โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

มาเฟียอิตาลีและสถานการณ์นักข่าวเผชิญการคุกคาม

Posted: 06 Oct 2017 11:51 AM PDT

อิตาลีเป็นประเทศที่ยังคงมีปัญหาแก๊งอาชญากรรมในหลายพื้นที่ ซึ่งก่อปัญหาให้กับเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร เพราะมีการคุกคามผู้สื่อข่าว ทำให้สื่อทำงานลำบากขึ้นและต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง อนึ่ง แม้ว่าความรุนแรงทางกายภาพจะลดลงแล้วเมื่อเทียบกับหลายสิบปีก่อนหน้านี้ แต่แก๊งอาชญากรรมแค่เปลี่ยนวิธีจากใช้ปืนไปใช้กฎหมายเพื่อขู่นักข่าวแทน

ที่มาของภาพประกอบ: gijn.org

6 ต.ค. 2560 เปาโล บอร์โรเมตี นักข่าวอิตาลีถูกบีบให้ต้องออกจากซิซิลีย้ายไปกรุงโรมเนื่องจากถูกคุกคามเพราะเขารายงานข่าวเกี่ยวกับแก๊งอาชญากร ไม่ใช่แค่บอร์โรเมตีคนเดียวเท่านั้นที่รายงานเรื่องนี้ มีนักข่าวราว 20 ราย ในอิตาลีที่ยังต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองของตำรวจจากการรายงานเรื่องของแก๊งผู้มีอิทธิพล

รายงานของนักข่าวสืบสวนของโครงการในอิตาลี ลอเรนโซ แบคโนลี ระบุถึงเรื่องของบอร์โรเมตีที่ถูกคนในชุดฮู้ดทำร้ายเขาที่ใกล้ๆ บ้านเมื่อเดือน พ.ค. 2557 เขาถูกทำร้ายหลังจากที่ถามชาวเมืองเกี่ยวกับคดีการฆาตกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อนหน้านั้น การคุกคามอีกครั้งหนึ่งคือการวางเพลิงเกิดขึ้นที่หน้าบ้านพ่อแม่ของเขาทำให้เกิดความเสียหาย แต่เหตุถูกทำร้ายและถูกวางเพลิงก็ไม่ทำให้บอร์โรเมตีล้มเลิกการรายงานข่าวแก๊งอาชญากรรม

รายงานในเว็บไซต์เครือข่ายข่าวสืบสวนสอบสวนโลกระบุว่า แม้ว่าบอร์โรเมตีจะถูกสั่งย้ายไปยังกรุงโรม แต่เขาก็ยังคงทำงานเปิดโปงกิจกรรมของแก๊งผู้มีอิทธิพลต่อไป เขายังคงเผชิญกับการถูกข่มขู่คุกคามอยู่เรื่อยๆ เมื่อช่วงฤดูร้อนนี้เองที่เขาถูกบุคคลนิรนามบุกค้นบ้านเพื่อขโมยฮาร์ดดิสก์ของเขาและเอกสารที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนของเขาไป

สิ่งที่สะท้อนสถานการณ์อีกเรื่องหนึ่งคือเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงกิจการภายในของอิตาลีเผยแพร่ตัวเลขผู้สื่อข่าวที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของตำรวจ นับเป็นครั้งแรกที่มีการเผยแพร่เรื่องนี้

บอร์โรเมตีเป็นหัวหน้าบรรณาธิการเว็บซีนท้องถิ่น LaSpia.it และเป็นนักข่าวอิสระที่ทำงานให้กับสื่อหลายแห่ง เมื่อไม่มีเงินเดือนตายตัวเขาจึงต้องผลิตงานข่าวออกมาอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้อยู่รอดได้ มีนักข่าวอิตาลีหลายคนที่สภาพการเงินใกล้เคียงกับบอร์โรเมตี นิโกลา มิรินี กรรมการบอร์ดของสมาคมผู้สื่อข่าวบอกว่านักข่าว 8 ใน 10 ของอิตาลีมีรายได้น้อยกว่า 10,000 ยูโร (ราว 390,000 บาท) ต่อปี

เบปเป กิวเลียตตี ประธานสหภาพผู้สื่อข่าวอิตาลีเปิดเผยว่า ถึงแม้อิตาลีจะมีเหตุการณ์มาเฟียสังหารนักข่าวน้อยลงกว่าในอดีต แต่พวกเขาก็เปลี่ยนจากการคุกคามทางร่างกายมาเป็นการบีบเค้นด้านอื่นอย่างการอ้างใช้กฎหมายหมิ่นประมาทที่ "ร้ายแรงเทียบเท่ากับใช้กระสุน" บีบให้นักข่าวหยุดการสืบสวน เซ็นเซอร์ตัวเองเพราะกลัวความเสี่ยงเรื่องคดีความ กิวเลียตตีกล่าวถึงกรณีของบอร์โรเมตีว่า บอร์โรเมตีมีความกังวลถึงสถานการณ์การคุกคามที่ไม่ได้กระทบแค่ความปลอดภัยเท่านั้นแต่ยังทำให้การทำงานของเขายากลำบากขึ้นเมื่ออยู่ภายใต้การคุ้มครองของตำรวจ

องค์กรออสซิเกโน (Ossigeno) ซึ่งเป็นองค์กรเฝ้าระวังเรื่องภัยคุกคามต่อนักข่าวเปิดเผยว่าการฟ้องร้องส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามหลักการกฎหมาย มีคนที่ฟ้องร้องหมิ่นประมาท 1 ใน 3 กรณีของอิตาลีเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนเกี่ยวพับกับแก๊งอาชญากรหรือกลุ่มล็อบบีเรื่องต่างๆ และมักจะมีการเรียกไถเงินจำนวนมากแม้ว่าความเสียหายที่สร้างจะเล็กนิดเดียว ซึ่งเชื่อว่าเป็นการอ้างลงโทษเพื่อข่มขู่

ก่อนหน้านี้ในช่วงยุคทศวรรษที่ 2520 มีกรณีนักข่าวในอิตาลีถูกมาเฟียสังหารจำนวนมาก จนทำให้เกิดความเกี่ยวข้องกันระหว่างประเด็นเรื่องเสรีภาพของข้อมูลข่าวสารกับประเด็นแก๊งอาชญากร มักจะมีกระแสต่อต้านความรุนแรงจากประชาชนเป็นพักๆ แล้วก็เงียบหายไป นักการเมืองก็ไม่ค่อยขยับเรื่องคุ้มครองนักข่าว องค์กรออสซิเกโนจึงถูกก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2550 หลังจากนักข่าวและนักเขียนรวมสามคนต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองของตำรวจ เพื่อเน้นให้เห็นปัญหานักข่าวถูกคุกคาม ทำให้เสรีภาพข้อมูลข่าวสารถูกปิดล้อมเมื่อเป็นประเด็นเรื่องอาชญากรรม การเมือง หรือการทุจริต

กิวเลียตตี บอกว่านักการเมืองมัวแต่พยายามปรับระบบไม่ให้พวกเขาถูกรายงานข่าวในเชิงลบต่อพวกเขาจนไม่ได้สนใจเรื่องจุดอ่อนของกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อ

จากรายงานขององค์กรออสซิเกโนระบุว่าการที่สื่อถูกคุกคามเช่นนี้ยังส่งผลให้ชาวอิตาลีที่อาศัยอยู่ในชนบทมีชีวิตยากลำบากขึ้น เนื่องจากนักข่าวท้องถิ่นรู้สึกถูกกดดันจากแก๊งอาชญากรและเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น เช่น เคยมีกรณีของท้องถิ่นแห่งหนึ่งแถบรอบนอกของมิลาน มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นถูกกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายเข้าไปบุกพัง 3 ครั้งภายในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จากที่พวกเขากำลังสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับแก๊งอาชญากรรมในพื้นที่

แม้ว่าตำรวจอิตาลีจะทำงานล่าช้า แต่ก็มีบางส่วนของรัฐสภาอิตาลีที่คอยสอดส่องดูแลสถานการณ์แก๊งอาชญากรรมเหล่านี้ เช่น คณะกรรมาธิการต่อต้านมาเฟียของรัฐสภามีการแต่งตั้งคณะกรรมการว่าด้วยมาเฟีย งานข่าว และสื่อ แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาทางกฎหมาย ทำให้นักข่าวจำนวนมากต้องอยู่ในความเสี่ยงและทำให้การรายงานเกี่ยวกับแก๊งอาชญากรรมยากขึ้นกว่าเดิม

 

เรียบเรียงจาก

Mafia and the Media: Italian Journalists Face Threats, GIJN, 03-10-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาพถ่ายที่เพิ่งได้รับ ‘6 ตุลา 19’ โศกนาฏกรรม ความรุนแรง และประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม

Posted: 06 Oct 2017 07:14 AM PDT

เว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา เผยแพร่ภาพชุดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ชุดใหม่ที่เพิ่งได้รับ ประจักษ์พยานความรุนแรงแห่งอดีต แฟรงค์ ลอมบาร์ด เจ้าของภาพให้เผยแพร่เพราะคิดว่า อาจจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิด 6 ตุลาซ้ำอีก

หลังจากมีการเปิดตัวเว็บไซต์ 'บันทึก 6 ตุลา' www.doct6.com  ไปเมื่อวันที่ 24 กันยายน เพื่อเป็นการบันทึกข้อมูลเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไว้ ล่าสุด ทางเว็บไซต์ได้เผยแพร่ภาพเหตุการณ์ 2 ชุด ซึ่งทางเว็บไซต์ระบุว่าเป็นภาพที่เพิ่งถูกค้นพบและเผยแพร่ที่เว็บไซต์นี้เป็นแห่งแรก โดยมีการระบุเนื้อหาดังนี้

ประจักษ์พยาน 6 ตุลา: ภาพถ่ายที่เพิ่งได้รับ

ภาพถ่ายนับพันที่ถูกบันทึกไว้ในระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2519 เป็นประจักษ์พยานความรุนแรงที่สำคัญ เมื่อภาพถ่ายปรากฏสู่สาธารณะ ข้อเท็จจริงถูกบอกเล่า นำมาซึ่งคำถามใหม่ๆ ภาพถ่ายสองชุดในเว็บไซต์ 'บันทึก 6 ตุลา' ส่วนใหญ่ยังไม่เคยเผยแพร่ในที่สาธารณะมาก่อน หลักฐานใหม่เผยใบหน้าของผู้คนหลากหลาย และสถานที่ที่กว้างไปกว่าสนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังชี้ว่าข้อมูล 6 ตุลายังคงกระจัดกระจายอยู่มาก

ชุดภาพสีจากแฟรงค์ ลอมบาร์ด (Frank Lombard)

แฟรงค์ ลอมบาร์ดไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประมาณ 10.45 น. ของเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เขาถ่ายภาพสีเหตุการณ์ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวงหลายภาพด้วยกัน คุณภาพของฟิล์มที่เก็บไว้นานนับ 40 ปี เปิดเผยให้เห็นถึงความชัดเจนของอารมณ์ความรู้สึกบนใบหน้า เสื้อผ้าที่เปื้อนเลือด สีเขียวของพื้นสนามหญ้า และโดยอย่างยิ่ง ร่างของปรีชา แซ่เอีย ที่ถูกแขวนอยู่กับต้นมะขามของยามสายวันนั้น

ในช่วงปี 2519 แฟรงค์เป็นนักข่าวของสถานีวิทยุนิวซีแลนด์ ปัจจุบัน เขาพำนักอยู่ใจกลางกรุงเทพ และมอบภาพถ่ายชุดนี้ให้กับโครงการเพื่อที่ว่า อาจจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิด 6 ตุลาซ้ำอีก

ภาพตัวอย่าง

 

ชุดภาพถ่ายขาวดำจากคุณปฐมพร ศรีมันตะ

เดือนพฤษภาคม 2560 โครงการบันทึก 6 ตุลา ได้รับภาพถ่ายชุดหนึ่งจากคุณปฐมพร ศรีมันตะ ซึ่งได้รับภาพต่อมาจากบุคคลอื่นอีกต่อหนึ่ง เช่นเดียวกับภาพถ่ายนับร้อยภาพของเหตุการณ์ ภาพถ่ายชุดนี้ไม่มีข้อมูลผู้ถ่ายภาพและเจ้าของ รวมทั้งข้อมูลของเหตุการณ์ในภาพ

ภาพตัวอย่าง

 

 

 

 

..........

ทั้งนี้ 'ประชาไท' นำภาพเพียงส่วนหนึ่งมาเสนอเท่านั้น ผู้อ่านสามารถตามไปชมภาพทั้งหมดได้ ตามลิงค์ด้านล่างนี้

https://doct6.com/archives/tag/ภาพถ่าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'6 ตุลา' มองผ่านหนัง#2: ภาษิต พร้อมนำพล ‘พิราบ’ ในความทรงจำของพ่อ

Posted: 06 Oct 2017 05:48 AM PDT

ถึงแม่

ผมขอโทษที่ทำให้แม่ผิดหวัง สิ่งที่ผมกำลังจะทำไม่ใช่ทำเพื่อครอบครัวเราครอบครัวเดียว และไม่ได้ทำเพื่อแม่คนนี้คนเดียว ผมกำลังจะทำให้กับแม่ของทุกๆ คน ถ้าสังคมในบ้านเรายังมีคนอีกมากที่ทุกข์ยากลำเค็ญ ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยผู้มีอำนาจส่วนน้อยในสังคม ครอบครัวเล็กๆ อย่างเราจะไปอยู่รอดได้ยังไง ผมแค่อยากเห็นช่องว่างระหว่างชนชั้นระหว่างคนรวยกับคนจนที่ต่างกันราวฟ้ากับเหวน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่นี้ ไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้จะเป็นการขายชาติขายเมืองเหมือนอย่างที่พวกเขาใส่ร้ายป้ายสี ลูกของแม่คนนี้ไม่ได้เลวอย่างที่เขากล่าวหา เพื่อนของผมก็เช่นกัน พวกเขาถูกฆ่าตายอย่างโหดร้ายทารุณ ไม่ละเว้นแม้แต่ผู้หญิงและเด็ก พวกเขาเอาสิทธิอะไรมาเข่นฆ่าพวกเราราวกับเป็นผักเป็นปลา นี่น่ะหรือเมืองพุทธอย่างที่เขาชอบพูดกัน...

