ประชาไท | Prachatai3.info |
- นักวิชาการให้การคดี 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร' ชี้คำสั่ง หน.คสช.ที่ 3/58 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว
- ศาลคดีทุจริตฯ ชี้ 'สมบัติ-บรรเจิด' ผิด ม.157 รอกำหนดโทษ 3 ปี ปมทำนักศึกษานิด้าไม่จบ
- คป.ตร. ร้องเร่งปฏิรูปตำรวจ ให้อัยการคุมสอบสวนคดีสำคัญ จำเป็น หรือมีการร้องเรียน
- เปิดตัวหนังสือ: ‘ศาลรัฐประหาร’ เมื่อศาลไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็น 1 ใน ‘ผู้เล่นทางการเมือง’
- ศาลฎีกาเลื่อนไป 22 ธ.ค.อ่านคำพิพากษาคดีการ์ดพันธมิตรฯ บุก NBT ปี 51
- กวีประชาไท: แผลเป็น
- ล่าชื่อร้อง 'ประยุทธ์' ระงับฟ้อง 'ส.ศิวรักษ์' คดี 112 ปมพูดพาดพิงพระนเรศวร
- นางแบบผิวดำในโฆษณา 'โดฟ' เปิดใจ บอกคนเข้าใจผิดเรื่องที่มองว่าโฆษณานี้เหยียดสีผิว
- กวีประชาไท: ดอกไม้เอยเคยเบ่งบานวันที่ 14 ตุลา
- อัตราการว่างงานกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ?
- ป.ป.ช.เตรียมรื้อ 2 คดี 'ทักษิณ' ให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่า - หวยบนดิน
- เมื่อพี่ตูนวิ่งรอบวงแหวนดาวเสาร์
- สึกพระอภิชาติถึงคำสั่งมหาเถรฯ ปฏิรูปหรือแค่การเมือง?
นักวิชาการให้การคดี 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร' ชี้คำสั่ง หน.คสช.ที่ 3/58 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว Posted: 12 Oct 2017 10:54 AM PDT จันทจิรา นักวิชาการกฎหมายมหาชนยื่นคำให้การในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญต่อพนักงานสอบสวนคดี 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร' ชี้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อมีพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 12 ต.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค.60 ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เดินทางเข้ายื่นคำให้การในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญต่อพนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ในคดีของ 5 นักวิชาการ นักศึกษา และนักแปล ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกรณีการติดแผ่นป้ายข้อความว่า "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" ที่ฝาผนังห้องประชุมศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ ขณะเข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา ในคดีนี้ ผู้ต้องหาทั้งห้าคน ได้แก่ ชยันต์ วรรธนะภูติ, ภัควดี วีระภาสพงษ์, นลธวัช มะชัย, ชัยพงษ์ สำเนียง และธีรมล บัวงาม ได้ถูกกล่าวหาว่าการติดแผ่นป้ายดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง เป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางการเมือง อาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ โดยผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพิ่มเติมจำนวน 5 คน เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของผู้ต้องหา โดยคำให้การ ของ ผศ.ดร.จันทจิรา นั้น ชี้ว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้รับการคุ้มครองทั้งในรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี รวมทั้ง คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของการจำกัดเสรีภาพ และไม่มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อมีพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม อ่านได้ที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||||||||||||
ศาลคดีทุจริตฯ ชี้ 'สมบัติ-บรรเจิด' ผิด ม.157 รอกำหนดโทษ 3 ปี ปมทำนักศึกษานิด้าไม่จบ Posted: 12 Oct 2017 09:54 AM PDT ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษา รอการกำหนดโทษ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการนิด้า บรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ นิด้า เป็นเวลา 3 ปี ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำนักศึกษา ป.โท นิติศาสตร์ นิด้า ไม่จบ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และบรรเจิด สิงคะเนติ 12 ต.ค. 2560 คมชัดลึกออนไลน์และมติชนออนไลน์ รายงานว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษา รอการกำหนดโทษ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ บรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ นิด้า เป็นเวลา 3 ปี ในคดีหมายแดง อท. (ผ.) 35/2560 ที่ ธนกฤต ปัญจทองเสมอ หรือสมศักดิ์ ทองเสมอ นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดย ธนกฤต หรือสมศักดิ์ ซึ่งเป็นนักศึกษานิด้า ได้ยื่นฟ้องคดีรวม 2 สำนวน คือคดีหมายเลขดำ อท.(ผ) 95/2559 และ อท.(ผ) 45/2559 ซึ่งหลังจากไต่สวนมูลฟ้องแล้วศาลมีคำสั่งรับฟ้องจำเลยรวม 22 คน และให้รวมพิจารณาทั้ง 2 สำนวนเข้าด้วยกัน เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งจำเลย ประกอบด้วย สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีนิด้า, ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ , บรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ นิด้า, นเรศร์ เกษประยูร, สุนทร มณีสวัสดิ์, วริยา ล้ำเลิศ, วนาภรณ์ วนาพิทักษ์, กิตติ ภูมิเนียมหอม, อัจชญาสิงคาลวาณิช, ภัทริน วรเศรษฐมงคล, ธวัชชัย ศุภดิษฐ์, บุญอนันต์ พินัยทรัพย์, บุญชัย หงส์จารุ, อมรรัตน์ อภินันท์มหกุล, วัชรีภรณ์ ไชยมงคล, พิชัย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต, สมบัติ กุสุมาวลี, สุดสันต์ สุทธิพิศาล, อุบลวรรณ เปรมศรีรัตน์, ปราโมทย์ ลือนาม, รุ่งทิพย์ ศิริปิ่น และจารุณี พันธ์ศิริ เป็นจำเลยที่ 1-22 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คดีนี้ โจทก์ฟ้อง ระบุว่า โจทก์เป็นนักศึกษาของนิด้า เรียนจบภาควิชาการ รวม 24 หน่วยกิตแล้วมีผลการเรียนได้เกรดเฉลี่ย 4.00 และโจทก์สอบผ่านวิชาวิทยานิพนธ์ตามระเบียบของคณะนิติศาสตร์และนิด้าในขั้นตอนการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์และสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ผ่านในระดับดี, จัดทำรูปเล่มตามข้อแนะนำจากคณะนิติศาสตร์ นิด้า และผ่านการอนุมัติรูปแบบเล่มวิทยานิพนธ์ตามระเบียบของสำนักบรรณสารการพัฒนา นิด้า โดยโจทก์ได้ส่งเล่มวิทยานิพนธ์ 4 เล่มพร้อมซีดี 1 แผ่นครบตามหลักเกณฑ์ของคณะนิติศาสตร์และนิด้าแล้ว จึงมีสิทธิจบการศึกษาตามความในข้อ 79(6) และข้อ 42 แห่งข้อบังคับสถาบันฯ ว่าด้วยการศึกษา พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่จำเลยทั้งหมด ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติฯ เนื่องจากไม่พอใจที่โจทก์ร้องเรียนการดำเนินงานการบริหารคณะนิติศาสตร์ของ บรรเจิด จำเลยที่ 3 ที่ดำเนินการไม่เรียบร้อยก่อให้เกิดความเสียหายแก่นิด้า และนักศึกษา ซึ่งโจทก์ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่ปี 2554 เรื่อยมา โดยโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ประกอบ ม.83 พร้อมเรียกค่าเสียหายในค่าลงทะเบียน, ค่าใช้จ่ายในการเรียนถ้าขาดประโยชน์จากการที่จะได้รับเงินเพิ่มตามวุฒิการศึกษาที่เพิ่มขึ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 604,700 บาท กับค่าเสียหาย ที่เป็นเงินค่าเล่าเรียน, ค่าใช้จ่ายในการเรียนและค่าขาดประโยชน์ที่จะได้รับหากโจทก์สำเร็จการศึกษาอีกรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,484,700 บาท จำเลยทั้ง 22 คน ให้การปฏิเสธ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อความผิดพลาดทั้งหลายในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการทำวิทยานิพนธ์ของโจทก์ เป็นผลจากการที่คณะนิติศาสตร์เป็นคณะที่เพิ่งเปิดใหม่ อาจารย์ในคณะมาจากหน่วยงานอื่นๆ ยังมีความเข้าใจไม่เพียงพอในเรื่องโครงสร้างหลักเกณฑ์ขั้นตอนกระบวนการแนวปฏิบัติดังที่ปรากฏในบันทึกข้อความของคณะนิติศาสตร์ ซึ่งการแก้ไขความผิดพลาดควรเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่การแก้ไขดังกล่าวนั้นหากก่อให้เกิดผลกระทบแก่ผู้เกี่ยวข้องก็จะต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนด้วย ซึ่งเป็นปัญหาในทางปกครอง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง อันเนื่องมาจากการที่โจทก์ มีกรณีร้องเรียนหรือขอให้มีการตรวจสอบการดำเนินการของ บรรเจิด จำเลยที่ 3 ต่อเนื่องตลอดมา ทำให้เชื่อว่ากระบวนการตัดสินใจดำเนินการของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นคู่กรณีโดยตรงกับโจทก์ที่ร้องเรียนให้ตรวจสอบโดยเปิดเผยตัวตนชัดเจน ทำให้เชื่อว่าเป็นมูลเหตุจูงใจให้จำเลยที่ 3 เลือกตัดสินใจกระทำการโดยเลือกกระบวนการที่ทำให้โจทก์ได้รับผลกระทบมากเกินสัดส่วนของประโยชน์ที่สาธารณะจะได้รับ และกระทำโดยเจตนาที่จะยังไม่ให้โจทก์สำเร็จการศึกษา อันอยู่ในขอบข่ายของความรับผิดทางอาญา ขณะที่ สมบัติ อดีตอธิการบดี นิด้า จำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของ บรรเจิด จำเลยที่ 3 