โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ชาวตาคลีร้องทบทวนแผนสร้างรถไฟรางคู่ ปมจุดข้าม-กลับรถ ห่าง 6.5 กม. แบ่งแยกชุมชน

Posted: 19 Oct 2017 12:41 PM PDT

นายกเทศมนตรีเมืองตาคลี ร้อง กมธ.คมนาคม สนช.ทบทวนแผนสร้างรถไฟรางคู่ ปมจุดข้าม-กลับรถ ห่าง 6.5 กม. แบ่งแยกชุมชน หวั่นมีเหตุฉุกเฉินแล้วอาจเข้าช่วยเหลือไม่ทัน

 

ภาพจากเว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

19 ต.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.ท.จเรศักดิ์ อานุภาพ ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมด้วย รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิก สนช. รับหนังสือจาก เพลินพิศ ศรีภพ นายกเทศมนตรีเมืองตาคลี จ.นครสวรรค์ เพื่อขอให้มีการทบทวนแบบโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ เนื่องจากเห็นว่าแบบการก่อสร้างออกมาในลักษณะที่มีการก่อสร้างทางข้ามทางกลับรถให้กับประชาชนในเขตเทศบาลตาคลีมีระยะทางระหว่างหัวกับท้ายห่างกันประมาณ 6.5 กิโลเมตร จะทำให้ประชาชนในเขตเทศบาลตาคลีได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพราะทางข้ามมีลักษณะที่ปิดกั้นทางข้ามระหว่างชุมชนตลาดบนกับชุมชนตลาดล่างซึ่งถูกแบ่งโดยทางรถไฟอยู่แล้ว แต่หากมีการก่อสร้างตามแบบจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากจุดกลับรถอยู่ไกลห่างออกไปมากและต้องใช้เวลาในการเดินทางนานกว่าเดิม จากปัญหาดังกล่าวประชาชนในชุมชนตาคลีจึงขอให้มีการทบทวนเพื่อแก้ไขแบบการก่อสร้างให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่อย่างแท้จริง

นายกเทศมนตรีเมืองตาคลี ระบุด้วยว่า ชาวบ้านกังวลว่าหากมีเหตุฉุกเฉินแล้วอาจเข้าช่วยเหลือไม่ทัน นอกจากนั้นแล้วในการก่อสร้างที่จะมีการยกระดับรางรถไฟ พบแผนก่อนสร้างคือการถมดินขึ้นสูงจากพื้นท แทนการก่อสร้างแบบเสาตอท่อ ทำให้ชาวบ้านกังวลว่าจะเกิดการแบ่งแยกชุมชนออกจากกัน

พล.ท.จเรศักดิ์ กล่าวว่า ตนพร้อมรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา และเตรียมเชิญเจ้าหน้าที่ของรฟท. เข้าชี้แจงถึงแผนและการดำเนินการดังกล่าว เบื้องต้นหากจะขอให้ทบทวนเพื่อช่วยเหลือประชาชนอาจต้องพิจารณารายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นทางกมธ. เตรียมลงพื้นที่ดังกล่าวเพื่อดูสภาพพื้นที่จริงเร็วๆ นี้ด้วย

ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปอร์โตริโก: ภัยพิบัติเฮอร์ริเคน-เสียงที่สหรัฐไม่ยอมรับฟังแถมยังปิดกั้นข้อมูล

Posted: 19 Oct 2017 12:35 PM PDT

ในรอบปี 2017 นี้สหรัฐอเมริกาและแคริบเบียนประสบภัยพิบัติจากพายุเฮอร์ริเคน และเครือรัฐเปอร์โตริโกดูจะอยู่นอกสายตารัฐบาลกลางคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้คนเผชิญความยากลำบากจากภัยธรรมชาติ แต่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ก็พยายามปกปิดข้อมูล แสร้งทำเป็นว่าพวกเขาแก้ปัญหา "สำเร็จ" แม้ในความเป็นจริงชีวิตชาวเปอร์โตริโกยังคงลำบากและเสี่ยงภัย

สภาพของเมืองซานฮวน เมืองเอกของเปอร์โตริโก หลังประสบภัยพายุเฮอร์ริเคนมาเรีย ภาพถ่ายเมื่อ 23 กันยายน 2017 (ที่มา: Sgt. Jose Ahiram Diaz-Ramos/U.S. Department of Defense)

สภาพของเมืองซานฮวน เมืองเอกของเปอร์โตริโก หลังประสบภัยพายุเฮอร์ริเคนมาเรีย ภาพถ่ายเมื่อ 23 กันยายน 2017 (ที่มา: Sgt. Jose Ahiram Diaz-Ramos/U.S. Department of Defense)

20 ต.ค. 2560 เปอร์โตริโกเป็นดินแดนในปกครองหนึ่งของสหรัฐเมริกา ซึ่งประสบภัยพิบัติจากพายุตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้รับความเสียหายอย่างหนักและผู้คนอยู่ในสภาพเสี่ยงชีวิตไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนอาหาร น้ำ และเชื้อเพลิง บ้านร้อยละ 90 หลังคาเรือนไม่มีไฟฟาใช้ อีกร้อยละ 60 หลังคาเรือนไม่มีน้ำ โครงข่ายโทรคมนาคมร้อยละ 75 ไม่สามารถใช้งานได้

ถึงแม้ว่าการรายงานตัวเลขความเสียหายข้างต้นของรัฐบาลสหรัฐฯ จะเป็นไปค่อนข้างตรงกับความเป็นจริงจากการสำรวจของสื่อท้องถิ่น แต่การรายงานเกี่ยวกับความเสียหายของเปอร์โตริโกกลับเป็นไปอย่างที่ ส.ส. ท่านหนึ่งของสภาคองเกรสบอกว่าเป็นการ "ปิดบังข้อเท็จจริงที่เลวร้าย" เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ โดยที่การประเมินตัวเลขผู้เสียชีวิตโดยรัฐก็แตกต่างมากเทียบกับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากแหล่งข่าวท้องถิ่น

ตัวเลขเหล่านี้มีความสำคัญในการบรรเทาช่วยเหลือสาธารณภัยเพราะมันช่วยให้เข้าใจสถานการณ์และตัดสินใจจัดสรรทรัพยากรช่วยเหลือฟื้นฟูได้ นอกจากนี้ยังเป็นส่งที่ประชาชนหรือสื่อใช้ตรวจสอบความรับผิดชอบของรัฐบาลได้ด้วยว่าพวกเขาทำตามหน้าที่ดูแลประชาชนหรือไม่

เครือรัฐเปอร์โตริโกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ ก็จริงแต่ไม่มีสถานะเป็นมลรัฐ แถมมีผู้แทนแค่คนเดียวที่ไม่มีสิทธิลงมติได้ทุกเรื่อง และแม้ว่าเขาหรือเธอจะทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับชาวเปอร์โตริโก แต่ก็มักจะถูกละเลยเวลาพวกเขาเรียกร้องอะไรก็ตาม

ในกรณีของภัยพิบัติล่าสุดรัฐส่วนกลางของอเมริกาก็ออกประกาศว่ามีผู้เสียชีวิตรวม 34 ราย จากการแถลงข่าวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่สื่อท้องถิ่นสำรวจแล้วพบว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตเยอะกว่านั้นมาก

เฮกเตอร์ เปสเกรา ศูนย์เพื่อข่าวสืบสวนสอบสวน (CPI) ในซานฮวนกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตอย่งน้อย 200 รายในช่วงวันที่ 20-29 กันยายนที่ผ่านมา เปสเกราบอกว่าตัวเลขนี้เขานำมาจากบันทึกทางการอย่างเดียวเท่านั้นยังมีส่วนอื่นๆ ที่ยังตกสำรวจอยู่ นั่นหมายความว่าอาจจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่านั้น ทางโรงพยาบาลปาวียาในอเรซิโบเปิดเผยว่าในโรงพยาบาลของพวกเขาที่เดียวก็มีคนเสียชีวิตแล้ว 49 ราย ในช่วง 2 วันแรกที่มีพายุเฮอร์ริเคนจนทำให้โรงพยาบาลใช้ไฟฟ้าไม่ได้

 

การเซ็นเซอร์สื่อ ปกปิดความเสียหายภัยพิบัติ นำเสนอแต่ด้านดีของรัฐบาล

หน่วยงานบรรเทาทุกข์ของรัฐบาลกลาง และกองทัพสหรัฐอเมริกา นำสิ่งของช่วยเหลือมาถึงเปอร์โตริโก ภาพถ่ายเมื่อ 1 ตุลาคม 2017 (ที่มา: Staff Sgt. Elvis Umanzor/U.S. Department of Defense)

ผู้ว่าการรัฐเปอร์โตริโก ริคาร์โด โรเซลโล ยังเคยกล่าวถึงเรื่องที่โรงพยาบาล 63 แห่ง จากทั้งหมด 69 แห่งกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง แต่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ตีความไปเองว่าหมายถึงการที่โรงพยาบาลกลับมาเปิดรับคนไข้เพิ่มขึ้นถึง ขณะที่ปกปิดเรื่องที่ว่ามีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เพราะภัยพิบัติ

หน่วยงานจัดการภัยพิบัติฉุกเฉินของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ยังนำเสนอแต่ข้อมูลสถิติในแง่ดีขณะที่ปกปิดข้อมูลด้านอื่น จนกระทั่งพอสื่อหลายแห่งรายงานว่ารัฐบาลกลางเซนเซอร์ในเรื่องนี้พวกเขาจึงนำสถิติในแง่อื่นๆ กลับมาเผยแพร่อีกครั้ง

ลูอิซ กูเตียร์เรส ส.ส. อิลินอยส์ผู้ลงพื้นที่ประสบภัยเปอร์โตริโก ได้ให้สัมภาษณ์ต่อวอชิงตันโพสต์ โดยกล่าวว่ารัฐบาลกลางสหรัฐฯ พยายามปกปิดข้อมูลความเสียหายไม่ให้ประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ของสหรัฐฯ ได้รับรู้

ทรัมป์และรัฐบาลของเขายังพยายามทำให้มีแต่การนำเสนอในแง่ดีเกี่ยวกับการฟื้นฟูเฮอร์ริเคนมาเรีย มีการให้ฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐฯ เอ่ยชมรัฐบาลสหรัฐฯ เองในความพยายามบรรเทาทุกข์ แต่พอนายกเทศมนตรีคาร์เมน ยูลิน ครูซ วิจารณ์รัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องนี้พร้อมกับนำเสนอว่าผู้คนกำลังล้มตาย เธอก็ถูกทรัมป์โต้ตอบใส่อย่างรุนแรงกล่าวหาว่าเธอ "เป็นผู้นำที่แย่" และอ้างว่าเธอถูกพรรคเดโมแครตใช้ให้พูดไม่ดีกับทรัมปฺ์

ขณะที่ทรัมป์พยายามทวีตข้อความเรื่องการบรรเทาทุกข์เปอร์โตริโกโดยเน้นว่า "ประสบความสำเร็จ" อยู่ตลอด แต่ผู้สื่อข่าว อิไล เวลชิ จากเอ็มเอสเอ็นบีซีก็กล่าวตอบทรัมป์ไปว่ารัฐบาลสหรัฐฯ กำลัง "ปิดบังข้อเท็จจริงที่เลวร้าย" ไม่ให้ประชาชนได้รับรู้ ผู้ใช้ทวีตเตอร์บางคนยังพยายามโต้ตอบทรัมป์ว่าชาวเปอร์โตริโกกำลังลำบากอย่างหนักในการค้นหาน้ำดื่ม ไม่ใช่มัวแต่มานั่งเช็คทวิตเตอร์ ผู้ใช้อีกรายหนึ่งชื่อ Wendy Lawner ก็พูดถึงความยากลำบากทีแม่ของเธอซึ่งอาศัยอยู่ในเปอร์โตริโกกำลังขาดอาหารเพราะสภาพรอบตัวเสียหายอย่างหนัก "และนั่นคือข่าวจริง" Wendy Lawner ระบุในทวิตเตอร์

 

เรียบเรียงจาก

Authorities Are 'Whitewashing' the Devastation and Death Toll in Puerto Rico, Global Voices, 09-10-2017

สภาพของเมืองซานฮวน เมืองเอกของเปอร์โตริโก หลังประสบภัยพายุเฮอร์ริเคนมาเรีย ภาพถ่ายเมื่อ 23 กันยายน 2017 (ที่มา: Sgt. Jose Ahiram Diaz-Ramos/U.S. Department of Defense)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิวซีแลนด์เลือกตั้งได้นายกรัฐมนตรีหญิงจากพรรคแรงงาน 'จาซินดา อาร์เดิร์น'

Posted: 19 Oct 2017 11:44 AM PDT

จากผลการเลือกตั้งทั่วไป ทำให้ชาวนิวซีแลนด์ได้นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดเป็นคนหนุ่มสาวจากพรรคแรงงานคือ จาซินดา อาร์เดิร์น ผู้นิยามตัวเองว่ามีแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย สนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และมีความคิดก้าวหน้าเปิดเสรีทางวัฒนธรรม

จาซินดา อาร์เดิร์น ผู้นำพรรคแรงงานนิวซีแลนด์ ที่ University of Auckland เมื่อ 1 กันยายน 2017 (ที่มา: Ulysse Bellier/Wikipedia)

19 ต.ค. 2560 จาซินดา อาร์เดิร์น ผู้นำหญิงอายุ 37 ปี จากพรรคแรงงานได้เป็นนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์คนล่าสุด หลังจากที่พรรคแรงงานสามารถหาแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาได้ โดยพรรคการเมืองล่าสุดที่ประกาศจะเข้าเป็นแนวร่วมกับพรรคแรงงาน คือพรรคนิวซีแลนด์เฟิร์สต์ที่นำโดยวินสตัน ปีเตอร์ส

การตัดสินใจเป็นแนวร่วมของปีเตอร์สทำให้ฝ่ายซ้ายของนิวซีแลนด์กลายเป็นรัฐบาลหลังจากที่ 9 ปีที่ผ่านมาพวกเขาเป็นแนวร่วมฝ่ายค้านในนิวซีแลนด์มาโดยตลอด นอกจากนี้ยังทำให้นิวซีแลนด์ได้นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 จากที่ก่อนหน้านี้นิวซีแลนด์เคยมีนายกรัฐมนตรีหญิงมาแล้ว 2 คนคือเจนนี ชิบลีย์ และเฮเลน คลาร์ก

ในนิวซีแลนด์มีระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (MMP) โดยผู้ใช้สิทธิจะได้ลงคะแนนสองช่อง ช่องแรกคือการลงคะแนนให้กับพรรคการเมือง อีกช่องหนึ่งลงคะแนนให้กับตัวแทนระดับท้องถิ่นเป็นคณะผู้เลือกตั้ง หลังจากนั้นจะมีการจัดสรรที่นั่งสภากันตามสัดส่วนร้อยละที่ได้รับถ้าหากพรรคการเมืองนั้นได้รับคะแนนโหวตผ่านเกณฑ์ร้อยละ 5 ที่นั่งในสภา 71 ที่นั่ง จาก 120 ที่นั่ง จะมาจาก ส.ส. ที่ได้รับการโหวตจากคระผู้เลือกตั้ง ที่เหลือ 49 ที่นั่งจะมาจากบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค

หลังจากนั้นก็จะมีการจัดตั้งแนวร่วมพรรครัฐบาล ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้พรรคกรีนซึ่งเป็นฝ่ายซ้ายสายสิ่งแวดล้อมผู้ได้คะแนนอันดับที่ 4 และพรรคนิวซีแลนด์เฟิร์สต์ซึ่งเป็นสายกลางเอียงชาตินิยมผู้ได้คะแนนอันดับที่ 3 ตัดสินใจเป็นแนวร่วมกับพรรคแรงงานซึ่งได้คะแนนอันดับที่ 2 ทำให้โดยรวมแล้วมีที่นั่งในสภามากกว่าพรรคเนชันแนลสายขวากลางที่ได้คะแนนอันดับแรก ส่งผลให้ผู้นำพรรคแรงงานได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำรัฐบาล

ในแง่ของคะแนนเสียงเองพรรคแรงงานนิวซีแลนด์ทำได้ดีขึ้นมากจากคราวที่แล้วโดยกวาดที่นังในสภาได้มากขึ้น 14 ที่นั่ง เทียบกับพรรคเนชันแนลที่ชนะที่นั่งลดลง 3 ที่นั่ง

อาร์เดิร์นแถลงหลังทราบเรื่องที่ตนเองได้รับตำแหน่งว่าเธอจะจัดตั้งรัฐบาลสำหรับชาวนิวซีแลนด์ทุกคน เธอบอกว่าการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของครั้งที่ผ่านมา "มีความแข็งขันและจริงจัง" และกล่าวขอบคุณคู่แข่งของเธอบิลล์ อิงลิช ที่เคยเป็นนายกรัฐมนตีคนก่อนหน้านี้

ทางด้านอิงลิชแถลงว่าชัยชนะของอาร์เดิร์นเป็น "ความสามารถที่ไม่ธรรมดา" หลังจากที่ก่อนหน้านี้ 10-12 สัปดาหฺ์ที่แล้วอาร์เดิร์นยังคงดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการผู้นำพรรคของ "พรรคฝ่ายค้านที่กำลังจืดจางลง" อิงลิชบอกอีกว่าถึงแม้เขาจะผิดหวังแต่ก็มองว่าเขาได้ทำให้นิวซีแลนด์อยู่ในสภาพที่ดีอยู่แล้วและนิวซีแลนด์ก็มีโอกาสมากมายรออยู่ข้างหน้า

อาร์เดิร์นขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแรงงานเมื่อ 1 ส.ค. ปีนี้เอง ก่อนหน้าการประกาศของปีเตอร์ส พรรคกรีนได้ประกาศตัวเป็นแนวร่วมกับพรรคแรงงานทำให้พวกเขามีที่นั่งในสภาเกินครึ่งหนึ่ง (61 ที่นั่ง) และมากกว่าพรรคเนชันแนล (56 ที่นั่ง) ทำให้การตัดสินใจของพรรคนิวซีแลนด์เฟิร์สต์ (12 ที่นั่ง) เป็นตัวชี้ขาด โดยที่ต่อมาปีเตอร์สถึงประกาศว่าเขาจะเป็นแนวร่วมโดยบอกว่าเขาต้องเลือกระหว่าง "สภาพแบบเดิมๆ ที่ปรุงแต่ง" กับ "การทำเพื่อความเปลี่ยนแปลง" ทำให้เขาเลือกเป็นแนว่วมกับพรรคแรงงาน การตัดสินใจในครั้งนี้ทำให้อิงลิชและพรรคของเขารู้สึกแปลกใจ

อาร์เดิร์นกล่าวอีกว่าการได้รับตำแหน่งในครั้งนี้ถือเป็น "เกียรติยศและสิทธิพิเศษ" สำหรับเธอ และเธอจะนำรัฐบาลดูแลประชาชนที่ขาดโอกาสในประเทศรวมถึงดูแลสิ่งแวดล้อมของประเทศด้วย สื่อ CTV นิวส์ระบุว่าชัยชนะของอาร์เดิร์นทำให้มีการคาดหวังว่าเธอจะนำนิวซีแลนด์ไปสู่หนทางที่เสรีนิยมมากขึ้น

อาร์เดิร์นเคยเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อเมื่อช่วงเลือกตั้ง 2551 ต่อมาในเดือน มี.ค. 2560 เธอก็ได้เป็น ส.ส. ตัวแทนของเขตเลือกตั้งเมาธ์อัลเบิร์ต เธอเคยทำงานเป็นนักวิจัยในสำนักงานของนายกรัฐมนตรีเฮเลน คลาร์ก และเคยเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านนโยบายของสหราชอาณาจักรในสมัยนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ เธอยังเคยได้รับการโหวตเป็นประธานสหพันธ์เยาวชนสังคมนิยมนานาชาติเมื่อปี 2551 ด้วย

อาร์เดิร์นนิยามอุดมการณ์ของตัวเองว่าเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยและเป็นสายก้าวหน้าโดยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของแรงงานและสนับสนุนสวัสดิการประชาชน รวมถึงส่งเสริมความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมอย่างการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันและส่งเสริมการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย เธอเคยโหวตสนับสนุนร่างกฎหมายการแต่งงานคนรักเพศเดียวกันในสภาเมื่อปี 2556

 

เรียบเรียงจาก

New Zealand election result 2017: Jacinda Ardern new Prime Minister, News.com.au, 19-10-2017

Ardern to lead New Zealand liberal government, CTV News, 19-10-2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/New_Zealand_general_election,_2017

https://en.wikipedia.org/wiki/Jacinda_Ardern

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.ทบ.ถามผิดตรงไหน ปมใช้งบฯ กว่า 15 ล้าน สร้างห้องน้ำในอุทยานราชภักดิ์

