไปเฉยๆ ได้ เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นในระหว่างสงครามทั้งเย็นหรือร้อน ไม่ได้เกิดท่ามกลางความขัดแย้งใหญ่อื่นใดในโลก สองอย่างนี้อาจบดบังโศกนาฏกรรมใหญ่ๆ ของมนุษย์อย่างที่เคยบดบังมาแล้วหลายหน ด้วยเหตุดังนั้น ฉากของโศกนาฏกรรมครั้งนี้จึงตกอยู่ในลานบ้านของพม่าโดยตรง พม่าไม่อาจปิดบ้านได้อย่างแต่ก่อน ด้วยเหตุดังนั้น ท่าทีเฉยชาไม่ไยดีของพม่าคงไม่ช่วยให้รัฐบาลพลเรือนพม่ารอดตัวไปได้ในโลกภายนอก

ผมเข้าใจดีว่า รัฐบาลพลเรือนพม่ากำลังไต่ลวดเพื่อรักษาประชาธิปไตยให้รอด จึงหลีกเลี่ยงเงื่อนไขที่จะทำให้กองทัพกลับเข้ามายึดอำนาจอีก แต่ในการไต่ลวด อันตรายย่อมมีทั้งสองด้าน ปราศจากแรงหนุนอย่างแข็งขันของต่างชาติ กองทัพก็ยิ่งมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน และอาจยึดอำนาจได้โดยไม่ต้องเกรงนานาชาติลงทัณฑ์เหมือนกัน

ชะตากรรมอันเลวร้ายที่ชาวโรฮิงญาประสบอยู่ ทำให้ผมอดคิดถึงชาวมุสลิมในโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์ไปแล้วไม่ได้ ไม่เฉพาะแต่ในพม่า แต่มุสลิมในสังคมอื่นๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ใช่มุสลิม ล้วนประสบกับการถูกหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเลือกปฏิบัติ และการแสดงความรังเกียจอย่างไร้อารยะในเกือบทุกสังคม

รวมทั้งในประเทศไทยด้วย

ผมได้ยินคนไทยมักพูดถึงความรุนแรงที่เกิดในสามจังหวัดภาคใต้ ว่ามาจากความแตกต่างทางศาสนา ยิ่งหากเป็นเสียงจากรัฐไทยแล้ว ยิ่งเน้นเรื่องนี้มากและพยายามโฆษณาว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนา ได้รับความเคารพอย่างสมบูรณ์ในประเทศไทย ทั้งในทางกฎหมายและการปฏิบัติ

ผมไม่ทราบหรอกว่า ผู้พูดเชื่อสิ่งที่ตัวพูดหรือไม่ ผมอยากเตือนแต่เพียงว่า ศาสนาอิสลามกับศาสนาคริสต์มีรากอันเดียวกัน ทั้งคัมภีร์และบัญญัติทางศาสนาก็ละม้ายกันมาก เหตุใดชาวคริสต์จึงไม่ถูกรังเกียจหรือกลั่นแกล้งในสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์เหมือนมุสลิม นอกจากนี้ เกือบทั้งโลก (ยกเว้นยุโรปในบางกรณี) ชาวมุสลิมและคนศาสนาอื่นเคยอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุข ไม่เฉพาะแต่ในไทยเท่านั้น แต่รวมถึงในอินเดีย, ในจีน, หรือในบางชุมชนของแอฟริกาด้วย แม้แต่ชาวยุโรปเอง ที่รบก็รบกันไป แต่ก็มีพ่อค้ายุโรปเดินเรือไปค้าขายกับชาวมุสลิมในตะวันออกกลางเป็นปรกติ

ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงอยากสรุปในเบื้องต้นว่า อคติที่ชาวโลกมีต่อมุสลิมเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นหลังสงครามเย็นนี้เอง (ในระหว่างสงครามเย็น อเมริกัน-อังกฤษ-ฝรั่งเศส อาจไม่ชอบนัสเซอร์แห่งอียิปต์, กัดดาฟีแห่งลิเบีย, ฯลฯ แต่ที่ไม่ชอบก็เพราะนโยบายของเขา ไม่เกี่ยวกับที่เขาเป็นมุสลิมแต่อย่างใด)

ผมจึงเชื่อว่า อคติที่คนจำนวนมากในปัจจุบันมีต่อมุสลิมนั้น ไม่ได้มาจากหลักธรรมคำสอนของศาสนาอิสลาม ผมคิดว่ามาจากความเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ในโลก โดยเฉพาะโลกตะวันตก มีแนวคิดเกี่ยวกับศาสนาต่างออกไปจากเดิม

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ที่เราแปล religion ว่าศาสนานั้น เป็นการเอาศัพท์บาลีมาใช้ให้ผิดความหมายไป เพราะ "สาสนา" ในภาษาบาลีแปลว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น คำว่า "พระศาสนา" ที่คนไทยโบราณใช้แปลว่า Buddhism (Theravadin School) จะเรียกคำสอนของพระเยซู หรือพระมะหะหมัดว่า "ศาสนา" ไม่ได้ แม้แต่จะเรียกพุทธศาสนามหายานหรือวัชรยานว่าศาสนาก็ยังไม่ได้ด้วยซ้ำ

ไม่แต่เฉพาะภาษาไทยนะครับ ภาษาทั้งโลกไม่มีคำที่จะแปล religion ตามความหมายปัจจุบันได้ทั้งนั้น รวมทั้งภาษาฝรั่งเองด้วย คำละตินที่ฝรั่งเศสและอังกฤษแปลงมาใช้นี้แต่เดิมแปลว่าข้อผูกมัดหรือข้อบังคับควบคุมของพระเจ้า และผมเข้าใจว่าพระเจ้าองค์นั้นต้องชื่อพระยะโฮวาห์ด้วย จะมีชื่ออื่น เช่น อัลเลาะห์หรือวิษณุหรืออมิตาภะไม่ได้