แต่ในการวินิจฉัยสั่งการกลับกระทำเพียงให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ตรวจสอบและนำเสนอข้อเท็จจริง ทั้งที่โจทก์ร้องเรียนกล่าวโทษจำเลยที่ 3 ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันที่จะยังไม่ให้โจทก์สำเร็จการศึกษา แม้จะเป็นการกระทำคนละเวลากันแต่เป็นการกระทำโดยมีความมุ่งหมายเดียวกันในระยะเวลาและตามขั้นตอนที่ต้องอาศัยเวลาและต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว จึงพิพากษาว่า สมบัติ อดีตอธิการบดี นิด้า จำเลยที่ 1 และ บรรเจิด อดีตคณบดี คณะนิติศาตร์ จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นข้าราชการและนักวิชาการที่ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิด ศาลจึงเห็นสมควรให้รอการกำหนดโทษเป็นเวลา 3 ปี ส่วนการกระทำของจำเลยอื่นๆ แม้มีความเชื่อมโยงในทางที่ใกล้เคียงที่จะมีมูลเหตุจูงใจเพียงพอถึงขั้นเป็นคู่กรณีกับโจทก์ดังเช่น นเรศร์ จำเลยที่ 4 ได้ แต่ตามพยานหลักฐานยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะให้ต้องรับผิดทางอาญา รวมทั้งประดิษฐ์ จำเลยที่ 2 กับจำเลยอื่นในคณะกรรมการ ทคอ. การศึกษาปรากฏเพียงการร่วมลงมติตามข้อเท็จจริงที่ บรรเจิดจำเลยที่ 3 นำเสนอ ซึ่งตามพยานหลักฐานไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยแต่ละคนในคณะกรรมการ ทคอ. การศึกษามีความเห็นชัดเจนอย่างไร อีกทั้งโจทก์ไม่ได้สร้างความชัดเจนในส่วนนี้จึงไม่เพียงพอที่จะต้องให้รับผิดทางอาญา ดังนั้น จึงพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 2 , 4 , 5-22 สำหรับความเสียหายนั้น ตามทางนำสืบแม้จะมีรายละเอียดในส่วนของค่าเล่าเรียน แต่เนื่องจากโจทก์ก็ได้รับประโยชน์จากผลของการเรียนการสอนที่ผ่านมา ขณะที่ความผิดพลาดในด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องโจทก์ก็มีส่วนที่ก่อให้เกิดด้วย จึงไม่กำหนดค่าเสียหายให้ ส่วนคำขออื่นทั้งในส่วนอาญาและในส่วนแพ่งก็ให้ยก รายงานข่าวระบุอีกว่า อย่างไรก็ดี หากคู่ความคดีนี้ ไม่พอใจผลคำพิพากษา ยังสามารถยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่ที่วันที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำพิพากษาออกมาด้วย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||||||||||||
คป.ตร. ร้องเร่งปฏิรูปตำรวจ ให้อัยการคุมสอบสวนคดีสำคัญ จำเป็น หรือมีการร้องเรียน Posted: 12 Oct 2017 09:07 AM PDT เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ออกแถลงการณ์เร่งปฏิรูปตำรวจโดยให้อั
12 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ( แถลงการณ์ระบุว่า ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการบั คป.ตร.เห็นว่า การกระทำในการให้ข่าวเช่นนี้ นอกจากจะเป็นพฤติกรรมที่ไร้ นอกจากนั้น การตรวจสอบก็สามารถกระทำได้ คป.ตร.เรียกร้องด้วยว่า ขอให้ตำรวจผู้ใหญ่ซึ่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||||||||||||
เปิดตัวหนังสือ: ‘ศาลรัฐประหาร’ เมื่อศาลไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็น 1 ใน ‘ผู้เล่นทางการเมือง’ Posted: 12 Oct 2017 03:57 AM PDT ปิยบุตร แสงกนกกุล เปิดตัวหนังสือวิชาการเล่มใหม่ 'ศาลรัฐประหาร' วิพากษ์ถอนรากถอนโคนอำนาจตุลาการ คืออำนาจทางการเมือง ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ย้ำตุลาการเป็น 1 เป็นหนังในผู้เล่นทางการเมือง "ศาลไม่ใช่องค์กรที่เป็นกลางและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ศาลเป็นผู้เล่นทางการเมือง มีบทบาททางการเมือง มีบทบาททางการเมืองผ่านการตัดสินคดี การตรวจสอบถ่วงดุลกับศาลจึงต้องเริ่มจากการถอดรื้อความศักดิ์สิทธิ์ของศาล ทำให้ศาลลงมาอยู่ในระนาบ เดียวกันกับองค์กรทางการเมืองอื่นๆ การจิจารณ์ การใช้อำนาจตอบโต้ และการประท้วงศาลนั้น เป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตยที่แต่ละองค์ สามารถใช้อำนาจตอบโต้ถ่วงดุลกันเพื่อหาจุดดุลภาพแห่งอำนาจ" ปิยบุตร แสงกนกกุล ข้อความข้างต้นปรากฎเด่นชัดบนปกหลังในงานวิชาการที่ชื่อว่า "ศาลรัฐประหาร ตุลาการ ระบอบเผด็จการ และนิติรัฐประหาร" ของ ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานวิชาการเล่มดังกล่าวตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และได้มีการจัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือไปเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2560 ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ปิยบุตร เป็นหนึ่งในวิทยากรในวงเสวนา เขาไม่ได้พูดถึงเนื้อหาในหนังสือเล่มดังกล่าวมากนัก หากแต่ต้องการจะสื่อสารว่า เพราะอะไรจึงต้องเขียนหนังสือเล่มดังกล่าวขึ้นมา ต้นสายปลายเหตุเกิดจากอะไร และเขามองเห็นอะไรในอำนาจตุลาการของประเทศไทย หนังสือเล่มนี้ก่อร่างมาจากชีวิตนักศึกษาในปี 2540 ปิยบุตร เล่าที่มาของหนังสือเล่มดังกล่าวว่า เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยในช่วงหลังจากนั้นเป็นต้นมาพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ถูกจำกัดลงเรื่อยๆ และเห็นว่าในฐานะนักวิชาการควรจะทำงานทางความคิดโดยหาช่องทาง เผยแพร่ผ่านสื่อออกไป จึงได้มีโอกาสเขียนบทความเชิงวิชาการลงในมติชนสุดสัปดาห์เรื่อยมา จรกระทั่งได้นำบทความที่ตีพิมพ์ลงในมติชนมารวมเล่มภายใต้โครงเรื่องเดียวกัน โดยเล่มแรกได้ตีพิมพ์ไปเมื่อปี 2559 คือ รัฐธรรมนูญ ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน เขาเล่าต่อไปว่า ตอนที่เริ่มเขียนบทความในหนังสือเล่มล่าสุดเขาคิดอะไรอยู่ โดยเล่าย้อนไปถึงช่วงที่ยังเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปิยบุตรเล่าว่า เข้าเรียนในช่วงปี 2540 สมัยนั้นเป็นยุคที่อยู่ในกระแสธงเขียวปฏิรูปการเมือง พร้อมกับเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง คนในรุ่นนั้นทุกคนจะอิน สนใจเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องการปฏิรูปการเมือง เนื่องจากจะเกิดกฎหมายใหม่ๆ ขึ้น และมีองค์กรใหม่ๆ เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่คนเรียนมหาวิทยาลัยในช่วงเวลานั้นสนใจ ปิยบุตร อธิบายต่อไปถึง บรรยากาศการเรียนการสอนในคณะนิติศาสตร์ว่ามีความโบราณ มีลักษณะที่เป็นรูปแบบ ขบน จาจีตสูง และเป็นคณะที่มีจุดมุ่งหมายที่จะผลิตนักกฎหมายเพื่อออกไปประกอบอาชีพ มากกว่าที่จะสอนให้ผู้เรียนได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียน "ผมก็ถูกฝึกมาให้เชื่อในตัวกฎหมาย ศรัทธาในตัวกฎหมาย เคารพกฎหมาย และการถกเถียง วิพากษ์ วิจารณ์กัน ก็มีการวิพากษ์กันในเรื่องของกฎหมาย เช่นตัดสินแบบนี้คุณมีความเห็นทางกฎหมายอย่างไร ทำไมถึงไม่ให้ความเห็นทางกฎหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความสม่ำเสมอในการให้เหตุผลไหม คำพิพากษาฎีกาต่างจากครั้งก่อนหน้าเพราะอะไร ทำไม่ศาลจึงกลับแนวคำพิพากษา เราก็จะพูดถกเถียงกันเรื่องนี้ ไปได้ไกลที่สุดเราก็อาจจะพูดกันเรื่องว่ากฎหมายนี้มีแรงบรรดาลใจมาจากอะไร สภาพสังคมเป็นอย่างไรถึงเขียนกฎหมายแบบนี้ ประเทศอื่นเขาเป็นอย่างไร เราถึงเขียนกฎหมายตามเขามา การเรียนการสอนมันเป็นแบบนี้ มันไม่ท้าทายตัวกฎหมายที่มันเกิดขึ้นอยู่ ไปได้ไกลที่สุดอาจจะเป็นไปในทางนิติปรัชญาเช่น ความยุติธรรมคืออะไร กฎหมายคืออะไร ก็แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะถือหางกฎหมายสำนักไหน เราไปได้ไกลสุดแค่นี้" ปิยบุตรกล่าว เขาเล่าต่อไปว่า หลังจากเขาเรียนได้ไม่นานก็ได้อ่านงานด้าน นิติปรัชญามากขึ้น แต่การเรียนการสอนนิติปรัชญาของธรรมศาสตร์ก็ให้น้ำหนักกับสำนักกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law School) มากกว่าสำนักกฎหมายบ้านเมือง (Positive Law School) ซึ่งเขาเห็นว่ามีความจงใจ พูดถึงสำนักกฎหมายบ้านเมืองสิ้นสุดแค่ศตวรรษที่ 17-18 ทั้งๆ ที่สำนักกฎหมายบ้านเมืองในศตวรรษที่ 19 20 21 เป็นพวกที่สนับสนุนประชาธิปไตย ตรงกันข้ามกับนักกฎหมายสำนักธรรมชาติ ที่เชื่อในพระเจ้า เชื่อในการมีอยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรบางอย่าง นักกฎหมายที่เชื่อในสำนักธรรมชาติหลายต่อหลายคนกลับฝักใฝ่เผด็จการ โดยเขายกตัวอย่างสั้นๆ ว่ามีนักกฎหมายสำนักธรรมชาติจำนวนมากที่สนับสนุนพรรคนาซีของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ "อย่างไรก็ตามทั้งสองสำนักมันมีข้อวิจารณ์กันทั้งคู่ แต่การเรียนการสอนวิชานิติปรัชญาที่ธรรมศาสตร์มันเหมือนกับ มวยปล้ำ มีการแบ่งเป็นธรรมะ อธรรม แม้อาจารย์จะไม่ได้พูดตรงๆ แต่เรียนไปเรียนมามันรู้สึกว่าฝ่ายสำนักกฎหมายบ้านเมืองมันอยู่ฝ่ายอธรรม ขณะที่ฝ่ายสำนักกฎหมายธรรมชาติอยู่ฝ่ายธรรมะ แต่เอาเข้าจริงๆ สุดท้ายเรียนกันไปไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น ผมก็เห็นว่านักกฎหมายที่เรียนจบกันออกไป หรือแม้แต่อาจารย์เองก็ด่าสำนักกฎหมายบ้านเมืองกันอยู่ทุกวัน แต่พอเผด็จการมาเมือไหร่ก็ไปรับใช้อำนาจ ไม่เห็นมีใครที่ออกวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎหมายที่ทหารใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ถ้ามองในมุมของสำนักธรรมชาติมันต้องเถียงแล้วใช้ไหมว่านี่มันไม่ใช่กฎหมาย