โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คดีเสียบใบปลิว ‘เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ’ ถึงที่สุดแล้ว หลังอัยการไม่อุทธรณ์

Posted: 04 Oct 2017 11:27 AM PDT

'ศูนย์ทนายสิทธิ' เผย ศาลจังหวัดเชียงใหม่ออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดแล้ว หลังอัยการไม่อุทธรณ์คดี 'สามารถ' ข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติ จากการนำใบปลิว "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No" ไปเสียบบริเวณลานจอดรถ

 
4 ต.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลจังหวัดเชียงใหม่ออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดแล้ว หลังอัยการไม่อุทธรณ์คดีของ สามารถ ขวัญชัย ข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 (1) วรรคสอง จากกรณีการนำใบปลิว "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No" ไปเสียบบริเวณลานจอดรถ ในช่วงก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
 
สามารถ เปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ หลังทราบเรื่องว่า รู้สึกโล่งและดีใจตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไปเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา คิดว่าเป็นชัยชนะส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับความไม่ธรรมที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง แต่นอกจาคดีของตน ทราบว่ายังมีคดีของผู้ต้องหาประชามติอีกหลายคดียังต้องต่อสู้อยู่ จึงอยากฝากเป็นกำลังใจถึงพวกเขาและเธอที่ไม่อยู่นิ่งเฉย แต่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 เม.ย.60 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อ่านคำพิพากษายกฟ้อง ในคดีของ สามารถ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 (1) วรรคสอง จากกรณีการนำใบปลิวที่มีข้อความว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No" พร้อมรูปสัญลักษณ์ชูสามนิ้วไปเสียบบริเวณที่ปัดน้ำฝนหน้ารถราว 10 คัน ในลานจอดรถของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ในช่วงก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 ส.ค.59

ต่อมา ทางอัยการโจทก์ได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คดีออกไป จนกระทั่งถึงเดือนกันยายน 2560 ก็ไม่ได้มีการขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก ทำให้เมื่อวันที่ 6 ก.ย.60 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด เนื่องจากไม่มีคู่ความฝ่ายใดยื่นอุทธรณ์อีก คดีจึงเป็นอันสิ้นสุดลง

อ่านคำพิพากษา ได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตรแจงประกาศวันเลือกตั้งได้หลังกม.ลูกเสร็จ กรธ.ย้ำ 10 ฉบับเสร็จทัน 1 ธ.ค.

Posted: 04 Oct 2017 10:54 AM PDT

พล.อ.ประวิตร ระบุประกาศวันเลือกตั้ง หลังกฎหมายลูก 4 ฉบับเสร็จ ขอสื่ออย่าตีข่าวจะเลือกตั้งปีหน้า ปัดซื้อเฮลิคอปเตอร์โจมตีจากสหรัฐเอาใจทรัมป์  กรธ.ย้ำกฎหมายลูก 10 ฉบับเสร็จทัน 1 ธ.ค.นี้

แฟ้มภาพ

4 ต.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (4 ต.ค.60) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ การเกษตรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า ที่ประชุมหารือเรื่องรายได้ของเกษตรกรที่ต้องการให้สูงขึ้น และ ปลูกพืชให้เหมาะสมกับภูมิประเทศและสภาพอากาศ ซึ่งทางรัฐบาลได้หารือถึงแนวคิดนี้อยู่ เนื่องจากราคาข้าวที่เป็นพืชเกษตรที่ทำรายได้ให้กับประเทศตกต่ำ

พล.อ.ประวิตร ชี้แจงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พูดคุยกับ โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในปีหน้า โดยยืนยันว่าสิ่งที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงเป็นไปตามโรดแมป และจะประกาศวันเลือกตั้งให้ทราบหลังจากที่กฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับเสร็จสิ้น 150 วัน ขอสื่ออย่าตีข่าวว่าจะเลือกตั้งในปีหน้า

พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์โจมตีจากสหรัฐอเมริกาว่าเป็นการเอาใจ โดนัล ทรัมป์หรือไม่ ว่า เป็นโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยกองทัพบกกำลังจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกแบบจากหลายประเทศ และไม่ได้จัดซื้อจากประเทศสหรัฐ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเอาใจใครทั้งสิ้น เพราะต้องให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวพิจารณาให้รอบคอบ ซึ่งไม่ได้กำหนดกรอบเวลาให้คณะกรรมการว่าจะพิจารณาจัดซื้อเมื่อใด เพราะต้องดูว่ามีงบประมาณเพียงพอหรือไม่

กรธ.ย้ำกม.ลูก 10 ฉบับเสร็จทัน 1 ธ.ค.

นรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่า ขณะนี้ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.) ที่ กรธ.เพิ่งพิจารณาแล้วเสร็จให้คณะกรรมการป.ป.ช. เพื่อขอให้เสนอความคิดเห็นแก้ไขปรับปรุงแล้ว โดยกำหนดระยะเวลา 1 สัปดาห์ ก่อนส่งกลับมาให้กรธ. ทบทวนแก้ไขอีกครั้ง คาดว่ากรธ.จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประมาณวันที่ 24 ตุลาคมนี้

"ร่างกฎหมายดังกล่าวมีทั้งหมด 188 มาตรา 11 หมวดรวมบทเฉพาะกาล ที่เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ป.ป.ช.มากขึ้น เพื่อให้การปราบปรามทุจริตเห็นผลสัมฤทธิ์ รวมทั้งทำงานได้อย่างรวมเร็ว โดยเฉพาะการไต่สวน ขณะเดียวกันยังคงให้มีป.ป.ช. จังหวัด แต่ปรับบทบาทหน้าที่ในการรับมอบบัญชีทรัพย์สินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในพื้นที่ ส่วนการตรวจสอบให้เป็นอำนาจของป.ป.ช.ภาคดำเนินการ และป.ป.ช.ภาคจะทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลป.ป.ช.จังหวัดในสังกัด และไต่สวนเบื้องต้น ขณะที่การดำรงอยู่ของคณะกรรมป.ป.ช. ยังยืนยันเรื่องรีเซ็ต โดยให้พิจารณาจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม หากไม่ขาดให้ดำรงตำแหน่งต่อไปได้" โฆษก กรธ. กล่าว

ส่วนการประชุม กรธ. นรชิต กล่าวว่า ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. คาดว่าจะสามารถส่งให้สนช.ได้วันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ และสนช.จะนำเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อรับหลักการประมาณวันที่ 23 พ.ย. ขณะเดียวกันกรธ.ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.คู่ขนานกันไปด้วย โดยคาดว่าจะส่งให้สนช.ในวันที่ 28 พ.ย. พร้อมคาดว่าสนช.จะนำเข้าสู่การที่ประชุมเพื่อพิจารณารับหลักการในวันที่ 30 พฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม กำหนดการดังกล่าวอาจจะปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาความเหมาะสมของสนช. ส่วนกรธ.ยืนยันว่าพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับภายใน 240 วันตามกรอบรัฐธรรมนูญ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 1 ธ.ค.นี้อย่างแน่นอน

ที่มา : สำนักข่าวไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ บอกเยือนสหรัฐฯ ในครั้งนี้ "รู้สึกว่าพบเพื่อนที่แท้จริง"

Posted: 04 Oct 2017 09:56 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ เผยกลางวงนักธุรกิจสหรัฐอเมริกา ระบุมีความสุขที่สุด และมองสหรัฐเป็นเพื่อนแท้ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ถึง 8,500 ล้านเหรียญสหรัฐ 

ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ หารือกับ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่น (ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

4 ต.ค. 2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า 3 ต.ค. 60 เวลา 19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงในอาหารค่ำ ซึ่งสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (USABC) และ สภาหอการค้าสหรัฐอเมริกา (U.S. Chamber of Commerce) เป็นเจ้าภาพ

โดย พล.อ.ประยุทธ์  กล่าว ว่ารู้สึกภูมิใจที่ได้มาเยือนสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้นำในรอบ 12 ปี และทราบซึ้งที่ประธานาธิบดีสหรัฐให้เกียรติ แม้ว่าจะอยู่ในสถานะที่จำกัด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นมิตรแท้ 

"ในส่วนของการเยือนสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ผมอยากจะกล่าวว่า ผมมีความสุข กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะผมรู้สึกว่าพบเพื่อนที่แท้จริง การเดินทางที่ผ่านมาทุกครั้งเป็นการประชุมร่วม การสัมมนา แต่ครั้งนี้ที่ผมมา เอาประเทศไทยมาด้วย เพราะเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการ และผมได้รับเกียรติจากสหรัฐอเมริกาและภาคธุรกิจเอกชนของสหรัฐ เป็นสิ่งที่ผมประทับไว้ในความทรงจำ และเป็นประวัติศาสตร์ของผม" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า คนไทยมีความคุ้นเคยกับสหรัฐอเมริกามายาวนาน โดยในไทยก็มีถนนมิตรภาพ ที่ถือเป็นถนนที่ดีที่สุดที่เกิดจากความร่วมมือของสหรัฐฯ และไทย-สหรัฐฯ มีสนธิสัญญาความร่วมมือระหว่างกัน ที่ระบุว่านักลงทุนจากสหรัฐอเมริกามีสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยทุกประการ ซึ่งถือเป็นสิทธิที่ไม่มีให้กับประเทศอื่น ดังนั้นจึงควรทำให้สนธิสัญญานี้มีผลในทางปฏิบัติ และนำพาทั้งสองประเทศเดินหน้าไปพร้อมกัน และได้ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ถึง 8,500 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมยืนยันการเพิ่มความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐ ต้องมีผลสัมฤทธิ์เกิดขึ้นในช่วงที่ตนยังเป็นนายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า กล่าวถึงการหารือกับประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งได้เน้นย้ำความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนระหว่างสองประเทศ และจะส่งเสริมความร่วมมือกันในอนาคตต่อไป ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงซึ่งเป็นเสาหลักที่ค้ำชูความเป็นพันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีส่วนสำคัญในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค ในประเด็นเศรษฐกิจ ไทยและสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ประธานาธิบดีทรัมป์เห็นพ้องว่า ประเด็นเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน เพราะทั้งสองประเทศต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน

ในปัจจุบันมีนักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในสหรัฐฯ กว่า 20 บริษัท มูลค่ารวมราว 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสร้างงานกว่า 68,000 ตำแหน่ง ในขณะเดียวกันธุรกิจสหรัฐฯ กว่า 100 บริษัทก็เข้ามาลงทุนในไทย มูลค่ากว่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าประเทศไทยได้เปรียบในเชิงที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ ความพร้อมในเชิงโลจิสติกส์ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งไทยประสบความสำเร็จในการยกระดับการพัฒนา และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV ตลาดอาเซียน รวมทั้งภูมิภาคเอเชีย นโยบายประเทศไทย+1 ไม่ได้ให้ความสำคัญแต่เพียงระดับทวิภาคี แต่ยังต่อยอดไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ

พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้แจ้งแก่ภาคเอกชนสหรัฐฯ เกี่ยวกับนโยบายในการปฏิรูปเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะประเทศไทย 4.0 และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นประตูแห่งโอกาสที่เปิดกว้าง และพร้อมต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล สำนักข่าวไทย และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ในคุกไร้ดาว ในเรือนยาวไร้ความทรงจำ

Posted: 04 Oct 2017 09:38 AM PDT


สัตว์เลี้ยง

ในนั้นเราต้องมองหาเครื่องมือรักษาจิตใจเป็นสำคัญ แน่ละว่าเพื่อนมนุษย์ (ผค.นช. ขช.) ด้วยกัน คุยกันฟังกัน เตะกันเล่นแกล้งกัน หัวเราะ ร่ำไห้ เห็นใจกัน หาเรื่องพนันนู่นนี่นั่น ฯลฯ เป็นแทคติคทั่วไปท่ามกลางเหตุการณ์เวลาที่วนเวียนซ้ำซากอย่างยิ่งของชีวิตประจำวัน ระหว่างการ การตั้งแถวเช็คยอดเช้าบ่าย นอกห้องนอน หรือ นวดเหยียบหลัง ผลัดกันสำรวจผดผื่นหิดตะมอยเม็ดสิวในจุดหลงหูหลงตา, อาบน้ำ,ดูรายการโทรทัศน์ ในเวลาสิบห้าชั่วโมงต่อวันในห้องนอนตอนบ่ายถึงเช้าที่เรียกว่ากลางคืน เพื่อนมนุษย์ด้วยกันช่วยกันรักษาจิตได้ดีเป็นเฟิสต์ไพรออริตี้ แต่ชีวิตมีหลากหลายและทางเลือกก็มีหลากหลาย สัตว์น้อยใหญ่ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลพวกเราเป็นอย่างดีเหมือนกัน ศาสตร์ชีวภาพทางเลือกก็คงจะเรียกว่า pets therapy ขอพูดถึงนกก่อน

นกไม่ใช่สัตว์เลี้ยงแต่การเห็นมันบินออกไปนอกกรอบได้ตามใจอยากทั้งที่เพิ่งมาเกาะยอดเสาธงชาติ ท่ามกลางท้องฟ้าที่เปิดกว้างสวยงามไม่เคยซ้ำในทุกเช้า ให้กำลังจิตใจได้ดีนักหนา นกเป็ดน้ำ นกกาน้ำ นกกระสา นกปากห่าง บินทำให้เรารู้ว่ามีแหล่งน้ำไม่ใกล้ไม่ไกลเรา ส่วน นกเขา นกกางเขน กาเหว่า ก็ร้องอื้ออึงเป็นสัญญาณเตือนก่อนรายการโทรทัศน์สวดมนต์ยามเช้าก่อนมาปรากฏตัว แต่ก็อย่างที่ว่าเราไม่ได้จัดมันเป็นสัตว์เลี้ยง

สัตว์ที่พอจัดได้ว่าเป็น "สัตว์เลี้ยง" ในเรือนจำ มีอยู่เพียงสามชนิด ได้แก่ ปลา แมว และ แมงมุม


#ปลา

ปลาตู้เพิ่งได้แจ้งเกิดในอันดับสัตว์เลี้ยงในแดนสอง เร็วๆ นี้เอง (มิย.60) ช่างโชคดีที่อยู่ในช่วงระยะเวลาระหว่างที่ผมมีโอกาสได้รับรู้เป็นสักขีพยานหรือประจักษ์พยานหากต้องให้การในศาล อย่างไรก็ตามมันไม่ใช่ปลาสวยงามที่นักเลี้ยงปลาไปเลือกสรรจากตลาดปลาสวยงาม พวกมันคือปลาแออัดจากบ่อเก่าแก่หน้า "ศาลาธรรม" อาคารที่ตั้งอยู่ระหว่างแดนสอง กับเขตสำนักงานกลาง เฉพาะตัวที่มี ขนาด ประเภท และโชคชะตา เหตุปัจจัยที่เหมาะสมสำหรับตู้ปลามือสองขนาดสี่สิบห้านิ้วในห้องสมุดในแดนสอง ได้แก่ ปลาแรด ตัวหนึ่ง ไม่รู้จะเรียกมันว่าปลาโชคดีได้หรือไม่ เพราะมันมีเพื่อนปลาแน่ๆ ในบ่อนั่น แต่ในตู้ปลานี้มันอยู่ตัวเดียวขังเดี่ยวอยู่ในอาณาจักรส่วนตัวแคบๆ

ในระยะแรกเจ้าแรดน้อยตัวยาวสิบนิ้วนี้จัดเป็นปลาที่มีปัญหาสุขภาพอย่างเห็นได้ชัด ครีบของมันขาด เกล็ดหลุด มีตัวริ้นไรพยาธิเกาะอยู่ตามเนื้อตัว ตามสภาพของปลาที่ถูกวิดน้ำจับมาจากบ่อ แต่จะว่าไปแม้จะดูมอมแมมก้าวร้าว แต่ก็ดูกลมกลืนเข้ากับบรรยากาศผู้คนสถานที่ใหม่อยู่บ้างเหมือนกัน  

แต่การเปลี่ยนแปลงนั่นแหละที่คงเป็นกฎที่แทบไม่เปลี่ยนแปลง สภาพของตู้กระจกที่ทำให้เราจ้องมองมันได้ละเอียดละออในเวลาไม่จำกัด เราพบว่าเจ้าแรดดูมีสุขภาพกายดีขึ้นเรื่อยๆ แผลนู่นนี่เริ่มสมาน มันเริ่มขยับครีบส่ายหางอย่างสง่างาม เปล่งประกายออร่าสีเหลือบรุ้งแถวใบหน้าใต้แววตากลมโตที่ไม่กระพริบ เนื้อตัวก็สวยเป็นตารางลายกริดของแผงเกล็ดที่เป็นระเบียบดูราวกับลายตะแกรงเหล็กฉีก (Steel mesh tear/Checker Plate/Expanded Metal ) ซึ่งเป็นวัสดุที่ผมเคยชอบใช้สมัยเป็นสถาปนิกและ เราจะเห็นตะแกรงนี้ในรูปไผ่ในรถที่ศาลทหารขอนแก่นในเพจของสิงห์สนามหลวง ส่วนพยาธิไรตัวเบียนที่เคยแทรกตามแง่เกล็ดไม่มีให้เห็นอีกแล้ว 