คำ RELIGION ในความหมายที่ใช้ในปัจจุบันเพิ่งเกิดขึ้น เมื่อชาวยุโรปแยกส่วนที่เป็นความเชื่อ, พิธีกรรม และการจัดองค์กรสงฆ์ออกไปจากวิถีชีวิตและการจัดองค์กรของฆราวาส ก่อนหน้านี้ แม่มดหมอผีของยุโรปไม่ได้นับถือ "ศาสนา" ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นชาวคริสต์ที่ย่อหย่อน หรือเป็นสาวกซาตานที่ต่อต้านพระคริสต์ พวกเขาอยู่นอก "ชุมชน", นอกสังคม, หรือนอกโลกของความเป็นมนุษย์ ต้องเอาเขากลับเข้ามา หรือเผาเขาทิ้งเสียเท่านั้น

และโลกที่จะนำแม่มดหมอผีกลับเข้ามานั้น ไม่ใช่เพียงความเชื่ออย่างเดียว แต่รวมถึงวิถีชีวิตของคริสเตียน พิธีกรรมที่ชาวคริสต์ปฏิบัติ รวมถึงเข้ามาอยู่ในองค์กรทางสังคมที่เป็นของชาวคริสต์ด้วย เช่น แต่งงานกันเบื้องหน้าพระเจ้า มีลูกก็ต้องรับศีลล้างบาป (ซึ่งส่วนหนึ่งคือการลงทะเบียนสมาชิกใหม่ไว้กับโบสถ์ ซึ่งเป็นองค์กรทางสังคมที่จำเป็น) เหมือนเป็นชาวพุทธไทยที่ไม่รู้จักวันศีลวันโกน ไม่ฟังเทศน์มหาชาติ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดองค์กรทางสังคมด้วย) แม้เชื่อพระนิพพานเหมือนกัน ก็กลายเป็นคนนอกรีตหรืออาจเป็นผีปอบ ไม่มีที่อยู่ในชุมชนมนุษย์อีกต่อไป

กลับไปดูคัมภีร์ศาสนาต่างๆ นับตั้งแต่ทัลมุด (TALMUD) ของยิว และ "ศาสตร์" ต่างๆ ของพราหมณ์ลงมาถึงพระไตรปิฎก, ไบเบิล, กุรอ่าน ฯลฯ ก็จะพบว่า ล้วนไม่ได้แยกลัทธิความเชื่อออกไปจากวัตรปฏิบัติในชีวิตประจำวันของศาสนิก ระบบปกครอง ไปจนถึงสถาปัตยกรรมและความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติ (ซึ่งปัจจุบันถูกแยกออกไปเป็นวิทยาศาสตร์ อันเป็นวิชาที่อ้างหน้าตายว่าไม่เกี่ยวอะไรกับความเชื่อทั้งสิ้น)

ความคิดว่ามีความเชื่อเกี่ยวกับโลกนี้โลกหน้า, ศีลธรรมทางศาสนา, พิธีกรรม ฯลฯ ที่แยกออกไปจากวิถีชีวิตปรกติ และเรียกว่าศาสนา เป็นความคิดใหม่ที่เกิดในยุโรปตะวันตกก่อน ฝรั่งเรียกว่า secularism หมายความว่าแยกเอาส่วนใหญ่ของวิถีชีวิตเข้ามาอยู่ในฆราวาสวิสัย ไม่เฉพาะแต่การบริหารรัฐอย่างเดียว แต่รวมถึงการกินการนอนการเรียนและการงานของแต่ละคนด้วย ศาสนาเป็นเรื่องของจิตใจแต่ละคน จะไปบังคับกันไม่ได้

สังเกตด้วยนะครับว่า ความคิดอย่างนี้เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีหาความรู้และเข้าใจความรู้ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง และเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่เชื่อและให้ความสำคัญแก่ปัจเจกบุคคลอีกอย่างหนึ่ง และด้วยเหตุดังนั้น ผู้คนในโลกที่ไม่ได้ผ่านประสบการณ์มาอย่างเดียวกับชาวยุโรปตะวันตก จึงไม่อาจมองโลกจากมุมของฆราวาสวิสัยได้เหมือนพวกเขา อะไรที่ถูก secularized หรือทำให้อยู่ในฆราวาสวิสัย เช่น การศึกษาแผนใหม่ซึ่งคนอื่นๆ ในโลกรับเอาแบบอย่างของฝรั่งไปใช้ ก็ไม่เป็นฆราวาสวิสัยได้เท่ากับการศึกษาในโลกตะวันตก (เช่น การสอนวิชาศีลธรรมในโรงเรียนไทย เป็นต้น)

(อาจยกเว้นประเทศที่เป็นหรือเคยเป็นคอมมิวนิสต์กระมัง เพราะลัทธิมาร์กซ์ช่วยขจัดมุมมองทางศาสนาออกไปจากความรู้ความเข้าใจโลก แรงกว่าวิทยาศาสตร์เสียอีก แต่ผมก็ไม่แน่ใจครับว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ จะมีประสิทธิภาพถึงขนาดนั้นจริง)

แม้กระนั้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อจักรวรรดินิยมตะวันตกขยายเข้าครอบงำเอเชีย ก็ทำให้ทุกศาสนาในสังคมเอเชียอาศัยฐานทางศาสนาของตนในการปรับตัว ด้วยจุดมุ่งหมายให้เกิดความเข้มแข็งในด้านต่างๆ ทั้งการทหาร, เศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรม ทัดเทียมกับสังคมตะวันตก

ขอให้สังเกตด้วยว่า ทำไมต้องอาศัยฐานทางศาสนาเป็นจุดเริ่มต้น เหตุผลไม่ใช่เพราะคนเอเชียเคร่งศาสนามากกว่าคนยุโรป แต่เพราะอย่างที่พูดมาแต่ต้นแล้วว่า ศาสนากับทุกด้านของวิถีชีวิตแยกออกจากกันไม่ได้ (เหมือนกับที่สังคมยุโรปก็เคยเป็นก่อนความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในศตวรรษที่ 17-18) ฉะนั้น ไม่ว่าจะปรับอะไรก็ไม่พ้นพ้องพานกับศาสนาไปทุกที