Posted: 19 Oct 2017 10:25 AM PDT

พล.อ.เฉลิมชัย ถามผิดตรงไหนเรื่อง ใช้งบฯ กว่า 15 ล้าน สร้างห้องน้ำกับร้านค้า ในอุทยานราชภักดิ์ โฆษก ทบ.ระบุเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนและนักท่องเที่ยว 

19 ต.ค. 2560 จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณกว่า 15 ล้านบาท ในการก่อสร้างห้องน้ำภายในอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งกองทัพบก โดยศูนย์การทหารราบเป็นผู้ดูแลนั้น

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ระบุสั้นๆ ภายหลัง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ให้กองทัพบกชี้แจงความโปร่งใสในการสร้างร้านค้าและห้องน้ำ ที่อุทยานราชภักดิ์ ว่า ถามว่าผิดตรงไหน เรื่องการสร้างห้องน้ำกับร้านค้า ซึ่งตนจะให้ชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดในการดำเนินการ

ขณะที่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ชี้แจง ว่า ปัจจุบันอุทยานราชภักดิ์ ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งสำคัญของ อ.หัวหิน มีพี่น้องประชาชนมาเยี่ยมชม และสักการะพระราชานุสาวรีย์บูรพมหากษัตริย์ เป็นจำนวนมาก บางวันมีมากถึงหมื่นคน ที่ผ่านมายังไม่มีระบบร้านค้าและห้องน้ำ ไว้บริการผู้มาเยี่ยมชมภายในบริเวณพื้นที่อุทยานฯ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา มูลนิธิอุทยานราชภักดิ์ จึงให้มีดำเนินการก่อสร้างอาคารร้านค้า เเละห้องน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนและนักท่องเที่ยว 

"รูปแบบการก่อสร้างมีลักษณะรูปลักษณ์ที่เหมาะสม สอดรับตามภูมิสถาปัตยกรรม ภายในอาคารจะประกอบด้วย ร้านค้า 5 ห้อง และห้องน้ำ จำนวน 52 ห้อง แบ่งเป็นห้องน้ำชาย 21 ห้อง ห้องน้ำหญิง 27 ห้อง และห้องน้ำคนพิการ 4 ห้อง ด้วยงบประมาณของมูลนิธิฯ ประมาณ 15 ล้านบาท ความคืบหน้าปัจจุบัน ก่อสร้างไปแล้วประมาณ 80%  คาดว่า จะแล้วเสร็จสามารถให้บริการได้ราวเดือนกุมภาพันธ์ 2561" พ.อ.วินธัย กล่าว 

รายงานข่าวระบุด้วยว่า เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2559 กองทัพบก โดยศูนย์การทหารราบค่ายธนะรัชต์ ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารร้านค้าและห้องน้ำจำนวน 5 รายการ วงเงินงบประมาณ 15,950,000 บาท จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการใช้งบประมาณแพงเกินไป

ที่มา : สำนักข่าวไทย และคมชัดลึกออนไลน์

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.แจ้งทีวีทุกช่องออกอากาศด้วย 'สีปกติ' หลังข่าวในพระราชสำนัก 19 ต.ค. เป็นต้นไป

Posted: 19 Oct 2017 10:07 AM PDT

กสทช.ออกประกาศให้ทุกสถานีออกอากาศด้วยสีปกติ ตั้งแต่ข่าวในพระราชสำนัก 19 ต.ค. 60 เป็นต้นไป ส่วนข้อปฏิบัติอื่นๆ คือ วางโลโก้มุมล่างขวา งดบันเทิงรื่นเริง เสนอรายการเฉลิมพระเกียรติ/สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9 ให้คงเดิม

19 ต.ค. 2560 มติชนออนไลน์, ข่าวสดออนไลน์ และวอยซ์ทีวี รายงานตรงกันว่า วันนี้ (19 ต.ค.60) รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยว่า ในช่วงเย็นของวันที่ 19 ต.ค.2560 ทางสำนักงาน กสทช. ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดแจ้งไปยังสถานีโทรทัศน์ทุกช่องว่า เพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างของโทนสีหน้าจอ จึงเห็นควรให้ปรับโทนสีหน้าจอและโลโก้สถานีให้เป็นโทนสีปกติ ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.2560 เป็นต้นไป (หลังข่าวในพระราชสำนัก)

ส่วนข้อปฏิบัติอื่นๆ คือ วางโลโก้มุมล่างขวา งดรายการบันเทิงรื่นเริง เสนอรายการเฉลิมพระเกียรติ/สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง ร.9 ให้คงเดิม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กาตาลุญญาถึงไทย: เข้าใจการเมืองเรื่องแคว้น บทเรียนของไทยจากสังคมที่โตแล้ว

Posted: 19 Oct 2017 05:25 AM PDT

เล่าการเมืองการปกครองของประเทศที่มีกษัตริย์แต่ไม่ใช่รัฐเดี่ยว บทเรียนที่ไทยควรถอดจากการประท้วงอย่างมีวุฒิภาวะและไม่ติดอาวุธ ดราม่าประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์เบนโฟกัสความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคม มุมมองพลเมืองต่อสถาบันพระมหากษัตริย์สเปน นัยของเทรนด์เอกราชผ่านประชามติในยุคโซเชียลมีเดีย

ขอบคุณภาพต้นฉบับจาก iLaw

ผ่านมาจะสามสัปดาห์แล้วหลังแคว้นกาตาลุญญาจัดทำประชามติว่าจะแยกตัวออกจากราชอาณาจักรสเปนหรือไม่ และหนึ่งสัปดาห์หลังประธานาธิบดีแคว้น การ์เลส ปุกเดมอนด์และเหล่าผู้นำแคว้นลงนามในคำประกาศเอกราช แต่ยังยั้งมือประกาศเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีกเพื่อเปิดให้รัฐบาลกลางสเปนทำการเจรจา ในขณะที่รัฐบาลสเปนก็ถืออำนาจการรวบอำนาจการปกครองของแคว้นให้มาอยู่กับรัฐบาลกลางในกรณีที่รัฐบาลท้องถิ่นไม่สามารถทำหน้าที่ที่ต้องทำได้ตามอำนาจในมาตราที่ 155 แห่งรัฐธรรมนูญสเปน

ผู้นำกาตาลุญญาลงนามประกาศเอกราชแต่ยังไม่บังคับใช้ หวังเปิดโต๊ะเจรจา รบ. กลาง

ผลโหวตร้อยละ 90 หนุนกาตาลุญญาแยกตัว หลายฝ่ายกังวลปะทะเดือดวันลงคะแนน

5 เรื่องน่ารู้ เงื่อนไข ทางตันและทางออกก่อนกาตาลุญญาประกาศเอกราช

ท่ามกลางสถานการณ์ที่แหลมคมนี้ยังถูกทำให้ระอุขึ้นอีกเมื่อทางการสเปนจับตัวฆอร์ดี กุยซาร์ท และฆอร์ดี ซานเชซ สองแกนนำเคลื่อนไหวประกาศเอกราชในข้อหายุยงปลุกปั่น ทำให้พลเมืองออกมาชุมนุมอย่างสันติบนท้องถนนหน้าอาคารรัฐบาลในเมืองบาร์เซโลนาเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำทั้งสอง และล่าสุดยังมีข่าวว่ารัฐบาลสเปนเตรียมตัวที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 155 ในวันเสาร์ที่จะถึง หลังปุกเดมอนด์ยังไม่ยืนยันว่าจะหยุดประกาศเอกราชในวันนี้ซึ่งเป็นเส้นตายที่รัฐบาลมาดริดขีดเอาไว้ การยื้อยุดฉุดกระชากกันระหว่างรัฐบาลกลางกับแคว้นกาตาลุญญายังคงมองหาตอนจบไม่เจอจนจะเรียกได้ว่าเป็นหนังชีวิตที่ต้องดูกันยาวๆ

ประชาไทคุยกับ ผศ.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะผู้ที่กำลังศึกษาปริญญาเอกสาขากฎหมายและการเมือง ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบาร์เซโลนาเพื่อทำความเข้าใจภาพรวมการเมืองการปกครองสเปน การเมืองเรื่องแคว้น ทัศนคติของชาวสเปนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งที่ควรให้ความสนใจ และที่สำคัญคือบทเรียนที่คนไทยควรถอดออกมาจากการเผชิญหน้า มากไปกว่าการเสพดราม่าเรื่องประวัติศาสตร์บาดแผล ชาติพันธุ์ และทีมมนุษย์ต่างดาวอย่างบาร์เซโลนาจะไปรุกรานลีกไหน

ประชาไท: กาตาลุญญาเป็นบทเรียนอะไรให้กับเมืองไทยได้บ้าง

ทศพล: ถ้าเป็นกาตาลุญญาเมื่อ 4 ปีที่แล้วจะเป็นประโยชน์มากๆ คือมันมีลักษณะของความมีวุฒิภาวะของคนในสังคมว่า เรื่องที่แหลมคมมากๆ ขนาดถึงขั้นแบ่งแยกดินแดน แต่สิ่งที่เกิดคือเขาสามารถพูดได้ในที่สาธารณะ เอามากองกันได้เลยว่า ถ้าแยกแล้วจะยังไง ถ้ายังอยู่ร่วมกันดียังไง มีกี่ทางเลือกในการเดินไปในอนาคต ไม่ใช่ว่าพอแค่ตั้งต้นจะพูด ทุกคนก็บอกว่าอย่าพูด คืออย่าพูดมันไม่ดี เพราะเราตั้งต้นด้วยการไม่ยอมรับอนาคตแล้ว เราจะรอให้วันหนึ่งมันวิกฤติแล้วค่อยมาคิดซึ่งมันไม่ทัน กระบวนการทางการเมืองที่ต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงมันต้องวางแผน คุณจะสร้างองค์กรอะไร เรื่องการเงินจะทำยังไง แบ่งอำนาจจะทำยังไง ถ้าไม่มีการพูดในที่สาธารณะมันเตรียมไม่ทัน การที่เขาเปิดพื้นที่ให้พูดยอ่างเสรีมันดีมาก แต่ถามว่าผ่านไป 4 ปี มันเริ่มเป็นเกมการเมือง ซึ่งการเมืองเขาก็อาจจะเก๋ากว่าเราด้วยซ้ำ ตอนนี้มันเป็นประเด็นแหลมคมแต่พูดกันตรงๆ ไม่ได้เสียแล้ว มีความพยายามทั้งของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในการเล่นเกมสองแบบ รัฐบาลกลางก็พยายามสืบให้รู้ให้หมด ไม่ว่าจะเป็นการดักฟังเอย การบุกเข้าสำนักงานหรือสภาเอย จะไปปิดอินเทอร์เน็ต ที่กาตาลุญญาเขาจะมีการจดทะเบียนเน็ตเป็น .cat ก็ถูกปิดไป มันเริ่มเป็นเกมของการคุกคามกันจากรัฐบาลกลาง ซึ่งเป็นบทเรียนได้ว่าไม่ควรทำอย่างนี้ เพราะมันจะเกิดการโต้กลับจากรัฐบาลท้องถิ่นหรือประชาชนท้องถิ่นด้วยการเล่นเกมการตกเป็นเหยื่อ ซึ่งมีความชอบธรรมในระดับหนึ่งเพราะอ้างได้ว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ความเป็นส่วนตัว การจับกุมโดยไม่มีหมายหรือสกัดเสรีภาพในการแสดงออก ทำให้มีองค์การระหว่างประเทศสามารถมีจุดยืนในเรื่องนี้ได้ แม้แต่ผู้ตรวจการสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกก็มีถ้อยแถลงว่า สิ่งที่รัฐบาลกลางสเปนทำอยู่มันละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการจับกุม ควบคุมมวลชน การจลาจลก็มีการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ การละเมิดสิทธิมนุษยชนมันทำให้ประเด็นภายในกลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ

อีกบทเรียนหนึ่งคือการไม่ติดอาวุธ ไม่ว่าการชุมนุมของคนนิยมสเปน หรือการชุมนุมคนนิยมกาตาลันไม่มีคนติดอาวุธ ไม่มีความพยายามสร้างสถานการณ์รุนแรง ความรุนแรงที่มีชัดเจนก็มีแค่จากตำรวจปราบฝูงชนจากรัฐบาลสเปนที่ใช้กระสุนยาง ทำให้คนบาดเจ็บหลายร้อยคนมันชัดเจนว่าประชาชนไม่ได้เพิ่มความรุนแรงเข้าไปให้มีการสูญเสียเลือดเนื้อ แกนนำหรือผู้ผลักดันการชุมนุมไม่ได้ทำให้สถานการณ์มันล่อแหลมหรือเกิดการสูญเสียเพื่อเอาชนะทางการเมือง

โครงสร้างการปกครองพื้นฐานสเปนเป็นอย่างไร

ก่อนอื่นรัฐธรรมนูญสเปนที่ใช้ปัจจุบันรากฐานมาจากการล่มสลายของระบอบเผด็จการฟรังโกในปี 1975 สาระสำคัญและยากที่สุดคือประเด็นนี้ เขาใช้เวลาปี 1977-1978 เพื่อคุยกันในเรื่องการออกแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือการปกครองตนเองอย่างไร มีตัวแทนแคว้นต่างๆ มาเจรจากันนานมาก แต่ผลสุดท้ายกลายเป็นการให้พื้นที่การตีความและรณรงค์ทางการเมืองมาก่อนตัวกฎหมายที่เป็นรัฐธรรมนูญจริงๆ คือไม่ได้เขียนชัดว่าจะต้องออกแบบอย่างนี้ๆ ถ้าเราเป็นคนไทยจะจินตนาการกลับกันเลย ของเราจะรวมกันอยู่ที่ศูนย์กลาง ออกมาจากกรุงเทพฯ แล้วค่อยร่างกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แล้วค่อยสร้างอะไรที่เป็นท้องถิ่น แต่ของเขาจะกลับกัน รัฐธรรมนูญบอกว่าแคว้นต่างๆ หรือเขตปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น ให้ไปสร้างธรรมนูญสำหรับท้องถิ่นที่จะบอกว่าคุณจะมีอำนาจปกครองตนเองอย่างไรบ้างเท่าที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ คือไม่ได้ออกแบบให้แต่ให้คุณไปออกแบบเองเท่าที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ความยากมันอยู่ตรงนี้ และเป็นสาเหตุว่าทำไมเขาทำประชามติกันบ่อยๆ ในระดับท้องถิ่นเพราะมันมีความเชื่อมโยงอยู่สองระดับ ในรัฐธรรมนูญบอกว่า เรื่องสำคัญๆ แคว้นสามารถทำประชามติเพื่อบอกว่าเราต้องการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงโครงสร้างการปกครองท้องถิ่น ถ้าคะแนนท่วมท้นหรือมีเห็นชัดเจนว่ามีความต้องการอย่างนั้น ก็ไปสู่ขั้นต่อไปคือการร่างธรรมนูญท้องถิ่น เมื่อร่างเนื้อหาได้แล้วก็ทำประชามติรับรอง แต่ยังไม่จบแค่นี้ ตัวธรรมนูญท้องถิ่นที่อาจจะเป็นระบบการปกครองท้องถิ่น ระบบการออกกฎหมาย การจัดเก็บรายได้ ออกแบบบริการสาธารณะ มันต้องถูกตรวจสอบโดยรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลแห่งชาติอีกรอบว่าจะขัดรัฐธรรมนูญกลางหรือเปล่า เลยเกิดปัญหาที่กาตาลุญญ่ามีอยู่ตอนนี้เพราะคนก็ไปยื่นว่าการทำประชามติขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็ตีความว่าขัด ระบบตรวจสอบก็จะเป็นศาลรัฐธรรมนูญและเข้ารัฐสภากลางของสเปนเพื่อบังคับใช้หรือลงนามรับรอง แต่คนที่ตั้งต้นคือเป็นท้องถิ่น

แต่ละแคว้นต่างกันไปเพราะกฎหมายไม่เหมือนกันใช่ไหม

ใช่ เลยเป็นประเด็นที่ถกเถียงทางกฎหมายการปกครอง กฎหมายมหาชนและการเมืองสเปนมากว่าเราควรจะปรับปรุงรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแคว้นให้มาสมมาตรทุกแคว้นไหม ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็ออกกฎหมายกันมาเอง เลยเป็นปัญหาว่ากาตาลุญญ่าจะแยกดินแดน มีรัฐธรรมนูญที่มีรายละเอียดเยอะ เพิ่มอำนาจท้องถิ่น ลดอำนาจแทรกแซงจากรัฐบาลกลางเป็นประเด็นที่แหลมคมและรัฐบาลกลางก็กังวลมาก เพราะว่าถ้าสุดท้ายกาตาลุญญาไม่ถึงกับแยกดินแดน สมมติว่าต่อรองจนเป็นธรรมนูญปกครองตนเองที่ให้อำนาจท้องถิ่นเยอะและจำกัดอำนาจส่วนกลางก็จะเป็นต้นแบบให้แคว้นอื่นเลียนแบบหรือเปล่า ที่เขากังวลก็เช่นแคว้นบาสก์หรือกาลิเซีย กลัวว่าแคว้นดังกล่าวจะเอาตามหรือเปล่า

เท่าที่ฟังมาเหมือนเป็นสหพันธรัฐมากกว่ารัฐเดี่ยว

ก็เขาเป็นสหพันธรัฐ ผมก็ตกใจกับความเข้าใจผิดในงานบทความของหลายคนที่บอกว่าสเปนเป็นรัฐเดี่ยว ห้ามแบ่งแยก คือสเปนเป็นราชอาณาจักรก็จริงแต่ว่าตอนปี 1978 สเปนถูกออกแบบมาในลักษณะกึ่งสหพันธรัฐ อย่าไปดูฝรั่งเศส อังกฤษ มันจะไปคล้ายสหรัฐฯ มากกว่า

เป็นความเข้าใจที่อาจจะผิดพลาดกันแต่มันก็เข้าใจได้ เพราะเวลาเราเรียนรัฐศาสตร์ วิชากฎหมาย การปกครองเบื้องต้นเราจะคิดกันว่าถ้าเมื่อไหร่เป็นระบบราชอาณาจักร มีกษัตริย์มันจะเป็นรัฐเดี่ยว แต่จริงๆ ระบอบกษัตริย์สเปนก็หายไปในช่วงเผด็จการทหารฟรังโก

Embed from Getty Images

ซ้ายไปขวา: นายพลฟรานซิสโก ฟรังโก เจ้าชายฆวน คาร์ลอส แรกเริ่มเดิมทีฟรังโกหมายมั่นปั้นมือให้ฆวน คาร์ลอสสืบทอดอำนาจต่อจากตน (ที่มา: Gettyimage/Hulton Royal Collection)

แคว้นกาตาลุญญามีอิสรภาพอะไรบ้าง

ทำได้สองอย่าง หนึ่งอำนาจในทางนิติบัญญัติ สอง อำนาจบริหารปกครอง ที่ทำไม่ได้คืออำนาจในการตัดสินคดีความทางกฎหมาย ก็ไล่ลำดับไป ส่วนเรื่องที่เป็นปัญหาที่กาตาลุญญ่าต้องการคือการจัดเก็บภาษีที่ถูกกฎหมายที่ออกมาเมื่อปี 2011 ช่วงที่มีวิกฤติการเงิน ทำให้มีกฎหมายเรื่องภาษีและการเงินของสเปนออกมาเพื่อจำกัดหรือลดอำนาจของรัฐบาลท้องถิ่น ทำให้รัฐบาลกลางมีอำนาจในการจัดเก็บภาษี ควบคุมวินัยทางการเงิน การใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งมันไปลดอำนาจของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งผมมองว่าจริงๆ แล้วมันคือแก่นที่ทำให้กาตาลุญญ่ารู้สึกอึดอัดและไม่อยากอยู่กับสเปน การชูธงเรื่องชาตินิยม ประวัติศาสตร์การตกเป็นเหยื่อของสเปนผมว่ามันเป็นสีสันเพื่อรวมคนมาสู่ท้องถนน แต่ชนชั้นนำ นายทุนที่เขามียุทธศาสตร์ในการแบ่งแยกดินแดนหรือลดนาจรัฐบาลกลาง เพิ่มอำนาจรัฐบาลท้องถิ่นเขามองเรื่องอิสรภาพในทางการเงินและการคลัง