แต่นี่ไม่มีใครพูดเลย พูดกันง่ายๆ คุณพูดเรื่องสำนักกฎหมายธรรมชาติเอาไว้แค่โม้กันในห้องเรียนเท่านั้น ในปฎิบัติไม่เคยเกิดขึ้น" ปิยบุตร กล่าว เขาเล่าต่อไปว่าได้ตั้งคำถามกับเรื่องดังกล่าวเรื่อยมา จนกระทั่งได้อ่านงานของ จรัญ โฆษณานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งได้มีการเขียนเรื่องนิติปรัชญาโดยพูดถึง นักคิดใหม่ๆ มากขึ้น ประกอบกับการอ่านงานของ สมชาย ปรีชาศิลปะกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับเรื่องนิติศาสตร์แนววิพากษ์ เลยทำให้เห้ฯว่าสิ่งที่เรียนอยู่ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น แต่มีอะไรที่ลึกไปกว่าสิ่งที่ได้เรียน "พื้นฐานผมเป็นคนชอบเรื่องการเมืองอยู่แล้ว จึงพยายามหาแง่มุมทางนิติศาสตร์เข้าไปมองในทางการเมืองว่าจริงๆ แล้วข้างหลังมันเป็นอย่างไรกันแน่ พยายามอ่านศึกษาค้นคว้า เพราะวิเคราะห์ทางกฎหมาย วิเคราะห์ปฎิบัติการของศาล ในแง่ของกระบวนการความคิด ในแง่ของกระบวนการเมืองที่มันอยู่เบื้องหลังของศาลว่ามันคืออะไรกันแน่ จนไปเรียนต่างประเทศก็ได้มีโอกาสค้นคว้างานทางประเทศเยอะขึ้นๆ แต่ก็นั้นแหละถ้างานที่นักนิติศาสตร์เป็นคนเขียน เขียนให้ตายวิจารณ์ให้ตายอย่างไร มันก็ยังอยู่ในกรอบอยู่ ไปได้ไกลที่สุดซึ่งพวกนิติศาสตร์เองเขาก็ยังไม่ยอมรับกันก็คือสำนัก critical legal studies ซึ่งนำโดย Roberto Unger ปรากฎว่าในแวดวงนิติศาสตร์ก็ประณามเขาว่า คุณสอนกฎหมายแบบนี้ได้อย่างไร เพราะสอนไปคุณจะบ้าเหรอ มันกลายเป็นภาวะสูญญะนิยม คุณสอนไปมันทำให้คนไม่เชื่อในกฎหมาย สอนจนคนมันตั้งคำถามว่าสุดท้ายแล้วกฎหมายมันคืออะไร และมันไม่มีอะไรเลย ในแวดวงก็อัปเปหิเขาออกไป แต่เอาเข้าจริงแล้วเขาสามารถให้มองมุมในทางการเมือง ในทางวิพากษ์ วิจารณ์เข้าไปในตัวกฎหมาย ได้มากยิ่งขึ้น" ปิยบุตร กล่าว ปิยบุตรเห็นว่า นักกฎหมายที่ถูกฝึกมาในทางกฎหมายจะยึดติดความเป็นรูปแบบนิยมของตัวเอง เขายกตัวอย่างให้เห็นชัดคือให้ดูว่ามีเพื่อนสมัยมัธยมคือใดบ้างที่เรียนต่อนิติศาสตร์ ให้สังเกตว่า 4 ปี ผ่านไปเรายังสามารถคุยกับเพื่อนคนนั้นรู้เรื่องอยู่หรือไม่ "ถ้าท่านมีเพื่อนที่เรียนกันมาตอนมัธยมและพอเขาเข้าไปเรียนกฎหมายปุ๊บ 4 ปีหลังจากนั้นท่านจะเริ่มคุยกับมันไม่รู้เรื่องแล้ว เพราะเขาจะมีวิธิการพูดมีคำศัพท์แปลกๆ ใหม่ๆ และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่คือความจงใจของแวดวงนิติศาสตร์ที่จะทำให้วิชานิติศาสตร์ถูกสงวนไว้กับพวกเขาเท่านั้น แล้วนิติศาสตร์มันมีอำนาจในการเอากฎหมายไปใช้ ไปตีความ และมีแต่คนเรียนนิติศาสตร์เท่านั้นที่พวกขาดกันอยู่ โอเคละเขาอาจจะทะเลาะกันบ้างในแวดวง เห็นต่างเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่การทะเลาะกันทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นไปเพื่อที่จะแย่งชิงว่าใครเป็นผู้ผูกขาด หรือผู้ที่จะบอกวากฎหมายคืออะไร ซึ่งคนที่อยู่นอกแวดวงจะถูกเขี่ยออกไป มากที่สุดก็บอกว่าคุณไม่ได้เรียนกฎหมายคุณไม่รู้เรื่อง หรือคุณก็พูดไปสิ เขียนไปสิ แต่คุณไม่ได้พูดในสิ่งที่เรียกว่ากฎหมาย นี่คือศิลปะวิทยาการของพวกนิติศาสตร์ที่จะผูกขาดความรู้ทางกฎหมายไว้กับพวกของตัวเอง" ปิยบุตร กล่าว ผมต้องการพิสูจน์ว่า การใช้อำนาจของศาล ไม่สามารถแยกออกจากการเมือง ปิยบุตร เล่าว่าเขาอ่านงานหลายประเภท และได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากนักคิดหลายคน เช่น คาร์ล ชมิทท์ โรเบิร์ตโต้ อังเกอร์ ฌาร์ค ดาริดา อันโตนีโอ เนกรี ประกอบกับการอ่านของนักรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งที่เข้ามาศึกษาบทบาทของศาล สำหรับวิชาการของเขาเองนั้น มีจุดประสงค์เพื่อต้องการพิสูจน์ว่า การเมือง และกฎหายมันเป็นคู่ขัดแย้งกัน และเราถูกทำให้เชื่อว่า 'การเมือง' เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายค้าน ภาคประชาชน NGOs ส่วน 'กฎหมาย' เรื่องเหล่านี้ศาลจะเป็นผู้จัดการ โดยสิ่งต่างๆ มีกรอบของกฎหมายอยู่ หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มันจะถูกส่งมาให้ศาลและศาลจะชี้ขาดข้อพิพาทนั้นในนามของกฎหมาย "ปกติเรามักจะมองกันว่า การเมืองมีอะไรก็ว่ากันไป หากมีข้อพิพาททางกฎหมายขึ้นมาเมื่อไหร่ศาลเป็นผู้วินิจฉัยในนามของกฎหมาย แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วเนี่ยเราแยกการเมืองกับกฎหมายออกได้ชัดเจนขนาดนั้นจริงหรือเปล่า ผมเห็นว่ามันไม่มีทาง"ปิยบุตร กล่าว เขาอธิบายต่อไปว่า กฎหมายไม่อาจแยกออกจากระบบการปกครอง โดยยกตัวอย่างให้เห็นถึงเรื่องระบบกรรมสิทธิ์ โดยกฎหมายในลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นได้หากอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์ หรือแม้แต่นิติกรรม สัญญา เสรีภาพที่มนุษย์จะสามารถทำนิติกรรม และสัญญาได้ ก็ขึ้นอยู่กับระบอบเสรีประชาธิปไตย ฉะนั้นสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นกฎหมายสากล มันก็เป็นไปตามระบอบการปกครองนั้นเอง ซึ่งโลกในปัจจุบันได้ยอมรับในระบอบเสรีประชาธิปไตย ปิยบุตรชี้ให้เห็นต่อไปว่า หลักการพื้นฐานกว้างๆ ที่ได้รับการยอมรับตามระบอบเสรีประชาธิปไตย ได้ถูกแปลงสภาพมาเป็นหลักกฎหมายเช่นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หลักความพอสมควรแก่เหตุ คือหลักที่ว่าด้วยการที่รัฐจะจำกัดเสรีภาพของบุคคลก็จำกัดให้พอสมควรแก่เหตุ โดยหลักการเหล่าก็ได้ถูกแปลงสภาพให้กลายเป็นข้อกฎหมาย เขียนลงในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งเมื่อเขียนแล้วก็จะกลายเป็นถ้อยความที่กว้างๆ เป็นนามธรรม ซึ่งสุดท้ายแล้วองค์ที่ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดก็ต้องนำเอาถ้อยคำเหล่านั้นมาตีความอีก "อย่างไรเป็นการละเมิดศักดิ์ความเป็นมนุษย์ อย่างไรไม่ละเมิด อย่างไรเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และอย่างไรไม่ละเมิด มันเป็นช่วงเวลาที่ผมเรียกว่า เป็นช่วงเวลาแห่งการใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจ ดังนั้นต่อให้คุณบอกว่ากฎหมายมันเป็นบรรทัดฐานไล่ลงมาเป็นลำดับชั้น สืบทอดมาจากชั้นบนๆ ลงมาเรื่อยๆ แต่วันที่คุณเอากฎหมายไปใช้ไปตีความ ความเป็นการเมืองมันก็เกิดขึ้นอยู่ดี คือคุณต้องอธิบายว่ามันคืออะไร" ปิยบุตร กล่าว เขาอธิบายต่อไปถึง กฎหมายมหาชนว่า เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของอำนาจรัฐ โดยเป็นการยอมรับว่ารัฐมีอำนาจ แต่จะทำอย่างไรให้มีการใช้อำนาจรัฐอย่างมีกรอบมีเกณฑ์ กติกา จึงเกิดความคิดเป็นกฎหมายมหาชนขึ้นมา เพื่อตีกรอบทางกฎหมายเข้าไปจำกัดการใช้อำนาจของรัฐ รัฐจะมีอำนาจทำเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมของประเทศชาติ แต่ก็ต้องอยู่ภายใตกรอบกติกาที่วางเอาไว้ "หากเรามองในมิตินี้ ฝ่ายบริหารเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการฝ่ายนิติบัญญัติ ก็คือผู้ใช้อำนาจในการกระทำการอะไรบางอย่าง ส่วนศาลก็ใช้อำนาจในอีกประเภทหนึ่งคือการตรวจสอบการใช้อำนาจว่า อำนาจที่ฝ่ายบริหารได้ใช้อยู่ในกรอบของกฎหมายหรือเปล่า ทีนี้มันเป็นไปได้อย่างไรทำไมเราถึงบอกว่า พวกรัฐบาล รัฐสภา พวกเจ้าหน้าที่ พวกนี้ใช้อำนาจ คุณว่าว่ามันเป็นเรื่องการเมือง แต่พอศาลใช้อำนาจตัวเองเหมือนกัน ไปตรวจสอบไอ้คนเหล่านี้คุณบอกศาลใช้อำนาจตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่เราต้องอิงกับมัน มันคืออำนาจทั้งนั้นแหละ และในขณะที่ศาลไปตรวจสอบคนอื่น คำถามที่ตามมาคือแล้วใครตรวจสอบศาล ทั้งที่เอาเข้าจริงๆ รากเหง้าของอำนาจทั้งหมดมันมาจากก้อนเดียวกันคือ สิ่งที่เราเรียกมันว่าอำนาจอธิปไตย เพียงแต่แบ่งฟังก์ชั่นภาระกิจกันไปทำ แต่ทำไมศามันถึงดันขึ้นมาสูงเด่นกว่าคนอื่น" ปิยบุตร กล่าว ปิยบุตรกล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้คนเรียนนิติศาสตร์ ถูกสอนให้จำมาตลอดว่า Judicial Review คือศาลต้องมีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอื่นๆ เช่นรัฐสภาตรากฎหมายมา ก็มีศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เจ้าหน้าที่ต่างๆใช้อำนาจ ศาลก็สามารถตรวจสอบได้ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยไอเดียเรื่อง Judicial Review ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองแต่มีเส้นทางการเดินทางการต่อสู้ในทางการเมืองมา กว่าจะได้มาเป็นที่ยอมรับว่าในรัฐที่เป็นนิตรัฐจะต้องมี เขากล่าวต่อไปว่า Judicial Review เป็นสิ่งที่เพิ่งสร้างขึ้น โดยย้อนกลับไปเพียงสองร้อยถึงสามร้อยปีก็จะพบที่มา เขาระบุว่าในสมัยของการปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้มีแนวคิดว่าจะให้อำนาจแก่ศาลมาตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมือง เนื่องจากศาลในเวลาถูกมองเป็นอภิสิทธิ์ชน และคนฝรั่งเศสให้คุณค่ากับกฎหมายมากกว่า ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ได้มีการถกเถียงกันมาตลอดว่าหากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แล้วใครจะเป็นคนมาตัดสินว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นมาขัดหรือไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มีการเถียงกันมาตลอดฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นอำนาจศาล