นี่คือเนื้อหาบางส่วนจากภาพยนตร์สั้นเรื่อง "พิราบ" ผลงานการกำกับโดย ภาษิต พร้อมนำพล บัณฑิตวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม สาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งทำภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสารนิพนธ์จบ

หนังสั้นว่าด้วยเรื่องราวของนักศึกษาที่ถูกล้อมปราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้รับรางวัลพิราบขาว จากมูลนิธิ 14 ตุลา และรางวัลชมเชย สาขาช้างเผือก ในเทศกาลภาพยนตร์สั้นปีล่าสุด ครั้งที่ 21

ประชาไทชวนคุยกับภาษิต พร้อมนำพล ในฐานะคนรุ่นใหม่ลูกหลานคนเดือนตุลา ที่ทำหนังจาก "พิราบราม" หนังสือที่พ่อเขาเขียนถึงเรื่องราวชีวิตในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาและการตัดสินใจเข้าป่าหลังจากนั้น ด้วยประสบการณ์ตรงจากพ่อและความทรงจำที่ถูกเล่าอย่างไม่ปะติดปะต่อ บางครั้งก็เป็นเหตุการณ์น่าสะเทือนใจ ประกอบสร้างขึ้นเป็นหนังแห่งความทรงจำที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น พอให้ภาพได้ว่าอนาคต 6 ตุลากับคนรุ่นใหม่จะเป็นเช่นไร  

ภาษิต พร้อมนำพล

จุดเริ่มต้น

จริงๆ ตั้งใจจะทำหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ปีหนึ่งปีสองแล้ว แต่รู้สึกว่าหนังสเกลมันใหญ่มาก และเราไม่มีตังค์ทำ ก็เลยเก็บเรื่องนี้ไว้ทำเป็นธีสิสเพื่อที่พอรวบรวมสมาชิกมันก็จะมีงบประมาณระดับหนึ่ง

ธีสิสของ มศว เป็นระบบจับกลุ่มกัน ไม่ได้ทำคนเดียว มศว.แบ่งออกเป็น 3 เอก มีผลิต (การผลิตงานภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล) แสดง (การแสดงและกำกับการแสดงผ่านสื่อ) แล้วก็ออกแบบ (การออกแบบเพื่องานภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล) ซึ่งในหนึ่งกลุ่มต้องมีอย่างน้อยเอกละ 2 คน แล้วใครก็ได้ส่งเรื่องที่จะทำ ถ้าใครส่งผ่านก็จะได้เป็นหัวหน้ากลุ่ม

ผมเรียนผลิต โชคดีที่เรื่องผ่านก็เลยได้เขียนบทแล้วก็กำกับด้วย

ที่ยกเรื่อง 6 ตุลา ตอนแรกผมไม่ค่อยอินกับเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่ผมโตมากับสังคมที่เพื่อนพ่อเป็นคนเดือนตุลาทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ไม่ค่อยรู้จักเพื่อนพ่อกลุ่มอื่นเท่าไหร่ พ่อเพิ่งมาเจอเพื่อนสมัยมัธยมไม่นานนี้เอง ผมเลยโตมากับพี่ๆ น้องๆ ที่มีพ่อแม่เข้าป่า

แล้วหันมาสนใจ 6 ตุลาได้ไง

ปีที่แล้วมันครบ 40 ปี 6 ตุลาพอดี เป็นปีที่กระแสบูมมาก และมีข้อมูลให้ค้นคว้าเพิ่มขึ้นเยอะ อีกอย่างคือเหมือนเป็นความน้อยใจของพ่อนิดหน่อย คือเราอ่านหนังสือของคนอื่นมากกว่าหนังสือของพ่อเราเอง เราก็เลยตั้งใจทำหนังเรื่องนี้เพื่อบอกว่าเราก็อ่านหนังสือของเขานะ เหมือนทำหนังให้พ่อ

ภาพหนังสือ 'พิราบราม' 'ศึกลำโดมเลือด' 'ทัพฅนแดง' (โดยภาษิต พร้อมนำพล)

เล่าหนังสือของพ่อให้ฟังหน่อย

หลังออกจากป่าเขาเคยเป็นนักข่าวอยู่เนชั่น เขาเลยมีสกิลในการเขียนอะไรยังงี้เยอะ แล้วเขาก็เลยเขียนเรื่องของตัวเอง เหมือนเป็นบันทึกเก็บเอาไว้ แต่ก็ได้พิมพ์กับสำนักพิมพ์แล้วก็ขายด้วย แต่มันนานมากแล้ว ไม่ค่อยได้รับความนิยมอะไรเท่าไหร่ จริงๆ มันเป็นไตรภาคมีสามเล่ม มี 'พิราบราม' 'ศึกลำโดมเลือด' แล้วก็ 'ทัพฅนแดง'

พิราบรามเป็นเล่มแรก เป็นเรื่องเกี่ยวกับก่อนหน้า 6 ตุลา และเหตุการณ์หลังจากนั้นจนกระทั่งเข้าป่า ส่วนอีกสองเล่มเป็นชีวิตเขาตอนอยู่ในป่า

เราเลือกพิราบรามมาทำเป็นหนัง เพราะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ค่อยมีเรื่องที่เล่าว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับนักศึกษาบ้างก่อนหน้าที่จะหนีเข้าป่า ข้อมูลทั่วไปก็จะบอกว่าในวันที่ 6 เกิดอะไรบ้าง มีคนตายเท่านี้ คนเจ็บเท่านี้ แต่ไม่ได้พูดถึงชีวิตของนักศึกษา อะไรทำให้ตัดสินเข้าป่า พิราบรามคือการบอกเล่าเนื้อหาในส่วนนั้น

เรามักเห็นหนังที่เล่าว่าก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์ มีชนวนอะไรบ้างที่ทำให้เกิด 6 ตุลา 14 ตุลา แต่ยังไม่ค่อยมีหนังเรื่องไหนที่เล่าว่าแล้วหลังจากนั้นล่ะ เกิดอะไรขึ้น

หรืออย่างหนังเรื่อง "14 ตุลา สงครามประชาชน" อันนั้นเล่าถึงเรื่อง เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) ซึ่งเขาเป็นแกนนำ แต่อันนี้พ่อไม่ได้เป็นแกนนำ เป็นแค่นักศึกษาที่เข้าไปร่วม เราเลยคิดว่าไอเดียนี้มันเวิร์ค แล้วมันก็มาจากชีวิตของพ่อเราจริงๆ ด้วย แต่หนังก็ไม่ได้ตรงตามหนังสือทุกอย่าง มีดัดแปลงนิดหน่อย

หนังไทยเกี่ยวกับ 6 ตุลามีอะไรบ้าง

ตอนที่ผมรีเสิร์ชทำธีสิส ได้หนังไทยเกี่ยวกับ 6 ตุลามา 7-8 เรื่องเอง มีสารคดีผีตองเหลือง เป็นภาพฟุตเทจของเหตุการณ์แต่เอาคำบรรยายสารคดีผีตองเหลืองมาใส่เข้าไป อันนี้ดีมาก มีเรื่อง October Sonata เรื่องเชือดก่อนชิมที่เกี่ยวอยู่นิดหน่อย มีดาวคะนอง มีสารคดีสองเรื่องที่ได้ดูปีที่แล้ว คือ Silence-Memories กับ Respectfully yours ซึ่งถือว่าน้อย แต่ผมว่าดีในแง่ที่เรารู้ว่าเขาเล่าอะไรไปแล้วบ้าง เราจะได้ไม่เล่าซ้ำ ยังมีช่องทางใหม่ๆ ที่ยังไม่ถูกพูดถึงในแง่ของภาพยนตร์

พ่อได้เล่าเหตุการณ์พวกนี้ให้ฟังไหม

เล่า เล่าเรื่อยๆตั้งแต่เด็ก เขาน่าจะอยู่ในป่า 10 ปีได้ เป็นล็อตหลังๆ ที่ออกมา เข้าตอนประมาณปีสองปีสาม แล้วตอนออกมาน่าจะอายุ 30 กว่าแล้ว

พ่อเล่ายังไงให้ฟังบ้าง

เหมือนเรื่องเล่าของคนแก่ มันจะไม่ปะติดปะต่อเท่าไหร่ ไม่ค่อยเล่าเป็น หนึ่ง สอง สาม แต่เวลาเขาไปเจออะไร ขับรถไปต่างจังหวัด ขับรถไปเจออะไรคุ้นๆตา เขาก็จะเล่าเหตุการณ์ในช่วงนั้นๆ

ตอนทำรีเสิร์ชหนังเรื่องนี้ก็ได้ไปคุยกับพ่ออีกทีว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง เขาก็ไล่เรียงตั้งแต่เช้าวันนั้นไปเรื่อยๆ จนถึงติดคุก มีเรื่องเล่าเยอะมากๆ เขาเจอเหตุการณ์มาเยอะมากๆ

6 ตุลา มีผลกระทบต่อเราไหม

มันก็มีบ้างนิดหน่อย เหมือนเราเป็นคนพิเศษหน่อยนึงคือเราใกล้ชิดกับคนเหล่านี้ เราเป็นหนึ่งในลูกหลานของเขาที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น เวลาเขามาเจอกัน รำลึกถึงกัน เขาก็จะบอกว่า เออเนี่ยวันนั้นวิ่งหลบกระสุนกับคนนี้ ลงน้ำกับคนนี้ด้วยกัน เป็นเหมือนการเล่าเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของพวกเขา พอทุกคนย้อนกลับไป บางทีก็เป็นการคุยเล่นกันมากกว่า ไม่ค่อยพูดถึงด้วยความเศร้า แต่จะเศร้าเวลาไปร่วมงานรำลึกมากกว่า

แต่มันมีเหตุการณ์น่าสะเทือนใจเหมือนกัน แต่พ่อไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยเล่าให้ฟัง เคยถามมาได้ครั้งหนึ่งตอนที่ต้องรีเสิร์ชทำธีสิส เขาเลยยอมเล่า

ตอนนั้น เช้าวันที่ 6 ช่วงที่มีคนยิงเข้าไปแรกๆ พ่อเป็นหัวหน้าการ์ดอยู่ตรงประตูใหญ่หน้าหอประชุม แล้วเขาเล่าให้ฟังว่าภาพที่เขาไม่เคยลืมเลยคือ มีคนถูกยิงกระสุนเต็มตัวเลือดอาบ วิ่งมาเตือนเขาว่าตำรวจล้อมไว้หมดแล้ว มันเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจเหมือนกันพอคิดตามเขา มีคนถูกยิงมาล้มต่อหน้าเรา แต่เขายังวิ่งมาเตือนเราบอกว่าไม่มีทางหนีแล้ว ผมเซ้นซิทีฟนิดนึง เพราะตอนทำก็ค่อนข้างอินกับเรื่องด้วย เหมือนฝังใจ เรื่องนี้ผมเกิดมา 20 กว่าปีเพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรก เขาไม่เคยเล่าให้ผมฟังเลย มันเป็นเรื่องที่สะเทือนใจเขามาก ตอนเขาเล่าเขาก็ยังสะเทือนใจ เขาพูดแบบตะกุกตะกักเลยแหละ ไม่เคยเห็นพ่อเป็นแบบนั้นมาก่อน

เช้าวันนั้นพ่อหนีออกมายังไง

เขาวิ่งไปทางตึกรัฐศาสตร์ วิ่งตามตึกไปเรื่อยๆ ไปที่โดม แล้วก็ไปที่ท่าเรือ แล้ว...เขาอ่ะว่ายน้ำไม่เป็น แต่เขาตัดสินใจที่จะโดด โดดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่โชคดีที่วันนั้นน้ำลด มันเลยตื้น โดดไปเลยไม่จม แล้วเขาก็พยายามว่ายไปอีกฝั่ง แต่ตำรวจขับเรือเอาปืนมาจ่อ เขาเลยถูกจับเอาขึ้นจากน้ำไปท่าเรือศิริราช แล้วเอาไปที่สน.แถวนั้น แล้วค่อยมาถูกฝากขังที่บางเขน เขาถูกสอบสวนแต่ก็ไม่รับสารภาพ

 

ในหนังมีฉากที่ตัวเอกเขียนจดหมายลาแม่ก่อนเข้าป่า ความจริงพ่อเขียนจดหมายหาย่าแบบนั้นเลยรึเปล่า

ไม่แน่ใจว่าแบบนั้นเลยร้อยเปอร์เซ็นต์รึเปล่า แต่เนื้อความจดหมายผมลอกมาจากหนังสือของพ่อเลย มีเสริมนิดหน่อย ผมรู้สึกว่าถ้อยคำมันสมบูรณ์ ผมก็เลยคิดว่าน่าจะยกมาใส่ทั้งหมด เพราะมันเป็นจดหมายของลูกถึงแม่ที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้กลับมา รู้สึกว่าคำพูดมันเพียวดี มีความรู้สึก

แล้วเคยคุยเรื่องนี้กับย่ามั้ย

ไม่เคย เหมือนเขาแก่มากแล้ว เราไม่รู้จะเริ่มคุยยังไง และเราก็ไม่อยากคุยอะไรที่อาจจะไปทำให้เขาเสียใจ

ช่วงไหนที่อินมากกับการทำหนังเรื่องนี้

มีสองช่วงหลักๆ คือช่วงรีเสิร์ช คือเราหาประวัติหาเรื่องราวเหตุการณ์ตลอดประมาณ 3 เดือน ช่วงนั้นเราอ่านเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้แทบทุกวัน แล้วรู้สึกว่าทำไมมันโหดร้ายจังเลย ทำไมคนถึงทำกันได้ขนาดนี้

อีกช่วงหนึ่งที่อินมากๆ คือช่วงที่แคสติ้ง (คัดเลือกนักแสดง) ต้องบรีฟนักแสดง มีบางครั้งที่เราบรีฟนักแสดงแล้วร้องไห้ไปด้วย เพราะมันต้องดึงอารมณ์นักแสดงให้ขึ้นมาให้ได้ นักแสดงก็เป็นรุ่นเราๆ ซึ่งไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ ถ้อยคำที่เราบรีฟเขาไปมันเป็นคำที่ทำให้เราย้อนนึกถึงตัวเองว่า ถ้าสมมติเพื่อนเราตายต่อหน้าต่อตาเราจะรู้สึกยังไง

ก็เลยเป็นช่วงที่อิน แต่ก็ยอมรับว่าการแคสติ้งก็ยังมีปัญหา แล้วก็มีช่วงที่เบื่อด้วยนะ

ช่วงไหนที่เบื่อ

คือช่วงตัดต่อ เพราะผมไม่ค่อยเป็นสายโพสต์ (ขั้นตอนหลังการถ่ายทำ) เท่าไหร่ ช่วงตัดต่อทำสีเป็นอะไรที่ไม่ถนัดเลย ส่วนมากไปนั่งดูเพื่อนอีกคนหนึ่งตัด มันเบื่อเพราะมันทำมาตลอดทั้งปี มันอิ่มตัว เราไม่มีไอเดียใหม่ๆ ใส่เข้ามา และช่วงถ่ายมันเหนื่อยมาก ต้องไปช่วยเพื่อนกลุ่มอื่นออกกองด้วย และหนังเราไม่ได้มีไดนามิกขนาดนั้น มันจะไปเรื่อยๆ มากกว่า ก็เลยเนือยๆกับการทำ

