โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร : ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ 14 ตุลา

Posted: 14 Oct 2017 09:55 AM PDT

เล่าเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 อธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง พระเจ้าอยู่กับรัฐประหาร ระบุเป็นการทำให้รัฐบาลถูกต้องตามกฎหมายขึ้นมา โดยไม่มีทางเลือก ทิ้งท้ายหวังปลุกประชาธิปไตยที่แท้จริงกับนักศึกษา สงสัยไล่ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์หายไปไหน

14 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 ต.ค.60) ช่วงเช้า ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดําเนินกลาง มีการจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 44 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จากนั้นมีปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2560 "ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ 14 ตุลา" โดย พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อายุ 88 ปี ในฐานะนายตำรวจราชสำนักประจำ มีบทบาทการดูแลความสงบในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นสถานที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) ช่วงเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 โดย พล.ต.อ.วสิษฐ ทำหน้าที่ติดต่อกับแกนนำผู้ชุมนุม และเป็นผู้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของ ร.9 มาอ่านกับผู้ชุมนุมในวันที 14 ต.ค.16

พระเจ้าอยู่กับรัฐประหาร 

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเลี่ยงการเมืองไม่พ้น เพราะเหตุว่าท่านเป็นกษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ แล้วก็เป็นพระมหากษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ของท่านกับรัฐบาลขณะนั้น ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามปกติ เป็นเรื่องบังคับที่เลี่ยงไม่ได้" พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าว

"ท่านผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของไทยคงจะจำได้ว่าบ้านเรานั้น แม้จะปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยก็มีอุบัติเหตุการเมืองที่มีการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า ส่วนมากรัฐประหารซึ่งเป็นการยึดอำนาจก็ทำโดยผู้ถืออาวุธ คือทหาร ทหารผลัดขึ้นมาปกครองบ้านเมือง จนกระทั่งแทนที่บ้านเมืองจะเจริญก้าวหน้า บ้านเมืองก็ย่อยยับไป เป็นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ละครั้งที่เกิดรัฐประหารขึ้น ผู้ที่ยึดอำนาจนั้นเพื่อที่จะได้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพื่อจะได้เป็นรัฐบาลที่ถูกกฎหมายก็จะต้องรีบไปหาพระมหากษัตริย์ ซึ่งในนี้คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่าก็ต้องเป็นผู้ที่ทำให้รัฐบาลนั้นถูกต้องตามกฎหมายขึ้นมา โดยไม่มีทางเลือก มักจะมีผู้ที่ไม่เข้าใจแสดงความข้องใจสงสัยเสมอว่า เมื่อรัฐบาลยึดอำนาจแล้ววิ่งเข้าไปหา แล้วถ้าหากท่านไม่พระราชทานความถูกต้องตามกฎหมายให้รัฐบาลนั้น รัฐบาลนั้นก็เจ๊งใช่หรือเปล่า ซึ่งมันไม่ง่ายอย่านั้นครับ เพราะคนที่วิ่งเข้าไปขอความถูกต้องนั้นเป็นคนถืออาวุธ ถ้าหากว่าท่านปฏิเสธก็แน่นอนเหลือเกินว่ามันจะต้องเกิดการต่อสู้ปะทะกันขึ้นเขาชนะอยู่แล้ว เพราะยึดอำนาจไปเรียกร้อย" พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าว

พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวต่อว่า ใครจะต่อสู้ ท่านเองไม่มีทหารอยู่ในมือ ท่านดำรงตำแหน่งเป้นจอมทัพตามรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจในการบังคับบัญชาไม่มี นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมหลังจากรัฐประหารแล้ว รัฐบาลที่เกิดขึ้นด้วยการรัฐประหารจึงเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเสมอ เมื่อเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลก็ค่อนข้างตึกเครียด รัฐบาลทหารยุคต้นๆ ยึดอำนาจได้ เกือบจะไม่เห็นความสำคัญของพระมหากษัตริย์เลย ตั้งแต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้จะให้ความเคารพ แต่ก็เป็นการเคารพแต่ปาก ในทางปฏิบัตินั้นปรากฏว่ามีการกระทบกระทั่งกัน

มาถึง ร.9 ที่รัฐบาลเริ่มจะฟังพระเจ้าแผ่นดินมากขึ้น โดย ร.9 ทรงเห็นการณ์ไกลสามารถประนีประนอมกับรัฐบาล ขณะเดียวกันท่านก็เข้ามามีบทบาทในเรื่องการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม มากขึ้นๆ จนะกระทั่งเป็นที่ยอมรับกันว่า 70 ปี ของการครองราชย์ เป็นมหาราชที่ทำความเจริญมั่นคงให้แก่บ้านเมือง และทำให้ประชาชนมีความสุข

ข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

พล.ต.อ.วสิษฐ ดล่าวด้วยว่า ขณะนั้นบ้านเมืองนอกจากปัญหาภายในแล้ว มันมีปัญหาภายนอกคือการคุกคามของคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ที่ทำให้เกิดคอมมิวนิสต์ขึ้นในเมืองไทย เพราะสหรัฐฯ เป็นศัตรูกับโซเวียตและจีนที่เป็นคอมมิวนิสต์ ระบอบนี้ทำท่าว่าจะขยายไปในประเทศต่างๆ สหรัฐกลัวและดำเนินนโยบายเป็นปฏิปักษ์กับคอมมิวนิสต์ นโยบายนี้เองที่รัฐบาลประเทศเล็กๆ รับเอามาหรือถูกบังคับให้รับเอามา ให้เป็นฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ รัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายรัฐบาลเป็นแบบนี้ รวมทั้งไทยด้วย เริ่มปราบคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่ตอนต้นๆ เลย เรามีกฎหมายที่ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะ เมื่อรัฐบาลเป็นเผด็จการ การปราบปรามจึงบ่อยและรุนแรง นักการเมืองที่ถูกสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์มักถูกจับบ้าง ถูกคุมขังบ้าง ช่วงปี 16 มีผู้ต้องสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์ จำนวนมาก แม้เป็นการออกเอกสารหรือพูดความเป็นปฏิปักษ์ของรัฐบาล รัฐบาลก็เหมาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 มีนักศึกษาออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาล เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านั้น รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจรได้จับนักศึกษาไปเป็นผู้ต้องหา แต้ข้อหาเป็นการกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์เช่นกัน

เล่าเหตุการณ์ 14 ตุลา

พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวว่า เมื่อถูกจับก็เริ่มมีนักศึกษาชุมนุม โดยการนำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ก็เริ่มชุมนุมตั้งแต่จำนวนพันเป็นจำนวนหมื่น การชุมนุมมีมากขึ้นจนเป็นแสน รัฐฐาลกลับใช้ไม้แข็งเตรียมปราบนักศึกษาที่ชุมนุมกัน ตนไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ ก่อนวันเกิดเหตุ แต่เดินทางกลับมาในวันที่ 13 ต.ค.16 เมื่อมาถึงจึงทราบว่ามีการชุมนุมและคาดว่าเหตุการณ์จะบานปลาย ตนพร้อมด้วยตำรวจออกไปดูเหตุการณ์ และพบผู้นำนักศึกษาขณะนั้น การชุมนุมเคลื่อนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปถึงลานพระบรมรูปทรงม้า ตอนนั้นไม่คิดว่าเหตุการณ์จะบานปลายอะไร เพราะคิดว่าผู้ชุมนุมโดยสงบ จะไม่สบายใจก็เพียงมีนักเรียนอาชีวะที่มีไม้เป็นท่อนๆ ติดมือกันบ้าง ในตอนเที่ยงวันที่ 13 ต.ค.16 ได้รับคำสั่งให้ไปรับผู้แทนที่จะเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ตอนนั้นทราบว่าทรงกรุณาให้เฝ้า จึงไปรับและคอยอยู่ตั้งแต่เที่ยง จนกระทั่งบ่าย 2 มี นักศึกษาจำนวนหนึ่งมาที่ประตูแต่มาไม่ครบและคอยคนที่ยังมาไม่ถึง จนกระทั่งถึงบ่าย 4 โมง แล้วขาด เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ไป 1 คน ตนจึงนำตัวแทนนักศึกษาที่มาไปคอยที่ศาลาดุสิดาลัย ซึ่งคุยกันอยู่เกือบ 2 ทุ่ม จนกลับออกมาในระหว่างคุยตนไม่ได้อยู่ด้วย แต่ทำหน้าที่พาตัวแทนนักศึกษากลับ

ก่อนที่จะออกนั้น ตนได้ยินผู้นำนักศึกษาที่อยู่ขณะนั้นพูดว่าถูกหักหลัง เสกสรรค์ที่อยู่ข้างนอก ทำผิดข้อตกลง เนื่อจากเคลื่อนขบวนมา ทำให้ผู้แทนก็ไม่ยอมออกจากวัง ตนก็รับหน้าที่ตามหาตัวเสกสรรค์ เข้ามาในวัง ตอนนั้นตนอาจจะนึกไม่ออก แต่จำได้ว่าใช้รถตำรวจกองปราบและนำเอาผู้แทนนักศึกษาจำนวนหนึ่งไปรับเสกสรรศ์ เมื่อออกไปถึงที่หมายที่ลานพระราชวังดุสิต ได้ตัวเสกสรรค์ ซึ่งขณะนั้นพูดเกือบไม่รู้เรื่อง เสียงไม่มีเลย เพราปราศรัยมาหลายวัน นำตัวเข้าวัง เมื่อเข้าไปแล้วพบกับ ธีรยุทธ บุญมี ซึ่งเป็นผู้แทนนักศึกษาอีกคนที่เข้ามาก่อน ทั้ง 2 คนเถี่ยงกัน เมื่อรู้ว่าเข้าใจผิดเรื่องไหน เราก็ชี้แจงให้เข้าใจ ลงท้ายกูพูดกันรู้เรื่อง