อาจด้วยความรู้สึกว่าตัวที่มาจ้องน่าจะเป็นปลาด้วยกัน ทำให้มันพร้อมจะต่อสู้เพื่อถิ่นฐาน กับทุกๆ ใบหน้ามนุษย์ที่มาจับจ้องใกล้ๆ น้องๆ หลายคนรวมถึงผมด้วย จึงชอบมาจ้องดูใกล้ๆ แล้วส่ายหัวไปมา เป็นปลาอีกตัวที่หลอกล่อให้มันว่ายโชว์กายส่ายตัว อ้าปากสู้ การทำอย่างนี้วันละครั้งสองครั้งทำให้สบายใจขึ้นเหมือนกันครับ ชีวิตหนึ่งได้สบตาสื่อความหมายกับชีวิตใกล้ตัวอีกชีวิตหนึ่งที่กระพริบตาไม่ได้ ไม่ว่าสุขภาพจิตของเจ้าแรดน้อยจะดีขึ้นเหมือนร่างกายหรือไม่ก็ตามแต่มันทำให้สุขภาพจิตของคนหลายคนดีขึ้นแน่นอน   

นอกจากอาหารเม็ดมาตรฐานแล้ว เด็กๆ พบว่ามันชอบกินแมลงสาบมากเป็นพิเศษ แมลงสาบเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ง่ายในเรือนจำ โดยเฉพาะในเวลาฝนตกหนักหรือระดับน้ำใต้ดินขึ้นสูง กองพันแมลงสาบในระบบบำบัดน้ำเสียปฏิกูลซึ่งมีกระจายอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังจะดาหน้าออกตั้งกองเกียรติยศสวนสนาม และด้วยความอนุเคราะห์ของเด็กๆ บางตัวก็จะได้ลงไปพบปะกับปลาแรด สำหรับตัวผมพบว่ามันชอบกินกล้วยสุกมากกว่าข้าวสุก ผมต้องแอบๆ ให้เพราะเกรงใจน้องประจำห้องสมุดแดนที่มีหน้าที่เปลี่ยนน้ำให้กับมัน

(ทัศนคติเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในที่คุมขังของผู้คุมคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปเลย ทดไว้ว่าเราจะพูดเรื่องนี้อีกทีใน #แมงมุม)   


#แมว

คืนแรกใน เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทุกคนจะต้องไปเข้าไปที่แดน 1 แดนแรกรับ วันแรกผมนอนในห้อง 13 มีรับน้องที่วันหลังจะเล่าให้ฟังโดยเฉพาะ ในวันที่สองผมย้ายมาห้องหมายเลขที่ 3 อยู่ชั้นบน ตกกลางดึกมีเสียงแมวตัวผู้ประกาศสงครามซึ่งกันและกัน ก่อนลงไม้ลงมือกัน เสียงขู่ตะคอกแบบแมวแมวและเสียงเหมือนยกพลถล่มกัน ดังเหมือนที่เคยได้ยินสมัยเป็นเด็กๆ ที่แมวกัดกันบนหลังคาเหล็กเคลือบสังกะสี..........นอนเงียบๆ ฟังเสียงเหล่านี้ทำให้คิดถึงความทรงจำของบ้านวัยเยาว์อย่างขื่นขมแปลกปร่า

ในแดนแรกรับ เป็นแดนของผู้ใหญ่ มีผู้ใหญ่ใจดีคลุกข้าวเรียกแมวทั้งฝูงมากินจนอิ่มหมีพีมันกันทุกเช้า พวกมันแต่ละตัวมีลักษณะท่าทางบุคลิกไม่เหมือนกัน แต่พวกมันทุกตัวมีอิสระมากกว่าผู้คนที่นั่น

แมว ในแดน 2 แดนวัยหนุ่ม มีจำนวนน้อยกว่ามาก โดยรวมแล้วพวกมันต้องดำรงชีวิตหาอาหารพึ่งพาตัวเองมากกว่า แต่ที่เหมือนกันคือท่าทีสบายๆ และอิสรภาพ

อย่างไรก็ดีมีแมวบางตัวที่เป็น "สัตว์เลี้ยง" ของเด็กๆ พวกเขาช่วยแม่แมวเลี้ยงดูลูกแมวและผูกพันกับมัน สำหรับเจ้าฟีฟ่า  น้องคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า พวกเขาทำความสะอาดเนื้อตัวให้มันเป็นพิเศษ ตอนที่เราได้พบกัน นายฟีฟ่าแมวลายเสือกำลังอยู่ในวัยรุ่นใกล้หย่านม มันเป็นแมวลายเสือหางยาวตัวอ้วนกลมขนนิ่มมีปลอกคอเล็กๆ ที่แยกมันออกจากแมวอิสระอื่นๆ ครั้งหนึ่งผมได้เห็นแม่มันไล่ตบไม่ให้มันมาตอแยขอกินนม โดยทั่วไปมันเป็นแมวของทุกคนที่เดินไปมาอย่างอิสระในเรือนจำบริเวณห้องสมุด และพร้อมให้ใครก็ได้อุ้มไปกอดแบ่งปันความอบอุ่นกันและกันสักพักก็ปล่อยออกมาและใครก็อาจขออุ้มต่อ 

บางครั้งเวลาที่ผมโดนพูดคุยมา มีความไม่สบายใจหรือหงุดหงิด น้องๆ ที่ดูออร่าอารมณ์ผมออก ก็จะงดกิจกรรมชวนคุยชั่วครั้งชั่วคราว (สำคัญในคุกเพราะเราคุยกันเราจึงมีอยู่) ถ้ามันอยู่แถวนั้นพวกเขาก็จะอุ้มมาให้ผม วางมันนอนบนตักผมเงียบๆ ผมก็จะลูบพุงมันไปเงียบเงียบ จริงทีเดียวที่การทำอย่างนั้นทำให้เราค่อยๆ สงบลงได้

ฟีฟ่ามีโอกาสสร้างความสงบสบายใจให้น้องๆ หลายๆ คนด้วยกันราวกับว่าการมาจุติเป็นแมวเกิดอยู่ในชาติที่มีภารกิจที่จะสะสมทานบารมีในการคืนสติและความสดชืนให้กับผู้คนของโพธิ์สัตว์

ฟีฟ่าดูคล้ายๆ เจ้าตัวซ้ายมือมากครับ ผมถ่ายรูปจากร้านสเต็กลุงหนวดใกล้บ้านบางเขน เว้นแต่ว่ามีปลอกคอ

นี่นึกขึ้นได้ว่า คงไม่มีโอกาสได้อุ้ม ฟีฟ่า อีกแล้ว แต่มันยังคงอยู่ในนั้นที่นั้นและในแมวลายๆ ทุกตัวสำหรับผม


#แมงมุม

สวนสัตว์แนวสวนเปิด เช่น สวนผีเสื้อ, สวนนก มักเลือกสถานที่ ที่เป็นหรือเหมาะจะเป็นระบบนิเวศ (Habitat) ของสัตว์นั้นๆแล้วคลุมมันด้วยตาข่ายที่พยุงด้วยโครงสร้างเบาบาง ให้มนุษย์ได้เข้าไปสังเกตการณ์กับพวกมันได้ตามสบาย

ส่วนโครงการอะควาเรียม การจำลองระบบนิเวศที่มีน้ำในระบบปิดในแบบที่เราส่องเห็นสัตว์ได้ ย่อมมีข้อจำกัดทางขนาดเนื่องจากน้ำหนักของน้ำที่มากมหาศาลตามปริมาตรที่เพิ่มขึ้น

การมีสัตว์เลี้ยงย่อมเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิตอันเปลี่ยวเหงาง่ายของสังคมเมือง แต่ในเรือนจำที่มีข้อจำกัดมากมายทั้งเวลาสถานที่และระเบียบวินัย แต่ไม่น่าเชื่อว่านักโทษยังอาจมีสัตว์เลี้ยงได้ชนิดหนึ่ง นั่นคือ แมงมุม นักโทษทุกคนจะได้สิทธิมีตู้เก็บของส่วนตัวเล็กๆ สำหรับปัจจัยชีวิตทุกๆ อย่าง อาหาร เสื้อผ้า สำหรับอาหาร อนุญาตให้เก็บนมกล่องและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ไม่มากนัก หากถูกสุ่ม "จู่โจม" ก็จะถูกยึดส่วนที่เกินระเบียบ จำนวนมากมากจะต้องขอเก็บในห้องเก็บของประจำแดน แต่มันก็ยังใหญ่พอสำหรับการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงชนิดนี้ แมงมุม

ทั้งนี้สำหรับการเลี้ยงสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น แมงมุมแล้วระบบนิเวศของขวดซุปสกัดใสใสใบเล็กๆ อาจรองรับประโยชน์ใช้สอยและวัตถุประสงค์ของสวนสัตว์เปิดในข้อที่ให้เห็นสภาวะจำลองธรรมชาติเฉพาะตัวของสัตว์เครียดยากให้ดำรงชีวิตให้เห็นอย่างต่อเนื่องได้ดีเหมือนกัน

พวกเขาจะใส่กิ่งไม้เล็กๆ ลงในขวด ให้เป็นที่เกาะที่ชักใย ถ้าเมื่อไรชักใยเป็นตาข่ายก็จะเป็นสัญญาณว่าแมงมุมหิวแล้ว การให้อาหารก็ทำได้ง่ายสะดวก กล่าวคือหลังจากเปิดฝาขวดออกก็ค่อยๆ คว่ำขวดช้าๆ ไปที่อาหารซึ่งก็คือ แมลงวันตัวหนึ่ง แล้วครอบ เมื่อแมลงวันบินขึ้นเข้าไปในขวดก็ปิดฝา เมื่อแมงมุมได้กินแมลงวันแล้วก็จะอิ่มไปหลายวัน อย่างไรเสียผลที่ได้รับทางทัศนธาตุก็น่าประทับใจ คล้ายกับการสบตากับปลาแรด คือ เราจะได้เห็นแง่มุมรายละเอียดของแมลงวันและแมงมุมพร้อมกันไป เช่น รู้เห็นได้ว่าแมลงวันบางตัวมีจุดสีส้มจัดสองแถวที่หน้าท้อง และ แมงมุมมีตาเรียงเป็นแถวหลายดวง มีใยสองแบบแบบอิ่มกับแบบหิว เป็นต้น ในยามกลางวันพวกเขาอาจนำขวดน้อยพกติดตัวได้ หรือตั้งวางให้แสงแดดส่องสัตว์เลี้ยงของเขา แล้วผู้ใหญ่อย่างผมมาพบชวนคุย พอกลางคืน (ที่นี่ 15.30 น.ก็เป็นกลางคืนแล้ว "Good night Ajarn") ก็จะนำกลับคืนเก็บใส่ล็อคเกอร์ส่วนตัว ภายหลังผมได้มาอ่านพบว่า เรือนจำอื่นๆ พวกเขานิยมเลี้ยงกันมากและอาจนำแมงมุมมาต่อสู้กัน น้องที่นอนใกล้กันในห้องหมายเลข11 ที่สักลายสวยที่หน้าขาเป็นรูปแมงมุมถักใย ได้เล่าให้ฟังประหนึ่งเป็นการยืนยันว่าสักมาตั้งแต่อยู่ในสถานพินิจเด็กและเยาวชน และเคยเลี้ยงแมงมุมมาก่อนเหมือนกัน

ที่นี่เด็กๆ เล่าว่า ผู้คุมที่ นักโทษเรียกว่า "พี่" คนหนึ่งไม่ชอบให้เลี้ยงแมงมุม และอาจลงโทษหากพบว่ามีการเลี้ยง จึงอาจเป็นการทำให้จำนวนเด็กๆ ที่เลี้ยงแมงมุมน้อยกว่าที่อื่น ผมเดาใจว่าคงเป็นเพราะแกอาจมองว่าเป็นการกักขังสัตว์และนำสู่การพนันก็เป็นได้  

วันหนึ่งระหว่างที่ผมเล่นลอยหน้าลอยตากับปลาแรดโดยไม่รู้ตัวว่าแกมองผมอยู่ หน้าตาผมคงดูสบายใจจนวัยลด หันไปสบตาแกโดยบังเอิญ ผมเขินแต่ก็สามารถรู้สึกได้ว่าทัศนะคติที่ว่านี้ถ้ายังมี มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปแล้ว

คราวหน้าถ้าคุณพบเจ้าตัวขายาวที่ทำบ้านคุณรกเลอะไปด้วยหยากไย่ คุณอาจเลือกเก็บมันไว้ในขวดแก้วใบน้อยๆ เลี้ยงมันด้วยวิธีการอย่างที่น้องๆ ข้างในทำกัน แล้วสนุกกับการสังเกตรับรู้ชีวิตตัวน้อย ถ้าคุณลองมองเข้าไปในดวงตาทั้งสี่ถึงแปดดวงนั้นให้นานพอ คุณก็อาจถูกสะกดจิตให้หลงรักเจ้าตัวขนๆ นี่ก็ได้
      
ทั้งมนุษย์ แมงมุม แมว และ ปลาแรด ต่างเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมครอบครองพื้นที่ (Place base) ต้องมีพื้นที่บริเวณหนึ่งเป็นถิ่นฐานอาศัยในการทำมาหากิน (Territory) นั่นทำให้มันอาจพอใจได้ในการมีความส่วนตัวในพื้นที่แบบปิด สำหรับมนุษย์พฤติกรรมนี้ร่วมด้วยระบบสัญลักษณ์ถ่ายทอดตัวแทน (dyadic symbolism) จะทำให้ทั้งพื้นที่และเวลากลายเป็นบุคคลาทิฏฐาน (Personification) ของตัวตน และแล้วกลับมาสร้างความยึดมั่นถือมั่นกลายเป็นอุปาทานสำคัญของระบบสังคมตัวเอง


 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สมชัย' ยื่นตีความเซ็ตซีโร่ กกต. ยันพร้อมจัดเลือกตั้งปี 61

Posted: 04 Oct 2017 09:30 AM PDT

'สมชัย' ยัน กกต.พร้อมจัดเลือกตั้งปี 61 ชี้โจทก์ใหญ่ตีความ 150 วันหมายถึงจัดเลือกตั้งหรือรวมประกาศผล ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีเซตซีโร ใน พ.ร.ป.กกต.ขัด รธน.หรือไม่ ชี้ขัดหลักนิติธรรม นิติประเพณี เจตนารมณ์ และสิทธิเสรีภาพบุคคล

ภาพจากเว็บไซต์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน

4 ต.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีการประกาศวันเลือกตั้งในปี 2561 ว่า ในส่วนของ กกต. ไม่มีปัญหาในเรื่องการจัดการเลือกตั้ง แต่คิว่าโจทก์ใหญ่ของการเลือกตั้งครั้งหน้า คือ กรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าจะต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน แปลความหมายอย่างไร เพราะในขณะนี้ยังมีความเห็นเป็นสองแนวทาง ระหว่างความเห็นที่ว่า 150 วัน  หมายถึงแค่วันเลือกตั้ง อีกแนวทางหนึ่งเห็นว่าหมายรวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วย ซึ่งยังไม่มีองค์กรใดชี้ขาด 

สมชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ เนื่องจากเหตุยังไม่เกิด และคนที่จะตัดสินใจเรื่องนี้ก็ยังไม่ทราบว่าเป็น กกต.ชุดไหน หาก กกต.ชุดใหม่ยังไม่มาก็ต้องเป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดปัจจุบัน ซึ่งจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากหากแปลความว่า หมายถึงวันเลือกตั้งอย่างเดียว หากจัดการเลือกตั้งไปแล้วมีปัญหาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จนทำให้การเลือกตั้งเสียไปก็จะถูกฟ้องทั้งแพ่งและอาญา โดยส่วนตัวมีคำตอบอยู่แล้วแต่ไม่ขอพูดในรายละเอียด เพราะจะกลายเป็นการชี้นำและพูดเกินหน้าที่

ยื่นตีความเซ็ตซีโร่ กกต. 

