โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

มันไม่ง่ายที่จะเป็น ‘ปอแน’: เสี้ยวชีวิต LGBT ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะต่างจึงเจ็บปวด (จบ)

Posted: 21 Oct 2017 12:18 AM PDT

ท่ามกลางความไม่สงบ สิ่งที่ LGBT ในพื้นที่เผชิญคงเป็นได้เพียงชายขอบของปัญหา ความรุนแรงถูกทับซ้อนกันหลายระดับจนยุ่งเหยิง ทางออกเล็กที่พอมองเห็นในเบื้องต้นอาจต้องกลับไปที่ตัวบุคคลที่จะตีความคำสอนว่าใครกันแน่ที่สามารถพิพากษามนุษย์ได้

เอ๋เล่าว่า เพื่อนๆ ในพื้นที่ชนบทมีทัศนะว่าผู้หญิงเป็นทอมยังไม่น่าเกลียดเท่ากับผู้ชายเป็นเกย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เอกลับคิดว่าเกย์ใช้ชีวิตง่ายกว่ากะเทย ส่วนนาน่ามองอีกแบบว่า ทอมต่างหากที่เผชิญปัญหาหนักกว่าใคร เพราะการไม่คลุมฮิญาบเท่ากับการเปิดเผยตัวเอง ซึ่งผิดหลักศาสนา

ไม่มีคำตอบว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศกลุ่มไหน เป็นง่าย อยู่ง่ายกว่ากัน (คนหลากหลายทางเพศที่เป็นซีแยหรือพุทธอาจอยู่ง่ายกว่า เพราะมีแรงกดดันทางศาสนาน้อยกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่เผชิญปัญหาหรือความรุนแรง) ที่พอบอกได้ ทุกเพศที่อยู่นอกกรอบชาย-หญิงล้วนต้องเผชิญแรงกดดันทั้งจากสังคม ศาสนา และครอบครัว บ้างเลือกแตกหัก บ้างเลือกต่อรองประนีประนอม บ้างเลือกเปลี่ยนแปลงตนเอง

คำถามสำคัญไม่ใช่เรื่องยากหรือง่าย แต่อยู่ที่ว่าอะไรคือหนทางที่มุสลิมในพื้นที่และความหลากหลายทางเพศจะสามารถอยู่ร่วมกันได้

...ไม่จำเป็นต้องมองหาคำตอบในงานชิ้นนี้ เพราะไม่มีให้

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เล่าว่า จากการลงพื้นที่ เธอพบกรณีการทำร้ายร่างกายคนที่หลากหลายทางเพศ ซึ่งมักเกิดจากคนในครอบครัว บางรายถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัสจนมีอาการทางจิตเภท บางรายหลังจากรับการรักษาตัวแล้วส่งกลับบ้านก็ยังถูกทำร้ายซ้ำอีก การกระทำเช่นนี้ผิดทั้งกฎหมายและหลักการอิสลาม แต่เธอยอมรับตรงไปตรงมาว่า การทำงานประเด็นนี้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นเรื่องยาก ยังไม่ต้องล้ำหน้าไปว่ากันถึงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เพียงแค่ประเด็นการละเมิดและทำร้ายร่างกายผู้หญิงก็ลำบากที่จะจัดการ

นอกจากนี้ เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ที่ต่อเนื่องยาวนาน ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนทับถมลงไปให้ยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนหลากหลายทางเพศหรอก คนพิการ ผู้ติดยา ผู้ติดเชื้อ พนักงานบริการทางเพศ ฯลฯ ซึ่งเป็นคนชายขอบอยู่แล้ว ยิ่งถูกผลักไสออกสู่ชายขอบมากขึ้นๆ ท่ามกลางเสียงระเบิดและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ ปัญหาที่เกิดกับคนกลุ่มน้อยและชายขอบเหล่านี้ดูไม่สลักสำคัญเท่ากับการยุติความไม่สงบลงเสียก่อน ด้วยการจัดลำดับความสำคัญทำนองนี้ พวกเขาจึงต้องอยู่อย่างไร้ตัวตนและเฝ้ารอ

"ถ้าเรามองความรุนแรงที่เกิดกับแอลจีบีทีในพื้นที่สามจังหวัด เราคิดว่ามันทับซ้อนกันหลายมิติ เวลาที่คนคนหนึ่งในสามจังหวัดเป็นมุสลิมด้วย เป็นแอลจีบีทีด้วย มันถูกกระทำรุนแรงจากหลายมิติ หลายรูปแบบ ไม่ใช่เพราะเขาเป็นแอลจีบีทีอย่างเดียว เขาอาจถูกเลือกปฏิบัติจากมิติอื่นๆ จากอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนของเขา" เป็นความเห็นของอันธิฌา

อัตลักษณ์ทางศาสนาและเชื้อชาติที่ถูกชูให้เข้มข้นขึ้นเพื่อต่อสู้ ต่อรองกับความเป็นสยาม มองความเป็นสมัยใหม่อย่างไม่เป็นมิตรนัก ความหลากหลายทางเพศถูกจัดหมวดหมู่เป็นผลพวงจากความเป็นสมัยใหม่ เรื่องมันก็เลยยิ่งหนักหนา แต่เอกรินทร์พยายามชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่

"ดูเหมือนว่าเรื่องแอลจีบีทีมาพร้อมกับโลกสมัยใหม่ ประเด็นสำคัญคือในทางประวัติศาสตร์สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกอิสลาม มันมีมานานแล้ว มีการต่อรองภายใต้เงื่อนไขบริบทสังคมนั้นๆ มาโดยตลอด แม้กระทั่งเมื่อเกิดรัฐชาติแล้วเรื่องอย่างนี้ก็ยังมีอยู่ ผมอยากบอกว่ามันไม่ใช่โจทย์เรื่องความสมัยใหม่ มันมีมาแต่โบราณแล้ว"

"ถ้าเรามองความรุนแรงที่เกิดกับแอลจีบีทีในพื้นที่สามจังหวัด เราคิดว่ามันทับซ้อนกันหลายมิติ เวลาที่คนคนหนึ่งในสามจังหวัดเป็นมุสลิมด้วย เป็นแอลจีบีทีด้วย มันถูกกระทำรุนแรงจากหลายมิติ หลายรูปแบบ ไม่ใช่เพราะเขาเป็นแอลจีบีทีอย่างเดียว เขาอาจถูกเลือกปฏิบัติจากมิติอื่นๆ จากอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนของเขา"

บทความชิ้นหนึ่งจาก www.gaystarnews.com เรื่อง The secret gay history of Islam ระบุว่า เดิมทีโลกอิสลามมองคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ทั้งยังเชื่อว่าศาสดามูฮัมหมัดให้การสนับสนุนและปกป้องคนกลุ่มน้อยเหล่านี้ แต่ความคิดแบบคริสเตียนที่มาพร้อมการล่าอาณานิคมของตะวันตกต่างหากที่ทำให้โลกมุสลิมติดเชื้ออาการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันในที่สุด

............

"ศาสนาอิสลามจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร" เอกรินทร์ทวนคำถามของผม "เรื่องนี้ศาสนาไม่ได้ยอมรับอยู่แล้ว อิสลามก็คืออิสลาม เราไม่สามารถปรับบทบัญญัติศาสนาให้เข้ากับปรากฏการณ์ได้ แต่สิ่งท้าทายคือมุสลิมจะรับมืออย่างไร

"หนึ่งคือเราต้องมองก่อนว่า พวกเขาเป็นผู้ศรัทธาเช่นเดียวกับเรา คนมุสลิมต้องเข้าใจกันก่อนว่าคนที่เป็นแอลจีบีทีที่เป็นมุสลิมก็เป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า มีสถานะเท่าเรา มีคำในอัลกุรอานที่ผมอ่านอยู่ทุกวันคืออัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาและกรุณาปราณีกับเราเสมอ ผมชอบประโยคนี้มาก นั่นแปลว่าความเมตตาสำคัญมาก มันสอนให้เราเมตตาต่อคนอื่นด้วย ถ้าเราเป็นผู้ศรัทธา ผู้ที่เป็นแอลจีบีทีต้องกล้าแลกเปลี่ยนกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมุสลิมคือเวลาที่เราคิดว่าเราเป็นคนเคร่งศาสนา เป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺ เราจะไม่คบกับคนที่เรารู้สึกว่าไม่ใช่บ่าวที่ดี

"สำหรับผมการแยกบ่าวที่ดีและบ่าวที่ไม่ดี มันทำให้ยากต่อการแก้ไขเรื่องแบบนี้ เป็นความท้าทายของชาวมุสลิมที่จะเข้าใจแอลจีบีทีในฐานะมนุษย์ด้วยกันและใช้ความเมตตาต่อกัน สุดท้าย เราไม่มีสิทธิกล่าวหาหรือทำอะไรกับเขาทั้งสิ้น เขากับเรามีสิทธิเท่ากัน

"สิ่งนี้เป็นเรื่องระหว่างคนคนนั้นกับพระผู้เป็นเจ้า เราไม่มีสิทธิไปตัดสินผิดบาปของเขาว่าเป็นคนดีหรือคนเลว นั่นไม่ใช่หน้าที่เรา"

น่าจะพอเป็นทางออกในแง่การตีความหลักศาสนาและในแง่ปัจเจกบุคคลในสถานการณ์นี้

..............

ในภาษามลายู คำว่า 'ปอแน' หมายถึงกะเทยหรือผู้ชายที่ทำตัวตุ้งติ้งเป็นผู้หญิง ส่วนเลสเบี้ยน เกย์ ทอม ดี้ ไบเซ็กชวล เควียร์ หรือคำเรียกเพศอื่นๆ ยังไม่มีการบัญญัติใช้ในภาษามลายู ด้านหนึ่งสะท้อนภาวะการปรับเปลี่ยนไม่ทันของภาษามลายูเพื่อใช้เรียกหรือนิยามสิ่งต่างๆ

คนในพื้นที่แสดงความเห็นว่า ปอแน ไม่สามารถตีความรวมถึงเพศอื่นๆ ที่ไม่ใช่กะเทยได้ แต่อีกบางคนบอกว่าสามารถทำได้ เป็นความอิหลักอิเหลื่อไม่น้อยยามที่ไม่มีภาษาใช้เรียกขาน พอพูดได้ว่า นอกจากกะเทยแล้ว แอลจีบีทีกลุ่มอื่นๆ ไม่มีที่ทางในภาษามลายู การใช้คำทับศัพท์เป็นทางแก้ช่วยให้มุสลิมในพื้นที่ที่ใช้ภาษามลายูรู้ว่าจะเรียกขานคนที่แตกต่างอย่างไร

มันไม่ง่ายเลยจริงๆ ที่จะเป็น 'ปอแน' ทอม ดี้ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล เควียร์...

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เดชรัต สุขกำเนิด: เมื่อ กม.เก็บค่าน้ำ-เมล็ดพันธุ์ ลดทางเลือกของเกษตรกร

Posted: 20 Oct 2017 11:57 PM PDT

'ประชาไท' ชวนมองกฎหมายเก็บค่าน้ำและเมล็ดพันธุ์ผ่านแว่นของเศรษฐศาสตร์ เมื่อนโยบายที่ดีคือการเพิ่มทางเลือกเกษตรกร แล้วเรื่องนี้เพิ่มหรือตัดทางเลือก

จากกรณีเก็บค่าน้ำสำหรับการทำเกษตรไล่มาจนถึงการแก้ไข พ.ร.บ.เมล็ดพันธุ์ ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์โดยบริษัทเอกชน เนื่องจากมีเนื้อหา เช่น ห้ามเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อหรือการขยายอายุสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น

เมื่อประชาชนถูกยึดกุมอาหารผ่านการยึดเมล็ดพันธุ์ , 18 ต.ค. 60

พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชทำไมต้องเป็นฉบับใหม่?: เสียงจากนายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ , 20 ต.ค. 60

ทั้งสองกรณีร้อนถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงปะปนไปกับอารมณ์ความเชื่ออยู่ในที เกี่ยวกับเกษตรกรและชาวนากับความเป็นกระดูกสันหลังของชาติ

'ประชาไท' ชวนถอยออกมาหนึ่งก้าว มองกลับเข้าไปด้วยแว่นของเศรษฐศาสตร์ เพราะทั้งเรื่องน้ำและเมล็ดพันธุ์ก็มีมิติเรื่องประสิทธิภาพแฝงอยู่ ไม่ว่าจะในแง่การใช้ทรัพยากรหรือการแข่งขันของบริษัทเอกชนที่จะพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นจากแรงจูงใจด้านสิทธิบัตรที่เพิ่มขึ้น

คำถามจึงอยู่ที่ว่า ทั้งสองประเด็นตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพหรือไม่ หรือเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิดตั้งแต่ต้น เดชรัต สุขกำเนิด ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชวนหาคำตอบ

เครื่องมือทางนโยบายต้องสร้างทางเลือก ไม่ใช่ตัดทางเลือก

เดชรัตไม่ได้เริ่มต้นจากการระบุว่า นโยบายทั้งสองดีหรือไม่ดี มันออกจะเป็นคำตอบที่ไม่ค่อยรัดกุม เพราะเครื่องมือทางนโยบายหรือเศรษฐศาสตร์ อย่างในกรณีการเก็บค่าน้ำ ไม่ใช่สิ่งที่ถูก-ผิดโดยตัวมันเอง เดชรัตชวนให้ถอยกลับไปพิจารณา 'ทางเลือก'

"ถ้าเราพูดแบบกว้างที่สุดคือทำอย่างไรให้เกษตรกรมีทางเลือก ทำอย่างให้เกษตรกรเลือกทางเลือกที่น่าจะดี โดยที่เรามีฐานความคิดว่ามีเรื่องบางเรื่องที่ดีต่อพี่น้องเกษตรกร แต่พี่น้องเกษตรกรไม่เลือกเพราะอะไร ถ้าอย่างนั้นเราทำแบบนี้ดีหรือไม่ เขาจะได้เลือกสิ่งที่เขาควรเลือกมากขึ้น ไม่ได้บังคับ แต่อย่างน้อยที่สุดก็จูงใจให้เขาเลือกสิ่งที่ควรจะเป็นหรือก้าวข้ามอุปสรรคที่ทำให้เขาไม่สามารถเลือกสิ่งที่ควรจะเป็น คือเขาอาจจะรู้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เขาควรเลือก แต่มันมีอุปสรรค ติดกับดัก เราก็ไปแก้กับดักตรงนั้น