เพื่อนในกลุ่มอินด้วยมั้ย

มีอินบ้างส่วนน้อย แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยอิน เพราะพ่อแม่เขาส่วนใหญ่อายุน้อยกว่าพ่อแม่ผม และโตไม่ทันเจอเหตุการณ์นี้ และมันเป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องเครียดๆด้วย ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยอิน

แล้วมันเป็นปัญหาสำหรับเรามั้ยกับการที่เพื่อนไม่อิน

จริงๆ เขาไม่สนใจเราก็บังคับเขาไม่ได้ เพราะคนเราสนใจสิ่งที่แตกต่างกัน คนเราชอบไม่เหมือนกัน เราไปว่าอะไรเขาไม่ได้ เขาก็ทำในหน้าที่ของตัวเอง ตำแหน่งของตัวเองให้ซับพอร์ทกับหนังมากที่สุด และพวกเขาคือคนต่างยุคต่างวัย ถ้าเขาอยู่ยุคก่อนอาจจะสนใจก็ได้ โลกมันเปลี่ยนไป เจนเนเรชั่นมันเปลี่ยนไป คนสมัยใหม่สนใจอย่างอื่นมากกว่าประวัติศาสตร์ ก็ไม่เป็นไร เราบังคับให้เขาสนใจไม่ได้

ตอนรีเสิร์ชเราหาจากไหนบ้าง

มีหาในเน็ตครึ่งหนึ่ง แล้วก็ไปหาตามห้องสมุด อยากหาข้อมูลให้กว้างที่สุด ได้ไปห้องสมุดธรรมศาสตร์ด้วย ไปหาหนังสือพิมพ์ฉบับวันนั้น ซึ่งมันน้อยมากเลยที่เขาเก็บไว้ มีแค่ฉบับสองฉบับ และข่าวในวันนั้นก็จะไม่กล่าวถึงเหตุการณ์ในวันนั้นเพราะมันเช้ามากและยังไม่มีใครรู้ และเขาปิดหนังสือพิมพ์วันที่ 7-8

ไปเจอหนังสือพิมพ์วันที่ 11 เป็นหน้าประกาศว่าใคร นักศึกษาชื่ออะไรถูกจับกุมบ้าง ถูกจับไปอยู่ที่ไหน แล้วก็ไปเจอชื่อแม่อยู่ในหนังสือพิมพ์ แต่ไม่เจอชื่อพ่อเพราะพ่อเปลี่ยนทั้งชื่อและนามสกุล ผมจำไม่ได้ แต่น่าจะมีอยู่ในนั้น เขาถึงเพิ่งเจอเพื่อนมัธยม เพราะเพื่อนมัธยมนึกว่าเขาตายไปแล้ว

การเจอชื่อแม่ในหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์มันรู้สึกยังไงบ้าง

สะเทือนใจมาก ผมนั่งเปิดดู ไล่หา ตอนแรกก็ไม่ได้คาดหวังจะเจอชื่อใคร แค่หาคนที่ชื่อคุ้น แล้วเราก็เห็นชื่อแม่ เรานิ่งไปแป๊บนึงแล้วก็เรียกเพื่อนมาดู กลับบ้านไปก็บอกแม่ โพสต์ขึ้นเฟสบุ๊กด้วยว่าเจอชื่อแม่ แม่ก็เล่าให้ฟังว่าที่บ้านก็เห็นชื่อนี้เหมือนกันแล้วก็ไปเยี่ยม

แล้วพ่อเจอแม่ยังไง

รู้สึกว่าเรียนที่รามฯ เหมือนกัน เป็นนักกิจกรรมเหมือนกัน เข้าป่าเหมือนกัน แต่อยู่คนละเขต พ่อเข้าที่ศรีสะเกษ ส่วนแม่เข้าที่อุดรฯ แต่มาเจอกันจริงๆ น่าจะออกจากป่า แต่ก่อนหน้านั้นก็รู้จักกันก่อนแล้ว

พ่อได้ดูยัง

ดู

แล้วเขาว่าไง

เขาก็...ชอบแหละ เพราะมันเป็นหนังชีวิตของเขา

แล้วเขาได้ชมอะไรมั้ย

ชมอะไรมั้ยเหรอ... เขาชอบ เขาบอกว่า ทำให้เขานึกถึงชีวิตของเขาเอง นี่แหละคำชมเขา

ดูเป็นสายขรึมเนอะ

ไม่ค่อยขรึมเท่าไหร่ อย่างเรื่องเกี่ยวกับ 6 ตุลาเขาก็เล่าตลอดแหละ แต่บางเรื่องที่เซ้นซิทีฟกับเขา บางทีเขาก็ไม่ค่อยพูด อย่างหนังเรื่องนี้มันเหมือนใช่กับชีวิตเขาไปหมด เขาเลยไม่รู้จะพูดอะไรมากกว่า

แนวคิดของพ่อในตอนนั้นเป็นยังไง

เขาเป็นเด็กกิจกรรมมีออกค่าย การที่คนชาวบ้าน คนยากคนจนไม่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ทำให้เขารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง ตอนนั้นบ้านเขาก็ไม่ได้รวยด้วย เขาก็เลยรู้สึกว่าสังคมไทยมันน่าจะดีกว่านี้ถ้าคนมันเท่าเทียมกัน

ทุกวันนี้เขายังมีแนวคิดแบบนี้ไหม

ก็มี แต่เขาไม่ได้อยู่ในช่วงอายุที่จะออกมาแสดงพลังแล้ว อยู่ในโซนที่นั่งดูประเทศไปเฉยๆ

เรารู้สึกว่าเหตุการณ์นี้มันถูกทำให้ลืมไหม

ก็รู้สึกนะ อย่างถ้าไม่ถึงใกล้วันที่ 6 ตุลาของทุกปีก็ไม่มีใครพูดถึง

ประเทศอื่นมีการระลึกถึงเหตุการณ์สูญเสียแบบนี้ แต่ประเทศไทยไม่มี ผมว่าประเทศไทยมันเป็นประเทศที่ลืมง่ายๆ มีข่าวอะไรมาแป๊บๆ ก็เปลี่ยนข่าวแล้ว กระแสมันเปลี่ยนได้ตลอดเวลา คนไม่ได้จำอะไรมากขนาดนั้น มีคนลืมอยู่แล้ว

แต่อย่างคนรุ่นพ่อเขาพูดถึงเรื่องนี้ได้ตลอดเวลา อาจจะเรียกว่าพยายามรื้อฟื้นเรื่องเก่าๆ มาคุยกัน เพราะเหมือนเหตุการณ์บ้านเมืองช่วงนี้มันทำให้คนแตกออกเป็นหลายฝ่าย เขาพยายามจะเอาชีวิตตอนมหา'ลัยของเขาที่เป็นเพื่อนกันอยู่มาคุยกันมากกว่าเหตุการณ์ในตอนนี้ อันนี้ไม่แน่ใจเหมือนกัน เป็นความคิดของผมนะ เพราะช่วงนั้นก็เหมือนรวมกลุ่มกันได้ เหมือนเป็นช่วงชีวิตที่ดีของเขานะ มีความสุขกับการใช้ชีวิตกับเพื่อนรอบข้าง

แล้วถ้าในอนาคตไม่มีใครสนใจเรื่องนี้แล้วล่ะ ถ้าคนรุ่นเก่าก็ทยอยตายกันไป

เราคงเล่าต่อ เราคงไม่ปล่อยให้มันหายไป เล่าในส่วนของเรา สิ่งที่เราพอทำได้ อาจจะทำหนังอีกสักเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ยังแค่เป็นไอเดียเฉยๆ ถ้าในอนาคตเรียนรู้มากกว่านี้ เก่งกว่านี้ และมีโอกาสมากกว่านี้ ก็คงลองทำอีกสักเรื่องหนึ่งที่กว้างกว่านี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของเรา ของพ่อเรา แต่เป็นเหตุการณ์ภาพรวม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ดาวคะนอง’ หนังตัวแทนประเทศไทยชิงออสการ์ปีล่าสุดถูกห้ามฉาย

Posted: 06 Oct 2017 02:30 AM PDT

ดาวคะนอง ภาพยนตร์ตัวแทนประเทศไทยเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมปี 2560 ถูกเจ้าหน้าที่ห้ามฉายที่ Warehouse 30 รวมทั้งงดกิจกรรมพูดคุยถึงหนังหลังจากนั้น ระบุมีเนื้อหาสุ่มเสี่ยง

ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง ดาวคะนอง

วันนี้ (6 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ Warehouse 30 ถนนเจริญกรุง ทหารสั่งห้ามไม่ให้มีการจัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์เรื่องดาวคะนอง (By the Time It Gets Dark) ผลงานกำกับของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ ตัวแทนประเทศไทยเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมปี 2560 พร้อมห้ามกิจกรรมพูดคุยหลังหนังฉายจบกับสองนักวิจารณ์และนักเขียนด้านหนัง ชญานิน เตียงพิทยากร และ รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าในวันเดียวกัน ภาพยนตร์ดาวคะนองได้ถูกจัดฉายอีกสองสถานที่ คือ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานรำลึก 6 ตุลา (แม้ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมฉาย) และอีกที่คือหอภาพยนตร์ในงาน "ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง" ซึ่งจัดงานในลักษณะเดียวกัน โดยมีรายการสนทนา "6 ตุลาในหนัง: ความทรงจำที่อยากให้ลืม" กับวิทยากร สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และอโนชา สุวิชากรพงศ์ ก่อนฉายภาพยนตร์ดาวคะนอง

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Documentary Club และเป็นผู้จัดงานฉายภาพยนตร์ที่ Warehouse 30 ในวันนี้ ได้โพสต์สเตตัสขึ้นเฟสบุ๊กเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยข้อความระบุว่า "กิจกรรมของเราวันนี้ที่จะฉายหนังเรื่อง "ดาวคะนอง" ในฐานะตัวแทนไทยส่งชิงรางวัลออสการ์และเราจะวิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่องนี้กันในด้านศิลปะภาพยนตร์ ...ถูกเจ้าหน้าที่สั่งงดฉายค่ะต้องขออภัยท่านผู้ชมทุกท่าน และวิทยากรมากๆ เลยค่ะ T T"

ด้านผู้จัดการโรงภาพยนตร์ Documentary Club ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ได้ขอความร่วมมือให้งดจัดกิจกรรมทั้งการฉายหนังและพูดคุยหลังฉายโดยใช้เหตุผลว่า ได้รับความเห็นจากเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายว่าเนื้อหาของหนังมีความสุ่มเสี่ยง และไม่แฮปปี้ที่จะให้ฉาย 

*มีรายงานเพิ่มเติมจากผู้กำกับว่าหนังเรื่องนี้ถูกขอความร่วมมือให้งดฉายทั้งเดือน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประมวลภาพ 41 ปี 6 ตุลา ปกป้องประชาธิปไตยประชาชน

Posted: 06 Oct 2017 12:00 AM PDT

ปริญญา ระบุรำลึกถึงเพื่อไม่ให้คนไทยต้องเข่นฆ่ากันอีก ชี้ประชาธิปไตยคือวิถีที่ให้คนเห็นต้างอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง ย้ำเบื่อนักการเมือง แต่เบื่อประชาธิปไตยไม่ได้

6 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 ต.ค.60) เมื่อเวลาประมาณ 7.00 น.ที่ผ่านมา ที่ ลานประติมากรรม 6 ตุลา ข้างหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดกิจกรรม "41 ปี 6 ตุลา ปกป้องประชาธิปไตยประชาชน" เนื่องในวาระครบรอบ 41 ปีการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชน โดยมีการตักบาตร  วางพวงมาลา กล่าวไว้อาลัย อ่านบทกวีรำลึก

วรรณภา ติระสังขะ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มธ. กล่าวว่าวันนี้เป็นวันครบรอบ 41 ปีเหตุการณ์นองเลือดที่เกิดขึ้นใน มธ. ในวันที่ 6 ต.ค.2519 มธ.จัดงานรำลึกวีระชนทุกปี ตั้งแต่ปี 2546 ได้สร้างประติมากรรม 6 ตุลา การจัดงานรำลึกก็ได้จัดมาตั้งแต่ตอนนั้น โดยสภามหาวิทยาลัยได้มีมติเห็นชอบในการสร้างประติมากรรมนี้ ได้ใช้งบประมาณจากการระดมทุนจากผู้ผ่านเหตุการณ์และประชาชนทั่วไป ภายใต้คำขวัญของการรำลึก 6 ตุลา ว่า "ขบวนการนักศึกษาประชาชนเดือนตุลากล้าต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีงาม"
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มธ. กล่าวเปิดกิจกรรม
 
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มธ. กล่าวเปิดกิจกรรมว่า สมัยที่ตนเป็นนักศึกษา ตนเป็นธรรมศาสตร์ รังสิต รุ่นที่ 1 ในปี 2529 นั่นคือปีที่เหตุการณ์ 6 ตุลา ครบ 10 ปี สมัยก่อนมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นผู้จัด แค่ให้สถานที่คนจัดคือนักศึกษา องค์การนักศึกษาเป็นคนจัด ดังนั้นอย่างน้อยเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เรื่องนี้ถูกทำให้เป็ฯทางการและเป็นที่ยอมรับ จากการที่สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมติให้วันนี้เป็นวันที่มีความสำคัญ ประติมากรรมนี้ไม่ได้เป็นแค่ประติมากรรมนี้ เพราะว่า 41 ปี ผ่านไปเรายังไม่มีอนุสาวรีย์ให้กับวีรชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นั้น ดังนั้นประติมากรรมนี้คืออนุสาวรีย์ให้กับวีรชนที่เสียชีวิต
 
"เรามารำลึกเพื่อที่จะช่วยกัน ไม่ทำให้เหตุการณ์ที่เพียงเพราะเห็นคิดที่แตกต่างกันต้องมาเข่นฆ่าเกิดขึ้นอีกในประเทศไทยของเรา" ปริญญา กล่าว พร้อมเล่าด้วยว่าในช่วงที่ตนเป็นนักศึกษาเหตุการณ์ 6 ตุลา แม้จะผ่านไปแค่ 10 ปี แต่มันราวกับเป็นตำนานเป็นรูปภาพ ไม่มีใครคิดว่าเหตุการณ์ที่คนไทยฆ่ากันจะเกิดขึ้นอีก เช่นเดี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่คนเป็นแสนมาเรียกร้อง ก็ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นอีก เช่นเดียวกับการปฏิวัติรัฐประหารก็นึกว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก 
 