ขณะที่พูดรู้เรื่อง ข้างนอกไม่รู้ ผู้แทนนักศึกษาที่อยู่ข้างนอกมีคนไปกระซิบว่าพวกที่อยู่ข้างในถูกจัดการหมดแล้ว เพราะข่าวนี้ทำให้คนที่ชุมนุมอยู่ลานพระบรมรูปทรงม้าไม่ยอมอยู่ที่เก่า แต่เคลื่อนมาที่หน้าประตูวังสวนจิตรลดา เป็นครั้งแรกที่คนเป็นจำนวนแสนมาชุมนุมที่หน้าวัง เมื่อเห็นแบบนั้นตนก็ขอร้องให้พวกนักศึกษาที่อยู่ด้านในวังไปเจรจากับด้านนอก พระเจ้าอยู่หัวพระทานพระราชกระแสลงมาว่ารัฐบาลยอมแล้ว ที่จะปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ยังมีข้อตกกันระหว่างผู้แทนรัฐบาลกับผู้แทนนักศึกษาในวังลายลักษณ์อักษร รวมทั้งรัฐธรรมนูญจะได้ภายใน 20 เดือน แทนที่จะเป็น 3 ปี อย่างที่รัฐบาลพูดไว้แต่เดิม เมื่อขอร้องให้ผู้แทนนักศึกษาออกไปชี้แจงด้านนอก ผู้แทนก็บอกว่าเดี๋ยวเขาไม่เชื่อ ก็อยากได้คนในวังให้ออกไปพูดด้วย เพราะเป็นคนที่น่าเชื่อถือกว่า ตอนนั้นมีผู้ใหญ่ 3 คน คือ ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่ อีกคนเป็นนายทหารราชองครักษ์ และตน คนที่พาตนออกไปคือ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เวทีที่ชุมนุมเป็นรถสองแถว ตนปีนไปเพื่อพูดกับเรื่องขยายเสียงและเอา พระราชดำรัสของในหลวงที่มีการบันทึกไว้อ่าน เมื่อตนพูดจบที่ประชุมก็ปรบมือ แล้วใครไม่ทราบให้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี คนแสนคนร้องเพลงกัน ขณะนั้นตนคุกเข่าลงร้องไห้ เพราะเหตุการณ์ยุติ

แต่ก็ได้สักครู่ ตอนแยกย้ายกันกลับ เนื่องจากมีระเบิดขวดจากนักเรียนอาชีวะพกมามันระเบิด ต่อมาอีกไม่นานก็เกิดเสียงระเบิดแก๊สน้ำตาตามมา เหตุการณ์เกิดหลังจากผู้ชุมนุมแยกย้ายกลับ ผู้ที่เกิดเหตุปะทะกันขึ้นเกิดจากเดินทางกลับ ทราบภายหลังว่าตำรวจได้รับคำสั่งให้สกัดไม่ให้ผ่านทาง ผู้ที่สั่งคือ พล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร เป็นทหารที่มีตำแหน่งตำรวจด้วย เป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ ส่วนผู้รับคำสั่งคือ พล.ต.ท.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น สกัด สุดท้ายเกิดการปะทะกัน ตำรวจใช้ตะบองกับแก๊สน้ำตาเป็นอาวุธ เกิดการตีกันขึ้นที่หน้าวัง ข่าวก็บอกต่อๆ กันไป ว่า ขณะนี้ตำรวจฆ่านัศึกษาที่หน้าวัง จนเกิดการจลาจและกระจายตัวออกไป นั่นคือที่มาของความมหาวิปโยคที่เปิดขึ้นในวันที่ 14 ต.ค.16

เมื่อเกิดการตีกันขึ้น ตนขอร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดประตูให้ การปะทะเป็นไปอย่างรุนแรง มีนักศึกษาเข้ามาที่ประตู แล้วขอให้เปิดประตูรับ และในหลวงรับสั่งให้เปิดเข้ามานักศึกษาเข้าไปในสวนจิตรลดามี 2 พันคน บางคนเข้าไปถึงก็ต่อว่าตนว่าหลอกให้ไปถูกตี ตนก็ยืนยันว่าไม่ทราบเรื่อง จากนั้นในหลวงทรงเยี่ยมผู้ที่เข้าไปในวัง ขณะที่ข้างนอกมีการปะทะต่อสู้ มีประชาชนและตำรวจได้รับบาดเจ็บ เมื่อเหตุการณ์เป็นแบบนั้น เราก็ให้ฝ่ายทหารระงับเหตุภายนอก ซึ่งเป็นที่สังเกตว่าทหารไม่เต็มใจทำหน้าที่ นักศึกษาจึงรับอาสาเพื่อไปชี้แจงผู้ชุมนุมข้างนอก ในที่สุดการจลาจลก็ดำเนินไปถึงรุ่งเช้า ถึงซาลง  เมื่อมีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์ โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์นำเครื่องส่งเข้าไปในวัง พระราชดำรัสชี้แจงและแจงว่ารัฐบาล ปล่อยผู้ต้องหาและให้รัฐธรรมนูญแล้ว ตนคิดว่าสิ่งนี้ทำให้เหตุการณ์สงบ นักศึกษาที่อยู่ในวัง ทางวังได้จัดรถส่งกลับตามที่นักศึกษาต้องการ แต่ก็มีเรื่องข่าวลือประหลาดๆ เช่นว่า วันนั้นผู้นำนักศึกษาหญิง ที่เข้าไปวังแล้วขึ้นรถออกไปด้วย แต่ก็มีคนบอกว่า คุณเสาวนีย์ ลิมมานนท์ (แกนนำนักศึกษา) ถูกยิง แต่ความจริงออกไปกับรถ

ผู้แทนนักศึกษาอยากให้ ตนอยู่ด้วย เพื่อเป็นตัวกลางในการเจรจา นักศึกษา วังและทหาร อย่างไรก็ตามผู้แทนนักศึกษาแม่อ้างตนมาจากในวัง ชี้แจงกับคนข้างนอก เขาก็ไม่เชื่อ แต่ก็ค่อยๆ คลี่คลายเริ่มจากในกรุงเทพ แต่ต่างจังหวัดก็ยังไม่สงบ เช้าวันที 15 ต.ค. มีนักเรียนประจำจังหวัดสมุทรปราการไปล้อมสถานีตำรวจ จนถูกยิงได้รับบาดเจ็บ จึงมีการขอให้ผู้แทนนักศึกษาจากกรุงเทพไปปากน้ำ รวมทั้งตนไปด้วย ตอนแรกพูดกันไม่รู้เรื่องเพราะผู้แทนนักศึกษาก็ไม่รู้จักกับนักเรียนที่นั่น สุดท้ายนำข่าวและคำปราศรัยของพระเจ้าอยู่หัว ไปเปิดให้นักเรียนที่นั่น เหตุการณ์ก็สงบลง

เหตุการณ์ที่ยังเหลืออยู่เป็นเรื่องของทางการเมือง นึกว่าตนไม่เกี่ยว แต่ก็เกี่ยว หลังจาก รัฐบาลจอมพลถนอมลาออก พร้อมด้วยผู้ที่เกี่ยวข้อง พระเจ้าอยู่หัวใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ตั้ง อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายก เบื้องต้น อ.สัญญา ทำความเข้าใจผู้แทนนักศึกษาจนมีการตกลงหลายประการ เช่น เรื่องการอภัยโทษให้นักศึกษาและรัฐธรรมนูญเรื่องค่าเสียหายให้ผู้บาดเจ็บล้มตาย ตนก็เป็นตัวกลางในการเจรจาด้วย

ตอนหน้าสิ่วหน้าขวาน ช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลถนอม กับสัญญา คือ ตำรวจขณะนั้นก็ไม่กล้าทำงาน กลัวนักศึกษา เพราะฉะนั้นศนท. จึงตั้งเจ้าหน้าที่ติดต่อทุกโรงพักให้สามารถเข้ากันได้กับชาวบ้าน คนสำคัญคือ คุณกนก วงษ์ตระหง่าน ขณะนั้นเป็นนิสิตจุฬาฯ ออกทีวีและใช้คำที่แรงไปหน่อย บอกว่ขณะนี้ให้นกศึกษาคุมโรงพัก คนก็ตกใจพวกตนก็ล้อขณะนั้นว่า เป็นอธิบดีกนก

หวังปลุกประชาธิปไตยที่แท้จริงกับนักศึกษา สงสัยไล่ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์หายไปไหน

"หวังที่ประชุมนี้จะมีการปลุกกระแสความรู้สึกที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดขึ้นในหมู่นิสิตนักศึกษา ผมสังเกตเห็นว่าเมื่อมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นตอนหลังมานี้บทบาทของนักเรียนนิสิตนักศึกษาไม่มีเลย ที่พูดอย่างนี้พูดจากประสบการเพราะว่าตอนที่มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณ (ชินวัตร) รัฐบาลยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ซึ่งผมเป็นผู้หนึ่งที่มาชุมนุมด้วย ผมไม่เห็นมีเด็ก มีก็มีจำนวนน้อยมาก" พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวทิ้งท้าย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหลียวหลังแลหน้า มรดกคนเดือนตุลากับอนาคตสังคมไทย [44 ปี 14 ตุลา]

Posted: 14 Oct 2017 09:09 AM PDT

เวทีเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 44 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลา หัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้า มรดกคนเดือนตุลากับอนาคตสังคมไทย" ว่าด้วยมรดกของคนเดือนตุลา ทั้งรุ่น 14 ตุลาและ 6 ตุลา ทั้งที่ถูกรื้อทำลายไปแล้วและที่ยังส่งผลถึงสังคมไทยในปัจจุบัน อีกทั้งความคาดหวังของคนเดือนตุลาต่ออนาคตสังคมไทย โดยจัดที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา จัดโดย พรรคใต้เตียง มธ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)

โดยการเสวนาประกอบด้วยหัวข้อย่อยดังนี้ (1) "มรดกคนเดือนตุลาด้านการเมือง" โดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (2) "มรดกคนเดือนตุลาด้านแรงงาน" โดย ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์แรงงาน (3) "มรดกคนเดือนตุลาด้านศิลปวัฒนธรรม" โดย คุณสุขุม เลาหพูนรังษี อดีตประธานชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) สำหรับการเสวนา ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา มหัทธนา พิธีกรรายการโทรทัศน์ ครู และนักกิจกรรม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดข้อขัดแย้ง มหากาพย์ 23 ปี เขื่อนหัวนา !