วันเดียวกัน เมื่อเวลา เวลา 13.30 น. สมชัย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน รักษ์เกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยและเสนอเรื่องพร้อมความเห็น ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 230 วรรค 1 (2) ประกอบมาตรา 231 วรรค 1 ว่ามาตรา 70 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ที่กำหนดให้ประธาน กกต.และกกต.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป.กกต.ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่ง นับแต่วันที่ พ.ร.ป.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 273 หรือไม่

เนื่องจากเห็นว่า พ.ร.ป.กกต.ที่มีผลบังคับใช้เป็นกฏหมาย มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญขัดกับหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญทั้ง  3 มาตรา ในเรื่องความเป็นอิสระ ความเป็นกลาง การบังคับใช้ทั่วไป ความเป็นเหตุผล ความเป็นธรรม ซึ่งตามหลักกฎหมายปกติกฎหมายจะไม่มีผลย้อนหลังเป็นผลร้าย อีกทั้งยังมีปัญหาความโปร่งใสในกระบวนการทางกฎหมาย   หลักความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพของบุคคล ตามมาตรา 4 มาตรา 26 และมาตรา 27 และขัดกับหลักนิติประเพณีในการออกกฎหมายเพราะการลงมติในวาระสาม ขัดกับหลักการที่ลงมติในวาระแรก ซึ่งไม่ปรากฏถ้อยคำตามมาตรา 70 และยังขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มีการบันทึกในขณะร่างรัฐธรรมนูญว่า ให้กรรมการที่มีคุณสมบัติครบสามารถดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปจนครบวาระด้วย โดยได้นำเอกสารกว่า 200 หน้า มอบให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาประกอบการวินิจฉัยด้วย 

สมชัย กล่าวว่า การขอให้วินิจฉัยในกรณีนี้ไม่ได้ทำเพราะยึดถือประโยชน์ส่วนตน หรือต้องการยับยั้งกระบวนการสรรหา กกต.ตาม พ.ร.ป.กกต. ที่กำลังดำเนินอยู่ให้ต้องหยุดชะงัก หรือใช้สิทธิคุ้มครองให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการสรรหา โดยต้องการให้การสรรหาดำเนินการต่อไป ส่วนผลจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องของอนาคต แต่ที่ยื่นคำร้องก็เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตและเพื่อไม่ให้เกิดมาตรฐานในการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ เพราะขณะนี้ยังมีร่าง พ.ร.ป.ของผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระบางองค์กรอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สนช.หรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระควรเป็นลักษณะเดียวกัน   

"ที่ผ่านมามีความแตกต่างสองประเภท  คือ มีการเซตซีโร กสม.และ กกต.แต่คุ้มครองให้ผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ และอาจมีความแตกต่างในร่างกฎหมายอื่นอีก ทำให้มีมาตรฐานต่างกันขาดความเป็นเหตุผล ขัดหลักนิติธรรม จึงต้องยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะแม้ว่า สนช.จะเป็นองค์กรที่มีอำนาจออกกฎหมาย แต่ต้องออกกฎหมายภายใต้หลักนิติธรรม และยึดหลักเสมอภาคด้วย ทั้งนี้หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาของ สนช.แล้ว ก็จะมีอีกช่องทางหนึ่งที่จะสามารถยื่นคำร้องโดยตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้" สมชัย กล่าว 

ขณะที่ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า จะนำเรื่องรายงานต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวันอังคารที่ 10 ตุลาคม เพื่อพิจารณาว่าคำร้องอยู่ในอำนาจที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับไว้พิจารณาได้หรือไม่ จากนั้นจึงพิจารณาว่าร่าง พ.ร.ป.กกต.มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามที่นายสมชัย ยื่นคำร้องหรือไม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณาวินิจฉัย หากมีความเห็นต่างก็ต้องแจ้งให้นายสมชัยรับทราบ และไม่คิดว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีแรงกดดันในการพิจารณาเรื่องนี้ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดินที่คุ้มครองผู้ตรวจการแผ่นดินให้อยู่ครบวาระไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะการพิจารณาคำร้องจะเป็นไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ที่มา : สำนักข่าวไทย และเว็บไซต์ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อินโดนีเซียกำลังพิจารณาข้อกำหนดเพื่อแบนตัวละคร LGBTQ ออกโทรทัศน์

Posted: 04 Oct 2017 07:31 AM PDT

ในประเทศอินโดนีเซียการ์ตูนที่มีตัวละครเป็นหญิงรักหญิงอย่างเซเลอร์มูนอาจจะถูกเซนเซอร์ไปด้วย เนื่องจากมีการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาสั่งห้ามการแสดงออกแบบ LGBTQ ผู้เชี่ยวชาญวิจารณ์ว่ากฎหมายใหม่นี้แสดงให้เห็นการเหยียด LGBTQ ในอินโดนีเซียและอาจจะทำให้ชีวิตใครหลายคนยากลำบากขึ้น

เซเลอร์ยูเรนัสและเซเลอร์เนปจูน ในการ์ตูนเซเลอร์มูน

4 ต.ค. 2560 ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา สภาผู้แทนฯ อินโดนีเซียเสนอเพิ่มเติมเนื้อหาในร่างกฎหมายการควบคุมการแพร่ภาพกระจายเสียงฉบับใหม่ให้กับสภานิติบัญญัติของอินโดนีเซียพิจารณา โดยมีเนื้อหาดังกล่าวมีการสั่งแบนตัวละครผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) รวมถึงผู้ชายที่แสดงออกในลักษณะ "เหมือนผู้หญิง" นั่นทำให้แม้แต่การ์ตูนเซเลอร์มูนที่มีตัวละครหญิงรักหญิงก็อาจจะฉายไม่ได้

เอวิตา เนอร์ซานตี หนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการอ้างว่าพวกเขา "ไม่ได้เหยียดหรือกีดกันชาว LGBTQ" แต่ก็พูดว่า "ถ้าหากมีรายการใดที่แสดงพฤติกรรมแบบนี้ต่อหน้าสาธารณะจะถูกสั่งแบน"

ข้อกำหนดเพิ่มเติมที่สมาชิกสภานิติบัญญัติเสนอ คือการสั่งให้เนื้อหารายการโทรทัศน์ที่มีเลสเบียน, เกย์, ไบเซ็กชวล, คนข้ามเพศ เป็นเรื่องผิดกฎหมายในอินโดนีเซีย สุเปียดิน แอเรียส สุปาตรา จากพรรคนาสเด็มกล่าวว่าพวกเขาไม่ยอมให้มี "พฤติกรรมแบบ LGBT" ในโทรทัศน์ของพวกเขาโดยอ้างว่า "มันขัดกับวัฒนธรรมของพวกเรา" และอ้างว่า "มันจะทำลายศีลธรรมของคนรุ่นใหม่"

สื่อ Vice ระบุว่าร่างข้อบังคับใหม่นี้มาพร้อมกับกระแสการออกกฎหมายกีดกันชาว LGBTQ หนึ่งในองค์กรอนุรักษ์นิยมของอินโดนีเซีย ที่เรียกตัวเองว่าเป็น "พันธมิตรรักครอบครัว" หรือ AILA ผลักดันให้อินโดนีเซียมีการสั่งห้ามการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชาว LGBTQ ทั้งหลายด้วยเพราะในอินโดนีเซียไม่มีกฎหมายรองรับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน

นอกจากนี้อินโดนีเซียยังมีกฎหมายต่อต้านสิ่งอนาจารที่มีความกำกวมมากจนถูกอ้างใช้บุกจับกุมปาร์ตี้ของชาวเกย์ กฎหมายดังกล่าวนี้กำกวมในลักษณะที่ตีความไปถึงอะไรที่ตามที่ดู "สัปดน" แม้ในที่รโหฐาน

นอกจากการกดขี่ทางกฎหมายแล้ว รยามิซาร์ด รยาคูดู เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอินโดนีเซียก็เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อกล่าวหาว่าชุมชน LGBTQ เป็น "อาวุธ" ที่ชาติตะวันตกใช้ "ทำสงครามตัวแทน" กับอินโดนีเซีย พวกเขาบอกอีกว่าผู้ที่ไม่ยึดติดทางเพศเป็นสิ่งที่ "อันตรายกว่าอาวุธนิวเคลียร์"

ในตอนนี้ฝ่ายนิติบัญญัติของอินโดนีเซียเริ่มหันเหความสนใจมาสู่โทรทัศน์ที่ถูกเซนเซอร์มากขึ้นเรื่อยๆ จากที่ก่อนหน้านี้หญิงข้ามเพศปรากฎตัวและมีพื้นที่ในสื่อโทรทัศน์ของอินโดนีเซียมาก่อน หญิงข้ามเพศบางคนก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แต่ขณะเดียวกันก็มีหญิงข้ามเพศบางคนที่ถูกลดทอนตัวตนให้กลายเป็นแค่ตัวตลกราคาถูก

อย่างไรก็ตามโทรทัศน์ที่แสดงให้เห็นถึงคนรักเพศเดียวกันยังคงมีอยู่น้อยมากในอินโดนีเซีย แต่ก็พอมีอยู่บ้างที่มาจากสื่อภายนอก เช่น ภาพยนตร์การ์ตูนเซเลอร์มูน ที่เคยฉายในอินโดนีเซียมีตัวละครที่สื่อไปในทำนองหญิงรักหญิง คือเซเลอร์เนปจูนและเซเลอร์ยูเรนัสถึงแม้ว่าในสหรัฐฯ จะพยายามเซนเซอร์ความสัมพันธ์ของสองตัวละครนี้ แต่ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียกลับไม่พยายามเซนเซอร์เรื่องนี้ แม้ว่าอินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่เซนเซอร์อะไรเล็กๆ น้อยๆ อย่างชุดอาบน้ำในการ์ตูนโดราเอมอนก็ตาม

ทว่ากฎหมายใหม่ที่กำลังมีการพิจารณานี้ ถ้ามีการผ่านร่าง และออกบังคับใช้จะทำให้ความรักแบบเซเลอร์เนปจูนและเซเลอร์ยูเรนัสกลายเป็นเพียงความทรงจำในวัยเด็กที่เลือนหาย อย่างไรก็ตามสมาชิกสภานิติบัญญัติให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ Vice ว่าเรื่องนี้ยังคงอยู่ในช่วงการเสนอร่างกฎหมายเท่านั้น

อย่างไรก็ตามการเสนอร่างกฎหมายนี้ก็ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มด้านสิทธิมนุษยชนและผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย สุปรียาดี วิโดโด เอ็ดดโยโน ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (ICJR) กล่าวว่าการสั่งแบน LGBTQ ในโทรทัศน์เป็นการเหยียดและกีดกัน รวมถึงเป็นกฎหมายที่อันตราย เอ็ดดโยโนบอกว่าการสั่งเซนเซอร์ความรุนแรงเป็นเรื่องเข้าใจได้แต่ตัวละคร LGBTQ เองไม่ได้เป็นอะไรที่รุนแรงในตัวพวกเขาเอง นโยบายเช่นนี้จึงมีรากฐานมาจากการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันอย่างไม่มีเหตุผล (homophobia)

นอกจากนี้การสั่งเซนเซอร์ LGBTQ ในสื่อโทรทัศน์ยังเสี่ยงต่อการทำให้สังคมปฏิบัติไม่ดีต่อชาว LGBTQ เนื่องจากทุกวันนี้ผู้มีความหลากหลายทางเพศในอินโดนีเซียก็เสี่ยงต่อการถูกประท้วงจากกลุ่มชาวมุสลิมสายสุดโต่ง กลุ่มศาลเตี้ยที่ไล่ล่าการจัด "ปาร์ตี้เกย์" ตามที่พักส่วนบุคคล และตำรวจก็มักจะประจานชาว LGBTQ ให้อับอายเวลามีการกวาดล้างต่อต้านกลุ่ม LGBTQ

เอ็ดดโยโน บอกว่าถ้ามีการผ่านร่างกฎหมายเซนเซอร์ชาว LGBTQ จะยิ่งทำให้เกิดการเหมารวมตีตราชาว LGBTQ มากขึ้น ทำให้ชีวิตใครหลายคนยากลำบากขึ้น

เรียบเรียงจาก

Indonesia considering banning LGBT characters from national television shows, The Telegraph, 03-10-2017

Indonesia Wants to Ban LGBTQ Characters From Television, Vice, 01-10-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.ไฟเขียว บริจาคเงินเข้า 'กองทุนยุติธรรม' ลดภาษี 2 เท่า

Posted: 04 Oct 2017 06:26 AM PDT

ครม. อนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษี 2 เท่า จากการบริจาคเงินเข้ากองทุนยุติธรรม ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการบริจาคให้แก่กองทุนยุติธรรม) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

โดย สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา 1. กำหนดให้บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินให้แก่กองทุนยุติธรรมสามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้สองเท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
 
และ 2. กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนยุติธรรม สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่าของรายจ่ายที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบและรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้าง และการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่นสวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใด ๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร 
 
สำหรับกองทุนยุติธรรมนั้น ข้อมูลตามเว็บไซต์ของกองทุนดังกล่าวระบุว่า จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนเงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านกฎหมาย การฟ้องร้อง การดำเนินคดี หรือการบังคับคดี การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยมีการออกระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2553 ขึ้น ทั้งนี้ข้อจำกัดของระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2553 มีหลายประการ เช่น การไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่จะทำนิติกรรมสัญญาที่สมบูรณ์ รายได้มาจากงบประมาณของรัฐเพียงอย่างเดียว วัตถุประสงค์ค่อนข้างจำกัด ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จึงได้พัฒนายกระดับระเบียบกระทรวงยุติธรรม เป็น พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 และมีผลบังคับใช้วันที่ 24 เม.ย. 2559 ซึ่งพระราชบัญญัตินี้ครอบคลุมการช่วยเหลือมากขึ้น และเกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศูนย์วิจัยธุรกิจบัณฑิตย์เผยผลสำรวจพึงพอใจบัตรทองปี 60 ชี้ ปชช.หวงแหน

Posted: 04 Oct 2017 05:54 AM PDT

ผลสำรวจพึงพอใจบัตรทอง ปี 60 ชี้ ประชาชนหวงแหนบัตรทอง สะท้อน สปสช.ดูแลประชาชนเข้าถึงสิทธิบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง แนะปรับปรุงการรับรู้สิทธิประโยชน์และข้อท้วงติง เพิ่มการเข้าถึง
 
4 ต.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะคณะผู้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ผู้ให้บริการ และองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560 กล่าวว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนฯ ต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560 ที่ปรากฎคะแนนความพึงพอใจของประชาชนเพิ่มขึ้น ในกระบวนการสำรวจความเห็นมีความละเอียดมาก ทั้งนี้เพื่อให้สามารถสะท้อนภาพความเห็นของประชาชนโดยรวมมากที่สุด ซึ่งขั้นตอนดำเนินการได้มีการจัดแบ่งพื้นที่สำรวจออกเป็น 13 เขต ตามพื้นที่บริการของ สปสช. และได้ทำการคัดเลือก 2 จังหวัดเพื่อเป็นตัวแทนของแต่ละเขต ด้วยการใช้หลักคัดเลือกที่ดูตามดัชนีพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ (Human Development Index : HDI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ทำให้กับประเทศไทย ประกอบกับดูข้อมูลจำนวนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพในพื้นที่ จากนั้นจึงทำการสุ่มเลือกอำเภอตัวแทนโดยใช้วิธีการเดียวกัน และใช้ Google Map เพื่อดึงเฉพาะพื้นที่ชุมชน เพื่อลงไปทำการสำรวจและเก็บข้อมูลความเห็น
 
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า จากผลสำรวจในปี 2560 กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจสูงถึงร้อยละ 95.66 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ได้ร้อยละ 91.86 ในทางสถิติมองว่าผลสำรวจที่ดีขึ้นนี้เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการเข้าไปดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึงแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความหวงแหนของประชาชนที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  
 
"คะแนนความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องบอกว่าจากผลสำรวจ แม้แต่ในปีที่ผ่านๆ มา หากตัดคะแนนความพึงพอใจของประชาชนจะอยู่ในระดับเกรด  A มาตลอด รวมถึงปีนี้ที่ขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ สปสช.ควรมุ่งปรับปรุงในส่วนยังประชาชนยังไม่พึงพอใจ การรับรู้ในสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเข้าถึงบริการได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย"  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าว
 
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนคะแนนของทางฝั่งผู้ให้บริการนั้น แม้ว่าจะมีคะแนนความพึงพอใจที่มีความต่างจากประชาชนผู้มีสิทธิค่อนข้างมาก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่ามีคะแนนความพึงพอใจเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 66.21 ในปี 2559 เป็น 67.91 ในปี 2560 ซึ่งสูงกว่าที่คาดหวังไว้และถือเป็นแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ตามการที่คะแนนความพึงพอใจผู้ให้บริการมีคะแนนน้อยกว่าความพึงพอใจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะการทำงานด้านผู้ให้บริการต้องดูแลคนจำนวนมาก อาจทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อย มีความไม่เข้าใจและไม่พึงพอใจต่อระบบได้ ซึ่งการจะให้คะแนนความพึงพอใจผู้ให้บริการเท่ากับความพึงพอใจของประชาชนคงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว
 
แต่ทั้งนี้ทั้ง สปสช.และผู้ให้บริการต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือประชาชน ดังนั้นอาจมีการจัดทำโมเดลเพื่อวางรูปแบบการทำงานเพื่อให้เกิดความพึงพอใจกับผู้ให้บริการ ซึ่งต้องมีการปรับหลักเกณฑ์กลาง ให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยร่วมทำงานกับภาคีเครือข่าย เพื่อลดปัญหาติดขัดและภาระงานของผู้ให้บริการ อาทิ การทำให้ประชาชนรับรู้สิทธิและขั้นตอนการรับบริการ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมนักข่าว เปิด ตู้ปณ. ส่งข้อมูลปมผู้บริหารองค์กรสื่อคุกคามทางเพศ

Posted: 04 Oct 2017 04:21 AM PDT

สมาคมนักข่าว เปิดช่องทางส่งข้อมูลหลักฐานกรณีกระแสข่าวพาดพิงถึงผู้บริหารองค์กรสื่อคุกคามทางเพศ ให้อนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ยันจะรักษาความลับที่มาของแหล่งข้อมูล 

 
4 ต.ค. 2560 จากที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า ผู้บริหารองค์กรสื่อแห่งหนึ่งมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศพนักงานในสังกัด และประกาศเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว  ต่อมาได้มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์และข่าวในสื่อกระแสหลัก ระบุว่าเหตุการณ์การคุกคามทางเพศดังกล่าวเกิดขึ้นที่สถาบันและสำนักข่าวอิศรานั้น
 