"ถ้าคิดภายใต้กรอบนี้ก็ต้องถือว่า วิธีการที่รัฐบาลทำเรื่องการเก็บภาษีน้ำ ไม่ใช่ตัวภาษีน้ำ แต่วิธีที่รัฐบาลพูดหรือเสนอออกมา มันเป็นวิธีการที่ตรงข้ามกับกรอบที่ผมมีโดยสิ้นเชิง กรอบที่ผมมีเริ่มต้นจากทางเลือกก่อน ตัวผมเองก็ไม่ได้ปฏิเสธการเก็บภาษีน้ำ แต่โจทย์ของมันคือคุณจะให้เขาเลือกอะไร แล้วคุณก็ไปเก็บภาษีน้ำเพื่อให้เขาเลือกสิ่งนั้น"

สรุปได้ว่า ต้องเริ่มต้นจากโจทย์ว่า รัฐบาลต้องการให้เกษตรกรทำอะไร แล้วมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาจะช่วยให้เกษตรกรทำสิ่งเหล่านั้นได้ดีเพิ่มขึ้นและก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ อย่างไร

โจทย์ข้อนี้อยู่ในความคิดของรัฐหรือไม่ เดชรัตคิดว่า ไม่ หรือหากมีอยู่ก็ไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาเลย แต่กลับสื่อสารออกมาในแง่การใช้น้ำที่สิ้นเปลืองหรือความเป็นธรรมในการใช้น้ำสำหรับทุกฝ่าย เขายกตัวอย่างรูปธรรมว่า สมมติเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานมีความจำเป็นต้องมีบ่อเก็บน้ำ ปัญหาคือเกษตรกรไม่มีเงิน คำถามคือถ้าเก็บภาษีน้ำแล้วเกษตรกรจะมีเงินเพิ่มขึ้นหรือไม่ อาจจะมีเพิ่มขึ้น ถ้ากฎหมายกำหนดให้มีการตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุน แต่ถ้าเงินจากภาษีน้ำที่รัฐบาลกำหนดไหลเข้ากระเป๋าใหญ่ของรัฐบาล อุปสรรคที่เกษตรกรเผชิญก็จะไม่ได้รับแก้ไขเหมือนเดิม

"การตั้งโจทย์เรื่องภาษีน้ำ ส่วนตัวผม คิดว่าเป็นวิธีการตั้งโจทย์ที่ไม่ดีเลย คือเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิดพลาด ย้ำครับว่าไม่ใช่การเก็บภาษีน้ำไม่ดีเลย แต่วิธีการตั้งโจทย์ของรัฐบาลเป็นการตั้งโจทย์แบบเหมาโหลและไม่มีทางเลือก

"ในกรณีเมล็ดพันธุ์ก็เช่นเดียวกัน เกษตรกรจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นหรือเปล่า คุณอาจพูดว่าจะเป็นแรงจูงใจให้บริษัทพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่ดีขึ้น แล้วทางเลือกของเกษตรกรคืออะไร ทางเลือกคือการซื้อ ใช่หรือเปล่า อย่างกรณีข้าวโพด เราตอบได้หรือเปล่าว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความเข้มแข็งมากขึ้น จากการที่มีเลือกจากบริษัทเอกชนที่พัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดมาเนิ่นนาน

"ก่อนหน้านี้เราใช้พันธุ์ที่รัฐพัฒนา เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรเก็บไว้ได้ แต่เอกชนมาทำเป็นพันธุ์ลูกผสมแข่งกัน เราอธิบายว่าอย่างไรที่ว่าเกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น หรือไม่ใช่ แต่เท่าที่ผมเห็น ผมไม่ได้รู้สึกว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดมีความมั่นคงในชีวิตเพิ่มขึ้น เราควรจะสรุปบทเรียนข้าวโพดให้ตรงไปตรงมาว่ามันโอเคหรือไม่ ถ้าโอเค เราจะได้นำผลสรุปนี้มาขยายต่อ เพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่มันไม่มีผลการศึกษาที่จะยืนยัน"

ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

เดชรัตให้ข้อมูลว่า ต้นทุนการปลูกข้าวมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ไม่สามารถใช้ตัวเลขเดียวได้ อย่างไรก็ตาม หากกล่าวโดยทั่วไป ปัจจุบัน ต้นทุนการปลูกข้าวตกประมาณ 4,000 บาทต่อไร่ สมมติไร่หนึ่งใช้น้ำ 1,600 ลูกบาศก์เมตร ชาวนาต้องเสียค่าน้ำประมาณ 800 บาท ถ้ามีรายได้จากการขายข้าว 6,000 บาทต่อไร่เมื่อบวกค่าน้ำเข้าไป กำไรที่เคยได้จะลดลงประมาณร้อยละ 40 หมายความว่ากำไร 2,000 บาทต่อไร่จะลดเหลือ 1,200 บาทต่อไร่หลังจากหักค่าน้ำ

ขณะที่ต้นทุนเมล็ดพันธุ์บอกไม่ได้ว่า พืชแต่ละชนิดมีต้นทุนเท่าใด แต่เดชรัตยกตัวอย่างข้าวโพดว่า อยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ของต้นทุนทั้งหมด

"ถ้ากฎหมายสองฉบับนี้ผ่าน ต้นทุนของเกษตรกรจะขึ้นเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ผมไม่ได้เอาเกณฑ์นี้เป็นตัวตั้งในการพูดว่าเรื่องไหนดีหรือไม่ดี ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นคุ้มกับประสิทธิภาพหรือทางเลือกที่เพิ่มขึ้น ผมก็โอเค โดยเฉพาะเรื่องน้ำ ต้องพูด เพราะตัวเลขที่รัฐบาลให้มาเป็นตัวเลขที่อาจจะไม่ค่อยละเอียดอ่อนเท่าไหร่ ชาวนามีกำไร 2,000 จะเก็บไป 800 เป็นการพูดที่ไม่คำนึงถึงความอ่อนไหวของคนฟัง ไม่ใช่ตัวหลักการ แต่วิธีคิดและวิธีการนำเสนอมันไม่ละเอียดอ่อนในเชิงของผู้ได้รับผลกระทบ

"ส่วนกรณีเมล็ดพันธุ์ เราคาดเดาเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการผูกมัดเรื่องเมล็ดพันธุ์ อาจเลยไปถึงการผูกมัดเรื่องการใช้ปุ๋ยและการใช้ยากำจัดศัตรูพืช ซึ่งตอนนี้เมล็ดพันธุ์หลายตัวก็เป็นลักษณะนี้แล้ว ฉะนั้น แนวคิดความคิดนี้ในเรื่องเมล็ดพันธุ์ยังไม่มีการตรวจสอบ"

ประสิทธิภาพ?