และด้วยเหตุดังนั้นฮินดู, อิสลาม, พุทธ และขงจื๊อจึงถูกปรับเปลี่ยนด้วยอิทธิพลวิทยาศาสตร์และปัจเจกชนนิยมในทุกสังคม มากบ้างน้อยบ้างทั้งสิ้น หมายความว่าศาสนาถูกแยกออกไปจากวิถีชีวิตปรกติของคนเอเชีย แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้ชีวิตอยู่ในแดนฆราวาสวิสัยเต็มที่เท่าฝรั่ง มีความลักลั่นในวิธีคิด บางครั้งก็เห็นศาสนาเป็นเรื่องส่วนตั๊วส่วนตัว บางครั้งก็ไม่ยอมให้เป็นส่วนตัวขนาดนั้น

อันที่จริง กว่าศาสนาในยุโรปจะถูกแยกออกไปจากวิถีชีวิตฆราวาสได้ขนาดนั้น ก็ต้องใช้เวลาเป็นศตวรรษ ดังนั้น จึงจะคาดหวังให้คนเอเชียปรับเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับศาสนาให้เหมือนยุโรปได้ในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะศาสนาในสังคมโบราณทั้งหลายสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับความจำเป็นในการดำรงชีวิตหลายอย่าง (มากกว่าแค่ตายแล้วไปไหน) ยกตัวอย่างในยุโรป หากไม่มีรัฐสมัยใหม่เข้ามาทำสำมะโนครัวแทนวัด ซึ่งเคยเป็นผู้จดทะเบียนคนเกิด คนตาย คนแต่งงาน ฯลฯ มาก่อน จะเอาตัวเลขอะไรไปเก็บภาษี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอาศัยวัดเป็นคนทำให้บางส่วน

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กว่าที่ยุโรปจะสามารถแยกศาสนาออกไปจากส่วนใหญ่ของชีวิตได้ ก็ต้องมีสถาบันทางการเมือง, สังคม และเศรษฐกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง ที่อาจเข้ามาทำหน้าที่แทนศาสนา สถาบันใหม่ๆ เหล่านี้ยังไม่เกิดในเอเชีย นอกจากผิวสีของนายที่เปลี่ยนเป็นขาวเท่านั้น

ในอินเดีย ระบบวรรณะไม่ได้เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรและแรงงานในชุมชนด้วย จู่ๆ จะให้เลิกระบบวรรณะโดยไม่ได้สร้างตลาดงานที่เปิดกว้างแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน คงมีคนอดตายเป็นล้าน ส่วนบ้านของเศรษฐีที่อยู่ในวรรณะพราหมณ์หรือกษัตริย์คงเหม็นขี้น่าดู เพราะไม่มีจัณฑาลเลี้ยงหมาไว้ทำความสะอาดบริเวณที่จัดไว้ให้ขี้ของหมู่บ้าน เพราะครอบครัวจัณฑาลไม่ได้รับแบ่งข้าวจากคนอื่นในหมู่บ้านอีก จึงอดตายไปหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว นอกจากนายเปลี่ยนสีผิวแล้ว สังคมและเศรษฐกิจเอเชียก็เปลี่ยนไปด้วย ถึงไม่ได้สมาทานลัทธิปัจเจกชนนิยมเต็มที่ แต่ผู้คนก็หลุดออกจากพันธนาการของประเพณี, ครอบครัวและตระกูล, วัด และชุมชนมากขึ้นทุกที ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความรู้สมัยใหม่ที่วางอยู่บนรากฐานการเข้าใจโลกแบบวิทยาศาสตร์ เพื่ออาจทำมาหากินในเศรษฐกิจสมัยใหม่ได้ ศาสนาตามความหมายสมัยใหม่ คือเป็นอีก "ห้อง" หนึ่งของชีวิตที่อาจแยกออกเป็นหลายห้องได้เท่านั้น จึงกลายเป็นความเข้าใจของชาวเอเชียไปด้วย

ด้วยเหตุดังนั้น "ศาสนา" ในความเข้าใจของคนสมัยใหม่ในเอเชีย จึงหดแคบลงเหลือแต่เพียงแก่นแท้ของคำสอนทางอภิปรัชญา ไม่รวมพิธีกรรม, นักบวช, อิทธิปาฏิหาริย์, อารมณ์ความรู้สึกหรือแรงศรัทธา, ผีสางนางไม้, ฯลฯ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เข้าใจได้ไม่ยากนะครับ เพราะสิ่งเหล่านั้นคือสะพานที่เชื่อม "ศาสนา" เข้ากับวิถีชีวิตส่วนอื่นๆ ของคนในสังคมโบราณ (เช่น เณรพลายแก้วได้เมียเพราะขึ้นเทศน์มหาชาติ) เมื่อศาสนาไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงถึงชีวิตส่วนอื่นแล้ว บริวารวัตถุของศาสนาเหล่านั้นก็หมดหน้าที่ไปด้วย

ทั้งหมดนี้ นำเรามาสู่ข้อสังเกตสำคัญอย่างหนึ่งคือ ในบรรดาศาสนาของเอเชียทั้งหมด (ไม่เว้นแม้แต่ศาสนาผี) ต่างก็ปรับเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นเพียงส่วนเดียวหรือห้องเดียวในชีวิตของผู้คน ยกเว้นแต่ศาสนาอิสลาม



ดังที่กล่าวแล้วว่า มุสลิมเคยอยู่ร่วมกับคนศาสนาอื่น หรือคนศาสนาอื่นเคยอยู่ร่วมกับมุสลิม มาด้วยความสงบสุขเกือบตลอดประวัติศาสตร์ แต่พอถึงศตวรรษที่ 20 มุสลิมกับคนในศาสนาอื่นกลับอยู่ร่วมกันได้ยากขึ้น บางครั้งถึงกับฆ่าฟันกันล้มตายเป็นหลายแสน จนต้องพากันอพยพโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในที่ใหม่ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่ร่วมศาสนากับตน

หนึ่งในคำอธิบายที่ได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ ก็คือ ความแตกแยกอย่างรุนแรงเช่นนี้เป็นผลมาจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ซึ่งก็จริงส่วนหนึ่งแน่ เพราะความบาดหมางอย่างรุนแรงเช่นนี้พบได้ในอาณานิคมหลายแห่ง นับตั้งแต่อิสราเอล-ปาเลสไตน์ในตะวันออกกลางถึงอินเดีย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ก็พบได้ในดินแดนที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมโดยตรงของตะวันตกด้วย

ผมพบว่าความบาดหมางที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากนโยบายของจักรวรรดินิยมโดยตรงนี้น่าสนใจ และขอพูดถึงบางกรณี

มุสลิมในแคว้นซินเกียงของจีนหรือที่เราเรียกว่าชาวอุยกูร์เป็นตัวอย่างหนึ่ง อันที่จริงจีนมีอิทธิพลครอบงำแคว้นนี้มานานแล้ว แต่ในทางปฏิบัติไม่ค่อยมีผลอะไรนัก เพราะไม่มีการอพยพใหญ่ของจีนฮั่นเข้ามาตั้งภูมิลำเนาจำนวนมากในซินเกียง รัฐบาลคอมมิวนิสต์เองต่างหากที่สนับสนุนให้ชาวฮั่นอพยพโยกย้ายเข้าไปอยู่ในซินเกียง จนบัดนี้กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของแคว้นไปแทนชาวอุยกูร์แล้ว

การเปลี่ยนทางเศรษฐกิจเข้าสู่เศรษฐกิจตลาด ทำให้การแย่งชิงทรัพยากรเป็นไปอย่างเข้มข้นระหว่างคนสองชาติพันธุ์ ทั้งทรัพยากรใหม่ที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจตลาด และทรัพยากรที่มีอยู่เดิมแต่ถูกเปลี่ยนวิธีการใช้ประโยชน์

ความขัดแย้งด้านทรัพยากรถูกแปรให้ออกมาในรูปของความขัดแย้งด้านศาสนาและชาติพันธุ์ เพราะศาสนาและชาติพันธุ์เป็นอาวุธทางอัตลักษณ์อันเดียวที่ชนส่วนน้อยซึ่งกำลังสูญเสียสิทธิที่เคยมีมาแต่เดิมใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ได้ดี นี่ไม่ได้พูดเฉพาะเมืองจีนแห่งเดียว เมืองไทยก็ใช่ และฟิลิปปินส์ก็ใช่

เบื้องหลังความขัดแย้งระหว่างมุสลิมกับคนในศาสนาอื่นหลายกรณี ไม่เกี่ยวอะไรกับศาสนา อย่างน้อยก็ไม่เกี่ยวโดยตรง แต่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ ซึ่งกระทบต่อทุกฝ่ายมากน้อยต่างกัน

อีกเหตุหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ที่ทำให้มุสลิมกับคนศาสนาอื่นอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ยาก ก็คือการสร้างเส้นพรมแดนทางศาสนาให้ชัดขึ้น

ศาสนาในโลกตะวันออกไม่มีพรมแดนที่ชัดเจนนัก มุสลิมในอินเดียซึ่งที่จริงคือคนที่เคยเป็นฮินดูมาก่อน แต่มาเปลี่ยนศาสนาภายหลัง อาจไม่รู้สึกเลยว่าตัวเปลี่ยน "ศาสนา" เพราะแม้ในศาสนาฮินดูเอง ก็มีความแตกต่างเหลื่อมกันระหว่างฮินดูที่นับถือพระศิวะ, พระวิษณุ, พระคเณศ, ฯลฯ ไปจนถึงหนุมาน หรือแม้แต่ทศกัณฐ์ แม้แต่ถือพุทธก็ยังจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "ศาสนา" เดียวกัน ดังนั้น การเข้ารีตนับถืออิสลาม ก็เป็นเพียงแต่มีพิธีกรรมและวิถีชีวิตบางอย่างที่แตกต่างจากลัทธิอื่นๆ ในอินเดียเท่านั้น การไม่กินหมู ไม่ทำให้มุสลิมแตกต่างจากฮินดู ซึ่งมีตั้งแต่เป็นมังสวิรัติ หรืออย่างน้อยก็ไม่กินสัตว์ใหญ่

มุสลิมในอินเดียยังใช้ระบบวรรณะเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตของตน เช่น เป็นมุสลิมด้วยกัน แต่ไม่มีวันแต่งงานข้ามวรรณะกันเป็นอันขาด

ผมคิดว่าการเปลี่ยน "ศาสนา" ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ก็น่าจะเหมือนกัน คือกระทบต่อชีวิตของประชาชนไม่สู้จะมากนัก วัฒนธรรมด้านจิตวิญญาณของชวาก็ยังอยู่กับมุสลิมชวาสืบมาจนทุกวันนี้ เพียงแต่การเข้าถึงสุญญตากลายมาเป็นเข้าถึงพระเจ้าแทนเท่านั้น

นักศึกษาตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ต่างหากที่เห็นว่าการเปลี่ยนศาสนาในภูมิภาคนี้เป็นเรื่องใหญ่ ประชาชนชาวบ้านทั่วไปรู้สึกแต่ว่าตัวลื่นไหลไปสู่พื้นที่ต่างๆ อย่างไม่รู้สึกตัวเลยด้วยซ้ำ

ในภาคใต้ของไทยไปจนถึงตอนเหนือของมาเลเซีย การผสมกลมกลืนกันทางวัฒนธรรมระหว่างมุสลิมและพุทธ กลายเป็นลักษณะพิเศษทางวัฒนธรรมของคนแถบนั้น ชาวพุทธรับเอาประเพณีและคำมลายูมาใช้โดยไม่รู้สึกผิดแปลกอะไร เช่นเดียวกับชาวมุสลิมมลายูก็รับเอาทั้งประเพณีและคำไทยไปใช้โดยไม่รู้สึกอะไรเหมือนกัน