ล่าสุดวันนี้ (4 ต.ค.60) ชนะ  ผาสุกสกุล รองเลขาธิการ และกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ กล่าวว่า สมาคมนักข่าวฯ ขอให้ผู้ที่มีข้อมูลหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีกระแสข่าวพาดพิงถึงผู้บริหารองค์กรสื่อคุกคามทางเพศ ส่งข้อมูลหลักฐานดังกล่าวมาทางไปรษณีย์ ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 27 ต.ค.นี้ ที่ ตู้ปณ.17 ปณฝ.วังเทวะเวสม์ กรุงเทพฯ 10250 วงเล็บมุมซอง (ส่ง อนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ)
 
ทั้งนี้ ขอให้ผู้ที่ส่งข้อมูล และหลักฐานระบุชื่อจริงของท่านในเอกสาร โดยสมาคมฯยืนยันว่าจะรักษาความลับที่มาของแหล่งข้อมูล ให้เป็นไปตามกระบวนการแสวงหาข้อมูลในทางลับตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า

โดยเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ชนะ เปิดเผยว่าได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีกระแสข่าวพาดพิงถึงผู้บริหารองค์กรสื่อ นัดแรก ที่ประชุมมีมติเลือก รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย เป็นประธานคณะอนุกรรมการแสวงหาฯ และ รศ.ดร.เจษฏ์  โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมายเป็นรองประธาน  และได้เริ่มกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงซึ่งมีกรอบระยะเวลาดำเนินการภายใน 90 วันแล้ว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พยานคดีประชามติแจง สติกเกอร์ไม่ปลุกระดม นักข่าวประชาไทเผยถูก จนท. คุกคาม

Posted: 04 Oct 2017 04:16 AM PDT

สืบพยาน ปกรณ์-ทวีศักดิ์ จำเลยคดีประชามติ สารภาพปัดลงลายนิ้วมือ ปกรณ์ เผย รณรงค์ประชามติไม่ทั่วถึง อยากช่วย เอกสารแค่ติดรถมา ไม่ได้จะมาแจกที่ราชบุรี หวังคนได้รับสติกเกอร์ลงประชามติด้วยดุลยพินิจ ผู้สื่อข่าวประชาไทแจง แค่ติดรถไปทำข่าว โดนตำรวจคุกคามระหว่างคุมขัง แสดงบัตรนักข่าวก็ยังโดนข้อหา

ภาพผู้สื่อข่าวประชาไทและนักกิจกรรมถูกควบคุมตัวในวันที่ 10 ก.ค. 2559

3 ต.ค.2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลจังหวัดราชบุรีนัดสืบพยานจำเลยในคดีครอบครองและ "น่าเชื่อว่าจะแจก" สติกเกอร์ Vote No ในช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ สภ.บ้านโป่งจำเลยขึ้นเบิกความในฐานะพยานได้จำนวน 2 ปาก คือปกรณ์ อารีกุล จำเลยที่ 1 และทวีศักดิ์ เกิดโภคา จำเลยที่ 2

คดีนี้ อัยการจังหวัดราชบุรีเป็นโจทก์ฟ้องปกรณ์ อารีกุล จำเลยที่ 1 ทวีศักดิ์ เกิดโภคา จำเลยที่ 2 อนันต์ โลเกตุ จำเลยที่ 3 อนุชา รุ่งมรกต จำเลยที่ 4 ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย จำเลยที่ 5 รวมเป็น 5 คน ในข้อหาร่วมกันเผยแพร่ข้อความ ภาพ ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง ตามมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ และขัดคำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ตาม ประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 25 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา

ก่อนเริ่มการสืบพยานวันนี้ทนายความความแถลงต่อศาลว่าจำเลยทั้ง 1-4 ขอเปลี่ยนคำให้การเฉพาะในส่วนของข้อหาขัดคำสั่งพิมพ์ลายนิ้วมือจากเดิมที่ให้การปฏิเสธ เป็นให้การรับสารภาพ

ในการสืบพยาน ปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ขึ้นเบิกความว่าในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ตนเห็นว่าการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ยังไม่แพร่หลายในสื่อ ไม่ครอบคลุม  ประชาชนได้รับรู้เท่าที่มีการประชาสัมพันธ์ในส่วนของสาระสำคัญเท่านั้น นอกจากนั้นก็ยังมีคนที่ไม่รู้แม้กระทั่งวันที่จะมีการออกเสียงประชามติ

(กลาง) ปกรณ์ อารีกุล

ปกรณ์ยังได้อธิบายถึงประเด็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญว่ามีข้อน่าห่วงกังวล ได้แก่ เรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง และที่มาของกรัฐมนตรีที่มีการเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ ซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตย  ประการต่อมา ร่างรัฐธรรมนูญยังเปิดช่องให้ คสช. ยังคงมีอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แม้ว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่เปิดให้มีการลงประชามติแล้วก็ตาม ทั้งยังอาจส่งผลให้มีการตัดสิทธิอื่นๆ ของประชาชนอีกด้วย เช่น สิทธิในด้านการศึกษาที่ทำการเรียนฟรีเหลือเพียง 9 ปี ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้ตนออกมารณรงค์และแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ในอีกมุมหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่านั้น ปกรณ์เห็นว่าการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะในขณะนั้นมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่รับรองสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนยังบังคับใช้อยู่ อีกทั้งในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ ก็ยังรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเอาไว้ด้วย

ปกรณ์เห็นว่าข้อความในสติกเกอร์ "Vote No ไม่รับ อนาคตที่ไม่ได้เลือก" ไม่ได้เป็นข้อความที่มีความก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ อีกทั้งในส่วนของคำถามพ่วงในการลงประชามติ ที่มีประเด็นว่าใน 5 ปีแรกจะให้ ส.ส. และ ส.ว. เป็นผู้เลือกกรัฐมนตรีนั้น ปกรณ์เห็นว่าเมื่อประกอบกับประเด็นที่มาของ สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแล้ว จึงกลายเป็นที่มาของข้อความ "อนาคตที่ไม่ได้เลือก" บนสติกเกอร์

ปกรณ์เบิกความว่าสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่าการแจกสติกเกอร์ไม่น่าจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ และวิษณุ เครืองาม รองกรัฐมนตรี ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเอกสารความเห็นแย้งของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ก็สามารถเผยแพร่ และแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อร่างรัฐธรรมนูญได้

ในส่วนวันเกิดเหตุ วันที่ 10 ก.ค. 2559 ปกรณ์ระบุว่าได้เดินทางไปที่ สภ.บ้านโป่ง เนื่องจากทราบข่าวว่าชาวบ้านที่เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติราชบุรีถูกพนักงานสอบสวนเรียกรายงานตัวเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ตนเห็นว่าการออกเสียงประชามติประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบกระบวนการที่เกิดขึ้น ในฐานะที่ตัวเองก็ร่วมทำการรณรงค์เรื่องออกเสียงประชามติเช่นกันจึงเดินทางไปให้กำลังใจ

ทั้งนี้ เหตุที่ปกรณ์ถูกดำเนินคดีในข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานไม่พิมพ์ลายนิ้วมือนั้น เนื่องจากในวันเกิดเหตุ ปกรณ์เห็นว่าการจับกุมและการแจ้งข้อกล่าวหาไม่เป็นไปตามขั้นตอน และพ.ต.ท.สรายุทธ บุรีวชิร รองผกก.สส.สภ.บ้านโป่ง เพียงแค่เชิญตัวพวกเขาไปคุยที่ห้องบนสถานี และจะมีการทำบันทึกประจำวันเอาไว้เท่านั้น แต่สุดท้ายพวกเขาก็ไม่ได้รับการปล่อยตัวกลับ และมีการแจ้งข้อกล่าวหาตามมาในภายหลัง

ปกรณ์ยังตอบคำถามค้านของอัยการด้วยว่าเอกสารของกลางในคดีนี้ ตนไม่ได้นำมาเพื่อแจกที่ สภ.บ้านโป่ง และไม่ได้มีการแจกจ่ายในวันนั้น แต่เป็นเอกสารที่ติดรถตนมาตั้งแต่วันที่มีการแถลงข่าวเรื่องร่างรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันก่อนเกิดเหตุคดีนี้ เนื่องจากในวันแถลงข่าวมีเพียงตัวเขาเองเท่านั้นที่มีรถกระบะที่สามารถบรรทุกเอกสารได้

อัยการยังถามถึงความหมายบนสติกเกอร์ว่าหมายถึงอะไร และหวังว่าให้คนที่ได้รับสติกเกอร์ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ปกรณ์ตอบว่าหวังให้คนที่ได้รับได้ใช้ดุลยพินิจของตน ซึ่งบางคนเมื่อได้รับไปแล้ว ก็บอกกับตนว่าจะไปออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ บางคนก็บอกว่าจะไปออกเสียงไม่รับ  นอกจากนั้นในการแจกสติกเกอร์ก็ได้มีการแจกเอกสารให้ความรู้ประกอบไปด้วย

ผู้สื่อข่าวประชาไทแจง แค่ติดรถไปทำข่าว โดนตำรวจคุกคามระหว่างคุมขัง แสดงบัตรนักข่าวก็ยังโดนข้อหา

ทวีศักดิ์ เกิดโภคา

ในช่วงบ่าย ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไทขึ้นเบิกความในฐานะพยาน กล่าวว่าตนรับผิดชอบโต๊ะข่าวการเมืองจึงติดตามประเด็นทางการเมืองมาโดยตลอด ประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นส่วนหนึ่งของข่าวการเมือง นอกจากนั้นในเรื่องออกเสียงประชามติ ตนเห็นว่ามีการรายงานข่าวค่อนข้างน้อย และเน้นไปที่ข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากฝ่ายรัฐ และสื่อหลักก็ไม่ได้ให้พื้นที่ในการนำเสนอแก่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญมากนัก

ทวีศักดิ์เบิกความถึงวันเกิดเหตุ ว่าตนได้ติดตามไปที่สภ.บ้านโป่ง เพื่อทำหน้าที่นักข่าวเนื่องจากทราบได้มีการเรียกผู้ต้องหาในคดีศูนย์ปราบโกงประชามติเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งก่อนหน้านั้นตนก็ติดตามทำข่าวปกรณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปกรณ์ได้แจ้งว่าจะเดินทางมาให้กำลังใจชาวบ้านที่ สภ.บ้านโป่ง ตนจึงขอติดรถมาด้วย เมื่อเดินทางถึง สภ.บ้านโป่ง ก็ได้เข้าถ่ายภาพที่หน้าสถานีและเข้าไปสัมภาษณ์ผู้ต้องหา จากนั้นตนก็ไปสัมภาษณ์จำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ต่อ เพื่อทำสกู๊ปข่าว

หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ ก็ได้เดินทางมาที่รถของปกรณ์ เพื่อเตรียมเดินทางกลับ แต่ทาง พ.ต.ท.สรายุทธ บุรีวชิร พร้อมกับตำรวจอีกหลาย ได้เข้ามาตรวจค้นรถ ระหว่างนั้น พ.ต.ท.สรายุทธ ได้มีการสอบถามว่าเป็นพวกสนับสนุน Vote No ใช่หรือไม่ และยังพูดกับปกรณ์ในลักษณะว่า Vote No ไม่ได้ ผิดกฎหมาย ต้อง Vote Yes เท่านั้น ซึ่งตนเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถพูดแบบนี้ได้ เพราะเท่ากับเป็นการบังคับให้ต้องออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

ทวีศักดิ์เบิกความต่อว่าหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เชิญตัวพวกตนขึ้นไปบนสถานีตำรวจ โดยตนได้แสดงตัวว่าเป็นนักข่าวตั้งแต่แรกและได้แสดงบัตรผู้สื่อข่าวด้วย อีกทั้งในตอนที่ถูกเชิญตัว เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้บอกว่าเป็นการจับกุม แต่เมื่อขึ้นไปที่สถานีแล้ว กลับมีการแจ้งข้อกล่าวหาและจับกุมตัว

ทวีศักดิ์เบิกความด้วยว่าตอนแรกที่ถูกเรียกไป ยังสามารถใช้โทรศัพท์ได้ ตนจึงได้โทรศัพท์ไปสอบถามสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อสัมภาษณ์เรื่องสติกเกอร์ สมชัยระบุว่าการมีสติกเกอร์ไม่น่าเป็นความผิดตามกฎหมาย และถ้าไม่ใช่การขึ้นเวทีปราศรัย ไม่ได้เป็นการให้ข้อมูลเท็จ ไม่ได้เป็นการยุยงปลุกปั่นก็สามารถทำได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตำรวจด้วย จากนั้นเขาจึงส่งสายของสมชัยให้รองผู้กำกับสอบสวน สภ.บ้านโป่ง พูดคุยด้วย

ทวีศักดิ์เสริมว่าในตอนที่เขาแสดงตัวว่าเป็นนักข่าวของประชาไท ตำรวจอาจจะไม่เชื่อว่าเป็นสำนักข่าวจริงๆ เนื่องจากประชาไทเป็นสำนักข่าวออนไลน์ ไม่ได้มีโรงพิมพ์ของตัวเอง แต่เจ้าหน้าที่ก็อาจจะเข้าใจว่าเอกสารของกลางเป็นของประชาไท เพราะหลังจากเขาถูกเชิญตัว พ.ต.ท.สรายุทธก็ได้ประสานกับตำรวจ สน.สุทธิสารที่กรุงเทพฯ เพื่อให้เข้าตรวจค้นที่สำนักข่าว แต่เนื่องจากในวันนั้นไม่มีใครอยู่ที่สำนักข่าว ตำรวจจึงไม่ได้เข้าไป ที่ทราบว่ามีตำรวจไปเพราะว่าสำนักงานอื่นที่ใช้อาคารเดียวกันแจ้งมา

ทวีศักดิ์เห็นว่าหากต้องการตรวจสอบสถานะของเขาว่าเป็นนักข่าวจริงหรือไม่ ก็ควรโทรศัพท์ถึงหัวหน้างานของเขามากกว่า ซึ่งการกระทำของตำรวจเช่นนี้เป็นการคุกคามการทำงานของสื่อมวลชน อีกทั้งประชาไทเองก็มีจุดยืนไม่ยอมรับการรัฐประหารอยู่แล้ว ทั้งในครั้งปี พ.ศ. 2549 และครั้งนี้ เพราะเห็นว่าการทำรัฐประหารเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในการเป็นสื่อมวลชนย่อมไม่สามารถเห็นด้วยกับรัฐประหารได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิเดียวกันกับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน

ผู้สื่อข่าวประเด็นการเมืองของประชาไทยังเบิกความถึงสาเหตุที่ตนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือว่าเป็นเพราะเห็นว่าการจับกุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ต้น โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาตั้งแต่ในตอนที่มีการเชิญตัว อีกทั้งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพ.ต.ท.สรายุทธ มีอคติทางการเมืองตั้งแต่ต้น และเมื่อได้อ่านบันทึกจับกุมแล้ว ก็เห็นว่าข้อเท็จจริงตามบันทึกก็ไม่ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกด้วย คือมีการบรรยายพฤติการณ์ว่าน่าเชื่อว่ามีการแจกจ่ายเอกสารบนสถานีตำรวจ แต่ข้อเท็จจริงคือไม่ได้มีการแจกเอกสารใด

นอกจากนั้น ทวีศักดิ์ทราบว่าตนมีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ แต่ตลอดเวลาที่อยู่ในห้อง ตนกลับถูกตำรวจคอยซักถามตลอดเวลา และในตอนนั้นผู้กำกับคนเก่าของสภ.บ้านโป่ง ยังได้เข้ามาพูดอีกด้วยว่า "จะไม่เซ็นไม่พูดก็ได้ แต่คอยดูว่ากูจะเอาพวกมึงเข้าคุกได้หรือเปล่า" ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นการคุกคาม เขาจึงไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ

ทวีศักดิ์ยังกล่าวถึงการที่ตนร่วมเดินทางโดยติดรถปกรณ์ไปทำข่าว ว่าการเดินทางไปด้วยกันไม่ได้หมายความว่าตนเห็นด้วยกับปกรณ์ทั้งหมดหรือว่าต้องไปรายงานข่าวในลักษณะเป็นประโยชน์ต่อใคร ตนยังคงมีอิสระในการรายงานข่าวตามจรรยาบรรณของผู้สื่อข่าว

ทวีศักดิ์กล่าวด้วยว่า บรรยากาศในวันสืบพยานจำเลยว่าเป็นไปอย่างรียบร้อยตามปรกติตามกระบวนการ โดยศาลให้จำเลยดำเนินการสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ส่วนตัวไม่เห็นว่ามีอุปสรรคอะไรแล้ว แต่ที่ผ่านมาการดำเนินคดีมีผลกับการทำงานโดยตรง แม้จะไม่ได้ทำอะไรผิด ตนไม่ได้กังวลอะไรกับการฟ้องหรือการนำเสนอหลักฐานต่างๆ แต่ก็รู้สึกเครียดโดยตัวมันเอง กดดัน เป็นความเครียดสะสม ในช่วงการถามค้าน บางคำถามก็ทำให้รู้สึกว่า เรื่องแค่นี้เองหรือที่ทำให้ต้องถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี ของคนอื่นก็เป็นเพราะแจกสติกเกอร์ ส่วนตนเพราะติดรถไปทำข่าว

อย่างไรก็ดี ทวีศักดิ์มีความเชื่อมั่นพอสมควรว่ากระบวนการยุติธรรมของศาลไทยจะตัดสินตามหลักกฎหมาย 