"สิ่งที่เราคิดว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกมันเกิดขึ้นทุกอย่าง และยังไม่มีทีท่าว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายในทุกเรื่องที่เกิดขึ้นและหมุนเวียน หมุนวนกันมาตลอด 85 ปี ของประชาธิปไตย ดังนั้นประโยชน์ของการจัดงานนี้ เรารำลึกถึงผู้ซื่งถูกกระทำความรุนแรงเพียงเพราะอุดมการณ์ที่แตกต่างออกไปกับผู้ที่มากระทำกับเขาที่บุกเข้ามาในธรรมศาสตร์ตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม เรามีรำลึกถึงพวกเขาเหล่านั้นแล้วมาหาหนทางเพื่อไม่ให้คนไทยต้องเข่นฆ่ากันแบบนั้นจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก" ปริญญา กล่าว
 
"ไม่มีวิถีทางใดที่จะให้คนที่คิดเห็นที่แตกต่างกัน อยู่ร่วมกันโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้ดีไปกว่าวิถีทางแห่งประชาธิปไตย มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เบื่อนักการเมือง แล้วพาลมาเบื่อประชาธิปไตย เราเบื่อนักการเมืองได้ แต่เราเบื่อประชาธิปไตยไม่ได้ เพราะประชาธิปไตยมันคือระบอบการปกครองที่ประชาเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย คือระบอบการปกครองตนเองของประชาชนเจ้าของประเทศ ถ้าหากประชาธิปไตยที่ผ่านมาจะมีปัญหา นั่นคือเรื่องของตัวบุคคลที่อาจมีการใช้ประชาธิปไตยที่คลาดเคลื่อนไป แต่หลักการสำคัญคือการปกครองตนเองของประชาชน และแม้ว่าเราจะคิดเห็นแตกต่างกัน แต่เราจะคุยกันไม่ได้ใช้กำลังมาเข่นฆ่ากัน" ปริญญา กล่าว
 
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนอื่นๆ เช่น นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มคนงาน สมัชาคนจน และผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ร่วมกล่าวรำลึก โดย ช่วงหนึ่ง วิภา ดาวมณี ขณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 กล่าวรำลึกถึง สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่เพิ่งเสียชีวิตไป ในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญของการเก็บข้อมูลในคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ด้วย
 
ภาพบรรยากาศกิจกรรมรำลึก :
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนทำงาน กันยายน 2560

Posted: 05 Oct 2017 11:11 PM PDT

คำให้การจาก ‘เหยื่อ’ 6 ตุลาคม 2519 ความทรงจำยังไม่จาง

Posted: 05 Oct 2017 10:36 PM PDT

"ดิฉันไปเห็นคนตายอยู่ตรงหน้า อมธ." รื้อฟื้นและทบทวนความทรงจำ เพื่อจดจำ ผ่านคำให้การของผู้อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เคยให้ไว้กับคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เมื่อปี 2542

ความทรงจำต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หมุนกลับอีกเป็นครั้งที่ 41 ความทรงจำในหนนั้นต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทย คล้ายคลึงมีอยู่ คลับคล้ายถูกลืม เป็นโศกนาฏกรรมที่ชนชั้นนำไม่อยากให้จารึกในบทเรียน ฝ่ายขวาไม่อยากเอ่ยถึง และเหยื่อยังไม่เคยได้รับความเป็นธรรม

'ประชาไท' โดยความอนุเคราะห์ข้อมูลจากหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำส่วนหนึ่งของความทรงจำ 6 ตุลา 19 กลับมาทบทวนอีกครั้ง ผ่านปากคำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่เคยให้ไว้กับคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เมื่อปี 2542

 

อภินันท์ บัวหภักดี-เวลาเขาขาดคน ผมก็เข้าไปแจมเป็นตัวประกอบบ้าง

"เมื่อก่อนนี้ อมธ. ก็เป็นที่อยู่ของชมรมหลายชมรม รวมทั้งนาฏศิลป์การแสดงของอนุพงษ์ ก็มีวงดนตรีอย่างวงต้นกล้า วงคาราวาน ก็เข้ามาใช้เป็นห้องฝึกซ้อม ชมรมรู้สึกจะอยู่ข้างล่าง ผมจริงๆ ก็นอกจากเป็นนักกีฬาแล้วก็เล่นดนตรีได้ ก็เลยมาแจมๆ กับเขาด้วยบางครั้งบางคราว นึกสนุกบางทีเขาไปเล่นที่ไหนก็ขนเครื่องไปช่วยเขาบ้าง เริ่มจากความเป็นเพื่อน แล้วในที่สุดไปช่วยมากเข้าๆ ก็เหมือนเป็นนักกิจกรรมเหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่ (หัวเราะ) บางครั้งบางคราวเวลาเขาขาดคน ผมก็เข้าไปแจมเป็นตัวประกอบบ้าง จำได้ว่าเป็นตัวประกอบอยู่สองสามงาน ปี 1 ก็เป็นตัวประกอบงานรับน้องใหม่ ปี 2 ก็เป็นตัวประกอบงานรับน้องใหม่ เป็นตัวที่ไม่สำคัญอะไร นานๆ เขาขาดคนก็เข้าไปแจมกับเขาสักที

"จริงๆ แล้วเรื่องเชิงการเมืองอะไรต่ออะไร ผมก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่องเท่าไหร่ ผมเป็นนักศึกษาประเภทสุขนิยมมากกว่าอย่างอื่น แต่ว่าเป็นคนธรรมศาสตร์มันหลีกเลี่ยงไม่พ้นเรื่องแบบนี้ แล้วหลายๆ เรื่องเราเห็นด้วย เรื่องนี้ทำถูก เรื่องนี้ถูกต้อง หลายๆ เรื่องเราเห็นใจเพื่อน เพื่อนไปบาดเจ็บ ไปล้มตาย อยู่ดีๆ ไปปิดโปสเตอร์ ไปถูกเขาเล่นงานมา

"เรื่องแสดงละครไม่รู้เรื่องเลยว่าพล็อตเรื่องหรือการเตรียมการแสดงเป็นยังไง รู้แต่ว่ามีพระถนอมเข้ามา อันนี้รู้ รู้เรื่องมีคนถูกแขวนคอที่นครปฐม อันนี้รู้ เพราะว่าลงหนังสือพิมพ์ ชัดเจน วันที่ 4 จริงๆ แล้วไม่รู้เรื่องเลยว่าเขาเตรียมการแสดงกันยังไง ผมนัดกับเพื่อนวันที่ 3 จะไปดูหนังตอนเช้า นัดกันที่ชมรมวอลเล่ย์บอล...นัดกันจะไปดูยุทธภูมิมิดเวย์ รู้สึกจะรอบเช้า เช้าผมก็มารออยู่ที่ชมรมวอลเล่ย์ฯ ปรากฏว่า...ไม่มา ไม่รู้หายจ้อยไปไหน ผมก็เลยว่าง ไม่รู้จะทำอะไร เช้าๆ พวกชมรมกีฬาก็ยังไม่มากัน เลยเตร่ขึ้นไปดูที่ อมธ. ไปที่ชมรมนาฏศิลป์การแสดง ก็จริงๆ ก็ขึ้นไปเป็นประจำอยู่แล้ว

"มันจะมีระเบียง เห็นเขาเอาเฮียวิโรจน์ (ตั้งวาณิชย์) มาแขวนคอที่ระเบียง คนเห็นหน้ากัน ก็อยู่ด้วยกันนั่นแหละ ก็ไปดู ก็สนุกดี สักประเดี๋ยวหนึ่งเขาก็ขนเฮียกลับเข้าห้องไป ผมก็เข้าไปดูเล่นๆ ว่าทำอะไรกัน ไปๆ มาๆ เฮียคงจะพูดว่ามันเจ็บ แขวนนานไม่ได้ หน่อยก็หาคนอื่นเข้าไปแทน ถามคนนั้นก็ไม่เอา คนนี้ก็ไม่เอา พอดีผมว่างอยู่ ไปเองก็ได้ (หัวเราะ) เขาบอกต้องตัวเล็กๆ เบาๆ ด้วย ก็อาสาสมัคร สมัครปุ๊บ แทบจะทันทีเลย มีคนแต่งตัวให้ผึบผับๆ ช่วยกันแต่งตัว แล้วก็เอาไปทดลองแบบเฮียเมื่อกี้นี่"

 

อนุพงษ์ พงษ์สุวรรณ-ฆาตกรมันกลับมาแล้ว ยังจะสอบกันอยู่รึ

"ผมเรียนนิดหนึ่งว่าที่มาของละครเรื่องนี้มีที่มาที่ไป เพราะว่าตอนช่วงที่จะมีการเคลื่อนไหวประท้วงถนอมเข้ามา ผมจำได้ว่า...คือชุมนุมเป็นชุมนุมที่ทำกิจกรรม แล้วในช่วงนั้นชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งหมดก็จะเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทั้งหมด อย่างชมรมเราหลายๆ ครั้งก็เคยไปเล่นละครล้อเลียนแถวหน้ารัฐสภาที่ทำมาตลอด

"ผมจำได้ว่าเมื่อวันที่ 3 ตุลา มีการประชุมของแนวร่วม 21 กลุ่มในธรรมศาสตร์ กลุ่มอิสระในธรรมศาสตร์เข้าร่วมประชุมกัน เนื่องจากวันที่ 3 มีนักศึกษาของคณะรัฐศาสตร์ประท้วงไม่เข้าสอบกัน แล้วเลยมีมติว่าในวันรุ่งขึ้นจะมีการเคลื่อนไหวให้นักศึกษาชั้นปี 1 ไม่เข้าสอบในวันที่ 4 ...ที่ตึกศิลปศาสตร์ ผมเข้าร่วมประชุมก็เลยรับมติมาว่าทุกส่วนต้องเข้าร่วมการเคลื่อนไหวครั้งนี้ แล้วแต่ละชุมนุมก็ไปคิดรูปแบบการเคลื่อนไหวของตัวเองว่าจะเคลื่อนไหวยังไง ทางผมก็ไปประชุมที่ชุมนุม เขาเลยบอกว่าเราก็เล่นละครที่ธรรมศาสตร์ ที่ลานโพธิ์ในวันที่ 4 ที่มาที่ไปของละครก็เกิดจากการที่จะเข้าร่วมเคลื่อนไหว เพื่อให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 หรือที่จะสอบตอนบ่ายวันนั้นไม่เข้าห้องสอบ

"จริงๆ วันนั้นมันจะไม่ใช่เป็นละครเป็นเรื่องเป็นราว คือหมายความว่าเราจะเอาภาพความโหดร้าย ทั้งคนที่ถูกแขวนคอหรือคนที่เป็นประชาชนถูกยิงตายตอน 14 ตุลาต่างๆ ที่ลานโพธิ์ แล้วเราก็จะไปเคลื่อนไหวและถามนักศึกษาว่า ฆาตกรมันกลับมาแล้ว ยังจะสอบกันอยู่รึ จุดประสงค์จริงๆ มันแค่นี้ คือพล็อตของเรา ส่วนที่จะมีการพูดการอะไรในละคร มันมีการเตี๊ยมกันก่อนหน้าวันที่จะขึ้นไปไม่นาน

"พอหลังจากมีการคุยกัน ก็มีการเตรียมการ ก็มีเอาวิโรจน์ เอาอภินันท์มาทดลอง อย่างที่เขาเล่าไปแล้ว พอวันรุ่งขึ้น วันที่ 4 เราก็ไปเล่นละครกันที่ลานโพธิ์ เพราะวันนั้นเขาจะสอบกันประมาณบ่ายโมง เราก็ไปกันประมาณ 11 โมง ก็จับขึ้นแขวน แขวนกัน...ใช้ผ้าพันรั้งหน้าอก แล้วก็เอาผ้าไปผูกกับเชือก ตรงปมก็ทำเป็นเอาเชือกมาคล้องเฉยๆ ก็เอาอภินันท์ขึ้น พอเจ็บ ก็เอาวิโรจน์ขึ้น แล้วก็จะมีคนในชุมนุมที่เหลือแต่งตัวเป็นพระถนอม หรือเป็นทหาร แล้วเป็นประชาชนก็นอนถูกยิงตาย เลือดสาด ทหารก็เดินไปบ้าง เตะไปบ้าง ถีบไปบ้าง แล้วก็จะมีคนถือโทรโข่งพูดชวนนักศึกษาให้หยุดสอบนะ บรรยากาศที่ลานโพธิ์จะเป็นอย่างนั้น

"ตอนนี้มันจะมีบทพูดอยู่ตรงช่วงหนึ่งก็คือว่า เรากะว่าพอได้ยินเสียงออด ทุกคนต้องเข้าห้องสอบ เราจะเริ่มเล่นละครเลย เรากะว่าจะถ่วงนักศึกษาให้อย่าเพิ่งเข้า ดูละครของเราก่อน ช่วงนั้นเราก็เตี๊ยมกัน พอเสียงออดปั๊บ เราจะให้คนที่นอนตายทุกคนนอนเรียงๆๆๆ กันแบบเป็นถนนจากลานโพธิ์ไปถึงบันไดห้องสอบ คือบันไดตึกศิลปศาสตร์ แล้วก็จะมีนักศึกษาคนหนึ่งถือหนังสือจะเข้าห้องสอบ เขาก็จะเดินเหยียบไปบนร่างของคนตายเพื่อจะเข้าห้องสอบ ภาพมันอย่างนั้น ก็เดินเหยียบไป นักศึกษาคนนี้ก็จะถามว่า เฮ้ย พวกแกเป็นใคร มานอนอยู่ทำไม ก็จะมีคนตอบว่า พวกฉันก็คือประชาชนที่ถูกทรราชฆ่าตาย นักศึกษาคนนี้ก็จะบอกว่าไม่รู้ เขาไม่สนใจ เขาจะเข้าห้องสอบ มันก็เดินอย่างเดียว เดินเหยียบไปบนคนตาย พอเดินๆ ไป ก็เหมือนกับเขานึกอะไรขึ้นมาได้บางอย่าง แล้วเขาบอกว่าเขาไม่สอบแล้ว เขาโยนหนังสือทิ้ง แล้วเขาก็ลงมาจากร่างของคนตาย คือมันก็มีการพูดกันแค่นี้ จุดไคลแมกซ์มันก็คือให้นักศึกษาหยุดสอบ"

 