ส่วนหลังจากนี้ เราสนทนากันด้วยมิติด้านประสิทธิภาพและแนวโน้มภาคเกษตรในอนาคตโดยเชื่อมโยงกับนโยบายทั้งสอง

เมื่อถามถึงในแง่ประสิทธิภาพ การออกกฎหมายลักษณะนี้จะไม่ช่วยสร้างปัจจัยให้เกษตรกรต้องปรับตัวเพื่อแข่งขันหรือ? เดชรัตตอบว่า

"การตั้งโจทย์เรื่องภาษีน้ำ ส่วนตัวผม คิดว่าเป็นวิธีการตั้งโจทย์ที่ไม่ดีเลย คือเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิดพลาด ย้ำครับว่าไม่ใช่การเก็บภาษีน้ำไม่ดีเลย แต่วิธีการตั้งโจทย์ของรัฐบาลเป็นการตั้งโจทย์แบบเหมาโหลและไม่มีทางเลือก"

"ผมคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลคิด ไม่ได้เอาโจทย์เรื่องประสิทธิภาพเป็นตัวตั้ง อาศัยแค่ความเชื่อ ไม่มีการพิสูจน์ ไม่มีการบอกว่าเมื่อเกษตรกรจ่ายค่าน้ำ แล้วจะไปลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพราะมันมี 3 ทางเลือก หนึ่งคือปรับตัวเพื่อให้แข่งขันได้ สอง ยิ่งไม่มีเงินเข้าไปอีกแล้วก็ออกไปจากระบบ ซึ่งบางคนไม่แคร์ แต่ผมแคร์ ออกก็ได้ แต่ต้องออกอย่างมีทางเลือก สาม-เขาก็ยังไม่ออกหรอก แต่ก็ทนอยู่ ทนจ่ายค่าน้ำต่อไป เรื่องนี้ไม่มีการพิสูจน์ว่าทำแล้วประสิทธิภาพจะดีขึ้น ผมจะเชื่อก็ต่อเมื่อมีการพิสูจน์ สมมติว่ารัฐบาลจะทำจริงๆ แล้วไม่แคร์การพิสูจน์ ก็ยังมีการพิสูจน์หลังจากออกนโยบายมาแล้ว ว่าเก็บค่าน้ำแล้ว ประสิทธิภาพการใช้น้ำจะดีขึ้นอย่างไร อะไรคือเกณฑ์ที่รัฐบาลจะใช้ในการวัด ส่วนในกรณีเมล็ดพันธุ์ควรจะตอบได้แล้ว เพราะผ่านมา 20 ปีแล้ว สุดท้ายเราก็มานั่งเถียงกันจากความเชื่อ"

ส่วนในกรณีของเมล็ดพันธุ์ เดชรัตยกตัวอย่างข้าวโพด

"กรณีข้าวโพดเรามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น แต่รายได้ที่เกษตรกรที่ได้รับเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทำไมไม่เปรียบเทียบกับมันสำปะหลังที่สามารถเก็บท่อนมันไว้ปลูกต่อได้ เกษตรกรจึงมีทางเลือกที่จะเก็บไว้ปลูกต่อหรือจะซื้อก็ได้ แล้วผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของมันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้นกระจายตัวดีกว่าข้าวโพดที่เกษตรกรต้องไปซื้อทุกรอบหรือไม่ ซึ่งสามารถวิจัยได้เลย เพราะทั้งสองอย่างเราทำมา 20 ปีแล้ว ซึ่งเราอาจพบว่า ข้าวโพดอาจได้ประโยชน์ต่อเกษตรกรน้อยกว่าการทำแบบมันสำปะหลังก็ได้ แล้วถ้ามีกฎหมายนี้ออกมา ต่อไปเกษตรกรจะไม่สามารถเก็บท่อนมันไว้ปลูกต่อได้"

เดชรัตย้ำว่า ไม่มีคำว่าประสิทธิภาพอยู่ในความพยายามจะออกกฎหมาย มีแต่ความเชื่อที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ เขากล่าวย้ำโดยกลับไป ณ จุดเริ่มต้นของการสนทนาว่า รัฐบาลควรพิจารณาว่าอะไรคือเครื่องมือไปสู่ประสิทธิภาพ เหตุใดเครื่องมือนั้นไม่ถูกใช้ แล้วจึงหานโยบายทางเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสมเพื่อให้เครื่องมือดังกล่าวถูกใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

"ผมจะคิดแบบ Micro to Macro ผมต้องมองการตัดสินใจของคนแต่ละคนให้เห็นก่อน เพื่อให้เห็นว่ากรอบใหญ่ที่เราจะทำภายใต้ พ.ร.บ.น้ำ คืออะไร แต่รัฐบาลใช้แมคโครตัดสินใจ เก็บเงินแล้วทุกคนก็ต้องปรับตัว จริงๆ แล้วไมโครทำยังไง เขาอธิบายไม่ได้ สำหรับผมไม่เห็นตัวเลขไหนที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้ที่เป็นการพิสูจน์ นอกจากคุยกันในเรื่องความเชื่อ ผมจึงค่อนข้างซีเรียสว่า ประสิทธิภาพที่เราพูดถึงไม่ใช่สิ่งที่คนที่พยายามทำสองเรื่องนี้อธิบายอย่างแท้จริง"

นอกจากนี้ เดชรัตชี้ให้เห็นว่า บางทีคำว่าประสิทธิภาพอาจไม่จำเป็นต้องหมายถึงปริมาณ

"ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าประสิทธิภาพคือคำตอบของภาคเกษตร สมมติเรายกตัวอย่างประสิทธิภาพการผลิตข้าวขึ้นมาได้ ผมว่าราคาข้าวเราคงตกอีกเยอะ เพราะฉะนั้นประสิทธิภาพจึงอาจไม่ได้แปลว่าผลิตมากขึ้นภายใต้ทรัพยากรที่มี แต่ถ้าบอกว่าจะทำให้คุณภาพดีขึ้น มันก็อาจจะเป็นไปได้ว่าจะช่วยให้เกษตรกรดีขึ้น

"แต่เมล็ดพันธุ์ที่พัฒนา ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์มากนักในเรื่องคุณภาพ ส่วนใหญ่จะตอบโจทย์ในเชิงปริมาณมากกว่า ผมคิดว่าเมล็ดพันธุ์ที่เรามีอยู่ โดยเฉพาะข้าวจะเห็นชัด มันจะตอบโจทย์เราในเรื่องคุณภาพมากกว่า แต่เราอาจมองว่าไม่ใช่ตัวหลัก ยังมองว่าให้ผลผลิตต่อไร่น้อยนิดเดียว ตอนนี้ซัพพลายข้าวเราเกิน มันอาจเป็นโจทย์ในเชิงประสิทธิภาพได้ ถ้าเราสามารถตอบได้ว่าเรามีแผนอย่างไรที่จะทำให้การปลูกข้าวน้อยลง เรื่องมันเกี่ยวโยงกันหมด จะพูดแยกส่วนเฉพาะประสิทธิภาพไม่ได้

"เรื่องเมล็ดพันธุ์ ถ้าถามว่าผมยอมรับเรื่องสิทธิบัตรหรือเปล่า ยอมรับการที่เกษตรกรต้องซื้อหรือไม่ ผมยอมรับได้ แต่ยอมรับบนฐานที่ผู้เล่นบางคนเข้ามาแทรกแซงในตลาด เช่น รัฐบาลหรือมหาวิทยาลัย หรือใครที่เข้ามาแทรกแซงอยู่เสมอ หมายความว่ามีผลิตภัณฑ์เข้ามาสู้กับภาคเอกชน เพื่อเป็นทางเลือก ไม่ได้หมายความว่าต้องสู้ให้เอกชนล้มหายตายจาก แต่สู้เพื่อไม่ให้มีแต่เอกชนเท่านั้นที่ผูกขาด"