อีกฝ่ายเห็นว่าไม่ควรเป็นอำนาจศาล จนท้ายที่สุดเกิดคดี Marbury v. Madison ซึ่งเป็นการยืนยันว่าสุดท้ายศาลจะเป็นผู้ตรวจสอบว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นมานั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เขาเล่าต่อไปถึงเบื้องหลังของคดี Marbury v. Madison ว่า เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ มันคือการแย่งชิงการแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลฎีการะหว่างพรรคเดโมเครต กับพรรครีพับลิกัน ซึ่งพรรครีพับลิกันเป็นพรรคที่รัฐบาลกลาง ไม่อยากให้รัฐบาลกลางมีอำนาจมา ขณะที่เดโมเครตต้องการให้รัฐบาลกลางมีอำนาจมาก พวกนี้มันเห็นต่างกันมาโดยตลอดตั้งแต่วันก่อตั้งประเทศ เขาก็มองว่าศาลฎีกานี่แหละที่จะพิทักษ์หลักการพวกนี้ไว้ เขาก็ชิงกันตั้งศาลฎีกากันจนนาทีสุดท้าย ระหว่างช่วงส่งต่ออำนาจของประธานาธิบดีจากคนที่สองสู่คนที่สาม ได้มีการชิงตั้งประธานศาลฎีกากันในช่วงเวลาเที่ยงคืน จนที่สุดเกิดเป็นคดีความขึ้นมา จุดเริ่มต้นของแนวคิดเรื่องศาลรัฐธรรมนูญในประเทศเยอรมัน ถูกนำเข้าไปในหลายประเทศแต่ล้มเหลวบิดเบี้ยว ปิยบุตร อธิบายต่อไปว่าหลังจากเกิดกรณี Marbury v. Madison ที่สหรัฐอเมริกา ทางประเทศฝั่งยุโรปก็ได้มีการคิดถึงเรื่องดักกล่าวขึ้นมาว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการปกครองโดยผู้พิพากษา (Government by judge) จึงเกิดเป็นสองสำนักคิดขึ้นมา แนวคิดแรกเห็นว่า ควรมีศาลรัฐธรรมนูญ โดยออกแบบให้ศาลมีที่มาจากการเมืองคือการที่ให้รัฐสภาเป็นผู้เลือกตุลาการขึ้นมา แล้วแยกออกมาเป็นศาลใหม่ ไม่ให้อยู่กับระบบศาลเดิม ให้ทำหน้าที่เพียงแค่การพิจารณากฎหมายว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะอีกแนวคิดหนึ่งเห็นว่า แนวคิดแบบแรกเป็นเรื่องเฟ้อฝัน ไม่มีทางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เล่นการเมือง โดย คาร์ล ชมิชท์ เจ้าของแนวคิดเห็นว่า ควรให้เป็นอำนาจของประธานาธิบดีเพียงคนเดียวที่จะชี้ขาดว่าอะไรขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายแล้วปรากฏว่าแนวคิดแรกกลายเป็นสิ่งยอมรับกัน และกระจายและใช้กันทั่วโลกตอนนี้ ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าแนวคิดแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่มีการสู้กันมาตลอด และไม่ได้ต้องเป็นแบบนี้เสมอไป ขณะที่ประเทศไทยเวลาจะนำโครงสร้างเหล่านี้มาใช้ก็จะนำเข้าเพียงอย่างเดียว ไม่มีการอธิบายถึงบริบทและที่มาที่ไปของแนวคิดนั้นๆ เขากล่าวต่อไปว่า หากจะพูดถึงศาลรัฐธรรมนูญ เยอรมันก็เป็นประเทศต้นแบบที่สำคัญ ซึ่งไทยไปลอกเยอรมันมาเยอะพอสมควรในเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ คำถามคือทำไมจึงไม่ชใชแนวทางแบบประเทศฝรั่งเศส อาจจะเพราะว่าวิธีคิดของเยอรมันไม่เหมือนฝรั่งเศส ฝรั่งเศสบ้าปฏิวัติ เปลี่ยนระบอบไปมาตลอด ขณะที่ยอรมันเรียบสงบ สาเหตุหนึ่งเพราะพระมหากษัตริย์เห็นเพื่อนบ้านมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่ปรับตัวก็จะอยู่ไม่ได้ จึงค่อยๆ ปรับตัวและลดอำนาจตัวเองลงมาเรื่อยๆ เยอรมันจึงมีพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด จนมาจบเมื่อปี 1917 แล้วก็เข้าสงครามโลก "วิธีคิดที่ต้องการลดทอนอำนาจตัวเองของรัฐ ได้ใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือ จึงเกิดแนวคิดเรื่องนิติรัฐ ในรูปแบบของเยอรมันว่า รัฐยอมเอาตัวเองลงไปอยู่ภายใต้กฎหมาย แล้วจึงต้องมีศาลมาใช้ตรวจสอบว่าอำนาจขัดกับกฎหมายหรือไม่ สร้างไอเดียสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อที่จะประกันสิทธิให้ทุกคน" ปิยบุตร กล่าว ปิยบุตร เล่าต่อไปว่า ประเทศเยอรมันมาสะดุดนิดเดียว ในช่วงที่ ฮิตเลอร์ ขึ้นมาครองอำนาจ หลังจากฮิตเลอร์หมดอำนาจ เยอรมันได้ทำรัฐธรรมนูญใหม่ เกิดความคิดเรื่อง Milatant Democracy โดยมีต้นกำเนิดจาก Karl Loewenstein ซึ่งเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยให้สิทธิเสรีภาพกับทุกคน แต่ต้องมีระบบป้องกันตัวเองด้วย เพราะเสรีภาพเกิดขึ้นได้เพราะประชาธิปไตย แต่จะนำเอาสิทธิเสรีภาพไปทำลายระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ จึงออกแบบรัฐธรรมนูญให้มีระบบป้องกันตัวเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศเยอรมันมีการยึดถือคุณค่าบางอย่างรวมกัน "ด้วยเหตุนี้หลายคนก็พูดว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับระบอบประชาธิปไตย ไม่มีไม่ได้ แต่กรณีของเยอรมันพูดกันตรงไปตรงมามันเป็นกรณียกเว้น พวกประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายก็ไปหยิบเอาโมเดลของเยอรมันมา ผมลองเช็คดูมีร้อยกว่าประเทศที่จะทำรัฐธรรมนูญก็จะเอาศาลรัฐธรรมนูญเอามาด้วย แต่ถามว่ามันมีศาลรัฐธรรมนูญที่ประสบผลสำเร็จจริงๆ กี่ประเทศ น้อยมาก ตรงกันข้ามคือคุณ import ศาลรัฐธรรมนูญไปใช้ มันเพี้ยนเต็มไปหมด และศาลรัฐธรรมนูญถูกทำให้เป็นการเครื่องมือทางการเมือง" ปิยบุตร กล่าว เขายกตัวอย่างประเทศที่มัศาลรัฐธรรมนูญ และกำลังประสบปัญหาต่อไปโดยระบุถึง ประเทศโปแลนด์ ซึ่งกำลังทะเลาะกันเรื่องตั้งศาลรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองสองพรรคชิงกันตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปาเลสไตน์ เริ่มทดลองเอาศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ก็ประสบปัญหาเหมือนกัน ฝ่ายที่สนับสนุนยัสเซอร์ อาราฟัต ก็ตั้งเอาพวกตนเองเป็นศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ตุรกี เมื่อก่อนศาลรัฐธรรมนูญเป็นพวกรัฐฆราวาส แต่พอการเมืองเปลี่ยนเปลงไปมีการตั้งพวกตนเองมาเป็นศาลรัฐธรรมนูญหมด ประเทศไทยก็อยู่ในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน ปิยบุตร อธิบายต่อไปว่า หากในสมัยของฮิตเลอร์มีศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่แน่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับไม่รับใช้ระบอบเผด็จการ เนื่องจากศาลที่มีอยู่ในเวลานั้น แม้ฮิตเลอร์ยังไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงตัวผู้พิพากษามาก ก็พร้อมที่จะรับใช้ฮิตเอลร์ทั้งสิน จนกลายเป็นกรณีที่ใช้ศึกษากับมาถึงปัจจุบันกับการตัดสินให้คนยิวต้องติดคุก หากมีศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในเวลานั้นจริง ก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะสามารถต้านทานอำนาจของฮิตเลอร์ได้ หากต่อต้านฮิตเลอร์ไม่นานก็จะถูกจัดการ เขาย้ำอีกครั้งว่าองค์กรที่เรียกว่าศาลนั้น สิ่งที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมดคือการเมือง เพียงแต่หน้าฉากพยายามทำตัวเป็นเหมือนผู้พิทักษ์หลักกฎหมาย "เราลองดูรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ ซึ่รัฐบาลเผด็จการมันสามารถครอบงำศาลได้ และศาลก็กลายเป็นมีหน้าที่ช่วยรัฐบาลเผด็จการ เช่นใครซ่าต่อต้านเผด็จการ ศาลก็ตัดสินเอาไปเข้าคุก เผด็จการออกอะไรมาศาลก็จะบอกว่าถูกเสมอ ตัวอย่างที่พบเห็นในปัจจุบันเพื่อนบ้านเรานี่เอง นี่เอง กัมพูชา ศาลใช้อำนาจตัดสินฝั่งตรงข้ามกับรัฐแบบจัดเต็มด้วยคดีหมิ่นประมาท คดีก่อการร้าย คดีหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านเป็นกบฏ จนต้องถูกยุบพรรค แล้วถ้าพรรคถูกยุบกรรมการถูกตัดสิทธิ์ ถามว่าฮุนเซนต้องยุบเองไหม ไม่ต้องเพราะว่าศาลช่วยตัดสินให้เรียบร้อย ไม่รู้ลอกประเทศเรามาหรือเปล่า สิงคโปรที่บอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย แต่เอาเข้าจริงเป็นประชาธิปไตยแบบไม่เสรี เลือกตั้งกี่ครั้งก็เป็นพรรคเดียวชนะ เวลาที่ฝ่ายค้านซ่ามากๆ ผู้นำรัฐบาลเขาไม่ต้องไปจัดการกันเอง เขาไปฟ้องคดีหมิ่นประมาท เสร็จแล้วศาลก็จัดเต็มเลยลงโทษให้จ่ายค่าเสียหายจนล้มละลาย จากนั้นก็หมดสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้ง" ปิยบุตร กล่าว ปิยบุตร ยกตัวอย่างต่อไปถึงกรณีของมาเลเซีย ซึ่งมีการใช้กฎหมาย หรือใช้คดีแปลกๆ เช่นกฎหมายที่ห้ามร่วมเพศกันทางทวารหนัก แล้วก็ใช้เรื่องนี้จัดการ อันวาร์ อิบราฮิม ทั้งหมดนี้ตัวอย่างของรัฐเผด็จการ หรืออำนาจนิยมที่กำลังครอบงำ แต่กรณีที่รัฐบาลไม่ได้ครอบงำตัวศาล จะเกิดปัญหาขึ้นแล้ว เพราะศาลจะเข้ามาตรวจสอบรัฐบาล ถ้ารัฐบาลมีอุดมการณ์ความคิดชุดหนึ่ง ศาลมีอีกชุดหนึ่ง ก็จะเกิดการปะทะกัน เขากล่าวต่อไปว่า บางประเทศศาลอาจจะ Anti-Populist(ประชานิยม) หรือบางทีอาจจะ Populist เอง กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีการคุ้มครองสิทธิคนพิการ ที่ระบุว่าบุคคลที่สมัครเป็นผู้พิพากษาหากมีร่างการไม่สมประกอบ จะไม่รับ ศาลวินิจฉัยว่าข้อความดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังวินิจฉัยเรื่องผู้หญิงที่จดทะเบียนสมรสจะถูกบังคับให้ใช้นามสกุลของสามี อันนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งดูก้าวหน้ามาก "ความก้าวหน้าของศาลรัฐธรรมนูญไทยไปได้ไกลสุด ถ้าหากไม่เจอกับประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เรื่องการแสดงความคิดเห็น