สุธรรม แสงประทุม-ผมและพรรคพวกรวม 6 คนถูกจับชุดแรก

"ครั้งแรกเราประชุมเสร็จมีมติยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลจัดการก่อน แต่หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็เริ่มรุนแรงขึ้น ความรุนแรงมาจากปฏิกิริยาของประชาชน ของนิสิตนักศึกษาที่มีต่อจอมพลถนอม ก็มีการลุกขึ้นประท้วง ลุกขึ้นแสดงออก ก็มีกรณีของสองช่างไฟฟ้านครปฐม สองช่างไฟฟ้านี้เป็นนักกิจกรรม เป็นนักเรียนนักศึกษาเทคนิคก่อน แล้วก็ไปเป็นพนักงานการไฟฟ้าภูมิภาคที่ทำงานอยู่ที่นครปฐม ก็ร่วมกับประชาชนในนครปฐมคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอมด้วย สองคนนี้ก็ถูกจับไปซ้อมและทุบตีจนเสียชีวิต แล้วมีการนำไปแขวนคออำพรางว่าสองคนนี้แขวนคอฆ่าตัวตาย

"...เราได้รับรูปนี้มาจากแนวร่วมที่นครปฐม ก็มาบอกเรา บังเอิญคนเขาหายไปสองคน เขาตามไปเจอ รูปนี้ก็ถูกนำมาและเผยแพร่ต่อสาธารณะว่าการที่รัฐบาลขาดความรับผิดชอบ ปล่อยให้คนบริสุทธิ์ตายไปเรื่อยๆ นี่เป็นรูปธรรมหนึ่ง เราจึงมีการนัดชุมนุมกันครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราไม่พยายามใช้ธรรมศาสตร์ เพราะรู้ว่าธรรมศาสตร์ล่อแหลม ทั้งในภาพพจน์ก็เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ ก็ใช้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการชุมนุมครั้งแรกและเป็นการระดมผู้คน ผู้ปฏิบัติงานของศูนย์นิสิตหรือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจสถานการณ์บ้านเมืองและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกัน

"หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น จากกันยานะครับ ผมคิดว่า 25 กันยา เราชุมนุมที่จุฬาฯ นะครับ แล้วเหตุการณ์ก็ยืดเยื้อ แต่เราก็ได้มีมติให้องค์การนักศึกษาทุกแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดได้ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะพยายามระดมผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอมให้มากที่สุด

"...พอชุมนุมวันที่ 4 ทำไมผมพูดถึงการรักษาความปลอดภัย เราชุนนุมในวันที่ 4 เราจะชุมนุมที่ท้องสนามหลวง และโดยความตั้งใจ เราจะชุมนุมแล้วสลาย ชุมนุมแล้วสลาย ทำไปเรื่อยๆ มากกว่าชุมนุมแล้วยืดเยื้อ โดยความตั้งใจนะครับ แต่เราคิดว่าเวลานั้น ความพยายามที่จะหยิบฉวยสถานการณ์ขยายผลมีสูง เราจึงทำเป็นลายลักษณ์อักษรขออนุญาตชุมนุมต่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ทั้งในฐานะนายกฯ และรักษาการณ์รัฐมนตรีมหาดไทยและมีการประกาศที่สนามหลวง ขอชุมนุมที่สนามหลวงและขอให้รัฐบาลส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอารักษ์ขาคุ้มครองผู้ชุมนุม พร้อมทั้งอำนวยแสงสว่างตามจุดต่างๆ เพราะเกรงว่าจะมีการคุกคามการชุมนุม

"แต่พอชุมนุมได้สักพัก เหตุการณ์ก็เริ่มรุนแรงขึ้น มีการย้ายผู้ชุมนุมจากสนามหลวงเข้าไปธรรมศาสตร์ ...ในวันที่ 4 ตอนเย็น ซึ่งเวลานั้นท่านอธิการบดีคืออาจารย์ป๋วยก็ไม่เห็นด้วยที่จะย้ายเข้าธรรมศาสตร์ เพราะเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างล่อแหลม โดยตัวมันเอง ผมคิดว่าไม่มีอะไรที่รุนแรงและสับสน เพียงแต่มันมาเกี่ยวเนื่องกับการแสดงละครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นการแสดงของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง

"...ความพยายามที่จะชุมนุมแล้วสลาย ชุมนุมแล้วสลาย เราคิดว่าเป็นมาตรการที่ปลอดภัยกว่า รัดกุมกว่า แต่ว่าทางการเมืองต้องยอมรับว่าการคิดและปฏิบัติ มันไม่ใช่เวลาราชการ ชุมนุมสามโมงเย็น หกโมงเย็นเลิก มันไม่ใช่ง่ายๆ อย่างนั้น เพราะกว่าจะระดมผู้คนได้ไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนบอกว่าถ้าอย่างนั้นอย่าเพิ่งสลายเลย เพราะรัฐบาลก็ขาดความจริงใจ ก็สร้างมาตรการต่อรองรัฐบาลให้มากขึ้น

"...ผมและพรรคพวกรวม 6 คนถูกจับชุดแรก เพราะว่าหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้น แล้วก็มีการขยายผล เผยแพร่ บิดเบือน โจมตี แล้วก็มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้ ผมก็เป็นคณะชุดแรกที่ได้ประสานติดต่อกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในเวลานั้นเป็นรัฐมนตรีอยู่ ผ่านทางเจริญ คันธวงศ์ ซึ่งเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น บอกว่าจะนัดประสานงานให้พวกเราเข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้นายกฯ ซึ่งเป็นนักกฎหมายได้รับทราบและได้หาทางผ่อนคลายสถานการณ์ เพื่อให้เรื่องการเข้าพบสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเรา เราก็ได้คนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเหตุการณ์การแสดงละครในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ถูกบิดเบือนว่ามีส่วนหมิ่นเหม่เกี่ยวข้องกับสถาบันสูงสุดของบ้านเมือง

"เวลานั้นผมก็ได้ชวนผู้ที่เป็นกรรมการบริหารศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย 12 คน ตอนนั้นผมเป็นเลขาธิการศูนย์นิสิต มีคุณสุรชาติ บำรุงสุข วันนี้เป็น ดร.สุรชาติ  บำรุงสุข อยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลานั้นสุรชาติเป็นอุปนายกฝ่ายกิจการภายนอกขององค์การนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นนายกฯ แล้วก็คุณประพนธ์ วังศิริพิทักษ์ ซึ่งเวลานั้นเป็นนายกฯ ของสโมสรสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า บางมด เป็นตัวแทนศูนย์ 2 คน แล้วเอาบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการแสดงละคร 3 คนไปด้วย คือคุณอนุพงษ์ พงษ์สุวรรณ เป็นประธานชมรมนาฏศิลป์และการละครขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) แล้วก็คุณวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ที่แสดงละครเลียนแบบการแขวนคอของช่างไฟฟ้าที่นครปฐม แล้วก็คุณอภินันท์ บัวหภักดี ซึ่งแสดงละครเลียนแบบการแขวนคอที่นครปฐม แล้วก็ถูกกล่าวหาไปด้วย

"พวกผมจึงเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่ถูกนำตัวจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เวลานั้นประมาณสัก 06.45-07.00 เห็นจะได้ ก่อนไปเราก็ได้แจ้งต่อเวทีเช้าวันที่ 6 ตุลาเลยครับ ...แต่ตอนนั้นชี้แจงยากแล้ว ต้องหลบกระสุนแล้ว กระสุนยิงเข้ามาตลอดเวลา

"...หลังจากเราถูกควบคุมตัวก็ถูกนำไปที่บ้านนายกรัฐมนตรีคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ซอยเอกมัย แต่พอไปถึงปรากฏว่านายกฯ ไม่อยู่รอพบเราเสียแล้ว คิดว่าสถานการณ์เวลานั้นก็คงวุ่นวาย ทหารคงเตรียมตัวยึดอำนาจแล้ว มีตำรวจจากกองปราบปรามสามยอด ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิดก็มีอธิบดีกรมตำรวจ คุณศรีสุข มหินทรเทพ ก็มาบอกเราว่า ทั้งหมดไม่ต้องลงจากรถ เขาให้ไปที่กองปราบปรามสามยอดเลย

"...แล้วระหว่างไปที่กองปราบปราม เขาก็ตั้งข้อหา แล้วก็ให้เราให้การ ผมบอกขอปรึกษาทนายก่อน ก็บอกได้ เราก็โทรติดต่อ เขาถามว่าทนายที่จะปรึกษาคือใคร ก็บอกคุณทองใบ ทองเปาด์ บอกไม่ได้ เราบอกว่าเราไม่ให้การ เราให้การชั้นศาล และเราไม่ถือว่าคุณจับกุมนะ เราถือว่าเราไม่ใช่ผู้ต้องหา เราก็ไม่ยอมเซ็นต์รับ หลังจากนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงก็เริ่มเกิด

"เราไปทราบข่าวอีกครั้งหนึ่งตอนอยู่ที่กองปราบปรามสามยอด ตอนที่ตำรวจพยายามประสานให้สื่อมวลชนเข้ามาถ่ายรูปพวกเรา เพราะพวกเราถูกจับกุมแล้วเป็นชุดแรก ก็มีผู้สื่อข่าวบางคนมาบอกเราว่าที่ธรรมศาสตร์เริ่มถูกปราบ ถูกกวาดล้างแล้ว แล้วมาทราบอีกทีตอนเวลาประมาณสัก 19.00 น. ว่ามีการยึดอำนาจแล้ว โดยตำรวจที่กองปราบมาบอกเราว่าหลบเข้าไปข้างในหน่อย เดี๋ยวลูกเสือชาวบ้านมาแล้วยุ่งเท่านั้นเอง"

 

อมรสิริ สัณห์สุรัติกุล เกียระสาร-ดิฉันไปเห็นคนตายอยู่ตรงหน้า อมธ.

"ก่อนเช้าวันรุ่งขึ้นที่จะเป็นเหตุการณ์นองเลือด คืนนั้นดิฉันก็อยู่ที่ม็อบ อยู่ที่สนาม แล้วก็ยังฟังธงชัยบ้างสลับกับคนอื่น แล้วก็มีเพลงของกรรมาชนบ้าง แล้วเราก็คุยกันไป ก็มีอาจารย์แวะเวียนเข้ามาคุยบ้าง ...กระทั่งพอถึงกลางดึก ตอนมีการยิงปืนเข้ามา เราก็ยังคงอยู่กัน คอยนั่งฟังว่าจะต้องทำอะไร ยังไง

"ดิฉันคิดว่า (ตอนที่เกิดการยิง) ยังไม่สว่าง ตอนที่สว่างคือตอนช่วงที่เราหนีกันชุลมุน ตอนที่โฆษกไม่อยู่บนเวทีแล้ว แล้วก็ระเบิดมาลงตูมใหญ่มากอยู่ตรงกลาง ช่วงนั้นเราก็... พอเขาบอกให้ทุกคนหาที่หลบภัย...เราก็วิ่งหนีไปทางตึกคณะเศรษฐศาสตร์ แล้วก็ไปหลบอยู่ที่ใต้เคาท์เตอร์ของร้านอาหาร อันนั้นก็เป็นช่วงก่อนเช้ามืด ตอนแรกได้ยิน (เสียงปืน) เป็นนัด ตอนช่วงต้นๆ พอมาตอนหลังที่เราต้องหนี มันก็เป็นเสียงดังมากๆ ดิฉันคิดว่าไอ้เสียงดังนั้นที่ทำให้ทุกอย่างโกลาหลมาก มันบึ้มใหญ่ลงมา

"จนกระทั่งมองเห็นกันแล้ว สว่างแล้ว ก็มีนักศึกษาแพทย์สองคนนั่งเรือข้ามฟากมาขึ้นที่ฝั่ง แล้วก็มายืนถามว่ามีใครที่จะไปช่วยเขาได้บ้าง ที่จะเข้าไปที่สนามบอล เพื่อไปชวนกันพยาบาลคนเจ็บ ดิฉันฟังอยู่ แล้วดิฉันก็ยกมือและบอกว่าดิฉันจะไปด้วย แล้วจากนั้นดิฉันก็เดินไปกับหมอ กับนักศึกษาแพทย์ ดิฉันคิดว่ายังคงเป็นนักศึกษาอยู่ ...แล้วดิฉันก็เดินคล้องแขนไป ดิฉันจำได้ว่านักศึกษาสองคนก็คล้องแขนดิฉัน แล้วคนที่อยู่ข้างนี้ก็ดึงผ้าข้างหนึ่ง อีกคนก็ดึงผ้าอีกข้างหนึ่ง แล้วในผ้านั้นก็เขียนว่าเป็นหน่วยพยาบาล

"ดิฉันคิดว่าสิ่งที่ให้ดิฉันลุกขึ้นทันทีโดยไม่ลังเล ไม่ช้าเลย เพราะว่าดิฉันจำได้ว่ากลัวเสียงปืนมาก แล้วอีกอันหนึ่งก็เป็นห่วงลูกศิษย์มาก ไม่ทราบว่าอุดมสุขไปอยู่ที่ไหน ตุ้ยไปอยู่ที่ไหน แล้วเกษียรจะเป็นยังไง ก็คือคนที่เรารู้จัก ใกล้ชิด ธงชัยซึ่งอยู่บนเวทีจะเป็นยังไง ดิฉันก็มีความรู้สึกอย่างนี้และอยากจะเข้าไปดูว่าที่นั่งๆ กันอยู่เป็นยังไงบ้าง เพราะจำได้ว่าตอนที่วิ่งกระเจิงนั้น ไอ้ลูกใหญ่ที่ตูมลงมา จำได้ว่าเสียงมันดังมาก แล้วมันชวนให้เรากลัวมาก ก็วิ่งกันอุตลุต

"ดิฉันจำได้ว่าดิฉันไปเห็นคนตายอยู่ตรงหน้า อมธ. แล้วดิฉันก็ร้องไห้ ก็ปล่อยโฮออกมา ขณะนั้นเราเดินเข้าไปแล้วถึงหน้า อมธ. เดินเข้าไปในสนามบอลแล้ว ...ยังยิงอยู่ค่ะ ยังมีเสียงตลอด เสียงกระจกที่หล่นลงมายังจำได้ว่าติดอยู่ในหัวเป็นเดือน เสียงกระจกของคณะบัญชีที่ร่วงกราวลงมา ก็จำได้ว่าเวลาเขายิง เขาใช้ปืนที่มีลูกยาวเหยียดเลยที่วางอยู่กับพื้น ไม่ทราบว่าเขาเรียกปืนอะไร ดิฉันเห็นคนตายก่อน ดิฉันก็ร้องไห้