จากรายย่อยสู่รายใหญ่

มีการพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องว่า แนวโน้มในอนาคตการทำเกษตรกรรมจะปรับเปลี่ยนจากรายย่อยไปสู่การทำเกษตรกรรมบนพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งจะให้ผลตอบแทนและมีประสิทธิภาพมากกว่า จำนวนเกษตรกรจะลดลง ไหลเข้าสู่ภาคการผลิตอื่น แล้วเกษตรกรที่ยังอยู่ก็จะมีรายได้ดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น เนื่องจากตัวหารในภาคการเกษตรลดลง นี่คือแนวคิดกระแสหลักที่ดำรงอยู่

เรามองได้หรือไม่ว่า การเก็บค่าน้ำและการแก้กฎหมายเมล็ดพันธุ์ก็เพื่อตอบรับกับแนวโน้มดังกล่าวในอนาคต เดชรัตอธิบายว่า

"เราต้องพูดก่อนว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่ เกษตรจะเป็นรายใหญ่มั้ย ก็ต้องตอบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อเกษตรกรรายใหญ่มีเทคโนโลยีเพียงพอที่จะควบคุมความเสี่ยง มันเกิดขึ้นแล้วในกรณีของไก่ หมู แต่จะไม่เกิดขึ้นในกรณีที่เขาไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงได้อย่างในกรณีของข้าว ของพืชไร่ เขาก็จะปล่อยให้เกษตรกรรายย่อยทำต่อไป โดยข้อเท็จจริงจะมีเฉพาะบางธุรกิจเท่านั้นที่จะเป็นรายใหญ่จริงๆ มันจะไล่ไปตามความสามารถที่จะเอาเงินไปลงทุนและควบคุมไม่ให้ตนเองไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงน้อยลงมากๆ

"สำหรับผม ผมคิดว่าแนวโน้มนี้ไม่จริง ยกตัวอย่างข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผมไม่เชื่อว่าจริง ในระยะ 20 ปีนี้ผมไม่เชื่อว่ารายใหญ่จะเข้ามา บวกด้วยปัจจัยอีกข้อคือที่ดินของเรามีราคาแพง ถึงเป็นรายใหญ่ก็ไม่สามารถซื้อที่ดินเป็นหมื่นไร่แสนไร่ได้ง่ายๆ

"ประเด็นที่ว่าจำนวนเกษตรกรน้อยลง ส่วนแบ่งจะมากขึ้น ผมไม่ติดใจ แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นในยุคนี้ ถ้ามันเกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งมันก็เกิดขึ้น เกษตรกรก็ลดลง แต่ก่อนมี 60-70 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ก็เหลือ 30-40 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น คนที่เชื่อก็ยังเชื่อว่าต้องลงอีก แต่ผมไม่เชื่อว่าจะลง ไม่ใช่ว่าภาคเกษตรดี แต่ภาคอื่นไม่รับ ตัวเลขการจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมก็ไม่เพิ่มขึ้น เพราะมันมาสู่อุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่แล้ว ไม่ใช่แบบเดิม ตัวเลขของภาคบริการก็รับเพิ่มขึ้นบ้างภายใต้ความเสี่ยงที่ไม่น้อย อย่างเวลาพูดถึงภาคการท่องเที่ยว มันก็มีความสวิง ปัจจุบันจ้างงานอยู่ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงานทั้งหมด แล้วจะรับเกษตรกรที่ลดลงได้หรือไม่

"ผมจะดีใจมากถ้ามีใครยืนยันว่า มีใครสามารถรับคนในภาคเกษตรได้ ไม่ได้ดีใจที่ออกจากภาคเกษตร แต่ดีใจที่มีทางเลือก"

ประเด็นที่เดชรัตกังวลคือเขาไม่แน่ใจว่าเกษตรกรจะมีทางเลือกดังว่า แต่อาจจะย้อนกลับกัน คือคนบางส่วนต้องออกจากภาคอุตสาหกรรมและบริการมาสู่ภาคเกษตร ส่วนหนึ่งเพราะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เช่น ปัญญาประดิษฐ์ เขาย้ำว่าไม่ได้ค้าน ถ้าเกษตรกรเหลือน้อยลง เพียงแต่ไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นจริง

"ตามหลักเศรษฐศาสตร์ การที่เกษตรกรเหลือน้อยลงและย้ายไปอยู่ภาคอื่น การย้ายไปอยู่ภาคอื่นให้ดีขึ้นได้ เขาไม่ควรจะย้ายโดยไม่มีทางเลือก เขาต้องมีทางเลือก แต่ไปทางนั้นเพราะมันดีกว่า การต่อรองของเขาจะดีกว่า ผมจึงเห็นว่า ใครก็ตามที่สนับสนุนให้เกษตรย้ายไปภาคอุตสาหกรรม ผมไม่ได้ค้าน แต่เขาควรไปในลักษณะที่มีทางเลือกเสมอ การบีบให้ไปโดยไม่มีทางเลือกคือการทำให้เขาหมดอำนาจต่อรองในเซ็คเตอร์ใหม่ที่เขากำลังจะไป"

เดชรัตมีทัศนะว่า กฎหมายทั้งสองฉบับ ไม่ว่าจะเรื่องน้ำหรือเมล็ดพันธุ์ สุดท้ายแล้วจะเป็นการตัดตัวเลือกของเกษตรกรลง

การคิดนโยบายหรือออกกฎหมายต้องวางอยู่หลักการที่จะเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกร ไม่ใช่ตัดทางเลือก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

33 จังหวัดเตรียมรับมือฝนตกหนัก 21-23 ต.ค.นี้

Posted: 20 Oct 2017 10:11 PM PDT

ปภ.ประสาน 33 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล เตรียมพร้อมรับมือฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักในช่วงวันที่ 21-23 ต.ค. 2560 กำชับเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชม.

 
21 ต.ค. 2560 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่าจากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ในช่วงวันที่ 21-26 ต.ค. 2560 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยยังคงมีอากาศร้อนขึ้น ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีสภาพอากาศแปรปรวนในลักษณะฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมฉับพลัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน 33 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น ภาคกลาง 11 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เตรียมพร้อมรับมือฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 21-23 ต.ค. 2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำและสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง 
 
นายชยพล กล่าวอีกว่านอกจากนี้ได้จัดเตรียมสรรพกำลัง วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงเสริมแนวคันกั้นน้ำ และประสานการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมขัง พื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่ที่ยังมีปริมาณน้ำสะสม กรณีสถานการณ์รุนแรงให้พิจารณาอพยพประชาชนไปพักอาศัยยังศูนย์พักพิง หรือจุดอพยพที่ปลอดภัย
 
"ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสถานการณ์น้ำ ปริมาณน้ำ สถานการณ์ฝนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้จุดเสี่ยง อาทิ ใต้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากการถูกล้มทับ รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการอย่างเคร่งครัด หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป" นายชยพล กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. นำเงินรายได้ไตรมาส 3 จำนวน 190.58 ล้านบาท ส่งเข้ากองทุนดีอี

Posted: 20 Oct 2017 10:04 PM PDT

21 ต.ค. 2560 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. นำเงินรายได้ไตรมาส 3 ส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 190.58 ล้านบาท โดยการนำส่งเงินดังกล่าวจากเงินรายได้ของสำนักงาน กสทช. เป็นการปฏิบัติตามมาตรา 24 (4) ของ พ.ร.บ. การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้สำนักงาน กสทช. จะต้องจัดสรรเงิน 15% ที่ได้รับจากการจัดสรรคลื่นความถี่และรายได้ของสำนักงานฯ เข้ากองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในการนำส่งเงินดังกล่าวในปี 2560 สำนักงาน กสทช. จะทำการนำส่งทุกไตรมาส ส่วนในปีถัดไป ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 จะนำส่งเงินรายได้ให้กองทุนเมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รับรองงบการเงินแล้ว
 