แต่การลื่นไหลในพื้นที่ซึ่งถูกเรียกในภายหลังว่า "ศาสนา" นี้ มาสิ้นสุดลงเมื่อมิชชันนารีฝรั่งเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์เพิ่มมากขึ้น เพราะมิชชันนารีนำประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในยุโรปมาเผยแพร่ปลูกฝังคนตะวันออก ทั้งคนที่ยอมเปลี่ยนเป็นคริสเตียน และคนอื่นๆ โดยทั่วไปด้วย นั่นคือจำเป็นต้องขีดเส้นแบ่งความเชื่อของตนเองกับของผู้อื่นให้ชัด เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มที่เป็นคาทอลิก กับกลุ่มที่ประท้วงต่อต้านคาทอลิก สองกลุ่มนี้นับถือพระเจ้าองค์เดียวกัน ยึดถือคัมภีร์เล่มเดียวกัน ซ้ำยังรับเอาพิธีกรรมเก่าหลายอย่างมาปฏิบัติเหมือนกันอีกด้วย แตกต่างกันที่ "นักบวช" เท่านั้น จึงจำเป็นต้องขีดเส้นความเชื่อของตนให้ชัดว่าแค่ไหนเป็นคาทอลิก แค่ไหนไม่ใช่

คนในโลกตะวันออกไม่รู้จะขีดเส้นอย่างนี้ไปทำไม แต่เมื่อศาสนาที่มีเส้นพรมแดนแบบคริสต์เผยแผ่ในเอเชีย ย่อมเกิดเส้นพรมแดนระหว่างศาสนาพื้นเมืองกับศาสนาคริสต์ขึ้นโดยปริยาย และเพื่อจะปกป้องตนเองมิให้ถูกคริสเตียนครอบงำ นักปราชญ์ของศาสนาพื้นเมืองทั้งหลายก็ต้องพัฒนาเส้นพรมแดนในศาสนาของตัวขึ้นด้วย พื้นที่ความเชื่อทางศาสนาที่คนเคยลื่นไหลได้อย่างเสรี ก็เริ่มชนกับเส้นพรมแดนนี้ เริ่มมองเห็นว่ามีคนอยู่อีกฟากหนึ่ง และเริ่มเหม็นขี้หน้าของคนอีกฟากหนึ่งด้วยความไม่ไว้วางใจ

ในขณะที่ศาสนากลายเป็นก้อน ที่ไม่อาจกลืนเข้าหากันได้อย่างในอดีต นักปราชญ์ของศาสนาต่างๆ ในเอเชีย ก็พยายามรื้อฟื้นคำสอนของศาสดาขึ้นใหม่ให้มีพลังที่จะเผชิญกับคริสต์ศาสนา อันที่จริงหากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ นักปราชญ์เอเชียทำอย่างนี้ตลอดมาก่อนหน้าที่มิชชันนารีจะเผยแผ่ศาสนาคริสต์อย่างกว้างขวางด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาอะไร ที่จะดำรงอยู่สืบเนื่องมาเป็นพันๆ ปีถึงปัจจุบันได้ ก็เพราะมีนักปราชญ์คอยตีความคำสอนให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่เสมอ

แต่การรื้อฟื้นศาสนาในเอเชียช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาจแตกต่างจากการกระทำอย่างเดียวกันในอดีต ตรงที่ว่า ต่างก็อาศัยกรอบโครงของการตีความที่มีในศาสนาของตะวันตกเป็นบรรทัดฐาน นักปราชญ์ฮินดูพบว่าเทคโนโลยีที่มีฐานอยู่บนวิทยาศาสตร์นั้น มีมาแล้วตั้งแต่ในคัมภีร์พระเวท เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ผู้แต่งกิจจานุกิจบอกว่ากำเนิดโลกในคติของพระพุทธศาสนา ตรงกับวิทยาศาสตร์เสียยิ่งกว่าทฤษฎีพระเจ้าสร้างโลกของคริสเตียนเสียอีก ส่วนอิทธิปาฏิหาริย์ทั้งหลายก็เป็นเพียงอุบายในการสื่อคำสอนให้ง่ายสำหรับสามัญชนเท่านั้น คำสอนของขงจื๊อถูกนักปราชญ์จีน, เวียดนาม, เกาหลี ประณามว่าเป็นเหตุให้บ้านเมืองล้าหลังก็มี

แต่บางคนก็พยายามดึงเอาแก่นแกนของคำสอน ซึ่งเน้นวิธีคิดที่เป็นเหตุเป็นผล และโลกวิสัย ว่าคือหัวใจของความเข้มแข็งของบ้านเมือง หากรื้อฟื้นกลับขึ้นมาได้

ผมขอสรุปความพยายามของนักปราชญ์ทางศาสนาในศตวรรษที่ 19 ของเอเชียนี้ว่า การทำศาสนาให้เป็นตะวันตก (Westernization) ผลก็คือ ศาสนากลายเป็นเพียงส่วนเดียวของวิถีชีวิตเหมือนคริสต์ศาสนาของตะวันตก คิดถึงชาวพุทธไทยแล้วกันครับ เรากินเหล้ากินยาร่วมกับฝรั่งได้ โดยไม่มีใครเอะใจว่า เฮ้ยวันนี้วันพระ ผมขอนั่งเฉยๆ ไม่ร่วมดื่ม ซึ่งอาจทำให้ทุกคนในวงรู้สึกอึดอัดไปหมด อันที่จริง แม้แต่ใครนับถือศาสนาอะไรเราก็ไม่เคยสนใจด้วยซ้ำ เกือบจะไม่ต่างอะไรกับการกลัวผี-ไม่กลัวผี กลัวก็คบกันได้ ไม่กลัวก็คบกันได้ หรือแต่งงานกันได้

อย่างที่กล่าวในตอนที่แล้วน่ะครับว่า มิติทางฆราวาสวิสัยท่วมทับศาสนาทุกศาสนาไปหมด แม้ไม่ได้สมาทานวิทยาศาสตร์และลัทธิปัจเจกชนนิยมเท่าฝรั่งก็ตาม

แต่ทั้งนี้ยกเว้นมุสลิม เพราะเหตุใด ผมมีความรู้ไม่พอจะอธิบายได้ เพียงแต่จะชี้ให้เห็นพัฒนาการที่ต่างกันบางอย่างระหว่างอิสลามในโลกยุคใหม่กับศาสนาอื่นๆ ของเอเชีย

ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ก็เหมือนศาสนาอื่นๆ ของเอเชีย นักปราชญ์มุสลิมในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในอียิปต์และซีเรีย ซึ่งต้องเผชิญกับการครอบงำของจักรวรรดินิยมตะวันตก ต่างพากันเสนอการปรับศาสนาอิสลามให้เข้ากับวัฒนธรรมสมัยใหม่ ที่ตะวันตกนำเข้ามา แต่ความคิดเช่นนี้แพร่หลายอยู่เฉพาะมุสลิมที่ได้รับการศึกษาแผนใหม่หรือแผนตะวันตกจำนวนไม่มากนัก แม้จะแผ่ลงมายังสถาบันการศึกษาตามจารีตอยู่บ้าง แต่ไม่เข้มข้นนัก ตำราฝรั่งมักเรียกความเคลื่อนไหวทางสติปัญญาและวิชาความรู้ในสังคมมุสลิมช่วงนี้ว่า modernism หรือลัทธิทันสมัยนิยม

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ขยายจากตะวันออกกลางมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ปอเนาะของโต๊ะครูที่เป็น modernist มีตั้งขึ้นทั้งในชวา, สุมาตรา, รัฐมลายูของอังกฤษ และบางส่วนก็เลยจากกลันตันข้ามเข้ามายังรัฐมลายูของไทยบ้าง แต่โดยรวมแล้วก็ยังมีปอเนาะประเภทนี้น้อยกว่าปอเนาะที่สอนศาสนาตามประเพณี

หากดูข้อเสนอเกี่ยวกับการศึกษาของหะยีสุหรง ก็จะเห็นว่าได้อิทธิพลจากความเคลื่อนไหวทันสมัยนิยมอยู่บ้างเหมือนกัน ผมจำหนังของอัฟกานิสถานได้เรื่องหนึ่ง ที่พ่อมุสลิมซึ่งคงเป็นคนหัวใหม่สอนลูกชายว่า พิธีกรรมต่างๆ นั้นไม่สู้สำคัญนัก ให้ดำเนินชีวิตด้วยกฎตายตัวข้อเดียวก็พอ คืออย่าขโมย แล้วอธิบายเพิ่มว่าฆ่าคนก็คือขโมยชีวิตเขา เป็นชู้ก็คือขโมยเมียเขา โกหกคือขโมยความจริง และเมาเหล้าคือขโมยสติของตนเอง

แต่จะด้วยเหตุใด ผมก็อธิบายไม่ได้ ความเคลื่อนไหวนี้ซบเซาลงในโลกอิสลาม คล้ายกับมีปฏิกิริยาพลิกกลับของนักปราชญ์มุสลิมในสายประเพณี จนผมได้ยินนักวิชาการอิสลามในภาคใต้ท่านหนึ่งพูดในทำนองว่า นักคิดมุสลิมในสายทันสมัยนิยมเหล่านี้บิดเบือนคำสอนในศาสนา

ดังนั้น ผมจึงคิดว่ากระบวนการปรับศาสนาให้สอดคล้องกับตะวันตกของศาสนาอื่นๆ นั้น เอาตะวันตกเป็นเกณฑ์ (หรือพูดให้ชัดคือเอาวิทยาศาสตร์ตะวันตกและลัทธิปัจเจกชนนิยมของตะวันตกเป็นเกณฑ์) แล้วปรับคำสอนทางศาสนาให้สอดรับกับค่านิยมใหม่ที่เป็นของตะวันตก ในขณะที่กระบวนการเดียวกันนี้ของศาสนาอิสลามเป็นตรงกันข้าม คือเอาคำสอนของอิสลาม (หรือที่ถือกันมาว่าเป็นคำสอนของอิสลาม) เป็นเกณฑ์ ส่วนใดของตะวันตกที่เข้ากันได้ ก็รับเข้ามา แต่ที่เข้าไม่ได้ก็ไม่รับ เช่นผู้หญิงเล่นกีฬาก็ได้ เพราะพระคัมภีร์ไม่ได้ห้าม แต่ก็ยังต้องแต่งกายรัดกุมตามคำสั่งทางศาสนาอยู่นั่นเอง

ในชีวิตของมุสลิมตามอุดมคติ มิติทางฆราวาสวิสัยต้องเป็นรองมิติทางศาสนาอยู่เสมอ

และด้วยเหตุดังนั้น วิถีชีวิตของชาวมุสลิมที่ดีจึงไม่แยกออกจากศาสนา ต่างจากศาสนิกของศาสนาอื่น มุสลิมจึงเป็น "คนแปลกหน้า" ของศาสนิกอื่นๆ จะกิน, จะนอน, จะแต่งงาน, จะเล่นกีฬา, จะแต่งกาย, จะนับพวก, จะพูดภาษาอะไร, จะแสดงความเคารพอย่างไร ฯลฯ จะทำอะไรก็ตามต้องทำให้ถูกตามหลักศาสนา

ศาสนาของศาสนิกอื่นๆ เหลือแต่เพียงความเชื่อ (หรือไม่เหลืออะไรเลย) ในขณะที่มีวิถีชีวิตที่อาจปรับเปลี่ยนไปในทางเดียวกันได้ แต่ไม่ใช่มุสลิม อิสลามเป็นมากกว่าความเชื่อ ยังรวมแทบจะทุกด้านของวิถีชีวิตอยู่ด้วย ความเป็น "คนแปลกหน้า" ของมุสลิมเช่นนี้ต่างหาก ที่ผมอยากสรุปว่าทำให้เกิดอคติในทางร้ายแก่ชาวมุสลิม ชาวพุทธ, ชาวฮินดู หรือแม้แต่ชาวคริสต์ในสมัยหนึ่ง อาจไม่มีอคติเช่นนี้กับมุสลิมเลย เพราะพวกเขาเองก็ไม่อาจแยกศาสนาออกจากวิถีชีวิตได้เหมือนมุสลิมเช่นกัน จึงเป็นเพียงคนที่ถือประเพณีต่างกันเท่านั้น