Posted: 14 Oct 2017 08:46 AM PDT

เขื่อนหัวนาเป็น 1 ในจำนวน 22 เขื่อนของโครงการ โขง ชี มูล ได้รับการอนุมัติโดยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุนหะวัน ในคราวการประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2532 ภายใต้การดำเนินการก่อสร้างโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทวรงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างมีปัญหาจึงทำให้การเปิดใช้งานเขื่อนหัวนาล่าช้าออกไป (เปิดใช้งานหลังเขื่อนราษีไศล) ! 

เดือนตุลาคม 2540 ขณะที่มีการจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอราษีไศลซึ่งอยู่ท้ายเขื่อนราษีไศล ซึ่งเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนหัวนา ได้มีการรวมตัวกัน และต่อเนื่องกันนั้นชาวบ้านจากพื้นที่อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอยางชุมน้อย อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอกันทรารมย์ ได้เริ่มจับกลุ่มกัน รวบรวมรายชื่อชาวบ้านที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนา ยื่นเสนอต่อนายอดิศร เพียงเกษ รมช.วิทยาศาสตร์ ฯ โดยมีแกนนำชื่อนายชวลิต ศิลารักษ์ (พี่ชายของผมเอง) และผมได้เข้าไปให้คำแนะนำการดำเนินการบ้างในบางครั้ง !

การเรียกร้องเริ่มต้นจากการขอพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา แต่แล้วชาวบ้านเหล่านั้น ก็พบว่าที่ดินจำนวนมากในพื้นที่ "ทุ่งหนองอึ่ง" และ "กุดเต๋อ" และ "ทามรังแร้ง" ถูกทางราชการประกาศเป็นที่ นสล.คลุมพื้นที่ไว้หมดแล้ว ซึ่งชาวบ้านมองว่าเป็นเจตนาของทางราชการ ที่ "มัดมือชก" ออก นสล.คลุมพื้นที่เพื่อจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเขื่อนหัวนา ชาวบ้านจึงได้เพิ่มข้อเรียกขึ้นอีก ด้วยการเสนอให้ "เพิกถอน นสล." ขณะที่ผมก็เข้าไปช่วยให้คำแนะนำบ้างในบางครั้ง แต่อยู่ห่าง ๆ เช่นเดิม !


ภาพชาวบ้านที่ยืนถือเอกสารสิทธิ์ (โฉนดที่ดิน) อยู่หน้าแปลงที่ดิน ที่อยู่ในแนวเขตระดับ 114 ม.รทก. บริเวณที่นา บ้านโนนสังข์ ตำบลโนนสังข์ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ // จุดที่ยืนคือแนวปักหมดระดับน้ำ 114 ม.รทก ของชลประทาน // ด้านหลังคือสภาพของที่ดิน ของชาวบ้าน

ปี 2543 (ผ่านมา 3 ปี) ขณะที่สมัชชาคนจน ชุมนุม "ปฏิบัติการดาวกระจาย" หรือที่ทราบกันคือ ยุคการชุมนุมของ "หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน" (หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 1 ตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 2542 ที่สันเขื่อนปากมูน หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2 ก่อตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม 2542) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มกรณีปัญหาบางส่วนของสมัชชาคนจน จำนวน 15 กรณีปัญหา (รวมถึงกรณีปัญหาเขื่อนห้วยละห้าด้วย) ในช่วงนั้นผมจึงได้ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา จัดชุมนุมขึ้นที่สันเขื่อนหัวนา (แต่ไม่ได้ตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนเช่นที่อื่น) และนำข้อเรียกร้องของชาวบ้านเขื่อนหัวนา เข้าร่วมกับขบวน รวมเป็น 16 กรณีปัญหาของสมัชชาคนจน !

วันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รวม.กระทรวงวิทยาศาสตร ฯ ในยุครัฐบาลชวน 2 ซึ่งกำกับเขื่อนราศีไศล และเขื่อนหัวนา จึงได้นำข้อเรียกร้องเขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติ (นำมาเฉพาะเขื่อนหัวนา) ดังนี้ 1.) เห็นชอบให้ระงับการก่อสร้างโครงการทั้งหมดไว้ก่อน จนกว่าการศึกษาผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อมและสังคม จะแล้วเสร็จ 2.)ให้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดโครงการตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 3.)ให้ตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรที่คาดว่าจะเสียหายจากฝาย ดังกล่าวร่วมกับราษฎร ต่อมาปี 2545 เขื่อนหัวนาได้โอนมาสังกัดกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนถึงปัจจุบัน !

การตรวจสอบทรัพย์สินที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนา มีปัญหาข้อขัดแย้ง เรื่อง "แนวเขตระดับน้ำ" มาตลอด ทำให้การปักขอบเขตระดับน้ำท่วมถึงไม่สามารถหาข้อยุติได้ จนกระทั่งปี 2553 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้ "เขื่อนหัวนาดำเนินการเก็บกักน้ำที่ระดับ 112 ม.รทก. ให้จ่ายค่าชดเชยที่ระดับ 114 ม.รทก. (จ่ายเพิ่มจากระดับเก็บกักน้ำอีก 2 เมตร)" ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีนี้ ทุกฝ่ายยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน !

วันที่ 14 มิถุนายน 2556 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการเขื่อนหัวนา โดยมี นายยุคคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในที่ประชุมมีมติที่ประชุม ดังนี้ "ให้จ่ายค่าชดเชยที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนาในระดับ 114 ม.รทก. กรณีที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ให้ชดเชยในราคาไร่ละ 45,000 บาท" (กรณีที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ยังไม่มีการกำหนดราคาค่าชดเชย) ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน !

แล้วทำไม ปัญหาไม่จบสักที...นี่คือคำถามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัย...ซึ่งผม (เป็นความเห็นส่วนตัว) พอประมวลสรุปประเด็นข้อขัดแย้งได้ ดังนี้ 1.) ระดับ 114 ม.รทก. ซึ่งเห็นไม่ตรงกัน โดยฝ่ายคนทามกล่าวหาชลประทานว่า ปักหมุดไม่ถูกต้อง ส่วนชลประทานก็ยืนยันว่าปักหมุดถูกต้อง โดยมีสัญลักษณ์แทนของแต่ละฝ่ายคือ เส้นสีแดง ของทีมคนทาม เส้นสีเขียว คือของชลประทาน ซึ่งเรื่องนี้เถียงกันมาตั้งแต่ปี 2552 หรือกว่า 8 ปี ที่ผ่านมา ในปัจจุบันยังเถียงกันไม่จบ !


ภาพ ชาวบ้านโนนสังข์ นำเอกสารสิทธิ์ (โฉนดที่ดิน) ซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในระดับ 114 ม.รทก. ไปยื่นต่อนายเมธี สุวรรณฝ่าย รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการเขื่อนหัวนา.
//เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา

ปีนี้ (2560) ชาวบ้านโนนสังข์ ตำบลโนนสังข์ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนา ส่วนหนึ่งมีที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ และอีกส่วนหนึ่งมีที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยที่ดินดังกล่าวอยู่ในขอบเขตระดับ 114 ม.รทก โดยมีหลักเขตของชลประทานปักไว้อย่างชัดเจน และเป็นไปตามกรอบที่ มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 27 เมษายน 2553 กำหนดไว้ ได้มาขอร้องให้ "ป้าย บูรพาไม่แพ้" เข้าไปช่วยผลักดันให้ด้วย (มาอ้อนวอนผลหลายครั้งมากจนผมใจอ่อน) เพราะได้รับผลกระทบมานานหลายปี !

วันที่ 12 ตุลาคม 2560 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการเขื่อนหัวนา ได้จัดประชุมการจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านโนนสังข์ ซึ่งมีคุณสมบัติและเป็นไปตามกรอบของมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 27 เมษายน 2553 แต่ถูกทักทวงจากทีมคนทามอย่างหนัก ด้วยว่ายังไม่มีข้อยุติเรื่องเส้นระดับน้ำว่าจะใช้สีเขียว หรือสีแดง แต่สำหรับชาวบ้านโนนสังข์ ไม่ได้สนใจว่าจะเส้นสีอะไร เพื่อโดยหลักการแล้วเมื่อ ครม.กำหนดให้จ่ายที่ระดับ 114 ม.รทก. ซึ่งทุกฝ่ายก็ยอมรับ จึงเป็นข้อยุติที่ตรงกันส่วนที่แตกต่างจากนี้ไป เป็นข้อขัดแย้งที่เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละฝ่าย ที่จะต้องไปหาข้อยุติเฉพาะส่วนไป ไม่ควรนำมาผูกรวมกัน !

การจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านโนนสังข์ จะเป็นหลักการใช่หรือไม่...ผมตอบได้เลยว่า...ใช่...ซึ่งในความเป็นจริงหลักการนี้มีอยู่แล้ว ตามกรอบของมติ ครม. 27 เมษายน 2553 ซึ่งทุกฝ่ายก็ยอมรับร่วมกัน ดังนั้นจะอธิบายความชอบธรรมของชาวบ้านโนนสังข์ ที่มี และความเป็นธรรมที่ชาวบ้านโนนสังข์จะได้รับ นี้ว่าไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลประการใด ????

ในทางข้อเท็จจริงในเรื่องผลกระทบซึ่งมีรายละเอียดที่ต่างจาก "เกณฑ์" (มติ ครม.) เป็นเรื่องที่ผมเองยอมรับ เพราะสภาพพื้นที่แต่ละแห่งในทางกายภาพมีความต่างกัน ซึ่งมีพื้นที่จำนวนไม่น้อย อยู่สูงกว่าระดับ 114 ม.รทก. แต่ถูกน้ำล้อมรอบ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า "เกาะ" และในหลายแห่งที่เป็น "เวิ้ง" "เว้า" น้ำเอ่อเข้าท่วม แต่ไม่ท่วมขังถาวร แต่มีความเสี่ยงในการผลิต พื้นที่เหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบที่รัฐบาลควรรับผิดชอบด้วยเช่น แต่การอธิบายสภาพปัญหาก็ต้องหยิบยกขึ้นมาให้ชัดเจน เมื่ออธิบายไม่ชัดเจนก็ถูกมองว่า "ตีรวน" !

หลักการ กับรายละเอียด...มีความสับสนกันมานานกว่า 8 ปี ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ มีความเดือดร้อน ได้ตก "เป็นตัวประกัน" ซึ่งในที่นี้ผมเห็นว่า ข้อยุติที่เห็นร่วมกันคือ ทุกฝ่ายยอมรับมติ ครม. 27 เมษายน 2553 (เก็บน้ำ 112 จ่าย 114) ตรงนี้คือ "หลักการ" แต่สภาพผลกระทบเช่น ที่เป็นเกาะ ที่เป็นเวิ้ง ตรงนี้เป็นรายละเอียดประกอบที่จะนำขึ้นสู่การถกเถียงว่าลักษณะพื้นที่เช่นนี้จะแก้ไขปัญหาอย่างไร และหากจะบอกว่า "ชลประทานโกง" ปักหลักหมุดต่ำกว่าระดับ 114 ม.รทก. ซึ่งบิดเบือน "หลักเกณฑ์" ที่ ครม.กำหนดไว้ ก็เพียงแค่ไปชี้ที่หลักเขตใด ก็ได้ว่า ชลประทานโกง บิดเบือน ซึ่งชลประทานก็จะมีความผิดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้...ดังนั้น "หลักการ" กับ "รายละเอียด" ก็ต่างกันดังที่กล่าวมานี้ !

เมื่อหลักเกณฑ์ ชัดเจนขนาดนี้ และที่สำคัญทุกฝ่ายก็ยอมรับ การจ่ายค่าชดเชย ก็ควรเร่งดำเนินการด่วนด้วย เพื่อให้ความทุกข์ยากที่สั่งสมมากว่า 23 ปี ได้บรรเทาลง !

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล: เปิดตัวหนังสือ The Rise of the Octobrists in Contemporary Thailand

Posted: 14 Oct 2017 08:33 AM PDT

14 ต.ค. 2560 เปิดตัวหนังสือ เรื่องของคนเดือนตุลา/ตุลา "The Rise of the Octobrists in Contemporary Thailand" ที่ห้องเรวัติ พุทธินันท์ หอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยช่วงแรก ดำเนินรายการโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และการเปิดตัวหนังสือโดย กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียน  The Rise of the Octobrists in Contemporary Thailand

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปภ.รายงานน้ำหลาก-น้ำล้นตลิ่งใน 32 อำเภอ 9 จังหวัด ตายแล้ว 3 ราย

Posted: 13 Oct 2017 11:36 PM PDT

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง  32 อำเภอ  ใน 9 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 51,669 ครัวเรือน พบผู้เสียชีวิต  3 ราย ด้าน คสช.ยันมีแผนรับมือน้ำท่วมพื้นที่ชั้นใน ไม่กระทบพระราชพิธี

 

ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย
 
14 ต.ค. 2560 นายชยพล  ธิติศักดิ์  อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่าฝนที่ตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่น และการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 10 – 13 ตุลาคม  2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี กำแพงเพชร สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ ชัยนาท ตาก และพิจิตร รวม 32 อำเภอ 212 ตำบล 1,211 หมู่บ้าน 1 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 51,669 ครัวเรือน 140,579 คน ผู้เสียชีวิต 3 ราย  ที่ จ.ตาก 1 ราย และพิจิตร 2 ราย
 
ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง  แจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น  พร้อมระดมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมถึง  ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง สู่ลำน้ำสายหลัก พร้อมเชื่อมโยงการระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัด ตลอดจนดูแลชีวิตความเป็นอยู่ และความปลอดภัยของผู้ประสบภัยเป็นหลัก
 
คสช.ยันมีแผนรับมือน้ำท่วมพื้นที่ชั้นใน ไม่กระทบพระราชพิธี
 
พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมขังหลายจุดในพื้นที่กรุงเทพฯ  ช่วงเช้าวันนี้ (14 ต.ค.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. สั่งการให้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการ คสช. หาแนวทางป้องกันและช่วยเหลือประชาชนไว้แล้ว
 
พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวว่า พล.อ.เฉลิมชัย ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ได้ประชุมและสั่งการทุกกองทัพภาคให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมคน เตรียมเครื่องมือ และยานพาหนะให้พร้อม และย้ำให้ กกล.รส. ออกปฏิบัติหน้าที่ตอนกลางคืนด้วย  
 
"เมื่อคืนเกิดฝนตกอย่างหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมผิวการจราจร และบ้านเรือนประชาชน ซึ่งทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็เร่งให้การช่วยเหลือทันที ได้รับรายงานเวลา 09.30 น.ว่า มีน้ำท่วมขังถนน 20 เส้นทาง บางเส้นทางน้ำสูงถึง 50 เซนติเมตร ซึ่ง กทม.กำลังเร่งระบายน้ำลงสู่คลอง เพื่อออกสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด" พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าว 
 
ส่วนข้อกังวลสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงนี้ จะกระทบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือไม่ พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวว่า ขอยืนยันและให้ความมั่นใจว่า ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานได้วางแผนป้องกันอย่างเต็มที่  มีการลอกคลองในพื้นที่ชั้นใน ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว   
 
พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ตอนบน ที่จะต้องระบายน้ำลงมา โดยเฉพาะจังหวัดลุ่มน้ำภาคกลาง ที่จะต้องรับน้ำจากเขื่อนต่างๆ เช่น จ.ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ขณะนี้แต่ละจังหวัดได้เตรียมการรับมือแล้ว เช่น จ.ลพบุรี มีการปลูกพืชและเก็บเกี่ยวก่อนฤดูฝน ทำให้มีพื้นที่รองรับน้ำถึง 116 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วน จ.พระนครศรีอยุธยา ก็มีพื้นที่รับน้ำได้ถึง 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2]
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แนะแนวปฏิบัติแรงงานไทยผิดกฎหมายในมาเลเซีย

Posted: 13 Oct 2017 11:16 PM PDT

กระทรวงแรงงาน แนะแรงงานไทยในมาเลเซียที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หากอยู่เกิน 30 วัน ขอให้ติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ขณะเดียวกันหากอยู่ไม่ครบ 30 วัน ขอให้เดินทางกลับประเทศไทย และเข้าไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อไม่เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี

14 ต.ค. 2560 นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าหลังจากที่ทางการมาเลเซียได้ประกาศออกปฏิบัติการจับกุมนายจ้างและแรงงานต่างชาติ ที่ลักลอบทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานอย่างเข้มงวด ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา และมีแรงงานต่างชาติกลุ่มดังกล่าวถูกจับกุมจำนวนมากนั้น สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซียมีแนวปฏิบัติสำหรับแรงงานไทยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานและยังอยู่ในประเทศมาเลเซีย ดังนี้ 1.กรณีแรงงานเดินทางเข้าไปในประเทศมาเลเซียยังไม่ครบ 30 วัน ขอให้เดินทางกลับประเทศไทย หากประสงค์จะทำงาน ขอให้เข้ามาให้ถูกต้องตามกฎหมาย 2.กรณีแรงงานเดินทางเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซียและอยู่ในมาเลเซียเกินกำหนด 30 วัน ขอให้ติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์เพื่อช่วยดำเนินการขอ Special Pass จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียเพื่อเดินทางกลับประเทศไทย ทั้งนี้ ต้องจ่ายค่าปรับให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย 3.กรณีแรงงานเดินทางเข้ามาในประเทศมาเลเซียตั้งแต่ก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2559 และยังไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศมาเลเซีย สามารถเข้าร่วมโครงการนิรโทษกรรม (Rehiring Programme) ของทางการมาเลเซียได้ โดยต้องเสียค่าปรับ ค่าดำเนินการ และค่าขอใบอนุญาตทำงานจากทางการมาเลเซีย

นายวรานนท์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า คนหางานไทยที่ประสงค์จะไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ขอให้เดินทางโดยถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นผู้ลักลอบทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานและถูกทางการมาเลเซียจับกุม โดยคนหางานไทยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน อาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ภายในบริเวณกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2245 6708 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ย้ำยันจัดซื้อยาปี 2561 ไม่สะดุด ต่อรองราคาแล้วมีเพียง 3 รายการราคาเพิ่มขึ้น