ก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. ได้นำเงินรายได้ไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ส่งกองทุนดีอีไปแล้ว จำนวน 1,182.86 ล้านบาท รวมเงินที่สำนักงาน กสทช. นำส่งกองทุนดีอีแล้วจนถึงขณะนี้ เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,373.44 ล้านบาท
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 15-21 ต.ค. 2560

Posted: 20 Oct 2017 06:48 PM PDT

ก.แรงงานขอธุรกิจหยุดให้ร่วมพระราชพิธี 26 ต.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอความร่วมมือนายจ้าง สถานประกอบกิจการอนุญาต ให้วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560 เป็นวันหยุดงาน เพื่อให้ลูกจ้างทั้งไทยและต่างด้าวได้มีโอกาสเข้าร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับปวงชนชาวไทย รวมทั้งเป็นการร่วมใจกันถวายความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ตามสถานที่ที่กำหนดใกล้บ้านพร้อมกันทั่วประเทศ

ทั้งนี้ สถานประกอบกิจการสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครเขต 1-10 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ หรือโทรสายด่วน 1546

ที่มา: โลกวันนี้, 16/10/2560

สภาองค์กรนายจ้างหวั่นเทคโนโลยีใหม่ทำคนตกงาน-แบงก์ปิดสาขา

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผย สถานการณ์การจ้างงานว่า ล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2560 มีจำนวนการว่างงานประมาณ 476,000 คน คิดเป็น 1.22% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด อย่างไรก็ดี ถือว่าต่ำ ในอาเซียนหลายประเทศมีการว่างงานกว่า 3-4%

อย่างไรก็ตาม ทิศทางแรงงานในอนาคตถือว่าน่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากภาคเอกชนปรับตัวการนำเทคโนโลยี ระบบอัตโนมัติมาปรับใช้ในภาคธุรกิจเร็วกว่าที่คาด ไม่ใช่เฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น ยังรวมถึงภาคบริการด้วย ส่งผลต่อการจ้างแรงงานใหม่ และการเลิกจ้างงาน

โดยภาคธุรกิจที่น่าเป็นห่วง เช่น ภาคธนาคาร เริ่มปิดสาขาอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้จากสถิติของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าช่วง 7 เดือน ของปีนี้ ปิดสาขาแล้วทั้งสิ้น 126 สาขา ซึ่งปัจจุบัน ผู้บริโภคหันไปใช้ธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์ หันมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์, ธุรกิจที่เกี่ยวกับคอลล์เซ็นเตอร์ต่างๆ หันมาใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติ

ขณะที่ภาครัฐยังปรับตัวช้า โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ยังปรับหลักสูตรการศึกษารองรับความต้องการแรงงานใหม่ ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะนี้ ควรหารือร่วมกับแต่ละภาคอุตสาหกรรมว่ามีความต้องการแรงงานอย่างไร จะปรับตัวรองรับนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0

"แรงงานที่น่าเป็นห่วง คือ แรงงานที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เพราะกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยปรับตัวรองรับเทคโนโลยีซึ่งไม่นับรวมการใช้เฟซบุ๊ค ไลน์ ฯลฯ" นายธนิต กล่าว

ที่มา: แนวหน้า, 16/10/2560

เครือข่ายประกันสังคมคนทำงานยื่นหนังสือถึงนายกฯ เรียกร้องเร่งเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ต่อ สนช.

นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน พร้อมด้วย องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย(อรท.)ร่วมกับ เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) สภาองค์การลุกจ้าง สหพันธ์แรงงาน สหภาพแรงงาน เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล โดยขอให้เร่งเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเป็นของขวัญกำลังใจให้กับผู้ใช้แรงงาน และให้มีผลบังคับใช้ในปี 2560 ซึ่งมีสาระสำคัญที่ลูกจ้างทั่วประเทศให้ความสนใจอย่างมาก และมองว่าหากร่างดังกล่าวประกาศใช้จะไม่กระทบผู้ประกอบการ SME เพราะ SME ไหนที่มีการจ้างงาน 20 ปีขึ้นไปถือว่ามีเสถียรภาพและเป็น SME ขนาดใหญ่แล้ว

นอกจากนี้ อยากให้มีตัวแทนของแรงงานเข้าไปร่วมในคณะกรรมาธิการ ที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณากฎหมายฉบับนี้ในอนาคตด้วยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และความสมดุลในการพิจารณา และได้รับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมากที่สุดซึ่งอัตราที่เหมาะสมคือควรมีภาคส่วนแรงงานในคณะกรรมาธิการ 2-3 คน

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 16/10/2560

เตือนแรงงานไทย 'ไต้หวัน' จำกัดสิทธิแรงงานต่างชาติที่ฝ่าฝืนกฎหมายเข้าประเทศ

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานกล่าวว่า กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของไต้หวันกำหนดจำกัดสิทธิห้ามเข้าไต้หวันต่อแรงงานต่างชาติที่กระทำผิดกฎหมายในกรณีต่างๆ เช่น กรณีหลบหนีนายจ้างหรือลักลอบทำงานผิดกฎหมายจะถูกจำกัดสิทธิห้ามเข้าไต้หวัน 3 ปี แต่หากกลับเข้าทำงานกับนายจ้างเดิมภายใน 1 เดือน และได้รับการยินยอมจากนายจ้างให้ทำงานต่อไป แรงงานต่างชาติมีสิทธิยื่นถอนชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้หลบหนีกับกระทรวงแรงงานและสำนักตรวจคนเข้าเมืองไต้หวันได้โดยไม่ถูก Blacklist 3 ปี กรณีพำนักในไต้หวันไม่เกิน 1 ปี ห้ามเข้าไต้หวัน 1 ปี พำนักเกิน 1 ปี ห้ามเข้าตามระยะเวลาที่พักเกินสูงสุดไม่เกิน 3 ปี ส่วนกรณีเป็นบุคคลที่เคยถูกดำเนินคดีต้องโทษ อาทิ ถูกศาลตัดสินจำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปห้ามเข้าไต้หวัน 8 ปี จำคุกน้อยกว่า 1 ปี ห้ามเข้า 5 ปี ถูกศาลตัดสินจำคุกในสถานกักกันหรือถูกโทษปรับแต่รอลงอาญา ห้ามเข้า 2 ปี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เสพยาเสพติดแล้วมีคำสั่งศาลให้รับการบำบัดจะถูกห้ามเข้า 5 ปี และเมื่ออัยการยืนยันแล้วว่าผู้เสพเป็นผู้ที่ไม่มีแนวโน้มจะเสพติดอีกและได้รับการยกฟ้องจะถูกห้ามเข้า 3 ปี

นายวรานนท์กล่าวว่า แรงงานไทยที่จะไปทำงานในไต้หวันควรศึกษากฎหมาย กฎระเบียบและข้อบังคับให้รอบคอบเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง จะได้ไม่ถูกจำกัดสิทธิดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม ก่อนจะตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศต้องคำนวณรายรับ-รายจ่ายให้ดีว่าหากเดินทางไปทำงานแล้วจะคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เสียไปหรือไม่ และขอให้เดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะให้ระมัดระวังนายหน้า