ผมควรกล่าวด้วยว่า หากศาสนามีความสำคัญแก่ผู้คนในสังคมมากอย่างเช่นสังคมอิสลาม จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้นำทุกฝ่ายย่อมอ้างศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งนั้น ทั้งฝ่ายที่ครองอำนาจและฝ่ายที่อยากจะแย่งอำนาจ อันที่จริงศาสนิกอื่นก็ทำอย่างเดียวกัน เพียงแต่สิ่งที่อ้างไม่เกี่ยวกับ "ศาสนา" เท่านั้น เช่น อ้างคอมมิวนิสต์, อ้างชาตินิยม, อ้างเสรีภาพและประชาธิปไตย, อ้างทุนนิยม, อ้างความเป็นไทยหรือความเป็นอเมริกัน, อ้างเสาหลัก ฯลฯ แล้วก็จับอาวุธฆ่ากันอยู่เสมอ

เพียงแต่มุสลิมย่อมอ้างอิสลาม จึงฟังดูแปลกกว่าที่คนอื่นเขาอ้างกันเท่านั้น

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: 

มติชนสุดสัปดาห์: ความแปลกหน้าของมุสลิม (1) 
มติชนสุดสัปดาห์: ความแปลกหน้าของมุสลิม (จบ)
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: 14 ตุลา นิยายปรัมปรา

Posted: 15 Oct 2017 10:59 PM PDT

 

13 ตุลารำลึกวันเสด็จสู่สวรรคาลัย 14 ตุลารำลึกวันเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งได้พึ่งพระบารมีคลี่คลายวิกฤต เช่นเดียวกับอีก 19 ปีต่อมา ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

สมัยนั้นไม่มีมาตรา 7 แต่ไม่จำเป็น เพราะเป็นไปตามระบอบ ตามธรรมชาติสังคม เมื่อประเทศเกิดวิกฤต รัฐบาลทหารปราบปรามประชาชน ผู้คนลุกฮือ กลไกรัฐทุกอย่างแทบแหลกลาญ อธิบายในเชิงระบอบคือ องค์ประมุขย่อมมีอำนาจแก้วิกฤต อธิบายในทางสังคมคือ มีแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ปวงชนเคารพรักเทิดทูน กระทั่งทรงมีพระบารมีคลี่คลายได้

เพียงแต่ทั้งสองเหตุการณ์มีความเหมือนกันคือ เป็นฉันทามติของประชาชน ที่ต้องการขับไล่รัฐบาลทหาร (หรือสืบทอดอำนาจทหาร) ไม่ใช่ความขัดแย้งทางการเมืองที่คลี่คลายได้ด้วยวิถีประชาธิปไตย

มาย้อนคิดดู ห้วงเวลาที่สังคมไทยมีฉันทามติ ช่างสั้น น่าใจหาย หลัง 14 ตุลา ไม่นานก็แตกแยกเป็นซ้ายขวาจนเกิด 6 ตุลา หลังพฤษภา 35 ก็เกิด "เทพมาร" หลังชูธงเขียวรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ฮือต้านระบอบทักษิณ แตกเป็นเสี่ยงจน วันนี้ก็ยังหาฉันทามติไม่เจอ แม้แต่ฉันทามติตื้นๆ เรื่องประชาธิปไตยหรือเผด็จการ

ฉะนั้นไม่ต้องห่วง สังคมไทยไม่เกิด 14 ตุลาหรือพฤษภา 35 อีกหรอก แต่ขณะเดียวกันก็คงไม่มีฉันทามติไปอีกนาน ด้านหนึ่งเพราะสังคมสับสนจนถอยหลัง แต่อีกด้านหนึ่งก็เพราะโลกปัจจุบันซับซ้อนขึ้น ไม่สามารถตอบ ก. ข.ได้ง่ายๆ

ฉันทามติสมัย 14 ตุลาง่ายกว่านี้ หลังอยู่ใต้ระบอบทหาร 16 ปี สังคมไทยไม่ว่าพ่อค้า นายทุน นักศึกษา กรรมกร ชาวนา หรือแม้แต่ทหารด้วยกันเอง ก็บอกว่าพอกันที โดยรวมศูนย์ไปที่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

แต่เพราะเหตุนั้น พลังที่ทำให้เกิด 14 ตุลาจึงหลากหลายจนสับสน มีตั้งแต่สุดขวาไปสุดซ้าย แม้แต่ในขบวนการนักศึกษาก็มีตั้งแต่เสรีนิยม ชาตินิยม ศีลธรรมนิยม สังคมนิยม อิทธิพล พคท. (ซึ่งต่อมากลายเป็นกระแสหลักจากแรงผลักฝ่ายขวา)

ฉะนั้นอย่าแปลกใจว่าคนเดือนตุลาที่เคยไล่เผด็จการ ถึงวันนี้ก็สับสนทางจิต เดี๋ยวก็ไล่รัฐบาลเลือกตั้งประชานิยม เดี๋ยวก็ว่ารัฐบาลทหารไม่สนใจคนจน

ความเปลี่ยนแปลงของโลกใน 44 ปีที่ผ่านมาก็สลับซับซ้อน ทั้งปัญหาสังคม และวิถีชีวิตคน ซึ่งความมีเสรีภาพทำให้ชีวิตมีทางเลือกมากขึ้น มีโลกส่วนตัวสูง ไม่ค่อยสนใจการเมือง สังคม แต่จะโทษคนรุ่นใหม่เสียทีเดียวไม่ได้ เพราะแม้แต่คนมีอุดมคติ ก็ยังหาสังคมอุดมการณ์ไม่เจอ

โลกยุค 14 ตุลาเป็นยุคอุดมคตินะครับ ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายซ้าย แต่มีทั้งเสรีนิยม อนุรักษนิยม อุดมการณ์หลากหลาย โลกตะวันตกสมัยนั้นเป็นยุคแสวงหา ฮิปปี้ ต่อต้านสงครามเวียดนาม เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ผิว ชาติพันธุ์ ในละตินอเมริกาก็เป็นยุคเช กูวารา อุดมการณ์แรงกล้าต่างๆ ปะทะกันจนทำให้เกิด 14 ตุลา 6 ตุลา