Posted: 13 Oct 2017 11:09 PM PDT

วงเสวนา "จัดซื้อยารวมบัตรทอง" ย้ำ สธ. สปสช. และ อภ.จับมือเแน่น เดินหน้าจัดซื้อยาปี 2561 ไม่สะดุด ยันไม่เกิดปัญหาขาดยาแน่ พร้อมเผยความคืบหน้าต่อรองราคายา 110 รายการแล้ว ภาพรวมราคายาลดลงเทียบปี 2560 มีเพียงยา 3 รายการราคายาเพิ่มขึ้น  

 
 
14 ต.ค. 2569 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ – ในการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการเสวนา "ระบบบริหารจัดการยา เวชภัณฑ์ วัคซีน ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ"
 
นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในช่วงแรกของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การจัดซื้อยารวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว แต่พบปัญหาผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยา ทั้งจากราคายาที่แพงมาก และการจัดหายาที่ทำได้ยากมาก ในปี 2551 บอร์ด สปสช.จึงได้มีมติให้บริหารจัดการเพื่อทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ โดยเน้นเฉพาะยาที่มีปัญหาต่อการเข้าถึง จึงเป็นที่มาของการจ่ายชดเชยเป็นยา แต่ต่อมาเมื่อ สปสช.ถูกทักท้วงว่าไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และในช่วงกลางปี 2560 ยังได้มีคำสั่ง ม.44 ให้ดำเนินการจัดซื้อยาให้ถูกต้อง บอร์ด สปสช.จึงต้องหาวิธีบริหารจัดการโดยยึดหลักคือประชาชนต้องได้รับยาต่อเนื่อง ไม่ขาด ต้องทำให้หน่วยบริการมีภาระเพิ่มขึ้น และต้องจัดซื้อยาได้ในราคาถูก
 
 ในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์กรเภสัชกรรม (อภ.) และ สปสช ต่างร่วมทำงานกันอย่างหนัก และได้เปิดวอร์รูมเพื่อเร่งดำเนินงาน ทั้งนี้กระบวนการจัดซื้อยาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ รพ.ราชวิถี เครือข่ายหน่วยบริการจะทำหน้าที่ในการจัดซื้อยาแทน สปสช.ที่ต้องยุติในปี 2561 แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิมคือเงื่อนไขการเบิกจ่ายชดเชย โปรแกรมส่งข้อมูลการเบิกจ่ายยา และ อภ.ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้จัดส่งยาเหมือนเดิม และภาพรวมการเปลี่ยนแปลงจะอยู่ที่ส่วนกลางเท่านั้น แต่ รพ.ยังสามารถเบิกจ่ายและดำเนินการได้เหมือนเดิม ซึ่งระหว่างการเปลี่ยนผ่านที่อาจเกิดปัญหายาขาด สปสช.เขตยังคงรับหน้าที่ในการประสานข้อมูลให้
 
 "หลังจากนี้ สปสช.จะไม่ได้ทำหน้าที่จัดซื้อยาแล้ว แต่จะโอนเงินให้ รพ.ราชวิถีเพื่อทำหน้าที่จัดซื้อแทน โดยแบ่งการโอนเงินจัดซื้อเป็น 3 งวด เพื่อให้ รพ.ราชวิถีสามารถดำนินการทำสัญญาจัดซื้อได้ ขณะที่การเบิกจ่ายยายังคงดำเนินไปเช่นเดิม โดยระบบเมื่อคนไข้มารับบริการและต้องเบิกจ่ายยา รพ.จะส่งข้อมูลมายัง สปสช. ซึ่ง สปสช.จะส่งข้อมูลไปยัง อภ. และ รพ.ราชวิถี เพื่อให้มีการเบิกจ่ายและจัดส่งยาไปยัง รพ.ที่ต้องการ"
 
นพ.จักรกริช กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่า รพ.ราชวิถีจะทำหน้าที่จัดซื้อยาแทน สปสช.แล้ว แต่บทบาทบอร์ด สปสช.ยังคงทำหน้าที่พิจารณาและอนุมัติแผนการจัดซื้อยาในแต่ละปี เพราะงบประมาณจัดซื้อยายังต่อส่งผ่านมายังกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย สปสช.ยังต้องทำหน้าที่จัดทำแผนโดยใช้กลไกอนุกรรมการ และข้อมูลการใช้ยาที่ผ่านมา เพื่อประมาณการในการจัดทำแผน รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายที่เป็นการทำงานร่วมกับองค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกฝ่ายยังคงต้องช่วยกัน
 
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า หากถามว่า สปสช.ทำหน้าที่จัดซื้อยาดีอยู่แล้ว ทำไมต้องหยุดซื้อ เพราะสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเข้มข้นและพบว่า สปสช.จัดซื้อยา แม้จะไม่ทุจริตแต่ก็ไม่ถูกกฎหมาย จึงให้มีการปรับเปลี่ยน และการให้ สธ.ทำหน้าที่แทน เพราะ สธ.เป็นหน่วยบริการ กฎหมายกำหนดให้หน่วยบริการทำหน้าที่นี้เท่านั้น ส่วนทำไมต้องเป็น รพ.ราชวิถี เพราะเป็น รพ.ใหญ่ สามารถส่งงบประมาณจัดซื้อลงไปได้ เพราะหากมอบให้ รพ.จังหวัดต่างๆ ทำหน้าที่จัดซื้อจะติดอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ไม่มีอำนาจจัดซื้อยามูลค่าพันล้านบาทเช่นเดียวกับเลขาธิการ สปสช.
 
ทั้งนี้แม้ว่าจะเปลี่ยนหน่วยงานทำหน้าที่จัดซื้อ ทุกอย่างยังเหมือนเดิม สปสช.และ อภ.ยังคงต้องทำงานร่วมกัน ส่วนกรณีที่กังวลต่อปัญหาการขาดยา กรณียาอะบาคาเวียร์ (Abacavir tab) เกิดจากผู้ผลิตและจำหน่ายมีปัญหา ไม่ว่าใครทำหน้าที่จัดซื้อก็เจอปัญหา โดย อภ.ได้คุยกับบริษัทยาแล้ว ให้จัดหายาเพียงพอสำหรับผู้ป่วย เพียงแตช่วงนี้จำนวนยาอาจไม่เต็มที่เหมือนเดิม เช่น เคยส่งยาเพียงพอสำหรับ 1 เดือน อาจเหลือเพียงครึ่งเดือน แต่ทั้งนี้ยืนยันว่าจะไม่ให้มีการขาดยาแน่นอน
 
"สิ่งที่หนักใจคือ รมว.สาธารณสุขสั่งห้ามซื้อยาแพงกว่าที่ สปสช.จัดซื้อ แต่เงินเฟ้อเพิ่มปีละ 2% ราคายาก็ปรับขึ้นตามธรรมชาติ แต่จากความพยายามต่อรองจัดซื้อยาที่ผ่านมาใน 110 รายการ มีเพียง 3 รายการที่แพงกว่า สปสช.จัดซื้อเล็กน้อย แต่ภาพใหญ่การจัดซื้อราคาลดลง อย่างไรก็ตามในการจัดซื้อยานั้น วงเงินอนุมัติจัดซื้อโดย ผอ.รพ.ราชวิถี น้อยกว่าเลขาธิการ สปสช. งบจัดซื้อยาปีนี้อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท แต่ ผอ.รพ.ราชวิถีอนุมัติวงเงินได้ 50 ล้านบาท ซึ่งกำลังดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่ยืนยันว่า สธ. สปสช. และ อภ.จับมืออย่างเหนียวแน่นไม่ให้เกิดปัญหายาขาด " ผอ.อภ. กล่าว
 
ขณะที่ นพ.มนัส โพธาภรณ์ ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวว่า รพ.ราชวิถีจัดซื้อยาในนาม สธ. นอกจากอนุกรรมการต่อรองราคายาและอนุกรรมการกำกับและติดตามแล้ว ในส่วน รพ.ราชวิถีได้เตรียมตั้งอนุกรรมการตรวจรับยาที่มีตัวแทน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ และภาคประชาชน ขณะที่ศูนย์ปฎิบัติการร่วม สธ. อภ.และ สปสช. ได้เริ่มทำงานแล้ว และภายหลังจากได้รับสัญญาณจาก สปสช.ถึงปัญหายาขาดรวมถึงน้ำยาล้างไต จึงได้ประสาน อภ.เพื่อยืมยาแล้วมูลค่า 400 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้หากมีหนังสือมอบอำนาจจัดซื้อยาอย่างเป็นทางการ ก็สามารถสั่งซื้อยาตามระเบียบในรูปแบบเดิมต่อไป คิดว่าไม่มีปัญหา    
 
ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีความกังวลเรื่องวงเงินอนุมัติจัดซื้อที่เป็นอำนาจ ผอ.รพ.ราชวิถี ขณะนี้เบื้องต้นอยู่ที่วงเงิน 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ ซึ่งในกรณีที่การจัดซื้อเกินวงเงิน อธิบดีกรมการแพทย์สามารถมอบจัดซื้อได้วงเงิน 200 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคงต้องมีการหารือเรื่องกรอบวงเงินจัดซื้ออีกครั้ง สำหรับการจัดซื้อยาให้กับหน่วยบริการภาคเอกชนนั้น ยังเป็นประเด็นที่หารือไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อดูว่าจะดำเนินการอย่างไรได้ มีข้อจำกัดอะไร โดยในระหว่างนี้หน่วยบริการเอกชนเบิกจ่ายมายัง สปสช.ก่อน ภายหลังหาความเห็นกรมบัญชีกลางไม่สอดคล้องให้ปรับจ่ายชดเชยเป็นเงินแทน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.กลาโหมอินเดียเยือนชายแดน 'นาธูลา' สานไมตรีกับทหารจีน