แล้วก่อนหน้านี้กาตาลุญญามีอิสรภาพมากเท่าไหร่

มีมากกว่านี้แต่ไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมมองว่าเป็นแทคติคที่เล่นกันอยู่แล้วในเรื่องรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น คนสเปนในแคว้นกาตาลุญญาก็บอกว่าเขาก็เล่นอย่างนี้้ตลอดเพราะอยากได้ภาษีเพิ่ม เขาก็ออกมาตำหนิแคว้นหนึ่งที่เป็นกรณีปัญหาว่าทำไมกาตาลุญญาอยากได้อิสรภาพทางการเงิน คือแคว้นบาสก์ เขาได้บทบัญญัติเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญให้มีอิสรภาพการจัดเก็บภาษีและงบประมาณสูงมาก เพราะเป็นแคว้นลักษณะฝ่ายซ้าย คือมีสังคมนิยมสวัสดิการ คนที่อยู่ที่นั่นจะรู้เลยว่าถ้าตกงานได้นู่นนี่นั่น สาเหตุเพราะว่าเขามีระบบจัดเก็บภาษีของเขาเอง ก็มีแคว้นบาสก์และนาวาร์ราที่อยู่ติดกันใช้ระบบนี้ สาเหตุเป็นเพราะที่มาทางประวัติศาสตร์การเมืองของเขา แต่กาตาลุญญาไม่ได้

อะไรที่ทำให้แต่ละแคว้นมีอิสรภาพไม่เท่ากัน

เป็นความน่าสนใจของประวัติศาสตร์การเมืองและรัฐธรรมนูญสเปนว่า ในรัฐธรรมนูญสเปนจะมีบทบัญญัติเพิ่มเติมบทหนึ่งโดยอ้างประวัติศาสตร์การเมืองจำนวนมากที่ระบุว่า ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ทำให้สองแคว้นดังกล่าวได้สิทธิ์นี้ไป เรื่องประวัติศาสตร์การเมืองที่เกี่ยวข้องต้องย้อนไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เลย เรื่องจำพวกการปฏิวัติฝ่ายซ้าย จะเห็นว่าบาสก์และกาตาลุญญาเป็นสองแคว้นที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมสำเร็จ มีชนชั้นกลางมีชนชั้นแรงงาน มีนายทุน มีโรงงาน สถานประกอบการ มีปัจจัยครบ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือสหภาพเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองให้มีรัฐสวัสดิการ เป็นสังคมนิยม แต่กาตาลุญญาไม่ได้ทำไปในทิศทางที่บาสก์ทำก็เลยแตกต่างกันตรงนี้

อยากให้อธิบายเรื่องก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจในปี 1960-1970 ของกาตาลุญญาที่อาจารย์เคยบอกว่าเกี่ยวกับการแยกตัวกับอัตลักษณ์ความเป็นกาตาลัน

เป็นผลสืบเนื่องหลังจากที่นายพลฟรังโกชนะ 1936-1939 ฟรังโกเป็นฝ่ายฟาสซิสต์ ได้รับการสนับสนุนจากนาซีหรือฮิตเลอร์ การทำสงครามก็อยู่ฝ่ายฮิตเลอร์ ตอนนั้นที่กาตาลุญญาโดนบอมบ์เขาก็บอกว่าระเบิดที่เอามาบอมบ์คือระเบิดจากนาซี ใช้กาตาลุญญาเป็นที่ทดลองอาวุธก่อนที่จะเข้าสงครามโลกครั้งที่สอง ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไม่มีกับประเทศอื่น หรือกลุ่มการเมืองอื่นที่เป็นฝ่ายซ้ายและฝ่ายประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่พอฟาสซิสต์แพ้มันก็เหมือนคุณอยู่ตัวคนเดียวในยุโรป เขาปิดล้อมตัวเอง คือเหมือนปิดประเทศ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับคนอื่นก็น้อย โดยเฉพาะกาตาลุญญาที่มีศักยภาพในการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศก็ถูกปิดล้อม โดนควบคุมอย่างหนัก มันทำให้เกิดภาวะอดอยาก ข้าวยากหมากแพง

ถามว่าทำไมมันก้าวกระโดด มันก็เหมือนกับตอนจีนปิดประเทศหลังมีการปฏิวัติ พอมาถึงจุดหนึ่งเขาก็ตระหนักว่าไม่สามารถปฏิเสธระบบตลาดโลกหรือการเชื่อมโยงกับสหภาพยุโรปได้ เขาก็ค่อยๆ เปิด ช่วง 1950 มาก็เปิด แล้วมาสุกงอมในปี 1970-1980 อย่างที่บอกว่ากาตาลุญญามีความพร้อมและความต้องการอยู่แล้วในการเชื่อมตลาดภายในเข้าสู่ตลาดระหว่างประเทศกับภูมิภาคยุโรปและเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้พื้นที่นี้บูมกว่าที่อื่นในสเปนที่อาจจะพึ่งพิงการเกษตร เลี้ยงสัตว์ งานฝีมือ แต่ก็ไม่ใช่พร้อมที่จะทำอุตสาหกรรมหรือการพาณิชย์ ทำให้บาร์เซโลนาและกาตาลุญญาโตไวมาก พอโตไวมากมันก็ดูดแรงงานหรือคนที่อยากเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองมาเยอะมาก เรียกว่าเกิด Great Immigration มีคนเข้ามามากมาย

แล้วถ้าคุณอยู่ในกาตาลุญญาหรือมีเพื่อนที่นั่น มันก็เหมือนกรุงเทพฯ คือมันเกิดความเป็นเมือง ถ้าไปถามว่าใครเป็นคนกรุงเทพฯ ก็คงจะตอบยาก ที่นั่นก็เหมือนกัน ไปถามว่าใครเป็นคนบาร์เซโลน่า เกิดและโตมาเกินสองรุ่นก็เป็นปัญหาแล้ว อาจจะเป็นพ่อแม่หรือตายายที่ย้ายมาจากที่อื่น เราเลยไม่สามารถบอกได้ว่าคนเหล่านี้มีความเป็นกาตาลันเพราะเขาไมไ่ด้เกิดและเติบโตที่นี่ หรือไม่ได้มีสำนึกว่ามีความเป็นกาตาลันในสายเลือด

เทรนด์แยกประเทศแบบนี้ต่างจากสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่จับปืนเรียกร้องเอกราช คิดว่ามีนัยสำคัญอะไรไหม

ถ้าสายที่ผมทำมาคือสายเทคโนโลยีสื่อสาร เขาบอกชัดเจนตั้งแต่เหตุการณ์อาหรับสปริง ที่ความขัดแย้งมันลงสู่มวลชนหรือประชาชนระดับปัจเจกเป็นเพราะว่า ความขัดแย้งทางการเมืองไม่ใช่เรื่องของชนชั้นนำ แกนนำ การเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองอีกต่อไปแล้ว แต่มันเป็นปัจเจกที่เข้าไปเชื่อมโยงกับระบบสื่อสารทางการเมืองผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค ในงานเขาเองในประเทศเขาบอกว่าโซเชียลเน็ตเวิร์คนี่แหละที่ทำให้คนลงสู่ท้องถนน คนก็เข้ามามีความฝัน โครงการที่จะเปลี่ยนประเทศหรือแยกดินแดนผ่านการสื่อสารทางการเมืองบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค แล้วก็ออกมาในรูปของประชามติ นี่คือสิ่งที่ชนชั้นนำทางการเมืองต้องการมาตลอด คือต้องการมวลชนที่มีความปรารถนาอย่างรุนแรง อินกับการเมืองมากๆ ซึ่งโซเชียลเน็ตเวิร์คก็เป็นเครื่องมืออยู่แล้ว แล้วก็มีนัยการเล่นอีกอย่างคือใช้ความเป็นกาตาลัน ใช้ภาษากาตาลันเป็นสื่อกลาง แต่คนที่รู้ภาษากาตาลัน พูดและอ่านได้ไม่ใช่แค่คนกาตาลันเท่านั้น มันคือคนที่มาจากที่อื่นแล้วมาอยู่ที่แคว้นนี้

ทศพลที่เคยไปเรียนปริญญาเอกที่บาร์เซโลนากล่าวถึงลักษณะของภาษากาตาลันว่า ภาษากาตาลันค่อนข้างจะเหมือนภาษาละตินโบราณบวกภาษาโปรตุกีส ในขณะที่สเปนจะคล้ายภาษาอิตาลีบวกกับภาษาอาหรับ

มีเสียงวิจารณ์จำพวกที่ว่า "ให้เสรีภาพมากไปจนจะแยกแผ่นดินอยู่แล้ว" บ้างไหม

วิธีพูดแบบอนุรักษ์นิยมที่บอกว่าให้เสรีภาพมากไปจนเกิดการทะเลาะน่าจะเป็นวาทกรรมแบบประเทศไทยมากกว่า ยุโรปเขาเลยไปกว่านั้นมากแล้ว เขามีแต่ว่า คุณแสดงความเห็นรุนแรงอย่างนี้ แพสชั่นมากอย่างนี้ แล้วคุณไม่ยอมให้คนอื่นพูดในที่สาธารณะมันไปตัดสิทธิ์คนอื่นหรือเปล่า พาราดาม ของยุโรปกับประเทศที่พัฒนามันต่างกัน ของเราอนุรักษ์นิยมมีอิทธิพลในการพูด แต่ของเขาเสรีนิยมมีอำนาจในการพูด พูดเยอะจนคนส่วนน้อยรู้สึกว่าไม่ได้พูด กลายเป็นพูดอยู่ด้านเดียวด้วยอารมณ์รุนแรง คุกคามความเป็นส่วนตัวหรือจุดยืนของเรามากจนคิดว่าเป็นฟาสซิสต์หรือเปล่าวะ มาปิดปากเรา เขาจะพูดอย่างนี้มากกว่า

ก่อนจะมาจุดนี้สื่อสารกันมาอย่างไร น่าสนใจเพราะบ้านเราดูยังไปไม่ถึงขนาดนั้น

ผมคิดว่าเป็นบทเรียนของเขาจากสงครามโลกครั้งที่สอง อะไรที่คาใจเขาที่สุด เป็นดินแดนที่เขาจะไม่เดินกลับไปมากที่สุดคือความเป็นขวาจัด ซึ่งเอันนี้เชื่อมกับอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่คนไทยเวลาเข้าไปเสพเรื่องผู้อพยพในยุโรปแล้วก็เชียร์ว่า นี่ไง เพราะผู้อพยพเข้าไปในยุโรปมากเกินไปฝ่ายขวาเลยมาแรง ที่จริงในยุโรปมันเหมือนจะมา เป็นข่าวฮาเฮ แต่ก็ไม่เห็นใครชนะจริงจังเพราะสิ่งที่เขารับไม่ได้ในยุโรปที่สุดคือขวาจัด ซึ่งต่างจากเรา ของเรามีแต่ขวาจัดกับขวากลาง

จากประสบการณ์ที่เคยไปอยู่ คนที่นั่นมีทัศนคติต่อกษัตริย์สเปนอย่างไร

ถ้าพูดตรงๆ ผมไม่เคยเห็นรูปหรือรูปปั้นของอดีตกษัตริย์ ฆวน คาร์ลอสเลยตลอด 4 ปี กษัตริย์เฟลิเปไม่เคยเห็นรูป มากสุดเคยดูถ่ายทอดสวันชาติสเปน ก็มีริ้วขบวนของทหารกองเกียรติยศแล้วเห็นเขามาตรวจสวนสนาม เห็นจากทีวีช่องของประเทศ แต่ช่องท้องถิ่นก็ไม่ได้ถ่ายทอด มีมากกว่านั้นก็หนังสือพิมพ์เขียนการ์ตูนล้อเลียนตลอดเวลา แล้วก็ให้ข้อมูลว่า เปลืองหรือเปล่าที่ประเทศเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์

เคยคุยกับคนที่นั่นไหม เรื่องความคิดความอ่านเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

มันเหมือนเขาก็พูดแบบสบายๆ ไม่ได้มีวิธีพูดระมัดระวังแบบเรา ก็เล่าไปถึงเรื่องส่วนตัวบ้าง ถ้าพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ ประเด็นหนึ่งที่ชัดก็คือ มีคดีที่น้องสาวของกษัตริย์เฟลิเป ที่สามีของเจ้าหญิงไปพัวพันกับนักฟอกเงินในแคว้นกาตาลุญญา ทำให้เจ้าหญิงตกเป็นผู้ต้องสงสัย ถูกกล่าวหาและฟ้องศาล เขาก็เล่นข่าวได้เต็มที่ว่า ไปยุ่งเกี่ยวกับมาเฟียหรือเปล่า เข้าไปรับรู้เกี่ยวกับเรื่องการฟอกเงินหรือกิจกรรมผิดกฎหมาย เลี่ยงภาษีหรือเปล่า

ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ศึกษา #1 ราชวงศ์สเปนซึ่งได้รับงบประมาณน้อยที่สุดในยุโรป

แล้วธรรมนูญการปกครองตนเองของแคว้นกาตาลุญญาที่ถูกปัดตกไปเมื่อปี 2006 เป็นมาอย่างไร

เรื่องนี้ถูกตั้งขึ้นมาโดยกาตาลุญญา ซึ่งสิ่งที่กาตาลุญญาส่งขึ้นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมันตกไป เพราะเขาตีความว่ามีหลายส่วนที่ไปก้าวก่ายอำนาจของรัฐบาลกลาง เอกสารตัวนี้มันไปตีกรอบว่ารัฐบาลกลางมีอำนาจอะไรได้บ้าง เขาก็บอกว่าแบบนี้ไม่ได้ มันล้ำเส้น ส่วนที่สอง อัตลักษณ์ของชาติ ถ้าประเทศไทยเราพูดเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่รัฐธรรมนูญสเปนมาตรา 2 เขียนไว้ว่า อัตลักษณ์ของชาติคือ Autonomy Unity Solidarity เขาบอกว่าการที่กาตาลุญญาเขียนว่ากาตาลุญญาคือชาติ ศาลรัฐธรรมนูญก็เลยตีความไม่ได้ตั้งแต่บทเกริ่นแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญของสเปนก็เขียนไว้แล้วว่าทั้งหมดต้องเป็นดินแดนของคนสเปนทั้งหมดอยู่อาศัย เคลื่อนย้ายถ่ายเทเดินทางได้อย่างสะดวก แต่ประกาศความเป็นกาตาลันมาแบบนี้ก็ทำให้ตกไปในส่วนนั้น แต่ก็ไม่ได้ปัดตกทั้งเล่ม ปัดตกแค่บางส่วน

ฉบับ 2010 เริ่มเดินประท้วง ถ้าเอามาวางแล้วมันชัดเจนคือเป็นเรื่องตังค์ เพราะ 2010 เริ่มคุยแล้วว่าจะจำกัดอำนาจเรื่องการเงิน แล้วพอปี 2011 กฎหมายจากรัฐบาลกลางก็ออกมาเพื่อจำกัดอำนาจทางการเงินของแคว้น ที่ผมอยากฝากจริงๆ คือ วิเคราะห์สถานการณ์ต้องมองให้ทะลุให้เห็นว่าแก่นจริงๆ คืออะไรความต้องการที่แท้จริงของเขาคืออะไร ผมว่าที่สุดแล้วการที่กาตาลุญญาผลักแรงขนาดนี้ ตามทฤษฎีการต่อรองมันก็บอกอยู่ เขาเรียกว่าการปลดอาวุธแล้วติดกลับคืนมา (Disarm-Rearm) คือคุณใส่ข้อต้องการเข้าไปมากๆ ให้เขาต่อรองลงมาในจุดที่คุณต้องการ เหมือนซื้อของแล้วบอกผ่าน เพราะสิ่งที่เขาน่าจะต้องการคือไปถึงจุดเดียวกับแคว้นบาสก์ คือมีอิสรภาพในทางการเงินและงบประมาณที่มากกว่าเดิม

คิดว่าคนที่ตามข่าวในไทยหลุดโฟกัสอะไรไหม

ผมมองว่าเราเป็นเรื่องดราม่ามากไป เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ความพ่ายแพ้ ถูกกระทำ ต้องเห็นใจคนกาตาลัน แต่ตอนอยู่ที่นั่น ภาวะดราม่าแบบนั้นก็ไม่ใช่ เขาก็คุยกันแบบเป็นเหตุผล ยุทธศาสตร์ เขาคุยกันแบบทุกคนมีกลยุทธ์ มียุทธศาสตร์ตลอด อ่านเกมกันตลอด ใช่ มันมีอารมณ์ มีคนมาบนท้องถนน แต่ถามว่า เป้าหมายทางการเมืองหรือกลยุทธ์ที่เขาเลือกใช้ต่างๆ น่าจะถอดออกมาให้เห็นชัดมากกว่า

วาระที่น่าติดตามคือ ตามรัฐธรรมนูญสเปนมีมาตรา 155 ที่บอกว่าถ้ารัฐบาลท้องถิ่นไม่สามารถรักษากฎหมาย บังคับใช้กฎหมายได้ รัฐบาลกลางสามารถยกเลิกการปกครองตนเองของแคว้นได้ คือเข้ามาปกครองโดยตรง ขั้นตอนตามมาตตรา 155 มันไปแล้ว นายกฯ ทำหนังสือส่งให้ประธานบริหารแคว้นกาตาลุญญาแล้ว ก็เหลือแค่ประธานาธิบดีแคว้นจะทำอย่างไร จะเดินหน้าแบ่งแยกดินแดน หรือจะหยุดเพื่อรักษารัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ เพราะถ้าไม่หยุดก็จะไปสุ่ขั้นตอนถัดไป คือนายกฯ จะนำเรื่องเข้าสู่วุฒิสภาของสเปนรับรองอำนาจ การเพิกถอนความเป็นแคว้นตนเองของกาตาลุญญา แล้วปกครองโดยตรงจากรัฐบาลกลาง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น

ฟังเหมือนรัฐประหารมากเลย

มันก็ไม่รัฐประหารเพราะมันมาโดยผลของรัฐธรรมนูญ ไม่เหมือนมาตรา 7 ของเราที่บอกกว้างๆ แต่ของเขาระบุขั้นตอนชัดเจนว่าต้องทำอะไร ไม่มีภาวะสุญญากาศแม้แต่น้อย

ข้อมูลเพิ่มเติม

Spain to impose direct rule on Catalonia as deadline passes, The Guardian, October 19, 2017

Spain High Court jails Catalan separatist leaders pending investigation, The Guardian, October 17, 2017

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขใจความประโยคจาก บทเรียนที่คนไทยควรถอดจากการทำประชามติ เป็น บทเรียนที่คนไทยควรถอดออกมาจากการเผชิญหน้า เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2560 เวลา 22.58 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดีป้าเผยผลสำรวจดิจิทัลในโรงเรียน สะท้อนครูนักเรียนเก่งดิจิทัลแต่บุคลากรขาดแคลน

Posted: 19 Oct 2017 05:10 AM PDT

ดีป้าเผยผลสำรวจครูวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ พบครู-นักเรียนมัธยมมีสมาร์ทโฟนใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่โรงเรียนขาดนักคอมพิวเตอร์อย่างหนัก ครูสามารถใช้งาน-สร้างสื่อและทรัพยากรดิจิทัลเองได้แต่ยังไม่มีการแบ่งปันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อระบบการศึกษาของประเทศได้อย่างเต็มที่

19 ต.ค. 2560 รายงานข่าว จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (DEPA) แจ้งว่า ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการ กลุ่มยุทธศาสตร์และบริหาร ดีป้า เผยว่า "ผลการสำรวจการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมการศึกษา ประจำปี 2559 ซึ่งทำการสำรวจครูวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสังกัด กทม. และ สพฐ. จำนวน 923 โรงเรียนทั่วประเทศ พบว่า โรงเรียน 99% มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้งาน ครูมีความพึงพอใจต่อความเร็วของอินเทอร์เน็ตของโรงเรียน 35% ไม่พอใจเนื่องจากความเร็วไม่พียงพอต่อการใช้งาน รวม 65% มีความขาดแคลนนักคอมพิวเตอร์ที่จะให้ความช่วยเหลือบุคลากรในโรงเรียนอย่างรุนแรง โดยโรงเรียนถึง 55% ระบุว่าไม่มีนักคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน และโรงเรียนที่เหลือ 45% ระบุว่าทั้งโรงเรียนมีนักคอมพิวเตอร์เพียง 1-2 คนเท่านั้น นอกจากนี้ยังได้พบว่ามีการแบ่งปันทรัพยากรดิจิทัลที่ครูสร้างขึ้นเอง โดยมีการแบ่งปันเฉพาะภายในโรงเรียนเท่านั้น 57% แบ่งปันบนยูทูบ 5% ไม่ได้แบ่งปัน 5% บนเว็บไซต์ของหน่วยงานเอกชน 1% บนเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ 1% และไม่เคยสร้างเอง 31% ครูทุกคนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ไอทีได้หลายชนิด ได้แก่ สมาร์ทโฟน พีซี และโน้ตบุ๊ค ในขณะที่นักเรียนประมาณครึ่งหนึ่งเข้าถึงได้เพียงสมาร์ทโฟนเท่านั้น