หลังการสืบพยานจำเลยทั้ง 2 ปากนี้แล้ว คดีนี้ยังมีนัดสืบพยานจำเลยต่อเนื่องในวันที่ 4-5 ต.ค. อีกเป็นเวลา 2 วัน

ที่มา: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

หมายเหตุ: ประชาไทเพิ่มเติมถ้อยแถลงของทวีศักดิ์ในส่วนท้าย (ย่อหน้าที่ 2 และ 3 นับจากท้าย) เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2560 เวลา 18.45 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มพบ. ช็อกโกแลต เกือบทุกยี่ห้อพบตะกั่วและ/หรือแคดเมียม ร้อง อย.ออกมาตรฐานแคดเมียม

Posted: 04 Oct 2017 03:29 AM PDT

นิตยสารฉลาดซื้อ เผย 'ช็อกโกแลต' เกือบทุกยี่ห้อ พบ 'ตะกั่ว และ/หรือ แคดเมียม' แม้ปริมาณตะกั่วไม่เกินมาตรฐาน แต่ อย. ควรทำมาตรฐานแคดเมียม แนะหากบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมช็อกโกแลตบ่อยครั้ง มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ

4 ต.ค. 2560 รายงานข่าวจาก  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แจ้งว่า วันนี้ (4 ต.ค.60) เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ แถลงข่าวผลทดสอบการปนเปื้อนโลหะหนัก 2 ชนิด ได้แก่ แคดเมียม และ ตะกั่ว ในช็อกโกแลต 19 ตัวอย่าง ที่เป็นที่นิยมในตลาดทั้งผลิตในประเทศและนำเข้า โดยสุ่มเก็บตัวอย่างในเดือน ส.ค. - ก.ย.ที่ผ่านมา แบ่งเป็น ดาร์กช็อกโกแลต จำนวน 10 ตัวอย่าง และช็อกโกแลตประเภทอื่น ๆ อีก 9 ตัวอย่าง

ผลการทดสอบมีเพียงตัวอย่างเดียว ที่ไม่พบตะกั่วและแคดเมียมเลย คือ ลินด์ สวิส คลาสสิค ไวท์ ช็อกโกแลต (Lindt Swiss Classic White Chocolate) ขณะที่อีก 18 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนของตะกั่วและ/หรือแคดเมียม โดยเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานตะกั่ว ทั้งในและต่างประเทศ พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง แต่ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนสารแคดเมียม โดยพบตัวอย่างที่ปนเปื้อนดังนี้

(1) พบการปนเปื้อนทั้งแคดเมียมและตะกั่ว จำนวน 8 ตัวอย่าง ได้แก่  1) ลินด์ เอ็กเซลเลนท์ ดาร์ก 85% โกโก้ (Lindt Excellence Dark 85% Cocoa), 2) ทอปเบอโรน (Toblerone) ดาร์ก ช็อกโกแลต ผสมน้ำผึ้งและอัลมอนด์ นูกัต, 3) เบอรีล 80% คาเคา ดาร์กช็อกโกแลต (Beryle's 80% CACAO dark Chocolate coklat hitam), 4) กีเลียน เบลเจี้ยน ช็อกโกแลต ดาร์ก 72% (GuyLian Belgian Chocolate Dark 72%) , 5) ริตเตอร์ สปอร์ต 50% โกโก้ ดาร์ก ช็อกโกแลต (Ritter Sport 50% Cocoa Dark chocolate with fine cocoa from papua new Guinee), 6) ล็อกเกอร์ ดาร์ก-นอร์ ((Loacker Dark-Noir) (Dark Chocolate with cocoa cream filling and crispy wafer)), 7) เฮอร์ชี่ ดาร์ก ช็อกโกแลต(Hershey's Dark chocolate), 8) คินเดอร์ บูเอโน่ ดาร์ก ลิมิเต็ด อีดิทชั่น (kinder Bueno Dark limited Edition)

(2) พบการปนเปื้อนเฉพาะแคดเมียมจำนวน 10 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) ลอตเต้ กานา แบล็ค ช็อกโกแลต เอ็กตร้า โกโก้ (Lotte Ghana Black Chocolate Extra cocoa), 2) เบอรีล อัลมอนด์ (Beryl's Almond), 3) ยูไนเต็ด อัลมอนด์ ไวท์ แอนด์ ดาร์ก ช็อกโกแลต (UNITED Almond White Chocolate & Dark Chocolate), 4) ล็อตเต้ กานา เอ็กตร้า คาเคา แบล็ค (LoTTE Ghana Extra Cacao Black), 5) มอรินากะ ดาร์ส ดาร์ก ช็อกโกแลต (morinaga DARS dark chocolate), 6) เนสท์เล่ คิทแคท (nestle KitKat)ช็อกโกแลตนมสอดไส้เวเฟอร์, 7) โนเบิลไทม์ (NOBLE TIME), 8) เฟอเรโร รอชเชอ (Ferrero Rocher)ช็อกโกแลตนมผสมเกล็ดเฮเซลนัทสอดไส้ครีมและเฮเซลนัท, 9) ทวินช็อกฮาร์ท (TWIN-CHOCK HEART), และ 10) เฮอร์ เว่ย แดรี่ มิลค์ (HER WEI Dairy Milk) (ดูผลทดสอบละเอียดในนิตยสารฉลาดซื้อ)

"ในต่างประเทศ ผลการทดสอบขององค์กร As You Sow ที่ทดสอบพบช็อกโกแลต 18 ยี่ห้อดัง มีตะกั่วหรือแคดเมียมในระดับอันตราย ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับคนที่ชอบกินช็อกโกแลตเป็นอย่างมาก ยิ่งช็อกโกแลตมีปริมาณโกโก้แมส* มาก ก็ยิ่งเสี่ยงที่จะพบโลหะหนักทั้งสองชนิดดังกล่าวมากขึ้น ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้สุ่มทดสอบช็อกโกแลตยี่ห้อดังในตลาด เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภคว่าช็อกโกแลตยี่ห้อไหนมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และมากน้อยเพียงใด เพราะปัจจุบันสินค้าเหล่านี้วางขายทั่วไปแม่แต่ร้านสะดวกซื้อซึ่งสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย" (อ้างอิง http://www.asyousow.org/our-work/environmental-health/toxic-enforcement/lead-and-cadmium-in-food/)

รายงานข่าวระบุด้วยว่า แม้ว่าจะไม่มีตัวอย่างใดพบการตกค้างตะกั่วจนเกินค่ามาตรฐาน แต่จากการอ่านฉลากพบว่า มี 2 ตัวอย่างที่ไม่มีการแสดงฉลากเป็นภาษาไทย และไม่มีการแสดงเลขสารบบอาหาร ได้แก่ เบอรีล อัลมอนด์ (Beryl's Almond) และ เฮอร์ เว่ย แดรี่ มิลค์ (HER WEI Dairy Milk) ซึ่งทั้งสองตัวอย่างผลิตในประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ การไม่แสดงฉลากภาษาไทยเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 6 (10) และมีโทษตามมาตรา 51 ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 คือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท ส่วนการไม่แสดงเลขสารบบอาหาร มีความเป็นไปได้ว่านำเข้าอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 15) ซึ่งมีบทลงโทษคือ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 53)

มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การปนเปื้อนของโลหะหนักในผลิตภัณฑ์อาหารไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 83 (พ.ศ. 2527) ซึ่งได้กำหนดให้ปริมาณสารตะกั่วที่ตรวจพบในช็อกโกแลตต้องไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) แต่หากเป็นช็อกโกแลตชนิดไม่หวาน ตรวจพบได้ไม่เกิน 2 มก./กก. แต่สำหรับแคดเมียมในช็อกโกแลตนั้น ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์เอาไว้

นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวอีกว่า แม้ว่าผลทดสอบการปนเปื้อนโลหะหนัก 2 ชนิด ในช็อกโกแลตดังกล่าวจะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน  แต่สารโลหะหนักเหล่านี้สามารถสะสมในร่างกายได้ ดังนั้นผู้บริโภคยังคงต้องระมัดระวังการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของช็อกโกแลต ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพหากรับประทานในปริมาณมากหรือบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในเด็กที่อ่อนไหวเป็นพิเศษต่อสารปนเปื้อนโลหะหนัก" เรื่องของปริมาณโกโก้ในช็อกโกแลต

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 83 (พ.ศ. 2527) เรื่อง ช็อกโกแลต ได้กำหนดคุณภาพและมาตรฐานเฉพาะของช็อกโกแลตแต่ละชนิดเอาไว้ สำหรับช็อกโกแลตนม ซึ่งเป็นชนิดของช็อกโกแลตที่เราเลือกสุ่มเก็บมาเป็นตัวอย่างในการตรวจวิเคราะห์ครั้งนี้ มีการกำหนดคุณภาพไว้ว่าต้องมีปริมาณโกโก้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของปริมาณช็อกโกแลต โก้โกปราศจากไขมันไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 มีธาตุน้ำนมไม่รวมมันเนยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10.5 และต้องมีน้ำตาลไม่เกินร้อยละ 55

นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝากข้อสังเกตของคนที่ชอบช็อกโกแลต ด้วยว่า เมื่อดูปริมาณส่วนประกอบทั้งหมดในผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตนั้นยังมีส่วนประกอบที่เป็นน้ำตาล เพราะฉะนั้นถ้าหากรับประทานมากๆ ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพแน่นอน ปริมาณแคลอรีของพลังงานจากการกินอาหารที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วันคือ 1,600 – 2,000 กิโลแคลอรี และเราไม่ควรบริโภคน้ำตาลมากเกินไป ซึ่งตามที่นักโภชนาการแนะนำคือ ไม่ควรเกิน 24 กรัม/วัน หรือ 6 ช้อนชา/วัน เพราะน้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทหนึ่งที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย โดยหากเราบริโภคมากเกินไป สามารถเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคอ้วนหรือฟันผุ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ รวมทั้งโรคไขมันในเลือดสูงได้ นอกจากนี้ช็อกโกแลตมีสารคาเฟอีนด้วย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนติดช็อกโกแลต

อัฏฐพร ฤทธิชาติ  เจ้าหน้าที่เทคนิคและวิชาการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ การได้รับสารตะกั่วและสารแคดเมียม ในระยะยาวจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มทารกในครรภ์และเด็ก ซึ่งสารโลหะหนักทั้ง 2 ชนิดนี้จะส่งผลเสียหายต่อการเจริญเติบโตของระบบประสาทและพัฒนาการทางสมองของเด็กที่คล้ายกัน กล่าวคือ ทำให้ระดับสติปัญญาด้อยลง ผลการเรียนตกต่ำ สมาธิสั้น และก้าวร้าว และก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกายด้วย เช่น ระบบสืบพันธุ์  ตับ ไต และระบบการสร้างเม็ดเลือด

ส่วนด้านการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง องค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การอนามัยโลก กำหนดให้แคดเมียมเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยมีหลักฐานยืนยันว่าทำให้เกิดมะเร็งปอด และมีหลักฐานอย่างจำกัดว่าทำให้เกิดมะเร็งที่ไตและต่อมลูกหมาก และกำหนดให้สารประกอบของตะกั่วเป็นสารที่น่าจะก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์

รายงานข่าวระบุอีกว่า สารตะกั่วและแคดเมียมถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท จึงก่อให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและการดูดซึมสารโลหะหนักของพืชได้ ดังนั้น การควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดอย่างเข้มงวด จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับแหล่งอาหารของเราได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จัดระเบียบสงฆ์: ปัญหาอำนาจรัฐในศาสนจักร

Posted: 04 Oct 2017 12:14 AM PDT


(ภาพจาก http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1452848704)


หลังจากพระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท ถูกควบคุมตัวเข้าค่ายทหารและต้องสึกด้วยข้อกล่าวหาเป็นภัยความมั่นคงและสร้างความแตกแยกระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมได้ไม่นาน ก็มีคำสั่งของเจ้าคณะปกครองสงฆ์ระดับต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเห็นคำสั่งต่างๆ แล้ว ย่อมเกิดคำถามตามมา เช่นว่าคำสั่งที่ทยอยกันออกมานั้น มีทั้งที่สอดคล้องกันและแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่นคำสั่งเจ้าคณะกรุงเทพมหานครห้ามติดแผ่นป้ายการโฆษณาพระพุทธรูป พระเครื่อง วัตถุมงคล และเทวรูปในที่ต่างๆ คำสั่งเจ้าคณะหนใหญ่ตะวันออกห้ามพระภิกษุสามเณรวิพากษ์วิจารณ์ที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คำสั่งเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรให้งดเว้นการประพฤติอาจาระที่ไม่เหมาะแก่สมณสารูป และให้งดเว้นการเล่นเฟส, ลงภาพในเฟส, หรือกดแชร์, กดไลค์, และห้ามเขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ลงเฟส เป็นต้น

ประเด็นคือ คำสั่งของเจ้าคณะปกครองต่างๆ เป็นอำนาจตามกฎหมายคณะสงฆ์หรืออำนาจรัฐ แต่ละคำสั่งมีผลบังคับใช้ในเขตปกครองของเจ้าคณะปกครองนั้นๆ เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แปลว่า ในเขตปกครองของเจ้าคณะกรุงเทพฯ พระติดป้ายต่างๆ ตามคำสั่งห้ามไม่ได้ แต่พระเล่นเฟสได้ใช่หรือไม่? ขณะที่ในเขตปกครองของเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร พระเล่นเฟสไม่ได้ แต่ติดป้ายโฆษณาต่างๆ ได้ใช่หรือไม่? เป็นต้น ส่วนคำสั่งเจ้าคณะหนตะวันออกก็ซ้ำซ้อนกับกฎหมายบ้านเมือง ไม่มีความจำเป็นต้องออกคำสั่งเช่นนี้เลย ยกเว้นว่าออกคำสั่งเพราะต้องการแสงถึง "การคล้อยตามอำนาจรัฐ" ยุค คสช.

จะว่าไปเนื้อหาของคำสั่งอื่นๆ อีกหลายฉบับก็ซ้ำๆ กับประกาศ, คำสั่งมหาเถรสมาคมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งสะท้อนว่าประกาศและคำสั่งต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติจริง แปลว่าปัญหาทางศาสนาไม่อาจแก้ได้ด้วยอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจทางกฎหมายของคณะสงฆ์หรืออำนาจรัฐในศาสนจักร

จะเข้าใจปัญหาดังกล่าว ผมคิดว่าเราอาจมองศาสนาเป็น 3 ยุคหลักๆ คือ ศาสนายุคพระศาสดา (กรณีบางศาสนาที่ไม่ปรากฏว่าใครคือศาสดาก็อนุโลมเป็น "ศาสนาในแง่สาระคำสอน") เป็นศาสนาที่ไม่ผูกติดกับอำนาจรัฐและมักจะถูกอำนาจรัฐรังแก เช่น พุทธะก็ไม่ได้มีสถานะ อำนาจในโครงสร้างอำนาจรัฐ สังฆะก็ไม่ได้มีสถานะและอำนาจทางกฎหมาย การจัดองค์กรสงฆ์และการปกครองสงฆ์เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างพุทธะกับสมาชิกของสังฆะ ซึ่งมีลักษณะกระจายอำนาจปกครองกันเอง ไม่เกี่ยวใดๆ กับอำนาจรัฐ

ส่วนโมเสสเป็นผู้นำในการปลดปล่อยทาสชาวยิวจากการกดขี่ของอำนาจรัฐ ขณะที่พระเยซูก็อยู่กับคนข้างล่างและถูกอำนาจรัฐประหารชีวิตด้วยการตรึงกางเขน ที่สำคัญพุทธะและพระเยซูไม่มีคำสอนหรือการวางหลักเกณฑ์ใดๆ ให้สาวกมียศศักดิ์ ตำแหน่ง และอำนาจทางกฎหมาย

แต่ศาสนายุคหลังพระศาสดาหรือยุคกลาง/ยุคประเพณี ได้เข้ามาผูกติดกับอำนาจรัฐอย่างแยกไม่ออก เกิดศาสนจักรและนักบวชที่มีสถานะและอำนาจทางกฎหมาย ศาสนาจึงกลายเป็นรากฐานของการออกกฎหมายในการปกครองของรัฐ เป็นเครื่องมือยกย่องเชิดชูสถานะและอำนาจของชนชั้นปกครอง และรัฐยังออกฎหมายปกป้องคำสอน, สถานะ, อำนาจของศาสนจักรและนักบวช ศาสนายังกลายเป็นรากฐานของประเพณีและวัฒนธรรมของสังคมที่นับถือศาสนานั้นๆ ศาสนาจึงมีอำนาจที่ซับซ้อนมาก

แต่ความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ชัดเจนว่า ในยุคที่ศาสนาเรืองอำนาจ สังคมมนุษย์ไม่มีเสรีภาพทางความคิดเห็นและเสรีภาพทางการเมือง จนเมื่อเปลี่ยนจากยุคกลางเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่แยกศาสนาออกจากโครงสร้างอำนาจรัฐ สังคมมนุษย์จึงมีเสรีภาพและประชาธิปไตย