พอกฎหมายมาตรา 112 คุณสมยศสู้คดีนี้มาจนถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ 9-0 ตัดสินว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แสดงว่าสิทธิที่คุณบอกจะพิทักษ์รักษาสิทธิต่างๆ มันมีเพดาน พอคุณไปเจอกับอะไรบางอย่าง สวิซต์ไฟของสิทธิเสรีภาพก็จะดับทันที" ปิยบุตร กล่าว เข้าใจเสียใหม่ว่า ตุลาการ เป็น 1 ในผู้เล่นทางการเมือง ทั้งหมดที่ปิยบุตรได้กล่าวไปนั้น เป็นที่มาของหนังสือ ซึ่งมีวัตถุประสงค์คือ ต้องการถอดรื้อความศักดิ์สิทธิ์ของศาล เพราะโดยธรรมชาติศาลจะมีลักษณะศักดิ์สิทธิ์กว่าองค์กรอื่นๆ อยู่แล้ว ซึ่งหนังสือเล่มนี้ต้องการทำลายความเชื่อและมายาคติที่ว่าศาลเป็นกลาง และเป็นอิสระ ศาลเป็นองค์วินิจฉัยชี้ขาดไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งถูกปลูกฝังไว้อย่างยาวนาน เพื่อที่จะนำไปสู่การจัดการดุลยภาพของอำนาจในการเมืองไทยเสียใหม่ ลด ละ เลิก ไอ้สิ่งที่เราเรียกกันว่าตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งจะนำไปสู่ศาลซึ่งอนาคตจะกลายไปเป็นเครื่องมือ หรือกลไก เป็นองค์กรที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ศาลที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ ในช่วงท้าย ปิยบุตรยังกล่าวต่ออีกว่า ศาลที่เป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ศาลเป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตย ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาแต่ไหนแต่ไร แต่เพิ่งถูกสร้าง เป็นกลไกที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติ เพราะสติปัญญาของมนุษย์ยังออกแบบไม่ได้ มันไม่รู้จะเอาองค์กรอะไรมาตรวจสอบ ก็เลยคิดขึ้นมา แต่ในการศึกษาเชิงประจักษ์ Empirical study ก็จะพบว่าศาลนั้นมีบทบาททางการเมือง ศาลมีผลประโยชน์ มีอุดมการณ์กำกับอยู่ บางทีศาลก็ไปช่วยนักการเมือง เมื่อนักการเมืองจะชี้ขาดเรื่องสำคัญๆ แต่ในทางกลับกันอาจทะเลาะกับการเมืองก็ได้ ถ้าศาลเป็นกลไกของรัฐอีกรัฐหนึ่งที่ซ้อนตัวอยู่ด้านหลัง รัฐบาลจะออกนอกแถว ศาลก็เอาไม้มาหวดๆ ให้เข้าที่ "ผมคิดว่าเราต้องวิจารณ์ ตรวจสอบ ถ่วงดุลและตอบโต้ศาลทั้งในทางนิติศาสตร์ และวิชาอื่น ในทางนิติศาสตร์คุณต้องเอานิติวิธีตอบโต้ออกไป เพราะขนาดเราเอาวิชานิติศาสตร์มาใช้แบบที่คุณใช้ยังพบว่าคำพิพากษาของคุณมีปัญหา มีความไม่สม่ำเสมอ เช่นเดียวกันมันต้องใช้วิชาอื่นด้วย เช่น ในทางรัฐศาสตร์เพื่อศึกษาบทบาททางการเมืองของศาล สังคมวิทยาหรือศาสตร์เชิงสังคมวิทยาไปศึกษา initial behavior ว่าพฤติกรรมของศาลคืออะไร อย่างในงานที่อาจารย์สมชายกำลังทำอยู่ ไปขุดโคตรเง้าศักราชของตุลาการแต่ละคน คุณมาจากไหน เป็นใคร เรียนจบที่ไหน หรืออีกอย่างหนึ่งคืองาน ethnography คือเข้าไปฝังตัวอยู่กับเขาแล้วดูว่าเขาทำอะไรกัน ทำไมถึงตัดสินเช่นนี้ ทำไมมีทัศนคติแบบอนุรักษ์นิยม หรือทำไมเวลาเข้าไปในศาลถึงตัวสั่น รู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์อะไรบางอย่าง เขามีวิธีการทำงานอะไรของเขาบางอย่างอยู่" ปิยบุตร กล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||||||||||||
ศาลฎีกาเลื่อนไป 22 ธ.ค.อ่านคำพิพากษาคดีการ์ดพันธมิตรฯ บุก NBT ปี 51 Posted: 12 Oct 2017 01:31 AM PDT เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีการ์ดพันธมิตรฯ บุก NBT ปี 51 ครั้งที่ 2 เหตุจำเลยมาศาลไม่ครบ พร้อมออกหมายจับ 2 จำเลย เพื่อมาฟังคำพิพากษา-ปรับนายประกันตามอัตรา นัดฟังคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. 12 ต.ค. 2560 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก มีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีกลุ่มนักรบศรีวิชัย ซึ่งเป็นกลุ่มการ์ดของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) บุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ในช่วงการชุมนุมขับไล่รัฐบาลเมื่อปี 2551 ซึ่งศาลนัดอ่านคำพิพากษาในเวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 704 โดยคดีนี้มีการเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาจากเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากทนายความแจ้งว่าจำเลย 1 ราย มีอาการป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมอง ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ รวมทั้งจำเลยอีก 3 รายยังไม่ได้รับหมายเรียก จึงขอเลื่อนฟังคำพิพากษา ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้เลื่อนมาเป็นวันนี้ (12 ต.ค.60) รายงานข่าวระบุว่า วันนี้มีจำเลย เดินทางมาศาล ยกเว้นจำเลยที่ 36 ,37 ,49 เเละ 78 ศาลพิจารณาเเล้วเห็นว่าจำเลยที่ 36 เเละ 37 ไม่เดินทางมาศาล โดยไม่มีเหตุอันควร ส่วนจำเลยที่ 37 อ้างว่าป่วย ศาลพิจารณาเเล้วเห็นว่าอาการป่วยจำเลยที่ 37 ไม่ถึงขั้นเดินทางมาศาลไม่ได้ เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์หลบหนี ไม่เดินทางมาศาล จึงให้ออกหมายจับจำเลยที่ 36-37 เพื่อมาฟังคำพิพากษาของศาลพร้อมปรับนายประกันตามอัตรา พร้อมนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก ธเนศร์ คำชุม จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยอื่นๆ พิพากษาตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี 6 เดือน และมีการรอลงอาญาลงจำเลยบางคนเนื่องจากขณะกระทำความผิดยังเป็นเยาวชน ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาเเก้โทษให้จำเลยจำคุก ตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี แต่จำเลยรับสารภาพเลยลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3-8 เดือน ส่วนจำเลยที่เป็นเยาวชนให้รออาญา โดยคดีนี้จำเลยได้รับการประกันตัว หลังยื่นหลักทรัพย์วงเงินคนละ 200,000 บาท ที่มา : ข่าวสดออนไลน์และไทยโพสต์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||||||||||||
Posted: 12 Oct 2017 12:31 AM PDT
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||||||||||||
ล่าชื่อร้อง 'ประยุทธ์' ระงับฟ้อง 'ส.ศิวรักษ์' คดี 112 ปมพูดพาดพิงพระนเรศวร Posted: 11 Oct 2017 11:51 PM PDT ผุดรณรงค์ล่ารายชื่อในเว็บไซต์ change.org ร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ระงับการฟ้องร้องคดี หลังตร.มีความเห็นควรสั่งฟ้อง 'ส.ศิวรักษ์' ข้อหา ม.112 กรณีพูดพาดพิงพระนเรศวร ชี้ไม่เข้าข่ายกฎหมายดังกล่าว 12 ต.ค. 2560 จากเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนคดีดังกล่าวเสร็จแล้ว และมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดีที่ สุลักษณ์ ถูกทหารเข้าแจ้งความให้เจ้าพนักงาสอบสวน สน.ชนะสงคราม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2557 จากรณีที่ สุลักษณ์ ได้ร่วมอภิปรายเรื่อง "ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดยคณะสภาหน้าโดม เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 57 โดยกล่าวหาว่าในการอภิปรายดังกล่าวสุลักษณ์ได้กล่าวหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอดีตพระมหากษัตริย์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยกล่าวว่า การทรงกระทำยุทธหัตถีไม่มีจริง และมีอีกหลายถ้อยคำที่เข้าข่าย "หมิ่นเบื้องสูง" นั้น ต่อมา 10 ต.ค.60 มีผู้ตั้งการรณรงค์ล่ารายชื่อในเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระงับการฟ้องร้องคดีดังกล่าว ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงชื่อกว่า 600 รายแล้ว การรณรงค์ดังกล่าวระบุด้วยว่า พระนเรศวรเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ซึ่งครองราชสมบัติ ณ กรุงศรีอยุธยาแต่พ.ศ.2133-2148 ย่อมไม่เข้าข่ายกฎหมายอาญามาตรา112 เพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ส.ศิวรักษ์ เสนอความคิดเห็นในการอภิปรายทางวิชาการ เพื่อหาประโยชน์จากประวัติศาสตร์ทางวิชาการในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ส.ศิวรักษ์ เป็นบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมไทยนานับประการเป็นเวลายาวนานจนได้รับรางวัลสันติภาพเป็นการยอมรับจากทั่วโลก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||||||||||||