Posted: 13 Oct 2017 10:56 PM PDT

สื่อเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานว่า นีรมาลา สิธารามาน หญิงรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอินเดียเดินทางไปเยี่ยมกองทัพที่พื้นที่แถบชายแดนด้วยตนเอง และใช้ความมีไมตรีกับทหารจีนจนสามารถเชื่อมสายสัมพันธ์ได้โดยไม่ต้องใช้อาวุธหลังจากที่ทั้งสองประเทศมีความขัดแย้งพรมแดนกันมาก่อนเมื่อกลางปีที่ผ่านมา

 
นีรมาลา สิธารามาน รัฐมนตรีกลาโหมของอินเดียเปิดเผยว่าทหารของจีนแผ่นดินใหญ่ในเขตชายแดนนาธูลาแสดงท่าทีที่ดีต่ออินเดียอย่างที่เธอไม่ได้คาดหวังมาก่อน หลังจากที่ทั้งสองประเทศเคยมีเหตุบาดหมางกันเกี่ยวกับพื้นที่พิพาทที่ราบสูงดอกลัมตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา
 
ชาวจีนที่สังเกตการณ์อยู่บอกว่าสิธารามานมาหาพวกเขาด้วยไมตรีจิตตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศของจีนก็กล่าวว่าทางการจีนเต็มใจจะคงไว้ซึ่งสันติภาพในถบชายแดนระหว่างจีนกับอินเดีย
 
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอภาพวิดีโอของสิธารามานปฏิสัมพันธ์กับทหารจีนในแถบชายแดนนาธูลาที่เชื่อมระหว่างรัฐสิกขิมและทิเบตด้วยการแลกเปลี่ยนคำทักทายของทั้งสองภาษา สิธารามานถามทหารจีนว่า "คุณรู้ไหมว่า 'นามัสเต' หมายถึงอะไร" ทหารจีนตอบว่า "มันหมายถึง 'ยินดีที่ได้เจอคุณ' " สิธารามานถามต่อว่า แล้วพวกคุณพูดเป็นภาษาจีนกว่าอย่างไร" ทหารตอบว่า "พวกเราแค่บอกว่า 'หนี่ห่าว' " "แล้วฉันก็ตอบว่า 'นามัสเต' " สิธารามานกล่าว
 
สิธารามานพบปะกับผู้บัญชาการของกองทัพจีนโดยสื่อสารผ่านล่าม นอกจากจะผลัดกันชื่มชมประเทศของแต่ละฝ่ายแล้ว สิธารามานยังกล่าวในเชิงชื่นชมทหารจีนนามสกุลหวังที่ทำหน้าที่เป็นล่ามในเชิงเยินยอว่า "ดีมาก ๆ ที่ได้คนเป็นราชามาเป็นล่ามให้ (นามสกุลของหวังมีความหมายว่าราชา)" ขณะที่หวังกล่าวในเชิงขอโทษว่าภาษาอังกฤษของเขาไม่ค่อยดีนัก
 
ชายแดนนาธูลาอยู่ห่างจากพื้นที่พิพาทดอกลัมไปเพียง 30 กม. เท่านั้น สื่ออินเดียรายงานว่านี่เป็นครั้งแรกที่คนในระดับรัฐมนตรีกลาโหมอินเดียลงพื้นที่ไปเยี่ยมเขตชายแดนอิน้เดีย-จีน นับตั้งแต่ความขัดแย้งพื้นที่ดอกลัมทุเลาลงในช่วงปลายเดือน ส.ค. ก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่ทางการค้าที่ผู้นำจีนและผู้นำอินเดียเข้าร่วมด้วย 
 
อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ทางการจีนวางกำลังราว 1,000 นาย บนพื้นที่ดอกลัมอีกครั้งโดยที่นักวิเคราะห์มองว่าทางการจีนส่งกองทัพไปเพื่อทำงานสร้างโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น
 
หลังจากการไปเยือนนาธูลาของสิธารามานโฆษกการต่างประเทศของจีนก็ประกาศว่าจีนมีความเต็มใจที่จะคงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพแถบชายแดนกับอินเดียภายใต้กรอบการทำงานทางประวัติศาสตร์และตามข้อตกลงระหว่างทั้งสองฝ่าย
 
ลี่เจี๋ย ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของจีนกล่าวว่าการมาเยือนของสิธารามานแสดงให้เห็นว่าอินเดียต้องการความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนเนื่องจากยังต้องการการสนับสนุนจากจีนในด้านอื่น ๆ แม้จะมีความขัดแย้งด้านพรมแดน จึงไม่อยากทำลายความสัมพันธ์ของมหาอำนาจในเอเชียอย่างสิ้นเชิง
 
แต่โรฮัน มุคเคอร์จี ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการเอเชียจากวิทยาลัยเยล-เอ็นยูเอส ในสิงคโปร์กล่าวว่าการมาเยือนของสิธารามานเป็นแค่การไปเยี่ยมตามกิจวัตรหน้าที่เท่านั้น
 
 
เรียบเรียงจาก
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 8-14 ต.ค. 2560

Posted: 13 Oct 2017 10:40 PM PDT

กระทรวงแรงงานย้ำ งานขายของหน้าร้านยังเป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำ

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงถึงกรณีที่แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาวและเมียนมาลักลอบเข้ามาขายอาหารผักและผลไม้ในตลาดสี่มุมเมือง จังหวัดปทุมธานีว่ามีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เนื่องจากเป็นการทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกเว้นบทลงโทษตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2560 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 นอกจากนี้ การที่แรงงานต่างด้าวขายผักและผลไม้ เป็นการขายของหน้าร้าน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 39 อาชีพงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ใหม่ ดังนั้น จึงขอย้ำเตือนนายจ้างมิให้จ้างคนต่างด้าวขายของหน้าร้าน เนื่องจากยังไม่ได้รับการยกเว้นแต่อย่างใด และยังคงเป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น จึงขอให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นแรงงานต่างด้าวทำงานที่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทำงาน ขอให้แจ้งเบาะแสได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทร.สายด่วน 1694

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 8/10/2560

ก.แรงงานเผยข้อเรียกร้องค่าจ้าง 712 บาท เรียกได้แต่ไม่มีคนจ้าง

นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในคณะกรรมการค่าจ้าง ให้พิจารณาปรับอัตราค่าจ้างด้วยความรอบคอบ เป็นธรรม และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยคณะกรรมการค่าจ้างเป็นคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งมีผู้แทนทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และราชการ ฝ่ายละ5 คน และยังมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่จะให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการเพื่อประกอบการพิจารณาอัตราค่าจ้าง โดยกระทรวงแรงงานมีแนวคิดว่า ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเครื่องมือในการปกป้องแรงงานแรกเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อมิให้แรงงานแรกเข้าทำงานถูกปฏิบัติจากนายจ้างอย่างไม่ถูกต้อง หรือจ่ายค่าจ้างที่ต่ำจากที่ควรจะเป็น ประกอบกับคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งมีตัวแทนของฝ่ายลูกจ้างนั่งอยู่ด้วย สามารถชี้แจงความต้องการของฝ่ายลูกจ้างได้ทุกประเด็น เพื่อให้คณะกรรมการท่านอื่นๆ ได้ร่วมกันพิจารณาข้อมูลเหตุผล โดยที่กระทรวงแรงงานไม่สามารถเข้าไปชี้นำ หรือแทรกแซงให้เป็นอย่างอื่นได้

"สำหรับการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำวันละ 712 บาท ของ นายสาวิทย์ แก้วหวาน ผู้นำกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นั้น หากมองในมุมกลับของผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการผลิต การลงทุน และภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ในภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังฟื้นตัว และเป็นช่วงเวลาของการจูงใจให้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศสนใจที่จะมาลงทุนเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อโอกาสในการจ้างงานก็จะสูงมากขึ้นไปตามลำดับด้วยนั้น การเรียกร้องค่าจ้างดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนคิดอย่างไร ผลดีหรือผลเสียเกิดขึ้นกับใคร "เรียกได้ แต่ไม่มีคนจ้าง" เหมือนกับตั้งราคาขายสินค้าไว้สูง แต่ไม่มีคนซื้อ จึงเป็นการเรียกร้องที่ไม่มีประโยชน์" นายวิวัฒน์ กล่าว

นายวิวัฒน์ กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานยังคงผลักดันให้แรงงานไทยได้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานต่อไป เพื่อรองรับการผลิตที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ และค่าจ้างให้เป็นไปตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งรัดจัดทำหลักสูตรและเปิดรับให้แรงงานไทยมีโอกาสและทางเลือกที่จะพัฒนาฝีมือของตนเองให้มีความพร้อมและมีมาตรฐานฝีมือ เพื่อเพิ่มผลิตภาพให้กับแรงงานเอง ดังนั้นค่าจ้างที่จะได้รับก็ต้องสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้ให้การรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานไปแล้วกว่า 68 สาขาอาชีพ ได้ค่าจ้างสูงสุดถึง 815 บาท/วัน และภายในปีงบประมาณ 2561 จะให้การรับรองเพิ่มขึ้นอีกกว่า 16 สาขาอาชีพ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 10/10/2560

เวิลด์แบงก์จี้อาเซียนปรับปรุงเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะต่ำ

ธนาคารโลก เรียกร้องให้สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ปรับปรุงการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะต่ำในภูมิภาค ขณะที่ระบุว่า อาเซียนมีอัตราการอพยพของแรงงานในภูมิภาคมากกกว่าภูมิภาคอื่นๆในโลก

"ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน การอพยพของแรงงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนการอพยพของแรงงานในภูมิภาคอื่นๆของโลกได้ลดน้อยลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา" รายงานของโนาคารโลก ระบุ

ทั้งนี้ ธนาคารโลก ออกรายงานระบุว่า ประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ถือเป็นศูนย์กลางของแรงงานที่อพยพมาจากประเทศอื่นๆในอาเซียน

รายงาน "Migrating to Opportunity" ระบุว่า การอพยพของแรงงานภายในภูมิภาคอาเซียน ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในระหว่างปี 2538-2558 ซึ่งได้ทำให้ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์เปิดรับแรงงานอพยพจำนวน 6.5 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 96% ของแรงงานอพยพทั้งหมดในอาเซียน

รายงานระบุด้วยว่า ไทยรองรับแรงงานอพยพจำนวนรวม 3.75 ล้านคนจากเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ขณะที่มาเลเซียรองรับแรงงานอพยพจำนวน 1.48 ล้านคน ส่วนสิงคโปร์รองรับแรงงานอพยพจำนวน 1.28 ล้านคน

รายงานยังระบุด้วยว่า ชาวกัมพูชาจำนวน 805,272 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 95% ของแรงงานอพยพจากกัมพูชา ได้ไปยังประเทศไทยเพื่อหางานทำในภาคการเกษตร การก่อสร้าง และการผลิต

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 10/10/2560

บริษัทชิ้นส่วนยานยนต์วายเทคเลิกจ้างพนักงานเนื่องจากทำงานสหภาพแรงงาน

โรงงานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของญี่ปุ่นใช้วิธีลงโทษขั้นรุนแรงกับหลังจากคนงานก่อตั้งสหภาพแรงงาน

บริษัทได้สอดส่องคนงานผ่านกล้องวงจรปิด การสุ่มตรวจสารเสพย์ติด การเลิกจ้างและข่มขู่ให้ลาออก และฟ้องข้อกล่าวหมื่นประมาทต่อประธานสหภาพแรงงานจากการที่ใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดียโพสต์ข้อความ

บริษัทยามาชิตะ รับเบอร์ จากประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าของโรงงานยานยนต์ในปราจีนบุรี ซึ่งมีพนักงานประมาณ 2,000 คน ผลิตท่อยาง ท่อเครื่องยนต์ กันชน กันกระแทก ให้กับแบรนด์ไดฮัทสึ ซูซุกิ ซันโย และอีกหลายๆบริษัท มีทั้งหมด 2 โรงงานในปราจีนบุรี เปิดขึ้นในปี 2540 และ 2556 ตามลำดับ

โรงงานในปราจีนบุรีเป็นส่วนหนึ่งของสวนอุตสาหกรรมที่มีบริษัทในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกันจำนวนมาก และที่นั่นยังไม่มีการยอมรับสหภาพแรงงาน แต่ก็มีการจัดการประท้วงและผละงานของคนงานเพื่อประท้วงต่อสภาพการทำงาน

สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) สมาชิกของอินดัสทรีออลล์ ได้ช่วยเหลือคนงานให้ก่อตั้งสหภาพแรงงานขึ้น

เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2559 จากความไม่พอใจของคนงานที่ไม่ได้รับโบนัสตามที่นายจ้างสัญญา และสถานการณ์ก็ได้ยกระดับขึ้นหลังจากที่ฝ่ายบุคคลของบริษัทใช้กำลังโดยบันดาลโทสะต่อคนงาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และพนักงานรักษาความปลอดภัยเข้ามาเพื่อจัดการกับสถานการณ์

คนงาน 7 คน ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนการเจรจา และได้จดทะเบียนสหภาพอย่างเป็นทางการ ชื่อว่า สหภาพแรงงานชิ้นส่วนรถยนต์แห่งปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 และได้มีการรับสมาชิกเพิ่ม รวมถึงแจ้งต่อบริษัทเพื่อรับทราบ

การตอบโต้อย่างทันทีของบริษัทคือการแยกสมาชิกสร.จากคนงานคนอื่นๆ โดยการจัดให้เข้างานกะดึก คนงานประมาณ 90 คน ที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงถูกเรียกประชุมและให้เซ็นต์ลาออก ซึ่งเป็นการ "ทำลายความสัมพันธ์ในการทำงาน"

หลังจากที่คนงานปฏิเสธ บริษัทได้กดดันสมาชิกสร. 32 คนให้เซ็นต์ลาออกโดยอ้างการปรับโครงสร้าง คนงานถูกเสนอเงินให้ลาออกและขู่ว่าจะถูกไล่ออกหากไม่ยอมรับข้อเสนอ

แม้ว่าคนงาน 22 คน จะยอมรับข้อเสนอจากทางบริษัท แต่สร.ก็ได้ยื่นร้องเรียนถึงคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) เพื่อเป็นเจ้าหน้าที่ชี้ขาด แต่บริษัทก็ยังเพิ่มความกดดันต่อสร. โดยเสนอสินบนให้ประธานเพื่อทำการสลายสหภาพแรงงาน มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อบันทึกภาพสมาชิกสร. และการสุ่มตรวจสารเสพย์ติดของสมาชิกสร.

บริษัทยังมีความพยายามที่จะติดสินบนต่อสมาชิกสร.เพื่อผลักดันให้คนอื่นๆลาออก แต่เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ บริษัทจึงเพิ่มเงินในการเพื่อให้ลาออกถึง 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 200,000 บาท ต่อคน ซึ่งมีคนงาน 4 คน รับข้อเสนอและลาออกไป

ในจุดนี้ ครส.ได้ออกคำสั่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนงาน โดยสั่งให้บริษัทรับคนงานกลับเข้าทำงาน แต่บริษัทก็ไม่ได้ทำตาม และได้ยื่นอุทรณ์ต่อคำสั่งครส.

นายเรืองศักดิ์ คล้ายมาลา ประธานสร.ชิ้นส่วนรถยนต์แห่งปราจีนบุรี ได้ถูกย้ายงานจากตำแหน่งซุปเปอร์ไวเซอร์ มาทำงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า หลังจากเขาได้ร้องเรียนไปยังครส. บริษัทก็ได้ฟ้องหมิ่นประมาทจากการที่เขาโพสต์ข้อความในโซเชี่ยลมีเดีย และจากนั้นก็เลิกจ้างเขาโดยอ้างเหตุว่าเขาถูกฟ้องคดีอาญา

บริษัทยังได้ฟ้องร้องหมิ่นประมาทต่อนักวิชากรผู้ซึ่งเขียนบทความวิจารณ์การกระทำของบริษัท

อินดัสทรีออลล์ ได้ส่งจดหมายถึงบริษัทยามาชิตะ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทแม่(ยามาชิตะ) แทรกแซงเหตุการณ์นี้

เลขาธิการใหญ่อินดัสทรีออลล์ วอลเตอร์ ซานเชส กล่าวว่า "อินดัสทรีออลล์เรียกร้องให้บริษัทยามาชิตะรับเบอร์เข้าแทรกแซงเหตุการณ์ในบริษัทวายเทคอย่างเร่งด่วน เพื่อทำโครงสร้างที่จำเป็นต่อการเจรจาและความร่วมมือระหว่างฝ่ายบริหารและสร. และให้ความร่วมมือกับครส.อย่างเต็มที่ในกระบวนการไกล่เกลี่ย และทำให้มั่นใจว่าสิทธิพื้นฐานของคนงานจะได้รับการยอมรับ"

ในปี 2558 อินดัสทรีออลล์ได้มีการยื่นข้อร้องเรียนถึง ILO ต่อความล้มเหลวในการดูแลมาตรฐานแรงงานของประเทศไทย

ที่มา: Confederation of Industrial Labour of Thailand, 10/10/2560

เผยรอบ 9 เดือน แรงงานไทยส่งเงินกลับประเทศร่วม 9.5 หมื่นล้านบาท

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากสถิติแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศพบว่า จำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศประจำปี 2560 ตั้งแต่มกราคม-กันยายน มีจำนวนทั้งสิ้น 90,277 คน จำแนกตามวิธีการเดินทางที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด 5 วิธี ได้แก่ 1.ไปทำงานผ่านบริษัทจัดหางานที่จดทะเบียนเป็นผู้รับอนุญาตจัดหางานกับกรมการจัดหางาน จำนวน 22,148 คน 2.ไปทำงานโดยการจัดส่งของกรมการจัดหางาน เป็นบริการของรัฐที่ส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ นอกจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น จำนวน 9,260 คน 3.การแจ้งเดินทางไปทำงานด้วยตนเอง จำนวน 6,922 คน 4.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 7,344 คน และ 5.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ จำนวน 3,246 คน

ทั้งนี้ มีผู้เดินทางกลับไปทำงานในต่างประเทศ(Re-entry) จำนวน 41,357 คน โดยเดินทางไปประเทศไต้หวันมากที่สุด จำนวน 26,839 คน รองลงมาเป็นสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 9,989 คน ญี่ปุ่นจำนวน 6,863 คน อิสราเอล จำนวน 6,017 คน และมาเลเซีย จำนวน 5,159 คน โดยสามารถสร้างรายได้ส่งเงินกลับประเทศไทยโดยผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2560 เป็นเงิน 94,174 ล้านบาท

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อว่า คนหางานที่ประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศ สามารถขอคำแนะนำ ตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางาน หรือติดตามข้อมูลการรับสมัครไปทำงานต่างประเทศได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: VoiceTV, 12/10/2560

คนไทยหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉียด 3 แสน สูงสุดรอบ 10 ปี