นอกจากนี้ ครูวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ประเมินความสามารถด้านดิจิทัลของตนเองได้ในระดับค่อนข้างดี สามารถเข้าถึงและใช้งานสื่อและทรัพยากรดิจิทัลผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยตนเองได้ แต่ยังขาดการอบรมด้านนี้อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ส่วนด้านการใช้สื่อและทรัพยากรดิจิทัลในการเรียนการสอน พบว่า ครูใช้สื่อดิจิทัลถึง 50% ของจำนวนคาบเรียนทั้งหมด และครู 55% สามารถสร้างสื่อดิจิทัลเอง และแบ่งปันให้ครูคนอื่น ๆ ในโรงเรียน แต่ยังขาดแพลตฟอร์มในการแบ่งปัน และคัดกรองสื่อที่มีคุณภาพอย่างเป็นระบบ จากงานวิจัยทั้งหมดพอจะสรุปได้ว่า ทางด้านกลุ่มครู ครูมีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้งานเพียงพอ ทรัพยากรดิจิทัลที่ครูใช้อย่างมากได้แก่ ยูทูบ ไมโครซอฟท์ออฟฟิศ รวมถึงสื่อจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  และ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)  ด้านความรู้ด้านไอทีของครูค่อนข้างดี แต่ยังขาดการอบรมที่เพียงพอและสม่ำเสมอ ควรส่งเสริมให้มีการอบรมออนไลน์ หรือจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการที่โรงเรียนโดยวิทยากรผ่านระบบออนไลน์ งานวิจัยยังพบว่าครูมีการสร้างทรัพยากรดิจิทัลด้วยตนเอง แต่ขาดระบบการแบ่งปันทรัพยากรดิจิทัลเพื่อการเรียนการสอน ควรมีการพัฒนาระบบคลังทรัพยากรดิจิทัลสำหรับการแบ่งปัน และมีการตรวจสอบคุณภาพทรัพยากรดิจิทัลอย่างเป็นระบบ ขณะที่การติดตามการอบรม  ครูยังคงมีการใช้เอกสารเป็นหลัก ซึ่งควรมีการเปลี่ยนมาเป็นดิจิทัลที่สามารถนำไปให้วิเคราะห์เพื่อการพัฒนาต่อไปได้  ด้านกลุ่มนักเรียนนักเรียนมัธยมมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้งานมาก แต่นักเรียนประถมยังขาดแคลนเครื่องคอมพิวเตอร์ ด้านบุคลากร โรงเรียนขาดแคลนบุคลากรด้านไอที ควรมีมาตรการส่งเสริม

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายที่เป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีคือความเสถียรของสัญญาณอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนที่จะต้องหาวิธีแก้ไขเพื่อให้ครูและนักเรียนสามารถใช้งานได้โดยไม่ติดขัด อันจะเป็นการส่งเสริมการใช้งานด้านดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดคำวินิฉัยผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย คดียิ่งลักษณ์จำนำข้าว สั่งยกฟ้องเพราะจำเลยไม่มีเจตนาพิเศษ

Posted: 19 Oct 2017 04:16 AM PDT

คำต่อคำ: เปิดคำวินิจฉัยของพิศล พิรุณ ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย(8:1) คดียิ่งลักษณ์จำนำข้าว มีความเห็นยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าการไม่ระงับโครงการจำนำข้าว ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1

แฟ้มภาพ

19 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค. มติชนออนไลน์ ได้เผยแพร่ คำวินิจฉัยของ พิศล พิรุณ ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยในคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อม.211/2560 ซึ่งอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 จากกรณีไม่สั่งระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว

ทั้งนี้คดีดังกล่าวได้ศาลแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2560 โดยมีมติ 8:1 พิพากษาให้ ให้จำคุก 5 ปี ยิ่งลักษณ์ ในคดีโครงการรับจำนำข้าว โดยมีความผิดในเรื่องระบายข้าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการรับจำนำข้าว สำหรับคำวินิจฉัยของผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยมีรายละเอียดทั้งหมด 13 หน้า ดังนี้

        เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่รการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

       โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 23 สิงหาคม พุทธศักราช 2554 ถึงวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และเป็นเจ้าหนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 ในการกำกับ ดูแลและบังคับบัญชาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทในฝ่ายบริหารปฏิบัติการให้เป็นไปตามนโยบายที่ฝ่ายบริหารกำหนดและรับผิดชอบนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่จำเลยแถลงต่อรัฐสภา ซึ่งมีนโยบายเร่งด่วนคือ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างแท้จริง กับยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยโครงการรับจำนำข้าว อันมีจำเลยเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2554 ที่จำเลยแถลงต่อรัฐสภา ถึงวันที่  พฤษภาคม 2557 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กล่าวคือ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 คณะกรรมการนโยบายข้าวซึ่งมีจำเลยเป็นประธานกรรมการได้เสนอโครงการรับจำนำข้าวเปลือกให้คณะรัฐมนตรีทราบและเพื่อขออนุมัติงบประมาณอันมีสาระเงื่อนไขโดยย่อคือเป็นการรับจำนำข้าวเปลือกที่เกษตรกรปลูกเองในปีการผลิต 2554/55 ไม่จำกัดจำนวนความชื้นไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ ในราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 20,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 100 เปอร์เซ็นต์ ตันละ 15,000 บาท เกษตรกรที่นำข้าวเปลือกมาจำนำต้องมีหนังสือรับรอบจากกรมส่งเสริมการเกษตรว่าเป็นผู้ปลูกข้าวจริง การรับจำนำ องค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) จะเป็นผู้รับสมัครโรงสี หรือตลาดกลางเพื่อเข้าร่วมโครงการรับฝากข้าวเปลือกที่นำมาจำนำแล้วให้ออกใบประทวนให้เกษตรกรนำไปจำนำแก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ซึ่งต้องจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้จำนำภายใน 3 วันทำการ เมื่อรับจำนำแล้วโรงสีหรือตลาดกลางที่รับฝากข้าวเปลือกต้องสีแปรรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารเก็บไว้ในโกดังรอการระบายตามหลักเกณฑ์ต่อไป คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 วันที่ 7 ตุลาคม ปีเดียวกันหน่วยงานราชการก็รับเรื่องจำนำข้าวเปลืองตามโครงการ แต่ก่อนเริ่โครงการมีหลายหน่วยงานท้วงติงจำเลยแล้วคือ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 สำนักการตรวจเงินแผ่นดิน(ส.ต.ง) มีหนังสือด่วยที่สุดแจ้งให้ทราบว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2548/49 และ2549/50 ที่ดำเนินไปก่อนแล้วมีปัญหาและเกิดความเสียหาย วันที่ 7 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นวันเริ่มโครงการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีหนังสือด่วนมาก ขอให้ทบทวนโครงการโดยแนบรายงานวิจัย "โครงการศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต" ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยมาเพื่อประกอบการพิจารณาพร้อมความเห็นควรยกเลิกโครงการแต่ใช้การประกันความเสี่ยงด้านราคาแทน เพราะโครงการรับจำนำข้าวเป็นการแทรกแซงตลาดข้าว รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายมาในการเก็บรักษาข้าวเปลือกที่รับจำนำ หากระบายไม่ทันข้าวก็จะเสื่อมสภาพ ทั้งมีปัญหาการทุจริตทุกขั้นตอน และวันที่ 27 เดือนเดียวกัน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ยังมีหนังสือชี้ให้เห็นปัญหาของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ในอดีตพร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขอย่างละเอียด แต่จำเลยไม่ระงับโครงการ กลับดำเนินการต่อไปอีกห้าฤดูการผลิตจนถึงปี 2557 คือโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 (ครั้งที่1) โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 (ครั้งที่2) และโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 (ครั้งที่1) ซึ่งระหว่างดำเนินการมีหลายหน่วยงานทักท้วงว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกประสบปัญหาและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่อง เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีหนังสือลงวันที่ 30 เมษายน 2555 แจ้งให้จำเลยทราบว่ามีการทุจริตเชิงนโยบายในโครงการรับจำนำข้าวอย่างมากพร้อมเสนอแนวทางป้องกันการทุจริต สำนักงบประมาณ มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพร้อมความเห็นว่า คระรัฐมนตรีควรรับฟังข้อเสนอแนะของสำนักงานป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ว่าด้วยการป้องกันการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก กระทรวงการคลังก็มีหนังสือ ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2555 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สนับสนุนว่าควรมีวิธีป้องกันการทุจริตตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แนะนำ และวันที่ 3 ตุลาคม ปีเดียวกัน ก็มีหนังสือด่วยที่สุด เตือนให้จำเลยทราบอีกว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปี 2547 มีผลขาดทุนถึง 207,006.44 ล้านบาท และยังไม่สามารถปิดโครงการได้ ขอให้รัฐบาลประเมินผลกระทบของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่กำลังดำเนินการอยู่ นอกจากนั้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลายวาระก็มีการอภิปรายถึงการทุจริตและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกอย่างกว้างขวาง เมื่อมีการปิดบัญชี ปรากฎว่าคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกซึ่งจำเลยเป็นผู้แต่งตั้งได้รายงานเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 ให้จำเลยทราบว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี2554/55 มีผลขาดทุนสุทธิ 32,301 ล้าน พร้อมให้ข้อสังเกตหลายประการว่า การรับจำนำข้าวเปลือกสูงกว่าราคาตลาดเป็นการแทรกแซงและต่อการขาดทุนอย่างมาก ควรกำหนดราคาจำนำใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิต การรับจำนำโดยไม่จำกัดปริมาณและแหล่งผลิตทำให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตข้าวโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ และมีการนำเข้าข้าวเปลือกจากต่างประเทศมาสอมสิทธิ์เพื่อร่วมโครงการ โรงสีหรือผู้รับส่งออกข้าวที่ไม่ได้ร่วมโครงการไม่สามารถหาข้าวได้เพียงพอซึ่งเท่ากับรัฐเป็นผู้ค้าข้าวเอง เมื่อรับจำนำราคาสูง การส่งออกก็ต้องมีราคาสูงทำให้ข้าวไทยมีราคาสูงก่าราคาข้าวของประเทศอื่นในตลาดโลก จำต้องหาทางแก้ไขเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันกับประเทศผู้ค้ารายอื่น จำเลยรับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว แต่ยังดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 และข้าวเปลือกข้าวปี ปีการผลิต 2555/56 ต่อไป ระหว่างดำเนินการต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือเตือนเป็นระยะว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายสูงและพบการทุจริตทุกขั้นตอน ขอให้พิจารณาทบทวนและยุติโครงการฯในการปิดบัญชีคราวต่อมา เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2556 คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ รายงานว่า ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 255/56 (ครั้งที่ 1) มีผลขาดทุนสะสม 332,372.32 ล้านบาท นอกจากผลขาดทุนดังกล่าว โครงการรับจำนำข้าวเปลือกยังส่งผลเสียหายอีกหายประการ เช่น มีการทุจริตทุกขั้นตอนตั้งแต่การขึ้นทะเบียนตลอดจนการระบายข้าว ระบบการค้าข้าวเสียหาย รัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายมากในการเก็บรักษาข้าวเปลืกที่รับจำนำ การระบายข้าวและการจ่ายเงินให้เกษตรกรล่าช้า ทำให้รัฐขาดเงินลงทุนหมุนเวียนความเสียหายดังกล่าวเกิดในช่วงที่จำเลยเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมนโยบายของรัฐให้ดำเนินการไปอย่างรัดกุมและเหมาะสม แต่จำเลยกลับไม่ระมัดระวังในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เกษตรกร งบประมาณแผ่นดิน กระทรวงการคลัง ประเทศชาติและประชาชน อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กระทรวงการคลัง ประเทศชาติ ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ทั้งการทุจริตในโครงการเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ทำธุรกิจการค้าข้าวซึ่งจำเลยทราบการทุจิตอย่างดี แต่หลีกเหลี่ยงไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่อให้เห็นว่าจำเลยรู้เห็นหรือได้รับผลประโยชน์กับการทุจริตด้วยอันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เหตุเกิดที่แขวงดุสิต เขตดุลิต กรุงเทพมหานคร ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ตำบลบางกระดี อำเภอเมืองปทุมธานี จังหสัดปทุมธานี ตำบลโพตลาดแก้ว อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร และอีกหลายพื้นที่ที่มีการรับจำนำข้าวและระบายข้าวเกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 65

       จำเลยให้การปฏิเสธว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยไม่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เพราคำว่า "เจ้าพนักงาน" หรือ "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ต้องเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยตรง หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่โดยตรง แต่จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงผู้กำกับดูแลทั่วไปโครงการรับจำนำข้าวที่ดำเนินการในรูปแบบคณะรัฐมนตรีตามที่พรรคเพื่อไทยซึ่งจำเลยสังกัดได้หาเสียงไว้กับประชาชนและแถลงเป็นนโยบายต่อรัฐสภาก่อนเข้ามาบริหารประเทศ สำหรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติที่จำเลยได้รับแต่งตั้ง จำเลยก็เป็นผู้กำกับดูแลทั่วไป ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ถึง 7 พฤษภาคม 2557 เป็นช่วงที่ยุบสภาซึ่งจำเลยเป็นเพียงนายกรัฐมนตรีรักษาการที่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเท่าที่จำเป็น ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยจึงไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างไรก็ตาม จำเลยไม่มีอำนาจยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวได้โดยลำพัง เพราะคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ย่อมมีผลผูกผันให้จำเลยและคณะรัฐมนตรีต้องยริหารงานตามแผนที่วางไว้ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ซึ่งออกโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และดป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หากจำเลยสั่งระงับโครงการย่อมเป็นการขัดต่อข้อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ทั้งระหว่างดำเนินโครงการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสำนักงบประมาณ(สงป.) ก็ไม่เคยเสนอให้ยกเลิกโครงการอันเป็นนโยบายสาธารณะที่มีกำหนดวงเงินงบประมาณหมุนเวียนอย่างชัดเจนโดยผ่านขั้นตอนการก่อหนี้และค้ำประกันของกระทรวงการคลังตามกฎหมาย ตั้งแต่เริ่มโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจนถึงมีการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะครั้งสุดท้ายของรัฐบาลจำเลย สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังไม่เกินร้อยละ 60 และภาระหนี้ต่องบประมาณ ก็ไม่เกินร้อยละ 15 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่กำหนดไว้สำหรับกรอบความยั่งยืนทางการคลัง แสดงว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกไม่ได้ทำให้ความมั่นคงทางการคลัง หรือการบริหารงบประมาณของประเทศต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ในการดำเนินโครงการ ได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบเป็น 2 ระดับ คือ ระดับนโยบายอันมีคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติเป็นผู้ดูแล กับระดับปฏิบัติการซึ่งมีคณะอนุกรรมการรวม 12 คณะเป็นผู้รับผิดชอบ จำเลยไม่มีหน้าที่หรือความรับผิดชอบโดยตรงในแต่ละขั้นตอน ทั้งโครงการรับจำนำข้าวเปลือกก็มีมานานแล้ว รัฐบาลจำเลยเพียงนำมาปรับปรุงในบางอย่าง เช่น ราคารับจำนำข้าวเปลือก หรือปริมาณข้าวเปลือกที่จะรับจำนำเท่านั้น แม้โครงการฯ จะกำหนดว่ารับจำนำข้าวทุกเทล็ด แต่ยังมีข้าวจำนวนมากที่ไม่รับจำนวน ฤดูการผลิต 2555/56 ซึ่งผลิตข้าวเปลือกได้ 38 ล้านตัน ก็มีข้าวเปลือกเข้าโครงการเพียง 22 ล้านตัน แสดงว่าในทางปฏิบัติมิได้มีการจำนำข้าวทุกเมล็ดจริงและกลไกตลาดยังคงดำเนินไปตามปกติ มิได้ถูกแทรกแซงโดยโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามที่โจทก์กล่าวอ้าง สำหรับข้อเสนอแนะของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(ส.ต.ง.) ฉบับลงวันที่ 24 สิงหาคม 2554 เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายโครงการรับจำนำข้าวเปลือกและข้อเสนอแนะของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) นั้น จำเลยและคณะรัฐมนตรีให้ความสำคัญและนำมาปรับใช้กับแผนการดำเนินการตั้งแต่ต้น ส่วนหนังสือทักม้วงของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ที่ขอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวเปลือกแต่ให้ใช้นโยบายประกันความเสี่ยงด้านราคาแทนนั้น หนังสือดังกล่าวมาถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11ตุลาคม 2554 หลังจากคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแผนบริหารราชการแผ่นดินที่มีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นส่วนหนึ่งไปแล้ว 4 วัน การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในแผนการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าว มีผลผูกพันให้จำเลยและรัฐบาลต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จำเลยจึงไม่อาจยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามที่ ป.ป.ช. แนพนำได้นอกจากนั้นการศึกษาของพรรคเพื่อไทยต่อโครงการประกันความเสี่ยงด้านราคาตามที่ ป.ป.ช. แนะนำนั้นพบว่ามีข้อบกพร่องหลายประการและไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในภาพรวมอย่าแท้จริง แต่โครงการรับจำนำข้าวเปลือกจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรมากกว่า จึงดำเนินโครงการต่อไปโดยนำข้อเสนอแนะของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) มาปรับปรุงและวางมาตรการป้องกันการทุจริตในทุกขั้นตอน สำหรับการประเมินโครงการฯ จะพิจารณาเพียงรายจ่ายของรัฐที่ใช้ดำเนินโครงการฯ อย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการคลังของประเทศในวงกว้างหรือพิจารณาถึงผลลัพธ์ทางบัญชีประชาชาติด้วย ซึ่งจากข้อมูลการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้างของสำนักงานเศรษฐกิจหมภาค สำนักเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง พบว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ฤดูกาลผลิต 2554/55 และ 2555/56 ส่งผลให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็น 304,000 ล้านบาท และ 315,000 ล้านบาท ตามลำดับ รายได้ประชากรเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 2.7 ในแต่ละปี มีเม็ดเงินไหลเวียนจากเกษตรกรไปสู่หน่วยงานเศรษฐกิจอื่นๆ อันเป็นผลให้การจัดเก็บภาษีของรัฐมีมูลค่าสูงขึ้น เงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และระดับเงินสำรองระหว่างประเทศก็มีมากกว่า 505 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่ามั่นคง ดังนั้นตัวเลขแสงผลขาดทุนนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และโจทก์นำมาอ้างจึงไม่ใช่ผลประเมินที่ถูกต้อง เพราะไม่ได้ประเมินผลประโยชน์ที่สังคมได้รับในด้านอื่นอันไม่ใช่ตัวเงินรวมเข้าด้วย อีกทั้งโครงการรับจำนำเข้าเปลือกเป็นภารกิจภาครัฐที่ไม่มุ่งแสวงกำไร แต่เป็นการดพเนินการเพื่อผระโยชน์ของประชาชน ฉะนั้นการวัดความคุ้มค่าของโครงการเฉพาะด้านตัวเงินเพียงอย่างเดียวจึงไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินโครงการที่โจทก์อ้างว่าขาดทุนสะสม 332,372.32 ล้านบาท ก็เป็นเพียงการขาดทุนทางบัญชีไม่ใช่ตัวเลขขาดทุนที่แท้จริง เพราะจนถึงวันที่โจทก์ฟ้อง การระบายข้าวในโครงการฯ ยังไม่แล้วเสร็จและยังไม่มีการปิดบัญชีเสร็จสิ้นโครงการฯ อย่างแท้จริง ทั้งการประเนและวิเคราะห์โครงการฯ ของอนุกรรมการปิดบัญชีตามที่โจทก์อ้างก็ยังมีข้อบกพร่องหลายประกายไม่มีการวิเคาระห์เปรียบเทียบถึงประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการเลย จำเลยจึงไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีดังกล่าว ในส่วนการควบคุมโครงการจำเลยใส่ใจต่อปัญหาทุจริตของผู้ปฏิบัติตามโครงการฯ อย่างมาก มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ จับกุมผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่ชอบเพราะไม่บรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่า จำเลยทำให้เกิดความเสียหายต่อการเงิน การคลังของประเทศอย่างไรหรือการทุจริตในโครงการเกิดขึ้นที่ใดและเมื่อใด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุดใช้ดุลพินิจโดยมีอคติ ไม่เที่ยงธรรมตามหลักนิติธรรม และคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะพิจารณาพิพากษา ขอให้ยกฟ้อง