นักศึกษาเดือนตุลามักเล่าว่าชอบอ่านกำลังภายใน ใฝ่ฝันเรื่องต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ไม่แปลกหรอก คนยุคนั้นไม่ว่าข้างไหนก็โตมากับนิยายคุณธรรม หนังคาวบอย ประวัติบุคคลสำคัญ ฯลฯ โลกยุคนั้นไม่มีหนังสือ "พ่อรวยสอนลูกรวย" นอกจากขายไม่ได้ยังโดนโห่

นั่นคือโลกที่เปลี่ยนไป ในทศวรรษ 1980-1990 หลังอุดมการณ์สังคมนิยมล่มสลาย อุดมการณ์ขวาสุดโต่งก็เสื่อมคลาย โลกย่างสู่เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ การค้าเสรีมาพร้อมเสรีประชาธิปไตย ทุนนิยมโลกาภิวัตน์กวาดไปทั่ว โดยไม่มีอุดมคติอะไรต่อต้านได้ คนส่วนใหญ่พึงพอใจ เพราะมีเสรีภาพในการใช้ชีวิตส่วนตัว แต่คนอีกส่วนไม่พอใจเพราะยิ่งเหลื่อมล้ำ กระนั้น พวกมีอุดมการณ์ต้านระบบก็มักถลำไปสุดโต่ง กลายเป็นผู้ก่อการร้าย ขวาจัดซ้ายจัด ชาตินิยม หรือพาลไม่เอา "ประชาธิปไตยทุนนิยม"

ความสับสนของโลกทำให้เกิด Brexit ทรัมป์ชนะ ฝ่ายขวายุโรปได้คะแนนเสียงเพิ่ม สำมะหาอะไรกับเมืองไทย ซึ่งเข้าสู่เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่โดยไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ก็ยิ่งสับสนไปใหญ่ แถมสังคมไทยชอบอะไรที่ง่าย เอาผลประโยชน์เฉพาะหน้าไว้ก่อน สามารถอยู่กับทุนนิยมบริโภคโดยไม่ต้องเป็นประชาธิปไตย ระบอบอะไรก็ได้ขอแค่ทำมาหากิน (แต่แปลกดีพอบอกจะเลือกตั้ง หุ้นกลับพุ่ง)

มองไปข้างหน้า โลกคงยังสับสนอีกระยะ เช่นเดียวกับสังคมไทยยังไม่สามารถหาฉันทามติ แม้แน่ละ โลกสมัยนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ขัดแย้งกัน แต่ก็ต้องมีฉันทามติของการอยู่ร่วมกัน

14 ตุลาผ่านมา 44 ปี คนยุคนั้นใกล้ "เข้านอน" หมดแล้ว คนรุ่นต่อไปก็คงเล่าขานกันเป็น "นิยายปรัมปรา" เพราะเหตุการณ์แบบนั้นคงไม่เกิดอีก อุดมการณ์แบบยุคนั้นคงไม่มีอีก แต่โลกที่เปลี่ยนไปก็ต้องตอบอดีตได้ว่าปรับเปลี่ยนในทางก้าวหน้าหรือบางอย่างกลับถอยหลังกว่า

 

ที่มา:  khaosod.co.th

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิด 'แลนด์ลอร์ด' ใน กมธ.ร่างภาษีที่ดิน พบผู้ถือสูงสุดกว่า 600 ล้าน 70% เป็นนายพล

Posted: 15 Oct 2017 09:35 PM PDT

'Land Watch THAI' เปิดมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ กรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ...  ในสนช. พบมีผู้ถือมูลค่าสูงสุดกว่า 600 ล้าน มี 2 คนที่ไม่ถือครอง ขณะที่ กมธ.ชุดนี้ นายพลนั่ง 14 จาก 20 เก้าอี้

16 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเฟซบุ๊กแฟนเพจ ''Land Watch THAI จับตาปัญหาที่ดิน' เผยแพร่มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ...  ทั้ง 20 คน ที่มีนายพลถึง 14 คนแล้ว ยังปรากฎมูลค่าสูงสุดคือ สุวรรณี สิริเวชชะพันธุ์ 617,240,259 บาท รองลงมาคือ พ.ต.ท. พงษ์ชัย วราชิต 133,350,500 บาท และ พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน 79,500,000 บาท และปรากฎผู้ไม่ถือครองที่ดิน 2 คน คือ พรชัย ฐีระเวช และสมพร เทพสิทธา

รายละเอียดดังนี้ 

1 พล.อ. กิตติ อินทสร 17,377,100 บาท
2 พล.อ.อ. ชนะ อยู่สถาพร 41,220,000 บาท
3 พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน 79,500,000 บาท
4 พล.ท. ชาญชัย ภู่ทอง 59,112,750 บาท
5 ชาญวิทย์ วสยางกูร 22,415,345 บาท
6 พล.อ.อ. ชูชาติ บุญชัย 12,900,000 บาท
7 รศ. ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล 21,490,000 บาท
8 พล.ร.อ. ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ 13,440,000 บาท
9 พล.ร.อ. ธราธร ขจิตสุวรรณ 37,860,000 บาท
10 พล.อ. ธีระวัฒน์ บุณยะประดับ 19,359,000 บาท
11 พ.ต.ท. พงษ์ชัย วราชิต 133,350,500 บาท
12 พรชัย ฐีระเวช ไม่มีการถือครองที่ดิน
13 พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ 14,900,000 บาท
14 พล.ร.อ. ยุทธนา ฟักผลงาม 40,434,000 บาท
15 พล.อ. วรพงษ์ สง่าเนตร 32,861,100 บาท 
16 พล.ร.อ. ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง 15,606,116 บาท
17 สมพร เทพสิทธา ไม่มีการถือครองที่ดิน
18 พล.อ. สุรวัช บุตรวงษ์ 50,705,000 บาท 
19 สุวรรณี สิริเวชชะพันธุ์ 617,240,259 บาท 
20 อนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ 54,837,260 บาท

ติดตามปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเด็นที่ดิน และสถานการณ์ปัญหาการแย่งยึดที่ดินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายของรัฐ  รวมถึงการผ่านกฎหมายหรือนโยบายใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดิน อันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการทำกินและอยู่อาศัย ที่ทุกคนบนแผ่นดินไทยควรมีสิทธิเสมอกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น