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าวถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2560 สำรวจทั่วประเทศ จำนวน 1,191 ตัวอย่าง วันที่ 26 ก.ย. -10 ต.ค. 2560 ว่า ครั้งนี้มีกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจซ้ำเดิม 30% พบว่า มีสัดส่วนคนไม่มีหนี้ 8.9% ซึ่งมีสัดส่วนต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ที่เริ่มทำสำรวจ และมีคนเป็นหนี้ 91.1% ยอดหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 299,266 บาท เพิ่มขึ้น 0.4% จากปีก่อนซึ่งมียอดหนี้ 298,005 บาท เพิ่มขึ้น 20.2% ปีนี้ในแง่ยอดหนี้สูงสุดรอบ 10 ปี แต่การขยายตัวต่ำสุดรอบ 10 ปี แบ่งสัดส่วนยอดหนี้เป็นในระบบ 74.60% และนอกระบบ 26.40%

"สาเหตุที่ยอดหนี้โดยรวมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะอันดับแรกมีการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น รองลงมารายได้ลดลง ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน การผ่อนสินค้ามากเกินไป มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเคดิตมาก ขาดรายได้เนื่องจากถูกถอดออกจากงาน ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จากภัยธรรมชาติ และมีหนี้จากการพนันบอลเล็กน้อย"นางเสาวณีย์กล่าว

นางเสาวณีย์ กล่าวอีกว่า ขณะที่วัตถุประสงค์ที่ก่อหนี้ อันดับแรกมี 23.3% ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน, รองลงมา 21.9% ซื้อยานพาหนะ, 11.9% ชำระหนี้เก่า, 10.6% ลงทุนประกอบอาชีพ, 10.6% ซื้อที่อยู่อาศัย และ 8.8% เพื่อการศึกษา จะเห็นว่ายังกู้ยืมเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ตามรายได้ที่ไม่พอรายจ่าย แต่มีการนำไปใช้หนี้เก่าด้วยเป็นสัญญาณที่ดีที่หนี้ในอนาคตจะลดลง อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพยังอยู่ระดับต่ำ ปกติควรจะอยู่ระดับ 20-40% สะท้อนเศรษฐกิจยังฟื้นไม่เต็มที่

นางเสาวณีย์ กล่าวว่า สำหรับการผ่อนชำระเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 15,438 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 3.69% จากปีก่อน แบ่งเป็นการชำระหนี้ในระบบ 14,032 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 24.41% ชำระหนี้นอกระบบ 5,512 บาทต่อเดือน ลดลง 46.33% ซึ่งนับว่าลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี ผลจากมาตรการภาครัฐที่แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ การขูดรีดนอกระบบลดลง และครัวเรือนมีการปรับตัว ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ในรอบปี 2560 พบว่า 20.7% ไม่เคยมีปัญหา อีก 79.3% เคยมีปัญหา เนื่องจากราคาสินค้ามีราคาแพง เศรษฐกิจไม่ดี สถานการณ์อุทกภัยต่างๆ รายได้ลดลงและค่าครองชีพสูงขึ้น

นางเสาวนีย์ กล่าวอีกว่า กลุ่มตัวอย่าง 70.7% ระบุว่าภายใน 1 ปีนับจากปัจจุบันไม่มีความต้องการกู้เพิ่ม อีก 29.3% มีความต้องการกู้เพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการกู้ในระบบ เพื่อนำไปใช้จ่ายทั่วไป ชำระหนี้เก่า ซื้อทรัพทย์สิน เช่น รถยนต์ บ้าน เพื่อลงทุนประกอบธุรกิจ/อาชีพ และจ่ายบัตรเครดิต เป็นต้น นอกจากนี้ภายใน 6 เดือนถึง 1 ปีหลังจากนี้ โอกาสที่จะประสบปัญหาการชำระหนี้ พบว่า 4.5% ไม่มีเลย, 43% น้อย, 36.8% ปานกลาง และ 15.8% มาก สอดคล้องกับความคิดเห็นส่วนใหญ่ที่มองใน 1 ปีข้างหน้า ที่เศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจของครัวเรือนน่าเป็นห่วงในระดับที่น้อย เป็นสัญญาณที่ดีที่จะก่อหนี้น้อยลง สามารถชำระหนี้ได้ดีขึ้น ตามเศรษฐกิจที่จะดีขึ้นด้วย

นางเสาวณีย์ กล่าวว่า กลุ่มตัวอย่างมีข้อเสนอแนะว่ารัฐบาลควรเข้ามาทำการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชน เช่น ลดค่าครองชีพ ดูแลเรื่องสวัสดิการให้กับประชาชน อย่างค่ารักษาพยาบาลให้ครอบคลุม ช่วยลดอัตราเงินกู้ มีการส่งเสริมรายได้และอาชีพ ดำเนินการและจัดการเรื่องการลงทะเบียนคนจน จัดหาแหล่งเงินทุนในระบบที่มีดอกเบี้ยต่ำ ลดข้อจำกัดเข้าถึงแหล่งทุน ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการจ้างงานและสร้างรายได้

นางเสาวณีย์ กล่าวถึงผลสำรวจทัศนะและพฤติกรรมการใช้จ่ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีกลุ่มตัวอย่าง 87.2% ไม่ได้รับสิทธิ อีก 12.8% ได้รับสิทธิ ซึ่งแบ่งเป็น 55% มีเงินในบัตร 300 บาท และ 45% มีเงิน 200 บาท กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่าบัตรดังกล่าวยังลดค่าใช้จ่ายได้น้อย และส่วนใหญ่ 72.5% ระบุว่าเรื่องบัตรนี้ไม่ส่งผลต่อการลดปัญหาความยากจน

นอกจากนี้ กว่า 50% ระบุว่าไม่ส่งผลต่อบรรยากาศเศรษฐกิจโดยรวม และบรรยากาศเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่มีถึง 29.5% ระบุคุณภาพชีวิตดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาการใช้บัตร ได้แก่ ร้านค้าที่เข้าร่วมมีสินค้าไม่ครอบคลุม ร้านค้ามีน้อย ร้านค้ายังไม่มีความชำนาญในการแก้ไขปัญหาเฉพาะ ระบบการรูดบัตรยังไม่มีเสถียรภาพ และร้านค้าที่เข้าร่วมอยู่ไกลจากบ้านมาก

ที่มา: ข่าวสด, 12/10/2560

'นายจ้าง'ปูทาง'กยศ.'หักเงินเดือนผู้กู้ยืมปีหน้า

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) เปิดเผยว่า กยศ. ได้ลงนามในบันทึก ข้อตกลงความร่วมมือกับ นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้าง แห่งประเทศไทย ในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมให้องค์กรนายจ้างภาคเอกชนทั้งที่เป็นสมาชิกของสภาองค์การนายจ้างและองค์กรนายจ้างทั่วไปทราบถึงภาระหน้าที่ วิธีการ ขั้นตอน ความรับผิดชอบ และกฎหมาย กฎระเบียบ อื่นที่เกี่ยวข้องกับการให้องค์กรนายจ้างหักเงินเดือนผู้กู้ยืม

ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือจากองค์กร นายจ้างภาคเอกชน เพื่อตรวจสอบสถานะความเป็นผู้กู้ยืมเงินกองทุนของพนักงานหรือลูกจ้างที่อยู่ในสังกัด รวมถึงร่วมทำการประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตาม พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรนายจ้าง

สำหรับการหักเงินเดือนผู้กู้ยืมจะเริ่มได้ภายในปี 2561 เพราะปัจจุบันองค์กรนายจ้างส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ รายละเอียดการหักเงินเดือน โดยกองทุนจะเริ่มต้นเดินสายชี้แจงผู้ประกอบการทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคกลาง โดยร่วมกับ สภาองค์การนายจ้างแห่ง ประเทศไทย มีสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการทั่วประเทศ จำนวนกว่า 1,000 แห่ง โดยเฉพาะกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมซึ่งมีพนักงานประมาณ 4-5 แสนคน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2560-มกราคม 2561

นอกจากนี้ กยศ.เตรียมเดินหน้าเชื่อมระบบ กับกรมสรรพากร ในการรับชำระหนี้ลูกหนี้ กยศ. จากองค์กรนายจ้าง คาดว่าจะเริ่มหักเงินเดือนลูกหนี้ กยศ. ทั้งรายเก่า และใหม่เป็นรายเดือน คาดเริ่มได้ ในไตรมาส 1 ปี 2561 โดยกยศ.จะเชื่อมระบบกับ กรมสรรพากร แล้วให้กรมสรรพากรจะเชื่อมระบบกับ นายจ้าง หากนายจ้างไม่หักเงินเดือนนำส่ง นายจ้างจะต้องรับภาระจ่ายหนี้แทนลูกหนี้ กยศ. โดยสิทธิในการหักเงินเดือนของ กยศ. ตาม พ.ร.บ. ลูกหนี้ จะต้องถูกหักเงินภาษีรายได้ให้กรมสรรพากรก่อน รองลงมาคือประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และต่อมาเป็น กยศ. ก่อนที่จะสามารถหักเงินเดือนเพื่อใช้ให้สถาบันการเงินได้

สำหรับปัจจุบัน กองทุนมีผู้กู้ยืม 5.28 ล้านราย คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 5 แสนล้านบาท มีลูกหนี้ที่ค้างชำระอยู่ประมาณ 2 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท และมีลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างฟ้องร้อง 1.2 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 1 แสนล้านบาท

ที่มา: แนวหน้า, 13/10/2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โปรดเกล้าฯ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า 'พล.อ.หญิง สุทิดา'

Posted: 13 Oct 2017 09:05 AM PDT

โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า ฝ่ายใน ให้แก่ พล.อ.หญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา

เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศ  เรื่อง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า ฝ่ายใน ให้แก่ พล.อ.หญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา ตั้งแต่ 13 ต.ค. ศกนี้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น