จัดหางานเถื่อน เพราะอาจถูกหลอกลวงต้องเสียเงินฟรีไม่มีงานให้ทำ หรือทำงานไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ และขอย้ำว่าการจะไปทำงานต่างประเทศจะต้องผ่านด่านตรวจคนหางาน และยื่นแบบแจ้งการเดินทางต่อเจ้าหน้าที่ก่อนทุกครั้ง หากผู้ใดไม่ผ่านด่านตรวจคนหางานถือว่าถูกหลอกแน่นอน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 16/10/2560

สปส. แนะผู้ประกันตนจาก 3 รพ.ที่ยกเลิกเลือกใหม่ภายใน 31 ต.ค.นี้

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปี 2561 มีสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคมทั่วประเทศจำนวน 238 แห่ง แบ่งเป็นสถานพยาบาลรัฐบาล 159 แห่ง สถานพยาบาลเอกชน 79 แห่ง ทั้งนี้รวมถึงสถานพยาบาลเอกชนสมัครเข้าใหม่ในปี 2561 อีก 2 แห่ง ที่สามารถรองรับผู้ประกันตนได้ และมีสถานพยาบาลที่ไม่เข้าร่วมโครงการประกันสังคมจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลยันฮี กรุงเทพฯ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี และโรงพยาบาลศรีระยอง จ.ระยอง

โดยขณะนี้ได้ดำเนินการแจ้งให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 เพื่อเลือกสถานพยาบาล ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 นี้ หากไม่เลือกมาภายในกำหนด สำนักงานประกันสังคมจะจัดสถานพยาบาลให้ผู้ประกันตน ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมขอย้ำในกรณีผู้ประกันตนเจ็บป่วยยังสามารถใช้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งดังกล่าวได้จนถึง 31 ธันวาคม 2560

อย่างไรก็ดีสำหรับสถานพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์ทดแทน ขณะนี้ได้รับแจ้งจากสถานพยาบาล โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล ที่อยู่ในพื้นที่การให้บริการใกล้เคียงกันกับโรงพยาบาลยันฮี ยินดีรับผู้ประกันตนเพิ่มได้รวมแล้วไม่เกิน 30,000 คน

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ยังได้กล่าวอีกว่า การร่วมมือของสถานพยาบาลของรัฐบาล เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมในเขตพื้นที่ใช้สิทธิการรักษาในสถานพยาบาลที่ตัวเองพึงพอใจ ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมยังคงเดินหน้าปฏิรูปบริการทางการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำ บูรณาการงานด้านการแพทย์ที่เหมาะสมอย่างเท่าเทียมมีคุณภาพ ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนให้ได้รับประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ

ที่มา: Sanook Money, 17/10/2560

ธุรกิจบริการ ค้าปลีก ก่อสร้าง ยังต้องการแรงงานสูง

นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) เปิดเผยข้อมูลคาดการณ์ตลาดแรงงานของประเทศไทยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 พบว่า มี 5 กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจบริการ 9,529 อัตรา ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 8,915 อัตรา ธุรกิจค้าปลีก 7,293 อัตรา ธุรกิจยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ 6,449 อัตรา และธุรกิจก่อสร้าง 6,248 อัตรา โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับไตรมาสสุดท้ายเป็นช่วงที่ประชาชนเริ่มหันมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นตามเทศกาลต่างๆ รวมทั้งผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภาครัฐ เช่น โครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น ทำให้ตลาดแรงงานกลับมาคึกคัก โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว บริการ อาหาร-เครื่องดื่ม และค้าปลีก

ส่วนธุรกิจยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นธุรกิจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมีฐานการผลิตที่สำคัญหลายแห่งกระจายอยู่ตามนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จึงมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก รวมถึงเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่ อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ที่การขยายตัวของการผลิตรถยนต์ในประเทศสูงแต่ยังไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนสำคัญบางประเภทได้ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากไทย จึงส่งผลดีต่อภาคการส่งออก

เช่นเดียวกับธุรกิจก่อสร้าง ที่มีความต้องการแรงงานสูงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2561 ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างรถไฟฟ้าทางคู่ 5 เส้นทาง การขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น คอนโดมิเนียมตามเส้นรถไฟฟ้าสายสีส้ม เหลือง และชมพู ขณะเดียวกันยังมีองค์กรต่างๆ ที่มาลงประกาศรับสมัครงานบนจ๊อบไทยดอทคอม เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1-3 อีกด้วย

สำหรับตัวเลขประมาณการประเภทงานที่มีแนวโน้มเปิดรับสมัครมากที่สุด 5 อันดับแรก ในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดข้างต้น ได้แก่ 1) งานขาย อยู่ที่ประมาณ 17,500-18,000 อัตรา 2) งานช่างเทคนิค 9,400-10,000 อัตรา 3) งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ 7,100-7,500 อัตรา 4) งานวิศวกรรม 6,400-7,000 อัตรา และ 5) งานบริการลูกค้า 5,400-6,000 อัตรา

สะท้อนได้ว่างานที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดก็ยังหนีไม่พ้นงานขาย เพราะเป็นหัวใจสำคัญของทุกบริษัท แต่น่าสังเกตว่าเมื่อลองดูข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นว่างานผลิต/ควบคุมคุณภาพ มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะไต่ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 3 ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 32 คาดว่าเป็นผลมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมถึงโครงการที่สำคัญต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีผลต่อกำลังแรงงานในอุตสาหกรรม และด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ จ๊อบไทยดอทคอม จึงคาดว่าในไตรมาส 4 ตลาดแรงงานน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3 ประมาณร้อยละ 1-3

ที่มา: VoiceTV, 18/10/2560

เปิดแล้ว! 3 แห่ง "ศูนย์ตรวจสัญชาติกัมพูชา"

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางการกัมพูชาเปิดศูนย์ตรวจสัญชาติแรงงานกลุ่มที่ผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง (ใบจับคู่) และกลุ่มบัตรสีชมพู โดยเน้นให้บริการกลุ่มประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุวันที่1พฤศจิกายน 2560 ก่อน จำนวน 3 แห่ง

ศูนย์ตรวจสัญชาติกัมพูชา ทั้ง 3 แห่ง มีดังนี้ 1.กรุงเทพมหานคร ที่อิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว ชั้น 4 เลขที่ 2539 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง 2.จังหวัดระยอง ที่ มายอง โอทอป เลขที่201หมู่7ต.มะขามคู่ อ.นิคมพัฒนา 3.จังหวัดสงขลา ที่ตลาดฟุกเทียน เลขที่ 99 หมู่ 3 ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ การตรวจสัญชาติแรงงานต่างด้าวเป็นการดำเนินการของประเทศต้นทาง

ขณะเดียวกันทางการไทยก็พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างและแรงงานต่างด้าว แต่อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดในการดำเนินการซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา

โดยศูนย์ที่จังหวัดระยองและสงขลาจะมีหน่วยงานฝ่ายไทยเข้าไปดำเนินการในกระบวนการต่อเนื่องจากทางการกัมพูชาในรูปแบบศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) มีขั้นตอนการให้บริการคือ 1.แรงงานรับการตรวจสัญชาติจากเจ้าหน้าที่ทางการกัมพูชา เมื่อผ่านการตรวจสัญชาติแล้วจะได้รับเอกสารเดินทาง (Travel Document : TD) 2.ขอรับการตรวจลงตรา (Visa) ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant L-A) และประทับตราให้อยู่ในราชอาณาจักรถึงวันที่ 31มีนาคม 2561จากสํานักงานตรวจคนเข้าเมือง 3.ขอรับการตรวจสุขภาพและการประกันสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข 4.ขอรับใบแทนใบอนุญาตทํางานจากกรมการจัดหางาน

ส่วนศูนย์ฯกรุงเทพมหานครนั้นมีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ ดังนั้นจึงไม่สามารถให้บริการแบบ OSS ได้ โดยแรงงานฯที่เข้ามาที่ศูนย์ฯ กรุงเทพฯ เมื่อได้เอกสาร TD แล้วจะต้องกลับไปตรวจลงตรา (VISA) ตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ และขอใบอนุญาตทำงานในจังหวัดที่แรงงานกัมพูชาทำงานอยู่

นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า สำหรับค่าใช้จ่ายใน3ศูนย์ฯมีจำนวน 4,400 บาท เป็นค่าธรรมเนียมเอกสารTD 2,350บาท ค่าตรวจลงตรา (VISA) 500บาท ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท ค่าประกันสุขภาพ500บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทํางาน 550 บาท โดยขณะนี้มีแรงงานกัมพูชากลุ่มบัตรสีชมพูในกิจการประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุวันที่1พฤศจิกายน 2560 นี้ จำนวนกว่า 13,000 คน และกลุ่มใบจับคู่ จำนวน 200,000 คน

"ผมจึงขอย้ำเตือนให้รีบมาดำเนินการตรวจสัญชาติภายในกำหนดระยะเวลาโดยด่วน โดยเฉพาะกลุ่มประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ เพราะหากเกินกำหนดจะไม่มีการต่ออายุอีก และหากประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องเข้ามาในรูปแบบ MOU สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ โทร.สายด่วน 1694" นายวรานนท์ กล่าวในที่สุด

ที่มา: คมชัดลึก, 18/10/2560

มนุษย์เงินเดือนซีด สปส. ชง กม.รีดเงินประกันสังคม สูงสุด 1,000 บาท อ้างผลสำรวจคนเห็นด้วย

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงการเตรียมขยายเพดานเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมว่า ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2559 โดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งร้อยละ 81 เห็นด้วยกับการขยายเพดานการเก็บเงินสมทบ จาก 15,000 เป็น 20,000 บาท โดยเก็บร้อยละ 5 ของค่าจ้าง แต่สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท เช่น คนที่ได้เงิน 16,000 บาท เก็บ 800 บาท เงินเดือน 17,000 บาท เก็บ 850 บาท คือสูงสุดเก็บไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนผู้ที่มีฐานเงินเดือน 20,000 บาทขึ้นไป จะเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน 1,000 บาท ซึ่งคณะกรรมการ สปส. ได้ทำเป็นร่างกฎกระทรวง เสนอกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาเสนอเข้าครม. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป คาดว่าน่าใช้ได้จริงภายใน 3 เดือนนี้

ส่วนที่มีหลายฝ่ายเห็นว่าไม่เป็นธรรมเนื่องจากขยายการเก็บเงินสมทบเพิ่มแต่เรื่องเงินชราภาพกลับมีเงื่อนไขมาก ที่สำคัญ เมื่อผู้ประกันตนที่เสียชีวิตไปแล้วเงินนั้นไม่ตกแก่ทายาท นพ.สุรเดช กล่าวว่า ยืนยันว่าสปส.ไม่ได้เอาเปรียบผู้ประกันตน เรื่องการจ่ายบำนาญชราภาพให้ทายาทผู้ประกันตนนั้น คณะกรรมการได้หารือกันว่าอาจจะปรับเปลี่ยนการจ่ายให้กับทายาทได้ เช่น กรณีที่เดือดร้อน มีความจำเป็น ซึ่งอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นในเรื่องเหล่านี้

เลขาธิการ สปส.ส่วนที่เรียกร้องให้จ่ายให้โดยไม่มีเงื่อนไขสุดท้ายหากสังคมต้องการอย่างนั้นก็จ่ายให้ได้ แต่สิ่งอยากจะบอกคือถ้าเราคิดแต่เรื่องกำไรส่วนตัว การดูแลสังคมร่วมกันก็จะไม่เกิดขึ้น เรื่องความคิดต่อส่วนรวมตั้งช่วยกันสร้าง

ที่มา: ข่าวสด, 20/10/2560

สหภาพแรงงาน ขสมก. ชี้แจงขอเสียสละค่าล่วงเวลาพนักงานสมัครใจเอง

หลังจากมีรายงานว่า ขสมก. หารือกับสหภาพแรงงานฯ ขสมก. ขอความร่วมมือพนักงานทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 26 ต.ค. 2560 ไม่รับค่าโอทีและเบี้ยงเลี้ยง ซึ่งทาง ขสมก. จะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าเช่ารถเพื่อบริการประชาชนฟรีทุกเส้นทาง ทางสหภาพแรงงานฯ ขสมก. ได้ออกหนังสือชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวว่า หลังจากได้สอบถามข้อมูลจากพนักงานทราบข้อเท็จจริงว่า มีพนักงานจำนวนหนึ่งเขียนคำร้องไม่ขอรับค่าจ้างในวันหยุดและค่าล่วงเวลา เพื่ออุทิศตนถวายเป็นพระราชกุศล ในวันที่ 26 ต.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ และอีกประการหนึ่งสหภาพแรงงานฯเองไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้พนักงานที่มาปฏิบัติหน้าที่ไม่ให้จ่ายเบี้ยเลี้ยงพนักงาน เป็นการทำผิดต่อกฎหมายแรงงาน ซึ่งเบี้ยเลี้ยงถือเป็นสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543

ที่มา: VioceTV, 20/10/2560

กระทรวงแรงงาน อนุญาตให้แรงงานเพื่อนบ้านเป็นล่ามได้

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุว่า ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องประเภทงานให้คนต่างด้าวตามมาตรา 13 (2) แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าวเปิดให้แรงงานกัมพูชา ลาว และเมียนมา กลุ่มบัตรสีชมพู ทำงานตำแหน่งผู้ประสานงานด้านภาษากัมพูชา ลาว หรือเมียนมาได้ เพิ่มจากงานที่อนุญาต คือ งานกรรมกร งานรับใช้ในบ้าน และช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเล แต่ผู้ว่าจ้างต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ ประกาศรับสมัครและว่าจ้างคนไทยเข้าทำงานก่อน อย่างน้อย 15 วัน หากพ้นเวลาดังกล่าวไม่มีคนไทยสมัครงาน นายจ้างจึงสามารถจ้างคนต่างด้าวเป็นผู้ประสานงานด้านภาษากัมพูชา ลาว หรือเมียนมา ได้ 1 คน ต่อการจ้างคนต่างด้าว 100 คน ส่วนกรณีนายจ้างเป็นหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ มูลนิธิ หรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ไม่แสวงหากําไรในทางเศรษฐกิจ หรือเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ให้จ้างได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

ที่มา: ch7.com, 20/10/2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น