"...หมอพยายามเดินเข้าไปหาคนเจ็บ แต่ดิฉันก็ยืนร้องไห้อยู่ ตกใจมาก ดิฉันคิดว่าก็มีกระทิงแดง พวกวัยรุ่นนี่แหละค่ะ เข้ามาแล้วก็กระชากตบตีดิฉัน แล้วก็บอกว่าเป็นนักศึกษาที่นี่ นักศึกษาแพทย์ก็เข้ามาบอกว่าไม่ใช่ เป็นนักศึกษาพยาบาลมาด้วยกันเพื่อที่จะช่วยรักษาคนเจ็บ แต่ว่ามีผู้ชายคนหนึ่งเข้ามาแล้วดึงผม แล้วก็บอกว่าไม่ใช่ ใส่แว่นอย่างนี้ หน้าตาอย่างนี้ต้องเป็นนักศึกษา ดิฉันก็ทำอะไรไม่ได้เลย ร้องไห้อย่างเดียว ยิ่งมองไปในสนาม ดิฉันเห็นแต่คนถอดเสื้อแล้วนอน มันก็เกิดความรู้สึกมาก

"นักศึกษาแพทย์สองคนนี้เท่านั้นที่เห็นอาการดิฉันแล้วก็เข้ามาบอกว่า อย่าอยู่เลยดีกว่า ช่วยไม่ได้หรอก เพราะว่ามันจะไม่ปลอดภัยกับคุณ คุณขึ้นรถพยาบาลไปดีกว่า ดิฉันคิดว่านี่ทำให้ดิฉันไม่ถูกจับเหมือนกับคนอื่นๆ ดิฉันก็เลยขึ้นไปอยู่บนรถ พอขึ้นไปอยู่บนรถดิฉันก็เจอคนอีกหลายคน ...มีอาการเจ็บหนักกันทั้งนั้น มีคนหนึ่งดิฉันจำไม่ลืมเลยก็คือคนที่ท้องข้างซ้ายหรือข้างขวาเขาแหว่งไปหมดเลย แล้วผู้หญิงคนหนึ่งก็มีอาการเยอะมากที่ไหล่"

 

วีระ สมความคิด-พอมาถึงก็เห็นภาพของเพื่อนนักศึกษาถูกแขวนคอ

"ในวันที่ 6 ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ในขณะที่มีการล้อมปราบ เพราะว่าคืนวันที่ 5 ภายหลังจากที่หนังสือพิมพ์ดาวสยามกับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้เผยแพร่ภาพนักศึกษาธรรมศาสตร์ 2 ท่านที่เล่นละครเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าที่นครปฐมที่ถูกแขวนคอ วันที่ 4 ผมก็นั่งดูอยู่ ก็ไม่ไกล มองเห็นได้ชัดเลย ใบหน้านะครับ ไม่มีการแต่งเลย ไม่มีการแต่งให้คล้ายเลย อย่าว่าเหมือนเลย คล้ายหรือใกล้เคียงก็ไม่ใกล้เคียงเลย ไม่มีใครเอะใจ แล้วก็ไม่มีใครที่จะไปคิดว่าประเด็นนี้จะนำมาซึ่งสาเหตุที่ฝ่ายอำนาจรัฐหยิบยกขึ้นมาใช้กำลังเข้าล้อมปราบ ซึ่งตรงนี้ผมขอยืนยันเลย

"พอวันที่ 5 ในช่วงหัวค่ำ ภายหลังจากที่สื่อมวลชนสองฉบับ ดาวสยามกับบางกอกโพสต์ได้เผยแพร่ภาพ ทางพวกนักศึกษาก็มานั่งวิเคราะห์กันที่กลางสนามบอล เรารู้ว่าเราคงจะต้องถูกล้อมปราบ เพราะประเมินจากสถานีวิทยุยานเกราะ พันโทอุทาน สนิทวงศ์ ได้พูดและปลุกระดมลูกเสือชาวบ้านและประชาชนว่า เรามีการกระทำการลบหลู่ดูหมิ่น... และให้มีการรวมตัวกันในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเราก็ประเมินกันแล้วว่า เราคงจะต้องถูกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง และคิดว่าน่าจะเป็นการใช้กำลังเข้าจับกุม ปราบปราม แต่เราไม่คิดว่าเขาจะทำอย่างป่าเถื่อน อย่างเป็นภาพที่ปรากฏ

"ผมจะต้องออกมาจากมหาวิทยาลัยในช่วงประมาณห้าทุ่มครึ่ง เพราะว่าทางรุ่นพี่ซึ่งเป็นกรรมการของพรรคประชาธรรม ซึ่งเป็นผู้ดูแลที่ทำการของพรรคประชาธรรม เขาเรียน อศมร. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อให้ผมไปเก็บเอกสารลับ ...ผมก็เลยรับมอบหน้าที่นี้กับเพื่อนอีกคนหนึ่ง เราก็เล็ดลอดออกไปจากธรรมศาสตร์ตอนห้าทุ่มครึ่ง กว่าจะไปถึงรามคำแหงก็ประมาณตีสาม หลังจากจัดการเก็บข้าวของเสร็จ ประมาณหกโมงกว่าๆ รถจีเอ็มซี 2 คันก็เข้าไปที่รามคำแหงแล้ว เราก็เลยต้องเผาบัตรนักศึกษาทิ้งแล้วก็แฝงตัวเดินทางกลับมาที่ธรรมศาสตร์ เพราะเราก็ได้ข่าวว่ามีการล้อมปราบตั้งแต่ประมาณตอนตีสี่แล้ว พอมาถึงก็เห็นภาพของเพื่อนนักศึกษาถูกแขวนคอ ถูกทำร้าย ถูกตี ถูกทรมาน ซึ่งตรงนั้นก็ทำให้เรารู้สึกกลัว โกรธแค้น แต่เราก็ไม่สามารถจะช่วยเพื่อนๆ ได้"

 

สุชาติ อารยพัฒนกุล-ลากคอคนออกจากตึกนิติศาสตร์มากลางสนามฟุตบอล

"วันที่ 6 ตอนเช้ามืดผมได้ผู้โดยสารไปสามแยกไฟฉาย ในขณะที่ผ่านสนามหลวง ได้ยินเสียงปืน ตอนนั้นยังไม่สว่าง ก็รู้ว่าเกิดยิงกันที่ธรรมศาสตร์ ...เมื่อไปส่งคนที่นั่นแล้วรีบกลับมาเลย ไม่ได้คิดจะรับผู้โดยสาร ผมก็เอารถเข้าไปจอดที่สนามหลวง ที่ศาล กระทรวงยุติธรรม จอดที่นั่นแล้ว บังเอิญในรถผมมีกล้องถ่ายรูปอยู่ แต่ผมถ่ายไม่ติด เมื่อเห็นเหตุการณ์อย่างนี้ผมก็ไปซื้อฟิล์มมาม้วนหนึ่ง เป็นฟิล์มขาวดำ ก็มาถ่ายตั้งแต่ก่อนประตูธรรมศาสตร์จะแตก คือเข้าไปทางด้านหอประชุมใหญ่

"ตอนนั้นก็ประมาณ 6 โมงกว่าแล้ว ตอนนั้นมีรถเมล์เหลืองขับถอยหลังไปชนประตูธรรมศาสตร์ แล้วจะมีพวกประชาชนค่อยๆ บุกเข้าไป ในฐานะที่ผมมีกล้องสะพายอยู่ที่คอ แล้วก็เห็นพวกนักหนังสือพิมพ์เขาก็ถ่าย เราก็ตามเขาเข้าไป บางทีถ้าเสียงปืนมันดัง เราก็แอบอยู่ตรงโคนต้นมะม่วง ในขณะนั้นคนที่จะกล้าเข้าไปเสี่ยง มันไม่มาก คนเยอะ คนที่กระจายอยู่ จนกระทั่ง 7 โมงกว่าๆ 8 โมงกว่าๆ เขาบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ได้แล้ว

"เมื่อบุกเข้าไปถึงหน้าหอประชุมใหญ่แล้ว มีคนออกมาจากหอประชุมใหญ่ ซึ่งถูกจับมา ถูกซ้อมมา เลือดออก เดินออกมาจากหอประชุมใหญ่ เขาเข้าไปจับในนั้น แล้วก็เดินผ่านหน้าออกไป ผมก็ถ่ายรูปไว้ จากคนที่ผ่านเราไป เข้าใจว่าไปถูกแขวนคอกับไปถูกเผาที่นางธรณีบีบมวยผม ...จากหน้าหอประชุมธรรมศาสตร์ เรามองเข้าไปไกลๆ จะเห็นตึกโดม มองไปทางด้านนี้เห็นตึกบัญชี ในขณะนั้นมีสนามฟุตบอลอยู่ตรงกลาง ด้านขวาของสนามฟุตบอลที่เรามองไปเป็นตึกนิติศาสตร์ จำได้แม่นยำว่าเป็นตึกนิติศาสตร์ แล้วก็มีคนผูกคอคน คล้ายๆ จะเป็นเชือกหรือผ้าขาวม้ามองไม่ชัด แต่ลายๆ ลากคอคนออกจากตึกนิติศาสตร์มากลางสนามฟุตบอล

"ระหว่างหอประชุมใหญ่ติดอยู่กับพิพิธภัณฑ์ บนเพดานพิพิธภัณฑ์มีช่องลม ปืนนี่โผล่ออกมาจากช่องลมพิพิธภัณฑ์ คนชี้ให้ดู พอคนชี้ให้ดูกันเสร็จแล้ว คนข้างบนเอาหมวกตำรวจโผล่ออกมาให้เห็นว่านี่เป็นตำรวจ ทำให้เรารู้ว่าเสียงปืนยิงจากพิพิธภัณฑ์ มันจะมีช่องตรงไปที่ตึกบัญชี ยิงเข้าไป เราอยู่ที่หน้าหอประชุมธรรมศาสตร์ เวลาปืนดังขึ้นมาแล้วจะเห็นนักศึกษาลงมาจากตึกโดม แล้วคลานไปตามถนนรอบสนามฟุตบอล คลานไปเข้าตึกบัญชี คลานเป็นแถวเลย เสร็จแล้ว ทางด้านพิพิธภัณฑ์ยิงปืนเข้าไป นักศึกษาที่อยู่บนตึกบัญชีคลานลงมายอมจำนนที่สนามหลวง

"ขณะที่นักศึกษายอมจำนนอยู่ที่สนามฟุตบอล ผมตามนักข่าวเข้าไปในสนามฟุตบอล นักศึกษาให้ไปนอนคว่ำในสนามฟุตบอล มัดมือ ในขณะที่เดินไปอยู่ที่สนามฟุตบอลก็มีตำรวจแต่งเครื่องแบบเข้าไปในสนามฟุตบอล ตำรวจคนหนึ่งเอาส้นปืนกระแทกปากนักศึกษาอย่างแรง แล้วผมมาติดตามข่าวว่านักศึกษาคนนี้กรามหัก ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลประมาณ 10 วันหรือ 20 วัน ผมเห็นด้วยตา

"แล้วหลังจากที่นักศึกษายอมจำนนแล้ว รถเมล์ขาวมารับนักศึกษา ก็ต้อนนักศึกษาขึ้นบนรถเมล์ เสร็จแล้วจะมีประชาชนพวกที่เข้าไปอยู่ในนั้นขว้างหิน ขว้างดินใส่นักศึกษา นี่ก็เหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งตอนนั้นใกล้ๆ จะ 11 โมง แล้วผมเหนื่อยมาก พอนักศึกษากลับแล้ว ผมก็เดินออกจากธรรมศาสตร์ ออกจากธรรมศาสตร์ก็มีเจอคนถูกแขวนคอที่ต้นไม้ แล้วก็มีพวกที่ทำร้ายร่างกายพวกที่โดนแขวนคอ แล้วก็เดินเลยข้ามสนามหลวงมา

"เห็นเหตุการณ์ที่กำลังแขวนแล้ว แล้วก็มีคนไปซ้อม ไปทำร้ายคนที่ถูกแขวนคอ แต่เข้าใจว่าเขาตายแล้ว ก็ยืนดูอยู่สักประเดี๋ยวหนึ่งแล้วก็เดินเลยข้ามสนามหลวงจะไปหารถ เห็นคนมุงดูอยู่ แล้วมีควันไฟขึ้น ก็ได้ไปดูตรงนั้น จะมีศพถูกเผาโดยยางรถยนต์ ถูกเผาประมาณสามหรือสี่ศพ มีผู้หญิงที่ยืนอยู่ข้างๆ ผมบอกว่า เมื่อกี้นี้ศพขายังกระดิกอยู่เลย แล้วหลังจากนั้นผมก็กลับบ้าน ต้องการพักผ่อน เพราะเหนื่อยมาก ก็กลับไปเอารถแท็กซี่"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มากกว่าเรื่องการเมืองร่วมสมัย?: ร่วมกันเข้าใจสถานการณ์และความขัดแย้งสเปน-กาตาลูญญา

Posted: 05 Oct 2017 08:05 PM PDT



บทความสรุปเหตุการณ์คร่าว ๆ ให้ท่านผู้สนใจมาค้นหาคำตอบเพิ่มเติมในงานเสวนาหัวข้อ "มากกว่าเรื่องการเมืองร่วมสมัย?: ร่วมกันเข้าใจสถานการณ์และความขัดแย้งสเปน-กาตาลูญญา" อันเป็นงานเสวนาที่ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะจัดร่วมกับสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม 2560 เวลา 09.30-12.00 น. ณ ห้อง 701 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แคว้นกาตาลูญญา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสเปน มีบาร์เซโลนาเป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของแคว้น อีกทั้งเป็นเมืองที่ความหนาแน่นของประชากรนับเป็นอันดับ 2 ของประเทศและอันดับที่ 7 ของประเทศในสหภาพยุโรปทั้งหมด ชาวกาตาลันนี้มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตน ได้เผชิญความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์มาหลายศตวรรษ ความผันผวนของระบอบการเมืองและกระแสชาตินิยมสเปนและกาตาลันได้นำมาสู่การออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ผลคะแนนของประชามติจากการเลือกตอบ "ใช่" หรือ "ไม่" ต่อคำถามที่ว่า "ท่านประสงค์ให้กาตาลูญญาเป็นรัฐอิสระปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐหรือไม่?" ชี้นำสู่ความประสงค์ของชาวกาตาลันที่จะจัดตั้งแคว้นกาตาลูญญาเป็นรัฐอิสระจากสเปน ในสัดส่วน 90% จากสัดส่วนผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 42%