        ทางไต่สวนข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันส่า จำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2556 จากนั้นรักษาการนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อถึวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 เพราะมีการยุบสภา พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนรับตำแหน่ง จำเลยสังกัดพรรคเพื่อไทยซึ่งชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 หลังจากมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้จำเลยเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 สิงหาคม 2554 แล้ว วันที่ 23 เดือนเดียวกัน จำเลยในฐานะยานกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินต่อรัฐสภาโดยมีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นหนึ่งในนโยบายที่แถลง รุ่งขึ้นวันที่ 24 สิงหาคม 2554 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือด่วนที่สุดมาถึงจำเลย แจ้งให้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกซึ่งดำเนินการมาก่อนในช่วงปีการผลิต 2548 ถึง 2550 ว่ามีปัญหามาก ขอให้จำเลยตระหนักและนำข้อมูลที่เสนอไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงโครงการฯ วันที่ 9 กันยายน 2554 คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ซึ่งมีจำเลยเป็นประธานร่วมกันประชุมพิจารณากำหนดรายละเอียดของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เข่น กำหนดปริมาณข้าวเปลือกที่จะรับจำนำ กำนดระยะเวลา วิธีการและเงื่อนไขในการรับจำนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติโครการ หลังจากคณะรัฐมนตรอนุมัติโครงการในวันที่ 13 เดือนเดียวกัน วันที่ 7 ตุลาคม 2554 ก็ได้เริ่มโครงการซึ่งวันดังกล่าวสำนักงานป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีหนังสือแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ ไปยังจำเลยโดยแนบรายงานวิจัยเรื่อง "โครงการศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต" ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ประกอบพร้อมเสนอความเห็นว่าควรยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวเปลือก แล้วนำระบบประกันความเสี่ยงด้านราคาข้าวมาใช้แทน หลังจากเริ่มโครงการรับจำนำข้าวไปไม่นาน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์โครงการรับจำนำข้าวอย่างมากทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สำหรับหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง มีความเห็นทำนองเดียวกันว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ ต่างมีหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีชี้แจงให้ทราบว่าเกิดทุจริตในขั้นตอนดำเนินการอย่างมาก ทั้งเสนอตัวเลขความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปีก่อนตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงก่อนรัฐบาลจำเลยว่ามีสูงถึงหนึ่งแสนล้านบาท และยังไม่สามารถปิดโครงการฯได้ ขอให้รัฐบาลจำเลยตระหนักถึงความเสียหาย และผลกระทบต่องบประมาณของรัฐด้วย ปรากฎว่าในการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกสำหรับข้าวเปลือกข้าวปี ปี 2554/55 โดยคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯที่จำเลยในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติแต่งตั้ง มีผลการดำเนินการขาดทุนประมาณ 32,301 ล้านบาท ข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 และข้าวเปลือกนาปรังปี 2555/56 ที่รับจำนำต่อเนื่อวมามีผลขาดทุนประมาณสองแสนล้านบาท ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 เมื่อสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/56 (ครั้งที่ 1) มีตัวเลขขาดทุนสะสมประมาณสามแสนล้านบาท ถึงวันที่จำเลยต้องรักษาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและต่อมากระทั่งพ้นจากตำแหน่งโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตัวเลขการขาดทุนยังไม่ได้รับการแก้ไขไปในทางที่ดีขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฟ้องว่า การบริหารจัดการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ และการที่จำเลยไม่สั่งระงับโครงการฯ หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) หรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเห็นว่าผลการดำเนินโครงการฯ ประสบกับารขาดทุนนั้นเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ โดยโจทก์ระบุกฎหมายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดมาสองฉบับ คือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในหมวดความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ข้าราชการ และความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ซึ่งบัญญัติว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดปฏิบัติหน้าหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อห้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ...." สำหรับมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก็บัญญัติในทำเดียวกันว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก้ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ..." เห็นว่า จากถ้อยคำในตัวบทสองมาตราที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษดังกล่าว การกระทำผิดที่จะเป็นความผิดตามกฎหมายทั้งสองมาตรานั้น นอกจากผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐและต้องมีเจตนาปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว ผู้กระทำผิดยังต้องมีมูลเหตุชักจูงใจหรือมีเจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือต้อเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตด้วย กล่าวคือ ลำพังการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัตหน้าที่โดยมิชอบเพียงอย่างเดียวนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายสองกฎหมายสองมาตราดักล่าว หากจะเป็นความผิดข้อเท็จจริงต้องฟังให้ได้ว่า ผู้กระทำความผิดมีมูลเหตุชักจูงใจ หรือมีเจตนาพิเศษเพื่อที่จะให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหายด้วย หรือมิฉะนั้นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นก็ต้องเป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการกระทำ "โดยทุจริต" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) ซึ่งมูลเหตุชักจูงใจหรือเจตนาพิเศษทั้งสองกรณีดังกล่าว ผู้กระทำผิดต้องประสงค์ผลเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งโดยตรง หรือมุ่งแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยตรง มิใช่เพียงเล็งเห็นว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือเล็งเห็นว่าน่าจะมีเหตุทุจริตเท่านั้น คดีนี้จากทางไต่สวน โจทก์นำสืบว่า โครงการรับจำนำข้าวมีการทุจริตทุกขั้นตอนโดยเฉพาะขั้นตอนการระบายข้าว แต่ปรากฎว่าไม่มีพยานหลักฐานใดพอที่จะบ่งชี้ว่าจำเลยได้รับผลประโยชน์จากการทุจริตในการระบายข้าวดังกล่าว แม้ได้ความจากคดีหมายเลขดำที่ อม.25/2558 หมายเลขดำที่ อม.1/2559 หมายเลขแดงที่ อม.178/2560 หมายเลขแดงที่ อม.179/2560 ว่ากลุ่มบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด ซึ่งเป็นจำเลขที่ 1 ในคดีดังกล่าวได้รับประโยชน์ที่มิควรโดยชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทุจริตจากขั้นตอนการระบายข้าว แต่ก็ไม่มีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใดที่พอจะชี้ให้เห็นว่าการทุจริตของบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด นั้นจำเลยมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย หรือเหตุที่จำเลยไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวตามที่โจทก์ฟ้องเป็นเพราะจำเลยต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทสยามอินดิก้า จำกัด ส่วนที่โจทก์นำสืบว่าเคยมีรูปของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง ผู้ก่อตั้งบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด ปรากฎอยู่มนภาพการเดินทางไปเยือนฮ่องกงของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร พี่ขายของจำเลยนั้น เห็นว่า แม้จะมีเหตุการณ์ตามภาพเช่นนั้นจริง ก็ไม่เป็นหลักฐานเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยมีความสัมพันธ์กับนายอภิชาติถึงขั้นจะยอมเอื้อประโยชน์แก่บริษัทสยามอินดิก้า จำกัด ซึ่งมีนายอภิชาติเป็นผู้ก่อตั้ง เพราะจากทางไต่สวนไม่ปรากฎพยานหลักฐานที่ส่อแสดงว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด หรือนายอภิชาติ ดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจพเลยมีมูลเหตุชักจูงใจหรือเจตนาพิเศษเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอยด้วยกฎหมายให้แก่กลุ่มบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด หรือนายอภิชาติ การลัเว้นไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของจำเลยตามฟ้อง จึงไม่ครบองค์องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ส่วนผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว แม้ฟังว่าเสียหายมากดังที่โจทก์ฟ้อง หรือฟังว่าไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทโดยรวมดังที่จำเลยต่อสู้ ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะต้องนำมาพิจารณาว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เพราะผลของโครงการไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้อและประสงค์ให้ลงโทษ จำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง กรณีไม่จำต้องพิเคราะห์ว่า การดำเนินโครงการหรือการไม่ยับยั้งโครงการฯของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ และไม่จำต้องพิเคราะห์ข้อต่อสู้อื่นของจำเลย เช่นเรื่องอำนาจฟ้อง หรือเรื่องเขตอำนาจศาล เช่นกัน เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปล

                จึงวินิฉัยยกฟ้อง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

The Rise of the Octobrists in Contemporary Thailand | ไทเรล-ยุกติ-เอกสิทธิ์-วัชรพล

Posted: 19 Oct 2017 04:02 AM PDT

14 ต.ค. 2560 เปิดตัวหนังสือ เรื่องของคนเดือนตุลา/ตุลา "The Rise of the Octobrists in Contemporary Thailand" ที่ห้องเรวัติ พุทธินันท์ หอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ดำเนินรายการโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ โดยภายหลังการแนะนำหนังสือโดยผู้เขียนคือ กนกรัตน์ เลิศชูสกุลแล้ว

ถัดมาเป็นช่วงวิจารณ์หนังสือและร่วมพูดคุยโดย ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอกสิทธิ์ หนุนภักดี คณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวัชรพล พุทธรักษา ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมช่วงอภิปรายแลกเปลี่ยนจากผู้ร่วมเสวนา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: จุด

Posted: 19 Oct 2017 02:54 AM PDT



ในแสงสลัว
เงามืดกำลังจุดดวงอาทิตย์
สร้างทางรุ่งโรจน์
จินตนาการถึงบ้านหลังเก่า
ที่ประดับประดิษฐ์ด้วยอิฐดวงดาว
มีหลังคาแผ่นฟ้าคุ้มไว้

เส้นทางดวงอาทิตย์
แจ่มแจ้งและตรงดิ่ง
ไม่เหลือความเป็นไปได้อื่น
บ้านอิฐดวงดาวหลังคาฟ้า

การเดินทางเริ่มต้นตั้งแต่ชาติที่แล้ว
การลุถึงสิ้นสุดที่ชาติหน้า

คนแล้วคนเล่า
ทิ้งร่างเลือดเนื้อและหัวใจกับหัวคิด
ทับถมจากเนินสู่ภูเขา
เป็นเส้นทางสายภูเขา
คนต่อมา ต่อมา
มุ่งมั่นป่ายปีนให้ถึงยอด
จินตนาการถึงบ้านดวงดาว
อันลิบวิบติดยอดนั้น

จากหลังตรงพุ่งหัวไปข้างหน้า
สู่หลังโค้งคว่ำหัวตก
อกลากเข่าคลุกข้อศอกเลื้อย
กระทั่งนิ่งเปื่อยเน่าเพิ่มเนื้อที่ภูเขา
กว้างและสูงขึน กว้างและสูงขึ้น

ดวงดาววิบลิบติดยอดเขา
ก็ยังวิบลิบติดยอดเขา
บ้านอิฐดวงดาวหลังคาฟ้า
เคลื่อนย้ายมาสถิตดวงดาวนั้น

เส้นทางดวงอาทิตย์ไม่ถูกเรียกหา
ทั้งที่เป็นเส้นทางของมัน
และงามืดที่เฝ้าจุดไม่เคยลดละ

แต่ไร้คนมองเห็น
โดยเฉพาะการจุด

ยิ่งภูเขากว้างและสูง
ดวงอาทิตย์ก็ยิ่งมอดดับ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อะไรควรจะเป็นเป้าหมายที่แท้จริงในการพัฒนา EEC?

Posted: 19 Oct 2017 01:54 AM PDT

 


ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ "ประเทศไทย 4.0" เพื่อนำพาประเทศสู่การเป็นประเทศรายได้สูง ที่มาถูกทาง โดยพยายามแก้ไขจุดอ่อนของนโยบายก่อนหน้า เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษใน 10 จังหวัดชายแดน และการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve industries)  

รัฐบาลมุ่งหวังให้โครงการ EEC ดึงดูดการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศในพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก  ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของโครงการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่เกิดขึ้นในอดีต

แม้ว่า การดึงดูดการลงทุนมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น  เป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนา  EEC  ไม่ควรวัดจากเพียงยอดลงทุนที่ได้รับ หรือจำนวนบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มาลงทุน  แต่ควรวัดจากความสามารถเทคโนโลยีของประเทศ และทักษะของแรงงานไทยที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการปฏิรูปกฎระเบียบและการบริการภาครัฐที่จะตามมา และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในระยะยาว

ในการดำเนินโครงการ EEC รัฐบาลได้ประกาศเสาหลักที่สำคัญ 3 ประการคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การให้แรงจูงใจเพื่อดึงดูดการลงทุน และการอำนวยความสะดวกในการลงทุน

เสาแรกคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีทั้งการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม เช่น สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสัตหีบ รถไฟรางคู่ และมอเตอร์เวย์ และการเริ่มโครงการใหม่ เช่น รถไฟความเร็วสูง และเมืองอัจฉริยะ 

เสาที่สองคือ การให้แรงจูงใจทางภาษีและไม่ใช่ภาษี  โดยนักลงทุนในเขตส่งเสริมจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากเป็นประวัติการณ์ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี ซึ่งทำให้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะจัดเก็บจริงของไทยต่ำที่สุดในอาเซียน และการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดเหลือเพียงร้อยละ 17   สำหรับบุคคลที่มีทักษะสูงในระดับโลก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยมีมาตรการในลักษณะดังกล่าว   นอกจากแรงจูงใจทางภาษีแล้ว นักลงทุนยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การเช่าที่ดินได้สูงสุด 99 ปี การได้รับอนุญาตให้ทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเงินตราต่างประเทศ  และการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้เสร็จภายใน 1 ปี

เสาสุดท้ายคือ การอำนวยความสะดวกในการลงทุน ซึ่งจะมีการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ในสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยเลขาธิการของสำนักงานฯ สามารถอนุมัติหรือออกใบอนุญาตต่างๆ ได้ ทั้งที่เกี่ยวกับการควบคุมอาคาร การจดทะเบียนพาณิชย์ และการจัดสรรที่ดิน ซึ่งจะช่วยปลดล็อคปัญหาด้านกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และการให้บริการของรัฐที่ขาดความเป็นเอกภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การมุ่งมั่นดำเนินการตามมาตรการใน 3 เสาหลักดังกล่าวทำให้ EEC กลายเป็นโครงการที่น่าสนใจมากต่อนักลงทุน เมื่อเทียบกับการดึงดูดการลงทุนทั้งหลายของรัฐบาลไทยที่เคยมีมา   ด้านรัฐบาลเองก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงทุนที่จะเกิดขึ้นใน EEC จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

ผู้เขียนเชื่อว่า โครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างทั้ง สนามบินอู่ตะเภา รถไฟรางคู่ และมอเตอร์เวย์ น่าจะเกิดขึ้นจริงตามแผนที่วางไว้  ขณะที่การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุดซึ่งมีการถมทะเล ยังต้องผ่านการยอมรับจากชุมชนก่อน   ส่วนการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินคือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภาก็มีความท้าทายไม่น้อย เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความเสี่ยงสูงและต้องใช้เวลานานกว่าจะคุ้มทุน  

ผู้เขียนยังเชื่อว่า การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ จะช่วยดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้พอควร แต่มาตรการดังกล่าวก็มีต้นทุนสูงและมีประสิทธิผลจำกัด  ทั้งนี้อุตสาหกรรมที่คาดว่า น่าจะมีการลงทุนมากคือ สาขาที่ไทยมีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่งคือ อุตสาหกรรมเดิมที่ลงทุนอยู่แล้วบางส่วน เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน และท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและเชิงสุขภาพ บริการสุขภาพ  และอุตสาหกรรมใหม่บางสาขา เช่น การซ่อมบำรุงเครื่องบิน (MRO) โลจิสติกส์ และออโตเมชั่น  โดยบริษัทต่างชาติชั้นนำในระดับโลก เช่น แอร์บัส โตโยต้า และลาซาด้า ได้แสดงความสนใจที่จะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ลำพังมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติและโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้น ไม่ควรเป็นเป้าหมายหลักของ EEC    ที่ผ่านมา ไทยสามารถดึงดูดบริษัทชั้นนำระดับโลกให้เข้ามาลงทุนในประเทศได้ไม่น้อย เช่น ในอุตสาหกรรมรถยนต์ เราก็มีผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งจากญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เราก็มีบริษัทผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ 2 รายใหญ่ที่สุดโลกคือ ซีเกท และเวสเทิร์น ดิจิตอล  บริษัทเหล่านี้ทำให้เกิดการจ้างงาน การเชื่อมโยงไทยเข้ากับห่วงโซ่การผลิตของโลก และทำให้ไทยกลายเป็นประเทศส่งออกรายใหญ่ในเอเชีย   อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังคงติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลางอยู่เช่นเดิม

บทเรียนในอดีตจึงชี้ว่า การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยไม่ได้สร้างความสามารถทางเทคโนโลยีของตัวเอง และไม่ยกระดับทักษะของแรงงานไทย จะไม่เพียงพอที่จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศรายได้สูง อันที่จริง ประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในโลกก็ชี้ว่า ไม่มีประเทศใดที่สามารถหลุดพันจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางลำพังด้วยการลงทุนจากต่างชาติได้เลย   นอกจากนี้ แม้โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดได้ทำให้ 3 จังหวัดมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น  ประชาชนไม่น้อยในพื้นที่ และภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศได้รับผลประโยชน์ไม่มากนัก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ดังนั้น การพัฒนา EEC ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง จึงควรเริ่มจากการตั้งเป้าหมายที่เหมาะสม 4 ประการคือ

ประการแรก ไทยต้องมีความสามารถทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของไทยเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีกับบริษัทต่างชาติและบริษัทไทยที่มาลงทุน   เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลยังควรพิจารณาตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม  โดยอาจตั้งขึ้นมาใหม่ หรือแยกบางหน่วยออกจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แต่ต้องกำหนดให้มีภารกิจที่ชัดเจนคือ การพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เป็นหลัก

ประการที่สอง แรงงานไทยต้องมีทักษะที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอาชีวะของไทยต้องทำงานร่วมกับบริษัทใน EEC ในการพัฒนาบุคลากรและจัดการสอนแบบทวิภาคี เพื่อให้นักศึกษามีทักษะที่ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง

ประการที่สาม ต้องมีการปฏิรูปกฎระเบียบของรัฐ และการให้บริการประชาชนอย่างครบวงจรตามมาโดยเร็ว โดยนำเอาบทเรียนจาก EEC ไปขยายผลทั่วประเทศ เพราะกฎระเบียบและการบริการภาครัฐที่ขาดประสิทธิภาพเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมานาน

ประการสุดท้าย ต้องมีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการสร้างความสามารถของชุมชนอย่างจริงจัง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในอดีต โดยต้องเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา และเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส และเปิดให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: เสาวรัจ รัตนคำฟู เป็นนักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มันไม่ง่ายที่จะเป็น ‘ปอแน’: เสี้ยวชีวิต LGBT ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะต่างจึงเจ็บปวด (1)

Posted: 19 Oct 2017 01:46 AM PDT

ชีวิต LGBT ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้กลางความไม่สงบ 13 ปี เพราะต่างจึงเจ็บปวด การต่อรองและแตกหักระหว่างอัตลักษณ์ทางเพศและอัตลักษณ์ทางศาสนา

"...เกิดเปนอิสลามแท้ๆ แต่ไม่สามารถเข้าฟังบรรยายธรรมได้ ไม่ใช่ถูกห้ามจากผู้บรรยายหรือเจ้าของงานแต่อย่างใด แต่ถูกด่าจากชาวบ้านแค่ไม่กี่คนที่ด้อยความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง อาจจะใช่ที่เราเกิดมาแบบนี้ คือตราบาปของเรา แต่เราสามารถที่จะเป็นคนดีได้ อิสลามคือการตักเตือน ไม่ใช่การด่าทอที่รุนแรง

"...บางคนโดนกระทำด้วยการปาหินใส่หัว มีดจ่อคอ มีดจี้ท้อง (นี่เป็นประสบการโดยตรงที่ตัวเองพบเจอ) บางคนโดนปาน้ำฉี่ โดนเตะตบต่อยสารพัด บางคนโดนทำร้ายร่างกายเกือบเอาชีวิตไม่รอด เพียงแต่ความสะใจของอีกฝ่ายเท่านั้น ทั้งเตะต่อยถีบเหยียบหน้า ไม่ข่มขืน ไม่เอาทรัพสินใดๆ ฟังแล้วเหมือนจะเป็นเรื่องตลก แต่มันคือความจริงที่เกิดขึ้นกับน้องกะเทยบ้านเราในอำเภอเจาะไอร้อง

"...ยิ่งกว่านั้นคือ แถวบ้านเราชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพกรีดยาง ไม่อยากจะเชื่อว่า ชาวบ้านบางคนเอาอาชีพของตนมาเป็นอาวุธทำร้ายพวกเรากันเอง โดยการเอาน้ำยางพาราใส่ถุง เขวี้ยงใส่พวกเราโดยไม่ลังเล น้ำยางติดหนังหัว ติดผม ขน แขน เราต่างก็รีบโกนกันไป พวกเรากะเทยสามจังหวัดชายแดนใต้โดนกระทำอย่างที่ได้กล่าวมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกือบทุกครั้งเราต้องยอม ทำอะไรไม่ได้เลย หรือทำได้ก็แค่กะเทยส่วนหนึ่งที่คิดสู้และปกป้องตัวเอง

"...ปัญหาส่วนใหญ่ของพี่ๆ ทั้งสามภาค โดยรวมแล้วคือปัญหาขัดแย้งกับครอบครัวและสังคมเท่านั้นเอง ต่างจากเราภาคใต้ ปัญหาใหญ่นอกจากสังคม ครอบครัวแล้ว ยังมีศาสนาที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างความเป็นตัวเราและศาสนาที่นับถือ นั่นคือเรื่องละเอียดอ่อนมากๆ พี่ๆ สามภาคยังพุดเลยว่า ปัญหาของพี่ที่ว่าใหญ่แล้ว เจอปัญหาน้องๆ ภาคใต้ คือใหญ่มากยิ่งกว่า..."