ศาสนายุคปัจจุบันในโลกเสรีประชาธิปไตยที่เป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) เป็นศาสนาที่แยกเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ ศาสนจักรและนักบวชไม่ได้มีสถานะและอำนาจทางกฎหมายในการปกครองกัน แต่ปกครองกันในลักษณะเป็นองค์กรเอกชน ศาสนาจึงพ้นไปจากการอาศัยอำนาจรัฐเพื่อครอบงำและกดขี่ประชาชน

พูดอีกอย่างศาสนาอยู่ภายใต้การกำกับของกติกาประชาธิปไตย จึงต้องปรับตัวตามพัฒนาการของสังคมประชาธิปไตย หรือถึงศาสนาจะมีความเชื่อบางอย่างที่ขัดกับหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่ก็ไม่อาจอาศัยอำนาจรัฐใช้ความเชื่อนั้นครอบงำบังคับประชาชนได้ ยกเว้นรัฐศาสนาและรัฐที่ยังไม่แยกศาสนจักรจากโครงสร้างอำนาจรัฐได้จริง

แต่พุทธศาสนาไทยในยุคปัจจุบันยังไปไม่พ้นจากความคิดและโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาแบบยุคกลางหรือยุคประเพณี คือพุทธศาสนายังผูกติดกับรัฐ ศาสนจักรหรือองค์กรปกครองสงฆ์เป็นองค์กรของรัฐ พระสงฆ์มีตำแหน่งและอำนาจทางกฎหมายที่วางระบบการปกครองเลียนแบบระบบราชการ ด้วยเหตุนี้สังคมไทยปัจจุบันจึงมีคำถามหลักเกี่ยวกับพุทธศาสนาแบบคำถามหลักของยุคกลาง นั่นคือคำถามหลักที่ว่า รัฐจะอุปถัมภ์และรักษาความบริสุทธิ์ถูกต้องของคำสอนพุทธศาสนาและวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์อย่างไร

คำสั่งเจ้าคณะปกครองต่างๆ ที่ออกโดยอำนาจทางกฎหมายคณะสงฆ์หรืออำนาจรัฐในศาสนจักร เพื่อจัดระเบียบพระสงฆ์ตามที่เป็นข่าว ก็เพื่อจะตอบคำถามหลักแบบยุคกลางดังกล่าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยปัจจุบันก็ยังทำหน้าที่รักษาคำสอนศาสนาและวัตรปฏิบัติของนักบวชแบบยุคกลาง จึงทำให้รัฐไทยไม่อาจพัฒนาไปสู่ความเป็นรัฐประชาธิปไตยที่ทำหน้าที่เป็นกลางทางศาสนา รักษาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา โดยไม่อุปถัมภ์หรือต่อต้านศาสนาใดๆ ได้ดังที่รัฐโลกวิสัยเขาเป็นกัน

แต่ในโลกปัจจุบันอำนาจรัฐไม่มีทางรักษาคำสอนที่ถูกต้องบริสุทธิ์และวัตรปฏิบัติของนักบวชได้จริง คำสั่งต่างๆ ที่ทยอยออกมามากมายในระยะนี้ ก็คงไม่มีผลทางปฏิบัติอีกเช่นเคย เพราะเนื้อหาของคำสั่งทั้งซ้ำซ้อน คลุมเครือ ตีความได้ครอบจักรวาล

จะว่าไปแก่นแท้ของอำนาจรัฐในศาสนจักร คืออำนาจในการควบคุม เต็มไปด้วยการห้ามนี่ก็ทำไม่ได้ นั่นก็ไม่ควรจะทำ นี่ก็ผิด โน่นก็ผิด ซึ่งโดยมากเป็นเรื่องหยุมหยิมและกระทบต่อจารีตอนุรักษ์นิยมเท่านั้น แต่อะไรที่พระสงฆ์แสดงออกในทางต่อต้านเสรีภาพและประชาธิปไตย กลับแสดงออกได้อย่างเต็มที่และมีภูมิคุ้มกันสูงตลอดมา

หากจะมีความหมาย คำสั่งเหล่านั้นก็มีความหมายเพียงเป็นการทำให้สิ่งที่ไม่ใช่ปัญหาของรัฐกลายเป็นปัญหาของรัฐเท่านั้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาของรัฐแท้จริง คือการทำให้รัฐไทยเป็นรัฐประชาธิปไตยที่เป็นกลางทางศาสนา มีหน้าที่รักษาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา กลับถูกกลบ ไม่ถูกยกมาตั้งคำถามและหาคำตอบกันอย่างจริงจัง
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อพิจารณาว่าด้วยการต่อต้านการรุกรานทางศาสนาของชาวพุทธ (2) : ขันติธรรมและหนทางที่ยากลำบาก

Posted: 04 Oct 2017 12:00 AM PDT

ผู้เขียนยังมีเรื่องคาใจที่อยากจะพูดต่อกับชาวพุทธด้วยกันโดยเฉพาะเรื่องขันติธรรมกับการยอมจำนนต่อจากประเด็นในบทความที่แล้ว ก่อนอื่นจะขอเริ่มต้นโดยอาศัยคำพูดของโยฮัน กัลป์ตุง เพื่อเตือนให้ตระหนักถึงคุณค่าของพุทธศาสนากับสันติภาพ

"หลักธรรมพื้นฐานของพุทธศาสนาอีกประการหนึ่งได้แก่ หลักขันติธรรม แม้พุทธศาสนาจะมีพระธรรมคำสั่งสอนถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ แต่จากประวัติศาสนา อาจกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาไม่เคยมีสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ เพื่อมาทำหน้าที่พิทักษ์หลักธรรมคำสอน ทั้งไม่มีศาลศาสนาและสงครามภายในศาสนาด้วย ในทางตรงกันข้าม พุทธศาสนากลับมีขันติธรรมต่อระบบความเชื่ออื่นๆ ให้โอกาสในการผนวกระบบความเชื่ออื่นเข้าอยู่ด้วยกันในขอบข่ายอันกว้างขวาง หรืออย่างน้อยก็เปิดโอกาสให้ระบบความเชื่ออื่นดำรงอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ พุทธศาสนามีความเป็นพหุนิยมถึงกับมีความคิดที่จะช่วยเหลือกศาสนาอีกด้วย เป็นศาสนาที่มีเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย แต่ก็มีความหลากหลายดำรงอยู่ในความมีเอกภาพ และยังใช้ประโยชน์จากการดำรงอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกันท่ามกลางความหลากหลาย ซึ่งเห็นได้จากความสามารถของชาวพุทธในการประสานวิธีคิดอื่นเข้ากับแนวทางของตน ซึ่งตรงกับแนวทางของทฤษฎีสันติภาพที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของรูปแบบทางสังคม ทัศนคติและพฤติกรรมของมนุษย์ เมื่อผนวกกับความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน นั่นคือแนวคิดและการปฏิบัติแบบพุทธจะสร้างความยืดหยุ่นให้เกิดขึ้นในระบบ ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า จะมีก็แต่การแสวงหาความคิดและการกระทำที่สอดคล้องกัน"[1]

ไม่ว่ากัลตุงจะมองพุทธศาสนาแบบโลกสวยหรือไม่ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่าจะยอมรับกันได้จากคำพูดดังกล่าวคือ พุทธศาสนาให้ความสำคัญอย่างสูงกับ "ขันติธรรม" ดังจะเห็นได้จากเรื่องเล่า 2 เรื่องคือ ปุณโณวาทสูตร และเรื่องพระติสสะผู้คุ้นเคยกับตระกูลนายช่างแก้ว ซึ่งถูกคนที่คุ้นเคยที่สุดทรมานจนเสียชีวิต ในสองเรื่องนี้เราเห็นอุดมคติอันสูงส่งที่มอบไว้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับพุทธบริษัทเมื่อการเบียดเบียนจากคนอื่นมาถึงเนื้อถึงตัว เพื่อจะธำรงศีลข้อปาณาติบาตและพร้อมกับรักษาคำสัตย์ด้วยกัน พระติสสะไม่ยอมปริปากที่จะบอกให้นายช่างแก้วทราบว่าแก้วมณีที่หายไปนั้นอยู่ในท้องของนกแก้ว แต่ในความอดกลั้นอดทนอย่างสูงนี้เราก็จะได้เห็นมิติที่เมตตาธรรมหรือความกรุณาเล่นบทบาทในชีวิตของพระติสสะด้วย นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่เราเห็นว่ามีบทบาทสำคัญในชีวิตของเราจากสองเรื่องคือการไม่กลัวตายของพระติสสะและพระปุณณะ นี่เป็นตัวอย่างของการแลกชีวิตกับการดำรงธรรม (การไม่ทำร้ายสัตว์ /ความกรุณาที่มีต่อสรรพชีวิต) ซึ่ง "ธรรม" ในที่นี้หมายถึงธรรมที่สัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของผู้อื่นหรือชีวิตอื่นมากกว่าจะเป็นการรักษาธรรมเพื่อศาสนา เมื่อไม่มีความกลัวต่ออันตรายที่จะมาถึงชีวิต เราก็จะไม่กลัวตาย และเราจะมีความอดทนที่จะไม่โกรธและตอบโต้กลับด้วยความรุนแรง หรือไม่เอาตัวรอดด้วยวิธีการที่ไม่ชอบธรรม

ถ้าใช้มุมมองนี้มาวิเคราะห์สถานการณ์ของชาวพุทธไทยในปัจจุบันในกรณีที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมที่เกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนคือความโกรธ (อันเป็นสภาวะตรงกันข้ามกับความเมตตากรุณา) อันมีสาเหตุมาจากการรับรู้เหตุการณ์รุนแรงบางประการที่เกิดขึ้นและเกิดความกลัว เช่น กลัวว่าชาวพุทธจะถูกทำร้าย สังหาร หรือเข่นฆ่า กลัวพุทธศาสนาจะหายไปและทำให้ความเป็นไทยหายไปจากแผ่นดินนี้ด้วย ความกลัวมีผล 2 ประการต่อพฤติกรรมของเราคือ หนีเพื่อเอาตัวรอด หรือการสู้กลับซึ่งอาจจะรอดหรือไม่รอดก็ได้ ปัจจุบัน พระสงฆ์และชาวพุทธจำนวนมากมองว่าชาวพุทธไทยยอมเปิดกว้างใจกว้างต่อศาสนิกชนอื่นมากแล้ว เช่น การเปิดใจกว้างต่อชาวคริสต์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นต้นมา  ชาวพุทธมักคิดว่าดินแดนประเทศไทยปัจจุบันเป็นของพวกตน และเอื้อกรุณาให้ "คนอื่น" เข้ามาอาศัย กระนั้นยังไม่ได้รับความเคารพจากคนอื่นอย่างเพียงพอ มิหนำซ้ำยังจ้องรุกรานอีก ชาวพุทธจำนวนมากรู้สึกว่าชาวมุสลิมไม่เคยตรวจสอบตนเอง หาเหตุผลเข้าข้างความรุนแรงที่กระทำโดยชาวมุสลิมเสมอมา ไม่เคยตำหนิติเตียนกันเองในกรณีที่มีการทำร้ายคนอื่นจนถึงตาย เมื่อพูดถึงชาวมุสลิม ภาพของความรุนแรง ความรุกรานทางศาสนาจะปรากฏขึ้นในมโนภาพของชาวพุทธจำนวนมาก ชาวพุทธจำนวนมากโกรธเมื่อรู้สึกว่าตนเองถูกรุกราน มิตรสหายชาวพุทธด้วยกันถูกทำร้าย แต่ชาวมุสลิมกลับมองดูอย่างนิ่งเฉย การที่ชาวพุทธจะยอมรับสันติธรรมบนพื้นฐานความคิดแบบอหิงสาตามพระธรรมคำสอนในสถานการณ์แบบนี้ถูกมองว่าเป็นการยอมจำนน เป็นความขี้ขลาดซึ่งจะตามมาด้วยความสูญสิ้นพุทธศาสนาไปจากประเทศไทย

ข้อนี้ย่อมแตกต่างจากสิ่งที่กัลตุง เห็นและประทับใจในพุทธศาสนา ที่กัลตุงกล่าวถึงหลักการของพุทธศาสนานั้นก็คงไม่ผิด หลักคิดพุทธศาสนามีลักษณะที่เอื้อให้เกิดความมีใจกว้างต่อลัทธิศาสนาอื่นๆ หรือความเชื่ออื่น ๆ เสมอ ข้อมูลในพระไตรปิฎกก็บ่งชี้ชัด เช่น เกสปุตตสูตร (กาลามสูตร) หรือ อปัณณกสูตร เป็นต้น ล้วนแต่สอนให้เปิดกว้างต่อสัจจะหรือความจริงแบบอื่น ๆ พระพุทธเจ้าสอนให้บุคคลมีสิทธิขาดในการยอมรับหรืไม่ยอมรับความเชื่ออื่นหลังจากได้ไตร่ตรองพิจารณาด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ขันติธรรมในเรื่องความคิดและความรู้นั้นดูไม่เป็นปัญหามากสำหรับชาวพุทธนัก (แต่ใช่ว่าไม่มีปัญหาเสียเลย) ส่วนขันติธรรมในเรื่องสถาบันนั้นมาถึงจุดที่อาจพูดได้ว่าชาวพุทธได้หันออกไปจากเส้นทางที่เคยเป็นจุดยืนอันโดดเด่นของชาวพุทธเรียบร้อยแล้วเมื่อเผชิญหน้ากับชาวมุสลิมหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิม คำสอนศาสนาอาจทดสอบกันด้วยเหตุผล แต่การใช้กำลังก็ต้องต่อต้านด้วยอาศัยกำลังเช่นเดียวกัน

คำถามที่น่าจะเกิดขึ้นในกรณีที่มีการเรียกร้องให้ชาวพุทธใช้ขันติธรรมต่อการรุกรานทางศาสนาของลัทธิอื่นๆ โดยเฉพาะชาวมุสลิม ก็คือ การมีขันติธรรมในขณะที่คนอื่นเอาไฟมาสุมบ้าน หรือมุ่งหมายที่จะเอาชีวิตเรานั้น ควรเป็นอุดมคติหรือไม่ ถ้ายอมรับขันติธรรมแบบที่ยอมเสียชีวิตแต่ไม่ยอมมีปฏิกิริยาเชิงบวกใด ๆ ก็คงถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่รักศาสนา เป็นพวกขี้แพ้ ยอมจำนน ไม่ยอมสู้ การมีขันติธรรมต่อความรุนแรงและการรุกรานกลายเป็นความขลาดเขลา ขันติธรรมและเมตตาธรรมที่ตามมาด้วยการสูญเสียตัวเองและสิ่งอันมีคุณค่าต่อชีวิตของตน เป็นสิ่งที่ควรจะยอมรับหรือ ?

พระพุทธเจ้าให้ค่าสูงส่งกับการมีขันติธรรมและการไม่เบียดเบียน การตีความว่าการมีขันติธรรมคือการยอมจำนน ความขลาดเขลา ย่อมเป็นการประเมินค่าคุณธรรมของพุทธศาสนาไว้ต่ำกว่าวัตถุสิ่งของ รูปแบบทางวัฒนธรรมอันเป็นสิ่งสมมติ หมายความว่า นี่เป็นการออกนอกทางหรือการอยู่ในทางของพุทธะ


ถ้าไม่ต้องการยอมจำนน – อะไรคือหนทาง ?