นางแบบผิวดำในโฆษณา 'โดฟ' เปิดใจ บอกคนเข้าใจผิดเรื่องที่มองว่าโฆษณานี้เหยียดสีผิว Posted: 11 Oct 2017 11:25 PM PDT จากกรณีโฆษณาสบู่โดฟที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันเรื่อง "เหยียดสีผิว" โลลา โอกุนเยมี หนึ่งในนักแสดงโฆษณาชุดนี้ที่เป็นคนดำเชื้อสายไนจีเรียเปิดใจว่าเธอไม่เคยรู้มากก่อนว่าจะถูกนำมาแสดงในโฆษณาที่ถูกวิจารณ์ในแง่นี้ ขณะเดียวกันก็ชี้แจงว่าผู้คนเข้าใจเจตนาของโฆษณานี้ผิดไป 12 ต.ค. 2560 โลลา โอกุนเยมี เป็นหญิงเชื้อสายไนจีเรียที่เกิดในลอนดอนและเติบโตในแอตแลนตา ถึงแม้เธอจะได้รับการบอกเล่ามาตั้งแต่เด็กด้วยประโยคที่ว่า "เธอสวยนะ ...สำหรับผู้หญิงผิวคล้ำ" ซึ่งทำให้เธอรับรู้และเข้าใจดีว่าสังคมที่พูดแบบนี้ยังคงมองคนโดยเฉพาะผู้หญิงที่ผิวขาวกว่าดูดีกว่า โอกุนเยมีพูดถึงอุตสาหกรรมความงามว่าตั้งแต่ในอดีตมีหลายประเทศที่เน้นใช้คนที่ผิวขาวกว่าเป็นมาตรฐานว่ามีความสวยความงามกว่าขณะที่ใช้คนผิวคล้ำหรือคนดำเป็นแค่เครื่องแสดงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวขาวขึ้นเพื่อทำให้ผู้หญิงมี "ความสวย" ในแบบมาตรฐานความงามที่เน้นผิวขาวเท่านั้น และทุกวันนี้ในบางประเทศก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ สำหรับโอกุนเยมีแล้วเธออยากจะมีโอกาสได้เป็นตัวแทนของพี่น้องคนผิวคล้ำให้กับแบรนด์ด้านความงามระดับโลก เพื่อบอกกับโลกให้รู้ว่าพวกเธอมีอยู่จริง พวกเธอก็สวยได้ และที่สำคัญกว่านั้นคือพวกเธอมีคุณค่าในตัวเอง แต่กลายเป็นว่าโฆษณาที่เธอแสดงให้กับผลิตภัณฑ์ของโดฟกลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าเป็น "โฆษณาเหยียดเชื้อชาติสีผิว" ไปแล้ว นั่นทำให้เธอรู้สึกแย่เมื่อโฆษณาชุดนี้กลายเป็นที่ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง โฆษณาโดฟตัวนี้มีความยาว 13 นาที แสดงให้เห็นหญิงคนดำ หญิงคนขาว และหญิงชาวเอเชีย ถอดชุดท่อนบนเปลี่ยนเป็นคนเชื่อชาติต่างๆ ตามลำดับ ในโฆษณาโทรทัศน์ฉบับ 30 วินาทีที่เผยแพร่ในสหรัฐฯ มีคนแสดง 7 คน ต่างเชื้อชาติและอายุ มาพร้อมกับคำถามว่า "ถ้าผิวของคุณมีป้ายฉลากแบบผลิตภัณฑ์ชำระล้างผิวได้ มันจะระบุว่าอย่างไร" ตัวโอกุนเยมีเองเป็นนางแบบคนแรกที่ปรากฎตัวในโฆษณาและบอกว่าผิวของเธอ "แห้งร้อยละ 20 เปล่งปลั่งร้อยละ 80" โอกุนเยมีบอกว่าเธอชอบตัวเองในงานโฆษณาชุดนี้ ครอบครัวและเพื่อนฝูงของเธอก็ชอบมันและแสดงความยินดีที่เธอปรากฏตัวเป็นคนแรกในโฆษณาในฐานะตัวแทนของคนดำ เรื่องที่ว่าโฆษณาฉบับนี้เป็นโฆษณาเหยียดเชื้อชาติสีผิวจึงอาจจะเป็นเรื่องเข้าใจผิด โอกุนเยมีเล่าว่าตอนที่เธอตกลงเข้าแสดงในโฆษณานั้นเธอมีจุดยืนว่าถ้าหากมีการให้เธอแสดงบทคนดำที่ดูด้อยค่ากว่า หรือแสดงแบบภาพ "ก่อนใช้" เทียบกับ "หลังใช้" เธอจะปฏิเสธแล้วเดินออกจากกองถ่ายทันที แต่กองถ่ายของโดฟก็ปฏิบัติกับคนหลายเชื้อชาติอย่างดี และมีเป้าหมายของโฆษณาคือต้องการเน้นย้ำให้เห็นว่าคนทุกสีผิวต่างก็สมควรได้รับความนุ่มนวลอ่อนโยนกันทั้งนั้น อย่างไรก็ตามโอกุนเยมียอมรับว่าโฆษณาตัวนี้พอถูกเผยแพร่ออกไปแล้วอาจจะทำให้เกิดการตีความผิดไปจากเดิมผ่านรูปภาพแค่บางส่วนของโฆษณาเต็มที่ถูกนำเสนอออกไป บวกกับการที่ก่อนหน้านี้โดฟเคยถูกต่อว่าในเรื่องแบบนี้มาก่อนแล้วทำให้ความเชื่อถือของผู้คนน้อยอยู่แล้วแต่แรกกลายเป็นการแสดงออกอย่างไม่พอใจ จึงเป็นเรื่องที่นักโฆษณาทั้งหลายควรจะคำนึงถึงให้ดีว่าพวกเขานำเสนอภาพออกไปแล้วจะกลายเป็นการกีดกันผู้ชมที่เป็นชายขอบหรือลดทอนคุณค่าของพวกเขาหรือไม่ ถึงแม้ว่าโอกุนเยมีจะเห็นด้วยที่โดฟออกมาขอโทษต่อสิ่งที่ทำให้คนรู้สึกถูกล่วงละเมิด แต่เธอก็อยากให้โดฟปกป้องวิสัยทัศนของตัวเองไว้ด้วย มันเป็นเรื่องที่ดีที่โอกุนเยมีคนดำผิวคล้ำได้มีส่วนร่วมกับโฆษณา เธอบอกว่าเธอไม่ได้เป็น "เหยื่อ" แต่เธอมีความเข้มแข็งของตัวเอง มีความงามของตัวเอง และเธอจะไม่ยอมถูกลบหายไป
เรียบเรียงจาก I am the woman in the 'racist Dove ad'. I am not a victim, Lola Ogunyemi, 10-10-2017 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||||||||||||
กวีประชาไท: ดอกไม้เอยเคยเบ่งบานวันที่ 14 ตุลา Posted: 11 Oct 2017 10:49 PM PDT
ปี 2516 อกพล่านพลุ่ง ขบวนรุ้งพุ่งท้าฟ้าเมืองหลวง นักเรียนนิสิตนักศึกษาพากันประท้วง ให้เลิกลวงปวงชนทนทุกข์ตรม เนิ่นนานปีที่ชีวิตต้องติดกับ ทนความอับเฉาล้อมเบ้าหลอมบ่ม ใต้ระบอบชอบกลล้นปุ่มปม กระสุนคมพลันคำรามปราบปรามคน ตุลา 2516 เดือนผกผัน ความใฝ่ฝันแสนงามข้ามออกถนน จากรั้วมหาวิทยาลัยพลีเป็นวีรชน ที่ผ่านพ้นผลลัพธ์กลับเปล่าดาย ? จะอีกกี่ครั้งคราวปวดร้าวลึก ทุกยามนึก ถึงเพื่อน รุ้งเลือนหาย ความใฝ่ฝันแสนงามเกลื่อนความตาย พังสลายล่วงเสมือนเลือนลอยลม ฝันเห็นบ้านตำบลเมืองเรืองรุ่งฟ้า กติกาประชาหน้าชื่นรื่นสุขสม ดอกไม้ได้เบิกบานการชื่นชม ผู้คนรมณีย์มีสิทธิเสรี................... ทุกคนมี หนึ่งเสียงเราเท่า ๆ กัน ไม่มีชั้นแบ่งชนคนริบหรี่ หมดยุคอยุติธรรมไร้ไพร่ผู้ดี หลายสิบปีผ่านไปไม่ใช่เลย! ดอกไม้ ๆ จะบานแล้วผ่านผัน ความใฝ่ฝันนั้นยังคงบานส่งเอ๋ย บ้างก็เหี่ยวเดี๋ยวก็บานผ่านให้เชย ดอกไม้เอยเคยอยู่ในใจไม่ลืมเลือน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||||||||||||
อัตราการว่างงานกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ? Posted: 11 Oct 2017 10:33 PM PDT
แต่ถ้าจะวิเคราะห์ลึกลงไปสักนิดโดยนำตัวเลขการว่างงานของปี 2560 ไปเทียบกับไตรมาสเดียวกัน ของปี 2557 (ก่อนมี คสช.) จะพบว่า มีสิ่งที่เหมือนกันคือ อัตราการว่างงานสูงสุดเมื่อแรงงานมีอายุ 35-39 ปี ทั้งในปี 2557 และปี 2560 โดยปี 2560 มีจำนวนคนว่างงาน 463,379 คน ซึ่งสูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (จำนวน 341,117 คน) หรือเพิ่ม 122,162 คน เช่นเดียวกับอัตราการว่างงานในปี 2560 สูงกว่าปี 2557 ในไตรมาสเดียวกัน และถ้าพิจารณาให้ลึกลงไปอีกพบว่าอัตราการว่างงานในช่วงอายุ 15-39 ปีของไตรมาสแรกปี 2560 สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ในทุกกลุ่มอายุและถ้าดูอัตราการว่างงานจากทุกช่วงอายุจะพบว่าปี 2560 นั้นสูงกว่าปี 2557 เกือบทุกช่วงอายุ อัตราและจำนวนการว่างงานในปีปัจจุบันที่สูงกว่าปี 2557 เป็นผลมาจากความสามารถในการดูดซับแรงงาน(ทั้งเก่าและใหม่)ในตลาดแรงงานอันเนื่องมาจากความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้พ้นจากความตกต่ำอาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเทียบกับตัวเลขของ เอ ดี บี ประมาณการการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) ของประเทศไทยใน ปี 2560 ต่ำกว่าทุกประเทศในอาเซียน จากการพิจารณาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ 4 ตัวคือ การบริโภคภาคประชาชน (C) การลงทุนของภาคเอกชน (I) การใช้จ่ายของภาครัฐ (G) และการส่งออกสุทธิ (X-M) ซึ่งเครื่องยนต์ตัวสุดท้ายนี้ถูกมรสุมของวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์จากซีกประเทศตะวันตกเล่นงานตลอดจนปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ ทำให้เกิดปัญหาการส่งออกตกต่ำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การส่งออกสุทธินี้เคยมีสัดส่วนมากกว่า 65% ของ GDP จริงอยู่การขยายตัวของ GDP ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2559 ถึงจะเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ไม่ถึง 1% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนมาถึงประมาณ 2.3% ในปี 2558 และคาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 3.5%ในปี 2560 คงจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP น่าจะมากกว่า 3.5% จากการพยากรณ์ของหลายสำนักทางเศรษฐกิจ การเติบโตดังกล่าวส่งผลในเรื่องของขีดความสามารถในการดูดซับแรงงานได้ดีในระดับล่างซึ่งมีภูมิหลังไม่เกินระดับประถมศึกษา จากตัวเลขเดือนกรกฎาคม 2560 มีอัตราการว่างงานไม่เกิน 1% ซึ่งเรามีสถานประกอบการประเภทต้องใช้แรงงานจำนวนมาก (labor intensive) และเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดย่อมมากกว่า 95% ซึ่งใช้แรงงานระดับล่างมากเกินไป (over-employed) จนต้องนำแรงงานต่างด้าวมากกว่า 3 ล้านคนเข้ามาทำงานเสริมกับคนไทยเพื่อลดปัญหาขาดแรงงานระดับล่างเรื้อรังมามากกว่า 15 ปี ในทางกลับกัน อัตราการว่างงานของแรงงานที่มีภูมิหลังทางการศึกษามากกว่ามัธยมต้นขึ้นไปกลับตรงกันข้ามคือ อัตราการว่างงานของผู้มีภูมิหลังการศึกษากลุ่มนี้ เช่น ในเดือนกรกฎาคม 2560 สูงเกินกว่าค่าเฉลี่ย (1.2%) จนถึง 3.3% โดยเฉพาะตัวเลขของการว่างงานของภูมิหลังการศึกษาอนุปริญญาตรีสูงถึง 3.2% และ 3.3% เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ยกตัวอย่าง ข้อมูลการมีงานทำของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กรกฎาคม ปี 2560 จากจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด 4.76 แสนคน มีผู้ว่างงานตั้งแต่ ม.ต้น ถึงป.ตรี ถึง 426,000 คน หรือ 87% ของผู้ว่างงานทั้งหมด ภาพที่มองเห็นก็คือ สถานประกอบการนับตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้านั้นจนถึงรัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารยังไม่สามารถปรับโครงสร้างภาคการผลิตของประเทศไทยให้สามารถจ้างแรงงานที่มีความรู้ความสามารถมีการศึกษาดีเข้ามาทำงานได้หมด ถ้าสังเกตตัวเลขการว่างงานของผู้จบมัธยมปลายซึ่งรวมเอาผู้จบสายอาชีพเข้าไว้ด้วยพบว่า สามารถจ้างงานได้ดีแต่ยังไม่เพียงพอเนื่องจากยังมีผู้ว่างงานในระดับเดียวกันค่าเฉลี่ยคือ ร้อยละ 1.2 (ดูตารางประกอบ)