การเข้าใจความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสมัยระหว่างสเปนและแคว้นกาตาลูญญาอย่างรอบด้านต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจบริบทประวัติศาสตร์ยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ชาติสเปนและการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวกาตาลันซึ่งยาวนานกว่า 3 ศตวรรษ ปีอันเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้อันยาวนานคือ ค.ศ. 1714 อันเป็นปีที่ พระเจ้าเฟลีเปที่ 5 แห่งสเปนได้ยึดครองบาร์เซโลนา นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กลุ่มอินเดเปนดีสตัส (independistas) หรือกลุ่มผู้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวกาตาลันได้พยายามต่อสู้ยื้อเอกราชหรือหาหนทางปกครองตนเองโดยเอกเทศและเป็นอิสระจากสเปน ปีที่สำคัญอีกปีหนึ่งคือ ค.ศ. 1932 อันเป็นปีที่ผู้นำแคว้นได้ร่างคำประกาศการปกครองตนเองของกาตาลูญญาปี 1932 อันเป็นร่างคำประกาศฉบับแรกที่เรียกร้องให้กาตาลูญญาแยกตัวเป็นสาธารณรัฐ คำประกาศนี้ได้รับเสียงสนับสนุนถึง 99%  ของผู้ออกเสียงประชามติรับรองเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 1931 ต่อมารัฐบาลสเปนเองได้รับรองคำประกาศฉบับนี้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 1932 ประเด็นสำคัญของคำประกาศดังกล่าวคือข้อความที่ว่าชาวกาตาลันจะสามารถตัดสินใจเลือกทางเดินของแคว้นตนได้ในอนาคต อย่างไรก็ดี คำประกาศการปกครองตนเองของกาตาลูญญาปี 1932 อันนำมาสู่การประกาศตนเป็นสาธารณรัฐของกาตาลูญญานี้มีผลบังคับใช้เพียงในช่วงระยะเวลาอันสั้นเท่านั้นคือค.ศ. 1933 เมื่อพรรค CEDA ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาของสเปน (Confederación Española de Derechas Autónomas) ชนะการเลือกตั้ง จากนั้นได้มีความพยายามที่จะรื้อฟื้นคำประกาศดังกล่าวหลายครั้งในช่วงสงครามการเมืองสเปน (ค.ศ. 1936-1939) แต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากแคว้นกาตาลูญญาเป็นพื้นที่ที่มีกระแสต่อต้านนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก (ค.ศ. 1892-1975) อย่างรุนแรง นายพลฟรังโกจึงประกาศถอดถอนและยกเลิกคำประกาศและข้อตกลงในคำประกาศตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1938

ภายใต้ระบอบเผด็จการของฟรังโกตั้งแต่ ค.ศ. 1939 ขบวนการชาตินิยมกาตาลันได้ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงและเป็นระบบ โดยการปราบปรามดังกล่าวมิเพียงสะท้อนความพยายามที่จะรื้อถอนอำนาจทางการเมืองของแคว้นกาตาลูญญาเท่านั้น หากยังสะท้อนความพยายามที่จะกลืนภาษาและทลายสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวกาตาลันอย่างสิ้นซาก ชาวกาตาลันหลายพันคนถูกประหารชีวิต นับว่าไม่มีครอบครัวใดที่ไม่ได้รับบาดแผลจากการผ่านเผชิญการกดขี่ข่มเหง กาลผ่านไปจนจอมพลฟรังโกเสียชีวิต ขบวนการชาตินิยมกาตาลันได้กลับมาต่อสู้เพื่อเอกราชอีกครั้งจนเมื่อค.ศ. 2006 สเปนได้มอบสถานะความเป็น "ชาติ" และอำนาจในการเก็บภาษีอากรแก่แคว้นกาตาลูญญา ทว่าในปี 2010 ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสเปนกลับไม่รับรองสถานะดังกล่าว โดยอ้างว่าสถานะของแคว้นกาตาลูญญาเป็นสถานะทางเชื้อชาติเท่านั้น ไม่ใช่ชาติ ผลของการตัดสินเช่นนี้คือการลุกฮือประท้วงของชาวกาตาลันกว่า 1 ล้านคน แต่เป็นการประท้วงที่ไม่ประสบผลสำเร็จแต่อย่างใด

ปัญหาทางประวัติศาสตร์ส่งผลถึงสถานการณ์ปัจจุบันทั้งในระดับเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ในระดับเศรษฐกิจ รายได้จากแคว้นกาตาลูญญานับเป็น 20% ของเศรษฐกิจสเปน แม้แคว้นกาตาลูญญาซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมก้าวหน้า (ด้วยเป็นถิ่นที่ตั้งของอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเหล็กกล้า อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมยา) และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นำรายได้มหาศาล แต่ชาวกาตาลันเชื่อว่าตนไม่ได้รับประโยชน์และสวัสดิการที่สมสัดส่วนการเสียภาษีหล่อเลี้ยงสเปน เมื่อค.ศ 2014 ชาวกาตาลันเสียภาษีให้ทางการสเปนมากถึง 11.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐโดยไม่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าในเชิงการบริการพื้นฐานเช่นการศึกษาหรือสาธารณสุข ส่วนในระดับของวัฒนธรรมแม้แคว้นกาตาลูญญาจะมีอำนาจปกครองตนเองอย่างเบ็ดเสร็จโดยเฉพาะในแง่เศรษฐกิจอันเจริญมั่งคั่ง แต่ทางวัฒนธรรมนั้น ชาวกาตาลันไม่คิดว่าตนเป็นชาวสเปน ดังนั้นอำนาจปกครองตนเองอย่างเบ็ดเสร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อแคว้นกาตาลูญญาได้แยกตัวออกมาจากสเปน จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลการลงประชามติในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ได้สะท้อนความประสงค์ที่จะแยกแคว้นเป็นอิสระถึง 90% จากสัดส่วนผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 42% อย่างไรก็ตามสัดส่วนผู้ออกมาลงคะแนนจริงที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการต่อต้านจากรัฐบาลมาดริดและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ถึงความชอบธรรมของผลการลงประชามติดังกล่าว

ท่าทีและปฏิกิริยาจากรัฐบาลสเปนอาจสะท้อนประวัติศาสตร์สมัยฟรังโกและลัทธิชาตินิยมสเปน มารีอาโน ราฮอย นายกรัฐมนตรีสเปน ได้กล่าวประณามว่าการออกเสียงประชามติครั้งนี้ขัดต่อกฎหมาย อีกทั้งได้ส่งกองกำลังเข้าปราบปรามการประท้วงของชาวกาตาลันอย่างรุนแรง จนกระทรวงสาธารณสุขแคว้นกาตาลูญญาประกาศยืนยันว่าประชาชน 893 คนได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตามสถานีเลือกตั้งต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจถึงขั้นลากประชาชนออกจากคูหาและยิงกระสุนยางใส่ประชาชน นอกจากนี้ยังได้ยึดใบลงประชามติหลายล้านใบ จับกุมเจ้าหน้าที่ผู้เห็นด้วยกับการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของแคว้นกาตาลูญญามากกว่า 10 คน อีกทั้งปลดเทคโนโลยีที่ใช้เชื่อมต่อสถานีลงคะแนน การนับคะแนน และการลงคะแนนทางอินเทอร์เน็ต

ส่วนท่าทีของสหภาพยุโรปนั้นได้ก่อให้เกิดการถกเถียงในวงกว้าง เพราะสหภาพยุโรปแสดงจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลสเปนโดยกล่าวว่าประชาชนควรเคารพรัฐธรรมนูญและตัวบทกฎหมายในประเทศของตน และจะได้ก้าวก่ายความขัดแย้งสเปน-กาตาลูญญาโดยมองว่าเป็นปัญหาภายในประเทศ เมื่อวันอังคารที่ 3 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลีเปที่ 6 แห่งสเปนทรงกล่าวประณามผ่านสื่อโทรทัศน์ว่าผู้นำขบวนการต่อสู้เพื่อแยกแคว้นกาตาลูญญาจากสเปนนั้นเป็นผู้กระทำการ "นอกกฎหมาย" และไร้ความรับผิดชอบ นอกจากนี้ทรงเรียกร้องให้ทุกคนเคารพรัฐธรรมนูญ คำแถลงการณ์จากกษัตริย์สเปนนี้ได้ส่งผลให้ความขัดแย้งสเปน-กาตาลันรุนแรงกว่าเดิม โดยการ์ลัส ปุดจ์ดาโมน ประธานทบวงการปกครองกาตาลุญญาได้กล่าวว่าแคว้นกาตาลุญญาจะประกาศอิสรภาพภายใน 48 ชั่วโมงหลังได้รับและดำเนินการนับผลคะแนนจากเสียงของชาวกาตาลันที่พำนักอยู่ที่ต่างประเทศ

ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการในสาขาวิชายุโรปศึกษาเห็นความสำคัญของการเรียนรู้และความเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองร่วมสมัยเช่นเหตุการณ์ความรุนแรงจากสถานการณ์และความขัดแย้งสเปน-กาตาลูญญา และเชื่อว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ยุโรปและเข้าใจวิวัฒนาการทางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางความคิดและวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวทางความคิดอันเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการชาตินิยมสเปนและกาตาลันอันนำมาสู่ความขัดแย้งในศตวรรษที่ 21 จะนำมาซึ่งฐานความรู้ที่จะช่วยให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ สื่อมวลชน หน่วยงานรัฐและเอกชน อีกทั้งบุคคลทั่วไปที่สนใจสามารถเข้าใจและวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งสเปน-กาตาลูญญาอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน อันนำไปสู่การพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมของประเทศสเปนและแคว้นกาตาลูญญา อีกทั้งความรู้เกี่ยวกับสหภาพยุโรปต่อไป

ดังนั้น ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงจัดงานเสวนาสาธารณะหัวข้อ "มากกว่าเรื่องการเมืองร่วมสมัย?: ร่วมกันเข้าใจสถานการณ์และความขัดแย้งสเปน-กาตาลูญญา" ร่วมกับสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในวันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม 2560
เวลา 09.30-12.00 น.
ณ ห้อง 701 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10)
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด 4 ท่าน มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ดังนี้

1) รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ
2) อ.ดร.สุกิจ พู่พวง อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผู้นำการเสวนา)
3) อ.ดาบิด กูเตียร์เรซ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4) คุณณภัทร พุ่มสิริ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย

ลงทะเบียนหน้างานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ verita.s@chula.ac.th

 

หมายเหตุ: 
ผู้เขียนขอขอบคุณ ผศ.ดร.ณํฐนันท์ คุณมาศ ที่กรุณาช่วยอ่านและช่วยแก้ไขเพิ่มเติมร่างบทความมา ณ ที่นี้
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ราก' ของ 'นครา' คือการสยบยอมของประชาชน

Posted: 05 Oct 2017 07:51 PM PDT



ละคร "รากนครา" จบแล้วแต่คนดูอย่างผมยังไม่จบ ถ้าไม่เขียนระบายความรู้สึกเสียหน่อยคงไปดูอะไรต่ออย่างค้าง ๆ คา ๆ จะดูนายฮ้อยทมิฬให้สนุกซะหน่อย เสียงอู้เมืองของศุขวงศ์กับแม้นเมืองก็คอยดังแทรกอยู่ในหัวตอนที่หูได้ยินเสียงนายฮ้อยเคนกับน้องเมียคำแก้วเว้ากระเง้ากระงอดกัน

ละครเรื่องนี้มีตัวละครที่บุคลิกซับซ้อนอยู่คนเดียวคือแม้นเมือง เพราะเป็นคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องต่อสู้กับความรู้สึกนึกคิดสองฝักสองฝ่ายภายในจิตใจตนเอง และดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายของการต่อสู้แย่งชิงหัวใจ ระหว่างฝ่ายของหน่อเมืองและศุขวงศ์ ว่าแม้นเมืองจะยังคงภักดีกับครอบครัวทางสายเลือดและอุดมการณ์เอกราชนิยมของบ้านเกิดเชียงเงิน หรือจะหันไป "สามีภักดิ์" กับครอบครัวทางการแต่งงานและอุดมการณ์สลายเอกราชท้องถิ่นเพื่อรวมประเทศกับสยามของบ้านใหม่เชียงพระคำ

ส่วนตัวละครอื่น ๆ แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงจิตใจเท่าใดนัก เหมือนจะคิดอย่างไรก็คิดอย่างนั้นตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ต่างคนต่างก็เป็นเหมือนกล่องบรรจุคุณค่าหรือเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ต่าง ๆ มากกว่าจะเป็นมนุษย์มนาที่มีความต้องการหลากหลายปะปนกันอย่างซับซ้อน

ฉะนั้นถ้าจะตีความหมายของละครเรื่องนี้ให้มันแล้วใจ เราควรที่จะพิจารณาว่ามันเป็นเรื่องเล่าอุปมานิทัศน์ (Allegorical Story) ที่ตัวละครทำหน้าที่เป็นอุปมาของคุณค่าหรืออุดมการณ์บางอย่างมากกว่าจะเป็นภาพสะท้อนของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายในห้วงเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดภาวะกดดันต่าง ๆ จนก่อให้เกิดสำนึกที่เปลี่ยนแปลงไป

หลายคนมองว่า 'ศุขวงศ์' เป็นตัวละครขี้ข้าสยาม ผมกลับมองว่าไม่ใช่ เขาคือสยามเลยมากกว่า เพราะเมื่อพิจารณาสิ่งที่เขาพูดตลอดเรื่องนั้น ถ้าเอาภาษาพูดที่เป็นคำเมืองออกไปแล้วใส่ภาษากรุงเทพฯ เข้าไปแทน แล้วจินตนาการต่อว่าเอาชุดราชปะแตนใส่ให้ด้วย ศุขวงศ์เป็นขุนนางกระทรวงมหาดไทยของสยามได้สบาย ๆ เนื่องจากจุดยืนของเขาไม่มีตรงไหนเลยที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของสยาม

'หน่อเมือง' ยิ่งไม่มีอะไรซับซ้อนใหญ่ เขาคือตัวแทนของอุดมการณ์เอกราชแบบประเพณีนิยม ปฏิเสธการปรับตัวทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมหากมันจะทำให้สถาบันเจ้าหลวงที่เป็นฐานอำนาจทางการเมืองดั้งเดิมต้องถูกลดทอนความสำคัญ

ในเรื่องนี้ฉากเหตุการณ์ที่เชียงพระคำต่างหากที่สำคัญ ไม่ใช่ฉากความขัดแย้งที่เมืองมัณฑ์ ซึ่งทำหน้าที่เพียงเป็นแบ็คกราวด์ที่เน้นย้ำถึงความฉลาดทันเหตุการณ์ของฝ่ายที่ภักดีกับสยามเท่านั้น