ข้อความที่กะเทยมุสลิมคนหนึ่งส่งถึงบุษยมาส อิศดุล หรือที่เยาวชนหลายคนในพื้นที่ยะลาเรียกเธอว่า แม่แอน บ้านบุญเต็ม ที่คอยให้ความช่วยเหลือแก่เยาวชนที่เป็นคนหลากหลายทางเพศในพื้นที่ยามเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ขมขื่นในชีวิตเพียงเพราะเพศที่แตกต่าง

กรณีข้างต้นตอกย้ำว่าการทำร้ายร่างกายคนหลากหลายทางเพศมีอยู่จริง มิติทางศาสนาและวิถีชีวิตในพื้นที่ทวีความซับซ้อนของปัญหานี้ บุษยมาสเล่าว่า ทอมบางรายถูกเจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายร่างกายแต่ไม่ยอมแจ้งความเอาผิด หวั่นเกรงอำนาจอิทธิพลนั่นส่วนหนึ่ง แต่ไม่เท่าหวั่นกลัวว่าทางบ้านจะรับรู้อัตลักษณ์ทางเพศของตน

............

ย่านตัวเมืองปัตตานียามเย็น ณ ริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี เสียงอาซานหรือเสียงเรียกละหมาดดังแผ่คลุมเวิ้งน้ำทั้งสองฟาก ดังที่รู้ การละหมาดคือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวมุสลิม คือการปฏิบัติศาสนกิจที่มุสลิมที่ดีไม่อาจละเลย มุสลิมที่ระบุอัตลักษณ์ทางเพศของตนเป็นกะเทยเช่นเธอข้างบนนั้น ในสายตาของคนในชุมชน การเป็นกะเทยกับการเป็นมุสลิมที่ดีไม่สามารถอยู่ในตัวคนคนเดียวได้

คัมภีร์อัลกุรอานบัญญัติว่า พระผู้เป็นเจ้าสร้างมนุษย์ให้มีเพียงสองเพศเท่านั้นคือชายและหญิง เพศนอกเหนือจากนี้คือบาป

ศาสนาพุทธแบบรัฐไทยเองก็ไม่ให้การยอมรับคนหลากหลายทางเพศ เพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องผิดศีลธรรม แต่อิทธิพลของศาสนาพุทธกลับไม่ส่งผลต่อชีวิตคนกลุ่มนี้มากนัก ส่วนหนึ่งอาจเพราะสังคมไทยให้การยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ศาสนาพุทธมีระยะห่างจากชีวิตประจำวันผู้คน ซึ่งแตกต่างจากอิสลามที่แทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งกับวิถีชีวิต

งานสำรวจ 'การเคารพคนข้ามเพศเปรียบเทียบกับการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ ประสบการณ์ทางสังคมของคนข้ามเพศในประเทศไทย' ที่จัดทำโดยเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 202 คน ร้อยละ 77 สามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศในสถาบันศาสนาได้ตลอดเวลา ร้อยละ 8 สามารถเปิดเผยได้ในบางเวลา

ผู้ตอบแบบสอบถาม 161 คน ร้อยละ 42 เห็นว่าอัตลักษณ์ทางเพศของตนได้รับการให้คุณค่าในชุมชนและสถาบันทางศาสนา ขณะที่ร้อยละ 58 ไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น งานชิ้นดังกล่าวยังระบุอีกว่า ร้อยละ 97 ไม่เคยถูกปฏิเสธห้ามไม่ให้เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา ร้อยละ 1 เข้าร่วมได้แต่ต้องปิดบังความเป็นคนข้ามเพศ และร้อยละ 2 ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม

.............

ปืน 413 กระบอกถูกปล้นในคืนวันที่ 4 มกราคม 2547 จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์หรือค่ายปิเหล็ง ตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส มันถูกตอกหมุดหมายเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งใหม่ จวนเจียน 14 ปี สันติภาพยังห่างไกล

ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ อัตลักษณ์ความเป็นมลายู ความเป็นปัตตานี ความเป็นมุสลิม ทับซ้อน เกาะเกี่ยวกันจนยากที่คนนอกจะเข้าใจ ฝั่งนักวิชาการก็ไม่แน่ว่ามีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว ทว่า สิ่งที่พอจะระบุได้ก็คือ อัตลักษณ์คืออีกแนวรบหนึ่งที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับสยามหรือซีแย

สนทนากับผู้คนในปัตตานี คำว่า ซีแยมาจากคำว่าสยามก็จริง แต่ดูจะกินความไปถึงความเป็นคนนอกศาสนาอิสลามด้วย ผมมีข้อสันนิษฐานว่า กว่า 13 ปีของเหตุการณ์ความไม่สงบ อัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมถูกขับเน้นให้เข้มข้นขึ้นเพื่อบอกว่า ฉันเป็นใครและคุณไม่เหมือนฉัน วิถีปฏิบัติที่คลุกเคล้ากันอยู่ระหว่างจารีตวัฒนธรรมท้องถิ่นกับหลักการของอิสลามเปลี่ยนไป ประการหลังมีอิทธิพลมากขึ้น ชีวิตทางศาสนาเคร่งครัดและแน่นหนาขึ้น

มนุษย์ไม่ได้สวมใส่อัตลักษณ์เพียงหนึ่งเดียว หากอัตลักษณ์ต่างๆ ในตัวพอจะไปทางเดียวกันได้ ชีวิตคงไม่ยาก แต่ถ้าอัตลักษณ์สองอัตลักษณ์ (หรือมากกว่านั้น) ปะทะกันรุนแรง ยากประนีประนอม บางครั้งโศกนาฏกรรมก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

อันธิฌา แสงชัย จากคณะคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์และเจ้าของร้านหนังสือบูคู มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐาน

"ในตัวบทคัมภีร์ของศาสนาอิสลามมีการระบุไว้อย่างเข้มแข็งชัดเจนถึงความบาปของแอลจีบีทีหรือคนที่รักเพศเดียวกัน เมื่ออัตลักษณ์ทางศาสนาเข้มข้นมากขึ้น เรื่องเพศจึงละเอียดอ่อนและมีความสำคัญมากขึ้นมาทันที เพราะถ้าที่สิ่งที่อยู่ในคัมภีร์ไม่ถูกให้ความสำคัญก็แปลว่ามันอ่อนแอ คนที่พยายามสร้างความเป็นอิสลามที่เข้มข้นในพื้นที่ จึงผลักหลายสิ่งอย่างที่ไม่ได้รับการรับรองในตัวบทออกไป"

โดยทั่วไปคัมภีร์ในทุกศาสนาจะมีการถกเถียง การตีความที่หลากหลาย ต่อสู้ ต่อรองทางความคิดในการตีความ ซึ่งอันธิฌาเห็นว่ามิตินี้ในช่วงหลังๆ ขาดหายไปจากพื้นที่ ส่วนหนึ่งเพราะความต้องการย้อนกลับไปยึดมั่นกับตัวคัมภีร์แบบแน่นหนา แต่ก็ถูกผูกขาดโดยคนบางกลุ่ม ไม่มีวัฒนธรรมที่เปิดกว้างให้ถกเถียงเรื่องนี้

"มันเปราะบางมากๆ เพราะเขาจะเข้าใจว่าถกเถียงแปลว่าอ่อนแอ แปลว่าไม่เชื่อ ไม่ศรัทธา ซึ่งเรื่องศรัทธาในศาสนาเป็นเรื่องใหญ่มาก ดังนั้น เวลาที่เราอยากตั้งคำถามบางเรื่องจึงถูกเลี่ยงหรือไม่จำเป็นจริงๆ คงไม่ทำ

"เด็กรุ่นใหม่จะบอกว่าคัมภีร์ระบุแบบนี้ คนแบบนี้ผิด เราจะเห็นได้ชัดเจนมากกับเยาวชนมุสลิมรุ่นใหม่ในสามจังหวัดซึ่งต่างจากที่อื่นที่มีการปรับตัว ตอบคำถาม หรือประนีประนอมกับวัฒนธรรมอื่นได้มากกว่า ที่นี่เรากลับไม่ค่อยเห็นเด็กที่กล้าตั้งคำถามกับจารีต กับชุมชน กับวัฒนธรรมของตนเอง หรือความผิดพลาดล้มเหลวที่เกิดในชุมชนโดยผู้นำของตนเอง แต่จะวิพากษ์วิจารณ์โลกข้างนอก คุณค่าแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่คุณค่ากระแสหลักในสามจังหวัด และมองว่าคนที่นี่ถูกกดขี่แบบมิติเดียว เขาเกิดมาในสภาพที่มีความรุนแรงและยาวนานมา 13 ปี ถูกหล่อหลอม มองเห็นความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่มากมาย แต่คำตอบที่เกิดขึ้นคือการทำให้เป็นอิสลาม (Islamization) การปฏิเสธความเป็นสมัยใหม่ ปฏิเสธสิ่งอื่นที่เขาคิดว่าเข้ามาคุกคาม เข้ามาทำให้สังคมเขาอ่อนแอ" เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ของอันธิฌา

.............

ประโยคแรกในคัมภีร์อัลกุรอานบัญญัติไว้ว่า 'ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ' เป็นประโยคที่กระจายอยู่ตลอดทั้งเล่ม

"ในตัวบทคัมภีร์ของศาสนาอิสลามมีการระบุไว้อย่างเข้มแข็งชัดเจนถึงความบาปของแอลจีบีทีหรือคนที่รักเพศเดียวกัน เมื่ออัตลักษณ์ทางศาสนาเข้มข้นมากขึ้น เรื่องเพศจึงละเอียดอ่อนและมีความสำคัญมากขึ้นมาทันที เพราะถ้าที่สิ่งที่อยู่ในคัมภีร์ไม่ถูกให้ความสำคัญก็แปลว่ามันอ่อนแอ คนที่พยายามสร้างความเป็นอิสลามที่เข้มข้นในพื้นที่ จึงผลักหลายสิ่งอย่างที่ไม่ได้รับการรับรองในตัวบทออกไป"

อันธิฌาพูดกับผมว่า ในคัมภีร์พูดถึงความหลากหลายทางเพศน้อยมากก็จริง ถึงกระนั้น คำว่าความเมตตา ความรัก ภราดรภาพกลับมีอยู่มากมาย แต่กลายเป็นว่าคำเหล่านี้ถูกละเลย ส่วนตัวเธอไม่ได้คิดว่าศาสนาคือสาเหตุหลักของปรากฏการณ์ความรุนแรง การกีดกัน การเลือกปฏิบัติ หรือความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มแอลจีบีที แต่เป็นเพราะจารีตทางสังคมมากกว่า เนื่องจากเธอเองก็ประสบพบเจอสังคมมุสลิมที่ก้าวหน้าในการนำหลักศาสนาไปแก้ปัญหาทางเพศในสังคมสมัยใหม่และเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ

"เราคิดว่าเวลาพูดว่าจารีต คงเป็นความเข้าใจเรื่องจารีตผ่านคนบางกลุ่มมากกว่า ถ้าระดับชาวบ้านจริงๆ ที่อยู่ในชุมชน เราพบน้องบางคนที่มาเตะบอล เป็นทอม ไม่ใส่ฮิญาบ เตะในหมู่บ้าน เติบโตที่นั่น มีแฟนเป็นผู้หญิง เขาก็อยู่ได้ในชุมชน มันก็มีพื้นที่ที่ยืดหยุ่นและต่อรองกัน ของแบบนี้มีมานานมากก่อนความเข้มข้นของจารีต ของศาสนาที่อ้างกันทุกวันนี้ พอเข้มข้นมากๆ ของแบบนี้ถูกบอกว่ามีไม่ได้ นี่ต่างหากคือสิ่งที่เกิดขึ้น"

...............

"แอลจีบีทีเป็นคำที่เกิดมาใหม่ ถ้าดูสภาพของมนุษย์ อิสลามยอมรับสภาพของแต่ละคน พระเจ้าได้สร้างให้เป็นอย่างนี้แล้วก็ไม่เป็นไร ยอมรับได้ แต่ถ้ากระทำสิ่งที่ผิดต่อประเวณี สิ่งที่ผิดต่อกฎของมนุษย์ ผู้ชายปฏิบัติตนเป็นผู้หญิง ผู้หญิงปฏิบัติตนเป็นผู้ชาย อันนี้ต่างหากที่อิสลามรับไม่ได้ เพราะในอิสลามมีมนุษย์ประเภทหนึ่งที่พระเจ้าสร้างให้มีสองอวัยวะเพศในคนเดียวกัน ถ้าเกิดปัญหานี้ก็ต้องยอมรับในสภาพของคนนั้น แต่ต้องดูความต้องการของเขาว่าต้องการเป็นสภาพไหน ถ้าเขาเอนไปทางฝ่ายชายก็ต้องทำพิธีกับเขาเหมือนผู้ชาย แต่ถ้าเขาต้องการเป็นผู้หญิง ก็ต้องทำกับเขาเป็นผู้หญิง" อาฮามัดกาแม แวมูซอ รองประธานคณะกรรมอิสลาม ประจำจังหวัดปัตตานี ผู้อำนวยการโรงเรียนศาสนูปถัมภ์ กล่าว

ผมสอบถามถึงหลักการอิสลามว่าด้วยความหลากหลายทางเพศจากอาฮามัดกาแมในห้องทำงานของเขาที่โรงเรียนศาสนูปถัมภ์ ผมถามตรงๆ ว่า ในศาสนาอิสลามการเป็นกะเทยยอมรับได้หรือไม่ เขาตอบว่า

"ยอมรับได้ เพราะในอิสลามมีข้อปฏิบัติทางศาสนาอยู่แล้ว คุณเป็นผู้ชาย คุณปฏิบัติทางศาสนาอย่างการละหมาดหรือการกระทำต่างๆ คุณจะปฏิบัติอย่างไร อันนี้ต้องชัดเจน ถ้าเขาเป็นกะเทย แต่ความเป็นจริงเขาเป็นผู้ชาย ก็ต้องปฏิบัติกับเขาแบบผู้ชาย ทำพิธีเหมือนผู้ชาย แต่อย่าไปกระทำในสิ่งที่ผิด เช่น ร่วมเพศกับเพศเดียวกันจะมีโทษ แต่บุคคลไม่มีปัญหา ยอมรับได้"

การเป็นกะเทยเป็นเรื่องตัวบุคคลที่อาฮามัดกาแมบอกกับผมว่า ยอมรับได้ แต่เมื่อใดที่ล่วงเลยไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันย่อมถือเป็นบาป เป็นข้อห้าม

"การแปลงเพศก็เป็นบาป แต่นั่นเป็นความผิดส่วนตัวที่ไปปรับเปลี่ยน ข้อเท็จจริงคือเขายังเป็นผู้ชาย ก็ต้องละหมาดแบบผู้ชาย"

หลักการอิสลามยังมีพื้นที่ให้กับคนหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นกะเทย แต่กับทอมดูเหมือนจะมีแนวคิดที่ต่างออกไป อาฮามัดกาแมบอกกับผมว่า กะเทยคือ 'สภาพ' ดั้งเดิมของคนคนนั้น ขณะที่ทอมเป็น 'พฤติกรรม' ที่เกิดจากอิทธิพลของสื่อ จากสิ่งแวดล้อม จากครอบครัวที่ไม่มั่นคง

"พอเราจับได้ (หมายถึงนักเรียนในโรงเรียน) ก็เรียกมาคุย คุยไปคุยมาก็อยู่ในความดูแลผมตลอด สักปีกว่าพฤติกรรมแบบนี้ก็หมดไป ไม่มีปัญหา ทอมไม่เหมือนกะเทย ไม่ใช่สภาพ เพียงแต่เกิดจากพฤติกรรมที่จะโชว์หรือประชดอะไรสักอย่างในสังคมหรือครอบครัวจึงเป็นแบบนี้ ที่เยอะคือไบเซ็กช่วล บางวันเป็นผู้หญิง บางวันเป็นผู้ชาย ไม่ได้เกิดจากสภาพดั้งเดิม แต่เป็นการกระทำชั่วคราว เกิดจากความรู้สึก ถ้าเป็นนักเรียนก็มาปรับนิสัยกัน เราก็มีวิธี

"ปีนี้มีคู่หนึ่ง เพิ่งได้รับข้อมูล กำลังจะเรียกตัวมา เป็นเด็ก ม.2 ม.3 เป็นผู้หญิงกับผู้หญิงกอดจูบกัน เราเรียกตัวมา เชิญผู้ปกครองมาคุยด้วย ก็ให้เวลาปรับตัว แยกกัน ก็ไม่มีปัญหา เพราะการเป็นทอมไม่ใช่สภาพ เป็นพฤติกรรมชั่วคราว"

................