ที่มา สำนักงานสถิติแห่งชาติ สถิติผู้ว่างงานเดือนกรกฎาคม 2560. ที่หนักหนาสาหัสเห็นจะเป็นเรื่องผู้จบปริญญาตรีที่ว่างงานมากกว่า 2.5 แสนคน โดยมีสัดส่วนผู้จบสายวิชาการตกงานมากกว่าสายอาชีพมากกว่า 2 เท่า นับเป็นความสูญเปล่าทั้งผู้จบ ครอบครัว และทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลในยุคที่เรามีกำลังแรงงานใหม่เริ่มจะลดลง แต่ภาคเศรษฐกิจยังไม่สามารถที่จะพัฒนาปรับตัวมากพอที่จะดูดซับผู้มีการศึกษาและความรู้สูงได้หมด ที่จริงจะไปโทษทางฝ่ายผู้พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องหันมา (โทษ) มองฝ่ายที่ผลิตกำลังคนบ้างที่ไม่ได้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ปกครองและเด็กได้เข้าใจความต้องการ (อุปสงค์) ในตลาดแรงงานว่ามีการปรับตัวในทิศทางใด การผลิตตามศักยภาพของตัวเอง ตามใจผู้ปกครอง ตามใจนักเรียน (ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่ทราบว่าจะเรียนอะไรดี) โดยมีการสนับสนุนของภาครัฐที่สนับสนุนเงินทองทั้งอุดหนุนค่าหัวไม่พอก็มีเงินกู้ กยศ. มาเพิ่มเติมให้อีกเพื่อให้เป้าหมายของผู้ปกครองได้ชื่นใจที่เห็นลูกจบปริญญา (ถือว่า "เป็นวันชื่นคืนสุข" ของครอบครัวมาถ่ายรูปฉลองกันอย่างเต็มที่) แล้วในที่สุดก็หนีไม่พ้นกรรมคือผู้ที่จบปริญญาเป็นจำนวนถึง 2.53 แสนคนไม่มีงานทำกลายเป็นภาระของพ่อแม่ เงินออม ทรัพย์สินของพ่อแม่ที่หวังจะเอาไปใช้ยามแก่ต้องเอามาดูแลลูกที่จบปริญญาต่อไป เป็นภาระของรัฐและเยาวชนรุ่นต่อไปที่ส่วนใหญ่ของผู้ว่างงานเหล่านี้ไม่สามารถคืนเงินกู้ให้กับรัฐเพื่อหมุนเวียนให้เยาวชนรุ่นต่อไปกู้ได้ บางคนอาจจะเป็นมหากาพย์ขึ้นโรงขึ้นศาล ซึ่งเรื่องนี้ไม่รู้ว่าใครจะป็นผู้รับผิดชอบ
เกี่ยวกับผู้เขียน: รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ เป็นผู้อำนวยการฝ่าย.วิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||||||||||||
ป.ป.ช.เตรียมรื้อ 2 คดี 'ทักษิณ' ให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่า - หวยบนดิน Posted: 11 Oct 2017 10:24 PM PDT ป.ป.ช. เตรียมยื่นคำร้องให้ศาลดำเนินคดีลับหลัง คดี 'ทักษิณ' ให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่า และออกสลากหวยบนดินโดยมิชอบ รวมทั้งทุจริตจัดซื้อรถดับเพลิง ยันกฎหมายใหม่ไม่ได้มุ่งเอาผิด 2 อดีตนายกรัฐมนตรีตระกูล 'ชินวัตร' แฟ้มภาพ 12 ต.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึง การพิจารณาคดีค้างเก่าที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. ที่สามารถนำกลับมาฟ้องใหม่ได้ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 โดยยื่นคำร้องให้ศาลดำเนินคดีลับหลังจำเลยได้ ว่า คดีที่ ป.ป.ช.เป็นโจทย์ยื่นฟ้องเอง มีจำนวน 3 เรื่อง ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคดีดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาล ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล สำหรับ 3 คดีที่จะรื้อ ประกอบด้วย 2 คดีแรก เป็นคดีกล่าวหา ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้เอ็กซิมแบงก์อนุมัติปล่อยกู้รัฐบาลเมียนมา วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของเมียนมา เพื่อหวังประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียมที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์ จากบริษัท ชินแซทเทอร์ไลท์ บริษัทในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และคดีออกสลากหวยบนดินโดยมิชอบ "กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มุ่งเอาผิด เฉพาะนายทักษิณ หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามที่มีหลายฝ่ายกล่าวอ้าง เพราะทุกคนต้องปฏิบัติามกฎหมาย แต่อาจจะเป็นช่วงจังหวะที่พอดีกัน เพราะใน 3 คดีที่ ป.ป.ช.จะยื่นคำร้องต่อศาล ก็ไม่ใช่ที่เกี่ยวข้องเฉพาะบุคคลเดียว" ประธาน ป.ป.ช. กล่าว
ที่มา : สำนักนักข่าวไทย และสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||||||||||||
เมื่อพี่ตูนวิ่งรอบวงแหวนดาวเสาร์ Posted: 11 Oct 2017 10:12 PM PDT
ปัญหาคืออคติที่เราไม่รู้ตัว การมีอคติไม่ใช่ปัญหา เพราะอคติแปลว่า ข้อมูลไม่พอแล้วตัดสิน และข้อมูลที่ว่านี้อาจจะไม่มีวันพอ เช่น เราอาจจะไม่รู้ว่าเจตนาที่แท้จริงของพี่ตูนคืออะไร อาจจะหวังดีโดยแท้จริง หรือมุ่งโฆษณารองเท้าแอบแฝง รวมทั้งผลกระทบจากการกระทำของพี่ตูนว่าส่งผลไปไกลแค่ไหน อาจจะเป็นการค้ำจุนระบอบเผด็จการ หรืออาจจะช่วยเหลือผู้ป่วยผู้ด้อยโอกาสได้จริง หรือเป็นการขอรับเงินบริจาคให้โรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์ครบครันอยู่แล้ว ข้อมูลต่างๆเหล่านี้หมายรวมถึงจุดยืนของผู้วิพากษ์วิจารณ์หรือให้กำลังใจพี่ตูนเอง แต่กระนั้นการถกเถียงอย่างจริงจังและแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยตระหนักถึงอคติของตัวเอง ก็อาจจะพอทำให้คุยกันได้ และมีข้อตกลงหรือข้อสรุปชั่วคราว แทนที่จะปล่อยให้ "ดราม่า" ลับหายไปกับสายลม โดยไม่มีการสรุปบทเรียนใดๆ หากจะลองมองหา "อคติ" หรือ "จุดยืน" ที่แตกต่างกัน และส่งผลให้เกิดการตีความหรือเข้าใจกรณีพี่ตูนวิ่งเพื่อระดมทุนแตกต่างกันไป เราอาจจะสืบสาวไปถึงความเข้าใจเรื่องคุณธรรมพลมือง (civic virtue) ซึ่งเห็นได้จากการตั้งศูนย์คุณธรรมในช่วง 2548-49 ในยุคทักษิณ ที่มุ่งสร้างคุณธรรมพลเมืองที่ตอบสนองแนวคิดเสรีนิยมใหม่ แต่กลับโดนช่วงชิงไปโดยฝ่ายอนุรักษนิยมตอนรัฐประหาร ทำให้แนวคิดจิตสาธารณะกลายเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ที่มาพร้อมความพอเพียงและความซื่อตรง เพื่อจัดการกับระบอบทักษิณเอง ความขัดแย้งในการตีความ หรือการช่วงชิงความหมาย ทำให้การวิ่งของพี่ตูนถูกตีความไป 4 ทิศทางเป็นอย่างน้อย 1. การวิ่งสาธารณกุศลส่งเสริมความเหลื่อมล้ำ ตอกย้ำความล้มเหลวของนโยบายรัฐ การตีความนี้หมายความว่าต่อให้พี่ตูนวิ่งยุคทักษิณก็ถือว่าผิด ถ้าทักษิณจัดงบสาธารณสุขน้อยกว่างบที่จัดสรรซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และหมายความด้วยว่ากิจกรรมลักษณะเดียวกันนี้สะท้อนความผิดพลาดของนโยบายของรัฐ การตีความแบบนี้มีจุดบกพร่องคือไม่มองภาพความจริง มองจากหลักการล้วนๆ 2. การวิ่งสาธารณกุศลของพี่ตูน ทำผิดจุด เพราะไปวิ่งให้โรงพยาบาลที่มีความครบครันอยู่แล้ว การตีความนี้มองว่าสาธารณกุศลไม่ได้ผิดโดยตัวมันเอง แต่ควรทำให้ถูกจุด อันนี้เป็นการตีความที่มองโลกตามความเป็นจริงมากกว่า หรือ practical กว่าอย่างแรก เราจะเห็นได้ว่าสังคมไทยยังต้องพึ่งสาธารณกุศลอยู่ไม่น้อย โรงเรียนบางแห่งในชนบทมีอาคารหลังใหม่ใช้เพราะพระอาจารย์ชื่อดังบริจาคเงินให้ ซึ่งเงินเหล่านี้ก็มาจากศรัทธาญาติโยมนั่นเอง 3. การวิ่งของพี่ตูนส่งเสริมระบอบเผด็จการ อันนี้มองผ่านวาระทางการเมือง ไม่ได้พิจารณาตัวกิจกรรมเอง แต่ก็ฟังขึ้น ถ้าหากชี้ให้เห็นได้ว่าการวิ่งนี้มันส่งเสริมให้ทหารจัดงบประมาณซื้ออาวุธมากขึ้น แต่ก็ต้องพิสูจน์ กล่าวหาลอยๆไม่ได้ 4. พี่ตูนทำถูกแล้ว คนวิจารณ์เสื้อแดงเป็นพวกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ การตีความนี้สะท้อนการชิงความหมายของคุณธรรมพลเมืองในช่วงปี 49 นั่นคือการหันกลับไปหาความดีแบบอนุรักษนิยม มองโลกในแง่ดี โดยปราศจากการวิพากษ์ คิดว่า เจตนาดี (good will) เพียงพอแล้ว แนวคิดแบบนี้เองที่มีส่วนเสริมให้เกิดรัฐประหาร คือ คนดีตั้งใจดีก็พอแล้ว คนดีทำพลาดไม่มีวันผิด ถึงที่สุดแล้ว การวิ่งของพี่ตูนอาจจะเป็นงานที่ไม่มีวันสิ้นสุดในชั่วชีวิตของคนคนหนึ่ง เหมือนการวิ่งรอบวงแหวนดาวเสาร์ คำถามก็คือ เราจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งหรือ ระหว่างจิตสาธารณะในการทำสาธารณกุศลกับนโยบายที่ดีของรัฐ มันเป็นทางสองแพร่งที่ต้องเลือกหรือเป็นทางสองแพร่งลวง (false dilemma) นั่นคือ ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราเลือกทั้งสองอย่างได้ ถึงที่สุด ถ้าเราเชื่อว่าจิตสาธารณะในการทำสาธารณกุศลไม่ได้ดีหรือเลวในตัวมันเอง หากยังประโยชน์สูงสุดและทำถูกจุดก็จะส่งผลดี สิ่งที่เราพึงกระทำคือจัดการกับระบอบที่ทำให้การจัดสรรค์งบประมาณหรือนโยบายผิดพลาดอย่างเผด็จการมากกว่าที่จะโจมตีที่ตัวกิจกรรมสาธารณกุศลอย่างเดียว ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรมากนัก อันที่จริงแล้วการอยู่เฉยๆหรือทำเท่าที่ทำได้ ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ระบอบอันไม่ชอบธรรมยังอยู่ได้เช่นกัน และเราควรจะหันกลับพิจารณาประเด็นใหญ่แบบนี้ด้วยใช่หรือไม่
เกี่ยวกับผู้เขียน: คงกฤช ไตรยวงค์ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |||||||||||||||