ถ้าการแผ่เมตตาอย่างเดียวไม่ช่วยให้ชีวิตรอด หากศัตรูมุ่งหมายจะเอาชีวิตเราจริงๆ ตัวอย่างในวรรณกรรมทางพุทธศาสนาก็มีให้เห็น เช่น การสูญสิ้นตระกูลศากยะวงศ์และการล่มสลายของกบิลพัสดุ์ เพราะถูกฆ่าล้างตระกูลโดยพระเจ้าวิฑูฑภะผู้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวศากยะเอง เรื่องเล่าว่า ชาวกบิลพัสดุ์เมื่อเผชิญหน้ากับศัตรูที่กระหายเลือด กลับมุ่งหมายแต่จะรักษาศีลคือการไม่ฆ่า แต่สุดท้ายก็ไม่เหลือรอดแม้แต่ทารก เลือดนองทั้งแผ่นดิน – นี่คือตัวอย่างของความพินาศอันเนื่องจากมุ่งแต่จะดำรงศีลตามอุดมคติศาสนา อย่างไรก็ตามในพระไตรปิฎก ก็มีเรื่องเล่า (ชาดก) หลายเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าการยอมจำนนคือทางออกในการรักษาชีวิตผู้บริสุทธิ์

แต่เพื่อจะหลีกหนีจากข้อกล่าวหาว่าเป็นพวกยอมจำนนหรือขี้ขลาด ชาวพุทธก็มีสองทางเลือก ทางหนึ่งนั้นดูลัดสั้นทันใจแต่ก็มีสิทธิที่จะไม่รอดด้วยเช่นกันคือสู้กลับแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน อีกทางหนึ่งนั้นเป็นทางเลือกที่ยากกว่า จึงต้องอาศัยขันติธรรมเป็นเครื่องนำทางด้วย ขอเรียกว่า หนทางแห่งปัญญาและเมตตาธรรม ถ้าเราถือเอาเรื่องเล่าในวรรณกรรมทางพุทธศาสนามาเป็นกรอบพิจารณาถึงวิธีการที่จะต่อสู้กับความทุกข์หรือความปวดร้าวอันเนื่องมาจากการคุกคามของผู้อื่น จะมีเรื่องที่อาจนำมาพิจารณาได้หลายเรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการกับการประทุษร้ายของพระเทวทัตอาจเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนดีแต่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ที่ละเอียดจึงช่วยให้เห็นประเด็นชัดเจน แต่ในที่นี้จะพูดถึงเรื่องอื่นแม้อาจจะเป็นตัวอย่างที่ดีนักแต่ก็น่าจะถอดบทเรียนมาใช้ได้คือ เรื่องอุบาสกชื่ออุบาลี และเรื่องขององคุลิมาล ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกทั้งสองเรื่อง

ถ้าเราจับเรื่องราวของคฤหบดีอุบาลีในอุปาลิวาทสูตร[2] มาไว้ในบริบทของสังคมไทยปัจจุบัน เราจะพบว่าพระพุทธเจ้าเองนั่นแหละที่เป็นฝ่ายรุกรานความเชื่อทางวัฒนธรรมของผู้อื่น อุบาลีเป็นเศรษฐีที่ให้ความอุปถัมภ์แก่ศาสนาของนิครนถ์ (ศาสดามหาวีระ) ซึ่งเป็นกลุ่มทางศาสนาที่เกิดขึ้นก่อนพุทธศาสนาแต่ร่วมสมัยกัน พระพุทธเจ้าเผยแผ่ศาสนาเข้าสู่ภาคกลางและรุกเข้าสู่รัฐใหญ่ ๆ อย่างแคว้นโกศล (เมืองสาวัตถี) และแคว้นมคธ (เมืองราชคฤห์) อันเป็นถิ่นของครูหรือเจ้าลัทธิทั้งหกซึ่งมีท่านศาสดามหาวีระรวมอยู่ด้วย อุบาลีได้รับทราบเรื่องราวของพระพุทธเจ้าว่าทรงมีความสามารถในการโต้แย้งธรรมและเอาชนะฝ่ายปรปักษ์ได้เป็นที่น่าหวาดหวั่นแก่นักบวชกลุ่มอื่น อุบาลีเป็นคนฉลาดและหยิ่งทะนงตนว่าโต้วาทะเอาชนะพระพุทธเจ้าได้ จึงสมัครใจที่จะเดินทางไปโต้แย้งปัญหาเชิงอภิปรัชญากับพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ก่อนไป อุบาลีบอกแก่ศาสดาของตนว่าจะทำให้พระพุทธเจ้าหัวหมุนด้วยตรรกะอันชาญฉลาดของเขา เมื่อถึงเวลากลับโดนพระพุทธเจ้าต้อนให้จนมุมด้วยระบบตรรกะและแนวคิดที่เหนือกว่า อุบาลียอมศิโรราบแก่พระพุทธเจ้าโดยบอกว่าตนจะยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะตลอดชีวิต แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนให้เขาคิดถึงผลกระทบที่จะมีต่อชีวิต ครอบครัว และชื่อเสียงของเขา อุบาลีไม่หวั่นและหันมานับถือพระพุทธเจ้า ถ้าชาวพุทธมองพระพุทธเจ้าเป็นผู้รุกรานทางวัฒนธรรมบ้างก็มีทางที่จะเปิดใจกว้างต่อศาสนาอื่นๆ ได้บ้างกระมัง

สมมติเราพลิกอ่านสถานการณ์ในเรื่องเล่านี้ว่า อุบาลีคือผู้รุกรานพุทธศาสนาหรือพระพุทธเจ้า เราก็จะมองเห็นวิธีที่พระพุทธเจ้าจัดการและรับมือกับอุบาลีจนสามารถจะทำให้กลายเป็นพวกเดียวกันได้ในที่สุด กรณีนี้ไม่ใช่กรณีที่เป็นการรุกรานถึงชีวิตซึ่งอาจจะสามารถรับมือได้อย่างวิญญูชน เพราะต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในการสนทนาแลกเปลี่ยนหรือโต้แย้งความคิดด้วยเหตุผลและสติปัญญา อาจจะไม่เหมือนกรณีองคุลิมาล [3] ในแง่ที่องคุลิมาลมีจุดมุ่งหมายชัดเจนในการวิ่งเข้าหาพระพุทธเจ้า คือต้องการสังหารเพื่อตัดหัวแม่มือไปบูชาครูของตน [4] ชีวิตของคนทั้งคนมีค่าเพียงแค่หัวแม่มือ พระพุทธเจ้าต้องการจะเผชิญหน้ากับคนซึ่งลดทอนคุณค่าชีวิตของคนอื่นอย่างสูงเช่นองคุลิมาลและทำให้เขากลับมาเห็นคุณค่าชีวิตและการไม่เบียดเบียนผู้อื่น พระพุทธเจ้าทรงทำอย่างไร ?

เรื่ององคุลิมาลไม่ใช่ตัวอย่างของการรุกรานของศาสนาอื่น แต่เป็นตัวอย่างของการเผชิญหน้ากับความเป็นความตายหรือคนชั่วร้ายที่มุ่งหมายชีวิตของคนอื่นเพียงเพื่อตนเองจะได้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในชีวิต ตามความในพระไตรปิฎก องคุลิมาลเป็นโจรที่น่ากลัวครอบครองพื้นที่ราวป่านอกเมืองสาวัตถีด้วยกิตติศัพท์แห่งความโหดร้ายที่ไม่มีใครจะรอดชีวิตมาได้เมื่อเผชิญหน้ากับองคุลิมาล ไม่ว่าคนเดียว 20 คน หรือ 40 คนก็สู้คมดาบองคุลิมาลไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าเดินทางออกนอกเมืองเข้าไปยังเขตแดนที่อาศัยขององคุลิมาลแต่พระองค์เดียว องคุลิมาลเห็นการปรากฏตัวอย่างท้าทายของพระพุทธเจ้า จึงวิ่งเข้าหาเพื่อสังหารให้จงได้ แต่ไม่สามารถวิ่งตามพระพุทธเจ้าได้ทัน พระพุทธเจ้าทำให้องคุลิมาลยอมสยบด้วยการสนทนาตอบโต้กันที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ เมื่อองคุลิมาลวิ่งตามพระพุทธเจ้า จนอ่อนล้าไม่สามารถวิ่งได้อีกต่อไป เขาเหนื่อยหอบและร้องเรียกให้พระพุทธเจ้าหยุด แต่พระพุทธเจ้ากลับตรัสว่า "เราหยุดแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด" องคุลิมาลรู้สึกว่าคำพูดของพระพุทธเจ้าไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในขณะนั้น จึงถามหาความหมายของคำพูด พระพุทธเจ้าได้ใช้จังหวะนั้นตรัสถ้อยคำที่ทำให้องคุลิมาลตาสว่าง สิ่งที่องคุลิมาลรู้สึกได้หลังการสนทนาครั้งนั้นคือ พระพุทธเจ้าเสด็จมาหาเขาด้วยความปรารถนาดีอย่างแท้จริง ขณะที่คนอื่นมองเขาเป็นคนชั่วร้าย เป็นมหาโจร เป็นบุคคลที่ไม่น่าปรารถนาสำหรับสังคม แต่พระพุทธเจ้าเดินทางมาเพื่อต้อนรับเขาเข้าสู่สังคมอีกครั้ง มิหนำซ้ำเป็นสังคมใหม่ที่เน้นความไม่เบียดเบียน เช่นเดียวกับชื่อเดิมของเขาคือ "อหิงสกะ" ผู้ซึ่งเห็นคุณค่าของชีวิตคนอื่นอย่างสูง [5]

จะเรียนรู้อะไรจากสองเรื่องนี้ได้บ้าง สำหรับผู้เขียน เรื่องแรก "อุปาลีคฤหบดี" เราได้เรียนรู้การเผชิญหน้าทางความคิดของกันและกันอย่างตรงไปตรงมา การยอมรับกติกาพื้นฐานบางอย่างร่วมกันก่อนจะเริ่มต้นแสดงเหตุผลของตนเพื่อหักล้างคนอื่น การที่คนต่างกัน มีความแปลกหน้าและมีคติความเชื่อที่แตกต่างกันได้เดินทางมาสนทนาโต้แย้งกันโดยยึดเอาหลักการความถูกต้องและเหตุผลเป็นตัวตั้งน่าจะเป็นตัวอย่างอันดีสำหรับการแปรความขัดแย้งไปสู่การสนทนากันด้วยเหตุผลและมุ่งแสวงหาความจริงเป็นที่ตั้ง ดังที่พระพุทธเจ้าและอุบาลีเริ่มต้นด้วยการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ยุติธรรมเป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่ายก่อน จากนั้นจึงเริ่มโต้แย้งหักล้างกันด้วยความจริงและเหตุผล 

กรณีองคุลิมาล บทสนทนาที่พระพุทธเจ้าแสดงออกไป เป็นการชี้ให้องคุลิมาลได้เห็นความจริงเกี่ยวกับชีวิตทั้งหมดของตน โดยอาศัยด้วยคำพูดอันชาญฉลาดไม่กี่ประโยคก็ช่วยให้องคุลิมาลกลับไปมองตัวเองได้อย่างชัดเจน อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้องคุลิมาลซาบซึ้งจริงๆ คือความปรารถนาดีที่พระพุทธเจ้ามีให้แก่เขา ซึ่งแสดงออกผ่านการกระทำอันชาญฉลาดและบทสนทนาที่ทำให้เขารู้สึกอึ้ง พระพุทธเจ้าช่วยให้องคุลิมาลตระหนักถึงวิถีชีวิตทางจริยธรรมอันเลวทรามของตน เกิดการตระหนักรู้คุณค่าของการเกิดมามีชีวิตเป็นมนุษย์ เมื่อตาสว่างเขาจึงพร้อมที่จะละทิ้งวิถีชีวิตแบบเดิม ๆ ที่จมอยู่กับความชั่วร้ายตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความปรารถนาดีต่อกันย่อมเป็นหนทางที่จะช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี เป็นหนทางที่ศาสนาทุกศาสนาต้องการปลูกฝังสำหรับทุกคน แต่เหตุใด เมื่อเผชิญหน้ากับความยากลำบากเราจึงพร้อมจะวิ่งออกนอกทางที่ศาสนาพร่ำสอนไว้เล่า ?

แน่นอนว่าชาวมุสลิมทั้งหมดไม่ใช่คนชั่วร้ายที่มุ่งก่ออันตรายแก่วิถีชีวิตของชาวพุทธหรือชาวโลก แต่สมมติว่าชาวพุทธมีทัศนคติในทางที่เป็นลบแก่ชาวมุสลิม มองว่าชาวมุสลิมเป็นคนชั่วร้ายที่มุ่งหมายจะรุกรานชีวิตและวัฒนธรรมของตน ชาวพุทธจะเลือกเผชิญหน้าอย่างไร หนทางแห่งสติปัญญานั้นชอบด้วยหลักการทางศาสนา ชาวพุทธเดินบนวิถีแห่งสติปัญญามากพอหรือยัง การเอาชนะผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งการอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขและสันติเป็นเป้าหมายนั้นน่าจะเป็นที่ตระหนักชัดอยู่แล้วสำหรับชาวพุทธ แต่การพยายามเดินทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าวนั้นเป็นหนทางที่ยาก เพราะต้องใช้ความเพียรพยายาม ใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างสูง ชาวพุทธในฐานะที่นิยามตนเองว่าเป็นศาสนิกชนที่เชื่อในความจริงที่มีเหตุผล พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา และความเพียรพยายาม ทำไมจึงสิ้นหวังที่จะเดินไปตามหนทางนี้ – บางทีอาจเพราะยังไม่สามารถเอาชนะความกลัวได้ ถ้าเราไม่กลัว เราก็อาจเป็นอย่างพระติสสะได้ หรือเป็นอย่างพระพุทธเจ้าได้ ความกลัวต่ออันตรายในชีวิตของตนถูกสลัดทิ้ง เหลือไว้แต่เมตตาธรรมเป็นเบื้องหน้า และปิดกั้นความเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นในตัวเองด้วยขันติธรรม

ถ้าเช่นนั้น เราจะเอาชนะความกลัวได้อย่างไร เชื่อว่าชาวพุทธน่าจะมีคำตอบจากภูมิปัญญาจากวัฒนธรรมของตนอยู่แล้ว


อ้างอิง
[1] โยฮัน กัลป์ตุง, พุทธสันติวิธี : ทฤษฎีเชิงโครงสร้าง. สมชัย เย็นสบาย แปล. กรุงเทพฯ เรือนแก้วการพิมพ์, 2538. หน้า 19-20
[2] พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. เล่มที่ 13 ข้อ 56-77
[3] พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. เล่มที่ 13 ข้อ 521-525
[4] "อรรถกถองคุลิมาลสูตร" ใน มหามกุฎราชวิทยาลัย, พระสูตรและอรรถกถาแปล มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่มที่ 2 ภาคที่ 2 
[5] รายละเอียด ดู ชาญณรงค์ บุญหนุน "ภาษาและความหมายอันแปรเปลี่ยน: จากพุทธศาสนานิกายเซ็นถึงองคุลิมาลสูตร" ใน คงกฤช ไตรยวงศ์ และรชฎ ศาสตราวุธ (บรรณาธิการ), ดั่งสลักและขัดเงา : หนังสือรวมบทความทางวิชาการเนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการ ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมมติ, 2560. หน้า 90-122



 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แขวนคอ: จากคนดำถึง ‘6 ตุลา’ ทางออกนองเลือดบนความเห็นต่าง

Posted: 03 Oct 2017 11:35 PM PDT

เล่าประวัติศาสตร์การแขวนคอเนื่องในสัปดาห์วาระ 41 ปี '6 ตุลา' เรื่องเล่าตั้งแต่ก่อนคริสตกาล แขวนคอคนดำในสหรัฐฯ ถึง 2 พนักงานไฟฟ้าและการแขวนคอวันที่ 6 ต.ค. ที่คล้ายสมัยยุคกลางแต่อย่าลืมทารุณกรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้น พวงทอง ชี้ แขวนคอใช้ประจาน ข่มขู่ฝ่ายซ้าย ไทยไม่รับมือเห็นต่างอย่างเป็นประชาธิปไตย 

เข้าสู่สัปดาห์ของการรำลึกเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุุ่มนักศึกษา ประชาชนเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มมวลชนจัดตั้ง เหตุการณ์จบลงด้วยการใช้ความรุนแรงล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยตัวเลขของทางการนั้นมีผู้เสียชีวิต 39 คน บาดเจ็บ 145 แต่หากอ้างอิงจากการเก็บศพของเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูพบว่ามีนักศึกษาและประชาชนเสียชีวิตถึง 530 คน ยังไม่นับมูลค่าทรัพย์สินที่เสียหาย ถึง 50 ล้านบาทจากการสำรวจของคณะกรรมการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มประชาชนในวันนั้นมีหลายรูปแบบ หนึ่งในความรุนแรงเหล่านั้นคือการ 'แขวนคอ' ตามที่ปรากฏในหน้าสื่อต่างๆ ย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารและแขวนคอ ชุมพร ทุมไมย และวิชัย เกษศรีพงศา พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐม 2 หลังจากทั้งสองคนแสดงออกถึงท่าทีต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจรด้วยการเร่ติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอม และละครที่นักศึกษาที่ มธ. เล่นกันเพื่อทวงความเป็นธรรมให้เหยื่อทั้งสองก็เป็นหนึ่งในสาเหตุความรุนแรงที่ฝ่ายขวาใช้เป็นเหตุผลในการเข้าล้อมปราบมหาวิทยาลัยริมแม่น้ำเจ้าพระยา เรื่อยมาจนถึงภาพคนถูกแขวนคอในเหตุการณ์ 6 ต.ค. ที่หลายคนอาจเคยเห็น

การแขวนคอเป็นการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์ด้วยกันมายาวนานและหลายพื้นที่ทั่วโลก ดังนั้น นัยของการแขวนคอจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจถึงเหตุผลและตัวอย่างการใช้งานปฏิบัติการด้านความรุนแรงนี้ในสังคมอื่น ประชาไทนำผู้อ่านไปทำความรู้จักความเป็นมาของประดิษฐกรรมการแขวนคอที่ถูกใช้ในภาครัฐและปฏิบัติการด้านความรุนแรงในสังคมที่มากไปกว่าเหตุการณ์ 6 ต.ค. เพื่อแสดงให้เห็นถึงหนึ่งในเครื่องมือความรุนแรงที่ใช้ในการจัดการคนที่คิดต่าง และวนกลับมาที่เหตุการณ์ 6 ต.ค. อีกครั้งเพื่อเน้นย้ำว่า การทำลายคนคิดต่างด้วยการแขวนคอก็คือการจับเสรีภาพและแนวทางแห่งประชาธิปไตยแขวนคอประจาณให้ตายตกไปตามกัน

ประวัติศาสตร์การแขวนคอ ยาวนาน มีพัฒนาการ ใช้กันทั้งศาลจริงและศาลเตี้ย เปิดตัวอย่าง ปชช. แขวนคอกันเองในสหรัฐฯ

การแขวนคอมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ในแง่ของการเป็นโทษประหาร การแขวนคอถือเป็นหนึ่งในในวิธีการที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์จารึก การแขวนคอถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในมหากาพย์ โอดิสซี ของกวีนามโฮเมอร์ ที่เชื่อว่าเขียนขึ้นเมื่อ 800-600 ปีก่อนคริสตกาล โดยเนื้อหาอธิบายถึงการแขวนคอคนใช้ทั้ง 12 คนโดยโอดิสซีอุสและเพเนโลเปผู้เป็นภรรยา นอกจากนั้น โทษประหารด้วยการแขวนคอยังถูกชนเผ่าเยอรมันจำพวกแองโกล แซกซอน และจูตส์นำไปใช้สมัยที่พวกเขารุกรานอาณาจักรโรมันและเกาะบริเตนในช่วงคริสตศตวรรษที่ 5 จากนั้นการแขวนคอก็แพร่กระจายไปในทวีปยุโรปในฐานะเครื่องมือประหารเหล่าอาชญากร

มีอาชญากรหลายข้อที่ได้รับการประหารด้วยการแขวนคอตั้งแต่ข้อหาขบถ ปล้นจี้ ฆาตกรรมไปจนถึงการเป็นโจรสลัด ผู้ตกอยู่ในชะตากรรมแขวนคอเช่นนี้ไม่ได้มีเพียงผู้ชายแต่ยังรวมไปถึงเด็กและสตรีอีกด้วย นวัตกรรมการแขวนคอค่อนข้างจะไม่มีการพัฒนามาถึง 15 ศตววรษ ที่แขวนคอยุคแรกเริ่มนั้นใช้ต้นไม้ จากนั้นจึงมีประดิษฐกรรมมาอีกหลากหลายตั้งแต่ที่แขวนคอแบบ 'ทริเปิล ทรี' ที่เป็นเสายอดทรงสามเหลี่ยมที่เริ่มใช้ในปี ค.ศ.1571 ในสมัยนั้นการแขวนคอกระทำในสถานที่เปิดและเป็นที่สนใจของคนจำนวนมาก จากนั้นการประหารด้วยการแขวนคอได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีการนำวิธีใหม่ แท่นประหารใหม่มาใช้ที่ทำให้สามารถประหารได้ทีละหลายคน ทำให้นักโทษเสียชีวิตได้เร็วที่สุด มีการทำการทดลองถึงสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ถูกแขวนคอ ทุกวันนี้ยังมีหลายประเทศที่ยังมีโทษแขวนคออยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลาง เอเชียกลาง เอเชียตะวันออก บางมลรัฐในสหรัฐฯ ฯลฯ

นอกจากการเป็นโทษประหาร การแขวนคอยังคงถูกใช้ในการประจานศพอยู่ เมื่อเดือน ส.ค. 2560 สำนักข่าวเดอะซัน ของสหราชอาณาจักร รายงานว่า ตำรวจของกลุ่มกบฏฮูตีที่ยึดครองเมืองซานา เมืองหวงของประเทศเยเมนทำการประหารชีวิตฮุสเซน อัล ซาเกต ชายอายุ 22 ปี นักโทษคดีข่มขืนฆ่าอำพรางเด็กหญิงอายุ 4 ขวบ การประหารกระทำที่จัตุรัสทารีร์ อัล ซาเกตถูกประหารด้วยการยิงจากข้างหลังขณะนอนคว่ำ จากนั้นศพถูกแขวนไว้บนเครนให้ผู้คนที่ผ่านไปมาได้เห็น โดยอาลี อาเยด ผู้เป็นลุงของเด็กหญิงผู้เป็นเหยื่อระบุว่าการประหารในที่สาธารณะนั้นเป็นไปเพื่อห้ามปรามไม่ให้มีคนกล้าก่อเหตุอีก 

เว็บไซต์ National Association for the Advancement of Colored People (NAACP) องค์กรรณรงค์และพัฒนาสิทธิคนผิวสีในสหรัฐฯ ให้ข้อมูลของการแขวนคอชาวผิวสีในสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า Lynching ว่า การแขวนคอที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 ในสหรัฐฯ กับคนผิวสีเป็นปัญหาสะสมจากการตึงเครียดด้านความแตกต่างทางเชื้อชาติในตอนใต้ของสหรัฐฯ หลังสงครามกลางเมืองเมื่อทาสผิวดำถูกปลดปล่อยจากสถานภาพทาสก็ตกเป็นเป้ากล่าวโทษของชาวผิวขาวว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาด้านการเงิน รวมถึงสภาวะที่ผู้คนรู้สึกว่าทาสที่ได้รับการปลดปล่อยมีสิทธิและเสรีภาพมากเกินไปจนต้องการควบคุมพวกเขา และการแขวนคอได้ถูกนำมาใช้ให้ประชาชนลงไม้ลงมือกับประชาชนด้วยกันเอง

กระบวนการแบ่งแยกสีผิวหลังเลิกทาสถูกทำให้เป็นระบบระเบียบขึ้น กฎหมาย จิม ครอว์ (Jim Crow Laws) แบ่งแยกการใช้งานทรัพย์สินสาธารณะระหว่างคนดำกับคนขาวบนหลักการ 'แยกกันแต่ว่าเท่าเทียม (separate but equal)' แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้นเมื่อคนดำได้รับการปฏิบัติอย่างด้อยกว่าคนขาว มลรัฐต่างๆ ได้นำกฎหมายนี้ไปบังคับใช้อย่างเข้มข้นผสานกับความรุนแรงจากกลุ่มต่างๆ

ตั้งแต่ ค.ศ. 1882-1968 มีคนถูกแขวนคอจำนวน 4,743 คน จำนวน 3,446 คนเป็นคนดำ นับเป็นร้อยละ 72.7 แต่คาดว่ามีเหตุการณ์แขวนคอหลายรายที่ไม่ได้รับการจดบันทึก ส่วนจำนวนร้อยละ 27.3 หรือ 1,297 คนที่เหลือเป็นคนขาวที่ช่วยเหลือคนดำ หรือรณรงค์เคลื่อนไหวต่อต้านการแขวนคอ ไปจนถึงเหตุฆาตกรรม

สถิติสาเหตุการจับแขวนคอตั้งแต่ช่วง ค.ศ.1882-1968

ฆาตกรรม 1,937 คน คิดเป็นร้อยละ 40.84

ทำร้ายร่างกายอย่างร้ายแรง 205 คน คิดเป็นร้อยละ 4.32

ข่มขืน 912 คน คิดเป็นร้อยละ 19.22

พยายามข่มขืน 288 คน คิดเป็นร้อยละ 6.07

ปล้นและโจรกรรม 232 คน คิดเป็นร้อยละ 4.89

ดูหมิ่นคนขาว 85 คน คิดเป็นร้อยละ 1.79

สาเหตุอื่นๆ 1,084 คนคิดเป็นร้อยละ 22.85

รวมทั้งสิ้น 4,743 คน

(สถิติจากจดหมายเหตุสถาบัน Tuskegee Instiyute เดือน ก.พ. ปี 1979)

พวงทอง: แขวนคอเพื่อประจาน ข่มขู่ฝ่ายซ้าย ไทยไร้แนวทางรับมือเห็นต่างอย่างเป็นประชาธิปไตย

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า การแขวนคอที่เกิดขึ้นกับกรณีของคนงานการไฟฟ้า 2 นายมีความใกล้ชิดกับการก่อรูปความรุนแรงในเหตุการณ์วันที่ 6 ต.ค. 2519 เนื่องจากการเสียชีวิตของพวกเขานำไปสู่การเล่นละครจำลองการแขวนคอเพื่อเรียกร้องให้นำตัวฆาตกรที่ฆ่าช่างไฟฟ้านครปฐมมาลงโทษ ซึ่งฝ่ายขวาบิดเบือนว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขององค์รัชทายาทเนื่องจากคนแสดงมีหน้าคล้ายคลึงกับรัชทายาท พฤติการณ์การแขวนคอศพในที่สาธารณะดังกล่าวเป็นการจัดให้คนทั่วไปเห็น เป็นความตั้งใจที่จะทำให้ฝ่ายซ้ายเกิดความกลัว ให้เขาคิดว่าตัวเองเป็นเป้าของความรุนแรง เพราะคนงานไฟฟ้าสองคนนั้นต่อต้านการกลับมาของพระถนอม กิตติขจร

"ภายใต้แนวคิดการสร้างชาติมองคนเห็นต่างเป็นศัตรูต่อการพาสังคมไปในทางที่พวกเขาต้องการ ไทยจัดการพาตัวเองไปในแนวทางทุนนิยมเสรี แต่นักศึกษา กรรมกร ชาวนา ไปทางสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ซึ่งประนีประนอมกันไม่ได้ และแทนที่จะใช้แนวทางประชาธิปไตยในการแก้ปัญหา แต่กลับใช้ความรุนแรงเข้าจัดการ ซึ่งประเทศในยุโรปตะวันตกสามารถจัดการความขัดแย้งได้ด้วยแนวทางประชาธิปไตย เช่น การมีรัฐสวัสดิการหรือสหภาพแรงงาน"

"ที่ผ่านมาคิดว่าสังคมไทยไม่ได้เรียนรู้เรื่องราวเหตุการณ์ 6 ต.ค. มากนัก โอเค รู้ว่าเป็นความรุนแรงที่อุบาทว์ ไม่ควรเกิดขึ้นอีก แต่ไม่ได้ตั้งคำถามว่าความรุนแรงมันเกิดจากอะไร ความรุนแรงในวันนั้นเกิดจากการกระบวนการสร้างความเกลียดชังทางการเมือง ลดทอนความเป็นมนุษย์จนไม่คิดว่าพวกเขาเหล่านั้นควรมีชีวิตอยู่อีกต่อไป คือเป็นการสังหารด้วยความสะใจ" พวงทองกล่าว

หากย้อนกลับไปดูภาพการแขวนคอในท้องสนามหลวง ที่ล่าสุดเมื่อปี 2559 มีการค้นพบว่าผู้ถูกแขวนคอในวันที่ 6 ต.ค. มีจำนวนถึง 4 คน องค์ประกอบในภาพพบว่าคล้ายกับสิ่งที่เกิดกับการแขวนคอในศตวรรษที่ 15 ที่กระทำกันในลานเปิดและมีผู้คนมากมายมีส่วนร่วมกับมหกรรมความรุนแรงดังกล่าว

อ่าน 40 ปีผ่าน เจอข้อมูลใหม่ 6 ตุลา! คนถูกแขวนคอสนามหลวงมีมากกว่า 2 คน

ภาพบนซ้ายมือ: ภาพจาก AP, ชายไม่ทราบชื่อ
ภาพบนขวามือ:  ภาพจาก AP, ชายไม่ทราบชื่อ
ภาพล่างซ้ายมือ: ภาพจากสมาคมนักข่าว?,  วิชิตชัย อมรกุล นิสิตจุฬาฯ
ภาพล่างขวามือ: ภาพจากบุคคลนิรนาม เผยแพร่ใน www.2519.net, ผู้วิจัยระบุว่าเขาคือ ปรีชา แซ่เฮีย

อย่างไรเสีย การแขวนคอเป็นหนึ่งอณูความรุนแรงที่คนไทยทำต่อคนไทยด้วยกันเองในวันนั้น ยังมีเรื่องราวการสูญเสียและทารุณกรรมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นไม่ว่าจะเป็นการฆ่าแขวนคอพนักงานโรงไฟฟ้า 2 คน การสังหารหัวหน้ากลุ่มกรรมกร เกษตรกรในจังหวัดต่างๆ และผู้นำนักศึกษาหลายคนก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ควรถูกยกมาเป็นคำถามเมื่อใกล้วาระครบรอบเหตุการณ์โศกนาฏกรรมว่า ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตตั้งแต่การแขวนคอถูกกล่าวถึงมากว่า 2500 ปี จากที่คนทุกเพศทุกวัยที่ต้องพบจุดจบบนขื่อหลายชนิดและด้วยเหตุผลต่างๆ นานา แล้วในวันนี้ หน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่ค่อยได้ถูกกล่าวถึงบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ได้ให้บทสะท้อนกับเราแล้วหรือไม่ว่าการแขวนคอนั้นถูกมาใช้แขวนอุดมการณ์ ความคิดเห็นที่แตกต่างอันใคร่จะแสดงออกเยี่ยงเสรีชน และถูกแขวนประจานให้ตายตกไปตามกายหยาบที่สมาทานมันเอาไว้

ขอบคุณเว็บไซต์ บันทึก 6 ตุลา สำหรับข้อมูลในส่วนสถิติและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา กล่าวถึงการจัดตั้งโครงการบันทึก 6 ต.ค. ในเว็บไซต์และ บนโซเชียลมีเดียว่า โครงการมีเป้าหมายเพื่อคืนความเป็นมนุษย์ให้เหยื่อที่ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด ให้คนรุ่นหลังได้อ่านและตระหนักถึงคุณค่าชีวิตของผู้ที่เสียชีวิตเหล่านั้น และวิธีที่ใช้คือเน้นเนื้อหาเชิงปัจเจกของผู้ที่ดับสูญไป (อ่าน เปิดเว็บ 'บันทึก 6 ตุลา' [doct6.com] จุดเริ่มต้นของการคืนความยุติธรรม)

อ้างอิงและเรียบเรียงจาก

บันทึก 6 ตุลา, ลำดับเหตุการณ์กรณี 6 ตุลาคม 2519, Retrieved on October 4, 2017

Department of Neurosurgery, Wayne State University, Detroit, Michigan, Mahmoud Rayes, M.D., Monika Mittal, M.D., Setti S. Rengachary, M.D.,and Sandeep Mittal, M.D., F.R.C.S.C., Hangman's fracture: a historical and biomechanical perspective, 2011 (Retrieved on October 4, 2017)

NACCP, HISTORY OF LYNCHINGS, Retrieved on October 4, 2017

PBS, Jim Crow Laws, Retrieved on October 4, 2017
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์สรุปหารือสหรัฐฯ ตั้งศูนย์ข้อมูลหนุนลงทุน SCG จ่อซื้อถ่านหิน 1.55 แสนตัน

Posted: 03 Oct 2017 10:28 PM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ พบปะกับภาคเอกชนไทย รับฟังผลการหารือกับสภาหอการค้าสหรัฐฯ สั่งตั้งศูนย์ข้อมูลหนุนลงทุน ปูนซิเมนต์ไทย เผยเตรียมลงนามซื้อถ่านหินจากภาคเอกชนสหรัฐฯ 155,000 ตัน เพื่อใช้ผลิตปูน

4 ต.ค. 2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (3 ต.ค.60) เวลา 10.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรม Four Seasons กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบปะกับภาคเอกชนไทย เพื่อรับฟังผลการหารือระหว่างภาคเอกชนไทยกับสภาหอการค้าสหรัฐฯ และแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นเกี่ยวกับการค้าแ

กลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย และผู้บริหารปูนใหญ่ หรือ SCG ได้รายงานภาพรวมการหารือระหว่างภาคเอกชนไทยและสหรัฐฯว่า ไทยและสหรัฐฯ ควรใช้ประโยชน์จากสนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ให้เกิดประโยชน์แก่การค้าและการลงทุนทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มที่ พร้อมทั้ง จะมีการร่าง MOU เพื่อให้การส่งเสริมการลงทุนมากขึ้น มีเป้าหมายเดียวกัน และที่สำคัญมีแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยจะครอบคลุมด้านต่างๆอย่างคลอบคลุม ที่ไทยและสหรัฐฯมีศักยภาพ เช่น อาหาร พลังงาน ยานยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ หอการค้าสหรัฐฯแสดงความยินดีที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างภาคเอชนและรัฐบาลสหรัฐฯด้วย

ในโอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงภาพรวมการหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐฯว่า การหารือเป็นไปด้วยความราบรื่น ด้วยความเป็นมิตรที่ดีต่อกัน และยินดีสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชนทั้งสองประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการค้า และการลงทุน และจัดตั้งศูนย์ข้อมูล เช่นเดียวกับ ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อให้ข้อมูล แนวทาง และทิศทางการค้าการลงทุนเป็นเอกภาพ พร้อมทั้ง สร้างความเข้าใจและการรับรู้เกี่ยวกับนโยบาย กฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุนที่รัฐบาลได้ดำเนินการ รวมทั้ง มาตรการสนับสนุนการลงทุนให้กว้างขวาง ทั่วถึง และถูกต้องด้วย

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวย้ำว่า ภาคเอกชน เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกและสนับสนุน ดังนั้น หากมีข้อเสนอ หรือข้อติดขัด ขอให้แจ้ง รัฐบาลจะได้ดำเนินการเพื่อให้กลไกเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น ที่สำคัญ รัฐบาลได้ดำเนินการตามหลัก "สิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจ" โดยยึดแนวทาง " เคารพ คุ้มครอง และเยียวยา" เพื่อเป็นไปตามแนวทางของสหประชาชาติ
 
ภายหลังการหารือ กลินท์ ในฐานผู้บริหาร SCG ได้ชี้แจงกรณีการซื้อถ่านหินจากสหรัฐฯว่า SCG เตรียมลงนามซื้อถ่านหินจากภาคเอกชนสหรัฐฯ 2 ฉบับ รวม 155,000 ตัน เพื่อใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ และทดแทนการซื้อถ่านหินจากอินโดนีเซีย ที่ปัจจุบันอินโดนีเซียมีความต้องการใช้ถ่านหินสูงขึ้น  SCG จึงต้องมองหาแหล่งถ่านหินใหม่ ซึ่งถ่านหินจากสหรัฐฯมีคุณภาพดีและคุ้มค่าต่อการลงทุน

 

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ของ SCC หรือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) จากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น