ถามต่อว่าเคยได้ยินเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายคนหลากหลายทางเพศในพื้นที่หรือไม่

"รู้ว่ามีการทำร้ายร่างกาย ในสังคมโรงเรียนก็ถูกทำร้ายร่างกาย แต่ไม่มาก มีการรังแก ทำร้ายความรู้สึก เราก็พยายามดูแล และพยายามไม่ให้สภาพของเขาเลยเถิดไปสู่การกระทำ ก็ต้องสกัดไว้ อยู่ได้ เรารับได้ จะแสดงออกก็ได้ เวลามีงานแสดงโรงเรียนก็มีกลุ่มของเขาที่ออกมากรี๊ดกร๊าด เราก็ให้โอกาส เพียงแต่ว่าอย่าเกินเลยจากสภาพที่มีอยู่ เช่น แต่งตัวเป็นผู้หญิงไม่ได้ อิสลามตั้งกฎไว้อย่างนั้น เพราะสภาพของคนเราไปบังคับไม่ได้ แต่การกระทำต่างหากที่เราต้องดู"

อาฮามัดกาแมบอกว่าเหตุการณ์ทำนองนี้มีไม่มาก อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศเวลาเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมักไม่ค่อยเปิดเผย ปิดตัวกันอยู่ในกลุ่ม ทำให้ไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่ชัดว่ามีการทำร้ายร่างกายมากน้องเพียงใด

"แต่ถ้าอยู่ในสังคมโรงเรียนหรือหมู่บ้าน เราพยายามที่จะดูแล ถ้ามีกลุ่มนี้ขึ้นมา เราก็ต้องดูแล อย่าให้เลยเถิดเป็นการกระทำที่ไม่ดี ก็อยู่ได้ และพยายามให้เข้ากับสังคม ตัวอย่างเช่นในโรงเรียน บางคนมีพฤติกรรมแรงขึ้นเรื่อยๆ เราก็พยายามให้ความรู้ ส่วนมากช่วง ม.5 ม.6 จะกลับตัวเป็นผู้ชาย"

การทำร้ายร่างกายไม่ว่าจะกะเทยหรือทอม ในหลักการอิสลาม อาฮามัดกาแมยืนยันว่าเป็นการกระทำที่เป็นบาป

"เราสามารถห้ามได้ แต่ไม่ใช่การทุบตี ห้ามโดยการเผยแพร่ ใช้กฎระเบียบ กฎหมาย เพราะมุสลิมต้องรับผิดชอบ หากเห็นสิ่งที่ชั่วร้าย แล้วจะเฉยเมยไม่ได้ ต้องรับผิดชอบ ต้องห้าม แต่การห้ามไม่ใช่การไปทำร้าย มี 3 ระดับคือการพูดคุย การเข้าไปหา และการใช้กฎระเบียบ เพราะเขาก็เป็นมุสลิมคนหนึ่ง เราต้องพูดคุย เพราะการทำบาปของคนหนึ่งคือการหลงผิดทาง เราต้องดึงเขากลับมาโดยทิศทางที่ท่านศาสดาได้ชี้แนะ ถ้ามุสลิมทำร้ายกะเทยมุสลิมก็ใช้กฎหมายบ้านเมือง ยิ่งไปข่มขืนทอมเพราะเชื่อว่าจะกลับเป็นผู้หญิง นี่ก็ห้ามเด็ดขาด เป็นการผิดประเวณี ร่วมประเวณีโดยไม่ได้แต่งงาน บาปใหญ่เหมือนกัน"

อาฮามัดกาแมยกคำพูดว่า เราไม่สามารถนำน้ำสกปรกไปล้างสิ่งสกปรกได้

ดังนั้น มุสลิมไม่สามารถทำร้ายผู้อื่นได้ แม้คนคนนั้นจะเป็นคนหลากหลายทางเพศที่หลักศาสนาระบุว่าบาป แต่นั่นก็เป็นบาปส่วนบุคคล พวกเขายังสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ตามสภาพเพศเดิม

"แต่ห้ามแต่งงานกับเพศเดียวกัน" นี่คือกฎเหล็ก

(ตอนต่อไป พบกับวิธีที่คนหลากหลายทางเพศจัดการกับการปะทะขัดแย้ง เมื่ออัตลักษณ์ทางเพศและมิติทางศาสนาขัดแย้งกัน พวกเขาหาทางออกจากจุดนี้อย่างไร)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ดราม่ากับการเปลี่ยนรูปสังคม

Posted: 19 Oct 2017 12:57 AM PDT




โฆษณาของสำนักงานสลากกินแบ่งที่ผมได้เห็นทางทีวี ย้ำความซื่อสัตย์โปร่งใสในการดำเนินงาน มีภาพการออกสลากที่มีกระบวนการที่ทำให้เจ้าหน้าที่และกรรมการที่เชิญมา จะล็อกเลขไม่ได้ง่ายๆ

แต่นักเล่นจำนวนมากที่ผมได้พบต่างก็เชื่อว่า เฮ้ย หวยล็อกทั้งนั้นแหละ จะใครล็อก ล็อกอย่างไร และล็อกทำไม ต่างคนต่างกลุ่มก็มีเรื่องเล่าของตน ซ้ำกันบ้างไม่ซ้ำกันบ้าง บางเรื่องที่เล่ากันก็โลดโผนจนน่าตกใจ

กระเทือนต่ออุปสงค์ของหวยรัฐบาลหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่กระเทือนอะไรทั้งสิ้น เพราะแม้แต่คนที่เชื่อว่าหวยถูกล็อก ก็ยังซื้อทุกงวดอย่างไม่ลังเล

ผมถามเขาว่า ถ้าเชื่อว่าล็อกแล้วจะซื้อทำไม คำตอบของเขามีตรรกะกว่าคำถามของผมตั้งแยะ เขาบอกว่าล็อกก็ออกเลขหนึ่ง ไม่ล็อกก็ออกเลขหนึ่ง ทั้งสองอย่างคือเลขที่เขาต้องเสี่ยงเท่ากัน และเขาก็ประกันความเสี่ยงไว้อย่างสุดความสามารถแล้ว นับตั้งแต่ตีใบ้หวยของอาจารย์ หรือขูดต้นไม้มาหมดแล้ว

จริงของเขานั่นแหละ แต่ก่อนเมื่อเป็นหวย ก. ข. นายบ่อนเป็นคนเลือกพยัญชนะเอาเอง เขาก็ยังเล่นกันมาแล้ว การแทงหวยคือแทงใจนายบ่อน หรือแทงใจคนล็อกเลขต่างหาก ใครบอกว่าแทงตัวอักษรหรือตัวเลขกันเล่า

แต่ถ้าหวยรัฐบาลถูกล็อกจริง ย่อมหมายความว่ามีบางคนเอาเปรียบคนอื่น อย่างน้อยก็ไม่ต้องคอยขูดต้นไม้ ร้ายไปกว่านั้นก็คือเมื่อรัฐบาลเป็นเจ้าของ แต่กลับปล่อยให้มีการล็อคเลขรางวัลได้ เราจะปล่อยให้รัฐบาลที่ไว้ใจไม่ได้เช่นนี้ไปทำอะไรอื่นที่สำคัญกว่าออกหวยได้อย่างไร

ผมอยากเดาว่า เขาคงเห็นด้วยหมดนั่นแหละ และหากผมจะไปทำอะไรเพื่อให้เลิกล็อกหวย เขาก็คงอวยพรให้ผมโชคดี แต่เขาจะแทงหวยต่อไป ไม่ว่าจะล็อกหรือไม่ล็อก เผื่อโชควิ่งมาหาเขา ถ้าเขาไม่ได้เปิดประตูนำโชคไว้ โชคที่ไหนมันจะปีนรั้วเข้ามาล่ะครับ

น่าสังเกตจากคำตอบของเขา (ซึ่งที่จริงไม่ใช่คำตอบของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ประมวลมาจากคำตอบ-คำสนทนากับนักแทงหวยหลายคน) ว่าโชคเป็นเกือบเหมือนกับพลังธรรมชาติ คือมันทำงานของมันเองเหมือนฟ้าผ่า มันจะผ่าลงกระบาลใครก็ได้

แต่ก็ไม่เชิงเสียทีเดียว ถ้าเรามีความรู้บ้างก็พอจะหลีกเลี่ยงหรือเหนี่ยวนำโชคได้บ้าง เหมือนฟ้าผ่าแหละครับ อย่าออกไปยืนกลางทุ่งยามฟ้าคะนองก็คือเลี่ยงถูกฟ้าผ่า หรือทำสายล่อฟ้าคือเหนี่ยวนำให้ผ่าให้ถูกที่ แต่ความรู้ที่จะกำกับควบคุมโชค หรือรู้ว่าโชคและฟ้าผ่าจะอยู่ที่ไหน เป็นความรู้เกี่ยวกับพลังอื่นๆ ที่อยู่เหนือโชคอีกทีหนึ่ง พลังนั้นอาจมาจากเทพารักษ์, ลูกวัวห้าขา, พระภิกษุที่มีวิทยาคุณ, กฎแห่งกรรม, หรือการภาวนาในรูปใดรูปหนึ่งจนเกิดพลังที่อาจกำกับโชคได้

มิน่าเล่า เขาถึงบอกว่าไสยศาสตร์คือแม่ของวิทยาศาสตร์

น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า การกำกับโชค (ดีหรือร้ายก็ตาม) เป็นภาระของแต่ละคนจะต้องช่วยตัวเอง วิ่งหาพระ, เจ้าพ่อ, หมอผี, หรือทำบุญให้ทานเอาเอง ไม่มีพลังอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากในโลกปัจจุบันมาช่วย นั่นคือพลังทางสังคมที่จะกำกับควบคุมพลังอื่นๆ ที่อยู่นอกตัวเรา

ถ้าอย่างนั้น ตลอดประวัติศาสตร์ไทยก็ไม่น่าจะมีความเคลื่อนไหวทางสังคม โดยมีหรือไม่มีการจัดตั้งเบื้องหลังเลยก็ตาม ใช่หรือไม่

แต่เท่าที่ความรู้ของผมมี มันไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ พอมีเหมือนกัน และอาจจะหลายครั้งพอสมควรด้วย ขอพูดถึงเพียงสองสามเรื่อง

ในปลายสมัยพระนารายณ์ครั้งกรุงศรีอยุธยา บาทหลวงฝรั่งเศสคนหนึ่งรายงานว่า ประชาชนตั้งแต่ลพบุรีลงมาถึงอยุธยา ต่างถือมีดถือไม้ออกมาแสดงความโกรธเคืองพวกเข้ารีต, นักสอนศาสนา และฟอลคอนซึ่งตามความเข้าใจของชาวบ้านคือต้นเหตุของการเผยแผ่ศาสนาเข้ารีตในเมืองไทย

บาทหลวงฝรั่งเศสคนนั้นไม่ได้เข้าใจว่าเป็นม็อบจัดตั้ง แต่เกิดขึ้นโดยความพร้อมใจของประชาชนเอง (ได้ยังไงท่านก็ไม่ได้บอกไว้)

กบฏคนเล็กคนน้อยที่เกิดขึ้นบ่อยในปลายอยุธยา คงเป็นส่วนผสมของทั้งกบฏไพร่, กบฏชาวนา กบฏพระศรีอาริย์, และกบฏขุนนางเล็กๆ ระดับท้องถิ่น ปะปนกันไปอย่างแยกไม่ออก นี่ก็น่าจะเป็นความเคลื่อนไหวทางสังคมเหมือนกัน แม้ต้องมีการจัดตั้งอยู่เบื้องหลังบ้างเป็นปรกติของความเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งหลายในโลก

แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า ความเคลื่อนไหวที่เป็นกลุ่มก้อน และมีเป้าหมายที่ชัดเจน จนสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยๆ ในสังคมไทย หากจะเกิดขึ้นก็เพราะมีคนใหญ่คนโตบางคนหรือบางกลุ่ม ฉวยใช้การเคลื่อนไหวของประชาชนไปเป็นประโยชน์ทางการเมืองตน

ตรงกันข้ามกับที่ไม่ค่อยเชื่อว่าพลังทางสังคมอาจเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาได้ ก็คือไม่ค่อยเห็นความสำคัญของสังคมว่าเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาได้ เราเห็นบุคคลเป็นทั้งตัวปัญหาและแก้ปัญหามากกว่า คนไม่ดีได้อำนาจจึงทำให้บ้านเมืองไม่ก้าวหน้า วิธีแก้ก็คือหาคนดีมามีอำนาจแทน และป้องกันมิให้คนไม่ดีได้อำนาจอีกเลย

นอกจากวิธีคิดแบบนี้จะทำให้คนจำนวนมากต่างอ้างตัวเองว่าเป็นคนดีเพื่อเข้าถึงอำนาจ (และทรัพย์ด้วย) แล้ว ยังเป็นเหตุที่ทำให้วิชาสังคมศาสตร์ไม่ค่อยได้รับความสำคัญ เพราะสังคมศาสตร์ตั้งอยู่บนสมมติฐานเบื้องต้นว่าปรากฏการณ์ทางสังคมที่อยู่รอบตัวเรา ไม่น้อยไปกว่าปรากฏการณ์ธรรมชาตินั้น มีกำเนิดมาจากปัจจัยทางสังคมหลากหลายอย่าง ที่ทำกิริยาและปฏิกิริยาต่อกันอย่างสลับซับซ้อน ถ้าไม่ยอมรับสมมติฐานนี้ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปรู้ว่าเขานับญาติกันอย่างไร สิ่งที่เขายึดถือว่าเป็นอัตลักษณ์ของตัวเขาคืออะไร และทำไมจึงไปยึดถืออย่างนั้น ฯลฯ

นอกจากสังคมศาสตร์ไม่เจริญก้าวหน้าในเมืองไทยแล้ว ประชาธิปไตยก็ไม่มีวันลงรากหยั่งลึกในประเทศนี้ได้เหมือนกัน เพราะประชาธิปไตยเป็นระบบเดียวในโลกที่ปลดปล่อยพลังทางสังคมให้ออกมาปฏิบัติการอย่างเต็มที่ที่สุด ไม่ใช่เพื่อให้ประเทศปลอดโกง หรือหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง หรือปฏิรูปอะไรทั้งนั้น แต่เพื่อทำให้เกิดการถ่วงดุลกันเองระหว่างกลุ่มต่างๆ จนกระทั่งประเทศจะไม่อาจเดินไปทางที่สุ่มเสี่ยงเกินไปได้

ในสังคมสมัยใหม่ พลังทางสังคมแสดงออกได้ด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ต่างๆ ที่สำคัญคือการสื่อสารคมนาคมที่ข้ามกลุ่มเฉพาะไปยังสังคมวงกว้าง ดังนั้น สื่อเสรีเท่าเทียม, เวทีวิชาการเสรีเท่าเทียม, การอภิปรายทางการเมืองเสรีเท่าเทียม, การหาเสียงเสรีเท่าเทียม, การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเสรีเท่าเทียม, การชุมนุมเสรีเท่าเทียม ฯลฯ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดพลังทางสังคมในสังคมสมัยใหม่ได้ พลังทางสังคมทำงานได้ ประชาธิปไตยก็เดินต่อไปได้ อะไรที่สุดโต่งสุ่มเสี่ยงเช่นการรัฐประหารก็เกิดไม่ได้

(ผมขอออกนอกเรื่องตรงนี้ด้วยว่า เราชอบคิดว่ารัฐประหารสุ่มเสี่ยงตรงที่เป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษสูง หากพลาดก็ต้องรับโทษหนัก แต่ที่จริงความสุ่มเสี่ยงในการยึดอำนาจ แม้แต่ยึดเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตย เกิดแก่สังคมโดยรวม เพราะผู้ยึดอำนาจย่อมไม่ปล่อยให้พลังทางสังคมทำงานอย่างเต็มที่ และมักดำเนินนโยบายสุ่มเสี่ยงต่างๆ เพื่อรักษาอำนาจที่ไม่ชอบธรรมของตนไว้ แม้แต่คณะราษฎรเองก็แปรผันไปสู่แนวโน้มเผด็จการในระยะเวลาไม่นาน เพราะปฏิปักษ์ปฏิวัติมุ่งทำลายล้างคณะราษฎรด้วยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญทุกอย่าง)

แต่ก็อย่างที่เรารู้อยู่แล้ว เครื่องมือของสังคมสมัยใหม่เหล่านี้ถูกขัดขวางไม่ให้พัฒนาไปอย่างเต็มที่ในสังคมไทยตลอดมา ตกอยู่ในสภาพพิกลพิการ จนไม่อาจรองรับความเคลื่อนไหวโดยสงบในสังคมไทยได้ สังคมไทยปัจจุบันกับสังคมไทยสมัยพระนารายณ์อาจไม่ต่างกัน หากจะมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีผลถึงขั้นเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ก็ต้องผ่านความรุนแรง เคลื่อนไหวกันด้วยอารมณ์โกรธเกลียด โดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นไปได้อย่างไร

อย่างสำนวนของสื่อโซเชียลว่า "ดราม่า" นั้น ใช่เลย

ใช่ว่าการเคลื่อนไหว "ดราม่า" จะไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเสียเลย อาจเกิดก็ได้ แต่เกิดในทิศทางที่ไม่มีใครคาดหวังมาก่อน เพราะการเคลื่อนไหว "ดราม่า" ไม่มีแผนการอนาคตที่ชัดเจนแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการวางแผนลำดับขั้นตอนเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นๆ จึงไม่แปลกที่การเคลื่อนไหวนั้นจะถูกฉวยใช้ไปเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจและ/หรือกำไรของตน

การเคลื่อนไหว "นกหวีด" เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด แม้ว่ามีการวางแผนของชนชั้นนำร่วมด้วย แต่ด้วยกำลังอำนาจของ "ดราม่า" ต่างหาก ที่ทำให้มีผู้เข้าร่วมอย่างล้นหลามเช่นนี้ แล้วในที่สุดก็มีผู้ฉวยใช้ประโยชน์ของความเคลื่อนไหว "ดราม่า" นี้ไปในทางการเมืองจนได้

ท่ามกลางความอยุติธรรมที่เราประสบอยู่ ความอยุติธรรมในทุกทาง-กระบวนการยุติธรรม, เศรษฐกิจ, การเมือง, สถานภาพทางสังคม, ฯลฯ – จะเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร ก็คงต้องมีความเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างใหญ่อีกนั่นแหละ แต่หากมองจากวัฒนธรรมไทยตั้งแต่ปลายอยุธยามาจนถึงปัจจุบัน ก็เป็นการเคลื่อนไหว "ดราม่า" อีกเหมือนเคย ซึ่งก็คงมีคนบางกลุ่มฉวยใช้ความเคลื่อนไหวนั้น เพื่อประโยชน์ส่วนตนอย่างที่พระเพทราชาเคยทำมาแล้ว

ถึงจะมีความเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ก็ไม่มีวันถึงรากถึงโคนพอที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนไปได้มากนัก "ดราม่า" ที่ไหนๆ ก็ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนรูปของสังคมได้จริงทั้งนั้น

 

ที่มา: MatichonWeekly.com

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รุมอัด คู่กรณี Max Nano อ้างเคืองนั่งกระดิกเท้า ขณะผับเปิดเพลงอาลัย ร.9

Posted: 19 Oct 2017 12:43 AM PDT

จตุพร คู่กรณี Max Nano ถูกรุมอัด ผู้ก่อเหตุอ้างอีกฝ่ายนั่งกระดิกเท้าตามเสียงดนตรี ที่ทางร้านเปิดเพลงแสดงความอาลัย ในหลวงรัชกาล ที่ 9 ถาม ใช่คนที่มีเรื่องกับ Max Nano ไหม? และถามอีกว่า ทำไมมึงไม่รักในหลวง ? ก่อนปรี่เข้าทำร้าย 

19 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (18 ต.ค.60) เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม' โพสต์ภาพพร้อมขอ้ความระบุว่า หลังจากที่ให้ผู้เสียหาย หรือน้องไก่ (จตุพร จันทจิตร์) เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่มาทำร้ายร่างกาย คู่กรณี สองพี่น้องได้มาที่โรงพักเพื่อแสดงความรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยทางชมรมฯ ได้สอบถามถึงสาเหตุที่ได้มีการรุมทำร้ายน้องไก่ สรุปก็คือเกิดจากความเมา และจำได้ว่าน้องไก่ เคยออกรายการทีวีเกี่ยวกับ max nano จึงร่วมกับน้องชายรุมทำร้ายเพราะหมั่นไส้ หาว่านั่งกระดิกเท้าใส่ โดยยินดีชดใช้ค่าเสียหายให้ และขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ เมฆ มังกรบินแต่อย่างใด

วันนี้ (19 ต.ค.60) เว็บไซต์เรื่องเล่าเช้านี้ รายงานรายละเอียดว่า จตุพร ได้เข้าแจ้งความตร.สภ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดยเล่าว่าเมื่อกลางดึก คืนวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนเดินทางมาจากบ้าน ใน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม มานั่งดื่มสังสรรค์ที่ร้านแห่งหนึ่ง ในอำเภออู่ทอง ดื่มอยู่สักพัก ก็มีชายแปลกหน้าเดินเข้ามาถามว่า ใช่คนที่มีเรื่องกับ..(ชื่อยี่ห้อ Max Nano)..หรือไม่ ตอนนั้นตนเข้าใจว่า อีกฝ่ายจำได้ จากการที่ตนไปออกรายการโทรทัศน์หลายรายการ จึงตอบไปว่าใช่ อีกฝ่ายจึงถามอีกว่า ทำไมมึงไม่รักในหลวง ก่อนปรี่เข้ามาทำร้าย หลังจากนั้นก็มีพรรคพวกของชายแปลกหน้าเข้ามารุมทำร้ายอีก รวมทั้งหมด 2 คน ตนจึงไม่เข้าใจว่า สาเหตุที่แท้จริง ที่ตนถูกทำร้ายนั้นมาจากเรื่องใด

ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อู่ทอง สืบสวนจนทราบตัวผู้ก่อเหตุทั้ง 2 ราย จึงนำตัวทั้งสองคนมาสอบสวน โดยทั้งสองรับสารภาพว่า คืนเกิดเหตุ พวกตนมานั่งดื่มสุราใกล้กับโต๊ะของจตุพร และได้ร่วมกันก่อเหตุทำร้ายร่างกายจตุพรจริง

รายงานข่าวระบุด้วยว่า สาเหตุที่เข้าไปทำร้าย เนื่องจากช่วงที่ร้านกำลังจะปิด ทางร้านเปิดเพลงแสดงความอาลัย ในหลวงรัชกาล ที่ 9 พวกตนเห็นว่าอีกฝ่ายนั่งกระดิกเท้าตามเสียงดนตรี เกิดความไม่พอใจ เห็นว่าอีกฝ่ายแสดงกริยาไม่เหมาะสม จึงได้ร่วมกันรุมทำร้ายร่างกาย จตุพร
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบ เพิ่มเติมแล้ว ทราบว่าทั้งคู่ไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า ของ เมฆ มังกรบิน และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมฆ มังกรบินแต่อย่างใด โดย จตุพร ยืนยันว่า ตอนเกิดเหตุ ตนไม่ได้กระดิกเท้าตามเสียงเพลง ตามที่คนร้ายกล่าวอ้างแต่อย่างใด โดยหนึ่งในผู้ก่อเหตุ ก็ได้มาเจรจาเรื่องค่าเสียหาย ตนได้เรียกค่าเสียหายไปเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท โดยทางผู้ก่อเหตุได้ขอต่อรอง ชดใช้ค่าเสียหาย 25,000 บาท
 
โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยไกล่เกลี่ย จตุพรจึงยินยอมรับค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว และไม่ติดใจดำเนินคดีต่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเปรียบเทียบปรับเป็นเงินคนละ 500 บาท ในข้อหาร่วมกันทำร้ายผู้อื่น ก่อนทั้งสองฝ่ายจะแยกย้ายกันไป
 
รายงานข่าวระบุจต่อว่า ในเวลาต่อมา ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม' มีการแก้ไขข้อความเพิ่มเติม เกี่ยวกับคดีดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นเรื่องไม่พอใจเกี่ยวกับการกระดิกเท้า ไม่เกี่ยวกับสารเคลือบเครื่องยนต์
 
ด้าน เกริกพล จงเอื้อมกลาง หรือ เมฆ มังกรบิน ก็ได้นำภาพโพสต์ของ ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ไปโพสต์ใน แฟนเพจของตัวเอง พร้อมเขียนข้อความเชิงประชดประชันว่า นี่ถ้าเมียท้อง ก็คงโทษผม และ..(ชื่อยี่ห้อ max nano)..เช่นเคย ทำไมไม่โทษตัวเองบ้างครับ เอาอย่างนี้ ผมขอโทษละกัน ที่เราเกิดมาโลกใบเดียวกัน
 
 
สำหรับ จตุพร  เดลินิวส์ รายงานว่า ก่อนหน้านี้ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที 20 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังจากเขาและผู้เสียหาย 10 ราย เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ธราดล เหมพัฒน์ รอง ผกก (สอบสวน)กก.6 บก.ป. เพื่อแจ้งความเอาผิดกับ เกริกพล จงเอื้อมกลาง หรือ "เมฆ มังกรบิน" เจ้าของผลิตภัณฑ์ สารหล่อลื่นยี่ห้อ "แม็กซ์ นาโน (Max Nano)" หลังจากนำผลิตภัณฑ์ สารหล่อลื่นยี่ห้อดังกล่าวไปเติมใส่ลงไปในเครื่องยนต์ แต่เครื่องยนต์รถกลับได้รับความเสียหาย โดยนำผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนเครื่องยนต์ที่เสียหาย มามอบให้ประกอบการพิจารณาคดี 
 
ขณะที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา Voice TV รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เผยผลการดำเนินการกรณี 'สารเคลือบเครื่องยนต์ Max Nano' โดยสคบ.ได้ดำเนินการส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และสถาบันยานยนต์เพื่อตรวจสอบในประเด็น ทั้งนี้ คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก พิจารณาประกอบคำชี้แจงของผู้ประกอบธุรกิจ Max Nano Super Series แล้วพบว่า มีความผิดโดยจัดทำฉลากสินค้าอันเป็นเท็จและบางส่วนไม่ถูกต้อง เห็นควรใช้อำนาจตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ มาตรา 33 ออกคำสั่งให้ยกเลิกใช้ข้อความบรรยายสรรพคุณดังกล่าวลงในฉลากผลิตภัณฑ์ และให้ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไขข้อความฉลากสินค้าให้ถูกต้อง 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์: ตื่นเต้นอะไรกับการ(ประกาศ)เลือกตั้ง

Posted: 19 Oct 2017 12:31 AM PDT

 

พอจะจับกระแสอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนได้อยู่ไม่ใช่น้อย หลังจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศเงื่อนเวลาในโรดแมปว่าจะมีการประกาศวันเลือกตั้ง และมีการเลือกตั้งในปีหน้า (หลังจากประกาศว่าจะไม่พูดเรื่องการเมือง หนึ่งวันก่อนนั้น?)

สื่อมวลชนไทยก็พากันตีปี๊บกันใหญ่ แล้วก็เริ่มตั้งคำถามว่าตกลงที่ประกาศนั้นจะ "จริง" หรือจะ "เลื่อนไปอีก" เหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา ที่เคยมีการประกาศมาก่อน แล้วก็เลื่อนมาหลายครั้ง

คำถามที่ไม่มีใครสนใจจะถามก็คือ ทำไมถึงมีการประกาศการเลือกตั้งในช่วงนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันกระแสสังคมนั้นยังอยู่ที่เรื่องของการตั้งคำถามว่าจะเปิดให้พรรคการเมืองนั้นมีกิจกรรมทางการเมืองอย่างเปิดเผยและเป็นทางการเมื่อไหร่ และระบอบรัฐประหารนี้เพิ่งปฏิเสธเสียงแข็งว่ายังไม่ใช่ช่วงนี้

สังคมไทยวันนี้จึงมีพฤติกรรมการเสพสื่อแบบใหม่ นั่นก็คือ เสพสื่อกระแสหลักในฐานะกระบอกเสียงของรัฐบาล และเสพสื่อโซเชียลในฐานะการตั้งคำถามและการเสนอคำตอบให้กับสังคม และก็หันมาเสพสื่อกระแสหลักอีกทีว่าจะตีพิมพ์ข้อมูลอะไรจากสื่อโซเชียลที่เรายังไม่ได้อ่านบ้าง (ตกลงสื่อกระแสหลักก็ทำหน้าที่เหมือนเดิม คือแทบจะไม่ได้ทำอะไร ฮ่าๆ)

ก่อนจะเข้าเรื่องการประกาศวันเลือกตั้ง อยากจะเปิดประเด็นที่สำคัญก่อนว่า การเปิดให้พรรคการเมืองนั้นทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นทางการ มีความสำคัญกว่าที่ปรากฏในหน้าสื่อและในกระแสสังคม

อย่าเพิ่งไปมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแค่นักการเมืองเรียกร้องเลยครับ เพราะถ้าเรามองแค่นี้เราจะไม่สามารถก้าวกลับสู่ประชาธิปไตย และทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งได้เลย

เพราะเรายังมองว่า การเลือกตั้งและประชาธิปไตยเป็นแค่เรื่องของนักการเมือง

และถ้าเรามองแค่นี้เราก็จะตกอยู่ในวาทกรรมของระบอบรัฐประหาร และระบอบคนดีนักปฏิรูปที่มองว่านักการเมืองเป็นผู้ทำลายประชาธิปไตยและความสงบของบ้านเมือง

สิ่งที่เราควรจะมองก็คือ การเปิดให้มีการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ใช่แค่เรื่องของนักการเมืองเดิมที่จะทำงาน หรือสถาปนาเครือข่ายของเขา

แต่เป็นเรื่องที่ทำให้สังคมนั้นมีความเสรี และทำให้คนหน้าใหม่ๆ มีจินตนาการทางการเมือง และมีแรงบันดาลใจทางการเมืองที่จะเข้ามาจัดทำกิจกรรมทางการเมือง

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของการเปิดเสรีทางการเมือง ซึ่งรวมไปถึงการเปิดให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในทุกภาคส่วน

เราจะได้ไม่มีแต่นักการเมืองสองแบบ คือแบบนักการเมืองเดิมที่สถาปนาเครือข่ายทางการเมืองกับชาวบ้าน และมีนักการเมืองแบบที่ไม่เรียกตัวเองว่าเป็นนักการเมือง แต่ผูกตัวติดกับระบอบรัฐประหารตามคณะกรรมการต่างๆ ร่วมสิบปี

รัฐบาลรัฐประหารชุดนี้มีปัญหาในการทำความเข้าใจเรื่องเสรีภาพทางการเมืองมาโดยตลอดในเรื่องนี้ มีความเชื่อว่าตนเองจะสร้างความสำเร็จรูปทางการเมืองชุดหนึ่งแล้วจึงเปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ยอมรับว่าการสร้างสรรค์สำนึกทางการเมืองต้องใช้เวลา และไม่ได้มาจากความสำเร็จรูปและความหวังดีแต่เพียงเท่านั้น

คำถามที่สำคัญจึงอยู่ที่ว่า ประเทศไทยจะต้องใช้เวลากี่ปีกว่าจะมีพรรคการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เข้มแข็ง และยิ่งปล่อยเวลาให้เนิ่นนานไปโดยไม่ให้พรรคการเมืองนั้นมีกิจกรรมที่เป็นทางการ เราจะมีพรรคใหม่ๆ ที่เป็นทางเลือกได้อย่างไร และถ้าเราไม่มีเสรีภาพทางการเมือง เราจะเริ่มคิดถึงทางเลือกใหม่ๆ ได้อย่างไร

ระบอบประชาธิปไตยคือการร่วมกันคิด และแข่งขันกันให้มีทางเลือกใหม่ๆ ไม่ใช่คิดให้เขา 20 ปีโดยแทบจะไม่มีความชอบธรรมอะไรรองรับแบบที่เป็นอยู่

ย้ำว่าสูตรพื้นฐานสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่ยังพอรับกันอยู่ในโลก ก็คือการเปิดเสรีทางการเมืองต้องมาก่อน จากนั้นก็การเลือกตั้ง แล้วก็การทำให้ประชาธิปไตยตั้งมั่นเป็นกฎกติกาเดียวในสังคม ซึ่งหมายถึงการปฏิรูปสถาบันทางการเมืองทั้งหลายมากกว่าแค่การปฏิรูปการเลือกตั้ง

ทีนี้มาเข้าเรื่องของการประกาศวันเลือกตั้งบ้าง ผมคิดว่าเรื่องนี้มีนัยสำคัญ ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเป็นการพูดหลังจากที่ไปสหรัฐอเมริกา เพราะจากการจับสัญญาณการพบปะกันกับประธานาธิบดีสหรัฐในรอบนี้ แทบจะไม่ได้มีสัญญาณกดดันทางการเมืองอย่างจริงจัง

อย่างน้อยถ้าพยายามจะดูจากกิจกรรมของทูตและสถานทูตสหรัฐในประเทศไทยในรอบหลัง และดูกิจกรรมการถอนตัวของสหรัฐออกจากกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างกัมพูชา เช่น การปิดสำนักข่าวทางเลือกของกัมพูชา และการไม่ได้กดดันฮุน เซน อย่างเป็นเรื่องเป็นราวหลังจากที่ฮุน เซน ไล่บดขยี้ทางการเมืองกับฝ่ายค้านอย่างเมามันในเดือนที่ผ่านมา จนฝ่ายค้านหนีออกนอกประเทศไปหลายคน ว่ากันว่านี่คือส่วนหนึ่งของการเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ในปีหน้าหลังจากที่รอบที่แล้วฮุน เซน เพลี่ยงพล้ำคะแนนเสียงหายไปเยอะ ดังนั้นเรื่องที่ว่าสหรัฐนั้นกดดันไทยน่าจะไม่ใช่

สุดท้ายผมคิดว่าคงไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจล่ะครับ (จะให้วิเคราะห์ไปในทางอื่นคงต้องมีข้อมูลที่ยืนยันได้ซึ่งหาไม่ได้ครับ) เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่แก้ไม่ตก แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีฝีมือนะครับ วิจารณ์แบบนั้นอาจจะไม่แฟร์

สิ่งที่น่าตั้งคำถามก็คือ โครงสร้างระบบเศรษฐกิจของไทยในวันนี้อาจจะไม่เหมาะกับการอยู่กับระบบเผด็จการ และระบบราชการเป็นใหญ่เหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปมากกว่า แน่นอนว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะมีปัญหากับการเมืองผูกขาดของทักษิณและเครือข่าย และในความเชื่อว่า หากทำลายทักษิณและเครือข่ายลงได้ ทุนต่างๆ จะทำงานได้มากขึ้น และเมื่อเราเห็นระบบประชารัฐแล้วสิ่งที่เป็นอันตรายไม่ใช่น้อยก็คือ ระบอบเผด็จการแบบที่ขอให้นายทุนใหญ่มาเป็นพวกและเป็นพี่เลี้ยงนั้นกลับสร้างแรงตึงเครียดระหว่างประชาชนกับทุนใหญ่ตามไปด้วย กำไรอาจจะได้ แต่ภาพลักษณ์และศักดิ์ศรีนั้นเริ่มเป็นปัญหา ในระบอบประชาธิปไตยนั้นนายทุนและธุรกิจมักถูกวิจารณ์ แต่ในระบอบเผด็จการ ทุนเหล่านั้นเวลาที่ถูกวิจารณ์นั้น บ่อยครั้งอาจถูกวิจารณ์ในฐานะเป็นหุ่นฟางเพราะคนในระบอบนั้นวิจารณ์สิ่งอื่นไม่ได้

ส่วนเรื่องความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเผด็จการนั้น เราก็สัมผัสกันได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาและพัฒนาทฤษฎีอย่างเป็นระบบ แน่นอนว่าเราอยู่ได้ในสังคมเผด็จการ แต่ถามว่าแบบแผนการใช้จ่ายและความคาดหวังทางเศรษฐกิจของระบบเผด็จการนั้นอาจจะไม่เหมือนกับระบอบประชาธิปไตย

ไม่นับเรื่องของการลงทุนจากต่างชาติที่มีเงื่อนไขมากมายในการลงทุนในสังคมเผด็จการ

ดังนั้นการประกาศการเลือกตั้งน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น ส่วนจะส่งผลดีต่อประชาธิปไตยในระยะยาวจริงไหมนั้นก็ต้องว่ากันไป ยิ่งการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในสังคมที่ไม่ได้มีเสรีภาพ หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการเลือกตั้งที่ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมือง แต่หมายถึงบรรยากาศทางการเมืองที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นนั้นมันจะเป็นคุณต่อการตั้งมั่นของประชาธิปไตยในระยะยาวแค่ไหน เรื่องนี้ไม่ใช่แค่จะจัดการการซื้อเสียงอย่างไร หรือการกำหนดคุณสมบัติของพรรคและผู้สมัคร หรือจะมีการเลือกตั้งระบบไหนดี แต่หมายถึงบรรยากาศของเสรีภาพทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งมากกว่า

มีอยู่ 4 เรื่องที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษเมื่อจะทำความเข้าใจว่า การเลือกตั้งในรอบนี้จะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้ไหม

1.การเลือกตั้งในรอบนี้ยังเกิดขึ้นในเงื่อนไขของการอยู่ในสังคมเผด็จการ และเป็นเผด็จการทหารที่ยุติการเลือกตั้งและการเมืองประชาธิปไตยแบบเดิมลง ไม่ใช่การเลือกตั้งแบบสังคมประชาธิปไตยที่อาจมีมิติเผด็จการบางส่วน ดังนั้นคนที่ร่างกฎเกณฑ์และสืบสานอำนาจต่อก็ยังเป็นบรรดาคนที่ได้เปรียบในระบอบเผด็จการที่ดำรงอยู่

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้พูดในแง่ลบ แต่โดยทั่วไปแล้ว การเลือกตั้งไม่ว่าจะในระบอบเผด็จการหรือประชาธิปไตยนั้นรัฐบาลเดิมมักจะได้เปรียบในการเลือกตั้ง

ส่วนผู้ที่สนใจความสัมพันธ์ของระบอบเผด็จการกับการเลือกตั้ง เชิญอ่านงานเก่าของผมได้ที่ "เผด็จการกับการเลือกตั้ง" (มติชนรายวันฉบับวันที่ 23 พ.ค.2560)

2.เราต้องทำความเข้าใจว่า ประชาชนจะใช้ระบบวิธีคิดอะไรในการไปเลือกตั้ง เขาจะเปิดเผยความต้องการจริงในการเลือกตั้งได้ไหม หรือเขาจะคิดคำนวณแล้วพบว่า เขาควรจะเปลี่ยนทางเลือกและความยึดถือในพรรคการเมืองของเขา เพื่อให้เขาได้รับสิ่งที่เข้าต้องการได้

เรามักจะมีคติแบบโลกสวยว่า การเลือกตั้ง คือการแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของประชาชน หรือไม่ก็มองว่า การเลือกตั้งคือการที่ประชาชนถูกจูงจมูกจากนักการเมือง

ขณะที่งานวิจัยทางรัฐศาสตร์นั้น เสนอให้เราเห็นใน 2 เรื่องสำคัญ

หนึ่งคือ การเลือกตั้งนั้นบางครั้งเป็นเรื่องของการเลือกตามยุทธศาสตร์ของผู้ลงคะแนน เขาอาจไม่ได้เลือกตามที่เขาต้องการจริง แต่เขาเลือกตามเงื่อนไขที่เขาคำนวณแล้วว่าจะได้ประโยชน์ที่สุด

สองคือ การเลือกตั้งนั้นอาจไม่ใช่เรื่องอันงดงามทางอุดมการณ์ แต่อาจเป็นเรื่องของการคาดคำนวณของผู้เลือกเพื่อทำให้เขาสามารถแย่งชิงทรัพยากรของรัฐมาไว้ในพื้นที่ของเขาให้ได้มากที่สุด

3.เราต้องทำความเข้าใจตัวฝ่ายค้านว่า จะมีส่วนทำให้ประชาธิปไตยนั้นตั้งมั่นและยั่งยืนได้แค่ไหน ซึ่งในกรณีของการเลือกตั้งในรอบนี้ เราต้องพิจารณาทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ด้วย

ในกระบวนการศึกษาการเลือกตั้งในสังคมเผด็จการนั้น บ่อยครั้งเราพบว่า การเลือกตั้งเกิดขึ้นเพราะฝ่ายเผด็จการเองต้องการสร้างเงื่อนไขเชิงสถาบันให้เกิดการแบ่งปันอำนาจกันระหว่างเผด็จการกับผู้นำทางการเมืองกลุ่มต่างๆ

ขณะที่ในอุดมคตินั้น การเลือกตั้งในสังคมเผด็จการคือการที่ประชาชนเลือกผู้ปกครอง แต่ในเผด็จการนั้นผู้ปกครองสร้างระบบเลือกตั้งเพื่อแบ่งปันอำนาจกันกับชนชั้นนำต่างๆ ซึ่งในแง่นี้ฝ่ายค้านก็ถูกนับรวมเป็นชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งเช่นกัน

ฝ่ายค้านก็มีทางเลือก เช่น จะร่วมสังฆกรรมด้วย หรือจะปฏิเสธการเข้าร่วมในโครงสร้างอำนาจนั้น

ลองคิดใหม่ว่า ถ้าการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อไทยปฏิเสธไม่เข้าร่วมเลือกตั้งดูบ้าง จะส่งผลให้การเมืองเปลี่ยนไปอย่างไร หรือประชาธิปัตย์ยังไม่เข้าร่วมเลือกตั้งอีกสักครั้ง?

4.เราต้องพิจารณาโครงสร้างแวดล้อมระบบเลือกตั้งในรอบนี้้ โดยเฉพาะตัวกรรมการการเลือกตั้ง และสื่อมวลชน สิ่งที่จะต้องมีเพิ่มเติมจากนั้น คือระบบประชาสังคมและเครือข่ายการติดตามการเลือกตั้งที่จะคอยประสานและกดดันไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสื่อมวลชน เพื่อให้การเลือกตั้งมีมากกว่าเรื่องของตัวกระบวนการในช่วงหาเสียงและวันเลือกตั้ง แต่หมายถึงการพิจารณาและติดตามประเด็นในเรื่องของการเลือกตั้ง ที่มากกว่าเรื่องเทคนิคและเงื่อนไขคุณสมบัติตามกฎหมาย

แน่นอนว่าการเริ่มมีความชัดเจนในการจะนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งนั้นย่อมเป็นเรื่องดี แต่สังคมเองต้องมีความพร้อมที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งมากขึ้น ไม่ใช่รอแค่กฎหมายลูกไม่กี่ตัวที่จะคลอดในไม่นานนี้ และยิ่งเมื่อบรรยากาศของการประกอบสร้างโครงสร้างทางการเมืองในรอบนี้ไม่ค่อยได้นับรวมเสียงของประชาชนเข้าไปมากนัก ประชาชนก็ยิ่งจะต้องเริ่มคิดเริ่มวางแผนในการรับมือกับการเลือกตั้งในรอบนี้ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นั่นแหละครับ

ไม่งั้นการเลือกตั้งในรอบนี้นอกจากจะไม่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแล้ว การเลือกตั้งในรอบนี้จะเป็นเพียงแค่การแบ่งอำนาจกันของเผด็จการใหม่กับชนชั้นนำที่เคยมีอำนาจในประชาธิปไตยแบบเดิมเท่านั้นเอง



หมายเหตุสำหรับงานวิจัยในเรื่องการเลือกตั้งในสังคมเผด็จการ อาจศึกษาเพิ่มเติมได้จาก Jennifer Ganshi and Elen Lust-Okar. 2009. Election Under Authoritarianism. Annual Review of Political Science. 403-422

 

ที่มา: matichon.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น