เกิดอะไรขึ้นที่เชียงพระคำ? เกิดอะไรขึ้นกับแม้นเมือง? ฉากเหตุการณ์ที่เชียงพระคำคือการต่อสู้ช่วงชิงความจงรักภักดีของแม้นเมือง ซึ่งหากตีความไปจนสุดทาง ที่แท้แล้วแม้นเมืองคืออุปมานิทัศน์ (Allegory) ของประชาชนที่เป็นฐานรากของการปกครอง และเป็นเป้าหมายของการช่วงชิงอำนาจที่แท้จริง เจ้าหน่อเมืองไม่ได้พูดผิดเลยที่บอกว่าศุขวงศ์พยายามล้างสมองเธอให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองแบบใหม่ ระบบเศรษฐกิจการค้าแบบใหม่ สิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ ๆ วัฒนธรรมใหม่อย่างระบบผัวเดียวเมียเดียวแบบฝรั่งและเสรีที่เพิ่มขึ้นของสตรี รวมทั้งการพัฒนาตนเองด้วยการศึกษาแบบใหม่บนฐานของการรู้หนังสือ โดยเฉพาะในภาษาอังกฤษ

จดหมายจากแม้นเมืองถึงหน่อเมืองในตอนจบคือคำประกาศยอมรับอุดมการณ์ใหม่โดยแม้นเมืองอย่างสิ้นสงสัย เธอบอกว่าเธอเปลี่ยนไปแล้วในทางความคิดความเชื่อ แม้ว่าในทางอารมณ์ความรู้สึกนั้นเธอยังเชื่อว่าเธอไม่อาจละทิ้งเยื่อใยของวัฒนธรรมประเพณีได้ การยอมตายของเธอเป็นไปเพื่อข้ามพ้นความขัดแย้งนั้น ซึ่งในเชิงอุปมาแล้วก็คือการที่อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประชาชนรุ่นหนึ่งได้ตายลง เพื่อจะเปิดพื้นที่ว่างให้อัตลักษณ์ใหม่ได้ถูกปลูกฝังให้งอกงามขึ้นในหมู่ประชาชนรุ่นใหม่

ถ้าเราเปรียบเทียบการสืบทอดทางสายเลือดว่าเป็นอุปมาของความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เราก็จะไม่รู้สึกว่ามีความผิดปกติในฉากสุดท้ายของละครที่ลูกชายคนเดียวของแม้นเมืองพูดภาษาไทยกรุงเทพฯ กับศุขวงศ์พ่อของเขา เพราะการสูญเสียภาษาแม่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่สูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นเมื่อประชาชนเลือกอัตลักษณ์ใหม่ให้กับตนเอง และในแง่จิตวิทยาของผู้ชมละคร การที่ต้องอดทนฟังตัวละครอู้เมืองปะแล้ดไปปะแล้ดมาอยู่นานสองนาน การที่ผู้ชมได้ฟังตัวละครพูดเป็นภาษากลางอย่างสบาย ๆ ยิ่งทำให้กระบวนการชื่นชมแม้นเมืองเป็นไปได้อย่างราบรื่นขึ้น

ผมจบการตีความของผมดื้อ ๆ แบบนี้แหละ เพราะแค่นี้ก็สบายใจแล้วที่ละครในใจมันจบได้เสียที จะได้ดูเรื่องใหม่กันต่อ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความท้าทายของคนรุ่นใหม่ ในวันที่คนเดือนตุลาเริ่มเข้านอน

Posted: 05 Oct 2017 07:43 PM PDT


"บทความหรือข้อเขียนนี้อุทิศแก่การจากไปของ อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
นักสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน ด้วยความอาลัยและเคารพรักอย่างที่สุด"

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แวดวงปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์-นักวิชาการ-และผู้รักในประชาธิปไตยได้ประสบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ ที่อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรือ อาจารย์ยิ้ม หรือ สหายสมพร ได้จากพวกเราไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ แน่นอนว่าตัวผมเองนั้นรู้สึกเศร้าเสียใจอย่างยิ่งต่อการจากไปของอาจารย์แม้ว่าตัวผมจะมิได้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์โดยตรง อย่างไรก็ตามในห้วงเวลาแห่งความสูญเสียนี้ ผมได้หวนนึกถึงวลี "ส่งคนตุลาเข้านอน" หัวข้อคอลัมม์ของนิตยสาร Way ที่สัมภาษณ์ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ เมื่อราวห้าปีก่อน

"คนตุลา" หรือ "คนเดือนตุลา" ทั้งในปี 2516 และปี 2519 ล้วนแล้วแต่เป็นคนในระดับ "ตำนาน" หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นที่นับถือของปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์ทั้งในฝ่ายประชาธิปไตย และกระทั่งฝ่ายที่สนับสนุนการรัฐประหาร พวกเขาเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โลดแล่นอยู่ในสนามการเมืองมาโดยตลอด และแน่นอนว่าวิธีคิดของพวกเขานั้นส่งผลมาถึงบรรดาคนรุ่นใหม่ด้วย

เป็นเรื่องยากจะปฏิเสธว่า "คนเดือนตุลา" มีวิธีคิดแบบฝ่ายซ้าย-มาร์กซิสต์-เหมาอิสต์ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งหัวใจสำคัญของมันคือเรื่อง "การยึดอำนาจรัฐ" หรือ "การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ" ซึ่งน่าแปลกใจว่าในปัจจุบันวิธีคิดเรื่อง "อำนาจรัฐ" นี้ได้สลายหายไป ในหมู่ปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์รุ่นใหม่มีน้อยมากที่จะพูดถึงการเข้าสู่อำนาจรัฐ ในขณะที่ปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์รับอิทธิพลทางความคิดเรื่องประชาธิปไตยมาจากคนเดือนตุลา คำถามอันท้าทายประการแรกของคนรุ่นใหม่อยู่ตรงนี้นี่เอง "เราจะขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองอย่างไรในขณะที่เราไม่พูดถึงการเข้าสู่อำนาจรัฐ?"

ขณะเดียวกันนั้นการจากไปของอาจารย์ยิ้มเองก็ถือเป็นหมุดหมายสำคัญอย่างยิ่งของการส่งต่อยุคสมัย เมื่อ "ตำนาน" ที่ปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์เฝ้ามองมาตลอดนั้นกำลังจะทยอยเกษียณและเข้านอนกันไปตามเวลา ตรงนี้คือคำถามและความท้าทายประการที่สองต่อคนรุ่นใหม่ "เราจะทำอย่างไรต่อไปในวันที่เราอาจจะไม่มีคนเดือนตุลา?"

ต่อคำถามประการแรกอันว่าด้วยเรื่อง "อำนาจรัฐ" นั้นผมไม่คิดว่าการยึดอำนาจรัฐตามแนวทางการจับอาวุธหรือใช้ความรุนแรงของ พคท. จะสามารถทำได้แล้วในปัจจุบัน สภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี รวมทั้งปัจจัยต่างๆทำให้วิธีการของ พคท. ไม่สามารถทำได้จริงอีกต่อไป แต่ขณะเดียวกันนั้นนี่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่เรา (ปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์) จะปฏิเสธการคิดหรือการพูดถึงเรื่อง "อำนาจรัฐ" หรือ "การเข้าสู่อำนาจรัฐ" นี่เป็นความท้าทายสำคัญสำหรับปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์ หรือคนรุ่นใหม่ที่ต้องการประชาธิปไตยจะต้องขบคิดและเสนอแนวทาง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องกลับมาพูดกันถึงเรื่อง "อำนาจรัฐ" อย่างจริงจัง

คำตอบสำหรับคำถามประการที่สอง ผมคิดว่านี่เป็นโจทย์ที่สำคัญอย่างมากสำหรับปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์ ซึ่งแน่นอนว่าจะสะท้อนกลับไปถึงคำถามในข้อแรกด้วย คือในช่วงเวลาที่ผ่านมาสำหรับคนรุ่นใหม่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา (หากนับเอาการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นหมุดหมาย) คนรุ่นใหม่หรือคนในเจเนอเรชั่นผมที่ผ่านการรัฐประหาร 2549 และการรัฐประหาร 2557 มา และทำการเคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น ต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่าพวกเรามี "จุดอ่อน" อย่างมาก หากจะนับหลังการรัฐประหาร 2557 มานั้นจะเห็นได้ว่ารูปแบบการเคลื่อนไหวของปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์นั้นมีรูปแบบตายตัว ผมไม่ได้ปฏิเสธการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือต่อต้านหากแต่ว่าในขณะที่เราสนใจและจับจ้องอยู่กับการทำกิจกรรมเพียงอย่างเดียวมันทำให้เราหลงลืมเรื่อง "อำนาจรัฐ" และที่สำคัญคือทำให้เราหลงลืมการพูด-การคิด-และการพัฒนาเรื่อง "ทฤษฎี" เพราะเรารู้ว่าเรามี "คนเดือนตุลา" ที่พร้อมจะเสริมและสนับสนุนเรื่อง "ทฤษฎี" ให้เราเสมอ ผมไม่ได้ปฏิเสธการสนับสนุนของคนเดือนตุลาแต่ขณะเดียวกันนั้นมันก็สร้างประเด็นตามมาอีก คือ คนรุ่นใหม่ที่ทำกิจกรรมขาดทฤษฎีทำให้การเคลื่อนไหวตายตัวไม่เปลี่ยนแปลง และ คนรุ่นใหม่จะไร้ฐานทางทฤษฎีทันทีหากขาดคนเดือนตุลา มันจึงกลับมาเป็นโจทย์สำคัญที่คนรุ่นใหม่ต้องคิดเอาไว้

ข้อเสนอสำคัญของผมคือ คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องยกระดับและพัฒนาศักยภาพของตัวเองขึ้นมาให้มากกว่าเดิม ความท้าทายสำคัญก็คือ เราจะต้องพัฒนาตัวเองไปให้อยู่ในระดับที่เทียบเท่าหรือไปให้ไกลกว่าคนเดือนตุลาที่เราเฝ้ามองพวกเขาเป็นแบบอย่างมาโดยตลอด!

นี่คือความท้าทายที่คนรุ่นใหม่ต้องบอกตัวเองและท้าทายตัวเอง ว่าเราจะสามารถไปไกลกว่า
คนเดือนตุลาที่เป็นทั้งครูและแบบอย่างของเราได้หรือไม่?

ผมคิดว่ามันมีความจำเป็นในหลายประการที่คนรุ่นใหม่จะต้องพัฒนาตัวเองไปให้ไกลกว่าคนเดือนตุลาที่เป็นทั้งครูและแบบอย่างหรือ "ไอดอล" ที่เรานับถือ ประการแรกอย่างที่ผมได้เขียนไปตอนต้นว่าคนเดือนตุลามีอิทธิพลทางความคิดอย่างมากต่อคนรุ่นใหม่และเหตุการณ์ในเดือนตุลา 2516 เองก็มีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่อย่างมากเช่นกัน จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็น "ผีเดือนตุลา" อิทธิพลทางความคิดดังกล่าวในทางหนึ่งนั้นช่วยชี้นำแนวทางให้กับคนรุ่นใหม่จริง แต่ในอีกทางหนึ่งก็มีสภาพเป็นเพดานทางความคิดแบบกลายๆโดยเฉพาะเมื่อมันถูกควบทับด้วยภาพชัยชนะของมวลชนนับแสนที่ออกมาเดินขบวนขับไล่รัฐบาลเผด็จการ ภาพจำดังกล่าวส่งผลอย่างมากต่อคนรุ่นใหม่ พวกเขาเคลื่อนไหวกันด้วยความคาดหวังว่ามวลชนจะออกมาเรือนหมื่นเรือนแสนแบบในอดีต แม้ว่าบริบทของสังคมจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม

ประการที่สอง เราต้องปฏิเสธและตั้งคำถามต่อแนวคิดบางประการของคนเดือนตุลา ข้อเสนอนี้อาจจะฟังดูท้าทายและอาจหาญอย่างมาก แต่ผมเชื่อว่านี่มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับคนรุ่นใหม่หากเราจะก้าวไปให้ไกลกว่าเดิม อย่างที่ผมกล่าวไว้ว่าหัวใจสำคัญของคนเดือนตุลาซึ่งรับวิธีคิดแบบ พคท. มาคือเรื่องการปฏิวัติ-การยึดอำนาจรัฐ ซึ่งไม่ตรงกับบริบทสังคมในปัจจุบันอย่างยิ่งนั่นทำให้ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่จำเป็นจะต้องพัฒนาและสร้าง "ทฤษฎี" ของตนเองขึ้นมา

ประการที่สาม ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าผมไม่ได้จะปฏิเสธความคิดของคนเดือนตุลาทั้งหมด อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ผมยืนยันว่าเราจำเป็นต้องพูดเรื่อง "อำนาจรัฐ" และเรื่อง "ทฤษฎี" แบบที่คนเดือนตุลาพูดกัน แต่เราจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนมันและพัฒนาไปให้ไกลกว่าเดิม คนรุ่นใหม่จะสามารถเข้าสู่อำนาจรัฐได้อย่างไร? คนรุ่นใหม่จะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบทางการเมืองโดยการใช้อำนาจรัฐได้อย่างไร? คนรุ่นใหม่จะใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมากให้เป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหวอย่างไร? ฯลฯ

สุดท้ายนี้ข้อเสนอหรือเป้าประสงค์สำคัญที่ผมต้องการจะเสนอในบทความชิ้นนี้ก็คือ ต้องการกระตุ้นคนรุ่นใหม่ทั้งที่เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง ในแวดวงปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์ให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นที่พวกเราจะต้องพัฒนาตนเองให้มากกว่าเดิม การทำกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวแบบอีเว้นท์ต่ออีเว้นท์นั้นไม่เพียงพอต่อไปอีกแล้ว เราจำเป็นต้องขยับไปให้ไกลกว่าเดิม "เราต้องสานต่ออุดมการณ์ของคนเดือนตุลา ด้วยวิธีการและทฤษฎีของคนรุ่นใหม่" และท้ายที่สุดนี้ผมขอยกคำพูดของไผ่ ดาวดิน เพื่อนปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์ที่ถูกจองจำมาไว้เตือนใจแก่ผู้อ่านอีกครั้ง

"จะชนะเมื่อไหร่เราไม่รู้ แต่ตราบใดที่ยังสู้ แสดงว่าเรายังไม่แพ้"

 

ปล.คำว่า "ส่งคนตุลาเข้านอน" ในบทความนี้ ใช้ในคนละความหมายกับในบทสัมภาษณ์ "ส่งคนตุลาเข้านอน" ครับ


 

อ้างอิง

 "ส่งคนตุลาเข้านอน" คอลัมม์สัมภาษณ์ ประจักษ์ ก้องกีรติ, โดย ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ, way magazine (online) : https://waymagazine.org/%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%99/

"เดินฝ่าความมืด ร่วมส่ง อ.ยิ้ม สุธาชัย คนรุ่นหลังสานต่ออุดมการณ์" โดย ฟ้ารุ่ง สีขาว, voice news (online) : https://news.voicetv.co.th/thailand/528988.html

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น