สึกพระอภิชาติถึงคำสั่งมหาเถรฯ ปฏิรูปหรือแค่การเมือง? Posted: 11 Oct 2017 09:06 PM PDT วิเคราะห์คำสั่งมหาเถรฯ ก้าวแรกปฏิรูปพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์ หรือแค่เป้าหมายทางการเมือง ป้องปรามการวิพากษ์วิจารณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ปฏิรูปคำสอนเพื่อตอบสนองสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยยังไม่เกิด กรณีเงินทอนที่มีรายชื่อพระชั้นผู้ใหญ่ 4 รูปตกเป็นผู้ต้องสงสัย ส่งแรงสะเทือนต่อมหาเถรสมาคมและสถาบันสงฆ์โดยรวม จากนั้นไม่นานตามมาด้วยการจับพระมหาอภิชาติ ปุณณจันโท จากวัดดอกสร้อย อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มาทำการสึกที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ หลังจากเจ้าหน้าที่รัฐจับพระมหาอภิชาติสึกกลางพรรษาผ่านไปเพียง 10 วัน วันที่30 กันยายน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปัญโญ) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก มีคำสั่งที่ 1/2560 เรื่องให้พระสังฆาธิการตรวจสอบพฤติกรรมและลงโทษพระภิกษุสามเณรในปกครอง ตามมาติดหนังสือของพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธัมโม) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เรื่อง ห้ามติดแผ่นป้ายโฆษณาพระพุทธรูป พระเครื่อง วัตถุมงคล และเทวรูปในที่ต่างๆ ซึ่งพอจะสรุปเนื้อหาได้ดังนี้ 1.ห้ามมิให้ประพฤติเสียหายหรือไม่เหมาะสม เช่น การใช้โซเชียลมีเดียในทางที่ไม่เหมาะสม การแสดงพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด เป็นต้น 2.ห้ามวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เหมาะสม หรือส่อยั่วยุ ปลุกปั่น ก้าวร้าว ที่อาจกระทบความมั่นคงต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 3.ห้ามติดแผ่นป้ายโฆษณาพระพุทธรูป พระเครื่อง วัตถุมงคล เทวรูป และอวดอ้างอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ 4.ภิกษุ สามเณร ต้องประพฤติตนตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดและเผยแพร่หลักธรรมที่ถูกต้องชัดเจน ตามมาด้วยการนำร่องให้มีการทำบัญชีวัดแบบใหม่ เหล่านี้ดูเหมือนเป็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่องขององค์กรสงฆ์เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างหรือไม่? หรือนี่คือก้าวแรกๆ ของการปฏิรูปพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์? นัยทางการเมืองของการสึกพระมหาอภิชาติและคำสั่งเจ้าคณะ มุมมองของชาญณรงค์ บุญหนุน จากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สนามจันทร์ อธิบายกับประชาไทว่า ส่วนหนึ่งอาจจะมีการคุยกันในระดับบนของมหาเถรสมาคมกับทางฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการปฏิรูปพุทธศาสนา โดยที่ในวงการสงฆ์ระดับมหาเถรสมาคมก็พยายามตอบรับการปฏิรูปอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตาม ชาญณรงค์ แนวคิดเบื้องหลังคำสั่งที่ออกมาอาจต้องการหวังผลทางการเมืองมากกว่า "ผมคิดว่าปัจจัยหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันให้ออกคำสั่งนี้ คือเป้าหมายเรื่องการวิจารณ์สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มากกว่า คืออาจต้องการคุมพุทธอิสระและพระหัวเสรีทั้งหลายที่มีผลต่อมหาเถรสมาคมด้วย แล้วแนวโน้มบางส่วนพระกลุ่มนั้นอาจจะไม่ได้พูดตรงๆ แต่พระสายประชาธิปไตยก็มีอยู่ อาจโพสต์อะไรที่ไม่ชอบทหาร "ส่วนกรณีพระอภิชาติ ทหารน่าจะต้องการจัดการเพราะเวลาพระข้างนอกพูดอะไรแรงๆ มันกระทบกระเทือนถึงกลุ่มคนที่พยายามเชื่อมตนเองกับชุมชนมุสลิม ซึ่งทำให้เขาอยู่ยากขึ้น ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้เป็นผลกระเทือนให้ฝ่ายนโยบายออกมาจัดการกับอดีตพระมหาอภิชาติหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ โดยส่วนใหญ่พระเห็นด้วยกับอดีตพระมหาอภิชาติที่ออกมาพูดแบบนั้น แต่ตัวพระผู้ใหญ่เองอาจจะไม่กล้าทำอะไรตรงๆ" แม้ในกรณีอดีตพระมหาอภิชาติจะเป็นความต้องการของฝ่ายบ้านเมือง แต่กรณีนี้กับการออกคำสั่งก็มีความเชื่อมโยงกันในแง่ที่ต้องการป้องปรามการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ที่จะกระทบกระเทือน ทั้งต่อรัฐบาลและองค์กรสงฆ์ ข้าราชการสงฆ์ ชาญณรงค์ขยายความอีกว่า ในความเป็นจริงแล้วคณะสงฆ์ไทยไม่ค่อยเป็นเอกภาพและมีความอ่อนแอสูงในแง่การปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายปกครอง หมายความว่าพระมักปฏิบัติตามที่ฝ่ายรัฐต้องการเสมอ
"กรณีที่ให้พระอภิชาตสึก ข้างบนเขาไม่ได้มีคำสั่งอะไรเป็นพิเศษในแง่ว่าให้สึกหรือไม่ให้สึก คนที่จะสึกจริงๆ ก็คือเจ้าคณะในเขตนั้นๆ ที่มีอำนาจตัดสินใจได้โดยตรง ทีนี้พระที่ทำอะไรพวกนี้ เราก็จะเห็นว่าไม่ค่อยมีข้อโต้แย้งเวลาเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาขอให้สึกพระไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ยกเว้นเป็นพวกที่ใหญ่โตจริงๆ ก็อาจเล่นพลังภายในกัน เช่น ในฝั่งธรรมยุติก็จะมีการจัดการภายในอีกแบบ แต่ถ้าเป็นฝั่งมหานิกายก็ตามสบาย พอทหารขอให้สึกพระก็ไม่เคยใช้หลักของพระธรรมวินัยเข้าไปจัดการ ตัวพระที่อยู่ในสายอำนาจก็ไม่ได้ถามข้างบน แค่เชื่อฟังเจ้าหน้าที่รัฐ" อาจกล่าวได้ว่า พระสงฆ์คือส่วนหนึ่งของรัฐและระบบราชการไทย ปฏิรูป? ไม่ว่าคำสั่งที่ออกมาจะมีเป้าประสงค์แอบแฝงใดๆ อยู่บ้างก็ตาม ถึงกระนั้นก็เป็นกระแสให้พูดถึงพอสมควรในทางที่ดีว่า องค์กรสงฆ์กำลังขยับตัวเพื่อปฏิรูป หลังจากที่ปล่อยให้เรื่องฉาวโฉ่หมักหมมมาเนิ่นนาน แต่คงต้องตรวจสอบกันต่อไป อย่างกรณีห้ามขายวัตถุมงคลนั้นจะเป็นจริงได้แค่ไหน หรือคำถามที่ใหญ่กว่าคือบรรดาคำสั่งเหล่านั้นคือการปฏิรูปพุทธศาสนาและองค์กรสงฆ์จริงหรือไม่ "จริงๆ มันแค่กวาดพื้น ซึ่งจะสะอาดเรียบร้อยหรือเปล่าไม่รู้ ปฏิรูปจริงๆ คงเป็นอีกแนวหนึ่ง พูดง่ายๆ ของพวกนี้คือเปลือก ผมคิดว่าเมื่อพูดถึงการปฏิรูปคงมีหลายขั้นตอนพอสมควร แต่ส่วนหนึ่งเขาคงคิดได้ประมาณนี้ อันดับแรกคือจัดการกับสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สุด เช่น วัดวาอาราม เหมือนเริ่มจากสิ่งที่เห็นง่ายสุด "เขาอาจคิดว่าเวลามีคนวิจารณ์ออกสื่อ มันทำให้เกิดความไม่มั่นคงต่อพุทธศาสนาหรือกรณีการโพสต์ภาพต่างๆ มันก็สั่นคลอน เป็นภัยต่อความมั่นคงของพุทธศาสนา หัวใจหลักอย่างหนึ่งคือการคิดถึงสถาบันพุทธศาสนาโดยตรง แต่เขาจะมองเฉพาะส่วนที่เป็นปัจจัยภายนอกที่มากระทบ ไม่ได้มองการปฏิรูปในแบบที่ก้าวหน้า ปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ ปรับตัวให้เป็นประชาธิปไตย ปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สังคมที่ก้าวไปไกลกว่าจะผูกติดกับจารีตประเพณีเก่าๆ ผมคิดว่าการตีความคำสอนในระดับที่ก้าวหน้าขนาดนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยองค์กรสงฆ์แน่ๆ "แม้แต่กลุ่มที่ต้องการปฏิรูปที่ทำงานกับรัฐบาล ผมก็คิดว่าไม่ไปถึงจุดนั้น แค่ต้องการกลับไปหาจารีตดั้งเดิม วัดป่าสมัยโบราณ พูดง่ายๆ คือกลับไปสู่ความสะอาด สว่าง สงบ ในแบบที่ตัวเองฝัน เพราะฉะนั้นวิธีคิดเรื่องการปฏิรูปของเขา มันมีข้อจำกัดเยอะ" การปฏิรูปพุทธศาสนาและองค์กรสงฆ์ ชาญณรงค์มองว่าคือการตีความคำสอนให้ตอบสนองต่อสังคมแบบใหม่ เช่น ปฏิรูปให้คณะสงฆ์ตอบสนองต่อสังคมประชาธิปไตย แต่กรณีที่เกิดขึ้นคือการตอบสนองความต้องการของรัฐหรืออารมณ์ความรู้สึกของประชาชน ทำไม คสช. ต้องการคุมองค์กรสงฆ์ คำถามที่น่าสนใจที่ซุกอยู่อีกชั้นหนึ่งคือ ทำไมรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องเข้ามาวุ่นวายกับองค์กรสงฆ์ ชาญณรงค์วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างพระกับการเมืองว่า "ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีที่เกิดการประท้วงของกลุ่มเสื้อแดง ประเด็นการเมืองมีส่วนเยอะ เพราะชาวบ้านที่เลือกพรรคไทยรักไทยคืออีสานกับเหนือเยอะที่สุด นัยที่น่าสนใจคือคำสั่งออกจากเจ้าคณะหนตะวันออกซึ่งคลุมอีสานและภาคกลางที่เป็นสายมหานิกายส่วนใหญ่ สายนี้สนับสนุนทักษิณ ชินวัตร ถึงแม้เขาไม่คิดก้าวหน้าไปถึงระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่ก็มีความเห็นใจพรรคเพื่อไทยเพราะไปเชื่อมสัมพันธ์กับชาวบ้านอีกทีหนึ่ง พระกลุ่มมหานิกายเป็นพระกลุ่มชาวบ้านที่มาจากต่างจังหวัด จากชาวไร่ชาวนา "ผมคิดว่ากรณีนี้ส่งผลกระเทือนถึงการเมือง เพราะในช่วงที่มีการประท้วงตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา มันมีอารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง ความคิดคนในระดับนั้นเปลี่ยนพอสมควร แล้วมีผลกระทบต่อพระในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายของมหาจุฬาฯ ที่กระจายไปทุกพื้นที่ในประเทศไทย เป็นสายที่แข็ง ถ้ามองในแง่ความเป็นองค์กรที่มีเครือข่ายระหว่างพระสงฆ์ด้วยกัน สายมหาจุฬาฯ ค่อนข้างครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ โดยมีมหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นศูนย์กลาง คนที่ไปเป็นเจ้าคณะ ตั้งแต่ระดับเจ้าคณะจังหวัดลงไป ส่วนหนึ่งคือกลุ่มที่เคยศึกษาในระบบการศึกษาของมหาจุฬาฯ" และนี่เป็นเหตุผลที่ชาญณรงค์มองว่า เป็นปัจจัยที่ทำให้ คสช. ไม่อาจอยู่เฉย ต้องการเข้ามาควบคุมสถาบันสงฆ์โดยนำเรื่องการปฏิรูปเป็นข้ออ้าง ในโลกที่หลายสิ่งอย่างเปลี่ยนแปลงจากสังคมจารีตไปมากมาย การปฏิรูปพุทธศาสนาที่แท้จริงอาจมิได้หมายถึงการออกคำสั่งห้าม แต่น่าจะเป็นดังที่ชาญณรงค์กล่าว คือการตีความคำสอนให้สอดรับและตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลง ทั้งต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการประชาธิปไตย อย่างกรณีการห้ามบวชภิกษุณีก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัด ทั้งนี้ยังไม่รวมการเคลื่อนไหวของนักวิชาการบางกลุ่มที่ต้องการให้แยกรัฐออกจากศาสนา เพื่อปลดล็อกการที่สถาบันสงฆ์เป็นมือไม้ของรัฐและระบบราชการดังที่เป็นอยู่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น